เบื้องหลังธุรกิจ ‘ตู้’ ของเหล่าผู้ประกอบการดาวรุ่งที่สร้างเทรนด์ใหม่ 

หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในยุคนี้คือธุรกิจตู้อัตโนมัติที่จุดกระแสและสร้างเทรนด์ใหม่ในหลายวงการ ทั้งวงการเครื่องดื่ม เครื่องซักผ้า ตู้สัมภาระ หรือแม้กระทั่งวงการไลฟ์สไตล์อย่างตู้ถ่ายรูปและตู้กาชาปอง

เบื้องหลังธุรกิจตู้ดาวรุ่งเกิดจากวิธีคิดที่ไม่เหมือนใครในการมองเห็นโอกาสของเหล่าผู้ประกอบการและการใช้ต้นทุนที่มีอยู่สร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมา Capital ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของแบรนด์ที่ทำธุรกิจตู้อัตโนมัติเหล่านี้ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมือง

เราจึงอยากรวบรวมเรื่องราว ‘ตู้ประกอบการ’ จากการคุยกับผู้บริหารและผู้ประกอบการหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น วทันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์เต่าบิน, กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง Otteri, ปวิตรา ทัศวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บิ๊กวัน กรุ๊ป ร้าน Gashapon Bandai Official Shop, ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล และพี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร แห่ง Sculpturebangkok, โอม–พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล, เดียร์–ธนพล พิมพ์ผิว, แป๊ก–ภควัต ปัทมะ Co-founder ทั้งสามจาก hello.flashback รวมถึง วิน–อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง Lock Box

ท่ามกลางความแตกต่างของแต่ละธุรกิจที่มีจุดแข็งและกลยุทธ์ไม่เหมือนกันเลย สิ่งที่ทุกแบรนด์มีเหมือนกันคือ วิสัยทัศน์ และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโดยใช้เทคโนโลยีอย่างตู้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องราวของแต่ละแบรนด์จะเป็นยังไงเชิญกดอ่านได้เลยไม่ต้องแลกเหรียญ

ตู้ประกอบการขายเครื่องดื่ม
เต่าบิน’

ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ตั้งเป้ามีหมื่นตู้ภายใน 2023

เปิดตัวในปี 2564 โดยวทันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์เต่าบิน

1. พัฒนาจาก ‘บุญเติม’ ตู้เติมเงินออนไลน์อัตโนมัติและลงทุนใน R&D เพื่อพัฒนาตู้ที่สามารถชงเครื่องดื่มได้

2. เจ้าของแบรนด์เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเคยทำงานด้าน UX Designer จึงใส่ใจภาพลักษณ์และ UX/UI ของตู้ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้

3. ตู้อัตโนมัติช่วยตัดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้านและก้าวข้ามขีดจำกัดที่คาเฟ่มักเผชิญ ทั้งการผูกติดกับสถานที่ การเทรนนิ่งคนให้มีฝีมือเป๊ะในการชงเครื่องดื่มและตรงต่อเวลา รวมถึงเพิ่มเมนูได้มากถึง 170 เมนู

4. แม้จะเป็นตู้อัตโนมัติ แต่ก็มีหลายหน้าที่ที่ช่วยดูแลตู้ด้วยมนุษย์ ทั้งคนดูแลชุดผง ชุดไซรัป คนทำปั๊ม คนดูแลหัวชง โซดา คนดูแลแขนชั่ง แก้ว เมล็ดกาแฟ ปั๊มล้าง ถ้วยล้าง น้ำทิ้ง ไล่มด ฯลฯ

5. ขยายจำนวนตู้ด้วยระบบตัวแทน โดยมองหาคนที่ชื่นชอบในตู้เต่าบินและสามารถดูแลได้อย่างน้อย 50 ตู้


ตู้ประกอบการซักผ้า
Otteri’

ร้านสะดวกซักเจ้าแรกในไทยอายุ 7 ปี ขยายกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ

ก่อตั้งในปี 2559 โดย กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง

1. เคยทำธุรกิจโรงงานรับจ้างซักผ้าให้ลูกค้า B2B และขายเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมจากจีนมาก่อน
เมื่อมี Alibaba เข้ามาดิสรัปต์จึงเปลี่ยนแนวคิดมาทำตู้ซักผ้าให้ลูกค้า B2C

2. เริ่มเห็นโอกาสจากร้านสะดวกซักที่มาเลเซียและสิงคโปร์ จึงคาดการณ์ว่าเทรนด์ธุรกิจตู้ซักผ้าจะเกิดขึ้นเป็นทอดๆ ในประเทศแถบเซาท์อีสต์เอเชีย

3. แก้ปัญหาให้ลูกค้า ‘กลุ่มคนขี้เกียจ’ ด้วยการให้บริการ ‘ซัก ตาก พับ รีด’ เสื้อผ้าจำนวนมากๆ

4. สังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องการซักผ้ามากกว่าผู้ชาย จึงเลือกมาสคอตเป็นนากญี่ปุ่นและตั้งชื่อว่า Otteri (อ๊อตเทริ) เพื่อความน่ารัก

5. ขยายธุรกิจด้วยโมเดลแฟรนไชส์ที่มองหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเป็นผู้ประกอบการมากกว่าเป็นแค่นักลงทุน

ตู้ประกอบการกาชาปอง
Gashapon Bandai Official Shop’

ร้านกาชาปองสาขาแรกในไทยซึ่งขายดีที่สุดในโลกใน 20 วันแรก

เปิดร้านแฟล็กชิปในปี 2566 โดย ปวิตรา ทัศวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บิ๊กวัน กรุ๊ป

1. ใช้ต้นทุนที่เชี่ยวชาญด้านการทำสินค้าลิขสิทธิ์หมวดขนมมาก่อนในการชนะใจ Bandai เพื่อเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

2. เริ่มบุกเบิกตลาดกาชาปองตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วโดยเริ่มตั้งตู้กาชาปองตามร้านการ์ตูน ร้านซีดี และกระจายตู้ตามโลเคชั่นต่างๆ ที่คนผ่านเยอะอย่างห้างสรรพสินค้า

3. สร้างเสน่ห์ของสินค้าแบบสุ่มด้วยการผลิตฟิกเกอร์ที่ใส่ใจในรายละเอียดและมีธีมที่มีเอกลักษณ์น่าสะสม

4. เปิดร้านแฟล็กชิปที่รวมกาชาปองราว 300 รุ่นเพื่อสร้างประสบการณ์ ‘ยกญี่ปุ่นมาไว้ที่ไทย’ ให้แฟนคลับได้ประสบการณ์ที่ดีในการหมุนตู้


ตู้ประกอบการถ่ายรูป
‘Sculpturebangkok’

ธุรกิจที่สร้างคัลเจอร์ให้ตู้ถ่ายรูปออโต้แมตกลับมาบูมอีกครั้งในวัยรุ่น

เริ่มให้บริการในปี 2562 โดย ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล และพี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร Co-founder

1. เริ่มทำเพราะชอบตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติที่ต่างประเทศอย่างนิวยอร์กและหาตู้แบบนี้ที่ไทยไม่ได้

2. จุดกระแสให้ฮิตด้วยวัน influencer day ตอนเปิดตัวตู้ ชวนเพื่อนและดารามาถ่ายรูปเยอะๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. นิยามตัวเองไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายรูปแต่เป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่เป็น image maker ทำโปรดักต์ให้คนมาอินเทอร์แอกต์และแสดงความเป็นตัวเอง เล่นกับคัลเจอร์ของเด็กรุ่นใหม่

4. แตกแบรนด์ตู้ถ่ายรูปชื่อ SNAP สำหรับกลุ่มแมสเพื่อแบรนดิ้งที่เข้ากันได้กับทุกแบรนด์

5.  มีสินค้าไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ Random Sculpture Club เช่น หมวกแก๊ป ขาสั้น ถุงเท้า

ตู้ประกอบการถ่ายรูป
‘hello.flashback’

ตู้ถ่ายรูปสุดฮิตที่อยู่รอดเพราะไม่หยุดตามเทรนด์

ก่อตั้งในปี 2563 โดย โอม–พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล, เดียร์–ธนพล พิมพ์ผิว, แป๊ก–ภควัต ปัทมะ Co-founder

1. เคยทำบริษัทเอเจนซีรับจัดงานอีเวนต์มาก่อน เมื่อโควิด-19 ระบาดและงานอีเวนต์ทุกอย่างถูกงด จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการทำตู้ถ่ายรูปซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ลูกค้าเคยรีเควสต์ให้ทำ

2. รีเสิร์ชข้อมูลตู้ออโต้แมตในเยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป เพื่อสร้างสไตล์ของตู้ที่มีเอกลักษณ์ เชื่อมโยงกับสถานที่และกลุ่มลูกค้าแต่ละแบรนด์

3. Unique Selling Point คือมีทีมที่มีความรู้ฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เรื่องตู้ถ่ายรูปทำให้สามารถพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ๆ ของตู้ถ่ายรูปที่ใครหลายคนนึกไม่ถึง

4. ตัวอย่างฟีเจอร์พิเศษ เช่น การคอลแล็บกับศิลปินเพื่อทำตู้ที่สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วฟังเพลงได้ เฟรมน่ารักๆ และโปรแกรมอินเทอร์แอ็กทีฟสุดเจ๋ง

ตู้ประกอบการฝากของ  
‘Lockbox’

ตู้รับฝากสัมภาระเจ้าแรกของไทยที่เตรียมขยาย 1000 สาขาในปีนี้

เปิดตัวปี 2560 โดย วิน–อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง

1. เริ่มเห็นโอกาสจากการเที่ยวรอบโลกและเห็นว่าในไทยไม่มีตู้ล็อกเกอร์ฝากของอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง

2. ทำล็อกเกอร์ฝากของให้เป็น everyday product เหมือนร้านสะดวกซื้อที่ทุกคนใช้ได้และรู้ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง

3. ช่วงแรกของธุรกิจเน้นคอนเซปต์ safe and easy และมีช่วงที่ขยายอย่างรวดเร็วด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ หารายได้จากโฆษณา และ e-Commerce

4. ตั้งเป้าเป็นธุรกิจที่ให้บริการ smarter life สำหรับคนเมืองและไม่ได้ให้บริการแค่ในไทย แต่อยากเป็น regional player ที่ให้บริการหลายประเทศ

15 เรื่องเบื้องหลัง จาก 25 ปี ของ Bangkok Festivals ผู้นำเข้าศิลปะการแสดงและดนตรีระดับโลก 

วงออร์เคสตราอายุ 218 ปี จากสวิตเซอร์แลนด์

นักไวโอลินที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก พร้อมกับไวโอลินอายุ 300 ปี ที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะได้เล่น

วาทยกรระดับตำนานที่เอ่ยว่าจะคอนดักต์วงเป็นครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทย 

ยังไม่รวมคณะบัลเลต์ระดับท็อปจากเยอรมนี การแสดงมายากลรอบปฐมฤกษ์ของโลก โปรดักชั่นใหม่ของละครบรอดเวย์คลาสสิกโดยทีมสร้างสรรค์ระดับ A-list ของวงการ และอีกสารพัดการแสดงทางดนตรีและศิลปะการเต้นที่รวมศิลปินต่างชาติกว่า 900 ชีวิต จากทั่วทุกมุมโลก!

ถ้าไม่ใช่ Bangkok’s International Festival of Dance & Music หรือ Bangkok Festivals แล้วละก็ เราก็ไม่เห็นว่าจะมีผู้นำเข้าในไทยเจ้าไหนที่สามารถนำการแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยได้ เพราะการจะนำเข้าการแสดงเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเพียงเม็ดเงินเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ชื่อเสียงของผู้นำเข้า และความเข้าใจระบบนิเวศของวงการแสดงระดับโลกอย่างดี

เล่ามาขนาดนี้ หลายคนคงคิดว่านี่คือผลงานขององค์กรรายใหญ่ของประเทศ เพราะใครเล่าจะนำเข้าสุดยอดผลงานระดับโลกแบบนี้เข้ามาได้! แต่เราขอบอกว่าต้องคิดใหม่ เพราะ Bangkok Festivals ก่อตั้งโดย เจ เอส อูเบรอย (J.S. Uberoi) ผู้ใช้ความหลงใหลในศิลปะการแสดงและดนตรี นำเข้าการแสดงชั้นเยี่ยมเพื่อพลิกภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม 

ในวันที่ Bangkok Festivals เดินทางมาถึงปีที่ 25 ในประเทศที่หลักใหญ่ใจความของผู้คนไม่ใช่ดนตรีและศิลปะ ตัวเลข 25 นี้มีนัยสำคัญที่แสดงถึงความเก๋าเกมของเทศกาลนี้ไม่น้อย

เราจึงมีนัดกับ ราซินาร์ อูเบรอย บาจาจ (Rasina Uberoi Bajaj) กรรมการผู้จัดการและลูกสาวของเจ เอส อูเบอรอย เพื่อพาทุกคนไปเปิดหลังม่านเวที ขุดเบื้องลึกธุรกิจการนำเข้าการแสดงว่ากว่า Bangkok’s International Festival of Dance & Music จะจัดการแสดงแต่ละปีขึ้นมาได้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง 

1. Bangkok Festivals ก่อตั้งโดย เจ เอส อูเบอรอย นักธุรกิจที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50 ปี

ย้อนกลับไป 25 ปีก่อน ราซิน่าร์เล่าว่าถ้าอยากดูบัลเลต์ดีๆ โอเปร่าดังๆ กระทั่งออร์เคสตราเต็มวงในไทย จะต้องบินไปดูที่ต่างประเทศเท่านั้น คนรักเสียงเพลงและศิลปะอย่างพ่อของเธอ เจ เอส อูเบอรอย ผู้ที่ไปทำงานหรือเที่ยวต่างประเทศทีไรก็ต้องหาเวลาไปชมสารพัดการแสดงดนตรี จึงเริ่มปิ๊งไอเดียบางอย่าง

“คุณพ่อเข้ามาทำธุรกิจนิตยสารในไทยหลายปี หลายคนน่าจะรู้จัก seventeen, Women’s Health, Men’s Health และ OK! ฯลฯ กัน แต่หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยมานาน ท่านก็เริ่มคิดว่าจะทำอะไรตอบแทนประเทศไทยในฐานะบ้านหลังที่สองได้บ้าง จะเอาผลงานศิลปะที่เก็บสะสมมาเปิดให้คนชมเหรอ ก็ไม่น่าเวิร์กนะ เลยหันมามองสิ่งที่ท่านชอบมาตลอดนั่นก็คือเรื่องของศิลปะการแสดงและดนตรี”

ช่วงแรกๆ พ่อของเธอทดลองตลาดโดยเชิญคณะละครหนึ่งเข้ามาจัดแสดง Swan Lake บ้าง Nutcracker บ้าง ปรากฏว่าผลตอบรับเกินคาดจนน่าประหลาดใจ 

“ช่วงแรกๆ มีชาวต่างชาติอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรปมากกว่าคนไทย แต่ที่แปลกใจยิ่งกว่าคือเราจัด Swan Lake ทั้งหมด 6 โชว์ แล้วขายหมดทุกโชว์ จำได้ว่าคืนวันอาทิตย์เราประกาศว่าจะมีการแสดงรอบพิเศษเพิ่มในวันจันทร์ เชื่อไหมว่าพอถึงวันจันทร์คนนั่งในฮอลล์ถึง 70% 

“ครั้งนั้นทำให้เราเห็นว่า คนไทยก็ชอบการแสดงแบบนี้เหมือนกันนะ และมันก็ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดสิ่งนี้มากแค่ไหน” ราซิน่าร์ย้อนเล่าความประทับใจ

2. ทุกการแสดงที่ Bangkok Festivals นำเข้ามาจะต้องมีชื่อในวงการ

เมื่อเทสต์ตลาดแล้วเวิร์ก บวกกับได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ Bangkok Festivals ก็เติบโตและนำเข้าการแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะโอเปร่า ออร์เคสตรา บัลเลต์ แจ๊ส ฟลาเมงโก และมายากล ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะจัดแสดงในเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี

เกณฑ์การคัดเลือกนั้นมีหลากหลายแบบ หนึ่งในเกณฑ์ที่ Bangkok Festivals ให้ความสำคัญคือชื่อเสียงของศิลปินที่มาแสดง ไม่ใช่แค่เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจ แต่เพื่อให้คนไทยมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีเทียบเท่ากับคนทั่วโลก

