126 ปีของ RIMOWA แบรนด์กระเป๋าเดินทางลักชูรีที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบจากเครื่องบิน

หากคุณอยากออกแบบกระเป๋าเดินทาง แรงบันดาลใจที่มองหาในการออกแบบกระเป๋าจะเป็นอะไร

RIMOWA (ริโมว่า) แบรนด์กระเป๋าเดินทางสัญชาติเยอรมันมีแรงบันดาลใจในการออกแบบเป็นเครื่องบินแอร์คราฟต์ ทำให้กลายเป็นจุดกำเนิดของกระเป๋าจากวัสดุอลูมิเนียมที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการทั้งในแง่ฟังก์ชั่น ความทนทาน และดีไซน์

จากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่เยอรมนี ตอนนี้ RIMOWA เป็นแบรนด์อายุ 126 ปีและกลายเป็นผู้นำด้านการบุกเบิกนวัตกรรมในการผลิตกระเป๋าจนกลายเป็นแบรนด์ลักชูรีที่อยู่ในเครือ LVMH และบางคอลเลกชั่นพิเศษที่คอลแล็บกับแบรนด์ชื่อดัง เช่น Supreme ก็มีราคาพุ่งสูงถึงหลักแสนบาทโดยยังมีคำกล่าวว่าหากจะมีกระเป๋าเดินทางสักใบที่เป็นไอเทมแฟชั่น กระเป๋าแบรนด์นั้นก็คงจะเป็น RIMOWA

เบื้องหลังราคาที่สูงของแบรนด์คือความพิถีพิถันและการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง รายละเอียดเล็กๆ เป็นสิ่งที่ RIMOWA ไม่เคยปล่อยผ่าน ทั้งล้อที่ต้องหมุนได้ 360 องศาเพื่อความสะดวกในการเดินทาง วัสดุกันน้ำได้ ช่องเก็บของข้างในกระเป๋า การ customize ดีไซน์กระเป๋าได้ ฟังก์ชั่นต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นมาตรฐานที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ ยึดถือตามกัน โดยลาย Groove ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในกระเป๋าเดินทางแบรนด์ต่างๆ ในทุกวันนี้ก็ยังมีที่มาจาก RIMOWA อีกด้วยเช่นกัน

เบื้องหลังการสร้างตำนานมากมายเหล่านี้คือการใช้ศาสตร์ทางศิลปะผสมกับวิศวกรรมทั้งในแง่การออกแบบและคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อปรับตัวกับโลกยุคใหม่อยู่เสมอ และ Biztory ตอนนี้ก็อยากชวนทุกคนย้อนไปดูวันแรกของแบรนด์และเส้นทางอันยาวไกลที่ทำให้ RIMOWA กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงจนถึงทุกวันนี้

1. เริ่มจากผลิตกระเป๋า Trunk ด้วยไม้และหนัง

RIMOWA ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1898 โดยชาวเยอรมันชื่อ Paul Morszeck และ Heinrich Görtz โดยเริ่มจากการเป็นบริษัทขายอานม้าจากหนังก่อนจะเปลี่ยนมาผลิตกระเป๋าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในยุคนั้นยังไม่มีการคิดค้นการผลิตรถยนต์และเครื่องบิน ผู้คนยังคงเดินทางท่องโลกด้วยเรือและรถไฟ กระเป๋าเดินทางใบแรกของแบรนด์จึงเป็นกระเป๋าทรง trunk ที่ทำจากหนังและไม้สำหรับนักเดินทางที่ร่ำรวย

ถึงแม้กระเป๋ายุคบุกเบิกจะทำจากไม้ แต่ RIMOWA ขึ้นชื่อเรื่องการทำกระเป๋าให้มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทานตั้งแต่ยุคแรก แถมยังสร้างข้อแตกต่างจากกระเป๋าแบรนด์อื่นๆ ในยุคนั้นคือภายในกระเป๋าถูกออกแบบมาให้สามารถจัดระเบียบได้เพื่อให้สามารถหาของได้ง่ายขณะท่องเที่ยวและเก็บของได้เรียบร้อย

จุดเริ่มต้นของแบรนด์เริ่มจากการเป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี โดยชื่อ RIMOWA เป็นชื่อย่อของ Richard Morszeck ลูกชายของพอล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคนแรก ตามบันทึกในประวัติแบรนด์ที่ไม่มีการยืนยันแน่ชัดนั้นว่ากันว่าต่อมาในช่วงค.ศ. 1937 ธุรกิจพบกับวิกฤตครั้งใหญ่คือเกิดไฟไหม่ที่โรงงานทำกระเป๋า เมื่อวัสดุหลักที่ใช้เป็นไม้ ทุกอย่างก็หายไปพร้อมกับกองเพลิง เหลือเพียงโครงกระเป๋าจากอลูมิเนียม ทำให้ริชาร์ดและเหล่าวิศวกรของ RIMOWA เริ่มสังเกตเห็นความทนทานของอลูมิเนียมนับตั้งแต่นั้น

2. มีแรงบันดาลใจในการใช้วัสดุอลูมิเนียมจากเครื่องบินแอร์คราฟต์

หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดูราลูมิน โลหะผสมหรืออลูมิเนียมอัลลอยที่ทนทานและมีน้ำหนักเบาภายนอกเมืองโคโลญก็เริ่มมีการนำวัสดุนี้มาใช้ในการผลิตเครื่องบินแอร์คราฟต์ที่เยอรมนีอย่างแพร่หลาย และเครื่องบินในยุคนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจต้นแบบให้ RIMOWA เริ่มนำอลูมิเนียมมาผสมในวัสดุสำหรับผลิตกระเป๋าตั้งแต่ ค.ศ. 1927 และพัฒนาเรื่อยมาจนในที่สุดก็ผลิตกระเป๋ารุ่นไอคอนิกจากอลูมิเนียมทั้งหมดสำเร็จ

เครื่องบินในตำนานลำที่เป็นแรงบันดาลใจของ RIMOWA คือรุ่น Junkers F 13 ซึ่งเป็นเครื่องบินแอร์คราฟต์ลำแรกของโลกที่ทำจากโลหะทั้งลำ ประดิษฐ์โดยวิศวกรชื่อ Hugo Junkers ใน ค.ศ. 1919 โดยดีไซน์ของเครื่องบินมีผิวสัมผัสแบบ Groove เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านพื้นผิวได้สะดวกเวลาเดินทาง นับว่าวิศวกรของ RIMOWA เป็นแบรนด์แรกที่นำดีไซน์ Groove ไปจนถึงวัสดุอลูมิเนียมน้ำหนักเบาของเครื่องบินมาใช้กับการออกแบบกระเป๋าเดินทาง จนทุกวันนี้ลาย Groove กลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ที่กระเป๋าหลายแบรนด์นำไปใช้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งราวครึ่งหนึ่งในยอดขายทั้งหมดของ RIMOWA ในทุกวันนี้ก็ยังคงมาจากกระเป๋าเดินทางอลูมิเนียมอีกด้วย

นอกจากนี้การใช้วัสดุอลูมิเนียมยังทำให้ RIMOWA ขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มีความทนทานอย่างมาก แม้เมื่อกาลเวลาผ่านไป กระเป๋าจะเริ่มมีรอยบุ๋มและขีดข่วน แต่องค์ประกอบเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระเป๋าที่เล่าเรื่องราวการเดินทางอันยาวไกลเหมือนเครื่องบินแอร์คราฟต์ ที่มีรอยขีดข่วนจากการบินมาหลายน่านฟ้าซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทนทานแข็งแกร่งและคุณภาพที่ไว้ใจได้

3. พัฒนาฟังก์ชั่นให้พร้อมลุยท่องโลกกับกระเป๋าได้ ทั้งกันน้ำได้ ไปขั้วโลกได้ แถมล้อหมุนได้ 360 องศา

RIMOWA ยังเป็นผู้นำการพัฒนาฟังก์ชั่นของกระเป๋าเดินทางหลายอย่าง โดยรุ่น Tropicana Case ใน ค.ศ. 1976 เป็นกระเป๋ากันน้ำรุ่นแรกที่ออกแบบมาสำหรับช่างภาพและทีมถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปทำงานในที่อากาศหนาวเย็นหรือมีความชื้นและต้องขนอุปกรณ์การถ่ายทำไปมากมาย โดยกระเป๋ารุ่นนี้จะมีคุณสมบัติทนทานและปกป้องของที่ใส่ข้างในได้เป็นพิเศษไม่ว่าจะบุกเข้าป่าหรือท่องขั้วโลกจึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ช่างภาพ

การออกแบบฟังก์ชั่นเฉพาะที่จับลูกค้าเฉพาะกลุ่มยังถือเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของ RIMOWA ที่ผ่านมาแบรนด์ยังเคยออกแบบกระเป๋าสำหรับให้นักไวโอลินใส่เครื่องดนตรีโดยเฉพาะ ไปจนถึงกระเป๋าสำหรับใส่ขวดไวน์สำหรับ sommelier (ผู้แนะนำไวน์) ด้วยความตั้งใจอยากให้ลูกค้าได้พกพาของมีค่าระหว่างเดินทางแบบไร้กังวลว่าของจะเสียหาย

นอกจากนี้ RIMOWA ยังถือเป็นแบรนด์แรกที่นำโพลีคาร์บอเนต พลาสติกคุณภาพสูงที่มีน้ำหนักเบากว่ากระเป๋าเดินทางรุ่นก่อนและทนทานในหลายสภาพอากาศมาใช้ผลิตกระเป๋า และตลอดศตวรรษที่ 20 แบรนด์ยังบุกเบิกการยกระดับนวัตกรรมในการผลิตกระเป๋าอย่างต่อเนื่องมากมาย ตัวอย่างเช่น การจดสิทธิบัตรระบบ multiwheel หรือล้อรถที่หมุนได้ 360 องศาในปี 2001 และร่วมมือกับสายการบินลุฟต์ฮันซาของเยอรมนีเพื่อพัฒนาแถบชิปอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินกระเป๋าเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่นได้เพื่อลดขั้นตอนการต่อคิวติดสติ๊กเกอร์บนกระเป๋าที่เคาน์เตอร์

4. เป็นแบรนด์กระเป๋าเดินทางลักชูรีที่เคยคอลแล็บกับ Supreme, Off-White และแบรนด์ไฮเอนด์นับไม่ถ้วน

ในปี 2016 เครือ LVMH ที่ประกอบด้วยแบรนด์ลักชูรีระดับโลกมากมายอย่าง Louis Vuitton, Celine, Christian Dior, Givenchy, Fendi ได้ซื้อหุ้นของ RIMOWA ถึง 80% หรือเทียบเป็นเงินมูลค่าราว 705.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผู้ที่รับตำแหน่ง CEO คือ Alexandre Arnault ที่มีอายุเพียงยี่สิบปลายในช่วงที่เริ่มต้นดูแล RIMOWA

การย้ายเข้ามาอยู่ในเครือ LVMH ทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ทั้งสามารถชักชวนเหล่านักกีฬาชื่อดัง เช่น Roger Federer, LeBron James มาปรากฏในแคมเปญโฆษณาของแบรนด์และยังคอลแล็บกับแบรนด์ไฮสตรีทมากขึ้นหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Supreme, Fendi, Dior ฯลฯ

การคอลแล็บครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของแบรนด์คือคอลเลกชั่นที่ทำร่วมกับ Supreme ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ช่วงปี 2017-2018 ด้วยทั้ง RIMOWA และ Supreme เป็นแบรนด์มีชื่อเสียงที่เปิดตัวสินค้าอะไรก็ป๊อปทั้งคู่ ทำให้คอลเลกชั่น RIMOWA Topas Multiwheel รุ่นสีแดงและดำที่นำโลโก้ Supreme มาไว้บนกระเป๋าขายหมดภายในเวลาไม่กี่นาทีด้วยราคาขายปลีกที่สูงลิบลิ่วในยุคนั้น โดยช่วงราคาอยู่ระหว่าง 1,600-1,800 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคากระเป๋าทั่วไปของ RIMOWA ที่มีราคาตั้งแต่ 1,070-1,340 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในปัจจุบันกระเป๋ารุ่นนี้มีการขายต่อในราคาที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ

อีกหนึ่งคอลแล็บกับแบรนด์สตรีทแวร์ชื่อดังคือคอลเลกชั่นที่ทำร่วมกับ Off-White ของ Virgil Abloh ในปี 2018 โดยนำเอกลักษณ์ของแบรนด์ Off-White เช่น ลายลูกศรและลายทาง สายรัดสีเหลือง มาอยู่บนกระเป๋าและออกแบบกิมมิกให้เป็นกระเป๋าเดินทางแบบโปร่งใสที่มองเห็นสัมภาระข้างใน โดยเปรียบกระเป๋าเป็นงานอาร์ตที่จัดแสดงข้าวของที่ใส่ข้างในกระเป๋า

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นของการคอลแล็บและคอลเลกชั่นเหล่านี้ก็เจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่ม Hypebeast หรือผู้ที่หลงใหลในป๊อปคัลเจอร์ที่นิยมซื้อสินค้าแฟชั่นในราคาสูงและกระเป๋าเดินทางแบรนด์ RIMOWA ก็กลายเป็นไอเทมแฟชั่นและ status symbol ของเหล่าคนรักแฟชั่นผู้อยากส่งเสริมสไตล์ของตัวเองให้มีลุคสุดคูล

5. ไม่ได้ขายแค่กระเป๋าเดินทางแต่เพิ่มหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันตามการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่

นอกจากการคอลแล็บแล้ว LVMH ยังเปลี่ยนทิศทางจากที่ RIMOWA เป็นแบรนด์สินค้าสำหรับนักเดินทางล้วน ไปเป็นแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับการเดินทางในชีวิตประจำวันทุกรูปแบบมากขึ้น นั่นหมายถึงการขยายไลน์สินค้าเป็น personal bag หรือกระเป๋าสำหรับใช้ส่วนตัว เช่น เคสใส่นาฬิกา เคสโทรศัพท์ไอโฟน คอลเลกชั่นแว่นกันแดด ไปจนถึง soft product อย่างเป้แบ็กแพ็กสะพายหลังและกระเป๋าเดินทางสำหรับสุดสัปดาห์ที่สามารถใช้ได้ทุกวันในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ในโอกาสเดินทางไกล

การเปลี่ยนทิศทางนี้เป็นเพราะแบรนด์มองว่าทุกวันนี้แทบจะไม่เห็นใครถือแค่กระเป๋าเดินทางอย่างเดียวในสนามบินอีกต่อไป ผู้คนมักถือกระเป๋าถือหรือเป้สะพายหลังใบเล็กขึ้นเครื่องด้วย และการเดินทางในทุกวันนี้ก็มีหลายรูปแบบมากขึ้นนอกเหนือจากการเดินทางไกล ทั้งการเดินทางไปทำงาน ไปเที่ยว ไปเยี่ยมเพื่อนฝูงและครอบครัว

อเล็กซองดร์ อาร์โนลต์ ผู้เป็น CEO หนุ่มได้เคยกล่าวไว้ว่าถึงแม้ RIMOWA จะเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงแต่เมื่ออยู่ภายใต้ LVMH ก็มีหลายส่ิงในภาคธุรกิจที่ต้องทรานส์ฟอร์มใหม่แทบจะทั้งหมด จากแต่ก่อนที่แบรนด์ขายหนักไปทาง B2B ค่อนข้างมากก็ปรับการขายเข้าหากลุ่มลูกค้าที่เด็กลง สร้างสรรค์สินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและขายในช่องทางรีเทลอย่าง specialty store ที่มีความเอกซ์คลูซีฟมากขึ้น

แต่ไม่ว่าจะขยายไลน์สินค้าหรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ RIMOWA แทบไม่แตะเลยคือกระบวนผลิตในโรงงานที่สืบทอดมาหลักศตวรรษ โดยในบรรดาหมวดหมู่สินค้าที่มีเพิ่มขึ้นมากมายจะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างลาย Groove ก็ยังคงความโดดเด่นนี้ไว้ในหลายคอลเลกชั่นหลักของแบรนด์

6. สร้าง personality และเรื่องราวให้กระเป๋า

สำหรับแบรนด์ RIMOWA มีคำกล่าวที่วิศวกรและ craftsman ผู้ทำกระเป๋าของแบรนด์มักพูดกันคือ ‘aluminium has Persönlichkeit’ โดยคำว่า Persönlichkeit เป็นภาษาเยอรมันที่แปลว่า personality นั่นเอง ความหมายคือยิ่งใช้กระเป๋าอลูมิเนียมไปนานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเรื่องราวมากขึ้นและกระเป๋านั้นจะสะท้อนตัวตนของเจ้าของและกลายเป็นบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวคู่ใจตลอดเส้นทางการเดินทาง

