จ่าอู หมูเกาหลี

จิตราพร เหมาะดี จากลูกสาวผู้เคยขัดกระทะตั้งแต่ ป.2 สู่มือทำน้ำจิ้มของ จ่าอู หมูเกาหลี

ปี 2561 พี่หมื่นและแม่หญิงการะเกด จากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ได้นำพาให้ละครเรื่องนี้จากช่อง 3 ทำสถิติเรตติ้งสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการสรา้งปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นให้วงการละครไทยกลับมาคึกคัก โดยประเด็นสำคัญที่ทุกคนต่างพูดถึงจากละครเรื่องนี้คือ การหยิบจับเอาวัฒนธรรมอาหารเข้าไปผสมผสานกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนุกและน่าอร่อยในทุกช่วงทุกตอน

เมนูไฮไลต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ที่แม่หญิงการะเกด ผู้เดินทางข้ามเวลากลับไป 333 ปี ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ดันคิดถึงยุคปัจจุบันที่ตัวเองจากมา จนต้องอ้อนให้พี่หมื่นพาไปหาจีนฮง ช่างทำกระทะในตลาดสร้างกระทะแบบพิเศษขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการกินเมนูนี้ให้กับเธอคือ ‘หมูกระทะ’

อย่าว่าแต่แม่การะเกดเลยที่ชอบหมูกระทะ ยุคนี้เดินไปที่ถนนทุกหนแห่งไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด เราก็เห็นร้านหมูกระทะผุดขึ้นอยู่มากมาย แทบจะทุกที่ทั่วประเทศไทย อาจจะสะท้อนได้ว่านี่คืออาหารที่ใครๆ ก็ชอบ อาจด้วยเป็นเมนูที่กินง่าย กินอร่อย และกินสนุก คุณสามารถกินแบบเน้นเนื้อ หรือเน้นผัก หรือจะเน้นอะไรก็ได้ตามแต่ใจชอบ แถมยังได้ใช้เวลาร่วมกันในการกินกับผู้ร่วมโต๊ะอีกด้วย 

ภูมิทัศน์ของร้านหมูกระทะอาจมีมากมายในตลาดธุรกิจอาหารบ้านเรา แต่ร้านที่โดดเด่นและขายดีจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ ‘จ่าอู หมูเกาหลี’ ที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันยกให้น้ำจิ้มที่นี่เป็นทีเด็ดที่ไว้ใจได้ในความแซ่บและถึงเครื่องถึงรสทุกครั้งทีได้มากิน จนถึงขนาดต้องแปะป้ายติดไว้ที่ร้านว่า ‘ลูกค้าสามารถทานน้ำจิ้มได้ตามสบายที่ร้าน แต่ไม่อนุญาตให้นำน้ำจิ้มกลับบ้าน’

สำหรับแฟนจ่าอู คงไม่ต้องอธิบายมากก็คงเข้าใจว่าน้ำจิ้มที่นี่อร่อยยังไงอร่อยแค่ไหน แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยลองกินหมูกระทะที่นี่ คุณอาจจะสงสัยว่าน้ำจิ้มที่นี่จะอร่อยเด็ดขนาดไหนกันเชียว ก็เอาเป็นว่า เคยมีชาวเน็ตพูดต่อๆ กันมาว่า “น้ำจิ้มที่นี่จิ้มกับอะไรก็อร่อย”

แต่เราก็รู้ดีว่าในโลกธุรกิจ ใช่ว่ามีดีแค่น้ำจิ้มแล้วจะสามารถยืนหยัดอยู่บนสมรภูมิอันดุเดือดของตลาดหมูกระทะในบ้านเราได้

คุณจิตราพร เหมาะดี ลูกสาวคนเดียวของจ่าอู หมูเกาหลี ผู้รับช่วงต่อกิจการแทนจ่าอู (คุณพ่อ) เธอบริหารร้านยังไง และต้องจัดการยังไงบ้างเมื่อทุกวันนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ร้านหมูกระทะ คือคำถามที่นำเราไปสู่ร้านของเธอ

หลายคนสงสัยว่าชื่อ ‘จ่าอู หมูเกาหลี’ นั้นเจ้าของเป็นจ่าจริงไหม อยากชวนย้อนเล่าที่มาของชื่อให้ฟังหน่อย

จ่าอู’ คือชื่อพ่อหนูเอง เลยใช้คำว่า จ่าอู นี่แหละ และตอนนั้นคิดว่าหมูกระทะมั่นฟังดูทั่วไปอะ มันดูซ้ำกับคนอื่นเยอะแล้ว เราก็เลย อะ หมูเกาหลีดีกว่า แล้วก็เท่าที่แม่เล่าให้ฟัง ช่วงนั้นเหมือนเริ่มมีเทรนด์เกาหลีเข้ามา คือมันจะเริ่มมีคำว่า ปิ้งย่างเกาหลี บาร์บีคิวเกาหลี เราก็เลยใช้คำว่าหมูเกาหลีก็แล้วกัน

ร้านนี้เริ่มตั้งแต่ตอนที่หนูยังเด็กอยู่ ตอนนี้เราอายุ 28 ก็น่าจะสักประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่วงที่เราอยู่อนุบาล พ่อเขารับราชการอยู่ในกรมทหาร ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้านเฉยๆ แล้วแม่ก็คิดขึ้นมาว่า อยากให้ครอบครัวมีรายได้เสริมเพราะลำพังเงินเดือนพ่อก็ใช้จ่ายไม่ค่อยพอ ก็เลยเริ่มคิดว่าจะขายอะไรดี ซึ่งพ่อกับแม่เป็นคนชอบทำกับข้าว อย่างพ่อตอนเด็กๆ พ่อเขาเคยช่วยย่าขายข้าวแกง ก็เลยทำให้แกชอบทำกับข้าวมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาจะทำอะไรขายแกเลยคิดถึงของกิน แล้วทีนี้ก็มาลงตัวที่ไอเดียว่าลองขายหมูกระทะดูไหม 

หลังจากนั้นก็เริ่มลองสูตรเอง คิดสูตรเอง หมักหมูเอง ก็เรียกคนในแฟลตมาชิมจนกว่าจะได้สูตรที่พ่อแม่เขาพอใจ คือทั้งคู่ก็ช่วยกันสองคน ช่วยกันทำมาตั้งแต่แรกเลย แม่จะเป็นคนเตรียมของก่อน เตรียมพวกเนื้อหมูพวกผัก น้ำจิ้ม แล้วพอพ่อเลิกงานก็มาช่วยกันขายตอนเย็น ร้านแรกอยู่ในกรมการขนส่งทหารบก ตรงแยกเกียกกาย 

สถานการณ์ธุรกิจหมูกระทะตอนที่เริ่มทำจ่าอูเป็นยังไงบ้าง

ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาเนื้อหมู เอาผักจัดเป็นเซตแล้วไปส่งตามบ้าน เมื่อก่อนทำแบบนี้กันเยอะมาก อย่างการจะโฆษณาร้านหมูกระทะ เมื่อก่อนมันไม่โซเชียลฯ เขาก็จะเอาสติ๊กเกอร์ไปแปะตามเสาไฟฟ้า แปะตามรั้วบ้าน แล้วบนสติ๊กเกอร์ก็จะมีเขียนเบอร์โทรของร้านเอาไว้ พอคนเห็นเขาก็จะโทรมาสั่งแล้วให้ร้านไปส่งที่บ้าน ตอนที่พ่อกับแม่หนูทำ เขาก็เริ่มด้วยการทำแบบนี้เหมือนกัน พ่อจะทำกระดาษเป็นแผ่นเล็กๆ เอาไปสอดตามห้องต่างๆ ในแฟลตที่หนูกับครอบครัวอยู่ในกรมทหาร ก็เริ่มขยายจากการขายแบบนี้นี่แหละ เริ่มจากกรมนี้ แล้วก็ขยายไปกรมข้างๆ ขยายไปเรื่อยๆ

อย่างบางวันก็อาจจะมีบ้างที่เอาหมูขึ้นรถกระบะ แล้วก็เปิดโทรโข่งพูดว่า “เรามาขายหมูกระทะแล้วนะ” อารมณ์เหมือนรถกับข้าวในยุคนั้น เหมือนรถพุ่มพวง แต่เราขายหมูกระทะแทน บ้านไหนจะซื้อเขาก็เรียกให้เราเอาขึ้นไปส่งข้างบนแฟลต

ขายดีตั้งแต่แรกเลยไหม

ตอนนั้นหมูยังกิโลฯ ละไม่กี่บาทเอง คือยังไม่แพงขนาดนี้ ตอนนั้นเริ่มขายจากชุดละ 150 บาท แล้วด้วยความที่คนแถวๆ นั้นเขาได้ลองชิมกันมาก่อนแล้ว ก็คือเขาโอเคกับรสชาติกันมาแล้ว เขาก็มีการบอกปากต่อปากกันว่า เฮ่ย ร้านนี้ดีนะ หรือ เฮ่ย บ้านนี้ของจ่าคนนี้ที่อยู่กรมนี้ขายหมูกระทะนะ เขาก็จะบอกต่อๆ กันไป บวกกับเราได้ฐานลูกค้าเดิมด้วย แต่ละวันก็แบบขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จะยังไงเราก็จะพยายามควบคุมมาตรฐาน คือเราจะยืนยันว่าเราจะขายแบบนี้ เราไม่ลดคุณภาพ ยอมขาดทุนบ้างด้วยซ้ำเพื่อที่จะขายต่อ 

แล้วไปยังไงมายังไงถึงเริ่มเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง

จากตอนแรกที่เริ่มจากการส่งเดลิเวอรีก่อน เราก็เริ่มมีลูกค้าถามเข้ามาว่า อยากมานั่งกินที่ร้าน แต่ตอนนั้นเราไม่มีที่ที่จะเปิดหน้าร้านได้ เราก็รอ รอช่วงเวลา รอจังหวะ จนสวัสดิการทหารเขามีที่ตรงสะพานแดง เจ้ากรมเขาก็ให้ที่มา เขาก็ถามว่าลองเปิดไหม พ่อกับแม่ก็เลยได้ที่มาล็อกนึง ล็อกเล็กๆ ตั้งโต๊ะได้แค่ 6 โต๊ะเอง

ตอนนั้นเราน่าจะอยู่สักประมาณ ป.2 ก็มีไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ที่ร้าน รับจ้างพ่อแม่ทำงานแล้วก็เอาเงินไปกินขนมที่โรงเรียน (ยิ้ม) เราเริ่มตั้งแต่ไปขัดกระทะเลย ซึ่งจริงๆ แล้วการขัดกระทะหมูกระทะนี่ไม่ได้ยากเลย เคล็ดลับก็คือแค่เราแช่น้ำข้ามคืนมันก็แทบจะร่อนออกหมดแล้ว เพราะมันเป็นของมันอยู่แล้ว คือไม่ต้องใส่สารใส่อะไรเลย แค่แช่น้ำแล้วตอนล้างก็ใช้น้ำยาล้างจานช่วยหน่อย แล้วก็ขัด แค่นี้เอง

แล้วตอนมีหน้าร้านก็ไปเสิร์ฟด้วย หนูอยู่กับพ่อกับแม่มาตั้งแต่เด็กๆ มันก็อยู่ในสายเลือดแล้ว เหมือนเราโตมากับมัน เห็นพัฒนาการของร้านมาตลอด อย่างตอนที่เริ่มทำหน้าร้านที่มีแค่ 6 โต๊ะก็ยังมีเดลิเวอรีด้วย ถ้าใครอยากมาทานหน้าร้านก็มา ก็มีแค่ 6 โต๊ะ แต่ถ้าใครอยากทานที่บ้านก็ยังคงไปส่งเหมือนเดิม พอขายไปเรื่อยๆ ช่วงหลังๆ พอที่ตรงล็อกข้างๆ เขาไม่อยู่ต่อ เราก็ขอเช่าที่ข้างๆ เพิ่ม แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ จนได้ 40 โต๊ะ แล้วก็ขยายได้อยู่แค่นั้น เพราะพื้นที่มันจำกัด

แล้วตอนไหนที่เริ่มคิดถึงการขยายสู่สาขาที่ 2

ตอนที่เริ่มขยายสาขาที่ 2 คือตอนที่หนูเรียนจบมหาวิทยาลัย พ่อกับแม่เริ่มคิดว่าเริ่มมีลูกค้ารู้จักร้านเรามากขึ้นแล้ว แต่เราไม่มีพื้นที่รองรับลูกค้าขาดนั้น คือเราเห็นใจคนที่เขามาต่อคิว คือเขารอนานเกิน เราก็เลยหาที่เพิ่ม เปิดสาขาเพิ่ม เราก็มาเปิดเพิ่มที่เตาปูนเป็นสาขาที่ 2

ตอนนั้นที่เลือกตรงเตาปูนเพราะว่ามันใกล้จากร้านแรกตรงสะพานแดง โลเคชั่นใกล้ๆ กัน เผื่อลูกค้าไปร้านที่สาขาแรกแล้วไม่ได้กิน จะได้มาร้านนี้ได้

เราขยายสาขาจนตอนนี้ในกรุงเทพฯ มี 9 สาขา ที่แพร่มี 2 สาขา แล้วก็มีที่เชียงใหม่กับชุมพร

อะไรเป็นตัวชี้วัดให้คุณรู้ว่าคุณพร้อมสำหรับการเปิดสาขาต่อไปแล้ว

ส่วนใหญ่การขยายสาขาใหม่ของร้านเราจะเว้นระยะไม่เกิน 1-2 ปี ประมาณนี้ คือพอเราเปิดสาขาใดสาขาหนึ่งแล้ว เราก็จะรอให้สาขานั้นอยู่ตัวก่อน แล้วเราค่อยไปเปิดสาขาอื่นเพิ่ม ตอนที่เราเลือกว่าเราจะไปเปิดที่ไหน เราก็จะดูว่าที่ตรงนั้นมันใกล้กับชุมชน ใกล้กับหมู่บ้านไหม ใกล้กับมหาวิทยาลัย โรงเรียนไหม แล้วตรงนั้นมีที่จอดรถเพียงพอกับลูกค้าหรือเปล่า อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าลูกค้ามาก็ต้องมีที่จอด เราต้องอำนวยความสะดวกให้เขา

ตอนนี้คุณขยายสาขาแบบไหน มีแฟรนไชส์ไหม

เรายังขยายสาขาเอง แล้วก็มีบางสาขาที่ญาติดูแล ยังไม่มีแฟรนไชส์ ส่วนอนาคตยังไม่ได้แพลนเรื่องแฟรนไชส์ คืออยากจัดการระบบให้มันดีกว่านี้ก่อน ก่อนที่จะมีคนนอกเข้ามา

ตอนนี้ถือว่ามารับช่วงกิจการต่อจากคุณพ่อคุณแม่เต็มตัวหรือยัง

เกือบๆ จะเต็มแล้วค่ะ แต่เวลามีอะไรก็ยังปรึกษาพ่อแม่อยู่

ตอนที่มารับช่วงต่อคุณอยากปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

คือเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ความยากมันเลยไม่ได้อยู่ที่การที่เราต้องมาทำตรงนี้ แต่ความยากมันอยู่ที่ว่าเราต้องการจัดการระบบหน้าบ้าน หลังบ้านให้มันดีขึ้น และก็การบริหารลูกน้องที่อยากทำให้ดีขึ้น ให้เป็นระบบมากขึ้น ได้มาตรฐานมากขึ้นเพื่อที่ว่าในการขยายสาขาอื่นๆ  ต่อๆ ไป มันจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อะไรที่สาขานี้ทำแบบนี้ อีกสาขานึงก็ต้องทำให้เหมือนกัน เป็นระบบเดียวกัน เราก็พยายามจะวางระบบไปเรื่อยๆ

แต่สำหรับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือคุณภาพที่พ่อกับแม่ทำไว้ เราอยากจะคงเอาไว้อย่างนั้น

คุณมองร้านหมูกระทะในเมืองไทยตอนนี้ยังไง

มีร้านเยอะมาก หมูกระทะเหมือนเป็นของกินประจำชาติเราไปแล้ว คือเจอร้านหมูกระทะเต็มไปหมด คนเปิดร้านหมูกระทะเดี๋ยวนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ เลย แล้วเขาก็ขายกันได้นะคะ คนก็เต็มทุกร้าน อาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นอะไรที่กินง่าย แล้วเราก็ได้พูดคุยกับเพื่อนที่เรามาทานด้วย มันใช้เวลาร่วมกันได้ ปิ้งด้วยกัน กินด้วยกัน แย่งกันบ้าง ช่วยกันบ้าง สนุกๆ

แล้วความยากในการทำร้านหมูกระทะคืออะไร

ความยากสำหรับเรา เราคิดว่ามันคือการควบคุมวัตถุดิบ อันนี้อย่างแรกเลย ทำมาตรฐานให้มั่นคง แล้วก็รสชาติด้วย รสชาติต้องเหมือนเดิม ลูกค้าจะได้ไม่หนี ราคาก็สำคัญ ราคาต้องไม่เอาเปรียบลูกค้าเกินไป อย่างบางช่วงที่หมูแพง เราก็ต้องยอม คือถ้าเราไม่ยอม ของเราก็จะเปลี่ยนไป รสชาติก็จะไม่เหมือนเดิม เราว่าหลักๆ ความยากมันอยู่ที่ตรงนั้น 

ที่ยากรองลงมาก็คือการจัดการบริหารลูกน้อง ให้เขาสามารถให้บริการที่ดีให้ลูกค้าได้ให้เหมือนกันทุกสาขา

ตอนช่วงที่หมูราคาแพงคุณปรับราคาขึ้นไหม

ไม่ได้ปรับนะคะ เพราะเราคิดว่าถ้าปรับขึ้นไปแล้วมันลงยาก แล้วเราก็รู้อยู่แล้วว่าของมันมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่ว่าขึ้นแล้วขึ้นอีก ขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็มีขึ้นลง ก็ถัวๆ กันไป คือยังพอควบคุมได้

แล้วช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาคุณแก้ปัญหายังไง

ตอนโควิดมาแรกๆ เราต้องปิดร้านเลย ไม่ได้ขายเลยทุกสาขา แต่ว่าเราก็กลับไปเปิดเดลิเวอรีอย่างเดียว ก็คือกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรา เราก็เดลิเวอรีผ่าน LINE MAN กับ Robinhood ช่วงนั้นเราก็ขายดีเหมือนเดิม เขาก็สั่งไปกินกันที่บ้าน คือยอดขายอาจจะมีตกลงบ้าง แต่ก็พอสำหรับเอามาจ่ายค่าที่ ค่าพนักงาน ค่าวัตถุดิบ คือก็ยังพอไปได้ ไม่ถือว่าตกฮวบขนาดนั้น

หลังจากโควิดเริ่มซาเราก็ลดจำนวนโต๊ะลงในตอนแรก จากเดิมที่เราเคยตั้ง 60 โต๊ะ เราก็ตั้งแค่ 30 โต๊ะ ก็ต้องทำแบบนี้ไปก่อน แต่ลูกค้าก็กลับมากิน กลับมารอ เหมือนเดิม ก็ถือว่าเรายังไปได้ดีในช่วงโควิดและหลังโควิด คือที่มันยังไปได้เราคิดว่าเพราะว่ามาตรฐานเรายังเหมือนเดิมด้วย เราให้ความสำคัญตรงนี้ คนก็เลยโอเคที่จะกลับมากิน

เห็นคุณเน้นย้ำเรื่องคุณภาพบ่อยๆ แล้วคุณควบคุมคุณภาพของทุกสาขายังไงให้เหมือนกัน

วัตถุดิบทุกอย่างเราจะสั่งจากซัพพลายเออร์เดียวกัน ส่วนเรื่องน้ำจิ้มที่เป็นจุดเด่นของร้าน เราจะเป็นคนทำคนเดียว ก็คือทุกร้านต้องมารับที่นี่ ที่ครัวกลาง คือเราอยากจะควบคุมคุณภาพและรสชาติให้มันออกมาจากแค่เราเท่านั้น คือเราห้ามหายตัว ห้ามสาย ห้ามลา ห้ามขาด (หัวเราะ) คือเราต้องเป๊ะเรื่องนี้ ปล่อยผ่านไม่ได้ ลูกค้าจะได้มั่นใจว่าจ่าอูเหมือนกัน คือรับของมาจากที่เดียวกัน รสชาติเหมือนกัน กินที่ไหนก็เหมือนกัน

