นามบัตร 7 ใบของ ‘สุธีรพันธุ์ สักรวัตร’ จากเซลส์ขายน้ำมันเชลล์ สู่ผู้บริหารทีมการตลาด SCBX

ด้วยเป็นเบื้องหลังคนสำคัญของโปรเจกต์ชื่อดังมากมาย ทั้งเป็นหนึ่งในทีมงานที่ทำ SCB แม่มณีตั้งแต่ QR Code ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในไทย หรือย้อนไปไกลกว่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ริเริ่มแคมเปญ ‘กล้าเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์’ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ใช้กับบรีสทั่วเอเชีย หรือเป็นคนที่เขียนหนังสือเรื่องการตลาดออนไลน์เล่มแรกๆ ในไทย สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานทั้งหลายที่เราได้กล่าวในข้างต้นจึงมักถูกชักชวนไปเป็นสปีกเกอร์หรือให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ ว่าด้วยกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์และกลยุทธ์การตลาดทั้งหลาย

ทว่าการชักชวนสุธีรพันธุ์มาพูดคุยกันในครั้งนี้ต่างออกไป ประเด็นคำถามที่เราส่งให้เขาก่อนพบกันในวันนัดหมายสัมภาษณ์ไม่ใช่วิธีการคิดแคมเปญเจ๋งๆ หรือต้องทำการตลาดยังไงถึงได้ยอดขายเพิ่ม แต่มุ่งเน้นไปยังเรื่องประสบการณ์การทำงานของเขามากกว่า

เพราะก่อนจะมาเป็นผู้บริหารทีมการตลาดของ SCBX อย่างในปัจจุบัน อาชีพแรกของสุธีรพันธุ์คือการเป็นเซลส์ขายน้ำมันอุตสาหกรรมของเชลล์มาก่อน และแม้จะเรียนจบปริญญาตรีด้านปิโตรเคมี แต่ก็ใช้ความหลงใหลที่มีในศาสตร์การตลาดและงานโฆษณาจนเขากลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธนาคารอายุร้อยกว่าปีมีโปรเจกต์สนุกๆ ออกมาอยู่เสมอ 

และการเรียนรู้เส้นทางการทำงานของเขา ก็เหมือนเราได้อ่านหนังสือการตลาดขนาดย่นย่อเล่มหนึ่ง 

ไม่ใช่ความรู้เชิงทฤษฎี–แต่เป็นความรู้จากการทำงานจริงของ ‘สุธีรพันธุ์’

1

Marketing Representative (เซลส์ขายน้ำมัน)
THE SHELL COMPANY OF THAILAND LIMITED

“ตอนมัธยมเราเรียนอยู่สวนกุหลาบวิทยาลัย เรียนสายวิทย์ เป็นเด็กที่ถือว่าเรียนได้ดีแต่ไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่ ไปเน้นทำกิจกรรมมากกว่า สมัยนั้นเพื่อนบอกว่าเราดูเป็นคนติสท์ๆ น่าจะไปเรียนต่อด้านนิเทศฯ ไม่ก็สถาปัตย์ ซึ่งตอน ม.4-5 เราก็ไปเรียนติวสถาปัตย์เพิ่มด้วยนะ แต่สุดท้ายเราก็ไปเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านเคมีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับปิโตรเคมี ที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ 

“เหตุผลที่อยู่ๆ มาเลือกเรียนด้านนี้เพราะตอนนั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าโชติช่วงชัชวาล คำนี้เป็นคำที่คนเจนเราจะรู้จักกันดี คือเป็นช่วงเวลาที่ไทยเจอแหล่งก๊าซใหม่ ไทยจะรวย เราจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรจากใต้ท้องทะเล ถ้างั้นเราก็เลือกเรียนอะไรที่มันดูเป็นอนาคตของประเทศนี่แหละ น่าจะรวยแน่ 

“ตอนเรียนที่พระจอมเกล้าก็ทำกิจกรรมเยอะตลอด ส่วนเกรดที่ได้ก็ถือว่ากลางๆ ไม่ดีไม่แย่ พอตอนปี 4 ยังเรียนไม่จบ แต่เราก็เป็นคนแรกของรุ่นที่ได้งานเป็นเซลส์ขายน้ำมันสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่เชลล์ จำได้เลยว่าตอนนั้นทำงานจากเชลล์เสร็จก็ต้องมาทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์ที่บ้านเพื่อน ซึ่งเอาจริงๆ ตอนนั้นเชลล์เขาก็คงไม่ได้อยากรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์หรอก แต่อาจจะเพราะเราทำกิจกรรมมาเยอะ เรามีทักษะการพูด เขาก็เลยรับเราเข้าทำงาน ซึ่งเรารู้สึกสนุกกับการขายของมากนะ มันได้พูดคุยได้โน้มน้าวคน 

“ทำไปได้สักพักเราก็ไปเจอจุดที่ว่าแม้น้ำมันจะเป็นแบบเดียวกันเป๊ะๆ เหมือนกันทั้งหมด แต่ถ้าน้ำมันถังไหนที่ติดโลโก้ของเชลล์เข้าไปก็จะขายได้แพงกว่า ตอนนั้นมันก็เลยทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลโก้มันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ มันทำให้ขายของได้แพงขึ้นจริงๆ เหรอ เป็นอะไรที่เจ๋งมากเลย

 “พอเห็นแบบนี้ก็เริ่มไม่อยากขายน้ำมันละ เปลี่ยนไปอยากขายอะไรที่เกี่ยวกับพวกโลโก้อะไรแบบนี้แทน ซึ่งตอนนั้นเรายังหาคำจำกัดความมันไม่ได้นะว่าไอ้สิ่งนี้คืออะไร มันยังไม่มีคำว่าแบรนดิ้งในหัว รู้แต่เราสนใจมันมาก ตอนนั้นความเข้าใจของเราต่อสิ่งนี้เลยมีแค่ว่า

“เราอยากทำโฆษณา”

2

Account Executive (AE)
BBDO Thailand

“เป็นเซลส์ที่เชลล์ได้ 3 ปีก็ตัดสินใจลาออกไปเรียนต่อด้าน MBA ที่อังกฤษ เพราะเราอยากทำสิ่งที่ทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น แล้วคิดว่าโฆษณาคือเครื่องมือที่ทำให้เกิดตรงนั้น พอเข้าไปก็มีหลายวิชาให้เลือกเรียน แต่มันมีวิชานึงที่เราจำได้ขึ้นใจคือวิชา Creative Marketing อาจารย์ที่สอนวิชานี้เห็นว่าเราชอบเรื่อง Creative Marketing มากก็เลยแนะนำให้เราไปอ่านหนังสือที่ชื่อว่า The 22 Immutable Laws of Marketing หนังสือเล่มนี้บอกว่าการทำมาร์เก็ตติ้งในโลกนี้ ถ้าเอามาดูกันจริงๆ มันมีแค่ 22 แท็กติกเท่านั้น พอเห็นแบบนี้เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ เราหลงใหลหนังสือเล่มนี้มาก แล้วก็อยากจะทำงานในเอเจนซีโฆษณา คือไม่ได้อยากเป็นครีเอทีฟนะ แค่อยากใช้หนังสือเล่มนี้ในการทำงาน ถ้ามีคนเอาโจทย์มาให้แล้วเราบอกว่างั้นเรามาแก้โจทย์นี้ด้วยกฎข้อที่ 15 กัน คงน่าสนุกไม่น้อย

“เราเริ่มไปงาน open house ของ Ogilvy ไปดูออฟฟิศที่ Leo Burnett กระทั่งได้มาคุยกับครูแนะแนว เขาก็บอกว่ายูเป็นคนไทยมาอยู่ในอังกฤษแค่ 2 ปี แล้วจะมาทำโฆษณาให้คนอังกฤษดู มันคงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าใจอินไซต์หรือคัลเจอร์ต่างๆ ของคนอังกฤษ ได้ฟังแบบนี้เราก็รู้สึกอกหักตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มสมัครงานเลย  

“พอเรียนจบเราก็กลับมาไทยในช่วงปี 1999 มีอยู่วันนึงขับรถผ่านตึกอื้อจื่อเหลียงแถวสีลม มองขึ้นไปบนตึกเห็นโลโก้ HSBC เฮ้ย นี่มันแบงก์ต่างชาตินี่หว่า งั้นลองไปสมัครดีกว่า เผื่อเขาอาจจะอยากรับเด็กจบอังกฤษเข้าทำงาน เลยตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าไป จอดรถเสร็จขึ้นไปที่ออฟฟิศ HSBC ปรากฏว่าไม่เจอใครเลย มีแต่ออฟฟิศโล่งๆ สอบถามพี่ รปภ.ที่อยู่แถวนั้นก็เลยได้รู้ว่าออฟฟิศเพิ่งสร้างเสร็จพนักงานยังไม่ย้ายมา ตอนนี้ทำงานที่ออฟฟิศเดิมที่สีลมอยู่ เลยกะว่างั้นเดี๋ยวไปยื่นใบสมัครที่ออฟฟิศตรงสีลมแล้วกัน ก็กดลิฟต์จะลงไปที่จอดรถ 

“ลองจินตนาการคือพวกอาคารออฟฟิศเขาจะมีชื่อบริษัทติดอยู่ว่าบริษัทไหนอยู่ชั้นไหนบ้าง ระหว่างรอลิฟต์เราก็ยืนดูป้ายนั้นเล่นๆ จนเหลือบไปเห็นชื่อ BBDO เฮ้ย นี่มันเอเจนซีที่เราเคยเห็นตอนอยู่อังกฤษนี่หว่า เป็นเอเจนซีที่โคตรเทพ เราก็เลยขึ้นไปอีกครั้ง ถามพี่ รปภ.อีกทีว่า BBDO เขาย้ายมาอยู่กันแล้วใช่ไหม (หัวเราะ) พอพี่ รปภ. ตอบว่าใช่ คราวนี้ไม่ไป HSBC แล้ว ไป BBDO แทน จำได้แม่นเลยว่าอยู่ชั้น 18 เดินเข้าไปกรอกใบสมัคร แล้วเขาก็เรียกสัมภาษณ์เลย 

“ตอนสัมภาษณ์เราก็เล่าให้เขาฟังแบบที่เล่าไปเมื่อกี้ บอกว่าเราอยากทำงานในสายนี้มากแค่ไหน คุยไปคุยมาสุดท้ายเราก็ได้เริ่มทำงานเป็น AE ซึ่งวันนั้นเราอายุ 27 แล้ว ถือเป็น AE ที่น่าจะอายุเยอะสุดในทีม (หัวเราะ) เพราะ AE คนอื่นเขาอายุ 22-23 กัน ทำไปได้ 6 เดือนเราก็ได้รับการโปรโมตเป็น AM (Account Manager)

“พอได้เริ่มทำงานในฝันจริงๆ ก็รู้สึกสนุกมาก เราชอบพิตช์งานมาก เพราะรู้สึกว่าการพิตช์งานทำให้เราได้เจอโจทย์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ได้มานั่งเบรนสตอร์มกับคนอื่นๆ ได้อยู่ในกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ และได้ใช้กฎ 22 ข้อจากหนังสือแบบที่เราอยากใช้ 

“ชีวิต 2 ปีใน BBDO ทำให้เราได้บทเรียนสำคัญเรื่องนึงที่ยังคงติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ คือการคราฟต์งาน ไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  และการให้ความสำคัญในคุณภาพของชิ้นงาน”

3

Associate Director
LOWE BANGKOK

“จาก BBDO เราก็ย้ายมาอยู่ที่ LOWE Bangkok ทำงานในทีมโลคอลไปได้สักสองสามปี regional team ของ Unilever เขาเห็นผลงานเราก็เลยให้เราไปช่วยดูงาน Unilever ในระดับภูมิภาคแทน เราได้ดูแลสินค้าที่เป็นผงซักฟอก และสินค้าธรรมดาๆ อย่างผงซักฟอกนี่แหละเป็นอะไรที่อินสไปร์เราสุดๆ 

“คือผงซักฟอกเป็นสินค้าที่ทั่วไปมากๆ มันไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่จะใหม่ไปกว่านี้แล้ว เพราะมนุษย์เริ่มซักผ้าจากสบู่ ถัดมาเป็นผงซักฟอก เป็นผงซักฟอกแบบน้ำ หรืออย่างเก่งก็อาจจะใส่ผงสีฟ้าสีเขียวเข้าไป ซักผ้าสะอาดกว่า กลิ่นหอมกว่า คือในแง่ funtional benefit มันเป็นสินค้าที่ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว 

“Unilever ก็เลยไปทำรีเสิร์ชกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแม่บ้านทั่วโลกว่าอะไรคือเป้าหมายของชีวิต คำตอบส่วนใหญ่ของเหล่าแม่บ้านคือการทำให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดีไปพร้อมๆ กับพัฒนาการที่ดีของลูก มันก็เลยกลับมาเป็นโจทย์ว่าแล้วจะทำยังไงถึงจะทำให้เรื่องพัฒนาการของเด็กกับผงซักฟอกไปด้วยกันได้ 

“ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เด็กออกไปเล่นนอกบ้านน้อยลงเพราะติดเกมเพลย์อยู่ในบ้าน อันนี้คือ pain point ว่าจะทำยังไงให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้านได้ เพราะถ้าเด็กอายุ 7-8 ขวบไม่ได้ออกไปเล่นเขาจะขาดพัฒนาการที่สำคัญไปเยอะมาก ส่วนแม่บ้านก็ไม่อยากให้เด็กออกไปเล่นมากเพราะกลับมาเสื้อผ้าจะสกปรกและซักยาก ทาง Strategic Planner ของ Unilever เขาก็ฉลาด คิดชื่อ Dirt Is Good ออกมา กระตุ้นให้เด็กได้ออกไปเล่นข้างนอก แต่เหล่าแม่บ้านไม่ต้องกังวลเรื่องเสื้อผ้านะ เพราะถ้าเลอะมาเดี๋ยวบรีสช่วยทำความสะอาดให้เอง ซึ่งมันเป็นอะไรที่ว้าวมากนะ แบบคิดได้ยังไงวะ มันเป็นแคมเปญที่ไม่ได้บอกว่าฉันเก่งฉันดี ฉันสะอาดกว่าหรือขาวกว่า แต่คือการชวนกลุ่มเป้าหมายไปคุยอีกเรื่องนึงเลย 

“แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จมาก ถูกเอาไปใช้ในหลายๆ ประเทศในเอเชีย หนึ่งในนั้นคือไทยที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกับประโยคที่ว่า “กล้าเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์” แล้วเราก็ได้ทำงานอยู่ในช่วงนั้น ได้บินไปขายงานนี้ที่มุมไบ 

“ทำตรงนี้ได้อยู่สองปี เราก็ย้ายทีมไปทำสินค้าที่ชื่อว่า Clinic เขาอยากจะรีแบรนด์ด้วยโจทย์ที่ว่าทำยังไงที่ไม่ต้องขายแชมพูขจัดรังแคในเชิง funtional อย่างเดียว เพราะเจ้าที่มาก่อนหน้าอย่าง Head And Shoulders เขาเอาพื้นที่ตรงนี้ไปเยอะแล้ว ทาง Clinic เขาก็เลยบิดมุมเล่าเอาแชมพูขจัดรังแคไปขายเชิง emotional benefit แทน จนได้ไปเจอ pain point ว่าคนเป็นรังแคเขาไม่ค่อยกล้าใส่สีดำกัน เพราะมันจะทำให้เห็นชัดว่ามีรังแคที่ผม แล้วก็ไม่ค่อยกล้าออกไปเที่ยวกลางคืนกันเท่าไหร่ คือในยุคนั้นเวลาจะไปเที่ยวกลางคืนเขามักใส่เสื้อสีดำกัน จากแชมพูขจัดรังแคที่ใช้เชิงรักษาก็มาเล่าผ่านในมุมความสวยงามแทน แล้วก็ค่อยๆ รีแบรนด์ จาก Clinic มาเป็น Clinic Clear แล้วก็เหลือแค่คำว่า Clear ในที่สุด  

“ตอนอยู่ในกระบวนการทำงานเหล่านี้เราแฮปปี้มาก เพราะได้ทำงานที่มีคอนเซปต์ ได้เรียนรู้วิชาใหม่เต็มไปหมด ทั้งวิชาการรีแบรนด์ วิชารีโพซิชันนิ่ง การทำ brand belief หรือคำว่าอินไซต์เราก็เพิ่งจะมารู้จักจากการทำงานในช่วงนี้แหละ 

“สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำงานที่ LOWE คือที่นี่สอนให้เรารู้จักหาพื้นที่เล่นใหม่ที่ไม่ใช่แค่ในเชิงของ functional เท่านั้น อย่างเรื่องผงซักฟอกหรือโปรดักต์อะไรก็ตามแต่ มันมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะทำโปรดักต์อะไรที่ใหม่และเป็นเจ้าแรกของโลกใบนี้ รวมถึงการคิด strategic planning ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงติดตัวเรามาจนถึงทุกวันนี้

“จากการทำโฆษณาเป็น TVC คราวนี้ทาง Unilever เองก็เริ่มหันมาทำสิ่งที่เรียกว่า brand activation คือต้องบอกว่าโฆษณาในสมัยก่อนมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีระยะห่างระหว่างแบรนด์กับลูกค้าที่เราจะไม่เห็นฟีดแบ็กจากคนดูว่าเป็นยังไง มันไม่ได้มีเครื่องมือช่วยวัดเอนเกจเมนต์แบบทุกวันนี้ ทาง Unilever เองก็เลยทำสิ่งที่เรียกว่า brand activation ขึ้นมา อธิบายง่ายๆ มันเหมือนการทำอีเวนต์เพื่อให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ พูดตอนนี้ดูเป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ แต่สมัยก่อนสิ่งนี้มันเป็นอะไรที่ใหม่และว้าวมาก เราทำโร้ดโชว์จัดกิจกรรมให้คนมาสระผม จัดปาร์ตี้ให้คนใส่แต่เสื้อสีดำมาร่วมงาน ซึ่งมันเป็นอะไรที่สนุกมากแล้วเราก็สนใจในศาสตร์ brand activation มากๆ ด้วย 

“brand activation เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดว่าเวลาจะไปพิตช์งานอะไรต้องเอา activation package มาเสนอลูกค้าด้วยว่าจะต่อยอดไปทำกิจกรรมอะไรต่อ 

“turning point มันอยู่ที่ปีที่ 5 เราเริ่มมีความรู้สึกเบื่องานเอเจนซีแล้ว เลยไปขอลาออกเพื่อไปเปิดบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองแทน เขาก็บอกตูนคุณอย่าเพิ่งออก ถ้าคุณไม่อยากทำตรงนี้แล้วงั้นเดี๋ยวเราให้ตูนไปทำแผนก activation เลย เอาความรู้ที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมาเปิดเป็นแผนกใหม่ เพื่อจะได้รับทำ activation ให้กับแบรนด์อื่น ก็เลยเกิดแผนกใหม่ขึ้นมาในตอนนั้น มีหลายคนที่ไม่เคยเป็นลูกค้าเรามาก่อน แต่มาให้เราทำ brand activationให้

“หนึ่งในนั้นคืองานที่เราทำให้กับการบินไทยที่ไปออกบูทในงานแฟชั่นโชว์  ถ้าคิดแบบธรรมดามันก็แค่การเอาบูทมาตั้งแล้วก็จบ แต่เราเอาเครื่องบินทั้งลำมาผ่าครึ่งแล้วตกแต่งให้คนเห็น เพื่อต้องการจะบอกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นส่งออกว่าการบินไทยมีคาร์โก้สำหรับส่งเสื้อผ้า ซึ่งคนจากดีแทคก็มาเห็นงานนี้แล้วก็ชวนเราไปทำงานด้วย”

4

ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร 
DTAC

“ตอนไปดีแทคเราไปเปิดแผนกใหม่ชื่อแผนก Brand Activation ก็ไปทำอีเวนต์ต่างๆ มากมาย ทั้งงานเปิดตัว 3G, iPhone หรือ Blackberry หนึ่งในนั้นคืองานที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นแผนกเราทำเลยแต่เหล่าผู้บริหารก็จิ้มให้เราเป็นคนทำ ก็คืองานตกแต่งออฟฟิศ DTAC House ที่จามจุรี 

“อาจเพราะมันไม่ใช่แค่การออกแบบสถานที่ แต่คือการออกแบบประสบการณ์ให้พนักงานดีแทคราว 2,000-3,000 คนได้มาใช้กัน ใส่เรื่องราวที่สะท้อนความเป็นดีแทคลงไป ซึ่งการทำงานที่ดีแทคก็เป็นอะไรที่สนุกสนานมาก

“กระทั่งวันหนึ่งพี่โจ้ (ธนา เธียรอัจฉริยะ) ไปทำงานที่แม็คยีนส์ แล้วเขาก็มาชวนเราให้ไปทำงานด้วย เราเป็นพนักงานคนแรกที่พี่โจ้ตามให้ไปช่วย ก็ไปนั่งออกแบบทีมกัน เอาใครมาช่วยดี ทำอะไรกันบ้างดี แต่ด้วยวัฒนธรรมขององค์กรที่อาจจะไม่แมตช์กัน เรากับพี่โจ้ก็ลาออก จากนั้นทางแกรมมี่ก็ชวนให้พี่โจ้ไปทำโปรเจกต์สำคัญและเราก็ได้ย้ายไปทำงานที่แกรมมี่ด้วย”

5

รองประธานฝ่ายสื่อสารแบรนด์
GMM Z – GMM GRAMMY PLC.

“ตอนนั้นแกรมมี่ทำกล่องทีวีดาวเทียมชื่อจีเอ็มเอ็ม วันสกาย ทำไปได้สักพักก็ยังขายไม่ออกเลยต้องให้พี่โจ้มาดูโปรเจกต์ตรงนี้ให้ ด้วยความที่ทำงานด้วยกันมานานพี่โจ้ก็เลยชวนเราให้ไปช่วยทำโปรเจกต์นี้ด้วย ก็มานั่งคิดนั่งตกผลึกกันว่าจะทำยังไงกันดีให้ขายได้ คิดว่าถ้าใช้ชื่อเดิมต่อไปน่าจะไม่เวิร์กเท่าไหร่ ทางทีมก็เลยตัดสินใจรีแบรนด์จากจีเอ็มเอ็ม วันสกาย มาเป็น GMM Z รู้สึกชื่อมันติดหูดี แล้วตัว Z ก็ล้อไปกับคำว่า satellite ได้ 

“ในโปรเจกต์นี้เราเป็นหัวหน้าทีมที่ช่วยคิดคอนเซปต์ของโลโก้ GMM Z เราเอาโลโก้จากสารพันช่องมาดูมานั่งวิเคราะห์กัน ว่าของช่องโน้นเป็นอย่างนี้ ของช่องนี้มันเป็นอย่างนั้น มีข้อดีข้อด้อยตรงไหน จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นโลโก้ที่มีสีสันมากๆ อย่างที่เห็นกัน 

“ที่ต้องทำให้มีสีสันหลากหลายเพราะโลโก้เนี่ยเป็นสิ่งที่จะปรากฏอยู่มุมจอบ่อยมาก แล้วคอนเทนต์ใน GMM Z นั้นมีหลากหลายมาก ดังนั้นเวลามันอยู่พื้นหลังไหนมันต้องชนะหมด ต้องโดดเด่นออกมาจนทำให้คนเห็นได้ชัด

“อยู่แกรมมี่ได้ปีนึง จบภารกิจปีนึงขายกล่องไปได้ล้านกล่อง พี่โจ้หมดสัญญาพอดี เราก็เลยออกมาด้วย 

“และหลังจากที่แกรมมี่เราก็ได้เริ่มลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์แบบเต็มตัว”

6

ที่ปรึกษา อาจารย์ วิทยากร 

“ย้อนกลับไปตอนทำงานอยู่ดีแทค นอกจากอีเวนต์ต่างๆ ที่ทำให้กับแบรนด์ หรือทำดีแทคเฮาส์ให้พนักงาน 2,000-3,000 คนมาใช้งาน อีกหนึ่งภาพจำของเราในตอนนั้นคือเราเชี่ยวชาญในเรื่องโซเชียลมีเดีย 

“อย่างเพจดีแทคเราก็เป็นคนเปิด ในยุคนั้นที่คนยังเพิ่งเริ่มเล่นเฟซบุ๊กกันใหม่ๆ แบรนด์อื่นจะใช้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งบอกข้อมูลข่าวสาร ขายของ หรือไม่ก็โปรโมชั่น แต่เราสร้างให้มันเป็นคอมมิวนิตี้ ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีแก็ดเจ็ตต่างๆ จนเฟซบุ๊กของดีแทคได้รับความสนใจจากผู้คน มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ถึงแนวคิดการทำเพจของดีแทค แม้ตอนนี้จะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันถือเป็นเรื่องใหม่ในอดีต จนทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น มีคนชวนเราไปเขียนหนังสือ ซึ่งหนังสือของเราน่าจะเป็นหนังสือเรื่องการตลาดออนไลน์เล่มแรกๆ ในไทย จำได้ว่าสมัยนั้นยังใช้คำว่าการตลาดออนไลน์อยู่แทบยังไม่ได้ยินคำว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเลย 

“พอเริ่มเขียนหนังสือ ไปๆ มาๆ ก็มีคนชวนไปเป็นสปีกเกอร์ มีคนชวนไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ 3-4 บริษัท ไปเป็นอาจารย์ทำหลักสูตรสั้นๆ ให้กับ ม.กรุงเทพ ไปจนถึงหลักสูตรปริญญาโท คือตอนแรกที่ออกจากแกรมมี่ก็ว่าจะเปิดดิจิทัลเอเจนซีของตัวเองแต่ก็ไม่มีเวลาทำ เพราะแค่การเป็นที่ปรึกษา เขียนหนังสือ เป็นอาจารย์หรือไปบรรยายเวลาก็หมดแล้ว 

“ช่วงเป็นฟรีแลนซ์มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองรู้สึกได้อยู่ในโมเมนตั้มที่ดีมากๆ เพราะการจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้เราต้องมีความรู้ที่กว้างมากๆ ถึงสามารถเอาเรื่องเหล่านี้มาแนะนำคนอื่นได้ว่าถ้าเจอเคสแบบนี้ต้อง tackle แบบนี้ ซึ่งวิธีที่จะทำให้เรามีความรู้กว้างได้คือต้องอ่านเยอะ และการสอนหนังสือมันบังคับให้เราต้องอ่านเยอะไปในตัวด้วย 

“ไม่เพียงแต่เราไปให้ความรู้เขา แต่เหล่าผู้ฟังหรือลูกศิษย์ก็ยังให้อะไรกับเรากลับมาด้วยเช่นกัน เรามีคนรู้จักมากขึ้น มีเพื่อนหลากหลายวงการมากขึ้น เราทำ business matching ได้ อ๋อคุณมีปัญหานี้อยู่เหรอ งั้นเอาคนนี้จากอีกธุรกิจเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสิ แล้วเราได้สะสมความรู้จากอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้นด้วย

“เป็นฟรีแลนซ์ได้อยู่สามปีกว่า พี่โจ้โทรมาอีกแล้ว (หัวเราะ) แล้วบอกกับเราว่า 

“พี่ว่าตูนน่าจะมาทำงานกับพี่”

7

ผู้บริหารทีมการตลาด

SCBX

“ตอนเป็นฟรีแลนซ์ก็เป็นอะไรที่ดีมาก แต่ที่กลับไปทำงานกับพี่โจ้ เพราะเรากับเขาทำงานด้วยกันมาตลอด ขนาดตอนเป็นฟรีแลนซ์บางที่เรายังไปเป็นที่ปรึกษากันแบบแพ็กคู่เลย จนเขากลับไปทำงานประจำที่ SCB ก็อยากให้เราไปช่วยทำงานแบบแพ็กคู่กันเหมือนเดิม 

“ตอนเข้า SCB เราได้มาทำ SCB EASY App เปลี่ยนลุคใหม่ให้แอพฯ ของไทยพาณิชย์ก็เป็นโปรเจกต์ที่สนุกสนานมาก เหมือนได้มาปล่อยพลัง ซึ่งต้องบอกว่า SCB EASY App สำเร็จได้นี่ต้องให้เครดิตคุณอาทิตย์ (อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCBX) กับพี่โจ้มากๆ เลย 

“จนถัดมาก็มาถึงโปรเจกต์ QR code โจทย์คือเราจะทำยังไงให้คนหันมาใช้ QR code กัน เราเริ่มทำโปรเจกต์ทดลองกันที่จตุจักร พอเราไปดูพื้นที่แม่ค้าก็เอา QR code ขึ้นมาตั้งอยู่หรอก แต่พอเรากลับเขาก็เก็บลงไป เราถามว่าทำไมไม่เอามาตั้ง แม่ค้าก็บอกว่าพอตั้งไปก็ไม่มีคนใช้ ส่วนลูกค้าก็ไม่ใช้เพราะไม่มีแม่ค้ามาตั้ง QR code ให้สแกน

“คราวนี้มันก็เลยเป็นโจทย์ที่ว่า แล้วคนจ่ายหรือคนรับควรจะต้องมาก่อนดี โจทย์นี้ต้องแก้ที่ปลายใดปลายหนึ่ง สุดท้ายเราก็เลือกจะแก้จากฝั่งร้านค้า ทำยังไงให้เขาอยากตั้งป้ายอะคริลิก QR code คิดไปคิดมาก็เลยนึกได้ว่า ถ้างั้นเราลองเปลี่ยนจากป้ายอะคริลิกมาเป็นเครื่องรางของขลังกันดีไหม ภาพที่นึกได้ก็จะทำให้นางกวักมี QR code เพื่อให้คนอยากตั้ง ซึ่งในวันที่คิดต้องบอกว่ามันเป็นอะไรค่อนข้างเซนซิทีฟเหมือนกันนะการเอาเรื่องมูเตลูมาทำกับองค์กรใหญ่อย่าง SCB อาจเสี่ยงถูกไล่ออกเลยก็เป็นได้ แต่เราก็มั่นใจ คิดว่ายังไงเรื่องนี้ต้องจบที่นางกวักนี่แหละ และต้องทำให้นางกวักดูเป็นผู้หญิงที่สวยๆ เก๋ๆ ดูรุ่นใหม่หน่อย 

“พอได้หน้าตานางกวักแบบที่ต้องการก็มานั่งคิดกันว่าแล้วเราจะใช้ชื่ออะไรกันดี เดิมทีไอ้ตัว QR code เนี่ยมันถูกเรียกว่า money solution ทีมก็คุยกันในห้อง มันนี่ๆ เรียกมันว่าอะไรดี พูดกันมาเรื่อยๆ จนเป็นมณี แล้วพี่โจ้ก็พูดขึ้นมาว่า “แม่มณี” นี่แหละคลิกเลย 

“นอกจากโปรเจกต์ต่างๆ เรายังทำ organization chart หรือการจัดการทำงานในฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของ SCB ใหม่ จากอดีตถ้าอยากจะซื้อสื่อหรือโฆษณาเราจะไปให้เอเจนซีทำให้ แต่ตอนนี้เราหันมาซื้อสื่อด้วยตัวเอง เวลาทำโฆษณาออนไลน์ก็จ่ายตรงให้แพลตฟอร์มเอง เรามีทีมดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งภายใน ทำให้เหมือนมีเอเจนซีขนาดย่อมเป็นของตัวเอง 

“ที่ทำแบบนี้ไม่ใช่เพราะอยากประหยัดงบ แต่ด้วยเชื่อว่าเรื่องดิจิทัลมันควรอยู่ติดกับตัวแบรนด์มากกว่าไปหวังพึ่งเอเจนซี คือเอเจนซีทำให้งานคุณเท่ขึ้นมีประสิทธิภาพขึ้นได้นะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ย่อมต้องมาจากการมีสารตั้งต้นที่ดี ซึ่งสารตั้งต้นเหล่านี้ก็ล้วนแต่ต้องมาจากการตกผลึกที่ดีของตัวแบรนด์เอง 

“นอกจากเทคโนโลยี แคมเปญใหม่ๆ แล้ว SCB ก็ยังมีเรื่องของการ Reskill คนด้วย เชื่อไหมว่าในทุกๆ ปีที่เราทำงานจะมีพนักงาน SCB ที่เกษียณออกไป คนใน SCB จำนวนไม่น้อยเป็นคนที่มีอายุเยอะกว่าเรา การเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการที่จะทำให้เขาทำได้ต้องไปขลุกอยู่กับเขา ทำให้เขาเห็นว่ากระบวนการทำงานมันเป็นยังไง และต้องมีภาพความสำเร็จปลายทางที่ชัด เพราะถ้าผู้นำไม่มีภาพปลายทางที่ชัดก็จะทำให้ไม่สามารถออกแบบกระบวนการทำงานให้กับทีมงานได้”

“ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา เราเจอโจทย์ในการทำงานที่ท้าทายมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาได้ก็เพราะไม่ได้มองว่าโจทย์เหล่านั้นคือปัญหาแต่เป็นบรีฟที่เราต้องหาวิธีงัดแท็กติกมาแก้เกมให้ได้ 

“เปรียบเหมือนเวลาเล่นเกม puzzle นี่คือเกมที่อาศัยทักษะการแก้ปัญหาเลยนะ แต่เรากลับสนุกกับมัน และมองว่านี่คือสิ่งที่เราต้องหาวิธีมาแก้ไขให้ชนะให้ได้”

 ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ VING แบรนด์สัญชาติไทยที่ชนะใจทั้งนักวิ่ง คนทั่วไป และผู้สูงอายุ

วิ่ง วิ่ง วิ่ง ถ้านึกถึงรองเท้าวิ่ง ภาพรองเท้าผ้าใบส้นหนาๆ เด้งสู้พื้นและรองรับการกระแทกก็คงโผล่ขึ้นมา แต่ถ้าเราบอกว่าที่จริงแล้ว รองเท้าแตะก็ใส่วิ่งได้ แถมยังเคยมีคนใส่วิ่งต่อเนื่องมาแล้วเกินกว่า 100 กิโลเมตร ทุกคนจะเชื่อกันไหม 

“มันก็เหมือนรองเท้าวิ่งทั่วไป แต่มันเบากว่าและไม่บีบเท้า เรียกว่าเป็นรองเท้าวิ่งเปิดประทุนก็ได้” วาที วิเชียรนิตย์ โปรแกรมเมอร์และนักวิ่งเจ้าของแบรนด์ VING (วีอิ้ง) รองเท้าแตะวิ่งมาราธอนที่เราพูดถึงอธิบายถึงรองเท้าแตะวิ่งได้ให้เข้าใจโดยง่าย

“ถ้านักวิ่งมาราธอนใส่รองเท้าแตะ VING วิ่งได้เกิน 100 กิโลเมตร คนทั่วไปที่ใส่รองเท้าไปซื้อกับข้าวหน้าปากซอยก็คงไม่มีปัญหา” เขาเสริมถึงความดีงามของแตะ VING ที่ไม่ได้ครองใจนักวิ่งไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่คนเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ก็ใส่ได้ คนทั่วไปก็ใส่ดี คนสูงอายุและคนที่มีปัญหารองช้ำยิ่งเลิฟ 

ไม่ใช่เพราะรองเท้าถูกออกแบบมาอย่างดีอย่างเดียวที่ทำให้ VING มียอดขายต่อเดือนจากไม่กี่ร้อยคู่สู่เกือบหมื่น แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นของวาทีว่ารองเท้า VING จะต้องเป็นรองเท้าของทุกคน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การตั้งราคา การมองหาสถานที่วางขาย ไปจนถึงไอเดียการตลาดที่เข้าถึงทุกคนได้จึงออกแบบมาเพื่อให้ VING วิ่งไปถึงฝัน  

แม้ในตอนแรกจะไม่มีใครเชื่อมั่นว่ารองเท้าแตะวิ่งได้จะกลายเป็นกระแส แต่วาทีก็ทำให้เห็นแล้วว่าถ้านึกถึง ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ เมื่อไหร่ ทุกคนก็จะพูดถึง VING เสมอ 

ว่าแต่ 5P ที่ทำให้ VING วิ่งมานานกว่า 4 ปี มีอะไรบ้าง แต่ละ P มีจุดเช็กพอยต์แบบไหนที่ทำให้ VING วิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ วาทีพร้อมพาเราไปวิ่งกับ VING แล้ว 

Product
เช็กพอยต์ที่ 1 : เลือกสินค้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของตลาด

วาทีคือโปรแกรมเมอร์ เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าขายส่ง และนักวิ่งมาราธอนตัวยงนอกเวลางาน 

ความที่เป็นคนในแวดวงการวิ่งอยู่แล้ว VING จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ pain point ของรองเท้าวิ่งที่ไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาแก้ปัญหา pain point ที่ว่าคือรองเท้าวิ่งผ้าใบมักจะบีบรัดหน้าเท้าจนวิ่งต่อไปไม่ไหว

“พอเลยจุดฮาล์ฟหรือ 21 กิโลเมตรไปแล้ว รองเท้ามันเริ่มบีบหน้าเท้าจนวิ่งต่อไม่ไหว ผมเลยเดินเข้าไปซื้อรองแตะตามร้านข้างทางแล้ววิ่งๆ เดินๆ จนจบ” วาทีย้อนเล่าถึงการลงแข่งวิ่งมาราธอนครั้งที่มีปัญหา 

หลังจบงาน เขาเห็นว่ามีนักวิ่งคนหนึ่งใส่รองเท้าแตะวิ่งตลอดระยะทาง แถมยังทำเวลาได้ดีไม่แพ้ใคร พอดีกับธุรกิจเสื้อผ้าขายส่งที่ถึงช่วงขาลง วาทีจึงเห็นว่ารองเท้าแตะวิ่งได้ก็น่าจะมีโอกาสพัฒนาเป็นธุรกิจ 

เขาเริ่มจากติดต่อแบรนด์รองเท้าแตะวิ่งต่างประเทศที่มีขายในไทยแต่เพราะแบรนด์ที่ว่ามีตัวแทนอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว เขาจึงปิ๊งไอเดียใหม่ สร้างแบรนด์รองเท้าแตะวิ่งได้ที่ไม่เหมือนใครในท้องตลาดขึ้นมา

“ต่างประเทศเขาก็ทำกันมานานแล้วแต่มันจะเป็นรองเท้าที่เขาเรียกกันว่า ‘มินิมอล’ คือพื้นทั้งหน้าและหลังนั้นเรียบเท่ากัน แต่ผมไม่ชอบเพราะใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน ผมเลยอยากพัฒนารองเท้าแตะที่มีพื้นรองเท้าที่รองรับการกระแทกและให้ฟีลลิ่งเหมือนรองเท้าผ้าใบ แต่เบากว่าและไม่บีบเท้า”

จากเช็กพอยต์แรก วาทีจึงไปกว้านซื้อรองเท้าแตะที่ ‘น่าจะ’ ใส่วิ่งได้ตามท้องตลาดมาเปิดเพจขาย

 “มันมีคนเข้ามาซื้อและนำไปใส่วิ่งจริงๆ นี่เป็นตัวชี้วัดว่าตลาดรองเท้าแตะวิ่งได้มันมีอยู่จริง” เมื่อยอดขายตอกย้ำให้วาทีเชื่อมั่นและมั่นใจว่ายังไงก็รอด เขาจึงติดต่อโรงงานเพื่อพัฒนาโมเดลแรกของรองเท้าแตะวิ่งได้แบรนด์ตัวเองขึ้นมา 

คำถามคือแล้ว VING จะวิ่งได้ต่างจากรองเท้าแตะที่เขากว้านซื้อไปขายได้ยังไง คำตอบของเขาคือการเพิ่ม ‘ดร็อป’ หรือก็คือการทำพื้นด้านหลังให้หนากว่าด้านหน้าเพื่อให้พื้นนุ่มเด้ง รองรับแรงกระแทก และส่งแรงวิ่ง ซึ่งเป็นหลักการของรองเท้าวิ่งผ้าใบ

“ผมคิดว่าความแตกต่างจากทั้งรองเท้าผ้าใบ และรองเท้าแตะวิ่งแบบมินิมอลตรงนี้มันทำให้เราไม่ได้ไปแย่งหรือครองลูกค้ากลุ่มเดียวกับเขา แต่เรากำลังสร้างลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยต่างหาก นั่นหมายความว่าถ้าเรามาทำแบรนด์ดิ้งให้ชัดเจน และให้ความรู้คนไปเรื่อยๆ ว่ารองเท้าแตะมันวิ่งได้ยังไง มันดีกว่ารองเท้าผ้าใบยังไง เขาก็จะกลับมาเป็นลูกค้าเรา แล้วเราก็จะเป็นเจ้าของความเชื่อที่ว่า ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ เป็นคนแรก 

“ต่อให้วันนึงเขาจะเปลี่ยนไปซื้อยี่ห้ออื่น แต่ถ้าเราทำสินค้าใหม่ออกมาตอบโจทย์เขาได้เขาก็จะกลับมาหาเราอยู่ดี” เขาเล่าถึงความตั้งใจในวันที่พาธุรกิจวิ่งออกจากจุดสตาร์ท 

เช็กพอยต์ที่ 2 : ลงทุนกับสินค้าให้มาก 

วิ่ง วิ่ง วิ่ง 

100,000 บาท คือเงินทุนตั้งต้นที่วาทีมีเหลือติดตัวในตอนนั้น 

1,000,000 บาท คือเงินทุนก้อนต่อมาที่เขานำมาพัฒนารองเท้าคู่แรก ซึ่งล้านแรกที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเงินเก็บก้นบัญชี แต่คือเงินที่ได้จากการทำ Virtual Run 

“แสนนึงมันได้แค่ค่าโมเดลรองเท้าไซส์นึงเองนะ ยังไม่รวมผลิต ตอนนั้นธุรกิจเดิมก็กำลังจะไม่รอด เครดิตตอนนั้นก็ยังไม่มี ไปคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจเขาก็มองไม่เห็นโอกาส แต่ผมรู้ว่าตลาดมันมี 

“พอดีช่วงนั้นกระแส Virtual Run กำลังมา ผมเลยคิดทำ Virtual Run ให้คนวิ่งจากที่ไหนก็ได้ 2 เดือน แล้วส่งผลเข้ามาในระบบ ค่าสมัครประมาณ 1,000 บาท แต่เขาจะได้ทั้งเสื้อ ทั้งเหรียญ และรองเท้าแตะ VING ซึ่งมันว้าวมากนะ 

“นอกจากจะได้หนึ่งล้านแรกมาสั่งผลิตรองเท้า ผมยังเหมือนได้อินฟลูเอนเซอร์มา 1,000 คนในเวลาเดียวกัน เพราะนักวิ่งก็จะชอบถ่ายรองเท้าที่เขาใส่กันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นรองเท้าแตะวิ่งได้เขาก็ยิ่งถ่าย”

รองเท้าแตะ VING รุ่นแรกนั้นเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง นุ่มเกินบ้างแข็งเกินบ้าง แต่เพราะวาทีเตรียมระบบหลังบ้านเพื่อตอบคำถามลูกค้าให้พร้อมสรรพ ถ้าใครไม่พอใจเขายินดีคืนเงิน ส่วนคนที่สนใจทดลองต่อ เขาก็ยินดีรับฟีดแบ็กมาพัฒนา

“ปกติการทำรองเท้ามักจะมีการจำกัดต้นทุน แต่ผมบอกโรงงานเลยว่าไม่สนใจต้นทุน ให้ผลิตให้ดีที่สุดไว้ก่อน แล้วหน้าที่ในการตั้งราคาและการขายมันเป็นหน้าที่ของผมเอง เพราะผมมั่นใจว่าต่อให้เป็นแบรนด์ไทยก็เถอะ ถ้าคุณภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าแบรนด์ต่างประเทศ ใส่ปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่ามันดี ยังไงลูกค้าก็ซื้อ”

ถ้ามองจากภายนอก หลายคนอาจจะงงว่าคุณภาพดีๆ ชนิดใส่ปุ๊บก็รู้ปั๊บของรองเท้าแตะวิ่งได้แบรนด์ VING นั้นเป็นยังไง แต่ถ้าได้ลองสวมใส่ จะเข้าใจคำอธิบายของเราทันที 

หนึ่ง–วัสดุจาก EVA เกรดสูง ฉีดเป็นชิ้นเดียวไม่มีรอยต่อ ขนาดไซส์ของผู้ชายจึงหนักไม่เกิน 150 กรัม ส่วนขนาดไซส์ของผู้หญิงนั้นหนักไม่เกิน 100 กรัม ขณะที่รองเท้าผ้าใบทั่วไปหนักเริ่มต้นที่ 300 กรัมขึ้นไป

สอง–ด้วยทรงแบบเปิดและหน้าเท้ากว้างจึงไม่บีบเท้า จะวิ่งมาราธอน เดินเที่ยว หรือซื้อของหน้าปากซอยก็ไม่ปวด

สาม–ทรงรองเท้าโอบรับเท้าได้ดี ทั้งรองรับแรงกระแทกได้แบบที่รองเท้าผ้าใบทำ แถมความนุ่มที่มากกว่ายี่ห้ออื่นแต่ไม่นุ่มยวบก็ทำให้วิ่งสนุกสุดๆ

สี่–ทนทานเพราะใช้ได้นาน 1,000 กิโลเมตรขึ้นไป 

“สินค้าเราต้องดีไว้ก่อน แล้วเราถึงจะใส่การตลาดได้เต็มที่ เพราะถ้าสินค้าเราไม่ดีจริง ปล่อยไปมันก็จะมีแต่เสีย อย่างนั้นสู้ขายรุ่นเดิมที่มันดีดีกว่า ไม่ต้องรีบโต” วาทีเล่าถึงวิธีการคิด VING รุ่นแรก

เช็กพอยต์ที่ 3 : เก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาสินค้าให้ครอบคลุม

วิ่ง วิ่ง วิ่ง 

หลังจาก VING รุ่น 100K หรือรุ่นที่วาทีตั้งใจให้ใส่วิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้ออกสู่ตลาดในปี 2019 และได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด VING ก็แตกแยกย่อยสินค้าอีกหลากหลายรุ่นออกมาครองตลาด แถมในอนาคต วาทียังตั้งใจพัฒนารองเท้า VING ให้มีมากถึง 15 รุ่น

“จุดร่วมของทุกรุ่นคือจะต้องเบา สบาย ไม่ลื่น และใส่วิ่งได้ แต่ใครๆ ก็ทำรองเท้าที่สบายได้ถูกไหม เราจึงต้องตอบโจทย์ด้านดีไซน์ที่ทำให้ลูกค้าใส่แล้วภูมิใจและตอบโจทย์ฟีดแบ็กที่ลูกค้าส่งกลับมาด้วย ความตั้งใจของผมคือเราต้องการเก็บลูกค้าให้ครบทุกตลาด เรียกว่าถ้าเขาเดินข้ามาในร้าน เขาจะต้องได้อะไรสักอย่าง” วาทีอธิบายเหตุผลของเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างรองเท้ารุ่นแรกเช่น 100K นั้นมีฟีดแบ็กว่าช่วยคนที่เป็นรองช้ำชนิดไม่หนักได้ วาทีจึงคิดพัฒนารุ่น VARI เพื่อการฟื้นฟูโดยเฉพาะ หรือรุ่น KIRION ก็พัฒนาจากฟีดแบ็กว่ารองเท้าใส่สบายแล้ว แต่ต้องการรูปทรงที่ดูเรียบร้อยขึ้นกว่านี้ จนได้เป็นทรงแบบมีสายรัดที่จะใส่วิ่งก็ได้ ใส่เที่ยวก็ดี ใส่ไปทำงานก็ดูเรียบร้อย 

ไม่ใช่เพียงรองเท้าวิ่งเท่านั้นที่เขาพัฒนาออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า แต่อุปกรณ์อื่นๆ ก็ล้วนเป็นสินค้าจากฟีดแบ็กทั้งสิ้น เช่นสายรัดข้อเท้าที่มีให้ลูกค้าเลือกซื้อ วาทีก็ได้ไอเดียจากลูกค้าคนแรกๆ มาพัฒนาต่อ

“บางครั้งลูกค้าจะมีไอเดียมากกว่าเราอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือต้องจับให้ถูกว่าไอเดียไหนน่าสนใจ ไอเดียไหนน่าต่อยอด แล้วก็แก้ไขปัญหาและเพิ่มความสะดวกให้เขา”

ไม่แปลกใจหากคุณสมบัติของ VING จะครองใจคนทุกกลุ่มได้จนทำให้แบรนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด

Price & Promotion
เช็กพอยต์ที่ 4 : หาช่องว่างของราคา 

วิ่ง วิ่ง วิ่ง วิ่งมาถึงกลางทางของ VING แล้ว

920-1,440 บาท คือช่วงราคารองเท้าแตะแบรนด์ VING ในช่วงราคานี้ถือว่า VING นั้นราคาสูงกว่ารองเท้าแตะทั่วไปตามท้องตลาด แต่มีราคาต่ำกว่ารองเท้าวิ่งหลายสิบเท่า 

“ผมเดินดูแบรนด์รองเท้าในห้างและในออนไลน์มาหมดแล้ว เห็นๆ เลยว่ามันมีช่องว่างของราคารูเบ้อเร่อ ตั้งแต่ 700-1000 กว่าบาท เมื่อดูต้นทุนที่สูงกว่ารองเท้าแตะทั่วไปถึง 2 เท่า ผมจึงเลือกตั้งที่ราคานี้ 

“กับคนทั่วไปที่อยากได้รองเท้าผ้าใบ เขาก็อาจจะมาซื้อของเราเพราะคุณภาพที่ดีเทียบเท่าหรือมากกว่า แต่ราคาถูกกว่า ส่วนกลุ่มนักวิ่ง เขาก็ยอมจ่ายโดยไม่ได้มีคำถามอะไรมากอยู่แล้ว เพราะมันถือว่าถูกเมื่อเทียบกับรองเท้าวิ่งที่เขาใส่” วาทีอธิบาย

ด้วยราคานี้ วาทีแทบไม่ได้ใช้โปรโมชั่นใดๆ มาพา VING ให้วิ่งไปครองใจผู้คน เขาบอกกับเราอย่างขำๆ ว่าแค่ผลิตให้ทันยังเป็นเรื่องยาก โปรโมชั่นหลักๆ จึงคือการมอบส่วนลดให้ลูกค้าเก่า และนำของหลุด QC ซึ่งก็ยังมีมาตรฐานที่สูงกว่ารองเท้าทั่วไปในตลาดมาขายลดครึ่งราคา

เช็กพอยต์ที่ 5 : การตลาดแบบ niche สู่แมส  

วิ่ง วิ่ง วิ่ง 

แม้ VING จะใส่เดินก็ได้ ใส่รักษาก็ดี ใส่เที่ยวก็เวิร์ก หรือจะใส่วิ่งจริงๆ ตามจุดประสงค์แรกเริ่ม แต่วาทีไม่ได้เปิดตัว VING ในฐานะรองเท้าทั่วไปแต่แรก เขาตั้งใจเปิดตัว VING ให้เป็นรองเท้ามาราธอน แถมยังต้องเป็นมาราธอนหลัก 100 กิโลเมตร เรียกว่าเริ่มจากตลาดที่ niche สุด niche ไปใหญ่ 

“เราควรจะเริ่มจากตลาดที่ niche แต่มันสามารถแมสได้ ตอนแรกมันอาจจะยาก แต่พอเริ่มติดตลาดแล้วมันก็จะได้รับผลตอบรับที่ดี กลุ่มแรกที่ผมตั้งใจทำจึงคือกลุ่มที่วิ่งมาราธอนอยู่แล้ว เพราะเขาเข้าใจง่ายที่สุด และที่ต้องเป็นกลุ่ม 100 กิโลเมตร เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเก็บสถิติมาราธอนกันที่ 42 กิโลเมตรซะมาก 

“ช่วงนั้นมีคนที่เริ่มเก็บสถิติ 100 กิโลเมตรบ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคนทำตลาดในกลุ่มนั้นเลย ผมเลยทะลึ่งเข้าไปทำก่อน เพราะหมายความว่าถ้าใส่แตะ VING วิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้แสดงว่าวิ่งไปซื้อข้าวแกงปากซอยก็ไม่ใช่เรื่องยาก

วิ่งมาพร้อมกับวาทีถึงจุดเช็กพอยต์นี้แล้ว มีใครสังเกตเหมือนเราไหมว่าวาทีมักจะมีไอเดียการทำ VING ที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่จุดตั้งต้น การตั้งราคา มาจนถึงการทำการตลาดที่ช่วยซัพพอร์ตสินค้า กับคำถามนี้ วาทีให้คำตอบว่า

“ผมไม่ชอบแข่งกับใคร ขนาดวิ่งก็ชอบแข่งวิ่งกับตัวเอง คือเป็นคนชอบคิดอะไรแปลกๆ เสมอ ที่ผ่านมาคนรอบตัวก็ไม่เก็ตหรอก แต่กับ VING ลูกค้าเขาเก็ต ภายใต้ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เราเป็นเจ้าของคำนั้น จากตอนแรกเป็นเจ้าของ ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ มาสู่ ‘รองเท้าแตะวิ่ง 100 กิโลเมตร’ แล้วเขาก็จะจำเราได้ตลอด เวลาคนถามว่าอยากได้รองเท้าแตะวิ่งได้ต้องซื้อแบรนด์ไหน คนก็จะบอกว่าซื้อ VING สิ”

Place
เช็กพอยต์ที่ 6 : สถานที่ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้า

วิ่ง วิ่ง วิ่ง 

ปัจจุบันนอกจากช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ลาซาด้า และช้อปปี้แล้ว VING ยังมีสาขาทั่วทุกภาคของไทย ทั้งสาขาตัวเองและสาขาในร้านรองเท้าวิ่งกว่า 80 สาขา แถมยังมีสาขาที่สิงคโปร์อีก 4 สาขาด้วย แต่กว่าจะมีสาขามากขนาดนี้ สถานที่แรกของ VING นั้นง่ายแสนง่าย นั่นก็คืองานวิ่งทั่วไทยที่มีที่ไหน วาทีพร้อมพา VING ไปวิ่งที่นั่น

“ก่อนโควิดมา 2-3 เดือน ประเทศไทยมีงานวิ่งปีละ 2,000 งาน ครั้งหนึ่งๆ มีคน 2,000-3,000 คน แต่ละคนก็คัดมาแล้วว่าเป็นนักวิ่งทั้งนั้น งานวิ่งเลยเป็นอีเวนต์ชั้นดีในการทำโรดโชว์มากกว่าการจัดร้านในห้างอีกนะ” วาทีย้อนเล่า

แต่เมื่อโควิดเข้ามาปิดทุกอีเวนต์ วาทีก็ไม่ได้ถอย แต่กลับพา VING วิ่งลงสนามออนไลน์ที่นอกจากจะตอบโจทย์นักวิ่งในช่วงนั้น ก็ยังตอบโจทย์คนทั่วไปที่ชอบช้อปสินค้าออนไลน์อีกด้วย

“กลายเป็นว่าช่วงโควิดที่คนไม่กล้าลงทุน ผมลงทุนหนักมากเพราะเรามีตลาด แล้วพอหมดโควิด คนอื่นเพิ่งจะกลับมาตั้งตัว แต่ผมพร้อมขยายสาขาตามห้าง ทั้งสาขาของตัวเองและสาขาที่ร้านรองเท้าวิ่ง ซึ่งสถานที่เหล่านี้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเราทั้งหมด” เขาเล่า

อีกหนึ่งความน่าสนใจของการพา VING วิ่งไปขายตามช่องทางที่แตกต่างของวาทีคือเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี้ เขายังพา VING ไปถ่ายรายการ โหนกระแส ซึ่งคนนอกอาจจะไม่เข้าใจว่านี่คือการตลาดแบบไหน แต่สำหรับวาที ช่องทางที่ว่านี้คือการพา VING วิ่งไปหาผู้สูงอายุที่เสพสื่อต่างจากคนรุ่นใหม่นั่นเอง

“ผมเชื่อว่า VING เป็นรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ ทั้งราคา การทำคอนเทนต์ รวมไปถึงการพา VING ไปให้คนเห็นเลยไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิ่ง เพราะถ้ายังทำการตลาดในกลุ่มเดิมๆ VING ก็คงไม่ไปไหน ผมจึงเอา VING ไปออกสื่อที่เรารู้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่เราอยากทำตลาดด้วยเขาเสพอยู่

“ภาพที่เรานำเสนอเขา ไม่ใช่ภาพของความสูงอายุ แต่คือภาพที่เขาอยากเป็นนั่นก็คือเขายังแข็งแรงอยู่ ยังออกมาเดินได้ ไปเที่ยวกับลูกหลานได้ มันคือการนำเสนอสิ่งที่เขาอยากเห็นในสื่อที่เขาเสพ จากนั้นเขาก็จะมาซื้อ มาสอบถามตามห้างมากกว่าช่องทางออนไลน์ เพราะเขาชอบที่จะถามคำถาม เราก็ต้องมาเทรนพนักงานของเราให้พร้อมที่จะตอบด้วย

“จนตอนนี้กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุแทบจะเป็นกลุ่มลูกค้ากว่า 50% ของ VING เลยนะ ซึ่งเมื่อเขาเปิดใจให้เราแล้ว เขาจะเป็น royalty ของแบรนด์ไปเลย”

เช็กพอยต์ที่ 7 : สถานที่ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์

วิ่ง วิ่ง วิ่ง 

อย่างที่บอกว่าแทบทุกจุดเช็กพอยต์ที่วาทีพาเราวิ่งไปสำรวจนั้นเต็มไปด้วยแง่มุมการทำ VING ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร กับเช็กพอยต์นี้ก็เช่นกัน นอกจากจะต้องเลือกสถานที่วางขายให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าแล้ว การเลือกสถานที่ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็สำคัญไม่แพ้กัน

“ตอนนี้เรากำลังขยายไปขายที่ร้านขายยา คลินิกกายภาพ คลินิกกระดูก และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งยอดขายก็ดีเลย มันคือการสื่อสารกับลูกค้าอ้อมๆ ว่าของเราดีจริงนะ และนอกจากจะเหมาะกับนักวิ่ง คนเล่นกีฬา หรือคนทั่วไป มันก็ยังเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพได้ด้วย 

“มันเหมือนเราสร้างหลักฐานทางการตลาดให้เขาเห็นและเชื่อโดยที่เราไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือขายตรงๆ เกินไป” วาทีว่า

People & Personal Branding 
เช็กพอยต์ที่ 8 : แบรนด์ดิ้งที่ดีคือหัวใจของธุรกิจ 

วิ่ง วิ่ง วิ่ง  

ในวันที่ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด วาทีบอกกับเราว่า นอกจากหลักทางการตลาดทั้ง 4P ที่แตกต่าง People ที่หมายถึงทีมงานและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก็เป็นอีกหัวใจที่ทำให้ VING ยังวิ่งอยู่ในใจทุกคนได้เช่นกัน

“ที่ผ่านมาผมได้ทีมที่ดีมากๆ ทั้งหัวหน้า PC พนักงานขาย นักบัญชี นักการตลาด เวลาเขามีปัญหา ผมพยายามทำความเข้าใจว่าปัญหาที่ว่าคืออะไร มันเป็นปัญหาจริงๆ ไหมหรือเขาแค่ยังไม่รู้ และผมก็พยายามที่จะมอบหมายงานให้เขาทำแม้ว่ามันอาจจะผิด เพราะตอนเริ่มต้นเราก็ผิดมาไม่รู้เท่าไหร่ 

“นอกจาก People ในที่ทำงาน ผมก็คิดว่า People ในเชิงลูกค้าก็ต้องใส่ใจ ถ้ารองเท้ามีปัญหาจากการผลิตหรือไซส์ไม่พอดี เราเปลี่ยนให้เลย หรือถ้าเขาใส่ไม่ได้จริงๆ เราก็ยินดีคืนเงิน พนักงานของเราก็จะถูกเทรนมาว่าต้องแจ้งลูกค้าถึงข้อดีและข้อควรระวังของเราเพื่อให้ลูกค้าคาดหวังได้ถูก” เขาบอก

และจากวันที่ไม่มีใครเชื่อว่ารองเท้าแตะวิ่งได้จะเป็นปรากฏการณ์และจะเข้ามาครองวงการรองเท้าในหลายๆ ตลาด วันนี้ เราเห็นรองเท้า VING อยู่เกือบทุกห้างที่ไปเดิน เห็น VING ในเกือบทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย 

สำหรับวาทีแล้ว ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพฝันเพ้อเจ้อ แต่เป็นภาพที่เขาวาดไว้ และตั้งใจทำให้เป็นจริง

“ผมมั่นใจว่าถ้าไม่ใช่ผมทำ มันอาจจะไม่ได้โตแบบทุกวันนี้ อีก P ที่สำคัญที่สุดจึงคือ Personal Branding หมายความว่าอะไร หมายความว่าขณะที่คนอื่นยังสงสัยว่าธุรกิจนี้จะไปยังไง แต่ผมอยากไป ผมเลยพยายามปะติดปะต่อเส้นทางให้มันกลายเป็นภาพในวันนี้ 

“วันที่เรามีทีมนักวิ่ง มีงานวิ่งของตัวเอง มีรองเท้าออกมาหลายรุ่นตอบโจทย์คนหลายสไตล์ มีคนซื้อรองเท้าของเราทั้งครอบครัว มีคนซื้อรองเท้าของเรา 10 คู่ 10 สีแล้วเอามาเรียงรอบตัวเอง มีผู้สูงอายุใส่รองเท้าของเรา มีวันที่เราไปออกรายการต่างๆ และวันที่เราจะขยายไปตลาดต่างประเทศ” วาทีบอกภาพฝัน

วิ่ง วิ่ง วิ่ง เส้นทางของ VING ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เราเชื่อว่าจากจุดเช็กพอยต์ที่ผ่านมา VING จะต้องมีจุดเช็กพอยต์จุดต่อไปให้ติดตามแน่นอน

——-

บทเรียนธุรกิจที่ได้จากการทำ VING

  1. อย่าพยายามทำธุรกิจที่เห็นคนอื่นทำแล้วดี แต่พยายามหาธุรกิจที่เราเห็นตอนจบและเห็นภาพว่าวันข้างหน้า เราจะไปอยู่จุดไหน”
  2. “เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่าคิดว่าตัวเองรู้เยอะ อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เพราะผมก็เริ่มต้นจากการที่ไม่รู้อะไรเลยแต่พยายามเปิดใจถาม พยายามทำงานกับคนเก่งๆ”
  3. “เราควรจะทำธุรกิจที่เราเห็นช่องว่างว่าเราสามารถพัฒนามันได้และควรจะทำธุรกิจที่มันดีกว่ามาตรฐานหรือของเดิมจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำไปทำไมให้เสียเวลา”
  4. “เราต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเพิ่มความคาดหวังให้กับลูกค้า เพราะการทำธุรกิจก็เหมือนการเล่นเกมที่ไม่มีวันจบระหว่างเรากับลูกค้า”

The Journey of Siam Amazing Park

ถ้าเป็นทุกวันนี้คงไม่ถึงกับต้องรู้สึกแปลกใจอะไรถ้าใครสักคนอยากลุกขึ้นมาสร้างสวนสนุกสักแห่ง แต่หากย้อนกลับไปราวสี่สิบปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับสวนสนุกขนาดใหญ่ การใส่ชุดว่ายน้ำยังนับเป็นความเคอะเขินอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ แถมค่าแรงขั้นต่ำและระบบขนส่งสาธารณะก็ยังไม่เข้าใกล้คำว่าสะดวกสบายเลยสักนิด 

เวลานั้น ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ที่ใครๆ นิยามว่าคือ ‘เจ้าพ่อหมู่บ้านจัดสรร’ กลับมีความคิดที่จะสร้างทะเลเทียมและสวนสนุกในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ด้วยการพัฒนาพื้นที่กว่า 300 ไร่ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน จากความตั้งใจแรกที่อยากให้สวนสยามเป็นจุดหมายของคนไทยที่ไม่มีกำลังเดินทางไปต่างประเทศให้ได้ใช้บริการสวนสนุกที่ได้มาตรฐานในราคาที่เข้าถึงได้ มาถึงความท้าทายใหม่ทั้งการปรับลุคพร้อมเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น Siam Amazing Park ก่อนส่งต่อให้ทายาทรุ่นถัดไป  

ขอผายมือต้อนรับคุณผู้อ่านเข้าสู่เส้นทางกว่าแปดสิบขวบปีของผู้ก่อตั้ง ‘โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม’ 

ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ 

Date of Birth : 28 ตุลาคม 2481 (ตามการจดทะเบียนที่อำเภอ) วันเกิดจริง บันทึกเป็นภาษาจีนว่า โป๊ยอ่วยยี่เอ็ก
Birth Place : ประเทศไทย 
ผู้ก่อตั้ง : สวนน้ำแห่งแรกของไทย Siam Amazing Park

“ถ้าคนอื่นไม่สร้าง ผมจะสร้างเอง”

The Journey of Siam Amazing Park

อายุ 0 ปี
พ.ศ. 2481 

โอ๊ย แซ่อึ้ง เกิดที่ตลาดบางเขน ประเทศไทย ใช้ชื่อเดิมมาจนถึงวัยที่เริ่มทำธุรกิจ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ

อายุ 5-9 ปี
พ.ศ. 2486-2490 

หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมครอบครัวไปอยู่บ้านญาติในอำเภอลำลูกกา ปทุมธานี ก่อนย้ายกลับมาอยู่ที่ตลาดบางเขนอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงคราม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ตลาดบางบัว ครอบครัวเปิดร้านชำขนาดเล็กชื่อว่า อึ้ง ย่ง เจ็ง เข้าเรียนที่โรงเรียนบางบัว (เพ่งตั้งตรงจิตรวิทยาคาร) ถึงชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 จากนั้นย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสารวิทยา 1 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกเพื่อกลับมาช่วยงานที่บ้าน

อายุ 12-16 ปี
พ.ศ. 2493-2497

เข้าสู่อาชีพรับจ้างครั้งแรกด้วยการทำหน้าที่สารพัดอย่างในร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง และเข้าสู่อาชีพถัดมาในวัย 16 กับบทบาทกระเป๋ารถโดยสาร เส้นทางวงเวียน 22 – อุดรธานี เพราะอยากมีโอกาสหัดขับรถยนต์

อายุ 17 ปี
พ.ศ. 2498

ดาวน์รถออสตินแวนคันแรกด้วยเงิน 5,000 บาท ที่หยิบยืมมาจากญาติ เพื่อประกอบอาชีพรับจ้างส่งของตามตลาด 

อายุ 22 ปี
พ.ศ. 2503 

มีคนแนะนำให้รู้จักอาชีพเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และมอบสิทธิ์ให้เป็นผู้จัดจำหน่าย ตอนนั้นเองที่ธุรกิจเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ต่อมาตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรพันธุ์ โดย ‘อมร’ แปลว่า ไม่ตาย ‘พันธุ์’ แปลว่า ขยาย

อายุ 27 ปี
พ.ศ. 2508 

วางมือกับอาชีพค้าขายสิ่งมีชีวิต มอบพันธุ์ปลาให้กับทางราชการทั้งหมด จนเป็นที่กล่าวขานในยุคนั้น

