126 ปี แห่งการรักษาและเยียวยาผู้คนด้วยสมุนไพร

100 วิธีคิดและบทเรียนธุรกิจ จากร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ ธุรกิจอายุ 126 ปี

เวลาที่พูดถึงธุรกิจร้อยปี เรามักจะตื่นเต้นกับธุรกิจญี่ปุ่น หรือธุรกิจที่มีต้นกำเนิดจากยุโรป 

จะเห็นว่ามีบทวิเคราะห์ บทความถอดรหัส หรือแม้แต่บันทึกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับองค์กรและแบรนด์ร้อยปีเหล่านั้นอยู่มากมายเต็มไปหมด 

แต่เมื่อหันกลับมามองธุรกิจมีชื่อ สัญชาติไทย กลับพบว่ามีองค์กรที่อายุเกินร้อยปีน้อยมา น้อยจนเราเกือบตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า อายุร้อยน้อยร้าน ซึ่งโชคดีมาก เพราะเมื่อศึกษาจริงจังแล้วกิจการห้างร้านที่อยู่เกินร้อยปีไม่ได้มีน้อยอย่างที่เคยเข้าใจ

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นแฟนตัวยงของธุรกิจสัญชาติไทย และหลงใหลการส่งไม้ต่อในธุรกิจครอบครัว เราเชื่อว่ายังมีธุรกิจร้อยปีของไทยอีกเยอะ ที่บ้างเป็นห้างร้านที่สืบทอดกันมามากกว่า 4 รุ่น บ้างเป็นกิจการร้านค้าขนาดเล็ก บ้างมีชื่อเสียงเคยออกสื่อมาแล้วทุกยุคทุกสมัย บ้างเก็บตัวอย่างเงียบๆ มายาวนาน 

ยิ่งค้นหา ก็ยิ่งน่าสนใจ ใคร่รู้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้กิจการหนึ่งๆ ยืนระยะมาได้นับร้อยปี

ที่สนุกมากคือ เกือบทุกร้านที่เราไปพูดคุยด้วยมีวิธีคิดไม่เหมือนกันเลย อยู่นอกตำราและหลักการบริหารสุดๆ ซึ่งเราจะไม่ไปตัดสินว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ดีแล้วหรือยังดีกว่านี้ได้อีก เพราะจะว่าไปการทำธุรกิจ ยิ่งเป็นธุรกิจที่อายุมากกว่าเราหลายรอบ เป็นเรื่องที่ไร้กระบวนท่ามากๆ น่าศึกษาและรวบรวมไว้ที่สุด 

‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ จึงถือกำเนิดขึ้นมา

‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ คือคอลัมน์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของกิจการห้างร้านสัญชาติไทยที่มีอายุเกิน 100 ปี ที่เล่าวิธีคิดทำธุรกิจ การส่งต่อรับช่วง และการยืนระยะ ผ่านข้อเขียนจำนวน 100 ข้อ

เราอยากมีพื้นที่ที่รวมเรื่องราวและความตั้งใจของพวกเราผู้อยู่เบื้องหลังการยืนระยะในสภาวะเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ บางกิจการที่เรานำเสนออาจจะผ่านหลักไมล์ที่ร้อยขวบปีมาแล้ว บางกิจการยังไม่ถึง แต่อยู่ระหว่าง 70 ไป 80 90 ไป 100 ซึ่งเราอยากเอาใจช่วยพวกเขาทั้งหมด

ที่เกริ่นมายืดยาวขนาดนี้ เพราะอยากให้คนอ่านของ Capital เข้าใจและเปิดรับ หลายกิจการอาจมีชื่อและโลดแล่นอยู่ในสื่อออนไลน์บ้างแล้ว แต่เรามั่นใจว่าหลายเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ทายาทผู้รับช่วงต่อกิจการไม่เคยเล่าวิธีคิดนี้ที่ไหน

เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดที่น่าจะอยู่กับเราอีกสักพัก ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ ตอนแรกจะพาไปพบกับร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ

ซึ่งในปี 2565 นี้ ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ จะมีอายุ 126 ปี พอดี

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปทำความรู้จักและฟังวิธีการทำธุรกิจของร้านขายยาสมุนไพรแห่งนี้ ผ่านเรื่องราว 100  ข้อ ด้านล่างนี้

ป.ล. ระหว่างอ่านเรื่องราวตลอดเส้นทางทั้งร้อยข้อนี้ เราอนุญาตให้ลุกจิบน้ำ เดินยืดเส้น และพักต้มยากินตามอัธยาศัย 

001 ร้านยาเจ้ากรมเป๋อ ก่อตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2439 หรือเมื่อ 126 ปีที่แล้ว

002 ตรงกับช่วงประมาณกลางสมัยรัชกาลที่ 5

003 จุดเริ่มต้นมาจากนายเป๋อ สุวรรณเตมีย์ ทำงานเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของวัด หรือเจ้ากรมวัด (ตำแหน่งสูงสุดสำหรับฆราวาสที่ช่วยงานวัด เทียบเท่ากับตำแหน่งมัคนายกในปัจจุบัน) ให้กับสมเด็จพระพุฒาจารย์มา (หลวงปู่มา) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส หรือวัดสามปลื้ม มาตั้งแต่ พ.ศ. 2426

004 จึงได้ชื่อว่า เจ้ากรมเป๋อ นับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับตำแหน่งงานราชการ

005 จะมีก็แต่ครอบครัว ซึ่งทายาทรุ่นที่สี่เล่าให้ฟังว่า พ่อของนายเป๋อซึ่งเป็นทวดของเขา เป็นคนไทยคนแรกที่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้านายแต่ได้รับตำแหน่งสำคัญในกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

006 ระหว่างเขียนเรื่องนี้ เราก็ไปเจอข้อมูลในเว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พูดถึงบทความของคุณขนบพร วัฒนสุขชัย ความว่า ต้นสกุลสุวรรณเตมีย์ ได้แก่ พระศรีศุภโยค หรือพระนริทนร์ทิพย์ ข้าราชสำนักในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งนายเป๋อนับเป็นทายาทรุ่นที่สี่ ที่มีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 5

007 กลับมาที่ประวัติก่อตั้งร้านคุณถวัลย์เล่าว่า หลวงปู่มาท่านเป็นพระที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและชำนาญการรักษาคนไข้ด้วยสมุนไพร 

008 ระหว่างที่เจ้ากรมเป๋อทำงานรับใช้หลวงปู่นานนับสิบๆ ปี ไม่เพียงหลวงปู่มาจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้จนเจ้ากรมเป๋อสามารถรักษาคนไข้ด้วยสมุนไพรได้ ท่านยังเมตตาให้เจ้ากรมเป๋อเช่าที่ของวัดเปิดร้านขายยา ซึ่งก็คือที่ตั้งร้านในปัจจุบัน

009 ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อจึงตั้งอยู่ตรงนี้และไม่เคยย้ายร้านไปไหนเลยตลอด 126 ปี

010 หลังหลวงปู่มามรณภาพ เจ้ากรมเป๋อก็หันมาประกอบธุรกิจร้านขายยาเต็มตัว 

011 ในอดีตก่อนจะมีร้านขายยา เมื่อมีใครเจ็บไข้ได้ป่วยจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ประจำบ้านสั่งจ่ายสมุนไพรใช้รักษา ไม่ได้มีหน้าร้านที่หาซื้อได้ทั่วไป จนกระทั่งการใช้สมุนไพรเริ่มแพร่หลาย 

012 แม้ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อจะไม่ใช่ร้านขายยาเจ้าแรกในไทย แต่เป็นร้านขายยาที่เปิดกิจการมายาวนานที่สุด

013 จากยุคก่อตั้งกิจการ เจ้ากรมเป๋อทำงานที่ร้านจนกระทั่งอายุ 84 ปี ก่อนส่งไม้ต่อให้ลูกสาวรับช่วงกิจการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง

014 ทายาทรุ่นที่ 3 คือ ศ. พญ.สลาด ทัพวงศ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช

015 และในบรรดาเหลนกว่า 40 คน ผู้โชคดีที่มารับช่วงต่อกิจการรุ่นที่ 4 ได้แก่ คุณถวัลย์ สุวรรณเตมีย์

016 หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องยนต์จากประเทศเยอรมนี คุณถวัลย์กลับมาทำงานในแผนกซ่อมอยู่ที่บริษัทประชายนต์ ซึ่งเป็นบริษัทรถโฟล์ก ทำงานได้ 3 ปีกว่าๆ ก็เริ่มทำกิจการปั๊มน้ำมันกับเพื่อน ตามด้วยอู่ซ่อมรถ 

017 ช่วงที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟู คุณถวัลย์เล่าว่าเขาก็ทำธุรกิจที่พัก สร้างแพลอยน้ำอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ สนุกกับการเป็นผู้ประกอบการคิดอยากทำอะไรก็พร้อมกระโดดลงไปทำ

018 ธุรกิจแพประสบความสำเร็จด้วยดีเพราะการตลาด และทำโฆษณาที่คิดถึงลูกค้าเป็นสำคัญ

019 จนกระทั่งเมื่อ 34 ปีก่อน คุณน้าทั้งสามก็มาขอร้องให้คุณถวัลย์ (ซึ่งขณะนั้นอายุ 48 ปี) เข้ามารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว

020 “คุณน้าคัดเลือกทายาทจากบรรดาเหลนทั้งหมดด้วยการดูหน่วยก้านและอารมณ์ว่าทำค้าขายได้ไหม” คุณถวัลย์เล่า

021 โจทย์ของการรับช่วงต่อนี้มาจากความประสงค์ของคุณทวด (ผู้ก่อตั้ง) ที่อยากให้ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋ออยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ 

022 โดยมีข้อแม้ว่าห้ามขายกิจการให้คนอื่นเป็นอันขาด “ขายร้านให้ได้ ขายวัตถุดิบให้ได้ แต่ห้ามขายชื่อ” 

023 ใจความของคำขอร้องนั้นอยู่ที่การให้ชื่อร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อนี้ส่งต่ออยู่ในมือเครือญาติเท่านั้น

024 เพราะคิดถึงบุญคุณที่ทั้งครอบครัวได้รับ ทุกคนได้ร่ำเรียน เติบโต ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างประเทศก็เพราะร้านยาเจ้ากรมเป๋อของคุณทวด คุณถวัลย์จึงตกปากรับคำมาดูแลร้านขายยา 

025 แม้จะต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมดในวัย 48 ปี

026 คุณถวัลย์ใช้เวลา 1 ปีแรกของการรับช่วงต่อ เรียนรู้จากการลงมือทำ 

027 แล้วใช้เวลาอีก 4 ปีในการเรียนเป็นแพทย์แผนโบราณที่วัดโพธิ์ จนสอบได้ใบอนุญาตแพทย์แผนโบราณประจำร้าน

028 ย้อนกลับไปที่วงการรักษาพยาบาลในอดีต มีโรงพยาบาลศิริราช (ก่อตั้ง พ.ศ. 2431) ที่ริเริ่มการรักษาด้วยการแพทย์แผนฝรั่งเต็มไปด้วยองค์ความรู้ใหม่เอี่ยม ทำให้เส้นแบ่งระหว่างแพทย์แผนโบราณกับแผนปัจจุบัน คือ สมุนไพรที่ใช้รักษา

029 จริงๆ เพียงนำสมุนไพรมาสกัดสิ่งที่ต้องการ และทิ้งสิ่งอื่นที่ไม่ต้องการ ก็กลายเป็นยาแผนปัจจุบันได้แล้ว

030 ซึ่งในปัจจุบันมีการแบ่งประเภทของร้านขายยา ได้แก่ ยาแผนปัจจุบัน ยาจีน และยาไทย 

031 ในความเป็นจริงโรคบางอย่าง ไม่มียาแผนปัจจุบันที่รักษาจนหายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ 

032 ขณะที่การรักษาด้วยสมุนไพรไทยหรือยาแผนโบราณนั้นจะล้วงลึกไปจนรักษาบางโรคที่ยากๆ ให้หายขาดได้

033 ยกตัวอย่างการรักษาไข้ทับฤดู หากเป็นการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะกินยาลดไข้หรือยาแก้ปวด ป่วยก็กินยา 

034 “แต่ถ้าเป็นการรักษาด้วยสมุนไพร ผมสังเกตแล้วต้มกินไม่เกิน 2 หม้อ โรคนี้จะหายไปเป็นปีๆ” คำตอบของคุณถวัลย์ทำให้เราอยากรู้จักสมุนไพรให้ดียิ่งขึ้น

035 สมุนไพรมักจะเป็นของง่ายๆ หาได้ตามป่า แม้แต่เถาวัลย์ก็เป็นสมุนไพร ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด 

036 ในประเทศไทย สมุนไพรหาได้ง่ายทางตอนใต้ของประเทศ เพราะอุณหภูมิกับความชุกของฝนทางใต้ทำให้ต้นไม้บ้านเราเจริญงอกงาม หรือแม้แต่เมืองที่ยังมีพื้นที่ป่าอยู่อย่างจังหวัดกาญจนบุรี

037 ส่วนความแตกต่างของสมุนไพรที่มาจากแหล่งต่างๆ ในโลกนั้น ถ้าเป็นยุโรปแหล่งปลูกสมุนไพรจะอยู่บนเขา และเป็นต้นไม้ล้มลุกส่วนใหญ่

038 และเพราะอากาศหนาว สมุนไพรในยุโรปจึงมีน้อยมาก พวกเขาก็เลยต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน 

039 ส่วนสมุนไพรที่หาได้ นิยมนำไปดองกับเหล้า

040 สมุนไพรที่ดังมากและมาจากประเทศจีนอย่างถั่งเช่า ความจริงแล้วคือหนอนชนิดหนึ่ง ที่เกิดและเติบโตเฉพาะพื้นที่สูงเกิน 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนมากจะอยู่แถวๆ ประเทศเนปาลและทิเบต

041 เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวหนอนพันธุ์นี้จะตายซึ่งเชื้อราชนิดหนึ่งจะเข้าไปกินหนอนแล้วเกิดเป็นต้นที่มีใบยอด

042 ต่อมามีคนนำไปศึกษาพบว่าใช้บำรุงร่างกายดี ถั่งเช่าก็เลยกลายเป็นสมุนไพรยอดฮิตขึ้นมา

043 ไม่ใช่ว่าใครในโลกก็ใช้สมุนไพรได้นะ สมุนไพรมีข้อจำกัดหากใช้ข้ามเชื้อชาติกัน 

044 เช่น คนยุโรปใช้สมุนไพรจีนได้ แต่ร่างกายของคนยุโรป โดยเฉพาะกระเพาะกับลำไส้อาจจะทนรับความแรงของสมุนไพรไทยไม่ได้ เพราะสมุนไพรไทยมีฤทธิ์เป็นยาระบายอย่างแรง 

045 ซึ่งจริงๆ ยารักษาโรคเกือบทุกอย่างแท้จริงแล้วเป็นยาระบาย

046 “คนไทยเรากินพริก กินอะไรเผ็ดๆ ได้ กระเพาะกับลำไส้จึงรับความแรงของยาสมุนไพรได้ดี แต่ถ้าเป็นฝรั่ง เจออึกเดียวก็ไปไหนไม่ได้แล้ว ถ้าไม่วิ่งเข้าห้องน้ำก็เข้าโรงพยาบาล”

047 เมื่อถามถึงสมุนไพรหายากหรือสมุนไพรที่สูญหายไปตามกาลเวลา คุณถวัลย์ก็เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนประเทศไทยมีเปลือกอบเชยเยอะมากและก็เป็นของดี ซึ่งแหล่งที่มาอยู่ทางภาคใต้ 

048 แต่เดี๋ยวนี้ร้านต้องสั่งนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย จีน และอินเดีย

049 เหตุผลที่เปลือกอบเชยสูญพันธ์จากประเทศเรา เป็นเพราะวิธีเก็บไปใช้ 

050 “เราโค่นต้นลงมา นั่งปอกเปลือก ต้นไม้มันก็ตาย แล้วก็ไม่ได้มีการปลูกทดแทน แต่ที่อื่นไม่ได้ทำวิธีนี้ เขายอมสร้างบันไดเพื่อปีนไปปอกเปลือกบนต้น เมื่อเปลือกลอก ต้นไม้มันก็พยายามสร้างเปลือกมาคุ้มกันผิวตามธรรมชาติ”

051 ยังมีเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับสมุนไพรอีกมากมาย ซึ่งคุณถวัลย์สามารถเล่าได้เป็นวันๆ

052 และก็ไม่ต้องกลัวว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะหายไปไหน เพราะร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อมีตำราสมุนไพรเป็นของตัวเอง

053 ‘สมุนไพร ร้านเจ้ากรมเป๋อ’ คือหนังสือที่รวมองค์ความรู้เรื่องสมุนไพร ซึ่งส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง 

054 เขียนโดย คุณอุทัย สินธุสาร นักเขียนสารานุกรมไทย ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ ที่ท่านใช้เวลาช่วงที่เกษียณหลังจากทำงานในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มารวบรวมความรู้และเขียนออกมาเป็นหนังสือ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว

055 เป็นหนังสือที่อธิบายสรรพคุณของยาสมุนไพรประมาณ 800 ชนิดที่ร้านขายยาเจ้ากรมใช้อยู่ 

056 เต็มไปด้วยข้อมูลแสนละเอียด ทั้งลักษณะ แหล่งที่มา คุณสมบัติต้น คุณสมบัติใบ คุณสมบัติเมล็ด

057 ข้อดีของสมุนไพรข้อแรก สมุนไพรช่วยรักษาให้โรคบางโรคหายขาดได้ 

058 ข้อที่สอง โอกาสที่จะแพ้สมุนไพรนั้นมีน้อยมาก 100 ล้านคนอาจจะมีสัก 1-2 คนที่แพ้สมุนไพร ขณะที่หากใครแพ้ยาแผนปัจจุบันอาจจะเสี่ยงถึงชีวิต เช่น หายใจไม่ออก หรือหัวใจเต้นรัว เป็นต้น

059 กลับมาที่ธุรกิจ สิ่งสำคัญของการรับช่วงต่อร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อคือ การวิเคราะห์โรคและจัดยารักษาได้อย่างถูกต้อง

060 “โรคมันหลากหลายมาก เราจึงไม่สามารถยืนยันอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกว่าเขาจะได้ลองกิน บางคนหายดีแล้วก็ยังขอยาไปกินอยู่เรื่อยๆ ก็มี” คุณถวัลย์เล่าว่าเขาใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์รักษานับ 10 ปี จนแน่ใจในความเชี่ยวชาญของตน

061 และแม้ช่วงที่คุณถวัลย์มารับช่วงต่อร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ กิจการจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความกดดันในการดำเนินธุรกิจ

062 สิ่งที่ทำให้คุณถวัลย์มั่นใจกับการตัดสินใจรับช่วงต่อร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ คือความรู้สึกภูมิใจที่รักษาคนไข้จนหายขาด 

063 “คนไข้บางคนบอกผมว่า ที่ผ่านมาเขาผ่านการรักษามาเยอะ หมดเงินไปก็มากมาย แต่พอมาหาเราเสียเงินไม่กี่ร้อยบาทก็รักษาเขาหายได้ ทำให้เรามีกำลังใจและยึดมั่นทำสิ่งนี้ต่อมาเรื่อยๆ โดยที่กำไรหรือเงินทองเป็นเรื่องรองลงมา อันดับแรกต้องรักษาคนไข้ให้หายจากโรค”

064 หากคุณเป็นคนไข้หน้าใหม่ที่ต้องการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยแล้วมาที่นี่ คุณถวัลย์จะเริ่มจากซักถามอาการ สอบถามพร้อมวิเคราะห์ไปจนกว่าจะแน่ใจ แล้วจึงจัดยาให้

065 “หลังซักถามอาการให้สังเกตคนไข้ให้ดี บางคนเขาก็โกหก ไม่ยอมบอกว่าเป็นมะเร็งร้ายแรง แล้วไม่ยอมผ่าตัด คิดว่าจะหาสมุนไพรมาทำให้มะเร็งหลุดไป ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้” คุณถวัลย์เล่าเทคนิคส่วนตัวที่ใช้เป็นประจำ

066 “ส่วนใหญ่เราจะจับได้ ด้วยการอ้อมถามไปเรื่อยๆ จนคนไข้ยอมรับ ซึ่งเมื่อเจอแบบนี้เราก็จะอธิบายความจริงให้เขาฟังแม้จะเสียเวลาก็ยอม เมื่อเร็วๆ นี้ผมบอกให้คนไข้รายหนึ่งรีบไปผ่าตัดก่อนที่ก้อนเนื้อจะโตกว่านี้แล้วเขาจะเสียใจ เขาก็ยอม ตอนหลังกลับมาบอกเราว่าหายดีแล้ว” คุณถวัลย์เล่าความภูมิใจที่เขาบอกว่ายินดีกว่าเงินเดือนที่ได้รับเป็นไหนๆ

067 จนถึงวันนี้ยาที่ขายดีตลอดกาลของร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ ได้แก่ ยาเบาหวาน ยามหาโยธา และยาเกี่ยวกับโรคสตรี รักษาอาการวัยทอง ไข้ทับระดู

068 ซึ่งยามหาโยธา เป็นยารักษาผู้ที่มีอาการแขนขาไม่มีแรง ชาครึ่งซีก จากเส้นเลือดในสมองตีบ หรือที่เรียกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต ทานแล้วจะทำให้มีแรงมากขึ้น วิธีใช้ต้มทาน เช้า-เย็น ครั้งละ 5-7 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหาร

069 ส่วนยาที่แค่ได้ยินชื่อก็อยากลองดูคือ ยาลูกแปลกแม่ (แคปซูล) เป็นยาบำรุงผิวสูตรโบราณ ทำให้ผิวพรรณดูดี เนียนนุ่ม ชุ่มชื่น กินได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

070 ที่น่าสนใจคือ ตลอด 126 ปีที่ผ่านมา ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อไม่เคยทำการตลาดเลย แต่ขายดีมาก

071 ซึ่งเหตุผลที่ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อไม่ทำการตลาดใดๆ เป็นเพราะเจ้ากรมเป๋อสั่งเสียไว้เด็ดขาดว่าห้ามโฆษณา

072 “หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋ออยู่มายาวนานถึงทุกวันนี้ คือวิธีขายของเราที่บรรพบุรุษสั่งห้ามทำโฆษณาใดๆ” คุณถวัลย์ยอมรับ เพราะสิ่งนี้ทำให้คนเห็นประโยชน์ของยาและเชื่อในความเชี่ยวชาญที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน

073 แม้จะดูเป็นกิจการโบราณอายุร้อยปีสวนทางยุคสมัย แต่ตลอดระยะของการดำเนินกิจการ พบว่าตลาดความต้องการใช้สมุนไพรมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บางช่วงถึงขั้นต้องแจกบัตรคิวตั้งแต่ร้านเปิด 8 โมงเช้า 

074 “ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด ร้ายขายดีมากแทบไม่มีเวลานั่งคุยแบบนี้เลยนะ” คุณถวัลย์ยิ้ม 

075 ลูกค้าสมุนไพรหรือคนไข้ของร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ มี 4 ประเภท

076 ประเภทแรก คือ ลูกค้าที่ศึกษามาก่อนว่าเป็นโรคนี้ต้องกินอะไร จากนั้นเขาก็จะมาถามวิธีใช้ หรือบางคนก็ซื้อสมุนไพรไปขายต่อหรือไปปรุงเป็นยาขายต่อ

077 ประเภทที่สอง คือ คนไข้มาให้เราวินิจฉัยโรคแล้วจัดยาให้เขา

078 ประเภทที่สาม คือ ลูกค้าที่ถือตำราสมุนไพรโบราณเข้ามาหาคุณถวัลย์ที่ร้าน “ส่วนใหญ่เป็นตำราที่ผ่านสายตาเรามาแล้วทั้งนั้น เพราะเรายืนอยู่ตรงนี้มา 30 กว่าปีแล้ว”

079 ลูกค้าประเภทสุดท้ายคือ ลูกค้าตำรายาบด นั่นคือมีตำรายามาให้ร้านจัดและบดให้ เมื่อก่อนลูกค้าจะนำไปปั้นเป็นลูกกลอน ปัจจุบันนิยมอัดเป็นเม็ดแคปซูลหรือไว้ชงน้ำดื่ม 

080 ซึ่งจริงๆ ยาบดหรือยาลูกกลอนไม่ใช่ยารักษาแต่เป็นยาป้องกัน 

081 “เนื่องจากเวลานำสมุนไพรไปต้ม ยางของสมุนไพรที่รวมกันในหม้อจะโดนความร้อนสกัดออกมาเป็นยารักษาอาการที่ต้องการ แต่ถ้านำมาบดทำยาลูกกลอน สิ่งที่ได้ไม่ใช่เนื้อยาแต่เป็นกากจากสมุนไพรที่บดรวมกัน จึงทำให้ไม่มีสรรพคุณพอจะรักษาได้ ดังนั้นการต้มดื่มจึงเป็นวิธีใช้สมุนไพรที่ดีที่สุด”

082 “ถ้าเป็นเบาหวานให้ต้มดื่มต่างน้ำ” คุณถวัลย์ยกตัวอย่างวิธีใช้สมุนไพรจากการต้มดื่ม หรือถ้าเป็นโรคทั่วไป มักแนะนำให้ดื่มสองเวลาเช้า-เย็น บ้างนิยมไปดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุง

083 แม้ในช่วงที่โควิดกำลังระบาด ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อยังเปิดรอรับคนไข้อยู่เสมอผ่านช่องทางออนไลน์ 

084 นั่นเป็นเพราะพวกเขารู้ดีว่าคนไข้บางคนจะไม่ยอมกินยาแผนปัจจุบัน “เขากลัว เพราะเขาเคยแพ้มาก่อน ดังนั้นไม่ว่าอะไรเขาก็จะมาปรึกษาเราก่อน ถ้าไม่มีจริงๆ แล้วเราแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเขาถึงจะไป”

085 ถึงกระนั้นก็มีโรคที่สมุนไพรรักษาไม่ได้ เช่น โรคหัวใจต่างๆ ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดอุดตัน 

086 “จริงๆ มันมีสมุนไพรที่รักษาได้ แต่มันไม่เร็วพอที่จะช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ระยะยาวโอเค ถ้าเขาทนได้นานๆ แต่โรคบางอย่างมันรอไม่ได้”

087 แม้จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แต่ก็มีบางสิ่งที่ทายาทรุ่นที่สี่เข้ามาเปลี่ยนแปลง นั่นคือถุงใส่สมุนไพร 

088 เดิมร้านใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อ คุณถวัลย์เกิดความคิดว่าในกระดาษหนังสือพิมพ์มีกรด หากสัมผัสกับยาโดยตรง ยาก็อาจจะรับกรดพวกนี้ติดไปด้วย จึงตัดสินใจลงทุนทำถุงสำหรับใส่สมุนไพรเป็นพิเศษ

089 การตัดสินใจครั้งนั้นก็ถูกต้อง เพราะไม่เพียงลดโอกาสที่ยาจะสัมผัสน้ำหมึกบนกระดาษ ถุงกระดาษนี้ยังช่วยซับความชื้น

090 ปัจจัยที่ทำให้ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อยืนยาวมานับร้อยปี อันดับแรกคือ ความหลากหลายของสินค้า ซึ่งมีมากถึง 800 ชนิด เก็บวางอยู่เต็มทั้ง 4 ชั้นของอาคาร

091 สอง คือ ความซื่อสัตย์ หากสินค้าที่ลูกค้าต้องการนั้นหมดหรือที่ร้านไม่มี ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อเลือกที่จะบอกลูกค้าตรงๆ ว่าไม่มี พร้อมเสนอสิ่งที่แทนกันได้ หรือแนะนำตำรายาใหม่ ต่างจากบางแห่งที่อาจจะใส่สิ่งที่ดูคล้ายๆ กันไปให้ลูกค้า 

092 “ลูกค้าเขารู้นะ เพราะเขารู้เรื่องสมุนไพรเขากินจนเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางคนเขาศึกษาด้วยไม่ได้กินสุ่มสี่สุ่มห้า”

093 สาม คือ ราคาที่จะทำให้ธุรกิจพออยู่ได้ ไม่ได้คิดเอาแต่กำไรเพราะรู้ว่าลูกค้าต้องมาซื้อที่นี่ แม้ตอนที่เศรษฐกิจฝืดเคือง คุณถวัลย์ก็ยังคงดูแลผลประกอบการของร้านให้ทุกคนพออยู่ได้ 

094 “อย่างน้อยที่สุดแล้วเราต้องมีเงินเดือนและโบนัสให้ลูกน้องเต็มที่ เจ้านายไม่ต้องมีโบนัสก็ได้”

095 สำหรับการดูแลพนักงาน คุณถวัลย์เล่าว่าแม้บางคนจะเกษียณไปแล้ว ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อก็ยังให้เงินเดือนต่อจนกระทั่งพนักงานเสียชีวิต

096 แม้ปัจจุบันทายาทรุ่นที่สี่จะมีอายุ 82 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่แพทย์ประจำร้านขายยา วิเคราะห์อาการและจัดยาอย่างคล่องแคล่ว พิสูจน์ให้เห็นว่าขวบปีที่มากนั้นไม่ใช่อุปสรรคของการรับช่วงต่อกิจการ 

097 สำหรับคุณสมบัติของทายาทร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อรุ่นต่อไป คุณถวัลย์เล่าสั้นๆ ว่า ขอแค่มีความใจอย่างเดียวเท่านั้นพอ เพราะความรู้ทุกอย่างมาเรียนได้ที่นี่

098 “อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรับช่วงต่อธุรกิจร้อยปีอย่าง ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ” เราถาม

“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ขอแค่ไม่เจ็บไม่ป่วย เราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวตาย เพราะถ้าสุขภาพดี ไม่ว่าอยากทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น เงินเราก็หาได้ถ้าเรามีสุขภาพดี”

099 สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เราขอให้คุณถวัลย์ช่วยจ่ายยาเป็นอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ได้ชีวิตที่เป็นสุข

100 “ใส่ใจกับอาหารการกิน อย่ามัวแต่เลือกกินสิ่งที่ชอบ แต่ให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างผมนี่ชอบน้ำพริกมาก เห็นน้ำพริกแล้วเจริญอาหาร ซึ่งผักก็มีสรรพคุณช่วยขับถ่ายออกซิเจนในเลือด แต่สมัยนี้กินผักก็ต้องระวังนะ คุณต้องล้างแล้วล้างอีก ตอนล้างให้ใส่เกลือลงไปแช่ผักไว้ 15 นาที ทำสักสองรอบ” คุณถวัลย์ทิ้งท้าย

นอกจากหน้าร้านที่ริมถนนจักรวรรดิแล้ว ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อยังมีช่องทางติดต่อและสั่งซื้อยาสมุนไพรแบบออนไลน์ ทั้งที่เพจเฟซบุ๊ก สมุนไพร ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ เว็บไซต์ chaokrompoe.com ติดต่อผ่าน LINE ด้วยการแอด LINE ID @022213272th หรือคลิก lin.ee/q9QRTil ซึ่งถ้าใครที่ไม่สะดวกต้มยาเอง เขายังมีบริการต้มและแช่แข็งสำหรับจัดส่งให้ด้วย ทันสมัยจริงๆ

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like