คุยกับทีมงานเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านที่ทำให้ ‘ขายหัวเราะ’ อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี

The People of KaiHuaRor

นอกจากการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย หนึ่งในสิ่งที่บริษัทอายุหลายขวบปีมักจะยึดมั่นเป็นหลักสำคัญในการทำงานคือการบริหาร ‘คน’ ให้มีประสิทธิภาพและบริหารอย่างเข้าใจ

ขายหัวเราะ ก็เช่นกัน แบรนด์การ์ตูนไทยอายุกว่า 50 ปีแบรนด์นี้ ไม่เพียงรู้เท่าทันสถานการณ์โลกจนสามารถพาการ์ตูนและความฮาสามัญประจำบ้านออกนอกพรมแดนของหนังสือเล่มได้เท่านั้น แต่ผู้บริหารรุ่นแรกอย่าง ‘วิธิต อุตสาหจิต’ จนกระทั่งรุ่นที่ 2 อย่าง ‘พิมพ์พิชา อุตสาหจิต’ ยังให้ความสำคัญกับ ‘คนทำงาน’ อยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนรุ่นเดอะ นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ จนถึงครีเอทีฟที่เข้ามาช่วยเป็นสะพานระหว่างนักเขียนกับผู้ชม  ทุกคนต่างบอกว่า ขายหัวเราะ ไม่ได้ใส่ใจกับผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังใส่ใจทีมงานทุกคน ในโอกาสที่แบรนด์ ขายหัวเราะ สร้างเสียงหัวเราะให้ ‘คนไทย’ มานานกว่า 50 ปี เราอยากพาไปคุยกับ ‘คน’ ที่อยู่เบื้องหลังความฮาเหล่านี้

ตั้งแต่คนที่ทำงานมากว่า 40 ปี ไปจนถึงคนที่ทำงานกับ ขายหัวเราะ เพียงหลักไม่กี่ปีเท่านั้น ว่าคีย์เวิร์ดการบริหารคนของ ขายหัวเราะ นั้นคืออะไร จนทำให้พวกเขาอยากพาแบรนด์ที่มีมากว่าครึ่งศตวรรษเดินไปได้ไกลกว่านี้

ชื่อ : ต่าย–ภักดี แสนทวีสุข
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน : 2522

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

ผมชอบเขียนการ์ตูนแต่ก็ไม่ได้หวังว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงๆ จังๆ เพราะสมัยนั้นมันมองไม่เห็นอนาคต จนพ่อเสียก็รู้สึกเคว้ง ไม่รู้จะทำอะไร คิดไปคิดมาก็เอ๊ะ เราเขียนการ์ตูนได้ แล้วอาจุ๋มจิ๋มกับอาวัฒน์เขาเขียนการ์ตูนแล้วอยู่ได้ เราก็น่าจะต้องอยู่ได้นะ 

ผมเริ่มจากเดินขายงานวาดเล่มละบาท แล้วก็ไปเสนอตามที่ต่างๆ ตอนแรกก็นึกว่าง่าย แต่มันไม่ง่ายเลย เขาหัวเราะก๊าก เขาว่าโอ๊ย อย่างกับเด็กเขียน แต่เราก็ไม่ได้ย่อท้อ เราก็ฝึกวาด ฝึกลงสี อะไรมาเรื่อยๆ จนขายต้นฉบับได้เล่มละ 400 บาทตอนเรียนอยู่พาณิชย์ปี 3 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

หลังจากเขียนส่งที่อื่นสักพัก ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลองส่งต้นฉบับไป ขายหัวเราะ เลยลองเขียนต้นฉบับ 10 แผ่นแล้วก็เดินมาที่ตึกบันลือฯ ก่อนหน้านี้เวลาจะไปเสนอที่สำนักพิมพ์ไหน เราจะเดินวนไปวนมาหน้าตึกแล้วก็ท่องว่า ‘ผมเอาต้นฉบับการ์ตูนมาเสนอขายครับ’ เพราะรู้สึกอาย

