bluwood แบรนด์เครื่องหอมและของแต่งบ้านโดยศิลปินที่เชื่อว่าแบรนดิ้งคือแต้มต่อทางธุรกิจ

เรารู้จัก จูน–จิรภาส สระโร หรือ Junejirapart ในฐานะนักวาดภาพประกอบ และนักออกแบบผู้รีแบรนด์ให้กับ Coffee Bean by Dao ร้านอาหารและเบเกอรีที่อยู่กับคนไทยมานานหลายสิบปี ครั้งแรกที่เห็นผลงานการรีแบรนด์ของจูนในโปรเจกต์นี้ เราสัมผัสได้ว่าเขาคือศิลปินคนหนึ่งที่มีฝีแปรงและฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา

ไม่แปลกใจหากการรีแบรนดิ้งในครั้งนั้นจะทำให้เขาหันมาเปิดสตูดิโอรับออกแบบและทำแบรนดิ้งของตัวเองในนาม Cabret Moon ร่วมกับคนรักอย่าง เชอร์รี่–พลอยรุ้ง จารุรัชต์ และไม่นานจากนั้นก็เปิดร้านไลฟ์สไตล์ที่รวบรวมของแต่งบ้านแบบฉบับของทั้งคู่ในนาม Moon Store 

รู้อีกที Moon Store ก็ได้แปลงโฉมตัวเองครั้งใหญ่ในนาม bluwood และขยับสเกลให้เล็กลงเป็น แบรนด์เครื่องหอมกลิ่นเฉพาะและงานเซรามิกเป็นเอกลักษณ์ แม้หน้าร้านที่ซอยเอกมัย 15 จะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่การรีแบรนดิ้งของ bluwood นั้นชัดเจนขึ้นกว่าเก่า ที่สำคัญ จูนยังได้บทเรียนธุรกิจมากมายจากการทำแบรนด์แรกอย่าง Moon Store รวมถึงการรีแบรนดิ้งให้ลูกค้ามากหน้าหลายตาในฐานะ Cabret Moon 

เดินเข้ามาในเอกมัยซอย 15 สาวเท้าขึ้นไปยังชั้นสองของอาคาร เรานัดพบกับจูนในป่าลับ bluwood เพื่อสำรวจบทเรียนและความเชื่อในการทำธุรกิจของศิลปินคนนี้

บทเรียนที่ 0
การรีแบรนดิ้งให้หลากหลายธุรกิจ

จูนเรียนจบเซรามิกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านงานมามากมายหลายด้าน และค้นพบว่าท่ามกลางความสนใจที่หลากหลายนี้ เขากลับหลงรักการทำแบรนดิ้งมากที่สุด

“เราสังเกตว่าเวลาเราไปต่างประเทศ เราจะเห็นแบรนด์ต่างๆ มีแบรนดิ้งชัดเจนมากเลย มันทำให้ของดูน่าซื้อทุกอย่าง กลับมาที่แบรนด์ไทย เราสงสัยว่าทำไมแบรนด์ไทยทำแบบนั้นไม่ได้

“ลูกค้าหลายคนบอกว่าเขาไม่รู้จะรีแบรนด์ไปขายให้ใคร ไม่รู้ว่าการลงทุนกับแพ็กเกจจิ้งดีๆ มันจะมีผลยังไง เราเลยกลับมามองว่า อ๋อ เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกค้าคือใครนั่นเอง” จูนย้อนเล่าถึงจุดตั้งต้นที่ทำให้เขาลงลึกเรื่องการทำแบรนดิ้ง

“จากตรงนั้นทำให้ในทุกๆ การทำงานของเรามันต้องลงลึกถึงขนาดไปคุยกับมาร์เก็ตติ้งของแบรนด์ บางทีก็ให้เขาทำ SWOT มาให้ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาจะขายของชิ้นนี้ให้ใคร ขายยังไง ราคาเท่าไหร่ วางขายที่ไหน การออกแบบทั้งหมดมันจะได้บาลานซ์กัน” 

ที่ผ่านมา หนึ่งในการรีแบรนด์ที่ทำให้จูนเลื่องชื่อคือการรีแบรนด์ให้ Coffee Beans By Dao 

จากตอนแรกที่จูนได้รับโจทย์จาก Coffee Beans By Dao ให้ออกแบบแพ็กเกจจิ้งสินค้า จูนกลับบอกลูกค้าคนสำคัญว่าเขาคิดว่าแบรนด์ควรปรับมากกว่านั้น เพื่อให้แบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายปีดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นลูกค้าของแบรนด์ในอนาคต

“เราทำสไลด์วิเคราะห์แบรนด์ของเขา ตั้งแต่ภาพลักษณ์ โลโก้ แพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงเอา Coffee Beans By Dao ไปเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ จนเขาก็เห็นด้วยว่าควรรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่”

จากครั้งนั้น จูนจึงมีโอกาสเก็บพอร์ตชิ้นสำคัญ ตั้งแต่สร้างธีมใหม่ให้กับแบรนด์ว่า Garden by Dao โดยเพนต์ผนัง ออกแบบโลโก้ แพ็กเกจจิ้ง มู้ดโทน รวมไปถึงรูป รส กลิ่น เสียง ของแบรนด์ ฯลฯ หรือรวมๆ แล้วก็คือแบรนดิ้งนั่นเอง

ไม่นานนัก Cabret Moon สตูดิโอออกแบบที่เชี่ยวชาญทั้งการทำแบรนดิ้ง แพ็กเกจจิ้ง และการออกแบบตกแต่งก็เกิดขึ้น และถัดไปอีกเล็กน้อย Moon Store ​​ร้านไลฟ์สไตล์โฮมที่รวมของสารพัดอย่างจากความชอบและความสนใจของทั้งคู่ก็เปิดตัว

บทเรียนที่ 1 
ยิ่งทำแบรนด์ตัวเอง ยิ่งต้องรีเสิร์ช

แรกสุด Moon Store เปิดขึ้นมาภายใต้นิยามว่า Specialized custom & co. ที่รวมสารพัดของใช้ในบ้านสุดเก๋ ของขวัญสุดน่ารัก เครื่องหอม และไอศครีมเบสแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมือนใคร เรียกว่ารวมทุกอย่างที่จูนและเชอร์รี่หลงใหล

“แต่มันสะเปะสะปะจนลูกค้าบางคนเดินเข้ามาในร้านเราแล้วถามว่าสรุป Moon Store ขายอะไร เราก็ตอบไม่ได้ขนาดนั้นเพราะมันก็หลากหลายจริงๆ อีกสิ่งสำคัญคือตอนนั้นเราไม่ได้รีเสิร์ชมาให้ดีก่อน จึงตั้งชื่อร้านว่า Moon Store ล้อกับชื่อสตูดิโอว่า Cabret Moon แต่มันเป็นชื่อที่จดทะเบียนบริษัทไม่ได้” จูนย้อนเล่า 

“เวลาทำแบรนด์ให้ลูกค้า เราจะรีเสิร์ชเยอะมากแต่พอทำแบรนด์ของตัวเอง เราอาจจะคิดไปว่าเราเข้าใจตัวเองดี แต่มันไม่ใช่ เราเข้าใจว่าเราน่าจะทำแบรนดิ้งกันไหว แต่มันไม่ไหว พอกลับมารีเสิร์ชจริงจังถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากไปทางไหน

“เรากลับมานั่งทำสไลด์ของตัวเองเหมือนที่นั่งทำสไลด์เสนอลูกค้า กลับมาเอาแบรนด์ของตัวเองไปเทียบกับแบรนด์อื่นๆ จนเราเห็นว่าทาร์เก็ตของเราคือใคร หน้าตาเป็นยังไง แต่งตัวแบบไหน ซึ่งก็คือคนที่แต่งตัวไม่ทางการจัด แต่ก็ไม่ได้ลำลองขนาดนั้น บางวันอาจจะใส่สูท ใส่แจ็กเก็ต หรือใส่เสื้อสองเลเยอร์ รถที่ขับก็เป็นรถเก่าที่มีสไตล์ 

“การรีเสิร์ชยังทำให้เราเห็นว่าเราควรจะกลับมาโฟกัสเรื่องอะไร เราพบว่าในบรรดารูป รส กลิ่น เสียงที่เราทำให้ลูกค้า เราสนใจเรื่องกลิ่นมากที่สุดเพราะมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เป็นเรื่องของอารมณ์ร่วม ซึ่งสำคัญกับการสร้างแบรนด์แต่หลายแบรนด์มองข้ามเรื่องนี้ไป อย่างเวลาไปห้าง บางชั้นเราจะรู้สึกว่าเดินสบายและผ่อนคลาย เพราะเขาใส่กลิ่นบางกลิ่นลงไป กลับกัน ชั้นที่เขาต้องการความเร่งรีบ ก็จะตัดกลิ่นนั้นออกไป”

หลังเปิด Moon Store มาได้ปีกว่า ไอเดียการรีแบรนด์เป็นป่าใหญ่ bluwood ก็เริ่มเกิดขึ้น

บทเรียนที่ 2 
มู้ดและสตอรี่คือเสาหลักของแบรนด์

ถ้าผลักประตูเข้าไปในดินแดน bluwood เราจะรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในพื้นที่ลึกลับและมีเสน่ห์ เป็นพื้นที่ที่มีความอบอุ่นแปลกๆ จากเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่ก็มีความเย็นเข้ามาแทรกจากผนังอีกด้านของห้องที่เรียงรายไปด้วยเครื่องหอมหลากชนิด

“เราตั้งใจออกแบบให้ bluwood เป็นป่า” จูนเล่า “กว่าจะได้มู้ดนี้มาเรานั่งหามู้ดที่ใช่อยู่นานมาก เพราะจากการทำงานให้ลูกค้า เราพบว่ามู้ดมันสำคัญกับแบรนด์มาก เพราะมู้ดมันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง มันไม่ใช่แค่เรื่องของโทนสี แต่มันคือตัวตนของแบรนด์ในวันนี้และอนาคตต่อไป ถ้าเราหามู้ดที่ชัดเจนได้ตั้งแต่ต้น สินค้าที่ออกมาจะไม่หลุดธีมซึ่งมีผลต่อการจดจำของแบรนด์มาก” 

ในสไลด์ที่จูนทำเพื่อนำเสนอตัวเองนั้นมีมู้ดอยู่ 2 แบบที่จูนสนใจ มู้ดแรกมีความวินเทจหรูหรา แต่ไม่เนี้ยบมาก เรียกว่าถ้าจับกระเป๋า Louis Vuitton มาวางก็ไม่ขัด ส่วนมู้ดที่สองจะมีความขี้เล่นและร่วมสมัยกว่า ถ้าหยิบเอาไทโปกราฟีและเซรามิกที่จูนถนัดมาจัดวางก็ไม่เคอะเขิน 

“สุดท้ายแล้วเราเลือกมู้ดที่สองที่มันมีความขี้เล่นกว่า ตรงกับทาร์เก็ตที่เล่าไว้ และตรงกับเรื่องราวของแบรนด์ที่เราอยากสื่อด้วย ซึ่งนั่นก็คือเราคิดว่า bluwood คือป่าที่มีแสงสีฟ้าลอดผ่าน เป็นป่าที่ดูลึกลับ แต่ก็ไม่ได้หายากจนเกินไป มันดูเหมือนจะไม่มีคนนะแต่ถ้าดูดีๆ ในภาพแพ็กเกจจิ้งของเราจะมีเรือแล่นผ่าน รวมถึงมันจะมีความไม่เข้ากันบางอย่าง เช่นในภาพก็จะมีคนลืมกระเป๋าเดินทางไว้

“เป็นความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาสัมผัสได้ถึงความลึกลับอะไรบางอย่าง และโดยเฉพาะเวลาที่ลูกค้าเดินเข้ามาในร้านแบบงงๆ เราจะรู้สึกว่านี่แหละ ใช่”

ถ้าพินิจดูแพ็กเกจจิ้งและโลโก้ของ bluwood ดีๆ เราจะเห็นถึงความวินเทจบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้หลุดออกจากยุคสมัย ยังมีความเก๋และความเข้าถึงได้ที่ช่วยให้ภาพของลูกค้าที่ใช้ bluwood ดูมีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น ไทโปกราฟี และเฉดสี

บทเรียนที่ 3
หาความแตกต่างให้ธุรกิจที่มีผู้เล่นมากมาย

“เราคิดว่ากลิ่นของเราเป็นกลิ่นเฉพาะที่ค่อนข้าง nich อีกสิ่งสำคัญคือเราจะทำเซรามิกที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการแต่งบ้านและเรื่องกระจายกลิ่นออกมา” จูนบอกถึงความโดดเด่นของ bluwood ท่ามกลางร้านเครื่องหอมที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ  

กลิ่นเครื่องหอมของ bluwood นั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือกลิ่นพื้นฐานที่มีอยู่ในเทียนหอม แอลกอฮอล์ ถุงหอม และน้ำหอมกระจายกลิ่นอยู่แล้ว ซึ่งมีกลิ่น leather, woody และ smoke เป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ กลิ่น Havana Tobacco กลิ่น Norwegian Wood กลิ่น Moon River กลิ่น Kashmir Valley และกลิ่น Hidden Hills แต่ละกลิ่นที่ส่งออกมาจะมอบความรู้สึกสงบบางอย่าง  

“กลิ่นที่เราจะไม่ทำเลยคือกลิ่นที่มีความป๊อปอาร์ต แบบดมแล้วปี๊ดขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีกลิ่นสดชื่นไม่ได้ เพียงแต่กลิ่นที่สดชื่นเราอาจจะไม่ได้ใส่ความเป็นดอกไม้จ๋าเข้าไป แต่เลือกที่จะใส่กลิ่นลูกฟิก หรือผลไม้อะไรก็ตามที่มีความเป็นธรรมชาติ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็อย่างกลิ่น Hidden Hills ที่ถึงจะมีกลิ่นปลายๆ เป็นวานิลลา แต่มันก็จะไม่ได้รู้สึกหวานเลี่ยน” เขาอธิบาย

แบบที่สองคือจูนตั้งใจออกคอลเลกชั่นเครื่องหอมกลิ่นพิเศษคู่กับเซรามิกที่มีคุณสมบัติกระจายกลิ่นเพื่อให้ลูกค้าที่หลงรัก bluwood ได้ติดตามแบรนด์ และเพื่อให้เรื่องราวของแต่ละคอลเลกชั่นสื่อสารออกมาได้ครบถ้วน รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ในการทำงานให้คนที่ไม่ชอบทำอะไรจำเจแบบจูนยังสนุกอยู่ทุกเมื่อ

อย่างคอลเลกชั่นแรก จูนตั้งใจออกแบบเซรามิกเป็นโครงกระดูกสัตว์ กลิ่นที่ออกมาคู่กันมี 2 กลิ่นคือกลิ่นควันไฟและกลิ่นห้องวิทยาศาสตร์ที่สื่อสารถึงความเป็นโครงกระดูกได้ ซึ่งกลิ่นเหล่านี้จูนจะขายเป็นเซตคู่กับเซรามิกที่ออกแบบเท่านั้น

“ก่อนหน้านี้เราไปเดินร้านขายเฟอร์นิเจอร์แถวๆ นี้มาหมดแล้ว เราขอซื้อเฟอร์นิเจอร์แยกเป็นชิ้นๆ ร้านไม่ขาย ร้านบอกว่าเขาขายเป็นเซต เราเลยคิดว่าลูกค้าบางคนที่รักแบรนด์แล้ว เขาไม่ได้อยากมานั่งคิดว่าซื้อไปแล้วใช้กับอะไร ถ้าเราทำเป็นเซตให้เขา เขาก็จะเห็นภาพและอยากได้มันไป 

“เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่ถ้าเรามองมันเป็นชิ้นๆ ก็อาจจะไม่ได้น่าซื้อ แต่พอ IKEA ทำดิสเพลย์ขึ้นมา เอาอันนั้นมาวางกับอันนี้เพื่อสร้างภาพให้ลูกค้าเข้าใจ ลูกค้าก็จะซื้อในที่สุด” จูนอธิบาย

ความแตกต่างที่จูนตั้งใจนี้ยังรวมถึงเครื่องกระจายกลิ่นที่ทำจากเซรามิกรูปทรงต่างๆ ที่เขาจะวางขายในอนาคต เพื่อแก้ pain point ให้หลายคนที่ไม่ต้องการเครื่องกระจายกลิ่นสไตล์มินิมอลที่มีขายตามท้องตลาด แต่มองหาเครื่องกระจายกลิ่นที่เข้ากับบ้านและร้านค้าของตัวเอง 

นอกจากนั้น เขายังเตรียมออกก้านเซรามิกกระจายกลิ่น ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนที่ทุกแบรนด์ต้องหันมาใส่ใจ เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แม้จะเปลี่ยนกลิ่นน้ำหอมก็ตาม

บทเรียนที่ 4
ค่ากลางในธุรกิจที่ช่วยบาลานซ์ความชอบของตัวเอง
และความต้องการของลูกค้า

“ตอนทำแบรนดิ้งให้ลูกค้า เราจะพยายามหาค่ากลางของสิ่งต่างๆ” ตลอดการสนทนาระหว่างเรา จูนกล่าวคำว่า ‘ค่ากลาง’ อยู่หลายครั้ง

“ลูกค้าเขาเป็นนักธุรกิจ เขาจะมองแค่จะขายของยังไง ส่วนเราก็ต้องหาค่ากลางระหว่างศิลปะและธุรกิจให้ได้ รวมถึงมองว่าจะทำยังไงให้ผู้บริโภคมาเห็นของของเราแล้วเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายสักคำ” เมื่อทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จูนจึงพยายามมองหาค่ากลางนั้นให้ bluwood เช่นกัน 

“กลิ่นมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีหน้าที่เปลี่ยนบรรยากาศด้วย อย่างปกติคนอาจจะไม่ได้อยากดมกลิ่นห้องวิทยาศาสตร์ตลอดเวลาหรอก แต่เขาก็อาจจะอยากได้กลิ่นนี้ในโอกาสพิเศษ การที่เราทำให้สินค้ามีหลายฟังก์ชั่น คือจะสร้างบรรยากาศก็ได้ หรือเป็นของแต่งบ้านก็ได้มันจะเป็นค่ากลางที่ทำให้ลูกค้าเห็นความเป็นไปได้ในสินค้าของเรา

“หรืออย่างเซรามิกที่เราปั้นขึ้นมา ตัวเราเองชอบมาก แต่แฟนกลับมองว่าน่ากลัว มันก็กลับมาที่ค่ากลางอีกครั้งว่าถ้าเราพัฒนาออกมาเป็นสินค้า เราต้องทำให้มันมีค่ากลางที่ลูกค้าทุกคนในบ้านจะแฮปปี้กับเซรามิกของเรา” จูนสรุปถึงค่ากลางที่พยายามยึดถือ

ณ วันที่เรามาสนทนากับจูนในป่าใหญ่ bluwood จูนเพิ่งเริ่มสร้างป่าแห่งนี้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ทุกๆ รายละเอียดในป่าแห่งนี้ เรากลับพบว่าทุกอณูของป่าสีฟ้านั้นอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ในการทำงานของจูนและเชอร์รี

“ตอนนี้ bluwood จะกลับมายึดเครื่องหอมและเซรามิกแต่งบ้านเป็นหลัก แต่ความที่เรามีความสนใจหลากหลาย เราจึงบอกไม่ถูกเลยว่าวันหนึ่งแบรนด์จะไปจบที่ตรงไหน 

“ที่แน่ๆ เราคิดว่าการกลับมาในนาม bluwood ครั้งนี้ แบรนดิ้งของเราชัดเจนแล้วและเชื่อว่าในอนาคต เราจะต่อยอดไปได้” จูนทิ้งท้ายการทัวร์ป่าใหญ่ ท่ามกลางกลิ่นเครื่องหนังและควันไฟที่คละคลุ้ง

What I’ve Learned
1. “ตอนแรกที่เราเน้นของแต่งบ้าน สมมติจะขายเก้าอี้ มันก็ไม่ควรจะตั้งเก้าอี้เปล่าๆ ใช่ไหม มันควรจะมีโต๊ะ มีพร็อพอื่นๆ แต่เราลืมคิดไปว่าพื้นที่เราไม่ได้ใหญ่ เพราะอย่างนั้นเวลาเราคิดจะทำอะไร เราต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่เรามีด้วย”

2. “เวลาทำงานกับลูกค้า เราจะได้คุยกับฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของเขา แต่พอมาทำแบรนด์ตัวเองมันยากนะ เพราะเราต้องทำเองทุกขั้นตอน เราเลยได้เข้าใจว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เขาขยายธุรกิจได้เพราะเขามีระบบที่แข็งแรง ดังนั้น หลังจากสร้างแบรนดิ้งให้ดีแล้ว เราต้องศึกษาธุรกิจให้ละเอียดและหาทีมมาช่วยด้วย”

3. “ก่อนจะทำอะไร เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนและต้องวางแผนให้ดี อย่างร้านนี้เราเขียนฝันเอาไว้เลยว่าอยากมีพื้นที่เท่าไหร่ จะได้รู้ว่าใช้เงินเริ่มต้นแค่ไหน ถึงพื้นที่ที่ชอบจะมีพื้นที่ใหญ่กว่านี้ แต่ค่าเมนทาแนนซ์ต่อเดือนจะต้องเพิ่มขึ้น เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าจะไหวไหม”

เหตุผลที่ The Pizza Company ตัดสินใจรีแบรนด์ในรอบ 22 ปี แม้จะยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาดพิซซ่า

ปกติแล้วการรีแบรนด์มักจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้กับแบรนด์ที่ยังเป็นรองในตลาด แบรนด์ที่มีปัญหากับภาพลักษณ์หรือยอดขาย เพื่อทำการปรับเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ให้ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น 

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แบรนด์พิซซ่าอันดับหนึ่งที่ครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 60% ของตลาดพิซซ่าในไทยอย่าง The Pizza Company กลับออกมาประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนหมดทั้งดีไซน์หน้าร้าน ชุดพนักงาน หรือแม้กระทั่งภาพจำสำคัญของแบรนด์อย่าง ‘โลโก้’ 

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยเหมือนกัน 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ The Pizza Company ตัดสินใจรีแบรนด์ในครั้งนี้

อันที่จริงแล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา The Pizza Company มีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปทีละนิดละหน่อย อย่างช่วงแรกก็มีการปรับเฉดสีลดสัดส่วนสีแดงซึ่งเป็นสีของคู่แข่งแล้วเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแบรนด์มากขึ้น มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อยในโลโก้ที่เราอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น เป็นการเปลี่ยนแบบ minor change ปรับโฉมเพียงบางส่วนเท่านั้น

ส่วนครั้งนี้เป็นเหมือนการปรับแบบ major change ที่พลิกโฉมแบรนด์ครั้งใหญ่ ใช้สีที่แบรนด์เรียกว่า ‘กรีนไอคอนิก’ ซึ่งเป็นโทนอ่อนลงและสดใสมากขึ้นจากสีเขียวที่เคยใช้ในครั้งก่อน มาผสมกับโลโก้รูปสามเหลี่ยมที่ต้องการสื่อไปถึงตัวอักษร A และเป็นเหมือนชิ้นของพิซซ่า รวมถึงการปรับปรุงสาขาให้ดูมีความร่วมสมัยมากขึ้น

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไปของ The Pizza Company บอกถึงเหตุผลที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่า ตลอด 22 ปีที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์คือกลุ่มครอบครัว และในวันที่กลุ่มลูกค้าหลักเติบโตตามวัย แบรนด์จึงต้องค่อยๆ หาลูกค้าที่เป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงานมาเติมเต็มเพื่อให้แบรนด์ยังมีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาอยู่เสมอ

อีกมุมหนึ่ง ในวันที่ร้านพิซซ่าเล็กๆ ที่ดูมีความคราฟต์ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในกระเพาะอาหารของลูกค้าไปมากขึ้น The Pizza Company จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้

ซึ่งต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ The Pizza Company พยายามทำให้ตัวเอง ‘เด็กลง’ อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการเอาดาราวัยรุ่นมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์, ทำพิซซ่าไซส์ XXL, ทำพิซซ่าขนาดยาว 1 เมตร, แตกซับแบรนด์ไก่ทอดที่ชื่อว่า Chick A Boom และอีกหลายๆ เมนูเพื่อสร้างกระแสให้คนอยากกินและไปถ่ายรูปตาม

การปรับที่มากมายขนาดนี้ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นผู้นำต้องไม่หยุดนิ่ง แต่ยังรวมไปถึงการที่พิซซ่าที่เป็นแบรนด์เล็กๆ ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน จนสร้างผลกระทบให้กับ The Pizza Company ต้องหมั่นปรับตัวเองอยู่เสมอ

โดยผลจากกลยุทธ์การรีแบรนด์ใหญ่ในครั้งนี้จะทำให้เราได้เห็นร้าน The Pizza Company ที่มีความโมเดิร์นมากขึ้น ได้เห็นการไปจับมือทำ collaboration กับแบรนด์อื่นทั้งที่เป็นร้านอาหารด้วยกันเอง แบรนด์แฟชั่น หรือแบรนด์ไลฟ์สไตล์ เพื่อจะทำให้ The Pizza Company เข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนได้มากกว่าเดิม

และพวกเขาก็ตั้งใจว่าการรีแบรนด์ครั้งใหญ่นี้จะช่วยปรับภาพลักษณ์ให้แบรนด์ดูทันสมัยขึ้นจนทำให้มีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 20% 

เห็น The Pizza Company ลุกขึ้นมาขยับปรับตัวแบบนี้ ก็น่าติดตามว่าผู้เล่นรายอื่นๆ ในสนามพิซซ่าจะมีมูฟเมนต์ยังไงต่อไป 

เพราะเมื่อเจ้าตลาดขยับตัวก็ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไปยังแบรนด์อื่นที่อยู่ในสนามเดียวกันตามไปด้วย

Minus 9 degrees น้ำแข็งคราฟต์พรีเมียมที่บาร์ระดับท็อป โรงแรมห้าดาว และคาเฟ่ชื่อดังเลือกใช้

เมื่อมีโอกาสเยี่ยมเยียนบาร์ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือโรงแรมสักที่ สิ่งที่คนทั่วไปมักสังเกตเห็นอาจเป็นชื่อเมนูเครื่องดื่มของแต่ละสถานที่ ความจริงแล้วพระเอกก้อนเล็กอย่างน้ำแข็งนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ทำให้เครื่องดื่มมีรสชาติดี

Minus 9 Degrees เป็นน้ำแข็งที่อยู่ในแก้วเครื่องดื่มตามหลายสถานที่ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกัน เช่น tropic city บาร์ที่ติด 50 อันดับบาร์ดีที่สุดในโลกเป็นที่แรกในไทย, มหานิยม ค็อกเทลบาร์โดยบาร์เทนเดอร์ดีกรีระดับเวิลด์คลาส รวมถึงบาร์ของโรงแรมห้าดาวในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น Stella Bar ของ Capella, BKK Social Club ของ Four Seasons, The Bamboo Bar ของ Mandarin Oriental, The Loft ที่ Waldorf Astoria ฯลฯ    

และยังเป็นน้ำแข็งที่ร้านกาแฟและเบเกอรี่ชื่อดังอย่าง Roast และเถียงนาเลือกใช้ ไปโผล่ในค็อกเทลสูตรแฟนเก่าในภาพยนตร์ One For The Road ไปจนถึงแช่อยู่ในตู้เย็นที่บ้านของคนทั่วไปที่ใส่ใจเรื่องความใสสะอาดและละลายช้าในการเลือกใช้น้ำแข็ง

จากจุดเริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้วที่สังเกตเห็นน้ำแข็งคราฟต์ตามบาร์ค็อกเทลที่นิวยอร์กแล้วพบว่าในไทยยังไม่มีน้ำแข็งพรีเมียมแบบนี้ จึงตั้งใจผลิตน้ำแข็งคราฟต์ให้บาร์เทนเดอร์ไทยเอาไว้พรีเซนต์หน้าตาและรสชาติของค็อกเทลกับม็อกเทล

ศรัณย์ ฉัตรชัยยัญ Managing Director ของ Minus 9 Degrees ต่อยอดธุรกิจให้สามารถผลิตน้ำแข็งคุณภาพได้ในปริมาณมาก ขยายกลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้ง B2B และ B2C รวมถึงขยายช่องทางการขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มอีกมากมายและยังคงรักษาความตั้งใจที่จะส่งต่อจิตวิญญาณของวัฒนธรรมการดื่มอันสุนทรีที่ทำให้เริ่มธุรกิจตั้งแต่แรกไว้

From Crafted Ice to Mass Production 

ศรัณย์ย้อนเล่าที่มาที่ไปของธุรกิจว่าเกิดจากความหลงใหลในการดื่มค็อกเทลของพี่ชายเมื่อครั้งอยู่นิวยอร์ก สมัยที่วัฒนธรรมการดื่มในไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก  

“พี่ชายผมเป็นสายบาร์ฮอปปิ้ง ชอบเที่ยวตามร้านเครื่องดื่ม จนกระทั่งวันหนึ่งเขาสังเกตว่าน้ำแข็งที่ใช้เสิร์ฟตามบาร์แต่ละแก้วมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน แก้วนี้ใช้น้ำแข็งทรงสติ๊ก แก้วนั้นใช้น้ำแข็งทรงคิวบ์ อีกแก้วหนึ่งใช้น้ำแข็งทรงไอซ์บอล”

สิ่งที่ทำให้พี่ชายของศรัณย์เซอร์ไพรส์คือการคราฟต์น้ำแข็งด้วยมือทีละแก้ว จากน้ำแข็งก้อนเหลี่ยมค่อยๆใช้มีดเจียนจนเป็นวงกลมไอซ์บอล ซึ่งถึงแม้จะทำให้ได้เครื่องดื่มที่พร้อมเสิร์ฟช้าขึ้นแต่สร้างความประทับใจในความใส่ใจองค์ประกอบเล็กๆ ที่ส่งผลต่อเครื่องดื่มอย่างน้ำแข็ง

เมื่อพี่ชายของศรัณย์กลับไทย หลังจากกึ่งเที่ยวกึ่งสำรวจตลาดบาร์และลองพูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ เขาพบว่าในไทยยังไม่ค่อยมีคนใช้น้ำแข็งคราฟต์แต่เหล่าบาร์เทนเดอร์ต่างให้ความสนใจ แบรนด์น้ำแข็ง Minus 9 Degrees จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากคงจิตวิญญาณดั้งเดิมในการคราฟต์น้ำแข็งไว้และต่อยอดเป็นธุรกิจด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตที่สามารถทำน้ำแข็งคราฟต์ปริมาณมากได้ 

“หากเราทำน้ำแข็งอย่างจริงจังเป็นธุรกิจ ต้องทำให้พร้อมใช้ แค่ฉีกซอง เสิร์ฟ แล้วก็เทเครื่องดื่มที่เขาชงมา ก็เสิร์ฟได้เลย” ศรัณย์อธิบายแนวคิดในการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากการอยากสเกลงานคราฟต์ในศาสตร์การทำเครื่องดื่มให้เข้าถึงคนมากขึ้น 

Solve Pain Points with Ice 

ศรัณย์อธิบายว่าลูกค้าของน้ำแข็งพรีเมียมมี 2 กลุ่ม คือ ร้านอาหาร ผับ บาร์ คาเฟ่ ร้านกาแฟ ที่จัดเป็นกลุ่มลูกค้า B2B (business-to-business) อีกกลุ่มหนึ่งคือคนทั่วไปที่เป็น B2C (business-to consumer) ซึ่งสามารถซื้อน้ำแข็งโดยตรงผ่านช่องทางต่างๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ว่าจะเป็น Villa, Gourmet, Tops, Tops Daily, Family Mart และ 7-Eleven เฉพาะเขตปริมณฑล 

น้ำแข็ง Minus 9 Degrees มีคุณสมบัติหลัก 3 อย่างที่ช่วยแก้ pain point ของลูกค้าคือ ใสสะอาด ละลายช้า และสวย แถมยังคำนึงถึงแพ็กแกจที่ยั่งยืน

ข้อแรก แม้ความสะอาดจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสินค้า แต่ปัญหาของน้ำแข็งในไทยที่ศรัณย์สังเกตเห็นคือ “คนไทยมักรู้สึกว่าน้ำแข็งไม่สะอาด เรามักเห็นน้ำแข็งยูนิตที่บางทีละลายในตู้เย็นแล้วเกาะเป็นก้อน บางทีถุงก็ขาด” เขาจึงทำน้ำแข็งที่ใช้กระบวนการผลิตพิเศษแบบ reverse osmosis ที่เน้นกระบวนการผลิตด้วยน้ำสะอาดและจริงจังเรื่องความสะอาดในโรงงาน 

สอง เป็นน้ำแข็งที่ละลายช้ากว่าน้ำแข็งทั่วไป 5 เท่า ซึ่งศรัณย์อธิบายว่าน้ำแข็งของ Minus 9 degrees ไม่สามารถทำเองโดยตู้เย็นที่บ้านได้ “ปกติถ้าทำน้ำแข็งเอง เราจะเอาน้ำใส่ถาดแล้วเข้าช่องฟรีซประมาณ 3-4 ชั่วโมง พอน้ำแข็งตัวก็จะได้น้ำแข็งเป็นก้อนขุ่น ความขุ่นเกิดจากการแข็งตัวเร็วเกินไปเลยยังมีบับเบิลต่างๆ อยู่ในน้ำแข็ง สิ่งที่เราทำคือการใช้หลักสโลว์ฟรีซซิ่ง ทำให้น้ำเกิดการแข็งตัวช้าๆ เลยทำให้ได้น้ำแข็งเต็มก้อนที่ละลายช้า”

ความใส ละลายช้าและมีความหนาแน่นสูงกว่าน้ำแข็งทั่วไปช่วยแก้ปัญหาเวลาชงเครื่องดื่มแล้วน้ำแข็งละลายเร็วเกินไปทำให้เสียอรรถรสในการดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำเครื่องดื่มพิเศษอย่างค็อกเทล

“การทำค็อกเทลต้องผ่านขั้นตอนการ shake และ stir ที่ทำให้น้ำแข็งละลายเพื่อให้ส่วนผสมเครื่องดื่มเบลนด์และมิกซ์เข้าหากัน แต่ถ้าเป็นน้ำแข็งยูนิตธรรมดา พอ shake ไปแป๊บนึงจะทำให้น้ำแข็งละลายหมด กินแล้วจืด” 

