'สวัสดิภาพสัตว์ VS จิตบำบัด'

เมื่ออิตาลีสั่งแบน Doga โยคะหย่อนใจกับ ‘ลูกหมา’ ที่กำลังมาแรง   

จากผลสำรวจของ Statista พบว่าตลาด mental health ในประเทศไทยกำลังเติบโตเรื่อยๆ คนไทยไม่เพียงรู้ว่าชีวิตเดินได้ด้วยใจที่แข็งแรง แต่ยังพยายามเสาะหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หนึ่งในนั้นคือการจอยคลาสประสานกายและใจเข้าด้วยกัน เช่น การแช่น้ำแข็ง การบำบัดด้วยเสียง ไปจนถึงการโยคะกับเหล่าสัตว์เลี้ยง 

การโยคะกับสัตว์เลี้ยงนั้นช่างตอบโจทย์ยุคที่คนมองสัตว์เลี้ยงเป็นยาบรรเทาความเครียด แต่อีกทางหนึ่ง ก็อาจต้องกลับมามองหาจุดกึ่งกลางที่ไม่ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์เช่นกัน เพราะประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในตอนนี้ โดยเฉพาะในประเทศอิตาลีคือ Puppy Yoga หรือการโยคะกับลูกสุนัขนั้นส่งผลต่อสวัสดิภาพของเจ้าหมาน้อยหรือเปล่า

Puppy Yoga คืออะไร 

ที่จริงต้องย้อนกลับไปว่าการเล่นโยคะกับน้องหมาหรือที่เรียกว่า Doga (Dog บวกกับคำว่า Yoga) นั้นถือกำเนิดครั้งแรกที่อเมริกาปี 2002 ก่อนกระจายไปทั่วโลกภายในปี 2011 ในบางคลาส อาจมีการจับน้องหมามาอยู่บนตักแล้วเอนไปพร้อมๆ กับคนบ้าง แต่บางคลาสก็เน้นการกดนวดเบาๆ ให้น้องหมา ส่วน Puppy Yoga ก็ตรงตัวมากๆ คือไม่ใช่เพียงการนำน้องหมามาร่วมคลาสแต่ต้องเป็น ‘ลูกหมา’ วัยกำลังซน

จุดกึ่งกลางระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพใจ 

ที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ ตั้งข้อสังเกตกับ Doga ว่าอาจเป็นอันตรายกับทั้งหมาและคน บางประเทศออกมาเตือนว่าอาจทำให้หมาที่ฝึกยากอยู่แล้ว ยิ่งฝึกยากเข้าไปอีก คนบางกลุ่มมองว่าการฝึกโยคะกับหมานั้นเป็นเพียงกิมมิกทางธุรกิจเท่านั้น 

ส่วนประเด็นร้อนตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Puppy Yoga Official สตูดิโอโยคะชื่อดังที่มีสาขากว่า 19 แห่งทั่วอิตาลีนั้นบูมมากๆ มีแฟนโยคะมากกว่า 9,000 คนยอมจ่ายเงินสูงถึง 40 ยูโรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 1,500 บาท และมีลูกสุนัขที่ลงทะเบียนไว้ 120 ตัว  

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรการกุศลด้านสิทธิสัตว์ Lega Nazionale per la Difesa del Cane (National League for the Defense of Dogs) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีว่าลูกสุนัขได้รับการปฏิบัติ ‘ราวกับว่าพวกเขาเป็นเครื่องมือยิมนาสติก’ LNDC ยังบอกว่าลูกสุนัขเหล่านี้ถูกขังในกล่องหรือถุงพลาสติกระหว่างการขนส่ง ทั้งยังถูกใช้ในคลาสเป็นเวลานาน ไม่ได้รับน้ำหรืออาหารที่เหมาะกับวัย 

จากการตรวจสอบของ Striscia la Notizia พบว่าลูกสุนัขหลายตัวมีอายุเพียง 42 วัน ซึ่ง LNDC ยังกล่าวว่าด้วยอายุเท่านี้เจ้าหมาน้อยอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือไม่ก็ยังรับวัคซีนไม่ครบ รวมถึงในช่วงวัยเท่านี้ พวกมันควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบและได้ฝึกเข้าสังคม ได้รับนมอย่างเต็มอิ่มกับแม่และพี่น้อง 

Giusy D’Angelo ผู้เชี่ยวชาญด้านสุนัขจากคณะกรรมการคุ้มครองสัตว์แห่งชาติของอิตาลียังกลัวว่าการนำลูกสุนัขแสนน่ารักน่าชังเหล่านี้มาร่วมคลาสโยคะ อาจทำให้ผู้คนตัดสินใจเลี้ยงสัตว์โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี คิดเพียงแค่ว่าอยากได้สัมผัสนุ่มๆ น่ารักจากสัตว์โลกสี่ขาแบบที่ได้รับในคลาสโยคะ

ส่วน Francesco Di Turi ผู้จัดการของ Puppy Yoga Official บอกว่า บางคนอาจเพียงต้องการสัมผัสอบอุ่นจากสัตว์เลี้ยงเพราะพวกเขาไม่มีสัตว์เลี้ยงจริงๆ ที่บ้าน และกิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้คนที่ป่วยผ่อนคลายขึ้นจริงๆ เขายังจัดให้มีการประชุมสำหรับผู้ป่วยโรคเบื่ออาหาร คนตาบอด และเด็กออทิสติกอีกด้วย ส่วนผู้บริหารกลุ่มโยคะสำหรับเด็กออทิสติกในเนเปิลส์ก็ยืนยันว่าการบำบัดกับลูกสุนัขช่วยให้เด็กๆ อ่อนโยนขึ้นจริงๆ 

Di Turi จึงมองว่ามาตรการนี้ช่างไม่สมเหตุสมผลเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในคลาสนั้นถูกบิดเบือน เจ้าหมาน้อยที่พวกเขาคัดเลือกมาก็ยังมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 วัน การสั่งห้ามแบบนี้ทำให้คลาสที่เต็มไปก่อนหน้านั้นได้รับผลกระทบ ถ้าจะให้ใช้หมาที่โตเต็มวัยแล้วก็ยากและซับซ้อนกว่ามาก เขาจึงกำลังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสุนัขและนักจิตวิทยาเพื่อหาหลักฐานที่บอกได้ว่าโยคะนั้นไม่อันตรายกับสัตว์เลย แต่ช่วยให้พวกมันผ่อนคลายด้วยซ้ำ

การเคลื่อนไหวของกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีนั้นส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศออกมาให้ความเห็น เช่นสหราชอาณาจักรก็มองว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก ถึงอย่างนั้นประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างสตูดิโอโยคะย่อมไม่ปล่อยไปง่ายๆ 

หากดูข้อกฎหมายของอิตาลีแล้ว ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าห้ามใช้ ‘สัตว์เลี้ยง’ ในธุรกิจบำบัดจิตใจ แต่เป็นการห้ามใช้สัตว์เลี้ยงที่ยังเด็กมากกว่า ทางออกของเรื่องนี้จึงอาจเป็นการหาสมดุลระหว่างสัตว์และคนอย่างลงตัว ร่างกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับอายุของสัตว์ ลักษณะการเรียนการสอนในคลาส รวมไปถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสวัสดิภาพที่ดี

ส่วนในไทยเอง ตอนนี้เราเริ่มเห็นการเล่นโยคะกับสัตว์เลี้ยงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะทั้งหมาหรือแมว ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ตอบทั้งตลาดสัตว์เลี้ยงและสุขภาพจิตที่กำลังมาแรง หากความนิยมของการใช้สัตว์เลี้ยงในกิจกรรมต่างๆ นั้นมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจจำเป็นต้องวางข้อกำหนดให้ชัดเจนแต่แรกเพื่อป้องกันประเด็นอ่อนไหว รวมถึงเพื่อเป็นการแชร์ผลประโยชน์กับเพื่อนร่วมโลกอย่างเจ้าหมาน้อยอย่างยุติธรรม

อ้างอิง

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like