คุยกับ ‘กัมพ์’ ในวันที่เปิด GUMP’s Cross เจริญนครเพื่อสร้างแลนด์มาร์กที่มีเอกลักษณ์ในย่าน

ในยุคที่เต็มไปด้วยคาเฟ่และ cafe hopper ธุรกิจที่เราจะพลาดชวนคุยไปไม่ได้คือคอมมิวนิตี้สเปซที่รวม
ร้านอาหารสุดป๊อปและคาเฟ่ฮอตฮิตไว้ด้วยกัน หากใครไปเยือนย่านอารีย์เป็นประจำน่าจะเห็นความฮอตของ GUMP’s ที่เต็มไปด้วยร้านที่มีแบรนดิ้งและคาแร็กเตอร์โดดเด่น มีมุมถ่ายรูปที่ดึงดูดให้วัยรุ่นอยากมาเช็กอิน

หลายแบรนด์ที่เริ่มเปิดธุรกิจที่ GUMP’s เติบโตจากแบรนด์เล็กๆ จนมีผู้ติดตามมากขึ้นในโลกโซเชียล บางแบรนด์ก็เติบโตจนขยับขยายไปเปิดในห้าง หนึ่งในเหตุผลที่ เอ๋–ธิวาภรณ์ พัฒนะรวีโรจน์ ผู้ก่อตั้ง Gump’s ทำธุรกิจให้ปังขนาดนี้ได้ก็เพราะมีเส้นทางการทำธุรกิจจากการเริ่มต้นเป็นบริษัทออกแบบให้ธุรกิจคาเฟ่และร้านอาหาร

ความเชี่ยวชาญพิเศษของเอ๋ทำให้รู้อินไซต์ว่าเจ้าของร้านและลูกค้าที่มาใช้บริการต้องการอะไร จนสามารถปั้น GUMP’s Ari ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้สุดฮิป ทั้งภายใน 5 ปีของการเปิดสาขาแรกก็ได้เตรียมขยายสาขาอีก 2 สาขา คือ GUMP’s Cross ย่านเจริญนคร และ Gump’s Siam Life ที่สยามแสควร์

ในวาระที่เพิ่งเปิดตัวสาขาใหม่ย่านเจริญนคร ขอชวนตามไปฟังว่าความแตกต่างของ GUMP’s คืออะไร ธุรกิจสุดฮิปนี้ทำยังไงให้สามารถสร้างแลนด์มาร์กท่ามกลางสมรภูมิดุเดือดของธุรกิจคาเฟ่ที่มีร้านใหม่แข่งกันเปิดตลอดเวลาได้

เส้นทางการเริ่มต้นธุรกิจของคุณเป็นยังไง 

เราเริ่มทำธุรกิจจากการทำบริษัทออกแบบตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ เราเป็นวิศวกรที่มองเห็นโอกาสว่าคาเฟ่น่าทำดี เลยเปิดธุรกิจเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่เท่านั้น ซึ่งสิบปีที่แล้วยังไม่มีใครทำ 

ทีนี้พอทำมาเรื่อยๆ ก็ขยายทีมแบรนดิ้ง ทีมการตลาด และพีอาร์จนครบวงจรหมดเลย จนเมื่อถึงปีที่ 5 ก็อยากพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่เรามี เพราะมองว่าที่ผ่านมาเราเก็บข้อมูลมาได้เยอะมากว่าผู้บริโภคอยากได้พื้นที่แบบไหน พร้อมจ่ายในงบเท่าไหร่ ไปจนถึงพฤติกรรมว่าอยากเข้ามาใช้บริการร้านแบบไหน จึงเป็นที่มาของการออกแบบโครงการ GUMP’s ของตัวเองให้ตอบโจทย์ทั้งคนเช่าและลูกค้า 

เนื่องจากออฟฟิศออกแบบของเราอยู่แถวอารีย์อยู่แล้ว จึงมองว่าอารีย์เป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจคาเฟ่ ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่แล้วก็จะมีคาเฟ่เปิดเยอะในย่านนี้ แต่ด้วยความที่อารีย์เป็นโซนกว้างทำให้คาเฟ่เปิดแบบกระจัดกระจาย เราเลยอยากสร้างแลนด์มาร์กสักอย่างขึ้นมาในย่านเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของคนที่มา hopping คาเฟ่ย่านอารีย์ 

คุณให้คำนิยาม GUMP’s ไว้ยังไง

เราเริ่มจากอยากทำ café community ที่ยังไม่มีคำจำกัดความในยุคนั้นเลยว่าคืออะไร เมื่อย้อนกลับไป 4-5 ปีที่แล้ว บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นเราก็ยังให้คำจำกัดความตัวเองไม่ได้ เราแค่รู้สึกว่าร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์นี้เขาน่าจะมาอยู่ด้วยกันได้ แชร์พื้นที่ร่วมกันได้

เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นอเวนิว เราไม่ใช่คอมมิวนิตี้มอลล์ ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า สุดท้ายเลยให้คำจำกัดความว่าเราเป็นสตาร์ทอัพในเชิงคอมมิวนิตี้สเปซ ซึ่งทำให้เราสร้าง GUMP’s โดยไม่มี reference จากที่ไหนเลย งานของเราไม่มีแบบแผนและฉีกกฎทุกอย่างเลย

คุณมองว่า Gump’s ฉีกกฎที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์อื่นๆ ยังไง 

อันดับแรกเลยคือ sizing ของห้างจะใหญ่กว่าเรา กลยุทธ์การวางลูกค้าของห้างหรือคอมมิวนิตี้มอลล์อื่นๆ จะมีแบรนด์ใหญ่เพื่อหาจุดดึงดูดให้คนเข้าโครงการ แต่เราใช้กลยุทธ์ที่สวนทางกัน จากที่เราเคยเป็นผู้ออกแบบให้แบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์ทำให้รู้ว่าห้างสรรพสินค้าไม่ได้เปิดรับทุกแบรนด์เพราะมีพื้นที่จำกัด ต้องโฟกัสการเปิดรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว

เราเลยรู้สึกว่ามีช่องว่างในการสร้างพื้นที่สำหรับร้านที่มีแพสชั่นแต่ยังไม่เคยได้รับโอกาส เพราะในตลาดยังมีแบรนด์เหล่านี้อีกมากมายที่ดังในอินสตาแกรมหรือดังในโลกออนไลน์มาก่อนแต่ยังไม่มีหน้าร้าน

ดังนั้นจะเห็นว่า GUMP’s ไม่มีแบรนด์ที่มีสาขาเยอะหรือแบรนด์ใหญ่เลย เราให้ความสำคัญกับ local brand ที่เป็นคาเฟ่และร้านอาหารขนาดเล็กโดยจะเชิญแบรนด์ที่น่าสนใจ มีการออกแบบคาแร็กเตอร์แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เข้ากับกลุ่มลูกค้าของเรา มาเปิดหน้าร้านกับเรา และจะเลือกร้านไม่ซ้ำกัน เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในเทรนด์หรืออยู่ในกระแส เราชอบคิดสวนทาง ถ้าทุกคนนั่งเราจะยืน ถ้าทุกคนยืนเราจะนั่ง (ขำ) แต่การสวนทางของเรามันไม่ใช่การต่อต้าน แค่เป็นการหาจุดที่ธุรกิจเรายืนได้ ที่ไม่เป็นคู่แข่งกับใครและไม่มีใครมาเป็นคู่แข่งกับเรามากกว่า ตอนนั้นช่องว่างตรงนี้ก็เป็น segment ที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้มอง และในตลาดไม่มีใครเปิดรับแบรนด์เหล่านี้

คอนเซปต์ของธุรกิจที่แตกต่างส่งผลต่อการออกแบบสเปซและแบรนดิ้งยังไง 

เราอยากเป็นชาวอารีย์ที่อยู่ย่านอารีย์ ไม่ได้อยากเป็นห้างสรรพสินค้าที่มาตั้งอยู่ใจกลางอารีย์ จึงเลือกเอาองค์ประกอบของบ้านที่มีทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน และพื้นที่สาธารณะตรงกลางมาอยู่ในสเปซให้คนที่เข้ามารู้สึกกลมกลืนและรู้สึกว่าที่นี่สร้างความทรงจำที่ดีกับสถานที่ได้จริงๆ  

ในการทำแบรนดิ้งไม่ได้มีอะไรยาก แต่มันยากตรงที่จะทำยังไงให้คนจดจำได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชื่อ โลโก้ ออกแบบฟอนต์ให้เข้ากับสถานที่นั้นเพื่อให้คนจำได้ง่าย ตอนตั้งชื่อเรามีโจทย์ว่าต้องการชื่อที่ไม่เกิน 2-3 ประโยค ไม่เอาคำที่พูดยากและคนทั่วไปสะกดไม่ได้ ต้องเป็นคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายและติดหู ทั้งคนไทยคนต่างประเทศอ่านได้ จนได้ออกมาเป็นคำว่า GUMP’s ซึ่งมีความหมายว่า Grab Ur Memory Place  

สังเกตว่าเวลาเราเปิดโครงการที่ไหน เราจะไม่มีแพตเทิร์นเลยว่าหน้าตาสเปซของแต่ละสาขาต้องเป็นแบบไหน แบรนด์ภาพรวมของเราคือ GUMP’s แต่ว่าแท็กไลน์ของแต่ละสาขาจะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่า GUMP’s ไปอยู่ที่ไหนก็จะมีชื่อห้อยตามซึ่งเป็นคอนเซปต์ของสเปซนั้นตลอด เราอยากให้ภาพจำของเราสื่อสารออกไปว่า คนไม่ได้มาคาเฟ่ ไม่ได้มาเฉพาะร้านใดร้านหนึ่งแต่คนมาที่ GUMP’s

สาขาใหม่ที่เตรียมเปิดเต็มตัวมีคอนเซปต์แตกต่างกันยังไง 

สองสาขาใหม่ของเราอยู่ที่เจริญนครและใจกลางสยามสแควร์ สำหรับ GUMP’s Cross ที่เจริญนครจะมีคอนเซปต์ว่า Let cross over here คือการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาเจอกัน ด้วยความที่เจริญนครอยู่ใกล้แม่น้ำ ถ้าใช้คำว่า river จะดูซ้ำกับร้านอื่นในย่านนี้เพราะทุกที่นิยมใช้คำว่า river เลยพลิกมาใช้คำว่า cross ดีกว่า ดังนั้นมู้ดและโทนในการออกแบบจะใช้คอนเซปต์ความโปร่งใส แสงสี การสะท้อนของน้ำ ในการออกแบบสเปซซึ่งเป็นคนละมู้ดกับที่อารีย์เลย 

ส่วนสาขาสยามเราเรียกว่า GUMP’s Siam Life เพราะอยากให้เป็น The Iconic Life Space ด้วยความที่วัยรุ่นในยุคนี้อยู่ในโลกไลฟ์สไตล์กับโลกออนไลน์ ที่นี่เลยมีทั้ง working space และสเตชั่นกิจกรรมต่างๆ ด้วย 

ทำไมถึงเลือกย่านเจริญนครและสยาม

เหตุผลของการเลือกย่านเจริญนคร ถ้ามองย้อนกลับไปก็เหมือนตอนที่เราเลือกทำ GUMP’s ที่อารีย์ คือเลือกย่านซึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว อยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างกำลังจะดัง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีทั้งผู้อยู่อาศัย คอนโด ห้างสรรพสินค้า สิ่งที่เราอยากทำก็คล้ายกับตอนเริ่มทำที่สาขาอารีย์เลย คืออยากทำแลนด์มาร์กให้เป็นที่น่าจดจำ ถ้าคุณไปย่านนั้น นอกจากห้างใหญ่ๆ แล้ว คุณก็ยังมีพื้นที่ของเราที่เข้าไปใช้เวลาได้

ส่วนสาขาสยามต้องขอบคุณทางทรัพย์สินจุฬาฯ ที่ให้โอกาสและชวนเราเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์มาร์กสยามสแควร์ เรารู้สึกว่าสยามสแควร์ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ รู้สึกว่าการที่เขาเชิญเรามาวันนั้นเป็นการมองเห็นภาพตัวตนของเราว่าถ้าเราไปอยู่สยามจะเป็นยังไง ก็เลยตกลงรับโอกาสไว้และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากคอนเซปต์การออกแบบและแบรนดิ้ง แต่ละสาขามีความแตกต่างยังไงบ้าง

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละโครงการไม่เหมือนกันเลย ซึ่งมาจากการพิจารณาจากตำแหน่งพื้นที่และข้อมูลของพื้นที่แถวนั้น อย่าง GUMP’s Cross มีลูกค้าหลักเป็นผู้อยู่อาศัยย่านนั้น กลยุทธ์การวางร้านค้าในนั้นก็จะเป็นร้านของคนในพื้นที่ในคอนเซปต์ Everytime Everyday ที่ลูกค้าหลักของเราเข้ามาใช้ได้ทุกวัน 

ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองก็จะเป็นนักท่องเที่ยว ส่วนสาขาสยามเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อารีย์จะเน้นนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจแวะมาเป็นที่เที่ยวโดยเฉพาะ เพราะตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่จะเดินผ่านมาได้ 

ความท้าทายในการบุกย่านใหม่คืออะไร 

ด้วยความที่ GUMP’s ไม่ได้มองหาพื้นที่ที่มีศักยภาพแต่มองว่าอยากสร้างศักยภาพให้พื้นที่นั้น ความท้าทายในงานของเราจึงเป็นมุมว่าจะทำยังไงให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นจุดสนใจของย่าน ซึ่งการที่จะสร้างคอมมิวนิตี้ให้สำเร็จคือมันต้องเป็นที่รู้จักและมีคนมา 

ความเสี่ยงของ GUMP’s คือเราไม่ได้เลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เราไม่ได้ใช้พื้นที่เทียร์ 1 แต่เราใช้พื้นที่ในซอยที่เป็นเทียร์ 2-3 ทำให้มีความเสี่ยงเยอะมากๆ ตอนแรกที่จะเปิดก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเราเลย 

สิ่งที่คนอื่นมักตั้งคำถามกับคุณในการทำ Gump’s คืออะไร 

เราเจอหลายคำถามว่าการที่คาเฟ่เปิดใหม่เยอะส่งผลกระทบต่อเราไหม เราก็จะตอบว่า แบรนด์ GUMP’s ไม่ใช่คาเฟ่แต่เป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการคาเฟ่และร้านอาหาร เราจึงชอบด้วยซ้ำที่มีคาเฟ่เปิดใหม่เยอะเพราะยิ่งทำให้พื้นที่ของเราสนุกมากขึ้น ไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่งกันเลย

วันที่เรามาเปิดที่อารีย์ ร้านในโซนนี้ยังไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่พอเรามาเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ตรงนี้ก็มีร้านอื่นอยากตามมาเปิดด้วย และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ไม่ได้ตั้งใจมาร้านเดียวอยู่แล้ว หลายคนจะมาเดินเล่นแล้วแวะไปหลายร้าน เพราะแต่ละคาเฟ่ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้มีคาเฟ่อยู่ใน GUMP’s 20 ร้านแต่ก็ไม่เหมือนกันสักร้าน

คุณมีมายด์เซตในการป้องกันความล้มเหลวยังไง 

เราศึกษาข้อมูลทุกอย่างว่าอะไรจะทำให้เราเฟลได้ ไม่ใช่แค่ศึกษาว่าอะไรจะทำให้เราสำเร็จ ซึ่งรวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำไมคนถึงไม่เดินขึ้นชั้น 2 เราก็ไปศึกษาจากคนที่ทำแล้วเฟลมาก่อนว่าเวลาคนไม่เดินขึ้นชั้น 2 เป็นเพราะอะไร 

อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่เราวางป้ายและแลนด์มาร์กต่างๆ ไว้ที่ชั้น 2 เพื่อให้คนขึ้นไปตามหาและถ่ายรูป รวมถึงออกแบบบันไดให้อยู่ด้านหน้า คนจะได้โฟกัสการเดินขึ้นไปชั้นบน ซึ่งก็ช่วยเราแก้ pain point ได้ จนช่วงแรกคนไปเดินเล่นชั้น 2 มากกว่าชั้น 1 ด้วยซ้ำ ถ้ามองในดีเทลก็จะเห็นมุมเล็กมุมน้อยเหล่านี้ที่เราใส่รายละเอียดเข้าไป 

คุณมองว่าร้านอาหารและคาเฟ่ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่หากชวนมาเปิดร้านแล้วปังแน่ 

การมีมุมถ่ายรูปสำคัญ องค์ประกอบอย่าง circulation และฟังก์ชั่นการใช้งานในร้าน ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันหมดและออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้จริง รวมถึงมู้ดแอนด์โทนการออกแบบก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นอย่างแรกว่าอยากเข้าร้านและสังเกตเห็นผลิตภัณฑ์ ต้องมีจุดที่ดึงดูดคนว่าทำไมเขาถึงอยากเข้าร้านนี้ 

สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการโครงการคอมมิวนิตี้สเปซให้สำเร็จคืออะไร

ความเข้าใจในกันและกัน เราอาจจะไม่ใช่ property management เจ้าใหญ่ที่มีกฎตายตัว 1 2 3 แต่เราจะบอกไว้ตั้งแต่แรกว่าเราช่วยแบรนด์คุณได้และจะช่วยกันในหลายมุม ในการบริหารที่นี่ ถ้าแบรนด์ไหนอยากจัดอีเวนต์ เราก็มีพื้นที่ส่วนกลางให้ซึ่งเราไม่ได้มีกฎตายตัวเลยว่าห้ามทำอะไร เราเหมือนเป็นเพื่อนบ้านกันมากกว่า เรายังปรับตัวตามเทรนด์ตลอด โดยจะปรับแต่ละมุมและหมุนเวียนร้านตลอด เช่นรู้สึกว่ามุมนี้มันนานแล้วคนเริ่มเบื่อแล้วก็จะเปลี่ยน เพราะเราอยากให้ GUMP’s เป็นที่ที่คนมาแล้วกลับมาอีกซ้ำๆ ได้ 

สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจคอมมิวนิตี้สเปซคืออะไร 

จากแต่ก่อนเราเป็นแค่บริษัทออกแบบที่ได้เจอลูกค้าที่ทำคาเฟ่แค่ฝั่งเดียว ทุกวันนี้เราต้องเรียนรู้จากทั้งลูกค้าฝั่งเรา ฝั่งผู้ใช้บริการ หรือแม้กระทั่งเรียนรู้ด้านการบริหารโครงการทั้งหมดในเชิง property management ด้วย มันก็ทำให้เราได้ต่อยอดขึ้นไปอีกกับสิ่งที่เราทำ มันก็มีความยากยิบย่อยและปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องเรียนรู้ในทุกส่วน 

มีภาพในฝันไหมว่าอนาคตอยากให้ GUMP’s เติบโตไปยังไง 

อยากให้ GUMP’s เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ไม่ใช่คอมมิวนิตี้อย่างเดียว เป็น top-of-mind ของคนรุ่นใหม่ที่อยากออกมาใช้ชีวิตอย่างมีไลฟ์สไตล์ 

สาขาของ GUMP’s ก็น่าจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่เราก็มองเห็นการต่อยอดธุรกิจในรูปแบบอื่นด้วย เช่น โรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวในเครือของ GUMP’s ทั้งหมดซึ่งเป็นโปรเจกต์ในอนาคต 

อยากให้คนจดจำ GUMP’s ว่าเป็นยังไง

อยากให้คนตามไปดู GUMP’s ด้วยตัวเองมากกว่า อยากให้มีความลุ้นในทุกสาขาของ GUMP’s ที่จะเปิดว่าหน้าตาจะเป็นยังไง มันอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่แปลกเมื่อเทียบกับห้างที่มีภาพจำในเรื่องของตึกหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่คงความคล้ายกัน แต่ภาพจำของเราอยากให้คนจดจำมากกว่านั้น ถึงความพิเศษที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่ เลยอยากให้ตามไปดูกันเอง 

ส่งท้ายปี 2024 กับ ‘CHILL AT THE PARQ 2025’ เทศกาลกิน ดื่ม ช้อป ประจำปีที่ The PARQ

ช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนน่าจะสอดส่องหาสถานที่สุดอบอุ่นหัวใจไว้แฮงเอาต์กับเพื่อนๆ ครอบครัว หรือคนรู้ใจ แต่หากใครยังไม่รู้จะไปที่ไหน ‘CHILL AT THE PARQ 2025’ ที่เดอะ ปาร์ค (The PARQ) อาจเป็นหมุดหมายปลายทางที่ดี

นี่คือเทศกาลกิน ดื่ม ช้อปประจำปี ที่เนรมิตเดอะ ปาร์คให้อบอวลด้วยบรรยากาศคริสต์มาสในคอนเซปต์ ‘Stars of Joy’ ภายในงาน อัดแน่นด้วยกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่คอนเสิร์ตสุดชิลล์ โดย Chang Live Park ณ ลาน Q Space พร้อมดีเจการันตีความสนุกจากร้านชงเจริญ โอสด ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2567 (ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) 

ตั้งแต่วันที่ 11-20 ธันวาคม ยังมีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง อาทิ ส้ม มารี, โอ๊ต ปราโมทย์, สงกรานต์, ลุลา, กวาง AB Normal, Purpeech, Yourmood, Only Monday, Blackbeans และ 60 Miles ที่จะสลับหมุนเวียนกันมาตั้งแต่เวลา 17:00-24:00 น.

ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม เวลา 12:00-13.30 น. ยังมีการแสดง Christmas Carol โดยคณะประสานเสียง Suanplu Chorus และวง Layback จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาส่งมอบบทเพลงคริสต์มาสอันไพเราะ

ส่วนใครสายช้อปก็มี Winter Market โดย HBD Event ที่รวบรวมของขวัญ ของแต่งบ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ ของใช้สัตว์เลี้ยง และอาหารร้านดังมาให้ช้อปกัน พร้อมจัดมุมให้พาสัตว์เลี้ยงมาร่วมสังสรรค์ได้ แต่ถ้าใครเป็นสายคอนเทนต์ก็ยังมีเวิร์กช็อปคริสต์มาสให้ร่วมจอย ไม่ว่าจะการประดิษฐ์ Tiny Christmas Tree การเพนต์แก้วไวน์ (Wine Glass Doodle) การทำ DIY Floral Diffuser และ ‘Bubble Bliss’ Bath Bomb 

งานนี้พาน้องหมาน้องแมวเข้าไปร่วมสร้างความทรงจำกันได้ด้วยนะ ถ้าใครสนใจสามารถไปเช็กอินกันได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2567 ที่ เดอะ ปาร์ค (MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 2) ตลอดเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้ 

นามบัตร 6 ใบของ กฤติยา กาวีวงศ์ ผอ.หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันที่คลุกคลีกับวงการศิลปะมากว่า 30 ปี

อาจเรียกตัวเองไม่ได้เต็มปากว่าเป็นคนชอบเสพงานศิลปะ แต่ในฐานะคนที่ชอบสอดส่องหามุมสงบๆ ในกรุงเทพฯ ไว้พักใจ The Jim Thompson Art Center คือหนึ่งในที่ที่เราแวะเวียนไปบ่อยๆ 

คนที่เคยไปอาจจะเดาออก–ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันไม่ได้มีแค่ส่วนแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลปะ แต่ยังมีห้องสำหรับทำเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ร้านกาแฟ ห้องสมุด ข้างบนดาดฟ้ายังมีร้านลาบเสียบให้ฝากท้อง 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความตั้งใจของ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘พี่เจี๊ยบ’ ‘อาจารย์เจี๊ยบ’ กับน้องๆ ในทีมที่ช่วยกันผลักดัน เปลี่ยนภาพจำของหอศิลป์จัดแสดงสิ่งทอและงานศิลปะที่ดูเข้าถึงยาก กลายเป็นสถานที่เช็กอินของทั้งคนที่สนใจงานศิลป์มาก และคนที่สนใจน้อย

ในแวดวงศิลปะ ชื่อของกฤติยาไม่ใช่คนแปลกหน้า ย้อนกลับไปหลายปีก่อน กฤติยาคือผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการ 304 Space พื้นที่ศิลปะทางเลือกที่เธอกับเพื่อนๆ ในแวดวงสร้างขึ้นมาเพื่อผลักดันงานศิลปะแนวทดลอง เป็นจุดริเริ่มของศิลปินหน้าใหม่ และให้แรงบันดาลใจแก่คนทำงานครีเอทีฟมากมาย 

กฤติยายังเป็นภัณฑารักษ์มือทอง แวะเวียนไปคัดสรรและจัดแสดงงานมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก และบทบาทที่คนรู้จักมากที่สุดคือผู้อำนวยการของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่เธอทำมานานเกือบ 20 ปี

อะไรทำให้เธอเชื่อในพลังของศิลปะจนยึดมั่นในเส้นทางนี้มาได้อย่างยาวนาน ณ บัตรนั้น ตอนนี้ขอชวนคุณแวะไปหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน แล้วนั่งจับเข่าคุยกับกฤติยาพร้อมกัน

Teacher – Phanat Nikhom Refugee Camp 

“เราเกิดที่เชียงแสน มาโตที่เชียงใหม่ ด้วยความที่เกิดในเมืองที่มีของเก่าเยอะ หมู่บ้านที่เราอยู่เขาทำงานแฮนด์เมดกันหมด พอเราวิ่งไปรอบๆ มันก็เหมือนเราวิ่งในพิพิธภัณฑ์ เราจึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่องงานคราฟต์จากตรงนั้น  

“ตอนเด็กๆ เรายังไม่ได้ชื่นชมมันหรอกแต่พอเราไปเมืองอื่นที่ไม่มีแบบบ้านเรา เรารู้สึกว่าทำไมเมืองนี้แห้งจังเลย อีกส่วนหนึ่งคือครอบครัวเราหลายคนเป็นสล่า (ช่าง) คุณพ่อเรียนก่อสร้างเลยสร้างบ้านเอง ทางฝั่งผู้หญิงก็ทอผ้า มีญาติ 2-3 คนที่เรียนศิลปะ 

“เราอยากทำงานในแวดวงศิลปะแต่รู้ตัวเลยว่าไม่อยากเป็นศิลปิน จุดหักเหคือตอนเรียนมัธยม อาจารย์สอนประวัติศาสตร์แนะนำเราว่ามีอาชีพหนึ่งชื่อภัณฑารักษ์ เรารู้สึกอยากเรียนแต่สุดท้ายด้วยความเป็นวัยรุ่นที่สับสน พอขึ้น ม.ปลายเราก็เลือกเรียนภาษาเยอรมัน หลังจากนั้นเราแอนตี้เรื่องเอนทรานซ์ คิดว่าทำไมเราต้องสอบด้วย ทั้งๆ ที่เราเรียนดี เอาเกรดยื่นไม่ได้เหรอ เลยเลือกเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

“เราสมัครเรียนนิติศาสตร์ แต่ยาก สุดท้ายก็ไม่อิน เลยกลับมาเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ โทสื่อสารมวลชน พอจบมาก็สอนภาษาในโรงเรียนสอนภาษา สอนได้ปีเดียวก็ไปอยู่ค่ายผู้อพยพที่แถวพนัสนิคม เป็นโครงการของ UN ที่รับผู้อพยพจากอินโดจีน เด็กเอกอังกฤษทุกคนไปอยู่ที่นั่นหมดเลย เพราะเขารับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้

“เราไปสอนหนังสือผู้อพยพในโครงการ Consortium งานนั้นเงินดี ทำให้ได้เจอคนทั่วโลก และได้เจอประเด็นปัญหาสังคมจริงๆ ในยุคหลังสงคราม เราได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานตรงนั้น แต่ใจยังชอบศิลปะอยู่ เพียงแค่ไม่มีโอกาสเข้าไปทำงานในวงการ ช่วงนั้นเราบังเอิญได้รู้จักศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี ได้ข่าวมาว่าจะมีแกลเลอรีเปิดใหม่ในปี 1991 และเขาต้องการคนที่พูดอังกฤษได้และสนใจศิลปะ เราเลยลองไปสมัคร”

Assistant Manager – Dialogue Gallery

“งาน Assistant Manager หลักๆ คือต้องดูแลแกลเลอรี เป็นแกลเลอรีที่พี่นำทอง แซ่ตั้ง เป็นผู้จัดการ แล้วเราก็เป็นผู้ช่วยเขา 

“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากแคมป์คือการทำงานที่เป็นระบบ เราเลยเอามาปรับใช้กับแกลเลอรี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเอกสารหรือการจัดการศิลปิน ด้วยความที่ทุกอย่างมันใหม่หมด เราเองก็ด้วย เราพยายามเรียนรู้ไปพร้อมกัน ช่วงนั้นพยายามหาศิลปินมาจัดแสดงและขายงาน ซึ่งเราได้ขายงานยากๆ ให้กับนักสะสมรุ่นใหม่ เป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่งานตลาด ไม่ใช่งานดั้งเดิมแต่เป็นงานคอนเซปชวล นั่นเป็นช่วงที่ได้รู้จักศิลปินเยอะมาก

“งานนี้ทำให้เราได้เปิดโลกศิลปะ ทำให้เห็นว่าวงการนี้มีข้อดี-ข้อเสียยังไง และทำให้รู้ว่าเราไม่ชอบความเป็นคอมเมอร์เชียล เราไม่ชอบการขายของ แต่ชอบอยู่กับศิลปะ จุดเปลี่ยนที่พีคมากสำหรับเราคือยุคนั้นเป็นยุคที่คนรวย มีอินทีเรียร์ดีไซน์หลายคนจะสร้างบ้านแล้วมาขอให้ช่วยเลือกงานให้เข้ากับบ้านให้หน่อย จุดนั้นทำให้เรารู้สึกว่าจบข่าว ไม่ไหวแล้ว เราไม่อยากเป็นแม่ค้าแบบนี้” 

Co-founder and Director – 304 Space

“ช่วงที่ทำ Assistant Manager เป็นช่วงที่ไปเมืองนอกบ่อย มีครั้งหนึ่งได้เคยไปอเมริกาแล้วเข้าพิพิธภัณฑ์ PS1 ที่นิวยอร์ก มันเป็น alternative space ที่เอาโรงเรียนเก่ามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์และมีศิลปินในพำนักของเขา เราเดินไปชมแล้วรู้สึกว่าอยากทำงานแบบนี้จังเลย อยากให้มีสเปซแบบนี้ในเมืองไทย

“แต่เราไม่ได้มีแบ็กกราวนด์และความรู้ที่จะทำตรงนั้นได้ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์  พอดีมีโรงเรียนที่ชิคาโกเปิดวิชาชื่อ Art Administration and Policy และเน้นเรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไรด้วย เราเลยสมัครเรียนดู  

“เราเรียนอยู่ 2 ปี แล้วทำทีสิสเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรในประเทศไทย แล้วเอาทีสิสมาคุยกับศิลปินที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นพี่มณเฑียร บุญมา, อาจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์, ชาติชาย ปุยเปีย ปรากฏว่าเขาเอาด้วย เราเลยชวนเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เรียนที่ชิคาโกด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเจ้ย อภิชาติพงศ์ มาเปิดพื้นที่ศิลปะทางเลือกด้วยกัน เพราะตอนนั้นแกลเลอรีในไทยมีแต่ commercial gallery หรือแกลเลอรีในมหาวิทยาลัยที่จัดแสดงแต่ผลงานของอาจารย์ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินที่อยากทดลอง หรือศิลปินจากเมืองนอกที่อยากมาจัดแสดงงานแต่ไม่มีพื้นที่ ในไทยตอนนั้นยังไม่มีมิวเซียมศิลปะเลย

“เพราะไม่มีเงินเช่าที่ใหม่ เราเลยใช้อพาร์ตเมนต์ของตัวเองห้อง 304 พื้นที่ของเราจึงตั้งชื่อว่า Project 304 (หัวเราะ) เจ้ยดูโปรแกรมหนัง ไมเคิลดูเรื่องเพอร์ฟอร์แมนซ์ ส่วนเราดูวิชวลอาร์ต โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่สร้างคนเยอะมาก เราอยากซัพพอร์ตศิลปิน ทั้งศิลปินรุ่นใหม่และตัวอภิชาติพงศ์เอง สิ่งหนึ่งที่เราสร้างให้กับวงการศิลปะคือการสอนให้เขียนโครงการ เพราะแต่ก่อนคนไทยไม่รู้ว่าจะจัดงานหนึ่งต้องสเกตช์ไอเดีย ต้องคิดว่าใช้เงินเท่าไหร่ก่อนขอทุน อยากให้ศิลปินรู้ว่าถ้าคุณอยากทำงานศิลปะที่มันไม่ขาย แต่คุณต้องอยู่ให้ได้ คุณจะต้องทำยังไง

“อภิชาติพงศ์เองก็สร้างชื่อที่นี่ เขาทำโปรเจกต์ฉายหนังทดลองชื่อ Kick The Machine ซึ่งคนที่มาดูคือเต๋อ นวพล ตอนยังเป็นวัยรุ่น หรือเข้ จุฬญาณนนท์ ตั้งแต่ตอนเขาเรียนประถม นี่คือผลพวงที่พิสูจน์ว่าคนที่มาดูงานที่พวกเราจัด ตอนนี้กลายเป็นผู้กำกับและศิลปินชื่อดัง หลายคนที่เคยทำงานกับเราเขาก็ไปโด่งดังเมืองนอก เราทำอยู่ราว 7 ปีแล้วก็ปิดตัว ขณะเดียวกันก็เริ่มมีสถานทูตและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ติดต่อเข้ามา เราได้ทุนมากมาย จนในที่สุดก็กลายเป็นภัณฑารักษ์อิสระ”

Independent Curator

“ก่อนเป็นภัณฑารักษ์อิสระ พี่มณเฑียรเขาเสีย สิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำมากคืองาน Biennale และเขาบอกว่าเจี๊ยบ ฝากทำด้วย สิ่งนี้ติดอยู่ในหัวเรา เราเลยทำโครงการขอไปรีเสิร์ชใน 7 ประเทศลุ่มน้ำโขง ปรากฏว่าได้ทุนจาก Japan Foundation เราเลยไปเบสอยู่เชียงใหม่ ระหว่างนั้นก็ไปช่วยเพื่อนที่เชียงใหม่ทำหอศิลป์ มช. ทำให้อาร์ตเซนเตอร์เป็นที่รู้จัก ชาวบ้านเข้ามาใช้ รถแดงรู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะบางครั้งก็ทำตลาดหรือเฟสติวัล 

“3 ปีที่ทำรีเสิร์ชและต้องทำโชว์ เราอยู่ในโครงการชื่อ Under Construction ซึ่งรวบรวมภัณฑารักษ์ 8 คนจากทั่วเอเชียมารีเสิร์ชและทำโชว์ที่ประเทศของตัวเอง แล้วนำทุกงานมารวมที่ญี่ปุ่น จากงานนี้มีคนเห็นผลงานแล้วชวนเราไปทำงานที่เบอร์ลินต่อ 

“เวลามีคนถามว่าเราได้อะไรจากงานที่ผ่านมา เราคิดว่าทุกอย่างที่เราทำมันจะมาเสริมสกิลเราเอง พอเราทำงานมานานๆ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม เราจะสามารถพลิกแพลงและหาทางแก้ได้เร็วมาก เพราะเราเจอมาหมดแล้ว เมื่อก่อนเราอาจจะปรี๊ดแตก ทำลูกน้องร้องไห้ แต่พอโตขึ้นมา เราก็เก๋าเกม นิ่งขึ้น ใจเย็นขึ้น เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างมันมีทางแก้

“หลังจากเบอร์ลิน เรามีเพื่อนที่เวียดนามเขาชอบโปรเจกต์ของเรามาก เขาจะทำงาน Saigon Biennale เลยชวนเราไปทำด้วย แต่ความยากของการทำโปรเจกต์นี้คือ เราไม่รู้ว่าการทำงานทุกอย่างต้องไปขออนุญาตรัฐบาล ด้วยความที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ สรุปว่างานนั้นคนมา 300-400 คนแต่เราจัดแสดงไม่ได้ 

“เรารู้สึกเฟลและเหนื่อยมาก ตอนนั้นก็ได้ยินว่า คุณเอริก บูท ที่เขาเป็นบอร์ดบริหารจิม ทอมป์สัน อยากหาคนมารันอาร์ตเซนเตอร์”

Artistic Director – The Jim Thompson Art Center

“หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันอยากทำบางอย่างที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ตอนแรกเขาจะทำแกลเลอรีเกี่ยวกับสิ่งทอ แต่เราเชียร์ให้ทำเรื่องศิลปะด้วย เพราะตอนช่วงปี 2000 ต้นๆ BACC ก็ยังไม่เปิด เรายังไม่มีแกลเลอรีใหญ่สำหรับศิลปะ เขาจึงทำเรื่องศิลปะด้วย

“จากที่เคยทำแต่เรื่องสิ่งทอ จิมทอมป์สันก็หันมาจับงาน contemporary art มากขึ้น หลังจากนั้นเราก็เอาทีมเข้ามาเพื่อทำโปรแกรมเพื่อการศึกษา เพราะเรายังอยากเชื่อมต่อกับคนไทยและแวดวงศิลปะอยู่ 

“จริงๆ กลุ่มเป้าหมายของเราคือชุมชนคนรักและสนใจศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้คนที่ไม่ได้สนใจศิลปะเข้ามาเช่นกัน เราจึงมีห้องสมุด ร้านกาแฟ ร้านลาบเสียบ ให้มันเป็นพื้นที่ให้คนมาเจอกันโดยไม่ต้องซื้อของก็ได้ คุณมานั่งชิลล์มาพักผ่อนก็ได้ เราอยากให้จิม ทอมป์สันเป็นที่รู้จัก เป็นที่พักใจ เป็นเหมือนโอเอซิสกลางกรุงเทพฯ นั่นคือเป้าหมายที่เราตั้งไว้กับตัวเอง

“เราคิดว่างานศิลปะต้องอยู่ได้ทุกที่ เข้าถึงได้ทุกคน เมื่อก่อนศิลปะอาจดูเป็นของสูง ของไกล ของแพง แต่จริงๆ งานศิลปะร่วมสมัยเปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว เพราะมันพูดถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน สมัยเราเปิดใหม่ๆ คนที่ชอบเสพศิลปะมีแต่คนในแวดวงและคนมีเงิน แต่มันเปลี่ยนไปในช่วงก่อนโควิด มีเด็กวัยรุ่นเยอะมาก จำได้ไหมก่อนหน้านี้เด็กๆ เคยออกไปประท้วง แต่หลังๆ มาประท้วงไม่ได้ เขาเลยมาดูงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อีกกลุ่มคือคนที่มาถ่ายรูปและรู้จักเราจาก TikTok ซี่งต่างจากกลุ่มลูกค้าก่อนที่เราจะเข้ามาทำโดยสิ้นเชิง

“ความท้าทายมากที่สุดสำหรับเราคือการกำกับทิศทางของอาร์ตเซนเตอร์ให้ไปในทิศทางที่ควร ถ้าคุณมององค์กรศิลปะในบ้านเรา คนจะคิดถึงการโกอินเตอร์ แต่จิม ทอมป์สันเป็น international มาตั้งแต่แรก โจทย์ของเราคือต่างจากชาวบ้าน คือเราจะ localize มันยังไง เราจะอยู่ร่วมกับภูมิภาคและโลกได้ยังไงโดยที่เราไม่ด้อยไปกว่าเขา เป็นเพื่อนกับองค์กรอื่นๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

“เราเป็นผู้อำนวยการจิม ทอมป์สัน แต่เราไม่ได้คิดแต่เรื่องศิลปะตลอดเวลา วันๆ ต้องคิดเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย เวลาเราเจอเพื่อนๆ ข้างนอก เราจะคุยกันเรื่องปัญหาว่าคุณเจออะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นประมาณไหน เรื่องที่ยากที่สุดคือเรื่องเงินทุนเพราะเราเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เราจะไปหาเงินทุนให้ศิลปินทำงานจากไหน เพราะทุกอย่างในขั้นตอนการผลิตงานมันแพง และเราไม่สามารถซัพพอร์ตได้หมด ไม่ได้พูดกันหลักหมื่นหรือแสนแต่เป็นล้านๆ ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ มันคือการรับใช้สังคม 

“ยุคนี้คนสนใจศิลปะเยอะขึ้น แต่เราว่าคนจะจ่ายเงินให้งานศิลปะเยอะกว่านี้ ถ้าสังคมเรามีผลประโยชน์ (benefit) ตอบแทนคนจ่ายเงินให้ศิลปะ เช่น ถ้าคุณบริจาคให้เราหนึ่งล้านแล้วมีนโยบายว่าหักลดหย่อนภาษีได้ครึ่งหนึ่ง เขาอาจจะบริจาคให้เราแทนที่จะไปบริจาคให้ที่อื่น เราว่าตรงนี้รัฐบาลต้องแก้ ไม่ต้องมาออกตังค์ให้แต่แค่คุณลดภาษีหรือหักภาษีได้

“ในฝั่งศิลปะ เราคิดว่าคนที่จะอยู่รอดเป็นศิลปินได้ต้องมีความดื้อ ต้องอดทนมากๆ เพราะมันไม่มีทางลัด ไม่ว่าจะเป็นคิวเรเตอร์หรือศิลปิน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีถึงจะประสบความสำเร็จ อย่างเราทำงาน เราก็ไม่ต้องคิดว่ามันต้องประสบความสำเร็จหรืออะไร แต่เราทำสิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะต้องน่าสนใจ มันจะช่วยใครได้ จะทำให้ชีวิตใครดีขึ้น และจะทำให้วงการไปต่อได้ยังไง สิ่งเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องใช้เวลาล้วนๆ เลย” 

Artistic Director – Thailand Biennale 2023

“เราเคยทำงานในทีมคิวเรเตอร์ในงาน Biennale ที่ต่างประเทศ ทำมาหลาย Biennale ก่อนจะมาทำของไทย ซึ่งที่นี่เราเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ หน้าที่คือคุยกับรัฐ จัดหาเงินเพิ่ม คัดเลือกศิลปิน เลือกพื้นที่ จริงๆ หน้าที่คือเป็นคนตรงกลางที่ดีลกับสารพัดทิศ ด้วยเป้าหมายคือการเอางานศิลปะไปแสดงให้คนดู แต่กว่ารัฐบาลจะคิดว่า Thailand Biennale สำคัญแล้วอนุมัติเงินมาให้ กว่าจะเชิญศิลปินจากทั่วโลกมาทำงานที่เมืองไทย กว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เนี่ยมันยาก 

“ปกติการไปคิวเรตงานสักงาน ต้องคำนึงถึงปัจจัยเยอะมาก ก่อนจะคิวเรตโชว์เราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเราถึงต้องทำตอนนี้ เพราะ contemporary art มันคือเรื่อง Here & Now เรารอได้ไหมกับงานนี้ มีอะไรด่วนกว่านี้ไหม งานนี้เกี่ยวกับพื้นที่และชีวิตพวกเรายังไง 

“พอไปจัดแต่ละที่ โจทย์แรกที่เราถามคือแล้วชาวบ้านจะได้อะไร เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่แค่ศิลปะแล้ว มันคือคนทั่วไป (เมื่อเป็นเชียงราย) คนเชียงรายจะได้อะไร ในขณะที่ตัวเราเองก็เหมือนได้ตั้งต้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเชียงรายใหม่ ศิลปินเขาก็ช่วยเราด้วยการถามคำถามแปลกๆ เราก็ต้องไปรีเสิร์ชให้เขา สำหรับเรา เราได้เรียนรู้เยอะมาก เพราะโจทย์ของงานคือเราจะทำยังไงให้เมืองเก่า 700 ปีรีเลตกับปัจจุบัน มันค่อนข้างท้าทาย

“ตอนศิลปินทำงานเสร็จแล้ว เราต้องการคนมาอธิบายงานที่เรียกว่า docent ปรากฏว่าพอเรารับสมัคร docent ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณอายุซึ่งอินกับประวัติศาสตร์มาก นอกจากนั้นยังมีเด็กวัยรุ่น ทุกคนเล่างานศิลปะได้อย่างอินมากจนคนไปเบียนนาเล่กรี๊ดกับ docent ของเรามาก และตลอด 4-5 เดือนที่ทำงานกับเรา งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับชุมชน นี่เป็นอีกคีย์เวิร์ดหนึ่งที่เราอยากให้มันเกิด ซึ่งสำหรับเรา มันก็รู้สึกเหมือนได้รางวัล (rewarding) เหมือนกันนะ

“ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่เรายึดถือไว้ตลอดคือความเชื่อมั่นในงานศิลปะ เพราะบางทีเวลามีปัญหาเยอะๆ มันทำให้เราตั้งคำถามว่าทำทำไม ทำอะไรอยู่ตอนนี้ เรา stand for อะไร คุณค่าจริงๆ อยู่ตรงไหน อย่างตอนที่ทำ Thailand Biennale ที่เชียงราย หลายคนไม่เชื่อว่าเราจะทำงานกับรัฐบาลได้ และไม่คิดว่าเราจะอยู่ได้จนจบ แต่เราบอกว่ามี 2 คำที่ทำให้เราอยู่ตรงนั้นได้ หนึ่งคือคำว่าศิลปะ อีกคำคือเชียงราย ถ้าไม่มีสองคำนี้เราอาจจะลาออกตั้งแต่แรกแล้วก็ได้ ซึ่งสุดท้ายคำว่าศิลปะมันก็พาเราไปที่ไหนก็ไม่รู้ สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือมันนิยามไม่ได้ และมันทำให้เราไปสู่ดินแดนที่เราไม่รู้จัก ซึ่งเราพร้อมที่จะเผชิญกับมัน

“เคยมีคนมาถามเราเหมือนกันว่า เราทำยังไง ทำไมพี่ถึงไม่หายไปจากวงการ เราบอกว่าเราต้องรู้จักทำให้ตัวเองแฮปปี้ คิวเรเตอร์แปลว่าแคร์ แล้วใครจะแคร์ตัวเอง เราเองก็ต้องรู้สึกเซฟตัวเองและดูแลตัวเองด้วย ไม่ใช่ดูแลแค่คนอื่น”

หลักการสร้างแบรนด์ของ Brooo แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยแบรนด์แรกที่ได้ไป Ultra-Trail Village   

สำหรับคุณแล้ว ถุงเท้าถือเป็นเครื่องแต่งกายที่สำคัญลำดับไหนของเสื้อผ้าทั้งหมด 

เชื่อว่าน้อยคนนักจะยกให้สิ่งนี้เป็นเครื่องแต่งกายที่สำคัญอันดับแรกๆ หากเทียบกับเสื้อ กางเกง และรองเท้า ที่เป็นเครื่องแต่งกายชิ้นใหญ่ กระทั่งแว่นตา หมวก หรือนาฬิกาเองก็ตามที่ดูเป็นเครื่องแต่งกายที่ระบุรสนิยมและตัวตนได้มากกว่า 

แต่สำหรับ อ๋อง–กษิดิศ ดวงวราภรณ์ และ เฟียต–ธนพงศ์ พานิชชอบ เขากลับเชื่อว่าถุงเท้าเป็นเครื่องแต่งกายที่ชวนให้ผู้สวมใส่ ‘แอบแซ่บ’ ได้ ทั้งยังสามารถระบุตัวตนได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งทางการ ไม่ทางการ รวมถึงในชุดวิ่งก็ตาม

ทั้งคู่จึงปั้น Brooo แบรนด์ชุดกีฬาที่ตั้งใจผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชั่นและแฟชั่นในการวิ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายคืออยากเสาะหาคนที่ชื่นชอบการสวมใส่ alternative brand มองหาแบรนด์กีฬาทางเลือกมาแต่งตัว ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ กษิดิศและธนพงศ์บอกเล่าถึงเส้นทางของแบรนด์ Brooo ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร วางแผนธุรกิจแบบไหน จน Brooo ได้เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยแบรนด์แรกที่ได้เข้าร่วม Ultra-Trail Village งานแสดงสินค้าในงานมหกรรมวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองชาโมนิกส์ ประเทศฝรั่งเศส  

สำหรับพวกคุณ การวิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ธนพงศ์ : พวกเราสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่ช่วงมัธยม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนที่เดียวกัน ทำงานก็ยังที่เดียวกันอีก คือในชีวิตทั่วไปเราแทบจะเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว 

ส่วนเรื่องวิ่งที่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา สำหรับผมคิดว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่ไปวิ่งแก้บนช่วงมัธยม ที่เราไปไหว้กันว่าอยากสอบติดมหาวิทยาลัยที่เดียวกัน ตอนนั้นก็อธิษฐานเลยว่า ถ้าเจ้าแม่มีจริง ขอให้พวกเราสอบติด แล้วเดี๋ยวจะไปวิ่งรอบสนามหลวงเป็นการแก้บนให้ 

สุดท้ายก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เดียวกันจริงๆ ผมเลยต้องไปวิ่งเป็นจำนวน 10 รอบ ส่วนอ๋อง (กษิดิศ) เขาบนไว้ 80 รอบเยอะกว่าหน่อย แล้วหลังจากนั้นพวกเราก็ไม่เคยหยุดเลย การวิ่งก็เข้ามาอยู่ในชีวิตอยู่ตลอด 

กษิดิศ : คือหลังจากวิ่งในวันนั้น ผมพบว่าการวิ่งมันให้อะไรบางอย่างกับตัวเรา อย่างในช่วงแรกแน่นอนว่ามันคืออาการ runner’s high ที่วิ่งแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกสนุก อยากทำต่อเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน 

อะไรที่ทำให้รู้สึกว่า ‘การวิ่ง’ คือสิ่งสำคัญในชีวิตคุณ

ธนพงศ์ : ผมว่าการวิ่งมันเราไปอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าภวังค์’ เพียงช่วงขณะ และเราไม่ต้องคิดอะไรเลย มันปิดสวิตช์ความคิดไม่ให้เตลิดออกไป เพราะแค่กำหนดลมหายใจ และแบกสังขารก็เหนื่อยแล้ว

ถึงเมื่อไหร่ที่การวิ่ง เริ่มกลายเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการวิ่ง 

ธนพงศ์ : ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ซึ่งนอกจากไม่มีอะไรทำแล้ว เรายังไม่มีงานทำด้วย ก็เลยได้เริ่มโปรเจกต์หนึ่งขึ้นมา 

ผมคิดมาตลอดว่าอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการวิ่ง รวมถึงอะไรก็ตามที่เป็นถุงเท้า เพราะเราสองคนเป็นพวกบ้าการใส่ถุงเท้ามาแต่ไหนแต่ไร สำหรับผมถุงเท้ามันคือเครื่องแต่งกายที่สามารถ express ตัวตนในแบบที่แอบแซ่บได้ คือมันจะไม่โดดเด่นเกินไป มันสามารถซ่อนอยู่ในชุดที่อาจจะทางการหน่อยในบางเวลาก็ได้ 

จนวันหนึ่งได้มานั่งคุยกับอ๋องที่บ้านเขา ก็นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน จู่ๆ ผมก็พูดขึ้นมาว่ากูอยากทำถุงเท้าว่ะ ถุงเท้าวิ่งมันไม่มีแบบแซ่บๆ ที่เราชอบบ้างเลยเหรอพอพูดจบอ๋องก็เดินขึ้นไปบนบ้าน ไปหยิบถุงเท้าวิ่งทั้งหมดที่มีในบ้าน แล้วโยนลงบนโต๊ะ พร้อมบอกว่า 

ไม่มี 

จากคำว่า ‘ไม่มี’ พวกคุณคิดว่าจะทำอะไรกับมันต่อ 

ธนพงศ์ : วันนั้นสุดท้ายก็ไม่ได้คุยอะไรกันต่อนะ มันจบกันไปแบบมีคำถามอยู่ในใจ แต่อีกสองวันต่อมา อ๋องโทรศัพท์มาหาผม เขาบอกว่านัดโรงงานถุงเท้าเอาไว้นะ ให้เตรียมคิดชื่อแบรนด์เลย เลยกลายเป็นว่าเราต้องเริ่มทำธุรกิจรองเท้าโดยปริยาย 

ตอนนั้นสิ่งที่คิดว่าต้องมีอันดับแรกเลยคือชื่อแบรนด์ ซึ่งผมก็ได้ไอเดียประมาณว่า เวลาพวกเราสองคนจะคุยกัน เรามักจะมีคำที่เอาไว้เรียกกันและกันแบบติดปากว่า โบร (Bro,Brother) ส่วนเหตุผลที่ต้องมีตัว O ถึงสามตัวคือ เพราะเราจะสมัครอีเมลสำหรับทำธุรกิจให้เป็นกิจจะลักษณะ กลายเป็นว่าเราใช้ [email protected]  ไม่ได้ มันบอกถูกใช้ไปแล้ว จะใช้ Broo เพิ่ม o ขึ้นมาอีกตัวก็ไม่ได้ 

สุดท้ายมาจบที่ Brooo มี o ทั้งหมดสามตัว ซึ่งพวกเราก็โอเค เอาชื่อนี้แหละ คือตอนนั้นไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะดีกับการทำการตลาด หรือ SEO ในการค้นหาชื่อแบรนด์ของเราไหม มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่อยากจะใช้คำนี้ แต่พอมามองตอนนี้ก็ดีนะ เหมือนมันเป็นจุดที่ทำให้คนสนใจว่าทำไมต้องมี O ตั้งสามตัว แล้วมันอ่านว่าอะไร 

กลายเป็นว่าคนที่ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอย่างคุณอ๋องเป็นคนเริ่มนับหนึ่งก่อน

กษิดิศ : ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่ง ผมจะได้ใส่ถุงเท้า กางเกง เสื้อผ้า ที่ตอนนั้นก็ธรรมดาเหมือนกัน ไม่ได้มีสีสันอะไร ผมเลยมีความรู้สึกอยู่ในใจว่าอยากมีถุงเท้าในแบบและสีที่ชอบของตัวเอง แต่ก็เป็นความฝันไกลๆ เพราะผมเป็นสถาปนิกที่ไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นและธุรกิจ จนวันที่เฟียตมานั่งคุยกันเลยกลับมาลุยกับฝันตรงนี้จริงจัง

ส่วนสาเหตุที่เรารีบนัดโรงงานเหลือเกิน คือด้วยความที่ผมวิ่งมาเยอะ ใส่ถุงเท้าวิ่งมาก็หลายแบบ ผมก็มีความเข้าใจวัสดุ องค์ประกอบถุงเท้าวิ่ง จนได้รู้ว่าแบรนด์ใหญ่ๆ จำนวนหนึ่ง เขาก็มีฐานการผลิตที่ประเทศไทยเหมือนกัน เราเลยเห็นโอกาสที่จะทำแบรนด์ของตัวเองให้มีคุณภาพแบบแบรนด์ที่เคยได้ใส่มา 

ธนพงศ์ : เขาเนิร์ดขนาดไหนรู้ไหม ขนาดที่เอากล่องสินค้าของแบรนด์ใหญ่ๆ แล้วเอาป้ายมาดูว่าตัวเลขแต่ละตัวมันหมายถึงอะไรบ้าง จนได้ค้นพบว่า มีตัวเลขบางอย่างที่มันคล้ายคลึงกัน และมันนำไปสู่ที่ตั้งของโรงงานผลิตว่าอยู่ประเทศไหน

แล้วการทำแบรนด์แบบ Brooo โดยคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมันเป็นยังไง

ธนพงศ์ : ช่วงแรกๆ สิ่งที่เราทำคือการสื่อสารว่า performance sock มันคืออะไร มันมีฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากถุงเท้าทั่วไปยังไงบ้าง ที่สำคัญ เราพยายามบอกว่าถุงเท้ามันคือ ‘Little Big Thing’ คือมันอาจเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องแต่งกายในการวิ่ง แต่มันก็เป็นส่วนสำคัญทั้งในแง่การป้องกันอาการบาดเจ็บ หรือระบุถึงแฟชั่นและตัวตนของผู้สวมใส่ 

เราเลยพยายามตะโกนบอกสิ่งนี้ออกไปในวงกว้าง พร้อมทั้งออกสินค้าชิ้นแรกๆ ที่มีสีสันเหมาะกับรองเท้าวิ่งในตอนนั้น คือเราทำกันถึงขนาดที่ไปดูว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือนจะมีรองเท้าสีไหน แบบใด ออกมาบ้าง เพื่อที่จะได้ทำถุงเท้าที่มันสามารถใส่กับรองเท้าพวกนั้นได้ 

คุณโฟกัสไปที่นักวิ่งเลยใช่ไหม 

ธนพงศ์ : ที่จริงหนึ่งในแผนของเราคือทำให้ Brooo เป็นถุงเท้าที่ใส่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ตอนวิ่ง เพราะพวกผมสองคนก็เป็นคนชอบแต่งตัวอยู่แล้ว เลยอยากใส่ถุงเท้าของตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นเราให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบถุงเท้าให้ทั้งใส่วิ่งได้ ใส่ในวันสบายๆ ได้ รวมถึงมันต้องมีความฉูดฉาดที่กำลังพอดี สามารถใส่ในสถานการณ์อื่นๆ ได้

ถุงเท้าของเรามันเลยกลายเป็น function & fashion ในเวลาเดียวกัน  

แล้วนิยามเสื้อกีฬา และถุงเท้ากีฬาที่ดีของพวกคุณเป็นแบบไหน

กษิดิศ : แน่นอนว่ามันคือเรื่องประสิทธิภาพในการวิ่ง แต่ถ้าให้ตอบโจทย์กับทุกคน ผมว่าคำหนึ่งที่จะสรุปได้ชัดเจนคือ ใส่แล้วต้องมั่นใจ ทั้งในการวิ่ง นำเสนอตัวตน รวมถึงการซัพพอร์ตเท้าของเราทุกคน 

ธนพงศ์ : ผมเชื่อว่าสินค้าที่ดีไม่มีวันตาย ถ้าวัสดุดี การออกแบบดี แพ็กเกจจิ้งดี การจัดส่งดี การถูกนำเอาไปใช้ที่ดี ทั้งถุงเท้าและตัวแบรนด์นั้นก็จะดี

มองว่าแบรนด์กีฬาประเทศไทยสามารถสู้แบรนด์ต่างชาติในระดับโลกได้หรือยัง

ธนพงศ์ : เรื่องนี้น่าสนใจ คือสิ่งหนึ่งที่เราทำในช่วงแรกคือ การไม่เคยประกาศว่านี่คือแบรนด์ไทย เพราะผมไม่อยากให้เกิดการตั้งแง่กับแบรนด์ไทย ผมเลยทำแบบนี้เพราะอยากรู้ว่าถ้าไม่มีเงื่อนไขของคำว่าแบรนด์ไทย แล้วทำของที่มีคุณภาพ คนจะยอมรับสินค้าชิ้นนี้ไหม 

ส่วนเหตุผลที่ราคาต้องสูงขนาดนี้ เพราะพวกเราทำชาร์ตออกมาจนเห็นแล้วว่า ราคาถุงเท้าในตลาดโลกมันเท่าไหร่ เราเลยตั้งราคาเอาไว้ที่ตรงนั้น เราอยากให้คนมองว่าเป็น global brand เราฝันใหญ่ไว้ก่อน แต่ถ้าตกม้าตายก็อย่าว่ากันนะ (หัวเราะ)

สำหรับแบรนด์เล็กที่เพิ่งก่อตั้ง มีวิธีหาตลาดหรือกลุ่มลูกค้ายังไงบ้าง 

ธนพงศ์ : มีรุ่นพี่ที่ผมเคารพรักคนหนึ่งเขาบอกว่า เฟียตรู้ไหมว่าคนที่วิ่งหรือออกกำลังกายในประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งหมดมันคือ 10-20 ล้านคน แต่ผมไม่ขอทั้งหมด ผมขอ 0.01 ของประเทศนี้ก็ได้ ซึ่งก็คือหนึ่งแสนถึงสองแสนคน ซึ่งถ้าหนึ่งแสนคนนี้ มันมีอีกในประเทศอื่นๆ ล่ะ เป็นหนึ่งแสนในไทย แสนในสิงคโปร์ แสนในมาเลเซีย 

ถ้าเราปักแนวคิดแบบนี้ ก็จะเห็นว่ามีถุงเท้าอีกแสนคู่ มันก็จะมีถุงเท้าอีกห้าแสนคู่ มันมีถุงเท้าอีกร่วมล้านคู่ที่คนรอใส่อยู่ ถ้าคิดแบบนี้ เราจะไม่ตั้งคำถามว่าคนไทยจะใช้ของไทยไหม เพราะเราได้คำตอบแล้วว่า ไม่ว่าชาติไหนเราจะมีกลุ่มลูกค้าในแบบของเราอยู่ในทุกประเทศ

แสดงว่า Brooo เริ่มมองหากลุ่มลูกค้าในต่างประเทศบ้างแล้ว

ธนพงศ์ : ตอนนี้เรามีจัดจำหน่ายในต่างประเทศคือมาเลเซีย และสิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังหวังว่าจะได้ไปลุยตลาดในยุโรปด้วย เพราะปีที่ผ่านมาพวกเรามีโอกาสไปเมืองชาโมนิกซ์-มงบล็อง ในการแข่งขัน UTMB World Series Finals ก็ได้ไปเปิดบูทขายสินค้า หลังจากจบงานเราก็ไปกันตามร้านรีเทลต่างๆ ทั้งในเมืองชาโมนิกซ์และปารีส ซึ่งอยู่ในช่วงมหกรรมโอลิมปิกและพาราลิมปิก ด้วยวิธี door-to-door sales เลย เพราะอยากแนะนำตัวให้กับคนวิ่งและวิ่งเทรลฝั่งยุโรปใด้รู้จัก 

เราก็เอาของทุกอย่างใส่กระเป๋าสีม่วง แล้วเดินไปทุกร้านที่ขายสินค้ากีฬา และแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร แล้วก็บอกว่าขอโอกาสแนะนำสินค้าของเรา ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าในเมื่อได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว โอกาสมันมาถึงแล้ว ถ้าไม่ทำตอนนี้เราจะทำตอนไหน  

แล้วหลังจากนี้คุณมีเป้าหมายอื่นๆ อีกไหม

ธนพงศ์ : อันดับแรกคือเราอยากตีตลาดโกลบอล และอยากเสนอความเป็นไทยให้คนต่างชาติเห็น ที่สำคัญคือหมุดหมายหลังจากนี้คือ LA28 หรือมหกรรมโอลิมปิกปี 2028 ที่หากเป็นไปได้เราอยากสนับสนุนนักกีฬาวิ่งทีมชาติไทย อย่างน้อยขอในกีฬาที่เกี่ยวกับการวิ่งเทรลก็ยังดี 

รวมถึงอยากมีแฟล็กชิปสโตร์ในประเทศใหญ่ๆ ของโลก มี BroooAthlete หรือทีมนักกีฬาเป็นของตัวเอง เพราะแน่นอนว่านักกีฬามันเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด การที่แบรนด์เราไปปรากฏบนโพเดียมหรือในสื่อต่างๆ แต่ที่อยากเสริมคือ เราอยากสนับสนุนคนที่มีความสามารถในวงการวิ่งแต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนั้น เราก็อยากช่วยผลักดันเขา 

รวมถึงด้านการพัฒนาสินค้าเช่นกัน เพราะหลังจากนี้ หากอนาคตผมไม่ได้เป็นนักวิ่งสายเพอร์ฟอร์แมนซ์อีกแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นคนมาร่วมพัฒนาสินค้ากับ Brooo ต่อไป

What I’ve Learned
1. ธนพงศ์ : ผมว่าการทำธุรกิจมันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญ’ ให้ชัดเจนตั้งแต่วันแรก เพราะการทำธุรกิจที่มีผู้ก่อตั้งมากกว่า 1 คน ยังไงมันต้องปะทะกัน มันต้องมีปัญหากันแน่นอน มันเหมือนการที่เราอยู่บนสนามมวย แต่คู่ต่อสู้อยู่ฝั่งเดียวกับเรานะ แปลว่าเมื่อไหร่ที่กระดิ่งดัง เราต้องวางทุกอย่าง

2. กษิดิศ : ผมว่าการทำธุรกิจ เราต้องรู้จักถ่อมตนเข้าไว้ คืออย่าไปหยิ่งผยอง จองหอง เฟี้ยวไม่เฟี้ยว มันออกมาที่สินค้า ออกมาที่ผลงาน ที่สำคัญต้องเป็นคนรับฟังความเห็น ที่สำคัญคือเราต้องค่อยๆ ไป รู้จังหวะของตัวเอง มีแผนไว้เสมอ แต่อย่าไปกดดันว่าจะได้ไม่ได้ อย่างน้อยถ้าผิดพลาดก็ได้เรียนรู้ และวางแผนก้าวต่อไป

ฟังดนตรีกลางขุนเขาที่ ‘Farm Festival on The Hill 2024’ คอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

ลมหนาวเริ่มทักทาย ไม่ผิดสัญญาหน้าหนาวที่กรมอุตุฯ ว่าไว้ อากาศแบบนี้ ถ้าไม่กินหมูกระทะ การฟังดนตรีท่ามกลางขุนเขาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี​ เหมือนกับที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ตั้งใจจัด Farm Festival On The Hill (ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะ ฮิลล์) ครั้งที่ 11 ในวันที่ 4-8 ธันวาคมนี้

Farm Festival On The Hill (ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะ ฮิลล์)

Farm Festival On The Hill  ถือเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือก็ว่าได้ ทั้งยังเป็นเทศกาลประจำฤดูกาลท่องเที่ยวของเชียงรายที่นักท่องเที่ยวนิยมปักหมุดมากที่สุด งานนี้จัดกัน 5 วัน 5 คืน พร้อมทัพศิลปินชื่อดัง และ 5 ธีมดนตรีที่พร้อมเอาใจทุกเจนฯไม่ว่าจะ Taitosmith, D GERRARD, แหลม สมพล และ Max Jenmana, Lomosonic, Retrospect, Silly Fools, POK MINDSET, F.HERO, JSPKK  นอกจากนี้ภายในงานยังมี ‘On The Beach’ ที่เหมือนยกทะเลมาไว้ภาคเหนือ ทั้งยังมีลานกิจกรรมริมน้ำที่รายล้อมด้วยซุ้มอาหารชื่อดังกว่า 50 ร้านจากทั่วประเทศ รวมถึงมีกิจกรรมอีกมากที่พร้อมรับคนทุกเจนฯ

รายชื่อศิลปิน Farm Festival On The Hill (ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะ ฮิลล์)

งานนี้เปิดจำหน่ายบัตรเข้างานวันละ 180 บาท สามารถซื้อทางออนไลน์ที่ ticket.eventpass.co/t/farmfestonthehill24 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Singha Park Chiang Rai 

หมอไหน’ แคมเปญการตลาด ‘THE KLINIQUE’ ครั้งแรกของวงการที่ใช้ Music Marketing 

พักหลังมานี้กลยุทธ์ Music Markeing ได้รับความนิยมในแทบทุกแวดวงธุรกิจ ด้วยเป็นกลวิธีที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ และสร้างความรับรู้ได้ง่าย แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนในอุตสาหกรรมคลินิกความงามที่ใช้กลยุทธ์นี้ กระทั่ง THE KLINIQUE ร่วมกับ Warner Music Thailand  ปล่อยเพลง ‘หมอไหน’ เพื่อรับการเติบโตของอุตสาหกรรมคลินิกความงามในไทยที่เป็นศูนย์กลางการแพทย์ความงามของเอเชีย 

Training ทีมแพทย์เดอะคลีนิกค์

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของประเทศไทยปี 2566 มีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท และ SCB EIC ยังคาดว่ามูลค่าธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยจะเติบโตราว 10% CAGR ในช่วงปี 2022-2030 ขณะที่ THE KLINIQUE เติบโตมากกว่า 2-3 เท่าของอุตสาหกรรม ถือเป็นการเติบโตสวนกระแส

จากข้อมูลของ SCB EIC ยังพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจในการทำหัตถการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนฯ Z และ LGBTQIA+ ผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมส่วนใหญ่ยังคงทำศัลยกรรมมากกว่า 1 ประเภท คิดเป็น 65% ของผู้ที่เคยทำศัลยกรรม ทั้งการทำศัลยกรรมจมูกและดวงตายังเป็นที่นิยมสูงสุด 

ด้วยเทรนด์หัตถการที่มาแรง ประกอบกับข้อมูลจาก THE KLINIQUE ที่พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมั่นใจและกล้าเปิดเผยว่าเข้ารับบริการหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงามมากขึ้น ทั้งยังพร้อมแชร์อย่างภูมิใจว่าตนเองดูแลตัวเองยังไงบ้าง THE KLINIQUE จึงใช้กลยุทธ์ ‘Proud to be New’ ที่หลอมรวมมุมมองเชิงบวกของผู้บริโภคที่มีต่อการศัลยกรรมความงาม เข้ากับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดเป็นแคมเปญ ‘หมอไหน’ เพื่อสื่อสารว่า การทำศัลยกรรมเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ ไม่ใช่จะทำกับหมอที่ไหนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของหมอผู้ชำนาญการเฉพาะเท่านั้น  

หนึ่งในไฮไลต์ของแคมเปญนี้คือบทเพลงและมิวสิกวิดีโอ ‘หมอไหน’ ที่ขับร้องโดยน้ำชา ชีรณัฐ Feat. นัท นิสามณี อินไซต์ที่น่าสนใจคือชื่อว่าหมอไหน ยังมาจากคำค้นหาที่ติดอันดับสูงสุดทางอินเทอร์เน็ตในเรื่องการทำหัตถการและศัลยกรรม 

นอกจากบทเพลงหมอไหน ในปี 2567 ที่ผ่านมา THE KLINIQUE ยังขยายสาขาใหม่เพิ่ม 20 สาขา พัฒนานวัตกรรมความงาม เน้นการตลาดและการสื่อสารแบบ omnichannel ทั้งยังเน้นการพัฒนาด้านบริการให้มีความเฉพาะ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย 

ทั้งบทเพลงที่ติดหู ประกอบกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ครอบคลุมของ THE KLINIQUE ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีของการทำธุรกิจความงามของไทยให้มีความน่าเชื่อถือจนเอาชนะใจผู้บริโภคได้

สูตรการสร้างแบรนด์ความง่ายสไตล์กรุงศรี

คนไทย อะไรก็ได้, คนไทยเป็นคนง่ายๆ–หลายคนน่าจะเคยได้ยินได้ฟังประโยคที่ว่าอยู่เสมอๆ แต่อาจไม่เคยฉุกคิดว่าไอ้คำว่า ‘ง่าย’ ที่ว่านี้ ง่ายจริงแค่ไหน หรือมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เช่น เมนูไข่ดาว ที่ดูเป็นเมนูง่ายๆ แค่ตอกไข่ลงในกระทะ แล้วโปะกับข้าวสวยร้อนๆ แต่ในความง่ายก็อาจมีดีเทลมากมายซ่อนอยู่ 

อย่างไข่ดาวในดวงใจของแต่ละคนก็ยังต่างกันไป บางคนชอบไข่ดาวแบบไทยๆ ที่ไข่ขาวกรอบเกรียม บางคนชอบไข่ดาวแบบฝรั่ง ทอดกับเนยเท่านั้น บางคนยังชอบไข่ดาวน้ำ เพราะต้องการลดไขมัน บางคนเลือกเก็บไข่แดงไว้ทีหลัง เพราะเป็นส่วนที่ชอบที่สุด ถ้าคุณลุงคุณป้าร้านขายอาหารจำเมนูไข่ดาวแบบที่เราชอบได้ เชื่อว่าหลายคนคงกลายเป็นลูกค้าขาประจำของร้านนั้นไป 

เพราะอยากเป็นคนรู้ใจที่ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้นเหมือนกับที่ร้านโปรดรู้เมนูประจำของเราทันทีโดยไม่ต้องปริปาก กรุงศรีจึงศึกษาจนเข้าใจความต้องการของคนไทย ว่าภายใต้ความง่ายนั้นยังมีเงื่อนไขที่ต่างกันไป จนทำให้กรุงศรีออกโซลูชันและบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการคนไทยได้ครอบคลุม พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้ทัชใจคนรุ่นใหม่และลูกค้าทุกกลุ่ม 

มากไปกว่านั้น กรุงศรียังออกเป็นแคมเปญโฆษณาสุดสร้างสรรค์ว่าด้วยเรื่องของความง่ายในหลากหลายมิติและในแคมเปญล่าสุดคือ ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’ ซึ่งหยิบเอาเรื่องราวของไข่ดาวมาเล่าเทียบกับความต้องการที่หลากหลายของคน ก็กวาดยอดวิวไปได้กว่า 10 ล้านวิว ภายใน 4 สัปดาห์ แต่กว่าแคมเปญโฆษณาชิ้นล่าสุดนี้จะไวรัลขนาดนี้ กว่าภาพลักษณ์ของกรุงศรีจะเป็น Champion of Simplicity ได้ กรุงศรีต้องใช้เวลาและผ่านการปรับขยับองค์กรไม่น้อย 

Capital List ครั้งนี้จึงจะพาไป crack สูตรการสร้างแบรนด์ความง่ายที่ไม่ง่ายของกรุงศรี ว่าทำอย่างไรถึงเอาชนะใจผู้บริโภคได้ และกลายเป็น Champion of Simplicity ในที่สุด และเพื่ออรรถรสในการอ่าน ขอชวนไปชมแคมเปญโฆษณา ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’ ที่ https://youtu.be/iA2_LLg4Iqk

Brand of Simplicity Cookbook

1. Make Life Simple ‘ความง่าย’  คือ หัวใจ ตั้งแต่ ‘เรื่องเงิน เรื่องง่าย’ จนถึง ‘ชีวิตง่าย ได้ทุกวัน’

การเงินเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ให้ความสนใจไม่น้อย เพราะดั่งคำที่หลายคนกล่าวไว้ว่าการเงินดี ชีวิตย่อมดีตาม แต่หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ณ ตอนนั้นความรู้เรื่องการเงินดูซับซ้อนเกินกว่าคนทั่วไปจะเรียนรู้

ดังเช่นคำกล่าวว่าหากการเงินดี ชีวิตเราย่อมดีไปด้วย กรุงศรีจึงเป็นธนาคารแรกๆ ที่บุกเบิกสร้างความแตกต่าง ด้วยการทำให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย 

ในปี 2011 กรุงศรีปรับภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทัชใจคนเจนฯ ใหม่ เน้นสื่อสารแท็กไลน์ ‘เรื่องเงิน เรื่องง่าย’ หรือ ‘Make Life Simple’ พร้อมกับออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ทำให้คนทั่วไปบริหารจัดการการเงินได้ง่ายขึ้นและในปี 2023 กรุงศรีได้ต่อยอด ‘ความง่าย’ ด้วยคำมั่นสัญญาและแท็กไลน์ใหม่ที่ว่า ‘ชีวิตง่าย ได้ทุกวัน’ เพื่อส่งมอบความง่ายผ่านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง 

2. Inside-out Strategy กลยุทธ์สร้างความง่ายจากภายในที่ให้ความสำคัญกับบุคลากร 

มากไปกว่าการทำแคมเปญหรือออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แล้ว กรุงศรียังมองว่าการสร้างแบรนด์แห่งความง่ายให้สำเร็จต้องเริ่มต้นจากภายในองค์กรหรือก็คือพนักงานเสียก่อน เหมือนกับการทำกับข้าวหรือไข่ดาวที่ต้องเริ่มจากวัตถุดิบที่ดี

