Happy Meal

Spirulina Society ชุดเลี้ยงสาหร่ายที่อยากให้โลกดีขึ้นด้วย 3D print และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Spirulina Society พื้นที่สำหรับคนเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

Spirulina Society คือแบรนด์ชุดเลี้ยงสาหร่าย Spirulina หน้าตาน่ารักสำหรับทำฟาร์มจิ๋วที่บ้าน มาพร้อมเว็บไซต์อธิบายวิธีการเลี้ยงแบบ step-by-step และเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรเลี้ยงและกินสาหร่ายชนิดนี้

ทุกวันนี้ กระบวนการผลิตอาหารที่เรากินมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 26-37% ปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนออกมาทางตด และต้องใช้น้ำ ใช้พื้นที่มากมายในการเลี้ยง เรือประมงต่างก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากมาย ไม่นับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่ปล่อยของเสียจำนวนมหาศาล

นั่นเป็นเหตุผลที่หลายคนเริ่มมองหาอาหารทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิถีวีแกน การหันมาหาแมลง แหล่งโปรตีนที่ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ หรือ ‘สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน’ ที่พาเรามาเจอกับ Spirulina Society ในวันนี้

เราเลี้ยงและกินสาหร่ายไปเพื่ออะไร ผู้ก่อตั้ง Society นี้จะเล่าให้ฟัง

โปรตีนแห่งอนาคต

ถึงจะมีชื่อว่า ‘Society’ แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังมีเพียง เยล–อัญญา เมืองโคตร อดีตนักเรียนสถาปัตยกรรมผู้เริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการสังเกตเห็นขยะจากกระบวนการก่อสร้าง

“เราเริ่มจากตระหนักเรื่องพลาสติกก่อน จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่เราออกแบบมีที่มาจากไหน อย่างคอนกรีตเราก็เพิ่งมารู้ว่าเป็นของเสีย top 3 ของโลก จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย ไม่เหมือนพลาสติกที่เอาไปทิ้งแล้วจะปล่อยสารพิษสู่ธรรมชาติ แต่ปัญหาคือที่มาของมันที่ต้องทำเหมือง ต้องระเบิดภูเขา ดังนั้นระบบนิเวศรอบๆ จึงได้รับผลกระทบ แล้วมันก็ใช้พลังงานความร้อนสูงมากกว่าจะกลั่นออกมาได้ พอไปหาข้อมูลก็เริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างรอบตัวมันไม่โอเคเท่าไหร่”

เมื่อไปเรียนต่อด้านโปรดักต์ดีไซน์ที่ Royal College of Art ที่ประเทศอังกฤษ ประเด็นสิ่งแวดล้อมและวัสดุทางเลือกจึงเป็นโจทย์กว้างๆ ที่เยลตั้งให้ทีสิสของตัวเอง

“ตอนเรียนปีแรกเราศึกษาเรื่องวัสดุทางเลือก ทดลองเรื่องวัสดุชีวภาพ (biomaterials) ซึ่งดีตรงที่ย่อยสลายได้แต่ข้อจำกัดคือความแข็งแรงและไม่กันน้ำ ในปีสองเราเลยเริ่มศึกษาเรื่อง alternative food หรืออาหารทางเลือก เพราะอุตสาหกรรมอาหารก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องโลกร้อนเยอะ ทั้งเรื่องขยะอาหาร (food waste) และกระบวนการผลิตอาหาร

“โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวในฟาร์ม การเลี้ยงวัวต้องใช้น้ำเยอะมาก วัวปล่อยมีเทน แต่เราว่าปัญหาหลักๆ มันคือเรื่อง land use หรือการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเลี้ยงวัวในฟาร์ม ใช้ที่ดินไปปลูกถั่วเหลือง ธัญพืชไปเลี้ยงวัวแทนที่จะเอามาเลี้ยงคนโดยตรง เป็นความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้สูงสุด มันทำให้เราเริ่มเข้าใจโครงสร้างมากขึ้นว่าปริมาณน้ำและที่ดินที่ใช้ต้องน้อยนะ กระบวนการผลิตอาหารถึงจะยั่งยืนมากขึ้น

“มันก็เลยมีคนที่พยายามหาแหล่งโปรตีนทางเลือกแทนปศุสัตว์ เช่น มูฟเมนต์วีแกนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ หรือแมลงที่เป็นซูเปอร์ฟู้ดและใช้พื้นที่เลี้ยงน้อยมากเทียบกับโปรตีนที่ผลิตได้

“แล้วเราก็ไปเจอสาหร่าย Spirulina ขอเรียกว่าสปีรูลิน่านะ คนมักจะเรียกว่าสไปรูลิน่าแต่จริงๆ แล้วมันเรียกว่าสปีรูลิน่า เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

“คำถามที่เกิดขึ้นคือมันเฮลตี้แค่ไหน เราไปรีเสิร์ชก็พบว่าสปีรูลิน่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดตัวท็อป คือเป็นโปรตีนพืชที่มีกรดอะมิโนทุกชนิดที่ร่างกายผลิตไม่ได้และต้องการ แล้วยังมีธาตุสารอาหารอื่นๆ อีก พอไปรีเสิร์ชเพิ่มก็เห็นว่านาซ่าเอาขึ้นไปในอวกาศให้นักบินอวกาศกิน องค์กรยูเนสโก ยูเอ็น ก็ไปสอนคนแอฟริกาในโซนที่ขาดสารอาหารปลูก ข้อดีคือมันใช้น้ำและพื้นที่ปลูกน้อยมากเทียบกับโปรตีนที่ได้มาจากเนื้อ แล้วน้ำก็มีวัฏจักรของมัน เราสามารถรีไซเคิลได้”

หลังจากรีเสิร์ชจนตอบคำถามในใจ ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือทดลอง

ฟาร์มจิ๋วที่แต่งบ้านได้

“คำถามอีกข้อคือมันปลูกเองได้จริงเหรอ” เยลบอกระหว่างยกขวดโหลออกมาให้เราดู ด้านในบรรจุน้ำสีเขียวอมน้ำเงินเล่นแสงสวยงาม 

“เราสนใจเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่าคอนเซปต์ของ urbun farming ปลูกอาหารของตัวเองมันยั่งยืนมากๆ เราไปลองอ่านๆ วิธีปลูกมันก็ไม่ยากนะเลยลองสั่งหัวเชื้อมาลองดู เออ มันทำได้จริง แล้วถ้าเราที่ไม่มีประสบการณ์ทำได้ คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน”

โปรเจกต์ดีไซน์ชุดเลี้ยงสาหร่ายสปีรูลิน่าจึงเกิดขึ้นพร้อมความตั้งใจว่าอยากเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้คนเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น

ต้นปี 2020 ลอนดอนตกอยู่ใต้ภาวะล็อกดาวน์ สตูดิโอมหาวิทยาลัยปิดชั่วคราว เยลจึงทดลองทำฟาร์มสาหร่ายในบ้านโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วอย่างขวด โหล ส่วนอุปกรณ์เฉพาะทางอย่างฝาปิดที่มีรูระบายอากาศหรือโคมไฟด้านบน (จำเป็นมากสำหรับเมืองที่อึมครึมอย่างลอนดอน) เธอออกแบบขึ้นมาเอง

อุปกรณ์เหล่านั้นถูกหลักการเลี้ยงสาหร่ายทุกอย่าง แต่เยลออกแบบให้ดูเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่างอุปกรณ์กรองสาหร่ายที่หน้าตาเหมือนเป็นพี่น้องกับดริปเปอร์กาแฟ ส่วนสีสันก็สดใส เห็นแล้วอยากเอาไปวางไว้ตรงนั้นตรงนี้ในบ้าน

“สาหร่ายมันสามารถกินสดได้โดยต้องกรองน้ำออกให้เหลือแต่สาหร่าย ตอนแรกเราก็กังวลว่าคนจะยอมเสียเวลากับการมากรองทุกวันเพื่อกินมั้ย แต่เราก็คิดว่าทีกินกาแฟคนยังดริปได้ กับสาหร่ายก็คงเหมือนกัน (หัวเราะ) เราเลยคิดอุปกรณ์ให้ดูเป็น everyday life object อย่างตัวกรองสาหร่ายพอเราบอกว่าเหมือนเป็น coffee dripper ทุกคนที่เห็นก็เข้าใจเลย

