5 ผีไทยระดับตำนานกับการถูกหยิบมาสร้าง ‘ผลิตภัณฑ์มวลหลอน’ ทำเงิน

แม้จะต้องลำบากถ่างตาระหว่างสระผม ห่มผ้าคลุมโปงจนร้อนหงื่อตก หรือจะลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ  แต่นิสัยของคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังชื่นชอบในบรรยากาศชวนขนลุกขนพอง จากเรื่องราวลี้ลับของแขกไม่ได้รับเชิญยามวิกาล หรือที่เรียกสั้นๆ พยางค์เดียวว่า ‘ผี’

เรื่องราวของภูติผีนั้นมีมากมายทั่วโลก แต่ใครต่อใครยังคงยกให้ ‘ผีไทย’ ติดอันดับความน่ากลัวลำดับต้นเสมอมา ด้วยลีลาการหลอกสุดครีเอตบ้างก็แหวกอกโชว์เครื่องใน มีแต่หัวกับไส้ลอยได้ ขนาดความสูงยิ่งกว่าเสาไฟฟ้า กินเฉพาะของดิบของเน่า ผนวกกับความเชื่อเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่เดิมซึ่งถูกเล่าจากปากสู่ปาก เหล่านี้เสมือนวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่ทำให้ผีไทยโกยคะแนนความนิยมทิ้งห่างผีชาติอื่นๆ แทบไม่เห็นฝุ่น

ในแง่มุมธุรกิจ ผีไทยถูกนำมาใช้สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภายนตร์ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกชั้นเลิศ ยกตัวอย่างปี 2566 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยว่า หนังไทย 10 เรื่องที่ถูกฉายในไต้หวัน เป็นหนังผีไปแล้ว 5 เรื่อง หรือหากย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ก็เป็นหนังผีไทยที่กระแสร้อนแรง จนค่ายหนังฝั่งอเมริกันอย่าง 20th Century Fox ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ไปเพื่อสร้างฉบับรีเมค

หรือในยุคปัจจุบันที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ คือ The Ghost Radio ชาแนลเล่าเรื่องผี ของแจ็ค สายสิญจน์–วัชรพล ฝึกใจดี ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง จนมียอดผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน สามารถทำรายได้มากกว่า 77 ล้านบาท และยังต่อยอดสร้างคาเฟ่ธีมสยองขวัญอย่าง The Ghost House ย่าน RCA ในเวลาต่อมา

เหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผีไทยคือวัตถุดิบชั้นเลิศที่สามารถยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการประเภทต่างๆ ซึ่งมากกว่าแค่สื่อบันเทิง และยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคอลัมน์ Capital List จึงถือโอกาสเนื่องในเทศกาลฮาโลวีน รวบรวมผีไทยระดับตำนานทั้ง 5 ตน ที่ถูกปลุกมาใช้สร้างมูลค่าความหลอนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1. แม่นาก
มูลค่าความหลอน : 5 กะโหลก

แม่นาก นางนาก หรือแม่นากพระโขนง คือชื่อเรียกของผีตายทั้งกลมนางหนึ่ง ซึ่งมีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า เคยออกหลอกหลอนชาวบ้านไปทั่วคุ้งน้ำย่านพระโขนง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยจิตที่ยังยึดติดรอการกลับมาของนายมากผู้เป็นสามี จนสุดท้าย สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ได้สยบนางนาก ด้วยการสะกดในกะโหลกศีษะส่วนหน้าผาก หรือที่เรียกว่า ‘ปั้นเหน่ง’ พร้อมส่งนางนากไปสู่สุคติ

ตำนานของผีนางนากถูกนำมาใช้ในบทละครร้องเรื่อง ‘อีนากพระโขนง’ ในปี 2454 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จอเงินมากถึง 20 ครั้ง (และเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์และละครเวทีอีกนับครั้งไม่ถ้วน) แต่ครั้งที่ท็อปฟอร์มที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเวอร์ชั่น ‘พี่มาก..พระโขนง’ โดยค่าย GTH ในปี 2556 ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำสถิติกวาดรายได้ถึงหลักพันล้านบาท อีกทั้งยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงเพื่อฉายในประเทศอินโดนีเซีย ในชื่อเรื่องว่า Kang Mak (From Pee Mak) ในปี 2567

แต่หากสังเกตจะพบว่านอกจากความน่ากลัว ก็มีเรื่อง ‘ความรัก’ ที่ทำให้ผีแม่นากโด่งดัง ซึ่งแบรนด์น้ำหอมอย่าง Journal Boutique ได้หยิบตำนานความรักของแม่นากมานำเสนอผ่านน้ำหอมคอลเลกชั่นพิเศษ Thai Ghost Collection ในคอนเซปต์ ‘รักเธอแม้ตัวตาย ไม่เลือนหายแม้จากไป’ โดยผสมกลิ่นหอมละมุนจากดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นตัวแทนของความรัก และกลิ่นสดชื่นจากมะนาว ซึ่งเป็นอีสเตอร์เอ้กสื่อถึงฉากในตำนานอย่างแม่นากยืดมือเพื่อเก็บมะนาวใต้ถุนบ้าน

2. ปอบ 
มูลค่าความหลอน : 5 กะโหลก

ผีปอบ คือความเชื่อพื้นบ้านของภาคอีสาน ว่าด้วยผู้ลุ่มหลงในการใช้คาถาอาคมหรือคุณไสยด้านมืด แต่ไม่สามารถรักษาวิชาอาคมทั้งหลายที่มีอยู่จนเกิดอาการของย้อนกลับเข้าตัวและกลายเป็น ‘ปอบ’ วิญญาณสามานย์ที่ชอบสวาปามของดิบ ที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม และผู้ใดที่ถูกปอบสิงบั้นปลายก็จะถูกมันกินอวัยวะภายในจนตาย

ด้วยความเชื่อต่อๆ กันมาว่า ปอบมักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงมักถ่ายทอดผีตนดังกล่าวในรูปลักษณ์ยายแก่หรือหญิงสาว ลักษณะผมเผ้ารุงรัง ขอบตาดำ ชอบเก็บตัวมิดชิด ซึ่งกิมมิกที่ว่าช่วยทำให้ปอบดูน่ากลัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด ทั้งภาค 1 และ 2 ที่นำกิมมิกนี้มาใช้จนกวาดรายได้รวมกันเกินพันล้าน อีกทั้งยังคอลแล็บกับแบรนด์ ‘เสื้อตราห่านคู่’ ผลิตเสื้อผีธี่หยดในแบบลายการ์ตูนผีไทยสุดคลาสสิก 

แต่ก่อนที่ผีธี่หยดจะเฉิดฉาย ผีตัวแม่อย่าง ‘ปอบหยิบ’ เคยโลดแล่นครองจอเงินในแฟรนไชส์ ‘บ้านผีปอบ’ ยาวนานต่อเนื่องถึง 13 ภาค และเป็นคาแร็กเตอร์ที่สร้างชื่อให้กับนักแสดงอาวุโสอย่าง หน่อย–ณัฐนี สิทธิสมาน ขณะเดียวกันแฟรนไชส์บ้านผีปอบยังสร้างกิมมิก ‘หนีผีลงตุ่ม’ อันลือลั่น กลายเป็นภาพจำว่าถ้าจะหนีผีปอบก็ต้องหนีลงตุ่มนี่ล่ะ

ซึ่งกิมมิกหนีผีลงตุ่มนี้เองถูกนำมาใช้สร้างกาชาปองอาร์ตทอยธีม ‘ผีนานาชาติ’ ที่จำหน่ายในอีเวนต์ ‘พูด ผี-ปีศาจ (Ghost Talks)’  ซึ่งจัดโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กับกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยศาลาอันเต ที่ตลาดอาร์ตทอยในสวน (Art Toys Market in the Garden) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนปี 2566 โดยหน้าตาของอาร์ตทอยตัวที่ว่า ถูกนำเสนอในรูปแบบปอบยายแก่ที่กำลังคาบไก่อยู่ภายในตุ่ม ซึ่งเป็นการหยิบภาพจำของปอบมานำเสนอในรูปแบบน่ารักเพื่อสร้างมูลค่า และยังมีคาแร็กเตอร์โดดเด่นไม่แพ้ผีจากชาติอื่นอีกด้วย

3. กระสือ 
มูลค่าความหลอน : 4 กะโหลก

“กระสือกลางวันมันเป็นหญิง มีทุกสิ่งธรรมด๊าธรรมดา”

เด็กยุค 80-90s น่าจะรู้จักผีกระสือผ่านเพลงข้างต้น ซึ่งร้องโดย นิภา สงวนรักษ์ โดยเพลงดังกล่าวถูกนำมาประกอบใช้ในละครโทรทัศน์เรื่อง กระสือ ที่ออกฉายในปี 2520 ซึ่งอธิบายลักษณะของผีตนนี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะตัวที่มีแค่หัวกับไส้ ลอยไปลอยมาในเวลากลางคืนเพื่อหาของเน่ากิน ก่อนจะลอยกลับเข้าร่างเพื่อใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ปกติยามรุ่งสาง

แม้จะไร้บันทึกที่แน่ชัดว่าความเชื่อเรื่องผีกระสือเริ่มขึ้นตอนไหน แต่ลักษณะที่แปลกแหวกขนบอนาโตมี่ก็มากพอที่จะทำให้ผีตนนี้ถูกนำไปใช้สร้างมูลค่านับครั้งไม่ถ้วน ที่แน่ๆ คือในรูปแบบภาพยนตร์ที่ถูกสร้างทั้งหมด 8 ครั้ง โดยเวอร์ชั่นปี 2516 ที่นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์ คือเวอร์ชั่นที่ทำให้เด็กยุคนั้นแทบไม่กล้าออกจากบ้านตอนกลางคืน หรือในเวอร์ชั่น ‘แสงกระสือ’ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายความเป็นหนังไซไฟ หรือในรูปแบบนิยายสุดคาลสสิกก็มีให้เห็น

อย่างที่บอกว่ากระสือมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เหล่าคนหัวใสจึงมักใช้ผีตนนี้สร้างมูลค่าในแบบที่คาดไม่ถึง ยกตัวอย่างในรายของ ‘อนุชา โลภา หรือบอสชา’ ชายชาวขอนแก่น เจ้าของเพจไลฟ์ขายของแบรนด์เนมมือสอง ที่ตัดสินใจแปลงกายเป็นกระสือไลฟ์ขายของ ท่ามกลางบรรยากาศวังเวงยามค่ำคืน จนใครต่อใครที่เปิดเข้ามาในไลฟ์ต้องหยุดดูกันยาวๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เผลอเอฟสินค้า ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการไลฟ์ขายของ ณ เวลานั้นเป็นอย่างมาก 

ภายหลังจากการไลฟ์ครั้งแรก ทำให้อนุชามีผู้ติดตามมากถึง 7 แสนราย และสามารถต่อยอดเป็นผู้รับจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมือสองจากประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ โกดังกระสือ มือ 2 ญี่ปุ่น เรียกว่าสร้างทั้งรายได้ สร้างทั้งชื่อไปพร้อมกัน

4. เปรต 
มูลค่าความหลอน : 3 กะโหลก

ความเชื่อในศาสนาพุทธที่ถูกสอนต่อๆ กันมา คือใครที่ทำร้ายบุพการีตายไปจะต้องกลายเป็น ‘เปรต’ อสูรกายในนรกอเวจี ที่มีรูปลักษณ์สูงเท่าต้นตาล มือใหญ่เท่าใบลาน และปากเท่ารูเข็ม ร้องหวีดยามค่ำคืนเพื่อขอส่วนบุญด้วยความหิวโหย

เห็นแบบนี้ใครก็ไม่อยากเป็นเปรต ยิ่งละครโทรทัศเรื่อง ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ซึ่งเคยออกฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อปี 2546 ตอกย้ำความเชื่อว่า คนที่ตายกลายเป็นเปรตมีความทุกข์ทรมานมากมายแสนสาหัสยิ่งทำให้เด็กๆ เกิดความเกรงกลัวไปกันใหญ่ แต่ด้วยคาแร็กเตอร์โดดเด่นพอๆ กับความสูงที่มี ทำให้คาแร็กเตอร์เปรตถูกนำไปต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่นที่เกมผีสัญชาติไทย Home Sweet Home ที่แม้จะออกมาวับๆ แวมๆ กว่าจะออกมาทั้งตัวก็ช่วงท้ายเกม ในฐานะบอสประจำด่าน แต่ก็มากพอที่จะทำให้เปรตในเกมดังกล่าวเป็นคาแร็กเตอร์น่าจดจำ 

นอกจากเกมแล้ว เปรตยังจะได้ปรากฏกายในภาพยนตร์เรื่อง Home Sweet Home Rebirth ซึ่งจะออกฉายในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยแฟนๆ ที่ได้ชมทีเซอร์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผีเปรตอะไร เท่ชะมัด! 

5. กุมารทอง
มูลค่าความหลอน : 3 กะโหลก

สุดท้ายกับน้องเล็กอย่างกุมารทอง ซึ่งถูกยกให้เป็นของขลังทำเงินชั้นดีของบรรดาเกจิอาจารย์ผู้มากวิชา โดยกุมารทองมักมีลักษณะเป็นหุ่นปั้นเด็กผู้ชายผมจุก ภายในบรรจุวิญญาณเด็กตายทั้งกลม มีคุณแก่ผู้บูชาในการให้โชคลาภ และป้องกันจากภัยอันตรายต่างๆ อย่างในนิยายไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีการพูดถึงกุมารทอง ซึ่งเกิดจากการนำลูกในท้องของนางบัวคลี่ หนึ่งในภรรยาของขุนแผน มาปลุกเสกตามพิธีโบราณ และกลายเป็นของขลังติดตัวขุนแผนไว้ในทำภารกิจต่างๆ

จากกุมารทองบูชาด้วยน้ำแดงได้วิวัฒนาการกลายเป็น ‘ตุ๊กตาลูกเทพ’ ที่ฟีเวอร์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในช่วงปี 2558  และเปลี่ยนวิธีการบูชาจากไหว้บนหิ้งมาเป็นพกติดตัวเลี้ยงประดุจลูกคนหนึ่ง โดยลูกเทพหนึ่งตัวสนนราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

กระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสกุมารทองได้ถูกปัดฝุ่นนำมาเล่าใหม่กลายเป็นตำนาน ‘ไอ้ไข่แห่งวัดเจดีย์’  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลฉลอง อำเภอสิชล นครศรีธรรมราช ชุมชนโพธิ์เสด็จ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ไอ้ไข่คือผีเด็กที่หลวงปู่ทวดเลี้ยงไว้ และเมื่อเดินทางมาถึงชุมชนโพธิ์หลวงปู่ทวดพบว่า สถานที่แห่งนี้มีศาสนาสถานและสมบัติต่างๆ อยู่มาก จึงทิ้งไอ้ไข่ไว้ปกปักดูแลสถานที่ 

นานวันเข้าตำนานดังกล่าวถูกเล่าปากต่อปาก จนสุดท้ายกลายเป็นสถานที่สายมูดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศให้มาไหว้ขอพรกับไอ้ไข่ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชมากมายมหาศาลในฐานะแลนด์มาร์กสำคัญ ไม่นับรวมบรรดาเครื่องรางของขลังของไอ้ไข่ที่แขกเหรื่อต้องซื้อกลับไปบูชา

ถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นการสร้างมูลค่าของผีไทย ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัย จากเรื่องเล่าเป็นบันทึก จากบันทึกเป็นหนังสือ จากหนังสือเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ จากภาพยนตร์และละครโทรทัศน์กลายเป็นสินค้าหรือบริการสุดหลอนอีกมายมาย สร้างเงินสร้างอาชีพอีกไม่รู้จบ เพราะตราบใดที่ผู้คนยังนิยมเรื่องราวลี้ลับ บรรดาผีเหล่านี้ก็จะยังวนเวียนให้เห็น เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหน สุดแล้วไอเดียจะครีเอต และยังมีผีไทยอีกมากที่รอวันเปิดโลงออกมาทำเงินในอนาคต

อ้างอิง

จากอดีตรองเท้าฮิปปี้ที่คนอี๋ Birkenstock ทำยังไงให้กลายเป็นของที่ต้องมีและอยู่มาได้ 250 ปี

เชื่อเถอะว่าในตู้รองเท้าของคนดัง โดยเฉพาะฟากฝั่งตะวันตกที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นจะต้องมีรองเท้าแตะสัญชาติเยอรมันแบรนด์หนึ่งติดไว้สักคู่ เพราะนอกจากความสบายเท้าก็ยังทำให้ผู้ที่สวมใส่ดูคูล เท่ เก๋แบบไม่ต้องพยายาม

