Wong Kar-Vibes

‘OFTR BAR’ ธุรกิจพรีเมียมบาร์ที่เป็นส่วนผสมของหนังบาส นัฐวุฒิ และรสนิยมของหว่อง การ์-ไว

ในชีวิตคนดูหนังทุกคน ต้องมีสักครั้งแหละที่อินกับหนังมากจนอยากเข้าไปอยู่ในหนัง

ลำพังแค่ดูและฟังจากหน้าจอมันพอซะที่ไหน อย่างเราเอง ตอนดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ชอบนึกฟุ้งฝันว่าถ้าได้นั่งรถไฟสายเวสต์ไฮแลนด์ระหว่างชมวิวข้างทางจะเป็นยังไง หรือตอนดู Lost in Translation ก็อยากพาตัวเองไปเจอบรรยากาศหนาวๆ เหงาๆ ที่โตเกียวบ้างจัง

หลายครั้งที่ดูหนังเรื่องไหนแล้วชอบ เราก็อยากพาตัวเองไปเจอประสบการณ์นั้น และอาจเป็นโชคดีของเราที่ One for the Road หนังโปรดเรื่องล่าสุดสานฝันเราให้เป็นจริง!

เรื่องมันเริ่มมาจาก บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ บินไปถ่าย One for the Road ที่บาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ก่อนจะบินกลับมาพักกองที่ไทยเพราะต้องรอฤดูกาลเปลี่ยนผ่านถึงจะบินกลับไปถ่ายใหม่อีกครั้ง แต่โควิดเจ้ากรรมดันระบาดไปทั่วโลกเสียก่อน บาสจึงต้องเช่าตึกแถวในกรุงเทพฯ และเซตบาร์เหมือนที่นิวยอร์กขึ้นใหม่ แต่พอคำนวณค่าโปรดักชั่นดู เจอตัวเลขที่พุ่งสูงจนน่าตกใจ บาสจึงรวบรวมความกล้า ต่อสายไปหา หว่อง การ์-ไว ผู้เป็นโปรดิวเซอร์และคนออกทุน พร้อมถามว่า “ยูสนใจจะเซตบาร์นี้ขึ้นมาจริงๆ เพื่อ make money กันไหม” โดยคาดหวังคำตอบแบบ 50-50 ปรากฏว่าหว่องตอบว่าได้

รู้ตัวอีกที บาร์ในนาม OFTR BAR (แน่นอนว่าย่อมาจาก One for the Road) ก็ตั้งตระหง่านในชั้นล่างสุดของตึก 4 ชั้นย่านสุขุมวิท 31 โดยมีชั้นบนเป็นคาเฟ่ ร้านขายโปสเตอร์ และออฟฟิศของบาสเอง

ความยิ่งใหญ่คือบาร์แห่งนี้นับเป็นบาร์แรกที่หว่อง การ์-ไว เป็นเจ้าของร่วม เสิร์ฟทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่ผสมผสานความคิดและรสนิยมของสองผู้กำกับไว้ด้วยกัน คอลัมน์ Entretainment คราวนี้จึงไม่พลาดที่จะนัดคุยกับบาสถึงเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสรรค์บาร์แห่งนี้

One for the Road full-on experience

สำหรับหลายคน การเปิดบาร์กับการทำหนังดูเป็นงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กับบาส–เขาบอกว่ามันเหมือนกัน

บาสได้เรียนรู้ความผิดพลาดจาก Countdown จนไม่นำมาใช้ใน ฉลาดเกมส์โกง และเก็บสกิลตอน ฉลาดเกมส์โกง มาใช้ใน One for the Road ยังไง OFTR BAR ก็เป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือบาร์ที่สองของเขาและผองเพื่อนผู้ร่วมลงขันหลังจากเปิด Mutual Bar ด้วยกันที่ซอยสุขุมวิท 24

อะไรเวิร์กและไม่เวิร์กที่นั่น เขาเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับที่นี่ บาสบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ OFTR BAR กับ Mutual Bar มีเหมือนกันแน่ๆ คือโจทย์ในการทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีที่สุด

“เราทำร้านเหมือนเราทำหนัง มันคือการสร้างโลกโลกหนึ่งขึ้นมา เป็นการดีไซน์ประสบการณ์ให้ผู้ชมและลูกค้า ถ้าเขามาใช้เวลากับเรา 2 ชั่วโมง เขาควรจะต้องรู้สึกแบบไหน

“ในฐานะที่เป็นพาร์ตเนอร์สายดูภาพรวมและดีไซน์ประสบการณ์ เราใส่ใจกับความรู้สึกของคนที่ร้านตั้งแต่เขาเปิดประตูเข้ามา เขารู้สึกยังไง ได้กลิ่นแบบไหน พอนั่งลงแล้วเบาะมันนิ่มตูดขนาดไหน อะไรพวกนี้ เราจะเรียนรู้และสอบถามสิ่งนี้จาก Mutual Bar แล้วนำมาปรับใช้กับ OFTR BAR ได้ระดับหนึ่ง แต่มันก็ต่างกันด้วยความแตกต่างของพื้นที่และคาแร็กเตอร์บางอย่างของร้าน”

ย้อนกลับไปช่วงสมัยก่อตั้ง Mutual Bar บาสมีโจทย์ตั้งต้นคืออยากทำบาร์ค็อกเทลที่บรรยากาศดี รีแลกซ์ ให้ทุกคนเข้ามาสังสรรค์กันได้อย่างไม่เขิน ไม่เกร็งเหมือนตอนอยู่กับเพื่อนที่คุยกันถูกคอ ในขณะที่ OFTR BAR จะต่างออกไป ทั้งคาแร็กเตอร์ของร้านที่โตกว่า บวกกับการเป็นบาร์ที่ต่อยอดมาจากหนัง แถมได้ผู้กำกับคนสำคัญอย่างหว่อง การ์-ไว มาเป็นพาร์ตเนอร์อีกคน ทุกอย่างในร้านจึงเป็นส่วนผสมของแรงบันดาลใจจากหนังหว่องและ One for the Road อย่างละครึ่ง

“แต่สุดท้ายแล้วเรายังอยากคีพความรีแลกซ์อยู่นะ อาจจะไม่ได้เฮฮาปาร์ตี้เท่า Mutual Bar แต่เรายังอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมคุย รับฟัง และแชร์เรื่องราวกับลูกค้าทุกคน” 

Wong Kar-Wai’s easter eggs bar

แค่ได้ยินว่าบาร์แรกของหว่อง การ์-ไว มาเปิดที่ไทย คอหนังและคอดื่มร้อยทั้งร้อยก็น่าจะร้องว้าว แต่กับเจ้าของร่วมอย่างบาส เขายอมรับว่ามากกว่าความรู้สึกเท่คือความหนักใจ

“คำนี้มันกดดันมากเลยว่ะ สำหรับเรา ถ้าคนพูดว่าอยากไปนั่งบาร์เหงาๆ หว่องๆ ไป OFTR BAR กันไหม เราก็อยากให้เขารู้สึกว่าเออ นี่แหละ ที่นี่มันคือออฟฟิเชียลจริงๆ หว่อง การ์-ไว เป็นเจ้าของร่วมจริงๆ แล้วเราจะผสมความเป็นเราและความเป็นพี่เขา (หว่อง) ยังไงให้ได้ในระดับที่ไม่มีใครผิดหวัง”

บาสเล่าว่ากว่าจะมาเป็นร้าน OFTR BAR ในตอนนี้ มันผ่านการคิด แก้ไข ดัดแปลงการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้านอยู่หลายครั้ง ที่เซอร์ไพรส์กว่านั้นคือเขากับพาร์ตเนอร์ทำกันเองด้วย “จริงๆ ไม่ได้อะไรนะ อยากทำเพราะอยากประหยัดเงิน” ผู้กำกับหนุ่มหัวเราะ

สไตล์ของ OFTR BAR อ้างอิงมาจากบาร์โลคอลที่ขายเหล้าแรงๆ ในราคาถูก (dive bar) อย่างที่เราเห็นใน One for the Road ในขณะเดียวกัน การตกแต่งภายในก็ยกระดับให้บาร์ด้วยเรียกจิตวิญญาณของ ‘หนังหว่อง’ มาประทับในรายละเอียด ทั้งแสงไฟ เครื่องดื่ม และองค์ประกอบบางอย่างจากหนังในตำนานหลายเรื่องของเขา

first impression แรกเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณหน้าร้านที่มีป้ายไฟนีออนคำว่า ‘OFTR BEER COCKTAILS LIVE MUSIC’ สีเขียวแดงขนาดใหญ่แขวนอยู่ ซึ่งบาสดึงคาแร็กเตอร์มาจากป้ายนีออนที่เราเห็นได้ในท้องถนนที่ฮ่องกง ส่วนสีเขียวแดงก็เป็นโทนสีสำคัญในหนังของหว่อง การ์-ไว

เมื่อก้าวเข้ามาด้านใน OFTR BAR เต็มไปด้วย easter egg ในหนังให้แฟนๆ ได้สนุกสนานกับการสังเกต ไม่ว่าจะเป็นตู้ปลา เครื่องบิน หรือ ‘เสาแห่งกาลเวลา’ ที่ตั้งเด่นหราอยู่กลางร้าน

“ปกติแล้วจะเปิดบาร์ห้ามมีนาฬิกา เพราะเราไม่อยากให้ลูกค้าพะวงกับเวลาว่ากี่โมงแล้ว แต่พอบาร์นี้เป็นข้อยกเว้น เรารู้ว่าเวลาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในหนังของหว่อง เราก็เลยมีเสาหนึ่งต้นที่แม่งมีนาฬิกาแขวนอยู่ 6 เรือน ซึ่งนาฬิกากว่าครึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนาฬิกาที่ปรากฏอยู่ในหนังของเขา”

Ex’s Drinks and more

นอกจากสถานที่และบรรยากาศ OFTR BAR ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเครื่องดื่มไม่แพ้ที่ไหน งานนี้บาสได้หนึ่ง–รณภร คณิวิชาภรณ์ บาร์เทนเดอร์เจ้าของรางวัลแชมป์ประเทศไทยจากเวที World Class Thailand และชาช่า-สุวิญชา สิงห์สุวรรณ เจ้าของร้าน Rabbit Hole มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการคิดค้นสูตรของเครื่องดื่มแต่ละตัวตั้งแต่ตอนถ่ายทำ

อย่างที่หลายคนรู้ว่า OFTR BAR เสิร์ฟเครื่องดื่มที่ปรากฏใน One for the Road ซึ่งล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากแฟนเก่าของอู๊ด (ตัวละครของไอซ์ซึ ณัฐรัตน์) ไม่ว่าจะเป็น Alice’s Dance, Noona’s Tear, After The Rain หรือ New York Sour in the New York City ซึ่งล้วนมีรสชาติและหน้าตาคล้ายในหนัง

แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือบาร์ยังมีอีกหลายเมนูที่ไม่มีในหนัง แต่ครีเอตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสดุดีให้กับตัวละครหลักของ One for the Road “อย่าง Wrong Island Iced Tea เป็นเครื่องดื่มที่อินสไปร์มาจากตัวบอส (ตัวละครของต่อ ธนภพ) ซึ่งเราตีความว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เราก็ทวิสต์สูตรมาจาก Long Island Iced Tea ที่ปกติก็ถือว่าเป็นดริงก์ที่แรงอยู่แล้วเพราะใส่เหล้า 5 ตัว เรามีการเปลี่ยนตัวเหล้าในสูตรและเสิร์ฟมาในเชกเกอร์เพื่อแสดงความเป็นบาร์เทนเดอร์ของไอ้บอสเอง

“ส่วนของอู๊ด เราครีเอตเมนูที่เรียกว่า Basement Michelada จริงๆ Michelada เป็นสูตรของชาวเม็กซิกัน มันคือเมนูที่เอาเบียร์มาใส่กับซอสพริกทาบาสโก้อะไรอย่างนี้ เราก็ทวิสต์สูตรให้ใส่กับซอสพริกศรีราชา แล้วใส่พริกเกลือแทนเกลือ เพราะเราอยากใส่ความแซ่บแบบคนไทยในต่างแดนลงไป”

หรือถ้าใครคาดหวังจะมา ‘กระทำความหว่อง’ แบบเต็มสตรีมที่นี่ แก้วที่คุณห้ามพลาดเลยคือ WKW (เดาออกใช่ไหมว่าย่อมาจากอะไร) เมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Negroni เครื่องดื่มในใจของหว่อง การ์-ไว ไฮไลต์ของแก้วนี้คือการใช้เหล้าคัมพารีรากไม้สีแดงเป็นส่วนผสมหลัก แล้วใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปทำให้ความเป็นหว่องนั้นชัดเจนขึ้น

“ขออนุญาตไม่บอกว่ามีอะไรบ้าง อยากให้มาชิมกันเอง” บาสหัวเราะเชื้อเชิญ

Action and never cut

คงไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าชีวิตของบาสผูกโยงกับบาร์มานาน เขาตกหลุมรักประสบการณ์การไปบาร์ตั้งแต่ตอนที่ได้ไปใช้ชีวิตในนิวยอร์ก ได้เปิดบาร์ของตัวเองที่เมืองไทย ได้ทำหนังเกี่ยวกับชีวิตของคนในบาร์อย่าง One for the Road หรือแม้กระทั่งช่วงที่เขียนบทเรื่องนี้แล้วโดนหว่อง การ์-ไวโละไอเดียแรกทิ้ง เขาก็เข้าไปดื่มอยู่สามวันสามคืนจนปิ๊งไอเดียใหม่–ในบาร์

“พอได้ทำบาร์ที่ต่อยอดมาจากหนังแบบนี้ แล้วในทางกลับกัน การทำบาร์ส่งผลต่อการทำหนังของคุณบ้างไหม” เราอดสงสัยไม่ได้

“อาจจะไม่ส่งผล หรืออาจจะส่งผลตั้งนานแล้ว” บาสตอบตามตรง “ไม่ว่าจะตัวบาร์หรือเครื่องดื่ม สำหรับผมมันเทียบเท่ากับการทำหนัง มันคืออาร์ตไดเรกชั่น มันคือวิชวล มันคือกลิ่น มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้โลกใบนี้มันชัดเจนที่สุดในความทรงจำของคน ไม่ว่าจะหนังหรือบาร์มันใช้วิธีคิดเหมือนกัน

“สำหรับผม สิ่งที่ส่งผลจริงๆ คือเรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนมากกว่า ก่อนหน้านี้ผมว่าผมเป็นอินโทรเวิร์ตนะ หมายถึงเราไปทำงาน ก็พูดคุยได้ในที่ทำงาน พอกลับถึงบ้านก็อยู่กับแฟน หรือไปดูหนังคนเดียวอะไรแบบนี้ แต่การทำบาร์มันเริ่มจากการที่เราต้องเข้าไปทักทาย เซย์ไฮลูกค้าที่แวะมาหา เราก็รู้สึกว่ามันดีนะ การได้คอนเนกต์กับมนุษย์ด้วยกัน ได้แชร์ประสบการณ์ให้กันฟัง บางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่ามันช่วยแก้ปัญหาที่เรามี ณ โมเมนต์นั้นได้เหมือนกัน มันอาจทำให้เราคิดแก้ไขปัญหาได้ หรือมันอาจจะทำให้ปัญหานั้นดูเบาลงถ้าเทียบกับของคนอื่น”

สำหรับบาส OFTR BAR เปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ มันคือบาร์ที่ใส่แพสชั่น ความคิด ความเชื่อของคนทำลงไปมหาศาล นับตั้งแต่วันแรกที่เขาเซตขึ้นมาแล้วตัดสินใจโทรไปหาหว่อง การ์-ไว เพื่อเปิดเป็นบาร์จริงจัง

“OFTR BAR คือการทำหนังที่ไม่มีวันจบเลยจนกว่าร้านจะปิดตัวลง มันเหมือนผมไม่สามารถปล่อยมือจากหนังเรื่องนี้ได้เลย” บาสทิ้งท้าย


OFTR BAR

เวลาเปิด : 17:00-23:00 น. ทุกวัน จองที่นั่งก่อนได้ที่เพจของร้าน

ที่ตั้ง : 245/10 ซอยสุขุมวิท 31 (เดินจาก BTS อโศก หรือพร้อมพงษ์ ประมาณ 13 นาที)

ช่องทางติดต่อ : OFTR Bar Facebook

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like