อะไรคือเบื้องหลังความอร่อยของน้ำจิ้มที่ทุกคนติดใจ

เราว่ามันคือเรื่องของรสชาติ มันได้ครบรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด หอมด้วย ครบหมดเลยทุกรส พ่อกับแม่สองคนช่วยกันคิดสูตรนี้ ซึ่งก็ปรับมาเรื่อยๆ นะ ตอนแรกก็ยังไม่ลงตัวเท่าไหร่ ก็เรียกคนนั้นคนนี้มาชิม จนเขารู้กันทั้งแฟลตว่า บ้านนี้ขายหมูกระทะ คือเหมือนคนทั้งแฟลตเห็นตรงกันแล้วว่าอันนี้แหละ คือรสชาติที่โอเคแล้ว แล้วแม่ก็อาจมีมาปรับอีกนิดนึงให้มันแบบโอเคขึ้นอีก เป็นแบบที่เราชอบเองด้วย

เคยเห็นชาวเน็ตโพสต์ว่าจ่าอูมีป้ายเขียนว่า ห้ามนำน้ำจิ้มกลับบ้าน

คือเคยมีค่ะ เคยมีลูกค้าแอบเอาน้ำจิ้มกลับบ้าน คือที่ร้านจะตั้งป้ายไว้ว่าถ้ากินในร้านกินได้ไม่อั้นเลย แต่ไม่อนุญาตให้นำกลับนะคะ (หัวเราะ) เพราะพูดตรงๆ น้ำจิ้มก็เป็นต้นทุนอย่างนึงเหมือนกัน

แล้วเราคิดจะทำน้ำจิ้มขายไหม

ไม่ขายค่ะ เพราะเราอยากขายหมูกระทะ ไม่อยากขายแค่น้ำจิ้มอย่างเดียว คืออยากให้เขามากินที่ร้านเรา ถ้าเขาอยากกินน้ำจิ้มเรา ก็อยากให้เขากินหมูเราด้วย ผักเราด้วย น้ำซุปเราด้วย จะได้อร่อยครบรส

แล้วทำไมถึงเลือกขายเป็นแบบเซต ไม่ขายแบบบุฟเฟต์

คือการขายแบบนี้เราสามารถควบคุมราคาต้นทุน กำไรได้ เรารู้ว่าเราจะขายเท่าไหร่ มันมีตัวเลขชัดเจน อย่างถ้าเป็นบุฟเฟต์เราไม่รู้ว่าลูกค้าคนนึงจะกินปริมาณเท่าไหร่ มันยากต่อการควบคุมตรงนั้น 

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้จ่าอูเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวันแรก

เราคิดว่าที่มันขยายได้ดีขนาดนี้ เพราะเรามีโซเชียลฯ เข้ามาช่วยเยอะขึ้น อย่างเช่น มียูทูบเบอร์มาช่วยรีวิว มีดารามากิน คนจะตามเขามา แล้วพอตามมากินก็ติดใจโดนตกเป็นลูกค้าเรา (ยิ้ม)

ทุกวันนี้คุณพ่อเห็นกิจการเติบโตแล้วว่ายังไงบ้าง

ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่อยู่ที่แพร่ค่ะ ส่วนมากจะโทรหรืออาจจะแชตคุยกันบ้าง เราก็บอกเขาว่าตอนนี้หนูมาเปิดสาขาใหม่นะ เขาก็จะถามว่าแล้ววันแรกเป็นยังไงบ้าง ยอดวันแรกตกลงไหม เป็นยังไงบ้าง

ตอนนี้เขาก็ดีใจนะคะ คือพ่อกับแม่เขาเหนื่อยมามากแล้ว หนูคิดว่าเขาก็น่าจะภูมิใจแล้วแหละที่ร้านเรามันมาได้ไกลขนาดนี้ คือมันไกลมากๆ เลย จากที่ไม่เคยคิดว่าร้านเราจะมาได้ขนาดนี้ 

คุณคิดว่าทุกวันนี้ร้านประสบความสำเร็จหรือยัง

สำหรับเรา เราคิดว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ จากวันแรกที่เรารู้ว่าพ่อแม่เราขายได้บ้างไม่ได้บ้าง จนมาวันนี้ที่มีหลายสาขา มีคนรู้จักมากมาย คือเรามาไกลมากแบบมากจริงๆ สำหรับเรา เราว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็จะพยายามทำให้มันมากขึ้นไปกว่านี้อีก

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like