Coffee Crisis

ภาวะโลกเดือดอาจทำกาแฟเสี่ยงเจอวิกฤต ผลผลิตอาจลดลงและราคาพุ่งจนเกินต้าน

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ดูเผินๆ เหมือนจะเต็มไปด้วยโอกาสและแสงสว่างส่องทางข้างหน้า แต่อุตสาหกรรมกาแฟกลับกำลังเผชิญความเปราะบางและท้าทายเมื่อโลกเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ไม่ใช่เรื่องง่ายจะแก้ไขด้วยใครคนใดคนหนึ่ง

เหตุผลที่ทำให้เราหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงอีกครั้งเพราะในเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์  โดยกรกฎาคมกลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี และถูกประกาศว่ายุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลง และยุคแห่งความเดือดทั่วโลกได้มาถึงแล้ว

แล้ววิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวยังไงกับอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลก? 

ปีที่ผ่านมาหลายคนคงได้เห็นข่าวผ่านตามาบ้างว่าเกาหลีใต้เจอวิกฤตกิมจิ เนื่องจากผักกาดปลูกได้น้อยลงเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กิมจิราคาแพงขึ้น ซึ่งกาแฟเองก็กำลังค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ชะตากรรมเดียวกัน ด้วยอุณภูมิโลกที่เดือดขึ้นและสภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้ผลผลิตกาแฟทั่วโลกผลิตได้น้อยลง โดยเฉพาะกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

งานศึกษา A Systematic Review on the Impacts of Climate Change on Coffee Agrosystems บอกว่า แม้กาแฟอาราบิก้าจะมีการปลูกอยู่ทั่วโลกและปลูกเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น แต่หากเทียบกับโรบัสต้าที่รองลงมา อาราบิก้าก็ยังเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อปัจจัยด้านสภาพอากาศมากที่สุด 

อาราบิก้าจะให้ผลผลิตที่ดีทั้งคุณภาพ กลิ่น และรสชาติก็ต่อเมื่อปลูกในสภาพอากาศ 18-20 องศา แต่ถ้ากระโดดไปถึง 23 องศา มันจะโตเร็วเกินไปและให้ผลผลิตเร็วเกินไป ซึ่งเป็นผลเสียต่อคุณภาพกาแฟ แม้โรบัสต้าจะทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะตั้งแต่ปี 2022-2024 กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าเวียดนามจะเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญ อันเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตพืชผล

นอกจากนี้ รายงาน A Brewing Storm: The Climate Change Risks to Coffee ของ The Climate Institute ปี 2018 ยังระบุอีกว่า อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้นได้เพิ่มอัตราการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพของกาแฟ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ใช่แค่ปัญหาของคุณภาพหรือผลผลิตกาแฟ แต่ยังนับรวมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ผลิต คนงาน และชุมชนด้วย

อนาคตจึงมีแนวโน้มว่าเครื่องดื่มที่เราดื่มกันทุกวันเป็นกิจวัตรนี้ นอกจากจะหาดื่มได้ยากแล้วก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วย ยิ่งในวันที่การบริโภคกาแฟมีมากกว่าผลผลิตที่ทำได้ ก็ยิ่งชวนให้กังวลถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ปัญหา climate change จึงไม่เพียงส่งผลต่อน้ำแข็งขั้วโลก ไฟป่า หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่มันกำลังส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ทั่วโลก 

ที่ผ่านมาอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกที่ปลูกกาแฟสูงขึ้น และมันส่งต่อผลผลิตกาแฟยังไง ขอชวนไปย้อนไทม์ไลน์ดูผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการปลูกกาแฟของเกษตรกรในแต่ละปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 1960 

  • ระหว่างปี 1960-2006 ที่เอธิโอเปียมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส – เม็กซิโก กัวเตมาลา และฮอนดูรัส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และตั้งแต่ปี 1980 ปริมาณน้ำฝนก็เปลี่ยนแปลง โดยลดลงถึงร้อยละ 15%
  • เริ่มตั้งแต่กลางปี 1990 ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของกาแฟของเกษตรกรนิการากัวเช่นกัน 
  • ปี 1960-2011 ประเทศแทนซาเนียมีผลผลิตลดลงประมาณ 137 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ ทุกๆ 1 องศาที่เพิ่มขึ้น 
  • ปี 2001 เป็นต้นมา อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสยังกระตุ้นให้เกิดการระบาดของวัชพืชอย่างมอด (Hypothenemus hampei) ที่มาเจาะเมล็ดกาแฟจนเสียหาย 
  • ปี 2012 หลังจากมีอุณหภูมิสูงผิดปกติและปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ก็สูงขึ้น ทำให้ที่อเมริกากลางเผชิญกับโรคราสนิมของกาแฟ (Coffee Leaf Rust) ส่งผลให้พืชผลสูญเสียไปกว่า 50% คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแรงงานถูกเลิกจ้างอีกกว่า 350,000 คน นอกจากนั้น ในกัวเตมาลา เกษตรกรบางรายก็ได้สูญเสียพืชผลด้วยปัญหาเดียวกันถึง 85%
  • ปี 2021 บราซิลเคยเจอกับภัยแล้งและน้ำค้างลงจนปลูกกาแฟไม่ได้ และทำให้ปีนั้นไม่ได้ผลผลิตเลย 

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังคงจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคต และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่ของนิการากัว จะสูญหายไปภายในปี 2050 และภายในปี 2060 ผลิตผลของอาราบิก้าที่ปลูกที่แทนซาเนียก็จะได้น้อยลง หรือเรียกได้ว่าตกต่ำจนถึงขั้นวิกฤต

หากไม่ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับปัญหา climate change พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาจลดลงครึ่งหนึ่งภายในไม่กี่ทศวรรษ และภายในปี 2080 กาแฟป่าที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรม (genetic resource) ที่สำคัญสำหรับเกษตรกรอาจจะสูญพันธุ์ในที่สุด

แม้จะมีคำเตือนออกมาให้ได้เห็นกันอยู่เนืองๆ และมนุษยชาติต่างก็แก้บ้างไม่แก้บ้าง แต่จนถึงตอนนี้ปัญหาสภาพภูมิอากาศก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น เราจะเจอกับวิกฤตทางอาหาร ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน และบางวันก็ต้องทนร้อนระอุ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด หรือ global boiling เช่นนี้ อาจตอกย้ำแล้วว่าเราคงจะกลับไปสู่จุดเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ยุคโลกเดือดจึงไม่ใช่ยุคที่เราต้องปรับตัวกันอีกต่อไปแล้ว แต่คือยุคที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาความร้อนที่ค่อยๆ ระอุขึ้น ไม่เช่นนั้นมันอาจจะระเบิดได้ในท้ายที่สุด

อ้างอิง

You Might Also Like