แต่วันนั้นที่เอาต้นฉบับมาเสนอให้คุณวิธิตเป็นครั้งแรกที่เราเดินเข้าไปเลย ไม่เดินวนแล้ว ปรากฏว่าตอนแรกคิดว่าประตูปิด แต่ก็ลองดูอยู่สักพักคือจริงๆ ปิดประตูเฉยๆ แต่คุณวิธิตเขานั่งทำงานอยู่ข้างใน คุณวิธิตก็รับต้นฉบับไว้แล้วบอกว่าโดยรวมดีเลยนะ แต่บางแก๊กยังต้องพัฒนา เราก็เดินยิ้มแป้นออกมา นึกในใจว่าแก๊กคืออะไรนะ (หัวเราะ)

จากนั้นก็ส่งต้นฉบับได้เรื่อยๆ จากส่ง 10 หน้า ได้พิมพ์ 7 หน้าก็เริ่มเป็นส่ง 10 หน้าก็ได้ตีพิมพ์ทั้ง 10 หน้า พอเรียนจบก็ไปทำงานที่อื่นอยู่ 2 ปี ก่อนที่ บ.ก.วิธิตจะชวนไปทำ ขายหัวเราะ จริงจัง   

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

คิดเหรอ ไม่ควรคิด เรารู้สึกว่าอย่าไปคิดเลย เพราะการเขียนการ์ตูนตลกเราต้องปล่อยฟรีแล้วใช้อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นใส่เข้าไป ถ้าไอเดียตันก็อยู่เฉยๆ สักพักหนึ่ง จะไปดูข่าว ดูทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ก็ได้ ตู้เย็นก็ยังเปิดดู (หัวเราะ) ยิ่งช่วงหลังมีอินเทอร์เน็ต มันก็พาเราทะลุโลกไปไหนก็ไม่รู้

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

เราไม่ได้รู้สึกว่ามันทำให้เราเหนื่อย มันเหมือนไม่ได้ทำงานด้วยซ้ำแต่ได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วการเขียนการ์ตูนมันไม่เหมือนงานอื่นนะ หลักๆ แล้วที่ ขายหัวเราะ ให้อิสระเราได้ทำงานคนเดียว คิดงานคนเดียวตั้งแต่เนื้อเรื่อง องค์ประกอบ การเดินเรื่อง 

ชื่อ : นิค–นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน : 2528

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

เรารู้ตัวเองว่าเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ จากหนังสือการ์ตูนบ้าง จากงานคัตเอาต์สีน้ำมันที่โรงเรียนบ้าง เลยเรียนศิลปะแบบ pure art เลย แล้วก็เริ่มเขียนการ์ตูนเล่นๆ จนเขียนการ์ตูนขายเล่มละบาทตั้งแต่ยังอยู่ที่โคราช แล้วก็เริ่มเอามาเสนอขายที่กรุงเทพฯ ให้หลายสำนักพิมพ์เลย เรายังเคยไปเขียนการ์ตูนให้สำนักพิมพ์ที่ทำแบบเรียนด้วยนะ  

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

ตอนแรกเราเขียนการ์ตูนการเมือง แต่พอจะมาเสนอที่ ขายหัวเราะ ก็ลองเขียนการ์ตูนตลกมาให้คุณวิธิตดู ปรากฏว่าไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เราก็กลับมาเขียนใหม่ อีกสักระยะหนึ่งก็ไปเสนอใหม่จนได้เขียนให้ ขายหัวเราะ ประมาณปี 2526 ตอนที่มี ขายหัวเราะ ฉบับกระเป๋า เราก็กลายเป็นตัวยืน ก็รู้สึกดีใจนะแต่ก็คิดอยู่ตลอดด้วยว่าเราจะทำยังไงให้หาแก๊กมาเล่าได้ต่อเนื่อง แต่ทำไปทำมาก็ทำต่อเนื่องมาจนตอนนี้

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

การเขียนการ์ตูนมันไม่มีรูปแบบมากำหนดว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะคิดหรือวาดยังไงก็ได้แต่ในทางเดียวกันมันก็ทำให้งานมันยากไปด้วย ดังนั้นเวลาคิดงาน จิตใจต้องสบาย จิตใจต้องว่าง ถ้าเราตันปุ๊บ เราจะไม่ทำอะไร ปล่อยมันไปเรื่อยๆ สัก 2-3 วัน ค่อยกลับมาคิดใหม่ พอคิดได้ก็จะคิดยาวเลย คิดจนคนอื่นเขามองว่าเราเป็นคนไม่ค่อยพูดกับใคร

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

ที่นี่ให้อิสระในการเขียนมาก การทำงานของเรามันคือการได้คิดด้วยตนเองนี่แหละ มันทำให้มีความสุขจนรู้สึกผูกพันกับอาชีพนี้ไปแล้ว 

ชื่อ : เอ๊าะ–ผดุง ไกรศรี
ตำแหน่งงาน : นักเขียนการ์ตูน
ปีที่เข้าทำงาน :
2535

เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนได้ยังไง

เราวาดรูปมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนอีก จนเรียนที่เพาะช่างก็เรียนรู้การเขียนการ์ตูนจากรุ่นพี่คนหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มเขียนการ์ตูนส่งเล่มละบาท เราเขียนไม่หยุดตั้งแต่ ปวส.จนจบปริญญาตรี ขนาดไปทำงานบริษัทเราก็ยังใช้เวลากลางคืนเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์อยู่ 2 สำนักพิมพ์ ทำอย่างนั้นอยู่นานจนคิดว่าอาชีพนี้มันก็ดี 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

สักอายุ 30 กว่าๆ เราได้รู้จักกับพี่เตรียม ชาชุมพร แล้วเขาก็เห็นว่าฝีมือดี เขียนการ์ตูนตลกดี เลยพามาแนะนำกับคุณวิธิต แต่ตอนนั้นเราติสท์และอีโก้จัดมาก คุณวิธิตบอกว่าต้องแก้งานหน่อยนะ ลายเส้นมันคล้ายการ์ตูนญี่ปุ่นเกินไป เราก็ไม่แก้แล้วหายไปเลย 2 ปี 

เรากลับมาที่บรรลือสาส์นอีกครั้งแต่ไปเขียนให้สำนักพิมพ์ในเครือ จนพี่คนหนึ่งเขาพากลับไปหาคุณวิธิต คุณวิธิตก็บอกว่าอ้าว หายไปไหนมา จากนั้นก็เขียนให้ ขายหัวเราะ ตั้งแต่ปี 2535 เริ่มจากเขียนคุณมิลค์ขึ้นมา จนมีแฟนคลับ หลังจากนั้นสัก 2-3 ปีก็เริ่มวางเรื่องว่าคุณมิลค์เป็นสาวไฮโซ แล้วก็มีเด็กจากอีสานที่ซื่อ แก่นซนเป็นคนทำงานในบ้านซึ่งก็คือหนูหิ่น

ทำไปทำมาจนได้สร้างเป็นหนัง คุณวิธิตก็ถามว่าเป็นยังไงบ้างจะได้ทำเป็นหนังแล้วนะ ปากก็บอกดีใจครับแบบนิ่งๆ แต่ในใจจริงๆ คือแบบยู้ฮู้ เพราะเราไม่เคยคิดว่าจะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้

หลักคิดสำคัญในการทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนของคุณคืออะไร

เราจะติสท์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูว่างานเรามันขายให้คนกลุ่มไหนอ่าน เพราะการ์ตูนมันถือเป็นของฟุ่มเฟือย เราจะทำยังไงให้คนเขายอมควักเงินมาซื้อได้ ในเล่มหนึ่งๆ ต้องมีหลายเรื่องราว ที่สำคัญเราต้องปรับแก๊กและเรื่องของเราให้มันร่วมยุคร่วมสมัย อย่างเมื่อก่อนเราจะเขียนมุกเซ็กซี่ แต่ทุกวันนี้เราอาจจะต้องปรับลดสิ่งเหล่านี้ลงหน่อย เราต้องตระหนักว่าเราทำให้เด็กๆ อ่านด้วย ถ้าใครกลับไปย้อนดู หนูหิ่น จะเห็นว่าเราไม่เขียนฉากเลิฟซีนเลย แม้แต่พี่ทองกับคุณมิลค์ที่เป็นแฟนกันก็ไม่เคยกอดจูบลูบคลำหรือว่ากอดกันเลย  

ส่วนถ้าถามว่าคิดแก๊กยังไง ปกติเราจะพกสมุดติดตัวตลอด เวลาคิดอะไรออกก็จดไว้ แล้วถ้าเราเขียนเรื่องคนเราสามารถเขียนได้ไม่รู้จบ คนหนึ่งคนแตกออกได้อีกหลายร้อยเรื่อง เช่น ตอนแรกเราวาดคุณมิลค์ จากนั้นก็จะมีคุณส้มโอที่เป็นเพื่อนคุณมิลค์ แล้วคุณส้มโอก็มีเพื่อนของเขาอีก ยิ่งวาดเยอะก็ยิ่งต้องจดให้ละเอียดว่าแต่ละคนบุคลิกเป็นแบบไหน ชอบอะไร ทำอะไร 

ทั้งหมดนี้มันมาจากความเชื่อมั่นและความศรัทธาว่าอาชีพนี้มันจะทำให้เรารุ่งเรือง เราไม่ได้คิดว่าจะเขียนการ์ตูนขายอย่างเดียว แต่คิดว่าต้องขึ้นไปอยู่ใน Top 10 ของนักเขียนการ์ตูนเมืองไทยให้ได้ 

อะไรทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ ได้นานขนาดนี้ 

ตั้งแต่ทำ หนูหิ่น บ.ก.วิธิตเขาไม่ยุ่งเลยนะ นอกจากจะให้อิสระในการเขียนแล้ว ขายหัวเราะ ยังให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเป็นสากล คือให้ค่าต้นฉบับ ให้เบี้ยเลี้ยง ให้ค่ารวมเล่ม

ชื่อ : บัฟโฟ่–อธิษ แย้มน้อย
ตำแหน่งงาน : ครีเอทีฟและนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่
ปีที่เข้าทำงาน : 2559

ความทรงจำเกี่ยวกับ ขายหัวเราะ ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมทันยุคเล่มใหญ่ช่วงท้ายๆ แต่ได้มาอ่านจริงจังตอนฉบับกระเป๋า เวลามีคนมาส่งหนังสือพิมพ์ ผมกับน้องชายก็จะอ้อนแม่ขอซื้อ ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก 

เข้ามาเป็นนักเขียนของ ขายหัวเราะ ตอนไหน

เราวาดการ์ตูนเล่นๆ ไม่ได้คิดจริงจัง ไม่เคยคิดด้วยว่าจะได้มาทำงานที่ ขายหัวเราะ แต่หลังจากเขียนการ์ตูน 4 ช่อง ลงบล็อก Exteen พี่คนหนึ่งก็ชวนเขียนการ์ตูนในเครือเดียวกับ ขายหัวเราะ ทำอยู่สักพัก ก็ได้เข้ามาประจำที่ ขายหัวเราะ 

ตอนแรกเขาให้เราสัมภาษณ์ก่อน เริ่มจากให้ลองคิดสโลแกน ก่อนจะให้กระโดดตบ แล้วก็วิดพื้น เราก็คิดในใจว่าจริงเหรอวะ เพราะไม่เคยสัมภาษณ์แต่เราก็ทำเพราะคิดว่าเขาอาจจะเช็กอารมณ์ขันเราก็ได้มั้ง พอเข้ามาทำงานจริง 1 เดือน ถึงจะรู้ความจริงว่าเขาแกล้ง (หัวเราะ)

ช่วงเข้ามาใหม่ๆ ก็คิดงานบ้าง เขียนการ์ตูนบ้างสลับกันไป 

เราก็เริ่มจับจุดลายเส้นของนักเขียนการ์ตูนรุ่นก่อนๆ แล้วก็ค่อยๆ หัดมาเรื่อยๆ จากที่แต่เดิมจะวาดแนวญี่ปุ่นเลย แต่จริงๆ ขายหัวเราะ ไม่ได้มากะเกณฑ์ขนาดนั้นหรอก เราก็ฝึกของเราเอง

ขายหัวเราะ ในปัจจุบันต่างจาก ขายหัวเราะ ในอดีตยังไง

ตอนเราเข้ามาใหม่ๆ เราพยายามคิดแก๊กคลาสสิก เช่น แก๊กติดเกาะ แต่จริงๆ แล้วความเป็นแก๊กของ ขายหัวเราะ มันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันต้องแฝงชีวิตประจำวันของคนไทยไปด้วย เช่น ปัจจุบันก็อาจจะมีแก๊กหนุ่มสาวออฟฟิศ หรือองค์ประกอบที่มันสื่อถึงคนไทย เช่น กินข้าวเหนียวหมูย่างหรือว่าเล่นหวย เรียกว่าเป็นแก๊กที่คนไทยจะเชื่อมโยงได้

ตอนนี้เราเริ่มปรับไปทำคอนเทนต์ทางยูทูบ เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อกมากขึ้น การทำงานก็ต่างจากเดิมตรงที่มันต้องเร็วมากขึ้น เพราะแก๊กที่เกิดวันนี้ ถ้าลงพรุ่งนี้มันอาจจะไม่ฮิตแล้ว เพราะ ขายหัวเราะ ขึ้นชื่อว่าเป็นจดหมายเหตุประเทศไทย 

รู้สึกกดดันไหมที่ต้องสานต่อแก๊กของ ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นความฮาระดับตำนาน

เราก็ได้ชื่อว่าเขียนงานในนามของ ขายหัวเราะ เราก็คาดหวังกับตัวเองว่าอยากจะเขียนงานที่คนอ่านแล้วขำแน่ๆ แต่ถ้าเราเริ่มคิดไม่ออกหรือไม่มั่นใจ เราก็ถามคนในทีมได้ เพราะเราก็ไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนพี่นักเขียนรุ่นก่อน

การทำงานปัจจุบันคือแต่ละวันจะมีคนโยนสถานการณ์ต่างๆ ลงไปในกลุ่มไลน์ ถ้าใครคิดแก๊กออกก็โยนลงไปให้คนอื่นช่วยดู ข้อดีคือมันมีคนช่วยเราดูว่ามันตลกมั้ย ไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนเราตลกอยู่คนเดียว เพราะยิ่งต้องคิดแก๊กตลกมากๆ เข้า ไปๆ มาๆ เราก็จะเริ่มชินชาจนอาจไม่ตลกไปแล้ว

อะไรที่ทำให้คุณอยู่กับ ขายหัวเราะ มาได้เกือบ 10 ปี

เราเป็นสไตล์ที่ถ้ารู้สึกว่าทำงานที่ไหนแล้วมันสบายใจและเข้ากับตัวเอง เราก็จะอยู่นาน ส่วนตัวคิดว่า ขายหัวเราะ ก็เข้ากับตัวเองที่สุดแล้ว ด้วยเราชอบอ่านการ์ตูน ชอบวาด ชอบคิด ชอบเสนองานใหม่ๆ ที่สำคัญเพื่อนร่วมงานก็ดี บอสอย่างคุณวิธิต คุณนก (โชติกา อุตสาหจิต–ภรรยาวิธิต อุตสาหจิต) และคุณนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทคนปัจจุบัน) ก็ดีกับเรามาก 

จนเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่นี่ เป็นเฟืองสักตัวที่ช่วยทำให้ ขายหัวเราะ ยังหมุนต่อไปได้ แต่ไม่เคยคิดว่าเราเป็นเฟืองตัวใหญ่แบบที่ขาดเราไป ขายหัวเราะ พังแน่ หวังแค่อยากให้มันหมุนไปในทิศทางที่ปรับตัวไปตามยุคสมัย 

ชื่อ : ยชญ์ บรรพพงศ์
ตำแหน่งงาน : ครีเอทีฟ
ปีที่เข้าทำงาน : 2565

ความทรงจำเกี่ยวกับ ขายหัวเราะ ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมว่าความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน คือไม่ว่าจะที่บ้านหรือร้านทำผม ก็ต้องเจอ ขายหัวเราะ สักเล่ม บางทีก็อ่านเองบ้าง เพื่อนจำมุกมาเล่าให้ฟังบ้าง มันเป็นความผูกพันที่ไม่ได้พิเศษมากกว่าอย่างอื่นเพียงแต่มันคุ้นชินจนเหมือนเราเติบโตมาด้วยกัน

ถามว่าเคยอยากเป็นนักเขียนไหม เราเคยเขียนการ์ตูนส่งเว็บตูนที่เกาหลีแต่คิดว่าคงไม่กลับไปเขียนการ์ตูนอีก เพราะรู้สึกว่ามันยากแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน ทั้งเรื่องลายเส้น การผูกเรื่อง ฯลฯ

แต่ชีวิตก็วนกลับมาทำงานเกี่ยวกับการ์ตูนที่ ขายหัวเราะ 

ใช่ แต่ก่อนหน้านั้นผมทำงานเป็นครีเอทีฟที่ Salmon Lab ได้ 3 ปี ก่อนที่จะลาออกไปเขียนหนังสือ ทำพ็อดแคสต์ เพื่อทดลองว่าตัวเองชอบแบบไหน แต่พอดีช่วงนั้น ขายหัวเราะ ก็มองหาครีเอทีฟอยู่ด้วย เราเลยได้กลับมาทำ

ขายหัวเราะ ในปัจจุบันต่างจาก ขายหัวเราะ ในอดีตยังไง

โดยหลักการตอนนี้ ขายหัวเราะ ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังสือการ์ตูนแต่เรามองว่า ขายหัวเราะ คือซอฟต์พาวเวอร์ที่ขยับขยายไปทำอะไรได้หลากหลายด้วยหน่ึง–คาแร็กเตอร์ที่คนคุ้นเคย สอง–อารมณ์ขันที่มันอาจจะไม่ได้ขำก๊ากแต่ยิ้มมุมปาก และสาม–ความคิดสร้างสรรค์ที่ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานของ ขายหัวเราะ ในทุกโปรเจกต์

ส่วนกระบวนการทำงานตอนนี้ นักเขียนอาจจะไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราจะมีทีมที่ช่วยกันคิดว่าด้วยอินไซต์ที่เรามี ถ้าเราอยากสื่อสารเรื่องนี้ เราควรลงช่องทางไหน หรือทำคลิปรูปแบบไหน ตำแหน่งครีเอทีฟจะเข้ามาช่วยตรงจุดนี้นี่แหละ 

เหมือนครีเอทีฟอย่างเราต้องแบกยอดของคอนเทนต์ ส่วนพี่นักเขียนก็จะแบกเรื่องมุกที่มันต้องเฟรช ต้องขำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังช่วยกันนะ เพราะยิ่งปัจจุบันที่การตระหนักรู้เรื่องต่างๆ มันมากขึ้น เราต้องยิ่งช่วยกันดูว่ามุกที่ออกมามันขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ถูกต้องไหม บวกกับคู่แข่งที่มากขึ้น เราก็ยิ่งต้องหาทางคิดมุกที่พิเศษขึ้น ทันปัจจุบันขึ้น แต่ก็ต้องมีความเป็นตำนานของแบรนด์ ขายหัวเราะ อยู่

รู้สึกกดดันไหมที่ต้องสานต่อแก๊กของ ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นความฮาระดับตำนาน

มันกดดันแน่นอนเพราะมันคือการแบกรับแบรนด์ที่มีอายุ 50 ปี แบกรับมาตรฐานของ ขายหัวเราะ ที่พี่ๆ ทุกคนเขาสร้างมา และถ้ามันเป็นไปได้เราก็อยากไปไกลกว่ามาตรฐานกว่านี้ 

แต่มันไม่ใช่ความกดดันที่ทำให้เครียดนะ มันกลับเป็นความกดดันในเชิงบวกที่ทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยทุกคนก็เห็นภาพเดียวกันว่าเราจะไม่ทำให้แบรนด์ ขายหัวเราะ มันต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เรามีมาตรฐานที่เซตไปด้วยกันแล้วก็คิดว่ามันจะทำให้ภาพของแบรนด์ชัดขึ้น ภาพขององค์กรที่ทำงานเป็นทีมชัดขึ้น 

ถ้าพูดแบบหล่อๆ ผมว่ามันคือความท้าทายที่ทำให้เรายังไม่รู้สึกเบื่อกับการทำงานและอยากจะอยู่เพื่อพา ขายหัวเราะ ไปได้ไกลกว่านี้

อะไรทำให้คุณรู้สึกว่าอยากอยู่กับ ขายหัวเราะ ไปเรื่อยๆ

ขายหัวเราะ ให้อิสระกับคนทำงานมาก เขาให้เกียรติและให้โอกาสเราทดลองทำสิ่งต่างๆ ทุกคนในทีมเสนอไอเดียต่างๆ ได้ แล้วถ้ามันมีโอกาสเหมาะๆ สิ่งที่โยนไปมันก็จะเกิดขึ้นจริง และแม้บางครั้งมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทีมงานก็มีสิทธิ์มีเสียงในองค์กร 

ที่สำคัญ เราไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้า แต่ทุกคนเป็นคนทำงานที่มีภาพในหัวว่าตัวเองอยากพาองค์กรไปทางไหน แม้ภาพที่ทุกคนเห็นอาจไม่เหมือนกันก็ตาม แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะมันทำให้ ขายหัวเราะ มีความหลากหลายมากขึ้น 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst