Month: December 2024
กลยุทธ์ความสบายระดับสากลของ Let’s Relax บูทีกสปาสัญชาติไทย
topologie จิตวิญญาณการปีนเขา ที่ทำให้ทุกมิลลิเมตรของเรามีความหมาย
ถ้าคุณไถ TikTok ในช่วงนี้และมีความสนใจเรื่องข้าวของเครื่องใช้ ในดินแดนของคนฮิปๆ เราจะเริ่มเห็นการรีวิวกระเป๋าแบรนด์ที่ชื่อว่า topologie เจ้ากระเป๋าที่ดูรวมๆ ก็เหมือนๆ กระเป๋าทั่วไป แต่พอดูดีๆ มันก็มีดีเทลอยู่ ในความทั่วไปมีฟังก์ชั่นบางอย่างเช่นกระเป๋ารุ่นที่ออกแบบมาเพื่อใส่ขวดน้ำโดยเฉพาะ จะว่าธรรมดาก็ไม่ใช่ แปลกประหลาดไปเลยก็ไม่เชิง
จุดเด่นร้าน topologie คือการที่ทางร้านจะจัดแสดงอุปกรณ์คือสายต่างๆ และตัวกระเป๋า แขวนไว้เรียงรายอย่างตระการตา เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างร้านสินค้าแฟชั่น และร้านสินค้าจำพวกอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง
สิ่งที่โดดที่สุดคือการจัดแสดงสายคล้องสารพัดสี สารพัดขนาดและสารพัดแบบ ซึ่งการจับคู่ตัวกระเป๋าเข้ากับสายรูปแบบต่างๆ ดูจะเป็นความสนุกแรก เจ้าสายไนลอนที่ดูแน่นหนานี้ก็สะท้อนแรงถึงการปีนเขา ซึ่งแรงบันดาลใจสำคัญของแบรนด์ตั้งใจนำเอาการผจญภัย กลับมาสู่ชีวิตประจำวันของคนเมืองแบบเราๆ

แบรนด์ topologie เป็นอีกแบรนด์ที่ดูแสนจะเรียบง่ายและฟังดูธรรมดาๆ สัญชาติฝรั่งเศสลูกครึ่งญี่ปุ่น กำลังเติบโตทั้งในตลาดเอเชียและยุโรป บ้านเราเองก็เริ่มเห็นสาขากระจายตัวทั้งที่เซ็นทรัลลาดพร้าว พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ และล่าสุดคือเมกาบางนา อะไร ทำให้แบรนด์กระเป๋าที่ราคาหลักครึ่งไปจนถึงแตะหมื่น นำเอาหลักการง่ายๆ คือสมดุลของดีไซน์และฟังก์ชั่นหรือจิตวิญญาณของการผจญภัย กลับมาสู่เราคนเมือง
กระเป๋าและอุปกรณ์ที่คิดจากการผจญภัยและการดีไซน์ที่ดี จะพาให้เราสำรวจเมืองกระทั่งย้อนกลับมาสำรวจตัวเองได้สนุกขึ้นอย่างไม่รู้จบได้ยังไง

1. แบรนด์ฝรั่งเศส ผลิตด้วยจิตวิญญาณญี่ปุ่น
นิยามอย่างรวบรัด topologie เป็นแบรนด์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกิจกรรมและอุปกรณ์ปีนเขา นำเอาความรู้สึกของการปีนเขาอย่างการท่องไปอย่างไม่รู้จบกลับมาตีความใหม่ให้กลายเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันของคนเมือง สิ่งที่พิเศษของแบรนด์คือการผสมผสานของจินตนาการกว้างไกลและความรัดกุมของงานออกแบบและการใช้งาน โดยสะท้อนมาจากการผสมผสานของผู้ก่อตั้งแบรนด์ทั้งสอง ผู้มีความบ้าคลั่งในการปีนเขาตั้งแต่เด็กๆ
แบรนด์ topologie ก่อตั้งโดยสองเพื่อนซี้ในวัยเด็กอย่าง Carlos Granon นักธุรกิจหนุ่มชาวฝรั่งเศสที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ฮ่องกง และ Go Urano เพื่อนสนิทจากโตเกียว ตัวแบรนด์เริ่มต้นในปี 2018 จากจุดเริ่มที่ฮ่องกง ปัจจุบัน topologie มีสาขาทั้งหมด 16 สาขาทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงมีสาขาในเมืองสำคัญของยุโรปทั้งปารีส ลอนดอน รวมถึงนิวยอร์ก ตัวสินค้ามีสำนักงานใหญ่ที่ทำหน้าที่ออกแบบและทดสอบในญี่ปุ่น สายไนลอนอันเป็นจุดเด่นและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ผลิตในประเทศญี่ปุ่น และยอดขายครึ่งหนึ่งของแบรนด์ก็อยู่ในญี่ปุ่น


2. ‘customize’ ‘ปลอดภัย’ ‘ใช้สบาย’
ในฐานะที่กลายเป็นแฟนของ topologie ถ้าเรามองภาพรวมของแบรนด์ต้องถือว่าทางแบรนด์ก็ไม่น่าจะมีแง่มุมหวือหวา–ซึ่งทุกวันนี้เป็นอีกแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังขยายไปได้ในทุกเมืองใหญ่ของโลก รวมถึงเอาชนะใจตลาดญี่ปุ่นและน่าจะกำลังค่อยๆ เข้าไปในชีวิตประจำวันของคนไทยแบบเราๆ ด้วย ในความ ‘customize’ ฟังดูธรรมดา รวมถึงการพูดถึงการนำเอาฟังก์ชั่นแบบการปีนเขาเข้ามาในชีวิตประจำวันก็ดูไกลตัว
แต่ทว่า ความพิเศษของแบรนด์อาจจะอยู่ที่การนำเอาหลักการเรียบง่ายซึ่งสะท้อนหลักพื้นฐานจากกิจกรรมการปีนเขา นั่นคือการปรับเปลี่ยนไปตามการใช้งาน โดยนำเอาความปลอดภัยแบบอุปกรณ์การปีนเขาเข้ามาใช้ รวมถึงนำเอาฟังก์ชั่นที่ตอบการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง เป็นของที่มั่นคง ใช้ง่าย ใช้สบาย แต่ก็มีลูกเล่น
ทั้งหมดนี้ ยังคงฟังดูเรียบง่ายและธรรมดาจนน่าแปลกใจ แต่ topologie กลับดึงเอาหลักการพื้นฐานเหล่านี้ และให้คำมั่นกับผู้ใช้ว่า อุปกรณ์หรือข้าวของธรรมดาที่เราใช้ในเมือง ในชีวิตประจำวันนั้น จะมาพร้อมกับทุกองค์ประกอบ ทำให้สิ่งธรรมดามีความเรียบง่าย ใช้งานได้ และมอบประกายความสร้างสรรค์ให้ทุกๆ วัน

3. ให้ทุกมิลลิเมตรมีความหมาย
ความสนุกของแบรนด์ topologie ไม่ได้อยู่แค่การเลือกจับคู่สิ่งต่างๆ แต่ตัวแบรนด์ตั้งแต่ร้านสาขา ให้ความสำคัญกับการสำรวจอันเป็นหัวใจสำคัญของทางแบรนด์ เมื่อเข้าไปในร้าน เราจะพบความสนุกสนานตั้งแต่สารพัดสายและกระเป๋าสารพัดรุ่น หน้าร้านแต่ละสาขามักออกแบบให้ทั้งเป็นการจัดแสดง และเป็นเหมือนโกดังให้เราได้ลองขุด ปรับเปลี่ยนอะไหล่และอุปกรณ์เข้ากับร่างกายและจินตนาการการใช้งานต่อไป
การจับคู่นั้นเป็นการจับคู่ตั้งแต่ขนาดเส้นรอบวงของสาย ความยาว ลักษณะกระเป๋า ซึ่งทั้งหมดนี้แบรนด์มีการนำไปทดสอบและคิดค้นเพื่อการใช้งานที่ไม่รู้จบจากสำนักงานที่กรุงโตเกียว
ปรัชญาของการออกแบบคือทุกมิลลิเมตรที่ถูกสร้างขึ้นมา ที่เราหยิบใช้จะไม่มีสักมิลเดียวที่สูญเปล่า


4. คิดมาดี–และช่างคิดมาดี และชวนให้เราคิดต่อ
จุดเด่นที่สุดของ topologie คือการผสานฟังก์ชั่นเข้ากับดีไซน์ กระเป๋า สายคล้อง สายคาด และสินค้าอื่นๆ ของแบรนด์เป็นสิ่งที่เมื่อลองหยิบจับแล้ว เราจะพบว่าพวกมันมีอรรถประโยชน์บางอย่างที่ตอบการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งนอกจากจะตอบการใช้งานพื้นฐาน เช่นการใส่ข้าวของสำคัญ โน๊ตบุ๊ก การมีช่องแบ่งที่พอเหมาะ มีขนาดของการเก็บของต่างๆ ที่เหมาะสม กระเป๋ายังทำให้เราคิดไปได้ไกลขึ้นด้วยการมีฟังก์ชั่นที่เราคาดไม่ถึง อย่างเช่นหนึ่งในกระเป๋าตัวเด่นของ topologie คือกระเป๋าที่ออกแบบมาให้สอดขวดน้ำหรือร่มเข้าไปตรงกลาง เป็นกระเป๋าสายคาดที่คิดมาสำหรับการพกของที่เฉพาะเจาะจง พร้อมด้วยของจุกจิกอื่นๆ
ความเท่ของการที่ได้จับสิ่งของแล้วพบว่าพวกมันถูกคิดมาอย่างดี บางส่วนคิดจนเกินความคิดที่อุปกรณ์ต่างๆ เคยถูกใช้ ในแง่นี้เอง เราในฐานะผู้ใช้ก็ได้เปิดโอกาสได้สำรวจการใช้งานของเราได้อย่างสนุกขึ้น เราได้คิดว่ากระเป๋าขนาดเท่านี้ ทางแบรนด์คิดมาสำหรับอะไร ขนาดเท่านี้ ช่องนี้ เอาไว้ใส่อะไร หลายครั้งผู้ใช้งานไปพบฟังก์ชั่นที่ถูกซ่อนไว้ หรือฟังก์ชั่นจากกระเป๋าหน้าตาแปลกๆ ใหม่ๆ ทำให้เราได้สำรวจการใช้งานในเมือง การใช้ชีวิตของเราในมุมที่แปลกแตกต่างออกไป



5. ความเก๋อยู่ในรายละเอียด
สิ่งที่แปลกที่สุดของแบรนด์คือความธรรมดา กระเป๋า topologie ถ้าพูดตรงๆ ก็เหมือนกระเป๋าไนลอนที่ใช้สายไนลอนดูธรรมดา แต่ทุกครั้งที่เราจับวัสดุ ได้ลองหยิบใช้สิ่งของที่ดูธรรมดานั้น เรามักจะพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทางแบรนด์ใส่เอาไว้ให้ เราจะเห็นกระเป๋าสีดำที่มีผ้าบุสีแดง จับสัมผัสสายคล้องที่เรามั่นใจในความปลอดภัยได้เสมอ
แต่ความยิ่งแปลกของแบรนด์คือ ตัวกระเป๋าอื่นๆ มักมีไลน์ที่แปลกประหลาดไปเลยเช่นกระเป๋าหน้าตาแปลกๆ ไปจนถึงการให้สีรวมถึงวัสดุที่โดดเด่น เราอาจเจอกระเป๋าสีเงินเมทัลลิก ไปจนถึงกระเป๋าผ้าสีม่วง ทั้งหมดนี้ทำให้เรานำเอากระเป๋าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาผสมให้เกิดความแปลกใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ

6. ความสำเร็จจากการขายออนไลน์
ด้วยจุดเด่นของ topologie นอกจากแรงบันดาลใจจากการปีนเขาและการนำเอาองค์ประกอบของการผจญภัยมาไว้ในเมืองแล้ว สินค้าหลักและสินค้าเริ่มต้นของ topologie คือเคสโทรศัพท์ โดยมาจากการสังเกตพฤติกรรมที่คนเราพกโทรศัพท์ ต้องการสายคล้องที่มีความปลอดภัย และแบรนด์เริ่มประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์
ในปี 2022 ทางแบรนด์มีกำไร 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ครึ่งหนึ่งเป็นการขายส่งและขายผ่านระบบออนไลน์ ทางแบรนด์เริ่มด้วยการสร้างความมั่นใจและการพัฒนาการสื่อสารไปสู่ลูกค้าโดยตรง


7. การถักสาย และสายที่มีไว้โชว์
เมื่อคุณเข้าสู่วงการ topologie จุดเปลี่ยนที่เราจะพบในการเลือกสาย คือการที่สายที่คุณเลือกไม่จำเป็นต้องมีเส้นเดียว ตรงนี้เองที่แบรนด์เริ่มจะพาเราไปไกลกว่าแค่ทั้งฟังก์ชั่นและดีไซน์ ความสนุกที่ค่อนข้างเป็นกระแสแฟชั่นในตอนนี้คือการที่กระเป๋ามีสายเป็นเครื่องตกแต่ง
สิ่งที่ฮิตที่สุด ซึ่งแบรนด์อื่นเช่น Prada ก็เป็นกระแสของปีนี้ด้วยคือการนำสายมาถักเป็นเปีย เป็นรูปทรงที่ยิ่งขยายความไม่รู้จบ และแน่นอนสายกระเป๋าที่แต่เดิมเราจะคิดว่าสายมีไว้ใช้ แต่ครั้งนี้ สายเริ่มมีไว้โชว์
ทว่า ในการโชว์หรือเปลี่ยนความหมายของสายกระเป๋าหรือสายคล้อง ในที่สุดก็นำไปสู่การใช้งานได้อยู่ดี เช่นการมีสายถักคล้องขนาดสั้นกว่าอาจเอาไว้ถือคล้องกระเป๋าในรูปแบบอื่นๆ เอาไว้ใช้แขวนสั้นๆ หรือตัวสายเองเอาไว้คล้องกับที่คล้อง หรือเพิ่มอุปกรณ์อื่นๆ จนเกิดลักษณะกระเป๋าคลอดลูกได้ต่อไป

8. แสวงหาสมดุลและการสำรวจตนเอง
ในที่สุดแล้ว topologie จึงเป็นอีกแบรนด์ที่ดูธรรมดาแต่ให้คำสัญญาที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนสิ่งของในทุกๆ วันของเราให้มีความซับซ้อนไปตาม ปรัชญาหลักของแบรนด์คือการสำรวจและการผจญภัยที่ไม่สิ้นสุด จากแบรนด์ที่รักษาความเป็นตรงกลางของดีไซน์และฟังก์ชั่น จากข้าวของที่ทำให้เราสัมผัสถึงการคิดที่คิดมาดี ไปจนถึงร่องรอยของความฉูดฉาดที่ถูกนำมาผสานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว


ความคิดมาดี ทำมาดีของการออกแบบอาจนำไปสู่การค้นพบที่แปลกใหม่ เราอาจพบว่าเรามีกระเป๋าที่หิ้วขวดน้ำไปได้ เรางอกกระเป๋าใบเล็กๆ เพื่อใส่ของอื่นๆ ของช่องว่างกลมๆ ถุงทรงประหลาดอาจทำให้เรานำสิ่งอื่นๆ เดินทางไปกับเรา หรือตอบโจทย์ใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตในวันอื่นๆ
การสำรวจที่แบรนด์พาเราไป ท้ายที่สุดจึงตอบสนองการนำ ‘จิตวิญญาณของนักปีนเขา’ ที่พากลับมาหาเราในระดับปรัชญา คือการ ‘แสวงหาสมดุล’ และการ ‘กลับไปสำรวจตัวเอง’ กลับมาสู่เมืองได้อย่างน่าประทับใจ
อ้างอิง
- kodd-magazine.com/en/topologie-the-perfect-combination-of-climbing-and-urban-fashion/91177
- carnivalbkk.com/en/blog/behind-the-icon–topologie-accessories-brand-inspired-by-rock-climbing–topologie–.html
- fashionnetwork.com/news/Accessories-brand-topologie-boosts-parisian-presence-targets-european-expansion,1469721.html
- th.topologie.com/pages/our-story
Beanbag ธุรกิจจากความช่างเลือก สู่โปรตีนอัลมอนด์แบรนด์แรกของไทยที่ตั้งใจเติบโตอย่างยั่งยืน
ในยุคที่เทรนด์สุขภาพกลายเป็นกระแสหลัก ผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจดูแลตัวเองในทุกมิติ ตั้งแต่การออกกำลังกาย การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไปจนถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความตระหนักในเรื่องสุขภาพ แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมนำเสนอนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ

หนึ่งในนั้นคือ ‘Beanbag’ แบรนด์โปรตีนอัลมอนด์ที่สะท้อนความมุ่งมั่นและความรักในสุขภาพของ เบ๊น–ณิชาภัทร ศรีมโนธรรม ผู้ก่อตั้งบริษัท ธิงค์กิ้ง กู้ด จำกัด เธอตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงดีต่อสุขภาพ แต่ยังอร่อยและเข้าถึงง่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาดูแลตัวเอง
“เราโตมาในครอบครัวที่รักสุขภาพ เลยเข้าใจว่าต้องเลือกกินอะไรถึงจะดีต่อร่างกาย บวกกับความเป็นคนช่างเลือก พอจะทำสินค้าตัวแรก โจทย์ที่ตั้งไว้คืออยากทำสินค้าที่มีโปรตีนสูง”

ย้อนไปในปี 2016 เบ๊นตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมไม่มีของว่างที่ดีต่อสุขภาพเลย?” คำถามนี้นำไปสู่การพัฒนาสแน็กที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ โดยใช้ถั่วออร์แกนิกซึ่งเป็น superfood ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ก่อนจะกลายเป็น ‘Beanbag’ ที่ปัจจุบันมีสินค้าเพื่อสุขภาพในเครือมากมาย ทั้งยังเป็นแบรนด์แรกของไทยและเอเชียที่ทำสินค้าจากโปรตีนอัลมอนด์
“ช่วงเริ่มต้นในตลาดยังมีคู่แข่งน้อย เราเน้นศึกษาความต้องการลูกค้า และวางตัวเองเป็นหนึ่งในผู้บริโภค จึงตั้งใจทำให้ออกมาดีที่สุด ผ่านการคิดมาอย่างดีทุกขั้นตอน เราไม่ได้ทำเพื่อขายใครก็ไม่รู้ แต่ส่วนหนึ่งทำเพื่อขายคนช่างเลือกแบบเรา ลูกค้าเราจะรู้ว่าสินค้าของ Beanbag มีมาตรฐานและหาไม่ได้ในท้องตลาด”
พ.ศ.นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทรนด์ที่มาแรง ย่อมทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเริ่มกลายเป็นตลาด red ocean ที่มีคู่แข่งมากมาย ความน่าสนใจคือ Beanbag ยังคงยืนระยะได้ และยังเป็นอีกหนึ่งชื่อที่ผู้บริโภคไว้ใจ คอลัมน์ Brand Belief ตอนนี้จึงขอพาทุกคนไปสนทนาถึงเบื้องหลังความสำเร็จนี้

ตั้งต้นจากวัตถุดิบที่ดี
ผลิตภัณฑ์แรกที่เปิดตัวในนาม Beanbag คือ ถุงถั่ว หรือถั่วออร์แกนิกแบบบรรจุถุงพร้อมทาน มี 4 รสชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าจนได้วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า สายการบิน และโรงแรมชั้นนำ
“ตอนที่ Beanbag เพิ่งเริ่มต้น หลายคนแทบไม่รู้จักเรา และเมื่อเห็นสินค้าของเรา หลายคนก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นแบรนด์จากสหรัฐฯ เพราะมีมาตรฐาน USDA (U.S. Department of Agriculture) ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากสหรัฐฯ ติดอยู่บนสินค้า
“แต่จริงๆ แล้วเราเป็นแบรนด์ไทย และตั้งใจให้สินค้าเป็น global standard แม้ตอนนั้นแบรนด์เราจะเพิ่งอายุแค่ประมาณ 1 ขวบ แต่เราก็รู้สึกว่านี่คือจุดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าเราจริงจัง ตั้งใจทำ ไม่ได้ทำขายเล่นๆ”
หลังจากนั้น Beanbag ได้พัฒนาโปรตีนอัลมอนด์ร่วมกับเกษตรกรในสเปน และเปิดตัวสินค้าอัลมอนด์โปรตีนในปี 2022 ณ เวลานั้นโปรตีนส่วนใหญ่ในตลาดยังไม่มีอะไรใหม่ๆ เธอจึงอยากทำสิ่งที่ดิสรัปต์ตลาดจนต่อยอดมาเป็น almond protein powder ในปัจจุบัน

“เวลาเราเลือกวัตถุดิบ เราจะชิมถั่วจากหลายประเทศโดยไม่ได้ดูแหล่งที่มา หรือราคาต้นทุน แต่จะใช้ความชอบของตัวเองเป็นหลัก เพราะเราก็เป็นหนึ่งในลูกค้าเช่นกัน เราจะเลือกว่าอันไหนอร่อย กินแล้วชอบที่สุด เราคิดว่าอัลมอนด์จากฝั่งสเปนผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพราะแหล่งอัลมอนด์ที่อร่อยที่สุดในโลกอยู่ที่สเปน จึงตัดสินใจใช้และหาวิธีสกัดโปรตีนจากอัลมอนด์ พร้อมใช้นวัตกรรมขั้นสูงร่วมด้วย”
ไม่ใช่แค่การสั่งนำเข้ามาชิมในประเทศแล้วตัดสินใจ แต่เบ๊นและทีมงานยังต้องลงไปคุยกับเกษตรกรที่สเปนด้วยตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ได้มีคุณภาพดีที่สุด
“เราให้ความสำคัญกับวัตถุดิบเป็นอันดับต้นๆ เพราะถ้าเราสวมบทเป็นลูกค้า และบวกกับเป็นคนช่างเลือก เวลาจะกินอะไร ก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด กินแล้วไม่มีสารตกค้าง ไม่ใช่ของแปรรูป และถ้าทำกินเองที่บ้านเราจะไม่คำนึงถึงต้นทุน โดยเฉพาะถ้าทำให้ครอบครัวกินยิ่งต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เราพัฒนาสินค้าจากมายด์เซตนี้เลย ถ้าเราต้องการใส่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปในร่างกาย เราก็อยากให้เป็นสิ่งที่ดี”

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคืออัลมอนด์โปรตีน สินค้าฮีโร่ของ Beanbag ที่เบ๊นใช้วัตถุดิบจริงทั้งหมดในการปรุงรสชาติ ทั้งสตรอว์เบอร์รีอบแห้งแท้ๆ ที่นำมาบดเป็นผงเพื่อปรุงรสชาติ แทนการแต่งสีแต่งกลิ่นเพื่อประหยัดต้นทุน หรือรสชาติส้มยูซุ ก็ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกว่าจะได้รสชาติหรือกลิ่นที่ต้องการก็ใช้ปริมาณค่อนข้างมาก
“นี่คือจุดเด่นของเรา เรากล้าใช้วัตถุดิบที่คนอื่นไม่กล้าใช้ ทำให้สีของสินค้าของเราเป็นสีธรรมชาติ”
เบ๊นยังเล่าถึงกระบวนการพัฒนาสูตรที่ไม่ได้อาศัยทีม R&D หรือนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ใช้เซนส์ในการพัฒนาสูตร นี่จึงเป็นเหมือนศิลปะในการพัฒนาสินค้าในแบบฉบับของ Beanbag


ตั้งต้นจากความต่าง
“ตอนนั้นแหล่งโปรตีนจากพืชมีแค่ไม่กี่ชนิด เช่น ถั่วลันเตา หรือถั่วเหลือง ซึ่งรสชาติไม่ค่อยดี ทำให้เราต้องพัฒนาสูตรโปรตีนอัลมอนด์ที่อร่อยและแตกต่างจากที่มีในตลาด โดยเราเป็นแบรนด์แรกในเอเชียที่นำโปรตีนอัลมอนด์มาใช้ และสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดสุขภาพ”
ช่วงแรกเบ๊นเล่าว่าการทำให้สินค้าที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยมาก่อนเป็นที่นิยมในตลาดนั้นไม่ง่าย นอกจากต้องจริงจังเรื่องการวิจัยเพื่อสร้างฮีโร่โปรดักต์ อีกกุญแจสำคัญคือการจริงจังกับแพ็กเกจจิ้ง เพราะเธอมองว่าแพ็กเกจจิ้งไม่ได้มีบทบาทแค่ห่อหุ้มสินค้า แต่ยังเป็นเครื่องมือดึงดูดสายตา และช่วยเล่าเรื่องราวของแบรนด์
“ช่วงเปิดตัวแรกๆ สินค้าออร์แกนิกมักถูกมองว่าเป็นของที่เกี่ยวกับการกินผักหรืออาหารคลีน และมักคิดว่าออร์แกนิกต้องเป็นสินค้าซองสีน้ำตาลคล้าย OTOP ซึ่งดูไม่น่าสนใจ เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเรามองในฐานะลูกค้า เราจะอยากได้อะไร”
คำถามนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติภาพลักษณ์ของสินค้าออร์แกนิก ทีมงานไม่เพียงแค่ใส่ใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ยังมุ่งมั่นพัฒนาแพ็กเกจจิ้งที่สะท้อนถึงความตั้งใจของแบรนด์


“ผู้บริโภคยุคนี้ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่จะได้รับตั้งแต่แรกเห็น เช่น สติ๊กเกอร์ที่เราติดบนกระปุก ต้องให้สัมผัสเหมือนซาติน จับแล้วลื่นมือ มีลูกค้าบางคนบอกว่า หลังทานโปรตีนแบบ To-Go แล้วไม่อยากทิ้งซอง เพราะรู้สึกเสียดาย มันสวย เราได้ยินก็ภูมิใจ”
การออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่สวยงามและพรีเมียมนี้ ไม่เพียงแต่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า แต่ยังช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สนใจสุขภาพให้เริ่มทดลองใช้ผลิตภัณฑ์
“เมื่อเราปรับภาพลักษณ์สินค้าให้ดูน่าสนใจ คนที่ไม่สนใจสุขภาพก็เริ่มเปิดใจทดลอง และพบว่าสินค้าของเราดีต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องฝืนตัวเอง”

ตั้งต้นจากความต้องการ
ถ้ามองในภาพรวมตลาดโปรตีนจากพืช market size นั้นอยู่ที่ราว 9,700 ล้านบาทในปี 2024 และเติบโตเฉลี่ย 3.2% ถือเป็นกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาแรงไม่น้อย ทำให้หลายคนอยากกระโดดเข้ามาว่ายในกระแสนี้
“เราไม่ได้มองว่าตลาดนี้กำลังโตแล้วกระโดดเข้ามา แต่คิดต่อยอดไปเรื่อยๆ โดยฟังจากลูกค้าและศึกษาข้อมูลสุขภาพเพื่อพัฒนาสินค้าที่ดีต่อทั้งเขาและเรา สำหรับเรา ตลาดโปรตีนจากพืชยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก เราอยากดิสรัปต์ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น”
ที่จริงช่วงโควิด-19 Beanbag เน้นผลิตและสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจอื่นๆ ทำให้ในช่วงนั้นเบ๊นยังไม่ได้โฟกัส Beanbag เต็มตัว แต่การแพร่ระบาดของโควิดทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การซื้อของลดลงเหลือเฉพาะสิ่งจำเป็น Beanbag จึงตัดสินใจโฟกัสที่การขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง (B2C) มากขึ้น
เมื่อกลับมาตั้งหลักที่แบรนด์ของตัวเอง เบ๊นพบว่าความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือการคิดค้นสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้
“ลูกค้าหลายคนชอบรสชาไทย เราตั้งใจใช้ชาไทยแท้ๆ ไม่มีการแต่งกลิ่น เลยต้องใช้ชาถึงสามชนิดในการพัฒนาสูตร มันยากมากค่ะ แต่สุดท้ายเราก็ทำสำเร็จ แต่พอทำออกมาเป็นกระปุก ลูกค้าก็บอกว่าอยากได้แบบพกพา เราเลยพัฒนาเป็นแบบ To-Go เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ทุกที่ แค่เติมน้ำ เขย่า และพร้อมดื่มได้ทันที เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความสะดวก


“หรือมีลูกค้าบอกว่ากินโปรตีนแล้วรู้สึกยังไม่จบ เราก็นำคอมเมนต์มาตีความ บางครั้งโปรตีนอาจไม่ถึง หรือบางคนกินคาวแล้วกินหวานต่อ มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องอิ่มหรือไม่อิ่ม เราจึงพัฒนาโปรตีนในรูปแบบของอาหารคาว อย่างซุปโปรตีนที่แค่เติมน้ำก็พร้อมทาน ไม่มีชูรสหรือสารแต่งกลิ่นสี ถ้าอยากให้อิ่มขึ้นก็เพิ่มเส้นหรือกินคู่กับขนมปังก็ได้”
อีกสิ่งสำคัญที่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้คือรสชาติ เบ๊นเน้นย้ำว่าการตอบสนองความต้องการของลูกค้าไม่ยาก แค่ต้องทำให้อร่อย และสามารถทำให้รู้สึกดีเมื่อได้ทาน
เบ๊นยังเน้นย้ำว่า Beanbag ไม่ได้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า จึงพยายามทำให้ Beanbag เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ได้ทุกวัน ทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้าเร่งรีบ มื้อเที่ยงในที่ทำงาน หรือมื้อเย็นที่อยากดูแลสุขภาพ
“เราอยากเป็นคำตอบในทุกๆ วันของลูกค้า” เธอว่าอย่างนั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของแท็กไลน์ ‘Everyday with Beanbag’

ตั้งต้นจากประสบการณ์
“Beanbag เด่นในเรื่องการสร้าง experience ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค และสร้างความเซอร์ไพรส์อยู่ตลอด” เบ๊นเกริ่นเมื่อเอ่ยถามถึงการตลาดสำคัญของ Beanbag ในยุคที่คู่แข่งในท้องตลาดมีไม่น้อย
“ตอนเราทำซุปโปรตีน ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับลูกค้า หลายคนไม่เคยคิดว่าโปรตีนจะเป็นอาหารคาวได้ พอเราแนะนำว่าเรามีซุปข้าวโพด ซุปเห็ดทรัฟเฟิล ที่แค่เปิดกระปุกก็ได้กลิ่นชัดเจน มันเป็นประสบการณ์ที่เขารู้สึกว่าไม่ได้คาดไว้ เชื่อไหมว่ามีลูกค้าบอกว่า เราใส่ทรัฟเฟิลเยอะเกินจนกลิ่นแรงไป บางคนอาจมองว่าราคาสูงแต่พอเขาได้กินเขาจะรู้สึกว่ามันคุ้มค่า เรารู้สึกว่าผู้บริโภครับรู้ได้ว่าเรามีความจริงใจในคุณภาพ ทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความคุ้มค่า”
แต่การจะสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้อย่างตรงจุดและตรงใจไม่ง่าย หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ Beanbag จริงจังคือการลงสนามหรือการไปพบปะลูกค้าตรงๆ ผ่านการจัดบูทหรือกิจกรรมทดลองชิม
“ทุกครั้งที่เราออกบูท ทีมงานของเราจะอยู่หน้างานด้วยตัวเอง เราไม่ได้แค่ชงสินค้าให้ลูกค้าชิม แต่จะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร รวมถึงให้คำแนะนำ เช่น การชงโปรตีนยังไงให้อร่อย หรือการปรับรสชาติให้เหมาะกับความชอบของแต่ละคน การลงสนามบ่อยช่วยให้เราสนิทกับลูกค้ามากขึ้น ได้รับฟังฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟีดแบ็กเชิงบวก ถือเป็นกำลังใจให้คนทำธุรกิจ ”
Beanbag ยังให้ความสำคัญกับการบอกต่อ (word-of-mouth) สร้างคอมมิวนิตี้ มากกว่าการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบดั้งเดิม “เรามองว่าผลิตภัณฑ์ของเราต้อง ‘ขายตัวเอง’ ได้ ลูกค้าต้องหยิบเราออกมาเพราะรู้สึกว่าแตกต่างและคุ้มค่า ทุกอย่างในผลิตภัณฑ์ต้องสะท้อนถึงคุณภาพและความตั้งใจของเรา
“เราจะไม่วางขายสินค้าทุกที่ แต่เลือกเฉพาะสถานที่ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เช่น Gourmet Market หรือ Tops รวมถึงการขายออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกชัดเจนว่าเรามีจุดยืนที่ชัดเจนในตลาด”

ตั้งต้นจาก DNA
“เรารู้สึกว่าการดูแลสุขภาพไม่จำกัดที่อายุอีกต่อไป ผู้คนมองว่าการออกกำลังกายเป็นไลฟ์สไตล์ เราเริ่มเห็นคนทุกวัยใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น เด็กๆ เองก็เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาบริโภค เช่น การซื้อน้ำสมูตตี้แก้วละ 300-400 บาทเป็นเรื่องปกติ มันกลายเป็น new normal ที่เขารู้สึกว่ามันสะท้อนการดูแลตัวเองและความภูมิใจในตัวเอง
“อย่าง Beanbag เราเริ่มต้นจากกลุ่มคนรักสุขภาพหรือกลุ่มที่กังวลเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง ปัจจุบันลูกค้าเราเด็กลงเรื่อยๆ สินค้าของ Beanbag จึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการดูแลสุขภาพ แต่ยังสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ เช่น การเล่นพิลาทิส การทานสมูตตี้ หรือการทานอาซาอิโบล ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการบอกรักตัวเอง”
แม้เทรนด์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับเบ๊น เทรนด์สุขภาพไม่ใช่แค่กระแสที่มาแล้วก็ไป แต่มองว่าเป็นตลาดที่มีความยั่งยืน ดังนั้นการจะอยู่กับเทรนด์นี้ให้ได้ตลอด คือการสร้าง DNA ของแบรนด์ให้ชัด


“ถ้าเปรียบเทียบราคาต่อกรัม อาจจะสูงกว่านิดหน่อย แต่ไม่มากเลยค่ะ เรามองว่าคนในตลาดนี้ให้ความสำคัญกับ value มากกว่า ถ้าราคาถูกแต่รสชาติไม่ดี เขาก็ไม่ซื้ออยู่ดี แต่ถ้าราคาเหมาะสม และเขารู้สึกว่ามันอร่อยและคุ้มค่า เขาก็จะจ่ายโดยไม่ลังเล”
ในมุมมองของเบ๊นการรักษาความจริงใจในตลาดที่แข่งขันสูงและมีสินค้าราคาถูกมากมายเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่เธอเชื่อว่าความซื่อสัตย์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ เพราะลูกค้าไม่รู้เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ สุดท้ายแล้ว การขาดจรรยาบรรณไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจเดียว แต่จะกระทบทั้งตลาด
“ถ้าคุณทำธุรกิจจริงๆ ต้องใส่ใจในคอมมิวนิตี้ของผู้บริโภค และควรมี DNA ของตัวเองที่ชัดเจน มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ยุคนี้การเข้ามาทำธุรกิจแล้วออกไปง่ายมาก เรารู้สึกว่าคนที่ทำดีจะได้รับผลกระทบไปด้วย จึงอยากให้คนทำธุรกิจโฟกัสที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นหลัก ให้คุณค่ากับพวกเขามากกว่าการแสวงหาผลกำไร หรือให้แทนตัวเองเป็นลูกค้า ถ้าผู้ขายใส่ของที่ไม่ดี เราก็ไม่อยากได้
“เราเชื่อว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจคือ การเติบโตอย่างยั่งยืน และความจริงใจนี้คือสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว เมื่อผู้บริโภคไว้วางใจ ความสัมพันธ์นี้จึงแข็งแกร่ง ไม่ว่าเราจะพัฒนาสินค้าอะไร พวกเขาก็พร้อมจะสนับสนุนเสมอ” เบ๊นทิ้งท้าย
วิกฤตหรือโอกาส? หนทางสู่เวทีโลกของธุรกิจไทยด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำกับ KBank
ปี 2024 ถือเป็นครั้งแรกที่โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
ตัวเลข 1.5 ดูเป็นตัวเลขแสนน้อยนิด แต่เชื่อไหมว่าผลกระทบมหาศาล Swiss Re หนึ่งในผู้ให้บริการประกันภัยชั้นนำของโลก ยังรายงานว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2024 นี้ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 310,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งสูงกว่าปี 2023 ถึง 6%
ไม่แปลกใจหากจากรายงานของ PwC จะพบว่ากว่า 46% ของผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ยั่งยืนขึ้นเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ความแปรปรวนที่ว่าชะลอลง เรียกได้ว่าในฐานะผู้ประกอบการ นอกจากจะได้รับผลกระทบทางตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมยังได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะหากไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับความยั่งยืนที่ผู้บริโภคมองหาก็อาจต้องโบกมือลากันไป
คำถามสำคัญจึงคือ ‘แล้วธุรกิจไทยจะเอาตัวรอดยังไงในสถานการณ์นี้?’
เพราะเข้าใจใน pain point ว่าเหล่าผู้ประกอบการหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพียงแต่ยังขาดองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ ดังนั้น KBank จึงจัดงานสัมมนาเชิงลึกอย่าง Decarbonize Now ที่ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย transform สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และยืนหยัดได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก
Recap ตอนนี้จึงขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงอุปสรรค โอกาส และหนทางสู่แสงสว่างในงาน Decarbonize Now ไปพร้อมๆ กัน

กุญแจมือที่หนีไม่พ้น
แรงกดดันจากผู้บริโภคน่ากลัวก็จริง แต่เชื่อไหมว่ายิ่งไปกว่าแรงกดดันนั้น ยังมีกุญแจมือที่กระชากยังไงก็ไม่อาจหลุดพ้น นั่นคือข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกที่ผู้ประกอบการต้องบรรลุให้ได้
ต้ังแต่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งหลายประเทศรวมถึงไทยเราเองได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสให้ได้ และจะดียิ่งไปกว่านั้นถ้าทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
หรือจะเป็นมาตรการ ‘CBAM’ (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง แปลว่ายิ่งคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงเท่าไหร่ ผู้ประกอบการไทยก็ยิ่งหนาวขึ้นเท่านั้น
เพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางการค้าและเพื่อให้หลายอุตสาหกรรมยังครองแชมป์ในะดับโลกได้ ภาครัฐไทยจึงตั้งเป้า Net Zero หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2065 มาพร้อมกับ Thailand Taxonomy ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศออกมาซึ่งส่งผลกับกลุ่มธุรกิจโดยตรง เพราะเจ้า Thailand Taxonomy นี้มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อหรือรีไฟแนนซ์โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อย
นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการคนไหนปรับตัวได้ก่อน ย่อมได้เปรียบในสังเวียนนี้ไม่น้อย

วิกฤตหรือโอกาส
ถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ยั่งยืนกับโลกยิ่งขึ้นนั้นสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจในสายตาผู้บริโภค นักลงทุนที่ให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานตามหลัก ESG พันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศยังมีเกณฑ์ในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งหากใครปรับตัวได้ก่อนก็ย่อมเป็นผู้ถูกเลือกในสมรภูมินี้
ถึงอย่างนั้น ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ยังไม่พร้อมลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- ขาดความรู้
หลายคน ‘ไม่รู้ว่าทำไมต้องทำ’ เพราะมองเพียงผลตอบแทนระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนระยะยาว แต่แม้บางคนจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต่อความอยู่รอดของธุรกิจแต่ก็ ‘ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง’ หรือ ‘ไม่รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการใด’
- ขาดเงินทุน
การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำยังใช้เงินลงทุนสูง ความที่ต้องใช้เงินทุนสูงนี้เองทำให้ผู้ประกอบการกลัวว่าต้นทุนในการปรับเปลี่ยนจะส่งผลให้สินค้าและบริการราคาสูงกว่าเจ้าอื่นๆ จนทำให้แข่งขันในตลาดได้ยาก
- ขาดความพร้อมของเทคโนโลยี
ในบางครั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมนั้นๆ อาจยังไม่พร้อมใช้งาน มีความซับซ้อนในการติดตั้งและใช้งาน บ้างก็ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการเติบโต เช่น ระบบชาร์จ EV หรือระบบพลังงานหมุนเวียน
- ขาดเครื่องมือวิเคราะห์
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจอย่างมีระบบและให้มั่นใจว่าจะเท่าทันมาตรการสากลยังต้องมีเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์และติดตามผล เช่น การคำนวณการปล่อย GHG หรือระบบติดตามการใช้พลังงาน ตามมาด้วยการต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนผ่านธุรกิจนี้เป็นเกมยาวที่ผู้ประกอบการต้องอดทนรอ นั่นนำมาสู่คำถามสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายคนตั้งคำถามว่าถ้าไม่ได้เป็นลูกพระยานาหมื่น ไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โตที่มีทั้งแหล่งเงินทุนและมีทรัพยากรบุคคลพร้อมสรรพ
เหล่าผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปกับเทรนด์โลกนี้ได้ยังไงกัน?

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ด้วย pain point ทั้งหมดที่ crack ออกมา งาน Decarbonize Now ที่จัดโดย KBank จึงไม่เพียงให้ความรู้ แต่ยังพาผู้ประกอบการทดลองทำจริงตั้งแต่ศูนย์ ทั้งยังมีการสาธิตการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้คำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจตนเอง
ในงาน Decarbonize Now นี้ยังสรุปเฟรมเวิร์ก ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการจับต้นชนปลายการเปลี่ยนผ่านธุรกิจได้ถูกว่าสเตปที่หนึ่งสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์นั้นต้องทำยังไง เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ตระหนกจนเกินไป แต่ตระหนักว่าหากยังไม่พร้อม ก็เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัวก่อนได้ ซึ่งเฟรมเวิร์กที่ว่าประกอบด้วย 8 สเตปหลักๆ ที่เริ่มได้ไม่ยาก ได้แก่
- Measure Impact วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดคือการกลับไปหาต้นตอสำคัญ สเตปแรกที่ KBank แนะนำคือ ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์อย่าง KClimate Accounting Platform ช่วยเก็บข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกทำให้รู้ว่าในกระบวนการผลิตของเรา จุดไหนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ
- Define Objectives and Priorities กำหนดวัตถุประสงค์และจัดลำดับความสำคัญ
เมื่อรู้ตัวการสำคัญ จึงค่อยกลับมาตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเพื่ออะไร จะลดเท่าไหร่ พร้อมลำดับความสำคัญว่าควรเริ่มจัดการที่จุดไหนก่อน และอะไรค่อยทำทีหลังได้ เช่น อาจเริ่มจากการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการจัดการกับสิ่งที่เราควบคุมได้ อย่างการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์ จากนั้นจึงพิจารณาสิ่งที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น อย่างการขนส่งสินค้าที่อาจทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์


- Assess Risks and Opportunities ประเมินความเสี่ยงและโอกาส
ในขั้นตอนนี้ องค์กรต้องประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจ และวิเคราะห์ ‘โอกาส’ ในการสร้างความได้เปรียบในตลาด เช่น ความเสี่ยงของธุรกิจขนส่งคือการเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับค่าคาร์บอนในรถยนต์ดีเซล ดังนั้นโอกาสที่อาจช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดคือการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EVs)
- Set Targets and Metrics ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด
เมื่อได้เป้าหมายใหญ่ในข้อที่ 2 ทีนี้ก็ถึงตาที่จะต้องเซตเป้าหมายระยะสั้น 5-10 ปี เพื่อให้เราไม่รู้สึกท้อไปเสียก่อน นอกจากนั้นยังควรมี KPI หรือตัวชี้วัดที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินงานว่าเราทำได้จริงตามที่กำหนดไว้หรือเปล่า
ถ้าจะให้ดีคือควรตั้งเป้าหมายตามหลักการ Science-Based Targets Initiative (SBTi) หรืออย่างน้อยที่สุดคือการตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ
- Formulate Transition Plan พัฒนากลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่าน
สเตปต่อมาคือกางแผนงานที่ตั้งไว้ในแต่ละเฟส ว่าจะต้องใช้ทรัพยากรเงิน บุคคล รวมถึงเทคโนโลยีอะไรบ้างเพื่อให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง

- Engage Stakeholders สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้า เพื่อสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน สำหรับพนักงานอาจเริ่มจากการจัดอบรมความรู้เรื่องความยั่งยืนและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานปรับพฤติกรรม
สำหรับซัพพลายเออร์ อาจเริ่มจากกำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน เช่น เลือกซัพพลายเออร์ที่มีการลดการปล่อย GHG มอบรางวัลหรือสิ่งจูงใจให้ซัพพลายเออร์ที่มีการปรับตัวเพื่อลด GHG อย่างมีนัยสำคัญ
และสำหรับลูกค้าเน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลดการปล่อย GHG ผ่านการตลาดและการสื่อสาร ไปจนถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรีไซเคิลหรือแคมเปญลดการใช้พลังงาน
- Take Action and Track Progress ดำเนินการและติดตามผล
เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มดำเนินการตามแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เลย! ที่สำคัญ เพื่อให้ติดตามผลการดำเนินงานได้ ต้องคอยประเมินประสิทธิภาพเทียบกับเป้าหมายเสมอๆ เช่น จัดเก็บข้อมูลการปล่อย GHG เป็นประจำ ใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการ และหากไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องปรับกลยุทธ์หรือเพิ่มมาตรการ
- Report and Disclosure รายงานและเปิดเผยข้อมูล
เมื่อลงมือทำแล้ว ควรมีการรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลการลด GHG อย่างสม่ำเสมอ เช่น จัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Carbon Footprint Report
โดยใช้มาตรฐานการรายงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ผู้ประกอบการยังควรเปิดเผยข้อมูลทั้งความสำเร็จ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เพื่อช่วยให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น สร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่และเงินทุนสีเขียว นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ

เชื่อว่าทั้ง 8 สเตปนี้จะช่วยให้เหล่าผู้ประกอบการเห็นภาพมากขึ้นว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้คาร์บอนเป็นศูนย์นั้นควรเริ่มนับหนึ่งจากจุดไหน หากใครพร้อมแล้วก็เริ่มลงมือ และในระหว่างทาง ถ้ามีข้อสงสัยหรืออยากจะขอคำแนะนำ ธนาคารยังมีทีม Industrial Decarbonization Solution ที่ไปให้คำปรึกษาถึงที่บริษัทโดยตรง เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ แต่หากใครต้องการเงินทุน การเสาะหาแหล่งเงินทุนสีเขียวจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น
หนึ่งในแหล่งเงินทุนสีเขียวที่น่าจับตาคือ สินเชื่อธุรกิจเพื่อลดคาร์บอน ของ KBank เป็นสินเชื่อที่ช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำได้ ผ่านการนำเงินจากสินเชื่อนั้นไปลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การพัฒนาระบบทำความร้อน การจัดการกับขยะอาหาร ฯลฯ
สินเชื่อนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ ลดการใช้พลังงาน บริหารจัดการต้นทุนในการลดคาร์บอนอย่างคุ้มค่า เพื่อให้สุดท้ายปลายทางสามารถรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากทั้งภาครัฐไทยและในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงแรมและเฮลท์แคร์ ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ฮาร์ดแวร์ และธุรกิจแพ็กเกจจิ้งและพลาสติก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ และได้สินเชื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
การที่ KBank มีสินเชื่อนี้ที่ไม่เพียงให้แหล่งเงินทุนแต่ยังให้ solution และพร้อมร่วมมือไปกับกลุ่มธุรกิจ จึงช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางกล้าที่จะปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน สุดท้ายปลายทางคือการช่วยสิ่งแวดล้อม และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสธุรกิจในอนาคต
ส่วนใครที่สนใจ Go Green Together ให้ธุรกิจโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน สามารถดูรายละเอียดสินเชื่อ สินเชื่อธุรกิจเพื่อลดคาร์บอน ได้ที่ www.kasikornbank.com/k_49SknHU

อ้างอิง
- thai-inter-org.mfa.go.th/th/page/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2
%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9
B%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA?menu=5d847835517e9b159b5eba97 - nstda.or.th/home/news_post/bcg-implementation-cbam/
- jordantimes.com/news/business/natural-disasters-cause-310b-economic-losses-2024-%E2%80%94swiss-re
- weforum.org/stories/2023/08/temperatures-tourism-climate-impact
- sustainablehospitalityalliance.org/our-work/climate-action/
- weforum.org/stories/2023/08/temperatures-tourism-climate-impact
- mtpak.coffee/2022/09/does-plastic-packaging-contribute-to-climate-change
- rsm.global/insights/state-emissions-reduction-automotive-industry#:~:text=The%20automotive%20industry%20is%20a,demand%20for%20mo
re%20sustainable%20action.&text=It%20is%20no%20secret%20that,greenhouse%20gas%20(GHG)%20emissions. - futureproofed.com/articles/sustainability-business-opportunity#:~:text=Sustainability%20as%20a%20business%20opportunity,of%20choice%20for%20their%20stakeholders.
กลยุทธ์ที่ทำให้ขายหัวเราะเป็นมากกว่าหนังสือการ์ตูน
หลายๆ คนอาจมีความทรงจำผูกพันกับขายหัวเราะ ในฐานะหนังสือการ์ตูนอารมณ์ดี หรือในยุคนี้ในฐานะแบรนด์, คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ด้านการ์ตูน คาแร็กเตอร์ และอารมณ์ขัน แต่ที่หลายๆ คนไม่ทราบ คือปัจจุบันขายหัวเราะเติบโตเป็นแบรนด์ที่ทำแคมเปญการตลาดได้อย่างสร้างสรรค์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านอารมณ์ขัน การ์ตูน และคาแร็กเตอร์ สร้างสรรค์แคมเปญการตลาดให้กับพาร์ตเนอร์แบรนด์และองค์กรต่างๆ
ในแคมเปญล่าสุดอย่าง ‘ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ : ขายหัวเราะ 50thHAPPYversary’ ฉลองครบรอบ 50 ปี ก็ทำถึงจนกวาดรางวัลจากเวทีใหญ่มาได้หลายรางวัล รางวัลแรกคือรางวัลชนะเลิศ Creative Excellence Awards จาก CEA ในหมวด Creative Business Awards : Creative Collaboration โดยเป็นผลคะแนนทั้งจากรอบกรรมการและรอบวัดผลด้วย Social Listening



ส่วนอีกรางวัลมาจากงานมหกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘AdPeople AWARDS & SYMPOSIUM 2024’ หรือในชื่อเดิมคือ ADMAN Awards’ โดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ที่คว้าไปถึง 5 รางวัล ได้แก่ รางวัล Silver 3 รางวัล ได้แก่ หมวด Public Relation Plan, หมวด Experience & Activation และหมวด Digital & Social รางวัล Bronze 2 หมวด ได้แก่ หมวด Creative Strategy และหมวด Entertainment
สำหรับแคมเปญ ‘ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ’ ที่ชวนแบรนด์และองค์กรต่างๆ มาร่วมคอลแล็บเพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีนั้นประกอบไปด้วยโปรเจกต์สนุกสนานมากมาย ไล่ตั้งแต่การร่วมคอลแล็บกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในโปรเจกต์ ‘เปลี่ยนไกด์เป็นแก๊ก’ ด้วยการนำมุกติดเกาะสุดคลาสสิกมาเล่าใหม่ โดยมีคาแร็กเตอร์ขาประจำอย่าง พระอภัยมณี นางเงือก นางยักษ์ และเหล่านักวาดตัวพ่อ ซึ่งเป็นทั้งซอฟต์พาวเวอร์ และ humour marketing มาช่วยโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ 50 แห่ง จากทั้งหมด 5 ภาค ในประเทศไทย เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก


ถัดมาเป็นการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์สายแฟชั่น ซึ่งเป็นน่านน้ำใหม่ที่ขายหัวเราะเพิ่งเคยสัมผัส เริ่มจากการคอลแล็บกับแบรนด์ MC JEANS เพื่อออกคอลเลกชั่น ‘MC OVER’ ที่นอกจากจะมีลวดลายขายหัวเราะบนเสื้อยืดและเสื้อยีนส์ การโปรโมตยังหยิบคาแร็กเตอร์ขาประจำมาปรับลุคด้วยแฟชั่นยีนส์สุดเท่ นอกจากนั้นยังมีการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์แฟชั่นสายสตรีทอย่าง CARNIVAL ที่หยิบฟอนต์อันเป็นเอกลักษณ์ของขายหัวเราะ และแก๊กตลกสามช่อง มาเปลี่ยนเป็นคอลเลกชั่นเสื้อผ้าสุดลิมิเต็ด ที่ sold out อย่างรวดเร็ว



ในหมวดอาหาร ขายหัวเราะยังร่วมคอลแล็บกับแบรนด์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานอย่างขนมปัง ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ ที่นอกจากจะออกฟรุ้ตพาย 5 รสชาติ ยังมีการนำคาแร็กเตอร์ขวัญใจ ทั้งปังปอนด์ หนูหิ่น คุณมิลค์ บ.ก.วิธิต และเจ้าแมวตุ้มเม้งมาอวดโฉมบนแพ็กเกจจิ้งขนมปังแถว


หรือจะเป็นฝั่งการทำงานร่วมกับแบรนด์แว่นตาที่อยู่คู่กับคนไทยมานานอย่าง ‘หอแว่น’ ที่หยิบคาแร็กเตอร์ยอดนิยมมาดีไซน์แว่น 2in1 ที่เป็นทั้งแว่นสายตาและแว่นกันแดด ให้เข้ากับลุคและสไตล์ของคนแต่ละวัย ก่อนจะเอาใจสายสตรีทอีกครั้งด้วยการร่วมมือกับ Preduce Skateboards แบรนด์สเก็ตบอร์ดขวัญใจเด็กสยามสแควร์ รังสรรค์สเก็ตบอร์ดซีรีส์พิเศษ ซึ่งหยิบเอาลวดลายมุกตลกสุดฮาที่เป็นดั่งจดหมายเหตุมาประทับบนแผ่นสเก็ต


และปิดท้ายแคมเปญด้วยการคอลแล็บกับ IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากสวีเดน ในโปรเจกต์ ‘ขำแบ็คโฮม’ ที่หยิบเอกลักษณ์ความเป็น Thai Local ผสมผสานกับอารมณ์ขัน เพื่อโปรโมตสินค้าต่างๆ ของ IKEA ในรูปแบบอนิเมชั่น และ Gagtalogue หรือแค็ตตาล็อกในสไตล์การ์ตูนแก๊กตามแบบฉบับขายหัวเราะ
หัวใจสำคัญของแคมเปญ ‘ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ’ ไม่เพียงเป็นการนำคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนจากขายหัวเราะและอารมณ์ขันซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทุกคนรู้จักดีมาเป็นตัวชูโรง แต่ยังเป็นการหยิบคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ ซึ่งเราคุ้นเคยกันตั้งแต่เด็กมาจับคู่กับแบรนด์ โดยดึงจุดเด่นของทั้งสองฝ่ายมาสร้าง product & service ที่น่าสนใจ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละเจเนอเรชั่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีในการประยุกต์ใช้ความถนัดและจุดแข็งที่มีอยู่ในมือ มาต่อยอดส่งเสริมในด้านการตลาดและโลกธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ไร้ขอบเขต



คุณปาริชาต บุญคล้าย ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด ททท. กล่าวถึงความร่วมมือและรางวัลนี้ว่า “ทาง ททท. มีวิสัยทัศน์ อยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุขในการเที่ยวเมืองไทย ขายหัวเราะเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ ถ้าพูดถึงขายหัวเราะคนก็จะมีรอยยิ้มตรงกับสิ่งที่เราคิดพอดี ก่อนหน้าปี 2566 เราเคยทำเรื่องของเกาะขายหัวเราะ ในเรื่องของความยั่งยืนซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ ทำให้สร้างชื่อเสียงเละเกิดการเดินทางท่องเที่ยวเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด เราก็เลยคิดว่าถ้าเรามีพันธมิตรที่มีศักยภาพ วัตถุประสงค์ตรงกัน เเละเป็นปีท่องเที่ยวไทยผนวกกับอยากให้คนไทยอยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุขก็เลยเป็นอะไรที่ลงตัว พอทราบ (ว่าได้รางวัล) ก็หายเหนื่อย คือความตั้งใจ ความดีใจ เป็นค่าตอบเเทนการทำงานของพวกเราที่มุ่งมั่นตั้งใจให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน เวลาเราทำเเล้วออกดอกออกผลก็เป็นความภูมิใจของพวกเรา”
ตัวแทนจากทาง IKEA ประเทศไทย คุณยุนนา ชอย ผู้จัดการแผนกการตลาดและประชาสัมพันธ์ และคุณวรันธร เตชะคุณากร ผู้จัดการแผนกออกแบบและสื่อสาร เล่าว่า “ขายหัวเราะสร้างความสุขให้กับผู้คนที่บ้าน IKEA ก็สร้างความสุขให้กับคนเหมือนกัน ไม่ได้เป็นในมุมแก๊ก แต่เป็นในมุมที่เราเอาสินค้าต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มาทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น และเราก็อยากทำให้คาแร็กเตอร์ของ IKEA มีความขี้เล่นสนุกสนาน ทำให้คนอื่นมีความสุขได้เหมือนกัน

“จริงๆ IKEA เป็นแบรนด์จากต่างประเทศที่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย พอได้มาทำงานร่วมกันกับขายหัวเราะ ก็รู้สึกว่า ทำให้เข้าถึงคนไทย ทำให้ IKEA เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำวันของคนไทยได้มากขึ้น เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับขายหัวเราะ หลังจากนั้นถึงจะรู้สึกดีใจว่า สิ่งที่เราได้ทำร่วมกัน มีผู้คนมากมายชอบ และทำให้พวกเราได้รับรางวัลกับผลงานที่พวกเราตั้งใจกันทำมาหลายเดือน”
ส่วนคุณริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่าความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งแม็คยีนส์ ฃและขายหัวเราะ ต่างมีดีเอ็นเอที่ตรงกันในหลายๆ ส่วน ทั้งสองแบรนด์ต่างปรับตัวและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างแม็คยีนส์ก็มีเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ นำเสนอสินค้าและคอลเลกชั่นใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับขายหัวเราะ ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากกว่าแค่หนังสือ

“การ collaboration ในคอลเลกชั่นนี้จึงน่าจะเพิ่มสีสันให้กับแบรนด์แม็คยีนส์ และเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีดีเอ็นเอหลายอย่างตรงกัน เป็นอีกหนึ่งก้าวที่แบรนด์ได้หาสิ่งสนุกๆ มานำเสนอ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ยินดีกับขายหัวเราะด้วยกับความสำเร็จ และยินดีที่ได้ร่วมงานกันในโปรเจกต์คุณภาพนี้และได้สร้างสรรค์คุณภาพให้กับลูกค้าร่วมกันและหวังว่าขายหัวเราะจะได้ต่อยอดสิ่งดีๆ แบบนี้ให้ลูกค้าต่อไป”
Flavors of the Year 10 ร้านอาหารเด็ดในดวงใจจาก Bon Appétit ประจำซีซั่น 2024
‘ไก่ใส่รองเท้า ระบบผ่อนไก่ และคลับไก่งวง’ ว่าด้วยชนชั้นและเทคโนโลยีของไก่งวงในวันคริสต์มาส
สำหรับชาวคริสต์ วันคริสต์มาสถือเป็นอีกสุดยอดวันสำคัญ เป็นวันที่ครอบครัวจะต้องกลับมารวมตัวกัน มีการกินอาหารมื้อใหญ่ร่วมกัน หนึ่งในอาหารจานยักษ์บนโต๊ะอาหารที่สำคัญที่สุดนั่นคือไก่อบ ที่ในการฉลองคริสต์มาสส่วนใหญ่จะเป็นการอบไก่งวงตัวใหญ่ยัดไส้
การกินไก่งวงในวันคริสต์มาสเป็นประเพณีที่มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนาน แต่บางจุดของเรื่องเล่าก็มีข้อเสนอที่แย้งกัน บ้างบอกว่าธรรมเนียมต่างๆ ของวันคริสต์มาสรวมถึงการกินไก่งวงมาจากวรรณกรรมต้นแบบเกี่ยวกับคริสต์มาสอย่าง A Christmas Carol ของชาร์ลส์ ดิกเคนส์ ตีพิมพ์ในปี 1843
บ้างบอกว่าไก่งวงในวันคริสต์มาสมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น แถมเป็นเรื่องซับซ้อนที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอาหารการกินของอังกฤษ ธรรมเนียมการจัดเลี้ยงหรูหราที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง การจัดแสดงสัตว์ปีกบนโต๊ะอาหาร และการที่เจ้าไก่งวงเป็นสัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
การกินไก่งวงยังสัมพันธ์ตั้งแต่กิจการการเลี้ยงไก่งวง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการผ่อนไก่ และอันที่จริงการมาถึงของชาร์ลส์ ดิกเคนส์ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้การกินไก่งวงแมส เป็นความแมสที่มาพร้อมกับรถไฟ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปีกที่ขยายตัวขึ้น
ในวันที่เราอาจเริ่มเห็นไก่อบบนโต๊ะอาหาร ซึ่งถือเป็นลูกหลานของธรรมเนียมการกินไก่งวงในฐานะไก่ยักษ์เพื่อเลี้ยงทั้งครอบครัว คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์จะขอพาทุกท่านย้อนไปชมความซับซ้อนของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากยุคล่าอาณานิคม และการที่คนชั้นอื่นค่อยๆ มีเจ้าไก่อบตัวใหญ่อยู่บนโต๊ะอาหารในคืนวันคริสต์มาส

ยุคกลางกับงานเลี้ยงสารพัดสัตว์
ลองนึกภาพงานเลี้ยงฉลองของยุคกลาง เป็นภาพงานเลี้ยงเต้นรำ งานเลี้ยงฉลองชัยในหนังอัศวิน แบบในนิทาน หรือในซีรีส์แฟนตาซี การจัดเลี้ยงเหล่านี้เน้นเสิร์ฟอาหารชุดใหญ่ที่หลายครั้งจำลองเนื้อสัตว์ต่างๆ มาจัดแสดงอยู่บนโต๊ะอาหารที่หรูหราฟุ่มเฟือย
ความน่าสนใจของการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์และโปรตีนอันเป็นมรดกของยุคกลาง นักประวัติศาสตร์บางท่านเสนอว่าเป็นผลกระทบจากโศกนาฏกรรมสำคัญของยุคสมัย คือการระบาดของกาฬโรคในช่วงกลางศตวรรษที่ 14
ข้อเสนอของ Chris Woolgar ผู้ทำงานศึกษาอาหารการกินของครัวเรือนอังกฤษในสองศตวรรษคือปี 1200-1500 ชี้ให้เห็นว่าหลังเกิดโรคระบาด ตัวโรคระบาดลดประชากรมนุษย์ และผู้คนในยุคหลังโรคระบาดพบว่า เนื้อสัตว์มีพอกับคนทุกคน จุดเปลี่ยนนี้เองทำให้ปลายศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา การเลี้ยงฉลองของผู้มีอันจะกินในยุคกลาง ซึ่งหลายครั้งเผื่อแผ่มายังชาวนาและคนยากไร้ด้วย จึงมักมีการวางอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไว้อย่างยิ่งใหญ่
อันที่จริง ก่อนที่จะมาถึงยุคการวางไก่งวง คริสต์มาสยุคกลางมีอาหารสำคัญสองอย่าง อย่างแรกสำคัญที่สุดคือหัวหมูป่าดองซึ่งถือเป็นอาหารดาวเด่นที่ต้องมีทุกการเลี้ยงในคืนวันคริสต์มาส อันที่จริงหัวหมูป่าดองมีความสยองขวัญอยู่ คือต้องมีการเตรียมด้วยการผ่าแยกหัวของหมูป่า นำเนื้อไปบดผสมกับเครื่องเทศก่อนที่จะนำมาเย็บรวมกันอีกครั้ง
นอกจากหัวหมูป่าแล้ว บนโต๊ะจะหรูหราไม่ได้เลยถ้าขาดสัตว์ปีก แต่เดิมในยุคกลาง นกสำคัญที่จะถูกนำมาขึ้นโต๊ะคือนกยูง ชื่อเมนูคือนกยูงปิดทอง (gilded peacock) ใช้ความหรูหราปนน่ากลัวเล็กน้อย คือเป็นการเลาะหนังนกยูงโดยที่ยังติดขน เอาเนื้อไปอบและนำกลับมายัดในหนังที่ยังมีขนรำแพนได้อยู่ นอกจากนกยูงจะดูรำแพนได้เหมือนมีชีวิต ส่วนหางของนกยูงก็มีการปิดทองไว้อย่างหรูหรา

ไก่งวงและนกยูง สัตว์แปลกประหลาดจากโลกใหม่
นกยูงนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นสัตว์แปลกประหลาด ซึ่งการนำมาขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงถือเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของงานเลี้ยงนั้นๆ แต่แล้วไก่งวงล่ะมาจากไหน อันที่จริง ถ้าเราเทียบรัศมีของไก่งวงในงานเลี้ยง ค่อนข้างนับได้ว่าเป็นอาหารจานหรูเท่าๆ กันกับนกยูง
ไก่งวงมีจุดกำเนิดจากเม็กซิโก ถือเป็นสัตว์โลกใหม่ที่ชาวยุโรปพากลับไปยังบ้านเกิดในช่วงที่มาสำรวจทวีปอเมริกา มีหลักฐานว่าชาวสเปนและอังกฤษนำไก่งวงกลับไปยุโรปในเวลาไล่เลี่ยกัน คือสเปนนำกลับไปจากเม็กซิโกหลังยึดครองในช่วงปี 1519
ส่วนอังกฤษมักอ้างอิงถึงกะลาสีหนุ่มที่ชื่อว่า William Strickland ชายผู้นำไก่งวงกลับไปที่อังกฤษในทศวรรษ 1520s โดยเขาถึงขนาดได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปไก่งวงอยู่ในตราประจำตระกูลได้ ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1550s นี้เองที่การลงตราประจำตระกูลเริ่มมีเค้าลางความนิยมของเนื้อไก่งวงในฐานะสัตว์เศรษฐกิจใหม่
สำหรับทั้งสเปนและอังกฤษ นับตั้งแต่ไก่งวงเดินทางและเริ่มถูกเลี้ยงในแผ่นดินยุโรป ไก่งวงถือเป็นอาหารจานหรูและได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงเทียบชั้นกับนกยูงที่เป็นสัตว์แปลกจากอินเดีย ความน่าสนใจคือแม้ไก่งวงเป็นสัตว์หน้าตาประหลาดเหมือนกับนกยูง ทว่าพวกมันเหมาะกับการเป็นอาหารมากกว่า ตัวใหญ่กว่า เนื้อเยอะกว่า และเติบโตได้ดีในยุโรป ผิดกับนกยูงที่แม้จะสวยงามกว่า แต่กระบวนการเตรียมกลับยุ่งยากและไม่อร่อย
ในช่วงตลอดทั้งศตวรรษที่ 16 นี้เองที่บทกวี ตำราอาหารต่างๆ เริ่มรวมไก่งวงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมนูและอาหารการกินชุดใหญ่ในการเลี้ยงฉลองวันคริสต์มาส เริ่มมีการพูดถึงไก่งวงในฐานะสัตว์เศรษฐกิจของสมาคมผู้เลี้ยงและผู้ค้าสัตว์ปีกของอังกฤษ มีเครื่องจานชามสำหรับเสิร์ฟไก่ขนาดใหญ่ เริ่มขุดค้นพบกระดูกของไก่งวงที่ร่วมกับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบหรูหรา
ไก่งวง เมนูเด่นในวันคริสต์มาส
แม้เราจะบอกว่าไก่งวงเป็นส่วนสำคัญของโต๊ะอาหารวันคริสต์มาส แต่ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ไก่งวงถือเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของมื้ออาหาร ยังไม่ใช่ดาวเด่น ความนิยมของไก่งวงที่ค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้นในวันคริสต์มาสสันนิษฐานว่ามีที่มาจากหลายสาเหตุ คือความเหมาะสมของกิจการการเลี้ยงไก่งวงเองรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
อย่างแรกสุดคือ ไก่งวงถือเป็นสัตว์ประจำฤดูกาล คือในการเลี้ยงไก่งวง ไก่งวงมักจะโตเต็มที่ในช่วงกลางฤดูหนาว หมายความว่ามันจะโตเต็มที่ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงและพร้อมถูกเชือดในช่วงฤดูหนาวซึ่งจะอ้วนอร่อยในช่วงคริสต์มาสพอดี
นอกจากเวลาการเลี้ยงแล้ว กิจการการขนส่งเนื้อสัตว์ถือเป็นอีกความซับซ้อนที่ทำให้การกินไก่งวงในช่วงวันคริสต์มาสเป็นเรื่องเหมาะสม การเลี้ยงไก่งวงในอังกฤษ พื้นที่เลี้ยงสำคัญอยู่ในพื้นที่ชนบทแถบนอร์ฟอร์ก เมืองที่ไกลออกไปทางตะวันออกของลอนดอน สมัยก่อนไม่มีรถแช่เย็น การขนส่งไก่งวงในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลต้องทำด้วยการต้อนให้พวกมันเดินมาที่ลอนดอนในตอนที่ยังเป็นๆ อยู่ แล้วค่อยมาเชือดในพื้นที่ตลาดของกรุงลอนดอน

ในการพาไก่งวงมาลอนดอน พ่อค้าจะใส่รองเท้าให้เหล่าไก่ยักษ์ ซึ่งคือการเอาตีนของไก่งวงชุบน้ำมันดินหรือห่อด้วยถุงกระสอบจิ๋วๆ เพื่อให้การต้อนพวกมันไม่เสียงดังหนวกหู ดังนั้นการต้อนไก่งวงมาขายจึงมีต้นทุนสูง พอมาถึงเขตเมืองลอนดอนพ่อค้าต้องทำการขุนไก่งวงขึ้นใหม่ให้เหมาะกับการขายก่อนที่จะเชือดจำหน่าย หรือขายทั้งที่ยังมีชีวิต
ทั้งหมดทั้งมวลนั้นแปลว่าการพาไก่งวงมาขายต้องพามาทั้งมีชีวิต แล้วมาเชือดเอาที่ใกล้ๆ เมือง ราคาไก่งวงในเวลาอื่นๆ ของปีจึงมีราคาสูงมาก แต่เมื่อพ่อค้ารู้ว่าไก่งวงจะได้รับความนิยมช่วงคริสมาสต์ทำให้พ่อค้าสามารถเชือดไก่ได้ตั้งแต่ที่ฟาร์มในชนบท แล้วห้อยไก่งวงรอบๆ รถม้าเพื่อนำมาขายในเมืองได้โดยไม่เน่าเสียไปก่อน ราคาไก่งวงในช่วงคริสต์มาสจึงเริ่มเข้าถึงได้ ความต้องการไก่งวงช่วงคริสต์มาสก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้นตาม
หนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าไก่งวงค่อยๆ กลายเป็นดาวเด่นของเมนูอาหารคริสต์มาสคือในตำราอาหารชื่อดังอย่าง The Art of Cookery Made Plain and Easy ตีพิมพ์ในปี 1747 ซึ่งเป็นหนังสือยอดฮิตที่ขายดีทั้งในอังกฤษและเป็นตำราคู่ครัวไปกระจายไปในเมืองอาณานิคมของอังกฤษอีก 13 อาณานิคม
แม้จะชื่อหนังสือว่าทำอาหารให้ง่าย แต่ร่องรอยสำคัญคือการออกเมนูที่ชื่อว่า the Christmas Pye (หรือ Pie) เจ้าเมนูพายวันคริสต์มาสคือการอบสัตว์ปีกที่ยัดไส้ด้วยสัตว์ปีกอื่นๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีเมนูคล้ายๆ กันอยู่ เช่นเอาพิราบไปยัดในนกกระทา แล้วเอานกกระทาไปยัดไส้ในไก่ฟ้า เอาไก่ฟ้าไปยัดใส่ห่าน แล้วสุดท้ายจึงเอาห่านไปยัดใส่ในไก่งวง สุดท้ายค่อยนำไปอบทั้งตัว
ชนชั้นและชาร์ลส์ ดิกเคนส์
แม้เราจะให้ภาพว่าไก่งวงค่อยๆ ได้รับความนิยม เข้าไปเป็นเมนู (ซึ่งไม่ได้ทำง่ายเลย) เจ้าไก่งวงยังถือเป็นอาหารหรูหรา และถ้าพูดกันจริงๆ ก็เป็นธรรมเนียมของคริสต์มาสมาตั้งแต่ก่อนอิทธิพลของชาร์ลส์ ดิกเคนส์
แต่การกินสัตว์ปีกอบในวันคริสต์มาสถือเป็นเรื่องสลักสำคัญและเป็นสิ่งที่กระทั่งคนยากคนจน แรงงานก็ต้องพยายามให้ตนเองและครอบครัวมีสัตว์ปีกอบในการเลี้ยงครอบครัวของวันคริสต์มาสให้ได้ ในช่วงนั้นห่านถือเป็นเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกกว่า สำหรับแรงงานเอง การมีห่านอบกินในวันคริสต์มาสก็เป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดมีระบบผ่อนจ่าย
เรื่องเกิดขึ้นในยุควิคตอเรียน ประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยที่เริ่มเกิดเมืองใหญ่ มีแรงงาน ในยุคนั้นผับซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของแรงงานมีการตั้งสมาคมห่าน หรือ Goose Clubs ซึ่งก็คือการที่ร้านแต่ละร้านจะให้สมาชิกออมเงินสัปดาห์ละหนึ่งชิลลิ่ง เป็นเวลา 8-10 สัปดาห์ การออมนี้เป็นการการันตีว่าครอบครัวนั้นจะมีห่านอบและเหล้าจินขวดเล็กๆ ในการฉลองของวันคริสต์มาส
ห่านในฐานะสัตว์ปีกสำคัญของวันคริสต์มาสยังสะท้อนในนิยายเรื่อง A Christmas Carol ของชาร์ลส์ ดิกเคนส์ ในเรื่องพูดถึงมิสเตอร์สกรูจสุดขี้งกที่เมื่อตื่นจากการกลั่นแกล้งสั่งสอนของจิตวิญญาณคริสต์มาสแล้ว ตาแก่สุดงกก็ทำการซื้อไก่งวงตัวที่ใหญ่ที่สุดให้กับคนทำงานเป็นรางวัล การกระทำนี้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงจากคนงกเป็นคนอารีของตาเฒ่าที่เปลี่ยนไปอย่างมหัศจรรย์
ในรายละเอียดของ A Christmas Carol ยังให้ภาพการกินไก่อบ ในเรื่องที่สกรูจซื้อไก่งวงให้ ครอบครัวลูกจ้างมีปัญญาซื้อได้แค่ห่านอบ ซึ่งสกรูจก็บอกว่าจะไปพอกินอะไร
บางตอนพูดกระทั่งความใจกว้างของผู้คนที่สะท้อนความยากจน เช่นการที่คนจนเองไม่มีกระทั่งเตาอบที่ใหญ่พอจะอบสัตว์ปีกทั้งตัวได้ ต้องไปอาศัยเตาอบของร้านขนมในการอบห่านตัวย่อมๆ เหล่านั้น ในทางกลับกัน ห่านหนึ่งตัวไม่ใหญ่พอที่จะกินอิ่มทั้งครอบครัวที่มีขนาด 8-10 คน
หลังจากปี 1843 ที่เรื่องราวของตาสกรูจทัชใจผู้คน การกินไก่งวงค่อยๆ ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้น นิทานหรือเรื่องผีในวันคริสต์มาสสัมพันธ์กับคติและความเชื่อที่ขยายตัวขึ้นพร้อมๆ คนชั้นกลาง เป็นตัวแทนของนายทุนที่อารี ไม่กดขี่ขูดรีด ชนชั้นกลางมีเงินเพียงพอ รวมถึงไก่งวงเองกลายเป็นตัวแทนของคริสต์มาสและความโอบอ้อม

20 ปีหลังจาก A Christmas Carol โต๊ะฉลองคริสต์มาสของคนชั้นกลางจึงไม่ขาดไก่งวงเลย เรื่องราวของตาแก่ขี้งกจึงเป็นอุทาหรณ์และคำสอนหนึ่งซึ่งเหล่านายจ้างได้รับเอาค่านิยม รวมถึงการกินไก่งวงและการให้ในวันคริสต์มาสไปด้วย
ความนิยมของไก่งวงนอกจากจะมาจากความนิยมและคำสอนจากเรื่องราวของชาร์ลส์ ดิกเคนส์ ก็เป็นผลจากการกำเนิดของรถไฟเนื้อสัตว์ที่มีราคาที่ชนชั้นกลางและเหล่านายทุนซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ในขณะนั้นซื้อหาได้
ในปี 1851 แม้แต่พระราชินีวิคตอเรียก็เสวยไก่งวงเป็นอาหารคริสต์มาส และในปี 1861 ตำราอาหารชื่อ Mrs Beeton’s Book of Household Management ถึงขนาดมีสูตรและวิธีการแล่เนื้อไก่งวงที่ถูกต้องให้กับเหล่าชนชั้นกลางที่กำลังเกิดใหม่ในยุคนั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีพ่อครัวหรือกระทั่งมีความรู้ในการจัดการกับอาหารเหมือนกับชนชั้นสูง
ในช่วงทศวรรษ 1950 เริ่มเกิดคลับผ่อนไก่งวงที่คล้ายกับยุคที่ผู้คนผ่อนห่านอบในวันคริสต์มาส เรียกว่า Turkey Clubs ในทำนองเดียวกับร้อยปีที่แล้ว
หลังจากศตวรรษที่ 19 ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 การเลี้ยงไก่งวงขยายตัวขึ้น การขนส่งเนื้อสัตว์มีประสิทธิภาพขึ้น สิ่งที่มาพร้อมกับนวัตกรรมคือตู้เย็นที่มีราคาถูกลง เมื่อตู้เย็นถูกลง คนชั้นแรงงานและกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าก็มีโอกาสซื้อหาไก่งวงทั้งตัวมาแช่เย็นรอไว้เพื่อปรุงอาหารในคืนวันคริสต์มาส
ปัจจุบันไก่งวงจึงกลายเป็นอาหารสามัญประจำคริสต์มาสของคนทุกชั้น วัฒนธรรมการกินสัตว์ปีกอบน่าจะค่อยๆ แพร่ขยายมายังทวีปเอเชียเช่นการกิน KFC ของชาวญี่ปุ่นในวันคริสต์มาส และคนไทยแบบเราๆ ก็อาจจะเริ่มสนใจกินไก่อบทั้งตัวในวันคริสต์มาสกับเขาด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
คุยกับ ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ผู้สู้กับวิกฤตที่มองไม่เห็น
‘อยู่กับปัจจุบัน’
ถ้อยคำข้างต้นอาจเป็นแนวทางที่หลายคนเลือกใช้เพื่อกำกับทิศทางในการทำงานและการใช้ชีวิต แต่หลังจากการพูดคุยกับ ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ผมกลับรู้สึกว่าประโยคที่เหมาะสมกว่ากับการทำงานและชีวิตของพวกเขาคือ ‘อยู่กับอนาคต’
ด้วยบทบาทสำคัญของ DPA ที่เป็นไปตามชื่อ นั่นคือทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง อาทิ แบงค์พาณิชย์ต่างๆ และทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ พวกเขามีหน้าที่เข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับผู้ฝากที่ได้รับผลกระทบ

ลำพังบทบาทหน้าที่หลักก็หนักหนาและท้าทาย หากแต่ในวันที่ปัญหายังเดินทางมาไม่ถึง และไม่รู้ว่าปัญหาในวันหน้าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน วิกฤตที่กำลังคืบคลานไม่มีใครเห็นว่าหน้าตาเป็นยังไง สิ่งที่พวกเขาต้องทำในปัจจุบันก็คือเตรียมวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับผู้ฝากเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจมาเยือนในอนาคต
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของประเทศ มีผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งที่พวกเขาทำหลักล้านชีวิต ยามสถาบันการเงินในประเทศเผชิญกับความเสี่ยงถึงขั้นสถาบันการเงินนั้นถูกปิดกิจการ พวกเขาคือหน่วยงานแรกๆ ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหา แต่คนส่วนใหญ่ก็แทบไม่รู้จักว่า DPA คือใคร ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีระบบคุ้มครองเงินฝาก ไม่รู้ว่าระบบคุ้มครองเงินฝากมีความสำคัญยังไง
บทสนทนากับ ดร.มหัทธนะ ในสำนักงานของ DPA ย่านวิภาวดี จึงตั้งใจบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานและการปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกขององค์กรที่อาจไม่ถูกมองเห็นในสถานการณ์ปกติ แต่ยามวิกฤตพวกเขาคือความหวังของผู้คน

หลังจากรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ มุมมองต่อ DPA เปลี่ยนไปจากตอนมองด้วยสายตาคนนอกไหม
ค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควร ย้อนกลับไปตอนก่อนเข้ามาทำงานที่ DPA ผมอาสาเข้ามา ผมอยากทำงานที่นี่ เพราะผมมองว่า DPA เป็นหน่วยงานที่สำคัญในระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยเหลือประชาชน สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก ก่อนรับตำแหน่งผมรู้ว่าหลักๆ แล้วหน้าที่ของ DPA มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง–คุ้มครองเงินฝาก ให้กับผู้ฝากเงินหากสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ สอง–ดูแลจัดการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ และสาม–ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ระบบสถาบันการเงิน
ก่อนเข้ามาผมคิดว่า DPA เป็นองค์กรที่ไม่น่าจะมีความ dynamic และซับซ้อนมาก เนื่องจากงานพันธกิจของ DPA ค่อนข้างชัดเจน และจะเริ่มดำเนินการก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินปิดกิจการเท่านั้น แต่พอเข้ามาผมเห็นว่าการที่จะสามารถทำได้ตามพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายจากรัฐให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีอะไรที่ต้องเตรียม ต้องดำเนินการ ต้องวิเคราะห์ ต้องศึกษา ต้องประสานงานมากมาย พอผมได้เริ่มทำงาน ได้สัมผัสกับผู้บริหารและพนักงาน พูดคุยกับหลายท่านที่อยู่ที่นี่ พบว่าระหว่างที่เรายังไม่ได้ activate งานตามพันธกิจ DPA เรามีการเตรียมงานและเตรียมความพร้อมมากมายหลายด้าน เพื่อให้บรรลุบทบาทหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และตามเป้าหมายที่องค์กรถูกจัดตั้งขึ้น
ผมมองว่าหน้าที่และเป้าหมายของ DPA ยิ่งใหญ่ไม่แพ้หน่วยงานอื่นๆ หนึ่งในหน้าที่ของผมก็ต้องทำให้ทุกคนใน DPA และคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้ในบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของ DPA นี้


แล้วองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤต ยามไม่มีวิกฤตต้องทำอะไรบ้าง
เรามีสิ่งที่ต้องเตรียมการเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องการสร้าง awareness เติมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก ให้เป็นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นสำหรับผู้ฝากและประชาชนทุกกลุ่ม ให้คนรู้ว่าเงินฝากที่ผู้ฝากฝากไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่งนั้น มีหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะคุ้มครองเงินฝากให้พวกเขานะ ช่วยสร้างความมั่นใจอีกระดับหนึ่งให้กับผู้ฝากในการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร รวมทั้งเราต้องมีการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การบริหารเงิน การให้ความสำคัญของการออมอีกด้วย
ประเด็นถัดมา ถ้าหากวันนึงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สถาบันการเงินมีปัญหาจนถึงขั้นถูกสั่งปิดกิจการ DPA มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศให้ทันท่วงที หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศของเราสามารถคุ้มครองได้ถึงกว่าร้อยละ 98 ของจำนวนรายผู้ฝาก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าในหลายๆ ประเทศ โดยการจ่ายเงินคุ้มครองคืนให้ผู้ฝากนี้เราจะจ่ายให้กับผู้ฝากให้ได้เร็วที่สุด ภายใต้วงเงินที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองคือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ บทบาทหน้าที่ของ DPA เหมือนเป็นการห้ามเลือดแบบเฉียบพลัน เพื่อหยุดการลุกลามของปัญหาไม่ให้เกิด domino effect ที่คนจะพากันตื่นตระหนก แล้วแห่ไปถอนเงินทำให้แม้แต่กับธนาคารที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย จนเกิดเป็นปัญหา bank run ซ้อนขึ้นมาอีก
ทุกวันนี้ DPA ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่องมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง เพื่อให้มีทั้งความปลอดภัยและรวดเร็ว เรื่องการรับส่งข้อมูลระหว่าง DPA กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง การเตรียมขั้นตอนการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการ
นอกจากนี้ เรายังทำหน้าที่บริหารเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่เป็นเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนนี้ก็เป็นเงินสะสมที่เอาไว้ใช้คุ้มครองผู้ฝากหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการนั่นเอง

คือแม้ยามไร้วิกฤตก็มีภารกิจที่ต้องทำโดยที่อาจไม่มีใครรู้
ผมว่าจริงๆ การทำงานของ DPA เหมือนปิดทองหลังพระ เพราะพนักงานทุกคนทุ่มเทเตรียมการ พยามคิดเผื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ แล้ววิธีการเตรียมตัวก็ท้าทายมากตรงที่มันเป็นการเตรียมตัวที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง บางคนตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เขาก็ยังไม่ได้ทำงาน ส่วนคนที่เคยผ่านวิกฤตจุดนั้น มาตอนนี้สภาพการณ์ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึง financial landscape หรือแม้แต่พฤติกรรมการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก บริบทการแก้ไขปัญหาในวันนั้นอาจจะนำมาใช้ไม่ได้ในวันนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำงานที่ DPA ที่ภายนอกอาจจะดูแล้วเหมือนจะ reactive แต่ความจริงแล้วเรา proactive อยู่ตลอด ต้องรู้จักการตั้งสมมติฐานและจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าจะเป็นมากมายและทดสอบ ทดลอง ซักซ้อมกระบวนการทำงาน เพื่อให้เข้าใจและสามารถรับมือกับสถานการณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยมุ่งเป้าไปเรื่องเดียวคือต้องคุ้มครองผู้ฝากให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราเป็นหน่วยงานที่ต้องค้นหาปัญหา ข้อบกพร่อง ข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาแก้ไข ปรับปรุง เพื่อเตรียมให้พร้อมมากที่สุดหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต
สิ่งที่สำคัญมากๆ อีกอย่างของการทำงานที่นี่คือทุกคนต้องมี mindset ที่ดีและมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างสูง เพราะว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราไม่รู้ว่าระเบิดลูกนั้นมันจะเกิดเมื่อไหร่ ซักซ้อมปัจจุบัน เพื่อบรรเทาปัญหาในอนาคต

ในฐานะองค์กรที่เป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ยามสถาบันการเงินเกิดวิกฤต ความกดดันที่คุณและองค์กรแบกรับอยู่คืออะไร
จริงๆ มีหลายอย่างเลย อย่างแรกคือที่ผมพูดไปแล้วว่ามันเป็นความกดดันที่อาจจะยังไม่มีตัวตนจริงๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่า หนึ่ง–เกิดเมื่อไหร่ สอง–เกิดยังไง สถานการณ์ที่เราต้องไปแก้ไขปัญหามันมีอะไรบ้างเรายังอาจจะยังไม่รู้แน่ชัด
ตอนนี้สิ่งที่พวกเราทำคือจะมีการจำลองสถานการณ์หรือที่พวกเราเรียกว่า simulation ว่ามันจะเกิดอะไร เราจะจำลองสถานการณ์ให้เหมือนจริงมากที่สุด แล้วเราก็มาดูว่าในสถานการณ์นั้นๆ เราสามารถ handle หรือว่าแก้ปัญหายังไง แล้วให้ใครทำ แล้วต้องทำอย่างไร และที่สำคัญที่สุด ถ้าเราจำลองสถานการณ์แล้ว แล้วเรายังทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องมาเรียนรู้กับมันว่าเรื่องนี้เรายังทำไม่ได้ ครั้งหน้าเอาใหม่ เราต้องทำเรื่องนั้นให้ได้ และผมเชื่อว่าในอนาคตมันจะมีอะไรที่เราทำไม่ได้แบบใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้อง keep learning, keep solving, keep realizing อะไรใหม่ๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำได้หมดแล้ว แสดงว่าอันนั้นเรากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องหาข้อจำกัด ปัญหา หรือความท้าทายอยู่ตลอด ห้ามหยุด และห้ามหนี

แล้วตอนที่เข้ามารับตำแหน่งคุณเข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
DPA เป็นหน่วยงานที่มีคนเก่งเยอะอยู่แล้วและเป็นหน่วยงานที่น่าอยู่ มีหลายๆ ปัจจัยที่เอื้อให้การทำงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี สิ่งที่ผมตั้งใจคือการช่วยกระตุ้นให้คนของ DPA ทำงานได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น กล้าเผชิญกับปัญหา ความท้าทายต่าง ๆ และตื่นเต้นมากขึ้น เริ่มจากอย่างแรก ถึงแม้ว่า DPA จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เราสามารถปรับเอามุมมอง กระบวนการคิด หรือแนวทางการทำงานแบบภาคเอกชนมาใช้โดยเฉพาะในแง่ของการวางกลยุทธ์และกระบวนการทำงานภายในเพื่อให้เกิดความคล่องตัว อย่างเช่นเราเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานยังไงได้บ้างเพื่อให้ productive ขึ้น ประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น สามารถเอาเวลาไป focus งานที่มีความสำคัญและ impact ได้ดีขึ้น นำ culture ของการเรียนรู้ การปรับตัวเข้ามาปลูกฝังให้พนักงาน
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ผมได้เริ่มทำคือการ turn กระบวนการทำงานภายในจาก digitization ให้เป็น digitalization เพราะการ transform องค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีในทุกวันนี้ มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากกระบวนการ manual เป็น digital แต่ต้องเป็นการเอาเทคโนโลยีเข้ามา plug-in อยู่ใน process เพื่อพัฒนาให้กระบวนการทำงานมันดีขึ้น ง่ายขึ้น ช่วยลดภาระงาน และสร้างประสิทธิผลให้กับพนักงานให้ได้ อย่างเช่นการเอา AI เข้ามาเป็นผู้ช่วย ผมใช้คำว่า DPA AI agent เรากำลังพยามสร้าง agent ที่เป็น AI เข้ามาช่วยเราทำงาน แต่ไม่ได้เอามาทำงานแทนเรา โดยเฉพาะในเรื่องของงานเอกสาร เนื่องจาก DPA เป็นหน่วยงานของรัฐ เราต้องอ้างอิงข้อมูล ระเบียบ ข้อบังคับ มากมาย การที่เรามีเครื่องมือ AI มาช่วยเราในเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้เราประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มากพอสมควรแล้ว และเอาเวลามาหารือในสิ่งที่เป็น substance ดีกว่าที่จะเอาเวลามาถกกันในเรื่องของ form หรือการที่เราจะใช้ AI เข้ามาช่วยค้นหาข้อมูลเก่าๆ เพื่อวิเคราะห์ดูข้อดี ข้อเสีย ก่อนที่จะปรับปรุงกลยุทธ์ โครงการ กระบวนการทำงาน หรือแม้แต่การริเริ่มคิดอะไรใหม่ๆ นอกจากนี้ยังนำ AI มาช่วยลดกระบวนการต่าง ๆ ให้ automate มากขึ้น ช่วยเราทำ ช่วยเราคิด ช่วยเราวิเคราะห์ ต่อไปไม่ใช่แค่เฉพาะผู้บริหารที่จะมีผู้ช่วย พนักงานทุกคนก็สามารถมีผู้ช่วยได้เหมือนกัน ทำให้ทุกข้อต่อมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

นอกจากเทคโนโลยี มีอะไรอีกไหมที่คุณพยายามเน้นย้ำกับคนทำงาน
สิ่งที่ผมส่งเสริมมากๆ ก็คือทุกวันนี้เรามี data เยอะมาก แต่ถามว่าเราเอา data มาใช้ประโยชน์แล้วหรือยัง
เราจะเอา data มาช่วยให้การตัดสินใจของเราดียิ่งขึ้นได้ยังไง การที่เราจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย data driven ได้จริงๆ ผมว่าต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับนโยบายและกล้าที่จะให้โอกาสและอาวุธกับทีมเพื่อให้ได้ลงมือทดลองทำ และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ จาก data ของแต่ละส่วนงาน หรือการ cross-data จากหลายส่วนงานให้เกิดเป็น innovation ผมมองว่า data สามารถบอกเราได้ทุกอย่าง ช่วยเราตัดสินใจได้ทุกอย่าง และทุกส่วนงานสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ data ได้หมด ไม่ว่าจะส่วนงานไหน เช่น HR ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับการพนักงาน เพื่อสร้าง employee engagement หรือแม้แต่การวางนโยบายสวัสดิการที่เหมาะและตอบโจทย์กับความต้องการของพนักงานได้ดียิ่งขึ้นในแบบของ DPA
เรื่อง engagement ในองค์กรเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากๆ ผมอยากให้การทำงาน ไม่ต้องมี label ไม่ต้องมองที่ตำแหน่ง แต่ทุกคนมุ่งเป้าไปที่ผลสำเร็จของงานร่วมกัน โดยที่ผู้บริหารมีพื้นที่ที่เหมาะสมให้พนักงานได้ปล่อยพลัง ปล่อยของกันเต็มที่ นำเสนอกันแบบไม่ต้องกั๊กไม่ต้องกลัวผิดหรือกลัวพลาด แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะจริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ผู้บริหารเองก็ไม่รู้เท่าพนักงานที่เค้าคลุกคลีอยู่กับหน้างานจริงๆ เค้าเข้าใจ execution เค้าเห็น gap เค้าเห็น solution แต่สิ่งเหล่านั้นมันอาจจะสูญเปล่าก็ได้ ถ้าไม่ได้ถูก carry ขึ้นมาถึงผู้บริหาร ไอเดียดีๆ เหล่านั้นก็อาจจะหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย วัฒนธรรมของการส่งเสริมให้มี productive playground เป็นสิ่งที่ผมมุ่งหวังและพยามสร้างไปด้วยกันกับทุกคนที่นี่
แล้วที่สำคัญที่ผมตั้งใจหลังจากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม DPA คือการมาช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น เราจะสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ฝากเงินได้เราต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองให้ได้ก่อน ความตั้งใจของผมคือการทำให้พนักงานมีความสุข สนุก ตื่นเต้นกับการทำงานในทุกๆ วัน และคุณภาพของเวลาในการทำงานเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือทำให้ระยะเวลาการทำงานสั้นลงแต่ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนที่นี่มี work life balance ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ

คุณดูให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าทดลอง อย่างการมีสนามเด็กเล่นทางความคิดให้คนในองค์กร ซึ่งดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ที่แสนจริงจัง ซีเรียส สิ่งเหล่านี้มันสำคัญยังไงกับ DPA
จริงๆ ผมว่ามันสอดคล้องกันมาก มันไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะ playground ของเราเป็น playground ที่ตอบโจทย์การทำงานตามบทบาทหน้าที่ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังช่วงต้นว่าหนึ่งในหน้าที่หลักของเราเลยก็คือถ้าเกิดวิกฤตเราจะต้องไปจัดการ แต่เราไม่รู้หรอกว่าวิกฤตนั้นมันจะเป็นยังไง ดังนั้นการที่เราจะรู้ได้ เราก็ต้องเล่นกับมัน ต้องอยู่ในสนามที่เราจำลองสถานการณ์ขึ้นมา ยิ่งเราจำลองสถานการณ์ให้มันยากเท่าไหร่ยิ่งดี อย่ากลัวเฟล อย่าคิดว่า โอ้โห มันทำไม่ได้ แล้วมันจะทำให้เจ้านายมาตำหนิได้ว่าทำงานกันยังไง ผมว่ายิ่งเห็นว่าปัญหาอะไรที่มันแก้ไม่ได้ยิ่งดี ทำไม่ได้ก็ลองทำใหม่ ลองไปเรื่อยๆ ยังไงเดี๋ยวมันก็คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งเรามาลองผิดลองถูกกันเรื่อยๆ มันจะทำให้เราเก่งขึ้น แล้วก็สมาร์ตขึ้น คิดวิธีแก้ไขปัญหานอกกรอบได้มากขึ้น เราเล่นในสนามจำลองที่เราเพิ่มปัจจัยความท้าทายเข้าไปอยู่เสมอ แล้วให้ทุกคนได้ลองเล่น ลองล้มแล้วลุก จนเรียนรู้กระบวนการที่ถูกต้อง วันที่เราต้องรับมือกับวิกฤตและทำหน้าที่คุ้มครองผู้ฝากขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยทรัพยากรที่เป็นบุคคลากรของเราจะมีต้นทุนพื้นฐานที่เพียงพอต่อการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่เหลือก็คือการปรับแต่ง แก้ไขกันตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้ DPA ต้องปฏิบัติหน้าที่จริงแน่ๆ (หัวเราะ)

ดูคุณเป็นคนให้ความสำคัญกับทัศนคติในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร
ผมว่ามายด์เซตกับคัลเจอร์คือสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องคัลเจอร์มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่รู้จะใช้คำว่าเปลี่ยนดีหรือเปล่า นั่นคือผมอยากส่งเสริมให้มีคัลเจอร์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติด คือผมมีความคิดความเชื่อที่ว่า หนึ่ง–ถ้าตราบใดที่เรายึดมั่นในกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างรอบคอบ และสอง–เรายึดหลักที่ว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และสาม–มันมีเหตุผลเพียงพอ แล้วมันเข้ากับ environment หรือ context ณ ปัจจุบัน ผมให้เลือกเดินตามนั้น แม้มันอาาจจะขัดกับที่ผ่านมาแต่มันมีคำอธิบายได้ อย่างเช่นที่ผ่านมาเราทำแบบนั้นเพราะว่า 10 ปีที่แล้ว สถานการณ์เป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นความสามารถและความกล้าในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคจึงเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ปรับตัวได้เก่งและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

มายด์เซตกับคัลเจอร์นับเป็น 2 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากมาก คุณทำยังไงให้คนในองค์กรพร้อมปรับไปกับแนวทางที่คุณเชื่อ
ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดก็คือมายด์เซตกับคัลเจอร์เพราะมันต้องใช้เวลา ผมจะเริ่มตั้งแต่ตัวเอง เพราะการกระทำสำคัญกว่าคำพูด เรื่องมายด์เซตผมก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ทุกๆ คนดูว่าจริงๆ แล้วมายด์เซตที่เราอยากให้เขาเป็นมันคืออะไร อย่างเช่นเรื่องต้องพร้อม และก็ไม่กลัวกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องโชว์ให้เขาเห็นกันว่าจริงๆ ทุกปัญหาเราช่วยกันแก้ไขได้ ทีมงาน DPA มีความสามารถกันทุกคน ผมก็ต้องเปิดโอกาสให้ทีม อย่างที่ผมใช้คำว่าโชว์ของให้เต็มที่ เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็น เราไม่ต้องจำกัดไอเดียเขา ผมเข้ามาวันแรกๆ ผมก็บอกทีมทุกๆ คนว่า ที่ผมเข้ามา สิ่งที่ผมจะทำหลักๆ เลยคือผมจะรับฟังให้มาก พูดให้น้อย ตัดสินใจให้มากที่สุด แล้วก็ช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทุกคนเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้
แล้วผมมีหลายๆ โครงการที่ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าทีมจะรู้สึกยังไง ผมก็เปิดโอกกาสให้ทุกๆ คนได้พูดคุย เรามีพนักงานรวมทุกๆ ตำแหน่งประมาณ 80-90 คน ผมตั้งใจที่จะคุยกับทุกคน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มคุยแล้ว คุยโดยไม่มีเจ้านายเขาอยู่ด้วยนะ เพื่อที่จะให้พนักงานทุกระดับเข้าใจว่าองค์กรจะเดินไปยังไง องค์กรจะปรับเปลี่ยนยังไง ทำให้เขาเข้าใจเรา เขาเข้าใจองค์กร เขาเข้าใจคณะกรรมการ เขาเข้าใจผู้บริหาร แล้วเขาก็มีความมั่นใจ แล้วก็มีความสุข มีความสบายใจที่จะทำงาน แล้วบางคนเขาก็ให้ไอเดียผมมาค่อนข้างดี อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพยายามที่จะทำ แล้วทำให้มายด์เซตหรือคัลเจอร์มันค่อยๆ เปลี่ยนไปในทิศทางที่เราตั้งใจ
สำคัญที่สุดก็คือผมมี 2 คำที่เคยพูดกับทางทีมทั้งหมด ว่าผมเน้นว่ามี 2 em คือ empathy กับ empower ซึ่งผมก็เน้นมากๆ ว่าจะต้องมี empathy ซึ่งกันและกัน คนที่เรา interact ด้วยเขาอาจจะมีมุมมองหนึ่ง เราลองไปคิดซิ ถ้าเราเป็นเขา มุมมองแบบเดียวกัน เราจะเข้าใจเขามากขึ้น กับ empower ก็คือเราก็ต้องให้คนอื่นเขามีอิสระในการทำงาน อิสระในความคิดของเขา เราก็อยู่ในกรอบของเรา เขาก็อยู่ในกรอบของเขา ผมเชื่อว่าถ้ามี 2 em นี้มันน่าจะทำให้องค์กรเดินไปได้ด้วยความมั่นคง แต่สุดท้ายเรื่องมายด์เซตกับคัลเจอร์มันก็ต้องใช้เวลา และต้องใช้ความใส่ใจ

หลังจากคลุกคลีกับงานที่ต้องต่อสู้กับวิกฤตที่ยังมองไม่เห็น อยากรู้ว่าความสนุกของงานนี้คืออะไร
จริงๆ ถ้าพูดแล้วมันก็แปลก ผมว่าความสนุกของมันก็คือว่าเราต้องเตรียมพร้อมกับปัญหาที่เราไม่รู้ว่า หนึ่ง–มันจะเกิดเมื่อไหร่ สอง–ปัญหามันคืออะไรบ้าง ลองคิดดู ผมว่ามันสนุกดีนะ ที่หน่วยงานอื่น ๆ เค้าคิดกลยุทธ์ วางแผนงาน ปีละ 1 ครั้ง แต่เราต้องคิดทุกเดือน มันเหมือนเราต้องวางกลยุทธ์อยู่ตลอดเพราะเรายังไม่รู้ว่าฉากต่อไปเป็นยังไง ผมว่ามันก็เป็นความตื่นเต้น แล้วมันเหมือนเป็นการทำงานที่ไร้ขอบเขต เราต้องใช้ความคิดค่อนข้างมากในการ forecast scenario ต่างๆ ออกไป ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องทำยังไง มันก็เลยทำให้มีความท้าทาย ยิ่งงานมีความท้าทายมันก็ยิ่งสนุก มันไม่ซ้ำซาก จำเจ เพียงแต่ว่าเราต้องมีความเข้าใจและอยู่บนพื้นฐานข้อมูลของ playground ที่เป็นสนามจริง และต้อง keep pace ของเราและพาทีมไปด้วยกันกับเราให้มองเห็น purpose ในการทำงานที่ชัดเจนไปด้วยกัน

เวลาที่แก้ไม่ได้ก็ยังสนุกอยู่ใช่ไหม
แก้ไม่ได้ผมก็รู้สึกว่ามันยิ่งดีนะ โอเค เดี๋ยวเราจะทำใหม่นะ มันจะไม่สนุกต่อเมื่อถ้าเกิดวิกฤตจริงๆ แล้วแก้ไม่ได้ อันนั้นคงไม่สนุกแน่ ผมพยายามบอกพนักงานอยู่บ่อย ๆ ว่าอย่ากลัวที่จะเจอปัญหา เจอแล้วช่วยกันแก้ ดีกว่าไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร หากเราไม่กล้าเผชิญกับปัญหา หรือข้อจำกัด หรือคิดว่าตัวเองพร้อม พอเจอเหตุการณ์จริงเราจะ fail ของจริง
สุดท้ายผมเชื่อว่าทุกปัญหา ทุกวิกฤตมันต้องมีทางแก้ไข โอเค อันไหนที่ยากมันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ว่าถ้าเรากลัว แล้วเราจะไปเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ยังไง ในเมื่อเรามีภารกิจที่จะมาช่วยบรรเทาปัญหาแล้ว เราก็ต้องเผชิญหน้ากับมันให้ได้
ในยุคที่ทุกมุมของบ้านต้องสร้างคอนเทนต์ได้ Noble ทำยังไงให้บ้านเป็นทั้งพื้นที่ทำธุรกิจและอยู่อาศัยได้อย่างลงตัว
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้พฤติกรรมเราที่เปลี่ยนไป ทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อก่อนเราจะต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้คนคุ้นชินกับการทำงานที่บ้านมากกว่าด้วยซ้ำ
แม้แต่คนทำธุรกิจเองยังปรับให้ทุกมุมของบ้านต้องสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเป็นโฮมออฟฟิศ ไลฟ์ขายสินค้า ถ่ายรูปสินค้าแบบไม่ต้องไปเสียเงินเช่าสตูอีกต่อไป รวมถึงอาชีพยอดฮิตในยุคนี้อย่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งดูเป็นงานที่ต้องออกไปถ่ายคอนเทนต์ข้างนอกทุกวัน แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดคนก็เปลี่ยนมาถ่ายคอนเทนต์ที่บ้านกันมากขึ้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมในไทยทุกวันนี้ถึงมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากถึง 3 ล้านคน
ด้วยวิถีชีวิตใหม่นี้เอง ทำให้คนเริ่มมองหาบ้านที่เป็นมากกว่าที่พักอาศัย แต่ต้องสะท้อนไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบติดคอนเทนต์ และสามารถทำงาน ทำธุรกิจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้คือ Noble Development ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในไทยมานานกว่า 30 ปี และมีจุดยืนของแบรนด์ที่สนับสนุนกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง
ผ่านการหยิบ Insight ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และครีเอเตอร์ในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการพื้นที่ใหม่ๆ มีดีไซน์และฟังก์ชั่นเหมาะกับการผลิตผลงานสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของการทำคอนเทนต์เพื่อสร้างตัวตน ไปจนถึงทำคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าและบริการของธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์
จึงได้เปิดตัวแคมเปญ SHOW YOUR NEED เพื่อเปิดบ้านตัวอย่างในโครงการ Noble และ NUE ซึ่งเป็นโครงการที่มีดีไซน์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ให้เหล่าคนทำธุรกิจและครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ได้ใช้เป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำสินค้าหรือถ่ายคอนเทนต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ล่าสุดได้มีหลากหลายแบรนด์มาร่วมสร้างสีสัน เนรมิตบ้านตัวอย่างในโครงการของ Noble ให้กลายเป็นสตูดิโอ ไม่ว่าจะเป็น
• AIMER แบรนด์แฟชั่น woman essential ที่สวมใส่ได้ทุกวัน ที่เนรมิตบ้านตัวอย่างโครงการ Noble Curve ให้กลายเป็นแฟชั่นสตูดิโอจัดแสดงเสื้อผ้าคอลเลกชั่นพิเศษ
• The Still แบรนด์เสื้อผ้าแนว spring wear กับ Photo Set จาก Collection ใหม่ ถ่ายทำครั้งแรกที่โครงการ Noble Curve บ้านดีไซน์สุด Unique บนทำเลศักยภาพ ติดถนนใหญ่เอกมัย-รามอินทรา
• On The Blogs แบรนด์ชุดออกกำลังกายสุดอินเทรนด์ กับการถ่ายคอนเทนต์ที่ Nue Connex Condo Don Mueang ที่สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ในโครงการนี้ โดยเฉพาะส่วนกลางสามารถทำคอนเทนต์ได้ทุกมุม
• Slip to Sleep แบรนด์ชุดนอนสุดฮิตกับดีไซน์กระเป๋าเสื้อที่หนาจนคนใส่สบายใจ ได้เลือกถ่ายแบบคอลเลกชั่นชุดนอน ทั้งที่โครงการ Nue Hybe Suksawat และ Nue Verse Krungthep Kreetha ซึ่งทำให้เห็นว่าทุกมุมของบ้านถ่ายรูปทำคอนเทนต์ได้อย่างแท้จริง
จะเห็นว่าแคมเปญ SHOW YOUR NEED ไม่ใช่แค่การทำ CSR ผ่านการเปิดบ้านตัวอย่างให้เข้ามาถ่ายภาพหรือทำคอนเทนต์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดกว้างทางความคิด ให้อิสระคนทำงานสร้างสรรค์ได้ใช้พื้นที่ทุกส่วนอย่างเต็มที่
ทำให้บางแบรนด์เนรมิตบ้านมาเป็นแฟชั่นสตูดิโอหรือแฟชั่นถ่ายภาพ ตรงตามชื่อแคมเปญที่เปิดให้แสดงความต้องการของคุณออกมาอย่างไม่มีขีดจำกัด และสอดคล้องกับความต้องการของ Noble ที่อยากช่วยสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่และ Creative Community อย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าทุกแบรนด์และครีเอเตอร์ทุกคนก็สามารถมาใช้บ้านตัวอย่างเพื่อสร้างคอนเทนต์สุดปังได้เช่นกัน โดยโครงการที่เข้าร่วมแคมเปญ ได้แก่ โนเบิล เคิร์ฟ เอกมัย-รามอินทรา, โนเบิล ครีเอท เอกมัย-รามอินทรา, นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา, นิว ไฮบ์ สุขสวัสดิ์, นิว คอนเน็กซ์ คอนโด ดอนเมือง, นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น และนิว โนเบิล ศรีนครินทร์-ลาซาล
สามารถสมัครเข้าร่วมแคมเปญผ่านช่องทางเว็บไซต์ noblehome.com/th/show-your-need หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-251-9955, Add LINE: @NobleDev