8 แนวคิดการบริหารฉบับ KIV ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กดดันให้เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ ฟรีแลนซ์ รวมถึงมนุษย์เงินเดือน ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต การค้าขาย โดยเฉพาะแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในไทยมายาวนาน

จากปัญหาดังกล่าว เป็นโอกาสครั้งสำคัญในโลกการเงินที่มีข้อมูลมหาศาลที่จะใช้เทคโนโลยีนำข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พวกเขาได้รับบริการการเงินที่ต้องการ และสามารถต่อยอดไปใช้บริการการเงินที่อยู่ในระบบได้

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ การเปิดตัวบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย มาพร้อมกับพาร์ตเนอร์ 14 บริษัท ที่เป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจ และมีฐานข้อมูลทั้งการจับจ่ายใช้สอย ไลฟ์สไตล์ มาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์เพื่อทำให้บริการการเงินครอบคลุมทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ โดยมีโจทย์ว่า ต้องการทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการการเงินได้ง่ายและเร็วขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กสิกร อินเวสเจอร์ แยกตัวออกจากธนาคารกสิกรไทย มาบริหารธุรกิจเองโดยอิสระ เพื่อทำให้กระบวนการให้บริการต่างๆ กับลูกค้าคล่องตัวมากขึ้น

ภารกิจสำคัญเพื่อขับเคลื่อน KIV ให้ก้าวไปข้างหน้ามั่นคง ประกอบด้วยการผนึกกำลังของพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนลูกค้าในทุกมิติ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลตฟอร์มของ KIV และแพลตฟอร์มของพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นในโลกโซเชียล ในแชต ร้านชำ ฯลฯ โดย KIV จะผสานความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์สร้างประสบการณ์บริการที่ไร้รอยต่อ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกจังหวะชีวิต และทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

เพื่อให้มองเห็นภาพของกสิกร อินเวสเจอร์ชัดขึ้น ศุภนีวรรณ จูตระกูล และชลารัตน์ พินิจเบญจพล 2 ผู้บริหารในตำแหน่ง Executive Chairman ของ KIV ที่ร่วมกันวางโครงสร้างของ KIV และทำงานกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ จะเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมด

ต่อไปนี้คือ 8 แนวคิดการบริหารฉบับ KIV ที่พลิกรูปแบบการทำธุรกิจในการให้บริการทางการเงินกับลูกค้ารายย่อยได้ทั่วถึง และใช้ศักยภาพของพาร์ตเนอร์เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว

1. Built to Change เข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า

สิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ ‘ความเข้าใจ’ ทั้งเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า และนั่นคือสิ่งที่ทำให้กสิกร อินเวสเจอร์ มองเห็น pain point ของลูกค้าและโอกาสในธุรกิจ

เมื่อมองภาพของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของผู้ประกอบการไทย พบว่า การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ศุภนีวรรณ จูตระกูล ได้ฉายภาพสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเจ้าของร้านค้าขนาดเล็กที่เริ่มมีมากขึ้นในยุคนี้ สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้เจออยู่ตอนนี้คือ “เมื่อผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึงแหล่งทุน สิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนจะไม่มีเงินทุนทำธุรกิจเพื่อชำระหนี้ หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนทำให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ และตกอยู่ในวังวนของการจ่ายดอกเบี้ยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เราจึงต้องการเป็นส่วนสนับสนุน ปล่อยสินเชื่อให้พวกเขาสามารถไปต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และชำระหนี้”

ชลารัตน์เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ถ้าดูตัวเลขของหนี้ครัวเรือนเห็นว่า หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากธนาคารพาณิชย์ เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้เฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อการทำเกษตร ทำสวน ทำนา ภารกิจของ KIV จึงโฟกัสกลุ่มลูกค้ารายย่อย คนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ หรือฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นช่องว่างทางการตลาดที่เราค้นพบ เนื่องจาก non-bank (ผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคาร) ส่วนใหญ่จะปล่อยสินเชื่อได้ในวงจำกัด และไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายย่อย นี่จึงเป็นเหตุผลให้ KIV เลือกที่จะลงเล่นในตลาดสินเชื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Red Ocean

2. เรียนรู้จากความผิดพลาดและแก้ปัญหาล่วงหน้า

กว่าจะมาถึงวันที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จุดเริ่มต้นแท้จริงของ KIV ต้องย้อนไปในปี 2018 KIV ได้เริ่มทำงานกับพาร์ตเนอร์ในชื่อโปรเจกต์ Biz X โปรเจกต์ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทยมาแล้วมากมาย ซึ่งภาพที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำได้ดี คือการทำ Social Banking รายแรกในประเทศไทย โดยร่วมกับ LINE ให้บริการ LINE BK บริการการเงินบน LINE ซึ่งเป็นแอพฯ ที่คนไทยใช้งานมากกว่า 50 ล้านคน และความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อชุมชนอย่างร้านถูกดี มีมาตรฐานเพื่อให้บริการระบบชำระเงิน เป็นต้น โปรเจกต์ Biz X ที่ระดมทีมทำงานกันมาตลอด 5 ปี ทำให้ทีมได้เก็บข้อมูลลงมือทำจริง เรียนรู้ความผิดพลาดและได้รับความสำเร็จจากประสบการณ์จริง

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีคนใช้บริการการเงินของธนาคารกสิกรไทย 20 กว่าล้านคน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้บริการการเงินในระบบ

“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงกลุ่มคนที่เหลืออยู่ เมื่อตั้งจากโจทย์นี้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเห็นภาพการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น” ศุภนีวรรณเล่าถึงเบื้องหลังโปรเจกต์ Biz X

หนทางความสำเร็จมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชลารัตน์เล่าประสบการณ์อันเป็นบทเรียนสำคัญว่า “ก่อนหน้านี้เราพิจารณาการปล่อยสินเชื่อผ่านข้อมูลลูกค้าที่ยื่นออนไลน์เข้ามา ซึ่งมีคนสนใจเยอะ แต่กลับเป็นเอกสารปลอม ยืนยันที่อยู่และเบอร์ติดต่อไม่ได้ ทำให้เกิดหนี้เสียไปไม่น้อย สิ่งที่เราปรับคือ การใช้ความเชี่ยวชาญจากพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย และให้เวลากับการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น มีการทำ cross-check เคสไหนไม่มั่นใจเราก็จะส่งพนักงานไปเจอลูกค้า ร่วมกับการวิเคราะห์ดาต้าที่มี ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ไลฟ์สไตล์ และการซื้อสินค้าออนไลน์”

การเรียนรู้จากความผิดพลาดทำให้เห็นหนทางใหม่ๆ และทำให้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายองค์กร

3. สร้าง Synergy ระหว่างพาร์ตเนอร์

การดำเนินงานของ KIV เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของพาร์ตเนอร์ในแต่ละด้าน ร่วมกับการใช้ทรัพยากรที่ธนาคารกสิกรมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฐานผู้ใช้งาน K PLUS ที่มีกว่า 20 ล้านราย, เงินทุน, ข้อมูลไอที และสาขา เป็นต้น รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ร่วมงานกับ KIV ก็ล้วนมีความแข็งแกร่งที่แตกต่างกัน เมื่อนำจุดแข็งของแต่ละส่วนมารวมกันย่อมส่งผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการแชร์บริการหรือองค์ความรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ชลารัตน์เล่าถึงการทำงานกับพาร์ตเนอร์ให้เราฟังว่า “แต่ก่อนถ้าเป็นลูกค้าในต่างจังหวัดหรือชุมชนเล็กๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาเป็นใคร อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นนานเท่าไหร่ หรือมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างไร การมีพาร์ตเนอร์จะช่วยให้เราได้ข้อมูลเหล่านี้ นี่จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ ทีดี ตะวันแดง เจ้าของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรายย่อยได้มากขึ้น เนื่องจากร้านนี้เป็นเหมือนเอาต์เล็ต กระจายอยู่ทั่วประเทศในพื้นที่ชุมชนต่างๆ มีลูกค้าประจำ และดำเนินการโดยเจ้าของร้านที่เป็นคนพื้นที่ที่รู้จักชุมชนเป็นอย่างดี สามารถดูได้ว่าลูกค้าแต่ละคนมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างละเอียด เพื่อลดการเกิดหนี้เสีย”

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมธนาคารกสิกรไทยที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศต้องลงทุนกับพาร์ตเนอร์หลายรายแทนที่จะทำเองทั้งหมด ดั่งคำกล่าวที่ว่า ไปคนเดียวอาจไปได้เร็ว แต่ถ้าไปด้วยกันจะไปได้ไกลกว่า KIV ก็คิดอย่างนี้เช่นกัน เพราะการร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่เป็น expertise ในสาขาต่างๆ จะเติมเต็ม ecosystem ทั้งหมดขององค์กร บวกกับทรัพยากรที่แข็งแกร่งของธนาคาร จึงช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้ง 14 บริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์ ล้วนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน อาทิ ทีดี ตะวันแดง ธุรกิจร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่ตั้งอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ, บริษัท เงินให้ใจ และคาร์ ฮีโร่ ให้บริการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ หรือบริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด ให้บริการ e-Wallet เพื่อเป็นโซลูชั่นธุรกรรมการเงิน และบริการสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท

4. รับฟังและหาจุดกึ่งกลาง

การมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีความต้องการและโจทย์ที่แตกต่างกัน เป็นความท้าทายที่ KIV ต้องสร้างข้อตกลงร่วมกันให้ได้

หน้าที่ของ KIV คือการลงทุนและสนับสนุนการทำงานของพาร์ตเนอร์ทุกราย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและได้ประโยชน์สูงสุด

ศุภนีวรรณเล่าถึงความยากในการทำงานกับพาร์ตเนอร์จำนวนมากว่า ความกลมเกลียว คือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะทุกกลุ่มมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น การแชร์การเข้าถึงระบบหรือข้อมูลระหว่างกัน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ เราต้องทำให้พาร์ตเนอร์เห็นว่าเมื่อร่วมมือกันแล้วดีอย่างไร เพราะทุกธุรกิจก็ต้องการให้ตนเองโต

“วันแรกเราอาจยังไม่รู้จัก ไม่เชื่อใจกัน พอลงมือทำจริงต้องสื่อสารกันให้มาก แต่ละพาร์ตเนอร์ก็มีโจทย์และความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ด้านพนักงานของเราก็ต้องรับฟังและพูดคุย รวมถึงต้องมีเป้าหมายร่วมกัน”

5. ใช้ดาต้าสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า

ด้วยความที่ทุกวันนี้สถาบันการเงินเปรียบได้กับ data company ที่มีข้อมูลอยู่ในมือมากมาย และเป็นข้อมูลทางการเงินที่มีคุณค่าต่อธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ก็ช่วยให้ KIV มีดาต้าด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องประเภทสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุดจากร้านถูกดี มีมาตรฐาน หรือข้อมูลไลฟ์สไตล์จากการใช้จ่ายผ่านช่องทาง LINE ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีข้อมูลของตัวเอง

ชลารัตน์กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรด้วยดาต้า ช่วยให้เราเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้บริโภคมีความต้องการและพฤติกรรมอย่างไร ช่วยกลั่นกรองลูกค้าทำให้เราออกแบบโมเดลธุรกิจได้ตรงกลุ่ม และสร้างแคมเปญที่เหมาะกับลูกค้า

เราสามารถนำดาต้ามาใช้ได้หลายมิติ เพราะการมีดาต้าที่ดีจะทำให้เราเข้าถึงปัญหาได้เร็วกว่าเดิม เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่ความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ

6. ปรับตัวไวในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

ทุกคนทราบดีกว่าการจะอยู่รอดในโลกธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวให้ไว

การทำธุรกิจแบบเดิมๆ อาจไม่ทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว แม้วันนี้ร้านจะขายดี แต่อีก 2 เดือนมีเทรนด์ใหม่เข้ามา ก็พลิกเป็นขาดทุนได้ง่ายๆ ผู้ประกอบการจึงต้องจับกระแสให้ทัน เป็นทั้งความยากและง่ายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น แต่ก็เสียลูกค้าได้ง่ายไม่ต่างกัน ดังนั้นสินค้าต้องตอบโจทย์ตลาด

“ในมุมของเราที่ต้องทำงานกับลูกค้าและผู้ประกอบการรายย่อย ต้องปรับตัวให้ไวกว่าพวกเขา เพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยความเร็ว นั่นหมายความว่าเขาพร้อมจะเปลี่ยนตามความคาดหวังตลอดเวลา เราเองก็ต้องเปลี่ยนให้เร็ว มองให้กว้าง เรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีที่จะ respond ก็เปลี่ยนตามเทคโนโลยี” ศุภนีวรรณอธิบาย

7. ให้ความสำคัญกับการบริการ หมั่นสื่อสารกับลูกค้าเสมอ

ความประทับใจถือเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุดในงานบริการ เพราะเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก

การเข้าหาลูกค้าของ KIV จะปรับวิถีให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัล และยืดหยุ่นหลายรูปแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดี เช่น จากเดิมที่ลูกค้าต้องมาสาขาเพื่อยื่นกู้ ก็ปรับเป็นยื่นเอกสารออนไลน์ การลดเวลารอผลยื่นกู้ และเมื่อกู้ผ่านแล้วทีมงานจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการแจ้งข่าวสาร หรือผลประโยชน์ที่เหมาะสมผ่านช่องทางต่างๆ

8. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการสื่อสารระหว่างกัน

ด้วยความที่พนักงานของ KIV ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยความคล่องแคล่ว ว่องไว และพร้อมก้าวไปข้างหน้า เมื่อพนักงาน 60-70 คนรวมตัวกันเป็น KIV จึงกลายเป็นทีมที่มั่นใจในการทำงานกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม มีการ collaboration ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถเข้าถึงอินไซต์ได้มาก และดึงออกมาใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด

ศุภนีวรรณเล่าถึงประสบการณ์ทำงานให้ฟังว่า “ทุกคนในทีมมีแพสชั่นและเป้าหมายเดียวกัน คืออยากให้บริษัทโต แม้จะมีปัญหาขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็มีการพูดคุยกันจนเข้าใจ มีการแชร์ความคิดระหว่างกัน ในทุกการทำงานเราอาจต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง บางครั้งทางเลือก A อาจประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า B จะไม่สำเร็จ ดังนั้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ทุกขั้นตอนก็มีสิ่งให้เราได้เรียนรู้”

เมื่อถามถึงภาพอนาคตของ KIV ศุภนีวรรณบอกกับเราว่า “เราคาดหวังว่าจะทำให้ต้นทุนการทำงานต่างๆ ลดลง คาดหวังให้บริษัทเติบโตได้จากการใช้ดาต้าที่มีให้เกิดประโยชน์ และคาดหวังว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ตามเป้าหมาย”

“เราต้องการสร้างคุณค่าร่วมในระยะยาว ด้วยการเตรียมพร้อมและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เนื่องจากเราต้องทำงานกับหลายอุตสาหกรรม การพบเจอคนหลากหลาย ทำให้เราเปิดรับความแตกต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน” ชลารัตน์เสริมถึงความเชื่อในการทำงาน

แพสชั่น คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรมี ทว่า การทำธุรกิจยุคนี้ แพสชั่นอย่างเดียวอาจไม่พอ ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะการบริหารจัดการต้นทุน และการวางแผนในระยะยาว ก่อนจากกัน เราได้ขอเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ชลารัตน์ให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า “ทุกวันนี้ผู้ประกอบการอายุน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง ใช้แพสชั่นนำทางในการทำธุรกิจ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหาร ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะโฟกัสเรื่องการหารายได้ จนอาจละเลยเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น สิ่งที่ลงมือทำได้เลยคือ การหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เติมในสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ”

ทั้งหมดนี้ คือการบริหารงานของ KIV ที่เป็นแนวทางใหม่ของธุรกิจให้บริการการเงิน ที่มีโจทย์สำคัญคือ การผสานความต้องการของลูกค้า และพาร์ตเนอร์ได้ตรงเป้าหมาย รวมถึงสร้างรายได้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป 

จากเคสดราม่าและหลากกรณีศึกษา การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่เจ้าของแบรนด์ทุกคนต้องเข้าใจ

ไม่มีอะไรการันตีว่าเทคโนโลยีใหม่ หรือสินค้าใหม่ที่คุณสร้างสรรค์มาจะประสบความสำเร็จ หรือแข่งขันในตลาดได้ แต่สิ่งที่พอบอกได้คือ ‘การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา’ คือสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจไปสู่เป้าหมายในระยะยาวได้ เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตาม การได้รับความคุ้มครองในความคิดสร้างสรรค์ผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความจำเป็นอย่างมาก

การทำธุรกิจในประเทศเมื่อสิ่งที่เราคิดค้นถูกลอกเลียนแบบ เราอาจจะยังพบเห็นหรือดำเนินการบางอย่างได้ไม่ยาก แต่หากธุรกิจขยายไปต่างประเทศการดำเนินการต่างๆ จะยากเป็นทวีคูณ นั่นทำให้การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 

ยกตัวอย่างเคสของ MUJI แบรนด์สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่ขยายสาขาไปยังประเทศจีน ภายใต้เครื่องหมายการค้าภาษาจีน 4 ตัวที่สะกดว่า Wuyinliangpin ที่แปลว่า No Brand, Quality Goods ทว่า กลับโดนบริษัทสิ่งทอจีน Beijing Cottonfield Textile ฟ้องร้องการละเมิดเครื่องหมายการค้า Wuyinliangpin ที่จดทะเบียนก่อน MUJI เข้ามาเปิดตลาด 4 ปี และผลคือ MUJI แพ้คดีแล้วต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ Hainan Nanhua

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรทางปัญญามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านรายการ ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 8,000 รายการต่อปี จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นล่าสุด ในมุมของนักกฎหมายหลายท่านมองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งกับการที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา 

จากเคสที่หลายคนน่าจะเห็นผ่านตาในโลกโซเชียลอย่าง ‘ร้านลูกไก่ทอง’ ทางแบรนด์ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า (Trademark) ‘ปังชา’ ภาษาไทย และ ‘Pang Cha’ ภาษาอังกฤษ ตามพรบ.คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ที่สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ไปใช้เป็น หรือผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย และทางปังชาได้มีการจดทะเบียน 2 อย่างได้แก่ สิทธิ์บัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ‘ภาชนะใส่น้ำแข็งไส’ และเครื่องหมายการค้า คือโลโก้ร้านที่มีภาพผู้หญิง ภาพวงรีสีดำ และสีขาว ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า ทุกร้านสามารถขายเมนูน้ำแข็งไสชาไทยได้ แต่อย่านำภาชนะและโลโก้ของร้านลูกไก่ทองไปใช้

เพื่อต่อยอดจากเคสที่ว่ามาเราจะพาไปเปิดข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเท่าไรนัก แต่ถ้าคุณเป็นคนทำธุรกิจที่มีแบรนด์ของตัวเองและไม่ได้จดทะเบียนเพื่อปกป้องนวัตกรรมของตัวเอง คุณอาจกลายเป็นผู้เสียหายได้แบบไม่รู้ตัว

หนึ่งกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ที่ผ่านมาคือ กรณีของ ชานมไข่มุก เสือพ่นไฟ ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้มีสัตว์พ่นไฟอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ จึงเกิดการฟ้องร้องและทางเสือพ่นไฟก็เป็นฝ่ายชนะ ส่วนในกรณีของ ‘ปังชา’ เป็นการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์

สำหรับใครที่อาจจะยังสับสนนิยามของคำต่างๆ เหล่านี้ 

‘ลิขสิทธิ์’ คือความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของผลงานโดยตรง เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีด้วยกัน 9 ประเภท อาทิ งานวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรี ภาพวาด ภาพถ่าย เป็นต้น ซึ่งจะคุ้มครองเรื่องไอเดียเป็นหลัก เพราะฉะนั้นชื่อแบรนด์ ‘ปังชา’ ไม่ถือเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ จึงสามารถจดเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น

‘เครื่องหมายการค้า (trade mark)’ คือ สัญลักษณ์หรือตราสินค้า (logo) ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างการจดจำและแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าของเราแตกต่างจากของคนอื่นยังไง กรณีของปังชาเป็นการจดคำว่า ‘ปังชา’ ซึ่งสามารถจดได้ เพราะเป็นคำทั่วไป และเป็นคำที่บ่งบอกคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจไม่สามารถจดคำว่า ชา ได้ เนื่องจากชาเป็นคำสามัญ ดังนั้นร้านต่างๆ จะไม่สามารถนำโลโก้ ปังชา และ Pang Cha ไปใช้ได้ ถือเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ส่วนเรื่องการจด ‘สิทธิบัตร (Patent)’ เป็นหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้กับผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้สิทธิ์ในการป้องกันไม่ให้คนอื่นนำสิ่งที่คิดไปใช้ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วสิทธิบัตรไม่ใช่เอกสารหรือกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น แบรนด์ Gillette ที่มีผลิตภัณฑ์มีดโกนใบมีด 3 ชั้น ซึ่ง Gillette ได้จดสิทธิบัตรแล้ว จึงสามารถขายมีดโกนและด้ามมีดโกนของตัวเองได้ แบรนด์อื่นไม่สามารถผลิตใบมีดโกนให้ใช้กับด้ามของ Gillette ได้ ดังนั้น หากต้องการใช้มีดโกนใบมีด 3 ชั้น ก็ต้องซื้อใบมีดและด้ามของ Gillette เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้จดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยองค์ความรู้จากนวัตกรรมนั้นๆ เพื่อให้คนอื่นนำองค์ความรู้นั้นไปต่อยอดเมื่อสิทธิบัตรนั้นสิ้นสุดอายุลง 

เบื้องต้น สิทธิบัตร มี 3 ประเภทหลักๆ คือ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตร ให้ความคุ้มครองเรื่องกรรมวิธี และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันรวมถึงเรื่องระยะเวลาการคุ้มครอง

  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (invention patent) ให้ความคุ้มครองกับการประดิษฐ์ที่มีความใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม มีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปีนับตั้งแต่วันยื่นจด และไม่สามารถต่ออายุได้
  • อนุสิทธิบัตร (petty patent) การประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนด้านเทคโนโลยีมากนัก แต่ต้องมีความใหม่ นำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม เช่น จากเก้าอี้ธรรมดา เมื่อเพิ่มล้อเข้าไป เกิดประโยชน์ใช้สอย ก็สามารถจดอนุสิทธิบัตรได้ มีระยะเวลาคุ้มครอง 6 ปีนับตั้งแต่วันยื่นจด ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี คุ้มครองในประเทศที่ยื่นจดเท่านั้น
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (design patent) แตกต่างจาก 2 ประเภทแรกตรงที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะคุ้มครองงานออกแบบเกี่ยวกับรูปร่างภายนอกของผลิตภัณฑ์ รวมถึงลวดลาย สีและองค์ประกอบภายนอก เช่น ลวดลายผ้า ดีไซน์รถยนต์ ดีไซน์รูปทรงขวดน้ำ เป็นต้น โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี สำหรับกรณีของปังชา เป็นการจดสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ “ถ้วยใส่น้ำแข็งไส” รวมถึงลวดลายบนภาชนะด้วย

ในส่วนของสูตรปังชา ทางร้านไม่สามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูตรอาหารได้ ดังนั้น คนทั่วไปหรือผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถทำขายได้ตามปกติ โดยเป็นผู้คิดค้นสูตรเอง ไม่เลียนแบบต้นฉบับ เพราะสูตรถือเป็นความลับทางการค้าอย่างหนึ่ง ที่ไม่ต้องขอรับความคุ้มครองหรือจดทะเบียน

สำหรับธุรกิจที่มีแผนธุรกิจชัดเจน หรือต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ ควรศึกษาเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจในระยะยาว และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก

การกินเนื้อวาฬของคนญี่ปุ่นเกี่ยวยังไงกับการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

The Journey of KaiHuaRor

ย้อนกลับไปราว พ.ศ. 2500 แทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เบบี้ และ หนูจ๋า นี่คือหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในสังคม และความนิยมนั้นก็สร้างแรงบันดาลใจให้นักวาดการ์ตูนทั่วฟ้าเมืองไทยพากันเขียนต้นฉบับเพื่อส่งมายัง ‘บรรลือสาส์น’ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ต้นสังกัดของหนังสือการ์ตูนทั้งสอง

ต้นฉบับหลายร้อยเรื่องถูกส่งมายังที่แห่งนี้ เมื่อกลับจากโรงเรียน วิธิต อุตสาหจิต ลูกชายของ บันลือ อุตสาหจิต ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์มักมาช่วยผู้เป็นพ่อในการคัดแยกต้นฉบับ การ์ตูนหลายร้อยเรื่องผ่านสายตาของวิธิต และทำให้เขาได้ไอเดียว่าน่าจะนำต้นฉบับจากนักเขียนหลายๆ คนมารวมเป็นหนังสือเล่มเดียวกันได้ เพราะในสมัยก่อนการ์ตูนหนึ่งเล่มมักจะมาจากนักเขียนเพียงหนึ่งคนเท่านั้น อย่างเช่น เบบี้ ทั้งเล่มก็เขียนโดย อาวัฒน์–วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ เพียงคนเดียว เช่นเดียวกับ หนูจ๋า ที่มี จุ๋มจิ๋ม–จำนูญ เล็กสมทิศ เป็นผู้เขียนคนเดียวเช่นกัน

ไอเดียการนำต้นฉบับจากนักเขียนหลายๆ คนมารวมกันนี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ขายหัวเราะ หนังสือการ์ตูนที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนไทยในหลากหลายช่วงเวลาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยามยืนรอรถ เข้าห้องน้ำ นั่งรอในร้านตัดผม หรือทำอะไรก็ตามแต่ หนังสือ ขายหัวเราะ มักแทรกซึมอยู่ในชีวิตของผู้คนด้วยเสมอ จนทำให้ ขายหัวเราะ ได้รับฉายาว่า ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’

กระทั่งวันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป ดิจิทัลดิสรัปต์ชั่นเริ่มเข้ามา สื่อสิ่งพิมพ์หลายรายค่อยๆ ทยอยล้มหายไปจากตลาด แต่ ขายหัวเราะ ก็ยังคงสามารถฝ่าคลื่นดิสรัปต์ชั่นมาได้ด้วยการปรับตัว ข้ามพรมแดนจากหนังสือการ์ตูนไปทำอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอแอนิเมชั่น สื่อออนไลน์ หรือการไปปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งบนซองขนม บนเสื้อผ้า กระทั่งไปอยู่บนสเกตบอร์ด 

การปรับตัวที่คิดนอกกรอบการ์ตูน 3 ช่อง ทำให้ขายหัวเราะยืนระยะมาได้ถึงขวบปีที่ 50 จนกลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ Legacy ในไทยที่ยังคงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน 

และนี่คือเส้นทางของขายหัวเราะจากวันแรก มาจนถึงวันนี้

อายุ : 0 ปี
พ.ศ. 2516

  • เปิดตัว ขายหัวเราะ เล่มแรก 
  • กำเนิดนักเขียนที่เป็นตำนานอย่าง อาวัฒน์, จุ๋มจิ๋ม, ทวี, พลังกร
  • กำเนิดแก๊กคลาสสิกอย่าง แก๊กติดเกาะ 

อายุ : 1 ปี
พ.ศ. 2517

  • กำเนิดแก๊กคลาสสิกอย่าง แก๊กโจรมุมตึก

อายุ : 3 ปี
พ.ศ. 2518

  • เปิดตัว มหาสนุก
  • อาวัฒน์ นักเขียนในตำนานของขายหัวเราะ เขียนแก๊กแรกในขายหัวเราะ ลงในปี 1 เล่ม 11 พฤศจิกายน 2519

อายุ : 7 ปี  
พ.ศ. 2523

  • ต่าย นักเขียนในตำนานของ ขายหัวเราะ ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูนอย่างปังปอนด์ เขียนแก๊กแรกใน ขายหัวเราะ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 มกราคม

อายุ : 9 ปี
พ.ศ. 2525

  • นิค นักเขียนในตำนานของ ขายหัวเราะ เขียนแก๊กแรกใน ขายหัวเราะ ปีที่ 9 ฉบับที่ 62 กรกฎาคม 

อายุ : 13 ปี
พ.ศ. 2529

  • ปรับหนังสือจาก A4 เป็น B5 เป็นขายหัวเราะฉบับกระเป๋า ราคา 10, 12 และ 15 บาทตามลำดับ
  • เฟน นักเขียนในตำนานของขายหัวเราะ เขียนแก๊กแรกใน ขายหัวเราะ ปีที่ 13 ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2529

อายุ : 16 ปี
พ.ศ. 2532

  • เปลี่ยน มหาสนุก เป็นฉบับกระเป๋า 
  • เปิดตัวปังปอนด์ ลงใน มหาสนุก ฉบับกระเป๋า 

อายุ : 18 ปี
พ.ศ. 2534

  • เปิดตัวตัวละคร สาวดอกไม้

อายุ : 19 ปี
พ.ศ. 2535

  • เอ๊าะ นักเขียนในตำนานของ ขายหัวเราะ ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูนอย่างหนูหิ่น เขียนแก๊กแรกใน ขายหัวเราะ ปี 19 ฉบับที่ 17 กันยายน 

อายุ : 20 ปี
พ.ศ. 2536

  • ปังปอนด์มีหนังสือการ์ตูนของตัวเอง

อายุ : 21 ปี
พ.ศ. 2537

  • เหลือเพียง ขายหัวเราะ ฉบับกระเป๋าที่ปรับเป็นรายสัปดาห์
  • สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่ มีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง
  • เปิดตัวหนูหิ่น
  • การ์ตูนสั้น บ้านนี้ 4 โชะ ของขายหัวเราะ ไปสร้างเป็นละคร ออกอากาศทางช่อง 3 

อายุ : 23 ปี
พ.ศ. 2539

  • หนูหิ่น มีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง 

อายุ : 28 ปี
พ.ศ. 2544

  • เริ่มแตกไลน์ธุรกิจ ให้เป็นมากกว่าแค่หนังสือการ์ตูน 
  • เริ่มทำ Vithita Animation บริษัทที่พัฒนาคาแร็กเตอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ 

อายุ : 29 ปี
พ.ศ. 2545

  • การ์ตูน ปังปอนด์ ออกฉายทางช่อง 3 เป็นครั้งแรก 

อายุ : 33 ปี
พ.ศ. 2549

  • มี หนูหิ่น เดอะมูฟวี่

อายุ : 38 ปี
พ.ศ. 2554

  • ทำ ขายหัวเราะ ในรูปแบบอีแม็กกาซีน มียอดดาวน์โหลดกว่า 2 หมื่นครั้ง ภายใน 4 วัน

อายุ : 41 ปี
พ.ศ. 2557

  • ทายาทรุ่นที่ 2 พิมพ์พิชา อุตสาหจิต เริ่มเข้ามาบริหาร
  • ขายหัวเราะเปิดตัว LINE Sticker ที่เป็นคาแร็กเตอร์สัญชาติไทยรายแรกๆ 
  • สภาพตลาดที่เปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคถดถอยของสิ่งพิมพ์ ขายหัวเราะเริ่มปรับสู่ออนไลน์

อายุ : 43 ปี
พ.ศ. 2559

  • กำเนิดนิทรรศการ อุตสาฮากรรม 

อายุ : 44 ปี
พ.ศ. 2560

  • ขายหัวเราะและมหาสนุก ร่วมมือกับ UN Women ทำการ์ตูนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

อายุ : 48 ปี
พ.ศ. 2564

  • ขายหัวเราะทำ NFT ครั้งแรก

อายุ : 50 ปี
พ.ศ. 2566

  • ขายหัวเราะที่ทําโดย AI ฉบับแรก การ์ตูนไทยฉบับแรกที่คิดมุกและวาดโดย AI 
  • ครบรอบ 50 ปี ขายหัวเราะ 

The CEO of KaiHuaRor

ในบรรดาศาสตร์ของการทำคอนเทนต์ หากจะบอกว่า ‘คอนเทนต์ตลก’ ติดอันดับต้นๆ ของความยากในการทำคงไม่ผิดแต่อย่างใด

เพราะกว่าจะทำให้คนดูหัวเราะตามได้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ ศิลป์ เซนส์ส่วนตัว และจังหวะที่ถูกต้องมากๆ 

ความยากจะทวีคูณ หากต้องทำให้คอนเทนต์ตลกนั้นกลายเป็นธุรกิจ

และจะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากต้องทำให้ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ตลกยืนอยู่ได้ในระยะยาว ด้วยรสนิยมอารมณ์ขันของคนในสังคมก็เคลื่อนไปข้างหน้ามิได้ย่ำอยู่กับที่

ด้วยความยากต่างๆ ที่ว่ามาเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รายการตลก ซิตคอม หรือคอนเทนต์ขำขันที่เคยโด่งดังในอดีตค่อยๆ หายไปจากท้องตลาด

ทีละเรื่อง…ทีละเรื่อง

ทว่ามีธุรกิจขายคอนเทนต์ตลกอยู่เจ้าหนึ่งที่ยังไม่มีทีท่าจะหมดมุก ทั้งยังเห็นพวกเขาลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ อยู่ตลอดเวลา

และจากชื่อเรื่องของบทความนี้ คุณผู้อ่านหลายๆ คนก็คงจะรู้กันอยู่แล้วว่าเราจะมาพูดถึง ‘ขายหัวเราะ’

ขายหัวเราะ มีจุดเริ่มต้นมาจาก วิธิต อุตสาหจิต หรือที่แฟนการ์ตูนหลายคนรู้จักกันในนามของ บ.ก.วิติ๊ด ลูกชายของ บันลือ อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ที่มีชื่อว่า บรรลือสาส์น 

ความโด่งดังของหนังสือการ์ตูนที่อยู่ในสังกัดอย่างเรื่อง เบบี้ ที่เขียนโดย อาวัฒน์–วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ และ หนูจ๋า ที่เขียนโดย จุ๋มจิ๋ม–จำนูญ เล็กสมทิศ ทำให้บรรลือสาส์นเป็นสถานที่ที่นักวาดการ์ตูนทั่วฟ้าเมืองไทยฝันถึง

ต้นฉบับหลายร้อยเรื่องถูกส่งมายังสำนักพิมพ์แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และเมื่อกลับมาจากโรงเรียนวิธิตก็มักจะมาช่วยผู้เป็นพ่อคัดแยกต้นฉบับ การ์ตูนหลายเรื่องที่ผ่านสายตาเขา ทำให้วิธิตเกิดไอเดียในการเอาต้นฉบับของนักเขียนหลายๆ คนมารวมกันในเล่มเดียว จากในสมัยก่อนหนังสือการ์ตูนหนึ่งเล่มก็มักจะเขียนโดยนักเขียนเพียงคนเดียวเท่านั้น

จากไอเดียนั้นจึงเกิดมาเป็น ขายหัวเราะ ฉบับแรกในปี 2516 

จนมาถึงวันนี้ปี 2566 ขายหัวเราะ มีอายุครบ 50 ปีพอดิบพอดี

การเดินทางมาครึ่งศตวรรษ พวกเขาผ่านทั้งเรื่องตลกและเรื่องราวที่ทำให้ขำไม่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าคลื่นดิสรัปต์ของสื่อสิ่งพิมพ์ การทำให้แบรนด์ของคนรุ่นพ่อเข้าถึงคนรุ่นปัจจุบัน หรือการกระโดดออก ‘นอกกรอบ’ การ์ตูน 3 ช่องในหนังสือ เพื่อพา ขายหัวเราะ ไปยังยังพรมแดนอื่นๆ

และจากหนังสือการ์ตูน ก็กลายมาเป็นอาณาจักร ขายหัวเราะ ที่มีทั้งแอนิเมชั่น ภาพยนตร์ บริการรับออกแบบคาแร็กเตอร์ ไปอยู่บนซองขนม ไปอยู่บนสเกตบอร์ด ไปอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และไปอยู่บนสินค้าอีกหลายอย่างมากมาย

เราเกิดข้อสงสัยว่าพวกเขาทำให้ธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นผลิตคอนเทนต์ตลก กลายมาเป็นอุตสาฮากรรมที่ ‘ยืนระยะมาจนถึงปัจจุบัน’ ได้ยังไง

คงไม่มีใครตอบข้อสงสัยได้ดีไปกว่าผู้ก่อตั้งอย่าง วิธิต อุตสาหจิต ที่จะพาเราย้อนไปดูอดีตของ ขายหัวเราะ และ นิว–พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวของ บ.ก.วิติ๊ด ผู้บริหาร ขายหัวเราะ ในปัจจุบัน ที่จะพาเรามองไปข้างหน้า ว่าอนาคต ขายหัวเราะ จะก้าวไปในทางใด 

ย้อนกลับไปในอดีตที่ว่าหนังสือ ขายหัวเราะ ได้รับความนิยม อยากรู้ว่าคนนิยมขนาดไหน

วิธิต : ตอนนั้นเราขายดีมาก มันป๊อปปูลาร์ขนาดที่ร้านตัดผมแทบทุกร้าน ท่ารถแทบทุกท่าจะต้องมีวางไว้ บางช่วงพีคๆ มีทำสองวัน 1 เล่ม แต่ละวันก็จะมีนักเขียนส่งต้นฉบับเข้ามากันเยอะมาก เวลาไปรษณีย์มาส่งจดหมายนี่แบกมาเป็นถุงกระสอบเหมือนซานตาคลอสเลย 

ก็เป็นอย่างนั้นเรื่อยมากระทั่งปี 2007 ที่สตีฟ จอบส์ ออก iPhone รุ่น 1 ตอนนั้นเรารู้เลย ว่าสิ่งที่เราเคยทำมา มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยพูดคำว่า digital disruption แล้วคุณรู้ได้ไงว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะไม่เหมือนเดิม

วิธิต : ตอนที่ BB มา ผมรู้สึกว่ามันยังทำอะไรหนังสือไม่ได้ เพราะจอก็เล็ก หมุนก็ช้า กระทั่งเห็น iPhone นี่แหละ โอ้โห ตอนนั้นรู้เลยว่ามันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จอมันใหญ่ มีปุ่มกดแค่ปุ่มเดียว แล้วที่บ้านผมทำธุรกิจโรงพิมพ์ที่พิมพ์นิตยสารให้กับคนอื่นด้วย มันก็เหมือนเห็นสัญญาณ ตอนนั้นก็เลยต้องชะลอการขยายกิจการโรงพิมพ์ แล้วเริ่มมองหาลู่ทางอื่น เพราะรู้สึกว่าเทคโนโลยีมันต้องเติบโตเร็วมากแน่ๆ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ 

พอสัญญาณเริ่มชัด คุณทำยังไง

วิธิต : ตอนนั้นนิวเขาก็เริ่มมาช่วยดูพอดี 

นิว : ตอนเรียนได้ทำ case study เกี่ยวกับเรื่อง digital disruption ก็เลยได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณพ่อบ้าง ซึ่งเอาจริงๆ ตอนนั้นเรายังไม่ได้มีประสบการณ์ทำงาน มีแค่ทฤษฎีในหนังสือ เรื่องนี้ก็เลยต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘วิสัยทัศน์’ ของคุณพ่อกับคุณแม่ (โชติกา อุตสาหจิต) มากๆ เขาสอนนิวตลอดว่า อย่ามองว่า ขายหัวเราะ เท่ากับหนังสือการ์ตูน แต่ให้มองมันเป็นแบรนด์การ์ตูนแบรนด์หนึ่ง แล้วมันก็จะกลายเป็นเหมือนน้ำที่ไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว ก็เลยทำให้เราเห็นโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

หลายคนชอบถามว่า ขายหัวเราะ เพิ่งมาปรับตัวตอนเจอดิสรัปต์ชั่นใช่ไหม ความจริงคือไม่ใช่ เพราะคุณพ่อสร้างวิธิตาแอนิเมชั่นที่เป็นสตูดิโอรับทำแอนิเมชั่นมาตั้งแต่ปี 2001 จนปัจจุบันที่นี่เป็นฮับพัฒนาคาแร็กเตอร์ให้กับแบรนด์อื่นด้วย มีคาแร็กเตอร์หลายตัวมากๆ ที่คนไทยคุ้นกันแต่ไม่รู้ว่าเป็นงานจากวิธิตาแอนิเมชั่น 

พูดถึงวิสัยทัศน์ ทำยังไงเราจึงจะเป็นคนมีวิสัยทัศน์ได้

วิธิต : เราต้องเปิดใจและต้องรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยี สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเทรนด์ต่างๆ จากนั้นก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาประมวลดู ว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง อาจจะไม่ได้ติดตามแบบประชิดหรือลึกมาก แต่ถ้าใครมาคุยด้วยก็สามารถคุยกับเขารู้เรื่องได้

นิว : คุณพ่อเปิดรับเยอะมาก เขาดู BLACKPINK ด้วยนะคะ รู้หมดคนไหนลิซ่า เจนนี่ จีซู โรเซ่ (หัวเราะ) และอาจด้วยความที่เขาโตมากับโรงพิมพ์ที่มีความเป็น systematic ทำให้เขาต้องคอยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะเร็วกว่านี้ได้ไหม ประหยัดต้นทุนกว่านี้ได้รึเปล่า มีช่องว่างตรงไหนให้โตได้อีก หรือจะเพิ่มประสิทธิภาพยังไงได้บ้าง เขาเลยเอาสิ่งนี้มาตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ ด้วย

ย้อนกลับไป ขายหัวเราะ ก็เกิดจากการที่คุณพ่อเห็นช่องว่างในตลาดว่ายังไม่มีหนังสือการ์ตูนแนว multi-style comic อยู่ หรือการแตกแบรนด์อย่าง มหาสนุก หนูหิ่น ปังปอนด์ ก็เกิดจากการที่เขาเห็นช่องว่างในการเติบโต 

วิธิต : ผมว่าเราต้องเป็นคนที่มีความถ่อมตัวด้วย ใจมันถึงจะเปิดรับอะไรใหม่ๆ ได้

จุดไหนที่คุณตัดสินใจให้ลูกสาวเข้ามาสานต่อธุรกิจ

วิธิต : ผมสนุกกับการทำงานมากนะ แต่พอทำจุดนึง ก็รู้สึกว่าธุรกิจมันต้องการความเปลี่ยนแปลง เราจะยื้อเวลาไว้ไม่ได้ ก็เลยต้องหาคนรับไม้ต่อ และคิดว่านิวต้องเข้ามาดู 

ลูกแต่ละคนก็มีลักษณะที่ต่างกันออกไป แต่นิวเขาชัดเจนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเป็นคนที่รักการอ่านมากๆ เวลาเอางานเขียนที่เขาส่งโรงเรียนมาดูก็รู้สึกว่าไม่ธรรมดา รู้สึกว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพพัฒนาต่อได้ 

อะไรคือจุดที่ทำให้ตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจของพ่อ

นิว : จริงๆ พ่อกับแม่ไม่ได้ห้ามให้เราไปทำงานที่อื่น แต่ก็แอบมีความวางตัวเบาๆ ซึ่งพอได้เข้ามาลองทำก็เกิดคำถามกับตัวเองหลายครั้งเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้ทำงานที่นี่ ตัวเราในเวอร์ชั่นอื่นจะเป็นยังไง 

แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่ามันคุ้มค่า อย่างแรกคือเราได้ช่วยงานคุณพ่อกับคุณแม่ อย่างที่สองคือเราได้เรียนรู้จากท่านในวันที่ท่านยังสอนเราได้ เราเชื่อว่ายังมีเจ้านายคนอื่นที่ดีมากๆ แต่จะไม่มีเจ้านายคนไหนที่สอนเรา เข้าใจเรา แล้วเปิดใจให้เราเท่าเขาทั้งสองอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้มันคุ้มค่ามากๆ ในการจะแลกกับการที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานที่อื่น แล้ว ขายหัวเราะ ก็เป็นที่ทำงานที่แรกของเรา 

ตำแหน่งแรกใน ขายหัวเราะ ของคุณคืออะไร

นิว : ที่จริงเราเข้ามาช่วยเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เด็กอยู่ประจำ แต่ถ้าเอาตำแหน่งงานอย่างเป็นทางการจริงๆ หลังเรียนจบก็คือ Business Development Director หน้าที่คือพัฒนางานใหม่ๆ ว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจอะไรบ้าง

ช่วงแรกของการทำงานเป็นยังไง 

นิว : ถึงเป็นลูกเจ้าของแต่ตอนนั้นก็แอบเคว้งเหมือนกัน เข้ามาใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เราไม่ได้อันเดอร์ใครนอกจากพ่อกับแม่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ตัวติดกับเรา พนักงานคนอื่นที่เขาอยู่มาก่อนก็ไม่ได้กล้าสอนเราขนาดนั้น ช่วงแรกๆ มันเลยมีความรู้สึกว่าเราไม่รู้หน้าที่ตัวเอง

แล้วตอนนั้นกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปต์ชั่น เป็นช่วงที่ฝุ่นตลบมากๆ แต่สุดท้ายก็มานั่งตั้งสติ หาว่าคุณค่าของเราต่อบริษัทคืออะไร แล้วค่อยๆ จับจุดจากตรงนั้นมาเรื่อยๆ 

แล้วหน้าที่ของคุณตอนนี้คืออะไร

นิว : คือการดูภาพรวมทั้งหมดขององค์กร แต่ละทีมเขาขาดเหลืออะไร สามารถซิงก์กันตรงไหนแล้วทำให้งานออกมาดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะไม่ได้ไปดูต้นฉบับหรือดูลายเส้นทั้งหมด เพราะมีคนที่เขาเชี่ยวชาญกว่าเราทำอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปทำให้มันเกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และดูว่าบริษัทจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง

ทุกวันนี้คุณต่อยอด ขายหัวเราะ ไปทางไหนบ้าง

นิว : ไปหลายแพลตฟอร์มมาก มีการขยายธุรกิจจาก B2C ไปยัง B2B เช่นการขายลิขสิทธิ์เอาตัวการ์ตูน ขายหัวเราะ ไปอยู่บนสินค้าต่างๆ มีการไปคอลแล็บกับหลากหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น อาหาร อสังหาฯ ฯลฯ

หรือแม้แต่ไปเป็นทูตการท่องเที่ยวก็เคยมาแล้ว คือมันจะมีแก๊กที่เป็นภาพจำของ ขายหัวเราะ อยู่แก๊กนึง ชื่อว่าแก๊กติดเกาะที่หน้าตามันดันไปเหมือนกับเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด จนคนเรียกกันติดปากกันไปเองว่านั่นคือเกาะขายหัวเราะ พอช่วงโควิดที่การท่องเที่ยวซบเซา เราก็ไปทำแคมเปญเกาะขายหัวเราะกับทาง ททท. จนสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราดีใจมาก 

อย่างที่บอกเราไม่ได้มองว่า ขายหัวเราะ เท่ากับหนังสือการ์ตูน แต่มองเป็นแบรนด์ และแบรนด์นี้ตั้งอยู่บน 4 แกนหลักด้วยกันคือ อารมณ์ขัน การ์ตูน คาแร็กเตอร์ และครีเอทิวิตี้

เมื่อมองเป็นแบบนี้เราจะพา ขายหัวเราะ ไปอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น และนั่นก็หมายถึงโอกาสเติบโตทางธุรกิจอีกมากมาย 

หรือในอนาคตที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เรามากขึ้น มันก็น่าจะต่อยอดไปได้อีกมาก อาจทำให้เราสามารถข้ามกำแพงภาษา และพา ขายหัวเราะ ออกนอกประเทศได้ 

พูดถึงเทคโนโลยี เห็น ขายหัวเราะ เอา AI มาช่วยวาดการ์ตูนให้ 

นิว : มันเป็นโปรเจกต์ Sandbox ที่ทำให้ทีมของเราได้ลองเปลี่ยนจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาเป็นคนพรอมต์ (prompt) อารมณ์ขันแทน หลายคนคิดว่าเราจะเอา AI มาแทนนักวาดเหรอ ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน เราตั้งคำถามและทดลองเรื่องอารมณ์ขันกับ AI และที่ให้ทีมลองทำก็เพื่อจะให้พวกเขาได้ลองออกจากคอมฟอร์ตโซน ได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ๆ 

เราจะไม่เอา AI มาแทนที่นักวาด เรายังให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มากๆ อีกอย่างการจะพรอมต์ AI ให้ออกมาดี ก็ต้องมาจากการตั้งโจทย์ที่ดีที่มาจากความคิดของมนุษย์

กลัวว่า AI จะมาดิสรัปต์การวาดการ์ตูนไหม 

นิว : การที่เราผ่านดิสรัปต์ของยุคสิ่งพิมพ์มาแล้ว ทำให้เรากลัวการดิสรัปต์ชั่นน้อยลง 

มุมหนึ่งลายเส้น ขายหัวเราะ ก็เป็นภาพจำของคน แต่อีกมุมก็กลายเป็นลายเส้นที่คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง คุณมองเรื่องนี้ยังไง

นิว : จริงๆ ขายหัวเราะ ไม่ได้มีลายเส้นตายตัว เพราะตั้งแต่แรก ขายหัวเราะ ก็เป็นหนังสือการ์ตูนที่รวบรวมงานจากนักเขียนหลายๆ คนอยู่แล้ว เพียงแต่ลายเส้นของนักวาดชื่อดังรุ่นก่อนๆ อย่างพี่ต่ายหรือพี่นิคมันประสบความสำเร็จมากๆ จนกลายมาเป็นภาพจำที่แข็งแรงมาถึงวันนี้ 

แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะทิ้งมันไปเพราะมันเป็น asset ที่มีค่ามากๆ ของแบรนด์ ขายหัวเราะ ส่วนตอนนี้เราก็มีนักวาดใหม่ๆ เข้ามาเสริมเยอะมาก ถ้าเข้าไปดูช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของ ขายหัวเราะ ก็จะเห็นว่ามีรูปแบบลายเส้นที่หลากหลายมาก แล้วเราก็เวลคัมนักวาดรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน 

อย่างเช่นจะมีคอนเทนต์หนึ่งในเพจของเราที่เอนเกจฯ ดีมากๆ คือ ‘ขำสารขัณฑ์’ ลายเส้นจะเป็นขาวๆ เพลนๆ ใช้สีไม่มาก ให้ความรู้สึกเหมือนการ์ตูนฝรั่ง แต่คนก็ชอบมาก แล้วก็เริ่มเป็นการสร้างภาพจำคาแร็กเตอร์ใหม่ให้กับ ขายหัวเราะ ด้วย 

วิธิต : สมัยก่อนที่สื่อยังมีจำกัด แม่แบบที่นักเขียนวาดก็เลยมีอยู่ไม่กี่อัน อย่างต่ายก็โตมาด้วยการมีจุ๋มจิ๋มเป็นแม่แบบ มันเลยอาจจะมีกลิ่นอายเดียวกัน แล้วมันก็สร้างเป็นภาพจำขึ้นมา 

ได้ยินมาว่าคุณมีดิสนีย์เป็นแรงบันดาลใจ 

วิธิต : โห ตอนเด็กๆ เขานั่งดูเป็นร้อยรอบ 

นิว : เราเป็นแฟนดิสนีย์ตั้งแต่เด็ก แล้วดิสนีย์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปลูกฝังให้เรารักการ์ตูนและจินตนาการด้วยเหมือนกัน 

แล้วพอได้มาเป็นฝั่งคนทำงาน ก็ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วงานที่เราทำอยู่มันสำคัญมากนะ มันสามารถช่วยเชปจินตนาการให้เด็กคนนึงได้ หรือมันสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ อย่างเช่นเคสของเกาะขายหัวเราะ

อีกทั้งความเก่าแก่ของเขาที่อยู่มาได้ร้อยปี business model ของดิสนีย์ เลยเป็นคุณูปการต่อคนทำธุรกิจการ์ตูนอย่างเรามากๆ ไม่ใช่แค่สร้างแรงบันดาลใจในวัยเด็ก แต่สร้างแรงบันดาลใจตอนมาทำงานแล้วเหมือนกัน

อย่างเรื่องการทำงานที่เป็นระบบ ถ้าเทียบกันแล้วนักวาดการ์ตูนบ้านเราจะมีความเป็น one-man show มากๆ คือหนึ่งคนแยกทำหนึ่งเรื่องไปเลย ซึ่งมันเป็นข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่การช่วยกันคิดหลายคนยังไงก็ย่อมดีกว่า หรือเรื่องความต่อเนื่องและการรักษาคุณภาพงาน

แต่กับดิสนีย์ การทำการ์ตูนเรื่องนึงเขาจะมองเป็นสตูดิโอเลย ทีมร่างก็ทีมนึง ทีมคิดเรื่องก็ทีมนึง บางทีคาแร็กเตอร์หนึ่งตัวใช้คนทำหลายคนด้วยซ้ำ แล้วมันทำให้การ์ตูนนั้นกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงได้ในระยะยาว ซึ่งการได้เรียนรู้จากผู้นำอย่างดิสนีย์ก็ทำให้เราได้รู้ว่าเรายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 

ฟังจากที่เล่ามา ขายหัวเราะ ในรุ่นคุณเติบโตมาจากรุ่นพ่อไม่ใช่น้อย

นิว : โห (เน้นเสียง) แต่กว่าจะเป็นแบบนี้ได้ก็ไม่ง่ายเลย เราผ่านการ self-doubt กับตัวเองมาเยอะมาก ย้อนกลับไปตอนเรียนจบมาทำงานใหม่ๆ ด้วยความที่เราเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด ก็เลยคิดว่าการทำงานมันจะดีไปด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มีช่วงนึงที่ไฟแรงมาก คิดว่าตัวเองเก่งเหมือนตอนเรียน แต่พอได้ลองไปทำจริงๆ ไอสิ่งที่เราคิดว่าจะควบคุมได้มันกลับทำไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีใครว่าเราเลยนะ แต่เราเฟลกับตัวเองมาก รู้สึกว่าเราไม่เก่ง ไม่ใช่ผู้นำที่ดี แวบนึงมีความคิดว่าถ้าเราไม่ใช่ลูกเจ้าของเราจะมี value อะไรกับบริษัทนี้หรือเปล่า 

แล้วผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง

นิว : แรกๆ มันก็รู้สึกดาวน์ แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มมีความรู้สึกว่าเราจะจมอยู่กับสิ่งนั้นต่อไป หรือจะเอาความผิดพลาดที่ผ่านมามาเป็นแรงผลักดันเพื่อไม่ให้พลาดอีก ก็ค่อยๆ พยายามปรับ แล้วพอเริ่มปรับความคิดได้ เวลาเจอเรื่องเฟลก็จะใช้เวลาในการ recover กับมันสั้นลง รับรู้ใน self-esteem ของตัวเองได้มากขึ้น หลังๆ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็จะมาถามตัวเองว่าเราทำในส่วนของเราดีที่สุดหรือยัง ถ้าทำเต็มที่แล้วแต่ผลยังไม่ดีแบบที่คาด เพราะเรื่องของลูกค้า ตลาด โชคร้าย หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นปัจจัยภายนอกที่เกินกว่าเราจะควบคุมได้เแล้ว เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตัวเองทั้งหมด

โชคดีอีกอย่างคือพ่อแม่เราไม่สปอยล์ มีอะไรก็จะบอกตรงๆ แล้วก็ยังมีคำแนะนำดีๆ จากพี่ผู้บริหารคนอื่นๆ ด้วย 

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่เสริมสร้างให้เราดีขึ้นกว่าเดิม 

หลังจากผ่านอะไรมาไม่น้อย ในอนาคตคุณฝันให้ ขายหัวเราะ เป็นยังไง 

นิว : ไม่รู้มันเป็นความฝันที่ห้าวหาญไปไหม แต่อยากให้ลายเส้นการ์ตูนแบบไทยๆ ของเรากลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่อยู่ในสายตาของชาวต่างชาติได้ (ก่อนหน้า ขายหัวเราะ เคยวาดการ์ตูนสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมให้กับ UN Women และสื่อสารเรื่องโควิดให้ WHO จากนั้นถูกนำไปแปลต่อเป็นภาษาอื่นๆ)

แล้วถ้า ขายหัวเราะ ทำได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้น creative economy ของวงการการ์ตูนไทยได้ด้วย เพราะ ขายหัวเราะ ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ยังมีการไปจับมือกับศิลปินนักวาดและคนทำงานสร้างสรรค์อีกหลายคน ซึ่งถ้าเราสามารถสร้าง ecosystem ตรงนี้ให้แข็งแรงได้ มันก็น่าจะนำพาให้เติบโตไปทั้งอุตสาหกรรม อีกอย่างคือคนไทยมีดีเอ็นเอของความตลกสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็เอามาทำให้ตลกได้หมด มันยังต่อยอดไปได้อีกไกล

ดูตัวอย่างจากในหลายๆ ประเทศที่เขาก็มีการ์ตูนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของตัวเองเหมือนกัน

เรื่องที่ทำให้หัวเราะได้มากที่สุด ของการทำงานที่ ขายหัวเราะ

วิธิต : ผมหัวเราะบ่อยมากกับงานที่แฟนการ์ตูนส่งมา การทำงานของผมคือปกติเช้ามาก็จะมาจัดการเรื่องธุรกิจโรงพิมพ์ ตกบ่ายก็มาทำหนังสือ ฉะนั้นตอนเช้าเจอเรื่องเครียดที่โรงพิมพ์ แต่พอบ่ายมาได้อ่านงานตลกๆ ก็ทำให้หัวเราะได้อยู่บ่อยครั้ง 

จริงๆ คุณเป็นคนตลกไหม

วิธิต : ไม่ เขาถึงเขียนแซวผมกันไง

นิว : จริงๆ คุณพ่อเขาเป็นคนมีอารมณ์ขันนะคะ แต่อาจจะไม่ใช่สายปล่อยมุกโบ๊ะบ๊ะ

แล้วเรื่องที่ทำให้คุณนิวหัวเราะได้มากที่สุด ของการทำงานที่ ขายหัวเราะ คืออะไร

นิว : ของเรามีสองเรื่อง เรื่องแรกคือการได้ทำงานกับทีม จากแต่ก่อนที่เรากับทีมจะค่อนข้างมีกำแพงต่อกัน แต่พอเราเริ่มปรับตัว ตอนนี้ก็ได้ทำงานกับทีมแบบมีเสียงหัวเราะ ได้ฉลองความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางด้วยกัน 

ส่วนอีกเรื่องคือตอนที่พ่อกับแม่ชมเรา ตั้งแต่เด็กจนโตมาเขาแทบจะไม่ค่อยชมเราเลย ไม่ว่าเราจะเรียนเก่งหรือสอบได้ดีขนาดไหนเขาจะชมเราน้อยมาก เขาทรีตให้มันเป็นเรื่องธรรมดา ไอ้คำว่าได้เกรด 4 แล้วปิดซอยเลี้ยงเราไม่เคยได้สัมผัสกับฟีลนั้นเลย 

วิธิต : แต่ผมชมเขากับคนอื่น

นิว : (ยิ้ม) ดังนั้นเรื่องที่เขาเอ่ยปากชมต่อหน้าเรามันจะต้องเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพิเศษมากๆ มีอยู่ตอนนึง ขายหัวเราะ จัดงานที่ชื่อว่า ‘อุตสาฮากรรม’ เป็นงานใหญ่แล้วเราเหนื่อยมากๆ จนแทบจะสลบ พอเสร็จจากงานมากินข้าวกัน พ่อเขาก็พูดกับนิวว่า ‘นิวเก่งมากลูก’ คำพูดสั้นๆ แค่นี้เลยแต่เราแฮปปี้มาก 

เพราะมันเป็นคำชมจากคนที่มีความหมายกับเรามากที่สุด (น้ำตาคลอ)

เราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอหัวเราะมากที่สุดในการทำงานที่ ขายหัวเราะ แต่คำตอบของเธอกลับมาพร้อมน้ำที่เอ่อล้นอยู่ในตา 

ทว่าดูเหมือนจะเป็นน้ำตาที่ทำให้เธอมีความสุขเหลือเกิน 

The Collaboration of KaiHuaRor

คนที่เติบโตมากับยุคสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู เชื่อว่าเมื่อนึกถึงชื่อ ‘ขายหัวเราะ’ ทีไร ภาพของหนังสือการ์ตูนตลกราคาเข้าถึงได้ เสมือนความฮาสามัญประจำบ้านคงโผล่เข้ามาในหัวเสมอ

แต่ ขายหัวเราะ ก็เหมือนกับ ‘คน’ เมื่อกาลเวลาเดินหน้า เทรนด์และพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนเปลี่ยนแปลง ขายหัวเราะ ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมกับยุคสมัย จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็น ขายหัวเราะ ในมุมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแก๊กสั้นๆ ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก ไปจนกระทั่งการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ของไทย

ขายหัวเราะ ไม่ใช่แค่หนังสือการ์ตูนเท่านั้น แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ เราจึงอยากพา ขายหัวเราะ ไปพบเจอและสร้างความฮาสามัญประจำบ้านในพรมแดนใหม่ๆ” 

นิว–พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทผู้สานต่อ ขายหัวเราะ และลูกสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต หรือบ.ก.วิติ๊ด ที่เราคุ้นเคย อธิบายความเชื่อที่เธอมีต่อธุรกิจครอบครัว 

ความเชื่อของนิว ทำให้เราได้เห็นการคอลแล็บกับสารพัดแบรนด์ไทยหลากหลายแบรนด์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนเป็น top of mind ของวงการนั้นๆ

โอกาสครบรอบ 50 ปีของ ขายหัวเราะ นิวจึงพา ขายหัวเราะ ไปในทิศทางที่หลายคนอาจประหลาดใจ เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงต้นปีหน้า เราจะได้เห็น ขายหัวเราะ ปรากฏในหลายที่และจับมือกับหลากแบรนด์​ ชวนให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่า ขายหัวเราะ นั้นอยู่ร่วมกับคนไทยได้ทุกยุค ทุกสมัย และทุกแพลตฟอร์มจริงๆ

แต่ก่อนจะเตรียมตัวต้อนรับโปรเจกต์การคอลแล็บฉลอง 50 ปี เราชวนนิวมาเผยถึงเรื่องราวเบื้องหลังการคอลแล็บระหว่าง ขายหัวเราะ และจักรวาลแบรนด์ไทยก่อนหน้านี้ ว่าแต่ละที่ที่นิวนำไปให้ประสบการณ์สุดล้ำค่ากับ ขายหัวเราะ ได้ยังไงบ้าง

ขายหัวเราะ X ททท.

เชื่อว่าแก๊ก ‘ติดเกาะ’ น่าจะเป็นหนึ่งในภาพจำของ ขายหัวเราะ ไปเลย แต่รู้มั้ยว่าในประเทศไทยก็มีเกาะเกาะหนึ่งที่มีหน้าตาเหมือนเกาะขายหัวเราะอย่างกับแกะ จนผู้คนสงสัยอยู่เสมอว่าต้นแบบเกาะขายหัวเราะนั้นมาจากเจ้าเกาะในโลกจริงซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดตราดหรือเปล่า

“นักท่องเที่ยว และคนทั่วๆ ไปก็เรียกมันว่าเกาะขายหัวเราะมาโดยตลอด ซึ่งจริงๆ เกาะนี้ไม่ได้เป็นต้นแบบนะ เพียงแต่มันเหมือนมากจนใครๆ ที่ไปเห็นก็ต้องถ่ายมาให้เราดู เราเห็นแล้วก็ขำทุกที จนสุดท้าย ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็ติดต่อมาว่าอยากให้ ขายหัวเราะ ไปโปรโมตเกาะนี้” 

การร่วมมือกันครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 นิวเองที่อยากให้การ์ตูนของครอบครัวกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยจึงยิ่งเห็นด้วยกับการร่วมงานครั้งนี้

“เหมือนกับที่คุมะมงหรือหลายๆ แบรนด์ของญี่ปุ่นก็ช่วยโปรโมตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศเขา พอเราได้ลองทำจริงๆ มันก็สนุกมาก 

“เราได้คิด journey และสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงโลกจินตนาการกับโลกแห่งความเป็นจริงเข้าด้วยกัน เช่น ทำไมถึงเกิดเกาะนี้ ทำไมเราควรไปเที่ยวที่นี่ จนปัจจุบัน ตรงนั้นมีรูปปั้นเกาะขายหัวเราะให้คนถ่าย และมีกิจกรรมแจกของที่ระลึกด้วย”

นิวยังเล่าว่าโปรเจกต์เกาะขายหัวเราะไม่ได้สนับสนุนเพียงเกาะเกาะเดียว แต่ยังนำเที่ยวสถานที่รอบข้างอย่างเกาะหมากและเกาะกระดาดได้ด้วย ทั้งยังสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปได้อย่างแนบเนียน

“คนสนใจโปรเจกต์นี้เยอะมากจนเราได้ไปออกรายการต่างๆ มากขึ้น เวลาไปเจอลูกค้าและพูดถึงแคมเปญนี้ ทุกคนก็จะอ๋อทันที 

“เวลาคนถามเราว่าไม่หมดมุกเหรอ โปรเจกต์นี้แหละที่ทำให้เราตอบได้เต็มปากว่าไม่หมดมุกหรอก  ขายหัวเราะ มันเป็นอะไรได้อีกล้านแปด” นิวยืนยัน

ขายหัวเราะ X Rompboy

ถ้าจะให้เล่าว่าแบรนด์ไหนที่สะท้อนการร่วมมือกันระหว่างแฟนคลับตัวยงและ ขายหัวเราะ ได้ดีที่สุด การคอลแล็บระหว่าง ขายหัวเราะ และ Rompboy น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด

“เราไม่ต้องจูนหรืออธิบายเยอะว่าคาแร็กเตอร์นี้คืออะไร เด่นยังไง เขามาพร้อมกับความต้องการของตัวเองเลยและเขาชัดเจนว่าจะทำยังไงให้ ขายหัวเราะ มันไปกับแบรนด์คนรุ่นใหม่ของเขาได้” นิวเล่าถึงวันที่ บู้–ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หอบไอเดียการคอลแล็บระหว่าง ขายหัวเราะ ที่เขาผูกพันเข้ากับแบรนด์สตรีทแวร์สุดป๊อปของเขาเข้าด้วยกัน

โดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่แฟนคลับของคาแร็กเตอร์ หรือแฟนคลับของแบรนด์เสื้อผ้านั้นๆ เชื่อว่าหลายคนก็คงไม่คิดอยากได้เสื้อผ้าลายคอลแล็บมาสวมใส่ เพราะการสวมเสื้อผ้าไม่ใช่แค่การปกปิดหรือให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ยังถือเป็นการสะท้อนสไตล์บ่งบอกตัวตนของคนคนนั้นด้วย

“พอมันเป็นเสื้อผ้า ลายหรือสไตล์ที่ออกมามันต้องโดนและทำถึงจริงๆ การคอลแล็บครั้งนี้มันเลยสนุกตรงที่เราเองก็มี asset การ์ตูน ส่วนพี่บู้เขารู้ว่าจะเอาองค์ประกอบของ ขายหัวเราะ ไปทำให้มันดูเท่และมีสไตล์ยังไง

“เขาบอกเลยว่า ผมว่าลายเส้นอันนี้ต้องเป็นสินค้านี้ ถ้าเติมองค์ประกอบนี้ไปมันจะดูทันสมัย มันเหมือนเราต่างแชร์ในส่วนที่ตัวเองถนัด”

เป็นจริงดั่งตั้งใจ คอลเลกชั่น Rompboy x ขายหัวเราะ ที่หยิบเอาลายเส้นการ์ตูน ขายหัวเราะ สุดคลาสสิกมาทำเป็น 7 ไอเทมสตรีทแวร์ที่มีกลิ่นอายเสื้อผ้า American Vintage ช่วงยุค 1950-1970s ขายหมดทุกชิ้น 

ไม่ว่าจะเสื้อสีขาวลายเส้นสาวเซ็กซี่ของ อาวัฒน์–วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ กางเกงขาสั้นและหมวกที่ปักลายแก๊กติดเกาะสุดโด่งดังของ ขายหัวเราะ ไปจนเสื้อสเวตเตอร์ลายผีเสื้อสมุทรโดย อาจุ๋มจิ๋ม–จำนูญ เล็กสมทิศ ฯลฯ

“เขาเก่งมาก เขารู้ว่าทำยังไงคนถึงจะตื่นเต้น” นิวเล่าความรู้สึกของการคอลแล็บครั้งนี้ให้ฟัง

ขายหัวเราะ X PLY

โปรโมตท่องเที่ยวก็ทำมาแล้ว ร่วมมือกับแบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแวร์ก็ทำมาแล้ว ไม่แปลกใจหากมีอีกหลายแบรนด์ไทยที่เห็นความเป็นไปได้ของ ขายหัวเราะ

หนึ่งในนั้นคือแบรนด์สนีกเกอร์หนังอย่าง PLY ของ กอล์ฟ–ณัฐวุฒิ ศรีหมอก หรือ กอล์ฟ F.HERO ที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนรองเท้าและแฟนการ์ตูน เมื่อเขาตัดสินใจหยิบเอาคาแร็กเตอร์สายฮาจาก ขายหัวเราะ ไปเป็นส่วนหนึ่งของรองเท้าสุดเท่

“พี่กอล์ฟเขาเป็นแฟน ขายหัวเราะ เหมือนกัน พอเขาทำแบรนด์รองเท้าหนังที่ปกติมันจะเรียบเท่ เขาเลยอยากลองทำคอลเลคชั่นที่ดูสนุกและมีความเป็นไทย สอดคล้องกับชื่อแบรนด์ว่า PLY ที่มันเป็นชื่อเรียกช้าง”

ความที่นิวยังไม่เคยพา ขายหัวเราะ ไปดินแดนรองเท้ามาก่อน โปรเจกต์นี้จึงน่าตื่นเต้นสำหรับเธอและทีมมาก เพราะกระบวนการการทำรองเท้านั้นซับซ้อน บางไอเดียที่ดูเจ๋งมากแต่ผลิตออกมาแล้วคุณภาพไม่ผ่านก็ต้องปัดตกไป

“เราถนัดด้านการ์ตูนแต่ด้านดีไซน์รองเท้า เราก็ต้องให้เกียรติพาร์ตเนอร์นำว่าจะพามันไปทางไหนที่คนจะยอมใส่ หรือ ขายหัวเราะ จะไปอยู่กับรองเท้ายังไงให้ไม่เคอะเขิน ขัดขืน หรือยัดเยียดจนเกินไป จนได้ออกมาเป็นคอนเซปต์คู่กัดของ ขายหัวเราะ เพราะเวลาใส่รองเท้าต้องใส่เป็นคู่กัน”

ไม่ว่าจะลาย ‘บ.ก.วิติ๊ด vs ไก่ วัลลภ’ ลาย ‘โจรมุมตึก vs ต่าย’ ลาย ‘นินจาเงาดำ vs จอมยุทธ์หมูออมสิน’ และลาย ขายหัวเราะ ที่สื่อถึงแบรนด์ได้ดี และนอกจากหยิบลายมาใช้ในครั้งนี้ จุดเด่นที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่ร่วมกับ ขายหัวเราะ ทันทีคือสีสันสดใสของ ขายหัวเราะ นั่นเอง

“มันเป็นการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ขายหัวเราะ อยู่ได้ทุกพรมแดนและอยู่ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้าในชีวิตประจำวันของทุกคน” 

ขายหัวเราะ X Sansiri

ถ้าให้ลองคิดเล่นๆ ว่า ขายหัวเราะ จะไปรวมกับธุรกิจที่อยู่อาศัย ทุกคนคิดว่าขายหัวเราะจะไปปรากฏในรูปแบบไหน 

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก

เฉลย ขายหัวเราะ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ได้ทุกรูปแบบ! ไม่ว่าจะรูปแบบออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ตาม และธุรกิจที่อยู่อาศัยที่เราพูดถึงก็คือแสนสิริ โครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมที่เมื่อได้ยินชื่อ ทุกคนก็ต้องรู้สึกถึงความหรูหราและเข้าถึงยากซึ่งเป็น pain point สำคัญที่ทำให้แสนสิริและ ขายหัวเราะ มารวมตัวกัน 

“เราสร้างสังคมที่มีความสุขไม่ได้ถ้ายูนิตที่เล็กที่สุดอย่างบ้านมันไม่มีความสุข พอ ขายหัวเราะ เป็นความฮาสามัญประจำบ้านที่อยากสร้างอารมณ์ขันให้เกิดในบ้าน ส่วนแสนสิริก็สร้างบ้านให้ดีที่สุดเพื่อเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนมีความสุข มันจึงลงตัว” นิวอธิบายนิยามของโปรเจกต์นี้ให้ฟัง

จากโจทย์ที่อยากให้คนเข้าถึงได้ นิวและทีม ขายหัวเราะ กระจายความฮาของตัวเองเข้าไปแทรกซึมกับกระบวนการขายบ้านได้อย่างแนบเนียนและไม่เขินอาย ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า ‘บ้านนี้ ฮะ ฮะ ฮ่า’

ไม่ว่าจะนักเขียนที่อาศัยและทำงานในบ้านของแสนสิริอย่างสุขสบาย คิดไอเดียง่าย วาดการ์ตูนคล่อง

หรือตัวละครผีเสื้อสมุทรที่ชอบบ้านของแสนสิริมากเพราะมีเพดานสูง อยู่แล้วไม่อึดอัดและสบายกว่าอยู่ถ้ำ แม้กระทั่งเทพารักษ์ก็ชอบโครงการของแสนสิริเพราะต้นไม้เยอะ มองแล้วร่มรื่นใจ

“หรืออย่างยอดมนุษย์ ขายหัวเราะ ก็มาชาร์จพลังที่บ้านได้ เพราะแสนสิริมีที่ชาร์จรถ EV แล้ว จะสู้กับก็อดซิลล่ายังไงก็ไม่แพ้ แม้กระทั่งมุกโจรมุมตึกเจ้าประจำ เราก็เอามาเล่นว่าโจรมุมตึกเนี่ยเข้าบ้านแสนสิริไม่ได้นะเพราะว่า CCTV Security System ดีมาก แล้วนินจาของ ขายหัวเราะ ยังเป็นคนเทรน รปภ. ให้แสนสิริด้วย

“เห็นมั้ยว่าเราสร้างเรื่องราวได้ไม่จำกัดเลย มันทำให้การโฆษณาสนุกขึ้น ไม่ฝืน และเข้าถึงได้ง่ายมาก แก้ pain point ของเขาได้ดี ยิ่งเราวาดคุณเศรษฐาเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ภาพของความเป็นนักธุรกิจเข้าถึงยากมันลดลง”

แต่นอกจากคอนเทนต์ออนไลน์เหล่านี้ แสนสิริและ ขายหัวเราะ ยังสร้างความสนุกผ่านช่องทางออฟไลน์ อย่างการพามาสค็อตตัวละครสำคัญไปเดินรอบหมู่บ้าน เปิดตัวกับสื่อต่างๆ และทำกิจกรรมกับลูกบ้าน เสมือนพาโลกจินตนาการมาสู่โลกแห่งความจริง

“ปกติเรามักจะได้ทำแต่แคมเปญออนไลน์ หรือทำพวกหนังสือ โปรเจกต์นี้เลยเปิดโอกาสให้ ขายหัวเราะ ได้สร้างสรรค์อะไรเยอะมากเหมือนกัน เพราะเขามาเป็นภาพใหญ่ว่าอยากแก้ pain point ตรงนี้นะ เราเลยสามารถใช้ทุกเครื่องมือที่มีได้เลย”

ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้วัดได้ง่ายๆ จากยอดขายที่ ขายหัวเราะ สามารถทำให้แสนสิริเพิ่มขึ้น 135% จากที่แสนสิริตั้งไว้ 8,200 ล้านบาท ขายหัวเราะ ทำยอดได้ถึง 11,100 ล้านบาท

นอกจากนั้น แคมเปญยังได้เข้ารอบไฟนอลลิสต์ 3 จาก 4 รางวัลใน Adman Awards 2022 และได้รับรางวัล 1 รางวัลในหมวด Public Relations Plan ด้วย 

“ผู้จัดบอกว่าเราเป็นสตูดิโอการ์ตูนเจ้าแรกที่ไม่ใช่เอเจนซี่ที่ได้รางวัลนี้ ถือเป็นกำลังใจที่ดีให้กับ ขายหัวเราะ  และเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนเห็นว่าการ์ตูนมันมีศักยภาพมากกว่าการให้ความบันเทิง แต่มันสื่อสารการตลาดได้นะ” 

ขายหัวเราะ X Preduce Skateboards

“ยิ่งเป็นแบรนด์ที่คอนทราสต์กับทั้งตัวตนของเราและความเป็น ขายหัวเราะ มากๆ เราจะยิ่งรู้สึกว่ามันท้าทายและสนุกที่จะได้ทำ” 

นิวอธิบายเมื่อเราเอ่ยถามถึงการคอลแล็บล่าสุดกับ Preduce Skateboards แบรนด์สเก็ตบอร์ดแบรนด์แรกของไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2002 

สำหรับชาวสเก็ตบอร์ดแล้ว Preduce ถือเป็นแบรนด์ที่สำคัญกับวงการนี้อย่างมาก ก่อนหน้านี้ Preduce เองก็เคยร่วมมือกับศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก่อน การร่วมมือสร้างสรรค์ซีรีส์สเก็ตบอร์ดกับ ขายหัวเราะ ครั้งนี้จึงสร้างเสียงฮือฮาจากแฟนคลับทั้งสองแบรนด์อย่างมาก

“ถึงเราจะไม่ใช่คนที่เล่นสเก็ตบอร์ด แต่ความไม่อิน as a person ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เห็นโอกาสทางความคิดสร้างสรรค์ ถ้ารู้สึกว่าถ้าได้ทำแล้วจะดี เราก็ทำ 

“แต่พอเราไม่เคยอยู่ในแวดวงนี้มาก่อน ในฐานะผู้บริหาร เราต้องหาข้อมูลเยอะๆ และคุยกับคนอื่นๆ ว่าเขามองว่าสิ่งนี้มันน่าทำหรือเปล่า”

ซีรีส์สเก็ตบอร์ดจากทั้งสองตำนานจึงออกมาทั้งในรูปแบบของการหยิบเอาคาแร็กเตอร์เด่นๆ ของ ขายหัวเราะ ไปอยู่บนแผ่นสเกต รวมถึงมีอีเวนต์ที่เปิดให้เหล่าแฟนคลับทั้งสองแบรนด์มาพบกันด้วย 

การร่วมมือระหว่าง ขายหัวเราะ และ Preduce Skateboards ครั้งนี้จึงทำให้ความเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และทุกเทรนด์สังคมของ ขายหัวเราะ ชัดเจนขึ้นมาก ไม่ทิ้งลายความเป็นจดหมายเหตุของประเทศไปเลย

ขายหัวเราะ X พรมแดนใหม่ๆ แบบอินฟินิตี้

คล้ายยามเดินทาง เมื่อก้าวเท้าไปยังประเทศไหนๆ ก็จะได้ตัวปั๊มมาผนึกพาสปอร์ตของตัวเองว่าเธอ เขา เรา ฉันได้พิชิตดินแดนแห่งใหม่อีกดินแดนหนึ่งแล้ว 

ไม่ใช่แค่ตัวบ่งชี้จำนวนประเทศที่เราไปถึง แต่คือหนึ่งในเครื่องสะท้อนว่าประสบการณ์และมุมมองที่มีต่อโลกของเรานั้นกว้างใหญ่ขึ้นแค่ไหน

กับการคอลแล็บของ ขายหัวเราะ ก็เช่นเดียวกัน โปรเจกต์ต่างๆ ที่เราเล่าให้ฟังข้างต้นเสมือนการสแตมป์พาสปอร์ตหรือเก็บแต้มเวลาเล่นเกมยังไงยังงั้น นอกจากจำนวนชิ้นงานที่ร่วมคอลแล็บจะมากขึ้น พอให้นำไปประดับพอร์ตของ ขายหัวเราะ ได้แล้ว ยังทำให้นิว ในฐานะผู้บริหารคนปัจจุบัน เห็นความเป็นไปได้ของ ขายหัวเราะ กว้างขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เหมือนเวลาบอกว่าเอกภพของเรามีพื้นที่เป็นอนันต์ 

ในโอกาสที่ ขายหัวเราะ เดินทางมาถึงปีที่ 50 นิวจึงคิดว่านี่เป็นเวลาเหมาะสมที่จะพา ขายหัวเราะ ออกนอกกรอบไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้แตกต่างและน่าประหลาดใจกว่าเดิม 

“เรามานั่งเบรนสตอร์มกันว่านอกจาก ขายหัวเราะ จะสร้างความสุขให้ผู้คนในเชิงคอนเทนต์ได้ เราสามารถสร้างความสุขผ่านอาหารได้ไหม ผ่านเสื้อผ้า หรืออะไรได้อีกบ้าง จนเกิดเป็นโปรเจกต์คอลแล็บร่วมกับแบรนด์ชั้นนำในแต่ละวงการขึ้นมา

“แต่เดิม ผู้บริหารหลายคนโตมากับ ขายหัวเราะ อยู่แล้ว คราวนี้เราเข้าไปแนะนำตัวว่าเราไม่ใช่แค่หนังสือการ์ตูนแล้วนะ แต่เรามีฐานแฟนกี่ล้านคน แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาก็เซอร์ไพรส์ว่าเราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ

“มากกว่ายอดขาย การทำโปรเจกต์ครั้งนี้มันทำให้แบรนด์เห็นความไปได้ของเรา รวมถึงตอบคำถามหลายคนว่า ขายหัวเราะ ยังเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อยู่ไหม”

แน่นอนว่าคำตอบของคำถามที่นิวตั้งไว้ ต้องรอติดตามเซอร์ไพรส์ในโอกาส 50 ปีสุดพิเศษนี้กันเอง แอบกระซิบว่ามีหลายแบรนด์ทีเดียวที่เชื่อว่าไม่ว่าคนรุ่นไหนได้ยินก็ต้องอยากได้มาครอบครอง เพราะนอกจากความเป็นตัวเต็งของวงการแล้ว นิวยังเลือกแบรนด์ที่มี DNA แห่งเสียงหัวเราะและความสุขเช่นเดียวกับ ขายหัวเราะ ด้วย 

“ตัวเลข 50 ปีมันเหมือนจะนานก็นาน แต่จริงๆ เรามองว่ามันคือจุดเริ่มต้นในการพิสูจน์ตัวเองว่า ขายหัวเราะ หรือการ์ตูนไทยมันไปได้ไกลกว่านี้ และทำให้เห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์อย่างการ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งที่ยกระดับ creative economy ของไทยได้ยังไงบ้าง 

“อีกทางหนึ่งมันก็เหมือนกับการปักหมุดและเป็นการสัญญากับแฟนๆ ว่าไม่ว่าจะอีก 20 ปี 50 ปี หรือกี่ปีต่อไป ขายหัวเราะ ก็จะไม่หยุดเดิน”

ตั้งแต่กลางปี 2566 จนถึงต้นปีหน้า แฟนคลับ ขายหัวเราะ และทุกๆ คนเตรียมรับแรงกระแทกจากสารพัดโปรเจกต์คอลแล็บในโอกาสพิเศษนี้ได้เลย 

The People of KaiHuaRor

นอกจากการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย หนึ่งในสิ่งที่บริษัทอายุหลายขวบปีมักจะยึดมั่นเป็นหลักสำคัญในการทำงานคือการบริหาร ‘คน’ ให้มีประสิทธิภาพและบริหารอย่างเข้าใจ

ขายหัวเราะ ก็เช่นกัน แบรนด์การ์ตูนไทยอายุกว่า 50 ปีแบรนด์นี้ ไม่เพียงรู้เท่าทันสถานการณ์โลกจนสามารถพาการ์ตูนและความฮาสามัญประจำบ้านออกนอกพรมแดนของหนังสือเล่มได้เท่านั้น แต่ผู้บริหารรุ่นแรกอย่าง ‘วิธิต อุตสาหจิต’ จนกระทั่งรุ่นที่ 2 อย่าง ‘พิมพ์พิชา อุตสาหจิต’ ยังให้ความสำคัญกับ ‘คนทำงาน’ อยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนรุ่นเดอะ นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ จนถึงครีเอทีฟที่เข้ามาช่วยเป็นสะพานระหว่างนักเขียนกับผู้ชม  ทุกคนต่างบอกว่า ขายหัวเราะ ไม่ได้ใส่ใจกับผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังใส่ใจทีมงานทุกคน ในโอกาสที่แบรนด์ ขายหัวเราะ สร้างเสียงหัวเราะให้ ‘คนไทย’ มานานกว่า 50 ปี เราอยากพาไปคุยกับ ‘คน’ ที่อยู่เบื้องหลังความฮาเหล่านี้

ตั้งแต่คนที่ทำงานมากว่า 40 ปี ไปจนถึงคนที่ทำงานกับ ขายหัวเราะ เพียงหลักไม่กี่ปีเท่านั้น ว่าคีย์เวิร์ดการบริหารคนของ ขายหัวเราะ นั้นคืออะไร จนทำให้พวกเขาอยากพาแบรนด์ที่มีมากว่าครึ่งศตวรรษเดินไปได้ไกลกว่านี้

ชื่อ : ต่าย–ภักดี แสนทวีสุข
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน : 2522

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

ผมชอบเขียนการ์ตูนแต่ก็ไม่ได้หวังว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงๆ จังๆ เพราะสมัยนั้นมันมองไม่เห็นอนาคต จนพ่อเสียก็รู้สึกเคว้ง ไม่รู้จะทำอะไร คิดไปคิดมาก็เอ๊ะ เราเขียนการ์ตูนได้ แล้วอาจุ๋มจิ๋มกับอาวัฒน์เขาเขียนการ์ตูนแล้วอยู่ได้ เราก็น่าจะต้องอยู่ได้นะ 

ผมเริ่มจากเดินขายงานวาดเล่มละบาท แล้วก็ไปเสนอตามที่ต่างๆ ตอนแรกก็นึกว่าง่าย แต่มันไม่ง่ายเลย เขาหัวเราะก๊าก เขาว่าโอ๊ย อย่างกับเด็กเขียน แต่เราก็ไม่ได้ย่อท้อ เราก็ฝึกวาด ฝึกลงสี อะไรมาเรื่อยๆ จนขายต้นฉบับได้เล่มละ 400 บาทตอนเรียนอยู่พาณิชย์ปี 3 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

หลังจากเขียนส่งที่อื่นสักพัก ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลองส่งต้นฉบับไป ขายหัวเราะ เลยลองเขียนต้นฉบับ 10 แผ่นแล้วก็เดินมาที่ตึกบันลือฯ ก่อนหน้านี้เวลาจะไปเสนอที่สำนักพิมพ์ไหน เราจะเดินวนไปวนมาหน้าตึกแล้วก็ท่องว่า ‘ผมเอาต้นฉบับการ์ตูนมาเสนอขายครับ’ เพราะรู้สึกอาย

แต่วันนั้นที่เอาต้นฉบับมาเสนอให้คุณวิธิตเป็นครั้งแรกที่เราเดินเข้าไปเลย ไม่เดินวนแล้ว ปรากฏว่าตอนแรกคิดว่าประตูปิด แต่ก็ลองดูอยู่สักพักคือจริงๆ ปิดประตูเฉยๆ แต่คุณวิธิตเขานั่งทำงานอยู่ข้างใน คุณวิธิตก็รับต้นฉบับไว้แล้วบอกว่าโดยรวมดีเลยนะ แต่บางแก๊กยังต้องพัฒนา เราก็เดินยิ้มแป้นออกมา นึกในใจว่าแก๊กคืออะไรนะ (หัวเราะ)

จากนั้นก็ส่งต้นฉบับได้เรื่อยๆ จากส่ง 10 หน้า ได้พิมพ์ 7 หน้าก็เริ่มเป็นส่ง 10 หน้าก็ได้ตีพิมพ์ทั้ง 10 หน้า พอเรียนจบก็ไปทำงานที่อื่นอยู่ 2 ปี ก่อนที่ บ.ก.วิธิตจะชวนไปทำ ขายหัวเราะ จริงจัง   

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

คิดเหรอ ไม่ควรคิด เรารู้สึกว่าอย่าไปคิดเลย เพราะการเขียนการ์ตูนตลกเราต้องปล่อยฟรีแล้วใช้อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นใส่เข้าไป ถ้าไอเดียตันก็อยู่เฉยๆ สักพักหนึ่ง จะไปดูข่าว ดูทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ก็ได้ ตู้เย็นก็ยังเปิดดู (หัวเราะ) ยิ่งช่วงหลังมีอินเทอร์เน็ต มันก็พาเราทะลุโลกไปไหนก็ไม่รู้

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

เราไม่ได้รู้สึกว่ามันทำให้เราเหนื่อย มันเหมือนไม่ได้ทำงานด้วยซ้ำแต่ได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วการเขียนการ์ตูนมันไม่เหมือนงานอื่นนะ หลักๆ แล้วที่ ขายหัวเราะ ให้อิสระเราได้ทำงานคนเดียว คิดงานคนเดียวตั้งแต่เนื้อเรื่อง องค์ประกอบ การเดินเรื่อง 

ชื่อ : นิค–นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน : 2528

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

เรารู้ตัวเองว่าเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ จากหนังสือการ์ตูนบ้าง จากงานคัตเอาต์สีน้ำมันที่โรงเรียนบ้าง เลยเรียนศิลปะแบบ pure art เลย แล้วก็เริ่มเขียนการ์ตูนเล่นๆ จนเขียนการ์ตูนขายเล่มละบาทตั้งแต่ยังอยู่ที่โคราช แล้วก็เริ่มเอามาเสนอขายที่กรุงเทพฯ ให้หลายสำนักพิมพ์เลย เรายังเคยไปเขียนการ์ตูนให้สำนักพิมพ์ที่ทำแบบเรียนด้วยนะ  

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

ตอนแรกเราเขียนการ์ตูนการเมือง แต่พอจะมาเสนอที่ ขายหัวเราะ ก็ลองเขียนการ์ตูนตลกมาให้คุณวิธิตดู ปรากฏว่าไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เราก็กลับมาเขียนใหม่ อีกสักระยะหนึ่งก็ไปเสนอใหม่จนได้เขียนให้ ขายหัวเราะ ประมาณปี 2526 ตอนที่มี ขายหัวเราะ ฉบับกระเป๋า เราก็กลายเป็นตัวยืน ก็รู้สึกดีใจนะแต่ก็คิดอยู่ตลอดด้วยว่าเราจะทำยังไงให้หาแก๊กมาเล่าได้ต่อเนื่อง แต่ทำไปทำมาก็ทำต่อเนื่องมาจนตอนนี้

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

การเขียนการ์ตูนมันไม่มีรูปแบบมากำหนดว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะคิดหรือวาดยังไงก็ได้แต่ในทางเดียวกันมันก็ทำให้งานมันยากไปด้วย ดังนั้นเวลาคิดงาน จิตใจต้องสบาย จิตใจต้องว่าง ถ้าเราตันปุ๊บ เราจะไม่ทำอะไร ปล่อยมันไปเรื่อยๆ สัก 2-3 วัน ค่อยกลับมาคิดใหม่ พอคิดได้ก็จะคิดยาวเลย คิดจนคนอื่นเขามองว่าเราเป็นคนไม่ค่อยพูดกับใคร

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

ที่นี่ให้อิสระในการเขียนมาก การทำงานของเรามันคือการได้คิดด้วยตนเองนี่แหละ มันทำให้มีความสุขจนรู้สึกผูกพันกับอาชีพนี้ไปแล้ว 

ชื่อ : เอ๊าะ–ผดุง ไกรศรี
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน :
2535

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

เราวาดรูปมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนอีก จนเรียนที่เพาะช่างก็เรียนรู้การเขียนการ์ตูนจากรุ่นพี่คนหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มเขียนการ์ตูนส่งเล่มละบาท เราเขียนไม่หยุดตั้งแต่ ปวส.จนจบปริญญาตรี ขนาดไปทำงานบริษัทเราก็ยังใช้เวลากลางคืนเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์อยู่ 2 สำนักพิมพ์ ทำอย่างนั้นอยู่นานจนคิดว่าอาชีพนี้มันก็ดี 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

สักอายุ 30 กว่าๆ เราได้รู้จักกับพี่เตรียม ชาชุมพร แล้วเขาก็เห็นว่าฝีมือดี เขียนการ์ตูนตลกดี เลยพามาแนะนำกับคุณวิธิต แต่ตอนนั้นเราติสท์และอีโก้จัดมาก คุณวิธิตบอกว่าต้องแก้งานหน่อยนะ ลายเส้นมันคล้ายการ์ตูนญี่ปุ่นเกินไป เราก็ไม่แก้แล้วหายไปเลย 2 ปี 

เรากลับมาที่บรรลือสาส์นอีกครั้งแต่ไปเขียนให้สำนักพิมพ์ในเครือ จนพี่คนหนึ่งเขาพากลับไปหาคุณวิธิต คุณวิธิตก็บอกว่าอ้าว หายไปไหนมา จากนั้นก็เขียนให้ ขายหัวเราะ ตั้งแต่ปี 2535 เริ่มจากเขียนคุณมิลค์ขึ้นมา จนมีแฟนคลับ หลังจากนั้นสัก 2-3 ปีก็เริ่มวางเรื่องว่าคุณมิลค์เป็นสาวไฮโซ แล้วก็มีเด็กจากอีสานที่ซื่อ แก่นซนเป็นคนทำงานในบ้านซึ่งก็คือหนูหิ่น

ทำไปทำมาจนได้สร้างเป็นหนัง คุณวิธิตก็ถามว่าเป็นยังไงบ้างจะได้ทำเป็นหนังแล้วนะ ปากก็บอกดีใจครับแบบนิ่งๆ แต่ในใจจริงๆ คือแบบยู้ฮู้ เพราะเราไม่เคยคิดว่าจะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

เราจะติสท์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูว่างานเรามันขายให้คนกลุ่มไหนอ่าน เพราะการ์ตูนมันถือเป็นของฟุ่มเฟือย เราจะทำยังไงให้คนเขายอมควักเงินมาซื้อได้ ในเล่มหนึ่งๆ ต้องมีหลายเรื่องราว ที่สำคัญเราต้องปรับแก๊กและเรื่องของเราให้มันร่วมยุคร่วมสมัย อย่างเมื่อก่อนเราจะเขียนมุกเซ็กซี่ แต่ทุกวันนี้เราอาจจะต้องปรับลดสิ่งเหล่านี้ลงหน่อย เราต้องตระหนักว่าเราทำให้เด็กๆ อ่านด้วย ถ้าใครกลับไปย้อนดู หนูหิ่น จะเห็นว่าเราไม่เขียนฉากเลิฟซีนเลย แม้แต่พี่ทองกับคุณมิลค์ที่เป็นแฟนกันก็ไม่เคยกอดจูบลูบคลำหรือว่ากอดกันเลย  

ส่วนถ้าถามว่าคิดแก๊กยังไง ปกติเราจะพกสมุดติดตัวตลอด เวลาคิดอะไรออกก็จดไว้ แล้วถ้าเราเขียนเรื่องคนเราสามารถเขียนได้ไม่รู้จบ คนหนึ่งคนแตกออกได้อีกหลายร้อยเรื่อง เช่น ตอนแรกเราวาดคุณมิลค์ จากนั้นก็จะมีคุณส้มโอที่เป็นเพื่อนคุณมิลค์ แล้วคุณส้มโอก็มีเพื่อนของเขาอีก ยิ่งวาดเยอะก็ยิ่งต้องจดให้ละเอียดว่าแต่ละคนบุคลิกเป็นแบบไหน ชอบอะไร ทำอะไร 

ทั้งหมดนี้มันมาจากความเชื่อมั่นและความศรัทธาว่าอาชีพนี้มันจะทำให้เรารุ่งเรือง เราไม่ได้คิดว่าจะเขียนการ์ตูนขายอย่างเดียว แต่คิดว่าต้องขึ้นไปอยู่ใน Top 10 ของนักเขียนการ์ตูนเมืองไทยให้ได้ 

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

ตั้งแต่ทำ หนูหิ่น บ.ก.วิธิตเขาไม่ยุ่งเลยนะ นอกจากจะให้อิสระในการเขียนแล้ว ขายหัวเราะ ยังให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเป็นสากล คือให้ค่าต้นฉบับ ให้เบี้ยเลี้ยง ให้ค่ารวมเล่ม

ชื่อ : บัฟโฟ่–อธิษ แย้มน้อย
ตำแหน่งงาน : ครีเอทีฟและนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่
ปีที่เข้าทำงาน : 2559

ความทรงจำเกี่ยวกับ ขายหัวเราะ ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมทันยุคเล่มใหญ่ช่วงท้ายๆ แต่ได้มาอ่านจริงจังตอนฉบับกระเป๋า เวลามีคนมาส่งหนังสือพิมพ์ ผมกับน้องชายก็จะอ้อนแม่ขอซื้อ ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

เราวาดการ์ตูนเล่นๆ ไม่ได้คิดจริงจัง ไม่เคยคิดด้วยว่าจะได้มาทำงานที่ ขายหัวเราะ แต่หลังจากเขียนการ์ตูน 4 ช่อง ลงบล็อก Exteen พี่คนหนึ่งก็ชวนเขียนการ์ตูนในเครือเดียวกับ ขายหัวเราะ ทำอยู่สักพัก ก็ได้เข้ามาประจำที่ ขายหัวเราะ 

ตอนแรกเขาให้เราสัมภาษณ์ก่อน เริ่มจากให้ลองคิดสโลแกน ก่อนจะให้กระโดดตบ แล้วก็วิดพื้น เราก็คิดในใจว่าจริงเหรอวะ เพราะไม่เคยสัมภาษณ์แต่เราก็ทำเพราะคิดว่าเขาอาจจะเช็กอารมณ์ขันเราก็ได้มั้ง พอเข้ามาทำงานจริง 1 เดือน ถึงจะรู้ความจริงว่าเขาแกล้ง (หัวเราะ)

ช่วงเข้ามาใหม่ๆ ก็คิดงานบ้าง เขียนการ์ตูนบ้างสลับกันไป 

เราก็เริ่มจับจุดลายเส้นของนักเขียนการ์ตูนรุ่นก่อนๆ แล้วก็ค่อยๆ หัดมาเรื่อยๆ จากที่แต่เดิมจะวาดแนวญี่ปุ่นเลย แต่จริงๆ ขายหัวเราะ ไม่ได้มากะเกณฑ์ขนาดนั้นหรอก เราก็ฝึกของเราเอง

ขายหัวเราะ ในปัจจุบันต่างจาก ขายหัวเราะ ในอดีตยังไง

ตอนเราเข้ามาใหม่ๆ เราพยายามคิดแก๊กคลาสสิก เช่น แก๊กติดเกาะ แต่จริงๆ แล้วความเป็นแก๊กของ ขายหัวเราะ มันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันต้องแฝงชีวิตประจำวันของคนไทยไปด้วย เช่น ปัจจุบันก็อาจจะมีแก๊กหนุ่มสาวออฟฟิศ หรือองค์ประกอบที่มันสื่อถึงคนไทย เช่น กินข้าวเหนียวหมูย่างหรือว่าเล่นหวย เรียกว่าเป็นแก๊กที่คนไทยจะเชื่อมโยงได้

ตอนนี้เราเริ่มปรับไปทำคอนเทนต์ทางยูทูบ เฟซบุ๊ก และติ๊กต็อกมากขึ้น การทำงานก็ต่างจากเดิมตรงที่มันต้องเร็วมากขึ้น เพราะแก๊กที่เกิดวันนี้ ถ้าลงพรุ่งนี้มันอาจจะไม่ฮิตแล้ว เพราะ ขายหัวเราะ ขึ้นชื่อว่าเป็นจดหมายเหตุประเทศไทย 

รู้สึกกดดันไหมที่ต้องสานต่อแก๊กของ ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นความฮาระดับตำนาน

เราก็ได้ชื่อว่าเขียนงานในนามของ ขายหัวเราะ เราก็คาดหวังกับตัวเองว่าอยากจะเขียนงานที่คนอ่านแล้วขำแน่ๆ แต่ถ้าเราเริ่มคิดไม่ออกหรือไม่มั่นใจ เราก็ถามคนในทีมได้ เพราะเราก็ไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนพี่นักเขียนรุ่นก่อน

การทำงานปัจจุบันคือแต่ละวันจะมีคนโยนสถานการณ์ต่างๆ ลงไปในกลุ่มไลน์ ถ้าใครคิดแก๊กออกก็โยนลงไปให้คนอื่นช่วยดู ข้อดีคือมันมีคนช่วยเราดูว่ามันตลกมั้ย ไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนเราตลกอยู่คนเดียว เพราะยิ่งต้องคิดแก๊กตลกมากๆ เข้า ไปๆ มาๆ เราก็จะเริ่มชินชาจนอาจไม่ตลกไปแล้ว

อะไรที่ทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ มาได้เกือบ 10 ปี

เราเป็นสไตล์ที่ถ้ารู้สึกว่าทำงานที่ไหนแล้วมันสบายใจและเข้ากับตัวเอง เราก็จะอยู่นาน ส่วนตัวคิดว่า ขายหัวเราะ ก็เข้ากับตัวเองที่สุดแล้ว ด้วยเราชอบอ่านการ์ตูน ชอบวาด ชอบคิด ชอบเสนองานใหม่ๆ ที่สำคัญเพื่อนร่วมงานก็ดี บอสอย่างคุณวิธิต คุณนก (โชติกา อุตสาหจิต–ภรรยาวิธิต อุตสาหจิต) และคุณนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทคนปัจจุบัน) ก็ดีกับเรามาก 

จนเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่นี่ เป็นเฟืองสักตัวที่ช่วยทำให้ ขายหัวเราะ ยังหมุนต่อไปได้ แต่ไม่เคยคิดว่าเราเป็นเฟืองตัวใหญ่แบบที่ขาดเราไป ขายหัวเราะ พังแน่ หวังแค่อยากให้มันหมุนไปในทิศทางที่ปรับตัวไปตามยุคสมัย 

ชื่อ : ยชญ์ บรรพพงศ์
ตำแหน่งงาน : ครีเอทีฟ
ปีที่เข้าทำงาน : 2565

ความทรงจำเกี่ยวกับ ขายหัวเราะ ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมว่าความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน คือไม่ว่าจะที่บ้านหรือร้านทำผม ก็ต้องเจอ ขายหัวเราะ สักเล่ม บางทีก็อ่านเองบ้าง เพื่อนจำมุกมาเล่าให้ฟังบ้าง มันเป็นความผูกพันที่ไม่ได้พิเศษมากกว่าอย่างอื่นเพียงแต่มันคุ้นชินจนเหมือนเราเติบโตมาด้วยกัน

ถามว่าเคยอยากเป็นนักเขียนไหม เราเคยเขียนการ์ตูนส่งเว็บตูนที่เกาหลีแต่คิดว่าคงไม่กลับไปเขียนการ์ตูนอีก เพราะรู้สึกว่ามันยากแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน ทั้งเรื่องลายเส้น การผูกเรื่อง ฯลฯ

แต่ชีวิตก็วนกลับมาทำงานเกี่ยวกับการ์ตูนที่ ขายหัวเราะ 

ใช่ แต่ก่อนหน้านั้นผมทำงานเป็นครีเอทีฟที่ Salmon Lab ได้ 3 ปี ก่อนที่จะลาออกไปเขียนหนังสือ ทำพ็อดแคสต์ เพื่อทดลองว่าตัวเองชอบแบบไหน แต่พอดีช่วงนั้น ขายหัวเราะ ก็มองหาครีเอทีฟอยู่ด้วย เราเลยได้กลับมาทำ

ขายหัวเราะ ในปัจจุบันต่างจาก ขายหัวเราะ ในอดีตยังไง

โดยหลักการตอนนี้ ขายหัวเราะ ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังสือการ์ตูนแต่เรามองว่า ขายหัวเราะ คือซอฟต์พาวเวอร์ที่ขยับขยายไปทำอะไรได้หลากหลายด้วยหน่ึง–คาแร็กเตอร์ที่คนคุ้นเคย สอง–อารมณ์ขันที่มันอาจจะไม่ได้ขำก๊ากแต่ยิ้มมุมปาก และสาม–ความคิดสร้างสรรค์ที่ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานของ ขายหัวเราะ ในทุกโปรเจกต์

ส่วนกระบวนการทำงานตอนนี้ นักเขียนอาจจะไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราจะมีทีมที่ช่วยกันคิดว่าด้วยอินไซต์ที่เรามี ถ้าเราอยากสื่อสารเรื่องนี้ เราควรลงช่องทางไหน หรือทำคลิปรูปแบบไหน ตำแหน่งครีเอทีฟจะเข้ามาช่วยตรงจุดนี้นี่แหละ 

เหมือนครีเอทีฟอย่างเราต้องแบกยอดของคอนเทนต์ ส่วนพี่นักเขียนก็จะแบกเรื่องมุกที่มันต้องเฟรช ต้องขำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังช่วยกันนะ เพราะยิ่งปัจจุบันที่การตระหนักรู้เรื่องต่างๆ มันมากขึ้น เราต้องยิ่งช่วยกันดูว่ามุกที่ออกมามันขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ถูกต้องไหม บวกกับคู่แข่งที่มากขึ้น เราก็ยิ่งต้องหาทางคิดมุกที่พิเศษขึ้น ทันปัจจุบันขึ้น แต่ก็ต้องมีความเป็นตำนานของแบรนด์ ขายหัวเราะ อยู่

รู้สึกกดดันไหมที่ต้องสานต่อแก๊กของ ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นความฮาระดับตำนาน

มันกดดันแน่นอนเพราะมันคือการแบกรับแบรนด์ที่มีอายุ 50 ปี แบกรับมาตรฐานของ ขายหัวเราะ ที่พี่ๆ ทุกคนเขาสร้างมา และถ้ามันเป็นไปได้เราก็อยากไปไกลกว่ามาตรฐานกว่านี้ 

แต่มันไม่ใช่ความกดดันที่ทำให้เครียดนะ มันกลับเป็นความกดดันในเชิงบวกที่ทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยทุกคนก็เห็นภาพเดียวกันว่าเราจะไม่ทำให้แบรนด์ ขายหัวเราะ มันต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เรามีมาตรฐานที่เซตไปด้วยกันแล้วก็คิดว่ามันจะทำให้ภาพของแบรนด์ชัดขึ้น ภาพขององค์กรที่ทำงานเป็นทีมชัดขึ้น 

ถ้าพูดแบบหล่อๆ ผมว่ามันคือความท้าทายที่ทำให้เรายังไม่รู้สึกเบื่อกับการทำงานและอยากจะอยู่เพื่อพา ขายหัวเราะ ไปได้ไกลกว่านี้

อะไรทำให้คุณรู้สึกว่าอยากอยู่กับ ขายหัวเราะ ไปเรื่อยๆ

ขายหัวเราะ ให้อิสระกับคนทำงานมาก เขาให้เกียรติและให้โอกาสเราทดลองทำสิ่งต่างๆ ทุกคนในทีมเสนอไอเดียต่างๆ ได้ แล้วถ้ามันมีโอกาสเหมาะๆ สิ่งที่โยนไปมันก็จะเกิดขึ้นจริง และแม้บางครั้งมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทีมงานก็มีสิทธิ์มีเสียงในองค์กร 

ที่สำคัญ เราไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้า แต่ทุกคนเป็นคนทำงานที่มีภาพในหัวว่าตัวเองอยากพาองค์กรไปทางไหน แม้ภาพที่ทุกคนเห็นอาจไม่เหมือนกันก็ตาม แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะมันทำให้ ขายหัวเราะ มีความหลากหลายมากขึ้น 

The Making of KaiHuaRor

ว่ากันตามตรง ใครๆ ก็เล่นมุกหรือทำคอนเทนต์อารมณ์ขันได้ แต่การทำให้ ‘ตลก’ ต้องอาศัยกระบวนท่าและองค์ความรู้มากมายที่ทำให้ผู้คนหัวเราะฮาครืน บ้างก็อมยิ้มบางๆ ไปกับมุกนั้นๆ

นอกจากตลกคาเฟ่ที่หลายคนคุ้ยเคย เชื่อว่ามุกตลกของ ขายหัวเราะ ก็คงเป็นอีกหนึ่งตำนานด้านการสร้างมุกตลกอย่างไทยๆ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้รับการนิยามจากคนไทยทุกยุคทุกสมัยว่าเป็น ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ และหลายๆ มุกก็เป็นแก๊กในตำนานที่คนไทยไม่เคยลืม ทั้งแก๊กติดเกาะ แก๊กโจรมุมตึก หรือจะเป็นแก๊กคู่ปรับต่างๆ ที่ชวนให้เราติดตามในแต่ละเล่ม

ที่สำคัญมุกตลกของ ขายหัวเราะ ยังมีบทบาทเป็น ‘จดหมายเหตุประเทศไทย’ เพราะแต่ละมุกที่นักวาดของ ขายหัวเราะ สื่อสารออกไปล้วนบอกเรื่องราวของสังคมไทยได้แทบทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สังคม ข่าวสารบ้านเมือง ไปจนถึงชีวิตประจำวันของคนไทย

แม้ทุกวันนี้ ขายหัวเราะ จะทำหน้าที่มากกว่าเป็นหนังสือชวนขำ เพราะตั้งใจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เล่าเรื่องได้ทุกรูปแบบ และปรากฏได้ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะรองเท้า เสื้อผ้า หรือจะเป็นโฆษณาขายบ้าน แต่ความฮาสามัญประจำบ้านของ ขายหัวเราะ ก็ยังคงไม่จางหายไปไหน

“มันอาจจะไม่ได้ขำก๊าก แต่อาจจะทำให้คนอมยิ้มได้ ที่สำคัญมันเล่าเรื่องที่ทุกคนรีเลตได้” ยชญ์ บรรพพงศ์ ครีเอทีฟและทีมงานรุ่นใหม่ของ ขายหัวเราะ อธิบายแบบนั้น

เซสชั่น Legacy ตอนนี้จึงอยากพาทุกคนไปเปิดเบื้องหลังการทำงานฉบับ ขายหัวเราะ ว่าแต่ละมุกตลกที่เราได้เห็นตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันนั้นมีกระบวนการทำงานในรูปแบบไหน มุกตลกที่ทำให้คนไทยหัวเราะได้นั้นทำยากหรือไม่ เมื่อ ขายหัวเราะ เปิดประตูสู่เส้นทางใหม่ๆ วิธีการคิดงานนั้นเป็นยังไง

แต่เพราะคงไม่มีเครื่องมือไหนที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของ ขายหัวเราะ ได้ดีกว่า ‘การ์ตูน’ ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้าถึงคนได้ทุกวัยได้อีกแล้ว เราจึงขอปล่อยให้ตัวการ์ตูนของ ขายหัวเราะ ด้านล่างนี้พาเราไปล้วงลึกอาณาจักร ขายหัวเราะ ด้วยตัวเอง น่าจะสนุกกว่า!

4P+1 ที่ exciting store ใช้ทำเสื่อออกกำลังกายให้น่ารักสดใส ชวนให้คนฮึดสู้ลุกมาออกกำลังกาย

work-life balance วลีเด็ดโด่งดังที่ใครก็ต้องเคยได้ยิน แต่ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เชื่อเถอะว่ามีคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่บาลานซ์งานกับชีวิตได้จริงๆ

อยากออกกำลังกายก็อยาก แต่ข้ออ้างงานเยอะ ชีวิตยุ่ง ก็ขัดขวางไม่ให้หลายคนลุกมารักตัวเองได้สักที หลายครั้งคนที่ประสบปัญหานี้จึงหาทางออกด้วยการซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลุกมาขยับร่าง เช่นเดียวกับที่นักวิ่งหลายคนอยากจะออกวิ่งเดี๋ยวนั้นเมื่อได้รองเท้าคู่ใหม่

ด้วยเหตุผลเดียวกันนั้นเองที่ทำให้ เนย–ณพร พัวสุวรรณ ตั้งต้นออกแบบเสื่อสีสันสดใส ลวดลายแปลกใหม่ แตกต่างจากเสื่อออกกำลังกายทั่วไปที่มักมีสไตล์เรียบง่าย ก่อนที่จะร่วมมือกับคนรักอย่าง วิน–ศุภภกร ศรีรัตนา เพื่อก่อตั้ง exciting store แบรนด์ที่จะทำให้ผู้คนตื่นเต้นและสดชื่นได้เสมอ

วินเองเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ส่วนเนยทำงานสายมาร์เก็ตติ้ง จุดร่วมเดียวกันคือทั้งคู่หลงรักงานออกแบบ เรื่องราว และการท่องเที่ยว แม้วินอาจไม่ใช่คนที่ชอบสีสันสดใสเท่าเนย แต่การรวมตัวของทั้งคู่ก็ลงตัวและกลมกล่อมเหมือนเวลาชงลาเต้จากส่วนประกอบ 2 ชนิดอย่างกาแฟและนม

เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจหลัก 4P+1 จากการทำแบรนด์ exciting store ของทั้งคู่ เพื่อสัมผัสความรู้สึก excited ที่ทั้งคู่ตั้งใจ

Product
สินค้าน่ารัก คุณภาพดี จากช่องว่างทางตลาด

ย้อนกลับไปช่วงโควิด–19 เชื่อว่าหลายคนน่าจะลุกขึ้นมาทำงานอดิเรกหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการออกกำลังกาย เนยเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย  และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่อไปนี้

“เราชอบของน่ารักๆ สีสันสดใสอยู่แล้ว พอดีเสื่อที่ใช้อยู่กำลังจะพัง เลยพยายามหาซื้อเสื่อลายน่ารักและมีคุณภาพ แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ ไม่ว่าจะช่องทางออนไลน์หรือหน้าร้านของแบรนด์ใหญ่ๆ 

“ตอนนั้นเลยลองตามหาโรงงานที่ทำเสื่อให้เราแค่ผืนเดียวได้ และมีเพียงเจ้าเดียวที่ตอบกลับมาซึ่งก็เป็นเจ้าที่เราทำงานด้วยในปัจจุบัน กลายเป็นว่ามันน่ารักมาก จากที่ตอนแรกคิดว่าคงทำไว้ใช้เองคนเดียว เลยลองทำตัวทดลองออกมา 5-6 แบบ แตกต่างทั้งสีและวัสดุ”

ระหว่างที่ทดลองหาเสื่อที่ใช่สำหรับตัวเอง เนยก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ของตลาดนี้ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ตามหาเสื่อน่ารักและคุณภาพดีเช่นเดียวกัน จากตั้งใจทำเพียงไม่กี่ชิ้นก็ตัดสินใจสั่งผลิตออกมา 1 ล็อต แต่จนแล้วจนรอดเสื่อล็อตแรกที่เธอสั่งผลิตก็ไม่ได้ออกวางขาย ด้วยความกลัวและความไม่เคยขายของมาก่อน กระทั่งเนยรู้จักกับวิน

“เราคิดว่าเสื่อที่เนยทำออกมามันแตกต่างจากท้องตลาดมาก ถ้าเราทำแบรนดิ้งและการตลาดดีๆ มันน่าจะพัฒนาไปเป็นธุรกิจได้” วินเล่าความเห็นที่มีต่อเสื่อที่คนรักสร้างสรรค์

การสร้างแบรนด์ exciting store ของทั้งคู่จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยตัวตนแบบกาแฟของวิน และตัวตนแบบนมของเนย

สีสันสดใส เรื่องราวโดนใจ และแพตเทิร์นที่พอเหมาะพอดี

“หลักในการออกแบบลายของเราคือหนึ่ง–ลายนั้นๆ จะได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่ต่างๆ สอง–สีสันสดใส และสาม–เป็นลายที่แกะออกมาทำกราฟิก 2 มิติได้” วินอธิบาย

ไม่ว่าจะเป็นลาย Tokyo Flower ที่สีสันสะท้อนถึงความฮาราจูกุขั้นสุด ทั้งยังเป็นลายที่ขายดิบขายดีของแบรนด์ Burano Curtain ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเกาะบูราโน่ ประเทศอิตาลีที่แต่ละบ้านจะมีผ้าม่านบังสายตาสีสันแสบทรวง

 

ลาย Superkilen ที่แม้ภาพดั้งเดิมจะเป็นสีขาว-ดำ แต่ทั้งคู่ก็หยิบนิดผสมหน่อยให้มีสีสันแบบชิคๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่สาธารณะสุดโมเดิร์นในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก หรือจะเป็น Malibu Sunset น้องไข่ดาวที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพอาทิตย์กำลังลับฟ้า กลับไปหลับไหลใต้ทะเลลึกแห่งเกาะมาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

“เนยเองเคยไปเที่ยวมาหลายประเทศมาก ยิ่งพอไปเที่ยวกับวิน เราสองคนก็เห็นตรงกันว่าแต่ละประเทศมีเรื่องราวที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถ้าเรานำเรื่องราวเหล่านั้นมาทำเป็นลวดลายมันน่าจะน่ารักมากๆ” คนต้นคิดหยิบเอาเรื่องราวจากการท่องเที่ยวมาบอกเล่าอย่างเนยกล่าวเสริม 

แม้ความสดใส ชวนให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายจะเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบลวดลาย แต่ท้ังวินและเนยต่างก็เห็นตรงกันว่าลวดลายเหล่านั้นจะต้องมองแล้วไม่ปวดหัว ทั้งต้องมี ‘space’ เพียงพอให้ลูกค้าที่ใช้เสื่อยังคงรู้สึกผ่อนคลายและมีโฟกัสกับท่าออกกำลังกายในวันนั้นๆ ได้ด้วย

“หลักๆ แล้วเราจึงออกแบบลวดลาย 2 มิติ เพื่อไม่ให้คนเล่นรู้สึกปวดหัวหรือเวียนหัวเวลาเล่น และแม้เสื่อเราจะเด่นเรื่องลวดลายที่แตกต่าง แต่ลายที่เราจะไม่ทำคือแพตเทิร์นที่มีรายละเอียดมากเกินไปเพื่อให้ลูกค้ามีพื้นที่พักสายตา 

“พอเราหาจุดกึ่งกลางเหล่านี้ได้ เราก็พบว่าลูกค้าของเราไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่กลุ่มคนชอบสีสันแต่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบงานออกแบบ และชอบเรื่องราวอยู่ด้วย หลังจากขายมาได้สักระยะ เราสองคนก็ได้เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องสโคปลูกค้าจากอายุว่าคนอายุน้อยๆ เท่านั้นถึงจะชอบเสื่อที่มีสีสัน แต่เราควรสโคปลูกค้าจากความสนใจของเขามากกว่า” วินอธิบาย

วัสดุแปลกใหม่ แถมยังดีกับโลก!

หากคุณคิดว่าเสื่อออกกำลังกายจาก exciting store จะมีดีที่ลวดลายอย่างเดียว เราขอบอกว่าคุณคิดผิด! เพราะวัสดุที่ทั้งวินและเนยเลือกใช้ยังเป็นวัสดุที่เราแทบไม่เคยเห็นที่ไหน

“ตอนแรกเราทดลองทำออกมาหลายวัสดุมาก แต่สุดท้ายเราก็ได้เป็นวัสดุนี้ที่ด้านล่างเป็นยางพาราร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนด้านบนเป็นหนังกลับวีแกน ความหนารวมกัน 5 มิลลิเมตร ข้อดีคือยางพารามันยึดติดกับพื้นได้ทำให้เสื่อของเรามั่นคงมาก 

“ส่วนหนังกลับด้านบนก็ให้สัมผัสที่แตกต่าง คือนุ่มแต่ไม่ลื่น มาจากประสบการณ์การนั่งรถครั้งหนึ่งของเราสองคน เบาะรถคันนั้นเป็นเบาะหนังกลับที่เรารู้สึกว่ามันให้ความรู้สึกพิเศษกว่าวัสดุทั่วไป”

นอกจากวัสดุหนังกลับนี้จะให้สัมผัสที่แตกต่าง ก็ยังตอบโจทย์ทั้งคู่ที่ต้องการทำเสื่อสีสันสดใส เพราะหนังกลับที่เลือกใช้ทลายข้อจำกัดในการออกแบบได้หมดสิ้น ต่างจากยางพาราหรือพลาสติกทั่วไปที่มีข้อจำกัดด้านการทำสีและลวดลายเต็มไปหมด ความพิเศษคือสีสันที่ทั้งคู่เลือกใช้ยังปลอดภัยกับคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งวัสดุทั้งหมดยังย่อยสลายทางชีวภาพได้ด้วย

“ที่จริงวัสดุแบบนี้มีขายที่ต่างประเทศนะ แต่สำหรับไทยถือว่าค่อนข้างใหม่ แม้มันจะทำให้เราแตกต่างแต่ก็พ่วงมากับหน้าที่ที่เราต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจมากกว่าเดิมว่ามันไม่ลื่นนะ และถึงมันจะบางแค่ 5 มิลลิเมตรแต่มันก็ซัพพอร์ตร่างกายได้ดี 

“เพราะที่จริงแล้วความหนาของเสื่อไม่ได้ช่วยให้เราเจ็บน้อยลง แต่วัสดุที่ดีต่างหากที่ทำให้เราออกกำลังกายได้อย่างไม่ต้องกังวล” เนยเล่าข้อมูลที่เธอรีเสิร์ชอย่างละเอียดให้ฟัง

Price
ราคากลางที่คนไทยเข้าถึงได้

ด้วยกังวลใจว่าคนไทยจะเปิดรับเสื่อออกกำลังกายสีสันสดใสและต่างวัสดุมากแค่ไหน ในช่วงเปิดตัว ทั้งคู่จึงตัดสินใจขายเสื่อคุณภาพในสนนราคาเพียง 890 บาท แถมยังส่งฟรี!

“ตอนนั้นเราขายเสื่อได้เยอะมาก แต่เรากลับไม่ได้กำไรเลย”​ วินอธิบายสถานการณ์พลางหัวเราะ

“ก็คิดนะว่าเวรกรรม หลังหักค่าใช้จ่ายจิปาถะ เราจะได้กำไรสักเท่าไหร่กัน แต่เราคิดว่าในตลาดประเทศไทย คนยังไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องซื้อเสื่อราคาหลักพันมาใช้ การทำให้คนที่ซื้อเสื่อราคาสามสี่ร้อยกล้าขยับมาซื้อเสื่อในราคาไม่ถึงพันก่อน เขาจะได้เข้าใจว่าเสื่อที่มีคุณภาพมันเป็นแบบไหน เพราะจากที่ขายมา ลูกค้าหลายคนเลยนะที่บอกว่าเขาไม่เคยซื้อเสื่อที่มันดีขนาดนี้ และเขาก็เข้าใจแล้วว่าทำไมเขาต้องใช้เสื่อดีๆ 

“ถามว่ากลัวไหมว่าถ้าเราปรับราคากลับมาที่ 1,250 บาท คนจะไม่ซื้อเรา มันก็แอบกลัว แต่เราเชื่อว่าเราต้องมั่นใจในสินค้าเราก่อน แล้วถ้าคนได้ลองใช้ เราก็จะได้ขยายความรับรู้เกี่ยวกับเสื่อเราออกไปได้มากกว่าเดิม ที่สำคัญต่างประเทศเขาขายเสื่อวัสดุแบบนี้ได้แพงกว่านี้ 2-3 เท่า เราก็ควรจะมั่นใจในการยืนยันราคานี้ เพราะมันคืองานศิลปะที่มีคุณค่าด้วยนะ” เนยบอกความตั้งใจ

Promotion
โปรโมชั่นฉบับเน้นสร้างคอมมิวนิตี้

อย่างที่บอกว่าช่วงแรก ทั้งคู่เน้นขายเสื่อในราคาที่แทบไม่ได้กำไร ก่อนจะค่อยปรับเป็นราคามาตรฐาน แต่ด้วยตลาดประเทศไทยที่คนหลงรักโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม เนยจึงมองว่าการบาลานซ์ราคาและโปรโมชั่นจึงสำคัญใช่ย่อย

“เนยเป็นคนไม่ซื้อของตามโปรโมชั่นเลย แต่วินเป็นคนที่วางแผนซื้อของช่วงโปรโมชั่นตลอด เรามองว่าการขายของให้ได้กลุ่มลูกค้าทุกคนก็ควรทำโปรโมชั่นด้วยเพียงแต่ต้องวางแผนอย่างรัดกุม เพราะถ้าเราไม่ทำโปรโมชั่นก็หมายความว่าเราอาจเสียโอกาสในช่วงที่คนอื่นเขาได้โอกาสกัน” เนยอธิบาย

แต่นอกจากการส่งเสริมการขายในแง่ของสงครามราคา ทั้งคู่ก็เน้นการสื่อสารและการสร้างคอมมิวนิตี้คนหลงรักงานออกแบบและสีสันขึ้นมาด้วย นั่นคือการสื่อสารที่มาของลวดลายผ่านการเขียนเล่าเรื่องราว การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางสตอรีอินสตาแกรม 

อย่างการให้ช่วยโหวตลวดลาย สีสัน หรือขอความเห็นในการพัฒนาสินค้าต่อไป เพราะทั้งสองคนมองว่า exciting store ไม่ใช่เพียงร้านขายอุปกรณ์ออกกำลังกาย แต่คือคอมมิวนิตี้ที่คนรักสีสันและเรื่องราวมาแชร์ความชอบร่วมกันได้ 

“เราเชื่อว่าการทำการตลาดปัจจุบัน การขายของอย่างเดียวมันไม่ขายแล้ว มันต้องไปไกลกว่านั้น แต่มันต้องแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเจ้าของแบรนด์ เพราะเวลาเราซื้อของแต่ละครั้ง เราก็ชอบซื้อจากสไตล์ของเจ้าของหรือสไตล์การสื่อสารของแบรนด์ด้วย

“ทุกวันนี้ลูกค้าที่ซื้อเสื่อไปแล้วก็ยังมากดไลก์กดแชร์ และมาพูดคุยกับเราอยู่ตลอด ทั้งที่เสื่อมันเป็นสินค้าที่ซื้อครั้งเดียวก็ใช้ได้นานๆ คนควรจะแยกย้ายกันไปได้แล้ว แต่เขาก็ยังติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับเราเพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าแบรนด์ แต่มันคือการรวมตัวกันของคนที่มีความชอบและความเชื่อแบบเดียวกัน

“นี่คือสิ่งที่ทำให้มันยังไปต่อได้แล้วเราก็ยังสนุกกับการมีพื้นที่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายของอย่างเดียวแต่เป็นการเล่าเรื่องมากกว่า” เนยว่าอย่างนั้น

Place
ออนไลน์คือหัวใจ ออฟไลน์คืออนาคตที่ตั้งไว้

ปัจจุบันเสื่อออกกำลังกายจาก exciting store นั้นมีวางขายในช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าแพลนสำหรับการออกหน้าร้านจะไม่มี เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้า ทั้งวินและเนยพบว่าความแตกต่างของวัสดุที่ในทางหนึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ก็พ่วงมากับ pain point ของลูกค้าที่ไม่มั่นใจว่าสัมผัสที่ได้จากเสื่อนั้นจะถูกใจหรือไม่

“ที่ผ่านมาถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ไม่ดีกับเสื่อเพราะอาจจะไม่ได้คาดหวังเสื่อแบบใหม่นี้และเพราะเขาไม่เคยสัมผัสของจริงมาก่อน เราสองคนก็พร้อมคืนเงินให้  

“ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตเราก็อยากจะเอาเสื่อของเราไปวางขาย หรือทำหน้าร้านขึ้นมา เพราะเราแคร์คนซื้อมากๆ เรารู้สึกว่าด้วยราคาเท่านี้ เราอยากให้เขาได้ลองสัมผัสวัสดุว่าเขาจะชอบจริงๆ ไหม เพราะมันเป็นวัสดุที่ค่อนข้างใหม่ในตลาดไทย” วินเล่าความตั้งใจ ก่อนที่เนยจะเสริมว่า

“บอกตามตรงว่าเราขายออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เราก็อยู่ได้ แต่เราอยากให้ลูกค้าได้ของที่เขาชอบจริงๆ” 

Personality
ตัวตนของแบรนด์คือหลักสำคัญ

สีสันสดใส ความแปลกใหม่ของวัสดุ รวมถึงคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ exciting store มีลูกค้าที่กลายเป็นลอยัลตี้ของแบรนด์ แต่นอกจากปัจจัยเหล่านั้นแล้ว อีกสิ่งที่ทั้งคู่มองว่าสำคัญต่อการสร้างแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ขึ้นมาคือตัวตนหรือ ‘personality’

“เราชอบท่องเที่ยว เราชอบเรื่องราว เราชอบงานศิลปะ เราชอบงานออกแบบ มันส่งผลต่อทั้งการออกแบบสินค้า รูปทรง สีสัน การทำให้มันยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งราคา โปรโมชั่น หรือช่องทางการขาย 

“มันคือผลลัพธ์จาก personality ของเราทั้ง 2 คน มันคือผลลัพธ์จากการตบตีกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง 

เพราะเรามองว่าสมัยนี้การสร้างแบรนด์ให้ดี แบรนด์นั้นๆ ต้องแสดง personality ออกมาให้ชัดเจน ยิ่งเราทำ personality ชัดเท่าไหร่ ลูกค้าจะยิ่งรู้สึกถึงเหมือนได้เจอเพื่อน ซึ่ง personality ของเราก็คือถ้าคนนึกถึงเสื่อสดใสน่ารักหรือแม้แต่ของอื่นๆ ที่มันน่ารักมากๆ และแฝงไปด้วยเรื่องราว เราก็อยากให้คนนึกถึงเรา” เนยอธิบายความหมายของอีก p ที่ทั้งคู่มองว่าสำคัญ

personality ที่ชัดเจนนี้เองทำให้นักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์หลายคนเลือกใช้เสื่อออกกำลังกายจาก exciting store โดยที่ทั้งคู่ไม่เคยจ้าง ทั้งหมดนี้ วินและเนยมองว่าเป็นผลพวงจากความสร้างสรรค์ที่เสื่อออกกำลังกายผืนอื่นๆ มอบให้ลูกค้าไม่ได้ แต่ exciting store มอบได้นั่นเอง

“เราไม่เคยเชื่อเรื่องการจ้างรีวิว เราเชื่อว่าถ้าเขาชอบของเราจริงๆ เขาจะใช้บ่อย ใช้ซ้ำ และแชร์ของของเราโดยเราไม่ต้องไปกำกับแคปชั่นหรืออะไร แต่เขาจะแสดงความเป็นตัวแทนลูกค้าของเราออกมาจากใจจริง” เนยบอก

ในอนาคต ทั้งคู่ยังมองว่า exciting store ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์ขายเสื่อออกกำลังกายแต่ยังมีสินค้ามากมายที่มีจุดร่วมเดียวกันคือลวดลายแตกต่าง สีสันสดใส และสื่อสารเรื่องราว เพื่อทำให้ทุกคนที่ได้เห็นรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับที่มาของชื่อร้านที่ทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจจากร้านหนังสือแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

“เขาเริ่มจากเปิดร้านหนังสือ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้เขามีสินค้าอื่นๆ มากกว่าหนังสือจนคนรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดาทั่วไป และเรียกว่า exciting book store เพราะไม่ว่าจะเดินเข้าร้านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ลูกค้าก็จะรู้สึกตื่นเต้นอยู่เสมอว่าเขาจะได้เจออะไร 

“ในอนาคต ถ้าเรามีสินค้าอื่นๆ เราก็อยากให้คนรู้สึกว่าบางครั้งเขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาอยากได้อะไรหรอก แต่เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เราสองคนทำออกมาจะทำให้เขาตื่นเต้นได้ตลอด” เนยบอกความตั้งใจ

what i’ve learned

  1. วิน : ถ้าเราตัดความคิดสร้างสรรค์ออกไป เราคิดว่าเสื่อของเราก็คงไม่แปลกใหม่จากท้องตลาด 
  2. เนย : ตอนแรกที่เราทำออกมาโดยไม่มีวิน เรากังวลไปหมดว่าจะมีคนชอบแบบเดียวกับเราไหม ถ้าไม่มีเว็บไซต์มันจะปังไหม มันจะทำเงินได้ยั่งยืนไหม จนเราลืมไปว่ามันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก ถ้าเราชัดเจนกับสิ่งที่ทำมากพอก็ลองทำไปเลย เพราะระหว่างทางที่ทำ เราจะหามันเจอจนได้ว่าเราต้องทำแบบไหน
  3. เนย : การทำงานร่วมกับแฟน เราต้องชัดเจนเรื่องเวลามากๆ ว่าเมื่อหมดเวลางานแล้ว เราต้องชัตดาวน์ทุกอย่างแล้วกลับไปเป็นแฟนที่ใช้ชีวิตปกติให้ได้

‘Sleep Economy’ เจาะตลาดคนไม่หลับไม่นอน กับช่องว่างธุรกิจที่หอมหวาน

เชื่อว่าหลายๆ คนที่กำลังอ่านประโยคนี้คงเคยผ่านประสบการณ์ตี 2 ยังนอนไม่หลับด้วยหลากเหตุผล ก่อนจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้างกายมาเสิร์ชหาวิธีให้ตัวเองนอนหลับ

แม้ตลอดชีวิตของเรา ใช้เวลา 1 ใน 3 ไปกับการนอน แต่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีคืนที่นอนยังไงก็ไม่หลับ ข่มตาตั้งแต่ 4 ทุ่มก็ไม่หลับสักที แน่นอนทุกคนทราบดีว่าควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน หากน้อยกว่านั้นอาจส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน อารมณ์ ความจำ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  แต่คนนอนไม่หลับก็ยังคงมีมากมายทุกแห่งหนด้วยหลากเหตุผล

มีงานวิจัยของ Mintel ระบุว่า 8 ใน 10 ของคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาด้านความเครียด 46% ตามด้วย นอนไม่หลับ 32% และวิตกกังวล 28% และสภาพจิตใจคนไทยแย่ลงไปอีกจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ รวมถึงสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลวิจัยยังบอกอีกว่า คนไทยทุกวัยต้องประสบกับความเครียดในชีวิต โดยเฉพาะเจนฯ Z และมิลเลนเนียล ที่ 35% ประสบปัญหาการนอนไม่หลับ  เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ที่อัตราการนอนไม่หลับหลังจากเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้น 55% และนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน 28% ถือได้ว่าอยู่ในภาวะที่คุณภาพการนอนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด 

ในขณะที่ผู้คนกำลังต่อสู้กับการอดนอน Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก Sleep Economy หมายถึง ธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนอน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ แอพพลิเคชั่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2024 มูลค่า Sleep Economy จะสูงถึง 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้คนเริ่มสนใจสุขภาพการนอนมากขึ้น ทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อเยียวยาจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ พัฒนาธุรกิจหรือสินค้าเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ เช่น วิตามินที่ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น เครื่องนอนเพื่อสุขภาพ เครื่องหอมผ่อนคลายอารมณ์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงคอนเทนต์ ASMR ต่างๆ ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 950 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสินค้าในกลุ่มนี้ถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในตัวอย่างสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวเราคือนม ที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องการนอนหลับ และตั้งแต่เด็กๆ เรามักได้ยินประโยคที่ว่า  กินนมก่อนนอนแล้วจะหลับฝันดี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะในนมมีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาททางสมองที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้หลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

การนอนไม่หลับไม่ได้กระทบแค่ร่างกาย แต่ยังสะเทือนไปถึง GDP ประเทศ RAND Corporation ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐฯ ได้ประเมินผลกระทบต่อการนอนหลับไม่เพียงพอว่า ประเทศที่ประชากรมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน จะสูญเสีย GDP ไปไม่น้อย

  • สหรัฐอเมริกา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 411 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.28% ของ GDP
  • ญี่ปุ่น สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.92% ของ GDP
  • เยอรมนี สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.56% ของ GDP
  • สหราชอาณาจักร สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.86% ของ GDP
  • แคนาดา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.35% ของ GDP

จากข้อมูลข้างต้น บ่งชี้ว่าหากต้องการเพิ่มมูลค่า GDP เศรษฐกิจประเทศ ควรทำให้ประชาชนได้รับการพักผ่อนเพียงพอและนอนเต็มอิ่ม หากผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาศาล เช่น จากที่เคยนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ต้องการนอน 7 ชั่วโมง การจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลานอนเพิ่ม 1 ชั่วโมง คุณอาจได้ที่นอนใหม่ วิตามินกระปุกใหม่ ชุดนอนผ้าไหมแสนสบาย ฯลฯ

เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนอน ทำให้ระบบนิเวศของ Sleep Economy เปลี่ยนไป จากการศึกษาของ McKinsey ได้แบ่งผลิตภัณฑ์และบริการด้านการนอนออกเป็น 3 ประเภท

  1. การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน เครื่องนอน แสงไฟ เสียง หรืออุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ
  2. การปรับกิจวัตรประจำวัน เช่น ชาสมุนไพร นาฬิกาปลุกอัจฉริยะ เครื่องวัดการนอนหลับ การทานอาหารเสริม ฯลฯ
  3. การบำบัดรักษา เช่น การรักษาแบบชีวิต เครื่องช่วยนอนหลับ การปรึกษาแพทย์ การรักษาอาการนอนกรน นอนหลับไม่สนิท หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยขณะนอนหลับ ฯลฯ

ในทางกลับกัน Sleep Economy ไม่ได้มีแค่ธุรกิจที่เชิญชวนให้นอน แต่ยังมีธุรกิจที่เหมาะกับคนใช้ชีวิตกลางคืน ต้องการพื้นที่สงบเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา นั่นคือคาเฟ่ ร้านอาหาร Drive Thru ฟิตเนส หรือ co-working space ที่เปิด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่อ่านหนังสือ ทานอาหาร และเครื่องดื่ม ในบรรยากาศเงียบๆ ซึ่งมีงานวิจัยจากสแตนฟอร์ดบอกว่า การทำงานนอกสถานที่ ที่หลุดออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้มากขึ้น ทำให้ในช่วงสอบของนักศึกษา เราได้เห็นหนุ่มสาวเหล่านี้จับจองพื้นอ่านหนังสือโต้รุ่งใน co-working space มากมาย

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งหากมองในมุมธุรกิจถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าจับตามอง และมีโอกาสเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของความหลากหลายทางธุรกิจ หากเข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ Sleep Economy สว่างไสวท่ามกลางความมืดยามค่ำคืน

อ้างอิงข้อมูล