เมื่อเกาหลีใต้จัดระเบียบนักท่องเที่ยวไทยจนเกิดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี สุดท้ายใครได้รับผลกระทบ

ยิ่งใกล้วันไปเที่ยวเกาหลีใต้ ยิ่งกังวลใจ-ความรู้สึกคงเกิดขึ้นกับใครหลายคน

ในช่วงหลายปีมานี้ เกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไทยต้องการไปท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ แม้จะวางแผนเที่ยวอย่างละเอียด จองที่พัก และตั๋วเครื่องบินไป-กลับเรียบร้อย แต่เมื่อใกล้วันเดินทาง หลายคนกลับยิ่งกังวลใจ เพราะไม่รู้เลยว่า ตม.เกาหลีจะใช้ดุลยพินิจให้ผ่านเข้าไปท่องเที่ยวตามที่ฝันอย่างง่ายดายหรือฝันสลายถูกกักตัวไว้แล้วส่งตัวกลับบ้าน และนั่นนำไปสู่การเกิดของแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี จนขึ้นเทรนด์ใน X และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

‘เอกสารครบแต่ไม่ผ่าน’

จริงๆ แล้วการที่คนไทยถูกส่งตัวกลับประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดอยู่แล้ว และในช่วงเปิดประเทศหลังโควิดยิ่งเข้าเกาหลีได้ยากขึ้น ตม.คัดกรองเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจากไทย

ปัจจุบันเกาหลีใต้เปิดให้คนไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทว่าแม้จะมีเอกสารครบ เตรียมแพลนเที่ยวมาอย่างดี K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization ระบบออนไลน์ที่คัดกรองชาวต่างชาติเข้าประเทศเกาหลีใต้) ผ่านแล้ว แต่ก็เข้าประเทศไม่ได้ และถูกส่งกลับโดยไม่เต็มใจ ซึ่งในปัจจุบันอัตราการส่งตัวกลับค่อนข้างสูงมาก โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานจากสื่อในเกาหลีใต้ว่าจาก 10,000 คนของคนไทยที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ ถูกปฏิเสธหรือส่งตัวกลับไม่ให้เข้าเมืองอย่างน้อย 5,000 คน (ข้อมูลจาก KBS News, 2022) จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งของการไปด้วยตัวเอง และฝั่งเอเจนซีทัวร์ที่ลูกค้าไม่กล้าเดินทาง เพราะบริษัททัวร์เองก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่านักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศได้

โดยหนึ่งในเหตุผลมาจากมีชาวไทยบางกลุ่มที่เข้าประเทศแบบถูกกฎหมายแต่หลังจากนั้นไปลักลอบทำงานและไม่กลับตามกำหนดเวลา หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ผีน้อย’ ส่งผลให้ ตม.คัดกรองคนเข้าประเทศเข้มงวดเป็นพิเศษจนบางกรณีกลายเป็นทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งใจไปทำงานพลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนมีเอกสารต่างๆ ที่แสดงความบริสุทธิ์ใจครบถ้วน ก็โดนส่งตัวกลับ

‘ผีน้อย ไม่น้อย’

หากจะย้อนกลับไปยังต้นตอของความเข้มงวดที่หลายคนมองว่าเกินพอดี จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี คงต้องย้อนไปดูตัวเลขสถิติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง

มีข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกือบ 200,000 คน แบ่งเป็นคนที่เข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย 40,000 คน และลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย 140,000 คน นั่นหมายความว่า คนไทยกว่า 75% อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงถึงระบบและความสัมพันธ์ระดับประเทศ

มีงานวิจัยเรื่อง A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea หรือแรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี เผยว่า แรงงานไทยในเกาหลีส่วนใหญ่ทราบดีว่าการเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งบางครั้งก็คุ้มที่จะเสี่ยง โดยเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจไปเป็นผีน้อยในเกาหลีมาจากความไม่มีเสถียรภาพในสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่คนรายได้น้อยมักถูกตีกรอบให้ไม่มีทางเลือกในสังคม และการกระจุกตัวของการพัฒนาในกรุงเทพฯ จนละเลยพื้นที่ในต่างจังหวัด

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสและตัวเลือกไม่มากนัก การทำงานนอกประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หากปัญหาภายในประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายก็จะเกิดขึ้นต่อไป แม้ในอนาคตจะไม่สามารถทำงานในเกาหลีได้ พวกเขาก็จะมองหาการทำงานในประเทศอื่นๆ อยู่ดี

นอกจากนี้ ในปี 2562 มีข้อมูลจาก KBS Report เผยว่า นักท่องเที่ยวคนไทยประมาณ 20% ที่ลงสนามบินเชจู เมื่อผ่าน ตม.แล้วจะหายตัวทันที และไม่กลับประเทศตามเวลาที่ระบุไว้ ทั้งนี้การเดินทางไปเกาะเชจูไม่จำเป็นต้องผ่าน K-ETA ขณะเดียวกันคนไทยยังเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้และถูกจับด้วยข้อหายาเสพติดมากที่สุด ทั้งในส่วนของการลักลอบนำเข้า และการจำหน่าย

สำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการในเกาหลีใต้ หลักๆ ยังเป็นงานเกษตร พืชสวน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น รายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อชั่วโมง หรือ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน

‘แค้นนี้ต้องชำระ’

เมื่อนักท่องเที่ยวที่บริสุทธิ์ใจได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น มีหลายคนที่แสดงความคิดเห็นว่า ควรต้องยกเลิกการเว้นวีซ่า เพื่อป้องกันปัญหาการหลบหนีเข้าไปทำงาน นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะไปท่องเที่ยวก็ทำวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากเพิ่มขึ้น

หลังจากมีประเด็นนักท่องเที่ยวโดนส่งกลับโดยไม่รับฟังเหตุผลใดๆ ทำให้หลายคนยึดหลัก ‘แค้นนี้ต้องชำระ’ ไม่ใช่แค่ #แบนเที่ยวเกาหลี แต่ในเมื่อ ตม.เกาหลีใต้เข้มงวดกับนักท่องเที่ยวไทย เราก็ควรเข้มงวดกับนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้บ้าง คำถามคือสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อประเทศจริงหรือไม่

ซึ่งกรณีนี้หากมองในมุมเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่านักท่องเที่ยวแดนโสมนี่แหละที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นชนชาติที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวในบ้านเราอย่างมาก

เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาประเทศไทยประมาณ 1.89 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มาเยือนประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 75,000 ล้านบาท

  • ปี 2563 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 262,000 คน
  • ปี 2564 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 12,000 คน
  • ปี 2565 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 530,000 คน

ซึ่งเมื่อเทียบกับอันดับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้แล้ว นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ติดอันดับ Top 5 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ โดยอันดับที่หนึ่งคือญี่ปุ่น ตามด้วยจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และสิงคโปร์ (ข้อมูลจาก Korea Times, 2023) แต่ถึงอย่างไรตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ถือว่าน้อย

ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รายงานว่าในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีราว 570,000 คน สำหรับปี 2566 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีกว่า 250,000 คน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนชัดเจนว่าทั้งสองประเทศต่างเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญร่วมกัน

ในส่วนของกำลังซื้อ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับญี่ปุ่น โดยในปี 2565 เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 1,734.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 33,592 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 1,178,000 บาทต่อปี (อันดับที่ 34 ของโลก) นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศค่อนข้างสูง โดยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ออกเดินทางไปทั่วโลก 28.7 ล้านคน

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักท่องเที่ยวเกาหลีสำคัญต่อไทยคือ ค่าใช้จ่ายต่อคนเวลาไปเที่ยวอยู่ที่ 39,891 บาทต่อทริป แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวประมาณ 7 วันถือว่าสมน้ำสมเนื้อ โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ประมาณ 12,000 บาทต่อคน ตามด้วยค่าอาหารและเครื่องดื่ม 8,600 บาท ที่เหลือเป็นค่าช้อปปิ้ง ค่าเดินทาง และอื่นๆ

‘ทำไมเกาหลีจึงยังเป็นจุดหมายสำคัญ’

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจบอกว่าต่อให้มีประสบการณ์ไม่ดี หรือถูกส่งกลับ เกาหลีก็ยังเป็นประเทศในฝันที่อยากไปอยู่ดี โดยเฉพาะเด็กไทยที่อยู่ในยุค 2000 เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมเกาหลี ทานอาหารเกาหลี เทรนด์แฟชั่นแบบเกาหลี หรือเป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลี เป็นการกลืนกินทางวัฒนธรรมโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อให้คนไทยเข้าถึงเทรนด์เกาหลีแค่ไหน ในสายตาคนเกาหลีเราก็ยังเป็นรองอยู่ดี นั่นทำให้เกาหลีมีแต้มต่อกับคนไทยอย่างมาก

เกาหลีใต้ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงวัฒนธรรม (cultural marketing) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือมีการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นจุดขาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องจากวัฒนธรรมของเกาหลีใต้สามารถเข้าถึงง่าย มีหลายรูปแบบ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้

จะว่าไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจะโทษทาง ตม.เกาหลีอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะในอีกมุมหากเรายังแก้ปัญหาเรื่องผีน้อยไม่ได้ คนไทยที่จะเดินทางเข้าเกาหลีใต้ก็อาจต้องเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอาจถูกส่งตัวกลับ ซึ่งหากจะแก้ปัญหานี้จริงก็อาจต้องกลับมาย้อนมองถึงต้นตออันเป็นรากของปัญหา อย่างเรื่องการสร้างงานสร้างโอกาสให้คนไทยอย่างเท่าเทียมและเพียงพอ รวมถึงทำให้แต่ละอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศบ้านเกิด เพื่อไม่ให้แต่ละคนต้องดิ้นรนกลายไปเป็นผีน้อยในต่างแดน

อ้างอิงข้อมูลจาก

ความสัมพันธ์ของ ‘ฮาโลวีน’ กับ ‘กิจการบ้านผีสิง’ จากเศรษฐกิจตกต่ำถึงความป๊อปจากดิสนีย์

สุขสันต์วันฮาโลวีน!

ฮาโลวีนเป็นอีกเทศกาลที่บ้านเราเองก็ค่อยๆ สนุกไปกับการกลับมาของภูตผี กับการได้แต่งชุดที่วันธรรมดาเราไม่ค่อยได้ใส่กัน คำว่าวันปล่อยผีที่เป็นชื่อเล่นของเทศกาลนี้ก็ดูจะเป็นคำอธิบายที่ดี คือนอกจากจะเป็นวันตามความเชื่อว่าภูตผีจะกลับมาแล้ว ยังเป็นวันที่มนุษย์แบบเราๆ ที่อยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ได้ปล่อยผี ได้ทำตัวแปลกๆ หรือกระทั่งได้มีปฏิสัมพันธ์กัน

ด้วยความที่ฮาโลวีนเป็นวันแห่งการกลับหัวกลับหาง คนเป็นกลายเป็นคนตาย เมืองที่เคยซึมเซากลับกลายเป็นมีสีสัน อีกด้านฮาโลวีนเป็นเทศกาลที่แพร่กระจายพร้อมๆ กับความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมป๊อปเช่นหนังสยองขวัญทั้งหนังผีและหนังเชือดจากฮอลลีวูด ถ้าเรามองย้อนไป หนึ่งในผลผลิตจากฮาโลวีนอเมริกันคือบ้านผีสิง ซึ่งเจ้าบ้านผีสิงนี้ในที่สุดกลายเป็นเครื่องเล่นหนึ่งในดิสนีย์ และบ้านผีสิงกลายเป็นธุรกิจ เป็นความบันเทิง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำของความสยองขวัญที่ทั่วโลกมีคล้ายๆ กัน

ในวันฮาโลวีนนี้ ทรัพย์คัลเจอร์ขอพาทุกท่านย้อนไปยังยุคสมัยแห่งความฝืดเคืองของอเมริกาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Great Depression ยุคสมัยที่ความฝืดเคืองทำให้ความบ้าคลั่งของฮาโลวีนต้องถูกควบคุมด้วยการเปิดบ้านผีสิงขึ้น ไปจนถึงเมื่อดิสนีย์ได้ทำบ้านผีสิงให้กลายเป็นไอคอนด้วยการออกแบบอย่างพิเศษถี่ถ้วนจนทำให้บ้านผีสิงกลายเป็นเครื่องเล่นหรือพื้นที่หลอกหลอนแบบใหม่ที่ฮิตไปทั่วโลก บ้านผีสิงกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สัมพันธ์กับป๊อปคัลเจอร์ จนทุกวันนี้จากบ้านผีสิงค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่พื้นที่เล่นเพื่อความหลอกหลอนอื่นๆ เช่นซอมบี้หรือห้องปิดตาย

บ้านผีสิงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

เทศกาลฮาโลวีนเป็นเทศกาลที่มีประวัติยาวนาน แต่เดิมสัมพันธ์กับความเชื่อของทางเคลติก (celtic) และความเชื่อนี้ก็เดินทางมาพร้อมกับชาวสก็อตและไอริชที่อพยพมายังอเมริกา หนึ่งในจุดเด่นคือการที่เปลี่ยนจากการแกะสลักหัวเทอร์นิป (turnip) มาเป็นการแกะฟักทอง พืชท้องถิ่นของอเมริกา (ที่หาง่ายและใหญ่กว่าด้ย) จนกลายเป็นอีกไอคอนสำคัญของเทศกาลนี้ก็เป็นจุดเด่นของการย้ายบริบทประเพณีจากยุโรปมาสู่อเมริกา

จุดเด่นหนึ่งของเทศกาลฮาโลวีนคือการปล่อยผี ในความหมายของการปล่อยผีให้ผู้คนโดยเฉพาะเด็กผู้ชายได้เล่นบ้าๆ ทำการกลั่นแกล้งต่างๆ ได้อย่างหนำใจ หลายครั้งเลยเถิดไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น มีข่าวว่าในปี 1879 ที่เมืองเคนตักกี้ เด็กผู้ชายรวมตัวกันถึง 200 คนเอาศพปลอมไปวางที่ทางรถไฟหลายจุดเพื่อหยุดไม่ให้รถไฟวิ่งได้ ในปี 1900 นักศึกษาแพทย์ก็ขโมยร่างคือศพจริงๆ มาแขวนไว้ที่ประตูอาคารเรียน คือปล่อยผีเกิน เล่นเกิน

ทีนี้ในการเล่นที่บ้าคลั่งในช่วงก่อนทศวรรษ 1930 ก็ยังไม่เป็นปัญหาอะไรมาก พอมาถึงปี 1930 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงที่เกิดความตึงเครียด กลายเป็นว่าฮาโลวีนที่เคยเป็นเทศกาลล้อเล่นปล่อยผีธรรมดา ด้วยการเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์เดิม เพิ่มเติมคือโกรธจริง เด็กหนุ่มในยุคนั้นคือเครียดและโกรธสังคมเลยใช้โอกาสนี้ระบายอย่างรุนแรงมาก

ในปี 1933 เกิดภาวะที่เรียกกันว่า Black Halloween เป็นการล้อกับภาวะตลาดหลักทรัพย์ล่มสลายเมื่อสี่ปีก่อนหน้าคือ Black Tuesday ฮาโลวีนมืดในยุคเศรษฐกิจมืดมน กลายเป็นสุดยอดความอลหม่าน ในปีนั้นเด็กวัยรุ่นออกมาป่วนเมืองขนาดที่ว่าช่วยกันคว่ำรถยนต์ที่จอดอยู่ เลื่อยเสาสัญญาณโทรศัพท์และทำการพ่นสีและทำลายสาธารณสมบัติทั่วประเทศ

ช่วงทศวรรษนี้เองที่อเมริกาเริ่มเกิดธรรมเนียม trick-or-treat คือเป็นช่วงที่ผู้ใหญ่ เมือง ไปจนถึงระดับรัฐเริ่มมองเห็นว่าพลังของเด็กๆ จากความโกรธเกรี้ยวที่มาระบายออกนี้เป็นปัญหาและต้องหาทางออก หลายเมืองถึงขนาดเตรียมจะห้ามธรรมเนียมฮาโลวีนกันเลย ในช่วงนี้เองที่เมืองพยายามจำกัดพื้นที่ พูดง่ายๆ คือหาที่เล่นที่หลอกให้กับเด็กๆ ซึ่งการออกธรรมเนียม trick-or-treat เป็นวิธีนึง คือให้แต่งผีมานะ แล้วเอาขนมแลกไม่ให้หลอก

นอกจากการแจกขนมแล้ว กิจกรรมของเมืองใหม่คือการเปิดพื้นที่ที่เราเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของบ้านผีสิง คือมีการตกแต่งพื้นที่เฉพาะให้เด็กๆ เข้าไปหลอนไปกลัวกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการตกแต่งบ้านเป็นพื้นที่สยอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดบ้านผีสิงขึ้น

ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่าบ้านผีสิงในยุคแรกๆ คือก่อนที่จะกลายเป็นกิจการ บ้านผีสิงเป็นกลยุทธ์และธรรมเนียมของบ้านในอเมริกา คือแต่งกันแบบบ้านๆ เรียกว่า trails of terror หลักฐานสำคัญหนึ่งคือใบปลิวในปี 1937 เป็นแนวทางว่าแต่ละบ้านจะสร้างบ้านผีสิงหรือเส้นทางสยองของตัวเองได้ยังไง ในแผ่นพับนั้นก็พูดถึงการวางเส้นทางจากหน้าบ้านไปจนถึงห้องต่างๆ มีการเอาขนเฟอร์มาตกแต่ง เอาตับสดๆ มาแขวน การจัดเส้นทางในสวนเป็นเขาวงกต มีการกำหนดตีมที่ต่างกัน เช่น เป็นบ้านคนบ้า เส้นทางผีสาง หรือเป็นอุโมงค์ก็สุดแล้วแต่จะสร้างสรรค์

บ้านผีในยุคแรกจึงเป็นเหมือนการที่เด็กๆ เร่ไปตามบ้านแต่ละหลัง ขอขนม และเข้าไปถูกหลอกหลอนตามแต่ว่าแต่ละบ้านจะออกแบบไว้ อันที่จริงคอนเซปต์บ้านผีสิงอันหมายถึงพื้นที่จำลองที่เข้าไปเพื่อถูกหลอนหลอนเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว เช่นที่มาดามทุสโซที่ลอนดอนเองก็มีการจัดแสดงห้องสยองขวัญคือ Chamber of Horrors คือเป็นห้องของบุคคลสำคัญที่ถูกตัดคอด้วยกิโยตินในการปฏิวัติฝรั่งเศส มีตั้งแต่ปี 1802 หรือในปี 1915 ก็มีการสร้างบ้านผีสิงหรือ ghost house

ทว่าจุดเริ่มที่เริ่มเป็นธรรมเนียมและวัฒนธรรมก็ต้องยกให้การเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำและเทศกาลฮาโลวีน และที่สำคัญคือจากบ้านผีบ้านๆ หรืออาจจะแค่เป็นการจัดบ้านผีของหน่วยงาน สถานพยาบาล หรือโรงเรียนเพื่อระดมทุน บ้านผีสิงกลายเป็นปรากฏการณ์ คือกลายเป็นไอคอนระดับโลกได้ ก็ต้องยกให้เป็นผลงานของดิสนีย์ ผู้ยกระดับบ้านผีสิงชั่วคราวให้กลายเป็นสุดยอดเครื่องเล่นตลอดกาล เป็นพื้นที่หลอกหลอนด้วยพลังของการออกแบบและนวัตกรรมจากโลกสมัยใหม่

ไอคอนของบ้านผีสิง เริ่มต้นที่ดิสนีย์แลนด์

ก่อนจะไปถึงดิสนีย์แลนด์ รอยต่อของบ้านผีสิงที่ขยายตัวไปทั่วอเมริกาและจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องกันจากทศวรรษ 1930 ที่เป็นการสร้างบ้านผีในระดับบ้านเรือนเพื่อหลอกล่อเด็กๆ ในช่วงทศวรรษ 1950 เริ่มเกิดบ้านผีสิงจริงจังขึ้นเช่นในหลายเมืองของแคลิฟอร์เนีย เริ่มมีองค์กรเช่นการตั้งสมาพันธ์บ้านผีสิง (Assistance League Haunted House) ส่วนใหญ่ในยุคก่อนดิสนีย์แลนด์ บ้านผีสิงจะมีฟังก์ชั่นคล้ายๆ บ้านผีเร่ในบ้านเรา คือเป็นส่วนหนึ่งของฮาโลวีน เป็นงานแฟร์ที่หน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานการกุศลใช้ระดมทุน

หมุดหมายสำคัญของบ้านผีสิงในฐานะเครื่องเล่น พื้นที่เข้าไปท่องเที่ยวเพื่อความกลัวต้องยกให้การเปิด ‘คฤหาสน์ผีสิง (haunted mansion)’ ในปี 1969 คฤหาสน์ผีสิงที่ดิสนีย์แลนด์นับเป็นพื้นที่ความฝันใหม่ที่น่าสนใจ เพราะดิสนีย์แลนด์เป็นดินแดนฝันดีของเด็กๆ เป็นที่สว่างไสว สดใส แต่ทว่าโปรเจกต์คฤหาสน์ผีสิงเป็นพื้นที่เดียวของดิสนีย์แลนด์ที่เต็มไปด้วยลักษณะเสื่อมโทรม ซากปรักหักพัง แต่คฤหาสน์ผีสิงใหม่กลายเป็นว่าพอเปิดตัว คฤหาสน์สยองใหม่กลายเป็นพื้นที่ยอดฮิต มีคนเข้าเล่นกว่า 80,000 คน ภายในไม่กี่วันหลังเปิดตัว

อันที่จริง โปรเจกต์บ้านผีสิงของดิสนีย์เป็นอภิมหาโปรเจกต์ คือใช้เวลาพัฒนานานมาก คืออันที่จริงวอลต์ ดิสนีย์ไปดีลศิลปินอังกฤษที่ไปเจอโดยบังเอิญที่ลอนดอนตั้งแต่ปี 1951 ในร้านของเล่น คือแกสนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก จนเปิดดิสนีย์แลนด์ในปี 1955 แนวคิดในการอยากจะมีบ้านผีสิงอยู่ในใจของวอลต์ ดิสนีย์มาตั้งแต่วันเปิดสวน และแผนการขยายสวนก็เริ่มตั้งแต่วันที่สวนเปิด ความพิเศษของการคิดเนื้อหามีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือหลายส่วนมาจากการที่วอลต์ ดิสนีย์ ดึงทีมจากส่วนโปรดักชั่นคือที่ทำแอนิเมชั่นมาช่วยคิด เช่นการดึงแอนิเมเตอร์คู่ใจคือ Ken Anderson ตัวเคนเองเคยเป็นสถาปนิกมาก่อนและหลังจากเข้ามาช่วยคิดในพื้นที่ดิสนีย์แลนด์แกก็ไปทำ Sleeping Beauty 

เคนเป็นคนเสนอเรื่องคฤหาสน์ผีสิง แนวคิดของเคนเป็นคฤหาสน์ทางตอนใต้ (เรียกว่า antebellum mansion) เป็นบ้านใหญ่ๆ ในยุคที่ยังมีทาส ทำไร่ฝ้าย ซึ่งตัวบ้านคล้ายๆ กับปัจจุบันคือเป็นบ้านเก่า ผุพัง แต่จุดที่อาจจะเหลือกลิ่นอายบ้างคือเคนคิดให้บ้านผีที่พัฒนาในยุคแรกเป็นแบบตลก คือชวนหัว บ้าๆ บอๆ ไปเลย ในสมัยที่คิดบ้านผีสิงของดิสนีย์แลนด์ในช่วงแรกมีหลายข้อเสนอมาก บ้านผีแบบเรียบหรูเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นก็มี ต่อมามีการนำหลายๆ ทีมแอนิเมเตอร์เข้ามาจนได้เป็นแบบจำลองบ้านผีสิงที่เน้นการหลอกหลอน วอลต์ ดิสนีย์เองก็เคาะตัวบ้านและสถาปัตยกรรมแบบหลอกหลอนในปัจจุบันขึ้น

