วิธีบริหารธุรกิจและความสัมพันธ์ของ ‘โบ๊ท-จีน่า’ สามีภรรยานักจัดระเบียบบ้านแห่ง JudgeBaan 

หากการก้าวขาเข้าไปในบ้านใครสักคนทำให้เรารู้จักตัวตนของเจ้าของบ้านได้ บ้านของ ‘โบ๊ท–นิธิศ วารายานนท์’ และ ‘จีน่า–จินาภรณ์ พุ่มศิริ’ ก็อาจบอกได้ว่าพวกเขาเป็นคนอบอุ่น เป็นขาช้อป และเป็นคนมีระเบียบ

บ้านของพวกเขามีของเยอะ ไม่เข้าข่ายความมินิมอลสักนิด แถมนอกจากคู่สามีภรรยาแล้ว ในบ้านยังมีสมาชิกเป็นแมวอีก 3 ตัวที่เดินสอดส่ายไปมาตลอดเวลา ถึงอย่างนั้นก็เถอะ บ้านของพวกเขาก็ไม่เข้าข่ายคำว่ารกสักนิด

มองแวบเดียวก็รู้ว่าโบ๊ทกับจีน่ารักการจัดระเบียบเป็นชีวิตจิตใจ นั่นจึงไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะก่อตั้ง ‘JudgeBaan (จั๊ดบ้าน)’ ธุรกิจที่รับอาสาจัดบ้านทั่วกรุงในสไตล์และผ่านวิชั่นของพวกเขาเอง ไม่ว่าบ้านเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะห้องนอนหรือห้องครัว ไม่ว่าจะของเยอะหรือน้อย จั๊ดบ้านก็จัดบ้านให้ได้ทั้งหมด

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือโบ๊ทและจีน่าช่วยกันทำในทุกขั้นตอน ในวาระที่ธุรกิจมีอายุครบรอบ 1 ปีพอดิบพอดี เราชวนทั้งคู่มาเล่าเคล็ดลับของการบริหารธุรกิจและความสัมพันธ์ของสามีภรรยานักจัดบ้าน ที่ระหว่างทางอาจพบเจออุปสรรคที่ทำให้ติดขัด สะดุดล้ม และต้องเลือกเก็บ-เลือกทิ้งความรู้สึกบางอย่างไปบ้าง

แต่ความสัมพันธ์ก็เหมือนกับบ้าน พวกเขาเชื่อว่าเราจัดระเบียบมันได้เสมอ

ทั้งสองคนนิยามคำว่าบ้านที่ดีไว้แบบไหน

โบ๊ท : บ้านที่ดีต้องพอดี ไม่ได้แปลว่าใหญ่หรือเล็ก แต่พอดีกับคนที่อยู่ บางคนซื้อบ้านหลังใหญ่แต่ดูแลไม่ทั่วถึง บางคนซื้อบ้านหลังเล็กแต่กลับมีของเยอะ ทำให้เกิดปัญหาตามมา ผมคิดว่าคนที่จะตอบว่าบ้านนั้นพอดีหรือเปล่าก็คือเจ้าของบ้านนั่นแหละ

จีน่า : บ้านที่ดีคือบ้านที่มีพื้นที่ให้สมาชิกทุกคน ทุกคนในบ้านไม่ได้ถูกลืม เขาควรมีพื้นที่ให้พักใจจากโลกภายนอก ไม่ว่าจะพ่อ แม่ ลูก หรือน้องหมาน้องแมว เขาก็ต้องมีพื้นที่ของเขา อีกอย่างคือบ้านที่ดีคือบ้านที่มีเสน่ห์ เข้าไปแล้วรู้เลยว่าสมาชิกในบ้านมีคาแร็กเตอร์แบบไหน

โบ๊ท : อย่างบ้านเรามีตาข่ายที่ระเบียง ให้เดาว่าเพราะอะไร

เดาไม่ถูกเลย เฉลยที

โบ๊ท : (หัวเราะ) เปล่า เราอยากให้แมวเดินออกไปที่ระเบียงได้ นี่แหละคือบ้านที่เป็นส่วนผสมของสมาชิกในบ้าน

แล้วจำเป็นไหมที่เราต้องจัดระเบียบบ้าน

จีน่า : แน่นอน โดยเฉพาะบ้านที่มีคนหลายคนอยู่รวมกัน ถ้าไม่มีระบบหรือระเบียบ เวลาซื้อของเข้าบ้านก็จะวางแบบแรนด้อม ซื้อมาเยอะเข้าของใหม่ก็ไม่มีที่ลง เพราะฉะนั้นบ้านควรมีระบบที่ทำให้การดูแลบ้านนั้นง่าย

โบ๊ท : ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องอารมณ์ด้วย สมมติอยู่บ้านแล้วเศร้า มองไปทางไหนก็รก มันยิ่งเศร้ากว่าเดิม แต่เพียงแค่เราจัดบ้านใหม่ อารมณ์และมุมมองก็จะดีขึ้น

เคยมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าบ้านส่งผลต่ออารมณ์หรือมุมมองของเรามากๆ หรือเปล่า

จีน่า : มี เราเป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้า สมัยก่อนตอนอยู่บ้านกับพ่อแม่ก็จะมีตู้เสื้อผ้าที่เทอะทะ ซึ่งเราไม่ชอบ แต่พอมาอยู่คอนโดฯ ของตัวเอง เราทำราวแขวนแบบโชว์ให้เห็นหมดทุกอย่างเลย แล้วรู้สึกมีความสุข สบายใจ รู้สึกว่าเราสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้

คำว่าเป็นระเบียบของจีน่ากับโบ๊ทต่างกันไหม

จีน่า : ต่างมาก อาจฟังดูเซอร์ไพรส์ แต่เวลาจีน่าจัดบ้าน เราจะมองภาพรวมว่าสวยและใช้งานได้จริงหรือเปล่า แต่โบ๊ทเขาเป็นคนละเอียด 

โบ๊ท : ผมชอบความสมมาตร เข้าเหลี่ยมเข้ามุม ปรับสีให้เข้ากัน 

ก่อนจะมาเปิดธุรกิจจั๊ดบ้าน ทั้งสองคนจัดบ้านกันบ่อยแค่ไหน แล้วตอนไหนที่คิดได้ว่าสกิลที่เรามีสามารถทำเงินได้

จีน่า : จัดบ่อยมาก

โบ๊ท : เขาจะจัดไปเรื่อยๆ ไม่เคยฟิกซ์ เหมือนบ้านก็เปลี่ยนเวอร์ชั่นไปเรื่อยๆ เวลาเดินลงบันไดมาผมก็จะมีประโยคเด็ดว่า เออเวอร์ชั่นนี้ผมชอบนะ

จีน่า : เรารู้ตัวว่าเราเป็นคนขี้เบื่อ ฉะนั้นตอนซื้อบ้านหลังนี้ เราสร้าง build-in น้อยมาก เพราะเรารู้ว่าเราชอบเปลี่ยน ย้าย ขยับสิ่งต่างๆ ในบ้าน เมื่อก่อนตอนเราทำงานเป็นแอร์โฮสเตส เวลาไปเมืองนอกคนอื่นอาจจะซื้อกระเป๋า แต่เราแบกของแต่งบ้านหรือหนังสือแต่งบ้าน คือมันเป็นความชอบที่ไม่ต้องพยายามเลย

เราสนใจการจัดบ้านทุกแบบ ทั้งสไตล์ญี่ปุ่นแบบมินิมอล หรือสไตล์นิวยอร์กที่มีของเยอะๆ ชอบที่มันมีหลายแบบให้ได้ศึกษา แต่เราไม่เคยรู้ตัวนะว่าทำเป็นอาชีพได้ จนกระทั่งตอนที่ออกจากการเป็นแอร์โฮสเตส เราไปทำงานหลายที่ ทั้งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ร้านกาแฟ แต่สุดท้ายก็มีเพื่อนเราคนหนึ่งชวนให้เราไปจัดบ้านเขา

ทำไมอยู่ๆ เขาก็ชวน

จีน่า : เขาเคยมาบ้านเราแล้วเห็นว่าเราจัดได้ หลังจากจัดบ้านเขา เพื่อนอีกคนก็เริ่มติดต่อมา สักพักก็เป็นเพื่อนของเพื่อน ไล่ไปถึงคนที่ไม่รู้จัก เราจึงเริ่มมานั่งคิดแล้วว่าจะทำเป็นอาชีพดีไหม แล้วจั๊ดบ้านก็ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนธันวาคมปี 2565

จั๊ดบ้านเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน

จีน่า : เราอยากให้การจัดบ้านนั้นสวย ไม่ว่าบ้านนั้นจะมีของเยอะแค่ไหน หลายคนมักมองว่าบ้านโล่ง ไม่มีของ เหมือนบ้านตัวอย่างคือสวย แต่เราอยากเปลี่ยนความคิดนั้นว่าบ้านที่มีของเยอะๆ ก็สวยได้ แต่เราต้องเลือกภาชนะที่เข้ากับบ้านและตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า

กระบวนการในการจัดบ้านของจั๊ดบ้านเป็นยังไง

จีน่า : เริ่มจากถามเป้าหมายของลูกค้า แต่ละคนมีเงื่อนไขแตกต่างกัน บางคนกำลังจะมีลูก บางคนกำลังจะเลี้ยงแมวในคอนโดฯ บางคนอยากชวนแฟนมาอยู่ด้วยกันแล้วอยากเคลียร์บ้าน แล้วแต่ลูกค้าเลย จากนั้นเราต้องทำพรีเซนต์เสนอเขา คล้ายๆ กับบอกคร่าวๆ ว่าเราจะปรับบ้านเขาให้มีหน้าตาเป็นแบบไหน และถามเขาเพิ่มเติมว่าสะดวกให้เจาะผนังหรือทิ้งของชิ้นไหน

ทำไมต้องจริงจังถึงขนาดทำพรีเซนต์ขายงาน

จีน่า : เพราะเรารู้สึกว่าเราไปยุ่งกับสิ่งของของเขา ส่วนใหญ่จะบอกเรื่องการเจาะผนังแหละ เพราะลูกค้าหลายคนค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องนี้ การทำพรีเซนต์ก็เป็นการแปะเรฟเฟอร์เรนซ์ให้เขาเห็นว่าภาพในหัวเราคืออะไร เป้าหมายของเราคืออะไร 

เราเป็นกึ่งโฮมสไตลิสต์ด้วย ลูกค้าบางคนอยากให้ก้าวเข้าไปแล้วไม่เห็นของเลย ฉะนั้นเราต้องใช้กล่องจัดระเบียบสีเขียวให้ไม่เห็นของ ในขณะที่บางคนอยากให้ก้าวเข้าบ้านแล้วเห็นสิ่งของทั้งหมด เราก็ใช้กล่องใส แต่ก่อนจะทำเราก็เอาภาพมาเทียบให้เขาดูนิดนึงว่าแบบไหนได้ประโยชน์อะไร

มีเกณฑ์ในการรับงานไหม บ้านแบบไหนที่จะอยากจัดและบ้านแบบไหนที่จะไม่จัดเด็ดขาด

โบ๊ท : เรารับมาหมดแล้ว บ้านเดี่ยว บ้านหลังเล็ก คอนโดใหญ่ คอนโดเล็ก ออฟฟิศก็มี

จีน่า : ด้วยความที่เพิ่งเปิดตัว เราจึงรับงานหมดเพราะอยากทดสอบตัวเอง มันจะมีรูปแบบการทำงานบางอย่างมากกว่าที่จะไม่รับ ปกติการทำงานของเราจะเริ่มจากไปบ้านลูกค้า วัดพื้นที่แล้วค่อยกลับมาออกแบบ แต่บางครั้งลูกค้าก็ขอให้ไปแล้วจัดเลย ซึ่งเราเคยรับแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ เราทำได้ดีกว่านี้ เคสแบบนี้คงไม่รับแล้ว หรืออย่างงานแพ็กของที่เราอาจไม่รับแล้ว เพราะคิดว่ามีคนอื่นที่ถนัดกับงานแพ็คมากกว่าเรา

โบ๊ท : หรืออย่างบ้านบางหลังที่ดูแล้วต้องทิ้งของมากกว่า 80% เหมือนให้เราโกยแล้วไปทิ้งมากกว่าการจัดระเบียบ เราก็อาจจะประเมินจากหน้างานก่อน 

สเกลในการจัดบ้าน แล้วแต่ลูกค้าเลยใช่ไหม ลูกค้าบางคนอยากให้จัดบ้านทั้งหลัง บางคนก็แค่ให้จัดห้องห้องเดียว

จีน่า : ใช่ แต่ส่วนใหญ่ในการทำงาน เราจะทำไปทีละห้อง เพราะอย่างเวลาเราจัดครัว เราจะรื้อของทั้งหมดของครัวออกมาแล้วแบ่งประเภทแล้วค่อยจัด ถ้าเราทำหลายห้องพร้อมกันอาจจะมึน เพราะฉะนั้นเราจะบอกลูกค้าว่าทำได้ทีละห้อง 

จัดบ้านตัวเองกับจัดบ้านของคนอื่น เหมือนหรือต่างกันยังไง

จีน่า : ต่างกันมาก 

โบ๊ท : บางทีเราไม่รู้ว่าของชิ้นไหนทิ้งได้ คิดว่าเจ้าของเขาจะไม่เอาอยู่แล้ว แต่เขามาบอกว่าทิ้งไม่ได้นะครับ บางทีมันเป็นขวดซอสที่หมดอายุแล้วก็มี

จีน่า : จริงๆ ในการจัดครัวเราจะรู้สึกว่าง่ายเพราะอะไรหมดอายุก็ทิ้ง ไม่เหมือนเสื้อผ้าที่เจ้าของจะต้องเลือก แต่กรณีขวดซอสหมดอายุนี้เป็นกรณีแรกเลยที่เราเจอ ทำให้เราคิดว่าอาจจะต้องปรับมายด์เซตตัวเองก่อน

เราจึงปรับวิธีทำงาน สมมติเราต้องไปจัดบ้านให้เสร็จใน 2 วัน วันแรกเราจะรวบรวมของที่เสนอให้ทิ้ง เพื่อให้เจ้าของบ้านไปนอนทำใจสักคืนหนึ่งแล้วค่อยคอนเฟิร์ม บางคนก็ใจดีคัดให้เราก่อนตั้งแต่แรก เราก็จะลดค่าใช้จ่ายในการจัดบ้านไปได้ด้วย

หลักที่คุณตั้งไว้ในใจระหว่างจัดบ้านคืออะไร

จีน่า : หนึ่งคือต้องสวย เริ่มจากการเช็กของทุกชิ้นแล้วแบ่งประเภท แล้วต้องให้ของเหล่านั้นกลับเข้าที่แบบสวยขึ้น และใช้งานง่าย

นอกจากจัดประเภท เราอยากวางระบบให้ในบ้านด้วยการใช้กล่องจัดระเบียบ แล้วติดฉลากบอกเจ้าของบ้านไว้ว่ากล่องนี้คืออะไร ด้วยความที่เราเคยเป็นแอร์ แล้วครัวกลางมีกล่องติดฉลากแบบนี้ เวลาทุกคนเข้ามาจะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน มันช่วยให้เราดูแลได้ง่ายขึ้น

เราเรียนเรื่องฮวยจุ้ยขั้นพื้นฐานมาบ้าง และกฎข้อแรกของฮวยจุ้ยคือบ้านต้องเรียบร้อย เหมือนว่าพลังงานเข้าบ้านมาแล้วพลังงานจะหมุนเวียนออกไปได้ นั่นคือเหตุผลที่เวลาเราจัดห้องเสร็จแล้วความรู้สึกของเจ้าของห้องจะเปลี่ยนทันที นี่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำให้ได้ในทุกๆ กรณีที่เราไปจัด

โบ๊ท : บางครั้งการจัดบ้านช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในบ้านด้วย มีเคสหนึ่งลูกสาวจ้างให้เราไปจัดห้อง พอจัดเสร็จแม่เขามาเห็นก็คิดว่า เฮ่ย เป็นระเบียบเรียบร้อยได้นี่ เขาก็ไปทำห้องอื่นๆ ในบ้านต่อด้วยตัวเขาเอง กลายเป็นเราปลุกความเป็นคุณแม่จัดบ้านของเขาขึ้นมา

จีน่า : บางครั้งเราไม่ได้มายด์ว่าต้องจ้างเราทั้งหลังนะ ถ้าคุณรู้สึกว่าเหนื่อยเกินไปแล้วอยากให้เราไปเริ่มต้นสักห้องสองห้อง แล้วเขาทำต่อได้เราก็แฮปปี้แล้ว 

โบ๊ท : มีบ้านหลังหนึ่งที่ครัวเขาใหญ่มาก เป็นครัวที่เละ รก ใช้ไม่ได้ แล้วเขาอยากมีครัวที่สามารถทำอาหารให้ครอบครัวเขากินได้ เลยจ้างเราไปปรับ สุดท้ายพอเราเคลียร์ให้ได้จริงๆ ภาพที่คุณแม่ทำอาหารให้ลูกกินก็กลับมา เราก็รู้สึกฟิน โอ้โห มันมีความหมายว่ะ

เท่าที่ฟังรู้สึกว่าการจัดบ้านเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายแรงใจสูงมาก ในวันที่เหนื่อย อะไรทำให้คุณอยากทำต่อเรื่อยๆ

จีน่า : ระหว่างจัดบ้านไม่ค่อยมีปัญหา แต่ด้วยความที่เราจบศิลปะ อ่อนไหวง่าย ฉะนั้นเราจะใส่ความรู้สึกเข้าไปในงานเยอะ แล้วถ้าเจอลูกค้าที่ติเก่งหน่อยก็จะอ่อนไหวนิดหนึ่ง 

แต่พอทำมาแล้วหนึ่งปีก็คิดว่าเราต้องปรับมายด์เซต เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจต้องมองปัญหาเป็นความท้าทาย แล้วจริงๆ ทุกวันนี้ก็ขอบคุณทุกปัญหาที่เข้ามาเพราะทำให้จั๊ดบ้านแข็งแรงขึ้น 

จัดบ้านด้วยกันมาแล้วหนึ่งปี ค้นพบว่าอีกฝ่ายเก่งเรื่องอะไรที่สุด

จีน่า : โบ๊ทเก่งเรื่องทลายกำแพงกับลูกค้า บางครั้งเราถามลูกค้าว่าชอบอะไร เขาจะตอบเอาใจเรานิดนึงว่าขอสวยๆ ขอขาวๆ แต่โบ๊ทสามารถถามสิ่งที่ทลายกำแพงนั้นได้ เหมือนเขาสังเกตเห็นจุดที่ลูกค้าชอบจริงๆ และยอมเผยตัวตนกับเราได้เร็ว ซึ่งมันจำเป็นสำหรับการประเมินครั้งแรกมากๆ อีกข้อคือโบ๊ทเป็นนักสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทีมงานจัดบ้านรู้สึกเอนจอย เขาจะเปิดเพลงตอนจัดตลอดเวลา นอกจากนั้นเขายังเป็นคนจัดบ้านสวยมาก หลายคนมักจะคิดว่าเขาเป็น ‘พี่ช่าง’ ถนัดเจาะ ยกตู้ แต่จริงๆ ถ้าเราแบ่งประเภทสิ่งของไว้แล้วให้เขาจัด เราก็ไว้ใจเขาได้เลย อย่างตอนไปจัดบ้านพี่โอมวง Cocktail เขาก็จัดฟิกเกอร์อุลตร้าแมนเป็นพันๆ ตัวได้สวยมาก

โบ๊ท : ส่วนจีน่าเก่งเรื่องวิชั่น ซึ่งเป็นหัวใจเลย บางครั้งผมนึกไม่ออกว่าบ้านหลังหนึ่งจะดีขึ้นได้ยังไงแต่เขามองปราดเดียวก็รู้แล้ว เขามีความสามารถในการประเมิน ดูภาพรวม และจัดระเบียบ ผมคิดว่ามุมมองของเขาที่มีความอบอุ่นและโฮมมี่ น่าจะเป็นจุดหลักของจั๊ดบ้านที่ทำให้คนมาซื้อบริการของเรา ลูกค้าบางคนกลายเป็นเพื่อน บางคนเลี้ยงข้าวเย็น จัดบ้านเสร็จก็คุยกันจนดึกดื่นเฉยเลย

ตอนทำงานด้วยกัน เคยมีจุดไหนที่เห็นไม่ตรงกันไหม แล้วประนีประนอมยังไง

จีน่า : ช่วงที่จั๊ดบ้านกำลังเติบโตก็มีความเห็นที่ต่างกันเยอะ ด้วยความเป็นสามีภรรยากัน ไม่รู้ว่าคู่อื่นเป็นหรือเปล่า แต่บางทีผู้ชายเขาจะโกหกเล็กๆ เพื่อให้ผู้หญิงสบายใจ นึกออกไหม

โบ๊ท : ลดดาเมจ

จีน่า : ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนะ แต่เหมือนเขาจะติดนิสัยนั้นมาใช้กับการทำงาน เช่น เขาจะไม่พูดตรงๆ ว่าเขารู้สึกยังไง หรือจริงๆ เขามีงานแทรกเขาก็ไม่บอก อะไรแบบนี้ เพราะเขาอยากรักษาความรู้สึกเรา พอถึงวันงานจริงเขาไปรับงานอื่น งานของเราก็พลาด เราก็รู้สึกว่าไม่ได้นะ เธอต้องพูดกับเราตรงๆ เพราะมันส่งผลกระทบเรื่องงานนะ ก็ต้องมานั่งคุยกัน เพราะถ้าหากเขาอยากทดลองทำงานอื่นๆ เราจะได้แบ่งเวลาให้กันด้วย เราจะปล่อยให้เขาได้ไปทดลองอย่างอื่นด้วย

โบ๊ท : จริงๆ บทบาทหลักที่ผมทำอยู่คือวง The Yers แล้วช่วงปลายปีจะมีทัวร์เยอะมาก ประกอบกับจั๊ดบ้านโตเร็วกว่าที่คิด มีคิวเข้ามามากขึ้นทำให้คิวชนกัน กลายเป็นว่าเราบาลานซ์ได้ไม่ดีเอง อย่างที่จีน่าบอกว่าถ้าเราคุยกันตั้งแต่แรก เราจะได้หาวิธีแก้

จีน่า : แต่เราก็ขอบคุณเวลาที่เกิดปัญหา เพราะมันทำให้เรารู้แล้วว่ามันอาจเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง อนาคตก็จะไม่มีปัญหาแล้วเพราะเราแก้มันแล้ว 

ในฐานะสามีภรรยา สิ่งที่คุณสองคนได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันคืออะไร

โบ๊ท : ผมเคยเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่สนิทก่อน แต่ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องให้ความสำคัญกับคนที่ใกล้ที่สุดก่อน จั๊ดบ้านสอนผมแบบหนักๆ เรื่องนี้เลย เพราะบางทีเราลืมไปว่า ต่อให้มีปัญหาเข้ามา สุดท้ายเรายังกลับมาอยู่ด้วยกันอยู่ดี นั่นทำให้เรายิ่งต้องแคร์เขามากที่สุด

จีน่า : ได้เรียนรู้ว่าต่างคนต่างก็ต้องแข็งแรง ต้องไม่มาน้อยอกน้อยใจเรื่องงาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ถ้าเรายิ่งเก็บมาเป็นอารมณ์มันยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม จริงๆ พอถอยออกมามองเราก็แก้ปัญหาได้อยู่แล้ว แค่ถอยความรู้สึกออกมามองภาพรวมแล้วก้าวต่อเท่านั้น

สำหรับคู่รักหลายคู่ การหาตรงกลางระหว่างงานกับความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยาก คุณมีเคล็ดลับในการบาลานซ์สองสิ่งนี้ไหม

จีน่า : บางทีการได้ห่างกันบ้างมันโอเคนะ ตอนเขาไปทำงานของเขา เราไปกับทีมที่มีอยู่ แล้วสุดท้ายงานของทั้งเขาและเราก็สำเร็จอยู่ดี ไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องตัวติดกันตลอดเวลาถึงจะสำเร็จ เราต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่เข้าใจว่าด้วยความเป็นสามีภรรยา เราจะมีความคาดหวังต่อกัน ซึ่งเราต้องมองตามความเป็นจริงมากๆ ว่าสถานการณ์รอบตัวเป็นยังไง มองในฐานะผู้บริหารธุรกิจแล้วไม่ใช้อารมณ์ 

โบ๊ท : บางทีในความสัมพันธ์จะมีภาพแห่งความคาดหวังอยู่ สมมติเราเห็นคู่อื่นที่สุดยอดเหลือเกิน เราจะหยิบมาเปรียบเทียบตลอด บางทีเราก็แบกภาพนั้นเองแบบไม่รู้ตัว เราต้องพยายามวางมายด์เซตนี้ลง

คุณสองคนมองอนาคตของจั๊ดบ้านไว้ยังไง

โบ๊ท : แน่นอนว่าอยากให้ธุรกิจโตและอยู่ได้ อยากให้เป็นธุรกิจครอบครัวธุรกิจหนึ่งที่ผมเอาใจมาฝากไว้ตรงนี้ได้มากขึ้น 

จีน่า : เราอยากวางระบบให้จั๊ดบ้านไปจัดบ้านในจังหวัดอื่น คุณโบ๊ทชอบพูดบ่อยๆ ว่าพอเราไปจัดบ้านลูกค้า ไม่ว่าจะบ้านไซส์ไหน ทุกคนมีปัญหาหรือความทุกข์บางอย่าง เรารู้สึกอย่างน้อยการที่เราทำอาชีพนี้มันได้ช่วยให้เขาเคลียร์ใจไปสักเรื่องหนึ่ง ก็หวังว่าเขาจะได้เอาพลังจากการเคลียร์นี้ไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ของเขา 

บางงานเหนื่อยมากจริงๆ แต่พอจัดเสร็จแล้วเราแฮปปี้ ความคาดหวังของเราคืออยากทำให้ทุกบ้านค่อยๆ มีความสุขในบ้านตัวเองไปเรื่อยๆ ทีละห้องก็ยังดี

บทเรียนจากการทำธุรกิจจากสองผู้ก่อตั้งจั๊ดบ้าน

โบ๊ท : “สำหรับผม ทุกอย่างในการทำธุรกิจถือเป็นเรื่องใหม่มาก แต่พี่คนหนึ่งที่ทำธุรกิจเคยบอกว่าให้ลุยไปก่อน ทุกคำถามที่มีอยู่ในใจจะเจอคำตอบระหว่างทาง แค่ลองทำไปก่อน เดินหน้าไปก่อน แล้วก็เป็นตามที่เขาว่าจริงๆ”

จีน่า : “ธุรกิจสามารถเริ่มจากความชอบได้แต่การทำให้มันเติบโตต้องใช้อะไรมากกว่านั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราอยากให้กำลังใจคนที่มีแพสชั่นว่า ตอนเริ่มต้นอาจจะยากแต่เมื่อคุณได้เริ่มต้นแล้ว คุณมีมูลค่ามากกว่าคนอื่นแน่ๆ อีกอย่างคือความจริงใจและความขยันเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ภาวะโลกเดือดอาจทำกาแฟเสี่ยงเจอวิกฤต ผลผลิตอาจลดลงและราคาพุ่งจนเกินต้าน

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ดูเผินๆ เหมือนจะเต็มไปด้วยโอกาสและแสงสว่างส่องทางข้างหน้า แต่อุตสาหกรรมกาแฟกลับกำลังเผชิญความเปราะบางและท้าทายเมื่อโลกเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ไม่ใช่เรื่องง่ายจะแก้ไขด้วยใครคนใดคนหนึ่ง

เหตุผลที่ทำให้เราหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงอีกครั้งเพราะในเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์  โดยกรกฎาคมกลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี และถูกประกาศว่ายุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลง และยุคแห่งความเดือดทั่วโลกได้มาถึงแล้ว

แล้ววิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวยังไงกับอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลก? 

ปีที่ผ่านมาหลายคนคงได้เห็นข่าวผ่านตามาบ้างว่าเกาหลีใต้เจอวิกฤตกิมจิ เนื่องจากผักกาดปลูกได้น้อยลงเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กิมจิราคาแพงขึ้น ซึ่งกาแฟเองก็กำลังค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ชะตากรรมเดียวกัน ด้วยอุณภูมิโลกที่เดือดขึ้นและสภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้ผลผลิตกาแฟทั่วโลกผลิตได้น้อยลง โดยเฉพาะกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

งานศึกษา A Systematic Review on the Impacts of Climate Change on Coffee Agrosystems บอกว่า แม้กาแฟอาราบิก้าจะมีการปลูกอยู่ทั่วโลกและปลูกเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น แต่หากเทียบกับโรบัสต้าที่รองลงมา อาราบิก้าก็ยังเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อปัจจัยด้านสภาพอากาศมากที่สุด 

อาราบิก้าจะให้ผลผลิตที่ดีทั้งคุณภาพ กลิ่น และรสชาติก็ต่อเมื่อปลูกในสภาพอากาศ 18-20 องศา แต่ถ้ากระโดดไปถึง 23 องศา มันจะโตเร็วเกินไปและให้ผลผลิตเร็วเกินไป ซึ่งเป็นผลเสียต่อคุณภาพกาแฟ แม้โรบัสต้าจะทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะตั้งแต่ปี 2022-2024 กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าเวียดนามจะเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญ อันเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตพืชผล

นอกจากนี้ รายงาน A Brewing Storm: The Climate Change Risks to Coffee ของ The Climate Institute ปี 2018 ยังระบุอีกว่า อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้นได้เพิ่มอัตราการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพของกาแฟ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ใช่แค่ปัญหาของคุณภาพหรือผลผลิตกาแฟ แต่ยังนับรวมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ผลิต คนงาน และชุมชนด้วย

อนาคตจึงมีแนวโน้มว่าเครื่องดื่มที่เราดื่มกันทุกวันเป็นกิจวัตรนี้ นอกจากจะหาดื่มได้ยากแล้วก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วย ยิ่งในวันที่การบริโภคกาแฟมีมากกว่าผลผลิตที่ทำได้ ก็ยิ่งชวนให้กังวลถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ปัญหา climate change จึงไม่เพียงส่งผลต่อน้ำแข็งขั้วโลก ไฟป่า หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่มันกำลังส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ทั่วโลก 

ที่ผ่านมาอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกที่ปลูกกาแฟสูงขึ้น และมันส่งต่อผลผลิตกาแฟยังไง ขอชวนไปย้อนไทม์ไลน์ดูผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการปลูกกาแฟของเกษตรกรในแต่ละปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 1960 

  • ระหว่างปี 1960-2006 ที่เอธิโอเปียมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส – เม็กซิโก กัวเตมาลา และฮอนดูรัส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และตั้งแต่ปี 1980 ปริมาณน้ำฝนก็เปลี่ยนแปลง โดยลดลงถึงร้อยละ 15%
  • เริ่มตั้งแต่กลางปี 1990 ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของกาแฟของเกษตรกรนิการากัวเช่นกัน 
  • ปี 1960-2011 ประเทศแทนซาเนียมีผลผลิตลดลงประมาณ 137 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ ทุกๆ 1 องศาที่เพิ่มขึ้น 
  • ปี 2001 เป็นต้นมา อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสยังกระตุ้นให้เกิดการระบาดของวัชพืชอย่างมอด (Hypothenemus hampei) ที่มาเจาะเมล็ดกาแฟจนเสียหาย 
  • ปี 2012 หลังจากมีอุณหภูมิสูงผิดปกติและปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ก็สูงขึ้น ทำให้ที่อเมริกากลางเผชิญกับโรคราสนิมของกาแฟ (Coffee Leaf Rust) ส่งผลให้พืชผลสูญเสียไปกว่า 50% คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแรงงานถูกเลิกจ้างอีกกว่า 350,000 คน นอกจากนั้น ในกัวเตมาลา เกษตรกรบางรายก็ได้สูญเสียพืชผลด้วยปัญหาเดียวกันถึง 85%
  • ปี 2021 บราซิลเคยเจอกับภัยแล้งและน้ำค้างลงจนปลูกกาแฟไม่ได้ และทำให้ปีนั้นไม่ได้ผลผลิตเลย 

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังคงจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคต และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่ของนิการากัว จะสูญหายไปภายในปี 2050 และภายในปี 2060 ผลิตผลของอาราบิก้าที่ปลูกที่แทนซาเนียก็จะได้น้อยลง หรือเรียกได้ว่าตกต่ำจนถึงขั้นวิกฤต

หากไม่ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับปัญหา climate change พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาจลดลงครึ่งหนึ่งภายในไม่กี่ทศวรรษ และภายในปี 2080 กาแฟป่าที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรม (genetic resource) ที่สำคัญสำหรับเกษตรกรอาจจะสูญพันธุ์ในที่สุด

แม้จะมีคำเตือนออกมาให้ได้เห็นกันอยู่เนืองๆ และมนุษยชาติต่างก็แก้บ้างไม่แก้บ้าง แต่จนถึงตอนนี้ปัญหาสภาพภูมิอากาศก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น เราจะเจอกับวิกฤตทางอาหาร ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน และบางวันก็ต้องทนร้อนระอุ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด หรือ global boiling เช่นนี้ อาจตอกย้ำแล้วว่าเราคงจะกลับไปสู่จุดเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ยุคโลกเดือดจึงไม่ใช่ยุคที่เราต้องปรับตัวกันอีกต่อไปแล้ว แต่คือยุคที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาความร้อนที่ค่อยๆ ระอุขึ้น ไม่เช่นนั้นมันอาจจะระเบิดได้ในท้ายที่สุด

อ้างอิง

ศึกชิงบัลลังก์ต้นคริสต์มาสในสหรัฐฯ ‘ต้นจริง’ หรือ ‘ต้นปลอม’ ที่ครองใจตลาด

เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส หลายคนอาจนึกถึงความสวยงามของต้นคริสต์มาสที่ถูกประดับประดาไปด้วยของตกแต่งต่างๆ ทำให้ในช่วงคริสต์มาสธุรกิจการขายต้นคริสต์มาสมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในประเทศที่มีมูลค่าธุรกิจขนาดใหญ่มากเป็นอันดับต้นๆ คือ สหรัฐฯ ที่มีการแข่งขันระหว่างต้นไม้จริงและต้นไม้ปลอม

ปัจจุบันมี 3 วิธีที่ชาวสหรัฐฯ จะหาซื้อต้นคริสต์มาสได้ คือการเข้าไปตัดในป่าสงวนแห่งชาติโดยมีค่าใช้จ่ายและเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนด, การซื้อต้นไม้จากฟาร์มต้นคริสต์มาสในท้องถิ่นนั้นๆ และการซื้อต้นไม้ปลอมที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ 

สำหรับปี 2023 มีรายงานจาก American Christmas Tree Association ซึ่งเป็นสมาคมต้นคริสต์มาสในสหรัฐฯ เผยว่า 77% ของคนอเมริกันเลือกที่จะใช้ต้นคริสต์มาสปลอม เพราะเน้นเรื่องความสะดวกสบาย จัดเก็บง่าย และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเพลิงไหม้ในบ้าน

ปัจจุบันการใช้ต้นคริสต์มาสปลอมได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2021 ซึ่ง 90% ของต้นคริสต์มาสปลอมที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ มาจากประเทศจีน กัมพูชา และเม็กซิโก นอกจากนี้ ระหว่างปี 2000-2015 สหรัฐฯ ยังนำเข้าต้นคริสต์มาสจากแคนาดาเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 ล้านต้นต่อปี และในปี 2022 นำเข้า 2.8 ล้านต้น 

‘การเดินทางของต้นไม้ปลอมจากประเทศจีนสู่สหรัฐฯ’

ในปี 2022 ต้นคริสต์มาสปลอมในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน มีการนำเข้ามากกว่า 20 ล้านต้นในปีเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่นำเข้า 11 ล้านต้น นั่นหมายความว่าปริมาณการใช้ต้นไม้จริงลดลง มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับธุรกิจของตกแต่งคริสต์มาสคือ 90% ของการส่งออกต้นคริสต์มาสทั่วโลกมาจากจีน คิดเป็นมูลค่า 338,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งค้าส่งอยู่ที่มณฑลเจ้อเจียง

เมื่อ demand สูง supply ก็ตามมา เป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทาน ทำให้ในช่วงปลายปี ราคาต้นคริสต์มาสปลอมในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นทันที โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ที่กำลังทำสงครามราคากับสหรัฐฯ และทำให้สินค้าจากจีนได้รับผลกระทบจากภาษีมากถึง 25%

ด้วยความที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้ต้นคริสต์มาสปลอมมีความสมจริงมากขึ้น ต้นคริสต์มาสตามธรรมชาติจึงค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ต้นคริสต์มาสจริงที่ขายในสหรัฐฯ มีจำนวนลดลง 34% จาก 19.3 ล้านต้นในปี 2541 เหลือเพียง 12.8 ล้านต้นในปี 2552 ส่วนหนึ่งมาจากระยะเวลาในการปลูกต้นคริสต์มาส 1 ต้นใช้เวลาเฉลี่ย 7 ปี บางครั้งอาจนานกว่า 10-15 ปี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกต้นคริสต์มาสหันไปปลูกพืชผลอื่นๆ แทน หรือบางคนเลิกกิจการไปเลยก็มี

ขณะเดียวกันทิศทางการปลูกต้นสนก็ค่อยๆ ลดลง ระหว่างปี 2005-2020 จำนวนฟาร์มต้นสนในรัฐโอเรกอน ที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และยอดขายต้นคริสต์มาสในปี 2019 ลดลงจาก 1,590 ต้น เหลือเพียง 490 ต้น 

‘ต้นจริง-ต้นปลอม แบบไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน’

มีการถกเถียงเรื่องต้นคริสต์มาสระหว่างของจริงและของปลอม แบบไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นเวลานาน

Gary Chastagner ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาพืชที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน เผยว่า การซื้อต้นคริสต์มาสปลอมสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ทุกปีก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้นคริสต์มาสปลอมจะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ดูแลรักษาดีแค่ไหน หรือในปีต่อไปคุณอาจต้องการต้นใหม่ที่ใหญ่หรือสวยกว่าเดิม 

มีงานวิจัยบอกว่า การใช้ต้นไม้ปลอมอย่างน้อย 10 ปีจะช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับการใช้ต้นไม้จริง 1 ต้น เพราะในกระบวนการผลิตต้นไม้ปลอมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายทั้งในส่วนของการผลิตและการขนส่งระยะไกล และการนำต้นคริสต์มาสปลอมกลับมาใช้ซ้ำทุกปีนั้นสะดวกก็จริง แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุด เพราะในกระบวนการผลิตต้นคริสต์มาสปลอม 1 ต้นจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 88 ปอนด์ (ประมาณ 39 กิโลกรัม)

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการปลูกต้นคริสต์มาสจริงว่า จริงๆ แล้วต้นคริสต์มาสเป็นพืชผลทางการเกษตรที่หมุนเวียนได้ ควบคุมจำนวนการตัด และเปิดให้มีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวในแต่ละปี จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีร้านจำหน่ายต้นไม้บางแห่งที่จัดส่งต้นคริสต์มาสไปพร้อมกระถางหรือห่อด้วยผ้ากระสอบเพื่อให้เจ้าของบ้านนำลงดินปลูกได้ทันที และหลายเมืองในสหรัฐฯ ก็มีโครงการรีไซเคิลต้นคริสต์มาส โดยการตัดแต่งต้นไม้ให้กลายเป็นวัสดุคลุมดินหรือส่งไปยังสวนสาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศ 

หากถามว่าต้นไม้จริงหรือต้นไม้ปลอมดีกว่ากัน คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้ต้นคริสต์มาสปลอมกี่ครั้ง หากใช้อย่างน้อย 10-20 ปี ก็อาจช่วยลดการสร้างมลภาวะให้โลกได้เช่นกัน 

ข้อมูลจาก

วัฒนธรรมการฉลองปีใหม่ผ่านเรื่องเล่าธุรกิจสุดคราฟต์หลัก 100 ปีจากหลายประเทศ 

ช่วงเวลาสิ้นปีแห่งการสังสรรค์และเฉลิมฉลองแบบนี้ สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยคือ ‘ของขวัญ’ 

เบื้องหลังการส่งต่อความปรารถนาดีและอวยพรกันและกัน มีเหล่าธุรกิจที่อยู่คู่กับโมเมนต์ที่น่าจดจำในการให้ของขวัญของผู้คนมาหลายต่อหลายรุ่นเป็นเวลาเนิ่นนานหลักร้อยปี 

คอลัมน์ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ ชวนเปิดประวัติศาสตร์อันน่าจดจำที่สร้างไมล์สโตนใหม่ให้ธุรกิจในวงการนั้นๆ ตั้งแต่การก่อตั้งของร้านค้าหวายชื่อดังอย่าง ‘ร้านนายเหมือน’ ที่อยู่คู่ยุคแห่งการให้กระเช้าปีใหม่และตอนนี้มีอายุ 127 ปี, การสืบทอดเทคนิคงานฝีมือในการทำตุ๊กตาดารุมะ ตุ๊กตามงคลของญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลา 300 ปีของร้าน ‘Shirakawa Daruma Sohonpo’, ความคราฟต์ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการทำแชมเปญมาเป็นเวลา 294 ปีของ ‘Maison Ruinart’ จากฝรั่งเศส และการขยายเติบโตไม่สิ้นสุดของธุรกิจการ์ดอวยพรและของขวัญตลอดระยะเวลา 113 ปีของ ‘Hallmark’ 

นอกจากความสำเร็จที่ผู้ก่อตั้งของแต่ละธุรกิจสร้างตำนานทิ้งไว้แล้ว เรื่องราวของธุรกิจเหล่านี้ยังทำให้เห็นว่า A Lot Can Happen in a Century ทั้งธรรมเนียมการให้ของขวัญที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการสานต่อธุรกิจที่ต้องใช้ความเด็ดเดี่ยวอย่างมากในการสานต่อธุรกิจให้อยู่ถึงหลักร้อยปี

127 ปีที่สานต่อเครื่องจักสานไทย
Nai Muen Store 

วัฒนธรรมการให้กระเช้าเป็นของขวัญอยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสสวัสดีปีใหม่ที่ผู้คนนิยมมอบคำอวยพรแก่ญาติผู้ใหญ่และบุคคลที่เคารพรักด้วยของขวัญที่บรรจงคัดสรรอย่างพิถีพิถันในตะกร้าใบสวยแสนประณีต ในยุคที่กระเช้าเฟื่องฟูอย่างมากนั้น ภาพคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเดินทางมาเลือกซื้อกระเช้าและเครื่องจักสานอื่นๆ ด้วยตัวเองที่ร้านค้าหวายอย่างเนืองแน่นในช่วงเทศกาลเป็นวัฒนธรรมการซื้อของขวัญที่เห็นได้จนชินตา และหนึ่งในร้านหวายที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดหลักศตวรรษร้านหนึ่งคือร้านนายเหมือนที่สำราญราษฎร์ เขตพระนคร หรือที่เรียกกันว่า ‘ย่านคุกเก่า’ 

หนึ่งศตววรรษที่แล้ว กิจการค้าหวายของร้านนายเหมือนถือกำเนิดพร้อมกับการมีเรือนจำอยู่เคียงข้าง นายเหมือนผู้มีสายตาแห่งความเป็นพ่อค้าที่เฉียบคมเล็งเห็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาที่ใช้ฝีมือการสานไม่ธรรมดาของกรมราชทัณฑ์ จึงริเริ่มนำงานจักสานจากรั้วเรือนจำออกมาขายเป็นคนแรก เมื่อผู้คนประทับใจในงานหวายที่เก็บรายละเอียดได้อย่างประณีตและสินค้าขายดิบขายดี นายเหมือนจึงรวบรวมช่างฝีมือและผลิตภัณฑ์จักสานของชาวบ้านหลายท้องถิ่นจากแถบชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียงมาขายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีสูงขึ้น

ร้านนายเหมือนจึงกลายเป็นร้านค้าหวายที่จำหน่ายงานจักสานหลากหลายประเภทมาช้านานโดยมีกระเช้าเป็นหนึ่งในสินค้าฮิต เมื่อพูดถึงกระเช้า หลายคนอาจนึกภาพตะกร้าลักษณะเรียบง่ายที่เสิร์ชหารูปได้ทั่วไปตามกูเกิล แต่ความจริงแล้วงานจักสานนั้นมีตัวเลือกพิเศษมากมายจากความหลากหลายของวัสดุ แพตเทิร์นการสาน และเอกลักษณ์ของช่างฝีมือแต่ละท้องถิ่นชนิดที่ไม่สามารถเสิร์ชหาซื้อได้ง่ายๆ จากอีคอมเมิร์ซของจีน

ภูมิปัญญาของช่างฝีมือท้องถิ่นไทยรังสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์ที่พิเศษ เช่น เทคนิคการมัดที่เลียนแบบการเลื้อยอย่างอ่อนช้อยของตะกร้าเถาวัลย์ การสานให้เกิดลวดลายดั่งดอกไม้บานสะพรั่งของตะกร้าลายดอกพิกุล การนำวัสดุหวาย ไม้ไผ่ ผักตบชวา ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นตะกร้ารูปกลม เหลี่ยม รูปไข่ในรูปแบบการสานที่มีเสน่ห์ไม่ซ้ำกัน ธรรมเนียมการซื้อกระเช้าเป็นของขวัญให้กันในช่วงปีใหม่จึงแสดงถึงความพิถีพิถันและใส่ใจรายละเอียดในการเลือกกระเช้าของผู้ให้

นอกจากกระเช้าแล้ว สินค้าจักสานของร้านนายเหมือนยังนับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เพราะมีหมวดข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลายชิ้นที่แบรนด์ของตกแต่งบ้านจากต่างประเทศไม่มีชื่อคำศัพท์ระบุด้วยซ้ำ อย่างเช่น หัวหุ่น กระจาด กระบุง กระด้ง กระติ๊บ ตะแกรง งอบ ฝาชี ตะข้อง ขันโตก ไปจนถึงเก้าอี้โยกที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนเก้าอี้โยกจากวัสดุอื่น และการเป็นร้านรวบรวมสินค้าที่มีเอกลักษณ์ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้เป็นแหล่งที่ผู้คนเดินทางมาซื้อสินค้าหวายเป็นเวลานาน 

ที่ผ่านมานอกจากขายให้ลูกค้าปลีกทั่วไปแล้ว ร้านนายเหมือนยังเคยส่งกระเช้าให้ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในตำนานหลายแห่งทั้งพาต้า, ตั้งฮั่วเส็ง, อิเซตัน, โซโก้, โตคิว, Foodland, The Mall ฯลฯ โดยผ่านอุปสรรคและความท้าทายของโลกยุคใหม่ที่สวนทางกับงานหัตถกรรมมาตลอดร้อยปี ตั้งแต่การประกาศปิดป่าไม่ให้ตัดหวายใน พ.ศ. 2535 ทำให้ช่างฝีมือน้อยลงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การเข้ามาของกระเช้าจากจีนที่เน้นราคาถูกและลดคุณภาพความละเอียดของงานสานลง ในขณะที่งานจักสานฝีมือคนไทยที่สานด้วยความพิถีพิถันแต่โบราณนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและความชำนาญ

‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ ของร้านนายเหมือนจึงเป็นความตั้งใจในการสืบสานงานจักสานของคนไทยโดยไม่ลดคุณภาพลง ไม่นำงานฝีมือที่มีความคราฟต์น้อยลงและราคาถูกลงจากจีนมาขาย แม้จะขายได้ในจำนวนจำกัดมากขึ้นและเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นมากขึ้น แต่ก็ทำให้มีลูกค้ามาอุดหนุนแบบปากต่อปากสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยแทบไม่ได้ทำการตลาดเลยมาได้นับร้อยปี

300 ปีแห่งความหวังของตุ๊กตาดารุมะญี่ปุ่น  
Shirakawa Daruma Sohonpo 

“ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง” เป็นสุภาษิตญี่ปุ่นที่หมายความว่าไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง ก็ขอให้ไม่ละทิ้งความพยายาม และของขวัญที่คนญี่ปุ่นนิยมมอบเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและกำลังใจในเทศกาลปีใหม่คือตุ๊กตาล้มลุกหรือตุ๊กตาดารุมะนั่นเอง 

ภาพ : PrefFukushima

กิจการทำตุ๊กตาดารุมะที่เก่าแก่ถึง 300 ปีในญี่ปุ่นคือ Shirakawa Daruma Sohonpo ณ เมืองชิราคาวะ จังหวัดฟุกุชิมะ ผู้สืบทอดงานฝีมือตุ๊กตาไม้ทรงกลม ไม่มีแขนและขา และผลักกี่ครั้งก็กลับมาตั้งใหม่ได้เสมอ ว่ากันว่าตุ๊กตาดารุมะคิดค้นขึ้นครั้งแรกในยุคเอโดะ สำหรับหน้าตุ๊กตาดารุมะรุ่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สามารถพบได้จากที่ร้านนั้นจะมีหน้าตาเคร่งขรึมและจริงจัง มีคิ้วเข้มและหนวดเคราแต่ไม่มีลูกตาดำเพราะเชื่อว่าเจ้าของตุ๊กตาควรเป็นผู้วาดดวงตาลงไปเพื่ออธิษฐานขอพร วาดดวงตาด้านซ้ายเมื่อมีความฝันและเป้าหมาย วาดดวงตาขวาเมื่อความฝันที่ตั้งไว้บรรลุผลสำเร็จ โดยตุ๊กตาดารุมะส่วนใหญ่นิยมทาสีแดงและมีหลากหลายสีตามความหมายมงคลที่อยากอวยพรแก่ผู้รับ

Takaaki Watanabe ทายาทรุ่น 14 ยังคงสานต่อศาสตร์การทำตุ๊กตาแบบดั้งเดิมที่ใช้เทคนิคเปเปอร์มาร์เช่ด้วยกระดาษวาชิ พร้อมเปิดเวิร์กช็อปให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมศิลปะเพนต์ตุ๊กตาที่ร้านได้ ในช่วงโควิด-19 ทางร้านจัดทำชุด DIY ที่ร่วมกับ Oyasai Crayons แบรนด์สีเทียนจากพืชผักผลไม้เหลือทิ้งสำหรับให้เพนต์ตุ๊กตาแบบง่ายๆ ได้เองที่บ้าน และยังประยุกต์การดีไซน์ตุ๊กตาแบบใหม่ให้เข้ากับการมอบของขวัญในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนคำอวยพร เช่น  ‘ขอบคุณสำหรับปีนี้’, ‘เจอกันใหม่ปีหน้า’, ‘ดูแลตัวเองด้วยนะ’ เป็นตัวอักษรญี่ปุ่นที่ด้านหลังของตุ๊กตา ไปจนถึงเพนต์ตุ๊กตาดารุมะในชุดทักซิโด้ ชุดแต่งงาน แมวกวัก สัตว์ป่าต่างๆ และออกแบบดีไซน์พิเศษช่วงคริสต์มาสและฮาโลวีน

ไอเดียของ Shirakawa Daruma Sohonpo ทำให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ในการสืบสานศาสตร์งานฝีมือดั้งเดิมสามารถเปิดกว้างได้อย่างไม่สิ้นสุดด้วยการคอลแล็บกับแบรนด์ดังไม่จำกัดวงการ อย่าง STRICT-G JAPAN ในรุ่น Mobile Suit Z Gundam Daruma ที่วาดหน้ากันดั้มลงบนตุ๊กตา, ตุ๊กตาดารุมะรุ่นสีส้มที่ทำร่วมกับแบรนด์​แฟชั่น BEAMS JAPAN, RoboCo ดารุมะ จากแรงบันดาลใจในอนิเมะเรื่อง Me and Roboco, คอลเลกชั่น Brown & Cony ในชุดงานแต่งงานที่คอลแล็บกับ LINE และอีกมากมาย รุ่นล่าสุดที่พิเศษสุดคือคอลเลกชั่นสำหรับปีใหม่ 2024 ที่ทำร่วมกับดิสนีย์ออกมาเป็นตุ๊กตา Mickey Mouse & Friends ในชุดกิโมโนถือคาโดมัตสึ (กิ่งไม้มงคลของญี่ปุ่นที่ประดับบ้านในช่วงปีใหม่)

ภาพ : tdrexplorer

ไม่เพียงแค่ช่วงเทศกาลรื่นเริงเท่านั้นที่ผู้คนนิยมมอบตุ๊กตาดารุมะให้กัน เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะ ตุ๊กตาดารุมะกลายเป็นสัญลักษณ์ของขวัญแห่งกำลังใจยามลำบากให้ผู้คนในเมือง แม้ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยจะอพยพออกจากเมืองหลังเกิดภัยพิบัติทำให้การขายดารุมะลดน้อยลงและมีความท้าทายในการสานต่องานฝีมือแต่ร้าน Shirakawa Daruma Sohonpo ก็ยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ให้ยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เตะตาคนรุ่นใหม่เสมอมา

294 ปีที่เป็นเลิศของแชมเปญฝรั่งเศส
Maison Ruinart 

ข้ามทวีปไปยังฝรั่งเศส ประเทศที่สวัสดีปีใหม่ด้วยคำว่า Bonne Année! พร้อมกับธรรมเนียมชนแก้วแชมเปญในวันเคานต์ดาวน์และนิยมจัดโต๊ะอาหารมื้อพิเศษในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองโดยยกให้เครื่องดื่มรสเลิศนี้เป็นพระเอกบนโต๊ะ Frédéric Panaïotis ผู้เชี่ยวชาญ (cellar master) ของ Maison Ruinart กล่าวว่าเขาคงไม่อาจบอกได้ว่าทำไมแชมเปญถึงเป็นสัญลักษณ์ของปาร์ตี้และความสุขแต่ที่แน่ๆ เขารู้มาว่าคำว่า ‘แชมเปญ’ เป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกมักจดจำได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคำว่า ‘ปารีส’ และประวัติศาสตร์ของธุรกิจแชมเปญนั้นมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวตระกูล Ruinart

ภาพ : Maison Ruinart

เรื่องราวเริ่มจาก Dom Thierry Ruinart ผู้เป็นนักบวชในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดในเแคว้นแชมเปญไปยังย่าน Saint-Germain-des-Prés ละแวกเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพลของปารีส ณ ย่านแห่งนี้เขารู้จัก ‘ไวน์ที่มีฟอง’ เป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่าแชมเปญ แต่เป็นเครื่องดื่มที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่ขุนนางรุ่นใหม่ทั่วยุโรป ในเวลาต่อมาหลานของ Dom Thierry ชื่อ Nicolas Ruinart ต่อยอดความประทับใจในแชมเปญของลุงด้วยการก่อตั้ง Champagne House ใน ค.ศ. 1729 ที่เมืองแร็งส์ แคว้นแชมเปญ บ้านเกิดที่มีข้อได้เปรียบทางความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกองุ่น และกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตแชมเปญเจ้าแรกของโลกในทุกวันนี้

เอกลักษณ์ของ Maison Ruinart คือแชมเปญที่มีความโดดเด่นทาง aromatic, freshness และ texture ซึ่งใช้กระบวนการทั้งหมดเป็นระยะเวลาหลายปีตั้งแต่ปลูกองุ่น เก็บเกี่ยว เบลนด์รสชาติ บ่มแชมเปญ ฯลฯ Crayères หรือถ้ำห้องเก็บแชมเปญของ Maison Ruinart ที่ก่อสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็น UNESCO World Heritage Site โดยอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 40 กิโลเมตรและมีระยะทางยาวถึง 8 กิโลเมตร มีอุณภูมิ 10-12 องศา ความชื้น และความสว่างที่เหมาะแก่การบ่มไวน์ให้ออกมารสชาติเป็นเลิศที่สุด

ความท้าทายสำคัญของแบรนด์อันเก่าแก่เกือบ 300 ปีแห่งนี้คือภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปลูกองุ่นและรสชาติของแชมเปญ สำหรับ Maison Ruinart แล้วดิสรัปชั่นเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและสภาพอากาศ เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับธรรมชาติทุกวันพบว่าดินไม่อุดมสมบูรณ์เท่าเดิม จากเคยมี 4 ฤดูก็เหลือเพียง 2 ฤดู ไม่มีเกล็ดน้ำแข็งในฤดูหนาวอีกต่อไป หนึ่งวันยาวนานขึ้นและร้อนขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทั้งหมดนี้ส่งผลต่อรสชาติองุ่นที่ไม่รุ่มรวยเท่าเดิมและทำให้กระบวนการทำแชมเปญยากขึ้นในทุกขั้นตอน

ทางเลือกเดียวที่ Maison Ruinart มองว่าจะอนุรักษ์ให้ไร่องุ่นอยู่รอดต่อไปได้อีกศตวรรษคือการสนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทั้งการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลทางธรรมชาติในไร่องุ่น ไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อคงรสชาติแชมเปญให้รุ่มรวยเหมือนเดิม จากแชมเปญรุ่นไอคอนิกอันโด่งดังค้างฟ้าของแบรนด์ชื่อ Blanc de Blancs ที่มีรสเลิศจากธรรมชาติขององุ่นชาร์ดอนเนย์ Maison Ruinart ได้คิดค้นวินเทจแชมเปญรุ่นใหม่ชื่อ Ruinart Blanc Singulier ที่ดึงรสขององุ่นชาร์ดอนเนย์ให้คงความโดดเด่นให้ได้มากที่สุดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่ิงนี้คือ savoir faire หรือสปิริตในการปรับตัวของแบรนด์ที่คำนึงถึงธรรมชาติผู้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดองุ่นรสชาติดีและแชมเปญที่ดีตามมา

113 ปีของอาณาจักรการ์ดแห่งอเมริกา
Hallmark 

การ์ดอวยพรและการ์ดปีใหม่ หรือ ส.ค.ส. นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมซึ่งมีที่มาจากหลายทวีปบนโลก ชาวอียิปต์โบราณคิดค้นการเขียนข้อความแสดงความยินดีบนปาปิรุส จีนริเริ่มการผลิตกระดาษทำให้เกิดการ์ดปีใหม่ใบแรก ส่วนอังกฤษเป็นชาติแรกที่จ้างศิลปินออกแบบการ์ดปีใหม่หลักพันใบแจกผู้คนในช่วงเทศกาล แต่ถ้าพูดถึงบริษัทผู้ผลิตการ์ดอวยพรที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดระดับโลกที่ทำให้อุตสาหกรรมการ์ดเฟื่องฟูคงหนีไม่พ้น Hallmark Cards, Inc. บริษัทสัญชาติอเมริกา 

ภาพ : Hallmark

ค.ศ. 1910 J.C. Hall (Joyce Clyde Hall) ในวัย 18 ปีออกเดินทางจากรัฐเนบราสก้าไปยังแคนซัสซิตี้ด้วยกล่องรองเท้า 2 ใบที่เต็มไปด้วยโปสต์การ์ด เงินติดตัวเพียงน้อยนิดกับความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ เขานั่งรถไฟไปขายโปสต์การ์ดนำเข้าให้ร้านขายยา ร้านหนังสือ ร้านกิฟต์ช็อปหลายเมืองในละแวกใกล้เคียงและสร้างชื่อจากการขายโปสต์การ์ดเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว พี่ชายของเขาคือ Rollie Hall ได้เข้ามาช่วยทำธุรกิจและตั้งชื่อบริษัทร่วมกันว่า Hall Brothers 

ใน ค.ศ. 1915 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ไหม้คลังสินค้าทั้งหมดทำให้ทั้งสองเป็นหนี้และต้องสร้างตัวใหม่ ในช่วงนั้นยอดขายโปสต์การ์ดเริ่มลดลง สองพี่น้องสังเกตเห็นว่าผู้คนต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นในการส่งข้อความให้กัน จึงหันมาผลิตการ์ดวาเลนไทน์และคริสต์มาสใส่ซองจดหมาย กู้เงินมาลงทุนในเครื่องปรินต์กับกระบวนการผลิตและเริ่มเป็นผู้ผลิตการ์ดด้วยตัวเองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งคู่ยังเป็นผู้ริเริ่มขายกระดาษห่อของขวัญและซองจดหมายลวดลายสวยงามแบบโมเดิร์นแทนการใช้กระดาษห่อของทั่วไปในยุคนั้นไปจนถึงคิดค้นดิสเพลย์วางการ์ดที่หยิบมาเปิดอ่านข้อความข้างในได้เป็นเจ้าแรก


สิ่งที่ทำให้ Hallmark เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือความสามารถทางการตลาดและการสร้างแบรนด์อันโดดเด่นของ J.C. Hall ตั้งแต่การนำคำว่า Hallmark และสัญลักษณ์มงกุฎใส่ในหลังการ์ดทุกใบแทนชื่อบริษัทเพื่อให้คนจดจำง่ายและมีสโลแกนติดหูคือ ‘when you care enough to send the very best’ อีกทั้งยังเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการ์ดที่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดแบบแมสด้วยการลงโฆษณาในสื่อ รายการวิทยุไปจนถึงสปอนเซอร์รายการของ NBC ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งทำให้สามารถแตกธุรกิจเป็นรายการโทรทัศน์ Hallmark Hall of Fame จนทำให้ชื่อแบรนด์เข้าถึงคนดูหลักล้านในทุกวันนี้

ภาพ : Hallmark

ในรุ่นลูกของ J.C. คือ Donald J. Hall ได้สร้างอาณาจักรรีเทล Crown Center ของ Hallmark ที่มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ออฟฟิศและเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์แบบครบวงจร แม้ J.C. จะวางมือและจากไปแล้ว แต่สปิริตในการบุกเบิกสิ่งใหม่กลายเป็นจิตวิญญาณของ Hallmark ทั้งการขยายหมวดหมู่การ์ดอวยพรในหลากหลายวาระและเทศกาล เช่น การ์ดอวยพรหมวดขำขัน การ์ดสำหรับคนเฉพาะเชื้อชาติและศาสนา การขยายหมวดสินค้าอย่างต่อเนื่องทำให้ทุกวันนี้นอกจากการ์ดแล้ว Hallmark ยังจำหน่ายของประดับตกแต่งสำหรับช่วงเทศกาลและของขวัญแบบครบวงจรอีกด้ว

ทุกวันนี้อาณาจักร Hallmark ขยายเติบโตจนใหญ่มหาศาล มีการ์ด 30 ภาษาที่จำหน่ายมากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก สินค้าของแบรนด์สามารถพบได้ในร้านรีเทลกว่าหมื่นสาขาทั่วโลกรวมทั้งที่สาขาของร้าน Hallmark ทั่วอเมริกาและแคนาดา ความสำเร็จทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะพี่น้องตระกูล Hall เป็นผู้คิดค้นการ์ดอวยพรเป็นคนแรก แต่เพราะสามารถทำให้การ์ดเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่น่าสนใจและเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้เป็นคนแรกนั่นเอง

Legacy ของธุรกิจเก่าแก่จากไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและอเมริกาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกสุดที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่เสมอไป แค่เป็นคนแรกที่นำมาขาย คนแรกที่ยืนระยะได้นานที่สุด คนแรกที่ทำให้ป๊อปปูลาร์ คนแรกที่ทำให้สินค้าเข้าถึงคนหมู่มากและต่อยอดไปได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำธุรกิจได้ยืนยาวถึงร้อยปี


อ้างอิง
ข้อมูลจาก

ย้อนประวัติศาสตร์ตลาดคริสต์มาส ตั้งแต่ตลาดยุคกลางถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของนาซี 

สำหรับคริสต์มาสในปี 2023 เราส่งท้ายกันด้วยลมหนาว แต่นอกจากลมหนาวแล้ว บรรยากาศส่งท้ายปียุคหลังโควิดในปีนี้ กรุงเทพฯ ดูจะมีความนิยมใหม่ คือเราเริ่มมีตลาดคริสต์มาสเกิดขึ้นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่งานที่เกอเธ่ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาที่แว่วว่าคนเยอะจนเดินกันแทบไม่ไป หรือที่กลางห้างใหม่อย่างเอ็มสเฟียร์ ที่มีบรรยากาศตลาดคริสต์มาสกลางห้าง มีการออกร้าน มีหิมะตกและต้นคริสต์มาส เดาว่าหลังจากนี้ตลาดคริสต์มาส ซึ่งจริงๆ คือเทศกาลฤดูหนาวรูปแบบหนึ่ง น่าจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญของงานรื่นเริงปลายปีต่อไป

เวลาเราพูดถึงเทศกาลคริสต์มาส ทั้งการฉลองวันประสูติของพระเยซู การตั้งต้นคริสต์มาส และรวมถึงธรรมเนียมการจัดตลาดคริสต์มาส ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับคริสต์มาสค่อนข้างเป็นธรรมเนียมที่เพิ่งเกิดขึ้น ในกรณีของตลาดคริสต์มาสเอง ที่มาเก่าแก่มีร่องรอยอยู่แถวๆ แถบประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมาตั้งแต่ยุคกลาง แต่ความเกี่ยวข้องในฐานะคริสต์มาสยังไม่แน่ชัดนัก ตัวตลาดจริงๆ มาเฟื่องฟูในยุคหลังการปฏิรูปศาสนาโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่เกี่ยวข้องทั้งการยกให้วันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญ และการทำให้ปลายปีเป็นช่วงเวลาของการให้ของขวัญ เรื่อยมาจนถึงความยากลำบากของตลาดคริสต์มาสที่กลายเป็นศัตรูของห้าง ก่อนที่ตัวตลาดจะกลับมาแมสอีกครั้ง ที่ครั้งนี้ต้องยกเครดิตให้กับนาซีเยอรมัน

ในวันคริสต์มาสที่กรุงเทพฯ มีความเป็นยุโรป และใครหลายคนอาจกำลังเดินซื้อขนมเค้กในห้าง กลางบรรยากาศตลาดคริสต์มาส คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ชวนย้อนกลับไปหาที่มาของตลาดคริสต์มาสจากสมัยที่ชาวยุโรปยังใช้ชีวิตอยู่ในระยะระฆัง การย้ายธรรมเนียมและให้ภาพพระคริสต์ในฐานะผู้ให้และฉลองวันประสูติด้วยความอบอุ่นและการให้ ไปจนถึงความสัมพันธ์ของตลาดคริสต์มาสกับการเปลี่ยนแปลงของศรัทธา กระทั่งการนำกลับมาที่มีนัยทางการเมือง

ความคริสต์ในคริสต์มาสมาร์เก็ต

ถึงเราจะบอกว่าตลาดคริสต์มาสเป็นเรื่องใหม่ คำว่าใหม่ในที่นี้คือตัวตลาดไม่ได้เก่าแก่หรืออยู่คู่กับประวัติศาสตร์การนับถือคริสต์ศาสนาในยุโรปมาตั้งแต่แรก ตัวตลาดคริสต์มาสค่อนข้างเกิดขึ้นและกลายเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในราวศตวรรษที่ 16 และกลับมาเป็นกระแสในยุคหลังสงครามโลกนี้เอง

ทีนี้ก็ใช่ว่าตลาดคริสต์มาสจะไม่มีร่องรอยหรือความเกี่ยวข้องกับความคริสต์เสียทีเดียว ถ้าเราดูร่องรอยของความเป็นตลาดคริสต์มาสคือการเป็นตลาดเปิดในช่วงฤดูหนาว เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลของชาวคริสต์ ในช่วงยุคกลาง ในสมัยกลางเมืองค่อนข้างก่อตัวขึ้นโดยมักมีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของเมือง ส่วนใหญ่เป็นเมืองล้อมกำแพง โดยผู้คนจะใช้ชีวิตในระยะได้ยินเสียงระฆัง

ชีวิตในยุคกลาง ในทุกๆ วันสำคัญคือวันนักบุญต่างๆ กลางเมืองมักจะมีการจัดตลาดซื้อ-ขายสินค้า และในบรรดาวันสำคัญทางศาสนาที่จัดตลาดขึ้น ตลาดในฤดูหนาวมักเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ในตลาดฤดูหนาวมักเป็นช่วงที่ช่างฝีมือต่างๆ นำสินค้าของตัวเองมาขาย มีการขายเนื้อสัตว์ ขนมปัง และอาจมีขนมหวานจำหน่ายด้วย ทีนี้ในอาณาจักรที่เคยอยู่ในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในแถบเยอรมนี ออสเตรีย ตลาดในเดือนธันวาคมจะเป็นตลาดในการฉลองวันนักบุญ St Nicholas Market ตลาดนักบุญนิโคลัสที่เรารู้จักกันดีนี้ แต่ก่อนจะจัดในช่วงต้นเดือนธันวาคม

ด้วยความที่เดือนธันวาคมเป็นเดือนสำคัญของตลาดนัดฤดูหนาว หลายเมืองและหลายอาณาจักรในแถบบาวาเรีย รวมถึงเวียนนาและบางส่วนของเยอรมนีจึงมีเค้าลางของตลาดคริสต์มาส หมุดหมายสำคัญมักชี้ไปที่กรุงเวียนนาในปี 1296 ที่ดยุคอนุญาตให้จัดเทศกาลออกร้านเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ขึ้น ซึ่งเทศกาลออกร้านจากศตวรรษที่ 13 นั้นแค่จัดใกล้ช่วงคริสต์มาสเฉยๆ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวันคริสต์มาส

ตลาดช่วงคริสต์มาส ที่ยังไม่ใช่อยู่ดี

ความตลาดที่ใกล้คริสต์มาสขึ้นมาอีกนิดคือธรรมเนียมที่เราเรียกว่า Advent Month คือเป็นธรรมเนียมการเตรียมตัว หรือการรอคอยการมาถึง ซึ่งก็คือการกำเนิดของพระคริสต์ในวันที่ 25 ธันวาคม การเตรียมตัวจะเป็นธรรมเนียมที่ยึดเอาวันอาทิตย์ที่ใกล้กับวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ใกล้กับวันที่ 25 ธันวาคม จะมีการจุดเทียน ตกแต่งบ้านเรือน มีการสวดมนต์และอ่านพระคัมภีร์ ในยุคกลางอาจมีการถือศีลอด ซึ่งมักจะเป็นการงดรับประทานเนื้อสัตว์

ดังนั้น ตลาดที่คล้ายกับตลาดคริสต์มาส ในยุคกลางจึงเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมการรอคอยที่ค่อนข้างแพร่หลายในแถบเยอรมนีด้วย ตัวอย่างท่ีสำคัญคือการจัดตลาดในปี 1384 ที่เมืองเบาท์เซิน (Bautzen) มีหลักฐานการอนุญาตให้จัดตลาดนัดและในตลาดนั้นก็อนุญาตให้พ่อค้าเนื้อจำหน่ายเนื้อได้โดยตลาดไปสิ้นสุดในวันคริสต์มาสพอดี ตลาดคริสต์มาสมักเป็นเหมือนวันสิ้นสุดของการรอคอยพระคริสต์ และจากการถือศีลและภาวนา 

ตลาดช่วงคริสต์มาสจึงเป็นเหมือนรอยต่อการก้าวเข้าสู่เทศกาลรื่นเริงหลังจากนั้นที่มักจัดขึ้นประมาณ 12 วัน เป็นการกินดื่ม เต้นรำ และเลี้ยงฉลอง ดังนั้นจึงมีหลักฐานการจัดตลาดในวันคริสต์มาสขึ้นหลายแห่ง เช่น การจัดตลาดในวันคริสต์มาสอีฟที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ในปี 1434 หรือนูเรมเบิร์กที่บอกว่าตัวเองเป็นตลาดคริสต์มาสที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งเชื่อว่ามีร่องรอยตั้งแต่ปี 1530

ปฏิรูปศาสนา กับบทบาทการแข่งขันศรัทธาของตลาดคริสต์มาส

นอกจากตลาดที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดการภาวนาแล้ว ช่วงเดือนธันวาคมยังมีบริบทที่สัมพันธ์กับธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดคริสต์มาสคือการให้ของขวัญ ในยุคกลาง ดังกล่าวว่าเทศกาลสัมพันธ์กับนักบุญต่างๆ นักบุญปลายปีที่เป็นที่มาของตลาดเดือนธันวาคมคือนักบุญนิโคลัส วันนักบุญนิโคลัสคือวันที่ 6 ธันวาคม ด้วยความที่นักบุญนิโคลัสเป็นนักบุญอุปถัมภ์เด็กๆ และเชื่อว่าจะมอบของขวัญให้กับเด็กดีเป็นรางวัล การให้ของขวัญจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมมากกว่า

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในการให้ความสำคัญกับช่วงคริสต์มาสคือยุคสมัยที่เรียกว่า Reformation era การปฏิรูปศาสนาและการเกิดขึ้นของนิกายโปรเตสแตนท์ นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ในช่วงศตวรรษที่ 16 ประเด็นหนึ่งของการปฏิรูปคือการเชื่อมโยงผู้ศรัทธาเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ดังนั้นมาร์ติน ลูเธอร์ จึงปฏิเสธศิลปะทางศาสนาแบบเดิม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับนักบุญ คือแทนที่จะให้ความสำคัญกับนักบุญ และเชื่อมต่อกับพระเจ้าผ่านตัวแทนต่างๆ การเข้าถึงพระองค์โดยตรงและเป็นปัจเจกมากขึ้นเป็นหัวใจหนึ่งของการปฏิรูปศาสนา

ดังนั้นเมื่อนักบุญถูกลดความสำคัญลง ในช่วงคริสต์มาส มาร์ติน ลูเธอร์ จึงผลักดันให้ย้ายธรรมเนียมการให้ของขวัญจากวันนักบุญนิโคลัส มาเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวันประสูติของพระเยซูแทน ดังนั้นตลาดที่จัดขึ้นใกล้ๆ โบสถ์ในช่วงวันคริสต์มาสจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของทั้งแหล่งจับจ่ายของผู้ที่มาโบสถ์ เป็นสินค้าที่ซื้อเพื่อเป็นของขวัญ และที่สำคัญคือการย้ายกิจกรรมการให้ของขวัญมาเป็นวันคริสต์มาสยังสอดคล้องกับภาพพระผู้เป็นเจ้าในยุคหลังปฏิรูป คือเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ ‘ดีและเป็นบุพการีที่เป็นผู้ให้’

มาร์ติน ลูเธอร์ ในฐานะผู้ปฏิรูปศาสนาจึงค่อนข้างมีกลยุทธ์ในทางปฏิบัติและมีมุมมองต่อโลกที่น่าสนใจ บรรยากาศความคริสต์มาสและตลาดคริสต์มาสค่อนข้างสัมพันธ์กับยุคปฏิรูปซึ่งเกิดขึ้นในแถบเยอรมันนี่แหละ นอกจากตัวตลาดแล้ว ธรรมเนียมสำคัญเช่นการตั้งต้นคริสต์มาสก็มีตำนานว่ามาจากมาร์ติน ลูเธอร์ ที่เป็นผู้เริ่มเอาเทียนมาประดับต้นสนล้อกับดวงดาว ลูเธอร์เป็นคนที่รักและให้ภาพคริสต์มาสเนื่องจากวันคริสต์มาสเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ความสวยงามและสัจจะในเรื่องราวของพระเยซูเจ้า

ในช่วงยุคหลังศตวรรษที่ 16 นี้เอง องค์ประกอบสำคัญทั้งตลาดในวันคริสต์มาส ต้นคริสต์มาส การแสดงภาพการกำเนิด รวมถึงตลาดฤดูหนาวต่างๆ เริ่มย้ายมาจัดในวันคริสต์มาส ในประเทศแถบเยอรมันก็เริ่มมีการให้ชื่อตลาดว่า Christkindlmarkt (Christ Child Market) ซึ่งการจัดตลาดเป็นกลยุทธ์ในการสู้กับตลาดประจำวันนักบุญของธรรมเนียมเดิมของกลุ่มโปรเตสแตนด์ด้วย ในช่วงนี้เองจึงเกิดตลาดคริสต์มาสอย่างที่เรารู้จักกันอย่างเป็นทางการเช่น Strasbourg Christmas Market ในปี 1570 และ ที่นูเรมเบิร์ก ในปี 1628

ปฏิวัติอุตสาหกรรม ขาลง และการกลับมาของนาซี

ประวัติศาสตร์ตลาดคริสต์มาสเป็นอีกประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อน มีที่มายาวนานและสัมพันธ์กับหลายบริบทและอิทธิพลความเปลี่ยนแปลง จากยุคปฏิรูป ตลาดคริสต์มาสค่อยๆ แพร่กระจายไปในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ตัวตลาดเองก็มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเริ่มกลายเป็นเรื่องของรัฐ มีการควบคุมดูแล

จุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดคริสต์มาสคือการมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เมืองขยาย เกิดชนชั้นแรงงาน ประชากรก็เพิ่มขึ้น ตัวอย่างสำคัญคือเบอร์ลิน มีรายงานจำนวนร้านที่พุ่งสูงขึ้นคือจาก 300 ร้านค้าในปี 1805 และเพิ่มเป็นเท่าตัวคือ 600 ร้านค้าในปี 1840 ตลาดคริสต์มาสจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง มีความแน่นขนัดขึ้น และที่สำคัญคือ ตัวตลาดมีคู่แข่งสำคัญคือห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายของราคาถูกกว่าพวกของทำมือและงานช่างในตลาด

ดังนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ตลาดคริสต์มาสจึงเริ่มถูกโจมตีโดยเฉพาะจากผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ตลาดคริสต์มาสกลายเป็นพื้นที่ขายของถูกๆ กลายเป็นตลาดที่ถูกกล่าวหาว่าเสื่อมโทรม กระทั่งเป็นงานที่เป็นภัยคุกคามและเป็นอันตราย ในช่วงปลายศตวรรษ นายทุนทั้งหลายทำเรื่องและสร้างกระแสจนตลาดคริสต์มาสของเมืองใหญ่ๆ ทั้งนูเรมเบิร์กและเบอร์ลินถูกจำกัดพื้นที่และย้ายออกจากจัตุรัสกลางเมืองไปไว้ที่ไกลๆ

ตลาดคริสต์มาสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 จึงลดความสำคัญลง จนกระทั่งการเฟื่องฟูขึ้นของนาซีในทศวรรษ 1930 เรารู้ว่านาซีทำเรื่องเลวร้ายมากมาย แต่หนึ่งในกลยุทธ์ของนาซีคือการสถาปนาวันคริสต์มาสและรื้อ รวมถึงเชื่อมโยงความเชื่อต่างๆ และให้วันคริสต์มาสเป็นตัวแทนหนึ่งในการส่งต่อความคิดเรื่องความเป็นอารยะของชาวอารยัน

ตลาดคริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาของนาซี แน่นอนว่าตัวตลาดถูกขับไล่ออกไปด้วยระบบทุนนิยม ดังนั้นตลาดคริสต์มาสจึงสัมพันธ์กับการต่อต้านทุนนิยม คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลสำคัญที่เน้นความสงบสุข ในปี 1933 นาซีได้ทำการย้ายตลาดคริสต์มาสเช่นที่นูเรมเบิร์กกลับมาไว้ใจกลางเมือง มีการเพิ่มเติมการตกแต่งตลาดที่กลายเป็นบรรยากาศที่เรารู้จักคือการตั้งต้นคริสต์มาส มีการจำหน่ายของเล่น มีบ้านขนมปังขิง และให้ตกแต่งด้วยช่อใบไม้ (wreath) แถมด้วยผู้จัดงานก็ได้เอาลูกบอลแก้วสีต่างๆ และไฟรูปนางฟ้ามาติดตั้งเพื่อสร้างบรรยากาศรื่นเริงท้ายปี

นอกจากการตกแต่งแล้ว ตัวตลาดยังเป็นตัวแทนของสินค้าและมรดกของความเป็นเยอรมนี ดังนั้นในงานจะจำหน่ายสินค้าทำมือ งานศิลปะหัตถกรรม ไปจนถึงอาหารสำคัญเช่นไส้กรอก ไปจนถึงอาหารประจำวัฒนธรรมเยอรมันต่างๆ ด้วยการเผยแพร่ความคิดของความเป็นอารยัน ภาพสำคัญในการประดับตลาดคือภาพของสายเลือดพระคริสต์ เป็นภาพนางฟ้าตัวน้อยที่มักจะถูกวาดให้เป็นเด็กผู้หญิงผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ในที่สุดภาพการตกแต่งที่มีนัยการโฆษณาความคิดแบบนาซีจึงแพร่กระจายไปในเมืองต่างๆ และกลายเป็นภาพมาตรฐานของตลาดคริสต์มาสที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในบางช่วงนาซีใช้ตลาดคริสต์มาสในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเชื่อว่าช่วยรักษาจิตวิญญาณของผู้คนในช่วงเวลายากลำบากได้

สุดท้ายตลาดคริสต์มาสนับเป็นอีกหน่ึงประเพณีที่สืบทอดและแพร่กระจายกลายเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระทั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจนถึงประเทศไทย ความน่าสนใจของตลาด ที่ไม่ได้เป็นแค่ตลาด แต่สัมพันธ์กับรากฐานความเชื่ออันซับซ้อน การแข่งขันกันในการชิงศรัทธาความเชื่อในศาสนา เรื่อยมาจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองและการโฆษณาความคิดทางการเมืองที่สัมพันธ์กับความคิดที่น่ากลัวของนาซี

สำหรับบ้านเราเอง การจัดตลาดฤดูหนาวก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวนัก เรามีงานกาชาด มีลานเบียร์ งานวัด และงานเทศกาลของเราในการออกร้านจัดตลาด ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวให้กับเมือง เป็นพื้นที่พบปะและเปลี่ยนบรรยากาศของเมืองให้มีสีสัน การมาถึงและกระแสของตลาดคริสต์มาสจึงเป็นอีกหนึ่งความนิยมและธรรมเนียมปลายปีที่น่าจับตา ว่าในปีหน้าๆ เราจะมีตลาดคริสต์มาส มีธรรมเนียมดื่มไวน์ร้อน กินเพรสเซล หรือจะมีขนม อาหารและร้านค้าใหม่ๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกันบ้าง

อ้างอิงข้อมูลจาก

ซานตาคลอสที่คุ้นตามาจากไหน? จากมาร์เก็ตติ้งของ Coca-Cola สู่ไอคอนประจำเทศกาลคริสต์มาส

เมื่อเอ่ยถึงเทศกาลคริสต์มาส คุณจะนึกถึงอะไรกันบ้าง

เพลย์ลิสเพลงคริสต์มาสที่เปิดขึ้นตามห้างสรรพสินค้า หรือต้นคริสต์มาสที่ประดับดาไปด้วยแอ็กเซสเซอรีมากมาย หรืออาจจะนึกถึงเทศกาลแลกของขวัญที่แสดงถึงการเดินทางเข้าใกล้ช่วงสิ้นปีอีกครั้ง ไปจนถึงเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มักชวนให้รู้สึกเฟสทีฟ ตลอดจนสัญลักษณ์สุดไอคอนิกประจำเทศกาลคริสต์มาสหรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกอย่าง ‘ซานตาคลอส’ (Santa Claus) กันหรือเปล่า

หลายครั้ง ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี เรามักจะเห็นหน้าค่าตาของซานตาคลอสบนสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งสื่อออนไลน์อย่างในโซเซียลมีเดียก็ดี หรือจะเป็นสื่อออฟไลน์ตามถนนหนทางและในห้างสรรพค้าเองก็เจอ 

อาจกล่าวได้ว่าซานตาคลอสที่เราพบเจอในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแต่ละปีจนกลายเป็นภาพจำน่าจะเหมือนกันทุกคน นั่นคือเป็นคุณลุงซานตาคลอสหนวดเคราสีขาว รูปร่างอ้วนท้วน ลุคเฟรนด์ลี่ที่มักจะมาพร้อมกับสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แก้มแดงก่ำ สวมยูนิฟอร์มสีแดง และแบกถุงของขวัญใบโตๆ ไว้บนบ่า นับว่าเป็นภาพจำแซนตาคลอสสุดแสนจะคลาสสิกของใครหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ 

แต่เมื่อค้นลึกลงไปในประวัติศาสตร์ ไอคอนประจำเทศกาลคริสต์มาสอย่างคุณลุงซานตาคลอสที่เราคุ้นตานั้นอาจไม่ใช่ซานตาคลอสในแบบฉบับออริจินอล เพราะแต่เดิมซานต้าคือนักบุญตัวผอมกะหร่องที่คอยปลอบโยนผู้ยากไร้ในช่วงฤดูหนาว จนในปี 1882 กวีชื่อ ‘เคลเมนต์ คลาร์ก มอร์’ (Clement Clarke Moore) นั้นจะเขียนบทกวี A Visit from St. Nicholas ขึ้นมา โดยในบทกวีชิ้นนี้ได้ระบุเอาไว้ว่าเซนต์นิโคลัสหรือซานตาของเราเป็นคนอ้วนท้วนดูอบอุ่นใจดี อีกทั้งยังแต่งกายด้วยขนสัตว์และมีหนวดเคราสีขาวนั่นเอง และนั่นถือเป็นครั้งแรกๆ ที่บรรยายลักษณะของซานตาคลอสได้ใกล้เคียงภาพในยุคปัจจุบัน

ส่วนรูปวาดซานตาคลอสในเวอร์ชั่นการ์ตูนนั้นเกิดขึ้นจากนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อดังสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘โทมัส นาสต์’ (Thomas Nast) สมญานามบิดาแห่งอเมริกันกับการรังสรรค์ภาพวาดซานตาคลอสให้ออกมาในเวอร์ชั่นที่คล้ายคลึงกับซานตาคลอสในบทกวี  A Visit from St. Nicholas ของมอร์ โดยภาพวาดซานตาคลอสชิ้นนี้ถูกบันทึกลงในนิตยสาร Harper’s Weekly ใน ค.ศ. 1862 โดยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซานต้าที่สวมชุดสีแดงก็ได้กลายมาเป็นภาพจำของผู้คนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น 

Thomas Nast

แม้ซานตาคลอสสวมชุดสีแดงฝีมือของนาสต์จะสร้างภาพจำให้แก่ผู้คนในยุค 1860s ก็จริง ทว่าสำหรับผู้คนที่เติบโตมาในช่วง 1930s แล้ว เมื่อเอ่ยถึงคาแร็กเตอร์ซานตาคลอสหรือไอคอนประจำเทศกาลคริสมาสต์นั้น พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้นึกถึงซานต้าในเวอร์ชั่นของทั้งมัวร์และนาสต์ กลับเป็นซานต้าในฉบับของ ‘โคคา-โคล่า’ (Coca-Cola) แบรนด์น้ำอัดลมสัญชาติอเมริกาหรือคาแร็กเตอร์คุณลุงรูปร่างอ้วนท้วมไว้เคราขาวๆ หน้าตาใจดี สวมใส่ชุดสีแดงเดียวกันกับสี CI ของแบรนด์ ทั้งยังถือขวดโค้กอยู่ในมือต่างหากล่ะ

Biztory ในคอลัมน์นี้จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ Coca-Cola ให้มากขึ้น รวมไปถึงที่มาที่ไปของ Coca-Cola’s The Santa หรือคุณลุงซานตาคลอสที่เรารู้จักในทุกวันนี้กัน

1. จุดเริ่มต้นของ Coca-Cola มาจากการปรุงไซรัปของเภสัชกรท้องถิ่น

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคมของ ค.ศ 1886 ณ เมืองแอตแลนตา (Atlanta) ประเทศจอร์เจีย (Georgia) จุดเริ่มต้นของแบรนด์โคลา-โคล่า หรือที่เรารู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘โค้ก’ (Coke) ได้เกิดขึ้นจากเภสัชกรท้องถิ่นคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘จอห์น สติธ เพมเบอร์ตัน’ (John Stith Pemberton) กับการผลิตไซรัปโคล่าหรือไซรัปที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรมากมายบรรจุลงในเหยือกใบหนึ่ง ก่อนเขาจะตัดสินใจหอบหิ้วโปรดักต์ใหม่ที่ยังคงเป็นเพียงแค่แซมเปิ้ลเหยือกนี้ ออกเดินทางไปยังร้านขายยา ‘Jacob’s Pharmacy’ เพื่อทำการทดลองขายไซรัปที่ผสมด้วยน้ำโซดาในราคา 5 เซ็นต์ต่อหนึ่งแก้วด้วยชื่อเรียกของเครื่องดื่มอย่าง ‘excellent’ ที่แปลว่า ‘ยอดเยี่ยม’

เมื่อโฮมเมดไซรัปผสมเข้ากับโซดา เครื่องดื่มรสชาติใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะไม่ว่าใครที่ได้ลิ้มลอง ก็ต่างรู้สึกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ทั้ง ‘อร่อยและสดชื่น’ (Delicious & Refreshing) ไปในคราเดียวกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว คีย์เวิร์ดอย่าง ‘Delicious & Refreshing’ จึงเปรียบเสมือนธีมหลักของแบรนด์ Coca-Cola สู่การพัฒนาเครื่องดื่มของแบรนด์เรื่อยมา จวบจนในปัจจุบัน

2. เพราะชื่อแบรนด์สำคัญต่อการโฆษณา การเลือกใช้ C สองตัวจึงน่าสนใจ

เมื่อการผลิตไซรัปคือหน้าที่หลักของเพมเบอร์ตัน การคิดชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola ที่มีตัว C เชื่อมกันถึง 2 ตัวเลยเกิดจากแนะนำจากพาร์ตเนอร์คนสนิทและฝ่ายบัญชีของ Jacob’s Pharmacy อย่าง ‘แฟรงก์ เมสัน โรบินสัน’ (Frank M. Robinson) โดยโรบินสันนั้นคิดว่าการมีตัวอักษรตัวเดียวกันในชื่อแบรนด์ จะสามารถทำให้ฟ้อนท์หรือโลโก้ของแบรนด์ดูดีขึ้นได้อีกระดับเมื่ออยู่บนสื่อโฆษณา

หลังจากที่เพมเบอร์ตันและโรบินสันได้ตัดสินใจใช้ชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เครื่องงดื่มตัวใหม่ที่ทั้งอร่อยและสดชื่นของ Coca-Cola ก็ได้ปรากฎตัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ The Atlanta Journal เป็นครั้งแรก ชวนให้เหล่าผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณละแวกเดียวกันนี้ อยากแวะเวียนเข้ามาลองซื้อเครื่องดื่มน้ำอัดลมสุดฮิต ณ ช่วงเวลานั้นกันไปเลยด้วย  

ในช่วงปีแรกของการขายเครื่องดื่มโคล่าเป็นเพียงแค่การตั้งขายในร้านขายยา Jacob’s Pharmacy พร้อมๆ ไปกับการแขวนป้ายผ้าดิบที่ถูกละเลงด้วยสีน้ำมันสีแดงสด เขียนคำว่า ‘Coca-Cola’ ด้วยลายมือสุดคลาสสิกห้อยอยู่ตรงหน้าร้าน และด้วยยอดขายเฉลี่ยของเครื่องดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 9 แก้วต่อวันเท่านั้น เพมเบอร์ตันจึงยังคงนึกภาพไม่ออกว่าเครื่องดื่มที่เขาคิดค้นขึ้นมา จะมี potential ในการขายต่อไปในอนาคตได้อย่างไร

เช่นนั้นแล้ว เพมเบอร์ตันจึงค่อยๆ ทยอยขายหุ้นบางส่วนของ Coca-Cola ให้กับพาร์ตเนอร์ธุรกิจของเขาหลายๆ ราย และก่อนที่เพมเบอร์ตันจะเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1888 ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีจากจุดเริ่มต้นของการผลิตไซรัปโคล่าเอง เพมเบอร์ตันก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดและสูตรไซรัปโคล่าของ Coca-Cola ให้กับ ‘อาซา กริกส์ แคนด์เลอร์’ (Asa Griggs Candler) นักธุรกิจชาวอเมริกันในราคาประมาณ 2,300 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา

 ก่อนในปีค.ศ. 1892 แคนด์เลอร์จะก่อตั้งบริษัท Coca-Cola ขึ้น ทั้งยังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเริ่มแบ่งเงินปันผลให้แก่เหล่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดในปีค.ศ 1893 อีกด้วย

โดยในปีศ.ศ.1893 เครื่องดื่มของ Coca-Cola ก็ได้ถูกวางขายไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกส่งออกไปยังประเทศคิวบาในอีก 4 ปีให้หลัง รวมไปถึงยังมีการส่งออกไปยังยุโรปในเวลาถัดมาอีกด้วย  

3. ขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลม ไอคอนของแบรนด์ Coca-Cola จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงโค้ก ภาพจำคือน้ำอัดลมสีน้ำตาลที่ถูกบรรจุอยู่ในขวดแก้ว-ฝาจีบ แช่เย็นเจี๊ยบกับเสียงเปิดฝา ‘ป๊อก ซ่า’ พร้อมให้ยกกระดกขวดดื่มรับความสดชื่นและดับกระหายน้ำกันแล้วใช่หรือเปล่า 

แต่รู้หรือไม่ว่าโค้กขวดแก้ว (Contour Bottle) ในเวอร์ชันต่างๆ นับตั้งแต่ขวดแก้วในยุค 1900s เป็นต้นมา ต่างก็มีลักษณะ 3 ประการที่ทาง Coca-Cola ตั้งใจพัฒนาออกมาเพื่อคงเอกลักษณ์ของขวดแก้วเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสีของขวดที่ใสแต่เหลือบสีเขียวของจอร์เจียกรีน (Geogia Green), โลโก้หรือฟ้อนท์ของชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola ที่ต้องมีสัมผัสนูนเด่น และรูปร่างที่จะต้องโค้กสอดรับกับมือของผู้ดื่มได้ดี (Contour Shape)

โดยลักษณะทั้ง 3 อย่างนี้ ไม่ได้เป็นแค่การทำแบรนด์ดิ้งของ Coca-Cola เพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่ว่ากันว่าการดื่มโค้กในขวดแก้วนี่แหละที่จะทำให้ผู้ดื่มได้รับอรรถรสในการดื่มที่มากขึ้นและได้รสชาติที่ดีขึ้น เพราะในทุกๆ ครั้งที่เราตัดสินใจเลือกดื่มโค้กขวดแก้ว เราจะสามารถสัมผัสประสบการณ์ของการดื่มได้ครบด้วยประสาททั้ง 5 ได้แก่ รูปทรงที่มีเอกลักษณ์ (รูป), รสชาติหวานและซ่าสดชื่น (รส), กลิ่นหอมของตัวเครื่องดื่ม (กลิิ่น), เสียงเปิดฝาขวด (เสียง) และสัมผัสของขวดที่เว้านูน (สัมผัส) มากไปกว่านั้นการจะดื่มโค้กให้ได้อรรถรสมากที่สุด (Perfect Serve) คือการดื่มโค้กขวดแก้วที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยขวดแก้วที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน ก็คือโค้กขวดแก้วทรงที่ผ่านการออกแบบในปี 2015

4. ปรับแต่ไม่เปลี่ยนการตลาดอันชาญฉลาดของ Coca-Cola ที่อยากเข้าถึงผู้คนได้ทุกยุคทุกสมัย

แม้แบรนด์คู่แข่งตัวท๊อปอย่าง Pepsi จะมีจุดเริ่มต้นในยุค 1900s เช่นเดียวกับ Coca-Cola แต่เมื่อย้อนดูถึง positioning แบรนด์และกลยุทธ์ในการทำมาร์เก็ตของทั้งคู่จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

ไม่ว่าจะเป็น brand identity ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานสักแค่ไหน เจ้าตัวโลโก้ ฟอนต์ของ Coca-Cola รวมไปถึงการพัฒนาแพ็กเก็จจิ้งของขวดแก้ว และสีแดง CI ของแบรนด์ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากสักเท่าไหร่ ซึ่งด้วย identity เหล่านี้ของ Coca-Cola จึงทำให้กลุ่มลูกค้าทุกยุคทุกสมัยยังจดจำโค้กได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Coca-Cola ยังใช้กลยุทธ์ทางมาร์เก็ตติ้งที่กระตุ้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมไปกับแบรนด์ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในคราเดียวกัน 

ยกตัวอย่างแคมเปญระดับโลกที่ถูก localized เข้ามายังประเทศของเราในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2013 ซึ่งถ้าหากใครยังจำกันได้ นั่นก็คือ ‘ต้องกล้า ต้องซ่า ต้องส่งโค้กให้’ (Share a Coke) ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทาง Coca-Cola ร่วมกับกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ประเทศไทยตั้งใจผลิตฉลากสุดพิเศษลงบนโค้กขวดแก้วและโค้กแบบกระป๋อง โดยฉลากสุดพิเศษเหล่านั้น ก็อาจจะเป็นชื่อของตัวเราเอง เพื่อน หรือใครบางคนให้ได้ลุ้น ได้คอยตามหากันกว่า 150 ชื่อ อีกทั้งยังมีฉลากที่ระบุข้อความสำคัญ ชวนให้เราอยากส่งมอบแก่ผู้อื่นเป็นของขวัญสุดครีเอทีฟในช่วงสิ้นปีกันอีกด้วย

ถ้าพูดถึงการโฆษณาในสื่อต่างๆ Coca-Cola มีการเลือกใช้กลุ่มคนทั่วไป รวมไปถึงสัญลักษณ์ที่เป็นดั่งไอคอนของยุคสมัยนั้นๆ เช่น ซานตาคลอส ทหารในช่วงยุคสงคราม คาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ ตลอดจนการเชิญชวนศิลปินชื่อดังมาร่วมกันออกแบบผลงานที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับโฆษณาแต่ละชิ้นมากไปกว่าการใช้อินฟลูเอนเซอร์กับเหล่าเซเลบริตี้หรือก็คือการโฆษณาสินค้าแบบ Pepsi นั่นเอง

5. แม้ Coca-Cola จะไม่ได้สร้างซานตาคลอส แต่กลับสร้างภาพจำของซานตาคลอสให้ผู้คน

ความตั้งใจในการทำโฆษณาแต่ละชิ้นของแบรนด์ Coca-Cola คือการเน้นย้ำถึงข้อความสำคัญของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นทั้งคุณภาพของสินค้า ทาร์เก็ตของลูกค้า หรือแม้แต่สโลแกนที่ได้ถูกคิดขึ้นมาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงโอกาส บรรยากาศ และเทศกาลที่ Coca-Cola ต้องการจะเกาะเกี่ยวเพื่อโปรโมทแบรนด์ 

เช่นเดียวกันกับภาพวาดโฆษณาช่วงเทศกาลคริสต์มาสในปีค.ศ. 1930 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของคาแรกเตอร์ซานตาคลอสที่เป็นภาพจำในปัจจุบัน ก่อนจะขยับขยายการรับรู้ไปสู่วงกว้างอย่างทรงพลังหลังจากนั้น

ในอดีตช่วงฤดูหนาวของเทศกาลคริสต์มาส ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องดื่มเย็นๆ ของแบรนด์ Coca-Cola มักจะมียอดขายสินค้าลดลงตามสภาพอากาศ จนช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีค.ศ 1930 ทาง Coca-Cola ตัดสินใจทำการตลาดด้วยการหยิบเอาคาแรกเตอร์อย่างซานตาคลอส ฝีมือของศิลปินอย่าง  ‘เฟรดเดอริค ไมเซน’ (Frederic Mizen) มาใช้ในการโปรโมตสินค้าอย่างจริงจังในปีนั้น โดยคาแรกเตอร์ซานตาคลอสที่ว่าเป็นภาพวาดของซานตลาคลอสที่กำลังยกขวดโค้กขึ้นดื่มกลางห้างสรรพสินค้าท่ามกลางเด็กๆ ที่ยืนห้อมล้อมเขาอยู่ด้วย

ก่อนในอีกหนึ่งปีถัดมาหรือปีค.ศ. 1931  ซานตาคลอสเวอร์ชันใหม่ก็เกิดขึ้นจากการที่บริษัท Coca-Cola มีความพยายามจะขยายภาพซานตาคลอสกับโค้กของไมเซนให้ออกมาเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยทางบริษัทได้ว่าจ้างเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่งชื่อ D’Arcy Advertising ก่อนจะเลือกให้จิตรกรจากรัฐมิชิแกนอย่าง แฮดดัน ซันด์บลอม (Haddon Sundblom) วาดภาพซานตาคลอสสำหรับแคมเปญโฆษณาของ Coca-Cola ซึ่งอิงจากภาพซานต้าในเวอร์ชันของทั้งมัวร์และแนสต์เข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นคุณลุงรูปร่างอ้วนท่วม ท่าทางร่าเริง ใบหน้าใต้หนวดเปื้อนยิ้มตลอดเวลา และแน่นอนว่าจะต้องสวมใส่ชุดสีแดงเพื่อภาพลักษณ์ใหม่ที่ดูเป็นมิตรและเป็นที่น่าจดจำของผู้คน 

ซึ่งการที่ซันด์บลอมได้วาดภาพซานตาในงานโฆษณาของบริษัท Coca-Cola ต่อเนื่องกว่า 30 ปี คาแรกเตอร์ซานตาของโค้กจึงกลายมาเป็นภาพซานตาคลอสที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมากพอจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดกันอยู่ว่า Coca-Cola’s The Santa คือคาแรกเตอร์ซานตาสุดคลาสสิกที่มีมานานนม ทั้งที่ความจริงแล้ว บุคลิกและชุดสีแดงของซานตาคลอสมีที่มามาจากภาพวาดการ์ตูนของนาสต์ต่างหาก

โดยภาพวาดซานตาคลอสในครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในแคมเปญมาร์เก็ตติ้งอันชาญฉลาดของแบรนด์ Coca-Cola ที่นอกจากจะสามารถสร้างภาพแบรนด์เครื่องดื่มเย็นๆ ให้สามารถอยู่คู่กับความอบอุ่นของเทศกาลนี้ได้แล้ว ก็ยังทำให้ใครหลายๆ คนนึกถึงซานตาคลอสของโคคา-โคล่าจากสีของแบรนด์ที่ลิงก์ไปกับเทศกาลคริสต์มาสได้อย่างพอดิบพอดีอีกด้วย

และถึงแม้ Coca-Cola อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเทศกาลคริสมาสต์เลย ทั้งยังไม่ได้เป็นคนคิดค้นซานตาเคราขาวๆ ในชุดสีแดงด้วย แต่ก็ต้องขอบคุณ Coca-Cola ที่ช่วยทำให้ภาพจำซานตาแสนใจดีในแบบฉบับโมเดิร์นเป็นที่จดจำจวบจนทุกวันนี้

ภาพ: The Coca-Cola Company, The Coca-Cola Thailand,The Atlanta Journal

อ้างอิง

INE Pet Modeling โมเดลลิ่งสัตว์เลี้ยงที่พาสัตว์ไปเฉิดฉายในหนังและเอ็มวีวงดังของไทยและเกาหลี 

สมัยที่ pawrent หรือพ่อแม่ของเหล่าลูกสี่ขาครองเมือง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยตรงและไม่ข้องเกี่ยวต่างก็มีสัตว์เลี้ยงเป็นดาราหน้ากล้องงานโฆษณาเพื่อดึงดูดลูกค้ากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า คอนโด ละคร มิวสิกวิดีโอ ฯลฯ

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? 

เจ้าของแบรนด์ ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ทั้งหลายไม่ได้มโนไปเองว่าการใช้สัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของงานจะเพิ่มการมองเห็นของผู้บริโภคได้อย่างแตกต่าง เพราะจากผลสำรวจจาก Nichefire แพลตฟอร์มคาดการณ์เทรนด์พบว่าโพสต์โซเชียลมีเดียที่มีสัตว์เลี้ยงสามารถเพิ่มการมองเห็นเฉลี่ยถึง 63% 

ส่วนการวิเคราะห์ของ NewsWhip ยังพบว่าโพสต์ของแบรนด์ที่มีภาพสัตว์เลี้ยงยังทำให้มีความคิดเห็นเพิ่มขึ้น 89% มียอดกดไลก์เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19%

จากที่แต่เดิมมี ‘แมวมอง’ คอยเฟ้นหาหนุ่มสาวหน้าตาดีเข้าสังกัด เดี๋ยวนี้โมเดลลิ่งต่างๆ กลับต้อง ‘มองแมว’ หรือมองหาสัตว์เลี้ยงที่ตรงสเปกมาเข้าสังกัดกันแล้ว เช่นเดียวกับ INE Pet Modeling ที่ออกตัวว่าเป็นโมเดลลิ่งน้องใหม่อายุ 3 ปี แต่มีผลงานของดาราสี่ขาเต็มพอร์ตโฟลิโอ

แม้จะถือเป็นโมเดลลิ่งน้องใหม่ แต่ประสบการณ์ในการฝึกสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะน้องหมาของ Co-founder อย่างครูตี๋–คุณากร อมรานันทมงคล นั้นยาวนานเป็นสิบปี ทำให้น้องหมาน้องแมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ จากโมเดลลิ่งน้องใหม่น้ีเป็นที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก 

เคล็ดลับการปั้น INE Pet Modeling นั้นคงไม่ใช่แค่ประสบการณ์อันยาวนานเท่านั้น แต่ยังเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มองข้ามไม่ได้ซึ่งทำให้โมเดลลิ่งสัตว์แห่งนี้ได้พาน้องหมาน้องแมวไปเฉิดฉายทั้งในมิวสิกวิดีโอเพลง เหว ของ Bodyslam ภาพยนตร์ระทึกขวัญอย่าง บ้านเช่า บูชายัญ ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอของเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลี 

ณ Hugmhaland ดินแดนของคนรักน้องหมาที่มีทั้งสระว่ายน้ำและสวนขนาดใหญ่ให้เจ้าสี่ขาได้ปล่อยพลัง เรานัดพบกับครูตี๋และลูกสาวทั้ง 4 ของเขาอย่างลูกกวาง เนเน่ นาน่า และฟลัฟฟี่เพื่อไขคำตอบเกี่ยวกับโมเดลลิ่งสัตว์เลี้ยงของเขา

ย้อนกลับไป คุณเริ่มต้นอาชีพฝึกสุนัขได้ยังไง

ผมเลี้ยงหมาตั้งแต่ 3 ขวบ ผมเลยผูกพันกับหมามากและอยากให้คนมองว่าหมาของเราน่ารักเรียบร้อย ผมเลยเริ่มฝึกหมาของตัวเองด้วยการลองผิดลองถูกผ่านหนังสือ ซีดี โทรทัศน์ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงข้อมูลง่ายอย่างปัจจุบัน 

พอเจอครูฝึกคนอื่น เราก็ไม่อายที่จะสอบถามว่าฝึกยังไง แก้ไขยังไง แล้วค่อยนำมาปรับให้เข้ากับสไตล์ของเรา พอเริ่มฝึกหมาตัวเองได้ ก็มีคนมาขอเทคนิคบ้าง ขอให้ฝึกหมาเขาบ้าง จนเราเริ่มทำเป็นอาชีพจริงจังและฝึกหมามาได้ 11 ปีแล้ว 

การฝึกหมาก็จะมีหลายวัตถุประสงค์ เช่น ฝึกปรับพฤติกรรม ฝึกโชว์ ฝึกคำสั่ง ฝึกอารักขา การฝึกแต่ละแบบก็ไม่เหมือนกัน ตัวผมเองเชี่ยวชาญเรื่องการฝึกโชว์และการฝึกปรับพฤติกรรม แต่ฝึกหมาเพื่อทำตามคำสั่งก็มีมาบ้างประปราย

ที่จริงแล้ว หมาที่มีเจ้าของทุกตัวควรได้รับการฝึกไหม

ถ้าพูดตามตรงคือควร เพราะมันเป็นเรื่องของการใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน ถ้าหมาทุกตัวเรียบร้อยก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าหมาเรียบร้อยแล้วไปเจอหมาไม่เรียบร้อยก็มีโอกาสทะเลาะกันได้ 

แต่ผมเข้าใจดีว่าค่าใช้จ่ายในการฝึกสุนัขนั้นค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าอยากให้หมาเรียบร้อยมากๆ ค่าคอร์สก็จะยิ่งสูงมาก แต่บางบ้านไม่ได้มีทุนขนาดนั้น 

แล้วคุณเข้าสู่วงการโมเดลลิ่งสัตว์เลี้ยงได้ยังไง

เริ่มมีคนชวนให้ผมพาหมาไปถ่ายโฆษณา ผมคิดว่ามันท้าทายและน่าสนุกดีเลยเริ่มทำชิ้นแรก แล้วก็ไหลยาวมาเรื่อยๆ จนเปิดเป็น INE Pet Modeling ซึ่งจริงๆ แล้วธุรกิจโมเดลลิ่งสัตว์มีมานานแล้วนะ เพียงแต่มันอาจจะมีมากขึ้นเพราะคนเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น

INE Pet Modeling ของเราถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาทำได้เพียง 3 ปี หลักๆ งานของเราคือการพาน้องหมา น้องแมว บางทีก็นก บางทีก็แมงมุม ไปถ่ายโฆษณา ถ่ายเอ็มวี ภาพยนตร์ ฯลฯ 

การฝึกหมาทั่วๆ ไป กับการฝึกหมาเพื่องานโมเดลลิ่งนั้นต่างกันไหม

ไม่ต่างกันมาก เพราะหลักการคือเราต้องการให้หมานิ่งและทำในแบบที่ลูกค้าต้องการได้ ในแต่ละครั้งที่ได้งาน เราก็จะได้บทมาติวก่อนเพื่อให้วันถ่ายจริงมันง่าย ไม่เสียเวลาทีมงาน นักแสดงคนอื่น แล้วเราก็ไม่เสียเครดิต 

เพียงแต่การฝึกเพื่อถ่ายงานมันจะพ่วงมากับความคาดหวังของทีมงานด้วย แล้วอย่างบางงาน บทที่ได้มากับบทที่ไปถ่ายจริงมันไม่เหมือนกันเลย หรือบางครั้งเขาบอกทีมงานไม่เยอะ แต่พอไปถึงคือแมวหมาตื่นคนมาก เราก็ต้องขอให้ทีมงานออกไปข้างนอกก่อน ดังนั้นงานโมเดลลิ่งต้องมีทักษะการเอาตัวรอดและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตรงหน้าสูงมาก

วิธีการคัดเลือกสัตว์เลี้ยงเข้าโมเดลลิ่งนั้นทำยังไง

หลักๆ ผมจะมีทั้งหมาและแมวของผมเอง แต่ถ้าเราไม่มีตามที่ลูกค้าอยากได้เราก็ต้องประกาศหา บางครั้งลูกค้าก็จะส่งตัวเลือกมาให้เราดูเลย 

ถ้ากรณีที่ลูกค้าอยากได้หมาแมวที่เขาหามา เราก็ต้องไปดูกันว่าหมาแมวที่เขาหามานั้นทำได้ตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการไหม ถ้าไม่ได้เราก็จะบอกลูกค้า ถ้าเขายืนยันที่จะเอา เราก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่าหมาตัวนั้นๆ หรือแมวตัวนั้นๆ จะทำอะไรได้บ้าง

จากนั้นเราก็จะไปคุยกับเจ้าของเพื่ออธิบายเนื้องานให้ฟังว่าเป็นแบบไหน เขาจะรับเงื่อนไขต่างๆ ได้หรือเปล่า มีงานหนึ่งที่ผมกับทีมงานใช้เวลาเตรียมตัวกันประมาณ 2 เดือน เริ่มจากเฟ้นหาสุนัขกันก่อนประมาณ 5 ตัว ทั้งสายพันธุ์เล็ก กลาง ใหญ่ ตามที่ลูกค้าต้องการ 

จากนั้นก็พูดคุยกับเจ้าของว่างานเป็นแบบนี้คุณโอเคไหม บางงานเริ่ม 6 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็นนะ ถ้าโอเคเราก็โอเค แล้วถ่ายรูปให้ทีมงานดู ถ้าทีมงานแฮปปี้เราก็เข้าสู่กระบวนการฝึก ตั้งแต่เตรียมไปบ้านลูกค้า ไปฝึกให้เขาตามโปรดักชั่นต่างๆ ที่ทีมงานเตรียมมา ถือว่าเป็นงานที่ยากระดับหนึ่ง

ยากเพราะ

น้องหมาเหล่านี้ไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อนเลย แล้วผมก็ไม่เคยเจอพวกเขาด้วย หมาบางตัวก็ทำไม่ได้เลยแม้กระทั่งการนั่งคอย เราก็ต้องฝึกให้ทำได้เพื่อที่ทีมงานจะได้ไม่เสียเวลา เพราะเวลาถ่ายจริงมันไม่ได้มีคิวแค่หมาผมเท่านั้น ยังมีคิวทีมงาน คิวดารา 

นอกจากไม่เคยเจอน้องหมาเหล่านี้แล้ว เรายังไม่รู้ด้วยว่าเจ้าของเป็นคนแบบไหน นิสัยยังไง 

เจ้าของต้องมีส่วนร่วม

ใช่ เจ้าของต้องมีส่วนร่วมด้วย การสื่อสารจึงสำคัญมากในธุรกิจนี้ เพราะผมเคยเจอเจ้าของหมาที่เราคุยกันเรียบร้อยแล้ว แต่กลายเป็นว่าวันถ่ายเขาพาหมากลับไปทั้งที่ยังถ่ายไม่เสร็จ โชคดีที่ผมเอาหมาผมไปเองด้วย เลยต้องเปลี่ยนตัวและฝึกกันหน้างานเลย 

นอกจากการสื่อสารกับเจ้าของหมาแมวที่ทั้งลูกค้าหามาเอง และทั้งที่เจ้าของสมัครกันเข้ามาผ่าน INE เองแล้ว เราก็ยังต้องสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจนด้วย เช่น เวลาที่ได้มาน้อยไปนะ ผมไม่รับ หรือโจทย์นี้ทำได้แค่ไหน เขาโอเคหรือเปล่า เพราะผมจะไม่มีทางรับงานทั้งที่ผมทำไม่ได้เด็ดขาด 

สุดท้ายแล้วหมาหรือแมวก็คือสัตว์​ที่จะบงการทุกโจทย์ไม่ได้เหมือนคน 

ถูก สัตว์ก็คือสัตว์ บางทีเราฝึกเราติวกันมาแล้วแต่พอมาเป็นหน้าเซตจริงที่มีทั้งไฟ เสียง คนเยอะ สัตว์ก็ตื่น พอมันตื่นปุ๊บก็ไม่สามารถทำตามที่ต้องการได้เป๊ะๆ ตามที่บรีฟ 

บางทีมที่เขาไม่เคยถ่ายกับสัตว์เลย พอมาถ่ายงานปรากฏว่าเขาไม่เข้าใจธรรมชาติ คือหมาแมวของเราเขาทำตามโจทย์ได้แหละ เพียงแต่มันอาจจะไม่เป๊ะ 100% เหมือนคน เขาก็จะขอถ่ายใหม่ๆ จนมีงานหนึ่งที่แมวผมเครียด ช็อก จนขนร่วงเกือบทั้งตัว เราเองก็เครียด

แต่บางทีมเขาน่ารักและเข้าใจว่ายังไงน้องก็เป็นสัตว์ พอทำได้ใกล้บรีฟเขาก็โอเคแล้ว บางทีมก็คอยถามตลอดว่าอยากพักไหม พอพักได้ 20 นาทีก็มาถามตลอดว่าน้องๆ พร้อมหรือยัง อย่างฉากหมาตายในหนังเรื่อง บ้านเช่า บูชายัญ ก็หมาผมเอง ซีนนั้นใช้เวลา 2 ชั่วโมงก็เสร็จ 

มันเป็นซีนที่เขาอยากให้หมานอนปิดตาตายหมือนตายจริงๆ ปกติผมก็ฝึกให้หมาแกล้งตายอยู่แล้ว แต่งานนี้ผมก็ใช้เทคนิคให้เขาคุ้นชินกับการนอนจนเขาสามารถนอนหลับได้จริงๆ แล้วทีมงานก็แฮปปี้

งานที่ผ่านมาชิ้นไหนที่คุณรู้สึกภูมิใจ

เอ็มวีเพลง เหว ของ Bodyslam เริ่มต้นจากทีมงานที่ติดต่อมาหาเราว่าต้องการหมาไทย เล่นบทที่เศร้ามากๆ เหมือนน้องต้องเป็นหมาข้างถนน ผมเองมีหมาไทยตัวนึงพอดี แต่มันอ้วน (หัวเราะ) 

ผมเลยส่งไปให้เขาดูก่อนว่าหมาทำทุกอย่างได้ตามที่เขาต้องการ ทั้งฉากจำลองฝนตกที่ต้องให้หมาอยู่ใต้ต้นไม้ หรือฉากกระโดด สุดท้ายเขาก็ตกลงแต่ขอเพิ่มบทกดกริ่ง บทเอาเท้าเกาหน้าเหมือนร้องไห้ ซึ่งหมาผมทำได้หมด งานเลยออกมาแฮปปี้มาก แล้วทีมงานก็คอยถามตลอดว่าหมาโอเคไหม อยากพักไหม 

อีกงานคือหมาผมได้ไปถ่ายเอ็มวีให้กับวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีที่จริงๆ แล้วมีหลายโมเดลลิ่งมากที่เข้าเสนอ แต่เราก็ได้มาในที่สุด ซึ่งวันที่ไปถ่ายจริงก็ประสบความสำเร็จมากเพราะเราถ่ายแป๊บเดียวก็ผ่านเลย

หรืออย่างงาน Central Westville ซึ่งมีทั้งหมาและแมวก็จะซับซ้อนหน่อย โดยเฉพาะแมวก็จะยาก เพราะมีทั้งแสงสีเสียงที่เขาไม่เคยเจอ งานนั้นก็ถือว่าถ่ายกันมาราธอนตั้งแต่เช้าถึงดึกเลย

เรามักจะได้ยินว่าแมวเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วแมวฝึกได้ด้วยหรือ

แมวฝึกได้เหมือนหมา แต่เขาฉลาดเลยเลือกที่จะไม่ฝึก แล้วแมวสายพันธุ์เดียวกันเขาก็นิสัยไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนหมาที่นิสัยจะคล้ายๆ กันเลย 

อย่างของเรา เราจะใช้วิธีการเลือกแมวจากวิธีการเลี้ยงของเจ้าของว่าเขาเลี้ยงยังไง แมวคุ้นชินกับคนแปลกหน้าแค่ไหน จากนั้นเราก็เอามาแต่งให้นิ่งขึ้นนิดหน่อย

คนอาจรู้สึกว่าก็แค่เอาสัตว์มาเล่น แต่จริงๆ แล้วความยากของการเป็นโมเดลลิ่งสัตว์คืออะไร

มันคือเรื่องของความเข้าใจสัตว์อย่างที่บอกไป คนส่วนใหญ่จะเห็นแค่ผลลัพธ์หลังการถ่ายว่าหมาแมวมันน่ารักนะ แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังแต่ละฉากมันยากมาก 

อะไรทำให้น้องใหม่อย่าง INE ได้รับโอกาสใหญ่ๆ ในวงการนี้ 

พูดตามตรงว่าใครๆ ก็ฝึกหมาแมวได้นะ แต่ฝึกให้ทำตามที่ผู้กำกับต้องการมันไม่ใช่ใครก็ทำได้ อย่างของเรา เราการันตีว่าทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่ให้รีเควสต์มาว่าต้องการอะไร เราต้องเตรียมตัวยังไง 

เราไม่ได้โหยงานแล้วรับไปก่อน เราจะดูว่าบทอันไหนได้บ้าง ถ้าบทนี้ไม่ได้เราก็จะคุยกับเขาว่าไม่ได้นะ แต่ถ้ายืนยัน เราขอเวลาฝึกหน่อยแล้วดูว่าได้ไหม ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ไม่รับเลย ไม่มีการฝืนเพราะถ้าเราฝืนแล้วทำไม่ได้มันจะเสียเครดิต เราอาจจะได้งานนั้นงานเดียวแต่วงการนี้มันแคบ ข่าวก็กระจายไปว่าค่ายนั้นทำแบบนี้แบบนั้น 

เราทำงานตรงนี้เราก็ต้องซื่อสัตย์กับงานของเรา เวลาไปถ่ายงานเราก็ไม่เคยไปสาย เราไปตรงเวลาตลอด บางครั้งไปก่อนเวลาด้วยซ้ำ คือเราเต็มที่กับงานร้อยเปอร์เซ็นต์จนทีมงานก็สัมผัสได้ว่าเราจริงจังและจริงใจกับการทำงาน จนคนในวงการเขาแนะนำปากต่อปาก 

การเป็นครูฝึกมานานกว่า 10 ปีมีผลต่อภาพลักษณ์ของโมเดลลิ่งไหม

ผมว่ามีผลเรื่องของความน่าเชื่อถือ ถ้าสมมติเขาไม่รู้จักเราเขาก็คงไม่เชื่อใจ แต่อย่างน้อยเรามีผลงานว่าเราเป็นครูฝึก ความน่าเชื่อถือก็จะเพิ่มขึ้น เขาจะให้โอกาสเราได้ลองมากขึ้น  

แล้วภาพของ INE Pet Modeling ที่คุณอยากไปให้ถึงเป็นแบบไหน

ถ้าพูดตามตรงคือผมไม่รู้ว่ามันจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน แต่ว่าเราก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมเลยคิดว่าผมคงทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ลูกค้ายังให้ความสำคัญกับเราอยู่ 

ผมก็พร้อมเต็มที่กับงานที่ได้รับมอบหมาย 

ขอบคุณสถานที่ : Hugmhaland  

อ้างอิง

ส่องสถิติและโอกาสประกอบอาชีพในสายงาน ESG จากเวที SET ESG Professionals Forum 2023

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากับแคมเปญที่ช่วยรณรงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบในเรื่องของ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global warming) กันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ไม่น่าเชื่อเลยว่าในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ ยุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และตอนนี้พวกเราทุกคนก็กำลังเผชิญอยู่กับยุคของ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global boiling) หรือภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง อ้างอิงจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) กันอีกด้วย

ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากยุคของภาวะโลกร้อนสู่ภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ภัยแล้ง ตลอดจนไฟไหม้ป่าที่พบเห็นได้ถี่และยาวนานขึ้น รวมไปถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้เราต้องคอยอัพเดตข้อมูลทางการแพทย์กับวัคซีนกันอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนวิกฤตความปลอดภัยทางอาหาร (Food security) เป็นต้น ด้วยภาวะโลกเดือดเช่นนี้ ส่งผลให้เราทุกคนต้องปรับตัวและอยู่รอดกันต่อไปให้ได้อย่างยั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมายของโลก สิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คนที่ผันผวน ก็กลับสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะทั้งธุรกิจภายในประเทศหรือธุรกิจต่างประเทศที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิม หรือพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก เพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ตลอดจนเปิดตลาดใหม่ที่ตอบโจทย์และแก้ไข Pain Point ให้กับลูกค้าในยุคของสภาวะโลกเดือด ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่เหล่าผู้ประกอบการที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการปรับตัวของภาคธุรกิจในการหันมาให้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เมื่อยิ่งปรับตัวได้เร็ว ก็ยิ่งเกิดประสิทธิภาพในการแข่งขัน การเข้าถึงแหล่งทุน และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ก่อน สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของเหล่าผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรม รวมไปถึงองค์กรของภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของภาครัฐด้วยนั่นเอง

เมื่อยุคของสภาวะโลกเดือดยังคงดำเนินต่อไป สำหรับภาคธุรกิจและนักลงทุนแล้ว การลงทุนจึงไม่ใช่เพียงแค่การมุ่งหวังผลกำไรเท่านั้น แต่จะยังต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและประณีตมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในปัจจุบัน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Corporate governance) หรือที่รู้จักกันว่า ‘ESG’ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET ESG Academy ร่วมกับสมาชิก SET ESG Experts Pool เครือข่ายบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการร่วมสร้าง New ESG Professionals และขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน ได้จัดสัมมนาอย่าง SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยภายในงานสัมมนายังเน้นถึงข้อความสำคัญของการจัดงานในปีนี้อย่าง 5 แนวโน้มความท้าทาย (Trends) ที่ภาคธุรกิจควรจะต้องจับตามองและร่วมมือกันทั้งองคาพยพ ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและจัดการห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain) จากแบบเดิมให้กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain)
  2. การปรับตัวขององค์กรธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือมาตรฐานและกฎเกณฑ์ระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยควรเริ่มตั้งแต่การคำนวณ Baseline Emission ตั้งเป้าหมาย และปรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  3. การสร้างโอกาสจาก Thailand Taxonomy ที่ช่วยสื่อสารว่าการดำเนินการของธุรกิจสร้างผลเชิงบวกจริง ไม่ได้เป็นการบิดเบือน (Greenwashing) 
  4. ทิศทางของเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG รวมถึงประโยชน์ของข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อใช้วิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน และการให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ได้มาซึ่งข้อมูลนั้น เพื่อสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง
  5. ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษาและภาคธุรกิจที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน 

ถึงแม้ ESG จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายๆ คน แต่ภายในงาน SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ครั้งนี้ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดสัมมนาเอาไว้อีกด้วยว่า ‘ “คนทำงาน” เป็นฟันเฟื่องสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบุคลากรทุกคนต้องเข้าใจและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจริง ไม่ว่าทำงานอยู่ในส่วนไหนหรือมีความรับผิดชอบอะไร ล้วนต้องมีความเข้าใจในประเด็น ESG เพราะ ESG เป็นเรื่องของทุกคนไปแล้ว’

ทุก ๆ หน้าที่ในองค์กรล้วนมีความสำคัญกันทั้งหมด แต่การที่จะเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานในสายงาน ESG ได้นั้น เราเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามอยู่ภายในใจกันไม่น้อย Capital จึงอยากชวนทุกคนเข้ามาส่องสถิติและโอกาสประกอบอาชีพในสายงาน ESG บทสรุปจากเวที SET ESG Professionals Forum 2023 ผ่าน photo album นี้ไปพร้อมกัน

งาน SET ESG Professionals Forum เป็นเวทีระดมความร่วมมือของ ESG Professionals ที่ใหญ่ที่สุดในไทยโดยจัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/set.or.th

5 อาชีพในสายงาน ESG ที่เปิดรับตำแหน่งมากที่สุดในไทย

แม้ ESG จะถูกหยิบนำมาพูดถึงกันในวงกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อมั้ยว่าเทรนด์อาชีพหรือตำแหน่งงานด้าน ESG เองก็มาแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงปี 2015 มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่ออ้างอิงจาก Global Green Skills Report ในปี 2023 ของ LinkedIn แล้ว จะพบว่าตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 12.3% ในปี 2021 เป็น 24.4% ในปี 2023 และยังนับได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตเกือบ 2 เท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอีกด้วย

นอกจากบริษัททั่วโลกกำลังต้องการบุคลากรทางสายงาน ESG แล้ว ข้อมูลจากแพลตฟอร์มหางานอย่าง LinkedIn ปี 2022 พบว่า มีตำแหน่งอาชีพด้าน ESG เปิดรับกว่า 700 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. Environment, Safety and Health หรืออาชีพที่ว่าด้วยเรื่องของการบริหาร-ดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพภายในองค์กร
  2. Environmental Engineer หรืออาชีพวิศวกรสิ่งแวดล้อม
  3. ESG Advisor and Consultant หรือที่ปรึกษาทางด้าน ESG ในองค์กรเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
  4. Sustainability Manager and Executor หรือกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการด้านการจัดการอย่างยั่งยืน
  5. Sustainability Branding and Communication หรืออาชีพที่ว่าด้วยเรื่องของการสื่อสารแบรนด์และภาพลักษณ์ธุรกิจด้านความยั่งยืน

โดยบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงาน ก็จะขึ้นอยู่กับประเภทของบริษัท องค์กร และโรงงานที่เปิดรับสมัครอาชีพนั้นๆ

ESG เป็นที่ต้องการของตลาดและจุดประกายอาชีพใหม่ๆ

นอกจาก Global Green Skills Report ในปี 2022 ของ LinkedIn ที่เคยบ่งบอกว่าตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกเติบโตขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในช่วง 5 ปีผ่านมานี้ ตำแหน่งงานใน LinkedIn ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านความยั่งยืนสูงขึ้นปีละกว่า 8% อีกด้วย ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ที่มีทักษะทางด้านนี้กลับมีเพิ่มขึ้นแค่ปีละ 6% เพียงเท่านั้น

และเนื่องจากภาคเอกชนยังขาดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสายงานด้าน ESG อันเนื่องมาจากผลสำรวจจาก 50 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่พบว่ามีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพียงแค่ 15 หลักสูตรจาก 8 มหาวิทยาลัยเท่านั้น

สิ่งนี้จึงส่งผลให้อาชีพในสายงาน ESG เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จนถึงขั้นสามารถจุดประกายออกมาให้เป็นอาชีพใหม่ๆ เพื่อการร่วมงานกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ในปัจจุบันได้ก่อนด้วย เช่น ผู้ทวนสอบข้อมูล (verifier) อย่างผู้ทวนสอบคาร์บอนฟุตปรินต์, อาชีพตัวกลางที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ดูแลแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอน (Carbon Market) และอาชีพด้าน ESG ในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาทางด้านสังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

แม้รายชื่ออาชีพใหม่ๆ ที่กล่าวมานั้นอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูหรือผ่านตาใครหลายๆ คนกันสักเท่าไหร่นัก แต่งานด้าน ESG จะไม่ใช่แค่อาชีพที่เป็นเพียงแค่เทรนด์ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะด้วยคำกล่าวของวิทยากรจากเวที SET ESG Professionals Forum ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปีที่แล้ว ว่า “จากเป้าหมายในด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจ อย่างน้อยแนวคิด ESG ก็จะเติบโตไปจนถึงปี 2050 แต่จะไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะอย่างไรทางภาคธุรกิจเองก็ยังคงจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันต่อไปเรื่อยๆ” 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ภาคธุรกิจไทยในปัจจุบันยังมีกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีและมีการทำ ESG ไปแล้วมากกว่า 70 กองทุน นับว่าเป็นมูลค่ารวมกว่า 52,451 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัทในประเทศไทยหลายๆ แห่ง มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

งานใหม่ ‘ทักษะสีเขียว’ ในยุคคาร์บอนต่ำ

แม้งานด้าน ESG จะเป็นกระแสก็จริง แต่บริษัททั่วโลกต่างก็ต้องการบุคลากรผู้ซึ่งมีทักษะสีเขียวและบุคลากรในสายงาน ESG อยู่จำนวนมากในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะมีความต้องการบุคลากรเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือต้องการที่จะ shift จากสายงานเดิม รวมไปถึงน้องๆ คนไหนที่จบใหม่และต้องการที่จะประกอบอาชีพในสายงาน ESG เอง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา อัพสกิล รีสกิล และเพิ่มพูนทักษะสีเขียว (Green skills) หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองให้ดี (Sustainability) โดยทักษะสีเขียวนี้เองก็ยังสามารถก่อให้เกิดเป็นงานใหม่สีเขียว (Green jobs) ในยุคคาร์บอนต่ำหรือในยุคที่ภาคธุรกิจก็ต่างร่วมด้วยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง

ยกตัวอย่างสายงานเดิม เติมทักษะสีเขียว (Green Enhanced Skills Job) ได้แก่

  1. สายงานด้านวิทยาศาตร์ ที่จะต้องเติมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและ Climate change เชิงลึกควบคู่ไปด้วยกัน เช่น อาชีพนักวิทยาศาตร์ด้านสิ่งแวดล้อม นักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง เป็นต้น
  2. สายงานด้านการเกษตร ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้มาช่วยปรับปรุงดูแลภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    มากขึ้น อาทิ อาชีพนักเทคนิคการเกษตร (Agricultural Specialist) เป็นต้น
  3. สายงานด้านการวางแผนและสถาปัตยกรรม ต้องสนใจองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร ฟังก์ชั่นที่สามารถก่อให้เกิดอากาศหมุนเวียน เทคนิคการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความรู้เรื่องกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รวมไปถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่กระทบกับชุมชมรอบข้าง เช่น อาชีพสถาปนิกและนักออกแบบ ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นสถาปนิกและนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน (ESG Architecture & Design) ได้ เป็นต้น
  4. สายงานด้านวิศวกรรม ที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเฉพาะตัว โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบพลังงานสะอาด การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ อาชีพวิศวกรด้านความปลอดภัย ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาและตรวจสอบความยั่งยืนด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Safety, Health, and Environment Consultant) ได้เช่นกัน 
  5. สายงานด้านการรักษาความยุติธรรม ที่นอกจากเชี่ยวชาญเรื่องข้อกฎหมายและธรรมมาภิบาลแล้ว ยังจะต้องเข้าใจถึงประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อมให้ได้อีกด้วย อาทิ อาชีพที่ปรึกษาด้านกฎหมายขององค์กร ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนขององค์กร (ESG Consultant) ได้อีกด้วย 

นอกจากทักษะสีเขียวที่เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนกันแล้ว ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สกิลของการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับตัว ตลอดจนการคิดในเชิงออกแบบ และการมีประสบการณ์-ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในด้านวิศวกรรมและเทคนิค วิทยาศาสตร์ การจัดการดำเนินงาน หรือการติดตามงานเอง ก็ถือเป็นทักษะที่สร้างรายได้สูงที่สุดในยุคนี้อีกด้วย 

โดยทักษะเหล่านี้นับได้ว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการก่อให้เกิดงานใหม่สีเขียว (Green New and Emerging Jobs) หลากหลายตำแหน่งในสายงานด้าน ESG 

ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของงานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น 

  1. ช่างเทคนิค เช่น ช่างเทคนิคกังหันลม, ช่างติดตั้งแผงโซลาร์ และช่างเทคนิคเชื้อเพลิงชีวภาพ 
  2. นักวิชาชีพ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรน้ำ, นักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืน, ผู้เชี่ยวชาญด้านรีไซเคิล และผู้ทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินต์ 
  3. ผู้บริหาร เช่น ผู้จัดการพลังงานหมุนเวียน และผู้บริหารด้านความยั่งยืน เป็นต้น

บริษัททั่วโลกเปิดรับบุคลากรในสายงาน ESG เพิ่มมากขึ้น

นอกจากบทสรุปของเวที SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ที่อ้างอิงข้อมูลจาก Global Green Skills Report ในปี 2023 ของ LinkedIn ระบุเอาไว้ว่าสัดส่วนของตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกมีการเติบโตมากขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 8% ขึ้นมาเป็น 22.4% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่ภาคธุรกิจมีความต้องการจัดจ้างบุคลากรในตำแหน่ง ‘ผู้จัดการด้านความยั่งยืน’ (Sustainability manager) เพิ่มขึ้นกว่า 40% ในประเทศสิงคโปร์, 33% ในประเทศจีน และ 24% ในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย

โดยเมื่ออ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีการจัดจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างปี 2017-2022 กว่า 237% ขณะที่สัดส่วนของการจัดจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 19% เท่านั้น 

แม้ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำงานด้าน ESG ได้

มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงทราบกันดีแล้วว่า การจะเข้ามาทำงานในสาย ESG ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้อง shift สายการทำงานในตำแหน่งเดิมๆ เสมอไป แต่ไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมา ทำงานอะไรอยู่ก็สามารถเติมทักษะ ESG ให้ตนเองเป็นที่ต้องการของตลาดงาน ESG ได้ ไม่ว่าจะเป็น

  1. วุฒิปริญญาตรีด้านบัญชี ที่เพียงแค่เพิ่มทักษะสีเขียวหรือความรู้ทางด้าน Greenhouse gas (GHG) หรือ ESG ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นนักบัญชี GHG/ESG ได้
  2. วุฒิปริญญาตรีด้านวิศวะ ที่เพียงแค่เพิ่มความรู้เกี่ยวกับแหล่งพลังงาน-การบูรณาการระบบพลังงาน ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นผู้จัดการด้านพลังงานทดแทนได้
  3. วุฒิปริญญาตรีด้านการเงิน ที่เพียงแค่เพิ่มทักษะความรู้ด้าน ESG Bond ก็สามารถทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ถูกมอบหมายงานตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนได้
  4. วุฒิปริญญาตรีด้านอื่นๆ ที่เพียงแค่เพิ่มความรู้ด้านคาร์บอนเครดิตและการซื้อ-ขายผ่าน Carbon Market ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นโบรกเกอร์ค้าคาร์บอน (Carbon broker) ได้
  5. วุฒิอาชีวะ ก็ยังสามารถเพิ่มพูนความรู้ในด้านระบบไฟฟ้าพลังงานลม -ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อเข้าสู่อาชีพในสายงานด้าน ESG อย่างช่างเทคนิคพลังงานลม ได้เช่นกัน