ทอด้ายแต่อย่าถอย

แนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จของ SC GRAND แบรนด์สิ่งทอรีไซเคิลที่ส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกมาตั้งแต่รุ่นยาย

เศษผ้าสีสันสดใสคละรวมกันในกระบะเล็กๆ ตรงหน้าเรา ท่ามกลางกล่องบรรจุเศษผ้านับร้อยที่ตั้งซ้อนกันในโกดังเป็นฉากหลัง

เราหยิบเศษผ้าขึ้นมาสัมผัสความนิ่มขณะฟังเสียงเครื่องจักรในโรงงาน จินตนาการถึงปลายทางของเศษผ้าเหล่านี้ที่น่าจะกลายเป็นเสื้อสักตัว

บ่ายวันหนึ่งที่อากาศดี เรายืนอยู่ที่โรงงานของ SC GRAND ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสิ่งทอรีไซเคิลที่เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ทำให้ใครหลายคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งทอเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่สมัยที่โลกยังไม่รู้จักคำว่า sustainable

ย้อนกลับไปกว่า 50 ปีก่อน ‘แสงเจริญการฝ้าย’ เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจรับซื้อของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่นมาขายให้กับคู่ค้า หลังจากส่งไม้ต่อให้ทายาทมาแล้ว 3 รุ่นก็เปลี่ยนชื่อเป็น SC GRAND และขยับจากธุรกิจซื้อมาขายไป กลายเป็นผู้ผลิตที่จริงจังกับการลดผลกระทบไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ พวกเขายังสนุกสนานกับการกระโดดไปคอลแล็บกับธุรกิจต่างสายงานอย่างเฟอร์นิเจอร์ Yothaka และเครื่องดื่ม KOI Thé แถมเปิดแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองชื่อ CIRCULAR ที่สยามเพื่อโชว์เคสสินค้า ให้หลายคนได้เห็นว่าปลายทางของวัตถุดิบไม่มีมูลค่าก็สามารถกลายเป็นชุดสวยๆ ได้

หลังจากปล่อยให้เราอยู่กับผ้าได้ไม่นาน วัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ก็เดินเข้ามาต้อนรับเราในชุดสบายๆ (แน่นอนว่าเป็นชุดของแบรนด์ CIRCULAR) ชายหนุ่มคนนี้คือทายาทรุ่น 3 และผู้บริหารคนล่าสุดของ SC GRAND ผู้อยู่เบื้องหลังทิศทางใหม่ๆ ที่เราเพิ่งพูดถึง จิรโรจน์ชวนเราเดินทัวร์โรงงาน แล้วเริ่มเล่าเรื่องราวธุรกิจสิ่งทอยั่งยืนที่เขากับครอบครัวอยู่กับมันมาทั้งชีวิต–และคิดว่าจะอยู่ไปตลอดชีวิตให้เราฟัง

1

“ทำอุจจาระให้เป็นทอง”

ในบทสัมภาษณ์ของนักธุรกิจหลายคน เรามักคุ้นชินกับประโยคแนวๆ ‘ทำธุรกิจนี้เพราะอยากแก้เพนพอยต์บางอย่าง’ ซึ่งเพนต์พอยต์ที่ว่ามักเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เจอ แต่ไม่มีใครฉุกคิดแก้ปัญหา

ถ้าธุรกิจคือการกำไรจากเพนพอยต์ของผู้บริโภค คำว่าธุรกิจของ SC GRAND คงมีนิยามต่างออกไป พวกเขาไม่มีเพนพอยต์ ไม่ได้มองเห็นความพิเศษในสิ่งของธรรมดา

แต่ไปไกลกว่านั้น พวกเขาเห็นความพิเศษในสิ่งของที่ใครหลายคนมองว่าไม่มีค่า นั่นคือขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น

ย้อนกลับไปราวเจ็ดสิบปีที่แล้ว สมัยอากงและคุณยายของจิรโรจน์ยังเป็นหนุ่มสาว ทั้งคู่พบกันในโรงงานสิ่งทอใหญ่แห่งหนึ่ง การงานบันดาลให้ได้ใกล้ชิด ผูกพัน จนตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน 

นอกจากความรักจะผลิบานที่นั่น อีกหนึ่งสิ่งที่จุดประกายขึ้นพร้อมกันคือวิสัยทัศน์อันสร้างสรรค์ของคุณยาย 

“คุณยายมีสายตาที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่คนอื่นมองข้ามอยู่เสมอ” จิรโรจน์เล่า แล้วเท้าความให้ฟังว่าก่อนยายจะมาเป็นสาวโรงงาน ท่านก็เคยรับกะลามะพร้าวเหลือใช้จากตลาดมาขายต่อ พอได้มาอยู่กับสิ่งทอทุกวัน ท่านก็เห็นว่าเศษผ้าเหลือใช้จากการผลิตมีลักษณะคล้ายนุ่นที่สามารถนำไปยัดไส้ตุ๊กตา ผ้านวม หรือเพาะเห็ด จึงขอซื้อขยะเหล่านั้นมาขายต่อให้โรงงานในไทยและต่างประเทศ

“คนสมัยก่อนชอบพูดว่าคุณยายทำอุจจาระให้เป็นทอง คุณยายเองก็เคยบอกกับผมตั้งแต่เด็กๆ ว่าโรงงานเราเป็นโรงงานขยะ สินค้าของเราเป็นเกรดล่าง ซึ่งมันก็จริง เพราะเรารับซื้อของเสียจากภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ หรือของเสียอื่นๆ มาขายต่อ 

“เรานำของที่ไม่มีมูลค่ามาทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น นั่นคือดีเอ็นเอของเรา”

แต่ใครจะคิดว่าธุรกิจเกรดล่างที่ว่าจะประสบความสำเร็จมาก ถึงขนาดสามารถออกมาตั้งโรงงานของตัวเอง

คุณยายวิภาในอดีต

2

“สิ่งที่มันเติมเต็มตัวเราจริงๆ คืออะไร”

แสงเจริญการฝ้าย คือชื่อของโรงงานที่เพื่อนๆ ตั้งให้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก ‘สว่าง’ ชื่อของอากง

แค่ฟังก็แอบเดาได้ว่าหัวเรือใหญ่ของโรงงานคงหนีไม่พ้นชายเจ้าของชื่อแน่ๆ แต่จิรโรจน์กลับเซอร์ไพรส์เราด้วยการเฉลยว่า เรี่ยวแรงหลักของแสงเจริญจริงๆ แล้วคือคุณยาย ‘วิภา’ ต่างหาก

และถ้าจะบอกว่าคุณยายคนนี้คือ wonder woman ของวงการสิ่งทอก็คงไม่เกินจริง

“สมัยก่อนคนจะเรียกคุณยายว่าเจ๊บางปะกอก” ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 หัวเราะ “เพราะโรงงานเมื่อก่อนอยู่แถวบางปะกอก ช่วงทำโรงงานแรกๆ อากงจะเป็นคนกำหนดวิสัยทัศน์ คิดนู่นคิดนี่ แต่คนที่วางแผนและสร้างแสงเจริญขึ้นมาจริงๆ คือคุณยาย ท่านไฟต์ติดต่อซื้อ-ขายวัตถุดิบ ประสานงานลูกค้า หลายโรงงานมีเจ้าของเป็นผู้ชาย คุณยายก็จะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เข้าไปอยู่ในวงการสิ่งทอตอนนั้น”

หลังจากคุมโรงงานอยู่หลายปีจนมีทายาทมารับช่วงต่อ คุณยายก็ไม่ได้ปล่อยมือจากการเป็นแม่ทัพทันที เธอจัดแจงให้คนในตระกูลมาช่วยกันบริหารโรงงาน โดยแบ่งหน้าที่ตามนิสัยของลูกแต่ละคน อย่างน้าสาวของจิรโรจน์ที่เก่งเรื่องตัวเลขก็มาช่วยดูเรื่องการเงินและการผลิต ส่วนแม่ของเขาที่เก่งภาษาก็มาช่วยดูเรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้า

โรงงานแห่งเก่า

ในยุคที่คำว่า sustainable ยังไม่ป๊อปปูลาร์ เจ๊บางปะกอกคนนี้ก็รับบทผู้มาก่อนกาล อัพสเกลแสงเจริญการฝ้าย ซึ่งเคยเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปให้กลายเป็นโรงงานปั่นด้ายจากเศษผ้าเหลือใช้ จนมีผลิตภัณฑ์เส้นใยของตัวเองที่สามารถส่งต่อให้แบรนด์ต่างๆ นำไปผลิตสินค้า mass production (ผลิตทีละเยอะๆ) อาทิ ไม้ม็อบถูพื้น

ภาพคุณยายที่เป็นหญิงแกร่ง และเข้มงวดอยู่ในสายตาของจิรโรจน์ผู้เป็นหลานชายมาตลอด อาจเพราะเขาตัวติดกับคุณยายมาตั้งแต่เด็ก ตอนคุณยายมาโรงงานก็ติดสอยห้อยตามมาด้วยเสมอ จิรโรจน์จึงซึมซับแนวคิดและวิธีการทำงานของคุณยายมาโดยปริยาย

“คุณยายเคยบอกบ่อยๆ ว่าที่เขายอมลำบาก เพราะเขาไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก เขาเลยพยายามสู้และสร้างทุกอย่างขึ้นมา” คือหนึ่งในคำที่ยายพูดบ่อยที่สุด

ถึงอย่างนั้น จิรโรจน์ก็ไม่เคยเห็นภาพว่าวันหนึ่งเขาจะได้มารับช่วงต่อกิจการของที่บ้าน

“สมัยวัยรุ่นเราก็มีหลายทางให้เดิน ไม่จำเป็นต้องกลับมาทำกิจการต่อจากที่บ้านด้วยซ้ำ อย่างตอน cryptocurrency บูม เคยมีบริษัทใหญ่ที่เป็นท็อปไฟว์ในตลาดมาชวนเราไปลงทุน หรือช่วงเจ็ดปีที่แล้วก็มีโอกาสจะเข้าไปตลาดการเงิน”

ก่อนจะมาเป็นผู้บริหาร จิรโรจน์เคยเข้ามาช่วยเหลืองานที่โรงงานบ้างเมื่อครอบครัวขอความช่วยเหลือ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเขาก็เรียนรู้เรื่องธุรกิจจากการทำร้านเสื้อผ้า แบรนด์รองเท้า ไปจนถึงแพลตฟอร์มเว็บไซต์ขายของแฮนด์เมดจากเมืองไทย

“เราทำมาหลายอย่าง ผิดพลาดมาก็เยอะ เพราะแต่ก่อนเราไม่ค่อยรอบคอบ ทำอะไรก็ลุยอย่างเดียวเลย ช่วงอายุประมาณ 28-29 เราหลงทางเหมือนกัน เป็นช่วงที่ตัดสินใจว่าจะไปทางไหนดี

“มีวันหนึ่งได้ไปงานรับปริญญาของน้องที่รู้จัก เขาจบ MIT ที่อังกฤษแล้วมหาวิทยาลัยก็เชิญคนเก่งๆ มาพูดให้ฟัง มีคำพูดหนึ่งที่เราจำได้ขึ้นใจคือ ‘What is your purpose of life? ทำให้เราคิดต่อว่าจริงๆ แล้วเป้าหมายในชีวิตของเรา สิ่งที่มันเติมเต็มตัวเราจริงๆ คืออะไร และเราว่ามันคือการดูแลคนในครอบครัว ทุกวันที่เรามีชีวิตอยู่ เราอยากดูแลครอบครัวหรือทำสิ่งที่เชื่อมโยงกับเขา”

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จิรโรจน์อยากเข้ามารับช่วงต่อ คือระบบภายในที่มีช่องโหว่เอื้อให้เกิดการฉ้อโกงขึ้นจากคนในบริษัท “เป็นปัญหาที่สะสมมาตลอด 20 ปีเพราะว่าความไว้ใจ” เขาว่า ซึ่งการฉ้อโกงก็เกิดขึ้นจริงๆ 

โชคดีในโชคร้าย จิรโรจน์เข้ามาแก้ปัญหานั้นจนทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ โมเมนต์นั้นเองทำให้เขาเข้าใจภาพรวมของบริษัทที่เคยวิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างถ่องแท้ ชายหนุ่มกับน้องชายจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยงานเต็มตัวในที่สุด

ฝ่ายบริหาร SC GRAND ทั้งสามรุ่น แถวบนจากซ้ายคือคุณยายวิภา อากงสว่าง แถวล่างคือคุณน้าของจิรโรจน์ คุณแม่ของจิรโรจน์ และจิรโรจน์

3

“พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำจริง”

แน่นอนว่าการเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจอายุมากกว่า 50 ปีนั้นไม่ง่าย บางทีอาจจะยากพอๆ กับการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองด้วยซ้ำ

เมื่อได้นั่งบนเก้าอี้ของผู้บริหาร จิรโรจน์เริ่มมองเห็นจุดบอดและคอมฟอร์ตโซน ที่แสงเจริญมีมานาน อย่างการเป็นธุรกิจแบบ B2B ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าประจำคือคนทำธุรกิจ ส่งผลให้โรงงานพึ่งพิงลูกค้ามากเกินไป ไหนจะระบบทำงานแบบเน้นแรงงานคน ไม่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา

เหนืออื่นใด จิรโรจน์บอกว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เจอคือการสื่อสารกับคนที่บ้าน

“เมื่อก่อนบริษัทใช้ชื่อแสงเจริญการฝ้าย แต่เราบอกว่ามันเชย ขอเปลี่ยนเป็นแสงเจริญแกรนด์ได้ไหม เราอยากให้แบรนด์น่าจดจำ เหมือนคิดถึงซอฟต์แวร์ก็คิดถึงไมโครซอฟต์ คิดถึงชิพก็คิดถึง Intel พอคิดถึงเรื่องผ้ารีไซเคิล เราก็อยากเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนจะคิดถึง

“แต่ก็เจอคำถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลง ทำไมต้องสร้างแบรนด์ ทำไมต้องให้งบโฆษณา ทำไมต้องมีระบบระเบียบ การสื่อสารเป็นเรื่องที่เราค่อนข้างหนักใจพอสมควรในช่วงแรก แต่เราไม่ซีเรียสเพราะเข้าใจว่าเขาอาจยังไม่เห็นในสิ่งเดียวกับที่เรามองเห็น”

มันเหนื่อยกว่าการทำธุรกิจของตัวเองไหม–เราอดสงสัยไม่ได้

“จริงๆ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ ถ้าทำธุรกิจของตัวเอง การที่เราสามารถตัดสินใจอะไรได้ง่ายๆ เร็วๆ แล้วไม่มีคนมาค้าน นั่นก็อันตราย เมื่อก่อนตอนเราเด็กกว่านี้เรามีความอดทนต่ำ ไม่ค่อยฟังใคร ดื้อ เอาแต่ใจ เราว่านั่นคือข้อเสียที่ทำให้เราไม่ได้มาทำแสงเจริญเต็มตัว แต่พอตอนนี้เราก็ต้องพิสูจน์ว่าอนาคตมันจะเติบโตจริงๆ ก็ค่อยๆ ทำมันไป พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำจริงนะ และมันเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

สิ่งที่จิรโรจน์ ‘ทำจริง’ มีตั้งแต่การนำเครื่องจักรและเทคโนโลยี ERP มาช่วยในโรงงาน ให้ข้อมูลทุกอย่างสามารถเรียกดูได้จากศูนย์กลาง ไปจนถึงการทบทวนคุณค่าของ SC GRAND ที่ทำให้เกิดการเจาะตลาดใหม่ๆ 

“เรามองว่าถ้าเดินตามแนวทางเดิมต่อไป บริษัทจะไม่ยั่งยืนแน่นอน เลยต้องมาคุยกับที่บ้านว่าคุณค่าของเรามันอยู่ตรงไหน อะไรคือสิ่งที่เราส่งมอบให้กับลูกค้า อะไรคือดีเอ็นเอขององค์กรเรา ซึ่งปัจจุบันเราเห็นว่า climate change ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสงเจริญมีคุณค่าที่สอดคล้องและสามารถไปซัพพอร์ตตรงนั้นได้”

4

“เราอยากให้สิ่งที่เราทำจับต้องได้” 

จากเดิมที่เคยผลิตเส้นด้ายให้กับธุรกิจสิ่งทอ SC GRAND ขยับขยายมาผลิตผ้าสำเร็จที่มีทั้งผลิตลงสต็อกและผลิตตามที่ลูกค้าต้องการ โดยไม่กำหนดขั้นต่ำ จะสั่งผ้าเพื่อนำไปตัดเสื้อแค่หนึ่งตัวก็ทำได้

พวกเขายังรับผลิตยูนิฟอร์มให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยเน้นแนวคิดการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลเป็นสำคัญ มีโปรเจกต์ close(d) loop ที่จับมือกับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์เสื้อผ้าเท่านั้น อาทิ KOI Thé นำยูนิฟอร์มเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาผลิตเป็นชุดใหม่ให้ แถมยังสนุกกับการข้ามไปคอแลปกับคนต่างวงการ เช่นการจับมือกับสุวรรณ คงขุนเทียน เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Yothaka ผลิต home textile ลายเก๋ รวมทั้งพัฒนาผ้าร่วมกับแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนในฮ่องกง ญี่ปุ่น และยุโรป

“เราอยากให้สิ่งที่เราทำจับต้องได้ อยากให้ทุกคนเห็นว่าผ้ารีไซเคิลสามารถสร้างสรรค์สินค้าที่ทั้งสนุกและหลากหลาย และส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้โดยการซัพพอร์ตเส้นใยหรือผ้าจาก SC GRAND” เขาเล่า

ยังไม่พอ จิรโรจน์ยังเปิด Circular ร้านเสื้อผ้าสไตล์ minimal classy เพื่อสื่อสารให้คู่ค้าและคนทั่วไปได้เห็นว่าผ้ารีไซเคิลจาก SC GRAND ที่ไม่ได้ผ่านการฟอกย้อมก็สามารถแปลงร่างเป็นเสื้อหนึ่งตัว หรือชุดหนึ่งชุดที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน 

“เราว่าการทำให้ SC GRAND ไปยืนเป็น first choice ด้าน sustainable textile ได้ หรือเป็นแบรนด์ที่ทุกคนคิดถึงเมื่อคิดถึงผ้ารีไซเคิล เราจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้เห็นเรื่องราวและคุณค่าของเรา สิ่งที่เราสื่อสารไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาแต่คือความจริง คือเรื่องราวที่ส่งทอดผ่านกันมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย”

5

 “คำพูด ลูกค้า เครดิต–3 สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ”

ในยุคที่คำว่าแฟชั่นยั่งยืนกำลังได้รับความนิยม หลายแบรนด์หันมาทำแคมเปญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า greenwashing หรือการสร้างภาพว่ารักษ์โลกแต่ไม่ได้ทำจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจับตามอง

จิรโรจน์เห็นด้วย และบอกเราว่าความจริงใจคือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาอยากสื่อสารออกไป

“เรามีการทำ certified ชื่อ GRS (Global Recycle Standard) เพื่อพิสูจน์ว่าวัตถุดิบของเราผ่านการรีไซเคิลจริง ปลอดสารเคมี และเป็นออร์แกนิกจริงๆ มีการทำ LCA (Life Cycle Assessment) กับบริษัทในแคนาดาที่เขาทำกับแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนหลายๆ แบรนด์ทั่วโลก เพื่อวัดอิมแพกต์ว่าเส้นใยของเราช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เท่าไหร่ เราอยากให้ลูกค้าเห็นว่า SC GRAND โปร่งใส ตรวจสอบได้” ชายหนุ่มเน้นย้ำ

“คำพูด ลูกค้า เครดิต–3 สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ เมื่อก่อนยายเติบโตได้เพราะมีคนให้เครดิตยายพอสมควรในการซื้อ-ขาย เสียเงินยังไม่สำคัญเท่าเสียเครดิต เราเลยให้ความสำคัญกับการทำให้ลูกค้าเห็นว่าเราอยากส่งมอบสิ่งดีๆ”

แม้ตอนนี้ SC GRAND จะมีอายุมากกว่า 55 ปี ส่งต่อธุรกิจสู่ทายาทมากกว่า 3 รุ่น แต่จิรโรจน์ก็ยังมองว่าองค์กรของพวกเขายังเป็นคนตัวเล็กมากในวงการสิ่งทอ ยังมีหนทางอีกยาวไกล และมีอีกหลากหลายความเป็นไปได้ให้จิรโรจน์และครอบครัวได้ลองทำ

แฟชั่นเพื่อความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่กระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไปฉันใด SC GRAND ก็คาดหวังว่าจะเติบโตอย่างยั่งยืนไปเรื่อยๆ อย่างนั้น

“เราผูกพันกับครอบครัว ผูกพันกับยาย อยากให้สิ่งที่อากงกับคุณยายโตได้แม้เราจะไม่อยู่ก็ตาม เรามองว่าจริงๆ ธุรกิจไหนบนโลกก็ตามมันมีโอกาสหมดแหละ แต่สาเหตุที่เรากลับมาสานต่อตรงนี้เพราะรู้สึกว่ามันทั้ง challenging และ fulfilling ความหมายคือมันเป็นงานที่ท้าทาย เราจะไม่ได้อยู่สบาย แต่มันจะเติมเต็มอะไรบางอย่าง นอกจากกำไรแล้วมันยังช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อคนรอบข้างด้วย

“คุณยายอยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานสบาย เราอยากคงคุณค่านั้นไว้ด้วยการส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเราเหมือนกัน”

Tagged:

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like