มีร้านอะไรในเอ็มวี ROCKSTAR บ้าง? เมื่อร้านรวงย่านเยาวราชได้ไทอินในเอ็มวี LISA

ใครที่เคยผ่านไปผ่านมาในย่านเยาวราช น่าจะคุ้นชินกับภาพบรรดานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ออกมาเดินถ่ายรูป พลางแวะชิมสตรีทฟู้ดจนแน่นขนัดเต็มสองฟากฝั่ง สมกับตำแหน่ง ‘ถนนคนเดิน’ ที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยการจัดอันดับของนิตยสาร Time Out เมื่อปี 2565

แต่จากบรรยากาศคึกคักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งคึกคักจนลุกเป็นไฟ หลัง ‘LISA’ หรือลลิษา มโนบาล ปล่อยซิงเกิล ‘ROCKSTAR’ ในฐานะศิลปินเดี่ยวจากค่าย LLOUD ที่ในมิวสิกวิดีโอช่วงต้นมีการใช้โลเคชั่นยามค่ำคืนของถนนเยาวราช ใกล้กับบริเวณแยกเฉลิมบุรี เป็นจุดถ่ายทำ

ซีนดังกล่าวนอกจากท่วงท่าลีลาการเต้นและภาพลักษณ์สุดเท่ของ LISA ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นร็อกสตาร์หัวขบถและไซเบอร์พังค์ล้ำยุค ยังมีอีกหนึ่งจุดโดดเด่นที่เป็นภาพจำของมิวสิกวิดีโอ นั่นคือบรรดาป้ายไฟนีออนทั้งตัวอักษรแบบภาษาจีนและภาษาไทย ซึ่งเป็นป้ายของร้านรวงเก่าแก่ที่อยู่คู่ถนนเยาวราชมาช้านาน ทั้งร้านทอง ร้านหูฉลามรังนก ร้านขายยาสมุนไพร โรงแรม ภัตตาคาร ฯลฯ เรียกว่าจับพลัดจับผลูได้ซีนไทอินที่ปกติมีมูลค่ามหาศาล ถึงขั้นที่โลกโซเชียลฯ เริ่มมีการตั้งกระทู้ตามรอยร้านค้าเหล่านี้บ้างแล้ว

ถึงตรงนี้ ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาต้นทางหรือหยุดดูทีละซีนให้เหนื่อยเปล่า เพราะ Recap ตอนนี้ อาสารวบรวมร้านค้าต่างๆ ในย่านเยาวราชที่ปรากฏอยู่ในมิวสิกวิดีโอ ROCKSTAR มาฝากชาว Capital ทันท่วงที

1. ห้างทองโซวเซ่งเฮง

น่าจะเป็นร้านค้าที่ได้ซีนเยอะที่สุดแล้วในมิวสิกวิดีโอ ROCKSTAR (โดยเฉพาะช่วงวินาทีที่ 0:25) สำหรับโซวเซ่งเฮงถือเป็นร้านทองที่อยู่คู่คนเยาวราชมากว่า 50 ปี จำหน่ายทั้งทองรูปพรรณและทองคำแท่ง เรียกว่าเป็นร้านที่ผู้คนเข้าออกหัวกระไดไม่แห้ง ยิ่งในยามที่ผู้คนหาซื้อทองคำเป็นของขวัญรับช่วงเวลามงคล เช่น ตรุษจีน ปีใหม่ หรือรับขวัญเด็กแรกเกิด

2. เท็กซัสสุกี้

ร้านสุกี้ระดับตำนานที่ใครแวะมาย่านเยาวราชต้องลองชิมสักครั้ง เพราะที่นี่คือสาขาต้นตำรับที่เปิดมายาวนานกว่า 40 ปี น่าสนใจคือร้านมีดีมากกว่าแค่เมนูสุกี้ แต่ยังมีเป็ดย่าง หมี่ผัด และติ่มซำให้ได้ลิ้มลองกันในราคาสบายกระเป๋า 

ส่วนถ้าถามว่า ตำนานระดับไหน ก็ถึงขั้นที่คนแถวนี้ขนานนามชื่อซอยซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านจาก ‘ซอยผดุงด้าว’ เป็น ‘ซอยเท็กซัส’ และเรียกกันจนชินปากมาจนถึงปัจจุบัน

3. สุราเชียงชุนซัวเถา (ร้านดีไทย สุราจีน)

ร้านค้าสุราจีนเก่าแก่ประจำย่านเยาวราช ที่ต่อให้ย่านเยาวราชจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่ร้านสุราร้านนี้ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายกาลเวลา เหมือนสุราในไหที่หมักบ่มจนรสชาติได้ที่ ใครที่อยากไปตามรอยสังเกตไม่ยาก เพราะร้านมีจุดสังเกตชัดเจน คือป้ายไฟสีเหลืองด้านบนเขียนตัวอักษรภาษาไทยสีแดงว่า ‘สุราเชียงชุนซัวเถา’

4. ภัตตาคารหูฉลาม ไชน่าทาวน์สกาล่า

ภัตตาคารอาหารจีนชื่อดังที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2494 กับเมนูขึ้นชื่อประจำร้านอย่างหูฉลามน้ำแดงและรังนก โดยเป็นร้านที่ชาวต่างชาติมักแวะเวียนมาใช้บริการเป็นประจำ เหมือนที่ครั้งหนึ่งซูเปอร์สตาร์จากเกาหลีใต้ ซง จุงกิ ชักชวน ซอง ซีคยอง และ PSY มาร่วมโต๊ะ

5. นำซิง รังนก

ร้านขายรังนกต้นตำรับจากจีน ที่ห่างไปไม่ไกลจากร้านเท็กซัสสุกี้ ร้านนี้เปิดดึกถึงเวลา 02:00 น. มีเมนูของหวานน่าสนใจ เช่น รังนกนมสด รังนกในลูกมะพร้าว และรังนกแดงในนมอัลมอนด์

6. รุ่งทรัพย์การท่องเที่ยว (Roongsarp Travel Service)

หากสังเกตบริเวณมุมขวามือในช่วงวินาทีที่ 06:00 จะเห็นป้ายสีฟ้าโดดเด่นต่างจากป้ายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นโทนสีเหลืองหรือแดง ป้ายดังกล่าวเป็นของรุ่งทรัพย์การท่องเที่ยว บริษัททัวร์ต่างประเทศครบวงจร ที่เปรียบเสมือนหน้าด่านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่มีหมุดหมายมายังประเทศไทย พร้อมกับเปิดให้บริการคนไทยที่สนใจอยากเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวต่างแดนด้วยเช่นกัน ใครที่สนใจอยากโกอินเตอร์ลองอินบอกซ์ไปถามได้เลย

7. ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ 

ในนาทีที่ 0:29 ถ้าใครตาไวอาจจะเห็นร้านห้างใบชาอายุอานาม 108 ปี ที่ทาง Capital เคยมีโอกาสพูดคุยด้วย ปัจจุบันดำเนินกิจการโดย แมค–วัชรพงศ์ เหลืองอรุณศิริ และออย–ณภัทชา ภามโนดมผล ทายาทรุ่นที่ 5 สำหรับห้างใบชาเก่าแก่แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์เคียงคู่กันมากับย่านเยาวราช ในฐานะร้านค้าของชาวจีนอพยพที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าใบชาตราสิงห์ม้า ที่มาพร้อมกับศาสตร์การอบใบชาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากร้านค้าต่างๆ ที่ปรากฏผ่านป้ายไฟในมิวสิกวิดีโอ ROCKSTAR ก็ยังมีร้านอื่นๆ อีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ป้ายอาจไม่ถูกโฟกัสชัดเจนหรือบางร้านก็ไม่มีป้าย เช่น ร้านขายยาสมุนไพรจีน ลิ้มซุ่นเฮง, โรงแรมรอยัล บางกอก ไชน่า ทาวน์ หรือจะเป็นร้านเจ๊เล็ก ซีฟู้ด ที่ถูกบัญญัติให้เป็นร้านสตรีทฟู้ดเบอร์ต้นของถนนเยาวราช ส่วนใครอยากจะแวะเที่ยวตรงไหนก่อนก็สามารถวางแผนเดินเท้าได้เลย เราแนะนำว่าให้โดยสารผ่านรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีวัดมังกร ทางออกประตูถนนแปลงนามจะใกล้สุด

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและคาดว่าน่าจะถูกพูดถึงในอนาคตมากกว่านี้ คือการจัดการสถานที่แลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ ที่ช่วงหลังมักกลายเป็นโลเคชั่นถ่ายทำของกองถ่ายทั้งมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์ อ้างอิงจากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว (Department of Tourism) ที่ประเทศไทยได้รายได้จากการเข้ามาถ่ายทำของชาวต่างชาติถึงปีละ 3,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องลงมือทำต่อ หากต้องการยกระดับสถานที่เหล่านี้ให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงๆ จังๆ คือการบริหารจัดการความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกของผู้คนบริเวณนั้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการโปรโมตสถานที่ 

เพราะสุดท้ายแล้วภาพลักษณ์ที่ดีย่อมมาพร้อมกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนเช่นกัน และหวังว่ามิวสิกวิดีโอ ROCKSTAR ของ LISA จะเป็นกรณีต้นแบบสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ก้าวไปสู่อีกขั้นในฐานะเมืองเศรษฐกิจเบอร์ต้นของโลก

อ้างอิง

สนทนาพาช้อปกับ 5 selected shop เปิดใหม่ใน 5 ย่าน

ของกุ๊กกิ๊ก เสื้อผ้า ไอเทมแฟชั่น เครื่องราง และเครื่องเขียน จัดอยู่ในหมวดข้าวของดีต่อใจที่ซื้อเท่าไหร่ก็ไม่พอสักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเจอร้าน selected shop ที่คัดสรรแบรนด์เก๋และของคุณภาพดีมาให้เลือกช้อปในบรรยากาศที่รื่นรมย์ และเบื้องหลังการเปิดธุรกิจที่เปี่ยมไปด้วยแพสชั่น

ตั้งแต่ lucky13th ร้านของกุ๊กกิ๊กที่โตจากผู้ติดตามไอจีหลักแสนที่เย็นอากาศ, In By In แฟล็กชิปสโตร์เสื้อผ้าสไตล์มินิมอลในราคาน่ารักที่อารีย์, LOFT EYES มัลติแบรนด์น้องใหม่รวมแบรนด์ไทยสุดฮิปที่ทองหล่อ, Libra & Pisces บูทีกแห่งความสุขใจที่รวมสินค้าจากเทรนด์พลังงานบำบัดที่สามย่าน และ Lamune ร้านเครื่องเขียนเจ้าเก่าในย่านใหม่ที่ช้อปจุใจกว่าเดิมย่านแจ้งวัฒนะ 

ถ้าใครปักหมุดไว้ว่าอยากไปร้านเหล่านี้แต่ยังไม่รู้จักเจ้าของและคอนเซปต์ธุรกิจของแต่ละร้าน วันนี้เราขออาสาพาไปคุยกับเหล่าผู้ประกอบการจาก 5 ร้าน หลายร้านเริ่มจากการขายออนไลน์มาก่อนจนมีลูกค้าหนาแน่นจึงขยายร้านออฟไลน์ตามมาเพื่อออกแบบประสบการณ์และบริการให้ลูกค้ารักแบรนด์ยิ่งขึ้น บางร้านก็มีโจทย์จากการอยากสร้างคอมมิวนิตี้ทำให้การออกแบบพื้นที่หน้าร้านเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทุกร้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการมีหน้าร้านช่วยเติมเต็มความฝันและทำให้การทำธุรกิจด้วยแพสชั่นเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น

lucky13th
ร้านของกุ๊กกิ๊กที่โตจากผู้ติดตามไอจีหลักแสน

lucky13th เป็นร้านที่ตุ๊กตา–พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล และหญิง–ปรียปราณ อรุณจินดาตระกูล เปิดร่วมกันและให้นิยามว่าเป็นร้านที่คัดสรร ‘ข้าวของบ้านๆ ที่อยากเป็นเรื่องลัคกี้เล็กๆ น้อยๆ ในทุกๆ วัน’ ความลัคกี้ของ lucky13th คือการเริ่มเปิดร้านออนไลน์เมื่อ 15 ปีที่แล้วในยุคที่แทบยังไม่มีใครรู้จักการขายของออนไลน์ เลยทำให้สะสมแฟนคลับมานานจนทุกวันนี้มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมถึงหลักแสน

ตุ๊กตาเริ่มเปิดร้านขายของออนไลน์เป็นงานอดิเรกตั้งแต่สมัยยังเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Knock Knock! ช่วงแรกเธอเริ่มจากออกแบบเสื้อผ้าขายเองก่อนจะเปลี่ยนมาขายจานวินเทจเพราะสู้รบกับกระบวนการตัดเสื้อไม่ไหว ในยุคหนึ่งที่จานวินเทจเซรามิกสไตล์ยุโรปเป็นที่นิยมมาก lucky13th กลายเป็นที่จดจำจากคอลเลกชั่นจานใบสวยจากตลาดวินเทจที่ต่างประเทศ 

ชื่อเต็มของร้าน luckly13th จึงเป็น lucky13th flea market ตามความชื่นชอบการเดินตลาดวินเทจของตุ๊กตาซึ่งหลายคนมักจดจำเรื่องราวการเดินทางของเธอได้จากหนังสือซีรีส์ Guggig Guide (กุ๊กกิ๊กไกด์) สำนักพิมพ์ polkadot

ทุกวันนี้จานวินเทจจากยุโรปไม่ได้ป๊อปเท่าแต่ก่อน สินค้าในร้านจึงเปลี่ยนตามความนิยมที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์กุ๊กกิ๊กกึ่งแมสที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบแต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จัก เช่น เสื้อยืด Mardi ลายดอกไม้จากเกาหลีที่แม้จะดูเรียบง่ายแต่ใส่แมตช์กับอะไรก็ดูดี, ไอเทมโปรดสมัยเด็กที่กลับมาฮิตอีกครั้งอย่างตุ๊กตา monchhichi, NouNou แบรนด์หน้าคนจากไอเดียสร้างสรรค์ของครีเอทีฟชาวเกาหลีและศิลปินชาวฝรั่งเศส และยังมีของกุ๊กกิ๊กแทบทุกหมวดจากทุกมุมโลกทั้งจานชาม, พวงกุญแจ, กระเป๋า และของใช้กระจุกกระจิก

ของกุ๊กกิ๊กทั้งหมดนี้ล้วนเลือกจากความชอบและแพสชั่นของพาร์ตเนอร์ทั้งคู่ โดยตุ๊กตายังมีอีกเหตุผลสำคัญในการเปิดร้านออฟไลน์คืออยากให้ลูกเห็นกระบวนการทำงานของแม่เพราะตอนเด็กๆ คุณแม่ของเธอก็เปิดร้านขายของกุ๊กกิ๊กมาก่อนเช่นกัน 

สำหรับการตกแต่งร้านของ lucky13th นั้น ภายในร้านมีบรรยากาศสบายๆ เหมือนอยู่บ้าน อยากให้ลูกค้าเข้ามาเดินเลือกของแต่งบ้านได้แบบไม่เกร็ง และเพราะเลือกของน่ารักมากับมือทำให้สินค้าบางอย่างมีจำนวนจำกัด บ้างก็มีเพียงชิ้นเดียวในร้าน ซึ่งตุ๊กตาบอกว่าถึงแม้เธอจะเป็นเจ้าของสินค้าทุกชิ้นไปตลอดไม่ได้ แต่แค่ได้อยู่กับของสวยๆ งามๆ ทุกวันก็มีความสุขแล้ว 

จากความชอบในของกุ๊กกิ๊กและขายของออนไลน์เป็นเพียงงานอดิเรกในตอนแรก ทุกวันนี้ lucky13th เติบโตขึ้น เติมเต็มความสุขและก่อเกิดกำไรที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้จริงๆ

ตามไปช้อปได้ที่อินสตาแกรม @lucky13thfleamarket

In By In
แฟล็กชิปสโตร์เสื้อผ้าสไตล์มินิมอลในราคาน่ารัก  

In By In เป็นร้านของโจ–ศุภรักษ์ โตศักดิ์ศรี และเต้ย–วัชรพงษ์ เต็มแป้น ทั้งคู่เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจด้วยการขายเสื้อผ้าออนไลน์เป็นระยะเวลาราว 8 เดือนเพื่อทดลองตลาดก่อนจะหันมาเปิดแฟล็กชิปสโตร์อย่างเต็มตัว ด้วยคัตติ้งและดีไซน์เรียบง่ายที่เหมาะกับสาวๆ ทุกวัยในราคาน่ารักสมเหตุสมผล ทำให้ลูกค้ามักแนะนำต่อๆ กันว่าเป็นร้านเสื้อผ้าสไตล์เกาหลีที่มีคุณภาพในราคาหลักร้อย

หากนิยามสไตล์ลูกค้าของ In By In จะเห็นภาพเพื่อนผู้หญิงที่แต่งตัวง่ายๆ ด้วยเสื้อผ้าโทนสีเรียบ ขาว เบจ เทา ดำ แต่ไม่น่าเบื่อ ใส่ได้ทุกวันในทุกสถานการณ์ ในทางกลับกัน หากเป็นคนที่ชอบแต่งตัวแบบมิกซ์แอนด์แมตช์ก็สามารถแวะมาซื้อไอเทมตัวเก่งที่ใส่ได้กับทุกลุค โดยกลุ่มเป้าหมายของร้านจะเป็นผู้หญิงวัยทำงานอายุ 24-40 ปี 

ด้วยโลเคชั่นติดถนนหลักย่านอารีย์ โจจึงอยากทำกระจกหน้าร้านให้ใหญ่ที่สุดเพื่อให้ลูกค้าที่เดินผ่านไปมารู้สึกเฟรนด์ลี่และมีโอกาส window shopping หรือ ‘ลองชุดผ่านดวงตา’ จนเกิดความประทับใจแรกโดยยังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจซื้อ

ภายในร้านเน้นการออกแบบด้วยคอนเซปต์เรียบง่าย สเปซโล่งโทนเรียบสวยงามสะอาดตา คุมโทนสีด้วยการดิสเพลย์เสื้อผ้าแต่ละคอลเลกชั่นเรียงตามสีเพื่อเป็นไกด์ให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาแล้วไม่รู้จะเลือกสีกางเกงและเสื้อแบบไหน 

In By In ยังให้ความสำคัญกับการบริการ พนักงานในร้านจะคอยแนะนำสีของแต่ละคอลเลกชั่นอย่างใกล้ชิด แนะนำให้ลูกค้าได้เดินดูสินค้าครบทุกราว การออกแบบบริการเหล่านี้ ทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจจากร้านแสตนด์อโลนตามประเทศต่างๆ ที่เคยไป ซึ่งไม่เพียงขายของแต่มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้มากกว่าราคาที่จ่าย 

โจมองว่านอกเหนือจากช่องทางออนไลน์ที่แบรนด์เป็นคนบุกเข้าหาลูกค้าเองแล้ว การสร้างแฟล็กชิปสโตร์เป็นการสร้างสเปซที่ลูกค้าเดินเข้าหาแบรนด์เองซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เจอลูกค้าใหม่ๆ มอบประสบการณ์ให้คนตกหลุมรักแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องธุรกิจ การเปิดร้านก็เป็นหนึ่งในความฝันของผู้ก่อตั้งทั้งคู่ด้วย 

ตามไปช้อปได้ที่อินสตาแกรม @inbyin.th

LOFT EYES
มัลติแบรนด์น้องใหม่รวมแบรนด์ไทยสุดฮิป

LOFT EYES เกิดจากไผ่–จิติวี บาลไธสง และ มิ้ม–ชิดชนก สุจินพรัหม เห็นโอกาสการสร้างคอมมิวนิตี้จากสเปซ ไผ่เป็นสถาปนิกและมองหาโชว์รูมสำหรับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ JITIVI ของตัวเอง จนวันหนึ่งเจออาคารเก่าย่านทองหล่อที่รู้สึกว่ามีเสน่ห์ มองออกไปเห็นวิวด้านนอกที่ชวนหลงใหลจึงอยากทำสเปซที่สื่อสารถึงความเรียบง่าย คงความซื่อสัตย์และบริสุทธิ์ของอาคารเก่า

ด้วยแบ็กกราวด์ของมิ้มที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าและขายของมานานถึง 10 ปี ทำให้มีเพื่อนกลุ่มแม่ค้าอยู่เยอะ ประกอบกับทั้งคู่อยากทำให้พื้นที่คึกคักมากขึ้น จึงชักชวนแบรนด์ที่ชอบและมีสไตล์ไปในทิศทางเดียวกันเข้ามาวางขายด้วยกัน LOFT EYES จึงมีโซนเฟอร์นิเจอร์ตั้งอยู่ด้านหน้า มีเสื้อผ้า ของทำมือ เครื่องประดับ และหนังสือจากร้าน Vacilando Bookshop มาเพิ่มความสนุก หลายแบรนด์เป็นสินค้าคุณภาพของคนรุ่นใหม่ที่หาซื้อยาก ไม่ได้วางขายที่ไหน แถมยังเป็นแบรนด์ไทยทั้งหมดและบางแบรนด์ก็เดินทางมาไกลจากเชียงใหม่  

มิ้มบอกว่าความสนุกในฐานะคนคัดสรรแบรนด์เข้ามาคือการได้เป็นเพื่อนช่วยแต่งตัวและเป็นคนป้ายยาให้ลูกค้า ปั้น LOFT EYES ให้กลายเป็นที่อัพเดตแฟชั่นให้แขกของร้านได้มาจับสินค้าจริง ฟังเรื่องราวของแบรนด์และได้ของที่ประทับใจกลับไป สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ตั้งใจเลือกแบรนด์คุณภาพเข้ามาแต่อยากสร้างคอมมิวนิตี้ที่ได้เจอเพื่อนใหม่ จัดกิจกรรมไม่ซ้ำกันอย่างจัดดอกไม้และ book club สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปให้ผู้คนอยากแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

ทั้งคู่ยังบอกว่า LOFT EYES เป็นร้านที่ไม่น่าถ่ายลงอินสตาแกรมมากๆ เพราะไม่มีมุมที่ตะโกนเสียงดัง ทั้งนี้เพราะไม่อยากออกแบบร้านหรือเร่งโปรโมตให้รู้สึกว่าไม่มาที่นี่ไม่ได้ แค่อยากทำร้านที่ชักชวนให้คนที่สนใจแวะเข้ามาเยี่ยมแบบสบายๆ ไม่อยากทำร้านแบบฉาบฉวย แต่อยากทำร้านที่น่าประทับใจและอยู่ได้นาน ทั้งคู่จึงพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกเพลงที่เปิด ไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์ภายในร้านในแต่ละวันที่อากาศไม่เหมือนกัน  

LOFT EYES เพิ่งเปิดได้ไม่กี่เดือนและได้กระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่บอกต่อกันปากต่อปาก ไผ่มองว่าสเปซและวิธีเล่าเรื่องของร้านเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เจอลูกค้าที่มีความชอบแบบเดียวกันและทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก

ตามไปช้อปได้ที่อินสตาแกรม @lofteyes

Libra & Pisces
บูทีกแห่งความสุขใจที่รวมสินค้าจากเทรนด์พลังงานบำบัด

เทรนด์พลังงานบำบัด เช่น คริสตัลบำบัด การรับพลังงานจากพระอาทิตย์และพระจันทร์ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ร้านบูทีกในไทยที่สร้างแบรนด์และสเปซเพื่อนำเสนอสินค้าหมวดนี้ให้น่าสนใจยังมีไม่มากนัก  

หนึ่งในร้านที่โดดเด่นสะดุดตาคือ Libra & Pisces ของ ปิยะมาศ สิทธิปรีดานันท์, คล้ายเดือน สุขะหุต, บัวชมพู สหวัฒน์ และสิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ ที่ Slowcombo คอมมิวนิตี้สเปซสายดูแลใจและสุขภาพ ณ สามย่าน

จุดเริ่มต้นคือ co-founder ทั้ง 4 คนต่างมีโอกาสได้รู้จักพลังงานบำบัดด้วยตัวเองและรู้สึกว่าการยกระดับพลังงานชีวิตจากพลังธรรมชาติเป็นเรื่องที่พิเศษและน่าค้นหา คอนเซปต์ ‘บูทีกแห่งความสุขใจ’ จึงเกิดขึ้นจาก ไอเดียอยากออกแบบเครื่องรางให้มีดีไซน์ที่สวยงามและน่าใช้โดยไม่ต้องแอบพกเพราะเขินอายว่าเป็นสายมู 

สินค้าแนะนำของทางร้านมีทั้งเครื่องประดับใจ (adornment) ไม่ว่าจะเป็นสร้อย pendulum ช่วยยืนยันคำตอบ, คริสตัลสำหรับพกพา, กำไลหินคริสตัลที่ช่วยเสริมพลังงานด้านความรัก สุขภาพ ความสำเร็จ และจี้สร้อยคอและกำไลข้อมือของร้านยังเป็นจี้พิเศษที่รวมสองพลังงานจากพระอาทิตย์-พระจันทร์ไว้ด้วยกัน ความโดดเด่นคือการออกแบบเครื่องประดับเหล่านี้ให้มีความโมเดิร์นน่ารักน่าใช้สำหรับคนรุ่นใหม่ 

นอกจากนี้ยังมีสิ่งของและเครื่องมือที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย (sacred space) เช่น palo santo ไม้จากทวีปอเมริกาใต้ที่กลิ่นช่วยขจัดพลังงานไม่ดีไปจนถึงเครื่องหอมที่ช่วยให้ได้รับพลังงานที่ดีเมื่อสัมผัสกับร่างกาย โดยมี essential oil blend สูตรพิเศษของทางร้านคือ กลิ่น Sun ที่มีส่วนผสมของโคพาอิบา, พาโลซานโต, ต้นสน และต้นที ให้ความสดชื่นยามเช้า และกลิ่น Moon จากส่วนผสมของกำยาน, ไวต์เสจ, กระดังงา และลาเวนเดอร์ ให้ความสงบและนุ่มนวลสำหรับกลางคืน

สำหรับคนที่อยากทำกิจกรรมสายพลังงานบำบัด ทางร้านยังจัดกิจกรรม sacred ritual หรือพิธีกรรมแห่งความสุขเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจ เช่น เปิดปฏิทินพระจันทร์เพื่อรับคติของวันที่ดี, จัดวางคริสตัลเพื่อ manifestation ในวัน new moon และดื่มน้ำพลังงานจากแก้วมักที่ออกแบบพิเศษให้มี flower of life อยู่ภายใน

ถ้าใครได้แวะไป Libra & Pisces จะพบว่าทางร้านได้ถ่ายทอดเรื่องราวทางโหราศาสตร์ผ่านการออกแบบแบรนดิ้งที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นลายภาพบนสินค้าและการตกแต่งสเปซ เป็นร้านที่เหมาะแก่วันที่อยากหาสิ่งผ่อนคลายและพลังงานธรรมชาติเป็นที่พึ่งทางใจ

ตามไปช้อปได้ที่อินสตาแกรม @libraandpisces.official

Lamune
ร้านเครื่องเขียนเจ้าเก่าในย่านใหม่ที่ช้อปจุใจกว่าเดิม 

12 ปีที่แล้ว Lamune เริ่มจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะโดยมีหน้าร้านที่สยามสแควร์และเป็นร้านแรกๆ ที่ตั้งใจแนะนำแบรนด์เครื่องเขียนคุณภาพดีจากต่างประเทศให้คนไทยได้ใช้ เช่น TRAVELER’S notebook แบรนด์สมุดที่ทำให้การจดบันทึกระหว่างวันและระหว่างเดินทางเป็นเรื่องสนุกขึ้น, MIDORI สมุดที่พิถีพิถันเรื่องกระดาษคุณภาพ, mt masking tape เทปวาชิลวดลายน่ารักสดใส ฯลฯ

ปีนี้ร้านมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือร้านโฉมใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม พร้อมสินค้าเยอะและหลากหลายในโลเคชั่นใหม่คือแจ้งวัฒนะ เจ้าของร้านอย่างอ๊อก–วริศ อารยสมบูรณ์ และจอย–จิตติมา อภิวาทน์วิทยะ บอกกับเราว่าคอนเซปต์ของ Lamune ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านยังคงเดิมเสมอมาคือการสร้างความรื่นรมย์ผ่านสิ่งของด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต 

ทั้งคู่นำเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อเดินเข้ามาช้อปในร้านจะได้เห็นแบรนด์จากต่างประเทศมากมาย เช่น Clairefontaine แบรนด์สมุดจากยุโรป, Pébéo แบรนด์สีจากฝรั่งเศส ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงของร้านใหม่คือมีอุปกรณ์ศิลปะตามเทรนด์ที่ผู้คนชื่นชอบกิจกรรม DIY มากขึ้น เช่น สีที่ระบายได้บนทุกพื้นผิว และมีหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้นมาจากไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนชอบอยู่บ้านมากขึ้นหลังโควิด-19

สินค้าแนะนำเข้าใหม่ที่ Lamune อยากแนะนำเป็นพิเศษคือ hibi ไม้ขีดหอมกลิ่นธรรมชาติ (incense) จากย่านคันไซ เกียวโต ที่มีลักษณะคล้ายไม้ขีดไฟ จุดเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมและจะดับได้เองภายใน 10 นาที
เพื่อส่งเสริมให้ได้ปลีกจากชีวิตที่วุ่นวายมาพักผ่อนกับตัวเองเป็นระยะเวลาสั้นๆ 

นอกจากนี้ด้วยโลเคชั่นใหม่ที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย จึงมีกลุ่มลูกค้าเป็นครอบครัวและเด็กมากขึ้นทำให้มีหมวดอุปกรณ์การเรียนและศิลปะสำหรับเด็กไปจนถึงเวิร์กช็อปสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นมา เช่น กิจกรรมสอนศิลปะ, เปเปอร์มาเช่, calligraphy ฯลฯ

ด้วยพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้นทำให้อ๊อกและจอยวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อความรื่นรมย์อื่นๆ อาทิ เช่นฉายหนังกลางแปลงที่ร้านในอนาคต ทั้งคู่มองตรงกันว่าช่วงแรกที่ทำร้านต่างมองเรื่องธุรกิจเป็นหลัก แต่ความชื่นใจที่ได้กลับมาในท้ายที่สุดนั้นมีมากกว่ากำไร แค่ได้เสียงตอบรับจากลูกค้าว่าเครื่องเขียนกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจหรือเห็นลูกค้ามีความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตมากขึ้นก็เป็นกำลังใจที่ทำให้อยากพัฒนาร้านต่อไป 

ตามไปช้อปได้ที่อินสตาแกรม @lamuneshop


อ้างอิง :
ภาพจาก lucky13th, In By In, LOFT EYES, Lamune

‘สุนทราพาเพลิน’ กลุ่มนักร้อง LGBTQ+ ที่ปลุกวิญญาณเพลงเก่าในพื้นที่ร่วมสมัย 

ต่อให้คนรุ่นใหม่จะไม่คุ้นชื่อวงดนตรีที่ดังระเบิดระเบ้อในรุ่นพ่อแม่ (ไม่สิ ถ้าเทียบกับเด็กรุ่นนี้ต้องบอกว่าเป็นวงรุ่นย่ายาย) แต่เชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินที่ไม่เคยได้ยินเสียงร้องหวานสูงเปี่ยมเป็นเอกลักษณ์ของสุปาณี พุกสมบุญ หรือเนื้อเพลงเรียบง่ายและติดหูที่เขียนโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวง ‘สุนทราภรณ์’ 

แต่นั่นล่ะ ถึงวงดนตรีที่เปิดตัวใน พ.ศ. 2482 จะมีเพลงฮิตที่ยังคงถูกเปิดตามงานต่างๆ (อาทิ ‘รำวงเริงสงกรานต์’ หรือ ‘สวัสดีปีใหม่’) มาจนถึงปัจจุบัน แต่การที่คนรุ่นใหม่สักกลุ่มจะอินจัด จนนำสุนทราภรณ์มาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อตั้งวงดนตรีของตัวเอง ก็ไม่ถือเป็นเรื่องทั่วไป 

วงสุนทราพาเพลินคือวงที่ว่า วงที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก้อง–ก้องภพ ศิลปสนธยานนท์ และ เมียลอย–พรบัญชา ใหม่กันทะ ลุกขึ้นมาแต่งตัวแบบ drag queen เป็นสาวสังคมในอดีต และร้องเพลงของวงสุนทราภรณ์ 

จากเดิมที่พวกเธอเปิดการแสดงขำๆ กันที่คณะ แต่เพียงไม่นาน ความนิยมก็เข้าหูคนหมู่มาก และได้รับเชิญไปร้องเพลงตามอีเวนต์ต่างๆ ในเชียงใหม่และทั่วประเทศ ทั้งนี้เมียลอยยังเคยนำเพลงสุนทราภรณ์เข้าประกวดในรายการ The Voice Thailand Season 4 จนเข้ารอบลึกมาแล้ว รวมถึงยังได้รับเชิญไปร้องบนเวทีประกวดนางสาวไทยเวทีภาคเหนือเมื่อปี 2562 อีกด้วย

“ทุกวันนี้ก็ทำกันด้วยความสนุกอยู่ค่ะ ไม่ได้ทำเป็นอาชีพอะไร เราจะรวมตัวกันเฉพาะตอนที่มีคนจ้าง ถ้าไม่มีใครจ้างเราก็ทำงานหลักของเราไป” เมียลอยที่ปัจจุบันประกอบอาชีพทั้งเป็น Personal Stylist ให้กับเหล่าคุณหญิง คุณนาย และเซเลบริตี้ รวมถึงเป็นนักจัดอีเวนต์ทางวัฒนธรรม และอาจารย์พิเศษของคณะวิจิตรศิลป์ ม.ช. กล่าว

“เราคิดว่ามันเป็นดีเอ็นเอของเด็กสาขาศิลปะไทยที่ชอบของเก่า แล้วพอเจอคนชอบเพลงของสุนทราภรณ์เหมือนกันมันเลยคลิกกันง่าย พวกเราชอบการแสดงอยู่แล้วก็เลยรวมตัวกัน” ก้องที่เป็นทั้งศิลปินอิสระด้านนาฏศิลป์และอาจารย์ช่วยสอนที่คณะวิจิตรศิลป์เล่า

ในตอนครบวง สุนทราพาเพลินจะมีนักร้องมากถึง 6 คน สมาชิกเกือบทั้งหมดเป็น LGBTQ+ และมีนักร้องชายที่คัฟเวอร์เสียงของเอื้อ สุนทรสนาน เติมเต็มเสียงแหลมสูงของสมาชิกคนอื่นๆ ทางวงไม่มีงานแสดงประจำที่ไหน จะรับเฉพาะงานเลี้ยง หรืองานปาร์ตี้พิเศษที่มีธีมย้อนยุค และร้องแต่เพลงสุนทราภรณ์กับเพลงลูกกรุงเก่าๆ พร้อมประยุกต์ทำนองแบบพื้นเมืองภาคเหนือเข้ามาในบทเพลง รวมถึงการนำเพลงประจำจังหวัดต่างๆ ใส่เข้าไปด้วยเพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็น LGBTQ+ ล้านนา

“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีคนชอบเยอะนะ เพราะเพลงยุคนี้มันต้องคนรุ่นแม่เราขึ้นไปถึงจะชอบ แต่พอเราแต่งตัวกันแบบจัดเต็มและใส่อารมณ์ขันเข้าไปในการแสดงตามประสา ปรากฏว่านอกจากเพื่อนๆ เราก็กลับมีกลุ่มคนฟังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตามไปดูโชว์เราตามอีเวนต์ต่างๆ ไม่น้อยเลย” เมียลอยบอก 

เมียลอยยืนยันว่าเธอไม่เคยมองว่าวงสุนทราพาเพลินจะเป็นธุรกิจอะไร เธอทำเพราะความสนุกที่ได้ร้องเพลง และได้แต่งตัวย้อนยุคสนองความประทับใจส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์บทเพลงที่เคยอยู่คู่หน้าประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งในสังคมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก 

“ทุกวันนี้วงสุนทราภรณ์ก็ยังทำการแสดงด้วยสมาชิกรุ่นใหม่อยู่นะ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าวงพวกเราเป็นวง parody เขา เราแค่คัฟเวอร์เพลงเก่าๆ ของพวกเขาเพราะตระหนักในคุณค่า และมันก็ได้ประโยชน์หมดน่ะ 

“เราสนุกที่ได้แต่งตัวและร้องเพลง และคนดูก็สนุกที่ได้ฟังเพลงที่พวกเราร้อง ขณะเดียวกัน พอเราเห็นคนรุ่นแม่ๆ มานั่งฟังกะเทยร้องเพลงและร้องตามไปด้วย เราคิดว่าแค่นี้แหละ ประสบความสำเร็จแล้ว” เมียลอยทิ้งท้าย 

‘ลูลู่วิกไทย’ หนึ่งในผู้ผลิตวิกมือทองของเชียงใหม่ที่พาวิกไทยไปเฉิดฉายไฉไลในต่างแดน 

‘ลูลู่วิกไทย’ คือชื่อธุรกิจออกแบบและผลิตวิกผมโดยหนึ่งในช่างทำผมมือทองของเชียงใหม่ ลูลู่–ปรัชญา ยะบุญ ที่รับผลิตวิกผมแบบ custom-made ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่ช่างฟ้อน, นางงาม drag queen, อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องโกนผม 

ผลงานของเธอยังถูกใช้ในกองถ่ายละครโทรทัศน์แนวพีเรียดอย่าง เพลิงพระนาง (2560), แดนเซอร์รายการโทรทัศน์ประกวดร้องเพลง ‘ชิงช้าสวรรค์’ รวมถึงยังไปคอมพลีตลุคให้เจ้าหญิงในละครเวทีชื่อดังของดิสนีย์ 

ลูลู่เข้าสู่วงการทำวิกตั้งแต่สมัยเรียนที่สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการเป็นช่างทำผมให้ช่างฟ้อนของคณะเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอค้นพบวิธีการย่นเวลาในการทำผมนับแต่นั้น

“สมัยนั้นช่างฟ้อนของคณะมีโชว์ถี่มาก โชว์ครั้งหนึ่งก็จะมีช่างฟ้อนเป็นสิบคน แต่ละคนเราต้องใช้เวลาทำผมไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง บางงานบริหารเวลาไม่ดี ก็ต้องทำแบบไฟลนก้น 

“ทรงผมที่ต้องทำส่วนใหญ่ในตอนนั้นจะเป็นการเกล้าผมด้านหลังให้มีรูปแบบคล้ายตะกร้อ เราก็มานั่งคิดว่าเวลาที่ใช้ทำผมให้นักแสดงต่อคนนี่อาจน้อยกว่าเวลาที่ใช้ในการแสดงอีก แล้วไหนจะต้องแต่งหน้าด้วย จึงคิดวิธีการย่นระยะเวลาตรงนี้ให้เร็วที่สุด” จากปัญหานั้น เธอพบว่าถ้าทำผมให้เสร็จในรูปแบบวิกสำเร็จรูปให้ช่างฟ้อนสวมเลย น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

“เราไปซื้อวิกจากร้านขายวิกทั่วไปนี่แหละ แล้วก็มาเกล้าผมจากวิกให้เป็นมวยผม พอถึงเวลาก่อนแสดง เราก็ให้กลุ่มช่างฟ้อนรวบผมตึงเก็บให้เรียบร้อย และสวมวิกนี้เข้าไป จำได้ว่าตอนนั้นเราอยู่หอ 2 ชายของมหาวิทยาลัย ก็นั่งทำวิกหลังขดหลังแข็งที่หอนั้นนั่นล่ะ” ลูลู่เล่า

และไอเดียดังกล่าวก็ประสบผล ซึ่งไม่เพียงลูลู่จะบุกเบิกวิธีการประหยัดเวลาทำผมให้ช่างฟ้อนหรือนางรำทั่วประเทศที่จนทุกวันนี้ช่างฟ้อนส่วนใหญ่ก็ใช้วิกที่ลูลู่ผลิตอยู่ หากสิ่งนี้ยังจุดประกายให้เธอทดลองทำวิกให้เป็นทรงผมอันหลากหลายให้ตอบโจทย์กับการใช้งานรูปแบบอื่นๆ  

“ตอนนั้นเราไม่คิดว่ามันจะเป็นธุรกิจอะไร เพราะพอเรียนจบเราก็ทำอาชีพช่างทำผมเป็นหลัก และทำวิกสำหรับใช้ในการแสดงอย่างเดียว จนปี 2552 ที่มีเฟซบุ๊กแล้ว เราก็แชร์รูปวิกที่เราทำไปเรื่อยๆ จนจู่ๆ ก็มีคนที่เราไม่รู้จักแชตเข้ามา และส่งรูป อาภัสรา หงสกุล มา 

“เขาว่าจ้างให้เราทำวิกผมตามแบบ ตอนนั้นเราทำแค่วิกทรงที่ใช้สำหรับช่างฟ้อนอย่างเดียว พอมาเจอทรงอาภัสราก็เหมือนจุดประกายให้เราอยากทดลองกับแบบอื่นๆ ไปด้วย”

เท่านั้นยังไม่พอ ภายหลังที่ลูลู่หันมาแต่งหญิงออกงาน เธอก็สวมวิกที่เธอทำออกงานไปด้วย สิ่งนี้ทำให้ผู้พบเห็นอยากให้ลูลู่ทำวิกผมทรงเก๋ๆ ให้พวกเธอบ้าง นอกจากเป็นช่างทำผมมืออาชีพ ลูลู่จึงมีธุรกิจใหม่เป็นช่างทำวิกแบบ custom-made เรื่อยมา 

ทรงวิกของลูลู่ครอบคลุมตั้งแต่ทรงพื้นฐานของคนล้านนาที่ถูกเรียกแบบลำลองว่า ‘ทรงแม่อุ้ยไปวัด’ (แม่อุ้ยแปลว่า ย่าหรือยาย) หรือทรงมวยต่ำ เป็นทรงเกล้าหลังแล้วทัดดอกไม้แบบที่แม่อุ้ยนิยมทำเวลาไปทำบุญที่วัด โดยลูลู่ก็ดัดให้มีมิติที่ดูอลังการมากขึ้น รวมถึงการโบกเส้นผมด้านหน้าให้มีความโค้งรับไปกับใบหน้าของผู้สวมใส่

‘ทรงเกล้าแบบญี่ปุ่น’ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายการเกล้าผมของเกอิชา ทั้งยังเป็นทรงผมที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีนิยมเซต เป็นอีกทรงที่มีออร์เดอร์ให้ลูลู่ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะช่างฟ้อนหรือนางรำในทุกภาคของประเทศไทยนิยมทำทรงนี้เพื่อขึ้นแสดง

เช่นเดียวกับทรงผมยุค 60s แบบ ‘ทรงหม้อตาล’ ของ อาภัสรา หงสกุล รวมถึง ‘ทรงแสกจีรนันท์’ (จีรนันทน์ เศวตนันทน์ นางสาวไทยปี 2508) ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เข้าประกวดนางงามไปจนถึงลูกค้าทั่วไป เนื่องจากเข้ากันได้ดีกับทั้งชุดไทยและชุดราตรีสำหรับใส่ออกงาน 

ลูกค้าของลูลู่มีหลากหลายดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น ซึ่งไม่เฉพาะแค่ในไทย แต่เสียงชื่นชมในผลงานแบบปากต่อปากยังทำให้ลูลู่มีลูกค้าต่างประเทศมากมาย ทั้งคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและชาวต่างชาติที่ได้รับการแนะนำต่อมาอีกที ยังรวมถึงทีมโปรดักชั่นละครเวทีของดิสนีย์ ที่เคยว่าจ้างให้ลูลู่ผลิตวิกผมพิเศษสำหรับให้ตัวละครหลักสวมใส่ในการแสดงมาแล้ว 

“เราใช้เฟซบุ๊กและไอจีเป็นช่องทางในการขายของหลัก ไม่เคยทำการตลาดเลย เพราะวิกแต่ละอันมันต้องทำขึ้นใหม่โดยเฉพาะ จึงต้องใช้เวลาพอสมควร และไม่ว่าลูกค้าจะสั่งทำเพื่อไปใส่ออกงาน ใส่เล่นๆ หรือทำคอนเทนต์ขำๆ เราก็ตั้งใจทำในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 

“จริงอยู่ที่วิกผมมันเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง บางคนซื้อมาใส่ครั้งเดียวก็ไม่ได้ใช้อีก แต่เราก็ภูมิใจนะที่ได้ทำออกมา เราคิดว่าไม่ว่าลูกค้าจะเป็นอะไรหรือกำลังทำอะไรอยู่ ความมั่นใจคือสิ่งสำคัญ บางทีแค่สวมวิกก็ช่วยเสริมบุคลิกและสร้างความมั่นใจให้กับเขาได้ 

“ยิ่งเราทำอาชีพเกี่ยวกับความงามของเส้นผมด้วย เราจึงรู้ว่าทรงผมมันมีอิทธิพลกับบุคลิกมากแค่ไหน วิกทุกชิ้นเราจึงต้องทำด้วยความตั้งใจเพื่อให้มันออกมาดีที่สุด” ลูลู่กล่าวทิ้งท้าย  

ลูลู่วิกไทย 
instagram.com/luluwigthai 

‘ลูกหลานป้อจาย’ กลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ผู้ขับเคลื่อนประเพณีเก่าแก่ล้านนา 

“ในสังคมชนบทของภาคเหนือ เวลาวัดจะจัดงานบุญขึ้นมาสักงาน และต้องการแรงงานมาช่วยจัด เขามักจะประกาศออกเสียงตามสายว่าขอแรง ‘ลูกหลานป้อจาย’ มาช่วยกันหน่อย 

“คำว่า ‘ป้อจาย’ เนี่ยเป็นคำเมืองแปลว่าผู้ชาย ซึ่งที่เขาต้องการให้ผู้ชายมาช่วยเนี่ย ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรง และอีกส่วนคือพอเป็นพิธีกรรมทางศาสนา บางวัดเขาจะมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าพื้นที่บางส่วน ซึ่งนั่นล่ะ พอเราคิดถึงชื่อกลุ่มในการทำงานด้านศาสนา ชื่อทีมงานลูกหลานป้อจายจึงปรากฏขึ้นเป็นชื่อแรก” แต้มเล่า

“มันน่ารักดีนะ เมื่อมองกันว่าทีมงานลูกหลานป้อจายส่วนใหญ่เป็นกะเทย” ไดซ์เล่าเสริมพร้อมรอยยิ้ม 

ทีมงานลูกหลานป้อจาย คือชื่อของทีมงานออร์แกไนซ์พิธีกรรมและประเพณีด้านพุทธศาสนา อันเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมรุ่นใหม่ นำโดย แต้ม–ทศพร นันต๊ะ นักออกแบบเครื่องประดับและเครื่องสักการะล้านนา และ ไดซ์–ดนัย วรพิศาล ครีเอทีฟจาก Indeed Creation Co., Ltd. 

