Dress Note

เรื่องเล่าผ่านเครื่องแบบ เครื่องมือสำคัญในชีวิตการทำงานของ ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์

Youniform คือ คอลัมน์ที่ชวนคนที่ใส่ใจและให้คุณค่ากับการแต่งตัวไปทำงาน คุยเรื่องที่มาของความหลงใหล และการแปรเปลี่ยนสไตล์ให้กลายเป็นเครื่องแบบที่อาจช่วยให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น

ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy Promotion Agency (depa) คือ ตัวแทนของคนทำงานที่มีหัวใจรักการแต่งตัวที่หาตัวจับได้ยาก

นอกเวลางานเธอคือ มาลี นักเขียนสาวอารมณ์ดี เจ้าของหนังสือขายดี สร้างเสริมประสบการณ์อิงลิช, ตรีแล้วไปไหน และเร็วๆ นี้กำลังจะมีหนังสือ เรื่องเล่าสาววินเทจ กับสำนักพิมพ์แซลมอน

นอกจากเป็นตัวจริงเรื่องวินเทจแล้ว มาลียายังเป็นนักเต้นสวิงอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเราจะไม่คุยเรื่องนั้นกันในวันนี้

แฟนหนังสือหลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับเธอในชุดวินเทจลายดอกที่พบเห็นตามสื่อต่างๆ เช่นเดียวกับฉันที่พบเธอเป็นประจำบนฟลอร์เต้นรำ

ความรู้ใหม่หลังจากที่ติดตามกันมาหลายปีก็คือ แม้มาลียาผู้รักลูกไม้และเสื้อผ้าลายดอกจะมีชุดวินเทจสีสวยมากมายเต็มตู้แค่ไหน แต่ชีวิตในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ มาลียาไม่ได้ใส่ชุดเหล่านั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

อันที่จริง ต้องบอกว่าเธอไม่ยอมให้ตัวเองใส่ชุดสวยตามใจเหมือนในวันพักผ่อน ซึ่งเธอมีเหตุผลของเธอ และเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับการทำงาน

ในเวลางาน เธอคือผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำงานเกี่ยวกับการนำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคม

งานของมาลียาในสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นสนุกกว่าที่คิดมาก ทั้งจัดคลาสเรียนให้ผู้สูงวัยใช้เทคโนโลยี หรือวิชารู้จัก E-commerce เปิดร้านออนไลน์ เพิ่มโอกาสและสร้างช่องทางให้ผู้สูงวัยประกอบอาชีพและหารายได้ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งมีนักเรียนหลายคนที่เรียนจบไปเปิดร้านเลี้ยงตัวเองยามเกษียณ รวมถึงทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในเชิงรุกเพื่อส่งเสริมกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนทั่วไป หรือมีความต้องการที่พิเศษกว่ากลุ่มอื่น เช่น คนสูงอายุหรือคนพิการ รู้ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี ใช้ให้เป็น ปลอดภัย สร้างสรรค์ สำคัญคือใช้ประกอบอาชีพได้จริงๆ

ก่อนจะไปคุยเรื่องชุดทำงาน เราขอเล่าเส้นทางก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายฯ แบบย่นย่อเพื่อทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น

หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มาลียาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทเอกชน ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านบริหารเทคโนโลยีที่ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาเป็นนักวิจัยที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC (National Electronics and Computer Technology Center) ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการยืมตัวนักวิจัยจาก NECTEC มาร่วมทีมจัดตั้งและกำหนดทิศทางการทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมาลียาก็เป็นหนึ่งในทีมวิจัยเหล่านั้น ก่อนจะตัดสินใจย้ายฝั่งจากคนวิจัยและเขียนนโยบายสู่การลงมือทำและรับผิดชอบสิ่งที่คิด ด้วยเพราะสนใจเรื่องทุนมนุษย์และสังคมเป็นทุนเดิม

ใครหลายคนบอกว่าตัวตนแสนร่าเริงของเธอช่างขัดแย้งกับภาพลักษณ์คนทำงานในภาครัฐ และบทสัมภาษณ์นี้ก็ไม่ได้มาเพื่อตัดสินใคร

ที่เราสนใจคือ หากใครสักคนชอบแต่งตัว รักและหลงใหลในการแต่งตัวมาก ต้องเจอกับคำพิพากษาว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หากแต่เธอหรือเขาก็ยังทำงานอย่างมีความสุข ไม่กระทบกับคุณภาพของงาน แถมเพิ่มประสิทธิภาพอีกด้วย  อะไรคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าหรือชุดเครื่องแบบเหล่านี้

ชุดทำงานของผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฉบับ ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ เป็นอย่างไร ให้เธอลองเล่าให้ฟัง

การเป็นสาววินเทจที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นภาพลักษณ์ที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงหรือเปล่า

เราคิดว่าความขัดหรือสวนทางเป็นความเข้าใจที่คนตั้งขึ้นมาเอง โดยเฉพาะในประเทศเรา อาจจะเป็นเพราะแต่ก่อน ระบบการศึกษาไทย มีการแบ่งเป็น สายวิทย์-สายศิลป์ ทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นคนละทางกัน “เธอเรียนสายวิทย์ ทำไมชอบศิลปะล่ะ” “เธอเรียนสายศิลป์ ทำไมสนใจเรื่องเทคโนโลยีล่ะ” ซึ่งความจริงแล้ว ‘สายวิทย์-สายศิลป์’ เป็นเรื่องสมมติ ขณะเดียวกันถ้าไปดูในต่างประเทศเราจะพบว่า ใครจะเรียนอะไรก็ได้ นักดนตรีเป็นนักฟิสิกส์ก็ได้ เพราะเรายึดติดกับความสมมติก็เลยมองว่ามันขัดกันแบบไทยๆ จริงๆ แล้วไม่ได้ขัด มันก็คือชีวิต ก็คือความสนใจที่หลากหลายที่อยู่ในตัวของคนคนหนึ่ง

คุณเริ่มสนใจแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าวินเทจตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราชอบแต่งตัว ซึ่งการแต่งตัวก็เหมือนกับงานอดิเรกอื่นๆ จะเล่นกีตาร์ให้เก่งก็ต้องฝึกซ้อม จะแต่งตัวให้เข้าใจตัวเองก็ต้องลองแต่งตัวให้เยอะ และการลองมันมีต้นทุนที่ต้องจ่าย จริงๆ จะมีหรือไม่มีก็ได้ เราสามารถไปลองตามร้านเสื้อผ้า แต่บางทีการลองในห้องลองเสื้อมันอาจจะดูเหมาะดีในกระจก แต่เมื่อใส่ในชีวิตจริง เจอสภาพอากาศ การเคลื่อนไหวก็อาจจะพบว่าเสื้อตัวนั้นไม่ได้เหมาะกับเรา

กว่าจะเจอสิ่งเหมาะกับเรา เราก็ลองแต่งตัวหลายสไตล์ ซึ่งถ้าเราจะแต่งได้เยอะ เราก็ต้องซื้อของเยอะ ดังนั้นเสื้อผ้าวินเทจจึงตอบโจทย์ เพราะแต่ก่อนราคาถูกมาก 10 บาท 20 บาทก็ยังมี ทำให้เราได้ลองชุดหลายๆ แบบ เช่น ปกติเงิน 3,000 บาทอาจจะได้เสื้อผ้า 1 ชิ้น ถ้าไปซื้อของวินเทจอาจจะได้ถึง 20 ชิ้น 

เป็นสาเหตุที่ทำให้ชั่วโมงบินในการรู้จักตัวเองผ่านการแต่งตัวของคุณจึงสูงมาก 

ใช่ เพราะเราได้ลองถึง 20 ชิ้น ได้รู้ว่าอันนี้เหมาะ อันนั้นไม่เหมาะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราชอบแต่งตัววินเทจ พอไปเรียนต่อที่อังกฤษก็เจอว่ามีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะมาก ก็ยิ่งทำให้เราชัดเจนในแนวทางนี้ แต่ในช่วงกลับมาทำงานที่ไทย เราก็รู้ว่าความชอบแต่งตัวสไตล์วินเทจเป็นได้แค่งานอดิเรก

ทำไมถึงเป็นได้แค่งานอดิเรก

ในการทำงานเป็นนักวิจัยที่อายุน้อยแถมหน้าก็เด็กอีก คนอาจจะไม่เชื่อถือ และเราไม่อยากให้คนโฟกัสหรือพูดถึงเราในแง่ของคนที่ชอบแต่งตัว แต่อยากให้เขาคิดถึงเราในแง่คนทำงานก่อน ก็เลยเริ่มจากแยกตู้เสื้อผ้าชุดทำงานออกจากตู้เสื้อผ้าชุดไปเที่ยว เราจะไม่หยิบชุดวินเทจที่แยกไว้ใส่ไปเที่ยวมาปนกัน เพื่อให้ลุคทำงานนั้นเป็นลุคทำงานจริงๆ ถึงกระนั้น ตู้เสื้อผ้าทำงานก็จะเป็นเสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแฟชั่นวินเทจ

ยังไง

แฟชั่นวินเทจไม่ได้มีแบบเดียว วินเทจคือ ช่วงอายุ ช่วงเวลา และสไตล์

สมมติเราบอก เราชอบแฟชั่น 1930s ผู้หญิงยุค 1930s ก็ไม่ได้แต่งตัวแบบเดียว หรือผู้หญิงยุค 1950s ก็ไม่ได้ใส่ชุดกระโปรงบานอย่างเดียว ภาพจำคนทั่วไป ชุดกระโปรงบานคือชุดไปเที่ยวของเขา แต่ถ้าไปดูประวัติศาสตร์แฟชั่นก็จะเห็นว่ามีคนแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดทำงานจริงๆ ซึ่งชุดทำงานก็ไม่ได้ปฏิวัติตัวเองไปเร็วเท่ากับสไตล์ชุดไปเที่ยว ทำให้เรายังพอหาชุดทำงานแบบวินเทจ หรือหยิบจับไอเดียหรือกลิ่นของแต่ละยุคมาปรับใช้ ต่อให้เราไม่ได้ใส่ของวินเทจมาทำงาน แต่เราจะเลือกซื้อหรือหยิบตัวที่เรารู้ว่าเขาได้ไอเดียการออกแบบจากเสื้อผ้าวินเทจยุคไหนมา

ถ้าเสื้อผ้าทำงานก็มีสไตล์วินเทจแล้ว ทำไมต้องจริงจังถึงขึ้นแยกตู้เสื้อผ้าที่ใส่เที่ยวกับตู้เสื้อผ้าทำงานตั้งแต่วันแรกที่กลับมาจากอังกฤษ

พูดตามตรง หนังสือที่เราเขียนมันเพี้ยนมาก มันเป็นหนังสืออ่านเล่นที่ไม่มีกฎหรือตรรกะอะไรเลย ในขณะที่งานที่เราทำเป็นงานที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือ เราพยายามแยกชีวิตทั้ง 2 ด้านนี้ออกจากกัน เพราะรู้ว่าเมื่อเรียนจบเราต้องกลับมาทำงานเป็นนักวิชาการ เราไม่ได้อยากให้คนเห็นเราในที่ทำงานแล้วนึกถึงเราที่มีคาแร็กเตอร์ร่าเริงแบบในหนังสือ หรือเราคนที่อยู่บ้านใส่กระโปรงวิ่งไปมาร้องเพลงหรืออะไรแบบนั้น

การแต่งตัวไปทำงานสำหรับเราจึงมีจุดประสงค์ชัดเจน เรากำลังสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งบางอย่างง่ายขึ้น ไม่เป็นไรนะ ถ้าใครจะรู้ว่าเราเขียนหนังสือเล่มนั้น แต่อยากให้เขารู้ว่ามันคนละบริบทกัน และเราไม่ได้ปิดบังนะ ที่ออฟฟิศก็รู้ว่าเราเป็นนักเต้น แต่ที่ออฟฟิศไม่มีใครมาแบบ ‘อ่า ไหนมาเต้นให้ดูหน่อยสิ’ ทุกคนปฏิบัติกับเราแบบคนทำงาน ไม่ได้ปฏิบัติกับเราว่าเป็นนักเต้น เพราะเขารู้ว่านั่นคืออีกบทบาท และเราก็ทำตัวชัดเจนว่าเราเป็นได้หลายอย่างและมันก็คือคนละบทบาทกันจริงๆ

ใช้การแต่งตัวเป็นเครื่องมือสื่อสาร

ใช่ เพื่อสื่อสารว่าเรากำลังอยู่ในบทบาทไหน แบบเดียวกับการที่เราใช้น้ำเสียงคนละน้ำเสียง คุยกันในเรื่องคนละเรื่อง ทั้งที่เราทั้งหมดคือคนเดียวกัน ขณะเดียวกันก็เรามีจุดประสงค์ในการสื่อสารคนละแบบ เช่น ถ้าสื่อสารกับเพื่อน เราอยากให้เพื่อนรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าสื่อสารกับเจ้านาย พาร์ตเนอร์ และลูกค้า เราก็อยากให้เขาเชื่อมั่นในตัวเรา

เคยเข้าใจมาตลอดว่า คนเราแต่งตัวเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองก็เพียงพอแล้ว อะไรคือตัวอย่างของการแต่งตัวเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนอื่น

จุดประสงค์ในการแต่งตัวของเรามี 2 ข้อ ได้แก่ แต่งเพื่อคนอื่น กับแต่งเพื่อตัวเอง 

ในแต่ละโอกาส ก็มีทั้งสองข้อนี้ผสมกันอยู่เสมอ แต่อาจจะมีสัดส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อย่างเช่น การแต่งชุดทำงาน ก็เป็นการแต่งเพื่อสื่อสารกับคนอื่นเยอะหน่อย แต่ก็อาจจะมีการแอบใส่ความเป็นตัวเองไปบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจ ความสบายใจให้ตัวเอง แต่ถ้าเป็นนอกเวลางาน เป็นชุดไปเที่ยวเล่น เราอาจจะแต่งตัวตามใจตัวเอง เพื่อความสุขส่วนตัวเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมีการคิดถึงคนอื่นอยู่ดี เช่นถ้าไปกับแม่ ชุดนี้แม่จะบ่นมั้ย หรือถ้าไปเที่ยวกับเพื่อนคนไหน จะแต่งตัวยังไงถึงจะเหมาะดี

ในวันที่แต่งตัวไปทำงาน คุณตั้งกฎของการแต่งตัวอย่างไร

กฎของเราคือ ลดความเป็นตัวเองลงนิดนึง เพราะในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อเราต้องออกไปติดต่อกับคนนอกองค์กร เราไม่ได้มาในฐานะตัวเราเอง แต่เรากำลังสื่อสารในฐานะตัวแทนองค์กร เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องแสดงความเป็นตัวตนให้ชัดเจนมาก แต่เลือกแสดงให้เหมาะกับบทบาทพนักงานที่มาทำงานในนามองค์กร ถึงเราจะเป็นผู้หญิงลายดอก เราก็เลือกที่จะเก็บลายดอกไว้ในตู้เสื้อผ้านอกเวลางาน ถ้าเราปล่อยให้ดอกออกมาเรื่อยๆ สักพักเส้นแบ่งมันจะเริ่มเบลอ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการการแต่งตัวของตัวเอง ชุดทำงานพื้นฐานของเราจึงมักจะเป็นสีทึบและลายที่เรียบร้อย

ทำไมต้องเข้มงวดกับตัวเองขนาดนั้น

เพราะงานของเราเป็นงานค่อนข้างทางการ ในการทำงานเราจึงอยากอยู่ในโหมดจริงจัง น่าเชื่อถือ ไม่ได้อยากอยู่ในโหมดหญิงสาวผู้ร่าเริง และสมมติถ้าเราไม่รู้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหนชัดเจน เราก็จะควบคุมสิ่งที่เราอยากสื่อสารไม่ได้ การแต่งตัวแต่ละวันอาจจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคนที่เราต้องสื่อสารด้วย เจอคนภาครัฐก็แบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ของเอกชนก็อีกแบบ หรือถ้าเป็นพาร์ตเนอร์ที่ทำงานด้วยเราก็อยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นมิตรและมาเพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน ไม่ได้มาในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่จะมาควบคุม หรือดูไม่เป็นมิตรแบบภาพจำทั่วไป

แต่ถ้างานเราไม่ได้ทางการขนาดนี้ เราก็คงแต่งตัวอีกแบบ

แล้วถ้าวันทำงานวันนั้นไม่ต้องเจอใคร เหมือนเป็นวัน cheat day คุณจะยอมให้ตัวเองแต่งตัวแบบไหน

จริงๆ ก็มีวันที่เราฉีกกฎตัวเองด้วยการใส่เสื้อลายดอกมาทำงานนะ ซึ่งจะเป็นวันที่รู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้เจอคนข้างนอก เราก็จะแต่งตัวสบายหน่อย เพื่อให้น้องในทีมไม่เกร็ง และรู้สึกว่า พออยู่ที่ออฟฟิศ เราก็เป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมทีมที่น้องๆ สามารถที่จะแชร์ความเห็น ไอเดียต่างๆ หรือแม้กระทั่งค้าน หรือตั้งคำถามได้  ซึ่งก็คิดเองว่าเสื้อการแต่งตัวสบายๆ คงจะช่วยสื่อสารแมสเสจนี้ไปได้ง่ายกว่าการใส่สูทเนี้ยบไหล่ตั้งตรงตลอดเวลา

พอจะเข้าใจเหตุผลของการเข้มงวดกับชุดทำงานแล้ว ที่น่าสนใจคือ การตัดสินใจที่เด็ดขาดนี้แลกมาด้วยความยากลำบากในชีวิตไหม

ที่ยากเลยคือการช้อปปิ้ง เรามีชุดทำงานแบบที่เราชอบอยู่ในใจ แต่ตลาดชุดทำงานไม่ได้กว้างขนาดนั้น ทำให้เรามีตัวเลือกไม่มาก สิ่งที่สำคัญของชุดทำงาน ไม่ใช่แบบหรือลวดลายแต่เป็นคุณภาพวัตถุดิบและการตัดเย็บ และคุณภาพก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราอยากสื่อสาร อยากให้เขาเห็นเราแล้วเชื่อมโยงเรากับคุณภาพ คุณภาพของเสื้อผ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แฝงอยู่ตั้งแต่เนื้อผ้า การวางผ้า แพตเทิร์น วิธีการตัดเย็บ เช่น กางเกงแบบเดียวกัน สีเดียวกัน  แต่ตัดเย็บคนละแบบ ใส่ออกมาบางทีเหมือนเป็นคนละตัวกันเลยนะ

เสื้อทำงานก็เหมือนเนื้อคู่ กว่าจะเจอตัวที่ใช่

ไม่ง่ายเลย เวลาจะเลือกเสื้อผ้าเราจะดู หนึ่ง สื่อสารเรื่องคุณภาพ สอง สไตล์แบบที่เราชอบ และสาม ราคา ปัญหาก็คือคุณภาพ ทั้งเนื้อผ้า การตัดเย็บ แบบที่สวย คือราคาหมดเลย ของยุคนี้หาง่ายถ้ามีเงิน แต่ถ้าเราไม่ได้อยากจ่ายแพงขนาดนั้น การซื้อเสื้อผ้ามือสอง บางทีก็ตอบสิ่งที่อยากได้ทั้งหมด เพราะเราจะได้เสื้อผ้าเนื้อดี คุณภาพการตัดเย็บดี ในราคาที่ถูกกว่าเสื้อผ้ายุคปัจจุบันมาก อีกอย่างเสื้อผ้าทำงานเป็นเสื้อที่ใส่ซ้ำบ่อย เพราะฉะนั้นเราก็พยายามจะไม่ทำให้จำง่ายขนาดนั้น

เราชอบแววตาและน้ำเสียงเวลาที่คุณเล่าถึงเสื้อผ้าแต่ละตัวว่าตัวไหนซื้อมาจากไหน ใส่กับอะไรแล้วดี

