‘เพราะความตายออกแบบได้’ Baojai Family ธุรกิจวางแผนชีวิตในวันนี้ให้ตายดีในวันหน้า

‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้’ 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดนี้อยู่เนืองๆ แต่น้อยคนนัก ที่จะคิดไกลถึงการออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะสังคมไทยแทบไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องความตาย เพียงเพราะกลัวเป็นลางร้าย หลายคนจึงเบาใจได้กับทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องชีวิตในวาระสุดท้าย 

ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เราเดินทางมายังบ้านสวนขนาดย่อมของ กอเตย–ปิญชาดา ผ่องนพคุณ ผู้ก่อตั้ง ‘Baojai Family’ ธุรกิจวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี หลังจากพ่อของเธอกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย 

ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้ว่านอกจากสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ที่เคยร่ำเรียนและทำงานมา ‘สิทธิการตายดี’ ก็สำคัญ

“เรายังไม่เคยเห็นใครพูดถึงสิทธิการตายดี ยังไม่มีใครพูดเรื่องการรักษาแบบประคับประคองเลย ทั้งที่จริงแล้ว พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตราที่ 12 ระบุไว้ว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับการรักษาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เราสามารถเลือกที่จะไม่ปั๊มหัวใจ เลือกที่จะไม่รับเคมีเพื่อยื้อชีวิตที่รักษาไปก็ไม่เกิดประโยชน์โดยไม่จำเป็น” 

กอเตยตัดสินใจเข้าร่วมเรียนรู้สิทธิการตายดีกับกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลการเจ็บป่วย การตาย การบริบาล และความสูญเสีย นอกจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความตายที่เธอได้กลับมา สมุดที่ช่วยให้เราใคร่ครวญถึงความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่าง ‘สมุดเบาใจ’ ของ Peaceful Death ก็เหมือนเป็นประตูนำทางให้เธอขับเคลื่อนสิทธิการตายดีในไทยมากขึ้น

“ช่วงที่เราเข้าใจสิทธิการตายดีมันดันเป็นช่วงที่พอเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องให้มอร์ฟีนไปแล้ว เขาอยู่ในจุดที่อยากกระโดดออกจากเตียงเพราะคิดว่าข้างล่างเป็นสระว่ายน้ำ เราเลยใช้เวลาคุยกับพ่อนานมากกว่าจะได้แพลนในสมุดเบาใจว่าพ่ออยากได้อะไรในช่วงท้ายของชีวิต”

เธอพาพ่อกลับบ้านตามที่พ่อต้องการ เธอเลือกโลงศพสีขาวลายต้นไม้สีเขียวตามที่พ่อปรารถนา กระทั่งของชำร่วยในงานซึ่งเป็นกระเป๋าที่มีลายเซ็นของพ่อ กอเตยก็บอกว่านี่คือสิ่งที่พ่อเลือกเองทั้งสิ้น

“เขาได้เลือกทุกอย่างด้วยตัวเอง เรารู้สึกว่ามันเติมเต็มจนทำให้เขาจากไปแบบไม่ห่วงอะไรเลย”

ณ ห้วงเวลานั้น เธอได้เข้าใจว่าสิทธิการตายดีเริ่มต้นขึ้นในขณะที่เรายังกินดีอยู่ดี มีลมหายใจ และช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเราจะเป็นแบบไหนก็ขึ้นกับการออกแบบชีวิตของเราในปัจจุบัน

ตอนที่ใช้สมุดเบาใจพูดคุยเรื่องความตายกับคุณพ่อ คนในครอบครัวรู้สึกยังไงบ้าง 

เราชวนพ่อทำพร้อมกับแม่เลย ความโชคดีของเราคือแม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เราอยากทำอะไร เราอยากคุยอะไรก็ลองดู ไม่มีการต่อต้าน เพราะฉะนั้นกับครอบครัวไม่ใช่เรื่องยาก 

ที่ยากคือญาติ เวลาญาติมาเยี่ยมพ่อ สิ่งที่เขาจะพูดคืออยู่ได้อีกนาน แต่เราเห็นความเป็นจริงว่าไม่นานหรอก ญาติเลยไม่เข้าใจว่าเราจะทำสิ่งนี้กับพ่อไปทำไม แม้กระทั่งตอนแจกสมุดเบาใจในงานศพพ่อ บางคนก็บอกว่าเหมือนเราไปแช่งเขา ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันไม่ง่ายสำหรับเขาเหมือนกัน 

เพราะต้องบอกว่าในปี 2561 มันเป็นช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 เข้ามา ความตายดูเป็นเรื่องไกลตัว  มันยังไม่มีคนพูดเรื่องการสูญเสีย 

จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

ตอนพ่อกลับมาอยู่บ้าน โรงพยาบาลตำบลเข้ามาดูแลพ่ออย่างดี ออกซิเจนที่พ่อใช้ก็มาจากคนที่เขาไม่ได้ใช้แล้ว แล้วบริจาคให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งที่ปกติถังนึงก็เกือบแสน ถ้าเช่าต่อเดือนอย่างต่ำก็ 5,000 บาท 

เรารู้สึกว่าชุมชนเกื้อกูลเรื่องนี้กันอย่างดีมาก ความตั้งใจแรกเลยคือเราอยากส่งต่อเรื่องนี้ให้กับคนในชุมชน เราไปเรียนเกี่ยวกับกระบวนกรชุมชนกับ Peaceful Death เพื่อนำชุมชนเขียนสมุดเบาใจหรือชวนคนใกล้ตัวคุยเรื่องชีวิตและความตายได้ 

เรารู้สึกรักองค์กรนี้มาก อีท่าไหนไม่รู้ก็ได้รับโอกาสให้ทำงานในองค์กรจนปัจจุบัน จากนั้นก็ไปเรียนทักษะกระบวนกรกับเสมสิกขาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนกระบวนกร 

แล้วอาชีพการวางแผนความตายคืออะไร

จริงๆ อาชีพเรามันเรียกว่าผู้เอื้ออำนวยในการวางแผนดูแลระยะท้าย แต่ลองคิดภาพว่าถ้าใช้คำนี้คนต้องไม่เข้าใจแน่ๆ ตอนนั้นเราเลยเลือกแบบตรงตัวเลยแล้วกันว่า Death Planner 

แรกๆ โดนด่ากระจุย เพราะว่ามันใหม่มากในสังคมไทย แถมคนยังเข้าใจผิดว่าคือการเตรียมงานศพ ใครจะตายก็เดินเข้ามาได้ หรืออยากจะการุณยฆาตก็มาได้ พอปรับมาใช้คำว่าการวางแผนการตายดี คนในแวดวงก็เข้าใจนะ แต่คนข้างนอกก็ยังไม่เก็ตอยู่ดี 

เราเลยมานั่งตกผลึกว่ากระบวนการที่เราทำมันพากลับมาเห็นชีวิต มันพากลับมาเห็นความสัมพันธ์ ถ้าเราใช้คำว่าวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีล่ะ มันเป็นยังไง ทุกคนบอกว่ามันรื่นหูกว่าเยอะ มันให้ความรู้สึกว่าเรากำลังทำงานกับตัวเองในชั้นของชีวิต มันคือการออกแบบชีวิตเพื่อที่เราจะตายดี มันจะทำให้กลับมาถามตัวเองว่าเราต้องมีชีวิตแบบไหนเพื่อที่วันสุดท้ายเราจะตายดี 

ตอนไหนที่รู้สึกว่าธุรกิจนี้มันมีทางไป

เราเห็นแล้วว่าในต่างประเทศมันมีโมเดลแบบนี้ แต่ในไทยมันยังไม่มี แล้วโมเดลในต่างประเทศก็เป็นแค่การทำบนเอกสารและยึดโยงตัวแพลนเป็นหลัก แต่คนที่เชื่อมโยงคุณค่าหรือช่วยคนใคร่ครวญความเป็นมนุษย์ในตัวเองยังไม่มี เราเลยคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้แหละ 

เชื่อไหม มันเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะพอมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนไทยจะคิดว่ามันต้องฟรี แต่เราเชื่อว่ามันเป็นอาชีพได้ เราถามเลยว่าเพื่อนคนไหนอยากวางแผนบ้าง เราจะเข้าไปทำให้โดยไม่คิดว่าต้องจ่ายค่าบริการกี่บาท 

พอให้บริการเสร็จเราก็ถามว่าถ้าเราให้บริการแบบนี้ เพื่อนจะจ่ายเท่าไหร่ เราทำแบบนั้นอยู่นับไม่ถ้วน จนเจอว่ามีทั้งคนที่พร้อมจ่าย คนที่รายได้น้อย แล้วค่อยมาหาตรงกลาง เปรียบเทียบกับงานกระบวนกร วิทยากร และพิธีกรที่เราเคยได้เป็นรายชั่วโมง 

แต่เราลืมคิดต้นทุนแฝง จุดเปลี่ยนคือเราไปให้บริการนักธุรกิจที่ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเรา ตอนนั้นเขาบอกว่ากอเตยต้องมั่นใจในตัวเองและไม่ดูถูกตัวเอง เพราะสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า แล้วเขาก็สอนวิธีคิดค่าบริการที่สมเหตุสมผลที่สุด 

หลักการคืออะไร

ไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกค้าเห็นแล้วรับได้ โอเคที่จะจ่าย แล้วเราต้องแจกแจงให้ลูกค้าเห็นว่าในบริการนี้เขาจะได้อะไรจากเราบ้าง เช่น แม้จบการวางแผนไปแล้ว เรายังพูดคุยแนะนำได้โดยไม่เก็บค่าบริการ ถ้าจะมา ปรับแพลนกับเรา เราลดค่าบริการให้ตามสัดส่วน 

กลายเป็นว่าเราเจอกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจ่าย กลุ่มลูกค้าที่ให้คุณค่ากับงานของเราจริงๆ จนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะดูแลไม่ต่ำกว่า 200 เคส ไม่รวมกลุ่มคนตอนต้นที่เราไปเก็บข้อมูล บางเคสเป็นครอบครัว บางเคสเป็นคู่รัก หรือบางครั้งเราก็ได้โอกาสไปเป็นวิทยากรบ้าง ได้สร้างหลักสูตรบ้าง เราเลยมองว่ามันอยู่ได้ 

สมมติวันนี้มีลูกค้าเดินเข้ามา Baojai Family จะช่วยวางแผนชีวิตเพื่อการตายดียังไงบ้าง

สิ่งที่จะถามก่อนคือ อะไรทำให้คุณตัดสินใจมารับบริการ บางคนบอกว่ากลัวความตายมากเลย แต่รู้สึกว่าต้องทำงานกับมันแล้ว บางคนบอกว่าความสัมพันธ์ที่บ้านไม่ดีเลย อีกแบบหนึ่งคือโสดค่ะ ต่อไปไม่รู้จะให้ใครดูแล ที่ถามเพราะเราจำเป็นต้องรู้ว่าลูกค้าเรามีปัญหาหรือความทุกข์อะไรในใจ 

คนเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียกับไม่เคยก็ไม่เหมือนกัน คนมีโรคประจำตัวกับไม่มีก็ไม่เหมือนกัน แบบฟอร์มที่เราให้เขากรอกก็จะช่วยสกรีนให้เราได้ประมาณหนึ่ง แล้วเราถึงนัดหมายวันให้บริการ มันไม่ใช่การเอาสมุดเบาใจของ Peaceful Death ที่เราใช้ในกระบวนการไปเขียนเอง แต่มันคือการค่อยๆ พาไปทีละสเตป 

เช่น ถ้าคุณมีข้อกังวลเรื่องความสัมพันธ์กับคนในบ้าน คุณต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อน บางคนกลัวความตายมาก แต่ถ้าได้คุยกันจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้กลัวความตาย แต่เขากลัวบางสิ่งบางอย่างก่อนที่เขาจะตาย เช่น ครอบครัวน่ารักมาก ฉันไม่อยากพรากจากครอบครัวที่ฉันรักไป หรือฉันยังมีเรื่องที่อยากทำเยอะมาก หรือฉันกลัวเจ็บปวดทรมาน 

บางคนก็บอกว่าฉันไม่กลัวเลยฉันพร้อมมาก แต่พอมันผ่านการใคร่ครวญหรือผ่านกระบวนการที่เราเรียกว่า death planning มา กลายเป็นว่าเขาไม่พร้อมที่จะตายเพราะยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ 

การใช้บริการของเบาใจจะต่างจากการเขียนสมุดเบาใจที่มีขายทั่วไปยังไงบ้าง

ทุกคนสามารถวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีของตัวเองได้ จริงๆ ไม่ต้องใช้สมุดเบาใจเลยก็ได้ จะเขียน จะพิมพ์ ได้หมดเลย แต่สิ่งที่เราให้มากกว่านั้นคือการที่เราเป็นพื้นที่ให้เขาได้มาสะท้อนชีวิตตัวเอง หรือแม้กระทั่งทำให้เขาเข้าใจในตัวเองมากขึ้น การมีอยู่ของของทีมยังทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้มันน่าอยู่ขึ้น เราพาให้คนเห็นคุณค่าในชีวิต 

ลูกค้าคนแรกของคุณเป็นยังไง

ลูกค้าคนแรกคือลูกค้าที่อยากตาย เขาทักเข้ามาว่าวางแผนได้เลยใช่ไหม 

คุณทำยังไง

ตอนนั้นคุยกับตัวเองว่ารับดีหรือไม่รับดี (หัวเราะ) เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ อาจเพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ปรับคำเป็นนักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีมั้ง แต่สุดท้ายก็รับเพราะเราอยากรู้ว่าอะไรทำให้เขาเดินมาหาเรา หรือคำนี้มันกระตุ้นเขายังไง 

ตอนนั้นเราเริ่มจากนัดเขาทาง Zoom ถามว่าทำไมเขาถึงมาหาเรา คือยังไม่มีการเก็บข้อมูลก่อนนัดวางแผนเหมือนปัจจุบันเลย เขาก็บอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว ท่าทีเขาเหมือนกับว่าทำแพลนให้ฉันเดี๋ยวนี้ เราก็บอกเขาว่าค่อยๆ ช้าๆ เดี๋ยวเราจะค่อยๆ วางแผนไปด้วยกัน 

พอคุยกับเขาไปสักพักก็บอกว่าไหนๆ ก็ตัดสินใจว่าจะไม่อยู่แล้ว ทำไมมาทำแพลนล่ะ เป็นห่วงใครเหรอ เราพูดแค่นี้ เขาร้องไห้เลย เขาบอกว่าเป็นห่วงแม่ เราเลยถามว่าถ้าชีวิตไม่มีความหมายจริงๆ ทำไมถึงยังรู้สึกเป็นห่วงแม่ล่ะ แล้วแม่รู้ไหมว่าเป็นห่วง 

เขาบอกว่าไม่รู้หรอกเพราะไม่ค่อยได้คุยกัน เราถามว่าแล้วคิดไหมว่าถ้าไม่อยู่ แม่จะเป็นยังไง ลองจินตนาการให้หน่อยได้ไหม เขาก็ร้องไห้หนักมาก เราเลยถามต่อว่าในเมื่อชีวิตภายนอกมันรัดตัวจนทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่า ไหนลองค่อยๆ คิดไหมว่าแล้วคุณค่าในบ้านที่สัมผัสได้คืออะไร เขาบอกว่าทุกเช้า แม่ก็ยังทำอาหารไว้ให้กิน เขาก็ยังมีคุณค่ากับแม่อยู่ 

สุดท้ายเขาตัดสินใจแบบไหน

เราถามว่าแล้วตั้งใจจะไปเมื่อไหร่ เขาบอกว่าเขารู้สึกไม่พร้อมแล้ว แต่เขาก็ไม่รู้นะว่าจะรู้สึกแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนใจก็ได้ มันกลายเป็นว่าคนที่ไม่มั่นคงคือเราแล้ว จนเราต้องไปปรึกษากับทีม Peaceful Death ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้องไหม 

พี่ๆ ก็ถามว่าถ้าวันนี้เขาออกจากกอเตยไปฆ่าตัวตาย เราจะรู้สึกยังไง เราบอกว่าคงเสียใจมากเลย พี่ๆ ก็บอกว่าแปลว่ากอเตยกำลังทำสิ่งที่เกินหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่เราคือคนวางแผนให้เขา เขาจะทำยังไงต่อมันคือชีวิตของเขา แล้วพี่ๆ ก็ถามกลับว่าถ้าเขาไม่มาเจอกอเตย คิดว่าเขาจะเป็นยังไง เราก็ตอบว่าเขาก็คงตัดสินใจแบบนั้นแหละ 

นั่นหมายความว่าถ้าทุกวันนี้เขายังเลือกที่จะอยู่ มันแปลว่าการมาเจอเราคงมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เราต้องเตือนตัวเองคือเราเป็นนักวางแผน เราทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าเราทำได้ดีแล้ว ที่เหลือมันคือการตัดสินใจของเขา

บทเรียนครั้งแรกและครั้งใหญ่

ใช่ หลังๆ มา เราเลยทำงานกับเรื่องนี้ได้ดีมากขึ้น เข้าใจมันมากขึ้น ลูกค้าเราคนแรกเขายังอยู่นะ ทุกคนที่มาใช้บริการยังอยู่กันเป็นครอบครัว เรายังทักไปถามไถ่เรื่องราวกับทุกคนเสมอ เราเลยได้เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าเขาจะตัดสินใจยังไง เราให้สิทธิเขา 

ถ้าเราทำตรงนี้ได้ นี่แหละคือมาตรฐานของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในศักยภาพของเขา เราเชื่อว่าเขาเลือกทางที่ดีที่สุดของเขาแล้ว ส่วนอะไรที่มันเกินมือ เช่น เขาส่งสัญญะที่บอกว่าคนนี้ต้องให้ความช่วยเหลือ เราจะถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือไหม ถ้าต้องการเราจะส่งเขาต่อไปให้จิตแพทย์ นักจิตบำบัด 

อะไรคือมาตรวัดมาตรฐานของธุรกิจที่ทำงานกับ ‘ความตาย’ และ ‘คน’  

ต้องยอมรับว่ามันวัดยากมาก ยิ่งพอเราเป็นผู้เริ่ม เรายิ่งต้องวางมาตรฐานให้ชัดเจนและมีจริยธรรมที่ดีเพราะว่ามันคือธุรกิจที่ทำโดยตรงกับมนุษย์ เราไม่ใช่แค่คนทำสินค้าแล้วขายออกไป 

แต่สิ่งสำคัญ เราไม่เคยพูดว่าระหว่างการยื้อหรือไม่ยื้อชีวิต อันไหนดีกว่ากัน แต่เราทำให้ลูกค้าเห็นว่าอะไรที่มันเหมาะสมกับเขามากที่สุด ทำให้เห็นว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ ถ้าเขามีจุดที่เขาเอ๊ะว่าแล้วอย่างไหนมันดีกว่ากัน เราจะเปรียบเทียบให้เขาเห็นชัด สุดท้ายลูกค้าทุกคนเลือกไปในทางไม่ยื้อชีวิตทั้งหมดด้วยการตัดสินใจของเขาเอง ไม่ใช่เรา 

ถ้าใครสนใจจะเป็นนักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี อยากให้ลองมาคุยกันเพราะเราอยากทำให้อาชีพนี้มันเป็นมาตรฐาน อย่างในทีมตอนนี้ถ้ารวมเราด้วยจะมีนักวางแผน 4 คน แต่ละคนก็เตรียมเรื่องการตายกับที่บ้านแล้ว ที่สำคัญเราเคยเอาเขาไปอยู่ในหน้างานแล้วเราเห็นในสิ่งที่เขามีแต่เราไม่มี เราเลยรู้ว่าทีมมันไม่ต้องเหมือนกัน ทุกคนไม่ต้องเป็นกอเตย แต่ทุกคนเป็นตัวเขาที่มันเติมเต็มกัน 

ตอนนี้ที่ภาคใต้กับที่ภาคเหนือเราก็ยังมองหาว่าจะมีใครที่ทำตรงนี้ได้   

ทักษะของคนที่จะเป็นนักวางแผนความตายมีอะไรบ้าง

การฟังสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าคนคนนึงที่ตัดสินใจมาวางแผนความตาย มันไม่ใช่แค่เรื่องของการที่เขาอยากตายดี แต่มันคือทั้งชีวิตของเขา ถ้าเราไม่ฟังเขาอย่างเพียงพอ เราจะไม่รู้เลยว่าคนคนนี้ต้องการอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยเปิดให้คนได้บอกความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา 

ทักษะที่ 2 คือการตั้งคำถามจากเรื่องราวที่เราได้ฟัง บางทีเราพบว่ามันมีบางอย่างที่เขาไม่พูด แต่เขาคิดหรือรู้สึกในใจ บางครั้งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องการอะไร เราก็ต้องตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้ใคร่ครวญตัวเอง 

ทักษะที่สาม เราต้องมีองค์ความรู้ที่จะบอกกับผู้คนได้ว่าแล้วจากเรื่องราวที่เขาเล่ามา มันจะเป็นยังไงต่อ หรือสิทธิการตายดีคืออะไร อะไรคือการรักษาแบบประคับประคอง สเตจไหนที่ถือเป็นระยะสุดท้าย แล้วโรงพยาบาลไหนบ้างที่พร้อมดูแลเราในรูปแบบนี้ ถ้าบางคนไม่ได้อยากจบชีวิตที่บ้าน 

และทักษะสุดท้าย เราว่าคนที่จะทำงานนี้ได้ต้องเตรียมตัวเองมาประมาณหนึ่ง คือต้องเตรียมแพลนของตัวเอง ทำงานกับตัวเอง 

หมายถึงเราต้องรู้จักตัวเอง

ใช่ เราจะต้องมีประสบการณ์ในการเตรียมตัวเองเพื่อให้เรารู้ว่ามันดียังไง เพราะเราไม่มีทางพาคนไปหาความหมายของการตายดีได้เลยถ้าเราไม่ได้ทำกับตัวเอง 

ถ้าเราวางแผนกับตัวเองประมาณนึงแล้วรู้สึกว่าเราอยากส่งต่อ เราว่า 4 ข้อนี้ก็ครบแล้ว คุณสามารถเป็น death planner ในแบบของคุณได้ ไม่ต้องแบบกอเตยก็ได้ แต่เป็นในแบบของคุณ ที่เข้าใจคนอื่นแล้วก็ทำให้คนอื่นได้เข้าใจความต้องการของตัวเอง 

แล้วใครบ้างที่ควรวางแผนความตาย

เราว่าทุกคนสามารถวางแผนได้หมดเลย เราเคยมีลูกค้าครอบครัวที่เอาลูกอายุ 8 ขวบมาอยู่ด้วย แล้วน้องก็รู้แพลนของตัวเอง 

ถ้าแม้กระทั่งเด็กก็วางแผนชีวิตเพื่อการตายดีได้ หมายความว่าแผนของเราอาจเปลี่ยนแปลงตามคุณค่าที่เราให้ในแต่ละช่วงอายุ 

ถูกต้อง แผนนี้อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มันอาจพาไปสู่ความวางใจว่าไม่ว่าแผนนี้มันจะออกมาจริงหรือไม่จริง ถ้าคุณวางใจในชีวิตได้ แค่กลับมาเห็นคุณค่าความสัมพันธ์และทำมันแค่นั้น มันโอเคแล้ว มันจะไปในเส้นทางของการตายดีต่อไปได้  

4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการวางแผนความตายในสังคมไทยบ้างไหม

มีคนรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เราว่าโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้ว่าความตายมันใกล้ตัวมาก แล้วถ้าเราไม่เตรียมตัวเรื่องนี้มันจะเป็นยังไง โควิด-19 ยังเอื้ออำนวยให้เราถูกพูดถึงในสังคมในวงกว้างมากขึ้นว่ามันมีบริการวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีนะ 

อีกช่องทางคือลูกค้าเราเขาก็เริ่มกล้ารีวิวหรือบอกต่อคนอื่นมากขึ้น จากแต่เดิมที่มาใช้บริการแล้วประทับใจแต่ไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับใครเพราะสังคมยังไม่ยอมรับ อีกอย่างกระบวนการเหล่านี้มันค่อนข้างใช้ความเป็นส่วนตัวสูง บางคนก็จะกระอักกระอ่วนที่จะต้องไปบอกว่าฉันผ่านกระบวนการนี้มา

เทรนด์การเกษียณโดยไม่มีลูกมีผลบ้างไหม

ต่อให้เขามีลูก คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หวังพึ่งลูกแล้ว เขาอยากให้ลูกได้มีชีวิตของเขาเอง แล้วเขาก็ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารว่าพ่อแม่ดูแลตัวเองได้ ไปใช้ชีวิตของคุณเถอะ ส่วนคนที่ไม่มีลูกแต่อยู่ด้วยกัน 2 คน สิ่งที่เรามีให้เขาคือเขาจะรู้ว่าในวันหนึ่งที่คนใดคนหนึ่งจากไปก่อน อีกคนจะทำยังไง 

คนเราคบกัน มีใครบ้างที่พูดว่าฉันสัญญาว่าฉันจะอยู่จนกระทั่งเธอติดเตียง จะเปลี่ยนแพมเพิสให้เธอ มีแต่คนพูดว่าจะอยู่จนแก่เฒ่า จะรักกันตลอดชีวิต เพราะอะไร เพราะไม่มีใครอยากจินตนาการถึงภาพนั้นแต่กระบวนการของ Baojai Family จะให้เขาจินตนาการถึงภาพนั้นว่าในวันที่เกิดเหตุการณ์นั้นเขาจะเอายังไง 

เชื่อไหมว่าคู่ชีวิตสมัยนี้ไม่ค่อยคิดว่าเธอจะต้องดูแลฉัน ฉันต้องดูแลเธอ แต่เขาตั้งหน้าตั้งตาหาเงินจ้าง caregiver อย่างเดียว เธอแค่อยู่เป็นกำลังใจก็พอ ลองคิดว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดการคุย สุดท้ายแล้วลำบากแน่ๆ  

คุณค่าของธุรกิจนี้ที่ทำให้คุณยังอยากทำต่อไป

ลูกค้าเราเป็นตัวเองมากขึ้น เป็นตัวเองที่ไม่ทำร้ายคนอื่น เป็นตัวเองในแบบที่มันดีขึ้นหรือเป็นตัวเองในแบบที่เรารักตัวเองมากขึ้น เคยมีลูกค้าคนหนึ่งบอกว่าขอบคุณมากนะที่วันนั้นเราได้เจอกัน มันทำให้ชีวิตเขาในทุกวันนี้มันเป็นไปในทิศทางไหนบ้าง หลายคนมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้น เขาเข้าใจกันมากขึ้น เขารู้ว่าพ่อแม่เขาต้องการอะไรในช่วงท้ายของชีวิต 

ส่วนตัวเราเอง เรามีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้นจากการทำงานนี้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพี่ชาย พอมาทำงานนี้ เรารู้สึกว่าเราหนีเรื่องนี้ไม่ได้แล้วถ้าเราอยากตายดี ถ้าตัวเราไม่ได้ทำงานกับตัวเองมันคงจะไม่จริงใจที่จะไปบอกให้คนอื่นหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

อีกอย่าง ก่อนหน้านี้เราเคยมีภาวะที่อยากตายเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ว่าคุณค่าของชีวิตเราคืออะไร มันตื่นมาก็งั้นๆ แต่วันที่มันเริ่มเห็นว่าการมีอยู่ของเราก็ไม่ได้จะไปสร้างโลกอะไรได้หรอก แต่มันค่อยๆ เปลี่ยนสังคมทีละนิด ทำให้คนที่เห็นความตายอยู่เบื้องหน้า เขากลับมาเห็นชีวิต กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง นี่แหละมันคือคุณค่าต่อตัวเรา

แล้วสิทธิเรื่องการตายดีในไทยที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน

อย่างแรก–เราอยากให้ทุกครอบครัวคุยเรื่องความตายได้ อยากให้คนที่เราเลือกใช้ชีวิตอยู่ด้วยสามารถคุยเรื่องนี้ได้จนเราเบาใจและวางใจว่าวันที่เราเจ็บป่วยเราต้องการอะไร วันที่เราตายเราต้องการแบบไหน 

สอง–ภาพของ Baojai Family จะชัดขึ้น ถ้านโยบายภาครัฐชัดเจน มีรัฐสวัสดิการที่ดี และกระจายความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น คิดดูว่าคนไทยจะตายดีได้อย่างเต็มที่เลย เราจะวางใจได้ว่าไม่ว่าชีวิตจะไปจบที่ไหนเราจะโอเค 

ไม่กลัวที่คนกล้าพูดถึงความตายจนไม่มาใช้บริการกับเรา 

ไม่กลัวเลย เพราะเราเชื่อว่าเราจะมีทิศทางทำสิ่งอื่นๆ วันนั้นเราคงรู้แล้วว่าคนต้องการอะไร 

ถ้าคนพูดเรื่องนี้กันได้ ถ้ารัฐชัดเจน สังคมไทยจะเดินไปถึงวันนั้น วันที่ธุรกิจนี้มันกลายเป็น red ocean เรื่องแพลนครอบครัวเราอาจไม่ต้องมาดูให้แล้วก็ได้ เขารับรู้ว่าเขาจะดูแลกันยังไง หรือเขาอาจจะยังเขียนแพลนเองไม่ได้ เขาก็ยังต้องการเราอยู่ดี แต่เราไม่ต้องทำงานกับด่านที่ว่าแล้วพ่อแม่จะโอเคไหม เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องที่พูดได้ 

วันนั้น Baojai Family อาจทำเรื่องแผนน้อยลง แต่มีบริการที่เพิ่มขึ้น เราอาจเป็นภาคประชาชนที่เข้าไปดูแลเกื้อหนุนผู้ป่วยระยะท้ายในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์เพราะทุกคนในชุมชนสามารถดูแลกันเองได้

What I’ve Learned

  • เราเป็นคนเริ่มธุรกิจนี้ขึ้นมา มันอาจมีความรู้สึกว่าก็ทำไปเรื่อยๆ แต่เราเพิ่งได้เรียนรู้ว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องจริงจังกับมันมากขึ้นแต่ทำในแบบที่ยังมีความสุขอยู่
  • ถ้าเราอยากทำให้เป็น red ocean เราต้องทำให้มันเป็น red ocean ด้วยตัวเราเอง เราต้องเผยแพร่สิ่งนี้ออกไปให้มาก
  • ธุรกิจเรามันทำงานกับใจคน เราต้องระมัดระวังและละเอียดกับทุกกระบวนการ
  • เราทำงานเรื่องใจกับคนอื่น แต่ถ้าเราไม่ดูแลทีมด้วยหัวใจมันจะไม่จริงใจเท่าไหร่ เราเลยค่อนข้างดูแลทีมดีมาก เราไม่ได้ทรีตกันด้วยผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มันทรีตเหมือนว่าเราเป็นชุมชน เราเป็นกลุ่มคนที่จะทำสิ่งนี้ด้วยกัน
  • 7 วิวัฒนาการในการสร้างธุรกิจของ Pokémon เกมดังแห่งยุคที่ครองใจผู้คนมาตลอด 28 ปี

    ‘ปิกาจู ฉันเลือกนาย!’

    ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของโปเกมอน (Pokémon) หรือไม่ก็ตาม แต่เราเชื่อว่าในชีวิตคุณน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ‘Pokémon’ ผ่านหู และได้เห็นตัวละครโปเกมอนสปีชีส์ต่างๆ ผ่านตากันอยู่บ้าง

    ทั้งมาสคอตเจ้าหนูสายฟ้าสีเหลืองสุดน่ารัก กับเสียงร้อง ‘ปิก้า ปิกาจู’ ที่มักปรากฏตัวอยู่ตามโซเซียลมีเดียหรือจะเป็นเหล่าโปเกมอนตัวอื่นๆ บนแพ็กเก็จจิ้งของหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะเทรนด์ล่าสุดที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คงเป็น ‘Oreo x Pokémon’ คุกกี้แซนด์วิชไส้ครีมวานิลลาที่ใครๆ ต่างก็ตามหาลวดลายตัวละครหายากบนคุกกี้กันให้วุ่น

    แต่ถ้าคุณคิดว่าเทรนด์โอริโอ้พีคแล้ว ปรากฏการณ์ ‘โปเกมอน โก (Pokémon Go) ฟีเวอร์ในปี 2016 นั้นพีคกว่า เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เกิดในเจนฯ ไหน จะเป็นแฟนเกมของโปเกมอนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเกมดังแห่งยุคที่ว่าถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเออาร์ (AR: augmented reality) พร้อมมอบประสบการณ์แบบเสมือนจริงขึ้นมา เป้าหมายเดียวกันของหลายๆ คนก็คือการออกไปจับโปเกมอนตัวโปรดและตามล่าหาโปเกมอนในตำนานตามสถานที่ต่างๆ นั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในช่วงเวลาหนึ่ง เราถึงได้เห็นผู้คนมากมายยืนจดจ่ออยู่กับหน้าจอมือถือของตัวเองเพื่อปัดโปเกมอนบอลกันจนราวเป็นเรื่องปกติ

    ย้อนกลับไปสำหรับใครบางคนประโยคที่ว่า ‘โตมากับโปเกมอน’ คงไม่เกินจริงนัก เพราะเมื่อไล่เรียงตามไทม์ไลน์วิวัฒนาการของ Pokémon กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเติบโตมาพร้อมๆ กับโปเกมอนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ยังเป็นเกมบนเครื่องเล่นเกมพกพาอย่าง Game Boy ก่อนจะพัฒนาไปสู่เทรดดิ้ง การ์ด, มังงะ, อนิเมะ, ภาพยนตร์ ตลอดจนยุคเกมออนไลน์ตามแพลตฟอร์มเครื่องเล่นที่พัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างในทุกวันนี้

    ในวาระที่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็น ‘วันแห่งโปเกมอน (Pokémon Day)’ Capital List จึงจะขอพาไปย้อนดู 7 วิวัฒนาการในการสร้างธุรกิจของ Pokémon ที่สามารถครองใจผู้คนมาได้ตลอดระยะเวลา 28 ปี

    GEN I
    เปิดตัวเกมพ็อกเก็ตมอนสเตอร์ภาค Red และ Green ในเครื่องเล่นเกมพกพา Game Boy 

    Pokémon ถูกสร้างขึ้นโดยซาโตชิ ทาจิริ (Satoshi Tajiri) อดีตนักเขียนนิตยสารเกมชาวญี่ปุ่นและเพื่อนสนิทอย่างเคน สุกิโมริ (Ken Sugimori) ผู้ซึ่งเป็นนักออกแบบตัวละคร

    ย้อนกลับไปในปี 1982 ซาโตชิและเคนได้ริเริ่มทำนิตยสารวิดีโอเกมที่มีชื่อว่า ‘Game Freak’ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มทำธุรกิจ Game Freak ไปได้เพียงไม่กี่ปี ซาโตชิก็ดันมีความคิดที่ว่า ‘จะดีกว่ามั้ย ถ้าพวกเราหันมาทำวิดีโอเกมแทนการเขียนนิตยสารเกี่ยวกับเกม?’ 

    7 ปีให้หลังของการผลิตนิตยสารเกม หรือในปี 1989 ซาโตชิและเคนก็ได้ตัดสินใจเปลี่ยน ‘Game Freak’ บริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ให้กลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกม โดยหลังจากการก่อตั้งบริษัทใหม่และพัฒนาเกมจนสำเร็จ หลากหลายเกมของพวกเขาก็ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เล่นทั่วประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ‘Mario & Wario’ (1993) เกมแนวไขปริศนาที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทวิดีโอเกมชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Nintendo บนเครื่องเล่นเกม 8 บิตอย่างแฟมิคอม (Famicom) หรือ ‘Pulseman’ (1994) เกมยิงที่จัดจำหน่ายภายใต้ Sega บริษัทผลิตวิดีโอเกมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สัญชาติญี่ปุ่นบนแพลตฟอร์มเครื่องเล่นวิดีโอเกมเซกา เมกาไดรฟ์ (Sega Mega Drive) อีกด้วย

    ท่ามกลางการพิตชิ่งวิดีโอเกมต่างๆ ของบริษัทเกม ฟรีกกับเหล่าค่ายวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 90 ซาโตชิก็ได้ผุดไอเดียของการผลิตวิดีโอเกมใหม่ๆ แรงบันดาลใจจากความทรงจำและงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบตั้งแต่เด็กๆ อย่างกิจกรรมจับแมลงและลูกอ๊อดมาเป็นไอเดียหลักของการพัฒนาเกม ‘Pocket Monsters’ (พ็อกเก็ตมอนสเตอร์) หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า ‘Pokémon’ เพื่อเข้าพิตชิ่งกับ Nintendo บนเครื่องเล่นวิดีโอเกมพกพา Game Boy

    แต่การพิตชิ่งวิดีโอเกมที่ตอบโจทย์บริษัทผู้จำหน่ายเกม หรือแพลตฟอร์มเครื่องเล่นเกมนั้นๆ ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเดิมที Nintendo ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเกม Pokémon นี้สักเท่าไหร่  แต่จะไม่ให้ยอมรับวิดีโอเกมนี้ได้ยังไงกัน ในเมื่อซาโตชิใช้ระยะเวลากว่า 6 ปีในการพัฒนาวิดีโอเกม Pokémon นี้ ร่วมไปกับชิเงรุ มิยาโมโตะ (Shigeru Miyamoto) แห่ง Nintendo หรือผู้สร้างเกม Mario และ The Legend of Zelda ด้วยตัวเอง

    ท้ายที่สุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 Pokémon ในภาค Red และ Green ก็ถูกเปิดตัวบนเครื่องเล่นเกมพกพา Game Boy ของ Nintendo ได้สำเร็จ

    Gen II
    ลุยผลิต Pokémon Trading Card จนสามารถจัดรายการแข่งขันเทรดดิ้งการ์ดระดับโลกได้

    ลำพังจะพัฒนา Pokémon เป็นวิดีโอเกมอย่างเดียว ก็คงจะไม่ทำให้ Game Freak เติบโตได้อย่างรวดเร็วทันใจ แล้วซาโตชิและเคนทำได้ยังไง คำตอบง่ายๆ ก็คือ ‘การต่อยอด’ 

    ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน Game Freak ได้ผลิต Pokémon Trading Card Game (เรียกสั้นๆ ว่า Pokémon TCG) โดยไพ่เด็คแรกของ TCG มีจำนวนทั้งหมด 102 ใบ ซึ่งความพิเศษของการ์ดทุกๆ ใบ ก็คือรูปวาดของหลากตัวละครโปเกมอน ผลงานของเหล่าศิลปินมากฝีมือในวงการเกมญี่ปุ่นทั้ง เคน สุกิโมริ นักออกแบบตัวละครเกม, มิตสึฮิโระ อาริตะ (Mitsuhiro Arita) ศิลปินวาดภาพประกอบเกมการ์ด และเคย์จิ คิเนะบูชิ  (Keiji Kinebuchi) นักออกแบบ 3D 

    วิธีการทำธุรกิจของทั้งซาโตชิและเคนนั้นแตกต่างจากผู้ผลิตตัวละครท่านอื่นๆ อย่างการเริ่มต้นด้วยการผลิตวิดีโอเกมแทนการสร้าง Pokémon ในเวอร์ชั่นอนิเมะหรือมังงะก่อน  และด้วยการตัดสินใจในการผลิตทั้งเกมและการ์ดในปีเดียวกันนี่แหละ ส่งผลให้ Pokémon เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถตีพิมพ์เทรดดิ้ง การ์ดเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อวางขายในทวีปอเมริกาเหนือได้ในระยะเวลา 3 ปี และทั่วโลกได้ในระยะเวลา 7 ปี ถือเป็นการทำธุรกิจที่ชาญฉลาดของบริษัทเกมน้องใหม่อย่าง Game Freak เอามากๆ โดยเฉพาะเมื่อ Pokémon Trading Card ได้ถูกจัดขึ้นให้เป็นรายการแข่งขันระดับโลก (Pokémon TCG World Championships) ครั้งแรก ณ เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2004 

    Gen III
    สร้างทีวี ซีรีส์เพื่อผลักดัน ‘Pikachu’ เจ้าหนูสายฟ้าสุดน่ารัก ให้กลายมาเป็นภาพจำของ Pokémon ได้สำเร็จ

    สำหรับใครที่ทันในยุคของวิดีโอเกมโปเกมอนภาค Red และภาค Green คุณอาจจะสังเกตเห็นตัวละครสปีชีส์ที่ 25 อย่าง ‘ปิกาจู’ (Pikachu) เจ้าหนูสายฟ้าตัวสีเหลืองๆ ปรากฏตัวเป็นหนึ่งในคู่ซี้ของซาโตชิกันมาก่อน เพียงแต่คาแร็กเตอร์เจ้าหนูตัวนี้กลับไม่ได้ถูกใช้เป็นตัวหลักในเกมหรือโดดเด่นทัดเทียมกับเพื่อนๆ ตัวละครอื่นๆ อาทิ Bulbasaur โปเกมอนธาตุพืชที่มีรูปร่างอ้วนท้วนดูเป็นมิตร ตัวสีเขียวๆ, Charmander โปเกมอนซาลาแมนเดอร์ตัวแทนแห่งธาตุไฟที่มาพร้อมกับเปลวไฟที่หาง และ Squirtle โปเกมอนน้องเต่าสีฟ้า ตัวแทนแห่งธาตุน้ำเลย โดยในปี 1996 โปเกมอนอย่าง ‘Pikachu’ ก็ยังคงเป็นแค่หนึ่งในตัวละครโปเกมอนหน้าตาน่ารักปกติธรรมดาตัวหนึ่งที่ผู้เล่นเกมสามารถเลือกจับได้ระหว่างเล่น

    แต่จุดพลิกผันสำคัญที่ทำ Pikachu ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นภาพจำของ Pokémon ได้สำเร็จ เกิดขึ้นในปี 1997 หรือปีที่ Pokémon ถูกสร้างให้เป็นแอนิเมชัน ซีรี่ส์ที่ฉายบนทีวีในประเทศญี่ปุ่นด้วยเนื้อเรื่องของเด็กชายวัย 10 ขวบอย่างซาโตชิ และคู่หูเพื่อนซี้ ปิกาจู กับการผจญภัยสู่เส้นทางของการเป็น Pokémon Master นั่นเอง

    Bangkok, Thailand – May 2, 2019: Pikachu doll display by Pokemon Detective Pikachu animation movie backdrop in movie theatre. Cartoon comic character, or cinema film promotional advertisement concept

    หากจะตอบคำถามที่ว่า ‘ทำไมปิกาจูถึงได้ถูกผลักดันให้เป็นภาพจำของ Pokémon’ ล่ะก็ คำตอบก็คือทางนักออกแบบตัวละครอย่างอัตสึโกะ นิชิดะ (Atsuko Nishida) มีความตั้งใจที่อยากจะนำเสนอปิกาจูให้เป็นโปเกมอนที่น่ารัก น่าจดจำ ผ่านการออกแบบตัวละครเวอร์ชั่นแรกที่อิงมาจากสัตว์อย่างกระรอก หนึ่งในสัตว์ที่ตัวเธอเองก็ชื่นชอบและผู้คนสามารถพบเจอได้ในทุกๆ วัน แม้ว่าปิกาจูในเวอร์ชั่นสุดท้ายจะคือหนูที่ถูกไฟนอลโดยเคนก็ตาม แต่หนู หรือสัตว์เลี้ยงในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นนี่แหละที่จะมาช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับน้องๆ หนูๆ รวมไปถึงผู้เล่นวิดีโอเกมได้อย่างดี

    GEN IV
    ออกแบบตัวละครรวม 1,025 สปีชีส์ไว้ใน Pokémon World โดยยังไม่ลืมที่จะสร้างโปเกมอนหายากให้แฟนๆ ได้คอยลุ้นในทุกภาค

    หน้าที่ในการควบคุมทิศทางออกแบบตัวละครต่างๆ ของ Pokémon เป็นของเคนที่เป็นดั่งอาร์ตไดเรกเตอร์คอยไฟนอลดราฟต์ตัวละครต่างๆ โดยในภาค Red และ Green ที่เหล่าแฟนๆ โปเกมอนจะเรียกกันว่า ‘Generation I’ นั้นเคนได้ร่วมทำงานกับอีก 4 นักออกแบบ เพื่อดีไซน์เหล่าตัวละครโปเกมอนในเซตแรกให้ออกมาได้มากกว่า 151 ตัว และไม่ว่า Pokémon จะถูกต่อยอดไปเป็นเทรดดิ้งการ์ดในปีเดียวกัน หรือทีวี ซีรีส์ในปี 1997 นั้น ก็ขอให้รู้ไว้ว่านี่แหละ คือฝีมือของเคน สุกิโมริ

    เมื่อตัวละครกว่า 151 สปีชีส์ได้โลดเล่นอยู่บนแพลตฟอร์มเครื่องเล่นวิดีโอเกมพกพา Game Boy สีขาว-ดำของ Nintendo อยู่ร่วม 3 ปี Game Boy ก็ได้พัฒนาเป็น Game Boy Color ในปี 1999 นั่นทำให้ซาโตชิและเคนถือโอกาสนี้พัฒนาวิดีโอเกม Pokémon ในภาค Gold และภาค Silver ที่เป็นภาพสีพร้อมนำเสนอตัวละครโปเกมอนใหม่ๆ อีก 100 สปีชีส์ด้วย

    หลังจาก Pokémon ภาค Gold และภาค Silver แล้ว Game Freak ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาวิดีโอเกม Pokémon และทยอยปล่อยอัพเดตภาคต่างๆ บนเครื่องเล่นวิดีโอเกมใหม่ๆ ของ Nintendo ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

    ไม่ว่าจะเป็น Pokémon ภาค Ruby และภาค Sapphire ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายบนเครื่องเล่นวิดีโอเกมพกพา Game Boy Advance มาพร้อมกับโปเกมอนชนิดใหม่อีก 135 สปีชีส์ในปี 2002 หรือจะเป็น Pokémon ภาค Black และภาค White ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายบนเครื่องเล่นวิดีโอเกมพกพา Game Boy DS รุ่นจอพับ มาพร้อมโปเกมอนชนิดใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากชนิดสัตว์ในอควาเรียมและสวนสัตว์อีก 156 สปีชีส์ด้วยฝีมือของทีมนักออกแบบที่เพิ่มขึ้นจาก 4 คนเป็น 17 คนในปี 2004

    นับตั้งแต่ปี 2004 มาจนถึงวันนี้ โปเกมอนได้ถูกออกแบบขึ้นมาทั้งหมด 1,025 สปีชีส์ภายใต้การไฟนอลตัวละครของเคน โดยตัวละครล่าสุด (Generation IX) หรือสปีชีส์ที่ 1,025 มีชื่อว่า Pecharunt (เรียกสั้นๆ ว่ามายา) ปรากฏตัวครั้งแรกในวิดีโอเกม Pokémon ภาค Scarlet และภาค Violet บนเครื่องเล่นเกมพกพา Nintendo Switch ในปี 2022 นั่นเอง

    Gen V
    ปรับเปลี่ยน Pokémon ตามยุคตามสมัยด้วยการสร้างแอนิเมชั่นและภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่นตอบโจทย์กลุ่มทาร์เก็ตใหม่ๆ 

    หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Pokémon ยังครองใจผู้คนได้ในทุกๆ ยุคสมัยคือ ‘ความสม่ำเสมอในการพัฒนาวิดีโอเกมบนเครื่องเล่นเกมพกพาใหม่ๆ’ ซึ่งแทนที่ Game Freak จะใช้ความเชี่ยวชาญในการปล่อยเกมภาคใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แต่ Game Freak ยังมีความคิดที่อยากจะสร้าง Pokémon ในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชั่นและภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่นขึ้นมาอีกด้วย

    จริงอยู่ที่ว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ Pokémon อย่าง Pokémon: The Movie จะถูกสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1998 แต่หากจะพูดถึงภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ Pokémon ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด จนกอบโกยจำนวนผู้ชมเจนฯ ใหม่ๆ ไปได้ไม่น้อย ก็ต้องเป็น ‘Pokémon The Movie: Mewtwo Strikes Back’ (2019) ภาพยนตร์แอนิเมชั่นชิ้นที่ 22 จาก Pokémon ทำรายได้ไปได้กว่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (945 ล้านบาทไทย)

    ในปีเดียวกัน ภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่น ‘Pokémon: Detective Pikachu’ ของ Pokémon ก็ยังสามารถทำเงินได้ถล่มถลายด้วยรายได้ 144.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 5,000 ล้านบาท) ซึ่งทำรายได้มากกว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่น ‘Pokémon The Movie: Mewtwo Strikes Back’ ถึง 58.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,000 ล้านบาท)

    Gen VI
    ขายลิขสิทธ์ตัวละคร เพื่อให้เหล่าแฟรนไชส์ได้นำไปรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และผลงานคอลแล็บสุดสร้างสรรค์

    นับเป็นเวลากว่า 28 ปีที่ Pokémon ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยทางบริษัท Game Freak เชื่อว่าแฟนๆ ที่โตมากับพวกเขาก็คงมีอายุมากกว่า 30 ปีกันแล้ว แต่ด้วยการทำการตลาดมากมายที่ Pokémon ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้คนทุกยุคสมัย และฐานแฟนคลับใหม่ๆ ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปัจจุบัน เหล่าแฟนคลับของ Pokémon จึงไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มคนเจนฯ Y เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมน้องๆ หนูๆ ตั้งแต่วัยอนุบาล เหล่าคนหนุ่มสาว (young adult) รวมไปถึงกลุ่มคนที่โตกว่าเจนฯ Y อีกด้วย

    โดยเคล็ดลับอีกข้อที่ทำให้ Pokémon สามารถเข้าถึงผู้คนเหล่านี้ได้ในระยะเวลาเดียวกัน คือการเซ็นสัญญาขายลิขสิทธิ์ตัวละครโปเกมอนให้เหล่าแฟรนไชส์ได้นำไปทำสินค้าและผลิตเป็นผลงานคอลแล็บสุดสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อบริษัท ‘The Pokémon Company’ อย่างไม่ปิดกั้นไอเดียมาตั้งแต่ปี 1998

    ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงได้เห็นตัวละคร Pokémon โลดแล่นอยู่บนชั้นวางสินค้าหลากหลายหมวดหมู่กันอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่สินค้าแบรนด์เล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น ไปจนถึงผลงานคอลแล็บร่วมกับสายการบินระดับประเทศของญี่ปุ่นหรือ ANA (All Nippon Airways) กับเครื่องบินธีมโปเกมอน ตลอดจนสินค้าที่ถูกจำหน่ายลิขสิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่นก็มีนับไม่ถ้วน อาทิ ลวดลายโปเกมอนบนรองเท้า Crocs สัญชาติอเมริกา และสินค้าในหมวดหมู่จิวเวลรีหรือจี้รูปโปเกมอนจากแบรนด์ RAVIPA ฝีมือคนไทย คอลเลกชั่นของปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นต้น

    Gen VII
    พัฒนาเกมออนไลน์ ‘Pokémon GO’ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถออกไปจับโปเกมอนเองได้ตามสถานที่ต่างๆ ในโลกจริง

    Pokémon ถือเป็นวิดีโอเกมที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาไว มากกว่านั้นคือความตั้งใจในการปรับตัวให้ทันกับยุคกับสมัยเสมอมา

    โดยหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือการพัฒนาให้วิดีโอเกมที่เคยโลดเล่นอยู่บนเครื่องเล่นเกมพกพา ได้กลายมาเป็นแอพพลิเคชั่นเกมออนไลน์บนมือถืออย่าง ‘โปเกมอน โก’ (Pokémon GO) ในวันที่ 6 เดือนกรกฎาคม ปี 2016 เกมที่ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยี AR ช่วยขยายขอบเขตคล้ายโลกเสมือนจริง จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ ‘Pokémon GO Fever’ ที่ไม่ว่าใครก็อยากออกไปจับโปเกมอนตามสถานที่ต่างๆ ในโลกจริง

    ในเดือนเดียวกัน  Pokémon GO มียอดผู้ใช้งานดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 75 ล้านราย ทั้งในแพลตฟอร์ม Google Play ของระบบปฏิบัติการ Andriod และ Apple Store ของ IOS

    นอกจากแอพฯ เกมออนไลน์ในมือถือ ‘โปเกมอน โก’ ยังถูกพัฒนาให้ผู้ใช้งานเครื่องเล่นเกมพกพา Nintendo Switch สามารถเก็บโปเกมอนได้ด้วยการใช้ ‘โปเกบอล’ หรือคอนโซลเลอร์รูปทรงโปเกบอลที่ถูกผลิตเพื่อการเล่น Pokémon GO โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอให้ปวดข้อมือกันอีกต่อไป ส่งผลให้ ‘โปเกมอน โก’ ขึ้นแท่นเป็น Switch Game ที่ทำยอดขายได้มากและรวดเร็วที่สุดจนแซงสองเกมดังอย่าง Mario และ Zelda

    และนี่คือ 7 วิวัฒนาการในการสร้างธุรกิจของ Pokémon เกมดังแห่งยุคที่ครองใจผู้คนมาได้ตลอดระยะเวลา 28 ปี

    อ้างอิง

    • bbc.co.uk/newsround/56167405
    • pokemondb.net/evolution?fbclid=IwAR3qrBsLm1p0QKaLgC3mRNPHWrHq4UMNWUG8lNBNO2SJdkr5fLI0wjw0DTU
    • pokemon.com/us/pokemon-news/creator-profile-the-creators-of-pikachu
    • britannica.com/topic/Pokemon-electronic-game
    • techcrunch.com/2016/07/25/pokemon-go-75m-downloads/#:~:text=Pok%C3%A9mon%20Go%20has%20already%20earned,in%20a%20launch%20week%20ever
    • bbc.co.uk/newsround/46237823
    • pocketgamer.biz/news/82243/the-pokmon-company-made-116-billion-from-licensed-products-in-2022/

    สังคมผู้สูงอายุทำพิษ บริษัทในญี่ปุ่นปิดกิจการกว่า 8,000 บริษัท เยอะสุดในรอบ 4 ปี

    สำหรับคนไทยที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเดินทางไปเยือนทุกปี อาจกล่าวได้ว่าการไปเยือนแดนปลาดิบครั้งหน้าไม่มีอะไรการันตีว่าร้านที่รัก แบรนด์ที่ชอบ หรือธุรกิจที่เชียร์ จะยังอยู่แข็งแรงเหมือนเก่าหรือเปล่า

    ไม่ใช่ยอดขายไม่ดี แต่เพราะห้างร้านหรือธุรกิจต่างๆ ในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้แต่ร้านซูชิที่ขึ้นชื่อว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นก็อยู่รอดยาก เพราะวัตถุดิบแพงขึ้นจนผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว จึงประกาศปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 400%

    รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลประจำปี พบว่า 1 ใน 10 ของประชากรญี่ปุ่นอายุเกิน 80 ปี ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 29.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 36.23 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้น 125 ล้านคน

    อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เริ่มหยุดนิ่ง สปีดช้าลง จนหลายคนเริ่มมองเห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่โต หรือติดลบด้วยซ้ำ อาจจะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือคนเกิดใหม่ที่น้อยเหลือเกิน

    ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จากรายงานของ Tokyo Shōkō Research เผยว่า ปีที่ผ่านมามีบริษัทในญี่ปุ่นยื่นล้มละลายแล้วกว่า 8,690 บริษัท รวมมูลค่าหนี้สินทั้งหมด 2.40 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 35.2% เป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 4 ปี

    เมื่อแยกตามอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการมีจำนวนมากที่สุด 2,940 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 46.1% ตามด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ขาดแคลนแรงงานขั้นสุด บวกกับราคาวัสดุ-อุปกรณ์ที่แพงขึ้น ทำให้มีการยื่นปิดกิจการถึง 1,693 ราย และอุตสาหกรรมการผลิต ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้นก็ประกาศเลิกกิจการไปกว่า 977 ราย

    จากตัวเลขทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหา ageing society หรือสังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาระการจ่ายภาษีตกอยู่กับคนวัยทำงาน จึงส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในญี่ปุ่น จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

    ทั้งนี้ หากมองที่ต้นตอปัญหาในประเด็นเรื่องประชากรเกิดใหม่ ใช่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะนิ่งนอนใจ ช่วงที่ผ่านมาก็มีมาตรการเพิ่มจำนวนประชากรออกมาเป็นระยะ ทั้งเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด เงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดู การลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูก การสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานหลังคลอด ฯลฯ เนื่องจากตอนนี้คนญี่ปุ่นเลือกใช้ชีวิตแบบไม่แต่งงาน เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งก็มาจากค่าครองชีพ และรายได้ที่พิจารณาแล้วว่าจะไม่พอต่อการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจบอกอีกว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องการมีลูกแค่หนึ่งคนเท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอย่างมาก

    อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ข้างต้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะอัตราการเกิดก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ปีละ 800,000 คน (ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่ทั้งสิ้น 799,728 คน) ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ วางแผนเรื่องการดูแลสุขภาพ และสวัสดิการต่างๆ ในระยะยาว

    ล่าสุด The Guardian รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังจะเสียตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้เยอรมนี ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเกิดใหม่ต่ำ จนเกิดช่องว่างของประชากรวัยทำงานที่น้อยลง

    เมื่อประชากรวัยแรงงานน้อยลง สิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจเติบโตยาก ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจกลายเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิม

    หนึ่งในวิธีที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้คือ การลดภาษีให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นให้ลดลง อย่าลืมว่ารายได้ของรัฐบาลมาจากภาษี เมื่อรายได้จากภาษีลดลง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องกู้เงินเพื่อใช้บริหารประเทศ จึงนำไปสู่วังวนของหนี้สาธารณะมาหลายสิบปี ทำให้เวลานี้ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะกว่า 262% ต่อ GDP และมีการคาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะ 300% ต่อ GDP

    จากกรณีของญี่ปุ่น เราสามารถเรียนรู้บทเรียนและเตรียมรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน และหนี้สาธารณะของไทยก็ไม่ได้น้อยไปกว่าของญี่ปุ่น อีกทั้งรัฐบาลไทยก็มีนโยบาย Digital Wallet ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ หรือนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ซึ่งการดูแลเหล่านี้ล้วนต้องแลกมาด้วยหนี้สาธารณะ และทางรัฐบาลก็พยายามตรึงดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ในไม่ช้าไทยก็อาจเดินตามรอยญี่ปุ่น

    ข้อมูลจาก

    ขบวนการไม่เอางาน (อย่างที่เป็น)

    ไม่นานนี้ มีอะไรบางอย่างดลใจให้ผมหยิบหนังสือเล่มเล็กๆ ปกสีดำ เป็นหนังสือแปลของสำนักพิมพ์สมมติ แปลในสำนวนของปราบดา หยุ่น ขึ้นมาอ่านใหม่ หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นของนักเขียนนามอุโฆษ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) ผู้เขียนโมบี้ ดิ๊ก (Moby Dick)–แต่กับเรื่องนี้เขาผละจากทะเลและเสียงคลื่น มาเล่าเรื่องราวที่ผจญภัยน้อยกว่า (ในเชิงหนึ่ง) เป็นเรื่องในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง มันคือ บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener)

    ‘บาร์เทิลบี’ เล่าเรื่องของ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้ว่าจ้างชายชื่อบาร์เทิลบีเข้ามาทำงานคัดลอกเอกสาร คราวแรก บาร์เทิลบีดูไม่มีอะไรพิเศษ เขาถูกบรรยายว่า “แต่งกายสุภาพทว่าดูหม่นหมอง ภูมิฐานทว่าน่าสงสาร บุคลิกอ้างว้างโดดเดี่ยวของเขาดูเกินกว่าจะเยียวยา!” แต่ยิ่งนานวัน ความแปลก (หรือไม่แปลก​!) ของตัวบาร์เทิลบียิ่งฉายออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น ผ่านข้อความปฏิเสธที่เข้มแข็งแต่นุ่มนวล ว่า “ผมไม่ประสงค์จะทำ” (I would prefer not to) 

    เขา-ไม่-ประสงค์-จะ-ทำ ประโยคนี้กลายเป็นหนึ่งในประโยคอมตะในวงการวรรณกรรม

    ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ ‘ข้าพเจ้า’ ไหว้วาน อย่างให้เดินออกไปเอาของ ให้ช่วยตรวจตราเอกสาร หรือให้เดินเข้ามาคุยกันหน่อย บาร์เทิลบีก็ ‘ไม่ประสงค์จะทำ’ ทั้งสิ้น ความยืนยัน ยืนหยัดในหลักการของตัวเองที่ไม่ยอมงอนี้ขับเคลื่อนเรื่องราวไปจนถึงจุดสรุปอันเป็นธรรมชาติ บทสรุปที่กระแทกใจของ ‘ข้าพเจ้า’ อย่างลึกซึ้งจนต้องเปล่งเสียงออกมาว่า

    “อนิจจา บาร์เทิลบี อนิจจา มนุษยชาติ”

    อ่านจบอีกครั้งในรวดเดียว ผมพบว่าตัวเองอิจฉาบาร์เทิลบี–อิจฉาความกล้าหาญอย่างนั้น แต่จะให้ทำเอง ก็คงทำไม่ได้ บาร์เทิลบีไม่ยอมรอมชอม อ่อนข้อให้กับสังคม พูดด้วยมุมมองคนปกติก็คงต้องบอกว่าเป็นคนหัวรั้นหรือกระทั่งว่าเป็นคนบ้า แต่เขาก็ไม่เคยเป็นอื่น เขายึดแก่นที่ว่าเขาไม่ประสงค์ที่จะทำ (งานหรือสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย)

    อ่านด้วยสายตาแบบหนึ่ง เราอาจมองบาร์เทิลบีเป็นปฏิกิริยาโต้กลับของสภาพการทำงาน เขาประสงค์ที่จะทำงานในส่วนที่พึงใจ ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้าเท่านั้น เกินกว่านั้นเขาไม่ประสงค์ที่จะทำ เขาปฏิเสธการเอาหน่อยน่าช่วยหน่อยนิดทั้งหมด ด้วยความหนักแน่นแต่ไม่จองหอง 

    ช่วงโรคระบาดกลืนกินโลกเป็นสิ่งเตือนใจให้หลายคนปรับจูนจีพีเอสของเส้นทางเสียใหม่ เป็นช่วงสุญญากาศที่ให้เวลาและหลักฐานแห่งความไม่แน่นอนของชีวิต หลายคนเลิก หลายคนเริ่มทำอะไรบางอย่าง หรือมองสิ่งที่ทำอยู่ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป โควิดเองเปลี่ยนแปลงธรรมชาติการทำงานในวงกว้าง งานบางงานถูกขยับจากออฟฟิศมาทำที่บ้าน งานบางงานทวีความสำคัญขึ้น (เป็น ‘essential worker’ ที่ไม่รู้ว่าได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับคำว่า essential ไหม) งานบางงานสูญเสียความหมาย

    ในช่วงนั้น มีชุมชนหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างทบเท่าทวีบนเว็บ Reddit–เป็นชุมชนที่เป็นคล้ายปฏิกิริยาโต้กลับของการทำงานเช่นกัน คล้ายกับบาร์เทิลบี 

    ชุมชนที่ผมพูดถึงนี้คือซับเรดดิต Antiwork ที่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 2.8 ล้านคนจากทั่วโลก ชุมชนนี้มีสโลแกนว่า Unemployment for all, not just the rich (การว่างงานสำหรับทุกคน ไม่เพียงแต่คนรวยเท่านั้น!) ล้อเลียนกับสโลแกนหาเสียง Employment for all

    นี่เป็นชุมชนที่เติบโตแบบพุ่งกระฉูดในช่วงโควิด, ช่วงที่คนเริ่มตั้งคำถามกับการทำงานและชีวิตอย่างจริงจัง คอนเทนต์ในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นการบ่นถึงสภาพที่ทำงาน เจ้านายที่เอารัดเอาเปรียบ ใช้งานเกินค่าแรง หรือไม่มีความเห็นอกเห็นใจ 

    ในกรณีสุดขอบ สมาชิกคนหนึ่งแคปเจอร์เมสเซจแลกเปลี่ยนระหว่างเธอกับเจ้านายออกมาให้เห็น เธอขอลางานเพราะต้องเอาสุนัขที่ป่วยหนักไปจบชีวิต เจ้านายบอกว่า วันนั้นคนงานไม่พอ เธอเลื่อนกิจนี้ไปไม่ได้หรือ

    ในส่วนอธิบาย พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น “ซับเรดดิตสำหรับคนที่ต้องการจบสิ้นการทำงาน (end work) หรือสงสัยเกี่ยวกับการจบสิ้นการทำงาน ต้องการได้ประโยชน์จากชีวิตที่ไร้งาน ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดต่อต้านงาน และต้องการความช่วยเหลือส่วนตัวเพื่อแก้ความทุกข์ทนในงานของตน” 

    คำถามจากส่วน ‘คำถามที่ถามบ่อย’ หนึ่ง ถามว่า ‘ทำไมคุณถึงการจบสิ้นการทำงาน’ (why do you want to end work?) คำตอบที่ปรากฏคือ ‘เพราะที่ทำงานสมัยใหม่เป็นที่ที่คุณถูกคาดหวังให้ทำงานโดยไม่สนความต้องการหรือความปรารถนาส่วนตัว การทำงานวางความต้องการและความปรารถนาของผู้จัดการและบริษัทเหนือคนทำงาน มักไปถึงระดับการคุกคามผ่านการสั่งงานหนักเกินไปและให้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป’

    นอกจากโพสต์บ่นเรื่องงานบนเว็บไซต์แล้ว พวกเขายังเคยจัดการบอยคอตต์หรือกิจกรรมในโลกจริงหลายต่อหลายครั้ง (ส่วนใหญ่เป็นการจัดการแบบหลวมๆ เกิดขึ้นอย่างออร์แกนิก) เช่นในปี 2021 สมาชิกของชุมชนจัด ‘Blackout Black Friday’ เพื่อนัดหยุดงานช่วงแบล็กฟรายเดย์ที่มักใช้พนักงานเกินควร แต่กิจกรรมครั้งนั้นก็ถูกขยายผลไปเป็นการบอยคอตต์จากฝั่งผู้บริโภคด้วย หรือการเรียกร้องให้แมคโดนัลด์จ่ายค่าแรงให้เป็นธรรม (ตั้งเป้าไว้ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อชั่วโมง) ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 

    ที่เป็นข่าวดังคือกรณีของเคลล็อกส์ ในเดือนธันวาคมปี 2021 เมื่อเคลล็อกส์ประกาศแผนจ้างคนงานเพื่อทดแทนคนงานที่นัดประท้วงหยุดงาน 1,400 ตำแหน่ง ก็มีกระทู้ในชุมชน Antiwork ที่บอกให้สมาชิกร่วมกันส่งใบสมัครปลอมๆ เข้าไปทำให้เว็บไซต์จ้างงานของเคลล็อกส์ล่ม

    หรืออีกครั้ง กลุ่มสมาชิกก็แฮ็กเครื่องพิมพ์ใบเสร็จทั่วอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพียงพอ เพื่อพิมพ์ถ้อยแถลงของขบวนการออกมา “ค่าจ้างของคุณต่ำเกินไปหรือเปล่า คุณมีสิทธิทางกฎหมายในการพูดถึงเรื่องค่าจ้างกับเพื่อนร่วมงาน [..] ค่าจ้างที่ต่ำจนถึงเส้นยากจนอยู่ได้เพียงเพราะคน ‘ยอม’ ทำงานที่อัตรานั้นเท่านั้น”

    สิ่งที่ชุมชน Antiwork แสดงให้เห็นชัดคือมีอะไรผิดแปลกเกี่ยวกับระบบการทำงานปกติ มีอะไรผิดแปลกในระบบทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่ จนเกิดอาการอักเสบและการโต้กลับ 

    เดิมทีตัวชุมชนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดต่อต้านงานในอนาธิปไตยหลังฝ่ายซ้าย (post-left anarchism) โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งอ้างแนวคิดของ บ๊อบ แบล็ก (Bob Black) นักปรัชญาอนาธิปไตยซึ่งเขียนความเรียงชื่อ The Abolition of Work ในปี 1985 โดยอิงจากนักปรัชญากรีกอย่างเพลโตและเซโนฟอน 

    การวิพากษ์ระบบการทำงานเป็นสิ่งที่มีมาเนิ่นนานแล้วในวงปรัชญา นิตเช่ก็ปฏิเสธการเชิดชูการทำงาน โดยบอกว่าเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาความเป็นปัจเจก

    แก่นของชุมชน Antiwork บนเรดดิตเป็นอย่างนั้นเอง แต่ครั้งเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ชุมชนนี้ก็รวมกลุ่มคนกว้างขึ้นเข้ามา จนเป็นตัวแทนที่ควบรวมการเมืองฝ่ายซ้ายและการรณรงค์เรื่องแรงงานไปแทน 

    การขยายขนาดของ Antiwork สู่จำนวนสมาชิกหลักล้านมาพร้อมกับปัญหา–เมื่อมากคนเข้า ความเข้มข้นของแกนก็ลดลงจากที่เคยจับต้องได้ ก็กลายสภาพเป็นหมอก

    ปัญหาใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคือการออกรายการให้สัมภาษณ์ในช่อง Fox ของโดรีน ฟอร์ด (Doreen Ford) หนึ่งในผู้ก่อตั้งชุมชน Antiwork โดยมีพิธีกรคือ เจสซี วัตเตอร์ส (Jesse Watters) ระหว่างสัมภาษณ์บนหน้าจอปรากฏข้อความพาดหัวจาก Fox ตามสไตล์ของช่องว่า ‘The War Against Working’ (สงครามต่อต้านการทำงาน) ซึ่งเอาเข้าจริง–ก็พานให้คนเข้าใจชุมชนนี้ผิดเปล่าๆ–ไม่ว่านั่นจะเกิดขึ้นอย่างจงใจหรือไม่ก็ตามแต่

    ครั้งนั้นโดรีน ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ได้ไม่ดีเลย ด้วยการยั่วยุของพิธีกรอย่างวัตเตอร์สเองด้วย ที่สัมภาษณ์อย่างมีธงชัดเจนว่าจะถล่มขบวนการหรือชุมชน Antiwork ลงด้วยการแปะป้ายว่าเป็นพวกขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน วัตเตอร์สเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ด้วยการถาม (เชิงไม่ต้องการคำตอบ) ว่า “โอเค วัตเตอร์ส ทำไมคุณถึงชอบแนวคิดการอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องทำงาน แต่ยังได้รับเงินจากคอร์เปอเรตอเมริกานะ” 

    ระหว่างสัมภาษณ์ พิธีกรนายนี้แทรกในตอนหนึ่งว่า “อเมริกาเป็นประเทศเสรี (free) ไม่ใช่ทุกอย่างจะฟรีหรอก แต่มันเป็นประเทศเสรี” และจบด้วยการยิงอีกหนึ่งดอก “ขอบคุณมาก เราหมดเวลาแล้ว พอดีเราต้องทำงานจ่ายบิลล์น่ะ”

    ธงของเขาชัดขนาดนั้น เป็นเหมือนการล่อเหยื่อมาเชือดแบบนิ่มๆ และเหยื่อรายนั้นก็ไม่ได้ทำการบ้านไปดีพอสำหรับกับดักที่รุนแรงอย่างนี้

    ฟอร์ดตอบคำถามของวัตเตอร์สที่ว่าชุมชนนี้สนับสนุนให้คนขี้เกียจหรือไม่ โดยพูดถึงคุณค่าของความขี้เกียจว่า “ผมคิดว่าความขี้เกียจเป็นคุณค่าในสังคมที่คนต้องการให้คุณโปรดักทีฟตลอดวันตลอดเวลา และการพักผ่อนก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องพักตลอดหรอก หรือไม่ต้องพยายามอะไรเลยที่จะให้ได้สิ่งที่ต้องการ”

    อันที่จริง ผมก็เห็นด้วยกับฟอร์ดเรื่องคุณค่าของความขี้เกียจหากใช้ในระดับที่เหมาะสม แต่คุณค่านี้ถูกบิดหรือกรอบให้เสียหายได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกับการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ที่กลเกมของผู้สัมภาษณ์เหนือกว่าผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างเทียบไม่ติด 

    The Guardian เรียกการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “การรังแกในสนามเด็กเล่น”

    หลังการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ชุมชน Antiwork แทบแตก สมาชิกหลายคนเคืองฟอร์ดที่เตรียมตัวไปไม่ดี พูดจาได้ไม่สะท้อนจุดยืนของชุมชน (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานยากโหดหินที่คุณต้องเป็นตัวแทนคนหลักล้าน) มีกระทั่งคนที่บอกว่า​ “การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้ผมอยากกลับไปทำงานเลยว่ะ โคตรน่าอาย” หรือ “แม่ผมถามเลยว่าผมอยู่ใน ‘ขบวนการขี้เกียจ’ ที่ออกข่าวหรือเปล่า ผมโคตรอาย” 

    คืนนั้นซับเรดดิต Antiwork ปิดเป็นไพรเวต และเมื่อเปิดอีกครั้ง ฟอร์ดก็ไม่อยู่ในฐานะโมเดอเรเตอร์ของชุมชนแล้ว

    ชุมชน Antiwork เกิดขึ้นมาเพื่อบอกว่าปัจจุบันสภาพการทำงานไม่ดีพอ จนต้องรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน แรกเริ่มเดิมทีมันอาจมีข้อเสนอที่ชัดว่าต้องการอะไรกันแน่ ชุมชน ‘ประสงค์’ อะไร แต่เมื่อผ่านนานไป เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น ความต้องการหลากหลายในระดับชั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับของการปรับสวัสดิการพนักงาน, หาวิธีจัดการบอสที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไปจนถึงอยากขับเคลื่อนในระดับสังคมซึ่งอาจจะไปลงในแนวทางของสังคมนิยมหรืออนาธิปไตย เมื่อขบวนการหรือชุมชนใหญ่ขึ้นเช่นนี้ การนิยามว่าชุมชน ‘ประสงค์’ อะไรร่วมกันจึงเป็นเรื่องยาก

    เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชน Antiwork เลยถูกโจมตีได้ง่ายในฐานะกลุ่มคนที่ ‘ไม่ประสงค์’ ที่จะทำงาน ไม่ต่างจากบาร์เทิลบี แต่เมื่อจะกรอบให้ชัดว่า แล้ว ‘ประสงค์’ อะไรล่ะ กลับกรอบได้ยาก 

    นี่เป็นปัญหาโดยรวมของขบวนการที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านอะไรสักอย่าง ที่ภาพชัดคือการไม่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ภาพที่ไม่ชัดคือสิ่งที่สมาชิกขบวนการฝันเห็นร่วมกัน : เมื่อ ‘ต่อต้านงานในปัจจุบัน’ สำเร็จแล้ว ภาพที่เราวาดฝันร่วมกันได้ เป้าหมายคืออะไร มันคือการให้เงินเดือนพื้นฐาน (UBI) เหรอ? หรือมันคือการเก็บภาษีคนร่ำรวยเพื่อพัฒนาภาวะความเป็นอยู่ของคนที่เหลือ? หรือมันคือการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ? หรือเป็นเป้าแบบผสมผสานก็ยังได้ คุณ ‘ประสงค์’ อะไร?

    เป้าหมายระยะยาวนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงให้ขบวนการยืนระยะและมีหลักยึดที่แม่น

    ขบวนการเช่นนี้มีหน้าที่ มีที่ทางของมัน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว มันเป็นตัวแสดงอาการทางสังคม เป็นเสียงร้องเตือนปัญหา เป็นการขับเคลื่อนให้เกิดความสนใจ แต่ในฐานะการขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายสักอย่าง มันอาจยังไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ ยังไม่มอบคำตอบให้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

    แต่นั่นเอง นั่นอาจเป็นคำตอบที่ต้องรอการถกเถียง, ขีดฆ่า, แล้วเขียนใหม่ ตราบใดที่ปัญหายังคงอยู่ ตราบใดที่เรายังมีเวลา และตราบเท่าที่สังคมพร้อมจะใช้เวลานี้ผ่านกระบวนการไปด้วยกัน 

    Resources

    บรรทัดฐาน VS กิมมิก? กลยุทธ์ ESG ของภาคธุรกิจจำเป็นแค่ไหน

    ในปี 2567 นี้หลายบริษัทในไทยไม่เพียงสร้างกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายเท่านั้น แต่ยังจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

    ทั้ง SC Asset ที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปีนี้ และ 25% ภายในปี 2573 ส่วน Central Retail ก็ตั้งเป้าจริงจังกับ ESG มากขึ้น ทั้งยังได้เรตติ้งสูงสุด AAA จากการประเมินผลหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

    นอกจากทั้ง 2 บริษัทนี้แล้ว ยังมีบริษัทของไทยอีกหลายแห่งที่ตั้งเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น คำถามสำคัญคือกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นแค่ไหน การตั้งเป้าเหล่านี้เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเช่นเดียวกับการทำโครงการ CSR ที่หลายคนเบือนหน้าหนีหรือไม่ หรือที่จริงแล้ว กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนึ่งทางออกให้ธุรกิจยุคใหม่

    กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญยังไง?

    1. เพิ่มภาพลักษณ์และชื่อเสียง : กลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมที่จริงจังและจริงใจช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้หันมาสนใจแบรนด์มากขึ้น เพราะตามรายงานของ Sustainable Global Growth and Shopper Expectations โดย ESW บริษัทอีคอมเมิร์ซ DTC ระดับโลก พบว่าจากผู้ซื้อกว่า 16,000 รายใน 16 ประเทศ กว่า 83% มองว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า 54% ของกลุ่มเจนฯ Z ยังยอมจ่ายเพิ่มขึ้น 10% ถ้าสินค้านั้นแสดงถึงความกรีน

    ส่วนการวิจัยในไทยเมื่อปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เผยว่าคนไทยกว่า 1,252 คน 74% มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้บริโภค 37.6% เป็นกลุ่มสายกรีนจ๋าจริงๆ ความน่าสนใจคือคนกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนสูงสุด เพราะยิ่งอายุมากก็ยิ่งพร้อมจ่ายมากกว่า ตรงข้ามกับผลสำรวจระดับโลก 

    2. ลดต้นทุน : แม้ในช่วงแรก การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือโครงสร้างต่างๆ ของบริษัทเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมนั้นอาจกินเงิน แต่ในระยะยาว การเปลี่ยนหลอดไฟธรรมดาเป็นหลอด LED การติดแผงโซลาร์เซลล์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ หรือวัสดุเหลือทิ้งนั้นกลับสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล 

    อย่าง UNILIVER บริษัท FMCG นั้นลดต้นทุนได้มากกว่า 1.27 พันล้านบาทจากกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อม ผ่านการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้คาร์บอนหมุนเวียน ทั้งภายในปี 2568 ยังตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารจากกระบวนการผลิตโดยตรงนับตั้งแต่ที่โรงงานไปจนถึงชั้นวางของในร้านค้า ให้ได้ครึ่งหนึ่งทั่วโลก 

    3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี : นอกจากกลยุทธ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบหลายๆ ด้านที่กำหนดโดยรัฐบาลได้แล้ว ในหลายประเทศ รัฐบาลยังสนับสนุนบริษัทที่จริงจังกับกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมโดยการลดภาษีด้วย

    4. ลดต้นทุนการลาออก : กลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นยังรวมถึงจริยธรรมในการดูแลพนักงานและสร้างประโยชน์ต่อสังคมเช่นกัน จากข้อมูลของ McKinsey และ NielsenIQ พบว่าบริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืนนั้นสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานสูงขึ้นถึง 55% และเพิ่มความรักใคร่ภักดีต่อพนักงานสูงขึ้น 38%  

    5. เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น : ภาคการเงินให้ความสำคัญเรื่อง sustainable finance มากขึ้น เราจึงได้เห็นนโยบาย Green Fund และ Green Loan ที่อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัทที่จะขอแหล่งทุนได้จะต้องมีการประเมินทางสิ่งแวดล้อมถึงจะยอมให้กู้ เนื่องจากเรื่องกรีนๆ หรือ ESG นั้นเป็นเทรนด์โลกที่ถ้าบริษัทไหนไม่สามารถปรับใช้ได้ก็อาจชี้ได้ว่าในอนาคตอาจอยู่ยากในสมรภูมิที่ทุกอย่างมุ่งหน้าสู่ความกรีน 

    กลยุทธ์กรีนแบบไหนบ้างที่ธุรกิจรายย่อยก็เริ่มได้

    1. ลดการใช้พลังงานหรือเลือกใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น ปิดน้ำ ปิดไฟ เมื่อไม่ได้ใช้งาน  

    2. หาพาร์ตเนอร์ที่มีใจรักจะกรีนไปด้วยกัน เพราะการทำธุรกิจกรีนๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเข้าร่วมคอมมิวนิตี้ชาวกรีนจึงอาจช่วยให้คุณได้ไอเดียใหม่ๆ เช่น ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อดำเนินโครงการรีไซเคิลอย่าง Recycle Day Thailand ที่พร้อมช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการรวบรวมกระดาษ กระดาษแข็ง พลาสติก และวัสดุอื่นๆ ในการนำไปรีไซเคิลต่อ หรือ N15 Technology ที่รับขยะกำพร้าไปเผาเป็นพลังงาน 

    3. แปลงข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ ทั้งยังประหยัดพื้นที่จัดเก็บได้มาก รวมถึงเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว

    4. โปร่งใสในทุกกระบวนการ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันพร้อมปวารนาตนให้กับแบรนด์ที่เชื่อถือได้และเปิดเผย

    5. ลดการผลิตที่มากเกินไปและการสต็อกของจนล้นโกดัง ผ่านการรับฟังลูกค้า เคราะห์ความเสี่ยง และประเมินกับซัพพลายเออร์อย่างสม่ำเสมอ เผื่อลดการสร้างขยะ  

    6. ตั้งเป้าเพียง 1 ข้อ ที่คิดว่าทำได้และเหมาะสมกับแบรนด์หรือบริษัท แทนการลิสต์สิ่งที่ต้องกรีนหลายๆ ข้อแล้วล้มเลิกเพราะรู้สึกยากเกินจัดการ วิธีนี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจค่อยๆ ปรับตัวและคุ้นชินกับเป้าหมายความกรีนได้ทีละข้อๆ โดยไม่รู้สึกท้อไปก่อน

    ความยั่งยืนอาจเป็นเรื่องยากในวันนี้ แต่เมื่อได้เริ่มลงมือทำและหาพาร์ตเนอร์พร้อมเดินหน้าด้วยกัน ความยั่งยืนจะเป็นรากฐานที่ดีของทุกธุรกิจในวันหน้า วันที่ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดและทางออกที่เจ้าของธุรกิจต้องให้ความสำคัญ

    อ้างอิง : 

    จินตนาการไร้ขีดจำกัดของศิลปินเรซิ่น Resindrome ผู้เสกพุทธคูลอาร์ตสุดเฟี้ยวชิ้นเดียวในโลก

    เหตุผลที่ Resindrome เป็นแบรนด์เรซิ่นที่มีชิ้นเดียวในโลกเพราะทุกผลงานเป็นงานแฮนด์เมดที่ทำชิ้นต่อชิ้นโดยฝีมือและไอเดียสร้างสรรค์สุดเฟี้ยวของโนะ–พิจารณ์ วราหะ

    ในเฟซบุ๊ก ศิลปินเรซิ่นผู้นี้ได้เขียนคำนิยามตัวเองไว้ว่าเป็น Security Guard at Resindrome, เอ็กเซกคลูซีฟโคฟาว์นเดอร์ไดเรกชั่นโปรดิวส์เซอร์อเมริกาโน่คอมเมเดี้ยน at Comedy Against Dictatorship, รปภ. at ยืนเดี่ยว (YuenDeaw), Podcaster at The Stand-Up 

    นอกจากตัวตนความเป็น ‘อาร์ตติสท์’ ที่เรียกจากทักษะตรงตัวของเขาคือความเชี่ยวชาญในการทำศิลปะเรซิ่นแล้ว คำนิยามของโนะคือไม่ใช่ศาสนิกชนแต่เป็น ‘สำราญชน’ ที่แปลว่าผู้เบิกบานสำราญใจกับการเสพสุนทรียะในชีวิตอย่างศิลปะและดนตรี ตัวตนความซนและกวนของเขาสอดคล้องกับสโลแกนสินค้าเรซิ่นคอลเลกชั่นล่าสุดในธีม ‘ไม่มีพระพุทธคุณ มีแต่พระพุทธคูล’ ที่ทำเรซิ่นเป็นพระเครื่อง, ไม้กางเขนพระเยซูรุ่น ‘พระ SAY U’, สร้างกองทัพบุดด้าทั้งเวอร์ชั่น ‘เบบี้บุ๊ด’ สีรุ้งตัวจิ๋ว สร้อยคอผสมสีกลิตเตอร์ รูปหล่อเรซิ่นพระแม่มารีย์ขนาดยักษ์สีสันจี๊ดจ๊าดและอีกมากมายที่เห็นแล้วอาจต้องอุทานว่า ‘สาธุ555’  

    คอลัมน์ Moden Nice ตอนนี้ไม่ได้อยากชวนศิลปินอย่างโนะคุยแค่เรื่องราวการสร้างแบรนด์และหารายได้แต่เราอยากชวนเจ้าของแบรนด์คุยถึงทั้ง life wisdom และ business wisdom หรือเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลให้เกิดแนวคิดทางธุรกิจที่ไม่เหมือนใครในการครีเอตผลงานซึ่งยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ 

    Life Wisdom 
    Read & Watch Like a Five-Star Artist 

    โนะทำงานเรซิ่นมาเป็นระยะเวลาสิบกว่าปี พ่อของโนะเป็นอาร์ตติสท์ผู้เคยทำงานในแผนกอาร์ตที่โรงแรม 5 ดาวทำให้เขาคุ้นเคยกับงานเรซิ่นตั้งแต่เด็ก ในยุคสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อาร์ตติสท์ต้องลงมือทำงานเองทุกกระบวนการตั้งแต่หาข้อมูล แกะแบบ หล่องาน และเรซิ่นก็เป็นงานหล่อยอดนิยมที่คนทำงานศิลปะชื่นชอบเพราะทำผลงานออกมาได้หลายประเภททั้งงานลามิเนต งานเคลือบ จะหล่อผลงานเป็นรูปทรงอะไรก็ได้และยังสามารถทำข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้สารพัดอย่างตั้งแต่แว่นตาไปจนถึงถังน้ำ  

    เมื่อบ้านเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ ทำให้โนะซึมซับความชอบและเรียนรู้ศาสตร์การทำเรซิ่นจากพ่อ พอได้ลองทำดูแล้วรู้สึกตรงจริต ถนัดมือ 

    “เหมือนคนที่โตในฟาร์มเลี้ยงไก่ ก็จะเลี้ยงไก่เป็นโดยธรรมชาติและสนใจอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกบังคับให้เรียนรู้”

    ในยุคนั้นแหล่งหาข้อมูลชั้นดีของเหล่าอาร์ตติสท์ยังเป็นสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือและวิดีโอ ความโชคดีของวิชาชีพนี้คือการได้งบสำหรับค้นคว้าและทดลองเพื่อหาไอเดียในการสร้างสรรค์งานศิลป์คอนเซปต์ใหม่ โนะจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการรายล้อมไปด้วยหนังสือของพ่อที่ซื้อเข้าบ้านครั้งละเยอะๆ   

    “พอพ่อทำงานที่โรงแรมระดับโลก สิ่งที่เขาเสพเข้าไปก็แตกต่างจากคนอื่น ยุคนั้นจะมีร้านหนังสือดวงกมล เอเซียบุ๊คส์ที่มีหนังสือหมวดอาร์ตที่โหดมาก ตอนนั้นศิลปะยุค 80s อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่งานวิจิตรศิลป์กับดิจิทัลเริ่มเข้ามา ถ้าสังเกตปกแผ่นเสียงหรือปกอาร์ตในยุคนั้น จะเห็นได้ว่าสีสันสุดมากๆ ประกอบกับประเทศร้อนชื้นของเราก็ชอบใช้สีสันสดๆ มีความลิเก 

    “เราซึมซับความชอบในสีเหล่านี้มาเป็นแบ็กกราวน์ของเราโดยธรรมชาติ เวลาพ่อดูอะไร เราก็ได้ดูด้วยมันก็เลยมี sourcing (แหล่งข้อมูลในการเสพสื่อ) บางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่เด็กและไม่ได้โดนบังคับให้อ่าน ในยุคนั้นตอนเด็กไม่มีอะไรทำ พอเปิดตู้พ่อก็ดูแผ่นเสียง ดูหนังสือ มันก็ซึมซับเข้ามาโดยปริยาย” 

    นอกจากเสพศิลปะ โนะยังชอบดูคอนเสิร์ต สะสมแผ่นเสียงเหมือนที่พ่อชอบสะสม และฟังเพลงหลากหลายหมวดตั้งแต่เพลงลูกทุ่งของยิ่งยง ยอดบัวงาม วงดนตรีร็อกอย่าง The Yers ยันเพลงสุนทราภรณ์ การเป็นสำราญชนผู้ยกให้ศิลปะและดนตรีเป็นสุนทรียภาพสำคัญในชีวิตช่วยหล่อหลอมให้เขามีมุมมองทางศิลป์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

    Believe Nothing, Question Everything 

    นอกจากเสพศิลป์จากแหล่งที่แตกต่างแล้ว โนะบอกว่าคำถามสำคัญสำหรับนักสร้างสรรค์คือ ‘คุณมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยอะไร’ แล้วตั้งคำถามต่อให้ลึกลงไปอีกขั้น เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “คนชอบดูหนังก็จะดูหนัง 2 รอบ เช่น ดูด้วยสายตาและดูโปรดักชั่น หรือเวลาฟังเพลง บางทีเราฟังเพื่อผ่อนคลาย แต่บางจังหวะเราก็ฟังเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วคิดตามว่าทำไมถึงมีท่อนนี้ ทำไมเลือกเสียงนี้ คล้ายๆ กับการดูงานศิลปะ เราก็จะตั้งคำถามว่าทำไมเขาลงแปรงแบบนี้ ทุกอย่างคือการมองและตีความที่เสพแล้วสมองทำงานต่อทันที

    “เวลาไปดูคอนเสิร์ตก็จะคิดว่าทำไมตอนเขาทำโชว์ถึงเลือกจัดไฟแบบนี้ ทำไมเวทีถึงทำเป็นวงกลม ถ้าเป็นเราจะจัดการกับเวทีวงกลมนี้ยังไง ทุกอย่างมันคือสิ่งที่เขาสื่อสารออกมาทั้งนั้น บางครั้งดูหนังจบ พอไปดูเซสชั่น Q&A ของหนังเรื่องนี้ต่อ แล้วก็พบว่า อ้าว ไม่ใช่แบบที่เราคิด เราคิดมากไปก็มี”  

    และการมีไลฟ์สไตล์ที่เสพสุนทรีเพื่อจรรโลงใจก็ช่วยให้โนะเป็นนักสร้างสรรค์อย่างลื่นไหลโดยธรรมชาติ กระบวนการนี้คือการกลั่นความสงสัยใคร่รู้จากการสังเกตออกมาเป็นคำถามและโจทย์ใหม่ๆ แล้วตกตะกอนเป็นไอเดียออริจินัลสำหรับงานสร้างสรรค์ของตัวเอง

    การเป็นคนชอบตั้งคำถามและได้คำตอบใหม่ที่ไม่เหมือนใครนี้เองที่ทำให้หลายคนมองว่าโนะมีความขบถ ตัวอย่างเช่น มุมมองความเชื่อทางจิตวิญญาณ (spiritual) ของเขาที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นศูนย์ หมายความว่า ไม่ได้นับถือศาสนาใดและไม่เชื่อในอะไรเลย 

    “ผมมองว่าความเชื่อของแต่ละคนมันอยู่ที่ว่าครอบครัวเลี้ยงมายังไง พ่อกับแม่ผมไม่เชื่อในอะไรเลย เขาเป็นไอดอลผม ซึ่งก็ไม่รู้ดีหรือเปล่า มันอาจส่อไปทางลบหลู่ได้ในบางครั้งแต่ผมมองว่ามันคือการตั้งคำถาม ซึ่งความจริงมันก็มีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างการลบหลู่กับตั้งคำถาม ปัจจุบันเด็กยุคใหม่กับการตั้งคำถามมันเปลี่ยนไปเยอะ ยุคเราถูกห้ามถาม แต่ยุคนี้คนจะตั้งคำถามกับความเชื่อ พฤติกรรม แล้วศึกษา”  

    พอไม่เชื่อในอะไรเลย โนะก็ไม่เคยสะสมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาใดๆ เลย เขาไม่เคยสะสมพระเครื่องหรือวัตถุทางจิตวิญญาณเพื่อบูชา สิ่งที่เขายอมจ่ายเงินเพื่อสะสมตลอดมามีเพียงสุนทรียะทางศิลปะและดนตรีอย่างแผ่นเสียงและการได้ซื้อผลงานเหล่านี้ก็เป็นกิเลสที่ทำให้มีความสุข

    “สำหรับผม ความสุขคือการลบปมบางอย่างในชีวิต กว่าพ่อจะเลี้ยงผมมาได้ เขาขายแผ่นเสียงในยุคเศรษฐกิจแย่เพื่อให้เราได้เรียนต่อ ตอนที่พ่อผมเสีย ความสุขของเราคือการซื้อแผ่นเสียงคืนเขาแม้ว่าเขาจะไม่อยู่แล้ว อะไรที่เราเคยเห็นว่าพ่อมี เราก็ซื้อมันกลับคืนมา เราเรียกว่าซื้อคืนพ่อ ซึ่งเป็นมิชชั่นในชีวิตเราเลย 

    “รู้สึกว่าการกลับมาย้อนดูและเสพใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลาคือการได้คุยกับคนที่จากไปแล้วผ่านผลงานที่ทิ้งเอาไว้ ได้ฟังเพลงที่พ่อฟังในยุคของเขาหรือเอาเพลงที่พ่อเขียนใส่เทปเพื่อจีบแม่มาฟังใหม่ในวัยเรา มันเหมือนเราได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่าเขาคิดอะไร จินตนาการว่าในยุคนั้นเป็นยังไง นี่คือสุนทรียะ มันคือการใช้จินตนาการในการเก็บหลายสิ่งที่เขาทิ้งเอาไว้”

    กล่าวได้ว่าท่ามกลางช่วงเวลาที่ชีวิตเผชิญกับความทุกข์ ไม่ใช่ธรรมะและหลักคำสอนที่ช่วยให้โนะผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาได้ แต่เป็นซาวนด์แทร็กและสุนทรียะทางศิลปะที่แต่งแต้มช่วงเวลามืดมนให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง 

    ช่วงเวลายากลำบากเหล่านั้นได้แก่ วัย 30 ปีของเขาที่พ่อจากไปและตัวเขาป่วยหนัก ต้องผ่าตัดสมองในช่วงเวลาเดียวกัน “ตอนนั้นที่ผ่าตัดสมอง ก็หนักมาก เราก็ช่างแม่งสิวะ เรายังมีเพลงที่อยากฟัง คอนเสิร์ตที่อยากดู ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่เจอ ศิลปะยังคงไปต่อข้างหน้า ทำไมเวลาเราสูญเสียอะไรแล้วต้องเปลี่ยนตัวตน โชคดีที่พอเราหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็ก เราก็รักษามันไว้ ทีนี้ต่อให้แขนเราจะขาด ขาจะขาด เราก็ยังเป็นเรา เราจะพูดคำนี้บ่อย แต่เรากลัวคนฟังแล้วเอาแบบอย่าง เพราะไทป์ของคนมันต่างกัน” 

    นอกจากใช้สุนทรียภาพบำบัดความขมในชีวิตแล้ว เสียงหัวเราะและมุกขำขันยังเป็นเทคนิคการสื่อสารที่โนะถนัดเวลาพูดถึงเรื่องซีเรียส นอกจากแบรนด์เรซิ่นของตัวเองแล้ว เขายังมีอีกบทบาทคือเป็นหนึ่งในแก๊งยืนเดี่ยวซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้ผู้สร้างเวทีสแตนด์อัพคอเมดี้ในไทย และเป็นหนึ่งในแก๊ง Comedy Against Dictatorship ที่จัด Comedy Club เพื่อต่อต้านเผด็จการ 

    สำหรับโนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าหรือสินค้า วิธีคิดของเขาก็ใช้ศาสตร์เดียวกันทั้งหมดคือตั้งคำถามแล้วถ่ายทอดออกมาแบบสวนกระแส และไม่ว่าจะเผชิญความทุกข์หรือเจอเรื่องเคร่งเครียดแค่ไหน โนะก็ยังคงสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ซึ่งตรงคำบรรยายตัวตนของแบรนด์ Resindrome คือ Happy Crazy Naughty Stuff

    “คำนี้คือความกวนตีน เราว่าความกวนตีนมันช่วยก่อเกิดสิ่งใหม่ มันไม่ใช่เรื่องผิดบาป ไม่อยากจะพูดคำนี้เลยว่า เพื่อนที่กวนตีนได้เป็นตัวเองกันหมด คำว่าได้ดีหรือไม่ได้ดี อันนั้นเป็นคำที่คนอื่นตัดสินเขา แต่ทุกคนได้เป็นตัวเองหมด เขาได้เป็นตัวเขาในแบบนั้น”  

    Business Wisdom 
    Create Paradise from Pure Imagination

    Happy Crazy Naughty Stuff เป็นคำนิยามของแบรนด์ที่โนะบอกว่าใส่เข้าไปเพราะอยากให้แรงบันดาลใจกับผู้คนว่า “เท่อย่างนี้ก็ทำได้ ใครเป็นคนบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้”  

    ไอเดียสินค้าของ Resindrome เกิดจากการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาหลายปี ช่วงแรกโนะเริ่มจากทำศิลปะเรซิ่นออกมาเป็นแหวน สร้อยคอ เคสโทรศัพท์แล้วก็แตกสินค้าใหม่ที่ขยายขอบเขตจินตนาการให้เฟี้ยวสุดเหวี่ยงออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่เขี่ยบุหรี่รูปหัวแมว จานชามกลิตเตอร์สีสันวิบวับ ถาดรูปใบกัญชา เคสไฟแช็ก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนคุมโทนด้วยสีสันแสบตา

    ช่วงตั้งต้น โนะเริ่มจากการออกบูทขายของในงานอีเวนต์ชื่ออินดี้อินทาวน์ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้เช่าบูทเพื่อขายผลงานศิลปะของตัวเองฟรีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินอย่างเขาเห็นโอกาสว่าผลงานศิลปะสามารถแลกเป็นเงินกลับมาได้ เขาพบว่ายิ่งสินค้าแตกต่างแบบมีเอกลักษณ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นที่สนใจได้ง่าย  

    หลังจากสวมบทบาทพ่อค้าเร่ออกบูทขายของมาหลายที่ โนะก็พบอินไซต์ว่าถ้าทำสินค้าใดแล้วขายดี อาทิตย์ถัดไปร้านค้าร้านอื่นจะเริ่มทำสินค้าเลียนแบบตามกันทำให้มีสินค้ารูปแบบละม้ายคล้ายคลึงกันวางขายเกลื่อนเต็มแผง ด้วยความที่เป็นคนทำงานสร้างสรรค์ทั้งงานอาร์ตและ stand-up comedy ทำให้เขาชอบมองหาโจทย์ใหม่ที่ไม่เหมือนคนอื่นอยู่เสมอ 

    “ยิ่งอะไรที่เป็นกระแส พอเราเข้าไปจับแล้วจะรู้สึกจั๊กจี๋กับตัวเอง ไม่ชอบเลย อยากสวนกระแส ขออินดี้ ขอเป็นความฉิบหาย อยากอัลเทอร์เนทีฟ มันเป็นธรรมชาติมากๆ ของคนมี creative mind ที่เวลาเราเจออะไร เราจะตั้งคำถามกับขนบเดิมว่า What If… แล้วถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง เราเลยสนุกกับการเปลี่ยนสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำเดิม สนุกกับการจินตนาการว่า ถ้าทำอย่างนี้มาเจอกับอันนี้จะเป็นยังไง อยากตื่นขึ้นมาแล้วลองทำสิ่งใหม่” 

    เขาสังเกตเห็นว่าพระเครื่องไม่เคยมีสีสันเลย 

    ถ้าลองเปลี่ยนสีและเอาคู่สีใหม่มาจับเข้าคู่กันจะเป็นยังไง  

    ถ้าทำสีสะท้อนแสงหรือถ้าทำเป็นสีพาวเวอร์พัฟเกิร์ลจะเป็นยังไง 

    จึงเกิดคอนเซปต์ ‘ไม่มีพระพุทธคุณ มีแต่พระพุทธคูล’ และ ‘ไม่ศักดิ์สิทธิ์แต่ชิคในหมู่วัยรุ่น’ ที่สร้างสรรค์งานเรซิ่นเป็นพระเครื่องจิ๋วติดตู้เย็น, ‘Baby Budd’ (เบบี้บุ๊ด) sculpture บุ๊ดด้าเวอร์ชั่นเบบี๋ตัวจิ๋วขนาดน่ารักพอดีมือที่มีหลายเฉดสีให้เลือก, สร้อยคอห้อยพระเครื่องที่ร้อยด้วยลูกปัดสีพาสเทลและกลิตเตอร์, ‘พระ SAY U’ ไม้กางเขนเรซิ่นรูปพระเยซู และรูปหล่อเรซิ่นอีกมากมาย เช่น พระแม่มารีย์ ดอกบัว แน่นอนว่าทุกผลงานล้วนคุมโทนด้วยสีสันจี๊ดจ๊าด

    พระเครื่องเรซิ่นของ Resindrome นั้นอิงมาจากพระเครื่องต่างๆ ที่มีชื่อเสียง โดยสร้างสรรค์ผลงานตามปางพระที่มีอยู่จริงทั้งรูปทรงและรายละเอียด เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง, ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์, พระซุ้มกอ, พระรอด, พระผงสุพรรณ, พระนางพญา 

    ยังไม่ทันได้ถามว่าโนะมีมุมมองยังไงกับการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือมาตีความใหม่ โนะก็ออกตัวว่าเขาได้ปรึกษาพระเรียบร้อยแล้ว “ก่อนจะทำออกมา ก็ปรึกษาพระมหาไพรวัลย์ ตอนนั้นไปเจอท่านเทศน์ที่งานหนึ่ง เขาก็บอกว่าระวังนะ ระวังจะรวย”  

    ทั้งนี้โนะไม่ได้กำหนดนิยามว่าผลงานเรซิ่นเหล่านี้คืออะไรหรือจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด แต่อยากเปิดกว้างให้คนภายนอกมองผลงานของเขาว่าเป็นได้หลายสิ่ง มันอาจเป็นอาร์ตทอย, เครื่องประดับ, ของตกแต่ง, เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ, สิ่งเตือนสติ, ของที่ระลึก หรือเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่เจ้าของเรซิ่นชิ้นนั้นจะให้คำจำกัดความ 

    “พออะไรที่มันฟีเวอร์มากๆ อย่างอาร์ตทอยเราจะไม่ค่อยอยากไปแตะคำนิยามนั้น บางคนจะเรียกว่าเป็นอาร์ตทอยก็ได้ แต่จนถึงทุกวันนี้นิยามคำว่าอาร์ตทอยมันก็หลากหลายนะ บางคนสะสมเอาไว้เทรด บางคนซื้อเพื่อสนุก คือสุนทรียะและการใส่นิยามในแต่ละสิ่งของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางคนก็อาจใส่พระเครื่องของเราเพื่อความมั่นใจ เราเลยคิดว่าอย่าไปจำกัดคำนิยามไว้กับสิ่งใดเลย สมมติว่าตอนแรกเราเรียกว่าอาร์ตทอย คนที่มองมันเป็นอย่างอื่นก็อาจจะสับสนละ”

    แก่นสำคัญที่ Resindrome อยากสื่อสารคือแบรนด์ไม่ได้ขายความเชื่อแต่ขายคอนเซปต์สร้างสรรค์ ในบางครั้งการเจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่ก็ทำให้เกิดผลงานใหม่ อย่างเช่นโจทย์ของค่ายเพลง YUPP! ที่ติดต่อแบรนด์มาเพราะสนใจนำสร้อยพระเครื่องเรซิ่นมาทำเป็นของที่ระลึกสำหรับแจกที่งาน The Milli Show ของ Milli แรปเปอร์สาวชาวไทยชื่อดัง จากแรงบันดาลใจในเพลงสาธุ (SAA-TUU) ที่ฟีตเจอริ่งกับ Tang Badvoice ที่คุยเรื่องศาสนา โนะก็ผุดไอเดียเป็นคอนเซปต์ ‘แม่sheอำนวยอวยชัย’ (จากชื่อเล่น ‘นวย’ ของมิลลิ) และทำสร้อยที่ล้อทรงจากสร้อยพระเครื่องโดยใส่หน้ามิลลิลงไปแทน

    โนะบอกว่า “สำหรับคนที่เป็นแฟนคลับมิลลิก็มองว่ามิลลิเป็น trendsetter เป็นคนทำลายกำแพงบางอย่าง ทั้ง beauty standard, คุณภาพของการแสดงและวิธีการนำเสนอกับคนดู” และพระเครื่องเรซิ่นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยสื่อสารตัวตนของศิลปินในงานนี้ได้ดี

    Debate & Flow Stage to Resin Nirvana 

    กระบวนการทำเรซิ่นของ Resindrome เริ่มจากแกะแบบแล้วหล่อให้เป็นทรง มีทั้งรับบล็อกสำเร็จรูปจากโรงงานมาทำต่อ ซื้อบล็อกทรงสุดเฟี้ยวจาก Taobao ที่จีน และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเครื่องปรินต์ 3D มาช่วยในการขึ้นแบบใหม่เอง โนะผสมสีและกลิตเตอร์สำหรับทำเรซิ่นโดยเฉพาะด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดที่ทำเองแทบจะทุกขั้นตอน 

    สำหรับพระเครื่องเรซิ่น โนะได้บล็อกทำขนมรูปพระมาจากร้านมาดามชุบที่ทำขนมอาลัวทรงพระเครื่องจนเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง “เห็นร้านเขาทำขนมอาลัวรูปพระแล้วโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยขอรับไม้ต่อเพราะอยากคุยกับสังคมอยู่แล้ว เลยติดต่อเขาไปว่าผมขอสานต่อ แต่ทำมา 2 ปียังไม่เจอใครติดต่อมาเลย”

    แทนที่จะกลัวกระแสแง่ลบ เขากลับสนุกกับการเจอผู้คนหลากหลายและตั้งตารอกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพราะมองว่าเป้าหมายของงานสร้างสรรค์คือการสร้างบทสนทนาให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
    ที่ผ่านมาลูกค้าคนแรกที่ซื้อพระเครื่องเรซิ่นเป็นพระและด้วยความที่โนะย้ายสถานที่ออกบูทไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้เจอกลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งวัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน ผู้ใหญ่ เพราะออแกไนซ์จัดอีเวนต์แต่ละที่ก็มีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มในสไตล์ของตัวเองที่แตกต่างกันไป 

    “พอมีลูกค้าเป็นพระ เราก็ได้สนทนาธรรม แล้วก็ได้ดีเบตกับคุณป้าที่บอกกับเราว่า ‘ทำแบบนี้เลยเหรอ’ เขารู้สึกว่าทำไมถึงทำสีขนาดนี้ เราก็เลยพยายามแชร์ว่า ใครเป็นคนกำหนดให้สีเงิน สีทอง สีทองแดงเท่านั้นเป็นสีที่มีค่า สมัยก่อนสีที่แพงที่สุดในบางพื้นที่คือสีน้ำเงินหรือสีแดงเพราะแต่ละพื้นที่ทำสีได้ไม่เท่ากัน ความแพงของสีหรือการมองอะไรว่าแพงเป็นเรื่องของจิตที่ปรุงแต่งทั้งนั้น ในบริบทของผมมองเป็นงานอาร์ตและเราโตไปกับข้อมูล ผมก็เลยทำขึ้นมาแค่นั้นเอง คุณป้าเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร เราก็แลกเปลี่ยนกันไป มันดีเบตกันได้”

    โนะยังบอกว่าสุนทรียะในการทำงานเรซิ่นของเขาไม่ใช่แค่ขายดี การมีลูกค้าชื่นชอบนับเป็นโบนัส แต่ความสนุกคือการได้ลงมือทำและมองว่าส่วนใหญ่คนสายอาร์ตแบบเขามักไม่สนใจเรื่องเงินเป็นหลัก 

    “ใครที่เป็นสายอาร์ตแล้วมีทักษะ business management ด้วยเป็นเหมือนช้างเผือกที่มีงาดำ หางแดง รวยเละเทะ ซึ่งเป็นส่วนน้อย อย่างเราจะไม่มีทักษะนี้เลย เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่เราเลยไม่รับทำแบบ custom-made เพราะกลัวไม่ถูกใจ บางคนทักมาว่าทำหลายชิ้นได้ไหม แต่เราทำแบบแฮนด์เมด เราทำตามสุนทรีย์ของเรา ซึ่งไม่ดีหรอก แต่ถ้าถามถึงความสำเร็จของเรา มันคือการที่นอนคิดแล้วตอนเช้าตื่นมาได้ทำ แค่นี้สำเร็จแล้ว ต่อให้ไม่สวยเลย ทำแล้วต้องทิ้งไป ก็สำเร็จแล้วที่ได้ทำ”

    สำหรับโนะ การทำศิลปะเรซิ่นคือการพักผ่อนที่โต๊ะทำงาน ใช้เรซิ่นเป็นกระบวนการบำบัดเข้าสู่ flow stage ที่มีสมาธิในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างลื่นไหลและสนุกกับกระบวนการคิดไอเดียใหม่

    นิพพานของอาร์ตติสท์อย่างโนะผู้ไม่เชื่อในอะไรเลยอาจไม่ได้ผ่านเส้นทางการศึกษาหลักธรรมล้ำลึก แต่เป็นการมีสมาธิจดจ่อกับเรซิ่นที่ชื่นชอบจนบรรลุไอเดียสร้างสรรค์แบรนด์สดใหม่ที่ไม่เหมือนใครในแบบของตัวเอง 

    Editor’s Note : Wisdom from Conversation


    โลกของคนที่ไม่ศรัทธาในอะไรเลยดูเหมือนจะมีส่วนคล้ายกับโลกของผู้นับถือศาสนาอย่างน่าพิศวงแม้ความเชื่อจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเหมือนโลกคู่ขนาน (parallel universe)   

    ‘การทำงานคือการปฏิบัติธรรม’ คือคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุซึ่งหมายถึงการมีจิตว่างและการสร้างสมาธิสามารถอยู่ในกิจกรรมชีวิตประจำวันอย่างการงาน แม้แต่พระนิกายเซนก็นับงานบ้านเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ฝึกฝนสมาธิ และดูเหมือนว่าการลงมือสร้างสรรค์อะไรสักอย่างแบบจดจ่อเช่นการทำศิลปะเรซิ่นสีสันฉูดฉาดจะทำให้ศิลปินผู้บอกว่าเสพติดกิเลสจากศิลปะสามารถสร้างสภาวะ flow ที่เต็มเปี่ยมด้วยสมาธิและ pure imagination (จินตนาการอันบริสุทธิ์) ได้

    จินตนาการไร้กรอบนี้เองที่ทำให้แบรนด์อย่าง Resindrome เป็นที่สนใจและสามารถสร้างสินค้าที่มีความออริจินัล ซึ่งทำได้เพราะไม่มีกรอบและกฎเกณฑ์ใดในหัวเลยตั้งแต่แรก ทำให้เกิดความแหวกแนวและเฟี้ยวสุดทางมากกว่าการคิดสร้างสรรค์แบบออกนอกกรอบ 

    เราคงไม่อาจเทียบได้ว่าสินค้าพระเครื่องเรซิ่นของ Resindrome ทันสมัยมากกว่า ป๊อปมากกว่า หรือมีมูลค่ามากกว่าวัตถุบูชาดั้งเดิม แต่ความหมายของ Modernize สำหรับแบรนด์นี้น่าจะเป็นกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ที่สะสมจาก input ที่ศิลปินเสพทำให้เกิดการมองโลกและไอเดียจากเรซิ่นที่ไม่มีใครเหมือนได้ไม่รู้จบ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีสินค้าอะไรออกมาอีก 

    The Body Shop อดีตยักษ์ใหญ่ในน่านน้ำสีเขียว สู่การยื่นล้มละลาย และกรณีศึกษาของแบรนด์ยั่งยืน

    เมื่อไม่นานมานี้หลายคนอาจได้เห็นข่าวการประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการของแบรนด์สกินแคร์ชื่อดังจากประเทศอังกฤษอย่าง The Body Shop ที่จะให้บริการทุกช่องทางถึงวันที่ 31 มกราคมนี้เป็นวันสุดท้าย

    ในยุคที่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หรือคำว่า sustainability ยังไม่ถูกขยายความมากขนาดนี้ The Body Shop เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ปักธงในฐานะแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ The Body Shop ร้านเครื่องสำอางและสกินแคร์จากธรรมชาติเติบโตและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยการต่อต้านการทดลองกับสัตว์ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ The Body Shop มีสาขาทั่วโลกกว่า 3,000 แห่ง

    เรื่องราวความสำเร็จของ The Body Shop ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี เริ่มสั่นคลอนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านมาโดย The Body Shop ในอังกฤษได้ยื่นล้มละลายจากปัญหาที่สะสมมานานหลายปี โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนมือผู้บริหารที่มากถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2006 ที่ลอรีอัลได้เข้ามาบริหารเน้นการขยายสาขาและพัฒนาสินค้าใหม่ทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโตอย่างมาก จากนั้นจึงถูกส่งต่อให้ Natura แบรนด์เครื่องสำอางจากบราซิลในปี 2017 ที่เน้นการทำการตลาดออนไลน์ พัฒนาสินค้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นช่วงที่แบรนด์ได้รับการยอมรับและสร้างแรงบันดาลใจด้านการเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ The Body Shop อยู่ภายใต้การบริหารของ Aurelius ที่มุ่งปรับโครงสร้างทางธุรกิจ

    เป้าหมายหลักของ Aurelius เน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจเพื่อนำเข้าสู่ตลาดหุ้น (IPO) มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรในระยะสั้น จนอาจไม่มีช่องว่างในการพัฒนาสินค้าใหม่ ส่งผลให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด และขาดการลงทุนในการพัฒนาสินค้าใหม่ ทำให้ปัจจุบันภาพของ The Body Shop ถูกมองว่าเป็นแบรนด์เก่าแก่ ล้าสมัย ที่ไม่พัฒนาและตกยุคไปในที่สุด 

    การแข่งขันใน Green Ocean Strategy

    หากใส่เลนส์การตลาด ช่วงแรก The Body Shop ยืนหนึ่งในกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว Green Ocean Strategy ซึ่งเป็นธุรกิจที่เน้นการบริหารและพัฒนาสินค้าอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนที่สนใจสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ เมื่อนานวันเข้า ก็มีแบรนด์ใหม่ๆ ใช้คอนเซปต์นี้เช่นกัน แถมราคายังถูกกว่า เรียกได้ว่ามีคู่แข่งตามมาอีกเป็นขบวน ทำให้กำไรของ The Body Shop ลดลงอย่างน่าใจหาย จาก 754 ล้านปอนด์ในปี 2016 เหลือ 408 ล้านปอนด์ในปี 2022 

    บวกกับในยุคที่การแข่งขันสูงแบบนี้ ชื่อเสียงของ The Body Shop ยังคงความแข็งแกร่งในเรื่องการเป็นแบรนด์ยั่งยืนที่ทำเพื่อสังคม แต่ถ้าเป็นในเรื่องแบรนดิ้งและการตลาด The Body Shop ยังตามหลังแบรนด์อื่นอยู่มาก Diane Wehrle ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Rendle Intelligence and Insights กล่าวว่า ในอดีต The Body Shop เป็นแบรนด์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เปรียบเหมือนวิลลี่ วองก้าที่เมื่อเข้าไปในร้านจะได้เจอแต่ของโปรด แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแบรนด์ของคุณแม่แล้ว

    เมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่งอย่าง Lush แบรนด์เครื่องสำอางที่มีจุดยืนคล้ายกัน แต่เน้นการสื่อสารและทำตลาดกับคนรุ่นใหม่ ทันทีที่เดินเข้าร้านลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง ทั้งการจัดวางบาธบอมบ์หลากสีสัน กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการสื่อสารและการทำตลาดกับคนรุ่นใหม่ สังเกตได้จากคอนเทนต์ใน TikTok ที่มีแต่รีวิวสินค้า Lush เต็มไปหมด และความเท่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าจาก Lush ยิ่งส่งให้ภาพ The Body Shop จางลง และตกอยู่ในที่นั่งลำบากทันที

    เปลี่ยนมือ เปลี่ยนจิตวิญญาณ

    จากข่าวการเปลี่ยนมือผู้บริหารอยู่หลายครั้ง อาจทำให้หลายคนมองว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อเติบโต แต่ Catherine Shuttleworth นักวิเคราะห์การตลาดมองว่า การที่ธุรกิจถูกเปลี่ยนมือบ่อยครั้งด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้จิตวิญญาณหรือแนวคิดของผู้ก่อตั้งหายไป และธุรกิจอาจหลงทาง สูญเสียคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์ จนไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ โดยเฉพาะในอังกฤษที่กำลังประสบปัญหาหนักด้านการเงินและแนวทางการบริหารที่ไม่สามารถก้าวสู่โลกออนไลน์ได้ ทำให้คู่แข่งแซงหน้าไปไกล และตัวแบรนด์ก็ไม่ดึงดูดลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป

    ตอนนี้ The Body Shop มาถึงจุดที่ต้องประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากจากทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ในการปิดตัวลงนี้ยังคงสร้างความเสียดายให้กับเหล่าผู้บริโภคจำนวนมาก ที่รู้สึกผูกพันกับแบรนด์

    อย่ากลัวที่จะรีเฟรชแบรนด์

    ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในสเตจไหน เมื่อรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์เริ่มไม่ทันสมัย ยอดขายเริ่มนิ่ง แบรนด์ไม่อยู่ในใจลูกค้า หรือไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอีกต่อไป นี่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

    สิ่งแรกที่ทำได้คือ brand refresh ที่หมายถึงการทำให้แบรนด์สดใหม่ขึ้น ซึ่งเหมาะกับแบรนด์ที่ยังมีจุดเด่น แต่ต้องการปรับลุคให้ดีขึ้น เหมือนกับ The Body Shop ที่แข็งแกร่งในเรื่องการเป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าโดยใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ และคำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเสมอ หากมีการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ปรับปรุงสินค้าทั้งเรื่องคุณภาพและดีไซน์โดยยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ สร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ก็อาจทำให้ลูกค้ากลับมาสนใจอีกครั้ง และแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมั่นคง

    ข้อมูลจาก

     ไปต่อหรือพอแค่นี้ ขาลงของธุรกิจอาหาร Plant-Based ที่แม้แต่รายใหญ่ยังทยอยปิดตัว

    ธุรกิจอาหาร Plant-Based

    ธุรกิจอาหาร Plant-Based Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

    รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

    โสเหล่หลังฮ้านหมอลำกับ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ ถึงชีวิตและธุรกิจหมอลำแห่งยุค

    โครงเหล็กเวทีขนาดใหญ่กำลังถูกประกอบร่างขึ้น ป้ายหน้าเวทีเขียนว่า ‘ระเบียบวาทะศิลป์‘ และมีเลข  ‘๖๐’ เด่นตระหง่านอยู่ตรงกลาง ไม่บอกก็คงพอเดาออกว่านี่คือเลขอายุวง 

    ตัวเลข 60 สำหรับคนอื่นๆ อาจคือวาระเกษียณ วางการงานทุกอย่างลงเพื่อใช้เวลาพักผ่อนหลังจากทำงานมายาวนาน แต่สำหรับความคิดฉันในตอนเห็นป้ายเวทีของระเบียบฯ มันคือตัวเลขที่บอกชั่วโมงบินในการทำงานและการอยู่ยั้งยืนยงของศิลปะดนตรีอีสาน

    จากคณะหมอลำเล็กๆ ที่มีสมาชิกหลักหน่วย ได้ค่าจ้างหลักพัน จนเติบโตมีสมาชิกมากมาย รายได้หลักแสนต่อครั้ง ตระเวนแสดงไปทั่วประเทศตลอดปีแทบไม่มีวันเว้นว่าง ปลุกปั้นศิลปินอีสานหลายคนจนโด่งดังเป็นที่รู้จัก ได้ร่วมงานกับเวที Miss Grand Thailand หรือปีล่าสุดในงานเทศกาลดนตรี Big Mountain Music Festival ครั้งล่าสุด ระเบียบวาทะศิลป์เป็นหมอลำคณะเดียวที่มีชื่อในไลน์อัพและได้ขึ้นเล่นบนเวทีเคียงข้างวงดนตรีร่วมสมัย ที่สำคัญเหล่าแฟนดนตรีล้วนเอนจอยกับแสงสีเสียงบนเวทีและพลังที่พวกเขาส่งมา

    เมื่อรู้ว่าระเบียบวาทะศิลป์เดินสายแวะมาเยือนกรุงเทพฯ ฉันจึงติดต่อเพื่อขอนัดพบ สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ หรือที่คนในแวดวงสายงานหมอลำรู้จักเขาในชื่อ ‘พ่อเปีย’ หนึ่งในผู้สานต่อระเบียบวาทะศิลป์ ผู้เป็นลูกชายคนโตของ ‘ระเบียบ พลล้ำ’ และ ‘ดวงจันทร์ พลล้ำ’ คู่สามีภรรยาผู้ปลุกปั้นคณะหมอลำแดนอีสานคณะนี้ขึ้นมา 

    -1-
    ซู่มื้อซู่เวนคืองาน

    สถานที่ที่เรานัดพบกันคือลานด้านหลังของตลาดแห่งหนึ่งย่านรังสิต 

    บริเวณที่ที่เรานั่งพูดคุยกันอยู่ท่ามกลางเหล่าทีมงานที่กำลังวุ่นอยู่กับการตั้งเวที–เวทีที่อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะมีชีวิตชีวาด้วยแสงสีเสียง และมีผู้คนนั่งรอด้านหน้าเพื่อชมโชว์จากระเบียบวาทะศิลป์

    “ทีแรกปีนี้พ่อไม่มีคิวเข้ากรุงเทพฯ แต่ออร์แกไนซ์เขาขอมา ครั้งนี้ก็เลยเข้ามาแค่วันสองวัน ถ้าอย่างปีที่แล้วกับช่วงก่อนโควิดจะเข้าเยอะ เพราะแถวอีสานเขาไม่ให้จัดก็ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่เข้ากรุงเทพฯ มันก็เหนื่อย ปีก่อนนี้ลงกรุงเทพฯ ทีคือ 30-40 คิวเลย ต้องเทียวไปเทียวมาเหมือนไปนาเลยนะ

    “ครั้งนี้ออร์แกไนซ์ที่จัดเขาว่าขอมาลงสักคิวสองคิวหน่อย ให้แฟนคลับหายคิดถึง พอมีคิวว่างก็เลยมา พอดีกับอีกสองวันคณะพ่อมีงานที่แม่สอดด้วย” 

    เขาเล่าว่าในปีหนึ่งที่มี 365 วันพวกเขาต้องทำงานเกือบทุกวัน จนเราสงสัยว่าพวกเขาเอาเวลาที่ไหนพัก กินอยู่กันยังไง

    “ก็พักบนรถ นอนกับรถ มันเคยชินแล้ว หนึ่งปีมี 12 เดือน พ่ออยู่บนรถตู้คันนี้ไปแล้ว 9 เดือน (หัวเราะ) เขาเรียกว่าเอารถเป็นบ้าน เอาร้านเป็นครัว” เขาหัวเราะ 

    ถึงแม้ดูเผินๆ เขาจะมีความสุขกับกิจวัตรการงานแบบนี้ แต่ภายใต้สีหน้าเปื้อนยิ้มกลับดูซ่อนความเหนื่อยล้าไว้อย่างสังเกตได้ 

    แล้วชีวิตแบบนี้มันเป็นชีวิตที่มีความสุขจริงหรือเปล่า–ฉันสงสัย

    “พ่อมีลูกสาว บางทีเขามาเดินสายด้วย เขาก็บอก “พ่อไปเปิดห้องนอนดีกว่า มานอนทำไมในรถ ตากแดดตั้งแต่เช้ายันเย็น” แต่พ่อไม่นอน มันอยู่แบบนี้ คลุกคลีกับแบบนี้มาตั้งแต่เกิด ถ้านอนแบบนี้ ทำงานแบบนี้ พ่ออยู่ได้ มีความสุข แต่ถ้าให้ไปนอนรีสอร์ต แบบนั้นคือความทุกข์ของพ่อ

    “อีกอย่างเราต้องดูแลสมาชิกในวง ไม่ใช่เป็นหัวหน้าแล้วคุณจะไปนอนพักสบายคนเดียว แล้วมาถามลูกน้องว่าเสร็จยัง เสร็จยัง เราจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ เราทำทุกอย่าง บางทีก็ต้องขึ้นนั่งร้าน ยกสายไฟ ยกป้ายขึ้นไป”

    “เป็นหัวหน้าต้องทำเองด้วยเหรอ”

    “เด็กมันก็ถามนะว่าเป็นหัวหน้าต้องทำเองด้วยเหรอ ใช่ คือเราทำมาตั้งแต่เด็ก เราทำเองทุกอย่าง อีกอย่างคือข้าวของมันไม่ใช่ของลูกน้อง เด็กมันก็ทำไปของมันตามหน้าที่ พังมาอะไรมาก็ต้องถึงพ่ออยู่ดี โทรศัพท์พ่อต้องถือตลอด วางไม่ได้เลย ตี 2 ตี 3 โทรมาก็ต้องรับสาย เดี๋ยวก็โทรมาบอกว่าพ่อน้ำมันหมด พ่อยางระเบิด คนนั้นไม่สบาย คนนี้ป่วย เราเลยต้องดูแลหมด มันก็เลยรับภาระหนักพอสมควร แต่ก็เหมือนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไป”

    “ต้องแบกรับหน้าที่หลายอย่างขนาดนี้ ฟังดูน่าจะเหนื่อยมาก แล้วทำไมถึงยังอยากทำอาชีพนี้อยู่” ฉันชวนผู้นำของคณะหมอลำตรงหน้าย้อนทบทวน

    “จริงๆ ก็เหนื่อย แต่เพื่อปากท้อง เพื่อองค์กร ที่จริงไม่ทำก็ได้ แต่มีสมาชิกอยู่ 300 คน มันจะไปรอดกี่คน อีกร้อยสองร้อยคน ก็ไม่รู้เขาจะไปยังไง อย่างคนเฒ่าคนแก่ เราดูแลมา เขาทำงานมานาน ถ้าจะไปหางานอื่นทำ ไปทำที่ไหนเขาจะเอา เราก็ต้องคิดถึงคนอื่น

    “อย่างบางคนเราดูแลมา เขามีรถรา มีอาหารการกินดีๆ มีแฟนคลับรู้จักก็เพราะหมอลำ เสื้อผ้าทุกตัวที่เราใส่ก็เพราะหมอลำ มันลืมไม่ได้ แล้วถ้ายุบตรงนี้ไปจะไปทำงานอะไร”

    -2-
    แม้นดีฟากฟ้ากะบ่เบิ่งเด้อหมอลำ

    สุมิตรศักดิ์ผูกพันกับเวทีและดนตรีอีสานมาตั้งแต่ก่อนเกิด

    เขาเป็นลูกชายคนโตของพ่อเบียบและแม่ดวงจันทร์ ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกแม่ก็กระเตงท้องเขาขึ้นเวทีลำกลอน กระทั่งวันคลอดก็ยังประจวบกับต้องออกงานร้องลำและเกือบต้องคลอดหลังเวที โตขึ้นมาหน่อยก็ต้องตามติดพ่อแม่ที่ต้องไปร้องรำทำงาน และเขาใช้ชีวิตคลุกคลีกับดนตรีอีสานมาตั้งแต่จำความได้

    แม้เขาจะเกิดและเติบโตมากับหมอลำโดยแท้ ทว่าสังคมชนบทอีสานก็ยังอยากให้ลูกหลานเป็นเจ้าคนนายคน ปลูกฝังแต่อ้อนแต่ออกว่าเป็นเจ้าเป็นนายชีวิตสบาย อีกทั้งหมอลำสมัยก่อนเก่าก็ไม่ใช่อาชีพที่มีภาพลักษณ์ที่ดีนัก

    ใครโตมากับอีสานจะรู้ดีและคงเคยได้ยินคำว่า ‘หมอลำขอข้าว’ 

    “เกิดและโตกับหมอลำมา มีความคิดอยากจะเป็นหมอลำตั้งแต่แรกเลยไหม” ฉันชวนเขาย้อนเวลา

    “ความคิดคนมันเปลี่ยนไปเรื่อยเนาะ ตอนเรียนก็อยากเป็นครู เพราะอาชีพหมอลำมันก็ไม่มั่นคง สมัยก่อนมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มีงานบ้างไม่มีงานบ้าง ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่คิวเต็มตลอด

    “ตอนเรียน ม.ศ.3 ความคิดตอนนั้นคืออยากไปเป็นครูบนดอย แต่พอจบ ม.ศ.3 มันก็คิดไปอีกอย่างนึง เห็นรถราวิ่งตามถนนก็อยากเป็นช่าง สมัยนั้นคนรุ่นเดียวกันจบช่างยนต์เยอะ กลายเป็นว่าทำให้ตอนนั้นการแข่งขันมันสูง ทุกคนเรียนช่างยนต์หมด ความคิดเหมือนกันหมด จบมาก็ตกงาน พอตกงานประจวบกับตอนนั้นวงของพ่อก็เริ่มหาพระเอกยากแล้ว เราก็สงสารพ่อ เลยบอกเขาว่าเอาอย่างนี้พ่อ เดี๋ยวผมเป็นให้พ่อสักปีนึง ถ้าพ่อหาคนอื่นแทนได้ผมก็จะกลับไปทำงาน”

    และครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวไกล

    “ตอนเป็นตัวตามเขามันก็คล่องแคล่ว แต่พอเป็นตัวจริงมันประหม่า ทำอะไรไม่ถูก ถ้าคนเยอะจะไม่อยากเล่นเลย อาย แต่ถ้าคนน้อยชอบมาก กลับกันทุกวันนี้ถ้าคนเยอะจะชอบมาก” เขายิ้มหลังประโยคเมื่อเล่าถึงตัวเองในวันวาน

    “ที่บอกว่าตอนนั้นหมอลำยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้ คุณเคยโดนดูถูกมั้ยว่าเป็นหมอลำ”

    “มี เวลาพ่อไปโรงเรียน สมัยนั้นเข้าไปเรียนในเมือง มันก็จะมีเพื่อนฝูงที่เขาฐานะดีหน่อย เขาก็จะชอบมาพูดถากถางเยาะเย้ย เวลาไปโรงเรียนเขาก็จะล้อ หมอลำมาแล้ว หมอลำมาแล้ว แต่ไม่ตอบโต้นะ เราเป็นของเราอยู่แล้ว เราเป็นหมอลำอยู่แล้ว ตอบโต้ไปก็ไม่มีประโยชน์

    “ถ้าเป็นคนแบบบ้านๆ ตามชนบทกับเราเขาก็ไม่ดูถูกนะ อย่างพวกเพื่อนฝูงที่คลุกคลีกับเรามาเขาเข้าใจเรา แต่มันจะมีคนที่มีฐานะ เขาจะบอกว่ามันเชย เต้นกินรำกิน มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า บางครั้งไปขอลูกขอหลานมาเพื่อจะเป็นศิลปิน เขาก็พูดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ภาษาอีสานเพิ่นว่า ‘โอ้ แม้นดีฟากฟ้ากะบ่เบิ่งเด้อหมอลำ’ จังซี่กะมี ‘บ่ให้เป็นเด้อหมอลำ’ ไปจั่งซี่กะมี

    “พ่อยังจำขึ้นใจอยู่เลย ตอนนั้นมันจะมีเพื่อนพ่อคนนึงเขาก็บอกว่าไม่แน่นะ ลูกศิษย์อาจารย์ 40-50 คน สุมิตรศักดิ์เขาอาจจะเป็นนายกก็ได้นะในอนาคต แต่เพื่อนอีกคนมันก็ว่า “แค่นายกฯ หมอลำนั่นแหละ” พูดอย่างนี้” 

    เขาเล่าย้อนถึงความหลัง ก่อนจะบอกกับฉันว่า ปัจจุบันเขาได้เป็นประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอนของภาคอีสาน

    -3-
    เฮ็ดธุรกิจเป็นระบบระเบียบ

    จากเรื่องเล่าของเขานอกจากได้เห็นถึงความตั้งใจที่จ่ายลงไปเพื่อสืบสานศิลปะดนตรีอีสาน อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ระเบียบวาทะศิลป์กำลังทำคือการทำธุรกิจ

    พ่อเปียบอกว่าเขามองระเบียบวาทะศิลป์เป็นทั้งศิลปะและธุรกิจ เพราะหากไม่มองเป็นธุรกิจ ไม่คิดถึงเรื่องเงินทอง ศิลปะมันก็เดินต่อไปไม่ได้ 

    “พ่อว่ามันต้องเป็นของคู่กัน แต่ทำยังไงถึงจะคงเอกลักษณ์ของเรา ของหมอลำขอนแก่นเอาไว้ได้ เพราะเราอยู่ได้ด้วยตรงนี้ เราจะต้องมองเป็นธุรกิจ ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์มาช่วยด้วย บางทีค่าใช้จ่ายกับค่าจ้างที่เขาจ้างไปโชว์มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ค่าแรงเด็กมันเท่าเดิม มันต้องจ่ายเท่ากันเป๊ะๆ 

    “อย่างไปแม่สอดก็จะราคาสูงหน่อย ค่าจ้างมันประมาณ 750,000 คืนเดียวเล่น 3-4 ชั่วโมง พ่อก็ไม่รู้เขาจ้างไปทำไม (หัวเราะ) จ้างไปเล่นไม่กี่ชั่วโมง ราคาเกือบล้าน แต่ที่ราคามันสูงเพราะถ้าเรารับแถวอีสานมันจะประมาณ 350,000 บาท สามวันก็ล้านนึง แต่ไปแม่สอดคือเราเหมือนต้องเสียงานไป 3 วัน แต่เราก็เหมือนได้พาเด็กๆ เขาไปเที่ยวด้วย”

    พูดถึงเรื่องรายได้ หากย้อนกลับไปสมัยหลายสิบกว่าปีก่อน ค่าจ้างหมอลำแต่ละคณะอยู่กันที่แค่หลักพันถึงหลักหมื่นเท่านั้น ซึ่งสำหรับระเบียบวาทะศิลป์ที่ตอนนั้นยังเป็นเพียงคณะเล็กๆ ค่าจ้างสักหมื่นสองหมื่นพวกเขาก็อยู่กันได้อย่างสบาย จนเมื่อสมาชิกวงเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตาม

    “ค่าจ้างเราเริ่มต้นที่คืนละ 300,000 บางทีก็ 450,000-600,000 บาท ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพคนจ้างว่าเขาอยากได้อะไร กับขึ้นอยู่กับระยะทาง ถ้าระยะทางไม่เกิน 150 กิโลเมตรก็จะอยู่ที่ 340,000 บาท ถ้าเป็นช่วงมินิคอนเสิร์ตที่แต่ก่อนเขาเรียกว่าเป็นช่วงปิดฤดูกาล ก็จะอยู่ที่ 180,000-220,000 บาท อันนี้จะคิดตามจำนวนศิลปิน

    “ตอนนี้ศิลปินเรามีประมาณ 30-40 คน แดนเซอร์ 100 กว่าชีวิต คอนวอยอีก โชเฟอร์อีก แม่ครัวทำกับข้าวอีก รวมๆ ก็ 300 (หัวเราะ) ซึ่งพอคนเราเยอะ ค่าจ้างเราก็ต้องสูง แต่ส่วนใหญ่ก็ขาดทุนไปกับน้ำมัน (หัวเราะ) สมมติค่าจ้าง 220,000 จ่ายค่าน้ำมันไปแล้วแสนนึง เหลือแสนกว่าบาทนิดๆ คนทำงานเกือบ 300 ชีวิต จะแบ่งกันยังไง ก็ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์มาซัพพอร์ต”

    นั่นเป็นเหตุผลที่บนเวทีแฟนๆ จะเห็นหน้าจอขนาดใหญ่ ที่ก่อนและระหว่างแสดงจะมีโฆษณาของสปอนเซอร์ฉายให้ชม เพื่อที่จะนำรายได้จากสปอนเซอร์มาหล่อเลี้ยงคณะเพิ่มอีกทาง

    ถึงโชว์แต่ละครั้งของหมอลำคณะใหญ่จะมีค่าจ้างเหยียบหลักแสน แต่ถ้าบอกว่าแต่ละงานที่ต้องแสดงโชว์นั้นต้องเล่นตั้งแต่ค่ำจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน ก็ชวนปาดเหงื่ออยู่พอสมควร อาชีพหมอลำจึงไม่ใช่อาชีพที่ง่าย เพราะต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน

    มากกว่าการบริหารแรงกายและแรงใจที่จ่ายไปให้สมดุลเสมอ กระทั่งบริหารธุรกิจให้ก้าวเดินไปพร้อมกับศิลปะดนตรีอีสานได้ อีกสิ่งที่นับเป็นความยากในการทำธุรกิจหมอลำ พ่อเปียบอกว่ามันคือการบริหารคน 

    “คณะเรามันเต็มไปด้วยคน หลายพ่อหลายแม่ 300 ชีวิตที่มาอยู่ด้วยกัน ชีวิตมันต่างกัน บางคนจบปริญญาตรี ปริญญาโทก็มาเป็นหมอลำ บางคนฐานะการเรียนก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ ความคิดความอ่าน เคมีมันก็มีบ้างที่ไม่ตรงกัน เราก็ต้องช่วย ต้องทำให้เขาไปด้วยกันให้ได้ หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้องค์กรเราเดินไปให้ได้ เพราะมันคืออาชีพหลักของเรา และจะได้ช่วยให้เขามีเงินมีทองส่งน้องเรียน เจือจุนครอบครัว ค่าอาหารกับข้าวก็ต้อง เราเลยต้องมีพระเดชพระคุณต่อกัน พ่อก็ทำแบบนี้มา เลยรู้ว่าความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ภาษาอีสานเขาจะบอกว่าโมโหยิ่งพาตัวตกต่ำ ถ้าจะมีแต่ไล่ออก ไล่ออก แบบนี้ก็ฉิบหายหมด”

    “เวลาพนักงานที่โด่งดังจากเราแล้วออกไป ความรู้สึกมันเป็นยังไง โกรธไหม” ฉันถามด้วยอยากคลายความสงสัย

    “มันเสียดายมากกว่า แรกๆ น้อยใจว่าหรือเพราะเราดูแลเขาไม่เต็มที่ แต่หลังๆ มาก็ทำใจได้บ้าง มันต้องทำใจ เพราะทุกคนไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ถึงจะอยู่มา 5 ปี 10 ปี ก็โอเคแล้ว มันก็เป็นแบบนี้แต่ไหนแต่ไร พ่อระเบียบก็เหมือนกัน พ่อเขาก็แยกออกจากวงอื่นมาทำของตัวเองเหมือนกัน” เขาหัวเราะเมื่อเล่าถึงตรงนี้  

    “ในเมื่อมีคนเข้ามาและออกไป แล้วในมุมธุรกิจจะทำยังไงให้มันยั่งยืน”

    “พ่อขายแบรนด์ตัวเอง ไม่ได้ขายส่วนบุคคล บุคคลมันเกิดขึ้นมาด้วยธรรมชาติของมัน คนเก่าไปคนใหม่ก็มา ระเบียบฯ เราอยู่กับการโปรโมตตัวเอง เชียร์ตัวเอง เหมือนกับว่าถ้าพื้นฐานเราแน่น เสาบ้านเราแน่น เราก็จะสามารถเป็นเสาชูคนอื่นขึ้นมาได้

    “ที่ผ่านมาพ่อผลิตบุคลากรออกไปตั้งวง 3-4 คนแล้วนะ วงแรกคือบอย ศิริชัย มาอยู่กับพ่อ 4 ปี มีแฟนคลับซัพพอร์ตก็ออกไปตั้งวง นก พงศกร ก็ไปตั้งวง กู๊ด จักรพันธ์ ก็ไปตั้งวง แมน จักรพันธ์ ล่าสุดก็ไปตั้งวง เราเหมือนมหาวิทยาลัยผลิตบุคลากร คนไหนที่จบการศึกษาก็ออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก แต่คุณจะได้งานดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ หน้าที่ของพ่อจบแล้ว เราก็ผลิตรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา มันก็จะเป็นลูกโซ่กันแบบนี้” 

    -4-
    สิบ่เป็นหมอลำนอกสายตา

    เวลาล่วงเลยมาจวนจะค่ำ เวทีถูกประกอบร่างใกล้แล้วเสร็จ บรรยากาศชุลมุนกว่าช่วงเย็นย่ำที่เราเดินทางมาถึง แดนเซอร์และศิลปิน 300 กว่าชีวิตง่วนอยู่กับการลงเครื่องหน้าและการจัดแจงเครื่องแต่งกาย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศหลังเวทีหมอลำแบบแนบชิด 

    บทสนทนาดำเนินถึงช่วงท้ายๆ ก่อนที่เขาจะต้องออกไปหน้าเวทีทำหน้าที่เหมือนที่ทำมาตลอดระยะเวลาที่เลือกก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางนี้ ตั้งแต่วันที่ระเบียบวาทะศิลป์ยังเป็นเพียงคณะหมอลำเล็กๆ คณะหนึ่ง

    ถึงวันนี้ ในบรรดาหมอลำอีสานหลายร้อยคณะ ฉันไม่แน่ใจว่าในสายตาของคนอื่นนั้นระเบียบวาทะศิลป์เป็นที่สุดของหมอลำแล้วหรือยัง แต่ถ้ามองด้วยสายตาของฉันที่ได้เห็นหมอลำคณะนี้ในเทศกาลดนตรีระดับประเทศอย่าง Big Mountain และได้ร่วมงานกับ Miss Grand Thailand 2023 ในโปรเจกต์มิสแกรนด์ไรซ์ซิงสตาร์ นั่นคงอาจพอพิสูจน์สิ่งที่ฉันคิดได้ว่าระเบียบวาทะศิลป์คือหมอลำแห่งยุคสมัย

    จากหมอลำนอกจากสายตา วันนี้ระเบียบวาทะศิลป์ได้กลายมาเป็นวงที่คนทั้งประเทศเปิดใจฟังและตกหลุมรัก อีกทั้งยังสร้างปรากฏการณ์คนล้นหน้าเวทีและตกเหล่าวัยรุ่นให้แวะฟังหมอลำได้อยู่หมัดในงาน Big Mountain ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

    “รู้สึกยังไงกับปรากฏการณ์คนล้นหน้าเวทีตอนไป Big Mountain”

    “พ่อภูมิใจนะ ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไร ก็เล่นตามที่ซ้อมมา แต่ไม่รู้ไปมายังไง คนที่มาดูเขาก็ดูชอบ ตอนแรกก็คิดว่าจะมีใครมาดูเราไหม ที่ไหนได้ หน้ามือเป็นหลังมือเลย บางคนบอกว่าจะไปดูเวทีโน้น ดูระเบียบฯ แล้วกูไปไหนไม่ได้เลย (หัวเราะ) ศิลปินดังๆ บางคนมาเต้นหน้าเวทีเราก็มี”

    หากว่ากันตามตรง เทศกาลดนตรี Big Mountain เป็นเหมือนพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่และส่วนใหญ่คนที่เข้ามาฟังก็เป็นคนที่หลงใหลในดนตรีร่วมสมัย จนเมื่อปีล่าสุดนี่แหละที่หมอลำพื้นบ้านได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน จึงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่านี่นับเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลดนตรีและหมอลำ

    “ตอนแรกพ่อก็ไม่รู้หรอกว่า Big Mountain มันคืออะไร เราคนรุ่นเก่า ลูกสาวก็เล่าให้ฟัง เขาบอกว่าพ่อ สุดยอดเลยนะถ้าพ่อได้เข้าไปโชว์งานนี้ มันดนตรีระดับโลก ระดับประเทศเลย

    “งาน Big Mountain ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เขาให้เราไปร่วมงานนะ ทางผู้บริหารเขาบอกว่ามาดูงานเราอยู่หลายปีเลย ตอนแรกพ่อก็สงสัยนะว่าทำไมชื่อระเบียบฯ เข้าไปถึง Big Mountain ได้ จริงๆ มันไม่ใช่แค่เวทีเราอลังการแล้วเขาจ้างนะ เขาดูเราถึงขั้นว่าเราบริหารจัดการยังไง ระบบเสียง เวที ดนตรีเป็นยังไง เขาละเอียดมาก”

    “ตอนเห็นคนล้นหน้าเวทีความรู้สึกเป็นยังไง”

    “น้ำตาจะไหล ออกหน้าเวทีร้องเพลงยังไม่ถูกเลย ลืมหน้าลืมหลัง มันปลื้มใจ เพราะเราไม่คิดว่าวัยรุ่นเขาจะให้การตอบรับกับศิลปะพื้นบ้านเยอะขนาดนี้ มันไม่เคยมีมาก่อน เขาคงอยากมาดูความสนุกสนาน วัฒนธรรมอีสานมันคือความสนุก อีสานมันมักม่วน

    “2-3 ปีหลังมานี้หมอลำมันก็เริ่มกระเตื้องขึ้น คนเริ่มมาทำหมอลำกันเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อธุรกิจ ขยายฐาน ขยายวัฒนธรรม หรือเพื่อรักษาวัฒนธรรมเราก็ไม่รู้ แต่สำหรับเรา เราทำเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานยังได้เห็น และมันเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเด็กหลายๆ คนได้” 

    แม้ไม่ใช่คนที่โตมากับหมอลำ ไม่เคยคลุกคลีอยู่กับศิลปะพื้นบ้านอย่างหมอลำแบบจริงจัง และรู้เบื้องหลังชีวิตหลังม่านเท่าที่เคยได้ยินผ่านหู แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าภูมิใจแทนในความใจรักของพวกเขา และจากคำบอกเล่าของพ่อเปีย เขาคงรู้สึกแบบเดียวกัน

    “คิดว่าอะไรที่ทำให้ระเบียบวาทะศิลป์เติบโตมาได้ไกลขนาดนี้” 

    “ตอนนี้พ่อก็ไม่รู้ว่าระเบียบฯ มีชื่อเสียงขนาดไหน รู้แค่ว่าต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด ถึงคนจะบอกว่าระเบียบฯ อันดับหนึ่ง ไปไกลทั่วโลก พ่อไม่สนใจ แค่อยากทำทุกวันให้ดีที่สุด ทำผลงานให้ดีที่สุด อัพเดตคุณภาพการแสดงเป็นหลัก ถ้าผลงานการแสดงเราดี คนชื่นชอบ เขาก็จ้างเราไปเล่น เราอย่าไปมัวแต่หลงตัวว่าเราเป็นอันดับไหน เราทำผลงานให้ดีที่สุด ให้ตอบโจทย์คนดูที่สุดก็พอ เดี๋ยวของพวกนั้นมันก็มาเอง

    “สิ่งไหนที่เราทำให้กับแฟนเพลงได้ อันนั้นคือสิ่งที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการที่สุด อันไหนที่เขาบอกว่าไม่ชอบ ไม่ต้องการ เราก็เปลี่ยน อันนี้เขาไม่ยินดีกับเรานะ เราก็ต้องเปลี่ยนแนวไป ต้องหาอะไรที่ตอบโจทย์คนดูให้มากที่สุด สิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แฟนคลับเขาอยู่กับเรา ทำให้ดีที่สุด ทำให้สุดความสามารถ เท่าที่ศักยภาพเรามี และพอทำได้”

    “ตอนเด็กๆ พ่อมีมุมมองยังไงกับหมอลำ เคยคิดมั้ยว่าจะมาไกลขนาดนี้” ฉันย้ำถามถึงความหลังวัยเด็กอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจในคำตอบ

    “มันก็ตามประสาเด็ก ก็สนุกสนาน ก็ดู ก็ไม่ดูยืดยาว ไม่ได้ดูเป็นเรื่องเป็นราว ไปดูเขาเล่นก็ชื่นชมว่าเขาเล่นดี แค่นั้นแหละ ก็ไม่ได้คิดไกลขนาดนี้ แต่พอทำไปนานๆ อายุวงมันนานขึ้น เริ่มสมาชิกมากขึ้น เราก็ต้องคิดไปไกลแล้วว่าจะต่อยอดให้ศิลปะบ้านเราไปต่อยังไง

    “อีกอย่างคือเราทำมาแล้ว เราก็อยากต่อยอดให้ดีที่สุด พ่อเราสร้างชื่อ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ ไว้แล้ว หน้าที่เราคือต้องพัฒนาต่อยอดไปให้ได้ในแต่ละปี ต้องอัพเดตข้อมูล อัพเดตวัฒนธรรมต่างๆ ดูของหลายๆ ภาค ของหลายๆ ประเทศ แล้วเอามาปรับใช้ เราต้องคิด ต้องปรับปรุงอยู่ตลอด กว่าจะออกไปสู่สายตาพี่น้อง ไม่ใช่ว่าออกไปแล้วคนส่ายหัว”

    ก่อนจากเขาทิ้งท้ายกับฉันว่าสิ่งที่เขากลัว คือกลัวว่าถ้าหมอลำอีสานหายไปแล้วมันจะเอากลับคืนมาได้ยาก 

    “ของพวกนี้มันฟื้นตัวยากมาก พ่ออยากให้ทางรัฐทางอะไรเขามาช่วยด้วย หมอลำมันสร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยเลยนะ ต่างชาติเขายังมาดู คนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาตามมาดูก็มี”

    แม้ขานึงจะเป็นธุรกิจ แต่อีกขาของระเบียบวาทะศิลป์ก็ยังคงเป็นความตั้งใจรักษาวัฒนธรรมอีสานเอาไว้ บทสนทนาของเราจบลงพร้อมกับความสงสัยและคำถามที่ฉันเขียนลงมาในกระดาษ

    ตอนนี้ฉันไม่สงสัยแล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ระเบียบวาทะศิลป์ยืนระยะมาจนถึงปีที่ 60