จากเคสดราม่าและหลากกรณีศึกษา การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่เจ้าของแบรนด์ทุกคนต้องเข้าใจ

ไม่มีอะไรการันตีว่าเทคโนโลยีใหม่ หรือสินค้าใหม่ที่คุณสร้างสรรค์มาจะประสบความสำเร็จ หรือแข่งขันในตลาดได้ แต่สิ่งที่พอบอกได้คือ ‘การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา’ คือสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจไปสู่เป้าหมายในระยะยาวได้ เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตาม การได้รับความคุ้มครองในความคิดสร้างสรรค์ผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความจำเป็นอย่างมาก

การทำธุรกิจในประเทศเมื่อสิ่งที่เราคิดค้นถูกลอกเลียนแบบ เราอาจจะยังพบเห็นหรือดำเนินการบางอย่างได้ไม่ยาก แต่หากธุรกิจขยายไปต่างประเทศการดำเนินการต่างๆ จะยากเป็นทวีคูณ นั่นทำให้การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 

ยกตัวอย่างเคสของ MUJI แบรนด์สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่ขยายสาขาไปยังประเทศจีน ภายใต้เครื่องหมายการค้าภาษาจีน 4 ตัวที่สะกดว่า Wuyinliangpin ที่แปลว่า No Brand, Quality Goods ทว่า กลับโดนบริษัทสิ่งทอจีน Beijing Cottonfield Textile ฟ้องร้องการละเมิดเครื่องหมายการค้า Wuyinliangpin ที่จดทะเบียนก่อน MUJI เข้ามาเปิดตลาด 4 ปี และผลคือ MUJI แพ้คดีแล้วต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ Hainan Nanhua

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรทางปัญญามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านรายการ ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 8,000 รายการต่อปี จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นล่าสุด ในมุมของนักกฎหมายหลายท่านมองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งกับการที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา 

จากเคสที่หลายคนน่าจะเห็นผ่านตาในโลกโซเชียลอย่าง ‘ร้านลูกไก่ทอง’ ทางแบรนด์ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า (Trademark) ‘ปังชา’ ภาษาไทย และ ‘Pang Cha’ ภาษาอังกฤษ ตามพรบ.คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ที่สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ไปใช้เป็น หรือผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย และทางปังชาได้มีการจดทะเบียน 2 อย่างได้แก่ สิทธิ์บัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ‘ภาชนะใส่น้ำแข็งไส’ และเครื่องหมายการค้า คือโลโก้ร้านที่มีภาพผู้หญิง ภาพวงรีสีดำ และสีขาว ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า ทุกร้านสามารถขายเมนูน้ำแข็งไสชาไทยได้ แต่อย่านำภาชนะและโลโก้ของร้านลูกไก่ทองไปใช้

เพื่อต่อยอดจากเคสที่ว่ามาเราจะพาไปเปิดข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเท่าไรนัก แต่ถ้าคุณเป็นคนทำธุรกิจที่มีแบรนด์ของตัวเองและไม่ได้จดทะเบียนเพื่อปกป้องนวัตกรรมของตัวเอง คุณอาจกลายเป็นผู้เสียหายได้แบบไม่รู้ตัว

หนึ่งกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ที่ผ่านมาคือ กรณีของ ชานมไข่มุก เสือพ่นไฟ ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้มีสัตว์พ่นไฟอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ จึงเกิดการฟ้องร้องและทางเสือพ่นไฟก็เป็นฝ่ายชนะ ส่วนในกรณีของ ‘ปังชา’ เป็นการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์

สำหรับใครที่อาจจะยังสับสนนิยามของคำต่างๆ เหล่านี้ 

‘ลิขสิทธิ์’ คือความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของผลงานโดยตรง เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีด้วยกัน 9 ประเภท อาทิ งานวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรี ภาพวาด ภาพถ่าย เป็นต้น ซึ่งจะคุ้มครองเรื่องไอเดียเป็นหลัก เพราะฉะนั้นชื่อแบรนด์ ‘ปังชา’ ไม่ถือเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ จึงสามารถจดเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น

‘เครื่องหมายการค้า (trade mark)’ คือ สัญลักษณ์หรือตราสินค้า (logo) ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างการจดจำและแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าของเราแตกต่างจากของคนอื่นยังไง กรณีของปังชาเป็นการจดคำว่า ‘ปังชา’ ซึ่งสามารถจดได้ เพราะเป็นคำทั่วไป และเป็นคำที่บ่งบอกคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจไม่สามารถจดคำว่า ชา ได้ เนื่องจากชาเป็นคำสามัญ ดังนั้นร้านต่างๆ จะไม่สามารถนำโลโก้ ปังชา และ Pang Cha ไปใช้ได้ ถือเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ส่วนเรื่องการจด ‘สิทธิบัตร (Patent)’ เป็นหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้กับผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้สิทธิ์ในการป้องกันไม่ให้คนอื่นนำสิ่งที่คิดไปใช้ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วสิทธิบัตรไม่ใช่เอกสารหรือกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น แบรนด์ Gillette ที่มีผลิตภัณฑ์มีดโกนใบมีด 3 ชั้น ซึ่ง Gillette ได้จดสิทธิบัตรแล้ว จึงสามารถขายมีดโกนและด้ามมีดโกนของตัวเองได้ แบรนด์อื่นไม่สามารถผลิตใบมีดโกนให้ใช้กับด้ามของ Gillette ได้ ดังนั้น หากต้องการใช้มีดโกนใบมีด 3 ชั้น ก็ต้องซื้อใบมีดและด้ามของ Gillette เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้จดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยองค์ความรู้จากนวัตกรรมนั้นๆ เพื่อให้คนอื่นนำองค์ความรู้นั้นไปต่อยอดเมื่อสิทธิบัตรนั้นสิ้นสุดอายุลง 

เบื้องต้น สิทธิบัตร มี 3 ประเภทหลักๆ คือ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตร ให้ความคุ้มครองเรื่องกรรมวิธี และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันรวมถึงเรื่องระยะเวลาการคุ้มครอง

  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (invention patent) ให้ความคุ้มครองกับการประดิษฐ์ที่มีความใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม มีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปีนับตั้งแต่วันยื่นจด และไม่สามารถต่ออายุได้
  • อนุสิทธิบัตร (petty patent) การประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนด้านเทคโนโลยีมากนัก แต่ต้องมีความใหม่ นำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม เช่น จากเก้าอี้ธรรมดา เมื่อเพิ่มล้อเข้าไป เกิดประโยชน์ใช้สอย ก็สามารถจดอนุสิทธิบัตรได้ มีระยะเวลาคุ้มครอง 6 ปีนับตั้งแต่วันยื่นจด ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี คุ้มครองในประเทศที่ยื่นจดเท่านั้น
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (design patent) แตกต่างจาก 2 ประเภทแรกตรงที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะคุ้มครองงานออกแบบเกี่ยวกับรูปร่างภายนอกของผลิตภัณฑ์ รวมถึงลวดลาย สีและองค์ประกอบภายนอก เช่น ลวดลายผ้า ดีไซน์รถยนต์ ดีไซน์รูปทรงขวดน้ำ เป็นต้น โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี สำหรับกรณีของปังชา เป็นการจดสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ “ถ้วยใส่น้ำแข็งไส” รวมถึงลวดลายบนภาชนะด้วย

ในส่วนของสูตรปังชา ทางร้านไม่สามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูตรอาหารได้ ดังนั้น คนทั่วไปหรือผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถทำขายได้ตามปกติ โดยเป็นผู้คิดค้นสูตรเอง ไม่เลียนแบบต้นฉบับ เพราะสูตรถือเป็นความลับทางการค้าอย่างหนึ่ง ที่ไม่ต้องขอรับความคุ้มครองหรือจดทะเบียน

สำหรับธุรกิจที่มีแผนธุรกิจชัดเจน หรือต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ ควรศึกษาเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจในระยะยาว และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like