ทีมงานของพวกเขาอยู่เบื้องหลังการจัดประเพณีสำคัญๆ ของวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร และวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร สองวัดหลวงเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งไม่เพียงเป็นประเพณีอันวิจิตรตามแบบแผนดั้งเดิม หากยังมีการผสมผสานความร่วมสมัย เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวได้ซึมซับขนบธรรมเนียมโบราณอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

“กลุ่มของพวกเราไม่ใช่บริษัท แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำงานเป็นวาระๆ ไปมากกว่า พี่ไดซ์จะทำด้านออร์แกไนซ์ ส่วนผมทำเรื่องงานออกแบบเป็นหลัก และเราก็ชวนเพื่อนที่เป็นช่างฟ้อน คนทำเครื่องสักการะ คนออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่างแต่งหน้า-ทำผม หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ มาร่วมงานด้วย หรือมองอีกมุมคือมาร่วมสังสรรค์กันมากกว่า” แต้มเล่า

จุดเริ่มต้นของทีมงาน มาจากการที่แต้มได้รับว่าจ้างจากวัดพระสิงห์ฯ ให้ออกแบบและจัดสร้างราชรถสำหรับอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ในเทศกาลปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อราชรถเสร็จสิ้น ทางวัดก็ชวนให้เขาออร์แกไนซ์พิธีกรรมและขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำทั่วเมืองไปด้วย แต้มจึงชวนไดซ์ รุ่นพี่ที่สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ผู้เคยร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษาจัดพิธีแห่พระบรมธาตุศรีจอมทองเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อปี 2559 และงานอื่นๆ มาร่วมออกแบบและควบคุมกระบวนการนี้ 

ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ในปีนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พวกเขาจึงได้รับความไว้วางใจจากวัดให้รับผิดชอบการจัดพิธีกรรมสำคัญๆ ของวัดตั้งแต่สงกรานต์ ยี่เป็ง (ลอยกระทง) และอื่นๆ ตลอดปีตั้งแต่นั้น 

ชื่อเสียงของพวกเขายังไปเข้าหูคณะศรัทธาวัดดังอีกแห่งอย่างวัดเจดีย์หลวงฯ ก่อนจะชวนพวกเขาให้เป็นผู้จัดพิธีอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าในประเพณีบูชาเสาอินทขิล อีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งทีมงานรับผิดชอบงานนี้ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว

“เราอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก” ไดซ์เล่า “ในภาคเหนือจะมีประเพณีทางพุทธศาสนาเฉพาะของแต่ละวัดให้เราได้ซึมซับ บวกกับที่พวกเราเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้เป็นหนึ่งในผู้ฟื้นฟูศิลปะล้านนาคนสำคัญของประเทศ เราเลยมีโอกาสได้เรียนรู้งานออกแบบพุทธศิลป์ล้านนาอย่างลงลึก รวมถึงได้เป็นทีมงานจัดพิธีและงานแสดงล้านนาต่างๆ มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว” 

ขอบเขตงานของทีมงานลูกหลานป้อจายครอบคลุมตั้งแต่การจัดรูปแบบพิธีกรรม การทำเครื่องสักการะ การจัดขบวนฟ้อนรำสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการแสดงประกอบงาน 

ไดซ์เล่าต่อว่าเวลาทำงานด้านประเพณีเหล่านี้ หัวใจสำคัญคือการกลับไปสำรวจรูปแบบและองค์ประกอบของประเพณีอย่างลึกซึ้ง 

“คิดว่าคนเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนเขาจะจัดงานกัน เขาต้องทำอะไรบ้าง เราก็จะทำแบบนั้นโดยประยุกต์องค์ประกอบให้มันสอดรับกับปัจจุบัน” 

พวกเขาศึกษารายละเอียดเหล่านี้จากเอกสารโบราณ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปจนถึงองค์ความรู้เรื่องพิธีกรรมและเครื่องแต่งกาย เพื่อทำให้ภาพของพิธีกรรมที่พวกเขาจัดตรงตามประวัติศาสตร์มากที่สุด

“บางคนมักตั้งแง่ว่าเพราะผู้จัดอย่างพวกเราเป็นกะเทย ประเพณีดั้งเดิมจึงมีความเว่อร์วังเกินจริง แต่เดี๋ยวก่อน ทุกองค์ประกอบเรามีการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้หมด ยิ่งงานเกี่ยวกับศาสนายิ่งต้องสำรวม อย่างไรก็ดี เมื่องานมันถูกจัดในบริบทปัจจุบัน เราจึงไม่ได้คิดถึงแค่เฉพาะการทำขบวนแห่เพื่อสักการะ แต่ยังคิดถึงการดึงดูดให้คนมาร่วมชมงาน รวมถึงการทำเรฟเฟอเรนซ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมสำหรับงานต่อๆ ไป” 

ไดซ์ยกเครดิตให้กับงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ริเริ่มโดยอาจารย์นคร พงษ์น้อย มาตั้งแต่ปี 2527 ในฐานะแบบเบ้าของการจัดขบวนพิธีล้านนาอันยิ่งใหญ่ อันส่งผลทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือหันมารื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง รวมถึงการจัดขบวนวัฒนธรรมประจำจังหวัด 

“เราว่ามันไม่ใช่แค่การจัดงานสวยๆ ตามประเพณีแล้วจบไป แต่ความที่ทรัพยากรและบุคลากรในการจัดงานทุกอย่างมาจากชุมชนเมืองของเรานี่แหละ ทั้งช่างทอผ้า ช่างฟ้อน ช่างฝีมือต่างๆ รวมถึงชุมชนดั้งเดิมที่มาช่วยกันจัดงาน 

“โดยเฉพาะในเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของคนทำงานด้านนี้ของภาคเหนือด้วย การจัดประเพณีขึ้นมาจึงหมายถึงการหมุนเวียนรายได้ให้ผู้คนและชุมชน ที่สำคัญยิ่งมีการจัดงานต่อเนื่อง มันยังช่วยส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนรุ่นใหม่ไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมสูญหาย” ไดซ์กล่าว

“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ถ้าไม่มีกะเทย แวดวงศิลปวัฒนธรรมของเมืองอาจมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้นะ” แต้มเสริม “ไม่ใช่บอกว่าพวกเราทำได้ดีกว่า แต่มันอาจไม่มีคนละเอียดอ่อนใส่ใจอย่างลงลึก และจริงจังกับการทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกลับมามีชีวิตชีวาในยุคปัจจุบัน เพราะกะเทยนี่แหละคือผู้นำทางจิตวิญญาณล้านนา” เขาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม 

‘Sukkho’ สตูดิโอเบื้องหลังคอสตูมนางงามทั่วไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลบนเวทีนางงามระดับโลก

Sukkho (สุขโข) คือสตูดิโอออกแบบของ สุขโข–นิพพิชฌน์ นิมิตรบรรณสาร ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องแต่งกายสุดอลังการของผู้เข้าประกวดนางงามแทบทุกเวทีในประเทศ ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลการประกวดเครื่องแต่งกายมาแล้วมากมาย รวมถึงได้รับรางวัล Best National Costume 2023 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดบนเวทีมิสเตอร์แกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนลที่สเปน

สตูดิโอของสุขโขโดดเด่นด้วยการสร้างสรรค์องค์ประกอบอันหวือหวาพร้อมกับสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเสื้อผ้าหน้าผมให้สอดรับกับแนวคิดและรากทางวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆ–ไม่ใช่แค่ปัง แต่ยังเล่าเรื่องสนุก

สุขโขเริ่มเข้าวงการตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ จากความหลงใหลในลายเส้นจิตรกรรมของอาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต นั่นทำให้เขาหัดวาดรูปและต่อยอดด้วยการเข้าร่วมเวิร์กช็อปทำเครื่องประดับโบราณของไทย จนมีโอกาสได้ออกแบบและผลิตศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะของนักแสดง) ให้กับแดนเซอร์วงโปงลางของโรงเรียน ซึ่งถือเป็นวงโปงลางมือรางวัลอันดับต้นๆ ของอีสาน 

จากความหลงใหลนั้น เขาตัดสินใจเรียนต่อสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากองค์ความรู้เรื่องศิลปะบ้านเกิดก็ขยายสู่อาณาจักรล้านนาและศิลปะนานาประเภทอันเป็นพื้นฐานสำคัญในอาชีพของสุขโขในปัจจุบัน

  “พอเรียนจบ ความที่เรามีคอนเนกชั่นงานที่นี่อยู่แล้ว เลยตัดสินใจปักหลักที่เชียงใหม่ โดยเริ่มจากมีคนมาชวนให้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้นางงามเด็ก สมัยนั้นเชียงใหม่มีเวทีประกวดความสามารถเด็กเยอะมากๆ ผู้ปกครองก็มักให้ลูกแต่งกายชุดเจ้าหญิงดิสนีย์ กระโปรงสุ่มอะไรแบบนี้คล้ายๆ กัน 

“เราเลยเสนอว่างั้นออกแบบใหม่ให้มันมีคอนเซปต์เชิงวัฒนธรรม หรือมีรูปแบบที่แตกต่างกว่าที่เป็นอยู่ดีไหม เท่านั้นแหละ เราก็ได้งานแบบนี้ต่อเนื่อง จนไปเข้าตาพี่เลี้ยงนางงามเวทีใหญ่ประจำจังหวัดแพร่เข้า ก็เลยเริ่มทำงานนี้ในปี 2560” 

Miss Grand Thailand, Miss Universe Thailand, Miss Supranational Thailand, Miss Trans Thailand, Miss Tiffany’s Universe  คือชื่อของการประกวดนางงามที่สุขโขอยู่เบื้องหลังการออกแบบเครื่องแต่งกายมานับไม่ถ้วน 

“โจทย์ของเราคือการตีความเรื่องเล่าหรือของดีประจำจังหวัดออกมาเป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ แต่ละปีเราจะรับงานเป็นจังหวัดๆ ไป โดยดูแลเสื้อผ้าให้นางงามจังหวัดนั้นๆ ทุกเวทีที่เข้าประกวด อย่างปีที่แล้วเรารับทำให้ 3 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ลำพูน และลำปาง” สุขโขเล่า

“มันสนุกนะที่ได้ระเบิดเรื่องเล่าออกมาเป็นเครื่องแต่งกาย บางจังหวัดเขาอยากเล่าเรื่องผีก็มี แต่ทำยังไงให้มันออกมาในเชิงบวก หรืออย่างปีก่อนที่เราทำให้นางงามชัยภูมิ เราเลยคิดถึงความม่วนของคนอีสานที่มาฟังโปงลาง เลยออกแบบให้ชุดมีหุ่นประกบเป็นเหมือนขบวนแถวของคนฟ้อนรำพร้อมกับใส่เครื่องดนตรีประกอบ เหมือนนางงามพาเพื่อนมาฟ้อนในงานบุญ 

“ความสนุกอีกเรื่องคือการได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เพราะเจ้าภาพการประกวดในแต่ละจังหวัดเขาก็มีโจทย์ที่ต่างกัน อย่างเวทีภูเก็ต เขามีโจทย์เครื่องแต่งกายของภาคใต้ ก็ต้องลงไปศึกษาว่าเขามีของดีอะไรบ้าง ก่อนจะได้มาด้วยชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากว่าวบุหลัน หรือบางเวทีมาธีมไกลตัวอย่างอียิปต์เลยก็มี ชุดธีมอะนูบิส เราก็ทำมาแล้ว” สุขโขเล่าเรื่องราวการออกแบบของตนเองพลางหัวเราะ  

“พอได้เห็นตอนนางงามเขาใส่ชุดเราบนเวที เห็นความมั่นใจของคนใส่ เห็นเพชรประดับแวววาว เห็นท่วงท่าการแสดงออกของนางงาม สำหรับเรามันจบเลยนะ ส่วนกระแสชื่นชมหรือด่าในออนไลน์มันเหนือการควบคุมเราไปแล้ว แค่คิดว่าเราต้องตีโจทย์ออกมาให้ดีที่สุด และทำให้ทีมพี่เลี้ยงและนางงามมีความมั่นใจที่ได้สวมชุดขึ้นเวทีเท่านั้นเลย” สุขโขกล่าว

ปัจจุบันนอกจากออกแบบเครื่องแต่งกาย ตัดชุดพิเศษให้กับผู้ที่สนใจ และให้เช่าชุด งานของสุขโขยังครอบคลุมถึงการออกแบบและประดับรถแห่ในพาเหรดวัฒนธรรมของจังหวัด ทำออร์แกไนเซอร์ (ร่วมกับหุ้นส่วน จิตร์สุภา ชูจิตต์) รวมถึงการขยายกิจการไปยังการทำสปาองค์เทพ! หรือการบูรณะประติมากรรมสายมูและสร้างสรรค์เครื่องประดับของประติมากรรมต่างๆ ให้กลับมาเฉิดฉาย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีลูกค้าต่อคิวรอไม่น้อย

“จะบอกว่าเงินคือแรงบันดาลใจหลักก็ได้ครับ ทำงานก็เพื่อให้ได้เงินเนอะ” เขายิ้ม 

“แต่หลักใหญ่ใจความคือความสนุกที่ได้ทำงาน การได้ร่างแบบบนกระดาษ และหาวัสดุที่ใช่เพื่อให้แบบนั้นเป็นจริงขึ้นมา ไปจนถึงการทำโจทย์ที่ยากๆ ให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ อย่างบางชุดลูกค้าอยากได้อลังการมากๆ แบบมีเครื่องหัวสูงเป็นเมตร นี่คือความท้าทายของเราในการทำให้นางงามใส่ขึ้นเวทีได้ เดินแล้วไม่หลุด และสวยด้วย 

“ซึ่งนั่นล่ะ สุดท้ายพอเห็นนางงามกับชุดเราบนเวที จะชนะหรือไม่นั่นอีกเรื่อง แต่แค่นี้ก็ฟินแล้ว” สุขโขกล่าวทิ้งท้าย

Enoteca Maria ร้านอาหารที่จ้างคุณย่าคุณยายจากทั่วโลกมาเป็นเชฟและเปิดแค่อาทิตย์ละ 3 วัน

อาหารให้พลังงานกับร่างกาย อาหารทำให้เรามีแรง อาหารทำให้เราทำงานได้ในแต่ละวัน

แต่กับอาหารบางอย่าง เราไม่ได้กินอาหารจานนั้นเพราะเราหิว เราไม่ได้กินอาหารจานนั้นเพราะเราอยากกิน แต่เรากินอาหารจานนั้นเพราะความคิดถึง

หากคุณโชคดีมากพอที่จะมีความทรงจำร่วมกับใครสักคนผ่านอาหารบางจาน หรือผ่านกาลเวลาที่อาจล่วงมาแล้วอย่างยาวนาน ไม่ว่าอาหารจานนั้นจะเป็นเมนูไหน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร เราคิดว่าคุณคือคนที่โชคดี 

ความโชคดีของคนบางคน หมายถึงการได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาหารร่วมกับคุณย่าคุณยายผ่านมื้ออาหารในวัยเด็ก ไม่ว่าความทรงจำนั้นคือการได้เป็นลูกมือโขลกเครื่องแกงให้คุณย่า หรือความทรงจำนั้นคือรสมือของคุณยาย ที่ไม่ว่าเชฟมิชลินหน้าไหนบนโลกใบนี้ก็สู้ไม่ได้ทั้งนั้น 

ถ้าคุณบังเอิญเป็นคนที่โชคดีคนนั้น เราก็ยินดีกับคุณด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่าเราแอบอิจฉาคุณชะมัด

โจ สการาเวลลา (Joe Scaravella) ผู้ก่อตั้งร้านอาหาร Enoteca Maria ที่นิวยอร์ก คือหนึ่งในผู้โชคดีคนนั้น

โจมีเชื้อสายชาวซิซิลี ประเทศอิตาลี แต่เกิดและโตมาที่บรูกลินโดยการเลี้ยงดูของคุณยาย เพราะตามประสาความฝันแบบอเมริกันดรีมที่ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย จะเกิดจะโตมาจากที่ใดก็ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น ถ้ามีความตั้งใจ มีความพยายาม และขยันอดทน 

ดังนั้นการที่คุณแม่ของโจต้องออกไปทำงานหนักทุกวัน เพื่อให้ครอบครัวตั้งหลักที่ผืนดินแห่งความหวังและโอกาสแห่งนี้ได้ ทำให้เขาได้ใช้เวลาวัยเด็กเกือบทั้งหมดกับคุณยายชาวอิตาเลียนของเขา 

ในความทรงจำที่ไม่จาง คุณยายหมั่นเพียรทำอาหารอิตาเลียนให้กินทุกวันๆ รสมือลาซานญ่า สปาเกตตี ยอกกี้มันเทศ ยังคงสะกดโจได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะออกไปเล่นซนที่ไหนสุดท้ายก็กลับมาอิ่มเปรมกับอาหารของคุณยายอยู่ดี

จนเมื่อปี 1999 เมื่อคุณยายของโจเสียชีวิต และโจคงไม่ได้กลิ่นซอสโปโมโดโรลอยมาเตะจมูก ไม่ได้ยินเสียงเคี่ยวสตูว์ในครัวที่บ้านอีกต่อไป

แต่ความคิดถึงอาหารจานเหล่านั้น และบรรยากาศในครัวที่คุณยายเคยเดินไปมายังคงอยู่ในใจไม่มีวันจางหาย

เดือนมีนาคม ปี 2007 เขาตัดสินใจว่าจะบำบัดความคิดถึงนั้นด้วยการเปิดร้านอาหาร!

โจตั้งชื่อร้านอาหารนั้นว่า Enoteca Maria คำว่า Enoteca แปลว่า ที่เก็บไวน์, โรงเก็บไวน์ ส่วน Maria เป็นชื่อของคุณแม่โจ

เนื่องด้วยร้านอาหารร้านนี้เปิดมาเพื่อบำบัดความคิดถึงของโจที่คิดถึงบรรยากาศการทำอาหารของคุณยาย สมัยที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่ คอนเซปต์ของร้านนี้จึงไม่เหมือนร้านอาหารร้านไหนๆ 

โจไม่ได้จ้างเชฟที่เชี่ยวชาญที่สุด หรือมีเทคนิคการทำอาหารที่หวือหวา แต่เขาจ้างคุณย่าคุณยายมาทำอาหาร (หรือจะเรียกว่ามาเป็นเชฟ) ที่ร้านแทนต่างหากล่ะ

อาจจะพูดได้ว่าหนึ่งในคุณสมบัติของคนที่มาทำอาหารให้คุณทานที่ร้าน Enoteca Maria คือสุภาพสตรีที่มีอายุไม่หย่อนกว่า 50 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันนี้ร้าน Enoteca Maria มีคุณย่าคุณยายจากทั่วโลกมาขันอาสาทำงานเป็นเชฟให้ที่ร้านหมุนเวียนกันประมาณ 30-40 คน และขอบเขตอายุของคุณย่าคุณยายเหล่านั้นอยู่ที่ 50-91 ปี!

เนื่องจากคุณย่าคุณยายแต่ละคนมีอายุยืนยาวขนาดนั้น แต่ละคนจึงพกสูตรลับและตำรับอาหารที่ตัวเองทำจากบ้านมาแบ่งปันให้กับครัวที่ร้าน Enoteca Maria อยู่เสมอ เท่ากับว่าที่ร้าน Enoteca Maria คุณจะได้กินอาหารตำรับคุณย่าคุณยายหลายๆ บ้าน ซึ่งจะว่าไปคงเหมือนเวลาเราไปเที่ยวเล่นที่บ้านเพื่อน แล้วคุณย่าคุณยายของเพื่อนก็จะทำกับข้าวให้กินนั่นแหละ

จากความตั้งใจที่อยากสร้างบรรยากาศของห้องครัวในบ้านสมัยที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่ โจจึงมุ่งไปที่คุณย่าคุณยายชาวอิตาเลียนที่ทำเฉพาะอาหารอิตาเลียนเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ เขาก็คิดได้ว่า ความคิดถึงรสมือของคุณย่าคุณยายไม่ควรถูกสงวนไว้เฉพาะคนที่มีเชื้อสายอิตาเลียน 

ปี 2015 เชฟคุณยายต่างชาติคนแรกจึงถูกว่าจ้างที่ร้าน Enoteca Maria และคุณยายคนนั้นเป็นชาวปากีสถาน

นับจากนั้นมา ขอบเขตเชื้อชาติของเชฟคุณย่าคุณยายที่ร้าน Enoteca Maria ก็แผ่ขยายออกไปอย่างไร้พรมแดน ปัจจุบันที่ร้าน Enoteca Maria มีเชฟคุณย่าคุณยายที่มีเชื้อสายมาจากทั่วโลก ทั้งซีเรีย อาร์เมเนีย ศรีลังกา กรีซ ญี่ปุ่น และเกาหลี

ร้าน Enoteca Maria เปิดทำการอาทิตย์ละ 3 วัน คือ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และเปิดให้บริการเป็นรอบๆ ได้แก่ 14:30, 17:30 และ 19:30 น. โดยที่ร้านจะมีเชฟคุณย่าคุณยายวันละ 2 คนที่ถือเป็นเชฟใหญ่ของร้าน และ 1 ในนั้นจะเป็นคุณยายชาวอิตาเลียน ซึ่งอนุมานเอาว่าเพื่อรักษาความตั้งใจเดิมของโจที่เปิดร้านนี้มาเพื่อระลึกถึงคุณยายของตัวเองนั่นแหละ

ถ้าคอนเซปต์การเปิดร้านอาหารเพื่อย้อนความคิดถึงที่ตัวเองมีต่อคุณยายของโจว่าน่ารักแล้ว อยากบอกว่า ยังมีเรื่องราวที่น่ารักมากไปกว่านั้นในร้านอาหารแห่งนี้ นั่นคือการเปิดให้เชฟคุณย่าคุณยายทุกคนสอนทำอาหารได้

เพราะความคิดถึงในช่วงเวลาที่มีต่อคุณย่าคุณยายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้นว่า บางคนคิดถึงรสมือ บางคนคิดถึงช่วงเวลาที่ได้เป็นลูกมือ (แถมยังได้ตำรับเคล็ดลับการปรุงอาหารติดตัวไปอีก)

โจจึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาเทรนการเป็นลูกมือเพื่อเรียนรู้การทำกับข้าวกับเชฟคุณย่าคุณยายที่ร้านได้แบบตัวต่อตัว ที่สำคัญคือฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรทั้งนั้น แต่มีข้อแม้เพียงแค่ว่า คุณต้องลงทะเบียนรอคิวสักหน่อย เพราะคนอยากมาเรียนรู้เคล็ดลับวิชากับเชฟคุณย่าคุณยายจากร้าน Enoteca Maria มากเหลือเกิน 

สิทธิพิเศษในการได้เรียนรู้ตำรับอาหารจากคุณย่าคุณยายที่ร้าน Enoteca Maria เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ร้านอาหารร้านนี้ที่ตั้งอยู่บน Staten Island ที่นิวยอร์กเท่านั้น หมายความว่า ถ้าเราอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ที่โตเกียว หรืออยู่ที่ย่างกุ้ง เราก็อดเรียนกับคุณย่าคุณยายผู้น่ารักเหล่านี้เลยอย่างนั้นน่ะเหรอ?

เชื่อเหลือเกินว่าพวกเราไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่ตั้งคำถามนี้กับโจ 

เพราะโจได้รวบรวมเอาสูตรอาหารของคุณย่าคุณยายทั้งหลายที่เป็นเชฟที่ร้าน Enoteca Maria ไว้ในหนังสือแบบออนไลน์ ที่ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนบนโลกก็เข้าไปดูแล้วทำตามได้ แถมในสูตรอาหารแต่ละสูตรยังลงรูปคุณยายเจ้าของสูตรไว้อีกต่างหาก เวลาคุณเอาสูตรอาหารเหล่านี้ไปลองทำเองที่บ้าน คุณจะได้รู้ว่ากำลังเรียนรู้สูตรลับการทำซุป หรือการย่างสเต๊กจากคุณยายคนไหนยังไงล่ะ

Enoteca Maria อาจจะเป็นร้านอาหารที่เกิดมาจากความคิดถึงของโจที่มีต่อคุณยาย แต่ตอนนี้ความคิดถึงนั้นได้กลายเป็นทั้งธุรกิจที่สร้างรายได้แก่คุณย่าคุณยายอีกมากมาย แถมยังเป็นร้านอาหารที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและอ้อมกอดของคุณย่าคุณยายทั้งหลายที่มีต่อลูกๆ หลานๆ ที่แม้ไม่ได้ผูกพันกันโดยสายเลือด แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นด้วยอาหาร

แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณกินอาหารด้วยความคิดถึง อาหารจานนั้นคืออะไร และอาหารจานนั้นทำให้คุณคิดถึงใคร?

อ้างอิงจาก

ยังจ่ายเงินเข้าห้องน้ำไหม ไอเดียเปลี่ยนฉี่เป็นทองยุคโรมันสู่อิสรภาพการปลดทุกข์ที่อเมริกา

ถ้าพูดถึงค่าเข้าห้องน้ำ ในบางพื้นที่เช่นประเทศแถบยุโรป การเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งมีราคาดั่งทอง ค่าเข้าห้องน้ำอาจสูงได้ถึง 1.5 ยูโร หรือราว 60 บาทต่อการเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง 

กลับกัน อเมริการวมถึงบ้านเราไม่ค่อยเก็บค่าเข้าห้องน้ำเท่าไหร่ บ้านเราเองแม้ยังคงมีห้องน้ำที่เก็บค่าบริการ อาจจะ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับกรณีของยุโรป

ถ้ามองลึกลงไป แม้การเข้าห้องน้ำจะเป็นการปลดทุกข์ แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาห้องน้ำก็อาจเป็นทุกข์ก้อนใหญ่ของผู้ดูแล ห้องน้ำแบบเก็บเงินจึงแทบจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับนวัตกรรมห้องน้ำและห้องน้ำสาธารณะ 

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ในครั้งนี้เราจะขอพาทุกท่านหวนกลับไปสู่ธรรมเนียมของการจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ อีกหนึ่งพื้นที่ที่เราคุ้นเคยที่ตอนนี้เริ่มจะไม่เคยคุ้น ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปลดทุกข์ในพื้นที่สาธารณะ จากความหรูหราสะดวกสบายในอังกฤษถึงการปลดล็อกการฉี่ฟรีในอเมริกา

ทำฉี่ให้เป็นทอง ไอเดียหาเงินจากจักรพรรดิโรมัน

ห้องน้ำถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่มากับระบบท่อที่มีคุณภาพและซับซ้อน ห้องน้ำสาธารณะจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของอนามัยของเมือง และเมื่อเมืองหนาแน่นขึ้นการปวดท้องเข้าห้องน้ำนอกสถานที่จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ห้องน้ำสาธารณะแบบจ่ายเงินจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น

โรมเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่มีระบบท่อและเริ่มมีห้องน้ำสาธารณะตั้งแต่ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิแว็สปาซิอานุส (Vespasianvs) จักรพรรดิผู้ปกครองโรมเป็นเวลาสั้นๆ แค่ 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 69 แต่จักรพรรดิพระองค์นี้ริเริ่มมรดกสำคัญคือการเริ่มสร้างโคลอสเซียม 

รัชสมัยของแว็สปาซิอานุสเป็นยุคที่โรมไม่มั่นคงและท้องพระคลังของโรมร่อยหรอ องค์จักรพรรดิใหม่ต้องหาเงินเพื่อจ่ายเหล่าทหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพาพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์ได้ การหาเงินของพระองค์เกี่ยวกับการออกภาษีปัสสาวะหรือ urine tax ซึ่งเป็นที่มาของการล้อเลียนองค์จักรพรรดิและเกิดวลี Pecunia non olet หรือเงินนั้นไม่เหม็น คือค่าของเงินไม่ได้เสื่อมเสียไปตามที่มาของมัน

จากวลีและการเก็บภาษี นักประวัติศาสตร์แบ่งความคิดเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเชื่อว่าการเก็บภาษีมาจากการขายปัสสาวะ คือในยุคโรมัน ชนชั้นล่างของโรมจะปัสสาวะลงในถังและนำถังไปเทรวม เมืองจะนำปัสสาวะไปขายต่อซึ่งใช้ในกิจการ เช่นการฟอกหนังหรือฟอกขนแกะ ตรงนี้เองที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายภาษีด้วย

อีกด้านเชื่อว่ามาจากสาธารณูปโภคห้องน้ำสาธารณะของโรมัน ซึ่งเป็นห้องน้ำอย่างหรูหรา มีแท่นโถทำจากหินอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของโรงอาบน้ำและสระสาธารณะ ตรงนี้เองที่เชื่อว่าจักรพรรดิเก็บเงินค่าเข้าใช้บริการห้องน้ำหรูหราและถือเป็นร่องรอยแรกๆ ของการจ่ายเงินเพื่อเข้าสุขา

นวัตกรรมชักโครกของอังกฤษ และความก้าวหน้าอันหรูหรา

จากสมัยโรมัน เราพากลับมายังประวัติศาสตร์สมัยไม่ไกลนักกับยุคที่คอลัมน์ของเรามักจะพูดถึง คือยุควิคตอเรียน ยุคสมัยที่โลกตะวันตกเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอย่างเป็นร่องรอยเค้าลางของโลกปัจจุบัน 

และเป็นอีกครั้งที่เราจะพาไปยังลอนดอน ไปยังนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติสมัยใหม่คืองาน The Great Exhibition ในปี 1851 งานนิทรรศการสำคัญของลอนดอนซึ่งจัดแสดงนวัตกรรมเช่นเรือนกระจกและเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ 

หนึ่งในนวัตกรรมที่ร่วมจัดแสดงในครั้งนั้นคือห้องน้ำสาธารณะที่มาพร้อมกับระบบชักโครกเป็นครั้งแรก ห้องน้ำนี้ออกแบบโดยจอร์จ เจนนิงส์ (George Jennings) ช่างประปาชาวไบรตัน การเข้าใช้บริการต้องเสียเงิน 1 เพนนี แต่ตัวห้องน้ำที่ปิดมิดชิดนั้นจะมากับที่นั่งที่สะอาด ผ้าเช็ดมือ หวี มีกระทั่งบริการขัดรองเท้า คือเป็นห้องน้ำอย่างหรูหราไม่ธรรมดา 

เจ้าห้องน้ำในงานแสดงได้รับความนิยมและผู้คนตื่นเต้นมาก 

มากขนาดที่ต่อมา ‘Spend a penny’ กลายเป็นสำนวนอังกฤษแปลว่า ‘การไปเข้าสุขา’ 

มากขนาดที่ว่าระหว่างงานมีคนมาใช้บริการรวมแล้วถึง 800,000 คน ในช่วงราว 5 เดือนที่จัดนิทรรศการ ด้วยความยอดนิยมเจ้าของนวัตกรรมห้องน้ำจึงขอให้เจ้าห้องน้ำสาธารณะใหม่นี้ยังคงตั้งให้บริการอยู่ที่ไฮด์ปาร์กต่อไปหลังนิทรรศการจบ ซึ่งเจ้าส้วมใหม่ทำเงินได้ราวปีละ 1,000 ปอนด์

ตรงนี้เองที่สุขภัณฑ์รวมถึงห้องน้ำสาธารณะกลายเป็นกิจการสำคัญใหม่ของเมือง หลังจากนิทรรศการ The Great Exhibition ลอนดอนก็เริ่มมีห้องน้ำสาธารณะปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 1850s ซึ่งห้องน้ำในยุคนี้ยังไม่เป็นที่นิยมและถูกทุบทำลายไปภายในเวลาไม่นาน

จากห้องน้ำต้นแบบที่มีชื่อเสียงค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ระบบชักโครกที่มีประสิทธิภาพขึ้น มีการพัฒนาลูกลอยโดยโทมัส แครปเปอร์ (Thomas Crapper) 

ส่วนเจนนิงส์ผู้เป็นเจ้าของห้องน้ำต้นแบบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในปี 1882 ทว่าลูกชายของแกดำเนินกิจการต่อ ในปี 1895 บริษัทรุ่นลูกของแกดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำในหลายเมืองสำคัญทั้งเมืองของอังกฤษ 36 เมือง รวมถึงเมืองในปารีส ฟลอเรนซ์ เบอร์ลิน มาดริด ไกลไปถึงซิดนีย์ และบางส่วนของอเมริกาใต้

ห้องน้ำสาธารณะของอังกฤษและยุโรปในยุคแรกยังไม่ได้เป็นแค่ห้องน้ำ แต่เป็นบริการสาธารณะชั้นเยี่ยม ตัวห้องน้ำที่ผุดขึ้นในพื้นที่จะต้องออกแบบอย่างสวยงาม ใช้วัสดุพิเศษเช่นหินอ่อนและทองแดง กรุด้วยเซรามิกหรือกระเบื้องอย่างหรูหรา ห้องน้ำอาจสร้างไว้บนพื้นดินเป็นอาคารขนาดเล็กหรืออาจสร้างไว้ใต้ดินที่ต้องก้าวเดินลงไป เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของยุควิคตอเรียน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ห้องน้ำสาธารณะในยุคกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 รวมถึงพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของผู้ชายเป็นหลัก ห้องน้ำส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับสุภาพบุรุษ ไม่ใช่สุภาพสตรี ตรงนี้เองที่ห้องน้ำกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผูกมัดผู้หญิงไว้กับบ้าน 

พวกเธอจะเดินทางไปในระยะขอบเขตของบ้าน ทั้งบ้านตัวเองหรือบ้านของญาติพี่น้องซึ่งพวกเธอจะใช้ห้องน้ำได้ เรื่องห้องน้ำและการปลดปล่อยผู้หญิงเป็นอีกมหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานซึ่งค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการทำให้ห้องน้ำเข้าถึงได้ เป็นบริการพื้นฐานและฟรีมากขึ้น

ปัจจุบันที่อังกฤษส่วนใหญ่มีบริการห้องน้ำสาธารณะฟรี บางสุขาสาธารณะเก็บเงินแต่มีโถปัสสาวะฟรีให้กับผู้ชาย แน่นอนว่าทำให้ผู้คนขุ่นเคือง แต่ในแง่การดูแลระบุว่าห้องน้ำสตรีมีค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่า และโถปัสสาวะที่ฟรีก็ทำเพื่อป้องกันการฉี่ในที่สาธารณะ

อเมริกา กับสัดส่วนห้องน้ำฟรี 1 เสียเงิน 2

จากงานนิทรรศการยิ่งใหญ่ที่อังกฤษ ห้องน้ำแบบจ่ายเงินของอเมริกาที่กลายเป็นประเด็นก็เกิดจากงานนิทรรศการในทำนองเดียวกัน 

ในปี 1893 ชิคาโกมีการจัดเวิลด์แฟร์ขึ้น ในงานนิทรรศการผู้จัดเตรียมต้อนรับผู้มาเยือนที่คาดจำนวนไว้หลักล้านคน จึงมีการสร้างห้องน้ำไว้ 2,000 ห้อง กระจายอยู่ 32 จุดทั่วงานเอกซ์โป ในตอนนั้นอเมริกามีกฎหมายว่าพื้นที่ต้องมีห้องน้ำฟรีให้บริการด้วย ซึ่งการมีห้องน้ำฟรีหนึ่งในสามห้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญาในการจัดงาน 

งานนี้จึงมีห้องน้ำบริการ 2 แบบ หนึ่งในสามเป็นห้องน้ำฟรี ส่วนห้องน้ำเสียเงินราคา 5 เซนต์ เป็นห้องน้ำอย่างหรูที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่แค่สบู่ แปรง ผ้าขนหนู แต่ยังมีพนักงานช่วยเหลือประจำจุดด้วย

ทว่าการมีห้องน้ำและห้องน้ำเสียเงินเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำ ในช่วงที่มีนิทรรศการ หนังสือพิมพ์บางรัฐ บางฉบับ ตีพิมพ์เสียงบ่นของสุภาพสตรีผู้ไปชมงานซึ่งบอกว่าห้องน้ำฟรีไม่ถูกสุขอนามัย หาก็ยาก  

แม้จะมีเสียงบ่นและข้อถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำฟรี แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่ยังไม่คิดอะไรมาก งานนิทรรศการเป็นเหมือนพื้นที่ชั่วคราว ถ้าอยากเข้าห้องน้ำหรูก็ยอมเสียหน่อย เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง

หนึ่งทศวรรษหลังจากนิทรรศการ กิจการรถไฟขยายตัวในอเมริกา สิ่งที่มาพร้อมกับสถานีรถไฟที่หรูหราและสะดวกขึ้นคือห้องน้ำ ช่วงนี้เองที่สถานีรถไฟใหม่ในทศวรรษ 1900 เริ่มโฆษณาว่าห้องน้ำของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง และช่วงเดียวกันนี้ที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟติดตั้งระบบล็อกด้วยเหรียญที่จะจำกัดผู้ใช้งาน ให้เข้าห้องน้ำได้เฉพาะผู้ที่ซื้อตั๋วเดินทางเท่านั้น

หนึ่งในห้องน้ำที่น่าสนใจคือการเปิดบริการอาคารผู้โดยสารใหม่ของสาย Northwestern Line ในชิคาโกในปี 1911 สถานีนี้มีการโฆษณาว่าทุกจุดของการเดินทางคือความสะดวกสบาย มีห้องน้ำหรูหราให้บริการ ซึ่งตัวห้องน้ำที่สถานีใหม่นี้เก็บเงินเฉพาะห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงใช้ฟรี ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางของสุภาพสตรีที่ผู้หญิงไม่เตร่อยู่นอกบ้าน การใช้งานห้องน้ำหญิงจึงเป็นผู้โดยสารของรถไฟขบวนหรู 

หลังจากนั้นการสร้างห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะของอเมริกา เช่นในสวนหรือจัตุรัสต่างๆ ซึ่งมักสร้างไว้ใต้ดินจึงมักเป็นการสร้างห้องน้ำที่ฟรีและจ่ายเงินไว้คู่กัน สิ่งที่น่าแปลกใจคือหลังจากงานเอกซ์โปที่ชิคาโก ข้อโต้แย้งเรื่องการเก็บเงินเข้าห้องน้ำจะพูดถึงการจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวห้องน้ำให้สะอาดเสมอ และหลักการหนึ่งในสามของห้องน้ำฟรีเป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้อเมริกันชนยังยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำกันอยู่

1970 กับการปลดล็อกห้องน้ำของเด็กมัธยม

การต่อสู้เรื่องห้องน้ำของอเมริกามีการคัดง้างกันมา และตัวมันเองสัมพันธ์กับบริบทที่อเมริกามีความเคลื่อนไหวทางความคิดโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ด้วยบริบทของยุคหลังสงครามกลางเมือง กระแสสิทธิของคนผิวดำ, กระแสสิทธิสตรี, กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านสงคราม แต่ทว่าหนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือการเกิดขึ้นของคณะกรรมการยุติห้องน้ำเสียเงิน (Committee to End Pay Toilets in America) 

คณะกรรมการที่ชื่อสุดเท่นี้จริงๆ เป็นการเคลื่อนไหวของเด็กมัธยมชาวโอไฮโอ 4 คน นำโดยนักเรียนหญิงวัยเพียง 19 ปี เป็นแรงผลักสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่ทำให้ห้องน้ำเสียเงินถูกรื้อออกจากอเมริกา

จุดเริ่มของการเคลื่อนไหวเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ในตอนที่ครอบครัวเจสเซล (Gessel Family) ขับรถโร้ดทริปไปในแถบเพนซิลเวเนีย ในตอนนั้นไมเคิลและไอราเจสเซล สองหนุ่มน้อยวัยรุ่นต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำในร้านอาหารแห่งหนึ่งและรู้สึกว่ามันช่างแย่ซะเหลือเกิน

ตรงนี้อาจเป็นสปิริตของยุค 70s สองพี่น้องรู้สึกว่าอยากจะยุติการต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ ไอราลงมือเขียนบทความถึงสภาคองเกรสเพื่อยุติห้องน้ำเสียเงิน จากจดหมายถึงรัฐ สองพี่น้องเริ่มรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการ ออกแบบโลโก้ มีการปรินต์บทความไปแปะในห้องน้ำ มีการแต่งเพลงมาร์ช จากกลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึง 30 คนในชมรมหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน 

ในช่วงปี 1970 สมาพันธ์ยุติห้องน้ำจ่ายเงินกลายเป็นสมาคมระดับประเทศ มีสมาชิกที่จ่ายเงิน 0.25 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 1,800 คนเพื่อรับนิตยสารของสมาคมที่เรียกอย่างตลกขบขันว่า Free Toilet Paper มีการตั้งรางวัลโทมัส แครปเปอร์ตามผู้พัฒนาลูกลอยและระบบชักโครกที่พูดถึงไปด้านบน การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านห้องน้ำจ่ายเงินทำไปด้วยความสดใหม่ กวนประสาทนิดๆ แต่ทว่าประสบการณ์ต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำเป็นสิ่งที่สาธารณชนสัมผัสได้

ความเคลื่อนไหวของเด็กๆ เป็นความเคลื่อนไหวที่เคลื่อนไปพร้อมกับความก้าวหน้าเช่นประเด็นเรื่องสิทธิสตรีที่เริ่มในยุค 70s เช่นเดียวกัน จากกลุ่มหลักพันคนเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อของรัฐ หลังจากนั้นเมืองเช่นชิคาโกและโอไฮโอก็เริ่มออกกฎหมายถอดถอนห้องน้ำเสียเงิน จากสัดส่วนห้องน้ำฟรีและเสียเงินที่ต้องมี 1 ต่อ 1 สู่หมุดหมายสำคัญในปี 1973 

ในปี 1973 ชิคาโกเป็นเมืองแรกที่แบนห้องน้ำจ่ายเงินอย่างเป็นทางการ ก่อนเริ่มขยายตัวไปยังเมืองสำคัญตั้งแต่นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ มินนิโซตา แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า และโอไฮโอ ในปี 1976 มี 12 รัฐผลักดันกฎหมายแบนห้องน้ำเสียเงิน และในปีนั้นเองที่กลุ่มประกาศชัยชนะและประกาศสลายตัวสมาพันธ์ไปในที่สุด

กลุ่มเด็กมัธยมที่ต่อมากลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มขับเคลื่อน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ห้องน้ำในอเมริกากลายเป็นสาธารณูปโภคฟรีในปัจจุบัน ซึ่งในยุคหลังนี้ก็มีการโต้แย้งอยู่บ้างเช่นการรื้อถอนห้องน้ำสาธารณะเสียเงินไม่ได้เพิ่มห้องน้ำสาธารณะขึ้นใหม่ ที่มีอยู่ก็เลอะๆ 

แต่ในภาพรวม การเข้าถึงห้องน้ำฟรีได้ก็สัมพันธ์กับหลักคิดเรื่องสิทธิและบริการที่ตอบสนองกับความต้องการพื้นฐาน การเข้าห้องน้ำได้หลายครั้งเป็นความจำเป็นและการปลดทุกข์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานและเร่งด่วนอยู่เหมือนกัน

จากประเด็นเรื่องห้องน้ำเสียเงิน หนึ่งในบริการที่สิบปีก่อนเราคุ้นเคยและยินดีจ่าย สู่การแพร่กระจายไปในบริบทที่แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจเล็กๆ ที่ในตอนนั้นกลุ่มเด็กๆ ไม่ยินยอมจะปล่อยผ่านและทำให้กลายเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันร่วมสมัย 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ย้อน 5 เรื่องของ Robinhood จากแรกหวังเป็น CSR สู่วันที่ต้องโบกมือลา ท่ามกลางความเสียดายของผู้คน

เวลานี้ หนึ่งในประเด็นร้อนที่หลายคนน่าจะจับตามองคือ Robinhood แพลตฟอร์มเดลิเวอรีสัญชาติไทยภายใต้การนำของ SCBX ได้ประกาศปิดตัวลง

พ่อค้าแม่ขายที่มีช่องทางในแพลตฟอร์ม Robinhood คงพยายามหาหนทางและข้อสรุปต่อไปของร้าน เนื่องด้วย Robinhood แทบจะเป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่หลายเจ้ากระโดดเข้าไปเปิดหน้าร้านเพราะไม่เสียค่า GP ในการขายของ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าคนทั่วไปน่าจะสงสัยไม่น้อยว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีเป็นยังไง? เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ขนาดนั้นเลยหรือไม่? Capital ขอพาไป recap เส้นทางของ Robinhood และอนาคตต่อไปของตลาดนี้

1. Robinhood เกิดขึ้นโดยกลุ่ม SCBX ที่ตั้งใจให้คนไทยมีค่าครองชีพถูกลง ในห้วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องสั่งอาหารออนไลน์ จากปกติที่ต้องใช้เวลาพัฒนาแอพฯ นานเป็นปี กลุ่ม SCB พัฒนาภายในเวลา 3 เดือน

2. การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรีมี pain point ที่ราคาและปริมาณ คือร้านโดนเก็บค่า GP สูงถึง 30-35% ของค่าอาหารที่ขาย นั่นแปลว่าร้านก็ได้เงินน้อยลง ลูกค้าก็จ่ายแพงขึ้น คอนเซปต์ของ Robinhood จึงคือการเป็นฟู้ดเดลิเวอรีที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ

เช่น ค่าสมัคร ค่า GP นั่นทำให้ร้านอาหารได้เงินเต็ม ลูกค้าก็ได้อาหารปริมาณเหมือนกินหน้าร้านในราคาไม่บวกเพิ่ม ในค่าส่งตามจริง ไอเดียนี้ได้มาจากบริษัทในต่างประเทศที่ชื่อ Robinhood เหมือนกัน แต่ทำเรื่อง security trading โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม 

3. คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ในตอนนั้น ยังอธิบายว่า การเกิดขึ้นของ Robinhood ก็เหมือนกับการสร้างโครงการ CSR ขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง เพราะงบที่ได้นั้นมาจากงบ CSR ของธนาคารไทยพาณิชย์ “Robinhood ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งกับใครหรือต้องการเป็นเจ้าตลาด แต่พัฒนาโดยใช้มุมมองของลูกค้าเป็นตัวตั้ง” นั่นแปลว่าจะไม่มีกำไรจากการเปิดแอพพลิเคชั่นนี้

แต่ถึงจะบอกว่าไม่ได้หวังกำไร ทาง SCBX ก็ถือว่ายังได้ผลประโยชน์อื่นๆ เพราะ Robinhood เปิดให้ร้านค้าเข้าถึงสินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นร่มใหญ่ได้ง่ายขึ้น แปลว่าธนาคารก็ย่อมได้ฐานข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลร้านค้าบริการไปด้วย รวมถึงได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้บริโภคไปเต็มๆ

นอกจากนั้น คอนเซปต์ CSR นี้ยังทำให้ลูกค้ารักใน Robinhood รักในไทยพาณิชย์ และหวังว่าหากลูกค้าจะใช้บริการธนาคาร ก็จะนึกถึงไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแรก นี่ก็คือการสร้าง brand love และ brand awareness ให้แบรนด์นั่นเอง

4. ณ ตอนนั้น ในรอบ 1 ปี ของ Robinhood มีลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ-ส่งอาหารกว่า 26,000 คน Robinhood ยังทำแคมเปญส่งอาหารฟรีซึ่งทำให้แอพฯ โตแบบก้าวกระโดดภายในระยะเพียง 4 สัปดาห์ นั่นคือมีไรเดอร์จาก 8 พันสู่ 2.6 หมื่นคัน, ร้านอาหารจาก 1 แสนสู่ 1.6 แสนร้าน, ลูกค้าจาก 1.2 ล้านคนสู่ 2.1 ล้านคน และยอดออร์เดอร์ต่อวันจาก 2 หมื่นสู่ 1.5 แสนออร์เดอร์

และหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการดึงลูกค้าแล้ว Robinhood ยังขยับตัวเองจากการเป็นเพียง CSR มาเป็น social enterprise เพื่อให้อยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง นอกจากมีบริการรับ-ส่งอาหาร ยังขยายบริการอื่นๆ เช่น การจองโรงแรม การรับ-ส่งคน ทั้งหมดนี้เมื่อปี 2565 Robinhood ตั้งเป้าว่าจะเป็น super app ให้ได้

5. แต่หากขุดดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะเห็นว่ารายได้ตลอดการเปิดแอพฯ นั้นแม้จะเพิ่มขึ้นก็จริง แต่กลับขาดทุนต่อเนื่องทุกปี และในปี 2566 ก็ขาดทุนกว่า 2,155 ล้านบาท และขาดทุนสะสมกว่า 5,500 ล้านบาท

อันที่จริง สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ทั้งในตลาดฟู้ดเดลิเวอรีและอีคอมเมิร์ซก็ยอมเผาเงินและขาดทุนในช่วงแรกกันเป็นปกติ เนื่องจากต้องการดึงดูดลูกค้าใหม่ เพิ่มปริมาณการสั่งซื้อ การสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ ซึ่งกับลูกค้าบางราย การลดแลกแจกแถมในช่วงนี้ก็อาจทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นลูกค้าประจำได้ แต่เมื่อหมดช่วงข้าวใหม่ปลามันนี้แล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ก็อาจไม่สานต่อสัมพันธ์และเลือกมองหาแบรนด์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องราคาได้  

อีกสิ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพทั้งหลายยอมเสียเงินมหาศาลเพื่อให้ได้ลูกค้ามา ก็คือการได้มาซึ่งข้อมูลที่ได้เล่าไปแล้วในข้อ 4 เพราะฐานข้อมูลถือเป็นสินทรัพย์ทางธุรกิจที่ประเมินค่าไม่ได้ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีใครยอมขายให้ เมื่อมอง Robinhood ว่าเป็นแบรนด์ลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ การยอมลดแลกเพื่อได้ฐานข้อมูลเฉพาะที่ธนาคารอาจไม่เคยมีก็อาจถือเป็นทางเลือกที่ดี

แต่การแข่งขันกันที่ราคานี้เองที่ทำให้เกิดสงครามราคาอันดุเดือด ซึ่งนั่นหมายความว่าหากแบรนด์ไหนไม่สามารถหาวิธีทำกำไรในระยะยาวของตนเองได้ การผลาญเงินไปเรื่อยๆ ก็อาจกลายเป็นเส้นทางสู่บทสุดท้ายของหนังสือ

  • ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยเป็นยังไงต่อ? จากข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปได้ว่า
  • ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นน่าจะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 ด้วยผู้บริโภคนั้นกลับมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
  • แม้ 94% ของผู้ใช้งานฟู้ดเดลิเวอรีคิดว่าจะยังใช้งานอยู่ก็ตาม แต่กว่า 48% คิดว่าจะสั่งอาหารน้อยลง
  • ร้านอาหารยังมีต้นทุนสะสมสูงทำให้จำเป็นต้องปรับราคาขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการสั่งอาหารของผู้บริโภค
  • ตอนนี้หลายๆ แพลตฟอร์มอัดโปรโมชั่นน้อยลงเพื่อหวังลดต้นทุนและสร้างกำไร ขณะเดียวกันก็หันมาทำการตลาดแบบเจาะจงมากขึ้นด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% จากปี 2566 แปลว่าเมื่อตลาดนี้หดตัวลงเรื่อยๆ ผู้เล่นในเกมนี้ต้องหากลยุทธ์อื่นๆ เพื่อสร้างรายได้มากกว่าการเป็นเพียงแค่แอพพลิเคชั่นส่งอาหาร 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือตัวเลขการสมัครใช้งานในเดือนมิถุนายน 2566 ของแอพพลิเคชั่นอย่าง LINE MAN Wongnai ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดก็ลดน้อยลงเช่นกัน นั่นทำให้แอพฯ ต้องใช้กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัด และเพิ่มบริการอื่นๆ อย่างการเรียกรถ การสร้างสัมพันธ์ข้ามธุรกิจ

ย้อนกลับมาที่ Robinhood ซึ่งได้ประกาศถึงแผนการปิดตัวที่จะเปิดให้ใช้งานแอพฯ ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20:00 น. เหตุการณ์นี้ถือว่าสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วทุกวงการ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการและไรเดอร์ที่ใช้งานแอพฯ

ถึงอย่างนั้น เพราะความตั้งใจแรกเริ่มที่หวังเป็น CSR จึงมีหลายเสียงที่กล่าวว่าเข้าใจดีถึงสถานการณ์ ร้านค้าหลายรายเสียดายและเสียใจเพราะการเปิดหน้าร้านใน Robinhood นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากมาย ส่วนฟากฝั่งของผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็โอดครวญว่าจะต้องจ่ายค่าอาหารแพงอีกแล้วหรือนี่?

ขณะเดียวกัน กรณีของ Robinhood น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในฟากฝั่งของผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดไม่มากก็น้อย เพราะขณะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเร็วในแต่ละวัน การเป็นผู้เล่นที่สามารถยืนหนึ่งได้ตลอดนั้นก็ท้าทายไม่น้อย

อ้างอิง 

เวียนว่ายไปกับ Aquabeeru มินิอควาเรียมที่ตั้งใจเป็น ‘เซฟโซน’ ของทั้งคนและปลาสวยงาม

แปลกแต่จริงที่ว่า ภาพจำของร้านขายปลาสวยงามในบ้านเรามักไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่นัก  

ทว่านั่นอาจไม่ใช่กับ Aquabeeru (อควาบีรุ) ร้านขายปลาสวยงาม ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ที่เพิ่งก่อตั้งในช่วงต้นปี 2024 โดยความตั้งใจของ เบียร์–เสกสรร พิสิฐเพ็ญจันทร์ บรรณาธิการภาพและมัลติมีเดียจาก Howl & VPN Magazine และนนท์–ชานนท์ สิมะบวรสุทธิ์ Co-founder และบรรณาธิการ Howl & VPN Magazine ร่วมด้วยคนสนิทข้างกายอีก 2 ราย คือ ริบบิ้น–ลักษณาภรณ์ จุลพันธ์ และน้ำฝน–ลัคนา พิสิฐเพ็ญจันทร์ ที่หมายมั่นปั้นมือเปลี่ยนภาพจำด้านลบของร้านปลาสวยงามที่มีอยู่ตามท้องตลาด

ฟังดูอาจเป็นเป้าหมายไกลเกินเอื้อม แต่จากสองตาที่ได้เห็นคงต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่คำอวดอ้างเกินจริง เพราะ Aquabeeru ไม่ใช่ร้านปลาสวยงามที่เพียงเพื่อซื้อมา-ขายไป แต่ยังมอบความรู้พื้นฐานแก่นักเลี้ยงปลามือใหม่ พร้อมกับดูแลความเป็นอยู่ของบรรดาปลาในร้านดุจครอบครัวมากกว่าแค่สินค้า 

สะท้อนผ่านการจัดวางตู้ปลาแต่ละตู้อย่างพิถีพิถันด้วยเฟอร์นิเจอร์คุณภาพ มีระบบคัดกรองสิ่งปฏิกูล สายออกซิเจนที่ถูกเก็บเป็นที่ทาง ไหนจะการเลี้ยงในระบบนิเวศที่เหมาะสม แม้กระทั่งป้ายบอกชื่อพันธุ์ปลาที่ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ยังมีให้เห็น เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจึงแทบไม่ต่างจากอควาเรียมขนาดย่อมยังไงยังงั้น

นอกจากนี้ Aquabeeru ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น เวิร์กช็อปจัดตู้ปลาและพันธุ์ไม้น้ำ คาเฟ่นั่งชิลล์ สถานที่จัดเวิร์กช็อปสำหรับประชุม และเซฟโซนสำหรับคนที่เหนื่อยล้าจากชีวิตประจำวันโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเก็บกระเป๋าไปถึงทะเล 

รวมๆ แล้วแนวคิดและวิธีนำเสนอภาพลักษณ์ของ Aquabeeru ช่างน่าสนใจ กับการบริหารร้านปลาไซส์เล็กน่ารัก แต่สามารถช่วยเยียวยาและชุบชูจิตใจของทั้งคนและปลาสวยงามไว้ได้ 

ว่าแล้วขอเชิญผู้อ่านไปแหวกว่ายกันในร้าน สัมผัสความอบอุ่น พร้อมกับหาคำตอบการบริหารของพวกเขาจากคอลัมน์ Market Share คราวนี้ 

เท่าที่ทราบมา ดูเหมือนพวกคุณจะมีความชอบในเรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

เบียร์ : เดิมทีความรู้ในการจัดตู้ปลาหรือความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามของผมแทบเป็นศูนย์ แต่เผอิญคุณพ่อของผมเขาอยากเลี้ยงปลาคาร์ป แต่เลี้ยงเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที ผมเลยศึกษาค้นคว้าเพื่อช่วยเหลือว่า เราควรเลี้ยงแบบไหนดี เลี้ยงแบบไหนมันถึงจะรอด ทำไปทำมาเลยมีความเข้าใจพื้นฐานของการเลี้ยงปลาสวยงาม 

ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่ได้อินกับการเลี้ยงปลาสวยงามอยู่ดีนะ จนกระทั่งวันหนึ่งแฟนของผม (ลักษณาภรณ์) เขาไปเห็นคลิปการจัดตู้ปลาแบบเกาหลี ที่เน้นตกแต่งด้วยตัวการ์ตูนสวยๆ น่ารักๆ เลยมีความคิดอยากจัดตู้ปลาแบบนั้นบ้างในแบบที่อิงจากบ้านของตัวการ์ตูนสพันจ์บ็อบ

ผมก็ว่าโอเค เป็นไอเดียที่ดูน่าสนุก หลังจากนั้นเลยศึกษาความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดตู้ปลา ถลำลึกถึงขั้นที่ศึกษาเรื่องระบบคัดกรองชีวภาพ วัฏจักรไนโตรเจน จนถึงระบบนิเวศของปลาสวยงามแต่ละพันธุ์ จนกระทั่งผมไปได้ตู้ปลาขนาด 12×12 นิ้ว ก็เลยเริ่มจัดตู้ปลาเองเป็นครั้งแรก ลองผิดลองถูกจากความรู้เท่าที่เรามีในตอนนั้น วางกรวด เติมไม้น้ำ เติมปลา ทยอยทำด้วยความสนุก จนในที่สุดก็ได้ตู้ปลาตู้แรก

เพียงแต่ไม่ใช่ตู้สพันจ์บ็อบที่วางไว้แต่แรก (หัวเราะ)

ริบบิ้น : ทุกวันนี้ก็ยังทวงเขาอยู่นะ ว่าเมื่อไหร่เราจะได้ตู้สพันจ์บ็อบ (หัวเราะ)

อย่างที่เล่าไป คือหลังจากเราทำตู้ปลาตู้แรกสำเร็จ ก็เกิดเป็นเอฟเฟกต์ ‘ตู้งอก’ คืออยากจะลองทำตู้ปลาในแบบอื่นๆ บ้าง ทีนี้พอมีหลายตู้ก็เลยอยากลองทำคอนเทนต์นำเสนอการจัดตู้ปลาสวยงามลงทาง TikTok ในชื่อช่องว่า Aquabeeru ปรากฏว่าได้รับความสนใจเกินคาด

นนท์ : ส่วนผมก็เคยมีปมกับการเลี้ยงปลามาก่อนเหมือนกัน คือสมัยเด็กๆ ผมเลี้ยงปลาสวยงามเยอะ แต่ส่วนใหญ่เลี้ยงแล้วมันไม่รอด จนกระทั่งตอนได้ทำงานร่วมกับเบียร์ มีวันหนึ่งเขาชวนผมไปบ้านแล้วอวดตู้ปลา เราถึงเห็นว่าอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามตอนนี้พัฒนาไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก ทำให้ตัดสินใจว่าจะกลับมาเลี้ยงปลาสวยงามอีกครั้ง แล้วเป็นเบียร์นี่แหละที่คอยให้คำแนะนำว่าต้องเลี้ยงแบบไหน พอคราวนี้เราเลี้ยงสำเร็จ เราถึงมาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่มีด้วยการเปิดร้านขายปลาสวยงาม

น้ำฝน : ส่วนเราเป็นคนชอบสัตว์อยู่แล้ว แต่จะเน้นแค่พวกหมาหรือแมว ปลาสวยงามเราไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ คือตัวมันดูเป็นเกล็ดๆ แถมยังพาไปเดินเล่นไม่ได้ กอดไม่ได้ แต่พอพี่เบียร์ชวนมาทำตรงนี้เราถึงค่อยๆ ซึมซับความชอบ ได้เห็นว่าปลาสวยงามมีหลากหลายชนิด และมีสิ่งที่น่าค้นหามากกว่าที่เราเห็น

จุดไหนที่พวกคุณตัดสินใจเปลี่ยน Aquabeeru จากงานอดิเรก ให้กลายเป็นร้านขายปลาสวยงาม 

เบียร์ : ผมเริ่มจัดตู้ปลาตู้แรกได้ในช่วงเดือนธันวาคม (2566) หลังจากนั้น 3 เดือนถึงทดลองเปิดร้าน Aquabeeru เหตุผลในการเปิดร้านไม่มีอะไรซับซ้อน คือเราอยากทดลองเลี้ยงปลาหลายชนิด แต่การจะไปซื้อทีละตัวสองตัวยังไงทางฟาร์มไม่ยอมขายแน่นอน ก็เลยจำเป็นต้องซื้อปลาทีละเยอะๆ ลามไปถึงพวกหอย พวกกุ้ง

ทีนี้พอปลาที่ซื้อมามันเหลือก็เลยแจกจ่ายให้คนรู้จักบ้าง ขายในราคาถูกๆ บ้าง แรกเริ่มเราไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าควรจัดส่งปลาด้วยวิธีไหนปลาถึงจะปลอดภัย สุดท้ายเลยตัดสินใจขับรถไปส่งเองทุกออร์เดอร์ คือทำไม่ได้กะเอากำไร เราทำเพื่อสนองแพสชั่นตัวเองและเพิ่มคอนเนกชั่นกับผู้คนในวงการเลี้ยงปลาสวยงาม

Aquabeeru มีภาพลักษณ์ต่างไปจากร้านขายปลาสวยงามทั่วไปตามท้องตลาด ขนาดที่มองผิวเผินจากภายนอกแทบจะนึกว่าเป็นร้านคาเฟ่เสียด้วยซ้ำ คุณได้ไอเดียนี้มาจากไหน

เบียร์ : ความจริงเรามีพื้นฐานเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเราชอบความมินิมอล มีบรรยากาศความเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นๆ ซึ่งภาพแรกในหัวของผมคืออยากให้มวลรวมของร้านดูมีความอบอุ่น มีมุมนั่งคุย นั่งเล่น พักผ่อน เหมือนเรานั่งดูปลาอยู่ที่บ้าน 

อุดมคติของ Aquabeeru คือไม่อยากให้ลูกค้าเข้ามาเพื่อซื้อปลาเสร็จแล้วกลับ เราอยากให้ทุกคนมานั่งเล่นดูปลาก่อน มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนปัญหาที่เจอ เพราะแน่นอนว่าใครที่เลี้ยงปลาก็ย่อมต้องเจอปัญหา ซึ่งเราเคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อนแต่ไม่ได้รับคำตอบจากร้านขายปลาที่เราซื้อ  

นนท์ : ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถามว่า ทำไมร้านขายปลาในประเทศไทยส่วนใหญ่บรรยากาศต้องดูมืดๆ ดูเฉอะแฉะ เราเลยอยากแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อยกระดับธุรกิจร้านขายปลาสวยงามให้ดีขึ้น เราอยากสร้างร้านขายปลาที่เฟรนด์ลี่กับลูกค้า ดูสะอาด และที่สำคัญคือต้องขายปลาที่สุขภาพดี เพราะต่อให้ร้านดูสวยแต่ถ้าไม่ดีต่อสุขภาพปลาเราก็ไม่ทำ

ดูเหมือนว่าจุดเด่นของ Aquabeeru ไม่ได้มีแค่เพียงบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง แต่ยังมีเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เข้ามา 

เบียร์ : สังเกตถ้าลูกค้าเปิดประตูร้านเข้ามาเราจะถามก่อนเลยว่ามาไกลไหม เดินทางมายังไง แล้วค่อยสอบถามว่าส่วนตัวแล้วเลี้ยงปลาหรือเปล่า หรือถ้ายังไม่อยากรีบร้อนก็นั่งเล่นก่อน เรามีมุมคาเฟ่ขายเครื่องดื่มด้วยนะ

ว่าง่ายๆ คือทำยังไงก็ได้ให้เขาอยากอยู่นานๆ เสพบรรยากาศจนเขารู้สึกอยากเลี้ยงปลา อยากมีตู้ปลาเป็นของตัวเอง แต่เราจะไม่รีบเร่งบังคับหากลูกค้าคนนั้นยังไม่เคยเลี้ยงปลามาก่อน หรือยังไม่รู้ว่าถ้าซื้อแล้วเขาจะไปเลี้ยงตรงไหน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราจะห้ามเสียด้วยซ้ำ 

เราจะบอกลูกค้าเสมอว่า ถ้ายังไม่พร้อมลองไปคิดดูก่อนได้นะ เราแลกไลน์ แลกเบอร์ แล้วถ้าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับมาก็ได้

ริบบิ้น : อีกข้อคือเราต้องถามลูกค้าก่อนว่าเขาอยากเลี้ยงปลาแบบไหน เคยมีกรณีที่ลูกค้าอยากเลี้ยงปลาดุกับปลาใจดี ถ้าปลาทั้งสองชนิดมีนิสัยแตกต่างกันสิ้นเชิงจนไม่สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ เราก็แนะนำให้ความรู้ว่า เปลี่ยนเป็นปลาพันธุ์นี้คู่กับพันธุ์นี้ดีกว่านะ ต้องเลี้ยงในระบบนิเวศแบบนี้ดีกว่านะ จนถึงวิธีการเลี้ยงแบบไหนที่ถูกต้อง เพราะเราอยากให้เขาซื้อไปเลี้ยงแล้วรอด

เบียร์ : อีกอย่างคือ ปกติร้านขายปลาทั่วไปจะเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่เราจะใช้วิธีลดน้ำออก 20% แล้วเพิ่มน้ำใหม่เข้าไปแทนที่ พร้อมกับใส่แบคทีเรียสำเร็จรูปคอยบำบัดน้ำ เพื่อยังคงระบบนิเวศตามธรรมชาติของปลาในตู้ไว้ ผมเลยจะไม่ขัดตู้ปลาจนใสเกินเพราะจะได้สังเกตออกว่าแบคทีเรียในตู้ยังโอเคอยู่หรือเปล่า หรือแม้การใส่กรวดในตู้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะกรวดจะช่วยทำให้ค่า pH ในน้ำสมดุล

อย่างในส่วนอุณหภูมิของแอร์เราจะคงอยู่ที่ 28 องศา ถ้าลูกค้าในร้านเยอะถึงจะค่อยปรับต่ำลงมาที่ 26 องศา แล้วเปิดพัดลมช่วยพัดถ่ายเทอากาศ เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำเกินกว่านั้นปลาก็อาจจะป่วยได้อีก แอร์เย็นคนชอบก็จริงแต่ปลาจะปรับตัวไม่ทัน 

ดีไซน์ทุกอย่างภายในร้านพวกคุณเป็นคนทำเองหมดเลยหรือเปล่า

เบียร์ : ใช่ คือให้ทุกคนแนะนำมาก่อนว่าอยากมีอะไรในร้านบ้าง แล้วผมที่มีพื้นฐานการใช้โปรแกรม 3D ถึงค่อยร่างแปลนขึ้นมา ว่าเราจะมีเคาน์เตอร์สำหรับทำเป็นคาเฟ่ตรงนี้นะ มุมตรงนี้จะเป็นชั้นวางตู้ปลา ตรงนี้จะเป็นมุมสำหรับให้นั่งเล่น ส่วนโต๊ะตรงกลางไว้สำหรับเวิร์กช็อปจัดตู้ปลากับกิจกรรมตักปลาแบบงานวัด 

ที่สำคัญคือเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นจะต้องทำมาจากไม้ สาเหตุที่ต้องเป็นไม้เพราะอย่างที่บอกว่าเราต้องการบรรยากาศความเป็นมินิมอล ส่วนอีกข้อคือเราต้องการประหยัดงบในส่วนนี้ ชั้นวางไม้ต่างๆ เราเป็นคนวัด เป็นคนประกอบเอง ทาสีเอง เพราะพ่อของผมมีความรู้เรื่องงานช่าง หรืออย่างผมก็ชอบงานไม้อยู่แล้ว เลยคิดว่าเอางบไปสนับสนุนเรื่องความเป็นอยู่ของปลาดีกว่า ลงทุนใช้ตู้ปลากระจกเกรดดีๆ วางระบบไฟ วางระบบน้ำให้ดีไปเลย  

อย่างดีไซน์ชั้นวางตู้ปลาเราก็ประยุกต์มาจากร้านขายปลาสวยงามในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดีไซน์แบบนี้นอกจากจะดูปลอดโปร่ง ขณะเดียวกันยังเก็บซ่อนความไม่เรียบร้อยได้ง่าย เช่น พวกสายไฟ ท่อบำบัดน้ำ หรือในส่วนของ ‘ฝาตู้ปลา’ ที่ทำจากไม้ก็ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังช่วยควบคุมความชื้น แถมช่วยดูดซับกลิ่นคาวปลาได้อีกด้วย

นนท์ : ที่ภูมิใจสุดๆ คือตู้ปลาที่เห็นอยู่ เราได้ทีมช่างที่ทำกระจกให้กับอควาเรียมชื่อดัวในไทยเป็นคนทำให้ทั้งหมด งานที่เห็นเลยเนี้ยบและมีความแข็งแรงมาก

ริบบิ้น : พอนำตู้ปลาที่เป็นกระจกมาวางต่อกันเป็นแนวยาวเลยให้ความรู้สึกเหมือนเป็น ‘มินิอควาเรียม’ ตามความตั้งใจของเรา หรือที่มีติดป้ายข้อมูลพันธุ์ปลาต่างๆ ก็เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเชิงวิชาการให้คนที่แวะเวียนเข้ามาได้ศึกษา โดยเฉพาะน้องๆ ที่เป็นเด็กนักเรียน ถึงต่อให้ไปที่อควาเรียมจริงๆ เขาก็จะไม่มีทางได้เห็นปลาลักษณะแบบนี้ เพราะอควาเรียมส่วนใหญ่ถ้าไม่เลี้ยงปลาน้ำเค็ม ก็จะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้งบประมาณเลี้ยงดูน้อยกว่าและง่ายกว่า

ที่สังเกตเห็นอีกอย่างพวกคุณเลี้ยงปลาสวยงามที่พิการแยกเอาไว้ด้วย  

เบียร์ : ใช่ จริงๆ อนาคตเราวางแผนจะมีโปรเจกต์รับเลี้ยงปลาสวยงามที่พิการด้วยซ้ำ 

ในความเป็นจริงทุกครั้งที่เราไปซื้อปลาพวกนี้จากฟาร์มต่อให้เราคัดดีแค่ไหน สุดท้ายจะต้องมีสักตัวที่เป็นปลาพิการอยู่ดี ยิ่งปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงโอกาสพิการยิ่งสูง ไม่ครีบขาดก็ตาบอด เพราะปลาพวกนี้เกิดมาจากปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความเลือดชิด 

พอนำไปเลี้ยงรวมกับปลาที่สุขภาพแข็งแรง สุดท้ายปลาที่พิการก็จะถูกฝูงทอดทิ้ง แล้วเราไม่อยากขายปลาที่พิการให้กับลูกค้าเลยตัดสินใจว่านำมาเลี้ยงเองดีกว่า

จากที่ฟังมาการเลี้ยงปลาสวยงามดูจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอตัว ผิดจากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงได้ง่ายที่สุด

เบียร์ : ข้อมูลของปลาในโลกเรายังมีอยู่น้อยมากเลยนะ ต่อให้เป็นปลาชนิดเดียวกันแต่ทำไมบ้านเราเลี้ยงแบบหนึ่ง ต่างประเทศเลี้ยงอีกแบบหนึ่ง นำเข้ามาจากต่างประเทศ พฤติกรรมของปลาก็เปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป 

อย่างปลาคาร์ดินัลบ้านเราบอกเลี้ยงด้วยน้ำประปาได้ แต่ถ้าไปดูในเว็บไซต์ต่างประเทศเขาจะบอกว่าต้องเลี้ยงในน้ำที่มีค่า pH ต่ำ ต้องมีอุณหภูมิไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า 22-24 องศาเซลเซียส รวมๆ แล้วมันมีอะไรจุกจิกกว่าที่เห็นเยอะ เราต้องศึกษาอยู่ตลอดเพื่อนำมาบอกต่อลูกค้า

ริบบิ้น : อย่างเราเคยเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษามาก่อน ก็อยากนำประสบการณ์ตรงนั้นมาปรับใช้ ทั้งการทำใบความรู้ที่แปะบนบอร์ดหน้าร้าน หรือโปสต์การ์ดที่สอนวิธีการจัดตู้ปลาเราก็เป็นคนลงมือวาดกันเองทั้งหมด 

อีกอย่างที่เราพยายามกัน คือการปลูกฝังวิธีเลี้ยงปลาสวยงามที่ถูกต้องให้แก่เด็กๆ ที่เข้ามาในร้าน เสริมให้เขารู้ว่าปลาแต่ละชนิดมันไม่ได้มีแค่ความแปลกหรือความสวยงามนะ แต่ต้องเลี้ยงด้วยวิธีแบบนี้ถึงจะรอด พอเขาซื้อไปเลี้ยงเราก็จะถามไถ่ว่า นำไปทำตามแล้วปลารอดไหม ปลายังโอเคอยู่หรือเปล่า 

คำตอบที่ได้ก็จะเป็นแบบ ปลาของหนูยังโอเคอยู่เลยค่ะ กุ้งที่ซื้อไปมันลอกคราบด้วยนะคะอะไรประมาณนี้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Aquabeeru นำเสนอในเรื่องของ ‘ไม้น้ำ’ ที่เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการจัดตู้ปลา และเป็นอีกศาสตร์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงปลาสวยงามโดยสิ้นเชิง

เบียร์ : ทั้งสองศาสตร์แตกต่างกันพอสมควร คือถ้าคนอยากเลี้ยงไม้น้ำเขาจะใส่ปลาในตู้ให้น้อยที่สุดเพื่อคุมของเสียภายในตู้ ซึ่งทำให้ไม้น้ำเติบโตสวยงาม แต่ด้วยเหตุผลนี้แหละเราเลยตั้งคำถามว่า แล้วทำไมการเลี้ยงปลากับเลี้ยงไม้น้ำมันถึงอยู่ร่วมกันไม่ได้ ก็เลยพยายามศึกษาการเลี้ยงไม้น้ำเพิ่มเติม แล้วนำความรู้ที่ได้มานำเสนอผ่านการเวิร์กช็อปจัดตู้ปลา

นนท์ : คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการเลี้ยงไม้น้ำเป็นศาสตร์ที่ยาก ถ้าจะเลี้ยงต้องมีเครื่องปล่อยคาร์บอน ต้องมีเครื่องกรองน้ำ แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นขนาดนั้น ไม้น้ำบนโลกมีหลายระดับ คุณสามารถเลือกเลี้ยงไม้น้ำที่เลี้ยงไม่ยากได้  คุณอาจจะเลือกเลี้ยงในโหลแบบ low-tech ที่มีหลักการเลี้ยงไม่ยาก ซึ่ง Aquabeeru พยายามนำเสนอจุดนี้ โดยใช้มุมมองจาก pain point ที่เราเคยเจอมา เช่น อยากเลี้ยงแต่งบไม่พอ หรืออยากเลี้ยงแต่ยังขาดคนอธิบายหลักการตรงนี้ให้ฟัง คือถ้าเราเลี้ยงได้คนที่ซื้อไปก็ต้องเลี้ยงได้เช่นกัน

เบียร์ : ถ้าพูดถึงโหลแบบ low-tech คนที่เลี้ยงไม้น้ำจริงๆ จังๆ เขาจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่เพราะตู้ขนาดเล็กไม่สามารถจัดเต็มใส่ทุกอย่างลงไปได้ แต่ที่เราเสนอโหล low-tech เพราะมันเลี้ยงดูง่าย ราคาประหยัด มีความสวยงามตามธรรมชาติในแบบของมันเองถึงอาจจะไม่เท่าตู้แบบ hi-tech 

นอกจากการให้ความรู้เรื่องปลาสวยงาม ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้น้ำ กิจกรรมเวิร์กช็อปจัดตู้ปลา คาเฟ่นั่งชิลล์ หรือกิจกรรมตักปลาแบบงานวัด ในอนาคต Aquabeeru มีแผนจะทำอะไรเพิ่มเติมอีก

เบียร์ : มีหลายอย่างที่เราอยากทำอีกเยอะมาก เช่น ชั้นสองเราอยากทำเป็นห้องเวิร์กช็อปจริงจัง อยากทำสื่อเผยแพร่ความรู้ประเภทนิตยสาร ทำเว็บไซต์รวบรวมความรู้เกี่ยวกับปลาสวยงามเท่าที่เราจะหาได้ 

นนท์ : เรื่องของเว็บไซต์ยังมีอีกข้อที่เราอยากนำเสนอสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงปลา โดยเราจะทำชอยส์ให้เลือก 3 ข้อ คืองบประมาณที่มี, ปลาที่คุณอยากเลี้ยง และขนาดตู้ เพื่อให้คนที่เล่นได้กดเลือกจนกว่าจะพบผลลัพธ์ที่แมตช์ และสามารถนำไปต่อยอดสั่งซื้อตู้ปลาและปลามาเลี้ยงตามที่วางแผนไว้

น้ำฝน : เราอยากทำโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า ‘กระเบนยิ้ม’  คือเป็นการขนส่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อปลาสวยงามโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาปลาตายหรือบาดเจ็บระหว่างทางจากการขนส่งแบบผิดวิธี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และขนส่งยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก เราเลยอยากที่จะทำตรงนี้เองไปเลย

เบียร์ : อย่างการ์ดเกมที่ให้ความรู้เรื่องปลาเราก็อยากทำนะ เพราะเป็นสื่ออีกแบบที่เด็กและวัยรุ่นให้ความสนใจ โดยรวมแล้วคือเราตั้งใจจะทำให้คนเข้าถึงเรื่องปลาสวยงามให้ง่ายที่สุด