The Coca-Cola’s Santa

ซานตาคลอสที่คุ้นตามาจากไหน? จากมาร์เก็ตติ้งของ Coca-Cola สู่ไอคอนประจำเทศกาลคริสต์มาส

เมื่อเอ่ยถึงเทศกาลคริสต์มาส คุณจะนึกถึงอะไรกันบ้าง

เพลย์ลิสเพลงคริสต์มาสที่เปิดขึ้นตามห้างสรรพสินค้า หรือต้นคริสต์มาสที่ประดับดาไปด้วยแอ็กเซสเซอรีมากมาย หรืออาจจะนึกถึงเทศกาลแลกของขวัญที่แสดงถึงการเดินทางเข้าใกล้ช่วงสิ้นปีอีกครั้ง ไปจนถึงเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มักชวนให้รู้สึกเฟสทีฟ ตลอดจนสัญลักษณ์สุดไอคอนิกประจำเทศกาลคริสต์มาสหรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกอย่าง ‘ซานตาคลอส’ (Santa Claus) กันหรือเปล่า

หลายครั้ง ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี เรามักจะเห็นหน้าค่าตาของซานตาคลอสบนสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งสื่อออนไลน์อย่างในโซเซียลมีเดียก็ดี หรือจะเป็นสื่อออฟไลน์ตามถนนหนทางและในห้างสรรพค้าเองก็เจอ 

อาจกล่าวได้ว่าซานตาคลอสที่เราพบเจอในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแต่ละปีจนกลายเป็นภาพจำน่าจะเหมือนกันทุกคน นั่นคือเป็นคุณลุงซานตาคลอสหนวดเคราสีขาว รูปร่างอ้วนท้วน ลุคเฟรนด์ลี่ที่มักจะมาพร้อมกับสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แก้มแดงก่ำ สวมยูนิฟอร์มสีแดง และแบกถุงของขวัญใบโตๆ ไว้บนบ่า นับว่าเป็นภาพจำแซนตาคลอสสุดแสนจะคลาสสิกของใครหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ 

แต่เมื่อค้นลึกลงไปในประวัติศาสตร์ ไอคอนประจำเทศกาลคริสต์มาสอย่างคุณลุงซานตาคลอสที่เราคุ้นตานั้นอาจไม่ใช่ซานตาคลอสในแบบฉบับออริจินอล เพราะแต่เดิมซานต้าคือนักบุญตัวผอมกะหร่องที่คอยปลอบโยนผู้ยากไร้ในช่วงฤดูหนาว จนในปี 1882 กวีชื่อ ‘เคลเมนต์ คลาร์ก มอร์’ (Clement Clarke Moore) นั้นจะเขียนบทกวี A Visit from St. Nicholas ขึ้นมา โดยในบทกวีชิ้นนี้ได้ระบุเอาไว้ว่าเซนต์นิโคลัสหรือซานตาของเราเป็นคนอ้วนท้วนดูอบอุ่นใจดี อีกทั้งยังแต่งกายด้วยขนสัตว์และมีหนวดเคราสีขาวนั่นเอง และนั่นถือเป็นครั้งแรกๆ ที่บรรยายลักษณะของซานตาคลอสได้ใกล้เคียงภาพในยุคปัจจุบัน

ส่วนรูปวาดซานตาคลอสในเวอร์ชั่นการ์ตูนนั้นเกิดขึ้นจากนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อดังสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘โทมัส นาสต์’ (Thomas Nast) สมญานามบิดาแห่งอเมริกันกับการรังสรรค์ภาพวาดซานตาคลอสให้ออกมาในเวอร์ชั่นที่คล้ายคลึงกับซานตาคลอสในบทกวี  A Visit from St. Nicholas ของมอร์ โดยภาพวาดซานตาคลอสชิ้นนี้ถูกบันทึกลงในนิตยสาร Harper’s Weekly ใน ค.ศ. 1862 โดยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซานต้าที่สวมชุดสีแดงก็ได้กลายมาเป็นภาพจำของผู้คนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น 

Thomas Nast

แม้ซานตาคลอสสวมชุดสีแดงฝีมือของนาสต์จะสร้างภาพจำให้แก่ผู้คนในยุค 1860s ก็จริง ทว่าสำหรับผู้คนที่เติบโตมาในช่วง 1930s แล้ว เมื่อเอ่ยถึงคาแร็กเตอร์ซานตาคลอสหรือไอคอนประจำเทศกาลคริสมาสต์นั้น พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้นึกถึงซานต้าในเวอร์ชั่นของทั้งมัวร์และนาสต์ กลับเป็นซานต้าในฉบับของ ‘โคคา-โคล่า’ (Coca-Cola) แบรนด์น้ำอัดลมสัญชาติอเมริกาหรือคาแร็กเตอร์คุณลุงรูปร่างอ้วนท้วมไว้เคราขาวๆ หน้าตาใจดี สวมใส่ชุดสีแดงเดียวกันกับสี CI ของแบรนด์ ทั้งยังถือขวดโค้กอยู่ในมือต่างหากล่ะ

Biztory ในคอลัมน์นี้จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ Coca-Cola ให้มากขึ้น รวมไปถึงที่มาที่ไปของ Coca-Cola’s The Santa หรือคุณลุงซานตาคลอสที่เรารู้จักในทุกวันนี้กัน

1. จุดเริ่มต้นของ Coca-Cola มาจากการปรุงไซรัปของเภสัชกรท้องถิ่น

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคมของ ค.ศ 1886 ณ เมืองแอตแลนตา (Atlanta) ประเทศจอร์เจีย (Georgia) จุดเริ่มต้นของแบรนด์โคลา-โคล่า หรือที่เรารู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘โค้ก’ (Coke) ได้เกิดขึ้นจากเภสัชกรท้องถิ่นคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘จอห์น สติธ เพมเบอร์ตัน’ (John Stith Pemberton) กับการผลิตไซรัปโคล่าหรือไซรัปที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรมากมายบรรจุลงในเหยือกใบหนึ่ง ก่อนเขาจะตัดสินใจหอบหิ้วโปรดักต์ใหม่ที่ยังคงเป็นเพียงแค่แซมเปิ้ลเหยือกนี้ ออกเดินทางไปยังร้านขายยา ‘Jacob’s Pharmacy’ เพื่อทำการทดลองขายไซรัปที่ผสมด้วยน้ำโซดาในราคา 5 เซ็นต์ต่อหนึ่งแก้วด้วยชื่อเรียกของเครื่องดื่มอย่าง ‘excellent’ ที่แปลว่า ‘ยอดเยี่ยม’

เมื่อโฮมเมดไซรัปผสมเข้ากับโซดา เครื่องดื่มรสชาติใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะไม่ว่าใครที่ได้ลิ้มลอง ก็ต่างรู้สึกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ทั้ง ‘อร่อยและสดชื่น’ (Delicious & Refreshing) ไปในคราเดียวกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว คีย์เวิร์ดอย่าง ‘Delicious & Refreshing’ จึงเปรียบเสมือนธีมหลักของแบรนด์ Coca-Cola สู่การพัฒนาเครื่องดื่มของแบรนด์เรื่อยมา จวบจนในปัจจุบัน

2. เพราะชื่อแบรนด์สำคัญต่อการโฆษณา การเลือกใช้ C สองตัวจึงน่าสนใจ

เมื่อการผลิตไซรัปคือหน้าที่หลักของเพมเบอร์ตัน การคิดชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola ที่มีตัว C เชื่อมกันถึง 2 ตัวเลยเกิดจากแนะนำจากพาร์ตเนอร์คนสนิทและฝ่ายบัญชีของ Jacob’s Pharmacy อย่าง ‘แฟรงก์ เมสัน โรบินสัน’ (Frank M. Robinson) โดยโรบินสันนั้นคิดว่าการมีตัวอักษรตัวเดียวกันในชื่อแบรนด์ จะสามารถทำให้ฟ้อนท์หรือโลโก้ของแบรนด์ดูดีขึ้นได้อีกระดับเมื่ออยู่บนสื่อโฆษณา

หลังจากที่เพมเบอร์ตันและโรบินสันได้ตัดสินใจใช้ชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เครื่องงดื่มตัวใหม่ที่ทั้งอร่อยและสดชื่นของ Coca-Cola ก็ได้ปรากฎตัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ The Atlanta Journal เป็นครั้งแรก ชวนให้เหล่าผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณละแวกเดียวกันนี้ อยากแวะเวียนเข้ามาลองซื้อเครื่องดื่มน้ำอัดลมสุดฮิต ณ ช่วงเวลานั้นกันไปเลยด้วย  

ในช่วงปีแรกของการขายเครื่องดื่มโคล่าเป็นเพียงแค่การตั้งขายในร้านขายยา Jacob’s Pharmacy พร้อมๆ ไปกับการแขวนป้ายผ้าดิบที่ถูกละเลงด้วยสีน้ำมันสีแดงสด เขียนคำว่า ‘Coca-Cola’ ด้วยลายมือสุดคลาสสิกห้อยอยู่ตรงหน้าร้าน และด้วยยอดขายเฉลี่ยของเครื่องดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 9 แก้วต่อวันเท่านั้น เพมเบอร์ตันจึงยังคงนึกภาพไม่ออกว่าเครื่องดื่มที่เขาคิดค้นขึ้นมา จะมี potential ในการขายต่อไปในอนาคตได้อย่างไร

เช่นนั้นแล้ว เพมเบอร์ตันจึงค่อยๆ ทยอยขายหุ้นบางส่วนของ Coca-Cola ให้กับพาร์ตเนอร์ธุรกิจของเขาหลายๆ ราย และก่อนที่เพมเบอร์ตันจะเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1888 ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีจากจุดเริ่มต้นของการผลิตไซรัปโคล่าเอง เพมเบอร์ตันก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดและสูตรไซรัปโคล่าของ Coca-Cola ให้กับ ‘อาซา กริกส์ แคนด์เลอร์’ (Asa Griggs Candler) นักธุรกิจชาวอเมริกันในราคาประมาณ 2,300 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา

 ก่อนในปีค.ศ. 1892 แคนด์เลอร์จะก่อตั้งบริษัท Coca-Cola ขึ้น ทั้งยังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเริ่มแบ่งเงินปันผลให้แก่เหล่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดในปีค.ศ 1893 อีกด้วย

โดยในปีศ.ศ.1893 เครื่องดื่มของ Coca-Cola ก็ได้ถูกวางขายไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกส่งออกไปยังประเทศคิวบาในอีก 4 ปีให้หลัง รวมไปถึงยังมีการส่งออกไปยังยุโรปในเวลาถัดมาอีกด้วย  

3. ขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลม ไอคอนของแบรนด์ Coca-Cola จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงโค้ก ภาพจำคือน้ำอัดลมสีน้ำตาลที่ถูกบรรจุอยู่ในขวดแก้ว-ฝาจีบ แช่เย็นเจี๊ยบกับเสียงเปิดฝา ‘ป๊อก ซ่า’ พร้อมให้ยกกระดกขวดดื่มรับความสดชื่นและดับกระหายน้ำกันแล้วใช่หรือเปล่า 

แต่รู้หรือไม่ว่าโค้กขวดแก้ว (Contour Bottle) ในเวอร์ชันต่างๆ นับตั้งแต่ขวดแก้วในยุค 1900s เป็นต้นมา ต่างก็มีลักษณะ 3 ประการที่ทาง Coca-Cola ตั้งใจพัฒนาออกมาเพื่อคงเอกลักษณ์ของขวดแก้วเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสีของขวดที่ใสแต่เหลือบสีเขียวของจอร์เจียกรีน (Geogia Green), โลโก้หรือฟ้อนท์ของชื่อแบรนด์อย่าง Coca-Cola ที่ต้องมีสัมผัสนูนเด่น และรูปร่างที่จะต้องโค้กสอดรับกับมือของผู้ดื่มได้ดี (Contour Shape)

โดยลักษณะทั้ง 3 อย่างนี้ ไม่ได้เป็นแค่การทำแบรนด์ดิ้งของ Coca-Cola เพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่ว่ากันว่าการดื่มโค้กในขวดแก้วนี่แหละที่จะทำให้ผู้ดื่มได้รับอรรถรสในการดื่มที่มากขึ้นและได้รสชาติที่ดีขึ้น เพราะในทุกๆ ครั้งที่เราตัดสินใจเลือกดื่มโค้กขวดแก้ว เราจะสามารถสัมผัสประสบการณ์ของการดื่มได้ครบด้วยประสาททั้ง 5 ได้แก่ รูปทรงที่มีเอกลักษณ์ (รูป), รสชาติหวานและซ่าสดชื่น (รส), กลิ่นหอมของตัวเครื่องดื่ม (กลิิ่น), เสียงเปิดฝาขวด (เสียง) และสัมผัสของขวดที่เว้านูน (สัมผัส) มากไปกว่านั้นการจะดื่มโค้กให้ได้อรรถรสมากที่สุด (Perfect Serve) คือการดื่มโค้กขวดแก้วที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยขวดแก้วที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน ก็คือโค้กขวดแก้วทรงที่ผ่านการออกแบบในปี 2015

4. ปรับแต่ไม่เปลี่ยนการตลาดอันชาญฉลาดของ Coca-Cola ที่อยากเข้าถึงผู้คนได้ทุกยุคทุกสมัย

แม้แบรนด์คู่แข่งตัวท๊อปอย่าง Pepsi จะมีจุดเริ่มต้นในยุค 1900s เช่นเดียวกับ Coca-Cola แต่เมื่อย้อนดูถึง positioning แบรนด์และกลยุทธ์ในการทำมาร์เก็ตของทั้งคู่จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

ไม่ว่าจะเป็น brand identity ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานสักแค่ไหน เจ้าตัวโลโก้ ฟอนต์ของ Coca-Cola รวมไปถึงการพัฒนาแพ็กเก็จจิ้งของขวดแก้ว และสีแดง CI ของแบรนด์ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากสักเท่าไหร่ ซึ่งด้วย identity เหล่านี้ของ Coca-Cola จึงทำให้กลุ่มลูกค้าทุกยุคทุกสมัยยังจดจำโค้กได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Coca-Cola ยังใช้กลยุทธ์ทางมาร์เก็ตติ้งที่กระตุ้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมไปกับแบรนด์ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในคราเดียวกัน 

ยกตัวอย่างแคมเปญระดับโลกที่ถูก localized เข้ามายังประเทศของเราในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2013 ซึ่งถ้าหากใครยังจำกันได้ นั่นก็คือ ‘ต้องกล้า ต้องซ่า ต้องส่งโค้กให้’ (Share a Coke) ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทาง Coca-Cola ร่วมกับกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ประเทศไทยตั้งใจผลิตฉลากสุดพิเศษลงบนโค้กขวดแก้วและโค้กแบบกระป๋อง โดยฉลากสุดพิเศษเหล่านั้น ก็อาจจะเป็นชื่อของตัวเราเอง เพื่อน หรือใครบางคนให้ได้ลุ้น ได้คอยตามหากันกว่า 150 ชื่อ อีกทั้งยังมีฉลากที่ระบุข้อความสำคัญ ชวนให้เราอยากส่งมอบแก่ผู้อื่นเป็นของขวัญสุดครีเอทีฟในช่วงสิ้นปีกันอีกด้วย

ถ้าพูดถึงการโฆษณาในสื่อต่างๆ Coca-Cola มีการเลือกใช้กลุ่มคนทั่วไป รวมไปถึงสัญลักษณ์ที่เป็นดั่งไอคอนของยุคสมัยนั้นๆ เช่น ซานตาคลอส ทหารในช่วงยุคสงคราม คาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ ตลอดจนการเชิญชวนศิลปินชื่อดังมาร่วมกันออกแบบผลงานที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับโฆษณาแต่ละชิ้นมากไปกว่าการใช้อินฟลูเอนเซอร์กับเหล่าเซเลบริตี้หรือก็คือการโฆษณาสินค้าแบบ Pepsi นั่นเอง

5. แม้ Coca-Cola จะไม่ได้สร้างซานตาคลอส แต่กลับสร้างภาพจำของซานตาคลอสให้ผู้คน

ความตั้งใจในการทำโฆษณาแต่ละชิ้นของแบรนด์ Coca-Cola คือการเน้นย้ำถึงข้อความสำคัญของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นทั้งคุณภาพของสินค้า ทาร์เก็ตของลูกค้า หรือแม้แต่สโลแกนที่ได้ถูกคิดขึ้นมาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงโอกาส บรรยากาศ และเทศกาลที่ Coca-Cola ต้องการจะเกาะเกี่ยวเพื่อโปรโมทแบรนด์ 

เช่นเดียวกันกับภาพวาดโฆษณาช่วงเทศกาลคริสต์มาสในปีค.ศ. 1930 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของคาแรกเตอร์ซานตาคลอสที่เป็นภาพจำในปัจจุบัน ก่อนจะขยับขยายการรับรู้ไปสู่วงกว้างอย่างทรงพลังหลังจากนั้น

ในอดีตช่วงฤดูหนาวของเทศกาลคริสต์มาส ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องดื่มเย็นๆ ของแบรนด์ Coca-Cola มักจะมียอดขายสินค้าลดลงตามสภาพอากาศ จนช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีค.ศ 1930 ทาง Coca-Cola ตัดสินใจทำการตลาดด้วยการหยิบเอาคาแรกเตอร์อย่างซานตาคลอส ฝีมือของศิลปินอย่าง  ‘เฟรดเดอริค ไมเซน’ (Frederic Mizen) มาใช้ในการโปรโมตสินค้าอย่างจริงจังในปีนั้น โดยคาแรกเตอร์ซานตาคลอสที่ว่าเป็นภาพวาดของซานตลาคลอสที่กำลังยกขวดโค้กขึ้นดื่มกลางห้างสรรพสินค้าท่ามกลางเด็กๆ ที่ยืนห้อมล้อมเขาอยู่ด้วย

ก่อนในอีกหนึ่งปีถัดมาหรือปีค.ศ. 1931  ซานตาคลอสเวอร์ชันใหม่ก็เกิดขึ้นจากการที่บริษัท Coca-Cola มีความพยายามจะขยายภาพซานตาคลอสกับโค้กของไมเซนให้ออกมาเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยทางบริษัทได้ว่าจ้างเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่งชื่อ D’Arcy Advertising ก่อนจะเลือกให้จิตรกรจากรัฐมิชิแกนอย่าง แฮดดัน ซันด์บลอม (Haddon Sundblom) วาดภาพซานตาคลอสสำหรับแคมเปญโฆษณาของ Coca-Cola ซึ่งอิงจากภาพซานต้าในเวอร์ชันของทั้งมัวร์และแนสต์เข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นคุณลุงรูปร่างอ้วนท่วม ท่าทางร่าเริง ใบหน้าใต้หนวดเปื้อนยิ้มตลอดเวลา และแน่นอนว่าจะต้องสวมใส่ชุดสีแดงเพื่อภาพลักษณ์ใหม่ที่ดูเป็นมิตรและเป็นที่น่าจดจำของผู้คน 

ซึ่งการที่ซันด์บลอมได้วาดภาพซานตาในงานโฆษณาของบริษัท Coca-Cola ต่อเนื่องกว่า 30 ปี คาแรกเตอร์ซานตาของโค้กจึงกลายมาเป็นภาพซานตาคลอสที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมากพอจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดกันอยู่ว่า Coca-Cola’s The Santa คือคาแรกเตอร์ซานตาสุดคลาสสิกที่มีมานานนม ทั้งที่ความจริงแล้ว บุคลิกและชุดสีแดงของซานตาคลอสมีที่มามาจากภาพวาดการ์ตูนของนาสต์ต่างหาก

โดยภาพวาดซานตาคลอสในครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในแคมเปญมาร์เก็ตติ้งอันชาญฉลาดของแบรนด์ Coca-Cola ที่นอกจากจะสามารถสร้างภาพแบรนด์เครื่องดื่มเย็นๆ ให้สามารถอยู่คู่กับความอบอุ่นของเทศกาลนี้ได้แล้ว ก็ยังทำให้ใครหลายๆ คนนึกถึงซานตาคลอสของโคคา-โคล่าจากสีของแบรนด์ที่ลิงก์ไปกับเทศกาลคริสต์มาสได้อย่างพอดิบพอดีอีกด้วย

และถึงแม้ Coca-Cola อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเทศกาลคริสมาสต์เลย ทั้งยังไม่ได้เป็นคนคิดค้นซานตาเคราขาวๆ ในชุดสีแดงด้วย แต่ก็ต้องขอบคุณ Coca-Cola ที่ช่วยทำให้ภาพจำซานตาแสนใจดีในแบบฉบับโมเดิร์นเป็นที่จดจำจวบจนทุกวันนี้

ภาพ: The Coca-Cola Company, The Coca-Cola Thailand,The Atlanta Journal

อ้างอิง

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

You Might Also Like