ศรัณย์ยังเข้าใจธรรมชาติของลูกค้าส่วนใหญ่ว่า สำหรับคนทั่วไป เวลาซื้อน้ำแข็งมาแล้วมักกินไม่หมด เมื่อเอาไปแช่ช่องฟรีซแล้วน้ำแข็งติดกันเป็นก้อนทำให้ต้องทุบถุงจนขาด แพ็กเกจของแบรนด์จึงเป็นถุงลามิเนต 3 ชั้น ลักษณะเป็นถุงซิปล็อกที่มีความหนา สามารถต้านทานต่อการฉีกขาด การกระแทกและ ป้องกันการรั่วซึมเพราะหากน้ำแข็งกับตัวทำความเย็นสัมผัสกันอาจทำให้มีสิ่งปนเปื้อนเกาะน้ำแข็งได้

ความตั้งใจของศรัณย์อีกอย่างคือทำแพ็กเกจน้ำแข็งที่ลดการทำร้ายโลก “จริงๆ ถุงน้ำแข็งพวกนี้ที่เป็นพลาสติกไม่ดีกับโลกหรอก แต่พอเป็นถุงซิปล็อกที่มีความหนาและคุณภาพดี เราเอาไปใช้ถนอมอาหารอย่างอื่นได้ เวลาใช้น้ำแข็งเราหมดแล้ว ไม่ต้องทิ้ง เอามาใส่ของต่อได้”

Aesthetics in Drinking Culture 

คุณสมบัติข้อที่สามคือรูปลักษณ์สวยงามของน้ำแข็งที่ศรัณย์บอกว่าปัจจุบัน Minus 9 degree มีรูปทรงของน้ำแข็งให้เลือกหลายแบบเพราะบาร์เทนเดอร์แต่ละที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน สูตรค็อกเทลแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับน้ำแข็งต่างชนิดกัน รวมถึงเรื่องรูปทรงของแก้วก็ส่งผลต่อการเลือกทรงน้ำแข็งที่ทำให้พรีเซนต์เทชั่นในแต่ละแก้วมีสเน่ห์แตกต่างกันด้วย 

หากเป็นน้ำแข็งก้อนกลม (ice sphere) ที่มีผิวสัมผัสน้อยเมื่อเทียบกับปริมาตรของน้ำแข็งจะเหมาะกับเครื่องดื่มที่ต้องการความเนิบช้าในการละลายเป็นพิเศษและโดดเด่นที่การดึงรสชาติและกลิ่นเอกลักษณ์ของวิสกี้ออกมา   

ส่วนน้ำแข็งก้อนเหลี่ยม (ice cube) นอกจากใช้ทั่วไปแล้วยังเหมาะกับค็อกเทล old fashioned ที่ปรุงแต่งรสชาติน้อย ในขณะที่ shaker ice เป็นน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยมเหมือนกันแต่เป็นก้อนเล็ก เหตุผลที่เรียกว่า shaker ice เพราะบาร์เทนเดอร์จะเอาไปใส่ในเครื่อง shaker เพื่อเขย่าให้เครื่องดื่มมิกซ์เข้าด้วยกัน หากเป็นแก้วทรงสูงจะนิยมใช้กับน้ำแข็งทรงยาวแบบแท่ง (ice stick) ที่เหมาะกับค็อกเทล Tom Collins และ High Ball ที่มีส่วนผสมของโซดา

“น้ำแข็งทรงคิวบ์ ทรงกลม ทรงแท่งพวกนี้เป็นรูปทรงพื้นฐานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศ  ตอนนี้เรามีทรงพิเศษอย่างทรงเพชร (petite diamond) และทรงสามเหลี่ยม ล่าสุดเราทำเป็นทรงหัวใจสำหรับวาเลนไทน์ ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ผสมความรู้ที่สะสมมา เริ่มจากจินตนาการก่อนว่าทำแบบนี้น่าจะได้ไหม เอาไปใช้แล้วจะเป็นยังไง ทำออกมาเป็นตัวทดลอง trial ก่อนแล้วส่งไปทางให้พี่ๆ และเพื่อนๆ ดูว่าเป็นยังไง เขาก็จะมีคอมเมนต์กลับมาว่าขนาดใหญ่ไป เล็กไป หรืออื่นๆ แล้วเราก็ค่อยๆ พัฒนาต่อจากฟีดแบ็กตรงนั้น” 

สำหรับศรัณย์วัฒนธรรมการดื่มคือสุนทรียศาสต์ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของอาหารที่ใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวัน แตกต่างแค่เป็นศาสตร์ในฝั่งเครื่องดื่ม

“อาหารที่เรากินจากเชฟเป็นศาสตร์ของอาหาร ส่วนศาสตร์ของเครื่องดื่มก็มีพ่อครัวแม่ครัวที่คอยดูแลเหมือนกัน อย่างกาแฟก็มีส่วนผสมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นม เมล็ดกาแฟต่างๆ ค็อกเทลก็จะเป็นเหล้าหลายชนิดผสมกัน ม็อกเทลเป็นรสชาติเปรี้ยวหวานที่ต้องมีมะนาวหรือน้ำผลไม้ต่างๆ ผสมสามสี่ตัว เพื่อให้รสชาติกลมกล่อม ละมุน มีเทกซ์เจอร์และเฟลเวอร์”  

ศาสตร์ของเครื่องดื่มจึงเป็นการผสมผสานหลายส่วนผสมรวมทั้งน้ำแข็งออกมาเป็นเครื่องดื่มรสชาติดี

Business Iceperience

จากคำบอกเล่าของศรัณย์ความท้าทายของธุรกิจในช่วงนี้คือการผลิตให้ทันความต้องการของผู้บริโภคตามช่องทางการขายที่ขยายเพิ่มขึ้นมา เพราะการขยายกลุ่มลูกค้าเป็นคนทั่วไปทำให้ตลาดกว้างขึ้นมาก เช่น เมื่อเริ่มขายในบางสาขาของ 7-Eleven แล้วก็ต้องเตรียมเร่งการผลิตเพื่อเพิ่มช่องทางการขายตามสาขาอื่นๆ ต่อไป 

ระยะเวลาจากวันที่เริ่มต้นแบรนด์ราว 10 ปี Minus 9 Degrees เติบโตขึ้นในทุกด้านของธุรกิจตามกระแสความนิยมในการใส่ใจการใช้น้ำแข็งที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

“จากเมื่อก่อนเราขายแค่กลุ่ม B2B ตามโรงแรม ร้านอาหาร บาร์ ต่างๆ พอเป็น B2C รูปแบบเนื้องานก็เปลี่ยนไป มันก็ทำให้เราโตขึ้น ทำให้เราเข้าใจเนเจอร์ของลูกค้าที่แตกต่างกันมากขึ้น เราโตขึ้นทุกทางทั้งการร่วมงานกับช่องทางการขายต่างๆ ที่เราต้องไปดีลกับเขารวมทั้งในมุมการผลิตและการขยายโรงงานต่างๆ” 

ทั้งนี้ศรัณย์บอกว่าปัจจุบันแม้มีคนรู้จักน้ำแข็งพรีเมียมในระดับหนึ่งแล้วโดยมีกลุ่มลูกค้า early adopter เป็นบาร์เทนเดอร์ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจความแตกต่างของน้ำแข็งพรีเมียมกับน้ำแข็งธรรมดาทั่วไปเพราะหากมองน้ำแข็งแบบผ่านๆโดยไม่ใส่ใจรายละเอียดจะเห็นแค่น้ำแข็งคือสิ่งที่ให้ความเย็นเท่านั้น แม้ในกลุ่มผู้ประกอบการร้านกาแฟก็อยู่ในระยะเริ่มต้นในการใส่ใจรายละเอียดอย่างน้ำแข็ง

สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบางทีหากได้เมล็ดกาแฟที่คาแร็กเตอร์ชัด กลิ่นหอม และรสชาติดีแต่มาเจอน้ำแข็งทั่วไปที่ละลายเร็วจะทำให้กาแฟดีๆ จืดและเสียรสชาติได้ 

“ผมอยากผลักดันวัฒนธรรมการดื่มให้ไปไกลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เหมือนต่างประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้างในศาสตร์นี้ ไม่อยากให้มองมุมเดียวว่าการกินค็อกเทลคือกินเหล้าที่ผิดศีล ไม่ดี ดื่มเพื่อเมาเท่านั้น ที่จริงมันเป็นศาสตร์หนึ่งในการรับรสชาติ”

และน้ำแข็งก็เป็นบทบาทหนึ่งที่ศรัณย์มองว่าจะช่วยผลักดันวัฒนธรรมการดื่มให้ไปไกลขึ้นได้ 

ขอบคุณสถานที่ : Stella Bar at Capella Bangkok

หลัก 4(+1)P ของ Karun Thai Tea แบรนด์ชาไทยที่เกิดมาเพื่อแก้ pain point ของคนรักชาไทย

ในเวลาที่เหนื่อยล้า เราต่างมี ‘ที่ชาร์จแบตฯ ประจำตัว’ ให้กลับไปหาเพื่อชาร์จพลังอีกครั้ง

ของบางคนอาจเป็นหนังสักเรื่องที่ดูซ้ำๆ ได้ไม่รู้เบื่อ บางคนอาจเป็นการตะโกนร้องคาราโอเกะกับเพื่อนแบบไม่สนคีย์ และบางคนก็อาจเป็นช่วงเวลาเงียบๆ ในสวนกับหนังสือสักเล่ม

หนึ่งในที่ชาร์จแบตฯ ประจำตัวเราที่กลับไปหาบ่อยในช่วงนี้ คือชาเย็นๆ สักแก้วที่ดื่มแล้วชื่นใจ

ไม่ใช่แค่แก้วไหนของร้านไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นชาของ Karun Thai Tea

นอกจากรสชาตินุ่มนวลและเข้มข้นในแก้วเดียวกันที่ทำให้เรา (และลูกค้าหลายคน) ติดใจ ชาไทยของ Karun Thai Tea ยังโดดเด่นด้วยแพ็กเกจจิ้งสวยสะดุดตา เหมาะแก่การถ่ายรูปอัพลงโซเชียลเป็น cup of the day แบบสุดๆ 

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือแนวคิดของ รัส–ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ หญิงสาวผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่อยากทลายกรอบของชาไทยแบบเดิมๆ ด้วยการออกโปรดักต์ที่เราไม่เคยเห็นที่ไหน อย่างเทียนหอมและบาธบอมบ์กลิ่นชาไทย ซึ่งใครได้ยินครั้งแรกก็ต้องขมวดคิ้ว แต่พอลองใช้แล้วเวิร์กเฉย

บ่ายวันนี้ที่ Karun Thai Tea สาขาเอ็มควอเทียร์ เราจึงนัดจิบชาไทยกับรัสพลางสนทนาถึงหลัก 4P(+1) ที่เธอใช้สร้างแบรนด์ที่เริ่มต้นด้วยการอยากแก้ pain point ของคนรักชาไทย ไปสู่การอยากผลักเพดานชาไทยไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่รู้จบ

PRODUCT
ชาไทยบ้านการัน

เพราะไม่เห็นคำว่า ‘การัน’ ในชื่อหรือนามสกุลของผู้เป็นเจ้าของ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าชื่อแบรนด์นี้ได้แต่ใดมา

รัสหัวเราะ ก่อนจะตอบว่า Karun มาจากชื่อบ้านประจำตระกูลของเธอที่คนในครอบครัวตั้งไว้ว่า ‘บ้านการัน’

และสูตรชาซิกเนเจอร์ก็มาจากสูตรชาโฮมเมดของคุณแม่ผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นนั่นเอง

“คุณแม่ชอบดื่มชา แต่หาเท่าไหร่ก็หาที่ถูกใจไม่ได้เลยทำเองแล้วกัน เวลาใครมาที่บ้านก็จะเสิร์ฟเป็น welcome drink ให้” หญิงสาวเจ้าของแบรนด์ย้อนความให้เราฟัง แล้วเล่าต่อว่า กว่าจะได้เป็นชาสูตรเฉพาะของบ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ที่บ้านเราทำธุรกิจเกี่ยวกับเหล็ก มีโรงงานเศษเหล็กอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วไทย คุณแม่ก็จะมอบหมายให้ผู้จัดการของแต่ละโรงงานไปหาใบชามาให้หน่อย มีการลองหลายสูตร ทั้งแบบใช้ชา 5 ตัวหรือ 7 ตัวก็มี สุดท้ายก็ลงตัวที่ชาอัสสัมและชาซีลอนจากภาคเหนือกับภาคใต้ รวมทั้งหมด 3 ตัวที่รู้สึกว่าให้รสชาติที่กลมกล่อม ลงตัวที่สุด”

หลังจากทำเสิร์ฟคนในบ้านและแขกมากว่า 20 ปี คุณแม่ของรัสก็ตัดสินใจเปิดแบรนด์ชาไทยของตัวเอง แต่ด้วยธุรกิจที่รัดตัวจนเกินทำไหว ภารกิจของการปั้นแบรนด์ใหม่จึงตกมาอยู่ในมือของลูกสาว ผู้จบด้านเศรษฐศาสตร์ / เคยทำงานอยู่ในแวดวงการซื้อขายกองทุนของบริษัท Standard Chartered ที่อเมริกา / ก่อนจะผันตัวมาเป็น CEO ของเทคสตาร์ทอัพในไทย / และมีความรู้เรื่องชาเป็นศูนย์

รัสจึงใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในการศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร (food science) ควบคู่ไปกับศึกษาตลาดของร้านชาในเมืองไทย 

“เราพบเทรนด์อย่างหนึ่งของคนกินชาไทยว่าชาไทยมีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ร้านกาแฟไปจนถึงร้านขายเครื่องดื่มรถเข็นหน้าตึกออฟฟิศ ชาไทยเป็นคอมฟอร์ตเมนู แต่เมนูที่เป็นเหมือนเครื่องประดับ เช่น ร้านกาแฟมีชาไทยเพราะมันต้องมี เพราะสมมติลูกค้ามาเป็นคู่รัก คุณผู้ชายจะทานกาแฟแต่คุณผู้หญิงไม่ทาน ร้านจึงต้องมีเมนูชาไทยเป็น ‘เมนูดัก’ เพื่อให้เกิดยอดขาย”

ถึงอย่างนั้น เมื่อได้ลองเอ่ยปากถามผู้บริโภคที่กินชาไทยเป็นชีวิตจิตใจ รัสพบ pain point ข้อใหญ่ที่คนรักชาแทบทุกคนพูดเหมือนกัน “เขาอยากได้ที่สำหรับคนที่ชอบกินชาไทยจริงๆ เพราะเขาไม่ได้แฮปปี้ที่ไปร้านกาแฟแล้วต้องสุ่มเอาว่าชาไทยร้านนี้จะอร่อยไหม นี่คือ pain ที่ใหญ่พอสมควร และมันยังไม่มีคนแก้”

ผลสำรวจด้านการตลาดอีกข้อที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเมื่อไปถามผู้บริโภคที่ชอบดื่มชานมไข่มุกไต้หวันซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูยอดฮิตในบ้านเรา หญิงสาวพบว่าในกลุ่มคนที่ชอบกินชานมไข่มุกกว่า 80% ชอบชาไทย และเมื่อถามว่าชาไทยกินแทนชานมไข่มุกได้ไหม ส่วนใหญ่ก็พยักหน้าเห็นด้วย

สูตรแน่น วัตถุดิบครบ ตลาดพร้อมขนาดนี้ ที่เหลือรัสก็แค่ต้องลงมือชงชาแก้วแรกเท่านั้น

ชาไทยเพื่อคนรักชาไทย

เพราะอยากให้คนทั่วไปจำได้ว่าขายชาไทย Karun Thai Tea จึงปล่อยเมนู ‘ชาไทยซิกเนเจอร์’ ออกมาขายแค่เมนูเดียวในช่วงแรกเริ่ม 

ถึงอย่างนั้น รัสก็ยืนยันกับเราว่าหลักสำคัญในการทำธุรกิจของการันคือ ‘Endless Possibilities of Thai Tea’

ความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดที่เธอบอก ไล่ตั้งแต่สินค้าตัวหลักคือ ‘ชา’ ที่แบ่งเป็นชานมและชาดำ ตัวชานมลูกค้าสามารถเลือกความหวานได้หลายระดับ แถมยังมีกิมมิกสนุกๆ อย่างการนำใบชามาเบลนด์กับกลิ่นอื่น เช่น วนิลา โกโก้ ดอกจำปา จนถึงดอกหอมหมื่นลี้ เพื่อเพิ่มมิติให้ประสบการณ์ดื่มของลูกค้าไม่จำเจ

ส่วนตัวชาดำ นอกจากจะเลือกระดับความหวานได้เหมือนกัน ทีเด็ดของชาดำการันคือการแนะนำตัวกับลูกค้ากันเป็นแก๊ง นั่นคือ ‘แก๊งชาดำผลไม้’ ที่มีทั้งจินเจอร์เลม่อน, ส้มยูสุ, แบล็กทีแอปเปิล และอีกสารพัด

“หลักคิดในการเพิ่มโปรดักต์ของเราคือ customer-centric เราฟังฟีดแบ็กของลูกค้าแล้วนำมาพัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่ พนักงานหน้าร้านของเขาเราจะรับคำแนะนำจากลูกค้าเสมอว่าลูกค้าอยากได้เมนูอะไร แล้วเราจะเอาคอมเมนต์พวกนั้นมารวมกันเยอะๆ ว่าเราควรทำอะไรออกมาขาย”  

มากกว่านั้น Karun Thai Tea ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่รัสแตกไลน์ออกมาเพื่อสร้างความหลากหลาย ทั้งชาปั่น ไอศครีมเจลาโต้ ขนมอบ ไปจนถึงของใช้ที่เราคิดไม่ถึงอย่างเทียนหอมและบาธบอมบ์กลิ่นชาไทย ซึ่งล้วนสะท้อนถึงคอนเซปต์ความไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างที่เธอตั้งใจจริงๆ

PRICE & PLACE
ชาไทยที่อยู่ถูกที่ ขายถูกกลุ่ม 

อย่างที่เล่าไปว่าวัตถุดิบของ Karun Thai Tea เดินทางมาจากไร่ชา 3 แห่งในภาคเหนือจรดภาคใต้ แต่ละแหล่งก็มีเวลาปลูกและเก็บเกี่ยวต่างกันเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด นั่นส่งผลให้ต้นทุนของ Karun Thai Tea พุ่งสูงกว่าร้านชาทั่วไป

จึงไม่แปลกเลยที่ราคาชาไทยของการันจะเริ่มต้นที่แก้วละ 75 บาท 

“การตั้งราคาของเรา lead มาด้วยต้นทุนตั้งแต่แรก มันยังส่งผลให้เราต้องจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่ม niche ซึ่งช่วงแรกเริ่มเรามองว่าเขาเป็นกลุ่มคนทำงานในเมือง ชอบช้อปปิ้ง ชอบถ่ายรูป และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก๊งเพื่อนๆ โจทย์นี้นำไปสู่การคิดไอเดียว่าแบรนดิ้งของเราควรเป็นยังไง หน้าตาเป็นแบบไหน ต้องดูหรูหราแต่ยังดูเข้าถึงได้อยู่ ถัดจากนั้น มันก็ lead ไปสู่เรื่องของโลเคชั่น”

ในช่วงแรก Karun Thai Tea ขายทางออนไลน์ แต่จำนวนฟอลโลวเวอร์และยอดขายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้รัสคิดถึงการเปิดหน้าร้าน ภายใต้โจทย์ว่ามันควรเป็น ‘สถานที่ที่น่าจดจำ’ และ ‘ลูกค้าจ่ายได้’

“เราเลือกไปเปิดบูทที่เอ็มควอเทียร์ก่อน 20 วัน ปรากฏว่าลูกค้าต่อคิวเต็มทุกวัน ลูกค้าหลายคนชมว่าอร่อย ถ่ายรูปสวย พนักงานน่ารัก และเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคา เหมือนเขามองข้ามเรื่องนี้ไปเลย เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าถ้าเราทำโปรดักต์ดี เลือกลูกค้าถูกกลุ่ม และเริ่มต้นถูกที่ ลูกค้าก็จะเป็นคนบอกต่อปากต่อปากให้เราเอง”

หลังจากได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากการเปิดบูทขาย รัสก็ตัดสินใจเปิดสาขาแรกของ Karun Thai Tea ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ก่อนจะขยับขยายเป็น 7 สาขาภายในเวลาเพียง 4 ปี (ตอนที่บทความนี้เผยแพร่เหลือ 6 สาขาเพราะสาขา ICONSIAM ปิดตัวลงเพราะหมดสัญญา)

เจ้าของแบรนด์ชาไทยพรีเมียมเล่าว่าหลักในการเลือกที่ตั้งของแต่ละสาขาไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่ขายในห้างเท่านั้น บางสาขาอย่างสาขา Empire Tower ยังเปิดในตึกสำนักงานเพื่อทำเสิร์ฟชาวพนักงานออฟฟิศ ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยในการเลือกก็ให้ความสำคัญกับลูกค้าที่สุด

“แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน บางที่เราเปิดร้านเล็กๆ บางที่ก็เปิดร้านใหญ่ เนื่องจากเราดูจากกลุ่มลูกค้าเป็นหลักว่าเขาน่าจะตอบรับเราได้แค่ไหน เขาจะอยากนั่งทำงานไหม เราคาดหวังยอดขายได้เท่าไหร่ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่นที่ตรงนี้สะดวกกับการเดลิเวอรีไหม มีที่อยู่อาศัยอยู่รอบๆ เยอะแค่ไหน ก็จะดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน” หญิงสาวเผย

PROMOTION
ชาไทยที่ถือแล้วรู้เลยว่ากินแบรนด์ไหน

เมื่อราคาสูงกว่าท้องตลาด หญิงสาวเจ้าของร้านจึงต้องคิดหนักว่าจะทำยังไงให้ชาไทยของเธอดูสมราคา 

“ในช่วงแรกเราทำการตลาดค่อนข้างยาก เพราะพอขึ้นชื่อว่าเป็นชาไทยที่ดูใกล้ตัว หลายคนก็ไม่ค่อยให้คุณค่าหรือยอมจ่ายเท่าไหร่ อย่างถ้าเทียบชาไต้หวันกับชาไทย ชาไต้หวันขายแก้วละ 150 บาทคนยังซื้อ แต่ชาไทยขาย 80 บาทหลายคนอาจจะมองว่าแพงมากเลย เราเข้าใจเรื่องนั้นเป็นอย่างดี คิดไว้แล้วว่าอาจจะมีฟีดแบ็กอย่างนี้กลับมาแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะพรีเซนต์ยังไงให้คนรู้สึกว่าสินค้าของเราคุ้มค่ากับสิ่งที่เขาต้องจ่าย

นั่นคือที่มาของแพ็กเกจจิ้งสุดพรีเมียม ไม่ว่าจะเป็นขวดชาที่เป็นขวดแก้วใส แก้วเสิร์ฟในร้านที่ทำจากกระดาษแฮนด์คราฟต์จับสบายมือ ใช้โทนสีขาวเรียบง่ายสไตล์มินิมอล หรือแม้กระทั่งกล่องกระดาษที่ออกแบบมาให้ดูเหมือนห่อของขวัญ ทุกอย่างล้วน instagramable แถมถือไปที่ไหนคนก็รู้ว่าเป็นชาไทยแบรนด์ Karun Thai Tea

ประกอบกับการสื่อสารเรื่องส่วนผสมของใบชา 3 ตัวที่ต้นทุนสูงจนลูกค้าเข้าใจ ทั้งหมดทำให้ให้พวกเขายอมควักเงินจ่ายโดยไม่เสียดาย

“หลักการตลาดที่เรายึดไว้ในใจตั้งแต่ day 1 คือการทำ identity ของตัวเองให้ชัดเจนและแข็งแรงมากๆ ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจลูกค้าและพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามพวกเขาแต่ไม่ใช่เปลี่ยนจนแบรนด์เสียอัตลักษณ์ อย่าง Karun เองจะคงคอนเซปต์เรื่องชาไทย ความพรีเมียมของสินค้า และแพ็กเกจจิ้ง ให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ครบทุกด้าน ทั้งการดูด้วยตาแล้วสวย ได้กลิ่นหอมของชา รสชาติอร่อย แถมยังอวดคนอื่นได้ เรื่องพวกนี้ต้องครบ”

PAINKILLER
ชาไทยที่อยากแก้ pain point ของคนรักชาไทย

P สุดท้ายของ Karun Thai Tea คือคำว่า Painkiller

“เพราะเรา kill pain point ของคนรักชาไทย ไม่ว่าธุรกิจหรือโปรดักต์จะเป็นอะไร เราเชื่อว่าการเป็น painkiller สำคัญมากๆ เพราะมันจำเป็นกับลูกค้าไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง แล้วก็ไม่สำคัญว่าลูกค้าจะกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ด้วย เราต้องเป็น painkiller ให้เขาเสมอ

“เราเชื่อว่าถ้าธุรกิจถูกสร้างมาเพื่อฆ่า pain point ของลูกค้า มันจะยั่งยืน สมมติว่าอยู่ดีๆ เราคิดได้ว่าฉันอยากทำธุรกิจนี้แต่เราไม่เคยสำรวจเลยว่ามีคนรองรับโปรดักต์เราไหม หรือมี pain point ไหม สุดท้ายจะไม่มีคนที่ตอบรับธุรกิจของเรา แต่ถ้าเรารู้ pain point และ pain point นั้นใหญ่มากพอ ธุรกิจของเราก็จะดำรงอยู่ได้อย่างสมดุล โดยที่เราไม่ต้องอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อทำมาร์เกตติ้งเลย

“อย่าง Karun Thai Tea เอง เราตั้งใจทำธุรกิจเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับคนรักชาไทย มาที่นี่จะได้พบกับชาไทยหลายแบบ อยากสร้างแบรนด์สักแบรนด์หนึ่งที่พอคนนึกถึงชาไทยก็นึกถึงเรา เป็นแบรนด์ที่แก้ไข pain point สำหรับคนที่ชอบกินชาไทยจริงๆ”

ทำไม GDP เวียดนามจึงโตกว่าไทยมากกว่าเท่าตัว ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรเราบ้าง

แม้โควิดจะซาลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะกลับมาเหมือนก่อนมีโควิดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าหากมองในแง่ของตัวเลขแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมของทั่วโลกก็ยังคงชะงักเมื่อเจอกับภาวะเงินเฟ้อหนักจนทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจทั่วโลกที่เติบโตช้าสะท้อนได้จาก GDP ของแต่ละประเทศ อย่างประเทศไทยบ้านเราเองจากเดิมที่คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 3.0% แต่ผลสุดท้ายก็เติบโตอยู่ที่ 2.6% ส่วนสหรัฐอเมริกาเติบโต 2.1% ขณะที่จีนซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวกระโดดมาโดยตลอดก็เติบโต 3.0% เท่านั้น

แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนนัก กลับมีประเทศหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนสามารถสร้าง GDP ได้ถึง 8% เลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็คือประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ‘เวียดนาม’ นั่นเอง

GDP ของเวียดนามที่เติบโต 8% นี้มาจากภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่ขยายตัว 7.78% ขณะที่ภาคบริการขยายตัว 9.99% และภาคเกษตรกรรมเติบโต 3.36% ส่วนที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.6%

ด้วยการเติบโตระดับนี้ทำให้จากเดิมที่เวียดนามเคยติดอันดับหนึ่งในประเทศที่จนที่สุดในเอเชียในช่วงปี 2553 และมีอัตราคนยากจนสูงมากกว่า 70% แต่ปัจจุบันอัตราคนยากจนก็ลดลงเหลือน้อยกว่า 5% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ GDP ต่อประชากรก็อยู่ที่ 96,870 บาท เพิ่มมากกว่า 400 เท่า ภายในเวลา 40 ปี

ว่าแต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามก้าวมาไกลขนาดนี้

ข้อแรก เวียดนามมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการค้าระดับโลก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้ง FTA, EVFTA หรือ UKVFTA ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อตกลงที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างเวียดนามและนานาชาติ พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลเวียดนามได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรแก่นักลงทุนและบริษัททั่วโลก จึงดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุนได้อย่างมหาศาล จนในเดือนธันวาคมปี 2565 เวียดนามมี FDI หรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ คิดเป็นมูลค่า 775,000 ล้านบาทแล้ว

นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากการแข่งขันของมหาอำนาจ 2 ประเทศ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย

จากความตึงเครียดของ 2 ขั้วอำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลยเริ่มมีท่าทีที่ไม่ดีต่อบริษัทสัญชาติอื่นๆ มากขึ้น และนโยบายโควิด-19 ของจีน ที่กลายเป็นนโยบายที่เข้มงวด ทำให้ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหาทางหนีทีไล่ ด้วยการกระจายกำลังการผลิตไปยังที่อื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยในปี 2564 เพียงปีเดียว บริษัทต่างชาติอย่างน้อย 11,000 แห่ง ยกเลิกการจดทะเบียนบริษัทในจีน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ตรงข้ามจากปี 2563 ที่บริษัทต่างชาติมีการจดทะเบียนบริษัทในจีนเพิ่มขึ้นสุทธิ 8,000 แห่ง

ตรงกันข้ามกับเวียดนามที่มีบริษัทขนาดใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น

  • Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ที่ทำสัญญากับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่ง
  • Apple ประกาศลงทุน 10,000 กว่าล้านบาท ในโรงงานแห่งใหม่ ทางตอนเหนือของเวียดนาม
  • Microsoft ใช้เวียดนามเป็นแหล่งผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกม Xbox บางส่วน
  • ทำให้ปี 2565 FDI ในเวียดนาม เพิ่มขึ้นถึง 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เวียดนามจะไม่มีบริษัทและนานาชาติกล้ามาลงทุนมากเพียงนี้ หากขาดปัจจัยข้อที่สองอย่างการมีแรงงานที่ถูกและมีจำนวนแรงงานที่เพียงพอ

แม้ว่าจีนจะเคยครองอุตสาหกรรมการผลิต แต่ด้วยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องย้ายออกเพื่อหาแหล่งที่มีการผลิตต้นทุนต่ำสุด ผลพลอยได้จากครั้งนี้จึงลงมาตกที่เวียดนาม จากการมีค่าแรงงานที่ต่ำ

ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ยังมีประชากรที่อายุน้อยค่อนข้างมาก และมีแรงงานที่มีทักษะพอสมควร เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ประมาณ 40% จบจากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาด

เมื่อมีแรงงานที่มีทักษะมากกว่าประเทศอื่นๆ และมีค่าแรงงานที่ถูกกว่าด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บริษัทต่างชาติจะให้ความสนใจในประเทศนี้กันมาก

เหตุผลข้อที่สามที่ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโต ก็เพราะตอนนี้เวียดนามกำลังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มกำลัง โดย 6% ของ GDP คือตัวเลขที่เวียดนามใช้จ่ายไปกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเงินส่วนนี้ลงไปพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • พัฒนาทางด่วนมากกว่า 9,000 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่
  • ท่าอากาศยานนานาชาติล็องถั่ญ เพื่อเพิ่มจำนวนในการรองรับการเดินทางระหว่างประเทศ
  • โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์
  • โรงไฟฟ้าที่ผลิตจากหลากหลายพลังงาน

แม้ว่าจากตัวอย่างจะดูเหมือนเวียดนามลงทุนไปหลายๆ โครงการแล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ยังมีช่องว่างสำหรับโอกาสในการเติบโตอยู่พอสมควร

โดยจากข้อมูลของ East Asia Forum บอกว่า “โรงงานหลายแห่งในเวียดนามยังคงพึ่งพาแรงงาน มากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำงานอย่างเป็นระบบและอัตโนมัติอยู่ ดังนั้นเวียดนามก็ยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป” เห็นข้อมูลเหล่านี้จะบอกว่าเวียดนามก็เหมือนไทยเมื่อก่อนก็คงได้

แล้วกรณีของเวียดนามกำลังบอกอะไรเราบ้าง?

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เวียดนามอาจจะยังไม่ใช่ประเทศที่น่ากลัว เพราะแม้แรงงานจะมีต้นทุนที่ถูก แต่ทักษะของแรงงานยังคงมีช่องว่าง ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป ต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาที่มักใช่ท่าของการเสนอต้นทุนการผลิตที่ถูก เวียดนามจึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย

เพราะพวกเขาไม่ได้เพียงมีค่าแรงงานที่ถูกอีกต่อไป แต่แรงงานกำลังมีทักษะที่แซงหน้าหลายๆ ประเทศแล้ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และกฎเกณฑ์ก็ถูกพัฒนาอยู่เรื่อยมา เพื่อเอื้ออำนวยให้เหมาะกับการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น

และจากเดิมที่เศรษฐกิจเวียดนามตามหลังไทย ไม่แน่ว่าสักวันอาจจะแซงไทยก็ได้ หากรัฐบาลไม่ได้เตรียมมือให้พร้อมยกระดับการแข่งขันในวันข้างหน้า เพราะการจะให้ไทยสู้ด้วยแรงงานต้นทุนถูกเช่นเดิม คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป ในเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง

Mediums รีเทลสตาร์ทอัพที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบอุปกรณ์ศิลปะจากเมคอัพ

จะมีร้านเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะสักกี่แบรนด์ที่นิยามตัวเองว่าเป็นรีเทลสตาร์ทอัพ ลงทุนออกแบบร้านกึ่งไลฟ์สไตล์ใจกลางเอกมัย นำเมคอัพมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบขวดสีและพู่กันสไตล์โมเดิร์นมินิมอล ที่สำคัญคือเป็นแบรนด์ไทย

พีท–กษิดิศ ประสิทธิ์รัตนพร มีความชื่นชอบงานด้านศิลปะโดยเฉพาะวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) เช่น การระบายภาพสีน้ำมันและศิลปะจัดวาง (installation art) ในฐานะศิลปินที่ชอบใช้เวลาเดินเล่นช้อปปิ้งอุปกรณ์ศิลปะเพื่อความผ่อนคลาย เขากลับพบว่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีร้านรีเทลที่บรรยากาศดี จึงก่อตั้งธุรกิจตั้งแต่อายุ 16 ภายใต้บริษัท Apostofi ที่แตกแบรนด์ในเครือออกเป็น Mediums ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ศิลปะและเครื่องเขียน, ร้านกาแฟ Ve/la และคอมมิวนิตี้ศิลปะ Makespace

Mediums ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีทันทีที่เปิด แต่หลังจากธุรกิจดำเนินมาได้ระยะหนึ่งพีทมองว่าร้านค้าปลีกแห่งนี้เป็นได้มากกว่าแค่ร้านขายเครื่องเขียนทั่วไปเลยตัดสินใจปรับโมเดลธุรกิจทั้งหมดในปีที่ผ่านมา จากการนำเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตด้วยตัวเอง ขยายหมวดสินค้าเป็นหมวดไลฟ์สไตล์ที่มีทั้งเครื่องครัวและเทียนหอม พร้อมเตรียมขยายสาขา flagship เพิ่มอีกหนึ่งสาขาและขายออนไลน์ทั่วโลก 

เราชวนพีทมาพูดคุยถึงการปรับโฉมแบรนด์ครั้งใหม่ ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงเป้าหมายต่อไปในอนาคตของ Mediums

New Role of Mediums : From Importer to Designer 

พีทก่อตั้ง Mediums เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 นับเป็นระยะเวลา 2 ปีในการทำธุรกิจ ความตั้งใจแรกของเขาคือการออกแบบร้านอุปกรณ์ศิลปะและเครื่องเขียนให้มีบรรยากาศน่าเดิน  “ถ้าไปญี่ปุ่นเราจะอยากไปเดินเล่นตามย่านต่างๆ ของโตเกียว เดินแล้วสนุกและเกิดไอเดียไปคิดงานต่อ แต่ร้านหมวดศิลปะที่มีในไทยไม่ค่อยน่าเดินเลย” 

ด้วยเหตุนี้พีทจึงคิดคอนเซปต์ของ Mediums เป็นรีเทลอุปกรณ์ศิลปะและเครื่องเขียนน้องใหม่ที่มีบรรยากาศเหมาะแก่กาฮอปปิ้งซึ่งฉีกออกจากร้านอุปกรณ์ศิลปะทั่วไปแบบเดิม ตั้งแต่การออกแบบและตกแต่งภายในที่เน้นความโมเดิร์น การดิสเพลย์สินค้าแบบมีคอนเซปต์เหมือนห้างสรรพสินค้า  มีโซนกิจกรรมสำหรับระบายสีและคาเฟ่กาแฟ Ve/la ให้นั่งพัก  “ถามว่าทำร้านเครื่องเขียนอุปกรณ์ศิลปะต้องลงทุนขนาดนี้ไหม ปกติคนอื่นเขาก็ไม่ทำแบบนี้กัน แค่รู้สึกว่าเราชอบเดินเลือกซื้อมากแต่ไม่มีที่ไหนน่าเดิน”

ขวบปีแรกของ Mediums เริ่มจากการขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 100 แบรนด์ มีสินค้ากว่า 5,000 SKU (Stock Keeping Unit– รหัสสินค้าที่มีการจำแนกประเภทสินค้าอย่างละเอียดที่สุด) เป็นอุปกรณ์ศิลปะเฉพาะทางสำหรับสายอาร์ตที่ลงลึกในงานศิลป์ เฉพาะสีหนึ่งประเภทก็นำเข้าถึง 8 แบรนด์ แต่ละแบรนด์มี 3 เกรด รวมแล้วกว่า 100 เฉดสี 

พีทใช้จุดแข็งที่มีองค์ความรู้และคอนเนกชั่นจากธุรกิจโลจิสติกส์ของครอบครัวในการนำเข้าสินค้า “อุปกรณ์ศิลปะแบรนด์ต่างประเทศที่พบในไทยจะอัพราคากันมาแล้วรอบหนึ่งทำให้ราคาสูง แต่เราไม่อยากขายแพงแบบนั้นเลยหาวิธีซิกแซ็กที่ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า เช่น หาพาร์ตเนอร์ตรง พยายามดื้อหาหลายวิธีให้สามารถนำเข้าแบรนด์ที่หายากเข้ามาได้” 

แม้จะได้ผลตอบรับเป็นไวรัลทางโซเชียลมีเดียเมื่อคนถูกใจบรรยากาศของรีเทลที่มีมุม instagrammable เป็นดิสเพลย์อลังการจากหลายเฉดสีของสินค้าที่นำเข้ามาแต่พีทกลับบอกว่า 

“เมื่อต้นปีที่แล้วเรากลับมาดูโมเดลธุรกิจและเริ่มเห็นปัญหาหลายจุด เลยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่และรีโนเวตร้าน” เขาตัดสินใจโละสต็อกเก่าที่เป็นอุปกรณ์ศิลปะเฉพาะกลุ่มทิ้งทั้งหมดแล้วเปลี่ยนมาทำสินค้า everyday essentials ที่คนใช้ประจำในชีวิตประจำวันในนามแบรนด์ Mediums โดยยังคงบรรยากาศของรีเทลที่สวยงามเอาไว้ 

หลังจากเปลี่ยนทิศทางครั้งใหญ่ ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาเป็นไปในทางที่ดี “หลายคนอาจมองว่าก่อนหน้านี้สำเร็จแล้วในแง่การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวงกว้าง แต่คนที่เดินเข้ามาซื้อสินค้าจริงๆ คิดเป็น 0.5 ใน 10 พอเปลี่ยนมาทำสินค้าของตัวเอง ตอนแรกลูกค้าเก่าก็หายไปเยอะ แต่ได้ลูกค้าใหม่ที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมาก เราได้ลูกค้ากลุ่มที่เป็นมือใหม่ในด้านศิลปะ คนที่หัดวาดรูปมาเพิ่ม ตอนนี้ถ้าเดินเข้าร้าน 10 คน มีอย่างน้อย 7 คนที่ซื้อสินค้ากลับไป” 

“สินค้าที่เรียบง่ายอย่างปากกาหรือโพสต์อิท เริ่มได้รับรีวิวทางบวก บางคนบอกว่าเป็นปากกาที่ดีที่สุดที่เคยใช้ สิ่งนี้จึงตอกย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเล็กๆ ทำให้ดีขึ้นได้”

เพียงผลิตสินค้าคุณภาพดีที่ครอบคอนเซปต์ด้วยแบรนด์ดิ้งอย่างปากกามินิมอลที่เขียนแล้วหมึกไม่เลอะ โพสต์อิทที่ดีไซน์สีกระดาษและแพ็กเกจให้โมเดิร์นก็ทำให้ลูกค้าชื่นชอบได้ เป็นสิ่งที่พีทได้เรียนรู้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ‘คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ’ 

Thoughtful Design Behind Simplicity  

แล้วสินค้าที่ผลิตเองในนาม Mediums ต้องการแก้ปัญหาอะไร 

พีทเล่าถึงสิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นอีกหนึ่ง pain point สำหรับศิลปินให้ฟังว่าอุปกรณ์ศิลปะในไทยมักไม่ได้ถูกวางให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ตั้งใจออกแบบให้มีความสวยงามและไม่มีตัวเลือกมากมายนักเหมือนสินค้าไลฟ์สไตล์หมวดอื่นๆ 

“พีทไม่ชอบช้อปปิ้งอุปกรณ์ศิลปะในไทยเลยเพราะรู้สึกว่ามีตัวเลือกแค่ไหนก็มีอยู่แค่นั้น ตั้งแต่เราอยู่อนุบาลจนตอนนี้ก็ยังมีเท่าเดิมแต่ราคาสินค้าแพงขึ้น เวลาไปต่างประเทศเลยชอบไปกวาดซื้อมาคราวละมากๆ เพราะของไทยตัวเลือกน้อยและราคาสูง สิ่งที่ตั้งคำถามมาตลอดคือ ทำไมอุปกรณ์ศิลปะในไทยถึงไม่เคยสวยเลยทั้งที่เป็นอุปกรณ์ที่ทำมาเพื่อคนที่ใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์และความสวยงาม”

เมื่อซีอีโอวัย 18 ปีเริ่มลองรีเสิร์ชตลาดด้วยการหาเรเฟอเรนซ์อ้างอิงจากวงการอุปกรณ์ศิลปะก็พบว่าไม่มีรูปแบบที่ตรงใจแต่กลับได้แรงบันดาลใจจากหมวดสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องเขียน เช่น เครื่องสำอางและของใช้ในครัว

“ขวดสีอะคริลิกของเราได้แรงบันดาลใจมาจากขวดรองพื้นที่มีหลายเฉดสี รองพื้นส่วนใหญ่จะอยู่ในขวดใสทำให้เห็นสีจริงข้างใน ถ้าเป็นสีอะคริลิกทั่วไปมักจะอยู่ในขวดอะลูมิเนียมหรือพลาสติกทึบโดยมีฉลากระบุสีไว้ ปัญหาคือเมื่อบีบสีออกมาแล้ว บางทีสีไม่ตรงกับบนฉลาก เข้มไปหรืออ่อนไปบ้าง แต่สินค้าของเราเลือกใช้ขวดใสทำให้มองเห็นสีจริงพร้อมบีบออกมาใช้ได้เลย ป้องกันความผิดเพี้ยนเรื่องสีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของคนทำงานศิลปะ”

นอกจากนี้พู่กันและแพ็กเกจยังมีดีไซน์เรียบง่ายน่าใช้เหมือนแปรงบรัชแต่งหน้า กล่องดินสอสีมีความโมเดิร์นคล้ายพาเลตต์ดินสอเขียนคิ้ว

พีทบอกว่าหากสังเกตวงการเครื่องสำอางจะพบว่ามีแบรนด์ขนาดเล็กเกิดใหม่ขึ้นเยอะมาก แต่ละแบรนด์มีการดีไซน์ภาพจำที่โดดเด่นเพื่อให้เข้าถึงคนง่ายขึ้นซึ่ง Mediums ก็อยากเป็นแบรนด์แบบนั้นจึงดีไซน์รูปลักษณ์ให้มีความซิมเปิลและมินิมอล “เราอยากให้สินค้าของเราดูเป็นมิตร ให้ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย เป็นสินค้าที่ใครก็ซื้อได้ เข้าถึงได้ ด้วยรูปแบบที่น่าใช้” 

เบื้องหลังความเรียบง่ายคือการผ่านกระบวนการออกแบบที่คิดมาอย่างละเอียด คิดเยอะแทนความต้องการลูกค้า ซึ่งพีทเล่าถึงแนวคิดการออกแบบสินค้าให้ฟังว่า “เราจริงจังในการทำแล็บเพื่อให้คุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าสินค้าที่ตลาดมีอยู่ จะไม่ปล่อยให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คลาดสายตา นี่คือมาตรฐานที่เราทำมา ถ้าเป็นกระดาษวาดภาพก็จะค้นคว้าตั้งแต่ไฟเบอร์ คำนึงถึงระดับการละลายสีบนกระดาษเวลาระบายสี การสัมผัสเวลาพื้นผิวสัมผัสกับปากกาและดินสอ ถ้าเป็นสีก็จะปรับสูตรเคมีเรื่องเม็ดสี สินค้าแต่ละชิ้นจะมีต้นแบบ (prototype) เยอะมาก อย่างที่วางเทปก็ทำต้นแบบออกมา 80 อัน เพราะเทสต์แล้วไม่โอเคในมุมต่างๆ ทั้งฟอร์มและฟังก์ชั่น ต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ บางคนคิดว่าการออกแบบและผลิตทำไม่นาน แต่ที่จริงค่อนข้างใช้เวลา” 

ความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนของพีทยังหมายถึงการนำเสนอตัวเลือกของรุ่นสินค้าที่เรียบง่ายอย่างสีอะคริลิกที่มีตัวเลือก 12 สี กระดาษ paper pad ที่คิดมาให้แล้วว่าควรมีกระดาษแบบไหนบ้าง 

“เวลาออกแบบ เรื่องหลักที่เราคำนึงถึงคือ product ecosystem ว่าทำยังไงให้ลูกค้าที่ไม่มีความรู้ในอุปกรณ์ศิลปะเลยเดินเข้ามาแล้วเลือกหยิบใช้ได้ง่าย จากที่เมื่อก่อนศิลปินมีเซตอุปกรณ์เยอะแยะมากมายเดี๋ยวนี้เราอาจมีเซตเดียวได้ เราคิดมาให้แล้วว่าสีประเภทนี้ควรใช้กับกระดาษชนิดใดถึงจะเมคเซนส์ที่สุด ถ้าเรามีตัวเลือกสินค้าที่ดีจะทำให้ไม่เกิดการสะดุดในการเปรียบเทียบเวลาทำงานศิลปะว่าควรใช้อุปกรณ์ตัวไหน ไปโฟกัสเรื่องงานได้เต็มที่ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้อุปกรณ์ศิลปะอย่าง seamless มากที่สุด” 

Creative Concept Wins 

พีทนิยามสินค้าของ Mediums ว่าเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์สร้างสรรค์ที่อยากผลักดันวงการศิลปะ นอกจากเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะแล้ว เขาจึงเพิ่มสินค้าหลายหมวดทั้ง Living, Ambiance, Kids มีทั้งเครื่องครัว เทียนหอม diffuser ของใช้ในบ้าน  โดยการออกแบบสินค้าทุกหมวดจะนำด้วยคอนเซปต์และแบรนด์ดิ้ง  

“พีทคิดว่าลูกค้ามองเราเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ตั้งแต่แรก พอกลุ่มเป้าหมายชอบการดีไซน์และพื้นที่ของเราก็ตั้งใจออกแบบมาให้สวยทำให้ขยายสินค้าไปหมวดอื่นง่าย เพราะเวลาลูกค้าซื้อสินค้าเขาไม่ได้ซื้อแค่คุณภาพสีหรือแพ็กเกจ เขาซื้อคอนเซปต์ของแบรนด์”  

แม้จะมีหลายหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ทุกอย่างมีคอนเซปต์ของศิลปะแฝงอยู่ 

เทียนหอม diffuser เป็นกลิ่นที่สร้างสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพวาด อย่างกลิ่น Château Noir ที่มาจากชื่อภาพวาดของ Paul Cézanne เป็นกลิ่นป่าไม้จากภาพวาดปราสาทในป่า กลิ่น Flowers on a Window Ledge จากภาพวาดของ John La Farge และกลิ่น 10/1 จากบ้านเลขที่ของ Mediums สาขาสุขุมวิท 42 ที่เป็นกลิ่นของการเริ่มต้นใหม่ 

ส่วนกาแฟ Ve/la มาจากการค้นพบว่าคนที่ไม่ใช่คอกาแฟสเปเชียลตี้อย่างจริงจังมักรู้สึกว่าการเลือกกาแฟแต่ละสายพันธ์ุนั้นเข้าใจยากเลยออกแบบคอนเซปต์ง่ายๆให้คนสนใจด้วยการเอาเวลามาเล่นกับกาแฟ ตั้งชื่อเป็น Morning, Midday, Dawn, Dusk, Midnight เพื่อให้คนเข้าใจ taste note ของกาแฟง่ายขึ้น  

นอกจากกลุ่มลูกค้าไลฟ์สไตล์ทั่วไปแล้ว ยังมีหมวด Mediums for Education จำหน่ายสีปลอดสารพิษ (non-toxic) ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กรวมถึงอุปกรณ์ศิลปะอื่นๆ อย่างพู่กันไซส์จิ๋วเหมาะสำหรับขนาดมือเด็ก ด้วยดีไซน์เรียบง่ายทำให้ภาพลักษณ์สินค้ามีความอนามัย ดึงดูดกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างนักเรียน ครู และพ่อแม่

“มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งที่สนใจ ล่าสุดเพิ่งไปออกบูทที่ธรรมศาสตร์ เพราะเขากำลังมองหาแบรนด์ด้านอาร์ตและครีเอทีฟ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก น้องๆ รู้สึกว่าสินค้าแบรนด์เราสวย เข้าถึงง่าย” พีทกล่าว 

ผลตอบรับของสินค้าแต่ละหมวดต่างประสบความสำเร็จ ทั้งเทียนหอมที่ขายดีกว่าที่คาดคิด ร้านกาแฟที่ขยายสาขาตามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พารากอน เอ็มโพเรียมอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ศิลปะที่กำลังมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรงเรียน องค์กร และคนทั่วไป 

ทั้งหมดนี้สำเร็จได้เพราะเขาออกแบบทุกอย่างโดยใช้คอนเซปต์เป็นตัวนำ 

Aesthetics in Store   

หากใครเคยไปเยือน Mediums ภาพที่นึกถึงคงเป็นสตูดิโอสีขาวโปร่งซึ่งพีทบอกว่าตั้งใจให้สาขานี้เป็นพื้นที่รีทรีตสำหรับพักผ่อนของคนเมือง

“เราอยากให้ลูกค้ามีประสบการณ์หน้าร้านที่ได้มาพักผ่อน เดินเล่น ดูงานศิลปะ มีโซน Makespace สำหรับทำกิจกรรมเวิร์กช็อปที่สอนศิลปะง่ายๆ โดยใช้สินค้าของเราเองทั้งหมด ตอนนี้คนให้ความสนใจสูงมาก มีตั้งแต่คุณพ่อพาลูกมา ลูกหลานพาอาม่ามาทำกิจกรรมด้วยกัน ที่โซนกาแฟร้าน Ve/la ก็มีเค้กที่เพนต์แต่งหน้าเค้กเองได้ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามาก การได้ใช้เวลาในร้านจะทำให้ลูกค้าเข้าใจคอนเซปต์ของแบรนด์เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสที่เขาจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากการสร้างบรรยากาศที่ดีแล้ว บริการก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจรีเทลต้องให้ความสำคัญ พีทมองว่าร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะไม่ต่างจากร้านเครื่องสำอางที่ลูกค้าอยากได้คำแนะนำเวลาเลือกซื้อสินค้า 

“พนักงานในร้านของเราได้แรงบันดาลใจมาจาก BA (beauty advisor) แบบร้านเครื่องสำอาง ต้องผ่านการเทรนนิ่ง 6 สัปดาห์เพื่อทำความรู้จักสินค้าทุกหมวด มีคู่มือ 500-600 หน้าที่ต้องอ่านและสอบ เพื่อสามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือลูกค้าได้ถูกต้อง ศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะทางมาก พนักงานจึงต้องมีความรู้” 

นอกจากสาขาหลักที่ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 42 แล้ว ที่ผ่านมา Mediums ยังเปิดป๊อปอัพสโตร์ที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซีและเซ็นทรัลลาดพร้าวเพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น โดยวางแผนเปิดป๊อปอัพสโตร์แบบฮอปปิ้ง 2-3 เดือนในแต่ละที่ และเตรียมเปิดสาขา flagship อีกที่หนึ่งปลายปีนี้ 

พีทแอบบอกว่าเหตุผลที่ต้องมีสาขา flagship อีกที่เพราะมีคอนเซปต์คนละแบบกัน สำหรับสาขาใหม่จะมีความเป็นคอนเซปต์สโตร์น้อยลง แม้สินค้าที่วางขายเป็นแบบเดิมแต่เน้นการ grab & go ที่มาเร็วไปเร็วมากขึ้น ไม่ได้มีบรรยากาศที่ออกแบบมาเพื่ออยากให้ใช้ละเลียดเวลาผ่อนคลายหลายชั่วโมงเหมือนสาขาเดิม

Exponential Growth of Retail Start Up 

นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจจนถึงปัจจุบัน Mediums เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วพีทเล่าว่าตัวเขาในวัย 16 ปีเข้าไปพิตช์กับนักลงทุนและมองตัวเองเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่แรก 

“ในไทยส่วนใหญ่สตาร์ทอัพจะไปทางสายเทคโนโลยี แต่เราเป็นรีเทลสตาร์ทอัพ เราชนะใจนักลงทุนด้วยการขายคำว่า empathy (ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า) และแพสชั่นที่คู่แข่งเราไม่ได้เน้นตรงนี้ บางคนขายเครื่องเขียนเพื่อขายแต่ถามว่ามันเริ่มมาจากความเข้าใจลูกค้าจริงๆ หรือปล่า บางครั้งตัวเลือกสินค้าที่เขาเลือกมาก็อาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คนต้องการจริงๆ แต่เราใช้การทำความเข้าใจลูกค้าเอามาเป็นตัวตั้งของตัวเอง”  

สตาร์ทอัพแปลว่าธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับรีเทล วิธีเติบโตอย่างรวดเร็วคือการสร้างช่องทางการขายหลายช่องทาง (omnichannel) และมีหลายยูนิตหลายแบรนด์ในบริษัทเดียว “เรายังบอกนักลงทุนว่าบริษัทเรามีหลายช่องทาง สามารถเติบโตทั้งหน้าร้านและ e-Commerce มีคาเฟ่ มีช่องทางออนไลน์ที่กำลังจะขยายต่อไปในอนาคต มองว่าประเทศไทยยังไม่มีแบรนด์เครื่องเขียนที่ทำแบบนี้” 

นอกจากขยายหลายช่องทางแล้ว Mediums ยังขยายกลุ่มลูกค้า หลังจากทำรีเทลที่ได้รับความสนใจจากลูกค้า B2C ทั่วไป (business-to-consumer) สำเร็จในระดับหนึ่ง ก็ขยายไปยังกลุ่มลูกค้า B2B (business-to-business)

“ความเรียบง่ายของดีไซน์ที่มีความคลาสสิกทำให้การทำ B2B ไปได้ดีมาก เพราะสินค้าเราไม่ได้ตะโกนจนกลบแบรนด์อื่น เรามีพื้นที่ให้แบรนด์ที่เราทำงานด้วยได้เป็นตัวเขา เข้าได้กับแทบทุกแบรนด์” ซึ่งที่ผ่านมา Mediums ได้ร่วมงานกับแบรนด์ที่โด่งดังหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Stella McCartney, Soho House, Fujiflim, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา องค์กรต่างชาติจากทั้งอังกฤษและอเมริกา ฯลฯ 

พีทเล่าขั้นต่อไปของ Mediums ว่าอีกไม่นานจะเปิดขายออนไลน์ทั่วโลก โดยเริ่มจากประเทศในโซนเอเชียก่อน “คาดว่าเร็วๆ นี้จะเริ่มขายออนไลน์ทั่วโลกเป็น worldwide shipping เริ่มแรกจะเน้นในเอเชียอย่างสิงคโปร์เป็นหลักก่อน ที่เหลือจะค่อยๆ ปล่อยสินค้าทีละเฟสแล้วดูกระแสตอบรับจากลูกค้าว่าเป็นยังไง ลูกค้ามาจากประเทศโซนไหน” 

ทั้งนี้การสร้างตลาดในไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกัน พีทมองว่าในไทย คนยังใช้อุปกรณ์ศิลปะและเครื่องเขียนไม่มากเท่าลอนดอนกับนิวยอร์ก “ที่ต่างประเทศมีสถาบันสอนศิลปะเยอะกว่า มีคนเรียนศิลปะที่ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องเขียนต่างๆ เยอะ ถ้าเข้าตลาดต่างประเทศเราต้องไปในฐานะแบรนด์ใหม่ไปต่อสู้กับแบรนด์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนในประเทศไทยเราต้องสร้างตลาดขึ้นมาเอง การตลาดก็จะเป็นคนละแบบ” พีทกล่าว

แน่นอนว่าพฤติกรรมของลูกค้าก็แตกต่างกัน พีทบอกว่าคนไทยชอบมาแวะมาหน้าร้านก่อน ถ้ารู้จักแบรนด์แล้วค่อยตามไปซื้อของออนไลน์ ส่วนในต่างประเทศจะมีผู้ที่อยากลองสั่งสินค้าครั้งแรกผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 

สำหรับนักธุรกิจวัย 18 อย่างพีท รายละเอียดในการสเกลธุรกิจเหล่านี้เรียนรู้ได้นอกตำรา “เชื่อว่าเรื่องธุรกิจเป็นสิ่งที่เรียนไม่ได้ แม้จะแน่นทฤษฎีมาแค่ไหน พอลงมือทำจริงอาจไม่เหมือนในตำรา ทุกอย่างไม่ได้เป็นเส้นตรง ไม่ใช่สิ่งที่สอนกันได้”  

Business that Supports Art Ecosystem 

แผนธุรกิจของพีททั้งหมดมาจากการคิดใหญ่ที่คิดแตกต่างจากคนอื่น ความกล้าหาญคือการลงทุนทำธุรกิจในตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งพีทเล่าความตั้งใจไว้ว่า  

“ตลาดศิลปะในไทยถือว่า niche มากๆ แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตในตัวของมันเอง แค่โตช้ามาก ตอนที่กลับมาดูโมเดลธุรกิจเมื่อต้นปีเราก็มีคำถามนะว่าวงการศิลปะจะตายหรือเปล่า แต่พอมาดูจริงๆ แล้วคนไทยยังฟังเพลงไวนิล ใช้กล้องฟิล์ม คนยังอยากกลับมาหาสิ่งที่จับต้องได้ ถึงแม้ว่าเราติดมือถือกันมากขึ้นแต่ก็ยังอยากอยู่กับสิ่งของที่จับต้องได้และทำกิจกรรมออฟไลน์ เวลาเบรนสตอร์มคนก็ยังอยากใช้กระดาษแผ่นกันอยู่ โลกยังต้องการเครื่องเขียน เป็นสิ่งที่ไม่ตาย เลยอยากทำแบรนด์นี้” 

นอกจากดีไซน์ของสินค้าทุกชิ้นที่คิดมาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว พีทยังกล่าวถึงความตั้งใจในการสนับสนุนการสร้างงานในไทยโดยพยายามใช้ซัพพลายเออร์ไทยให้ได้มากที่สุด แม้สินค้าบางรุ่นไม่ได้ผลิตในไทย ก็ออกแบบและคุมคุณภาพที่แล็บของ Mediums ทุกชิ้นดังที่เขียนบนฉลากสินค้าบางรุ่นว่า Design in Bangkok, Made in Italy 

“อยากให้คนไทยรู้สึกว่าเครื่องเขียนเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อเขานะ ไม่ง่ายเลยที่จะผลิตในไทย แต่เราก็ยังมีส่วนที่เลือกซัพพลายเออร์ไทยอยู่เพราะอยากสนับสนุนโครงสร้างวงการดีไซน์ในประเทศตั้งแต่โครงสร้างการผลิตก่อนจะมาเป็นสินค้า” 

สำหรับพีทที่เป็นทั้งนักธุรกิจและศิลปิน เขามองว่าปัญหาของวงการศิลปะในไทยคือโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่ขาดการสนับสนุนนักสร้างสรรค์  

“เกิดคำถามบ่อยว่าศิลปินที่อยู่ในไทยทำอะไรได้ คำตอบคือมันยังไม่มีหนทางในการเติบโต เด็กที่เรียนจบศิลปะมาไม่มีงานทำ จะสังเกตว่าประเทศเราไม่มีศิลปินที่ดังมากเยอะ ศิลปินไทยหลายคนที่เราชื่นชมเขาก็ไม่ได้เริ่มดังจากที่ไทย กว่าคนไทยจะชื่นชมงานเขากลายเป็นต้องไปแสวงหาโอกาสที่ต่างประเทศก่อน”    

ทั้งนี้พีทมองว่าสิ่งที่ธุรกิจอย่าง Mediums ช่วยผลักดันได้คือเป็นประตูที่เชื่อมต่อผู้คนเข้ากับศิลปะให้เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

“เราอยากทำให้คนสนใจการวาดรูปให้ได้ก่อน ถ้าคนทั่วไปให้คุณค่ากับการวาดรูปทุกวันเสาร์ได้ สิ่งนี้จะทำให้เขาชื่นชมงานของศิลปินคนอื่นได้ง่ายขึ้น เวลาเห็นงานศิลปะราคาแพงก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าราคาไม่ได้เว่อร์เพราะงานศิลปะไม่ได้ง่าย เราถึงอยากให้สินค้าของเราดูเป็นมิตร เป็นสินค้าที่ใครก็ซื้อได้ เข้าถึงได้ ด้วยรูปแบบที่น่าใช้ อยากให้คนมีความเข้าใจในคุณค่าของศิลปะมากขึ้นก่อนเราถึงจะสร้างคอมมิวนิตี้หรือผลักดันสังคมศิลปะให้ไปไกลขึ้นได้”  

Add to Cart
5 สินค้าแนะนำที่ออกแบบเองโดย Mediums

1. ดินสอเบอร์ 0
เรามักคุ้นหูกับดินสอแรเงาที่มีระดับความเข้ม 2B 3B 4B
แต่ Mediums คิดค้นสูตรใหม่ของตัวเองที่มีความเข้มให้เลือกตั้งแต่ 0-10
มีเนื้อนุ่มพิเศษจากชาร์โคลและแกรไฟต์ผสมกัน

2. Gel BallPoint Pen 
ปากกาเจลที่เขียนแล้วน้ำหมึกแห้งเร็วทันใจ ไม่เลอะง่าย
แก้ปัญหาหมึกเลอะที่คนใช้ปากกามักพบเจอ

3. Acrylic Paint 
สีอะคริลิก 12 สี ที่ออกแบบขวดให้มองเห็นสีและยังสวยงามน่าใช้

4. Coloured Pencil
ดินสอสี oil-based ที่เนื้อนุ่ม เม็ดสีแน่นในราคาเข้าถึงได้

5. Art Paper Pad 
กระดาษสำหรับงานศิลปะซึ่งแตกออกเป็นกระดาษหลายประเภทแล้วแต่
การใช้งานของแต่ละคน ทั้งสำหรับวาดรูปและระบายสี แบบม้วน 

ทำไมแบรนด์ยางรถยนต์จึงมีอิทธิพลในธุรกิจร้านอาหาร? เบื้องหลังและอีกด้านของ Michelin Guide 

เราคงเคยได้ยินหลายคนที่ละปลงจากเรื่องทางโลกพูดประโยคทำนองว่า “เรากินเพื่ออยู่”

ในขณะเดียวกันหลายคนที่เอนจอยกับการกินอาหารตรงหน้าอย่างเอร็ดอร่อยคงเห็นด้วยมากกว่ากับปรัชญาที่ว่า “เราอยู่เพื่อกิน”

จะ “กินเพื่ออยู่” หรือ “อยู่เพื่อกิน” มนุษย์เราล้วนแล้วแต่ปฏิเสธการกินไปไม่พ้น นอกจากอาหารจะเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์แล้ว อาหารยังนำพาเอาความสุข รอยยิ้ม ความอิ่มเอมใจมาให้ผู้คนอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นรสชาติที่คุ้นเคยอย่างอาหารโฮมเมด อาหารพื้นถิ่นที่กินแล้วคิดถึงบ้านเก่าเมืองเกิด หรือจะเป็นอาหาร fine dining ที่ให้ความรู้สึกหรูหราซับซ้อนทุกครั้งที่ได้กัดกิน

เมื่ออาหารคือสิ่งที่นำพาความรื่นรมย์ใจมาให้แก่ชีวิต เราจึงได้เห็นผู้คนหลายต่อหลายคนเสาะแสวงหาร้านอาหารที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย ที่ไหนว่าดี ที่ไหนว่าเด็ด ก็จะขับรถพาตัวเองไปให้ถึง ไปลองชิมดูสักครั้งว่าที่เขาว่ากันว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่?

เมื่อเราอาศัยอยู่ในโลกประชาธิปไตยที่ใครๆ สามารถจะมีชีวิต มีเสรีภาพ และมีสิทธิ์ที่จะแสวงหาความสุขได้อย่างอิสระ และความสุขที่ดูจะจับต้องเข้าถึงได้ของคนในทุกสังคมและทุกช่วงวัย คือการได้กินอาหารมื้ออร่อย โลกใบนี้จึงมีการรวบรวมร้านอาหารรสเยี่ยมเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในแบบคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ บทความในนิตยสาร รายการในโทรทัศน์ หรือการแชร์ภาพอาหารน่ากินของอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียล

แต่การรวบรวมร้านอาหารรสอร่อยในรูปแบบที่ดูจะได้รับความนิยม พร้อมๆ กับดูเหมือนกับว่าจะเป็นที่ยอมรับในสายตาสากลโลก คงหนีไม่พ้นการรวบรวมร้านอาหารร้านอร่อยในหนังสือปกแดง

ที่มีคำประทับบนหน้าปกว่า ‘มิชลินไกด์ (Michelin Guide)’

หลายปีที่ผ่านมานี้เรามักได้ยินคำว่า มิชลินไกด์ แพร่หลายขึ้นในบ้านเรา ชื่อร้านอาหาร ร้านขนมร้านไหนที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในหนังสือมิชลินไกด์ ดูเหมือนจะเป็นร้านที่จะได้รับความสนใจจากสื่อและมวลชน และความสนใจจากสาธารณชนเหล่านี้ก็มักจะสะท้อนกลับไปที่ยอดขาย ยอดจองคิวอันหนาแน่นของร้านนั้นๆ

นอกจากการรวบรวมร้านดังให้เป็นรายชื่อร้านอร่อยที่หลายคนอยากไปตามรอยอย่าง หนังสือมิชลินไกด์แล้ว คุณคงจะคุ้นหูมาไม่มากก็น้อยกับการจัดอันดับและติดดาวมิชลิน ซึ่งเราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าการได้ดาวมิชลินเป็นหนึ่งในความภูมิใจขั้นสูงสุดของคนเป็นเชฟและคนทำร้านอาหารไล่เรียงไปตั้งแต่การได้รับ 1 ดาว ถึง 3 ดาว

แต่คุณเคยคิดตงิดคิดสงสัยไหมว่า คำว่ามิชลิน (Michelin) ในธุรกิจอะไหล่ยนต์ หรือพูดให้เจาะจงมากขึ้นคือธุรกิจยางรถยนต์ พร้อมกับมาสคอตมิชลินแมน (Michelin Man–ที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Bibendum) กับคำว่า ‘มิชลิน’ ในโลกแห่งอาหาร ทั้งสองมิชลินนี้เป็นมิชลินที่มาจากบริษัทเดียวกันหรือไม่? 

คำตอบ คือ ใช่!

มิชลินทั้งสองคำนี้ล้วนมาจาก บริษัทมิชลินที่ผลิตยางรถยนต์ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ว่าแต่บริษัทผลิตยางรถยนต์กลายร่างมาเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลในวงการอาหารได้ยังไงกัน ยางรถยนต์กับอาหารดูไม่ใช่ธุรกิจที่จะเชื่อมโยงกันได้เอาเสียเลย

การจะตอบคำถามนี้เราอาจจะต้องย้อนเวลาเดินทางกันกลับไปไกลสักหน่อย สักประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว สมัยที่รถยนต์ยังไม่ใช่พาหนะพื้นฐานที่ทุกคนจับต้องและเข้าถึงได้อย่างทุกวันนี้

ปี 1889, ณ เมืองแกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางค่อนมาทางใต้ของฝรั่งเศส สองพี่น้องตระกูลมิชลิน อองเดร (André) และเอดูอาร์ (Édouard) ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทยางรถยนต์ขึ้นหมายจะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ด้วยวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นรถยนต์ทั่วทั้งฝรั่งเศสรวมกันแล้วนับจำนวนคงมีไม่ถึง 3,000 คันเสียด้วยซ้ำ

สองพี่น้องตระกูลมิชลินจึงคิดค้นวิถีทางที่หลากหลายที่จะสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น เพื่อที่ท้ายที่สุดจะได้กลับมาเป็นลูกค้าอุดหนุนกิจการยางรถยนต์ของพวกเขา เช่น การช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยการติดป้ายบอกสัญลักษณ์จราจรตามจุดต่างๆ และอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขาทั้งสองคิดขึ้นมาได้ก็คือการทำหนังสือคู่มือนักเดินทางปกสีน้ำเงินโดยใช้ชื่อว่า มิชลินไกด์ 

หนังสือคู่มือนักเดินทางเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่บอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่จำเป็นในการขับรถเดินทางท่องเที่ยว เช่น แผนที่, คู่มือการเปลี่ยนยางรถยนต์, จุดแวะเติมน้ำมัน, และที่สำคัญที่สุดสำหรับนักเดินทาง นั่นคือ รายชื่อร้านอาหารตามรายทางที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะกิน และรายชื่อโรงแรมที่พักที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะพักหลับนอนได้

เวลาผ่านไปอย่างเนิบช้าเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่สองพี่น้องมิชลินยังคงใช้นโยบายการสนับสนุนให้คนออกมาใช้รถใช้ถนนด้วยการพิมพ์หนังสือมิชลินไกด์นี้แจกฟรี แต่แล้ววันหนึ่งสถานการณ์ทุกอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไป เมื่ออองเดรได้เดินเข้าไปในร้านขายยางรถยนต์ร้านหนึ่งแล้วพลันเหลือบไปเห็นหนังสือมิชลินไกด์ที่เขาตั้งใจประคบประหงมรวบรวมข้อมูลจัดทำขึ้นมาอย่างดี วางพาดอยู่บนมานั่งอย่างไร้ค่า

ทันใดนั้นอองเดรเกิดความตระหนักถึงวิสัยบางอย่างของมนุษย์จนทำให้เกิดกลายเป็นหลักการที่เล่าสืบต่อกันเป็นตำนานของบริษัทมิชลิน หลักการที่ว่านั้นคือ “ผู้คนจะเคารพค่าของสิ่งของนั้นๆ ต่อเมื่อเขาได้จ่ายเงินซื้อมัน” (Man only truly respects what he pays for)

จากหนังสือคู่มือการเดินทางที่พิมพ์แจกฟรี หนังสือมิชลินไกด์จึงเปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์เพื่อขายในปี 1920 ในราคา 7 ฟรังก์

การจะให้คนควักกระเป๋าซื้อหนังสือสักหนึ่งเล่มในราคา 7 ฟรังก์เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จากเดิมที่เป็นหนังสือแจกฟรีคงจะไม่สามารถคงสิ่งที่เคยทำไว้เช่นเดิมได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเนื้อหาที่อยู่ด้านในบางอย่าง เช่น มีการรวบรวมรายชื่อโรงแรมที่อยู่ในปารีส มีการรวบรวมรายชื่อร้านอาหารแยกตามหมวดหมู่ในแต่ละประเภท และการปรับเปลี่ยนที่สำคัญคือ การถอดพื้นที่หน้าโฆษณาสปอนเซอร์มากมายที่อยู่ในหนังสือมิชลินไกด์ออกไป

จากกระแสตอบรับที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ของหมวดหมู่ร้านอาหารในหนังสือมิชลินไกด์ ทำให้สองพี่น้องมิชลินเริ่มว่าจ้าง restaurant inspector (สมัยก่อนเรียกว่า mystery diner) เพื่อตระเวนชิมร้านอาหารแบบไม่แสดงตนว่ามาจากทีมมิชลินไกด์ และทำการรีวิวร้านต่างๆ หลังจากได้ตระเวนชิมแล้ว

ปี 1926 หนังสือมิชลินไกด์เริ่มมีการแจกดาวสำหรับร้านหาร fine dining ที่ restaurant inspector ไปสำรวจชิมและพึงพอใจ โดยการแจกดาวในยุคนี้จะแจกดาวเพียงแค่ดวงเดียวเท่านั้นให้แก่แต่ละร้านที่ผ่านการประเมิน จนอีก 5 ปีต่อมา จึงมีการจัดตั้งระบบ 1 ดาว, 2 ดาว และ 3 ดาว 

โดยร้านอาหารที่ได้รับ 1 ดาวมิชลินหมายความว่า อาหารที่เสิร์ฟในร้านนั้นเป็นอาหารที่มีคุณภาพดีมาก

2 ดาวมิชลิน หมายความว่า ร้านอาหารร้านนั้นยอดเยี่ยมคุ้มค่าแก่การไปลองชิม

3 ดาวมิชลิน หมายความว่า ร้านอาหารร้านนั้นโดดเด่นเป็นพิเศษ ควรค่าแม้ต้องเดินทางไกลเพื่อให้ได้ไปชิม

จนกระทั่ง ปี 1931 สีของปกถูกเปลี่ยนจากสีน้ำเงินให้กลายเป็นสีแดง และสีแดงยังคงเป็นสีที่ใช้อยู่จวบจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปี 1936 ข้อกำหนดมาตรฐานการให้ดาวในแต่ละระดับจึงถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน จนถึงปัจจุบันหนังสือมิชลินไกด์ได้รวบรวมรายชื่อร้านอร่อยไว้มากกว่า 30,000 ร้านซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และเจ้าหนังสือปกแดงเล่มนี้ถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 30 ล้านเล่มทั่วโลก

เจตจำนงเดิมของการจัดทำหนังสือมิชลินไกด์อาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกเดินทาง แต่จุดประสงค์ของการดำรงอยู่ในปัจจุบันของการจัดทำหนังสือมิชลินไกด์นั้นเปลี่ยนไป ผู้คนใช้รถใช้ถนนโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นจากหนังสือรวบรวมข้อมูลเดินทางท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่บริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างมิชลินยังคงจัดทำมิชลินไกด์และมีระบบการให้ดาวแก่ร้านอาหารต่างๆ ทั่วโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะการจัดทำหนังสือมิชลินไกด์และระบบดาวมิชลินในร้านอาหาร fine dining เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ยางรถยนต์

Tony Fouladpour ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมิชลินประจำอเมริกาเหนือ ให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ว่า การคงอยู่ของมิชลินไกด์ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูสวยงามขึ้น เพราะธุรกิจยางรถยนต์ไม่ใช่ธุรกิจที่เซ็กซี่ แถมมันยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์มิชลินดูหรูหราขึ้นอีกด้วย

เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่องราวทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่มักจะมีสองด้านเสมอ นอกจากเรื่องราวดีๆ ที่หนังสือมิชลินไกด์ได้นำพาให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อไปเสาะแสวงหาร้านดัง ร้านอร่อยระหว่างทริปการเดินทาง การวางระบบดาวมิชลินก็นำพามาซึ่งเรื่องราวด้านมืดบางประการของวงการอาหารเช่นกัน

หนึ่งในนั้นคือ ความเดียวดายของอาชีพที่ระบบดาวมิชลินได้สร้างให้กับการเป็น ‘restaurant inspector’

แฟนๆ ซีรีส์ Emily in Paris คงได้พบเห็นตัวอย่างของการทำอาชีพนี้แบบรวบรัดในตัวละครที่โผล่มาตอนช่วงท้ายของซีซั่น 3 ซึ่งเธอมีอาชีพเป็นนักชิมจากมิชลิน หรือ restaurant inspector โดยเธอมีบุคลิกที่เคร่งขรึมกับคนทั่วไป และเก็บงำเอาข้อมูลในการประกอบอาชีพนี้อย่างเป็นความลับที่สุด

ตามธรรมดาการเป็น restaurant inspector จะต้องไม่เปิดเผยตัวตน และต้องเก็บเรื่องราวการเป็น restaurant inspector นี้ไว้เป็นความลับ แต่แล้ว Pascal Rémy อดีต restaurant inspector ก็ได้ออกมายืนท่ามกลางสปอตไลต์ของวงการอาหาร เมื่อเขาได้เปิดตัวหนังสือชื่อ L’Inspecteur se Met à Table (The Inspector Sits at the Table) ในปี 2004

ในหนังสือเล่มนั้นได้เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็น restaurant inspector ของระบบมิชลินว่า เป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว ได้ค่าจ้างไม่คุ้มค่า และมาตรฐานในการทำงานนั้นหย่อนยานลงเรื่อยๆ 

หลังจากที่หนังสือได้รับการเผยแพร่ออกไป มิชลินได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลอย่างกระชับเพียงแค่ว่า อาชีพการเป็น restaurant inspector นั้นไม่ใช่อาชีพที่สวยงามแบบที่ทุกคนเข้าใจ

นอกจากการมีอาชีพเป็น restaurant inspector ไม่ควรจะเป็นอาชีพที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง (ตามคำบอกเล่าของผู้เคยทำอาชีพนี้มาก่อน) อีกหนึ่งข้อกังวลที่ผู้คนในวงการอาหารทั่วโลกส่วนหนึ่งมีความกังวลต่อระบบการให้ดาวมิชลินคือ การสร้างภาวะความเครียดจนเกินพอดี ต่อเชฟและคนทำร้านอาหาร

ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในปี 1999 Marco Pierre White เชฟดาวรุ่งชาวอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นเชฟที่ได้ 3 ดาวมิชลินที่อายุน้อยที่สุด (และถือว่าเป็นอาจารย์ของเชฟเซเลบริตี้อย่าง Gordon Ramsay) ประกาศเกษียณตัวเองและคืนดาวให้กับมิชลิน ก่อนที่เขาจะให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า

“ผมถูกตัดสินจากคนที่มีความรู้ด้อยกว่าผม นี่ตกลงมันใช่หรอ คุ้มแล้วเหรอ? ผมให้ความเคารพกับพวก inspector จากมิชลินมากเกินไป จนผมมาด้อยค่าตัวเอง คืออย่างนี้นะ ผมมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง หนึ่ง–ผมยังคงเป็นนักโทษต่อไปในโลกของผมและยังคงทำงานสัปดาห์ละ 6 วันต่อไป, ผมใช้ชีวิตอยู่บนคำโกหกและชาร์จเงินแพงๆ… หรือคืนดาวมิชลินและใช้เวลาอยู่กับลูกๆ ของผม…”

การคืนดาวมิชลินของเขาในครั้งนั้นอาจถือเป็นการจุดไม้ขีดไฟครั้งแรกให้กับวงการอาหารให้เห็นอีกด้านของการลุกขึ้นยืนหยัดเมื่อไม่เห็นด้วยกับระบบการจัดอันดับและให้ดาวของมิชลิน

มีเชฟอีกหลายต่อหลายคนที่ตัดสินใจปิดร้านอาหารของตัวเองลงหลังได้รับดาวมิชลิน เพราะไม่อยากอยู่กับแรงกดดันทุกวันทุกคืนที่ไม่ทราบได้ว่าวันใดจะมี restaurant inspector จากมิชลินเดินเข้ามาในร้านเพื่อตัดสินอาหารของพวกเขา เช่น Magnus Nilsson เชฟชาวสวีเดนที่ประกาศปิดร้านอาหารมิชลิน Fäviken ลงเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ในปี 2019, เชฟฝรั่งเศส Sébastien Bras ผู้ที่ร้านอาหารของเขา Le Suquet ได้รับ 3 ดาวมิชลิน ได้ขอร้องให้มิชลินเอาชื่อร้านของเขาออกจากระบบมิชลินเสียในปี 2018

หรือเชฟชาวเกาหลีใต้อย่าง Eo Yun-gwon ที่เคยฟ้องร้องมิชลินมาแล้วกับการที่มิชลินรวมชื่อร้านอาหารของเขา Ristorante Eo ในโซล ไว้ในมิชลินไกด์ ทั้งๆ ที่เขาร้องขอเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเขาไม่ต้องการให้ร้านของเขาอยู่ในลิสต์

“มิชลินไกด์คือระบบที่โหดร้าย อันที่จริงมันคือการทดสอบที่โหดเหี้ยมที่สุดบนโลกใบนี้ การทดสอบนี้บังคับให้เชฟต้องทำงานหนักตลอดทั้งปี เพื่อรออย่างมืดบอดว่า เมื่อไหร่การทดสอบนั้นจะมาถึง” Eo Yun-gwon ให้สัมภาษณ์กับ CNN ในปี 2019

แม้ว่ามิชลินไม่ได้มีการออกมาตอบโต้ใดๆ ต่อการที่เชฟหลายต่อหลายคนออกมาขอคืนดาวมิชลินและร้องขอไม่ให้นำชื่อร้านอาหารของพวกเขาเข้าไปในระบบมิชลินไกด์อีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้ครอบครองดวงดาวมิชลินและการได้มีชื่อร้านอาหารอยู่ในหนังสือปกแดงมิชลินไกด์ยังคงเป็นหมุดหมายที่สำคัญของเชฟและผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่บนโลกใบนี้อยู่ 

สุดท้ายคงถือได้ว่าการเดินทางของทั้งธุรกิจยางรถยนต์และระบบดวงดาว(มิชลิน) ของสองพี่น้องอองเดร และเอดูอาร์ได้เดินทางมาไกลอย่างที่ทั้งคู่ตั้งใจแล้วจริงๆ

อ้างอิง

เซ่งชง ร้านเครื่องหนัง 127 ปีที่เป็นมาสเตอร์แห่งรองเท้าหนังและเครื่องม้า

Master คือผู้มีความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์อันยาวนาน

เซ่งชงที่มีอายุกิจการ 127 ปีจึงนับว่าเป็นมาสเตอร์ทางด้านเครื่องหนังได้

ชื่อร้าน ‘เซ่งชง’ มาจาก เซ่งชง แซ่หลิว ชื่อเดิมของคุณทวด หลวงประดิษฐบาทุกา ผู้มีวิชาการทำรองเท้าหนังและเครื่องหนังติดตัวข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

เขาก่อตั้งกิจการตั้งแต่เมื่อครั้งไทยยังนำเข้าสินค้าหนังจากต่างประเทศก่อนยุคสงครามโลก ในยุคที่เริ่มทำหุ่นรองเท้าด้วยไม้ พื้นรองเท้าจากยางรถยนต์และตัดแพทเทิร์นหนังด้วยมือ  

รองเท้า เข็มขัด กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ อานม้าและรองเท้าบูตขี่ม้าจากหนังของเซ่งชง

เป็นงานปราณีตด้วยศาสตร์การทำเครื่องหนังที่มีกรรมวิธีการตัดเย็บละเอียดลอออย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่สืบทอดกันมาจากรุ่นคุณทวดปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 4 กานต์ – อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา เป็นผู้ที่ยังคงเชื่อมั่นในการใช้หนังแท้และอยากสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาเลือกเครื่องหนังในร้านมั่นใจว่าจะได้สินค้ามีคุณภาพในราคาสมเหตุสมผลกลับไป

Leatherman  

กานต์เล่าว่าคุณทวดเปิดกิจการในชื่อร้านเซ่งชง เมื่อปี พ.ศ. 2439 ที่ตึกแถวเล็กๆ ณ แยกสามยอด ถนนเจริญกรุง ก่อนที่ร้านจะย้ายทำเลมาที่ถนนนครสวรรค์ในปัจจุบันโดยยังคงบรรยากาศคลาสสิกของความเป็นร้านเก่าแก่ในย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยสินค้าเครื่องหนังให้เลือกสรร 

เขาเปิดประวัติเครื่องหนังให้คนรุ่นใหม่อย่างเราได้ฟัง “สมัยก่อนเครื่องหนังในไทยเป็นสินค้านำเข้า ตอนแรกคุณทวดเริ่มจากทำรองเท้าอย่างเดียว พอมีคนเอามาลองให้ทำแล้วเริ่มมีลูกค้าชอบในฝีมือเลยขยายเป็นหมวดเครื่องหนังชนิดอื่นด้วย รุ่นผมก็ต้องมาปรับเทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้ให้ผลิตเร็วขึ้น”

เนื่องจากเป็นหนุ่มวิศวะที่ไม่ได้เรียนเรื่องการทำหนังและแฟชั่นมาก่อนเลย เขาจึงอาศัยการเรียนรู้แบบครูพักลักจำด้วยตนเอง

“ตอนเด็กเวลามีคนมาส่งหนังที่บ้าน จะคอยช่วยนับจำนวน ช่วยดูวัสดุหนัง มาเรียนรู้ได้เยอะตอนกลับมาทำกิจการตอนโต ศึกษาเรื่องวัสดุหนังจากทุกทิศทุกทาง เวลาไปซื้อหนัง เราก็ถามคนขายว่าหนังต่างกันยังไง ของคุณดีกว่าที่อื่นยังไง พอเขาบอกความรู้มาแล้วเป็นสิ่งที่หลายคนในวงการพูดตรงกัน เราก็รู้แล้วว่าอันนี้คือข้อดีที่ต้องมีของหนังนะ” 

“กระบวนการทำก็เรียนจากช่างเก่าแก่ เขาก็สอนเรา เราอาจทำไม่สวยเท่าช่างแต่ต้องเข้าใจภาพรวมว่าทำยังไง แต่ละขั้นตอนในการทำมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้าง”  

Guru of Leather

เมื่อถามทายาทรุ่น 4 ว่าสินค้าหนังที่มีคุณภาพดีต้องเป็นแบบไหน กานต์บอกว่า สำหรับเซ่งชงต้องใช้หนังแท้เท่านั้น ไม่ใช้หนังเทียม คุณภาพในการฟอกต้องดี เราจะเน้นว่าต้องใช้แล้วทน” ความแตกต่างคือหนังเกรด A จะไม่มีแผล ไม่มีรอย ส่วนหนังคุณภาพไม่ดีจะมีแผล เอามาแต่งผิวแล้วขายในราคาที่ถูกกว่า

ศาสตร์การดูชนิดของหนังให้เป็นนั้นเป็นวิชาเฉพาะจากการสะสมประสบการณ์ที่กานต์เล่าด้วยความถ่อมตัวว่าแม้ตัวเขาเองเป็นทายาทร้านหนังที่อายุเกินหนึ่งศตวรรษก็ยังต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด “pain point ของคนใช้หนังคือเขาไปซื้อของจากบางเจ้าแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นหนังแท้ แต่ความจริงเป็นหนังเทียม แยกชนิดหนังด้วยตายากมาก ขนาดผมบางทียังไม่กล้าฟันธงเลยว่าใช่หรือไม่ใช่ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน บางเจ้าเอาเศษหนังมาอัดกลายเป็นหนังอัด ดูผิวเผินเหมือนหนังแท้ปกติทั่วไป” 

จากคำบอกเล่าของกานต์ หนังแท้คือหนังที่ผลิตมาจากสัตว์สำหรับเอามาใช้เป็นอาหารอย่างหนังวัว หนังควาย หนังแกะ โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันออกไป มักใช้หนังวัวเป็นหลักซึ่งเป็นหนังที่มีเส้นใยที่ละเอียดและมีความทนทาน

หนังแกะใช้สำหรับเป็นซับในเพราะน้ำหนักเบา ข้อเสียคือมีความทนทานน้อยกว่า หนังควายมีคุณสมบัติพิเศษที่ความหนาและราคาถูกกว่าหนังชนิดอื่น เหมาะกับงานที่ต้องใช้หนังที่หนาซึ่งไม่สามารถหาได้จากหนังวัว

ทั้งนี้เซ่งชงจะไม่ใช้หนังที่ได้จากการเลี้ยงเพื่อเอาหนังโดยเฉพาะอย่างหนังจระเข้หรือหนังงู ส่วนหนังเทียมนั้นทำมาจากวัสดุสังเคราะห์อย่างหนัง PVC ที่คุณภาพของเนื้อหนังและอายุการใช้งานแตกต่างจากหนังแท้

กว่าจะแยกหนังแต่ละชนิดออกและเข้าใจเหตุผลที่ต้องเลือกหนังแท้ราคาสูง กานต์ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้อยู่กับหนังที่หน้างานจนมองเห็นคุณค่าของมัน “ตอนมาทำงานใหม่ๆ ผมไม่เข้าใจว่าระหว่างหนังสองชนิดมันต่างกันยังไง ฟีลลิ่งต่างกันยังไง ตอนแรกก็มองว่าทำไมไม่ใช้ตัวที่ถูกกว่าในเมื่อเป็นหนังเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าแต่ก่อนเราคิดแต่เรื่องค่าใช้จ่ายทางธุรกิจจนของที่ทำออกมาไม่สวยเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องหนัง”

Legacy of Shoemaking

กานต์บอกว่ารองเท้าเป็นสินค้าเด่นของเซ่งชงและทำยากที่สุดในบรรดางานหนังทั้งหมด รองเท้า 1 คู่มีช่าง 3 ตำแหน่งที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ช่างคนแรกมีหน้าที่ทำหุ่นรองเท้า (shoe last) “สมัยก่อนใช้หุ่นรองเท้าไม้ ยุคนี้เปลี่ยนมาใช้หุ่นจากพลาสติก มันคือการขึ้นแบบรองเท้าที่ช่างต้องคำนวณการตัดหนังเพื่อให้ได้ทรงที่ต้องการ ต้องใช้ทักษะสูง รองเท้าจะใส่สบายหรือไม่ขึ้นอยู่กับหุ่น ตำแหน่งนี้ทำงานแค่ตอนออกแบบครั้งเดียวในตอนแรกแล้วหลังจากนั้นจะมีกี่ร้อยกี่พันคู่ก็ไม่เกี่ยง” 

การออกแบบรองเท้าให้ใส่สบายสำหรับกานต์คือการทำรองเท้าที่คนทั่วไปใส่ได้ “คิดว่ารองเท้าไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่เวลาทำหุ่นเราจะพยายามทำให้ตอบโจทย์เท้าไซส์มาตรฐาน”

ช่างคนที่สองคือช่างเย็บหนังหน้า นำหนังแผ่นใหญ่มาตัดเป็นแผ่นเล็กแล้วเย็บด้วยความละเอียดและใส่ใจ

ช่างคนสุดท้ายเป็นคนดึงรองเท้าหนังออกมาให้เป็นทรงจากหุ่นต้นแบบและติดพื้นรองเท้า ที่ในยุคก่อนทำจากยางรถยนต์เพราะสึกยากก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ยางแผ่นทั่วไป

งานหนังของเซ่งชงเป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้มือเย็บผสมเครื่องจักร “สมัยก่อนเราวางแพทเทิร์นเองแล้วตัดด้วยมือแต่มันมีโอกาสที่ขนาดจะออกมาไม่เท่ากัน รุ่นเราเลยใช้เครื่องปั๊มที่เร็วกว่าและทำให้เกิดมาตรฐาน”

ทั้งนี้เพราะเครื่องจักรไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมดเลยต้องใช้มือช่วยลบเหลี่ยมและเก็บขอบให้ปราณีต อุปกรณ์สำคัญของปรมาจารย์ช่างทำหนังมือาชีพคือมีดตัดหนังที่คมกริบ “คนทำหนังต้องลับมีดเก่งและใจเย็น ควรใช้หินลับมีดที่เบอร์ละเอียดพิเศษและต้องรู้องศาว่าควรเอียงมุมไหน” 

กานต์บอกว่า “ช่างทำหนังที่ดีคือช่างที่ถ้าเห็นงานออกมาไม่สวยแล้วเขาจะหงุดหงิด หรือถ้าไปบอกว่าคุณไม่ต้องเน้นรายละเอียดขนาดนี้ก็ได้ แบบนี้ไม่ได้ นี่คืองานของเขา เขามองว่างานฝีมือคือสิ่งที่ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด”

หากย้อนไปในยุคก่อน การเป็นช่างประจำที่ร้านเซ่งชงต้องสะสมชั่วโมงบิน เริ่มจากเป็นลูกมือตั้งแต่เด็ก ช่วยลับมีดและหยิบของก่อนถึงจะมีโอกาสได้เรียนวิชาการทำหนัง ทำให้กานต์มองว่าคุณสมบัติที่ดีของช่างที่เก่งคือความใจเย็นซึ่งเป็นนิสัยของช่างเก่าแก่หลายคนตั้งแต่รุ่นคุณปู่แต่เป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ น้อยคนจะชอบนั่งทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดและจดจ่ออยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน สิ่งนี้เป็นความท้าทายในการเฟ้นหาปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการทำหนังในรุ่นต่อไป

Size & Shape From Past to Present 

รองเท้าหนังของเซ่งชงหลายคู่เป็นทรงคลาสสิก ออกแบบโดยช่างสมัยโบราณ หนึ่งในคู่ที่เก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคแรกคือ รองเท้าหนังหัวหนีบสำหรับพระ มีพื้นรองด้วยหนัง 4 ชั้น ตัดเย็บด้วยมือทั้งหมดและตอกพื้นรองเท้าเป็นเลข 5 ตามแบบที่ยึดจากคนสมัยก่อนและยังทำมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งวันเย็บได้สองคู่เท่านั้นเพราะเป็นงานทำมือล้วน เป็นรุ่นรองเท้าที่พระนิยมซื้อและโรงแรมสั่งออเดอร์ให้พนักงานใส่

สมัยก่อนผู้คนนิยมใส่รองเท้าทรงหัวตัดที่ใหญ่มากหรือแหลมเล็กมากซึ่งกานต์บอกว่ารองเท้าหัวตัดโบราณเป็นแบบที่ยังขายได้อยู่จนถึงทุกวันนี้เพราะมีกลุ่มลูกค้าเก่าแก่ที่เป็นแฟนคลับร้าน

ทั้งนี้เขาทำรองเท้ารุ่นใหม่ที่ปรับทรงหัวรองเท้าให้อยู่ตรงกลางระหว่างหัวแหลมจัดกับหัวตัดเกินไปโดยตัดสินใจทำทรงรองเท้าใหม่จากความต้องการของตลาด “เรื่องแฟชั่นผมแทบไม่ได้เลยแต่ร้านเราไม่ได้แฟชั่นจ๋ามากอยู่แล้ว พอตลาดรองเท้าเริ่มเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามตลาด การเปลี่ยนแบบรองเท้าคือการไปเปลี่ยนตัวหุ่น ต้องศึกษาว่าทรงนี้จะขายได้ไหม ถ้ามองว่าขายได้ เราถึงลงทุนทำหุ่นรองเท้าขึ้นมา” 

ด้วยรองเท้าหนังมักมีทรงคลาสสิกอย่างโลฟเฟอร์ คัตชู บูต ทำให้การไม่ได้เป็นสายแฟชั่นจ๋าของกานต์ไม่เป็นปัญหา สิ่งที่เขาพิถีพิถันคือคุณภาพและฟังก์ชันการใช้งาน 

“ถ้าเป็นรองเท้าบูตขี่ม้าต้องสั่งตัดเป็นพิเศษ เพราะลูกค้าแต่ละคนเบอร์รองเท้าเท่ากันแต่ขนาดของน่องอาจไม่เท่ากัน จำเป็นต้องมาวัดและสั่งตัดขนาดให้เข้ากับเท้าของตัวเอง” นอกจากนี้กานต์ยังพบปัญหาจากการขายรองเท้าว่า “คนไทยมักมีเท้าใหญ่และหาขนาดรองเท้าที่พอดีไม่ได้เยอะมาก เราเลยตอบสนองลูกค้าตรงนี้ด้วยการทำไซส์ให้เยอะ เล็กสุดคือ 35 ใหญ่สุดถึง 51 คู่ที่ใหญ่ที่สุดยอมใช้หนังถึง 2 คู่ที่เยอะกว่ารองเท้าไซส์อื่น มาแล้วใส่ได้แน่นอน ถ้าไม่มีไซส์ที่หน้าร้านก็จะไปหามาให้”

ในขณะที่รองเท้าเป็นสินค้าที่ทำยากสุด กานต์บอกว่าเข็มขัดนั้นทำง่ายสุดเพราะแค่ตัดเป็นเส้นตรงและใช้หลักการเดียวกับรองเท้าคือทำตัวเลือกหลายไซส์ให้ได้มากที่สุด “อยากให้ทุกคนที่มาร้านเรามีเข็มขัดที่ใส่ได้ ที่ร้านมีไซส์ตั้งแต่เอว 40 กว่าถึง 50  ไม่ว่าจะยาวแค่ไหนเราก็ตัดให้ได้ ถ้าใหญ่กว่านี้ก็สั่งรอไว้และสามารถตัดให้ได้และเลือกแบบหัวเข็มขัดทองเหลืองได้ 

Pieces of Leather Accessories 

หมวดพิเศษที่ไม่ค่อยพบเห็นตามร้านเครื่องหนังร้านอื่นมากมายนักคือเครื่องม้าที่กานต์บอกว่าทำมานานตั้งแต่รุ่นคุณปู่และมีประเภทสินค้าหลากหลายมากขึ้นในรุ่นของเขาที่คนนิยมขี่ม้าเป็นงานอดิเรกมากกว่าสมัยก่อน

สินค้าหลักที่เซ่งชงผลิตเองคืออานม้าสำหรับการขี่ม้าเล่นที่กานต์บอกว่าแม้จะเป็นสินค้าเฉพาะทางแต่หลักการทำคล้ายกับรองเท้าทั้งกระบวนการและความใส่ใจในขนาด

“ทำโครงขึ้นมาก่อนแล้วดึงทรงออก แต่มีเพิ่มขั้นตอนนิดหน่อยตรงการเย็บเข้า อานม้าต้องคำนึงทั้งขนาดของคนและม้าทั้งสองอย่าง เวลาทำของพวกนี้เรามีความรู้เรื่องการขี่ม้าบางส่วน แต่ความรู้เรื่องการทำสำคัญกว่า อาศัยว่าลูกค้าอยากได้อะไร เขาก็จะบอกเราเองว่าควรปรับตรงไหน ส่วนใหญ่คนเลือกจากขนาด เราก็ต้องมีของหลากหลายให้เขาเลือกได้”

ในยุคแรก เซ่งชงยังทำแส้ม้าหนังด้วยตัวเองโดยข้างในใส่หวายจากร้านนายเหมือน ร้านหวายอายุกว่าร้อยปีในละแวกใกล้เคียงแล้วหุ้มด้วยหนัง

ปัจจุบันอุปกรณ์ขี่ม้าทั้งหมดอยู่บนชั้น 2 ของร้านโดยไอเท็มเกี่ยวกับม้าอื่นๆนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้ครบจบในที่เดียวสำหรับผู้ที่กำลังมองหาอุปกรณ์เสริมทั้งบังเหียน เหล็กปาก เกือก กางเกงและหมวกขี่ม้า ชุดฝึกม้าและอีกมากมาย

ในขณะที่หมวดเกี่ยวกับม้าอยู่ในช่วงขาขึ้นแต่กระเป๋าจากหนังแท้เป็นหมวดสินค้าที่กานต์มองว่ากำลังถูกดิสรัปต์และอาจเลิกขายหมวดนี้ไปในอนาคต “ตอนนี้มีวัสดุใหม่เข้ามาเยอะคือหนัง PU ที่มีน้ำหนักเบาและบางกว่า หนังแท้ที่เราใช้ยังไงก็มีน้ำหนักมากกว่า เราจึงไปเน้นทำรองเท้ามากกว่า”

ทั้งนี้เซ่งชงขายทั้งเครื่องหนังที่ผลิตเองและนำเข้าจากต่างประเทศโดยตอนนี้ยังคงมีกระเป๋าหนังที่นำมาขายซึ่งกานต์บอกว่าอยู่ภายใต้การคัดเลือกหนังที่ดีตามมาตรฐานของร้าน  

กานต์เสริมว่าสินค้าอีกอย่างที่อยู่คู่ร้านมาตั้งแต่แรกคือ น้ำยาขัดรองเท้ายี่ห้อ carr & day & martin Est.1765 ที่เป็นแบรนด์รุ่นคุณปู่อายุสองร้อยกว่าปี “น้ำมันชนิดนี้ทำมาจากไขกระดูกวัวที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นน้ำมันที่ดีกว่าน้ำมันอื่นๆ เอามาเช็ดให้หนังทนและเงา”

Lessons Engraved in Leather 

ในฐานะทายาทผู้สืบทอดร้านเครื่องหนัง กานต์มองว่า “เดี๋ยวนี้ know-how ทันกันหมดแล้ว เราไม่กล้าบอกว่าเราดีหรือเก่งกว่าใคร จุดขายของเราคือความเชื่อมั่นที่มีให้ลูกค้า เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าสินค้าของเราถูกที่สุด แต่ของเรามีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล” 

”ผมมาดูแลร้านนี้ครั้งแรกอย่างเต็มตัวตอนปีพ.ศ. 2549 สิ่งที่ได้เรียนรู้มีสองเรื่อง
หนึ่งคือสิ่งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณปู่จนถึงรุ่นผมคือเวลาขายของต้องอยู่หน้าร้านเองเพื่อทำความรู้จักกับลูกค้าว่ามีความต้องการอะไร ซื่อสัตย์ในการขายของคุณภาพ

สองคือสิ่งที่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง นั่นคือเทคนิคใหม่หรือการเก็บรายละเอียดที่พอทำจริงแล้วได้เรียนรู้ไปในตัว เช่น เจอหนังจากปากีสถานที่ราคาถูกลงแต่คุณภาพดีกว่าทำให้ลดต้นทุนทางวัสดุได้โดยยังคงคุณภาพระดับเดิม 

รวมถึงการเรียนรู้จากสิ่งที่เคยทำผิดพลาดอย่างการจัดการสต๊อก ตอนแรกเรามีความเชื่อว่าการสต็อกสินค้าไว้มากเป็นสิ่งที่ไม่ดี รู้สึกว่าสต็อกคือต้นทุนและพยายามเก็บของไว้ให้น้อย อยากทำยังไงก็ได้ให้ของออกเร็ว แต่ถึงเวลาขายจริงมันไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าลูกค้าจะซื้อรองเท้าเบอร์นี้มากน้อยแค่ไหน ตอนหลังผมเลยบอกพนักงานที่ร้านว่าสต็อกของไปเถอะ ให้ลูกค้ามาถึงแล้วมีของดีกว่า”

สุดท้ายก่อนจบบทสนทนา กานต์ฝากข้อคิดในการทำธุรกิจที่แม้ครอบครัวจะปูทางไว้ให้ตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วแต่ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอด

“ทุกวันนี้คู่แข่งเยอะแต่จะไม่มองว่าเราแข่งกับใคร เพราะถ้าไปตั้งว่าอยากชนะคนอื่นมันจะยาก แค่อยากแข่งกับตัวเอง คิดว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ในตลาดนี้ได้ ตอนนี้วงการคนทำเครื่องหนังในไทยก็มีกลุ่มคนที่รวมตัวกันด้วยความคิดใหม่ว่าไม่อยากเป็นคู่แข่งกันแต่อยากช่วยกันพัฒนาวงการเครื่องหนัง

สเน่ห์งานหนังคือความมีเอกลักษณ์ที่ตอนนี้ยังไม่มีวัสดุอื่นใช้ทดแทนแล้วเหมือนหนังทั้งหมด แต่ในอนาคตมันไม่แน่ โลกเปลี่ยนเร็ว ต้องเรียนรู้ไว เรียนรู้สิ่งใหม่และพัฒนาตัวเองตลอด”