เสมือนว่าตื่นมาก็เท่แบบนี้เลย

รองเท้าที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้นมีนามว่า Birkenstock แบรนด์รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าด้านในหรือ insole เป็นเอกลักษณ์ ด้วยวัสดุหลักเป็นไม้ก๊อกซึ่งแม้แรกสวมใส่อาจรู้สึกไม่เข้ารูป แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับยืดหยุ่นไปตามเท้าผู้สวมใส่คล้ายว่ารองเท้าคู่นั้นเกิดมาเพื่อฉันคนเดียว

แม้ปัจจุบัน Birkenstock จะกลายเป็นรองเท้าที่วงการแฟชั่นคลั่งไคล้ แต่เชื่อไหมว่ากว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ผู้สืบทอดแบรนด์แต่ละรุ่นต้องเจอกับความล้มเหลวและการปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง แต่เพราะมุ่งมั่นที่จะผลิตรองเท้าที่ทำให้คนได้เดินอย่างที่ควรจะเป็น ปัจจุบัน Birkenstock ติดท็อป 5 ของแบรนด์รองเท้าระดับโลก มีพนักงานมากที่สุดในโรงงานผลิตรองเท้าของเยอรมัน และมีพนักงานกว่า 6200 คนทั่วโลก 86% ของผู้ซื้อ Birkenstock กลายเป็น loyalty customer ที่ต้องการกลับมาซื้อซ้ำ รูปลักษณ์ยังโดนใจคนทุกกลุ่ม ด้วยสัดส่วนมิลเลนเนียล 31%, เบบี้บูมเมอร์ 30%, เจนฯ X 27% และเจนฯ Z 12% ความน่าสนใจคือแม้ฐานลูกค้าของแบรนด์จะเป็นผู้หญิงกว่า 72% แต่ชัดเจนว่า Birkenstock ดึงดูดคนทุกเพศทุกวัย

ในปี 2024 ที่แบรนด์รองเท้าที่ครั้งหนึ่งถูกบอยคอต ขายคนทั่วไปก็มีแต่คนอี๋ และเคยเป็นรองเท้าที่มีภาพลักษณ์กบฏเดินทางมาถึงปีที่ 250 นี้ Capital ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักแบรนด์อย่างลงลึก ล้วงเคล็ดลับวิธีทำรองเท้าให้ถูกใจพร้อมๆ กับทำธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

1. ความคราฟต์ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น  

นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในปี 1774 บรรพบุรุษของ Birkenstock ปักหมุดอยู่ที่ชนบทของประเทศเยอรมนี ชายผู้นั้นคือ Johannes Birkenstock ช่างทำรองเท้าระดับปรมาจารย์ 

ด้วยชนบทสมัยก่อนผู้คนยากไร้ไม่มีจะกิน รองเท้าถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น หลักการทำรองเท้าในสมัยแรกเริ่มจึงคือการคราฟต์ด้วยมือให้ได้รองเท้าที่แข็งแรงทนทาน หากพังก็อาศัยการซ่อมแซม หาใช่โยนทิ้งแล้วซื้อคู่ใหม่เช่นสมัยนี้ 

นั่นเองที่ส่งผลให้ช่างทำรองเท้าและช่างซ่อมรองเท้ามีบทบาทสำคัญไม่น้อย และความคราฟต์นี้เองที่เป็นหลักสำคัญของแบรนด์ที่ส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งยังมีผลต่อการทำการตลาดของแบรนด์จนปัจจุบัน  

2. เอกลักษณ์คือ Fussbett แผ่นไม้ก๊อกตัวดัง 

ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 หลานชายอย่าง Konrad Birkenstock หลงใหลเรื่องกายวิภาคศาสตร์และพยายามนำความรู้นั้นมาปรับใช้กับการออกแบบรองเท้าให้สวมใส่สบายที่สุด

ในปี 1897 นั้นเองที่เขาได้ผลิตทรงรองเท้าที่มีรูปทรงตามหลักสรีรศาสตร์ขึ้นมา ก่อนที่ในปี 1902 จะผลิตพื้นรองเท้าชั้นใน (insole) ที่มีรูปทรงตามเท้าของมนุษย์ แต่ขอบอกก่อนว่าความเชื่อด้านการรักษาเท้าตอนนั้นคือการยึดเท้าให้อยู่กับที่ แผ่นรองเท้าในสมัยนั้นจึงผลิตจากโลหะ 

เพราะชอบคิดต่างและเชื่อว่าเท้าของมนุษย์ควรเคลื่อนไหวอย่างอิสระนี้เอง คอนราดจึงทดลองอยู่นานเพื่อให้ได้ insole ที่ยืดหยุ่น เป็นที่มาของแผ่นรองเท้าในตำนานของ Birkenstock ที่เรียกกันว่า Fussbett หรือ Footbed 

เจ้าแผ่นรองเท้านี้มีส่วนผสมของไม้ก๊อกเป็นหลัก ด้วยไม้ก๊อกมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้แผ่นรองเท้าปรับเข้ากับรูปเท้าของผู้ใส่ได้ดี ทั้งยังมีรูพรุน ช่วยให้เท้าระบายอากาศได้ ที่สำคัญคือทนทานต่อการสึกหรอ 

3.  การตลาดรองเท้าเพื่อสุขภาพ  

ในช่วงแรกแนวคิดของเขาไม่ได้รับการยอมรับ แต่คอนราดก็เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อบรรยายเทคนิคการทำรองเท้าให้สอดคล้องกับสรีรศาสตร์ซึ่งเรียกว่า Birkenstock System ต่อมาคาร์ลลูกชายของคอนราดได้เปิดขายพื้นรองเท้านี้ให้กับผู้ที่ผ่านหลักสูตรการทำรองเท้าและคนขายรองเท้าเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่า Birkenstock System ต้องปรับใช้อย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่แม้เขาจะรวบรวมคนที่ผ่านหลักสูตรได้กว่า 6,000 คน การผลิตรองเท้าขายในระดับแมสก็ยังยากเกินไป โชคดีที่คาร์ล ลูกชายของเขาหาค่าเฉลี่ยของเท้าทั้งหมดที่วัดได้แล้วจึงผลิต ‘Fussbett’ ตัวมาตรฐานขึ้นมา ก่อนที่ในปี 1963 รองเท้า Birkenstock รุ่นแรกอย่าง Madrid ออกสู่สายตาชาวโลก

brand positioning ในตอนแรกที่ตั้งใจคือการเป็นรองเท้าสุดจี๊ดสุดเก๋ แต่ด้วยกระแสนิยมในสมัยนั้น เขากลับล้มเหลวไม่เป็นท่าหลังจากเปิดตัวที่งานแสดงสินค้ารองเท้าในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ตอนนั้นเองที่เขาตัดสินใจโบกลาความแฟชั่น มาเอาดีด้านสุขภาพ

เขาให้แพทย์เป็นหุ้นส่วนในการสื่อสาร ปรินต์โบรชัวร์ที่อธิบายว่าทำไมรองเท้าแตะคู่นี้ถึงดีต่อเท้า จนมีออร์เดอร์เข้ามามากมาย โดยเฉพาะจากบุคลากรทางการแพทย์ ไม่น่าเชื่อว่าสมญานามรองเท้าที่คนเก๋ต้องมีติดบ้านในปัจจุบัน จะเคยเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพมาก่อน

4. ภาพจำรองเท้าของสายฮิปปี้ ที่คนทั่วไปร้องอี๋

จุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ทำให้ภาพจำของแบรนด์แหวกออกไป คือในปี 1966 Margot Fraser ดีไซเนอร์สาวชาวเยอรมันที่เดินทางกลับมาบ้านเกิดได้ลองใช้มาดริดแล้วติดใจ เพราะมันช่วยให้เท้าของเธอที่ปวดมานานหายดีเป็นปลิดทิ้ง 

เธอหมายมั่นปั้นมือว่าเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านในซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เธอจะต้องเป็นตัวแทนขายของแบรนด์ให้ได้เพื่อเผยแพร่รองเท้าที่ดีขนาดนี้ไปสู่ผู้คนในดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่เส้นทางจากเยอรมนีสู่อเมริกาไม่ง่าย 

แรกเริ่มลูกค้าชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่ารองเท้าแบรนด์นี้ไม่สวยเอาซะเลย แต่เฟรเซอร์ไม่ยอมแพ้ เธอเริ่มทำการตลาดรองเท้าให้กับร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพที่เหล่าฮิปปี้นิยมไปทานกัน อธิบายให้เข้าใจ ฮิปปี้คือกลุ่มคนที่แต่งกาย มีความเชื่อ และใช้ชีวิตแตกต่างจากสังคมหรือค่านิยมในสมัยนั้น หรือคือเหล่าฮิปสเตอร์ที่เราเรียกๆ กันนั่นล่ะ

ตอนนั้นเองที่ลูกค้าหลักในสหรัฐอเมริกาคือกลุ่มฮิปสเตอร์ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และเน้นการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ตามกระแส นอกจากนั้น ฮิปปี้หลายคนยังเน้นการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ รองเท้าไม้ก๊อกของ Birkenstock จึงตอบโจทย์สุดๆ 

5. สารพัดรุ่นที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 ผู้คนเริ่มมีเวลานอนชิลล์ๆ อยู่บ้านมากขึ้น รองเท้าที่ใส่สบายอย่าง Birkenstock จึงเริ่มได้รับความสนใจ แต่ด้วย pain point ที่ว่าสมัยก่อนการใส่รองเท้าเปิดหน้าเท้าเป็นเรื่องประหลาดไปสักหน่อย โดยเฉพาะผู้ชายที่ส่วนมากจะใส่รองเท้าที่หุ้มปิดมิดชิด รุ่น Zürich ที่มีทรงหน้าเท้ากว้างและมีส่วนหุ้มช่วงหน้าเท้าจึงเกิดขึ้น และถือเป็นรุ่นที่ถูกใจทั้งผู้สูงอายุ และคนที่ขับรถยนต์สัญจรไปมา

ต่อมาในปี 1973 BIRKENSTOCK รุ่น Arizona ก็เกิดขึ้น และตั้งแต่รุ่นนี้ออกวางขาย ก็กลายเป็นรุ่นขายดีของแบรนด์ไปโดยปริยาย ทั้ง Steve Jobs, Leonardo DiCaprio, Julia Roberts, Charlize Theron, Gigi Hadid ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นเจ้าของรุ่นยอดฮิตนี้

หลังจากนั้นรองเท้ารุ่นต่างๆ ของ Birkenstock ก็ออกวางขายเรื่อยๆ และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ส่วนรุ่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือรุ่นปี 2015 อย่างรองเท้าแตะ EVA ด้วยผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ จึงน้ำหนักเบาและกันน้ำ ทำให้ขายได้ในราคาที่ถูกลงครึ่งหนึ่ง

รองเท้าสารพัดรุ่นที่ออกมาตอบโจทย์คนเรื่อยๆ นี้เองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แบรนด์ครองใจแฟนคลับได้ เพราะ Birkenstock กล่าวว่าโดยเฉลี่ยคนที่ใส่ Birkenstock จะมีรองเท้า Birkenstock 3.6 คู่ เรียกว่าถ้าชอบก็ชอบจริงๆ และมีหลายรุ่น หลายสี

แม้มีหลากหลายรุ่น แต่จุดร่วมของ Birkenstock ในแต่ละรุ่นทำให้ผู้คนติดใจ จากงานวิจัย UNDERSTANDING BIRKENSTOCK FOOTWEAR: A LADDERING STUDY โดย ชัชวาล เกษมรุ่ง พบว่านอกจากรองเท้าจะสวมใส่สบายแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจซื้อ Birkenstock รองเท้าแตะราคาหลักครึ่งหมื่นนั้นมาจากปัจจัยหลายแบบ

ทั้งดีไซน์ที่ใส่ได้ทั้งในวันสบายๆ และวันที่ต้องการลุคแบบ business casual ทั้งยังให้ลุคเก๋ เท่แบบไม่ต้องพยายาม เรียกว่าในวันที่ยุ่งอยู่แล้ว การเลือกใส่รองเท้าที่เรียบง่าย เข้าได้กับทุกชุดช่วยประหยัดเวลาแมตช์ลุคในตอนเช้าได้

6. แฟชั่นไอคอนแห่งยุค ของที่คนเก๋ต้องมี และ collaboration marketing

ถ้าการนำรองเท้าไปขายในอเมริกาของเฟรเซอร์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เหตุการณ์ต่อไปนี้อาจเรียกว่าคือจุดระเบิดที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในอีกภาพจำและส่งผลมาถึงปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากที่ Kate Moss นางแบบวัย 16 ปีในขณะนั้นใส่ Birkenstock ถ่ายแบบลงนิตยสาร The Face และบนรันเวย์แฟชั่นโชว์ของ Perry Ellis ในปี 1993 ก็ทำให้แบรนด์เป็นจุดสนใจขึ้นมา  

โบราณว่าไว้ น้ำขึ้นให้รีบตัก เมื่อแบรนด์เริ่มได้รับความสนใจในแวดวงแฟชั่น จากแต่เดิมที่แบรนด์ไม่เคยให้คนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องดีไซน์ ก็ได้เชิญ Marc Jacobs มาเป็นผู้ออกแบบให้แบรนด์ หลังจากนั้น Birkenstock ก็เปิดตัวว่าร่วมงานกับโมเดล Heidi Klum  

จุดเปลี่ยนอีกครั้ง คือในปี 2013 เมื่อ Phoebe Philo อดีตดีไซเนอร์ของ Celine ได้ทำรองเท้าติดขนมิงก์ที่ได้แรงบันดาลใจจากทรงรองเท้า Birkenstock รุ่น Arizona จนคนเรียกว่า Furkenstocks นั่นเองที่ทำให้ Birkenstock ได้รับผลดีไปด้วย และตัดสินใจร่วมงานกับกลุ่มและแบรนด์หรูยักษ์ใหญ่อย่าง Valentino, Proenza Schouler, Dior และ Manolo Blahnik

แม้การร่วมงานกับแบรนด์ดังจะทำให้แบรนด์มีแฟนๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังทำให้ Birkenstock ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายคือความทนทานและความสบายอันเป็นคีย์สำคัญ เสริมเพิ่มเติมไปกว่านั้นคือแบรนด์รู้จักที่จะคอลแล็บกับสารพัดแบรนด์และสารพัดคนดังมากขึ้นจนกลายเป็นอีกต้นแบบแบรนด์ที่คอลแล็บจนได้ดี

7. จากสงครามพี่น้องสู่การปรับโครงสร้างเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว  

หลังจากที่ Karl Birkenstock เกษียณจากบริษัทในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ลูกๆ ทั้งสามคนก็เข้ามาบริหารแทน แต่ทั้งสามคนกลับมีแนวทางความคิดที่แตกต่างกัน 

ในปี 2013 จากที่บริษัทมีบริษัทย่อยกว่า 38 แห่งก็ได้ปรับโครงสร้างใหม่และจัดตั้งกลุ่มบริษัทกลุ่มเดียวคือ Birkenstock Group จากนั้นให้ Oliver Reichert เข้ารับตำแหน่งแทน

คีย์สำคัญของการปรับโครงสร้างคือการทำให้ภาพของแบรนด์แข็งแรงขึ้น เพื่อให้สารสำคัญที่ว่า Birkenstock ยืนหยัดเพื่อความสบาย การเป็นตัวของตัวเอง และการส่งเสริมให้คนได้เดินตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

8. ยอดขายที่มาพร้อมกลยุทธ์ Omnichannel

การเข้ามาของ Reichart ทำให้ยอดขายเติบโตอย่างมาก ที่สำคัญราคารองเท้าก็ยิ่งทวีคูณขึ้น จากรองเท้าเพื่อสุขภาพธรรมดาๆ กลายเป็นรองเท้าลักชูรีที่มีขายในห้างหรู ทั้งยังหันไปขายตรงกับลูกค้า มากกว่าการขายกับร้านค้าปลีก

ในปี 2015 แบรนด์ก่อตั้ง Birkenstock digital GmbH ขึ้นเพื่อลุยช่องทางขายออนไลน์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเว็บไซต์ใหม่ แอพฯ มือถือ และคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ต่างๆ การลงทุนนี้ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าเมื่อปี 2020 ยอดขายออนไลน์ของแบรนด์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดขายที่สูงขึ้นนี้มาพร้อมกับการออกแบบประสบการณ์การซื้อที่ดี เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใช้งานง่าย มีบริการจัดส่งฟรีและการคืนสินค้า 

ถึงอย่างนั้นแบรนด์ยังคงให้ความสำคัญกับหน้าร้านเพราะทำให้ลูกค้าเข้าถึงรองเท้าได้ดีกว่า ลองไซส์และสีได้ง่ายกว่า ถือเป็นการขายของที่คิดมาหลายแง่มุม ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ

9. การมาถึงของโควิด-19 และการเติบโตแบบฉุดไม่อยู่

เช่นเดียวกับหลายๆ แบรนด์ Birkenstock เติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 เพราะทำให้ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น ยิ่งอยู่บ้านมากขึ้นก็อยากได้ของที่สบายมากขึ้น ผู้คนต้องการรองเท้ารุ่น Arizona ส่วน Boston ก็ได้รับความสนใจอีกครั้งจากการที่ Kendall Jenner, Kaia Gerber, Zoë Kravitz และ Gigi Hadid เลือกใส่ 

ยอดขายแบบฉุดไม่อยู่นี้ทำให้ LVMH เข้าซื้อกิจการในปี 2021 ทั้งในปี 2023 Birkenstock ยังเปิดตัว IPO ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งแม้จะมีมูลค่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่ก็สะท้อนถึงการขยับขยายบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น

แม้ Birkenstock จะขยับจากบริษัทครอบครัวมาสู่ไซส์ที่ใหญ่ขึ้น มีความเป็นนายทุนมากกว่าพ่อลูกดูแลกันเอง แต่การที่แบรนด์ยังได้รับความนิยมอยู่นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะความคราฟต์ที่ยังฝังแน่น ความดีงามของสินค้าที่คนบอกกันปากต่อปาก และกลยุทธ์การขายที่เข้าใจลูกค้าโดยแท้จริงทำให้ Birkenstock จับกลุ่มลูกค้าได้ทั้งคนที่รักสุขภาพ และคนที่ต้องการภาพลักษณ์ที่ดีนั่นเอง

อ้างอิง

สุเมธ ยอดแก้ว แห่ง Minimal Records ผู้ฝันเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีเชียงใหม่ด้วยการจัด LABBfest.

สิบกว่าปีที่ผ่านมาวงการเพลงอินดี้บ้านเราได้ต้อนรับผลงานเพลงจากวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่พลัดกันผลิตผลงานออกมาอยู่บนส่วนยอดของชาร์ตเพลงอย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน

ศิลปินอย่าง Solitude is Bliss, Ska Rangers ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น POLYCAT, electric.neon.lamp, NAP A LEAN, Derdamissyou, Yonlapa, Harmonica Sunrise, Boy Imagine, Migrate to the Ocean, สภาพสุภาพ, Sustainer, Vega, อินธนูและพู่ถุงเท้า ฯลฯ กลายเป็นชื่อที่อยู่ในความจดจำของแฟนเพลง

เพลงจำนวนมากจากศิลปินเชียงใหม่ที่ผลัดกันขึ้นมาอยู่บนชาร์ตเพลงไทยเหล่านี้ เปรียบคล้ายกับปรากฏการณ์ The British Invasion ในช่วงปี 1960 ที่ผลงานเพลงของศิลปินจากเกาะอังกฤษพากันข้ามทะเลขึ้นบกมาเป็นที่นิยมในแผ่นดินอเมริกา

นี่ก็คือ The Northern Invasion ของวงการเพลงไทย

ปรากฏการณ์นี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นโดยมีจุดกำเนิดสำคัญหนึ่งอยู่ที่ร้านบาร์ผสมแกลเลอรีและค่ายเพลงเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อว่า minimal โดยมี เมธ–สุเมธ ยอดแก้ว ชายผู้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่คอยช่วยสนับสนุนศิลปินเชียงใหม่ได้ผลิตผลงานคุณภาพออกมา

4 ปีที่ผ่านมานี้เมธยังเข้ามารับผิดชอบในอีกบทบาทกับการเป็นผู้จัดเทศกาลดนตรี LABBfest. งาน International Music Showcase ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง CEA (Creative Economy Agency), และเครือข่ายคนในวงการดนตรี เพื่อจัดงานที่สามารถรวบรวมคนจากอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วทั้งโลกมาไว้ภายในงาน และให้ LABBfest. เป็นเหมือนประตูที่เชื่อมโอกาสให้กับวงดนตรีจากไทยได้ไปแสดงงานที่ต่างประเทศ 

จากความความสำเร็จอย่างมากที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน LABBfest. กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ และมีการขยายโอกาสและรวบรวมเครือข่ายอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลกให้มาร่วมจำนวนมากกว่าขึ้น

ตลอด 17 ปีที่เมธเคลื่อนไหวในแวดวงดนตรีภายใต้นาม Minimal ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีจำนวนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาทำตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการดนตรีของไทยไปไม่มากก็น้อย 

เราเชื่อว่าเรื่องราวของเมธ มุมมอง ความคิด และบทบาทของเขาต่อวงการดนตรีตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันจะเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อนักดนตรี คนที่สนใจในอุตสาหกรรมดนตรี รวมถึงแฟนเพลงไทยทุกคน

ตามเราขึ้นเหนือมาที่จังหวัดเชียงใหม่ และฟังเรื่องราวของเมธไปด้วยกัน

กำเนิด Minimal

เราเดินทางมากันที่ย่านสันติธรรมในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบันของบาร์และค่ายเพลง Minimal โดยมีเมธยืนคอยให้บริการอยู่ด้านหลังบาร์คอยเสิร์ฟทั้งเครื่องดื่ม ให้คำปรึกษา และพูดคุยเฮฮา กับนักดนตรีและนักฟังเพลงที่เข้ามา

เมธเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเขาภายหลังจากรินเครื่องดื่มเป็นของแกล้มการสนทนา

มินิมอลแต่แรกเกิดขึ้นมาจากความคิดร่วมกันกับเพื่อนๆ ว่าอยากจะหาร้านนั่งดื่มเงียบๆ กินกันในหมู่เพื่อนฝูง เพราะย้อนไปสมัยนั้นมันมีแต่ร้านผับแข่งกันเสียงดัง ก็เลยพากันขับรถไปหาที่เช่า แล้วก็มาได้ที่ตรงนิมมานเหมินทร์ซอย 13 คือสมัยก่อนนิมมานฯ ยังไม่ดังและมีราคาแพงแบบทุกวันนี้ ตรงที่เราเช่ามันจะเป็นซอยที่เงียบๆ ค่าเช่าก็ไม่แพง ก็เลยตัดสินใจทำร้านที่ตรงนี้เป็นที่แรก เช่าเสร็จอีกเดือนก็เปิดเลยแบบงงๆ วางคอนเซปต์คร่าวๆ กันไว้ว่าเป็นบาร์และแกลเลอรีละกัน เบียร์ที่ขายก็ขายแบบขวดเล็กนะ อย่าไปกินขวดใหญ่มันไม่เท่ (หัวเราะ) ก็เลยเกิดเป็น minimal gallery & bar

“ทีนี้ด้วยความที่เพื่อนฝูงเราส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มนักดนตรี คนทำงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ตัวร้านก็เลยเป็นเหมือนศูนย์รวม เป็นที่แฮงเอาต์ให้ได้มานั่งพูดคุยกันทุกคืน แล้วจู่ๆ ตอนปี 2551 คลื่น Fat Radio ก็ประกาศว่าจะมาจัดคอนเสิร์ต Fat Festival 8 ‘โชว์เหนือ’ ซึ่งจัดที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก พวกเราชาวนักดนตรีก็คุยกันว่าอยากจะทำอัลบั้มไปวางขายในงาน ในเมื่อแฟตมาจัดที่เชียงใหม่นักดนตรีเชียงใหม่มันก็ต้องโชว์ของกันหน่อยสิวะ (หัวเราะ) ก็เลยชวนนักดนตรีต่างๆ มาทำเพลงกันแล้วรวมเป็นอัลบั้ม ชื่อ No Signal Input 2 (2551)”

No Signal Input กลุ่มพี่น้องนักดนตรี
ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้ซีนดนตรีเชียงใหม่มีสีสัน

No Signal Input คือชื่อของโปรเจกต์และกลุ่มนักดนตรีเชียงใหม่ ที่เริ่มต้นมาจากกลุ่มพี่น้องนักดนตรีในชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อยากรวบรวมผลงานเพลงของแต่ละคนมาทำเป็นอัลบั้ม และเกิดเป็นอัลบั้มแรก No Signal Input 1 ในปี 2546 และต่อมาเมื่อ Fat Festival เทศกาลคอนเสิร์ตของคลื่นวิทยุเพลงทางเลือก Fat Radio มาจัดที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก พวกเขาก็รวบรวมผลงานมาจัดทำเป็นอัลบั้มอีกครั้งเพื่อนำไปเผยแพร่และวางขายภายในงาน จนเกิดเป็นอัลบั้ม No Signal Input 2

“หลังจบจากงาน Fat Festival ครั้งนั้นไป กลุ่มนักดนตรีก็เริ่มจะมาประชุมกันที่ร้านมินิมอลกันทุกๆ สัปดาห์ ก็กลายเป็นฐานบัญชาการไป คือพอพวกเราได้ปัดฝุ่นทำเพลงมาขายกัน มันก็เริ่มสนุก ก็มาคุยกันว่าจะทำยังไงกันต่อดี ตอนนั้นพี่โหน่ง (สมชาย ขันอาสา) เจ้าของ HIP Magazine (นิตยสารแจกฟรีในเชียงใหม่) ก็มาชวนกลุ่ม No Signal Input ให้ไปเล่นที่ร้าน Khan A Sa ของเขา เป็นที่แรก ทำให้พวกเราได้มีที่สำหรับเล่นเพลงของตัวเอง และก็ค่อยๆ มีที่อื่นๆ ชวนตามมา

“หลังจากนั้นแต่ละวงก็เริ่มมีผลงานเพลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการตั้งกติกากันในกลุ่ม No Signal Input ว่า เวลาไปเล่นที่ไหนจะต้องมีเพลงใหม่ ดีไม่ดีไม่รู้ ถ้าไม่เล่นมึงโดนปรับเป็นค่าเบียร์นะ (หัวเราะ) แล้วก็ให้เพื่อนๆ ที่ไปตามเชียร์ตามดูการแสดงคอยช่วยกันคอมเมนต์ แล้วมาปรับกันให้ดีขึ้น พอมีเพลงเยอะขึ้นก็เลยชวนกันทำอัลบั้ม No Signal Input 2.2 (2551)

“ที่เป็นเลข 2.2 เพราะในกลุ่มตกลงกันไว้ว่า No Signal Input จะทำกันเป็นรุ่นๆ แล้วทีนี้มันดันเป็นชื่อวงเดิมที่เคยทำมาแล้ว ก็เลยคิดกันว่างั้นเป็น 2.2 ละกัน และต่อมาก็เกิดไอเดียจัดงานรับสมัครคัดเลือกหาวงดนตรีจากเชียงใหม่ที่มีผลงานเพลงของตนเองให้มาเข้าร่วมกลุ่มเป็น No Signal Input ในแต่ละปี ก็เลยเกิดเป็น No Signal Input รุ่น 3 4 5 กันต่อมาเรื่อยๆ”

การเกิดขึ้นของกลุ่ม No Signal Input ที่ขยายรับสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำให้กลุ่มนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่มีความแน่นแฟ้น และคอยช่วยเหลือสนับสนุนการทำผลงานเพลงของแต่ละวงออกมา เป็นช่วงเวลาที่วงดนตรีอินดี้จากเชียงใหม่เบ่งบานที่สุด 

No Signal Input นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้โอกาสวงดนตรีหลายวงจากเชียงใหม่ได้แสดงผลงานเพลงของตนเอง และต่อมาก็มีชื่อเสียงโด่งดังมีแฟนเพลงจำนวนมากถึงปัจจุบัน เช่น Ska Rangers ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อและโด่งดังอย่างมากในนาม POLYCAT, Solitude is Bliss, Derdamissyou, Harmonica Sunrise, Migrate to the Ocean, อินธนูและพู่ถุงเท้า, มัชฌิมา, Sirimongkol, สภาพสุภาพ, Vega, Vels, สหายเขียว, สมปอง, Echo Resort และอีกจำนวนมาก

Minimal Records
ค่ายเพลงที่ทำให้วงดนตรีเชียงใหม่ได้ทำอัลบั้มที่บ้านเกิดของตนเอง

เมธเล่าย้อนให้ฟังว่า ต่อมาหลังจากที่กลุ่ม No Signal Input ขยายขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันแต่ละวงในกลุ่มก็เริ่มผลิตผลงานเพลงของตนเองออกมาจนมีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถจัดทำเป็นอัลบั้มของวงนั้นๆ เองได้ แต่ก็พบว่าการทำอัลบั้มของแต่ละวงนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

  “ตอนนั้นสมาชิกในกลุ่มอย่างวง Derdamissyou กับ Harmonica Sunrise ที่มีผลงานของตนเองพอที่จะรวบรวมออกอัลบั้มของตัวเองได้ เราก็เห็นการทำงานของเพื่อนๆ แล้วพบว่าทำไมการจะทำอัลบั้มมันยากจัง เวลาที่เราทำรวมกันในนาม No Signal Input มันง่ายก็เอาเงินทุกคนมารวมกันทำ ขอสปอนเซอร์ก็ง่าย แต่พอเป็นหนึ่งศิลปินกลับขอสปอนเซอร์ได้ยากมาก ช่วงนั้นหลายวงก็เริ่มตัดสินใจย้ายกันไปที่กรุงเทพฯ หาค่ายเพลงอยู่เพื่อที่จะได้ทำอัลบั้มของตนเอง หาโอกาสที่จะทำให้คนรู้จัก”

ณ วันนั้นที่โซเชียลมีเดียยังไม่เป็นที่ใช้กันแพร่หลายอย่างปัจจุบัน บันไดก้าวถัดไปของวงดนตรีที่อยากจะมีชื่อเสียง และได้ทำงานดนตรีของตนเองต่อไป ต่างก็ต้องเลือกเดินทางเพื่อไปหาค่ายเพลงที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อเมธได้คุยกับเพื่อนๆ นักดนตรีหลายคนก็พบว่า มันเป็นความจำเป็นที่ต้องไปแม้ว่าจริงๆ แล้ว หลายวงก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา 

“เราเกิดคำถามขึ้นมาในใจขึ้นมาว่า มันจะมีวิธีไหนไหมที่จะทำให้นักดนตรีเชียงใหม่สามารถทำงาน ทำอัลบั้มกันโดยที่ยังอยู่เชียงใหม่ได้ ทำไมวงดนตรีจากเชียงใหม่หลายวงต้องไปเป็นวงกรุงเทพฯ ถึงจะมีชื่อเสียงล่ะ เราก็มาคิดทบทวนกับตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ นะ ว่าแล้วทำยังไงถึงจะทำให้เพื่อนๆ นักดนตรีเราเนี่ยไม่ต้องลำบากในการไปหาสปอนเซอร์มาผลิตอัลบั้ม มันมีวิธีอื่นอีกไหมที่สามารถลงทุนไปแล้วจะได้เงินคืน ไอ้เราก็อยากจะช่วยสนับสนุนเพื่อนแต่เงินกูก็ไม่ค่อยมี”

ระหว่างที่เมธคิดหาวิธีอยู่นั้น เมธก็พบถึงจุดเด่นหนึ่งของความเป็นเชียงใหม่ในเวลานั้น เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนในต่างจังหวัดที่ทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด เวลาวงดนตรีของเพื่อนๆ ไปเล่นกันที่ไหน ก็จะมีเพื่อนของวงนั้นวงนี้ตามไปดู ไปเชียร์กันจำนวนมาก 

“เราคิดง่ายๆ เลยว่า ถ้าเพื่อนของแต่ละวงช่วยกันสนับสนุนมันก็น่าจะขายได้พอไม่ขาดทุนแล้วนิหว่า ก็เลยเกิดความมั่นใจ และปิ๊งไอเดียขึ้นมา เอาไปบอกพวกเพื่อนๆ 

“เอางี้! เดี๋ยวกูตั้งค่ายเพลง Minimal Records เอามาจากชื่อร้านเลย ทีนี้เราไม่มีเงินเยอะใช่ไหม งั้นกูจะทำเป็นโมเดลสหกรณ์ คือมีเงินกองกลางเป็นทุนให้วงเอาไปทำอัลบั้ม สมมติวงแรกเอาทำอัลบั้มออกมาขายได้คืนทุน ก็เอาเงินนั้นมาคืนส่วนกลางและส่งให้วงอื่นได้ทำอัลบั้มต่อ 

“นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำค่ายเพลง Minimal Records ขึ้นมาแบบงูๆ ปลาๆ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว”

แจ้งเกิด Minimal ค่ายเพลงเล็กๆ จากเชียงใหม่สู่วงการเพลง

“ช่วงที่เรากำลังก่อตั้งค่าย ตอนนั้นก็ให้วงสภาพสุภาพ กับ Migrate to the Ocean ไปทำเพลงกันเพื่อทำอัลบั้ม แล้วเผอิญว่าน้องๆ Solitude is Bliss ก็เอาเพลงมาเสนอกับเราพอดี เราเห็นศักยภาพของพวกน้อง และตอนนั้นมันก็มีเพลงจำนวนครบทำได้แล้ว ก็เลยตัดสินใจว่างั้นเราจะเดบิวต์กันด้วย Solitude is Bliss ก่อนเลยละกันเป็นอีพีชื่อ Montage (2556) แล้วปรากฏว่าพอปล่อยเพลงออกไปได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ 

“เราเลยได้เงินทุนคืนมาให้สภาพสุภาพ และ Migrate to the Ocean ทำผลงานตามออกมา และจัดงานเปิดตัวค่ายที่ผับแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ขายบัตร 200 สามารถเลือกหนึ่งแผ่นไปได้เลย พวกเพื่อนๆ ของแต่ละวงก็จะมาช่วยกันซื้อและคืนทุน ก็ได้กองกลางส่งให้วงอื่นได้ทำอัลบั้มต่อไป

“เราทำโมเดลขายเพื่อนกันเองไปสักพัก เหมือนเพื่อนมันก็เริ่มเบื่อละ” เมธหัวเราะสนุกก่อนเล่าต่อ “เราเลยต้องเริ่มหันมาลงทุนกับการทำเอ็มวีโปรโมตมากขึ้น โพสต์ทางยูทูบ ทางเฟซบุ๊กต่างๆ และก็เริ่มให้วงไปเล่นตามเทศกาลดนตรีต่างๆ ไปให้คนอื่นๆ นอกจากเชียงใหม่ได้รู้จักมากขึ้น ตอนนั้นก็เลยเกิดงานที่เรายกศิลปินทั้งค่ายไปเล่นกันที่ร้าน Play Yard ที่กรุงเทพฯ อยู่ครั้งหนึ่ง ก็เริ่มมีคนมาเห็น มารู้จักศิลปินจากค่าย Minimal กันมากขึ้น แล้วก็มีคนชวนให้เราไปเล่นที่เทศกาลดนตรี Big Mountain

“ขณะเดียวกันตอนนั้นเป็นยุคที่ร้านผับต่างๆ กำลังเฟื่องฟู มีร้านเกิดขึ้นใหม่ตามจังหวัดต่างๆ เยอะมาก ซึ่งเจ้าของร้านก็เป็นเด็กๆ ที่ชอบฟังเพลงอินดี้ เคยมานั่งเล่นที่ร้านมินิมอลของเรามาก่อน มันก็เลยเป็นคอนเนกชั่นตามต่างจังหวัดที่มาชวนให้วงจากค่ายไปเล่น คนก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้นเรื่อยๆ มีงานให้ได้ไปแสดง ได้ไปขายแผ่น”

การมาถึงของกระแสเพลงอินดี้จากเชียงใหม่

ช่วงที่ศิลปินจากค่าย Minimal Records กำลังมีผลงานเป็นที่รู้จักอยู่นั้นเอง วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่ย้ายไปหาโอกาสที่กรุงเทพฯ เองก็เริ่มมีผลงานเพลงออกมาในนามค่ายต่างๆ และกลายเป็นเพลงฮิตแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวง POLYCAT, Musketeers, NAP A LEAN, electric.neon.lamp ทำให้ช่วงนั้นเกิดเป็นกระแสที่นักฟังเพลงจำนวนมากหันมาสนใจวงดนตรีจากเชียงใหม่ขึ้นมา

ช่วงเดียวกันนั้นเอง เลเล่เล้ นักวิจารณ์เพลงที่โด่งดังจากการโพสต์จัดอันดับอัลบั้มเพลงไทยยอดเยี่ยมในแต่ละปีลงบนเว็บ Pantip ก็ได้เลือกให้อัลบั้ม Montage ของ Solitude is Bliss เป็นอันดับ 1 และปีถัดมาอัลบั้มของ Migrate to the Ocean ก็ติดอันดับตามมา แถมทางค่าย Minimal ก็ได้ปล่อยโปรเจกต์อัลบั้มอะคูสติก Minimal’s less (2557) ออกมา ซึ่งเพลง Archimedes ของ Boy Imagine ได้รับเลือกเป็นเพลงยอดเยี่ยมจากสีสัน อะวอร์ดส์ วง Solitude is Bliss เองก็ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เมธแค่อยากแก้ไขปัญหาให้กับเพื่อนๆ นักดนตรีเชียงใหม่ ความสำเร็จและเสียงชื่นชมที่มาพร้อมๆ กัน ทำให้ชื่อของ Minimal Records และศิลปินภายในค่าย รวมถึงศิลปินจากเชียงใหม่ได้รับความสนใจขึ้นมาอย่างมาก ถึงขั้นช่วงหนึ่งเคยมีการพยายามหาเหตุผลของกระแสนิยมนี้ และนิยามสิ่งที่เรียกว่า Chiangmai Sound ขึ้นมา 

นับเป็นช่วงเวลาที่วงการดนตรีอินดี้จากเชียงใหม่เบ่งบานที่สุด

ก้าวต่อไปของเมธจึงฝันที่จะขยายการทำงานของค่ายเพลง Minimal ให้สามารถผลักดันศิลปินจากเชียงใหม่ออกมาอีกจำนวนมาก แต่ความฝันนั้นก็ต้องมาสะดุดลง จากสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

การล็อกดาวน์ช่วงโควิด
ที่ทำให้เสียงดนตรีจากค่าย Minimal ถูกกดปุ่ม Pause

จากจุดเริ่มต้นที่ทำค่ายขึ้นมา กระแสตอบรับที่เราได้มาในช่วงนั้นมันเกินกว่าที่เราฝันไปมาก กระแสตอนนั้นมันพีคมากๆ เราเห็นแล้วว่า Solitude is Bliss สามารถอยู่ เป็นที่นิยมอย่างมากแล้ว วงอื่นๆ ในค่ายก็มีคนรู้จัก มีคนคอยติดตามผลงาน ตอนนั้นเราก็เลยคิดว่าจะต้องนำเงินทุนมาสนับสนุนศิลปินเชียงใหม่ให้ได้ผลิตผลงานอัลบั้มออกมาเพิ่มเรื่อยๆ ช่วงนั้นทางค่ายก็เลยเริ่มมีวงอย่าง Vels, Vega, Sirimongkol ผลิตผลงานออกมา

“ตอนนั้นเราตั้งใจเอาไว้ว่า ค่ายจะต้องหาอีกสักวงที่สามารถมีผลงานได้รับความนิยมแบบ Solitude is Bliss เพื่อที่ค่ายจะได้มีเงินทุนมาผลักดันวงอื่นๆ ให้ได้ไปต่อได้ยิ่งขึ้น เพราะพูดกันตามตรงว่า ค่ายเราก็ไม่ได้มีกำลังมากมาย พอเราขยายโปรเจกต์การทำงานของค่ายมากขึ้น มีจำนวนศิลปินในค่ายเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ มันก็เพิ่มขึ้นตามมา เราก็ค่อยๆ หาวิธีจัดการไป ตอนนั้นเราก็เลยมีการฟอร์มทีมทำเพลงขึ้นมาเพื่อทำวงดนตรีวงหนึ่งขึ้นมา โดยชวนน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่มาเล่นโฟล์คซองอยู่ที่ร้าน Minimal เป็นประจำให้มาเป็นนักร้อง จนเกิดเป็นโปรเจกต์วง Yonlapa ขึ้นมา”

เมธหยุดนิ่งไปชั่วครู่ ก่อนจะพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่หม่นขึ้น

“ขณะที่เรากำลังวาดฝันและกำลังลงมือทำก้าวถัดไปของค่าย Minimal อยู่นั้นเอง จู่ๆ ก็เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา…”

สายฟ้าฟาดที่เปรี้ยงลงมาใส่ค่าย Minimal Records ที่เมธหมายถึงนั้นก็คือ การมาถึงของโรคระบาดโควิด 19 ที่มาพร้อมกับการประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ไม่ให้มีการจัดงานคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมที่มีการรวมคนเป็นหมู่มาก

“ข้อห้ามต่างๆ ที่ประกาศออกมา มันปิดทุกช่องทางการทำมาหากินของนักดนตรีไปเลย นักดนตรีทั้งประเทศตกงานกันเป็นแถบๆ ตอนระลอกแรกเราคิดว่ามันคงจะไม่นานมากหรอก เราก็เลยพยายามหาวิธีที่จะช่วยโปรโมตผลงานเพลงของน้องๆ ในค่าย ก็ไปเห็นว่าที่กรุงเทพมีการทำคอนเสิร์ตออนไลน์กัน ก็เกิดอารมณ์แบบว่าถ้ากรุงเทพมี เชียงใหม่มันก็ต้องมีบ้างสิวะ ก็อยู่ดีไม่ว่าดีหมดเงินไปอีกหลายหมื่นจุดคอนเสิร์ตออนไลน์ให้กับศิลปินในค่าย แต่ตอนจัดมันสนุกมากเลยนะ ขายบัตรได้แล้วก็ส่งโค้ดให้คนเข้ามาชม มีคนนั่งกินหมูกระทะและชมศิลปินเล่นไปด้วย โคตรเปิดมิติใหม่เลย 

“แต่เราไม่ทันคิดว่ามันจะมีระลอกสอง ระลอกสามตามมาที่กินเวลายาวนานมาก ก็เรียบร้อย ล่มจมสิครับ” เมธหัวเราะเจื่อนๆ

จากความพยายามแรกของเมธที่ตั้งใจจะขยับขยายการทำงานของค่าย เปิดรับวงดนตรีเข้ามาในค่ายเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนวงดนตรีเชียงใหม่ยิ่งขึ้น พอเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ฝันที่เมธวาดไว้ให้เป็นก้าวถัดไปก็เหมือนโดนตัดตอน

“จากที่มีแผนจะทำโปรเจกต์นั้นนี่ พอระลอกสองมันเริ่มยืดยาว กลายเป็นว่าตัวค่ายเราลำบากอย่างมาก แต่เดิมเราก็ไม่ได้มีทุนจำนวนมากอยู่แล้ว ทุกคนก็เริ่มมาทบทวนกันแล้วว่าจะเอายังไงกันต่อดี ตอนนั้นก็เลยได้มีการพูดคุยกับหลายวงที่อยู่ในค่าย บางวงก็ตกลงกันว่างั้นเราแยกย้ายกันดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะโควิดที่เข้ามาทำให้ตัวเราไม่มีกำลังพอที่จะช่วยสนับสนุนเขาได้ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะความคาดหวังของตัวศิลปินเขามีสูงขึ้น มันก็เป็นก้าวถัดไปของพวกเขา ซึ่งค่ายเรา ณ วันนั้นไม่มีกำลังพอที่จะตอบสนองให้กับเขาได้ เราเองก็เข้าใจน้องๆ ก็ตกลงแยกย้ายกันไป ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันสักวงเลยครับ”

แผนการก้าวถัดไปของค่ายที่เมธวางไว้ เมธจึงต้องจำใจพับไป และทำให้เสียงเพลงจากค่ายเพลงเล็กๆ ในเชียงใหม่ที่กำลังส่งเสียงดนตรีเป็นกระแสนิยมอยู่ขณะนั้นถูกบีบให้ต้องกดปุ่ม Pause

Replay การเริ่มต้นใหม่และทิศทางที่เปลี่ยนไป
ของ Minimal ภายหลังโควิด

“มันเหมือนกับว่าเราต้องเริ่มต้นกันใหม่…” เมธเปรยขึ้นมา 

ช่วงสถานการณ์โควิดเมธอธิบายว่าตัวเขาผ่านมาได้ด้วยความสะบักสะบอม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้กลับมาทบทวนตัวเองและตัวค่าย Minimal อย่างจริงจัง และพบว่าที่ผ่านมาตัวเขาทำค่ายเพลงไปแบบเกินกำลัง หลังจากที่ผลงานศิลปินในค่ายที่นำเสนอออกไปประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยม ด้วยความหวังดีต่อแวดวงดนตรีเชียงใหม่เขาก็เผลอแบกเอาความคาดหวังของดนตรีเชียงใหม่ไว้กับตนเอง และเผลอทำเกินกำลังตนเอง

“หลังสถานการณ์โควิด เรากลับมาทบทวนตัวเองใหม่อย่างจริงจัง ก็คิดได้ว่าเราจะกลับไปเป็นค่ายเล็กๆ แบบตอนแรก ร่วมงานกับเฉพาะวงดนตรีของพี่ๆ น้องๆ ที่สนิทสนมกันเหมือนเดิม กลับมาทำเท่าที่เราจะไหว ไม่ต้องทุ่มเงินลงไปเกินกำลัง เราพบว่าตัวเองไม่ใช่คนขับเคลื่อนวงการดนตรีเชียงใหม่ เราไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะสามารถยื่นมือไปพยุงช่วยทุกคนในวงการดนตรีเชียงใหม่ได้ เราแค่เป็นคนที่ชอบในสิ่งที่ทำเฉยๆ แล้วมันดันไปขับเคลื่อน ไปผลักดันบางส่วน เรายินดีที่จะช่วยในส่วนที่กำลังเราไหว”

ทิศทางต่อไปของค่าย Minimal เมธเล่าให้ฟังว่า เขาจะคัดศิลปินมากขึ้น โดยศิลปินนั้นต้องมีเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีความป๊อปอยู่ เพื่อที่จะมีโอกาสขายได้มากขึ้น และเป็นที่มาของศิลปินของค่าย Minimal ในยุคปัจจุบัน อย่าง Anyside, Beyano, Lawin, Howwhywhenyou และ Pod เป็นต้น

นอกจากนั้นบริษัทที่คอยดูแลด้านสตรีมมิ่งของค่าย Minimal ยังได้ร่วมลงทุนกับเมธลองทำค่ายเพลงป๊อปขึ้นมาในจังหวัดเชียงใหม่ในนามค่าย Mintz! เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางตลาด

“ค่าย Mintz! เกิดขึ้นมาเพื่อทำเพลงตลาดมากขึ้น เป็นโมเดลเหมือน Bakery เคยทำ Dojo City ทางค่ายอาร์เอสมี Kamikaze ตัวค่าย Mintz! จะทำงานเพลงแนว T-pop เป็นหลัก เพราะหลังจากช่วงโควิดมากระแสดนตรีในบ้านเรามันเปลี่ยนไป และพวกสตรีมมิ่งต่างๆ ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก กลายเป็นช่องทางที่คนฟังเพลงเยอะที่สุด วงดนตรีจะเกิดไม่เกิดตอนนี้ขึ้นอยู่กับยอดวิว ยอดฟังบนสตรีมมิ่งเป็นหลัก ศิลปินต้องเรียกยอดวิว ทำให้เราเริ่มเห็นศิลปินหันมาทำคอนเทนต์ลงบนโซเชียลของตัวเองกันมากขึ้น

“เราเลยลองมุ่งหวังที่จะทำศิลปินที่มีความป๊อป สดใส ขายยอดวิวยอดฟังจากสตรีมมิ่งให้ได้ร้อยล้านวิวอะไรต่างๆ แต่ยังคงคอนเซปต์พื้นฐานอยู่ที่เชียงใหม่ครับ แต่พูดกันตามตรงว่าปัจจุบันมันยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะเราก็ใหม่กับแนวเพลงแบบนี้ด้วย แต่เราเห็นความเป็นไปได้ และยังอยากหาไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานของค่าย Mintz! อยู่ ยังไงก็ขอฝากติดตามกันด้วยนะครับ”

LABBfest.
เทศกาลดนตรีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้ไปเล่นในเทศกาลดนตรีทั่วโลก

LABBfest. คืองาน International Music Showcase ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโปรเจกต์ล่าสุดของเมธที่ทำร่วมกับ CEA (Creative Economy Agency) และเครือข่ายคนในวงการดนตรี

Labb Fest. เกิดขึ้นมาจากการพูดคุยระหว่างเมธกับทีมของ CEA ภายหลังจากที่มองเห็นปัญหาจากการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจของวงการดนตรีเชียงใหม่ (business matching) 

“พวกเราเห็นปัญหาร่วมกันว่า งานจับคู่ฯ ที่เคยจัดกันมานั้นไม่เวิร์ก โดยเป็นการเชิญเอาฝั่งคนในวงการดนตรี เช่น ค่ายเพลง Minimal ของผม ไปเจอกับออร์แกไนเซอร์จัดอีเวนต์ต่างๆ ในจังหวัด ที่มันไม่เวิร์กเพราะว่า ความต้องการของทั้งสองฝั่งนั้นมันไม่ได้ตรงกัน ออร์แกไนเซอร์เวลาเขาได้เงินมาจ้างศิลปินเขาก็เลือกที่จะจ้างศิลปินที่ดังๆ เพราะเป็นประโยชน์ต่องานเขามากกว่า ในฐานะคนที่ทำค่ายเพลงมีศิลปินผลิตผลงานเพลงของตนเอง สมมติว่าค่าจ้างทางศิลปินค่ายผมคือ 7,000 แต่เฮาส์แบนด์ที่เล่นเพลงคัฟเวอร์ศิลปินดังๆ ราคา 15,000 ออร์แกไนเซอร์ก็จะเลือกจ้างทางเฮาส์แบนด์มากกว่า เพราะจ้างวงจากทางค่ายผมที่เล่นเพลงตัวเองคนที่มางานเขาก็ไม่รู้จัก งานของเขาก็จะออกมาไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

“พอเกิดปัญหาเช่นนี้ ผมเลยเสนอให้ถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่ ถ้าหากอยากจะให้เกิดงานจับคู่ที่ทำให้ค่ายเพลงหรือศิลปินวงดนตรีในเชียงใหม่ได้ประโยชน์ คู่ตรงข้ามที่ควรถูกเชิญมาก็คือผู้จัดหรือโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลต่างๆ โดยตรงเลยมากกว่า เอาผลงานเพลงของศิลปินแต่ละวงมาให้ทางเขาดูเลยว่าจะเอาหรือไม่เอา เราจะเป็นศิลปินได้ไหม ถ้าเขาชอบ เอาเราไปเล่นในงานเฟสติวัล ให้คนเห็น ให้คนรู้จักก่อน แล้วถ้าหากผลงานเป็นที่นิยม ดังขึ้นมา หลังจากนั้นแหละเดี๋ยวออร์แกไนซ์ก็จะมาจ้างเราต่อเอง แบบนี้ถึงเป็นการเลือกคู่ที่ได้ประโยชน์ต่อวงการเพลงที่สุด ซึ่งทาง CEA ก็เห็นด้วย”

ต่อมาเมธกับทาง CEA เลยร่วมมือกันพัฒนาโปรเจกต์ Business Matching ของวงการดนตรีเชียงใหม่ขึ้นมาใหม่ เป็นงาน Music Show Case ในรูปแบบของมิวสิกเฟสติวัลในชื่อ LABBfest. ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเชียงใหม่ดีไซน์วีค (Chiangmai Design Week) และจัดเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

ทางทีมงานของ LABBfest. จะทำหน้าที่เป็นคนกลางเชิญผู้จัดคอนเสิร์ต เฟสติวัล เจ้าของไลฟ์เฮาส์ และคนที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลกมาร่วมงาน เพื่อรับชมโชว์ของศิลปินและวงดนตรีที่มีสิทธิ์ได้ขึ้นแสดงบนเวทีในงาน จากการสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านการคัดเลือกจากทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงดนตรี ศิลปินที่มีผลงานเข้าตาผู้จัดท่านใดก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้ไปแสดงในเฟสติวัลต่างๆ ทั่วโลก ซึ่ง LABBfest. ทั้งสามครั้งที่ผ่านมาก็มีศิลปินไทยได้รับโอกาสไปเล่นที่เฟสติวัลในต่างประเทศทุกๆ ปี และสามารถต่อยอดเส้นทางดนตรีของตัวเองในระดับสากลต่อไป

“ปีแรกที่จัด เราใช้ชื่อว่าเป็น Chiangmai Music Showcase เพราะอยากจะให้โอกาสวงดนตรีในเชียงใหม่ แล้วปีถัดมาเราก็ขยายเป็น Northern and Chiangmai Music Showcase เอาทั้งภาคเหนือ ปรากฏว่ามีวงดนตรีที่สนใจอยากเข้าร่วมเป็นจำนวนมากทั้งจากในประเทศรวมถึงต่างประเทศ ปีนี้เราเลยเปลี่ยนเป็น International Music Showcase เปิดโอกาสให้กับทุกๆ คนได้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันไปเลย ในงาน LABBfest. ของเราในปัจจุบันจึงมีทั้งวงจากพม่า มาเลเซีย กรุงเทพฯ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สมัครมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“ทุกปีที่จัด LABBfest. เราจะขยายโอกาสและเพิ่มเติมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อศิลปินให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปีนี้ เรามีการเพิ่มกิจกรรม conference ให้ศิลปินที่สมัครเข้ามามีโอกาสได้เข้ามาพูดคุย ปรึกษากับผู้จัด และคนในอุตสาหกรรมดนตรีที่เราเชิญมาได้โดยตรงเลย ใครอยากรู้เรื่องไหน ผมควรไปเล่นเทศกาลไหน ควรขายงานยังไง พัฒนาตรงไหน ตลาดต่างประเทศเป็นยังไง ทุกคนมีโอกาสสามารถเข้าไปถามได้เลย

“ผมหวังไว้ว่างานนี้จะช่วยทำให้เกิดความหลากหลายทางดนตรีในเชียงใหม่รวมถึงประเทศไทยมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนกับผู้คนในแวดวงดนตรีจากทั่วโลกน่าจะเป็นประโยชน์ทำให้เรามองเห็นว่าตลาดของวงการดนตรีทั่วโลกเป็นยังไง ในฐานะคนที่รักดนตรีคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากต่อวงการดนตรีของบ้านเราให้พัฒนาขึ้นได้มากๆ แฟนเพลงเองก็จะได้ผลงานดีๆ จากศิลปิน

“โลกทุกวันนี้มันเชื่อมกันหมดแล้ว เราในฐานะคนจัดงาน LABBfest. คือผู้ที่พาโอกาสนั้นมาให้ ก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนจะก้าวออกไปแล้ว”

ติดตามรายละเอียดของ LABB Fest. ได้ผ่านช่องทาง www.facebook.com/LABBfest
และติดตามผลงานจากศิลปินของค่าย Minimal Records และ Mintz! ได้ทาง www.facebook.com/MinimalRecords และ www.facebook.com/mintzrecords

‘ผู้นำที่ดีต้องฮีลใจตัวเองเป็นก่อนลีดองค์กร’ ข้อคิดการ Lead Well จาก DRAGONFLY H.E.A.L SUMMIT 2024

1. Lead Well ในแบบของ ‘แพม, วู้ดดี้, ซินดี้’

แรงบันดาลใจในการทำ Dragonfly มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ก่อตั้งทั้งสามคนที่ค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นและนำทีมได้ดีขึ้น

  • การหาสมดุลของผู้หญิงที่ทำงานในธุรกิจรถยนต์ของแพม–ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์

แพมมีแบ็กกราวนด์เป็นนักธุรกิจหญิงที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวอุตสาหกรรมรถยนต์และการผลิต (automobile and manufacturing) ซึ่งเป็นโลกการทำงานที่ล้อมรอบด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ จนช่วงหนึ่งของชีวิตแพมรู้สึกว่าชีวิตที่มุ่งเน้นการทำงานและได้รับแต่พลังงานผู้ชาย (masculine energy) ทำให้ป่วยและนอนไม่หลับ หลังจากค้นหาวิธีรักษาสุขภาพ ทั้งคลินิกที่ให้คำปรึกษาเรื่องการนอนและยานอนหลับ แพมก็ค้นพบว่าวิธีดูแลสุขภาพใจที่ยั่งยืนยังมีอีกหลายวิธีทั้งการนั่งสมาธิ, การฝึกหายใจ breathwork ฯลฯ ซึ่งเมื่อสุขภาพดีก็ส่งผลให้ทำงานอย่างสมดุลขึ้นจนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Dragonfly

  • การเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้นำที่รับฟังของวู้ดดี้–วุฒิธร มิลินทจินดา

สิ่งที่วู้ดดี้ได้เรียนรู้คือเมื่อสวมบทบาทเจ้านาย เราทุกคนควรตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้นำแบบไหนและกำลังส่งพลังงานแบบไหนออกไป เช่น หากมีมุมมองว่าผู้นำคือคนออกคำสั่งและลูกน้องต้องทำตามเท่านั้น ก็จะส่งผลให้ผู้นำไม่เปิดโอกาสให้ทีมกล้าแสดงออก ไม่รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกโกรธทำให้ความสัมพันธ์แย่ได้ ผู้นำที่ดีที่ควรหันมาดูแลใจตัวเองและมีทักษะที่สามารถตระหนักรู้ในข้อผิดพลาดของตัวเอง สร้างความไว้เนื่อเชื่อใจกับทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความจริงใจในการเป็นทีมเดียวกันได้มากขึ้น โดยวู้ดดี้ยังมีความตั้งใจอยากทำให้พนักงานในบริษัทอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวที่รับฟังกันมากขึ้นด้วย  

  • การยอมรับว่าผู้นำไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ ของซินดี้–สิรินยา บิชอพ

ซินดี้บอกว่าเมื่อก่อนตัวเองเป็นคนคิดเยอะและแคร์ความรู้สึกคนอื่นมากทำให้ในบางครั้งรู้สึกว่าไม่กล้าตัดสินใจ และกลายเป็นผู้นำที่พยายามเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา อยากเป๊ะในทุกเรื่อง จนสุดท้ายตกตะกอนว่าคนเราควรยอมรับว่าผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างหรือมีคำตอบสำหรับทุกคำตอบก็ได้ แค่สามารถตระหนักถึงจุดอ่อนของตัวเองและหาทีมที่มาเสริมจุดแข็งในสิ่งที่ตัวเองไม่มี สร้างทีมจากคนที่มีหลากวิธีคิด หลายมุมมองเพื่อรวมพลังสร้างอิมแพกต์ไปด้วยกันได้

2. การสร้างสมดุลระหว่างพลังงานชายและหญิง

นิยามความเท่าเทียมสำหรับ Dragonfly ในวันนี้ไม่ใช่แค่บทสนทนาที่อยากพูดกับผู้หญิงเพื่อรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้นเพราะสังคมต้องการความร่วมมือจากทุกเพศ นอกจากนี้ในทางพลังงานในปัจเจกบุคคลแล้ว ทุกคนล้วนมีพลังงานผู้ชายและผู้หญิงทั้งสองรูปแบบในตัวเองเหมือนหยินและหยาง โดยพลังงานผู้ชาย (masculine energy) หมายถึง Doing การลงมือทำ ความมุ่งมั่น มั่นใจ การแก้ปัญหา การมุ่งสู้เป้าหมาย ส่วนพลังงานผู้หญิง (feminine energy) หมายถึง Being หรือการโอบรับในตัวตน อยู่กับปัจจุบัน

สำหรับโลกของการเดินทางภายใน ความสมดุลคือการบาลานซ์พลังงานทั้งสองรูปแบบในตัวเอง Megha Srisethi Managing Director และ Co-founder ของ Deemoney ได้แชร์ในเซสชั่นทอล์ก ‘Redefining Superwoman: Balancing Ambition with Inner Peace’ ว่าจากที่เธอเป็นผู้หญิงรักงานที่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 23 และพุ่งชนเป้าหมายทางการงานมาตลอด ความสมดุลของชีวิตคือการที่เธอกลับมาเห็นความสำคัญของการโอบรับพลังงานผู้หญิงในตัวเองทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็ม (wholeness) ในตัวเองมากขึ้น

ในขณะเดียวกันซินดี้เองก็แชร์บทบาทคุณแม่ที่มีทั้งลูกชายและลูกสาวว่าเธอเองก็ต้องสนับสนุนลูกชายให้เติบโตมาเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน มีความเคารพและชื่นชมผู้หญิงเช่นกัน ส่วนวู้ดดี้ก็บอกว่าผู้นำที่ประทับใจคือแม่ที่มีความเมตตาซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ดังนั้นหนึ่งในหนทางสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียมจึงเป็นการที่ทุกคนสร้างความสมดุลให้ตัวเองก่อนแล้วส่งพลังสนับสนุนกันและกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมในโลกภายนอกต่อไป

3. การสร้างความเชื่อมั่นและพลังบวกในชีวิตประจำวัน 

การเพิ่มพลังบวกและลดพลังลบคือวิธีที่เรียบง่ายแต่ทำจริงยาก ทุกคนล้วนรู้ว่าเราต้องเชื่อมั่นในตนเองและลดการบ่นลง แต่จะทำยังไงให้ทำได้จริง ต้องลองฟังเทคนิคจากสองนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือขายดีระดับโลก 

  • เคล็ดลับ Manifest ให้กลายเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดโดย Roxie Nafousi

หลายคนน่าจะรู้จัก Roxie Nafousi ผู้เขียนหนังสือ ‘Manifest: 7 Steps to Living Your Best Life’ หนังสือของเธอสรุปขั้นตอนง่ายๆ ในการเนรมิตสิ่งที่ต้องการด้วยกฎแรงดึงดูดของจักรวาลไว้ 7 ข้อ ได้แก่  ‘1. Be clear in your vision 2. Remove fear and doubt. 3. Align your behaviour 4. Overcome tests from the universe 5. Embrace gratitude without caveats 6. Turn envy into inspiration  7. Trust in the universe’ 

ในเวที Dragonfly ที่ผ่านมาโรซี่ได้เล่าถึงเคล็ดลับในการ manifest คือการ step into character หรือการสวมบทบาทและลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดจะทำ หากเกิดความอิจฉาผู้อื่นให้เปลี่ยนความรู้สึกนั้นเป็นการชื่นชม สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะพลาดในการ manifest คือความหมกมุ่นที่อยากให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นดังใจหวังซึ่งในความจริงแล้วความหมุกมุ่นเวลาอยากได้สิ่งใดมากๆ นี้แสดงให้เห็นถึงความกลัวและความสิ้นหวัง โรซี่แนะนำให้ผูกอารมณ์กับผลลัพธ์ให้น้อยที่สุด ฝึกสร้างความพึงพอใจและรักตัวเองเสมือนเราเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้

  • เทคนิคสร้าง Complaint-Free World ให้ตัวเองแบบ Will bowen

นิสัยหนึ่งที่หลายคนแก้ไม่ได้คือการบ่นคร่ำครวญไม่รู้จบถึงปัญหาชีวิต Will Bowen เป็นผู้เขียนหนังสือ A Complaint free World ที่ขายดีทั่วโลกและมาแชร์เทคนิคการไม่สานต่อบทสนทนาการบ่นจากคนอื่นในชีวิตจำประจำวัน เริ่มจากการรู้ว่าทำไมผู้คนถึงชอบบ่นด้วยเทคนิคง่ายๆ คือ ‘GRIPE’ ที่ประกอบด้วย 5 ข้อ ได้แก่

  1. G–get attention ผู้คนมักนำการบ่นมาเป็นประเด็นในการพูดคุยเพื่ออยากคอนเนกต์และได้รับความสนใจจากผู้อื่น ทางแก้ง่ายๆ คือพลิกหัวข้อไปชวนคุยเรื่องอื่นในมุมที่เป็นแง่บวก
  2. R–remove responsibility คนเรามักจะบ่นในสิ่งที่ไม่อยากทำ ทางแก้ที่แท้จริงคือการชวนคุยกับอีกฝ่ายว่าหากสามารถแก้ปัญหาได้ คุณจะลงมือทำอะไรบ้าง
  3. I–inspire envy คนเรามักบ่นถึงผู้คนที่ต่างจากเราหรือมีอำนาจเหนือกว่าเรา ทางแก้คือการพูดชื่นชมอีกฝ่ายในเรื่องที่กำลังบ่นอยู่
  4. P–power หากเจอคนที่บ่นถึงผู้อื่นเป็นประจำ นั่นอาจแปลว่าคนผู้นั้นอยากให้มีคนเข้าข้างตัวเอง ซึ่งในบางสถานการณ์อาจเหมาะสมที่จะเลี่ยงออกมาและออกตัวว่าคุณไม่เกี่ยวกับปัญหานั้น
  5. E–excuse poor performance ในบางครั้งเมื่อผู้คนล้มเหลวและเริ่มบ่น สิ่งที่ทำได้เพื่อหยุดพลังลบคือการชวนคุยว่าครั้งหน้าเขาจะปรับปรุงและแก้ปัญหานั้นได้ยังไง

4. ทางเลือกหลากหลายของการฮีลใจ

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของงาน Dragonfly คืออยากให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการดูแลสุขภาพไม่ได้มีแค่การออกกำลังกายเท่านั้น แต่มีกิจกรรมดูแลจิตใจหลากหลายศาสตร์ นอกจากทอล์กในงานจึงมีโซน Wellnest ที่รวมศาสตร์ของการบำบัดและการดูแลตนเองหลายแขนง เช่น เวิร์กช็อป Flower Mandala with Sound Healing จาก Chiva-som ที่อ่านพลังงานของเราจากการจัดดอกไม้, กิจกรรม Cacao Ceremony ที่เปิดโอกาสให้ทานเครื่องดื่มจาก cacao ซึ่งเปรียบเสมือนยาจากธรรมชาติและทำพิธีที่ระลึกถึงความรู้สึกขอบคุณของชีวิต และยังมีโซนให้คำปรึกษาและบำบัดแบบส่วนบุคคล โซนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงตลาด Bazaar ที่มีสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เลือกสรร

นอกจากงาน summit ที่วางแผนจะจัดทุกปีแล้ว Dragonfly ยังมีกิจกรรม retreat และ academy ที่จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพใจไปจนถึงเทรนนิ่งให้บริษัทต่างๆ ด้านการเป็นผู้นำแบบองค์รวมที่ดีเพื่อตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างคอนเนกชั่นและโอกาสด้านความเป็นผู้นำและความเท่าเทียมในระยะยาว ทั้งนี้วู้ดดี้บอกว่าทุกวันนี้ไม่มีภาพความสำเร็จของ Dragonfly ที่ฝันไว้แต่อยากให้แพลตฟอร์มนี้สามารถสร้างกิจกรรมและคอมมิวนิตี้ที่ผู้คนอยากได้โดยคาดว่าคอมมิวนิตี้นี้จะเติบโตแบบออร์แกนิกตามสังคมที่ตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมและการเป็นผู้นำที่ดีมากขึ้นในอนาคตต่อไป

 

เบื้องหลังพิสตาชิโอและแมคคาเดเมียแบบพูนๆ ของ Blendies พรีเมียมเจลาโต้ที่คนยอมรอเข้าคิว

ตามที่หลายคนชอบแซวกันว่าเป็นประเทศไทยมีแต่หน้าร้อน ร้อน และร้อนมาก สินค้าและอาหารที่ช่วยคลายร้อนจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพอากาศที่ทวีความร้อนขึ้นทุกวัน หนึ่งในธุรกิจเหล่านั้นคือ ‘ไอศครีม’ ของหวานที่ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย 

แต่ในมุมของคนทำธุรกิจการเปิดร้านขายไอศครีมถือว่าปราบเซียนไม่น้อย เพราะการแข่งขันที่สูง ความแตกต่างในตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้าเราเข้ามาในตลาดด้วยการเป็นแค่ไอศครีมทั่วๆ ไป เราจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว เราเลยชูจุดเด่นเรื่องสัมผัสของไอศครีม รสชาติ และคอนเซปต์ที่ทำให้สินค้าเรามันเด่นขึ้นมา”

แบม-ธนโชติ ดลชลัยย์กร ชายหนุ่มเจ้าของแบรนด์พรีเมียมเจลาโต้นาม ‘Blendies’ ว่าแบบนั้น เป็นที่มาของภาพและคลิปวิดีโอสุดไวรัลในโลกออนไลน์ ที่มีคนต่อแถวเต็มหน้าร้านที่สาขาสยามสแควร์ เพราะต้องการไอศครีม Blendies ที่ท็อปด้วยพิสตาชิโอและแมคคาเดเมียแบบพูนๆ 

ทันทีที่ได้ลิ้มลอง เราสัมผัสได้ถึงรสชาติที่แตกต่าง แน่นอนว่าบทสนทนาต่อไปนี้ก็สะท้อนแนวคิดการทำธุรกิจของเขาที่แตกต่างและโดดเด่นไม่แพ้ไอศครีมที่เขาตั้งใจเสิร์ฟเลย วันนี้เราเลยขออาสา พาบุกเข้าหลังร้าน มาเปิดตำราการปั้นธุรกิจให้หอมหวานเหมือนดั่งรสชาติของพรีเมียมเจลาโต้ Blendies

Product

ก่อนหน้านี้สายกินทั้งหลายน่าจะรู้จักแบมในฐานะเชฟและเจ้าของร้าน Rare BKK แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเปิดร้านต่อไปได้ จากรูปแบบของร้านที่เป็นสไตล์แคชชวลไฟน์ไดนิ่ง เขาจำเป็นต้องปิดร้านลงทั้งที่กำลังไปได้สวย

แต่บทเรียนครั้งนั้นก็ปูเส้นทางใหม่ให้แบมได้นำความชอบตะเวนชิมเจลาโต้ตามประเทศต่างๆ มาต่อยอดเป็นธุรกิจ เพราะเขาพบว่ายังไม่เคยมีร้านไหนในไทยที่ไปลองแล้วทำเจลาโต้ได้ดั่งรสชาติในอุดมคติของเขาเลย จากร้านเจลาโต้ในฝันจึงค่อยๆ เกิดขึ้นจริง

“เราชอบเจลาโต้ที่เนื้อเนียนมากๆ ไม่มีเกล็ดน้ำแข็ง แล้วอยากให้เจลาโต้ไปท็อปปิ้งกับอะไรก็ได้ เช่น พิสตาชิโอและแมคคาเดเมีย เราเลยเอาไอเดียนี้ไปคุยกับคนที่คิดว่าจะช่วยเราได้ นั่นก็คือพ่อของเราที่ทำธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว 

“เขาแนะนำว่าควรทำสินค้าให้แตกต่างจากชาวบ้านไปเลย ไม่งั้นถ้าเราจะเข้ามาในตลาดที่มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว เราก็จะเป็นแค่เจลาโต้แบรนด์หนึ่งในตลาดเท่านั้น แต่ถ้าเราแตกต่างมันจะยังมีช่องว่างทางการตลาดให้เราเข้าไปอยู่ได้”

สุดท้ายแบมก็ค้นพบว่าทุกรสชาติที่เขาชอบต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากฝรั่งเศสเท่านั้น แล้วนำมาพัฒนาสูตรที่รู้สึกว่านี่แหละคือเจลาโต้ที่รสชาติชัด สัมผัสใช่ เขาอยากให้ลูกค้าของ Blendies รับรู้ถึงรสชาติของวัตถุดิบหลักได้ทันทีในคำแรกที่ได้ลิ้มลอง

“เราไม่อยากเสิร์ฟพิสตาชิโอ แล้วให้ลูกค้ารู้สึกเอ๊ะว่ามีส่วนผสมของช็อกโกแลตมาแย่งซีนหรือเปล่า และไม่อยากเสิร์ฟแมคคาเดเมีย แล้วลูกค้ารู้สึกว่าโดนรสชาติของนมหรือวานิลลามากลบ คอนเซปต์ของ Blendies เลยเป็น More than gelato ซึ่งเราไม่ได้เอาเจลาโต้มาเปลี่ยนแปลงอะไร มันคือการที่เอาเจลาโต้มาพัฒนาในรูปแบบของเรา 

“เช่น โคนเราก็ทำสดออร์เดอร์ต่อออร์เดอร์ให้ลูกค้า และโคนต้องได้มีกลิ่นหอมไหม้ของเตา มีกลิ่นวานิลลาแทรกเข้ามา ลามไปยันตัวเนื้อไอศครีมที่ละลายยากกว่าคนอื่น ทนในอุณหภูมินี้ได้ เนื้อเนียนกว่าคนอื่น ครีมมี่มากกว่าคนอื่น” แม้ 10 นาทีผ่านไป เจลาโต้ที่แบมเสิร์ฟให้เราชิมก็ยังคงเกาะตัวเป็นลูก ไม่ละลายไปพร้อมสภาพอากาศ  

“บางคนอาจจะมองว่า More than gelato คือการซื้อถั่วมาแล้วเอามาโปะบนเจลาโต้เลย ซึ่งไม่ใช่ เรานำไปผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ลูกค้าได้กลิ่นหอมของการคั่ว ต้องมีอาฟเตอร์เทสต์ หลังจากกินแล้วยังมีรสชาติของวัตถุดิบหลักหลงเหลืออยู่ในความทรงจำ มันเกิดจากการที่เรารู้จักวัตถุดิบที่นำมาใช้จริง ไม่ใช่รู้แต่ how to แต่ต้องรู้ลึกว่าจะ under วัตถุดิบยังไง นี่ทำให้เรามีสิ่งที่ยูนีก แบบที่ยังไม่เคยเห็นสิ่งนี้จากเจ้าไหนมาก่อน”

Price & Promotion

เจลาโต้ของ Blendies เริ่มต้นที่ 129 บาท ถือว่าราคาสูงไม่น้อยในตลาดที่มีตัวเลือกมากขนาดนี้ แต่ด้วยแบมรู้ว่ากลุ่มลูกค้าของตัวเองเป็นใคร จึงวางกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าตัวเอง

“ตอนแรกกลุ่มลูกค้าที่เราวางไว้มีอายุอยู่ 25-50 ปี แต่พอเริ่มเปิดร้านจริงๆ เราก็เซอร์ไพรส์มากว่ากลุ่มลูกค้าเรามีไปถึงอายุ 60 เลย เท่าที่เก็บดาต้าจากสาขาสยามจะเจอว่าหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเราเป็นคุณย่า คุณยาย และผู้สูงอายุที่เขาใช้เงินซื้อสินค้าในราคานี้ได้แบบไม่กระทบอะไร

“แต่สิ่งที่เขาต้องการคือคุณภาพของวัตถุดิบที่เขารับรู้ได้ถึงความพรีเมียม ส่วนเรื่องความอร่อย เราต้องบอกว่าของกินเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล บางคนอาจจะชอบกินร้านนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าร้านนี้จะอร่อยสำหรับทุกคน เรารู้สึกว่าถ้าเจลาโต้ของเราอร่อยสำหรับคนส่วนใหญ่ก็โอเคแล้ว

“นอกจากเรื่องรสชาติลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบชมว่าพนักงานเราน่ารักมาก การแนะนำสินค้า มีการตัดเจลาโต้ให้ชิม ซึ่งมันมาจากการนำประสบการณ์ตอนทำร้านอาหารมาปรับใช้ ว่าควรฝึกพนักงานและวางแผนยังไงให้เขาเต็มใจให้บริการลูกค้า โดยที่เขาไม่เป็นเหมือนหุ่นยนต์ ทำให้ลูกค้าก็แฮปปี้ พนักงานก็แฮปปี้”

อีกหัวใจสำคัญที่แบมเน้นย้ำเรื่องการขายสินค้าราคาระดับพรีเมียม คือการสร้างแบรนดิ้งให้ชัดเจน ซึ่งแบรนดิ้งสำหรับเขาหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มองเห็น ไม่ว่าจะมู้ดแอนด์โทน การใช้สี CI การตกแต่งร้าน และความที่แบมต้องการรักษาแบรนดิ้งของ Blendies ว่าเป็นพรีเมียมเจลาโต้ เขาจึงเลือกไม่จัดโปรโมชั่นอะไรเลย

“สำหรับเรา โปรโมชั่นคือดาบสองคม การจัดโปรโมชั่นจะส่งผลดีถ้าลูกค้าได้รับประโยชน์และร้านก็ได้รับประโยชน​์ ในเรื่องของยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องคิดว่าถ้าวันใดวันหนึ่งเราไม่มีโปรโมชั่นแล้วลูกค้าจะกลับมาซื้อของเราอยู่ไหม 

“อย่าง Blendies วัตถุดิบเราแพง ต้นทุนเราสูงมาก เราเลยไม่มีลด แลก แจก แถม แต่มันก็ทำให้แบรนดิ้งเราแข็งแรงว่าจะเป็นแบรนด์ที่รักษามาตรฐานระดับพรีเมียม”

Place

“เราประชุมกับทีมงานเลยว่าสาขาแรกจะไปเปิดที่สยาม ถ้าไม่รอดก็เจ๊ง เพราะเราไม่ได้เป็น somebody แต่เราเป็นแค่ nobody ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักแบรนด์เรา ดังนั้นการไปเปิดร้านที่สยามมันแลกมากับการจ่ายค่าเช่าที่ที่สูงกว่าที่อื่นหลายสิบเท่า

“ถ้าคุณคำนวณ fixed cost หรือต้นทุนคงที่ไม่แม่น มีต้นทุนไม่หนา การไปอยู่ตรงนั้นแล้วกัดฟันสู้ อย่างเก่งอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง 5 เดือน ที่ที่เราอยู่ทางห้างก็บอกว่าปราบเซียนมาก เคยมีแบรนด์มาเปิดแล้ว 4-5 ร้านก็อยู่ไม่รอด ตอนนั้นเรามองว่าเรายอมแลกเพื่อที่จะได้ไปแจ้งเกิดที่ตรงนั้น ซึ่งเขามี traffic ที่เยอะมาก และเราก็จะได้ทั้งเรื่องแบรนดิ้งกับ awareness ด้วย”

แบมยังเล่าให้ฟังอีกว่าพฤติกรรมของคนที่ชอบไปสยาม จะมาเที่ยว มาเดินอีเวนต์ต่างๆ ที่ทางห้างจัด เพราะฉะนั้นลูกค้ากลุ่มนี้พร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าอยู่แล้ว รวมถึงยังต้องการลองอะไรใหม่ๆ และจากที่เปิดหน้าร้านที่สาขาแรกนี้ กลุ่มลูกค้าของสาขาสยามมีอายุอยู่ที่ 20 ปลายๆ ถึงประมาณ 50 ปี

ประกอบกับแบมเคยเป็นเชฟมาก่อน เขาจึงชอบบริการลูกค้าเองถึงหน้าร้าน พอมีโอกาสได้พูดคุยกับลูกค้า จึงรู้ว่ามีหลายคนที่เรียกร้องให้เขามาเปิดแถวฝั่งธนฯ โดยเฉพาะที่ไอคอนสยาม ซึ่งถือเป็น spot ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง

“สาขาที่ 2 เป็นที่ไอคอนสยาม แต่เราจะอยู่ในหลืบหน่อย ใกล้กับลิฟต์ขนส่งของ เพราะเราอยากได้ทำเลที่หน้ากว้างสวยๆ เราโฟกัสเรื่องการแต่งร้าน เพราะเรามองเรื่องแบรนดิ้งเป็นหลัก อีกอย่างกลุ่มลูกค้าที่นี่ก็ต่างจากที่สยาม จะเป็นผู้สูงวัยและกลุ่มครอบครัวที่รู้จัก Blendies อยู่แล้ว ทำให้กลุ่มลูกค้าที่นี่เริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่จะเป็นวัย 40 ปี

“สาขาที่ 3 เราเปิดที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน เพราะเราอยากลองไปเจอลูกค้าที่นอกเมืองดูบ้างว่าเป็นยังไง ลูกค้าเขาอยากรู้จักเราไหม เพราะที่ผ่านมาเราอยู่ในเมืองทั้ง 2 สาขา ช่วงที่เราลงในโปรโมตในอินสตาแกรมของ Blendies ก็เซอร์ไพรส์เหมือนกันว่าเรามีกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเมืองด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นครอบครัวที่ชอบกินไอศครีมของเราจริงๆ”

แบมแอบกระซิบกับเราด้วยว่ามีแผนจะเปิดร้านอีก 6 สาขา แต่ขออุบไว้ก่อนว่าเป็นที่ไหน

People

P ตัวสุดท้ายของ Blendies คือ People หรือที่แบมหมายถึงคือลูกค้า

“เราดีใจนะ ตอนที่ถามเราว่า P ที่ 5 คืออะไร เพราะทำธุรกิจสมัยนี้ 4P ไม่พอแล้ว ซึ่งลูกค้าของเราทำให้เกิด People ด้วยความที่เราเป็นเชฟ เรารู้สึกมีความสุขเวลาเห็นคนมากินอาหารที่ทำแล้วชอบ เขาถ่ายรูปลงแล้วบอกต่อว่าของเราดีจริงๆ พอมีการบอกต่อคนก็มาอุดหนุนเราเรื่อยๆ เราก็ได้แบรนดิ้งกลับมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องจัดโปรโมชั่น

“ในอนาคตเราเตรียมไว้หมดแล้วว่าต้องมีอะไรบ้าง เพราะเรามองว่าเวลาทำธุรกิจก็เหมือนเล่นเกม ที่ต้องคิดว่าทำยังไงให้เราไปถึงเป้าหมายให้ได้ เป้าหมายในระยะยาวของเราคืออยากให้ Blendies เป็นเครือใหญ่ที่มีแบรนด์อื่นๆ อยู่ในนั้น เพราะเรายังไม่อยากทิ้งการเป็นเชฟของคาว ยังอยากกลับมาทำร้านอาหารอยู่”

ส่วนเป้าหมายในระยะสั้น แบมยืนยันว่าอยากให้ Blendies เป็นพรีเมียมเจลาโต้ในใจลูกค้า ว่าวันใดที่นึกถึงพรีเมียมเจลาโต้ที่รสชาติชัด ใช้วัตถุดิบดี ก็จะนึกถึง Blendies

เบื้องหลังการผลักดันนักกีฬาเยาวชนของ “สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู” ให้เป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” 

หากเอ่ยถึงการขับเคลื่อน Soft Power ด้านกีฬา หลายคนมักจะนึกถึงกีฬามหาชนยอดนิยมอย่างมวยไทย วอลเลย์บอล แบดมินตัน ฯลฯ อุตสาหกรรมกีฬาทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐจึงมักเทความสนใจและทุ่มการสนับสนุนให้กีฬายอดนิยมเหล่านี้เป็นหลัก นั่นแปลว่ากีฬาบางประเภทที่คนไทยนิยมเล่นรองลงมาอย่างเทเบิลเทนนิสหรือที่ใครหลายคนคุ้นปาก ในชื่อกีฬาปิงปองมักได้รับการสนับสนุนน้อยกว่าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ การสร้างทักษะของนักกีฬาให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ การฝึกอบรมผู้ฝึกสอน รวมทั้งการส่งลงแข่งขัน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้คนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสนับสนุนพลังความรู้ (Intellectual Enhancement) ส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Wealth & Wellbeing) สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่ (Earth Betterment) และ ส่งต่อพลังงานที่ยั่งยืน (Energy Sustainability) 

และสำหรับสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู (Banpu Table Tennis Club : BTTC) เป็นหนึ่งในภารกิจที่บ้านปูมุ่งพัฒนา และสนับสนุนการเข้าถึงความรู้และทักษะด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสให้กับเยาวชนไทย 

สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยมีจุดเริ่มต้นจากบริษัทในเครือของบ้านปูในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้สนับสนุนศูนย์ฝึกอบรมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งชาติ ประจำเมืองเจิ้งติ้ง บ้านปูจึงเล็งเห็นโอกาสในการนำเอาความเชี่ยวชาญและเทคนิคด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสของจีนซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาถ่ายทอดสู่เยาวชนไทย รวมทั้งการสนับสนุนการฝึกซ้อมและส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์สำคัญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเยาวชนไทยให้ทัดเทียมนานาชาติและมาตรฐานสากล

โค้ชต้อม-อาสาฬห์ อมรรัตนสุชาติ หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู เป็นโค้ชที่อยู่กับสโมสรฯ มาตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรฯ ในปัจจุบันสโมสรฯ มีนักกีฬาทั้งหมด 91 คน โดยอยู่ในช่วงวัย 6-20 ปี นอกจากนี้ยังมีโค้ชประจำสโมรสรฯ 6 คน และสมาชิกทั่วไปอีก 13 คน 

สโมสรฯ บ้านปูได้ปั้นเยาวชนทีมชาติเข้าร่วมสนามแข่งขันระดับโลกมาแล้วมากมาย เช่น ซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์

จากอิมแพ็คทั้งหมดที่สโมสรฯ สร้างตั้งแต่ก่อตั้งมา วันนี้จึงขอชวนคุยกับโค้ชต้อม ถึงเบื้องหลังการแข่งขันและความภาคภูมิใจในการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสให้แก่เยาวชนไทย รวมทั้ง ความตั้งใจของสโมสรฯ ที่ต้องสร้างนักกีฬาที่เป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี”

เส้นทางการเป็นโค้ชนักกีฬาเยาวชนให้สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู

ผมเริ่มเข้ามาเป็นโค้ชของสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูจากการชักชวนของรุ่นพี่ที่เป็นโค้ชทีมชาติตั้งแต่ ตอนเริ่มก่อตั้งสโมสรฯ ราว 16 ปีก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นโค้ชอยู่แล้วประมาณ 6 ปี รวมแล้วตอนนี้ทำหน้าที่โค้ชมาเป็นเวลาทั้งหมด 20 ปี 

ตอนที่เริ่มเข้ามาดูแลสโมสรฯ บ้านปู ผมไปออกกำลังกายตามศูนย์กีฬาเยาวชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ แล้วไปเห็นน้องๆ ที่เล่นปิงปองอยู่ตามศูนย์เยาวชนเหล่านี้ว่ามีทักษะสูงอยู่แล้ว สามารถลงแข่งขันได้แต่ไม่มีโค้ชที่คอยแนะนำและไม่มีใครพาไปแข่งขัน ก็เลยเริ่มจากชักชวนเยาวชนที่นั่นมาฝึกซ้อมแล้วพาไปแข่ง

โค้ชนำมาตรฐานจากต่างประเทศมาพัฒนาให้นักกีฬาในสโมสรฯ อย่างไรบ้าง 

ผมมีโอกาสไปดูการฝึกซ้อมที่ประเทศจีนซึ่งปกติสโมสรฯ บ้านปูจะส่งนักกีฬาแต่ละรุ่นไป หลังจากไปแล้วก็เห็นภาพว่าประเทศมหาอำนาจในวงการเทเบิลเทนนิสซ้อมกันยังไง มีเทคนิคอะไรบ้างแล้วก็นำตรงนั้นกลับมาสอนให้น้องๆ ในสโมสรฯ ตัวผมเองเรียนการโค้ชนักกีฬามาจากสหพันธ์การโค้ชนานาชาติด้วยก็นำเอาทั้ง 2 ศาสตร์นี้มาใช้ร่วมกันในการสอนน้องๆ จนถึงทุกวันนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานนักกีฬาไทย

เวลาพาน้องๆ ของสโมสรฯ ไปแข่งในรายการทัวร์นาเมนต์แบบเวิลด์ทัวร์ก็เพื่อให้ได้เจอชาติมหาอำนาจของกีฬา น้องๆ จะได้เห็นภาพใหญ่ว่านักกีฬาเยาวชนทีมชาติของแต่ละประเทศเขาเตรียมตัวในการแข่งอย่างไร ฝึกซ้อมในวันแข่งอย่างไร มีระเบียบวินัยในการซ้อมยังไงบ้าง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพซึ่งแตกต่างจากบ้านเรามาก

บ้านปูพานักกีฬาเยาวชนเก็บสะสมชั่วโมงบินและประสบการณ์จากประเทศไหนมาบ้าง 

ทัวร์นาเมนต์ที่บ้านปูเคยส่งเยาวชนไทยไปก็มี World Table Tennis หรือ WTT เป็นการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสที่รับรองโดยสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (The International Table Tennis Federation: ITTF) นอกจากนี้ก็มีจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย

สโมสรฯ บ้านปูจะผลักดันให้น้อง ๆ ลงแข่งทั้งเวทีในประเทศและเวทีนานาชาติ เพื่อเก็บประสบการณ์จากการแข่งขัน เพื่อให้เรียนรู้เทคนิคของคู่แข่งให้มากที่สุด 

การสร้างนักกีฬาที่เป็น คนดี ของสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูมีการขยายอิมแพ็คยังไงบ้าง 

กิจกรรมที่ทางสโมสรฯ บ้านปูภาคภูมิใจ คือกิจกรรม “ค่ายสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเยาวชนไทย” (Remote camp) เพราะกิจกรรมนี้ช่วยปลูกฝังให้นักฬาของเราเป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” ที่ได้นำเอาความรู้ ความสามารถที่มี ไปส่งต่อเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในหลายจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ที่ทั้งยะลา ปัตตานี สตูล อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุตรดิตถ์ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่สโมสรฯ จะเลือกไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ห่างไกลที่เยาวชนยังขาดแคลนโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านกีฬา หรือในบางปีก็มีให้นักกีฬาของเราไปสอนผู้สูงอายุตีปิงปอง เพื่อสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา

การไปจัดกิจกรรมในแต่ละจังหวัด นอกจากเป็นโอกาสที่ปลูกฝังความเก่งความดีให้กับนักกีฬาในสโมสรฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสที่สโมสรฯ จะได้ค้นพบเยาวชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม มาร่วมพัฒนาศักยภาพนักกีฬาของสโมรสรฯ ที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค โดยในแต่ละภูมิภาคก็จะโค้ชประจำศูนย์ฝึกซ้อมในพื้นที่อยู่แล้ว น้องๆ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาฝึกซ้อมที่ศูนย์หลักในกรุงเทพฯ 

Pain Point ขอกีฬาในไทยที่โค้ชมองเห็นคืออะไร

ความจริงนักกีฬาไทยมีศักยภาพสูงมากในแทบจะทุกชนิดกีฬาเลยนะ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในกีฬาที่ไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยม บ้านเราจะเทความสนใจไปที่กีฬายอดนิยมที่มีคนดูเยอะ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล พอองค์ประกอบต่างๆ ในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโอกาสมีน้อย การพัฒนาก็เลยหยุดนิ่งทั้งๆ ที่ความจริงแล้วบ้านเรามีนักกีฬาที่มีความสามารถสูง สามารถสู้กับนานาชาติได้

แล้วการสนับสนุนสโมสรกีฬาของต่างประเทศที่ทำให้นักกีฬามีข้อได้เปรียบคืออะไรบ้าง

ตัวอย่างประเทศที่มีจำนวนประชากรเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและมีนักกีฬาเทเบิลเทนนิสเยอะกว่าทุกชาติในโลกนี้คือจีน เมืองหนึ่งของเขามีจำนวนนักกีฬาเท่ากับนักกีฬาไทยทั้งประเทศ แล้วเขาสามารถเอานักกีฬาทุกเมืองมารวมกันเพื่อคัดเลือกคนที่ยอดเยี่ยมที่สุดมาเป็นทีมชาติทำให้มีโอกาส ชนะสูงกว่าบ้านเรา

เทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาประจำชาติที่คนจีนรู้สึกว่าจะแพ้ชาติไหนไม่ได้ในโลกนี้ และแทบจะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ ของจีนเลยก็ว่าได้ ดังนั้นประเทศเขาจะทุ่มกับการแข่งขันกีฬาประเภทนี้มากและวิธีการฝึกซ้อมจะต่างกับไทยอย่างเห็นได้ชัด เด็กจีนจะซ้อมวันละ 3 รอบต่างจากเด็กไทยที่มีเวลาซ้อมแค่ 1 รอบหลังเลิกเรียน นักกีฬาจีนยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์ เวลาฝึกซ้อม สนับสนุนแม้กระทั่งการเลือกโรงเรียนที่เอื้อในการซ้อมของนักกีฬา 

ในขณะเดียวกันถ้าไปฝั่งยุโรป หลักสูตรการศึกษาของฝั่งตะวันตกก็ให้เรียนแค่ครึ่งวันทำให้นักกีฬามีเวลาเหลือในการซ้อม 2 รอบ ส่วนไทยเรามีหลักสูตรการศึกษาที่ให้เรียนตั้งแต่เช้าจรด 5 โมง เผลอๆ น้องบางคนยังต้องเรียนพิเศษต่ออีก 2 ชั่วโมงถึงจะมีเวลามาซ้อม ทำให้เวลาซ้อมกีฬาเต็มที่ก็มีแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นในแต่ละวัน ด้วยลักษณะของระบบการศึกษาและการสนับสนุนก็ทำให้ประเทศอื่นซ้อมได้มากกว่าบ้านเรา

ทุกวันนี้มีกลยุทธ์ในการโค้ชเยาวชนทีมชาติไทยอย่างไร 

ณ ตอนนี้ เราพยายามผลักดันให้เยาวชนทีมชาติไทยไปสู่ระดับนานาชาติมากขึ้นซึ่งน้องๆ กลุ่มนี้ก็จะซ้อมกับแชมป์ทีมชาติอย่างเข้มข้นวันละ 2-3 รอบ ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน พัก 1 วัน 

สำหรับการซ้อมในวงการกีฬาเรามักจะได้ยินคำว่า ‘เอาที่ซ้อมไปใช้แข่ง’ หรือ ‘ซ้อมให้เหมือนแข่ง แข่งให้เหมือนซ้อม’ อยู่บ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่เวลาแข่งขันมันต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนซ้อมเลยว่าจะซ้อมแบบไหนเพื่อไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ไหน

ยกตัวอย่างการวางแผนการซ้อม เราจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ช่วงแรกคือเรื่องของร่างกายและพละกำลังทั้งหมด การตี ความแม่นยำที่ต้องเตรียมให้พร้อมไว้ก่อน ช่วงที่ 2 ก็จะเริ่มวางโครงสร้างเทคนิคในการตี เช่น ตีไปทางซ้าย ตีไปทางขวา จะตีเข้าตัวหรือเสิร์ฟแบบไหน เป็นต้น ช่วงที่ 3 จะเป็นการวางกลยุทธ์ล้วนๆ ว่าจะใช้เทคนิคไหนในตอนไหน 

ในวันแข่งเราแทบจะแนะนำนักกีฬานิดเดียวเพียงแค่ว่าคู่ต่อสู้มีจุดอ่อนตรงไหน ที่เหลือให้นักกีฬาเป็นฝ่ายครีเอตเทคนิคเข้าไปแล้วนำสิ่งที่ซ้อมและวางแผนตั้งแต่ต้นออกมาใช้

ความภาคภูมิใจที่ได้พานักกีฬาไทยโกอินเตอร์คืออะไร 

เริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาดูเยาวชนทีมชาติ ประเทศไทยเคยได้เป็นเจ้าอาเซียนคือได้เหรียญทองทั้งหมด 11 เหรียญในการแข่งขัน 11 ประเภทจากทั้งหมด 13 ประเภท เราชนะทั้งในรุ่นอายุ 15 ปี, 19 ปี, ประเภทเดี่ยว-ทีม-คู่ผสม, ชนะทั้งการแข่งประเภทหญิงและชาย ชนะเยอะมากจนได้เป็นเจ้าอาเซียน ซึ่งเป็น ความภูมิใจแรกๆ เลยตอนที่เริ่มทำ

จากนั้นผมก็เขยิบมาเป็นโค้ชทีมชาติทีมใหญ่ ดูแลนักกีฬาที่ไปซีเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ตอนเริ่มทำครั้งแรกได้ไปแข่งที่เวียดนาม นักกีฬาของเราได้ 4 เหรียญทองกลับมา และได้เป็นเจ้าอาเซียนอีกเหมือนกัน ส่วนซีเกมส์อีกสมัยที่กัมพูชา ทีมเราได้ 3 เหรียญทอง อีกหนึ่งมหกรรมกีฬาคือเอเชียนเกมส์ พอผมมาคุมทีมก็ทำให้ได้เหรียญทองแดงในรอบ 53 ปี ที่ไทยไม่เคยได้เหรียญเลย 

ส่วนโอลิมปิกครั้งล่าสุด ทีมเราไม่เคยได้เข้าร่วมแข่งขันประเภททีมมาก่อนและเราก็ทำผลงานได้ในที่สุดว่า “ได้ไปแข่งแล้วถึงแม้จะยังไม่ชนะก็ตาม”

ทุกครั้งก่อนไปทั้งนักกีฬาและทีมงานทั้งหมดก็จะกดดันเพราะคนไทยทั้งประเทศไทยจับตามองอยู่ว่า เราจะทำผลงานออกมาเป็นยังไง แต่เราก็ประทับใจหมดทุกรายการที่ลงแข่ง เวลาที่เราได้รางวัลแล้วธงชาติไทยถูกชักขึ้นสู่เสา มันเป็นภาพที่ทำให้รู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว

ปัจจุบันนี้กีฬาเทเบิลเทนนิสไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชีย ส่วนอันดับ 1-4 ของโลกนั้นอยู่ในแถบเอเชียทั้งหมด ในขณะที่ยุโรปจะอยู่ราวอันดับที่ 5-8 ของโลก เพราะฉะนั้นขีดความสามารถและศักยภาพของนักกีฬาเทเบิลเทนนิสไทยก็ถือว่าทัดเทียมกับนานาชาติ

ความภาคภูมิใจในฐานะโค้ชตลอด 16 ปีที่ดูแลเยาวชนในสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูคืออะไร   

คิดว่าหนึ่งในความสำเร็จที่สุดของบ้านปู คือ การจัดกิจกรรม “ค่ายสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเยาวชนไทย” (Remote camp) นี่แหละ เวลาเยาวชนทีมชาติของเราไปค่ายเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เขาจะได้ความภาคภูมิใจกลับมามากๆ เพราะนักกีฬาที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกลติดตามพวกเขาอยู่ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เกิดภาพการขอลายเซ็น การขอเสื้อก็ทำให้น้องๆ เยาวชนทีมชาติเกิดความภูมิใจที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบเจอ สิ่งนี้เป็นข้อหนึ่งที่บ้านปูปลูกฝังให้นักกีฬาตลอดเลยว่า เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเป็นคนดีด้วย

‘โอชิน’ ขนมปังเจ้าดังเชียงใหม่ที่เน้นอบสดวันต่อวัน มี 40 สาขาแต่ไม่ประนีประนอมเรื่องคุณภาพ

“สมัยเรียนมหาวิทยาลัยชอบกินมาก ต้องกินแบบเย็นๆ ด้วยฮะถึงจะอร่อย” คนตรงหน้ายิ้มกว้างเมื่อเราบอกแบบนั้น 

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานหลักสิบปีใครจะคิดว่าวันหนึ่งเราจะได้มานั่งคุยกับผู้บริหารและหุ้นส่วนของแบรนด์ขนมปังที่ชอบกินตอนวัยรุ่น  คนตรงหน้าของเราคือ โอ๋-จำนงจิต แซ่ลิ่ว ผู้บริหารและหุ้นส่วนที่อยู่กับโอชินมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่โอชินไปบุกเชียงใหม่ เธอกับ ดอม-สมคิด แก้วผัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ช่วยกันปลุกปั้น

จากร้านขายขนมปังย่านตลาดเมืองใหม่ มีเอกลักษณ์คือขนมปังนมสดกล่องเหลืองที่อบสดวันต่อวัน วันนี้โอชินเติบโตกลายเป็นแบรนด์เบเกอรีโฮมเมดที่ขายสินค้าหลากหลาย มีสาขากว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ด้วยความตั้งใจที่จะผลิตขนมปังสดใหม่ หอม นุ่ม อร่อย จากเตาทุกวัน และยังรับบริการจัดทำชุดอาหารว่างในโอกาสสำคัญให้กับลูกค้า

พูดก็พูดเถอะ ผ่านมาสิบกว่าปี เราก็เปลี่ยนไปมาก แต่ยืนยันได้ว่ารสชาติของ ‘โอชิน’ ขนมปังนมสดกล่องเหลืองเจ้าดังจากเชียงใหม่นั้นไม่เคยเปลี่ยนไป สัมผัสของแป้งขนมปังเหนียวนุ่ม ไส้นมสดข้างในหวานพอดี เผลอหยิบเข้าปากทีสองทีก็หมดกล่องแล้ว–ใครที่เคยกินโอชินเหมือนเราคงมีประสบการณ์คล้ายกัน

แต่อะไรล่ะที่ทำให้โอชินเป็นที่รักของคนกินขนมปังขนาดนี้ ขอเดาว่าไม่ใช่แค่ครีมนมสดรสชาติหวานพอดีแน่ๆ

ขนมปังนมสดอโยธยา

คนเชียงใหม่อย่างเราเพิ่งจะรู้วันนี้ว่า สาขาแรกของโอชินไม่ได้อยู่เชียงใหม่ แต่ขนมปังนมสดกล่องแรกของพวกเขาวางขายที่ตลาดน้ำอโยธยา 

ครอบครัวของดอมทำธุรกิจขนมอบมาได้ราว 2 ปี ก่อนที่เขาจะมาเยี่ยมเยือนเชียงใหม่ และเห็นว่าตลาดเบเกอรีในเชียงใหม่มีโอกาสจะเติบโต

ส่วนโอ๋เคยเป็นล่ามภาษาจีนที่รักการทำขนมเป็นชีวิตจิตใจ   จนจุดหนึ่งที่เธอรู้สึกว่าอิ่มตัวกับการทำงานประจำ เธอจึงเลือกเดินทางกลับจากประเทศจีนมาอยู่เชียงใหม่ และคิดจะเปิดร้านขนมของตัวเอง ลองทำขนมขายในตลาดนัดต่างๆ ในเชียงใหม่ จนสุดท้าย โชคชะตาพาให้มารู้จักดอม

1 คูหาและความฝันในการเปิดร้านขนมปัง

“ก่อนจะเปิดร้านที่เชียงใหม่ คุณดอมเอาขนมปังนมสดของโอชินมาให้ชิมก่อน เรากินแล้วชอบมาก ว้าวกับความอร่อย ไม่หวานมาก ยิ่งแช่เย็นก็ยิ่งอร่อย” หญิงสาวเล่าวินาทีที่ตกหลุมรักแบรนด์ขนมปัง และเป็นเหตุผลเบื้องหลังของการพาโอชินมาเปิดที่เชียงใหม่

หญิงสาวย้อนความให้เราฟังว่า สาขาแรกของโอชินเปิดในเดือนเมษายนปี 2554  เป็นร้านเล็กขนาดหนึ่งคูหา ตั้งใกล้โรงแรมเชียงใหม่ รัตนโกสินทร์ ติดกันคือร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีพนักงานออฟฟิศแวะเวียนกันมาเป็นประจำ และถัดออกไปหน่อยคือตลาดเมืองใหม่ ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่โอชินชวนมาลองชิมจึงเป็นคนวัยทำงานและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า

“วันแรกจำได้เลยว่าขายได้ 400 บาท ซึ่งขนมปังของเราทิ้งไว้ข้ามคืนไม่ได้ เราเลยแจกให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเมืองใหม่ได้ลองชิม” โอ๋เล่า

จากการแจกจ่ายและขายในวันแรกๆ นำมาซึ่งกระแสปากต่อปาก ในเวลาอันรวดเร็ว ขนมปังของโอชินก็กลายเป็นแบรนด์ขนมปังโฮมเมดที่ขึ้นชื่อเรื่องความสดใหม่ ขายขนมปังใส่ไส้ทั่วไปราว 10 รสชาติ แต่ใครที่มาก็จะรู้ว่าเมนูซิกเนเจอร์ที่มาโอชินแล้วพลาดไม่ได้ คือขนมปังนมสดที่แช่เย็น ยิ่งเย็นยิ่งอร่อย

ขนมปังจากธรรมชาติ

อะไรทำให้คนเชียงใหม่ติดอกติดใจโอชินนัก 

“อย่างแรกคือความอบสด อย่างที่สองอาจเป็นเรื่องวัตถุดิบที่เราเน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากที่สุด” โอ๋วิเคราะห์ “เราอยู่ใกล้ตลาดเมืองใหม่ วัตถุดิบหลายตัวจึงใช้วัตถุดิบจากในตลาด จะไม่ใช้วัตถุดิบปรุงแต่งเลย ไม่ว่าจะใบเตย สับปะรด เผือก มัน เราก็หาที่นั่น”

สิ่งที่ต้องแลกมาคือสีสันและรูปร่างหน้าตา ที่หญิงสาวออกปากว่า ต้องใช้เวลาในการจูงใจลูกค้าให้ซื้ออยู่เหมือนกัน

“บางทีเราใช้วัตถุดิบธรรมชาติแล้วจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ทำไมใบเตยไม่เขียว สีมันซีด ช่วงนั้นเราก็ต้องเน้นการสื่อสารให้ลูกค้าทราบว่าเราไม่ได้ใส่สีหรือกลิ่นเลย บางทีเราได้ใบเตยมาเป็นใบเตยที่แก่และอ่อน เราก็ใช้ตามธรรมชาติ หรือบางทีสับปะรดก็มีความหวานเปรี้ยวไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล มันก็เป็นการเรียนรู้ของเราเหมือนกัน” 

เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่สองในเชียงใหม่โอชินก็พัฒนาขนมซิกเนเจอร์อีกตัวออกมา เป็นทาร์ตมะพร้าวอ่อนที่ขนาดเท่าพิซซ่าไซส์เล็กรสชาติหวานหอม พวกเขาใช้หลักการตลาดแบบทดลองให้ลูกค้าได้ชิม และบอกต่อกันปากต่อปากเหมือนเดิม ทำให้โอชินยิ่งเป็นที่รู้จักจนขยายสาขามาที่ถนนนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นย่านที่นักศึกษาและนักท่องเที่ยวชุกชุมได้สำเร็จ

“นิมมานฯ เป็นแหล่งเศรษฐกิจของเชียงใหม่เลย พอเข้าไปอยู่ตรงนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักของลูกค้าโซนสวนดอก ใครที่ไปนิมมานฯ จะต้องได้มีโอกาสกินโอชิน เราก็เริ่มเติบโตแบบขยายวงกว้างที่นั่น” หญิงสาวยิ้ม

ขนมปังที่เน้นการขายง่ายๆ

โอชินเคยอบขนมสดใหม่ให้กับลูกค้ายังไงในวันแรก ถึงวันนี้ที่เปิดไปแล้วกว่า 40 สาขาพวกเขาก็ยังเป็นเหมือนเดิม และเพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ขนมปังโอชินจึงตั้งราคาขายสินค้าให้สมเหตุสมผล ราคาไม่แพง  แถมยังมีบริการจัดชุดอาหารว่างในงานประชุมและพิธีการต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ชุดละ 25 บาท 

“ขนมปังที่ดีสำหรับเราคือต้องอร่อย แต่ความอร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราไม่ได้คิดว่าจะทำของกินที่จะต้องถูกปากใครบ้าง แต่จะคิดถึงวัตถุดิบที่ใช้ว่าต้องดีและมีความใส่ใจ” 

ความใส่ใจที่เธอพูดถึง คือการอบขนมปังให้ได้มาตรฐาน เป๊ะตามสูตร  เธอบอกว่าทุกสาขาของโอชินจะมีเตาประจำสาขาเพื่ออบขนมสดใหม่เสิร์ฟลูกค้าวันต่อวัน ซึ่งถึงแม้จะมีเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรง  แต่คนที่ตัดสินใจว่าขนมปังนั้นจะถูกส่งต่อให้ลูกค้าได้หรือไม่ คือพนักงานของโอชินที่ต้องพิจารณา

“นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของเราเสมอ เพราะเมื่อเราอยากให้เป็นโฮมเมดที่ไม่ได้คิดตั้งต้นแบบอุตสาหกรรม ขนมทุกชิ้นผ่านมือเราหมดเลย พอขยายสาขามันก็เริ่มยากในการควบคุมจัดการ เราจึงต้องปลูกฝังและส่งต่อเจตนาของเราให้กับพนักงานทุกคน

“เราบอกพนักงานเสมอว่า คุณทำขนมปังร้อยชิ้นแต่หนึ่งชิ้นเป็นสีเข้ม มันอาจจะเป็นแค่ 1% แต่ถ้า 1% ไปอยู่ในหนึ่งกล่อง มันคือ 100% ของลูกค้าแล้วนะ เขาจะได้ขนมชิ้นที่ไม่ดีที่สุดไป คุณโอเคเหรอ กลับกัน ในมุมผู้บริโภค ถ้าเกิดคุณเป็นคนที่เปิดกล่องมาแล้วเห็นขนมชิ้นนั้นจะเป็นยังไง”

สำหรับโอชิน การทำธุรกิจขนมไม่ได้เป็นเพียงแค่การขายขนม หากมันคือการขายความรู้สึกที่ดีให้กับลูกค้า นั่นคือสิ่งที่โอชินทำมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และอาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ลูกค้ารักและไว้ใจในแบรนด์จนขยายสาขาต่อได้เรื่อยๆ

ไม่ได้มีแค่ขนมปัง

จากที่เคยขายแค่ขนมปัง โอชินก็แตกไลน์สินค้าเพิ่มเป็นประเภทขนมอบ pastry จำพวกครัวซองต์ที่มีอายุเชลฟ์ 4 วัน (จริงๆ โอ๋กระซิบว่า พวกเขาจะวางขายแค่ 2 วัน แล้วอีก 2 วันจะเผื่อเป็นเวลาให้ลูกค้าทาน เพื่อประสบการณ์การกินที่ดีที่สุด) โอชินยังมีขนมอบแห้ง จำพวกคุกกี้ที่มีอายุเก็บหนึ่งเดือน ไปจนถึงเครื่องดื่มชงสดใหม่

แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตลาดเบเกอรีกว้างขึ้น และความท้าทายในการทำธุรกิจของโอชินก็เปลี่ยนตาม

“ความท้าทายในตอนนี้คือมีคู่แข่ง เป็นเบเกอรีที่ไม่มีหน้าร้านโผล่ขึ้นมาเยอะมาก อีกอย่างคือออนไลน์ เราไม่สามารถทำตลาดออนไลน์ได้เพราะเป็นห่วงเรื่องอายุ shelf life ของผลิตภัณฑ์ เพราะเราเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ สินค้าของเราไม่ใส่สารกันเสียจึงต้องแช่เย็นทำให้มันค่อนข้างอ่อนไหว มีลูกค้าบอกให้เราส่งไปต่างจังหวัด แต่เรากลัวว่าสินค้าที่ลูกค้าได้ไปจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนที่ออกจากหน้าร้านไป ความท้าทายของโอชินตอนนี้จึงเป็นการจัดการกับความไม่แน่นอน เพราะเราอยากคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ 

“อีกอย่างคือการคุมบริการของพนักงานที่ทุกคนเป็นตัวแทนของแบรนด์ ขนมของเราไม่ได้หน้าตาสวยแบบถ่ายลงเฟซบุ๊กได้ ขนมเราต้องกินเพื่อจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกค้ามาถึงหน้าร้านแล้วต้องเจอคือการบริการ ลูกค้าบางทีอยู่ในร้านแค่ 5 นาทีแต่เราจะทำยังไงให้ 5 นาทีนั้นเป็น 5 นาทีที่ลูกค้าไม่ต้องถึงขนาดประทับใจ แต่ควรพอใจในการบริการของเราก่อน” โอ๋บอก

ขนมปังที่ต้องอดทน

อีกหนึ่งสิ่งที่โอชินยึดมั่นอยู่เสมอ คือพวกเขาจะไม่ปฏิเสธลูกค้า และพยายามให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ หากลูกค้าอยากให้ช่วย โอ๋ยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพว่า บางครั้งลูกค้าก็สั่งเบรกแบบฉุกละหุก สั่งเช้าจะเอาไปแจกงานสาย 

“ธุรกิจก็อยากได้เงินแหละ แต่สิ่งหลักคือเราต้องช่วยเหลือลูกค้าและแก้ปัญหาก่อน ตอนนี้ลูกค้าต้องการเรานะ เราจะช่วยเหลือลูกค้าได้ยังไง ทางเราจะรวบรวมกำลังคนมาช่วยกันทำอย่างเต็มความสามารถ” 

เมื่อเราถามว่า 13 ปีที่อยู่กับขนมปังมา ขนมปังมอบบทเรียนสำคัญอะไรบ้างให้กับเธอ โอ๋ยิ้มแล้วตอบว่า

“เหมือนกับโอชินที่เป็นสาวน้อยผู้อดทนในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Oshin เลย ขนมปังสอนให้เราอดทน ขนมปังมันมีจังหวะที่เหมาะสม สอนให้เราเรียนรู้กับการรอ อย่างเราเริ่มทำขนมปังจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ มันก็มีเวลาในการนวดแป้งที่เหมาะสม เราก็แค่รอให้มันนวดแป้งให้ได้ที่เพื่อจะขึ้นรูปสวยงาม 

“เมื่อได้จังหวะที่พอดี ขนมปังก็จะเพอร์เฟกต์ มันสอนเราว่าในบางเรื่องเราไม่ต้องใจร้อน ถ้ารอได้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ควรรอ” 


PRINCESS COLLECTION 2024 คอลเลกชั่นใหม่ Wacoal ร่วมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม

รู้ไหมว่าโรคมะเร็งเต้านมมีอัตราการตรวจพบถึงปีละมากกว่า 2 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ทั่วโลก ทั้งยังคร่าชีวิตผู้ป่วยปีละมากกว่า 700,000 คน ซึ่งสูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด ส่วนในประเทศไทยเอง ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2563 พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ราว 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตราว 4,800 คนต่อปี และมีอัตราเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  

เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยเข้าใจ ตระหนัก และรู้จักวิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง รวมถึงส่งต่อกำลังใจและพลังบวกของผู้หญิงมอบให้แก่กันและกัน แบรนด์ SIRIVANNAVARI จึงร่วมกับ WACOAL, มูลนิธิกาญจนบารมี, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ (เพื่อมะเร็งเต้านม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงออก ‘Princess Collection SIRIVANNAVARI x Wacoal’ ลิมิเต็ดเอดิชั่น ประจำปี 2024 

คอลเลกชั่นนี้ประกอบด้วยชุดชั้นในและเสื้อผ้าเลานจ์แวร์ เน้นโทนสีขาวและสีดำ ลูกเล่นออมเบรไล่เฉดสี ประดับลูกไม้พรีเมียม โดดเด่นด้วยลวดลายกราฟิกจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้งยังมีสัญลักษณ์รูปหัวใจ ‘Heart of Love’ ที่ถ่ายทอดถึงความห่วงใยต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ระลึกของโครงการโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI เพื่อมูลนิธิกาญจนบารมี อันประกอบด้วยเสื้อยืด, เสื้อโปโล, กระเป๋า, ขวดน้ำ และร่ม วางจำหน่ายอีกด้วย  

คอลเลกชั่นนี้อยู่ในโครงการ ‘วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม’ แบรนด์ชุดชั้นในแบรนด์แรกในไทย ที่อยู่คู่กับผู้หญิงไทยมากว่า 54 ปีอย่าง WACOAL ทำอย่างต่อเนื่องมาถึง 24 ปี ในปี 2567 นี้ ถือเป็นภารกิจรณรงค์ให้หญิงไทยเห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นภัยร้ายอันดับ 1 ของหญิงไทย หากพบความผิดปกติก็ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย พบเร็ว รักษาไว มีโอกาสหาย  

นอกจากคอลเลกชั่นนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ชุดชั้นในที่ดีไซน์สวยคุณภาพดี ยังได้ช่วยหญิงไทยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านมด้วย เพราะรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้า นำไปสนับสนุนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้หญิงไทยทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมี ในการจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ (แมมโมแกรม) เพื่อบริการให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสใน 4 ภาคทั่วประเทศ 

ไม่เพียงแค่ออกคอลเลกชั่นใหม่เท่านั้น แต่ WACOAL ยังมี WACOAL Balancing Bra พร้อมเต้านมเทียม สำหรับสตรีผู้สูญเสียเต้านม ที่ออกแบบคำนึงถึงสรีระบริเวณเต้าทรงที่สูญหายไป แต่ WACOAL Balancing Bra เป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่ไม่อยากขาย วาโก้จึงเน้นย้ำพร้อมรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักการป้องกัน และเห็นความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง 

 ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการและสร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยมะเร็งเต้านมได้ที่ร้าน SIRIVANNAVARI ชั้น 1 สยามพารากอน วาโก้ช็อปและเคาน์เตอร์วาโก้ 20 สาขาชั้นนำทั่วประเทศ พร้อมช่องทางวาโก้ออนไลน์ www.wacoal.co.th 

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ระลึกของโครงการ Princess Collection โดยมูลนิธิกาญจนบารมี สามารถซื้อได้ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Lazada ชื่อร้านค้า ‘Princess Collection โดยมูลนิธิกาญจนบารมี’  ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป