Pynpy’ for people

หลัก 4P+1 ของ Pynpy’ กางเกงในอนามัยแบรนด์แรกของไทยที่ใช้แทนผ้าอนามัยได้เลย

ข้อใดต่อไปนี้ที่มนุษย์เมนส์ต้องพบเจอ

  • ก. ไม่สบายตัวเพราะความชื้นแฉะและความหนาเตอะของผ้าอนามัย
  • ข. เสียเงินให้กับผ้าอนามัยเป็นหลักพันหลักหมื่นต่อปี
  • ค. มีผื่นแพ้ขึ้นจนต้องร้องขอชีวิต
  • ง. เสี่ยงติดเชื้อจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • จ. ถูกทุกข้อ

เชื่อว่ามนุษย์เมนส์ที่แวะเวียนเข้ามาต้องได้กากบาทสักข้อบ้างล่ะ เพราะชาวเมนส์ต่างรู้กันดีว่านับตั้งแต่วันนั้นของเดือนโผล่มาทักทาย ชีวิตของเราก็ไม่เคยสบายอีกเลย เช่นเดียวกับที่ ‘กานต์–อรกานต์ สายะตานันท์’ นักออกแบบสาวชาวไทยรู้สึก

“มันไม่ใช่แค่ไม่สบายตัว แต่เราไม่รู้ว่าเมนส์จะมาเมื่อไหร่ มันเลยพ่วงความกังวลใจให้เราด้วย ถึงจะเคยลองผ้าอนามัยซักได้ หรือถ้วยอนามัยมาก่อน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเราเป็นเมนส์ตลอดเวลาอยู่ดี เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันพอจะมีสินค้าอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนั้นของเดือนก็เป็นแค่วันธรรมดาๆ” 

เหตุผลนี้เอง เมื่อคู่รักนักธุรกิจอย่าง ‘Tomas Prochazka’ ชวนเธอลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเธอและชาวเมนส์คนอื่นๆ กางเกงในอนามัยที่ใช้แทนผ้าอนามัยได้เลยอย่าง Pynpy’ จึงเกิดขึ้น 

ฟังไม่ผิด! นี่คือกางเกงในอนามัยที่ไม่ง้อผ้าอนามัยหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ แต่ชาวเมนส์ทุกคนสามารถสวมใส่กางเกงในอนามัย Pynpy’ แบบเพียวๆ ได้เลย ไม่ซึมเปื้อน แห้งสบาย แถมยังเป็นมิตรกับโลก! 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยแล้วว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง กานต์และโทมัสสร้าง Pynpy’ ขึ้นมาด้วยความคิดและความเชื่อแบบไหนจนยอดขายช่วงเปิดตัวเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพุ่งกระฉูดชนิดที่ไม่ทันตั้งตัว ทั้งคู่มากางหลัก 4P+1 ที่ใช้สร้าง Pynpy’ ให้ฟังแล้ว

Product
โปรดักต์ที่เกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหา

มันอาจจะฟังดูเป็นคำพูดคลิเช่ๆ แต่สำหรับกานต์ที่เป็นนักออกแบบ โปรดักต์ที่ดีก็ยังคงเป็นโปรดักต์ที่แก้ไขปัญหาได้อยู่วันยังค่ำ

“แน่นอนว่าเรามีปัญหาที่อยากแก้ แต่พอมาทำ Pynpy’ เรายิ่งต้องชัวร์ว่ามันมีปัญหานี้อยู่จริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราคิดเองเออเองเพื่อให้สินค้าที่ออกมามันแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด” กานต์ขยายความการคิดโปรดักต์จากเพนพอยต์ให้ฟัง 