โดยกรุงศรีมีแนวทาง 3Cs หรือ Cultural Pillars ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่กรุงศรีใช้สร้างวัฒนธรรมองค์กรจนบ่มเพาะพนักงานให้เข้าใจลูกค้าและมองเห็นความต้องการที่แตกต่างได้ ได้แก่ ‘CARE’ กรุงศรีสร้างวัฒนธรรมที่ห่วงใย รับฟังอย่างเข้าใจ ให้ความสำคัญกับ work-life balance กรุงศรียังมี KARE Application หรือ Employee Ecosystem ที่รวมทุกบริการที่พนักงานต้องการไว้ในที่เดียว ทำให้พนักงานเข้าใจว่าความง่ายนั้นดีกับชีวิตอย่างไร เพื่อส่งมอบความง่ายกลับคืนไปให้ลูกค้า 

C ต่อมาคือ COMMUNICATE กรุงศรีเน้นการสื่อสารที่ชัดเจน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรได้ พนักงานทุกคนจะได้ตอบแบบสำรวจผ่าน Voice of Krungsri (VOK) เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาองค์กรต่อไป

และสุดท้ายคือ COACH ที่เน้นสร้างหัวหน้างานในฐานะโค้ชที่สนับสนุนการเติบโตในหน้าที่การงานและจิตใจของพนักงาน กรุงศรีจึงมีโปรแกรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้หมุนเวียนตำแหน่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีหน่วยงาน Krungsri AI ที่ผลักดันการพัฒนา AI, Machine Learning และ Data Analytics เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและองค์กร

3. Data-Driven ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจนลงลึกว่าความง่ายมีสเปกตรัม 

ข้อมูลคือพระเจ้าคงไม่เกินจริงนักในยุคสมัยที่โลกหมุนรวดเร็ว กรุงศรีจึงยึดหลัก data-driven หรือการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติด้วยข้อมูล แทนที่จะมุ่งนำเสนอสิ่งที่กรุงศรีต้องการ กรุงศรีตั้งต้นจากการทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย

กรุงศรีทำ social listening และสำรวจไลฟ์สไตล์ผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้กรุงศรีมีดาต้ามากพอที่จะเข้าใจว่าที่จริงแล้ว คำกล่าวที่ว่าคนไทยอะไรก็ได้ หรือคนไทยเป็นคนง่ายๆ นั้น เบื้องลึกเบื้องหลังกลับเป็นความง่ายที่มีดีเทลที่แตกต่างกันออกไป

จากการสำรวจข้อมูล พบว่ากว่า 32% ของผู้บริโภคมองว่าความง่ายคือของที่แพงแต่ดี แต่ 14% มองว่าความง่ายต้องดีต่อโลกอย่างจริงจัง แต่ 10% มองว่าความง่ายคือความคุ้มค่า ฯลฯ เมื่อความง่ายมีสเปกตรัม ผลิตภัณฑ์และบริการของกรุงศรีจึงต้องมีหลายเฉดเพื่อตอบโจทย์คนได้ทุกกลุ่ม

4. Human-Centric Innovations ออกนวัตกรรมหลากหลายความง่าย ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้เป็นสำคัญ

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด กรุงศรีจึงใช้หลัก human centricity หรือหลักที่เอาความต้องการของผู้บริโภคมาเป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันใหม่ๆ ให้ชีวิตลูกค้าแต่ละกลุ่มนั้นง่ายขึ้น

กรุงศรีมีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ทุกคนมีชีวิตง่ายได้ทุกวัน เช่น แอปฯ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้อย่าง krungsri app ที่เน้นเรื่องการทำธุรกรรมโอน-จ่าย-เติม, แอปฯ ที่คนเจนฯ ใหม่ฝึกออมเงินชื่นชอบจนกลายเป็นไวรัลอย่าง Kept หรือจะเป็นแอปฯ สำหรับผู้ประกอบการอย่าง Krungsri Biz Online ที่ช่วยให้ธุรกรรมการเงินของคนทำธุรกิจคล่องตัว ฯลฯ

กรุงศรี กรุ๊ป ยังมีบริษัทย่อย บริษัทร่วมค้า และบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัทที่ให้โซลูชันทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุม ทั้งธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฯลฯ และมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศไทย ด้วยสาขาธนาคารกว่า 600 สาขา และช่องทางการขายกว่า 32,000 แห่ง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความง่ายทางการเงินให้มากที่สุด 

5. Champion of Simplicity สร้างแบรนด์แห่งความง่ายอย่างยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้นำแบรนด์แห่งความง่ายของกรุงศรีนั้นยังสร้างขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง

หนึ่ง–ความง่ายที่ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง กรุงศรีสร้างแบรนด์แห่งความง่ายในทุกมิติอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2011 ผ่านการสร้างแคมเปญโฆษณา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

สอง–ความง่ายที่สร้างความยั่งยืน กรุงศรีเน้นสร้างองค์ความรู้ทางการเงินมากกว่าการขายหรือสื่อสารเพื่อเอายอดเพียงอย่างเดียว กรุงศรียังเน้นการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือ responsible lending เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน  

สาม–ความง่ายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างการที่กรุงศรีเป็นธนาคารแรกๆ ที่มีสินเชื่อบ้านคู่เพื่อนตั้งแต่ปี 2021 ก่อนที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน กรุงศรียังสอดแทรกเรื่องความหลากหลายในสื่อที่สร้างสรรค์ เช่น เรื่องราวของคู่รักชายในโฆษณาปี 2019

กรุงศรียังเป็นธนาคารแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ออกพันธบัตร Women Entrepreneurs Bonds เพื่อผู้ประกอบการหญิง หรือแม้แต่ในช่วงที่อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล กรุงศรียังจริงจังกับการพัฒนาช่องทางดิจิทัล โดยไม่ละทิ้งการขยายการบริการหน้าสาขา เพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงโซลูชันทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายและครอบคลุม

6. 360° Marketing Campaign สร้างสรรค์แคมเปญความง่ายอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุม  

หลังการ Brand Refresh และเปลี่ยนแท็กไลน์ในปี 2023 กรุงศรีพบข้อมูลที่น่าสนใจว่ากว่า 82% ของลูกค้าใหม่ เป็นกลุ่มคนอายุ 15-35 ปี, 73% ของผู้บริโภคมีอายุที่ 18-22 ปี และ 67% ของผู้บริโภคอายุ 23-29 ปี จดจำแท็กไลน์ใหม่ได้ นอกจากนั้นการรับรู้แบรนด์กรุงศรียังอยู่ที่ 62% ทีเดียว

เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้มาจากการสร้างสรรค์สารพัดแคมเปญอย่างสม่ำเสมอ ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออนกราวนด์ ในช่องทางออนกราวนด์ กรุงศรีใช้กลยุทธ์ moment planning หรือการตลาดผ่านโมเมนต์สำคัญโดยเน้นที่เทศกาลดนตรีและศิลปะที่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นให้ความสนใจ อย่างการเป็นธนาคารแรกๆ ที่เข้าร่วมใน Bangkok Design Week 2023 หรือจะเป็นการสร้าง excited activities อย่างการเซอร์ไพรส์แจกตั๋วรถไฟฟ้าให้ผู้ร่วมคอนเสิร์ต

ในช่องทางออนไลน์ กรุงศรีเน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์ต่อผู้คน เช่น การให้ความรู้ด้านการเงินผ่านรายการ Krungsri The COACH มาอย่างยาวนานสม่ำเสมอ รวมไปถึงแคมเปญโฆษณาต่างๆ ที่แม้แต่ละปีจะนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมเดียวกันคือการสื่อสารว่าความง่าย=กรุงศรี

อย่างโฆษณาที่ฉายในปี 2023 ก็กวาดยอดวิวไปกว่า 17 ล้านวิว (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2024) เนื้อเรื่องสื่อสารว่าเพื่อให้ทุกคนเข้าใกล้ความฝันได้ง่ายขึ้น กรุงศรีจึงส่งมอบบริการทางเงินที่ง่ายและรวดเร็วให้ทุกวินาทีของผู้บริโภคนั้นผ่านไปอย่างคุ้มค่า และสามารถใช้เวลากับเรื่องที่สำคัญของตัวเอง ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องความง่ายผ่านมิติของ ‘เวลา’

7. The Theory of Fried Egg จากอินไซต์คนไทย สู่แคมเปญ ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’  

ปี 2024 นี้กรุงศรีนำเสนอความง่ายผ่านโฆษณาตัวใหม่ ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’ คีย์สำคัญคือการหยิบเอาอินไซต์คนไทยที่จริงจังกับเรื่องอาหารมาเป็นแกนหลัก จากนั้นจึงใช้ The Theory of Fried Egg หรือทฤษฎีไข่ดาวมาสื่อสารว่าแม้คนไทยจะบอกว่าตนเองเป็นคนง่ายๆ แต่ภายใต้ความง่ายก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เหมือนกับไข่ดาวที่เป็นเมนูง่ายๆ แต่ไข่ดาวในดวงใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน 

หากเปรียบตัวละครในหนังกับโลกความเป็นจริง กรุงศรีเป็นดั่งพ่อครัวสุดรู้ใจที่ศึกษาความชอบของลูกค้าอย่างลงลึก เพื่อทำไข่ดาวหรือโซลูชันและบริการต่างๆ ให้ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่ม นอกจากการเปรียบเปรยที่ง่าย เข้าใจได้ทันที แถมยังสื่อสารได้ครบถ้วนแล้วนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามู้ดแอนด์โทนที่เป็นมิตร การเล่าเรื่องที่อบอุ่นแต่แฝงความตลก รวมไปถึงการแคสต์นักแสดงได้ออกมาลงตัว โดยเฉพาะบทบาทพ่อแสนใจดี และลูกสาวช่างสงสัย ผสมผสานให้โฆษณานี้กินใจและกลมกล่อม

ถึงโฆษณาจะปล่อยไปเพียงไม่นานแต่ก็คว้ายอดวิวไปกว่า 10 ล้านวิว และได้รับเสียงชื่นชมมากมายว่าเป็นโฆษณาที่จริงใจและกินใจผู้ชมอย่างมาก ไม่แปลกใจเลยหากโฆษณา ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’ จะสร้างยอดวิวถล่มทลายอีกครั้ง คือคว้าไปกว่า 10 ล้านวิว ภายใน 4 สัปดาห์

ทั้งหมดนี้คือสูตรการสร้างแบรนด์ความง่ายที่ไม่ง่าย แต่กรุงศรีสามารถ crack สูตรที่ว่าออกมาได้ ด้วยความใส่ใจและยึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่แปลกใจหากนึกถึงการเงินที่ง่าย ชื่อของธนาคารกรุงศรีจะเป็นชื่อแรกๆ ที่ผู้บริโภคนึกถึง

ส่วนใครยังไม่ได้รับชมโฆษณา ‘ชีวิตที่อยากได้ ไม่เหมือนกัน’ อย่าลืมไปรับชมกันที่

จะได้คุยกับทุกคนรู้เรื่อง!