อย่างการแสดงอุ่นเครื่องของปีนี้ Lucerne Symphony Orchestra : A Night with Beethoven ก็เป็นวงออร์เคสตราที่เก่าแก่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1805 เป็นช่วงที่บีโธเฟนยังมีชีวิตอยู่และได้เขียนไวโอลินคอนแชร์โตซึ่งเป็นบทเพลงเอกของการแสดงในครั้งนี้อยู่ด้วย

 “เราพยายามเชิญวง Lucerne มา 15 ปีเลยนะ แต่ชื่อของกรุงเทพฯ ไม่เคยอยู่ในลิสต์ที่เขาจะมาแสดงสักที ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราสามารถเชิญเขามาได้ ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับ Bangkok Festivals มากๆ”

การแสดงครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนักไวโอลินเจ้าของรางวัลแกรมมี่อย่าง ออกุสติน ฮาเดลิก (Augustin Hadelich) ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมแสดง ถ้าจะให้อธิบายความเก่งของเขาให้คนทั่วไปเห็นภาพ ออกุสตินคือคนที่องค์กรระดับโลกไว้วางใจให้ใช้ไวโอลินล้ำค่าอายุกว่า 300 ปี 

แน่นอนว่าการได้สัมผัสเครื่องดนตรีระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ การได้รับโอกาสพิเศษนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์หนึ่งสำหรับศิลปินที่ก้าวขึ้นมาสู่ระดับโลกเช่นเขา  

Photo and copyright: Marco Borggreve

3. สีสัน ความตื่นตาตื่นใจ และความสนุกปนดราม่าคือไวบ์ที่คนไทยชอบ

ในภาพรวม จากประสบการณ์การเป็นผู้นำเข้าหรือโปรโมเตอร์ มานานกว่า 25 ปี ราซิน่าร์เฉลยว่าการแสดงที่คนไทยเอนจอยเป็นพิเศษคือการแสดงที่เน้นแสง สี เสียง และความสนุก

“อย่างโชว์ Gala Performance จาก Stuttgart Ballet คณะบัลเลต์จากเยอรมนีที่ติด Top 10 ของโลกรอบนี้จะมาเป็นโชว์สั้นๆ ต่อกันโชว์ละ 10 นาที แต่ละโชว์จะมีการกระโดด ตีลังกา หมุนไปมา ชุดก็สวย เราคิดว่าคนไทยน่าจะชอบโชว์แบบนี้ 

“หรือสมมติถ้าเป็นออร์เคสตรา เราก็จะพยายามเลือกเพลงจากศิลปินที่คนไทยน่าจะคุ้นเคย เช่นเพลงของบีโธเฟนที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินไม่ว่าจะไปที่ไหน ขนาดในลิฟต์ตามห้างก็ยังมี จนคนเรียกกันว่า elevator music” ราซิน่าร์เล่าพลางหัวเราะพลาง

อีกโชว์ที่อาจดูเข้าถึงยากอย่างโอเปร่า Bangkok Festivals ก็มีวิธีการนำเสนอให้คนไทยไม่เมินหน้าหนี นั่นคือโชว์จาก Helikon Opera รอบนี้จะไม่ใช่โอเปร่าที่มายืนร้องเพลงเฉยๆ ซึ่งเป็นภาพจำของคนทั่วไป แต่จะเป็นโอเปร่าเรื่อง Aida ที่เล่าเรื่องราวรักสามเส้าและยังเป็นเรื่องราวสมัยอียิปต์ที่คนไทยคุ้นเคยและตื่นตาตื่นใจ

โอเปร่ารอบนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเขาลงทุนทำฉากแบบมัลติมีเดียซึ่งจริงๆ แล้วต้นทุนสูงกว่าการทำฉากปกติมากๆ Aida by Helikon Opera เลยเป็นโอเปร่าที่มีความคูลและทันสมัยมากในรอบนี้” 

แม้ราซิน่าร์จะออกตัวว่าไม่ได้หลงใหลศิลปะดนตรีตั้งแต่ยังเด็กเหมือนพ่อของเธอ แต่ถ้อยคำที่เธอพรั่งพรูกลับสะท้อนให้เห็นว่าเธอผูกพันและเชี่ยวชาญในวงการนี้มากแค่ไหน

4. การแสดงที่คนไทยยกนิ้วให้ และ sold out เสมอ คือ Swan Lake!

ในจำนวนการแสดงทั้งหมดที่เคยนำเข้ามา การแสดงขวัญใจมหาชนที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีทุกปีคือ Swan Lake ถามว่าทำไมคนไทยไม่เบื่อเรื่องราวเดิมๆ เสียที ราซิน่าร์เฉลยว่าเพราะแม้จะเป็นเรื่องราวเดิม แต่คณะที่แสดงจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ประสบการณ์การชมในแต่ละปีจึงแตกต่างและตรึงใจผู้ชมได้เสมอ

“เอาจริงๆ ไม่ต้องพูดถึงคนไทยก็ได้ ตัวเราเองที่แม้จะโตมากับคุณพ่อที่ชอบดนตรีและการแสดงมากๆ ก็ยังไม่ได้ชอบดูอะไรที่มันคลาสสิกหรือหนักเกินไป 

“เราเองเลยชอบ Swan Lake มากๆ จนดูได้ทุกวัน เพราะนักแสดงเขาแต่งตัวสวย เหมือนเป็นหงส์ขาว แล้วเวทีมันมืดๆ ตัดกับไฟที่ดูลึกลับนิดนึง จนเหมือนเราไม่ได้นั่งในฮอลล์แต่เราสัมผัสถึงบรรยากาศของป่าหน้าหนาวจริงๆ” 

ส่วนการแสดง Swan Lake ในปีนี้ เป็นการแสดงจาก Les Ballets de Monte Carlo คณะบัลเลต์ประจำประเทศโมนาโก ที่ราซิน่าร์บอกว่าเป็น Swan Lake ที่คงความคลาสสิกไว้ได้ดีพอๆ กับการนำเสนอความคูลและความโมเดิร์นไว้อย่างลงตัว

5. ถ้าพลาดการแสดงแต่ละครั้ง อาจไม่ได้ดูอีกเลยตลอดชีวิต!  

บางครั้งเรื่องราวที่นำมาแสดงอาจเหมือนกันบ้าง แต่ใช่ว่าประสบการณ์ของแต่ละครั้งจะเหมือนกัน 

“คณะบัลเลต์จากเยอรมนี Stuttgart Ballet ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยมาแสดงให้เรานะ เขาเคยมาแสดงให้เราเมื่อหลายปีก่อนโน้นแล้วล่ะ แต่เขาเลือกแสดงเรื่องโรมิโอแอนด์จูเลียต เวลาเขาแสดงก็จะแตกต่างจากคณะบัลเลต์จากรัสเซีย ชุดก็ต่าง คอสตูมก็ต่าง อารมณ์ที่สื่อออกมาก็ต่าง 

“ส่วนคณะบัลเลต์ที่รัสเซียนั้นมีมากกว่า 200 คณะ แต่ละคณะเขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเคยดูเรื่องนี้แล้วจะดูอีกไม่ได้ หรือเคยดูคณะนี้แล้วจะดูอีกไม่ได้ เพราะแต่ละคณะพยายามสร้างสรรค์การแสดงที่แตกต่างและโดดเด่นอยู่เสมอ” 

เพราะฉะนั้นการแสดงแต่ละครั้ง แต่ละรอบ ของแต่ละคณะ จะมีสีสันที่แตกต่างกันไป ทำให้ Bangkok Festivals เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และนั่นหมายความว่าถ้าเราพลาดการแสดงไหนในปีนี้ เราอาจจะอดดูไปอีกหลายปีทีเดียว

6. กรุงเทพฯ คือสถานที่แรกและสถานที่สุดท้ายของโชว์บางโชว์!

สมัยที่กรุงเทพฯ ยังไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและศิลปะการแสดงอย่างทุกวันนี้ การจะเชิญวงดนตรีหรือคณะแสดงไหนเข้ามาแต่ละที ราซิน่าร์บอกว่าเต็มไปด้วยความยากเย็น แต่หลังจากสั่งสมประสบการณ์มานานจนภาพลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งนี้เปลี่ยนไป ใครๆ ก็เริ่มอยากมาแสดงที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องน่าสนใจคือบางการแสดงจะจัดแสดงที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ก่อนไปแสดงที่อื่นๆ ทั่วโลก เช่น การแสดงมายากล The Magnificent Six โดยนักมายากลหญิง 6 คน ซึ่งไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน แต่มาเจอกันและเริ่ม choreograph ที่ไทยก่อนการแสดง 10 วัน กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองแรกที่โชว์นี้จะจัดแสดง จากนั้นการแสดงที่ว่าจะไปเวิลด์พรีเมียร์ต่อที่อื่นๆ  

อีกการแสดงที่พลาดไม่ได้เช่นกันคือ Zubin Mehta & Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino เพราะนี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณสุบิน เมห์ทา (Zubin Mehta) วาทยกรระดับตำนานที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลกจะแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้าย

“คุณสุบินผูกพันกับประเทศไทยมาก และเคยบอกไว้ว่าการแสดงสุดท้ายในชีวิตวาทยกรของเขาจะต้องจัดการแสดงที่กรุงเทพฯ ด้วย” ราซิน่าร์ตื่นเต้น

7. Bangkok Festivals ในปีที่ 25 กับการแสดงวัยรุ่นขึ้น!  

นับจากวันแรกที่เจ เอส อูเบอรอยนำเข้าการแสดงให้คนไทยได้ชม Bangkok Festivals เดินทางมาสู่ปีที่ 25 แล้ว และยังเป็นผู้นำเข้าศิลปะการแสดงขนาดใหญ่เจ้าเดียวในไทย ถึงอย่างนั้น ราซิน่าร์ไม่ได้มองว่า Bangkok Festivals จะหยุดพัฒนาแต่อย่างใด กลับต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

“ความท้าทายของเราคือจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่สนใจและอยากชมการแสดงที่เรานำเข้ามา เราเลยพยายามปรับรูปแบบโชว์ให้ดูสนุก วัยรุ่นขึ้น ใครดูก็ได้ และทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน เวลาเราจะเอาการแสดงไหนเข้ามา เราก็จะทำหน้าที่แทนคนดูว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ชอบดนตรีและการแสดงแบบนี้จะโอเคไหม บางครั้งก็ไปถามลูกว่าคิดเห็นยังไง

“อย่างแต่ก่อนโชว์นึงอาจจะยาว 3-4 ชั่วโมง คนที่มาดูก็อาจจะใส่สูท ชุดราตรีมา แต่เราอยากเห็นภาพของคนทั่วไปที่แต่งตัวแบบไหนก็ได้มาดูงาน หรือเลิกงานแล้วมาดูโชว์กับเพื่อน ดูเสร็จก็ไปกินข้าวกันต่อเหมือนเราไปดูหนังเรื่องนึง เราเลยพยายามให้ทุกการแสดงจบภายใน 2 ชั่วโมง 

“เวลาไปดูโชว์ที่ต่างประเทศเราก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะกับคนไทยแค่ไหน เราจะต้องดูตั้งแต่บรรยากาศ คนที่ไปชมอายุเท่าไหร่ แต่งตัวกันยังไง ขณะที่คนที่นั่นนั่งดูได้นานๆ เพราะโตมากับการแสดงเหล่านี้ ถ้าเทียบกับคนไทย จะไหวหรือเปล่า”

หนึ่งในการแสดงที่ represent โอกาสครบรอบ 25 ปีที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือการแสดง West Side Story ละครบรอดเวย์รักโรแมนติก ที่ราซิน่าร์เชื่อว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาชมก็ไม่มีทางผิดหวัง

“มันเป็นบรอดเวย์ที่หลายคนเคยชมมาแล้วก็จริง แต่โปรดักชั่น การแสดง การแคสต์ คอสตูม รวมไปถึงทีมงานสร้างสรรค์ยังเป็นทีมงานระดับ A-list ที่ได้ที่ปรึกษาของ West Side Story เวอร์ชั่นหนังของ Steven Spielberg มาร่วมสร้างสรรค์การแสดงในครั้งนี้ด้วย 

“คอมิวสิคัลจะได้สัมผัสอีกเวอร์ชั่นที่เราภูมิใจนำเสนอมาก ความพิเศษคือกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแรกๆ ที่จะได้ชมโปรดักชั่นใหม่ของละครเพลงเรื่องนี้ด้วย” เธอเล่าอย่างออกรส 

Westside Story, Duesburg, Germany 2022 Credit: Johan Persson
Westside Story, Duesburg, Germany 2022 Credit: Johan Persson

8. ผู้ชมที่ Bangkok Festivals คาดหวัง ไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่ม แต่คือทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย 

นอกจากทำให้การแสดงเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่ราซิน่าร์ให้ความสำคัญคือเธออยากให้การแสดงของ Bangkok Festivals เข้าถึงคนทุกคนได้จริงๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งการแสดงที่สะท้อนถึงความเข้าถึงได้มากที่สุดก็คือการแสดงมายากลที่เราเกริ่นไปแล้วนั่นเอง

“เราตื่นเต้นกับโชว์นี้มากๆ เพราะมายากลมันเป็น illusion ที่เขาเล่นกับตาของเรา คนที่บกพร่องทางการได้ยินก็จะมีส่วนร่วมกับเทศกาลของเราได้ เราเลยคิดว่ามันคือ festival for everyone จริงๆ  

“ปีที่แล้วผู้ว่าชัชชาติก็บอกมาว่าเขาเป็นแฟนคลับของเรามานาน และเขาบอกว่าอยากให้เราทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน ดูพร้อมกัน as a family, as a group of friends”

9. เพราะเงินไม่ได้ knock everything แต่การสานสัมพันธ์ต่างหากที่เอาชนะใจนักแสดง

บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าการนำเข้าการแสดงเข้ามานั้นไม่ใช่แค่มีเงินก็เชิญศิลปินเหล่านี้เข้ามาได้ แต่ผู้นำเข้ายังต้องมีความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงมากพอด้วย กับ Bangkok Festivals ยิ่งแล้วใหญ่ ราซิน่าร์เล่าว่าอีกหนึ่งบทบาทที่เธอและคุณพ่อจะละเลยไม่ได้เด็ดขาดคือการสานสัมพันธ์กับนักแสดงและผู้ดูแลวง

“เราต้องรักษาความสัมพันธ์กับแต่ละคนหรือแต่ละวงอยู่เสมอ บางครั้งก็ต้องออกไปทานข้าวกับเขา บางครั้งก็ต้องออกไปดื่ม เช่นนักร้องโซปราโน่ชื่อดัง Katherine Jenkins ที่เป็นนักร้องนักแสดงที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว เราก็ต้อง WhatsApp หาเขาทุก 2-3 เดือน

“ถามว่าเพราะอะไรเราถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ เพราะนักแสดงและวงเหล่านี้เขามีตัวเลือก เขาจะไปแสดงที่ไหนก็ได้ ทำไมต้องมาประเทศไทย ยิ่งกับประเทศไทยที่เราเชิญมาแสดงได้แค่ไม่กี่วัน ต่างจากประเทศอื่นที่เขาไปแสดงได้มากกว่า 1 ครั้ง หรือแม้กระทั่งเป็นเดือน จะทำยังไงให้เขาเลือกเรา”

ราซิน่าร์ยังยกตัวอย่างกรณีที่เธอและคุณพ่อไม่เคยติดต่อกับคณะนั้นๆ มาก่อน ว่าการติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกลางสำคัญ หลายครั้งทูตจากประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยก็ติดต่อเข้ามาเพื่อนำเสนอการแสดงจากประเทศของเขาเพราะแต่ละประเทศต่างมีของดีที่อยากโชว์ 

Bangkok Festivals จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปโดยปริยาย

10. โลจิสติกส์คือปัญหาชวนปวดหัวของผู้นำเข้าการแสดง  

การนำนักแสดงและนักดนตรีข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงในปัจจุบันนั้นไม่ยาก แต่เคยสงสัยไหมว่า Bangkok Festivals จัดการฉากสุดอลัง เครื่องดนตรีราคาแพง และสารพัดอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหลายยังไง

“กว่าผู้ชมจะได้ชมการแสดง 1 โชว์ เราต้องเตรียมการหลายอย่างมาก อย่างโชว์ West Side Story เนี่ย ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เพราะเวลาเขาเวิลด์ทัวร์ เขาต้องขนฉาก เครื่องดนตรี ลงเรือมาตั้ง 8 คอนเทนเนอร์ คอนเทนเนอร์หนึ่งก็หนักเป็นร้อยๆ ตัน 

“พอแสดงให้เราเสร็จ เขาก็ต้องขนของกลับไปอีกสิบกว่าวัน เรียกว่ามันยุ่งยากใช่ไหม มันจะยากแค่ไหนเมื่อเขาต้องเสียเวลาหลายวันเพื่อมาแสดงในไทยแค่ไม่กี่รอบ

“อย่าง West Side Story นั้นมีรอบการแสดงถึง 6 รอบ นับว่าเยอะมากแล้วสำหรับประเทศไทย แต่จริงๆ เขาสามารถไปแสดงที่อื่นได้เป็นเดือน เพราะฉะนั้นมันคือโอกาสของเขาที่เสียไป เพื่อให้เรามีโอกาสนำการแสดงนี้มาให้คนไทยได้ดู”

Westside Story, Duesburg, Germany 2022 Credit: Johan Persson
Westside Story, Duesburg, Germany 2022 Credit: Johan Persson

11. ต้นทุนที่แพงหูฉี่คืออีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็น Bangkok Festivals เท่านั้นที่นำเข้าการแสดงเหล่านี้!

ตามปกติแล้ว หลายประเทศทั่วโลก จะมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเข้าการแสดงเหล่านี้เพื่อสนับสนุนให้ประชากรของประเทศนั้นๆ เข้าถึงศิลปะและดนตรีดีๆ ได้ สำหรับประเทศไทย ตัวตั้งตัวตีหลักคือภาคเอกชนอย่าง Bangkok Festivals ซึ่งปัญหาหลักๆ ของการเป็นผู้นำเข้าในประเทศไทยนั้นก็คือต้นทุน 

เพราะต้นทุนของการนำนักแสดงและนักดนตรีกว่า 900 ชีวิตจากทั่วทุกมุมโลกมาแสดงในไทยนั้นสูงมาก การจะทำให้คนไทยเข้าถึงศิลปะการแสดงเหล่านี้ ทางผู้จัดจึงมีสปอนเซอร์เพื่อช่วยสนับสนุนและทำให้การจัดงานเป็นไปได้

“ถ้าเราไม่มีสปอนเซอร์นะ ตั๋วใบนึง 3-4 หมื่น เพราะเรามีต้นทุนเรื่องค่าเครื่องบิน ค่าเรือขนส่ง ค่าโรงแรม ค่ากินค่าอยู่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ แต่เชื่อไหมว่าตั้งแต่วันแรกที่เราก่อตั้ง Bangkok Festivals ขึ้นมา สปอนเซอร์บางเจ้าอยู่กับเรามานานกว่า 20 ปีเสียด้วยซ้ำ

“ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ หรือเบียร์สิงห์ รวมถึงองค์กรรัฐและเอกชนอีกมากมายที่สนับสนุนงานของเราตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเห็นถึงประโยชน์จากการร่วมสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมร่วมกันกับเรา ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครคิดเลยว่าเราจะทำได้ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันเดินทางมาถึงปีที่ 25 แล้ว” เธอพูดอย่างภาคภูมิใจ

12. Bangkok Festivals คือเครื่องสะท้อนภาพลักษณ์เมืองแห่งวัฒนธรรมของไทย

อย่างที่เล่ามาตลอด การนำเข้าคณะศิลปินต่างๆ นั้นต้องอาศัยปัจจัยหลากหลาย ยิ่ง 25 ปีก่อนที่ประเทศไทยยังไม่มีการแสดงเหล่านี้เลย การจะนำเข้าการแสดงในช่วงแรกนั้นต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก

“ภาพลักษณ์ของประเทศไทยสมัยก่อนมักเกี่ยวกับการเที่ยวกลางคืนจนชาวต่างชาติรู้สึกว่าเป็นดินแดนที่น่ากลัว กลับมาที่สมัยนี้ สังคมเปิดกว้างกว่าเดิม การติดต่อกันก็ง่ายขึ้น

“ยิ่งเราค่อยๆ สร้างให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นเมืองที่ผู้ชมเสพศิลป์ที่มีคุณภาพ ภาพลักษณ์ของประเทศก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ”

13. เทศกาลดนตรีและศิลปะที่ไม่ได้พลิกเพียงภาพลักษณ์ของประเทศเท่านั้นแต่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม 

นอกจากภาพลักษณ์กรุงเทพฯ และประเทศไทยโดยรวมจะดีขึ้น อีกสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือการนำเข้าการแสดงเหล่านี้ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วย 

“ระหว่างช่วงที่เทศกาลของเราจัดขึ้น เราก็ต้องจ้างคนเพิ่ม ไหนจะคนขนของ คนเบื้องหน้า เบื้องหลัง และอย่าลืมว่าคณะแสดงที่เข้ามา เขาก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวของเราด้วย บางคนมาแสดงแค่ 2-3 วัน จากนั้นก็เที่ยวต่อ พอกลับไปประเทศตัวเองก็พาครอบครัวกลับมาเที่ยวใหม่ 

“การแสดงของเราเป็นการแสดงระดับโลก แต่ละปีเลยมีนักท่องเที่ยวที่บินมากรุงเทพฯ เพื่อชมการแสดง ไม่ว่าจะสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา พอมีคนเข้ามาก็ดีกับสปอนเซอร์ของเรา เพราะทุกคนขายของได้ ทุกคนมีลูกค้า 

“พอมันเกิดกิจกรรมตรงนี้ บวกกับภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น นักลงทุนก็เริ่มสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับแต่ละประเทศก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ Bangkok Festivals”

14. มากกว่าสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม คือการทำให้เด็กๆ เห็นว่าอาชีพนักแสดง นักดนตรี และศิลปินไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ 

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ Bangkok Festivals ที่เราว่าน่าสนใจไม่น้อยคือ Student Outreach Program โครงการเพื่อเยาวชนที่ราซิน่าร์ริเริ่มเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นภาพฝันของ Bangkok Festivals ที่อยากสร้างสังคมแห่งศิลปะและวัฒนธรรมต่อไปอย่างยั่งยืน

ราซิน่าร์ย้อนเล่าว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจากตัวเธอเองที่ได้คำตอบจากลูกถึงเหตุผลที่เลิกเรียนดนตรีเพราะต้องท่องหนังสือบวกกับไม่เห็นอนาคตที่มั่นคงในสายอาชีพนี้ด้วย

“เราก็ตกใจว่า ฮะ มันจะไม่มีอนาคตได้ยังไงทั้งๆ ที่นักแสดงและนักดนตรีที่เรานำเข้ามาเขาก็สามารถทำสิ่งที่รักเป็นอาชีพได้ เราเลยคิดว่าอย่างนั้นเราต้องทำให้เด็กๆ ได้เห็น ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าการเรียนดนตรีและศิลปะมันมีอนาคตได้ ที่สำคัญ คุณไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อไปเป็นศิลปินเท่านั้น แต่ดนตรีและศิลปะมันให้อะไรมากกว่านั้น”

โครงการที่ราซิน่าร์เล่าเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาเรียนมาสเตอร์คลาส ทำเวิร์กช็อป และชมการแสดงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้กับเด็กๆ และส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิด

“ในทางตรง เขาจะได้เห็นว่าโลกแห่งดนตรีและศิลปะมันเป็นแบบไหน ถ้าเขาอยากเป็นแบบคนบนเวทีเขาจะต้องทำยังไงบ้าง และแน่นอนว่าหลายคนอาจจะอยากเต้นได้แบบ BLACKPINK แต่ถ้าดูดีๆ เขาจะเห็นว่าการเต้นเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากบัลเลต์นะ 

“ในทางอ้อม มันมีงานวิจัยว่าเด็กที่เรียนดนตรีตั้งแต่เด็กจะสร้างตัวตนของเขาขึ้นมาได้อย่างแข็งแรง เขาจะรู้จักคิดนอกกรอบและแก้ปัญหา รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรมองหาในพนักงานที่พวกเขาอยากว่าจ้างในอนาคต ที่สำคัญคือเขาจะยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ 

“ล่าสุดนักแสดงแสดงโชว์หนึ่งให้เด็กๆ ชมซึ่งเป็นโชว์ที่มีฉากเพศเดียวกันจูบกัน ตอนแรกเรากังวลว่าผู้ใหญ่จะตกใจไหม แต่กลายเป็นว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนเด็กๆ เขาก็หัวเราะคิกคัก นั่นหมายความว่าแม้ว่าในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนของเขาจะไม่เคยได้เห็นมุมมองเหล่านี้ก็จริง การที่เราทำให้เขารู้จักกับสิ่งนี้ เมื่อเขาเข้าสู่โลกแห่งความจริง เขาก็จะเข้าใจและเปิดรับเรื่องความหลากหลายได้”

15. 25 ปีของ Bangkok Festivals กับหมุดหมายต่อไปที่จะอยู่คู่สังคมไทย

สำหรับองค์กรที่อยู่มานานกว่า 25 ปี และเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ เราคิดว่า 2 ชั่วโมงที่นั่งสนทนากับราซิน่าร์นั้นผ่านไปเร็วจนน่าตกใจ อย่างที่บอก 25 ปีถือว่าไม่น้อยเลยหากมองว่า Bangkok Festivals นั้นกำลังทำภารกิจในประเทศที่ศิลปะการแสดงและดนตรีตะวันตกยังต้องการได้รับการปลูกฝังอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง 

คำถามสำคัญที่เราสงสัยคือ ในเมื่อธุรกิจนี้เต็มไปด้วยความยากและความซับซ้อน ทำไม Bangkok Festivals ถึงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปท่ามกลางความท้าทายขนาดนี้

“ใครไม่ชอบความท้าทายบ้าง” เธอตอบกลับทันที “เราคิดว่าชีวิตคือความท้าทาย เราคิดแต่ว่าเราต้องทำให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ ขนาดช่วงโควิด-19 เรายังนั่งในห้องประชุมนี้เป็นชั่วโมง และประชุมกับหมอเพื่อดูความเป็นไปได้ เพราะเราไม่อยากให้คนไทยพลาดโอกาสดีๆ ในการชมการแสดงระดับโลกที่มันมีค่ามากต่อมุมมองการใช้ชีวิตและจิตใจ

“เรายังชวนหมอไปดูด้วยนะ หมอยังแปลกใจว่าประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ เขาเคยเห็นแต่ที่เมืองนอก เราเลยคิดว่าเรายิ่งต้องทำให้ใหญ่ขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้มันสนุกและเข้าถึงทุกคนกว่าเดิม เพื่อสนับสนุนศิลปะ สนับสนุนศิลปินทุกคน และเปิดโอกาสให้ศิลปะเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของชีวิตคนไทยให้ได้” ราซิน่าร์ทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ
Website: bangkokfestivals.com
Facebook: BangkokFestivals
Instagram: bangkokfestivals
Line OA: @Bangkokfestivals

อยู่ที่ไหนก็เจริญ เมื่อชุมชน LGBTQ+ เปลี่ยนย่านผุพังเป็นทำเลทอง 

เมื่อเราเริ่มพ้นยุคที่สังคมเหยียดและแบ่งแยกเกย์หรือก็คือกลุ่มเพศหลากหลาย เรามีไพรด์พาเรดและการฉลองเดือนไพรด์รวมถึงความหวังต่อกฎหมายในการสมรสเพื่อรับรองความรักทุกรูปแบบ เราอาจมีคำกล่าวขำๆ ว่า ชุมชนเกย์สัมพันธ์กับความเจริญ ที่ไหนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นั่นมักจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

และในคำกล่าวจากการสังเกตไม่ว่าจะด้วยว่าสังคมนั้นมีความก้าวหน้าจึงยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือคุณสมบัติของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่นำไปสู่การพัฒนาในมิติต่างๆ งานวิจัยเองก็ดูจะให้คำตอบที่สอดคล้องกัน คือในพื้นที่ที่มีครัวเรือนเพศหลากหลายหนาแน่น พื้นที่นั้นมักจะมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ก่อนอื่นต้องชวนนึกภาพก่อนว่า ประวัติศาสตร์ที่เรากำลังย้อนไปดูเป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้คือราวทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่การต่อสู้ของกลุ่มเพศหลากหลายเข้มข้น มีการเหยียด กีดกันและทำร้ายร่างกายกันอย่างจริงจังและรุนแรง ทว่าในประวัติศาสตร์ต่อสู้นี้ การก่อตัวขึ้นของย่านที่ใหญ่จนกลายเป็นหมู่บ้านของผู้มีความหลากหลายเพศที่เราอาจจะเรียกลำลองว่า gay village หรือ gayborhood ที่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความเกลียดชังนั้น พื้นที่เมืองที่เหล่าเกย์และเลสเบี้ยนใช้เพื่อหลบความรุนแรงและความเกลียดชังจนเรียกว่าเป็นบ้านและชุมชนของตนนั้น กลับนำไปสู่ด้านกลับและเป็นบทเรียนของการพัฒนาเมืองได้อย่างน่าสนใจ 

ชุมชนเกย์นั้นมักเกิดขึ้นจากการรวมตัวในย่านที่เรียกว่าเป็นย่านเสื่อมโทรม จากข้อจำกัดและการกดเหยียดจากสังคม ย่านเหล่านั้นมักถูกเนรมิตให้กลายเป็นพื้นที่ของชีวิต ของความเป็นชุมชน และเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะและกิจการที่เฉพาะตัวโดยเฉพาะกิจการสร้างสรรค์ ย่านเกย์กลายเป็นตัวแทนของรสนิยมและดึงดูดคนที่มีไลฟ์สไตล์เฉพาะ สุดท้ายจากปัญหาของชุมชนที่สู้กับสายตาของผู้คน ย่านเกย์จึงนำไปสู่ปัญหาใหม่คือชุมชนที่ทำให้ที่ดินแพงเกินไปจนเรียกล้อว่าเป็นภาวะ gaytrification 

จาก Ghetto สู่พื้นที่ปลอดภัย

ปรากฏการณ์ย่านเกย์ที่ขยายตัวกลายเป็นย่านที่ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่กินดื่มแต่กลายเป็นย่านพักอาศัย กลายเป็นชุมชนเฉพาะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในช่วงทศวรรษ 1920 คือเกิดย่านเกย์แห่งแรกของโลกขึ้นที่กรุงเบอร์ลินในสมัยที่เยอรมนียังเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) และย่านเกย์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ทั้งในยุโรปและโดยเฉพาะย่านเกย์ในอเมริกา เช่นกรณีความรุนแรงและการที่ผับสโตนวอลในกรีนวิชวิลเลจ (Greenwich Village) กลายเป็นศูนย์กลางชุมชนและการต่อสู้ของเกย์ในระดับโลก ในการก่อตัวขึ้นนี้ ชุมชนเกย์ค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายกันในการก่อรูปร่างขึ้นซึ่งและค่อนข้างเป็นบทเรียนด้านกลับของการพัฒนาและการฟื้นฟูเมือง

ในภาพรวม การก่อตัวขึ้นของย่านเกย์มักเกิดขึ้นจากกิจการโดยเฉพาะผับ บาร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชาวเกย์โดยเฉพาะ พื้นที่กินดื่มนั้นแง่หนึ่งเป็นเหมือนที่หลบภัยของชาวเกย์จากสังคมภายนอก เมื่อเกิดกิจการแล้ว ชาวเกย์จึงมีแนวโน้มค่อยๆ ลงหลักปักฐาน จากกิจการหนึ่งสู่กิจการอื่นๆ ขยายไปจนกลายเป็นการลงหลักปักฐาน กลายเป็นชุมชนที่มีความแข็งแรงในท้ายที่สุด

เบอร์ลิน ทศวรรษ 1920

ทีนี้ ในยุคก่อนปี 2000 ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง พื้นที่ที่ชาวเกย์ก่อตัวกันขึ้นมักจะเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมของเมือง ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่สูง และพื้นที่อื่นๆ ที่พัฒนาแล้วไม่ต้อนรับชุมชนเกย์ ในเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจเช่นพื้นที่ทั่วไปมีราคาสูงเกินไป เกินวงเงินที่คนเพศหลากหลายจะสามารถกู้เพื่อครอบครองและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ได้ ดังนั้นกลุ่มเกย์ในสมัยนั้นไม่ว่าจะเข้าครอบครองเพื่ออยู่อาศัยหรือเปิดกิจการของตนจึงมักเลือกสินทรัพย์ที่มีราคาถูก อาจจะเป็นอาคารเก่าๆ เสื่อมโทรม และกันงบบางส่วนไว้เพื่อใช้สำหรับปรับปรุง

ความพิเศษของชุมชนเกย์ที่ก่อตัวขึ้นรวมถึงกิจการจึงเป็นเหมือนการปรับสิ่งที่เป็นแง่ลบให้กลายเป็นพื้นที่เพื่อการเติบโต นิยามหนึ่งของชุมชนเกย์ในยุคแรกที่สายตาคนนอกมองเข้ามามีลักษณะเหมือนพื้นที่ที่เรียกว่า ghetto คือเป็นเขตจำกัดเฉพาะที่กลุ่มเกย์รวมตัวและอยู่อาศัย นัยหนึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ปิดล้อม เป็นพื้นที่ทิ้งร้างที่ถูกละเลยจากสังคมอื่นๆ ที่ยังมีลักษณะเหยียดเพศอยู่ แต่ทว่าในการก่อตัวขึ้นจากภาวะจำเป็นกลับทำให้พื้นที่เล็กๆ กลายเป็นพื้นที่ชุมชนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ในที่สุดด้วยลักษณะเฉพาะของชุมชนเพศหลากหลาย ภาพที่เราอาจจะมองเห็นคือการที่กลุ่มเกย์เข้าซื้อบ้านหรืออาคารโทรมๆ และเปลี่ยนให้กลายเป็นกิจการ บนถนนที่มีนัยของอิสรภาพและเสรีภาพ ย่านเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัย เป็นถนนที่กิจการการค้าเฟื่องฟูขึ้น จากย่านที่ก่อตัวจากความจำเป็นจึงกลายเป็นย่านที่กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของเมืองและดึงดูดผู้คนใหม่ๆ เข้ามา

ความก้าวหน้าในไวมาร์ 

ภาพของความเป็นย่านเกย์ที่เจริญรุ่งเรือง มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างน่าประหลาดใจคือ ย้อนไปในปี 1920 ที่กรุงเบอร์ลิน สมัยที่เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐที่เรียกว่าไวมาร์ ในช่วงปี 1911-1933 คือก่อนที่นาซีจะเรืองอำนาจ สาธารณะไวมาร์นับได้ว่าขับเคลื่อนโดยความคิดที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย ในยุคที่การเป็นเกย์ผิดกฎหมายเกือบทั่วโลก รัฐสภาเยอรมันในขณะนั้นเกือบจะผ่านกฎหมายยกเลิกให้การรักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย

ในเบอร์ลินเองก็เกิดย่านเกย์ขึ้นเป็นครั้งแรกและกลายเป็นหัวใจของชุมชนเกย์ในระดับโลก ถ้าเราจำได้ ทศวรรษ 1920 เป็นยุคแห่งความหวือหวาเรียกว่า roaring twenties ในกระแสเสรีนิยมนำไปสู่การปลดแอกผู้หญิงโดยเฉพาะในเรื่องเพศ ผู้คนมีอิสระในเนื้อตัว เกิดการเที่ยวยามค่ำคืน และแน่นอน ในยุคนี้สิทธิของคนรักเพศเดียวกันเริ่มชัดเจนขึ้น ที่สาธารณะไวมาร์ดูจะก้าวหน้ากว่าเพื่อน ที่มั่นสำคัญในยุคนั้นคือย่านเชินแบร์ค (Schöneberg) ย่านเกย์แห่งแรก คำว่าย่านเกย์นี้คือการที่ย่านย่านหนึ่งมีการรวมตัวและใช้ชีวิตในฐานะเกย์อย่างเปิดเผย 

นึกภาพบรรยากาศของยุค 1920 วัฒนธรรมเกย์ ผับบาร์เฉพาะ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและแสงวิบวับ ในย่านเชินแบร์คเองก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายกันคือเริ่มที่บาร์และโรงแสดงคาบาเรต์เช่นบาร์ชื่อ Eldorado ไปจนถึงบาร์ของเลสเบี้ยนที่ในที่สุดกลายเป็นพื้นที่ที่เหล่าหญิงสาวหัวก้าวหน้าและคนดังเข้ามากินดื่มและใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยแสงระยับของกากเพชร ในยุคนั้นการแสดงเช่นแดร็กโชว์รวมถึงดารานับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนยอมรับกระทั่งยกย่องในฐานะดาว

ย่านเชินแบร์คเฟื่องฟูขนาดไหน ในใจกลางของย่านมีจัตุรัสเรียกว่า Nollendorfplatz ในปี 1922 ที่จัตุรัสแห่งนี้มีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์ขึ้นโดยนับว่าเป็นการเดินขบวนครั้งแรกของโลก ในทศวรรษ 1920 นับแค่ถนนบริเวณสถานี Nollendorfstrasse มีตัวเลขว่าในช่วงนั้นแค่ถนนสายบริเวณสถานีมีกิจการและที่พักอาศัยของชาวเกย์กว่า 40 กิจการ ย่านเชินแบร์คมีทั้งโรงละคร มีร้านรวง และมีกระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ในยุคนั้นย่านเชินแบร์คถือว่าหวือหวามาก ไม่ใช่แค่เกย์ แต่ตัวตนและชีวิตของเลสเบี้ยนเองก็ค่อนข้างเปิดเผย มีที่ท่องเที่ยว นิตยสาร บางคลับเช่น Nationalhof เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมจากการประชุม การบรรยายของ ‘Bund für Menschenrechte’ (Association for Human Rights) ไปจนถึงจัดลานเต้นรำของสุภาพสตรีเท่านั้น

จุดเรืองรองของความหลากหลายทางเพศในเยอรมนีก้าวไปในหลายระดับ จนถึงการเตรียมแก้ไขกฎหมายในรัฐสภาคือการแก้ Paragraph 175 ไม่ให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมอีกต่อไปในปี 1929 แน่นอนว่าฝั่งขวาจัดชาตินิยมโดยการผงาดขึ้นของนาซีในปีเดียวกันนั้นก็มีผลมาจากความเคลื่อนไหวนี้ เมื่อนาซีเรืองอำนาจ การรักเพศเดียวกันจึงกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนเข้าค่ายกักกันพร้อมกับชาวยิว ยุครุ่งเรืองของทศวรรษ 1920 จึงจบลงก่อนจะฟื้นฟูขึ้นใหม่ในทศวรรษ 1960

The Pink Economy และ Gaytification

หลังจากจักรวรรดินาซีทำให้ดินแดนเกย์ในเบอร์ลินล่มสลายไปหลายทศวรรษ การก่อตัวขึ้นและการต่อสู้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศค่อนข้างเฟื่องฟูและเป็นที่จับตาในสหรัฐฯ เราอาจนึกภาพที่มั่นสำคัญคือบาร์สโตนวอล พื้นที่ความรุนแรงที่กลายเป็นหมุดหมายการต่อสู้ในปลายทศวรรษ 1960 ตัวบาร์แห่งนี้ทำให้ย่านกรีนวิชวิลเลจกลายเป็นชุมชนเกย์ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือราคาอสังหาฯ ในกรีนวิชพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้ชาวเกย์บางส่วนต้องย้ายออกและย้ายไปในย่านเชลซี (Chelsea) ผลคือภายหลังราคาอสังหาฯ ในเชลซีก็แพงขึ้นจนเกือบจะเท่าที่กรีนวิช

ในมุมของการพัฒนา มีสื่อนิยามกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นในฐานะมุมที่กลับด้านและเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจสีชมพู (The Pink Economy) ในบทสัมภาษณ์บริษัทด้านตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Inc.) ย้อนกลับไปชี้ให้เห็นว่าการก่อตัวของย่านเกย์ในทศวรรษ 1920-1930 เป็นมุมกลับที่นักผังเมืองได้เรียนรู้ คือแต่เดิมจะเชื่อว่าการพัฒนาหรือการฟื้นฟูย่านเกิดจากการสร้างที่อยู่อาศัยที่คนจ่ายได้ (affordable housing) และรอให้คนมาอยู่โดยคาดว่าจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่เศรษฐกิจสีชมพูทำให้เห็นว่ากิจการเฉพาะเช่นร้านหนังสือ บาร์ และกิจการบันเทิงที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเป็นสิ่งที่เกิดก่อน หลังจากนั้นการลงหลักปักฐานจึงตามมา กลายเป็นชุมชนในเวลาต่อมา

ความน่าสนใจของภาพความเคลื่อนไหวและการก่อตัวขึ้นของชุมชนเกย์ใหม่ในอเมริกาช่วงหลังทศวรรษ 1960-1970 บริบทในช่วงนั้นทั้งกรณีที่สโตนวอล การก่อตัวขึ้นของชุมชนและการต่อสู้เรียกร้องที่กระจายตัวขึ้นทั่วอเมริกา ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 คือก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปี 2000 ชุมชนเกย์ยังถูกเหยียดอยู่แต่ก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะชัดขึ้น บางส่วนสัมพันธ์กับการเปิดตัวของชาวเกย์และเข้าไปมีบทบาทในวงการนายหน้าและอสังหาฯ 

กรีนวิชวิลเลจ เมืองนิวยอร์กซิตี้, 2016

ในช่วงนั้น gentrification เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นดาบสองคม คือการที่เกย์ทั้งชายและหญิงไปตั้งถิ่นฐานจนสุดท้ายราคาอสังหาฯ แพงและต้องย้ายออก การพัฒนาเมืองจนเกิดการขับไล่ผู้มีรายได้น้อยออกไปเกิดขึ้นทั้งในบอสตัน ชาวเกย์ต้องย้ายออกไปที่เขตเซาท์เอนด์ (South End) เลสเบี้ยนย้ายไปที่จาไมก้าเพลน (Jamaica Plain) ชิคาโกเองย้ายไปที่แอนเดอร์สันวิลล์ (Andersonville) บางส่วนเช่นกลุ่มเกย์ที่มีรายได้น้อยก็ย้ายไปตั้งชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ไปใกล้ชิดธรรมชาติ ตัวเลขรายงานในทศวรรษส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกันคือพื้นที่ที่มีครัวเรือนของครอบครัวหลากหลายมักมีราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่นรายงานในปี 2019 ระบุว่าพื้นที่เช่น North Banker’s Hill ของซานดิเอโกที่มีครัวเรือนของครอบครัวเพศเดียวกันหนาแน่นที่สุดมีราคาบ้านที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยถึง 25% หรือย่านกรีนวิชอันเป็นที่ตั้งของสโตนวอลก็ขึ้นแท่นย่านที่แพงที่สุดอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ

ประเด็นเรื่องการขับไล่ผู้คนและปัญหามูลค่าที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นก็เลยกลายเป็นอีกปัญหาใหม่ภายในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการที่เราพูดถึงกลุ่มเกย์ในฐานะกลุ่มคนที่กระตุ้นการพัฒนาเมือง คือเราเองก็ต้องระวังเพราะเรากำลังให้ภาพและให้ค่าเกย์บางกลุ่ม คือกลุ่มคนผิวขาวที่ได้รับการศึกษาดี มีรสนิยม และเป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ ในภาพรวมของผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ ความยากจน และการเข้าไม่ถึงโอกาสอยู่

ดังนั้นถ้าเรามองย้อนไป ในพื้นที่ชุมชนเกย์แต่แรกนั้นนับเป็นเหมือนการก่อตัวขึ้นของพื้นที่ปลอดภัย ในพื้นที่ชุมชนมักมีความเป็นชุมชนสูง ผู้คนเกื้อกูลและยืนหยัดเพื่อกันและกัน ต่อสู้กับการกดเหยียดกระทั่งความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมจากภายนอก เป็นพื้นที่อิสระที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ถึงจุดหนึ่งย่านเกย์กลายเป็นปลายทางของการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแสงสีและกลุ่มคนที่มีรายได้สูงซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่เมืองในเวลาต่อมา

เชินแบร์ค เมืองเบอร์ลิน, 2022

ทั้งนี้ตัวปรากฏการณ์ย่านเกย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง สัมพันธ์กับบริบททางสังคมคือความเปิดกว้าง การก่อตัวขึ้นเกิดจากการไม่ยอมรับแล้วจึงค่อยๆ ก่อให้เกิดการพัฒนา ในบางประเทศเช่นสวีเดนที่ออกกฎหมายรับรองเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 1944 พื้นที่รวมตัวและอยู่อาศัยเฉพาะจึงไม่มีความจำเป็น ย่านเกย์ก็เลยไม่ปรากฏเป็นพื้นที่เฉพาะที่สวีเดน ลักษณะดังกล่าวก็อาจจะทำให้เห็นการคลี่คลายของย่านเกย์ในฐานะพื้นที่เฉพาะและบทบาทการพัฒนาเมืองและเขตเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงในยุคปัจจุบัน คือเราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกอีกต่อไป ไม่ว่าคนเพศไหนก็สามารถใช้สาธารณูปโภคร่วมกันได้

ทว่า สุดท้าย แม้ว่าสังคมอาจจะก้าวไปสู่การยอมรับ แต่ทว่าปัญหาการกีดกันและอคติทางเพศ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิและสาธารณูปโภคต่างๆ ก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการความสนใจและการก้าวไปข้างหน้าต่อไป เรายังคงพูดถึงเรื่องกฎหมายการสมรสและมุมมองต่อครอบครัวหลากหลาย ประเด็นเรื่องสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่อาจจำเป็นเช่นการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เรื่องเล็กๆ เช่นห้องน้ำที่แบ่งแยกเพศ ไปจนถึงประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่แตกต่างหลากหลาย พื้นที่เมืองที่ทุกความรักสบายใจที่จะแสดงตัว ที่ทุกคนเดินจูงมือกันได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย

อ้างอิง

10 วิธีคิดที่ทำให้ Copper Beyond Buffet มีคนยอมรอคิวนานข้ามเดือน

สำหรับลูกค้าที่เลือกเดินเข้าร้านอาหารบุฟเฟต์ แน่นอนว่าความคาดหวังแรกมักเป็นเรื่องปริมาณ เน้นดื่มด่ำอาหารในปริมาณมากไว้ก่อน และนั่นทำให้ร้านอาหารบุฟเฟต์ส่วนใหญ่จึงต้องโฟกัสที่เรื่องปริมาณตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอ เตรียมเมนูให้หลากหลาย เพื่อจูงใจและสร้างแรงดึงดูดแก่ลูกค้า

แต่มีร้านบุฟเฟต์ร้านหนึ่งที่ไม่เพียงเน้นเรื่องปริมาณ แต่ยึดถือเรื่อง ‘คุณภาพ’ มาเป็นแนวคิดหลักในการประกอบธุรกิจ

เรากำลังพูดถึง ‘Copper Buffet’ ร้านบุฟเฟต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าในเรื่องคุณภาพอาหารและบริการ ด้วยวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรอย่างดี ไปจนถึงบริการที่แตกต่าง Copper Buffet จึงกลายเป็นร้านบุฟเฟต์ที่แม้จะต้องรอคิวนานข้ามเดือนก็ยังคงมีลูกค้ายอมต่อคิวรอ

ปีนี้เป็นขวบปีที่ 7 ของ Copper Buffet และเป็นปีที่แบรนด์ได้ปรับโฉมใหม่ด้วยการขยับขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าให้ได้มากกว่าเดิม พร้อมรีโนเวตร้านด้วยการออกแบบใหม่และเปลี่ยนคอนเซปต์ร้านเป็น ‘Beyond Buffet’ เพื่อบอกว่าอาหารอร่อยต้องมาพร้อมกับบรรยากาศที่ดีที่สุดที่ช่วยสร้างประสบการณ์ในการกินดื่ม จาก Copper Buffet จึงกลายมาเป็น Copper Beyond Buffet ที่ใหม่และไฉไลกว่ายิ่งขึ้น

แต่กว่าจะยืนระยะมาได้ถึงขวบปีที่ 7 และรักษาคุณภาพให้มีมาตรฐานได้เรื่อยมา แบรนด์ร้านอาหารบุฟเฟต์นานาชาติแห่งนี้มีวิธีคิดเช่นไร และใช้กลยุทธ์ใด Capital List ตอนนี้จะพาไปถอด 10 วิธีคิดของ ‘เกษมสันต์ สัตยารักษ์’ ผู้จัดการและผู้บริหารแบรนด์ ที่ได้บุกเบิก Copper Beyond Buffet จนเป็นร้านที่คอบุฟเฟต์กล่าวขวัญถึง และคนกลับมากินซ้ำเรื่อยๆ

1. ถือคติทำได้และทำได้ดีกว่า 

ด้วยบุฟเฟต์นานาชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงแรม แพตเทิร์นจึงจะคล้ายกัน ทำให้ตัวเกษมสันต์ที่มีประสบการณ์การทำไฟน์ไดนิงและทำร้านอาหารมาเกือบ 20 ประเภท อยากสร้างความแตกต่าง เมื่อสมศักดิ์ พินิจศักดิ์กุล เจ้าของร้านเอ่ยถามว่า “อยากจะทำร้านแบบนี้บ้าง ทำแบบนี้ได้ไหม” ณ วันนั้นเกษมสันต์จึงตอบกลับไปว่า “ทำได้ครับ แต่แบบนี้ผมไม่ทำ ผมทำได้ดีกว่านี้” นั่นจึงเป็นที่มาของ Copper Buffet ในวันแรก ที่เป็นร้านอาหารบุฟเฟต์นานาชาติที่เน้นเสิร์ฟแบบไฟน์ไดนิง

2. นำข้อมูลมาประมวลผลกับธุรกิจ 

ก่อนจะเริ่มทำร้าน ตัวเกษมสันต์ได้ทดลองลิ้มรสชาติของอาหารบุฟเฟต์หลากหลายประเภท ตระเวนกินตั้งแต่บุฟเฟต์ริมทาง บุฟเฟต์ซีฟู้ด บุฟเฟต์ชาบู บุฟเฟต์ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อจะได้เห็นกระบวนการว่าประกอบด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง แล้วแต่ละร้านมีวิธีการยังไง โดยเก็บข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เช่นลองกินกุ้งแม่น้ำเพื่อที่จะดูว่าหากกินกุ้งแม่น้ำเพียงอย่างเดียวจะกินปริมาณเท่าไหร่ เพื่อนำข้อมูลจากประสบการณ์มาวิเคราะห์และประมวลผลกับธุรกิจ

3. ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

หากใครเคยไปกิน Copper Beyond Buffet คงได้รับประสบการณ์ที่คล้ายกัน นั่นก็คือการได้กินอาหารที่แต่ละจานมีคุณภาพสูงกว่าร้านบุฟเฟต์ทั่วไปและใช้วัตถุดิบพรีเมียม และเสิร์ฟไวไม่รอนาน เพราะที่นี่ถือคติว่าต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า จะไม่ดึงเวลาเสิร์ฟโดยที่ยังคงคุณภาพของอาหารไว้ด้วย

ซึ่งตรงกับที่เกษมสันต์เคยเล่าไว้ว่า “อย่าไปดึงเวลาการเสิร์ฟให้ช้าลง เหมือนบุฟเฟต์บางที่ที่อาหารไม่ออกบ้าง ดึงเวลาออกให้ช้าลงบ้าง แล้วก็ขอให้ซื่อสัตย์สุจริต สุดท้ายก็คือทำทุกอย่างให้ลูกค้าพึงพอใจ”

4. ลองผิดลองถูก

ด้วยจุดเริ่มต้นที่มีโจทย์ค่อนข้างยากว่าต้องการเป็นบุฟเฟต์นานาชาติที่แตกต่างและเป็นไฟน์ไดนิง ทำให้ 5-6 เดือนแรกของธุรกิจเป็นไปอย่างไม่ราบเรียบและขาดทุนหลักล้าน เนื่องจากราคาวัตถุดิบกินต้นทุนไปกว่า 80% และราคาอาหารหัวละ 760 บาท ก่อนจะแก้ด้วยการลองปรับราคาใหม่ และด้วยเกษมสันต์ไม่มีประสบการณ์การทำการตลาดผ่านโซเชียลฯ วิธีการคือลองผิดลองถูก โดยเริ่มจากการจ้างเอเจนซีแต่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

5. หากไม่รู้ต้องเพิ่มพูนความรู้ 

หลังจากใช้เอเจนซีแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ สุดท้ายด้วยวิธีคิดที่ว่าหากไม่รู้ต้องเพิ่มพูนความรู้ เกษมสันต์จึงไปเรียนการทำโซเชียลมีเดียมาร์เกตติ้งเอง จากคนที่ไม่รู้จักโซเชียลฯ มาก่อน จึงได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้เข้าใจว่าโซเชียลฯ คืออะไร และนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาโจทย์ที่อยากทำให้ลูกค้าได้เห็น ได้รู้จักแบรนด์ จนในที่สุดผลตอบรับด้านยอดขายก็เปลี่ยนไปเป็นบวก

6. พิถีพิถันในทุกรายละเอียด

โดยทั่วไปร้านบุฟเฟต์ส่วนใหญ่มักจะเน้นเพียงแค่เรื่องปริมาณและอาจไม่พิถีพิถันเรื่องคุณภาพ สิ่งนี้จึงกลายมาเป็นวิธีคิดให้ Copper Beyond Buffet พิถีพิถันในทุกรายละเอียดและในอาหารทุกจานที่เสิร์ฟ

“ถ้าลูกค้าได้กินของอร่อยได้กินของร้อนๆ มันก็ดีกว่า อันนี้คือสิ่งที่เราคิด เหมือนสปาเกตตี้ เราผัดทีละจาน ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนั้นอยู่ หรือย่างเนื้อนี่เราไม่ย่างล่วงหน้านะ คืออาหาร Copper เราเรียกว่าคราฟต์บุฟเฟต์ ก็คือทำจานต่อจาน ทำที่ต่อที่”

7. หาวิธีการที่แตกต่างแต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

แน่นอนว่าการทำร้านอาหาร อาหารต้องอร่อย ร้านบุฟเฟต์นานาชาติก็เช่นกัน แต่คำตอบคือจะอร่อยยังไงให้แตกต่าง 

สำหรับคอปเปอร์คือ ‘อร่อย’ และ ‘คุ้มค่า’ วิธีการของร้านแห่งนี้จึงเป็นการเสิร์ฟแบบไฟน์ไดนิง ทำทีละจาน เสิร์ฟทีละจาน เพื่อให้อาหารยังคงรสชาติที่ดี มากไปกว่านั้นคือบรรยากาศภายในร้านต้องสวย ดีไซน์เก๋ 

.“ร้านเราตกแต่งสวย เราให้อินทีเรียร์ระดับโลกซึ่งเป็นคนไทยมาออกแบบ มันเลยออกมาเป็นทั้งอร่อยและคุ้มค่า”

8. ความรู้สึกลูกค้าสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง 

อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าเมื่อแรกเริ่มธุรกิจขาดทุนหลักล้าน เนื่องจากวัตถุดิบต้องดีทำให้มีราคาสูง ประกอบกับค่าบริการที่ไม่สัมพันธ์กับต้นทุน แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคอปเปอร์ให้ความสำคัญกับความรู้สึกลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง

“เวลาคิดเมนูของ Copper ยังไม่ได้คิดเรื่องผลกำไรหรือต้นทุนมาก่อน แต่เราคิดว่า ถ้ามีเมนูนี้ลูกค้าแฮปปี้ไหม เมนูนี้ลูกค้าเขาจะตื่นเต้นไหม เขาจะรู้สึกว่าเขาคุ้มไหม อันนั้นคือสิ่งที่เราหา สิ่งที่เราทำ”

9. มองหาโอกาสในวิกฤต

ในช่วงโควิดที่เกิดวิกฤตหนักและร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง ด้วย Copper มีเพียงหนึ่งสาขาและมีแค่หน้าร้าน แน่นอนว่าธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส จากที่ไม่เคยทำเดลิเวอรีมาก่อน Copper แก้เกมด้วยการกระโดดเข้าไปให้บริการผ่านเดลิเวอรี นอกจากจะช่วยให้ยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ การทำเดลิเวอรียังพา Copper ได้ไปเจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และเมื่อสถานการณ์ปกติ ลูกค้าจากเดลิเวอรีก็กลายมาเป็นลูกค้าหน้าร้าน 

10. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและทำให้สำเร็จ

เป้าหมายแรกของเกษมสันต์ที่ตั้งไว้ในตอนเริ่มทำแบรนด์คือการปฏิวัติวงการบุฟเฟต์นานาชาติของไทย และด้วยหลักการและวิธีคิดที่ชัดเจนและยึดมั่นมา ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ได้เดินทางมา ระหว่างทางได้เห็นหลายๆ แบรนด์ก้าวเข้ามาทำบุฟเฟต์นานาชาติ ซึ่งแม้ Copper จะเป็นร้านที่เปิดฝั่งธนฯ และตั้งอยู่ในคอมมิวนิตี้มอลล์ที่เงียบเหงา แต่วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เหงาอย่างที่คิด

Le Creuset เครื่องครัวฝรั่งเศสที่อยากให้คุณจ่ายเงินแค่ครั้งเดียวแต่มีเครื่องครัวใช้ตลอดไป

หนึ่งในคำถามคลาสสิกที่เป็นอภิมหาปรัชญาของโลกใบนี้คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า

 “อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเรามีความสุข?”

มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเคยเก็บข้อมูลที่ยาวนานที่สุดเป็นเวลา 85 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 700 กว่าคน สรุปความได้ว่าความสุขมาจากการรู้จักปล่อยวางและการรักษาสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มากไปกว่านั้นคือการเก็บเกี่ยวความรื่นรมย์เล็กน้อยในชีวิตไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน

โยงไปถึงเรื่องการทำอาหาร ส่วนใหญ่แล้วความสุขของคนทำกับข้าว คือ การได้เห็นจานสะอาดเกลี้ยงเพราะคนกินโกยข้าวทุกเม็ดในจานใส่ปากจนหมด หรือใบหน้าเปื้อนยิ้มจากคนชิม หรืออาจจะเป็นคำเอ่ยชมพร่ำพรรณนาอย่างไม่หยุดปากถึงคนทำกับข้าวว่าอาหารจานนี้มันอร่อยเด็ดขนาดไหน

นั่นคือปลายทางของความสุขของคนทำอาหาร

แต่พ่อครัวแม่ครัว ทั้งมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นต่างทราบกันดีว่า ความสุขจากการทำกับข้าวสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการทำอาหาร หรือในทุกขณะที่ทำอาหารอยู่ เชฟมิชลินระดับโลกหลายคนยังคงโฟกัสกับการราดซอสลงบนจานสเต๊กทุกจานมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ราวกับว่ามันยังเป็นวันแรกที่เขาทำงาน เพราะเวทมนตร์แห่งความสุขในการทำอาหารยังคงอยู่เสมอทุกครั้งที่เขาได้เข้าครัว

มีแบรนด์เครื่องครัวจากฝรั่งเศสแบรนด์หนึ่งทราบดีถึงความสุขของคนทำครัว และอยากจะให้คนทำครัวมีความสุขที่สุดระหว่างปรุงอาหาร และนั่นคือจุดกำเนิดของ Le Creuset

Le Creuset คือแบรนด์เครื่องครัวสัญชาติฝรั่งเศส ขายภาชนะเครื่องครัวต่างๆ ทั้งหม้อ กระทะ จานชาม ถ้วยน้ำ สปาตูล่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1925 ถือเป็นแบรนด์เครื่องครัวที่บุกเบิกการใช้สีสันในข้าวของเครื่องใช้ในห้องครัว โดยปัจจุบันมีสีทั้งหมดให้เลือกมากกว่า 50 สี ด้วยเหตุผลที่ Le Creuset บอกไว้ว่า เพราะอยากให้ลูกค้าได้เลือกสีของเครื่องครัวที่เหมาะกับบุคลิกของคุณมากที่สุด

เพราะขนาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เรายังอยากสวมใส่สิ่งที่เหมาะกับร่างกายและความชอบส่วนตัวของเรา แล้วเครื่องครัวที่ต้องเป็นอาวุธคู่กายคนทำอาหารก็คงเหมือนกระบี่คู่มือของจอมยุทธ์ ทุกครั้งที่เชฟต้องร่ายรำเพลงครัวถ้าได้อุปกรณ์เครื่องครัวที่สีสันตรงกับจริตของคนทำอาหาร มันคงเพิ่มดีกรีความมั่นใจและความสุขให้แก่คนทำครัวได้ไม่น้อย

สีสันที่เป็นที่พูดถึงของ Le Creuset มีมากมาย ตั้งแต่สีส้มดุจลาวาของภูเขาไฟอย่างสี Volcanique ไปจนถึงสีชมพูแสนอ่อนหวานอย่างสี Chiffon Pink

นอกจากสีสันและรูปทรงภายนอกที่ออกแบบมาอย่างดีแล้ว สิ่งที่ Le Creuset ให้ความสำคัญที่สุดคือความทนทานในการใช้งาน!

เนื่องจากภาชนะในครัวต่างๆ ของ Le Creuset มีตั้งแต่วัสดุที่ทำมาจากเหล็กหล่อ, เซรามิกผสมหิน, ซิลิโคน, กระเบื้อง ฯลฯ เอาเป็นว่าใช้วัสดุมากมายหลากหลายเพราะ Le Creuset เป็นแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์เครื่องครัวมากมาย แต่หลักการที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่อยากจะให้ภาชนะในครัวเรือนของลูกค้าที่ซื้อไปแข็งแรงทนทาน Le Creuset จึงให้ความสำคัญและพิถีพิถันในการผลิตเป็นอย่างสูง

ว่ากันว่าก่อนที่เครื่องครัวของแบรนด์นี้แต่ละชิ้นแต่ละอันจะออกมาวางขายได้ จะต้องถูกตรวจสอบความเรียบร้อยจากพนักงานของ Le Creuset ประมาณ 15 คน เท่ากับว่าเครื่องครัวแต่ละชิ้นต้องผ่านมาตรฐานของสายตาคนทั้ง 15 คู่ก่อนจะออกมาเป็นสินค้าที่วางขายได้

เมื่อขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าต้องผ่านคนจำนวนมากหลักสิบคน และเครื่องครัวแต่ละชิ้นสามารถถูกปัดตกได้โดยพนักงานผู้ตรวจสอบคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น Le Creuset จึงมีเรตการคัดของที่ไม่ได้คุณภาพออกจำนวนสูงถึง 30% ของการผลิต

สมมติว่าผลิตหม้อเหล็กหล่อมา 100 ใบ ก็มีอัตราการคัดหม้อที่ไม่ได้มาตรฐานออกถึง 30 ใบ เท่ากับว่าขายจริงได้เพียงแค่ 70 ใบเท่านั้น

นอกจากการคัดคุณภาพที่เข้มข้นแล้ว ขั้นตอนผลิตที่อยากจะให้เครื่องครัวของแบรนด์ออกมาทนทานก็สำคัญไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น กระทะเหล็กแต่ละใบใช้เวลาในการผลิตโดยประมาณคือ 10 ชั่วโมง ต่อกระทะ 1 ใบ, หม้อหรือภาชนะรุ่นที่ทำจากเหล็กหลอมของ Le Creuset ก็ทำมาจากเหล็กหลอมจริงๆ คือนำเหล็กมาหลอมในเบ้าแล้วขึ้นทรงเป็นรูปหม้อ และผ่านความร้อนมากกว่าจุดเดือดไปไกลเหมือนกัน (เพราะจุดเดือดของน้ำอยู่ที่ 212 ฟาเรนไฮต์) คือหลอมที่อุณหภูมิ 5,184 ฟาเรนไฮต์

และนั่นคืออีกหนึ่งเหตุผว่าทำไมสีดั้งเดิมของหม้อเหล็กหลอมรุ่นนี้คือสีส้มและชื่อสีคือ Volcanique ที่แปลว่า ลาวาภูเขาไฟ เพราะ Le Creuset คงอยากจะให้คุณลูกค้าสามารถอ้างอิงได้ว่าหม้อสีส้มสดเหล็กหลอมที่คุณถืออยู่นี้คือหม้อที่ถูกหลอมขึ้นมาให้แข็งและทนทานต่อความร้อนดั่งได้นำลาวาภูเขาไฟมาหลอมเป็นหม้อให้คุณได้ใช้งาน

คุณสมบัติทั้งหมดดังว่ามาทั้งการตรวจทานคุณภาพเป็นอย่างดี และทั้งความทนทานของการใช้งานที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ได้นานตลอดไป จึงมาพร้อมกับราคาที่สมเหตุสมผลกับคุณภาพที่พิถีพิถัน โดยราคาของหม้อรุ่น Iron Pot Signature Round ของ Le Creuset 1 ใบราคาอยู่ที่ประมาณ 18,700 บาท หรือถ้าเป็นหม้อต้มซุปลายหัวใจ รุ่น Le Creuset Soup Pot Heart ราคาตกอยู่ที่ 14,500 บาท

คุณภาพที่ดีซึ่งตามมาด้วยราคาที่เหมาะสมของเครื่องครัว Le Creuset จึงอาจทำให้ Le Creuset เป็นเครื่องครัวของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ใช่ว่า Le Creuset จะเน้นผลิตเครื่องครัวที่มีคุณภาพดีและสีสันสวยงามเท่านั้น อย่างที่เกริ่นไว้ว่า แบรนด์ Le Creuset คือแบรนด์ที่เน้นเรื่องการใช้งานแบบทนทาน ดังนั้นการผลิตที่พิถีพิถันและผ่านการพิสูจน์ความร้อนมามากมาย จึงมาพร้อมกับการการันตีตลอดชีวิตการใช้งานของสินค้าอีกด้วย

หมายความว่าหากคุณพบว่ามีจุดบกพร่องใดๆ ที่เกิดจากโรงงาน หรือคุณพบว่าเมื่อใช้งานภาชนะของ Le Creuset ไปสักพักแล้วคุณเพิ่งพบกับจุดบกพร่องใดๆ คุณก็สามารถนำหม้อหรือกระทะของ Le Creuset ของคุณไปเปลี่ยนได้เลยแบบฟรีๆ เพราะ Le Creuset มากับสิ่งที่เรียกว่า lifetime warranty หรือการคุ้มครองตลอดชีวิตนั่นเอง

นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้จ่ายเงินเรือนหมื่นเพียงแค่ซื้อหม้อ แต่คุณกำลังจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อซื้อบริการของ Le Creuset ที่จะดูแลไปตลอดชีวิต

ภาชนะที่สวยงามและมีสีสันอาจทำให้คนทำกับข้าวมีความสุขเมื่อได้อยู่ในครัว แต่ท้ายที่สุดรสชาติของอาหารก็ยังคงต้องการรสมือที่ใส่ใจของคนทำเพื่อให้รอยยิ้มปรากฏอยู่บนหน้าของคนชิมอยู่ดี

อ้างอิง

ทำการตลาดกับคน Gen Z อย่างไรให้ได้ผล ดูอินไซต์ของคนยุคใหม่ เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ทุกวันนี้ที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย หากย้อนกลับไป 6-7 ปีก่อน กลุ่มเป้าหมายของนักการตลาดและแบรนด์คือกลุ่มคนเจนฯ Y และ Millennials แต่ในวันนี้กลุ่มคนเจนฯ Z มีบทบาทมากขึ้น และจะกลายมา main spender ในอนาคต การทำการตลาดจับกลุ่มคนเจนฯ นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

คำถามคือแล้วเหล่านักการตลาด และแบรนด์จะทำการตลาดยังไงให้มัดใจเจนฯ Z

เซสชั่น Marketing to Gen Z: Engaging the New Generation โดย ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของการตลาดวันละตอน บรรยายไว้ในงาน CTC 2023 Festival ให้อินไซต์และเทรนด์ของคนเจนฯ Z ไว้อย่างน่าสนใจ

หากให้คำนิยาม คนเจนฯ Z คือ คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 อายุ 11-26 ปี ที่ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างเดียว แต่มี 4 ช่วงวัยคือ Teenager 11-18 ปี / Explorer 18-22 ปี / First Jobber 22-24 ปี / Senior 24-26 ปี

กลุ่มคนเหล่านี้เกิดและเติบโตมาพร้อมกับสังคมและบริบทโลก 4 ยุค 

ยุค Subprime เป็นยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ มีวิกฤตทางการเงิน จนรู้สึกว่าแค่เกิดมาก็จนแล้ว โอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมเป็นเรื่องยาก 

ยุค Climate Change ในยุคที่คนเจนฯ ก่อนหน้าใช้ทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้คนเจนฯ Z เกิดมาท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ยุค Always-On เกิดมาพร้อมกับยุค 3G ที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ทุกที่ และยุคโควิด-19 ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยครั้งแรก และจบการศึกษาในยุคโควิด ทำให้การหางานเป็นเรื่องยาก

ณัฐพลยังอธิบายต่อว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้พฤติกรรม ทัศนคติ การใช้ชีวิตของกลุ่มคนเจนฯ Z เปลี่ยนแปลงไป สามารถแยกอินไซต์ได้ดังนี้

‘Gen Subscription’ คนเจนฯ Z มีแนวคิดไม่อยากเป็นหนี้ ไม่ต้องการมีภาระ แต่ต้องการเข้าถึงทำให้คนเจนฯ นี้เลือกที่จะ subscription บริการต่างๆ มากกว่า ส่งผลให้ธุรกิจ subscription เติบโตได้ดี รวมทั้งโมเดล BNPL (Buy Now Pay Later) ที่ไม่ต้องมีเครดิตทางการเงินก็สามารถยืมเงินไปใช้จ่ายซื้อของ ซื้อบริการก่อนได้ 

‘Teenpreneur’ คนเจนฯ Z ให้ความสนใจในการเลือกอาชีพของตัวเอง สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้เองผ่านช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าออนไลน์, อินฟลูเอนเซอร์, ยูทูบเบอร์, คอนเทนต์ครีเอเตอร์, TikToker ส่งผลให้เกิด Creator Economy ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นดารา หรือนักแสดงก็สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหารายได้ได้

จากยุคที่เสิร์ชหาข้อมูลผ่านกูเกิล คนยุคนี้เลือกที่จะ lean on TikTok ใช้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มและเสิร์ชเอนจิ้นในการเรียนรู้เป็นหลัก

แม้คนเจนฯ Z จะเติบโตมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตใช้แล้ว แต่พวกเขาเหล่านี้ให้ความสำคัญในเรื่อง digital literacy มากๆ พวกเขาจะเป็นประเภท Salted Data ไม่ได้ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาตรงๆ แต่จะใช้วิธีโพสต์ให้ไม่คิด โพสต์แบบซ่อนบริบท เช่น โพสต์เพลง แต่สื่อไปถึงเรื่องการทำงาน

นอกจากนี้คนเจนฯ Z ยังให้ความสำคัญกับการทำงาน และสวัสดิการ ไม่ใช่ว่าคนเจนฯ นี้ไม่มีความอดทน แต่คนเจนฯ นี้จะยอมทนก็ต่อเมื่อรู้สึกคุ้มค่า เห็นอนาคต มั่นคง เพราะสามารถเลือกเองได้ และยังให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าประสบการณ์ตามอายุ

ส่วนการทำตลาดของแบรนด์เรื่อง loyalty อาจจะไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับกลุ่มคนเจนฯ z แต่คนเจนฯ นี้สนใจเรื่อง political branding มากๆ เลือกซื้อสนับสนุนแบรนด์ที่มีจุดยืนเดียวกัน และแบรนด์ไหนเห็นไม่ตรงกันอาจเกิดแฮชแท็กแบนขึ้น

รวมถึงสนใจแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนที่แค่ทำ CSR อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องคำนึงถึง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) พร้อมกับความยุติธรรมและจริงใจต่อผู้บริโภคด้วย เช่น เมื่อต้นทุนสินค้าขึ้น แบรนด์ปรับราคาขึ้น แต่เมื่อต้นทุนสินค้าลดลง แบรนด์ก็ควรปรับราคาลงเช่นกัน

ข้อมูลต่างๆ ที่เจ้าของเพจการตลาดวันละตอนแชร์บนเวทีน่าจะช่วยทำให้แบรนด์รู้จักและเข้าถึงคนเจนฯ Z และทำการตลาดเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือแต่ละแบรนด์ก็ต้องคอยเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอยู่เสมอ

ศิลปะและธุรกิจใน Long Live Love! ในมุมมองของ มุก ปิยะกานต์ และกิมมิกโปรโมตโดย ระเบิด ธนสรณ์

มุก–ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ เรียกเสียงฮาจากเราตั้งแต่เริ่มการสัมภาษณ์ ด้วยการบอกว่า Long Live Love! หนังเรื่องแรกในชีวิตของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากคุณรุจน์-ป้ารุจน์-ยามรุจน์ ใน เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร ซิตคอมที่เคยสร้างชื่อให้เธอเมื่อหลายปีก่อน

เปรียบเทียบง่ายๆ ตัวละครของ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ คือป้ารุจ V.2 แต่รอบนี้ไม่ได้เวียร์ดและฮาเท่า อันที่จริงซันนี่ในเรื่องนี้เป็นสามีของ ชมพู่–อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่แต่งงานกันมานานจนความสัมพันธ์ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่บังเอิญมีเหตุให้ตัวละครของซันนี่ความจำเสื่อมเสียก่อน ระหว่างนั้นเขาก็ไปเจอรูปถ่ายวิเศษใบหนึ่งที่มอบพลังพิเศษให้เขา นั่นคือการถ่ายรูปแล้วย้อนกลับไปอยู่ในอดีตได้อีกครั้ง

“เราเป็นคนชอบทำงานท้าทาย” ผู้กำกับสาวเอ่ยปาก แน่นอนว่าพล็อตระเบิดเปิดเปิงที่มัดรวมทั้งหนังดราม่า คอเมดี้ แฟนตาซีเข้าด้วยกันนี้ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายเช่นกัน แต่นั่นไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่เธอประสบพบเจอจากการทำหนังเรื่องนี้

ความท้าทายอื่นๆ ก็เช่นว่า การคิดบทหนังให้ดีทั้งด้านศิลปะและซัพพอร์ตธุรกิจ หรือการชวน ระเบิด–ธนสรณ์ เจนการกิจ ครีเอทีฟโฆษณาผู้เคยได้รางวัล Grand Prix จากเมืองคานส์ มาช่วยทำโปรโมตหนังเรื่องนี้ ในยุคที่คนดูเดินเข้าโรงหนังน้อยลงทุกที

ก่อน Long Live Love! จะเข้าฉายในไม่กี่วัน เราชวนปิยะกานต์กับธนสรณ์มานั่งคุยเรื่องความโหดหินของหนังเรื่องแรก แนวคิดธุรกิจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และการโปรโมตหนังที่คิดกันสนุกไม่แพ้เนื้อเรื่อง

อะไรดึงดูดให้คุณเข้าสู่วงการหนังและวงการโฆษณา

ปิยะกานต์ : ภาพยนตร์​เป็นความชอบตั้งแต่เด็ก ผู้กำกับเป็นอาชีพเดียวในชีวิตเลยมั้งที่เราอยากเป็น ราว ป.4-5 เราฟังเพลงแล้ววาดรูปตามท่อนเพลง ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามันคือสตอรีบอร์ดแต่เรารู้ว่าฟังเพลงนี้แล้วอยากเห็นภาพนี้ หลังจากนั้นเราจึงสนใจการเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นเด็กไทยทั่วไปที่เรียนศิลป์-ภาษา เอนทรานซ์เข้านิเทศฯ จบมาก็เป็นผู้กำกับ

สำหรับคุณ เสน่ห์ของการเป็นผู้กำกับอยู่ตรงไหน

ปิยะกานต์ : เราสนใจมนุษย์ สนใจการรู้จักมนุษย์ไปเรื่อยๆ เสน่ห์ของอาชีพผู้กำกับคือการทำจิตวิทยากับคน สมมติเรามีภาพในหัวหรือเรื่องที่อยากเล่าให้เป็นหนัง เราสนใจการดีลกับคนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่อยู่ในหัว เราจะทำยังไงให้ทีมอินกับสิ่งที่เราอยากเล่า หรือแม้กระทั่งการทำโฆษณาซึ่งเรามีเรื่องที่จะไปคุยกับลูกค้าหรือเอเจนซี เราชอบมากเลยนะถ้าไปเจอคนจากหลายแผนกมาคอมเมนต์งานของเรา พอทำไปสักพักมันจะสะสมและยิ่งสนุกเพราะการทำงานทำให้เราได้อ่านคน สุดท้ายประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นเหมือนสิ่งที่เราเอามาใช้ในขั้นตอนการคิดเรื่องต่ออีกที

ธนสรณ์ : ส่วนเรา ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่ามีอาชีพอะไรบ้าง แต่เราเลือกเอนทรานซ์เพราะไปดูหนังเรื่องหนึ่งที่ทำให้อยากเป็นผู้กำกับ เพราะคงสนุกดีถ้าเราได้เล่าเรื่อง จนพอเรียนมาเรื่อยๆ เราเลยรู้จักคำว่า ‘นักเล่าเรื่อง’ เป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องเล่าผ่านหนังก็ได้ งานโฆษณาเป็นหนึ่งในนั้น 

สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะเหมือนมุกคือเราสนใจคน ทุกครั้งที่เรารับบรีฟโฆษณามันทำให้เรารู้จักคนเยอะ ยิ่งทำให้เราได้เจอความหลากหลาย สนุกกับการได้เห็นความสนใจของคนหลายกลุ่ม

เวลาพูดคำว่าผู้กำกับ หลายคนนึกภาพของคนที่อยู่หลังกล้อง คอยกำกับทิศทางทั้งหมดของหนัง แล้วจริงๆ สิ่งสำคัญที่ผู้กำกับคนหนึ่งต้องคิดคือเรื่องอะไร

ปิยะกานต์ : นอกจากการใช้จิตวิทยาในการดีลกับคน เราคิดว่าความซื่อสัตย์ต่อภาพในหัวตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ บางคนมองภาพผู้กำกับว่าต้องโหด ต้องเห็นแก่ตัว แต่จริงๆ เราคิดว่ามันคือการซื่อสัตย์ต่อทั้งรสนิยม ความคิด ทัศนคติ และวัตถุประสงค์ การไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นคุณสมบัติที่เราคิดว่าผู้กำกับควรมี  

คุณเป็นผู้กำกับที่สนใจในแง่มุมธุรกิจของหนังไหม

ปิยะกานต์ : ให้ความสำคัญมาก เพราะฉันคือประธานบริษัท (หัวเราะ)  จริงๆ เราสนใจเพราะถ้าไดเรกเตอร์สามารถ calculate shot (คิดวางแผนช็อตที่จะถ่าย) ออกมาเพื่อให้ได้ production value (มูลค่าทางการผลิต) มากที่สุดภายใต้การทำงานที่เหมาะสม มันเป็นความเก่งชนิดหนึ่ง หมายความว่าเขาผ่านการทำการบ้านหรือคิดมาแล้วเพื่อให้โปรดักชั่นเกิดคุณค่าที่สุด เราจะชอบมากกับการที่เรารู้ว่าเรามีบัดเจ็ตเท่านี้ เราต้องการเล่าเรื่องนี้ เขียนบทมาดีมากแต่มันต้องถ่าย 50 ช็อต แล้วเราจะถ่ายยังไงให้มันมี production value มากที่สุด

คุณบาลานซ์ศิลปะกับธุรกิจยังไง

ปิยะกานต์ : ระหว่างขึ้นโปรเจกต์ เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราต้องเจอในวงการภาพยนตร์คืออะไร ไม่เหมือนโฆษณาแน่ๆ ด้วยเม็ดเงินที่ต่างกันมากทำให้คุณภาพของการทำงานมันแตกต่าง เราเคยได้ฟังจากรุ่นพี่และเพื่อนๆ ที่เคยผ่านมาเขาบอกว่าการทำหนังโหดมาก เราจึงพยายามทำการบ้าน คิดว่าเราจะเมเนจสิ่งนี้ยังไง

พอมาทำปุ๊บ เราคิดมาตั้งแต่ตอนเขียนบทเลยเรื่องสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์ชิปที่อาจเป็นโปรดักต์บางอย่าง ซึ่งต้องมีเพื่อพยุงตัวโปรเจกต์ มันอาจจะแตกต่างจากที่อื่นที่เขียนบทเสร็จแล้วค่อยเอาไปคุยกับลูกค้า แต่เราเดินไปคุยกับ Good Things (เอเจนซี) ตั้งแต่ตอนเขียนบทเลยว่า โปรดักต์ที่จะอยู่ในหนังของเราจะมีประมาณนี้ Good Things ลองไปดูว่าอะไรที่มาอยู่ในหนังได้ พอลูกค้าเริ่มสนใจเราก็มาตกลงกันว่าเราพึงพอใจกับสินค้าที่จะมาอยู่ในหนังกี่ตัว เพื่อบาลานซ์ให้มันยังไม่มากเกินไป

คำว่ามากเกินไปของคุณคือแค่ไหน

ปิยะกานต์ : บางทีโปรดักต์ตัวเดียวมันก็ too much ได้นะ ถ้ามันมาแบบไม่สมเหตุ ตอนเราทำซิตคอมเราก็เคยมีโปรดักต์ไทอินเข้ามา เพราะเราว่าโปรดักต์ทุกอย่างมันก็อยู่ในร่างกายเราได้ นาฬิกา แก้วน้ำ แต่เราจะทำยังไงให้มันสมูทและเบลนด์กับเนื้อหาและชีวิตประจำวันของตัวละครได้

ในยุคนี้ ความยากและโอกาสของคนในวงการภาพยนตร์ไทยมีมากน้อยแค่ไหน

ปิยะกานต์: เรามองว่าโอกาสมีมากขึ้นนะ แต่ความยากคือทุกวันนี้โลกเชื่อมโยงกันหมดแล้ว การเสพภาพยนตร์ของทั้งโลกมันเริ่มเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญคืองบประมาณ ความไม่เท่ากันของโปรดักชั่นที่เราจะไปสู้กับประเทศอื่น เรารู้สึกว่ามันควรจะมีสิ่งที่สนับสนุนมากกว่านี้เพื่อช่วยซัพพอร์ตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จริงๆ หลายคนก็เคยพูดไว้แล้ว พอเราเข้ามาทำเองก็รู้ว่า เฮ่ย มันสู้ด้วยตัวเองลำบาก ยากมากจริงๆ 

อีกอย่างคือการมีคำว่า ‘ไม่ดูหนังไทย’ นี่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจเหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจคนที่เขาพูดนะ เพราะอย่างที่เราบอกว่าโลกเชื่อมกันไปหมดแล้ว คนดูเขาก็มีมาตรฐานมากขึ้น เขาได้ดูอะไรดีๆ ในสตรีมมิง มันก็ช่วยไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ดึงดูดเขามากพอ เขาก็ skip มัน หน้าที่ของเราคือเราจะทำยังไงให้หนังไทยมันกลับขึ้นมาได้ ซึ่งเราว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาแรกๆ คือการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ นี่ล่ะค่ะ

ก่อนหน้านี้คุณเคยทำซิตคอมมาก่อน การทำหนังเรื่องแรกต้องปรับตัวไหม

ปิยะกานต์: เราปรับมาตลอด 4-5 ปีก่อนจะเริ่มโปรเจกต์นี้ หลังจากจบเนื้อคู่ฯ แล้วเราเลยกระโดดเข้าในวงการโฆษณาเพราะอยากฝึกตัวเองในด้านโปรดักชั่น จึงพยายามทำงานที่ทำให้เรามีประสบการณ์ในการออกกองที่ tough (โหด) 

ถ้าสังเกต งานโฆษณาของเรามันจะมีโปรดักชั่นที่หวือหวาพอสมควร เราเลือกทำสตอรีบอร์ดหรือเรื่องราวที่โหดร้ายกับตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นโจทย์อย่างหนึ่งในชีวิตเหมือนกัน เราอยากทำงานที่ชาเลนจ์ตัวเองเพื่อให้เราแข็งแกร่งพอ ก่อนที่เราจะโดดเข้าไปทำหนัง

ในแง่การสร้าง หนังกับซิตคอมมีความยาก-ง่ายต่างกันยังไง

ปิยะกานต์ : ซิตคอมจะถ่ายในสตูดิโอ ที่เซตอัพแค่ที่เดียว เรื่องราวก็ดำเนินในนั้น แต่พอเป็นหนังปุ๊บ ยิ่งเป็น Long Live Love! ที่มีทั้งแฟนตาซี ดราม่า เราต้องทำการบ้านหลายอย่าง 

โดยเฉพาะพาร์ตดราม่า เพราะก่อนหน้านี้เรามีประสบการณ์การทำคอเมดี้มาพอสมควร แต่วันนี้เราโตขึ้นและเรามีเรื่องที่เราอยากพูด เลยรู้สึกว่าดราม่าเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจ แต่พอเรามีประสบการณ์การทำคอเมดี้มาพอสมควรแต่ไม่เคยทำดราม่าเลย เราจึงต้องวางเทคนิคเยอะมากๆ เพื่อที่จะได้ภาพในหัวของเราออกมา 

อย่างบทหนังเอง วันที่เราส่งให้ชมกับพี่ซันนี่ เราก็มีการสลับตำแหน่งของซีนในหนังและขีดดำตอนจบของเรื่องไว้ เพราะเรารู้สึกว่าเราอยากได้วิธีการแสดงอะไรบางอย่างที่แสดงความสับสนของตัวละคร ถ้าเขาไม่รู้ตอนจบ เขาจะมีเรื่องให้ต้องสับสน และเราคิดว่าความรักมันเป็นแบบนั้น

ย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นที่อยากให้เล่าเรื่อง Long Live Love! คือตอนไหน

ปิยะกานต์ : เราชอบคาแร็กเตอร์คุณรุจน์-ป้ารุจน์ในเนื้อคู่ฯ มาก เลยสนใจเรื่องการ double character และรู้สึกว่าถ้าเรามีตัวละครหลักที่มี 2 คาแร็กเตอร์แต่เป็นคนเดียวกันมันจะเกิดอะไรขึ้น

หลังจากนั้นเราก็ต่อยอดไปว่าถ้าวันหนึ่งคนคนหนึ่งที่มีตัวตนกลับไม่มีตัวตน เขาจะกลับไปเจอเหตุการณ์ในอดีต เขาจะตัดสินใจแบบเดิมไหม หรือเขาจะรู้สึกกับสิ่งนั้นยังไง เลยนึกถึงรูปถ่าย ซึ่งรูปถ่ายนี่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากวันหนึ่งที่เราได้ย้อนกลับไปดูรูปถ่ายตอนช่วงมหา’ลัย เห็นตัวเองยิ้มแล้วสงสัยว่า เฮ่ย กูเคยยิ้มแบบนี้ด้วยเหรอ เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถมีรอยยิ้มแบบนั้นได้อีกแล้ว เพราะเราผ่านชีวิตและประสบการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว

นั่นคือที่มาของความแฟนตาซี กลายเป็นสตอรีของ Long Live Love! ที่ว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งที่ความจำเสื่อม แล้วต้องกลับเข้าไปในเหตุการณ์ในอดีตผ่านการถ่ายรูป 

หนังเรื่องนี้ตั้งใจบอกเล่าหรือสื่อสารประเด็นอะไรกับคนดู

ปิยะกานต์ : หนังว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์แหละ อาจดูเหมือนเป็นหนังของคู่รักคู่หนึ่ง แต่จริงๆ มันเป็นหนัง coming-of-age ของความรัก เราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะรีเลตกับคนทุกวัย ไม่ว่าเด็กหรือคนที่เพิ่งมีปั๊ปปี้เลิฟ ถ้าวันหนึ่งเราอยากรักใครสักคนไปนานๆ เราจะต้องเดินทางไปสู่สิ่งที่อยู่ในหนัง เราเชื่อว่าทุกคนต้องมีโมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่งหรือรูปถ่ายสักใบที่มีเหตุการณ์คล้ายๆ ในหนัง ถ้าคุณอยากรักกันยาวๆ เรารู้สึกว่ายังไงก็ต้องผ่านโมเมนต์แบบนี้

คำตอบของคำถามว่าถ้าจะรักใครสักคนแบบยาวๆ จะต้องผ่านอะไรบ้าง ทุกคนก็อาจจะมีแตกต่างกัน ที่พิเศษคือในภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะได้เลือกคำตอบนั้นด้วย เพราะเราทำเวอร์ชั่นพิเศษที่มันจะมีแค่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ในสตรีมมิงจะไม่ใช่เวอร์ชั่นนี้แล้ว 

ชื่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังเป็นที่พูดถึง ทำไมถึงตั้งชื่อว่า Long Live Love!

ปิยะกานต์ : Long Live Love! เล่าเรื่องการเดินทางของความรักผ่านการถ่ายรูปหลายๆ รูป และเราอยากได้คำหรือชื่ออะไรบางอย่างที่มัน sarcastic (ย้อนแย้ง) เพราะเรื่องเกี่ยวกับคู่แรกที่กระท่อนกระแท่นมาก จะแยกกันแล้ว แต่ Long Live Love! มันให้ความรู้สึกเหมือนกับความรักที่ยืนยาว พอชื่อนี้มาอยู่กับพล็อตนี้แล้วมันขี้เล่นดี

ในมุมของการคัดเลือกนักแสดง ทำไมนักแสดงหลักต้องเป็นชมพู่ ซันนี่ เบ็คกี้ 

ปิยะกานต์ : ซันนี่เป็นเพื่อนเรา เป็นความไว้ใจ เป็นคนที่ซิงก์ ส่วนชมไม่เคยทำงานด้วยกัน เป็นโจทย์ที่ชาเลนจ์มากเพราะเราอยากทำให้เขาเยิน (หัวเราะ) ด้วยตัวชมที่เป็นเหมือนโรลโมเดลของผู้หญิงที่ดูสมบูรณ์แบบ มีครอบครัว มีลูกน่ารัก พอมาอยู่ในหนังของเรา เราเลยอยากให้เขาเป็นอินสไปเรชั่นบางอย่าง อยากสื่อสารในแง่ที่ว่าเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีความรัก ความรักอาจจะพาเขาไปที่ไหนก็ไม่รู้ได้เหมือนกัน

ส่วนเบ็คกี้เซอร์ไพรส์เรามาก แทบจะเรียกว่าเบ็คลูกเทพ (หัวเราะ) ตอนเราหาเราหาอยู่นานมากเพราะชมกับซันเขามีความเป็นสตาร์มาก แล้วบทนะโมของเบ็คมันต้องหาคนที่เท่าเทียม ต้องสู้ได้ ไม่ใช่มาเพื่อเป็นซัพพอร์ต พอมาเจอเบ็คเราเห็นแววตาความรั้นอะไรบางอย่าง เขารู้สึกเลยว่าเขาคือลูกพี่ซัน

ในกระบวนการทั้งหมดที่ทำมา สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือเรื่องอะไร

ปิยะกานต์ : กังวลเรื่อง genre ที่มีหลายๆ หมวดในเรื่องเดียวกัน เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ genre มันเป็นเรื่องเอาต์แล้ว เพราะชีวิตมนุษย์เราเกิดมายังได้เจออะไรมากมาย ทำไมมันจะมีหนังที่มี genre ที่มีแฟนตาซี ดราม่า และคอเมดี้อยู่ด้วยกันไม่ได้  

ในขณะเดียวกัน พอเราเลือกมาทางนี้ เราต้องทำให้มันกลมกล่อมให้ได้ ดีกรีของพาร์ ตดราม่า คอเมดี้ เราพยายามทำให้มันเป็นก้อนให้ได้ นี่คือสิ่งที่ยากเพราะมันเป็นดีเทลที่กว่าจะรู้ว่ามันไม่ใช่ บางทีมันออกมาเป็นภาพใหญ่แล้ว มันก็ผ่านการทำการบ้านมาพอสมควร แม้กระทั่งตอนที่ทำตัดต่อมันก็ยังต้องทำสิ่งนี้ให้ลงตัวให้ได้

เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คุณธนสรณ์มาช่วยดูแลในพาร์ตการโปรโมต ที่มาที่ไปของการจับมือกันเป็นยังไง

ธนสรณ์ : มุกกับเราเป็นเพื่อนกันมาก่อน แล้วประมาณ 1 ปีที่แล้ว มีวันหนึ่งอยู่ดีๆ มุกก็ทักมาบอกว่ามุกจะทำหนัง อยากชวนมาทำโปรโมต ตอนนั้นเลยนัดกินข้าวกันแล้วมุกก็เล่าพล็อตให้ฟัง ให้บทมา ผมก็เอาบทไปอ่านที่งานคานส์เลยนะ พออ่านบทแล้วรู้สึกว่ามันมีเศษเสี้ยวของเราอยู่ในนั้นมากเลย

ไม่ได้บอกว่ามุกเขียนบทมาจากเรานะ แต่เรารู้สึกกับหนังเรื่องนี้เยอะมาก สิ่งที่ทำให้สนใจมีหลายเรื่องมาก อย่างที่มุกบอกไปว่า เรากลับไปดูรูปสมัยก่อนแล้วเรายิ้มแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว อันนี้ทัชเราและคิดว่าน่าจะคงทัชอีกหลายคน เพราะหลายครั้งในการเติบโต เรารู้สึกว่าเรายังเป็นตัวเรานะ แต่เป็นตัวเราอีกคนหนึ่ง และเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ 

คุณทำอะไรบ้างในพาร์ตการโปรโมต

ธนสรณ์ : ถ้าพูดแบบผิวๆ คือการโปรโมต แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของเราคือการถ่ายทอด ไม่ใช่แค่หนัง แต่เป็นหนังของมุกด้วย มุกบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็น coming-of-age ของคนมีความรัก แต่เราเองรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็น coming-of-age ของตัวมุกเองด้วย ในขณะเดียวกัน ในแง่การโปรโมตมันก็มีทุกอย่างที่เป็นมุกที่ผ่านอะไรมาหลายอย่างมาก ทั้งสี ภาษาที่ใช้ หรือตัวหนังเอง 

ถ้าเทียบตัวมุกเป็นแบรนด์ เรารู้สึกว่า Long Live Love! คือโปรดักต์หนึ่งที่จะเล่าการเปลี่ยนแปลงของมุก จริงๆ ถ้าดูหนังแล้วเทียบกับงานเก่าๆ ที่ผ่านมาของเขา จะเห็นว่าเขาเล่าสิ่งที่เป็นตัวเองและเติบโตขึ้นมา

จากวัตถุดิบที่มีอยู่ ทั้งบท ตัวหนัง และความสัมพันธ์ของพวกคุณทั้งสอง คุณตีความสิ่งเหล่านี้ออกมาในการโปรโมตยังไง

ธนสรณ์ : เราเคยทำโปรโมตให้หนังต่างประเทศและหนังของไทยมาบ้าง พอมาทำเรื่องนี้กับมุก ด้วยความเป็นเพื่อนกัน มันทำให้เรากับผู้กำกับได้คุยกันเยอะขึ้น วิธีการโปรโมตคือการทำให้ความเป็นหนังของมุกออกมาให้เยอะที่สุด

สิ่งหนึ่งที่มุกพูดบ่อยๆ คือมุกไม่เชื่อในเรื่อง genre มันมีความฮาบวกดราม่า สุดท้ายจึงกลายเป็นคำที่เราใช้นิยามหนังว่าเป็นหนัง ‘ฮาม่า’ กับอีกจุดหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมากๆ คือ ความรักที่อยู่กันมานาน เวลาเรามองความรัก เราจะเห็นว่าความรักไม่มีแค่รสชาติเดียว และมันก็ไม่ใช่รสเดิมเวลาอยู่ไปนานๆ ด้วย 

ปิยะกานต์ : นั่นคือที่มาของ ‘ลูกอมรสความรัก’ ที่เรากับโอเล่ทำขึ้นมาแจกคนดูที่โรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นลูกอมแบบแรนด้อมที่คนกินไม่รู้หรอกว่าเราจะเจอรสชาติไหน และหากอมไปเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ใช่รสเดิมก็ได้ 

ธนสรณ์ : ในดีเทลของหนังเรื่องนี้มีสิ่งที่สนุกเยอะมาก ซึ่งเราเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนบวงสรวงเลย เพราะภาพที่เราส่งไปให้สื่อ เราก็ทำภาพที่มีซันนี่อยู่ 2 คน มีอะไรอย่างนี้อยู่

สำหรับคุณ การโปรโมตหนังยุคนี้ยากยังไง

ธนสรณ์ : โคตรยากเลยครับ (ตอบเร็ว) มันยากตรงที่ว่า ถ้าเรามองเป็นหนังเข้าโรง การโปรโมตมันคือการเชิญคนเข้าโรง

สิ่งที่ดีสิ่งหนึ่งของการโปรโมตหนังเรื่องนี้ คือเราสามารถคุยกับมุกได้ทุกเรื่อง และมุกก็เปิดรับหลายอย่าง หนังเรื่องนี้จึงจะเป็นหนังที่มีเวอร์ชั่นพิเศษที่จะมีเฉพาะในโรง ซึ่งฟีลลิ่งของการเข้าไปดูในโรง สิ่งที่หนังจะให้คนดูคือประสบการณ์อะไรบางอย่าง ถ้าคุณเข้าไปดูในโรงคุณจะได้อะไรที่ไม่เหมือนดูที่อื่น เราว่าแง่งามของการเข้าไปในโรงคือสิ่งนี้ เราจึงพยายามทำให้การเข้าไปดูในโรงมันพิเศษ

ปิยะกานต์ : พอหนังมี genre เป็นฮาม่า เราก็มีการดีไซน์ประสบการณ์ที่ชวนคนดูมาร่วมมือกัน คือการแบ่งให้คนดูฝั่งชอบฮานั่งฝั่งหนึ่ง ฝั่งชอบดราม่านั่งอีกฝั่ง ฝั่งหนึ่งหัวเราะไป อีกฝั่งอยากร้องไห้เท่าไหร่ก็ร้อง จะได้ไม่รบกวนกัน (หัวเราะ) อยากให้คนดูมีประสบการณ์สนุกๆ ในโรงหนัง

ประสบการณ์แบบไหนที่คนดูจะคาดหวังได้จากการดู Long Live Love!

ธนสรณ์ : คนที่ไปดู Long Live Love! แล้วออกมาจากโรง ถ้าไม่ได้อะไรติดกลับไป เราว่าเขาน่าจะได้แก้ปัญหาอะไรบางอย่างในใจตัวเอง ถ้าไม่ได้ตั้งคำถามกับหนังพวกเขาก็จะได้คำตอบจากหนัง และพวกเขาจะได้เอนจอยกับคำถามและคำตอบนั้น

ปิยะกานต์ : หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นความเทาของความรัก การกระทำหลายๆ อย่างของตัวละครจะทำให้คนรู้สึกตั้งคำถามและได้คำตอบ ที่สำคัญคือจะมีความเข้าใจ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์คล้ายๆ ตัวละครคนละนิดคนละหน่อยจากเรื่องนี้

สิ่งสำคัญที่คุณทั้งสองคนได้เรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร

ปิยะกานต์ : เราเป็นคนชอบทำงานยาก หมายถึงว่าเราจะท้าทายตัวเอง ซึ่งบางงานก็ผ่านไปได้ดี บางงานก็ผ่านไปได้ไม่ดี แต่เราเรียนรู้ว่ามันจะผ่านไปได้เสมอ พอเสร็จแล้วมันจะทำให้เราโตขึ้นได้จริง และเราได้ก้าวข้ามความท้าทายนี้มาแล้ว เราว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็น motivation ของการทำงานศิลปะและครีเอทีฟนะ

ธนสรณ์ : หนังเรื่องนี้เป็นงานโปรโมตงานแรกที่เราได้ทำงานกับผู้กำกับ ซึ่งนอกจากโปรโมตหนัง เราอยากถ่ายทอดตัวเขาออกมาด้วย ระหว่างมีชาเลนจ์หลายอย่างที่เราว่าสนุก แต่จริงๆ สิ่งที่ให้บทเรียนเราเยอะเลยคือเนื้อหนังของมุก สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยคือการบอกว่าเราไม่ใช่เราคนเดิมเสมอไป

งานนี้ทำให้เราได้เติบโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ในมุมคนดู เราเชื่อว่าตอนเขาเดินออกมาจากโรง เขาจะไม่ใช่เขาคนเดิม

สำรวจโลกใต้ทะเลผ่านภารกิจ Gombessa Expeditions ภายใต้โครงการ Blancpain Ocean Commitment

2023 คือปีที่มีความพิเศษประการหนึ่ง นั่นคือเป็นช่วงเวลาครบรอบขวบปีที่ 70 ของนาฬิกาดำน้ำโมเดิร์นรุ่นแรกของโลกอย่าง Blancpain Fifty Fathoms

แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วถึง 7 ทศวรรษ แต่ด้วยฟังก์ชั่นที่ถูกคิดมาแล้วอย่างดีตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถใช้ดำน้ำลึกและสำรวจโลกใต้ทะเลมาได้ตั้งแต่ปี 1953 บวกกับดีไซน์ที่คลาสสิก ดังนั้น Fifty Fathoms จึงเป็นนาฬิการุ่นตำนาน ที่ยังคงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน

หากจะบอกว่า Fifty Fathoms ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ Blancpain เติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คงไม่ผิดเท่าไหร่นัก โดยเรื่องนี้ต้องยกความชอบให้กับJean-Jacques Fiechter ผู้ซึ่งเป็นซีอีโอของ Blancpain ในเวลานั้น ซึ่งการดำน้ำถือเป็นกิจกรรมที่ Jean-Jacques Fiechter โปรดปรานเป็นอย่างมาก

และเมื่ออุปกรณ์สำคัญในการดำน้ำลึกไม่ได้มีแค่ถังออกซิเจน แว่นตากันน้ำ หรือชุดดำน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนาฬิกา เพราะเมื่อดำดิ่งลงไปใต้ทะเล อาจทำให้ลืมเวลาและอาจส่งผลต่ออันตรายถึงชีวิตได้ ในฐานะซีอีโอของบริษัทนาฬิกา Jean-Jacques Fiechter จึงใช้ pain point ที่เขาพบเจอด้วยตัวเองมาพัฒนาโปรดักต์ใหม่ และก็กลายมาเป็น Fifty Fathoms อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ 

Jean-Jacques Fiechter ซีอีโอของ Blancpain ในอดีต

ที่มาของชื่อรุ่น Fifty Fathoms ก็มาจากสองคำประกอบกัน Fathoms คือหน่วยวัดความลึกแบบโบราณ มีค่าเท่ากับ 1.8288 เมตร Fifty Fathoms จึงหมายถึง ความลึกระดับ 91.44 เมตรที่ตัวนาฬิกาสามารถดำน้ำได้ ซึ่งเป็นระดับที่ลึกที่สุดที่มนุษย์จะดำลงไปสำรวจได้ในสมัยนั้น 

และในช่วงแรกที่ฌอง-ฌาคส์ ฟิชแตร์ กำลังพัฒนา Fifty Fathoms ก็เป็นช่วงเวลาที่ทหารจากกองทัพฝรั่งเศสกำลังมองหานาฬิกาเอาไว้ให้สำหรับหน่วยรบใต้น้ำอยู่พอดี ซึ่งเดิมทีทางกองทัพนั้นมองหานาฬิกาแบรนด์ฝรั่งเศส แต่ก็ยังไม่ถูกใจ จนกระทั่งได้มาพบกับนาฬิกาจากประเทศที่อยู่ติดกันอย่างสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Blancpain ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่พวกเขากำลังมองหาเป็นอย่างมาก จึงอยากนำ Fifty Fathoms ไปใช้ในกองทัพ เพียงแต่ขอให้ Jean-Jacques Fiechterใส่คุณสมบัติการป้องกันอิทธิพลสนามแม่เหล็กที่อาจจะมารบกวนนาฬิกาเพิ่มลงไป จากนั้น Fifty Fathoms จึงถูกนำไปใช้ในกองทัพฝรั่งเศส และแพร่หลายไปยังกองทัพของประเทศอื่นๆ จนนาฬิการุ่นนี้กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนดำน้ำเป็นอย่างมาก และกลายมาเป็นอีกสัญลักษณ์ของ Blancpain มาจนถึงทุกวันนี้

ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณของ Fifty Fathoms จะถูกส่งต่อผ่านตัวผู้นำองค์กรของ Blancpain ด้วยเช่นกัน เพราะซีอีโอคนปัจจุบันอย่าง Marc A. Hayek ก็ชื่นชอบการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งผลลัพธ์ของแพสชั่นที่มีต่อการดำน้ำของเขานั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ที่เครื่องบอกเวลาบนข้อมือ แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับโลกใต้ท้องทะเลภายใต้ชื่อโครงการ Blancpain Ocean Commitment ถึงขนาดที่ว่างบประมาณที่ถูกนำไปใช้เพื่อการส่งเสริมการรับรู้ สำรวจ และอนุรักษ์ท้องทะเลนั้นมีสัดส่วนในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว 

Marc A. Hayek ซีอีโอคนปัจจุบันของ Blancpain
Marc A. Hayek ซีอีโอคนปัจจุบันของ Blancpain

ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Blancpain Ocean Commitment เป็น ‘พันธกิจสำคัญ’ ที่ไม่น้อยไปกว่าการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ

หนึ่งในภารกิจภายใต้โครงข่ายการสนับสนุนของ Blancpain Ocean Commitment คือ ภารกิจ Gombessa Expeditions ซึ่งปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีแบบพอดิบพอดีของภารกิจนี้ ที่ Blancpain ได้ทำงานร่วมกับ Laurent Ballesta นักประดาน้ำ, นักถ่ายภาพใต้สมุทร และนักชีววิทยา ที่ได้ดำดิ่งลงไปยังใต้ทะเลเพื่อปฏิบัติภารกิจอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสำรวจปลากอมเบสซา สัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่หายากที่สุด ลึกลับที่สุด เพื่อเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบเฉพาะของฟอสซิลที่ยังมีชีวิต หรือการทำให้ผู้คนบนพื้นดินได้เห็นภาพอันน่าอัศจรรย์ที่อยู่ภายใต้ผืนน้ำแข็งมหาสมุทรแอนตาร์กติก หรือการได้เห็นวงจรการหากินของปลาฉลาม รวมไปถึงการสำรวจสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน สังคม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง 

การทำภารกิจอย่าง Gombessa Expeditions ครั้งแรก นำมาสู่คำถามภายใต้ท้องทะเลมากมาย และการจะตอบคำถามครั้งแรกให้ได้ ย่อมมีการสำรวจครั้งที่ 2, 3, 4, 5 ไปจนไม่มีที่สิ้นสุด 

ดังนั้นในเชิงของสังคมและสิ่งแวดล้อมการเกิดขึ้นของภารกิจ Gombessa Expeditions จึงเป็นชนวนสำคัญที่นำมาสู่การดำดิ่งลงไปสำรวจโลกใต้ท้องทะเลอีกหลายครั้งหลายครา และนั่นก็นำมาสู่ประโยชน์ต่อมนุษยชาติอีกมากมาย

ส่วนในเชิงของธุรกิจ ยิ่งภารกิจ Gombessa Expeditions ดำดิ่งลงไปลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ Blancpain พัฒนา Fifty Fathoms ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น เราจึงเห็น Fifty Fathoms ในเวอร์ชั่นที่แข็งแรง คงทน ตอบโจทย์คนดำน้ำมากขึ้นอยู่เรื่อยมา และยังมาช่วยตอกย้ำภาพของความเป็นตัวจริงในโลกใต้น้ำของนาฬิการุ่นนี้ให้ชัดเจนขึ้นไปอีก 

อีกทั้งส่วนหนึ่งของรายได้จากการขาย Fifty Fathoms อีกหลายๆ รุ่นก็ถูกนำมาช่วยพัฒนาท้องทะเล ช่วยวนกันไปแบบนี้เหมือนเข็มนาฬิกาที่ไม่มีที่สิ้นสุด

โครงการ Blancpain Ocean Commitment ภารกิจ Gombessa Expeditions และนาฬิกา Fifty Fathoms จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
blancpain.com/en
blancpain-ocean-commitment.com/

เฉลยคำตอบ ‘อะไรอยู่ในรู’ บนกล่องสุดอาร์ต เบื้องหลังแคมเปญสุดสร้างสรรค์โดยแสงโสม

นอกจากการขายสินค้าแบบตรงไปตรงมา หนึ่งสิ่งที่สำคัญในการทำการตลาดในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการสร้าง experience ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ที่หลากหลายแบรนด์พยายามสร้างประสบการณ์หวังให้ผู้บริโภคเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ในเรื่องราวของแบรนด์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม

‘กล่องที่มีแสงจากแสงโสม’ แคมเปญเปิดตัวกล่องแพ็กเกจจิ้งใหม่ของแสงโสมที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้คืออีกแคมเปญที่ถือเป็นการทำการตลาดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสร้างกระแสการชวนคุย อยากรู้กันว่า ‘โสมแสงในกล่องแสงโสม’ นั้นคืออะไร ยังทำให้เกิดการพูดถึงในโลกโซเชียลว่าแสงโสมกำลังทำแคมเปญสนุกๆ อะไรอยู่กันแน่

คำตอบของความสงสัยนั้นอยู่บนกล่องสวยๆ ของแสงโสมที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ไม่ใช้การสร้างแบรนด์ใหม่ หรือออกโปรดักต์อะไรทั้งนั้น เพราะถ้าสังเกตดีๆ เมื่ออ่านฉลากแสงโสมที่ต่อกันผ่านรูวงกลมกลางกล่องนี้ ก็จะเห็นเป็นคําว่า ‘โสมแสง’ พอดีนั่นเอง 

แสงโสมได้ 2 ศิลปินชื่อดังชาวไทยอย่าง SUNTUR เจ้าของลายเส้นสุดมินิมอล และ JARB เจ้าของลายเส้น City Pop มาร่วมดีไซน์ลายบน 4 กล่อง จนได้มาเป็น ‘กล่องที่มีแสงจากแสงโสม’ สุดมินิมอล ที่หลายคนน่าจะได้เห็นกันไปเรียบร้อยแล้ว

ความพิเศษของกล่องแสงโสมโฉมใหม่นี้อยู่ตรงที่โลโก้พระจันทร์ที่อยู่ตรงกลางกล่องนั้นสามารถมีแสงสว่างออกมาเมื่อเราปิดไฟหรืออยู่ในที่มืด

ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ การที่แสงโสมใช้ music marketing หยิบเอาเสียงดนตรีมาช่วยทำการตลาดเพื่อเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายเข้าด้วยกัน ใช้วิธีการขายของแบบไม่ขาย ด้วยการปล่อยเอ็มวี 

โดยได้ ‘แน็ก ชาลี’ ที่มีความครีเอต ทำอะไรไม่เหมือนใคร มาร่วมร้องและทําเพลงในแบบฉบับกวนๆ ตามสไตล์ของแสงโสม

เพราะถ้าใครได้ดูเอ็มวีและเนื้อเพลงแล้ว เราจะเห็นการเล่นตัวเองแบบแสบๆ คันๆ มาพร้อมทํานองชวนฟังติดหู  

มันคืออะไร (มันคืออะไร) ในกล่องแสงโสม 

แต่ชื่อโสมแสง พี่ก็สงสัย น้องก็สงสัย

หรือว่าโสมแสง 

คือโสมเรืองแสง 

นํ้าโสมช่ือแสง 

หรือครีมขายโสม 

โสมของลุงแสง

(ฮุก) *มันคือโสมของแสง หรือแสงของโสม 

ในมิวสิกวิดีโอล้วนแต่มีคําใบ้ที่ออกมาจากรูตรงกลางตั้งแต่โสมเรืองแสงไปจนถึงครีมโสม เป็นการสร้างแบรนด์แบบไม่ต้องพูดถึงชื่อแบรนด์แม้แต่น้อย 

นอกจากจะเอางานอาร์ตมาอยู่บนกล่องแล้ว ในมิวสิกวิดีโอที่ปล่อยออกมานี้เอง แสงโสมยังใช้งานอาร์ต ลายเส้นดีไซน์กวนๆ มาประกอบร้อยเรียงเป็นเรื่องราวสร้างความสนุกสนานด้วยเช่นกัน เรียกว่าเป็นการใช้งานอาร์ตมาผสมผสานกับวัฒนธรรมการดื่มเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคได้อย่างลงตัว

ถ้าอยากรู้ว่า โสมแสงในกล่องแสงโสมเป็นยังไง ตามดูเอ็มวีสนุกๆ ของ ‘กล่องที่มีแสงจากแสงโสม’ แบบเต็มๆ ได้เลยที่เพจ SangSom Experience

ส่วนใครเป็นนักสะสมตัวยงก็รีบพุ่งตัวไปหาซื้อ ’กล่องที่มีแสงจากโสม’ ทั้ง 4 ลาย มาเก็บสะสมได้เลย หาซื้อได้แล้วที่ร้านสะดวกซื้อและโชห่วยใกล้บ้าน 

ติดตามข่าวสารประสบการณ์ใหม่ๆ ในเพจของแสงโสมได้ที่เพจ SangSom Experience