ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง รู้เร็ว รักษาหาย จากแคมเปญของ Wacoal แบรนด์ชุดชั้นในที่ใส่ใจผู้หญิง 

รู้หรือไม่ว่าในหนึ่งวันมีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นจำนวนที่สูงถึง 46 คน / วัน เฉลี่ย 17,000 คน / ปี โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกมากกว่า 1.2 ล้านคนต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยสถิติที่น่าตกใจนี้ การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะยิ่งพบไวก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น วาโก้ จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการ “วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” มากว่า 24 ปี เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักการป้องกัน และเห็นความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการคืออยากให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงอันตรายของโรคมะเร็งเต้านมและป้องกันความเสี่ยงก่อนสายเกินแก้ก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปถึงระยะที่ยากต่อการรักษารวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพเต้านมของตนเองเป็นประจำ ให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม

‘พบเร็ว รักษาไว มีโอกาสหาย’ คือแนวคิดสำคัญที่วาโก้อยากสื่อสารให้ผู้หญิงทุกคนหมั่นสังเกตเห็นความผิดปกติของเต้านม เช่น การพบก้อน ตุ่ม หรือไตแข็งผิดปกติที่เต้านม โดยวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองนั้นก็ง่ายแสนง่ายและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีกับสูตร 3-3-3 ได้แก่ 3 นิ้วสัมผัส, 3 แบบในการคลำ และ 3 ท่าที่อยากชวนผู้หญิงทุกคนทำตามไปพร้อมๆ กัน 

3 นิ้วสัมผัส :

ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางขยับหมุนเป็นวงกลมเล็กๆ ให้ทั่วทุกส่วน กดรอบหัวนม ทั้งสองข้างเพื่อตรวจว่ามีน้ำเลือด น้ำหนอง น้ำใสๆ ออกจากหัวนมหรือไม่

3 แบบในการคลำ :

  1. แนวก้นหอย : คลำจากส่วนบนวนตามแนวก้นหอยถึงฐานนม
  2. แนวรูปลิ่ม : คลำจากส่วนบนถึงฐาน กลับขึ้นสู่ยอดจนทั่วเต้านม
  3. แนวขึ้นลง : คลำจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า คลำสลับขึ้นลงจนทั่วเต้านม

3 ท่า :

1. หน้ากระจก

  • ยืนตรงปล่อยมือข้างลำตัวตามสบาย
  • ยืนตรง ยกแขกขึ้นเหนือศีรษะ
  • ยืนตรง มือเท้าสะเอว ก้มตัวด้านหน้าให้เต้านมห้อยลง

สังเกตการดึงรั้ง ระดับความเท่ากัน การบิดเบี้ยวของหัวนม รอยนูนหรือบุ๋มที่ผิวหนังและลักษณะผิดปกติอื่นๆ 

2. ขณะอาบน้ำ

ช่วยให้ตรวจได้ง่ายขึ้น เพื่อค้นหาก้อน 

  • กรณีเต้านมเล็ก : ให้วางมือข้างที่จะตรวจบนศีรษะ
  • กรณีเต้านมใหญ่ : ให้ใช้มือข้างที่ตรวจประคองเต้านมด้านล่างไว้

3. ท่านอน

นอนหงายในท่าสบาย สอดหมอนหรือม้วนผ้าหนุนใต้สะบักข้างที่จะตรวจและยกมือขึ้น สอดใต้ศีรษะคลำให้ทั่วๆ ทุกส่วน 

ทั้งนี้การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรตรวจเดือนละครั้งในระยะหลังจากหมดประจำเดือนประมาณ 7 วัน และไม่ควรตรวจในช่วงที่เต้านมคัดตึงเพราะการตรวจอาจผิดพลาดได้และหากสังเกตพบสิ่งผิดปกติควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด

ปัจจุบัน โครงการ “วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” ยังได้ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผ่านกิจกรรมวาโก้แมมโมแกรมการกุศล  พร้อมมอบ Balancing Bra บรารุ่นพิเศษและเต้านมเทียมแก่สตรีผู้สูญเสียเต้านม  กิจกรรม ‘Hat From Heart หมวกสวย ใจสวย’ ร่วมตกแต่งหมวกสวยเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยเคมีบำบัด และเขียนข้อความส่งต่อความห่วงใยแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปอย่างเข้มแข็ง

แม้ภัยร้ายมะเร็งเป็นความเสี่ยงที่อันตรายแต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สาวๆ อย่าลืมเซฟรูปการตรวจเต้านมด้วยตนเองเก็บไว้และตรวจสุขภาพเป็นประจำกันนะ ด้วยความห่วงใยจากวาโก้

‘พลอย สโรชา’ กับบทบาทการปั้นสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางโดยผู้พิการให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม

เส้นทางการเป็นนักเขียนของ พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการผู้มองไม่เห็น เริ่มจากการมีผลงานหนังสือ 3 เล่มภายใต้สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เล่มแรกสุดคือ ‘จนกว่า เด็กปิดตา จะโต’ เป็นบันทึกประจำวันสมัยพลอยเรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เล่มถัดมาเป็น ‘ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี’ โดยเขียนเป็นนิทานภาพจำนวน 44 เรื่องจากพยัญชนะไทย 44 ตัวและมีภาพให้ระบายสีลงไปได้ เล่มสุดท้ายเป็นบันทึกประจำวันในวัยทำงานชื่อ ‘เห็น’ จากประสบการณ์ที่เจอโลกกว้างและพบผู้คนมากขึ้น โดยพลอยเป็นคนวาดภาพประกอบทั้งหมดในหนังสือบางเล่มเองอีกด้วย

“มีผู้กำกับละครมาอ่านหนังสือของเราแล้วเอาไปทำละครของ Thai PBS อย่าง Sweet Sensory ที่นางเอกเป็นคนตาบอด เขาก็ศึกษาจากหนังสือและมาคุยกับเรา” สิ่งเหล่านี้คืออิมแพกต์ที่พลอยรู้สึกว่าสามารถใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวของผู้พิการให้น่าสนใจมากขึ้นได้

ด้วยความเชื่อว่าไม่ว่าจะมีปีกที่บอบบางแค่ไหนก็สามารถโบยบินได้ทำให้พลอยก่อตั้งสำนักพิมพ์โดยผู้พิการของตัวเองชื่อ ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง’

ความเท่าเทียมบนเชลฟ์หนังสือ

ความหวังของพลอยคืออยากให้โลกของคนที่แตกต่างกันขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นและเชื่อว่างานเขียนเป็นหนึ่งในวิธีที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดได้ดี

“ในฐานะที่พลอยเป็นคนหนึ่งที่ได้ทดลองเขียนหนังสือให้คนทั่วไปอ่านและวางขายในตลาดทั่วไป เรารู้สึกว่าอิมแพกต์มันกลับมาที่ตัวเรา คือไม่ใช่แค่เราได้ค่าลิขสิทธิ์แต่รู้สึกว่าเราเท่ากับคนอื่นตรงที่หนังสือของเราวางอยู่คู่กับหนังสือเล่มอื่นๆ ในตลาดหนังสือทั่วไป

“พอเห็นอิมแพกต์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเลยอยากชวนคนพิการคนอื่นๆ มาสื่อสารให้สังคมรับรู้เพิ่มมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าจริงๆ คนในสังคมกับคนพิการไม่ได้ไม่อยากอยู่ด้วยกัน พลอยเชื่อว่าเราอยากปฏิสัมพันธ์ อยากช่วยเหลือกันและกันอยู่แล้วแต่เราต่างไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นและแลกเปลี่ยนกันยังไงซึ่งเป็นกำแพงที่รู้สึกว่ามันใหญ่มาก”

โครงการที่สานฝันการโบยบินของผีเสื้อ

ผีเสื้อที่มีปีกบางย่อมรู้สึกกลัวการโบยบินเป็นธรรมดาในตอนแรก แต่ความกลัวนั้นค่อยๆ ลดลงทีละนิดด้วยการลงมือทำและมีคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันว่าไม่ว่าจะปีกบางแค่ไหนก็สามารถบินได้  

จากไม่เคยมีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อน พลอยก้าวข้ามความกลัวในการทำธุรกิจด้วยการเข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (BC4C: Banpu Champions for Change) โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise)

ป้อง–รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าว่าเป้าหมายของโครงการที่อยากสนับสนุนพลอยคือการผลักดันให้ไอเดียสำนักพิมพ์เพื่อคนพิการเติบโตเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

“ตั้งแต่ตอนแรกที่น้องพลอยมาสมัครและมาพิตช์รอบแรก สิ่งที่เราเห็นเลยคือพลังจากตัวเขามันเยอะมาก สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นสำนักพิมพ์ที่ให้ความสำคัญเรื่องคนกับสังคมอยู่แล้วและน้องพลอยจะถนัดเรื่องของการเขียนและการเป็นบรรณาธิการอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ทางบ้านปูอยากเติมเต็มเมื่อแยกออกมาเป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางคือการเรียนรู้ด้านธุรกิจเพื่อเป็นกิจการที่สร้างอิมแพกต์สู่วงกว้างมากขึ้น”

