เจป๊อป

WegoVegan ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารเจออนไลน์ ที่ขายดิบขายดีแม้ในวันที่ไม่มีเทศกาลกินเจ

โปรตีนเกษตร หมี่กึง เต้าหู้ เห็ดหอม

แม้แต่แฟนพันธ์ุแท้พะโล้หมี่กึงและโปรตีนเกษตรผัดพริกขิงก็ต้องยอมรับว่าอาหารในช่วงเทศกาลกินเจนั้นจำเจจริงๆ ยังไม่นับหมูปลอม ไก่ปลอม เนื้อสัตว์ปลอมที่สุดท้ายแล้วก็ทำจากแป้งทั้งสิ้น

กระทั่งวันที่เราค้นพบร้าน WegoVegan โลกแห่งอาหารเจก็สว่างไสวทันที

WegoVegan เป็นร้านขายวัตถุดิบอาหารเจออนไลน์ที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ’ น่าจะเหมาะกว่า ด้วยปริมาณสินค้ามากกว่า 200 ชนิดจากแบรนด์ไทยและต่างประเทศ และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านปริมาณและประเภทสินค้าที่วางขาย

wegovegan

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราจะแทบไม่เห็นร้านที่ขายวัตถุดิบอาหารเจอย่างครบครันแบบนี้ในเมืองไทย ร้านที่พอมีก็กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ นักกินเจจึงไม่มีทางเลือกกินมากนัก

ในบรรดานักกินเจเหล่านั้นมี ยีนส์–นนทกา และ นิว–นพรัตน์ ทัศนวิรุฬห์ สองโปรแกรมเมอร์รวมอยู่ด้วย

เพียง 5 ปี จากนักกินเจมือสมัครเล่น พวกเขากลายมาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายวัตถุดิบเจเจ้าใหญ่ที่แม้หนึ่งปีจะมีเทศกาลกินเจเพียงหนึ่งครั้ง และแม้ยอดขายช่วงเทศกาลกินเจจะสูงกว่าช่วงเวลาอื่นของปีถึง 4-5 เท่า พวกเขาก็เอาตัวรอดได้ 

และทำได้ดีกระทั่งลูกค้ายอมไม่ไปซื้อสินค้าที่ร้านอื่น แต่ขอให้พวกเขาเอาสินค้าที่อยากได้เข้ามาขายแทน

หากถามว่าทำได้ยังไง ยีนส์และนิวขอตอบด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้ที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการทดลองระหว่างทาง

เจแล้วไปไหน?

“เราแอนตี้เจมาตั้งแต่เด็ก อาม่าบังคับกินเจทุกปีก็กินได้ไม่เคยถึง 10 วัน เลิกเรียนก่อนจะกลับบ้านก็ไปกินอาหารข้างโรงเรียนจนมารู้เหตุผลของการกินเจซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต” นิวย้อนเล่าให้ฟัง

“ตอนนั้นเราไปปฏิบัติธรรมสองวันแต่มีธรรมะแค่หัวข้อเดียวที่จำได้คือเรื่องการกินเจ ตอนจบเขาให้ดูวิดีโอฆ่าสัตว์แล้วเราน้ำตาไหล รู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยน ต้องทำอะไรสักอย่าง”

เมื่อเริ่มกินเจ เริ่มศึกษา ทั้งคู่ก็พบข้อดีอื่นๆ ของการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างการลดบริโภคยาปฏิชีวนะ และลดการทำปศุสัตว์ซึ่งมีแนวคิดว่าก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

และเมื่ออินมาก ก็อยากชวนให้คนจำนวนมากได้มากินเจไปด้วยกัน

wegovegan

“เราอยากส่งเสริมให้คนอื่นได้กิน ได้ลดละเนื้อสัตว์เหมือนเราก็เลยเปิดช่องยูทูบขึ้นมาสอนทำอาหารเจแบบง่ายๆ แล้วก็เปิดเพจเฟซบุ๊กเพราะเราไม่ได้แค่อยากส่งเสริมให้คนทำอาหารเจเป็นเท่านั้น แต่ยังรับปรึกษาเรื่องไลฟ์สไตล์การกินเจด้วย” ยีนส์ช่วยเล่า

“เรื่องที่เขามาปรึกษาก็เช่น จะเริ่มต้นกินเจยังไง ภรรยากินเจแต่สามีไม่กินจะทำยังไง หรือมีครั้งนึงคุณหมอทักมาถามว่า ‘ผมอยากจะออกกำลังกายให้มีกล้าม จะกินเจให้ได้โปรตีนยังไง’ เราก็เลยรู้สึกว่าฉันมีความรู้เรื่องวิธีทำอาหารอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องศึกษาเรื่องโภชนาการด้วยเพื่อตอบคำถามลูกเพจของเรา”

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่ใช่คำถามที่เจอบ่อยเท่าคำถามง่ายๆ ว่า “วัตถุดิบเจซื้อที่ไหน”

“เมื่ออาหารเจหาทานยาก แล้วลูกเพจก็มาถาม เราเลยคิดว่าหรือเอามาขายเองดีไหม” ยีนส์เล่า

wegovegan

“ส่วนใหญ่วัตถุดิบเจจะขายในกรุงเทพฯ ไม่ก็ในหัวเมืองใหญ่ๆ ในอำเภอเมือง เช่น โคราช หรืออำเภอเมืองสระบุรี อย่างเราอยู่มวกเหล็ก เอาแค่ให้มีร้านอาหารเจยังยากเลย ฉะนั้นตอนเรากินเจแรกๆ เข้ากรุงเทพฯ ไปแล้วเจอร้านเจนี่ดีใจมาก”

“เท่าที่จำได้ร้านออนไลน์ตอนนั้นมีร้านเดียว เราเห็นโอกาสตรงนี้แหละว่าถ้าจะเปิดร้านเราก็ต้องขายออนไลน์” นิวสรุป

สำหรับพวกเขาการเปิดร้านออนไลน์มีข้อดีหลายอย่าง หนึ่ง คือสามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้ สอง คือเป็นตลาดที่ยังมีคู่แข่งน้อย และสาม คือสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ตอบโจทย์การสร้างคอมมิวนิตี้คนกินเจให้แข็งแรง

จากที่เริ่มด้วยโปรตีนเกษตรยี่ห้อเดียว ลูกเพจก็เรียกร้องให้นำสินค้าอื่นเข้ามาขายเรื่อยๆ จนพวกเขาสามารถลาออกจากงานประจำมาตั้งใจทำร้านเป็นอาชีพหลักได้ในที่สุด

ซูเปอร์เจ

ยีนส์และนิวเริ่มต้นขายวัตถุดิบจากคำเรียกร้องของลูกเพจ และขยายไลน์สินค้าในร้านด้วยการฟังความเห็นของลูกเพจเช่นกัน

มากคนก็มากความต้องการ เราจึงได้เห็นสินค้าละลานตาแม้แต่สินค้าในหมวดเดียวกัน เช่น เนื้อสัตว์เจ ลูกชิ้น หรือน้ำจิ้มสุกี้ ก็มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อไม่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

“เราไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก” นิวตอบทันทีที่เราถามว่าตั้งใจทำร้านให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเปล่า “ลูกค้าถามมาทีละอย่าง ตอนแรกเราขายโปรตีนเกษตรอยู่แบบเดียว เขาก็ถามว่ามีแบบนี้ไหม เราก็ไปเอามาให้ มีคนมาถามอีก เราก็ไปเอามาเพิ่มอีกจนมี 3-4 แบบ”

“อย่างน้ำจิ้มสุกี้เราก็ขายอยู่ 4-5 แบรนด์” ยีนส์ขยายความ “เมื่อก่อนเราคิดว่าจะขายยี่ห้อที่เราชอบ อันที่เราว่าอร่อย แต่ตอนนี้ไม่ เอามาขายเลย 5 แบรนด์ อย่างปลาร้าเจก็มี 5-6 แบบ ถ้าเป็นสายเฮลตี้ ไม่ใส่ผงชูรสคุณก็ต้องซื้อยี่ห้อนี้ ถ้าอยากได้แรงๆ ต้องยี่ห้อนี้นะ เพราะรสชาติมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ลูกค้าแต่ละคนก็มีความชอบไม่เหมือนกัน

“บางทีถามมารอบนึงเราก็ยังไม่เอามาขายนะ เขาก็ทักมาอีก คุณยีนส์ ขอร้องเถอะ วัตถุดิบเจมันหาซื้อยากจะได้ซื้อร้านคุณยีนส์ที่เดียวแล้วจบ จ่ายค่าส่งทีเดียว (หัวเราะ)”

กับบางธุรกิจ การฟังเสียงลูกค้ามากเกินไปอาจทำให้แบรนด์ไม่มีจุดยืน แต่ยีนส์บอกว่ากับ WegoVegan การฟังลูกค้าคือจุดแข็งเพราะพวกเขาได้เห็นความต้องการจริงของตลาด ไม่ต้องเล่นเกมทายใจว่าลูกค้าจะชอบสิ่งที่พวกเขาเอามาขายหรือเปล่า

“บางทีของที่เขาขอมาก็ขายดีมาก อย่างตอนแรกเราไม่ขายของสดพวกเนื้อสัตว์เจเลยเพราะเราไม่ชอบกิน ลูกค้าเป็นคนขอเข้ามา สุดท้ายเราก็เลยเอาอาหารสดแช่แข็งมาขายซึ่งตอนนี้เป็นของที่ขายดีที่สุด

“ตอนนี้อาหารแช่แข็งเราขายทั้งของเจ้าใหญ่ เช่น โยตา เทียนเซียน สตาร์ฟู้ดส์ ที่เป็นแบรนด์ไทย มีแบรนด์นำเข้ามาจากมาเลเซียและไต้หวันที่เขากินเจกันมานาน เป็นเจที่อร่อยด้วยนะ ยิ่งปัจจุบันที่กระแสวีแกนมาแรงมากก็จะมีผลิตภัณฑ์ plant-based เกิดขึ้นเยอะ เช่น แบรนด์ OmniMeat หรือ Meat Zero เราก็พยายามขายทุกแบรนด์ให้ลูกค้าเลือกเองได้ว่าจะกินอะไร”

ยีนส์เล่าต่อว่าจากที่จะไม่ขาย ตอนนี้อาหารสดได้กินพื้นที่ไปถึง 8 ตู้แช่แล้วจนพวกเขาเริ่มคิดว่าในอนาคตอาจจะต้องทำห้องเย็นเพื่อรองรับความต้องการนี้

wegovegan
wegovegan

นอกจากจำนวนสินค้าที่เยอะขึ้นจะตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายขึ้น การวางตัวเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจยังมีข้อดีคือช่วยลดเวลาช้อปปิ้งให้ลูกค้าได้ จากที่สมัยก่อนเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตนักกินเจจะต้องกวาดสายตามองหาสัญลักษณ์ธงเหลือง ไม่ก็อ่านฉลากอย่างเอาเป็นเอาตาย เมื่อเข้ามาที่ WegoVegan พวกเขาก็เลือกลงตะกร้าแล้วเช็กเอาต์ได้เลย

“ทุกอย่างเราการันตีเลยว่าคัดสรรมาแล้วเพราะอาหารเจปลอมก็มี ฉะนั้นอะไรก็ตามที่หาแหล่งผลิตไม่ได้ ไม่มี อ.ย. เราจะไม่เอามาขาย” ยีนส์บอก

และเพื่อให้ร้านอยู่ได้อย่างมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป ช่วงหลังพวกเขาจึงเพิ่มสินค้าที่คนกินเจก็กินได้ ไม่กินเจก็กินได้เข้ามาด้วย เช่น สาหร่ายทอดกรอบหรือนมจากธัญพืช เมื่อคนเสิร์ชหาสินค้าเหล่านั้นในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะได้มีโอกาสเจอร้านของยีนส์และนิวไปด้วย แถมยังขายได้ทั้งปี ไม่ต้องอิงเทศกาล

ยังไม่นับว่านอกจากอาหารการกิน ยังมีผลิตภัณฑ์วีแกนอื่นๆ อีกมากที่เป็นที่ต้องการ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทดลองกับสัตว์ที่พวกเขาวางแผนว่าจะนำเข้ามาขายเพิ่มในอนาคต

แต่แน่นอนว่าไม่ว่าจะเติบโตไปยังไง หัวใจของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งเดียวกับที่ทำให้พวกเขาตั้งช่องยูทูบ เพจ และร้านขึ้นมา นั่นคือการส่งเสริมให้คนใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนสัตว์ได้ง่ายขึ้นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของประเทศก็ตาม

wegovegan

เปิดรับความหลากหลายทางการ (ไม่) กิน

อาจเพราะหนึ่งปีมีเทศกาลกินเจแค่ครั้งเดียว สำหรับ WegoVegan ยอดขายอาหารเจในช่วงเทศกาลจึงพุ่งสูงกว่าช่วงปกติถึง 4-5 เท่า จากฝีมือของนักกินเจมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่อยากละเว้นเนื้อสัตว์สัก 10 วัน

แต่พ้นจากช่วงเทศกาลไปแล้ว สองผู้ก่อตั้งร้านวัตถุดิบอาหารเจบอกว่าจำนวนคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ในไทยนั้นมีไม่น้อย เป็นกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งอายุและอาชีพ และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีลูกค้าประจำแวะเวียนมาซื้อสินค้าไม่ได้ขาด

wegovegan

“เราคิดว่าคนกินเจเยอะขึ้นนะ ยิ่งช่วงหลังๆ นี้มีการกินประเภทใหม่ๆ เยอะมาก เช่น flexitarian คือการกินแบบยืดหยุ่น กินหมูบ้าง ไก่บ้าง กินเจบ้างเป็นบางวัน บางคนบอกว่ากินเจแต่ก็ยังกินไข่บ้าง บางคนกินเจแต่ว่าก็ยังกินกระเทียม

“จำนวนร้านอาหารเจออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น ยอดขายของเราเองก็ด้วย ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านเดือนนึงขายได้ออร์เดอร์นึงเราก็ดีใจแล้วนะ (หัวเราะ) หลังๆ สัปดาห์นึงเริ่มได้ 4-5 ออร์เดอร์ จนช่วงนี้คือเราต้องจ้างคนแพ็กแล้ว” นิวชี้ให้เราหันไปดูด้านหลังร้านที่บรรดาพนักงานกำลังแพ็กสินค้าลงกล่องอย่างขันแข็ง

ที่สำคัญ หากมองดูสเปกตรัมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เราจะพบว่าคนกินเจคือกลุ่มคนที่เคร่งครัดที่สุด คือไม่กินทั้งเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักฉุน รองลงมาคือวีแกนที่มีกฎเหมือนเจเพียงแต่กินผักฉุนได้ และที่เคร่งครัดน้อยที่สุดคือชาวมังสวิรัติที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผักฉุนได้อยู่

เพราะฉะนั้นการเลือกเปิดร้านวัตถุดิบอาหารเจที่เคร่งครัดเรื่องการกินที่สุดจึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้สามารถต้อนรับลูกค้ากลุ่มที่เคร่งครัดทางการกินน้อยกว่าได้อย่างสบายๆ

เจที่มองไม่เห็น

น้ำจิ้มลูกชิ้น น้ำจิ้มสุกี้ น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาหวาน และกิมจิ

อาหารเหล่านี้ที่เจอในร้าน WegoVegan ทำให้เราประหลาดใจ ไม่ใช่เพราะเป็นเมนูพิสดาร แต่เป็นเพราะเราไม่เคยฉุกคิดมาก่อนว่ามัน ‘ไม่เจ’

และนี่คือช่องว่างใหญ่ในตลาดที่พวกเขาบอกว่า “ผลิตยังไงก็ไม่พอ”

“อาหารหลายอย่างที่เราขาย คนจะสงสัยว่ามันไม่เจตรงไหน คือถ้าเป็นวีแกนหรือมังสวิรัติเขาจะกินพวกหอม กระเทียม ผักฉุนได้ แต่เจกินไม่ได้ ดังนั้นก็จะกินน้ำพริกที่ใส่กระเทียม หรืออาหารที่ใส่น้ำปลา น้ำมันหอยไม่ได้เลย” นิวเฉลยถึงส่วนผสมที่มองไม่เห็น

นี่แหละคือส่วนผสมลับที่ทำให้ช่องยูทูบสอนทำอาหารเจของยีนส์และนิวไปได้ดีเพราะเมื่ออาหารเจหาซื้อยากนัก อยากกินอะไรก็ต้องหัดทำเอง

ความหากินยากยังเป็นช่องว่างที่ทำให้ยีนส์ได้ไอเดียแตก house brand ผลิตภัณฑ์เจของตัวเอง เริ่มจากน้ำจิ้มเจที่ลองผลิตแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

wegovegan

“ช่วงโควิด พัสดุต่างๆ มันไปค้างอยู่ตามศูนย์กระจายสินค้าทำให้เราขายของสดที่ต้องแช่แข็งไม่ได้ เราเลยลองเสิร์ชหาสินค้าของกลุ่มการกินประเภทต่างๆ ว่าอะไรขายดี ก็ไปเจอร้านคีโต (การกินที่ลดบริโภคคาร์โบไฮเดรตและเน้นโปรตีนและไขมันดี) เขาขายน้ำจิ้มเป็น 20 แบบเลย เรารู้สึกว่า เฮ่ย แล้วทำไมกลุ่มคนกินเจถึงไม่มีน้ำจิ้มแบบนี้บ้าง เราต้องซัพพอร์ตคนกินเจ อยากกินเจต้องได้กิน เลยสร้างแบรนด์แม่ศรีเรือนขึ้น”

จุดเด่นของแบรนด์แม่ศรีเรือนคือเป็นน้ำจิ้มเจแท้ๆ ที่เหมือนน้ำจิ้มฉบับไม่เจมากที่สุด ยีนส์จึงต้องพัฒนาสูตรอยู่นาน และจริงจังถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่เหมือนของจริงทั้งรสชาติ เทกซ์เจอร์ และวิธีการกินก็จะยังไม่วางขายเด็ดขาด

“ตอนทำน้ำจิ้มข้าวมันไก่ เราคิดว่าอร่อยแล้วแต่นิวชิมแล้วก็บอกว่านี่มันราดไก่ไม่ได้” ยีนส์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “คือมันเค็มเกินไปก็เลยราดไก่ไม่ได้ พอราดไม่ได้ก็ไม่ใช่น้ำจิ้มข้าวมันไก่ เราก็รื้อสูตรทิ้งทำใหม่เลย ไม่อยากให้กินแล้วรู้สึกว่านี่สูตรเจ”

รู้ตัวอีกทีปัจจุบันแบรนด์แม่ศรีเรือนพัฒนาสูตรน้ำจิ้มเจมาแล้ว 6 ชนิดคือน้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ น้ำจิ้มไก่ ซอสกะเพรา น้ำจิ้มลูกชิ้นยืนกิน และน้ำปลาหวาน และมีน้ำพริกอีก 2 ชนิดคือน้ำพริกปลาทูและน้ำพริกหนุ่ม

wegovegan
wegovegan

มากกว่านั้น ยีนส์ยังเปิดแบรนด์กิมจิเจที่ใช้ผักออร์แกนิก และขายตั้งแต่กิมจิเจผักกาดขาว กิมจิหัวไชเท้า ไปจนถึงกิมจิบีตรูต ตอบโจทย์คนกินเจที่ดูซีรีส์เกาหลีแล้วอินแต่หาอาหารเจกินไม่ได้

ทั้งหมดนี้ ยีนส์บอกว่าพวกเขากำลังเตรียมตัวยื่นขอ อ.ย.เพื่อให้ขายได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

กว้างระดับที่ตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติได้เลย “เราคิดว่าน้ำจิ้มเจยังไปได้อีกไกล เช่น ตอนเริ่มทำน้ำปลาหวานเจ เราลงขายปุ๊บวันถัดไปก็มีคนซื้อเลย เราเชื่อว่ายังไงคนขายก็มีน้อยกว่าคนกินอยู่แล้ว ยิ่งคนผลิตยิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่ ถ้าเราเป็นผู้ผลิตได้มันน่าจะเวิร์กในอนาคต” ยีนส์เล่าถึงแผนการที่มองเอาไว้

“เรารีเสิร์ชตลาดน้ำจิ้มมาก็เห็นว่าน้ำจิ้มไทยแบรนด์ต่างๆ มันไปได้ไกล ขายดีถึงต่างประเทศ เช่น ไปปากีสถาน ไปอินเดีย ไปยุโรป แสดงว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ชอบแต่คนทั่วโลกก็ชอบเหมือนกันหมด และทั่วโลกก็มีคนไม่กินเนื้อสัตว์เยอะ น้ำจิ้มของเรามันตอบโจทย์ทั้งคนกินเจ กินมังสวิรัติ วีแกน และฮาลาลจึงน่าจะไปได้ดี”

wegovegan

We Go Online

WegoVegan ไม่เพียงขายออนไลน์อย่างเดียวแต่ยังมีหน้าร้านริมถนนมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก สระบุรี

ทั้งคู่เล่าว่าที่นี่เปิดโอกาสทางการขายได้มากเพราะแทบไม่มีคู่แข่ง แถมยังตั้งอยู่ริมถนนสายหลักที่คนที่จะเข้าภาคอีสานหรือเดินทางจากอีสานไปกรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านทั้งนั้น

ถึงอย่างนั้น ลูกค้าหลักของพวกเขาก็ยังมาจากออนไลน์อยู่ดี พวกเขาจึงต้องพัฒนาการขายออนไลน์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกๆ ด้าน เริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานอย่างการแพ็กสินค้าให้ดีและส่งไว ซึ่งลูกค้าชมกันทุกคน

เรื่องที่สอง คือการสื่อสารออนไลน์ให้ครบถ้วนเหมือนลูกค้าได้ไปยืนเลือกในซูเปอร์มาร์เก็ตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพสินค้าที่ชัดเจน ชี้แจงวัตถุดิบและรายละเอียดสินค้าอย่างละเอียด

เรื่องที่สามที่ตามมาคือการปรับภาพลักษณ์เจให้ร่วมสมัยและเป็นสากลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายในอินเทอร์เน็ต รวมถึงคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่เดี๋ยวนี้หันมางดเนื้อสัตว์เป็นบางวัน

“เราไม่อยากให้ร้านของเรามีภาพลักษณ์เดิมของการกินเจแต่อยากให้คนมองมันเป็นสากลมากขึ้นเลยใช้สีเขียวเป็นสีหลักแทนที่จะเป็นสีเหลือง-แดง มองแล้วไม่รู้สึกว่ามันเป็นอาหารเจตามเทศกาลเพราะหลายคนมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ

“คนมักจะมีภาพจำผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเจ เพราะอาหารที่เราเห็นตามเทศกาลกินเจมันมีแต่แป้ง แล้วก็แป้งชุบแป้งทอด (หัวเราะ) แม่ค้าบางคนขายอาหารเจปีละครั้งก็ทำไม่เป็นเลยไม่อร่อย นั่นคืออาหารเจที่ไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ แต่ถ้ามาดูในคอมมิวนิตี้คนกินเจที่รักสุขภาพ จริงๆ อาหารมันสุขภาพดีทั้งนั้น” นิวผู้รับผิดชอบเรื่องภาพในเพจเป็นหลักเล่าให้ฟัง

อีกสิ่งสำคัญสำหรับการขายออนไลน์ที่ยีนส์และนิวย้ำอยู่ตลอดบทสนทนาคือเรื่อง ‘การบริการ’ ซึ่งพวกเขาทำด้วยใจ และยังส่งต่อแนวคิดนี้ให้ทุกคนในร้าน

“เราคุยกับพนักงานตลอดว่าเวลาลูกค้าเข้ามาซื้อเราจะต้องบริการเหมือนเขามาซื้อบ้านซื้อรถเลยนะ ซัพพอร์ตเขา ดูแลเขาเพราะว่าคนที่เขากินเจเขากินตลอดชีวิต ถ้าเขาประทับใจแล้วเขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำ

“อีกอย่างคือในโลกออนไลน์คนซื้อเขาไม่เห็นสินค้าของจริง การที่เขาจะซื้อของสักอย่างต้องอาศัยความเชื่อใจและรีวิว ฉะนั้นถ้าเราบริการลูกค้าไม่ดี รีวิวที่เราได้รับก็ไม่ดี แต่ถ้าเราบริการด้วยใจ ลูกค้าบางคนเขาได้ของที่แตกแล้วเราเคลมให้เขายังมารีวิวให้เราดี ให้ห้าดาว พอคนอื่นมาอ่านเขาก็กล้าซื้อของเราเหมือนกัน”

ย้อนกลับไปที่คอมมิวนิตี้คนกินเจที่พวกเขาสร้าง ในวันที่ธุรกิจร้านขายวัตถุดิบดำเนินมาหลายปีพวกเขาพบว่าคอมมิวนิตี้นี้แหละที่ช่วยให้ร้านไปได้ดี เพราะมันสร้างความน่าเชื่อถือว่าพวกเขาเป็นผู้รู้จริงเรื่องอาหารเจ แถมลูกเพจหลายคนก็ยังเปลี่ยนสถานะเป็นลูกค้าประจำที่จะไม่เปลี่ยนใจจากแบรนด์ของยีนส์และนิวที่พวกเขาผูกพัน

เป็นการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้คุ้มค่าที่สุด ตอบโจทย์ที่สุดจนลูกค้าไม่อยากหนีไปไหนอีกเลย

“ช่องที่มีมันสร้างความน่าเชื่อถือให้เรา เขาเห็นเราบ่อยเขาก็คุ้นเคย คุ้นหน้าเรา” นิวว่า ก่อนยีนส์จะเสริมเรื่องลูกค้าที่สัมพันธ์กันมานาน

“มีลูกค้าคนนึงเขารักเรามาก เขาก็เอาสูตรเด็ดที่เขาทำขายมาให้เราทำลงในช่องเลย หรือลูกค้าอีกคนนึงเขาเปิดร้านกาแฟเจ ขายขนมเจที่ชลบุรี ก็บอกว่าได้ไอเดียมาจากช่องของเรา ปัจจุบันเขาก็ยังซื้อนมเจ ซื้อวัตถุดิบจากเราอยู่ กลายเป็นเพื่อนกัน อุดหนุนกัน ส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน กลายเป็นว่าร้านของเขาเป็นฐานลูกค้าของเราโดยไม่รู้ตัว

“เราพยายามแก้โจทย์เรื่องอาหารเจหากินยาก ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนถ้าอยากกินเจเราส่งให้หมด ถ้าคุณทำไม่เป็นเราจะสอน คุณมีปัญหาเรื่องการกินเจเราก็รับให้คำปรึกษา” ยีนส์ทิ้งท้าย ก่อนจะเตรียมตัวลงมือทำผัดกะเพราเจ ลูกชิ้นปิ้งเจ ตบท้ายด้วยมะม่วงน้ำปลาหวานให้เราที่นั่งฟังเรื่องอาหารเจจนหิวได้ชิม

ฟัง (และกิน) มาขนาดนี้แล้ว คราวหน้าที่อยากกินเจขึ้นมา ไม่ว่าจะในหรือนอกเทศกาลเราก็พอได้คำตอบแล้วว่าต้องเริ่มต้นที่ไหนดี

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like