“พวกฝาปิดขวดและโหลเราดีไซน์ให้มีสองไซส์ เราไปนั่งดูว่าคนส่วนใหญ่เขามีเหยือก มีขวดไซส์ไหนกันเพื่อให้อุปกรณ์เราใช้กับอะไรที่เขามีได้หมด ใช้กับขวดรีไซเคิลก็ได้ คิดให้มันโฮมมี่ที่สุด เพราะว่าเราไปรีเสิร์ชคนที่ปลูกสาหร่ายส่วนใหญ่เขาจะดูเหมือนทำเป็นแล็บ เป็นสิ่งของที่ดูไม่เข้ากับบ้าน แต่เราอยากทำให้มันดูเป็นของตกแต่ง อย่างเวลาเปิดโคมไฟแล้วแสงส่องลงไปในโหลคนก็บอกว่าน่ารัก เหมือน lava lamp”

อุปกรณ์ตามสั่ง

ชุดเลี้ยงสาหร่ายของ Spirulina Society ชุดแรกผลิตด้วยเครื่องปรินต์สามมิติในห้องนอนของเยลที่ลอนดอน และจนถึงทุกวันนี้สินค้าทุกชิ้นก็ยังผลิตด้วยวิธีการเดิม แค่ย้ายเครื่องปรินต์มาตั้งไว้ในห้องนั่งเล่นที่กรุงเทพฯ แทน

“ระบบการผลิตส่วนใหญ่ของโลกคือมีโรงงานใหญ่เป็นคนผลิต ข้อดีคือเครื่องจักรมันทำได้เร็วและเยอะมาก แต่เวลาเราสั่งนี้โรงงานต้องมีขั้นต่ำเพื่อให้คุ้มทุน พอผลิตตามจำนวนขั้นต่ำแล้วมันเหลือแบรนด์ก็ต้องเอาของมา sale คนก็จะไม่ซื้อของในซีซั่นปกติเพราะรู้ว่าแบรนด์จะลดราคาอยู่ดี กลายเป็นวัฏจักร เราไม่ชอบการผลิตแบบนั้นพอมาเจอ 3D print เราเลยชอบมากเพราะเรา made to order ใครสั่งแล้วเราค่อยกดปรินต์ แล้วมันก็ไม่มีขยะ ไม่มีของเหลือมา sale หรือต้องไปจบที่ landfill (การกำจัดขยะแบบฝังกลบ)

“เราพยายามจะตัด carbon footprint ที่เกิดจากการส่งโปรดักต์ให้เหลือน้อยที่สุด แล้ว 3D print มันเป็น distributed design คือการแบ่งปันดาต้า ไม่ใช่การผลิต ใครอยู่ที่ไหนก็ทำได้ สมมติคนฟินแลนด์อยากได้ชุดเลี้ยงสาหร่ายดีไซน์ของเราก็สามารถซื้อไฟล์ต้นแบบสามมิติจากเราไปผลิตได้เองโดยไม่ต้องส่งของผ่านเครื่องบินหรือเรือ

“ณ ตอนนี้เราเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีเครื่อง แต่ 50 ปีที่แล้วก็ยังไม่มีใครมีปรินเตอร์กระดาษที่บ้านแล้วทำไมอีก 10 ปีต่อจากนี้คนจะมีปรินเตอร์ 3D ที่บ้านไม่ได้หรือมันอาจจะมีสเปซที่รับผลิตสิ่งนี้เยอะขึ้น”

ความยั่งยืนอีกข้อที่ซ่อนอยู่ในชุดปลูกสาหร่ายคือวัสดุ PLA หรือพลาสติกจากพืช เช่น ข้าวโพดหรืออ้อยซึ่งแข็งแรงทนทานและกันน้ำ เยลบอกว่าแม้มันจะมีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกชนิดอื่นๆ คือย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติแต่ก็ทำจากพืชซึ่งปลูกเพิ่มได้เรื่อยๆ ต่างจากปิโตรเลียมที่ใช้แล้วหมดไป

“บางคนเขาจะเอา PLA มา greenwash บอกว่าเป็นวัสดุ biodegradable หรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จริงๆ ถ้าเอาไปฝังกลบตามธรรมชาติมันไม่หายไปนะ มันจะหายไปก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวะที่ถูกต้อง เช่น อุณหภูมิต้องสูง 60-80 องศาเซลเซียสและใช้จุลินทรีย์เฉพาะ ดังนั้นมันต้องมีโรงงานที่รีไซเคิล PLA โดยเฉพาะ ปัญหาของ PLA ในประเทศไทยคือยังไม่มีโรงงานที่จัดการขยะเหล่านี้ 

“แต่เรายังเห็นข้อดีของ PLA อยู่ เราก็เลยรู้สึกว่ากฎของเราคือเราทดลองอะไรกับมันแล้วเราจะไม่ทิ้ง เราจะไม่บอกว่า PLA มันช่างมหัศจรรย์! เราก็จะบอกว่า PLA มีข้อเสียคือย่อยสลายได้ในสภาวะที่จำกัดแต่เราเลือกใช้มันเพราะอะไร ส่วนข้อดีคือนอกจากเป็นวัสดุที่ renewable แล้วมันยังไม่ปล่อยก๊าซและสารพิษสู่ธรรมชาติอีกด้วย และในอนาคตเราอาจจะมีโมเดลธุรกิจว่าใครทำแตก ทำเสีย หรืออยากทิ้งเราจะรับกลับมาหลอมใหม่”

แบรนด์ที่ลูกค้าต้องลงทุนและลงแรง

ในเมื่อวัสดุที่ใช้ยังไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เยลก็เลยต้องออกแบบโปรเจกต์นี้ให้สร้างขยะน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ครั้งแรกที่เข้าเว็บไซต์ spirulinasociety.org คุณอาจจะใช้เวลาอยู่ในนั้นนานหลายสิบนาที เพราะเยลให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายสปีรูลิน่าไว้ทุกแง่มุม เริ่มตั้งแต่ประโยชน์ของมัน มีกระบวนการเพาะเลี้ยงอย่างละเอียดพร้อมรูปภาพและวิดีโอ แถมยังให้เคล็ดลับต่างๆ เช่น วิธีการสังเกตว่าสาหร่ายของเราตายหรือยัง หรือเมื่อไหร่ที่เราจะต้องเริ่มปลูกสาหร่ายล็อตใหม่กันนะ

ที่สำคัญที่สุดคือเธอย้ำอยู่เสมอว่าหากจะเลี้ยงสาหร่าย คุณจะต้องทุ่มเทประมาณหนึ่งเพื่อไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆ กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว

และเพื่อลดความเสี่ยงที่คนจะซื้อไปแล้วไม่ได้เลี้ยง เธอจึงยืนยันว่าทุกคนที่สนใจจะต้องผ่านเวิร์กช็อปของ Spirulina Society ไปก่อนถึงจะซื้ออุปกรณ์ไปเลี้ยงได้

“การปลูกสาหร่ายมันง่ายแต่เรารู้สึกว่าครั้งแรกมันมี learning curve ค่อนข้างสูง ก่อนปลูกเราจะต้องเข้าใจหลายๆ อย่างทั้งเรื่องแสง ตำแหน่งการตั้งโหล เรื่องภาชนะว่าควรมีขนาดเท่าไหร่ เว็บไซต์ของเราเลยพยายามเล่าให้ครอบคลุมทุกเรื่อง คนที่อ่านจะได้ทบทวนไปด้วยว่าเราโอเคที่จะทุ่มเท เรียนรู้มันไหม

“แต่เพราะเราไม่มั่นใจว่าทุกคนที่ซื้ออุปกรณ์จะไปนั่งอ่านเว็บไซต์ ถ้าซื้อไปแล้วทำไม่เป็นเราก็เสียดาย ก่อนซื้อเราเลยชวนให้มาเวิร์กช็อปกับเราก่อนจะได้ทำเป็น ตอนนี้ที่ไทยเรายังไม่ได้จัด แต่เคยจัดที่อังกฤษแล้วฟีดแบ็กดีมาก บางคนก็บอกว่าเขาเห็นตัวเองทำสิ่งนี้ได้ทุกวันเลย”

บทสนทนาแห่งความยั่งยืน

ถ้าจะทำอะไรให้อยู่รอดไปนานๆ สิ่งนั้นต้องใช้เงิน แต่แค่ชุดอุปกรณ์เลี้ยงสาหร่ายขายก็ niche เกินไปนิด เพื่อหล่อเลี้ยงโปรเจกต์ให้อยู่ได้เยลจึงเพิ่มสินค้าลิฟวิ่ง อย่างแจกันและที่วางโทรศัพท์มือถือเข้ามาด้วย โดยซ่อนคาแร็กเตอร์ความเป็นสาหร่ายไว้ในรูปทรง

มากกว่านั้น สินค้าใหม่ๆ เหล่านี้ยังมีฟังก์ชั่นเป็นตัวเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับสาหร่ายและความยั่งยืนในแบบที่ Spirulina Society เชื่อ

“เรากลับมาเมืองไทยปลายปี 2020 และสมัครไปออกบูทงาน Bangkok Design Week พอต้องทำนิทรรศการเราก็มาคิดว่าจะสร้างบทสนทนาเรื่องสาหร่ายยังไงที่ไม่ใช่ในเชิง academic ที่เคยทำ เราคิดว่าคนไทยน่าจะถูกดึงดูดด้วยของสวยๆ งามๆ ก็เลยทำแจกันที่อินสไปร์จากรูปทรงของสาหร่ายมาวางในมุมหนึ่ง ลองขายด้วย อีกมุมก็เอาชุดปลูกสาหร่ายไปโชว์ เวลาเขาเห็นแจกันแล้วสวย เดินเข้ามาดู เขาจะสงสัยว่าทำไมถึงชื่อ Spirulina Society ทำไมต้องสาหร่าย ทำไมต้องปลูกอาหารกินเอง สงสัยว่าวัสดุคืออะไร ทำไมต้องใช้ 3D print เราจะได้เริ่มคุยกันจากตรงนั้น

“จริงๆ แล้วมันมีคนที่ปลูกสาหร่ายเองมานานมากแต่มันไม่เมนสตรีม เราคิดว่าถ้ามันเมนสตรีมขึ้นมา ถึงบางคนจะไม่ได้ปลูกแต่คนก็ได้รู้อะไรมากขึ้น อย่างน้อยวันนี้ก็มีคนรู้จัก 3D print ของเรา หรือรู้จักคอนเซปต์ opensource คอนเซปต์การซื้อข้อมูลไปปรินต์ที่ไหนก็ได้ เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

“เราไม่ได้บอกว่าเราแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ในเมื่อปัญหามันมีอยู่เราคิดว่าถ้าเราสามารถมีส่วนร่วมแก้ได้ก็คงดี ก่อนหน้านี้เราเรียนสถาปัตยกรรม การมองอะไรในสเกลเล็กๆ เป็นจุดอ่อนของเรา แต่พอได้ทำโปรเจกต์นี้ เราได้รู้ว่าเราเริ่มจากอะไรที่สเกลเล็กๆ ก็ได้เพราะเราได้ลงมือทำ เราคอนโทรลมันได้ มันเข้าถึงคนได้ง่าย สเกลเล็กมันก็สร้างอิมแพกต์ได้เหมือนกัน”

ไม่แน่ อิมแพกต์อาจเริ่มจากอะไรเล็กๆ เพียงโหลแก้วหนึ่งโหลและหัวเชื้อสาหร่ายหนึ่งหยิบมือก็ได้ ใครจะรู้


ติดตามโปรเจกต์และเวิร์กช็อปของ Spirulina Society ได้ที่ เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ของโปรเจกต์

อ้างอิง

ncbi.nlm.nih.gov

nutrasciencelabs.com

ourworldindata.org/food-ghg-emissions 

unesco.org

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like