ที่ระลึก

‘นางเลิ้งอ๊าร์ต’ ร้านล็อกเก็ตหินแห่งแรกและสุดท้ายในไทยที่สืบทอดมรดกทางศิลปะมามากกว่า 1 ศตวรรษ

ก่อนถึงยุคแห่งการประดิษฐ์คิดค้นกล้องสี คนสมัยก่อนใช้วิธีเก็บภาพความทรงจำเปี่ยมสีสันของคนที่รักด้วยการวาดภาพเหมือนโดยเหล่าศิลปินและช่างฝีมือ 

อาจดูเหมือนเป็นสิ่งไกลตัวที่ย้อนยุคไปไกล แต่กิจการในไทยที่ประทับความทรงจำของผู้คนด้วยภาพวาดผสมภาพถ่ายอยู่ไม่ไกลแค่ที่นางเลิ้งนี่เอง

กิจการอันเก่าแก่นี้เริ่มต้นด้วยการเป็นร้านถ่ายรูปขาว-ดำหลังตลาดนางเลิ้งเปิดไม่นาน ก่อตั้งในยุคสมัยที่ร้านถ่ายรูปส่วนมากยังอยู่แค่ในห้างสรรพสินค้าและล้วนเป็นกิจการของฝรั่ง มีความพิเศษคือการต่อยอดบริการถ่ายรูปเป็นการทำจี้เครื่องประดับ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องประดับอย่างล็อกเก็ตหินเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยได้รับอิทธิพลจากยุโรป รูปในล็อกเก็ตยุคแรกเริ่มเป็นการวาดรูประบายสีโดยอิงจากภาพถ่ายของลูกค้า

นางเลิ้งอ๊าร์ตเป็นกิจการหนึ่งเดียวในไทยที่บุกเบิกและสืบทอดศาสตร์นี้ ด้วยบรรยากาศสุดคลาสสิกของร้านถ่ายรูปยุคก่อน โต๊ะไม้โบราณสำหรับทำล็อกเก็ตที่มีฟังก์ชั่นพิเศษซ่อนอยู่เป็นเตาไฟ แม่พิมพ์และแว่นขยายยักษ์ชวนให้อยากรู้คุณค่าของความเนิบช้าในการทำงานฝีมือที่แตกต่างจากธุรกิจสกรีนรูปที่เน้นเร็วเป็นสำคัญในปัจจุบัน

วันนี้เราชวนคุณชวลิต เสือสง่า ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลช่างทำจี้มานั่งคุยถึงศาสตร์ความงดงามแห่งการเก็บความทรงจำและเหตุผลที่สืบทอดมรกดกแห่งศิลปะนี้อย่างเด็ดเดี่ยวมานานกว่า 100 ปี


กิจการพอร์เทรตยุคบุกเบิกของไทย 

หม่อยหยุ่น แซ่เหงี่ยว หรือ อาจ ศิลปวาณิช เป็นผู้ก่อตั้งชาวจีนรุ่นแรกที่เติบโตบนเกาะมอริเชียส ทวีปแอฟริกาก่อนย้ายมาตั้งรกรากท่ีไทย เขาชื่นชอบการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อศึกษาจากหนังสือต่างประเทศจนมีความพร้อมก็เปิดร้านถ่ายรูป

คุณชวลิตเล่าว่า “ลุงซื้อกล้องมือสองตัวแรกจากเยอรมนี เป็นกล้องโบราณขนาดใหญ่ ใช้ฟิล์มแผ่นใหญ่ ต้องใช้มือนับและบีบไล่ลมแบบกล้องสมัยก่อน รับถ่ายรูปที่ร้านและแบกกล้องไปถ่ายรูปนอกสถานที่”

ในสมัยนั้นรูปภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการติดต่อหน่วยงานราชการ ลูกค้านิยมใช้บริการถ่ายภาพพอร์เทรตหลากหลายแบบทั้งรูปทางการสำหรับติดบัตรและภาพครอบครัวนั่งโต๊ะที่เซตฉากหลังเป็นชั้นหนังสือ

“พอลุงเห็นว่างานล็อกเก็ตจากยุโรปได้รับความนิยม คนในวังและข้าราชการเริ่มให้ความสนใจเยอะ เลยเริ่มสั่งทำจากอิตาลีให้ลูกค้าคนไทย เขียนภาษาอังกฤษติดต่อต่างประเทศและส่งรูปไปทำ” 

เมื่อมีออร์เดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงลองศึกษาวิธีทำด้วยตัวเองกับเพื่อนที่เป็นช่างเฉพาะทางจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ทำให้การก่อตั้งนางเลิ้งอ๊าร์ตประสบความสำเร็จในรุ่นหนึ่งคือความล้ำสมัย ทั้งความรู้ คอนเนกชั่น กล้อง และเทรนด์จากต่างประเทศ ทุกองค์ประกอบผสานกันทำให้มองเห็นโอกาสในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและต่อยอดเป็นธุรกิจได้ 

Sophisticated Craft

กว่ากล้องถ่ายรูปจะมีวิวัฒนาการเป็นภาพถ่ายที่มีสีสันก็ย่างเข้าช่วงปลายการดูแลกิจการในยุคของทายาทรุ่น 2 แห่งนางเลิ้งอ๊าร์ต

คุณชวลิตอธิบายว่า “ก่อนหน้านั้นถ่ายภาพขาว-ดำมาตลอด เลยเป็นที่มาว่าการทำรูปล็อกเก็ตหินสมัยก่อนต้องใช้สีระบายเอา ที่อิตาลีก็ใช้วิธีเพนต์สีเหมือนกันตั้งแต่เริ่มทำเลย”

ยุคแรกใช้วิธีวาดโครงรูปพอร์เทรตด้วยมือเองทั้งหมดจากรูปต้นแบบ กรรมวิธีคล้ายการวาดรูปดรอว์อิ้ง คือสเกตช์ภาพขาว-ดำก่อนแล้วค่อยลงสี หากทำจี้เป็นภาพโทนสีซีเปียหรือขาว-ดำก็ระบายด้วยสีเดียวคล้ายเวลาใช้ดินสอ EE หรือสีน้ำตาลแรเงา ส่วนภาพสีก็แต่งแต้มด้วยหลากโทนเหมือนการระบายสีทั่วไป

การระบายด้วยมือทำให้มีเอกลักษณ์คือแสงและเงา กลายเป็นเสน่ห์ของภาพวาดเสมือนจริง “มองใกล้ๆ จะเห็นว่าเป็นงานระบายสีที่มีมิติและความลึก จะไม่เหมือนงานภาพพิมพ์ ความยากของการทำคือเหมือนเวลาคุณวาดรูป ถ้าฝึกดีก็ได้ภาพดี”  

คุณชวลิตยังเล่าถึงความพิเศษของสีที่ใช้ซึ่งป็นสีแร่โลหะสำหรับทาบนเซรามิกโดยเฉพาะ “ปกติสีเคมีเวลาเผาไฟจะไหม้ แต่เวลานำสีแร่โลหะพวกนี้ไปเผาไฟสีจะไม่เปลี่ยน ทุกวันนี้ยังใช้สีดั้งเดิมที่สั่งมาตั้งแต่รุ่นคุณลุง สั่งมา 2-3 ปอนด์ ถุงหนึ่งใช้ได้เป็นร้อยปี ยังใช้ถุงแรกไม่หมดถุงเลย” 

หากเป็นชุดของราชวงศ์ที่เสื้อผ้าอาภรณ์มีเลื่อมทองหรูหรา จะมีลูกเล่นพิเศษในการลงสีด้วยแร่เงินแร่ทอง เป็นประกายสีทองที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยอย่างสมจริง

การแต่งแต้มสีด้วยพู่กันเล็กจิ๋วทำให้สามารถแต่งแต้มภาพได้ดังใจ ที่นางเลิ้งอ๊าร์ตจึงสามารถให้ลูกค้าเลือกสีฉากหลังได้ ส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้าเข้ม ฟ้าอ่อน น้ำตาลอ่อน หรือสีอื่นตามสั่ง หากอยากให้ระบายสีเสื้อหรือเปลี่ยนชุดสูทด้วยภาพวาดก็สามารถทำได้ 

รายละเอียดจากปลายพู่กันเล็กจิ๋วยังรวมถึงการหยอดแววตา ตกแต่งสีหน้าตามแต่รังสรรค์คล้ายช่างภาพแต่งรูปในโปรแกรมโฟโต้ช็อปให้ลูกค้าสวยหล่อสมใจในปัจจุบัน

เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากรูปวาดก็แปรเปลี่ยนเป็นงานผสมระหว่างรูปถ่ายกับงานศิลปะ ใช้การถ่ายรูปขึ้นโครงภาพคนบนล็อกเก็ตแทนการวาดเองทั้งหมด ย่อขนาดภาพจริงลงบนจี้เพื่อสัดส่วนที่ถูกต้อง ก่อนจะวาดรายละเอียดและระบายสีสันด้วยพู่กันตามกรรมวิธีดั้งเดิม 

กระบวนการรังสรรค์ภาพบนจี้ทั้งหมดนี้ทำบนพื้นทองเหลืองที่นำมาเคลือบด้วยเซรามิกเนื้อสีขาวหินอ่อน ตัดทองเหลืองเป็นจี้ทรงต่างๆ ด้วยมือ เผาไฟเพื่อให้ภาพฝังบนจี้ กันเขม่าและรอยขีดข่วน ปิดท้ายด้วยการเคลือบฟิล์มกระจกเพื่อคงรูปให้อยู่ทนนานไม่เลือนรางตามกาลเวลา

ศาสตร์ทั้งหมดนี้สืบทอดมาจากรุ่นหนึ่งผู้มีหัวศิลปะ สร้างตำนานให้นางเลิ้งอ๊าร์ตไม่ได้ขายแค่เครื่องประดับหรือรูปถ่ายแต่ขายงานศิลปะแสนบรรจงสมชื่อร้าน 

เครื่องประดับแห่งความทรงจำล้ำค่า

ด้วยเป็นงานหัตถศิลป์ที่เปี่ยมเอกลักษณ์เช่นนี้เอง จี้ล็อกเก็ตหินจึงกลายเป็นสินค้าโดดเด่นที่สุดของนางเลิ้งอ๊าร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะราชวงศ์ คนในวัง และข้าราชการ

นอกจากสั่งทำจี้รูปคนสำคัญ คนรัก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพื่อเก็บความทรงจำเป็นที่ระลึกส่วนตัวแล้ว สมัยก่อนผู้คนยังนิยมสั่งทำจำนวนมากหลายสิบชิ้นเพื่อแจกจ่ายในวงสังคมอีกด้วย  

ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ที่วัดอยากสั่งทำจี้ห้อยคอสำหรับพกติดตัว คนในวังทำแจกจ่ายบุคลากรในมูลนิธิและองค์กรที่ดูแล คนทั่วไปอยากสั่งวาดรูปบุคคลมีชื่อเสียงที่เคารพนับถือเพื่อเก็บสะสม 

ผลงานล็อกเก็ตหินรูปผู้คนมากมายที่คงเป็นคนสำคัญของใครสักคนตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมาถูกเก็บอย่างดีในตู้กระจกเก่าแก่ท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคที่ร้าน ลูกค้าสามารถสั่งทำรูปทรงได้ตามต้องการ ทั้งวงรี วงกลม หัวใจ หรือรูปทรงอื่นๆ 

บางคนนำจี้ไปล้อมกรอบเงินหรือทองอย่างทะนุถนอม ร้อยเป็นกำไล ประดับหัวแหวน ทำเป็นนาฬิกาพกหรือเข็มกลัด บางครอบครัวนำล็อกเก็ตมาแขวนบนต้นไม้ประดิษฐ์ ทำแผนลำดับเครือญาติเพื่อระลึกถึงคนในครอบครัว

สมัยก่อนที่ร้านมีช่างโลหะที่นำล็อกเก็ตมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับเหล่านี้ได้ครบจบในที่เดียว แต่เนื่องจากเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ฝีมือและเวลามาก ทุกวันนี้จึงให้บริการเฉพาะการทำจี้เท่านั้น 

เมื่อรูปถ่ายคือตัวแทนของหัวใจ มองแล้วรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ ล็อกเก็ตหินจึงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ว่าจะเก็บความทรงจำยังไงให้สวยงามและประณีตที่สุด 

100 ปีของการทำมือที่เด็ดเดี่ยว 

นางเลิ้งอ๊าร์ตเป็นร้านแรกและร้านสุดท้ายในไทยที่สืบทอดมรดกงานศิลปะล็อกเก็ต
ดังที่คุณชวลิตบอกว่า “ทุกวันนี้ล็อกเก็ตหินทุกร้านในไทยยกเว้นร้านเราถือเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหรือ mass production แล้ว”

การมาถึงของเทคโนโลยีสกรีนสีแบบออฟเซตและคอมพิวเตอร์เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตทำให้ร้านสกรีนรูปต่างๆ เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแทนฝีมือคน เกิดสินค้าสกรีนรูปที่ผลิตปริมาณมากอย่างรวดเร็วในราคาไม่แพง เช่น รูปถ่ายที่ระลึกบนจานเวลาไปเที่ยว 

“ของที่อื่นเป็นงานอุตสาหกรรม ส่วนของเราเป็นงานทำมือ ถ้ามีงานสั่งเยอะต้องรอ 2-3 เดือน เรายังทำแบบเดิมอยู่ ตั้งใจคิดว่าจะทำยังไงให้เหมือนเดิม เขาถึงบอกกันว่าล็อกเก็ตโบราณต้องมาที่นางเลิ้งอ๊าร์ต”

คุณชวลิตบอกว่าสิ่งนี้คือคุณค่าของงานศิลปะ งานวาดด้วยสีจริงกับงานสกรีนจากคอมพิวเตอร์ไม่มีทางเหมือนกัน
ศาสตร์การทำล็อกเก็ตหินถ่ายทอดทางครอบครัวมายาวนาน ส่งต่อพู่กันจากรุ่นสู่รุ่นโดยแต่ละรุ่นบรรจงลงมือทำเองทั้งหมด ทายาทรุ่น 3 เล่าว่าแม้ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมาตั้งแต่ต้นแต่ใช้วิธีสะสมชั่วโมงบินจนรักในงานฝีมือ

“ไม่รู้สึกว่ายากเพราะเป็นงานครอบครัว ทำไปเรื่อยๆ เห็นพู่กันและการระบายสีมาตั้งแต่เล็กแล้ว ใหม่ๆ ก็วาดไม่ได้  ต้องอดทน มีคุณพ่อคอยสอนวิธีถือพู่กัน ลงสีว่าหนาบางแค่ไหน ต้องลงจุดไหนก่อน ระบายชั้นไหนก่อน”  

เมื่อถึงวันที่คุณชวลิตเป็นพ่อ ก็ถ่ายทอดวิชาให้ลูกสาว ทายาทรุ่น 4 เจนฯ ใหม่ที่กำลังศึกษาและฝึกฝนศาตร์วิชาของตระกูลเหมือนที่ครั้งหนึ่งตนเคยเรียนกับคุณพ่อของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “สอนไม่ยากเท่าไหร่แต่ต้องฝึก”

กาลเวลาเปิดร้านที่ยาวนานกว่าศตวรรษทำให้คุณชวลิตมองเห็นว่าแม้ความนิยมในล็อกเก็ตผ่านช่วงขาขึ้นและลง แต่เทรนด์มักวนกลับมาเสมอ “มีช่วงที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ แต่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาสนใจล็อกเก็ตหินเยอะขึ้น”

ความนิยมในความคลาสสิกจะวนกลับมาอีกครั้งเสมอเหมือนที่กล้องฟิล์มถูกใจคนรุ่นใหม่แม้มีกล้องดิจิทัล เมื่อศิลปะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึก จี้ที่สลักชื่อนางเลิ้งอ๊าร์ตไว้ด้านหลังจึงยังทรงคุณค่า แจ่มชัดในความทรงจำของผู้ที่อยากเก็บภาพมีชีวิตของคนที่รักตลอดมา





Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like