โจทย์ของโครงการคือแต่ละทีมต้องสามารถตั้งเป้าหมายและแผนการทำงานที่ทำได้จริงจากธุรกิจของตัวเองภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยจะสนับสนุนให้มีเป้าหมายที่แบ่งเป็นสองแกน แกนหนึ่งเป็นแกนธุรกิจ อีกแกนหนึ่งเป็นแกนที่คำนึงถึงสังคม โดยไม่จำกัดว่าแต่ละทีมต้องตั้งเป้าหมายใหญ่แค่ไหนและไม่ได้วัดผลแค่ทำสำเร็จหรือไม่ แต่มองถึงกระบวนการในการแก้ปัญหาและเส้นทางการเติบโตของผู้ประกอบการ

พร้อมบินไกลเมื่อมีเพื่อน

ทั้งนี้แต่ละทีมที่เข้าร่วม Banpu Champions for Change จะได้รับความรู้ทั้งจากการอบรมในเวิร์กช็อปด้านการตลาดและธุรกิจ การฝึกพิตช์โดยมีกรรมการซึ่งเป็นผู้ประกอบการสังคมจากหลายหน่วยงาน เช่น Taejai, ChangeFusion มาให้คำแนะนำ

สิ่งที่พลอยได้จากโครงการจึงไม่ใช่แค่ความรู้ด้านธุรกิจ แต่ได้ทั้งคำแนะนำจากเมนเทอร์ประจำทีมคือ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์จากสื่อ Toolmorrow ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในการทำธุรกิจรวมทั้งการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดจากเพื่อนร่วมโครงการ

“เราจะมองแค่ในมุมว่าถ้าเป็นคนพิการจะอยากสื่อสารเรื่องนี้ แต่คนอื่นๆ ก็จะมีความถนัดเรื่องอื่น อย่างเช่น การทำไร่ การสนับสนุนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีมากเลยสำหรับพลอย เราได้เห็นว่ามีกลุ่มคนหลากหลายมากในสังคมที่ควรคํานึงถึง ไม่ใช่แค่คนพิการ แต่มีผู้สูงอายุ เด็กๆ ชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย พอเราอยู่ในแวดวงสังคมแบบนี้ มันก็ทำให้เราเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น มีคนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราสร้างสังคมที่ดีขึ้นต่อไปได้” 

‘ชื่อสมชาย’ ต้นฉบับหมายเลข 1 ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

พลอยลงมือทำไอเดียธุรกิจในฝันให้เป็นจริงด้วยการประกาศรับสมัครว่าสนใจตีพิมพ์งานเขียนของผู้พิการ จากนั้นรวบรวมต้นฉบับที่น่าสนใจและเปิดตัวหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางคือ ชื่อสมชาย : เรื่องของคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มองไม่เห็น ที่พร้อมเปิดให้จองแบบปกแข็งเดือนตุลาคมและวางจำหน่ายแบบปกอ่อนปลายปีนี้ โดยมีพาร์ตเนอร์สำคัญเบื้องหลังคือสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่สนับสนุนการพิมพ์และจำหน่าย

‘ชื่อสมชาย’ เป็นผลงานนวนิยายแนวผจญภัยของ ‘ทิวทัศน์ จินตนาการ’ ผู้ไม่ได้เรียนหนังสือและสะกดคําไม่เป็น แต่เขียนนิยายเล่มนี้ด้วยการพูดและใช้โปรแกรม speech to text พิมพ์ตามเสียงทั้งเล่ม เรื่องราวในเล่มเล่าถึงการเดินทางของเด็กไทยแถบชายแดนไทยที่หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็กด้วยปัญหาทางครอบครัวและเส้นทางการเติบโตที่ได้เรียนรู้ระหว่างการหนีออกจากบ้านซึ่งทำให้เห็นสังคมในมุมที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น กิมมิกพิเศษในหนังสือคือมี QR code ที่สามารถสแกนไปฟังเพลงประกอบหนังสือชื่อ ‘เด็กหลงทาง’ แต่งเพลงโดยทิวทัศน์ ผู้เขียนหนังสือและทำดนตรีโดยค่ายเพลง Dung Dee Records ของมูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด

สื่อสารผ่านอักษรเบรลล์

แม้จะนิยามว่าเป็นสำนักพิมพ์แต่พลอยมองการผลักดันศักยภาพของผู้พิการทางสายตาไปไกลมากกว่าหนังสือ นั่นคือการออกแบบสินค้าไม่จำกัดรูปแบบโดยคำนึงถึงผู้พิการทางสายตาเป็นศูนย์กลาง และนำอักษรเบรลล์ที่เป็นรากฐานการฝึกอ่านมาใช้ในการสื่อสารเรื่องของคนพิการให้คนทั่วไปได้เรียนรู้

“อยากชวนมองว่าเราจะคํานึงถึงคนตาบอดเพิ่มมากขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่นจะมีอักษรเบรลล์อยู่ที่โปรดักต์หลายชิ้นมากๆ เคยเจออักษรเบรลล์ที่ฝาเหล้าบ๊วย ขวดสบู่โชกุบุสซึ ไปจนถึงแผนที่อักษรเบรลล์ที่รถไฟฟ้า

“พลอยว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่การคำนึงถึงว่าจะทำยังไงให้สิ่งที่ทำอยู่เชื่อมโยงกับคนพิการทางสายตาได้เพิ่มมากขึ้น แค่เราเจอว่ายาสีฟันหลอดนี้มีอักษรเบรลล์อยู่ก็อยากซื้อแล้วนะเพราะรู้สึกว่าเขานึกถึงเรา มันเป็นเรื่องการออกแบบเทกซ์เจอร์บนแพ็กเกจที่คิดต่อยอดไปได้อีกเยอะเลย”

พลอยจึงเริ่มไอเดียสร้างสรรค์จากสิ่งใกล้ตัวอย่างที่คั่นหนังสืออักษรเบรลล์ที่มอบให้แก่คนที่สั่งซื้อหนังสือไปจนถึงลองจัดเวิร์กช็อปสอนอ่านอักษรเบรลล์ อนาคตอาจมีสินค้าพรีเมียมและของที่ระลึกอื่นๆ ที่ใช้อักษรเบรลล์หลากหลายแบบ ไปจนถึงนำผลงานสร้างสรรค์ของผู้พิการทางสายตามาใช้ตลอดกระบวนการทำหนังสืออย่างภาพประกอบในเล่ม

ติดตามตอนต่อไป 

หนังสือเล่มต่อไปที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางมองหาไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องราวแนวไหน พลอยมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนอ่านเป็นสำคัญว่าเมื่ออ่านแล้วได้ฉุกคิดอะไรกลับไป โดยทุกวันนี้พลอยยังมองว่าความรู้เกี่ยวกับคนพิการเป็นส่วนที่หาศึกษาได้น้อยมากในไทย

“ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับคนพิการสักหนึ่งประเภท อย่างคนหูหนวก พลอยก็ไม่ได้หาหนังสืออ่านได้ง่ายๆ และรู้สึกว่าชีวิตของคนพิการแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้คือช่องว่างที่ใหญ่มากและยังมีเรื่องให้เล่าได้อีกเยอะ”

วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางที่กำลังจะวางขายหนังสือเล่มแรกตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปและช่องทางโซเชียลมีเดีย ใครที่อยากติดตามเรื่องราวการโบยบินของผีเสื้อปีกบางสามารถติดตามกันได้ที่เฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง, อินสตาแกรม @paperybflybookhouse และทวิตเตอร์ @paperybflybook


Banpu Champions for Change เป็นโครงการ CSR ของ Banpu ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนเป็นหลักเพราะเชื่อว่ากลุ่มคนที่มีศักยภาพจะสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ และส่งต่อพลังบวกให้กับคนในสังคมได้อีกต่อ

โครงการมีการสนับสนุนตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์ม SE School Online สำหรับให้ความรู้แก่ผู้เริ่มต้นที่ยังไม่มีความรู้ว่า social enterprise คืออะไร มีทั้งโครงการ incubation program ที่บ่มเพาะธุรกิจพร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นสำหรับผู้ผ่านเข้ารอบไปจนถึง acceleration program ที่ช่วยคอนเนกต์กับนักลงทุนเอกชนหรือสถาบันต่างๆ