การฟันธงว่าปัญหาที่ทั้งคู่สงสัยนั้นมีอยู่จริง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบขอไปที แต่ทั้งคู่รีเสิร์ชจริงจังถึงขั้นทำแบบสอบถามฐานลูกค้าเดิมในธุรกิจที่โทมัสทำอยู่และสัมภาษณ์คนรอบตัวว่านอกจากปัญหาที่กานต์ประสบเอง ยังมีปัญหาอะไรอีกบ้างที่ชาวเมนส์คนอื่นๆ ทุกข์ใจอยู่ จากนั้นทั้งคู่จึงร่วมมือกับนักวิศวกรสิ่งทอทั้งจากไทยและยุโรปเพื่อออกแบบให้กางเกงในอนามัย Pynpy’ แก้ปัญหาทุกจุดให้ชาวเมนส์ได้

ไม่สบายตัวใช่ไหม–กางเกงในอนามัย Pynpy’ บางแทบจะเท่ากางเกงในทั่วไป แต่ใต้ความบางนั้นกลับถักทอด้วยโครงสร้างพิเศษที่ซึมซับประจำเดือนได้เทียบเท่าผ้าอนามัย 2-3 แผ่น ยาวนาน 8-12 ชั่วโมง แถมยังซึมซับได้เร็ว ไม่รู้สึกเฉอะแฉะ คันยิบๆ แถมยังอับชื้นจนมีกลิ่น – กานต์และโทมัสผู้เข้าใจความร้อนชื้นของไทยดีเลือกใช้เส้นใยที่ได้มาตรฐาน OEKO-TEX แถมยังเพิ่มเทคโนโลยีแอนตี้แบคทีเรียเข้าไป เรียกได้ว่าลดกลิ่น ลดคันแบบสุดๆ 

ขี้เกียจซักมือใช่ไหม–อดีตคนเคยทดลองใช้ผ้าอนามัยซักได้แบบกานต์เข้าใจความเหนื่อยของชาวเมนส์เป็นอย่างดี เธอจึงออกแบบให้กางเกงในอนามัย Pynpy’ ซักทำความสะอาดง่าย เพียงนำไปผ่านน้ำ โยนเข้าเครื่องซักผ้า แล้วตากได้เลย! คนขี้เกียจแบบเราเลยหลงรักแบบหัวปักหัวปำ

“เราเป็นนักแก้ปัญหา” โทมัสบอกถึงสิ่งที่ทั้งคู่ทำซึ่งอธิบายได้ดีว่าทำไมชาวเมนส์ที่รีวิว Pynpy’ ในเว็บไซต์จึงแฮปปี้กับร่างกายและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นจริงๆ

โปรดักต์ที่เป็นมิตรกับทุกคนและสิ่งแวดล้อม

นอกจากความปังเรื่องการซึมซับและการดูแลรักษาที่ง่ายแสนง่ายแล้ว ความน่ารักของกานต์และโทมัสคือการใส่ใจเพื่อนร่วมโลกอย่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 

ประเด็นแรก เรากล้าพูดได้เลยว่า Pynpy’ นั้นเป็นกางเกงในอนามัยที่ตอบโจทย์คนทุกไซส์เพราะ Pynpy’ มีไซส์ให้ลูกค้าเลือกถึง 11 ไซส์! แถมการตัดเย็บในทุกๆ ไซส์ก็คิดมาแล้วว่าเหมาะกับสรีระคนไทย

ประเด็นที่สอง เพราะนวัตกรรมของ Pynpy’ นั้นไม่เพียงซึมซับได้ดีเยี่ยมแต่ยังคงความสบายและความมั่นใจให้ผู้สวมใส่ได้ด้วย ลูกค้าของ Pynpy’ จึงไม่ใช่แค่ชาวเมนส์เท่านั้น แต่ยังมีผู้สูงอายุและคุณแม่มือใหม่ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด รวมถึงกลุ่มทรานส์ที่เลือกใช้กางเกงในอนามัย Pynpy’ หลังผ่าตัดแปลงเพศ 

ประเด็นที่สาม นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทั้งกานต์และโทมัสภูมิใจนี้เป็นมิตรกับโลกและเงินในกระเป๋าสุดๆ เพราะผ่านการทดสอบทางห้องทดลองมาแล้วว่าใช้ได้ยาวนาน 2 ปี แต่ถ้าปรับใช้ตามการใช้งานจริงๆ ก็อาจจะนาน 3-4 ปีเช่นที่กานต์ก็ยังใช้ Pynpy’ รุ่นทดลองจนทุกวันนี้! 

“เราภูมิใจที่ Pynpy’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่เราไม่ได้สื่อสารออกไปมากเท่านวัตกรรมอื่นๆ เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนต่างมีปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกัน เราไม่ได้อยากเป็นครูที่มาสั่งสอนว่าถ้าใครไม่รักษ์โลกถือว่าผิด” โทมัสอธิบายถึงความเชื่อที่เขามี ก่อนที่กานต์จะเสริมว่า

“เราคิดว่าความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องปกติที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจและทำให้ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่จุดขายหรือเทรนด์ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้” 

โปรดักต์ที่ขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยฟีดแบ็กของลูกค้า

นวัตกรรมกางเกงในอนามัยชิ้นแรกของ Pynpy’ คือรุ่น classic cut ที่ไม่ได้เน้นแฟชั่นแต่เน้นฟังก์ชั่นและความเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งการออกสินค้าที่กว้างมากๆ ตรงนี้ก็เป็นความตั้งใจของทั้งคู่ที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแรงให้ Pynpy’ นั่นเอง

“ตลาดกางเกงในอนามัยถือว่าใหม่มากๆ ในไทย สิ่งที่เราทำอยู่มันเลยเป็นการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนแรก เราจึงต้องทำ hero product ที่แข็งแรงและกว้างไว้ก่อนเพื่อให้มันสื่อสารถึงแบรนด์ได้ จากนั้นก็ค่อยเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาต่อ 

“เราจะไม่ผลิตสินค้าหลายๆ อย่างแล้วค่อยมาดูว่าอะไรดี ทุกผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้อยู่ๆ ก็ทำขึ้นมา แต่เรามีข้อมูลแล้วว่าลูกค้าอยากได้อะไร ถ้าเขาอยากได้กางเกงในอนามัยแบบไม่มีขอบ เราก็ทำรุ่น seamless ให้ หรือหลังๆ เริ่มมีฟีดแบ็กว่าอยากได้กางเกงในอนามัยที่ใส่ในวันก่อนหน้าหรือท้ายๆ ของการมีประจำเดือน เราถึงจะทำรุ่น daily ออกมา” โทมัสเล่า

โทมัสและกานต์ยืนยันว่าการเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาแบรนด์อยู่เสมอตรงนี้เองที่ทำให้ Pynpy’ เอาชนะใจลูกค้าได้

“เราไม่เคยบอกว่าเรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนแต่เราเรียกตัวเองว่าเป็นเพื่อนผู้รับฟังที่ดีและเป็นนักแก้ไขปัญหาที่เมื่อลูกค้ามีปัญหาเมื่อไหร่ เราก็พร้อมจะแก้ไขให้เขา” กานต์ว่า

Price
ราคาคุ้มค่าของกางเกงในอนามัยที่มอบอิสรภาพให้ผู้สวมใส่

กางเกงในอนามัยรุ่น Classic Cut ราคา 1,190 บาท กางเกงในอนามัยรุ่น Seamless High Waist ราคา 1,290 บาท ส่วนกางเกงในอนามัยรุ่น Daily ราคา 1,090 บาท

สนนราคาตรงนี้อาจจะดูสูงสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม  แต่สำหรับการเป็นกางเกงในอนามัยที่ใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนาจนทำให้ลูกค้าใส่กางเกงในอนามัย Pynpy’ ได้โดยไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย ราคาข้างต้นถือเป็นราคาที่ยอมรับได้กับลูกค้าของ Pynpy’ ด้วยซ้ำ

“คนที่ไม่เคยลองอาจจะมองว่ากางเกงในอะไรทำไมแพงจัง แต่เมื่อได้ลองแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่กลับบอกว่านี่เป็นราคาที่คุ้มค่าและแพงได้มากกว่านี้เพราะมันไม่ใช่แค่การซื้อกางเกงในธรรมดา แต่มันคือการลงทุนซื้อชีวิตและอิสระของเขา” กานต์เล่าถึงฟีดแบ็กของลูกค้า

“Pynpy’ เป็นกางเกงในอนามัยแบรนด์แรกในไทยที่ใส่แทนผ้าอนามัยได้เลย จึงไม่สามารถไปเปรียบเทียบราคากับกางเกงในอนามัยทั่วไปที่แค่ใส่เพื่อรองรับการซึมเปื้อนได้เพราะถือเป็นสินค้าคนละกลุ่มกัน ที่สำคัญ ราคานี้คือราคาปกติของกางเกงในอนามัยนะ เราตั้งราคานี้เพราะเราให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า” โทมัสอธิบาย

Place
พื้นที่การขายที่ควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตนเอง

ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วอยากจะสั่งกางเกงในอนามัย Pynpy’ มาลองบ้าง ขอบอกตรงนี้ว่ากางเกงในอนามัย Pynpy’ ไม่ได้มีขายตามแพลตฟอร์มขายของออนไลน์แบบแบรนด์อื่นๆ หรือลงห้างร้าน แต่โทมัสและกานต์ออกแบบเว็บไซต์ให้ลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อและกดยกเลิกสินค้าได้ด้วยตนเองแบบครบจบในที่เดียว

ในยุคที่ทั้งแบรนด์แล็กและแบรนด์ใหญ่ต่างกระโดดเข้าแพลตฟอร์มขายของออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ทุกช่องทาง หลายคนก็คงสงสัยไม่ต่างจากเราว่าทำไม Pynpy’ กลับแยกตัวออกจากแบรนด์เหล่านั้น 

“ระบบของเราคือ Inbound Marketing ที่ลูกค้าเข้ามาหาเราเอง เราไม่ได้ไปหาลูกค้า เพราะเราชอบที่จะควบคุมทุกอย่างเอง เราจึงตั้งใจออกแบบให้เว็บไซต์ของเราทำได้ทุกอย่าง และมีช่องทางเสริมอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และทวิตเตอร์ที่ลูกค้าสามารถมาคุยและฟีดแบ็กกับเราได้โดยตรง ลูกค้าเลยไม่ได้มีปัญหากับการสั่งซื้อของผ่านเว็บไซต์เลย

“แต่อย่างที่บอกว่าเราเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจกับฟีดแบ็กของลูกค้ามากๆ ถ้าในอนาคตทีมเราใหญ่กว่านี้ และลูกค้าบอกว่าต้องการแพลตฟอร์มการซื้ออื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นมันก็คงเหมาะสมแล้วที่จะขยายช่องทางการซื้อเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าจริงๆ” โทมัสอธิบาย

Promotion
โปรโมชั่นไม่พร่ำเพื่อคือการตลาดแบบที่เชื่อ 

พูดกันตามตรง สงครามราคาในตลาด e-Commerce ของไทยนั้นดุเดือดใช่ย่อย แม้จะไม่กี่บาท หลายครั้งทีเดียวที่ถ้าไม่มีโปรโมชั่นลดราคา ลูกค้าก็ไม่ค่อยอยากซื้อเท่าไหร่ แต่ก็เช่นเดียวกับช่องทางการขายที่ไม่เหมือนใคร กานต์และโทมัสยังคงยืนยันว่า Pynpy’ จะไม่ลดราคาพร่ำเพื่อเพื่อขยายตลาดแน่นอน 

“เราไม่เชื่อในการตลาดเก่าๆ ที่ต้องลดราคาสินค้า จ้างอินฟลูเอนเซอร์ ซื้อโฆษณา หรือปล่อยโปรโมชั่นให้ทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีโปรโมชั่นนะ เรามีสำหรับลูกค้าที่สนใจแบรนด์เราจริงๆ มากกว่า เช่นในระบบเว็บไซต์ ถ้าเราเห็นว่าลูกค้าคนไหนซื้อเยอะ ซื้อหลายครั้ง เราก็อาจจะมีโปรโมชั่นให้เขา” โทมัสว่า 

แล้วการตลาดของ Pynpy’ เป็นแบบไหน?

โทมัสและกานต์เน้นสร้างสรรค์บทความเกี่ยวกับประจำเดือน เพศ สิทธิมนุษยชน และปัญหาต่างๆ ของผู้มีประจำเดือนให้ทุกคนได้เข้าไปอ่านจำนวนมาก และเป็นเหตุผลที่ทั้งคู่อยากให้ลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อสินค้าในเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจเรื่องประจำเดือนมากขึ้นนั่นเอง 

“เมื่อบทความบางชิ้นมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้า เขาก็จะมาหาเราโดยอัตโนมัติ นี่คือการตลาดแบบที่เราสองคนเชื่อ” โทมัสเล่าถึงสิ่งที่ Pynpy’ ทำ

“มีหลายแบรนด์เลยนะที่คัดลอกบทความของเราไป นั่นหมายความว่าเราคือผู้นำของตลาดนี้จริงๆ เป็นผู้นำที่ไม่ได้จะขายสินค้าอย่างเดียวแต่ต้องการขับเคลื่อนสังคมไปด้วยและเป็นผู้นำที่ต้องการให้ลูกค้าเข้าใจว่าประจำเดือนคืออะไร สินค้าเราเป็นยังไง เขาพอใจกับสินค้าเรามั้ย จากนั้น ลูกค้าถึงจะตัดสินใจได้เองว่าสินค้าของเราเหมาะกับเขาหรือเปล่า 

“นี่สิถึงจะทำให้ธุรกิจมันยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย” กานต์เสริมถึงความตั้งใจในการทำธุรกิจ

People
ผู้คนคือหัวใจสำคัญ

การคิด product, price, place และ promotion เป็นเช็กลิสต์ที่ผู้ประกอบการต้องตอบให้ได้ก็จริง แต่ก็อย่างที่ทั้งโทมัสและกาต์บอกกับเราเสมอว่า ‘Pynpy’ ไม่ได้เป็นธุรกิจเพื่อธุรกิจเท่านั้น ‘p’ ที่ทั้งคู่คิดว่าสำคัญไม่แพ้กันจึงคือ ‘people’ หรือผู้คนนั่นเอง

คำว่า people ของทั้งคู่จึงอธิบายทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตที่ดีและสบายขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเพศ วัย หรือไซส์ หรือไม่ว่าจะเป็นการทำบทความให้ทุกคนเข้าใจว่าประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติที่พูดถึงได้ และประจำเดือนก็ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น

“หลายครั้งที่มีคนทักเรามาเพื่อปรึกษาปัญหาประจำเดือนและเรื่องเพศ เพราะเขาคิดว่าเราน่าจะมีความรู้และเชี่ยวชาญมากพอ ซึ่งเราก็แฮปปี้มากเพราะเหมือนกับแท็กไลน์ของเราที่ว่า “Pynpy’ Your Best Friend” มันเป็นเรื่องจริง

“ส่วนอีกหนึ่งสเตปที่ทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์มากๆ คือการที่เราทำให้หลายคนกล้าพูดเรื่องประจำเดือนมากขึ้น เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นด้วย มีลูกค้าผู้ชายทักมาถามเยอะมากว่าถ้าจะซื้อให้แฟนใส่ต้องซื้อรุ่นไหนดี หรือบางทีลูกๆ หลานๆ ก็มาซื้อกางเกงในอนามัยของเราให้รุ่นแม่รุ่นยายเขาใช้ มันเหมือนว่ามากกว่าการสร้างแบรนด์มันคือการสร้างคอมมิวนิตี้” กานต์เล่า

“ผมเลยคิดว่าเราไม่ใช่แค่นักธุรกิจแต่คือนักแก้ไขปัญหา นักสร้างความสัมพันธ์และศูนย์กลางการเชื่อมโยงสิ่งดีๆ ในสังคม” โทมัสทิ้งท้าย

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like