สิบปีผ่านไป ในที่สุดบ้านคฤหาสน์ผีสิงของดิสนีย์ลงมือสร้างในปี 1962 พอ 1963 ก็สร้างเสร็จแต่ตัวอาคาร ข้างในยังว่างเปล่า โปรเจกต์ก็พักไป การพักโปรเจกต์กลายเป็นจุดเพิ่มเติมที่น่าสนใจหลายอย่างที่ทำให้บ้านผีของดิสนีย์กลายเป็นบ้านผีแห่งโลกสมัยใหม่

อย่างแรกการพักในช่วงนั้นทีม Imagineering (คือทีมคิดและสร้างดินแดนในฝันของดิสนีย์) ทางวอลต์ต้องการแรงไปร่วมงานเวิลด์แฟร์ที่นิวยอร์กที่จะจัดขึ้นในปี 1964-1965 จุดนี้เองที่ในสวนดิสนีย์แลนด์มีบ้านผีเปล่าๆ ตั้งอยู่ คนยังเข้าไม่ได้เพราะทีมไม่พอ แต่ทีมก็แก้ปัญหาอย่างฉลาดด้วยการตั้งป้ายที่โด่งดังถึงเหล่าวิญญาณที่ไม่อยากจะเกษียณ (ghosts who didn’t want to retire) คือเป็นป้ายที่บอกให้ผีสางต่างๆ สมัครเข้ามาอยู่ในบ้านได้ คนที่มาดูสวนก็รอว่าจะมีผีแบบไหนอยู่ข้างใน กลายเป็นกระแสไปอีก

ทีนี้ จุดเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ ในการร่วมเวิลด์แฟร์ ทางทีมของดิสนีย์ก็ได้ไปเห็นอะไรในงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือการใช้กลไกต่างๆ ไปจนถึงระบบเคลื่อนที่เช่นรถยนต์หรือรถราง แรงบันดาลใจสุดยอดของสวนคือการอยากสร้างให้บ้านผีสิงไม่ต้องเดิน ใช้วิธีการนั่งเครื่องเข้าไป จุดนี้เองเป็นจุดเริ่มของเก้าอี้อัตโนมัติที่เคลื่อนต่อๆ กันไป การใช้ระบบนั่งเข้าไปเล่นแก้ปัญหาหลายอย่าง อย่างสำคัญที่สุดคือทำให้เครื่องเล่นรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ ในที่สุดทางทีมก็ออกแบบส่วนประกอบสำคัญของเครื่องเล่นคือเป็นเก้าอี้และกลไกที่หมุน ขยับ และเคลื่อนที่ได้เรียกว่า Omnimover

หลังจากนั้นก็มีบางแรงบันดาลใจที่เชื่อมโยงกัน เช่นข้างต้นคือวอลต์ ดิสนีย์ใช้ทีมและแรงบันดาลใจจากทีมแอนิเมชั่น จากโลกของการทำหนัง หนึ่งในธีมสำคัญที่คฤหาสน์ผีสิงของดิสนีย์แลนด์ได้แรงบันดาลใจมาคือหนังเรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ฉบับฝรั่งเศสของ Jean Cocteau ผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนาน ในเรื่องให้ภาพของอสูรอันแปลกประหลาด การจุดคบเพลิงท่องไปในปราสาท การที่พื้นที่รายล้อมไปด้วยชั้น ด้วยของแปลกประหลาด 

ด้วยแนวคิดแสนประหลาดนี้ สรุปว่าวอลต์ ดิสนีย์ เอาด้วย และบอกว่าในบ้านผีสิงจะมีลักษณะสำคัญหนึ่งคือจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของสิ่งประหลาด (Museum of the Weird) โปรเจกต์บ้านผีถือเป็นหนึ่งในมรดกช่วงท้ายๆ จากจินตนาการและการทำงานอย่างของวอลต์ ดิสนีย์ ร่วมกับทีม เพราะหลังจากนั้นไม่นานวอลต์ก็เสียชีวิตลงในปี 1966 แต่ความฝันที่เป็นฝันร้ายของดิสนีย์ได้รับการสานต่อ บ้านผีสิงของดิสนีย์ปฏิวัติเครื่องเล่นที่ใช้ความสยอง จากกลไกที่สมจริง ห้องโถงที่ภูตนับร้อยออกมาเต้นรำเต็มไปด้วยความสมจริง กลิ่นอายที่ตกทอดมา ที่ทำให้บ้านผีของดิสนีย์ได้รับความนิยมคือการปนความตลกชวนหัวเข้ากับการถูกหลอนและความน่ากลัว

เมื่อเปิดบ้านผีสิงแล้ว ในที่สุดเจ้าบ้านผีสิงกลายเป็นไอคอนของบ้านผีสิง กลายเป็นหัวใจหนึ่งของทั้งสวนสนุก งานกิจกรรม ไปจนถึงเป็นหน้าตาเครื่องเล่นและเป็นส่วนหนึ่งของความสยองให้กับทั่วโลกในเวลาต่อมา

บ้านผีสิง ฮาโลวีน และป๊อปคัลเจอร์

เราจะเริ่มเห็นความซ้อนทับกันของสื่อ เช่นโลกจินตนาการของดิสนีย์ที่หยิบยืมไปมาระหว่างโลกภาพยนตร์สู่พื้นที่กายภาพ ในขณะเดียวกันความเป็นไอคอนที่ดิสนีย์ทำในบ้านผีสิง ที่เปลี่ยนพื้นที่กายภาพจากบ้านผีด้วยผ้าและตับสดไปสู่พื้นที่ประสบการณ์ที่สมจริงและเต็มไปด้วยนวัตกรรม หลังจากบ้านผีที่ดิสนีย์กลายเป็นไอคอน บ้านผีสิงที่จริงจังขึ้น กลายเป็นพื้นที่เล่นที่มีการใช้กลไก มีการออกแบบจริงจังก็กระจายตัวออกไป

นับจากความดังของบ้านผีสิงของดิสนีย์ และคงจะประกอบกับว่าคนอเมริกันทำบ้านผีสิงช่วงฮาโลวีนอยู่แล้ว หลังจากบ้านผีดิสนีย์เปิดก็เริ่มเกิดกิจการจริงจัง เช่นองค์กร The United States Junior Chamber เป็นเหมือนสมาคมเยาวชนก็ใช้การทำบ้านผีสิงเพื่อระดมทุน ทำบ้านผีสิงเก่งมากถึงขนาดมีฮาวทูออกมา หรือมีฟาร์ม Knott’s Berry Farm ในแคลิฟอร์เนียก็ทำฟาร์มสยองให้คนไปเที่ยว จากทำในระดับไม่กี่วันกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวระดับหลายสัปดาห์ หรือในทุกปีมีคุณ Bob Burns ที่มีชื่อเสียงในการเอาหนังผีคลาสสิกมาทำเป็นบ้านผีสิงที่มีความสยองและละเอียด กิจการบ้านผีเป็นที่นิยมขนาดกลุ่มคริสเตียนที่ต่อต้านฮาโลวีนทำบ้านผีสิงในรูปแบบของตัวเองเรียกว่า hell house ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1972

ในช่วงทศวรรษ 1980 ทางฮอลลีวูดก็รับเอาความสยองและเทศกาลฮาโลวีนเข้ามาโดยเสนอหนังตระกูลหนังเชือดต่างๆ ความนิยมของหนังเชือดเช่น ศุกร์ 13 ทำให้กิจการที่เที่ยวหลอนได้รับความนิยมมากขึ้น ในยุค 1980-1990 บ้านผีสิงจะเริ่มมีตัวละครสำคัญคือเฟรดดี้ ครูเกอร์ เจสัน หรือผีหัวเข็มหมุดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านผีสิง เริ่มมีผีฆาตกรใส่หน้ากากถือมีดไล่สับเรา ตรงนี้เองที่บ้านผีสิง กิจกรรมฮาโลวีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสื่อกระแสหลักและส่งอิทธิพลมายังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในสหรัฐฯ เองก็เกิดปัญหาเช่นมีการฆาตกรรมกันจริงๆ ในบ้านผีสิง ทำให้กิจการถูกตรวจสอบ ทว่าในภาพรวม กิจการบ้านผีสิงในยุคทองมีมูลค่ารวมสูง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเฉพาะช่วงฮาโลวีนมีมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนกลับมาบ้านเรา บ้านผีสิงเองดูจะเป็นความหลอกหลอนและกิจกรรมที่ล้อกับกระแสโลก ยุคหนึ่งแทบทุกสวนสนุกขนาดใหญ่ล้วนมีบ้านผีสิงที่มีหน้าตาเป็นปราสาทหรือบ้านวิกตอเรียนให้เข้าไปเล่น หรืออีกด้านเราก็มักมีบ้านผีสิงแบบบ้านๆ มีโชว์ของแปลกตามงานวัด หลายครั้งสัญลักษณ์ของการหลอกหลอนก็สัมพันธ์กับหนังที่กำลังอยู่ในกระแส เรามักจะเจอหน้ากากสกรีม เจอมีด เจอเลื่อยไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบของการหลอกหลอน

ในปัจจุบัน เทรนด์เรื่องผีก็ค่อยๆ เปลี่ยนความนิยมไป หนังเชือดเริ่มลดความนิยมลง พื้นที่เล่นที่มีธีมความหลอนก็ปรับตัว เราจะเริ่มเจอเครื่องเล่นที่มีธีมสำคัญเช่นซอมบี้ วิ่งหนีซอมบี้มากขึ้น หรือพื้นที่ที่เล็กลง กลายเป็นเครื่องเล่นสยองที่อาจจะอินเทอร์แอ็กทีฟมากขึ้นเช่นการเข้าไปเป็นกลุ่มแล้วไปร่วมไขปริศนาเพื่อออกจากห้องปิดตาย

ความสนุกปนความหลอนในช่วงฮาโลวีนจึงมีหลายปัจจัยของสื่อและการกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมบ้านผีแบบบ้านๆ สู่การกลายเป็นบ้านผีสิงจริงจัง และบ้านผีสิงในเทศกาลฮาโลวีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังเช่นหนังเชือด และหนังเชือดที่ฉายวันฮาโลวีนหรือมีฉากฮาโลวีนก็ย้อนกลับไปมีบทบาทในพื้นที่บ้านผีวนเวียนไปมาอย่างไม่รู้จบ

อ้างอิง

Lamptitude Reserve แบรนด์สำหรับคนที่หลงใหลโคมไฟ งานดีไซน์ และความเป็นอิตาลี

“ตาของมนุษย์จะวิ่งไปหาสิ่งที่สว่างที่สุดเสมอ สมมติคนอยู่ในพื้นที่มืด แล้วมีคนฉายไฟมา ตาจะวิ่งไปสิ่งที่ไฟนั้นฉายมาก่อน ดังนั้นโคมไฟที่เป็นวัตถุเดียวในบ้านซึ่งเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง ในภาษาของดีไซน์สิ่งนี้ถือว่าเป็น พระเอกของการตกแต่งเลย เพราะมันเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวที่อยู่บนอากาศและเปล่งแสง”

สาธิต ก่อกูลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไลท์ จำกัด ผู้ก่อตั้งธุรกิจโคมไฟแบรนด์ Lamptitude พูดถึงความพิเศษของโคมไฟในทัศนะของเขา และนั่นทำให้แบรนด์ Lamptitude มีเป้าหมายในการขายโคมไฟคุณภาพดี ดีไซน์สวยหรู สำหรับการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน สำหรับทุกหลังคาเรือนมาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ทว่าอีกหนึ่งความฝันสำคัญที่เป็นเหมือนไมล์สโตนของคนรักโคมไฟและงานดีไซน์ คือการมีโอกาสได้จัดจำหน่ายโคมไฟจากแบรนด์ดัง จึงเป็นเหตุให้เขาเปิดตัว Lamptitude Reserve แบรนด์น้องใหม่ที่แยกออกมาจาก Lamptitude โดยมีจุดประสงค์เพื่อขายโคมไฟระดับโลก โดยเฉพาะแบรนด์จากประเทศอิตาลี

น่าสนใจไม่น้อยว่าตลอดการทำงานกว่า 20 ปี Lamptitude ทำยังไงจนกลายเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการโคมไฟประเทศไทยได้ รวมไปถึงก้าวครั้งใหม่กับ Lamptitude Reserve ที่ขายโคมไฟระดับโลกอย่าง Flos, LUCEPLAN และ LODES ว่ามีความท้าทายยังไง ทำไมต้องเป็นแบรนด์อิตาลี และธุรกิจของพวกเขาจะเติบโตต่อไปยังไงหลังจากนี้

หลังจากทำ Lamptitude มายาวนาน ทำไมถึงอยากเริ่มต้นทำแบรนด์ใหม่อย่าง Lamptitude Reserve 

ต้องบอกว่า Lamptitude Reserve เป็นความฝันของผมกับทีมมานานแล้ว เป็นหนึ่งในไมล์สโตนที่เราอยากไปให้ถึงในชีวิตการทำงาน คือสมมติถ้าเป็นคนขายรถยนต์เราก็อยากขาย Porsche ขาย Ferrari ถ้าขายกระเป๋าก็อยากขาย Gucci, Chanel หรือ Louis Vuitton ขายโคมไฟเราก็อยากจะขายแบรนด์ Top 10 ที่ดีที่สุดในโลก เลยเปิดพื้นที่ตรงนี้เพื่อรองรับหรือ Reserve แบรนด์เหล่านี้ 

ซึ่งก่อนที่จะเริ่มทำตรงนี้ได้ ที่ผ่านมาเราต้องสร้างชื่อเสียง สร้างเครดิตกับแบรนด์ Lamptitude มาระดับหนึ่งก่อน เพื่อให้แบรนด์โคมไฟระดับโลกเขาไว้วางใจว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะขายสินค้าของพวกเขาได้ 

ทำไมก่อนหน้านั้นธุรกิจโคมไฟแบบนี้จึงไม่มีในประเทศไทยเท่าไหร่นัก

ยกตัวอย่างจากผมเองก็ได้ คือก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีก่อนเราเคยทดลองเอาแบรนด์โคมไฟของอิตาลีมาขายแล้วนะ แต่มันไม่สำเร็จ ในวันนั้นเรายังไม่มีความรู้และประสบการณ์มากพอ ยังเข้าใจตลาดไม่ดีพอ คือวันนั้นเรากังวลเรื่องราคามากเกินไปเลยไม่ได้เอาแบรนด์อิตาลีที่ดีที่สุดมาจำหน่าย ดังนั้นพอทิศทางของการขายโคมไฟไม่ชัดเจน เราเลยไม่ประสบความสำเร็จ 

วันนี้พวกเราเลยเปลี่ยนแผนใหม่ จะทำ Lamptitude Reserve ก็ต้องขายโคมไฟแบรนด์ที่ดีที่สุดเท่านั้น ต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง คนไทยรู้จัก งานของแบรนด์ต้องออกแบบโดยดีไซเนอร์ระดับโลก 

แต่ถึงทำขนาดนี้การขายโคมไฟก็ยังเป็นเรื่องยากนะ โคมไฟมันเป็นเหมือนลูกเมียน้อย เป็นสิ่งที่เขาจะตัดออกจากงบประมาณตกแต่งบ้านเป็นอย่างแรก ดังนั้นลูกค้าที่เขาจะให้ความสำคัญกับโคมไฟแบรนด์ดังๆ แล้วยอมลงทุนมีน้อยมาก หลัก 0.0001% เอง ตรงนี้เลยเป็นปัญหาในธุรกิจโคมไฟที่ทำให้ไม่มีใครกระโดดเข้ามาลุยเท่าไหร่นัก

ดังนั้นสิ่งที่ทีมของผมต้องทำกันคือต้องพยายามดึงกลุ่มค้าเดิมจาก Lamptitude ที่มีเยอะมาก ให้เขาเข้าใจว่า  Lamptitude Reserve คืออะไร นำเสนอให้เขาได้เห็น ได้รู้ ได้เข้าใจผลงานดีไซน์ระดับโลกบ้าง ซึ่งหากเขาเห็นแล้วชอบ เห็นแล้วถูกใจ ราคายังอยู่ในงบประมาณที่เขาตั้งไว้ เขาก็อาจจะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปบ้างก็ได้

ในวันนี้ Lamptitude Reserve มีแนวทางธุรกิจที่ชัดเจนคือเลือกจำหน่ายแบรนด์โคมไฟจากประเทศอิตาลีเท่านั้น คุณสนใจอะไรในประเทศนี้

ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศอิตาลีบ่อยมาก ไปเพื่อศึกษาให้เข้าใจเลยว่า แต่ละประเทศเขามีผู้ผลิตโคมไฟยังไง แบบไหนเหมาะกับประเทศไทยมากกว่า ผมจึงได้รู้ว่าทำไมแบรนด์จากอิตาลีจึงแตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน

ผมว่าประเทศอิตาลีเหมือนประเทศญี่ปุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์และศิลปะ คือผมมีเพื่อนอิตาลี แล้วเขาจะชอบเล่าว่าประเทศเขาไวน์ดีที่สุด สปาเกตตี้ดีที่สุด รถยนต์ก็ดีที่สุด อะไรก็ดีที่สุด ผมก็จะคิดว่าเพื่อนคนนี้ขี้โม้จริงๆ แต่พอได้เดินทางไปอิตาลีบ่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจว่า คนที่นั่น เวลาทำอะไร เขาทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ทุกอย่างเขาเริ่มตั้งคำถามจาก Why (ทำทำไม) ไม่ใช่ What (ทำอะไร) หรือ How (ทำยังไง) ดังนั้นถ้าเขาหาคำตอบได้ชัดเจนแล้วว่าจะทำสินค้าสักชิ้นทำไม เขาจะทำออกมาได้ดี ได้ตรงความต้องการมากที่สุด

แล้วยิ่งในแวดวงโคมไฟ อิตาลีคือประเทศเดียวในยุโรปที่ยังเป็นผู้ผลิตเอง เพราะหากไปดูสินค้าจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่สวยๆ เขาไม่ใช่ผู้ผลิตเอง เขาให้ต่างประเทศเป็นคนทำให้ เช่นจีนหรือฝรั่งเศส ซึ่งบางทีก็คืออิตาลีด้วยซ้ำ 

ซึ่งความพิเศษของการผลิตในอิตาลีคือความคราฟต์ สมมติเวลาจะผลิตแก้วหนึ่งใบ ประเทศจีนอาจใช้วิธีผลิตมา 5 ใบ แล้วทิ้งไป 4 ใบ เหลือสัก 1 ใบที่ใช้งานได้ แต่สำหรับอิตาลีคือผลิต 100 อันต้องสมบูรณ์แบบทุกอัน 

อีกส่วนที่สำคัญคือความละเมียดละไมและศิลปะ ผมยกตัวอย่างโคมไฟ Volume ที่ผลิตโดยแบรนด์ Snøhetta ที่เป็นแก้วกลมหลายอันวางเรียงกัน คือโคมไฟอันนี้เขาใช้เวลา 2 ปีครึ่งเลยนะ ในการผลิตเขาต้องวัดแล้ววัดอีกว่ามุมไหน องศาไหน แก้วกลมที่มี 3 ไซส์ ถึงจะเรียงออกมาแล้วสวยที่สุด ซึ่งงานเหล่านี้ผลลัพธ์ที่ได้คือ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีมันก็ยังดูสวย ยังดูร่วมสมัยอยู่ 

โคมไฟจากประเทศอิตาลีมีความแตกต่างและพิเศษต่างจากที่อื่นยังไง

คนยุโรปเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับแสง ไม่ใช่แค่โคมไฟนะ รวมไปถึงพวกแสงธรรมชาติด้วย คือเขามองว่าแสงคือต้นกำเนิดของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก แล้วในวงการตกแต่งบ้านเขาถึงกับมีประโยคประมาณว่า ถ้าแสงในบ้านคุณไม่ดี ชีวิตคุณจะดีได้ยังไง ขนาดนั้นเลยนะ 

ซึ่งมันแตกต่างจากคนไทย ที่เวลาแต่งบ้านเขาแถมโคมไฟแบบไหนให้ก็เอาไว้ก่อน จะแสงสีขาว แสงสีเหลืองก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่นัก โครงการบ้านหรือคอนโดที่แพงๆ ผมก็ยังไม่ค่อยเห็นเขาแถมโคมไฟดีๆ ให้กับลูกค้าเลย

ดังนั้นธุรกิจโคมไฟในอิตาลีจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ แล้วทุกครั้งที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือจริงจังมาก ถ้าทำออกมาไม่ดี คือมีรู้สึกอายกันเองในระหว่างวงการเลยนะ

ในวันนี้ Lamptitude Reserve จำหน่ายโคมไฟจากแบรนด์อะไรบ้าง

อันดับหนึ่งเลยคือแบรนด์ Flos ที่ถือเป็นแบรนด์โคมไฟอันดับหนึ่งของโลก มีชื่อเสียงมาก เป็นแบรนด์อิตาลี 100% ที่คนอิตาลีภูมิใจ เป็นเหมือน Porsche เหมือน Ferrari ของโลก 

นอกจากนี้ก็ยังมีแบรนด์อื่นๆ อย่าง Luceplan ที่เป็นดีไซเนอร์ของ Flos แล้วแตกแยกออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งจะออกผลงานมาที่ค่อนข้างโมเดิร์น หรืออย่างแบรนด์ Lodes ที่งานแก้วเรียบๆ มีราคาย่อมเยา ใช้วัสดุเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานของอิตาลี

อะไรที่ทำให้ Flos กลายเป็นแบรนด์โคมไฟอันดับหนึ่งของอิตาลี

ผมเคยคิดว่า Flos ดังได้เพราะเขาขายชื่อดีไซเนอร์อย่างฟิลิปส์ สตาร์ก (Philippe Starck) แต่ตอนหลังเพิ่งรู้ว่าผลงานที่มีชื่อเสียงจริงๆ กลับไม่ใช่งานของดีไซเนอร์ดังเสมอไป แต่มันจะเป็นผลงานที่มีความครีเอทีฟและแตกต่างจากที่เป็นมา เช่นโคมไฟที่ชื่อ Wireline มีลักษณะเป็นเส้นๆ ทำมาจากยาง หรือ Arrangements ที่เหมือนต่างหูประกอบกัน รวมถึง Coordinates ที่ลักษณะโคมไฟเป็นเส้นๆ ซึ่งสามารถปรับแต่งได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการโคมไฟ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าดีไซเนอร์ก็ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ Flos เป็นเบอร์หนึ่งอยู่ คือนอกจากฟิลิปส์ สตาร์ก อีกคนที่ผมอยากพูดถึงคืออาคิเล่ (Achille) ที่เป็นเหมือนบิดาของวงการแสงไฟเลย ซึ่งมีผลงานกับ Flos ที่มีชื่อเสียงมากๆ อย่างเช่น Floor Lamp รวมถึงงานหลายๆ ชิ้นของเขาก็ถูกนำไปวางในพิพิธภัณฑ์หลายที่ และก็ยังคงขายดีอยู่แม้จะผ่านมาแล้ว 50 ปี 

ศิลปะ งานออกแบบ หรือนวัตกรรมต่างๆ มันสำคัญกับโคมไฟยังไง

คือผมอยากให้มองแบบนี้นะ ว่าตาของมนุษย์จะวิ่งไปหาสิ่งที่สว่างที่สุดเสมอ สมมติคนอยู่ในพื้นที่มืด แล้วมีคนฉายไฟมา ตาจะวิ่งไปหาสิ่งที่ไฟนั้นฉายมาก่อน 