อายุ 29 ปี
พ.ศ. 2510 

ได้รู้จักกับ บุญชู เธียรสวน ชักชวนกันทำธุรกิจบ้านจัดสรรรายแรกของประเทศ ก่อนขยับเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาที่ดินและหมู่บ้านจัดสรร (ในยุคที่ยังไม่มีการสร้างบ้านพร้อมเข้าอยู่)

อายุ 31 ปี
พ.ศ. 2512 

ร่วมก่อตั้ง บริษัท ช.อมรพันธุ์ จำกัด จากชื่อของผู้ร่วมทุนทั้งสาม คือ ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ, บุญชู เธียรสวน และชาตรี โสภณพนิช เปิดศูนย์การค้าอมรพันธ์ (พหลโยธิน) บริเวณสามแยกเกษตร และโรงภาพยนตร์อมรพันธ์รามา ปีเดียวกันนั้นได้เจอกับภรรยา แต่งงาน และสร้างครอบครัว

อายุ 32 ปี
พ.ศ. 2513 

เป็นนักธุรกิจตัวอย่างของสมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์

อายุ 38 ปี
พ.ศ. 2519 

ก่อตั้งบริษัทไฟแนนเชียลทรัสต์ จำกัด และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าที่มาซื้อบ้านจากโครงการในเครือ ช.อมรพันธุ์ และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเครดิตฟองซิเอร์คนแรก ทำให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ

อายุ 39 ปี
พ.ศ. 2520

ชาตรี โสภณพนิช ชักชวนให้มาช่วยจัดการโปรเจกต์สร้างดิสนีย์แลนด์เมืองไทยในย่านมีนบุรี แต่สุดท้ายติดเงื่อนไขหลายอย่างของดิสนีย์แลนด์ จนต้องยุติโปรเจกต์ ต่อมาไปดูงานที่สวนสนุก-สวนน้ำโทชิมะเอ็น ประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างสวนน้ำขนาดใหญ่ในเมืองและดึงน้ำจากทะเลมากรองพร้อมทำคลื่นเทียม เลยเกิดไอเดียอยากทำทะเลกรุงเทพฯ แต่ผู้ร่วมทุนในขณะนั้นไม่เห็นด้วย

อายุ 40 ปี
พ.ศ. 2521 

ตัดสินใจทำสวนสนุก-สวนน้ำในรูปแบบของตัวเองด้วยตัวเอง ก่อตั้งบริษัท อมรพันธุ์นคร–สวนสยาม จำกัด สร้างสวนน้ำ-สวนสนุกบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ในชื่อ สวนสยาม 

อายุ 42 ปี
พ.ศ. 2523

สวนสยาม ทะเล-กรุงเทพฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันแรก วันที่ 19 พฤศจิกายน พร้อมคำขวัญ ‘โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม’

อายุ 43 ปี
พ.ศ. 2524

ขณะที่เปิดให้บริการพร้อมกับการก่อสร้างไปได้ประมาณ 80% ประสบปัญหาเงินทุนหมด ผู้ถือหุ้นถอนตัว ภาวะทางการเงินโดยรวมขาดทุนต่อเนื่องและกลายเป็นหนี้ยาวนานจนถูกฟ้องล้มละลาย 

อายุ 59 ปี
พ.ศ. 2540

วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกลับทำให้กลายเป็นลูกหนี้รายเล็กทันที สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้ แต่ต้องขายที่ดินของภรรยาออกไปบางส่วนเพื่อชำระหนี้ 

อายุ 62 ปี
พ.ศ. 2543

เปิดเทศกาล Big Holiday’2000 และ Alaska Fantasy เมืองหิมะกับเทคโนโลยีใหม่จากญี่ปุ่นในขณะนั้น สามารถทำหิมะตกได้เหมือนจริง

อายุ 69 ปี
พ.ศ. 2550-2557

ตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารอีกครั้ง เพื่อนำเข้าเครื่องเล่นที่ได้มาตรฐานระดับสากล 16 เครื่อง ใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี ติดตั้งและทยอยเปิดให้บริการ 

อายุ 71 ปี
พ.ศ. 2552

สวนสยามทะเล-กรุงเทพฯ ได้รับการรับรองจาก Guinness World Records ให้เป็นทะเลเทียมที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

อายุ 72 ปี
พ.ศ. 2553, 2555, 2560 

พาให้สวนสยามเข้ารับรางวัล Thailand Tourism Awards สาขาแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อความบันเทิง ครั้งที่ 8, 9, 11 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

อายุ 79 ปี
พ.ศ. 2560

สวนสยามได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 2 สวนสนุกที่ดีที่สุดของเอเชียโดย Forbes 

อายุ 81 ปี
พ.ศ. 2562

ครบรอบ 39 ปีสวนสยาม ประกาศเกษียณอายุการทำงาน พร้อมรีแบรนดิ้ง ‘สวนสยาม’ ให้เป็น ‘สยามอะเมซิ่งพาร์ค’ เพื่อส่งต่อธุรกิจให้ลูกทั้งสามคน คือ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

อายุ 84 ปี
พ.ศ. 2565

เปิดตัว Bangkok World โปรเจกต์ที่รวบรวมความอะเมซิ่งที่ดีที่สุดของเมืองบางกอก จำลองความรุ่งเรืองและสวยงามของเมืองหลวงในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านสถาปัตยกรรม 13 อาคารและแลนด์มาร์กขึ้นชื่อ พร้อมเปิดพื้นที่ให้จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศ 

The CEO of Siam Amazing Park

ใครหลายคนรู้จักชื่อ ‘สวนสยาม’ จากความเป็นสวนน้ำ-สวนสนุกเจ้าแรกที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางย่านมีนบุรี มีความล้ำด้วยคลื่นที่จำลองแบบจากทะเล ทำให้เราคุ้นเคยกับนิยาม ‘ทะเลกรุงเทพฯ’ ของที่นี่เป็นอย่างดี 

ที่นี่คือธุรกิจของครอบครัวเหลืองอมรเลิศ ก่อตั้งโดย ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้เป็นพ่อของลูกๆ และเป็นเจ้าพ่อวงการหมู่บ้านจัดสรร ก่อนส่งต่อให้ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ และน้องๆ ได้แก่ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ทายาทรุ่นที่ 2 รับช่วงดูแลกิจการนี้ในขวบปีปัจจุบันของสวนน้ำ-สวนสนุกแห่งนี้ ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ Siam Amazing Park

ธุรกิจสวนสนุกหลายแห่งคงผ่านเหตุการณ์ที่ ‘ไม่สนุก’ นักมามากมาย เส้นทางที่เริ่มด้วยการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับความนิยมสุดขีด เป็นที่พูดถึงไปทั่ว ประสบปัญหาสารพัด ขาดทุน ซบเซา ถูกฟ้องล้มละลาย ลุกขึ้นสู้ใหม่ ก่อนวนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีกครั้ง คล้ายกับหนังชีวิต ที่ถ้าเปรียบเป็นคน Siam Amazing Park คือบุคคลที่มีอายุ 42 ปี ผ่านร้อนหนาวจนมากประสบการณ์ พยายามปรับตัวและเรียนรู้จากความผิดพลาดตลอดเวลาอย่างที่ยังไม่แก่เกินทำความเข้าใจโลกยุคใหม่และคนรุ่นใหม่ 

อาจดูเป็นตำนานในสายตาใครต่อใคร แต่หากได้ลงไปนั่งคุยกับคนในครอบครัวเหลืองอมรเลิศ Siam Amazing Park ในสายตาของพวกเขากลับเปรียบได้กับ ‘น้องคนสุดท้อง’ ที่พี่ๆ ต้องช่วยกันดูแล คอยประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ยากๆ ไปพร้อมกัน จนวันนี้แข็งแรงและยืนระยะมายาวนาน

ถ้าคุณอยากรู้เรื่องราวทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ Siam Amazing Park จะมีใครตอบได้ดีเท่าคนที่เห็นกันมาตั้งแต่เกิดและเติบโตมาด้วยกันอย่าง สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ทายาทรุ่นที่ 2 และพี่ชายคนโตของครอบครัว 

Siam Amazing Park มีอายุห่างกับคุณ 7 ปีพอดี ถ้าเปรียบเป็นคนในครอบครัว คุณมองน้องคนสุดท้องคนนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน

ถ้าถามว่าผมรู้สึกยังไง ผมอิจฉานะ (หัวเราะรัว) เพราะพ่อชอบมาก พ่อรักมาก ทุกคนผิดหมด ยกเว้นลูกคนเล็กของพ่อคนนี้ คือคุณพ่อเป็นคนบ้างาน เขามาที่นี่ทุกวันแทบไม่เคยหยุด ต่อให้มีธุระต่างจังหวัด ขากลับก็ขอให้ได้แวะมาดูที่นี่หน่อย อย่างน้อยขับรถวนดูรอบหนึ่งก่อนกลับบ้านก็ยังดี 

ขณะที่ Siam Amazing Park คือสวนสนุกที่เด็กในวัยไล่เลี่ยกับคุณมาเที่ยวเล่น แต่ที่นี่ก็เป็นธุรกิจของที่บ้าน อยากรู้ว่าคุณในวัยเด็กมองที่นี่ว่าเป็นสวนสนุกอย่างเด็กคนอื่นหรือเปล่า

ผมคือคนที่เพื่อนๆ อิจฉาที่สุดนะ (ยิ้ม) เพราะผมมีสวนสนุกเป็นของตัวเอง เมื่อก่อนที่นี่ยังมีเครื่องเล่นไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน ตอนนั้นก็จะมีสวนน้ำที่เป็นที่รู้จัก เพื่อนก็จะบอกว่าผมมีสระว่ายน้ำใหญ่ที่สุดในระดับชั้น มีสนามเด็กเล่นที่กว้างมาก มุมมองของผมในวัยเด็กก็มองว่าที่นี่เป็นที่เล่น เพียงแต่ไม่ใช่ที่เล่นของผมคนเดียว เป็นของเด็กคนอื่นด้วย แต่ผมอาจมีสิทธิพิเศษคือเล่นได้มากกว่าคนอื่น 

บรรยากาศในการ ‘มาเล่น’ ของคุณเป็นยังไง

ผมตามพ่อแม่มาทำงาน คือเขามาทำงาน แต่ผมมาเล่น มาถึงก็เปลี่ยนชุดว่ายน้ำทันที วิ่งเล่นทั้งวัน โดยที่พี่เลี้ยงก็ไม่ต้องมี เพราะพนักงานทุกคนที่นี่ช่วยดูแลผม คือพ่อแม่สามารถปล่อยเราทิ้งไว้ตรงไหนก็ได้ ผมจำได้ว่าไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ) ของสวนสยามรุ่นแรกๆ ดุมากๆ (เน้นเสียง) แต่มีผมคนเดียวที่เขาไม่ดุ (หัวเราะ) ผมเห็นเขาสั่งห้ามเด็กคนอื่นกระโดดน้ำ ห้ามปีนป่าย ดำน้ำนานก็ไม่ได้ แต่พอเขาเห็นว่าเป็นผมเขาก็ปล่อยผ่าน กลายเป็นว่าพอถึงเวลากินข้าวก็เป็นพี่ไลฟ์การ์ดนี่แหละที่เดินมาบอกว่าแม่ให้มาตามไปกินข้าว พอกินข้าวเสร็จก็มาวิ่งเล่นต่อถึงเย็นแล้วกลับบ้าน 

จากเด็กที่มาวิ่งเล่น ครั้งแรกที่คุณเข้ามาทำงานคือตอนไหน

ผมอยู่ที่นี่เหมือนบ้านหลังที่สอง ช่วงประถมก็เริ่มเข้ามาช่วยขายเครื่องดื่ม ตักน้ำแข็ง ตะโกนเรียกลูกค้าเข้าร้าน เรียกว่าเป็นลูกมือ คอยช่วยหยิบนู่นหยิบนี่ให้พนักงานอีกที แต่เป็นการทำแบบเด็กเล่นขายของ ถ้านับว่านี่เป็นการทำงานก็เริ่มจากตรงนี้ แต่จุดเปลี่ยนคือตอน ป.6 วันหนึ่งเราเกิดอยากช่วยทอนเงิน แต่ปรากฏว่าตอนปิดยอด เขากำลังนับเงินกันอยู่ ผมบังเอิญได้ยินว่าจุดที่ผมไปช่วยมียอดขายไม่ตรงแล้วคนที่โดนหักเงินคือพนักงานที่ประจำในจุดนั้น

ตอนนั้นผมรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่เล่นแล้ว มันคือที่ทำงานที่จริงจัง หลังจากนั้นก็ยังไปช่วยอยู่นะ แต่จะไม่ยุ่งเรื่องเงินอีก กลัวทำให้พนักงานเดือดร้อน 

เมื่อไหร่ที่ได้เริ่มเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจหรือกระทั่งรับรู้ปัญหาที่มีจริงๆ 

คือช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ผมเริ่มทำงานตำแหน่งแรกคือช่างภาพถ่ายรูปโพลารอยด์สำหรับทำบัตรสมาชิก เรารับหน้าที่ถ่ายรูปลูกค้า พนักงานเอารูปไปตัด ทากาว ติดบัตร เคลือบพลาสติก ประมาณนั้น จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาทำงานส่วนอื่นๆ ได้ประชุมกับลูกค้า ประชุมกับพนักงานหลายแผนก จุดนั้นเราเริ่มรู้ว่าที่นี่มีปัญหามากกว่าที่เคยรู้ ที่ผ่านมาผมจะรับรู้แค่ว่าธุรกิจมีปัญหาเรื่องเงิน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเห็นว่าพ่อแม่เขาก็ผ่านมาได้ตลอด อีกอย่างธุรกิจก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ ลูกค้าก็ยังมี รายได้ต่อวันก็ไม่น้อย เงินเดือนก็ยังมีจ่ายให้พนักงาน แต่เรื่องเงินนำมาสู่ปัญหาอื่นตามมา

ตอนนั้นเราไม่มีเงินจ้างบุคลากรที่จบตรงกับสายงานหรือมีความรู้เฉพาะทาง กลายเป็นว่าคนที่มีความสามารถก็ออกไป เพราะเราจ่ายค่าจ้างไม่ไหว ต่อมาคือปัญหาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ตอนนั้นผมมีความคิดอยากปรับปรุงสถานที่แต่เราไม่มีเงิน ตรงนั้นทำให้เข้าใจว่าเงินที่เราเห็นว่ามีมันคือเงินหมุน และเรายังมีหนี้ต้องใช้ เงินที่เหลือเป็นเงินสดจริงๆ แทบไม่มี คืออาจจะพอมี แต่มีแค่ก้อนเดียว การใช้เงินก้อนเดียวนี้ควรจะใช้ไปกับอะไรก่อน เพราะคนสองรุ่นเห็นไม่ตรงกัน รุ่นพ่อก็มองว่าเงินก้อนนี้ทำตรงนี้ดีกว่า คนรุ่นผมก็อาจมองว่าเอาไปทำตรงนั้นดีกว่า ผมว่านี่เป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวอื่นๆ ก็น่าจะเจอเหมือนกัน

เวลามีไอเดียคิดอยากจะทำอะไรสักอย่าง คุณมีวิธีนำเสนอคุณพ่อยังไง

ตอนนั่งกินข้าวกับเขาก็พูดออกมาเลย ซึ่งก็โดนปัดตกบนโต๊ะกินข้าวนั่นแหละ (หัวเราะ)

แทบจะไม่มีไอเดียที่ผ่านเลย?

โอ้ (เว้นช่วง) น้อย (หัวเราะ) ถ้าตอนที่เข้ามาทำใหม่ๆ ทุกไอเดียโดนปัดตกหมด อาจจะมีบางไอเดียที่คุณพ่อเห็นด้วยแล้วเอาไปทำต่อ แต่ทำแบบพ่อ ไม่ได้ทำแบบเรา คือเขาเอาแค่ตัวไอเดียไปทำในวิธีแบบเขาเพื่อมาบอกว่าที่เราพูดน่ะ เขาลองทำแล้วนะ แต่มันไม่เวิร์ก (หัวเราะ) 

การเข้ามาสานต่อธุรกิจมาพร้อมโจทย์จากคุณพ่อหรือความท้าทายอะไรบ้าง

ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการคอยดูว่าเราทำได้หรือเปล่า ซึ่งคุณพ่อคงมีตัววัดอยู่สองสามอย่างในใจ อันดับแรกคือวัดจากความถูกใจของคุณพ่อก่อนว่าที่เราทำมันตรงกับแนวทางที่เขาคิดหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่แต่ยอมรับได้ เขาก็จะปล่อย ตัววัดที่สองคือจากผลงาน ผมไม่รู้คุณพ่อตั้งตัวเลขเอาไว้ในใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดผมทำแล้วได้ทำต่อ นั่นแปลว่าผ่าน คิดว่าคุณพ่อดูจากภาพรวมคือลูกค้าแฮปปี้ รายได้พอสมควร พนักงานไม่ได้มีความสับสนวุ่นวายในการทำงานก็ถือว่าใช้ได้ 

สิ่งที่คุณพ่อยอมรับไม่ได้คืออะไร

อันหนึ่งที่ทำแล้วผมโดนดุมากๆ คือไปเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน ผมคิดเอาเองว่าที่ผ่านมาทำไม่ถูก ผมก็สั่งเปลี่ยนการทำงานของแผนกแบบไม่ปรึกษาใครเลย ผมสั่งให้ทุกอย่างต้องมาผ่านที่ผมก่อน แต่ประสบการณ์เราก็น้อย การตัดสินใจก็ยังไม่ดี ทำให้ทุกอย่างชะงักและล่าช้าไปหมด ทุกคนต้องรอผมคนเดียว สุดท้ายก็ทำไม่ทันสักอย่าง

คำสั่งแบบนั้นเกิดจากความอยากมีส่วนร่วมกับทุกงานหรือเปล่า 

ไม่ใช่เลย แต่เป็นเพราะผมอยากตัดสินใจ อยากใหญ่ อยากเก่ง อยากมีอำนาจประมาณนั้นเลย แต่นั่นก็ทำให้ผมเข้าใจว่าก่อนจะตัดสินใจอะไร ต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าเขาทำกันมายังไง ปัญหาคืออะไร จะแก้ยังไง พูดง่ายๆ คือเราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงมันเหมือนหรือต่างกันยังไง ต้องไปขลุก ไปรู้ให้ลึกก่อนค่อยมานั่งคิดว่าแก้ยังไง จากตรงนี้ผมเลยเข้าไปเรียนรู้หน้างานทุกอย่างเลย 

จากการลงไปดูหน้างานด้วยตัวเอง คุณเห็นอะไรบ้าง

มีเคสที่ลูกค้าเข้าใจผิดจากตอนที่เราไปยืนให้ข้อมูลลูกค้าที่ประชาสัมพันธ์ พอตกเย็นพนักงานขายมาเล่าให้ฟังว่ามีลูกค้าซื้อบัตรผ่านประตูผิดประเภทแล้วชี้มาทางผมบอกว่าพนักงานผู้ชายอ้วนๆ คนนั้นบอกว่าต้องซื้อแบบนี้ (หัวเราะ) พนักงานขายก็ยืนยันว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดกัน ลูกค้าเลยบอกว่าเขาเข้าใจ แต่ยังไงก็ต้องไปอบรมพนักงานอ้วนๆ คนนั้นด้วยนะว่าให้ข้อมูลผิด (หัวเราะทั้งวง)

สุดท้ายมาได้ข้อสรุปว่าผมไม่ได้ให้ข้อมูลผิด แต่ผมกำลังอธิบายให้ลูกค้ากลุ่มอื่นฟัง แล้วลูกค้ากลุ่มที่ยืนข้างๆ เขาน่าจะเข้าใจว่าเป็นข้อมูลเดียวกันว่าต้องซื้อบัตรแบบนี้ จากตรงนี้ผมจะรู้เลยว่าลูกค้าเดินเข้ามาถามสิ่งเดียวกัน แต่อาจจะได้คำตอบกลับไปไม่ตรงกัน เพราะเรามีโปรโมชั่นเยอะ ทำให้สับสนได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลเหล่านี้จะต้องชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นำมาสู่การรีแบรนด์ได้ยังไง

เราพยายามจะลบภาพจำเก่าๆ ของสวนสยาม ต้องบอกก่อนว่าสวนสยามเริ่มต้นจากเป็นสวนน้ำอันดับหนึ่งก็จริง แต่สวนสนุกของเราไม่ใช่แบบนั้น คล้ายกับสวนสนุกเป็นของแถมมากกว่า ประมาณว่าคุณมาสวนน้ำแล้วได้เที่ยวสวนสนุกด้วย แต่เดิมสวนสยามไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเครื่องเล่น พนักงานก็ไม่ได้ใส่ใจเรียนรู้เรื่องงานบริการเท่าที่ควร ทำให้ต้องมาวางแผนกันว่าจะเปลี่ยนภาพของสวนสนุกที่ฟีดแบ็กค่อนไปทางลบนี้ได้ยังไงบ้าง เลยถือโอกาสในช่วงที่สั่งเครื่องเล่นใหม่เข้ามาในการปรับปรุงพื้นที่และเปลี่ยนแนวการทำงานไปด้วยเลย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อ แต่เรามีเครื่องเล่นที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีทีมวิศวกรและพนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจ เพียงแต่การเปลี่ยนชื่อจากสวนสยามเป็น Siam Amazing Park จะช่วยสร้างความเข้าใจได้ทันทีว่าที่นี่มีอะไรใหม่ๆ 

การลงทุนครั้งใหม่ตามมาด้วยราคาบัตรผ่านประตูที่สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งราคาบัตรผ่านประตูที่สูงขึ้นส่งผลกับธุรกิจสวนสนุกยังไงบ้าง

เหตุที่ต้องปรับราคาบัตรผ่านประตู เพราะเรานำเข้าเครื่องเล่นมาเพิ่มอย่างที่บอกไป ผมคิดว่าตรงนี้ทำให้กลุ่มลูกค้าของเราเปลี่ยน ลูกค้าของสวนสยามเดิมเป็นกลุ่มครอบครัว แต่ลูกค้าของ Siam Amazing Park เป็นกลุ่มวัยรุ่น สิ่งที่ตามมาคือนิสัยลูกค้าก็เปลี่ยนด้วย พฤติกรรมการใช้จ่าย ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเลย ภาพรวมคือเรามีลูกค้ามากขึ้น รายได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือการบริการแบบเดิมๆ ของเราไม่ถูกใจลูกค้ากลุ่มใหม่ ทำให้มี complain สูงมาก ที่เห็นได้ชัดคือยอดขายอาหารเครื่องดื่มของเราไม่ได้ขยับขึ้นตามยอดผู้ใช้บริการ เหตุผลหลักเพราะเราเคยทำอาหารเพื่อขายกลุ่มครอบครัว ไม่ได้ทำขายวัยรุ่น พอวัยรุ่นมาใช้บริการ เขาก็เกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะกินอะไรในนี้ เกิดการใช้จ่ายน้อยลง ทำให้เราต้องกลับมาพัฒนาร้านอาหารด้วยการหาเชฟใหม่ จัดบูทใหม่ จัดรูปแบบร้านอาหารใหม่ทั้งหมด 

