จิตราพร เหมาะดี จากลูกสาวผู้เคยขัดกระทะตั้งแต่ ป.2 สู่มือทำน้ำจิ้มของ จ่าอู หมูเกาหลี

ปี 2561 พี่หมื่นและแม่หญิงการะเกด จากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ได้นำพาให้ละครเรื่องนี้จากช่อง 3 ทำสถิติเรตติ้งสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการสรา้งปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นให้วงการละครไทยกลับมาคึกคัก โดยประเด็นสำคัญที่ทุกคนต่างพูดถึงจากละครเรื่องนี้คือ การหยิบจับเอาวัฒนธรรมอาหารเข้าไปผสมผสานกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนุกและน่าอร่อยในทุกช่วงทุกตอน

เมนูไฮไลต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ที่แม่หญิงการะเกด ผู้เดินทางข้ามเวลากลับไป 333 ปี ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ดันคิดถึงยุคปัจจุบันที่ตัวเองจากมา จนต้องอ้อนให้พี่หมื่นพาไปหาจีนฮง ช่างทำกระทะในตลาดสร้างกระทะแบบพิเศษขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการกินเมนูนี้ให้กับเธอคือ ‘หมูกระทะ’

อย่าว่าแต่แม่การะเกดเลยที่ชอบหมูกระทะ ยุคนี้เดินไปที่ถนนทุกหนแห่งไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด เราก็เห็นร้านหมูกระทะผุดขึ้นอยู่มากมาย แทบจะทุกที่ทั่วประเทศไทย อาจจะสะท้อนได้ว่านี่คืออาหารที่ใครๆ ก็ชอบ อาจด้วยเป็นเมนูที่กินง่าย กินอร่อย และกินสนุก คุณสามารถกินแบบเน้นเนื้อ หรือเน้นผัก หรือจะเน้นอะไรก็ได้ตามแต่ใจชอบ แถมยังได้ใช้เวลาร่วมกันในการกินกับผู้ร่วมโต๊ะอีกด้วย 

ภูมิทัศน์ของร้านหมูกระทะอาจมีมากมายในตลาดธุรกิจอาหารบ้านเรา แต่ร้านที่โดดเด่นและขายดีจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ ‘จ่าอู หมูเกาหลี’ ที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันยกให้น้ำจิ้มที่นี่เป็นทีเด็ดที่ไว้ใจได้ในความแซ่บและถึงเครื่องถึงรสทุกครั้งทีได้มากิน จนถึงขนาดต้องแปะป้ายติดไว้ที่ร้านว่า ‘ลูกค้าสามารถทานน้ำจิ้มได้ตามสบายที่ร้าน แต่ไม่อนุญาตให้นำน้ำจิ้มกลับบ้าน’

สำหรับแฟนจ่าอู คงไม่ต้องอธิบายมากก็คงเข้าใจว่าน้ำจิ้มที่นี่อร่อยยังไงอร่อยแค่ไหน แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยลองกินหมูกระทะที่นี่ คุณอาจจะสงสัยว่าน้ำจิ้มที่นี่จะอร่อยเด็ดขนาดไหนกันเชียว ก็เอาเป็นว่า เคยมีชาวเน็ตพูดต่อๆ กันมาว่า “น้ำจิ้มที่นี่จิ้มกับอะไรก็อร่อย”

แต่เราก็รู้ดีว่าในโลกธุรกิจ ใช่ว่ามีดีแค่น้ำจิ้มแล้วจะสามารถยืนหยัดอยู่บนสมรภูมิอันดุเดือดของตลาดหมูกระทะในบ้านเราได้

คุณจิตราพร เหมาะดี ลูกสาวคนเดียวของจ่าอู หมูเกาหลี ผู้รับช่วงต่อกิจการแทนจ่าอู (คุณพ่อ) เธอบริหารร้านยังไง และต้องจัดการยังไงบ้างเมื่อทุกวันนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ร้านหมูกระทะ คือคำถามที่นำเราไปสู่ร้านของเธอ

หลายคนสงสัยว่าชื่อ ‘จ่าอู หมูเกาหลี’ นั้นเจ้าของเป็นจ่าจริงไหม อยากชวนย้อนเล่าที่มาของชื่อให้ฟังหน่อย

จ่าอู’ คือชื่อพ่อหนูเอง เลยใช้คำว่า จ่าอู นี่แหละ และตอนนั้นคิดว่าหมูกระทะมั่นฟังดูทั่วไปอะ มันดูซ้ำกับคนอื่นเยอะแล้ว เราก็เลย อะ หมูเกาหลีดีกว่า แล้วก็เท่าที่แม่เล่าให้ฟัง ช่วงนั้นเหมือนเริ่มมีเทรนด์เกาหลีเข้ามา คือมันจะเริ่มมีคำว่า ปิ้งย่างเกาหลี บาร์บีคิวเกาหลี เราก็เลยใช้คำว่าหมูเกาหลีก็แล้วกัน

ร้านนี้เริ่มตั้งแต่ตอนที่หนูยังเด็กอยู่ ตอนนี้เราอายุ 28 ก็น่าจะสักประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่วงที่เราอยู่อนุบาล พ่อเขารับราชการอยู่ในกรมทหาร ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้านเฉยๆ แล้วแม่ก็คิดขึ้นมาว่า อยากให้ครอบครัวมีรายได้เสริมเพราะลำพังเงินเดือนพ่อก็ใช้จ่ายไม่ค่อยพอ ก็เลยเริ่มคิดว่าจะขายอะไรดี ซึ่งพ่อกับแม่เป็นคนชอบทำกับข้าว อย่างพ่อตอนเด็กๆ พ่อเขาเคยช่วยย่าขายข้าวแกง ก็เลยทำให้แกชอบทำกับข้าวมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาจะทำอะไรขายแกเลยคิดถึงของกิน แล้วทีนี้ก็มาลงตัวที่ไอเดียว่าลองขายหมูกระทะดูไหม 

หลังจากนั้นก็เริ่มลองสูตรเอง คิดสูตรเอง หมักหมูเอง ก็เรียกคนในแฟลตมาชิมจนกว่าจะได้สูตรที่พ่อแม่เขาพอใจ คือทั้งคู่ก็ช่วยกันสองคน ช่วยกันทำมาตั้งแต่แรกเลย แม่จะเป็นคนเตรียมของก่อน เตรียมพวกเนื้อหมูพวกผัก น้ำจิ้ม แล้วพอพ่อเลิกงานก็มาช่วยกันขายตอนเย็น ร้านแรกอยู่ในกรมการขนส่งทหารบก ตรงแยกเกียกกาย 

สถานการณ์ธุรกิจหมูกระทะตอนที่เริ่มทำจ่าอูเป็นยังไงบ้าง

ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาเนื้อหมู เอาผักจัดเป็นเซตแล้วไปส่งตามบ้าน เมื่อก่อนทำแบบนี้กันเยอะมาก อย่างการจะโฆษณาร้านหมูกระทะ เมื่อก่อนมันไม่โซเชียลฯ เขาก็จะเอาสติ๊กเกอร์ไปแปะตามเสาไฟฟ้า แปะตามรั้วบ้าน แล้วบนสติ๊กเกอร์ก็จะมีเขียนเบอร์โทรของร้านเอาไว้ พอคนเห็นเขาก็จะโทรมาสั่งแล้วให้ร้านไปส่งที่บ้าน ตอนที่พ่อกับแม่หนูทำ เขาก็เริ่มด้วยการทำแบบนี้เหมือนกัน พ่อจะทำกระดาษเป็นแผ่นเล็กๆ เอาไปสอดตามห้องต่างๆ ในแฟลตที่หนูกับครอบครัวอยู่ในกรมทหาร ก็เริ่มขยายจากการขายแบบนี้นี่แหละ เริ่มจากกรมนี้ แล้วก็ขยายไปกรมข้างๆ ขยายไปเรื่อยๆ

อย่างบางวันก็อาจจะมีบ้างที่เอาหมูขึ้นรถกระบะ แล้วก็เปิดโทรโข่งพูดว่า “เรามาขายหมูกระทะแล้วนะ” อารมณ์เหมือนรถกับข้าวในยุคนั้น เหมือนรถพุ่มพวง แต่เราขายหมูกระทะแทน บ้านไหนจะซื้อเขาก็เรียกให้เราเอาขึ้นไปส่งข้างบนแฟลต

ขายดีตั้งแต่แรกเลยไหม

ตอนนั้นหมูยังกิโลฯ ละไม่กี่บาทเอง คือยังไม่แพงขนาดนี้ ตอนนั้นเริ่มขายจากชุดละ 150 บาท แล้วด้วยความที่คนแถวๆ นั้นเขาได้ลองชิมกันมาก่อนแล้ว ก็คือเขาโอเคกับรสชาติกันมาแล้ว เขาก็มีการบอกปากต่อปากกันว่า เฮ่ย ร้านนี้ดีนะ หรือ เฮ่ย บ้านนี้ของจ่าคนนี้ที่อยู่กรมนี้ขายหมูกระทะนะ เขาก็จะบอกต่อๆ กันไป บวกกับเราได้ฐานลูกค้าเดิมด้วย แต่ละวันก็แบบขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จะยังไงเราก็จะพยายามควบคุมมาตรฐาน คือเราจะยืนยันว่าเราจะขายแบบนี้ เราไม่ลดคุณภาพ ยอมขาดทุนบ้างด้วยซ้ำเพื่อที่จะขายต่อ 

แล้วไปยังไงมายังไงถึงเริ่มเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง

จากตอนแรกที่เริ่มจากการส่งเดลิเวอรีก่อน เราก็เริ่มมีลูกค้าถามเข้ามาว่า อยากมานั่งกินที่ร้าน แต่ตอนนั้นเราไม่มีที่ที่จะเปิดหน้าร้านได้ เราก็รอ รอช่วงเวลา รอจังหวะ จนสวัสดิการทหารเขามีที่ตรงสะพานแดง เจ้ากรมเขาก็ให้ที่มา เขาก็ถามว่าลองเปิดไหม พ่อกับแม่ก็เลยได้ที่มาล็อกนึง ล็อกเล็กๆ ตั้งโต๊ะได้แค่ 6 โต๊ะเอง

ตอนนั้นเราน่าจะอยู่สักประมาณ ป.2 ก็มีไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ที่ร้าน รับจ้างพ่อแม่ทำงานแล้วก็เอาเงินไปกินขนมที่โรงเรียน (ยิ้ม) เราเริ่มตั้งแต่ไปขัดกระทะเลย ซึ่งจริงๆ แล้วการขัดกระทะหมูกระทะนี่ไม่ได้ยากเลย เคล็ดลับก็คือแค่เราแช่น้ำข้ามคืนมันก็แทบจะร่อนออกหมดแล้ว เพราะมันเป็นของมันอยู่แล้ว คือไม่ต้องใส่สารใส่อะไรเลย แค่แช่น้ำแล้วตอนล้างก็ใช้น้ำยาล้างจานช่วยหน่อย แล้วก็ขัด แค่นี้เอง

แล้วตอนมีหน้าร้านก็ไปเสิร์ฟด้วย หนูอยู่กับพ่อกับแม่มาตั้งแต่เด็กๆ มันก็อยู่ในสายเลือดแล้ว เหมือนเราโตมากับมัน เห็นพัฒนาการของร้านมาตลอด อย่างตอนที่เริ่มทำหน้าร้านที่มีแค่ 6 โต๊ะก็ยังมีเดลิเวอรีด้วย ถ้าใครอยากมาทานหน้าร้านก็มา ก็มีแค่ 6 โต๊ะ แต่ถ้าใครอยากทานที่บ้านก็ยังคงไปส่งเหมือนเดิม พอขายไปเรื่อยๆ ช่วงหลังๆ พอที่ตรงล็อกข้างๆ เขาไม่อยู่ต่อ เราก็ขอเช่าที่ข้างๆ เพิ่ม แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ จนได้ 40 โต๊ะ แล้วก็ขยายได้อยู่แค่นั้น เพราะพื้นที่มันจำกัด

แล้วตอนไหนที่เริ่มคิดถึงการขยายสู่สาขาที่ 2

ตอนที่เริ่มขยายสาขาที่ 2 คือตอนที่หนูเรียนจบมหาวิทยาลัย พ่อกับแม่เริ่มคิดว่าเริ่มมีลูกค้ารู้จักร้านเรามากขึ้นแล้ว แต่เราไม่มีพื้นที่รองรับลูกค้าขาดนั้น คือเราเห็นใจคนที่เขามาต่อคิว คือเขารอนานเกิน เราก็เลยหาที่เพิ่ม เปิดสาขาเพิ่ม เราก็มาเปิดเพิ่มที่เตาปูนเป็นสาขาที่ 2

ตอนนั้นที่เลือกตรงเตาปูนเพราะว่ามันใกล้จากร้านแรกตรงสะพานแดง โลเคชั่นใกล้ๆ กัน เผื่อลูกค้าไปร้านที่สาขาแรกแล้วไม่ได้กิน จะได้มาร้านนี้ได้

เราขยายสาขาจนตอนนี้ในกรุงเทพฯ มี 9 สาขา ที่แพร่มี 2 สาขา แล้วก็มีที่เชียงใหม่กับชุมพร

อะไรเป็นตัวชี้วัดให้คุณรู้ว่าคุณพร้อมสำหรับการเปิดสาขาต่อไปแล้ว

ส่วนใหญ่การขยายสาขาใหม่ของร้านเราจะเว้นระยะไม่เกิน 1-2 ปี ประมาณนี้ คือพอเราเปิดสาขาใดสาขาหนึ่งแล้ว เราก็จะรอให้สาขานั้นอยู่ตัวก่อน แล้วเราค่อยไปเปิดสาขาอื่นเพิ่ม ตอนที่เราเลือกว่าเราจะไปเปิดที่ไหน เราก็จะดูว่าที่ตรงนั้นมันใกล้กับชุมชน ใกล้กับหมู่บ้านไหม ใกล้กับมหาวิทยาลัย โรงเรียนไหม แล้วตรงนั้นมีที่จอดรถเพียงพอกับลูกค้าหรือเปล่า อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าลูกค้ามาก็ต้องมีที่จอด เราต้องอำนวยความสะดวกให้เขา

ตอนนี้คุณขยายสาขาแบบไหน มีแฟรนไชส์ไหม

เรายังขยายสาขาเอง แล้วก็มีบางสาขาที่ญาติดูแล ยังไม่มีแฟรนไชส์ ส่วนอนาคตยังไม่ได้แพลนเรื่องแฟรนไชส์ คืออยากจัดการระบบให้มันดีกว่านี้ก่อน ก่อนที่จะมีคนนอกเข้ามา

ตอนนี้ถือว่ามารับช่วงกิจการต่อจากคุณพ่อคุณแม่เต็มตัวหรือยัง

เกือบๆ จะเต็มแล้วค่ะ แต่เวลามีอะไรก็ยังปรึกษาพ่อแม่อยู่

ตอนที่มารับช่วงต่อคุณอยากปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

คือเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ความยากมันเลยไม่ได้อยู่ที่การที่เราต้องมาทำตรงนี้ แต่ความยากมันอยู่ที่ว่าเราต้องการจัดการระบบหน้าบ้าน หลังบ้านให้มันดีขึ้น และก็การบริหารลูกน้องที่อยากทำให้ดีขึ้น ให้เป็นระบบมากขึ้น ได้มาตรฐานมากขึ้นเพื่อที่ว่าในการขยายสาขาอื่นๆ  ต่อๆ ไป มันจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อะไรที่สาขานี้ทำแบบนี้ อีกสาขานึงก็ต้องทำให้เหมือนกัน เป็นระบบเดียวกัน เราก็พยายามจะวางระบบไปเรื่อยๆ

แต่สำหรับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือคุณภาพที่พ่อกับแม่ทำไว้ เราอยากจะคงเอาไว้อย่างนั้น

คุณมองร้านหมูกระทะในเมืองไทยตอนนี้ยังไง

มีร้านเยอะมาก หมูกระทะเหมือนเป็นของกินประจำชาติเราไปแล้ว คือเจอร้านหมูกระทะเต็มไปหมด คนเปิดร้านหมูกระทะเดี๋ยวนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ เลย แล้วเขาก็ขายกันได้นะคะ คนก็เต็มทุกร้าน อาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นอะไรที่กินง่าย แล้วเราก็ได้พูดคุยกับเพื่อนที่เรามาทานด้วย มันใช้เวลาร่วมกันได้ ปิ้งด้วยกัน กินด้วยกัน แย่งกันบ้าง ช่วยกันบ้าง สนุกๆ

แล้วความยากในการทำร้านหมูกระทะคืออะไร

ความยากสำหรับเรา เราคิดว่ามันคือการควบคุมวัตถุดิบ อันนี้อย่างแรกเลย ทำมาตรฐานให้มั่นคง แล้วก็รสชาติด้วย รสชาติต้องเหมือนเดิม ลูกค้าจะได้ไม่หนี ราคาก็สำคัญ ราคาต้องไม่เอาเปรียบลูกค้าเกินไป อย่างบางช่วงที่หมูแพง เราก็ต้องยอม คือถ้าเราไม่ยอม ของเราก็จะเปลี่ยนไป รสชาติก็จะไม่เหมือนเดิม เราว่าหลักๆ ความยากมันอยู่ที่ตรงนั้น 

ที่ยากรองลงมาก็คือการจัดการบริหารลูกน้อง ให้เขาสามารถให้บริการที่ดีให้ลูกค้าได้ให้เหมือนกันทุกสาขา

ตอนช่วงที่หมูราคาแพงคุณปรับราคาขึ้นไหม

ไม่ได้ปรับนะคะ เพราะเราคิดว่าถ้าปรับขึ้นไปแล้วมันลงยาก แล้วเราก็รู้อยู่แล้วว่าของมันมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่ว่าขึ้นแล้วขึ้นอีก ขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็มีขึ้นลง ก็ถัวๆ กันไป คือยังพอควบคุมได้

แล้วช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาคุณแก้ปัญหายังไง

ตอนโควิดมาแรกๆ เราต้องปิดร้านเลย ไม่ได้ขายเลยทุกสาขา แต่ว่าเราก็กลับไปเปิดเดลิเวอรีอย่างเดียว ก็คือกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรา เราก็เดลิเวอรีผ่าน LINE MAN กับ Robinhood ช่วงนั้นเราก็ขายดีเหมือนเดิม เขาก็สั่งไปกินกันที่บ้าน คือยอดขายอาจจะมีตกลงบ้าง แต่ก็พอสำหรับเอามาจ่ายค่าที่ ค่าพนักงาน ค่าวัตถุดิบ คือก็ยังพอไปได้ ไม่ถือว่าตกฮวบขนาดนั้น

หลังจากโควิดเริ่มซาเราก็ลดจำนวนโต๊ะลงในตอนแรก จากเดิมที่เราเคยตั้ง 60 โต๊ะ เราก็ตั้งแค่ 30 โต๊ะ ก็ต้องทำแบบนี้ไปก่อน แต่ลูกค้าก็กลับมากิน กลับมารอ เหมือนเดิม ก็ถือว่าเรายังไปได้ดีในช่วงโควิดและหลังโควิด คือที่มันยังไปได้เราคิดว่าเพราะว่ามาตรฐานเรายังเหมือนเดิมด้วย เราให้ความสำคัญตรงนี้ คนก็เลยโอเคที่จะกลับมากิน

เห็นคุณเน้นย้ำเรื่องคุณภาพบ่อยๆ แล้วคุณควบคุมคุณภาพของทุกสาขายังไงให้เหมือนกัน

วัตถุดิบทุกอย่างเราจะสั่งจากซัพพลายเออร์เดียวกัน ส่วนเรื่องน้ำจิ้มที่เป็นจุดเด่นของร้าน เราจะเป็นคนทำคนเดียว ก็คือทุกร้านต้องมารับที่นี่ ที่ครัวกลาง คือเราอยากจะควบคุมคุณภาพและรสชาติให้มันออกมาจากแค่เราเท่านั้น คือเราห้ามหายตัว ห้ามสาย ห้ามลา ห้ามขาด (หัวเราะ) คือเราต้องเป๊ะเรื่องนี้ ปล่อยผ่านไม่ได้ ลูกค้าจะได้มั่นใจว่าจ่าอูเหมือนกัน คือรับของมาจากที่เดียวกัน รสชาติเหมือนกัน กินที่ไหนก็เหมือนกัน

อะไรคือเบื้องหลังความอร่อยของน้ำจิ้มที่ทุกคนติดใจ

เราว่ามันคือเรื่องของรสชาติ มันได้ครบรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด หอมด้วย ครบหมดเลยทุกรส พ่อกับแม่สองคนช่วยกันคิดสูตรนี้ ซึ่งก็ปรับมาเรื่อยๆ นะ ตอนแรกก็ยังไม่ลงตัวเท่าไหร่ ก็เรียกคนนั้นคนนี้มาชิม จนเขารู้กันทั้งแฟลตว่า บ้านนี้ขายหมูกระทะ คือเหมือนคนทั้งแฟลตเห็นตรงกันแล้วว่าอันนี้แหละ คือรสชาติที่โอเคแล้ว แล้วแม่ก็อาจมีมาปรับอีกนิดนึงให้มันแบบโอเคขึ้นอีก เป็นแบบที่เราชอบเองด้วย

เคยเห็นชาวเน็ตโพสต์ว่าจ่าอูมีป้ายเขียนว่า ห้ามนำน้ำจิ้มกลับบ้าน

คือเคยมีค่ะ เคยมีลูกค้าแอบเอาน้ำจิ้มกลับบ้าน คือที่ร้านจะตั้งป้ายไว้ว่าถ้ากินในร้านกินได้ไม่อั้นเลย แต่ไม่อนุญาตให้นำกลับนะคะ (หัวเราะ) เพราะพูดตรงๆ น้ำจิ้มก็เป็นต้นทุนอย่างนึงเหมือนกัน

แล้วเราคิดจะทำน้ำจิ้มขายไหม

ไม่ขายค่ะ เพราะเราอยากขายหมูกระทะ ไม่อยากขายแค่น้ำจิ้มอย่างเดียว คืออยากให้เขามากินที่ร้านเรา ถ้าเขาอยากกินน้ำจิ้มเรา ก็อยากให้เขากินหมูเราด้วย ผักเราด้วย น้ำซุปเราด้วย จะได้อร่อยครบรส

แล้วทำไมถึงเลือกขายเป็นแบบเซต ไม่ขายแบบบุฟเฟต์

คือการขายแบบนี้เราสามารถควบคุมราคาต้นทุน กำไรได้ เรารู้ว่าเราจะขายเท่าไหร่ มันมีตัวเลขชัดเจน อย่างถ้าเป็นบุฟเฟต์เราไม่รู้ว่าลูกค้าคนนึงจะกินปริมาณเท่าไหร่ มันยากต่อการควบคุมตรงนั้น 

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้จ่าอูเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวันแรก

เราคิดว่าที่มันขยายได้ดีขนาดนี้ เพราะเรามีโซเชียลฯ เข้ามาช่วยเยอะขึ้น อย่างเช่น มียูทูบเบอร์มาช่วยรีวิว มีดารามากิน คนจะตามเขามา แล้วพอตามมากินก็ติดใจโดนตกเป็นลูกค้าเรา (ยิ้ม)

ทุกวันนี้คุณพ่อเห็นกิจการเติบโตแล้วว่ายังไงบ้าง

ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่อยู่ที่แพร่ค่ะ ส่วนมากจะโทรหรืออาจจะแชตคุยกันบ้าง เราก็บอกเขาว่าตอนนี้หนูมาเปิดสาขาใหม่นะ เขาก็จะถามว่าแล้ววันแรกเป็นยังไงบ้าง ยอดวันแรกตกลงไหม เป็นยังไงบ้าง

ตอนนี้เขาก็ดีใจนะคะ คือพ่อกับแม่เขาเหนื่อยมามากแล้ว หนูคิดว่าเขาก็น่าจะภูมิใจแล้วแหละที่ร้านเรามันมาได้ไกลขนาดนี้ คือมันไกลมากๆ เลย จากที่ไม่เคยคิดว่าร้านเราจะมาได้ขนาดนี้ 

คุณคิดว่าทุกวันนี้ร้านประสบความสำเร็จหรือยัง

สำหรับเรา เราคิดว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ จากวันแรกที่เรารู้ว่าพ่อแม่เราขายได้บ้างไม่ได้บ้าง จนมาวันนี้ที่มีหลายสาขา มีคนรู้จักมากมาย คือเรามาไกลมากแบบมากจริงๆ สำหรับเรา เราว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็จะพยายามทำให้มันมากขึ้นไปกว่านี้อีก

‘Love Home Swap’ ธุรกิจสลับบ้านกันอยู่ช่วงเทศกาลที่ต่อยอดจากหนัง The Holiday

ช่วงส่งท้ายปีเก่าแบบนี้ กิจกรรมที่คุณผู้อ่านชอบทำในทุกๆ ปีคืออะไรคะ?

ถ้าถามฉัน หนึ่งในสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘พิธีกรรมช่วงสิ้นปี’ (ฮา) คือการขดตัวอยู่ในผ้าห่มผืนหนา มีเครื่องดื่มอุ่นๆ ในมือสักแก้ว ปิดไฟให้ทั้งห้องมืดสนิท แล้วเปิดหนังที่เป็น comfort movie ของตัวเองดูสักเรื่อง

อาจเพราะบรรยากาศเป็นใจ หนังที่ฉันมักจะเปิดดูบ่อยมักจะเป็นหนังโทนอบอุ่นที่เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาสเสียส่วนใหญ่ พวก Love Actually, รักแห่งสยาม หรือถ้าเป็นแอนิเมชั่นก็ The Polar Express ใดๆ เหล่านั้น

Columbia Pictures

หนึ่งในเรื่องที่หยิบมาดูซ้ำบ่อยพอๆ กัน คือ The Holiday หนังโรแมนติกคอเมดี้ที่ขายพลังดาราอย่าง คาเมรอน ดิแอซ (Cameron Diaz) และเคต วินสเลต (Kate Winslet) สองตัวแม่ฮอลลีวูด กำกับโดย แนนซี่ เมเยอร์ส (Nancy Meyers) ผู้กำกับหญิงที่เคยกำกับหนังเด็กแฝดตัววุ่นอย่าง The Parent Trap หรือเรื่องที่หลายคนน่าจะเคยดูคือ The Intern ที่เล่าเรื่องราวของชายวัยเกษียณที่ไม่อยากเกษียณเลยไปสมัครเป็นเด็กฝึกงานรุ่นเก๋าในออฟฟิศแฟชั่น เพราะฉะนั้นใครยังไม่เคยดู The Holiday บอกเลยว่าห้ามพลาด เพราะมันเปี่ยมไปด้วยความน่ารัก อบอุ่น และอารมณ์ขันเฉพาะตัวของแนนซี่ไม่ต่างจากอีก 2 เรื่องที่ฉันพูดถึง

The Holiday เล่าเรื่องราวของไอริส (เคต วินสเลต) นักเขียนประจำคอลัมน์งานแต่งงานของหนังสือพิมพ์หัวหนึ่งในลอนดอน ต่างจากไฟต้นคริสต์มาสที่กำลังสว่างไสว–เธอกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ติดๆ ดับๆ กับแจสเปอร์ เพื่อนร่วมงานผู้นั่งตำแหน่งแฟนเก่าที่เลิกกันไปนาน แต่ต่างฝ่ายต่างมูฟออนกันเป็นวงกลม ในงานเลี้ยงเทศกาลของออฟฟิศ ไอริสเซอร์ไพรส์แจสเปอร์ด้วยการให้ของขวัญเขา แต่กลับเจอแจสเปอร์เซอร์ไพรส์กลับด้วยการขอผู้หญิงอีกคนแต่งงานต่อหน้าเธอ

Columbia Pictures

ข้ามไปฝั่งลอสแอนเจลิส อะแมนด้า (คาเมรอน ดิแอซ) เจ้าของบริษัทตัดตัวอย่างหนังก็เพิ่งจับได้ว่าสามีนอกใจมาหมาดๆ เลยไล่เขาออกจากบ้าน เธอเสียใจมากแต่ร้องไห้ไม่ออกเพราะมีอดีตฝังใจกับการร้องไห้ตั้งแต่เด็ก หญิงสาวเลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อรีเฟรชความรู้สึกใหม่ และเปิดเน็ตไปเจอประกาศให้เช่ากระท่อมหน้าตาน่ารักที่ตั้งอยู่ในชนบทเงียบสงบของไอริสพอดี

โชคดีที่อะแมนด้าตัดสินใจส่งข้อความไปขอเช่า เพราะเสียงแจ้งเตือนของข้อความนั้นดึงสติไอริสที่กำลังคิดจบชีวิตตัวเองในบ้านพอดี และนั่นคือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของหญิงสาวแปลกหน้า 2 คนที่แลกบ้านกันอยู่ชั่วคราว โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ที่ชวนฝันไม่ต่างจากปาฏิหาริย์วันคริสต์มาส

 Columbia Pictures

The Holiday ถือเป็นหนังของแนนซี่ เมเยอร์ส ที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะตั้งแต่ออกฉายในปี 2006 เราก็เห็นกระแสจากแฟนคลับที่ส่งเสียงเรียกร้องให้ทำภาคต่ออยู่เรื่อยๆ ยังไม่นับว่าหนังเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนดูหลายคนตัดสินใจ ‘แลกบ้าน’ กับคนแปลกหน้า อย่างเมื่อปีที่แล้วก็มีติ๊กต็อกเกอร์คนหนึ่งจากบอสตันทำคลิปประกาศหาคนในอังกฤษที่ยินดีจะแลกบ้านกันอยู่ชั่วคราวในช่วงคริสต์มาส แล้วใส่สกอร์จาก The Holiday เป็นฉากหลัง

“ฉันจริงจังนะ” เกรซ แก็กนอน (Grace Gagnon) ติ๊กต็อกเกอร์คนดังกล่าวบอกในแคปชั่น ก่อนจะเล่นมุกที่ลิงก์ไปยังคาแร็กเตอร์ของจู๊ด ลอว์ ในหนังต่อท้ายว่า “ให้คะแนนพิเศษเลยถ้าคุณมีพี่ชายที่โสดและเป็นหนุ่มฮอต”

 Columbia Pictures

แรงบันดาลใจจาก The Holiday ยังพาแฟนคลับบางคนให้ไปไกลกว่านั้น อย่างลิซซี่ เฟรนนีเออร์ (Lizzie Frainier) ผู้สื่อข่าวจาก The Telegraph ที่หยิบไอเดียจากหนังมาเปิดธุรกิจ ‘แลกบ้าน’ ของตัวเองในชื่อ ‘Love Home Swap’ ก่อตั้งในปี 2011 ด้วยความตั้งใจว่าอยากสร้างประสบการณ์แบบในเรื่อง The Holiday อีกครั้งผ่านการแลกบ้านในลอนดอนของเธอกับคนนิวยอร์ก

ลิซซี่ไม่ใช่คนแปลกหน้าของวงการนอนบ้านคนแปลกหน้า เธออธิบายว่าการไปใช้ชีวิตต่างที่ในบ้านคนอื่นทำให้เธอรู้สึกแปลกประหลาด ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ รอบตัว และรู้สึกเหมือนได้สนิทกับอีกคนผ่านประสบการณ์พักอาศัยในบ้านของคนคนนั้น เธอคิดว่าแฟนหนังคนอื่นๆ หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยดูหนังเลยน่าจะรู้สึกพิเศษแบบนี้เช่นกัน จึงเปิดเว็บไซต์ Love Home Swap ขึ้นมาเพื่อชวนให้เจ้าของบ้านทั้งหลายมาแลกบ้านกันอยู่

เธอคิดถูกทีเดียว เพราะตั้งแต่ปล่อยเว็บไซต์ออกไปก็มีนักท่องเที่ยวชาวสหราชอาณาจักรหลายคนหลั่งไหลกันเข้ามาเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีการแลกบ้านก็กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้ Love Home Swap กลายเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่ผู้คนจะคิดถึงเมื่ออยากแลกเปลี่ยนบ้านกัน ยิ่งช่วงหลังโควิดที่เราโหยหาการท่องเที่ยวกันสุดๆ มีรายงานว่าช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2021 มีผู้ใช้เว็บไซต์ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นมากถึง 45% เมื่อเทียบกับปี 2022

แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เว็บไซต์อย่าง Love Home Swap รวมถึงธุรกิจแลกบ้านเว็บอื่นๆ ได้รับความนิยมขนาดนี้ อาจเป็นเพราะ Love Home Swap มีระบบการแลกบ้านที่ง่าย ซึ่งอันที่จริงมันก็แทบจะไม่ต่างจากเว็บไซต์แมตช์คู่เดตทั่วไปด้วยซ้ำ ขั้นตอนเริ่มจากการสมัครสมาชิกแบบ Free Trail ลงข้อมูลบ้านของตัวเอง แล้วไปแอบส่องบ้านของคนอื่นในฐานข้อมูลที่มีกว่า10,000 หลังใน 100 ประเทศทั่วโลก หากถูกใจหลังไหนก็ทักไปหาเจ้าของบ้านหลังนั้นได้เลย

Love Home Swap ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการมีชอยส์การแลกให้เลือกหลายแบบ โดยแบ่งเป็น Classic Swap คือการแลกบ้านธรรมดาระหว่างเจ้าของบ้านสองหลังที่ตกลงปลงใจกัน กับอีกแบบคือ Points Swap ที่ให้แลกบ้านผ่านพอยต์ที่เป็นสกุลเงินเฉพาะบนเว็บไซต์ ซึ่งใช้สำหรับในกรณีที่ชอบบ้านหลังหนึ่งมาก แต่เจ้าของบ้านติดภารกิจทำให้แลกกันไม่ได้สักที เราก็สามารถใช้พอยต์แทนเงินในการไปเช่าบ้านเขาอยู่ โดยที่เขาไม่ต้องมาอยู่บ้านเราก็ได้ 

Columbia Pictures

และหากหันมาถามฝั่งผู้บริโภคบ้างว่าทำไมเขาถึงเลิฟ Love Home Swap กันหนักหนา พวกเขาให้เหตุผลว่าการแลกบ้านนั้นช่วยให้นักเดินทางประหยัดเงินค่าที่พักไปได้มากโขเมื่อเทียบกับการพักในโรงแรมทั่วไป (ค่าเฉลี่ยบอกว่าเซฟเงินได้มากกว่าพันปอนด์สำหรับการพัก 7 วันเลยทีเดียว)

มากกว่านั้น นักแลกบ้านยังจะได้ใช้ชีวิตในสวนของคนแปลกหน้า ได้ว่ายน้ำในสระน้ำส่วนตัว ได้ไปกินไปดื่มในร้านที่ชาวบ้านไปกันจริงๆ ไหนจะประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบ ‘คนบ้านนั้น’ ที่หาไม่ได้จากที่ไหน เพราะบางครั้ง พวกเขาไม่ได้แลกแค่บ้านกัน แต่ยังแลกเมมเบอร์ฟิตเนส แลกคอร์สสปา แลกกันเลี้ยงน้องหมา และสารพัดการแลกเพื่อให้อีกฝ่ายได้มาใช้ชีวิตแบบตัวเองจริงๆ

“Love Home Swap อนุญาตให้ผู้คนได้สำรวจโลกผ่านพลังของการแบ่งปัน” ซีเลีย พรอนโต (Celia Pronto) Managing Director ของ Love Home Swap เปิดเผย

“มันไม่ใช่แค่การแลกบ้านกัน แต่มันคือการแลกประสบการณ์ชีวิตกันชั่วคราว” 

อ้างอิง

globetrender.com

imdb.com

lovehomeswap.com

thetimes.co.uk

nbcnews.com

คุยกับ NEIGHBORS บูทีกเอเจนซีที่ใช้ความเชื่อที่มีต่อคนเป็นพลังงานสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน นั่นคือช่วงเวลาฝุ่นตลบ หลายธุรกิจกำลังต่อสู้กับการมาของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการต่างๆ จนทำให้บริบทในการทำธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่น้อยคือเอเจนซีโฆษณาและการตลาด

จากอดีตที่หลายเอเจนซีมักใช้ไอเดียครีเอทีฟมาเป็นจุดขาย แต่เมื่อเทคโนโลยีทำให้รู้จักนิสัยและเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น หลายต่อหลายครั้ง ‘ดาต้า’ ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงไม่น้อยกว่าแง่มุมความคิดสร้างสรรค์ คนในวงการเอเจนซีโฆษณาจึงต่างต้องปรับวิธีคิด วิธีทำ รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ดังนั้นแล้วเอเจนซีโฆษณาในช่วงเวลานั้นจึงเป็นธุรกิจที่มีความท้าทายไปไม่น้อยกว่าโอกาส

ทว่าในช่วงเวลาฝุ่นตลบกลับมีบูทีกเอเจนซีหน้าใหม่ที่ชื่อ ‘NEIGHBORS’ ตบเท้าเข้ามาในสนามอย่างน่าจับตา

สิ่งที่น่าสนใจคือโดยปกติบูทีกเอเจนซีขนาดเล็กมักมีจุดเริ่มต้นมาจากคนที่เคยทำงานอยู่ในเน็ตเวิร์กเอเจนซีขนาดใหญ่มาก่อน เมื่อเติบโตเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงใช้ประสบการณ์ที่มีมาเปิดเอเจนซีเป็นของตัวเอง แต่ NEIGHBORS นั้นต่างออกไป เพราะประสบการณ์ของทีมงานส่วนใหญ่หรือแม้แต่ตัวผู้ก่อตั้งเองกลับอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้มองว่ามันคือจุดอ่อนของการทำธุรกิจเอเจนซี แต่มองว่ามันคือแต้มต่อ เพราะหากทำโฆษณาขายสินค้าอย่างบ้านหรือคอนโดซึ่งเป็นของมูลค่าสูง ใช้เวลาตัดสินใจซื้อนานได้ การขายสินค้าอย่างอื่นก็ไม่น่าใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับพวกเขา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างจากเอเจนซีอื่นๆ เป็นที่มาที่ทำให้ NEIGHBORS เน้นทำการตลาดให้กับสินค้า high-involvement หรือหมายถึงสินค้าที่ใช้การตัดสินใจซื้อที่สูง ไม่ใช่เพียงเห็นโฆษณาก็ตัดสินใจซื้อได้ทันทีแต่ต้องกลับไปหาข้อมูลอีกมากมายประกอบการตัดสินใจ อย่างเช่นบ้าน รถยนต์ หรือประกันสุขภาพ

และแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ฝุ่นตลบ แต่พวกเขาก็ใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีมาจากวงการอสังหาฯ มาทำให้ NEIGHBORS กลายเป็นบูทีกเอเจนซีที่ สามารถพิสูจน์ตัวเองจนลูกค้าหลากหลายไว้ใจให้พวกเขาดูแลจนกลายเป็น Key Account ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

จากที่ปรึกษา สู่เอเจนซีโฆษณาและการตลาด 

เรานัดพบ กันตลักษณ์ หงส์ลดารมภ์ Executive Director และ Owner ของ NEIGHBORS เพื่อชวนพูดคุยถึงวิธีคิด ความเชื่อ กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ที่ทำให้บูทีกเอเจนซีซึ่งเกิดมาในช่วงฝุ่นตลบแห่งนี้ เดินทางมาถึงปีที่ 4 ได้อย่างแข็งแรงแม้เผชิญช่วงวิกฤตโรคระบาด

เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของ NEIGHBORS มากขึ้น กันตลักษณ์เท้าความเล่าประสบการณ์ทำงานในอดีตให้ฟังก่อน ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอม NEIGHBORS ขึ้นมา

เดิมทีกันตลักษณ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจให้กับองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘Goldman Sachs’ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ประสบการณ์ที่ได้จากช่วงเวลานั้นบ่มเพาะทักษะสำคัญที่เธอยังนำมาใช้และถ่ายทอดไปถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานให้บุคลากรใน NEIGHBORS

“การเป็นที่ปรึกษาทำให้เราต้องรู้ข้อมูลต่างๆ เยอะมาก ตั้งแต่โอกาส สภาพการแข่งขัน พฤติกรรมผู้คน และข้อมูลอีกมากมายที่ต้องเอามาใช้วิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจ แล้วในยุคนั้นไม่ได้มีข้อมูลให้ค้นหาบนอินเทอร์เน็ตมากมายแบบนี้ การจะได้ข้อมูลมาก็ต้องเริ่มจากการหารีเสิร์ชเป็นปึกๆ มาอ่าน รวมถึงการไปพูดคุยกับคนทุกระดับในองค์กรตั้งแต่พนักงานส่งของไปจนถึงผู้บริหารสูงสุด มันเลยฝึกให้เราได้พูดคุยกับผู้คนอย่างมาก แล้วพอรวบรวมข้อมูลมาได้เสร็จ ด้วยความที่ข้อมูลมันมีเยอะมากก็ฝึกให้เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น จับประเด็นที่สำคัญให้ได้”

ทั้งสองทักษะสำคัญที่เธอได้เรียนรู้จากตอนทำงานเป็นที่ปรึกษาก็ถูกถ่ายทอดมาถึงหลักคิดการทำงานของคนใน NEIGHBORS ที่ว่านอกจากความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็น DNA ของคนทำงานเอเจนซีโฆษณา บุคลากรที่ NEIGHBORS ยังต้องมีทักษะในการจับประเด็นสำคัญท่ามกลางโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีให้กับลูกค้าได้

เมื่อขายสินค้าที่เป็น high-involvement ได้ การขายอย่างอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

หลังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับหลากหลายธุรกิจมาได้สักพักใหญ่ กันตลักษณ์ตัดสินใจโยกย้ายกลับมาเป็นผู้บริหารให้กับบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำ ที่ประเทศไทย ทำให้เธอได้พบกับทีมงานที่มีศักยภาพมากมาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การทำ NEIGHBORS ในเวลาต่อมา

“NEIGHBORS เกิดจากความเชื่อที่เรามีต่อคนล้วนๆ เราเห็นว่าทีมที่ทำอสังหาฯ ด้วยกัน เขามีศักยภาพที่จะทำอะไรบางอย่างออกสู่ตลาดอย่างแตกต่างได้ เราก็เลยให้หนึ่งในทีมคือคุณก๊ก (วรสิทธิ์ พาณิชสุสวัสดิ์–COO ของ NEIGHBORS ในปัจจุบัน) ไปคิดธุรกิจมาใหม่สักอย่าง อะไรก็ได้ที่คิดว่าดี จากนั้นให้เอามาพิตช์กับเรา ถ้าเราคิดว่าโอเคก็จะเปิดบริษัทขึ้นมาใหม่” 

เมื่อพิตช์ธุรกิจชนะใจกันตลักษณ์ ทีม NEIGHBORS จึงถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาโดยมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจอสังหาเป็นเสาหลักสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถขายสินค้าอื่นๆ ที่ต้องใช้การตัดสินใจซื้อสูงได้ผ่านกลยุทธ์หลักอย่าง ‘Full Funnel Marketing’ ที่พวกเขาชำนาญ

อธิบายให้เข้าใจอย่างรวบรัด Full Funnel Marketing คือกลยุทธ์การคัดกรองผู้คนจนทำให้เจอลูกค้าตัวจริงได้ในที่สุด เปรียบลักษณะเหมือนกรวยที่จะค่อยๆ คัดกรองผู้คนที่ละชั้น ตั้งแต่ชั้นที่เป็น brand awareness, consideration มาจนถึงชั้นสุดท้ายคือ conversion

ซึ่งการจะนำพาให้ลูกค้าที่อยู่ในชั้น brand awareness ที่เพียงเห็นโฆษณา เดินทางมาถึงชั้น conversion ซึ่งเป็นขั้นตอนของการตัดสินใจซื้อได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยทักษะการทำการตลาดที่เฉพาะทางอย่างยิ่ง

มองให้ครบ 360 องศา

ไม่เพียงแต่ความเชื่อมั่นที่มีในคนหรือโอกาสในธุรกิจ อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิด NEIGHBORS ขึ้นมาคือก่อนหน้านั้นพวกเขาเองก็เคยเป็นลูกค้าของบริษัทเอเจนซีโฆษณา แล้วเจอกับปัญหาที่ว่าแม้เหล่าเอเจนซีจะเข้ามารับบรีฟจากเธอไป แต่สิ่งที่ได้กลับไม่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

“ไม่ใช่ว่าพวกเขา (เอเจนซีโฆษณา) ไม่เก่งนะ เขาเก่งกันมาก แต่ด้วยความที่สินค้าของเราอย่างอสังหาริมทรัพย์มันเป็นอะไรที่ high -involvement มากๆ มันเลยอาจจะมองแค่มิติของโฆษณาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานและกลไกอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นจริงๆ การทำการตลาดถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี”

ดังนั้นแม้ทีมงานจะไม่มีได้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านเอเจนซีโฆษณาและเติบโตมาในสาย business strategy เป็นหลัก แต่กันตลักษณ์ก็ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือจุดอ่อนของ NEIGHBORS กลับกันเธอคิดว่าประสบการณ์อย่างหลังกลายเป็นข้อดีในการทำให้บูทีกเอเจนซีของเธอแตกต่างจากเอเจนซีเจ้าอื่นในตลาด

“เราว่าโลกของการตลาดในยุคนี้มัน full of fluff คือเต็มไปด้วยไอเดียแคมเปญต่างๆ มากมาย แต่คนทำหลายๆ คนกลับไม่ได้เข้าใจพื้นฐานของธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่งการตลาดมันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจ และเราเชื่อว่าการตลาดที่ดีมันจะต้องถูกสร้างมาจากความเข้าใจในตัวธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นๆ 

“ที่รู้สึกแบบนี้อาจเป็นเพราะเรามาจากการทำงานด้าน business strategy consulting มาก่อน ซึ่งมันก็หลักการเดียวกับการทำงานเอเจนซีโฆษณานั่นแหละ คือเป็นงานที่เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า แต่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ก็ต้องทำความเข้าใจในพื้นฐานของธุรกิจนั้นให้ดีซะก่อน”

ดังนั้นแล้วนอกจากมายด์เซตของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีให้กับลูกค้าและทักษะการจับประเด็น อีกหนึ่งสิ่งที่กันตลักษณ์มักจะเน้นย้ำกับทีมงานในเรื่องการทำงาน คือการมองแบบอะไรให้รอบด้านจริงๆ 

ในความหมายที่ว่า ต้องมองธุรกิจของลูกค้าให้รอบด้าน ทำความเข้าใจให้ครบทุกมิติ เพื่อทำให้ธุรกิจของลูกค้ายังสามารถอยู่ได้แม้ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพตลาด เศรษฐกิจ หรือบริบทแวดล้อมจะเปลี่ยนไปเพียงใดก็ตาม

“จากการทำงานด้าน business strategy ที่ต้องเข้าไปดูกลยุทธ์ให้กับหลายๆ องค์กรหลายๆ ธุรกิจมาก่อนมันทำให้เราเห็นว่าทุกธุรกิจจะมีวงจรของมัน เราเลยมักจะบอกกับทีมงานเสมอว่าเวลาจะทำงานให้กับลูกค้าเราต้องมองแบบ 360 องศา คือมองแบบรอบด้านจริงๆ

“เหตุผลก็เพราะว่าถ้าคุณทำการตลาดในช่วงที่ภาพรวมอุตสาหกรรมนั้นโตยังไงมันก็ไปได้ แต่อย่าลืมว่าธุรกิจมันมีขึ้นมีลง การเรียนรู้พื้นฐานธุรกิจให้ครบทุกมิติจะทำให้เราสามารถพาลูกค้าไปได้แม้ในวันที่สภาพตลาดจะเป็นขาลง หรือทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว เพราะเวลาใครสร้างธุรกิจมาก็คงอยากจะให้มันเป็นแบรนด์ที่อยู่ได้แบบยาวๆ” 

องค์กรที่เชื่อในการพัฒนาเรื่อง ‘คน’

เมื่อธุรกิจเอเจนซีโฆษณาและการตลาดก็คืองานบริการให้กับลูกค้า และสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจด้านงานบริการยืนหยัดอย่างแข็งแรงได้ก็คือ ‘คน’ NEIGHBORS จึงเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญและเชื่อในเรื่องของคนอย่างมาก

ซึ่งการพัฒนาตัวเองนั้นว่ายากแล้ว แต่การพัฒนาคนอื่นนั้นยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ NEIGHBORS ที่ช่วงแรกบุคลากรในองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ด้านเอเจนซีโฆษณามาก่อน สิ่งที่น่าสนใจจึงเป็นวิธีการพัฒนาคนของพวกเขา จนสามารถช่วยขับเคลื่อนให้ NEIGHBORS กลายเป็นอีกหนึ่งเอเจนซีที่น่าจับตามอง

หากจะเล่าวิธีการดูแลและพัฒนาคนของ NEIGHBORS ให้เห็นภาพ คงต้องเล่าตั้งแต่การเริ่มรับคน โดยการรับพนักงานใหม่ของที่นี่ไม่ได้ดูเรื่องประสบการณ์ทำงานในเอเจนซีหรือผลงานการทำสินค้าที่เป็น high-involvement มากไปกว่าทัศนคติของคนคนนั้น ด้วยเชื่อว่าทักษะการทำงานเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้หากมีทัศนคติในการทำงานที่ดี

“เมื่อเรารับคนเข้ามาแล้ว ในฐานะของคนทำงานบริหาร เราว่าการบริหารคนมันเป็นเหมือนการแนะแนว เพราะสุดท้ายแล้วเขาจะเป็นยังไงมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาและการตัดสินใจของเขาเอง เรามีหน้าที่ให้คำแนะนำให้คำปรึกษา เรามีหน้าที่แค่นี้จริงๆ เพราะถ้าทำมากกว่านั้นมันคือการที่เราเอาตัวเองไปสวมในตัวเขา ดังนั้นเราต้องเคารพในตัวตนของเขาด้วย

“แล้วเวลาจะคอมเมนต์งานเราจะบอกเขาว่านี่เราคอมเมนต์บนเนื้องานนะ ไม่ได้คอมเมนต์ที่ตัวตนของเขา และการพัฒนาคนมันต้องอยู่บนหลักของการเคารพซึ่งกันและกันด้วย” 

นอกจากจะให้คำแนะนำให้ทีมงานได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ในทางกลับกันกันตลักษณ์ก็มองว่าการทำงานที่ NEIGHBORS นั้นทำให้เธอไม่ได้เป็นผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว

“NEIGHBORS เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ การที่ผู้ใหญ่อย่างเราได้ทำงานที่แวดล้อมไปด้วยคนรุ่นใหม่แบบนี้ก็ทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งด้วยเจเนอเรชั่นที่ต่างกัน ช่วงวัยที่ห่างกันหลายปี การทำงานกับคนรุ่นใหม่ต้องรู้ไว้เลยว่ายังไงเราก็ไม่มีทางตามเขาทันเราเพียงแค่ต้องพยายามทำความเข้าใจคอนเซปต์ของสิ่งใหม่ๆ เข้าใจภาพรวมก็พอ เพราะถ้าเรารู้ในดีเทลทุกอย่างแล้วจะลงไปทำเองทุกอย่าง นั่นเท่ากับเราคือผู้บริหารที่บริหารตัวเองไม่เป็น”

Believe In Balance โฟกัสที่กระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ 

นอกจากโลโก้บริษัท ชื่อ ตำแหน่ง เบอร์โทรติดต่อ อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่ภายในนามบัตรของกันตลักษณ์คือประโยคภาษาอังกฤษที่เขียนเอาไว้ว่า ‘Believe In Balance’ 

“เราเป็นคนที่เชื่อในสมดุลของทุกสิ่ง เลยอยากจะให้ความสมดุลมันเข้ามาอยู่ในการทำงานของ NEIGHBORS ด้วย และคิดว่าหากเราสามารถรักษาสมดุลของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกับภายในทีมเอง หรือระหว่างทีมกับลูกค้า ก็จะทำให้ธุรกิจอยู่ต่อไปในระยะยาวได้”

หนึ่งในวิธีการรักษาสมดุลของเธอคือการ ‘โฟกัสบนกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์’ เธอชวนให้จินตนาการถึงเส้นตรงเส้นหนึ่งที่เปรียบเสมือนไทม์ไลน์ในการทำงาน ตอนวางแผนการทำงานก็จะมีจุดเช็กพอยต์เป็นระยะๆ วางแผนกับทีมว่าจะทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจากจุดหนึ่งไปถึงจุดสองและจุดถัดไปเรื่อยๆ จนไปถึงปลายเส้นตรงซึ่งเปรียบเสมือนเส้นชัยของการทำงาน

ทว่าเมื่อถึงเวลาทำงานจริงหลายคนกลับไม่ได้มองทีละจุดทีละขั้นตอน แต่กลับใจร้อนไปมองปลายทาง นั่นทำให้หลายคนเผลอมองข้ามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่ตั้งใจวางแผนมาอย่างดีในตอนแรก และกลายเป็นการทำงานด้วยขั้นตอนที่อาจจะไม่เหมาะสมอย่างที่คิดไว้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกที่จะโฟกัสกระบวนการในการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

“เพราะถ้าคุณมองแค่ผลลัพธ์ สุดท้ายมันก็จะเกิดการ overlook process แล้วก็กลายเป็นว่าคุณกำลังไปรบกวนกระบวนการที่ผ่านการวางแผนมาอย่างเหมาะสมแล้ว” 

จุดหมายของ NEIGHBORS 

หลังเดินทางจากจุดเริ่มต้นมาได้ 4 ปี ผ่านหมุดหมายและประสบการณ์มามากมายจนทำให้เอเจนซีที่ทีมงานในช่วงแรกเริ่มไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำเอเจนซีโฆษณามากนักสามารถพา NEIGHBORS ยืดหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้จนทำให้มีแบรนด์บ้าน คอนโด หรือโรงพยาบาลเข้ามาเป็นเพื่อนบ้านกับพวกเขาอย่างต่อเนื่อง 

หมุดหมายต่อไปกันตลักษณ์อยากจะให้ NEIGHBORS เดินทางไปถึง คือการสร้างทีมงานให้แข็งแรงมากขึ้นไปอีกขั้น พัฒนาทีมงานที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม เมื่อภาพของทีมแข็งแรงขึ้นก็จะยิ่งดึงดูดผู้คนที่มีดีเอ็นเอเดียวกับ NEIGHBORS ให้เข้ามาทำงานด้วยกัน จนกลายเป็นทีมงานที่ขยายใหญ่และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับแบรนด์ต่างๆ ได้มากขึ้น

“งานเอนเจนซีไม่ใช่แค่การคิดไอเดียครีเอทีฟหรือซื้อสื่อโฆษณา แต่คืองานบริการที่ต้องคอยแก้ปัญหา ให้คำปรึกษา ให้โซลูชั่นกับลูกค้า ดังนั้นการพัฒนาคนของเราให้มีพื้นฐานที่แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญ” กันตลักษณ์ทิ้งท้าย

AURORA ร้านทองชื่อไม่จีนที่ใช้ดาต้าทำธุรกิจจนครองใจลูกค้าและพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้

เวลาเราจะซื้อทองสักเส้นไปเป็นของขวัญ ของฝาก หรือจะซื้อทองเก็บไว้ลงทุน ชื่อของแหล่งซื้อ-ขายทองรูปพรรณ ทองคำ ที่ผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรกคงหนีไม่พ้นเยาวราช ถนนสายทองคำที่มีร้านขายทองตั้งเรียงรายอยู่สองข้างถนน ตามตรอกซอกซอย ไม่ต่ำกว่า 100 ร้าน ที่มีมานานเป็นร้อยๆ ปี

ภาพลักษณ์ ภาพจำของร้านขายปลีกทองรูปพรรณยังคงเป็นแบบดั้งเดิม หรือที่เราเรียกกันว่า ทองตู้แดง แต่ออโรร่า (AURORA) แบรนด์ร้านขายปลีกทองรูปพรรณที่มีอายุก้าวย่างเข้าวัย 50 กลับเลือกวิธีการทำธุรกิจที่ต่างออกไป 

ตั้งแต่หน้าร้านที่มีความทันสมัย ไม่ได้มีฉากด้านหลังที่เอาไว้แขวนทองเป็นสีแดงเหมือนร้านทั่วไป เป็นร้านทองเจ้าแรกๆ ที่เปิดหน้าร้านขายทองอยู่ในห้างสรรพสินค้า รวมถึงสีประจำแบรนด์ที่แตกต่างด้วยสีส้ม แม้กระทั่งชื่อร้าน AURORA ที่เป็นร้านทองร้านแรกของไทยที่ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างแบรนด์ การกล้าที่จะแตกต่าง และการสานต่อธุรกิจ กิจการของคนรุ่นพ่อของแบรนด์ออโรร่า ท่ามกลางการแข่งขันที่มากมาย ขยายสาขาจากแรกเริ่มแค่ไม่กี่สาขา จนมาป็น 266 สาขาในปัจจุบัน และเพิ่งกลายเป็นร้านขายปลีกทองรูปพรรณเจ้าแรกของไทยที่เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อไม่นานมานี้

เราชวน กอล์ฟ–อนิพัทย์ ศรีรุ่งธรรม ทายาทรุ่น 3 ที่พ่วงด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) มาพูดคุยถึงเรื่องราวในแง่มุมการทำธุรกิจต่างๆ ที่ทำให้ออโรร่า เป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ 

รู้มาว่าเดิมทีครอบครัวคุณทำโรงงานผลิตทองขายส่งมาก่อน อะไรจุดเปลี่ยนที่ทำให้ครอบครัวของคุณเปลี่ยนมาเปิดหน้าร้านขายทองเอง

ต้องย้อนไปสมัยรุ่นอากงที่เป็นลูกจ้างโรงงานผลิตทองมาก่อน ทำได้หลายปีก็มาเปิดโรงงาน เป็นช่างทองเอง ผลิตทองขายส่งให้กับร้านค้าทองในเยาวราช เมื่อเป็นโรงงาน เราได้คุยกับแต่ร้านขายส่ง ทำตามลายที่ร้านขายส่งอยากได้ จนมีความรู้สึกว่าอยากทำลายใหม่ๆ ลายแบบไหนที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้คำตอบคือ การเปิดร้านขายทอง 

จุดเริ่มต้นจริงๆ ของร้านทองของครอบครัวจึงเกิดขึ้นในปี 2516 ในรุ่นคุณพ่อของผม มีสาขาแรกเป็นร้าน 2 คูหา ตั้งอยู่ที่ปากซอยสุขุมวิท 103 ในชื่อ ‘ห้างทองซุ่ยเซ่งเฮง’

จากตอนแรกที่ตั้งใจแค่อยากรู้ว่า ลูกค้าชอบลายประมาณไหน จะได้ทำลายของทองออกมาได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าร้านทองคือร้านที่เต็มไปด้วยอารมณ์มากมาย

ช่วยขยายความคำว่า ‘ร้านทองเต็มไปด้วยอารมณ์’ ให้ฟังหน่อยได้ไหม

ในความหมายของคำว่าร้านทองเต็มไปด้วยอารมณ์ของผมคือ ลูกค้าที่เข้ามาร้านทองทุกคนเขามีอารมณ์ผ่านการซื้อของชิ้นนั้นๆ มันไม่เหมือนการซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ แต่การซื้อทองคือการที่ลูกค้าคนนั้น ทำงานมานาน เก็บเงินมานานเพื่อเอาเงินมาซื้อทองสักหนึ่งเส้น 

ตอนลูกค้าเข้าร้านมาเขาไม่ได้ appreciate ร้านหรอก แต่เขา appreciate สินค้า เพราะมันคือน้ำพักน้ำแรงของเขา ร้านทองจึงมีความรู้สึกดีๆ ตลอดเวลา ในทางกลับกันเวลาเขามาขายทองนั่นแปลว่าเขาทุกข์ยากมาก เพราะเขาต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากเพื่อขายของที่เขาชอบมากๆ

แล้วคุณทำให้ลูกค้า appreciate ร้านยังไง

หนึ่งใน core value ของออโรร่าคือการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ customer centric ทุกอย่างที่ออโรร่าทำลูกค้าต้องอิ่มอกอิ่มใจมีความสุข 

มี 3 สิ่งที่เป็นคีย์หลักที่ออโรร่าทำมาโดยตลอด 49 ปี จนสามารถสร้างความมั่นใจและความเชื่อใจให้กับลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ได้ และจะยังคงทำต่อไปคือ การขายทองแท้เปอร์เซ็นต์สูงสุดเท่ากับมาตรฐาน 96.5%, การดูแลหลังการขายที่มีบริการซ่อม ล้าง ต่อฟรีตลอดอายุการใช้งาน และรับซื้อทองคืนในราคาสูงที่สุด

และทำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นทางการมากขึ้นคือ การออกใบรับประกัน ทั้งหมด 3 สิ่งที่ว่าให้กับลูกค้าซึ่งยังไม่มีร้านทองร้านไหนทำ และไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ซื้อทองจากออโรร่าเท่านั้น แต่ลูกค้าที่ซื้อทองจากร้านอื่นแล้วนำมาขายกับเรา เราก็บริการและรับซื้อคืนในราคาสูงเช่นกัน ทุกๆ ไอเดียที่ออโรร่าทำจุดหมายปลายทางก็คือลูกค้า

ดูเหมือนว่าออโรร่าจะเป็น first mover ในหลากหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือชื่อร้านที่เป็นภาษาอังกฤษ ลบภาพจำว่าชื่อร้านทองต้องต่อท้ายด้วยคำว่า เยาวราช

ความจริงคนรู้สึกอย่างนั้นว่าร้านขายทองที่ดีมีคุณภาพต้องเยาวราช ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น หลังจากที่ครอบครัวไปเปิดร้านสาขาในศูนย์การค้าเป็นเจ้าแรกในปี 2529 เปิดได้ 3-4 ปี เราตัดสินใจเปลี่ยนชื่อร้านจากห้างทองซุ่ยเซ่งเฮง เป็นชื่อ ‘ห้างเพชรทองออโรร่า’ และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า AURORA ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

แม้จะไม่คุ้นหูและเป็นสิ่งใหม่กับชื่อร้านทองแบบนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนชื่อคือต้องการให้แบรนด์ดูทันสมัย และจดจำได้ง่ายมากขึ้น 

ในสมัยนั้น ชื่อออโรร่าเป็นจุดด้อยด้วยซ้ำ เพราะผิด perception ทั้งหมดของร้านทอง ทั้งชื่อภาษาอังกฤษ หน้าร้านไม่มีสีแดง และไม่มีคำว่าเยาวราช แต่ออโรร่าทำธุรกิจแบบตั้งใจ ทำให้ลูกค้าประทับใจมากกว่าที่ลูกค้าต้องการ จนกลายมาเป็นดีเอ็นเอของออโรร่า จากชื่อที่เป็นจุดด้อยในอดีต กลายเป็นจุดแข็งที่ช่วยสร้างภาพจำ สร้างความ stand out ให้กับออโรร่าในปัจจุบัน

คุณเรียนรู้อะไรจากคนรุ่นก่อน และเอามาปรับใช้ยังไงบ้าง

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนจากคนรุ่นก่อนคือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า และการดูแลพนักงาน

ก่อนคุณพ่อจะวางมือ ให้เราและพี่ชายมารับช่วงต่อ สิ่งที่ท่านฝากไว้คือ ‘พนักงาน’ ท่านบอกเราเสมอว่า เขาดูแลพนักงานจากหลายสิบคนจนมีเป็นพันครอบครัวได้ หลังจากนี้จะต้องดูแลพนักงานพันครอบครัวต่อให้ได้

สิ่งที่เปลี่ยนคือ ออโรร่าปรับตัว พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยมาตลอด ร้านทองที่มีอายุ 50 ปีนั้นมีเยอะ แต่เราเชื่อว่าเราเป็นหนึ่งในร้านทองที่ปรับตัว พัฒนามาตลอด และมีความยืดหยุ่นมาก ลูกค้าต้องการอะไร ลูกค้าอยู่ที่ไหน เราไปอยู่ก่อนลูกค้าเสมอ อย่างการพาร้านทองขึ้นไปขายบนช่องทาง e-Commerce เป็นเจ้าแรก การมุ่งสู่เมตาเวิร์สที่เป็นเทรนด์ ออโรร่าก็เตรียมตัวพัฒนาเวิร์ส ซึ่งถ้าเมตาเวิร์สมันเวิร์ก นั่นเท่ากับว่าเราไปต่อเลย และไปได้ก่อนใคร แต่ถ้าไม่เวิร์กก็ไม่เป็นไร

ลูกค้า การพัฒนา และพนักงาน ทำให้ออโรร่าอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ได้ยินมาว่าคุณเคยเปิดร้านทองบนสถานีรถไฟฟ้า แต่ทำไมไม่สานต่อ

ใช่ เราคิดว่าการทำธุรกิจมีโอกาสเข้ามาอยู่เสมอ ย้อนไปปี 2543 เป็นช่วงปีแรกๆ ที่ไทยมีรถไฟฟ้าใช้ ออโรร่าเคยเปิดสาขาราวๆ 9-10 สาขา แต่เพราะสถานีรถไฟฟ้าของไทยในตอนนั้นไม่ได้เหมือนเมืองนอกที่มีมอลล์ให้เดินช้อปปิ้งก่อนเข้าสถานี ซึ่งก็เฟลเหมือนกัน เปิดได้ไม่ถึงปีก็ปิดตัวในเวลาต่อมา

ทุกอย่างที่ออโรร่าได้เจอเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ออโรร่าปรับตัวได้ดีมาโดยตลอด

การเป็นทายาทมารับช่วงต่อกิจการที่บ้านมันท้าทายแค่ไหน

เรามองว่ามันมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย 

ข้อดีคือการที่เราคลุกคลีตั้งแต่เด็ก มีความเข้าใจธุรกิจสูง เพราะเราเกิดและโตในร้านทอง เราเข้าใจกระบวนการของการทำงานที่ร้านทองทำตั้งแต่มีแค่ไม่กี่สาขา ตอนแรกเปิดเอง เอาเครือญาติมาช่วย ค่อยๆ เซตระบบที่ตอนแรกยังเป็นแบบแอนะล็อกหมดเลย มี myterious shopper ทั้งในฝั่งของลูกค้าและคนขาย

พอเป็นรุ่น 3 ที่พี่ชายเข้ามาช่วยงานก่อน เริ่มมีการเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ เซตระบบให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น 

จุดลำบากคือเราต้องพิสูจน์ตัวเอง มีพนักงานที่อยู่กับบริษัทมากว่า 30 ปี เห็นผม อุ้มผมตั้งแต่เล็กๆ เพราะฉะนั้นการที่จะชนะใจพนักงานเหล่านั้นค่อนข้างยาก เขาจะมองว่าเป็นลูกเถ้าแก่ ไม่ใช่คนที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เราทำมาตลอดกว่า 10 ปีเราพิสูจน์แล้ว และค่อยๆ ชนะใจไปเรื่อยๆ 

เราเริ่มจากตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ก่อน เราทำกราฟฟิกและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสาร และทำโปรโมชั่น  ซึ่งเป็นการทำตลาดที่ใช้งบน้อยมาก สิ่งที่ได้กลับมามากกว่าที่คิดไว้ เพราะทำให้เราได้รู้จักลูกค้ามากขึ้น รู้ว่าลูกค้าชอบโปรโมชั่นอะไร ไม่ชอบอะไร

จากนั้นเริ่มทำแพลนการตลาดให้ร้านสาขา ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่ามีประโยชน์ แต่พอเราทำแล้วประสบความสำเร็จ มีรายได้มากขึ้น เราก็ค่อยๆ ได้รับความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากพนักงาน  เราขยับตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับไปทำตำแหน่ง Head of Business Unit Manager และปัจจุบันเป็น Chief Marketing Officer ดูแลและรับผิดชอบในฝั่งการทำการตลาดทั้งหมด

ดูเหมือนว่าคุณโฟกัสกับการทำการตลาดมาก

เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าการทำการตลาดที่ดี และตรงจุดมันประสบความสำเร็จ การทำการตลาดของออโรร่าไม่ได้ทำพร้อมกันหมดทุกสาขา แรกเริ่มจะลองทำโปรโมชั่น ทำการตลาดแค่ไม่กี่สาขา หากว่าโปรโมชั่นที่ทำออกไปแล้วเวิร์ก ก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มเป็น 10 สาขา 20 สาขา และขยายโปรโมชั่นไปครอบคลุมทุกสาขาที่มี ทำแบบนี้มาโดยตลอด

เห็นคุณพูดถึงการทำระบบ คุณเอาระบบมาบริหารจัดการหลังบ้านยังไงบ้าง

การจะเป็นร้านทองที่สามารถเปิดทั่วประเทศได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือระบบ ถามเล่นๆ ว่า คุณกล้าให้ใครเฝ้าเงินมูลค่า 50 ล้านบาท โดยที่ไม่ไปดูหรือไม่ พูดได้เลยว่าไม่มีใครกล้า แล้วถามว่าทำไมเรากล้า 

คำตอบคือ เรามีระบบการจัดการทีดี่ มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เราบริหารจัดการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านได้ อธิบายง่ายๆ คือ เราสามารถรู้แบบเรียลไทม์ได้เลยว่าในแต่ละวันมีใครเข้ามาซื้อ-ขายทองที่ร้านมากน้อยแค่ไหน และเราต้องซื้อทองเข้ามาสำรอง บริหารจัดการสต็อกทองให้เพียงพอได้ยังไง ทำให้เวลาราคาทองขึ้น-ลง แม้จะกระทบบ้างแต่ก็ไม่มาก

ร้านทองมี pain point คือ ร้านทองแบบดั้งเดิมไม่ได้มีระบบมาซัพพอร์ตใดๆ ไม่มีการส่งต่อ เมื่อทายาทมาสานต่อธุรกิจ ทำให้การจะก้าวต่อไปเป็นไปได้ยากกว่า

นอกจากออโรร่านำระบบมาใช้แล้ว ออโรร่ายังเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ มีการทำระบบสมาชิก ทำแอพพลิเคชั่น สิ่งที่ได้มาคือบิ๊กดาต้าที่ทำให้เรารู้อินไซต์ของลูกค้า

การรู้อินไซต์ของลูกค้าจำเป็นยังไงกับร้านทอง

เมื่อเรารู้อินไซต์ของลูกค้าแล้ว ก็จะทำให้เราพุ่งไปหากลุ่มลูกค้าได้ตรงจุด อย่างเช่น ทำให้รู้ว่าลูกค้าต่างจังหวัดชอบทองเส้นใหญ่ ลายโปร่งๆ ส่วนลูกค้าในกรุงเทพฯ ชอบทองเส้นเล็ก ลายตันๆ 

นอกจากนั้นยังทำให้เราสามารถขยายสาขาและแตกแบรนด์ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือออโรร่ามีธุรกิจด้วยกัน 2 ส่วนคือ ธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับ และของขวัญที่ทำมาจากทองคำ และธุรกิจขายฝากทองรูปพรรณและเครื่องประดับที่มีทองคำและเพชรเป็นส่วนประกอบ 

ภายใต้แบรนด์ AURORA, เซ่งเฮง, ทองมาเงินไป, ของขวัญ by AURORA และ AURORA Diamond ที่จับลูกค้าแตกต่างกัน

ทิศทางต่อจากนี้ของออโรร่าจะเป็นยังไง

ปีหน้าเครือออโรร่าจะโฟกัส 2 เรื่อง คือการขยายสาขา และการทำแบรนด์ ทองมาเงินไป ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครอบคลุมเป็น 409 สาขา ภายในปี 2567 และโฟกัสธุรกิจขายฝาก ‘ทองมาเงินไป’ มากขึ้น และจะยังคงยึดลูกค้าเป็นสำคัญเสมอ 

เมื่อวิธีทำบาแกตต์ถูกประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก แต่ธุรกิจขนมปังกำลังเสื่อมถอยและขายได้น้อยลงในฝรั่งเศส

อาร์เจนติน่ากับการจำกัดการส่งออกเนื้อเพื่อให้ประชาชนผู้รักเนื้อวัวไม่แพ้เมสซี่เข้าถึงได้ในราคาไม่แพง

คืนวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2022 ตามเวลาในประเทศไทย เราได้ยินเสียงโห่ร้องกู่ก้อง พร้อมหน้าตาของผู้คนที่เปี่ยมไปด้วยน้ำตาเปื้อนรอยยิ้ม เพื่อนฝูงพากันสวมกอด คนรักพากันแลกจูบ พร้อมกับธงชาติสีฟ้าขาวที่โบกสะบัด ไม่เฉพาะแค่ในประเทศอาร์เจนตินาเท่านั้น แต่ในทุกหนแห่งที่มีชาวอาร์เจนไตน์อาศัยอยู่ เมื่อทีมชาติฟุตบอลอาร์เจนตินาภายใต้การนำทีมของยอดนักเตะอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ (Lionel Messi) สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 3

นอกจากเมสซี่ และหัตถ์ของพระเจ้าอย่าง ดีเอโก มาราโดน่า (Diego Maradona) ที่เป็นเสมือนภาพจำของประเทศอาร์เจนตินา เมื่อเราพูดถึงประเทศนี้ในบริบทของชาวไทย อาจจะมีอีกสัก 2-3 สิ่งที่พอทำให้คุณหลับตาแล้วจินตนาการถึงอาร์เจนตินาได้ คุณอาจจะคิดถึงดนตรีและลีลาการเต้นที่เร่าร้อนแนบชิดอย่างแทงโก้ (Tango) และสิ่งสุดท้ายที่เป็นสัญลักษณ์อันลือชื่อของอาร์เจนตินาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ เนื้อของอาร์เจนตินา

สาวกคนรักเนื้อต่างรู้กันว่า ถ้าพูดถึง อาเจนติเนียนสเต๊ก ชื่อนี้รับประกันความฟินนุ่มละมุนของรสชาติและเนื้อสัมผัส สเต๊กจากฟาร์มของอาร์เจนตินาถูกส่งเข้าประกวดที่งาน World Steak Challenge งานที่มีพาร์ตเนอร์คนสำคัญเป็นคณะกรรมการด้านอาหารของไอร์แลนด์ (Irish Food Board)

World Steak Challenge เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์เนื้อสามารถมาพบปะและโชว์คุณภาพของเนื้อที่ฟาร์มของตนประคบประหงมมาอย่างดีตลอดทั้งปี และสเต๊กจากฟาร์มของอาร์เจนตินาก็สามารถคว้ารางวัลสำคัญๆ ไปได้แทบจะทุกปีติดต่อกันทั้งสเต๊กแบบที่มาจากวัวที่ถูกปล่อยให้กินหญ้า (grass-fed) และสเต๊กแบบที่มาจากวัวที่เลี้ยงโดยธัญพืช (grain-fed)

CGTN America ทำสารคดีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเนื้อวัวของอาร์เจนตินาไว้ในปี 2016 ในสารคดีกล่าวไว้ว่า อุตสาหกรรมเนื้อของชาวอาร์เจนตินามีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

ประชาชนชาวอาร์เจนตินารักการกินเนื้อวัวมากเป็นชีวิตจิตใจและมีระดับในการบริโภคเนื้ออยู่สูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ สถิติย้อนหลังโดยเฉลี่ยแล้วคนอาร์เจนตินากินเนื้ออยู่ที่ประมาณ 109.38 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี! ถือเป็นชาติที่ประชากรบริโภคเนื้อมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเป็นรองเพียงแค่ออสเตรเลีย (121.6 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี) และอเมริกา (124.1 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี)

ที่มาของความรักความชอบในการบริโภคเนื้อของชาวอาร์เจนไตน์อาจต้องเล่าย้อนไปถึงช่วงศตวรรษที่ 16 ในช่วงที่ชาวสเปนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแผ่ขยายอาณานิคมจากเปรูมายังดินแดนของอาร์เจนตินา ทำให้มีการนำเข้าพันธุ์วัวมายังดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ราบต่ำปัมปัส (Pampas – พื้นที่ที่มีบริเวณกว้างกว่า 1.2 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมหลายเมืองในอาร์เจนตินาเช่น บัวโนส ไอเรส, ซานตา เฟ่, ลา ปัมปา, ประเทศอุรุกวัย และบางพื้นที่ในบราซิล)

บริเวณปัมปัสเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุในดินซึ่งทำให้ต้นไม้ต้นหญ้าที่ขึ้นในบริเวณนั้นมีวิตามินและสารอาหารที่ดีสำหรับวัว อีกทั้งสภาวะอากาศที่กำลังดีกับการเจริญเติบโตของวัวยิ่งส่งผลให้วัวที่เพาะพันธุ์และเติบโตในบริเวณนั้นมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ความดีงามทั้งหมดจึงถูกกลั่นออกมาเป็นรสชาติของเนื้อวัวชั้นดีที่ชาวอาร์เจนไตน์สามารถสัมผัสมันได้จากวัวพื้นถิ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศตนเอง

สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เนื้อวัวของอาร์เจนตินามีรสชาติที่น่าประทับใจระดับไปคว้ารางวัลสเต๊กชั้นเยี่ยมระดับโลกหลายปีติดต่อกันมาได้ คือการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงวัวในอาร์เจนตินานิยมเลี้ยงวัวแบบปล่อยให้วัวสามารถมีอิสระอยู่กินได้ตามธรรมชาติ วัวสามารถเดินเล่นในที่ราบได้ตามแต่ใจของมัน เชื่อกันว่าการเลี้ยงวัวให้มีอิสระเสรีนั้น ทำให้วัวมีความสุขและไม่เครียด ซึ่งนั่นย่อมส่งผลดีต่อผลิตผลเนื้อของมัน

นอกจากการอยู่อย่างมีอิสระแล้ว มื้ออาหารของพวกมันประกอบไปด้วยหญ้า ธัญพืช และพืชผักอื่นๆ ที่เพาะปลูกเองโดยเกษตรกรในพื้นที่ ถ้าเป็นคน เราคงพูดว่าพวกวัวเหล่านี้มีความเป็นอยู่แบบเฮลตี้ทั้งในแง่สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ

ดังนั้นการให้สารเร่งโต ฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะ จึงไม่อยู่ในพจนานุกรมการเลี้ยงวัวของเกษตรกรชาวอาร์เจนตินา เพราะอาหารที่วัวเหล่านี้ได้รับเป็นอาหารจากธรรมชาติ กระเพาะและลำไส้ของวัวจึงสามารถย่อยอาหารเหล่านี้ได้เองตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวช่วยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ และนั่นจึงสะท้อนออกมาเป็นเนื้อวัวคุณภาพชั้นเยี่ยมแบบอาร์เจนติเนียนสไตล์

วัวจะถูกชำแหละเมื่อมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัม (950- 1,000 ปอนด์) จากนั้นจะถูกตรวจสอบคุณภาพหลายขั้นตอนว่าปลอดภัยจากเชื้อต่างๆ ทั้งพวกปรสิต แบคทีเรีย หรือไวรัส จนมั่นใจว่าเนื้อวัวเหล่านี้ปลอดภัยและสามารถนำไปประกอบอาหารได้

เนื่องจากคนอาร์เจนไตน์สามารถผลิตเนื้อวัวชั้นดีได้ในประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวอาร์เจนตินาจึงติดอันดับชาติที่นิยมบริโภคเนื้อวัวมากที่สุดในโลก แต่บนโลกที่ไร้พรมแดนเฉกเช่นทุกวันนี้ ชื่อเสียงเรื่องเนื้อวัวของอาร์เจนตินาไม่เพียงแค่ก้องดังอยู่ในประเทศเท่านั้น หากแต่ชาวต่างชาติต่างรับรู้ถึงกิตติศัพท์เล่าขานถึงคุณภาพชั้นเลิศของสเต๊กเนื้ออาร์เจนตินา นั่นจึงส่งผลให้อาร์เจนตินาเป็นชาติที่มีการส่งออกเนื้อเป็นอันดับที่ 5 ของโลกและลูกค้ารายใหญ่ของตลาดเนื้ออาร์เจนตินาคือ จีน

การส่งออกเนื้อวัวของอาร์เจนตินาถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชั้นยอดให้กับประเทศเพราะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซัพพลายเออร์และบริษัทขายเนื้อของอาร์เจนตินา สถิติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ถึง มิถุนายน 2021 อาร์เจนตินาส่งออกเนื้อไปแล้วทั้งสิ้น 929,000 ตัน และธุรกิจการส่งออกเนื้อของอาร์เจนตินาทำเงินให้กับประเทศทั้งสิ้น 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

ทุกอย่างดูเป็นไปอย่างงดงามทั้งในแง่การเลี้ยงดูปากท้องประชาชนให้สามารถมีเนื้อคุณภาพดี เพราะสามารถเลี้ยงวัวและผลิตเนื้อชั้นดีให้คนในประเทศกินได้ แถมยังสามารถส่งออกเพื่อสรา้งรายได้ให้แก่ประเทศได้ด้วย แต่อย่างที่เราได้เห็นตามหน้าข่าวอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจภายในประเทศอาร์เจนตินาที่สะสมเรื้อรังมานานหลายสิบปี และปัญหาเศรษฐกิจนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจการขายและส่งออกเนื้อของอาร์เจนตินาด้วย

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าเนื้อวัว เกี่ยวข้องกับอาร์เจนตินาทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการกินอยู่และเศรษฐกิจ การส่งออกเนื้อของอาร์เจนตินาเป็นไปได้สวย จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2021 รัฐบาลอาร์เจนตินาแบนการส่งออกเนื้อวัวเป็นเวลา 30 วัน

ทำไมรัฐบาลอาร์เจนตินาต้องประกาศแบนการส่งออกเนื้อวัว?

  เรื่องราวทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่อาร์เจนตินาเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมากและนั่นพลอยทำให้หนี้สินระหว่างประเทศมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นทวีคูณ ประกอบกับการที่อาร์เจนตินาเคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2001 ทำให้เครดิตของประเทศอาจจะไม่ค่อยสู้ดีนักในสายตานักลงทุน จึงส่งผลให้มีนักลงทุนทยอยถอนการลงทุนจากประเทศ

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดสัมพันธ์กันเป็นวงกลมจึงส่งผลให้ค่า GDP (Gross Domestic Product – ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือการนับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ) ต่ำลง คนจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้ามีราคาสูงขึ้น ทั้งหมดดูเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีเอาเสียเลยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลอาร์เจนตินา

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ คำถามที่สำคัญคือ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการต้องแบนการส่งออกเนื้อวัวด้วย?

คนอาร์เจนตินารักการกินเนื้อวัว จนมีคำกล่าวที่ว่าเรากิน Asado (เทคนิคการปิ้งย่างเนื้อแบบบาร์บีคิว) กันทุกวันอาทิตย์กันในครอบครัว หรือไม่ก็เราใช้เนื้อวัวเป็นข้ออ้างในการชวนใครสักคนมากินเนื้อกับเราที่บ้าน ถือได้ว่าการกินเนื้อเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของชาวอาร์เจนไตน์ไปเสียแล้ว พวกเขากินเนื้อกันเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าราคาเนื้อวัวสูงขึ้นนั่นหมายความว่า ประชาชนบางส่วนอาจจะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อวัวได้ 

และตามสถิติจากทางการอาร์เจนตินาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ราคาเนื้อที่ขายในอาร์เจนตินาปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 20% ในปี 2021 ส่งผลให้ในปีนั้นคนอาร์เจนตินาบริโภคเนื้อน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โดยคนอาร์เจนไตน์กินเนื้อเฉลี่ยที่ 46.1 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี เทียบเท่ากับว่าบริโภคเนื้อน้อยลงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงต้นยุค 2000s และน้อยลงถึง 40% ถ้าเทียบสถิติย้อนหลัง 50 ปี

ในแง่ผู้ผลิตเนื้อวัวที่อาจจะเอาบรรทัดฐานในการทำเงินให้กับธุรกิจเป็นที่ตั้ง จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าการส่งออกเนื้อวัวไปขายที่ต่างประเทศและได้รับเงินมาเป็นสกุลเงินที่มีค่ามากกว่าเงินเปโซที่ใช้อยู่ในประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากับธุรกิจของตน แต่ในแง่การบริหารงานของรัฐบาลที่จำเป็นจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนในประเทศ รัฐบาลอาร์เจนตินาจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อพี่น้องเลือดฟ้าขาวให้ยังคงธำรงไว้ซึ่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดอยู่ในทุกมื้ออาหารการกินเนื้อ

ทางการอาร์เจนตินาจึงมีนโยบายและประกาศออกมาด้วยความมุ่งหวังจะหยุดยั้งอัตราความยากจนในประเทศที่พุ่งเข้าไปถึง 47% แล้วในเดือนมิถุนายน 2021 และหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศขณะนั้นคือการระงับการส่งออกเนื้อวัวไปยังต่างประเทศโดยในตอนนั้นประกาศบังคับใช้ไว้ที่ 30 วัน 

แล้วนั่นเป็นนโยบายที่ดีและใช้ได้ผลจริงหรือไม่?

ในเชิงทฤษฎีการหยุดการส่งออกเนื้อวัว ส่งผลให้มีสต็อคเนื้อวัวไหลเวียนอยู่ในประเทศมากขึ้น ซึ่งนั่นควรที่จะหมายความว่าผู้ผลิตเนื้อมากมายหลายเจ้าควรจะต้องเอาเนื้ออกมาวางขายให้แก่คนในประเทศมากขึ้น เพราะไม่สามารถระบายสินค้าออกนอกประเทศได้ ราคาของเนื้อก็ควรที่จะลดต่ำลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อรัฐบาลมีนโยบายการบนการส่งออกเนื้อเช่นนั้น กลับสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้างให้กับหลายภาคส่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกษตรกรผู้ผลิตเนื้อ และซัพพลายเออร์ขายเนื้อ

มีการประท้วงและชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวแต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลอาร์เจนตินายังคงยืนยันในแนวทางนี้ต่อไปจนถึงขั้นที่ว่าได้มีการพิจารณาขยายเวลาระงับการส่งออกเนื้อบางส่วนไปจนถึงสิ้นปี 2023

Miguel Schiariti ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเนื้อของอาร์เจนตินา หรือ CICCRA ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า

“รัฐบาลไม่มีความเข้าใจกับวงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการขยายช่วงเวลาการแบนการส่งออกเนื้อ เราสูญไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญและนั่นยังเป็นการเปิดช่องว่างให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงเกมการส่งออกเนื้ออีกด้วย”

ไม่แน่ใจว่านโยบายการระงับการส่งออกเนื้อของรัฐบาลอาร์เจนตินาเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ ในเชิงทฤษฎีอย่างที่ว่าไปมันควรออกมาในทางที่ดีต่อผู้บริโภคเพราะผู้ผลิตมีเนื้อที่จะทยอยส่งออกมายังตลาดมากยิ่งขึ้น แต่ในทางปฏิบัติราคาเนื้อในประเทศกลับปรับตัวสูงขึ้นจนไปแตะที่ราคา 5,000 เปโซต่อ 1 ปอนด์ อาจจะเนื่องด้วยค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหรือเพราะความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ขายเนื้อในประเทศที่พากันตรึงราคาเนื้อไม่ให้ตกต่ำลงเกินจนทำให้ผู้ขายเนื้อไม่สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้

นอกจากราคาเนื้อไม่ได้ปรับตัวลงแล้ว การส่งออกเนื้อที่ถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศก็ลดน้อยถอยลงอีก จากเดิมที่อาร์เจนตินาติดอันดับการส่งออกเนื้อมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อรัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศระงับการส่งออกเนื้อ นั่นเท่ากับว่า เงินที่จะไหลเวียนเข้ามาในประเทศก็ย่อมต้องน้อยลงไปอีก

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายคนออกมาให้ความเห็นต่อนโยบายการแบนการส่งออกเนื้อของรัฐบาลอาร์เจนตินาว่า ‘เป็นการเดินหมากผิด’ สิ่งที่ควรทำคือการเพิ่มการผลิตให้คนในประเทศมีเนื้อบริโภคได้เพียงพอในราคาที่เข้าถึงได้ และยังคงตัวเลขการส่งออกที่งดงามได้ต่อไปต่างหาก

ถึงอย่างนั้นก็ตามการบริหารสิ่งที่เกี่ยวพันจนเป็นเนื้อเดียวกันกับคนในประเทศทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์และเศรษฐกิจคงไม่มีทางง่าย และไม่มีอะไรผิดที่สุดหรือถูกต้องที่สุดอยู่ดี

อ้างอิง

หลัก 4P+1 ของ Pynpy’ กางเกงในอนามัยแบรนด์แรกของไทยที่ใช้แทนผ้าอนามัยได้เลย

ข้อใดต่อไปนี้ที่มนุษย์เมนส์ต้องพบเจอ

  • ก. ไม่สบายตัวเพราะความชื้นแฉะและความหนาเตอะของผ้าอนามัย
  • ข. เสียเงินให้กับผ้าอนามัยเป็นหลักพันหลักหมื่นต่อปี
  • ค. มีผื่นแพ้ขึ้นจนต้องร้องขอชีวิต
  • ง. เสี่ยงติดเชื้อจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • จ. ถูกทุกข้อ

เชื่อว่ามนุษย์เมนส์ที่แวะเวียนเข้ามาต้องได้กากบาทสักข้อบ้างล่ะ เพราะชาวเมนส์ต่างรู้กันดีว่านับตั้งแต่วันนั้นของเดือนโผล่มาทักทาย ชีวิตของเราก็ไม่เคยสบายอีกเลย เช่นเดียวกับที่ ‘กานต์–อรกานต์ สายะตานันท์’ นักออกแบบสาวชาวไทยรู้สึก

“มันไม่ใช่แค่ไม่สบายตัว แต่เราไม่รู้ว่าเมนส์จะมาเมื่อไหร่ มันเลยพ่วงความกังวลใจให้เราด้วย ถึงจะเคยลองผ้าอนามัยซักได้ หรือถ้วยอนามัยมาก่อน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเราเป็นเมนส์ตลอดเวลาอยู่ดี เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันพอจะมีสินค้าอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนั้นของเดือนก็เป็นแค่วันธรรมดาๆ” 

เหตุผลนี้เอง เมื่อคู่รักนักธุรกิจอย่าง ‘Tomas Prochazka’ ชวนเธอลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเธอและชาวเมนส์คนอื่นๆ กางเกงในอนามัยที่ใช้แทนผ้าอนามัยได้เลยอย่าง Pynpy’ จึงเกิดขึ้น 

ฟังไม่ผิด! นี่คือกางเกงในอนามัยที่ไม่ง้อผ้าอนามัยหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ แต่ชาวเมนส์ทุกคนสามารถสวมใส่กางเกงในอนามัย Pynpy’ แบบเพียวๆ ได้เลย ไม่ซึมเปื้อน แห้งสบาย แถมยังเป็นมิตรกับโลก! 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยแล้วว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง กานต์และโทมัสสร้าง Pynpy’ ขึ้นมาด้วยความคิดและความเชื่อแบบไหนจนยอดขายช่วงเปิดตัวเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพุ่งกระฉูดชนิดที่ไม่ทันตั้งตัว ทั้งคู่มากางหลัก 4P+1 ที่ใช้สร้าง Pynpy’ ให้ฟังแล้ว

Product
โปรดักต์ที่เกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหา

มันอาจจะฟังดูเป็นคำพูดคลิเช่ๆ แต่สำหรับกานต์ที่เป็นนักออกแบบ โปรดักต์ที่ดีก็ยังคงเป็นโปรดักต์ที่แก้ไขปัญหาได้อยู่วันยังค่ำ

“แน่นอนว่าเรามีปัญหาที่อยากแก้ แต่พอมาทำ Pynpy’ เรายิ่งต้องชัวร์ว่ามันมีปัญหานี้อยู่จริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราคิดเองเออเองเพื่อให้สินค้าที่ออกมามันแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด” กานต์ขยายความการคิดโปรดักต์จากเพนพอยต์ให้ฟัง 

การฟันธงว่าปัญหาที่ทั้งคู่สงสัยนั้นมีอยู่จริง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบขอไปที แต่ทั้งคู่รีเสิร์ชจริงจังถึงขั้นทำแบบสอบถามฐานลูกค้าเดิมในธุรกิจที่โทมัสทำอยู่และสัมภาษณ์คนรอบตัวว่านอกจากปัญหาที่กานต์ประสบเอง ยังมีปัญหาอะไรอีกบ้างที่ชาวเมนส์คนอื่นๆ ทุกข์ใจอยู่ จากนั้นทั้งคู่จึงร่วมมือกับนักวิศวกรสิ่งทอทั้งจากไทยและยุโรปเพื่อออกแบบให้กางเกงในอนามัย Pynpy’ แก้ปัญหาทุกจุดให้ชาวเมนส์ได้

ไม่สบายตัวใช่ไหม–กางเกงในอนามัย Pynpy’ บางแทบจะเท่ากางเกงในทั่วไป แต่ใต้ความบางนั้นกลับถักทอด้วยโครงสร้างพิเศษที่ซึมซับประจำเดือนได้เทียบเท่าผ้าอนามัย 2-3 แผ่น ยาวนาน 8-12 ชั่วโมง แถมยังซึมซับได้เร็ว ไม่รู้สึกเฉอะแฉะ คันยิบๆ แถมยังอับชื้นจนมีกลิ่น – กานต์และโทมัสผู้เข้าใจความร้อนชื้นของไทยดีเลือกใช้เส้นใยที่ได้มาตรฐาน OEKO-TEX แถมยังเพิ่มเทคโนโลยีแอนตี้แบคทีเรียเข้าไป เรียกได้ว่าลดกลิ่น ลดคันแบบสุดๆ 

ขี้เกียจซักมือใช่ไหม–อดีตคนเคยทดลองใช้ผ้าอนามัยซักได้แบบกานต์เข้าใจความเหนื่อยของชาวเมนส์เป็นอย่างดี เธอจึงออกแบบให้กางเกงในอนามัย Pynpy’ ซักทำความสะอาดง่าย เพียงนำไปผ่านน้ำ โยนเข้าเครื่องซักผ้า แล้วตากได้เลย! คนขี้เกียจแบบเราเลยหลงรักแบบหัวปักหัวปำ

“เราเป็นนักแก้ปัญหา” โทมัสบอกถึงสิ่งที่ทั้งคู่ทำซึ่งอธิบายได้ดีว่าทำไมชาวเมนส์ที่รีวิว Pynpy’ ในเว็บไซต์จึงแฮปปี้กับร่างกายและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นจริงๆ

โปรดักต์ที่เป็นมิตรกับทุกคนและสิ่งแวดล้อม

นอกจากความปังเรื่องการซึมซับและการดูแลรักษาที่ง่ายแสนง่ายแล้ว ความน่ารักของกานต์และโทมัสคือการใส่ใจเพื่อนร่วมโลกอย่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 

ประเด็นแรก เรากล้าพูดได้เลยว่า Pynpy’ นั้นเป็นกางเกงในอนามัยที่ตอบโจทย์คนทุกไซส์เพราะ Pynpy’ มีไซส์ให้ลูกค้าเลือกถึง 11 ไซส์! แถมการตัดเย็บในทุกๆ ไซส์ก็คิดมาแล้วว่าเหมาะกับสรีระคนไทย

ประเด็นที่สอง เพราะนวัตกรรมของ Pynpy’ นั้นไม่เพียงซึมซับได้ดีเยี่ยมแต่ยังคงความสบายและความมั่นใจให้ผู้สวมใส่ได้ด้วย ลูกค้าของ Pynpy’ จึงไม่ใช่แค่ชาวเมนส์เท่านั้น แต่ยังมีผู้สูงอายุและคุณแม่มือใหม่ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด รวมถึงกลุ่มทรานส์ที่เลือกใช้กางเกงในอนามัย Pynpy’ หลังผ่าตัดแปลงเพศ 

ประเด็นที่สาม นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทั้งกานต์และโทมัสภูมิใจนี้เป็นมิตรกับโลกและเงินในกระเป๋าสุดๆ เพราะผ่านการทดสอบทางห้องทดลองมาแล้วว่าใช้ได้ยาวนาน 2 ปี แต่ถ้าปรับใช้ตามการใช้งานจริงๆ ก็อาจจะนาน 3-4 ปีเช่นที่กานต์ก็ยังใช้ Pynpy’ รุ่นทดลองจนทุกวันนี้! 

“เราภูมิใจที่ Pynpy’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่เราไม่ได้สื่อสารออกไปมากเท่านวัตกรรมอื่นๆ เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนต่างมีปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกัน เราไม่ได้อยากเป็นครูที่มาสั่งสอนว่าถ้าใครไม่รักษ์โลกถือว่าผิด” โทมัสอธิบายถึงความเชื่อที่เขามี ก่อนที่กานต์จะเสริมว่า

“เราคิดว่าความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องปกติที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจและทำให้ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่จุดขายหรือเทรนด์ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้” 

โปรดักต์ที่ขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยฟีดแบ็กของลูกค้า

นวัตกรรมกางเกงในอนามัยชิ้นแรกของ Pynpy’ คือรุ่น classic cut ที่ไม่ได้เน้นแฟชั่นแต่เน้นฟังก์ชั่นและความเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งการออกสินค้าที่กว้างมากๆ ตรงนี้ก็เป็นความตั้งใจของทั้งคู่ที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแรงให้ Pynpy’ นั่นเอง

“ตลาดกางเกงในอนามัยถือว่าใหม่มากๆ ในไทย สิ่งที่เราทำอยู่มันเลยเป็นการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนแรก เราจึงต้องทำ hero product ที่แข็งแรงและกว้างไว้ก่อนเพื่อให้มันสื่อสารถึงแบรนด์ได้ จากนั้นก็ค่อยเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาต่อ 

“เราจะไม่ผลิตสินค้าหลายๆ อย่างแล้วค่อยมาดูว่าอะไรดี ทุกผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้อยู่ๆ ก็ทำขึ้นมา แต่เรามีข้อมูลแล้วว่าลูกค้าอยากได้อะไร ถ้าเขาอยากได้กางเกงในอนามัยแบบไม่มีขอบ เราก็ทำรุ่น seamless ให้ หรือหลังๆ เริ่มมีฟีดแบ็กว่าอยากได้กางเกงในอนามัยที่ใส่ในวันก่อนหน้าหรือท้ายๆ ของการมีประจำเดือน เราถึงจะทำรุ่น daily ออกมา” โทมัสเล่า

โทมัสและกานต์ยืนยันว่าการเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาแบรนด์อยู่เสมอตรงนี้เองที่ทำให้ Pynpy’ เอาชนะใจลูกค้าได้

“เราไม่เคยบอกว่าเรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนแต่เราเรียกตัวเองว่าเป็นเพื่อนผู้รับฟังที่ดีและเป็นนักแก้ไขปัญหาที่เมื่อลูกค้ามีปัญหาเมื่อไหร่ เราก็พร้อมจะแก้ไขให้เขา” กานต์ว่า

Price
ราคาคุ้มค่าของกางเกงในอนามัยที่มอบอิสรภาพให้ผู้สวมใส่

กางเกงในอนามัยรุ่น Classic Cut ราคา 1,190 บาท กางเกงในอนามัยรุ่น Seamless High Waist ราคา 1,290 บาท ส่วนกางเกงในอนามัยรุ่น Daily ราคา 1,090 บาท

สนนราคาตรงนี้อาจจะดูสูงสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม  แต่สำหรับการเป็นกางเกงในอนามัยที่ใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนาจนทำให้ลูกค้าใส่กางเกงในอนามัย Pynpy’ ได้โดยไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย ราคาข้างต้นถือเป็นราคาที่ยอมรับได้กับลูกค้าของ Pynpy’ ด้วยซ้ำ

“คนที่ไม่เคยลองอาจจะมองว่ากางเกงในอะไรทำไมแพงจัง แต่เมื่อได้ลองแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่กลับบอกว่านี่เป็นราคาที่คุ้มค่าและแพงได้มากกว่านี้เพราะมันไม่ใช่แค่การซื้อกางเกงในธรรมดา แต่มันคือการลงทุนซื้อชีวิตและอิสระของเขา” กานต์เล่าถึงฟีดแบ็กของลูกค้า

“Pynpy’ เป็นกางเกงในอนามัยแบรนด์แรกในไทยที่ใส่แทนผ้าอนามัยได้เลย จึงไม่สามารถไปเปรียบเทียบราคากับกางเกงในอนามัยทั่วไปที่แค่ใส่เพื่อรองรับการซึมเปื้อนได้เพราะถือเป็นสินค้าคนละกลุ่มกัน ที่สำคัญ ราคานี้คือราคาปกติของกางเกงในอนามัยนะ เราตั้งราคานี้เพราะเราให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า” โทมัสอธิบาย

Place
พื้นที่การขายที่ควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตนเอง

ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วอยากจะสั่งกางเกงในอนามัย Pynpy’ มาลองบ้าง ขอบอกตรงนี้ว่ากางเกงในอนามัย Pynpy’ ไม่ได้มีขายตามแพลตฟอร์มขายของออนไลน์แบบแบรนด์อื่นๆ หรือลงห้างร้าน แต่โทมัสและกานต์ออกแบบเว็บไซต์ให้ลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อและกดยกเลิกสินค้าได้ด้วยตนเองแบบครบจบในที่เดียว

ในยุคที่ทั้งแบรนด์แล็กและแบรนด์ใหญ่ต่างกระโดดเข้าแพลตฟอร์มขายของออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ทุกช่องทาง หลายคนก็คงสงสัยไม่ต่างจากเราว่าทำไม Pynpy’ กลับแยกตัวออกจากแบรนด์เหล่านั้น 

“ระบบของเราคือ Inbound Marketing ที่ลูกค้าเข้ามาหาเราเอง เราไม่ได้ไปหาลูกค้า เพราะเราชอบที่จะควบคุมทุกอย่างเอง เราจึงตั้งใจออกแบบให้เว็บไซต์ของเราทำได้ทุกอย่าง และมีช่องทางเสริมอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และทวิตเตอร์ที่ลูกค้าสามารถมาคุยและฟีดแบ็กกับเราได้โดยตรง ลูกค้าเลยไม่ได้มีปัญหากับการสั่งซื้อของผ่านเว็บไซต์เลย

“แต่อย่างที่บอกว่าเราเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจกับฟีดแบ็กของลูกค้ามากๆ ถ้าในอนาคตทีมเราใหญ่กว่านี้ และลูกค้าบอกว่าต้องการแพลตฟอร์มการซื้ออื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นมันก็คงเหมาะสมแล้วที่จะขยายช่องทางการซื้อเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าจริงๆ” โทมัสอธิบาย

Promotion
โปรโมชั่นไม่พร่ำเพื่อคือการตลาดแบบที่เชื่อ 

พูดกันตามตรง สงครามราคาในตลาด e-Commerce ของไทยนั้นดุเดือดใช่ย่อย แม้จะไม่กี่บาท หลายครั้งทีเดียวที่ถ้าไม่มีโปรโมชั่นลดราคา ลูกค้าก็ไม่ค่อยอยากซื้อเท่าไหร่ แต่ก็เช่นเดียวกับช่องทางการขายที่ไม่เหมือนใคร กานต์และโทมัสยังคงยืนยันว่า Pynpy’ จะไม่ลดราคาพร่ำเพื่อเพื่อขยายตลาดแน่นอน 

“เราไม่เชื่อในการตลาดเก่าๆ ที่ต้องลดราคาสินค้า จ้างอินฟลูเอนเซอร์ ซื้อโฆษณา หรือปล่อยโปรโมชั่นให้ทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีโปรโมชั่นนะ เรามีสำหรับลูกค้าที่สนใจแบรนด์เราจริงๆ มากกว่า เช่นในระบบเว็บไซต์ ถ้าเราเห็นว่าลูกค้าคนไหนซื้อเยอะ ซื้อหลายครั้ง เราก็อาจจะมีโปรโมชั่นให้เขา” โทมัสว่า 

แล้วการตลาดของ Pynpy’ เป็นแบบไหน?

โทมัสและกานต์เน้นสร้างสรรค์บทความเกี่ยวกับประจำเดือน เพศ สิทธิมนุษยชน และปัญหาต่างๆ ของผู้มีประจำเดือนให้ทุกคนได้เข้าไปอ่านจำนวนมาก และเป็นเหตุผลที่ทั้งคู่อยากให้ลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อสินค้าในเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจเรื่องประจำเดือนมากขึ้นนั่นเอง 

“เมื่อบทความบางชิ้นมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้า เขาก็จะมาหาเราโดยอัตโนมัติ นี่คือการตลาดแบบที่เราสองคนเชื่อ” โทมัสเล่าถึงสิ่งที่ Pynpy’ ทำ

“มีหลายแบรนด์เลยนะที่คัดลอกบทความของเราไป นั่นหมายความว่าเราคือผู้นำของตลาดนี้จริงๆ เป็นผู้นำที่ไม่ได้จะขายสินค้าอย่างเดียวแต่ต้องการขับเคลื่อนสังคมไปด้วยและเป็นผู้นำที่ต้องการให้ลูกค้าเข้าใจว่าประจำเดือนคืออะไร สินค้าเราเป็นยังไง เขาพอใจกับสินค้าเรามั้ย จากนั้น ลูกค้าถึงจะตัดสินใจได้เองว่าสินค้าของเราเหมาะกับเขาหรือเปล่า 

“นี่สิถึงจะทำให้ธุรกิจมันยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย” กานต์เสริมถึงความตั้งใจในการทำธุรกิจ

People
ผู้คนคือหัวใจสำคัญ

การคิด product, price, place และ promotion เป็นเช็กลิสต์ที่ผู้ประกอบการต้องตอบให้ได้ก็จริง แต่ก็อย่างที่ทั้งโทมัสและกาต์บอกกับเราเสมอว่า ‘Pynpy’ ไม่ได้เป็นธุรกิจเพื่อธุรกิจเท่านั้น ‘p’ ที่ทั้งคู่คิดว่าสำคัญไม่แพ้กันจึงคือ ‘people’ หรือผู้คนนั่นเอง

คำว่า people ของทั้งคู่จึงอธิบายทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตที่ดีและสบายขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเพศ วัย หรือไซส์ หรือไม่ว่าจะเป็นการทำบทความให้ทุกคนเข้าใจว่าประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติที่พูดถึงได้ และประจำเดือนก็ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น

“หลายครั้งที่มีคนทักเรามาเพื่อปรึกษาปัญหาประจำเดือนและเรื่องเพศ เพราะเขาคิดว่าเราน่าจะมีความรู้และเชี่ยวชาญมากพอ ซึ่งเราก็แฮปปี้มากเพราะเหมือนกับแท็กไลน์ของเราที่ว่า “Pynpy’ Your Best Friend” มันเป็นเรื่องจริง

“ส่วนอีกหนึ่งสเตปที่ทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์มากๆ คือการที่เราทำให้หลายคนกล้าพูดเรื่องประจำเดือนมากขึ้น เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นด้วย มีลูกค้าผู้ชายทักมาถามเยอะมากว่าถ้าจะซื้อให้แฟนใส่ต้องซื้อรุ่นไหนดี หรือบางทีลูกๆ หลานๆ ก็มาซื้อกางเกงในอนามัยของเราให้รุ่นแม่รุ่นยายเขาใช้ มันเหมือนว่ามากกว่าการสร้างแบรนด์มันคือการสร้างคอมมิวนิตี้” กานต์เล่า

“ผมเลยคิดว่าเราไม่ใช่แค่นักธุรกิจแต่คือนักแก้ไขปัญหา นักสร้างความสัมพันธ์และศูนย์กลางการเชื่อมโยงสิ่งดีๆ ในสังคม” โทมัสทิ้งท้าย

GENTLEWOMAN แบรนด์แฟชั่นของคนจบบัญชี ที่พลิกวิธีคิดการออกคอลเลกชั่นจนฮิตติดเทรนด์

เวลาเดินเล่นนอกบ้านหรือไถโซเชียลฯ ในฟีด มั่นใจว่าต้องเคยเห็นผู้หญิงสักคนถือกระเป๋า tote หรือใส่เสื้อสกรีนลาย GENTLEWOMAN สุดฮิตที่ไวรัลทั่วบ้านทั่วเมืองแน่นอน

นอกจากคอลเลกชั่น GENTLEWOMAN CLUB ลายโลโก้แบรนด์ที่รู้จักกันดีแล้ว หลายคนอาจมีภาพติดตาจากหลากคอลเลกชั่นลายปรินต์ที่มีเอกลักษณ์ แต่ที่จริงแล้วทุกวันนี้แบรนด์มีเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์กว่านั้น ทั้งเรียบ หวาน เปรี้ยว เท่ เก๋ ครบจบทุกหมวดทั้ง workwear, active, swimwear โดยล่าสุดยังแตกแบรนด์ GENTLE LITTLEWOMAN หมวดเสื้อผ้าเด็กและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สาขา flagship ซึ่งมี 4 ชั้นอีกด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจคือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ไทยอายุ 4 ปีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 แถมมีผลงาน collaboration กับแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยชื่อดังมากมายอย่าง Disaya, Asava, Kloset ฯลฯ หุ้นส่วนทุกคนล้วนจบจากคณะบัญชี และด้วย rebel mindset ที่แตกต่างจากแบรนด์แฟชั่นทั่วไปว่าเสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องนิยามสไตล์และไม่จำเป็นต้องออกคอลเลกชั่นเป็นซีซั่นตามฤดูกาลเหมือนแบรนด์ต่างประเทศ ทำให้ GENTLEWOMAN สามารถออกคอลเลกชั่นใหม่สุดลิมิเต็ดถี่ทุกสัปดาห์แบบที่น้อยแบรนด์จะกล้าทำ

เราจึงอยากชวนฟังวิธีคิดของ แพง–รยา วรรณภิญโญ ว่าเธอและทีมทำธุรกิจแฟชั่นด้วยวิธีคิดเช่นไรจนแบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในแง่สาขาที่มีถึง 16 สาขา หมวดสินค้าที่ขยายจนแทบครบทุกหมวดไลฟ์สไตล์ และมีแฟนคลับเป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงหลากหลายสไตล์ในทุกช่วงอายุ รวมถึงเรื่องราวการทำธุรกิจที่ flip วิธีคิดว่าความสวยงามซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ที่นามธรรม ต้องคิดเยอะในแง่ตัวเลขและระบบกว่าจะมาเป็นสินค้าสุดปังอย่างที่เห็นในวันนี้

ก่อนจะทำแบรนด์ GENTLEWOMAN คุณทำอะไรมาก่อน

GENTLEWOMAN ไม่ใช่ธุรกิจแรกของเรา ตอนแรกทำอีกธุรกิจหนึ่งมาก่อนคือ CAMP ร้านมัลติแบรนด์ หุ้นส่วนมีทั้งหมด 3 คน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่คณะบัญชีหมดเลย มีหุ้นส่วนที่เคยทำตลาดป๊อปอัพ เอาแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์มาจัดอีเวนต์ ทำให้เคยแตะด้านแฟชั่นด้วยกันมาบ้าง

ส่วนแพงเคยทำตรวจสอบบัญชีมา 2 ปี เริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์เล็กๆ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีอินสตาแกรม แต่ไม่ใช่สเกลใหญ่เท่านี้ เป็นสเกลเล็กที่เราเริ่มเองทุกอย่างคนเดียว ออกแบบ ไปซื้อผ้า แพ็กของ ส่งของให้ลูกค้าเอง ตอนนั้นเน้นที่เราอยากใส่ ไม่ได้อิงแฟชั่น ไม่ได้ดูเทรนด์อะไรเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจแฟชั่น 

สมัยทำงานออฟฟิศเราเหมือนเด็กเพิ่งเรียนจบ อยากลองสิ่งที่แตกต่างจากสายที่เรียนมา ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ไทยและร้านขายออนไลน์ มีปัญหาเรื่องไซส์เพราะเป็นคนตัวเล็กมาก หาชุดทำงานยากมากเพราะเราไม่สามารถซื้อในห้างได้ คุณแม่เราชอบแต่งตัว มีช่างประจำเป็นคนตัดชุดทำงานให้ พอเพื่อนที่ทำงานเห็นแล้วชอบเลยลองทำดู

แล้วคุณเห็นโอกาสอะไรจนลุกขึ้นมาทำ GENTLEWOMAN

เราเริ่มเห็นช่องว่างตลาด อินเตอร์แบรนด์กับรสนิยมของคนไทยยังไม่ได้ตรงกันขนาดนั้นในเรื่องไซส์และซีซั่นที่ยังไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคร้อยเปอร์เซ็นต์

ในขณะที่บางช่วงอินเตอร์แบรนด์ในห้างจะมีชุดที่หนาวมาก แต่คนไทยมีฤดูร้อนทั้งปี เที่ยวทะเลทั้งปี เป็น summer all year round เราไม่ได้มี summer, winter, autumn ชัดเจนขนาดนั้น เลยอยากปรับให้เข้ากับคนไทยมากขึ้นและเลือก sizing ที่ customize ให้เข้ากับรูปร่างคนไทย

อย่างไรก็ตามความเป็นแฟชั่นก็ต้องอิงกับซีซั่นอยู่บ้าง อย่างเสื้อหนัง แจ็กเก็ตขนๆ ของ GENTLEWOMAN เราก็มี แต่จะไม่ใช่เสื้อนวมทั้งหมดเลย มีนาฯ เมษาฯ ก็ยังทำคอลเลกชั่นที่มีคอนเซปต์ชัดอย่างชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย เพียงแค่ฤดูหนาวของเราจะไม่ได้ winter จ๋าขนาดนั้น

คอลเลกชั่นแรกๆ เป็นแบรนด์ที่ดูเป็นผู้หญิงทำงานมาก มีความสมาร์ต ตั้งใจเป็นแบรนด์ชุดทำงานที่ใส่ดีเทลความสนุกและสีสันเข้าไป เราเริ่มมาแบบนั้น เป็นคนละภาพกับ GENTLEWOMAN ในตอนนี้ที่มีความเป็นแฟชั่นไปเลย

กว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง ผ่านอะไรมาบ้าง

สาขาแรกคือที่สยามสแควร์วัน เราเข้าใจว่าตรงนั้นคนผ่านเยอะมาก แต่ปรากฏช่วงแรกที่เปิดไม่มีคนเข้าร้านเลยเพราะมันอาจจะอยู่ผิดที่ผิดทาง ของอาจจะยังไม่ใช่ ยังไม่โดน เราก็ปรับมาเรื่อยๆ

ตอนแรกแบรนด์เรามีแต่เสื้อผ้า แล้วเราอยากได้อะไรที่เติมเต็มลุคลูกค้านอกเหนือจากเสื้อผ้าบ้างอย่างพวกแอ็กเซสเซอรี เลยคุยกันว่าสิ่งที่ใช้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวันโดยไม่กวนไอเทมหลักน่าจะเป็นกระเป๋า tote เลยลองทำขึ้นมา

ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเอาโลโก้เรามาลงที่สินค้าเลย ด้วยความเป็นแบรนด์ใหม่ คนไม่รู้จัก เราก็ไม่มั่นใจว่าคนจะชอบ อันนี้เป็นไอเทมแรกที่ลอง

ลองปรับมาเยอะมาก มันอาจจะดูเบสิกแต่จริงๆ มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งในแง่ของการวางโลโก้ยังไง ต้องวางเหลื่อมนิดนึง ไม่เห็นเต็ม ลองปรับความยาวของสาย ให้คนตัวเล็กตัวใหญ่ถือสบาย ลองกันมาเยอะจนลงตัวเป็น GW Canvas Tote

จุดเปลี่ยนสำคัญคือโควิด เพิ่งเปิดมาไม่นาน ผ่านไป 1 ปี ยังไม่ทันเข้าที่ก็เจอโรคระบาด ทำให้ทุกสาขาปิดหมดเลย กลายเป็นชุดเสื้อผ้า formal ที่จัดเต็มขายไม่ได้เลยเพราะคนอยู่บ้าน เลยปรับมาทำสไตล์ casual ขึ้น ขายสิ่งที่ใส่อยู่บ้านสบายๆ ปรับตามลูกค้ากับสถานการณ์รอบตัวมาเรื่อยๆ เอาความปรับตัวเร็วขององค์กรมาเปลี่ยนเป็นออกคอลเลกชั่นถี่กว่าเดิม ทดลองว่ามันพอบิลด์อะไรขึ้นมาได้ไหม 

ผลคือพอจบโควิดกลายเป็นออกสินค้าถี่กว่าเดิม เมื่อก่อนก็ไม่ได้ออกบ่อยขนาดนี้ ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่จะออกคอลเลกชั่นเป็นซีซั่น แต่ละคอลเลกชั่นกินเวลาราว 3 เดือน ส่วนของเรามีเดือนละ 4 คอลเลกชั่น

สุดท้ายก็มีผลพิสูจน์ว่า ลูกค้าที่ตอบรับเราก็มีนะ ถ้าเราทำตัวเองให้กว้างและหลากหลายพอ สุดท้ายเราไม่ได้ปักหลักอยู่แค่สินค้าหรือลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราขยายวงกว้างได้

เห็นว่าพวกคุณไม่ได้เรียนจบด้านแฟชั่นมา แฟชั่นสำหรับคุณคืออะไร 

แฟชั่นคือความสนุก ถ้าพรุ่งนี้รู้สึกว่าอยากใส่ชุดนี้มาก ใส่แล้วสวย เราจะอยากรีบตื่นขึ้นมาเพื่อแต่งตัวด้วยชุดนี้ ในโอกาสพิเศษถ้าได้ใส่ชุดที่เป็นเราแล้วเสริมความมั่นใจ มันก็เติมเต็มช่วงเวลานั้นมากขึ้น

เป็นความตั้งใจของเราแต่แรกว่าไม่อยากนิยามแบรนด์แบบจำเพาะเจาะจงว่าเป็นสไตล์แบบนี้ ไม่งั้นกรอบมันจะแคบ เราชอบความหลากหลายที่เป็นใครก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่ได้ถูกจำกัดกรอบด้วยสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง บางวันอยากใส่สไตล์นี้ บางวันอยากใส่อีกแบบ บางทีเราไปเห็น reference จากบล็อกเกอร์เมืองนอกแต่งแบบนี้ เราก็อยากแต่งตามบ้าง

อย่างตอนนี้มีหมวดชุดออกกำลังกาย ชุดว่ายน้ำ ยีนส์ที่พยายามทำให้ภาพชัด ครบหมวดและหลากหลายมากขึ้น บางคนก็ซื้อชุดออกกำลังกายเฉพาะแบรนด์ออกกำลังกาย แต่เราอยากเป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีชุดออกกำลังกายด้วย

หมวดยีนส์ทำเพราะส่วนตัวชอบใส่ยีนส์มาก รู้สึกว่ายีนส์มีได้ไม่สิ้นสุด ของเราจะไม่ใช่ยีนส์เบสิกที่ไปแข่งกับแบรนด์อื่นๆ เพราะลูกค้ามีทรงที่ชอบในใจอยู่แล้ว เราจะทำยีนส์ที่แฟชั่นขึ้นมานิดหนึ่ง มีสีแปลกๆ มีเลเซอร์ ติดโลโก้ สกรีนลายปรินต์ทำยีนส์ที่คิดว่าลูกค้าน่าจะยังไม่มี อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ว่าจะมองหาอะไร ถ้ามาที่ GENTLEWOMAN น่าจะเจออะไรสักอย่างที่ตอบโจทย์

พอแบรนด์มีเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์มาก แล้วนิยามผู้หญิงของ GENTLEWOMAN เป็นแบบไหน 

เราอยากให้แบรนด์ empowered femininity เดี๋ยวนี้มันหลากหลายมาก ความเป็นผู้หญิงของบางคนอาจสื่อออกมาด้วยการแต่งตัวหวาน ในขณะที่ความเป็นผู้หญิงของบางคนอาจเป็นแนวเท่ เปรี้ยว หรือสตรีท

อยากให้ผู้หญิงของ GENTLEWOMAN เป็นคนที่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร รู้จักตัวเองและรู้จักใช้ชีวิต รู้ว่าอะไรเหมาะกับเรา ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงที่เหมือนใคร ติดในภาพจำ หรือสเตอริโอไทป์แบบไหน แค่มีเอกลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเอง รู้จักใช้ชีวิต มีหลายแง่มุมที่ไม่ใช่ทำงานอย่างเดียว

เสื้อผ้าของเราจะมีความโมเดิร์นที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมืองในหลายๆ โอกาส ดึงเสน่ห์ของผู้หญิงออกมาตามเอกลักษณ์ของแต่ละคนให้ใส่แล้วมั่นใจ รู้สึกดี

การทำแบรนด์แฟชั่นที่ไม่มีผู้ก่อตั้งเป็นดีไซเนอร์เลย แล้วเอา sense of fashion มาจากไหน ตามเทรนด์ยังไง

ตั้งแต่ตัดสินใจเริ่มสร้างแบรนด์ก็คุยกันกับหุ้นส่วนแล้วว่าในแง่ดีไซน์เราคงทำเองไม่ไหว เลย put the right man on the right job เรามีทีมดีไซเนอร์ของเราเอง ที่มาที่ไปของลายมาจากดีไซเนอร์ที่รับผิดชอบคอลเลกชั่นนั้นๆ เขาจะมีแรงบันดาลใจมาคุยกันว่าเรื่องนี้น่าทำแล้วตีความออกมาเป็นลายผ้า  

ที่ออฟฟิศเราจะชอบรับเด็กจบใหม่เพราะมีไฟแรง เสพหลายอย่างในสิ่งที่เราเข้าไม่ถึง ทำให้มีความหลากหลาย บางทีครีเอทีฟพูดถึงบางแบรนด์ นักร้องบางวงซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราเสพซึ่งก็แปลกใหม่ดี เวลารับคนจะเลือกเยอะ ดูพอร์ตฯ ว่าผลงานและฝีมือเป็นยังไง สไตล์เข้ากับเราไหม หลังๆ พอภาพเราเริ่มชัด คนที่สมัครมาก็จะรู้ว่าทำแนวนี้ได้ สไตล์ที่หลุดจากเรามากไม่ค่อยมีเข้ามา คนในทีมที่เราเลือกมาก็จะเข้ากับแบรนด์เรา เบื้องหลังจะรู้กันในทีมว่าคอลเลกชั่นนี้เป็นของใครทำ เป็นกลิ่นของดีไซเนอร์แต่ละคน แต่ละคนมีลายมือของตัวเอง   

ส่วนเราและหุ้นส่วนก็ชอบติดตามแฟชั่นเหมือนกัน เมื่อก่อนจะเสพแต่อะไรที่เราชอบ ตามเฉพาะแบรนด์ที่เราชอบแต่พอเรามาทำงานตรงนี้ก็ต้องปรับตัวให้หลากหลายขึ้น ไม่ได้ตามแต่อะไรที่เราชอบอีกต่อไป ต้องดูว่าช่วงนี้คนอินอะไรกัน อะไรกำลังมา หรือไม่ใช่ตามแค่แฟชั่น เดี๋ยวนี้คนเชื่อมแฟชั่นกับไลฟ์สไตล์เยอะมาก ศิลปะ วัฒนธรรม ท่องเที่ยว ทุกอย่างหยิบมาอยู่ในเสื้อผ้าได้หมด

ตั้งโจทย์ในแต่ละคอลเลกชั่นให้ดีไซเนอร์ยังไง

แต่ละคอลเลกชั่นมีโจทย์ของมันว่าเป็นกลุ่มลูกค้าไหน สินค้าจะไม่เหมือนกันเลย กลุ่มลูกค้าที่ชอบก็อาจจะไม่เหมือนกันด้วย เวลา collaboration กับแบรนด์อื่น สเกลแต่ละโปรเจกต์แตกต่างกัน มันเลยเทียบความสำเร็จกันไม่ได้ชัดเจนในแต่ละคอลเลกชั่น แต่โดยรวมเราแฮปปี้หมด  

โจทย์ของการ collaboration กับแบรนด์อื่นและศิลปินคืออะไร 

เรารู้สึกว่า collaboration คือสีสัน เลยพยายามให้มีเรื่อยๆ เวลาดีไซน์จากคนในออฟฟิศงานก็หลากหลายระดับหนึ่ง แต่พอมาจากศิลปินข้างนอกหรือแบรนด์อื่นที่มีตัวตนหรือกลิ่นชัดมากๆ พอเอามาเบลนด์กันมันก็กลายเป็นความแปลกใหม่ที่ลูกค้าชอบ 

ความเป็น GENTLEWOMAN มันกลางมาก เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำงานร่วมกับเรา เราค่อนข้างเปิดกว้างมากให้แต่ละแบรนด์ใส่ตัวตนของเขามาได้แบบเต็มๆ

ดีไซเนอร์ไทยที่เราเพิ่งทำด้วยมี Disaya ของพี่ออม (ดิษยา สรไกรกิติกูล) ที่จะเป็นแนวเฟมินีนไปเลย, Asava ของพี่หมู (พลพัฒน์ อัศวะประภา) ก็สมาร์ต ส่วน Kloset ของพี่แก้ม (มลลิกา เรืองกฤตยา) ก็สไตล์วินเทจ โบฮีเมียน แต่ละแบรนด์มีตัวตนชัดมาก 

ลูกค้าชอบแบรนด์เหล่านี้ที่ตัวตน พอพูดชื่อปุ๊บจะนึกร้าน นึกสินค้าออกว่าสไตล์ต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งอันนั้นเป็นข้อดีของแบรนด์เขาที่ทำได้ดีมาก แต่เราเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มาจากตัวตนของดีไซเนอร์ มันมีเป้าหมายคนละแบบกัน เราเลยต้องทำให้หลากหลายมากพอ 

ทำครั้งแรกยากสุดเพราะคนอื่นยังไม่เคยเห็นภาพมาก่อน พอ collaboration ครั้งแรกก็เริ่มมีอะไรไปคุยกับศิลปินและแบรนด์ต่อไป แบรนด์อื่นก็เชื่อมั่นในเรามากขึ้น

สไตล์ของแบรนด์ที่แตกต่างกัน เวลาเจอกันแล้วคุณบาลานซ์ยังไง

ถึงมีสไตล์แตกต่างกันแต่เรารู้สึกว่าพอเป็นแบรนด์แฟชั่นเหมือนกัน สุดท้ายมันก็จะเบลนด์กันได้ด้วยอะไรบางอย่าง เราก็ปรับหาเขาด้วย เขาก็ปรับหาเราด้วย 

ฝั่งเราได้เรียนรู้จากแบรนด์ดีไซเนอร์ที่แข็งแรงมาก มีกลุ่มลูกค้าและภาพที่ชัดมาก แล้วแบรนด์เราเอามาปรับจูนด้วยการทำให้คนใส่ได้ง่ายขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น เราจะมีอินไซต์ของเรามาสนับสนุน ถ้าชุดแบบนี้ กลุ่มลูกค้าเราน่าจะตอบรับไหม ถ้าเป็นแบบนี้ ต้องปรับอีกนิดนะ

อย่าง Sabina x GENTLEWOMAN เป็นคอลเลกชั่นล่าสุดที่ทำครั้งแรกกับแบรนด์บรา มันเฉพาะทางมาก บราต้องใส่ได้จริง ใส่สบาย แล้วเราไม่เคยทำมาก่อน ไม่รู้ผ้าต้องเป็นยังไง Sabina ก็ช่วยแนะนำดีมาก แบรนด์เขาก็แฮปปี้ พอเปิดตัวสินค้าก็พลิกจากภาพปกติของทั้ง Sabina และ GENTLEWOMAN ให้แซ่บขึ้นพอสมควร

งานกับศิลปินล่าสุดมีทำกับ Pomme Chan เป็นครั้งที่ 2 ที่ทำกับเรา ลูกค้าเคยเห็นผลงานพี่ปอมบนงานศิลปะหรือสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ไม่ใช่เสื้อผ้า พอจับมาลงกับเสื้อผ้าแล้วดูสนุก 

คอลเลกชั่น collaboration จะผลตอบรับค่อนข้างดี คนชอบ ลูกค้าประจำจะรู้ว่าวันศุกร์เที่ยงตรงต้องรอกด เป็นสินค้าที่ลิมิเต็ดหมดแล้วหมดเลย 

เราจะดูข้อมูลเรียลไทม์เลย มีประชุมรายเดือนที่ทุกคนในออฟฟิศมาคุยร่วมกันเพื่อที่จะรับรู้ว่าตอนนี้ยอดขายเป็นยังไง เรากำลังทำอะไรอยู่ตรงไหนและจะไปตรงไหน เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่าเราทำอะไรอยู่ มีเป้าหมายเดียวกันและไปได้เร็วมากขึ้น 

อันที่เคยขายดีแล้วสุดท้ายไม่ฮิตก็มี ช่วงหนึ่งลูกค้าชอบ maxi dress มาก พอเจอโควิดก็ไม่มีโอกาสให้ใส่เลย แฟชั่นเปลี่ยนไว บางทีขายได้เฉพาะช่วงนั้น ต้องพยายามอัพเดตตลอดว่าลูกค้าชอบอะไร ใส่อะไร ช่วงปีใหม่คนยังใส่ไหม 

ยุคนี้จึงทำไม่ได้เลยถ้าไม่ดูข้อมูล ในแง่แฟชั่นเราให้น้องดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เก่งทำไป ส่วนเราและหุ้นส่วนดูภาพรวมเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างวัฒนธรรมนี้ให้ลงไปสู่ทีมด้วย จะบอกน้องแต่แรกว่าไม่ว่าตำแหน่งไหน ถ้าอยู่ที่นี่เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลนะ เราจะไม่ใช่สายอาร์ตอย่างเดียว

แล้วคุณบริหารหลังบ้านยังไงให้สามารถออกคอลเลกชั่นใหม่ได้ถี่มากทุกอาทิตย์ 

จุดแข็งคือทีมเวิร์ก ทีมเรา lean มาก ที่ออฟฟิศไม่มีลำดับขั้นตอนและเอกสารอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวาย ไม่มีลำดับขั้นว่าคนนี้หัวหน้า คนนั้นลูกน้องขนาดนั้น หุ้นส่วนก็ไม่ได้มีโต๊ะทำงานพิเศษ นั่งทำงานกับน้องๆ ทั่วไป

ที่ออฟฟิศครึ่งหนึ่งเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ ไม่ได้นั่งทำงานที่โต๊ะทำงานของตัวเองอย่างเดียว อยากให้ทุกคนสื่อสารกันได้เพราะงานเราเน้นไอเดียและการสื่อสารความคิดสร้างสรรค์กัน และยังมีวิธีการทำงานที่เรียกว่า task force คล้ายทำงานกลุ่มมหาวิทยาลัย แต่ละทีมมีตำแหน่ง designer, merchandiser, graphic, creative ใน 1 คอลเลกชั่น เป็น 1 คน จาก 1 ตำแหน่งมาทำด้วยกัน พอเปลี่ยนคอลเลกชั่นต่อไปก็สลับคนไปเรื่อยๆ ทีมจะสดใหม่อยู่เสมอ บันเทิงมาก

คนหนึ่งไม่ได้ทำแค่ 1 คอลเลกชั่นแต่ทำควบคู่กันไป พองานนี้ออกแบบเสร็จเรียบร้อย กำลังขึ้นตัวอย่าง อีกคอลเลกชั่นหนึ่งอาจเพิ่งเริ่ม ส่วนอีกชุดหนึ่งอาจกำลังวางขายอยู่

น้องที่ออฟฟิศจะถูกสอนมาให้พร้อมปรับตัวเร็ว ระบบหลังบ้านของเราเชื่อมกันหมดเลยไม่ว่าจะเป็นขายออนไลน์หรือหน้าร้าน สมมติคอลเลกชั่นนี้เริ่มเปิดขาย ดีไซเนอร์เข้าไปดูได้เลยว่าตัวไหนมียอดขายเป็นยังไง พร้อมปรับสำหรับงานต่อไป

ฟังดูเป็นการทำบริษัทแฟชั่นด้วยวิธีคิดของเด็กสายบัญชีและบริหาร

ไม่รู้เป็นข้อดีด้วยรึเปล่าที่เราไม่ได้มาจากสายแฟชั่น ทีมเราไม่รู้อะไรเลยในแง่บริษัทแฟชั่น เลยเซตทุกอย่างขึ้นมาใหม่เอง เราอยากให้ภาพสุดท้ายเป็นแบบนี้แล้วมาคิดว่ากระบวนการในการทำให้ไปถึงจะทำยังไง ผ่านการคุยและปรับกันขึ้นมาภายในทีม

หลังบ้านของเราบริหารไม่เหมือนแบรนด์อื่น เราทำขึ้นมาเองหมดเลย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดไหม แต่มันเป็นสิ่งที่เหมาะกับองค์กรเรา

ที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเซตอัพระบบหลังบ้านให้เป๊ะ

สมัยทำร้านมัลติแบรนด์ เปิดร้านวันแรกขายดีมาก ปรากฏระบบ Point-of-Sale (ระบบขายหน้าร้าน) ล่ม ต้องจดเอา ซึ่งไม่ทัน ตอนนั้นคิดว่าเดี๋ยวค่อยมานับสต็อก ซึ่งเป็นการตัดสินใจของคนเพิ่งทำธุรกิจที่ทุกอย่างผิดหมดเลย เราต้องปิดร้านเพื่อนับสต็อกเองทั้งวันทั้งคืน นับถึง 7 โมงเช้าของวันถัดไป ทำแบบนั้นอยู่ 3 คืน

ตอนนั้นมีระบบแต่ไม่พร้อมเพราะไม่เคยถูกใช้งานจริง เลยปรับระบบมาเรื่อยๆ พร้อมกับเราที่โตขึ้น หลังจากนั้นทุกอย่างก็ปรับหมดเลย อะไรที่แมนวลไม่ผ่านระบบก็ไม่เอาเลย

คนถามเยอะว่าทำไมไม่ขายผ่านไลน์ แบรนด์เราไม่มีพิมพ์ตอบแล้วสรุปยอด เราพยายามตัดขั้นตอนที่ใช้คน เพราะรู้ว่าความผิดพลาดจากคนสร้างความเสียหาย รู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยงตรงนั้นแล้ว ช่วงที่ขายดี กี่คนก็ตอบไม่ทัน ใช้วิธีกดเว็บเป็นหลักและพยายามบอกลูกค้าว่าเว็บไซต์เป็นมิตรกับผู้ใช้

ที่ออฟฟิศมีทีมเดเวลอปเปอร์ของตัวเองเพราะตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า ไม่ได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปจากที่อื่น ระบบที่ยากไป ดีเกินไปบางทีก็ไม่ได้ตอบโจทย์ เวลาทำเองข้อมูลบางอย่างที่เราอยากดูจะตรงกับความต้องการของเราที่แท้จริงมากกว่า

หลายสาขาใหญ่ของเรายังใช้ระบบเชื่อมข้อมูลสต็อกแบบ store as a warehouse คอนเซปต์คือไม่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเอาของมาขายหน้าร้านแล้วไม่ได้ขายออนไลน์ เพราะสต็อกเชื่อมถึงกันหมด แปลว่าของชิ้นหนึ่งขายทั้งที่หน้าร้านหรือคลังได้เหมือนกัน วิธีนี้ทำให้การนับสต็อกเป็นแบบ seamless รู้ตลอดว่าเหลือเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน

สำหรับคุณความท้าทายในการทำรีเทลคืออะไร เอาประสบการณ์ที่เคยทำร้านมัลติแบรนด์มาปรับใช้กับ GENTLEWOMAN ยังไง  

เรื่องการบริหารคน เมื่อก่อนเราไม่เคยเปิดร้านมาก่อน CAMP ก็เป็นร้านแรกของเรา ตอนเริ่มก็ทำใหญ่เลย ปราบเซียน ได้ประสบการณ์จากคนทำงานกับเราที่มาจากแบรนด์นั้นแบรนด์นี้มาช่วยแชร์ว่าคนอื่นทำกันยังไง ยิ่งพอ GENTLEWOMAN มีสาขาเยอะมาก การรักษามาตรฐานให้ดีนั้นยาก อยากทำให้ดีกว่านี้ขึ้นเรื่อยๆ ยากทุกอย่างทั้งบริการ พนักงาน การกระจายของ ความสวยงามและความสะอาดของร้าน 

สำหรับรีเทล รายละเอียดทุกอย่างสำคัญมาก ทั้งโทนสีร้าน ราวจับเป็นยังไง ไฟ ห้องลอง เมื่อก่อนไม่มีประสบการณ์ไม่รู้ว่าต้องดูเยอะแค่ไหน ห้องลองต้องมีไฟตกตรงไหน หุ่นและกระจกควรมีกี่จุด แคชเชียร์ต้องมีที่คืนของและแขวนของหน้าห้องลอง

มันละเอียดมากซึ่งเราไม่เคยรู้เลย จากจุดเริ่มต้น 4 ปีที่แล้วมาถึงตรงนี้ก็ถูกปรับมาเรื่อยๆ บริษัทเราปรับตัวเร็ว อยากลองทำอะไรก็ทำเลย จนมาเปิดสาขา flagship ที่นี่ล่าสุดก็ถือว่าเหนือความคาดหมาย

สาขา flagship มีโจทย์ที่แตกต่างจากสาขาอื่นยังไง  

สาขา flagship มีขนาด 700 ตร.ม.ในขณะที่สาขาอื่นตามห้างขนาด 100-200 ตร.ม. เลยทำได้หลากหลายมากขึ้นนอกจากเสื้อผ้า ชั้น 4 เพิ่มหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์เข้าไป จานชาม แก้วน้ำ หมอนอิง ที่รองนั่ง เพิ่งมีที่นี่ที่แรก อยากเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ครบ

เราคุยกับทีมว่าเราจะสามารถไปอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้ายังไงได้อีก นอกจากแค่เสื้อผ้า รู้สึกว่าคนเดี๋ยวนี้ชอบแต่งบ้าน จานชาม หมอนอิงเอาไปวางตกแต่งถ่ายรูปได้ ที่รองแก้ว ถ้าถ่ายรูปกับกาแฟก็น่าจะน่ารักดี

ช่วงโควิดคนใช้ชีวิตอยู่บ้านกันมากขึ้น ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในบ้านมากขึ้น
เมื่อก่อนเราอาจไม่เคยอยากซื้อแจกันมาก่อน แต่ตอนนี้คนเปลี่ยนมาซื้อแจกันออนไลน์กันเยอะมาก เลยอยากทำอะไรแบบนี้ที่ใช้ได้จริงด้วย เป็นเซตแรกที่ทดลองทำออกมา หมวดนี้ใหม่มาก เดี๋ยวคงมีทดลองทำเพิ่มอีกเรื่อยๆ 

สำหรับสินค้าหมวดเดิมที่ฮิต มีความพิเศษอะไรที่สาขา flagship ไหม

ที่นี่มี tote wall หลังจาก GW Canvas Tote ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เราก็คุยกันว่าลูกค้าก็รอว่าจะมีอะไรใหม่ๆ สนุกๆ ไหม เราเลยพยายามเพิ่มกระเป๋า tote เข้าไปในทุกคอลเลกชั่น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราจะทำเป็นลิมิเต็ด หมดแล้วหมดเลย รวมถึงเสื้อผ้าด้วย

กระเป๋าจะอิงมาจากคอลเลกชั่นหลัก สมมติเดือนนี้มีเสื้อผ้า 3-4 คอลเลกชั่น ในแต่ละคอลเลกชั่นจะมี tote ที่เชื่อมกับแรงบันดาลใจของคอลเลกชั่นนั้น คิดมาให้ใช้ด้วยกัน แต่จะถูกรวมไว้เฉพาะสาขา flagship ส่วนสาขาอื่นจะมีเฉพาะออริจินัลกับคอลเลกชั่นล่าสุด

อยากสร้างประสบการณ์แบบไหนให้ลูกค้าที่มาเดินเล่นสาขานี้

อยากให้ใช้เวลาในร้านได้โดยไม่รู้สึกว่าแค่มาช้อปปิ้งเสื้อผ้า เราเจาะ void ตรงกลางร้าน เสียพื้นที่ไปเยอะมาก ถ้าทำเป็นพื้นที่ขายจะได้ที่เพิ่มอีกเยอะ เราอยากได้พื้นที่สีเขียว แสงธรรมชาติที่ลงมา รู้สึกว่ามันตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบถ่ายรูป snap บรรยากาศที่นี่

อยากให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้าที่นอกเหนือจากการช้อปปิ้ง เราแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเอามาทำคาเฟ่ City Boy Coffee Stand เราไม่กล้าทำเองเพราะไม่มีประสบการณ์เลยชวนเขามาทำด้วยกัน
ชื่อ Gentle Boy City Woman มาจาก GENTLEWOMAN + City Boy เป็นร้านกาแฟที่ชอบมากและชื่อก็ตรงข้ามกันดี 

พอโตขึ้น สินค้าหลากหลายขึ้นแล้วแฟนคลับของแบรนด์เปลี่ยนไปยังไงบ้าง  

เมื่อก่อนลูกค้าเราเป็นผู้หญิงทำงาน เราเริ่มมาจากกลุ่มนั้นเป็นฐานที่ค่อนข้างกว้าง พอมีกระเป๋า tote และเสื้อยืดก็มีกลุ่มลูกค้าที่เด็กลงมา มีวัยรุ่น เด็กมหา’ลัยรู้จักเรามากขึ้น ช่วงนี้มีลูกค้าต่างชาติเริ่มชอบสินค้าโลโก้ในกลุ่ม GENTLEWOMAN CLUB ของเรา พอมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มเอาไปรีวิวปากต่อปาก เวลาคนมาเที่ยวก็แวะมาซื้อ เปิดร้าน flagship วันแรก มีชาวสิงคโปร์ มาเลเซียมา เราก็เซอร์ไพรส์ 

ตอนนี้มีลูกค้า GENTLE LITTLEWOMAN ที่ซื้อเสื้อผ้าเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง มีทั้งกลุ่มแม่อายุ 30+ ที่เป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว แม่บางคนไม่รู้จักเรามาก่อนเลย รู้จักจากเสื้อผ้าเด็ก กลายมาเป็นซื้อเสื้อผ้าผู้ใหญ่ตามเพื่อใส่คู่กับลูก

มองเห็นโอกาสอะไรถึงทำหมวดเสื้อผ้าเด็กเป็นแบรนด์ใหม่ในชื่อ GENTLE LITTLEWOMAN

เรามีทรัพยากรที่ทำ GENTLEWOMAN อยู่แล้วในแง่คน ลายผ้า ทรงเสื้อผ้า หน้าร้าน สาขา เว็บไซต์ มีทุกอย่างที่พร้อมซัพพอร์ต ถ้าเราจะทำแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีกแบรนด์หนึ่งกับกลุ่มเดิมก็น่าจะดี 

รู้สึกว่าเหล่าคุณแม่ที่ชอบแต่งตัวให้ตัวเองน่าจะอยากแต่งตัวให้ลูกสาวด้วย น่าจะน่ารักดีถ้าเด็กไม่ต้องแต่งตัวที่เป็นชุดเด็กขนาดนั้น เป็นชุดผู้ใหญ่ในร่างจิ๋ว ตัวเองก็มีลูกสาวด้วยเลยค่อนข้างเข้าใจอินไซต์ของแม่ลูกอ่อน

คอลเลกชั่นของผู้ใหญ่จะออกถี่มาก ส่วนของเด็กเพิ่งเริ่ม มีเสื้อยืดที่เป็นโลโก้ของเด็กกับของผู้ใหญ่ล้อกัน เราจะมีปักไว้ว่าอันไหนจะเข้าคู่กันกับผู้ใหญ่แต่ไม่ใช่ทุกเซต พยายามสร้างแบรนด์ให้แข็งด้วยตัวเอง 

ตอนนี้เพิ่งทำมา 4 เดือน คนเริ่มรู้จักมากขึ้น เริ่มมีกระแส คอลเลกชั่นหลังๆ sold out ไว

อนาคตของแบรนด์อยากเติบโตไปในทิศทางไหน 

ปีหน้าจะเห็นภาพ  GENTLEWOMAN ที่มีสินค้าหลากหลายขึ้นไม่เฉพาะลายปรินต์ ตอนนี้คนติดภาพว่าเสื้อผ้าเน้นลายเยอะ รู้สึกว่าจะทำให้คนที่ไม่ชอบแบบนี้ไม่กล้าเข้ามาหาเรา ก็จะพยายามพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์คนเยอะขึ้น 
อยากมีอะไรที่เรียบหน่อย เน้นลายซิลูเอตต์ม​​ากขึ้นที่ไม่ใช่ลายปรินต์จัดเต็มขนาดนี้  เดี๋ยวนี้เทรนด์เปลี่ยนเร็วมาก รู้สึกว่าถ้าเราไปทางนี้ชัดเกินไปจะจำกัดกลุ่มลูกค้า 

อยากให้คนอินกับ GENTLEWOMAN มากกว่ากระเป๋า tote ลายโลโก้เฉียง อยากสร้างความรู้สึกที่เป็นสิ่งนามธรรมที่ลึกหน่อยในแง่คุณค่าและตัวตนแบรนด์ว่าเราอยากใส่แบรนด์นี้ไหม เป็นโจทย์ของทีมในปีหน้าว่าอยากทำแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้น 

การสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงสำหรับ GENTLEWOMAN หมายถึงยังไง ในเมื่อทุกวันนี้แบรนด์ก็ดังและคนจำภาพโลโก้ได้ติดตาแล้ว

หัวใจสำคัญของแฟชั่นคือสินค้า มีหน้าร้านเยอะแค่ไหน ในแง่ความรู้สึก ถ้าของไม่โดนใจลูกค้าก็ขายไม่ได้อยู่ดี การทำการตลาดในปัจจุบันก็ยากขึ้นเยอะ คนอยากซื้ออะไรที่ต้องตอบโจทย์ ไม่ใช่แค่ความชอบผิวเผิน 

ลูกค้าในปัจจุบันให้ความสำคัญกับคุณค่าและตัวตนของแบรนด์เยอะขึ้นมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนเพราะตัวเลือกเยอะ การเข้าถึงสื่อและข่าวสารข้อมูลทุกอย่างเปิดกว้างขึ้นมาก ต้องตั้งหลักจากสินค้าก่อน อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างคุณค่าของแบรนด์ก็ต้องทำให้แข็งแรงเหมือนกันควบคู่ไปกับสินค้า

ทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ใช่แค่สวย แต่อยากใส่ ยิ่งสินค้าของเราติดโลโก้ชัด จะทำยังไงให้ลูกค้าอยากถือโลโก้ของเราบนตัวเขาไปเรื่อยๆ

สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ต้องปรับตลอด อยู่นิ่งไม่ได้ 

‘นางเลิ้งอ๊าร์ต’ ร้านล็อกเก็ตหินแห่งแรกและสุดท้ายในไทยที่สืบทอดมรดกทางศิลปะมามากกว่า 1 ศตวรรษ

ก่อนถึงยุคแห่งการประดิษฐ์คิดค้นกล้องสี คนสมัยก่อนใช้วิธีเก็บภาพความทรงจำเปี่ยมสีสันของคนที่รักด้วยการวาดภาพเหมือนโดยเหล่าศิลปินและช่างฝีมือ 

อาจดูเหมือนเป็นสิ่งไกลตัวที่ย้อนยุคไปไกล แต่กิจการในไทยที่ประทับความทรงจำของผู้คนด้วยภาพวาดผสมภาพถ่ายอยู่ไม่ไกลแค่ที่นางเลิ้งนี่เอง

กิจการอันเก่าแก่นี้เริ่มต้นด้วยการเป็นร้านถ่ายรูปขาว-ดำหลังตลาดนางเลิ้งเปิดไม่นาน ก่อตั้งในยุคสมัยที่ร้านถ่ายรูปส่วนมากยังอยู่แค่ในห้างสรรพสินค้าและล้วนเป็นกิจการของฝรั่ง มีความพิเศษคือการต่อยอดบริการถ่ายรูปเป็นการทำจี้เครื่องประดับ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องประดับอย่างล็อกเก็ตหินเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยได้รับอิทธิพลจากยุโรป รูปในล็อกเก็ตยุคแรกเริ่มเป็นการวาดรูประบายสีโดยอิงจากภาพถ่ายของลูกค้า

นางเลิ้งอ๊าร์ตเป็นกิจการหนึ่งเดียวในไทยที่บุกเบิกและสืบทอดศาสตร์นี้ ด้วยบรรยากาศสุดคลาสสิกของร้านถ่ายรูปยุคก่อน โต๊ะไม้โบราณสำหรับทำล็อกเก็ตที่มีฟังก์ชั่นพิเศษซ่อนอยู่เป็นเตาไฟ แม่พิมพ์และแว่นขยายยักษ์ชวนให้อยากรู้คุณค่าของความเนิบช้าในการทำงานฝีมือที่แตกต่างจากธุรกิจสกรีนรูปที่เน้นเร็วเป็นสำคัญในปัจจุบัน

วันนี้เราชวนคุณชวลิต เสือสง่า ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลช่างทำจี้มานั่งคุยถึงศาสตร์ความงดงามแห่งการเก็บความทรงจำและเหตุผลที่สืบทอดมรกดกแห่งศิลปะนี้อย่างเด็ดเดี่ยวมานานกว่า 100 ปี


กิจการพอร์เทรตยุคบุกเบิกของไทย 

หม่อยหยุ่น แซ่เหงี่ยว หรือ อาจ ศิลปวาณิช เป็นผู้ก่อตั้งชาวจีนรุ่นแรกที่เติบโตบนเกาะมอริเชียส ทวีปแอฟริกาก่อนย้ายมาตั้งรกรากท่ีไทย เขาชื่นชอบการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อศึกษาจากหนังสือต่างประเทศจนมีความพร้อมก็เปิดร้านถ่ายรูป

คุณชวลิตเล่าว่า “ลุงซื้อกล้องมือสองตัวแรกจากเยอรมนี เป็นกล้องโบราณขนาดใหญ่ ใช้ฟิล์มแผ่นใหญ่ ต้องใช้มือนับและบีบไล่ลมแบบกล้องสมัยก่อน รับถ่ายรูปที่ร้านและแบกกล้องไปถ่ายรูปนอกสถานที่”

ในสมัยนั้นรูปภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการติดต่อหน่วยงานราชการ ลูกค้านิยมใช้บริการถ่ายภาพพอร์เทรตหลากหลายแบบทั้งรูปทางการสำหรับติดบัตรและภาพครอบครัวนั่งโต๊ะที่เซตฉากหลังเป็นชั้นหนังสือ

“พอลุงเห็นว่างานล็อกเก็ตจากยุโรปได้รับความนิยม คนในวังและข้าราชการเริ่มให้ความสนใจเยอะ เลยเริ่มสั่งทำจากอิตาลีให้ลูกค้าคนไทย เขียนภาษาอังกฤษติดต่อต่างประเทศและส่งรูปไปทำ” 

เมื่อมีออร์เดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงลองศึกษาวิธีทำด้วยตัวเองกับเพื่อนที่เป็นช่างเฉพาะทางจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ทำให้การก่อตั้งนางเลิ้งอ๊าร์ตประสบความสำเร็จในรุ่นหนึ่งคือความล้ำสมัย ทั้งความรู้ คอนเนกชั่น กล้อง และเทรนด์จากต่างประเทศ ทุกองค์ประกอบผสานกันทำให้มองเห็นโอกาสในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและต่อยอดเป็นธุรกิจได้ 

Sophisticated Craft

กว่ากล้องถ่ายรูปจะมีวิวัฒนาการเป็นภาพถ่ายที่มีสีสันก็ย่างเข้าช่วงปลายการดูแลกิจการในยุคของทายาทรุ่น 2 แห่งนางเลิ้งอ๊าร์ต

คุณชวลิตอธิบายว่า “ก่อนหน้านั้นถ่ายภาพขาว-ดำมาตลอด เลยเป็นที่มาว่าการทำรูปล็อกเก็ตหินสมัยก่อนต้องใช้สีระบายเอา ที่อิตาลีก็ใช้วิธีเพนต์สีเหมือนกันตั้งแต่เริ่มทำเลย”

ยุคแรกใช้วิธีวาดโครงรูปพอร์เทรตด้วยมือเองทั้งหมดจากรูปต้นแบบ กรรมวิธีคล้ายการวาดรูปดรอว์อิ้ง คือสเกตช์ภาพขาว-ดำก่อนแล้วค่อยลงสี หากทำจี้เป็นภาพโทนสีซีเปียหรือขาว-ดำก็ระบายด้วยสีเดียวคล้ายเวลาใช้ดินสอ EE หรือสีน้ำตาลแรเงา ส่วนภาพสีก็แต่งแต้มด้วยหลากโทนเหมือนการระบายสีทั่วไป

การระบายด้วยมือทำให้มีเอกลักษณ์คือแสงและเงา กลายเป็นเสน่ห์ของภาพวาดเสมือนจริง “มองใกล้ๆ จะเห็นว่าเป็นงานระบายสีที่มีมิติและความลึก จะไม่เหมือนงานภาพพิมพ์ ความยากของการทำคือเหมือนเวลาคุณวาดรูป ถ้าฝึกดีก็ได้ภาพดี”  

คุณชวลิตยังเล่าถึงความพิเศษของสีที่ใช้ซึ่งป็นสีแร่โลหะสำหรับทาบนเซรามิกโดยเฉพาะ “ปกติสีเคมีเวลาเผาไฟจะไหม้ แต่เวลานำสีแร่โลหะพวกนี้ไปเผาไฟสีจะไม่เปลี่ยน ทุกวันนี้ยังใช้สีดั้งเดิมที่สั่งมาตั้งแต่รุ่นคุณลุง สั่งมา 2-3 ปอนด์ ถุงหนึ่งใช้ได้เป็นร้อยปี ยังใช้ถุงแรกไม่หมดถุงเลย” 

หากเป็นชุดของราชวงศ์ที่เสื้อผ้าอาภรณ์มีเลื่อมทองหรูหรา จะมีลูกเล่นพิเศษในการลงสีด้วยแร่เงินแร่ทอง เป็นประกายสีทองที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยอย่างสมจริง

การแต่งแต้มสีด้วยพู่กันเล็กจิ๋วทำให้สามารถแต่งแต้มภาพได้ดังใจ ที่นางเลิ้งอ๊าร์ตจึงสามารถให้ลูกค้าเลือกสีฉากหลังได้ ส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้าเข้ม ฟ้าอ่อน น้ำตาลอ่อน หรือสีอื่นตามสั่ง หากอยากให้ระบายสีเสื้อหรือเปลี่ยนชุดสูทด้วยภาพวาดก็สามารถทำได้ 

รายละเอียดจากปลายพู่กันเล็กจิ๋วยังรวมถึงการหยอดแววตา ตกแต่งสีหน้าตามแต่รังสรรค์คล้ายช่างภาพแต่งรูปในโปรแกรมโฟโต้ช็อปให้ลูกค้าสวยหล่อสมใจในปัจจุบัน

เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากรูปวาดก็แปรเปลี่ยนเป็นงานผสมระหว่างรูปถ่ายกับงานศิลปะ ใช้การถ่ายรูปขึ้นโครงภาพคนบนล็อกเก็ตแทนการวาดเองทั้งหมด ย่อขนาดภาพจริงลงบนจี้เพื่อสัดส่วนที่ถูกต้อง ก่อนจะวาดรายละเอียดและระบายสีสันด้วยพู่กันตามกรรมวิธีดั้งเดิม 

กระบวนการรังสรรค์ภาพบนจี้ทั้งหมดนี้ทำบนพื้นทองเหลืองที่นำมาเคลือบด้วยเซรามิกเนื้อสีขาวหินอ่อน ตัดทองเหลืองเป็นจี้ทรงต่างๆ ด้วยมือ เผาไฟเพื่อให้ภาพฝังบนจี้ กันเขม่าและรอยขีดข่วน ปิดท้ายด้วยการเคลือบฟิล์มกระจกเพื่อคงรูปให้อยู่ทนนานไม่เลือนรางตามกาลเวลา

ศาสตร์ทั้งหมดนี้สืบทอดมาจากรุ่นหนึ่งผู้มีหัวศิลปะ สร้างตำนานให้นางเลิ้งอ๊าร์ตไม่ได้ขายแค่เครื่องประดับหรือรูปถ่ายแต่ขายงานศิลปะแสนบรรจงสมชื่อร้าน 

เครื่องประดับแห่งความทรงจำล้ำค่า

ด้วยเป็นงานหัตถศิลป์ที่เปี่ยมเอกลักษณ์เช่นนี้เอง จี้ล็อกเก็ตหินจึงกลายเป็นสินค้าโดดเด่นที่สุดของนางเลิ้งอ๊าร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะราชวงศ์ คนในวัง และข้าราชการ

นอกจากสั่งทำจี้รูปคนสำคัญ คนรัก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพื่อเก็บความทรงจำเป็นที่ระลึกส่วนตัวแล้ว สมัยก่อนผู้คนยังนิยมสั่งทำจำนวนมากหลายสิบชิ้นเพื่อแจกจ่ายในวงสังคมอีกด้วย  

ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ที่วัดอยากสั่งทำจี้ห้อยคอสำหรับพกติดตัว คนในวังทำแจกจ่ายบุคลากรในมูลนิธิและองค์กรที่ดูแล คนทั่วไปอยากสั่งวาดรูปบุคคลมีชื่อเสียงที่เคารพนับถือเพื่อเก็บสะสม 

ผลงานล็อกเก็ตหินรูปผู้คนมากมายที่คงเป็นคนสำคัญของใครสักคนตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมาถูกเก็บอย่างดีในตู้กระจกเก่าแก่ท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคที่ร้าน ลูกค้าสามารถสั่งทำรูปทรงได้ตามต้องการ ทั้งวงรี วงกลม หัวใจ หรือรูปทรงอื่นๆ 

บางคนนำจี้ไปล้อมกรอบเงินหรือทองอย่างทะนุถนอม ร้อยเป็นกำไล ประดับหัวแหวน ทำเป็นนาฬิกาพกหรือเข็มกลัด บางครอบครัวนำล็อกเก็ตมาแขวนบนต้นไม้ประดิษฐ์ ทำแผนลำดับเครือญาติเพื่อระลึกถึงคนในครอบครัว

สมัยก่อนที่ร้านมีช่างโลหะที่นำล็อกเก็ตมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับเหล่านี้ได้ครบจบในที่เดียว แต่เนื่องจากเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ฝีมือและเวลามาก ทุกวันนี้จึงให้บริการเฉพาะการทำจี้เท่านั้น 

เมื่อรูปถ่ายคือตัวแทนของหัวใจ มองแล้วรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ ล็อกเก็ตหินจึงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ว่าจะเก็บความทรงจำยังไงให้สวยงามและประณีตที่สุด 

100 ปีของการทำมือที่เด็ดเดี่ยว 

นางเลิ้งอ๊าร์ตเป็นร้านแรกและร้านสุดท้ายในไทยที่สืบทอดมรดกงานศิลปะล็อกเก็ต
ดังที่คุณชวลิตบอกว่า “ทุกวันนี้ล็อกเก็ตหินทุกร้านในไทยยกเว้นร้านเราถือเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหรือ mass production แล้ว”

การมาถึงของเทคโนโลยีสกรีนสีแบบออฟเซตและคอมพิวเตอร์เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตทำให้ร้านสกรีนรูปต่างๆ เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแทนฝีมือคน เกิดสินค้าสกรีนรูปที่ผลิตปริมาณมากอย่างรวดเร็วในราคาไม่แพง เช่น รูปถ่ายที่ระลึกบนจานเวลาไปเที่ยว 

“ของที่อื่นเป็นงานอุตสาหกรรม ส่วนของเราเป็นงานทำมือ ถ้ามีงานสั่งเยอะต้องรอ 2-3 เดือน เรายังทำแบบเดิมอยู่ ตั้งใจคิดว่าจะทำยังไงให้เหมือนเดิม เขาถึงบอกกันว่าล็อกเก็ตโบราณต้องมาที่นางเลิ้งอ๊าร์ต”

คุณชวลิตบอกว่าสิ่งนี้คือคุณค่าของงานศิลปะ งานวาดด้วยสีจริงกับงานสกรีนจากคอมพิวเตอร์ไม่มีทางเหมือนกัน
ศาสตร์การทำล็อกเก็ตหินถ่ายทอดทางครอบครัวมายาวนาน ส่งต่อพู่กันจากรุ่นสู่รุ่นโดยแต่ละรุ่นบรรจงลงมือทำเองทั้งหมด ทายาทรุ่น 3 เล่าว่าแม้ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมาตั้งแต่ต้นแต่ใช้วิธีสะสมชั่วโมงบินจนรักในงานฝีมือ

“ไม่รู้สึกว่ายากเพราะเป็นงานครอบครัว ทำไปเรื่อยๆ เห็นพู่กันและการระบายสีมาตั้งแต่เล็กแล้ว ใหม่ๆ ก็วาดไม่ได้  ต้องอดทน มีคุณพ่อคอยสอนวิธีถือพู่กัน ลงสีว่าหนาบางแค่ไหน ต้องลงจุดไหนก่อน ระบายชั้นไหนก่อน”  

เมื่อถึงวันที่คุณชวลิตเป็นพ่อ ก็ถ่ายทอดวิชาให้ลูกสาว ทายาทรุ่น 4 เจนฯ ใหม่ที่กำลังศึกษาและฝึกฝนศาตร์วิชาของตระกูลเหมือนที่ครั้งหนึ่งตนเคยเรียนกับคุณพ่อของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “สอนไม่ยากเท่าไหร่แต่ต้องฝึก”

กาลเวลาเปิดร้านที่ยาวนานกว่าศตวรรษทำให้คุณชวลิตมองเห็นว่าแม้ความนิยมในล็อกเก็ตผ่านช่วงขาขึ้นและลง แต่เทรนด์มักวนกลับมาเสมอ “มีช่วงที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ แต่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาสนใจล็อกเก็ตหินเยอะขึ้น”

ความนิยมในความคลาสสิกจะวนกลับมาอีกครั้งเสมอเหมือนที่กล้องฟิล์มถูกใจคนรุ่นใหม่แม้มีกล้องดิจิทัล เมื่อศิลปะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึก จี้ที่สลักชื่อนางเลิ้งอ๊าร์ตไว้ด้านหลังจึงยังทรงคุณค่า แจ่มชัดในความทรงจำของผู้ที่อยากเก็บภาพมีชีวิตของคนที่รักตลอดมา