ดังนั้นโคมไฟที่เป็นวัตถุเดียวในบ้านซึ่งเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง ในภาษาของดีไซน์สิ่งนี้ถือว่าเป็นพระเอกของการตกแต่งเลย เพราะมันเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวที่อยู่บนอากาศและเปล่งแสง ดังนั้นโคมไฟในแต่ละบ้านก็จะบอกคาแร็กเตอร์ของเจ้าของบ้านได้

อีกอย่างที่อยากพูดถึงคือ โคมไฟที่สวยเวลาปิดมันต้องสวยด้วยนะ เพราะว่าเวลาเราอยู่บ้านจริงๆ ลูกค้ากว่า 99% ไม่เปิดไฟในชีวิตประจำวัน จะเปิดโชว์เวลาเพื่อนบ้านมาเท่านั้น จะเปิดแค่บางดวงที่ใช้งานเท่านั้น ดังนั้นโคมไฟที่งานดีไซน์ดีตอนปิดก็ยังต้องสวย ต้องเปิดก็ยิ่งต้องสวย

จะตัดสินยังไงว่าโคมไฟแบบไหนดีหรือไม่ดี

สำหรับผมเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ในหนึ่งปีมีโคมไฟกว่าหมื่นแบบที่ผลิตออกมา แต่รุ่นไหนที่มันยังอยู่คงทน 40-50 ปี ยังมีคนสนใจ ยังดูสวยงาม ยังเข้ากับยุคสมัย แบบนั้นถือว่าดีสำหรับผม

ในวันนี้ Lamptitude Reserve มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจาก Lamptitude ยังไง

ที่แตกต่างคือกลุ่มเป้าหมาย ถ้าพูดถึง Lamptitude ลูกค้าอาจจะเป็นคลาส A แต่ Lamptitude Reserve จะเป็นลูกค้ากลุ่ม A++ ซึ่งพวกเราไม่เคยมีลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อน กับอีกกลุ่มคือสถาปนิกที่ดูแลบ้านระดับร้อยล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เราวางเป้าหมายให้อยู่ที่ 10% ของยอดขายทั้งหมด

ความยากในการทำธุรกิจโคมไฟสำหรับคุณคือเรื่องอะไร

สำหรับผมเองคือเรื่องสถานที่ในการทำโชว์รูมเพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายแพงมาก โดยเฉพาะการจัดการให้ตรงกับเงื่อนไขของทางแบรนด์ เพื่อให้ยอมปล่อยสินค้ามาให้เราขาย ทั้งเรื่องรูปแบบสถานที่และการสต็อกสินค้า 

อย่างทาง Flos เองก็จะมีช็อปของตัวเองให้เอามาตั้งในโชว์รูมที่ต่างๆ เลย แล้วทางแบรนด์จะมาตรวจสอบโชว์รูมทั่วโลกเลยว่าช็อปของเขาเป็นยังไงบ้าง เป็นไปตามมาตรฐานไหม แต่สำหรับ Lamptitude Reserve เอง วันที่ทีมงานของ Flos บินมาดูสถานที่ เขาบอกว่าพื้นที่ของเราไม่ต้องปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม เพราะมันสวยอยู่แล้ว เขาชอบที่โชว์รูมเรามีพื้นที่กว้าง เพดานสูง 8 เมตร เลยทำให้โคมไฟดูโดดเด่น เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจที่แบรนด์ระดับ Flos ชมโชว์รูมของ Lamptitude Reserve 

Lamptitude Reserve มีแผนการตลาดในการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ยังไงบ้าง 

ต้องอธิบายตามตรงว่า เราทำการตลาดกับผู้ออกแบบ ดีไซเนอร์เป็นหลัก จึงเป็นเรื่องยากมากในการใช้วิธีหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อย่างเช่นการยิงโฆษณาในโซเชียลมีเดีย มันแทบไม่ต่างกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเลย เพราะการหาคนที่มีกำลังซื้อ ชอบดีไซน์ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับโคมไฟเป็นเรื่องยากมาก 

ดังนั้นการหาผ่านสถาปนิกที่มีกลุ่มลูกค้า ผ่านคนที่ต้องการโคมไฟเลยจะเป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์กว่า 

สำหรับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ยังไง

มีหลายคนมาปรึกษาผมบ่อยนะ ว่าทำเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบโซฟามา แล้วโดนเลียนแบบจะทำยังไงดี คือผมจะบอกเขาว่าการที่คุณถูกลอกเลียนแบบ ในมุมหนึ่งให้ยินดีว่าคุณประสบความสำเร็จแล้ว ผมเคยคุยกับแบรนด์อิตาลีบางเจ้า เวลาเขานำเสนอเขาพูดอย่างภาคภูมิใจเลยว่า สินค้าชิ้นนี้ถูกเลียนแบบมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังขายได้ถึง 3 ล้านชิ้น แปลว่ามันประสบความสำเร็จมาก มันดีมากในมุมของเขา

สิ่งที่จะสื่อคือ คนที่เขาจะซื้อสินค้าเลียนแบบกับคนที่จะซื้อสินค้าจริง ไม่ใช่คนเดียวกันอยู่แล้ว ผมจะบอกคนที่ทำดีไซน์ว่าอย่าไปกลัวคู่แข่งที่เลียนแบบเลย กลัวคู่แข่งที่เขาทำอะไรใหม่ๆ ออกมาดีกว่า บางครั้งเราเสียเวลากับเรื่องนี้มากเกินไป ผมว่ามันหนักสมอง ผมว่าเราสนใจเรื่องการสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาดีกว่า 

แล้วเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงของโคมไฟต่างประเทศมีผลกระทบต่อธุรกิจของคุณไหม

ทุกวันนี้เวลาผมพาลูกค้าจาก Lamptitude ไปดูสินค้าใน Lamptitude Reserve คือผมก็ไม่ได้ซีเรียสว่าเขาต้องมาแล้วซื้อกลับไป แค่พามาดูเหมือนเดินแกลเลอรีศิลปะ มาดูว่าความคิดสร้างสรรค์ของอิตาลีเป็นยังไง เป็นแบบไหน ซึ่งบางทีก็อาจมีลูกค้าซื้อกลับไปสักชิ้นหนึ่ง 

เพราะจริงๆ เรื่องนี้ผมมองว่ากำไรทางธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องผลกำไร เพราะตั้งแต่ทำ Lamptitude Reserve สิ่งที่พวกผมได้ประโยชน์มากที่สุดคือได้เรียนรู้ ได้ศึกษาแบรนด์ระดับโลก แล้วนำไปพัฒนาผลงานของเราต่อ ดังนั้นเรื่องราคาที่มันอาจส่งผลเรื่องยอดขายคงไม่ใช่ผลกระทบของทางแบรนด์เท่าไหร่

สำหรับประเทศไทยทิศทางของตลาดโคมไฟเป็นยังไงบ้าง

ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า เอาง่ายๆ เลยคือย่านถนนทองหล่อที่ตั้งของร้าน สมัยก่อนมีร้านเพื่อนบ้านที่ขายโคมไฟเยอะมาก แต่ทุกคนก็ล้มหายตายจากไปหมดเลย เพราะว่าด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามเศรษฐกิจ ทำให้ร้านเหล่านี้อยู่ไม่ได้ ทำให้ร้านขายโคมไฟล้มหายลงไปหมด แต่กลับกันร้านขายโคมไฟที่ราคาถูกลงมาก็มีมากขึ้น 

ส่วนในกลุ่มของลูกค้าผมรู้สึกว่ากำลังเติบโตไปในทางที่ดี ทุกวันนี้ลูกค้ามีความรู้มากขึ้นโดยเฉพาะยุคโซเชียลมีเดีย ที่เสิร์ชหาข้อมูลเองเลย แตกต่างจากสมัยก่อนที่เราต้องอธิบายเรื่องต่างๆ ให้ลูกค้าหน้าใหม่

มีบทเรียนหรือประสบการณ์ตรงไหนจาก Lamptitude ที่เอามาปรับใช้ใน Lamptitude Reserve บ้าง

บทเรียนที่ผมนำมาปรับใช้กับธุรกิจแทบทุกช่วงเวลาคือการปรับตัว ต้องเกริ่นก่อนว่าธุรกิจโคมไฟเป็นธุรกิจเก่าแก่ของที่บ้าน ซึ่งเจอกับสิ่งที่เรียกว่าการดิสรัปชั่น (disruption) แต่ผมอยากบอกว่าการดิสรัปชั่นมันมีมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีในยุคสตาร์ทอัพ 

ดิสรัปชั่นครั้งแรกคือยุคคุณพ่อตอนผมอายุสิบกว่าๆ วันนั้นพอประเทศจีนเปิดประเทศ โรงงานคุณพ่อเจ๊งเลย เขาไปผลิตกันที่จีนหมด ทำให้พ่อต้องปรับตัวแทนที่จะสู้กับจีน ก็ต้องไปซื้อของจีนมาขายแทน โรงงานที่เคยผลิตก็ปิดตัวลง

ดิสรัปชั่นครั้งที่สอง ตอนผมเรียนจบมาเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด ห้างแบบโฮมโปร เพิ่งเปิดโลตัส และบิ๊กซีก็เริ่มมา คุณพ่อผมเลยเอาโคมไฟจากจีนเข้าไปขายในนั้น ซึ่งผมก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปตายแน่ ถึงเราจะมีแบรนด์ที่เป็นแบรนด์ของคุณพ่อ แต่ถ้าเราไม่มีพื้นที่ มีร้านของตัวเอง เราก็จะถูกห้างประเภทนี้กระทืบตาย เพราะด้วยเงื่อนไขของการขายค่อนข้างโหด ผมเลยขอแยกตัวมาทำ Lamptitude เพราะเราเชื่อว่าต้องมีสถานที่ของตัวเอง ต้องมีทีมของตัวเอง จะไปยืมที่คนอื่นไม่ได้ 

เชื่อไหมว่าหลายสิบแบรนด์ที่เคยขายในห้างโมเดิร์นเทรด ทุกวันนี้เจ๊งหมดแล้ว รวมถึงแบรนด์คุณพ่อผมด้วย อันนี้คือดิสรัปชั่นในช่วงที่สอง ตอนผมเข้ามาทำงานแรกๆ 

ดังนั้นในวันนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงผมก็ไม่กังวลอะไรเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจคือการหากลยุทธ์ที่ดี ที่จะยังคงอยู่ไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ในวันที่เราเริ่มทำ Lamptitude เราตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเจาะไปที่ตลาดสินค้าโมเดิร์น สินค้าระดับไฮเอนด์ ต้องมีหลักการทำธุรกิจแบบนี้ มันเลยทำให้เราประสบความสำเร็จมา 20 ปี แล้วก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มันคือเรื่องของการที่เราจะทำอะไรและเลือกจะไม่ทำอะไร 

สำหรับคนที่เริ่มสนใจโคมไฟประเภทนี้ มีเรื่องอะไรต้องพิจารณาบ้าง 

เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดคืองบประมาณ ซึ่งผมมองว่างบที่เหมาะสมสำหรับโคมไฟคือ 10-15% จากงบประมาณทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงคนไทยเขาแบ่งงบให้กับเรื่องนี้เพียงแค่ 5% เอง แล้วก็ไปลงทุนกับเฟอร์นิเจอร์อย่างอื่นมากกว่า

แต่ผมอยากจะบอกว่า ถึงคุณจะตกแต่งบ้านให้สวยขนาดไหน แต่ถ้าสุดท้ายแสงไฟในบ้านไม่ดี มันก็ทำให้เฟอร์นิเจอร์คุณหมองนะ เพราะคุณต้องใช้สายตาในการมอง ในการตัดสินว่าอะไรสวย ไม่สวย ดังนั้นเรื่องแสงจึงสำคัญมาก 

ทุกวันนี้เวลาผมไปดูโครงการบ้านหรือคอนโด ที่เฟอร์นิเจอร์ แถมพื้นหินดีๆ แต่พอใช้ไฟดวงละ 200 บาท ผมรู้สึกเสียดายมาก คือถ้าให้ผมไปทำเรื่องไฟดีๆ ให้ จากบ้านมูลค่า 50 ล้านบาท อาจกลายเป็น 80 ล้านบาทได้เลยนะ แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าต้องมาซื้อโคมไฟราคาแพงจากอิตาลีทั้งหมด เราก็อาจจะแบ่งสัดส่วนก็ได้ อาจมีโคมไฟดีๆ ลงทุนกับมันหน่อยสักหนึ่งชิ้น แล้วก็มีโคมไฟอื่นๆ มาประกอบ

อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือการซ่อมบำรุง ทุกวันนี้โคมไฟมีหลากหลายรูปทรง ไม่ได้เป็นหลอดอย่างเดียวแล้ว ซึ่งโคมไฟประเภทนี้จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Driver หรือหม้อแปลงในการจ่ายไฟ ที่จะมีอายุขัยของมัน ดังนั้นในการซื้อโคมไฟ นอกจากดูเรื่องราคาแล้วก็อยากให้ดูความน่าเชื่อถือของร้านค้าด้วย ว่าเขามีบริการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนให้ไหม

อย่างของ Lamptitude เอง เรามีบริการที่เรียกว่า LSI หรือ Lamptitude Service Insurance คือ 3 ปีแรกหลังจากซื้อสินค้า เราจะดูแลให้ฟรีถึงบ้านหากโคมไฟมีปัญหาหรืออุปกรณ์มีอะไรเสีย แต่หลังจากนั้นก็ยังคงดูแลให้ต่อเนื่อง แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย แต่ทั้งหมดคือลูกค้ามั่นใจว่าจะมีคนที่มีความรู้และพร้อมให้บริการ 

ในวันนี้ ที่มีแบรนด์ Lamptitude Reserve เกิดขึ้นมา มันตอบสนองตัวคุณในฐานะคนที่ชื่นชอบโคมไฟยังไงบ้าง

เหมือนความฝันเป็นจริงเลย ไม่ใช่แค่ตัวผมนะ ขนาดช่างไฟ เวลาผมอธิบายให้แกฟังว่าอันนี้คือเบอร์หนึ่งของโลก เขามือสั่นเลย แกะกล่องมาประกอบกันแบบประณีต ปีติ ยินดีกัน ช่างไฟที่เอาไปติดบ้านลูกค้าก็ถ่ายรูปมาให้ดู ก็มีความสุขไม่ต่างกัน คือเป็นเหมือนช่วงเวลาสำคัญของทีมงานด้วยที่มีโอกาสได้ขายสินค้าที่เป็นเหมือนเป้าหมายของพวกเรามาตลอด

แบรนด์ Lamptitude ใช้สโลแกนว่า Turn On Your Atitude มา 20 ปี แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามันกลับไม่มีอะไรที่ทำให้เราตื่นเต้นเท่าไหร่ในทีม ดังนั้นในวันที่ได้ทำ Lamptitude Reserve ได้แกะกล่อง ได้ติดตั้งไฟ ผมรู้สึกได้ว่าทุกคนกลับมามีแพlชั่น ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเห็นโคมไฟชิ้นต่างๆ มาประดับที่โชว์รูมของเรา 

มันก็เป็นไฟที่ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของ Lamptitude ต่อไปว่าจะก้าวแบบไหน จะกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้หรือไม่ อะไรแบบนั้น  

The Journey of Mali 

การดื่มนม รวมถึงการกินอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนมถือเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน แต่เชื่อไหมว่าหากนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน คนไทยบริโภคนมีเพียง 1.4 กิโลกรัม ต่อคนต่อปีเท่านั้น ทำให้คนไทยจำนวนมากเกิดภาวะทุพโภชนาการด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่เฟื่องฟูอย่างปัจจุบัน

ความรักในการเกษตรและความต้องการให้คนไทยเข้าถึงนมคุณภาพดีตรงนั้นเองที่ทำให้พลเอก สุรจิต จารุเศรนี ก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ร่วมกับพันธมิตรจาก 2 ประเทศขึ้น ได้แก่ นักลงทุนชาวออสเตรเลียอย่าง The Australian Dairy Produce Board (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Australian Dairy Corporation) และนักลงทุนชาวมาเลเซีย ซึ่งก็คือครอบครัวของนายซอ ฮก ซิว (ซอ สิวายุ) 

ไม่นานหลังจากนั้น คนไทยก็ได้รู้จักกับนมข้นหวานขาวมัน หอมนัวแบรนด์ไทยอย่าง ‘มะลิ’ ที่แม้ช่วงแรกจะมีแบรนด์ต่างประเทศครองตลาด แต่มะลิก็สามารถครองใจผู้คนจนกลายเป็นแบรนด์อันดับ 1 และอยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี

หากมองจากมุมมองผู้บริโภคที่มีนมข้นหวานตรามะลิให้ทานคู่กับอาหารและเครื่องดื่มอยู่เสมอ เราอาจมองว่ามะลิเดินบนเส้นทางสายนมข้นหวานนี้มาอย่างไม่ยากลำบากนัก แต่หากซูมดูเส้นทางสายนมข้นหวานของมะลิ เราจะเห็นว่าตลอดทางเดินนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย ไม่ว่าจะวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้ถือหุ้นถอนตัว หรือวิกฤตอุทกภัย 

แต่มะลิคงเป็นดั่งต้นมะลิที่ยิ่งโดนตัดกิ่งก้านสาขา และยิ่งไร้น้ำชโลมรดรากใบมากเท่าไหร่ ต้นมะลิก็ยิ่งออกดอก ส่งกลิ่นไปไกลและหอมยาวนานมากเท่านั้น มะลิจึงอยู่เคียงคู่ครัวไทยและคนไทยมายาวนานขนาดนี้ เคล็ดลับของมะลิไม่ใช่เพียงความมุ่งมั่นผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อคนไทยเท่านั้น แต่เป็นเพราะมะลิกล้าที่จะออกนอกกรอบ พร้อมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ปรับตัวให้เข้ากับโลกและยุคสมัย เพื่อเป็นผู้นำของวงการนี้

เราจึงอยากชวนทุกคนค่อยๆ ติดตามเส้นทางความหวานหอมกว่า 60 ปี ของมะลิต้นนี้ไปพร้อมๆ กัน ว่าตลอดเส้นทางที่เราว่ามานั้น ต้นมะลิต้นนี้งอกงามขนาดนี้ได้อย่างไร

อายุ : 0 ปี
พ.ศ. 2505

  • บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยการร่วมทุนของ 3 ชาติ ทั้งนักลงทุนชาวไทยอย่างกลุ่มของพลเอก สุรจิต จารุเศรนี นักลงทุนชาวออสเตรเลียอย่างบริษัท ออสเตรเลียน แดรี คอปอร์เรชั่น และนักลงทุนชาวมาเลเซีย ซึ่งคือครอบครัวของนายซอ ฮก ซิว (ซอ สิวายุ) 
  • พลเอก สุรจิต จารุเศรนี เป็นประธานคณะกรรมการ และผู้ก่อตั้ง
  • ก่อตั้งโรงงานแห่งแรกของบริษัทบริเวณถนนสุขุมวิท จังหวัดสมุทรปราการ 

อายุ : 3 ปี
พ.ศ. 2508

  • โรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตและวางขายนมข้นหวานตรามะลิ 
  • ช่วงแรกนมข้นหวานตรามะลิผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าทั้งสิ้นด้วยต้องการควบคุมคุณภาพ เช่น นำเข้าน้ำตาลจากอังกฤษเพราะต้องการน้ำตาลที่มีขนาดเท่ากันทุกเม็ดเพื่อให้ละลายเข้ากับนมได้ดี 
  • แต่เพราะต้องการให้นมข้นหวานตรามะลิเป็นนมข้นหวานโดยคนไทยเพื่อคนไทยโดยแท้จริง จึงหารือกับเกษตรกรและผู้ผลิตน้ำตาลเพื่อหาทางออก ในท้ายที่สุดวัตถุดิบในการผลิตเกือบทั้งหมดจึงเป็นวัตถุดิบจากประเทศไทย นอกจากจะทำให้กล่าวได้อย่างภาคภูมิว่านมข้นหวานตรามะลิเป็นสินค้าของคนไทยแล้วยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและผู้ผลิตไทยด้วย
  • ณ ตอนนั้น นมข้นหวานตรามะลิขายในราคากระป๋องละ 3.5 บาท ทำให้ร้านค้าสามารถขายในราคา 3 กระป๋อง 10 บาท ไม่เพียงทำให้นมข้นหวานตรามะลิขายได้ง่ายกว่า เอาชนะแบรนด์ต่างประเทศที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แต่เดิม แต่ยังทำให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้ง่ายขึ้น

อายุ : 10 ปี
พ.ศ. 2515

  • ผลิตและจำหน่ายนมข้นจืดตรามะลิ

อายุ : 18 ปี
พ.ศ. 2523

  • ผลิตนมยูเอชทีตรามะลิบรรจุกล่อง

อายุ : 20 ปี 
พ.ศ. 2525

  • ทายาทรุ่นที่ 2 พลเอก ณรงค์ จารุเศรนี รับช่วงต่อ

อายุ : 24 ปี
พ.ศ. 2529

  • คืนกำไรให้ผู้บริโภคในรูปแบบการชิงโชคผ่านแคมเปญ ‘มะลิแจกแบนซ์’ ถือเป็นสินค้าชนิดแรกๆ ที่มอบโชคเป็นรถเบนซ์จนเป็นภาพจำว่านมตรามะลิคู่กับรถเบนซ์

อายุ : 33 ปี
พ.ศ. 2538 

  • มีแผนการขยายการผลิตจึงเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงงานแห่งที่สองนี้มีเนื้อที่ 35,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 72 ไร่ 

อายุ : 35 ปี
พ.ศ. 2540

  • ขณะที่เริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่นั้นเองเป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัวหรือวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด จึงได้รับผลกระทบจากการกู้เงินจากต่างประเทศมาขยายโรงงาน ถือเป็นปัญหาครั้งใหญ่หลวงที่บริษัทเผชิญเพราะเหตุการณ์นั้นทำให้บริษัทต้องแบกรับหนี้สินกว่า 3,000 ล้านบาท 
  • ผู้ร่วมลงทุนฝ่ายออสเตรเลียถอนหุ้นไปทั้งหมด หุ้นทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่คนไทยซึ่งคือตระกูลจารุเศรนี 

อายุ : 40 ปี
พ.ศ. 2545

  • ทายาทรุ่นที่ 3 นำโดย พิมพ์ จารุเศรนี, สุดถนอม กรรณสูต และกช จารุเศรนี เริ่มเข้ามาบริหาร
  • จากวิกฤตเมื่อปี 2540 แม้หลายคนจะแนะนำว่าพลเอก ณรงค์ จารุเศรนี ประธานคณะกรรมการบริษัทขณะนั้นว่าควรขายโรงงานทิ้ง แต่ด้วยตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ของพ่ออย่างพลเอกสุรจิต พลเอกณรงค์จึงเริ่มจากยุบรวมสำนักงาน 2 ชั้นให้เหลือเพียง 1 ชั้น จัดระบบการบริหารใหม่ ควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ 
  • จากที่ติดลบก็เริ่มสร้างกำไรและเหลือหนี้สินเพียง 1,300 ล้านบาทภายใน 5 ปี และชำระหนี้ครบทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน

อายุ : 43 ปี
พ.ศ. 2548

  • ออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวานตรามะลิในรูปกล่องเต็ดตรา แพ้ค

