วิธีการคอลแลบที่พาขายหัวเราะไปพรมแดนใหม่ๆ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

The Collaboration of KaiHuaRor

คนที่เติบโตมากับยุคสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู เชื่อว่าเมื่อนึกถึงชื่อ ‘ขายหัวเราะ’ ทีไร ภาพของหนังสือการ์ตูนตลกราคาเข้าถึงได้ เสมือนความฮาสามัญประจำบ้านคงโผล่เข้ามาในหัวเสมอ

แต่ ขายหัวเราะ ก็เหมือนกับ ‘คน’ เมื่อกาลเวลาเดินหน้า เทรนด์และพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนเปลี่ยนแปลง ขายหัวเราะ ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมกับยุคสมัย จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็น ขายหัวเราะ ในมุมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแก๊กสั้นๆ ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก ไปจนกระทั่งการคอลแลบร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ของไทย

ขายหัวเราะ ไม่ใช่แค่หนังสือการ์ตูนเท่านั้น แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ เราจึงอยากพา ขายหัวเราะ ไปพบเจอและสร้างความฮาสามัญประจำบ้านในพรมแดนใหม่ๆ” 

นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทผู้สายต่อ ขายหัวเราะ และลูกสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต หรือบก.วิติ๊ด ที่เราคุ้นเคยอธิบายความเชื่อที่เธอมีต่อธุรกิจครอบครัว 

ความเชื่อของนิว ทำให้เราได้เห็นการคอลแลบกับสารพัดแบรนด์ไทยหลากหลายแบรนด์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนเป็น top of mind ของวงการนั้นๆ

โอกาสครบรอบ 50 ปีของ ขายหัวเราะ นิวจึงพา ขายหัวเราะ ไปในทิศทางที่หลายคนอาจประหลาดใจ เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงต้นปีหน้า เราจะได้เห็น ขายหัวเราะ ปรากฏในหลายที่และจับมือกับหลากแบรนด์​ ชวนให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่า ขายหัวเราะ นั้นอยู่ร่วมกับคนไทยได้ทุกยุค ทุกสมัย และทุกแพลตฟอร์มจริงๆ

แต่ก่อนจะเตรียมตัวต้อนรับโปรเจกต์การคอลแลบฉลอง 50 ปี เราชวนนิวมาเผยถึงเรื่องราวเบื้องหลังการคอลแลบระหว่าง ขายหัวเราะ และจักรวาลแบรนด์ไทยก่อนหน้านี้ ว่าแต่ละที่ที่นิวนำไปให้ประสบการณ์สุดล้ำค่ากับ ขายหัวเราะ ได้ยังไงบ้าง

ขายหัวเราะ X ททท.

เชื่อว่าแก๊ก ‘ติดเกาะ’ น่าจะเป็นหนึ่งในภาพจำของ ขายหัวเราะ ไปเลย แต่รู้มั้ยว่าในประเทศไทยก็มีเกาะเกาะหนึ่งที่มีหน้าตาเหมือนเกาะขายหัวเราะอย่างกับแกะ จนผู้คนสงสัยอยู่เสมอว่าต้นแบบเกาะขายหัวเราะนั้นมาจากเจ้าเกาะในโลกจริงซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดตราดหรือเปล่า

“นักท่องเที่ยว และคนทั่วๆ ไปก็เรียกมันว่าเกาะขายหัวเราะมาโดยตลอด ซึ่งจริงๆ เกาะนี้ไม่ได้เป็นต้นแบบนะ เพียงแต่มันเหมือนมากจนใครๆ ที่ไปเห็นก็ต้องถ่ายมาให้เราดู เราเห็นแล้วก็ขำทุกที จนสุดท้าย ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็ติดต่อมาว่าอยากให้ ขายหัวเราะ ไปโปรโมตเกาะนี้” 

การร่วมมือกันครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 นิวเองที่อยากให้การ์ตูนของครอบครัวกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยจึงยิ่งเห็นด้วยกับการร่วมงานครั้งนี้

“เหมือนกับที่คุมะมงหรือหลายๆ แบรนด์ของญี่ปุ่นก็ช่วยโปรโมตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศเขา พอเราได้ลองทำจริงๆ มันก็สนุกมาก 

“เราได้คิด Journey และสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงโลกจินตนาการกับโลกแห่งความเป็นจริงเข้าด้วยกัน เช่น ทำไมถึงเกิดเกาะนี้ ทำไมเราควรไปเที่ยวที่นี่ จนปัจจุบัน ตรงนั้นมีรูปปั้นเกาะขายหัวเราะให้คนถ่าย และมีกิจกรรมแจกของที่ระลึกด้วย”

นิวยังเล่าว่าโปรเจกต์เกาะขายหัวเราะไม่ได้สนับสนุนเพียงเกาะเกาะเดียว แต่ยังนำเที่ยวสถานที่รอบข้างอย่างเกาะหมาก เกาะกระดาด ได้ด้วย ทั้งยังสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปได้อย่างแนบเนียน

“คนสนใจโปรเจกต์นี้เยอะมากจนเราได้ไปออกรายการต่างๆ มากขึ้น เวลาไปเจอลูกค้าและพูดถึงแคมเปญนี้ ทุกคนก็จะอ๋อทันที 

“เวลาคนถามเราว่าไม่หมดมุกเหรอ โปรเจกต์นี้แหละที่ทำให้เราตอบได้เต็มปากว่าไม่หมดมุกหรอก  ขายหัวเราะ มันเป็นอะไรได้อีกล้านแปด” นิวยืนยัน

ขายหัวเราะ X Rompboy

ถ้าจะให้เล่าว่าแบรนด์ไหนที่สะท้อนการร่วมมือกันระหว่างแฟนคลับตัวยงและ ขายหัวเราะ ได้ดีที่สุด การคอลแลบระหว่าง ขายหัวเราะ และ Rompboy น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด

“เราไม่ต้องจูนหรืออธิบายเยอะว่าคาแรกเตอร์นี้คืออะไร เด่นยังไง เขามาพร้อมกับความต้องการของตัวเองเลยและเขาชัดเจนว่าจะทำยังไงให้ ขายหัวเราะ มันไปกับแบรนด์คนรุ่นใหม่ของเขาได้” นิวเล่าถึงวันที่ บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หอบไอเดียการคอลแลบระหว่าง ขายหัวเราะ ที่เขาผูกพันเข้ากับแบรนด์สตรีทแวร์สุดป๊อปของเขาเข้าด้วยกัน

โดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่แฟนคลับของคาร์แรกเตอร์ หรือแฟนคลับของแบรนด์เสื้อผ้านั้นๆ เชื่อว่าหลายคนก็คงไม่คิดอยากได้เสื้อผ้าลายคอลแลบมาสวมใส่ เพราะการสวมเสื้อผ้าไม่ใช่แค่การปกปิดหรือให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ยังถือเป็นการสะท้อนสไตล์ บ่งบอกตัวตนของคนคนนั้นด้วย

“พอมันเป็นเสื้อผ้า ลายหรือสไตล์ที่ออกมามันต้องโดนและทำถึงจริงๆ การคอลแลบครั้งนี้มันเลยสนุกตรงที่เราเองก็มี asset การ์ตูน ส่วนพี่บู้เขารู้ว่าจะเอาองค์ประกอบของ ขายหัวเราะ ไปทำให้มันดูเท่และมีสไตล์ยังไง

“เขาบอกเลยว่าผมว่าลายเส้นอันนี้ต้องเป็นสินค้านี้ ถ้าเติมองค์ประกอบนี้ไปมันจะดูทันสมัย มันเหมือนเราต่างแชร์ในส่วนที่ตัวเองถนัด”

เป็นจริงดั่งตั้งใจ คอลเลกชั่น Rompboy x ขายหัวเราะ ที่หยิบเอาลายเส้นการ์ตูน ขายหัวเราะ สุดคลาสสิกมาทำเป็น 7 ไอเทมสตรีทแวร์ที่มีกลิ่นอายเสื้อผ้า American Vintage ช่วงยุค 1950-1970 ขายหมดทุกชิ้น 

ไม่ว่าจะเสื้อสีขาวลายเส้นสาวเซ็กซี่ของ อาวัฒน์–วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ กางเกงขาสั้นและหมวกที่ปักลายแก๊กติดเกาะสุดโด่งดังของ ขายหัวเราะ ไปจนเสื้อสเวตเตอร์ลายผีเสื้อสมุทรโดย อาจุ๋มจิ๋ม–จำนูญ เล็กสมทิศ ฯลฯ

“เขาเก่งมาก เขารู้ว่าทำยังไงคนถึงจะตื่นเต้น” นิวเล่าความรู้สึกของการคอลแลบครั้งนี้ให้ฟัง

ขายหัวเราะ X PLY

โปรโมตท่องเที่ยวก็ทำมาแล้ว ร่วมมือกับแบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแวร์ก็ทำมาแล้ว ไม่แปลกใจหากมีอีกหลายแบรนด์ไทยที่เห็นความเป็นไปได้ของขายหัวเราะ

หนึ่งในนั้นคือแบรนด์สนีกเกอร์หนังอย่าง PLY ของ กอล์ฟ–ณัฐวุฒิ ศรีหมอก หรือ กอล์ฟ F.HERO ที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนรองเท้าและแฟนการ์ตูน เมื่อเขาตัดสินใจหยิบเอาคาร์แรกเตอร์สายฮาจาก ขายหัวเราะ ไปเป็นส่วนหนึ่งของรองเท้าสุดเท่

“พี่กอล์ฟเขาเป็นแฟน ขายหัวเราะ เหมือนกัน พอเขาทำแบรนด์รองเท้าหนังที่ปกติมันจะเรียบเท่ เขาเลยอยากลองทำคอลเลคชั่นที่ดูสนุกและมีความเป็นไทย สอดคล้องกับชื่อแบรนด์ว่า PLY ที่มันเป็นชื่อเรียกช้าง”

ความที่นิวยังไม่เคยพา ขายหัวเราะ ไปดินแดนรองเท้ามาก่อน โปรเจกต์นี้จึงน่าตื่นเต้นสำหรับเธอและทีมมาก เพราะกระบวนการการทำรองเท้านั้นซับซ้อน บางไอเดียที่ดูเจ๋งมากแต่ผลิตออกมาแล้วคุณภาพไม่ผ่านก็ต้องปัดตกไป

“เราถนัดด้านการ์ตูนแต่ด้านดีไซน์รองเท้า เราก็ต้องให้เกียรติพาร์ตเนอร์นำว่าจะพามันไปทางไหนที่คนจะยอมใส่ หรือ ขายหัวเราะ จะไปอยู่กับรองเท้ายังไงให้ไม่เคอะเขิน ขัดขืน หรือยัดเยียดจนเกินไป จนได้ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์คู่กัดของ ขายหัวเราะ เพราะเวลาใส่รองเท้าต้องใส่เป็นคู่กัน”

ไม่ว่าจะลาย ‘บ.ก.วิติ๊ด vs ไก่ วัลลภ’ ลาย ‘โจรมุมตึก vs ต่าย’ ลาย ‘นินจาเงาดำ vs จอมยุทธ์หมูออมสิน’ และลาย ขายหัวเราะ ที่สื่อถึงแบรนด์ได้ดี และนอกจากหยิบลายมาใช้ในครั้งนี้ จุดเด่นที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่ร่วมกับ ขายหัวเราะ ทันทีคือสีสันสดใสของ ขายหัวเราะ นั่นเอง

“มันเป็นการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ขายหัวเราะ อยู่ได้ทุกพรมแดนและอยู่ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้าในชีวิตประจำวันของทุกคน” 

ขายหัวเราะ X Sansiri

ถ้าให้ลองคิดเล่นๆ ว่า ขายหัวเราะ จะไปรวมกับธุรกิจที่อยู่อาศัย ทุกคนคิดว่าขายหัวเราะจะไปปรากฏในรูปแบบไหน 

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก

เฉลย ขายหัวเราะ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ได้ทุกรูปแบบ! ไม่ว่าจะรูปแบบออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ตาม และธุรกิจที่อยู่อาศัยที่เราพูดถึงก็คือแสนสิริ โครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมที่เมื่อได้ยินชื่อ ทุกคนก็ต้องรู้สึกถึงความหรูหราและเข้าถึงยากซึ่งเป็นเพนพอยต์สำคัญที่ทำให้แสนสิริและ ขายหัวเราะ มารวมตัวกัน 

“เราสร้างสังคมที่มีความสุขไม่ได้ถ้ายูนิตที่เล็กที่สุดอย่างบ้านมันไม่มีความสุข พอ ขายหัวเราะ เป็นความฮาสามัญประจำบ้านที่อยากสร้างอารมณ์ขันให้เกิดในบ้าน ส่วนแสนสิริก็สร้างบ้านให้ดีที่สุดเพื่อเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนมีความสุข มันจึงลงตัว” นิวอธิบายนิยามของโปรเจกต์นี้ให้ฟัง

จากโจทย์ที่อยากให้คนเข้าถึงได้ นิวและทีม ขายหัวเราะ กระจายความฮาของตัวเองเข้าไปแทรกซึมกับกระบวนการขายบ้านได้อย่างแนบเนียนและไม่เขินอาย ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า ‘บ้านนี้ ฮะ ฮะ ฮ่า’

ไม่ว่าจะนักเขียนที่อาศัยและทำงานในบ้านของแสนสิริอย่างสุขสบาย คิดไอเดียง่าย วาดการ์ตูนคล่อง

หรือตัวละครผีเสื้อสมุทรที่ชอบบ้านของแสนสิริมากเพราะมีเพดานสูง อยู่แล้วไม่อึดอัดและสบายกว่าอยู่ถ้ำ แม้กระทั่งเทพารักษ์ก็ชอบโครงการของแสนสิริเพราะต้นไม้เยอะ มองแล้วร่มรื่นใจ

“หรืออย่างยอดมนุษย์ ขายหัวเราะ ก็มาชาร์จพลังที่บ้านได้ เพราะแสนสิริมีที่ชาร์จรถ EV แล้ว จะสู้กับก็อตซิลล่ายังไงก็ไม่แพ้ แม้กระทั่งมุกโจรมุมตึกเจ้าประจำ เราก็เอามาเล่นว่าโจรมุมตึกเนี่ยเข้าบ้านแสนสิริไม่ได้นะเพราะว่า CCTV Security System ดีมาก แล้วนินจาของ ขายหัวเราะ ยังเป็นคนเทรน รปภ. ให้แสนสิริด้วย

“เห็นมั้ยว่าเราสร้างเรื่องราวได้ไม่จำกัดเลย มันทำให้การโฆษณาสนุกขึ้น ไม่ฝืน และเข้าถึงได้ง่ายมาก แก้เพนพอยต์ของเขาได้ดี ยิ่งเราวาดคุณเศรษฐาเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ภาพของความเป็นนักธุรกิจเข้าถึงยากมันลดลง”

แต่นอกจากคอนเทนต์ออนไลน์เหล่านี้ แสนสิริและ ขายหัวเราะ ยังสร้างความสนุกผ่านช่องทางออฟไลน์ อย่างการพามาสค็อตตัวละครสำคัญไปเดินรอบหมู่บ้าน เปิดตัวกับสื่อต่างๆ และทำกิจกรรมกับลูกบ้าน เสมือนพาโลกจินตนาการมาสู่โลกแห่งความจริง

“ปกติเรามักจะได้ทำแต่แคมเปญออนไลน์ หรือทำพวกหนังสือ โปรเจกต์นี้เลยเปิดโอกาสให้ ขายหัวเราะ ได้สร้างสรรค์อะไรเยอะมากเหมือนกัน เพราะเขามาเป็นภาพใหญ่ว่าอยากแก้เพนพอยต์ตรงนี้นะ เราเลยสามารถใช้ทุกเครื่องมือที่มีได้เลย”

ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้วัดได้ง่ายๆ จากยอดขายที่ ขายหัวเราะ สามารถทำให้แสนสิริเพิ่มขึ้น 135% จากที่แสนสิริตั้งไว้ 8,200 ล้านบาท ขายหัวเราะ ทำยอดได้ถึง 11,100 ล้านบาท

นอกจากนั้น แคมเปญยังได้เข้ารอบไฟนอลลิสต์ 3 จาก 4 รางวัลใน Adman Awards 2022 และได้รับรางวัล 1 รางวัลในหมวด Public Relations Plan ด้วย 

“ผู้จัดบอกว่าเราเป็นสตูดิโอการ์ตูนเจ้าแรกที่ไม่ใช่เอเจนซี่ที่ได้รางวัลนี้ ถือเป็นกำลังใจที่ดีให้กับ ขายหัวเราะ  และเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนเห็นว่าการ์ตูนมันมีศักยภาพมากกว่าการให้ความบันเทิง แต่มันสื่อสารการตลาดได้นะ” 

ขายหัวเราะ X Preduce Skateboards

“ยิ่งเป็นแบรนด์ที่คอนทราสต์กับทั้งตัวตนของเราและความเป็น ขายหัวเราะ มากๆ เราจะยิ่งรู้สึกว่ามันท้าทายและสนุกที่จะได้ทำ” 

นิวอธิบายเมื่อเราเอ่ยถามถึงการคอลแลบล่าสุดกับ Preduce Skateboards แบรนด์สเก็ตบอร์ดแบรนด์แรกของไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2002 

สำหรับชาวสเก็ตบอร์ดแล้ว Preduce ถือเป็นแบรนด์ที่สำคัญกับวงการนี้อย่างมาก ก่อนหน้านี้ Preduce เองก็เคยร่วมมือกับศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก่อน การร่วมมือสร้างสรรค์ซีรีส์สเก็ตบอร์ดกับ ขายหัวเราะ ครั้งนี้จึงสร้างเสียงฮือฮาจากแฟนคลับทั้งสองแบรนด์อย่างมาก

“ถึงเราจะไม่ใช่คนที่เล่นสเก็ตบอร์ด แต่ความไม่อิน as a person ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เห็นโอกาสทางความคิดสร้างสรรค์ ถ้ารู้สึกว่าถ้าได้ทำแล้วจะดี เราก็ทำ 

“แต่พอเราไม่เคยอยู่ในแวดวงนี้มาก่อน ในฐานะผู้บริหาร เราต้องหาข้อมูลเยอะๆ และคุยกับคนอื่นๆ ว่าเขามองว่าสิ่งนี้มันน่าทำหรือเปล่า”

ซีรีส์สเก็ตบอร์ดจากทั้งสองตำนานจึงออกมาทั้งในรูปแบบของการหยิบเอาคาร์แรกเตอร์เด่นๆ ของ ขายหัวเราะ ไปอยู่บนแผ่นสเก็ตช์ รวมถึงมีอีเวนต์ที่เปิดให้เหล่าแฟนคลับทั้งสองแบรนด์มาพบกันด้วย 

การร่วมมือระหว่าง ขายหัวเราะ และ Preduce Skateboards ครั้งนี้จึงทำให้ความเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และทุกเทรนด์สังคมของ ขายหัวเราะ ชัดเจนขึ้นมาก ไม่ทิ้งลายความเป็นจดหมายเหตุของประเทศไปเลย

ขายหัวเราะ X พรมแดนใหม่ๆ แบบอินฟินิตี้

คล้ายยามเดินทาง เมื่อก้าวเท้าไปยังประเทศไหนๆ ก็จะได้ตัวปั๊มมาผนึกพาสปอร์ตของตัวเองว่าเธอ เขา เรา ฉันได้พิชิตดินแดนแห่งใหม่อีกดินแดนหนึ่งแล้ว 

ไม่ใช่แค่ตัวบ่งชี้จำนวนประเทศที่เราไปถึง แต่คือหนึ่งในเครื่องสะท้อนว่าประสบการณ์และมุมมองที่มีต่อโลกของเรานั้นกว้างใหญ่ขึ้นแค่ไหน

กับการคอลแลบของ ขายหัวเราะ ก็เช่นเดียวกัน โปรเจกต์ต่างๆ ที่เราเล่าให้ฟังข้างต้นเสมือนการสแตมป์พาสปอร์ตหรือเก็บแต้มเวลาเล่นเกมยังไงยังงั้น นอกจากจำนวนชิ้นงานที่ร่วมคอลแลบจะมากขึ้น พอให้นำไปประดับพอร์ตของ ขายหัวเราะ ได้แล้ว ยังทำให้นิว ในฐานะผู้บริหารคนปัจจุบัน เห็นความเป็นไปได้ของ ขายหัวเราะกว้างขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เหมือนเวลาบอกว่าเอกภพของเรามีพื้นที่เป็นอนันต์ 

ในโอกาสที่ ขายหัวเราะ เดินทางมาถึงปีที่ 50 นิวจึงคิดว่านี่เป็นเวลาเหมาะสมที่จะพา ขายหัวเราะ ออกนอกกรอบไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้แตกต่างและน่าประหลาดใจกว่าเดิม 

“เรามานั่งเบรนด์สตรอมกันว่านอกจาก ขายหัวเราะ จะสร้างความสุขให้ผู้คนในเชิงคอนเทนต์ได้ เราสามารถสร้างความสุขผ่านอาหารได้ไหม ผ่านเสื้อผ้า หรืออะไรได้อีกบ้าง จนเกิดเป็นโปรเจกต์คอลแลบร่วมกับแบรนด์ชั้นนำในแต่ละวงการขึ้นมา

“แต่เดิม ผู้บริหารหลายคนโตมากับ ขายหัวเราะ อยู่แล้ว คราวนี้เราเข้าไปแนะนำตัวว่าเราไม่ใช่แค่หนังสือการ์ตูนแล้วนะ แต่เรามีฐานแฟนกี่ล้านคน แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาก็เซอร์ไพรส์ว่าเราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ

“มากกว่ายอดขาย การทำโปรเจกต์ครั้งนี้มันทำให้แบรนด์เห็นความไปได้ของเรา รวมถึงตอบคำถามหลายคนว่า ขายหัวเราะ ยังเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อยู่ไหม”

แน่นอนว่าคำตอบของคำถามที่นิวตั้งไว้ ต้องรอติดตามเซอร์ไพรส์ในโอกาส 50 ปีสุดพิเศษนี้กันเอง แอบกระซิบว่ามีหลายแบรนด์ทีเดียวที่เชื่อว่าไม่ว่าคนรุ่นไหนได้ยินก็ต้องอยากได้มาครอบครอง เพราะนอกจากความเป็นตัวเต็งของวงการแล้ว นิวยังเลือกแบรนด์ที่มี DNA แห่งเสียงหัวเราะและความสุขเช่นเดียวกับ ขายหัวเราะ ด้วย 

“ตัวเลข 50 ปีมันเหมือนจะนานก็นาน แต่จริงๆ เรามองว่ามันคือจุดเริ่มต้นในการพิสูจน์ตัวเองว่า ขายหัวเราะ หรือการ์ตูนไทยมันไปได้ไกลกว่านี้ และทำให้เห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์อย่างการ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งที่ยกระดับ creative economy ของไทยได้ยังไงบ้าง 

“อีกทางหนึ่งมันก็เหมือนกับการปักหมุดและเป็นการสัญญากับแฟนๆ ว่าไม่ว่าจะอีก 20 ปี 50 ปี หรือกี่ปีต่อไป ขายหัวเราะ ก็จะไม่หยุดเดิน”

ตั้งแต่กลางปี 2566 จนถึงต้นปีหน้า แฟนคลับ ขายหัวเราะ และทุกๆ คนเตรียมรับแรงกระแทกจากสารพัดโปรเจกต์คอลแลบในโอกาสพิเศษนี้ได้เลย 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน