คุยกับโรงปัก A.P. Embroidery ถึงเส้นทางการปั้นโรงงานจากศูนย์จนมีลูกค้าเป็นแบรนด์ระดับโลก

A.P. Embroidery (เอ.พี. การปัก) เป็นธุรกิจครอบครัวที่เชื่อว่าการปักเป็นมากกว่าแค่การตกแต่ง 

แต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านฝีจักรด้วยความเอาใจใส่และพิถีพิถัน

ศิริชัย และบุญศรี บวรกีรติโรจน์ ก่อตั้งโรงงานโดยเริ่มจากเครื่องปัก 2 เครื่องเมื่อราว 30 ปีก่อน พวกเขาสังเกตเห็นช่องว่างทางตลาดว่างานปักส่วนใหญ่ตามสำเพ็งและโบ๊เบ๊ขายในราคาถูก จึงตัดสินใจไม่เข้าไปแข่งในสงครามราคาและหันมาผลิตงานปักที่เน้นคุณภาพจนเติบโตเป็นโรงปักเจ้าใหญ่ที่มีคอนเน็กชั่นกับเหล่าโรงงานการ์เมนต์และมีลูกค้าเป็นแบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น COACH, Lacoste, Levi’s, Mc JEANS, Lee, Nike, Disney, Wrangler, Timberland ฯลฯ  

เอ็ม–วรธรรม บวรกีรติโรจน์ ทายาทของ A.P. Embroidery บอกว่าชื่อ ‘เอ็ม’ ของเขามาจาก ‘Em’ ในคำว่า embroidery ซึ่งแปลว่าการปัก  

ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีในการดำเนินกิจการ เอ็มมองว่าช่วงก่อตั้งยุคแรกของธุรกิจอยู่ในเฟส survival mode คือช่วงที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงครึ่งทางและเริ่มอยู่ตัว นอกเหนือจากคุณภาพงานปักและกำไร A.P. Embroidery เข้าสู่เฟสที่เริ่มต่อยอดสร้างมาตรฐานใหม่ให้โรงงาน นั่นคือการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs–Sustainable Development Goals) ทั้งในมุมพนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมาตรฐานที่ทำให้แบรนด์ดังอยากร่วมงานด้วย

คอลัมน์ Brand Belief ครั้งนี้ Capital ชวนคุยกับเอ็มถึงเส้นทางการสร้างโรงปักตั้งแต่ศูนย์ของครอบครัวและปั้นให้เป็นธุรกิจที่ผู้คนรัก นึกถึง และสบายใจที่ได้ร่วมงานด้วยในรุ่นของเขานั้นทำยังไง 

ย้อนกลับไป Day 1 ของธุรกิจ ทำไมครอบครัวคุณถึงก่อตั้งโรงปักขึ้นมา

แต่เดิมทางครอบครัวแม่ผมเป็นคนจีนที่มาอยู่ไทย เขาก็เย็บผ้าเป็นโรงงานการ์เมนต์ (garment) เล็กๆ ตั้งแต่รุ่นอาม่าแล้ว ลูกแต่ละคนก็ช่วยกันเย็บมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยมีลูกของอาม่าคนนึงมาทำโรงงานเสื้อผ้าอย่างจริงจัง

วันหนึ่งเขาก็มาบอกพ่อแม่ผมว่าโรงงานเขาไม่มีแผนกปักเลย อยากมาลองทำไหม ลงทุนไม่

เยอะ แค่เครื่องจักรตัวสองตัว ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่มาลองทำ สมัยนั้นคือไปฝังตัวอยู่ในโรงงานเขาก่อน พอเวลาผ่านไปสักพักนึง โรงงานการ์เมนต์แห่งนั้นก็เลิกทำไปตามความเหนื่อยของเขา 

พ่อแม่ผมเก็บเงินได้ก้อนนึงเลยตัดสินใจว่างั้นเรามาตั้งโรงงานเองตรงนี้กันเถอะ วันที่ตั้งโรงงานก็คือ 30 ปีที่แล้วตรงกับช่วงที่ผมเกิดพอดี 

พอตั้งโรงงานเองแล้วเริ่มต้นหาลูกค้ายังไง 

สิ่งที่พ่อแม่ผมทำนั้นง่ายมากคือเดินห้างเหมือนคนทั่วไป แล้วดูเสื้อผ้าแต่ละตัวว่ามียี่ห้อไหนออกคอลเลกชั่นงานปักบ้าง หรือแบรนด์ไหนทำงานปักแต่ยังไม่ได้ทำที่โรงงานของเราก็จดไว้ แล้วก็กลับมาหาคอนเนกชั่น ไล่โทรหา พยายามเข้าไปให้บริการเรื่อยๆ 

สมัยนั้นจะใช้การขายตรง ไม่ได้มีเซลล์วิ่งออกไปขายงานข้างนอก ใช้การบอกปากต่อปาก พอเราเริ่มชัดกับตัวเองแล้วว่าจะจับแบรนด์ห้างก็ต้องเน้นสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งลูกค้าก็จะบอกต่อกันว่าโรงปักที่ไหนคุณภาพดี เขาก็จะแนะนำเราไป
มียุคนึงที่เราเคยเน้นผลิตงานราว 70-80% ให้ลูกค้าหลักเจ้าเดียวแล้วอยู่สบายๆ แต่อยู่มาวันนึงลูกค้าหลักเจ้านี้ก็เลิกทำธุรกิจไป กลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราต้องดิ้นรนหาฐานลูกค้าใหม่เยอะขึ้น จนเริ่มมีงานออร์เดอร์จากต่างประเทศเยอะขึ้น โดยหลักเราจะมีทั้งลูกค้าแบรนด์ที่รู้จักกับเราโดยตรงและลูกค้าต่างประเทศที่ติดต่อกับโรงงานการ์เมนต์ในไทยที่ผลิตเสื้อผ้า 

สำหรับคุณ งานปักที่มีคุณภาพเป็นแบบไหน

ผมมองว่า ‘คุณภาพที่ดี’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อันดับแรกเราจะทำการแบ่งกลุ่มและทำความรู้จักลูกค้าก่อน หรือเรียกว่า KYC (know your customer) ถ้าเป็นลูกค้าแบรนด์ไฮเอนด์จะคาดหวังคุณภาพการปักที่ตำแหน่งห้ามพลาดแม้แต่มิลลิเมตรเดียว แบบนี้คือคุณภาพดีของเขา แต่ถ้าเป็นแบรนด์ไทยที่มีราคาลงมาหน่อย คำว่า ‘คุณภาพ’ ของเขาคือสวย กำลังดี
ถ้าเราไปเอาคุณภาพระดับลักชูรีมาทำให้เขา บางทีลูกค้าก็ไม่ได้ต้องการขนาดนั้นและต้นทุนก็ไม่ไหว หรือถ้าเราทำเสื้อโปโลที่เป็นเสื้อพนักงานสำหรับองค์กร ลูกค้าก็จะมีคุณภาพที่คาดหวังอีกแบบนึง 

หน้าที่ของเราคือดูว่าลูกค้าคาดหวังแบบไหนแล้วก็ส่งมอบให้เกินความคาดหมายของลูกค้าทุกกลุ่มไปนิดนึง แต่มันจะมีสิ่งที่เป็นคุณภาพพื้นฐานที่ต้องมีครบหมด เช่น งานต้องเนี้ยบ สวย เก็บงานให้เรียบร้อย ห้ามไหมหลุด 

แล้วคุณตอบโจทย์ด้านความสวยงามให้ลูกค้าที่มีความชอบไม่เหมือนกันยังไง 

ผมเทียบการปักเหมือนเวลาเราระบายสีที่สามารถทำได้ทั้งระบายสีแบบอิสระ ถม หรือเป็นเส้นๆ แล้วแต่จินตนาการของเรา ดีไซเนอร์จากฝั่งลูกค้าจะคิดภาพมาแบบนึง เขาก็จะมีรูปในใจและมีฟีลลิ่งที่อยากได้อยู่ แต่จะไม่เห็นภาพว่าถ้าปักออกมาแล้วหน้าตาจะเป็นแบบไหน หน้าที่ของเราคือเลือกเทคนิคการปักรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สุดท้ายแล้วงานออกมาเป็นฟีลลิ่งที่ลูกค้าอยากได้

สมมุติว่าอยากปักรูปหมีตัวนึง ถ้าปักแบบธรรมดาจะเรียกว่าใช้เทคนิคการปักแบบทาทามิ (Tatami) ซึ่งถ้าเราปักถมด้วยเทคนิคนี้เป็นรูปหมี หมีก็จะมีหน้าตันและตึงๆ หน่อย เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้หมีดูมีชีวิตขึ้นมา ไปดูว่ารูปตุ๊กตาหมีให้ความรู้สึกแบบไหน แล้วแผนกดีไซน์ของเราก็จะเลือกเทคนิคที่ให้ฟีลลิ่งเข้ากับรูปและมาเดินฝีเข็ม

ในมุมผู้ผลิต งานปักมีความท้าทายยังไงบ้าง

ขอเล่าผลงานที่พ่อแม่ผมภูมิใจคือแก๊งแบรนด์เสื้อโปโลซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการปักค่อนข้างเยอะในการปักโลโก้รูปม้า ความสนุกและท้าทายคือแต่ละปีแบรนด์จะมีคอลเลกชั่นที่พัฒนารูปม้าเวอร์ชั่นออริจินัลไปเรื่อยๆ ให้ม้าดูมีชีวิตชีวาหรือมีกล้ามเนื้อขึ้นมา งานพวกนี้เราจะคุยกับเขาทุกปีว่าปีนี้เขาอยากให้ฟีลลิ่งของม้าเป็นแบบไหน 

หรือถ้าเป็นกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์เด็กที่ทำลายตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์น่ารัก เช่น ดิสนีย์ เขาจะเข้มงวดกับการตรวจงานกว่าแบรนด์อื่นๆ ต้องระวังว่าดึงไหมแล้วหลุดไหม เผื่อเด็กดึงแล้วเอาเข้าปากไป มีสีตกไหมหรือว่ามีสารเคมีหรือเปล่า

โจทย์แบบไหนจากลูกค้าที่คุณรู้สึกว่าท้าทายเป็นพิเศษ 

ช่วงหลังงานของลูกค้าแบรนด์ไฮเอนด์ที่เราได้ทำจะยากขึ้น รวมถึงงานจากแบรนด์ของดีไซเนอร์ไทยที่ไม่เน้นขายสินค้าแมสก็จะเน้นลายที่ยากขึ้นเช่นกัน เช่น งานปักบนเสื้อ down jacket, trench coat, เสื้อ gore-tex กันน้ำ บางครั้งผ้าที่ใช้ปักจะบางซึ่งยากในการปักไม่ให้แตก ปักให้สวยแล้วไม่ย่น ซักแล้วยังดีอยู่ 

ตัวอย่างผลงานสำคัญที่เราภูมิใจคือ โจทย์จากแบรนด์ลักชูรีแบรนด์นึงที่อยากให้เราทำผลงานชิ้นใหญ่ในหมวดสินค้าสำหรับเด็ก โดยปกติแล้วเราก็คิดว่าเราทำงานแนวนี้ไม่ได้ เพราะว่างานนี้มีขนาดใหญ่และมีดีเทลละเอียดมากชนิดห้ามพลาดเลยแม้แต่มิลลิเมตรเดียว 

เราก็ตั้งทีม R&D (research and development) ขึ้นมาเพื่อทดลองเลยว่าเครื่องจักรของเราทำอะไรได้บ้าง สุดท้ายผลงานชิ้นนี้ก็ทำให้ทีมรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจจริงๆ ว่าเราก็มีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานใหม่ด้วยตัวเองได้นะ

สำหรับโรงปัก คุณต้องพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่มากน้อยแค่ไหน 

หลังจากผลงานแบรนด์ลักชูรีชิ้นนั้น เราก็รักษาโมเมนตัมของทีมในการพัฒนาสิ่งใหม่ไว้ นอกจากงานลูกค้า ทุกๆ 6 เดือนเราจะทำพอร์ตโฟลิโองานใหม่ และมีโปรเจกต์สนุกๆ ที่เรามาคิดกันเองว่าสามารถทำอะไรกับงานปักได้บ้าง อย่างที่ผ่านมาเราเคยมีปัญหาว่าทุกปีใหม่ไม่รู้จะแจกของขวัญอะไรให้ลูกค้าดี ถึงจุดนึงเลยดีไซน์สินค้างานปักเองสำหรับแจกเป็นของขวัญให้ลูกค้าแต่ละปี 

สุดท้ายบางอย่างมันก็เรียนรู้จากประสบการณ์ สมมติว่าอยากปักลายสัตว์ มันก็ไม่มีกระบวนการหรือโปรแกรมตายตัวที่บอกว่าถ้าทำออกมาแล้วจะได้แบบนี้เสมอ ก็ต้องมาลองผิดลองถูกคล้ายเวลาวาดรูป เราก็จะอัพเดตเรื่อยๆ ทั้งเทคนิคใหม่ในฝั่งโปรแกรมดีไซน์และเทคนิคพิเศษของเครื่องปัก เช่น ปักเลื่อม 

คิดว่าอะไรที่มัดใจแบรนด์ระดับโลกให้ผลิตงานกับโรงปักของคุณจนถึงทุกวันนี้  

ความเอาใจใส่ในงาน 

ลูกค้ากลุ่มนี้เขาค่อนข้างจะเชื่อใจเรามาก เชื่อใจในระดับที่บางทีถ้าเราทำงานผิดไปเขาก็ไม่ตรวจ เพราะเขาคิดว่าเราตรวจให้เขาดีมากแล้ว มันเลยเป็นหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบว่าต้องให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ เวลาเราทำงานให้แบรนด์เราจึงต้องคิดเสมอว่าเราคือลูกค้า งานไหนที่เรายังรู้สึกว่าไม่สวย ตัวเราเองยังไม่ซื้อ เราก็จะไม่ทำงานแบบนั้นออกไป 

อีกสิ่งนึงที่ผมสัมผัสได้ตอนเข้ามาทำคือพี่ๆ พนักงานมีความเป็นกันเองกับลูกค้าแต่ขณะเดียวกันเขาก็ทำงานแบบมืออาชีพ เขาจะคุยกับลูกค้าเหมือนเพื่อน มีอะไรคุยกันได้ ถามไถ่ว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง พอเราสร้างความสัมพันธ์แบบนี้กับลูกค้า เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างง่ายในการดีลงาน

เรียกว่าไม่ใช่แค่งานต้องดี แต่พนักงานที่ดีก็สำคัญ

แม่จะบอกเสมอว่าพนักงานมีส่วนตัดสินใจเรื่องความสวยงามของงานลูกค้า ถ้าพนักงานที่นี่ปักแล้วรู้สึกว่ามันไม่สวย เขาสามารถเดินมาบอกเราได้ว่ามันไม่สวยหรือมันแปลกๆ ทุกคนถูกฝึกมาให้รู้ว่างานนี้ดีหรือไม่ดีเพราะทำงานที่โรงงานเรามา 30 กว่าปี พนักงานส่วนใหญ่เกิน 50% น่าจะอยู่มาเกิน 10-20 ปีตั้งแต่รุ่นแม่

พ่อแม่เคยเล่าไหมว่าเขาทำยังไงให้พนักงานรักบริษัทและอยู่มายาวนานขนาดนี้

แม่ผมเป็นคนที่ดูแลพนักงานดีมากๆ สมัยที่เริ่มโรงงานมา ตอนนั้นแม่กับพ่อขับรถไปต่างจังหวัดแล้วไปถามในหมู่บ้านว่าพวกเรามีโรงงาน มีใครอยากมาช่วยไหม พอเราไปรับเขามาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูเขา ไม่ว่าจะไม่มีบ้าน ไม่มีค่าน้ำ-ค่าไฟ ป่วย แม่ก็ช่วยเท่าที่จะทำได้

ตอนหลังพอไปเรียนที่อเมริกา ผมถึงเพิ่งสังเกตว่ามันมีคอนเซปต์ที่เรียกว่า DEI (diversity, equity, inclusion) ที่รู้สึกว่าจริงๆ แม่เราก็ทำสิ่งนี้มานานมากแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหนที่มาทำงานกับเรา แม่เราก็ดูแลดีมาก 

สมัยที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานในโรงปักก็พบว่าไม่ได้มีการตั้งเป้าให้เซลล์ว่าต้องทำยอดให้ได้เท่าไหร่ในแต่ละปี ผมก็ถามพ่อกับแม่ว่าทำไม เขาบอกว่าไม่ได้อยากให้เซลส์ตีกัน ถ้าเราตั้งยอดไว้ เวลาลูกค้ามา เซลล์แต่ละคนจะแย่งกันขายลูกค้าเจ้าใหญ่ เขาอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนช่วยกันขายมากกว่า เราก็เลยหาวิธีอื่นแทนว่าทำยังไงถึงจะกระตุ้นให้เซลล์ออกไปรับลูกค้ามากขึ้น 

ดูเหมือนว่าการดูแลพนักงานให้ดีถือเป็นอีกหน้าที่ที่คุณต้องสานต่อไม่แพ้การบริหารธุรกิจ

ต้องเล่าก่อนว่าความยากอย่างนึงของลูกค้าแบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์ต่างประเทศคือเขาจะมีเงื่อนไขที่เราต้องปฏิบัติตามเยอะมาก ในยุคนึงแบรนด์เหล่านี้ตกเป็นเป้าโจมตีว่าผลิตเสื้อผ้าโดยใช้แรงงานเด็กหรือใช้วัตถุดิบไม่ดีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เขาเลยตามหาซัพพลายเออร์ที่ทำตามที่เขาต้องการได้ ซึ่งมันยากมาก ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การปรับตัวตามแนวทางเหล่านี้ มันคือการเพิ่มต้นทุนทั้งหมดเลย

ตัวอย่างเช่น แต่เดิมเราผลิตงานอะไรก็ตามให้แบรนด์ไทย เขาก็รับหมด เราจะซื้อด้ายจากที่ไหนเขาก็ไม่ว่าอะไร แต่พอมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์หน่อย เขาก็จะเริ่มมาดูแล้วว่ากระบวนการผลิตคุณเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไหม คุณเลี้ยงพนักงานดีแค่ไหน คุณให้พนักงานทำโอทีเกินเวลาไหม 

พอแบรนด์เหล่านี้มีเงื่อนไขเยอะ โรงงานไทยก็ต้องเริ่มปรับตัวด้วย เรามองจุดนี้ว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ไปต่อได้ดี ก็เลยพยายามยกระดับมาเรื่อยๆ ช่วงแรกก็จะมีแบรนด์ต่างประเทศที่เข้ามาช่วยจับมือเราสอนว่าถ้าคุณจะเป็นโรงงานที่ดีคุณจะต้องทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 เราก็ค่อยๆ เรียนรู้จากเขา แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเราก็เหมือนโรงงานทั่วไป เช่น ให้พนักงานทำงาน 2 กะ ภายหลังพอปรับเวลาทำงานโดยคำนึงถึงสวัสดิการมากขึ้นและมีวันหยุดวันอาทิตย์ ก็รู้สึกว่าทำแล้วดี พนักงานแฮปปี้

แล้วคุณปรับตัวให้โรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นยังไง

เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำที่มีตัวเลือกวัสดุให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ไหมที่ย้อมด้วยสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนในไทยจะอยากได้แบบนี้เพราะทุกสิ่งตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เราก็พยายามบอกลูกค้าและทำให้หลายคนเปลี่ยนมาใช้วัสดุแบบนี้ 

กระบวนการปักของเรายังมีการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งทอออร์แกนิก (GOTS – Global Organic Textile Standard) เพื่อให้เป็นออร์แกนิกแบบไม่มีสารเคมีเจือปน ซึ่งถือว่าเป็นข้อโชคดีของการปักด้วยตรงที่ว่ามันไม่ได้มีการปล่อยของเสียอะไรออกมาเลย 

หลักคิดสำคัญในการทำธุรกิจที่ครอบครัวส่งต่อให้คุณคืออะไร 

ผมรู้สึกว่าพ่อแม่ผมเป็นนักธุรกิจก็จริง แต่เขาไม่ได้ทำธุรกิจเหมือนกับธุรกิจที่เราเรียนมา เขาจะมีหลักคิดตอนตั้งโรงงานที่บอกผมไว้ 2 ข้อ  

หนึ่งคือห้ามมีหนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ห้ามกู้เป็นอันขาด ซึ่งอาจจะเป็นความคิดแบบธุรกิจคนจีนโบราณคือมีเท่าไหร่ ทำเท่านั้น เก็บเบี้ยผสมน้อยไป เราก็ทำแบบนี้มาตลอด ซึ่งมันก็ดีตรงที่ในช่วงโควิด-19 หรือวิกฤตอะไรก็ตามที่ผ่านมา เราก็ประคองไปได้ เพราะเราไม่ได้ต้องดิ้นรนเพื่อไปจ่ายหนี้ใคร

สองคือทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป จุดนี้รู้สึกว่าต่างกับบริษัทที่ผมเคยไปทำงานข้างนอกที่ทุกปีต้องโตหรือต้องตั้งเป้าว่าแต่ละปีได้กำไรเท่าไหร่ ในขณะที่พ่อแม่ผมจะดูว่าปีนี้สถานการณ์เป็นแบบไหนแล้วทำให้ดีที่สุด ให้เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานและเราอยู่ได้ ถ้ามีโอกาสดีก็ค่อยปรับตัวไปให้เติบโต 

แล้วคุณคิดว่าความเสี่ยงที่ดิสรัปต์ธุรกิจโรงปักที่สุดในตอนนี้คืออะไร 

ผมมองว่าตอนนี้ธุรกิจเสื้อผ้าในไทยน่าจะเกือบถึง sunset (ช่วงหมดอายุ) แล้วถ้าเทียบกับ industry life cycle (วงจรของอุตสาหกรรม) คือมันเคยโตมาแล้วมากๆ ประมาณรุ่นพ่อแม่เราเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว สมัยนั้นใครๆ ก็ทำการ์เมนต์เพราะมันบูมมาก 

ความยากคือแบรนด์ต่างชาติที่จะมาเลือกฐานผลิตในไทยลดลงเรื่อยๆ ทุกวันเพราะมีฐานการผลิตประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าเรา แต่ก่อนเราอาจจะได้ผลิตเสื้อยืด เสื้อกีฬา แต่วันนี้สิ่งที่หลงเหลือผลิตในไทยก็จะเริ่มเป็นงานที่ยากขึ้น 

เหมือนเราไม่รู้ว่าวันไหนลูกค้าจะเดินมาบอกว่าวันนี้พอแล้วนะ หรือวันนี้ไปผลิตที่ต่างประเทศแล้ว เราก็ต้องหาวิธีอยู่ให้ได้

คำถามสุดท้าย คุณเติบโตขึ้นยังไงบ้างหลังจากเข้ามาช่วยธุรกิจและมองเห็นอุปสรรคเหล่านี้  

แต่ก่อนผมเรียนสายบัญชีมาและคิดว่าธุรกิจต้องแสวงหากำไร ต้องลุยให้โตทุกปี เคยรู้สึกว่ามันจะได้เหรอถ้าพ่อทำอย่างนี้ สุดท้ายก็พบว่าธุรกิจก็อยู่ได้ ทุกธุรกิจย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นธรรมดา เราอาจจะไม่ได้รวยที่สุดหรือเป็นโรงปักที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าก็มีพื้นที่ให้เราอยู่ได้และเติบโตขึ้น 

มุมที่ประทับใจคือพ่อแม่ผมจะบอกว่า ให้คิดเสียว่าที่นี่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่สร้างไว้ เราก็ลองมาดูแล้วกันว่าอยากจะเล่นอะไร เขาเปิดให้ผมทำอะไรใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ ไม่ได้ถึงขั้นตั้งเป้าว่าจะต้องทำให้ได้แบบไหน ไม่ต้องดิ้นรนว่าปีนี้จะต้องสร้างรายได้เป็นร้อยล้าน เราได้กำไรเท่าไหร่ก็จ่ายเงินพนักงานให้ธุรกิจอยู่ได้ 

เราแค่คิดว่าอยากอยู่ให้ได้เป็นคนสุดท้ายของวงการนี้ คอยเซอร์วิสวงการการ์เมนต์และทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด


สรุป 10 ประเด็นสำคัญใน The Secret Sauce Summit 2024 ขอนแก่น ที่บอกว่าอีสานก็แข็งแกร่งไม่แพ้ใคร

จบลงเป็นที่เรียบร้อยกับ The Secret Sauce Summit 2024 อีเวนต์เรื่องผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น อีเวนต์ครั้งนี้ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ครั้งแรกที่ทาง The Secret Sauce ได้จัดที่ภาคอีสาน เสมือนจุดเริ่มต้นในการสร้างคอมมิวนิตี้ระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริหารทุกระดับ และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโตในอีสาน 

ผู้ประกอบการและธุรกิจของภูมิภาคอีสานสิอยู่หม่องใด๋ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ดินแดนแห่งนี้สิเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการรุ่นเก่าและใหม่เติบโตต่อไปได้จังใด๋ คอลัมน์ Recap สิพาไปเบิ่ง 10 ประเด็นสำคัญใน The Secret Sauce Summit 2024 ขอนแก่น ที่บอกว่าอีสานก็แข็งแกร่งไม่แพ้ใคร

1. ช่วงแรกของงานในเซสชั่น Unleashing E-Saan’s Hyper-Growth เคน นครินทร์ได้กล่าวเปิดงานต้อนรับ พร้อมชวนตั้งคำถามถึงโอกาสและจุดแข็งของผู้ประกอบการอีสาน ซึ่งคำตอบของคำถามก็คือ ‘hidden potential’ หรือศักยภาพที่คนอื่นไม่สามารถสู้คนอีสานได้ ได้แก่ 

  • hidden demand ในช่วงโควิด-19 คนอีสานได้กลับบ้านเกิดมากกว่า 320,000 คน การกลับคืนถิ่นของคนอีสานทำให้เกิดธุรกิจใหม่และความเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นในอีสาน ซึ่งนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจแบบใหม่
  • hidden soft power ข้อมูล TikTok (ประเทศไทย) พบว่า คนอีสานใช้เวลาบน TikTok เกือบ 2.3 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นตัวเลขที่มากกว่าคนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มสร้างคอนเทนต์มากกว่า 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ และยังมีการคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า อีสานจะเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มซื้อสินค้าถึง 81% ผ่าน TikTok Shop
  • hidden trust ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญของทุกธุรกิจ แต่ข้อได้เปรียบของธุรกิจท้องถิ่นที่ทุนข้างนอกไม่อาจเอาชนะได้ก็คือ การมีฐานลูกค้าที่เป็นคนท้องที่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ  
  • hidden communities แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีผู้คนหนาแน่น แต่นับเป็นสังคมที่ต่างคนต่างทำ จุดแข็งเรื่องชุมชนเข้มแข็งของขอนแก่นและคนอีสานจึงนับว่าเป็นแต้มต่อที่จะผลักดันให้ท้องถิ่นเติบโต เช่น กรณีของขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่เป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ ภาคส่วน จนเมืองเติบโตขึ้นมาได้ 

เหล่านี้นับเป็น winning zone ที่ผู้ประกอบการอีสานต้องถือไว้ให้มั่น และนำไปต่อยอดเพื่อคว้าโอกาสได้ 

2. สปีกเกอร์คนแรกของเวทีอย่าง ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ ได้เล่าต่อในเซสชั่น Scaling Strategies :  From Local to Global กลยุทธ์เติบโตจากภูมิภาคสู่ระดับโลก โดยย้ำเตือนว่าไทยมีสินค้าและบริการหลายอย่างที่ทั่วโลกยอมรับ ผู้ประกอบการไทยจะทำงานเชิงรับอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องทำงานเชิงรุก บุกสู่ตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศ  

3. ในเซสชั่น SMEs Digital Marketing Insights คู่มือการตลาดดิจิทัลฉบับ SMEs มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ดิจิทัล ทิปส์ จำกัด ได้เปิดประเด็นน่าสนใจว่า ในยุคนี้ที่ลูกค้ามีพฤติกรรมร่วมที่เป็น zero consumer มากขึ้น คือเชี่ยวชาญในการซื้อของออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าราคาประหยัดแต่ยังคงคุณภาพตามที่ต้องการไว้ได้ ส่วนลูกค้าที่มี loyalty ก็มีน้อยลง 

แบรนด์จะสร้างประสบการณ์ที่ดีได้โดยหลักสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ การเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง การสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าเพื่อให้เกิดการบอกต่อ การโฟกัสพนักงานหรือคนทำงานเป็นอันดับแรก และการหาตัวตนแบรนด์ให้เจอ เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่าแบรนด์เราคือใคร และจะอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม  

4. อีกประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน คือยุคปฏิวัติพลังงานที่หลายธุรกิจเริ่มมองหาพลังงานทดแทน ประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บอกว่า นอกจากทำธุรกิจให้โตแล้ว เพื่อตามให้ทันเทรนด์โลก ผู้ประกอบการต้องทำธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมโลก ซึ่งนอกจากต้องตรวจสอบการผลิตคาร์บอนของตัวเองแล้ว หากตัดสินใจจะลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อย่างน้อยที่สุดควรจะต้องรู้พื้นฐานการใช้ไฟฟ้าของตัวเองก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจลงทุนเกินความจำเป็น  

5. ในเซสชั่นถัดมาอย่าง Exploring Generative AI for Business Success ชนะเกมธุรกิจด้วย generative AI จาก ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง ViaLink และกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้ชวนคิดถึงประเด็นของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยกล่าวว่า ในอนาคตทุกคนจะเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้น ใครเข้าใจและใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานได้ก่อนอาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็นผู้ชนะในตลาดได้ 

6. ภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้แบ่งปันประสบการณ์การเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัทระดับประเทศ ในเซสชั่น The Leader of Transformation ตำราผู้นำสิงห์ในยุคเปลี่ยนผ่าน ถึงการวางแผนแข่งขันกับบริษัทคู่แข่ง คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การพัฒนาศักยภาพของทีมงานทั้งองค์กร การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก เพื่อตอบรับความหลากหลายของตลาดผู้บริโภค และการย้ำว่าการมุ่งไปข้างหน้าจะต้องไม่ลบอดีต แต่ใช้วิธีขีดฆ่าสิ่งที่เคยทำผิดพลาด เพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดซ้ำสอง 

7. เซสชั่น Finding Your Winning Formula เกษตรแปรรูปพันล้านอย่าง สินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งปันว่า การทำธุรกิจไม่ใช่การมุ่งทำให้ยอดขายเติบโตอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในและต้องกล้าเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เพื่อแข่งขันกับบริษัทต่างชาติและแย่งชิงพื้นที่ในตลาดโลก 

8. ขยับมาที่ธุรกิจท้องถิ่นขนาดกลางอย่าง ตลาดนัดต้นตาล บนเวที Unlock Your Success ปลดล็อกความสำเร็จธุรกิจ ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดต้นตาล ณิชกานต์ พัฒนพีระเดชได้เล่าถึงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจให้เช่าและการทำธุรกิจครอบครัวเอาไว้ว่า ต้องรู้และเข้าใจแก่นของธุรกิจ เข้าใจว่าธุรกิจตลาดนัดไม่ใช่แค่การทำเป็นล็อกๆ แล้วปล่อยเช่า และการทำธุรกิจครอบครัวจะต้องเข้าใจเขา เข้าใจเรา 

9. ด้วยธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องของคนเพียงอย่างเดียว แต่เมืองที่ดีก็ทำให้ธุรกิจดีไปพร้อมกันได้ ในเซสชั่น The Secret of Empowering Communities กลยุทธ์ปั้นเมืองให้เป็นสินค้า สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เล่าถึงกลยุทธ์การพัฒนาเมืองเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนว่า การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การทำเมืองดิจิทัล และซอฟต์พาวเวอร์ จะช่วยยกระดับเมืองแบบภาพใหญ่ เชื่อมผู้คนแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกันให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

10. ปิดท้ายเซสชั่นของ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน โฮสต์รายการ 8 Minute History และ Morning Wealth ที่พาทุกคนย้อนกลับไปดูวิธีการกระจายอำนาจของเมืองต่างๆ ในโลก ผ่านเวที A Tale of the Megacities ประวัติศาสตร์ปลดล็อกศักยภาพเมือง รวมถึงข้อสังเกตที่ว่าคนจากทุกจังหวัดมีพลัง มีศักยภาพ แต่จุดสนใจมักอยู่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการกระจายความเจริญ และถ้ารัฐไม่ทำ เราต้องลงมือทำเอง

สำหรับใครที่พลาดอีเวนต์ครั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังออนไลน์ โดยสามารถซื้อบัตรได้ที่ bit.ly/tssskknCTBK

ดำผุดดำว่ายกับเศรษฐกิจฉบับนาก เมื่อการกลับมาของนากทะเลสร้างเม็ดเงินได้หลายสิบล้าน

ก่อนจะมีคาปิบาร่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวโปรดของใครหลายคนอาจจะเป็นน้องนาก ด้วยความน่ารักน่าเอ็นดู ขี้เล่น แต่บางทีก็แสบใช้ได้ 

อันที่จริงนากมีสองประเภทใหญ่ๆ นากที่ปรากฏตัวในบ้านเราหรือในสวนกลางเมืองสิงคโปร์เป็นนากน้ำจืด ส่วนนากขนปุยเป็นนากทะเล แต่แม้จะน่ารักขนาดนี้ พวกมันกลับถูกมนุษย์ล่าจนจนมุม ไม่ว่าจะล่าเพื่อการกีฬา ล่าด้วยมองว่าพวกมันทำลายผลผลิตทางการเกษตรอย่างปู หอย หรือล่าเพื่อเอาหนังและขน 

ทั้งที่เจ้าสัตว์แสนทะเล้น โดยเฉพาะนากทะเลนี้เป็นสัตว์สำคัญต่อระบบนิเวศไม่น้อย แน่นอนว่าการลดจำนวนลงของนากย่อมส่งผลในวงการ ภายหลังจึงเกิดกระแสการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้พวกมันกลับมาอยู่กับชายฝั่งของเราอีกครั้ง 

ความน่าสนใจคือ จากการกลับมาของพวกมัน มนุษย์เราไม่เพียงได้เห็นก้อนขนน่ารักลอยตุ๊บป่อง แต่องค์กรอนุรักษ์และหน่วยงานวิจัยรายงานว่าความน่ารักของพวกมันยังสร้างเม็ดเงินได้หลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทรัพย์คัลเจอร์ตอนนี้จึงจะพาทุกคนไปดำดิ่งเรื่องนากๆ ที่นอกจากจะเป็นนากผู้น่ารักแล้ว ยังเป็นนากอนุรักษ์และนากธุรกิจ

นากอนุรักษ์

ในความน่ารักแสนซนของพวกมัน เชื่อไหมว่าเจ้านากทะเลเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อระบบนิเวศโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ถึงขนาดที่ว่าถูกจัดเป็นสัตว์จำพวกสิ่งมีชีวิตหลัก (keystone species) ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น เพราะการเป็นสัตว์นักล่า (predator) ที่กินสัตว์ทะเล เช่น ปลา หอยเม่นทะเล หอยอื่นๆ และปู สัตว์ที่พวกนากล่าถือเป็นการควบคุมจำนวนประชากรและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ 

ตัวอย่างสำคัญของความอุดมสมบูรณ์จากการล่าและการกลับมาของพวกนากคือพื้นที่บริเวณบึงเกลือของแม่น้ำ Elkhorn Slough ในแคลิฟอร์เนีย นักวิจัยพบว่าการมีอยู่ของนากทะเลทำให้การกัดเซาะของบึงเกลือช้าลงถึง 80-90% เพราะในบึงนั้นเต็มไปด้วยปูที่ชอบขุดผิวดินซึ่งทำให้พืชพรรณหลุดลอกออก การที่นากกินปูเหล่านั้นทำให้พืชบริเวณบึงเกลือแข็งแรง พวกมันจึงกลายเป็นผู้ปกป้องบึงเกลือไปโดยปริยาย

งานศึกษาการกลับมาของพวกนากที่ชายฝั่งรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาเองก็พบบทบาทที่ใกล้เคียงกันคือ พบว่าพวกนากช่วยควบคุมประชากรหอยเม่น เมื่อหอยเม่นที่กินสาหร่ายลดจำนวนลง แนวสาหร่ายก็ขยายตัวขึ้น งานศึกษาพบว่าผืนสาหร่ายชายฝั่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า ทำให้ปลาหลายประเภทรวมถึงแซลมอนมีที่อยู่อาศัยและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

นากธุรกิจ

ด้วยความที่นากเป็นสิ่งที่ถูกล่า และจริงๆ บางส่วนถูกฆ่าเพราะเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลผลิตคือหอยเม่น หอยเป๋าฮื้อ และหอยที่มีราคาอื่นๆ นักวิจัยจึงค่อนข้างพยายามชี้ให้เห็นความคุ้มค่าทั้งในแง่การลงทุนของรัฐเพื่ออนุรักษ์ และชี้ให้เห็นกำไรที่จะเกิดขึ้นจากการกลับมาของพวกมัน

งานศึกษาสำคัญคืองานศึกษาเดียวกันที่แคนาดา ที่บอกว่านากทำให้สาหร่ายเพิ่มขึ้น การควบคุมจำนวนของหอยเม่นและป่าสาหร่ายทำให้ทะเลมีปลามากขึ้น ปลาค็อดบางสายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น 3 เท่า จำนวนประชากรปลาในภาพรวมเพิ่มขึ้นถึง 37% น่านน้ำและชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นก่อให้เกิดรายได้ราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากมูลค่าจากการประมงแล้ว การกลับมาของผืนสาหร่ายและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นช่วยซับคาร์บอนได้สูงคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการมีอยู่ของพวกนากทำให้เกิดการใช้จ่าย คือมีการท่องเที่ยวเพื่อมาชมพวกมัน สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพวกมันมีมูลค่าสูงถึง 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สำหรับชายฝั่งของแคนาดา นักวิจัยสรุปตัวเลขว่า เจ้านากทะเลทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหอยเม่นและหอยอื่นๆ ที่หายไปเพราะพวกมัน คิดเป็นตัวเลขราว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเมื่อหักลบและมองประโยชน์ในด้านอื่นๆ ประกอบ นับว่าพวกมันสร้างผลเชิงบวกคิดเป็นมูลค่าราว 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

งานศึกษาส่วนใหญ่บริเวณชายฝั่งคืออเมริกาต่อเนื่องกับแคนาดาค่อนข้างให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจไปในทำนองเดียวกันคือน่านน้ำที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น มีการท่องเที่ยวที่บูมเพราะนากทะเล รายงานจากบริเวณปากอ่าว (estuary) ของแม่น้ำ Elkhorn Slough ก็ชี้ให้เห็นตัวเลขการท่องเที่ยวและการจับจ่ายจากเจ้าพวกนากทะเลโดยตรงมีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลทางอ้อมอีกราว 1.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในจำนวนนี้ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งถาวรและการจ้างงานตามฤดูกาลอีก 300 ตำแหน่ง

การกลับมาของนากทะเลอาจทำให้สัตว์บางจำพวกลดจำนวนลง แต่ในภาพรวมมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น พื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่ท่องเที่ยวก็น่ารักน่าเอ็นดูขึ้น เจ้านากทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบและประโยชน์ที่มนุษย์จะได้จากการกลับมาของพวกมัน ทั้งในเชิงระบบนิเวศและในเชิงเศรษฐกิจ

ซึ่งใครจะไปคิดกันว่าเจ้าขนปุยที่นอนลอยน้ำแสนน่ารักแต่ก็แสบซนอย่างนากนั้น จะกลายเป็นคนสำคัญของห่วงโซ่อาหารและปากท้องของคน

อ้างอิง

จากแอพฯ สู่หน้าร้าน Hangles แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองที่อยากให้สายแฟได้แคร์โลกแบบไม่รู้ตัว

สายช้อป สายแฟซื้อเสื้อผ้าใหม่กี่ตัวต่อเดือน และมีเหล่าเสื้อผ้าเก่า (ที่จริงๆ ก็เพิ่งซื้อมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน) เบียดเสียดกันในตู้จนแทบไม่มีที่วางอีกกี่ตัว?  

เชื่อว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่อาจเป็นจุดร่วมของใครหลายคน ‘Hangles’ แพลตฟอร์มปล่อยเสื้อผ้ามือสอง โดยสองศรีพี่น้อง ลูกน้ำ–เพ็ญพิชชา สันตินธรกุล และ นุ่น–พิชชาธร สันตินธรกุล อาจเป็นคำตอบ 

เพราะเจ้าแอพพลิเคชั่นสีเขียวพร้อมโลโก้ H อวบอ้วน คล้ายไม้แขวนเสื้อประกบกันนี้ เปิดโอกาสให้เราเป็นได้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย นอกจากเราจะตามหาเสื้อผ้าตัวใหม่ที่ตรงใจในราคาสบายกระเป๋า แถมรับประกันความสะอาด สวย เป๊ะถูกใจได้แล้ว เรายังขายเสื้อผ้าที่เราไม่สปาร์กจอยเพื่อให้น้องๆ ได้มีชีวิตใหม่ได้เช่นกัน

ความน่าสนใจคือหลังจากเปิดตัวแอพพลิเคชั่นได้สักระยะ ทั้งลูกน้ำและนุ่นยังต่อยอดธุรกิจสายแฟที่แคร์โลกด้วยการเปิดหน้าร้านที่สยามสแควร์วัน ให้เหล่าคนรักเสื้อผ้าได้แวะช้อปและรักษ์โลกได้ง่ายกว่าเดิม กล่าวคือทั้งคู่ไม่เพียงเป็นแค่คนกลาง แต่ยังสร้างคอมมิวนิตี้ Hangles ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิด sustainable circulation 

แต่ท่ามกลางกระแสความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความยากของการเป็นผู้ประกอบการสายแคร์โลกก็มีไม่น้อย กลยุทธ์อะไรกันที่ทำให้ Hangles แตกต่างและเติบโตได้ขนาดนี้ เราขอชวนไปเปิดบ้านหลังแรกของ Hanlges เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังราวแขวนผ้าเหล่านี้กัน

มือสองไม่เป็นรองใคร

“ผู้หญิงซื้อเสื้อผ้าเยอะมากค่ะ เราเองก็ชอบซื้อเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว ก็เลยมีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ เอาไปขายก็ลำบาก” ลูกน้ำเริ่มต้นด้วยการหยิบประเด็นที่สาวๆ หลายคนรวมถึงตัวเธอและน้องสาวต้องเจอ  

ประกอบกับว่าในเวลานั้น นุ่นเริ่มอินกับวงการความยั่งยืนมากขึ้นจากการไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ ส่วนลูกน้ำเพิ่งเรียนจบและอยากทำธุรกิจของตัวเอง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่สองพี่น้องจับมือกันว่าจะสร้างพื้นที่ตลาดนัดเสื้อผ้ามือสองให้อยู่บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เสื้อผ้ามือสองได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง 

หลังรีเสิร์ชอย่างหนักหน่วงถึงวงการแฟชั่นและความยั่งยืน ทั้งสองปล่อย Hangles เวอร์ชั่นแรกออกมาในรูปแบบเว็บไซต์ในช่วงปี 2020 หลังจากนั้นเกือบๆ หนึ่งปีจึงตามมาด้วยแอพพลิเคชั่น ผู้ใช้งานสามารถลงขายเสื้อผ้าที่ไม่สปาร์กจอยอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าไปส่องไปเล็งเพื่อรับน้องๆ คนใหม่มาสู่อ้อมอกอ้อมใจได้เหมือนกัน  

หลังจากเปิดให้ทุกคนได้เวียนของกันใช้ สิ่งที่ลูกน้ำและนุ่นพบคือกลุ่ม Hangles นั้นนิยมใส่เสื้อผ้ามือสองก็จริง แต่ไม่ถึงกับวินเทจจ๋า ส่วนใหญ่การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนในแอพฯ จึงมักเป็นการส่งต่อแบรนด์ดังในอินสตาแกรม หรือแบรนด์ที่คนนิยมในปัจจุบันที่ออกคอลเลกชั่นใหม่บ่อยๆ จนสายแฟใส่ไม่ทัน

หนึ่งในความพิเศษคือเราในฐานะคนอยากซื้อสามารถฟิลเตอร์ได้เลยว่าอก เอว สะโพก และความชอบของเราเป็นยังไง เพื่อให้เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ตรงตามไซส์และตรงใจได้ง่ายขึ้น เพราะหนึ่งในปัญหาของเสื้อผ้ามือสองคือมักจะมีเพียงแค่ตัวเดียว ไซส์ และสีเดียวเท่านั้น 

“เราให้ความสำคัญกับตัวคนขายมาก เพราะความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญกับภาพลักษณ์ของเสื้อผ้ามือสอง เรามี criteria ว่าคุณต้องส่งเอกสารอะไรบ้าง หลังจากผ่านเรามี verification ให้ เพื่อให้คนซื้อได้รู้ว่าคนขายคนนี้เป็นใคร” ลูกน้ำเล่าให้ฟังถึงสัญลักษณ์ติ๊กถูกในหน้าโปรไฟล์ เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ในแอพฯ ที่ช่วยให้การซื้อและขายเป็นไปอย่างราบรื่น 

ไม่เพียงแค่นั้น พวกเธอยังมีแฮชแท็กประจำ #สายแฟแคร์โลก ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะมองว่าการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสองไม่ได้ทำให้เราสนุกกับการแต่งตัวน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า ด้วยมีโอกาสได้เจอเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์มากยิ่งขึ้น แต่ยังรักษ์โลกไปพร้อมๆ กันได้

“เราจะพูดตลอดว่าอยากให้ลูกค้ายังสามารถสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม คือใช้ชีวิตเหมือนเดิมเลย แค่ถ้าคุณอยากจะเลือกซื้อเสื้อผ้า ลองให้มือสองเป็นตัวเลือกแรกก่อน แล้วถ้าเกิดว่ามันไม่มีจริงๆ ค่อยขยับมา dead stock จากแบรนด์ต่างๆ ซึ่ง Hangles ตอบความต้องการของทุกคนได้” นุ่นอธิบายความตั้งใจ

พื้นที่ชุบชีวิตใจกลางสยาม

จากแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ นุ่นและลูกน้ำเพิ่มชีวิตชีวาและความจับต้องง่ายให้เสื้อผ้ามือสองยิ่งขึ้นด้วยการเปิดหน้าร้านในย่านวัยรุ่นตลอดกาลอย่างสยามสแควร์วัน ชั้น G หรือสยามฝั่งร้อนซอย 5 

ภายนอกเป็นร้านกระจกใสและกว้าง มองเข้าไปด้านในเห็นราวแขวนสีเขียวสลับสีน้ำเงินสดใส อัดแน่นด้วยเสื้อผ้าจำนวนมาก พร้อมไฟขาวสว่างช่วยขับเน้นให้เสื้อผ้ามือสองได้เฉิดฉาย ไม่ว่าจะกระเป๋า รองเท้า กางเกง ไปจนถึงเสื้อเบลเซอร์ 

“ลูกค้าส่วนใหญ่อยากให้มีหน้าร้าน เพราะอยากลองจับสินค้าจริงๆ ที่ผ่านมา เราเปิดป๊อปอัพสโตร์มาหลายที่ แต่ก็ยังไม่เจอที่ที่ถูกใจสักที่ ก่อนหน้านี้ก็เคยเปิดป๊อปอัพสโตร์ระยะยาวตรงสยามสแควร์ ซอย 2 กับ SC GRAND เราเห็นว่าการมีหน้าร้านออฟไลน์มันช่วยเยอะจริงๆ นะ เพราะลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น ซื้อเสื้อผ้าง่ายขึ้น เขาได้เห็นว่าเสื้อผ้ามือสองมันไม่ได้เป็นของเก่าและไม่สกปรก เหมือนเปลี่ยนภาพจำของเขาได้ประมาณหนึ่ง

“โลเคชั่นที่สยามมันหาที่ยากเพราะทุกคนก็จับจองกันไปหมด เราเดินดูตลอดว่าซอยนี้ ซอยข้างหน้า ซอยข้างหลังมีกลุ่มลูกค้าประมาณไหน เรารีเสิร์ชเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่เคยมีที่ว่างในซอยที่เราอยากจะได้ ในที่ที่เราคิดว่ากลุ่มลูกค้าเราอยู่ตรงนั้น จนที่นี่แหละที่เห็นแล้วแบบ เฮ่ย มันต้องที่นี่แหละ” นุ่นเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เธอและพี่สาวพากันส่องสยาม เพื่อตามหาทั้งกลุ่มลูกค้าที่เหมาะ และพื้นที่ที่ตอบโจทย์ 

“โจทย์แรกคือเราต้องการวางเสื้อผ้าให้เยอะที่สุด เพราะทุกแบรนด์มันมีแค่ 1 ตัว 1 ไซส์ 1 สีเท่านั้น เราอยากให้ลูกค้าเข้ามาเมื่อไหร่ก็เจอของที่ถูกใจทุกครั้ง ฝั่งขวาโซนสีเขียวเป็นคอนเซปต์เสื้อผ้ามือสองไปเลย อีกฝั่งนึงเป็นคอนเซปต์ Flaws to Fashion คือวางของที่มีตำหนิหลุด QC จากแบรนด์ 

“ส่วนภาพโดยรวมของร้าน เราอยากให้มันดูไลฟ์ลี่แต่ดูคูลอยู่ เราเลยเลือกใช้สีเขียวกับสีน้ำเงินเพื่อสร้างคอนทราสต์ และมันเป็นสีแบรนดิ้งของเราอยู่แล้วด้วย” นุ่นเสริมถึงคอนเซปต์หน้าร้านที่จัดวางชัดเจน ตลอดจนเหตุผลของสีสันสดใส และความปลอดโปร่งที่เรารู้สึกตั้งแต่แรกเดินเข้าไป

และด้วยความที่เสื้อผ้าบนราวที่เรียงกันอยู่นี้เป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่ละครั้งที่ลูกค้าเดินเข้าร้านย่อมต้องได้เจอของใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้ทุกครั้ง เพราะสินค้าจะนำมาแขวนขึ้นเรื่อยๆ ตามคิว ให้ทุกชิ้นได้มีแอร์ไทม์เป็นของตัวเอง 

“แน่นอนว่าไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ และมันจะไม่มีทางเหมือนกันทุกวันเลย ไม่ใช่แค่เดือนนี้หรือเดือนหน้า แต่ว่าวันนี้กับพรุ่งนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว” นุ่นเล่าด้วยสายตาเป็นประกาย

ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่คือคอมมิวนิตี้สายแฟ

ทิศทางของความยั่งยืนในโลกแฟชั่นที่สองสาวตั้งเป้าไว้เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ จากคอมมิวนิตี้ในแอพพลิเคชั่นของพวกเธอ หลายคนตั้งตารอว่าของชิ้นนี้ ของเจ้าของคนนี้จะมาอัพเดตอีกทีเมื่อไหร่ หรือบางคนก็ขายเสื้อผ้ามือสองได้เยอะจนกลายเป็นรายได้หลักของตัวเองได้เลย นุ่นเสริมถึงการค่อยๆ โตของกลุ่มคอมมิวนิตี้นี้ว่า

“คอมมิวนิตี้มันเติบโตด้วยตัวของมันเองไปเลยค่ะ เหมือนลูกค้าไม่ได้รู้สึกว่าฉันต้องมาซื้อมือสองเพราะฉันจะรักษ์โลกอะไรอย่างนี้ มันเป็นการเติบโตอย่างธรรมชาติไปเรื่อยๆ” 

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ Hangles เติบโตได้ขนาดนี้คือการรับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้ามาปรับและพัฒนาให้ Hangles ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและตอบรับกับเทรนด์สายแฟแคร์โลกมากยิ่งขึ้น พวกเธอบอกว่าถ้าไม่มีฟีดแบ็กเหล่านั้น หลายฟีเจอร์ หลากฟังก์ชั่นก็อาจไม่เกิดขึ้นใน Hangles ลูกน้ำบอกกับเราว่าการเก็บฟีดแบ็กเป็นเรื่องที่พวกเธอทำกันเสมอๆ 

“เราเก็บฟีดแบ็ก บางทีก็สัมภาษณ์จริงๆ จังๆ คือทุกการเปลี่ยนผ่านของเรา เราจะรับฟีดแบ็กจากลูกค้าตลอด เรามีช่องฟีดแบ็กให้ลูกค้าเขียนมาเลยว่าอยากได้ฟีเจอร์อะไรบ้าง ทีนี้เราก็ต้อง prioritize ดีๆ เพราะว่าเราไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะทำทุกอย่างในครั้งเดียว” 

หนึ่งในโมเดลที่สะท้อนถึงการปรับปรุงตอบรับสายแฟจริงๆ คือการรับฝากขายสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลา ง่ายๆ คือเพียงส่งมาให้ Hangles ดูแล ทำความสะอาดให้อย่างดี ก่อนจะนำไปปล่อยต่อ

“ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็ต้องปรับตัวให้ทันว่าลูกค้าต้องการอะไร ตอนนี้โลกมันไปถึงไหน เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง และเราจะเสิร์ฟลูกค้าได้เร็วที่สุด สะดวกสบายที่สุดได้ยังไง บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนก็ต้องหาความรู้เข้าตัวเองตลอด ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนเราอีกทีหนึ่ง” ลูกน้ำย้ำให้ฟังถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่รอช้าไม่ได้ 

เติบโตไปพร้อมกันทั้งวงการ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตขยะออกมาเยอะในทุกๆ ขั้นตอน ในปี 2023 ที่ผ่านมา วงการแฟชั่นทั่วทั้งโลกผลิตขยะออกมาถึง 97 ล้านตัน ประกอบไปด้วยขยะจากสิ่งถักทอถึง 18 ล้านตัน ตลอดจนพลาสติกและสารเคมี การเปลี่ยนโลกแฟชั่นให้มาสู่ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องไปด้วยกันทั้งวงการ 

“สินค้าเพื่อความยั่งยืนส่วนใหญ่มักจะแพงกว่าปกติ เพราะกระบวนการผลิตค่อนข้างเยอะ แล้วประเทศไทยหรือว่าประเทศแถบเอเชียเป็นประเทศที่เสื้อผ้าราคาไม่ได้สูงถ้าเทียบกับในโลก พอราคาสินค้าเพื่อความยั่งยืนมันเพิ่มขึ้นเยอะเลยอาจจะยังไม่ถูกยอมรับขนาดนั้น” นุ่นเล่าถึงภาพปัญหาใหญ่ของวงการแฟชั่นและความยั่งยืน 

ความยั่งยืนของพวกเธอและแบรนด์ Hangles จึงไม่ใช่แค่การนำเสื้อผ้ามือสองกลับมามีชีวิตใหม่ เจอเจ้าของใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการจับมือร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ในไทย เช่น Highestjump, XYXX, Dressupcorner, Circularclub และอีกหลายๆ แบรนด์

“ปกติแบรนด์แฟชั่นจะทำสินค้าที่เกินเป็น dead stock มากกว่า 30% แบรนด์ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากรีเซลหรือไปจัดบูทเพราะทำให้เสียภาพลักษณ์ พาร์ตที่เราทำกับแบรนด์คือเอาสินค้า dead stock หรือไม่ผ่าน QC มาฝากเราขายแทน

“ข้อดีของมือสองก็คือมันเป็นความยั่งยืนในราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นธุรกิจของเราเลยยังอยู่ได้ อย่างแบรนด์อื่นๆ ที่มาฝากขายสินค้า dead stock ของแบรนด์เขาเองก็ยังสามารถควบคุมต้นทุนการเอามารีเซลได้” ลูกน้ำเล่า 

การร่วมมือกันระหว่าง Hangles กับแบรนด์ต่างๆ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้สายแฟแคร์โลกได้ซื้อของแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีตำหนิไม่มากยังคงมีประโยชน์ ไม่ถูกปล่อยทิ้งและลืมหายไปในโกดังสินค้า อีกการร่วมมือที่สำคัญคือการร่วมมือกับ SC GRAND เพื่อหาแนวทางให้เสื้อผ้าที่มีตำหนิจนอัพไซเคิลไม่ได้ 

“เพราะเราไม่อยากให้เสื้อผ้าแม้แต่หนึ่งชิ้นเลยที่ผ่านมือเราแล้วต้องไปเป็นขยะ แต่เพราะมันไม่ใช่ทุกชิ้นที่เอาไปขายต่อได้ มันจะมีบางชิ้นที่มีตำหนิมากน้อยไม่เท่ากัน ตัวตำหนิน้อยเราก็ส่งต่อให้กับดีไซเนอร์ ให้เขาเพิ่มมูลค่า ส่วนบางตัวมีตำหนิเยอะมาก เราก็เลยส่งไปรีไซเคิล แต่เราจะถามลูกค้าก่อนว่าเขาโอเคไหม ถ้าเขาอยากได้คืนเราส่งกลับคืนให้ แต่ถ้าเขาไม่อยากได้คืนเราก็จะส่งไปสู่กระบวนการต่อไป” ลูกน้ำเล่าให้เราเห็นถึงภาพกว้างที่พวกเธอวางไว้ว่า 

นอกจากเรื่องของการทำงานร่วมกันทั้งกระบวนการแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่นุ่นย้ำกับเราคือเรื่องของการร่วมมือกัน เธอบอกเสริมขึ้นมาว่า “มันเหมือนเป็นพลังของการ collaboration กับทุกคน เพราะเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง แล้วเราก็ต้องยอมรับด้วยว่าเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง และไม่ได้มีเวลาที่จะไปเก่งทุกเรื่อง การพาร์ตเนอร์ชิปกับคนเก่งมันจะทำให้ตัวเราสตรองแล้วเติบโตไปด้วยกัน ทำให้ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตเร็วขึ้น”   

“เราอยากเห็นภาพ ecosystem ของแฟชั่นเชื่อมโยงกันทั้งหมด เราต้องการทำให้ทั้งต้นน้ำไปถึงปลายน้ำของวงการแฟชั่นไม่เป็นขยะ Hangles จะค่อยๆ ปรับขาไปเรื่อยๆ ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ จนครบวง ecosystem จริงๆ” ลูกน้ำทิ้งท้ายถึงเป้าหมายที่อยากให้ Hangles เป็นจุดเชื่อมโยงให้วงการเสื้อผ้าและแฟชั่นเข้าใกล้ zero waste มากที่สุด 

‘Coral Life’ ผู้สร้างอาคารประหยัดพลังงานเจ้าแรกในเอเชียที่ลดการใช้พลังงานได้มากถึง 70% 

ทุกวันนี้แม้จะอยู่ในอาคารบ้านเรือน ความร้อนก็ยังทะลุพาดผ่านเข้ามาได้ ถึงจะเปิดแอร์อุณหภูมิต่ำลงเพื่อเร่งให้รู้สึกเย็นทันใจ แต่กลับไม่ได้รู้สึกเย็นฉ่ำอีกต่อไป สิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกหนาวได้คงเป็นบิลค่าไฟที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกเดือน

แต่ออฟฟิศและตึกต้นแบบของ ‘Coral Life’ ผู้ออกแบบและติดตั้งโซลูชั่นครบวงจรให้กับอาคารอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่ในกลางสุขุมวิท 39 กลับให้ความรู้สึกแตกต่าง เพียงก้าวเท้าเข้าไปในอาคาร เราสัมผัสได้ถึงความเย็นที่สวนทางกับอากาศภายนอก แม้บางห้องที่เดินชมจะไม่ได้เปิดแอร์ แต่กลับรู้สึกเย็นสบายคล้าย ไม่ต่างจากห้องที่แอร์เปิดอยู่มากนัก

แม้อาคารมีกระจกใสให้ได้ชมวิวทิวทัศน์อยู่เป็นระยะ ไม่ได้ปิดทึบไร้แสง แต่พลันฝ่ามือสัมผัสกระจก เรากลับรู้สึกได้ถึงความเย็นไม่ต่างจากอุณหภูมิในตึก ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า Coral Life ออกแบบตึกยังไงให้กระจกไม่กักเก็บอุณหภูมิไว้ และทั้งอาคารก็เย็นสบายแบบแอร์ไม่ต้องทำงานหนัก

คำตอบอยู่ที่หลักสำคัญในการออกแบบอาคารของ Coral Life ที่เน้นออกแบบและก่อสร้างอาคารให้ลดการใช้พลังงานมากที่สุด อากาศในอาคารต้องบริสุทธิ์เพื่อ ‘ลดการใช้พลังงาน’ มากกว่าการใช้ ‘พลังงานทดแทน’ สวนทางกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่มองหาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการติดแผงโซลาร์เซลล์มาช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นและเพื่อให้บิลค่าไฟลดน้อยลง 

แม้พลังงานทดแทนหลายอย่างจะลดค่าไฟได้จริง แต่หากอาคารใช้พลังงานเท่าเดิม หนำซ้ำอากาศที่ดูจะร้อนขึ้นทุกวันยังบังคับให้ต้องผลิตความเย็นเพิ่มขึ้น พลังงานทดแทนที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้จึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ลอดผ่านเข้ามาในตัวอาคาร จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

บ่ายวันธรรมดาที่อากาศร้อนเกือบ 40 องศา เราจึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพื่อนัดพูดคุยถึงหลักการออกแบบเบื้องหลังอาคาร Coral Life และธุรกิจออกแบบเพื่อความยั่งยืน กับ เจมส์ ดูอัน ผู้ก่อตั้งบริษัท คอรัล โฮลดิ้ง หรือที่คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์รู้จักกันดีในฐานะผู้ออกแบบและสร้างอาคารและบ้านพักอาศัยทุกประเภท ก่อนที่จะมาเปิดบริษัทในเครืออย่างบริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ที่นำนวัตกรรมมาสร้างอาคารประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน

หากใครอยากหนีร้อนมาพึ่งเย็นด้วยกัน In Good Company ตอนนี้ขอ ‘เย็นดีต้อนรับ’  

คุณเห็นปัญหาอะไรในแวดวงอสังหาริมทรัพย์จนสนใจธุรกิจอาคารประหยัดพลังงาน

พอผมอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มานาน ผมจะเห็นอยู่ตลอดว่าแต่ละอาคารใช้พลังงานสูงมาก ผมเองสนใจเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2007 เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังและพบว่า 200 ปีที่ผ่านมา ทุกอุตสาหกรรมเน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

จะเห็นว่าในอดีต คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยมาก มันจึงก่อตัวเป็นระบบนิเวศที่เราเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันคือ ‘อากาศร้อน ฝุ่นเยอะ และค่าไฟแพง’ การจะแก้ปัญหานี้ได้คือต้องสร้างระบบนิเวศใหม่ อย่างการทำ ESG คือเราให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีธรรมาภิบาลเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเรื่องเศรษฐกิจจะตามมาเอง 

เป็นเหตุผลที่ผมเริ่มมองหานวัตกรรมมาออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานและเกิดเป็น Coral Life

ถ้าพูดถึงความยั่งยืน คนมักจะนึกถึงการลดคาร์บอนหรือการใช้พลังงานทดแทน แต่ทำไมคุณถึงทำเรื่องการ ‘ลดใช้พลังงาน’ มากกว่า ‘ใช้พลังงานทดแทน’

พลังงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือดีมานด์และซัพพลาย

ผมเปรียบดีมานด์ เป็นกิเลสของมนุษย์ หากต้องการมากเกินไป หาซัพพลายมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เรื่องนี้ผมได้วิจัยและพัฒนาหาโซลูชั่นเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน พบว่าโซลาร์เซลล์ลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 30% เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถใช้แทนพลังงานทั้งหมดได้ แต่ถ้าเราลดการใช้พลังงานตั้งแต่ต้นทางด้วยการออกแบบอาคาร เลือกใช้วัสดุ และโซลูชั่นต่างๆ จะลดการใช้พลังงานได้ถึง 70%

ไม่ได้หมายความการใช้พลังงานทดแทนไม่ดี คุณสามารถใช้พลังงานทดแทนไปพร้อมๆ กับลดการใช้พลังงานได้ เคยมีบริษัทนึงที่ผมไปออกแบบให้ จากตอนแรกต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ 6 ล้านกว่าบาท แต่พอใช้โซลูชั่นของ Coral Life เหลือค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ 2 ล้านกว่าบาท เพราะเมื่อลดดีมานด์การใช้พลังงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ซัพพลายมากเท่าเดิม

ในช่วงแรกที่ทำวิจัย คุณเจออุปสรรคอะไรบ้างและฝ่าฟันอุปสรรคนั้นมาได้ยังไง

ผมเริ่มจากไปดูงานที่ต่างประเทศ เพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในบ้านเรา ก็ลองผิดลองถูกหลายอย่าง เช่น หน้าหนาวที่ต่างประเทศจะเอาอุณหภูมิใต้ดินที่ร้อนกว่ามาทำฮีตเตอร์ ผมก็คิดว่าหน้าร้อนเราใต้ดินอาจเย็นกว่า แต่พอลองเจาะดูแล้วเจอว่ากรุงเทพฯ เป็นดินอ่อนและมีทรายที่มีน้ำเยอะ แถมอุณหภูมิใต้ดินกับบนดินแทบไม่ต่างกัน

การทดลองต่อไปเลยคิดจะใช้น้ำฝนที่มีอยู่มากมาย แต่พอได้หาเทคโนโลยีทั้งจากญี่ปุ่นและเยอรมนี พบว่าการใช้น้ำฝนมาเป็นพลังงานทดแทนมีต้นทุนที่เยอะเกินไป และไม่สามารถทดแทนพลังงานทั้งหมดได้

หลังจากนั้นผมส่งทีมงานไปเรียนฟิสิกส์ที่เยอรมนี แต่ก็นำมาปรับใช้ไม่ได้ เพราะบ้านเขาเป็นเขตหนาวแห้ง แต่บ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น แถมเขามีข้อมูลอากาศของเอเชียที่เคยมาเก็บในสิงคโปร์แค่ 2 เดือนเท่านั้น

สุดท้ายผมเลยตัดสินใจสร้างห้องทดลองเอง เพื่อจะได้เก็บข้อมูลอากาศของเอเชียตลอด 1 ปีเต็ม และคิดนวัตกรรมที่นำมาใช้ในบ้านเราได้จริงๆ แน่นอนว่าระหว่างทดลองก็มีปัญหาบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ

แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้งมากกว่า พอเราตั้งใจจะทำให้ได้ มันเลยไม่รู้สึกท้อ จนค้นพบนวัตกรรมและโซลูชั่นการสร้างอาคารให้ประหยัดพลังงาน แบบอาคารที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้

แล้วหัวใจสำคัญที่ทำให้อาคารประหยัดพลังงานได้คืออะไร

เรื่องแรกคือต้องออกแบบอาคารให้ความร้อนจากข้างนอกเข้ามาข้างในน้อยที่สุด นึกง่ายๆ ว่าเหมือนกับการสร้างตู้เย็น พอความร้อนเข้ามาน้อย ข้างในก็ไม่ร้อนมาก เหมือนอาคารนี้บางห้องที่ไปเดินชมก็ไม่เปิดแอร์ แต่ยังให้ความรู้สึกเหมือนเปิดแอร์ 27-28 องศา

เรื่องที่สองคือการเลือกวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะตัวนำความร้อนอย่างกำแพง และตัวนำอินฟราเรดกับ UV อย่างกระจก เราทดลองเก็บข้อมูลตั้งแต่ตอนสร้างห้องทดลองแล้วว่าวัสดุแบบไหนนำความร้อนเข้ามาน้อยที่สุด

เรื่องต่อมาคือขั้นตอนการประกอบหรือก่อสร้างอาคาร จะต้องไม่มีรอยรั่วเด็ดขาด เพราะตามหลักฟิสิกส์หากมีรอยรั่ว ความร้อนจะเข้ามาหาความเย็น และความเย็นจะไหลออกไป ซึ่งจะทำให้เปลืองพลังงานมากกว่าปกติ 10-20% และมีฝุ่น ควัน รวมถึงแบคทีเรียลอดเข้ามาในอาคารได้ ทำให้พออยู่ไปนานๆ จะรู้สึกปวดหัว และถ้าเกิดความชื้นสะสมในอาคารมากๆ ก็มีโอกาสเป็นไซนัสและโรคผิวหนังได้

จึงเกิดเป็นเรื่องสุดท้าย คือต้องมีการแลกเปลี่ยนอากาศที่ดี ซึ่งแต่ละสถานที่ก็มีอากาศที่เหมาะสมไม่เท่ากัน นั่นเป็นเหตุผลที่ Coral Life ต้องเก็บข้อมูลเรื่องอากาศเอาไว้และนำมาแปลงให้เห็นว่าแต่ละสถานที่มีคุณภาพอากาศที่ดีอยู่ที่เท่าไหร่ 

อย่างตึกนี้อยู่สุขุมวิท 39 ต้องคุมแบคทีเรียต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรไม่เกิน 500 ซึ่งเราทำได้ประมาณ 5-10 เลยทีเดียว อาคารของ Coral Life ไม่ได้แค่ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ดีต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนด้วย 

อาคารประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่ใหม่มาก มีวิธีการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจและเลือกใช้บริการของคุณยังไง

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ใหม่มากในไทย แต่เราเป็นเจ้าแรกในเอเชียที่ทำระบบอาคารและระบบอากาศที่ได้มาตรฐานแบบนี้ ผมเลยต้องอาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นเดเวลอปเปอร์ สร้างอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ทำให้คนเชื่อมั่นว่าผมสร้างอาคารได้จริง และหลังจากนั้นก็พาลูกค้าไปดูห้องทดลองที่ทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจกต์

หรือบางคนก็มาดูอาคารนี้ที่เป็นออฟฟิศของ Coral Life แล้วเขาจะเห็นว่าพอเข้ามาในอาคารก็จะรู้สึกเย็นแล้วหายใจสะดวก ส่วนค่าไฟจากที่ตอนแรกต้องจ่ายเดือนละ 4 แสนบาท แต่ตอนนี้เราจ่ายแค่เดือนละ 7 หมื่นบาท ถ้าคิดเป็นต่อปีจากปีละ 5 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือปีนึงไม่ถึง 1 ล้านบาท

พอได้มาสัมผัสสถานที่จริง มีตัวเลขค่าไฟเปรียบเทียบชัดเจน ลูกค้าก็เห็นภาพและเห็นความสำคัญของการมีอาคารประหยัดพลังงานไปเอง

ปกติสินค้าหรือบริการที่ทำเรื่อง ESG มักมีราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป คุณมีวิธีการยังไงให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายเพื่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน

ถ้าลูกค้ามาหาเราตั้งแต่แรก ไม่ได้แพงกว่าการสร้างอาคารปกติมาก แถมในระยะยาวยังยั่งยืนกว่า เรื่องนี้เราจะค่อยๆ พูดให้ลูกค้าเข้าใจและลองคิดดูว่าสร้างอาคารนึงใช้ไปถึง 30-50 ปี คุณจะประหยัดค่าไฟไปได้เท่าไหร่

ส่วนต่างตรงนั้นก็นำไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจคุณได้ และคุณภาพชีวิตของคนในอาคารก็ดีขึ้นด้วยอากาศบริสุทธิ์ เรื่องนี้มันเห็นภาพชัดเจนมากพอที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า

คนมักพูดกันว่าธุรกิจที่ทำเรื่อง ESG ไม่ค่อยได้กำไร คุณคิดว่าธุรกิจเหล่านี้จะสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับการช่วยโลกได้ยังไง

ผมมองว่าผู้บริโภคในปัจจุบันกว่า 80% ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมาก ทั้งตอนเลือกซื้อสินค้า เลือกใช้บริการ หรือแม้แต่จะสื่อหุ้นเขาก็ดูว่าธุรกิจของคุณใส่ใจโลกขนาดไหน ตัวอย่างที่คิดว่าเห็นภาพชัดคือ ‘ไนกี้’ ตั้งแต่เปลี่ยนส้นรองเท้าจากพลาสติกเป็นวัสดุรีไซเคิล กำไรก็พุ่งขึ้นหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผมจึงเชื่อว่าถ้าธุรกิจนั้นแก้ pain point ของผู้คนและสังคมได้ ต่อให้ทำเรื่อง ESG ยังไงก็ได้กำไร

คิดว่าความยากในการทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG คืออะไร

ผมว่าเป็นเรื่องของมายด์เซตเพราะถึงแม้เราจะพูดเรื่อง ESG กันมาระยะนึง แต่ในเชิงธุรกิจก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความความพยายามและความอดทนในการหาให้เจอว่าธุรกิจของคุณจะทำเรื่อง ESG อย่างยั่งยืนได้ยังไง บางคนจึงไม่กล้าพอที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนมาทำเรื่องนี้ หรือทำไปแล้วรู้สึกท้อถอยซะก่อน

ผมชอบเปรียบเทียบว่าการเริ่มทำ ESG เหมือนกับการขับรถ ถ้าคุณยังขับไปทางเดิมไม่เปลี่ยนทิศทาง ทำแค่เหยียบเบรกนิดๆ หน่อยๆ สุดท้ายธุรกิจของคุณก็จะเหมือนเดิมไม่มีวันเปลี่ยน แต่ถ้ายอมเสียเวลาสักหน่อย ยูเทิร์นกลับมาดูตั้งแต่จุดเริ่มต้น คุณจะค้นพบว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร และควรแก้ไขมันยังไง

ต่อให้ต้องขับรถไปบนเส้นทางใหม่ที่ยากกว่าเดิม แต่มันจะยั่งยืนกว่า คิดซะว่าธุรกิจที่ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แล้วจะประสบความสำเร็จได้ยังไง ธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า คือธุรกิจที่กล้าทำเรื่องที่ดูเป็นไปได้ยากให้เกิดขึ้นจริงได้ และต้องแก้ pain point ของสังคมด้วย

เหมือนอย่างที่ผมทำ Coral Life ใครจะคิดว่าวันหนึ่งอาคารที่คุณอยู่จะเย็นได้แบบไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา แถมยังมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจในวันที่ฝุ่น PM2.5 ครองเมือง และยังช่วยลดค่าไฟได้มากกว่าปกติถึง 70%

สนามเด็กเล่นของ Qualy ที่พาสารพัดแบรนด์มาคอลแล็บสินค้าดีไซน์ดี รักษ์โลกได้ และสนุกด้วย

ในแวดวงโปรดักต์ดีไซน์ไทย เชื่อว่าชื่อของ Qualy คงเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ด้วยถือเป็นพี่ใหญ่ในวงการเพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 จากการที่ ‘ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ต้องการต่อยอดโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว 

แม้อายุอานามได้ 20 ปี (ปัจจุบัน 2567) แต่ Qualy ยังคงเป็นแบรนด์ที่สดใหม่เสมอเพราะไจ๋หมั่นปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์ หนึ่งในนั้นคือการหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะหลากหลายประเภทมาผลิตสินค้าแทนวัสดุใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของธุรกิจ เพราะเมื่อคนเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม พลาสติกถูกโจมตีว่าเป็นผู้ร้าย ห้างร้านต่างๆ ก็รู้สึกว่าการขายสินค้าจากพลาสติกนั้นทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี

“อีกปัจจัยที่เราพยายามเปลี่ยนแบรนด์ เพราะเราเองเป็นนักออกแบบที่อยากทำงานสร้างสรรค์ แต่ตอนนี้เราต้องกลับมาถามตัวเองแล้วว่า ‘ที่เราออกแบบอยู่มันสร้างสรรค์หรือเปล่าวะ’ อย่างนั้นเราอาจต้องทบทวนว่าจะทำยังไงถึงจะเปลี่ยนจากการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ทำลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้แก้ปัญหา และที่สำคัญ พนักงานและธุรกิจครอบครัวก็ต้องไปต่อได้”

นอกจากการหยิบจุดอ่อนมาพลิกเป็นจุดแข็งแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้คนรักงานออกแบบตื่นเต้นทุกครั้งที่ Qualy ออกสินค้าใหม่ เพราะ Qualy นั้นเล่นสนุกด้วยการคอลแล็บกับสารพัดองค์กรเสมอ จะคอลแล็บกับแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก ศิลปินสายคราฟต์ หรือมูลนิธิ Qualy ก็ผ่านมาหมดแล้ว

“เราทำแบรนด์มานานมันก็มีวันที่หัวตัน การคอลแล็บเป็นหนึ่งในวิธีแก้ทางตันนั้น เพราะมันเหมือนมีคนจากแวดวงอื่นมาช่วยคิด บางอย่างเราเคยทำแล้วก็จริง แต่พอไปทำกับอีกเจ้า หรือคนในอีกแวดวงหนึ่ง มันกลายเป็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาก็ต่างออกไป”

วิธีการเลือกคอลแล็บของ Qualy นั้นไม่ซับซ้อน คือทั้งแบรนด์ที่ Qualy อยากคอลแล็บและแบรนด์ที่ติดต่อเข้ามาคอลแล็บด้วยต้องมีทัศนคติ เคมี และเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนใกล้เคียงกัน 

“ถ้าเขาไม่ใช่แบรนด์ที่มีดีไซน์ เขาก็จะได้เติมดีไซน์เข้าไปเมื่อคอลแล็บกับเรา แต่ถ้าเขามีดีไซน์อยู่แล้ว งานคอลแล็บก็อาจทำให้เขาได้ดีไซน์ที่แปลกใหม่ เติมความยั่งยืนลงไปในแบรนด์ของเขาด้วย เพราะเราเชื่อว่าของอย่างนี้มันป้ายยาแล้วติด พอเขารู้เรื่องความยั่งยืนแล้วเขาจะรู้สึกผิดถ้าเขาละทิ้งมันหลังมาคอลแล็บกัน

“ส่วนเราเองก็ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยลอง เช่น ปกติการทำงานกับชุมชนมันไม่ใช่จะเข้าไปง่ายๆ มูลนิธิเขาใช้เวลาในการปั้นความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆ จนเกิดความไว้ใจ ถ้าเราได้ร่วมงานกับมูลนิธิ เราก็จะได้ทำงานกับชุมชนตามความตั้งใจ หรือการได้ทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ เราก็เติมเรื่องความยั่งยืนให้เขาได้ ส่วนเขาก็ได้พีอาร์ให้เราในสเกลที่เราทำเองไม่ได้ การคอลแล็บมันจึงเหมือนการเติมเต็มซึ่งกันและกัน”

กลยุทธ์ในการคอลแล็บให้สำเร็จของ Qualy ก็ไม่ใช่สูตรลับอะไร ไจ๋บอกว่าปัจจัยสำคัญคือการมองการคอลแล็บแต่ละครั้งในระยะยาว และการหาตรงกลางระหว่างกัน ยิ่งเป็นการคอลแล็บเพื่อความยั่งยืนแล้วนั้นก็ยิ่งต้องมองผลลัพธ์ระยะยาว

“ถ้าหวังผลจากการคอลแล็บแค่ระยะสั้น เวลาจะทุ่มทำอะไรมันก็ทำไม่สุด เพราะมัวแต่คิดว่าเดี๋ยวแคมเปญนี้ก็จบแล้ว เหมือนเวลาเราคบคู่ชีวิตกับคบกิ๊ก วิธีการรักษาความสัมพันธ์มันก็ต่างกัน อีกเรื่องคือการคอลแล็บมันจะสำเร็จได้ ทั้งสองฝั่งต้องยืดหยุ่น ยอมปรับโน่น ยอมเปลี่ยนนี่ ยอมลองไปด้วยกัน แล้วไอเดียมันจะขยายออกไปได้กว้าง”

คอลัมน์ X Change ในครั้งนี้ เราจึงขอบุกหน้าร้านของ Qualy เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังการคอลแล็บแต่ละครั้งที่มีผลต่อการเติบโต

Qualy X ICHITAN
Willy Whale โปรเจกต์คอลแล็บครั้งแรก
ที่เหมือนแม่เหล็กดึงดูดโปรเจกต์ครั้งต่อๆ มา

ตอนนั้นเราอยากทำโปรเจกต์ผลิตสินค้าจากขยะอยู่แล้ว แต่การจะไปคัดแยกขยะเพื่อมาทำงานต่อนั้นซับซ้อน พอดีกับที่เราทำงานกับบริษัท วี กรีน จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอาจารย์แต๋มหรือ รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง เป็นที่ปรึกษาของโรงงานอิชิตันอยู่แล้ว

“อาจารย์ก็เลยจับแมตช์กัน เพราะโจทย์ใหญ่ของอิชิตันคือบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นนำไปรีไซเคิลต่อไม่ได้ เขาก็ต้องหาที่จัดการขยะนั้น เราเลยเอาขวดพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ตรงนั้นมาทำงาน ได้ออกมาเป็น Willy Whale กล่องเก็บของอเนกประสงค์รูปวาฬ ที่ผลิตจากวัสดุ Recycled PET 100% 

“คอนเซปต์ที่เราอยากสื่อสารคือปัญหาขยะทะเลมันก็มาจากการบริโภคของพวกเราที่ดันจัดการขยะไม่ดีจนขยะมันลงไปในแม่น้ำ ส่งต่อไปยังทะเล และกลายเป็นอาหารสัตว์ทะเล สินค้าแรกๆ เป็นวาฬเพราะวาฬเป็นสัตว์ที่ไม่ได้กินจุกจิกแต่เขากินอาหารเข้าไปเยอะในแต่ละครั้ง ทำให้มีวาฬที่เกยตื้นตายเพราะกินพลาสติกต่างๆ เข้าไป เราก็เอาเรื่องราวตรงนี้มาขยายเพื่อสื่อสาร ออกแบบให้ใช้งานง่าย บนแพ็กเกจก็พิมพ์ข้อมูลอธิบายเพิ่มเติมว่าโดยเฉลี่ยแล้ว วาฬกินพลาสติกเข้าไปวันละ 171 ชิ้น

“ถือเป็นโปรเจกต์แรกที่เราใช้ขยะเหลือทิ้งเต็มๆ นี่แหละเป็นจุดพลิกผันของ Qualy เพราะโปรเจกต์อื่นๆ ที่เข้ามาคอลแล็บก็เข้ามาเพราะเขาเห็นโปรเจกต์นี้ และทำให้เราได้สร้างการรับรู้ว่าต่อจากนี้ Qualy จะหันมาเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม

“เราเองก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ขยะในการผลิตสินค้าเหมือนกันว่าด้วยวัสดุที่มีไม่ใช่ของใหม่ดังนั้นชิ้นงานที่ออกมามันอาจไม่ได้เพอร์เฟกต์หรือเหมือนกันเป๊ะ แต่ครั้นจะให้เรารอเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วค่อยผลิตให้มันสมบูรณ์ก็ไม่รู้จะอีกนานแค่ไหน วิธีการแก้ของเราจึงคือการพลิกสิ่งที่อาจเป็นจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น และสื่อสารให้คนเห็นว่าความไม่สมบูรณ์แบบนั้นคือหลักฐานบ่งชี้ว่านี่แหละคือสิ่งของที่ได้จากการรีไซเคิล”

Qualy X EJF
Dominocean โปรเจกต์คอลแล็บที่พลิกวิธีการสื่อสารวัสดุ

“การรีไซเคิลขยะจากโรงงานคือเขาเก็บขยะรวมมาให้เราเรียบร้อยแล้ว วัสดุที่ได้มาก็เหมือนกันหมด แต่วัสดุจากมูลนิธิต่างๆ นั้นร้อยพ่อพันแม่มากๆ เราได้เรียนรู้การใช้คุณสมบัติของขยะทุกชนิดให้เป็นประโยชน์ เราได้เรียนรู้วิธีการหยิบเรื่องราวที่มีมาสื่อสารเพื่อเพิ่มความน่าสนใจได้

“อย่างเกม Dominocean ที่ผลิตจากซากแหอวนทะเลที่ได้จากโครงการทะเลปลอดเศษอวน โดยมูลนิธิ Environmental Justice Foundation Thailand เนี่ย ถ้าเรามองแหอวนเหล่านี้เป็นแค่วัสดุประเภทหนึ่ง หรือมองมันแค่ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ มันก็แข็งๆ ทื่อๆ เราจะทำยังไงให้คนสนใจ ก็ต้องใส่จิตวิญญาณเข้าไป

“เช่นแหอวนเหล่านี้เราได้จากการรณรงค์ให้ชาวประมงไปเก็บไม่ให้มันหลุดลอยไปในทะเล หมายความว่ามันจะต้องมีกระบวนการที่มูลนิธิต้องไปสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวประมงนะ มันไม่ใช่วัสดุที่ซื้อมา แต่มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับสังคม เชื่อมโยงกับชุมชน เราก็ต้องมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปรู้ด้วยว่าถ้าคุณสนับสนุนเรา คุณจะได้มีส่วนร่วมกับสิ่งนี้นะ 

“เราออกแบบให้มีสัตว์ทะเลในแต่ละชิ้นเพื่อสื่อสาร 2 ทาง ทางหนึ่งคือการสื่อสารปัญหาการบริโภคของเราที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเล แล้วพวกเราจะช่วยกันได้ยังไง นั่นคือการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะช่วยให้โครงการนี้มันดำเนินต่อไปได้ ให้ชาวประมงมีเรี่ยวแรงในการทำ แล้วก็ได้เสริมคุณภาพชีวิตของเขาด้วย 

“แล้วเศษวัสดุที่เก็บมานั้นมันเอาไปโยนเข้าเครื่องจักรเลยไม่ได้นะ เพราะมันเป็นขยะปนเปื้อน คนที่นำขยะเหล่านี้ไปพัฒนาต่อก็ต้องล้างทำความสะอาด ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับให้ขยะเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ผลิตได้ นี่คือทางที่ 2 ที่เราได้

“เราได้สื่อสารกระบวนการของ Qualy ไม่อย่างนั้นถ้าคนเลือกซื้อของด้วยราคาที่ต่างกัน โดยไม่เห็นกระบวนการเบื้องหลัง เขาย่อมเลือกของที่ถูกกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าเขารู้ว่าเงินที่จ่ายไปมันถึงใครบ้าง มันไปพัฒนาอะไรบ้าง เขาน่าจะตัดสินใจอีกแบบนึงนะ 

“โปรเจกต์นี้ก็เป็นวิธีคิดอีกสเตปว่าวัสดุมันไม่ใช่แค่วัสดุ มันมีความตั้งใจ มีกระบวนการอยู่ในนั้น” 

Qualy X Benjametha Ceramic
Losin โปรเจกต์ถ้วยฉลามวาฬที่เปิดให้ต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“Losin เป็นถ้วยชาที่ปั้นด้วยมือจากศิลปินพื้นบ้านที่เกาะโลซิน จ.ปัตตานี ที่นั่นยังมีฉลามวาฬอาศัยอยู่ แต่ก็อาจสูญพันธุ์ไปได้จากมนุษย์เรานี่แหละ ถ้วยใบนี้เหมือนการย่อส่วนทะเลมาไว้ในมือของเรา แล้วฉลามวาฬบนถ้วยก็เป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ

“เราร่วมกับ Benjametha Ceramic ที่เขาเป็นสายคราฟต์มาก Benjametha Ceramic รับหน้าที่ปั้นถ้วย ส่วน Qualy ผลิตตัวฉลามวาฬที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากซากแหอวนทะเลที่รวบรวมโดย Environmental Justice Foundation Thailand เหมือนกับ Dominocean

“โมลที่ใช้ผลิตฉลามวาฬนั้นราคาหลักหมื่นหลักแสน ถ้าเราผลิตแค่ 10 ตัวอาจจะยังไม่ได้ต้นทุนด้วยซ้ำ ดังนั้นมันก็ต้องทำหลายชิ้น พอล็อตแรกออกมามันหมดก็ต้องสั่งพรีออร์เดอร์ แล้วออร์เดอร์เข้ามาเยอะมากแต่ลูกค้าต้องรอไปก่อน เราก็ต้องรับมือกับความรู้สึกลูกค้า   

ปกติเขาทำงานแบบมาสเตอร์พีชเป็นหลัก 10 ชิ้น ทำ 10 อัน เสียสัก 2-3 อัน ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดาจากการเผา แต่พอทำ 100 อัน แล้วมันเสีย 30 ทำ 1,000 อันแล้วมันเสีย 300 มันคือมูลค่า มันปวดใจ นั่นแปลว่าพอสเกลมันใหญ่ขึ้น วิธีคิดมันก็จะเปลี่ยน จากต้องละเมียดทีละอัน เขาจะทำยังไงให้มันทันต่อความต้องการของลูกค้า 

“เขาก็บอกมาว่าเขาต้องบริหารจัดการอะไรเยอะแยะเลย ยิ่งพอมันแมสขึ้น ลูกค้าอาจไม่เข้าใจในความคราฟต์ เขาก็ต้องพยายามสื่อสาร โปรเจกต์นี้เลยทำให้เราเข้าใจความต่างของอุตสาหกรรม เพราะปกติเวลาเราทำเองมันก็ตัดสินใจคล่อง ถ้าอยากได้อันนี้ พรุ่งนี้ทำเลย เจ๊งช่างมัน อะไรแบบบนี้ เราให้อำนาจพนักงานในการลองผิดลองถูก แต่พอเราไปทำกับคนอื่นมันไม่ใช่แบบนั้น เราจะบอกว่าคุณเจ๊งไม่เป็นไรมันไม่ได้  

“มันเหมือนได้เรียนรู้กันและกัน ไม่ว่าเราจะคอลแล็บหรือทำงานกับใครคุณจะต้องเคารพในสิ่งที่เป็นตัวเขา เพราะมันมีเราอยู่ในนั้น แต่มันก็มีเขาด้วย”

Qualy X มูลนิธิกระจกเงา
‘พระสติ’ พระเครื่องจากพลาสติกที่แก่นดี สื่อสารโดนจนขายดีเกินคาด

“ถ้าเกินคาดคือเราคาดว่ามันไม่ขาย แต่มันดันขาย เช่น โปรเจกต์พระสติที่ทำร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ครั้งแรกสุดเราคอลแล็บร่วมกับเพื่อนรุ่นน้อง Dots Design Studio และ Harvbrand ในโปรเจกต์ผ้าป่า Design Week ช่วงงาน Bangkok Design Week 2022 

“ตอนนั้นแต่ละทีมก็ช่วยกันทำมันขึ้นมา ทีมนึงรับดีไซน์บูท อีกทีมรับสื่อสาร ส่วน Qualy รับผลิตที่ต้องออกค่าโม ค่าผลิตต่างๆ โดยที่เราก็ไม่คิดจะเอากำไร เพราะเงินที่ได้จะนำไปสู่มูลนิธิต่างๆ หรือบางคนไม่เอาเงินมาเช่าพระ ก็เอาขยะมาแลกไปยังได้เลย

“พอจบงาน เรามีโอกาสได้ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา เราจึงให้มูลนิธิกระจกเงาเป็นตัวแทนจำหน่าย เรียกว่าเงินที่ได้ก็บริจาคเข้ามูลนิธิกระจกเงา ทั้งที่ตอนแรกเราคิดว่าต้องขาดทุนด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีรายได้แต่ก็กลายเป็นว่าทำให้มูลนิธิมีเงินนำไปต่อยอดช่วยเหลือคนชราที่หางานยาก และกิจการอื่นๆ ต่อไป

“จุดนี้ก็เป็นจุดเรียนรู้อีกอันที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องเอากำไรของเราเป็นตัวประกันว่าถ้าไม่กำไรฉันก็จะไม่มีเงินไปทำสิ่งดีๆ แต่เราสามารถออกแบบหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปช่วยคนโดยตรงได้เลย ไม่งั้นถ้าต้องรอแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากกำไรไปทำบุญ แล้วโปรเจกต์ดันไม่กำไร ชาตินี้ก็ไม่ต้องทำบุญกันแล้ว

“อีกเรื่องที่ได้เข้าใจจากโปรเจกต์นี้คือเรื่องการสื่อสาร เพราะพอการสื่อสารมันดี สื่อก็ให้ความสนใจมาก เราก็ได้สื่อสารเรื่องที่ต้องการสื่อสารออกไปได้กว้างขึ้น คือที่ผ่านมาเราเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกันหลายวิธี แต่ไม่เคยเล่าผ่านพระเครื่องซึ่งมันแปลกใหม่ นั่นคือเราเทียบการเวียนว่ายตายเกิดตามความเชื่อกับการเวียนว่ายตายเกิดของวัสดุ 

“คนจำนวนมากมองพระพุทธเจ้าเป็นเทพ เวลาจะสร้างรูปเคารพก็ต้องสร้างจากวัสดุมีค่า แต่เราเอาขยะมาทำ มันก็ขัดแย้ง มันจึงเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้เราได้มีโอกาสสื่อสารว่าการที่ของสิ่งหนึ่งมันจะมีค่าหรือไม่ มันขึ้นกับคนจะมอง ของนั้นมันไม่มีคุณค่าจริงๆ หรือว่าคุณไม่เห็นกัน ขยะพลาสติกก็เช่นกัน คุณมองว่ามันไม่มีค่า เพราะว่าคุณไม่เห็นคุณค่าของเขาหรือเปล่า”

Qualy X SiEMS
ชุดสอน CPR คอลแล็บที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้
แต่เป็นไปแล้ว และเป็นไปได้ดี

การคอลแล็บส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็ดูไม่น่าเป็นไปได้ทั้งนั้นนะ แต่ถ้าให้เลือกผมขอเลือกโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับ Siriraj Emergency Medicine (SiEMS) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช Mahidol University เพื่อทำหุ่นสอน CPR ออนไลน์ในช่วงโควิด-19 

“ปกติหุ่นครึ่งตัวราคาแพงหลักหลายหมื่น การจะส่งหุ่นให้คนได้เรียนตามบ้านมันคงเป็นไปได้ยาก เราเลยทำโครงการออกแบบหุ่นชีวิน (Cheewin) เพื่อสอนการปั๊มหัวใจผ่านทางออนไลน์ ซึ่งหลังโควิด-19 เราก็พัฒนาให้ชุดการสอนนี้เราถูกลงเพื่อนำไปสอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตามบ้านตามโรงเรียนได้

“ตัวหุ่นชีวินนี้ เราลดทอนหุ่นให้เหลือเฉพาะชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ อย่างส่วนของหัวใจจำลอง ที่ปั๊มได้จริงในระยะและน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับหุ่นฝึกราคาแพง  เราออกแบบให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายพกพาง่าย แล้วตัวกล่องก็ทำหน้าที่เป็นเครื่อง AED จำลองด้วย บนแผ่นฝึกก็มี QR code ที่สแกนดูคลิปการสอนจากผู้เชี่ยวชาญได้เลย  

“ถือเป็นอีกงานคอลแล็บที่ Qualy ทำ แล้วเรารู้สึกว่ามันมีความหมาย”

  • 1.เราต้องการให้คนรู้จักเราเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างความรับรู้ของแบรนด์เท่านั้น แต่มันคือการกระจายความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย การสื่อสารจึงสำคัญมาก เราจะไม่สื่อสารแบบลงลึกจนเข้าถึงยาก เราจะไม่ใช้ภาษานักวิชาการ เพราะเราเชื่อว่าคุณไม่ต้องเรียนสูง ไม่ต้องมีตังค์มากมายถึงจะรักษ์โลกได้ เราเลยพยายามทำอะไรที่มันเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน
  • 2.ถ้าเทียบว่าเป็นอาหาร ของสดของดีต้นทุนมันสูงนะ ส่วนของที่มันบูดแล้วมันก็เหมือนจะได้ฟรี แต่ลองคิดว่าถ้าเอาของบูดของเน่ามาทำให้เหมือนของดีอันนี้ต้องจ่ายหนัก มันไม่ใช่เรื่องวัตถุดิบอย่างเดียวแต่มันเป็นเรื่องกระบวนการจัดการขยะที่ไม่อิสระเท่ากับวัสดุใหม่ สีก็เลือกไม่ได้มาก เพราะแหอวน แก้วกาแฟ หรือขยะต่างๆ เขามีสีมาแล้ว คราวนี้แหละคุณจะได้ใช้ศักยภาพความเป็นดีไซเนอร์เต็มที่
  • เปิดตำนานห้างทอง ‘ตั้งโต๊ะกัง’ ที่ยืนหยัดผ่านยุคราคาทองผันผวนมากว่า 160 ปี

    สมญานามของ ‘ตั้งโต๊ะกัง’ คือ หนึ่งใน 4 เสือแห่งร้านทองผู้เกรียงไกรและทรงอิทธิพล

    กิจการก่อตั้งขึ้นในยุคสมัยที่ยังไม่มีการกำหนดราคาทองที่แน่นอนและไม่มีอินเทอร์เน็ตให้สามารถหาข้อมูลได้ เหล่าเถ้าแก่จากห้างทองแห่งใหญ่ที่น่าเชื่อถือจึงมานั่งจิบน้ำชา ตั้งราคาทองที่เหมาะสมร่วมกัน และประกาศราคาทองเพื่อให้ห้างทองแห่งอื่นตั้งตาม 

    ตั้งโต๊ะกังทรงอิทธิพลถึงเพียงนี้

    คืนวันเหล่านั้นเป็นยุคสมัยที่ผู้คนยังไม่เชื่อในเงินตรา นิยมซื้อขายทองรูปพรรณมากกว่าทองแท่ง และใส่ทองเส้นใหญ่ลวดลายวิจิตรเพื่อโชว์ความร่ำรวย ห้างทองเต็มไปด้วยเสียงก๊องแก๊งจากช่างทองคำหลักร้อยคนที่บรรจงทำสินค้าจากทองอย่างพิถีพิถันดั่งงานศิลปะ ในแต่ละวันมีผู้คนมายืนดูราคาทองซึ่งมีการปรับเปลี่ยนราคาที่ป้ายโลหะหน้าร้าน 

    ไชยกิจ ตันติกาญจน์ ทายาทรุ่นที่ 4 และเจ้าของกิจการ บอกว่าราคาทองในปีเกิดของเขาอยู่ที่หลักร้อยบาท และปีที่เขาเข้ามาช่วยสานต่อกิจการราคาทองอยู่ที่ราวสี่พันกว่าบาท ส่วนปกรณ์  ตันติกาญจน์ ทายาทรุ่นที่ 5 ผู้เป็นลูกชายก็จำได้ว่าราคาทองตอนเข้ามาช่วยคุณพ่อทำงานอยู่ที่หนึ่งหมื่นจนปีนี้พุ่งขึ้นไปถึงสี่หมื่นบาท

    กาลเวลาผันผ่าน มูลค่าและคุณค่าของทองคำเปลี่ยนไป วันนี้ผู้คนถือแบรนด์เนมยี่ห้อดังเป็นเครื่องประดับบ่งบอกความร่ำรวยแทนทองคำและเปลี่ยนมาซื้อทองในโอกาสใหม่เป็นรางวัล ของขวัญ สิ่งตอบแทน ไปจนถึงซื้อเพื่อลงทุน แต่ตั้งโต๊ะกังก็ยังเปิดกิจการอยู่ที่เดิม

    ณ อาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลเจ็ดชั้นที่ถนนวานิช เยาวราช ที่สืบทอดกิจการมา 5 รุ่น คอลัมน์หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยวในวันนี้ขอชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวการทำกิจการห้างทองหลักศตวรรษที่ยืนหยัดผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวิกฤตมาแล้วนับไม่ถ้วน   

    ยุคเรืองรองของทองรูปพรรณ 

    ไชยกิจ ทายาทรุ่นที่ 4 ของตั้งโต๊ะกังเล่าว่าสมัยก่อนอาชีพช่างทองเป็นหนึ่งในงานที่ง่ายที่สุดของคนที่มีฝีมือทางศิลปะ 

    “แต่ก่อนผู้คนไม่มีงานทำเหมือนสมัยนี้ คนจีนที่อพยพมาไทยก็จะมาหางานทำกัน ส่วนหนึ่งทำงานแบกหาม คนอีกส่วนก็จะเน้นทำงานด้านศิลปะ ร้านเราก็คัดเลือกช่างมาทำทองเยอะมาก” 

    ในยุคก่อตั้งกิจการของนายโต๊ะกัง แซ่ตั้งนั้นยังไม่มีการสต็อกสินค้าพร้อมขาย ลูกค้าจะนำสินทรัพย์ที่มีมาแลกเปลี่ยนเป็นทองและสั่งออร์เดอร์กับช่างทองโดยตรง ช่างเหล่านี้จะนั่งประจำที่โต๊ะทำงานเพื่อรับทำต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ฯลฯ ตามออร์เดอร์ของลูกค้า 

    ทุกวันนี้อุปกรณ์การทำทองยุคโบราณ เช่น เบ้าหลอมทอง แม่พิมพ์ปั๊มทองคำ เตาต้มทอง ฯลฯ เป็นของสะสมของครอบครัวที่ไชยกิจตั้งใจอนุรักษ์ไว้และนำมาจัดแสดงเพื่อเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การทำทองในยุคก่อน ณ พิพิธภัณฑ์ที่ชั้นบนสุดของห้างทอง 

    “จะสังเกตได้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทองที่โต๊ะทำงานของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ในยุคก่อนไม่มีร้านขายเครื่องมือ ช่างจะประดิดประดอยอุปกรณ์ของเขาขึ้นมาเอง เอาไม้มาประกอบกับเหล็กและโลหะ ทำเองตามที่ตัวเองถนัด”  

    ทองในยุคนั้นเปรียบเหมือนงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก สร้อยทองเส้นหนึ่งจะใช้เวลาทำอย่างน้อย 2-3 วัน แต่ละเส้นที่ทำมาเป็นงานแฮนด์เมดที่มีลวดลายไม่เหมือนกันเลย หากช่างทำไม่ได้มาตรฐาน ทั้งลูกค้าและเจ้าของร้านทองจะสังเกตเห็นทันที 

    “งานทองสมัยก่อนถ้าไม่ประณีตจะขายไม่ได้เลย ต้องแต่งให้มนและเนี้ยบเพื่อใส่แล้วไม่บาดคอ แต่ปัจจุบันนี้พอใช้เครื่องจักรอย่างเดียวก็มีรายละเอียดน้อยลงไปเยอะ”

    ในช่วงที่กิจการสืบทอดถึงทายาทรุ่นที่ 2 หรือคุณปู่ของไชยกิจ เหล่าร้านทองก็เริ่มขยับขยายกิจการด้วยการทำโชว์รูมหรือเปิดหน้าร้านและทำสต็อกสินค้าเพื่อแข่งขันกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มใช้อาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลในการดำเนินกิจการ 

    ขายทองช่วยชาติ 

    “รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าของผมมีอุปสรรคตลอดเวลา”

    ไชยกิจย้อนความหลังว่าฉากหลังความรุ่งเรืองของห้างทองคือการยืนระยะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคของทายาทรุ่น 3 และวิกฤตต้มยำกุ้งในยุคของทายาทรุ่น 4 

    “คุณพ่อเล่าว่าตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนไม่มีเงินและไม่มีกะจิตกะใจมาซื้อข้าวซื้อของ อยากเก็บออมอย่างเดียว แต่ว่าทองก็คือทอง คนยังคิดว่าทองมีคุณค่าและในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้” 

    สมัยนั้นผู้คนเชื่อว่าเงินไม่มีความน่าเชื่อถือจึงนิยมใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ (barter) และหนึ่งในสิ่งที่แลกมาแล้วมีมูลค่ามากที่สุดก็คือทองคำที่เก็บสะสมไว้ให้ลูกหลาน จนถึงเมื่อยามเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจึงมักจะนำทองคำกลับมาขายคืนให้ร้านทอง 

    ภาระอันหนักอึ้งตกมาอยู่กับร้านทองซึ่งไม่มีเงินสดเพียงพอต่อการรับซื้อทองคืนจำนวนมากในรวดเดียว สิ่งที่ตั้งโต๊ะกังทำในตอนนั้นคือนำทองไปแลกเงินสดจากโรงรับจำนำเพื่อนำเงินที่ได้กลับมาซื้อทองจากลูกค้าอีกทอด นอกจากจะเป็นทางเลือกที่ไม่ทอดทิ้งลูกค้าแล้วยังได้รักษาความน่าเชื่อถือของร้านทองไว้

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการยังเผชิญกับพิษเศรษฐกิจอีกครั้งตอนวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ไชยกิจบอกว่าครั้งนั้นเป็นวิกฤตที่ร้านทองเป็นพระเอกและได้ช่วยคนไทยทั้งประเทศ

    ตอนนั้นเป็นยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่มีนโยบายปล่อยเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างก้าวกระโดด จาก 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินค้านำเข้ามีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าตามมา  

    สิ่งที่เกิดขึ้นจนทายาทตั้งโต๊ะกังจำได้ไม่ลืมคือผู้คนแห่เอาทองมาเทขายเช่นเดิมคล้ายกับตอนสงครามโลก “นึกภาพว่าร้านทองแต่ละร้านขายทองออกไปแล้วหลายหมื่นตัน แล้วภายในพรวดเดียว ลูกค้าก็เอาทองมาคืนหมดทั้งตัน คุณคิดว่าร้านทองจะสู้ไหวไหม แน่นอนว่าสู้ไม่ไหวก็ต้องขายทองไปต่างประเทศ”

    คำว่า ‘สู้ไม่ไหว’ แปลว่าร้านทองไม่มีเงินสดเพียงพอสำหรับซื้อทองคืนจากลูกค้าทั้งหมด คราวนี้ตั้งโต๊ะกังแก้เกมด้วยการเขียนเช็คจ่ายเงินให้ลูกค้าล่วงหน้าและขายทองไปต่างประเทศเพื่อดึงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐกลับเข้ามาพยุงเศรษฐกิจไทย ร้านทองจึงเป็นหนึ่งในพระเอกที่มีส่วนช่วยกอบกู้เศรษฐกิจในครั้งนั้น 

    วิกฤตเหล่านี้ทำให้เห็นว่าตั้งโต๊ะกังไม่ใช่แค่ขายทองเพื่อให้กิจการของตนอยู่รอดเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสิ่งที่มากกว่ากำไร ทั้งคำนึงถึงลูกค้ายามลำบากและสังคมส่วนรวม 

    บริหารสต๊อกที่มูลค่าเปลี่ยนหลักนาที

    วิกฤตต่างๆ ของโลกช่วงที่ผ่านมาในยุคปัจจุบัน ทั้งโรคระบาดโควิด-19, สงครามยูเครน-รัสเซีย, สงครามที่อิสราเอล ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อและขายทองคืนเยอะ ทำให้ราคาทองมีความผันผวนสูงเป็นพิเศษดังเช่นในอดีต

    ปกรณ์ ทายาทรุ่น 5 บอกว่าทักษะสำคัญของเจ้าของร้านทองคือการประเมินความเสี่ยงว่าควรซื้อและขายทองตอนไหนในแต่ละสถานการณ์โดยใช้ความรู้ทางการเงินการลงทุนและการเสพข่าวสารเศรษฐกิจมาประเมิน 

    “โชคดีที่ผมเรียนจบการเงินมา ในการขายทองถ้าเรารู้เรื่องตลาดและการเงินมันก็ดี พอเราเรียนการเงินมาเราจะรู้เลยว่าความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละอย่างไม่เท่ากัน ธรรมชาติของทองไม่เหมือนสินค้าทั่วไป ไม่เหมือนหุ้นและตราสารหนี้ 

    “ผมเคยทำงานบริษัทเกี่ยวกับการตลาดด้านการลงทุน ทำให้เรามองภาพรวมออกว่าตอนนี้ควรบริหารสต๊อกเท่าไหร่และควรขายออกไปเท่าไหร่ เราควรจะต้องซื้อเพิ่มหรือยัง ดังนั้นการส่องมือถือเยอะๆ ก็กลายเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คิดว่าค่อนข้างจำเป็นที่ต้องติดตามข่าวสารตลอด เพราะจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปราคาทองจะขึ้นหรือลง” 

    จากประสบการณ์ของปกรณ์ เขามองว่าทุกสถานการณ์ไม่ได้เป็นตามที่คาดหรือเป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป

    “มันตอบไม่ได้ 100% ว่า ณ ตอนนี้เราควรจะซื้อไปเลยหรือรอดีกว่า ตามทฤษฎีที่เราเรียนมาจะบอกว่าถ้าลดดอกเบี้ย เงินจะแข็งค่าขึ้นและทองจะอ่อนค่าลง แต่ในความเป็นจริงบางทีก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นตามทฤษฎี มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”

    ความท้าทายของร้านทองจากมุมมองของปกรณ์จึงเป็นการทำระบบสต๊อกซึ่งควบคุมยากเป็นพิเศษจากราคาผันผวนของตลาด

    “สต๊อกของสินค้าประเภทอื่นไม่ได้มีราคาที่วิ่งเร็วเท่านี้ แต่ธรรมชาติของราคาทองคือวิ่งตลอดเป็นรายนาที เวลาคนมาซื้อทอง บางครั้งเราก็ต้องการล้างสต๊อกไปเลย แต่บางครั้งพอเราคิดว่าเดี๋ยวราคาทองมันน่าจะต้องลง เราก็อยากรอก่อน แต่ปรากฏว่าราคาจริงอาจจะลงหรือขึ้นไปเยอะกว่าที่คิด ก็กลายเป็นว่าเราซื้อกลับมาแพงขึ้นหรือถูกลงกว่าที่คาดไว้” 

    การวิเคราะห์ราคาทองจึงต้องอาศัยมุมมองทางเศรษฐกิจที่เฉียบคมและประสบการณ์เก๋าเกมซึ่งปกรณ์บอกว่าเป็นสิ่งที่เขาและคุณพ่อแลกเปลี่ยนมุมมองกันอยู่เสมอ 

    “ความท้าทายอยู่ที่คนนี้ครับ” ปกรณ์ตอบคำถามพร้อมชี้ไปทางคุณพ่อของเขา “มันเป็นเรื่องปกติของ generation gap ที่จะมีข้อคิดเห็นไม่เหมือนกัน สมมติมีคนมาซื้อทองจำนวนเท่านี้ก็ต้องมีการคุยกันว่า พวกเราเห็นว่าควรจะซื้อคืนกลับมาได้แล้วหรือยัง 

    ผมก็มองจากทฤษฎีที่เคยทำมาว่ามันควรจะต้องเป็นแบบนี้ คุณพ่อก็มองจากภาคปฏิบัติว่าเขาเคยปฏิบัติมาแบบนี้ ซึ่งมันไม่สามารถบอกได้ว่าแบบไหนถูก 100% มันต้องนำความคิดเห็นมาผสมผสานกัน หาจุดตรงกลาง” 

    นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อราคา สินค้าจากทองคำยังแบ่งยิบย่อยออกเป็นหลายรุ่นสินค้า (SKU) ทำให้การเซ็ตระบบสต็อกให้อยู่ตัวนั้นมีความท้าทายมาก 

    ตัวอย่างเช่น สร้อยหนึ่งบาทแบ่งออกเป็นหนึ่งร้อยลาย ในบรรดาร้อยลายนั้นมีหลายขนาดและความยาว มีทั้งแบบโปร่ง แบบตัน และยังแบ่งยิบย่อยออกเป็นโปร่งมาก โปร่งน้อย ตันมาก ตันน้อย อีกทั้งถ้ายิ่งเก็บทองไว้นานก็จะยิ่งสึก หากทองคำ 1 บาท สึกหรอไป 1 กรัมก็จะทำให้มูลค่าหายไปถึง 2 พันกว่าบาท

    หากอยากจัดการสต็อกให้แม่นยำจึงต้องมีระบบการควบคุมที่ละเอียดมากซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ตั้งโต๊ะกังต้องหาทางแก้ต่อไป 

    ระบบที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม

    แม้การจัดการสต๊อกจะยังเป็นเรื่องยาก แต่ปกรณ์ก็บอกว่าโชคดีที่คุณพ่อวางระบบหลังบ้านของธุรกิจให้แข็งแรงอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเข้ามาสานต่อก็ตัดปัญหาไปได้แล้วหลายเรื่อง ทั้งระบบบัญชี ภาษี การบริหารคน

    เรื่องเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปสำหรับนักธุรกิจในยุคนี้ แต่ไชยกิจผู้เรียนจบด้านบัญชีมาบอกว่ากิจการสมัยก่อนไม่มีการจัดการใดๆ ทั้งสิ้น และเขาเป็นผู้บุกเบิกการนำระบบหลายอย่างมาใช้กับธุรกิจครอบครัว

    “ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ไม่อยากมาทำที่ร้าน ไฟแรง อยากไปทำข้างนอกก่อน ก็ไปเรียนรู้งานของบริษัทใหญ่ว่าเขาจัดระบบกันยังไง สมัยก่อนที่ร้านก็ค้าขายกับพี่น้องแบบไม่นับเงิน ใช้วิธีโยนเงินใส่กล่อง มันก็ทนดูไม่ไหว

    “ตอนนั้นคนละเจนฯ ก็คนละความคิด รุ่นก่อนคือคุณพ่อของผมในตอนนั้นหนักกว่าตอนนี้อีก เขาคิดว่าทำกิจการมาเป็น 30-40 ปีแล้ว จะไม่เชื่อใจคนของเขาได้ยังไง แต่ผมคิดว่าเราต้องมีระบบตรวจสอบทางการเงินก็เลยเริ่มทำระบบบัญชีขึ้นมา” 

    ในฐานะเจ้าของกิจการตั้งโต๊ะกัง ไชยกิจยังผลักดันให้สมาคมร้านค้าทองคำเจรจากับสรรพากรในการสร้างระบบภาษี VAT สำหรับทองคำอย่างเป็นธรรม เนื่องจากทองคำเป็นสินค้าที่นำมาขายใหม่ได้ หากเก็บ VAT 7% ของราคาทองในทุกครั้งที่ซื้อจะทำให้ทองมีราคาแพงเกินไปและร้านทองก็ขาดทุน จึงปรับให้คิด 7% จากค่าแรงกับส่วนต่างของทองแทนการคิดจากราคาทองโดยตรง 

    นอกจากระบบทางการเงินที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ไชยกิจยังวางระบบการควบคุมพนักงานที่ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ 

    “ตัวผมเองเวลาสรรหาคนมาก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเรียนจบดีๆ หรือต้องเก่งอะไรมากมาย ผมก็ดูคนจากการทดลองให้เขาทำงานบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับทองไปก่อน ดูว่าเขาเข้ากับคนอย่างเราและคนของเราได้ไหม เรื่องนี้สำคัญ การที่จะทำงานด้วยกัน มันต้องเป็นทีมเวิร์ก ถ้าขัดแย้งกัน ผมก็จะส่งอีกคนหนึ่งให้ไปอยู่อีกที่หนึ่งไปเลย ดึงไปทำบัญชีหรืองานข้างนอกเพื่อให้ห่างกัน  

     “คุณสมบัติของพนักงานร้านทองคือต้องรักแบรนด์ของเราให้มาก ตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าเขาไม่รักก็จบแล้ว เวลาผมคุยกับคนที่ร้าน ผมเป็นกันเอง ไม่ได้มานั่งเป็นเถ้าแก่ อยากจะคุยเรื่องอะไรหรือมีข้อเสนออะไรก็คุยได้หมด ผมรับฟังความคิดเห็นของเขาแล้วเราก็มาวิเคราะห์ คุยกันด้วยเหตุผล 

    “โชคดีที่ได้คนที่ซื่อสัตย์มาทำงานด้วย” เขาสรุปปิดท้าย

    อย่าเสี่ยงโชค

    จากช่างทำทองแฮนด์เมดหลักร้อยคนในอดีต ปัจจุบันตั้งโต๊ะกังเหลือช่างทองที่อนุรักษ์การทำทองเพียงแค่คนเดียวด้วยปัจจัยด้านต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้าที่ซื้อทองรูปพรรณน้อยลง 

    เป็นโจทย์ของปกรณ์ที่ต้องพาร้านทองเข้าสู่ยุคที่โลกมีพฤติกรรมและค่านิยมใหม่  “ผมมองว่าร้านทองไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะตัวสินค้าไม่เน่าเปื่อย ไม่มีอายุการใช้งาน เราพยายามรักษากิจการไว้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างที่เรารักษาสิ่งเดิมอยู่ก็ต้องดูเทรนด์ตลาดว่าอนาคตจะไปในทิศทางไหน สมัยนี้ลูกค้าจะชอบซื้อเป็นทองแท่งและเน้นดีไซน์ที่เรียบง่ายขึ้น

    “สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือพยายามหาดีไซน์แปลกใหม่หรือดีไซน์โมเดิร์น แต่ทีนี้ในการทำทองก็จะติดอุปสรรคบางอย่าง คือความจริงแล้วทองเส้นที่มีดีไซน์เรียบง่ายมันทำยาก แต่ลายมังกรที่ดูหรูหรากลับทำง่ายกว่า ค่าแรงถูกกว่า”  

    ท่ามกลางความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาสุดซับซ้อนของระบบสต๊อกและอุปสรรคในการดีไซน์ทองให้ปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมของยุคสมัย ไชยกิจสรุปหลักการสำคัญในการทำกิจการร้านทองของตั้งโต๊ะกังไว้อย่างเรียบง่าย

    “ที่จริงการทำร้านทองนี้ไม่มีอะไรมากหรอก คือผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและทำให้ลูกค้าเชื่อถือ อันนี้เป็นหลักสำคัญ ส่วนการจะทำให้ร้านอยู่ได้ต่อไปถึงร้อยปี ชั่วลูกชั่วหลาน อย่างแรกก็คือ ต้องคุมสต๊อก คุมบัญชีให้นิ่ง อย่าให้มันหวือหวา อย่าไปเสี่ยงโชค

    “บางร้านที่อยู่ไม่ได้เพราะไปเล่นเรื่องโชค ไปเก็งว่าราคาจะลงหรือขึ้น พอเก็งผิดพลาดไปในจำนวนเยอะ มันก็ไปเร็ว ฉะนั้นเราคุมสต๊อกให้อยู่ใกล้เคียงกับตอนที่เราเริ่มต้นก็พอแล้ว อาจจะได้กำไรน้อยแต่ว่าเราจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ”