ไปพ้อ ‘ศุภณัฐ นามวงศ์’ แห่ง เซิ้ง โปรดักชั่น โสเหล่ฮอดการพาไทบ้านและหนังอีสานไปเป็นที่ฮู้จัก

สารภาพตามตรงว่าฉันไม่ได้เชื่อในความเป็นอีสานแต่แรก อาจด้วยโตมาจากตรงกลางของความเป็นเมืองกับชนบท ในมุมมองตอนยังเยาว์ อีสานจึงไม่ใช่สิ่งที่ต่อยอดได้สักเท่าไหร่  

แต่ความคิดนั้นเปลี่ยนไปเมื่อได้เห็นความเป็นอีสานค่อยๆ แผ่ขยายไปเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนที่ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 1 ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่นอีสานจากแดนศรีสะเกษทำเงินได้ถึง 40 ล้านบาท ทั้งที่ทุนการสร้างมีเพียง 2 ล้านเท่านั้น

และยิ่งเชื่อว่าความเป็นอีสานสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่ต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ ก็ตอนที่ยอดวิวยูทูบเพลงของเซิ้ง MUSiC ทะลุ 100 ล้านวิวในเกือบทุกซิงเกิล  และมากขึ้นอีกคือวันที่ภาพยนตร์สัปเหร่อทำรายได้ทะลุ 700 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 40 กว่าวัน กลายเป็นจักรวาลหนังไทยที่ทำเงินมากที่สุดแห่งยุค 

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้คือ สุรศักดิ์ ป้องศร, อวิรุทธ์ อรรคบุตร, บุญโชค ศรีคำ และศุภณัฐ นามวงศ์ กลุ่มเพื่อนชาวศรีสะเกษที่เริ่มต้นจักรวาลไทบ้านเพียงเพราะอยากทำซีรีส์ชีวิตวัยรุ่นอีสาน ก่อนจะต่อยอดของดีอีสานให้ผลิดอกออกผลเป็นมากกว่าซีรีส์ ตั้งแต่เพลง งานโปรดักชั่น ไปจนถึงงานโมเดลลิ่ง โดยทำภายใต้บริษัทเดียวกัน นั่นคือ เซิ้ง โปรดักชั่น แอนด์ ออร์แกไนเซอร์

แม้ยากจะเชื่อว่ากลุ่มวัยรุ่นที่แค่อยากสนุกกับการทำหนังเกี่ยวกับถิ่นบ้านเกิด จะสร้างภาพใหม่ให้กับวงการหนังอีสาน แต่วันนี้เซิ้ง โปรดักชั่น แอนด์ ออร์แกไนเซอร์ ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เคยฝันเป็นจริงได้ และความเป็นอีสานที่พวกเขานำเสนอออกไปนั้นไม่ได้ขายได้แค่คนอีสาน แต่มันยังครองพื้นที่หัวใจของผู้คนทั้งประเทศ 

ความสำเร็จของเซิ้ง โปรดักชั่นทำให้ฉันสนใจวิธีคิดและความเชื่อที่พวกเขามีต่อวัฒนธรรมอีสาน และเมื่อรู้ว่า ‘กัส–ศุภณัฐ นามวงศ์’ หนึ่งในหัวเรือสำคัญของเซิ้งมาเยือนกรุงเทพฯ ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมงาน OSAKA Asia Flim Festival 2024 ฉันจึงนัดพบเขาเพื่อพูดคุยถึงความเชื่อเบื้องหลังจนเฮ็ดให้จักรวาลไทบ้านโด่งดัง

-1-
เล่นนำไฮ่นา ไล่หากระปอม 

“มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ทรัพยากรที่คนอื่นอาจไม่มี” กัสพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง ก่อนเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ว่าที่จริงแล้วมีแรงบันดาลใจมาจาก ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีรีส์เกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นคนเมือง ทำให้เขาและเพื่อนเกิดคำถามขึ้นว่า ในขณะที่คนอีสานคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ทำไมไม่ค่อยมีซีรีส์ที่ฉายวิถีชีวิตวัยรุ่นอีสานให้ได้เห็น 

“ใครเคยดู ฮอร์โมนส์ จะรู้ว่าเวลาผู้ชายไปจีบสาวเขาก็จะชวนไปห้าง ไปสยามใช่ไหม แต่สำหรับวัยรุ่นอีสานมันมีข้อจำกัด บ้านเราไม่มีสถานที่แบบนั้น”

แม้ฉันจะเกิดและโตที่อีสานเช่นเดียวกับพวกเขา แต่เชื่อเถอะว่าในความเป็นอีสานของเรา ก็ยังมีความแตกต่าง

“แล้วอีสานแบบที่คุณโตมาเป็นยังไง” ฉันเอ่ยถาม

“ผมโตและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ จนพอเข้า ป.1 แม่ก็ให้มาเรียนในเมือง วัยเด็กมันไม่ได้มีอะไรมาก ไปเที่ยวเล่นตามทุ่งนา ไปหากะปอม หาปลา หาจิ้งหรีดมาทำกิน พอโตเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มไปตามงานบุญ งานวัด เป็นอีเวนต์ของเด็กบ้านนอก ไปจุดประทัดเล่นกับเพื่อน มีไปเหล่สาวบ้าง ชีวิตเด็กอีสานก็จะเป็นสีสันอะไรแบบนี้ ยิ่งพอเราได้มาเรียนในเมือง เราก็เริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างคนเมืองกับคนที่บ้าน” กัสเล่าย้อนถึงชีวิตวัยเด็กของเขา

“วัฒนธรรมวัยรุ่นอีสานต่างกับ ฮอร์โมนส์ พอสมควร เราเลยคิดว่าถ้าเราทำซีรีส์ที่เล่าถึงวิถีชีวิตวัยรุ่นอีสานน่าจะดี เพราะเราก็โตมากับมัน และน่าจะมีคนอีสานอีกหลายคนที่มีประสบการณ์เดียวกัน

“ตอนเริ่มก็ไม่ได้มีอะไรมาก เราเป็นแค่เด็กจบใหม่ที่เพิ่งทำธีสิสจบไป ตอนคิดจะทำไทบ้านก็คิดแค่ว่าอยากกลับบ้านไปทำหนังสักเรื่อง อยากลองทำตามความฝัน เหมือนว่าความฝันในวัยที่เป็นนักศึกษายังไม่จบด้วย 

“ไทบ้านเลยเป็นเหมือนทีสิสเล่มที่สอง”

-2- 
ไทบ้านเดียวกัน 

“ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งเราจะมีบริษัท” กัสเอ่ยอย่างถ่อมตัว ในวันที่ไทบ้านกลายเป็นที่รู้จักในเมืองใหญ่

“ตอนนั้นก็ยังคิดว่าถ้าเรียนจบก็คงมาทำงานในกรุงเทพฯ ตามเส้นทางชีวิตที่เราอยากให้มันเป็นไป มันก็เป็นเรื่องปกติเนอะ เพราะงานมันอยู่กรุงเทพฯ หมด” 

ไม่ใช่แค่เขาที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ว่า เด็กต่างจังหวัดทุกคนเข้าใจดี ด้วยโอกาสทางการงานที่บ้านนอกมีน้อย พอเรียนจบก็ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เหมือนเป็นบรรทัดฐานที่สังคมกอปรให้เราทำตาม 

แม้เงื่อนไขบางอย่างจะเป็นข้อจำกัด แต่ด้วยแพสชั่น ประกอบกับมองเห็นโอกาสของพลังคนอีสานบ้านเฮา ไทบ้านเดอะซีรีส์ 1 จึงถือกำเนิดขึ้น 

“จริงๆ เรื่อง แหยม ยโสธร พี่หม่ำก็คนอีสานนะ แต่ฉากมันเป็นอีสานยุคเก่ามาก เราเลยรู้สึกว่าแบบนั้นอาจจะยังไม่ใช่อีสานร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอยากทำหนังที่มันอีสานจ๋าๆ แค่ดูตัวละครพูดก็รู้ได้ว่าเป็นคนอีสาน บวกกับตอนนั้นมีหนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้านอวสานอินดี้ เข้าโรงไปก่อนพอดี ซึ่งเขาเป็นสตูดิโอที่มาจากบ้านนอกเหมือนกัน การที่เขาเป็นแค่ค่ายเล็กๆ แต่เขาทำหนังไปฉายในโรงได้ มันเป็นแรงบันดาลใจว่าเราเองก็น่าจะมีโอกาส”

หากนับแค่เนื้อเรื่อง ภาษา ฉาก บรรยากาศในภาพยนตร์ และผู้กำกับที่เป็นคนอีสานแท้อย่างหม่ำ จ๊กมก ไทบ้านเดอะซีรีส์ อาจดูคล้ายกับ แหยม ยโสธร แต่สิ่งที่แตกต่างคือไทบ้านถ่ายทอดความเป็นอีสานสมัยใหม่ว่าด้วยชีวิตวัยรุ่นอีสานยุคปัจจุบัน นักแสดงของเรื่องยังไม่ใช่คนดัง เป็นคนบ้านๆ อีสานแท้ ส่วนผู้กำกับก็ถือเป็นมือใหม่ของวงการ 

ทว่ากลับสื่อสารเรื่องราวของคนอีสานได้อย่างเป็นธรรมชาติ 

“ทำให้เกิดขึ้นนี่แหละยากที่สุด” เขาว่าเมื่อฉันถามถึงความยากในการทำหนัง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 

“ทีมงานเป็นมือใหม่หมด เพราะไม่มีเงินจ้างมืออาชีพไปทำ อาศัยชวนเพื่อนไปทำ ใช้เวลากับบทก็หลายปี เรื่องทุนก็สำคัญ เพราะกว่าจะไปหาทุนมาได้ กว่าจะไปหาที่จัดจำหน่าย กว่าจะทำเรื่องการตลาด ทุกอย่างมันใช้เวลาและพละกำลังพอสมควร เราทำการตลาดกันทั้งวันทั้งคืน เรื่องทุนก็คุยกันแล้วคุยกันอีก 

“ตอนแรกไทบ้านจะเป็นซีรีส์ แต่พอประเมินดูดีๆ ถ้าทำซีรีส์จะต้องใช้เงินอย่างน้อยๆ ต้องมี 6-7 ล้าน ลองไปเสนอขายแล้วก็ไม่มีใครให้เงิน เลยมีคนแนะนำว่าลองทำเป็นหนังไหม เพราะลงทุนสัก 3-4 ล้านก็น่าจะทำจบเรื่องได้ เราเลยคิดกันว่าถ้าเราปรับบท หยิบบางซีนมาทำเป็นหนัง มันอาจจะเกิดขึ้นได้จริง 