ปีนี้ Banpu Champions for Change ก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว นอกจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางแล้วก็มีกิจการเพื่อสังคมหลากหลายด้านไม่จำกัดหมวดหมู่ และกำลังขยายผลด้วยการออกโร้ดโชว์ที่ต่างจังหวัดเพราะอยากสนับสนุนผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านมามี alumni ที่เป็นผู้ประกอบการในโครงการรวมทั้งหมดราว 130 รายที่พร้อมจะกลับมาเป็นพี่เลี้ยงผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ร่วมโครงการรุ่นต่อไปอีกทอด ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้อยากสร้างอิมแพกต์เพื่อสังคมได้รับโอกาสในการบ่มเพาะธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน

ขอบคุณภาพจากโครงการ Banpu Champions for Change และ Vin Buddy

หลังครัว AGAR RAGA จากตำนานวุ้นผงตราโทรศัพท์สู่คาเฟ่แห่งแรกที่ทุกเมนูทำจากวุ้นผง

ถ้ารายการ Is it cake? คือรายการที่ให้ทายว่าสิ่งของตรงหน้าเป็นของจริงหรือเป็นเค้ก

การมาที่ AGAR RAGA คาเฟ่ใหม่ย่านทรงวาดในวันนี้ก็ให้ความรู้สึกเดียวกัน

เปล่าหรอก เราไม่ต้องลุ้นว่าทุกจานตรงหน้าคืออะไร เพราะโดนสปอยล์มาตั้งแต่ป้ายหน้าร้านแล้วว่าทุกเมนูทำจากวุ้น (อ้าว) แต่พูดก็พูดเถอะ ถ้าไม่บอกเราจะไม่มีทางเดาออกแน่ๆ เพราะหน้าตาแต่ละจานเหมือนวุ้นซะที่ไหน นี่ขนาดลองชิมแล้วก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นวุ้นเลย!

ผัดไทยเส้นวุ้น เต้าหู้วุ้นอัลมอนด์ผัดซอสเสฉวน อีสปาอ็องหวานฉ่ำ อเมริกาโน่ใส่วุ้นเก๊กฮวย จานเหล่านี้คือเมนูปลายจวักของ พาริ–สิตาภา สกุลดีเลิศ ทายาทรุ่น 3 ของวุ้นผงตราโทรศัพท์ หรือที่ใครหลายคนรู้จักในฐานะวุ้นผงซองสีขาวที่อยู่คู่ครัวคนไทยมานานกว่า 60 ปี

เชื่อไหมว่าในฐานะทายาทธุรกิจวุ้นผงขวัญใจคนทำขนมหวาน พาริไม่เคยอยากรับช่วงต่อธุรกิจของที่บ้านมาก่อนเลย แต่สุดท้ายลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น หลังจากผ่านการเรียนเกี่ยวกับอาหาร เธอและ สิวัตม์ สกุลดีเลิศ ผู้เป็นพี่ชายมองเห็นคุณค่าบางอย่างในธุรกิจของคนรุ่นเก่าก่อน ซึ่งนอกจากจะเข้าไปรับช่วงต่อและพัฒนาธุรกิจเดิม ทายาททั้งสองคนก็ต่อยอดวุ้นผงไปสู่มิติใหม่ กลายเป็นคาเฟ่วุ้นที่สร้างขึ้นจากความตั้งใจ และการอยากพิสูจน์ว่าวุ้นผงสามารถเป็นมากกว่าวุ้นกะทิที่ทุกคนคุ้นเคย

เสียงช้อนส้อมที่ดังประกอบเป็นฉากหลัง เรานั่งสนทนากับพาริในคาเฟ่ของเธอ คุยกันตั้งแต่ประวัติศาสตร์รากเหง้า บทบาททายาทที่ครั้งหนึ่งไม่คิดจะรับช่วงต่อธุรกิจ และความท้าทายของการก่อตั้งคาเฟ่วุ้นแห่งแรกในไทย

วุ้นผงของอากง

“สมัยของอากง โทรศัพท์เป็นอะไรที่ไฮโซ ท่านก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ แค่นั้นเลย”

เปิดบทสนทนามา พาริก็เฉลยปริศนาที่เราสงสัยมานานว่า ‘ทำไมต้องเป็นวุ้นผงตราโทรศัพท์’ ด้วยคำตอบแสนเรียบง่ายเช่นนี้ให้ฟัง

หญิงสาวหัวเราะ แล้วเล่าต่อว่าบริษัท เซ้งฮวด จำกัด ผู้ผลิตวุ้นผงตราโทรศัพท์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2501 โดย ไชยยศ สกุลดีเลิศ อากงของเธอ ซึ่งเหมือนกับคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบอีกหลายคน อากงไชยยศเดินทางจากบ้านเกิดมาก่อร่างสร้างตัวที่ถนนทรงวาด ในยุคนั้นหลายบ้านนิยมตั้งร้านขายของที่อะไรขายดีก็ขายตามๆ กันไป มีตั้งแต่ผลผลิตทางการเกษตร เครื่องเทศสมุนไพร ผลไม้อิมพอร์ต วัตถุดิบในครัว

รวมถึงวุ้นผง

“บนถนนทรงวาดมีร้านขายวุ้นอยู่ 4-5 เจ้า แบรนด์วุ้นผงที่ดังๆ จะอยู่เส้นนี้หมด” พาริเท้าความ 

“วุ้นของเราต่างจากแบรนด์อื่นๆ ตรง gel strength หรือหน่วยความคงตัวของวุ้นเราสูงมาก เพราะเราใช้สาหร่ายทะเลที่นำเข้าจากต่างประเทศ  วุ้นของเราจะนำไปใช้ได้หลายเทกซ์เจอร์ ไม่ค่อยคลายน้ำ ถ้าอยากให้วุ้นนิ่มก็ใส่ผงน้อย ถ้าอยากได้วุ้นแข็งก็ใส่ผงเยอะ มันจะง่ายกับคนที่เพิ่งหัดทำวุ้นใหม่ๆ”

และนั่นคือเอกลักษณ์ที่ทำให้ลูกค้าหลายคนติดอกติดใจวุ้งผงตราโทรศัพท์

วุ้นยุคโมเดิร์น

ในช่วงแรกเริ่ม วุ้นผงตราโทรศัพท์ทำธุรกิจแบบยี่ปั๊ว ขายส่งให้ร้านค้าในต่างจังหวัด ร้านวุ้นใหญ่ๆ และต่างประเทศ หากเทียบกับวุ้นแบรนด์อื่น วุ้นผงตราโทรศัพท์จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก  

“ตอนเด็กๆ พาไม่เคยคิดเลยนะว่าแบรนด์เราดัง พาไม่อยากบอกใครว่าที่บ้านทำอะไร เพราะไม่มีใครรู้จักวุ้นผงตราโทรศัพท์” หลังจากรุ่นที่อากงบริหาร ทายาทรุ่นสองที่มารับช่วงต่อคือ บัญชา สกุลดีเลิศ พ่อของพาริ และลุงทั้งสองคนคือ วิชา สกุลดีเลิศ และชาญวิทย์ สกุลดีเลิศ

“พาไม่เคยคิดถึงการต่อยอดธุรกิจเลย แต่จุดเปลี่ยนคือตอนที่พี่ชายของพาเข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 4 ปีก่อน เขาช่วยกันกับแม่ (วราภรณ์ สกุลดีเลิศ) ที่เพิ่งเกษียณจากงานเอเจนซีโฆษณา เขาเลยเอาความรู้ด้านสื่อมาใช้  ด้วยความที่ลูกค้าอาจเคยเห็นหน้าตาซองวุ้นของเราอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้าอาจจะหาได้ยากในตลาด แต่พอโปรโมตมากขึ้น คนก็จำได้ ไปถามตามหาวุ้นของเรามากขึ้น”

การโฆษณาเต็มกำลังพาวุ้นผงตราโทรศัพท์ไปไกลกว่าที่เคย ทำให้พวกเขาสามารถวางขายผลิตภัณฑ์กับร้านค้าโมเดิร์นเทรดมากมาย เป็นแบรนด์วุ้นผงแบรนด์เดียวที่มีขายใน 7-11  ยิ่งได้ไปออกรายการทำอาหารก็ยิ่งป๊อปปูลาร์ขึ้นอีก

ในส่วนของพาริ เธอออกปากว่าไม่เคยคิดถึงการต่อยอดธุรกิจจากวุ้นผงตราโทรศัพท์เลย  จนกระทั่งพี่ชายได้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจเดิม เธอบอกว่านั่นเป็นเหมือนการถางหญ้าปูทาง พาริเข้ามาช่วยงานด้านสื่อสารการตลาดของแบรนด์ ก่อนจะขยับขยายมาทำคาเฟ่ที่เรานั่งอยู่ตอนนี้

คาเฟ่วุ้นแห่งแรก

“ก่อนหน้านี้พาทำคอนเทนต์สูตรอาหารจากวุ้นลงในเว็บไซต์ของแบรนด์ เพราะพาเคยเรียนทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอ และตอนปริญญาโทที่ NYU ก็เรียนด้าน Food Study ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้สอนทำอาหาร แต่เรียนประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ นโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับอาหาร” เธอเล่าจุดเริ่มต้นของคาเฟ่ 

“ตอนนั้นพาต้องทำทีสิส แล้วไอเดียของคาเฟ่นี้ก็มาจากทีสิสนั้น  อาจารย์แนะนำให้ทำหัวข้อที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่พาเข้ามาช่วยที่บ้านแล้ว พี่ชายก็เข้ามาช่วยดูทีสิสด้วย ทำไปทำมาเราก็เห็นว่ามันมีโอกาสที่น่าจะทำได้จริง” 

เมื่อคิดถึงวุ้น หลายคนอาจจะคิดถึงวุ้นกะทิหอมหวาน แต่พาริเชื่อว่าวุ้นผงเป็นได้มากกว่านั้น เธอคิดถึงคาเฟ่ที่มีคอนเซปต์ว่าทุกเมนูทำจากวุ้น เพื่อให้คนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัตถุดิบอันคุ้นเคย 

อันที่จริง เธอเชื่อมาก่อนที่จะได้ไอเดียคาเฟ่ด้วยซ้ำ  เห็นได้ชัดจากสูตรอาหารคาวหวานสุดแหวกแนวจากวุ้นผงที่เธอทำแจกลูกค้าบนเว็บไซต์ 

“วุ้นทำอะไรได้หลายอย่างมาก ก่อนหน้านี้พาเลยพยายามจะ educate เรื่องนี้ผ่านคอนเทนต์ของแบรนด์ อาจเพราะเป็นคนแรกๆ ที่ทำ หลังจากนั้นโรงเรียนติดต่อมาให้พาไปเปิดเวิร์กช็อปสอนนักเรียนของเขาทำวุ้นเป็นของคาว จุดนี้ทำให้พาคิดว่าน่าจะทำให้คนได้ชิมจริงๆ” เธอกล่าวถึงอีกหนึ่งแรงจูงใจ

ก้อนไอเดียเป็นวุ้นอยู่นาน พอหญิงสาวกลับจากนิวยอร์ก เธอกับพี่ชายก็เริ่มลงมือพัฒนาคาเฟ่นี้อย่างจริงจัง

วุ้น (และอื่นๆ) จากทรงวาด

AGAR แปลว่า วุ้น

ส่วน RAGA เป็นคำที่ไม่มีความหมาย แค่เอาตัวอักษรจากคำหน้ามาเรียงใหม่จนเกิดเป็นชื่อร้านที่แสนจะติดหู–พาริบอกกับเราแบบนั้น

อีกนัยหนึ่ง การสลับตัวอักษรในชื่อร้านก็สื่อถึงการนำวุ้นไปพลิกแพลงเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นแกนหลักทางธุรกิจที่ AGAR RAGA ยึดถือ

แต่ถึงจะประกาศว่าขายความใหม่ แม้เมนูจะแหวกแนวแค่ไหน วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็อิมพอร์ตจากย่านทรงวาดนี่แหละ 

“ทุกครั้งที่มาทรงวาด พาจะได้กลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรเสมอ จนหลายคนเรียกกลิ่นนี้ว่าเป็นกลิ่นทรงวาด พาเลยอยากใช้กลิ่นนั้นมาใส่ในเมนูด้วย เพราะฉะนั้นวัตถุดิบเช่นดอกไม้ ชา เครื่องเทศ แป้ง และของแห้งต่างๆ เราก็จะใช้ของจากถนนเส้นนี้”

บรรยายไปก็ไม่ได้รับประสบการณ์อย่างเต็มที่ พาริจึงยกเมนูคาวหวานซิกเนเจอร์ประจำร้านมาเสิร์ฟให้เราชิม เริ่มจาก ‘ผัดไทยเส้นวุ้น’ กัดแล้วได้สัมผัสกรุบๆ ของวุ้นผสมกับแป้งถั่วลันเตา ในรสชาติผัดไทยแบบดั้งเดิมที่ถูกปากคนไทย จานต่อมาคือ ‘เต้าหู้วุ้นอัลมอนด์ผัดซอสเสฉวน’ รสชาติจัดจ้าน และตบท้ายด้วย ‘อีสปาอ็อง (Ispahan)’ ขนมหวานสีชมพูที่มีส่วนของลิ้นจี่ ราสป์เบอร์รี กุหลาบ กระเจี๊ยบบด และตัววุ้นหนึบหนับที่กินแล้วสดชื่นใช่เล่น

เครื่องดื่มของที่นี่ก็น่าอีสไม่แพ้อาหาร แก้วโปรดของเราวันนี้คือ ‘เจลลี่ เก๊กฮวย อเมริกาโน่’ กาแฟเข้มที่กินกับวุ้นเก๊กฮวยแล้วเข้ากันดีอย่างเหลือเชื่อ ส่วนแก้วโปรดของพาริที่เธออยากแนะนำคือ ‘ชาซิเนม่อนลาเวนเดอร์’ อบเชยจากถนนทรงวาดที่นำมาต้มในเวลาที่เหมาะสม จนได้ชาอบเชยหวานพอดีที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มแม้แต่นิดเดียว

การตกแต่งร้านก็ยังสดุดีให้กับประวัติศาสตร์เก่าแก่ของครอบครัว ด้วยมีรากเหง้ามาจากจีนและครอบครัวของพาริก็ใช้ชีวิตอยู่บนย่านทรงวาดมานาน AGRA RAGA จึงหยิบเอาสถาปัตยกรรมของตึกต่างๆ ในย่านมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบร้าน คงกลิ่นอายของทรงวาดในวันเก่าเอาไว้ให้ลูกค้าได้สัมผัส

วุ้นของทายาท

“แค่คนมาแล้วรู้สึกว่า วุ้นเป็นอะไรมากกว่าวุ้นกะทิ แค่นี้ก็สำเร็จแล้ว” หญิงสาวเจ้าของร้านเล่าความคาดหวัง

“เท่าที่รู้ คาเฟ่วุ้นแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในไทยเลย ตอนจะเริ่มทำร้านพากลัวนะ กลัวมาก มันมีหลายช่วงมากที่ตั้งคำถามว่าตอนนี้ทำอะไรกันอยู่ มันไม่มีตลาด ไม่มีคู่แข่ง มันไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย แต่สิ่งที่ทำให้พาอยากทำต่อไป คือความคิดว่า ไม่ทำจะเสียใจมากกว่าทำ แค่นั้นเลย เราอยู่กับไอเดียนี้มานานจนรู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว ขอลองเถอะ”

แน่นอนว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีธุรกิจของตัวเองมาก่อนย่อมมีความหวาดกลัว ถึงอย่างนั้น พาริก็ยังได้คำสอนจากคนในครอบครัวที่เคยทำธุรกิจมาก่อนมาเป็นดั่งหลักยึด

“ที่บ้านจะบอกบ่อยๆ ว่าซื่อสัตย์ จริงใจ และตรงไปตรงมากับลูกค้า ถ้าสมมติเขาบอกเราว่าวุ้นรอบนี้แปลกๆ พาจะขอสินค้ากลับมาดูเลย  จะไม่อิดออดหรือโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพาถือว่าการที่ลูกค้าฟีดแบ็กเป็นข้อดีสำหรับเรา แต่ถ้าเขาไม่ฟีดแบ็กแล้วเลิกใช้เราไปเลย อันนี้ไม่ดีแล้ว นี่คือสิ่งที่สอนกันมาตั้งแต่รุ่นอากง พาว่าพาโชคดีที่พามีลูกค้าน่ารัก มีหลายวันที่พา fucked up แต่ลูกค้าเข้าใจ ให้โอกาสเรา เตือนเรา เพราะเขาเห็นความพยายามของเรา”

จากที่คลุกคลีกับวุ้นมาหลายปี วุ้นสอนอะไรคุณบ้าง–เราถาม

“สอนว่าความเป็นไปได้มันมีอยู่ไม่รู้จบ ถ้าเราเปิดกว้างทางความคิดมากพอ ก็เหมือนร้านนี้แหละที่เราเอาวุ้นมาทำหลายอย่างที่บางคนไม่รู้เลยว่าทำได้ แต่มันทำได้ถ้าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์และความกล้า สิ่งนี้มันเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ในชีวิตได้ด้วยนะ มันสอนเราว่าทุกปัญหามีทางแก้ถ้าเราปรับตัว ทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าเราเรียนรู้และให้ใจกับมัน มันก็จะทำให้เราโดดเด่น (stand out) ขึ้นมาในตลาด

“พายังจำได้เลย ช่วงแรกๆ ที่เราเอาวุ้นผงตราโทรศัพท์มาทำเมนูแปลกๆ หลายคนที่บ้านสงสัยว่าทำทำไม แต่สุดท้ายมันก็ทำให้เราโดดเด่นและทำให้ลูกค้าจำได้จริงๆ” พาริยิ้ม

3 บทเรียนที่ทายาทต้องรู้เมื่อรับช่วงต่อธุรกิจ

คำแนะนำจาก พาริ–สิตาภา สกุลดีเลิศ ผู้ก่อตั้งร้าน AGAR RAGA และทายาทวุ้นผงตราโทรศัพท์

  1. “รู้จักโปรดักต์ของตัวเอง จะได้รู้ว่าเราเอาไปทำอะไรต่อได้ แล้วจะเห็นความเป็นไปได้ไม่รู้จบ”
  2. “ทำงานเหมือนพนักงานออฟฟิศท่านหนึ่ง อย่าคิดว่าทำงานกับที่บ้าน ถ้าเราเอางานไปผูกกับครอบครัว มันจะมีความคาดหวังและความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวด้วย มันจะทำให้เราสงสัยว่าทำพอหรือยัง พ่อแม่จะภูมิใจไหม แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองว่าทำงานเหมือนพนักงานออฟฟิศ เราจะไม่กดดัน ที่สำคัญคือจะไม่มีระบบอาวุโสด้วย เราจะทำงานกันด้วยเหตุผล”
  3. “รักในงานของเรา รู้สึกขอบคุณกับธุรกิจของที่บ้าน พากับพี่ชายไม่เคยอยากรับช่วงต่อมาก่อนเลย แต่เราก็รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ที่เรามีวันนี้ได้ก็เพราะอากง เพราะวุ้นที่เราแทบไม่เคยรู้จักอะไรมันเลย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เลี้ยงดูเรามาได้ขนาดนี้ สิ่งนี้เป็นไฟของเรา พาว่าถ้าอากงยังอยู่ อากงคงภูมิใจ”

Robert & Howl พ่อของลูกชายผู้เปลี่ยนความชอบเป็นงาน และการคราฟต์งานไม้ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้

วันที่สินค้าและเฟอร์นิเจอร์มีวัสดุทางเลือกมากมาย ไม่เฉพาะเจาะจงแค่งานไม้ ทั้งพลาสติกที่ยืดหยุ่นในการขึ้นรูป ไปจนถึงการใช้เหล็กที่มีความแข็งแรงทนทาน คำถามคือวัสดุธรรมชาติอย่างไม้นั้น ยังคงเจาะกลุ่มตลาดคนรักเฟอร์นิเจอร์ได้อยู่ไหมในสมรภูมิการออกแบบและผลิตในปัจจุบัน 

‘ความคราฟต์’ คงเป็นหนึ่งในคำตอบสำคัญที่หลายคนยังเชื่อมั่นในการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมถึงความรู้สึกในการใช้งาน ซึ่งการจะทำให้เกิดสองสิ่งนี้ได้ งานไม้ชิ้นนั้นจำเป็นต้องมีช่างไม้และนักออกแบบที่ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน 

โรเบิร์ต–เอกชัย กล่อมเจริญ ผู้ที่มีทักษะด้านการออกแบบโดยตรงจึงตัดสินใจนำความชอบในการทำงานไม้ มาต่อยอดจนกลายเป็น Robert & Howl ธุรกิจรับทำงานไม้ประเภทสั่งทำพิเศษ (custom-made) ผลิตงานตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า จนกลายเป็นที่นิยมและรู้จักในวงการไม้ว่านี่คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้าใจว่าผู้ใช้งานอยากได้เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบไหน 

อะไรคือเสน่ห์ของงานไม้ จุดเด่นของงานไม้เป็นอย่างไร เอกชัยรอให้คำตอบกับ Capital แล้ว

1
“เฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการคิด การออกแบบที่ดี มันจะมีฟังก์ชั่นมากกว่าการใช้งาน”

Robert & Howl เริ่มต้นจากความหลงใหลในการทำงานไม้เป็นทุนเดิม ประกอบกับตัวเขาสำเร็จการศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงนำความรู้มาประยุกต์กับความชอบ จนเกิดเป็น Mink’s แบรนด์ขายสินค้าที่ผลิตจากไม้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจแรกของเขา 

“Mink’s ถือเป็นแบรนด์ขายของประเภท ‘กระจุกกระจิก’ เช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ผมเริ่มทำตั้งแต่เฟซบุ๊กกำลังได้รับความนิยมเลย ก็ตั้งใจมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าออนไลน์เป็นหลัก

“แต่พอทำมาได้สักระยะ ผมเริ่มอิ่มตัว เพราะพอต้องทำอะไรเดิมๆ ผลิตของซ้ำๆ ไฟในตัวก็เลยมอด รู้สึกไม่มีความท้าทายในการทำงานเท่าไหร่ พักหลังเลยหันมาทำงานอีกแบบ คือรับงานประเภทสั่งทำพิเศษ (custom-made) ผลิตงานตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้ามากขึ้น” 

จึงเป็นเหตุให้อีกหนึ่งธุรกิจของเอกชัยถือกำเนิดขึ้นมา และธุรกิจเล็กๆ ที่ว่าก็คือสตูดิโอนาม Robert & Howl ที่มาจากชื่อของตัวเขาเองและลูกชายที่เหมือนแรงบันดาลใจในการทำงาน

สินค้าและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้นั้นพิเศษยังไง 

สำหรับเอกชัย เขากล่าวเพียงสั้นๆ ว่ามันเป็นความชอบส่วนตัวที่รู้สึกสบายใจอย่างมาก หากได้ใช้ ได้จับ ได้นั่ง สิ่งต่างๆ ที่ทำมาจากไม้ 

“ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดแต่ละบ้านน่าจะต้องมีของสักหนึ่งชิ้นที่ทำมาจากไม้ เพราะการที่เราได้อยู่ในบ้านที่เห็นสิ่งของทำมาจากธรรมชาติอย่างไม้มันให้ความรู้สึกอบอุ่น ช่วยให้สบายใจขึ้นได้จริงๆ นะ 

“ตัวไม้เองก็มีคาแร็กเตอร์แตกต่างกัน ทำให้ผมรู้สึกสนุกที่ได้เลือกไม้พันธ์ุต่างๆ มาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน”

นอกจากไม้แล้ว รูปแบบการผลิตแบบโฮมเมดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานของ Robert & Howl มีเสน่ห์ เอกชัยเล่าว่าวิธีการทำงานแบบนี้ จะสะท้อนถึงความสามารถของนักออกแบบและช่างไม้ของแต่ละเจ้าว่าทำตามโจทย์ลูกค้าได้หรือไม่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละแบรนด์ได้โชว์ทักษะอย่างเต็มที่ 

“ผมยังจำงานไม้ชิ้นแรกของตัวเองได้อยู่เลย คือตอนทำทีสิสช่วงมหาวิทยาลัย ผมลองเอาเฟอร์นิเจอร์ไม้มาผสมกับการพับแบบโอริกามิ (origami) คือทำให้ไม้มันพับได้ หรือตอนที่ผมทำงานไม้สำหรับนำไปประกวด ผมก็ลองทำเก้าอี้รูปหมา แต่ทำให้มันมีขนฟูๆ จนเหมือนหมาจริงๆ ในช่วงจัดแสดง ผมลองวางหวีไว้ข้างๆ เก้าอี้ตัวนี้ เชื่อไหมว่ามีบางคนเดินมาหยิบหวีแปรงไปบนเก้าอี้ด้วย”

“ผมว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเลยนะ ว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการคิด การออกแบบที่ดี มันจะมีฟังก์ชั่นมากกว่าการใช้งาน ที่อาจเป็นความสวยงาม เป็นของตกแต่ง เป็นเครื่องประดับ หรือเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ความสามารถของนักออกแบบจะพาไปถึง”

2
“แบรนด์อื่นอาจให้ผู้ใหญ่ออกแบบสินค้าสำหรับเด็ก แต่ผมเริ่มจากถามลูกก่อน ว่าเขาอยากได้อะไร”

ในวันนี้ Robert & Howl มีลูกค้าที่แวะเวียนมาให้ออกแบบสินค้ามากมาย ตั้งแต่ชั้นวางของ โต๊ะ เก้าอี้ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับเด็กอย่างเครื่องปีนป่ายหรือกำแพงผาจำลอง 

เอกชัยเล่าว่าตัวเขาเองไม่ได้กำหนดทิศทางของ Robert & Howl เพราะส่วนใหญ่งานที่ได้รับจะเป็นการช่วยออกแบบสิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพียงแต่อาจเป็นเพราะการมีลูกชาย เขาจึงมีโอกาสทำเฟอร์นิเจอร์ให้กับเด็ก จนกลายเป็นภาพจำว่านอกจากงานไม้ทั่วไปแล้ว งานไม้สำหรับเด็กถือเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ 

“แบรนด์อื่นๆ อาจให้ผู้ใหญ่ออกแบบสินค้าสำหรับเด็ก แต่ผมเริ่มจากการคุยกับลูกก่อน ว่าเขาอยากได้สินค้าแบบไหน อยากให้เก้าอี้ที่นั่งเป็นแบบใด เลยทำให้สินค้าที่ทำออกมามันตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน

“ยกตัวอย่างเช่น โรงงานส่วนใหญ่มักผลิตเก้าอี้ที่นั่งได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1-5 ขวบ ถามว่านั่งได้ไหม จริงๆ ก็นั่งได้ แต่มันพอดีตัวไหม สบายไหม คำตอบคือไม่ แต่มันอาจเป็นเพราะเรื่องการตลาด เรื่องความคุ้มทุน หรือการผลิตสินค้าให้ใช้ได้นาน เขาเลยต้องออกแบบสินค้าในแนวทางนี้ แต่พอแบรนด์ผมทำงานแฮนด์เมด เราออกแบบได้ละเอียดกว่า”

เอกชัยยังสรุปไว้ว่า มี 2 สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ อันดับแรกคือนักออกแบบต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราออกแบบใช้งานสำหรับอะไร และใครจะเป็นผู้ใช้ เพื่อที่จะออกแบบให้ตอบความต้องการ

อีกส่วนคือการมีช่างไม้ที่ดี เพื่อให้ผลิตได้ตรงตามที่นักออกแบบวางแผนไว้ได้ ที่สำคัญคือต้องได้งานไม้ที่แข็งแรง มีคุณภาพ ใช้งานแล้วไม่ชำรุด

“แต่โชคดีที่ผมเองเป็นทั้งนักออกแบบและช่างไม้ ก็เลยทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ทำให้สินค้าที่ออกมาตรงกับภาพในหัวของตัวเอง”

3
“มันจะไม่สนุกทันที หากลงทุนไปแล้วพบว่าตัวเองไม่ชอบสิ่งนี้จริงๆ”

แม้ Robert & Howl จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่เอกชัยเองไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือธุรกิจหลักของชีวิต เป็นเพียงงานอดิเรกหนึ่งที่เขาชื่นชอบและมีโอกาสได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง

“เพราะงานหลักผมคือเลี้ยงลูก” 

นอกจากนี้ เอกชัยยังทำเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานไม้ที่ชื่อ DADDY MAKER ที่เขานำประสบการณ์การลองผิดลองถูกในการทำงานไม้ มาแบ่งปันให้กับคนที่รักงานไม้เช่นกัน รวมถึงแชร์เคล็ดลับและความรู้ในเรื่องการดีไซน์ การออกแบบ เทคนิค กระทั่งการรีวิวเครื่องมือต่างๆ 

เอกชัยยังเปิดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับคนที่สนใจเกี่ยวกับงานไม้ เพราะอยากให้คนที่สนใจแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานไม้เลยได้มาลองคลุกคลี ได้จับอุปกรณ์ ได้ลองเลื่อย ลองหั่น ได้มีประสบการณ์ในการทำงานไม้สักชิ้นหนึ่งดูบ้าง 

“คลาสของผมมันเกิดขึ้นจากลูกค้าที่เคยทำงานด้วยกัน เขาบอกว่าอยากมีโอกาสได้ลองทำงานไม้ดูบ้าง เพราะเวลาเขามาสั่งให้เราทำสินค้า มันก็เป็นงานคราฟต์ที่มาจากเรา แต่ถ้าเขาได้ลงมือทำเอง มันจะเป็นงานคราฟต์ที่เกิดจากมือของเขาจริงๆ”

เอกชัยสอนตั้งแต่การทำความรู้จักอุปกรณ์ต่างๆ ลองตัดไม้ เลื่อยไม้ ด้วยตัวเอง เพราะเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การผลิตงานไม้ด้วยตัวเอง 

“มันเหมือนกับการเรียนภาษาไทยเลย คือเราต้องรู้จักพยัญชนะก่อน รู้ว่าอะไรคือ ก ไก่ ข ไข่ แล้วเราถึงจะนำไปรวมกันเป็นคำ เป็นประโยคต่อไปได้”

ปกติแล้ว คนที่เข้ามาเรียนกับ Robert & Howl คือผู้ใหญ่ที่มีความสนใจเรื่องงานไม้ และอยากใช้เวลาว่าง มาลองคลุกคลีกับงานประเภทหนึ่ง ทว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เอกชัยอยากให้มาลองเรียนการทำงานไม้ คือกลุ่มเด็กๆ ที่จะได้เรียนรู้และฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์จากกิจกรรมนี้

“ผมว่าการฝึกแบบนี้มันไม่ใช่แค่การตัดไม้ แต่เป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาไปในตัว คือถ้าลองตัดแบบนี้ แล้วประกอบกันไม่ได้ เขาก็จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เริ่มรู้จักการแก้ปัญหา เวลาเขาเห็นของหรือของเล่นที่พัง เขาจะได้รู้จักซ่อม รู้วิธีทำให้มันกลับมาใช้งานได้ ไม่ใช่อะไรเสียนิดหน่อยก็ทิ้งแล้วไปซื้อใหม่ ปล่อยให้ของพังๆ แต่ยังสภาพดีนอนกองเป็นขยะเท่าภูเขา

“ในต่างประเทศ หลายโรงเรียนบรรจุการฝึกงานไม้เป็นหลักสูตรเลยนะ ให้เด็กได้ลองทำงานไม้จริงๆ แต่ในประเทศไทยเราไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องอันตรายถ้าให้เด็กตัวเล็กๆ มาจับอุปกรณ์ไม้ที่มีความเสี่ยง

“แต่เรื่องนี้ ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้าเด็กจะต้องเจ็บตัว มันก็ต้องเจ็บตัวเหมือนเราปล่อยให้เด็กลองวิ่งแล้วหกล้ม มันก็ต้องให้เขาได้เจ็บ ให้เขาได้รู้จักระวัง เพราะถ้าเราไม่ให้เขาวิ่งเลย เขาก็จะไม่เรียนรู้อะไรเลย เขาจะไม่รู้ว่า หกล้มไปแล้วมันจะเจ็บนะ”

ปัจจุบัน Robert & Howl ถือเป็นงานอดิเรกที่ช่วยเติมไฟและทำให้มีความสุขกับการทำงานไม้ได้ อันดับแรกคือโปรเจกต์นี้ช่วยสร้างความท้าทายให้นักออกแบบอย่างเขาได้ฝึกคิด ได้แก้ปัญหา ได้ลองทำอะไรที่นอกกรอบอยู่เรื่อยๆ จนทำให้ผลงานที่ออกมาแต่ละชิ้นแตกต่างกันออกไป

ที่สำคัญคือเขารู้สึกมีความสุขทุกครั้ง เวลาลูกค้าใช้สินค้าจากเขาแล้วพึงพอใจ หรือการได้เห็นเด็กๆ มาเล่น มาจับ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เขาออกแบบขึ้นมา เพราะถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า งานออกแบบที่ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้งานนั้นเป็นยังไง 

หากจะให้คำแนะนำกับคนที่อยากนำความชอบมาทำเป็นธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชัย เขาแนะนำว่าสิ่งแรกที่คำนึงคือการเริ่มลองทำในขนาดที่เล็กๆ อย่าเพิ่งลงทุนอะไรมากมาย ลองลงไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งนั้นสักพัก เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบสิ่งนี้จริงๆ หรือไม่

“เพราะมันจะไม่สนุกทันที หากคุณลงทุนไปแล้วพบว่าตัวเองไม่ชอบสิ่งนี้จริงๆ”

ที่สำคัญคือต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เพราะการทำธุรกิจสักอย่างต้องรู้ว่า เราทำไปขายใคร เพราะถ้ามีแต่ความชอบ มันก็จะขายไม่ได้ ในเชิงธุรกิจจะไม่โต แล้วจะพานให้ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ก็เป็นได้ 

ขอบคุณสถานที่ Siam Woodworker

‘ทัปเปอร์แวร์’ จากภาชนะช่วยครัวเรือน การพาผู้หญิงเข้าสู่ธุรกิจ สู่วันที่ล้มเลิกกิจการ

เชื่อว่าหลายบ้าน รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือคนวัยสัก 30 คงยังเผลอเรียกเจ้ากล่องเก็บอาหาร ที่ไม่ว่าจะยี่ห้ออะไรก็ตามว่า ‘ทัปเปอร์แวร์’ กันอยู่ 

ทัปเปอร์แวร์เป็นสุดยอดกล่องเก็บอาหารที่ขึ้นชื่อเรื่องความแน่นหนา อากาศไม่เข้า ทำให้อาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ สดใหม่ ยืดอายุออกไปได้ยาวนานขึ้น นำมาอุ่นซ้ำในไมโครเวฟก็ได้

ทว่า เจ้ากล่องที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของครัว ของการทำอาหาร และของชีวิตประจำวันเพิ่งประกาศล้มละลายไป แน่นอนว่าทัปเปอร์แวร์เป็นผลิตภัณฑ์ระดับตำนาน การมาถึงของกล่องเก็บอาหารเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของเราในหลายด้าน ตั้งแต่ความคิดของเราที่มีต่อวัตถุดิบอาหาร การปรุงอาหาร การเก็บ ไปจนถึงการพกพาอาหารปรุงจากบ้าน 

นอกจากเรื่องการเปลี่ยนครัวและการครัวของเราและเหล่าแม่บ้าน โมเดลธุรกิจของทัปเปอร์แวร์ยังนับเป็นนวัตกรรมการขายด้วยการขายถึงบ้าน กลยุทธ์สำคัญคือการจัด ‘ปาร์ตี้ทัปเปอร์แวร์’ นอกจากจะเป็นการพลิกกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว ในบางความเห็นยังมองว่าทัปเปอร์แวร์เป็นหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการหญิง 

เป็นตัวแทนหรือนักขายผลิตภัณฑ์ในบ้านซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงด้วยกัน

ถังสี เคมี และยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

เป็นอีกครั้งที่นวัตกรรมเริ่มต้นที่ความจำกัดจำเขี่ย และผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโลกเกิดจากความช่างคิดและการนำเอาเทคโนโลยีของโลกอุตสาหกรรมมาใช้ในพื้นที่ใหม่ๆ 

สำหรับทัปเปอร์แวร์เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่เริ่มต้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นของทัปเปอร์แวร์มาจากชายหนุ่มนักคิดและนักธุรกิจคือเอิร์ล ทัปเปอร์ (Earl Tupper) 

อันที่จริงคุณทัปเปอร์มีพื้นฐานมาจากครอบครัวเกษตรกร เติบโตในฟาร์มแถบรัฐแมสซาชูเซตส์ เอิร์ล ทัปเปอร์ จบมัธยมปลาย และเรียนคอร์สเพิ่มเติมด้านการโฆษณาในระดับอุดมศึกษา หลังเรียนจบก็เปิดกิจการเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้และดูแลภูมิทัศน์ 

ทว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่อเมริกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง หรือ Great Depression กิจการชื่อ Tupper Tree Doctors ก็เลยเข้าสู่ภาวะล้มละลายในปี 1936

นี่คือภาพกว้างๆ ของความลำบาก และภาพฝันความเป็นอเมริกันในยุคนั้น ผลของสงครามทำให้กิจการเจ๊ง แต่นายทัปเปอร์ก็ไม่ย่อท้อ สุดท้ายแล้วแกได้งานในโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงกลางศตวรรษที่ 20 มีกิจการที่เกี่ยวกับพลาสติกเช่นโรงงานเล็กๆ แพร่หลายแล้ว แต่โรงงานเล็กๆ ส่วนใหญ่ ทั้งวิศวกรและนักประดิษฐ์ล้วนลงมือทำด้วยการเรียนรู้และทดลองเอง 

โรงงานและการเรียนรู้งานของนายทัปเปอร์เองก็เป็นลักษณะเดียวกัน โดยโรงงานที่ทัปเปอร์เข้าทำงานเป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในเครือของบริษัทดูปองท์ (DuPont) ในช่วงนี้เอง ทัปเปอร์ได้เรียนรู้การทำงานกับผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ ได้พัฒนาแม่พิมพ์ขึ้นรูป รวมถึงพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์คือโพลีเอทีลีน (Polyethylene) ของเหลือของอุตสาหกรรมน้ำมัน 

ด้วยการพัฒนาของทัปเปอร์ ในที่สุดวัสดุก็ขึ้นรูปทรงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ในช่วงนี้เองที่บริษัทสามารถผลิตภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกที่มีน้ำหนักเบา เหนียว ไม่แตกง่ายขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จาน ชาม ถ้วย และขยายไปจนถึงหน้ากากกันแก๊ส วัสดุและข้าวของเครื่องใช้แห่งอนาคตที่ตอบสนองกับโจทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะทำงานประดิษฐ์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกให้บริษัทไป หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 ทัปเปอร์เองก็ได้รับวัตถุดิบจากโรงงานและเริ่มคิดว่าวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการสงครามจะสามารถประยุกต์ในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีสงครามได้ยังไง

หลังสงคราม ทัปเปอร์จึงได้เริ่มทดลองผลิต เริ่มโรงงานเล็กๆ ของตัวเอง ช่วงแรกโรงงานของทัปเปอร์ผลิตเม็ดพลาสติกและนำพลาสติกไปขึ้นรูป ทำเป็นกล่องสำหรับเก็บบุหรี่และกล่องเก็บสบู่ กล่องบุหรี่ของทัปเปอร์ถูกนำไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เป็นของแถมไปกับบุหรี่

จุดเปลี่ยนอีกครั้งซึ่งก็เกี่ยวกับสงครามอีก คือนายทัปเปอร์ไปเห็นถังใส่สีที่ตัวถังมีฝาปิดสนิท กันน้ำ กันอากาศเข้า (liquid-proof, airtight lids) เหมือนกับถังสีได้ ผลิตภัณฑ์หรือภาชนะมีฝาปิดดังกล่าวก็จะช่วยครัวเรือนที่ในยุคหลังสงครามนั้นมีภาวะขาดแคลนอาหาร ช่วยเก็บอาหารและวัตถุดิบต่างๆ ให้สดใหม่ได้ ลดขยะ ช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายจากขยะอาหารลงได้

ผลคือแกก็เลยออกแบบฝาขึ้นโดยเลียนแบบจากฝาและล็อกจากกระป๋องสี ในที่สุดคุณเอิร์ล ทัปเปอร์ ก็ผลิตต้นแบบของทัปเปอร์แวร์ขึ้นเป็นโถที่มาพร้อมฝานวัตกรรมที่เรียกว่า burping seal ซึ่งก็คือฝาแบบยืดหยุ่นได้ที่เวลาที่จะปิดต้องกดไล่อากาศลงก่อนจะปิดมุมต่างๆ ลงจนสนิท ตัวโถอันมหัศจรรย์และถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของยุคสมัยได้รับชื่อว่า Wonderlier Bowl ตัวบรรจุภัณฑ์พลาสติกพร้อมฝาถูกผลิตขึ้นและจัดจำหน่ายพร้อมกับการก่อตั้งบริษัททัปเปอร์แวร์ในปี 1946 ตัวฝาจดสิทธิบัตรในปี 1949

กลยุทธ์ขายด้วยงานเลี้ยง และความช่วยเหลือของคุณแม่ๆ

หลังจากก่อตั้งบริษัท นำทัปเปอร์แวร์ออกขาย คุณทัปเปอร์ถึงกับมีโชว์รูมเป็นของตัวเองบนถนนฟิฟท์อเวนิว ทว่าผลประกอบการของบริษัทถือว่าไม่สู้ดีนัก 

ในภาวะจวนเจ๊งอีกรอบ เจ้ากล่องมหัศจรรย์ประสบปัญหาหลายอย่าง ตัวมันเองเป็นวัสดุแบบใหม่ คนรู้สึกว่าไม่ได้คุณภาพ ล้างไม่ดีก็มีกลิ่นตุๆ แถมฝากล่องต้องปิดด้วยการไล่อากาศออกก่อน แม่บ้านในยุคนั้นทำไม่เป็นเลยคิดว่าฝาปิดไม่ดีและนำส่งคืนเป็นจำนวนมาก

จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือการที่คุณทัปเปอร์ได้รับสายโทรศัพท์สำคัญจากสุภาพสตรีที่ชื่อว่าบราวนี่ ไวส์ (Brownie Wise) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำกิจการรับจัดเลี้ยงเล็กๆ ในเมืองเซาท์แกรฟตัน ในแมสซาชูเซตส์ 

ตรงนี้มีหลายเรื่องเล่า ทั้งคุณบราวนี่โทรมาหา หรือทัปเปอร์มองเห็นว่ายอดขายพุ่งสูงขึ้นที่แมสซาชูเซตส์ ไปจนถึงการที่บริษัทเริ่มขายสินค้าด้วยงานปาร์ตี้ แต่เริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คุณไวส์ที่ขายทัปเปอร์แวร์ในกิจการของตัวเองอยู่แล้วมองเห็นโอกาสในการขายด้วยงานปาร์ตี้ ซึ่งคุณไวส์เองเคยลำบากในการห่ออาหารด้วยหมวกอาบน้ำทั้งจากบทบาทแม่บ้านและคนทำงานจัดเลี้ยง

ในช่วงนั้น เราจะเห็นถึงจุดเปลี่ยนของวิถีชีวิต ในการเข้ามาของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ทางการตลาดในสมัยนั้นที่ผู้ใช้งานไม่เข้าใจวิธีใช้จึงต้องส่งพนักงานขายไปขายตรงถึงที่บ้าน ทางทัปเปอร์เองก็พัฒนาน้ำยาล้างทำความสะอาดชื่อ Poly-T 

จุดนี้เองคือราวปี 1951 การแต่งตั้งสุภาพสตรีขึ้นเป็นรองประธานบริษัททัปเปอร์แวร์ ผู้หญิงที่ไม่มีวุฒิหรือทักษะการเรียนด้านธุรกิจโดยตรงขึ้นดูแลการตลาดทั้งหมดของบริษัท ผู้หญิงที่เปลี่ยนหน้าตาการขายและทำให้ทัปเปอร์แวร์กลายเป็นอาณาจักรยักษ์ของโลกได้

การเข้ามาของบราวนี่ ไวส์ รวมถึงทีมงานที่แมสซาชูเซตส์ เริ่มพัฒนาการขายด้วยงานปาร์ตี้ ไวส์เริ่มจ้างเหล่าแม่บ้านเข้ามาเป็นเซลส์เลดี้ และฝึกหัดให้พวกเธอขายเจ้าผลิตภัณฑ์พลาสติกและสินค้าในบ้านอื่นๆ ด้วยการจัดงานปาร์ตี้สบายๆ ขึ้นในบ้าน 

ในช่วงทศวรรษ 1950 บริษัททัปเปอร์แวร์เริ่มนำผลิตภัณฑ์ออกจากการวางขายในห้าง และเริ่มขายด้วยการขายตรงถึงในบ้านและกลยุทธ์การจัดทัปเปอร์แวร์ปาร์ตี้ในช่วงนี้ ในที่สุดคุณบราวนี่ ไวส์ ก็กลายเป็นเจ้าของบริษัทชื่อ Tupperware Home Parties Inc.

ผู้ประกอบการหญิง และนักขายมือสมัครเล่น

การเข้ามาของสุภาพสตรี ในการขายสินค้าในครัวเรือน การตลาดที่นำโดยผู้หญิง ขายให้ผู้หญิง ในพื้นที่ของผู้หญิง จึงเป็นอีกหนึ่งสุดยอดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 

ทัปเปอร์แวร์ตั้งใจจ้างแม่บ้านที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำอาชีพการขายเป็นงานสำคัญ แต่แค่อยากจะมีงานเสริม เป็นเหล่าแม่บ้านผู้ใจดี เต็มใจอยากจะแนะนำสินค้าดีๆ เป็นของแถม และอยากจะจัดปาร์ตี้สบายๆ สนุกๆ ให้กับเพื่อนบ้านที่น่ารัก

ช่วงหลังสงครามนี้เอง เป็นช่วงที่เกิดย่านชานเมือง เกิดกลุ่มแม่บ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กันตามลำพังในเวลาที่สามีไปทำงาน จังหวะนี้เองจึงเป็นช่วงเวลาและกลยุทธ์ที่แสนชาญฉลาดในการเปลี่ยนให้หนึ่งในเหล่าแม่บ้านกลายเป็นตัวแทนการกระจายสินค้า โดยมีกิจกรรมยามว่างสุดโปรดของเหล่าแม่บ้านคือการจัดงานสังสรรค์แก้ว่างและแก้เหงา ทั้งยังเป็นจังหวะของการหารายได้พิเศษของพวกเธอด้วย

อันที่จริงความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทัปเปอร์และคุณนายไวส์พังทลายลงอย่างรวดเร็ว บ้างก็ว่าคุณทัปเปอร์อิจฉาที่ชื่อเสียงทั้งหมดไปตกอยู่กับกลยุทธ์ทางการขายและคุณนายไวส์ ในปี 1958 ทัปเปอร์แวร์จึงได้ขายบริษัท และไล่คุณนายไวส์ออกจากตำแหน่ง แต่ทว่ากลยุทธ์และตัวผลิตภัณฑ์ยังคงดำเนินต่อไป

ความน่าสนใจของงานขายด้วยงานปาร์ตี้ เติบโตทั้งในอเมริกาและในทศวรรษ 1960 ก็ขยายตลาดไปที่อังกฤษ การขายด้วยงานปาร์ตี้ยังคงทรงพลัง แม่บ้านนักขายบางคนเปลี่ยนงานขายในหมู่บ้านหรือในชานเมืองให้กลายเป็นกิจการงานขายขนาดใหญ่ ในช่วงนี้เองที่บริษัทเริ่มมีการตบรางวัลให้กับเหล่านักขาย แม่บ้านนักขายที่มียอดขายสูงอาจได้รับรางวัลตั้งแต่แหวนเพชร เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ ซึ่งจะมอบรางวัลในงานประชุมการขายประจำปี

จากทศวรรษ 1960 ทัปเปอร์แวร์กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่ตรงนี้อาจเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของการตลาดในพื้นที่นวัตกรรม คำว่า ‘ทัปเปอร์แวร์’ กลายเป็นคำที่มีความหมายถึงกล่องมีฝาปิดโดยทั่วไป ความเข้าใจของผู้คนต่อการใช้งานเริ่มเป็นสินค้าธรรมดา การขายด้วยกลยุทธ์จัดงานปาร์ตี้ถึงบ้านเริ่มหมดสมัย คำว่าทัปเปอร์แวร์จึงเริ่มถูกนำไปใช้กับสินค้าในทำนองเดียวกันจากแบรนด์อื่นๆ กล่องเก็บอาหารมีฝาปิดราคาถูกกว่าเริ่มตีตลาดทัปเปอร์แวร์ออริจินัล

ทัปเปอร์แวร์ประสบภาวะวิกฤตมาอย่างนาวนานนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ค่อยๆ ถอนตัวออกจากประเทศต่างๆ ปรับวิธีขาย แต่ก็ยังใช้การขายตรงอยู่บ้าง แม้ว่าในจังหวะโควิดระบาด ยอดขายของทัปเปอร์แวร์กระเตื้องขึ้นจากกระแสการทำอาหารที่บ้าน แต่ในที่สุดทัปเปอร์แวร์ก็กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ระดับตำนานที่ยื่นขอเลิกกิจการในปี 2024 นี้

ทัปเปอร์แวร์เป็นหนึ่งกรณีของกิจการ และของนวัตกรรมที่สัมพันธ์กับบริบทประวัติศาสตร์อย่างซับซ้อน จากการมาถึงของผลิตภัณฑ์พลาสติก ความเปลี่ยนแปลงจากสงคราม การผลิตสินค้าในช่วงสงครามที่กลายมาเป็นสินค้าทั่วไปในยุคต่อมา การเปลี่ยนแปลงของครัวเรือนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การมาถึงของตู้เย็นเรื่อยไปจนถึงไมโครเวฟ

ในทางสังคมเกี่ยวข้องกับครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงไป การมาถึงของชานเมืองและวิถีชีวิตคนชั้นกลาง การเข้ามาของสุภาพสตรี และการดึงเอาผู้หญิงและครัวเรือนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขาย เกิดผู้ประกอบการขนาดย่อม และตอบคำถามของเราได้ว่า ทำไมยุคหนึ่งการขายตรงจึงเฟื่องฟู และปัจจุบัน ทำไมถึงได้หมดวาระของการขายแบบมาเยี่ยมบ้านลง

อ้างอิงข้อมูลจาก

SHISEIDO ปล่อยเพลง ‘เธอดีที่สุด’ แรงบันดาลใจจากแคมเปญ BELIEVE IN BEAUTY 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า SHISEIDO เป็นอีกแบรนด์ที่ครองใจชาวไทยมายาวนาน และเซรั่ม ULTIMUNE ก็เป็นหนึ่งในสกินแคร์ชูโรงของแบรนด์ที่ปีนี้เดินทางมาถึงปีที่ 10

เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี SHISEIDO จึงได้ปล่อยเพลง เธอดีที่สุด (What I say is true) ที่ วี–วิโอเลต วอเทียร์ ได้แต่งร่วมกับ แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ หรือ แอ้ม CU Band  และปกป้อง จิตดี โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อของ SHISEIDO ในเรื่องพลังแห่งความงาม และความตั้งใจ ที่อยากให้ทุกคนรักตัวเองในแบบที่เป็นเพราะทุกคนนั้น ‘ดีที่สุดในแบบของตัวเอง’ 

ความหมายเบื้องหลังนี้เองที่มาจากแคมเปญ BELIEVE IN BEAUTY และแนวคิดในการรังสรรค์เซรั่ม ULTIMUNE ที่มุ่งเน้นการเสริมเกราะป้องกันผิว เพื่อส่งมอบผิวแข็งแรง สุขภาพดี สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

งานนี้ SHISEIDO ยังได้ วิน–เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร เป็น Friend of  SHISEIDO และนักร้องสาวอย่างวีมาร่วมแสดง Music Video เพื่อจุดประกายให้ทุกคนเชื่อมั่นและรักตัวเองในแบบของตัวเองด้วย

ส่วนใครอยากรู้ว่า ‘เธอดีที่สุด’ นั้นถูกตีความออกมายังไงรับชม Music Video ได้ที่ช่องทาง Youtube Channel @violettewautier  และฟังเพลงได้แล้ววันนี้ทุก Music Streaming Platform