อายุ : 45 ปี
พ.ศ. 2550

  • ออกผลิตภัณฑ์ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมันและครีมเทียมพร่องไขมันตรามะลิโกลด์เพื่อตีตลาดใหม่
  • ได้รับพระราชทานตราตั้งพระครุฑพ่าห์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามะลิเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ ยึดหลักคุณธรรม และมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง รวมถึงอุทิศเพื่อสังคมไทย ซึ่งตราตั้งพระครุฑพ่าห์นี้แต่เดิมไม่ได้พระราชทานให้แก่องค์กรภาคเอกชนมากนัก

อายุ : 49 ปี
พ.ศ. 2554

  • หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ในปี 2554 ก็เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้โรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียหายเกือบทั้งหมด หมายความว่าเครื่องจักรราคาหลายล้านบาททุกเครื่องในโรงงานต้องอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานร่วมเดือน
  • ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แต่ทายาทรุ่น 3 ในตอนนั้นอย่าง พิมพ์ จารุเศรนี ก็ทำให้พนักงานทั้งหมดไม่ย่อท้อ เธอเข้าไปแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่โรงงานด้วยตนเองทุกวัน จนสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าบางส่วนออกมาได้ รวมถึงยังเดินทางไปตามหาโรงงานผลิตทั้งในและต่างประเทศชั่วคราวเพื่อให้สินค้าไม่ขาดตลาดและรักษาอันดับหนึ่งในตลาดนมข้นหวานนี้ได้ 
  • นอกจากนั้น หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ทายาทรุ่น 3 คนนี้ก็เร่งฟื้นฟูและซ่อมแซมโรงงานครั้งใหญ่ ทั้งยังต้องทำด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนด้วยเป็นโรงงานผลิตสินค้าบริโภคที่ต้องได้มาตรฐานด้านความสะอาดและปลอดภัย

อายุ : 52-53 ปี
พ.ศ. 2557-2558

  • ในปี 2557 ออกผลิตภัณฑ์ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมันสูตรถั่วเหลืองตรามะลิ และเมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ในปี 2558 จึงออกผลิตภัณฑ์ครีมเทียมพร่องไขมันสูตรถั่วเหลืองตรามะลิ

อายุ : 54 ปี
พ.ศ. 2559

  • ปรับโครงสร้างใหญ่อีกครั้งและก่อตั้งบริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด เพื่อรองรับการขยายตัวในตลาดต่างประเทศ 
  • ในปีเดียวกันนั้นเอง มะลิยังออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและครีมเทียมพร่องไขมันตรา ‘มะลิโปรเฟสชั่นแนล’ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านค้าที่จำเป็นต้องใช้นมข้นหวานและครีมเทียมปริมาณมาก

อายุ : 55 ปี
พ.ศ. 2560

  • ออกนวัตกรรมนมข้นหวานหลอดบีบ ‘มะลิ อีซี่ สควีซ’ เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

อายุ : 56 ปี
พ.ศ. 2561

  • ออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวานปราศจากไขมันตรามะลิ ตอบเทรนด์สุขภาพและคนเมือง
  • บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมตรามะลิ และเนยออร์คิดได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ประจำ พ.ศ. 2561 ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพื่อรับรองว่าสินค้าได้รับการผลิตจากสถานประกอบการที่มีคุณภาพ 

อายุ : 57 ปี
พ.ศ. 2562

  • ออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวานหลอดบีบ ‘มะลิ อีซี่ สควีซ’ 4 รสชาติ ได้แก่ช็อกโกแลต ผสมชาไทย กลิ่นนมเย็น และสูตรปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า

อายุ : 58 ปี
พ.ศ. 2563

  • ออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวานชนิดถุงฝาเกลียวเป็นเจ้าแรกในไทย ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกรวดเร็ว

อายุ : 59 ปี
พ.ศ. 2564

  • ร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่างโอวัลตินเพื่อออกผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน มะลิ โอวัลติน อีซี่ สควีซ สูตรนมสด เจาะตลาดกลุ่มครอบครัวและเด็กรุ่นใหม่ 
  • จากที่แต่เดิมมะลิได้การรับรองมาตรฐานสากลทั้ง ISO 22000, HACCP, HAL-Q และ HALAL ฯลฯ อยู่แล้ว การเข้าร่วมทำงานกับแบรนด์ระดับโลกในครั้งนี้ มะลิยังผ่านการตรวจสอบ SMETA (SEDEX Members Ethical Trade Audit) หรือระบบการจัดการคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงานที่สมาชิกทางธุรกิจทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันด้วย

อายุ : 60 ปี
พ.ศ. 2565

  • ทายาทรุ่นที่ 4 พิชญเทพ ยุกตะเสวี และอัญจิฎา กรรณสูต เริ่มเข้ามาบริหาร
  • มะลิครบรอบ 60 ปี และยังเป็นผู้ผลิตนมข้นหวานรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านปริมาณการผลิตและการจัดจำหน่าย
  • ได้รับรางวัล ‘สุดยอดผู้นำผลิตภัณฑ์อาหาร’ หรือ ‘Superbrands Thailand 2022’ ซึ่งเป็นการสำรวจความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคกว่า 15,000 คน ตอกย้ำแบรนด์ยอดขายอันดับหนึ่ง และได้รางวัล Marketeer No.1 Brand Thailand 2023
  • ออกผลิตภัณฑ์ครีมเทียมพร่องไขมัน ตรามะลิโกลด์ ขนาด 1 ลิตร รวมถึงจัดแคมเปญชิงโชค ‘มะลิ 60 ปี แจกยิ่งใหญ่กว่า 6 ล้านบาท’

อายุ : 61 ปี
พ.ศ. 2566

  • ออกผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ตข้นหวาน เป็นตรามะลิที่เป็น Plant Based ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและเทรนด์อาหารทางเลือก

The Leader of Mali 

ในต่างประเทศ การที่แบรนด์แบรนด์หนึ่งจะดำรงอยู่มานานเกินครึ่งศตวรรษนั้นเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่สิ่งเหล่านี้กลับตรงกันข้ามกับหลายแบรนด์ในประเทศไทย การจะอยู่อย่างยั่งยืนได้เกินครึ่งศตวรรษนั้นสะท้อนถึงความแข็งแกร่งขององค์กรและความหาญกล้าของผู้บริหาร เช่นเดียวกับนมตรามะลิ แบรนด์นมข้นหวานของไทยที่ยืนหยัดและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 60 ปี 

แม้จะผ่านคลื่นลมพายุมามากมาย ไม่ว่าจะในช่วงที่พลเอก สุรจิต จารุเศรนี ก่อตั้งบริษัทท่ามกลางคู่แข่งต่างชาติในยุคเริ่มต้น การแก้ปัญหาหนี้สินและผู้ถือหุ้นถอนตัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งของ พลเอก ณรงค์ จารุเศรนี กระทั่งการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ของ พิมพ์ จารุเศรนี ที่แม้เครื่องจักรจะจมอยู่ใต้มวลน้ำมหาศาล นมตรามะลิก็ยังคงยืนหยัดได้อย่างสง่างามและรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดนมข้นหวานไว้ได้จนปัจจุบันนี้

นอกจากนมตรามะลิในวันนี้จะหยั่งรากลึกและเติบโตอย่างแข็งแรงด้วยวิสัยทัศน์ของพิมพ์ จารุเศรนี แล้ว ยังมี สุดถนอม กรรณสูต ที่ช่วยนำพาบริษัทเดินไปข้างหน้า ทั้งยังมี กช จารุเศรนี และทายาทรุ่นที่ 4 อย่าง พิชญเทพ ยุกตะเสวี และอัญจิฎา กรรณสูต ที่เริ่มเข้ามารับไม้ต่อไม่นานมานี้

เราจึงมีนัดกับ สุดถนอม กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด และกรรมการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด เพื่อสนทนาถึงเคล็ดลับการดูแลมะลิต้นนี้ให้งอกงามเติบโตมาได้กว่า 60 ปี และส่งกลิ่นหอมคู่คนไทยไปได้แสนนาน

ว่าแต่ขั้นตอนการรดน้ำ พรวนดิน และใส่ปุ๋ยมะลิต้นนี้นั้นเป็นยังไง สุดถนอม กรรณสูต รอให้คำตอบเราแล้ว

ย้อนกลับไป คุณเข้ามาทำงานที่มะลิได้ยังไง แล้วความท้าทายในช่วงแรกคืออะไร

เมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้เข้ามาทำงานที่นมตรามะลิด้วยตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ดูแลด้านการส่งออก และด้านประชาสัมพันธ์ ตอนที่เข้ามาทำงานแรกๆ จำได้ว่าไม่ได้รู้สึกกังวลเท่าไหร่เพราะก่อนหน้านี้ สามีทำงานที่นี่มาก่อน

พอเข้ามาก็เป็นแบบที่คิดว่าสามารถปรับตัวกับระบบทุกอย่างได้ไม่ยาก เพราะระบบการทำงานที่มะลิแข็งแรงอยู่แล้ว แม้ช่วงที่เข้ามาจะเป็นช่วงที่ยากลำบากของมะลิ เพราะตอนนั้นมะลิประสบน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปไม่ได้ เพราะผู้นำอย่างคุณพิมพ์ จารุเศรนี อยู่โรงงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ 

พอทราบว่าน้ำเริ่มมา คุณพิมพ์ให้ช่วยกันขนสินค้าออกมาให้ได้มากที่สุดและยกสินค้าขึ้นสูงที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมๆ กับหาโรงงานที่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพเพื่อผลิตสินค้า ระหว่างที่โรงงานของมะลิยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้บริษัทยังมีสินค้าขายในตลาด  

พอน้ำลด ทั้งคุณพิมพ์และพนักงานทุกคนก็รีบเข้าไปทำความสะอาด ปรับปรุงโรงงาน เพราะยิ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าบริโภค บริษัทก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดมากๆ ต้องล้าง ต้องรื้อ ปรับโรงงาน และสั่งซื้อเครื่องจักรมาติดตั้งใหม่เนื่องจากเครื่องจักรเดิมจมน้ำทั้งหมด 

เรียกว่ามะลิต้องทำให้ระบบทุกอย่างถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานโรงงานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมวางไว้ เพื่อการันตีว่าสินค้าที่ผลิตออกจากโรงงานนั้นปลอดภัยก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค 

คุณคิดว่าทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในงานที่คุณทำคืออะไร

ทักษะที่สำคัญคือการพร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัว ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์​ ทำงานเป็นทีมได้ และต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี เพราะงานด้านการส่งออกต้องพบปะคนมากมาย ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือต้องสนุกและรักในงานที่ทำเพราะงานนี้ จะเอาแต่อ่านข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องศึกษาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดในแต่ละประเทศด้วยการออกไปพูดคุยกับลูกค้าด้วยตนเอง ถึงจะเข้าใจความต้องการของลูกค้าแต่ละประเทศและเข้าใจปัญหาที่แท้จริง 

อย่างสินค้าที่มะลิวางขายที่ประเทศลาว กัมพูชา และพม่านั้นมีขนาดเท่ากับที่ขายในประเทศไทยเลย แต่พอส่งไปยังตลาดตะวันออกกลางหรือแอฟริกาใต้ มะลิต้องปรับสินค้าเป็นแบบกระป๋อง 1 กิโลกรัม เพราะปริมาณการใช้งานต่อครั้งของประเทศเขาเยอะมาก

หรือตอนที่นมตรามะลิไปเปิดตลาดที่กัมพูชาก็มีโอกาสเข้าไปที่โกดังลูกค้าและเห็นนมมะลิที่ซื้อไปวางสูงเป็นกำแพงเลย ตอนนั้นแอบหวั่นใจว่าจะขายได้หรือเปล่า แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้นไม่กี่อาทิตย์ ลูกค้าถ่ายรูปมาให้ดูว่านมมะลิที่วางสูงขนาดนั้นขายหมดไปแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจที่สินค้าของมะลิไปจำหน่ายในต่างประเทศได้

สิ่งที่ผู้บริหารรุ่นก่อนบอกคุณอยู่เสมอคืออะไร

ผู้บริหารรุ่นก่อนทำให้พนักงานเห็นอยู่เสมอว่าเราต้องพร้อมปรับตัวให้ทันสถานการณ์เพราะแม้มะลิจะครองตลาดนมข้นหวานจนปัจจุบัน แต่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีล้วนมีผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มะลิจึงต้องรู้จักที่จะปรับตัวและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคให้สมกับที่นมตรามะลิเป็นผู้นำด้านตลาดนมข้นหวาน

เรียกว่าคำว่า ‘ตำนาน’ ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง

พอเป็นตำนาน หมายความว่าลูกค้าเก่าของเราก็มักจะเป็นคนอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นบริษัทต้องขยายฐานอายุลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกผูกพันกับนมตรามะลิอย่างที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผูกพัน

ที่ผ่านมาบริษัทจึงไปคอลแล็บกับโอวัลตินเพื่อตอบโจทย์กลุ่มครอบครัวและเด็กๆ แม้กระทั่งพรีเซนเตอร์ บริษัทก็เลือกพรีเซนเตอร์ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ล่าสุดได้วง Paper Planes มาช่วยเป็นสื่อและทำให้เพลงของนมตรามะลิที่คนส่วนใหญ่ได้ยินบ่อยๆ ในอดีตเริ่มกลับมาได้ยินอีกครั้ง เพียงแต่เป็นเพลงนมตรามะลิที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน

การทำให้แบรนด์อายุ 60 ปีพร้อมปรับตัวให้ทันสถานการณ์และยุคสมัยต้องทำยังไง

เราก็ต้องศึกษาเทรนด์อยู่เสมอ ศึกษาความต้องการของผู้บริโภค และหาจังหวะที่ใช่ อย่างก่อนหน้านั้น มะลิเคยแถมที่เปิดกระป๋องไปพร้อมกับสินค้า แต่มันก็ไม่เวิร์ก ลูกค้าก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันเพิ่มความสะดวกสบายอยู่ดี 

มะลิเลยหันมาทำนมข้นหวานในแพ็กเกจจิ้งใหม่อย่าง ‘มะลิ อีซี่ สควีซ’ ที่เป็นหลอดบีบออกมา แล้วก็มีแบบฝาเกลียวเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงสมัยนี้มีคาเฟ่เพิ่มขึ้นมากขึ้น มะลิเลยผลิตเป็นแบบถุงใหญ่ 2 กิโลกรัมออกมาเพื่อความสะดวก จะได้ไม่ต้องมานั่งเจาะกระป๋อง 

ในเชิงของการสื่อสารหรือการโฆษณา ก่อนหน้านั้นคนจะมีภาพจำว่านมข้นหวานต้องคู่กับปาท่องโก๋ หรือมื้ออาหารเช้าเท่านั้น ถ้ามะลิอยู่ได้แค่ช่วงเวลาเดียวหรือเข้าคู่ได้กับอาหารไม่กี่อย่าง อีกหน่อยตลาดนี้มันก็จะเล็กลง มะลิก็ต้องกลับมาวางแผนว่าจะเพิ่มความถี่ให้นมตรามะลิอยู่ในทุกช่วงของวันได้ยังไงบ้าง

มะลิเลยผลิตผลิตภัณฑ์สูตรต่างๆ เพิ่ม เช่น นมข้นหวานสูตรผสมช็อกโกแลต สูตรผสมชาไทย ที่นำมาผสมน้ำทานได้ หรือจะเอานมข้นเข้าไปอยู่ในอาหาร เช่น ใช้นมข้นหวานแทนกะทิ หรือถ้าบางคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ เราก็มีนมข้นหวานแบบไขมัน 0% ให้เลือกใช้

ล่าสุดบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ตข้นหวาน Plant Based มาเพื่อตอบสนองลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ทานนมวัวหรือแพ้นมวัว เพราะปราศจากน้ำตาลแลคโตส ลูกค้าที่ทานเจหรือมังสวิรัติก็ทานได้ 

จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่คิดหรือวางแผนไว้จะตอบโจทย์ลูกค้าจริงๆ 

ก่อนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทจะมีกระบวนการคิด ค้นคว้า ออกแบบ ศึกษาหาข้อมูลว่าอะไรที่จะโดนใจลูกค้า ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เมื่อมีสินค้าใหม่ บริษัทจะวางแผนการตลาดอย่างรอบคอบ และคอยติดตามความเคลื่อนไหวในทุกช่องทางการจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อที่ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงมะลิจะได้พร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว

อย่างเช่นก่อนหน้านั้น มะลิทำนมข้นหวานจากถั่วเหลืองออกมาขาย ถามว่าขายดีไหม ก็ขายดี แต่ขายดีเฉพาะเทศกาลเจ อย่างนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องขายทุกช่วงแต่เน้นขายเฉพาะช่วงกินเจก็พอ เพื่อให้สินค้าเราสดใหม่อยู่เสมอ ไม่ต้องค้างสต็อก 

จังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ 

สำคัญมาก ต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค และนอกจากมะลิจะต้องรู้จังหวะเวลา เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านการตลาดนมข้นแล้ว มะลิยังต้องวางผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดก่อนใครเพื่อสร้างการยอมรับจากลูกค้า 

แต่การจะเข้าใจว่าจังหวะที่ใช่มันเป็นยังไงได้ก็ต่อเมื่อต้องมีแผนงานแล้วด้วยนะ แผนเหล่านั้นมันก็ได้มาจากการที่หาข้อมูลสม่ำเสมอ ขยันออกไปสัมผัสตลาดและผู้บริโภคด้วยเอง และรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่

ที่มะลิทำงานกันเป็นทีมมากๆ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการให้มะลิเป็นแบรนด์ยอดขายอันดับ 1 เพียงแต่วิธีการทำงานของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ทุกคนจึงให้เกียรติวิธีการทำงานของแต่ละคนและให้ความสำคัญกับทุกเสียง จะไม่บอกว่าเธอต้องเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา แต่เมื่อเขาล้มหรือมีปัญหาก็พร้อมสนับสนุน 

เวลาจะทำอะไรสักอย่าง ก็จะประชุมกันก่อนเพราะเชื่อว่าการเบรนสตอร์มมันทำให้ทุกคนได้มุมมองที่หลากหลายจากคนที่ต่างอายุ ต่างประสบการณ์กัน เช่น คนที่ทำงานเซลส์ เขาออกตลาดเยอะกว่าเราแน่นอน เราก็ต้องฟังสิ่งที่เขาไปเจอจากลูกค้าเอง 

นอกจากตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้แล้ว มะลิมีหลักการทำงานกับพาร์ตเนอร์ยังไง

ถึงปัจจุบันเราจะมีช่องทางการขายที่หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ได้ผ่านผู้ค้าส่งอย่างเดียว แต่เรายังคงให้ความสำคัญกับผู้ค้าส่งเพราะผู้ค้าส่ง คือผู้สนับสนุนบริษัทจนบริษัทเติบโตได้มาถึงวันนี้ 

หากเกิดมีปัญหาหรือภัยพิบัติกับลูกค้า มะลิจะเข้าไปสนับสนุนทันที อย่างตอนน้ำท่วมที่แม่สอด มะลิก็รีบเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ความเสียหายเกิดน้อยที่สุด หรืออย่างร้านค้าที่โดนระเบิดที่จังหวัดนราธิวาส เราก็รีบติดต่อไปเดี๋ยวนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คู่ค้าเกิดความรู้สึกดีๆ และความรู้สึกผูกพันร่วมกับมะลิ 

ส่วนลูกค้าต่างประเทศ บริษัทจะให้นโยบายของบริษัท วิธีการวางแผนการตลาดกับเขา แต่มะลิจะไม่บังคับหรือกะเกณฑ์แผนงาน แต่จะให้สิทธิ์คู่ค้าอย่างเต็มที่ เนื่องจากวัฒนธรรม พฤติกรรมของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน อย่างเรื่องจัดแคมเปญแจกรางวัลประเทศไทยอาจจะชอบจับฉลาก แต่ต่างประเทศเขาอาจจะชอบแลกเงินคืนหรือแลกของเลยมากกว่า

ดูเป็นบริษัทที่จริงจังเรื่องความสัมพันธ์

มะลิพยายามใช้ความสัมพันธ์กับทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่แค่พนักงานหรือพาร์ตเนอร์ แต่กับลูกค้า สังคม ชุมชนรอบข้าง หรือพนักงาน เราก็พยายามทำให้เขาเห็นว่ามะลิอยู่รอบตัวจริงๆ 

เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วม บริษัทจะเข้าไปมอบถุงยังชีพ ข้าว ไข่ และน้ำดื่ม หรืออย่างเหตุการณ์โรคระบาด มะลิก็สนับสนุนเตียงสนามจำนวน 1,000 เตียง ให้ชุมชนโดยรอบของบริษัทที่จังหวัดสมุทรปราการและที่อำเภอบางปะอิน 

หรือถ้าคนไทยไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ มะลิจะให้การสนับสนุนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ เช่น นักวิทยาศาสตร์ที่ชนะการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Regeneron ISEF 2023 ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

ที่ผ่านมามะลิยังเข้าไปร่วมมือกับร้านกาแฟ ร้านเบเกอรีท้องถิ่น เพื่อเปิดคอร์สสอนการทำเครื่องดื่มหรือเบเกอรีในพื้นที่ ให้เขาได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและรายได้เสริมให้ครอบครัว และล่าสุดมะลิก็ทำแคมเปญแจกทองในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี ซึ่งจริงๆ บริษัททำแคมเปญนี้มานานแล้ว อย่างยุคแรกๆ นมมะลิก็แจกเบนซ์จนคนไทยมีภาพจำไปยุคหนึ่งว่ามะลิแจกเบนซ์   

ทำไมการคืนกำไรให้ลูกค้าถึงสำคัญกับการยืนระยะของมะลิ

สิ่งที่นมตรามะลิยึดมั่นเสมอคือในการทำธุรกิจเมื่อได้กำไรก็ต้องพร้อมที่จะคืนกำไรนั้นกลับด้วย เพราะนอกจากจะได้คืนกำไรให้ลูกค้าแล้ว มะลิยังได้ทำวิจัยฐานลูกค้าของบริษัทไปในตัว

อย่างแคมเปญแจกทอง นอกจากลูกค้าจะได้ลุ้นรางวัล บริษัทยังได้รู้ความต้องการของเขาจากฉลากที่เขาส่งมาได้เลย ว่าอยู่จังหวัดไหน ใช้อะไรกันบ้าง ทำไมจังหวัดนี้ส่งมาน้อย ไม่สนใจส่งชิงโชคกันหรือบริษัทยังประชาสัมพันธ์ไม่มากพอ

อะไรที่ทำให้มะลิอยู่ได้ยาวนานกว่า 60 ปี และจะยังคงอยู่คู่คนไทยได้ทุกยุคทุกสมัย 

นมตรามะลิเป็นองค์กรที่เข้มแข็งมาก อย่างที่บอกว่าบริษัททำงานกันแบบทีมรับฟังทุกปัญหา ให้ความสำคัญผู้บริโภคและคู่ค้า และที่สำคัญนมตรามะลิพร้อมปรับตัวเสมอเพื่อให้มะลิอยู่คู่คนไทยได้ทุกยุคทุกสมัย 

อีก 60 ปีข้างหน้า ก็ยังคงเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นสโลแกนนมตรามะลิที่อยู่คู่คนไทยมาครบ 120 ปี ระหว่าง 60 ปีนี้ไปจนถึง 120 ปีก็คงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมากที่เรานำมาพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค 

จากการทำงานที่มะลิมากว่า 10 ปี คิดว่าทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้นำคืออะไร

การให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงานทุกคน และการมอบหมายงานให้ถูกกับคนเพราะถ้าเขาสนุกกับการทำงานเขาก็จะมีความสุข ปลายทางมันก็จะเกิดผลสำเร็จได้

ที่สำคัญต้องมองไกล ไม่หยุดหาความรู้เพิ่มเติม ไม่อยู่แต่ในออฟฟิศแต่หมั่นออกไปสำรวจตลาด เยี่ยมคู่ค้า เพราะก่อนที่จะไปบอกให้ใครทำอะไร เราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่เขาเผชิญอยู่มันเป็นยังไง แล้วตำราที่เรียนมาก็ไม่สามารถปรับใช้กับทุกสถานการณ์ได้ พอเวลาเราเจอกับความจริง วิธีการรับมือกับปัญหามันเป็นสิ่งสำคัญ

อะไรถือเป็นรางวัลที่ทำให้คุณมีความสุขที่ได้ทำงานที่มะลิ

คงเป็นเวลาที่ไปที่ไหนก็ตาม แล้วทุกคนบอกว่าทานนมตรามะลิมาแต่เด็กๆ และร้องเพลงนมตรามะลิได้

The Product of Mali 

เมื่อนึกถึงนมข้นหวานตรา ‘มะลิ’ ภาพกระป๋องนมขนาดเหมาะมือ ติดโลโก้ดอกมะลิน่าจะเป็นภาพจำของใครหลายคน แต่หลายปีมานี้เราเริ่มเห็นมะลิต้นนี้แตกกิ่งก้านสาขาและเติบโตไปในหลายทิศทาง ชวนให้ตื่นตาตื่นใจว่าต้นมะลิที่อายุอานามกว่า 60 ปีต้นนี้ช่างเก่งกาจและกล้าท้าทายกับกระแสลมในสังคมไม่น้อย

ย้อนกลับไป นมตรามะลิกระป๋องแรกถือกำเนิดขึ้นในปี 2508 หลังก่อตั้งบริษัทได้ 3 ปี ช่วงนั้นมะลิชูจุดขายเรื่องราคาที่เข้าถึงได้ เพียงกระป๋องละ 3.5 บาท โปรโมชั่น 3 กระป๋อง 10 บาท ทำให้นมตรามะลิซึ่งเป็นน้องใหม่ท่ามกลางแบรนด์ต่างชาติเอาชนะใจคนไทยในตอนนั้นได้อยู่หมัด 

ราคาที่เข้าถึงได้คงไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้มะลิบานสะพรั่งและส่งกลิ่นหอมคู่คนไทยมานานกว่า 6 ทศวรรษ หากแต่เป็นการคงคุณภาพและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ยุคสมัยต่างหากที่ทำให้มะลิกลายเป็น first mover ของวงการ และครองสัดส่วนในตลาดได้มากเป็นอันดับ 1  

ไม่ว่าจะนมข้นหวานแบบหลอดบีบ นมข้นหวานรสชาติช็อกโกแลต ชาไทย นมเย็น และโอวัลติน นมข้นหวานปราศจากไขมันและสูตรน้ำตาลน้อยกว่า นมข้นหวานแบบฝาเกลียว นมข้นหวานสูตรถั่วเหลือง มาจนถึงข้าวโอ๊ตข้นหวาน

“เรามี hero product อย่างนมข้นหวานกระป๋องอยู่แล้ว แต่ความตั้งใจของเราคือเราอยากให้มะลิมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกยุคทุกสมัย แน่นอนว่าการคิดค้นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะทำขึ้นมา แต่เราต้องเข้าใจ consumer insight เพื่อหาแนวทางว่าเราจะพามะลิปรับตัวและเติบโตไปพร้อมกับตลาดไทยและตลาดโลกได้ยังไง

“เราไม่สามารถถามว่า when ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนไหนที่มันจะเหมาะสม สิ่งสำคัญคือเราต้องถามเขาอยู่ตลอดเวลา และเช็กโซเชียลมีเดีย เช็กเทรนด์โลก และศึกษางานวิจัยเพื่อดูขอบเขตในการผลักดันแบรนด์ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” พิชญ์–พิชญเทพ ยุกตะเสวี ทายาทรุ่นที่ 4 และเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด บอกความคิดเบื้องหลัง

โอกาสครบรอบ 60 ปีของมะลิ ทายาทรุ่นที่ 4 ไฟแรงคนนี้จึงอาสาพาเราไปสำรวจไอเดียเบื้องหลังการคิดค้นผลิตภัณฑ์ของมะลิ ที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมความหอมหวานของมะลิจึงอยู่กับคนไทยได้นานแสนนาน

นมตรามะลิแบบหลอดบีบ Original

ถ้าไล่ดูไทม์ไลน์การออกผลิตภัณฑ์ของมะลิ หลังนมข้นหวานมะลิแบบกระป๋องออกสู่ท้องตลาด 23 ปี สินค้าชนิดแรกๆ ที่ค่อนข้างแปลกใหม่และตื่นตาคือนมมะลิ UHT รสจืด รสหวาน และรสช็อกโกแลต ที่ยังคงวางขายจนถึงปัจจุบัน 

แต่สินค้าที่นับได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้ตลาดและตอบโจทย์ผู้บริโภคขั้นสุด คงจะเป็นสินค้าชิ้นไหนไปไม่ได้นอกจากมะลิรูปแบบหลอดบีบที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2560 หรือกว่า 52 ปี หลังนมข้นหวานมะลิกระป๋องแรกของมะลิผลิตขึ้น

“ผมเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่เด็ก จึงได้เห็นเทรนด์ต่างๆ ที่มักจะมาก่อนเมืองไทยอยู่บ่อยครั้ง นอกจากเรียนก็ได้ไปต่างประเทศอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งตอนไปญี่ปุ่น ผมเห็นคนญี่ปุ่นเขามีนมข้นหวานแบบหลอดทานกับคากิโกริบ้าง ทานกับขนมปังบ้าง เราก็มองว่ามันใช้ง่ายและสะดวกดีนะ เลยคิดว่าถ้านำมาปรับใช้กับแบรนด์มะลิบ้างก็น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้” พิชญ์ย้อนเล่าไอเดียเบื้องหลัง

จากไอเดียของพิชญ์ซึ่งเป็นเด็กมัธยมปลายในตอนนั้น ผู้บริหารและฝ่ายพัฒนาสินค้าของมะลิจึงเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของแบรนด์ เมื่อได้ไปเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ตามงานนำเสนอแพ็กเกจจิ้งที่ต่างประเทศ ขั้นตอนการแปลงโฉมมะลิกระป๋องสู่นวัตกรรมมะลิแบบหลอดบีบที่ทานง่าย เหมาะกับทั้งการทานในบ้าน ออฟฟิศ หรือพกพาไปข้างนอกก็สะดวกจึงเกิดขึ้น

“ช่วงแรกๆ คิดกันว่ามะลิแบบหลอดบีบจะเข้ามากินตลาดแบบกระป๋องหรือเปล่า แต่หลังจากวางขายเราพบว่ามะลิหลอดบีบไม่ได้มากินส่วนแบ่งตลาด มันกลับกลายเป็นการเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ที่ทำให้เราเห็นกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ นั่นคือแบบกระป๋องจะตอบโจทย์ร้านค้า ร้านอาหาร รถเข็นกาแฟ รถเข็นโรตีมากกว่า ส่วนแบบหลอดบีบมันตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ คนเมือง มันทำให้ไม่ใช่แค่เรา แต่ทีมที่เขาพัฒนาสินค้าก็ยิ่งภูมิใจ” 

เมื่อผลตอบรับของมะลิหลอดบีบดีเกินคาด แต่เดิมที่มะลิทำ focus group หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสนทนาของผู้บริโภค ก็ทำให้มะลิทำ focus group ถี่ยิ่งขึ้นเพื่อเฟ้นหาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้จริงๆ 

“เราต้องวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและตอบคุณค่าของยุคสมัยให้ได้” 

นมตรามะลิสูตรปราศจากไขมัน
และสูตรปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า

จาก hero product อย่างนมข้นหวานมะลิแบบกระป๋องที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายทศวรรษ สู่นมข้นหวานแบบหลอดบีบที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ มะลิไม่ได้หยุดแค่นั้น ในปี 2561 และ 2562 มะลิออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ 2 ตัวที่ถูกใจสายหวานที่รักสุขภาพ

“คนไทยใส่ใจเรื่องการกินมากๆ คือต้องกินของอร่อยไว้ก่อน คำถามของผู้บริหารและทีมวิจัยตอนนั้นคือเราจะทำยังไงให้คนกินรู้สึกผิดน้อยลง แต่ก็ไม่ประนีประนอมเรื่องรสชาติ จนได้มาเป็นนมตรามะลิแบบหลอดบีบ 0% Fat และ 0% Fat Less Sugar หรือสูตรปราศจากไขมันและปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า 

“สองตัวนี้ไม่มีในรูปแบบกระป๋อง เพราะนอกจากจะเน้นตอบโจทย์กลุ่มคนเมืองและผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ต้องการความสะดวกสบายด้วยเช่นกัน หลังจากที่เราปล่อยตัวนี้ออกไป ก็พบว่าแม้สินค้ากลุ่มนี้จะเอาชนะตลาดเดิมอย่างตัวออริจินอลไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็มีทางเลือกให้ลูกค้ากลุ่มอื่น เพราะจากที่วางขาย เราก็เห็นว่ากลุ่มสุขภาพจะขายดีตามหัวเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต” พิชญ์บอกอย่างภูมิใจ

นมตรามะลิแบบถุงฝาเกลียว

ความสะดวกสบายคงเป็นดีเอ็นเอร่วมของคนยุคสมัยปัจจุบัน เพราะหลังจากออกมะลิแบบหลอดบีบตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่ม B2C แล้ว มะลิก็ยังคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการหรือกลุ่ม B2B รังสรรค์เมนูต่างๆ กับนมมะลิได้ง่ายดายขึ้น เป็นที่มาของนมตรามะลิแบบถุงฝาเกลียวในปี 2563 นั่นเอง

ก่อนหน้านั้นมะลิมีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการอยู่แล้วนั่นก็คือนมตรามะลิถุงใหญ่ แต่ pain point คือลูกค้ายังต้องหากรรไกรมาตัดแล้วเทใส่ภาชนะอื่นเก็บไว้อยู่ดี บางครั้งยังเหลือนมข้นหวานบางส่วนในถุงและทำให้ต้องหายางหรืออุปกรณ์ปิดปากถุงไว้ ตัวถุงฝาเกลียวหรือ standing pouch ที่มีฝาในตัว จึงสะดวกกว่ามาก

“เรียกได้ว่าอาจจะเป็นแบรนด์แรกของโลกเลยด้วยซ้ำที่ทำนมข้นหวานในแพ็กเกจจิ้งนี้ออกมา ต้องให้เครดิตคุณแม่ (พิมพ์ จารุเศรนี) เพราะผมก็ยังนึกไม่ถึงเลย คุณแม่ล้ำจริงๆ

“ถ้าถามว่ามันมากินตลาดนมข้นหวานแบบกระป๋องได้มั้ย ตอนนี้อาจจะยังแต่ผมเชื่อว่าในอนาคตมันจะค่อยๆ กินตลาดนี้ไปเรื่อยๆ แล้วตัวนวัตกรรมตรงนี้ยังทำให้ตลาดต่างประเทศสนใจนมของเราและติดต่ออยากนำไปขาย เพราะเขาบอกว่าไม่เคยเห็นที่ไหนเลย” 

นมตรามะลิ มะลิ โอวัลติน

ปีเดียวกับที่มะลิออกนมข้นหวานสูตรปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า มะลิยังออกมะลิหลอดบีบสูตรผสมช็อกโกแลต ชาไทย และกลิ่นนมเย็นอีกด้วย เพื่อเป็นรสชาติทางเลือกที่นอกจากจะใช้เป็นสเปรดได้แล้ว ก็ยังผสมเป็นเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นระหว่างวันได้ดี 

การสร้างสรรค์รสชาติใหม่ๆ ในครั้งนั้นเอง เป็นแรงบันดาลใจให้มะลิร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลกอย่างโอวัลติน ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ AB Food จากประเทศอังกฤษ

“ทำไมเราถึงเลือกเขาและทำไมเขาถึงเลือกเรา ผมคิดว่ามันเป็นการจับมือกันของ 2 แบรนด์ที่มีการใช้งานร่วมกันในท้องตลาดอยู่แล้ว เช่น ลูกค้าก็มักจะนำนมข้นหวานมะลิไปชงดื่มกับโอวัลติน ทำเป็นโอวัลตินภูเขาไฟบ้าง หรือนำผงโอวัลตินมาโรยทานกับขนมปังและนมข้นหวานมะลิ 

“นอกจากนั้น ยุคนี้เทรนด์เรโทรกำลังกลับมา นมข้นหวานมะลิและโอวัลตินที่ก็เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำวัยเด็ก เราจึงทำสินค้าอย่างมะลิ โอวัลติน แบบหลอดบีบและถุงฝาเกลียวออกมา”

นอกจากสินค้าตัวนี้จะตอบโจทย์กลุ่มครอบครัว และเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มะลิต้องการสร้างความรับรู้เพื่อให้ความผูกพันระหว่างมะลิและคนไทยเติบโตไปพร้อมกับคนไทยทุกรุ่น สินค้ามะลิ โอวัลตินยังตอบโจทย์คนทั่วไปได้ทุกเพศทุกวัยเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่รวมความทรงจำวัยเด็กของผู้ใหญ่ทุกคน 

“สิ่งที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมมากที่สุดอาจไม่ใช่แค่ยอดขาย แต่เป็นเสียงตอบรับจากเด็กๆ และกลุ่มครอบครัวตามงานอีเวนต์ที่เราจัด หรืออย่างอีเวนต์ที่เชิญวง Paper Planes มาก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก”​ พิชญ์เล่า

นมตรามะลิข้าวโอ๊ตข้นหวาน

เทรนด์สุขภาพและอาหารทางเลือกมาแรงแซงทางโค้งในช่วง 3-4 ปีนี้ก็จริง แต่เชื่อไหมว่าที่จริงแล้ว มะลินำสมัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะก่อนที่คนจะหันมาสนใจวัตถุดิบทางเลือกหรือ plant based เมื่อปี 2557 มะลิยังเคยออกนมข้นหวานและนมข้นจืดจากถั่วเหลืองด้วย

“สูตรถั่วเหลืองได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ ซึ่งเดิมเป็นสินค้า seasonal product ที่ขายเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่มีลูกค้าถามถึงตลอด ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างข้าวโอ๊ตข้นหวานนี้เราตั้งใจวางขายแบบ permanent product เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและเทรนด์อาหารทางเลือก” พิชญ์เล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างข้าวโอ๊ตข้นหวาน 

แน่นอนว่าข้าวโอ๊ตข้นหวานตัวนี้ก็ทำให้มะลิกลายเป็น first mover ของวงการอีกเช่นกัน แต่จากการสนทนากับพิชญ์ สิ่งที่มะลิได้เรียนรู้จากการเป็น first mover นั้นไม่ใช่เพียงการเป็นผู้นำที่เน้นออกผลิตภัณฑ์ได้ถี่และเร็ว แต่มะลิจะภาคภูมิใจกว่าหากเป็น first mover ที่เข้าใจผู้บริโภคจริงๆ

พิชญ์ยกตัวอย่างโยเกิร์ตแบรนด์โยเพลท์ที่มะลินำเข้าจากฝรั่งเศสเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เจ้าโยเกิร์ตแบรนด์ที่ว่ากลายเป็นบทเรียนชั้นเยี่ยมที่ทำให้มะลิค้นพบแนวทางการผลิตสินค้าทั้งหมดที่เล่ามา

“ตอนนั้นเราคิดว่ามันเวิร์กที่ต่างประเทศ มันน่าจะเวิร์กกับเมืองไทยนะ แต่หารู้ไม่ มันไม่เหมาะกับประเทศไทยตอนนั้นเลย อย่างแรกคนไทยยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโยเกิร์ตมากนัก 

“อย่างที่สองซึ่งสำคัญมาก คือคนไทยยังไม่ได้มีตู้เย็นทุกบ้าน เรื่องการขนส่งด้วยรถเย็นก็ลำบาก ถึงร้านโชห่วยตอนนั้นจะมีตู้ใส่น้ำขาย แต่วอลุ่มมันไม่เพียงพอที่จะทำให้โยเพลท์เติบโตได้ ต่างจากปัจจุบันที่เรามีทั้งโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อที่พร้อมรองรับสินค้าตัวนี้ 

“ครั้งนั้นทำให้มะลิเข้าใจว่าการเป็น first mover มันสำคัญอยู่แล้ว แต่ต้องแน่ใจว่าสินค้านั้นๆ ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคและออกมาในจังหวะเวลาที่ถูกต้องด้วย” พิชญ์เล่าบทเรียนที่ผู้บริหารรุ่นก่อนและตัวเขาเองได้เรียนรู้จากเส้นทางสินค้าของมะลิตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

The People of Mali

ถ้าเปรียบนมข้นหวานตรามะลิเป็นดั่งต้นมะลิที่แตกใบและส่งกลิ่นหอมนานกว่า 60 ปี หัวใจสำคัญอย่างการปรับตัว รู้เท่าทัน และศึกษาเทรนด์อยู่เสมอคงเป็นดั่งปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้มะลิต้นนี้เติบโต 

แต่นอกจากสารอาหารสำคัญอย่างปุ๋ยแล้ว มะลิคงจะยืนต้นสง่าเช่นปัจจุบันไม่ได้ หากไร้คนพรวนดินรดน้ำ และลิดกิ่งใบ และนั่นเองจึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้บริหารทุกรุ่นของ ‘นมตรามะลิ’ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารคนไม่แพ้การบริหารแบรนด์

ที่มะลิ พนักงานหลายคนทำงานมานานหลายสิบปี บางคนก็อยู่มานานกว่า 40 ปีด้วยซ้ำ ทั้งพนักงานแต่ละรุ่นที่เกษียณออกไปยังส่งลูกหลานกลับเข้ามาทำงานที่มะลิต่อจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับบริษัทแล้ว คงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่น้อยที่พนักงานไว้ใจและเชื่อใจมากขนาดนี้ แต่นั่นก็เป็นผลลัพธ์จากการที่มะลิไม่ได้มองพนักงานว่าเป็น ‘คนงาน’ แต่กลับใช้คำว่า ‘ครอบครัว’ เรียกพนักงานกว่า 1,000 คน 

จากคำว่าครอบครัวนั้น มะลิหมายรวมถึงการรับฟังความเห็นของพนักงานทุกคน การเปิดรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการหมั่นจัดกิจกรรมให้พนักงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้สมาชิกครอบครัว กว่า 1,000 คนของนมตรามะลิมองเห็นภาพมะลิไปในทิศทางเดียวกัน

“เป้าหมายของเราทุกคนคือเราต้องการให้นมตรามะลิเป็นแบรนด์ยอดขายอันดับ 1 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการทำงานของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องให้เกียรติวิธีการทำงานของแต่ละคน รับฟังความเห็นของทีมงาน และร่วมกันเบรนสตอร์มในทุกๆ โปรเจกต์ 

“นอกจากนั้น เราต้องมอบหมายงานให้ถูกกับคน เพราะถ้าเขาสนุกกับงาน เขาก็จะมีความสุข ปลายทางมันก็กลับมาที่บริษัทเอง นอกจากเรื่องวิสัยทัศน์การบริหารแล้ว พนักงานก็สำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าเช่นกัน” หนึ่ง–สุดถนอม กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด และกรรมการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด บอกถึงหัวใจสำคัญของบริษัทอายุกว่า 60 ปีอย่างมะลิ

คำตอบจากผู้บริหารเป็นเพียงหลักยึดหนึ่งที่ทำให้เราพอมองเห็นภาพรวมของมะลิเท่านั้น แต่คำบอกเล่าจาก ‘สมาชิกครอบครัวมะลิ’ ด้านล่างนี้ต่างหากที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงดีเอ็นเอของมะลิได้ชัดเจนที่สุด


ชื่อ : กช จารุเศรนี 
ตำแหน่งงาน : ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2554

“งานแรกที่มะลิคือผู้ช่วยแผนกส่งออก ความท้าทายในตอนนั้นคือ การศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมการกินของผู้บริโภคแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน เราจึงไม่ได้เอาของเข้าไปขายอย่างเดียว แต่ยังต้องทำความเข้าใจและเข้าไปสร้างพฤติกรรมการกินที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราอีกด้วย

“บางประเทศชอบนมที่ข้นหนืดเพราะช่วยให้ประหยัด ใช้ครั้งละน้อยๆ ได้ บางประเทศชอบนมที่เหลว เพราะรินง่ายกว่า บางประเทศชอบนมสีขาว แต่บางประเทศชอบนมออกเหลือง เพราะคิดว่ามีปริมาณนมเยอะกว่า การเข้าไปเรียนรู้ตลาด ทั้งด้านราคาและพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศจึงเป็นเรื่องสนุก

“จากนั้นไม่กี่ปีบริษัทเห็นความสำคัญของ digital marketing ที่เปลี่ยนไปตามสังคม ผู้บริหารจึงส่งให้ผมไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และให้กลับมาเปิดแผนกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  นมตรามะลิจึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

“ความท้าทายของการตลาดดิจิทัลคือเราต้องทำความเข้าใจอัลกอริทึมของแต่ละแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องเข้าใจ journey ของผู้บริโภค และเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนที่ผมเข้ามาเป็นยุคที่กำลังเปลี่ยนจากยุคสื่อดั้งเดิม หรือ traditional media มาเป็นยุคสื่อดิจิทัลหรือ digital media ซึ่งหลักการทำงานมันต่างกัน

“อย่าง traditional media เราจะเลือกช่อง เลือกรายการ เลือกพื้นที่ เพื่อที่จะรู้ว่ากลุ่มคนดูหรือ audience เป็นยังไงแล้วจึงเอาโฆษณาไปลง ในทางกลับกัน เราสามารถเลือก audience ของสื่อดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นว่าอยากจะให้คนแบบไหนหรือกลุ่มคนอายุเท่าไหร่มาเห็นคอนเทนต์ของเรา 

“มากไปกว่านั้น สื่อดิจิทัลยังเปิดให้เราเลือกได้ละเอียดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อยิงโฆษณาให้เหมาะกับ audience ได้ เป็นที่มาให้เราเริ่มทำ segmentation ว่าลูกค้าเรามีกี่ประเภท เขาเป็นใคร อายุเท่าไหร่ แล้วเราจะสื่อสารช่องทางไหนกับเขา แต่ละช่องทางนั้นเหมาะกับการสื่อสารแบบไหน 

“ตรงนั้นแหละที่ทำให้เห็นว่าคนที่รู้จักและใช้มะลิมีแต่ผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย เนื่องจากที่ผ่านมามะลิไม่ได้โฆษณาเยอะ เพราะสินค้า FMCG จะเน้นแข่งกันที่ราคาหรือโปรโมชั่นกันมากกว่า เลยแทบไม่มีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หรือกลุ่มเด็กเจนฯ ใหม่เลย

“หลังๆ จึงเริ่มทำแคมเปญที่เข้าถึงกลุ่มเจนฯ ใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับ GDH ทำหนังและซีรีส์ การผลิตโฆษณาที่ทันสมัยเข้ากับเด็ก การร่วมกับ LINE MAN Wongnai เพื่อแนะนำพันธมิตรร้านค้า การร่วมกับรายการ MasterChef Thailand เพื่อทำให้เห็นว่าสินค้าของเราทำได้หลากหลายเมนู 

“การทำโฆษณาผ่านช่องทางที่หลากหลายเหล่านี้ทำให้ลูกค้าเห็นความแตกต่าง เห็นตัวตนของแบรนด์ และได้เห็นว่าสำหรับมะลิแล้ว เราต้องการส่งมอบสินค้าที่ดีและราคาเข้าถึงได้ให้ผู้บริโภค”


ชื่อ : ฟิล์ม–อัญจิฎา กรรณสูต 
ตำแหน่งงาน : ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2559

“ฟิล์มเข้ามาเริ่มทำงานในฝ่ายขาย ด้วยผู้บริหารอยากให้เข้าใจวิธีการขาย เรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า และวิธีการการทำงานร่วมกับคู่ค้า จากนั้นก็ได้ย้ายมาดูด้าน Business Development ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิด
โควิด-19 พอดี และเป็นช่วงที่ธุรกิจและช่องทางการซื้อ-ขายออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็ว 

“ฟิล์มเลยได้เข้ามาสร้างแพลตฟอร์ม e-Commerce ให้กับมะลิ ซึ่งแต่เดิมมะลิยังไม่มีช่องทางการขายออนไลน์มาก่อน เพราะช่องทางหลักจะเป็นการขายแบบ traditional trade เช่น ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และ modern trade อย่างห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงช่องทาง food service มากกว่า

“ฟิล์มมีโมเมนต์ดีๆ ที่มะลิหลายโมเมนต์จากการที่เราได้ทำและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ แต่ถ้าพูดถึงเมจิกโมเมนต์จากการทำงานที่น่าจดจำที่สุดสำหรับฟิล์ม คงเป็นตอนที่มีออร์เดอร์แรกจากช่องทาง e-Commerce เข้ามา เพราะมันเป็นช่องทางที่เราและทีมงานช่วยกันสร้างขึ้นมากันเอง 

“ถึงช่องทาง e-Commerce จะยังใหม่สำหรับมะลิ แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลูกค้าต้องการความสะดวกมากขึ้น เราจึงได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์นี้ขึ้นมาเพื่อตอบรับความต้องการของคู่ค้า และผู้บริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่มี growth mindset ของมะลิที่ดี

“คนภายนอกอาจมองว่ามะลิเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 60 ปี แต่มะลิก็พร้อมปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเราอยากสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ ให้มะลิโตไปกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภคในเจนฯ ต่อๆ ไป”

“อีกโมเมนต์ที่ทำให้มีความสุขที่ได้ทำงานที่มะลิคือฟิล์มได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเจนฯ ใหม่ โดยใช้เครื่องมือการทำการตลาดออนไลน์ที่เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น เพื่อเพิ่ม brand awareness ให้กับแบรนด์ และการที่เริ่มหันมาใช้พรีเซนเตอร์รุ่นใหม่ เช่น วง Trinity, คู่ไบร์ท-วิน และวง Paper Planes เพื่อสร้างฐานลูกค้าเจนฯ ใหม่

“ตอนนั้นเราปรับตัวและวางแผนกันเร็วมาก ทางผู้บริหารเองก็เปิดกว้างกับการทำการตลาดใหม่ๆ ทำให้การเลือกใช้พรีเซนเตอร์ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี ยิ่งตอกย้ำว่าการที่มะลิและพนักงานทุกคนมี growth mindset สำคัญกับธุรกิจมาก และถึงแม้มะลิจะเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานาน แต่เราก็ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ”


ชื่อ : มิลลี่–ธารีรัตน์ ยุกตะเสวี
ตำแหน่งงาน : ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2565

“เราเพิ่งเข้ามาบริหารฝ่ายจัดซื้อที่ต้องดูเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์รวมถึงวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในโรงงานได้ไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวัตถุดิบ การซื้อแพ็กเกจจิ้ง หรืออุปกรณ์สำนักงาน จนถึงเครื่องจักร แต่ถือว่าในช่วงเวลา 1 ปีมานี้ เราได้เรียนรู้ระบบการทำงานของมะลิเยอะมาก

“ด้วยนมตรามะลิเป็นสินค้า FMCG ข้อดีคือเราเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนเสมอไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง แต่ความยากคือราคาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเหล็ก นม น้ำตาล ฯลฯ มักผันผวนตามสถานการณ์โลก ดังนั้นส่วนต่างของกำไรและต้นทุนในแต่ละครั้งจึงขึ้นลงตามราคาวัตถุดิบ แต่ไม่ว่าราคาจะเป็นยังไง หน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อคือเราจะไม่ประนีประนอมกับต้นทุนวัตถุดิบเด็ดขาดเพราะเราต้องการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคทุกคน

“หน้าที่ของเราคือต้องพยากรณ์ว่าราคาต้นทุนจะขึ้นช่วงไหน ปัจจัยไหนบ้างที่จะทำให้มันขึ้น แล้วจะเจรจาและล็อกต้นทุนการผลิตยังไงเพื่อให้ผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีในราคาเดิม แต่ก่อน ทีมงานทำแมนวลกันเอง เช่น นมข้น 1 กระป๋อง ต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดกี่ร้อยอย่าง แล้วมะลิมีสินค้าเยอะมาก รวมถึงยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เราดูแล เท่ากับว่าเราต้องจัดซื้อของเป็นพันๆ อย่างด้วยแรงงานคน ซึ่งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ และถ้าผิดพลาดเมื่อไหร่ก็อาจกระทบกับกระบวนการผลิตทั้งหมด

“สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารงานฝ่ายจัดซื้อมีประสิทธิภาพมากจริงๆ คือการที่คุณพิชญ์ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยพัฒนาระบบของบริษัททั้งหมด สมมติว่าเซลล์วางออร์เดอร์มาว่าเดือนนี้จะผลิตเท่าไหร่ ระบบก็วางแผนการผลิตได้ทุกกระบวนการ ทั้งยังออกใบสั่งซื้อมาให้เลยว่าต้องซื้อสิ่งนี้จำนวนเท่าไหร่ ของต้องถึงวันไหน ถ้าแผนการผลิตเปลี่ยนแปลง ระบบก็คำนวณมาให้ใหม่ เราเองก็นำข้อมูลตรงนี้มาบริหารจัดการด้านงานจัดซื้อต่อได้เลย ส่งผลให้เราสามารถวางแผนการจัดซื้อและควบคุมราคาได้ดี และผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคและทำงานได้แม่นยำขึ้น

“แต่ความยากคือต้องเทรนทีมงานให้ใช้ระบบนี้เป็นด้วย และเราก็ดีใจและภูมิใจมากที่ทีมงานของมะลิทุกคนเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญ กรรมการผู้จัดการอย่างคุณพิมพ์เองก็ลงมาเทรนกับทีมงานทุกคนวันละ 10 ชั่วโมงอยู่หลายสัปดาห์ ตั้งแต่การเปิดใบสั่งซื้อ การผูกสูตร เพื่อที่จะเข้าใจระบบใหม่ด้วยตนเอง รวมถึงให้กำลังใจทีมงาน และอยู่จนมั่นใจว่าทีมงานเข้าใจระบบจริงๆ  

“การที่นมตรามะลิเปิดให้ทีมงานเข้าถึงผู้บริหารได้ขนาดนี้ก็สะท้อนว่านมตรามะลิเป็นบริษัทที่เปิดกว้างมากๆ และสะท้อนถึงความเป็นครอบครัวของมะลิว่าที่นี่เราไม่ได้แค่ทำงานด้วยกัน แต่เรายังกินข้าวด้วยกันได้ ทำกิจกรรมร่วมกันได้ แชร์ไอเดียต่างๆ ได้เสมอ ทั้งหมดนี้มันทำให้ทีมงานทุกคนกล้าที่จะลองผิดลองถูก และมีพลังมากพอที่จะร่วมทำงาน ร่วมพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน”


ชื่อ : ปกรณ์ สีคล้อย
ตำแหน่งงาน : ผู้ตรวจตราอาวุโส
ปีที่เข้าทำงาน : 2527

“ผมเข้ามาทำงานที่นมตรามะลิจากตำแหน่งโอเปอเรเตอร์ แล้วค่อยๆ ไต่เต้าเป็นโฟร์แมน ซูเปอร์ไวเซอร์ และปัจจุบันก็ดูแลเรื่องทรัพย์สินและการติดต่อราชการ รวมถึงเป็นประธานสหภาพแรงงาน 

“ที่จริงผมเองไม่คิดว่าจะทำงานที่นมตรามะลิมาได้เกือบ 40 ปีจนเกษียณหรอก และพนักงานหลายๆ คนก็ไม่คิดว่าจะทำงานที่มะลิได้นานขนาดนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วมทั้งนิคม บอกตรงๆ ว่าบริษัทไม่เหลืออะไรเลย 

“สมัยนั้นถ้าเกิดภัยพิบัติ บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานได้ แต่วันนั้นผู้บริหารกลับรักษาพนักงานทุกคนเอาไว้ แล้วก็ลงมาแก้ไขปัญหากับพนักงานจนค่อยๆ ฟื้นบริษัทขึ้นมาได้ภายใน 2-3 ปี ระหว่างนั้นผู้บริหารก็ต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานไปพร้อมๆ กับฟื้นฟูและซื้อเครื่องจักรใหม่ เพราะเงินจากประกันก็ยังไม่ได้ มันก็เป็นแรงผลักดันให้พนักงานพร้อมจะสู้ไปกับบริษัท

“ถึงจะไม่ได้เกิดวิกฤตอะไร การทำงานที่นมตรามะลิก็ค่อนข้างสบายกาย สบายใจ เพราะหัวใจสำคัญของการทำงานที่นี่คือการรับฟังและการสื่อสาร ยิ่งนมตรามะลิเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ต้องพร้อมปรับตัวไปกับสังคมและการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยให้พนักงานเห็นภาพที่ตรงกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น 

“ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารจะเชิญสหภาพแรงงานไปประชุมเพื่อหาแนวทางสื่อสารกับพนักงานกว่า 1,000 คน ให้มองเห็นภาพเดียวกัน บริษัทยังมีกล่องที่พนักงานยื่นเรื่องหาผู้บริหารได้โดยตรง หรือถ้าใครมีปัญหาก็นำเรื่องให้กรรมการสหภาพเพื่อส่งต่อมาให้ผม แล้วผมก็จะไปคุยกับผู้บริหารเพื่อหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด ยิ่งเราแก้ไขได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเกิดปัญหาน้อยลงเท่านั้น 

“เหมือนเราอยู่ด้วยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย บริษัทรับฟังเสียงพนักงาน พนักงานก็รับฟังบริษัท ทุกคนสอนงานกันแบบพี่แบบน้อง พอรุ่นพ่อรุ่นแม่เกษียณ รุ่นลูกก็เข้ามาทำงานต่อ เด็กๆ หลายคนรวมถึงลูกผมที่เรียนจนจบปริญญาโทก็เพราะมะลิ เราได้รักษาพยาบาลฟรีก็เพราะมะลิ 

“ไม่ใช่แค่ผมที่อยู่มานานกว่า 40 ปี แต่ยังมีพนักงานอีกหลายคนที่อายุงานเป็นหลักสิบปีเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะที่คนคนหนึ่งจะอยู่บริษัทเดิมได้นานขนาดนี้ แสดงว่ามะลิทำให้คนงานรู้สึกว่ามะลิเป็นมากกว่าแค่ที่ทำมาหากิน แต่มันคือครอบครัวที่ผูกพันกัน เป็นเหมือนครอบครัวที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะเดินไปด้วยกัน”

The Partner of Mali 

ดอกมะลิจะดก บานสะพรั่ง และส่งกลิ่นหอมได้นานเท่านานก็ขึ้นกับการดูแลเอาใจใส่อย่างเข้าใจธรรมชาติของสายพันธุ์ แต่หากอยากจะพาความหอมนั้นให้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ก็จำเป็นต้องขยายกิ่งพันธุ์ให้เกิดมะลิต้นใหม่ๆ 

กับนมตรามะลิเองก็เช่นเดียวกัน แม้ความขาว ข้น หวาน มันของมะลิจะชัดเจนอยู่แล้ว มะลิก็ยังจำเป็นต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่ามะลิเป็นแบรนด์ top-of-mind ของตลาดนมข้นหวาน ชนิดที่ถ้าหากอยากได้ความหวานมาเติมเต็มสีสันในชีวิตเมื่อไหร่ ก็นึกถึงแบรนด์มะลิเป็นแบรนด์แรก  

วิธีการกระจายกิ่งพันธุ์ของมะลินั้นหลากหลาย อย่างในอดีตมะลิสื่อสารและสร้างความรับรู้ผ่านการแจกใบปลิว การสื่อสารผ่านช่องทางวิทยุ  โฆษณาตามโรงหนัง โทรทัศน์ นิตยสาร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ผู้คนเสพสื่อต่างจากเดิม แน่นอนว่ามะลิก็ย่อมต้องพาตัวเองไปปรากฏตัวในรูปแบบที่แตกต่างและสดใหม่ขึ้น

“ผมคิดว่าทีมงานของมะลิสมัยก่อนเขาเก่งมากเพราะสมัยนั้นเราไม่ได้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้มากเท่าสมัยนี้ เขาต้องลงพื้นที่กันทุกวันเพื่อเก็บข้อมูลว่าลูกค้าของเราต้องการอะไร หรือชอบอะไร” ทายาทรุ่น 4 อย่างพิชญ์–พิชญเทพ ยุกตะเสวี ย้อนเล่า

เพื่อให้มะลิเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้รู้สึกรักและผูกพันกับมะลิเหมือนที่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย สัมผัสได้ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นมะลิปรากฏในสื่อหลากหลายรูปแบบที่คนรุ่นใหม่นิยมกัน ไม่ว่าจะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของมะลิเอง หรือจะเป็นการพามะลิไปพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของยุคสมัย

“หลักสำคัญในการเลือกพาร์ตเนอร์ของมะลิคือแบรนด์นั้นๆ ต้องมีเป้าหมาย กลุ่มลูกค้า และวิสัยทัศน์ที่ไปด้วยกันได้เพื่อให้ทั้งผลลัพธ์และการทำงานของเรามันสอดคล้องกัน และไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยหรือแบรนด์ต่างประเทศที่เราเข้าไปร่วมทำงานด้วย สิ่งที่มะลิใส่ใจเสมอคือเราต้องโปร่งใสและหาจุดร่วมที่ทั้งมะลิและพาร์ตเนอร์จะวินทั้งคู่ 

“ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่หลักการของการทำให้ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจมันมั่นคงนะ มันคือหลักการเดียวกันกับการรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตเลย”  ทายาทรุ่นที่ 4 คนนี้ จึงจะพาเราไปค้นหลักการพาร์ตเนอร์ที่พามะลิไปสู่ดินแดนใหม่ๆ กัน

MALI X LINE MAN Wongnai

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มะลิพากิ่งพันธุ์ความขาว ข้น หวาน มัน ออกไปสู่ดินแดนใหม่ๆ นั่นคือการสปอนเซอร์เทศกาลอาหารของ LINE MAN Wongnai ซึ่งเป็นสื่อที่เชี่ยวชาญด้านการรีวิวร้านอาหารอย่างมาก  

นอกจากสนับสนุนเทศกาลแล้วมะลิยังได้ออกแคมเปญหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะแคมเปญ ‘มะลิติดดาว วงในบอกมา มะลิบอกต่อ’ ที่พาทุกคนไปทำความรู้จักร้านอาหารและคาเฟ่ ตั้งแต่ร้านบิงซู ร้านอาหารไทย ไปจนถึงปิ้งย่าง นอกจากจุดร่วมของแต่ละร้านจะเป็นความอร่อยและความเป็นที่หนึ่งในประเภทอาหารนั้นๆ แล้ว ก็ยังเป็นร้านค้าที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของมะลิจริงๆ 

หรือจะเป็นคอนเทนต์จาก Wongnai Cooking ที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นมิติใหม่ๆ ของมะลิว่านอกจากจะใช้ทานกับขนมปังหรือปาท่องโก๋ยามเช้าหรือยามท้องว่างแล้ว มะลิก็ยังสร้างสรรค์เมนูอาหารและของหวานได้หลากหลาย  

ตั้งแต่นมสดทอดจากนมข้นจืด ตรามะลิ โกลด์ และนมข้นหวานผสมช็อกโกแลต เมนูมินิคริสต์มาสคัพ ที่ตัวน้ำเชื่อมช็อกโกแลตทำจากนมข้นหวานผสมช็อกโกแลต ส่วนตัวมูสสตรอว์เบอร์รีก็ทำจากนมข้นหวานปราศจากไขมัน สูตรน้ำตาลน้อยกว่า เมนูแซนด์วิชโบราณที่ใช้นมข้นหวานเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำสลัด หรือจะเป็นเมนูคุกกี้สิงคโปร์ที่เลือกใช้นมข้นจืด ตรามะลิโกลด์เพิ่มความหอมนัวให้คุกกี้

แคมเปญการรังสรรค์อาหารครั้งนี้ยังทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ เห็นว่านอกจากจะใช้นมข้นจืดรังสรรค์เมนูหมูปิ้งนมสด ต้มยำกุ้ง หรือกุ้งนึ่งนมสดที่เราคุ้นเคยแล้ว ก็ยังใช้เป็นส่วนผสมในเมนูแกงกะหรี่สเต๊กเนื้อได้เช่นกัน 

“Wongnai เป็นสื่อด้านอาหารที่โด่งดังอยู่แล้ว เขายังโดดเด่นเรื่องการรีวิวอาหารมากที่สุดในไทย การร่วมมือกันในตอนนั้นทำให้มะลิเข้าถึงทั้งกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ประกอบร้านอาหาร เพราะมะลิปรากฏอยู่ทั้งในเทศกาลอาหารของเขา คอนเทนต์ต่างๆ รวมถึงอยู่ในแอพพลิเคชั่น มันเหมือนเราต่างก็เพิ่มคุณค่าให้กันและกัน นั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราเป็น long-term partnership ที่ดีจนปัจจุบัน” พิชญ์อธิบาย

ปัจจุบัน Wongnai ควบรวมกับ LINE MAN เป็น LINE MAN Wongnai ด้วยมูลค่าบริษัท 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 4 ของไทย การที่ทีมมะลิร่วมมือกับ LINE MAN Wongnai ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนจึงถือเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมะลิได้อย่างดี

MALI X MasterChef Thailand

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ของมะลิในทุกรูปแบบของอาหารคือการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์รายการ MasterChef Thailand และ MasterChef Junior Thailand ที่ไม่เพียงสนับสนุนรายการเท่านั้น แต่ยังมีโจทย์ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องนำผลิตภัณฑ์นมตรามะลิไปรังสรรค์เป็นเมนู

อย่างใน MasterChef Thailand ซีซั่น 3 EP. 9 โจทย์สำคัญคือการรังสรรค์เมนูขนมหวานที่ไม่มีครีมและนมสด แม้จะฟังดูยาก แต่เหล่าเชฟก็สร้างสรรค์เมนูที่หลากหลายออกมาได้ ส่วนเมนูที่เอาชนะใจกรรมการในครั้งนั้นคือเมนู ‘เล็บมือนางจิ้มนมข้นหวาน’ ของ ‘แมกซ์ แชมป์ MasterChef Thailand คนที่ 3’

เจ้าขนมที่ว่ามีเบสเป็น Charlotte Cake ซึ่งเป็นเมนูขนมหวานหาทานยาก แต่แมกซ์ก็สามารถรังสรรค์ขึ้นได้โดยที่เกือบทุกองค์ประกอบของขนมมีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ตรามะลิทั้งสิ้น

“ผู้บริโภคจะได้เห็นการใช้งานของมะลิที่หลากหลายขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่ามะลิคือ top-of-mind เรื่องนมข้นหวานเพราะเชฟชั้นนำยังเลือกใช้ ถือเป็นการพาร์ตเนอร์ที่ทำให้มะลิเข้าถึงทั้งคนทั่วไป ผู้ประกอบการ และเหล่าเชฟ” พิชญ์เล่าถึงจุดประสงค์การพาร์ตเนอร์ครั้งนั้น

MALI X GDH

หากกล่าวว่ามะลิคือตัวจริงด้านนมข้นหวานของไทย เชื่อว่าในแวดวงภาพยนตร์ไทยแล้ว ชื่อของ GDH ก็คงจะเป็นหนึ่งในชื่อที่ผู้ชมและคนในวงการยกให้เป็นที่หนึ่งไม่ต่างกัน 

หลังจากพามะลิเข้าหาผู้ประกอบการร้านอาหารมาแล้วด้วยการพาร์ตเนอร์กับสื่อด้านอาหารและรายการอาหาร มะลิก็ได้ไปปรากฏในฉากสำคัญๆ ของภาพยนตร์ในเครือ GDH เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้คนดูหนัง และเพื่อให้มะลิเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน 

อย่างเรื่อง น้องพี่ที่รัก ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เราก็ได้เห็นมะลิในฉากคลาสสิกอย่างฉากอาหารเช้า สะท้อนความเป็น top-of-mind เรื่องอาหารเช้าของคนไทย ส่วนใครเป็นสาวกเรื่องราวความรักของเพื่อนสนิทอย่าง Friend Zone..ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน เราจะได้เห็นการใช้นมตรามะลิแบบหลอดบีบกับอาหารคาว ฉายให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของรสชาติอาหารที่ต่างกัน

“การพาร์ตเนอร์กับบริษัทชั้นนำของประเทศไทยซึ่งเขาเป็นผู้นำในวงการและตลาดของเขา ทำให้ชื่อของมะลิมี echo อยู่ในตลาดนั้นๆ อยู่เสมอ” พิชญ์บอกความตั้งใจ

MALI X Ovaltine

เข้าถึงผู้บริโภค ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน และเข้าถึงผู้ประกอบการผ่านการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในไทยมาแล้ว มะลิยังพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นด้วยการพาร์ตเนอร์กับบริษัทระดับโลกอย่างโอวัลติน ในเครือ AB Food 

“โอวัลตินเป็นแบรนด์ที่มีการคอลแล็บอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงมีอินไซต์ว่าลูกค้าต้องการอะไร นั่นเป็นเหตุผลที่เขาติดต่อเรามาว่ามะลิและโอวัลตินจะร่วมกันพัฒนาสินค้าอะไรได้บ้าง ตัวมะลิเองที่ต้องการขยายความรับรู้ของแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อย่างกลุ่มเจนฯ Z เจนอัลฟา หรือคุณแม่มือใหม่อยู่แล้วจึงมองว่าเป็นโอกาสดี” พิชญ์ย้อนเล่าถึงการร่วมมือครั้งสำคัญซึ่งเป็นที่มาของมะลิ โอวัลตินแบบหลอดบีบและฝาเกลียว

นอกจากการพาร์ตเนอร์กับโอวัลตินยังสร้างความสดใหม่ให้มะลิแล้ว อีกสิ่งที่ทีมงานมะลิและมะลิในฐานะแบรนด์ ได้พัฒนาไปอีกขั้นคือรูปแบบการทำงานและมาตรฐานการรับรองที่ต้องมีมากขึ้นกว่าเดิม 

“ที่ผ่านมามะลิได้รับมาตรฐานต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ FSSC 22000, ISO 22000, HACCP, HAL-Q, HALAL ซึ่งคิดว่ามาตรฐานพวกนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โอวัลตินเลือกพาร์ตเนอร์กับมะลิด้วย 

“แต่ความที่โอวัลตินในเครือ AB Food เป็นแบรนด์สากลที่ต้องได้รับมาตรฐานของฝั่งยุโรปและประเทศอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จะร่วมมือกัน เราจึงต้องขอมาตรฐานระดับสากลเพิ่มเติม อย่าง SMETA (SEDEX Members Ethical Trade Audit) สะท้อนว่าเรามีการคุ้มครองแรงงานที่ดี”

สำหรับมะลิ ทุกๆ การร่วมมือกับแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศจึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้มะลิได้พัฒนาตนเอง และได้กระจายกิ่งพันธุ์แห่งความหอมไปยังดินแดนใหม่ๆ เพราะจากความสำเร็จของมะลิ โอวัลติน ก็ทำให้ทั้งสองแบรนด์เห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมร่วมกันมากขึ้นในอนาคต

“ทุกการพาร์ตเนอร์ที่เกิดขึ้นมันส่งให้มะลิมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทระดับโลกและมีโอกาสได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายกว่าเดิมให้คนไทย

“ในอนาคตเราอาจได้พามะลิไปพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ที่คนไทยอาจคิดไม่ถึงเลยก็ได้ เพราะมะลิมองว่าการที่แต่ละแบรนด์มี opposite attract ที่แตกต่างกันแต่ร่วมพัฒนาสินค้าด้วยกันได้ มันเป็นเสน่ห์และความเจ๋งอีกอย่างหนึ่ง” ทายาทรุ่นที่ 4 อย่างพิชญ์ทิ้งท้ายความตั้งใจและทิศทางที่จะพามะลิไปสู้พรมแดนใหม่ๆ ในอนาคต

เบื้องหลัง ‘นักรบมนตรา’ และการเอาตัวรอดในธุรกิจแอนิเมชั่นในมุมมอง ชาคฤษ แห่ง RiFF Studio

หากนึกย้อนกลับไปในปี 2553 วงการแอนิเมชั่นในบ้านเราตอนนั้นเป็นยังไง ใครจดจำได้บ้างไหม

แม้จะมีแอนิเมชั่นหลายๆ เรื่องทยอยออกมาให้รับชม แต่ในมุมธุรกิจและคนทำงานถือเป็นโจทย์แสนท้าทาย เพราะนอกจากทุนทางด้านเงินแล้ว การสร้างสรรค์แอนิเมชั่นสักเรื่องยังเรียกร้ององค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ ยังไม่นับเรื่องแรงกายแรงใจของคนในวงการที่ต้องหยัดยืนให้อยู่รอด

ในวันนั้นชาย 3 คน ประกอบด้วย วีรภัทร ชินะนาวิน, สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี และสรรเพชญ์ สาตราวาหะ รวมตัวกันก่อตั้งบริษัท RiFF Studio โดยตั้งใจเป็นกลุ่มคนไทยที่ทำงานด้านแอนิเมชั่น เพื่อสร้างผลงานแอนิเมชั่นออกสู่สายตาคนในประเทศด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเอง

ความคิดตอนนั้นของพวกเขาก้าวหน้าเพียงใดคงไม่มีคำถาม ความหลงใหลในแอนิเมชั่นของพวกเขามีมากมายแค่ไหนตลอดเส้นทางจนถึงวันนี้คือคำตอบ และความฝันของพวกเขาก็เป็นจริงเมื่อ ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ ออกสู่สายตาคนในประเทศ

แน่นอนเสียงวิจารณ์ย่อมมีทั้งบวกและลบ ซึ่งทั้งสองสิ่งล้วนสำคัญต่อการพัฒนาทั้งผลงานและวงการในวันข้างหน้า แต่วันนี้สิ่งที่เราสนใจคือเบื้องหลังการฝ่าฟันและวิธีคิดในการทำงาน ที่มีรายละเอียดน่าศึกษา

ทศกัณฑ์ นางสีดา หนุมาน เวฬา วายุ นิลภัทร พาลี สุครีพ และตัวละครต่างๆ จากวรรณกรรม ‘รามเกียรติ์’ ถูกพลิกโฉมให้ออกมาภายใต้คอนเซปต์อวกาศ ซึ่งทาง RiFF Studio ได้ร่วมมือกับทาง Wara.by GDH ในการเจรจานำภาพยนตร์ไปฉายยังแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงในโรงภาพยนตร์ต่างประเทศ และ Japan Anime Movie Thailand ในการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้

หลังจาก นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ เข้าฉายมากว่าสองสัปดาห์เราชวน ไอเทม–ชาคฤษ โนนคำ ผู้เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์และคาแร็กเตอร์ดีไซเนอร์ของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ มานั่งสนทนาถึงความท้าทายในกระบวนการคิดและการทำงานของภาพยนตร์แอ็กชั่น-ไซไฟฟอร์มยักษ์กับทุนสร้างกว่า 200 ล้านบาท ที่ทาง RiFF Studio เองก็หวังเป็นอีกแรงที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสแอนิเมชั่นที่ค่อยๆ ซาลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ผมว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ สำคัญมากกับอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นบ้านเรา” ไอเทมบอกแบบนั้นเมื่อเราชวนย้อนมองถึงแอนิเมชั่นสัญชาติไทยเรื่องล่าสุด

แน่นอนว่ากระบวนการทำงานหรือการสร้างแอนิเมชั่นออกมาสู่สายตาผู้ชมสักเรื่อง ‘ระยะเวลา’ และ ‘ทุนในการสร้าง’ คือปัจจัยที่สำคัญของธุรกิจสตูดิโอแอนิเมชั่นในไทย ซึ่งกว่าปัจจัยทั้งคู่จะมาบรรจบกันได้ครั้งหนึ่งก็กินระยะเวลาไปมากกว่า 5 ปี นับจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดที่ประจักษ์สู่สายตาผู้ชม เช่นนั้นแล้ว ภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่าง ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ เอง จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของ RiFF Studio ที่จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นบ้านเราให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ด้วยการเป็นสตูดิโอแอนิเมชั่นที่รายล้อมไปด้วยเหล่าคนทำงานที่มีเพียงแค่ความถนัดในด้านแอนิเมชั่น ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการจัดทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ RiFF Studio เห็นจะเป็น ‘ความไม่รู้’ และ ‘การเป็นมือใหม่’ ทางด้านภาพยนตร์ พวกเขาจึงดึง Wara.by GDH มาช่วยเติมเต็มด้วยการฟีดแบ็กและแนะนำในมุมของบทภาพยนตร์อย่างการเติมแก๊กลงไปในบางช่วง การเติมรายละเอียด เนื้อหาเพิ่มเข้าไปในบางฉาก รวมไปถึงการคอมเมนต์ระยะเวลาสั้น-ยาวของแต่ละซีนที่เหมาะสม ผนวกกับการทำสื่อโปรโมต ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนการจัดงานอีเวนต์ ‘Thailand Gala Premiere’ ที่ได้ Japan Anime Movie Thailand เข้ามามีส่วนร่วมเองนั้นก็ช่วยทำให้ภาพยนตร์ นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เราเชื่อว่าหลายๆ คนทั้งที่ได้ชมและยังไม่ได้ชมแอนิเมชั่นเรื่องนี้น่าจะมีคำถามหลายๆ คำถามลอยวนอยู่ในหัว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความกล้าบ้าบิ่นลุกขึ้นมาทำแอนิเมชั่นในบ้านเราที่ถือเป็นเรื่องเสี่ยงไม่น้อย หรือประเด็นเรื่องเบื้องหลังการออกแบบต่างๆ ที่มีพัฒนาการชัดเจน รวมถึงประเด็นคำถามที่ว่าทำไมจึงมักมีการนำเนื้อหาจากวรรณกรรม วรรณคดี มาตีความใหม่อยู่เสมอ แล้วมันจะเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้ยังไง

บทสัมภาษณ์นี้เราจึงตั้งใจชวนอาร์ตไดเรกเตอร์ผู้เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ช่วยผลักดันภาพฝันให้กลายเป็นความจริงมาคลี่คลายสิ่งที่หลายคนสงสัย

ย้อนกลับไปในขวบปีแรก RiFF Studio ก่อตั้งมาด้วยความเชื่อใด

ความเชื่อในการก่อตั้งก็คือการเป็นกลุ่มคนไทยที่ทำงานด้านแอนิเมชั่น แล้วเราก็อยากจะมีผลงานแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยออกสู่สายตาคนในบ้านเราด้วยกันเอง แต่สำหรับคนไทยโดยทั่วไปในยุคนั้น หรือในช่วงราวๆ ปี 2553 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชั่นอะไรพวกนี้มันยังดูไม่ออกว่าจะนำไปประกอบเป็นอาชีพได้สักเท่าไหร่ จนกระทั่งพี่ตุลย์ (วีรภัทร ชินะนาวิน), พี่พีท (สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี) กับพี่สรร (สรรเพชญ์ สาตราวาหะ) เขาค่อยๆ รวบรวมทีมขึ้นมา และก่อตั้งเป็นบริษัท RiFF Studio ที่ย่อมาจาก ‘Rendering for Food’ มาพร้อมกับตัว i ตัวเล็กเพิ่มความเท่ สมกับเป็นสไตล์วัยรุ่นยุค 90s อย่างพวกเรา

ซึ่งจริงๆ เป้าหมายของ RiFF Studio ตั้งแต่วันแรกคือการอยากทำงานที่ดีไปเรื่อยๆ มันเป็นความรู้สึกที่เราอยากจะสร้างผลงานแอนิเมชั่นฉบับที่ออกมาแล้วไม่มีคนมาว่าเรา ว่าแอนิเมชั่นของเราเทคนิคมันไม่ได้ ไลต์ติ้งไม่สวย เอฟเฟกต์ไม่ถึง เพราะเราอยากทำงานที่สร้างคุณภาพให้กับวงการแอนิเมชั่นของไทยไปเรื่อยๆ 

ส่วนจุดที่เหมาะสมของการก่อตั้งสตูดิโอในยุคนั้น เกิดขึ้นจากการที่เราเริ่มเข้าใจกระบวนการทำงาน Animation Guideline มากขึ้น อย่างการที่เราเห็นว่าแอนิเมชั่นมันจะต้องมีทีม pre-production ทีมสร้างตัวละครโมเดล (modeling), ทีมใส่สีและลวดลายให้กับตัวละคร (texture), ทีมสร้างตัวละครให้เกิดการเคลื่อนไหว (rigging), ทีมจัดองค์ประกอบหรือการซ้อนภาพแอนิเมชั่น (composite), ทีมจัดแสงแอนิเมชัน (lighting) แล้วก็ทีมตัดต่อ (edit) จะเห็นได้ชัดว่ามันมีกระบวนการมากมาย ซึ่งพวกเราเองก็เริ่มมีความรู้กันระดับนึง แล้วความรู้พวกนั้นมันเพียงพอที่เราจะสามารถถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพยนตร์หรือเป็นงานอื่นๆ ได้แล้วด้วย

คุณคิดว่าจุดเปลี่ยนใดในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของไทยในช่วงนั้นที่มีผลต่อการก่อตั้ง RiFF Studio

เอาจริงๆ จะเรียกว่าจุดเปลี่ยนมันก็อาจจะเปลี่ยนไม่มาก แต่ผมคิดว่าระยะเวลานั้นมันคือจุดเชื่อมต่อระหว่างคนเจนฯ ก่อนหน้านี้ ตามมาด้วยเจนฯ ของพวกผมหรือในยุค 90s เพราะว่ามันจะเป็นเจนฯ ของแอนิเมชั่นอย่าง ‘ก้านกล้วย’ หรือ ‘นาค’ พอดิบพอดี เราเลยรู้สึกว่าเราอยากจะสานต่อ เราอยากทำแอนิเมชั่นฝีมือพวกเราให้คนไทยได้ดูกันอีก แล้วในปี 2553 เองมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของน้องๆ เจนฯ Alpha ด้วย มันก็เลยชวนให้สตูดิโอเราเป็นดั่งจุดเชื่อมต่อระหว่างภาพจำแอนิเมชั่น ทั้งของผู้คนเจนฯ X Y Z ก็ดี หรือจะเป็นของเจนฯ Alpha อย่างทุกวันนี้ก็ได้

แล้วอะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจเข้ามาร่วมทำงานกับ RiFF Studio

ผมเข้ามาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ตอนที่ RiFF Studio เปิดไปแล้วประมาณหนึ่งปี ก่อนหน้านั้นผมเคยทำงานร่วมกับพี่ตุลย์มาก่อน ซึ่งพี่ตุลย์เองก็เชิญชวนผมให้มาร่วมทีมตั้งแต่แรกๆ เพียงแต่ว่าผมยังมาเลยไม่ได้ โดยในระหว่างนั้นเอง พี่ตุลย์เขามีเปิดโรงเรียนสอนแอนิเมชั่นเพื่อสร้างบุคลากรทางด้านนี้โดยเฉพาะ ผมเองก็มีโอกาสได้เข้ามาช่วยสอนเด็กๆ ก่อนจะเข้ามาร่วมทีมกับ RiFF Studio ในปี 2554

สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับทางสตูดิโอเลยคือ การที่ผมมองเห็นแพสชั่นของพี่ตุลย์ ทั้งหมดทั้งมวลเพราะว่าเขาเป็นคนที่อยากทำภาพยนตร์ให้ได้ เป็นคนที่มีแพสชั่นแน่วแน่ว่าสักวันหนึ่งเราต้องก่อตั้งสตูดิโอที่จะช่วยเทรนคนในเมืองไทยขึ้นมา เทรนเด็กขึ้นมาพอให้เขามีความรู้และความสามารถด้านแอนิเมชั่น แล้วก็ให้พวกเขาได้มีความฝันเดียวกัน นั่นก็คือความฝันของการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น

แล้วอาร์ตไดเรกเตอร์ในสตูดิโอแอนิเมชั่นต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง

ผมเริ่มต้นจากการเข้ามาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ด้วยการมาช่วยเซตทีมอาร์ตให้ฟอร์มกันออกมาเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ เพราะว่าในตอนนั้นทีมอาร์ตเองยังมีเพียงแค่น้องอาร์ตติสท์ 2 คนที่ยังคงทำงานกระจายกันอยู่ ผมก็เลยมาช่วยฟอร์มทีม แล้วก็มอบหมายหน้าที่ที่ชัดเจนว่าแต่ละคนควรทำอะไรเป็นหลัก เช่นการสร้างคาแร็กเตอร์ ฉาก ทำสี ทำสคริปต์ ทำสตอรีบอร์ด เป็นต้น นี่คือหน้าที่ทั้งหมดของทีมอาร์ตเลย

แม้หน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์สำหรับตัวผมจะคือการให้ความรู้กับน้องๆ หรือการช่วยเขาฟอร์มกันเป็นทีมและสามารถทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่มันมีความสุขได้ แต่ในแง่ของการทำงานจริงๆ ผมก็จะมีหน้าที่ช่วยคอนโทรลอาร์ตสไตล์ของน้องๆ ให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ผมก็ยังต้องสามารถอธิบายงานให้น้องๆ เข้าใจได้อย่างละเอียดด้วย อย่างถ้ามีผลงานชิ้นนึงที่ไม่สวย หน้าที่ของเราก็คือต้องอธิบายให้น้องๆ ในทีมฟังได้ว่าเพราะอะไรมันถึงไม่สวย เราจะต้องมาไกด์น้องๆ ว่านิยามคำว่า ‘สวย’ ของผลงานชิ้นนั้นๆ เป็นยังไง

ข้อที่ต้องระวังคือเราไม่ควรจะไปก้าวก่ายงานของน้องๆ ที่ทำอยู่ ควรแค่ช่วยชี้แนะ แล้วก็ให้เขาทำออกมาให้ได้เอง หรือจนกว่าเราประเมินแล้วว่าเวลามันไม่ทัน เราถึงค่อยยื่นมือเข้าไปช่วยจริงๆ นี่แหละ คือหน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์ตั้งแต่วันแรกของผม

แล้วอะไรคือชาเลนจ์ของการทำธุรกิจอย่าง ‘สตูดิโอแอนิเมชั่น’ ในช่วงแรก 

คือความไม่รู้ เพราะเราก่อตั้งขึ้นมาด้วยความเป็น ‘อาร์ตติสท์’ โดยพื้นฐาน ก็คือทุกคนเป็นอาร์ตติสท์ ผมก็เป็นอาร์ตติสท์ พี่ตุลย์ก็เป็นอาร์ตติสท์ ซึ่งพวกเราก็ไม่รู้เรื่องการทำธุรกิจและการก่อตั้งบริษัท เรียกได้ว่าพวกเราทำอะไรไม่เป็นเลย ไม่รู้จักฝ่ายบัญชี เราแทบไม่รู้จักฝ่ายอะไรใดๆ ทั้งสิ้น รู้แต่ว่าพวกเราสามารถทำงานแอนิเมชั่นให้เสร็จกันได้ แต่การจะเป็นบริษัทมันต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งพวกเราก็ยังไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมด แน่นอนแหละว่าอาร์ตติสท์อย่างเราๆ ก็ไม่ได้ชอบเรื่องพวกนี้หรอก เพียงแต่ว่ามันก็จำเป็นต้องรู้ 

‘ความไม่รู้’ สอนให้พวกคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

คือ ‘การต้องเรียนรู้ให้เร็ว’ เพราะว่าด้วยความที่บริษัทมันจะค่อยๆ ขยับจำนวนคนหรือขนาดที่ค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ มันก็อาจจะต้องมีปัญหาที่เข้ามาให้พวกเราคอยแก้อยู่ตลอดเวลา โดยวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ก็คือการที่พวกเราจะต้องรับรู้ปัญหาเหล่านั้นให้เร็ว แล้วก็แก้ไขให้ถูกจุดซึ่งเราก็ต้องมีคนที่คอยวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ได้ดีด้วยเช่นกัน

ในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์เอง คิดว่าผลงานชิ้นไหนของ RiFF Studio ที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจวงการแอนิเมชั่นอีกครั้ง

ผมว่า ‘เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ’ นะ เพราะส่วนตัวผมคือรู้สึกว่า ‘เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ’ ทั้งเป็นงานแรกที่ผมได้ทำหน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์อย่างเต็มตัว และเป็นผลงานแรกที่ได้ผลตอบรับดีมาก อีกทั้งสตูดิโอเราเองก็ใช้ทีมงานน้อยด้วย ฉะนั้นเราก็ไม่คิดเหมือนกันนะว่าฟีดแบ็กผู้ชมจะดีขนาดนี้ ซึ่งด้วยความที่ตอนนั้นผมทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่การดีไซน์คาแร็กเตอร์ ไปจนถึงการ composite สุดท้ายมันเลยทำให้ตัวผมเองรู้สึกสนุกตั้งแต่ระหว่างโปรเซสของการทำแอนิเมชั่นแล้ว ความสนุกที่ไม่ได้หวังผลอะไร แต่ผลตอบรับก็ดันออกมาดีเกินคาด พวกเราก็แฮปปี้กันทุกฝ่าย

เอาจริงๆ ผมยังจำความรู้สึกในสมัยนั้นได้อยู่เลย เพราะในช่วงปี 2558 เองช่องทางโซเชียลมันยังไม่ได้บูมมาก ฟีดแบ็กก็จะมาตามเว็บบอร์ดต่างๆ อย่างเช่นคำชมว่า ‘ใครออกแบบการ์ตูนออกมาช่วงนี้’, ‘คาแร็กเตอร์มันดีมากเลย’ ซึ่งพอเราอ่านแล้วก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นเลยทันที ไม่ใช่แค่ผมที่ได้รับคำชมนะ แต่ยังมีทั้งคำชมในด้านของเนื้อเรื่องที่พอดี แอนิเมชั่นที่เคลื่อนไหวได้อย่างลื่นไหล ไลต์ติ้งก็สวย เท่ากับว่าทุกคนได้รับคำชมกันหมด ในส่วนของผมเองก็จะรู้สึกว่า ‘นี่แหละ คืองานสไตล์ของเรา’ เราอาจจะต้องไปทางนี้เพื่อที่จะอัพคุณภาพงานขึ้นมาได้อีก ผู้คนก็จะรู้จักแอนิเมชั่นมากขึ้นอีกด้วย

ย้อนกลับไปในวันแรก โปรเจกต์ ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ เกิดขึ้นได้ยังไง

ถ้าเอาตามความเป็นจริง โปรเจกต์นี้มันเป็นลักษณะของการพิตชิ่งดูว่าเราอยากได้เรื่องไหนออกมา แล้วเรื่องไหนที่จะมีแนวโน้มว่าออกมาดูดีที่สุด เราพิตชิ่งกันหลายเรื่องนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราอยากทำอะไรที่มันเป็นไทยก็โผล่ตู้มขึ้นมา

ไอเดียเริ่มต้นมันมีหลากหลายมาก ตอนนั้นก็มีพิตช์เป็น ‘ผีอวกาศ’ บ้าง เหมือนหนังผีจะถูกนำมาพิตช์เยอะเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว พอคนรวมกันเยอะๆ ด้วยความที่การร่วมงานในครั้งนี้ของเรามีทีมต่างชาติเข้ามาตัดสินใจด้วย ฉะนั้นแล้วที่ประชุมก็เลยเคาะว่ามันควรจะเป็นเรื่องของ ‘รามเกียรติ์’ กับ ‘คอนเซปต์อวกาศ’ อย่าง นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ นี้จะดีกว่า เพราะทีมต่างชาติเขาก็มองว่าไม่ว่าจะเป็นอวกาศเอย ผีเอย เขาเคยเห็นแล้ว แต่เขาอยากเห็นแอนิเมชั่นคอนเซปต์นี้ในแบบของ RiFF Studio เพราะเราก็ยังไม่เคยทำ นี่เลยทำให้เขารู้สึกว่าอยากดูอันนี้ สนใจสิ่งนี้ และ อยากได้เรื่องนี้ 

แล้วการหยิบยกเรื่องราวของ ‘รามเกียรติ์’ สู่การพิตชิ่งภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่าง ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ เป็นไอเดียของใคร

เป็นไอเดียของพี่พีท (สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง RiFF Studio และคนเขียนบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ หลักๆ ก็คือเกิดจากการที่พี่พีทเขาชอบรามเกียรติ์โดยส่วนตัวอยู่แล้ว จึงทำให้เขาเขียนเรื่องนี้ออกมาได้ดี พอนำมาร่วมพิตชิ่งด้วยแล้ว ทุกคนในที่ประชุมก็โหวตให้กับเรื่องนี้ จนออกมาเป็นชื่ออย่าง นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์

หลายคนอาจจะคิดว่าตอน ‘ตำนานแปดดวงจันทร์’ นี้ เป็นการหยิบยกรามเกียรติ์ตอน ‘ศึกสงครามระหว่างกองทัพแห่งองค์รามและจักพรรดิทศกัณฑ์มาตีความใหม่ แต่จริงๆ ในภาพยนตร์เอง จะเห็นได้ว่าเราก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องราวแค่ตอนเดียวมาอยู่แล้ว เพราะมันจะมีเหตุการณ์และกิมมิกหลากหลายอย่างมาผสมผสานกัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันก็เหมือนจะไม่ใช่รามเกียรติ์ซะทีเดียว แต่พวกเราเรียกภาพยนตร์นี้กันว่า ‘หนังอวกาศ’ ที่ใช้ชื่อพระเอกกับชื่อตัวละครจากรามเกียรติ์เฉยๆ 

ในส่วนของการตีความใหม่คือทีมงานจะค่อยๆ ช่วยกันเติม ค่อยๆ ช่วยกันคุย แล้วเราก็ได้ Wara.by GDH มาช่วยสกรีนนิ่ง มาคุยกันว่าควรเติมมุกในตอนไหนบ้าง ก่อนเราจะมาคุยและมาเติมไอเดียในสิ่งที่ทาง RiFF Studio เองก็อยากทำในตอนนั้นเข้าไปบ้าง เพราะพวกเราคิดว่ามันไม่ควรจะยึดตามต้นฉบับเลย เหตุผลง่ายๆ ก็คือเราก็ไม่ชอบอะไรที่มันไทยจ๋าขนาดนั้น เรากล้าเปลี่ยน กล้ารื้อ แต่ก็คีปดีไซน์เอาไว้ให้มีความรู้สึกว่าตัวภาพยนตร์เองก็ยังคงมีความล้อเลียนไปกับรามเกียรติ์ได้อยู่บ้าง จุดนี้มากกว่าที่เราเน้นเอามาพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชั่นของเรามากขึ้น

ในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์คุณตั้งใจให้อาร์ตไดเรกชั่นของ นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ ออกมาในทิศทางไหน

จริงๆ ตัวอาร์ตไดเรกชั่นของภาพยนตร์เรื่องนี้เราตั้งใจอยากให้มันออกมาในธีมอวกาศโดยที่ไม่ต้องเล่า  ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็นคาแร็กเตอร์ของหนัง ก็สามารถรับรู้ได้เลยว่ามันคือ ‘ธีมอวกาศ’ แบบที่เราไม่ต้องมานั่งเกริ่นว่า ทำไมตัวละครพวกนี้มันอยู่บนอวกาศแล้วพูดภาษาไทยกัน แล้วผมก็ดีใจมากๆ ด้วย ที่พอเราออกแบบไปแล้วก็ไม่มีคนเอะใจเลยว่า ‘ทำไมมันไม่พูดภาษาอังกฤษ’ (หัวเราะ) เหตุผลเล็กๆ แบบนี้มันกลับกลายเป็นส่ิงที่ทำให้เรา ทีมอาร์ตรู้สึกประสบความสำเร็จได้

เปรียบกับเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ถูกแต่งมาดีแล้วมากๆ ที่พอเวลาเราดูหนังเราก็จะไม่รู้สึกเลยว่าตัวหนังเองมันมีเพลงประกอบขึ้นมาขัดจังหวะในการดูของเราอยู่ เพราะมันกลืนไปกับตัวภาพยนตร์ได้เลย อันนี้ก็เหมือนกัน เหมือนเราเซตโลกจำลองขึ้นมา แล้วก็ไม่มีใครกลับมาถามว่า ‘ทำไมอยู่บนอวกาศแล้วตัวละครพูดภาษาไทยมากกว่า’ ดังนั้นอาร์ตไดเรกชั่นของเรื่องนี้ก็คือ ‘ธีมอวกาศที่ทุกคนมีจริต’ คาแร็กเตอร์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยหรือสไตล์บ้านเรามากกว่า นี่แหละคือการประสบความสำเร็จ

เมื่อทุกอย่างถูกตีความใหม่ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้

จริงๆ ผมว่าในการทำอาร์ตนี่แหละที่มันเปลี่ยนไปมากที่สุด เพราะส่วนตัวผมว่าการดีไซน์คาแร็กเตอร์ตัวละครเองก็เปลี่ยนไปเกือบหมดเลยนะ เพราะมันจะมีแค่ไม่กี่ตัวละครที่ยังคงเหลือความเป็นรามเกียรติ์เอาไว้ เช่น ทศกัณฐ์ ที่ผมตั้งใจจะคีปเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างโขนไทย-ยักษ์ไทยเอาไว้ค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกันตอนที่ผมดีไซน์ตัวละครอื่นๆ ผมไม่ได้คิดหรือคีปว่ามันจะต้องมีความเป็นไทยยังไง  แต่ผมเขียนคาแร็กเตอร์เหล่านั้นออกมาด้วยความอยากเห็นคาแร็กเตอร์แบบนี้ออกมาโลดแล่นในตัวภาพยนตร์มากกว่า เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นคนไทยอยู่แล้ว เราดีไซน์คาแร็กเตอร์นั่นนี่ไปเดี๋ยวความเป็นไทยมันก็ออกมาเองตามธรรมชาติ 

ในฐานะคาแร็กเตอร์ดีไซเนอร์ ตัวละครไหนที่คุณชอบที่สุด

ผมชอบ ‘ทศกัณฐ์’ ซึ่งพอถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงชอบที่สุด ก็ต้องเล่าย้อนไปตอนสมัยเรียนที่ผมเคยเรียนวิชาศิลปะไทยอยู่ราวๆ 2 เทอมแบบไม่ได้ลึกมาก แล้วพอผมจะต้องมาออกแบบคาแร็กเตอร์อย่างทศกัณฑ์ มันก็ค่อนข้างที่จะชาเลนจ์ตัวเองระดับนึง เพราะในหัวของผมคิดว่า ‘ทศกัณฑ์’ มันจะต้องมีเอกลักษณ์ของคาแร็กเตอร์ที่มีความเป็นไทยสูงประมาณนึง แน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่ผู้ชมได้เห็นแล้ว คนที่ชอบก็คือจะชอบตัวละครนี้แบบผมไปเลย แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบก็จะด่าไปเลย ผมก็เลยคิดว่า ‘เจ้าตัวนี้ก็ชาเลนจ์เหมือนกันนะ’ เพราะต้องทำให้ออกมาอยู่ในธีมอวกาศด้วย

เมื่อกี้ผมอาจจะพูดถึงแนวคิดของการออกแบบคาแร็กเตอร์ไปมากกว่า แต่ตัวภาพรวมของทศกัณฐ์ที่ผมชอบก็คือ ‘ดีเทลของศิลปะไทยที่ยิบย่อย’  ด้วยความที่ศิลปะไทยมันจะมีดีเทลยิบย่อยมาก ซึ่งแน่นอนว่าผมก็คงไม่สามารถใส่ทุกอย่างลงไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลายกนกหนึ่งชั้น สองชั้นเอย หรือแม้แต่หัวนาคเองก็ดี แล้วตอนที่ผมนำลายไทยพวกนี้ไปใส่ไว้ในคาแร็กเตอร์ทศกัณฑ์เนี่ย ผมก็ไม่ได้อ้างอิงว่ามันจะต้องอยู่ตรงนี้หรืออยู่ตรงไหน เพราะผมจะเน้นใส่เข้าไปตามลักษณะของการออกแบบที่ค่อนข้างโมเดิร์นนิดนึง อย่างการให้เคิร์ฟและโฟลว์มันวิ่งไปซะมากกว่า แล้วผมก็จะดูว่าเคิร์ฟมันควรจะอยู่ตรงไหน จังหวะสเปซมันเท่าไหร่ ว่าง่ายๆ ก็คือหลักการออกแบบของผมมันจะออกไปทางสากล เพราะฉะนั้นตัวคาแร็กเตอร์ไทยๆ ก็จะออกมาดูสากลไปด้วย

ตัวละครที่ออกแบบยากที่สุดคือ

‘หนุมาน’ ตัวนี้ยากสุด เพราะว่าหนุมานเป็นคาแร็กเตอร์แรกที่ทุกคนอยากเห็นกันตั้งแต่ตอนพิตชิ่งและเคาะเนื้อเรื่อง แล้วเชื่อไหมว่าแค่คาแร็กเตอร์อย่างหนุมาน ผมก็สเกตช์ไป 30-40 เวอร์ชั่นแล้ว จนมาถึงเวอร์ชั่นสุดท้ายที่ผมในฐานะคาแร็กเตอร์ดีไซเนอร์เองก็คิดไม่ออกแล้วเหมือนกัน ผมก็เลยมาลองเขียนให้ตัวหนุมานมันอิงไปทางโขนไทยนิดๆ ปรากฏว่าทุกคนก็แฮปปี้กันกับเวอร์ชั่นนี้ ในตอนนั้นผมก็รู้สึกว่า ‘รอดแล้ว’ ‘ตัวนี้มันออกมาได้แล้ว’ (หัวเราะ) ซึ่งตัวผมเองก็โอเคกับดีไซน์ของคาแร็กเตอร์นี้เลยนะ ถึงแม้มันอาจจะดูซิมเปิลแบบไม่ได้ซับซ้อน แต่กว่าจะมาถึงเวอร์ชั่นนี้ได้ก็ยากเลยทีเดียว 

อะไรคือความท้าทายของโปรเจกต์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้

ปัญหาตอนนั้นสำหรับ RiFF Studio มันเป็นปัญหาระดับโลกเลย ก็คือเราเจอโควิด-19 พอดี แล้วทุกคนจะต้องหันมา work from home ในขณะที่เราเพิ่งเริ่มเซตทีมกันมาได้แค่ 2-3 ตอน อธิบายง่ายๆ ก็คือเหมือนเราเพิ่งมาเริ่มทำภาพยนตร์ได้แค่ประมาณ 4-5 นาที พอเราเจอโควิด-19 เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน จากที่ปกติเราเข้าออฟฟิศมานั่งทำงานกัน ก็กลายมาเป็น work from home มันก็จะค่อนข้างยุ่งยากอยู่ สิ่งนี้แหละที่เป็นปัญหาที่สุดในช่วงนั้น 

แล้วชาเลนจ์อย่างโควิด-19 และการ work from home ของทีมงาน ส่งผลอะไรกับโปรเจกต์นี้บ้าง

กลายเป็นว่าไม่มีเลยและกลับเป็นผลดีซะด้วยซ้ำ เพราะด้วยความเป็นมืออาชีพของน้องๆ ในทีม พวกเราสามารถที่จะปรับตัวได้เลยทันที แล้วเราก็ใช้เวลาในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกันได้สั้นกว่าที่คิดด้วย 

เราหันมาสื่อสารกับน้องๆ ในแต่ละทีมมากขึ้น กลายเป็นว่าเราประชุมกันบ่อยขึ้น และด้วยความที่น้องๆ มีเวลาในการทำงานที่บ้านตัวเองอย่างเต็มที่ ต่อให้เราเซตเวลาการทำงานกันไว้ 8 ชั่วโมงปกติ น้องๆ และตัวผมเองก็สามารถบริหารเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง อย่างบางทีเราทำงานไม่ทันเราก็ไปทำงานกลางคืนก็ได้ หรือบางทีทำงานในตอนกลางวันแล้ว อยากพักบ้างอะไรบ้าง กลับมาทำงานกลางคืนอีกที มันมีสมาธิจดจ่อมากกว่า นั่นก็กลายเป็นว่าทุกๆ คนทุ่มเทกับงานได้มากขึ้น จากงานที่ตอนแรกมีท่าทีว่าจะเสร็จช้าก็กลายเป็นเร็วซะงั้น ถือเป็นโชคดีของพวกเราครับ 

อะไรคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดของโปรเจกต์นี้

ในมุมมองของผม ผมคิดว่าเป็นกำลังใจจากผู้ชมที่เข้าไปดูนะ เขาให้กำลังใจเราเยอะมาก ผมว่าตรงนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ทุกคนได้รับมาและสำคัญที่สุด

เพราะผมมองว่า RiFF Studio เอง ในส่วนของเทคนิคหรือการทำแอนิเมชั่น เราค่อนข้างมีประสบการณ์มาแล้วในระดับนึง แต่เราไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับฟีดแบ็กมากนัก ซึ่งผมว่าการได้รับฟีดแบ็กจากคนที่เขาไม่ได้อยู่ในสายแอนิเมชั่น มันคือประสบการณ์ที่ดีสำหรับพวกเรา อย่างเช่น เขามองว่า ‘ฉากนี้ ซีนนี้มันเร็วไปนะ’, ‘คาแร็กเตอร์อันนี้มันโป๊ไปไหม’, ‘เนื้อเรื่องดูแบบง่ายไปไหม’ หรือ ‘ยากไปไหม’ ผมว่าทุกอย่างที่เป็นฟีดแบ็กคือดีหมดเลย เพราะว่าถ้าเราเปิดใจกล้าที่จะรับฟีดแบ็กจากผู้ชมแล้ว ทุกอย่างก็จะมีผลดีกับการพัฒนาของเรา

เห็นว่ามีการต่อยอดดีไซน์ในแอนิเมชั่นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย คุณเลือกยังไงว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร

แน่นอนว่าเราทำธุรกิจเราก็ไม่อยากขาดทุน RiFF Studio เอง ก็จะมีการมอนิเตอร์ฟีดแบ็กของผู้ชมทางโซเซียลฯ อยู่บ้างว่าใครชอบตัวนี้ ตัวไหนที่คนพูดถึงกันบ่อยๆ บางทีเราก็อาจจะเล็งหรือเลือกคาแร็กเตอร์บางตัวของเรื่องที่ดูแล้วน่าจะมีศักยภาพพอที่จะนำมาผลิตเป็น merchandise ได้ บางคาแร็กเตอร์เอง เราก็มีกระบวนการคิดไว้ตั้งแต่การดีไซน์เลยว่า ‘ตัวนี้จะต้องทำให้มันดูน่ารัก’

อย่างในภาพยนตร์แอนิเมชั่น ‘นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์’ เราก็มีคาแร็กเตอร์น่ารักๆ อย่าง ‘จูจิบี้’ หรือภูตวารี เราก็แพลนกันไว้แล้วว่าตัวนี้มันควรจะมีความน่ารักระดับนึงอยู่ในทั้งคาแร็กเตอร์และแอ็กติ้ง เพื่อที่ตัวละครนี้เองจะได้ส่งเสริมการขายของของเราเป็นอย่างยิ่ง (หัวเราะ) เพราะไม่ว่าใครที่ได้เห็นก็ต้องเอากลับบ้านให้ได้ โดยเราก็ได้แพลนไว้แล้วว่าจะทำไลน์โปรดักต์นี้ให้ออกมาเป็น ‘ตุ๊กตา’ 

นอกจากสินค้าอย่างตุ๊กตากว่า 11 คาแร็กเตอร์แล้ว เราก็ยังมีการคอลแล็บกับทางแบรนด์ ‘หงส์ไทย’ ออกมาเป็นโปรดักต์ที่เราเรียกกันว่า ‘เคสยาดม’ ถึง 3 สี 3 คาแร็กเตอร์ ก็จะมีเคสสีดำเป็นตัวละครนิลภัทร สีขาวเป็นหนุมาน และสีเขียวเป็นทศกัณฑ์ ถึงจะเรียกกันว่าเคสยาดม แต่จริงๆ พวกเราก็ตั้งใจให้โปรดักต์ชิ้นนี้ออกมาเป็นกล่องอเนกประสงค์หรือกล่องที่สามารถใส่อะไรก็ได้ แล้วในอนาคตเราก็มีแผนจะนำคาแร็กเตอร์ของนักรบมนตราให้ออกมาเป็นฟิกเกอร์ไซส์กะทัดรัด ขนาดที่จะสามารถเอามาใส่เคสยาดมแล้วเก็บไว้ก็ได้

สำหรับคนทำงานศิลปะแล้ว ‘การได้รับฟีดแบ็กจากผู้ชม’ คือการวัดความสำเร็จของผลงานใช่ไหม

สำหรับผม ในฐานะคนทำงาน ผมว่า ใช่ อย่างในภาพยนตร์ นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ เราได้ฟีดแบ็กจากผู้ชมเยอะมาก ไม่ว่าจะดีหรือจะไม่ดี เราก็น้อมรับฟีดแบ็กเอาไว้ทั้งหมด จำนวนของฟีดแบ็กเหล่านี้มันสามารถแสดงได้ว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นของเราประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ใช่แค่ตัวผมนะ แต่น้องๆ ทุกคนในทีมก็มีแอ็กติ้ง มีแอ็กชั่นกับคอมเมนต์ต่างๆ นานา สิ่งเหล่านี้แปลความได้ว่าพวกเราประสบความสำเร็จกันแล้วจริงๆ เพราะพวกเราไม่ได้มองว่าความสำเร็จคือตัวรายได้หรืออะไร แต่ในฐานะคนทำงานเอง เราก็แค่อยากจะทำงานก็เท่านั้น 

ถ้าให้พูดถึงอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นบ้านเราตอนนี้ คุณคิดว่าคนไทยหันมาสนใจในแอนิเมชั่นกันมากขึ้นหรือยัง

ตอบตามความรู้สึกแล้วกันนะ ผมว่าอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นในบ้านเรา มันค่อนข้างจะซาลงเหมือนกันนะ แล้วคนไทยส่วนใหญ่จะหันมาให้ความสนใจกับแอนิเมชั่นมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีคอนเทนต์หรือภาพยนตร์แอนิเมชั่นใหญ่ๆ มาให้ได้ดูกัน ซึ่งมันก็ไม่ได้มีมาให้ดูเรื่อยๆ ซะด้วย อย่างช้าสุดก็ราวๆ 5 ปีครั้ง เหมือนกับระยะห่างของภาพยนตร์แอนิเมชั่น ๙ ศาสตรา กับ นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ นี่แหละ สำหรับตัวผมเอง ผมว่ามันทิ้งช่วงนานเกินไปหน่อย 

ผมจำได้ในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษา เราจะมีแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยออกมาให้ดูกันเยอะมาก ทั้ง ปังปอนด์ เอย ก้านกล้วย ตั้ง 3-4 ภาค แล้วก็มี นาค และอีกหลายๆ เรื่อง ก็คือเยอะมาก ส่วนตัวผมตอนนั้นก็มองว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นบ้านเรามันทั้งเยอะและสดใหม่จังเลย ผมเองก็มีความฝันที่เข้ามาทำแอนิเมชั่นบ้าง แต่พอได้เข้ามาทำเองจริงๆ กลับกลายเป็นว่าคอนเทนต์ในบ้านเรามันน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่คอนเทนต์ต่างประเทศเองมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม จะมีก็แต่เนื้อหาและสไตล์ของคอนเทนต์ที่เปลี่ยนไปก็เท่านั้น 

คุณคิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นบ้านเราค่อยๆ ซาลง

ส่วนหนึ่งผมว่าก็คงเป็นเรื่องรายได้ ถ้าพูดแบบไม่กั๊กเลย เพราะว่าผลงานแอนิเมชั่นในบ้านเราโดยส่วนใหญ่มันอาจจะประสบความสำเร็จในแง่ของการทำงานก็จริง แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้ ดังนั้นการที่นายทุนจะเข้ามาซัพพอร์ตในส่วนของแอนิเมชั่น เขาก็คงมีความตระหนักคิดระดับหนึ่งว่า ‘เอ๊ะ จะลงทุนดีไหม’ ตรงนั้นมากกว่า

แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณอยากเห็นในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นบ้านเรา

ผมอยากเห็นการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่แอนิเมชั่นเท่านั้น เพราะผมมองว่าพื้นฐานมันจะต้องมาก่อน หมายถึงว่าเราควรมีการปูพื้นฐานของคอนเทนต์ให้มันได้ก่อน โดยคอนเทนต์ที่ผมพูดถึงมันก็อาจจะเป็นคอมิกสักพันเรื่องต่อปี หรือจะเป็นนิยายก็ได้  ก็คือให้เด็กๆ และวัยรุ่นทุกคนสามารถสร้างงานคอนเทนต์เล็กๆ ได้อย่างหลากหลาย ผมเชื่อว่าทำมาพันเรื่องมันต้องมีสักเรื่องที่จะเข้าตานักลงทุนให้เขาได้หยิบมาทำ หยิบมาซัพพอร์ตต่อ อันนี้จำเป็นมาก 

เพราะผมคิดว่าการสร้างคอนเทนต์เล็กๆ จำเป็นกว่าคอนเทนต์ใหญ่ๆ จากประสบการณ์ที่ผมอยู่ในวงการแอนิเมชั่นมา 20 ปี ผมได้เรียนรู้ว่าทุกคนพยายามที่จะวิ่งเข้าไปหยิบคอนเทนต์ใหญ่ๆ มาทำ ซึ่งพอหยิบอันใหญ่มาทำแล้วมันใช้ระยะเวลาในการทำนานกว่าเราจะได้รับฟีดแบ็ก ผมก็รู้สึกว่ามันช้าไปมากๆ ดังนั้นถ้ามีฟีดแบ็กเล็กๆ จากแค่คอนเทนต์อะไรก็ได้ที่มันสามารถต่อยอดและนำมาพัฒนาวงการแอนิเมชั่นบ้านเราได้ ผมว่าก็ได้หมดเลย แต่จะว่าไปคอนเทนต์เล็กๆ ของเราเองยังไม่ค่อยแข็งแรง อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงการได้รับการสนับสนุนนะ แต่ผมพูดถึงคนที่ทำงานด้วยกันเอง ก็ยังไม่มีใครกล้าที่จะออกมาผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบนี้ 

ในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ คุณอยากเห็นการเติบโตอะไรใน RiFF Studio

ผมอยากให้  RiFF Studio เติบโตไปในทิศทางหรือความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ได้หลากหลายมากขึ้น มากไปกว่าการผลิตแอนิเมชั่นด้วยซ้ำ เพราะว่าตัวแอนิเมชั่นสำหรับผม ผมคิดว่ามันค่อนข้างใช้เวลานาน แล้วกว่าสตูดิโอเราจะเติบโตได้ มันก็ช้า เพราะส่วนตัวผมก็อยากเห็นตัวสตูดิโอมันเติบโตไปมากกว่านี้

อย่างที่ผมเน้นย้ำไปในหลายๆ คำถาม คือด้วยความถี่ในการได้รับฟีดแบ็กจากผู้ชมมันสำคัญมากๆ สำหรับเรา เพราะฉะนั้นการได้รับฟีดแบ็กบ่อยๆ มันจะทำให้เราเติบโตเสมือนมีคนคอยสอนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผมก็เลยอยากให้ RiFF Studio เอง มีความสามารถในผลิตคอนเทนต์เล็กๆ ออกมาเรื่อยๆ ก่อนจะมุ่งไปสู่ภาพยนตร์ตัวใหญ่ โดยการสะสมฟีดแบ็กนี่แหละ ที่จะทำให้ตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นของเราออกมาแล้ว ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาทำงานในวงการแอนิเมชั่นมากขึ้นด้วย เมื่อเรามีบุคลากรทางด้านแอนิเมชั่นเพิ่มขึ้น ผมว่าเราก็จะสามารถรันวงการแอนิเมชั่นให้มันอยู่คู่กับประเทศไทยไปได้ตลอด ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นความฝันของผมด้วย 

มีอะไรอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในด้านแอนิเมชั่นไหม

สำหรับน้องๆ ที่มีความฝันที่อยากทำแอนิเมชั่น ผมแนะนำว่าให้เริ่มจากการเข้าไปเรียนรู้งานเลย ให้เข้าไปลองทำงานเลย เพราะว่าตอนที่เราเรียน กระบวนการมันยังเป็นแค่กระบวนการ แต่ว่าของจริงมันอยู่ในงานที่ทำจริงๆ แน่นอนว่าการทำแอนิเมชั่นมันมีปัญหาหลายอย่างที่มันไม่ได้ถูกสอนไว้ในคอร์สเรียนมหาวิทยาลัย แล้วมันไม่ใช่ปัญหาในการสร้างงานด้วยนะ มันเป็นปัญหาที่มาจากแนวคิดในการทำงานซะมากกว่า พวกผมจึงอยากให้น้องๆ ได้ลองเข้ามาซึมซับแนวคิดในการทำงานมากกว่า

ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้พูดคุยกันมานี้ คุณคิดว่าอะไรคือบทเรียนสำคัญของการทำธุรกิจที่ค่อนข้าง niche ในบ้านเราอย่าง ‘สตูดิโอแอนิเมชั่น’ 

ผมว่าคือความใส่ใจในผลงานนะ หมายถึงว่าเราทำงานออกมาให้เราชอบในงานงานนั้นจริงๆ เราไม่อยากปล่อยผลงานที่เราทำแล้วรู้สึกว่าเราไม่ชอบ ผลงานที่เราแค่อยากทำให้มันเสร็จๆ ไป หรือผลงานที่ทำเพียงเพราะลูกค้าอยากได้ก็ส่งๆ ไป ที่นี่เราไม่ค่อยทำกันแบบนั้น เพราะต่อให้ลูกค้าอยากได้แต่เรารู้สึกว่ามันสวยได้มากกว่านี้เราก็จะทำ อันนี้ก็คือ RiFF Studio ณ ตอนนี้ และยังเป็นสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะคงไว้ต่อไปอีกด้วย