สัตว์เศรษฐกิจ

เบื้องหลัง 9 แบรนด์ไทยที่ใช้ชื่อ ‘สัตว์’ จนคนจดจำ

เคยสังเกตไหมว่ารอบตัวเรามีสินค้าที่ใช้ชื่อเป็นสัตว์อยู่มากมาย ตั้งแต่สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน ไปจนถึงสัตว์ในเทพนิยายที่แฝงไปด้วยอิทธิฤทธิ์

หลายครั้งก็ตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารคุณสมบัติของสินค้า บ้างก็อยากให้แบรนด์จดจำได้ง่ายๆ และบ้างก็แค่เกิดจากเหตุผลและความชอบส่วนตัว

ต่อไปนี้คือ 9 แบรนด์ชื่อสัตว์ในโลกธุรกิจที่เราล้วนคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน 

ตามไปดูกันว่าอะไรคือวิธีคิดเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นสัตว์เหล่านั้น

ชามตราไก่

แม้จะเรียกกันติดปากว่าชามตราไก่ แต่จริงๆ แล้ว ‘ไก่’ ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อ ‘ธนบดีสกุล’ ต่างหากคือชื่อแบรนด์ (หรือชื่อโรงงาน) ที่แท้จริงและเป็นผู้ผลิตชามตราไก่รายแรกในไทย 

ลายไก่บนจานชามที่เราคุ้นชินนั้นไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่ลำปาง ประเทศไทย แต่มีการผลิตและใช้งานที่ประเทศจีนมาแล้วกว่าร้อยปี สมัยก่อนเวลาคนจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายไปยังประเทศต่างๆ ก็มักจะนำชามตราไก่ติดตัวไปใช้งานด้วยจนเป็นที่นิยม ในไทยเองก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ด้วยกาลเวลาและการนำเข้าจานชามจากต่างประเทศเข้ามาในไทยก็ทำให้ชามไก่ค่อยๆ หายไป ก่อนที่ทายาทรุ่นที่สองของโรงงานธนบดีสกุลจะนำกลับมาทำใหม่อีกครั้งในปี 2540

ว่ากันว่าไก่เป็นสัตว์มงคล หมายถึงความขยันทำมาหากิน และนำโชคลาภมาให้ นั่นเองจึงอาจเป็นที่มาว่าทำไมคนจีนจึงนิยมวาดลายไก่ไว้บนชาม และทำไมชามที่มีรูปไก่จึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

กระต่ายบิน

ท้องอืด แน่นเฟ้อ มองหายาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน 

ใครเป็นสายบุฟเฟต์ที่ต้องมองหาตัวช่วยบ่อยๆ คงจำสปอตโฆษณาตัวนี้ได้ดี ที่มาของชื่อยี่ห้อกระต่ายบินมาจากปีนักษัตรของ สุนันท์ เจียมจรรยา ภรรยาของไร่เฮง เจียมจรรยา ผู้เป็นแพทย์แผนจีนที่คิดค้นสูตรยาขึ้นมา ซึ่งเกิดในปีกระต่าย และอีกเหตุผลคือเขาไม่ค่อยชอบใจนิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่าที่เขียนให้กระต่ายแพ้เต่าราบคาบนัก เมื่อทำแบรนด์นี้ขึ้นจึงคิดติดปีกให้กระต่าย คราวนี้จะได้บินแซงหน้าเต่าและถึงเส้นชัยก่อน

เต่าเหยียบโลก 

รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว ‘เต่าเหยียบโลก’ ไม่ได้ใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่แรก ชื่อแรกของแบรนด์คือ ‘จับเต่า’ ที่สื่อความหมายแสนตรงตัวถึงคุณสมบัติเด่นของสินค้าที่สามารถจับกลิ่นเต่าได้อยู่หมัดต่างหาก 

แต่เพราะการเอ่ยปากเรียกชื่อแบรนด์นั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ลูกค้าหลายคนเขินอายคล้ายประกาศว่าตัวเองมีกลิ่นเต่า บางคนเลยเลี่ยงบอกว่ามาซื้อเต่าเหยียบโลกที่เป็นโลโก้สินค้าแทน (แบรนด์เคยแก้ปัญหานี้ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘JT’ แล้วด้วย แต่สุดท้ายคนก็คุ้นเคยที่จะเรียกว่า ‘เต่าเหยียบโลก’ ไปแล้วอยู่ดี)

ส่วนเหตุผลที่ต้องมีเต่าเข้ามาเอี่ยวในชื่อแบรนด์ นอกเหนือจากเรื่องกลิ่น นั่นก็เพราะสมชาย จันทิพย์วงษ์ นึกถึงประสบการณ์สมัยทำงานในร้านขายยาสมุนไพรมาก่อน ที่เวลาชาวบ้านมาหาซื้อยาก็มักจะเรียกตามภาพโลโก้ที่เป็นสัตว์แทน ทำให้แม้คนที่ไม่รู้หนังสือก็สามารถซื้อได้ เขาจึงนำเทคนิคนี้มาใช้ แถมเต่ายังนับเป็นสัตว์มงคลที่เขามองว่าเดินช้าแต่มั่นคง ส่วนที่วาดโลโก้ให้เต่าเหยียบโลกไว้ก็เพราะมุ่งหวังว่าจะส่งสินค้าไปขายทั่วโลกได้นั่นเอง

แป้งเย็นตรางู

หน้าร้อนทีไร หลายๆ คนเป็นต้องถามหาแป้งเย็นตรางู แป้งเย็นที่ หมอล้วน ว่องวานิช คิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาชาวต่างชาติที่ปรับตัวกับอากาศร้อนๆ ในไทยไม่ได้จนเกิดผดผื่นคัน หรือ prickly heat ตามตัว 

แบรนด์ตรางูจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการรักษาโรค งูบนโลโก้สินค้าหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนลูกศรที่ปักอยู่บนหัวงูก็หมายถึงการรักษา หรือการกำจัดโรคภัย

หัวม้าลาย

อ่านที่มาของชื่อมาหลายแบรนด์ คงรู้กันแล้วว่าเหตุผลหลักๆ นั้นมาจากเพราะเมื่อก่อนคนอ่านหนังสือออกยังมีน้อย คนจึงมักจะใช้สัญลักษณ์สิงสาราสัตว์มาเป็นตราสินค้าให้ง่ายต่อการจดจำ 

เสถียร ยังวาณิช เจ้าของแบรนด์สินค้าตราหัวม้าลายก็คิดเช่นนั้น แต่เรื่องดันมีอยู่ว่าตอนที่เขาไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปรากฏว่าสัตว์ที่คนรู้จักกันโดยทั่วไปนั้นแทบจะถูกจดทะเบียนไปหมดแล้ว เหลือเพียงก็แต่ส่วนหัวของม้าลาย เสถียรมองว่าอย่างน้อยม้าเองก็นับเป็นสัตว์มงคลของจีน เขาจึงตัดสินใจใช้ตราการค้าที่ว่าตั้งแต่นั้นมา

กาวตราช้าง

ด้วยความเคยชินเวลาเราเห็นไซยาโนอะคริเลต หรือกาวที่มีคุณสมบัติติดแน่นทนทาน ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนๆ ใครๆ ก็เรียกกันว่ากาวตราช้าง แต่ถ้าเป็นของแท้แล้วละก็ชื่อยี่ห้อมันคือ ‘กาวตราช้าง เคนจิ’ หนึ่งในกาวซูเปอร์กลูยี่ห้อแรกๆ ที่เริ่มจำหน่ายในประเทศไทย 

ที่คนเรียกกันว่ากาวตราช้างมาจากรูปสัญลักษณ์บนแผงกาวที่เป็นรูปช้างสีเหลือง ที่น่าจะสื่อถึงความทรงพลัง ติดแน่นไม่หลุด และโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ทำให้ชาวบ้านพูดกันติดปากว่า ‘กาวช้าง ของแท้ ต้องเคนจิ’

ชาตราสามม้า

จริงๆ แล้วที่มาของชื่อแบรนด์ยังเป็นปริศนา แม้กระทั่งทายาทของชาตราสามม้าอย่าง อิศเรศ อุณหเทพารักษ์ ก็ยังไม่ทราบที่มาแน่ชัด จนเคยนำความสงสัยไปปรึกษาเพื่อนชาวจีนแต้จิ๋วและได้ข้อมูลว่านอกจากตราสามม้า สมัยก่อนยังมีแบรนด์ชาของชาวแต้จิ๋วที่ใช้คำว่า ‘สาม’ ในชื่ออีกมากมาย สันนิษฐานว่าเลขสามนี้อาจมาจากธรรมเนียมการชงชาของคนแต้จิ๋วที่จะมีจอกชาเตรียมไว้เพียงแค่สามใบเท่านั้น ไม่ว่าจะมีคนไปเยี่ยมที่บ้านกี่คน ก็จะไม่เพิ่มจอกชา ต้องรอให้สามคนแรกดื่มเสร็จ แล้วจึงจะวนรินชาให้คนถัดไปจนกว่าจะครบคน 

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดสนุกๆ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าเกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อแบรนด์ตราสามม้าหรือเปล่า นั่นคือ ก่อนหน้าจะมีตราสามม้า คุณปู่ของอิศเรศ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ก็เคยทำชาตราหนึ่งไก่และสองเหรียญมาก่อนด้วย

สำนักพิมพ์แซลมอน

คอหนังสือคงรู้กันว่าหนังสือจากสำนักพิมพ์แซลมอนนั้นอ่านสนุก และมีรสชาติแปลกใหม่น่าติดตามแค่ไหน ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพวกเขาทำงานด้วยแนวคิดตามชื่อ ทั้งว่ายทวนกระแสน้ำ เฟ้นหาสิ่งที่อยู่นอกกระแสหลักแต่น่าสนใจและคิดว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เสิร์ฟเนื้อหารสชาติอร่อย ครบถ้วนด้วยสารอาหาร จนหากใครได้ลองอ่านก็รับรองเลยว่าจะติดใจ เช่นเดียวกันกับเนื้อปลาแซลมอนที่คนทั่วโลกพากันหลงรักยังไงล่ะ

หงษ์ทอง

ข้าวหงษ์ทอง เริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าข้าวแถวสามย่านของ ‘บัวลิ้ม แซ่โค้ว’ ก่อนจะได้ลูกชายอย่างโกศล มานะธัญญา และกมล มานะธัญญา ค่อยๆ พัฒนาจนสามารถมีโรงสีข้าวของตัวเอง ส่งออกข้าวไปขายทั้งในและต่างประเทศภายใต้ชื่อ ‘หงษ์ทอง’ 

สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เพื่อความเป็นมงคลแก่สินค้าของบริษัท เพราะเห็นว่า หงษ์ทอง เป็นนกในนวนิยายที่มีอิทธิฤทธิ์และอานุภาพ เป็นที่เกรงกลัวของสัตว์ทั้งหลาย

Writer

ฟรีแลนซ์ที่หวังจะมีของอร่อยกินในทุกวัน และมีงานทำในทุกเดือน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like