เราเป็นคนชอบเสื้อผ้ามั้ง เราก็เลยจำเรื่องราวแต่ละตัวได้ คงคล้ายๆ ผู้บริหาร ที่ภูมิใจกับพนักงานของเขาทุกคน เพราะเขาสัมภาษณ์มากับมือ แล้วพนักงานก็ทำงานได้ดี กับเสื้อผ้าก็เหมือนกัน ‘นี่ฉันก็เลือกเธอมายากมากนะ แล้วเธอก็ทำงานดีมากๆ ใช้บ่อยในชีวิตจริงๆ ด้วย’ ที่เล่ามาคือประสบการณ์นะ แต่ ณ วันที่อยู่หน้าร้านจริงๆ เราอาจจะใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็รู้แล้วว่าเสื้อตัวนี้ใช่หรือไม่ใช่ 

แม่นยำขึ้น

ใช่ๆ มันเกิดจากการฝึกฝนบ่อยๆ มันไม่ใช่ว่าเห็นเสื้อตัวหนึ่งแล้วคิด 1 2 3 4 5 แต่เราจะรู้เองว่านี่ใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งกว่าจะได้สกิลนั้นมาก็ผ่านประสบการณ์มาเยอะ เราชอบชุดทำงานที่วัสดุและการตัดเย็บดี เพราะฉะนั้นก็จะใส่ใจกับชนิดของผ้า วิธีการตัดเย็บ คุณภาพการตัดเย็บ เพราะเราเชื่อว่ามันคือเคล็ดลับที่เสริมให้เราดูดีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับการแต่งตัวเพื่อการทำงานที่ต้องดูทางการ

ทำไมทุกครั้งที่อยากให้ดูมืออาชีพต้องจบที่การใส่ชุดสูท

ความจริงเราไม่เชื่อเรื่องนี้เลยแต่เราต้องยอมอยู่ใต้กฎสากลข้อนี้ ถ้าเรามีอำนาจพอจะกำหนดเทรนด์หรือค่านิยมของโลกได้ เราอยากทำให้ชุดทำงานเป็นชุดที่เหมาะกับสภาพอากาศของพื้นที่นั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องใส่สูททั้งๆ ที่เป็นเมืองร้อน แล้วก็ต้องเปิดแอร์ให้อากาศเย็นเพื่อจะใส่เสื้อคลุมให้รู้สึกอุ่นลง (แอบเปิดเสื้อให้ดู) บางที่เราก็อยากใส่เสื้อแขนกุดมาทำงานเพราะมันเย็น เข้ากับสภาพอากาศ ไม่ต้องเสียพลังงานด้วย 

แต่ต่อให้เราจะเชื่อหรือไม่ ในบทที่เราต้องสื่อสารเราก็ต้องสื่อสารไปอีกอย่าง พูดในมุมของการสื่อสาร ชุดสูทเป็นชุดที่ให้พลัง ให้ความอกผายไหล่ผึ่ง จากคนที่ผอมก็ดูเต็มดูรอบขึ้นมา

ในฐานะแฟนคลับที่ติดตามคุณในโลกโซเชียล คุณชอบเขียนสเตตัสว่า ‘วันนี้แต่งตัวสวย’ วันนั้นต้องเป็นวันแบบไหนถึงพูดคำนี้ออกมา

วันที่แต่งตัวสวยคือวันที่เรารู้จักอารมณ์เรา เรารู้สึกสวยเพราะอารมณ์ที่มีมันพอดีกับเสื้อที่ใส่ เราจะรู้สึกว่าดีจังเลยวันนี้มีพลัง แล้วพอมีพลัง มันก็ล้นออกมาจนกระทั่งคิดว่า เราจะบอกใครดีนะ ก็เลยใช้โซเชียลมีเดียสื่อสาร เพราะเราอยากให้คนอื่นเห็น แล้วเราก็อยากให้มีคนชม (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากชมตัวเองก่อนเลย ทีนี้พอมีคนมาปฏิสัมพันธ์กดไลก์หรือโต้ตอบว่า สวยๆๆๆ มันก็เหมือนย้ำความคิดนี้ และในวันที่เรากลับมาเห็นโพสต์นี้ในปีหน้า ก็จะช่วยระลึกว่าวันนั้นเราอารมณ์ดีแต่งตัวสวย เป็นโมเมนต์ uplift ตัวเอง แม้จะสั้นๆ แต่ก็ทำให้เราเสพความสุขจากมันซ้ำแล้วซ้ำอีกไปได้อีกนาน

แล้วเคยแต่งตัวพลาดไหม

โอ๊ย บ่อย ด้วยความที่แต่งตัวเยอะ เวลาพลาดทีก็พลาดแรง เราคิดว่าแต่งตัวเท่สุดๆ แล้ว พอออกมานอกบ้านได้ยินคนนินทาตามข้างหลัง

คำพูดเหล่านั้นทำอะไรคุณได้ไหม

ยอมรับว่าสร้างความขุ่นมัวได้นิดนึง ที่อยู่ดีๆ มีคนไม่รู้จักมาวิจารณ์ชุดเราลับหลัง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจและความมั่นใจด้วย ถ้าบางวันจิตใจอ่อนแออยู่ก็อาจจะขุ่นมัว ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าบางวันเรารู้สึกว่า ‘ไม่ ฉันโอเคมาก ฉันชอบสิ่งนี้ ฉันรู้อยู่แล้วว่าเธอจะไม่เข้าใจ’ ซึ่งมันปกติมากที่เธอจะไม่เข้าใจ มันก็จะทำอะไรเราไม่ได้เลย เราเชื่อว่าชีวิตคือการทดลอง และการทดลองเราไม่มีทางรู้ว่าถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นวันที่เราทดลอง แล้วเราก็ยังไม่ชัวร์กับมัน แล้วได้เสียงตอบรับที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าทางนี้อาจจะไม่ใช่ทางที่ใช่

ในกรณีถ้าเราอ่อนไหวกับคำวิจารณ์ คุณมีคำแนะนำในการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

ชีวิตคือการค้นหาตัวเองในทุกด้านนะ การแต่งตัวก็เป็นหนึ่งในการค้นหาตัวเอง ขณะเดียวกันการแต่งตัวก็เป็นการสื่อสาร เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจสารจากเรา ถ้าสมมติยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวตน ยังลองผิดลองถูกอยู่ แล้วมีคนวิจารณ์ เราก็อาจประเมินก่อนว่า ความเห็นนั้นมาจากใคร เขาใช่คนที่เราต้องการสื่อสารด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ค่อยมาดูว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นของเขา ควรจะรับมาปรับมั้ย ปรับยังไง ในทางตรงข้าม ถ้าเราทดลองจนได้คำตอบแล้วว่าสิ่งนี้คือฉัน ฉันรู้สึกดี พอเรามั่นใจว่าเรารู้จักตัวเองดีแล้ว เราก็จะไม่หวั่นไหวแม้ว่าใครจะพูดอะไร

ถ้าไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ คุณคิดว่ายังจะแต่งตัวได้สนุกแบบนี้หรือเปล่า

ได้สิ ก็ต้องดูว่าเราเปลี่ยนไปสวมหมวกใบใหม่ใบไหน ซึ่งอาจจะสนุกขึ้นก็ได้นะ เช่น ถ้าบอกว่าพรุ่งนี้ให้อาย้วย (ผู้เขียน) แต่งตัวเป็นสาวเจ้าของร้านไอติม บาริสต้า เจ้าของร้านหนังสือ หรือพนักงานขายฝึกหัดในร้านเสื้อผ้ามือสองที่ญี่ปุ่น

หูยยยย

เข้าใจใช่ปะ ท้าทายมาก คนชอบแต่งตัวก็จะคิดแล้ว อะไรคือสาวเจ้าของร้านไอติมเหรอ ฉันจะแต่งยังไง เหมือนกันเลย พรุ่งนี้เธอเป็นนักวิชาการ พรุ่งนี้เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด มันก็คงมีความสนุกในแบบของมัน


Working on set behind the scenes

ชื่อ :  มาลียา โชติสกุลรัตน์
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
ที่ทำงาน : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency (depa)) 

เบื้องหลังการถ่ายแฟชั่นชุดทำงานประกอบบทความนี้ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ต่างจากเบื้องหลังรันเวย์แฟชั่นโชว์ของแบรนด์มีชื่อ เพราะมาลียามีประชุมสำคัญรออยู่ เธอเริ่มจากหยิบเสื้อผ้าพริ้วสีม่วงลายกราฟฟิกแขนกุด มีลูกเล่นเป็นผ้ายาวสำหรับผูกเป็นโบว์ใหญ่ตรงคอเสื้อ จับคู่กับสูทสีกรมท่าน่ามอง

“ชุดนี้ประยุกต์จากชุดสไตล์กุชชี่ (แต่ไม่ใช่ของกุชชี่นะ) โดยเฉพาะดีเทลที่สูทสีกรมปกปาดกว้าง ตัวสูทยาวปิดสะโพกสไตล์ 70s ใส่กับกางเกงขายาวสีเดียวกัน” 

จากนั้นเปลี่ยนเสื้อนอกเป็นสูทสำนักงานที่ตัดแบบพอดีตัวก็ดูเข้าทีไม่มีขัด มาลียาเล่าวิธีการประยุกต์ชุดทางการขององค์กรแบบง่ายให้ฟังว่า เริ่มจากให้สังเกตตำแหน่งของโลโก้สำนักงานบนชุด อย่างของเธอ เธอบอกว่าโชคดีที่โลโก้สำนักงานปักที่ปกปิดกระเป๋าสูท เพียงแค่จับปกกระเป๋าซ่อนทับลงไปในช่องกระเป๋า เราก็ได้เสื้อสูทตัวใหม่ที่ดูมีสไตล์ขึ้นมา 

ชุดที่สองคือ ชุดทำงานสาวออฟฟิศญี่ปุ่นยุค 80s ที่มีลูกเล่นสุดน่ารักคือจีบเข้ารูปตรงเอว เห็นชุดนี้แล้วอยากเปิดเพลง city pop ประกอบบทความเลย ระหว่างถ่ายภาพเราถามมาลียาถึงเสื้อผ้ายุคที่เธอโปรดปรานที่สุด ซึ่งคำตอบก็คือ ยุค 30s

“เต็มไปด้วยความสบาย ความเท่ ไม่หวานเกินไป แต่ก็ยังดูเป็นผู้หญิง ใส่ได้ทุกสถานการณ์ ขณะที่ถ้าเราแต่งตัวยุคอื่น เช่น 70s ออกนอกบ้าน เรามีโอกาสจะดูเป็นสาวคอสเพลย์แต่งตัวไปงานปาร์ตี้ แต่เสื้อผ้ายุค 30s ให้ความรู้สึกใช้ชีวิต ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากแบรนด์ชาแนลที่มีแนวคิดอยากทำชุดที่ใช้งานจริง ไม่ได้ใส่ภาพแฟนซีลงไป พอใส่เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันจริงๆ มันก็จะไม่มีวันเป็นชุดคอสเพลย์” 

ฟังแล้วอยากให้คอลัมน์นี้มีพื้นที่มากพอให้เธอได้แต่งตัวชุดทำงานทุกยุค

ปิดท้ายด้วยชุดสูท oversized สีขาวใส่กับเสื้อเชิ้ตสีเบจและกางเกงสีเข้ากัน กับเสื้อสูทตัวนี้ ใครเห็นอาจจะไล่ให้ไปตัดแขนปรับขนาดให้พอดีกับข้อมือตามศาสตร์การแต่งตัวด้วยชุดสูทสากล ในฐานะที่ปรึกษาด้าน oversized ประจำตัวคุณมาลียา เราใช้เวลาไม่นานอธิบายว่าทำไมเราไม่ควรตัดแขนแก้ขนาดความยาว แต่ปล่อยให้ล้นกินพื้นที่ 1-3 ของหลังมือ ข้อแรก หากทำอย่างนั้นเสื้อที่นักออกแบบและช่างตัดเย็บตั้งใจออกแบบและบรรจงทำจะเสียทรงทันที ข้อสอง สำหรับคนรักการแต่งตัว เรื่องนี้ชาเลนจ์และสนุกมาก เพราะไม่ว่าจะพับแขนหรือถกแขนเสื้อแบบหลวมๆ ก็ให้สไตล์ที่ดีแบบที่นิยมในฝั่งสแกนดิเนเวีย ขณะที่ขอบของกางเกงขายาวทรงตรงลอยเต่อเหนือข้อเท้าก็เพื่อโชว์รองเท้าคู่เก่ง

Tagged:

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like