Qualy’s Playground
สนามเด็กเล่นของ Qualy ที่พาสารพัดแบรนด์มาคอลแล็บสินค้าดีไซน์ดี รักษ์โลกได้ และสนุกด้วย
ในแวดวงโปรดักต์ดีไซน์ไทย เชื่อว่าชื่อของ Qualy คงเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ด้วยถือเป็นพี่ใหญ่ในวงการเพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 จากการที่ ‘ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ต้องการต่อยอดโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว
แม้อายุอานามได้ 20 ปี (ปัจจุบัน 2567) แต่ Qualy ยังคงเป็นแบรนด์ที่สดใหม่เสมอเพราะไจ๋หมั่นปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์ หนึ่งในนั้นคือการหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะหลากหลายประเภทมาผลิตสินค้าแทนวัสดุใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของธุรกิจ เพราะเมื่อคนเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม พลาสติกถูกโจมตีว่าเป็นผู้ร้าย ห้างร้านต่างๆ ก็รู้สึกว่าการขายสินค้าจากพลาสติกนั้นทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี
“อีกปัจจัยที่เราพยายามเปลี่ยนแบรนด์ เพราะเราเองเป็นนักออกแบบที่อยากทำงานสร้างสรรค์ แต่ตอนนี้เราต้องกลับมาถามตัวเองแล้วว่า ‘ที่เราออกแบบอยู่มันสร้างสรรค์หรือเปล่าวะ’ อย่างนั้นเราอาจต้องทบทวนว่าจะทำยังไงถึงจะเปลี่ยนจากการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ทำลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้แก้ปัญหา และที่สำคัญ พนักงานและธุรกิจครอบครัวก็ต้องไปต่อได้”
นอกจากการหยิบจุดอ่อนมาพลิกเป็นจุดแข็งแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้คนรักงานออกแบบตื่นเต้นทุกครั้งที่ Qualy ออกสินค้าใหม่ เพราะ Qualy นั้นเล่นสนุกด้วยการคอลแล็บกับสารพัดองค์กรเสมอ จะคอลแล็บกับแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก ศิลปินสายคราฟต์ หรือมูลนิธิ Qualy ก็ผ่านมาหมดแล้ว
“เราทำแบรนด์มานานมันก็มีวันที่หัวตัน การคอลแล็บเป็นหนึ่งในวิธีแก้ทางตันนั้น เพราะมันเหมือนมีคนจากแวดวงอื่นมาช่วยคิด บางอย่างเราเคยทำแล้วก็จริง แต่พอไปทำกับอีกเจ้า หรือคนในอีกแวดวงหนึ่ง มันกลายเป็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาก็ต่างออกไป”
วิธีการเลือกคอลแล็บของ Qualy นั้นไม่ซับซ้อน คือทั้งแบรนด์ที่ Qualy อยากคอลแล็บและแบรนด์ที่ติดต่อเข้ามาคอลแล็บด้วยต้องมีทัศนคติ เคมี และเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนใกล้เคียงกัน
“ถ้าเขาไม่ใช่แบรนด์ที่มีดีไซน์ เขาก็จะได้เติมดีไซน์เข้าไปเมื่อคอลแล็บกับเรา แต่ถ้าเขามีดีไซน์อยู่แล้ว งานคอลแล็บก็อาจทำให้เขาได้ดีไซน์ที่แปลกใหม่ เติมความยั่งยืนลงไปในแบรนด์ของเขาด้วย เพราะเราเชื่อว่าของอย่างนี้มันป้ายยาแล้วติด พอเขารู้เรื่องความยั่งยืนแล้วเขาจะรู้สึกผิดถ้าเขาละทิ้งมันหลังมาคอลแล็บกัน
“ส่วนเราเองก็ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยลอง เช่น ปกติการทำงานกับชุมชนมันไม่ใช่จะเข้าไปง่ายๆ มูลนิธิเขาใช้เวลาในการปั้นความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆ จนเกิดความไว้ใจ ถ้าเราได้ร่วมงานกับมูลนิธิ เราก็จะได้ทำงานกับชุมชนตามความตั้งใจ หรือการได้ทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ เราก็เติมเรื่องความยั่งยืนให้เขาได้ ส่วนเขาก็ได้พีอาร์ให้เราในสเกลที่เราทำเองไม่ได้ การคอลแล็บมันจึงเหมือนการเติมเต็มซึ่งกันและกัน”
กลยุทธ์ในการคอลแล็บให้สำเร็จของ Qualy ก็ไม่ใช่สูตรลับอะไร ไจ๋บอกว่าปัจจัยสำคัญคือการมองการคอลแล็บแต่ละครั้งในระยะยาว และการหาตรงกลางระหว่างกัน ยิ่งเป็นการคอลแล็บเพื่อความยั่งยืนแล้วนั้นก็ยิ่งต้องมองผลลัพธ์ระยะยาว
“ถ้าหวังผลจากการคอลแล็บแค่ระยะสั้น เวลาจะทุ่มทำอะไรมันก็ทำไม่สุด เพราะมัวแต่คิดว่าเดี๋ยวแคมเปญนี้ก็จบแล้ว เหมือนเวลาเราคบคู่ชีวิตกับคบกิ๊ก วิธีการรักษาความสัมพันธ์มันก็ต่างกัน อีกเรื่องคือการคอลแล็บมันจะสำเร็จได้ ทั้งสองฝั่งต้องยืดหยุ่น ยอมปรับโน่น ยอมเปลี่ยนนี่ ยอมลองไปด้วยกัน แล้วไอเดียมันจะขยายออกไปได้กว้าง”
คอลัมน์ X Change ในครั้งนี้ เราจึงขอบุกหน้าร้านของ Qualy เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังการคอลแล็บแต่ละครั้งที่มีผลต่อการเติบโต
Qualy X ICHITAN
Willy Whale โปรเจกต์คอลแล็บครั้งแรก
ที่เหมือนแม่เหล็กดึงดูดโปรเจกต์ครั้งต่อๆ มา
“ตอนนั้นเราอยากทำโปรเจกต์ผลิตสินค้าจากขยะอยู่แล้ว แต่การจะไปคัดแยกขยะเพื่อมาทำงานต่อนั้นซับซ้อน พอดีกับที่เราทำงานกับบริษัท วี กรีน จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอาจารย์แต๋มหรือ รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง เป็นที่ปรึกษาของโรงงานอิชิตันอยู่แล้ว
“อาจารย์ก็เลยจับแมตช์กัน เพราะโจทย์ใหญ่ของอิชิตันคือบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นนำไปรีไซเคิลต่อไม่ได้ เขาก็ต้องหาที่จัดการขยะนั้น เราเลยเอาขวดพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ตรงนั้นมาทำงาน ได้ออกมาเป็น Willy Whale กล่องเก็บของอเนกประสงค์รูปวาฬ ที่ผลิตจากวัสดุ Recycled PET 100%
“คอนเซปต์ที่เราอยากสื่อสารคือปัญหาขยะทะเลมันก็มาจากการบริโภคของพวกเราที่ดันจัดการขยะไม่ดีจนขยะมันลงไปในแม่น้ำ ส่งต่อไปยังทะเล และกลายเป็นอาหารสัตว์ทะเล สินค้าแรกๆ เป็นวาฬเพราะวาฬเป็นสัตว์ที่ไม่ได้กินจุกจิกแต่เขากินอาหารเข้าไปเยอะในแต่ละครั้ง ทำให้มีวาฬที่เกยตื้นตายเพราะกินพลาสติกต่างๆ เข้าไป เราก็เอาเรื่องราวตรงนี้มาขยายเพื่อสื่อสาร ออกแบบให้ใช้งานง่าย บนแพ็กเกจก็พิมพ์ข้อมูลอธิบายเพิ่มเติมว่าโดยเฉลี่ยแล้ว วาฬกินพลาสติกเข้าไปวันละ 171 ชิ้น
“ถือเป็นโปรเจกต์แรกที่เราใช้ขยะเหลือทิ้งเต็มๆ นี่แหละเป็นจุดพลิกผันของ Qualy เพราะโปรเจกต์อื่นๆ ที่เข้ามาคอลแล็บก็เข้ามาเพราะเขาเห็นโปรเจกต์นี้ และทำให้เราได้สร้างการรับรู้ว่าต่อจากนี้ Qualy จะหันมาเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม
“เราเองก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ขยะในการผลิตสินค้าเหมือนกันว่าด้วยวัสดุที่มีไม่ใช่ของใหม่ดังนั้นชิ้นงานที่ออกมามันอาจไม่ได้เพอร์เฟกต์หรือเหมือนกันเป๊ะ แต่ครั้นจะให้เรารอเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วค่อยผลิตให้มันสมบูรณ์ก็ไม่รู้จะอีกนานแค่ไหน วิธีการแก้ของเราจึงคือการพลิกสิ่งที่อาจเป็นจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น และสื่อสารให้คนเห็นว่าความไม่สมบูรณ์แบบนั้นคือหลักฐานบ่งชี้ว่านี่แหละคือสิ่งของที่ได้จากการรีไซเคิล”
Qualy X EJF
Dominocean โปรเจกต์คอลแล็บที่พลิกวิธีการสื่อสารวัสดุ
“การรีไซเคิลขยะจากโรงงานคือเขาเก็บขยะรวมมาให้เราเรียบร้อยแล้ว วัสดุที่ได้มาก็เหมือนกันหมด แต่วัสดุจากมูลนิธิต่างๆ นั้นร้อยพ่อพันแม่มากๆ เราได้เรียนรู้การใช้คุณสมบัติของขยะทุกชนิดให้เป็นประโยชน์ เราได้เรียนรู้วิธีการหยิบเรื่องราวที่มีมาสื่อสารเพื่อเพิ่มความน่าสนใจได้
“อย่างเกม Dominocean ที่ผลิตจากซากแหอวนทะเลที่ได้จากโครงการทะเลปลอดเศษอวน โดยมูลนิธิ Environmental Justice Foundation Thailand เนี่ย ถ้าเรามองแหอวนเหล่านี้เป็นแค่วัสดุประเภทหนึ่ง หรือมองมันแค่ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ มันก็แข็งๆ ทื่อๆ เราจะทำยังไงให้คนสนใจ ก็ต้องใส่จิตวิญญาณเข้าไป
“เช่นแหอวนเหล่านี้เราได้จากการรณรงค์ให้ชาวประมงไปเก็บไม่ให้มันหลุดลอยไปในทะเล หมายความว่ามันจะต้องมีกระบวนการที่มูลนิธิต้องไปสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวประมงนะ มันไม่ใช่วัสดุที่ซื้อมา แต่มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับสังคม เชื่อมโยงกับชุมชน เราก็ต้องมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปรู้ด้วยว่าถ้าคุณสนับสนุนเรา คุณจะได้มีส่วนร่วมกับสิ่งนี้นะ
“เราออกแบบให้มีสัตว์ทะเลในแต่ละชิ้นเพื่อสื่อสาร 2 ทาง ทางหนึ่งคือการสื่อสารปัญหาการบริโภคของเราที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเล แล้วพวกเราจะช่วยกันได้ยังไง นั่นคือการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะช่วยให้โครงการนี้มันดำเนินต่อไปได้ ให้ชาวประมงมีเรี่ยวแรงในการทำ แล้วก็ได้เสริมคุณภาพชีวิตของเขาด้วย
“แล้วเศษวัสดุที่เก็บมานั้นมันเอาไปโยนเข้าเครื่องจักรเลยไม่ได้นะ เพราะมันเป็นขยะปนเปื้อน คนที่นำขยะเหล่านี้ไปพัฒนาต่อก็ต้องล้างทำความสะอาด ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับให้ขยะเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ผลิตได้ นี่คือทางที่ 2 ที่เราได้
“เราได้สื่อสารกระบวนการของ Qualy ไม่อย่างนั้นถ้าคนเลือกซื้อของด้วยราคาที่ต่างกัน โดยไม่เห็นกระบวนการเบื้องหลัง เขาย่อมเลือกของที่ถูกกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าเขารู้ว่าเงินที่จ่ายไปมันถึงใครบ้าง มันไปพัฒนาอะไรบ้าง เขาน่าจะตัดสินใจอีกแบบนึงนะ
“โปรเจกต์นี้ก็เป็นวิธีคิดอีกสเตปว่าวัสดุมันไม่ใช่แค่วัสดุ มันมีความตั้งใจ มีกระบวนการอยู่ในนั้น”
Qualy X Benjametha Ceramic
Losin โปรเจกต์ถ้วยฉลามวาฬที่เปิดให้ต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“Losin เป็นถ้วยชาที่ปั้นด้วยมือจากศิลปินพื้นบ้านที่เกาะโลซิน จ.ปัตตานี ที่นั่นยังมีฉลามวาฬอาศัยอยู่ แต่ก็อาจสูญพันธุ์ไปได้จากมนุษย์เรานี่แหละ ถ้วยใบนี้เหมือนการย่อส่วนทะเลมาไว้ในมือของเรา แล้วฉลามวาฬบนถ้วยก็เป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ
“เราร่วมกับ Benjametha Ceramic ที่เขาเป็นสายคราฟต์มาก Benjametha Ceramic รับหน้าที่ปั้นถ้วย ส่วน Qualy ผลิตตัวฉลามวาฬที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากซากแหอวนทะเลที่รวบรวมโดย Environmental Justice Foundation Thailand เหมือนกับ Dominocean
“โมลที่ใช้ผลิตฉลามวาฬนั้นราคาหลักหมื่นหลักแสน ถ้าเราผลิตแค่ 10 ตัวอาจจะยังไม่ได้ต้นทุนด้วยซ้ำ ดังนั้นมันก็ต้องทำหลายชิ้น พอล็อตแรกออกมามันหมดก็ต้องสั่งพรีออร์เดอร์ แล้วออร์เดอร์เข้ามาเยอะมากแต่ลูกค้าต้องรอไปก่อน เราก็ต้องรับมือกับความรู้สึกลูกค้า
“ปกติเขาทำงานแบบมาสเตอร์พีชเป็นหลัก 10 ชิ้น ทำ 10 อัน เสียสัก 2-3 อัน ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดาจากการเผา แต่พอทำ 100 อัน แล้วมันเสีย 30 ทำ 1,000 อันแล้วมันเสีย 300 มันคือมูลค่า มันปวดใจ นั่นแปลว่าพอสเกลมันใหญ่ขึ้น วิธีคิดมันก็จะเปลี่ยน จากต้องละเมียดทีละอัน เขาจะทำยังไงให้มันทันต่อความต้องการของลูกค้า
“เขาก็บอกมาว่าเขาต้องบริหารจัดการอะไรเยอะแยะเลย ยิ่งพอมันแมสขึ้น ลูกค้าอาจไม่เข้าใจในความคราฟต์ เขาก็ต้องพยายามสื่อสาร โปรเจกต์นี้เลยทำให้เราเข้าใจความต่างของอุตสาหกรรม เพราะปกติเวลาเราทำเองมันก็ตัดสินใจคล่อง ถ้าอยากได้อันนี้ พรุ่งนี้ทำเลย เจ๊งช่างมัน อะไรแบบบนี้ เราให้อำนาจพนักงานในการลองผิดลองถูก แต่พอเราไปทำกับคนอื่นมันไม่ใช่แบบนั้น เราจะบอกว่าคุณเจ๊งไม่เป็นไรมันไม่ได้
“มันเหมือนได้เรียนรู้กันและกัน ไม่ว่าเราจะคอลแล็บหรือทำงานกับใครคุณจะต้องเคารพในสิ่งที่เป็นตัวเขา เพราะมันมีเราอยู่ในนั้น แต่มันก็มีเขาด้วย”
Qualy X มูลนิธิกระจกเงา
‘พระสติ’ พระเครื่องจากพลาสติกที่แก่นดี สื่อสารโดนจนขายดีเกินคาด
“ถ้าเกินคาดคือเราคาดว่ามันไม่ขาย แต่มันดันขาย เช่น โปรเจกต์พระสติที่ทำร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ครั้งแรกสุดเราคอลแล็บร่วมกับเพื่อนรุ่นน้อง Dots Design Studio และ Harvbrand ในโปรเจกต์ผ้าป่า Design Week ช่วงงาน Bangkok Design Week 2022
“ตอนนั้นแต่ละทีมก็ช่วยกันทำมันขึ้นมา ทีมนึงรับดีไซน์บูท อีกทีมรับสื่อสาร ส่วน Qualy รับผลิตที่ต้องออกค่าโม ค่าผลิตต่างๆ โดยที่เราก็ไม่คิดจะเอากำไร เพราะเงินที่ได้จะนำไปสู่มูลนิธิต่างๆ หรือบางคนไม่เอาเงินมาเช่าพระ ก็เอาขยะมาแลกไปยังได้เลย
“พอจบงาน เรามีโอกาสได้ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา เราจึงให้มูลนิธิกระจกเงาเป็นตัวแทนจำหน่าย เรียกว่าเงินที่ได้ก็บริจาคเข้ามูลนิธิกระจกเงา ทั้งที่ตอนแรกเราคิดว่าต้องขาดทุนด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีรายได้แต่ก็กลายเป็นว่าทำให้มูลนิธิมีเงินนำไปต่อยอดช่วยเหลือคนชราที่หางานยาก และกิจการอื่นๆ ต่อไป
“จุดนี้ก็เป็นจุดเรียนรู้อีกอันที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องเอากำไรของเราเป็นตัวประกันว่าถ้าไม่กำไรฉันก็จะไม่มีเงินไปทำสิ่งดีๆ แต่เราสามารถออกแบบหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปช่วยคนโดยตรงได้เลย ไม่งั้นถ้าต้องรอแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากกำไรไปทำบุญ แล้วโปรเจกต์ดันไม่กำไร ชาตินี้ก็ไม่ต้องทำบุญกันแล้ว
“อีกเรื่องที่ได้เข้าใจจากโปรเจกต์นี้คือเรื่องการสื่อสาร เพราะพอการสื่อสารมันดี สื่อก็ให้ความสนใจมาก เราก็ได้สื่อสารเรื่องที่ต้องการสื่อสารออกไปได้กว้างขึ้น คือที่ผ่านมาเราเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกันหลายวิธี แต่ไม่เคยเล่าผ่านพระเครื่องซึ่งมันแปลกใหม่ นั่นคือเราเทียบการเวียนว่ายตายเกิดตามความเชื่อกับการเวียนว่ายตายเกิดของวัสดุ
“คนจำนวนมากมองพระพุทธเจ้าเป็นเทพ เวลาจะสร้างรูปเคารพก็ต้องสร้างจากวัสดุมีค่า แต่เราเอาขยะมาทำ มันก็ขัดแย้ง มันจึงเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้เราได้มีโอกาสสื่อสารว่าการที่ของสิ่งหนึ่งมันจะมีค่าหรือไม่ มันขึ้นกับคนจะมอง ของนั้นมันไม่มีคุณค่าจริงๆ หรือว่าคุณไม่เห็นกัน ขยะพลาสติกก็เช่นกัน คุณมองว่ามันไม่มีค่า เพราะว่าคุณไม่เห็นคุณค่าของเขาหรือเปล่า”
Qualy X SiEMS
ชุดสอน CPR คอลแล็บที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้
แต่เป็นไปแล้ว และเป็นไปได้ดี
“การคอลแล็บส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็ดูไม่น่าเป็นไปได้ทั้งนั้นนะ แต่ถ้าให้เลือกผมขอเลือกโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับ Siriraj Emergency Medicine (SiEMS) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช Mahidol University เพื่อทำหุ่นสอน CPR ออนไลน์ในช่วงโควิด-19
“ปกติหุ่นครึ่งตัวราคาแพงหลักหลายหมื่น การจะส่งหุ่นให้คนได้เรียนตามบ้านมันคงเป็นไปได้ยาก เราเลยทำโครงการออกแบบหุ่นชีวิน (Cheewin) เพื่อสอนการปั๊มหัวใจผ่านทางออนไลน์ ซึ่งหลังโควิด-19 เราก็พัฒนาให้ชุดการสอนนี้เราถูกลงเพื่อนำไปสอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตามบ้านตามโรงเรียนได้
“ตัวหุ่นชีวินนี้ เราลดทอนหุ่นให้เหลือเฉพาะชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ อย่างส่วนของหัวใจจำลอง ที่ปั๊มได้จริงในระยะและน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับหุ่นฝึกราคาแพง เราออกแบบให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายพกพาง่าย แล้วตัวกล่องก็ทำหน้าที่เป็นเครื่อง AED จำลองด้วย บนแผ่นฝึกก็มี QR code ที่สแกนดูคลิปการสอนจากผู้เชี่ยวชาญได้เลย
“ถือเป็นอีกงานคอลแล็บที่ Qualy ทำ แล้วเรารู้สึกว่ามันมีความหมาย”