คำกล่าวนี้ไม่ใช่เพียงคำกล่าวลอยๆ เพราะกระเป๋าแต่ละใบของ RIMOWA สามารถสั่งซื้อแบบ customize ตามความชอบส่วนตัวของแต่ละคนได้ ทั้งสามารถเลือกสีล้อและสีของที่ถือกระเป๋า สั่งทำป้ายกระเป๋าเป็นสีและชื่อของตัวเองหรือคำที่อยากใส่ได้ ไปจนถึงมีหมวดสติ๊กเกอร์รูปเมืองต่างๆ ขายสำหรับติดสะสมว่าเคยเดินทางไปที่ไหนมาแล้วบ้าง ซึ่งแบรนด์บอกว่าการติดสติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นการเพิ่ม personal touch ที่ใส่เรื่องราวของผู้เดินทางทำให้กระเป๋าแต่ละใบไม่เหมือนกันเลย

ทั้งนี้หากใครที่ใช้กระเป๋ามาเนิ่นนานแล้วอยากซ่อมหรืออยากขาย ทางแบรนด์ก็มีโครงการชื่อ Re-Crafted ซึ่งมีทางเลือกคือสามารถนำกระเป๋า RIMOWA ที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักมาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์ซ่อมแซมให้เหมือนใหม่ได้ หรือหากกระเป๋าใบโปรดกลายเป็น pre-loved ที่อยากขายต่อก็สามารถเอากลับมาขายที่ร้านของ RIMOWA เพื่อรับ voucher ส่วนลดสำหรับซื้อกระเป๋าของแบรนด์ใบใหม่ได้เช่นกัน

พิเศษกว่านั้นคือในเว็บไซต์ของแบรนด์ระบุไว้ว่ามี lifetime guarantee สำหรับทุกคนที่ซื้อกระเป๋าเดินทาง RIMOWA ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2022 เป็นต้นไปซึ่งครอบคลุมการซ่อมแซมฟังก์ชั่นในทุกส่วนของกระเป๋า ซึ่งการที่แบรนด์หนึ่งจะการันตีขนาดนี้ได้แปลว่าต้องมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ผลิตมากๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผู้คนถึงรู้สึกคุ้มค่าที่จะลงทุนในการซื้อกระเป๋าเดินทางคุณภาพดีแบบ RIMOWA

ภาพ :

อ้างอิง :

กลยุทธ์โกอินเตอร์ของโรงแรมไทย ‘เซ็นทารา’ และ ‘ดุสิตธานี’ ทำอย่างไรถึงเติบโตไกลในต่างประเทศ

ปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเห็นข่าวธุรกิจโรงแรมไทยเจ้าใหญ่เปิดตัวในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้ง Centara Grand Hotel Osaka โรงแรมแห่งแรกของเซ็นทาราในญี่ปุ่น, Asai kyoto shijo ที่ย่านชิโจคาราสุมะ และ Dusit Thani Kyoto สองโรงแรมในเครือดุสิตธานีที่บุกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเช่นกัน

นอกจากประเทศยอดฮิตอย่างญี่ปุ่นแล้ว เครือโรงแรมชั้นนำของประเทศไทยเหล่านี้ยังมีแผนขยายไปต่างประเทศอย่างจริงจังในอีกหลายประเทศ และกำลังกลายเป็นธุรกิจที่สร้างอาณาจักรในเครืออย่างใหญ่โต ซึ่งเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักโรงแรมชั้นนำเหล่านี้อยู่แล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าปัจจุบันโรงแรมไทยขยายไปไกลแค่ไหนบ้างแล้วและมีแผนธุรกิจเบื้องหลังอย่างไร

เพื่อให้เห็นภาพว่าธุรกิจไทยเหล่านี้มีขนาดใหญ่แค่ไหนและทำไมถึงอยากขยายไปต่างประเทศ เราจึงขอยกตัวอย่างวิสัยทัศน์และแนวทางการขยายธุรกิจของสองเครือดังอย่างเซ็นทาราและดุสิตธานีมาให้ฟังกัน 

สำหรับเครือเซ็นทารานั้นมีเป้าหมายของธุรกิจว่าอยากก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน พ.ศ. 2570 และเป็นแบรนด์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกประทับใจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีการขยายธุรกิจเพื่อมุ่งเติบโตในต่างประเทศ ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ตที่อยู่ภายใต้การบริหารและลงทุนกว่า 90 แห่ง ใน 14 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา มัลดีฟส์ จีน กาตาร์ โอมาน สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี ญี่ปุ่น และพม่า โดยใน พ.ศ. 2567 โรงแรมเซ็นทารามีแผนจะขยายเพิ่มไปยัง สปป.ลาว และ มัลดีฟส์อีกแห่ง

ส่วนเครือดุสิตธานีก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ทุกวันนี้ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลบริหารโรงแรม รีสอร์ต และวิลล่าให้เช่ารวมกว่า 270 แห่ง 14 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง และแอฟริกา เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ภูฏาน อียิปต์ บาห์เรน มัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา โดยกำลังเตรียมการโรงแรมเปิดใหม่อีกกว่า 60 แห่ง ซึ่งคาดว่าโรงแรมเหล่านี้จะทยอยเปิดใหม่ได้อย่างรวดเร็วถึงปีละ 10-12 แห่ง เป้าหมายสำคัญของการขยายคือการสร้างโรงแรมหลากหลายแบบที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกระดับ ทุกสไตล์ ให้ครบวงจรมากขึ้น

หากเจาะกลยุทธ์การขยายไปต่างประเทศของโรงแรมเหล่านี้ไม่ว่าเครือไหนจะพบว่ามีส่วนที่คล้ายกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปั้นธุรกิจโรงแรมให้โกอินเตอร์ได้อย่างราบรื่นดังนี้

1. The Right Segmenting and Positioning : การแบ่งกลุ่มลูกค้าและเลือกตำแหน่งทางการตลาดของโรงแรมที่ชัด

ทั้งเซ็นทาราและดุสิตธานีไม่ได้เปิดโรงแรมในนามเแบรนด์เดียว ทั้งสองบริษัทต่างแบ่งแบรนด์ย่อยออกเป็นหลายแบรนด์ตามกลุ่มลูกค้าเพื่อสร้างคอนเซปต์ของโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

เช่น เครือเซ็นทาราประกอบด้วย 6 แบรนด์ ได้แก่ Centara Reserve, Centara Grand, Centara, Centara Boutique Collection, Centara Life และ COSI ส่วนดุสิตธานีจะประกอบด้วย Dusit Devarana, Dusit Thani Hotel & Resort, DusitD2, Dusit Princess, Asai Hotel, Elite Havens, Dusit Collection, Dusit Suites Hotels and Residences

โดยหลักแล้วการแบ่งออกเป็นหลายแบรนด์ดังกล่าวจะมีเกณฑ์ในการแบ่งหลากหลาย เช่น ระดับของโรงแรมตั้งแต่โรงแรมหรูระดับห้าดาวจนถึงรีสอร์ตในราคาที่จับต้องได้, แบ่งตามกลุ่มลูกค้าที่มีทั้งกลุ่มครอบครัว คู่รัก วัยทำงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีจุดประสงค์ในการเข้าพักต่างกันออกไปซึ่งจะส่งผลต่อคอนเซปต์ของโรงแรม หากเป็นแบรนด์ที่จับกลุ่มคนทำงานก็จะมีห้องสัมมนาหรือห้องทำกิจกรรมต่างๆ หรือหากเป็นโรงแรมบูทีกก็จะเน้นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและมีเอกลักษณ์ตามแต่ละโลเคชั่น

2. Prime Location : เลือกเมืองและย่านที่เป็นทำเลทอง

โลเคชั่นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับการสร้างโรงแรม โดยส่วนใหญ่ธุรกิจมักเลือกเมืองที่เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ ในการขยายธุรกิจ จุดบ่งชี้ทำเลทองอื่นๆ คืออยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังหรืออยู่ในย่านที่คึกคักและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ใช้เวลาเดินทางสะดวก เดินทางไปสนามบินได้ง่าย เดินทางได้หลายรูปแบบ มีร้านค้าและร้านอาหารหนาแน่น เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าประเทศยอดฮิตอย่างมัลดีฟส์มีทั้งโรงแรมของเซ็นทาราและดุสิตธานีอยู่ที่นั่นและเฉพาะในมัลดีฟส์ก็มีโรงแรมไทยในเครือเดียวกันหลายแห่ง เช่น เซ็นทาราที่กำลังเตรียมสร้างโรงแรมที่มัลดีฟส์อีก 2 ที่ซึ่งจะเปิดใน พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 และวางกลยุทธ์ให้แต่ละแห่งมีสไตล์ที่แตกต่างกันเพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย

ทั้งนี้บางประเทศที่เลือกขยายไปอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่คนไทยส่วนใหญ่นึกถึงเป็นที่แรกหรือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คนแน่นที่สุด แต่เมื่อองค์ประกอบของโลเคชั่นเหมาะสมครบถ้วนและเมืองมีเอกลักษณ์ก็กลายเป็นโลเคชั่นที่น่าสนใจจนตัดสินใจขยายไป เช่น ประเทศแรกในยุโรปที่ดุสิตธานีตัดสินใจขยายโรงแรมไปคือเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซที่โอบล้อมไปด้วยชายฝั่งของเอเธนส์ ทะเลสีคราม แหล่งช้อปปิ้ง ท่าเรือ ร้านค้า ทะเลสาบ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ

3. Cultural Brand Identiy : สร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านองค์ประกอบต่างๆ ของโรงแรม

โรงแรมไทยสามารถชูความแตกต่างได้ด้วยการนำเสนอตัวตนแบรนด์ผ่านเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปจนถึงผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ให้กลายเป็นความแตกต่างเฉพาะ ซึ่งองค์ประกอบของธุรกิจบริการอย่างโรงแรมที่สามารถใส่ตัวตนแบรนด์เข้าไปได้มีตั้งแต่การออกแบบสถานที่ อาหาร ไปจนถึงบริการ

ตัวอย่างคือโรงแรมในเครือดุสิตธานี 2 แห่งในเกียวโตที่ออกแบบองค์ประกอบในโรงแรมให้มีจุดเด่นทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในขณะที่ ASAI Kyoto Shijo จะเน้นชูการมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการออกแบบประสบการณ์ในโรงแรมร่วมกับท้องถิ่น ทั้งเวิร์กช็อปร่วมกับชุมชนและออกแบบบรรยากาศการตกแต่งภายในให้มีความเป็นกันเองแบบสบายๆ Dusit Thani Kyoto ที่อยู่ในเมืองเดียวกันเลือกชูจุดเด่นอีกแบบด้วยการเล่ามรดกทางวัฒนธรรมผ่านการตกแต่งภายในอย่างหรูหราที่ผสานอัตลักษณ์ของเกียวโตที่ญี่ปุ่นและอยุธยาในไทยซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ทั้งคู่ไว้ด้วยกัน และยังมีไฮไลต์อย่าง ห้องอาหาร Ayatana (อายะตานะ) แบบ fine dining ที่เสิร์ฟอาหารวัตถุดิบญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทยและรสชาติแบบไทยๆ เป็นต้น 

และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดที่ทำให้ชื่อแบรนด์ของโรงแรมแข็งแรงเมื่อขยายไปต่างประเทศคือการรักษามาตรฐานและคุณภาพการบริการให้เทียบเท่าโรงแรมต้นแบบซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีฐานลูกค้าแข็งแรงจนมีชื่อเสียง ระดับอินเตอร์ได้ในระยะยาว 

อ้างอิง

ส่องความสำเร็จของ NETA รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีน ที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกค้าคนไทย

ถ้าสังเกตบนท้องถนนทุกวันนี้ เราจะเห็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV ออกมาโลดแล่นบนถนนกันมากขึ้น ถึงขนาดที่ในปี 2566 ยอดจดทะเบียนกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ประเภทรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีจำนานถึง 76,314 คัน ในขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 9,729 คันเท่านั้น จึงเรียกได้ว่าตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยนั้นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ซึ่งไม่เพียงแต่ความต้องการของผู้บริโภคที่อยากจับจองเป็นเจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพราะเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อโลกและเป็นมิตรต่อเงินในกระเป๋า ในวันที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีหลายแบรนด์ที่เข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดนี้ ‘NETA‘ คือหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% จากประเทศจีน ที่เติบโตในไทยอย่างก้าวกระโดด ด้วยจุดเด่นของการเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในราคาที่คนไทยสามารถเป็นเจ้าของได้

ถ้านับตั้งแต่ NETA ได้บุกตลาดประเทศไทยในปี 2565 ในนามบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากมิตรรักนักขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย สังเกตได้จากในปีที่ผ่านมา NETA สามารถครองตําแหน่งอันดับ 2 ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่สูงถึง 17% และมีฐานลูกค้ามากกว่า 15,000 รายทั่วประเทศ

ซึ่งถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ NETA ก็เป็นแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องในจีนอยู่แล้ว ถึงขนาดในปี 2564 ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เติบโตสูงสุดในกลุ่มบริษัทรถยนต์เกิดใหม่ และในปี 2566 ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มียอดการจำหน่ายในต่างประเทศสูงสุดในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพในจีน โดยปัจจุบัน NETA มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำตลาดรวม 6 รุ่น ได้แก่ NETA U, NETA V, NETA AYA หรือ NETA V-II, NETA S, NETA GT และ NETA X โดยมียอดจำหน่ายทั่วโลกรวมกว่า 400,000 คัน

ไม่เพียงแต่ NETA ได้เข้ามาจัดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยเท่านั้น แต่ยังได้ขยายฐานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาที่ไทยอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และได้เปิดตัวรถรุ่นแรกที่ผลิตในไทยคือ NETA V -II รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% สไตล์ City Car มาต่อยอดความสำเร็จของรุ่นพี่อย่าง NETA V ที่มาพร้อมแนวคิด Touchable Smart EV ด้วยการใช้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อให้คนไทยได้จับจองเป็นเจ้าของในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย โดย NETA V-II มี 2 รุ่นให้เลือก ได้แก่ รุ่น LITE ราคาคาดการณ์จำหน่าย 549,000 บาท และ รุ่น SMART ราคาคาดการณ์ 569,000 บาท

ล่าสุดในในงาน Motor Show ปีนี้ ยังเปิดรับจอง NETA X ที่มีแผนจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ของปีนี้

นอกจากนี้ NETA ยังตั้งเป้าว่าจะส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ลูกค้าคนไทยภายในปี 2567 ให้ได้ 30,000 คัน

ด้วยผลิตภัณฑ์ NETA มีและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว ประกอบกับเครือข่ายผู้จำหน่ายที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และฐานลูกค้าที่มั่นคงในประเทศไทย เป้าหมายนั้นคงไม่ใช่เรื่องไกลเกิน

ซึ่งการมาถึงของ NETA นับตั้งแต่มาตั้งฐานการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ย่อมสร้างความน่าสนใจให้วงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก และเป็นที่น่าจับตามองต่อว่าในอนาคตในฐานะผู้บริโภคจะได้เห็นรถเจ๋งๆ อะไรออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอีกบ้าง

เมื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ อ้างกรมที่ดินหลอกดูดเงินผู้ประกาศข่าวช่อง 3 กว่า 1 ล้านบาท

การปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์เพื่อดูดเงินออกจากบัญชีเหยื่อ สร้างความเสียหายมหาศาล นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความจากกรมที่ดินปลอมรวมกว่า 3,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท เพราะแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกอย่างแนบเนียนด้วยการปลอมตัวเป็นหน่วยงานรัฐ และคนที่เป็นเหยื่อก็มีหลายสาขาอาชีพ

กรณีล่าสุดที่สังคมให้ความตระหนักถึงความแนบเนียนของแก๊งคอลเซนเตอร์คือ กรณีของประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ก็ตกเป็นผู้เสียหายเช่นกัน

โดยมิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ติดต่อเข้ามาเพื่ออัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องเสียภาษีที่ดินพอดี และประจวบเหมาะกับที่ตัวผู้เสียหายเองก็ไม่มีเวลาไปจัดการเรื่องดังกล่าว จึงต้องการอัพเดตออนไลน์ ปรากฏว่าผู้เสียหายถูกหลอกให้ติดตั้งแอพฯ 

และถูกดูดเงินจากบัญชีรวมกว่า 1 ล้านบาท

มิจฉาชีพสามารถบอกข้อมูลได้หมด

“วันนึงเราได้รับสายโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่โทรมาบอกให้เราอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งตอนนั้นพี่อยู่บ้านและอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์พอดี เลยถามกลับไปว่าสามารถอัพเดตในคอมพ์ได้ไหม อีกฝั่งก็บอกว่าไม่ได้ ต้องทำผ่านแอพฯ เท่านั้น จึงให้เราแอดไลน์เพื่อคุยกับเจ้าหน้าที่และโหลดแอพฯ ผ่านลิงก์ที่ส่งให้ หลังจากตรวจมาแล้วเราก็เช็กว่าภาพในแอพฯ กับเว็บไซต์กรมที่ดินตรงกัน หน้าตาเหมือนกัน และข้อมูลที่ปลายสายบอกก็ตรงกับที่ดินของเราจริงๆ

“จากนั้นปลายสายบอกให้เราตั้งรหัสด้วยเลขที่จำง่ายๆ ในบางช่วงก็มี process ที่เราต้องสแกนใบหน้าเพื่อยันตัวตน และยืนว่าเราเป็นเจ้าของที่ดินนั้นจริงๆ ซึ่งในระหว่างติดตั้งแอพฯ เราก็คุยกับมิจฉาชีพไปด้วย

“จุดที่ทำให้เราเชื่อมากๆ คือ เขาถามว่าเรามีโฉนดอยู่กับตัวหรือเปล่า แล้วให้เช็กเลขในโฉนดว่าถูกต้องตรงกันไหม ซึ่งข้อมูลที่เขามีก็ตรงกับเรา สุดท้ายเราก็คุยกับมิจฉาชีพประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างการพูดคุยเราไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ เพราะต้องรอให้ทุกอย่างติดตั้งเสร็จก่อน จริงๆ แล้วมิจฉาชีพจะใช้เวลานี้ในการเข้าถึงแอพฯ ธนาคารทั้งหมด”

ที่น่าตกใจคือ มิจฉาชีพสามารถบอกข้อมูลได้หมดไม่ว่าเป็นเลขโฉนดที่ดิน หน้าระวาง หน้าสำรวจ เลขที่ดิน รวมถึงเนื้อที่ของที่ดินทั้งหมด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมาจากแอพฯ LandsMaps ของกรมที่ดิน ที่เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพฯ เพื่อตรวจสอบตำแหน่ง ภาพแปลนที่ดิน โดยระบุเลขที่โฉนดไว้ชัดเจน ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมดโดยง่าย 

และในเวลาเดียวกันผู้เสียหายได้ขอชื่อ-นามสกุลเจ้าหน้าที่ และค้นหาในอินเทอร์เน็ตพบว่ามีตัวตนจริง เป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินในจังหวัดภูเก็ต แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ทั้งนี้เมื่อดาวน์โหลดแอพฯ กรมที่ดินปลอมจะเข้าควบคุมโทรศัพท์ทันที จากนั้นจะมีข้อความว่า “ระหว่างทำการตรวจสอบห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ” ในระหว่างนั้นมิจฉาชีพจะดูดเงินผู้เสียหายจนหมดบัญชี 

เราอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยที่เราก็รู้เล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพ

“หลังจากคุยประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ จึงรีบวางสายทันที และพบว่าแอพฯ ธนาคารทั้งหมดในเครื่องเด้งออกมาอยู่นอกโฟลเดอร์ที่เก็บไว้ เมื่อเช็กยอดเงินในแต่ละธนาคารพบว่ามิจฉาชีพดูดเงินออกไปแล้ว เมื่อดูไทม์ไลน์ของการถอนเงินพบว่าตั้งแต่ 10 นาทีแรกที่คุยเงินก็ถูกดูดไปแล้ว 1 ธนาคาร และ 10 นาทีต่อมาก็อีกหนึ่งธนาคาร ในกรณีของพี่จะมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นวงเงินบัตรเครดิตที่ผูกกับบัญชีธนาคาร และส่วนที่เป็นเงินฝาก มิจฉาชีพจะถอนเงินจากบัตรเครดิตและนำเงินไปฝากเข้าบัญชีเรา และถอนออกมาทั้งหมด พี่เจอแบบนี้ 2 ธนาคาร ทำให้ความเสียหายค่อนข้างเยอะ”

สำหรับความเสียหายทั้งหมดแบ่งเป็นธนาคารกรุงไทย 155,000 บาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต ยอด 49,999 บาท 4 ครั้ง รวมประมาณ 200,000 บาท และธนาคารกสิกรไทย เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาทั้งหมด 625,000 บาท รวมถึงมีถอนเงินฝากอีก 50,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 1,020,000 บาท

“หลังเกิดเรื่องทั้งหมดยอมรับเลยว่าช็อกจริงๆ ตัวเราเองที่อ่านข่าว รายงานข่าวเรื่องของมิจฉาชีพ คอลเซนเตอร์มาตลอด เราก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อจริงๆ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพมีวิธีการที่แยบยล ตอนนั้นเราไม่มีสติ หรือไม่เอ๊ะมากพอจนทำให้เราเชื่อ” 

ความเสียหายเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ทำให้เราตระหนักได้ว่าการปรับตัวของแก๊งคอลเซนเตอร์กลายเป็นภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว เราอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยที่เราก็รู้เล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพมาไม่น้อย หากมองอย่างคนทั่วไป การได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถบอกข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของเราได้อย่างชัดเจนและถูกต้องทั้งหมด ก็คงคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินตามที่กล่าวอ้างมาจริงๆ 

จากการติดตามของตำรวจ เคสของประวีณมัยถือเป็นเคสที่มีมูลค่าความเสียหายสูง ทางตำรวจจึงมอบหมายให้ตำรวจไซเบอร์เป็นผู้ดูแลคดี ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ก็มีการอัพเดตความคืบหน้ากันอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้จับบัญชีม้าที่อยู่นอกประเทศได้ 6 คน ซึ่ง 5 ใน 6 คนรับสารภาพว่าก่อเหตุจริงในรูปแบบของการเปิดบัญชีม้าเพื่อหลอกลวง ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

คำแนะนำสำหรับผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ

จากประสบการณ์สูญเงินครั้งนั้นทำให้ประวีณมัยเรียนรู้บทเรียนครั้งสำคัญและเดินสายให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการรับมือกับมิจฉาชีพ ไปจนถึงขั้นตอนการแจ้งความและการคุยกับตำรวจ

และต่อไปนี้คือคำแนะนำเบื้องต้นที่เธออยากแบ่งปัน–ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับมิจฉาชีพรูปแบบใด

“อย่างแรกเลยคือ ต้องเอ๊ะไว้ก่อน เพราะมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ และเข้ามาอย่างแยบยล ทว่า สิ่งสำคัญคือการตั้งรหัส เพราะคนส่วนใหญ่จะใช้รหัสเดียวกันในทุกแอพฯ เพื่อความสะดวก และเลขชุดนี้มิจฉาชีพก็นำรหัสไปใช้กับแอพฯ อื่นๆ ได้ทันที

หรือในกรณีที่โดนหลอกแล้ว พยายามมีสติแล้วโทรหาธนาคารเพื่ออายัดบัญชีปลายทาง และนำ Case ID ไปแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป ผู้เสียหายสามารถปรึกษาธนาคารได้ว่ามีมาตรการเยียวยาหรือช่วยเหลือยังไง”

สำหรับเหตุการณ์นี้ คนที่อยู่กับข่าวตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกหลอก ปัจจุบันมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ และมิจฉาชีพที่มาในคราบของเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกรมที่ดินที่ปรากฏเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผู้คนต้องชำระภาษีที่ดิน อาคารชุด หรือการยืนยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากคุณได้รับสายจากกรมที่ดิน ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน เพราะทางกรมที่ดินไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรหาประชาชน

หากคุณเจอมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน ขอให้โทรแจ้งคอลเซนเตอร์กรมที่ดิน โทร. 02-141-5555 หรือแจ้งที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441

คุยกับ ‘ธี’ แห่ง Peace Oriental Teahouse ถึงการเอาตัวรอดท่ามกลางความเสี่ยงในธุรกิจอาหาร

“ผมไม่ได้คิดว่ามันเสี่ยง ย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิด Peace Oriental Teahouse ขึ้นมา ผมก็แค่คิดว่าผมกำลังสร้างแบรนด์รถสักแบรนด์นึงก่อน เป็นแบรนด์รถหรู แล้วก็ค่อยๆ แตกไลน์ธุรกิจอื่นๆ คล้ายกับการสร้างแบรนด์รถ Mercedes-Benz ตามมาด้วยการสร้าง Toyota ต่อ เพราะสำหรับผมเอง ผมคิดว่าการเริ่มสร้างแบรนด์รถจาก Toyota ให้ขึ้นมาเป็น Lexus มันไม่เวิร์ก และนี่ก็คือแนวคิดในการแตกไลน์ธุรกิจของผมมาตั้งแต่วันแรก”

จากแนวคิดนั้นคือจุดเริ่มต้นให้ ธี–ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาตะวันออกอย่าง Peace Oriental Teahouseเริ่มโฟกัสและเล็งเห็นถึงทิศทางของการขยับขยายธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหารของเขาออกมาได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ด้วยระยะเวลากว่า 8 ปีในตลาด F&B Peace Oriental Teahouse เติบโตจนสามารถขยับขยายโลเคชั่นได้ถึง 6 สาขาทั่วกรุงเทพฯ ก่อนในขวบปีที่ 8 และ 9 ธียังตัดสินใจปล่อยของด้วยการแตกแบรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ออกมา ชวนให้หลายคนได้ตามไปลิ้มลองกันอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องดื่ม ขนมเบเกอรีและอาหารอย่าง ‘手 qraft.’ ตลอดจนแบรนด์เครื่องดื่มสปีดบาร์น้องเล็ก ‘ミニ mini ’ แต่หากจะให้ย้อนไปตอบคำถามที่ว่า ‘แล้วความคิดริเริ่มของการทำธุรกิจแรกคืออะไร’ ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ธีเล่าให้ฟังว่าเขานั้นมีความคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งยังมีความคิดอย่างแน่วแน่ว่าธุรกิจที่เขาจะทำต้องเป็นธุรกิจเครื่องดื่มที่สามารถขายออนไลน์และบรรจุแพ็กเกจจิ้งเพื่อส่งไปต่างประเทศได้อีกด้วย

ในท้ายที่สุด Peace Oriental Teahouse ธุรกิจชาตะวันออกจึงถือกำเนิดขึ้นมาเป็นแบรนด์แรก 

จริงๆ แล้ว ชื่อแบรนด์หรือคำว่า ‘Peace’ เนี่ย มันอยู่ในหัวของผมมาโดยตลอดและผมเองก็ไม่เคยคิดจะใช้ชื่ออื่นเลย ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่มันมีแค่ชื่อเดียว อย่างแบรนด์ ‘qraft.’ ก็มีแค่ชื่อเดียวที่อยู่ในหัวมานานแล้ว มีแต่เจ้า ‘mini’ นี่แหละที่ผมตั้งขึ้นมาใหม่ แม้โมเดลธุรกิจของ mini  ในทุกวันนี้มันจะมาพร้อมๆ ชื่อของ qraft. ก็ตาม”

หากคุณเป็นคนช่างสังเกต คุณอาจจะพบว่าในแต่ละแบรนด์ของธีมักประกอบไปด้วยคำว่า ‘Oriental’ ตามท้ายมาด้วยอีกหนึ่งคำสำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างของธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น Peace Oriental Teahouse, qraft. oriental kitchen หรือแม้กระทั่ง mini.oriental speedbar 

สำหรับธีแล้วคำว่า ‘Oriental’ ถือเป็นคำที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเน้นย้ำถึงคอนเซปต์ของความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบที่จะสามารถอยู่ในวิถีชีวิตคนได้ในระยะยาวนั่นเอง

“ผมเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจชาในยุคบุกเบิกหลายๆ คนเขาก็คงเทสต์ ชิม ดื่มชามาเกือบทั้งหมดของตลาดแล้ว ในตอนที่ผมเลือกชามาขายในร้าน ตัวผมเองก็ชิมมาเยอะมาก กวาดมาทั้งตารางเลย เรียกว่าชิมมาหมดทั้งตลาดแล้วก็คงจะได้เหมือนกัน (หัวเราะ) แล้วสิ่งที่ผมตัดสินใจเลือกมาทั้งหมดนี่แหละ มันจึงถูกเรียกว่า ‘Oriental Tea’ ชาที่ถูกคัดสรรจากความแตกต่างหลากหลายและมีนัยสำคัญมากพอที่จะอยู่ในวิถีชีวิตของคนกลุ่มมากแบบระยะยาวได้จริง  ซึ่งพอคำนี้ มันถูกนำมารวมกับคำว่า ‘Peace’ แล้ว มันจึงกลายเป็นชื่อร้านอย่าง ‘Peace Oriental Teahouse’ แล้วเราใช้คำว่า ‘Oriental’ นี้ไปกับชื่อของอีกสองแบรนด์ภายใต้คอนเซปต์ของการคัดสรรที่เหมือนกัน”

ในเช้าวันธรรมดาเรานัดเจอกับธี ณ qraft. สาขาใหม่ล่าสุด หรือสาขาเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ สาทร ชั้น 55 เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของธุรกิจทั้งหมดของเขา รวมไปถึงการบริหารความกล้าได้กล้าเสี่ยงในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจชาตะวันออกเจ้าแรกๆ ในไทย สู่ความท้าทายของตลาดธุรกิจเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยคู่แข่งหน้าใหม่และการแตกไลน์ธุรกิจอาหารที่ธีเองก็ไม่เคยทำมาก่อน

ในการทำธุรกิจ คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนกล้าเสี่ยง หรือชอบเพลย์เซฟมากกว่ากัน

ผมว่าผมเป็นคนกล้ามากกว่าครับ และผมคิดว่าสำหรับคนกล้าแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่ผมคิดว่าเสี่ยงนะ ขณะเดียวกันคนอื่นๆ ก็อาจจะ identify ผมว่าเป็นคนชอบเสี่ยงมากกว่าเพลย์เซฟแหละ

คุณเริ่มทำธุรกิจแรกเป็นของตัวเองตอนอายุเท่าไหร่

ผมเริ่มทำธุรกิจแรกตอนอายุ 29 โดยเริ่มจากการออกไปเที่ยว 

ต้องเท้าความก่อนว่า ในช่วงก่อนที่ผมจะตัดสินใจไปบวช ผมก็คิดที่อยากจะทำธุรกิจเครื่องดื่มเป็นของตัวเอง ในหัวเนี่ยไม่เคยมีชื่อของธุรกิจอื่นๆ ขึ้นมาเลย มีแต่ธุรกิจเครื่องดื่มจริงๆ  อย่างตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาผมก็คิดจะทำแต่ธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพร (หัวเราะ) กับนมมะพร้าว เพราะสมัยที่ผมเรียน น้ำมะพร้าวมันดังที่นู่น ก็คิดว่าจะทำ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ทำอยู่ดี

เอาจริงๆ พอผมกลับมายังประเทศไทย ผมก็ยังมีความคิดอยากทำเครื่องดื่มสมุนไพรอยู่ดี แต่กลายมาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรจำพวกที่สามารถหาได้ในไทย โดยรูปแบบการขายของผมก็กะจะทำขายแบบบรรจุใส่แพกเกจจิ้งเพื่อส่งออกเลย แล้วก็ไม่ได้ทำอีก เพราะผมดันใช้เวลาง่วนอยู่กับการหาเพื่อนร่วมหุ้นด้วย 

ถึงจุดไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องเริ่มทำธุรกิจเสียที

ก็ในช่วงระยะเวลาที่ว่างไป ช่วงเวลาก่อนอายุ 29 ปีที่ว่า ผมก็มีโอกาสได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการทำงานในสตาร์ทอัพที่นึงด้วย พอทุกๆ ประสบการณ์มันผสมปนเปกัน ความรู้สึกอยากทำธุรกิจของตัวเองมันก็กลับมาอีก แต่ก่อนที่ผมจะเริ่มทำธุรกิจขึ้นมาจริงๆ ผมก็ต้องมานั่งคิดกับประโยคที่ว่า ‘ถ้าเราเลือกทำธุรกิจ เวลาในชีวิตเราจะหายไปเลยเกือบครึ่งชีวิตนะ หรืออย่างน้อยๆ ก็อาจจะรู้ตัวอีกที ตอนเวลามันใกล้จะหมดแล้ว’ พอคิดได้แบบนี้ คำถามต่อมาที่ผุดขึ้นมาในหัวผมเลยคือ ‘ถ้าเวลามันจะหายไปเลย เราอยากจะทำอะไรก่อน’ ผมก็เลยเลือกที่จะไปท่องเที่ยวก่อน

มองย้อนกลับไป อะไรที่ทำให้คุณอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับชา

ตอนเด็กๆ ผมไม่ได้ชอบชานะ แต่จะเรียกว่าเกลียดชาเลยก็ไม่เชิง เพราะผมคิดว่าชาเนี่ย ไม่ได้ถือว่ามีนัยสำคัญสำหรับชีวิตผมมากขนาดที่จะบอกว่าเกลียดมันแหละ แต่ก็คงเกลียดมันไม่รู้ตัวละมั้ง เพราะว่าเคยโดนบังคับให้ดื่ม (หัวเราะ) แต่เพราะการท่องเที่ยวนี่แหละที่ทำให้ผมได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ พร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการทำนมมะพร้าวและชา 

 จริงๆ ชาในตอนแรก เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะทำหรอก แต่วันหนึ่งผมเดินเข้าไปในหมู่บ้านถงมู่กวาน (Tong Mu Guan) ที่เป็นหมู่บ้านแห่งชาจินจวิ้นเหมย (Jin Jun Mei) ตั้งอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) ทั้งๆ ที่เขายังไม่รู้เลยว่าผมเป็นใคร แล้วทั้งๆ ที่หมู่บ้านนี้ เขาก็ไม่ได้ทำการค้าขาย เขาเป็นเพียงแค่หมู่บ้านที่ทำชา แต่ผมเดินเข้าไปในบ้าน เขาก็กวักมือเรียก พร้อมพูดว่า ‘มา มา มาดื่มชากัน’ คือชาวบ้านเขาชวนผมดื่มชาทันทีเลย มันก็เลยทำให้ผม เริ่มรักชา จากคนทำชาก่อน ประจวบกับเมื่อเราได้จิบชาเขาเข้าไปแล้ว มันทำให้ผมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ทำไมผมถึงไม่เคยสนใจจะดื่มชาพวกนี้เลย’ 

ดังนั้นธุรกิจชาของผมเนี่ย จึงเริ่มต้นมาจากการรักคนก่อน เพราะผมได้ไปเยือนในสถานที่ที่ผมไม่เคยไป แล้วเขาก็ต้อนรับเราด้วยชา จุดนี้มันจึงทำให้ผมเริ่มหันมามองชาเป็นนัยสำคัญของชีวิต

เคยทำธุรกิจอะไรมาก่อนที่จะเปิด Peace Oriental Teahouse ไหม

เคย พร้อมๆ กับความคิดอยากเปิด Peace Oriental Teahouse เลย 

เรื่องมันมีอยู่ว่า ในวันที่ผมเริ่มหาโลเคชั่นหรือสถานที่ในการทำงาน ผมบังเอิญขับรถผ่านไปเจอร้านก๋วยเตี๋ยวแถวเอกมัยที่เขาติดป้ายเซ้งอยู่ ผมก็ไม่รอช้า ลองติดต่อเข้าไปสอบถามเลยทันที แล้วพบว่าค่าเช่าต่อเดือนมันถูกดี ซึ่งผมเองก็ไหวกับราคานี้ ก็เลยคิดว่างั้นผมมาเริ่มทำธุรกิจจากร้านก๋วยเตี๋ยวก่อนแล้วกัน ส่วนชั้นบนของร้าน ผมก็ค่อยๆ ทำเป็นออฟฟิศไว้รองรับธุรกิจขายชาออนไลน์ อารมณ์ประมาณว่าผมคงจะนั่งแพ็กชาอยู่ด้านบน (หัวเราะ)

ณ ตอนนั้นผมก็คิดว่าจะรันธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยวไปเรื่อยๆ ก่อน พอให้ธุรกิจมันสามารถรันตัวเองได้เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง แล้วก็ทำ Peace Oriental Teahouse แบบออนไลน์ไปด้วย แต่กลายเป็นว่าผมโดนแม่ครัวโกงซะก่อน ซึ่งถ้าคุณคิดว่าผมจะเลิกทำธุรกิจก๋วยเตี๋ยวละก็ เปล่าเลย ผมแค่เปลี่ยนมันให้เป็นข้าวหมูทอดแทน (หัวเราะ) เพราะเราก็คุมวัตถุดิบง่ายขึ้น เหลือแค่ข้าว ไข่ และหมูแค่นั้นเอง

จากความคิดในการทำธุรกิจชาออนไลน์ จุดไหนที่ทำให้คุณพร้อมเปิดร้าน 

ตอนที่เราเริ่มปวดหัวกับร้านข้าวหมูทอดมากๆ (หัวเราะ) ณ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าตัวเองก็พร้อมที่จะเปิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา หน้าร้านที่เป็นไอเดียของตัวเองจริงๆ จากความตั้งใจของการอยากทำธุรกิจ 

เอาจริงๆ เราก็ยังไม่ได้พร้อมแบบสุดๆ นะ แต่เมื่อหันกลับไปมองคนในวัยเดียวกัน รุ่นเดียวกัน คนที่มีประสบการณ์เท่าเรา รู้เท่าเรา หรือคนที่มีซัพพลายเออร์ในมือเยอะขนาดเรา มันก็ยังไม่มี แม้กระทั่งผู้คนในสมาคมชาที่เราคุยด้วย เราก็ยังไม่เห็นว่าเขาจะมีความพร้อมในการเปิดร้าน กลับกัน คนทำชาเก่งๆ ระดับแชมป์เอง ก็ยังไม่มีใครนำมาแนะนำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเลย เพราะฉะนั้น สำหรับผม การเปิดร้านชาขึ้นมาสักร้านก็คงจะตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ดี 

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ณ ตอนที่เราคิดจะเปิด Peace Oriental Teahouse ผมก็มีความรู้สึกพร้อมสำหรับการสร้างร้านแล้วแหละมั้ง เพราะในช่วงเวลานั้น กรุงเทพฯ มีร้านชาเพียงแค่ 2 ประเภทหลักๆ คือร้านชาในเยาวราชที่ชาดี ชาอร่อย กับบรรยากาศของร้านที่อาจจะดูไม่น่าเข้า ไม่น่านั่ง และร้านชาฝรั่งแบรนด์ดังที่ตัวชาก็อาจจะไม่ค่อยถูกปากคนไทยสักเท่าไหร่ แต่ร้านกลับนั่งสบาย ผมเลยยิ่งรู้สึกว่า ‘หรือมันมีคนรอให้ผมทำกันนะ’  (หัวเราะ) ก็เลยเปิดหน้าร้านเองซะเลย 

ในวันที่เทรนด์ชามาแรง ความท้าทายของ Peace Oriental Teahouse คืออะไร

ผมว่าธุรกิจมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘นิ่ง’ มันจะมีแต่ ‘ขึ้น’ กับ ‘ลง’ คือถ้าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าธุรกิจเรามันนิ่งแล้ว มันอยู่เฉยๆ ไปแล้ว นั่นหมายความว่าเรากำลังอยู่ในขาลง  

ย้อนกลับไปในยุคแรกที่ผมเอาชาเขียวญี่ปุ่น หรือเซ็นฉะ (sencha) เข้ามานำเสนอ คนไทยไม่เอาเลย ไม่ดื่มเลย ไม่ใช่แค่ขายไม่ได้ แต่ยังโดนด่าด้วย แต่ว่าตอนนี้ sencha กลายเป็นชาที่คนชอบมาก ไทม์มิ่งมันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรียกบางสิ่งบางอย่างว่า ‘พอดี’ และคนทำธุรกิจเองก็สามารถอยู่กับความ ‘พอดี’ นั้นด้วย แต่ไทม์มิ่งมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั่นคือความท้าทายสำหรับ Peace ขณะเดียวกันเป้าหมายในการทำธุรกิจของผมก็ยังเหมือนเดิมซึ่งก็คือ ‘การเลือกส่ิงที่พอดีให้กับตลาด’ มาตั้งแต่ day 1 

ถึงจุดไหนที่ทำให้คุณมีความคิดอยากแตกไลน์ธุรกิจเพิ่ม

มันคงถึงจุดที่ผมมีไอเดียมากกว่าช่องทางที่ผมจะใส่ได้ หมายถึงว่าผมมีน้องๆ ทีมงานที่อยู่ดีๆ ก็ทำโชคุปัง ทำครัวซองต์ให้ผมกิน แล้วผมก็มีความรู้สึกว่าสิ่งพวกนี้มันสามารถพัฒนาต่อได้ 

อย่าง qraft. เนี่ย เป็นสิ่งที่ผมสามารถพูดได้เลยว่าผมลงทุนกับแบรนด์สูง กำไรต่ำ ใช้พลังงานเยอะ ใช้ทีมงานก็เยอะ ใช้ครัวหลายครัว มีทั้งครัวอาหารคาว ครัวกลางสำหรับทำเบเกอรี มีทั้งครัวสำหรับผสมเบสขนมและเบสเครื่องดื่ม แล้ว ณ ตอนนั้นที่ผมแตกไลน์ธุรกิจใหม่ออกมาเป็น qraft. เรามีที่อารีย์ สาขาเดียว มันก็ดูไม่คุ้มทุนเลยที่จะทำ 

คำถามที่ผมถามตัวเองก็คือ ‘แล้วผมทำทำไม?’ (หัวเราะ) คำตอบก็คือ ผมทำเพื่อสร้างทีม ก็คือคนดี ชอบทำงานดี แล้วถ้าเราไม่มีเพลย์กราวนด์​ของงานที่ดี เราก็จะไม่มีคนกลุ่มนั้น เราก็จะไม่มีสกิล หรือความสามารถแบบนั้น ก็เลยสร้าง qraft. ขึ้นมา เพราะเป็นการสร้างทีมเฉยๆ แล้วก็ปล่อยของ ปล่อยสกิลที่มันแน่นอยู่ สกิลที่มันไม่สามารถถูกปล่อยออกมาให้อยู่ภายใต้แบรนด์ Peace Oriental Teahouse ได้

เมื่อ Peace Oriental Teahouse มีฐานลูกค้าและอยู่ตัวแล้ว การแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มขึ้นมา ทำให้คุณรู้สึกเสี่ยงไหม

ก็คนที่มักจะคิดแบบนี้ ก็คือคนที่ไม่ได้ทำสักที ผมก็แค่ทำมันออกมาเลย เพราะตัวผมเองก็มีนิสัยที่ไม่รู้จักคำว่าแพ้ ไม่มีคำว่าเจ๊งด้วย แต่มีแต่คำว่ายอมแพ้ (หัวเราะ) ซึ่งผมก็รู้ตัวเองดีว่าไม่ว่ายังไงตัวผมก็จะไม่ยอมแพ้และไม่คิดว่าตัวเองจะล้มเหลว ถ้าไม่เริ่มทำอะไรสักอย่างต่างหากที่เรียกว่าล้มเหลว

แล้วในวันที่อยากแตกไลน์ธุรกิจเพิ่ม คุณมีการจัดการกับไอเดียยังไงให้ออกมาได้จริง

ในความเป็นจริง แบรนด์ qraft. แต่แรกเนี่ย ผมตั้งใจจะทำให้โมเดลธุรกิจมันออกมาเป็น mini เพราะจริงๆ โมเดลสปีดบาร์แบบนี้มันเป็นไอเดียที่อยู่ในหัวผมมานานแล้ว มีมาก่อนโมเดลธุรกิจ qraft. โดยในตอนนั้นเอง mini ก็เกือบจะได้ชื่อว่า ‘qraft.’ ด้วย (หัวเราะ) เพราะคำว่า ‘qraft.’ เนี่ยเราตั้งใจตั้งสโลแกนของแบรนด์ว่า ‘everyday’s drink for everyone’ แต่ถึงแม้มันจะเป็นสโลแกนนี้ คำว่า qraft. ที่ว่ามันก็ยังคงมีความคราฟต์อยู่นะ 

แต่ทีนี้ด้วยความที่เราไม่ได้แพลนที่จะทำโมเดลแบบ mini ที่ว่าสักที ขณะเดียวกันน้องๆ ในทีมก็มีของ มีสกิลที่จะต้องปล่อยกันเต็มที ผมก็คิดชื่ออื่น ชื่อใหม่ ไม่ออกละ ไม่รู้แหละ งั้นก็ชื่อ qraft. ไปเลยแล้วกัน นั่นจึงทำให้เราเปิดแบรนด์ใหม่อย่าง qraft. ที่ผมตั้งใจให้มันออกมาเป็นแบรนด์ร้านอาหารตั้งแต่ที่สาขาอารีย์เลย โดยตามแพลนเดิมเหล่าเมนูอาหารก็คงจะต้องตามมาภายใน 3 เดือน 6 เดือนนั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาส launch ออกมาสักที เพราะว่าครัวที่สาขาอารีย์มีพื้นที่เล็กมาก แค่ทำเบเกอรีก็แย่แล้ว 

จาก qraft. แบรนด์เครื่องดื่มและขนม สู่เมนูบรันช์และอิซากายะ สองสิ่งนี้มาได้ยังไง

มันอาจจะเป็นเพราะว่าทีมงานของผมทำเบเกอรีได้อร่อยมาก แล้วเราก็รู้สึกว่าเมนูเบเกอรีที่ว่ามันก็สามารถลิงก์กับบรันช์ได้ แล้วจริงๆ ตัวผมเองก็มีไอเดียอยู่แล้วว่าจะทำให้บรันช์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมันดีขึ้นได้ยังไงได้อีก อิงจากมุมมองของผมเอง แน่นอนว่ามันก็จะต้องมีสิ่งที่คนเขายังไม่ทำกันด้วย 

คือความคิดของผมที่มีต่อการลองทำบรันช์ มันก็แค่คิดง่ายๆ ว่า ถ้าในเมื่อมันมีคนที่ทำสิ่งหนึ่งได้ดีมากๆ อยู่แล้ว แล้วผมเองก็ไม่คิดว่าจะทำได้ดีกว่าเขา แล้วผมจะทำทำไม ผมก็ต้องทำให้มันดีขึ้นสิ แนวคิดเดียวกับตอนผมคิดจะเปิด Peace Oriental Teahouse เลย สำหรับ qraft. ตัวผมเองก็คิดว่าเรามีช่องทางตรงนั้น ช่องทางที่ยังไม่มีคนทำ

ด้วยโมเดลธุรกิจของ mini ที่มีอยู่แล้ว จุดไหนถึงรู้สึกว่าควรทำให้มันเป็นจริง

คือจริงๆ แล้ว ผมไม่ได้เป็นคนคิดอะไรเยอะขนาดนั้นเลย (หัวเราะ) ขนาดอาหารเองผมก็ยังเป็นคนที่กินอะไรซ้ำๆ แบบกินแต่ฟู้ดแลนด์งี้ แล้วผมก็เป็นคนที่ไม่ขี้เบื่อ กินง่าย แล้วก็ทำอะไรซ้ำๆ เพราะฉะนั้นผมจึงเป็นเจ้าของธุรกิจที่ไม่ค่อยทำเมนูประจำฤดูกาลสักเท่าไหร่ แต่เมนูใหม่ๆ ของ Peace Oriental Teahouse มันจะค่อยๆ ออกมากะปริบกะปรอย เพราะว่าผมเป็นผู้นำที่ทำอะไรน่าตื่นเต้นไม่ค่อยเก่ง ชอบแต่ของอะไรเดิมๆ มันก็ตรงกับโมเดลของ mini ดี 

คือถ้าผมไม่ได้เป็นคนสร้าง mini.oriental speedbar นี้ขึ้นมา ผมก็คงจะเป็นลูกค้าของที่นี่แหละ (หัวเราะ) บางคนอาจจะคิดว่าผมแตกแบรนด์ mini ออกมาก็เพราะ Peace Oriental Teahouse ของผมเจอความเสี่ยงในวงการชาหรือเปล่า แต่ผมจะบอกว่าเปล่าเลย เพราะโมเดลธุรกิจแบบนี้มันอยู่ในหัวผมมาสักพักแล้ว และผมก็ไม่คิดว่ามันจะสวนกับเทรนด์คาเฟ่ชาแบบสโลว์บาร์ที่เปิดมากขึ้นในปัจจุบัน

คุณคิดว่าการเปิด mini ในรูปแบบสปีดบาร์ทำให้คุณกลายเป็นผู้นำเทรนด์ในตลาดหรือเปล่า

ไม่หรอก จริงๆ ผมว่ามันไม่มีใครคิดอะไรขึ้นมาจากที่ว่างๆ ได้หรอก มันมีแต่การผสม มันเห็นอะไรหลายๆ อย่างรอบตัวกันมาก่อน อย่าง mini มันก็เกิดจากการถามคำถามง่ายๆ กับตัวเอง แล้วผมก็ค่อยๆ ตอบอย่างตรงไปตรงมากับตัวเองเหมือนกัน

คำถามแรกคือ “ช่วงราคาที่แพงที่สุดที่คนจะคิดว่ามันยังราคาถูกอยู่คือเท่าไหร่?” คำตอบของผม ณ ตอนนั้นก็คือ 65 บาท แล้วถามต่อว่า ‘ราคา 65 บาท เป็นราคาที่จู่ๆ ผมต้องคิดขึ้นมาเองมั้ย’ 

คำตอบก็คือ ‘ไม่’ แต่มันก็เป็นราคาที่ Café Amazon เขาก็ตั้งไว้หรือเปล่า กลับมาคิดต่อที่ราคาเครื่องดื่มแก้วละ 75-85 บาท ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นราคาอีก range นึงไปแล้ว สำหรับผม ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของช่วงราคาครั้งละ 20 บาท มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนเซกเมนต์ไปด้วย อย่างถ้าเครื่องดื่มของผมราคาอยู่ที่ 35-45 ลูกค้าบางกลุ่มก็อาจจะไม่กล้ากินก็ได้ เพราะฉะนั้นในช่วงราคา 55-65 บาท ผมคิดว่ามันเป็น range ราคาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาด เป็นเรตที่ลูกค้าก็คงจะโอเคและผมก็ยังรับได้กับราคานี้อยู่

คำว่า ‘รับได้’ ของผม หมายความว่า ด้วยความที่ต้นทุนสูง แต่เราไม่อยากขายในราคาสูง มันเลยต้องเป็นเรตราคาที่เราสามารถขายเครื่องดื่มของเราให้ได้แพงที่สุดโดยยังคุมต้นทุนและคุณภาพวัตถุดิบที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับเรตราคานี้ได้ด้วย 

คำถามที่สองคือ “ถ้าผมอยากให้เมนูเครื่องดื่มมันอร่อยที่สุด แต่ยังสเกลได้ ต้องใช้วัตถุดิบตัวไหน” ผมก็ตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า ผมก็ไปกวาดซื้อวัตถุดิบเหล่านั้นในปริมาณที่เยอะสิ แล้วผมก็โทรคุยกับไร่เลยว่าต่อไปถ้าผมจะสั่งจำนวน 100 ตัน วัตถุดิบตัวไหนที่ทำให้ผมจะสามารถคงราคาเครื่องดื่มแก้วละ 65 บาทได้ พร้อมๆ ไปกับคุณภาพที่ดี เขาก็เลือกมาให้ผม จบ ถามว่าวัตถุดิบที่ดีกว่านี้มีไหม ทำราคาได้ดีกว่านี้มีไหม ก็อาจจะมี แต่สเกลที่ผมจะสั่งซื้อมันไม่ได้

คำถามต่อมาก็ต้องเป็น “ถ้าจะขายถูก ใช้วัตถุดิบที่ดี แสดงว่ากำไรต้องต่ำ จะทำยังไงให้แบรนด์ผมยังอยู่ได้ในระยะยาว” คำตอบก็คือต้องขายให้ได้ปริมาณที่เยอะ ถามต่อเลยว่า “แล้วจะทำยังไงให้ขายได้ปริมาณที่เยอะ” ก็ต้องขึ้นอยู่กับสปีดในการผลิต กลายเป็นว่า mini ก็ต้องแข่งกับเวลา จะให้ลูกค้ามายืนต่อคิวรอน้องๆ พนักงานชง แล้วขายได้ปริมาณที่น้อยต่อหนึ่งชั่วโมงมันก็ไม่ได้ ผมจึงต้องหาวิธีที่ทำให้แบรนด์สามารถทำทุกๆ อย่างให้ได้ไวที่สุด ซึ่งก็คือการเทใส่แก้วเลย

การทำสปีดบาร์เสี่ยงไหม

เอาจริงๆ ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราคิดแล้วทำมันจะประสบความสำเร็จมั้ย แต่มันก็เกิดขึ้นจากการที่ผมถามคำถามกับตัวเอง และตอบทุกคำถามแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาก็แค่นั้น  มันจึงออกมาเป็น mini ในท้ายที่สุด ย่อสั้นๆ มันก็เหมือนเราถามว่า “ทำได้ง่ายมาก ดีมาก ถูกมากทำยังไง” เพราะฉะนั้นอะไรที่ขวางความทำง่ายมาก ดีมาก ถูกมาก ผมก็แค่ทำลายมันให้หมด แม้กระทั่งความเท่ สโลว์บาร์อะไรก็ทำลายทิ้งให้หมด

แล้วความท้าทายในการทำสปีดบาร์คืออะไร

แม้จะดูว่าคอนเซปต์ของ mini มันนิ่งแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำแบรนด์นี้ซึ่งผมยังทำไม่ได้และคิดว่าจะต้องทำให้ได้คือการสเกลให้ใหญ่ขึ้น แล้วก็ไม่ใช่แค่นี้ด้วย เพราะถึงแม้แบรนด์เราจะสามารถขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นได้แล้ว หากฐานลูกค้าของ mini ยังครอบคลุมอยู่แค่สายชาญี่ปุ่นล่ะก็ มันก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้แบรนด์สามารถยืนระยะอยู่ได้ด้วยกำไรที่บางขนาดนั้น 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม  mini  ถึงได้มีเมนูมัทฉะอยู่หน่อยนึง เมนูชาจีน-ไต้หวันอีกเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เมนูกาแฟอยู่บ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีเมนูที่ไม่ใช่กาแฟและเมนูขนมด้วย 

ความท้าทายต่อมาคือ จะทำยังไงให้หมวดหมู่เครื่องดื่มของ mini กระจายให้ครอบคลุมฐานลูกค้าที่กว้างกว่านี้ได้อีก เพราะผมอยากให้ mini มันกลายเป็นแบรนด์เครื่องดื่มสำหรับทุกคนด้วย ไม่ใช่แค่แบรนด์  mini ที่ชานมอร่อยๆ แค่นั้น 

เมื่อแบรนด์เปลี่ยน ราคาขายเปลี่ยน ระบบหลังบ้านเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

โห มันคนละความยากเลย เพราะในวันที่ผมเปิด mini ขึ้นมา การบริหารระบบหลังบ้านมันอาจจะเป็นความเคยชินไปแล้วในบางส่วน แต่สิ่งที่ผมและทีมงานไม่เคยรับมือมาก่อน คือการทำโดรายากิออกมาขายให้ได้วันละ 1000 ชิ้นยังไงให้ได้ มันกลายเป็นเรื่องอุตสาหกรรมแหละ คือการทำอะไร 5 ชิ้น 10 ชิ้นน่ะ ผมและทีมดูแลคุณภาพง่ายมากครับ แต่พอมันสเกลใหญ่ เพียงแค่ความชื้นเปลี่ยนนิดเดียวก็ทำให้ในถุงเกิดไอน้ำขึ้นได้ แล้วถ้าผมคิดจะทิ้งล็อตนั้นทั้งล็อต ก็เหมือนผมกำลังถึงเงินมหาศาล ฉะนั้น ณ ตอนนี้โดรายากิของผมจึงต้องทำมือทั้งหมด 

คือ mini ตอนนี้จะถือว่าเป็นแบรนด์ใหญ่ก็ยังไม่ใช่ แต่จะบอกว่าเป็นแบรนด์เล็กก็คงไม่ถูก เพราะว่าโปรดักต์มันถูกผลิตออกมาในจำนวนที่เยอะเหลือเกิน แต่มันก็ยังใหญ่ไม่พอที่จะทำให้ผมตัดสินใจที่จะซื้อเครื่องจักรมูลค่า 10 ล้านบาทมาลงทุนผลิตโดรายากิ ณ ตอนนี้ทีมงานก็ต้องทำด้วยมือกันอยู่ แต่ในอนาคตผมเชื่อว่ายังไง mini ก็ต้องโตจนถึงจุดนั้น 

เมื่อมี Peace Oriental Teahouse ที่เป็นสโลว์บาร์อยู่แล้ว ทำไมถึงแตกแบรนด์ mini ออกมาอีก

เอาจริงๆ ผมตั้งใจเปิด mini ก็เพื่อ Peace Oriental Teahouse จุดประสงค์ก็คือการดึงความขัดแย้งออก แล้วตัวผมเองก็จะได้ทำแต่ของแก่ๆ ต่อ (หัวเราะ) ของที่มันช้าๆ ของประณีต ของที่เข้าใจยากหน่อย 

อะไรทำให้คุณทยอยเปลี่ยนสาขาของ Peace Oriental Teahouse มาเป็น mini แทน

ง่ายมากครับ เพราะในฐานะผู้นำผมรู้อินไซต์ของแต่ละโลเคชั่นและสาขาของแบรนด์ดีอยู่แล้ว สำหรับสถานที่ที่มีความหลากหลาย สถานที่ที่สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งกินข้าว ออฟฟิศ แหล่งจับจ่ายใช้สอยข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเอง  ผมคิดว่ามันต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจกลุ่มของลูกค้าที่หลากหลายมากๆ ด้วยแบรนด์ Peace Oriental Teahouse เนี่ย เมนูหรือโปรดักต์ของเรามันจะมีทั้งความช้ามากและเร็วมากปะปนกันอยู่ โดยคำว่าช้าหรือเร็วเนี่ย ก็แล้วแต่ความคิดลูกค้าที่แตกต่างกันเนอะ ซึ่งสิ่งนี้ที่ทำให้ผมรู้ว่าผมไม่สามารถตามใจลูกค้ากลุ่มไหนได้จริงเลย มันก็เลยชัดแล้วว่า ผมคงไม่เปิด Peace Oriental Teahouse  ในที่แบบนี้อีกแล้ว ผมก็เลยเปลี่ยน Peace Oriental Teahouse ในโลเคชั่นที่เป็นออฟฟิศให้กลายเป็น mini ทั้งหมด 

กลับกัน โลเคชั่น Peace Oriental Teahouse ณ ปัจจุบันก็คงจะเป็นสถานที่ที่ไม่มีความเร่งรีบมาก ช้าได้ ถ้าผมยังอยากพาแบรนด์เข้าไปเจอฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น อย่างมากที่สุดก็คงจะต้องเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยว 

ทั้งหมดทั้งมวล คุณคิดว่าหัวใจสำคัญในกระบวนการสร้างระบบที่ดีบนความกล้าได้กล้าเสี่ยงคืออะไร?

หัวใจสำคัญคือ ‘คัลเจอร์ในองค์กร’ ผมอาจจะเป็นบุคคลที่ถูกสื่อขอสัมภาษณ์บ่อยๆ มีคนเดินมาชม แล้วก็เป็นบุคคลที่คนจดจำใบหน้าได้ แต่จริงๆ คนที่ทำงานหนักมากในองค์กรกลับไม่ใช่ผมคนเดียว เพราะผมเป็นเพียงแค่ conductor คนนึงเฉยๆ แต่ผมมีน้องๆ ทีมงานอีกเยอะมากที่ทำงานอยู่หน้าร้าน หลังบ้าน หรืออยู่ในครัวที่เก่งกว่าผมอีกตั้งหลายคน ถ้ามีโอกาสผมก็อยากให้คนรับรู้ว่า ระบบที่ดีของ Peace Oriental Teahouse, qraft. แล้วก็ mini มันไม่ได้มาจากผมแค่คนเดียว แต่มาจากทีมทั้งทีม 

ด้วยธุรกิจ 3 แบรนด์ที่ไม่เหมือนกัน คุณมีวิธีการบริหารจัดการทีมงานยังไงบ้าง

หนึ่ง ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวผมนั่นแหละ เพราะทีมงานเขาก็ทำตามในสิ่งที่ผมทำ ถ้าผมทำงานห่วยเขาก็ทำงานห่วย ถ้าผมทำงานประณีตเขาก็จะทำงานประณีต ในความเป็นจริง ผมไม่สามารถทำงานแบบห่วยๆ แล้วบอกให้เขาทำงานดีได้ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้นำก็คือความสำเร็จในทุกๆ วันของตัวผู้นำเอง ทีมงานของผม เขาก็จะมีความมั่นใจที่จะเดินตาม 

สอง ก็ยังเป็น ‘คัลเจอร์’ ซึ่งคัลเจอร์สำหรับผมเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเลย เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกๆ องค์กร คัลเจอร์มันไม่ใช่แค่ ‘เราทำอะไร’ แต่มันคือทุกๆ อย่างในองค์กร มันคือทุกๆ เรื่องที่เราตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพูด วิธีการสื่อสาร วิธีจัดการปัญหา เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าคัลเจอร์ก็สำคัญมากด้วย ผมตั้งใจทำให้ทีมงานของผมนั้นเห็นว่าองค์กรจะมีความสุขได้ เกิดจากความตั้งใจ ไม่ได้มีความสุขกันได้ด้วยการทำอะไรให้ได้ดั่งใจผม ส่วนตัวผมเองคิดว่าคัลเจอร์ของที่นี่คือการเสียสละ แม้ว่าทีมงานเราจะมีเกือบ 200 คนก็จริง แต่ทีมบริหารของเราก็เล็กมาก แล้วเชื่อไหมว่าในทุกๆ แบรนด์ ทุกๆ ดีไซน์ ทุกๆ สถานที่ เฟอร์นิเจอร์ทุกๆ ชิ้น ตลอดจนในทุกๆ รายละเอียดที่ทุกคนต่างได้เห็น ณ วันนี้ มันคือผลงานของทีมที่ผมเรียกพวกเขาว่า In House Team 

แล้วตัวคุณเอง มีวิธีการบริหารที่แตกต่างกันยังไงบ้าง

จริงๆ ผมเองก็ยังรู้สึกเซอร์ไพรส์นะว่าแบรนด์ Peace Oriental Teahouse มันยังอยู่ได้ยังไง เพราะตัวผมก็อาจจะไม่ค่อยได้เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่เท่าแต่ก่อนแล้ว (หัวเราะ) จะบอกว่ามันขายได้ด้วยตัวเองมั้ย ก็คงไม่  แต่ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะแบรนด์มันค่อนข้างมีอายุประมาณนึง บวกกับการที่น้องๆ ทีมงานของผมเขาดูแลอยู่เรื่อยๆ ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณภาพตก หรือเซอร์วิสของพนักงานที่อาจจะแย่ลง มันก็ต้องมีการเข้าชาร์จอย่างไวของทีมงาน ก็ถือว่าต้องยกความดี ความชอบและคำชมให้กับเหล่าทีมงานของผมเลย 

สำหรับการบริหารธุรกิจแล้ว วิสัยทัศน์ของผู้นำคือสิ่งที่สำคัญ แต่หน้าที่หลักของผม ณ ตอนนี้ นอกจากการใช้วิสัยทัศน์ในเรื่องแบรนด์ กลยุทธ์ในการขายโปรดักต์ หรือในเรื่องทิศทางและการขยายของแบรนด์แล้ว นั่นก็คือสร้างผู้นำเพื่อให้เขาได้ไปสร้างผู้นำในทีมได้อีกที เพราะผมคิดว่าผมสามารถสร้างผู้นำทีมได้ แต่ผมไม่ได้สามารถสร้างผู้นำของทีมนั้นๆ ในแต่ละแบรนด์ได้หมด ซึ่งผมก็คิดว่ามันจะดีกว่าถ้าผมสามารถที่จะสร้างผู้นำที่เขาสามารถไปสร้างผู้นำต่อได้ด้วย ฉะนั้นวิธีการบริหารในวันที่เรามีธุรกิจหลายแบรนด์ก็คือการสร้างทีมไปในทิศทางที่ถูก แล้วก็ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในทางที่เราจะเดินไปเรื่อยๆ 

ในวันที่คุณต้องบริหารหลายๆ แบรนด์พร้อมกัน คุณแบ่งเวลายังไง

หน้าที่ของผู้นำก็คือการบ่งบอกประเด็น หรือต้องเล็งเห็นถึงประเด็นของแต่ละเรื่องให้ได้ ผมสอนน้องๆ ในทีมถึงเรื่องนี้บ่อย คือไม่ใช่ว่าผมจะต้องแบ่งเวลาในการบริหารแต่ละแบรนด์เป๊ะๆ ในทุกๆ วันเสมือนน้องทีมงานที่มาเปิดมาเฝ้าร้านทุกวันได้ เพราะในแต่ละช่วงเวลามันก็จะมีประเด็นเกิดขึ้นต่างๆ กันไป แล้วผมในฐานะผู้นำก็มักจะเลือกสิ่งที่สำคัญก่อน อย่างเช่น ณ วันที่เรากำลังคุยกัน ผมแทบจะไม่ได้ดู mini และ Peace Oriental Teahouse เลย แต่สิ่งที่ผมทำก็คือการเรียกผู้จัดการแต่ละสาขามานั่งกินข้าวด้วยกันที่ qraft. สาขาใหม่นี้ทุกๆ อาทิตย์หรืออาจจะ 2 อาทิตย์ครั้ง มันจึงทำให้ผมสามารบริหารทุกๆ แบรนด์ไปพร้อมๆ กันจากระยะนี้ โดยการมีน้องๆ ทีมงานคอยดูแลให้อย่างใกล้ชิดแทน 

 ทุกวันนี้ ความท้าทายในการทำธุรกิจ F&B คืออะไร

เวลากับพลังสมอง (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมาผมคิดไวกว่าพลังทีมที่มี กลับกัน ในวันที่เรามีทีมงานเยอะขึ้น ทีมเขาก็ทำได้เร็วกว่าการที่ผมจะคิดไอเดียสักอย่างได้ (หัวเราะ) 

เพราะฉะนั้นความท้าทายก็คือการแก้ไขจุดนี้ให้ได้ด้วยการสร้างผู้นำเพิ่มในวันที่ผมไม่ได้สามารถคิดคนเดียวได้หมดทุกอย่างแล้ว ซึ่งผมก็โชคดีที่ผมมีน้องๆ ทีมงานดีๆ เยอะมาก ผมคิดว่าตัวผมเองเป็นผู้นำที่มีความโชคดีมากจริงๆ สาเหตุหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่าผมทำแบรนด์ของผมขึ้นมาเองโดยไม่มีหุ้นส่วนด้วย มันเลยทำให้ทีมงานทุกๆ คนกลายเป็นเพื่อนร่วมคิด ซึ่งมันก็อาจจะเหนื่อยหน่อยแหละ แต่มันก็ทำให้ผมได้มีทีมงานที่เขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์และผมเยอะมาก 

สุดท้าย คุณมีแพลนจะขยายจักรวาล F&B ของคุณไปในทิศทางไหนต่อ

เยอะแยะเลย (หัวเราะ) แม้เรื่องงานใน 3 แบรนด์มันจะเป็นเรื่องที่ผมคิดไม่ทันน้องๆ ทีมงานแล้วนะตอนนี้ แต่เรื่องไอเดียใหม่ๆ นี่สิ เป็นเรื่องที่ผมคิดได้ไวเกินกว่าที่ทีมงานจะสามารถทำได้ (หัวเราะ) คือส่วนตัวผมเอง ผมอยากทำหลายอย่าง ณ ตอนนี้ก็อยากทำน้ำผึ้ง (หัวเราะ) เพราะผมชอบน้ำผึ้งมาก ผมหมักน้ำผึ้งมานานหลายปีแล้ว แล้วก็อยากทำพร้อมกันกับชาป่าไทยด้วย เพราะมันก็มาจากแหล่งเดียวกัน

แต่ว่าเป้าหมายหลักของผมในปีนี้คือการปั๊มสาขา mini ให้ได้มากที่สุดก่อน ผมต้องการสเกล mini ให้ใหญ่ขึ้น เพราะ ณ ตอนนี้ ผมแทบไม่ได้กำไรเลย (หัวเราะ) และถ้าปราศจากสเกล mini ที่ใหญ่กว่านี้ แบรนด์ของผมก็จะอยู่ไม่ได้แน่ๆ เพราะปกติรสชาติและคุณภาพแบบนี้ เขาขายกันราคาต่ำสุดก็แก้วละ 100 บาทแล้ว แต่ตอนนี้ผมทำราคาขายให้มันอยู่ที่ 65 บาท กำไรสุทธิของแบรนด์ถึงได้บางมาก ซึ่งถ้ารวมความวุ่นวายและครัวกลางทั้งหมดที่มี ถือว่าผมไม่ได้กำไรเลย

วิธีบริหารธุรกิจฉบับ ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ผู้บริหาร KCG ผู้ผลิตคุกกี้กล่องแดงในตำนาน

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่เทศกาล เมื่อพูดถึงของขวัญของฝาก เชื่อว่าหลายคนอาจนึกถึงคุกกี้กล่องแดง หรือคุกกี้แบรนด์อิมพีเรียล ที่หาซื้อได้ทั่วไปในราคาที่จับต้องได้

โดยคุกกี้แบรนด์นี้มี ตง ธีระนุสรณ์กิจ รับหน้าที่แม่ทัพใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2528 และได้ส่งไม้ต่อมายัง ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ให้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ต้องบอกว่า KCG ไม่ได้มีแค่คุกกี้กล่องแดงเท่านั้น แต่เป็นผู้ผลิตเนยและชีสรายใหญ่ของประเทศภายใต้แบรนด์อลาวรี่ และน้ำผลไม้แบรนด์ซันควิก เป็นต้น

ทว่าหากมองให้ลึกไปในองค์กร สิ่งที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไม่ใช่ระยะเวลาการทำธุรกิจ แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การตลาดอย่างแข็งแกร่ง และสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา KCG สร้างสถิติเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้จากการขาย 7,157 ล้านบาท เติบโต 16.2% จากปีก่อนหน้า และทำกำไรสุทธิ 305.9 ล้านบาท เติบโต 26.9%

Chanthaburi, Thailand, June 13, 2021: Imperial on shelf in supermarkets

ล่าสุด KCG ได้จัดงานประกาศวิสัยทัศน์ปี 2024 ภายใต้แนวคิด Transition Towards Sustainable Growth สร้างองค์กรสู่การเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยมีดำรงชัย วิภาวัฒนกุล CEO คนใหม่นำทัพเหล่าผู้บริหารให้ข้อมูล

ดำรงชัยบอกว่า หลักการบริหารองค์กรของ KCG ประกอบด้วย 2 มิติหลัก คือ ยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมองค์กร (culture strategy) ที่ยึดหลัก Heart-driven – Expertise – Agile – Responsible – Teamwork โดยเชื่อมั่นว่าพนักงานจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ (business strategy) ซึ่งประกอบไปด้วย การยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก การพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการกระจายสินค้า รวมถึงการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบ ESG

ปัจจุบัน KCG เดินทางบนสายธุรกิจมาครบ 66 ปี มีสินค้ามากกว่า 2,000 ชนิด ใน 40 แบรนด์ ครอบคลุมใน 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มเนยและชีส, กลุ่มอาหารและวัตถุดิบเบเกอรี และกลุ่มขนมบิสกิต

“หลายคนอาจรู้จักเราจากคุกกี้กล่องแดงแบรนด์อิมพีเรียล จริงๆ แล้วกลุ่มสินค้าที่ขับเคลื่อนเรามากที่สุดคือ กลุ่ม daily product เนยและชีส สิ่งที่เราทำทั้งหมดในปีนี้ เพื่อต้องการสร้างภาพจำให้ทุกคนรู้ว่า เราไม่ได้มีแค่คุกกี้กล่องแดง”

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อแค่สร้างยอดขาย แต่เพื่อทำในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปีที่ผ่านมาวงการอาหารและเครื่องดื่มมีอะไรเกิดขึ้นมากมายจริงๆ จนเข้าสู่ปี 2024 เราเองก็ตั้งตารอเหมือนกันว่าอะไรจะมาแรง อะไรจะไปเร็ว หรือจะเกิดเทรนด์อาหารใหม่ๆ น่าจับตามอง

ภายในงานได้มีการรีแคป 5 เทรนด์อาหารตะวันตกที่กำลังมาแรงและคนทำธุรกิจอาหารต่างให้ความสนใจ มาดูกันว่าเทรนด์อาหารที่มาแรงในช่วงปีที่เหลือมีอะไรบ้าง?

1. Health Beliefs : ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ มากขึ้น มองหาอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เน้นผักผลไม้ โปรตีนดี และไขมันดี หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป น้ำตาล และไขมันอิ่มตัว

2. Naturally Functional : อาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ หรือมีการเติมวิตามินเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการกำลังเป็นที่นิยม ตัวอย่างเช่น อาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ สารต้านอนุมูลอิสระ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นต้น

3. Weight Wellness : ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องรูปร่างมากขึ้น มองหาอาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก เน้นอาหารที่มีแคลอรีต่ำ ไฟเบอร์สูง โปรตีนสูง และไขมันต่ำ

4. Snackification : เทรนด์อาหารว่างที่สะดวก ทานง่าย พกพาง่ายกำลังเติบโต ผู้บริโภคต้องการอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทานแล้วอิ่มนาน

5. Sustainability : ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ

เทรนด์อาหารเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ธุรกิจอาหารต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ โดยพัฒนานวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ที่มีความอร่อย ดีต่อสุขภาพ สะดวก และยั่งยืน

“ปีที่ผ่านมาโลกเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีความผันผวน ความไม่แน่นอนเยอะมาก การที่เราจะอยู่รอดในโลกแบบนี้ ถ้ายังทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ผมว่าธุรกิจก็ประสบความสำเร็จได้ยาก ที่ผ่านมา KGC ก็ทำอะไรมาเยอะ ก็มีทั้งสิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ เราแค่ไม่หยุดพัฒนา และเดินหน้าทำในสิ่งที่ดีต่อไป” ดำรงชัยพูดทิ้งท้าย

Drive To Survive สารคดีที่ทำให้ F1 กลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก

สนาม : อาบูดาบี กรังด์ ปรีซ์
วันที่ : 12 ธันวาคม 2021

“ไมเคิล นี่มันไม่ถูกต้องนะ”

เสียงจากวิทยุเป็นเสียงของ โตโต้ วูล์ฟฟ์ หัวหน้าทีมเมอร์เซเดส ที่ไม่เห็นด้วยกับ ไมเคิล มาซี ผู้อำนวยการแข่งขันฟอร์มูลาวัน หลังสั่งให้ปล่อยรถบางคันที่คั่นกลางระหว่างนักขับ 2 ทีม ได้แซงขึ้นหน้าเซฟตี้คาร์ไป ซึ่งจะทำให้ ลูอิส แฮมิลตัน นักขับของเขาที่กำลังนำห่างเพียงวินาทีและเห็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 อยู่ตรงหน้าแล้ว ต้องเสียเปรียบอย่างยิ่งในการดวลกับ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ผู้ท้าชิงที่เพิ่งเดิมพันเข้าพิตเพื่อเปลี่ยนยางใหม่ตามคำสั่งของคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล

“โตโต้ นี่มันคือการแข่งรถ” คำตอบสั้นๆ จากมาซี 

แล้วเราก็ได้เห็นการดวลกันหนึ่งรอบสุดท้ายตัดสินแชมป์โลกฟอร์มูลาวัน ฤดูกาล 2021 ที่เป็นที่จดจำและโจษจันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยที่เราทุกคนมีโอกาสได้เป็นสักขีพยานร่วมกันทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้า 

รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังในสุดยอดซีรีส์สารคดีที่ดีต่อแบรนด์อย่าง Formula 1: Drive to Survive

รอบที่ 1

แค่เสี้ยววินาทีหลังไฟสัญญาณปล่อยตัวดับลง ลูอิส แฮมิลตัน ก็ควบรถคันเก่งทะยานฉีกตัวแซงหน้าแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ในตำแหน่งโพลโพซิชั่น หรือนักขับที่ออกสตาร์ทเป็นคันแรกไปแบบต่อหน้าต่อตา

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มของสงครามในสนามแข่งเท่านั้น

การขับเคี่ยวกันระหว่างแฮมิลตันกับเวอร์สแตปเพน ในการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูลาวัน หรือ ‘เอฟวัน’ รายการสุดท้ายของปี 2021 ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัย 

เพราะในการแข่งขันวันนั้นไม่ต่างอะไรจากบทภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่งที่มีครบทุกรสชาติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างสองสุดยอดนักแข่งรถ การแทรกเข้ามามีบทบาทสำคัญของตัวละครลับอย่าง ‘เชโก้’ เซร์จิโอ เปเรซ นักขับมือสองของทีมเรดบูลที่ได้รับการยกย่องในฟอร์มขับระดับตำนาน 

ไปจนถึงจุดพลิกผันราว ‘ปาฏิหาริย์’ ที่คริสเตียน ออร์เนอร์ต้องการ เมื่อรถของโธมัส ลาติฟี แหกโค้งจนทำให้การแข่งต้องหยุดชะงักชั่วคราว 

และที่สุดคือช่วงโมเมนต์การตัดสินใจของผู้ควบคุมการแข่งขันอย่างไมเคิล มาซี ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทีมแข่งและผู้ชมทั่วโลก และให้โอกาสเวอร์สแตปเพนได้ดวลกับแฮมิลตันในการขับรอบสุดท้าย

ใครได้ชมการถ่ายทอดสด (ผมเองก็เช่นกัน) คงจำกันได้ถึงความตื่นเต้นระดับทะลักจุดเดือดในวันนั้น

แต่นั่นไม่อาจเทียบได้เลยกับการได้เห็นสิ่งที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’​ ของการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดออกมาในซีรีส์สารคดีที่โด่งดังที่สุดในโลกตอนนี้อย่าง Formula 1: Drive to Survive ซึ่งเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันที่ 12 ธันวาคม 2021 ที่อาบูดาบี อยู่ในซีซั่นที่ 4 ตอนที่ 10 ในชื่อตอนว่า Hard Racing (ซึ่งก็มาจากคำพูดของมาซีที่บอกกับโตโต้ วูล์ฟฟ์ ที่พยายามฟ้องว่าเชโก้ เปเรซ ขับรถอันตรายเกินไป)

ตลอดระยะเวลา 46 นาที 51 วินาทีในอีพีนี้เต็มไปด้วยเบื้องหลังของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกเอาไว้และถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้มข้นเร้าใจ

ดีขนาดไหน? ก็ดีในระดับที่ Formula 1: Drive to Survive ได้รับการยกย่องว่าเป็นสารคดีที่ไม่เพียงแต่คืนชีพกีฬารถแข่งเอฟวันอีกครั้ง แต่มันยังทำให้เอฟวันกลายเป็นกีฬายอดฮิตของแฟนๆ ทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อนด้วย

เพียงแต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเลยแม้แต่นิด

ทุกอย่างของ Formula 1: Drive to Survive ได้ถูกขีดและเขียนเส้นทางเอาไว้หมดแล้ว

รอบที่ 13

เวอร์สแตปเพนตัดสินใจเข้าพิตในรอบที่ 13 ส่วนแฮมิลตันเข้าพิตตามมาในรอบถัดไป ทั้งคู่เลือกยางแบบแข็ง (hard tyre) เพื่อใช้วิ่งยาวๆ ส่งให้เซร์จิโอ เปเรซ ขึ้นเป็นผู้นำชั่วคราวในช่วงเวลานี้

“ผมไม่เคยได้มีรถแข่งที่เร็วที่สุดเลย การได้หวดกับรถของเมอร์เซเดสแบบนี้เป็นเรื่องที่สุดยอดมากๆ คริสเตียน (ออร์เนอร์) ต้องการให้ผมรีดศักยภาพของรถให้สุด”

คำพูดและความรู้สึกของเปเรซ เอาเข้าจริงแล้วในยามทั่วไปอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แฟนเอฟวันให้ความสนใจมากนักมาก่อน แต่ใน Formula 1: Drive to Survive แล้ว ชีวิต ตัวตน ความรู้สึก และสิ่งละอันพันละน้อยของนักแข่งที่ไม่ได้อยู่ในแสงสปอตไลต์มากนักอย่างเชโก้ รวมถึงอีกหลายคนคือสิ่งที่ทำให้สารคดีกีฬาเรื่องนี้พิเศษและแตกต่างจากสารคดีอื่นๆ ทั่วไป

เพราะมันทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยถูกบอกเล่า (untold story) ของการแข่งขันเอฟวันที่ถูกเก็บงำตลอดมา โดยที่เรื่องราวนั้นได้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี 

Formula 1: Drive to Survive หนึ่งในคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ชนะใจผู้ชมได้ตั้งแต่อีพีแรก “All to Play For” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในซีซั่นที่ 1 ของ Formula 1: Drive to Survive ซึ่งออกฉายพร้อมกันทั่วโลกในช่วงต้นปี 2019 จนถึงปีนี้ 2024 ที่เข้าสู่ซีซั่นที่ 6 แล้ว

จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากไอเดียของ Liberty Media ซึ่งตัดสินใจซื้อกิจการรายการรถแข่งฟอร์มูลาวัน รายการรถแข่งที่ดีที่สุดและมีแฟนติดตามมากที่สุดในโลกต่อจาก CVC Capital ด้วยเงินมหาศาลถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.87 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2017

เพียงแต่ในครั้งนั้น Liberty Media บริษัทสัญชาติอเมริกันเองก็ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเอฟวันดูเหมือนจะตกต่ำลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ชมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่พวกเขาไม่สามารถเจาะกลุ่มแฟนกีฬาที่เป็นคนรุ่นใหม่เจนฯ Z ได้

อย่างไรก็ดี พวกเขามองเห็นโอกาสและศักยภาพมากมายของเอฟวัน ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของนักขับรถแข่ง หรือศาสตร์ที่เข้าใจได้ยากอย่างอากาศพลศาสตร์ และความลึกซึ้งของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ซึ่งอาจเป็นกำแพงบางๆ ที่เคยจำกัดเอฟวันไว้สำหรับแฟนตัวยง

สิ่งที่ Liberty Media มองเห็นคือ ‘ฉากชีวิต’ เรื่องราวที่เหมือนบทหนังบทละครดีๆ ที่มีตัวละครให้เลือกกระจายบทอย่างมากมาย ตัวเอก ตัวร้าย เพื่อนพระเอก ตัวโกง ตัวละครสุดดราม่า 

และสำคัญที่สุดคือเรื่องราวทั้งหมดที่เหมือนถูกขีดเขียนขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด เพราะเอฟวันเป็นกีฬาที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ทั้งสิ้น ด้วยความเป็นกีฬาที่วัดกันด้วยการตัดสินใจในหลักเสี้ยววินาที​ การวางแผนที่ดี และทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถส่งผลต่อการแข่งขันอย่างรุนแรงได้เสมอ

ถ้าพวกเขาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ทุกคนได้เห็นมากกว่าแค่รถวิ่งผ่านไปมาอย่างรวดเร็วในสนามกับรายงานข่าวสั้นๆ ว่าใครได้แชมป์ในสนามนั้น เปลือยตัวตนของนักขับ เปิดเผยฉากที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลัง บทสนทนาที่เผ็ดร้อน ธาตุแท้ของมนุษย์คนหนึ่ง การชิงไหวชิงพริบนอกสนาม มันน่าจะโดนใจคนได้ไม่ยาก

คำถามคือแล้วจะเล่าแบบไหน เล่าผ่านช่องทางอะไร?

พวกเขาเลือกเน็ตฟลิกซ์ และเป็นฝ่ายที่ติดต่อไปเองด้วย

“พวกคุณสนใจจะทำสารคดีร่วมกับเราไหม เราจะให้สิทธิ์พวกคุณเข้าได้ทุกพื้นที่เลย”

รอบที่ 35

เวอร์สแตปเพนชิงจังหวะเปลี่ยนยางอีกครั้งในช่วงที่รถของอันโตนิโอ จิโอวินาสซี ของทีมอัลฟา โรมีโอ มีปัญหาระบบเกียร์โดยที่ไม่ต้องเสียอันดับ ขณะที่แฮมิลตันตัดสินใจไม่เปลี่ยนยางเพราะไม่อยากเสียความได้เปรียบในสนามไป 

ในสนามยามนั้นคือความท้าทายสำหรับแฮมิลตันและทีมเมอร์เซเดส ในขณะที่ความท้าทายสำหรับ Liberty Media และเน็ตฟลิกซ์คือการที่พวกเขาจะทำยังไงถึงจะสามารถทำให้ Formula 1: Drive to Survive แซงเข้าเส้นชัยในหัวใจของแฟนๆ ทุกคน

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่การเพิ่มแฟนกลุ่มใหม่ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ในงานนี้เป็นการเข้าถึงกลุ่มแฟนชาวสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแม่ของ Liberty Media และเป็นผู้ชมกลุ่มหลักของเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่เคยอินกับเอฟวันมาก่อน เพราะถ้าพูดถึงรถแข่งแล้ว ทั้งใจของพวกเขามีแต่ Indy 500 กับ NASCAR เท่านั้น

ในเวลาเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาฐานแฟนคลับกลุ่มเดิมที่เป็นแฟนเดนตาย (die-hard fan) เอาไว้ด้วย เรียกว่าต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างแฟนใหม่กับแฟนเก่า และหัวใจของการแข่งขัน

ว่าแต่คำถามแรกคือ แล้วใครจะเป็นคนทำ? 

โชคดีที่แนท กรูยล์ (Nat Grouille) ผู้อำนวยการ Nonfiction series ของเน็ตฟลิกซ์ค้นพบเจมส์ กาย-รีส (James Gay-Rees) โปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังสุดยอดสารคดีรถ Senna ที่ว่าด้วยประวัติของอายร์ตัน เซนนา ตำนานนักขับเอฟวันผู้ล่วงลับชาวบราซิล

กาย-รีสมีบริษัทสร้างหนังของตัวเองที่ชื่อ Box to Box Films ซึ่งกำลังมองหาโอกาสจะสร้างหนังเอฟวันที่มีแกนเป็นทีมเรดบูลอยู่พอดีด้วย ทำให้จิ๊กซอว์ต่างๆ ประกอบเข้าเป็นภาพเดียวกัน เป็นภาพของสารคดีชุดที่มีความยาวหลายตอน

โดยที่พวกเขาค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เริ่มจากการให้ทีมรถแข่งต่างๆ เซ็นสัญญาอนุญาตให้เก็บภาพฟุตเทจได้ในทุกมุมและทุกที่ ซึ่งทีมใหญ่อย่างเฟอร์รารีไม่ยินยอมในตอนแรก ขณะที่เมอร์เซเดสบอกว่าพวกเขาติดสัญญากับ Amazon ที่จะถ่ายทำสารคดีเฉพาะทีมของพวกเขาอยู่

เอาล่ะ ไม่มีทีมใหญ่ก็ไม่เป็นไร ต่อให้เหลือทีมเล็กกว่าอย่างฮาส, เรอโนลต์ และวิลเลียมส์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม มันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองคิดนอกกรอบดู

ย้อนกลับไปในระหว่างการถ่ายทำสำหรับซีซั่นแรกซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ทีมงานมีความกังวลอยู่ไม่น้อยว่ามันจะมีเรื่องมีราวอะไรให้หยิบมาเล่นได้มากพอไหม แต่แล้วในช่วงปลายปีของฤดูกาลแข่งขันทีมถ่ายทำก็ได้ฟุตเทจสำคัญมาจนได้

ฟุตเทจนั้นเป็นเหตุการณ์การปะทะคารมกันระหว่างคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล กับไซริล อาบิเตบูล ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมเรอโนลต์ 

ออร์เนอร์กล่าวหาอาบิเตบูลว่าจัดเตรียมเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอาบิเตบูล ได้ยินดังนั้นก็ซัดกลับว่า “ปัญหาของเรดบูลมันไปไกลกว่าเรื่องตัวรถเยอะนะ”

ฟุตเทจนี้ได้กลายเป็นแกนของตอนสำคัญในซีซั่นแรกในอีพีที่ชื่อว่า Art of War ซึ่งในเวลาต่อมา เรดบูลได้ยุติความสัมพันธ์กับเรอโนลต์และหันไปใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าแทน ส่วนเรอโนลต์ไปกระชากตัวดาเนียล ริคคิอาร์โด นักขับลูกรักของออร์เนอร์มา

มันทำให้ทีมถ่ายทำค้นพบคำตอบว่าดราม่าที่พวกเขาต้องการอาจอยู่ที่นอกสนาม 

เพราะการแข่งขันไม่ได้มีเฉพาะระหว่างทีมหรือนักขับ แต่เป็นนักขับในทีมเดียวกัน หรือนักขับกับหัวหน้าทีมที่ความสัมพันธ์ระหว่างบางคู่นั้นเหม็นหน้ากันยิ่งกว่าอะไร แต่ในความเป็นมืออาชีพก็ต้องหาทางที่จะทำงานร่วมกันให้ได้ ไปจนถึงตัวละครแวดล้อมอื่นๆ เช่น ทีมช่าง ทีมเทคนิค เจ้าหน้าที่สนาม ผู้ควบคุมการแข่งขัน ที่ล้วนแต่มีความสำคัญในแบบของตัวเอง

และด้วยความสุดยอดของทีมถ่ายทำที่แฝงตัวอยู่กับทุกทีม โดยทุกคนจะได้รับชุดเครื่องแบบของทีม ใช้จ่ายวันเวลาร่วมกัน ทำให้คนในทีมรถแข่งบางครั้งก็ลืมตัวและแทบจะไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำแล้วว่ามีกล้องและไมค์ที่จับจ้องพวกเขาอยู่ตลอดเวลา

เราจึงได้ยินบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง ถ้อยคำและอารมณ์ฟาดกันและเชือดเฉือนระหว่างกัน กลายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องในแต่ละอีพี ที่จะมีความเข้มข้นมากน้อยและหนักเบาแตกต่างกันออกไป

Formula 1: Drive to Survive จึงเป็นสารคดีที่เปิดเผย ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ของ​เอฟวัน มากกว่าว่าชัยชนะเป็นของใคร เป็นเหมือนนักขับที่พาทุกคนมาสัมผัสโลกที่หมุนเร็วที่สุดใบนี้แบบชัดๆ ไปด้วยกัน 

และแน่นอนว่ามันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อย่าว่าแต่แฟนรุ่นใหม่เลย 

แฟนกีฬาตัวยงหลายคนก็อาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน

รอบที่ 53

เราทำเท่าที่ทำได้แล้ว มากกว่านี้ก็ต้องพึ่งปาฏิหาริย์แล้วคริสเตียน ออร์เนอร์ บอกกับทีมหลังเห็นลูอิส แฮมิลตัน ทะยานหนีไปไกล โดยที่แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ไล่ยังไงก็ไม่ทัน แม้ว่าจะพยายามซิ่งแบบสุดคันเร่ง แต่แล้วจู่ๆ รถของนิโคลัส ลาติฟี ก็เกิดแหกโค้งตู้ม!

ในแง่ของความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันกลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก 

ตามข้อมูลในปี 2022 ระบุว่าเอฟวันทำรายได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปี 2018 ที่ทำได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ชมทั่วโลกมีมากถึง 70 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจของสถาบัน Nielsen พบว่าฐานแฟนของเอฟวันเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017

ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จเมื่ออายุเฉลี่ยของผู้ชมลดลงจากเดิม 4 ปี ค่าเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 32 ปี และมีจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า 

โดยที่แฟนๆ กลุ่มนี้ยังส่งผลทำให้นักแข่งอย่างแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน, ชาร์ลส์ เลอร์แกลร์ก, ดาเนียล ริคคิอาร์โด, คาร์ลอส ไซนซ์ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในระดับนานาชาติไปด้วยเพราะมีกลุ่มแฟนติดตามเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็เอาใจแฟนๆ เหล่านี้ด้วยการเสิร์ฟคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่แฟนกลุ่มนี้อยู่อย่าง TikTok

แม้กระทั่งหัวหน้าทีมอย่างกุนเธอร์ สไตเนอร์ ก็กลายเป็นขวัญใจไปกับเขาด้วย จากเรื่องราวในปี 2020 ที่ฮาสประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนต้องรับเงินสนับสนุนจากดมิทรี มาเซปิน มหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่จ่ายเงินเพื่อขอแลกกับการให้ลูกชาย นิกิตา มาเซปิน มีชื่อเป็นนักขับในทีมด้วย รวมถึงขอเปลี่ยนสีรถใหม่ให้เป็นสีธงชาติรัสเซีย พร้อมกับติดแบรนด์ชื่อบริษัทของเขาบนรถ

การยืนหยัดของสไตเนอร์ ที่อดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ยากลำบากนานา ไปจนถึงความเดือดดาล ความสุข ตัวตนที่ถูกเปิดเผยและได้รับการถ่ายทอดทำให้สไตเนอร์กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ของ Formula 1: Drive to Survive ไปด้วย 

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาที่เป็นเป้าหมายหลักของซีรีส์นั้นก็มีจำนวนผู้ที่เข้าชมเอฟวันในสนามเพิ่มขึ้น โดยรายการยูเอสกรังด์ปรีซ์ ที่เท็กซัสในปี 2022 มีผู้ชมถึง 440,000 คน เพิ่มจากในปี 2018 ที่มีผู้ชม 263,000 คนเกือบ 2 เท่า และทำให้มีการจัดการแข่งขันเพิ่มอีก 2 สนามที่ไมอามี และลาสเวกัส กลายเป็นประเทศที่จัดการแข่งมากกว่าทุกประเทศในโลก ซึ่งแน่นอนว่าเม็ดเงินมหาศาลทั้งจากแฟนๆ และจากสปอนเซอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

ผลสำรวจในปี 2022 ยังระบุด้วยว่ามีแฟนชาวอเมริกันถึง 53% บอกชัดเจนว่า Formula 1: Drive to Survive คือเหตุผลที่พวกเขาติดตามชมการแข่งขันเอฟวัน

“มันเป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคนดู และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเอฟวันกับแฟนกีฬาในระยะยาว พวกเขาอยากเข้าถึงกลุ่มแฟนอายุน้อยให้ได้” กาย-รีสบอกถึงความสำเร็จของเอฟวันและ Formula 1: Drive to Survive ที่ทำให้กีฬาอีกหลายประเภทอยากเดินตามรอยความสำเร็จนี้ เช่น กอล์ฟ (Full Swing), เทนนิส (Break Point) และอีกมากมาย

เพียงแต่การจะเดินตามรอยนั้นไม่ง่าย เพราะการแข่งเอฟวันมีจุดแข็งหลายอย่างที่ได้เปรียบกว่า 

รอบที่ 58 (รอบสุดท้าย)

หากการแข่งรถเอฟวันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive เองก็ไม่แตกต่างกัน สารคดีชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอด branded content เลยทีเดียว

เพราะอะไร?

1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน: เข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ และสร้างการรับรู้ให้แบรนด์เอฟวัน

2. พร้อมต้อนรับแฟนกลุ่มใหม่: Formula 1: Drive to Survive ถูกสร้างมาเพื่อเปิดมุมมองการดูกีฬา และดึงดูดแฟนกีฬาหน้าใหม่ ไม่ต้องลงลึกทุกรายละเอียดแบบแฟนเดนตายก็บันเทิงได้ 

3. มีรูปแบบที่โดนใจ บนแพลตฟอร์มที่ใช่: การเลือกจับมือกับเน็ตฟลิกซ์เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด แบบวิน-วินสำหรับทั้งเอฟวัน ที่ได้เข้าถึงผู้ชมทั่วโลกของเน็ตฟลิกซ์ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และเน็ตฟลิกซ์ก็ได้ลูกค้าที่สมัครใช้บริการเพิ่มขึ้นเพราะอยากติดตาม Formula 1: Drive to Survive 

4. ให้ผลลัพธ์จับต้องได้จริง: Formula 1: Drive to Survive สร้างตัวตนและการรับรู้ถึงเอฟวันในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาชนะใจกลุ่มแฟนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นแฟนตัวยงที่ติดตามต่อเนื่องยาวๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีบทเรียนที่สามารถถอดรหัสจากสารคดีชุดนี้ได้อีกหลายอย่าง 

• การเล่าเรื่องตามความเป็นจริง (authentic storytelling) คือหัวใจ: เพราะทำให้ทุกคนได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในเรื่องราวและความท้าทายที่บอกเล่าผ่านผู้คนจนจับต้องได้ กลายเป็นความผูกพัน และความเข้าใจที่มากขึ้น

• ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (strategic partnership) เลือกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง: การที่ Liberty Media ตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ได้อย่างมากมายมหาศาล ร่วมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด

• การกระจายความหลากหลายของเนื้อหา (content diversification): ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น เพราะการพยายามทำเนื้อหาให้มีความหลากหลายและแตกต่างช่วยทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่มีความสนใจหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่กรอบเนื้อหาและรูปแบบเดิมๆ เช่น รายงานทีมเต็ง ข่าวผลการแข่งขัน หรือสกู๊ปข่าวนักแข่งเทพ 

• ใครๆ ก็อยากรู้เบื้องลึกเรื่องวงใน (behind the scenes): การเปลี่ยนมุมมองใหม่ของเรื่องเดิมก็อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกสดใหม่และน่าตื่นเต้นได้ แม้ว่าจะเคยชมการแข่งแบบสดๆ มาแล้วแต่การได้รู้รายละเอียดเบื้องหลังช่วยเพิ่มความลึกซึ้งในความเข้าใจและความรู้สึกชื่นชมของคนดูได้อีก 

ทั้งหมดนี้ของ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันไม่เพียงแค่ ‘รอดชีวิต’ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังเติบโตอย่างสดใสได้อีกครั้งอย่างน่ามหัศจรรย์

จากเดิมที่แฟนรถแข่งจะรอเปิดฤดูกาลอย่างเหงาๆ ตอนนี้ทุกคนเฝ้ารอซีซั่นใหม่ของสารคดีรถแข่งชุดนี้ว่าจะมีเบื้องลึก เบื้องลับ มีพัฒนาการของตัวละครหรือเรื่องราวยังไง ไปจนถึงมีอะไรที่เป็นเหตุและผลของเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นและเป็นข่าวผ่านตามาก่อน

ว่าแล้วภาพบนจอตอนนี้ ถัดจากเซฟตี้คาร์ เห็นแฮมิลตันในอารมณ์หงุดหงิดแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ กำลังรอออกตัวในรอบสุดท้ายของการแข่งขันโดยที่รู้ว่าเขาพลาดไม่ได้แล้ว ขณะที่เวอร์สแตปเพนค่อยๆ เคลื่อนรถมาใกล้ๆ เหมือนเสือที่รอขย้ำเหยื่อ

“นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้สร้างประวัติศาสตร์”

โดยไม่รู้ตัว หัวใจของเราเต้นแรงตามไปด้วยแล้ว

อ้างอิง

Match facts

  • ในบางซีซั่นอาจจะไม่มีทีมที่ปฏิเสธจะเซ็นสัญญาเพื่อปรากฏในซีรีส์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทีมสามารถทำได้ และก็เปลี่ยนใจกลับมาได้เช่นกัน
  • การที่ Formula 1: Drive to Survive ยืนยาวถึงซีซั่นที่ 6 ทำให้ผู้สร้างสามารถเจาะลึกถึงพัฒนาการของตัวละครได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักขับหรือหัวหน้าทีมก็ตาม
  • เน็ตฟลิกซ์ยังไม่มีการยืนยันการสร้างซีซั่นที่ 7 ในเวลานี้ แต่เชื่อว่าน่าจะมีให้ชมอย่างแน่นอน

คุยกับผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของโรงแรมอลิซาเบธ ที่แก้วิกฤตธุรกิจด้วยพลังราดหน้าและโซเชียลฯ

พูดถึงโรงแรมอลิซาเบธ นึกถึงอะไร?

แทนที่จะเป็นห้องพัก ราดหน้าเส้นกรอบอาจเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง ทั้งที่เห็นจากรีวิว เห็นในโซเชียลมีเดีย หรือรู้จักผ่านการบอกต่อแบบปากต่อปาก

ถ้าเข้าไปในเพจเฟซบุ๊กโรงแรมอื่น ภาพคัฟเวอร์อาจเป็นรูปสถาปัตยกรรมหรือสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ภาพปกของโรงแรมอลิซาเบธเป็นรูปจานราดหน้าทะเล

ณ ห้องอาหารในโรงแรมอลิซาเบธ ย่านประดิพัทธ์ สะพานควาย เปา–สุรกิจ เมธานุกิจ ผู้บริหารโรงแรมอลิซาเบธ รุ่น 2 ได้ชวนเรานั่งในโต๊ะในสุดท่ามกลางบรรยากาศคลาสสิกวินเทจ ผสมผสานด้วยศิลปะแบบกอทิก เพื่อพูดคุยกันเรื่องโรงแรมอลิซาเบธ ตำนานแห่งย่านสะพานควายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับครั้งไม่ถ้วน

เปา–สุรกิจ เมธานุกิจ ผู้บริหารโรงแรมอลิซาเบธ รุ่น 2

กว่า 33 ปีที่โรงแรมอลิซาเบธเปิดให้บริการ นี่เป็นครั้งแรกที่โรงแรมเจอวิกฤตครั้งใหญ่เพราะเหตุไวรัสระบาดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา วันนี้บรรยากาศในโรงแรมคงขวักไขว่ไปด้วยผู้เข้าพักหลากหลายช่วงวัย แต่ส่วนที่คึกคักที่สุดเห็นจะเป็นฝั่งห้องอาหาร ครัวเดลิเวอรีที่คอยพยุงให้พนักงานกว่า 100 คนก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้

“โควิดทำให้เราไม่มีลูกค้าเลยแม้แต่คนเดียว เราก็พยายามทำอะไรที่สร้างรายได้ จึงเป็นที่มาของการขายอาหารออนไลน์”

“ได้ยินมาว่าก่อนเป็นโรงแรมอลิซาเบธ คุณเคยทำธุรกิจอื่นมาก่อน” ก่อนจะไปเจาะลึกไวรัลราดหน้าอลิซาเบธ เราชวนย้อนเวลากลับไปยังจุดเริ่มต้น

“ตอนแรกบ้านผมเปิดร้านขายรองเท้าที่ประตูน้ำ ซึ่งต้องมีการส่งสินค้าให้ลูกค้าต่างชาติ และส่วนใหญ่ลูกค้ากลุ่มนี้จะพักอยู่ที่โรงแรมอินทรา ที่เป็นโรงแรมเก่าแก่ในย่านนั้น พ่อแม่ผมเลยคิดว่าถ้าเรามีโรงแรมแบบนี้บ้างคงดี จากนั้นจึงเริ่มหาที่ดินเปิดโรงแรม และเมื่อ 33 ปีที่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ร้านรองเท้าของเราก็อยู่โซนประดิพัทธ์ สะพานควายอยู่แล้ว บวกกับใกล้สนามบินดอนเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกสบาย เราจึงตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ และพัฒนาเป็นโรงแรมอลิซาเบธที่มีห้องพักให้เลือก 272 ห้อง”

ปัจจุบันโรงแรมอลิซาเบธเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่พร้อมรองรับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 

เปลี่ยนการจดมือ เป็นการใช้ระบบ

แม้สุรกิจจะเติบโตมากับการเห็นครอบครัวบริหารโรงแรมมาตลอด แต่จังหวะการเข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนที่คิด 

“ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเข้ามาบริหารใหม่ๆ ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย ทุกอย่างเป็นระบบแมนนวล ทั้งเรื่องการจองที่พัก การรับออร์เดอร์ร้านอาหาร ผมก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคที่มีอโกด้า มีระบบ POS เข้ามาช่วยจองที่พักและสั่งอาหาร”

ถึงทุกวันนี้เทคโนโลยีจะพัฒนามาไกล และมีนวัตกรรมคอยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและผู้เข้าพักมากมาย แต่สุรกิจกลับมองว่าการบริหารงานในยุคนี้ไม่ได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต

“ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ผมว่าการบริหารงานยุคนี้ยากกว่า แต่ก่อนแค่โฆษณาโรงแรมก็เป็นที่รู้จักแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เราต้องใช้โซเชียลในการเข้าหาลูกค้า ต้องทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ยิงแอดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ลูกค้าเห็นว่าโรงแรมเรามีคุณค่า มีจุดเด่นยังไง และเมื่อลูกค้ามาพักจะได้ประสบการณ์และความประทับใจกลับไป

“ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งช่วงที่มีลูกค้าเยอะ ลูกค้าน้อย แต่ช่วงที่ตกต่ำที่สุดคงเป็นช่วงโควิด เพราะไม่มีลูกค้าเลยแม้แต่คนเดียว เราต้องปิดโรงแรมไป 2 เดือนเต็มๆ ตอนนั้นคนทำธุรกิจโรงแรมเจ๊งกันหมด เราพยายามกัดฟันหาช่องทางสร้างรายได้เข้ามาเพื่อเลี้ยงพนักงาน ซึ่งเป็นที่มาของการขายราดหน้า”

เปา–สุรกิจ เมธานุกิจ ผู้บริหารโรงแรมอลิซาเบธ รุ่น 2

แก้เกมด้วย ‘ราดหน้า’

ถึงตอนนี้สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมกลับมาปกติ นักท่องเที่ยวออกเดินทางมากขึ้น โรงแรมพร้อมเปิดบริการห้องพัก ส่งผลให้วันนี้การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมหันมาสู้กันด้วย emotional ถ้าโรงแรมไหนมีเรื่องราวหรือกิมมิกอะไรที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้มาเยือนได้มากกว่า โรงแรมนั้นถือว่ามีแต้มต่อ ซึ่งราดหน้านี้เอง ที่ทำให้ชื่อของโรงแรมอลิซาเบธกลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง 

“จริงๆ แล้วเราขายราดหน้ามาตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน เป็นสูตรกวางตุ้ง ที่เราจะนำเส้นไปทอดกรอบ มีทั้งหมู เนื้อ และทะเล เราก็ขายมาเรื่อยๆ ไม่โด่งดัง จนถึงช่วงโควิดที่เทรนด์การขายเดลิเวอรีกำลังมาแรง เราก็นำเมนูนี้ไปขายด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ จำได้ว่าช่วงแรกขายได้ 1 กล่องต่อเดือน พัฒนามาเป็น 1 กล่องต่อสัปดาห์ ซึ่งขายได้แค่นั้นเราก็ดีใจแล้ว

ราดหน้า

“จนกระทั่งมีคนมาแนะนำให้ขายในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อกลุ่มอารีย์คอมมูนิตี้ รวมของกินในย่านอารีย์ ผมก็โพสต์ขายบ้าง เพราะไม่มีอะไรจะเสีย แต่พอลงปุ๊บก็ขายได้ 20 กล่องต่อชั่วโมง เป็นอะไรที่น่าแปลกใจ เพราะปกติเราขายได้แค่ไม่กี่กล่องต่อเดือน เลยเป็นจุดเริ่มต้นของราดหน้าอลิซาเบธ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น” สุรกิจเล่าถึงจุดเปลี่ยน

อะไรคือจุดเด่นของราดหน้าอลิซาเบธ

“ผมว่าของเราจานใหญ่ ให้เยอะ ราคาไม่แพง มีให้เลือกหลายอย่าง ถ้าเป็นราดหน้าหมู-เนื้อราคา 130 บาท และราดหน้าทะเล ราคา 145 บาท ทำให้เกิดกระแสไวรัลในอินเทอร์เน็ต มีอินฟลูเอนเซอร์เข้ามารีวิวโดยที่เราไม่ต้องจ้าง ตอนนี้ขายได้เฉลี่ย 100 กล่องต่อวัน และกลายเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของโรงแรม”

นอกจากเมนูราดหน้าแล้ว ผู้บริหารหนุ่มรายนี้ยังได้แนะนำเมนูขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาดอย่างทอดมันกุ้ง แกงส้มแป๊ะซะ และไอศครีมโฮมเมด เป็นไอศครีมกะทิอบควันเทียน ที่มีแค่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น

บริการดุจญาติมิตร

การบริการที่ดี เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของธุรกิจโรงแรม เพราะเป็นสิ่งที่สร้าง ‘ประสบการณ์’ ให้กับผู้เข้าพัก มีผลต่อความประทับใจ การบอกต่อ และความยั่งยืนของธุรกิจ

“นอกจากเรื่องอาหารที่หลายคนรู้จัก จุดแข็งของโรงแรมอลิซาเบธอยู่ที่การบริการ ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เป็นกันเอง ให้บริการเหมือนญาติพี่น้อง ยิ้มแย้ม พร้อมให้ความช่วยเหลือ และพนักงานส่วนใหญ่จะจำลูกค้าได้ เรามีพนักงานที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งโรงแรม ทำงานมา 20-30 ปีก็มี หรือบางคนมีลูกมีหลานก็ให้มาทำงานที่นี่

“ในฐานะที่โรงแรมอลิซาเบธเป็นผู้เล่นที่อยู่ในวงการมานาน คิดว่ายังมีสิ่งที่พัฒนาได้อีกเยอะ อาจมีการเพิ่มเติมในเรื่องทักษะต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้เราจัดอบรมพนักงานทุกเดือน ทั้งเรื่องบริการ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม”

ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงแรมอลิซาเบธอธิบายการบริการที่ทำให้โรงแรมประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ 

240 คลิปภายใน 8 เดือน

นอกเหนือจากงานบริการที่ให้ความสำคัญแล้ว การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่โรงแรมอลิซาเบธใช้ในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย 

ใครที่เล่น TikTok บ่อยๆ อาจเคยเห็นคอนเทนต์ของผู้ชายคนนี้ ที่เดินรีวิวโรงแรมในมุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรีวิวอาหารบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม รีวิวการหั่นผักคะน้าในราดหน้า รีวิวห้องพัก และรีวิวห้องจัดเลี้ยง จัดสัมมนา

“จุดเริ่มต้นของการใช้โซเชียลเกิดจากความคิดที่ว่าถ้าอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ไม่พัฒนาตัวเอง ธุรกิจก็จะไปไม่รอด เราเห็นว่าทุกวันนี้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเริ่มอยู่ยากขึ้น ทำคอนเทนต์แล้ว Reach (การมองเห็น) ลดลง เราจึงกระโดดมาสู่แพลตฟอร์ม TikTok ช่วงแรกๆ ที่ทำเหมือนเรายังถ่ายมั่ว จับทางไม่ถูก คอนเทนต์จึงไม่มีคนดู แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มจับทางได้ มีคนดูมากขึ้น จากเดิมที่ถ่ายกันแบบบ้านๆ ก็เริ่มมีทีมงาน มีสคริปต์ มีการวางแผนว่าแต่ละวันจะถ่ายอะไร หลักๆ จะเน้นคอนเทนต์เกี่ยวกับโรงแรม เป็นคอนเทนต์อาหาร และห้องพักในสัดส่วนเท่าๆ กัน”

ถ้าตอนนี้คุณเข้าไปดู TikTok ของผู้บริหารโรงแรมอลิซาเบธ จะได้เห็นคอนเทนต์จำนวนมากที่รีวิวทุกแง่มุมของโรงแรม สุรกิจบอกเราว่า ตลอด 8 เดือนที่สวมหมวก TikToker ทำคอนเทนต์วันละ 1 คลิป นั่นหมายความว่าตอนนี้คลิปมากกว่า 240 คลิปแล้ว

“ฟีดแบ็กถือว่าดีมาก มีลูกค้าอยู่ไกลๆ ก็ตามมากินราดหน้า ไม่คิดว่าคลิปจะไปไกลขนาดนี้ และมีคนมาเข้าพักโรงแรมด้วย แต่ส่วนใหญ่คนที่ตามมาจาก TikTok จะมาเพื่อทานอาหารมากกว่า”

ปรับตัวไว ไปให้เร็ว

ย้อนกลับไป 10-20 ปีที่แล้ว ถ้าคุณอยากไปเที่ยวก็อาจต้องเปิดนิตยสาร โทรถามข้อมูล และตัดสินใจจอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตาม สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการตลาด โปรโมตโรงแรมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ทั้งการทำเว็บไซต์ และใช้โซเชียลมีเดีย ที่โรงแรมอลิซาเบธเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

“การเป็นโรงแรมเก่าแก่ถือเป็นจุดอ่อนได้เหมือนกัน เพราะลูกค้าปัจจุบันเป็นลูกค้าที่อยู่กับเรามานาน  สมัยก่อนเวลาลูกค้ามาทานอาหารที่นี่ นั่งโต๊ะยาว 10 คน เชื่อไหมว่าอายุรวมกันเป็นหมื่นปี หากวันใดวันนึงลูกค้ากลุ่มนี้ล้มหายตายจากไป และถ้าไม่มีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาเติม ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ เรารู้ตัวและมองเห็นจุดอ่อนเหล่านี้มานาน จึงเดินหน้าสร้างจุดแข็งด้วยการทำตลาดออนไลน์ 

“2 สิ่งที่โรงแรมอลิซาเบธทำหลักๆ คือ การทำคอนเทนต์ และการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เปรียบได้กับการเติมเต็มประสบการณ์ทั้งในฝั่งออนไลน์และออฟไลน์ โดยคอนเทนต์จะทำหน้าที่ถ่ายทอดตัวตนขององค์กรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และในฝั่งของการสร้างประสบการณ์ เป็นส่วนของการบริการที่เชื่อมั่นว่าจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าที่มาได้แน่นอน

“วันนี้ผมเห็นลูกค้าที่เป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ หรือคนอายุสามสิบต้นๆ มาทานอาหารมากขึ้น นั่นหมายความว่าสื่อออนไลน์ที่ทำไปได้ผล เราจึงหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องปรับตัวให้ไว และไปให้เร็ว”

ความเสี่ยงที่คนทำธุรกิจโรงแรมเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจโรงแรม แม้จะดูเป็นธุรกิจที่น่าดึงดูด เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็แฝงไว้ด้วย ‘ความเสี่ยง’ หลายประการ ทั้งเรื่องการแข่งขัน เศรษฐกิจ และชื่อเสียง ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยความที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ยังต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และสำหรับปีนี้หลายภาคส่วนต่างคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวในบ้านเราจะคึกคัก โดยเฉพาะในฤดูการท่องเที่ยวช่วงเดือนเมษายน ที่ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติต่างตบเท้าออกท่องเที่ยว ซึ่งมาคู่กับเทรนด์การท่องเที่ยวด้วยงบจำกัดที่มาแรงในปีนี้

“หลังจากผู้คนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเครียด ความกดดัน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ผมคิดว่าความเสี่ยงของธุรกิจโรงแรมมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ โควิด ที่แม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังทิ้งร่องรอยที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ และส่งผลให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในยุคที่ผู้คนต้องรัดเข็มขัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โรงแรมของเราตอบสนองเทรนด์การเที่ยวแบบมีงบจำกัดด้วยความคุ้มค่า คุ้มราคา ด้วยการตรึงราคาห้องพักไว้ที่ 1,100 บาทต่อคืน พร้อมอาหารเช้าบุฟเฟต์หลายสัญชาติ เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้บ้าง”

ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงจากโรงแรมใหม่ๆ แต่จริงๆ แล้วธุรกิจโรงแรมยังต้องเจอความเสี่ยงกับการธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกันอย่าง Airbnb ที่เปิดให้ผู้คนเปลี่ยนบ้านเป็นโรงแรม หรือโรงแรมไลฟ์สไตล์ (lifestyle hotel) ที่เจาะลูกค้าในกลุ่มเซกเมนต์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

“เราโดนแย่งลูกค้าเยอะจนไม่รู้สึกกลัวแล้ว เรายังมั่นใจว่าเรามีจุดขายที่ดี มีสิ่งที่ลูกค้าชอบ ซึ่งจุดขายที่ว่านี้คือ การบริการ เราเชื่อว่าเราทำได้ดี ไม่งั้นลูกค้าคงไม่กลับมาซ้ำ สิ่งที่เราทำคือ การรู้จักตัวตนของลูกค้าให้มากที่สุด ทั้งเรื่องความสนใจ ความชื่นชอบ และความคาดหวัง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของเรามีทั้งกลุ่มที่เป็นลูกค้าประจำที่มีศักยภาพสูง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ที่ดีภายใต้ความคุ้มค่าที่จ่าย”

และความเสี่ยงอีกประการคือ ‘ชื่อเสียง’ ไม่ว่าใครก็รักธุรกิจของตัวเอง การได้รับรีวิวเชิงลบอาจทำให้เสียกำลังใจไปบ้าง แน่นอนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเสียหายหรือผิดพลาดเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรทำ แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรีบแก้ไข 

“เวลาลูกค้าชมหรือด่าเราจะรับรู้ทั้งหมด ไม่ปล่อยผ่าน และเปิดใจรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ค่อยๆ คิดทบทวนว่าสิ่งที่ลูกค้ารีวิวมีส่วนไหนที่เป็นความผิดพลาดของเรา หากเป็นปัญหาจริง เราก็น้อมรับมาปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้นทันที” 

สำหรับผู้ประกอบการ ที่กำลังคิดจะลงทุนในธุรกิจโรงแรม ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด วิเคราะห์ความเสี่ยง วางแผนกลยุทธ์ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น สุรกิจยังเล่าอีกว่า “ในอนาคตเราอาจมีธุรกิจสำรองที่ไม่เกี่ยวกับโรงแรม เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นโครงการ mixed-use ที่เป็นทั้งสำนักงานและโรงแรม”

สร้างแลนด์มาร์ก

เมื่อถามสุรกิจว่ามองภาพในอนาคตของโรงแรมอลิซาเบธยังไง ได้คำตอบว่า “เราต้องการเป็น destination ของพื้นที่ย่านนี้ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นมีวัดอาซากุสะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาญี่ปุ่นแล้วต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง สำหรับที่นี่เราจะใช้ราดหน้าเส้นกรอบ และความสวยงามของสถานที่เป็นตัวดึงดูด เพราะจริงๆ แล้วสะพานควายอาจไม่ใช่ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ไม่ใช่หมุดหมายสำคัญ แต่เราอยากให้ที่นี่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯ เราคิดว่าเราทำได้ แค่เดินมาถ่ายรูปด้านหน้าก็พอใจแล้ว” 

ทุกวันนี้สุรกิจยังคงสนุกกับการบริหารโรงแรม ทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้โรงแรมมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา บางครั้งก็ต้องทำงานร่วมกับคอมมิวนิตี้ในย่านนั้นๆ เพื่อให้โรงแรมเป็นหมุดหมายสำคัญในย่านประดิพัทธ์ สะพานควายต่อไป