“คนที่แนะนำว่าให้ลองทำหนังเขาเสนอเงินมาให้ก้อนนึง แต่เราไม่โอเค สุดท้ายก็ไปจบที่เฮียโต้ง (สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ–อดีต ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ) ก็ถามแกแหละว่าขอยืมเงินไปทำหนังได้ไหม 4 ล้าน แกเลยให้มา 2 ล้าน พร้อมเงื่อนไขว่าต้องทำหนังที่ tie-in จังหวัดได้ เหมือนแกแค่อยากลงทุนโฆษณาศรีสะเกษ ไม่ได้คิดว่าจะไปไกลถึง 40 ล้าน อย่างน้อยถ้าไม่ได้เข้าโรงก็ลงยูทูบเพื่อโปรโมตจังหวัด แค่นั้น 

“แต่ขอเงินที่ว่าคือกู้เงินนะ เราต้องทำเอกสาร ทำรายละเอียดไปด้วยว่าทิศทางจะเป็นยังไง จะโปรโมตหนังยังไง เหมือนไปพิตชิ่งงานเอาทุนอะไรแบบนั้น แล้วก็ต้องเซ็นรับสภาพหนี้ด้วย 

“ตอนนั้นเราเป็นคนเซ็น เรียนจบมาเป็นหนี้เลยสองล้าน” 

พูดจบประโยคเสียงหัวเราะก็ดังลั่นตาม คล้ายขำปนปลื้มในความกล้าคิดกล้าเสี่ยงของเขาและเพื่อนๆ 

-3-
เฮ็ดการตลาดสไตล์ไทบ้าน 

นอกจากวัตถุดิบของดีอีสานที่มีในมือ การฉลาดใช้เทคโนโลยีก็สำคัญไม่แพ้กัน อะไรที่เรียกว่าเป็นโซเชียลมีเดียออนไลน์ พวกเขาจะลุยเพื่อลองกันสักตั้ง 

“มันคือช่วงที่สื่ออย่างยูทูบ เฟซบุ๊กเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น เราเห็นโอกาสตรงนี้ก็เลยลองเลี้ยงเพจกันอยู่พักนึงก่อนปล่อยหนังฉาย 

“ตอนนั้นทำเป็นเหมือนคำคมอีสาน แล้วก็เอารูปหน้าของนักแสดงมาแปะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คิดหาคำคมอีสานเสี่ยวๆ มาใช้ มีอีสานคำไหนที่เราเคยพูดกันตอนเด็กๆ ก็เอามาลองเล่น ทำไปเรื่อยๆ จนยอดเพจไปแตะหลักล้าน พอปล่อยตัวอย่างหนังไป ยอดวิวคนดูก็เยอะพอสมควร เลยมั่นใจขึ้นมานิดนึงว่าหนังเราน่าจะมีคนดู 

“ก่อนหนังภาคแรกจะฉายในโรง เราก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่าไอ้ยอดกดไลก์ในเพจประมาณล้านกว่าคน จะวัดได้จริงๆ รึเปล่าว่าล้านกว่าคนนั้นจะไปดูหนังกันทุกคน เขาอาจจะดูฟรี ไม่ใช่คนที่จ่ายเงินดูก็ได้ ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าไม่เป็นไร เราก็ต้องลองเสี่ยงดู”

“ตอนนั้นผลลัพธ์เป็นยังไง” 

“ฉายวันแรกคนมาดูกันเยอะเลย” กัสตอบทันทีก่อนเล่าถึงความเชื่อในฟรีมีเดียที่สร้างจักรวาลไทบ้านขึ้นมา

“ถ้าไปคุยกับคนที่เขาทำหนังมาเยอะ มีประสบการณ์มา เขาไม่เชื่อว่าโลกออนไลน์จะสร้างอิมแพกต์ได้ เขาจะบอกให้ไปซื้อสื่อทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ อะไรแบบนั้นมากกว่า เพราะยุคนั้นคนยังไม่ค่อยคิดว่าโซเชียลมีเดียจะมีมูลค่าในอนาคต มันเป็นของที่ใหม่มาก แต่ต้องบอกว่ามันคนละยุคกัน เพราะกลายเป็นว่าเราได้พื้นที่สื่อจากการใช้โซเชียลมีเดียเยอะเหมือนกัน กลับกัน ถ้าเราทำในยุคเดียวกับเขา เราอาจจะโชคร้ายก็ได้ เพราะเราไม่มีเงินทำการตลาด

“อย่าง สัปเหร่อ ที่สร้างรายได้หลายร้อยล้าน ทำการตลาดเหมือนกับไทบ้านไหม” ฉันถาม

“คล้ายๆ กัน เอาจริงๆ ถึงเราจะมีเงิน 10 ล้านทำการตลาดและซื้อสื่อแบบเก่าได้ เราก็คงไม่ซื้อ เรายังคงเชื่อที่จะทำในแบบของเรา มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือเรื่องของวิธีการ เราเห็นว่าโซเชียลมีเดียกำลังจะเปลี่ยน ต่อให้สัปเหร่อมีเงินสิบล้านก็ไม่รู้ว่าจะใช้เงินนั้นไหม เพราะแค่ซื้อมีเดียในโรงหนังทั่วประเทศก็หลายล้านแล้ว เราไม่คิดว่าการเผาเงินไปกับการทำการตลาดแบบนั้นจะได้ผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวังไว้ 

“เชื่อในแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าอย่างนั้นเหรอ”

“ถ้าซื้อออฟไลน์มันได้จุดเดียว ซื้อในเขตเมืองก็ต้องจ่ายไปหลายล้านแล้ว ซื้อให้ครบทุกจุดก็คงเป็นสิบๆ ล้าน แต่ถ้าเอาเงินสิบล้านไปซื้อใน TikTok หรือยูทูบ หรือทำคอนเทนต์เสิร์ฟคนดูเรื่อยๆ คนดูอาจจะเป็นร้อยล้าน ณ วันนี้ เราคิดว่าออนไลน์มันเป็นการตลาดที่สร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าออฟไลน์นะ”  

นับเป็นความจริงว่าเทคโนโลยีคือส่วนช่วยให้หนังเกิดกระแสและทำให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้คนได้วันละหลักแสนคน แต่นั่นอาจไม่ใช่เคล็ดลับทั้งหมดที่ทีมเซิ้งเฮ็ดจักรวาลไทบ้านให้ติดกระแส เพราะความรู้ด้านการทำฟิล์มและการหาวิธีนำเสนอวัตถุดิบให้น่าสนใจก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเป็นคอมมิวนิตี้เดียวกันกับแบรนด์  

เซิ้ง โปรดักชั่นพยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้ดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งความเชื่อที่มีต่อสื่อออนไลน์ ความรู้ด้านการทำหนังที่ร่ำเรียนมา และการต่อยอดความเป็นอีสานผสมผสานกันจนเกิดเป็นชิ้นงานในแบบของพวกเขา

“เราวางตำแหน่งว่าเราเป็นเพื่อนกับคนอีสานจริงๆ ด้วยเราคลุกคลีกับวัฒนธรรมอีสานมา การจะคิดโฆษณาแบบนี้ หรือคิดหนังแบบนั้นออกมาได้จะต้องเป็นคนอีสานจริงๆ ต้องทำให้สิ่งที่คนเมือง ทำในสิ่งที่คนในกรุงเทพฯ เขาทำไม่ได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์มันแข็งแรง 

“แต่ไม่ใช่เพราะเรามีวัตถุดิบเยอะอย่างเดียว เดี๋ยวนี้คนทำคอนเทนต์อีสานมีเยอะมาก สิ่งที่ทำให้ไทบ้านแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพวกเราเรียนจบฟิล์มมาด้วย เราพอจะรู้ว่าจะพัฒนาหนังของเรายังไงให้แตกต่าง สมมติว่ามีวัตถุดิบอยู่สิบอย่าง เราจะเลือกเล่าแค่บางอย่างที่น่าสนใจจริงๆ”  

-4-
สัปเหร่อ เครื่องพิสูจน์ของดีอีสาน

“เราเคยบอกทีมว่าเรามีความฝัน เราอยากทำให้ตั๋วหนังใบแรกที่อยู่ในโรงหนังคือกำไรเลย ไม่ต้องไปลุ้นว่าลงทุน 10 ล้าน 20 ล้านจะได้เงินคืนตอนไหน” กัสย้อนเล่าถึงจุดกำเนิด สัปเหร่อ ภาพยนตร์ที่ทำให้เซิ้ง โปรดักชั่นกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากขาดทุนในเรื่อง รักหนูมั้ย

สัปเหร่อ น่าจะเป็นหนังที่ใช้เงินเยอะที่สุดในบรรดาหนังของจักรวาลไทบ้าน เพราะเราก็คาดหวังว่าต้องทำให้มันดี หวังว่ามันจะกู้ชื่อเรากลับมาได้ เรื่องนี้เราใช้ทีมมืออาชีพจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด ทั้งผู้ช่วย ทีมไฟ ทีมซาวนด์ ทีมกล้อง ยกเว้นทีมครีเอทีฟกับผู้กำกับที่เป็นคนอีสาน 

“พอเราใช้มืออาชีพ ถ้าคราวนี้ไม่สำเร็จก็โทษใครไม่ได้แล้ว และอาจแปลว่าบทคุณไม่ดีจริงๆ ด้วย เพราะอย่างภาคแรก เสียงไม่ดี เสียงขาด ภาพหาย เราพอเข้าใจได้เพราะตอนนั้นก็มีแต่เด็กๆ และใหม่กันมาก”

จากเด็กจบใหม่ที่แค่อยากทำหนังเกี่ยวกับบ้านเกิดสักเรื่อง กลายมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดแห่งยุคสมัย ที่สำคัญภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ยังทำเงินได้ตั้งแต่ก่อนหนังเข้าฉายในโรงประมาณเกือบสิบล้าน เพราะพวกเขาได้ขายสปอนเซอร์และขายสิทธิ์การฉายออนไลน์ให้กับค่าย movie streaming ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าจะบอกว่าความฝันที่เขาเคยบอกทีมเอาไว้ได้กลายเป็นจริงแล้วก็คงไม่ผิดนัก

“ภูมิใจไหมที่ได้พาความเป็นอีสานไปเป็นที่รู้จักในวงกว้างขนาดนี้” ฉันเอ่ยถามเขา เมื่อความเป็นอีสานที่ทีมเซิ้งสร้างขึ้นไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในหมู่คนอีสานเท่านั้น แต่วันนี้ยังกระจายและแทรกซึมทั่วไทย

“ดีใจนะ การทำตรงนี้เราได้เห็นว่าคนบ้านนอกก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน จริงๆ ไม่ได้จำกัดแค่อีสานด้วย คนภาคเหนือก็ทำได้ หรือคนภาคใต้ที่อยากทำก็ทำได้เหมือนกัน คนเขาเริ่มภูมิใจในถิ่นกำเนิดของตัวเอง อย่างเรา เราไม่ได้อายที่จะฟังเพลงอีสาน เราภูมิใจที่ดูหนังอีสาน ภูมิใจที่จะเสพวัฒนธรรมนี้

“ตั้งแต่มีไทบ้านก็มีค่ายหนัง ค่ายเพลงต่างจังหวัดเกิดขึ้นใหม่เยอะนะ พอมียูทูบ, TikTok แล้วมีคนอีสานที่เป็นอินฟลูฯ สักคนดังขึ้น เดี๋ยวเขาก็ต้องมีทีมงาน ต้องมีคนตัดต่อ ก็เกิดระบบธุรกิจเล็กๆ ในต่างจังหวัดได้ 

“แต่ถามว่าไทบ้านมีผลกับสิ่งเหล่านี้ไหม คงมีส่วนนิดนึงแต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพียงแต่เราอาจจะทำให้เขาเห็นว่าบ้านเกิดก็มีโอกาสเหมือนกัน” 

ทำไมแบรนดิ้งไม่เคยเอาต์? จากกระแสสมูตตี้เฉียดพันบาท สู่ Plantiful ที่ว่ากันว่าคือ Erewhon เมืองไทย 

หนึ่งในกระแสที่คนในช่องทางโซเชียลมีเดียยังคงพูดถึงเรื่อยๆ คือกระแสสมูตตี้ราคาเฉียดพันที่ดาราดังทั้งไทยและเทศต่างไปเจิม สมูตตี้ที่ว่าคือสมูตตี้จากห้างสรรพสินค้าที่ได้รับการขนานนามว่าขายสินค้าราคาแพงอย่าง Erewhon 

กระแสที่มาแรงแบบไม่ยอมซาทำเอาชาวไทยที่ยังไม่มีโอกาสเหยียบแผ่นดินแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกาต้องตามหากันให้ควั่กว่าในเมืองไทยนั้นมีสมูตตี้ตัวตายตัวแทน Erewhon บ้างหรือเปล่า และ Plantiful คาเฟ่และร้านอาหารสุขภาพที่เน้นเสิร์ฟเมนู plant-based ของ ‘พริม–พริมา ภัทโรพงศ์’ เป็นหนึ่งในร้านที่ถูกเลือก 

จาก Erewhon สู่ Plantiful ความออร์แกนิกแบบพรีเมียม

Erewhon คือซูเปอร์มาร์เก็ตออร์แกนิกที่ขายสารพัดของใช้ออร์แกนิกที่ได้ตรารับรองมาตรฐาน นั่นทำให้ราคาสินค้าของ Erewhon สูงกว่าราคาสินค้าลักษณะเดียวกันในร้านอื่นๆ 4-5 เท่า 

ที่จริงแล้ว Erewhon ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 โดยผู้อพยพชาวญี่ปุ่น Michio และ Aveline Kushi เน้นขายอาหารจากธรรมชาติ ก่อนที่ Tony Antoci และ Josephine สองสามีภรรยาจะเข้าซื้อกิจการในปี 2554 และได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จนพลิก Erewhon ให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตราคาแพงที่สร้างรายได้ประมาณ 900,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ 

หนึ่งในเมนูที่สร้างเสียงฮือฮาให้ชาวโลกคือสมูตตี้ของ Erewhon ที่มีราคาตั้งแต่ 11-20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 400-800 บาท ที่ไม่เพียงการันตีว่าดีต่อสุขภาพ แต่ยังร่วมมือกับดาราเซเลบมากมายให้มาครีเอตเมนูพิเศษที่ชวนให้ใครๆ ก็อยากลองชิม เช่น เมนูจาก Hailey Bieber ในราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐ หรือจะเป็นเมนูพิเศษจาก Olivia Rodrigo ในราคา 18 ดอลลาร์

กลับมาที่ Plantiful ของไทยกันบ้าง ผู้ก่อตั้งอย่างพริมจบคอร์ส Raw Food Plant-based Level 1&2 จากลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนเปิดร้าน Plantiful แห่งแรกย่านสุขุมวิท 61 ที่เน้นเสิร์ฟเมนูจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปราศจากคอเลสเตอรอล แคลอรีต่ำ ทั้งยังไม่ใช้เนื้อสัตว์จากพืชที่ผ่านการแปรรูปที่เต็มไปด้วยสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และโซเดียม 

หนึ่งในเมนูที่ทำให้ Plantiful เป็นที่พูดถึงในช่วงนี้คือเมนูสมูตตี้ที่ทั้งสีสันและการเสิร์ฟให้มู้ดคล้ายสมูตตี้ Erewhon มาก แต่เริ่มต้นที่แก้วละร้อยกว่าบาทถึงสองร้อยกว่าบาทเท่านั้น

เทรนด์อาหารสุขภาพ VS บทเรียนแบรนดิ้งที่ทุกธุรกิจต้องโฟกัส

จุดร่วมของ Erewhon และ Plantiful คือการนำเสนอวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ Innova market Insight พบว่าผู้บริโภคหนึ่งในสามทั่วโลกมักจะดูส่วนผสมก่อนช้อปหรือชิมเสมอ ทั้ง GITNUX MARKETDATA REPORT 2024 ยังพบว่า 60% ของชาวมิลเลเนียลมองหาอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบออร์แกนิก และอีก 40% นั้นพิจารณาสินค้าจากฉลากที่รับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สัตว์ และถูกจริยธรรมเท่านั้น 

เทรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของกระแสสมูตตี้นี้ แต่ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ชาวโซเชียลพูดถึงทั้ง Erewhon และ Plantiful นั้นอาจกลับไปที่จุดตั้งต้นของการสร้างธุรกิจ นั่นคือการพัฒนาแบรนดิ้งให้แข็งแกร่ง ได้แก่

1. คอนเซปต์ชัด : ที่จริงแล้วสิ่งที่สองสามีภรรยาที่เข้ามารับช่วงต่อไม่ได้กำลังเปิดร้านขายของชำออร์แกนิก แต่กำลังสร้างร้านแบรนด์เนมอีกร้านหนึ่งจนเป็นสัญลักษณ์แห่งไลฟ์สไตล์ที่เซเลบเข้าถึงได้ และใครหลายคนปรารถนา เหมือนกับ Louis Vuitton หรือ Hermès 

2. กลุ่มลูกค้าถูกต้อง : ถ้าดูในแอ็กเคานต์อินสตาแกรมของร้านจะเห็นว่าผู้ติดตามคือกลุ่มประชากรหญิงกว่า 80% มีอายุระหว่าง 30-45 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในแอลเอหรือนิวยอร์ก มักทำอาชีพเชฟ โค้ชกีฬา ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ นักออกแบบแฟชั่น ส่วนใน TikTok ผู้ติดตามของ Erewhon เป็นผู้หญิง 81% แต่มีอายุระหว่าง 20-28 ปี ชื่นชอบเสื้อผ้า ดนตรี การแต่งหน้า การท่องเที่ยว และได้รับอิทธิพลจาก Kendall Jenner, Hailey Baldwin, Rihanna และ Chrissy Teigen

ส่วน Plantiful นั้น แม้ไม่ได้เน้นตอบโจทย์กลุ่มคนรายได้สูงอย่างโจ่งแจ้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่จะเข้าถึงอาหารสุขภาพราคาสองสามร้อยบาทขึ้นไปได้ทุกมื้อคงมีไม่มากนัก 

3. ปักหมุดทำเลทอง : Erewhon เน้นขยายสาขาไปยังย่านที่มีรายได้สูง เช่น Beverly Hills ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมากกว่า 116,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่อประชากรในแคลิฟอร์เนีย) ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของพื้นที่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 56% ภายในร้านจึงต้องตกแต่งอย่างหรูหราเสมือนเดินเข้าไปช้อปแบรนด์เนม

เมื่อเทียบกับ Plantiful แบรนด์ไทยนั้นก็เลือกปักหมุดที่ทำเลทองในย่านผู้มีรายได้สูงเช่นกัน ได้แก่ สุขุมวิท 61 และสาขาล่าสุดอย่าง Gaysorn Amarin ห้างสุดหรูที่ต่างเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวและเซเลบ

4. ตอบโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด : ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 95% ได้รับการรับรองออร์แกนิกของ USDA สินค้าหลายอย่างยังเฉพาะทางมากๆ เช่น อาหารคีโต และสินค้าที่แปะป้ายได้ว่าปราศจากกลูเตนของ Erewhon จะต้องผลิตในโรงงานที่แยกจากผลิตภัณฑ์ที่มีกลูเตนโดยสิ้นเชิงเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน นั่นแปลว่าต้นทุนย่อมสูงแน่นอน รวมถึงสมูตตี้ราคาเฉียดพันที่ยังดึงดาราเซเลบมาร่วมสร้างสรรค์ ช่วยให้ประสบการณ์การช้อปใน Erewhon นั้นแสนพิเศษ 

แม้ Plantiful จะไม่ได้มีของให้เลือกช้อปมากมายด้วยความที่เป็นเพียงร้านอาหาร แต่ร้านก็พยายามนำเสนอภาพของความ ‘เลือกได้’ และ ‘โปร่งใส’ ในทุกเมนูที่เสิร์ฟ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เหมือนจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่กลับเป็นสิ่งที่แลกมาด้วยการจ่ายที่มากกว่า

กระแสสมูตตี้ราคาเฉียดพันที่กลับสร้างผลดีให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มในไทยอย่าง Plantiful นี้ จึงอาจไม่ใช่เพียงการสะท้อนเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพหรือความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งในเคสที่ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของแบรนดิ้งที่ไม่ว่าจะธุรกิจประเภทไหนก็ไม่ควรมองข้ามไป

อ้างอิง

Creative Retail Design At New York ชวนเดินเล่นร้านรีเทลสุดครีเอทีฟที่มหานครนิวยอร์ก

ถ้าพูดถึงย่านช้อปปิ้งในนิวยอร์ก หลายคนอาจนึกถึงย่านดังที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่าง
Time Square หรือ 5th avenue ที่เต็มไปด้วยแบรนด์เนมไฮด์เอนชื่อดังกับแฟล็กชิปสโตร์สาขาใหญ่ระดับโลก   

แต่เอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างของนิวยอร์ก มหานครซิตี้ยักษ์ใหญ่ของโลกคือการเป็นเมืองใหญ่ที่รวมผู้คนหลากหลาย ย่านต่างๆ มีเอกลักษณ์ด้วยคนหลากเชื้อชาติซึ่งแปลว่าในแง่ธุรกิจ นอกจากกิจการยักษ์ใหญ่แล้ว เมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยร้านรวงขนาดเล็กของผู้ประกอบการหลายสัญชาติที่สร้างโมเดลธุรกิจแปลกใหม่

ไม่ว่าจะเป็นร้านจานวินเทจที่รวบรวมจานเก่าจากโรงงานและร้านอาหารชื่อดังในนิวยอร์ก, ร้านปลากระป๋องซาร์ดีนสุดพรีเมียมจากโปรตุเกสที่เลือกขยายสาขามาอเมริกา, ร้านลูกปัดแฮนด์เมดที่ขายไอเทมแฟชั่นทั้งร้านในราคาหลักหมื่นดอลลาร์, ร้านสวีดิชแคนดี้ของชาวสวีเดนที่อยากนำเสนอวัฒนธรรมแคนดี้ในเมืองใหญ่, ร้านของนักสะสมยาสูบและของเล่นเรโทรที่อยากสร้างบรรยากาศย้อนยุคในเมืองที่วุ่นวาย และร้านหนังสือที่
ขายเฉพาะนิยายรักเป็นหลัก  

จาน ปลากระป๋อง ลูกปัด แคนดี้ บุหรี่และของเรโทร หนังสือ’ สินค้าของร้านเหล่านี้เป็นสินค้าที่พบเห็นได้ทั่วไปในราคาถูก แต่เหล่าร้านรีเทลที่คัดเลือกมาในวันนี้ ล้วนเป็นธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กที่เพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ด้วยไอเดียครีเอทีฟ  ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบประสบการณ์ในร้าน การออกแบบแพ็กเกจและสินค้า การนำเสนอวิธีขาย หรือโมเดลธุรกิจใหม่

ร้านเหล่านี้มีที่มาที่ไปยังไง โมเดลธุรกิจเหล่านี้น่าสนใจแค่ไหน ไปทำความรู้จักกัน

Fishs Eddy
ร้านจานวินเทจที่บรรยากาศเหมือนมิวเซียม

Fishs Eddy ร้านจานวินเทจเก่าแก่ในนิวยอร์กแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1986 โดย Julie Gaines และ David Lebovitz ผู้ให้คำนิยามร้านว่าเป็น ‘the biggest gift shop for the smallest museum’  

จุดเริ่มต้นของร้านนั้นแสนเรียบง่าย นั่นคือการหาจาน deadstock จากโรงงานและร้านอาหารมาขายแบบซื้อมาขายไป เหล่าเจ้าของจานเหล่านี้ขายสิ่งที่พวกเขามีให้ Fishs Eddy เพราะมองว่าคอลเลกชั่นเก่าที่เก็บไว้เป็นเพียงแค่ขยะและต้องการโละจานที่ไม่ใช้แล้วออกไป ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจจานที่รวบรวมสารพัดคอลเลกชั่นจาน ชาม แก้วน้ำเก่าแก่หลากหลายยุคที่ผู้คนหลงลืมนำมารวบรวมไว้ด้วยกันในปริมาณมากแล้วขายในราคาที่จับต้องได้

ความพิเศษของ Fishs Eddy คือการนำจานชามแต่ละยุคมาดิสเพลย์อย่างสร้างสรรค์และรวบรวมทั้งหมดอยู่ในร้านเดียวกันโดยแยกหมวดหมู่ความเก่าแก่ การเดินช้อปปิ้งที่นี่จึงเหมือนเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์จานที่ได้ย้อนประวัติศาตร์ผ่านข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะ

ถึงแม้จานชามหลายใบจะมีหน้าตาธรรมดา แต่การดิสเพลย์ของ Fishs Eddy นั้นมีการจัดแสดงสินค้าดั่งผลงานศิลปะ เช่น มุมจานมือสองที่ชำรุดมีป้ายเขียนไว้ว่า ‘Slightly Imperfect Bowls, But are you that Perfect ?’ อีกมุมของร้านนำจานสีเหลืองมารวมไว้ด้วยกันในตู้ไม้และเขียนป้ายว่า ‘Sunshine Lives Here’ ทั่วร้านยังมีการจัดตู้ขายผลงานศิลปะของศิลปินในนิวยอร์กสลับกับตู้ที่ดิสเพลย์จานชามอย่างกลมกลืนทั้งโปสต์การ์ด โปสเตอร์ ภาพวาด คำคมต่างๆ

หากมองจานแต่ละใบเดี่ยวๆ เป็นสินค้าแยกจากกัน จานเหล่านั้นคงเป็นสินค้าหน้าตาธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจ แต่ Fishs Eddy สามารถคงสโลแกน ‘We Do Dishes !’ มาได้ถึง 38 ปีและปัดฝุ่นให้จานเหล่านี้มีมูลค่าขึ้นมาได้

แวะช้อปปิ้งได้ที่ fishseddynyc.com

The Fantastic World of the Portuguese Sardine
ร้านปลากระป๋องคราฟต์สัญชาติโปรตุเกส 

ขายปลากระป๋องยังไงให้ตั้งราคาสูงได้ถึง 40 กว่าดอลลาร์?

ณ Time Square ย่านช้อปปิ้งที่เต็มไปด้วยแสงสีเสียงและคนพลุกพล่านที่นิวยอร์ก ร้านที่น่าสนใจไม่ได้มีแค่แฟล็กชิปสโตร์ของแบรนด์เนมดังเท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์จากโปรตุเกสที่ตั้งชื่อร้านได้อย่างแฟนตาซีว่า ‘The Fantastic World of the Portuguese Sardine’ ซึ่งเปิดเป็นสาขาแรกที่โปรตุเกสในปี 2016 และขยายหลายสาขาทั่วประเทศจนมาถึงสาขาในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก 

ความประทับใจแรกเมื่อเดินเข้ามาในร้านคือความหรูหราที่แทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือร้านขายปลากระป๋อง 
ด้วยบรรยากาศที่ตกแต่งเหมือนร้านของเล่นในธีมเวทมนตร์และเสก ‘ห้องสมุดปลากระป๋อง’ สีเขียวทองซึ่งอัดแน่นไปด้วยปลากระป๋องแพ็กเกจหรูตั้งแต่พื้นจรดเพดาน

เหล่าสินค้าในแพ็กเกจสีสันสดใสมีลายกระป๋องที่แทบไม่ซ้ำกันและยังจัดเรียงกระป๋องตามปีของสูตรปลาที่หลากหลายตั้งแต่ยุค 90s ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ภายในมีป้ายไฟนีออนสีแดงเป็นชื่อร้านและภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ภูมิใจนำเสนอเรื่องราวของแบรนด์

สูตรเด่นของที่นี่มีทั้งปลาซาร์ดีนในน้ำมันมะกอกและสูตรอาหารที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโปรตุเกส นอกจากภาพประกอบสุดสร้างสรรค์ที่แพ็กเกจซึ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม คุณภาพปลาอย่างดี และการออกแบบประสบการณ์ในร้านเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์นี้ขายปลากระป๋องเป็นดั่งของขวัญที่ระลึกได้ในราคาสูง 

แม้แต่คนที่ไม่อยากชิมปลากระป๋องมาก่อน ถ้ามาเห็นแพ็กเกจและบรรยากาศร้านแล้วอาจอดใจไม่ไหว

แวะช้อปปิ้งได้ที่ portuguesesardine.com/en

Susan Alexandra 
ร้านสารพัดแฟชั่นจากลูกปัดของศิลปิน  

แวบแรกเมื่อเห็นร้านนี้ คนไทยหลายคนน่าจะนึกถึงกระเป๋าลูกปัดที่สำเพ็ง แต่แฟชั่นลูกปัดจากร้านของศิลปินผู้นำชื่อของตัวเอง ‘Susan Alexandra’ มาตั้งเป็นชื่อร้านนั้นมีความพิเศษกว่านั้นจนอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จัก

บรรยากาศภายในร้านเป็นสีเหลืองและชมพูสดใสเต็มไปด้วยสารพัดแฟชั่นจากสินค้าลูกปัดทั้งกระเป๋า เครื่องประดับ ที่ใส่การ์ด สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ของใช้สำหรับเด็ก และไอเทมกระจุกกระจิกต่างๆ จุดเด่นคือคอนเซปต์ครีเอทีฟและการเล่นสีสันสดใสของลูกปัด 

แบรนด์เริ่มดังเป็นไวรัลจากกระเป๋าลูกปัดลาย I Love NYC แล้วจึงต่อยอดทำสินค้าหมวดอื่นๆ ราคาของสินค้าขายดีอย่างกระเป๋าลูกปัดอยู่ที่ราวหลักหมื่นดอลลาร์ และแม้จะเป็นร้านลูกปัดแฮนด์เมดเล็กๆ แต่ก็เคยคอลแล็บกับแบรนด์มีชื่อเสียงอย่าง Warby Parker, Disney, Post Cereal และอีกมากมาย ในบางคืนที่ร้านยังมีการจัดอีเวนต์ Bead Night ในธีม beading, beauty and baubles ที่ชวนผู้สนใจมาฝึกร้อยลูกปัด DIY ด้วยกัน

รายละเอียดทุกอย่างในร้านออกแบบมาอย่างตั้งใจ เมื่อมองงานลูกปัดให้เป็นงานออกแบบที่มีมูลค่าและมีคอนเซปต์จึงทำให้ Susan Alexandra กลายเป็นร้านรีเทลที่น่าจับตามอง 

แวะช้อปปิ้งได้ที่ susanalexandra.com 

BonBon
ร้านสวีดิชแคนดี้สีพาสเทลที่ดังเป็นไวรัล

อะไรจะเติมเต็มความฝันวัยเด็กได้ดีกว่าการเดินเลือกตักขนมมากมายในร้านแคนดี้! 

ที่สวีเดนผู้คนเชื่อว่า Candy is the way of life! เด็กสวีเดนมีธรรมเนียมการกินแคนดี้ทุกวันเสาร์ เจ้าของร้าน BonBon ซึ่งเป็นคนสวีเดนมองเห็นช่องว่างทางตลาด จึงต้องการแนะนำวัฒนธรรมการทานแคนดี้
ให้คนนิวยอร์กรู้จัก 

ความพิเศษของ BonBon คือการเป็นร้านแคนดี้สแตนด์อโลนสัญชาติสวีดิชที่ตั้งใจออกแบบทั้งรสชาติ แพ็กเกจ และบรรยากาศจนสร้างแบรนด์ให้มีชื่อเสียงได้ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก BonBon จึงจริงจังเรื่องแคนดี้ถึงขั้นที่สาขาส่วนใหญ่เปิดขายถึงเที่ยงคืนและมี candy sommelier หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะนำเลือกรสแคนดี้คอยให้คำปรึกษาเวลาลูกค้าเลือกรสขนมในร้าน

รสเด่นคือ sweet and sour และขนม gummy Swedish fish ที่ทางร้านคิดค้นรสชาติเอง แน่นอนว่าความพิเศษของร้านแนวนี้คือมีรสให้เลือกหลากหลายและสามารถมิกซ์ได้ตามใจ ในโอกาสพิเศษเช่นงานเฉลิมฉลองต่างๆ ก็ยังมีบริการสั่ง candy cart ไปตั้งในงานหรือสามารถสั่ง candy box แจกเป็นของชำร่วยได้ด้วย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา BonBon ยังโด่งดังเป็นไวรัลในช่องทางออนไลน์อย่าง TikTok และมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงหลักพันในข้ามคืนหลังจากเปิดมา 6 ปี ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะขนมเยลลี่ กัมมี่ แคนดี้ต่างๆ กำลังเป็นกระแสที่ TikTok ในต่างประเทศ อีกปัจจัยคือแคนดี้จากสวีเดนเป็นขนมที่ขึ้นชื่อด้านคุณภาพ รสชาติที่แตกต่าง ไปจนถึงวัตถุดิบที่ดี ทั้งมีแคนดี้แบบ gluten-free และ vegan ให้เลือกซื้อ  

Biggie’s Bodega
ร้านแอนทีกของนักสะสมยาสูบและของเล่นเรโทร   

Biggie’s Bodega เป็นร้านเล็กๆ ขนาด 1 คูหาที่นิยามตัวเองว่าเป็น antique smoke store ขาย

อุปกรณ์วินเทจเกี่ยวกับยาสูบและบุหรี่ (Tobacciana Antiquities) ไปจนถึงของเรโทรกระจุกระจิกต่างๆ

Sammy Levin และ Derek Nussbaum ผู้ก่อตั้งอยากให้เวลาลูกค้าเดินเข้ามาในร้านรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปยุคก่อน ทั้งคู่มองว่าอุปกรณ์วิินเทจเกี่ยวกับยาสูบนั้นเหมือนของตกแต่งบ้านที่สวยงามและมีการพัฒนาไปตามยุคสมัย ที่ร้านจึงมีของที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน เช่น เซ็ตกล่องบุหรี่แฟนตาซีรูปลูกเต๋า,รองเท้า cowboy และกล่องหรูหราสีทอง

แม้จะออกตัวว่าเป็นร้าน antique smoke store แต่ลูกค้าบางคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็โดนร้านแห่งนี้ตกได้ เพราะทั้งคู่ก็มองว่าไฟแช็กวินเทจก็น่าสนใจสำหรับผู้ที่อยากสร้างความสุนทรีย์ในการจุดไฟต่างๆ ในบ้าน Biggie’s Bodega ยังมีลักษณะคล้าย curiosity shop ที่ขายของน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่บนโลกนี้ เช่น โซดารสชาติแปลกๆ จากทั่วโลกที่เก็บในตู้เย็นยุค 1960s  นิตยสารวินเทจ ขนมโบราณ การ์ดเกม 

ลูกค้าที่ร้านเป็นชาว New Yorkers หลากหลายกลุ่มทั้งเจน Z ที่มองหาร้านฮิปๆ ผู้ที่สนใจสินค้าหมวด Tobacciana สำหรับสูบไปจนถึงคนที่อยากเดินเล่นในร้านบรรยากาศย้อนยุค ร้านยังมองหาสินค้าหมวดที่เรียกว่า Oddities หรือคอลเลกชั่นแปลกใหม่หายากมาขายอยู่เสมอ

แวะช้อปปิ้งได้ที่ biggiesbodeganyc.com/store-gateway

The Ripped Bodice
ร้านหนังสือที่ขายแต่นิยายรัก

แม้นิวยอร์กจะมีร้านหนังสือขนาดใหญ่ชื่อดังหลายแห่ง เช่น The Strand และ Barns & Noble แต่ก็มีเหล่าผู้ประกอบการที่เปิดร้านหนังสืออิสระอยู่ไม่น้อย และโอกาสการชูจุดเด่นของร้านหนังสือขนาดเล็กให้แตกต่างจากร้านใหญ่คือโมเดลธุรกิจร้านหนังสือ Niche ที่จับลูกค้าเฉพาะกลุ่มและเน้นขายหนังสือหมวดเดียวอย่าง The Ripped Bodice

A Romantic Bookstore น่าจะเป็นคำจำกัดความของร้านหนังสือแห่งนี้ได้ดีที่สุดเพราะจุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากการสานฝันความรักในธุรกิจร้านหนังสือให้เป็นจริงของคู่พี่น้อง Leah Koch และ Bea Hodges-Koch  
ด้วยการเสนอไอเดียธุรกิจในเว็บไซต์ระดมทุนอย่าง Kickstater จนประสบความสำเร็จและเปิดร้านหนังสือ 2 สาขาทั้งที่นิวยอร์กและลอสแอนเจลิส

ร้านสีชมพูหวานแหววแห่งนี้เต็มไปด้วยนิยายรักโรแมนติกที่มีหมวดย่อยหลายหมวด ทั้งนิยายรักหมวด ประวัติศาสตร์, sci-fi, young adult, L.G.B.T.Q, นิยายรักของผู้แต่งหลากหลายเชื้อชาติและหมวดอีกมากมายเท่าที่เรื่องราวในนิยายรักจะมีได้ซึ่งรวมถึงหมวดกิมมิกพิเศษที่ทางร้านเขียนติดป้ายเอง เช่น ‘No Happily Ever After guaranteed here’ หรือหมวดที่ไม่การันตีตอนจบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้ง 

ปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จของร้านรีเทลอย่าง The Ripped Bodice คือการสร้างคอมมูนิตี้ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน 
ไม่ใช่แค่ด้วยสินค้าแต่ด้วยกิจกรรมอย่าง Book Club ไปจนถึงบริการ ‘Read.Romance.Repeat’ โมเดล subscription box ที่จัดส่งนิยายโรแมนติกเล่มใหม่ให้ถึงบ้านแบบรายเดือนซึ่งเป็นบริการแปลกใหม่ที่ไม่มีร้านหนังสือใดในท้องตลาดทำอย่างแพร่หลายทำให้ร้านมีกลุ่มแฟนคลับที่ชัดเจนอย่างเหนียวแน่น

แวะช้อปปิ้งได้ที่ readromancerepeat.com

อ้างอิง

100 ปีในไทยที่ไม่หยุดก้าวของ Johnnie Walker สกอตช์วิสกี้ที่ Keep Walking แบรนด์ให้ครองใจคนไทยมาอย่างยาวนาน

ถ้าถามถึงแบรนด์ในดวงใจของหมู่นักดื่มนักดริงก์ทั่วโลกรวมถึงชาวไทย เชื่อว่าคงมีชื่อของ ‘Johnnie Walker’ ติดโพลมาเป็นอันดับต้นๆ ในฐานะแบรนด์สกอตช์วิสกี้ที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และคนมักจะคุ้นเคยกับขวดรูปทรงสี่เหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์และคุ้นหู คุ้นตากับสัญลักษณ์ ‘The Striding Man’ หรือ ‘ชายผู้ก้าวเดิน’ ที่มาพร้อมกับหมวกทรงสูงและทักซิโด้ชายยาว

ที่ในปี 2567 นี้ก็นับว่าครบ 100 ปีที่ไม่เคยหยุดก้าวเดิน และตลอดระยะเวลาอันแสนยาวนานก็ได้สร้างตำนานในทุกย่างก้าวที่เดิน เพื่อส่งมอบสกอตช์วิสกี้ระดับพรีเมียมให้กับนักดื่มชาวไทย โดยสมัยก่อนคนไทยเรียก Johnnie Walker ว่า ‘ยอนนี วอค เกอร์‘ ตามป้ายแคมเปญที่เขียนเป็นคำอ่านทับศัพท์ชื่อแบรนด์เป็นภาษาไทยเอาไว้ และไม่ได้เรียกชื่อแต่ละรุ่นเหมือนที่ต่างชาติเรียกกันอย่างในทุกวันนี้ แต่จะเรียกรุ่น Black Label ว่า ‘ตราดำ’ และเรียกรุ่น Red Label ว่า ‘ตราแดง’

ชื่อเรียกเหล่านี้ก็จะมีให้เห็นบนป้ายแคมเปญตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงยังมีฉากที่ตัวละครในหนังสือและในภาพยนตร์กำลังสังสรรค์ดื่ม Johnnie Walker กัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนสมัยนั้นก็นิยมดื่ม Johnnie Walker กัน ถึงขนาดนำไปใส่ไว้ในหนังสือและภาพยนตร์เลยทีเดียว เพราะในสมัยนั้นการเปิดเผยชื่อยี่ห้อหรือขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่ได้ถูกควบคุมอย่างในปัจจุบัน

หลังจากนั้น Johnnie Walker ได้ทำแคมเปญและจัดกิจกรรม ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และสนับสนุนความคิดว่าคนไทยสามารถทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้ รวมถึงหยิบเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาออกแบบเป็นลวดลายขวดรุ่นลิมิเต็ดวางขายเฉพาะในไทย

เราจึงอยากชวนทุกคนมาติดตามเส้นทางตลอด 100 ปีที่ไม่เคยหยุดก้าว นับตั้งแต่ชายผู้ก้าวเดินเข้ามาในไทย ว่ามีการปรับตัวให้เข้ากับทุกยุคสมัยยังไง เพื่อ ‘Keep Walking’ แบรนด์ให้ครองใจคนไทยมาอย่างยาวนานตามสโลแกนที่ตั้งไว้ได้

อายุ : 0 ปี
พ.ศ. 2467

  • นำเข้าและจัดจำหน่าย Johnnie Walker เป็นครั้งแรกในไทย

อายุ : 15 ปี
พ.ศ. 2482

  • ในช่วงนั้น Johnnie Walker เป็นที่นิยมถึงขนาดที่ไปปรากฏในหนังสือสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะตราดำ เป็นชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกเขียนถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเรื่อง
  • Johnnie Walker ถูกนำไปจำหน่ายในห้องอาหารโรงแรมราชธานี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีราคาขายตราดำผสมโซดาแก้วละ 65 สตางค์ ส่วนตราขาวผสมโซดาแก้วละ 55 สตางค์ และที่แพงที่สุดจะเป็นตราดําขวดใหญ่ 6.50 บาท

อายุ : 41 ปี
พ.ศ. 2508

  • Johnnie Walker ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง จนได้ไปปรากฏบนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในเรื่อง เงิน เงิน เงิน นำแสดงโดยมิตร ชัยบัญชา

อายุ 75 ปี
พ.ศ. 2542

  • เปลี่ยนภาพตราสัญลักษณ์จากชายผู้ก้าวเดินหรือ The Striding Man เดินหันไปทางซ้าย เป็นเดินหันไปทางขวา เพราะมีการสำรวจว่ากว่า 95% คนในสมัยนั้นถนัดขวา และพอมองเห็นคนหันไปทางขวาจะรู้สึกว่าคนกำลังเดินไปข้างหน้า มากกว่าการหันซ้ายที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นการเดินถอยหลัง

อายุ : 80 ปี
พ.ศ. 2547

  • ตอกย้ำการเป็นแบรนด์แห่งแรงบันดาลใจ ด้วยแคมเปญ Winter In Bangkok แรงบันดาลใจ ‘เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ’ ที่บอกเล่าผ่านเหตุการณ์หิมะตกในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ถ้าลงมือทำ

อายุ : 83 ปี
พ.ศ. 2550

  • สนับสนุนให้คนออกไปทำสิ่งใหม่ๆ ก้าวต่อไปข้างหน้า ผ่าน  TVC ที่ชื่อว่า Black Label Android ที่ใช้นักแสดงนำเป็นหุ่นยนต์ เพื่อสื่อว่าต่อให้หุ่นยนต์จะเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าไม่มีคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าสร้างสรรค์ให้เกิดเทคโนโลยีหรือสิ่งใหม่ๆ

อายุ : 91 ปี
พ.ศ. 2558

  • แบรนด์แรกที่สร้างประสบการณ์ การสังสรรค์แบบใหม่ในงาน ‘THE BLACKLIST’ ปาร์ตี้สุดเอกซ์คลูซีฟที่เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ และผู้ที่ได้รางวัลจากการร่วมกิจกรรมกับทางแบรนด์ 
  • ได้มีการปรับโลโก้ชายผู้ก้าวเดิน โดยเพิ่มรอยยิ้มบนใบหน้า และปรับท่าทางเป็นชายที่กำลังเดินพร้อมนำมือขึ้นมาจับที่ปลายหมวกทรงสูงของเขา เพื่อสื่อถึงคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ ที่ต่อให้มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แต่ก็มีความคิดสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี และดูเข้าถึงได้ง่าย

อายุ : 94 ปี
พ.ศ. 2561

  • ออกแบบขวด Blue Label Bangkok Edition ที่นำสัญลักษณ์อันโดดเด่นของไทยมาออกแบบเป็นลวดลายบนขวด โดยผลิตและวางขายเฉพาะในไทยเท่านั้น 

อายุ : 95 ปี
พ.ศ. 2562

  • จัดงาน WALK ไทยให้ไกลกว่าเดิม เพื่อยกระดับความเป็นไทยโดยทัพ visual artist ไทย และนำเสนอดนตรีไทยในมุมมองใหม่ โดยจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ
  • พร้อมออกแบบขวด Black Label ในธีม WALK ไทยให้ไกลกว่าเดิม ด้วยการนำเอกลักษณ์อันโดดเด่นของแต่ละภูมิภาคในไทยมาออกแบบเป็นลวดลายขวด
  • คว้า 7 รางวัลจากการแข่งขันไวน์และสุรานานาชาติ หรือ IWSC: International Wine & Spirits Competition 2019 โดยแบ่งเป็นรางวัลเหรียญทองจำนวน 5 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 2 รางวัล ตอกย้ำความเป็นแบรนด์สกอตช์วิสกี้ที่ขายดีเป็นอันดับ  1 ของโลก
  • จับมือร่วมกับ HBO ผู้ผลิต Game of Thrones ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมระดับโลก ออกแบบขวดลิมิเต็ดเอดิชั่นรุ่น White Walker by Johnnie Walker ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีมากๆ ขนาดที่หายไปจากตลาดทันที หลังการวางขายเพียงไม่ถึงสัปดาห์
  • ต่อยอดมาสู่ขวดลิมิเต็ดรุ่นต่อไป ที่ใช้ชื่อว่า Johnnie Walker A Song of Ice ที่ออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ผิวสัมผัสเหมือนขนหมาป่า และรุ่น A Song of Fire ที่ผิวสัมผัสให้ความรู้สึกลื่นเหมือนเกล็ดมังกร ถือเป็นการนำเอานวัตกรรมมาใส่ในแพ็กเกจจิ้ง เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า

อายุ : 98 ปี
พ.ศ. 2565

  • จัดกิจกรรมในงาน Awakening Bangkok ที่สื่อถึงการก้าวต่อไปใช้ชีวิต การก้าวไปเป็นตัวเอง และการก้าวต่อไปเพื่อโลก 
  • เปิดตัวโปรเจกต์พิเศษ Keep Walking City สร้างสรรค์ศิลปะบนขวด Black Label ร่วมกับ AIR-INK® หมึกที่ทำจากมลพิษทางอากาศ ผ่านการออกแบบโดยศิลปินดังจาก 6 มหานครใน 6 ประเทศทั่วโลก โดยในไทยได้ศิลปินกันตภณ เมธีกุล หรือก้องกาน (Gongkan) มาออกแบบลวดลายบนขวดและลวดลายในนิทรรศการ

อายุ : 100 ปี
พ.ศ. 2567

  • ครบรอบ 100 ปีที่ไม่เคยหยุดก้าว และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยก้าวไปข้างหน้า
  • ออกแบบขวด Black Label ลิมิเต็ดเอดิชั่นฉลองครบรอบ 100 ปี ด้วยการใช้โทนสีดำและทอง พร้อมมีชายผู้ก้าวเดินอยู่ในสถานที่สำคัญของไทย สมกับการเฉลิมฉลองให้กับ 100 ปีที่ไม่เคยหยุดก้าว
  • Johnnie Walker ตั้งใจที่จะ Keep Walking toward the next bold stride เพื่อสร้างก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งและส่งมอบสกอตช์วิสกี้ระดับพรีเมียมให้แก่นักดื่มชาวไทยและนักดื่มทั่วโลกต่อไป

ส่องเทรนด์ Balanced Diet จากงานแถลงเนสท์เล่ เมื่อ 70% ของชาวไทย นิยาม ‘กินดี’ ว่ากินอร่อยแบบโนสนแคลอรี่

ทุกวันนี้หากโดนถามว่า ‘กินอะไรดี’ คำตอบของหลายคนคงไม่ใช่ ‘กินอะไรก็ได้’ อีกต่อไป เพราะคนไทยหันมาใส่ใจการกินอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น 

ความน่าสนใจคือนิยามของการกินดีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การกินอาหารคลีนเท่านั้นแต่จากการวิจัยของ Mintel ในปี 2566 พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 70% มองว่าการกินดีหรือการกินอาหารเพื่อสุขภาพคือการได้เอนจอยกับอาหารที่มีรสชาติอร่อย แบบไม่ต้องนับแคลอรี่

ผลสำรวจที่ว่าสอดคล้องกับการวิจัยของเนสท์เล่และคันทาร์ในปี 2565 ที่พบว่า 91% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการกินอาหารที่ดีและให้คนในครอบครัวกินอยู่อย่างสมดุลหรือ Balanced Diet แต่ในขณะเดียวกันกลับมีเพียง 42% เท่านั้น ที่สามารถกินอยู่อย่างสมดุลได้

unhealthy woman over eating fast food burgers, fired chicken, donuts, and desserts, Binge Eating Disorder (BED) concept

ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถกินอยู่อย่างสมดุล

  • 44% เป็นเหตุผลเรื่องราคา อย่างที่รู้กันว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพมักจะมีราคาสูงกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถกินอาหารเหล่านั้นได้บ่อยๆ
  • 40% ไม่มีเวลาทำอาหารเอง ถึงแม้การทำอาหารเพื่อสุขภาพกินเองอาจมีราคาถูกกว่าการซื้อ แต่ในวัยทำงานที่ทุกอย่างเร่งรีบไปหมด ทำให้ไม่มีเวลามาทำอาหารมากนัก
  • 40% มีพฤติกรรมติดกินของหวาน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารคาวแล้วต้องตบท้ายด้วยของหวานทุกครั้ง รวมถึงการที่คนอยากเติมความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ด้วยการกินของหวานหรือขนม
  • 24% อยากกินอาหารที่อร่อย แต่บางทีอาหารเพื่อสุขภาพจะลดการปรุง ทำให้มีรสชาติอ่อน ไม่จัดจ้าน และมักใช้วัตถุดิบไม่หลากหลาย ทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อและคิดว่าอาหารเหล่านี้ไม่อร่อยเท่าอาหารปกติ

ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มควรปรับตัวยังไงให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทย?

จากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น หากให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากหน้ามือเป็นหลังมือเพื่อทานอาหารเพื่อสุขภาพก็ดูเป็นเรื่องยาก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจึงเลือกปรับสินค้าที่ขายอยู่เดิมให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค อย่างกรณีของเนสท์เล่ที่ปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการกินอยู่อย่างสมดุล 

  1. ขยายกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยเน้นปรับสูตรกลุ่มสินค้าสำหรับการบริโภคได้ทุกวันให้ผู้บริโภคได้กินของอร่อยแบบไม่ทำลายสุขภาพ เช่น เนสกาแฟ นมตรามือ ซอสแม็กกี้ ที่ลดน้ำตาลและลดโซเดียมลง จนปัจจุบันมีสินค้าเนสเล่ท์กว่า 100 รายการที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ซึ่งนับเป็นจำนวนสินค้าที่ได้รับรองสูงสุดในบรรดาบริษัทอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในไทย
  2. กลุ่มสินค้าด้านโภชนาการเฉพาะกลุ่ม เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับเด็ก ได้ปรับสูตรให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น โดยได้เสริมแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย พร้อมพยายามควบคุมราคาสินค้าต่อ 1 บริโภคให้อยู่ที่ 5-10 บาท เพื่อประคองราคาให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้  
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของว่าง เนสท์เล่ปรับสูตรอาหารให้ผู้บริโภคได้กินอย่างเหมาะสม เช่น ไอศครีมสำหรับเด็กที่ให้พลังงานไม่เกิน 110 กิโลแคลอรี ขนมแบบมัลติเสิร์ฟที่แบ่งเป็นซองเล็กๆ ให้หยิบกินได้หลายคน หรือแบ่งกินได้หลายครั้ง และมีการบอกปริมาณการกินที่เหมาะสมแต่ละมื้อไว้อย่างชัดจนบนบรรจุภัณฑ์

กลยุทธ์ของเนสท์เล่ไม่เพียงสะท้อนถึงเทรนด์การใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่รู้จักปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

Crocs รองเท้าที่ใครก็แหยงหน้าตาแต่เลือกใช้ ‘ตัวตน’ พลิกวิกฤตจนฮิตติดเทรนด์สตรีทแฟชั่น

รูปทรงเทอะทะ หน้าตาพิลึกพิลั่น ดูไม่เป็นมิตรโดยเฉพาะกับคนเป็นโรคกลัวรู  (Trypophobia)

ด้วยรูปลักษณ์ที่กล่าวมาข้างต้น แทบไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้ Crocs จะกลายเป็นรองเท้าขวัญใจของใครต่อใคร ใส่เที่ยวก็ดี ใส่ทำงานก็ใช่ จะฝนตกแดดออกก็พร้อมลุยทุกสถานการณ์ ซ้ำยังมีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นสายสตรีท ถึงขั้นที่บรรดาซูเปอร์สตาร์เลือกใช้งาน 

ไม่ว่าจะ Justin Bieber, Post Malone, G-Dragon, Rihanna, เจนนี่ BLACKPINK และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

เช่นเดียวกับเรื่องของรายได้ที่ดูจะพุ่งทะยาน to the moon หลังสิ้นสุดปี 2566 Crocs เปิดตัวเลขรายได้สุทธิจากทั่วโลกที่มากถึง 3.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นประวัติการณ์ของบริษัท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 3-4 เท่า ในปี 2567

จากที่เล่ามาดูเหมือนว่า Crocs จะเป็นรองเท้ายอดนิยมเบอร์ต้นของโลก แต่ใครจะเชื่อล่ะว่า ครั้งหนึ่ง Crocs ถูกยกสมญานามให้เป็น ‘Ugly Shoes’ ที่ใครเห็นก็ต้องเบือนหน้าหนี เช่นนั้นปัจจัยใดกันที่ทำให้ Crocs พลิกภาพจำจากรองเท้าเชยสะบัด มาเป็นรองเท้าโคตรจะเท่ จนได้รับความนิยมทั่วทุกหย่อมหญ้า 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราขอชวนคุณผู้อ่านไขคำตอบจากคอลัมน์ Biztory ครั้งนี้ 

1. ไม่ใช่รองเท้าแฟชั่นแต่เป็นรองเท้าสำหรับกีฬาเรือใบ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 ณ เมืองบลูมฟีลด์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา จอร์จ บ็อดเบกเกอร์ จูเนียร์ (George Boedbecker Jr.), ลินดอน แฮนสัน (Lyndon Hanson) และสกอตต์ ซีแมนส์ (Scott Seamans) สามเพื่อนซี้ที่มีงานอดิเรกเดียวกัน คือการล่องเรือใบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เกิดฉุกคิดไอเดียตรงกันว่า เหตุใดจึงไม่มีรองเท้าที่เหมาะสำหรับงานอดิเรกของพวกเขา ที่มีคุณสมบัติดีพอใส่ลุยบนบกหรือริมน้ำได้สะดวก  

เมื่อทั้งสามบังเอิญพบกับรองเท้าคู่หนึ่งที่มีหน้าตาคล้ายกับ Dutch Clogs Wooden รองเท้าประจำชาติเนเธอร์แลนด์ซึ่งเดิมทีผลิตจากไม้ แต่ที่ต่างออกไปคือรองเท้าคู่นี้มีความนุ่มสบายเท้าและยึดเกาะพื้นได้ดี ทั้งสามสืบทราบจนรู้ว่าผู้ผลิตรองเท้าคู่ดังกล่าวคือ บริษัทสัญชาติแคนาดาที่มีชื่อว่า Foam Containing ด้วยความประทับใจไม่รู้ลืม สามสหายตัดสินใจยื่นซื้อกิจการมาครอบครอง ก่อนจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ของรองเท้าให้ทันสมัยมากขึ้นและอิงตามสรีรศาสตร์ช่วงเท้า

อีกหนึ่งจุดสำคัญและเป็นซิกเนเจอร์ของรองเท้า Crocs คือการเจาะรูจำนวนข้างละ 13 รู ตรงบริเวณหน้าเท้า เพื่อให้ระบายความชื้นได้ดีกว่ารองเท้าลำลองทั่วไป ถึงกระนั้นซิกเนเจอร์ที่ว่าก็ดูจะเป็นข้อเสียในคราวเดียวกัน เมื่อผู้ใช้บางส่วนแม้แต่ผู้ให้กำเนิดต่างมองว่า หน้าตาของรองเท้ายี่ห้อนี้ช่างประหลาด บ้างก็ว่ามันมีหน้าตาล้าสมัยเกินกว่าจะใส่อวดใคร แต่สุดท้ายทั้งสามก็ตกลงปลงใจเข็นรองเท้ายี่ห้อ Crocs ออกมาขายอยู่ดี

2. จระเข้หัวโตที่ใส่นุ่ม ใส่สบาย และเป็นมิตรต่อทุกอาชีพ

ชื่อของ Crocs มีแรงบันดาลใจจาก Crocodile หรือจระเข้ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจอมปราดเปรียว ซึ่งตรงกับฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบมานั่นคือใส่ลุยได้ทั้งบนบกและริมน้ำ ด้วยสรรพคุณไม่เกินจริงดังกล่าว นั่นทำให้รองเท้า Crocs รุ่นแรกที่มีชื่อว่า The Beach ขายหมดทั้ง 200 คู่ ทันทีที่วางจำหน่ายในงานแสดงเรือ ประจำเมืองฟอร์ตลอเดอร์เดล รัฐฟลอริดา

จากความนิยมในกลุ่มนักกีฬาเรือใบ ชื่อเสียงเรียงนามของ Crocs ถูกพูดถึงปากต่อปาก จนทำให้ใครหลายคนเมินหน้าตาพิลึกของมันและหันมาลองสวมใส่ พลันได้รับความนิยมชนิดพลุแตก ทั้งในหมู่แพทย์ พยาบาล คนครัว พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ สาเหตุหลักก็เพราะ ‘ความสบาย’ ยืนหรือเดินต่อเนื่องได้ทั้งวันโดยไม่เมื่อยล้า

ทั้งนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยี Croslite หรือโฟมชนิดพิเศษที่เป็นวัสดุหลักในการผลิตขึ้นรูป โฟมชนิดดังกล่าวมีส่วนผสมของเรซิ่น’ (resin) ทำให้พื้นรองเท้าอ่อนนุ่มกว่าปกติ แต่ไม่ยวบจนรู้สึกเมื่อยล้าเมื่อต้องเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน 

ขณะเดียวกัน ดีไซน์ของมันยังช่วยป้องกันเท้าผู้สวมใส่จากอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ทั้งบริเวณช่วงหน้าที่ปกปิดนิ้วเท้าได้มิดชิด และสายรัดบริเวณตรงกลางที่ปรับเลื่อนลงมาป้องกันบริเวณหลังเท้า อีกทั้งยังถอดเข้าถอดออกได้ง่ายเหมือนใส่สลิปเปอร์ ด้วยข้อดีที่กล่าวมาจึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ หากผู้คนจะมองข้ามข้อเสียเรื่องรูด้านหน้า และเลือก Crocs เป็นรองเท้า daily shoes สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

3. เพิ่มมูลค่าด้วย Jibbitz หมุดรองเท้าสุดฟรุ้งฟริ้ง

อีกปัจจัยที่ทำให้ Crocs มีมูลค่าและความนิยมมากกว่ารองเท้าลำลองอื่นๆ ในตลาด คงหนีไม่พ้น Jibbitz หรือตัวติดรองเท้าลวดลายฟรุ้งฟริ้ง ช่วยสร้างเอกลักษณ์และสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ ที่เริ่มผลิตออกมาให้เห็นตั้งแต่ปี 2006

อย่างไรก็ตาม Jibbitz ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของ Crocs แต่เกิดจากไอเดียสุดบรรเจิดของ เชอรี ชเมลเซอร์ (Sheri Schmelzer) ที่อยากเพิ่มความน่ารักให้กับรองเท้า Crocs แก่ลูกๆ ทั้งสามคน เธอจึงชวนสามี ริช ชเมลเซอร์ (Rich Schmelzer) มาร่วมออกแบบหมุดลวดลายต่างๆ ตั้งแต่ตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z, ดอกไม้สีสันสดใส อัญมณี โบว์ สัตว์นานาชนิด ไปจนถึงโครงกระดูกและค้างคาวต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน

จากความตั้งใจเดิมที่จะสร้าง Jibbitz ให้ลูกๆ กลับกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อม เมื่อคนรักรองเท้าต่างต้องการซื้อหมุดสุดฟรุ้งฟริ้งนี้ ไปเติมเต็มเอกลักษณ์รองเท้า Crocs ของตัวเอง Crocs จึงไม่อาจนิ่งเฉย และยอมควักกระเป๋าสตางค์ยื่นซื้อลิขสิทธิ์ Jibbitz จากครอบครัวชเมลเซอร์ ด้วยเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อยอดผลกำไร 

นับเป็นความคิดที่ถูกต้องและเหมือนเป็นการยิงทีเดียวได้นกสองตัว เพราะ Crocs ใช้ Jibbitz เป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าที่เคยซื้อไปแล้วให้กลับมาซื้อซ้ำด้วยการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ ถึงขั้นต้องมีโซนขาย Jibbitz ในช็อปโดยเฉพาะ

4. จากจุดต่ำสุดสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง เพราะเลือกคืนสู่รากฐานเดิม

แต่อย่างที่ใครหลายคนบอกไว้ว่า เมื่อมีวันถึงจุดสูงสุดก็ย่อมมีวันถึงจุดต่ำสุด 

ในปี 2551 ช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์’ (Hamburger Crisis) นั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายของ Crocs เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าลดต่ำลงตามสภาพเศรษฐกิจ ทั้งที่ในเวลานั้นพวกเขาเตรียมออกไลน์สินค้ามากกว่า 200 แบบ เพื่อรุกตลาดธุรกิจรองเท้าเต็มกำลัง 

บทสรุปในปี 2551 ปรากฏว่า ผลประกอบการของ Crocs ติดลบที่ตัวเลข 185.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการปิดตัวสาขาหลายร้อยแห่ง มิหนำซ้ำยังต้องปลดพนักงานมากกว่า 2,000 ราย หรือราว 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สถานภาพความมั่นคงของแบรนด์รองเท้าจระเข้หัวโตก็มีแต่คำว่า ‘ทรงกับทรุด’ และแม้ตัวเลขกำไรจะไม่ถึงขั้นติดลบแต่ก็ไม่เคยพุ่งทะยานเกินหลัก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งการมาของชายที่ชื่อว่า แอนดรูว์ รีส์ (Andrew Rees) ในฐานะซีอีโอคนใหม่ของ Crocs เมื่อปี 2014 ได้สร้างแรงผลักดันจนสามารถปลุกจระเข้ป่วยตัวนี้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“สิ่งที่ผมเห็นในตอนเริ่มต้นทำงานกับ Crocs คือผมเห็นแบรนด์ที่มีความน่าทึ่งและมีความน่าหลงใหลพิเศษบางอย่าง แต่ยังไม่ถูกดึงศักยภาพทั้งหมดออกมาใช้อย่างสูงสุด ดังนั้นเราจะต้องรับฟังผู้บริโภคและพยายามใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลที่เติบโตมาพร้อมกับเรา เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะเห็นภาพถึงสิ่งที่ผมพูดชัดมากยิ่งขึ้น” รีส์กล่าวถึงความรู้สึกและวิสัยทัศน์ของเขาในวันที่เข้าดำรงตำแหน่งวันแรก

ทว่ากลยุทธ์พลิกฟื้น Crocs ของรีส์ไม่ใช่การเปิดสินค้าใหม่ชวนว้าว หรือสร้างแคมเปญลดแลกแจกแถม แต่เป็นการย้อนกลับไปยังรากเหง้านั่นคือ ‘ความสบาย’ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่มีอยู่ในรุ่น The Beach สินค้าคลาสสิกรุ่นแรกที่ทำให้คนรู้จักและเทใจให้ Crocs เรื่อยมา 

แต่ใช่ว่าจะจบแค่หยิบโปรดักต์แชมเปี้ยนมาเร่ขายแล้วจบ เพราะ Crocs รุ่น The Beach ยังถูกปรับภาพลักษณ์ให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เพิ่มดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการผสมกลิตเตอร์ในเนื้อร้องเท้า เปลี่ยนอัพเปอร์ให้เป็นวัสดุใส และปรับโทนสีให้มีความมินิมอลเหมาะกับการแต่งตัวในชีวิตประจำวันมากขึ้น

5. จากรองเท้าใส่สบายสู่ไอเทมแฟชั่นสายสตรีทที่ใครก็ต้องมี

นอกเสียจากการปรับเปลี่ยนไดเรกชั่นการผลิตไลน์สินค้า อีกปัจจัยที่ทำให้ Crocs ภายใต้การนำของรีส์ดูมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง คือการใช้กลยุทธ์โซเชียลมีเดียเข้าช่วย ซึ่งดูจะเป็นทางออกที่เข้าท่า เมื่อคนที่เคยหลงลืมความสบายของรองเท้าจระเข้หัวโตเริ่มกลับมาให้ความสนใจ ก่อนที่ความสำเร็จนี้จะผลิดอกออกผลในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักและเกิดการล็อกดาวน์

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะความสะดวกสบายของ Crocs ที่สามารถใส่เดินและทำกิจกรรมในบ้านได้ตลอดเวลา ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ณ เวลานั้น ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน ส่วนเรื่องหน้าตาความเท่ดูจะไม่ใช่ปัญหาในเมื่อออกไปพบเจอใครไม่ได้อยู่แล้ว และนั่นทำให้ปี 2564 Crocs กอบโกยผลกำไรราว 725.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากที่สุดในรอบ 7 ปี และมากกว่าตอนสถานการณ์โลกปกติเสียอีก

หลังยุคโควิด-19 ระบาดหนัก ทัศนคติที่ผู้คนมีต่อ Crocs ก็เปลี่ยนไป ประจวบเหมาะกับกระแสสตรีทแฟชั่น จึงเริ่มเห็นคนหนุ่มสาวหยิบ Crocs มาแมตช์เข้ากับชุดต่างๆ ไม่ว่าจะมินิสเกิร์ต เสื้อสายเดี่ยว กระโปรงยีนส์ กางเกงคาร์โก้ โดยมี Jibbitz เป็นไอเทมเสริมเพิ่มความวิ้งวับ ไม่ต่างจากแหวนหรือสร้อยคอบนตัว

ไม่ใช่แค่กระแสความไฮป์ในหมู่คนทั่วไป ฟากซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่างนิกกี้ มินาจ (Nicki Minaj), โพสต์ มาโลน (Post Malone), จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) และลิล แนส เอ็กซ์ (Lil Nas X) ก็เป็นศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่หยิบ Crocs มารันวงการแฟชั่นสายสตรีท แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวช่วยยกระดับให้ Crocs กลายเป็นไอเทมที่ทุกคนตามหามาครอบครอง 

6. มหกรรมคอลแล็บกับแบรนด์ดัง ศิลปินระดับโลก และตัวการ์ตูนในดวงใจ

นอกจากฐานลูกค้าที่เป็นสาวกดั้งเดิม ปัจจุบัน Crocs ยังมีกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ที่ตามมาจากการคอลแล็บ ทั้งกับแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์อย่าง Balenciaga ที่หยิบโมเดล The Beach มาเปลี่ยนรูปโฉมให้คล้ายรองเท้าส้นสูง หรือปรับพื้นให้หนาขึ้นเหมือนรองเท้าส้นตึกเพื่อเพิ่มความ chunky ซึ่งบรรดาคอลเลกชั่นที่ Crocs คอลแล็บร่วมกับ Balenciaga ล้วนกลายเป็นไวรัลเรียกเสียงฮือฮาบนโลกอินเทอร์เน็ต

และยังรวมไปถึงสตูดิโอแฟชั่นสายสตรีทอีกมากที่พาเหรดร่วมคอลแล็บกับ Crocs เช่น Chinatown Market, Awake NY, Bad Bunny, Takashi Murakami และ Salehe Bembury ที่ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนแทบนึกภาพไม่ออกว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกัน

ส่วนตลาดเอเชีย Crocs ยังเลือกตีตลาดด้วยการจับกระแส Y2K ที่อยู่ในวงการเคป๊อป ผ่านการคอลแล็บกับสี่สาววง Aespa ในลุคหวานละมุน และดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เมื่อคอลเลกชั่นที่ว่ากลายเป็นสินค้าขาดตลาด และยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ‘ความภักดี’ ของกลุ่มแฟนคลับเคป๊อปมีมูลค่ามหาศาลเพียงใดในโลกของธุรกิจ

เฉกเช่นเดียวกับการคอลแล็บตัวการ์ตูนชื่อดังมากมาย เช่น Naruto, Lightning Mcqueen, Batman และโดยเฉพาะรายล่าสุดอย่าง Shrek คาแร็กเตอร์ยักษ์เขียวขี้เล่นจากค่าย Dreamworks Animation ที่ตอนปล่อยภาพออกมาแรกๆ ชาวโซเชียลฯ ต่างหัวเราะให้กับหน้าตาความประหลาดของมัน แต่เมื่อถึงช่วงวางจำหน่ายกลับขายหมดอย่างรวดเร็ว 

มองผิวเผินอาจดูเป็นแค่ไอเดียสนุกๆ ขี้เล่นตามประสาคาแร็กเตอร์แบรนด์ของ Crocs แต่หากพิจารณาถี่ถ้วนจะเห็นว่า สิ่งที่ Crocs ไม่เคยละทิ้งในยามรุ่งโรจน์คือ ‘ตัวตน’ ที่แสดงให้เห็นผ่านหน้าตาและนวัตกรรมของรองเท้ารุ่น The Beach หรือที่คนเรียกติดปากว่ารุ่น Original ซึ่งเป็นโมเดลตั้งต้นสำหรับการคอลแล็บ ไปจนถึงพัฒนาสู่โปรดักต์ใหม่ที่ปรับแต่งให้มีความทันสมัยและเข้ากับการใช้งานของผู้คน ทั้งที่ครั้งหนึ่งพวกเขาไขว้เขวจนเกือบละทิ้งสิ่งนี้ไป 

อาจกล่าวได้ว่า คุณภาพที่สั่งสมมาอย่างยาวนานผนวกกับช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Crocs ก้าวมามีบทบาทในโลกของสตรีทแฟชั่นในเวลานี้ และสลัดภาพจำในฐานะของ ‘รองเท้าหน้าตาแปลกประหลาด’ ที่ใครเห็นก็ต้องแหยง สู่ ‘รองเท้าหน้าตาแปลกประหลาดแต่โคตรคูล’ ที่ใครก็อยากเป็นเจ้าของ

ภาพ : Crocs, Crocs Thailand

อ้างอิง