Swatch Analysis

ย้อนดูความก้าวหน้าของ ‘Swatch’ แบรนด์นาฬิกาสวิสฯ ที่คิดนอกกรอบ ผ่านนาฬิกา 8 ดีไซน์สำคัญ

หน้าที่สำคัญของนาฬิกาคืออะไร

บอกเวลา จับเวลา เป็นเครื่องประดับ แสดงสถานะ หรือเก็บสะสมเพื่อชื่นชมความงาม นั่นอาจเป็นคำตอบโดยทั่วไปในตลาดนาฬิกาเมื่อสัก 50 ปีก่อน แต่สำหรับแบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Swatch นอกจากหน้าที่เหล่านั้น นาฬิกาถือเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราว เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและแฟชั่น รวมทั้งเป็นโอกาสพลิกวิกฤตของประเทศ ตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่ายใน ค.ศ. 1983 หรือเมื่อ 39 ปีก่อน

ปัจจุบัน Swatch เป็นส่วนหนึ่งของเครือ Swatch Group บริษัทแม่ที่ดูแลธุรกิจนาฬิกาและเครื่องประดับ เช่น Omega, Longines, Blancpain, Breguet และอื่นๆ รวมทั้งหมด 17 แบรนด์ แม้สร้างรายได้ไม่เทียบเท่าแบรนด์นาฬิกาหรูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในเครือ แต่ Swatch ถือเป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลของกลุ่มต่อผู้คนวงกว้าง ด้วยลูกเล่น สีสัน ความเข้าถึงง่าย ทำให้ใจผู้คนเต้นตึกตักเมื่อปล่อยคอลเลกชั่นใหม่ออกมา (และเสียงดังติ๊กๆ ของเข็มนาฬิกาที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์) ฉีกภาพจำ Swiss Made ที่คนคุ้นเคยด้วยนาฬิกาพลาสติกแบบแอนะล็อก

รวมทั้งยังสะท้อนปรัชญาธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Nicolas George Hayek เชื่อว่าการตั้งถิ่นฐานผลิตภายในประเทศ รักษาทักษะช่างฝีมืออันเป็นเลิศที่สืบทอดต่อมา เมื่อผสมกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ย่อมเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและคุ้มค้ากว่าที่ใดในโลก แบบที่ Swatch สร้างปรากฏการณ์มาเรื่อยๆ จนกลายเป็นชื่อของกรุ๊ปมาตั้งแต่ปี 1998

“Swatch ตั้งใจเป็นแบรนด์ที่สนุกตั้งแต่แรกดีเอ็นเอ 4 อย่างของเราคือ Colors, Lightness, Transparency และ Movement” จักรพันธ์ ญาณประสิทธิ์เวทย์ Brand Manager ของ Swatch ประเทศไทย เล่าถึงประวัติและส่วนผสมที่สร้างตัวตนให้ไม่เหมือนแบรนด์อื่นใด ท่ามกลางเรือนนาฬิกาหลายร้อยใน Swatch Flagship Store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ณ เวลา @208 (Swatch เคยออกแคมเปญโปรโมตนาฬิการุ่น Beat ด้วยการสร้าง Swatch Internet Time ของตัวเองขึ้นมา เพื่อปฏิวัติการบอกเวลาจากที่ใดก็ได้บนโลก โดยให้ 24 ชั่วโมงของหนึ่งวันเท่ากับ 1000 beats ซึ่งคุณจะเห็นฟอร์แมตเวลาแบบนี้บนมุมซ้ายของเว็บไซต์ Swatch ตอนนี้ด้วย)

คอลัมน์ Product Champion รอบนี้ ขอพาคุณย้อนเข็มนาฬิกา ไปดูวิวัฒนาการของ Swatch ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ผ่านผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นที่สื่อถึงดีเอ็นเอ และสิ่งที่ Swatch ให้ความสำคัญ เพื่อเข้าใจเบื้องหลังนาฬิกาที่มุ่งหมายเป็น second watch หรือนาฬิกาเรือนรองที่ใช้ใส่ได้สบายๆ ในวันธรรมดา ว่าทำไมจึงครองใจเป็นเบอร์หนึ่งของผู้คนรอบโลก 

Swatch – Swiss Made Since 1983

นาฬิการุ่นแรกที่ปลุกวงการที่ซบเซาของสวิสฯ ให้พ้นวิกฤต

Swatch เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตอุตสาหกรรมนาฬิกาที่เคยรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนาฬิกา หลังจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นคิดค้นและจัดจำหน่ายนาฬิกาควอตซ์ที่ใช้แบตเตอรีแทนการไขลานหรือเก็บสะสมพลังงานในช่วงทศวรรษ 1970 นวัตกรรมนี้ทำให้นาฬิการาคาถูกกว่าที่เคยเป็นมา แม่นยำกว่าเป็นร้อยเท่า แถมง่ายต่อการรักษา จนทำให้นาฬิกาดั้งเดิมแบบสวิตเซอร์แลนด์มีส่วนแบ่งการตลาดลดน้อยไปเรื่อยๆ และสองบริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง ASUAG และ SSIH ตกที่นั่งลำบาก

ฮาเยกที่เดิมเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างองค์กรและต่อมาควบรวมทั้งสองกิจการเข้าด้วยกัน เพื่อปรับทิศทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต กลยุทธ์ของเขาคือการผลิตนาฬิกาที่ถูกไม่แพ้ฝั่งญี่ปุ่น แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ 

จากโจทย์นี้ แทนที่จะผลิตนาฬิกาไขลานหรูที่อาศัยงานฝีมือและความคราฟต์ บริษัทเลือกผลิตเป็นนาฬิกาควอตซ์ด้วยเครื่องจักรที่ผลิตได้ปริมาณมหาศาลเหมือนกัน แต่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือน และวิจัยจนใช้ชิ้นส่วนกลไกเหลือเพียง 51 ชิ้น ยึดกันด้วยสกรู 1 ตัว จากเดิมที่ต้องใช้ 91 หรือเป็นร้อยชิ้นส่วน เป็นโมเดลชื่อ Gent ที่มีขนาดหน้าปัดเล็ก 34 มิลลิเมตร วางจำหน่าย 12 แบบที่เรียบง่าย ต่างสีสันกัน ครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม 1983

ดีไซน์นั้นอาจดูเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เมื่อราคาไม่แพงและถูกนำเสนอให้เป็นเครื่องประดับแฟชั่น ผู้ใหญ่ใส่ได้ เด็กใส่ก็สวยงามจนชวนให้ซื้อเป็นของฝากเรือนแรก ยอดขายจึงพุ่งทะยานสู่ล้านเรือนภายในปีเดียว และผลิตไปมากกว่า 3,503,000 เรือน ภายในปี 1984 ทำให้เข็มนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่หยุดเดินและกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

#SwatchLovesArt

นาฬิการุ่นที่ผสานศิลปะมาสเตอร์พีซเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คน

นอกจากฟังก์ชั่นการใช้งานแล้ว คนรักนาฬิกามักหลงใหลในความคราฟต์ ความงดงามที่ซ่อนอยู่ของแต่ละเรือน

ในปี 1985 Swatch สร้างเสน่ห์แบบฉบับของตัวเองด้วยโปรเจกต์ Swatch Art Special ร่วมมือกับศิลปิน พางานศิลปะที่เคยต้องตระเวนชมตามพิพิธภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิกาที่ถูกสวมใส่บนข้อมือของผู้คนในชีวิตประจำวัน กลายเป็นว่าผลงานของศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ส่วน Swatch กลายเป็นผู้ผลิตคอลเลกชั่นสุดพิเศษที่บรรดานักสะสมและสายอาร์ตไม่อยากพลาด

คอลเลกชั่นแรกภายใต้แนวคิดนี้คือ Swatch Kiki Picasso ที่นำภาพกราฟิกรูปภรรยาของศิลปินชาวฝรั่งเศส Christian Chapiron (นามแฝงของเขาคือ Kiki Picasso) มาอยู่บนหน้าปัดนาฬิกา ผลิตเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นเพียง 140 เรือนเท่านั้น ลูกเล่นคือรูปบนหน้าปัดแต่ละเรือนจะมีส่วนผสมของสีสันที่แตกต่าง รวมทั้งหมดมี 120 แบบ พร้อมด้วยลายเซ็นของ Picasso บนสายรัด เป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ต้องประมูลด้วยราคาอันสูงลิ่วเพื่อให้ได้ครอบครอง

นับแต่นั้นมา Swatch ร่วมมือกับศิลปินหลากหลายแขนงนับไม่ถ้วน เช่น ศิลปินกราฟฟิตี้ Keith Haring และประติมากร Mimmo Paladino บางคอลเลกชั่นก็แสดงความสนุกที่แหวกแนว เช่น One More Time ที่ออกแบบโดยจิตรกร Alfred Hofkunst เป็นนาฬิการูปทรงคล้ายเบคอนและไข่ แตงกวา และพริก วางจำหน่ายเพียง 9,999 เรือนที่ร้านอาหารเป็นหลัก เมื่อฉีกซองพลาสติกที่บรรจุนาฬิกาออกมา สภาพการใช้งานจะไม่คงทนนัก ไม่ต่างอะไรกับอาหารที่มีวันหมดอายุ

ความหลงรักในศิลปะของ Swatch ยังจริงจังมากจนถึงขั้นร่วมทุนซื้อโรงแรมในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อเปิดให้เป็นที่พำนักและจัดแสดงผลงานของศิลปินในชื่อ The Swatch Art Peace Hotel ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา Swatch ยังจับมือกับพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเพื่อนำผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์มาอยู่ใกล้ชิดผู้คน เช่น Museum of Modern Art (MoMA) ที่มีภาพวาด The Starry Night ของปิกัสโซ และล่าสุด ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในปารีสอย่าง Center Pompidou ในปีนี้ จัดแสดง 6 ผลงานของศิลปิน 6 ท่าน ในรูปแบบนาฬิกาที่วางจำหน่าย ยิ่งเด่นชัดว่า #SwatchLovesArt

Swatch & Sports

นาฬิกาที่เชื่อมต่อโลกของนาฬิกาและกีฬา

นอกจากศิลปะแล้ว Swatch ยังเป็นแบรนด์นาฬิกาที่จริงจังเรื่องกีฬา 

คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับมิตินี้ของ Swatch มากนัก เพราะพวกเขามักทำการตลาดผ่านการสนับสนุนนักกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาที่ไม่อยู่ในกระแสหลักตามวิถีชีวิตเราเสียเท่าไหร่ เช่น เซิร์ฟบอร์ด วอลเลย์บอลชายหาด และสโนว์บอร์ด ที่ Swatch เพิ่งเป็นพาร์ตเนอร์สนับสนุนการแข่งขัน Laax Open ที่สวิตเซอร์แลนด์

ในเชิงแบรนด์ การนำผลิตภัณฑ์ไปเกี่ยวข้องกับนักกีฬาเป็นการสื่อสารเรื่องราวว่า Swatch เป็นนาฬิกาที่สวมใส่ไปโลดโผน ลุยได้ในทุกโอกาสและสภาพอากาศ ไม่จำเป็นต้องทางการหรือสวมใส่ให้เข้ากับยูนิฟอร์มเหมือนนาฬิกาสวิสหลายๆ แบรนด์ และทำให้กีฬาอยู่ในความสนใจของผู้คนมากขึ้น

อีกหนึ่งความเกี่ยวโยงกับโลกกีฬาคือการจับเวลาที่ต้องอาศัยความแม่นยำ ซึ่ง Swatch ได้รับหน้าที่เป็น Official Timekeeper ของการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1996, 2000 และ 2004 รวมทั้งมีการวางจำหน่ายรุ่นใหม่ๆ ตามวาระการแข่งขันเหล่านี้ที่บริษัทเข้าไปพาร์ตเนอร์ด้วย เช่น Swatch x Roland Garros สำหรับการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมที่ประเทศฝรั่งเศส และ The Olympic Winter Games Beijing 2022 เพื่อเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ด้วยการนำเสนอทิวทัศน์และกีฬาแต่ละประเภทบนเรือนนาฬิกา

Swatch SISTEM51

นาฬิการุ่นที่ประกาศศักดาด้านนวัตกรรม

Swatch แข็งแกร่งด้าน R&D มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือ Swatch Group มีบริษัทที่ดูแลการผลิตนาฬิกาตั้งแต่ต้นน้ำหรือชิ้นส่วนเล็กๆ ของนาฬิกาด้วย ทำให้มีองค์ความรู้เพียบพร้อมพัฒนานวัตกรรมแปลกใหม่

ในปี 2013 Swatch เปิดตัวนาฬิการุ่น SISTEM51 เป็นการหวนกลับคืนสู่นาฬิกาออโตเมติกของ Swatch ที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1991 แต่ความพิเศษของรุ่นนี้คือกลไกประกอบขึ้นจากเพียง 51 ชิ้นส่วนที่ยึดด้วยน็อตตัวเดียวเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ต้องใช้เป็นร้อย​ โดยด้านหลังของกรอบนาฬิกาถูกออกแบบให้โปร่งใส ทำให้มองเห็นมูฟเมนต์ของกลไกได้อย่างชัดเจนตามดีเอ็นเอของ Swatch และมีคำเปรยเท่ๆ ว่านาฬิการุ่นนี้ ด้านหน้าบอกเวลา ด้านหลังบอกเรื่องราว

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างดีคือ Swatch Flymagic ที่พัฒนาต่อยอดจาก SISTEM51 โดยเสริมนวัตกรรมแฮร์สปริงนิวาครอง (Nivachron) ที่ผลิตจากไทเทเนียมอัลลอย พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตนาฬิกาหรู Audemars Piguet ทำให้สนามแม่เหล็กไม่มีผลต่อการทำงานของนาฬิกา แก้ปัญหาความเที่ยงตรงของเวลาที่กวนใจคนรักนาฬิกาออโตเมติก รวมทั้งแตกต่างด้วยหน้าตาที่ไม่มีหน้าปัดเหมือนนาฬิกาทั่วไป แต่นำโรเตอร์ที่ปกติอยู่ด้านหลัง ขึ้นมาแสดงพร้อมกับเข็มนาฬิกาด้านหน้า ดูทั้งเวลาและการทำงานของกลไกได้พร้อมกัน แถมเข็มวินาทียังเดินทวนเข็มด้วย

รุ่นนี้ผลิตเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น มีวางขายเพียง 60 เรือนในไทย และ 500 เรือนทั่วโลกเท่านั้น จุดประสงค์อาจไม่ใช่การสร้างกำไรสูงสุด แต่เป็นการประกาศศักดาของ Swatch ว่าเรื่องเทคโนโลยีเราไม่เป็นสองรองใคร

Swatch Bioreloaded

นาฬิกาที่นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อย่างเป็นมิตร

เมื่อแบรนด์นาฬิกาที่แตกต่างด้วยความเป็นพลาสติก (จริงๆ ตั้งแต่ปี 1994 Swatch ผลิตนาฬิกาที่เรือนเป็นสเตนเลสด้วย ในชื่อ Irony) ก้าวข้ามสู่ทศวรรษใหม่ พวกเขาก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกใบนี้เป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต้องคำนึงถึง Swatch จึงรวมตัวผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในเครือ เช่น Comadur ที่เชี่ยวชาญด้านเซรามิก และ Ruedin ที่ถนัดการผลิตตัวเรือนนาฬิกา มาร่วมกันพัฒนาวัสดุใหม่ในชื่อ Bioceramic

วัสดุนี้ทำจากส่วนผสมของไบโอพลาสติกที่ทำจากน้ำมันละหุ่งและเซอร์โคเนียมไดออกไซด์ที่ใช้ผลิตเซรามิก ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในการผลิตนาฬิกา เพราะทนทานต่อการขีดข่วนและเบา นำมาผลิตเป็นส่วนประกอบของนาฬิกา เช่น ตัวเรือน ทดแทนการใช้พลาสติก แลกกับสัมผัสที่อาจแตกต่างไปจากสายซิลิโคนที่คนคุ้นเคย

เพื่อนำเสนอวัสดุใหม่นี้อย่างสร้างสรรค์ Swatch ย้อนเวลากลับไปเลือกผลิตภัณฑ์รุ่นเด่นในปี 1983 และ 1984 มาผลิตใหม่ด้วยวัสดุนี้ ภายใต้ชื่อ ‘Bioreloaded’ และ ‘1984 Reloaded’ ผสมความคลาสสิกของดีไซน์ในอดีตที่เน้นสีสันและรูปทรงเรขาคณิต เข้ากับนวัตกรรมของปัจจุบัน เป็นความตั้งใจของ Swatch ที่อยากให้บริษัทสามารถผลิตนาฬิการุ่นเก่าๆ ที่คนคิดถึง ด้วยกระบวนการผลิตที่มีอยู่แล้ว แต่ยั่งยืนขึ้น ในราคาที่คนเอื้อมถึง (รุ่น 1984 Reloaded ราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท)

ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ผลิตนาฬิกาบางส่วน ทั้งแบบ Gent (ขนาดหน้าปัด 34 มิลลิเมตร) New Gent (41 มิลลิเมตร) และ Big Bold (47 มิลลิเมตร) ในอนาคต เราคงได้เห็นนาฬิกาสมัยก่อนกลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้งจาก Swatch โดยที่เป็นมิตรต่อสรรพสิ่งมากขึ้น

Flik Flak

นาฬิกาที่สอนเรื่องเวลาแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ

Swatch อยากเป็นนาฬิกาสำหรับคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กน้อยสดใส 3 ขวบที่กำลังเริ่มต้นการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ Swatch Group จึงมีแบรนด์ลูกชื่อ Flik Flak ที่ตั้งใจออกแบบนาฬิกาคุณภาพดีเพื่อเด็กโดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี 1987 และวางขายเป็นส่วนหนึ่งของร้าน Swatch รอบโลก

เพื่อให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นกับการเรียนรู้เรื่องเวลา ทาง Flik Flak ชวนคุณครูเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างตัวการ์ตูนและสีสันหลากแบบที่จะตอบโจทย์ตัวตนของเด็กแต่ละคน ทำให้หน้าปัดอ่านง่ายที่สุดสมกับวัย และใช้ตัวการ์ตูน Flik หรือพี่ชายสีน้ำเงิน และ Flak น้องสาวสีแดง เป็นเข็มนาฬิกาที่คอยนำทางเรื่องเวลาในหลายๆ รุ่น รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น Flik & Flak ขึ้นเป็นสื่อการเรียนรู้

ส่วนคุณภาพของนาฬิกาก็หายห่วง เพราะทุกเรือนผลิตจากโรงงานผู้เชี่ยวชาญอย่าง ETA โดยผ่านการทดสอบสารพัดอย่างเพื่อให้ทนทาน ปลอดสารเคมีหรือความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเป็นภัยต่อผิวหนังของเด็ก และพยายามใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้เป็นองค์ประกอบด้วย ผู้ปกครองซื้อเป็นของขวัญให้ลูกหลานได้อย่างสบายใจ

Swatch x You

นาฬิการุ่นที่เปิดให้ปรับแต่งดีไซน์ที่ใช่คุณ

เพราะเราทุกคนต่างมีความเป็นศิลปินและความชื่นชอบของตัวเอง Swatch จึงเปิดให้คนมีโอกาสมิกซ์แอนด์แมตช์สไตล์ที่ชอบลงบนนาฬิกา ด้วยคอลเลกชั่น Swatch x You ที่เริ่มต้นในปี 2017

คอนเซปต์คือ คุณสามารถเลือกภาพงานศิลปะมาจัดวาง โดยเลือกส่วนของรูปภาพที่ชอบบนนาฬิกาใส เลือกแบบ กลไก และข้อความด้านหลังนาฬิกาเอง หลังจากนั้น Swatch จะใช้เครื่องพิมพ์พิเศษ พิมพ์ลายลงบนนาฬิกาเลย เหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เพราะมักมีผลงานของศิลปินท้องถิ่นให้เลือกที่ร้านของ Swatch ด้วย แม้ที่ไทยจะไม่มีเครื่องพิมพ์ดังกล่าว และการเดินทางไปต่างประเทศยังเป็นเรื่องลำบากในช่วงนี้ แต่เราปรับแต่งและสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ของ Swatch x You ได้แล้ว

ความน่ารักของคอลเลกชั่นนี้คือ เปิดโอกาสให้ศิลปินจากประเทศรอบโลกที่จัดแสดงในงาน Dubai Expo 2020 ส่งผลงานมาผ่านการคัดเลือกเพื่อเป็นแบบบนเว็บไซต์สำหรับลูกค้าด้วย โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีแบบจากศิลปินประเทศกรีซ โครเอเชีย สาธารณรัฐคองโก ปากีสถาน แอฟริกาใต้ และกัวเตมาลา ให้เลือก เป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ที่งดงาม โดดเด่นของแต่ละประเทศ

ส่วนประเทศไทยก็มีอาร์ติสท์ที่ได้รับคัดเลือกไปจัดแสดงและจัดทำรุ่นพิเศษนี้เหมือนกัน เป็นผลงานของเฟิร์ส–ปารมิตา ชาติกุล นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ กับดีไซน์ชื่อ ‘Sacred Tattoo’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการสักยันต์ตามความเชื่อดั้งเดิมของไทย ออกแบบเป็นลายเสือที่ตรงกับปีขาลในปีนี้ เปิดวางจำหน่ายให้ซื้อมาประดับความโชคดีแล้ววันนี้

Bioceramic Moonswatch 

นาฬิกาที่เปิดเส้นการเดินทางข้ามจักรวาลของสองแบรนด์

คอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดจาก 2 แบรนด์ในเครือ Swatch Group อย่าง Swatch และ Omega ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 26 มีนาคมนี้และเรียกเสียงฮือฮา สร้างปรากฏการณ์คนรอต่อแถวเพื่อจับจองกันจนเต็มห้างสรรพสินค้า

เพราะรุ่นนี้นำโครงแบบของรุ่นในตำนานอย่าง Omega Speedmaster ที่ออกแบบให้วัดความเร็วได้ ทนทานถึงขั้นผ่านการทดสอบของ NASA และถูกสวมใส่ไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ มาแต่งแต้มสีสันและเรื่องราวในร่างนาฬิกาแบบฉบับ Swatch ตามธีมดาวเคราะห์ ดาวบริวาร และดาวฤกษ์ในระบบสุริยจักรวาล 11 ดวง 11 แบบ คงเสน่ห์ของนาฬิกาโครโนกราฟที่มีหน้าปัดย่อยเป็นเอกลักษณ์ เสริมด้วยกิมมิก เช่น ฝาหลังครอบแบตเตอรีเป็นรูปตามดาวแต่ละดวง พร้อมคำว่า Mission to ตามด้วยชื่อดาว อิงไปกับการเดินทางออกนอกโลกของ Speedmaster ส่วนตัวเรือนนั้น ทำจากวัสดุ Bioceramic ของ Swatch

จากต้นฉบับที่เรือนหลักแสน เหลือเรือนละไม่ถึงหมื่น ทำให้ผู้คนต่างจับตาการจับคู่ครั้งนี้ ที่น่าสนใจคือช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเทรนด์การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ที่ขายผลิตภัณฑ์หมวดหมู่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สร้างลูกเล่นใหม่ๆ ที่บรรดาแฟนๆ ของสองแบรนด์ต้องติดตาม

“จริงๆ โปรเจกต์นี้พิเศษมาก ทางสำนักงานใหญ่เก็บเป็นความลับไว้จนถึงสัปดาห์ก่อน ไม่ค่อยมี collaboration ข้ามรุ่นแบบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของวงการนาฬิกาเลย” จักรพันธ์กล่าว

แม้วันเวลาเปลี่ยนผันสู่ยุคที่ฟังก์ชั่นการบอกเวลามีบทบาทน้อยลงในโลกยุคดิจิทัล แต่ตลาดนาฬิกายังคงสรรหาความพิเศษ ลูกเล่นใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ทุกเดือนทุกปี ซึ่ง Swatch เฉิดฉายในด้านนี้โดยที่ยังคงรักษาเสน่ห์แบบเดิมๆ ที่คนหลงรักไว้ได้ นอกจากที่กล่าวถึงในบทความนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายรุ่น หลายคอลเลกชั่นที่แฟนๆ หลงรักและยกให้ติดอันดับในดวงใจ เช่นแบบ Skin Irony ที่สายรัดหนังบางเฉียบและใช้โลหะเป็นตัวเรือน หรือ Big Bold Jellyfish ที่หน้าปัดโปร่งใสและใช้เข็มนาฬิกา 3 สี และอีกสารพัดรุ่น

และถึงจะผ่านมานานเกือบ 4 ทศวรรษ แต่ Swatch ก็ยังคงครองใจคนและเป็นที่จดจำไม่เลือนหาย

เพราะ Time is what you make of it.

Writer

กำลังหัดใช้ชีวิต คิดว่าคอนเทนต์ที่ดีจะช่วยให้ใครอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อได้บ้าง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like