วันที่ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งมากกว่าเดิมหลายเท่า คุณมีวิธีรับมือยังไง 

บอกตามตรงเลยว่าผมค่อนข้างแฮปปี้ด้วยซ้ำ เพราะการที่มีสวนน้ำสวนสนุกอื่นๆ เปิดเพิ่มขึ้นมา นั่นหมายความว่าธุรกิจนี้มีความน่าสนใจ และทำให้ลูกค้ากระจายไปที่นั่นที่นี่ได้ ลองคิดดูว่าเมื่อก่อนคุณจะชอบไม่ชอบยังไง แต่มันมีอยู่ที่เดียวก็ต้องมาที่นี่ แต่ปัจจุบันลูกค้าสามารถเปรียบเทียบได้ว่าที่ไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขามากกว่ากัน คาแร็กเตอร์ของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เขาชอบแบบไหนก็เลือกไปที่นั่น ถ้าเขาชอบแบบเรา สุดท้ายเขาก็จะกลับมาหาเรา มันเท่านั้นเอง หรือต่อให้คุณไม่ชอบแบบเรา แต่นานๆ จะแวะมาทีก็ได้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ (ยิ้ม)

ผมไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่เราคือคู่ค้า สยามอะเมซิ่งพาร์คเองก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้ การที่ลูกค้ามีโอกาสได้เลือกสินค้าประเภทเดียวกันในมิติที่หลากหลาย ลูกค้าก็มีความสุขและได้ประสบการณ์ที่หลากหลายไปด้วย ความคุ้มค่าไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ความพอใจของลูกค้า

คิดว่าอะไรที่ทำให้สยามอะเมซิ่งพาร์คอยู่คู่คนไทยจนถึงวันนี้ 

อย่างแรกก็ต้องย้อนไปในสมัยของคุณพ่อ ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนมีชื่อเสียงในยุคนั้น ตัวเขาเองทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาใช้บริการ บวกกับคุณพ่อมีความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองเสมอ ถ้าพูดอะไรออกไปเขาต้องทำให้ได้ตามนั้น ตรงนี้ผมคิดว่าทำให้เกิดความน่าเชื่อถือกับผู้ใช้บริการ รวมถึงสปอนเซอร์ของเรา อย่างที่สองคือการบริหารของเราค่อนข้างจริงใจและแฟร์กับลูกค้า อย่างที่สามราคาของเราค่อนข้างย่อมเยาเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ 

ความท้าทายที่ต่างกันของรุ่นพ่อกับรุ่นลูก

ในรุ่นคุณพ่อ ผมว่าแค่เขาคิดจะสร้างสวนน้ำในพื้นที่ขนาดนี้เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนก็ท้าทายแล้วนะ สิ่งที่ท้าทายคือทำยังไงให้คนกรุงเทพฯ รวมถึงคนในพื้นที่อื่นมาเที่ยวที่นี่ ทั้งที่ลำคลองยังใส ทะเลยังสะอาด ถึงแม้การเดินทางจะยังไม่สะดวกเท่าทุกวันนี้ แต่ก็สามารถเดินทางไปถึงพัทยาหรือบางแสนได้ ทำไมคุณต้องยอมจ่ายเงินค่าบัตรผ่านประตูเพื่อมาเล่นน้ำที่นี่ล่ะ รุ่นบุกเบิกต้องท้าทายกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือการเอาของใหม่เข้ามาแนะนำให้คนไทยรู้จัก ส่วนรุ่นของผมความท้าทายก็คือเราจะพัฒนายังไงให้ที่นี่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จะทำยังไงให้คนมาใช้บริการรู้สึกว้าวทุกครั้ง หรืออย่างน้อยมาแล้วต้องไม่น่าเบื่อ 

คุณได้เรียนรู้อะไรในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงคือคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง เขาจะต่อต้านไว้ก่อนเสมอ ความท้าทายของผมอีกอย่างจึงเป็นเรื่องการยอมรับจากพนักงาน ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ผมจะบอกพนักงานเสมอว่าถ้าทำแล้วงานคุณหนักขึ้น ขอให้คุณบอก เพราะวัตถุประสงค์ของผมคือเมื่อเปลี่ยนแล้วงานต้องเบาลงและง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นจะเปลี่ยนทำไม

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนระบบจำหน่ายบัตรผ่านประตูใช้เป็นกระดาษฉีกที่ต้องเก็บหางตั๋วไว้เช็กตอนปิดยอด จำนวนตั๋วที่ขายออกไปกับจำนวนเงินที่รับมาต้องตรงกัน แค่นั้นพนักงานก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว ที่นี่ปิดตอนเย็น พนักงานต้องนั่งเคลียร์เงินถึงสามทุ่ม ยิ่งช่วงเทศกาลต้องลากยาวถึงเที่ยงคืน เช้าแล้วพนักงานยังนั่งเคลียร์เงินอยู่ก็เคยเห็นมาแล้ว ยอดไม่ตรงทีก็ต้องวิ่งหาหางตั๋วที่หายไป หาได้ไม่ครบก็โดนหักเงินอีก

คำถามคือมันใช่เรื่องหรือเปล่า แต่พอผมจะเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามา สิ่งแรกที่เจอคือความกังวลใจจากพนักงาน เกิดคำถามว่าถ้าคอมพ์พังแล้วต้องรับผิดชอบไหม อย่างที่สองคือถ้าไฟดับระบบขัดข้องล่ะจะขายบัตรยังไง สารพัดคำถามมีมาหมด ผมเลยต้องสร้างความมั่นใจให้พนักงานว่าคุณเพียงแต่ทำเลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นผมจัดการให้  

จากการยืนระยะตลอด 42 ปี ผ่านวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง ทั้งวิกฤตการเงินที่เคยถูกฟ้องล้มละลาย มาถึงวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่จบ สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากวิกฤตทั้งหมดคืออะไร

ผมเรียนรู้ว่าทุกวิกฤตมีโอกาส อยู่ที่ว่าเราจะมุ่งหาจุดนั้นเจอหรือเปล่า ยกตัวอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี ’40 ที่ทุกคนล้มกันหมด โอกาสของเราตอนนั้นคือจากการเป็นลูกหนี้รายใหญ่ เรากลายเป็นลูกหนี้รายเล็กทันที ทำให้สามารถเจรจากับธนาคารได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารก็อยากจะเคลียร์กับลูกหนี้รายเล็กๆ ก่อน หรือช่วงโควิดที่เราเปิดให้บริการได้แล้วในวิกฤตนั้นมีโอกาสตรงที่ว่าคนไม่สามารถไปต่างประเทศได้ เขาก็จะหันกลับมามองที่เที่ยวในประเทศตามสถานะของเขา ต่อมาเป็นการเรียนรู้เรื่องของพนักงาน ในช่วงที่ผ่านมามีบางคนอยู่กับเรา แต่ก็มีพนักงานที่ขอหยุดงานไป ซึ่งพอเรากลับมาเปิด บางคนเขาก็ไม่ได้กลับมาแล้ว นั่นทำให้เราต้องหาพนักงานกลุ่มใหม่เข้ามาและเพิ่มการเทรนนิ่ง

ต้องพูดกันตามตรงว่าพนักงานของธุรกิจสวนสนุกไม่ใช่อะไรที่หาได้ง่าย เนื่องจากเป็นเอาต์ดอร์ อากาศร้อน งานบริการของที่นี่จึงมีสองแบบคือร้อนแล้วเหนื่อยกับร้อนแล้วเบื่อ ถ้าไม่มีคนก็เบื่อ นั่งหน้าเครื่องเล่นก็หลับ ถ้าคนเยอะเมื่อไหร่ ลูกค้าต่อคิวไม่ได้พักเลย ยิ่งโควิดก็ต้องมานั่งทำความสะอาดทุกรอบก็เหนื่อย ถ้าไม่มีใจรักจริงก็ไม่อยากทำ แต่การจากลาของพนักงานก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้มากๆ ภาระหน้าที่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราเลยไม่ได้โกรธ แต่ได้เรียนรู้ตรงนี้ 

อนาคตของสวนสนุกแห่งนี้จะถูกพัฒนาต่อไปในทิศทางไหน

ผมอยากพาให้สยามอะเมซิ่งพาร์คเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดับใหญ่นั่นก็คือตลาดหลักทรัพย์ เพราะการพัฒนาธุรกิจสวนสนุกต้องใช้เงินจำนวนมาก การเข้าตลาดหลักทรัพย์สามารถเพิ่มทั้งเงินลงทุน มีโอกาสเติบโตสูงกว่า และมีโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของด้วย ไม่ใช่ของตระกูลเหลืองอมรเลิศอย่างเดียว แต่เป็นของทุกคนที่เขาต้องการจริงๆ 

คำถามสุดท้าย ขอถามถึง Bangkok World ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นโครงการแรกภายใต้การบริหารของรุ่นที่ 2 และดูจะเป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดธุรกิจ

จริงๆ ไอเดียนี้เริ่มต้นจากคุณพ่อตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เขาไปเห็นว่าสวนสนุกที่ต่างประเทศแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถไกลด้วยการสร้างอาคารขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวเดินเล่นถ่ายรูปชมวิวเพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าเดินไกล คุณพ่อเลยอยากทำบ้าง ตอนนั้นเขาไปจ้างทำ master plan ไว้แล้วด้วย แต่ก็เจอกับวิกฤตการเงินทำให้ต้องหยุดไว้ก่อน แต่คุณพ่อเก็บ master plan นั้นไว้อย่างดี จนมามีโอกาสได้ทำวันนี้ก็ต้องมาปรับไอเดียกันใหม่

ทีนี้จากการรีเสิร์ช ลูกค้าออกจากที่นี่ไป เขาต้องแวะกินข้าว แวะซื้อของก่อนเข้าบ้าน ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ต้องทำให้ที่นี่เป็น one-stop service ไปเลยสิ ไหนๆ ก็มาสวนสนุกแล้ว จอดรถแล้ว ก็ต้องมีที่ให้แวะกินข้าว ซื้อของกลับบ้านด้วย และพื้นที่ของเราอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิก็ควรจะมีสินค้าโอทอปหรือแบรนด์ไทยมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

เลยเกิดโปรเจกต์ Bangkok World ขึ้นมา หยิบเอาอาคารสถานที่ในกรุงเทพฯ ที่ถูกทุบไปแล้วหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงแลนด์มาร์กต่างๆ มาจำลองไว้ตรงนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติและคนไทยได้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยมันร่วมสมัยยังไง ให้โครงการนี้เป็นสถานที่พักผ่อน มากินข้าว เดินเล่น ถ่ายรูปได้ แบบไม่มีบัตรผ่านประตู ตั้งใจอยากให้สยามอะเมซิ่งพาร์คเป็นสถานที่ที่รวมความสุขให้กับทุกคนจริงๆ

The Product of Siam Amazing Park

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Siam Amazing Park เป็นที่รู้จักและอยู่ยืนยาวจนกลายเป็นสวนสนุกระดับตำนาน หนึ่งในคำตอบก็คงไม่พ้นไปจาก ‘โปรดักต์ของแบรนด์’ แต่บังเอิญว่าโปรดักต์ของธุรกิจสวนสนุกดันไม่ใช่สินค้าเพียงหนึ่งชิ้น แต่คือ ‘สวนน้ำและเครื่องเล่น’ ที่ต้องคอยดูแลกันไปตลอด อาศัยทั้งเวลา ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเงินทุนมากมายที่ต้องนำมา ‘ลง’ ไปกับผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเหล่านี้

ไม่มากก็น้อย เราจดจำ Siam Amazing Park ได้จากสวนน้ำและเครื่องเล่น

ทั้ง ทะเลกรุงเทพฯ ที่มีเทคโนโลยีสร้างคลื่น (เทียม) ให้เหมือนทะเลจริง! ม้าหมุนสองชั้น ที่เชื่อมระหว่างความจริงและความฝันของเด็กทุกคน! สไลเดอร์สายรุ้งในโฆษณาระดับตำนาน! ดินแดนดึกดำบรรพ์ที่ต้องตะลุยด้วยรถจี๊ปเพื่อเข้าไปพบกับไดโนเสาร์ขยับได้! และรถไฟเหาะตีลังกา ที่ไม่ใช่แค่สนุกสุดเหวี่ยง แต่ได้มาตรฐานระดับโลก! 

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเกริ่นเปิดบทความ ขอชวนทุกคนย้อนวันวานกลับสู่โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม กับเรื่องเล่าจาก 5 เครื่องเล่นระดับตำนานที่ยังเปิดให้บริการจนถึงทุกวันนี้!

(โปรดสแกนบัตรผ่านประตูก่อนเข้าชม) 

01
Wave Pool ทะเล-กรุงเทพฯ 
Territory : Water World
Since : ติดตั้ง พ.ศ. 2522 (เปิดให้บริการ พ.ศ. 2523)

สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้จักสวนสยาม (ชื่อเดิมในขณะนั้น) คือวลีห้อยท้าย ‘ทะเลกรุงเทพฯ’ เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ที่อยู่เคียงคู่สวนสยามมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษเข้าไปแล้ว จะว่าไปทะเลกรุงเทพฯ หรือทะเลเทียมนี้ที่จริงก็คือสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่มีความว้าวที่สุดแห่งยุค คือสามารถจำลองคลื่นในน้ำได้เหมือนกับผู้เล่นได้ลอยอยู่ในทะเลจริงๆ นั่นทำให้ทะเลกรุงเทพฯ ได้รับการรับรองจาก Guinness World Records ให้เป็นทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก (คำว่าใหญ่ที่สุดในโลกในความหมายนี้คือ พื้นที่มากที่สุด ไม่ใช่เพราะมีคลื่นสูงที่สุดในโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ) ด้วยขนาดพื้นที่ 13,600 ตรม. เมื่อ 20 เมษายน 2552 และยังครองแชมป์มาจนถึงปัจจุบัน 

ไอเดียสร้างทะเลเทียมในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เกิดจากความประทับใจของไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ที่ขณะนั้นเดินทางไปดูงานสวนสนุก-สวนน้ำที่โทชิมะเอ็น (Toshimaen) ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากทะเลส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบ แต่ไม่ค่อยมีชายหาด ทำให้การเล่นน้ำในทะเลไม่ราบรื่นเท่าที่ควร สวนสนุกโทชิมะเอ็นแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่ในเมืองโตเกียวและดึงน้ำจากทะเลมากรองพร้อมเทคโนโลยีทำคลื่นเทียมให้คนเล่น ซึ่งนับว่าแปลกใหม่มากในสมัยนั้น ไชยวัฒน์กลับมาพร้อมไอเดียนั้นและพัฒนาต่อให้กลายเป็น ‘สวนสยาม’ โดยได้ร่วมงานกับสถาปนิกและทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อออกแบบและสร้างทะเลเทียมแห่งนี้พร้อมการเปิดตัวสวนสยาม ก่อนที่ทะเลกรุงเทพฯ จะกลายเป็นถ้อยคำที่คุ้นหูทุกผู้คน (ที่เกิดทัน) มาจนถึงวันนี้

ส่วนสนุก

  • นอกจากสวนน้ำที่โทชิมะเอ็นแล้ว แรงบันดาลใจในการออกแบบคลื่นเพื่อทำทะเลกรุงเทพฯ ของคุณไชยวัฒน์มาจากคลื่นทะเลที่บางแสนและพัทยา
  • เหล่าสถาปนิกและทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบและสร้างทะเลเทียมแห่งนี้ ได้แก่

1. สถาปนิกผู้ออกแบบ

  • ธรรมศักดิ์ โรจนสุนทร อดีตรองผู้ว่าการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • เศวต โล่ห์สุวรรณ สถาปนิก ประจำบริษัทสถาปนิก 205
  • อนุสรณ์ ถนัดช่าง สถาปนิก
  • ประเสริฐ สุขุมานันท์ สถาปนิก

2. วิศวกรทางน้ำ

  • รศ. ดร.สุพัฒน์ วิเศษสมใจ อดีตอธิการบดีสถาบัน AIT
  • รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท., อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมหลายสมัย, อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  • ศ. ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ วิศวกรบำบัดน้ำเสีย
  • อ.จงใจ ผลประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญจากการประปานครหลวง

3. วิศวกรโครงสร้าง

  • ดร.วิรัช เหล่าศิริชน วิศวกรโครงสร้างเหล็ก
  • มนตรี นันทนาท วิศวกรโครงสร้าง
  • วีระชัย เอื้อวิไลจิต

4. ผู้จัดการโครงการ

  • วีระยุทธ จึงสุระ

02
The Merry-Go-Round ม้าหมุนสองชั้น 
Territory : Family World 
Since : พ.ศ. 2527 

เครื่องเล่นม้าหมุนสองชั้นที่ปรากฏเป็นฉากสำคัญในมิวสิกวิดีโอเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie) ของวง BNK48 คืออีกหนึ่งแลนด์มาร์กของสยามอะเมซิ่งพาร์คที่กลายเป็นขวัญใจของคนทุกเพศทุกวัย ด้วยความที่ถูกจัดประเภทให้อยู่ในดินแดน Family World นั่นหมายความว่าเครื่องเล่นประเภทนี้สามารถเล่นได้ทั้งครอบครัวแบบไม่จำกัดความสูงของผู้เล่น (แต่เด็กที่สูงต่ำกว่า 131 เซนติเมตร ควรใช้บริการพร้อมผู้ปกครอง) เป็นม้าหมุนสองชั้นหนึ่งในไม่กี่ตัวในโลก และเป็นเครื่องเล่นสุดคลาสสิกที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย และได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ 

ม้าหมุนสองชั้นของสยามอะเมซิ่งพาร์คมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Merry-Go-Round ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อเรียกประเภทของเครื่องเล่นที่มีลักษณะเป็นแท่นหมุนวงกลมพร้อมที่นั่งควบคู่กับดนตรีประกอบ หรือม้าหมุน โดยเครื่องเล่นม้าหมุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันในเรื่องของทิศทางการหมุน ถ้าเป็น Merry-Go-Round หรือ Gallopers แท่นจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยให้ม้าหันหัวไปทางซ้าย นิยมในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ Carousel แท่นวงกลมจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ให้ม้าหันหัวไปทางขวา นิยมในสหรัฐอเมริกา 

ส่วนสนุก

  • หุ่นม้าหมุนหนึ่งชั้นมีม้า 36 ตัว รถฟักทอง 4 คัน รวม 2 ชั้น มีจำนวนม้าทั้งสิ้น 72 ตัว รถฟักทอง 8 คัน

03
Jurassic Adventure ผจญภัยแดนไดโนเสาร์ 
Territory : Adventure World
Since : พ.ศ. 2549

ผจญภัยแดนไดโนเสาร์ คือการจำลองพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กลายเป็นผืนป่าที่ต้องฝ่าตะลุยเข้าไปด้วยรถจี๊ปเพื่อสัมผัสกับโลกยุคดึกดำบรรพ์ที่มีไดโนเสาร์จำลองกว่า 60 สปีชีส์ และสรรพสัตว์จากยุคดึกดำบรรพ์อีกกว่า 30 ชีวิต ก่อนปิดท้ายการผจญภัยด้วยเหตุการณ์จำลองถ้ำภูเขาไฟระเบิด ต้นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ 

ดินแดนนี้ได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ปีที่เปิดตัว เพราะเป็นเครื่องเล่นที่เล่นได้ทั้งครอบครัว ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เหมือนได้มาผจญภัยในดินแดนสัตว์โลกล้านปี ได้ตื่นตาตื่นใจไปกับไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มบรรยากาศความสมจริงด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ไดโนเสาร์บางตัวขยับได้ ถือเป็นความแปลกใหม่ เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบครอบครัวอย่างมากในยุคนั้น นับเป็น ‘Themed Attraction’ แห่งแรกที่ออกแบบคอนเซปต์โดยทีมงานของสยามอะเมซิ่งพาร์ค และเชิญศิลปินชาวจีน (มิสเตอร์หลี่ซื่อเจียง และคณะ) มาออกแบบและจัดทำหุ่นไดโนเสาร์ โดยได้แรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีแอนิเมชั่นจากประเทศเยอรมนี ทำให้ไดโนเสาร์ขยับและส่งเสียงร้องได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ! 

ส่วนสนุก

  • โดยปกติของธุรกิจบริการ จะมีช่วงเวลาที่เฟื่องฟู รุ่งเรือง ซบเซา สวนสยามก็เช่นกัน สวนสยามในช่วงเวลานั้นเผชิญภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นหนี้สิน ถูกฟ้องล้มละลาย แต่ด้วยหัวใจนักสู้ของ ดร.ไชยวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง ทำให้สามารถประคับประคองสวนสยามฝ่าวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ก่อนจะตัดสินใจนำเม็ดเงินมาลงทุนทำเครื่องเล่นใหม่ นั่นก็คือ จูราสสิค แอดเวนเจอร์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกชีวิตของสยามอะเมซิ่งพาร์คให้รอดพ้นจากวิกฤตมาได้

04
Speed Slide สไลเดอร์ยักษ์ 
Territory : Water World

โฆษณาระดับตำนานที่ติดตาตรึงใจของใครหลายคน คือภาพของทีมไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำ) จำนวน 4 คนจับมือเรียงแถวหน้ากระดานในท่ายืนและปล่อยตัวลงมาจากสไลเดอร์สายรุ้ง! พร้อมซาวนด์ประกอบเพลง Hawaii Five-O ของวงดนตรีชาวอเมริกัน The Ventures นั่นทำให้เครื่องเล่นชิ้นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็น ‘พระเอกตลอดกาล’ ตามนิยามของสยามอะเมซิ่งพาร์ค จากความสำเร็จของโฆษณาถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นการแสดงสไลเดอร์ผาดโผนสุดตื่นเต้น ทั้งยืนสไลด์ กระโดดข้ามราง และตีลังกาบนรางขณะสไลด์ตัวลงมา ต่อมาทางผู้บริหารดำเนินนโยบายเรื่องความปลอดภัยจึงสั่งงดการแสดงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2000 แต่สไลเดอร์สายรุ้ง 7 สียังคงเปิดให้ผู้คนได้ใช้บริการลื่นไหลตามปกติ เพียงแต่ต้องอยู่ในท่านั่งเท่านั้น

Speed Slide สไลเดอร์ยักษ์ นอกจากจะจำลองจากสายรุ้งทั้ง 7 สี ยังมีความสูง 21 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 7 ชั้น นับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถิติมีผู้เล่นที่เคยทาบตัวผ่านสไลเดอร์นี้มามากกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก และครั้งหนึ่งในอดีตเคยได้รับการบันทึกจาก Guinness World Records ว่าสูงที่สุดในโลกด้วย

05
Vortex ซูเปอร์เกลียวเหาะมหาสนุก
Territory : Extreme World
Since : พ.ศ. 2550 

รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่านแบบห้อยขาขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 2 ของโลก ความยาว 765 เมตร ความสูง 33 เมตร และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 76 กิโลเมตร / ชั่วโมง จาก Vekoma บริษัทที่เป็นผู้นำด้านเครื่องเล่นจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็น 1 ใน 15 เครื่องเล่นที่อยู่ในโปรเจกต์การลงทุนครั้งใหญ่ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค นับเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมจากสวนสนุกของสวนสยามเดิม (ในสมัยนั้น) มาเป็น ‘สยามอะเมซิ่งพาร์ค’ ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้สวนสยามมีภาพจำเป็นเพียงสวนน้ำขนาดใหญ่เท่านั้น เท่ากับว่าการเปิดบริการเครื่องเล่นระดับโลก ทำให้สามารถยกระดับสยามอะเมซิ่งพาร์คขึ้นเป็นสวนน้ำ-สวนสนุกชั้นนำของเอเชีย รวมถึงสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากข้อมูลล่าสุดของสยามอะเมซิ่งพาร์คพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเข้าใช้บริการในแต่ละปี

มีคำแนะนำสนุกๆ จากเจ้าหน้าที่ด้วยว่าถ้าอยากเล่นรถไฟเหาะให้มันสุดๆ ต้องเลือกที่นั่งให้ถูกด้วย เพราะแต่ละที่นั่งให้ความเร็วเมื่อวิ่งผ่านแต่ละจุดไม่เท่ากัน โดยตำแหน่งที่นั่งท้ายสุดของขบวนรถไฟจะหวาดเสียวที่สุดเมื่อรถวิ่งผ่านจุดสูงสุดของราง กลับกันตำแหน่งที่นั่งด้านหน้าสุดของขบวนรถไฟ จะตื่นเต้นกว่าใครอื่นเมื่อรถไฟเหาะผ่านจุดต่ำสุดของราง

ส่วนสนุก

  • เครื่องเล่นประเภทรถไฟเหาะตีลังกา อย่าง Boomerang และ Vortex ไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน แต่ใช้หลักการความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อวัตถุต่างๆ (gravity) หรือที่เรียกว่าแรง G เป็นตัวขับเคลื่อน รวมถึงกำหนดความเร็ว พลังงานที่ใช้จะเกิดจากการยกขึ้นไปให้สูงแล้วปล่อยลงมา เป็นการใช้กฎอนุรักษ์พลังงาน จะทำให้เกิดพลังงานศักย์ หลังจากนั้นจะปล่อยพลังงานศักย์ออกมาและเปลี่ยนเป็นความเร็ว ความเร่ง ซึ่งจะปลอดภัยกว่า เพราะการเกิดพลังงานศักย์ และเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ จะไม่มีอะไรมาตัดระบบได้ ทำให้รถไฟสามารถวิ่งไปจนสุด และกลับไปที่เดิมได้
  • และยิ่งรถไฟอยู่สูงจากพื้นมากเท่าไหร่ พลังงานโน้มถ่วงยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น เมื่อปล่อยให้ไหลลงมาจากเนิน ความเร็วของรถไฟจะเพิ่มขึ้น พอถึงข้างล่างความเร็วจะทำให้รถไฟพุ่งต่อไปยังเนินที่สอง โดยปกติตัวรางจะมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร เมื่อหักลบกับการตีโค้งต่างๆ รถไฟก็จะขึ้นไปอยู่ที่ความสูงประมาณ 17 เมตร นอกจากนี้ตัวรางที่ถูกดีไซน์เพื่อกำหนดทิศทางให้มีการเลี้ยวโค้ง ตีวง ตีลังกา ก็สัมพันธ์กับแรงส่งในการเพิ่มความเร่ง ความเร็วของรถไฟเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ลืมที่จะยึดหลักความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการเป็นหัวใจสำคัญ

The Specialist of Siam Amazing Park

สิ่งสำคัญที่แต่ละธุรกิจจะขาดไปไม่ได้เลยคือ คน 

ทั้งลูกค้า คนก่อตั้ง คู่ค้า และโดยเฉพาะคนทำงาน ยิ่งกับธุรกิจบริการอย่าง สยามอะเมซิ่งพาร์ค ที่ให้ความสำคัญกับคนทำงานหรือพนักงานของเขาเป็นอันดับแรกๆ ด้วยความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าก่อนที่จะสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับลูกค้าได้ พนักงานจะต้องมีความสุขกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองเสียก่อน

ต่อให้ต้องซ่อนใบหน้าไว้ในชุดมาสคอต นั่งประจำอยู่ในห้องคอนโทรลเครื่องเล่น เฝ้าระวังความปลอดภัยภายใต้แว่นกันแดดสีเข้มและโทรโข่งในมือ หรือหลบตัวอยู่กับชิ้นส่วนอะไหล่ในห้องซ่อมบำรุง ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกมองเห็น

คุณคงผ่านตากับบทสัมภาษณ์ผู้บริหารธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ทำความรู้จักกับพนักงานประจำตำแหน่งชื่อเรียกแปลกๆ เท่าที่สยามอะเมซิ่งพาร์คมี และคงหาไม่ได้ง่ายๆ ในธุรกิจทั่วไป 

จากที่ได้สัมผัส พวกเขาเป็นคนเบื้องหลังที่มีความมุ่งมั่นจริงจังบนใบหน้า มีดวงตาประกายเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่ทำ มีความกระตือรือร้นในท่าทางอย่างที่สุด แบบที่คงเตี๊ยมกันไม่ได้ หรือถ้าตระเตรียมมาก็นับว่าแนบเนียน

และอีกสิ่งที่สะท้อนชัดเจนว่าความสุขสนุกที่ว่านั้นไม่ใช่แค่ประโยคปรุงแต่งแกนๆ ก็คือบรรดาเสียงกรี๊ดที่ปะปนไปกับเสียงหัวเราะจากผู้ใช้บริการเครื่องเล่นประกอบเป็นฉากหลังตลอดการพูดคุย 

อยากให้คุณได้รู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเสียงหัวเราะและความสุขของเราทุกคน

1

ชื่อ ป๊อกกี้–ภาณุพงศ์ จำปาแดง
อายุ 31 ปี
ตำแหน่ง พนักงานมาสคอต 
อายุงาน 3 ปี 
ไอเทม ชุดมาสคอต

บทบาท / หน้าที่รับผิดชอบ 

รับบท ไซ แมวจอมซ่าประจำบ้าน คอยต้อนรับและให้ความสุขกับผู้มาใช้บริการ ภายใต้ชุดคาแร็กเตอร์ในฐานะเจ้าบ้านของสยามอะเมซิ่งพาร์ค

สกิลพิเศษที่ต้องมีและการฝึกฝน 

อินเนอร์และความอดทน ถ้าใครใส่แล้วยืนนิ่งๆ ขยับตัวน้อยๆ คนจะเห็นได้ชัดว่าไม่มีอินเนอร์ เวลาเข้าคาแร็กเตอร์ต้องเล่นใหญ่ใส่เต็มเพื่อส่งพลังออกมาให้ได้ เพราะตอนที่สวมชุดมาสคอต ถ้าขยับไม่มากพอมันจะออกมาดูเบาไปเลย ส่วนเรื่องความร้อนและน้ำหนักของชุดทำให้เราต้องมีความอดทนสูง ต้องเรียนรู้วิธีหายใจ เพราะต้องออกแบบการแสดงและท่าเต้นในช่วงเทศกาลด้วย ทั้งหมดนี้มีการเทรนนิ่ง เรามองว่าเป็นศาสตร์หนึ่งของการแสดง ไม่ใช่ว่าให้ใครมาสวมชุดก็เป็นมาสคอตได้

การทดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ไม่ใช่ใส่ชุดแล้วไปยืนได้เลย ต้องมีการทดสอบคาแร็กเตอร์ ดูบุคลิกท่าทางว่าเราใส่ชุดแล้วเข้ากับคาแร็กเตอร์ที่เขาวางไว้หรือเปล่า 

ความประทับใจไม่รู้ลืม 

ลูกค้าจำคาแร็กเตอร์เราได้ เรียกชื่อถูก เดินเข้ามาขอถ่ายรูปด้วย (ขณะสวมชุดมาสคอต) และบางคนแสดงความห่วงใยด้วยการถามว่า “คนข้างในร้อนไหม” 

ที่สุดของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

โดนลูกค้าแกล้ง เช่น ดึงหางแรงๆ เข้ามาตีแรงๆ ซึ่งเราจะปฏิเสธแบบนุ่มๆ ว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ หรือทำตัวน่ารักๆ ให้ลูกค้าอารมณ์ดีขึ้นก็ได้ แต่ต้องแสดงออกด้วยท่าทางเพื่อสื่อสารกับลูกค้าและยังต้องคงคาแร็กเตอร์ของมาสคอตที่สวมใส่ 

มุมมองต่ออาชีพ / คติในการทำงาน

เป็นอาชีพที่สร้างความสุขให้ผู้คน แต่เราต้องเชื่อก่อนว่าเราสามารถทำได้ และมีพลังงานดีๆ พอที่จะส่งออกไปถึงคนอื่น 

ความผูกพันกับ Siam Amazing Park

เราทำ (อาชีพมาสคอต) ที่นี่ที่แรกและยังเป็นที่เดียว อยู่มาสามปีก็รู้สึกผูกพันทั้งกับลูกค้าและองค์กร ที่นี่ค่อนข้างให้อิสระ ดีใจที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสได้ทำโชว์ด้วย  

2

ชื่อ กอล์ฟ–สุธิชา สายทิ้ง
อายุ 31 ปี
ตำแหน่ง ไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ) 
อายุงาน 4 ปี 
ไอเทม โทรโข่ง 

บทบาท / หน้าที่รับผิดชอบ 

ผู้ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการทุกคนเล่นน้ำอย่างปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบทุกจุดในบริเวณสวนน้ำก่อนเปิดและหลังปิดบริการทุกครั้ง 

สกิลพิเศษที่ต้องมีและการฝึกฝน 

ทักษะการว่ายน้ำและช่วยเหลือชีวิตทางน้ำ (Lifesaving Guard) รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR) ต้องฝึกซ้อมว่ายน้ำและช่วยชีวิตทางน้ำ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และเข้ารับการอบรมช่วยชีวิตทางน้ำจากโรงพยาบาลสองครั้งต่อปี ทำให้ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและร่างกายพร้อมอยู่เสมอเพื่อดูแลความปลอดภัยของคนที่มาใช้บริการ และต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วย เพราะเป็นงานบริการ สิ่งที่คนคิดว่าแค่มายืนเฉยๆ เฝ้าสวนน้ำ เป็นความเข้าใจที่ผิด

การทดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ทดสอบว่ายน้ำในทะเลเทียมตามระยะที่กำหนด คือ 800 เมตร ภายใน 20 นาที 

ความประทับใจไม่รู้ลืม

มีลูกค้ากลุ่มครอบครัว ก่อนกลับพวกเขาตั้งใจเดินเข้ามาหาผมเพื่อขอบคุณที่ช่วยดูแลลูกเขา บอกว่าสนุกมาก ไว้จะกลับมาใหม่ เราเองทำงานตากแดดตากลมทั้งวัน ได้เจอฟีดแบ็กแบบนี้ก็หายเหนื่อย แปลว่าลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจของเรา

ที่สุดของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ต้องใช้จิตวิทยาเข้าไปเจรจากับลูกค้าวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ที่กำลังทำผิดกฎระเบียบของการใช้บริการ ขณะที่พวกเขากำลังโมโหฉุนเฉียวจากการเข้าไปเตือนของพนักงานก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายก็เข้าใจและยอมให้ความร่วมมือ

มุมมองต่ออาชีพ / คติในการทำงาน

เป็นอาชีพที่ผมรู้สึกมีเกียรติและภูมิใจมาก เพราะเราได้ดูแลชีวิตคนจริงๆ ต้องมีความรับผิดชอบสูง ดูแลตัวเอง และฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่ฝึกกันมาทั้งหมดก็เพื่อช่วยชีวิตคน ซึ่งผมยังไม่เคยต้องช่วยชีวิตลูกค้าก็จริง แต่ไม่มีแปลว่าดีแล้ว เพียงแต่เราต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา ป้องกันดีกว่าแก้ไข บริการประทับใจ คือคติประจำตำแหน่งของไลฟ์การ์ด

ความผูกพันกับ Siam Amazing Park

สำคัญที่สุดคือในองค์กรเราอยู่กันแบบพี่น้องครอบครัว ผมสามารถขอคำปรึกษาได้ทั้งเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ไปจนถึงผู้บริหาร พวกเขาพร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตลอด ทำให้ผมเลือกอยู่ที่นี่ และเช่นกัน เวลาได้รับมอบหมายอะไรมา ผมก็จะทำเต็มที่ที่สุด 

3

ชื่อ เนศ–ชเนศ รัตนสุนทร
อายุ 57 ปี
ตำแหน่ง วิทยากรค่ายพักแรม 
อายุงาน 33 ปี
ไอเทม ชุดลูกเสือ

บทบาท / หน้าที่รับผิดชอบ 

บริหารจัดการค่ายลูกเสือสยามอะเมซิ่งพาร์ค ทั้งที่พัก สถานประกอบกิจกรรม ฐานกิจกรรมผจญภัยต่างๆ และสร้างทีมวิทยากรผ่านการอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 

สกิลพิเศษที่ต้องมีและการฝึกฝน 

ความสุภาพ ปฏิภาณไหวพริบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ และมีจิตวิทยาในการอยู่ร่วมกับเด็ก ต้องรับรู้ความต้องการของเด็กแต่ละวัย และทันยุคทันสมัย หรือว่าง่ายๆ คือตามเด็กให้ทัน ยกตัวอย่าง เพลงชุดโกโกวา เราเองที่อายุจะหกสิบแล้วก็ต้องรู้ว่าคืออะไร ร้องยังไง เต้นยังไง ต้องเรียนรู้จากเด็กๆ 

การทดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ส่วนใหญ่จะจบจากสาขาพลศึกษา และทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมวิชาลูกเสือ 

ความประทับใจไม่รู้ลืม 

บริหารจัดการค่ายพักแรมต่อเนื่องทั้งหมด 11 โรงเรียน แบบโรงเรียนเดิมออกปุ๊บ โรงเรียนใหม่เข้าต่อทันที เป็นความประทับใจที่เราและทีมงานสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี จนแต่ละโรงเรียนกลายเป็นลูกค้าประจำของเรา ติดต่อกันต่อเนื่อง 20 ปีก็มี แบบที่ฝ่ายขายไม่ต้องวิ่งไปเสนอที่โรงเรียนแล้ว 

ที่สุดของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เด็กที่มาเข้าค่ายมีเรื่องชกต่อยกัน คือมาด้วยกันเป็นกลุ่มโรงเรียน (โรงเรียนขนาดเล็กจากจังหวัดเดียวกันหลายโรงเรียนมาเข้าค่ายรวมกัน) แล้วมาทะเลาะกันที่นี่ เราก็ต้องลงไปนั่งคุยกับเด็กเพื่อเข้าใจปัญหาและไกล่เกลี่ยให้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากครูประจำโรงเรียนด้วย

มุมมองต่ออาชีพ / คติในการทำงาน

ทำให้ดีที่สุด คือการทำยังไงก็ได้ให้เด็กประทับใจเรา อยู่กับเราได้ สนุกกับเราได้ 

ความผูกพันกับ Siam Amazing Park

ที่นี่เป็นทั้งองค์กรและครอบครัว ความผูกพันทำให้อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ และความผูกพันอีกส่วนมาจากลูกค้า ซึ่งก็คือเด็กๆ ที่มาเข้าค่าย กลับจากค่ายไปเขาก็จะพาผู้ปกครองกลับมาเที่ยวที่นี่ หรือถ้าบังเอิญไปเดินเจอกันข้างนอก เราอาจจะจำเขาไม่ได้หรอก เพราะเราเจอเด็กปีปีนึงเยอะมาก แต่เด็กจะจำเราได้เสมอ

4

ชื่อ ฟลุ๊ก–ทศพล อินทร์งาม
อายุ 27 ปี
ตำแหน่ง พนักงานบริการเครื่องเล่น 
อายุงาน 9 ปี
ไอเทม แผงควบคุมเครื่องเล่น

บทบาท / หน้าที่รับผิดชอบ 

เปิด-ปิดเครื่องเล่นสวนสนุก ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่กดปุ่มเครื่องเล่น แต่ดูแลเรื่องความปลอดภัยและพร้อมที่จะดูแลลูกค้าเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันด้วย ขั้นตอนแรกเมื่อมาประจำที่เครื่องเล่นต้องสังเกตบริเวณโดยรอบก่อนว่ามีอะไรผิดปกติ เช่น สายไฟ คราบน้ำมัน สอง–ความสะอาด และสาม–ทดสอบระบบทุกเช้า โดยมีทีมวิศวกรมาเทสต์ให้แล้ว แต่พนักงานคอนโทรลเครื่องเล่นก็ต้องเทสต์อีกครั้งหนึ่งก่อนเปิดให้บริการ

สกิลพิเศษที่ต้องมีและการฝึกฝน 

ทักษะพิเศษคือไหวพริบปฏิภาณ ความกระตือรือร้น ความช่างสังเกต และการสื่อสาร เพราะเราอยู่กับเครื่องเล่น ลูกค้าเอาชีวิตมาฝากไว้กับเรา ความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคย แรงเหวี่ยง ลักษณะอาการแปลกๆ ของเครื่องเล่น เราจะต้องจดจำได้ก่อนว่าแบบปกติเป็นยังไง เพื่อจะได้รู้ว่าผิดไปจากนี้คือไม่ใช่แล้ว หรือขณะที่เปิดเครื่องเล่นก็ต้องคอยดูรีแอ็กชั่นของลูกค้าด้วยว่าเขายังไหวอยู่ไหม 

มีการจัดอบรม 2-3 ครั้งต่อปี ทั้งงานด้านบริการ ซ้อมดับเพลิง การตรวจสอบเครื่องเล่นเบื้องต้น ถ้ามีพนักงานใหม่เข้ามา อาจให้เริ่มจากเครื่องเล่นโซนเด็กหรือโซนครอบครัวให้รู้ขั้นตอนพื้นฐานก่อนค่อยขยับมาที่เครื่องเล่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

การทดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ทดสอบความรู้เกี่ยวกับเครื่องเล่นนั้นๆ ยกตัวอย่างเครื่องเล่นล่องซุงมหาสนุก จำนวนส่วนสูงเท่าไหร่ เรือหนึ่งลำนั่งได้กี่คน ใช้ระยะเวลาการเล่นหนึ่งรอบประมาณกี่นาที คำถามเกี่ยวกับพื้นที่ภายในสนามอะเมซิ่งพาร์คทั้งหมด รวมถึงคำถามทดสอบไหวพริบ เช่น ถ้าเครื่องเล่นหยุดกะทันหัน เราจะมีขั้นตอนยังไงในการช่วยเหลือลูกค้า โดยข้อสอบเป็นข้อเขียน แต่มีข้อมูลให้อ่านก่อนสอบ

ความประทับใจไม่รู้ลืม และที่สุดของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

มีเหตุการณ์ที่กลุ่มลูกค้าคนไทยหยิบกระเป๋าของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติสลับไป ด้วยความที่ทั้งสองใบคล้ายกันมาก แต่ที่ตื่นเต้นกว่านั้นคือในกระเป๋าใบนั้นมีพาสปอร์ตทั้งหมด 6 เล่ม และลูกค้าต่างชาติต้องไปเช็กอินที่สนามบิน 4 ทุ่มของวันนั้น ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนบ่าย 2 แต่เผอิญว่าผมจำลักษณะของกลุ่มลูกค้าคนไทยได้ เลยประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตามหาจากวงจรปิด สุดท้ายก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ภายในหนึ่งชั่วโมง เหตุการณ์นั้นผมได้รับคำชมจากลูกค้ามากๆ ซึ่งเราดีใจมาก 

มุมมองต่ออาชีพ / คติในการทำงาน

เริ่มต้นจากความสุข อยากให้คนที่รับบริการสุขไปกับเรา เพลิดเพลินกับการใช้บริการ ผมเห็นคนที่อยู่บนเครื่องเล่นส่งเสียงกรี๊ดแล้วผมมีความสุข อยากให้คนเปลี่ยนมุมมองต่ออาชีพนี้ ผมว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจและสนุกมากๆ ถ้าคุณเปิดใจเข้ามาลองคุณจะหลงรักเครื่องเล่นและผู้ใช้บริการของคุณ สำหรับผมเป็นงานที่มีเสน่ห์มาก มันปลดปล่อยทักษะความสามารถของเราออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราทำได้ 

ความผูกพันกับ Siam Amazing Park

ผมโตมากับที่นี่จริง เพราะอยู่ข้างบ้าน ก่อนไปโรงเรียนก็ผ่านตลอด ได้เห็นบรรยากาศ ได้ยินเสียงเพลง เสียงเครื่องเล่นเบียดกับราง จนวันหนึ่งได้รับโอกาสให้เข้ามาทำงาน ได้เรียนรู้เยอะมากจากที่นี่ เพราะเราทำงานร่วมกับคน 200-300 คน ผู้บริหารและพนักงานคนอื่นดูแลผมเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน คอยซักถามห่วงใย ใครขี่จักรยานผ่านก็ทักทายกันเสมอ กินข้าวหรือยัง เบรกหรือยัง ผมทำงานที่นี่มานาน ความผูกพันมีมากอยู่แล้ว

5

ชื่อ ปอนด์–ปรสิทธิ์ จิตรีงาม
อายุ 35 ปี
ตำแหน่ง วิศวกรอาสุโวดูแลรักษาเครื่องเล่น ฝ่ายวิศวกรรม
อายุงาน 2 ปี
ไอเทม หมวกนิรภัย

บทบาท / หน้าที่รับผิดชอบ 

ตรวจสอบเครื่องเล่นทุกชนิดและทุกเช้าก่อนเซย์เยสให้เปิดบริการ รวมถึงวางแผนดูแลงานซ่อมบำรุงเครื่องเล่น

สกิลพิเศษที่ต้องมีและการฝึกฝน 

เนื่องจากงานซ่อมบำรุงใช้อะไหล่นำเข้าทั้งหมด ถ้าเราวางแผนซ่อมบำรุงรักษาไม่ดี เครื่องเล่นจะต้องปิดเป็นเวลานาน ลูกค้าก็ไม่แฮปปี้ เพราะมากี่ทีก็ไม่ได้เล่น ฉะนั้นการวางแผนต้องดี 

อีกอย่างคือช่างสังเกตและความรอบคอบ ต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ผมเดินวนดูเครื่องเล่นทั้งวัน ใช้หลักการตาดู หูฟัง มือขยับ คือใช้ตาคอยสังเกต หูคอยฟังเสียงที่ผิดปกติ มือก็ต้องขยับชิ้นส่วนมันดูบ้าง 

การทดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ต้องจบวิศวกรรมเครื่องกล เพราะเรียนครอบคลุมทั้งหมดเกี่ยวกับงานเครื่องเล่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบ mechanical 

ความประทับใจไม่รู้ลืม 

ผมไม่ได้ทำงานกับลูกค้าโดยตรง บทบาทของผมอยู่ตรงกลางระหว่างทีมช่างกับผู้บริหาร เพราะฉะนั้นความประทับใจก็คือเวลามีปัญหาอะไร ผมสามารถรีพอร์ตไปที่ผู้บริหารได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน พอเป็นแบบนี้ทำให้งานไม่ล่าช้า มีอะไรก็สามารถแก้ไขได้ทันที

ที่สุดของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

8-10 โมงเช้าเป็นเวลาตรวจเช็กเครื่องเล่นทุกวัน วันหนึ่งที่ผมเข้าไปตรวจเช็กตามปกติ ด้วยความมืออยู่ไม่นิ่งก็ไปขยับนู่นนี่จนไปเจอว่า โช้คที่ประคองโบกี้ตัวสุดท้ายของเครื่องเล่นมันสั่นคลอน เราตรวจเจอว่าเป็นเพราะน็อตหลวม ซึ่งต้องบอกก่อนว่ามันมีลิสต์ในการตรวจเช็กของช่างด้วยอยู่แล้ว เพียงแต่วันนั้นผมเป็นคนเจอก่อนเท่านั้นเอง แต่ให้มั่นใจได้ว่ายังไงมันก็ไม่หลุด แค่ว่าถ้าน็อตไม่แน่นแล้วรถไฟเกิดการเหวี่ยง อาจทำให้ลูกค้าบาดเจ็บได้ ผมเจอแล้วก็รีบแจ้งช่างให้มาแก้ไข ทำให้วันนั้นเครื่องเล่นนี้เปิดให้บริการช้ากว่าปกติ แต่ยังไงก็ดีกว่าฝืนเปิดแบบไม่ปลอดภัย

มุมมองต่ออาชีพ / คติในการทำงาน

แน่นอนว่าต้องเป็น Safety First เพราะผมทำงานเกี่ยวกับเครื่องเล่น และความปลอดภัยของลูกค้า

ความผูกพันกับ Siam Amazing Park

ผมมีอายุงานที่นี่น้อยกว่าหลายคน แต่การผ่านสถานการณ์โควิดมาด้วยกันทำให้มีความผูกพันมาก ช่วงที่สวนสนุกถูกสั่งปิดเป็นปีๆ ที่นี่กลับไม่มีนโยบายลดพนักงานเลย ทุกคนได้รับเงินจากประกันสังคมส่วนหนึ่ง และอีกส่วนสยามอะเมซิ่งพาร์คเป็นคนจ่ายให้ระหว่างที่ไม่ได้เปิดให้บริการ ผู้บริหารทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่เป็นครอบครัวจริงๆ

The Safety of Siam Amazing Park

“ปลอดภัยไว้ก่อน”
“ต้องสนุกด้วย ปลอดภัยด้วย”

“ความปลอดภัยเป็นอะไรที่อะลุ่มอล่วยไม่ได้”

เท่าที่เราได้คลุกคลีกับสยามอะเมซิ่งพาร์คมาถึง episode ที่ห้า มีหนึ่งคำที่ได้ยินสูสีตีคู่มากับคำว่า ‘สนุก’ ก็คือคำว่า ‘ปลอดภัย’ คำนี้แทบจะกลายเป็นคำติดปากที่หลุดออกมาในทุกๆ สิบวินาทีของการพูดคุยกับผู้บริหารและทีมงานของที่นี่

ซึ่งสนุกน่ะเราพอรู้แล้ว เพราะที่นี่คือสวนน้ำ-สวนสนุกแห่งแรกของประเทศ ที่ถ้านับรวมตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ก็ปาเข้าไปปีที่ 42 แล้ว ถ้าเป็นสวนสนุกที่ไม่สนุกก็คงอยู่ไม่ได้ยาวนานอย่างนี้แน่ แต่ที่เราสงสัยคือเรื่องของความปลอดภัยที่ถูกยกให้เป็นหัวใจของธุรกิจสวนสนุก แน่นอนว่าไม่ได้ข้องใจสักนิดว่าปลอดภัยจริงไหม (เพราะเราเชื่อว่าปลอดภัยจริงๆ) แต่อยากรู้มากกว่าว่ากระบวนการและขั้นตอนของความปลอดภัยทั้งหมดคืออะไร และใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยเหล่านี้ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค

1
ทีมความปลอดภัย 

ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยของสยามอะเมซิ่งพาร์คประกอบด้วย วิศวกรสวนสนุก ทำหน้าที่วางแผนงานวิศวกรรมทั้งหมด แบ่งเป็นสามส่วนสำคัญของเครื่องเล่นที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของวิศวกรทั้งสามฝ่าย

  • วิศวกรโยธา ดูแลโครงสร้างในการติดตั้งเครื่องเล่นทุกประเภท
  • วิศวกรเครื่องกล ดูแลเครื่องยนต์กลไล รวมถึงพาร์ตที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเครื่องเล่นทั้งหมด
  • วิศวกรไฟฟ้า ดูแลระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หัวใจสำคัญของการคอนโทรลเครื่องเล่น รวมถึงโปรแกรมควบคุมเครื่องเล่น 

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ผู้ที่เรียนสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้มาใช้บริการและผู้ปฏิบัติงาน 

และ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องเล่น ดูแลการติดตั้ง ประกอบ เครื่องเล่น และตรวจเช็กซ่อมบำรุงเครื่องเล่นตามที่ได้รับมอบหมาย

2
ชีวิตประจำวันของทีมความปลอดภัย 

หลังตอกบัตรเข้างานตอนเช้า ทีมความปลอดภัยจะต้องตรวจสอบความพร้อมของเครื่องเล่นทุกจุดในสวนสนุกและสวนน้ำก่อนเซย์เยสเปิดให้บริการ เริ่มจากเช็กระบบการทำงานของเครื่องเล่นว่าพร้อมไม่พร้อม > วางแผนการซ่อมบำรุง ทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจ > ดำเนินการตามใบแจ้งซ่อม นั่นหมายความว่าทุกๆ วัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องรอทีมความปลอดภัยคอนเฟิร์มก่อนว่าวันนี้เครื่องเล่นใดบ้างที่พร้อมเปิดและไม่พร้อมเปิด เพื่อแจ้งให้ผู้มาใช้บริการทราบโดยทั่วกัน 

3
ความพร้อมของเครื่องเล่นปลอดภัย 

ตาดู หูฟัง มือสัมผัส คือลำดับขั้นตอนการตรวจสอบความพร้อมเครื่องเล่นของทีมความปลอดภัย เริ่มจากสังเกตด้วยตาว่าสภาพของเครื่องเล่นและบริเวณโดยรอบเป็นอย่างไร มีส่วนใดผิดไปจากความปกติ ต่อมาต้องฟังด้วยหูว่าเสียงของเครื่องเล่นนั้นๆ ดังอยู่ในระดับปกติ หรือ ผิดเพี้ยนไปยังไง และสุดท้ายคือการสัมผัสด้วยมือ ทั้งความแข็งแรงของที่นั่งทุกตัว สภาพของน็อตทุกชิ้น การใช้งานของเข็มขัดนิรภัย ถ้าสภาพภายนอกมีความพร้อมแล้ว จะเริ่มทดสอบระบบการทำงานของเครื่องเล่นทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน โดยขั้นตอนนี้จะต้องสังเกตส่วนล้อ น้ำมันหล่อลื่น และระบบไฮดรอลิกไปด้วย การทดสอบทั้ง 3 รอบแบ่งเป็นระบบ manual 2 รอบ เพื่อทดสอบปุ่มต่างๆ ระบบเดินโซ่และการเคลื่อนที่ และรอบสุดท้ายเปิดระบบออโต้เพื่อทดสอบ sequence การทำงานให้เป็นไปตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ โดยผลการทดสอบต้องผ่านฉลุยทั้งสามรอบ จึงจะแจ้งเปิดใช้บริการเครื่องเล่นในแต่ละวัน

4
ติดตั้งเครื่องเล่นปลอดภัย 

ให้ลองจินตนาการถึงการต่อชิ้นส่วนเลโก้ ประกอบเฟอร์นิเจอร์อิเกีย การติดตั้งเครื่องเล่นของสวนสนุกก็มีขั้นตอนคล้ายกัน เพียงแต่เป็นสเกลที่มหึมากว่ามาก การติดตั้งเครื่องเล่นใช้เวลาประมาณ 1-4 เดือน ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายและขนาดของเครื่องเล่นนั้นๆ โดยเครื่องเล่นจะถูกส่งผ่านทางเรือสินค้ามาจากบริษัทผู้ผลิต พร้อมแบบและการประกอบชิ้นส่วนเครื่องเล่น โดยมีวิศวกรประจำสยามอะเมซิ่งพาร์คเตรียมพื้นที่และหาผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อทำฐานของเครื่องเล่นเป็นอย่างแรก ส่วนโครงสร้างจะแยกเป็นส่วนๆ มาดำเนินการประกอบที่นี่เป็นลำดับถัดมา 

หลังจากวิศวกรตรวจสอบและพิจารณาแบบและรายละเอียดของการก่อสร้างแล้ว ต้องจัดทำแผนงานเพื่อนำเสนอฝ่ายบริหารอีกที ถ้าผ่านจึงจะสามารถเริ่มการติดตั้งเครื่องเล่นได้ ในระหว่างการติดตั้ง ทีมวิศวกรต้องตรวจสอบและควบคุมให้งานก่อสร้างเป็นไปตามสัญญา พร้อมกันนั้นบริษัทผู้ผลิตจะส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคจากประเทศต้นสังกัดมาตรวจสอบการดำเนินการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนจบงานด้วย หลังการติดตั้งแล้วเสร็จจะมีการทดสอบเครื่องเล่นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ ถ้าผ่านจุดนี้ไปก็เป็นอันสิ้นสุดและสามารถเปิดใช้บริการได้ แต่เท่านั้นยังปลอดภัยไม่พอ เพราะเจ้าหน้าที่เทคนิคจากบริษัทผู้ผลิตยังจะบินกลับมาเพื่อตรวจสอบ อัพเดตระบบ และเทรนนิ่งที่สยามอะเมซิ่งพาร์คปีละครั้ง!

การขึ้นโครงสร้างของเครื่องเล่นเป็นส่วนที่กินเวลามากที่สุด เพราะบริษัทผู้ผลิตเน้นเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแบบที่วางไว้ สำคัญที่สุดอีกอย่างคือเรื่องระยะ เพราะระยะที่ผิดเพี้ยนส่งผลต่อการติดตั้งที่ล่าช้าออกไป ดังนั้นทุกอย่างต้องเป๊ะตั้งแต่แรก

ล่องซุงมหาสนุก คือเครื่องเล่นที่ติดตั้งนานที่สุด ใช้เวลาประมาณสี่เดือน เพราะต้องสร้างสระน้ำขนาดใหญ่พร้อมจำลองโครงสร้างของภูเขาขึ้นมา เรียกว่ามีทั้งงานประติมากรรม (หัวเสือและหัวสิงโต) ระบบปั๊มน้ำ และเป็นเครื่องเล่นที่มีพื้นที่ขนาดเกือบ 3 ไร่ด้วย ซึ่งงานโครงสร้างเป็นการใช้วัสดุภายในประเทศ ส่วนระบบเครื่องกลและเรือเป็นการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

5
เสียงของความปลอดภัย

มาตรฐานความดังของเครื่องเล่นทั่วไปที่หูเราได้ยินอยู่ที่ประมาณ 85 เดซิเบล เสียงที่ดังขึ้นไปถึง 90-120 เดซิเบล หมายความว่ามีความผิดปกติบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับเครื่องเล่น เช่น จุดรั่วของระบบไฮดรอลิก นอกจากนั้นยังมีลักษณะของเสียงที่เปลี่ยนไปที่ฟังแล้วต้องรู้ทันที 

เช่น เครื่องเล่นที่ปกติจะให้เสียง เอี๊ยด เอี๊ยด เอี๊ยด ถ้าวันไหนเกิดได้ยินเป็นเสียง เอี๊ยดดดด ที่ยาวกว่าปกตินั่นอาจหมายความว่าเครื่องเล่นเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว ตรงนี้เป็นหน้าที่ของทีมความปลอดภัยต้องเข้าไปแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ

6
สวนน้ำปลอดภัย

ทุกๆ เช้า ขณะที่วิศวกรตรวจสอบความพร้อมของเครื่องเล่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยก็จะทำการตรวจเครื่องเล่นในสวนน้ำและระบบคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนเปิดให้บริการเช่นกัน 

การตรวจคุณภาพน้ำจะต้องเช็กค่าคลอรีนในน้ำให้ได้มาตรฐาน ค่า pH เป็นกลาง ไม่กรดและไม่ด่างเกินไป และตรวจค่าความขุ่น-ความใสของน้ำ โดยตลอดทั้งวันที่เปิดให้บริการจะต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนด ที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรืออันตรายต่อผู้ใช้บริการ 

น้ำที่ใช้ในสวนน้ำของสยามอะเมซิ่งพาร์คนับรวมกันแล้วมีปริมาณมากกว่า 1,500,000 ลิตร ซึ่งน้ำทั้งหมดต้องผ่านระบบการกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน โดยระบบจะนำน้ำส่วนที่สัมผัสกับผู้ใช้บริการแล้วดึงกลับไปเพื่อทำการกรอง และนำน้ำสะอาดเติมกลับเข้ามาใหม่ เป็นระบบบำบัดน้ำที่ทำงานวนไปแบบนี้ตลอดวัน ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำได้เป็นอย่างดี 

7
สัญลักษณ์ปลอดภัย 

ห้ามปีนป่าย

ห้ามเข้า (เขตอันตราย)

ห้ามกระโดดน้ำ

ห้ามนั่ง ห้ามยืน (ขณะอยู่บนเครื่องเล่น)

ลัญลักษณ์แสดงระดับความลึกของน้ำในสระ

สัญลักษณ์แถบทางเดิน ป้ายลูกศร ทางเข้าออก

8
ปลอดภัยทุกคน 

เครื่องเล่นในสยามอะเมซิ่งพาร์คทั้งหมดได้รับการแบ่งออกเป็น 5 ดินแดน คือ Water World, Extreme World, Adventure World, Family World และ Small World ซึ่งการแบ่งดินแดนของเครื่องเล่นไม่ใช่แค่คอนเซปต์สนุกๆ แต่คือหนึ่งในนโยบายด้านความปลอดภัยด้วย เพื่อจำแนกการให้บริการกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน เช่น Family World โซนที่สามารถใช้บริการเครื่องเล่นได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการด้วย และอีกหลากดินแดนที่ทุกคนสามารถเล่นได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับเครื่องเล่นบางประเภทที่จำเป็นต้องจำกัดผู้ใช้ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ส่วนทางเท้า ทางลาด ทางเข้า และทางออกไปสู่บริเวณเครื่องเล่นต่างๆ รวมถึงพื้นที่ภายในของสยามอะเมซิ่งพาร์คทุกจุดล้วนถูกออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของทุกคน (universal design)  

ประเทศไทยกับการป้องกันแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้ท้าชิงที่น่ากลัว

ในสายตาของชาวจีน ถ้าพูดถึงอาหารในเมืองไทยคุณว่าเขาจะคิดถึงอะไร

คำตอบของคำถามนี้มักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงต้องเป็นผัดไทย ชาไทยเย็น ต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง หรืออาจจะมีอยู่ช่วงตอนหนึ่งที่สาหร่ายทอดกรอบยี่ห้อดังเป็นของขวัญของฝากที่คนจีนจำต้องซื้อทุกครั้งไปที่มาเมืองไทย จนเป็นหนึ่งในรายชื่ออาหารที่มาจากเมืองไทยที่คนจีนต้องรู้จักถ้ารักจะเที่ยวเมืองไทย

แต่ถ้าเป็นยุคนี้ เมื่อพูดถึงเมืองไทยและอาหารไทย หรือแม้แต่ของดีของเด็ดจากเมืองไทย เชื่อว่าชาวจีนส่วนใหญ่จะคิดถึง ‘ทุเรียน’

ผลไม้เปลือกสีเขียวตุ่นปนเหลือง มีหนามแหลมคมทั้งลูก ไม่สะดวกเลยแม้แต่นิดเดียวทั้งในแง่การเก็บเกี่ยว การขนส่งเคลื่อนย้าย หรือแม้กระทั่งการแกะกินเนื้อด้านในก็ไม่ใช่ว่าจะได้กินกันง่ายๆ ต้องมีทั้งอุปกรณ์พร้อมสรรพและความเชี่ยวชาญประมาณตัวกว่าจะได้อร่อยกับเนื้อสุกงอมด้านใน

แล้วตกลงว่าทุเรียนมีดีอะไร ทำไมคนจีนถึงชอบกันนักหนา?

คำถามนี้อาจเข้าขั้นคำถามโลกแตกได้ เพราะคนที่คลั่งไคล้ในรสทุเรียนคงสามารถบรรยายได้เป็นวันๆ ว่าทุเรียนมันน่าอร่อยแค่ไหน รสชาติที่หวานมันครีมมีและเนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุนลิ้นมันดีต่อใจยังไง ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่ชอบกลิ่นและเนื้อของทุเรียนคงหาถ้อยคำมาโต้กลับลบล้างทุกคำเยินยอนั้นได้เป็นวันๆ เช่นกัน

ไม่ว่าคนจีนจะชอบทุเรียนด้วยเหตุใด แต่เอาเป็นว่ามันเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแน่ๆ และเกษตรกรที่ว่าคือ เกษตรกรไทย

แม้จะไม่ใช่ประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่ส่งออกทุเรียนไปยังจีน แต่ยังไงเสียทุเรียนจากไทยได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาทุเรียนทุกชาติที่ขายอยู่ในจีน ด้วยชื่อเสียงความพรีเมียมและมาตรฐานของกลิ่นและรสที่ถูกจริตชาวจีน ตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา จึงดูเหมือนกับว่า ไทยเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนแบบแทบจะไร้คู่แข่งในสนามรบนี้

เนื่องจากประเทศจีนมีกฎระเบียบในการนำเข้าผักและผลไม้มาในประเทศ เช่น การนำเข้าทุเรียนมาในประเทศจีนจะต้องมีการลงนามและได้รับการอนุญาตจากทางการจีนว่าอนุญาตให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนมายังจีนได้ โดยทุเรียนที่จะนำเข้ามาจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานของจีนว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยในอาหารและพืช

ระบบระเบียบการต่างๆ ในการส่งทุเรียนไปขายที่จีนก็อย่างเช่น ทุเรียนนั้นต้องมาจากสวนและบริเวณที่จดแจ้งเอาไว้ว่าจะเป็นบริเวณที่ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออกไปที่จีน บริเวณนั้นจะต้องเป็นบริเวณที่มีระบบการจัดการคุณภาพ จะต้องมีระบบการติดตามได้ว่าทุเรียนที่ปลูกและส่งมาขายที่จีนนั้นมาจากสวนใด จะต้องมีแนวทางในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricutltural Practices (GAP – หมายถึง แนวทางการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และปลอดภัย) 

นอกจากนี้สวนที่จะส่งออกทุเรียนมายังจีนยังต้องเป็นสวนที่ใส่ใจเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย บริเวณของสวนที่ปลูกทุเรียนจะต้องอยู่ห่างไกลจากมลภาวะ ผลทุเรียนที่เน่าเสียและหล่นจากต้นจะต้องถูกนำไปทิ้งไม่มาปนรวมกับทุเรียนที่จะส่งออกมายังจีนโดยเด็ดขาด

กฎระเบียบมากมายทั้งหลายทั้งปวงนี้ เพื่อมาตรฐานและสุขอนามัยที่ดีของผลไม้ที่จะนำเข้ามายังจีนทั้งสิ้น และ ประเทศไทย – ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในโลก สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดที่ว่ามาของจีนได้ จึงเป็นประเทศที่สามารถส่งออกทุเรียนไปยังจีนได้ 

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดผู้บริโภคของจีนนั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน การันตีได้จากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน (ปี 2021) ถึงแม้ว่าประชากรกว่าหมื่นล้านคนของจีนไม่ได้พิสมัยในทุเรียนทุกคน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พอใจในรูป รส กลิ่น ของราชาผลไม้ชนิดนี้

ปี 2021 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนมากเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 มากั้น แต่ก็ยังไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ชาวจีนหยุดกินทุเรียนได้ ปี 2021 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากถึง 875,000 ตัน!

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า ปี 2022 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากน้อยแค่ไหน แต่จากตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนแล้วมากกว่าห้าแสนตัน ถือว่าเป็นสัญญาณอันดีว่าผู้บริโภคทุเรียนชาวจีนยังคงนิยมทุเรียนไทยอยู่ ถึงแม้ว่าทางการจีนจะยังคงเข้มงวดกับการขนส่งผลไม้ข้ามชายแดนจนบางครั้งบางตอน ทุเรียนจะต้องติดอยู่ที่ชายแดนจีนถึง 2 สัปดาห์ หรือบางครั้งนานถึง 30 วันเลยทีเดียว

บนกลไกของโลกแห่งการค้าขาย ใครๆ ก็เป็นคู่แข่งของคุณได้ และอันที่จริงคุณอาจจำเป็นต้องมีคู่แข่งเสียด้วยซ้ำเพื่อการพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในธุรกิจการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ก็เช่นกัน ถึงแม้เราอาจจะมองว่ามันมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน และขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทำให้ชาติอื่นๆ ที่คิดอยากจะมาเป็นคู่แข่งในสนามนี้กับไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไมไ่ด้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้

11 กรกฎาคม 2022 เป็นวันที่ความเป็นไปได้ยากนั้นเป็นไปได้ หลังจากการเจรจายาวนานถึง 4 ปี ทางการเวียดนามนำโดย Le Minh Hoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม จรดปากกาลงนามในข้อตกลงที่สำคัญที่ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการที่เวียดนามจะเป็นตลาดในการส่งออกทุเรียนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่ประตูในการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีน

เกมการแข่งขันในธุรกิจส่งออกทุเรียนไปจีนเริ่มขึ้น ณ จุดนี้

จากเดิมที่ไทยแทบจะครองตลาดทุเรียนในจีน โดยทั่วไปก็อาจจะมีทุเรียนจากประเทศอื่นบ้างประปรายในบางที่บางแห่งวางขาย แต่ทุเรียนแทบจะทั้งสิ้นที่ขายในจีนล้วนมาจากไทย ดังนั้นแล้วการที่เวียดนามมีสิทธิ์ที่จะส่งออกทุเรียนมายังจีนนั้นน่ากลัวตรงไหนกัน

ความน่ากังวลอันดับที่หนึ่งที่ควรตระหนัก คือ เวียดนามอยู่ใกล้จีนมากกว่าไทย นั่นหมายความว่า ต้นทุนที่เกิดจากการขนส่งก็ควรจะลดน้อยลงด้วยเมื่อขนส่งทุเรียนออกจากเวียดนาม เมื่อเทียบกับไทยที่สวนปลูกทุเรียนมักจะมาจากทางภาคตะวันออกหรือภาคใต้ของประเทศ

เมื่อค่าขนส่งลดลง หมายความว่า ทุเรียนที่มาจากเวียดนามจะมีราคาที่ต่ำกว่าทุเรียนไทย สงครามราคาจะเริ่มขึ้นตรงนี้หรือไม่ ต้องคอยติดตามกัน

บุษบา นาคพิพัฒน์ เกษตรผู้ปลูกทุเรียนกล่าวเอาไว้กับ South China Morning Post ว่า เธอจำได้ดีว่าวันแรกที่เธอเริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศในการแข่งขันอันคุกรุ่นของการส่งออกทุเรียนระหว่างไทย กับเวียดนาม คือ วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน 2022

วันนั้นเป็นวันแรกที่มีการนำทุเรียนจากเวียดนามเข้าไปยังประเทศจีน เธอบอกว่าเมื่อก่อนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนสดไปยังจีน ส่วนเวียดนามจะส่งทุเรียนแปรรูป แต่ตอนนี้เวียดนามกำลังมาเป็นคู่แข่งกับเราเสียแล้ว

บุษบาเองได้เดินทางไปยังเวียดนามเพื่อเยี่ยมชมตลาดทุเรียน เธอเล่าต่อว่าเวียดนามขยายฐานการปลูกทุเรียนไปมากมายมากกว่าที่เธอคิดไว้มาก

“เวียดนามไม่ได้ปลูกทุเรียนมากเท่าประเทศไทย แต่เขาไม่เคยหยุดพัฒนา มันยังคงมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากในเวียดนามสำหรับทุเรียน แต่สำหรับตลาดในประเทศไทยส่วนใหญ่คือเราจะแข่งกันเอง”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พูดไว้ถึงประเด็นการส่งออกทุเรียนไปยังจีนว่า อันที่จริงแล้วนอกจากเวียดนามประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความพยายามจะพูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการส่งออกทุเรียนกับประเทศจีนเช่นกัน แต่อาจจะด้วยระยะทางและการขนส่งอำนวยทำให้เวียดนามปิดดีลนี้ได้ก่อนชาติที่เหลือในอาเซียน

นอกจากระยะทางที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในแง่ของค่าขนส่งที่ถูกกว่าเพราะระยะทางใกล้กับประเทศปลายทาง คือ จีน มากกว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของเวียดนามยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช้ากว่าไทย เพราะระยะทางใกล้กว่า ทั้งนี้อาจจะส่งผลให้ทุเรียนจากเวียดนามที่ส่งไปยังจีนสุกงอมช้ากว่า เก็บได้นานกว่านั่นเอง

แน่นอนว่าข้อได้เปรียบที่ว่ามาทั้งหมดนี้เรากำลังพูดบนสมมติฐานที่ว่ารส กลิ่น ของทุเรียนจากไทยและเวียดนามไม่ได้แตกต่างกันมากถึงขั้นที่ว่ามีนัยสำคัญ

ยังไงก็ตาม รศ.ดร.อัทธ์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าเคยกล่าวเอาไว้ว่า ณ เวลานี้ จริงๆแล้วเวียดนามยังไม่ใช่คู่แข่งของไทยเสียทีเดียวเพราะกำลังการผลิตทุเรียนของเวียดนามนั้นทำได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของที่เกษตรกรไทยทำได้เท่านั้น

แต่รศ.ดร.อัทธ์ ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า ยังไงเสียไทยยังไม่ควรมองข้ามเวียดนามไป ถึงแม้ว่ากำลังในการปลูกทุเรียนของเวียดนามยังสู้ไทยไมไ่ด้ในตอนนี้ แต่นักลงทุนเวียดนามอาจจะลงทุนเพาะปลูกทุเรียนโดยใช้พื้นที่ในลาว หรือ กัมพูชาได้ในอนาคต ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความเป็นไปได้และเป็นความท้าทายของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อส่งออกในไทย

เกมการแข่งขันการส่งออกทุเรียนไปที่จีนระหว่างไทยกับเวียดนามจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามตอนต่อไป และผลลัพธ์ของตอนต่อไปที่ว่า จะมีรสชาติหวานมันเหมือนเนื้อใน หรือแหลมคมเหมือนเปลือกนอก สำหรับเกษตรกรไทย เราคงต้องรอดูตอนที่ทุกอย่างนั้นสุกงอมดี

อ้างอิง

Bora Korean Mart ซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลี ที่เปิดร้านเพียงแค่ 2 ปี แต่มีสาขามากถึง 60 สาขา

Bora (โบรา) ในภาษาเกาหลีแปลว่า สีม่วง

และสีม่วงนี้เองคือสีที่ถูกโฉลก และกลายมาเป็นสีประจำบริษัท สีประจำแบรนด์ของร้านที่อยู่ตรงหน้าเรานี้ ร้านขนาดหนึ่งคูหา ที่หน้าร้านตกแต่งตามเทศกาลอย่างวัยรุ่น มีคำภาษาเกาหลีแปะอยู่ที่กระจกมากมาย

มองไปด้านขวาก่อนที่จะกดเปิดประตูเข้าไปในร้าน ก็จะเห็นชื่อร้านเป็นภาษาเกาหลีและอังกฤษ โดดเด่นอยู่อ่านได้ว่า Bora Korean Mart (โบรา โคเรียน มาร์ท) เสียงเพลงฮิตติดหูของหลากหลายศิลปินที่คลอไปตลอดช่วยสร้างบรรยากาศระหว่างการเลือกซื้อสินค้าในร้านได้อย่างดี และไม่ต้องบอกเลยว่าร้านนี้ขายสินค้าอะไร หลายๆ คนก็น่าจะรู้คำตอบ

Bora Korean Mart คือซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีที่มีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่ขนม, เครื่องดื่ม, เครื่องปรุง, อาหารแช่แข็ง, อาหารพร้อมทาน ไปจนถึงของใช้ต่าง ๆ ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้โดยเฉพาะ มีโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ตอนนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 กับจำนวนร้านสาขาที่มีมากถึงประมาณ 60 สาขา

เราชวน โบ–ภัทรพร จิรัญญกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท พี เอส เอ็น อินเตอร์ฟู้ด จำกัด และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ซูเปอร์เกาหลี ‘โบรา โคเรียน มาร์ท’ มาพูดคุยถึงการทำร้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น โมเดลธุรกิจ เทคนิคที่ใช้มัดใจลูกค้า ไปจนถึงทิศทางข้างหน้าของโบรา โคเรียน มาร์ทในขวบปีต่อๆ ไป

ซูเปอร์เกาหลีสีม่วงที่เปิดสาขาแรกในช่วงโควิด

แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจดั้งเดิมของโบและที่บ้านคือโรงงานผลิต นำเข้า-ส่งออกขนม และอาหาร รับจ้างผลิต OEM ส่งขนมตามร้านกาแฟ และโรงแรมชื่อดัง 

จากต้นทุนที่ต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมมีพร้อมแบบไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ บวกกับความชอบของตัวเองและน้องสาว (ที่ตอนนี้น้องสาวแต่งงานกับชาวเกาหลี และไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเกาหลี) ที่ชื่นชอบเกาหลีทั้งอาหาร ศิลปิน ซีรีส์ ไปจนถึงวัฒนธรรมเกาหลี จึงเกิดไอเดียในการเปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีขึ้น และใช้ชื่อว่า Bora Korean Mart

“เรามีต้นทุนอยู่แล้ว เรารู้จักทั้งโรงงานผลิตขนม บริษัทต่างๆ มากมาย นอกจากแค่นำเข้า-ส่งออกสินค้าแล้ว ก็น่าจะมาทำหน้าร้านของเราเองบ้าง ประกอบกับน้องสาวมีบริษัทอยู่ที่เกาหลี เขาสามารถ sourcing สินค้า ติดต่อบริษัทที่เกาหลีให้ได้  และการมองเห็นเทรนด์ต่างๆ ของเกาหลีได้รวดเร็ว เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร้านโบราขึ้น”

ปลายปี 2563 โบรา โคเรียน มาร์ท จึงเกิดขึ้น มีสาขาแรกอยู่ที่สาทรซอย 10 เป็นร้านขนาดไม่ใหญ่ชั้นเดียว 1 คูหา แต่เต็มไปด้วยสินค้านำเข้าจากเกาหลีมากมาย มีกิมมิกคือ ที่ร้านมีเครื่องต้มเหมือนที่เกาหลี ใครอยากกินรามยอนถ้วยฟอยล์ก็ไม่ต้องไปถึงแม่น้ำฮัน เพราะเค้ามีบริการต้ม พร้อมมุมโต๊ะเก้าอี้หน้าร้านให้นั่งทานได้เลย

แต่หากย้อนกลับไป โบรา โคเรียน มาร์ท เปิดตัวในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดพอดี โบบอกกับเราว่าที่จริงไม่ได้ตั้งใจเปิดร้านช่วงโควิด-19 แต่ตามแพลนที่วางไว้คือช่วงปลายปี และโควิด-19 รอบใหม่ก็มาพอดี แต่ก็ยังตัดสินใจเปิดร้านตามแพลนที่วางไว้

“ผลตอบรับในช่วงเปิดสาขาแรกดีกว่าที่คาดไว้นะ ลูกค้าค่อนข้างให้ความสนใจ บางคนก็แวะมาถ่ายแค่หน้าร้านอย่างตื่นเต้น ซึ่งอาจจะเพราะโดนล็อกดาวน์ ห้ามเดินทางเป็นปัจจัยประกอบด้วย”

โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ 
อยากเปิดร้านจะต้องมีความเป็น ‘ติ่ง’ ด้วย

ถ้าจะบอกว่าโบรา โคเรียน มาร์ท เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีที่มีสาขามากสุดในไทยก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะจากวันแรกนับจนถึงตอนนี้ที่แบรนด์โบรากำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 เราเห็นสาขาใหม่ของร้านเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองในต่างจังหวัด รวมๆ แล้วตอนนี้มีประมาณ 60 สาขา ผ่านโมเดลการขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ 

จริงอยู่ที่ว่าความท้าทายของการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์คือ ความมีมาตรฐานที่ต้องควบคุมให้เหมือนกันทุกสาขา เพราะหากสาขาใดสาขาหนึ่งไม่ได้มาตรฐานย่อมกระทบทั้งหมด ความประทับใจของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ก็จะลดน้อยลง 

แต่สำหรับโบแล้วเธอบอกกับเราว่า “เราวางแนวทางการทำธุรกิจมาร์ตเกาหลีในรูปแบบแฟรนไชส์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยสาขาสาทรเป็นสาขาที่บริษัทบริหารเอง และเป็น role model ให้กับสาขาอื่นๆ ที่หากใครอยากเปิดร้านไม่ใช่แค่หาทำเลที่เหมาะและมีเงินพร้อมเท่านั้น แต่ต้องมีความเป็นติ่งด้วย”

ติ่งในที่นี้ของโบคือความชื่นชอบและสนใจวัฒนธรรมเกาหลี เพราะจะทำให้เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงสินค้าชนิดนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

“แม้โบราจะทำโมเดลแฟรนไชส์ มีสาขาเยอะ แต่เรามีการคัดเลือกคน เราเทรนพนักงาน เรามีมาตรฐานให้ทุกอย่าง ไปจนถึงการเลือกรับพนักงานเข้ามาทำในร้าน ถ้าสังเกตแต่ละสาขาพนักงานของโบราก็จะดูวัยรุ่นหน่อย เพราะพนักงานเหล่านี้จะตามเทรนด์สินค้า มีความเป็นติ่งในตัวค่อนข้างดี รู้จักสินค้าหลากหลาย บางทีสินค้ามาถึงร้านแทบจะไม่ต้องอธิบายเลยว่าสินค้าคืออะไร เขาก็รู้กันหมดแล้ว เพราะดูซีรีส์ รู้จักศิลปินเกาหลี

“แฟรนไชส์โบราค่อนข้างอิสระไม่ได้มีการกดดันเป้ายอดขายใดๆ ขึ้นอยู่กับเจ้าของร้านนั้นว่าจะขายได้มากน้อยแค่ไหน แต่ขอแค่สั่งสินค้าจากเราเท่านั้น เราเป็นคนเซตระบบ เตรียมความพร้อมให้เป็นมาตรฐานให้เหมือนกันทุกสาขา ซึ่งนอกจากขายหน้าร้านสาขาแล้ว ยังให้อิสระในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเหมือนกัน”

จุดแข็งคือสินค้าเอกซ์คลูซีฟ

เมื่อเดินเข้าร้านมาเราจะเห็นตั้งแต่ขนม ลูกอม มันฝรั่งทอด สาหร่าย ขนมกรุบกรอบ อยู่บนเชลฟ์ทางซ้ายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของร้าน ถัดไปเชลฟ์ด้านขวาก็มีสารพัดเครื่องปรุง วัตถุดิบ อุปกรณ์ครัว ไปจนเชลฟ์รามยอนที่มีให้เลือกมากกว่า 40 รสชาติวางเรียงรายอยู่  มองไปด้านหลังของร้านมีของแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มต่างๆ ให้เลือกซื้ออย่างครบครัน

โบมั่นใจว่ามีครบมากที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้โบรา โคเรียน มาร์ท แข่งขันในตลาดมาร์ตเกาหลีที่มีทั้งรายเล็กรายใหญ่คือ มีสินค้าเอกซ์คลูซีฟที่ไม่มีที่ร้านอื่น

“เรามีสินค้าที่ไม่เหมือนใคร เป็นสินค้าเอกซ์คลูซีฟที่มีเฉพาะโบรา และมีแบรนด์ของตัวเองที่สั่งผลิตขึ้น นี่คือจุดแข็งที่ยังอยู่ในตลาดและสู้กับเจ้าอื่นได้”  

ภายในร้านโบรา โคเรียน มาร์ททุกสาขา หากลองสังเกตจะมีสินค้า house brands อย่าง Kory Up แบรนด์สินค้าสไตล์เกาหลีที่มีทั้งขนม อาหาร และเครื่องปรุงที่สั่งผลิตขึ้นมาเอง มีทั้งที่ผลิตในไทยและเกาหลีโดยพัฒนาสูตรให้มีความอร่อยถูกปากคนไทยมากที่สุด และสามารถควบคุมต้นทุนราคาได้ดี ซึ่งเป็นข้อดีที่ได้เปรียบกว่าร้านอื่นๆ 

ส่วนสินค้าที่มีในร้านก็คัดเลือกแต่สินค้าที่คัดมาแล้วว่าอร่อย ซึ่งกว่าจะมีสินค้าเยอะขนาดนี้ ทั้งโบและน้องสาวผ่านการชิมสินค้าเกาหลีมามากมายนับไม่ถ้วน

“สินค้าเกาหลีบางรสชาติอาจถูกปากคนเกาหลีและขายดีมากๆ แต่สำหรับคนไทยรสชาติอาจจะไม่ถูกปากก็ได้ เพราะฉะนั้นสินค้าทุกชนิดในร้านต้องผ่านการชิมก่อนทุกครั้ง เพราะสินค้าที่เอาเข้ามาแล้วต้องขายได้ ยกตัวอย่างลูกอมโสมที่เกาหลีขายดีมาก แต่พอลองชิมแล้วก็รู้สึกว่าอาจจะไม่เข้ากับคนไทยเท่าไหร่ 

“อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนจดจำโบราได้ดีคือแบรนด์ ‘Gimbab King’ แบรนด์ข้าวห่อสาหร่ายสไตล์เกาหลีหรือที่หลายคนเรียกว่าคิมบับไส้แน่น ที่เริ่มทำก่อนเปิดร้านโบราได้ 6 เดือน ใช้ต้นทุนจากการที่เรามีโรงงานผลิต ผลิตคิมบับออกมาสดใหม่ทุกวัน รสชาติอร่อยตามสูตรแบบฉบับเกาหลีของทางร้าน ซึ่งจะมีวางขายแค่เฉพาะที่หน้าสาขาทุกสาขาเท่านั้น”

เทคนิคที่ใช้มัดใจลูกค้า

สำหรับหัวใจสำคัญของการทำมาร์ตเกาหลี โบบอกว่ามีด้วยกัน 2-3 เรื่องคือ ความซื่อสัตย์จริงใจต่อลูกค้า ที่เป็นพื้นฐานหลักในการทำธุรกิจ, คุณภาพของสินค้า ที่ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และที่สำคัญต้องอร่อย, คนที่เป็นเจ้าของและพนักงานต้องมีใจรักการบริการเพราะการสื่อสารและพูดคุยแนะนำสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ

“จริงๆ ช่วงแรกก็มีเฟลเหมือนกันนะ เปิดร้านมาเจอคู่แข่งดัมป์ราคาถูกมาก แต่เรารู้สึกว่าการเล่นเกมราคาสุดท้ายมันจะไม่เวิร์กกับร้านเอง เราเลยเลือกที่จะแข่งขันเรื่องคุณภาพสินค้าและความหลากหลายมากกว่า ส่วนเรื่องราคาก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่สามารถทำกำไรได้”

สิ่งที่เราเห็นคือ โบรา โคเรียน มาร์ท  มัดใจลูกค้าด้วยโปรโมชั่น ทำการตลาดกับสินค้าที่มีศิลปินดังเป็นพรีเซนเตอร์บ่อย จัด Black Friday ตามเทศกาล หรือการทำ CRM ระบบสะสมแต้ม แลกของรางวัลที่นอกจากลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการช้อปสินค้าแล้ว ร้านเองก็ได้ดาต้ามาปรับปรุง พัฒนาร้าน หาสินค้าที่ตรงความต้องการลูกค้าได้ง่ายขึ้น

ร้านจะอยู่ได้ต้อง ‘ใหม่’ ตลอดเวลา

การทำร้านให้อยู่ได้ โดยไม่ใช่แค่ตามเทรนด์ คือต้องทำให้ร้านมีความใหม่ตลอดเวลา สิ่งที่ทำให้ร้านใหม่ และน่าเข้ามาช้อปสินค้าคือการมีสินค้าตัวใหม่มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า 

“พฤติกรรมของคนเกาหลีกับคนไทยที่เหมือนกันคือ การมาเร็วไปเร็ว เพราะฉะนั้นสินค้าที่อยู่ในกระแสต้องรีบมีมาวางขาย ไม่ใช่ว่าลูกค้าเดินเข้ามาแล้วมีแต่สินค้าเก่า บางสินค้าที่ร้านนำมาคือชนกับที่เกาหลีวางขายเลย เพราะได้น้องสาวที่อยู่เกาหลีที่รู้กระแส รู้เทรนด์ค่อนข้างไว ก็จะรีบติดต่อหาสินค้ามาลงที่ร้าน”

จากตอนแรกเริ่มเดิมที โบรา โคเรียน มาร์ทมีขายแค่พวกขนมอย่างเดียว ก็เริ่มเพิ่มสินค้ากลุ่มอื่นๆ เข้ามา อย่างสินค้ากลุ่มบิวตี้ เครื่องครัว เครื่องปรุง ของแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน คอลลาเจนต่างๆ ที่ลูกค้าสนใจ เพื่อให้ไม่จำเจ และสามารถ maintain ลูกค้าได้นั่นเอง

มาถึงวันนี้เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แม้ความตื่นเต้นของแบรนด์โบรา โคเรียน มาร์ท อาจจะไม่เท่าปีแรกๆ ซึ่งทุกอย่างยังใหม่ แต่สิ่งที่ชาเลนจ์คือการ maintain ลูกค้าให้ได้ เพราะฉะนั้นการมีสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาตลอดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลังจากนี้ โบรา โคเรียน มาร์ท อาจจะยังไม่มีแพลนขยายสาขาในประเทศเพิ่ม ส่วนแพลน 5-10 ปี ข้างหน้านั้นน่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีของคนไทยแบรนด์นี้วางแผนที่จะขยายสาขาไปเปิดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชา

ด้วยความเข้าใจทุก element ของซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลี มีความเป็น specialty store ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และที่สำคัญคือการรู้ว่าลูกค้าของตัวเองเป็นใครของโบและน้องสาว จึงไม่น่าแปลกใจว่าแม้จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีเปิดใหม่มากมาย แต่ทำไมหากอยากกินอะไรตามอปป้าหรืออนนี่ในซีรีส์ หรือหากนึกถึงซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีขึ้นมา

ซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีสีม่วงอย่าง ‘โบรา โคเรียน มาร์ท’ จะเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง