กรองแนวคิดการทำธุรกิจระบบน้ำดื่ม Mineral Preserved กับ Rynn ที่ดีต่อโลกและช่วยยกระดับร้านอาหาร

ภาวะสุญญากาศเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2020 จากโรคระบาดใหญ่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจำนวนมากต้องหยุดทำการชั่วคราว

เป็นจังหวะที่ เป้–อนุสร โลหะพันธกิจ ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวพูดคุยถึงไอเดียในการมองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับ แก๊ป–บุญญเดช มิตรอุปถัมภ์ และทีมงาน จนเกิดเป็นโปรเจกต์ระบบน้ำแร่พรีเมียมชื่อ Rynn ซึ่งเป็นการนำน้ำประปามาเข้าสู่ระบบกรองที่ใช้เทคโนโลยี Nanofiltration Technology โดยน้ำแร่ที่ได้นั้นจะสะอาดและมีแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายสามารถดูดซับไปใช้ได้ ทั้งยังให้รสชาติที่นุ่มละมุนตั้งแต่จิบแรกที่ได้ชิม และมีระบบการจัดจำหน่ายที่คิดขึ้นมาเพื่อสิ่งแวดล้อมร้อยเปอร์เซ็นต์

ความเอาใจใส่นี้ถูกใส่ไว้ตั้งแต่ชื่อแบรนด์ที่คำว่า ‘Rynn’ มาจากที่มาของคำว่า ‘ริน’ หรือการเทน้ำจากภาชนะในภาษาไทย และยังพ้องเสียงกับชื่อทะเลสาบ Lynn ซึ่งอยู่ที่เมือง Manitoba ประเทศแคนาดาด้วย นั่นหมายถึงวิธีคิดที่พวกเขาต้องการให้น้ำแร่ของ Rynn สามารถซึมซับเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนและธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องลื่นไหล

Product 
ระบบน้ำดื่มเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค

จากวิกฤตนำพามาสู่โอกาสโดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด Rynn นั้นมาจากการที่ลูกค้าหลายเจ้าเข้ามาปรึกษาอนุสรถึงวิธีจัดการน้ำประปาที่ทำการสำรองไว้ในถังเก็บน้ำจำนวนมาก และไม่มีการถ่ายเทหมุนเวียนออกไป จนคลอรีนที่อยู่ในน้ำมีการเสื่อมประสิทธิภาพลง และทำให้น้ำที่กักเก็บไว้เริ่มเป็นปัญหาเรื่องความสะอาดจากเชื้อโรคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว 

“เรามีประสบการณ์เรื่องการทำระบบน้ำในอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี พอเจอโจทย์นี้ก็คิดว่า เราทำระบบกรองน้ำของตัวเองกันดีกว่า ซึ่งการจัดการนี้ก็มาตรงกับความสงสัยของเราที่มีมาตลอดว่า ระบบกรองน้ำที่เรียกว่า Membrane Process  ซึ่งในอุตสาหกรรมในบ้านเรานั้นจะมีอยู่ 4 ชนิด นั่นคือ Micro filtration (MF), Ultrafiltration (UF), Nanofiltration (NF) และ Reverse Osmosis (R.O.) ซึ่งระบบแต่ละชนิดจะมีขนาดรูสำหรับกรองน้ำต่างกันอย่างละสิบเท่า ซึ่งระบบ R.O. นั้นจะมีขนาดของรูที่เล็กสุด แต่ระบบ R.O. จะกรองทุกอย่างออกไปจนเกือบหมด แต่ถ้าถอยลงมาหนึ่งระดับซึ่งคือ Nanofiltration ระบบจะกรองทุกอย่างออกไปหมดเหมือนกันยกเว้นแร่ธาตุที่ทำให้เกิดเป็นน้ำแร่ ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ระบบนั้นเอาแร่ธาตุออกไปได้แค่ไหน ซึ่งระบบนี้ยังไม่มีใครนำมาใช้งานเลย เพราะที่พบมาเขาจะใช้การกรองระบบ Nanofiltration ไปเลย เราจึงมองเห็นโอกาสตรงนี้พัฒนาระบบกรองที่มีขนาดเล็กเพื่อสามารถนำไปใช้ตามร้านอาหารและโรงแรมได้”

“ส่วนใหญ่ที่เลือกใช้การกรองแบบ R.O. เพราะขั้นตอนนั้นง่ายที่สุด เพราะน้ำเข้ามาแบบไหนก็กรองออกไปให้หมดเลย ถ้าเป็นระบบ Nanofiltration จะมีค่าความคลาดเคลื่อนที่ต้องคอยตรวจสอบเป็นระยะ ทำให้อาจจะไม่ได้รับความนิยม” บุญญเดชให้ความเห็นเมื่อเราสงสัยว่าระบบ Nanofiltration นั้นฟังแล้วมีข้อดีกว่าแต่ทำไมกลับไม่ถูกนำมาใช้

เมื่อฟังวิธีการคัดกรองเพื่อให้ได้น้ำแร่ที่ใสสะอาดจากอนุสร ทำให้เรารู้สึกว่าความพรีเมียมของน้ำแร่ Rynn ไม่ต่างกับงาน tailor-made ที่ใช้การเลือกและปรับระดับความเข้มข้นของแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำประปาตามแต่ละจุดให้บริการ เพื่อให้ได้น้ำแร่ที่สะอาดและปลอดภัย 

“ข้อดีของน้ำประปาในบ้านเราคือ จะไม่มีการเอาแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำออกไป เราจึงต้องการให้น้ำแร่ของเรามีแร่ธาตุเหลืออยู่ให้มากที่สุด ซึ่งจำนวนแร่ธาตุในน้ำนั้นเรียกรวมๆ กันว่า TDS (Total dissolved solids) ซึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีค่า TDS อยู่ที่ประมาณ 200-500 PPM (หน่วยที่ใช้สำหรับวัดระดับ TDS ในน้ำ) น้ำแร่ที่บรรจุขวดขายกันอยู่นั้นจะมีค่า TDS อยู่ราวๆ 200-300 PPM ซึ่งถ้ากรองน้ำด้วยระบบ R.O. ค่า TDS จะเหลืออยู่แค่ประมาณ 10 PPM ดังนั้นเราจึงทำระบบกรองให้ Rynn มีค่า TDS คงอยู่ที่ 150-200 PPM” 

โปรดักต์ที่สร้างขึ้นด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อม

น้ำแร่ของ Rynn มีให้บริการ 2 ชนิด นั่นคือ still และ sparkling ซึ่งมีรสสัมผัสที่แตกต่างจากน้ำดื่มปกติ แค่ยกดื่มแบบเพียวๆ ยังรู้สึกสดชื่นทันที ยิ่งเมื่อนำไปทานร่วมกับมื้ออาหารก็จะช่วยชูรสชาติของอาหารในจานนั้นให้โดดเด่นขึ้น และสิ่งที่ช่วยเสริมให้น้ำแร่นี้มีมูลค่ามากขึ้น นั่นคือภาชนะบรรจุที่ออกแบบมาอย่างสวยงามและสามารถนำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำไม่เกิดเป็นขยะในภายหลัง 

“เรื่องภาชนะบรรจุก็มาจากปัญหาที่เราพบว่าร้านอาหารหรือโรงแรมส่วนมากไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเก็บน้ำไว้ให้มีความเย็นเพื่อสามารถเสิร์ฟลูกค้าได้ทันที และเรื่องของขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ตอนนี้ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก” นี่คือกระบวนการจัดการที่อนุสรวางแผนไว้

“ระบบของเราจึงมีทั้ง Zero Storage, Zero Waste, Zero Kilometer และ Zero Bacteria & Virus เนื่องจากระบบส่งน้ำของเราถูกติดตั้งไว้ที่ร้านอาหารเลย จึงทำให้เรื่องของการขนส่งและปริมาณ Carbon neutrality ลดลงไปได้เยอะมาก” บุญญเดชอธิบายเสริม

ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวทาง net-zero emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราจึงให้ทั้งคู่ช่วยอธิบายถึงแนวทางดังกล่าวที่สอดคล้องกับโปรดักต์ของ Rynn ว่ามีความเชื่อมโยงกันยังไง

“พูดง่ายๆ คือ การกระทำอะไรก็ตามที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเราจะเรียกว่า คาร์บอนฯ ติดลบ ถ้าเราสามารถลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้คือคาร์บอนฯ เป็นบวก” อนุสรเป็นคนเริ่มต้นเล่า 

“ดังนั้นคำว่า carbon credit จึงหมายความว่า เมื่อคุณทำอะไรก็ตามที่ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คุณก็จะได้รับเครดิตกลับมา ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อน้ำหนึ่งขวดที่นำเข้ามาจากยุโรป การเดินทางของน้ำขวดนั้นไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางเครื่องบินก็ตาม มันสร้างการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่าไหร่ ทีนี้คุณก็จะติดลบใน carbon credit ดังนั้นเมื่อเราสามารถผลิตน้ำดื่มขึ้นมาเพื่อใช้บริโภคในร้านอาหารหรือโรงแรมได้เอง เราไม่ได้สร้างกระบวนการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมาในชั้นบรรยากาศ โรงแรมหรือร้านอาหารนั้นก็จะได้ carbon credit เพิ่มเข้าไป” 

“เราจึงมีส่วนช่วยให้หลายๆ องค์กรได้รับ carbon credit เพื่อนำไปลดค่าคาร์บอนที่เกิดจากการทำธุรกิจของเขาได้ส่วนหนึ่ง” บุญญเดชเล่าต่อ 

“ขวดแก้วของเราจึงออกแบบให้สามารถนำไปทำความสะอาดได้ เราจึงออกแบบให้ตัวขวดสามารถล้างทำความสะอาดง่าย สามารถนำเข้าไปใช้ร่วมกับระบบทำความสะอาดของโรงแรมหรือร้านอาหารได้เลย ซึ่งเราก็เอาสิ่งที่ต้องการไปคุยกับโรงงานที่ผลิตแก้วเพื่อให้เขาออกแบบขวดใส่น้ำแร่ Rynn ออกมา ซึ่งต่อมาเราก็ได้รับรางวัลการออกแบบจาก Good Design Award 2023 และ Design Excellence Award ด้วย”

อนุสรบอกว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาดเป็นอย่างแรก ตัวขวดต้องสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ลักษณะของขวดใส่น้ำแร่นี้จึงมีขนาดทรงกระบอกที่เรียบไร้รอยหยักหรือซอกหลืบบนปากขวดเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด และใช้ฝาปิดที่ทำจากซิลิโคนเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตกลงไปในน้ำดื่ม 

“ทั้งหมดที่เราทำต้องมีเรื่องของความยั่งยืนเป็นหัวใจหลักด้วยเสมอ แม้แต่เทคนิคการผลิตขวดแก้วก็จะมีความบางกว่าขวดน้ำทั่วไป เพราะเมื่อเราใช้วัสดุน้อยลง ก็จะลดการใช้วัสดุและพลังในการผลิตขวดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นความท้าทายให้กับทางโอเชียนกลาส บริษัทผลิตแก้วด้วยเหมือนกัน เพราะเขาไม่เคยทำขวดแก้วที่มีความบางและความสูงขนาดนี้มาก่อน แต่เขาก็สนใจและอยากลองทำขวดตัวนี้ร่วมกับเราด้วยเช่นกัน”

Price
ราคาที่จับต้องได้สำหรับทุกคน

น้ำแร่ในท้องตลาดมีราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักสิบบาทไปจนถึงหลายร้อยต่อขวด ซึ่งการวางตัวเองในฐานะน้ำแร่ระดับพรีเมียมของ Rynn นั้น ในช่วงแรกพวกเขาจึงโฟกัสไปยังร้านอาหาร fine dinning และร้านอาหารมิชลินสตาร์ ซึ่งก็ได้การยอมรับจากเชฟชั้นนำทั้งหลายว่า Rynn เป็นน้ำแร่ที่มีคุณภาพในการบริโภคทั้งการดื่มและการนำไปใช้ปรุงอาหาร และกับการตั้งราคาจำหน่าย อนุสรบอกว่าเขาอยากช่วยเหลืออุตสาหกรรมร้านอาหารและโรงแรมมากกว่าจะคิดถึงผลกำไรมากๆ

“ถ้าสังเกตทุกวันนี้ที่เราไปร้านอาหาร ค่าน้ำดื่มที่เราต้องจ่ายต่อมื้อเป็นจำนวนค่อนข้างสูงเหมือนกัน บางแห่งราคาน้ำแร่เกือบจะเท่าราคาไวน์แล้วด้วยซ้ำ เราจึงอยากมอบน้ำแร่ในราคาที่ไม่สูงมากแต่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงน้ำแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งน้ำแร่ของเราไม่ต้องมีค่าแพ็กเกจจิ้ง ไม่มีค่าขนส่ง ทางผู้ประกอบการก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำดื่ม การจัดเก็บ และการทำลายขยะได้ด้วย”

“เรื่องราคาที่ต้องจ่ายก็เป็น pain point สำหรับผมด้วยที่บางทีค่าน้ำดื่มก็เกือบจะเท่าราคาอาหารหนึ่งจานด้วยเหมือนกัน” บุญญเดชให้ความเห็นเพิ่ม

ข้อดีของระบบกรองน้ำ Rynn ที่นอกเหนือจากการให้บริการร้านอาหารหรือโรงแรมแล้ว อนุสรยังบอกด้วยว่าสำหรับองค์กรที่มีพนักงานระดับกลางขึ้นไป ระบบนี้ก็ตอบรับความต้องการของพวกเขาในต้นทุนที่ไม่สูงมากด้วย เพราะเมื่อเทียบจำนวนต่อหัวที่มีความต้องการน้ำดื่มในแต่ละวันแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนของค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลระบบเครื่องกรองน้ำนี้ลดลงอย่างมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าปริมาณน้ำดื่มต่อขวดจะมีราคาไม่ต่างจากน้ำดื่มที่เราซื้อกินกันในชีวิตประจำวันเลย 

“จริงๆ ที่ผ่านมาเราจ่ายเงินซื้อน้ำหนึ่งขวด เราแทบไม่ได้จ่ายค่าน้ำกันหรอก แต่เราจ่ายค่าแพ็กเกจและค่าขนส่งเสียมากกว่า ถ้าเราตัดเรื่องพวกนี้ออกไปได้ ราคาที่เราจ่ายค่าน้ำดื่มจริงๆ ก็ไม่ได้สูงมากและก็เป็นที่พอใจสำหรับทั้งสองฝ่าย”

“เราคำนึงถึงการที่เราอยู่ได้ ร้านอาหารอยู่ได้ ผู้บริโภคมีความพึงพอใจ เท่านั้นจริงๆ” บุญญเดชยืนยันหนักแน่น

Promotion
ทำการตลาดด้วยการซื้อใจผู้บริโภค

จากกระแสแบบปากต่อปาก ทำให้ Rynn ได้รับความสนใจมากมายจนตอนนี้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 60 จุดให้บริการทั่วกรุงเทพฯ จนทำให้อนุสรและบุญญเดชยังไม่มีเวลาคิดเรื่องการตลาดเลย ดังนั้นสิ่งที่เป็นโปรโมชั่นของ Rynn ในตอนนี้คือ การให้ความรู้และการบริการที่ครบวงจรเพื่อให้มีน้ำแร่ที่สะอาดไหลออกมาจากแท็ปกดน้ำและนำไปเสิร์ฟถึงโต๊ะผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ 

“สิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุดตอนนี้คือการสร้างทีม” อนุสรว่าถึงตรงนี้ก็ยกน้ำแร่แบบ sparkling ที่ยังมีฟองเล็กใสลอยอยู่ในแก้วขึ้นมาจิบ

“ผมกลัวว่าถ้ามีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วทีมมีกำลังคนไม่พอในการให้บริการเราจะแย่ เพราะในช่วงปีแรกๆ เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องของการสร้างทีมให้แข็งแกร่งขึ้นมาเสียก่อน เพราะลูกค้าที่เข้ามาตอนนี้มาจากคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราแล้วพบว่าดีจริงก็เอาไปบอกต่อคนอื่นๆ ให้ติดต่อเข้ามา” 

“ลูกค้าแต่ละเจ้าก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน เราก็จัดการออกแบบระบบให้ตอบรับความต้องการของพวกเขา เพราะแหล่งน้ำในแต่ละจุดก็มีค่าแร่ธาตุที่ไม่เท่ากัน เราก็ต้องปรับจูนให้น้ำแร่ของเราออกมามีมาตรฐานเดียวกัน” บุญญเดชเสริม

“คนทำธุรกิจเครื่องกรองน้ำก็ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับน้ำสะอาดเหมือนกันทุกคน พยายามเอาสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากน้ำดื่มให้มากที่สุด แต่ข้อดีของระบบแบบ Nanofiltration คือตัวกรองจะมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย จุลินทรีย์ และไวรัสในน้ำอยู่แล้ว แต่ยังสามารถให้แร่ธาตุไหลผ่านออกมาได้ และกรองเอาความกระด้างของน้ำออกไปได้ด้วยเช่นกัน 

“น้ำแร่ของเราจึงมีรสสัมผัสที่ดีและไม่เกิดการสะสมในร่างกายที่ทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะแน่นอน ซึ่งทั้งหมดคือความใส่ใจและเป็นเรื่องที่ผมรู้อยู่แล้วด้วยว่าในน้ำประปามีอะไรที่ดีและไม่ดีอยู่ในนั้น ซึ่งเราสามารถคัดกรองสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปได้” 

“จุดขายอีกอย่างของน้ำแร่ Rynn คือ sparkling” เราหันไปมองฟองอากาศที่ซูซ่าตรงขวดน้ำแร่ของ Rynn ทันทีที่บุญญเดชพูดจบ 

“เราตั้งใจทำให้ฟองมีขนาดเล็กมากๆ โดยใช้กระบวนการ cold carbonization โดยการเติม Co2 ลงไปตอนที่น้ำเย็นจัด ดังนั้นฟองของน้ำจึงมีขนาดเล็ก และระหว่างที่นำไปเสิร์ฟตัวฟองจะค่อยๆ ลอยออกมา ซึ่งแตกต่างจากน้ำโซดาทั่วไปที่มีฟองขนาดใหญ่ และความซ่าจะจางหายไปเร็วกว่า 

Educational Promotion
สื่อสารอย่างจริงใจเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

ก่อนหน้านี้ถ้าให้นึกถึงธุรกิจน้ำดื่มที่สามารถกดน้ำแร่ออกมาจากหัวก๊อกได้เลย เราคงนึกไม่ออกนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ แต่ตอนนี้ Rynn ทำให้เราเห็นภาพรวมของธุรกิจนี้อย่างชัดเจนและข้อดีที่ช่วยในเรื่องของทรัพยากรพลังงานที่ลดลง ดังนั้นสิ่งที่อนุสรคำนึงจึงไม่ใช่เรื่องของการส่งเสริมการขายแต่เป็นการส่งเสริมความรู้ให้ผู้บริโภค

“ความรู้ความเข้าใจในเรื่องน้ำดื่มสำหรับคนทั่วไปยังมีน้อยอยู่ เพราะเรื่องนี้มีศัพท์เทคนิคและวิชาการแทรกอยู่ค่อนข้างเยอะ แต่ผมอยากให้เขารู้จริงๆ เพื่อที่เขาจะสามารถพิจารณาได้ว่าจะเลือกใช้น้ำยี่ห้อไหนหรือเทคโนโลยีแบบใด เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ น้ำที่ใสก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นน้ำที่ดีต่อผู้บริโภคเสมอไป ดังนั้นเวลาติดตั้งระบบให้กับลูกค้า เราจะทำการเก็บตัวอย่างน้ำไปส่งแล็บข้างนอก เพื่อให้เขาตรวจสอบคุณภาพน้ำและออกใบการันตีให้กับทางลูกค้าว่าน้ำดื่มของเขาที่ใช้ระบบกรองน้ำของเรานั้นมีคุณภาพ และเราก็จะเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกๆ เดือน ถ้าพบว่าค่าน้ำมีการเปลี่ยนแปลงเราก็จะส่งเข้าแล็บเพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด”

“เพราะน้ำดื่มทุกยี่ห้อนั้นดูใสสะอาดเหมือนกันหมด ดังนั้นเราอยากให้ผู้บริโภครู้ว่าน้ำดื่มของเราสะอาด ปลอดภัย 100% ไม่ใช่แค่ 99% ต้องเต็ม 100% ส่วนเรื่องของรสสัมผัสนั้นก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนเลยครับ” พูดจบอนุสรและบุญญเดชก็หัวเราะออกมาพร้อมกันอย่างอารมณ์ดี

“เราสามารถบอกได้หมดทุกข้อที่คุณสงสัย ไม่มีคำว่าความลับของบริษัท” อนุสรย้ำหนักแน่น 

“ยิ่งคุณมีข้อสงสัยมากยิ่งดี เพราะเราอยากอธิบายว่ากระบวนการของเราคืออะไร และถ้าคุณรู้มากแล้วคุณก็จะยิ่งมั่นใจในระบบน้ำของเราด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เราต้องสอนทีมงานอย่างละเอียดด้วย เพราะพวกเขาก็ต้องตอบคำถามที่ลูกค้าสงสัยได้ด้วยเหมือนกัน”

แม้จะดูทุกอย่างไหลลื่นไปหมด แต่จริงๆ ปัญหาในด้านการทำงานก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่พวกเขาต้องรับมือและช่วยกันแก้ปัญหา โดยหนึ่งในนั้นคือการให้ความรู้และความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แก่ผู้คน

“ตอนแรกเราต้องอธิบายกับลูกค้ากันเยอะหน่อย เพื่อให้เขาเข้าใจว่าโปรดักต์ของเรามีความแตกต่างยังไง โดยเฉพาะเรื่องของระบบที่จะช่วยเขาทั้งด้านค่าใช้จ่ายและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงฝั่งของผู้บริโภคเองด้วย ซึ่งเราต้องสื่อสารว่าน้ำดื่มของเราไม่ได้เป็นน้ำที่กดออกมาจากท่อประปาโดยตรง ซึ่งก็ใช้เวลาสักพักใหญ่เหมือนกันที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะเข้าใจ” บุญญเดชเล่า

“ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่เราเตรียมรับมือไว้แล้ว” อนุสรว่าถึงโจทย์ยากที่เขาต้องจัดการ “ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ การตั้งเครื่องกรองน้ำของ Rynn ให้ลูกค้าเห็นชัดๆ เพราะถ้าคุณเอาไปตั้งไว้ด้านหลังร้านคุณต้องถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับน้ำดื่มนี้แน่นอน ถ้าเราตั้งให้เขามองเห็นแล้วถ้าเขาสงสัยเขาก็สามารถเดินมาดูให้เห็นได้ว่ากระบวนการเป็นยังไง วิธีนี้ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งผมคิดว่าโปรดักต์ของเรานั้นไม่มีปัญหาเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจคือการบริการเป็นหลัก”

เราพยักหน้าตอบรับในสิ่งที่อนุสรบอกอย่างเชื่อมั่น ก่อนจะยกน้ำแร่ของ Rynn ขึ้นจิบด้วยความมั่นใจ

Place
การแลกเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อม

จากการเริ่มต้นที่พวกเขาพา Rynn ไปทำความรู้จักกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และเชฟมือหนึ่งทั้งหลาย จนได้การตอบรับที่อบอุ่น แต่โจทย์หลังจากนี้คือพวกเขาจะมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับ Rynn ยังไง 

“เราอาจจะไม่ได้เป็นคนเลือกตลาด แต่เราพยายามตอบสนองความต้องการของตลาดมากกว่า เพราะนอกจากร้านอาหาร โรงแรม และองค์กรที่ต้องการมีระบบน้ำขนาดใหญ่ให้พนักงานดื่ม ตอนนี้เราก็เริ่มมีการไปติดตั้งในบางโรงพยาบาลแล้ว ดังนั้นออฟฟิศและโรงพยาบาลที่มีความต้องการน้ำดื่มจึงเป็นเป้าหมายต่อไปสำหรับเรา”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้อนุสรพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลอีกข้อหนึ่ง นั่นคือเรื่องของขยะพลาสติก เพราะตามโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะมีการเสิร์ฟน้ำที่บรรจุอยู่ในแก้วพลาสติกมีฉลากปิดซีล ซึ่งทำให้เกิดขยะเป็นจำนวนมาก เขาจึงหวังว่าระบบกรองน้ำของ Rynn จะเข้าไปลดจำนวนพลาสติกเหล่านี้ได้ 

ทางด้านบุญญเดชก็มองถึงตลาดอีกแห่งซึ่งแตกต่างจากที่อนุสรมองไว้ ซึ่งเป็นหมุดหมายใหม่ที่เราก็ลืมนึกไปเหมือนกันว่าพื้นที่ตรงนั้นก็มีความต้องการน้ำดื่มสะอาดและมีคุณค่าต่อร่างกายไม่แพ้กัน 

“ผมมองไปยังตลาดสปอร์ตคอมมิวนิตี้และศูนย์การประชุมต่างๆ ครับ” นี่คือสิ่งที่บุญญเดชเฉลย

“ศูนย์ประชุมใหญ่ๆ ที่เรารู้จักกันดีตอนนี้เขาก็มีนโยบายลดการใช้ขวดพลาสติกอยู่แล้ว และบริการของเราก็ตอบโจทย์ความต้องการของเขาพอดี แต่เราก็ต้องเข้าไปร่วมออกแบบระบบการใช้น้ำของเขาด้วย เพราะการเซตระบบใหม่ขึ้นมาจากความคุ้นเคยแบบเดิมก็ต้องการการจัดการเพิ่มเติม แต่ก็จะช่วยให้เขามีระบบหมุนเวียนที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ เราเองก็อยากร่วมมือกับพวกเขา”

เราจึงสรุปได้ว่าตอนนี้จุดยืนของ Rynn คือแบรนด์น้ำแร่พรีเมียม และกำลังผลักดันตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดใหญ่ ความพรีเมียมของเราเป็นทั้งเรื่องคุณภาพของน้ำ ภาพลักษณ์ และการบริการ ซึ่งความท้าทายต่อไปของพวกเขาคือการทำให้ผู้บริโภคมองน้ำแร่ของเขาเป็นตัวเลือกแรกที่เข้ามารับประทานอาหารภายในร้านที่มีเครื่องกรองน้ำแร่ของ Rynn ติดตั้งอยู่

Planet
ทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนแนวคิดทางสิ่งแวดล้อมในการตลาด

เมื่อทั้งสองยืนยันแล้วว่า Rynn เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้คือ การเชื่อมโยงกับผู้คนและพื้นที่ที่พวกเขาทำกิจการอยู่ และนั่นคือที่มาของคำถามว่าพวกเขามีมุมมองต่อประเด็นนี้ยังไง 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่เข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ” บุญญเดชให้ความเห็น 

“อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้โลกของเราเข้าสู่ภาวะ global boiling กันแล้ว ดังนั้นเราจึงมีส่วนที่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งความยากคือ จะทำยังไงให้คนรู้สึกตื่นตัวจริงๆ ไม่ใช่แค่บอกว่าฉันรับรู้นะ แต่ก็ยังทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ หรือพอเราอธิบายกระบวนการที่ช่วยลดขยะหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ คุณกลับถามว่าตกลงราคาน้ำดื่มของเราแตกต่างจากน้ำดื่มที่บรรจุขวดพลาสติกเท่าไหร่ ซึ่งเราเข้าใจเขานะว่าเป็นคนทำธุรกิจก็ต้องมองเรื่องต้นทุน-กำไรมาก่อน ดังนั้นเราก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นให้ได้ว่าโปรดักต์ของเรานั้นใช้งานง่าย และสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับเขาได้จริง”

“มีคนเคยถามผมว่าไม่กลัวเหรอที่ทำขึ้นมาเป็นเจ้าแรกแล้วต่อไปจะมีคนทำตามและมีการตัดราคากัน” อนุสรพูดจบก็นิ่งคิดไปชั่วครู่ 

“สุดท้ายผมคิดว่าเราต้องการสร้างการรับรู้ให้กับสังคม และยังไงก็ตามเรื่องคู่แข่งต้องมีอยู่แล้ว แต่นั่นก็ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรเลย เพราะตลาดน้ำดื่มจริงๆ แล้วมีขนาดใหญ่มากๆ ใหญ่จนเราไม่สามารถทำคนเดียวได้หรอก การเกิดคู่แข่งขึ้นมานั่นหมายความว่าจะมีคนที่เข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เรากลับอยากให้สิ่งที่พยายามทำอยู่และข้อมูลที่บอกไปช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้คนอื่นๆ ได้เอาไปใช้สร้างธุรกิจใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา ผมไม่ได้หวงว่าคนอื่นห้ามทำธุรกิจน้ำแร่แบบที่เราทำอยู่เลย ยิ่งการมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยึดแนวทางที่คล้ายๆ กัน ก็ยิ่งมีผลต่อการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมให้กับโลกนี้เร็วขึ้นด้วย

เมื่อ MAGURO Group คอลแล็บกับเชฟระดับประเทศในซีรีส์มื้ออาหารสุดพิเศษ แทนคำขอบคุณส่งท้ายปี

นอกจากแสงไฟตามท้องถนน ต้นคริสต์มาสตามห้างสรรพสินค้า และเพลง All I want for Christmas is You จาก มารายห์ แครีย์ จะเป็นสัญญาณบอกเราว่าช่วงปลายปีกำลังใกล้เข้ามาแล้ว อีกหนึ่งหมุดหมายที่เป็นธรรมเนียมแจ้งให้เราทราบว่าปฏิทินที่ถูกใช้มาตั้งแต่เดือนมกราฯ กำลังจะจบครบสิ้นปี ก็คืองานอีเวนต์ขอบคุณลูกค้าที่บรรดาธุรกิจร้านค้าต่างๆ พากันจัดแจงขึ้นมามากมายเพื่อเป็นการบอกกล่าวแทนคำขอบคุณที่ช่วยกันสนับสนุนกันมาตลอดทั้งปี

เช่นเดียวกับเครือ MAGURO Group ที่ตั้งใจจัดงานอีเวนต์สุดเอกซ์คลูซีฟเพื่อขอบคุณลูกค้าคนพิเศษ ที่มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจแบบสุดๆ เพราะอีเวนต์ขอบคุณคุณลูกค้าที่ว่า MAGURO ไม่ได้จัดเพียงแค่งานเดียวเท่านั้น แต่จัดเป็นแคมเปญซีรีส์ในชื่อ ‘MASTERS OF FLAVORS’

อาจจะเพราะว่า MAGURO Group มีร้านอาหารในเครือหลายร้าน จะจัดงานเพื่อบอกกล่าวแทนคำขอบคุณคุณลูกค้าที่เป็น Top Spender (หรือคุณลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายมากที่สุด) ของแบรนด์แต่ละแบรนด์มามัดรวมกันในคราวเดียวอาจจะดูรวบรัดเกินไปสักหน่อย ปี 2023 นี้ MAGURO จึงจัดให้แต่ละร้านอาหารแต่ละแบรนด์ของตัวเองได้ขอบคุณคุณลูกค้าแบบพิเศษเฉพาะตัว ในคอนเซปต์ Give More หรือให้มากกว่าที่ขอ 

ซีรีส์อีเวนต์อาหารขอบคุณลูกค้าของ MAGURO ที่ว่าประกอบไปด้วยอีเวนต์อาหารแสนอบอุ่นและเอกซ์คลูซีฟ 3 อีเวนต์ภายใต้คอนเซปต์ MASTERS OF FLAVORS ที่ MAGURO Group จับมือกับเชฟผู้เป็นมาสเตอร์ที่โดดเด่นและเชื่อมโยงกับร้านอาหารแต่ละร้านในเครือของตนเองได้ 

เริ่มจากอีเวนต์แรก ร้านอาหารปิ้งย่างแบบเกาหลีพรีเมียม Ssamthing together จับมือกับเชฟแบล็ค ภานุภน บุลสุวสุวรรณ เชฟชื่อดังจาก Blackitch Artisan Kitchen ที่เชียงใหม่

เชฟแบล็คเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการอาหารว่าสามารถเอาวัตถุดิบท้องถิ่นมา ‘เล่าใหม่’ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ อีเวนต์อาหารอีเวนต์แรกของร้าน Ssamthing together จึงได้เชฟแบล็คมาตีความวัตถุดิบต่างๆ จากเชียงใหม่และนำมาทำให้เป็นเมนูพิเศษในงาน ทั้งลูกพลับอ่อน มะเขือต้น หรือจะเป็นมะเขือที่มีรสชาติคล้ายบ๊วย และโสมตังกุย

เมนูพิเศษที่เชฟแบล็คเสกสรรขึ้นมา ก็อย่างเช่น น้ำบ๊วยดองเชียงใหม่ผสมมะนาวโซดา, ยำสาหร่ายวากาเมะกับฟักทองบ้านแม่ทาและโอซุน (สลัดต้น), สลัดมันฝรั่งเบคอนสดกับหัวไชโป๊วหวาน, The Golden Yuke (ยุกเกะหมูสามชั้นย่างซอสขมิ้นกับไข่ริวกิวดอง เสิร์ฟพร้อมลูกไหนแดงและพลับอ่อน ทานคู่กับข้าวเกรียบสาหร่ายและข้าวเกรียบกุ้งแห้ง) เป็นต้น

ถัดจากอีเวนต์ปิ้งย่างเกาหลี ก็มาถึงทีของร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชื่อเดียวกันกับ MAGURO Group นั่นคือร้าน MAGURO

อีเวนต์นี้ MAGURO เองคาดว่าน่าจะคิดหนักว่าจะเลือกใครมาเป็นเชฟตัวแทนที่จะเสิร์ฟความพิเศษนี้ให้กับคุณลูกค้า และผลก็ปรากฏออกมาว่า เชฟที่จะมาเสิร์ฟความญี่ปุ่นในอีเวนต์นี้ก็คือ เชฟชิน หรือ ชินจิ อิโนะอุเอะ ผู้ก่อตั้งร้านราเมงชื่อดังของประเทศไทย NO NAME NOODLE

เป็นที่รู้กันดีว่าร้าน NO NAME NOODLE เป็นหนึ่งในร้านราเมงที่จองคิวยากที่สุดในประเทศไทยเพราะแต่ละวันๆ ร้าน NO NAME NOODLE เสิร์ฟราเมงเพียงแค่ 30 ที่เท่านั้น หรือว่าง่ายๆ ก็คือ เป็นร้านราเมงที่ทำราเมงขายเพียงแค่วันละ 30 ชาม

ที่ต้องขายแค่วันละ 30 ชามก็เพราะว่าวัตถุดิบที่เขานำมาใช้ทำนั้นหายากและส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น จึงทำให้จำนวนการผลิตราเมงในแต่ละวันไม่สามารถทำได้มากตามจำนวนความต้องการของลูกค้า 

ด้วยความฮอตของ NO NAME NOODLE และด้วยความประณีตของเชฟชินในการทำราเมงแต่ละถ้วยแต่ละชาม MAGURO จึงร่วมมือกับเชฟชินจัดอีเวนต์ขอบคุณลูกค้าคนพิเศษเป็นอีเวนต์ที่ 2 ของซีรีย์การขอบคุณลูกค้าครั้งนี้ภายใต้คอนเซปต์ Ramen Rhapsody

เริ่มต้นมื้ออาหารพิเศษนี้ ทาง MAGURO เสิร์ฟวาฟุบุตะเมชิ (Wafu Buta Meshi) หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ข้าวหน้าหมูชาชูสไตล์ญีปุ่น ราดซอสโฮมเมดรสกลมกล่อม พร้อมความหอมนุ่มจากข้าวญี่ปุ่นสายพันธุ์โคชิ ฮิคาริ (Koshi Hikari) ที่นุ่มนวลและเม็ดขาวเป็นมันเงา ส่วนตัวเราคิดว่าความนุ่มของข้าวและความนุ่มของหมูชาชูที่เสิร์ฟมามันกำลังพอดีกันในเนื้อสัมผัส และชามที่เสิร์ฟมาก็เป็นขนาดที่กำลังเรียกน้ำย่อยให้เราเป็นอย่างดี

ถัดมาที่เมนคอร์สหลักของอีเวนต์อาหารครั้งนี้คือ ไคเซนสึเคเมน (Kaisen Tsukemen) เมนูโซบะ นู้ดเดิล สูตรเฉพาะของร้าน NO NAME NOODLE ซึ่งเชฟทําเส้นสดด้วยตัวเอง ราดด้วยคอมบุ ดาชิ (Kombu Dashi) กินกับซุปซึเคโชยุ ที่ผสมผสานรสชาติของซุปซึเค โชยุ 4 ประเภทเข้าด้วยกัน พร้อมกับ ซุปหอยเชลล์โฮตาเตะและหอยตลับโอซาริ เสริมรสชาติความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับ MAGURO ให้กับเมนูโซบะนู้ดเดิล ด้วยซาซิมิสดๆ จากร้าน ถึง 6 ชนิด ไข่หอยเม่นอูนิ (Uni), โอโทโระ (Otoro), อากามิ (Akami), แซลมอน (Salmon), หอยเชลล์ (Hotate) ไข่ปลาแซลมอน ทานคู่กับโชยุและวาซาบิ

เราคิดว่าหากจะอธิบายว่าเมนคอร์สนี้ดียังไงให้รวบรัด คงต้องอธิบายแบบกระชับว่า มันคือความลงตัวของน้ำซุปที่เชฟชินปรุงอย่างกลมกล่อมกับเส้นนูดเดิลที่ทำมาเป็นอย่างดี ซึ่งมีความเหนียวอยู่ในทีแต่ก็ไม่เหนียวมากจนเกินไป ยิ่งบวกกับวัตถุดิบที่เป็นปลาสดๆ และหอยเชลล์ ไข่หอยเม่นจาก MAGURO ยิ่งทำให้ ไคเซนสึเคเมน ชามนี้คือ สึเคเมน (ราเมงแบบจุ่ม) น่าจะใกล้คำว่าเพอร์เฟกต์ที่สุดตั้งแต่ที่เราเคยกินมา

ปิดท้ายความพิเศษของอีเวนต์นี้ด้วยไอศครีมยูซุที่มีกลิ่นหอมของส้มยูซุและให้ทั้งรสชาติเปรี้ยวอมหวานในคราวเดียวกัน ถือเป็นการปิดมื้ออาหารที่สมบูรณ์แบบ

อีเวนต์สุดท้ายของซีรีย์นี้คือ อีเวนต์จาก Hitori Shabu ร้านชาบูพรีเมียมภายใต้เครือ MAGURO Group ที่จับมือกับเชฟแรนดี้ ชัยชัช นพประภา เชฟคนดังจากร้าน Fillets

โดยปกตินักกินสายโอมากาเสะคงจะคุ้นหูกับชื่อร้าน Fillets กันเป็นอย่างดี เนื่องด้วยร้านนี้น่าจะเป็นร้านโอมากาเสะร้านดังเจ้าแรกๆ ในประเทศไทย แถมยังคงยืนระยะอยู่ในสนามแห่งโอมากาเสะได้นานจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อ Hitori Shabu จับมือกับ Fillets คอนเซปต์ของการเสิร์ฟชาบูในคราวนี้จึงออกมาในรูปแบบ ‘ชาบูกาเสะ’ หรือการเสิร์ฟชาบูแบบโอมากาเสะนั่นเอง

เริ่มต้นด้วยอาหารเรียกน้ำย่อยคำแรกที่เป็นฟองเต้าหู้เนื้อเนียนนุ่มท็อปด้วยไข่หอยเม่นและไข่ปลาคาเวียร์บวกกับรสของวาซาบินิดๆ ทำให้อาหารเรียกน้ำย่อยคำนี้มีทั้งความนุ่มละมุนและความสดของไข่หอยเม่นอยู่ในทีแต่ก็ตัดเลี่ยนได้อย่างดีด้วยวาซาบิแบบเบาๆ

คำที่สองที่เชฟแรนดี้จัดให้กับแขกที่มาในงานคือ ปลาที่นำไป dry-aged จนแห้งพอดีทั้งตัวแล้วนำมาแล่เป็นชิ้นพอดีคำจากนั้นนำไปลวกแบบพอสุกและนำไปห่อกับผักเสิร์ฟคู่มากับน้ำจิ้มที่ผสมออกมาเป็นอย่างดี จากนั้นไปกันที่คำที่สามนั่นคือข้าวห่อสาหร่ายที่มีเนื้อวากิว A5 ผัดซอสซ่อนอยู่ข้างในแถมท็อปด้วยไข่ดองซีอิ๊วญี่ปุ่นที่ใช้ซีอิ๊วที่ถูกหมักมานานถึง 4 ปีในการดอง

อาหารคำต่อไปก่อนถึงเมนคอร์ส คืออาหารที่มองผิวเผินด้านบนจะเห็นเป็นเพียงเนื้อ A5 ธรรมดาๆ แต่อันที่จริงด้านล่างจะเป็นเส้นโซเมนที่ห่อตัวอย่างดีซ่อนตัวอยู่ภายใต้เนื้อวัว A5

ทีนี้ก็มาถึงไฮไลต์ของอีเวนต์ในคราวนี้ นั่นคือเนื้อวัว 3 ชนิดที่วางเรียงมาในถาดไม้ไผ่อย่างดี เพราะนี่คือ Hitori Shabu ก็ต้องกินเนื้อแบบชาบู นั่นคือ ต้องเอาเนื้อลงไปจิ้มจุ่มในหม้อน้ำซุปชาบูให้สุกแบบกำลังพอดี จากนั้นก็กินตามอัธยาศัย แล้วแต่ว่าคุณจะกินมันแบบนั้นเลยไม่จิ้มอะไรทั้งสิ้น หรือจะกินแบบไทยสไตล์ คือใส่เครื่องปรุงทั้งพริก กระเทียม ต้นหอม ลงไปในโชยุ

ถัดจากเนื้อวัวชั้นดีก็ต้องเป็นการทำข้าวต้ม ที่ให้คุณลูกค้าที่ได้รับเชิญมาในงานอีเวนต์นี้นำข้าวลงไปต้มในหม้อชาบูที่คุณเพิ่งลวกเนื้อเมื่อสักครู่ จากนั้นก็แล้วแต่ความสามารถในการทำกับข้าวของคุณว่าอยากจะใส่ไข่ตามลงไปหรือไม่ หรืออยากเพียงแค่กินข้าวต้มกับน้ำซุปชาบูอร่อยๆ ก็ตามใจ

ปิดท้ายกันที่ไฮไลต์สำคัญของมื้อนี้ นั่นคือไอศครีมซอฟต์เสิร์ฟนมฮออกไกโดและเค้กไข่ไร้แป้ง ที่เนื้อสัมผัสของทั้งเค้กไข่และไอศครีมนุ่มละมุนแบบสุดๆ ปิดท้ายซีรีย์นี้ด้วยความอ่อนโยนและอิ่มท้องกันไปตามๆ กัน

เราเชื่อว่าใครที่มีโอกาสลิ้มรสและสัมผัสประสบการณ์ในซีรีส์ MASTERS OF FLAVORS น่าจะเห็นตรงกันว่า เมนูเหล่านี้น่าจะมีขายจริงในร้าน เพราะมันพิเศษเกินกว่าจะเก็บไว้เพียงในความทรงจำ

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คิดใหญ่และโตไวจากวิสัยทัศน์ของ ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจธนาคารสู่ตลาดต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้ว โดย KBank World Business Group มีพันธกิจสำคัญคืออยากเป็นองค์กรที่สร้างบริการทางการเงินอย่างไร้รอยต่อทุกภูมิภาคในกลุ่มประเทศ AEC + 3 ที่มีถึง 13 ประเทศ

ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกกับเราว่า “ความฝันก็คือต่อไปเวลาคุณไปเมืองนอก คุณไม่ต้องเอากระเป๋าสตางค์ไปก็ได้ สามารถใช้แอปพลิเคชั่น K PLUS จ่ายเงินที่ต่างประเทศได้เลย อย่างวันนี้สามารถใช้ K PLUS ที่ญี่ปุ่นได้แล้ว แล้วต่อไปประเทศที่ใช้ได้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“ต้นปีหน้าเราจะสามารถใช้แอปฯ ธนาคารสแกนที่ สปป ลาวได้ แล้วถัดไปก็จะเป็นกัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเราสแกน mobile banking ที่ประเทศเขานะ คนประเทศอื่นก็มาใช้แอปฯ ของเราจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยได้เหมือนกัน”  

เบื้องหลังการขยายธนาคารสู่ประเทศใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีความท้าทายมากมายทั้งเรื่องวัฒนธรรมของลูกค้าที่แตกต่าง การสร้างแบรนด์ใหม่และบุกตลาดใหม่ล้วนเต็มไปด้วยบทเรียนและวิธีคิดที่น่าสนใจ

ชวนฟังเรื่องราวการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ชัชบอกว่าทำให้ KBank World Business Group สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายธุรกิจในการสร้างโลกแห่งการเงินที่ไร้รอยต่อได้ไม่ว่าจะเจออุปสรรคที่ท้าทายเพียงใด

Way of Work : Agile รูปแบบการทำงานที่ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ไว

1. Lean เน้นความไวและคล่องตัว 

ในโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว KBank World Business Group จึงออกแบบโครงสร้างองค์กรให้ทำงานแบบ agile ซึ่งหมายถึงการมีความยืดหยุ่น เน้นความไวและคล่องตัวของทีมที่ประกอบด้วยบุคลากรหลายทักษะในโปรเจกต์เดียว

ชัชเล่าว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ทำให้พนักงานมีทางเลือกในการเติบโตเยอะมาก หากใครยกมือว่าอยากไปทำงานต่างประเทศก็จะได้ไป ไม่ว่าจะเป็นทีม sales, product, operation, finance หรือ management ฯลฯ

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือพนักงานแต่ละคนจะได้ทำงานที่หลากหลาย และในขณะเดียวกันก็จะได้เจอทีมงานที่หลากหลายด้วย มันไม่ใช่การทำงานที่คุณอยู่ฝ่ายเดิม เจอเพื่อนคนเดิม หัวหน้าคนเดิม และมีเป้าหมายเดียวตลอดเวลา เป้าหมายของคุณจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงว่าตอนนั้นธนาคารกำลังพยายามทำอะไรอยู่ในแต่ละตลาด เพราะฉะนั้นคุณก็จะเจอกับงานที่หลากหลาย แล้วก็จะเจอผู้คนเยอะแยะไปหมดเลย พนักงานที่จะมาทำงานแบบนี้ก็ต้องปรับตัวเร็วแล้วก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้”  

2. Squad โตแบบก้าวกระโดดด้วยหลายทักษะในทีม 

ชัชบอกว่าการทำงานแบบ agile นั้นเหมาะกับองค์กรอย่าง KBank World Business Group ที่กำลังเติบโต คิดค้นฟีเจอร์ใหม่ สร้างสิ่งใหม่ และขยายตลาดใหม่อยู่เสมอ โดยวิธีการทำงานแบบรวมคนหลายทักษะมาอยู่ด้วยกันในโปรเจกต์เดียวนี้เรียกว่า squad และวิธีนี้ทำให้สามารถทำงานแต่ละโปรเจกต์เสร็จอย่างรวดเร็วและทำให้ธุรกิจโตอย่างก้าวกระโดด

“ผมคิดว่ามันสำคัญที่เราสามารถถ่ายโอนบุคลากรที่มีทักษะหนึ่งไปทำงานโปรเจกต์ใหม่ได้ตลอดเวลา ถ้าพอมานั่งแก้ปัญหาแล้วเห็นว่าโปรเจกต์ที่คิดขึ้นมาใหม่ขาดทีมใน 2 ทักษะนี้ไป ก็จะมีความชัดเจนในการจัดการว่าทีมต้องการ input จากทักษะตรงนี้เพิ่ม เพราะฉะนั้นพาร์ตที่ทำให้งานเดินหน้าเร็วมากๆ คือการ  mobilization หรือโอนย้ายทักษะในการสร้างสิ่งใหม่ ผมคิดว่ามันเป็นโครงสร้างที่เหมาะกับธุรกิจที่กำลังขยายหรือต้องการแตกไลน์ กำลังจะทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในบริษัทเยอะๆ”

3. Diversity เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยทีมจากหลายประเทศ    

ความท้าทายในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนคือวัฒนธรรมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แม้ว่าหน้าตาของผลิตภัณฑ์การเงินจะคล้ายกัน แต่พฤติกรรมการใช้งานในแต่ละประเทศล้วนมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

“เพราะฉะนั้นในแต่ละที่ที่เราไป เราต้องเข้าใจให้ได้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร มีพฤติกรรมแบบไหน แล้วก็ต้อง customize บริการและผลิตภัณฑ์ของเราให้ถูกใจเขา” กลยุทธ์ในการทำความเข้าใจลูกค้าของชัชคือเมื่อขยายธนาคารไปยังประเทศไหนก็ใช้พนักงานเป็นคนท้องถิ่นของประเทศนั้นและปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของผู้คนที่นั่น

“นอกจากการให้บริการลูกค้าไทยที่ต่างประเทศแล้ว เราสร้างธนาคารขึ้นมาเพื่อให้บริการลูกค้าท้องถิ่นด้วย โดยที่เราเอาจุดแข็งต่างๆ ที่เรามีในเมืองไทยไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตลาดที่นั่น เราเลยออกแบบเป้าหมายและสิ่งแวดล้อมโดยปรับให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของเขา ว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร และสิ่งสำคัญคือเรามีความจริงใจ เรามีความตั้งใจว่าจะทำให้ทุกที่ที่เราไปเป็น employer of choice เป็นที่ทำงานที่คนอยากมาทำงานด้วย เปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาตัวเอง ได้เติบโต แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”  

Spirit of Team : คุณค่าทั้งสี่ของการทำงานในแบบ KBank WBG 

1. Push Beyond the Limits ปลดปล่อยศักยภาพได้ไร้ขีดจำกัด  

ในประเทศไทยไม่น่าจะมีใครไม่รู้จักธนาคารกสิกรไทย แต่ชัชบอกว่าเวลาเข้าสู่ตลาดใหม่ก็เหมือนเริ่มใหม่ 

“เราต้องจำไว้ว่าเวลาเราเข้าสู่ตลาดใหม่ เราเป็นผู้เล่นรายเล็กในตลาดใหม่ เราจะตั้งเป้าให้ท้าทายอยู่ตลอด ตั้งเป้าให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วค่อยไปหาทางทำให้เกิดขึ้นกัน”

ยกตัวอย่างเช่น การเปิดตัว mobile banking ที่เวียดนามซึ่งเรามีสาขาของธนาคารกสิกรแค่สาขาเดียวเท่านั้นและยังไม่ค่อยมีคนรู้จักชื่อกสิกรเท่าไหร่ จึงตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้ภายในปีแรกให้ถึง 500,000 คน เพราะคิดว่าจากคนเวียดนามหลายสิบล้านคนที่ใช้ mobile banking ในตลาดเวียดนามอยู่แล้วน่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดที่จะได้ผู้ใช้หลักแสนในปีแรก แล้วไว้ใจให้เป็นหน้าที่ของทีมในการแก้โจทย์ที่ท้าทายต่อไป

ด้วยมายด์เซตแบบนี้ทำให้อัตราการเติบโตทางธุรกิจของ KBank World Business Group
โตเป็นเท่าตัวในทุกครั้งที่ขยายตลาดใหม่  

2. Win as a Team สร้างทีมสปิริต พิชิตทุกเป้าหมายไปด้วยกัน

ในการทำธุรกิจแบบ agile ทุกคนในทีมต้องมีเป้าหมายเดียวกันและถูกประเมินผลด้วยตัวเลขเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ทั้งทีมเทคโนโลยี ทีมโอเปอเรชั่น ทีมโปรดักต์ ทีมขาย และทีมการตลาด เมื่อเข้ามาอยู่ในโปรเจกต์เดียวกันแล้ว ชัชบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของทีมร่วมกันในการช่วยกันทำงานให้เสร็จ 

“ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยบ้านๆ agile ก็คืองานกลุ่ม เพราะฉะนั้นทั้งกลุ่มได้คะแนนเท่ากัน และก็ Win as a Team ทำไม่สำเร็จก็ล่มด้วยกันทั้งทีม เพราะฉะนั้นมันเป็นการต่อสู้ไปด้วยกัน” 

3. Learn & Develop ประสบการณ์ใหม่ให้โตได้ในสนามจริง

สิ่งสำคัญที่ชัชบอกว่ามองหาในพนักงานคือการพร้อมเรียนรู้ ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน “สำหรับเรา เราไม่ได้กังวลว่าคุณเคยทำแบงก์มาก่อนเยอะแยะหรือเปล่า เพราะว่าพอไปตลาดใหม่ มันก็เป็นเรื่องใหม่ ผมเคยพาทีมไปเปิดธนาคารสาขาใหม่ที่เซินเจิ้นในประเทศจีน เรามาเดินถามผู้บริหารในแบงก์ที่ไทยว่าเปิดธนาคารใหม่ทำยังไง แต่ไม่มีใครรู้ ทุกคนมาทำงานกสิกรไทยในวันที่กสิกรเป็นธนาคารขนาดใหญ่แล้วและธนาคารของเราก็เปิดเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว 

“ดังนั้นพอบอกว่าจะต้องเปิดธนาคารใหม่ ทั้งธนาคารก็ไม่มีใครทำเป็น ก็ค่อยๆ ไปเปิดตำราทำกัน ลองผิดลองถูก จนกระทั่งกลายเป็นทีมที่เปิดธนาคารเป็น เราเปิดสาขาใหม่ที่เฉิงตูใช้เวลา 1 ปี พอมาเปิดสาขาที่เวียงจันทน์ใช้เวลา 9 เดือนเพราะทำเป็นแล้ว หลังจากนั้นไปเปิดสาขาที่พนมเปญใช้เวลา 7 เดือนกว่า เปิดสาขาที่เวียดนามในช่วงโควิด-19 เลยเปิดเป็นออนไลน์ซึ่งก็เปิดได้ด้วย” 

ชัชบอกว่าเบื้องหลังในทีมจะมีคำพูดว่า “ใครทำ คนนั้นได้” เพราะความรู้จากการลงมือทำอยู่กับคนที่ได้ทำ ถ้าไม่เคยลองทำก็จะไม่มีวันเรียนรู้ 

4. Create a Better Tomorrow สร้างสรรค์งานที่เปลี่ยนทุกชีวิตให้ดีขึ้น

 ชัชมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีบริการทางการเงินสุขสบายในระดับแนวหน้าของโลก สามารถใช้ mobile banking แบบไม่มีค่าธรรมเนียม อยากโอนเงินตอนตี 3 ก็ทำได้ โดยก่อนจะเป็นยุคของ digital banking นั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีช่องทางบริการทางการเงินต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลกอีกด้วย เดินไปที่ไหนก็เจอตู้เอทีเอ็มได้ไม่ยาก 

“เราเชื่อว่าการมีบริการทางการเงินที่ดีทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น คุณไม่ต้องเสียเวลาไปยืนรอเข้าคิวทำธุรกรรมกับธนาคารนานๆ การที่เรามีบริการทางการเงินที่มีราคาถูก สะดวก ไม่เสียเวลา เราคิดว่ามันมีความหมายกับชีวิตคน เรายังเป็นธนาคารที่มีกำลังพอในการสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้ เมื่อธุรกิจเติบโตก็เกิดงาน ก็เป็นวงจรที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแล้วก็โลกเดินหน้าต่อไป คุณภาพชีวิตคนก็จะดีขึ้น”  

ด้วยเหตุนี้ KBank World Business Group จึงตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังตลาดที่บริการทางการเงินยังพัฒนาได้อีกเยอะอย่างในอาเซียน เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างอิมแพกต์ได้มากกว่าตลาดที่มีบริการทางการเงินดีอยู่แล้ว โดยได้ปลูกฝังความเชื่อนี้ให้ทีมเชื่อแบบเดียวกัน   

สุดท้ายชัชสรุปถึงคุณสมบัติของคนที่ KBank World Business Group ใฝ่หาคือต้องเป็นคนที่อยากเรียนรู้อยู่เสมอ

“ที่นี่ไม่เหมาะกับคนขี้กลัว ข้อหนึ่งต้องเดินทางได้เพราะเราอยู่ต่างประเทศ ข้อสองเป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำ เพราะคุณจะได้ทำสิ่งที่คุณไม่เคยทำมาก่อนแน่ๆ ข้อสามก็คือยินดีที่จะออกแรงและเรียนรู้ เพราะว่าพอกล้าคิดกล้าทำแล้ว ถ้าอยากจะทำให้ดีก็ต้องมีความรู้ บางอย่างอาจจะถึงกับต้องเปิดตำราทำ บางเรื่องมันก็ไม่มีคนสอนจริงๆ ฉะนั้นมันมีสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา แล้วก็ต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูง เพราะว่างานที่เราทำมันยาก ต้องชอบของยาก 

“แต่ผมคิดว่างานยากเป็นรางวัลนะ คือคุณจะได้รู้อะไรเยอะมาก ทำงานนี้เสร็จไปคุณก็จะรู้สึกว่าชีวิตปกติมันง่ายขึ้นเยอะ เพราะว่ามันต้องอึดในการที่จะฝ่าไปให้ได้ แล้วก็เราชอบตั้งเป้าเยอะด้วยนะ งานที่ยากอยู่แล้วก็จะยิ่งยากขึ้นอีกเรื่อยๆ  

“ต้องเป็นคนที่ชอบความท้าทายและมีสปริตให้ครบทั้ง 4 มุม ผมคิดว่าการได้ทำงานที่มันมีความหมายเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่แล้ว แต่การทำงานที่มีความหมายและเป็นเรื่องใหม่ให้สำเร็จได้ก็ต้องเรียนรู้เยอะ พัฒนาตัวเองตลอดเวลา สำคัญที่สุดคือมันไปคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องมาช่วยกันทำ”



เที่ยวตามรอยวรรณกรรม การเกิดขึ้นของด้อมนักท่องเที่ยวหญิง และการไปลอนดอนเพราะชาลส์ ดิกคินส์

ช่วงที่ซีรีส์เกาหลีกำลังบูมในไทย หนึ่งในกระแสต่อเนื่องคือการที่เกาหลีเปิดพื้นที่และแนวทางการท่องเที่ยวให้ทั่วโลกเดินทางเพื่อไปตามรอยเรื่องราวในสถานที่จริง การตามรอยหรือการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นจากละครหรือพื้นที่ที่เป็นเรื่องแต่ง บ้านเราเองล่าสุดก็มีการตามรอยออเจ้า เกิดเป็นกระแสชุดไทยและการไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ในอยุธยา 

อันที่จริงการท่องเที่ยวเชิงตามรอยเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นสักพักแล้ว ในยุคก่อนซีรีส์ กระแสสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงคอนเทนต์มาจากวรรณกรรมและงานเขียนต่างๆ จุดเริ่มของการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมหรือ literary tourism มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ภาพของประเทศอังกฤษปะปนไปด้วยภาพที่มาจากพื้นที่ในจินตนาการ เราอาจนึกถึงชานชลาที่ 9 ¾ คิดถึงบ้านที่ถนนเบเกอร์ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ นึกถึงชีวิตของคุณนายดัลโลเวย์ นอกจากลอนดอนแล้วเราอาจจะนึกถึงเมืองชนบทที่เป็นบ้านเกิดของเชคสเปียร์ และเมืองอื่นๆ ที่อาจสัมพันธ์กับวรรณกรรมเยาวชนที่อ่านสมัยเด็กเช่นนาร์เนีย ไปจนถึงป่าร้อยเอเคอร์ของวินนี่เดอะพูห์

ไม่แปลกที่ถ้าวันหนึ่งเราได้เดินทางไปยังอังกฤษ แล้วเราจะได้ไปเยี่ยมสถานีคิงส์ครอสสักครั้ง หรือได้แวะไปพื้นที่ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและฉากหลังของเจน ออสเตน การท่องเที่ยวจากวรรณกรรมเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เมืองเล็กๆ บ้านเกิดเชคสเปียร์ที่กลายเป็นหมุดหมายคนรักวรรณคดีเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว 2-3 ล้านคนต่อปี ร้านของชำร่วยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สถานีรถไฟลอนดอนเองก็มีลูกค้าหลักล้านคนเช่นเดียวกัน

ถ้าเรามองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงตามรอย การเดินทางไปยังอังกฤษ โดยเฉพาะกรุงลอนดอน เกิดเป็นกระแสปลายทางของการท่องเที่ยวมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เป็นกระแสที่เกิดจากความนิยมในนวนิยายของชาลส์ ดิกคินส์ และในจุดเริ่มต้นจริงๆ ก็มาจากนักเขียนหญิงคนสำคัญอีกท่านจากอเมริกาคือ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) นักเขียนหญิงเจ้าของงานเขียนอเมริกันสำคัญคือ สี่ดรุณี หลังจากการตามรอยไอดอลและตีพิมพ์บันทึกการเดินทาง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของลอนดอนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ งานเขียนของดิกคินส์ก็ทำให้เกิดกระแสจินตนาการถึงลอนดอนเก่า (old London) นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงตามรอยเพื่อตามหาลอนดอนของดิกคินส์ (Dickens’s London) ที่เป็นกระแสต่อเนื่องมากว่าร้อยปี

สาวทึนทึกบุกลอนดอน
การเกิดขึ้นของนักท่องเที่ยวหญิง

กระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม คือการเที่ยวลอนดอนตามรอยงานเขียนของชาลส์ ดิกคินส์ เป็นกระแสฮิตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1870-1880s คือเป็นกระแสจริงจังหลังจากดิกคินส์เสียชีวิตในปี 1870 คำว่าเป็นกระแสฮิตคือพื้นที่สำคัญๆ เช่นโรงแรมหรูของลอนดอนเริ่มมีการจัดนำเที่ยวตามรอยวรรณกรรม มีหนังสือ ข่าวสาร บทความ บันทึกท่องเที่ยว และคู่มือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่และเรื่องราวของเมืองลอนดอนที่สัมพันธ์หรือถูกเล่าถึงในนวนิยายของดิกคินส์ หนึ่งในหนังสือสำคัญคือ Dickens’s Dictionary of London เขียนโดยลูกชายคนแรกของดิกคินส์เอง ตีพิมพ์ใน 1879 พจนานุกรมเป็นการรวมสถานที่ที่ปรากฏหรือเกี่ยวข้องกับนวนิยายของดิกคินส์ มีการเชื่อมโยงถึงความเป็น old London ด้วย

ย้อนไปก่อนที่ดิกคินส์จะเสียชีวิตเล็กน้อย หนึ่งในผู้จุดกระแสการท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในผู้เริ่มกระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจากอเมริกาไปยังลอนดอน คือลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ตัวเมย์เองมีความน่าสนใจคือเป็นผู้หญิงอเมริกันที่เป็นอิสระ ไม่แต่งงาน ตัวเธอเองเป็นศิลปินและกลายเป็นนักเขียนคนสำคัญซึ่งแน่นอนว่างานเขียน Little Women กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและเรื่องราวอบอุ่นของครอบครัวและพี่น้องผู้หญิง ในปี 1866 สองปีก่อนตีพิมพ์ สี่ดรุณี เมย์ ได้เดินทางไปยังเมืองลอนดอนโดยตั้งใจไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ถูกเล่าถึงไว้ในนวนิยายของดิกคินส์ ไอดอลด้านการเขียนของเธอ และยังตั้งใจไปชมการบรรยายของดิกคินส์ คือไปพบไอดอลตัวเป็นๆ ด้วย

ในการเดินทางของอัลคอตต์ เธอเองได้เขียนเป็นบันทึกไว้ สถานที่ที่เธอไปก็เป็นจุดหมายท่องเที่ยวของลอนดอนเช่นหอคอยลอนดอน วิหารเซนต์ปอลล์ พระราชวังวินด์เซอร์ ในบันทึกของเธอระบุไว้ว่าเธอรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในวรรณกรรม แต่ทว่าในแผนการเดินทางการคือการไปชมนักเขียนไอดอล ซึ่งเธอบันทึกไว้อย่างไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ เธอบอกว่าดิกคินส์ดูเป็นชายชราที่สำรวย ใส่แหวนเพชร แต่งตัวหรูหรา (น่าจะขัดกับเรื่องที่เขียนถึงคือเป็นการใช้ชีวิต การต่อสู้ดิ้นรนใช้ชีวิตในลอนดอนในฐานะเมืองใหญ่)

ทีนี้ตัวอัลคอตต์เองเป็นนักเขียนและเป็นนักเดินทางอยู่แล้ว เช่นเดินทางไปเรียนศิลปะที่ยุโรปและมีการเผยแพร่ข้อเขียนของเธอ บันทึกการท่องเที่ยวและการพบเห็นชาลส์ ดิกคินส์ ของเธอก็ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ในการเดินทางของเธอก็มีความน่าสนใจคือเรียกตัวเองว่าเป็นสาวทึนทึกบุกตะลุย (spinster on the rampage) การเดินทางเพื่อตามรอยไอดอลของเธอมีความน่าสนใจในตัวเอง คือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งท่องเที่ยวโดยมีจุดหมายในฐานะแฟนคลับ เป็นนักอ่าน เป็นสาวโสดที่ทำงานและมีเงิน สามารถเดินทางข้ามทะเลแอตแลนติกไปได้

การเดินทางไปมานี้จึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ คือเราจะเห็นการเดินทางข้ามของงานเขียนและความนิยมในวรรณกรรม การที่งานเขียนของดิกคินส์ถูกเผยแพร่ไปยังอเมริกาและการที่ลอนดอนกลายเป็นจุดหมายของชาวอเมริกันที่เดินทางไปท่องเที่ยวโดยมีจุดมุ่งหมายจากงานเขียนที่พวกเขารัก

ความพิเศษที่มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือการที่อัลคอตต์เองเป็นเหมือนตัวแทนหน่ึงของกิจกรรมการเดินทางของสุภาพสตรี การเดินทางของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสลอนดอนเก่า ในทศวรรษ 1880 มีกิจการสำคัญคือเกิดสมาคมมัคคุเทศก์หญิง ผลิตไกด์ทัวร์หญิงที่เรียกว่า ‘สุภาพสตรีผู้เฉลียวฉลาด (intelligent gentlewoman)’ เป็นกิจการนำเที่ยวที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสุภาพสตรีโดยเฉพาะ เป็นอาชีพของเหล่าผู้หญิงที่มีความรู้ มีความสุภาพเรียบร้อยที่จะพาเหล่านักท่องเที่ยวหญิงด้วยกันท่องเที่ยวและเล่าเรื่องราวของกรุงลอนดอนที่เชื่อมโยงกับวรรณกรรมของดิกคินส์ได้อย่างคล่องแคล่ว

การเกิดขึ้นของสมาคมและนักเที่ยวสตรีนี้จึงเป็นหมุดหมายหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม ทั้งการเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้บริการนำเที่ยว เป็นภาพของผู้หญิงที่ได้รับการศึกษา มีความเชี่ยวชาญ อ่านออกเขียนได้ และปรากฏตัว เดิน และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เมือง หลังจากกระแสดิกคินส์ ในช่วงปี 1890 ลอนดอนเกิดกระแสท่องเที่ยวใหม่คือตามรอยแจ็ค เดอะริปเปอร์ หลังจากนั้นเหล่าไกด์ทัวร์สุภาพสตรีก็เริ่มขยายไปนำเที่ยวตามกระแสความสนใจใหม่ด้วย

ลอนดอนเก่า อดีตที่ผู้คนตามหา

ประเด็นเรื่องลอนดอนเก่ากลายเป็นกระแสอย่างสำคัญมากไม่ใช่แค่การท่องเท่ียว แต่นวนิยายของดิกคินส์สัมพันธ์กับบริบทลอนดอนในยุคเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ เป็นส่วนหน่ึงของความฝันและจินตนาการกลับไปสู่ลอนดอนที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในบทสัมภาษณ์ของ Lee Jackson นักวิชาการที่วิจัยการก่อตัวของการท่องเที่ยวจากชาลส์ ดิกคินส์ และเจ้าของหนังสือ Dickensland ชี้ให้เห็นว่าตัวชาลส์ ดิกคินส์ เองใช้ชีวิตในช่วงรอยต่อที่ลอนดอนกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ตัวดิกคินส์ได้เลือกแง่มุมของลอนดอนเก่าไว้เช่นการให้ภาพสุสานและโบสถ์ที่ยังมีความสำคัญในเมือง ภาพโรงเตี๊ยม ศาลที่ยังเป็นมรดกจากลอนดอนในยุคก่อนหน้า และละการพูดถึงสิ่งใหม่ๆ เช่น ถนน สะพาน ไปจนถึงระบบระบายน้ำ

ในยุคสมัยหลังดิกคินส์เสียชีวิต ด้วยการรับเกียรติของดิกคินส์ที่ได้เข้าฝังในสุสานกวีของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ การเริ่มกระแสท่องเที่ยวจากฝั่งอเมริกามายังลอนดอน ลอนดอนในยุคหลังดิกคินส์จึงเป็นลอนดอนที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ภาพของลอนดอนที่ถูกเขียนลงในงานของดิกคินส์จึงกลายเป็นภาพและกลิ่นอายของเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวันตาย เป็นพื้นที่เชิงจินตนาการที่ผู้คนเดินทางไปมองเห็นหรือจินตนาการถึงในพื้นท่ีจริง

ประเด็นเรื่องการเป็นภาพอดีตของลอนดอนในกระแสลอนดอนเก่าของดิกคินส์ นอกจากจะนำไปสู่กิจการการค้าและการท่องเที่ยวแล้ว ยังไปเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ด้วย ดิกคินส์มีนวนิยายเล่มหนึ่งชื่อ The Old Curiosity Shop ตีพิมพ์ในปี 1841 ทีนี้ในย่านบลูมส์เบอรี ย่านคนชิคของลอนดอนที่ดิกคินส์ใช้ชีวิตอยู่ มีร้านโบราณร้านหนึ่งรับสมอ้างว่าเป็นร้านประจำและเป็นแรงบันดาลใจของร้านในนวนิยายของดิกคินส์ หลังนวนิยายออก ร้านก็เลยรับสมอ้างเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อร้าน แถมยังใส่คำสร้อยว่าเป็นมรดกที่ไม่มีวันตายเพราะชาลส์ ดิกคินส์

ภายหลังนักวิชาการค่อนข้างระบุว่าร้านค้าดังกล่าวกุเรื่องขึ้นมาเอง ทว่าในกระแสการท่องเที่ยวของอเมริกันมายังลอนดอนเพื่อตามรอยดิกคินส์ตั้งแต่แรกเริ่มเลย ร้านแห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ตัวร้านเองก็ปรับตัวกลายเป็นร้านขายของที่ระลึก มีกระปุกใส่มัสตาร์ดหน้าตาเป็นร้านของตัวเอง มีออกประกาศนียบัตร มีการขายหนังสือของดิกคินส์

อย่างไรก็ตาม ร้านเก่าแก่นี้เป็นมรดกเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 คือเป็นร้านโครงสร้างไม้แบบที่ตกทอดมาจากยุคกลาง เป็นหน่ึงในสถาปัตยกรรมที่ยังตกทอดมาของกรุงลอนดอน ด้วยพลังของเรื่องเล่า สุดท้ายอาคารแห่งนี้ได้ข้ึนทะเบียนเป็นอาคารมรดกด้วยความเกี่ยวข้องกับดิกคินส์ กลายเป็นอาคารได้รับการบูรณะและกลายเป็นหมุดหมายของคนรักหนังสือ

การอนุรักษ์และภาพลอนดอนเก่ายังสัมพันธ์อีกหลายมิติ เช่นการเกิดขึ้นของสมาคมภาพถ่ายอาคารโบราณแห่งลอนดอนเก่า (The Society for Photographing the Relics of Old London) ก่อตั้งในปี 1875 สมาคมถ่ายภาพเกิดจากความพยายามในการรักษาร้าน The Oxford Arms โรงเตี๊ยม จุดพักนักเดินทางเก่าที่กำลังจะถูกรื้อ ในการอนุรักษ์มีการถ่ายภาพอาคารเก่าไว้เพื่อเผยแพร่คุณค่าเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ สุดท้ายสมาคมภาพอาคารโบราณจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บและเผยแพร่ภาพลอนดอนในมุมเก่าแก่ที่อบอวลไปด้วยความขลัง กลายเป็นส่วนหนึ่งของมนตร์เสน่ห์และการร่วมเดินทางตามหาลอนดอนยุคก่อนต่อไป

จากบันทึกการเดินทางของนักเขียนหญิง อิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อภาพจินตนาการของเมือง ยุคสมัยที่การเดินทางและการอ่านเขียนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักคิด ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมหรือ literary tourism กำลังเป็นอีกหนึ่งกระแสการท่องเที่ยว ทาง Future Market Insights ทำรายงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นแตะ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032 กระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมเกี่ยวข้องกับอิทธิพลการท่องเที่ยวจากโซเชียลมีเดีย การเดินทางที่มีรายละเอียดและความหมายมากขึ้น พื้นที่ท่องเที่ยวสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม กระแสการท่องเที่ยวสัมพันธ์กับบริบทเมืองที่มองเห็นความสำคัญของวรรณกรรม สหราชอาณาจักรเองก็มีการชูพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กายภาพและเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม การส่งเสริมหรือมีพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม การมีอุตสาหกรรมหนังสือ มีพื้นที่สาธารณะเช่นห้องสมุดที่เพียงพอ มีเทศกาล และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน ไปจนถึงการแปล ก็เป็นเงื่อนไขที่ร่วมส่งเสริมให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็นเมืองที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวรรณกรรม และกลายเป็นปลายทางของคนรักการอ่านต่อไป

อ้างอิง

4 องค์ประกอบคู่ตรงข้ามของ ฌอน ชวนล แห่ง POEM ที่สร้างสมดุลและขับเคลื่อนสังคม จากงาน TEDxBangkok ‘See Sound Seen’

สำหรับใครที่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน TEDxBangkok ปีนี้ น่าจะได้รับพลังทั้งจากกิจกรรมต่างๆ และจากเรื่องเล่าของเหล่าสปีกเกอร์มากหน้าหลายตา โดยปีนี้ธีมของ TEDxBangkok คือ ‘See Sound Seen’ See the Unheard, Hear the Unseen ที่เชื่อว่าทุกเสียงมีความหมาย

หนึ่งในเซสชั่นที่หลายคนเฝ้ารอคือทอล์กของ ฌอน–ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งห้องเสื้อแบรนด์ไทย POEM ที่มาแชร์ถึงการบาลานซ์สิ่งที่เป็นอุดมการณ์และอุดมคติในชีวิตก่อนชีวิตจะมาถึงวันนี้ ไล่ตั้งแต่การเรียน ความชอบ สังคม และธุรกิจ ผ่านการยึดโยงทฤษฎีองค์ประกอบคู่ตรงข้าม เพื่อสร้างสมดุลและขับเคลื่อนสังคมต่อไป

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 1 : เด็กสายวิทย์ และความชอบทางศิลปะ

หลายคนคงรู้จัก POEM (โพเอม) แบรนด์โปรดของสาวๆ ที่หลงใหลความเรียบหรู และตั้งเป้าว่าชีวิตนี้ต้องได้เป็นสาว POEM สักครั้ง กว่าแบรนด์จะเดินทางมาสู่ความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เส้นทางของฌอนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ฌอนเล่าว่า เดิมทีตนเองเป็นเด็กสายวิทย์ที่ชื่นชอบวิชาศิลปะ เพราะเป็นวิชาที่ตนเองทำคะแนนได้ดี และเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ฌอนจับพลัดจับผลูเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานในตอนนี้ 

แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว 2 องค์ประกอบที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างความเป็นเด็กสายวิทย์ที่เรียนสถาปัตย์ กับความชอบทางศิลปะ เป็นองค์ประกอบที่เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในตอนเรียนภาคเช้า ฌอนเรียนสถาปนิกออกแบบ ภาคบ่ายเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ทำให้ฌอนได้เข้าถึงองค์ความรู้ในการบาลานซ์เรื่องความงามและการใช้สอย

ในขณะเดียวกันฌอนได้ค้นพบความสนใจเฉพาะทาง นั่นคือการทำเสื้อผ้าสำหรับละครเวทีสถาปัตย์ ด้วยความที่สนใจเสื้อผ้าเป็นทุนเดิม มีแม่เป็นช่างตัดเสื้อ จึงได้รับโอกาสให้ทำเสื้อผ้าทุกปี และในช่วงปิดเทอมฌอนจะนำเสื้อผ้า ชุดคอร์เซตกลับบ้านเพื่อนำไปศึกษากับแม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาได้พบองค์ประกอบคู่ตรงข้ามอย่างหนึ่งในชีวิต คือ แม้จะเติบโตมาในร้านตัดเสื้อของแม่ แต่ฌอนกลับไม่ชอบผลงานของแม่เท่าไหร่นัก

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 2 : ความฝัน และความเป็นไปได้

จากมุมมองความขัดแย้งขององค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่เห็น ทำให้ฌอนตัดสินใจสานฝันสร้างแบรนด์ของตัวเอง ด้วยความคิดเร็วทำเร็วนี้ทำให้เขาตัดสินใจเช่าหน้าร้านที่สยาม นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายก้อนโต 120,000 บาทต่อเดือน และในเวลานั้นก็เป็นยุคฟองสบู่แตก ผู้คนไม่นิยมตัดเสื้อผ้าใส่เอง ถือเป็นความกดดันที่หนักที่สุดของคนอายุ 22

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ฌอนได้นำเสื้อผ้าที่ตนเองออกแบบ โดยมีแม่รับหน้าที่ทำแพตเทิร์นไปฝากขายในร้านต่างๆ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี และมักจะได้รับคำถามว่า “น้องหาช่างจากที่ไหน นี่ฝีมือดีระดับแบรนด์เนมเลยนะ” 

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฌอนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างแบรนด์ POEM และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นคุณค่าของงานที่แม่ทำ

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 3 : ตัวตนของแบรนด์ กับเทรนด์แฟชั่น

เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างแบรนด์อยู่แล้วว่าทุกแบรนด์ต้องมีเอกลักษณ์และมีตัวตนที่ชัดเจน แต่ความยากของการทำแบรนด์เสื้อผ้าคือ เทรนด์แฟชั่น ที่มักจะทำให้แบรนด์ไม่เป็นตัวของตัวเอง POEM ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน

ฌอน เล่าว่า POEM มีภาพชัดเจนว่าผู้หญิงของเราเป็นยังไง ซึ่งแทบจะไม่ใช่กระแสหลักในเวลานั้น เนื่องจากเทรนด์แฟชั่นที่เห็นส่วนใหญ่จะมาแนวสดใส ผู้หญิงทุกคนแต่งตัวเหมือนตุ๊กตา ในขณะที่ผู้หญิงของ POEM ไม่ใช่แบบนั้น เขาจึงใช้เวลากว่า 6 ปีในการบาลานซ์ความเป็น POEM ให้เข้ากับเทรนด์แฟชั่น โดยไม่ลืมว่ากำลังทำธุรกิจ สินค้าต้องถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์ และที่สำคัญคือต้องขายได้

เมื่อเวลาผ่านไป POEM เริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับมากขึ้น ก็มาถึงความท้าทายใหม่ ด้วยความที่ภาพจำของ POEM คือ ผู้หญิงแบบสุดโต่ง คำถามจากสังคมที่ส่งผ่านมาถึงฌอนจึงเป็นคำถามที่ว่า “คุณจะสร้าง empowering ให้ผู้หญิงอย่างไร”

ในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ ฌอนพยายามปลูกฝังการทำคอร์เซตให้คนเจเนอเรชั่นต่อไป ถือเป็นคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่ต้องการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งคุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงสามารถแต่งตัวยังไงก็ได้ ตราบใดที่รู้จักตัวเอง รู้กาลเทศะ และรู้เรื่องการบริหารการเงิน

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 4 : ความหลากหลาย และอุดมการณ์

หลายคนอาจมองภาพของผู้หญิง POEM ต้องผอมบางหรือมีเอวเอส ทว่า ในปี 2019 โลกได้รู้จักโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนค่านิยมในสังคมไทยและทั่วโลกให้เห็นคุณค่าของความหลากหลาย

สำหรับแบรนด์ POEM ที่สื่อสารเรื่องความงามของผู้หญิงในอุดมคติผ่านเสื้อผ้าแบบคอร์เซตมาตลอด จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์เสื้อผ้า Collection Autumn Winter ปี 2022 โดยแบรนด์ได้เลือกใช้น้ำตาล ชลิตา สำหรับพรีเซนต์เสื้อผ้า และในส่วนของ Runway แบรนด์เลือกนางแบบ plus size ที่สวมใส่ชุดเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องกายภาพในเชิงความหลากหลาย 

เพราะความหลากหลายในมุมมองของ POEM ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ ไซส์ สีผิว หรือเชื้อชาติ แต่ยังรวมถึงความหลากหลายเรื่องนามธรรมอย่างการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การบาลานซ์ระหว่างความหลากหลายและอุดมการณ์คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องทำตลอดชีวิต ผ่านการส่งต่อข้อมูลบางอย่างและสร้างความเคลื่อนไหวให้สังคม ฌอนกล่าวทิ้งทายว่า งานแฟชั่นที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าให้ชีวิต แต่เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดี และในอนาคตต้องการให้งานของ POEM อยู่ในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจับคู่ขององค์ประกอบที่แตกต่างกันบางส่วน ยังมีเรื่องรอบตัวอีกมากมายที่ต้องหาให้เจอและบาลานซ์ให้เหมาะสม อย่างเรื่องการทำธุรกิจกับครอบครัว หลายคนอาจมองว่าเป็นได้ไม่ได้ หรือทำแล้วจะมีปัญหา แต่ถ้ามององค์ประกอบคู่ตรงข้ามให้เจอ และหาสมดุลให้ได้ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้เช่นกัน

ลองมองตัวเองว่า ในไทม์เฟรมของชีวิตตัวเองตอนนี้มีอะไรที่ต้องบาลานซ์ให้ได้ บางทีบาลานซ์อยู่ที่การแบ่งเวลา บางทีอยู่ที่การปรับมุมมอง หรือบางทีอยู่ที่การสื่อสาร

7 วิธีสู่การปั้น TEDxBangkok ให้เป็นเวทีแห่งไอเดียที่คนอยากฟัง ทั้งที่ยังไม่รู้สปีกเกอร์

เอ่ยถึงอีเวนต์ทอล์กทีไร เชื่อว่าชื่อของ TEDxBangkok ต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจทุกคนไม่มากก็น้อย เพราะแฟรนไชส์ทอล์กที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2015 แห่งนี้สร้างปรากฏการณ์ต่อหลายแวดวงของไทยทีเดียว ตั้งแต่วงการสร้างสรรค์ วงการอีเวนต์ วงการบันเทิง ไปจนถึงส่วนเล็กส่วนน้อยในสังคม

แม้ในวันนี้จะเดินทางมาเกือบ 10 ปีแล้ว แม้หลายคนอาจไม่ได้ติดตามเวทีสีแดงแห่งนี้มากเท่าเดิม แต่สิ่งที่ยังคงดึงดูดใครอีกหลายคนได้ก็คือการที่อาสาสมัครและ ‘พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน’ license holder และ head curator ยังสนุกกับการหาตัวตนใหม่ๆ ให้กับเวทีแห่งไอเดียนี้อยู่เสมอ และสนุกกับการชวนคนกรุงมาเปิดหูเปิดตากับประเด็นที่ไม่เคยนึกถึงจนปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเอ่ยถึงอีเวนต์ทอล์กทีไร เชื่อว่าชื่อของ TEDxBangkok ต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจทุกคนไม่มากก็น้อย

ก่อนที่ TEDxBangkok 2023 ในธีม ‘See • Sound • Seen’ ที่อยากชวนผู้คนมา See the Unheard, Hear the Unseen ไปด้วยกันในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ที่สถานที่เก่าแต่ใหม่แกะกล่องสำหรับงานอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง Capital อยากพาทุกคนไปลัดเลาะหลังเวที ไขเบื้องหลังการทำทอล์กให้คนจดจำ การนำเสนอไอเดียให้คนสนใจ

1. ธีมงานที่อาสาสมัครภูมิใจและอยากชวนคนกรุงตั้งคำถามไปด้วยกัน

TEDxBangkok เป็นอีเวนต์ทอล์กที่ทีมงานทุกคนคืออาสาสมัครที่มาทำด้วยใจรักล้วนๆ ไม่ได้มีเงินตอบแทนอะไร การเลือกธีมประจำปีจึงต้องผ่านเช็กลิสต์ต่างๆ ที่สะท้อนได้ว่าทั้งหมดนี้คือ TEDxBangkok ที่อาสาสมัครทุกคนจะภูมิใจ

ปกติธีมประจำปีจะมาก่อนสถานที่จัดเสมอ แต่ปีนี้พิเศษตรงที่ TEDxBangkok เลือกจัดทอล์กในสถานที่เปิดอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อตั้งต้นจากสถานที่ที่มี ‘เสียง’ เป็นเอกลักษณ์ สอดคล้องกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีเสียงหลากหลายแบบ อาสาฯ กว่า 80 คนจึงเคาะธีม See, Sound, Seen ธีมที่พาคนกรุงเทพฯ ไปเงี่ยหูฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงของคนดัง เสียงของคนธรรมดา ไปจนถึงเสียงของธรรมชาติ

“เราเลือกได้นะว่าเราอยากจะพูดอะไร อยากจะตะโกนบอกคนในเมืองว่าอะไร บางปีเราอยากบอกว่าคนกรุงเทพฯ เอ๋ย ชาวบางกอกเอ๋ย เรามาเทน้ำออกจากแก้วกัน เรามา unlearn กันเถอะ เพราะเรารู้สึกว่าสังคมนี้ เราอยู่ในสภาวะน้ำเต็มแก้วกันมากเลย 

“หรือบางปีเราก็อยากจะบอกว่าโควิดหนัก เรารู้ว่าทุกคนอ่วมกันหมดแล้ว มา awake และ connect กันเถอะ แต่ละปีมันมีทั้งสิ่งที่เราพยายามถาม และสิ่งที่เราพยายามจะสปอตไลต์ให้คนเห็น” พิอธิบายหลักการ

2. มองหาความหลากหลายในทุกมิติ 

หลักการสำคัญที่ผู้ถือลิขสิทธิ์เวที TED ทุกแห่งต้องยึดและทำให้ได้คือความหลากหลาย ไม่ว่าจะประเด็นการนำเสนอ เพศ และที่มาของสปีกเกอร์ สปอนเซอร์ ไปจนถึงผู้ฟัง เพื่อให้เวทีแห่งนี้เป็นเวทีสำหรับทุกคนจริงๆ 

“TED ไม่ใช่แค่เวทีของนักธุรกิจอย่างเดียว TED ไม่ใช่แค่เวทีของคนทำงานเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ TED Speaker มีทั้งสายบันเทิง สายดีไซน์ สายสังคม ฯลฯ มีหลายท็อปปิกที่ทุกคนพุดคุยกันได้ 

“ฉะนั้นสิ่งที่เราทำทุกปีคือการขายบัตรโดยไม่บอกไลน์อัพสปีกเกอร์ แต่ให้คนฟังกรอกข้อมูลเข้ามาก่อนว่าคุณเป็นใคร ทำไมอยากมางานนี้ เพราะเราอยากได้คนที่เปิดใจรับฟังไอเดียที่เขาอาจไม่คุ้นเคย อย่างปีนี้ก็เชื่อว่ามีสปีกเกอร์หลายคนที่เซอร์ไพรส์คนฟังแน่นอน”  

3. เผยความเป็นมนุษย์ของคนดัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวของคนดังมักได้รับการรับฟังมากกว่าเสมอ แต่ที่จริงแล้ว หลักใหญ่ใจความในการคัดเลือกสปีกเปอร์แห่งเวทีสีแดงนี้ไม่ใช่ ‘ใคร’ แต่คือคุณนำเสนอ ‘อะไร’ ต่างหาก 

เมื่อสปีกเกอร์เป็นคนมีชื่อเสียง เรื่องราวที่นำมาเล่าก็ควรแตกต่างและไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เช่น ทอล์กของ ‘ป๋อมแป๋ม–นิติ ชัยชิตาทร’ ในหัวข้อ ‘โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง’ ที่มาเล่าถึงความรู้สึกของการถูกแปะป้าย

“จริงหรือเปล่าที่ผู้บริหารบริษัทนี้เขาอยากพูดแต่เรื่องตัวเลข จริงหรือเปล่าที่พี่ป๋อมแป๋มเป็นคนตลกตลอดเวลา มนุษย์คนนี้มันมีมุมอื่นอีกหรือเปล่า ถ้าเราฟังเขามากพอ ทุกครั้งที่เราคุยกับเขา เราจะพบว่าตาเขาเป็นประกายเรื่องไหน” พิอธิบาย

อีกคำถามหนึ่งคือ นิยามของคำว่า ‘ดัง’ ของคนแต่ละวัยอาจไม่ตรงกันก็ได้ การหันไปหาคนที่เป็น ‘แม่เหล็ก’ ของแต่ละวงการอาจสำคัญกว่า 

4. เผยความมหัศจรรย์ของคนธรรมดา

หลายคนมักมองว่าคนที่จะขึ้นพูดบนเวทีแห่งนี้ได้ต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นคนที่มีไอเดียเจ๋งพอให้ส่งต่อ ตัวอย่างที่ดีคือทอล์กของ ‘แวน–วริทธิ์ธร สุขสบาย’ ที่มีเพสชั่นกับรถเมล์มากจนอยากพัฒนาระบบของรถเมล์ให้ตอบโจทย์ทุกคนได้จริงๆ 

“เราเรียกว่า speaker hidden gem ที่เสิร์ชชื่อแล้วไม่เจอหรอกว่าเขาคือใคร แต่งานเขามันมาก”  

ปัจจุบันแวนนำแพสชั่นตรงนั้นมาพัฒนาเป็น Mayday กลุ่มคนที่อยากพัฒนาขนส่งสาธารณะของไทยให้ดีขึ้น และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเคยเห็นป้ายรถเมล์ที่ใช้งานง่ายของ Mayday กันมาบ้างแล้ว  

5. ท็อปปิกที่คน relate เรื่องราวที่คนรู้สึกว่าเป็น pain point

ถ้าไม่ใช่คนดังแล้วจะทำยังไงให้เรื่องน่าฟัง? สิ่งหนึ่งสำคัญคือการเลือกคนที่พร้อมเล่าเรื่องราวที่ทุกคนเชื่อมโยงได้ เช่นทอล์กของ ‘จิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์’ เด็กอายุ 14 ปีที่ขึ้นมาพูดเรื่องความต้องการได้รับการยอมรับ 

หรือทอล์กของ ‘ฉิ่ง–วินัย ฉัยรักษ์พงศ์’ จาก BUG Studio ที่ชวนมาตั้งคำถามว่าเราจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ยังไง ซึ่งเชื่อว่าคนทำงานสายครีเอทีฟจะต้องอยากกดฟังแน่นอน

“แม้คุณจะไม่ได้เป็นคนดัง แต่ถ้าไอเดียคุณมัน relate กับหลายคนมากพอ มันก็จะถูกส่งต่อไปได้ หรือบางครั้งถ้าทอล์กคุณไม่ได้ถูกส่งต่อเยอะ แต่มันถูกส่งไปยังคนที่ใช่ มันก็เพียงพอแล้วนะ”

6. ไม่ต้องพูดเป๊ะ ไม่ต้องอกผาย แต่นำเสนอในแบบที่เชื่อ 

เชื่อไหมว่าคนที่ขึ้นพูดในเวทีนี้ไม่ต้องเป็นคนพูดเก่งก็เล่าเรื่องได้! เพราะสปีกเกอร์แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกมาแล้วว่า ‘อิน’ กับประเด็นที่อยากสื่อจริงๆ  

“ไอเดียนี้ใช่ไหม คุณเชื่อแล้วหรือยัง มันใหม่ไหม แล้วมันคุ้มค่ากับคนที่เสียเวลาสิบกว่านาทีมานั่งฟังแล้วใช่ไหม บางทีไอเดียนี้มันดูสะท้อนปัญหานะ แต่ฟังแล้วมันไม่น่า spreading เลยมันน่า sleeping มากกว่า เราก็ต้องหาวิธีนำเสนอใหม่ๆ”

เช่นการนำเสนอประเด็นการตั้งคำถามกับวัฒนธรรมต่างๆ ของพิเชษฐ กลั่นชื่น ที่ให้คนปารองเท้าขึ้นมาบนเวที หยิบรองเท้ามาไว้บนหัว เพื่อชวนคิดถึงเหตุผลอันแท้จริงของประโยคที่ว่า ‘เท้าคือของต่ำ หัวคือของสูง’ หรือการตั้งคำถามกับวัฒนธรรมการปรบมือ ด้วยการให้คนโยนรองเท้าเพื่อชื่นชม

“เราไม่ได้ต้องการสปีกเกอร์สุดเท่ พูดทุกประโยคเป๊ะๆ หลายครั้งที่สปีกเกอร์ไปต่อไม่ถูก ผู้ชมเขาก็ไม่ได้มาบอกว่าคืนตังค์มาเลย มึงพูดสะดุดได้ยังไง แต่เขาปรบมือเชียร์เพราะเขาไม่ได้มาดูคนพูด เขามาฟังไอเดีย”

7. ไม่ใช่แค่อิมแพกต์กับคนฟัง แต่อาสาสมัครสำคัญที่สุด 

เหนือสิ่งอื่นใด ธีมที่ชอบ สปีกเกอร์ที่ใช่ และสปอนเซอร์ที่พร้อมสนับสนุนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดอาสาสมัคร การบริหารคนให้ทำงานที่ไม่ได้เงินแถมยังต้องเสียเวลาอีกจึงเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องทำให้ออกมาดี

“หลายครั้งที่งานออกมาดี แต่อาสาสมัครทะเลาะกัน สำหรับเราคือเฟลเลย แม้คนมักจะมองว่าคนทำ TEDxBangkok ต้องนึกถึงอิมแพกต์ต่อคนดูแน่ๆ แต่เรากลับพบว่าความรู้สึกและประสบการณ์ของอาสาสมัครสำคัญที่สุดเลย มันเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะทำให้งานมีความหมาย

“ตอนเด็กๆ เราเข้าใจมาโดยตลอดว่า TEDxBangkok มันคืองานอาสา มันคืองานอดิเรก โตมาถึงได้เข้าใจว่ามันคือการรันอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และตัวเราก็ไม่ได้เงินจากตรงนี้แต่เราได้ reward อย่างอื่นแทน ได้มิตรภาพ ได้เติบโต ได้ความสัมพันธ์ที่ดีต่างหาก”

Keimen Kids ธุรกิจให้เช่าของเล่นรายเดือนที่อยากให้เด็กไทยได้เล่นอย่างหลากหลาย จนเจอชิ้นที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

ท่ามกลางธุรกิจแบบจ่ายรายเดือน (subscription) ที่เกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ อะไรก็กลายเป็นสินค้าและบริการจ่ายรายเดือนได้ ไม่เว้นแม้แต่ของเล่น

Keimen Kids คือธุรกิจปล่อยให้เช่าของเล่นแบบจ่ายรายเดือนที่ก่อตั้งโดย เกา หลี่ขุยหลิน (Gao Likuilin), อุ้ม–พิมพ์จุฑา จิระวัฒน์พงศา และ ฝ้าย–พฤดา ตั้งพุทธสิริ 3 พาร์ตเนอร์ที่ตั้งใจอยากให้เด็กไทยได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย เหมาะกับวัย ตรงใจ มากกว่านั้นคืออยากให้ผู้ปกครองได้ประหยัดเงินและพื้นที่ในบ้าน

ที่น่าสนใจกว่าเซฟเงินคือ ธุรกิจของ Keimen Kids ยังเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่ช่วยเซฟโลกให้น่าอยู่มากขึ้น ผ่านโมเดลการเช่าและสับเปลี่ยนหมุนเวียนของเล่นของเด็กๆ นี่แหละ

Kids’ Toy

Keimen คือภาษาเยอรมัน แปลว่ากระบวนการงอกเงย

ทีมผู้ก่อตั้งเลือกใช้ชื่อนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าเด็กๆ ก็เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเป็นต้นกล้า ก่อนจะกลายเป็นต้นไม้สูงใหญ่

ต้นกล้าต้องการดินดี แสงแดดอุ่น และน้ำสะอาดฉันใด เด็กๆ ก็ต้องการแรงสนับสนุนและพื้นที่ที่ช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างงดงามฉันนั้น และ ‘ของเล่น’ คือส่วนสำคัญในช่วงขวบปีแรกๆ ของการเติบโต

ก่อนหน้าที่จะมาทำ Keimen Kids ด้วยกัน เกา อุ้ม และฝ้ายเคยทำธุรกิจ telemedicine หรือบริการปรึกษาหมอทางโทรศัพท์มาก่อน พวกเขาพบว่าในไทยมีหลายแบรนด์ที่ทำเช่นกัน จึงคิดอยากลองสิ่งใหม่

อันที่จริง Keimen Kids เกิดขึ้นจาก pain point ส่วนตัวของเกาในฐานะพ่อมือใหม่ เขาพบว่าการเป็นผู้ปกครองนั้นเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะการแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ในบ้านให้สมาชิกใหม่ และของเล่นกองมหึมาของลูก

มากกว่านั้น ทุกครั้งที่เขาซื้อของเล่นให้ลูก เกาจะไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเขาซื้อของที่ถูกใจลูกหรือเปล่า “เพราะลูกเขาพูดไม่เป็น ผมเลยต้องซื้อของเล่นหลายชิ้นมาให้เขาลองเล่น เราเสียเงินไปกับของเล่นเยอะมาก” ชายชาวต่างชาติหัวเราะ ก่อนจะกลับเข้าเรื่องจริงจัง

“ผมก็คิดว่าจะช่วยผู้ปกครองที่เผชิญสถานการณ์เดียวกับผมยังไงได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นพ่อแม่ตั้งแต่ยังหนุ่ม ซึ่งประสบปัญหาการซื้อของเล่นเยอะเกินไปเหมือนกัน นั่นคือตอนที่ไอเดียบริการให้เช่าของเล่นเกิดขึ้นมา”

Complex Toy

เกาบอกว่า Keimen Kids เปรียบเสมือน Netflix แห่งวงการของเล่น

กล่าวคือ พวกเขาใช้โมเดลการจ่ายรายเดือน พ่อแม่จะจ่ายแค่ราคาเดียว ไม่มีค่าส่ง ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่ม และสามารถเข้าถึงของเล่นมากมายได้ตามต้องการ

“ตอนแรกมันยังไม่ใช่โมเดล subscription เราอยากให้เช่าเป็นครั้งๆ ไป แต่พอรีเสิร์ชดูจากต่างประเทศก็เห็นว่าออสเตรเลียกับอเมริกาเขาก็มีโมเดลธุรกิจแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเน้นให้เช่าแบบออฟไลน์เสียมากกว่า เราก็เห็นว่ามันน่าจะมีศักยภาพในตลาด” อุ้มขยายความ

ไม่ใช่แค่โมเดลนี้เป็นสิ่งใหม่ แต่เทรนด์ของเล่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็ทำให้พวกเขาเห็นโอกาสที่มากขึ้น ทีมผู้ก่อตั้งเล่าว่า เมื่อก่อนของเล่นอาจเป็นสิ่งที่เด็กๆ เล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่สมัยนี้ ของเล่นสามารถเป็นสื่อการศึกษา ไปจนถึงการเป็นเฟอร์นิเจอร์ไลฟ์สไตล์ชิ้นหนึ่งในบ้านที่เด็กๆ หัดประกอบขึ้นด้วยสองมือของตัวเอง 

“ของเล่นในปัจจุบันมีความซับซ้อน และความต้องการของผู้บริโภคก็ขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น นั่นทำให้ของเล่นมีราคาแพงขึ้น” เกาบอก

นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เข้าถึงของเล่นที่หลากหลาย Keimen Kids ยังช่วยให้พ่อแม่เซฟเงินในกระเป๋ามากขึ้น เพราะเมื่อเด็กๆ เช่าของเล่นใหม่ไปในแต่ละครั้ง เด็กๆ สามารถตัดสินใจว่าจะเล่นชิ้นไหนต่อ หรืออยากได้ชิ้นไหนมาประจำไว้ที่บ้าน ก็สามารถอ้อนให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อจาก Keimen Kids ได้เลย วิธีนี้ก็จะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น 

พวกเขาบอกว่า นี่แหละคือวิธีการที่ win-win ของทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ

Customized Toy

ในคลังของเล่น Keimen Kids มีของเล่นให้เลือกมากถึง 400 ชิ้น 

พวกเขาแบ่งของเล่นออกตาม 5 สกิลพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ ของเล่นเพื่อการฝึกกล้ามเนื้อ ของเล่นเพื่อการฝึกแก้ปัญหา ของเล่นเพื่อฝึกทักษะทางสังคม ของเล่นเพื่อฝึกภาษา และของเล่นเพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์ มากกว่านั้น รูปแบบการเล่นก็มีหลากหลาย เพราะมีทั้งของเล่นไม้ หนังสือ ของเล่นเอาต์ดอร์ ของเล่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ไปจนถึงของเล่นที่มีแสงสีเสียง กดปุ่มสนุก

แค็ตตาล็อกของเล่นของพวกเขายังมีการแบ่งของเล่นตามอายุและพัฒนาการ เพื่อแก้ pain point อีกข้อของผู้ปกครองส่วนใหญ่คือไม่รู้จะเลือกของเล่นให้ลูกยังไง 

ที่เจ๋งก็คือ ผู้ปกครองและเด็กๆ สามารถ customize จำนวนของเล่นได้ตามโอกาสและเวลาที่อยากเล่น เช่น วันไหนที่บ้านมีปาร์ตี้ของเด็กๆ พ่อแม่ก็สามารถจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ของเล่นกล่องใหญ่ขึ้น หรือถ้าลูกอยากเล่นชิ้นไหนนานกว่ารอบสมัครสมาชิก พ่อแม่ก็สามารถต่อค่าสมาชิกเดือนต่อเดือนเพื่อเช่าต่อชิ้นนั้นได้เลย และถ้าเบื่อเมื่อไหร่ก็คืนของแล้วเปลี่ยนชิ้นใหม่ หรือจะยกเลิกสมาชิกรายเดือนก็ได้เช่นกัน

จากของเล่นกองใหญ่ที่เห็น เราอดสงสัยไม่ได้ว่า นิยามของเล่นที่ดีสำหรับทีม Keimen Kids เป็นแบบไหน 

อุ้มยิ้ม ก่อนจะตอบว่า ของเล่นที่ดีต้องเป็นของเล่นที่สามารถตอบหลายๆ โจทย์ ทั้งหน้าตาดี คงทนเล่นได้นาน และเสริมสร้างพัฒนาการได้

“สำหรับผม มันคือคำว่า timeless” เกาเสริม “อย่างเลโก้นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก มันช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ คุณสามารถเล่นมันได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จนอายุ 80 ปีแล้วก็ยังเล่นไม่เบื่อ ผมว่านั่นมันน่าทึ่งมากเลย

“การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ไม่เพียงแต่เด็กๆ แต่หลายบ้านที่เช่าของเล่นเราไปเขาก็มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเหมือนกัน และของเล่นเหล่านี้ช่วยให้เหล่าผู้สูงอายุได้ฝึกกล้ามเนื้อได้ด้วย อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญคือมันควรจะเป็นของเล่นที่ยั่งยืน คงทน อย่างของเล่นไม้ที่หักได้ยาก ผมว่ามันอาจจะยั่งยืนว่าพลาสติกที่ใช้แค่ครั้งเดียว”

Sustainable Toy

อันที่จริง คงไม่เกินจริงถ้าจะพูดว่าของเล่น Keimen Kids นั้นคือของเล่นที่ ‘รักษ์โลก’

“รูปแบบการเช่าของเรามันคือการหมุนเวียนของเล่นอยู่แล้ว เพราะของเล่นบางชิ้น เช่น ของเล่นไม้ มันหมุนมาประมาณสิบบ้านแล้วก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ เมื่อเทียบกับการซื้อของเล่นที่เด็กๆ อาจจะเล่นแป๊บเดียวแล้วพ่อแม่ก็หาที่ปล่อยขาย ถ้าปล่อยไม่ได้ก็วางไว้ตรงเชลฟ์ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นขยะ เราพยายามที่จะลบภาพนั้น ให้ของเล่นมาอยู่กับเราแล้วหมุนเวียนกันในสังคมที่เราพยายามสร้าง” ฝ้ายเล่าด้วยแววตาตั้งใจ

พวกเขายังรับซื้อของเล่นมือสองสภาพดีจากเว็บไซต์ e-Commerce และเหล่าพ่อแม่มาเก็บไว้ในคลัง ซึ่งสามารถลดจำนวนของเล่นที่จะถูกทิ้งได้ราว 1,000 ชิ้นแล้วในตอนนี้

ในอนาคต Keimen Kids ยังมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจให้กลายเป็นแพลตฟอร์มเช่า ขาย และส่งต่อของเล่นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกันได้มากขึ้น

“ตอนนี้ลูกสาวของผมอายุ 2 ขวบ ผมก็ต้องคิดแล้วว่าผมจะสร้างโลกแบบไหนไว้ให้เธอ จะเป็นโลกที่มีแต่ขยะเหรอ หรือเป็นโลกที่อุณหภูมิร้อนกว่านี้ นั่นคือคำถามที่ผมถามตัวเองตลอดเวลา และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากทำธุรกิจนี้ให้เป็นมิตรต่อโลก เพราะรู้ไหมว่า 90% ของของเล่นที่เด็กๆ ไม่เล่นแล้วจะกลายเป็นขยะที่เดินทางไปสู่แหล่งฝังกลบ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดภาพนั้นล่ะ” เกาทิ้งคำถามไว้ให้คิดต่อ

“ตั้งแต่เราได้มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ เรารู้สึกแฮปปี้ ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อย แต่เวลาไปส่งของแล้วเจอน้อง ๆ  มันก็เติมเต็มในแต่ละวันได้” ฝ้ายบอก ก่อนที่อุ้มจะเสริมต่อ

“พอได้มาทำธุรกิจนี้ เราได้เห็นฟีดแบ็กต่างๆ ได้เจอพ่อแม่ เจอเด็ก แม้จะเป็นพาร์ตสั้นๆ เพราะบางคนอยู่กับเรา 2-3 เดือน บางคนอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนตอนนี้ เรารู้สึกดีที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกเขาให้ลองอะไรใหม่ๆ ทำให้พ่อแม่ค่อยๆ เข้าใจพัฒนาการของเด็ก รู้สึกดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของพาร์ตเล็กๆ ในชีวิตเขา”

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
จากปากของ 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Keiman Kids

  • “ทำงานให้หนัก ไม่ย่อท้อ ระหว่างทางอาจมีคำถามว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องไหม บางครั้งธุรกิจมีไอเดียตั้งต้นที่ดีแต่ไม่มีตลาด สิ่งที่คุณต้องพยายามต่อไปคือการสร้างตลาดของตัวเอง”
  • “ต้องอยากทำธุรกิจนี้จริงๆ และบางครั้งอาจไม่ใช่การอยากทำเพื่อหาเงินเสมอไป”
  • “การเลือกทีมสำคัญมาก โดยเลือกจากกลุ่มคนที่มีมายด์เซตและความเชื่อเหมือนกับคุณ พวกเขาจะกระตือรือร้นในการทำงานกับคุณ”
  • บทเรียนวิธีทำทอล์กให้ทัชใจผ่าน 5 ทอล์กในดวงใจของ พิ พิริยะ license holder แห่ง TEDxBangkok 

    หลายคนอาจรู้จัก พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story เอเจนซีที่จริงจังกับการเล่าเรื่องให้สนุก แต่รู้ไหมว่านอกจากการเป็น Co-founder ที่ Glow Story แล้ว พิยังเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ TEDxBangkok ที่สร้างปรากฏการณ์ทอล์กเปลี่ยนชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง 

    ทั้งทอล์กเกี่ยวกับเรื่องราวธรรมดาสามัญ ไปจนถึงเรื่องราวความสำเร็จของหลายคน 

    แม้บางประเด็นจะดูพบเห็นได้ทั่วไป แต่เมื่อนำเสนอโดยเวทีสีแดงอย่าง TEDxBangkok เมื่อไหร่ ประเด็นนั้นๆ กลับได้รับความสนใจขึ้นมาไม่มากก็น้อย เพราะ TEDxBangkok สามารถนำเสนอเรื่องราวเดียวกันในแง่มุมที่ผิดไปจากความรับรู้ อย่างการฉายสปอตไลต์ให้เห็นความเป็นฮีโร่ของคนธรรมดา และเผยด้านธรรมดาของคนมีชื่อเสียง

    เรื่องราวเหล่านั้นอาจนำเสนอเพื่อเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนมุมมอง กลับกัน บางเรื่องราวอาจเรียบๆ นิ่งๆ แต่สร้างพลังงานมหาศาลกับผู้คนไม่น้อย เช่นเดียวกับเรื่องราวจากสปีกเกอร์ในปีนี้ที่หลากหลายทั้งที่มาและสารที่อยากส่งต่อ ภายใต้ธีม ‘See • Sound • Seen’ ที่ TEDxBangkok 2023 อยากชวนผู้คนมา See the Unheard, Hear the Unseen

    “ปีนี้เราตั้งต้นจากสถานที่อย่างหัวลำโพงก่อน ซึ่งหัวลำโพงมันสื่อถึงเสียงในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่ในเสียงเหล่านั้น มันยังมีเสียงอีกหลากหลายแบบที่เราอาจไม่เคยรับรู้ก็ได้ เราเลยอยากชวนคนมาลองมองอะไรที่ลึกลงไปกว่าที่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน ลองใช้ใจมองเสียงที่ไม่เคยได้ยิน แล้วเงี่ยหูฟังสิ่งที่ไม่เคยมองเห็น”

    เหนือสิ่งอื่นใด ทอล์กทุกครั้งล้วนมีเรื่องราวที่มีคุณค่าเป็นของตัวเอง ตัวเลขบอกยอดเข้าชมจึงไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จของทอล์กแต่ละประเด็น หรือธีมประจำในแต่ละปี สำหรับพิและทีมงาน TEDxBangkok คุณค่าของทอล์กแต่ละครั้งนั้นลึกลงไปกว่านั้นมาก

    “หลายทอล์กที่ไปแตะหลักแสน สปีกเกอร์ไม่ใช่คนดังอะไร แต่ไอเดียของทอล์กนั้นๆ มันเป็นไอเดียที่หลายคนมี pain เป็นไอเดียที่ relate กับคนมากพอที่จะถูกส่งต่อไปได้ หรือแม้บางครั้งทอล์กของคุณไม่ถูกส่งต่อไปยังคนหมู่มาก แต่มันถูกส่งไปยังคนที่ใช่ เราว่าก็เพียงพอแล้วนะ” 

    ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานที่จัดงานในปีนี้ เราจึงนัดพบกับพิเพื่อสนทนาถึงบทเรียนชีวิตและบทเรียนธุรกิจจาก 5 ทอล์กในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อการทำ TEDxBangkok 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

    1
    หัวข้อ : เป็นที่รักดีกว่าเป็นที่โหล่

    สปีกเกอร์ : จิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์  
    TEDxBangkok Youth 2023

    “ทอล์กหนึ่งที่ชอบมากคือ TedxBangkok Youth ปี 2023 ของน้องจิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์ ที่พูดในหัวข้อ ‘เป็นที่รักดีกว่าเป็นที่โหล่’ คนแชร์เป็นหมื่นเลย น้องเป็นตัวแทนแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ น้องคือเด็กคนนั้นที่โรงเรียนฉายสปอตไลต์ด้วยการใส่หน้าเขาในป้ายไวนิล  

    “น้องจิรัลเล่าให้เห็นว่าชีวิตของเด็กที่วันหนึ่งเคยชนะแล้วแพ้ไป เขาก็อยากจะหนีไปทำโน่นทำนี่ในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเขาเกิด narrative ในหัว กลัวว่าแม่และคนอื่นๆ จะไม่รักเขาแล้ว แต่หลังจากที่เคยไปอยู่จุดพีคแล้วก็ค่อยๆ ดาวน์ เขาก็ตกตะกอนบางอย่างได้ 

    “ทุกวันนี้น้องยังลองทำอะไรหลายๆ อย่างอยู่ ทั้งประกวดร้องเพลง รวมถึงลองมาออดิชั่นที่ TedxBangkok Youth น้องยังเล่าว่าตอนออดิชั่นพี่ๆ ก็ถามผมเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้รับเลือกแล้วจะเสียใจไหม เขาก็ตอบไปอย่างมั่นใจว่าเสียใจดิ  

    “แต่น้องก็บอกว่าไม่เป็นไรนะ เพราะผมเข้าใจว่าเวทีนี้มันไม่ใช่การแข่งขัน มันไม่มีคนแพ้คนชนะ แค่ผมขึ้นมาเล่าแล้วคุณรับฟัง คุณหัวเราะไปกับมัน คุณปรบมือให้ผม สำหรับผมมันก็มีค่ามากพอแล้ว มันเป็นประโยคที่เราจำได้แม่นจนโพสต์ไว้ใน IG Story วันนั้น  

    “มันทำให้เราคิดว่าสื่ออย่างพวกเราสามารถเล่าเรื่องอื่นๆ เช่น ความพยายาม ความขยันตั้งใจ มากไปกว่าการฉายสปอตไลต์ให้กับคนที่ได้รางวัลนู่นนี่นั่นว่าเขาเก่ง เขาเท่ ได้บ้างหรือเปล่า แล้วก็ทำให้เราหันมาคิดถึงเรื่องการยอมรับว่ามนุษย์เราต่างก็ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับทั้งนั้น

    “ทุกวันนี้ที่เราวิ่งทำงานหลายๆ อย่างก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เราพยายามแก้ปัญหาให้ออกมาดีกับทุกคนก็เพื่อได้รับการยอมรับ จนบางทีลืมคิดไปว่าบางอย่างมันก็ไม่ถูกใจทุกคนอยู่แล้ว แต่เราก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำดีพอหรือยัง ตรงนี้เป๊ะหรือยัง ตรงนี้เนี้ยบหรือเปล่า 

    “พอเจอปัญหาแบบนี้ เราคงวิ่งไปหาหนังสือ business หนังสือฮาวทูอ่าน หรือคนไปปรึกษานักธุรกิจรุ่นใหญ่ แต่เราลืมฟังเสียงตัวเองข้างในไป เราเลยคิดว่าประเด็นของน้องมันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้จากทอล์กของเด็ก 14 เลย 

    “ถ้าเปรียบกับ TEDxBangkok เอง วันนี้เราอาจไม่สดใหม่เท่ากับเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คนอาจจะมองว่ามันเกร่อ คนสมัครเข้ามาฟังก็อาจจะน้อยลง แต่เราคิดว่า TEDxBangkok มันก็ทำหน้าที่ในแบบของมัน ถ้าวันนี้มันไม่ใหม่แล้ว คนกรุงทำในฐานะเจ้าของพื้นที่นี้ร่วมกันมาช่วยกันถามได้ไหมว่าแล้วเวทีนี้มันฟังก์ชั่นอะไร

    “สำหรับเราเอง ในวันที่มันมี TED อีกหลายๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งแต่ละที่ก็เจ๋งและเติบโตในแบบของตัวเอง  เราว่า TEDxBangkok ในวันนี้มันสนุกในแง่ของการหาตัวตนใหม่ให้มันเหมือนกัน”

    2
    หัวข้อ : ให้รถเมล์ได้แสดงศักยภาพ

    สปีกเกอร์ : แวน–วริทธิ์ธร สุขสบาย 
    TEDxBangkok Youth 2017

    “อีกทอล์กที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือทอล์กของแวน เพราะเป็นทอล์กที่ทำให้เราได้เห็นพลังของตัวเองที่เปลี่ยนไป แวนอินเรื่องรถเมล์และอยากพัฒนารถเมล์ให้ดีขึ้น ถ้าเล่าหลังบ้านแบบไม่เกรงใจแวนเท่าไหร่คือตอนที่คิวเรตก็ยังรู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้เหรอวะ เพราะรถเมล์เกี่ยวกับภาครัฐและโครงสร้างเต็มไปหมด กูอยู่ประเทศนี้มาจะ 20 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นรถเมล์ไทยมันดีขึ้น 

    “ตัวแวนเองก็ไม่ใช่คนพูดเก่ง ถ้าเป็นงานกลุ่ม แวนน่าจะเป็นคนอ่านสไลด์ ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ฟรอนต์โรว์ หรือประธานกลุ่มที่จะนำทุกคนเพราะเขาขี้เขิน แต่ทอล์กนี้ทำให้เราเห็นว่าพอเราคราฟต์มันอย่างเต็มที่ แวนใส่สุดในแบบของตัวเอง มันสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมจริงๆ 

    “เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเรามีงานแอดเวนเจอร์ที่ช่วยแวนเก็บข้อมูลเรื่องรถเมล์ แล้วหลังจากนั้นแวนก็พัฒนาป้ายรถเมล์ฉบับ Mayday ขึ้นมาได้สำเร็จ ทุกครั้งที่เราเห็นป้ายรถเมล์เวอร์ชั่น Mayday เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนเล็กๆ เองนะ แต่กูโม้ยับเลย 

    “พอเวลาผ่านไป เราโตขึ้น เราเริ่มสุขภาพไม่ดี เริ่มทำงานอาสาจนตี 1 ตี 2 ไม่ไหว เริ่มเป็นพี่ในบริษัทที่มีน้องๆ ต้องเลี้ยง พ่อเริ่มป่วย ชีวิตไม่ได้อิสระพอให้วิ่งตามแพสชั่น เริ่มโกรธมากเท่าเดิมไม่ไหว เวลารู้สึกแบบนี้ทีไรทอล์กของแวนมันเติมพลังและมันเติมความหวังให้เราได้ตลอดเลย  

    “ทอล์กของแวนมันยังทำให้เรารู้สึกว่าจนเราตายเมืองนี้มันก็ไม่เพอร์เฟกต์หรอก แต่วันนี้ วันที่เรายังมีแรง เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราทำได้นะ เวลารถติด เห็นประโยคที่ว่า ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ เราไม่ได้โกรธเท่าเดิม แต่เรารู้สึกว่ามันยังมีอะไรให้ลงตัวขึ้นได้อีกนิดนึงว่ะ

    “ทอล์กของแวนมันยังมีผลต่อแง่มุมในการทำ TedxBangkok ในปีต่อๆ มาด้วย เพราะมันเป็นทอล์กที่มีทั้ง curse แล้วก็เป็นทั้ง gift เป็น curse เพราะพอทอล์กนี้มันสร้างอิมแพกต์ เราก็อยากได้ทอล์กแบบแวนอีก ตอนเด็กๆ เราจะพูดประโยคนี้ในห้องประชุมบ่อยมากว่า ‘call to action ของทอล์กนี้คืออะไร’ แต่พี่ๆ ในทีม เช่น พี่อ๋อง–วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ก็จะบอกว่าบางเรื่องมันไม่ต้องมีแอ็กชั่นก็ได้ เพียงมันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หยอดเอาไว้ก็โอเคแล้ว 

    “ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราเริ่มคิดว่าเราไม่อยากทำทอล์กที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนเมืองอย่างเดียว เราอยากเห็นเฉดอื่นๆ มากขึ้น เราอยากนั่งนิ่งๆ ฟังเสียงซอยบ้านเราเหมือนกันว่านกข้างบ้านมันมีเสียงเปลี่ยนไปหรือเปล่า เรื่องแบบนี้อาจดูเล็กน้อยนะ แต่เราว่ามันก็สำคัญกับคนกรุงเทพฯ ที่จะอยู่ในเมืองนี้ต่อไปเหมือนกัน”

    3
    หัวข้อ : ถอดความเทพพนม
    สปีกเกอร์ : พิเชษฐ กลั่นชื่น 
    TEDxBangkok 2015

    “พี่พิเชษฐเป็นคนทำงานนาฏศิลป์ที่ได้รางวัลศิลปาธร แต่ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลหรือได้รับการยอมรับในไทย เขาต้องไปได้รางวัลเกียรติยศจากฝรั่งเศสก่อน มันก็สะท้อนโมเดลของไทยที่ต้องไปดังเมืองนอกให้ฝรั่งชมถึงจะได้รับการยอมรับในไทย 

    “แกเลยเอานาฏศิลป์มาถอดให้เราเห็นถึงแก่น ลองชวนให้เราถอดหัวโขนพวกนั้นออกไป แล้วทำ performance ในแบบที่มันล้ำมากๆ เพื่อตั้งคำถามว่าเราตั้งคำถามกับวัฒนธรรมเดิมได้หรือเปล่า

    “ปกติ TED Talks จะมีท่าประจำอย่างหนึ่งคือสปีกเกอร์จะชวนคนดูเล่นอะไรบางอย่าง เช่น ให้ยกมือว่าใครเคยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบ้าง แต่สิ่งที่พี่พิเชษฐทำมันสุดตีนกว่านั้น คือหลังจากที่ MC เกริ่นว่าเขาได้รางวัลอะไรบ้าง พี่พิเชษฐก็ให้คนดูถอดรองเท้าออกมา แล้วเขวี้ยงรองเท้าขึ้นมาบนเวที คนดูก็เขวี้ยงขึ้นมาโดนฉากพังเลย 

    “จากนั้นพี่พิเชษฐก็เอารองเท้ามาวางบนหัว แล้วถามว่าผมทำแบบนี้ผิดไหม ยิ่งเขาเรียนนาฏศิลป์ เขามีครู แบบนี้ถือว่าผิดไหมเพราะอย่างที่รู้กันว่าคนไทยถือจะตาย ถ้าผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะว่าหัวเป็นของสูง เท้าเป็นของต่ำ หรือผิดเพราะว่ารองเท้ามันสกปรก 

    “แล้วพอแกจบทอล์ก แทนที่จะให้คนดูปรบมือ แกก็ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมการปรบมือโดยการบอกว่าใครชอบทอล์กผมไม่ต้องปรบมือ แต่ถอดรองเท้าแล้วโยน คนดูก็โยนรองเท้ากันใหญ่ นี่น่าจะเป็น TED Talks เดียวในโลกที่คนเล่นรองเท้ามากที่สุดขนาดนี้ (หัวเราะ)

    “ทอล์กของพี่พิเชษฐเลยให้แง่มุมกับเราในหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องสังคมไทยที่ในหลายๆ ครั้ง เราไม่ได้ถูกอนุญาตให้ถามคำถามที่มันเมคเซนส์ แล้วเรื่องเหล่านี้หลายคนก็พูดถึงมามากมาย แต่พอมันอยู่ในรูปแบบของ TED ที่พูดครั้งเดียวไม่มีรอบสอง มันเลยน่าสนใจ 

    “ทอล์กของพี่พิเชษฐยังทำให้เราเห็นว่าในโลกที่คอนเทนต์มันล้นเกินขนาดนี้ ในสังคมที่ปัญหามันมีอยู่เต็มไปหมด เราจะทำให้คนมาสนใจคอนเทนต์ของเราได้ยังไง หรือชวนคนคุยถึงปัญหาให้คนมีความหวัง ให้คนเอาไอเดียเหล่านี้มาต่อยอดได้ยังไง ทำยังไงให้มันไม่ใช่แค่การเอาปัญหามากองแล้วบอกว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ ทำยังไงให้มันไม่ใช่การมาบ่น ตั้งคำถามแล้วเดินลงเวทีไป แต่จุดประกายหรือสปาร์กบทสนทนาให้เกิดขึ้นได้

    “คำตอบของทอล์กนี้คือวิธีการนำเสนอที่มันสนุกมาก แกมีวิธีเปลี่ยน information ให้เป็น emotion ที่เรารู้สึกว่ามันต้องเล่าแบบนี้มันถึงจะถึงใจ แล้วรู้ไหมว่าพี่พิเชษฐแกอิมโพรไวส์ทั้งหมดนะ สตาฟก็เหวอเพราะว่ามันเป็นคนละเส้นเรื่องกับที่ซ้อม แต่นี่แหละที่เราว่ามันคือเมจิกโมเมนต์ของ TED Talks อย่างหนึ่งเลย”

    4
    หัวข้อ : วิชาเปิดใจยอมรับกับเด็กที่เคยก้าวพลาด

    สปีกเกอร์ : ที นามสมมุติ (เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก)
    TEDxBangkok Youth 2019

    “คนมักจะเข้าใจว่าสปีกเกอร์ของ TED คือคนที่ประสบความสำเร็จ น้องทีคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่าคนที่ไม่ต้องประสบความสำเร็จแต่มีไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ก็มาพูดได้นี่หว่า 

    “ทอล์กนี้ก็ตอกย้ำความเชื่อนั้นเพราะเป็นทอล์กที่ตอนคิวเรต เราต้องคิวเรตผ่านทางโทรศัพท์ของผู้คุม เพราะน้องเป็นเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ มันเกิดจากการที่ปีก่อนหน้าป้ามล ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ มาเป็นสปีกเกอร์ พอมี TEDxBangkok Youth เราเลยอยากฟังเสียงน้องๆ บ้าง 

    “ตัวทีเองเขาเคยเรียนเก่งมาก่อน แต่เขาก็เหมือนเด็กที่เป็นผลลัพธ์จากการเลี้ยงดู แม่เขาต้องทำงานเช้ายันค่ำ จำเป็นต้องทิ้งแบงก์ร้อยไว้ให้ลูกแล้วก็ไปทำงาน เด็กมันก็หาการยอมรับจากที่อื่นจนไปเจอพี่อาชีวะเท่ๆ เขาเริ่มไปต่อยตี เริ่มขโมยของ วันสุดท้ายก่อนโดนจับเขายิงคน 3 คนในวันเดียว แถมยังจะตามไปซ้ำคู่อริที่โรงพยาบาล ยิงสู้กับตำรวจ คือชีวิตอย่างกับ GTA

    “เขาเล่าให้ฟังว่าชีวิตของเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจมันเป็นยังไง เขาถูกกดทับ เขาต้องนั่งคลานเข่าพนมมือคุยกับผู้คุม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้พยายามทำให้เด็กออกมาอยู่ในสังคมได้ แต่มันคือพื้นที่ที่ขังคนไว้ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขายิ่งต้องเหี้ยมขึ้นไปอีก แต่ในวันที่เขาไม่รู้สึกว่ามีใครเชื่อใจเขาเลย เขาได้มาเจอป้ามลที่วันแรกก็รับไปกินหมูกระทะ แต่งชุดอะไรก็ได้ แถมมีวันให้เขานั่งดูหนัง เลือกหนังเองได้ จนเขาค่อยๆ เชื่อใจผู้ใหญ่อีกครั้ง   

    “สิ่งที่เราประทับใจคือหลังจากงานจบ เราได้จัดเวิร์กช็อปให้ครูในโรงเรียนที่จัด TED ทีได้กลับมาพูดให้ครูและอาสาฟังว่าผมออกจากบ้านกาญจนาฯ แล้วก็กลับไปที่บ้าน พอออกมาค้นพบว่ากลับเข้าไปในคุกง่ายกว่าทนอยู่ข้างนอกเพราะสังคมตีตราเขาแล้วว่าเขาเป็นเด็กขี้คุก พอเพื่อนรู้ว่าเขาได้งานยากก็เข้ามาชวนให้กลับเข้าไปสายเดิม

    “ทีบอกว่ามีป้ามล บ้านกาญจนาฯ มีพ่อแม่ แล้วก็มีพี่ๆ อาสา TEDxBangkok Youth นี่แหละที่เขาไม่อยากทำให้ผิดหวัง วันนี้ทีขายเสื้อมือสองและยังพยายามหาวิธีเอาตัวรอดในแบบของเขาเพราะเขารู้ว่ามีคนที่เชื่อในตัวเขาอยู่ 

    “จริงๆ ตอนแรกเราถามทีว่าถ้าทีพูดแล้วมีคนจำทีได้ ทีจะกังวลไหม ทีก็บอกว่าไม่เป็นไรครับพี่ ผมไม่กังวลเลย สำหรับผม ถ้าแค่มีสักคนที่กำลังจะลั่นไก สักคนที่กำลังจะไปปล้นเพราะมันมองว่ามันเท่ ถ้าเขาได้ดูทอล์กผมแล้วเขาไม่ทำสิ่งนั้น แค่คนเดียวก็พอแล้ว

    “ถ้าไม่ได้เจอกันใน TEDxBangkok เขาคงเป็นเด็กที่เราเดินหนีตอนสวนกัน แต่วันที่ได้รู้จัก ได้เป็นพี่เป็นน้องกัน เราได้เห็นเขาค่อยๆ เติบโต มันก็ทำให้เห็นว่าเวทีนี้มันยังมีความหมายกับชีวิตคนยังไงบ้าง”  

    5
    หัวข้อ : ไทม์แมชชีนการ์ตูน สู่ความฝันวัยเด็ก

    สปีกเกอร์ : นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ (น้าต๋อย เซมเบ้)
    TEDxBangkok 2015

    “ตอนที่ทำ TEDxBangkok มาได้ 2-3 ปี มีน้องในทีมชื่ออันดา พูดประโยคหนึ่งกับเราว่า ‘พี่พิ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่มันโดดเดี่ยวนะ’ เรารู้สึกว่ามันจริงมากเลย สังคมบอกว่าคุณต้องโตขึ้นนะ คุณเป็น license holder คุณต้องแต่งตัวดีๆ จะทำตัวตลกโปกฮาไม่ได้แล้วนะ บางทีคนไม่ได้บอกเราด้วยนะ เรารู้สึกไปเองว่าเราจะต้องทำตัวให้มืออาชีพขึ้น

    “แต่เมื่อไหร่ที่เราได้กลับไปดูทอล์กน้าต๋อย เราจะถูกเตือนว่าเราก็เคยเป็นแค่เด็กแว่นหัวโปกคนหนึ่งที่ตื่นเช้ามารอดูการ์ตูนน้าต๋อย น้าต๋อยบอกว่าแปรงฟันด้วยนะเด็กๆ เราก็เชื่อเพราะเขาคือฮีโร่ในวัยเด็กของเรา แต่วันที่เราไปคิวเรต มันคือวันที่รู้สึกว่าความเป็นผู้ใหญ่มันตบหน้าเรา ฮีโร่เราเป็นเวอร์ชั่นที่ป่วยแล้ว ป่วยเป็นงูสวัดลงกระดูกสันหลัง เขาต้องใช้วอล์กเกอร์ช่วยพยุง

    “ตอนนั้นน้าต๋อยจะเซย์โนแล้วเพราะอาการเขาแย่ลง แต่อย่างที่ทุกคนเห็นในทอล์ก ตอนแรกแกขอนั่งพูดเพราะยืนไม่ไหว แต่พอกำลังจะขึ้นเวทีอยู่ดีๆ แกไม่เอาเก้าอี้  แล้วน้าต๋อยก็ยืนพูดแบบปล่อยพลังเต็มที่ พอเดินกลับมาหลังเวที แกทรุด ตอนนั้นอาสาทุกคนร้องไห้เลย 

    “ผมถามว่านี่มันคือขั้นเสี่ยงชีวิตแล้ว ทำไมเวทีนี้มันถึงสำคัญนักหนาเพราะน้าต๋อยไม่ได้รู้จัก TED มาก่อนด้วยซ้ำ น้าบอกว่าแค่ไม่อยากทำให้เด็กๆ ผิดหวัง มันเหมือนเป็นหน้าที่ที่เขาเคยทำมาตลอดชีวิต มันอาจจะคลิเช่นะแต่ทอล์กน้าต๋อยมันอนุญาตให้เรากลับไปเป็นเด็กได้บ่อยๆ แม้ในวันที่เราถูกบังคับให้เป็นผู้ใหญ่ ถูกบังคับให้ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย

    “เราเลยรู้สึกว่าไม่ว่าทอล์กนั้นๆ หรือธีมนั้นๆ จะได้รับการพูดถึงแค่ไหนมันไม่ได้สำคัญเท่าอาสาสมัครทุกคนภูมิใจไหม เพราะแต่ละคนก็คงมีเหตุผลที่กระโดดมาทำงานอาสาแตกต่างกันซึ่งมันไม่น่าจะใช่การถูกใครบางคนชี้นิ้วสั่งแล้วก็วิ่งตาม KPI หรอกใช่ไหม” 

    “เราเลยคิดว่า TEDxBangkok มันเป็นสนามเด็กเล่นผู้ใหญ่ที่ให้เราได้ทดลองทำอะไรหลายอย่าง ทดลองชวนคนกรุงเทพฯ มาเปิดตาแล้วมองอีกด้าน เปิดให้ทุกคนทดลองมาเป็นอาสากลางแล้วสร้างอะไรบางอย่างที่เราเชื่อร่วมกัน

    “แม้กระทั่งสปอนเซอร์เขาก็ยังต้องลองขยับมาเล่นกับเรา ขยับมาเป็นอาสาอีกนิด อย่าง CPN เขาทำศูนย์การค้าใช่ไหม ทำ real estate ใช่ไหม ตามกฎของ TED พี่ขายตรงๆ ไม่ได้นะ งั้นพี่ลองคิดดูว่านอกจากชวนคนมาเดินห้าง สิ่งที่พี่อยากบอกคนในเมืองนี้มันคืออะไร อ๋อ มันคือการที่เราอยากสร้างเมืองที่ดีขึ้น

    “หรือโรงงานไก่ GFPT เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อเขาเลยเพราะส่วนใหญ่เขาเน้นลูกค้า B2B แต่สิ่งที่เรามานั่งคุยกันว่าไอเดียของพี่มันคืออะไรกันแน่ อ๋อ พี่เชื่อว่าจริงๆ แล้วเรื่องความยั่งยืนมันสำคัญ ไก่ที่เรากินเราเลือกได้นะว่าจะเป็นไก่จากกระบวนการไหนบ้าง

    “สิ่งเหล่านี้มันดูเหมือนเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วถ้าไปขุดเบื้องหลังไอเดียการทำงานของ TED จะเห็นว่ามันมีสตอรี มันมีเหตุผล และมันมีอิมแพกต์ทั้งหมดเลย แต่มันจะเป็นอิมแพกต์ในทางไหน เราก็รอดูทุกครั้งหลังจบงาน

    “ในวันนี้ TEDxBangkok สำหรับเรามันไม่ต้องเปลี่ยนโลกก็ได้ แต่มันอาจจะมีอิมแพกต์กับบางคนที่ช่วยกิจการที่บ้านอยู่ อิมแพกต์กับคนที่เพิ่งฟื้นตัวมา เข้าไปช่วยคนที่อยากกลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หรือช่วยคนที่อยากกลับมาเชื่อในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เราว่าแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว” 

    ISAN Cubism แบรนด์เซรามิกที่หยิบเอาศิลปะอีสานมาสื่อสารใหม่เป็นไอเทมที่ใครๆ ก็อยาก cf

    ฉันเกิดและโตที่อีสาน 

    ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนบ้านเดียวกันบ้าง แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่มีโอกาสได้นั่งคุยเรื่องศิลปะอีสาน สารภาพว่าอายนะ เพราะไม่รู้ว่าที่อีสานมีมรดกด้านศิลปะด้วย เมื่อต้องไปพูดคุยกับทีมที่ทำแบรนด์ ‘ISAN Cubism’ ที่เพิ่งออกโปรดักต์เป็นงานปั้นพระไม้ และคนในโซเชียลก็พร้อม cf ตั้งแต่ยังไม่เปิดขาย จนพระองค์ใหญ่ sold out ภายใน 40 นาที

    สำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นชื่อ ‘ISAN Cubism’ คือแบรนด์เครื่องปั้นดินเผาที่ตั้งใจหยิบเอาศิลปะอีสานอย่าง ลายขิด ฮูปแต้ม และพระไม้มาสื่อสารใหม่เป็นโปรดักต์ร่วมสมัยเพื่อให้คนรุ่นเก่าเห็นคุณค่าและคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนคือ อาจารย์เปิ้ล–ผศ. ดร.ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร รับหน้าที่ดูแลการผลิต และ อาจารย์ขาม–ผศ. ดร.ขาม จาตุรงคกุล รับหน้าที่ดูแลเรื่องกราฟิกดีไซน์และแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งนอกจากทั้งคู่จะแท็กทีมกันทำ ISAN Cubism แล้ว พวกเขายังมีงานหลักเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย

    พอฉันได้เห็นงานของแบรนด์ ISAN Cubism แล้วปรากฏว่า ศิลปะอีสานที่ว่านั้นกลับคุ้นตามาก โดยเฉพาะลายขิด อาจเป็นเพราะลวดลายของลายขิดอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอีสาน (ตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้) บนหมอนที่มีทุกบ้าน บนเสื่อที่นั่งกินข้าว หรือกระทั่งของประดับในงานบุญ งานบวช งานกฐิน 

    แต่ทั้งที่อยู่ใกล้แค่นี้เอง ทำไมฉันไม่เคยรู้เลยว่ามันคือ ศิลปะอีสาน   

    นี่จึงเป็นการเปิดประตูเข้าไปรู้จักศิลปะอีสานของฉันผ่านแบรนด์ ISAN Cubism และอาจเป็นของคุณด้วย  

    คุณทั้งสองคนผูกพันกับความเป็นอีสานตั้งแต่ตอนไหน 

    อาจารย์ขาม : ผมเป็นเด็กชานเมือง พ่อแม่เป็นข้าราชการเลยไม่ได้อยู่ในสังคมลูกอีสานขนาดนั้น ผมชอบความ folk ของอีสาน ประเพณีพื้นบ้าน แต่ก็ไม่ถึงกับหลงใหล พอโตขึ้นมาไปเรียนออกแบบก็ต้องใส่ความเป็นสากลเข้าไปในงาน จุดที่ทำให้ผูกพันกับความเป็นอีสานคงเป็นตอนทำทีสิสปริญญาโทที่ศิลปากร สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วอะไรก็ตามที่ไม่โมเดิร์นคือไม่ดี ล้าสมัย ซึ่งผมเองก็รู้สึกโดนกดทับ 

    แต่ถ้าเราไหลตามน้ำไป แล้วเราจะกลับไปสอนเด็กยังไงว่าศิลปะอีสานมันมีตัวตนที่เท่ ผมก็เลยเดินทางไปทั่วอีสานเพื่อทำรีเสิร์ช ไปดูหม้อไหบ้านเชียง ปราสาทหิน วัดโบราณ แล้วเก็บลวดลายต่างๆ มาทำฟอนต์กับ clip art เป็นเล่มทีสิส

    อาจารย์เปิ้ล : ผมเป็นคนใต้นะ มาจากจังหวัดตรัง ตอนเรียนก็มาเรียนที่ศิลปากรอยู่หน้าวัดพระแก้ว ตอนทำทีสิสก็ทำเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ เรียกว่าทำงานศิลปะแบบ academic มาตลอด ซึ่งมันเป็นศิลปะที่ค่อนข้างมีสัดส่วนทองคำ มีแบบแผน ต้องลายเส้นแบบนี้ นอกกรอบแล้วไม่สวย แต่พอมาอยู่อีสาน มันเซอร์มาก ศิลปะอีสานเหมือนเด็กวาดรูปเล่นแต่มาอยู่ในวัดที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เลยเริ่มสนใจว่ามันคือศิลปะอะไร

    ตอนที่ผมคิดว่าผูกพันจริงๆ คงเป็นตอนเรียนปริญญาเอก เพราะผมต้องลงไปตามชุมชนเพื่อทำรีเสิร์ชศิลปะอีสาน ไปดูฮูปแต้มตามวัดที่มหาสารคาม ขอนแก่น ดูไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งได้อาจารย์ขามที่เป็นกูรูอยู่ข้างๆ นอกจากจะทำให้ผมเรียนรู้เร็วแล้ว มันก็สนุกมาก

    คิดว่าความน่าสนใจของศิลปะอีสานอยู่ตรงไหน 

    อาจารย์ขาม : ศิลปะอีสานมันพูกพันกับผู้คน ไม่เหมือนภาคเหนือที่จะมีอาณาจักรล้านนา อยุธยาก็มีช่างหลวงทำให้เจ้านาย แต่ทางอีสานเราไม่มีเจ้าเมือง เราไม่ใช่ศูนย์กลางการปกครอง คนอีสานทำงานศิลปะเพื่อกันละกัน เพื่อตัวเอง เพื่อชุมชน เป็นศิลปะที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำเรียนศิลปะสร้างสรรค์มันขึ้นมา

    ผมไปอ่านหนังสือของอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร แกเป็นศิลปินนักออกแบบที่ไปช่วยอุตสาหกรรมด่านเกวียน แกเขียนหนังสือร่วมกับอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ซึ่งทั้งสองคนเป็นคนใต้ทั้งคู่เลยนะ แกก็สรุปศิลปะอีสานออกมาว่า บึกบึน เรียบง่าย ซื่อตรง ใสซื่อ ซึ่งมันเป็นคาแร็กเตอร์ของคนอีสาน

    พอได้ศึกษาศิลปะอีสานแล้ว คิดจะทำแบรนด์กันเลยไหม 

    อาจารย์เปิ้ล : เชื่อไหมว่าผมกับอาจารย์ขามเราเห็นภาพเลยว่าฮูปแต้มในวัดสามารถเป็นโปรดักต์สมัยใหม่อะไรได้บ้าง แต่ตอนนั้นยังไม่มีความคิดว่าจะทำแบรนด์ ผมคิดแค่ว่าถ้านักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของบ้านเขาเอง ว่ามันสามารถสร้างเป็นโปรดักต์อะไรได้บ้าง นักศึกษาก็จะทำงานอยู่ที่บ้านได้ไม่ต้องไปอยู่ไกลบ้าน อยู่อีสานคนก็มาซื้อของคุณเอง เช่น เราไปภาคเหนือ เขามีผลิตภัณฑ์ของเขาเยอะมาก แต่มาอีสานเราไม่มีอะไรเลย  

    ช่วงนั้นเราก็เลยมุ่งมั่นที่จะสอนเด็กเรื่องศิลปะอีสาน นอกจากจะสอนหนังสือ ผมกับอาจารย์ขามก็จะไปบรรยายเรื่องผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมให้กับชุมชนด้วย ผมทำผลงานไปประกวดตามเวทีต่างๆ ด้วย อาจารย์ขามก็เปิดบริษัทกราฟิกเขาก็ช่วยเหลือชุมชนออกแบบสินค้าให้ เพราะว่าเราอยากสื่อสารออกไปว่าศิลปะอีสานมันก็มีดีนะ แต่ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาทำให้เราเฟล เพราะทุกคนก็จะบอกว่ามันอีสานเกิน (เสียงสูง)

    แล้วอะไรคือแรงผลักดันให้คุณลุกขึ้นมาทำแบรนด์ ISAN Cubism  

    อาจารย์ขาม : ย้อนกลับไปตอนที่เรายังไม่มีการตื่นตัวด้านวัฒนธรรมนะ ผมกลัวคนในพื้นที่จะมองว่าศิลปะอีสานบ้านเรามันน่าอาย ทำงานออกมาแล้วเดี๋ยวจะโดนบูลลี่ ซึ่งผมคิดว่าเด็กจำนวนหนึ่งก็น่าจะรู้สึกอย่างนั้น บวกกับผมเปิดบริษัทกราฟิก ทำแบรนด์ให้ชุมชนมา 15 ปี ไปบรรยายด้านการออกแบบ ทุกคนจะขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ใหม่เสมอ คือ สร้างแบรนด์ ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ ทำโลโก้ใหม่ ทำแพ็กเกจจิ้งใหม่ เราใช้สมองกับงานเยอะมากแต่ชาวบ้านเขาก็ไม่เอาไปพัฒนาต่อ เราเหนื่อยกับการบอกเขาแล้วว่ามันดี มันก็ตกตะกอนมาเรื่อย ๆ จนอาจารย์เปิ้ลมาชวนทำ ผมก็ตกลงทันที

    อาจารย์เปิ้ล : ผมทำเพราะผมอยากให้คนกลับมามองศิลปะอีสาน เด็กคือจุดใหญ่ของผมเหมือนกัน เพราะเราสอนเด็กเรื่องผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมเขาก็ไม่เชื่อ เขาไปทำคาแร็กเตอร์ของเขาเอง แต่เด็กเซรามิกทุกคนจะทำงานเซรามิกได้แค่เดือนเดียว ก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว ประเทศไทยเด็กเซรามิก 400 คน จะมีแค่ 10 หรือราวๆ 40 คนเท่านั้นที่ทำเซรามิกแล้วเลี้ยงชีพได้  

    จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ ISAN Cubism 

    อาจารย์เปิ้ล : ตอนปี 2021 ผมเริ่มจริงจังแล้วว่าอยากสร้างโปรดักต์เพื่อขายจริงๆ เพราะทุกครั้งที่ส่งผลงานไปประกวดเราจะได้ต้นแบบเพิ่มขึ้นมาทุกปี ทำเสร็จแล้วก็เอามากองไว้ ทุกงานเราไม่สามารถวางการผลิตจนจบแล้วขายได้ ผมเลยปรึกษาอาจารย์ขามว่า ผมอยากทำแบรนด์ อาจารย์อยากทำกับผมไหม เพราะผมจ่ายคนเดียวไม่ไหว อาจารย์ขามก็โอเค ซัพพอร์ตสถานที่ด้วยครับ

    วันแรกที่ทำแบรนด์คาดหวังอะไร

    อาจารย์เปิ้ล : ไม่คาดหวังอะไรเลยครับ 

    อาจารย์ขาม : จะขายเมื่อไหร่เรายังไม่รู้เลยครับ (หัวเราะ)

    ทำไมต้องเป็นแนว Cubism สนใจอะไรในศิลปะแนวนี้เป็นพิเศษ

    อาจารย์ขาม : มันเป็นศิลปะที่เกิดมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว ปิกัสโซไปมิวเซียมที่รวบรวมพวกของใช้จากแอฟริกาที่ฝรั่งเศส แล้วก็วาดหน้าผู้หญิงสองสามคน แต่แทนที่จะวาดหน้าผู้หญิงที่เป็นเจ้านายสวยๆ เขาวาดหน้าโสเภณีเหมือนผี เป็นแนวเรขาคณิต วาดหน้าคนเป็นเหลี่ยมๆ ต่อมาคนก็เรียกมันว่าแนวคิวบิสม์ ซึ่งเป็นแนวศิลปะที่คนอีสานชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาเลยเขาก็ทำได้ นั่นก็คือภูมิปัญญาลายขิดที่อยู่บนผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ลายผ้าของอีสาน ซึ่งทำยากมากกว่าจะจัดลายให้ได้เหมือน pixel art 

    ปรัชญาหนึ่งของคิวบิสม์ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ ต้องเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงให้มันต่างจากเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนดีไซน์ทุกคนถูกสอนมาเสมอว่า ห้ามลอกมานะ ต้องแปลงมันให้เป็นสิ่งใหม่ ฟังก์ชั่นใหม่และสื่อสารได้บ้าง ซึ่งมันก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากเห็นใน ISAN Cubism

    คุณตั้งใจจะเชื่อมโยงศิลปะอีสานกับศิลปะแนวคิวบิสม์เพราะสื่อสารง่ายหรือเปล่า

    อาจารย์เปิ้ล : ผมอยากให้ฝรั่งเขารู้ว่าบ้านเราก็มีคิวบิสม์ที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา และผมมั่นใจว่ามันเก่าแก่กว่าคิวบิสม์ที่ยุโรปอีก ซึ่งก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาชื่อเดียวเลยครับว่า ISAN บวกกับคิวบิสม์ คำว่าคิวบิสม์ฝรั่งจะเก็ต แล้วเขาจะอยากรู้ต่อว่าอีสานคืออะไร เราต้องการเชื่อมอีสานกับสากลเข้าด้วยกัน 

    อาจารย์ขาม : อย่างที่ผมบอกว่าปรัชญาของคิวบิสม์ ตัวมันเองก็คือการปรับตัวเข้าหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วกลายเป็นสิ่งใหม่ เจออะไรก็ไม่รู้แหละปรับให้เป็นสิ่งใหม่ เพราะคิวบิสม์มันก็คืออยู่ๆ ก็วาดรูปคนเป็นหน้าลูกบาศก์เฉยเลย ซึ่งก็เหมือนวัฒนธรรมอีสานมาก ความเป็นอีสานมันลื่นไหล ผ่อนปรนไปได้กับทุกอย่าง ทั้งแจ๊ส โซล ฮิปฮอป เข้ากับคนอื่นก็ได้หมด อยู่ตรงไหนก็ได้

    และผมก็มองคำว่า cube กับ cute มันออกเสียงคล้ายๆ กันใช่ไหมครับ เพราะงั้นผมคิดว่า ISAN Cubism จะมีสอง element ก็คือ อีสานน่ารักก็ได้ อีสานลูกบาศก์ก็ได้ ทำให้งานมีทั้งลายเส้นฟรีฟอร์มและเรขาคณิต ดีไซน์ผสมกันแล้วแต่โจทย์ เหมือนพ่อครัวคนหนึ่งที่มีรสชาติที่อยากนำเสนอให้คนลองกินเพราะเขาคิดว่ามันอร่อย

    ความเชื่อของแบรนด์คืออะไร 

    อาจารย์เปิ้ล : เราทำขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นของผมนะเพราะมันเป็นของชาวบ้านคนอีสาน เราเอามาทำให้มันร่วมสมัยเพราะเราเห็นว่าศิลปะอีสานมีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกไกล 

    ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์กันคุณคาดหวังอะไร

    อาจารย์เปิ้ล : ไม่ได้คาดหวังเลยครับ 

    อาจารย์ขาม : จะขายเมื่อไหร่เรายังไม่รู้เลยครับ ตอนแรกเราแค่ถ่ายรูปลงในเพจเฉยๆ เราลงรูปไปแค่ 4 แบบแต่ว่าพระมีทั้งหมด 12 แบบ เห็นยอดไลก์ร้อยกว่าไลก์ คนแชร์ไปเยอะมากมันก็มหัศจรรย์แล้ว มีคนอินบอกซ์มาขอซื้อตั้งแต่ตอนที่เราลงรูปนะ ปรากฏว่าพระ 130 องค์ องค์ใหญ่ขายหมดภายใน 40 นาที 

    ตีโจทย์ออกมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาได้ยังไง ทำไมไม่ทำเป็นอย่างอื่น

    อาจารย์ขาม : ด้วยความที่ผมเปิดบริษัทกราฟิกแล้วเราทำงาน graphic on product เสียส่วนใหญ่ ไม่เคยทำโปรดักต์จริงๆ ช่วงโควิดก็ต้องปิดบริษัทไป 2 ปี ช่วงนั้นผมกับแฟนก็ได้มีโอกาสรีสกิลอัพสกิล ลองทำงานไม้ งานปั้นเซรามิก มันก็นำมาสู่การทำ ISAN Cubism อีกอย่างคืออาจารย์เปิ้ลมีทักษะในการปั้นเซรามิกสูงมาก

    อาจารย์เปิ้ล : ผมทำเซรามิกมาตั้งแต่อายุ 14 นับเป็นความโชคดีมากๆ เพราะโรงเรียนผมที่ตรังมีช็อปเซรามิก ตอนเรียนปริญญาตรีก็เรียนศิลปอุตสาหกรรม แต่มันมีช่วงหนึ่งที่ผมไปลองทำอย่างอื่นนะ ผมเคยลองเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงแคคตัส เลี้ยงปูนา ผมลองเปลี่ยนอาชีพไปเลยไม่ทำเซรามิกเลย แต่หลังจากลองทำแล้วผมรู้เลยว่าผมต้องทำเซรามิกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทำให้ผมอยู่ได้มากที่สุดคือเซรามิก

    แล้วการจะทำงานที่มันคราฟต์มากแบบนี้ มีความยากอะไรไหม และแก้ปัญหายังไง

    อาจารย์เปิ้ล : อย่างแรกคือ คนทำงานเพราะงานเรามันทั้งทำยากและพลาดได้ทุกขั้นตอน ไม่ใช่ใครจะทำได้ แล้วการทำเซรามิกมันมีต้นทุนสูง ถ้าทำงานเสียหายมันคือต้นทุนทั้งหมด แต่โชคดีที่ตอนปี 2022 ผมเจอเด็กเก่ง 2 คนที่ผมสอนอยู่ ผมมั่นใจในฝีมือน้องมากและพร้อมที่จะจ้างเขาในราคาสูง แต่ผมจ้างไหวแค่คนเดียว ผมเลยคุยกับอาจารย์ขามว่า เราจะช่วยกันจ่ายเงินเดือนน้อง 

    ความยากที่ 2 ก็คือ ผมต้องจัดตารางชีวิตใหม่ เพราะผมมีงานสอน งานเวิร์กช็อป ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร เวิร์กช็อปทีครั้งละ 15 วัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปผมจะไม่สามารถปลีกตัวไปทำแบรนด์ได้เต็มที่ ผมเลยต้องจัดการตัวเองก่อน ผมใช้ทั้งปี 2022 เคลียร์ชีวิตตัวเอง เพื่อจะได้เริ่มนับ 1 กับแบรนด์ ISAN Cubism ในปี 2023 

    ถึงตอนนี้ทีมทั้งหมดมีกี่คน แบ่งหน้าที่กันยังไงบ้าง 

    อาจารย์ขาม : ผมจะดูแลเรื่องกราฟิกดีไซน์ แพ็กเกจจิ้ง ดีไซน์บูทเวลาที่เราต้องไปออกบูทตามที่ต่างๆ แล้วก็ซัพพอร์ตอาจารย์เปิ้ลเวลาที่เขาต้องการอะไรครับ

    อาจารย์เปิ้ล : ทีมเรามีทั้งหมด 6 คน ทีมผลิตเซรามิก 3 คน เราทุกคนจะเป็นแอดมินหมด ผมพูดได้เลยว่าตอนนี้ทุกคนในทีมสำคัญหมด ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลยครับ

    คุณมีวิธีคิดยังไงว่าจะผลิตโปรดักต์ไหนออกมาขาย

    อาจารย์เปิ้ล : ตอบตรงๆ ว่าเราทำโปรดักต์ที่น่าจะทำเงินได้ออกมาก่อน ชิ้นที่ใช้เวลาน้อยที่สุด มีคำถามน้อยสุดและมีของเสียน้อยที่สุด เพราะเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกอย่างต้องใช้เงินหมด เรามีโปรดักต์อยู่ 3 ชิ้นหลักก็คือ เตาน้ำมันหอมระเหย ที่รองแก้วน้ำ แล้วก็พระ ทั้ง 3 อย่างนี้ผมอยากทำหมด แต่ถ้าเราทำเตาน้ำมันหอมระเหยก่อนกว่าจะคืนทุน เราจะตึงมาก และมันทำยากครับ ผมลองให้น้องฝ่ายผลิตในทีมทำ อาทิตย์หนึ่งทำได้หนึ่งชิ้นซึ่งแบบนี้เราไม่รอดแน่

    ส่วนที่รองแก้ว เราก็ต้องลงทุนกับเครื่องจักรเพราะผมลองทำแล้ว ที่รองแก้วจบสวยที่สุดด้วยเครื่องจักรอัด RAM press ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีเงินไปลงทุนก็เลยต้องพักไว้ก่อน 

    ส่วนตัวโปรดักต์พระก็ยากเหมือนกัน เพราะการถอดพิมพ์พระมันยากมาก ยากจนท้อ แต่พอให้น้องฝ่ายผลิตลองทำแล้วน้องทำได้ดีมาก เราก็เลยต้องทำของที่มันน่าจะขายดีและไม่ต้องลงทุนมากออกมาก่อนเพื่อความอยู่รอด และเมื่อเทียบเราเทียบพระกับเตาน้ำมันหอมกับที่รองแก้วแล้ว เตาน้ำมันหอมกับที่รองแก้วจะไม่ขายหมดภายใน 40 นาทีเหมือนพระ มันจะช้ากว่านั้นมาก เราก็ตั้งธงทำพระเลย

    การเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ทำผลิตภัณฑ์ มันมีความละเอียดอ่อนไหม ต้องบาลานซ์ยังไง

    อาจารย์ขาม : ผมจะพูดแบบนี้ทุกครั้งที่ไปบรรยายให้แม่ๆ ป้าๆ ฟังว่า สวัสดีครับผมจะมาพูดเรื่องวัฒนธรรมอีสานที่ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามันคืออะไร แต่อีสานในความหมายของผมคือ ความเก่าและใหม่ที่มันอยู่ร่วมกันได้ เหมือนผมอยู่บนเวที ผมก็จะไม่ไปเบียดให้คุณตก ผมเป็นดีไซเนอร์ คุณเป็นช่างหัตถกรรม เรายืนอยู่บนเวทีนี้ด้วยกัน เพราะศิลปวัฒนธรรมอีสานเราทุกคนร่วมกันเป็น stakeholder ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน เราจะไม่ไปลบหลู่ความเชื่อดั้งเดิม แต่ผมก็ไม่อยากให้คนสมัยนี้เห็นวัฒนธรรมเดิมแล้วกลัวจนไม่กล้าสบตา ผมอยากทำให้มันน่ารักขึ้นมา

    คุณทำยังไงในการเอาสิ่งที่คนยุคก่อนให้คุณค่ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้คนยุคปัจจุบันยอมรับ

    อาจารย์ขาม : ผมจะไม่ทิ้งของเก่าแต่ก็จะไม่อนุรักษ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้ ตั้งแต่ 70 ปีหรือ 90 ปีก็แล้วแต่ มันเป็นฟังก์ชั่นของยุคนั้น แต่วันนี้เราผ่านช่วงเวลานั้นมานานแล้ว มันกลายเป็นว่าเราไม่สามารถเอาสิ่งนั้นกลับเข้ามาเป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยได้ มันต้องเปลี่ยนรูปทรง สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ ด้วยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่ เอาไปอยู่ในคอนโด stand alone ได้ เอาไว้ตกแต่งได้ เป็นฟังก์ชั่นที่เราจะไม่เอาไปขึ้นหิ้งพระหรือเอาไปถวายวัดให้คนกราบไหว้ เราไม่ได้ไปแข่งกับเวย์นั้นเลยเด็ดขาด 

    ย้อนกลับไปไอเดียของการทำพระไม้เป็นมายังไง 

    อาจารย์เปิ้ล : จริงๆ แล้วผมปั้นแม่พิมพ์พระไม้ไว้ตั้งแต่ปี 2013 นะ จากตอนที่ผมกับอาจารย์ขามเรียนปริญญาเอก เราต้องไปทำรีเสิร์ช พอเราได้ไปเห็นพระไม้อีสานของจริงแล้วผมก็อยากปั้นเลย ตอนนั้นยังไม่มีความคิดเรื่องจะทำแบรนด์เลยนะ ผมแค่อยากทำ และผมก็มองว่าพระเป็นของที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า ลองวางพระคู่กับแจกันดูสิ ทั้งที่ต้นทุนเท่ากันแต่พระจะขายได้ราคาสูงกว่า เพราะพระมีคุณค่ามากกว่าแจกัน 

    คุณเอาพระไม้อีสานมาประยุกต์เป็นงานปั้นยังไง 

    อาจารย์เปิ้ล : ผมยอมรับว่าผมใช้วิธีจำลอง ผมอยากรู้วิธีคิดของชาวบ้านว่าเขาคิดยังไงเวลาเขาทำพระ ผมก็ปั้นตาม พระไม้ทุกองค์ที่ผมปั้นมีอยู่จริงทั้งหมดในหนังสือ แต่ผมจะไม่ไปแกะไม้ตามเขานะเพราะมันไม่ใช่สกิลที่ผมมี ผมก็เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นดินแล้วเก็บลักษณะพระไม้สไตล์ชาวบ้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อถ่ายทอดให้คนรู้ว่ายุคสมัยหนึ่ง ที่อีสานเคยมีพระไม้แบบนี้อยู่นะ ผมอยากให้คนอื่นได้เห็นว่านี่คือพระของชาวบ้านทั่วไปทางภาคอีสาน

    แล้วการปั้นพระมันก็สอนผมอย่างหนึ่งว่า เราทุกคนก็สามารถสร้างพระเป็นของตัวเองได้ ชาวบ้านเขายังแกะพระตามความชอบของเขาเลย จะด้วยความสมถะ เขาก็แค่แกะไม้ท่อนหนึ่งให้เป็นพระ แกะไปจนรู้สึกว่ามันคือพระแล้วก็จบ ไม่ได้สวยงาม เป็นทรงประหลาดก็ตาม แสดงให้เห็นทัศนะของชาวบ้านต่อความงาม ผมก็คิดว่า ขนาดชาวบ้านเขายังทำตามใจตัวเองเลย ถ้าผมจะทำแล้ว ผมทำเซรามิกได้ ทำน้ำเคลือบได้ ทำดินได้ ผมก็ควรเอาสิ่งที่ผมถนัดมาทำพระ เพราะนี่คือพระในมุมของผม แต่ผมให้ความเคารพทุกขั้นตอนนะ และใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป จะเรียกว่าผมไป co-branding กับช่างคนนี้ก็ได้

    งานที่ออกมาดูป๊อปมาก คุณตั้งใจหรือเปล่า  

    อาจารย์เปิ้ล : มันไม่ใช่ความตั้งใจของผมนะ จริงๆ ผมมีเหตุผลว่าทำไมพระไม้ที่เราทำถึงมีสีสัน เพราะว่าพระไม้บางองค์ที่สมบูรณ์จริงๆ จะมีสีสันสดใสมาก ตัวเหลืองเป็นเหลือง ทาหน้าขาว ปากแดง คิ้วดำ ซึ่งน่าจะมาจากชาวบ้านที่เขามีตังค์ หรือไม่ก็ได้ต้นแบบมาจากพระทางพม่าเพราะพระทางพม่าจะมีสีสดมาก คิดดูแล้วกันว่า องค์ที่เราเห็นแม้จะเก่าแล้วยังเหลืองขนาดนี้ ลองนึกถึงตอนที่ช่างเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ มันจะเหลืองขนาดไหน 

    แล้วพระอีสานเซอร์มาก เป็นพระที่ไม่ได้สวยงามวิจิตรเหมือนทางพม่าหรือทางเหนือเลย พระปากเบี้ยว มือใหญ่ เท้าใหญ่ สัดส่วนไม่ได้เลย ซึ่งพระไม้อีสานเป็นแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมทำงานด้วยความเคารพทุกขั้นตอน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เรานึกอยากทำอะไรก็ทำนะ มันมีที่มาที่ไป แล้วเราก็ทำออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ

    อาจารย์ขาม : นอกจากที่อาจารย์เปิ้ลบอกไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่เราคิดว่าควรทำพระให้มีสีสันสดใสเพราะผมคิดว่าการมีพระไว้ในบ้านทำให้จิตใจแจ่มใสได้นะ บ้านสดใสมากขึ้นไง เพราะพระของ ISAN Cubism เอามา decorate ได้ 

    เรื่องรสนิยมความชอบเรื่องสีสัน คนเราชอบไม่เหมือนกันหรอก ผมเลยคิดว่าในเมื่อพระเราเป็นของตกแต่งบ้านได้ ก็ควรทำให้คนที่อยู่ในบ้านมองพระเเล้วมีความสุขอยู่ในนั้น ไม่ตึงเครียด หรือแตะต้องไม่ได้ขนาดนั้น เทียบกับคุมะมงที่มันแค่น่ารักฮีลใจได้ในระดับหนึ่ง แต่พระอาจจะฮีลได้มากกว่าเพราะมีคุณค่ามากกว่า

    การที่เราเอาพระไม้มาทำให้มันป๊อปขึ้น คนเห็นแล้วอยากสะสม ถือเป็นการอนุรักษ์วิธีหนึ่งไหม

    อาจารย์เปิ้ล : มันอาจจะเป็นวิธีการอนุรักษ์วิธีหนึ่ง แต่ผมไม่ได้มองเป็นเป้าหมายหลัก เราไม่รู้ว่าโปรดักต์ของเราจะช่วยอนุรักษ์ได้มากแค่ไหน แต่ผมมองว่าถ้าเราไปออกบูทที่ไหน คนก็จะถามเราว่าพระนี่คืออะไร มาจากไหน เราสามารถตอบเขาได้ว่ามันคืออะไร มันเป็นการสื่อสารให้คนรู้มากขึ้น ทำให้คนเห็นว่าที่อีสานเรามีพระแบบนี้ ศิลปะแบบนี้อยู่นะ ดูอย่างศิลปะทางภาคเหนือ บ้านเขามีคนหยิบจับศิลปะไปใช้ แต่อีสานเราไม่มีเลย ผมก็แค่อยากเอาศิลปะอีสานมาใช้บ้าง แต่เอาเข้าจริงแค่เขาซื้อไปผมก็ดีใจเเล้วนะ เพราะเขาเห็นว่าศิลปะชาวบ้านมันสวยไง

    อาจารย์ขาม : เรารู้ว่าศิลปะอีสานมันมีดี แต่ถ้าเรานิ่งอยู่กับที่ ไม่ปรับตัวให้มันเข้ากับฟังก์ชั่นยุคสมัยใหม่ เราก็ต้องไปซื้อของที่ญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศส จนเต็มบ้าน แล้วของบ้านเรามันก็จะไปอยู่ในมิวเซียม มันก็ดูน่ากลัวนะ เพราะวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมันไม่ได้เกิดจากอาวุธ มันเกิดจากศิลปะและดีไซน์ด้วย ทุกที่ทั่วโลกเขาก็เลยให้งบประมาณมาพัฒนาศิลปะชุมชนให้แข็งแรง เพราะเขารู้ว่ามันเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนถูกอนุรักษ์ไว้ได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

    ผมมองว่าเรากำลังเอาคัลเจอร์มาสร้าง identity แล้วดีไซน์เป็นงานเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เวลาที่ผมไปบรรยายให้แม่ๆ ป้าๆ ชาวบ้านฟังผมก็จะบอกพวกแกแบบนี้เหมือนกันว่า ผ้าทอ ผ้าซิ่น ผ้าไหมที่เขาทำเพื่อใส่ไปงานบุญ งานบวช สมมติจะขายให้คนที่อยู่ในเมืองหรือฝรั่ง ฝรั่งเขาจะใส่ไปงานบุญที่ไหน ทำไมเราไม่เอามาตัดเป็นของที่มันใช้ได้ทุกวัน เช่นทำกระเป๋าไหม

    แล้วการนำพระพุทธรูปที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธามาทำเป็นโปรดักต์แบบนี้ มีอะไรที่ต้องระวังไหม

    อาจารย์เปิ้ล : ในแง่ของนักวัฒนธรรมผมไม่ทราบนะ แต่ถ้าเรามองพระไม้ของอีสานเราจะเห็นว่าดีไซน์พระไม้ของอีสานปากยิ้ม เราก็ไม่เคยเห็นมาก่อนใช่ไหมว่ามีองค์พระที่ยิ้มอยู่บนโลกนี้ด้วย   

    อาจารย์ขาม : ถ้าจะมาดราม่ากับผม ผมจะบอกให้ไปด่าคนรุ่นก่อน 

    กลัวไหมว่าคนจะมองเราว่าไปลดความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป 

    อาจารย์เปิ้ล : ผมว่าพระที่เราทำไม่ได้ไปลดความศักดิ์สิทธิ์หรอก อะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ได้หมดถ้าเขาเชื่อ ถูกไหม แต่ผมมองว่าพระของ ISAN Cubism ให้ความรู้สึกใหม่ พอมองแล้วเข้าถึงง่าย พระไม่ต้องซีเรียส บางทีหากมีพระของ ISAN Cubism คนอาจอยากเข้าวัดมากขึ้นก็ได้ เรียกว่าทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

    อาจารย์ขาม : มันไม่มีหรอกที่เราจะเดินเข้าไปในร้านขายพระแล้ว อุ๊ย อยากนำไปไว้ที่บ้าน รู้สึกเป็นมิตร เข้าถึงได้ อยากเดินเข้าไปหา แต่เราก็ไม่ใช่สายมูนะ เพราะเราไม่ได้เอาไปปลุกเสกอะไร แต่มีคนอินบอกซ์มาถามนะว่าปลุกเสกหรือยังครับ ก็แล้วแต่ลูกค้าเลยจะเอาไปปลุกเสกเองก็ได้  

    พระไม้มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อของแบรนด์ยังไง

    อาจารย์เปิ้ล : พระไม้ของอีสานจะมีความเป็นเหลี่ยมเป็นมุมเพราะสมัยก่อนชาวบ้านใช้เครื่องมือที่หาได้ง่ายๆ ไม่ค่อยคมมาเเกะพระ มันเลยทำให้พระมีรอยบิ่น รอยถาก มีความไม่เรียบร้อย ไม่เนี้ยบ ซึ่งตรงกับความเป็น ISAN Cubism มันมีความไม่เรียบร้อยผสมอยู่ด้วย มีความเป็นเหลี่ยม มุม มีความน่ารัก มีสีสันสดใสซึ่งเป็นสไตล์ของ ISAN Cubism ทั้งคู่เลย 

    เห็นว่าขึ้น sold out ภายในเวลาไม่นาน คุณคิดว่าอะไรทำให้คนในโซเชียลสนใจงานปั้นพระไม้มากขนาดนี้

    อาจารย์ขาม : ผมว่ามันเหมือนความสวยที่ปะทะต่อหน้า มันสวยแล้วอยากซื้อแค่นั้นเลย คนสนใจเพราะตัวโปรดักต์ล้วนๆ พระของ ISAN Cubism มีความร่วมสมัย มันเป็นของสะสมก็ได้ ให้ความรู้สึกเป็นของแรร์ไอเทม ในตลาดยังไม่มีพระแบบนี้ออกมาขาย แล้วสีสันของพระก็ตามเทรนด์ในตอนนี้ดีมาก มีองค์สีชมพูฐานฟ้า กับอีกองค์ฐานฟ้าสีชมพู พอมาตั้งคู่กันคู่สีน่ารักมาก คนซื้อเขาก็อยากซื้อพระองค์เล็กคู่กับพระองค์ใหญ่

    จากที่ทำมา คุณคิดว่าข้อดี-ข้อเสียของการทำแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมคืออะไร

    อาจารย์ขาม : รู้ไหมว่า พระไม้บางองค์ชาวบ้านเขาเอาไปก่อไฟนะ เวลาที่มันหนาวๆ เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า ผมก็มองว่าถ้าเราเห็นแล้วว่าบ้านเรามีของดีๆ ในพื้นที่ แต่เมสเซจที่ส่งไปอาจไม่ถึงใครเขา ผมเป็นดีไซเนอร์ผมก็ต้องใช้วิธีใหม่ให้ทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่เห็นคุณค่า แล้วช่วยสืบสานต่อหรือไม่ก็แค่รับรู้ไว้ก็ได้ว่าคนอีสานเรานับถือศาสนาพุทธอย่างเรียบง่าย พระไม่จำเป็นต้องซื้อ เราทำกันเอง ถึงจะไม่สวยแต่เรื่องศรัทธาเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร  

    ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ถามว่าคนสมัยนี้เคร่งศาสนาไหม น้อยนะครับ แต่เขาอยากซื้อพระของ ISAN Cubism เพราะว่าน่ารัก แล้วผมก็มองว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรเราอยู่ เพราะธรรมะของผมคือธรรมะที่ไม่มีภาษาบาลี เพราะภาษาบาลีทำให้ผมไม่อยากศึกษาธรรมะ แต่ผมเห็นพระปางสมาธิแล้วทำให้ผมรู้จักคิดไตร่ตรอง พระปางรำพึง องค์นี้ทำให้ผมรู้จักคิดให้มีความสุข อีกปางคือปางไสยาสน์ ที่สอนให้ผมรู้จักพักบ้าง พระทุกองค์จะมีคำสอนอยู่ในนั้น 

    ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าพระมีไว้ทำไม ไม่ต้องไหว้ก็ได้นะ แค่เห็นก็รู้แล้วว่าพระปางนี้ทำให้เรารู้จักคิด ปางนี้ทำให้เรามีสมาธิ ส่วนปางนี้ทำให้เรารู้จักพัก นี่คือเมสเซจที่ผมอยากส่งไป เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้เคยพูดไว้เมื่อ 2,000 กว่าปีตอนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีสมาธิสั้น ไม่มีทำงานจนเบิร์นเอาต์ท่านจะบอกให้คนพักผ่อนยังไง ผมก็เลยมองว่าพระของเราต้องนอนแล้วยิ้มๆ มีความสุข เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ต้องตีความใหม่เพื่อที่จะได้เข้าใจบริบทเก่า

    อาจารย์เปิ้ล : คนที่ซื้อพระของเราไป บางคนเขาก็ยังไม่รู้นะว่าไอเดียมันมาจากพระไม้อีสาน มันแค่ทำให้เขาเห็น แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไปรู้ มันก็จะลิงก์กันได้ว่ามันคือศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้านคนอีสานที่มันมีมานานแล้ว ISAN Cubism ก็เหมือนสื่อสื่อหนึ่งมันบอกเล่าอะไรบางอย่างส่งต่อไปให้คนซื้อ มันอยู่ที่ว่าเขาจะรับได้มากแค่ไหนและเมื่อไหร่ 

    คุณมีมุมมองต่อศิลปวัฒนธรรมเดิมยังไง มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แตะต้องได้หรือเปล่า 

    อาจารย์ขาม : ผมไม่ได้แอนตี้ แต่ก็ไม่สะสม ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าซื้อของพวกนี้เข้าบ้าน มันมีขายอยู่นะ แต่ไม่กล้าซื้อ ผมกลัวผี มันเป็นฟังก์ชั่นที่เขาดีไซน์มาเพื่อใครบางคน บางสถานที่ สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะไปเก็บมาไว้กับตัว มันก็ไม่ใช่

    อาจารย์เปิ้ล : ของพวกนี้เขาอยู่ในที่ที่เขาควรจะอยู่อยู่แล้ว มันมีวัตถุประสงค์ของผู้สร้างที่จบไปแล้ว เราไม่ควรเอาของของเขามาเพราะเดี๋ยวจะผิดวัตถุประสงค์ แต่ถ้าถามว่าผมอยากได้พระไม้ไหม ผมอยากได้ แต่ไม่ใช่พระไม้องค์จริงองค์นั้นนะ แต่อยากได้พระหน้าตาแบบนี้แหละ ผมก็จำลองขึ้นมาใหม่ ผมปั้นเอง 

    เป้าหมายของการทำแบรนด์ตอนนี้คืออะไร 

    อาจารย์เปิ้ล : ผมมองว่าเรากำลังทำสิ่งที่มันมีคุณค่าและสามารถสร้างมูลค่าบางอย่างได้ด้วย แล้วเราก็อยากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นนะ ดูแลครอบครัวได้ น่าจะเป็นเป้าหมายพื้นฐานในตอนนี้ 

    ส่วนเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมอยากให้การทำแบรนด์นี้ไปซัพพอร์ตการเป็นอาจารย์ของเราด้วย เราอยากถ่ายทอดให้เด็กๆ เห็นว่า คุณเรียนเซรามิกไปแล้วคุณสามารถเอาไปเลี้ยงชีพได้เหมือนที่เราทำ ซึ่งเราก็หวังว่าเราจะทำได้นะ (หัวเราะ) 

    อาจารย์ขาม : ตอนนี้เราทำเพื่อ business ผมอยากขายให้ได้ก่อน แต่เราจะไม่ใช้เส้นสาย เราใช้ความออร์แกนิก แต่ความฝันที่ไกลที่สุดเลยนะ ถ้าเราทำให้คนทั้งในประเทศและต่างชาติเขาชอบได้ เราก็จะมีพลังเฮือกใหม่ที่จะไปบอกชาวบ้านเขาได้ว่า เนี่ย สินค้าเชิงวัฒนธรรมมันทำได้นะ แล้วผมก็คิดไว้ในใจว่าวันหนึ่งต้องมีชาวบ้านได้เงินจากสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเกษียณไปแล้ว คนตกงาน หรือเด็กตามบ้านคงต้องมาทำงานหัตถกรรม แต่อาจารย์เปิ้ลบอกว่ามันต้องใช้สกิลสูงมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องเอามาคิดต่อไป ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น

    ตอนนี้วงการศิลปะกำลังเน้นเทคโนโลยี คุณกลัวไหมว่ามันจะกระทบกับแบรนด์

    อาจารย์ขาม : ถ้าเราใช้ AI Generated คอมพ์มันก็จะทำออกมาเป็นเส้นที่คอมพ์ชอบ ไม่ใช่แบบที่เราชอบ แล้วมันก็เสียศักดิ์ศรีความเป็นดีไซเนอร์ของเราแย่เลย แล้วถ้าเราไปจ้างโรงงานเซรามิกเขาทำ มันก็เสียความสามารถของอาจารย์เปิ้ลที่สั่งสมมาหลายสิบปี แม้ว่างานเราจะออกมามี human error ก็ตาม แต่นั่นก็คือทักษะของคนคนหนึ่ง คอมพ์มันลงสีไม่ได้แบบนี้หรอก เราก็เลยไม่กลัวเทคโนโลยี ทำ ISAN Cubism โดยเน้นความคราฟต์ทำมือกันให้มากที่สุด

    อาจารย์เปิ้ล : ถ้าเป็นเซรามิกก็ไม่มีทางที่เทคโนโลยีจะทำได้เท่าฝีมือของคนครับ เพราะว่าผมลองแล้ว ผมลองใช้เครื่องปรินต์ 3D มาทำพระ ปรากฏว่ามันออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งจะต่างกับทำมือมาก เพราะว่าเครื่องปรินต์ 3D จะปรินต์ตามเส้นดิน ซึ่งดินมันจะไหลตัวตลอดเวลาตามธรรมชาติของดิน เครื่องจักรก็ไม่สามารถที่จะควบคุมดินได้ แม้เทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน ดินมันก็ยังคงจะเป็นแบบนี้ถูกไหม เครื่องจักรอาจคุมความร้อนได้ ทำงานไว แต่งานออกมาแล้วสีจะเป็นเส้นๆ ไม่มีเสน่ห์เหมือนทำมือ พอรู้แล้วว่ามันเป็นแบบนี้เราก็ไม่ต้องกลัวหรอก เรามีจุดแข็งอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเขว แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีนะ เพราะว่าอย่างโปรดักต์ที่รองแก้วของเราก็ต้องใช้เครื่องจักรถึงจะออกมาสวยที่สุด  

    คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของแบรนด์

    อาจารย์เปิ้ล : จุดแข็งของแบรนด์เราคือความรู้ นักออกแบบที่ดีต้องมีความรู้ ความรู้ที่เราเป็น expert ในด้านนี้ แล้วมันก็จะออกมาเป็นโปรดักต์ที่แข็งแรงเอง

    อาจารย์ขาม : อาจารย์เปิ้ลมีทักษะในการปั้นเซรามิกสูงมาก การปั้นดินเผามันระเบิดได้นะถ้าผสมดินไม่ได้ การทำเซรามิกมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงมาก ถ้าปั้นไม่ดี ทำเร็วไปมันก็ยวบ ช้าไปก็แห้ง ต่ออะไรไม่ได้ เราต้องจับอารมณ์ดินให้ถูก ผมต้องเรียนรู้จากเขาอีกเยอะ

    เห็นว่าไม่ถนัดเป็นผู้ประกอบการเลย ตอนนี้ดีขึ้นหรือยัง 

    อาจารย์ขาม : ด้วยความที่ผมเป็นสายกราฟิกแล้วมาเรียนรู้เรื่องเซรามิกทีหลัง แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมชิ้นงานออกช้า สมมติผมบอกว่าของานนี้ภายใน 3 วันได้ไหม ทีมผลิตบอกอาทิตย์หนึ่ง พอลองไปทำเองถึงรู้ว่าจริงๆ ปั้น 3 วัน รอแห้ง 3 วัน เผาครั้งที่หนึ่ง 1 วัน รอเย็นอีก ลงสีอีก เผาครั้งที่สองปาเข้าไปแล้วเกือบๆ 10 วัน มันไม่เหมือนงานกราฟิกที่ทำวันเดียวก็เสร็จ มันยากมาก ไม่วายยังเสี่ยงแตกได้ทุกขั้นตอนแม้กระทั่งตอนแพ็กของ อีกอย่างคือการลงสินค้า ต่อไปนี้เราคงต้องคิดใหม่ว่าเราจะลงสินค้าทีละเท่าไหร่ เพราะครั้งแรกที่เราลงไปเราลงพร้อมกันหมด จนหน้าเพจเฟซบุ๊กล่มไปเลย (หัวเราะ)

    อาจารย์เปิ้ล : ตอนนี้ผมพยายามควบคุมเรื่องความเสียหาย เพราะตอนแรกผมคิดว่าเราได้คนเก่งมาทำงานแล้วมันคงง่าย แต่ว่าพอมาทำงานจริง แม้เราจะมีทีมผลิตที่เก่งมากๆ แต่การทำงานเซรามิกมันเกิดความผิดพลาดได้ทุกขั้นตอนจริงๆ ผมต้องใจเย็น แล้วคิดว่าจะสื่อสารกับทีมยังไงถ้าเกิด conflict ขึ้นมา ผมจะพูดยังไงให้งานเดินต่อไปได้แล้วทุกคนโอเค ทีมผลิตแฮปปี้ อาจารย์ขามแฮปปี้ ไม่เครียดว่าทำไมงานถึงออกช้า 

    ทุกวันนี้คุณบาลานซ์ระหว่างโลกธุรกิจและศิลปะยังไง 

    อาจารย์เปิ้ล : จริงๆ เราเอาอาร์ตนำ ทำงานออกมาก่อนแล้วเราค่อยตั้งราคา เราไม่ได้คาดหวังว่าต้องได้เท่าไหร่ เพราะทีมเราไม่มีใครเก่ง business เลย เราเลยไม่กล้าพูดว่าเราเอา business นำ แต่แน่นอนว่าต่อไปนี้เราต้องคิดเรื่องธุรกิจให้มากขึ้น

    สมมติว่าต้องทำโปรดักต์ออกมาแบบเดียวเพราะได้รับความนิยมมาก คุณโอเคไหม

    อาจารย์ขาม : ผมยินดีนะ ผมให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน เหมือน Bearbrick ที่มีรูปทรงเดียวแต่เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ถ้าแบบนี้มันขายได้ ทรงอื่นเราอาจจะหยุดแล้วมาทำทรงนี้ มันก็ดีที่เรามีงานที่คนชอบสต็อกเอาไว้ อาจารย์เปิ้ลจะได้ไม่ตึงมาก และผมก็คิดว่าทุกแบรนด์ก็น่าจะต้องการแบบนี้ คือมีโปรดักต์สักชิ้นหนึ่งที่ขายได้แน่นอน เป็นของยืนพื้น แต่เราจะไม่หยุดสร้างต้นแบบใหม่ๆ นะครับ

    อาจารย์เปิ้ล : ผมขายของมาบ้างตั้งแต่มหาวิทยาลัย ผมก็จะรู้ว่าของที่มันขายดีแม้เราจะไม่อยากทำเราก็ต้องทำมันออกมาก่อนเพื่อความอยู่รอด เอาเงินมาเลี้ยงให้เราทำในสิ่งที่เราชอบต่อไป แล้วทุกแบรนด์ต้องมีของที่มันขายได้ตตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาเรียก hero product หรือเปล่าไม่เเน่ใจ ผมมองว่า ISAN Cubism คือบ้าน ตอนนี้เราอยากสร้างบ้านอยู่ก่อน เราไม่เคยมีบ้าน เราก็ต้องการบ้านก่อน พอเรามีบ้านที่แข็งแรงแล้วเราค่อยไปใช้ชีวิตหรือทำอย่างอื่นออกมาต่อไป

    เวลาทำงานผมมีความสุขนะ แม้ว่าจะทำแต่แบบเดียว ถึงแม้คนอาจมองว่ามันจำเจ แต่การทำงานเซรามิก เวลาที่เราเผา เปิดเตาออกมามันมีอะไรให้ลุ้นตลอด ว่าสีจะได้ไหม คุณภาพเป็นไง ระหว่างกระบวนการทำงานมันทำให้เราจินตนาการได้เรื่อยๆ

    เท่าที่ฟังเรื่องราวของคุณมาจนกระทั่งทำแบรนด์ เหมือนกำลังดูหนัง comming-of-age อยู่เหมือนกันนะ 

    อาจารย์ขาม : ตอนนี้เราทั้งสองคนอยู่ในช่วง comming-of-age กำลังเปลี่ยนผ่าน อย่างผมก็เปลี่ยนคณะที่สอนจากคณะสถาปัตย์มาอยู่ศิลปกรรมเพื่อทำงานศิลปะ จะได้ช่วยฝ่ายผลิตมากขึ้น ส่วนอาจารย์เปิ้ลเองก็เคลียร์งานสอนมาเป็นปีเพื่อปีนี้จะได้มาทำแบรนด์ อายุผมก็จะ 50 แล้ว ผมอยากทำอะไรสนุกๆ ตามใจตัวเองบ้าง ไม่อยากเป็นนักวิชาการพูดอะไรยากๆ 

    ผมอยากทำ ISAN Cubism ให้สนุก เราเพิ่งเริ่มต้นกัน แม้ว่าเราจะเริ่มต้นได้ดีก็จริงแต่ก็ยังรู้สึกว่านี่คือช่วงทดลองของเราอยู่ จากที่เราด้นสดกัน ตอนนี้เราก็พอจะเห็นภาพแล้วว่าเราจะรอดด้วยวิธีไหน ผมรู้สึกเหมือนคนเพิ่งลงสนามมาเตะบอลครั้งแรก แต่ดันเตะเข้าโกล มันก็รู้สึกชื่นใจดี

    อาจารย์เปิ้ล : เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเราทั้งคู่จริงๆ แต่ก็เป็นช่วงที่ผมมีความสุขที่สุดนะ ผมทำงานสอนหนังสือ เราสอนเซรามิกที่คนเรียนน้อยมากแต่ได้เงินเดือนเท่าอาจารย์ขามสอนนิเทศที่เด็กมาเรียนเยอะ แล้วเด็กที่จบเซรามิกก็น้อยมากที่จะได้ทำอาชีพเกี่ยวกับเซรามิก มันก็เป็นความไม่สบายใจของเราที่สะสมมาเรื่อยๆ ว่าผมอยู่ผิดที่หรือเปล่า ก็เลยมีความคิดว่าอยากโฟกัสกับคนที่ตั้งใจอยากเรียนจริงๆ จะในระบบก็ได้ นอกระบบก็ได้ อยากทำแบรนด์นี้ให้เติบโตไปเรื่อยๆ