วัฒนธรรมการดื่ม ‘ไซเดอร์’ จากโลกตะวันตกถึงไทย ทำไมวันนี้ไซเดอร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่น่าจับตา

ถ้าพูดถึงผลไม้อะไรสักอย่างที่มีผลต่อวัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรฝั่งตะวันตก หลายคนน่าจะนึกถึง ‘แอปเปิล’ ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ 

อาจเพราะแอปเปิลเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย สามารถปลูกขึ้นได้ในหลากหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ทั้ง อังกฤษ โปแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และจีน ตลอดไปจนถึงความนิยมในรสชาติของแอปเปิลที่คนหลงรักได้ไม่ยาก มีรสหวานกลมกล่อม มีเนื้อมาก รับประทานง่าย อยากจะกัดกินเข้าไปทั้งเปลือกเลยก็ยังทำได้ แอปเปิลจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตย้อนไปตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน

นอกจากรสชาติและรูปลักษณ์ที่อำนวยให้กินง่าย เป็นผลไม้ที่ราคาจับต้องได้ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ตรงส่วนไหนของโลก แอปเปิลยังถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ในเชิงโภชนาการ เพราะถือเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์และวิตามินซีสูง คนสมัยก่อนจึงมีกุศโลบายในการสั่งสอนลูกหลานให้กินอาหารที่มีประโยชน์ด้วยการดัดแปลงเอาแนวคิดนี้ผูกรวมเข้าไว้กับภาษา เพื่อให้จดจำและเข้าใจไปโดยปริยายว่า แอปเปิลเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า เช่น ภาษาอังกฤษจะมีสำนวนที่ว่า ‘An apple a day keeps the doctor away’ แปลเป็นไทยแบบง่ายๆ คือ ‘กินแอปเปิลวันละผล เราก็จะไม่ต้องไปหาหมอ’ ถือเป็นหนึ่งในความเชื่อของคนฝั่งตะวันตกที่สืบต่อกันมาในรูปประโยคสั้นๆ

หรืออีกสำนวนหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในเนื้อเพลง ในบทหนัง ในจดหมายรัก คือ ‘The apple of my eyes’ วลีที่เรียกคนที่คุณมีความรู้สึกรัก รู้สึกเสน่หา รู้สึกหวงแหน

นอกจากแอปเปิลจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายในการรับประทาน จึงเป็นธรรมดาของโลกใบนี้ที่มนุษย์มักจะสร้างสรรค์และดัดแปลงสิ่งที่ตัวเองชอบให้ไปปรากฏในเมนูอาหารที่หลากหลายเพื่อความวาไรตี้ของการใช้สอย เราจึงได้เห็นแอปเปิลเข้าไปอยู่ในเมนูอาหารต่างๆ มากมาย ทั้งพายแอปเปิล แซนด์วิชแอปเปิลกับไก่งวง บางคนชอบใส่แอปเปิลลงไปในสลัดเพื่อเพิ่มมิติในการกินให้จานผัก

หรือจะเป็นเครื่องดื่มที่ทำจากแอปเปิลอย่างน้ำแอปเปิลก็เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนชาวโลกไม่แพ้กัน ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมครบรสในคราวเดียวกัน หากได้ดื่มกินน้ำแอปเปิลในวันที่อากาศร้อนๆ คงจะเย็นชื่นใจไม่น้อย แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า การดัดแปลงพลิกแพลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถือเป็นพรสวรรค์ที่มนุษย์มีอยู่ในสัญชาตญาณ 

นอกจากน้ำแอปเปิลแบบธรรมดาปกติ ยังมีเครื่องดื่มจากแอปเปิลที่เป็นที่นิยมและมาแรงในหมู่ชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟากฝั่งตะวันตก 

นั่นคือ ‘ไซเดอร์’

ประเทศแถบเอเชียหรือในบ้านเราอาจจะยังไม่คุ้นชินกับเครื่องดื่มชนิดนี้นัก เนื่องด้วยเรายังคงคุ้นเคยกับแอลกอฮอล์ที่เราดื่มกินกันไม่กี่ชนิด เช่น เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความขมเป็นรสชาติพื้นหลัก และอาจตามด้วยรสชาติติดปลายลิ้นเป็นรสและกลิ่นต่างๆ ตามแต่จะดัดแปลง อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในสังคมไทยว่าเบียร์คือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูง จนมีแบรนด์เบียร์ของประเทศไทยไปตีตลาดโลก ดังนั้นความนิยมในการดื่มเบียร์ของคนไทยคงไม่เป็นที่สงสัย แต่หากพูดถึง ไซเดอร์ในโลกฝั่งตะวันตกเป็นอันรู้กันดีว่า มันหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้ความรู้สึกซาบซ่า สดชื่น ที่ส่วนใหญ่ทำมาจากแอปเปิล แต่ในบางกรณีก็ผลิตมาจากผลไม้ชนิดอื่นบ้าง เช่น แพร์

กระบวนการผลิตที่เป็นหัวใจของไซเดอร์นั้นว่ากันที่ ‘การหมัก’ ถ้าอยากจินตนาการตามแบบเรียบง่ายด้วยการเทียบเคียงถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมโดยกว้างอย่างไวน์ เราคงนึกภาพออกว่าไวน์เกิดจากการใส่ยีสต์ลงไปหมักกับน้ำองุ่นจนเปลี่ยนน้ำตาลในองุ่นให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ ไซเดอร์ก็ใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือการหมัก เพียงแต่เป็นการเอาน้ำแอปเปิลไปหมักและเติมยีสต์ลงไปหมักจนน้ำตาลในแอปเปิลเปลี่ยนแปลงไปเป็นแอลกอฮอล์

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการหมักน้ำองุ่นเพื่อมาทำเป็นไวน์ กับการหมักน้ำแอปเปิลเพื่อมาทำเป็นไซเดอร์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ การหมักน้ำองุ่นจนกลายเป็นไวน์จำเป็นต้องนำองุ่นชนิดเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกันมาหมักเพื่อให้ได้รสชาติที่คงที่ (แน่ล่ะ ต้องควบคุมตั้งแต่ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว การบ่มหมัก จนไปถึงการออกซิเดชั่น – ข้อมูลจาก American Journal of Enology and Viticulture) ส่วนการหมักแอปเปิลไซเดอร์ มีความเก๋ไก๋และหลากหลายในลูกเล่นมากกว่านั้น เพราะเราสามารถนำแอปเปิลหลายสายพันธุ์มาผสมผสานกันเพื่อหมักเป็นไซเดอร์ได้  สังเกตจากตอนที่เรากัดกินแอปเปิลแต่ละพันธุ์ เราทุกคนต่างคงสัมผัสได้ว่าแอปเปิลแต่ละสายพันธุ์มีความหวาน กลมกล่อม ละมุนแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อนำแอปเปิลที่มาจากหลายแหล่งเพาะปลูก และหลากหลายสายพันธุ์มาหมักรวมกัน และทำซ้ำจนเกิดรสชาติที่พึงใจ คุณก็จะได้แอปเปิลไซเดอร์ที่ไม่เหมือนใคร ที่ถูกใจคุณและเป็นความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์แอปเปิลไซเดอร์ของคุณเองได้ และนี่คือความเปิดกว้างที่แอปเปิลไซเดอร์อนุญาตให้คุณมีความคิดสรางสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด 

ส่วนของระยะเวลาในการหมักไซเดอร์ก็แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ผลิตและรสชาติที่ปรารถนา คุณสามารถพบเห็นไซเดอร์ที่มีช่วงอายุของการหมักตั้งแต่หลักเดือน นานไปจนถึงหลักหลายปี นอกจากหมักแล้วการอัดแก๊สเข้าไปในไซเดอร์เพื่อให้เป็นเครื่องดื่มที่มีความซาบซ่าประกอบกันกับรสชาติที่หวานละมุนออกปลายฝาดเล็กๆ ก็เป็นการเพิ่มความบันเทิงในการดื่มให้กับผู้บริโภคเข้าไปอีกทาง

ย้อนกลับไปตรงจุดเริ่มต้นของต้นกำเนิดไซเดอร์ บางแหล่งข้อมูลบอกว่าไซเดอร์เกิดขึ้นมาบนโลกแล้วกว่า 2,000 ปี บ้างก็บอกว่าไซเดอร์เกิดขึ้นมาบนโลกกว่า 3,000 ปีแล้วต่างหาก ถึงแม้ว่าตัวเลขจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่จุดร่วมสำคัญที่ทุกแหล่งข้อมูลอ้างถึงจุดกำเนิดของไซเดอร์ คือไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มโบราณที่มีมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อนคริสต์ศักราช

แล้วไซเดอร์เกิดขึ้นมาตอนไหนบนโลกใบนี้?

เชื่อกันว่าเครื่องดื่มหมักแอลกอฮอล์ที่ทำจากน้ำแอปเปิลชนิดนี้มีขึ้นตั้งแต่ยุคของจักรวรรดิโรมันในสมัยที่จูเลียส ซีซาร์ เป็นแม่ทัพ จุดเริ่มต้นคือช่วงประมาณ 55 ปีก่อนคริสต์ศักราชขณะที่กองทัพของจูเลียส ซีซาร์ เดินทางมายังบริเตน เมื่อทหารของซีซาร์ได้ชิมกับเครื่องดื่มของคนพื้นเมืองบริเตนที่มีรสชาติหวานกลมกล่อมแถมยังทำให้มึนเมาชนิดนี้ ก็เกิดความรู้สึกชอบและติดใจจนนำพาไซเดอร์กลับไปยังโรมันด้วย

จากนั้นมาไซเดอร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในยุโรปทั้งผ่านการนำพาและเดินทางของทหารจากกองทัพของซีซาร์และจากคุณสมบัติส่วนตัวของไซเดอร์เองที่มีความเอร็ดอร่อยชื่นใจ แถมยังสามารถทำให้มึนเมาได้อีก จึงเกิดเป็นความนิยมไซเดอร์ในหมู่คนยุโรปในพื้นที่ใดก็ตามที่ไซเดอร์เดินทางไปถึง

พูดถึงความนิยมในการผลิตไซเดอร์ที่แพร่หลายในยุโรป เราจึงมักนึกถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส ตอนเหนือของสเปน และไอร์แลนด์ ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18-19 ไซเดอร์เคยถูกใช้เป็นค่าแรงในการจ้างแรงงานให้กับชาวไร่ชาวนาในอังกฤษอีกด้วย จากข้อมูลนี้เราจึงเห็นว่าไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับทั้งความนิยมจนแทบจะเป็นเครื่องดื่มที่ถูกบริโภคกันจนเป็นปกติของคนจากฟากฝั่งตะวันตกของโลก

ในศตวรรษที่ 21 ยุคที่โลกใบนี้ดูจะแคบลงและหมุนเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว เพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร อาหาร และเครื่องดื่มมากมายถูกสร้างสรรค์ให้แปลกใหม่ คนบนโลกออนไลน์พากันชื่นชอบและพร้อมเปิดใจโอบรับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุดิบแปลกใหม่มาทำอาหาร ขนม เครื่องดื่ม แต่ไซเดอร์ก็ยังคงยืนหยัดและยังเป็นที่นิยมในหมู่คนที่นิยมความสดชื่นจากน้ำผลไม้ที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากฟากฝั่งตะวันตก ในไทยเองก็มีความนิยมของเครื่องดื่มไซเดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ และมีไซเดอร์สัญชาติไทยแท้เกิดขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือผู้ผลิตไซเดอร์เจ้าแรกของไทยอย่าง ‘Moose’ ที่พิถีพิถันตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น ด้วยความเชื่อที่ว่าวัตถุดิบที่ดีจะนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

Moose เองเป็นแบรนด์ไซเดอร์ที่เลือกที่จะกลัดกระดุมที่ถูกต้องตั้งแต่เม็ดแรก นั่นคือการเลือกแอปเปิลที่มีคุณภาพเพื่อนำมาคั้นให้เป็นสารตั้งต้นที่ดีในการทำไซเดอร์นั่นเอง

นอกจากนั้นความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ไซเดอร์ของ Moose น่าสนใจ หรือหากจะใช้คำให้ถูกอาจจะต้องเรียกว่า น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ไซเดอร์รส Indie Summer ที่มีการผสมผสานเอาใบเตยและกระเจี๊ยบลงไปในไซเดอร์ที่มีเบสเป็นน้ำแอปเปิลที่เป็นแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเราอาจจะเทียบเคียงได้กับคำว่า East meets West คือซีกโลกฝั่งตะวันออกและซีกโลกฝั่งตะวันตกโคจรมาพบกัน หรือนั่นก็คือการเอาส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบแบบไทยๆ มาผสมลงในเครื่องดื่มสัญชาติฝรั่งอย่างไซเดอร์ หรืออย่างรส Original ของ Moose ก็เป็นไซเดอร์ที่รุ่มรวยไปด้วยกลิ่นหอมของแอปเปิลชั้นดีที่มาในเรตแอลกอฮอล์ 5%

ในเมืองที่มีอากาศร้อนเป็นทุนเดิมอย่างประเทศไทย การหยิบจับเครื่องดื่มอะไรสักอย่างที่ให้ความสดชื่นมาคลายร้อน ถือเป็นทางเลือกในการให้รางวัลตัวเองในแต่ละวันแบบเรียบง่ายและทำได้ในทุกวัน โดยเราจะเห็นว่าวันนี้ในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่หรือในแวดวงคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อยจะเลือกไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มคู่ใจทั้งในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงานหรือยามออกเดินทางท่องโลกกว้างที่ต้องการความสดชื่น

ไม่แน่วันนี้ตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน คุณอาจจะเปลี่ยนจากเครื่องดื่มธรรมดามาให้รางวัลตัวเองบ้างก็เป็นทางเลือกที่สดชื่นดีไม่น้อย

อ้างอิง

ขอบคุณสถานที่ : The COMMONS

เวิร์กกับเพื่อนยังไงให้เวิร์ก?​ Integrated Field สตูดิโอออกแบบอายุ 12 ปีโดยเพื่อน 12 คน

ปี 2011 กลุ่มเพื่อน 12 คนที่ประกอบไปด้วยสถาปนิก, อินทีเรียร์ดีไซเนอร์, ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบอุตสาหกรรม รวมตัวกันก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ IF : Integrated Field ขึ้นมาท่ามกลางเสียงฮือฮาเรื่องจำนวนคนและคำเตือนเรื่องการทำธุรกิจกับคนใกล้ตัว

ปี 2023 IF ขยายตัวจากสเกล 12 คน (รวมผู้ก่อตั้ง) เป็น 64 คน (รวมผู้ก่อตั้ง) โปรโมตพาร์ตเนอร์ธุรกิจเพิ่มอีก 1 คน และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายตั้งแต่ออกแบบบ้านส่วนบุคคลไปจนถึงออกแบบทั้งโครงการบ้าน, ออกแบบภายในและกราฟิกให้โรงเรียนอนุบาล Kensington​ Learning Space และโรงพยาบาลเด็กเอกชัย, ทำแบรนดิ้งให้ร้าน Shabu Lab ไปจนถึงออกแบบผังแม่บทของอุทยานชลประทานไทย

หากระยะทางพิสูจน์ม้า เวลาก็พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจกับเพื่อนไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเสียเพื่อนหรือเสียธุรกิจเสมอไป

ในวันที่ IF เดินทางมาถึงขวบปีที่ 12 และมีพาร์ตเนอร์ 13 คน คอลัมน์ Business Partner จึงชวน กวง–วรวุฒิ เอื้ออารีมิตร, เฟย–ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ และ นิน–คณิน มัณฑนะชาติ ตัวแทนพาร์ตเนอร์มาแชร์วิธีทำธุรกิจกับเพื่อนให้เวิร์ก แบ่งปันวิธีสร้างระบบภายใน และให้คำแนะนำแก่คนที่กำลังอยากเปลี่ยนสถานะจากเพื่อนเป็นเพื่อนร่วมงาน

และแน่นอนว่าคำแนะนำของพวกเขาไม่ใช่คำว่า ‘อย่าทำ’ 

พวกคุณรู้จักกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ความสัมพันธ์ก่อนทำธุรกิจด้วยกันเป็นยังไง

กวง : แบ็กกราวนด์คือเรา 11 คนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันที่สถาปัตย์ จุฬาฯ เรียนมาด้วยกัน ทำงานกลุ่ม ทำกิจกรรม ประกวดแบบมาด้วยกัน ก็เลยมีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงวิชาการและไม่วิชาการ ส่วนผู้ก่อตั้งอีกคนเป็นเพื่อนจากลาดกระบังที่ส่งประกวดแบบด้วยกันตอนเรียน

หลังจากเรียนจบทุกคนก็แยกย้ายไปทำงานตามออฟฟิศต่างๆ จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นตอนปี 2009 ที่มีประกวดแบบรัฐสภา ประมาณปีครึ่งหลังจากเริ่มทำงานออฟฟิศ สมัยนั้นเราอยากประกวดแบบอยู่แล้วยิ่งอันนี้เป็นแบบที่จะได้สร้างจริงด้วยยิ่งอยากทำ เราเลยฟอร์มทีมกัน สมาชิกหลักๆ ก็อยู่ในทีม IF ตอนนี้นี่แหละ แล้วก็มีเพื่อนและพี่ที่ไม่ได้อยู่ใน IF อีก 3-4 คน

แล้วเราก็เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เป็นทีมที่เด็กที่สุดที่เข้ารอบ ทีมอื่นๆ มาจากบริษัทสเกลใหญ่เกือบทั้งหมดเราเลยค่อนข้างเซอร์ไพรส์แล้วมันก็จุดประกายว่าถึงเราจะยังเด็ก อายุน้อย ประสบการณ์น้อย แต่ถ้าเราทำงานหนักพอหรือว่าทำงานร่วมกันมันก็เกิดพลังบางอย่างได้นะ

เฟย : ตอนนั้นทุกคนยังทำงานประจำอยู่ หลังเลิกงานก็ใช้บ้านเพื่อนเป็นที่ทำงานด้วยกัน ทำถึงตี 2 ตี 3 ก็แยกย้ายกลับบ้านพักผ่อน ตื่นเช้ามาทำงาน วนอยู่อย่างนี้ประมาณเดือนสองเดือน งานนั้นน่าจะเป็นงานประกวดแบบที่ใช้คนเยอะที่สุดในหมู่เพื่อน มันเหมือนทำให้เราได้ทดลองวิธีทำงานร่วมกัน วิธีเบรนสตอร์ม ที่สำคัญคือได้เช็กว่าเราทำงานร่วมกันแล้วเราชอบงานของพวกเรานะ หลังจากประกวดออกแบบรัฐสภา 2 ปี IF ก็ก่อตั้งในปี 2011

จากงานประกวด จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้พวกคุณตัดสินใจก่อตั้งบริษัทร่วมกันถึง 12 คน

กวง : ถ้าไปถามผู้ก่อตั้งคนอื่นๆ เรื่องที่ได้อาจจะไม่ตรงกันนะ (หัวเราะ) ถ้าในความทรงจำของเราเรื่องราวจะเป็นประมาณนี้

สมัยนั้นพอทำงานได้สัก 2 ปีคนมักจะเริ่มนึกถึง 2 อย่าง หนึ่ง เรียนต่อ สอง เปลี่ยนงาน จำได้ว่าวันนึงเรานั่งกินข้าวกันกับเพื่อนๆ ที่จะกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์กันนี่แหละแล้วเพื่อนคนนึงก็พูดขึ้นมาว่า เฮ่ย พวกมึงจะตั้งออฟฟิศไหม ถ้าไม่ตั้งกูว่าจะเปลี่ยนวิชาชีพแล้วนะ เพื่อนอีกคนก็บอกว่าถ้าไอ้นี่เลิกทำสถาปัตย์นี่น่าเสียดายมากเพราะมันเป็นคนเก่งมือดี เป็นท็อปรุ่น พวกเราก็เลย เออ ตั้งออฟฟิศกันเถอะ

เฟย : ขอเล่าอีกมุมนึง ช่วงที่เพิ่งเรียนจบเราจะนัดเจอกันทุกอาทิตย์ ไปกินข้าวหลังเลิกงาน ที่เห็นว่าเรามีผู้ก่อตั้ง 12 คน จริงๆ ตอนที่เริ่มคุยกันเรื่องบริษัทคนมันเยอะกว่า 12 คนมาก เป็นหลัก 20 คนเลย 

ทีนี้มีครั้งนึงเรานัดไปกินข้าวต้มกันแล้วก็เริ่มคุยจริงจังว่าเอายังไงดี ก็มีคนเริ่มตั้งวงอีเมลเอาไว้ส่งคุยกันเรื่องบริษัท ทั้งเรื่องปรัชญา เป้าหมายที่เราอยากทำร่วมกัน ค่อยๆ กรองจนเหลือเฉพาะคนที่อยากทำสิ่งนี้บนข้อตกลงที่มีร่วมกันจริงๆ

จากอีเมลที่ส่งหากัน เป้าหมายที่ผู้ก่อตั้งทุกคนเห็นร่วมกันคืออะไร

กวง : อย่างแรก ทุกคนรู้สึกว่าเราอยากเป็นบริษัทที่สร้างอิมแพกต์ให้เมือง ให้ประเทศ อยากให้สิ่งที่เราทำสร้างอิมแพกต์ในวงกว้างมากๆ ซึ่งคำว่ากว้างมากๆ อาจจะไม่ใช่งานใหญ่มากๆ แต่เป็นงานที่ส่งผลกระทบกับทั้งแนวคิด วิธีการใช้ชีวิตของคนในสังคมเมืองและประเทศได้

อีกเรื่อง เราชัดเจนว่าเราไม่อยากจะทำงานออกแบบสาขาเดียว เราไม่ได้มองว่าเราเป็นสถาปนิก แต่เราเป็น multidisciplinary studio เรื่องนี้ทุกคนเขียนมาแทบจะเหมือนกันหมด ไม่มีใครบอกเลยว่าอยากจะเป็นสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ พอมองย้อนกลับไปเหมือนว่าตอนนั้นพวกเรามีคำถามว่าเราจะนิยามอาชีพสถาปนิกยังไง ซึ่งเราเลือกที่จะนิยามให้มันต่างออกไป

นิยามคำว่าสถาปนิกตอนนั้นเป็นยังไง ทำไมถึงอยากทำให้ต่างออกไป

กวง : พวกเราชอบคุยกันว่างานสถาปัตยกรรมมันควรจะถูกผสมผสานกับศาสตร์อื่นเพราะมันเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตคน สังคมวิทยา มีแง่มุมของวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์มันอยู่ตรงจุดตัดของวิชาต่างๆ แต่ทำไมถึงไม่มีโปรเจกต์ที่ให้ทำร่วมกันระหว่างภาคบ้างทั้งที่พอเรียนจบมายังไงทุกคนก็ต้องทำงานร่วมกัน มันทำให้รู้สึกว่าถ้าจะเริ่มต้นออฟฟิศกันเราควรจะคิดถึงเรื่องนี้

ดังนั้นงานแรกๆ ที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรืองานเชิงพาณิชย์ก็จะเกิดจากการเบรนสตอร์มกับทุกคน แลนด์สเคปก็จะมาคอมเมนต์สถาปนิก บางโปรเจกต์ก็เริ่มจากการคิดอินทีเรียร์ บางโปรเจกต์เริ่มจากการคิดระบบวางเฟอร์นิเจอร์แล้วค่อยเอาเฟอร์นิเจอร์มาคลี่เป็นงานออกแบบในสเกลใหญ่มันเลยสนุก จุดเล็กๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นได้ จุดใหญ่ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นได้ แนวทางนี้เลยนำมาสู่ชื่อออฟฟิศ Integrated Field

เรารู้สึกว่าเราทำตัวเป็น integrator คือเป็นตัวเชื่อม สร้างสมดุลระหว่างสาขาวิชาต่างๆ แล้วทำให้เป็นตัวงานขึ้นมา ชื่อออฟฟิศก็เลยไม่ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเราเป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบภายใน หรือเป็นอะไร

คุณมีการออกแบบระบบสำหรับการทำงานระหว่างผู้ก่อตั้งทั้ง 12 คนไหม

กวง : มีๆ ถ้าให้แบ่งเฟสของออฟฟิศจะแบ่งได้เป็น 3 เฟส

เฟสแรกคือช่วงแห่งความมั่วซั่วเพราะว่า 4 ปีแรกพาร์ตเนอร์ครึ่งหนึ่งของออฟฟิศยังสลับกันไปเรียนต่อต่างประเทศ ใช้วิธีประชุม Skype กัน คนที่อยู่ไทยก็ดูแลออฟฟิศไปในกำลังที่ทำได้ ตอนนั้นมีพนักงานแค่ 2-4 คนเอง แต่เมื่อไหร่ที่เอาจำนวนพาร์ตเนอร์ไปบวกบริษัทเราจะใหญ่ทันทีเลย (หัวเราะ) เราก็ลงไปทำงานเองไม่ได้เป็นผู้บริหารสั่งการอย่างเดียว

ช่วงแรกๆ ยังไม่มีการบริหารจัดการออฟฟิศที่ชัดเจน จะมีแค่คนนึงดูเรื่องบัญชี อีกคนทำงานเอกสารเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น สัญญา ใบเสนอราคา วางบิล ที่เหลือก็กระจัดกระจาย ไม่มีงานบริหารที่ชัดเจนแต่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการเบรนสตอร์มโปรเจกต์เกือบทั้งหมด

เฟสที่ 2 เราเริ่มขยับขยาย จากออฟฟิศพาร์ตเนอร์ 10 คน พนักงาน 5 คน ก็มีพนักงานเยอะขึ้น พาร์ตเนอร์ที่เรียนอยู่ต่างประเทศก็เริ่มทยอยกลับมาจนครบทีมประมาณปี 2016 ตอนนั้นเราถึงมาตั้งทิศทางให้บริษัทกันอีกครั้ง พาร์ตเนอร์ไปมีตติ้ง เวิร์กช็อปที่ต่างจังหวัดกัน

ในกลุ่มพาร์ตเนอร์จะมีเพื่อนชื่อแฟม เป็นเพื่อนที่มีจุดเด่นเรื่องการสื่อสาร พรีเซนต์เก่ง ประสานงานเก่ง คนนี้แหละที่เป็น moderator ตอนส่งอีเมลคุยกันเรื่องตั้งออฟฟิศ พอไปเวิร์กช็อปแฟมก็เป็น moderator เหมือนเดิม สุดท้ายผลลัพธ์จากการเวิร์กช็อปคือการที่เราเลือกไดเรกชั่นบริษัทและเซตงานบริหารเพิ่มอีก 5 พาร์ต แยกออกเป็นฝ่าย HR, โอเปอเรชั่น, ไฟแนนซ์, มาร์เก็ตติ้ง และ R&D กระจายออกไปฝ่ายละ 2 คน

ในเมื่อไม่มีใครเคยทำงานบริหารกันมาก่อน คุณแบ่งหน้าที่กันยังไง

กวง : ในหมู่พวกเราไม่ได้มีคนที่จบสายธุรกิจมาก็จริง แต่ตอนเรียนปริญญาโทก็มีทั้งคนที่ไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมและคนที่ไปเรียน MBA พอกลับมาคุยกันเราก็จะเริ่มมีมายด์เซตว่าบริษัทมันต้องเป็นยังไง 

ตอนเริ่มแบ่งหน้าที่กันเราก็คิดก่อนว่าบริษัทต้องมีฝ่ายบริหารอะไรบ้าง ได้ออกมา 5 ฝ่าย เสร็จแล้วก็ให้พาร์ตเนอร์ทุกคนเขียนลักษณะเด่นของเพื่อนแต่ละคนลงโพสต์อิท เช่น คนนี้ตัดสินใจรวดเร็ว คนนี้มีความประนีประนอม ไม่ดุจนเกินไป แล้วก็เอาคุณสมบัติของแต่ละคนไปจับกับคุณสมบัติที่ฝ่ายต่างๆ ต้องมี

เฟย : สมมติจะเลือกคนมาเป็น HR เราอยากได้คนที่มีความสามารถในการรับฟัง เป็นที่ไว้วางใจของทุกคน เราก็พยายามจินตนาการว่าเวลาน้องมีปัญหาจะมาคุยกับใคร ​ซึ่งพอพวกเราเป็นเพื่อนกันปุ๊บเราก็จะรู้ว่าอ๋อ คนที่มีคุณสมบัตินี้น่าจะเป็นไอ้นี่กับไอ้นี่

กวง : เฟส 2 จบที่ธุรกิจก็ไปด้วยดี ดีกว่าเฟส 1 เยอะ เฟส 1 เหมือนเป็นการลองผิดลองถูกล้วนๆ กำไรไม่ได้เยอะแต่ก็ไม่ได้ขาดทุน โชคดีที่ออฟฟิศยังไม่เจ๊ง แต่พอเข้าเฟส 2 บริษัทเริ่มชัดเจนขึ้น ตัวเลขรายได้ก็ดูคงที่ขึ้นแล้วก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงเฟสที่ 3

ธุรกิจดูเข้าที่เข้าทางแล้ว คุณปรับปรุงอะไรในเฟสที่ 3 อีก

กวง : ก่อนเฟส 3 เราทุกคนจะทำงานสลับกันไปหมดเลย เรากระโดดไปอยู่ในโปรเจกต์นู้นโปรเจกต์นี้ด้วยวิธีคิดคือเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดูแล้วน่าจะ ‘เข้าทาง’ กับโปรเจกต์แต่ละอัน จากทั้งสาขาที่เรียนมาและลักษณะนิสัย ความชอบของแต่ละคน เวลาคุยกันเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าโปรเจกต์นี้ต้องเป็นคนนี้ แล้วเราก็พยายามจัดแจงเวลาให้เขาได้ทำ เวลาทำงานก็จะเลือกน้องในบริษัทมาสร้างทีมทำงานสลับกันไปมา ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือมันเป็นธรรมชาติมาก

นิน : แต่ข้อเสียก็มี มันจะมีเหตุการณ์ที่บางคนต้องไปทำงานที่ไม่ถนัดแล้วออกมาแข็งมาก

เฟย : มันแข็งเพราะสล็อตเวลาคนนี้รับงานได้ คนอื่นไม่ว่างแล้ว มีแค่คนนี้ที่เป็นคนว่างทำ (หัวเราะ) 

กวง : มันเหมือนเราคิดง่ายๆ ว่าพาร์ตเนอร์คนนึงต้องรับผิดชอบงานได้กี่โปรเจกต์แล้วก็รับงานเข้ามา แต่เอาจริงๆ งานที่เข้ามามันอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนที่ว่างรับงานก็ได้ มันไม่เวิร์ก สุดท้ายคนอื่นก็ต้องมาช่วยอยู่ดี

นิน : การบริหารก็ยากมาก เช่น สำหรับ HR มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจน้องทุกคนในออฟฟิศ การที่เราจะสามารถเห็นทาเลนต์และซัพพอร์ตเขาให้เติบโตขึ้นได้มันต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งจะเกิดจากการทำงานร่วมกันแต่ว่าเราไม่ได้ทำงานคลุกคลีกับน้องๆ ทุกคน ดังนั้นมันก็จะเกิดกรณีที่ทำให้เราจัดการไม่ได้

กวง : ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มรู้สึกว่าพวกเรามีความเป็นผู้นำมากขึ้น แล้วก็เริ่มมองภาพบริษัทว่าเป็นการรวมตัวกันของสตูดิโอย่อยๆ ที่มีหน้าที่ชัดเจน ในเฟส 3 เราเลยปรับการทำงานเป็นรูปแบบสตูดิโอดู

สตูดิโอที่ 1 เป็นสตูดิโอที่ทำงาน public building งานอะไรที่เป็นสาธารณะเราทำหมดตั้งแต่สเกลผังแม่บท (masterplan) ไปจนถึงอาคารสาธารณะ สตูดิโอที่ 2 ทำงานด้าน residential หรือที่อยู่อาศัยตั้งแต่บ้านส่วนบุคคลจนถึงอสังหาริมทรัพย์ สตูดิโอที่ 3 ทำงานด้านอินทีเรียร์ ออกแบบตกแต่งภายใน และสตูดิโอที่ 4 ทำงานด้านกราฟิก

พาร์ตเนอร์แต่ละคนจะรับผิดชอบสตูดิโอของตัวเองแล้วก็ยังมีหน้าที่ด้านบริหารที่ได้รับไปในเฟส 2 อยู่นะ แต่ว่าคราวนี้มันจะเบาขึ้นเพราะว่างานในบางส่วนพาร์ตเนอร์ที่ดูแลสตูดิโอนั้นๆ ก็จะรับผิดชอบไปแล้ว สเตปนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก

นิน : พอเราแยกทำงานเป็นสตูดิโอ ลีดเดอร์ของแต่ละทีมก็สามารถสังเกตน้องในทีมของตัวเองได้อย่างทั่วถึง เราจะเห็นเลยว่าพอข้ามมาเป็นเฟส 3 ปุ๊บ เรื่องการจัดการคนว่าใครเหมาะกับการทำงานอะไร ใครควรได้รับการโปรโมต ใครควรจะได้รับการซัพพอร์ตด้านไหนมันดีขึ้นเยอะมาก 

หลายบริษัทเริ่มต้นจากผู้ก่อตั้งที่เชี่ยวชาญในด้านที่ต่างกัน พอถึงเวลาหนึ่งก็แยกไปเปิดบริษัทของตัวเองหรือทำงานร่วมกันในฐานะบริษัทในเครือ อะไรที่ทำให้ทุกคนยังอยู่ร่วมกันภายใต้ IF ไม่ออกไปตั้งบริษัทของตัวเอง

กวง : แรกสุดตอนตั้งบริษัทเราก็คิดเหมือนกันนะว่าต่างคนต่างแยกสตูดิโอไหมเพราะมันดูเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดแล้ว ไม่ทะเลาะกันด้วย แต่ที่เราไม่เลือกแยกสตูดิโอเพราะว่าถ้าเราทำอย่างนั้น วันหนึ่งปลายทางก็คือแยกออฟฟิศใช่ไหม แปลว่าต่างคนก็ต่างอยู่เดี่ยวๆ ได้ แล้วมันจะ integrate กันเหรอ สิ่งที่เราอยากจะทำงานข้ามสาขามันจะเป็นยังไง มันเลยเป็นเหตุผลที่ 6-7 ปีแรกเราไม่แยกสตูดิโอเลย

ด้วยนิสัยพวกเราจะมีความเป็น team player เล่นกีฬาก็เล่นกันเป็นทีม อย่างคณะสถาปัตย์เขาจะเล่นรักบี้กันใช่ไหม พวกเราก็เป็นทีมรักบี้ประจำรุ่นซึ่งเราก็เล่นรักบี้กันไม่ค่อยเก่งด้วย (หัวเราะ) มีคนเก่งไม่กี่คน ถ้าวัดสกิล head-to-head นี่แพ้คนอื่นแน่ แต่มีครั้งนึงเราได้แชมป์ เพราะว่าฝนตกหนักมาก ทีมที่เขาเล่นเก่งลื่นกระจาย (หัวเราะ)

แต่หลักๆ ก็คือกีฬามันเป็นภาพเปรียบเทียบที่ดีเพราะพวกเรามีมายด์เซตว่าเราไม่ได้เก่งแบบซูเปอร์ฮีโร่แต่ถ้าเกิดเรามีสถานการณ์และทีมเวิร์กที่เหมาะสมเราก็ทำได้

เฟย : สไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น มีความเร่าร้อน (หัวเราะ)

กวง : ส่วนที่เราแยกสตูดิโอเหตุผลก็ไม่ใช่เพราะเราอยากยุ่งเกี่ยวกันน้อยลง แต่เรารู้สึกว่ามันจะพัฒนาความถนัดแต่ละด้านในทางลึกได้มากขึ้น ผลักดันงานให้ไปสุดได้มากขึ้น การที่เราทำอย่างนี้ได้จริงๆ ก็ต้องคิดว่า 6-7 ปีที่ผ่านมามันเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้เรารู้สึกไว้ใจ เชื่อใจและรู้ใจกัน ทุกวันนี้เวลาทำงานก็ยังมีการทำข้ามแพลตฟอร์มกันอยู่ มีงานสเกลใหญ่ที่หลายทีมต้องช่วยกันเยอะเหมือนกัน

ในเชิงธุรกิจ เราเคยตั้งคำถามอย่างนี้ว่าถ้าเราแต่ละคนเปิดออฟฟิศของตัวเองเราจะทำเงินได้สักเท่าไหร่ เช่น สมมติคนนึงบอกว่าทำได้ 5 ล้านสบายๆ อีกคนอาจจะบอกว่าทำได้ 2-3 ล้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่อทุกคนรวมตัวอยู่ในบริษัทเดียวกัน ตัวเลขที่บริษัททำได้มันจะมากกว่าที่แต่ละคนทำได้ด้วยตัวเองและทำให้เติบโตได้มากกว่าด้วย เราคิดว่ารวมกันอย่างนี้เวิร์กกับ business model ของเรามากกว่า

เฟย : ส่วนผมรู้สึกว่างานยังสนุกอยู่และถ้าทำคนเดียวคงไม่สนุกเท่านี้ ความสนุกมันผลักดันให้เราอยากทำงานไปเรื่อยๆ อีกอย่างคือเรื่องความรู้สึก ลองนึกภาพว่าตอนเช้าเข้ามาออฟฟิศแล้วมานั่งทำงานอยู่คนเดียวมันจะมีความรู้สึกว่าใช่หรือเปล่าวะ (กวง : มันคงจะเฉานะเอาจริงๆ) เออ หรือว่าเราอาจจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมนี้จนชินแล้ว มันลงตัวแล้ว บรรยากาศนี้มันดูใช่ ถ้าไม่นับเรื่องธุรกิจ ที่นี่ก็ยังเป็นที่ที่เราอยู่แล้วแฮปปี้ 

เรารู้สึกว่าหน้าที่ที่เราแบ่งกันอยู่ตอนนี้มันเมคเซนส์ เราคนเดียวคงไม่สามารถบริหารทุกด้านที่แต่ละคนช่วยกันบริหารอยู่ได้ ถ้าเราออกไปอยู่เอง รับผิดชอบทุกอย่างเองมันอาจจะไม่สมดุลเท่านี้ก็ได้

นิน : เคยมีคนถามเราว่าพอโตขึ้นแล้วช่วงนี้เป็นยังไง เจอเพื่อนบ่อยไหม (หัวเราะพร้อมกัน) เออ บางทีโดนถามแล้วเราก็จะงงๆ กูเจอเพื่อนทุกวันทำไมถึงถามแปลกๆ แต่พอโตขึ้นก็เข้าใจแล้ว คนอื่นเขาไม่ได้เจอเพื่อนทุกวัน

ความที่เป็นเพื่อนกันมาก่อนมีผลต่อการทำงานไหม 

กวง : ส่วนมากก็จะส่งผลในแง่ดีเพราะว่าพอเป็นเพื่อนกัน แล้วด้วยความโชคดีที่พวกเราพื้นฐานจิตใจก็เป็นคนดีประมาณนึง (หัวเราะ) มีศีลธรรมในจิตใจพอประมาณเราก็จะมีความไว้ใจกันว่ามึงไม่โกงเงินกูหรอก

คือพอเป็นเพื่อนกันก็จะมีความเชื่อใจ ไว้ใจ และเคารพกัน เช่น ตั้งแต่เรียนเรารู้สึกชอบมุมนี้ของเพื่อนคนนี้มากๆ ถ้าเป็นเรื่องนี้เขาโคตรน่านับถือเลย เวลาเป็นเพื่อนกันไม่มากก็น้อยมันจะเห็นแง่มุมนี้ของกันและกัน เป็นเรื่องดีในเวลาที่เราต้องคิดอะไรแทนใครเราก็จะกล้าคิดนิดนึง

นิน : โดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่มีกันหลายๆ คนแล้วร่วมกันตัดสินใจบางเรื่องมันทำให้เราไม่หลุดออกไปในทางที่แปลกๆ  ลองนึกภาพผู้นำเผด็จการที่พอคนหนึ่งคนที่เริ่มมีอำนาจทุกอย่างบางทีก็เริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอยเพราะไม่มีคนมาคอยดึง

กวง : พูดง่ายๆ คือมันเหมือนเรามีสภาอยู่และเราคงไม่เห็นผิดพร้อมกัน 10 คน

นิน : จริงๆ การมีคนตัดสินใจเยอะมันก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ว่าเราก็เทคมันในแง่ที่เป็นข้อดีมากกว่า

ทะเลาะกันบ้างไหม

กวง : เมื่อก่อนจะมีประเด็นเรื่องความสวยเยอะ กูว่าสวยแล้ว มึงว่ายังไม่สวย โดยเฉพาะตอนที่เรายังไม่ได้แบ่งงานกันชัดเจน มันไม่ได้เป็นแนวทะเลาะกันแต่เป็นแนวพยายามดื้อที่จะบอกว่าอันนี้มันดียังไง เลือกอันนี้สิ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว พอเคารพกันมากขึ้นเราจะไม่ค่อยไปรื้อแบบคนอื่น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคอมเมนต์ มีสิทธิ์ที่จะให้ไอเดีย แต่สิทธิ์ในการตัดสินใจทิศทางของผลงานชิ้นนั้นดีไซน์ไดเรกเตอร์ของโปรเจกต์ต้องเป็นคนเลือก พอเคลียร์กันอย่างนี้มันก็จบ

แล้วงานเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือเปล่า

กวง : เปลี่ยน เปลี่ยนเยอะเลย เหมือนเมื่อก่อนเราก็จะรู้สึกว่าใครเก่งเรื่องไหนก็จะให้ทำเรื่องนั้นแต่ทุกคนก็เก่งขึ้น อัพสกิลระหว่างทางมาเยอะ ฉะนั้นพวกเราก็จะรู้สึกว่าแต่ละเรื่องปล่อยให้แต่ละคนทำไปได้เลย เห็นอีกทีตอนมึงส่งเมลไปแล้ว (หัวเราะ)

ยิ่งพอไว้ใจกันมากขึ้นเรื่องที่แค่ FYI ก็มีเยอะขึ้น แต่เรื่องไหนที่ เออ เดี๋ยวต้องคุยกันหน่อยก็นัดคุยกัน ข้อดีของการสนิทกันอย่างนี้คือคุยกันตอน 4-5 ทุ่มก็ได้ ยืดหยุ่นมาก คือเราอาจจะเคลื่อนตัวช้ากว่าการตัดสินใจคนเดียว แต่เราก็รู้ว่านั่นคือจุดอ่อนและเราก็พยายามอุดจุดอ่อนนั้นด้วยการพยายามทำให้การคิดแบบ 10 คนเร็วขึ้นให้ได้แทน

วิธีทำงานระหว่างพวกคุณถ่ายทอดสู่ทีมงานคนอื่นๆ ด้วยไหม

กวง : เรามีมายด์เซตว่าพวกเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบแต่ทุกคนเติมเต็มกันเอง เราจะไม่คาดหวังสิ่งที่พาร์ตเนอร์คนนี้ทำไม่ได้จากเขา มันไม่มีประโยชน์ แค่พยายามมองว่าเขาเก่งเรื่องอะไรจริงๆ แล้วทำให้ตรงนั้นมันเด่นขึ้นดีกว่า พอพวกเราเป็นแบบนี้เราก็พยายามสร้างทีมพนักงานให้เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เราไม่คาดหวังว่าคนนึงจะต้องทำได้เหมือนอีกคนนึงแต่ให้แต่ละคนเขามีจุดเด่นของเขาเอง

ชาเลนจ์หลักของเราตอนนี้คือเราพยายามให้พนักงานระดับซีเนียร์รับแนวคิดนี้ไปใช้ รับดีเอ็นเอตรงนี้จากพวกเรา ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการดึงคนขึ้นมาเป็น associate ให้เขาเริ่มลองตัดสินใจไดเรกชั่นของออฟฟิศ ไดเรกชั่นของสตูดิโอดู

อะไรทำให้เริ่มโปรโมตพนักงานขึ้นมาเป็นพาร์ตเนอร์

นิน : เราอยากจะพัฒนา career path ของคนในวงการนี้เพราะเด็กจบใหม่ไม่ค่อยอยากจะทำงานสถาปัตย์เท่าไหร่ เป็นมาตั้งแต่ตอนที่เราเรียนแล้ว มันมีภาพจำว่ามันเป็นอาชีพที่ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย ถ้าอยากจะเติบโตก็มีวิธีเดียวก็คือต้องไปตั้งออฟฟิศของตัวเองซึ่งเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำให้ความรู้สึกนี้มันหายไป

กวง : ตอนแรกสุดเราคิดกันเยอะมากเลยนะ เรามีพาร์ตเนอร์ตั้ง 12 คนแล้ว เรายังต้องการอีกเหรอวะ แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าจริงๆ พาร์ตเนอร์เยอะก็ไม่เป็นไร ก็ดึงขึ้นมา

นิน : เพราะจาก 12 เป็น 13 คนก็ไม่ต่างกัน (หัวเราะ)

กวง : โอเค การที่หุ้นเยอะขึ้นมันส่งผลต่อเรื่องการแบ่งผลกำไร เงินปันผลที่ต้องแชร์เท่าๆ กัน ดังนั้นสุดท้ายแล้วโกลคือเราทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันคือทำยังไงก็ได้ให้เค้กก้อนนี้มันใหญ่ขึ้นแล้วทุกคนก็ได้ส่วนแบ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งตอนนี้เราเชื่อว่าเราอยู่ในทิศทางนั้นอยู่นะ พาร์ตเนอร์แต่ละคนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

จากที่ทำงานกับเพื่อนมานานกว่า 10 ปี คุณอยากแนะนำอะไรคนที่กำลังจะทำธุรกิจกับเพื่อน

กวง : เอาจริงก่อนจะเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อนก็ต้องเตรียมใจนะว่าอาจมีปัญหากัน ทางที่ดีที่สุดคือพยายามคิดไว้ว่าถ้ามีปัญหาก็อย่าให้ถึงขั้นต้องเลิกเป็นเพื่อนกันเลย มันไม่คุ้ม ถ้าเกิดคิดว่าทำไม่ได้ก็ไม่ควรทำธุรกิจกับเพื่อนคนนั้น ไม่มีประโยชน์เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งเสี่ยงกัน

อีกอย่างคือควรเทสต์เคมีก่อนว่าทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า แต่ก็อยากบอกว่าตอนแรกๆ พวกเราก็สงสัยในเคมีของตัวเองเหมือนกัน กูดูทำงานร่วมกับคนนี้ไม่ได้ แต่สุดท้ายถ้าเกิดเราใจกว้างพอถึงจุดนึงเราก็จะเรียนรู้ความแตกต่างหรือความไม่สมบูรณ์ได้เอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องชัดเจนเรื่องโกลด้านธุรกิจด้วย ทำงานด้วยกันแล้วธุรกิจต้องออกมาดีด้วย ถ้าทำธุรกิจด้วยกันแล้วธุรกิจไม่ดีก็อย่าทำดีกว่า ไปทำอย่างอื่นแล้วเป็นเพื่อนกันก็ได้

นิน : พูดง่ายๆ คือควรทำธุรกิจกับเพื่อนก็ต่อเมื่อมันเมคเซนส์ที่จะทำ ไม่ใช่ทำเพราะว่าเป็นเพื่อนกัน สนุกดีว่ะมาทำกันเถอะ อย่างนี้เละ

เฟย : ต้องคาดการณ์ว่า worst case ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเราคืออะไร รีเช็กกันดูว่าถ้าเกิดปัญหาแต่ละอย่างขึ้นเราจะตัดสินใจกันยังไง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างเรื่องเงิน เช่น ถ้าเกิดต้องแยกย้ายจากกันเราจะแบ่งเงินกันยังไง ถ้าเกิดมีคนถอนหุ้นไปจะจัดการยังไง ลองโยนเคสมาคุยกันเพื่อเช็กว่าแนวทางรับมือปัญหามันตรงกันไหม

กวง : แต่จริงๆ ก็ไม่ต้องกลัวนะ เรารู้สึกว่าคนก็กลัวเกินไปเหมือนกัน คิดว่าทำงานกับเพื่อนแล้วต้องทะเลาะกันแน่ มีแต่คนพูดถึงเรื่องหุ้นส่วนทะเลาะกันอะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยเมคเซนส์ถ้าจะปักใจเชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเพราะว่าบางทีคนที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันก็ทะเลาะกันใช่เปล่า หรือคนที่ไม่เป็นได้เพื่อนกันตั้งแต่แรกวันนึงก็เป็นเพื่อนกันอยู่ดีแล้วก็อาจจะมาทะเลาะกันทีหลัง อย่างนั้นแปลว่าเพราะเป็นเพื่อนกันก็เลยทะเลาะกันเหรอ แล้วคำว่าเพื่อนมันก็มีเพื่อนหลายแบบ เพื่อนที่ฟังกัน เพื่อนที่ต่างคนต่างแรง ดังนั้นเราคิดว่าก่อนทำงานด้วยกันแค่คิดว่าทำงานกับคนคนนี้จะดียังไง สบายใจจะทำงานกับเขาไหมก็พอ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าเขาเป็นเพื่อนก็ได้

นิน : มันไม่ใช่ประเด็นว่าเราเป็นเพื่อนกันหรือไม่ได้เป็นเพื่อนกันเลย ผมคิดว่าที่คนชอบถามว่าทะเลาะกันหรือเปล่าจริงๆ สิ่งที่เขาจะถามคือแบ่งเงินกันพอเหรอมากกว่า วิธีแก้ก็อย่างที่กวงบอกคือทำให้เค้ก ทำให้ส่วนแบ่งมันใหญ่ขึ้นแล้วก็แบ่งกันให้พอเท่านั้นเอง

พวกเราก็จะเจอคำถามเยอะว่า โห พาร์ตเนอร์เยอะขนาดนี้ตอนตั้งบริษัทใหม่ๆ ทำยังไง ทะเลาะกันไหม แต่เราทำงานกันมามันก็ไม่เห็นจะมีอะไรเลย มันก็ปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนั้น

กวง : จริงนะ โดนคำถามทุกครั้งบนเวทีว่าอยู่กันได้ยังไง 13 คน

นิน : ก็อยู่ธรรมดา (หัวเราะ)

กวง : ลองคิดว่าถ้าเกิดไปถามนักฟุตบอลว่าอยู่กันได้ยังไง 11 คนเขาคงบอกว่า อ้าว ก็มันต้องเล่นกัน 11 คน เราก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ถ้ามีปัญหาก็แก้กันไปก็แค่นั้นเอง

You are my best part (ner)

จากบีถึงม่อน

ม่อน คือ ศูนย์หนึ่ง ตัวเลขเริ่มต้นของตัวเลขทั้งหมด ม่อนพร้อมเป็นผู้นำและที่ปรึกษาให้เราได้ตลอดเวลา ด้วยมุมมองและความคิดที่เด็ดขาด เฉียบคม และแม่นยำ ขอบคุณมากๆ

จากม่อนถึงกวง

กวง เป็นเหมือนกองหน้าของบริษัท เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์คอยมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างโอกาส การพัฒนาบริษัทอยู่ตลอดเวลา แล้วยังเป็นคนใจเย็น เป็นคนที่คอยทำให้เพื่อนๆ ในกลุ่มกลมเกลียวกันเป็นหนึ่งเดียว

จากกวงถึงทอพ

ทอพเป็นคนที่มีทั้ง vision, skill, และ sense ด้านการออกแบบดีมาก การใช้ชีวิตและการทำงานสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นคนที่ทุ่มเทและมีแพสชั่นกับงานและองค์กรมากๆ ส่งผลให้คนรอบข้างที่ร่วมงานได้รับแรงตรงนี้ไปด้วย

จากทอพถึงเฟย

เฟยเป็นคนประณีต นั่งทำอะไรเนี้ยบๆ ได้ทั้งวัน

เฟยไม่ได้เป็นกราฟิก แต่กราฟิกต่างหากที่เป็นเฟย

เฟยเป็นคนกินเก่ง กินอะไรไม่หมด เฟยก็ช่วยเราได้

เฟยเป็นคนชอบดื่ม ดื่มได้ทั้งหมด แต่ควรเริ่มด้วยเบียร์

เฟยเป็นคนสนุก ถ้าเจอเฟยสุด ก็ต้องจับไมค์ 

เฟยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ขึ้นต้นด้วยอะไรก็ได้ ถ้าจะให้ดีต้องจบด้วย ยี้ส์…….

เฟยเป็นคนรักเพื่อนมาก เลยกลายเป็นเรื่องยากที่เราจะขาดเฟย

จากเฟยถึงกัน

กันเป็นคนใจดีมีรถกระบะและสบายแฮ

ถ้านึกถึงกัน ก็ต้องนึกถึงความเต็มที่ ไปไหนไปกันในทุกๆ เรื่อง ใช้ใจแลกใจ เป็นคนตรงและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เวลาที่คุยกันก็มักจะมี unpopular opinion มาแชร์กันตรงๆ ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจของพวกเรากลมกล่อมมากขึ้นเสมอๆ

จากกันถึงนานา

ส่วนตัวแล้วผมหลงรักรอยยิ้มของนานามากตั้งเเต่วันแรกเจอและที่มากกว่านั้น นานาทั้งเก่ง ทั้งขยัน ทั้งนิ่ง ทั้งน่ารัก ทั้งมีเสน่ห์ เชี่ย! โคตรใช่กะ IF เลย

จากนานาถึงนิน

รอบรู้ ความรู้หลากหลาย เวลาเสนอไอเดียเลยแปลกใหม่ ดูภาพรวมสรุปใจความเก่ง คำสวย วาทศิลป์ดี พี่นินทำให้โฟลว์การทำงานและบรรยากาศในทีมดีมากเวลาทำงานร่วมกัน

จากนินถึงโอ

โอเป็นคนน่ารัก ใจดี มีความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเกิดปัญหาโอจะทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็กได้เสมอ

จากโอถึงวิน

วินเป็นผู้ชายที่ทำอะไรด้วยเหตุผลและตรรกะเสมอ สุดยอดมนุษย์ที่ไม่ใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้อง แบ่งแยกได้อย่างแน่วแน่ ที่สำคัญขยัน และความรับผิดชอบคือสุดยอดคุณสมบัติที่ไม่มีใครเปรียบเขาได้จริงๆ สุดยอดครับ

จากวินถึงเข่ง

เข่ง เป็นคนมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจนมาก ไม่ค่อยหวั่นไหวคล้อยตามคนอื่น กล้าตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำ เป็นคนหัวดี หัวไว พึ่งพาได้ ที่สำคัญสุดเลยคือเป็นเพื่อนที่พูดตรงและจริงใจมากๆ คนนึง

จากเข่งถึงแฟม

แฟมเป็นพาร์ตเนอร์ที่สวยที่สุดรองจากนานา

จากแฟมถึงบี

จุดเด่นของบีคือการเป็นคนที่มีทัศนคติที่เป็นบวก ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดบีก็จะสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาด้วยดีและเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องดีได้ด้วยทัศนคติตั้งต้นที่เป็นบวกและใจเย็นมาก บีเป็นคนที่เพื่อนในทีมเลือกให้เป็นผู้นำเสมอเพราะบีมี empathy สูงมาก และด้วยบุคลิกที่ค่อนข้าง humble, มีน้ำใจ, จริงใจ และตรงไปตรงมาของบี น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของบีที่ทุกคนยอมรับและอยากร่วมงานด้วย

จากทุกคนถึงจิน

จินเป็นคนที่สงบ สุขุม ละเอียดลออ พูดน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก เป็นคนเก่งทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ มีทั้งความรอบรู้และความสุนทรีย์ และที่สำคัญ “เป็นคนพิเศษที่ทำตัวธรรมดา”

คิดถึงเสมอนะจิน

ตัวอย่างผลงานของ IF

คำแนะนำจากอาจารย์ Harvard Business School ‘เคล็ดลับการมีความสุขไม่ใช่ความสำเร็จแต่คือการเป็นผู้ให้’

‘ความท้าทายในการมีความสุขของคนสำเร็จคือความสำเร็จ’ คืออินไซต์ที่เล่าในเซสชั่น ‘Leadership, Happiness, and Success at Every Stage of Life’ โดย ลีโอนาร์ด ชเลซิงเกอร์ (Professor Leonard A. Schlesinger) หนึ่งในผู้ออกแบบหลักสูตรคอร์ส ‘Leadership & Happiness’ ของ Harvard Business School โดยเขาบินตรงมาไทยเพื่อเล่าเคล็ดลับความสุขของชีวิตในกิจกรรมของ Harvard Business School Association of Thailand

หลายครั้งคนเรามักเข้าใจว่าถ้าเราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วจะมีความสุข แต่โปรเฟสเซอร์จากฮาร์วาร์ด กำลังบอกว่าความจริงอาจเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน

ชเลซิงเกอร์บอกว่าข้อมูลจากผลสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนพบว่า
คนเรามีแพตเทิร์นความพึงพอใจในชีวิตคล้ายกันอยู่ 2 ช่วงใหญ่ ช่วงครึ่งแรก (First Half) คือตั้งแต่ช่วงอายุ 16-50 กว่าในวัยทำงานจนถึงวัยกลางคนซึ่งกราฟความพึงพอใจในชีวิตจะเป็นกราฟลงและตกลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น แต่เมื่อถึงครึ่งหลัง (Second Half) ตั้งแต่อายุราว 60 ปีเป็นต้นไป ความพึงพอใจในชีวิตจะพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและคงระดับคงที่โดยไม่ขึ้นหรือตกฮวบฮาบมากนักในช่วงบั้นปลาย

ชเลซิงเกอร์แนะนำว่าแพตเทิร์นของความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตย่อมมีขาขึ้นและขาลงสลับกันไปตลอดเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่เป็นผู้นำย่อมไม่ปล่อยให้ความสุขขึ้นอยู่กับโชคชะตาและเป็นคนเลือกเส้นทางที่ปูทางให้มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกเส้นทางกราฟขาขึ้นในชีวิตด้วยตัวเอง หรือ ‘Get on the upper path, avoid the lower path’ คำถามคือในทางปฏิบัติ จะทำยังไงให้สามารถเลือกเส้นทางความสุขได้ เพราะเพียงแค่คิดก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกดปุ่มเปิดสวิตช์ความสุขได้เองง่ายๆ

ในเซสชั่นนี้ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘ความสำเร็จ’ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้เกิดความสุขโดยเฉพาะในบั้นปลายชีวิต ชเลซิงเกอร์กล่าวถึง The Success-curve หรือ แพตเทิร์นความพึงพอใจในชีวิตที่มักเกิดขึ้นกับคนที่ประสบความสำเร็จสูงว่าแม้จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ก็หลีกเลี่ยงช่วงขาลงที่อาจประสบความสำเร็จน้อยกว่าช่วงอื่นในชีวิตไม่ได้เช่นกัน มีผลการสำรวจและบันทึกความคิดของเหล่าผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคนทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลและนวัตกรชื่อดังว่าแม้กระทั่งคนระดับตำนานที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ทั่วโลก ก็มีช่วงที่เกิดความรู้สึกล้มเหลวหรือไม่มีความสุขและหลายครั้งความรู้สึกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต

ชเลซิงเกอร์บอกว่าที่คนเหล่านี้ไม่มีความสุขเพราะยิ่งเคยประสบความสำเร็จหรืออยู่สูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีทางขาลงที่สูงชันกว่าคนอื่นเช่นกัน ถ้าแพตเทิร์นเหล่านี้ยังเกิดกับคนเก่งที่สำเร็จมากๆ มาแล้ว คนทั่วไปก็คงหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่พอใจหรือล้มเหลวในชีวิตได้เช่นกันซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แล้วเราควรพัฒนาตัวเองยังไงถ้าความสำเร็จมากๆ ไม่ใช่คำตอบ

ถึงตรงนี้ชเลซิงเกอร์บอกว่า การพัฒนาตัวเองและสั่งสมความรู้ของคนเราแบ่งได้เป็น 2 แบบตามทฤษฎี Raymond Cattell’s Two intelligence แบบแรกคือ Fluid Intelligence Brains ที่เป็นทักษะความรู้ต่างๆ จากการเรียนรู้และฝึกฝน ตัวอย่างเช่น ทักษะการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งทักษะเหล่านี้จะลดน้อยถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามธรรมชาติหลังอายุ 40 ส่วนอีกแบบคือ Crystallized Intelligence Wisdom คือความรู้ที่ได้จากการตกตะกอนจากประสบการณ์จริงในชีวิตหรือเรียกสั้นๆ ว่า wisdom ซึ่งความรู้ในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 เรื่อยไปจนแก่เฒ่า

คำแนะนำคือในช่วงต้นของชีวิตให้เน้นการฝึก Fluid Intelligence เพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้โลก
ส่วนครึ่งหลังของชีวิตให้โฟกัสที่ wisdom และถามตัวเองว่าเราจะแบ่งปัน wisdom ของเราให้ผู้อื่นได้ยังไง การมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตที่ยั่งยืนโดยเฉพาะช่วงบั้นปลายคือการแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น อย่างการเป็นครูหรือเป็นผู้ให้ 

พอนิยามความสุขกลายเป็นการให้ นั่นแปลว่าคนเราสามารถ ‘ลงมือทำ’ ให้เกิดความสุขได้ แบ่งปัน wisdom ในชีวิตของเราให้ผู้อื่นควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นในการมีชีวิตที่ดีอย่างการมีเพื่อนและครอบครัวที่ดี มีความเชื่อและ purpose ที่ขับเคลื่อนชีวิต เปลี่ยนคำถามจาก ‘What can I expect in terms of happiness as I get older ?’ เป็น ‘What can I do to get happier?’ ก็จะทำให้เราเป็นผู้สร้างความสุขในชีวิตได้ด้วยตัวเอง

Milk Kids Salon & Nails ซาลอนที่ออกแบบให้เด็กแฮปปี้โดยเฉพาะ จนมี 18 สาขาภายใน 5 ปี

Milk Kids Salon & Nails เป็นซาลอนสำหรับครอบครัวที่ออกแบบสินค้า บริการ และพื้นที่แบบ kid-centered หรือการให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการออกแบบบริการทำให้บรรยากาศในร้านเป็นมิตรกับเด็กตั้งแต่เก้าอี้นั่งทำผมที่เป็นรถของเล่น มุมสินค้าเสริมสวยและของเล่นสำหรับเด็กรวมถึงการบริการที่เจ้าของซาลอนแห่งนี้มองว่าเป็น emotional service ที่ไม่ใช่แค่บริการตัดผมหรือทำเล็บแต่พนักงานที่ร้านต้องมีทักษะในการเอาใจใส่และบริหารอารมณ์ของเด็กๆ ด้วยเพื่อให้ประสบการณ์ที่ร้านออกมาแฮปปี้ที่สุด 

วันนี้เราอยากพามาเรียนวิชา service design หรือศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่าการทำธุรกิจของ นุ่น–ชญานี ช้างหลำ อิศราคาร และ ม่อน–ศุภเดช อิศราคาร โดยนุ่นเองได้ใช้แพสชั่นความเป็นคุณแม่มาจุดประกายไอเดียทางธุรกิจและหาอินไซต์ในการทำรีเสิร์ชเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มครอบครัวรวมถึงหาจุดเด่นของสินค้าและบริการจนทำธุรกิจสำเร็จ สามารถขยายซาลอนได้ถึง 18 สาขาภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งธุรกิจและผ่านช่วงท้าทายที่ต้องปิดทุกสาขาในช่วงโควิด-19 มาได้   

ลองนึกภาพว่าถ้าคุณได้โจทย์ทำธุรกิจร้านทำผมหรือทำเล็บให้เด็กเล็ก คุณจะออกแบบสเปซและบริการในร้านยังไง

บทบาท ‘คุณแม่’ ในชีวิตจริงทำให้คุณเห็นโอกาสทางธุรกิจยังไง

เราเป็นคุณแม่ลูกสองที่ชอบความสวยความงามทั้งตัดผมและทำเล็บอยู่แล้ว พอมีลูกสาวสองคนก็เลยอยากทำร้านนี้เพราะมองหาสถานที่ให้ลูกสาวมาใช้ สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเอง เวลาเราอยากเสริมสวยก็ต้องมีลูกอยู่ด้วย แต่พอพาลูกไปร้านทำผมหรือร้านทำเล็บ ด้วยกลิ่นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีต่างๆ ของผู้ใหญ่ พอกลับมาจากร้านแล้วลูกมีอาการแพ้เยอะหรือลูกต้องไปนอนหลับรอเราที่ร้านเฉยๆ โดยไม่ได้ทำด้วยกัน ก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีร้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณแม่และคุณลูกที่อยากใช้เวลาด้วยกันแบบเรา

ช่องว่างในตลาดร้านเสริมสวยสำหรับเด็กที่ยังไม่มีใครทำคืออะไร  

ย้อนกลับไปก่อนเปิดร้าน เราเห็นว่าในตลาดมีซาลอนสำหรับครอบครัวลักษณะนี้อยู่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ร้านสำหรับเด็กจะเป็นร้านตัดผมและไม่มีร้านทำเล็บเลย ดังนั้นไอเดียแรกสุดจึงตั้งใจจะเป็นร้านทำเล็บอย่างเดียว แต่หลังจากรีเสิร์ชข้อมูลแล้ว มองว่าที่ไทยยังไม่ค่อยมีบริการที่ครอบคลุมสำหรับทั้งครอบครัว มันก็เลยเป็นที่มาที่ไปว่าเราจะทำเป็นซาลอนพรีเมียมแบบ full-service ที่เป็นทั้งร้านตัดผมและทำเล็บสำหรับเด็กทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงผู้ใหญ่ก็มาใช้บริการได้ด้วย เราคิดว่าถ้าโฟกัสเฉพาะเด็กผู้หญิงก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วน ซึ่งพอร้านเปิดมาก็มีทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เกือบครึ่ง ๆ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็สามารถใช้บริการถักผมและทำเล็บ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะเน้นสระและตัดผม

คำว่า ‘ซาลอนสำหรับครอบครัว’ นั้นครอบคลุมช่วงอายุของลูกค้าหลากหลายมาก ลูกค้าหลักของคุณอยู่ในกลุ่มอายุช่วงไหน 

ลูกค้าที่มาใช้บริการมากที่สุดในตอนนี้จะเป็นกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 1-3 ขวบ น้องเล็กที่สุดที่เรารับบริการคืออายุ 7 วันก็สามารถมาตัดผมได้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเกือบทั้งหมดราว 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่คุณพ่อและคุณแม่มาใช้บริการพร้อมกับลูก มีคุณแม่มาทำเล็บพร้อมลูกชายที่มาตัดผม เป็นภาพของครอบครัวที่มาใช้เวลาร่วมกันในร้านเหมือนที่เราตั้งใจไว้

แต่ด้วยความที่ในร้านทุกวันนี้จะมีลูกค้าเด็กค่อนข้างแน่นมากและเป็นคิวจองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้มีช่วงว่างที่เหลือสำหรับจองให้คุณพ่อกับคุณแม่ที่มาพร้อมกันค่อนข้างยากและบางทีคุณแม่ก็มักจะเกรงใจว่าเด็กๆ เยอะ ก็อาจจะมาวันธรรมดาแทน ซึ่งที่จริงเราสามารถให้บริการได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่และก็พยายามจัดสล็อตให้มีเวลาจองให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงที่ว่างก็จะมีต่างชาติที่เป็นผู้ใหญ่และครอบครัวแวะเวียนมาเยอะหน่อยเพราะเขาชอบร้านแบบนี้ 

เด็กทารกส่วนใหญ่มาใช้บริการอะไร

บางคนผมเยอะทำให้ผมเข้าตาหรือเกี่ยวหู คุณพ่อคุณแม่ก็จะให้มาช่วยเล็มผมนิดนึง หรือบางศาสนาก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องมาขลิบผมทุกๆ 7 วัน 10 วัน หรือ 1 เดือน แล้วแต่คนไป และเรายังเป็นที่แรกที่มีบริการโกนผมไฟซึ่งจัดเป็นอีเวนต์โดยคงธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ พอมาถึงเราก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ขลิบผมน้องก่อน เสร็จแล้วช่างก็จะโกนผมให้น้องหมดเลย เราจะมีใบบัวมารองให้เก็บผมน้องซึ่งบางครอบครัวจะมีความเชื่อเรื่องนี้ เราก็จะจัดเป็นเซตให้และจะมีใบ certificate ที่มีชื่อเขียนให้ 

บริการของร้านที่ฮิตเป็นพิเศษในกลุ่มลูกค้าเด็กเล็กคืออะไร 

hero service ของเราคือตัดผม ช่วงนี้การทำสีผมจะได้รับความนิยมมาก มีหลายโรงเรียนที่สามารถทำสีผมตอนเปิดเทอมได้แต่ช่วงปิดเทอมจะมีเด็กมาทำเยอะกว่าและทำเล็บก็จะรองลงมา อย่างทรงผมมาตรฐานที่มาทำกันเรื่อยๆ คือทรงผมนักเรียนเวลาไปโรงเรียน ส่วนเทรนด์การตัดผมก็จะฮิตแล้วแต่ช่วง อย่างล่าสุดเด็กก็จะเปิดรูปศิลปิน Paper Planes ให้ดูว่าเอาผมแบบ ‘ทรงอย่างแบด’  หรือก่อนหน้านี้จะมีทรง ‘อิแทวอน’ ตามพระเอกซีรีส์เกาหลี (Itaewon Class) แบบนี้ก็มาเรื่อยๆ

การทำซาลอนสำหรับเด็กมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกับร้านสำหรับผู้ใหญ่ยังไง

บริการของร้านเราเป็นเหมือน emotional service ถ้าเห็นภาพของเด็ก 1 ขวบ เขาจะไม่ได้อยู่นิ่ง เป็นวัยที่ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วเด็กที่มาร้านเราก็ไม่ได้ดื้อแต่จะมีความเป็นเด็ก คือมีความซน เพราะฉะนั้นความท้าทายของช่างและคุณพ่อคุณแม่คือต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ประสบการณ์การตัดผมของน้องๆ ออกมาดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

น้องบางคนอาจเคยเจอประสบการณ์ตัดผมที่ไม่ดีในครั้งแรกมาก่อน ซึ่งสำหรับเด็ก เวลาเจออะไรที่มันไม่โอเคในครั้งแรก พอไปตัดผมที่ร้านอื่นหรือพ่อแม่ตัดให้เองในครั้งที่ 2, 3 และครั้งต่อๆ ไปจะทำให้ตัดผมค่อนข้างยาก กลายเป็นไม่สมูทเท่าที่ควรเพราะอาจฝังใจและกลัวการตัดผมมาแล้ว

พอการตัดผมเด็กไม่ใช่งานง่าย คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจว่าเราทำเท่าที่เราสามารถทำได้ สำหรับเราเลยไม่ได้มองว่าการตัดผมเด็กนั้นต้องการให้เนี้ยบหรือเป๊ะทุกเส้น แต่อยากให้น้องๆ มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด แฮปปี้ที่สุด และสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดอีกอย่างคือความสะอาดที่มาคู่กับความปลอดภัยของเด็ก

พอเป็น emotional service คุณมีแนวทางบริหารอารมณ์ของลูกค้ายังไง เช่น เวลาเจอลูกค้าเด็กที่ไม่อยากตัดผม

ส่วนใหญ่คนจะเห็นภาพว่าถ้าน้องๆ ไม่ยอมตัดผม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมาช่วยกันล็อกตัวไว้ จะได้ช่วยกันตัดให้เสร็จเร็วๆ แต่จะไม่มีภาพแบบนั้นในร้าน Milk เราจะไม่มีการบีบบังคับหรือล็อกน้อง เราจะแบ่งเวลาเป็น 1 ชั่วโมงเพื่อให้ช่างได้ทำงานอย่างเต็มที่ให้น้องๆ ในแต่ละสล็อตเวลา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเสร็จเร็วภายใน 10-15 นาที ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมมาร้าน Milk ต้องจองก่อน ลูกค้าของเราเปลี่ยนไปตลอดเวลาในทุกวันเพราะเมื่อวัยของเด็กเปลี่ยน พฤติกรรมก็อาจจะเปลี่ยนตามวัยด้วย น้องบางคนมาครั้งแรกพบว่าตัดง่ายนั่งนิ่ง แต่พอวัยเปลี่ยนจาก 1 ขวบเป็น 2 ขวบก็เริ่มตัดผมยากขึ้นก็มี

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการบริการคือการสะสมประสบการณ์ของช่างในร้านจากการเจอลูกค้าในทุกวัน ทำให้รู้ว่าถ้าเด็กมาแนวนี้จะรับมือยังไง หรือถ้ามากันทั้งครอบครัวต้องมีวิธียังไงในการทำให้ผู้ปกครองรู้สึกอุ่นใจ เช่น ลูกค้าที่มีหลานคนแรกมักจะมีความกังวลในหลายเรื่องเป็นพิเศษ อย่างความสะอาดสำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งออกจากบ้านครั้งแรก เราก็สร้างความมั่นใจให้หายห่วงว่าเวลามาที่ร้าน Milk สะอาดปลอดภัยและไม่ต้องกังวลอะไรเลย

แล้วคุณออกแบบประสบการณ์ที่แฮปปี้ที่สุดสำหรับเด็กๆ ในซาลอนยังไง

เราจะเริ่มต้นจากการสังเกตลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้าน เช่น เด็กน่าจะชอบอะไรจากของเล่นที่เขาถือ แล้วเราก็จะเอาของเล่นที่ชอบให้เขาเล่น เป็นการ break the ice ว่าเราเป็นพวกเดียวกันและแชร์ความชอบเหมือนกัน มันจะช่วยให้ปรับจูนเข้ากับน้องๆ ได้ง่ายขึ้นและทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น

ถ้าสังเกตเก้าอี้นั่งทำผมของที่ร้านจะเป็นรถของเล่น เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก มีไอแพดสำหรับฟังเพลงและดูวิดีโอระหว่างทำผม ช่างจะตัดผมให้น้องๆ บนเครื่องเล่น การตกแต่งอื่นๆ ก็จะใช้สีสันให้เหมาะกับการเป็นพื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัวและตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา ระยะห่างของเก้าอี้จะห่างกัน 1 เมตรเพื่อความปลอดภัย

กระบวนการทำผมจะเหมือนของผู้ใหญ่ทั้งหมด แต่จะไม่ได้ปล่อยเหมือนผู้ใหญ่ ช่างจะต้องคอยดูน้องตลอด เพราะเส้นผมของผู้ใหญ่จะผ่านอะไรมาเยอะ แต่กับของน้องๆ มันต่างกันซึ่งก็มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ร้านเราเลือกสิ่งที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยสำหรับน้องๆ มาแล้ว

ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดีของซาลอนสำหรับเด็กเป็นยังไง 

พอเราเป็นคุณแม่เราก็ต้องศึกษาเยอะ ทั้งอ่านส่วนผสมต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดและลองถามแบรนด์อื่นๆ โดยตรงก็พบว่าไม่มีแบรนด์ไหนที่เป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ เลย ก็เลยเป็นที่มาที่ไปว่าเราทำผลิตภัณฑ์ของเราเองที่มั่นใจว่าเป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่

แวกซ์และแชมพูของแบรนด์เราเป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยช่วงเวลาตอนโควิด-19 ที่ปิดร้านไปนานตั้งแต่ปีก่อนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเองอยู่นาน แต่ละตัวทดลองกันเยอะและใช้เวลาเกิน 6 เดือนขึ้นไป อย่างแวกซ์ที่ใส่เพื่อให้ผมอยู่ทรง พอมาทำเป็นออร์แกนิกเราก็ต้องหาส่วนผสมทดแทนที่ทำให้ผมอยู่ทรงได้ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของเราที่ขายดีมากๆ ของร้าน ทั้งอยู่ทรงและไม่เป็นอันตรายแน่นอน ส่วนแชมพูก็จะผสมคอนดิชันเนอร์ไม่เยอะ เพราะตามผลรีเสิร์ชคือเด็กไม่ควรใช้คอนดิชันเนอร์เยอะเกินไป แค่ใส่แบบเบาๆ เพื่อให้ผมลื่นขึ้นเท่านั้น

แต่อย่างสีย้อมผมซึ่งต้องมีส่วนผสมของเคมีที่เข้าไปทำปฏิกิริยากับเส้นผม มันไม่สามารถเป็นออร์แกนิกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็จะเลือกใช้ของจากอเมริกาที่เป็นแบบ non-toxic ที่เบาที่สุด ซึ่งตั้งแต่ใช้มาก็ยังไม่เคยมีฟีดแบ็กจากน้องๆ ว่ามีปัญหาอะไร

สินค้าของเราจะมีวางที่ร้านของเราทุกสาขาแต่ยังไม่ได้มีวางขายทั่วไป ก็จะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์เราเองออกมาเรื่อยๆ เพราะอยากให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีจริงๆ โดยในเฟสต่อไปอยากทำสไตลิ่งแบบฉีดที่ทำให้ผมไม่พันกันสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย

แล้วคุณมีวิธีคัดเลือกแบรนด์สำหรับเด็กที่ไม่ได้ผลิตเองยังไง

ถ้าเป็นยาทาเล็บสำหรับเด็กก็จะต้องไม่มีกลิ่น แห้งเร็ว และติดทนอยู่ได้นานเพื่อที่เวลาทำเล็บให้น้องๆ จะได้ไม่ต้องใช้เวลานาน ยาทาเล็บที่ร้านจะมีแบบสีธรรมดาและสีเจลซึ่งเราเลือกมาว่าเป็นแบรนด์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่วางขายในร้านจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบริการของร้านหรือเป็นผลิตภัณฑ์ของเด็กสำหรับกลุ่มลูกค้าของร้านเช่น หนังยางของเกาหลีที่มัดผมแล้วไม่เจ็บ เครื่องสำอางหรือแทตทูที่ปลอดภัยกับน้องๆ ช่วงแรกเราก็เลือกเข้ามาเองแต่ช่วงหลังก็จะมีแบรนด์ที่น่าสนใจส่งมาให้ทางร้านพิจารณาเองเพื่อฝากวางขายในร้าน ซึ่งถ้าเราดูแล้วว่าไม่เป็นอันตรายกับเด็ก เสริมกิจกรรมให้น้องๆ ได้ เราก็ยินดีที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ด้วยรวมถึงยาทาเล็บ ถ้าเราเห็นว่าแบรนด์ไหนดีและช่างลองเทสต์แล้วว่าโอเค เราก็จะเอามาใช้

โมเดลการขยายธุรกิจซาลอนของคุณเป็นยังไง

ตอนนี้เราขยายร้านจนมีทั้งหมด 18 สาขา เลือกจากโลเคชั่นเป็นหลัก ตรงไหนที่เห็นว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเปิดสาขาเราก็จะไปตรงนั้น ก็จะมีสาขาที่อยู่ในโซน department สำหรับเด็กและหลายๆ โซนในห้าง เราทำแฟรนไชส์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปีที่แล้วขยายสาขาไปเยอะเนื่องด้วยเป็นปีแรกที่เราเพิ่งผ่านโควิด-19 มาซึ่งเราก็คิดว่าโลเคชั่นของสาขาต่างๆ ในตอนนี้ครอบคลุมแล้วสำหรับลูกค้าในกรุงเทพฯ ปีนี้มองว่าอยากขยายไปต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะต่างจังหวัดยังมีแค่สาขาเดียวที่เซ็นทรัลศรีราชา ซึ่งก็ยังมีกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่รู้จักร้านเราเลยหรือมีคนที่แค่เคยได้ยินชื่อร้านแต่ยังไม่มีโอกาสได้มา ก็อยากทำให้เข้าถึงคนมากขึ้น

คุณมีวิธีคุมมาตรฐานการบริการในหลายสาขายังไงบ้าง

ด้วยโมเดลธุรกิจของร้าน เวลาเราขายแฟรนไชส์ เราจะมีคู่มือที่ทุกสาขาจะต้องทำตามมาตรฐานซึ่งมีสเตปในการทำงานเป็นไกด์ว่าเวลาลูกค้าเข้ามาจะต้องทำอะไรก่อน พนักงานที่ร้านจะผ่านการเทรนทั้งในเรื่องของการตัดผมและวิธีการดูแลลูกค้า ช่างทุกคนจะผ่านการเทรนนิ่งและลองทำงานในร้านจริง ที่สาขา flagship ที่เซ็นทรัลเวิลด์ในการเทรนนิ่งทุกแง่มุม

ซึ่งพอบริการของเราชัดเจนอยู่แล้ว ความต้องการของลูกค้าในแต่ละสาขาจะไม่ได้ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ทำให้การเตรียมรับมือกับลูกค้าในแต่ละสาขาจะต่างกันบ้าง เช่น ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์จะมีชาวต่างชาติเยอะ ก็จะเน้นเรื่องบริการและการสื่อสารที่ครอบคลุมความต้องการของชาวต่างชาติด้วย 

ความท้าทายที่สุดของคุณในการทำซาลอนคืออะไรและผ่านมาได้ยังไง

เป็นช่วงโควิด-19 ที่ร้านเราโดนปิดไม่รู้กี่รอบ โดนปิดยาวที่สุดคือนาน 5-6 เดือน ซึ่งเราเปิดมา 5 ปี แต่โดนโควิดไปแล้วเกือบครึ่งนึง มีช่วงหนึ่งของโควิดที่ร้านในห้างเปิดไม่ได้ แต่ว่าร้านตัดผมนอกห้างเปิดได้เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือปรับแผนไปให้บริการที่บ้านและไปเช่าสถานที่ข้างนอกห้างเพื่อให้ลูกค้ายังมาหาเราได้

ช่วงนั้นเราเปิดป๊อปอัพราว 2 เดือนที่ทองหล่อ ก็มีลูกค้าเยอะพอสมควรที่ให้การตอบรับทำให้ช่วยพยุงธุรกิจไปได้ และมีบริการทำเล็บกับทำผมที่บ้านซึ่งตอนนี้ก็ยังทำต่อเนื่องเพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังชอบการใช้บริการที่บ้านกับเรา

เวลาเราเจอความยากลำบากสิ่งที่เราต้องรักษาคือพนักงานของเราที่เป็นฟันเฟืองสำคัญเพราะฉะนั้นไม่ว่าช่วงนั้นจะท้าทายมากแค่ไหนก็ตาม เราก็จะพยายามทำธุรกิจต่อไปให้ได้ ถ้าถามว่าอะไรคือความท้าทายมากที่สุดในตอนนั้นคือการต้องปรับตัวให้ได้มากที่สุด

ส่วนถ้าตอนที่ไม่หนักหน่วงเหมือนช่วงโควิด ความท้าทายน่าจะเป็นการทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการเราซ้ำอีก ถ้าถามว่าจะให้ลูกค้ารักเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์มันก็คงไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เป็นโจทย์คือจะทำยังไงให้เขาแฮปปี้ที่สุดและอยากกลับมามากที่สุด แล้วก็อยู่กับเราไปได้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

บทบาท ‘คุณแม่’ เอื้อต่ออาชีพนักธุรกิจของคุณยังไงบ้าง

ตอนมีลูกคนแรก ด้วยความที่เราต้องเตรียมตัวที่จะเป็นคุณแม่ทำให้เราหาข้อมูลและอ่านเยอะพอสมควร มีหลากหลายข้อมูลที่เราได้มาไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของเด็กที่ใช้ควรเป็นอะไรและเด็กทารกควรจะต้องได้การบริการยังไงบ้าง 

และตั้งแต่แรกเลย ถ้าไม่มีลูกก็คงไม่มีร้าน Milk เราอาจจะทำงานอย่างอื่นไปหรือเป็นพนักงานประจำ แต่พอมาเป็นคุณแม่แล้ว เราก็อยากทำสิ่งที่ยั่งยืนและดีที่สุดเท่าที่จะทำให้ลูกได้ ชื่อร้าน Milk Kids Salon & Nails ก็มาจากตอนที่ให้นมลูกอยู่แล้วคิดว่าอยากทำร้าน มองว่าคำว่า Milk ยังเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เพราะตอนที่เราเกิดมาทุกคนก็ต้องกินนมแม่ เลยตั้งชื่อนี้ เราอยากให้ร้านโตขึ้นตามลูกของเราที่โตขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไม่มีลูกก็คงไม่เกิดธุรกิจตรงนี้ ถ้าเราไม่เป็นคุณแม่ เราก็คงไม่ต้องอ่านศึกษาข้อมูลขนาดนี้หรือคงไม่มีใจที่จะสรรหาอะไรต่างๆ เพื่อที่จะสร้างร้านนี้ขึ้นมาแบบนี้ ความเป็นคุณแม่ทำให้เราทำร้านนี้ได้อย่างมีความสุข

What I’ve Learned
1. User-Centered Design การออกแบบสินค้าและบริการรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ธุรกิจซาลอนสำหรับเด็กนั้นมีสินค้าและบริการคล้ายซาลอนทั่วไป แต่เมื่อออกแบบให้ตอบโจทย์กลุ่มเด็กเล็กจึงทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่แตกต่างและยังไม่ค่อยมีใครทำ 
2. Observe Consumer Emotion สังเกตอารมณ์และความพอใจของผู้ใช้บริการตลอด consumer journey
ที่ใช้บริการในร้านเพื่อหาทางเพิ่มความพึงพอใจในประสบการณ์ที่ร้าน
3. Solve Pain Points for Both Customer & Consumer ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้ซื้อบริการ (customer) และผู้ใช้บริการ (consumer) ตัวอย่างเช่น customer ในที่นี้คือผู้ปกครองที่มองหาซาลอนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ส่วน consumer คือเด็กที่มองหาความเพลิดเพลินและความสนุกระหว่างตัดผม เป็นต้น

‘WAY-T Creation’ ธุรกิจ artist management และความฝันสุดท้ายในชีวิต นิค วิเชียร

ก่อนสัมภาษณ์ ตอนเราเล่าให้ใครฟังว่าจะได้คุยกับ นิค–วิเชียร ฤกษ์ไพศาล มีบางคนบอกว่าเรากำลังจะได้คุยกับหนึ่งใน ‘ตำนาน’

หากพิจารณาจากเครดิตผลงาน ทั้งการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครเร่ ‘มะขามป้อม’ เป็นครีเอทีฟควบพิธีกรรายการทีวีในเครือแกรมมี่ เป็นนักเขียนหนังสือ ‘ร็อค-ฐ-ศาสตร์’ เล่าเรื่องการบริหารผ่านศาสตร์เพลงร็อก รวมถึงบทบาทสำคัญคือผู้ก่อตั้ง genie records ค่ายเพลงขวัญใจใครหลายคน ได้บริหารและปลุกปั้นวงดังๆ หลายวงมากว่า 20 ปี 

ไล่เรียงมาเท่านี้ ตำแหน่งตำนานที่หลายคนยกให้ ก็คงพูดได้แบบไม่ขัดเขิน

“เรารำคาญมากนะกับตำแหน่งนี้” เขาบอกในวันที่เราเจอกัน “เพราะเรายังไม่ตาย เราคิดว่าคำนั้นมันเอาไว้พูดกับคนที่จบไปแล้ว แต่เราอยากเป็นปัจจุบันตลอดเวลา และทำตัวให้มีประโยชน์”

เพราะมีธงผืนนี้ปักไว้ในใจ ในวัย 64 วิเชียรจึงเลือกเดินออกมาจากค่ายใหญ่มาเปิด WAY-T Creation บริษัท artist management ของตัวเองเพื่อช่วยซัพพอร์ตคนที่มีฝันอยากเป็นศิลปินให้ได้ฉายแสงในวงการเพลงไทย ในสโคปงานกว้างๆ แต่ครอบคลุมว่า ‘ทำทุกอย่างแบบครบวงจร’

โปรเจกต์นำร่องของ WAY-T คือ The Way Artist Intern Camp แคมป์สานฝันศิลปินรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ วัยมัธยมได้ออดิชั่นเข้ามาเรียนรู้สกิลต่างๆ จากศิลปินรุ่นพี่ตัวท็อปของวงการ ทั้งโอม Cocktail, จ๋าย ไททศมิตร, แว่นใหญ่, แพท Klear และโอ๋ ดูบาดู โดย 8 วงที่ถูกคัดเลือกจะได้ทำเพลงของตัวเองด้วย

อะไรทำให้ชายวัย 64 ยังอยากผลักดันโปรเจกต์นี้ คือคำถามที่พาให้เรามาเจอ ‘พี่นิค’ ของน้องๆ ที่ออฟฟิศบนตึก True Coffee ใจกลางสยามสแควร์

ท่ามกลางเสียงเจ๊าะแจ๊ะของวัยรุ่นในย่าน คลอไปกับเสียงดนตรีบนเวทีที่ตั้งอยู่ไกลๆ บทสนทนาว่าด้วยธุรกิจ การผลักดันคนรุ่นใหม่ และอนาคตของวงการเพลงไทยของเราเริ่มต้นขึ้นตรงนั้น

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าก่อนจะออกจาก genie records ผู้ใหญ่ในค่ายเตรียมจะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรองประธานบริษัท ทำไมถึงเลือกเดินออกมา

เรารู้สึกว่ามันมี 2 นัยอยู่ในนั้น หนึ่งคือเขาหวังดี อยากให้เราพักผ่อน ในทางกลับกัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องหยุดแล้วเหรอ เพราะมันแปลว่าเราต้องยุติบทบาทของการเป็นผู้สร้าง คนทำ ถอยออกมาเป็นที่ปรึกษามากกว่า ซึ่งเราเคยลองเป็นที่ปรึกษาแล้วรู้สึกว่ามันไม่สนุก เพราะเวลาให้คำปรึกษา สิ่งที่อีกฝ่ายจะเลือกคือทำหรือไม่ทำ และถ้าเขาไม่ทำเราก็​ suffer (ทุกข์) ว่าความคิดเราไม่ถูก implement (นำไปใช้)

ด้วยอายุของเราเขาคงอยากให้เราเกษียณด้วย แต่ธรรมชาติของเราเป็นคนที่ต้องเป็นแม่ทัพน่ะ ต้องอยู่ในสนามรบ เราก็อยากใช้โอกาสนี้ move on มาลุยต่อ

ไม่อยากพักบ้างเหรอ อะไรทำให้ยังอยากลุยอยู่ในวัยนี้

เอาจริงๆ เราไม่รู้สึกว่าเราอยู่ในวัยไหน อายุเท่าไหร่เลย จะอึดอัดกับช่วงวัยเพราะอ้วนขึ้นบ้างอะไรบ้าง แต่เรายังเหมือนเดิม อย่างน้อยก็อีกหลายปี เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็แค่ทำงานของเราเท่าที่กำลังจะไหว 

สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำงานที่ genie records แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจใหม่คืออะไร

ตลอดเวลาที่ดูแล genie records เป็นการทำงานบนการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตั้งแต่ Day 1 เพราะเปิดค่ายมาก็เจอ MP3 เลย ตอนนั้นทำอัลบั้มประเทือง ของไท ธนาวุฒิ ประสบความสำเร็จมาก แต่อัลบั้มถูกเอาไปก๊อบปี้เป็นแผ่น MP3 เหมือนเขาเอาความสำเร็จเราไปหากิน

ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่สวิง อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการ disrupt มันไม่สเถียร ทำให้เราต้องคิดปรับปรุงกระบวนการเสมอ ตรงนี้ทำให้เราคิดตลอดว่าอนาคตของมันจะเป็นยังไง

ในวันที่ genie ขึ้นถึงจุดสูงสุด เราคิดจุดที่ไปต่อไม่ออก คือ genie อายุจะครบรอบ 20 ปีแล้ว อายุมากพอสมควร ศิลปินเจนฯ ใหม่ก็อาจจะไม่ค่อยเข้ามาที่ค่ายแล้ว เพราะศิลปินของ genie ดูเป็นตัวใหญ่ๆ หมด ตอนนั้นก็คิดถึง 2 ทาง ทางแรกคือการเปิดค่ายใหม่เพื่อไปดักศิลปินเจนฯ ใหม่เหล่านั้น คุยกับโอมวง Cocktail (ปัณฑพล ประสารราชกิจ) แล้วก็ได้เปิด gene lab ในปี 2018 นั่นคือแผนสำรองเพื่อต่ออายุค่าย

อีกทางหนึ่งเป็นแผนระยะยาว เราไม่ได้คิดเพื่อค่ายแล้ว แต่มองข้ามไปที่วงการเพลงว่ามันจะไปต่อยังไง 

ในฐานะคนที่อยู่กับวงการมาชั่วชีวิต เราคิดไปไอเดียของ business model ในยุคหน้าว่าควรจะเป็นยังไง เพราะวัฒนธรรมของวงการเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับโซเชียลมีเดียและการสตรีมมิง วันนี้มันไม่ใช่การทำเพลงที่ขายเพลง แต่ทำเพลงเพื่อขายเป็นสื่อ เป็นกิจกรรม เป็น showbiz เป็นอะไรก็ตามแล้วแต่จะต่อยอด เพราะฉะนั้นธุรกิจเพลงจะใช้วิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว 

นั่นคือเหตุผลที่เราคิดโปรเจกต์ WAY-T Creation ขึ้นมา เพราะมองว่าถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ศิลปินทุกคนต้องการคือโอกาส เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำธุรกิจที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา มันน่าจะรันได้

อะไรจุดประกายไอเดียนี้

ตอนปี 2557 เราเคยออกหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ร็อค-ฐ-ศาสตร์ ทำให้เราถูกดูดเข้าไปในแวดวงของคนเรียนหลักสูตรผู้บริหาร เพราะหนุ่มเมืองจันท์อ่านหนังสือเรา แล้วชวนเราไปเป็นสปีกเกอร์ในหลักสูตร ABC ที่หนุ่มเมืองจันท์กับโจ้ ธนา (เธียรอัจฉริยะ) จัดร่วมกัน

การถูกเชิญไปพูดทำให้เราได้เจอคนนอกวงการเพลงและนักธุรกิจมากมาย ยิ่งไปกว่านั้นคือถูกเชิญไปเรียนคลาสนั้นด้วย เราได้โอกาสไปเรียนรู้ หลายคลาสที่ดีๆ ช่วยเปิดกบาล มีคลาสหนึ่งเป็นเรื่องสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้เราได้รู้จักเรื่องราวของธุรกิจยุคใหม่ว่า เฮ้ย มันมีธุรกิจที่เราสามารถทำโดยใช้เงินทุนคนอื่นได้ เราคิดโปรเจกต์แล้วเอาไปพิตชิ่งได้ ขายให้นักลงทุนได้ว่าธุรกิจเราแก้ pain point ที่มีอยู่ยังไง แล้วในที่สุด WAY-T ก็เกิดขึ้น 

ถ้าให้นิยาม WAY-T Creation เป็นธุรกิจแบบไหน

WAY-T พ้องเสียงกับคำว่าเวทีในภาษาไทย นัยหนึ่งมันหมายถึงสเตจและแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกัน Way แปลว่าทาง และ T มาจากคำว่า tee off ศัพท์ในกีฬากอล์ฟที่แปลว่าจุดเริ่มต้น เมื่อมารวมกันมันหมายถึงแพลตฟอร์มที่เป็นการเริ่มต้นของคนที่อยากเดินในถนนสายดนตรี เราอยากดูแลและบริหารจัดการตรงนี้ เป็น artist management เพราะมองว่ามีงานอีกหลายอย่างที่ศิลปินทั้งหลายทำไม่ไหว

ซึ่งจริงๆ แล้ว เราได้ซ้อมกับที่ genie มาในระดับหนึ่ง เพราะวิธีทำงานของเรามันจะเป็นการ management มากกว่า dominate (ครอบงำ) เราเชื่อว่าศิลปินทุกคนมีความอิสระ เราแค่ต้องอำนวยความสะดวกเรื่อง infrastructure (ระบบการทำงาน) และ funding (ทุน) ให้เขา WAY-T ก็เจริญรอยตามการทำงานนั้น แต่ครั้งนี้จะอิสระขึ้นเพราะเป็นบริษัทของเราเอง 

pain point ที่คุณมองเห็นในวงการเพลงไทยคืออะไร

เราเห็นว่าสลักของวงการเพลงอยู่ตรงไหน ทำไมวงการเพลงนี้ถึงมีแค่ป๊อป ร็อก รูปแบบไม่ได้หลากหลายไปกว่านั้น เพราะว่าเรื่องธุรกิจและการทำมาหากินมันค้ำคออยู่ มีคนเก่งๆ เท่ๆ เยอะมากแต่ไม่ได้เงิน วงการเพลงไม่แตกแขนง นี่คือ pain point แรกที่มองเห็น

วงการเพลงควรจะมีเพลงหลายๆ แบบ เพราะมันจะเปิดโอกาสให้ทั้งคนฟังและศิลปินเอง ในแง่ศิลปินเองก็มี pain point หลายเรื่อง อย่างเรื่องเงื่อนไขสัญญา ศิลปินบางคนในบางค่ายถูกเงื่อนไขบางอย่างของสัญญาทำให้เขาทำนู่นทำนี่ไม่ได้ บางคนแต่งเพลงแต่ร้องเพลงตัวเองไม่ได้ มันจะมีเรื่องราวแบบนี้เยอะพอสมควร 

แล้ว Way-T จะแก้ pain point เหล่านี้ได้อย่างไร

เราคงไม่สามารถแก้ได้ทุกจุด แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาและผลักดันวงการเพลงให้ดีกว่าที่คุณทำกันเอง อย่างน้อยเราก็มีประสบการณ์มายาวนาน ต่อเนื่อง มีองค์ความรู้ เราแค่ประกาศออกไปว่าเรามีอยู่นี่แหละ ถ้าคุณคิดว่าเรามีประโยชน์และมีรสนิยมพ้องกับเราก็มาทำงานร่วมกัน

จริงๆ แล้วอะไรที่มีอยู่ในวงการเพลง ตรงไหนเราทำได้เราก็ทำหมด แต่เน้นเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่น่าสนับสนุนมากที่สุด เพราะเราคิดว่ามีคนกลุ่มเบ้อเริ่มเลยที่ต้องการการเริ่มต้นแต่ขาดโอกาสและการชี้นำ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะได้มัน เพราะบางทีโอกาสมีแขวนไว้อยู่แล้ว เขาต้องเป็นคนไขว่คว้าเอง 

สมมติศิลปินเอางานมาให้เราฟัง เราก็ถามต่อว่าอยากได้อะไร ถ้าสิ่งที่เขาอยากได้กับสิ่งที่เขาทำอยู่มันไม่เกื้อหนุนกัน เราก็จะบอกเขาในสิ่งที่ไม่เคยมีใครบอก คนบางคนเขียนเพลงมาทั้งปี เขาหลงรักมัน แต่พอหยิบให้อีกคนฟังก็ได้ฟีดแบ็กว่า “เหรอ แล้วยังไง” เรื่องนี้เป็นไปได้ถูกไหม สำคัญว่าพอมีคนบอกมาบอกอย่างนี้แล้วเขาพร้อมจะแก้ไขมันไหม

หนึ่งในโปรเจกต์ย่อยของ Way-T คือ The Way แคมป์ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นได้มาเรียนรู้กับศิลปินตัวจริง การเรียนรู้ในค่ายนี้ต่างจากการปั้นศิลปินในค่ายเพลงปกติยังไง

ถ้าอยู่ในค่าย ทุกคนที่เข้ามาเป็นศิลปินแล้ว แต่ในแคมป์นี้เรากำลังพูดกับคนที่ยังไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นจึงมีอีกหลายเรื่องที่เขายังไม่รู้ โดยยึด core คือการทำเพลงและ performance

ทำไมเพลงคุณไม่น่าฟัง ทำไมคุณเล่นแล้วคนไม่สนใจเลย คำถามเหล่านี้ก็จะมีกูรู มีคนที่เขาเก่งมาคอยแนะนำวิธีแก้ไข การวางวง บล็อกกิ้งการยืนบนเวที คุณจะมูฟไปทางไหนโชว์มันถึงจะสนุก พูดยังไงให้คนสนใจ มันมีวิธีที่จะโค้ชเขา 

นอกจากเรื่องหลักๆ ก็จะมีเรื่องธุรกิจเพลง ทั้งการทำแบรนด์ดิ้งตัวตน การดูแลตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมีอยู่ ChatGPT จะช่วยคุณแต่งเนื้อได้ไหม รู้จักการใช้ดาต้า สิ่งเหล่านี้เราไม่ปิดกั้นเลย 

คนที่มาแคมป์นี้คาดหวังอะไรได้บ้างหลังจากเรียนจบ

หวังว่าจะต้องกลายเป็นศิลปินให้ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจไม่ได้ในเร็ววันแต่คุณจะอยู่ในเส้นทางแล้ว ไม่เลี้ยวไปทางอื่น ศิลปินกับนักดนตรีก็ไม่เหมือนกันแล้วนะ  นักดนตรีไปเล่นตามโรงเรียน เล่นแล้วมีคนฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ศิลปินคือเล่นเพื่อคอนเสิร์ต เล่นเพื่อคนดูที่ตั้งใจฟัง

นิยามคำว่าศิลปินมืออาชีพของคุณเป็นยังไง

ศิลปินมีความชัดเจนในตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว แต่คำว่ามืออาชีพมัน beyond ไปมากกว่านั้น ศิลปินคือคนที่มีอารมณ์สร้างงานศิลปะ แต่บางทีฟุ้ง ไม่ได้ถูกคอนโทรล บางทีขาดความรับผิดชอบ บางทีอารมณ์เสียเขวี้ยงไมค์ตึงตัง ทีมงานดูแลอย่างดีก็ไปวีนไปเหวี่ยงเขา อย่างนี้เรียกว่าไม่มืออาชีพ ถามว่าเป็นศิลปินไหม เป็น แต่ก็อาจจะโดนวิจารณ์ได้ว่าศิลปินคนนี้แม่งไม่น่าทำงานด้วยเลย

พี่เต๋อ (เรวัต พุฒินันทน์) แกเคยสอนเราไว้ว่านิยามสั้นๆ ของศิลปินมืออาชีพคือคนที่ทำงานเสร็จตรงเวลาและมีคุณภาพ นัด 7 โมงก็มา 7 โมง มาก่อนด้วย นี่แค่คุณสมบัติข้อหนึ่งนะ เราว่าความเป็นมืออาชีพมันมีคำว่า responsibility เยอะ ต้อง active รับผิดชอบ และมีวิธิคิดที่เป็นบวก มองเป้าหมายเป็นหลัก

เอาจริงๆ ในชีวิตเราเจอคนที่เป็นมืออาชีพไม่ค่อยเยอะหรอก แต่เขาก็พยายาม คำว่ามืออาชีพต้องอดทนอดกลั้น ไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก นี่แหละคือความแตกต่างระหว่างศิลปินกับมืออาชีพที่เราพยายามโค้ชชิ่งให้เด็กๆ เข้าใจ

ในยุคที่ทุกคนทำเพลงได้ ค่ายเพลงยังสำคัญอยู่ไหม

มี แต่อยู่ที่คุณได้ทำให้มันสำคัญจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือการอำนวยความสะดวกอีกต่อไป แต่ศิลปินทุกคนมองหาอะไรล่ะ ความสำเร็จถูกไหม เพราะฉะนั้นคำว่าค่ายอาจจะถูกปรับรูปแบบ และมีวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป อาจจะเหลือเป็นค่ายเล็กๆ แล้วบทบาทอำนวยความสะดวกอาจจะถูกรวมศูนย์อยู่กับบริษัท artist management อย่างของเราก็ได้

ค่ายใหญ่ๆ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะใหญ่ได้จริง เพราะมันโดน direct  ด้วยความเป็น artist independent (อิสระของศิลปิน) ศิลปินเองก็อยากมีพื้นที่ของตัวเอง เราก็เพียงแต่บาลานซ์ให้ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นมันไม่มี one for all อยู่แล้ว มันต้องครีเอตวิธีทำงานร่วมกัน อย่าง Way-T เอง ถ้าศิลปินเห็นว่าเรามีประโยชน์สำหรับเขาไม่ว่าด้านไหนก็ได้ เราก็สามารถตกลงมาทำงานด้วยกันได้

จากที่เคยทำงานร่วมกับศิลปินมาแล้วหลายคน จุดร่วมของศิลปินในยุคนี้ที่คุณมองเห็นคืออะไร

ศิลปินทุกคนอยากนำเสนอตัวตนและผลงานออกมาให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดนะครับ คำว่าอินดี้คือคำที่ใช้แก้เก้อ เพราะไม่มีศิลปินอินดี้คนไหนอยากเล่นดนตรีแล้วมีคนฟังน้อยๆ หรอก คำว่าอินดี้คือเกราะป้องกันตัวเองว่าเขาอยากมีอิสระทางความคิด แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องเข้าถึงคนได้แค่นิดเดียว นึกออกไหม น้องบางคนอาจเข้าใจผิดเพราะคนไปตีความอินดี้แปลว่าไม่ป๊อป ซึ่งไม่จริง อินดี้ก็ป๊อปได้ ถ้าทำเพลงอินดี้แล้วฟังกันเอง ตรงนี้มันก็ไม่เกิดผลสำเร็จอยู่แล้ว 

ที่สุดแล้วดนตรีสร้างมาเพื่อคนหมู่มาก มากที่สุดเท่าที่จะมากไหว ไม่ต้องทั้งประเทศหรือทั้งโลก แต่มากในกลุ่มที่มีรสนิยมเดียวกันก็ยังดี สมมติคุณทำแจ๊ส คุณสามารถดึงดูดคนฟังแจ๊สได้หมดพอจะรันธุรกิจ มีแฟนฮาร์ดคอสัก 2,000-3,000 คน วงแจ๊สของคุณก็เกิดได้ มันอาจจะไม่รวยมากนะ แต่คุณสามารถทำสิ่งที่คุณรักและสร้างแนวทางของคุณได้ โดยที่ไม่ต้องฝืนใจไปทำอย่างอื่น

The Way คือโปรเจกต์หนึ่งของ Way-T แล้วในระยะยาว คุณมองอนาคตของธุรกิจไว้ยังไง

ถ้าอนาคตระยะสั้น เราอยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว มีศิลปินในการดูแล ให้เขาได้มีเพลง มีงาน มีกิจกรรมต่อเนื่อง อนาคตเราก็อยากให้เป็นบริษัทหนึ่งที่อยู่ในวงการเพลงที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุน และในอนาคตอันไกลโพ้น เรามีคำว่า global อยู่แล้ว เราอยากผลักดันศิลปินไทยสู่สากลแบบสากลจริงๆ เป็นที่ยอมรับในเมืองนอก ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมามันก็มีบ้างแล้วนะ แต่มันไม่ได้ตั้งเป็นเป้าหมายหลักแต่ทำเป็นงานงานหนึ่งมากกว่า

จริงๆ โกอินเตอร์เนี่ยพยายามทำมาตั้งแต่สมัยแกรมมี่แล้ว แต่มันยาก เพราะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน พูดตรงๆ ว่ามันต้องอยู่ในวาระแห่งชาติ ประเทศไทยต้องส่งออกวัฒนธรรมถึงจะมีโอกาส เหมือนอย่างเกาหลีที่เขาทำจนสำเร็จแล้ว

มายด์เซตแบบไหนที่จะช่วยผลักดันศิลปินไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้

ทำงานหนัก เราต้องเข้มข้นกับมัน มันต้องสักไว้ที่หน้าผากเลยว่า global ถนนทุกสายต้องรู้ว่าปลายทางคือตรงนี้ ศิลปินต้องมองว่าเงื่อนไขสู่ global ก็ต้องมี international look (ลุคอินเตอร์) หรือสกิลที่อินเตอร์ ภาษาก็ต้องได้ด้วย ในขณะเดียวกัน คุณภาพของศิลปิน เพลง เครือข่ายที่สนับสนุน คอนเนกชั่น เงินทุน หรือแม้แต่คนที่พร้อมจะซัพพอร์ตก็ต้องมี เพราะฉะนั้นถามว่าอยู่ดีๆ พวกนี้จะลอยมาเหรอ ไม่ มันต้องมาจากการทำงานหนักอยู่แล้ว

การได้ทำ WAY-T มีความหมายกับตัวคุณยังไง

WAY-T เป็นมิชชั่นหนึ่งและอาจเป็นมิชชั่นสุดท้ายในชีวิตเลยก็ได้ มันเป็นโซนสุดท้ายที่เราอยากเข็นให้สำเร็จ ใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตมาทุ่มเทเต็มที่ ถึงแม้เราจะมองไม่เห็นวงการเพลงชัดมากว่าจะไปทางไหน แต่ต้องบอกว่าไม่มีใครเห็นวงการนี้ชัดมากหรอก แต่สิ่งที่ชัดคือเราเชื่อมั่นในเพลง เพราะทุกคนฟังเพลงหมด เพราะฉะนั้นในเมื่อเพลงยังเป็นหนึ่งปัจจัยที่หล่อเลี้ยงคน มีความหมายและมีความสำคัญกับคน เรามีหน้าที่แปรมันออกมาให้เป็นธุรกิจ เป็นเงินทอง เราอาจไม่ต้องรวยมากก็ได้ แต่ขอให้คนทำงานอยู่ได้ ธุรกิจเดินได้  เอาจริงๆ เราก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว แต่ที่มาทำตรงนี้เพราะมันน่าจะเป็นฝันท้ายๆ ในชีวิตเราแล้ว เราก็อยากทำให้มันดีที่สุด

อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องจบชีวิตแบบเป็นอดีต แค่นั้นเอง ถึงวันนี้จะถูกคนเรียกเยอะแยะว่าเป็นตำนงตำนาน ซึ่งเรารำคาญมากนะกับตำแหน่งนี้ เพราะเรายังไม่ตาย (ยิ้ม) เราคิดว่าคำนั้นมันเอาไว้พูดกับคนที่จบไปแล้ว แต่เราอยากเป็นปัจจุบันตลอดเวลา และทำตัวให้มีประโยชน์

เป้าหมายในวันนี้ของคุณคืออะไร

ธุรกิจเสถียรและมั่นคง ไม่ต้องมั่งคั่งก็ได้ แต่ความมั่นคงสำคัญกว่า การทำธุรกิจเหมือนการล่องเรือ แน่นอนทะเลแม่งต้องมีคลื่นลมอยู่แล้ว เรารู้ว่าอุปสรรคมันเยอะแต่ก็จะล่องไปท่ามกลางพายุนี่แหละ แต่ขออย่าให้พายุพัดแรงเกิน เดี๋ยวตาย (หัวเราะ) ก็พยายามจะสู้ไปเรื่อยๆ โดยที่เรือไม่ล่ม เราหวังแค่นั้น

สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ง่ายหรอก ไม่ค่อยมีใครสนุก แต่บางทีถ้ามันง่ายมันก็มีคนทำสำเร็จไปเยอะแล้ว ตัวเราเองก็มีอดีตมาค้ำคออยู่ว่าเคยทำสำเร็จมาแล้ว แล้วครั้งนี้จะยังไง ถ้าถามเรา เราจะบอกว่าช่างหัวมัน อันนี้แค่ได้เริ่มก็สำเร็จแล้ว

ติดตามโปรเจกต์ The Way Artist Intern Camp และโปรเจกต์อื่นๆ ของ WAY-T Creation ได้ทางโซเชียลมีเดีย

การเปลี่ยนช็อกโกแลตให้เป็นศิลปะและคอลแล็บกับแบรนด์ชื่อดังของ Ceremony Chocolate

Ceremony Chocolate มีคอนเซปต์ของแบรนด์อยู่ 3 อย่าง 

หนึ่งคือ Thai Chocolate with a Twist การนำเสนอคราฟต์ช็อกโกแลตในรูปแบบใหม่ที่มากกว่าที่คนทั่วไปรู้จัก

สองคือ Unexpected Collaboration การร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ด้วยความเชื่อว่าการรวมกันของสองสิ่งจะเกิดสิ่งใหม่ที่น่าสนใจขึ้น 

สามคือ Customization Art and Craft การทำช็อกโกแลตตามโจทย์ที่ได้จากแต่ละแบรนด์ 

ด้วยคอนเซปต์เหล่านี้ทำให้พอร์ตโฟลิโอการทำช็อกโกแลตของแบรนด์นั้นไม่เหมือนช็อกโกแลตแบรนด์ไหน เพราะไม่ได้ทำแค่รสช็อกโกแลตของแบรนด์ตัวเองแต่รับทำให้แบรนด์ชื่อดังต่างๆ มากมายหลายวงการ เช่น Alexander McQueen, The Standard Hua Hin, Wonderfruit Festival ศิลปินและตัวการ์ตูนอย่าง NEVER, Trendy Gallery, Mamuang ร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อดังเช่น Homeburg, Ronin Capsule ฯลฯ  ไม่ว่าจะโรงแรม คาเฟ่ ร้านชา บาร์ หรือแบรนด์แฟชั่นก็ทำช็อกโกแลตให้มาหมดแล้ว

เบน–สรวรรธน์ สุวิพร และฝ้าย–อนัญลักษณ์ อุบลศรี เริ่มศึกษาช็อกโกแลตเป็นงานอดิเรกในตอนแรก หัดทำด้วยตัวเองจนเจอ sweet spot ของธุรกิจช็อกโกแลตที่ยังไม่ค่อยมีใครทำคือการออกแบบช็อกโกแลตที่พรีเซนต์แบรนด์ดิ้งของธุรกิจต่างๆ ทำให้แบรนด์ไปอยู่ในทุกที่ที่คนไม่คาดคิด

เบนบอกว่า ceremony เป็นคำที่สื่อถึงกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อทำสิ่งที่มีความหมายและความสุขร่วมกันและอยากให้แบรนด์ไปอยู่ในทุกที่ที่มีความสุขโดยผ่านช็อกโกแลต

Science & Art in Chocolate Lab 

bonbon หรือช็อกโกแลตสอดไส้ทรงครึ่งวงกลมเป็นซิกเนเจอร์ของ Ceremony Chocolate ที่แต่ละคอลเลกชั่นจะมีรสและสีสันเป็นเอกลักษณ์ เบื้องหลังความคลาสสิกของช็อกโกแลตที่ดูเรียบง่ายคือการเคร่งครัดและเป๊ะในสูตรทุกขั้นตอนเหมือนทำตามสมการทางวิทยาศาสตร์ผสานกับการใช้ทักษะศิลป์ที่ต้องประยุกต์ตามโจทย์ของลูกค้าในแต่ละครั้ง

ฝ้ายและเบนเรียกห้องครัวที่ใช้ทำช็อกโกแลตว่าแล็บเพราะการคิดค้นสูตรใหม่ในแต่ละครั้งไม่ต่างกับงานทดลอง R&D ของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งทั้งคู่บอกว่าทำเสียไปกว่าหมื่นลูกกว่าจะออกมาเป็นผลงานศิลปะที่พอใจ ​​

“การทำช็อกโกแลตเหมือนวิทยาศาสตร์ที่เราต้องลองทำและอยู่กับมัน เช่น การทำ bonbon ให้เงาสวยงาม ต้องใช้อุณหภูมิที่เป๊ะ คงที่ และแม่นยำในการ tempering ถึงจะทำออกมาได้อย่างถูกต้องตามที่เราต้องการ อย่างดาร์กช็อกโกแลต ต้องใช้อุณหภูมิหลายระดับ สูงขึ้นไปที่ 45 องศา ลงมาที่ 27 องศาแล้วขึ้นไปที่ 31 องศาอีกครั้งถึงจะได้ความเงางามที่สวย ถ้าทำไม่ดีมันก็จะติดที่โมเดล เอาไม่ออก”

ในทุกขั้นตอนที่เบนเล่านั้นมีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ที่ลงลึกถึงระดับโมเลกุลอย่างการคั่วแบบ
oven roasting ในอุณหภูมิตำ่เพื่อรักษา antioxidant ไว้, การลดอนุภาคของตัวโกโก้นิบส์ให้เล็กเพื่อให้ผสมกับโกโก้บัตเตอร์แล้วเกิดความนุ่มเนียน และการ tempering หรือการจัดเรียงโมเลกุลใหม่ให้ช็อกโกแลตละลายกำลังดีในอุณหภูมิร่างกาย

ส่วนฝ้ายเรียนด้านศิลปะและแฟชั่นดีไซน์มา เพราะคุ้นเคยกับงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กเลยนำทักษะที่มีมาประยุกต์เป็นงานศิลปะในรูปแบบของช็อกโกแลต เธอมองช็อกโกแลตเป็นงานอาร์ตหรืองานครีเอทีฟที่สามารถเพิ่มความสนุกด้วยการสร้างสรรค์รสชาติและสีสันใหม่ในทุกครั้ง

“จากสี CMYK (ระบบสีทางกราฟิกที่ใช้ในการพิมพ์) เราก็แปลงมาผสมเป็นเฉดสีใหม่เอง เป็นสีของโกโก้บัตเตอร์ผสมกับสีของช็อกโกแลตผง สีของช็อกโกแลตมีความเฉพาะทางมาก มันต้องใช้เทคนิคในการทำเยอะ จะต้องรู้ว่าจะใช้สีในอุณภูมิเท่าไหร่ ทำให้สีเซตตัวต้องทำยังไง ใช้เวลาผสม 2-3 รอบเพื่อให้ได้สีตรงต้องการ”

นอกจากรสทั่วไปอย่างดาร์กช็อกโกแลต ที่มีความเข้มข้นและรสชาติแตกต่างกันไปตามพันธ์ุโกโก้แล้ว การชอบทดลองทำช็อกโกแลตในแล็บ ยังทำให้มีรสแปลกใหม่ออกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Salted Caramel, Raspberry, Earl Grey Tea and Rose, Yuzu Honey, Red Bean and Chestnut ฯลฯ หรือแม้แต่รสผักชีที่ไม่คาดคิดว่าจะอยู่กับช็อกโกแลตได้ลงตัว

Creative Brief for Chocolate

เบนเล่าจุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจทำช็อกโกแลตแบบ customize ว่า “เราชอบทำช็อกโกแลตเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเพื่อนอยากให้ทำช็อกโกแลตเป็นของขวัญวันเกิดแฟน ฝ้ายก็ทำให้และถ่ายรูปลงอินสตาแกรม พอคนเห็นผลงานของเราที่สามารถทำตามโจทย์ได้ เขาก็เลยอยากได้บ้าง ก็จะเป็นการพูดต่อๆ กันแล้วก็เริ่มมีลูกค้ากลุ่มต่อไปมาเรื่อยๆ”

ด้วยภาพช็อกโกแลตที่สวยงามเหมือนงานศิลปะทำให้เริ่มมีลูกค้าชวนทั้งคู่ไปทำช็อกโกแลตสำหรับจัดแสดงในนิทรรศการบ้าง ทำให้ศิลปินและแบรนด์ต่างๆ บ้างจนกลุ่มลูกค้าที่สั่งทำช็อกโกแลตขยายเติบโตเป็นแบรนด์หลากหลายแบบ

เทคนิคโดดเด่นที่ทั้งคู่ใช้คือการถอดลายเส้นกราฟิกของศิลปินและแบรนด์มาอยู่บนช็อกโกแลต อย่างช็อกโกแลตที่ได้แรงบันดาลใจจากลายเส้นของ NEVER  ศิลปินแนวสตรีทอาร์ตชื่อดังของไทย, ช็อกโกแลตสำหรับงานเปิดตัวร้านใหม่ของ Club 21 ที่มีพาเลตสีเหมือนกับโปสเตอร์ในอีเวนต์ หรือการร่วมมือกับศิลปินอย่างตั้ม–วิศุทธิ์ พรนิมิตร นำลายเส้นของ Mamaung มาอยู่บนช็อกโกแลตและออกแบบรสให้เข้ากับคาแร็กเตอร์นั้น

ในการออกแบบให้แบรนด์แต่ละครั้ง จะเริ่มจากการนำโจทย์ของลูกค้ามาตีความ แล้วออกแบบสี รสชาติ และเทกซ์เจอร์ ให้ช็อกโกแลตกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เล่าเรื่องและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์

เบนยกตัวอย่างการทำงานให้ลูกค้าจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มักเน้นการสื่อสารลวดลายให้เข้ากับวัสดุให้ฟังว่า “เราตั้งต้นจากคิดว่าจะทำยังไงให้ช็อกโกแลตของเราสามารถเข้ากับงานของเขาได้และเสริมภาพลักษณ์คอนโดของแบรนด์เขาให้ดูดีขึ้นรวมถึงคิดว่าลูกค้าอยากขายอะไร คิดภาพว่าพอช็อกโกแลตของเราไปวางไว้ต้องทำยังไงให้ลูกค้าเห็นภาพและฟีลลิ่งของบ้านหลังนี้ และเวลาเอามาวางเรียงกันวางยังไงถึงจะสวย”

เช่น งานของ Luke Residence Ekamai ที่มีการตกแต่งภายในด้วยวัสดุหินอ่อน จึงออกมาเป็นช็อกโกแลตลายคล้ายหินอ่อน หรืองานที่ทำให้ SCG Smart Living ซึ่งมีโจทย์ในการออกแบบจากเฟอร์นิเจอร์ 3D printing ทำให้เทกซ์เจอร์ของช็อกโกแลตคล้ายสัจจะวัสดุของเฟอร์นิเจอร์จริง

ฝ้ายบอกว่าความท้าทายคือการคิดเทคนิคที่เลียนแบบวัสดุจริงได้มากที่สุด “อันที่ยากสุดคืองานที่เราคอลแล็บกับร้าน Tangible พื้นและผนังของร้านเหมือนสเตนเลสที่เวลาสะท้อนกับไฟแล้วจะมีสีเฉพาะ เราก็ทำให้เหมือนวัสดุจริงมากท่ีสุด”

รสชาติของช็อกโกแลตในแต่ละครั้งก็จะคิดมาให้สอดคล้องกับคอนเซปต์ของแบรนด์ อย่างช็อกโกแลตบาร์ที่เบนเล่าว่าทำให้โรงแรม The Standarad Huahin “โรงแรมอยากได้ช็อกโกแลตที่มีกลิ่นไอของความฮีลลิ่ง และ wellness เราก็ทำออกมาเป็นรส Palo Santo ซึ่งเป็นชื่อของกลิ่นไม้หอมที่ช่วยเพิ่มพลัง” 

Chocolate in Every Occasion

‘You can bring ceremony into everyday life. No matter what occasion, chocolate can do that.’ นี่คือสโลแกนของแบรนด์ที่พาช็อกโกแลตไปอยู่ในกิจกรรมนั่งสมาธิไปจนถึงงานออกสังคม ทั้งปาร์ตี้
และอีเวนต์ต่างๆ

เบนยกตัวอย่างกิจกรรมซิกเนเจอร์ของแบรนด์ที่ชื่อ Sweet Meditation ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปที่เกิดจากความชอบในช็อกโกแลตและการนั่งสมาธิของเบนและฝ้าย ออกมาเป็นเมนูช็อกโกแลต bonbon บนถาดทรายสไตล์เซน เสิร์ฟพร้อมช็อกโกแลตสามรสชาติที่แตกต่างกันซึ่งสื่อถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนไป

“เราทำทรายที่กินได้ พอนั่งสมาธิเสร็จก็จะให้คนวาดรูปบนถาดทราย คล้ายการฝึกสมาธิของพระเซนเวลาที่เดินกวาดสวนหิน เราก็เอามาประยุกต์เข้ากับจานที่เรานำเสนอ แต่ละลายที่วาดบนทรายก็จะมีความหมายต่างกันตามหลักเซน บางลายหมายถึงน้ำ บางลายหมายถึงลมหรือคลื่น เป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติ”

การนำช็อกโกแลตมาสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ทำให้การขายไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานป๊อปอัพสำหรับขายของหวานเท่านั้นแต่รวมถึงพื้นที่และคอมมิวนิตี้สร้างสรรค์ไม่จำกัดรูปแบบทั้งนิทรรศการ เฟสติวัล อีเวนต์ของแบรนด์

ทั้งคู่เคยจัด Sweet Meditation ที่ Studio Lam บาร์ยาดองสไตล์ไทยฟิวชั่นของพวกเขาเองและที่ร้าน Sretsis Parlour แบรนด์แฟชั่นในบรรยากาศร้านแฟนตาซีแสนหวานสำหรับผู้หญิง โดยจัดร่วมกับ tea master ผู้เชี่ยวชาญด้านชาอู่หลงชื่อ San Bao

พวกเขายังพา Ceremony Chocolate ร่วมงาน Wonderfruit Festival เทสกาลที่สนับสนุนความยั่งยืนด้วยช็อกโกแลตที่ห่อด้วยใบคาเคาในธีมรักษ์โลก ไปจนถึงทำช็อกโกแลตรส Cannabis-Infused ไปอยู่บนโต๊ะ chef’s table ของเชฟ Chalee Karder แห่งร้าน 100 Mahaseth และช็อกโกแลตรส Mango Mojito สำหรับล้างปากจากของคาวในคอร์สแฮมเบอร์เกอร์ของร้าน Homeburg

“เราชอบไปงานที่มีความเป็นปาร์ตี้นิดนึง ล่าสุดเราไปเปิดร้านที่งาน Ritual Rhythm Weekend ที่บ้านตรอกถั่วงอก ส่วนใหญ่จะเลือกเปิดป๊อปอัพตามความชอบของเราและคนที่ชวน ถ้ารู้สึกว่าคุยกันรู้เรื่องเราก็ไป” ทั้งคู่ยังจัดเวิร์กช็อปสอนทำช็อกโกแลตซึ่งมีทั้งแบบลงลึกและแบบง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น เบนบอกว่า “ถ้ากิจกรรมสำหรับคนที่อยากจะรู้เยอะๆ ก็ต้องมาอยู่กับเรานานราว 5 ชั่วโมง ได้รู้ตั้งแต่ tempering การเทลงบล็อก การใส่ไส้” 

ส่วนถ้าเป็นเวิร์กช็อปแบบสั้นสำหรับคนที่อยากสนุกกับศิลปะ ฝ้ายบอกว่าผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทุกคนจะได้ช็อกโกแลตหนึ่งกล่องที่ทำเองกลับบ้าน

“ล่าสุดเราไปจัดแล็บทำช็อกโกแลตให้เซ็นทรัลชิดลม ให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้ามาเรียนได้เทคนิคเล็กๆ กลับไป คนมาเวิร์กช็อปก็จะได้ความรู้ว่าสีช็อกโกแลตทำมาจากอะไร วิธีการระบายสีช็อกโกแลตไปจนถึงเทคนิคการปาดสีและการสะบัดสีต่างๆ”

ใครจะคิดว่าช็อกโกแลตไม่ได้เป็นเพียงแค่ของหวานทานเล่นที่บ้าน แค่แต่งตัวให้สวยก็อยู่ได้ในแทบทุกโอกาส

Crafting Unexpected Collaboration  

นอกจากความสวยงามที่ทำช็อกโกแลตให้เป็นศิลปะแล้ว ความตั้งใจของเบนคือการทำให้คราฟต์ช็อกโกแลตมีคนรู้จักมากขึ้น

“เราอยากทำให้คนเข้าใจว่าคราฟต์ช็อกโกแลตไทยมีเอกลักษณ์และคาแร็กเตอร์ของมัน แล้วทำให้มันอร่อย ทุกวันนี้ช็อกโกแลตแบบ mass production ทั่วไปที่ทำในอุตสาหกรรมจะใส่สารบางตัวเพื่อให้รสชาติคงที่เท่ากันและเป็นอันเดียวกันหมดทุกชิ้น แต่ก็ทำให้ขาดเสน่ห์ของช็อกโกแลตแต่ละพื้นที่ไป”

“การทำคราฟต์ช็อกโกแลตคือการที่เราเลือกวัตถุดิบมาเองทำให้ได้รสชาติที่เป็นคาแร็กเตอร์ของแต่ละที่ ได้รสชาติตามแต่ละพื้นถิ่น ตามแร่ธาตุเฉพาะในดินของที่นั้นๆ ส่วนใหญ่รสชาติของช็อกโกแลตไทยมีความฟรุตตี้อมเปรี้ยวและมีเอกลักษณ์หลากหลายมาก อย่างประจวบคีรีขันธ์จะมีรสมะพร้าว บางทีไปเจอช็อกโกแลตจากตากที่มีรสกล้วยขึ้นมาแปลว่าที่ตรงนั้นอาจจะมีการหมักหรือการตาก จันทบุรีก็จะปลูกผลไม้หลายอย่างมาก มันเลยเป็นงานคราฟต์โดยเราคัดเลือกเมล็ดตั้งแต่ต้นน้ำ แล้วก็เอามาทำเป็นช็อกโกแลตของเรา”

เบนบอกว่าช็อกโกแลตของ Ceremony Chocolate จะใช้คาเคาแบบ single origin ของแต่ละภาคแล้วเอามาดูว่าจะเสริมรสชาติด้วยวัตถุดิบอื่นยังไงได้บ้าง

“อย่างของประจวบคีรีขันธ์ เราจะเลือกทำด้วยวิธีรมควันจากไม้ Palo Santo เป็นไม้หอมของเปรู ทำให้ได้กลิ่นและรสชาติแบบหนึ่ง ส่วนของเชียงราย เราจะผสมคาเคากับกาแฟจากเชียงใหม่ ออกมาเป็นรสภาคเหนือ บางทีอย่างของจันทบุรีถ้าเราชอบรสชาติ single origin ของมันเพียวๆ แล้วเราก็ไม่ผสมอะไรเลย” 

เบื้องหลังความสวยงามคือความเชี่ยวชาญในวัตถุดิบที่นำช็อกโกแลตไปต่อยอดผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลต x ชาเขียว โดยร่วมมือกับร้านชา Koto Tea Space หรือช็อกโกแลต x เหล้า อย่าง bonbon ไส้ยาดองสมุนไพร ‘กำลังเสือโคร่ง’ หรือไส้ผสมค็อกเทล B-52 ที่เบนบอกว่าการทำรสชาติให้กลมกล่อมคือความสนุก

“บางครั้งแบรนด์เหล้าก็จะให้เครื่องดื่มมา เราก็จะชิมว่าเทสต์โน้ตของเหล้าเป็นยังไง แล้วทำรสชาติออกมาให้เสริมกับรสและสีเหล้าของลูกค้า” 

เมื่อยึดหลักการออกแบบช็อกโกแลตจากคอนเซปต์ ทำให้ผลงานศิลปะมีความยืดหยุ่น บางครั้งเมื่อได้โจทย์จากลูกค้ามา ผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้มีแค่ช็อกโกแลต อย่างงานที่ทำให้ Alexander McQueen ที่ฝ้ายเล่าว่าพอตีโจทย์ออกมา ผลงานก็มี pâtes de fruits หรือ ขนม fruit jelly เคลือบน้ำตาล แถมเพิ่มขึ้นมา

ในฐานะคนที่เป็นเจ้าของทั้งแบรนด์ช็อกโกแลตและบาร์ยาดองอย่าง Studio Lam เบนบอกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรให้ปังก็ใช้หลักการเหมือนกัน คือยึดหลักการตั้งต้นจากการคิดคอนเซปต์ในการออกแบบขนมและเครื่องดื่มทุกอย่างผสมกับความสม่ำเสมอในการฝึกทำ  

“อย่างยาดอง เราทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ทำวงดนตรีไทยและส่งวงหมอลำไปทัวร์ต่างประเทศ เราก็คิดเครื่องดื่มให้ลิงก์กับดนตรีที่นำเสนอ ทำยังไงให้ยาดองมันยกระดับจากแค่ยาดองพื้นบ้าน ขายให้กับคนต่างชาติและคนไทยได้ และถ้าเราอยู่กับมันเยอะๆ และฝึกซ้อมกับมันบ่อยๆ มันก็ทำให้เราชำนาญมากขึ้น ถ้าเราชิมบ่อยก็จะเข้าใจมันมากขึ้น ” 

ด้วยหลักคิดแบบเดียวกัน ทำให้ Ceremony Chocolate เป็นที่สนใจจากหลากหลายแบรนด์และศิลปินที่มีชื่อเสียงและยังตอบโจทย์แพสชั่นของฝ้ายที่งานศิลปะคือการฮีลตัวเองและเติมเต็มแพสชั่นของเธอ

เมื่อถามถึงวันข้างหน้าของแบรนด์ว่าจะมีอะไรที่ไม่คาดคิดอีกหรือไม่ เบนตอบว่า “ตอนนี้ก็ยังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ แต่ว่าในอนาคตก็อาจจะมีหน้าร้านที่เป็นคอนเซปต์อะไรบางอย่างที่พิเศษและแปลกออกไปที่ไม่ใช้แค่ร้านช็อกโกแลตก็ได้” 

What I’ve Learned
1. สร้างองค์ความรู้เฉพาะของธุรกิจ สร้างศาสตร์ความรู้เฉพาะทางในแบบของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือนและหาเรียนจากที่ไหนไม่ได้ อย่างการนำศิลปะมาใช้ในการทำช็อกโกแลต
2. ทำธุรกิจที่ใช้พรสวรรค์ของตัวเอง ต้นทุนที่ลอกเลียนได้ยากคือพรสวรรค์ที่มีความถนัดอยู่แล้ว เมื่อผสมกับพรแสวงทำให้สินค้าแตกต่าง 
3. มุมมองนอกกรอบในการหากลุ่มลูกค้า หากมองโดยผิวเผิน ลูกค้าของธุรกิจช็อกโกแลตคือคนชอบทานของหวานเท่านั้น แต่ยังมีลูกค้ากลุ่มอื่นที่อยากนำช็อกโกแลตไปใช้กับโอกาสต่างๆ อย่างคนที่ให้คุณค่ากับงานสร้างสรรค์บนช็อกโกแลต 

ในวันที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีคงตัว LINE MAN Wongnai เร่งทุ่มงบพื้นที่ต่างจังหวัด 2 เท่า และรุกขยายธุรกิจ Non-Food และ Merchant Solutions หวังเป็น National Champion

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีที่หลายคนเคยมองภาพไม่ออก เติบโตแบบก้าวกระโดดจนมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นแบบไม่คาดคิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อผู้คนออกไปใช้ชีวิตตามปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีก็เริ่มคงตัว 

เครื่องยืนยันหนึ่งที่อาจบอกได้ว่าผู้เล่นหลายเจ้าไม่อาจไปต่อ และหลายเจ้าที่ยังอยู่ต่อก็ต้องหากลยุทธ์เพิ่มเติมคือผลการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่กล่าวว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลงราว 0.8-6.5% จากปีก่อน

ถึงอย่างนั้น LINE MAN Wongnai ผู้นำแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย กลับเผยว่าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีของ LINE MAN ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเมษายน 2566 มีมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) เติบโตขึ้น 33% หรือพูดง่ายๆ คือโตสวนตลาดนั่นเอง 

แต่ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลับไม่ได้มองว่า LINE MAN Wongnai จะหยุดอยู่แค่นั้น กลับยิ่งต้องหาแผนงานเพื่อความยั่งยืนและเติบโตของบริษัท ประเด็นแรก ในภาคของฟู้ดเดลิเวอรี LINE MAN Wongnai เตรียมอัดงบในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2 เท่า หลังพบว่าในปีที่ผ่านมา พื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนออร์เดอร์เติบโตถึง 17% และจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 10% 

ความน่าสนใจคือภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพราะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) โต 38% มีร้านอาหารกว่า 100,000 ร้านจาก 1 ล้านร้านทั่วประเทศ และในจำนวนไรเดอร์ในภาคใต้กว่า 14,000 คน ยังมีไรเดอร์ที่ทำรายได้สูงสุดต่อวันได้มากถึง 1,654 บาท 

ยอด ชินสุภัคกุล ยังอธิบายอีกว่าการเติบโตนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นจุดแข็งของ LINE MAN Wongnai ที่มีจำนวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มมากและหลากหลาย ทั้งยังมีส่วนส่งเสริมการขายอย่าง LINE MAN Wongnai Users’ Choice ที่ทำต่อเนื่องหลายปีจนมีฐานข้อมูลมากพอในการออกแบบแคมเปญให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น 

นอกจากนั้น ในบรรดา 14 จังหวัดของภาคใต้ ตรังยังเป็นจังหวัดต้นแบบของ LINE MAN Wongnai เพราะยอดออร์เดอร์เดลิเวอรีโตเพิ่มขึ้นถึง 64% มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 73% สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตน่าจะเป็นพื้นที่ที่โดดเด่นในเรื่อง ‘อาหาร’ เช่นจังหวัดตรังที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดยุทธจักรอาหาร และจะต้องเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐภาคเอกชนพร้อมขับเคลื่อนจังหวัดด้วยธุรกิจอาหารอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 2 ในภาคของธุรกิจเดลิเวอรีอื่นๆ LINE MAN Wongnai เร่งขยายธุรกิจ non-food ได้แก่ บริการส่งสินค้า เมสเซนเจอร์ และแท็กซี่ หลังปี 2565 ที่ผ่านมา LINE MAN MESSENGER มียอดการใช้งานรวมเติบโตขึ้น 2 เท่า LINE MAN MART มียอดออร์เดอร์เติบโต 1.6 เท่า และ LINE MAN TAXI มีการเติบโตถึง 2 เท่า 

ด้านธุรกิจ merchant solutions ยอด ชินสุภัคกุลยังเผยอีกว่า Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านเดลิเวอรีนั้นครองอันดับ 1 ในตลาด POS เพราะในบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 100,000 ร้าน มีผู้ใช้งาน Wongnai POS มากกว่า 50,000 ร้าน ทำให้บริษัทตั้งเป้าขยายสัดส่วนการใช้งาน POS ในร้านอาหารแบบ dine-in ทั่วประเทศ ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กลับมาทานอาหารนอกบ้านอีกครั้ง

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ทุกกลุ่มแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ LINE MAN Wongnai เป็นเจ้าตลาดคือการให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะไม่เพียงสร้างความประทับใจในการใช้งานให้ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการซ้ำ แต่ยังทำให้ระบบหลังบ้านมีการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงบริการ 

ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์สั่งอาหารเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคทุกคนติดอกติดใจ ฟีเจอร์เก็บโค้ดลดเพิ่มที่ไม่เพียงดึงดูดให้เข้ามากดสั่ง แต่ยังทำให้สามารถส่งโค้ดเฉพาะที่เหมาะกับผู้บริโภคคนนั้นๆ ได้ตรงจุดขึ้น ฟีเจอร์ใหม่ Pin For Me ให้ผู้รับปักหมุดได้เอง แก้ปัญหาส่งของแต่ปักหมุดผิดที่ และฟีเจอร์ LINE MAN Only รวบรวมร้านที่สั่งได้เฉพาะบน LINE MAN ช่วยให้ร้านอาหารบนระบบมีจำนวนมากพอที่จะดึงดูดลูกค้าให้ใช้เพียง LINE MAN Wongnai 

น่าสนใจว่ากระบวนการเหล่านี้จะทำให้ LINE MAN Wongnai เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น national champion ตามที่ยอด ชินสุภัคกุล ตั้งเป้าหมายไว้ได้มากแค่ไหน และนี่จะเป็นทางออกของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีหรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป

จุดเริ่มต้นของการทำงาน 5 วันมาจากไหน ประดิษฐกรรมสมัยใหม่ของวันทำงาน

หนึ่งวันคือการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

หนึ่งเดือนคือระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก

หนึ่งปีคือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

ทุกวันนี้เรายึดถึงการนับวันในหนึ่งสัปดาห์ที่ 7 วัน และใน 7 วันนั้น เราเองก็กำหนดให้เป็นวันทำงานไป 5 วัน หยุด 2 วัน ยึดถือมาเป็นธรรมชาติหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เราปฏิบัติเหมือนเป็นสัจธรรม ทว่า ก่อนที่ 1 สัปดาห์จะมี 7 วัน อาณาจักรโบราณเช่นโรมันก็เคยแบ่งสัปดาห์โดยมีวันทั้งหมด 8 วัน

แนวคิดเรื่องสัปดาห์ เมื่อเทียบกับการแบ่งวันและช่วงเวลาต่างๆ ที่มักเชื่อมโยงกับท้องฟ้า ดวงดารา และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่อันที่จริงเป็นสิ่งที่กำหนดการใช้ชีวิตของเราอย่างยิ่งยวด กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้น อันที่จริง ที่มาของวันทั้งเจ็ดและการทำงาน 5 วันก็มีที่มาจากศาสนา นั่นคือคริสต์ศาสนาและชาวยิว

จากรากฐานความเชื่อทางศาสนามาจนถึงยุคอุตสาหกรรม การทำงานในยุคนั้นยังสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา จากการหยุดวันที่ไม่ตรงกันของยิวและคริสเตียน ในที่สุดประดิษฐกรรมที่เราเรียกกันว่าวันหยุด (weekend) นอกจากจะเป็นการแก้ไขความเชื่อที่ไม่ลงรอยกันในวัฒนธรรมการทำงานที่เริ่มที่อเมริกาแล้ว การแยกวันหยุดและวันทำงานออกจากกันยังนับเป็นนวัตกรรมสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้การทำงานกลายเป็นศาสนาใหม่ของการใช้ชีวิตร่วมสมัย

ในบรรยากาศที่สังคมกำลังมองไปยังอนาคต ไปยังชีวิตที่ดี การทำงาน 5 วันก็นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมจากศตวรรษก่อนหน้า การทำงาน 5 วันเป็นสิ่งที่เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเราทำงานน้อยกว่านี้ได้ไหม มีเวลาที่ใช้ไปกับการทำงานน้อยกว่านี้ได้ไหม ในทางกลับกัน บางช่วงของประวัติศาสตร์ที่การทำงาน 5 วันก่อตัว การทำงาน 5 วันอาจสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่ไม่ล้ำสมัยเพียงพอจนต้องใช้แรงมนุษย์ และมีการมองกันว่าในศตวรรษถัดไป มนุษย์ควรจะทำงานน้อยลงได้

และนี่คือที่มาที่ทั้งยืดยาวและแสนสั้น จากอิทธิพลของชาวสุเมเรียน การนับวันของคริสเตียนและวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ตรงวัน การหาวันหยุด ประกาศในโรงงานรถยนต์ของฟอร์ด กฎหมายคุ้มครองเวลาทำงานที่ลดจาก 40 ชั่วโมงเหลือ 32 ชั่วโมงโดยไม่ลดเงินเดือน จนถึงการทดลองปรับสู่ความฝันใหม่ของการทำงาน 4 วันที่กำลังทดลองอย่างแข็งขันทั่วโลก

ศาสนาของสัปดาห์และวันหยุดสุดสัปดาห์

ความสนุกของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน ฟังดูว่าน่าจะเป็นสัจธรรมทั่วไป แต่เมื่อปูทางมาว่าสัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน เป็นการกำหนดของมนุษย์ซึ่งก็เป็นมิติทางวัฒนธรรมล้วนๆ การนับให้ 1 สัปดาห์มี 7 วันก็ค่อนข้างมีที่มาอย่างเก่าแก่ ในยุคโบราณจะมีการนับสัปดาห์ที่ 7 หรือ 8 มองอย่างคร่าวๆ ยุโรปค่อนข้างใช้ระบบ 8 วัน เช่นกลุ่มเคลติก (Celt) อารยธรรมดั้งเดิมแถบอังกฤษหรืออาณาจักรโรมันเองก็นับสัปดาห์ด้วยระบบ 8 วัน 

สำหรับระบบ 7 วันนักประวัติศาสตร์มักอ้างอิงไปที่อารยธรรมโบราณสำคัญคือชาวสุเมเรียน ในอาณาจักรบาบิโลนซึ่งค่อนข้างแผ่ขยายอยู่แถบตะวันออกกลาง การที่ยุโรปรับระบบ 7 วันก็มาจากการเปลี่ยนระบบนับสัปดาห์ของโรมัน ในสมัยโรมันที่ทางโรมันขยายอาณาจักรมาถึงตะวันออกกลาง นับยุคก็อยู่ที่ราวประมาณ 250 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) ในช่วงนี้เองที่โรมันรับเอาระบบ 1 สัปดาห์ 7 วันอย่างเป็นทางการ มีการให้วันอาทิตย์เป็นประธานและนับต่อโดยมีชื่อเทพเจ้าประจำดวงดาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าตามลำดับ

ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นแสนไกลของวันทั้ง 7 และวันหยุด คือในสมัยคอนสแตนตินนี้เองที่องค์จักรพรรดิรับคริสต์ศาสนา จากความเชื่อเดิมที่ให้วันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้น ก็เลยกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันแห่งการบูชาและเป็นวันสำหรับการหยุดพักผ่อนพร้อมกัน 

จากรากฐานในสมัยคริสตกาล ทีนี้ในเรื่องเล่าของคริสต์คือพระเจ้าทรงใช้เวลา 7 วันในการสร้างโลก และทรงถือให้วันสุดท้ายคือวันอาทิตย์เป็นวันพัก ตรงนี้เชื่อกันว่าคริสต์ศาสนารับเอาวิธีคิดทั้งวิธีนับวันและการวางวันหยุดมาจากสมัยโรมันนี่แหละ แต่พอเรื่องเล่าและความเชื่อแบ่งออกเป็นสองทาง คือเล่าเหมือนกันแต่วันสลับกัน ชาวยิวให้วันพักและวันเข้าโบสถ์เป็นวันเสาร์ ส่วนคริสเตียนเป็นวันอาทิตย์

ทีนี้ถ้าเรามองย้อนไป แนวคิดเรื่องการทำงานในยุคก่อนอุตสาหกรรม งานกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน คือการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีการแยกวันหยุดเป็นกาลเฉพาะ แต่ผู้คนจะหยุดทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธื์ ทีนี้พอเราเดินทางมาถึงยุคอุตสาหกรรม หลักฐานเรื่องการให้วันหยุดสัมพันธ์กับความเชื่อในหลายขั้นตอน

แรกเริ่มสุด เราย้อนไปที่อังกฤษก่อนในฐานะประเทศที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดโรงงานและคนเข้าไปทำงานในโรงงาน ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีบันทึกว่าชาวอังกฤษที่ทำงานในโรงงาน จะหยุดในวันอาทิตย์ตามความเชื่อในพระคัมภีร์ คงด้วยว่างานโรงงานนั้นหนักหนา ในวันอาทิตย์ที่ได้หยุดพัก วันนั้นหนุ่มโรงงานก็จะเที่ยวเต็มที่ ทั้งดื่มกิน เล่นพนันจนเกิดอาการที่เรียกว่า ‘Saint Monday’ คืออาการโดดงานเพราะไปทำงานไม่ไหว ทีนี้โรงงานก็เลยมีการต่อรองว่างั้นจะให้วันหยุดเพิ่ม คือให้หยุดครึ่งวันของวันเสาร์และสัญญานะว่าจะมาทำงานวันจันทร์ได้ (คือให้ไปเละเย็นวันเสาร์แทน)

แนวคิดของฟอร์ด 40 ชั่วโมงและนวัตกรรมของการพักผ่อน

นับจากการให้หยุดครึ่งวันที่อังกฤษ การเริ่มต้นหยุดวันเสาร์ด้วยนั้นต้องย้ายมาที่อเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหม่ แต่ทว่าผู้อพยพที่มีอิทธิพลในยุคนั้นโดยเฉพาะในการกำหนดวันคือคริสเตียน มีการล็อบบี้จนได้ออกกฎหมายให้ไปรษณีย์และกิจการอื่นๆ หยุดในวันอาทิตย์ตามความเชื่อ

ทีนี้ในปี 1908 โรงสีในนิวอิงแลนด์ถือเป็นหมุดหมายของการได้เริ่มหยุดสองวัน คือที่โรงสีมีคนทำงานทั้งชาวยิวและชาวคริสต์ วิธีการของโรงสีในตอนนั้นคือให้ชาวยิวหยุดวันเสาร์แล้วมาทำงานชดเชยวันอาทิตย์ ในการนั้นเอง ชาวคริสต์ที่ถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่พระเจ้ายังหยุดก็ไม่พอใจ โรงสีก็เลยให้ชาวยิวหยุดไปเลยสองวัน หลังจากนั้นโรงงานอื่นๆ ก็เลยทำตามเรื่อยมา

จากปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 การค่อยๆ เกิดวันหยุดนับว่ายาวนานและยากลำบาก โดยสถิติในช่วงทศวรรษ 1890 ตัวเลขการทำงานในโรงงานสามารถสูงได้ถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

จากทำงาน 100 ชั่วโมง ในที่สุดโลกอุตสาหกรรมก็เรียนรู้ถึงพลังของการลดชั่วโมงการทำงานลง จุดเริ่มของการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง 5 วัน มาจากเฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าพ่ออุตสาหกรรมยานยนต์และหนึ่งในผู้ปฏิวัติโลกสมัยใหม่ผ่านล้อและสายพานโรงงาน

เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นผู้วางระบบการทำงานแบบสมัยใหม่ที่ยังส่งอิทธิพลมาในทุกวันนี้ คือการวางชั่วโมงการทำงานที่ให้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์พร้อมระบบการจ่ายค่าจ้างรายวันที่คิดเป็นชั่วโมง ยุคอุตสาหกรรมก่อนนี้เชื่อเรื่องประสิทธิภาพ การทำงานเต็มระบบ ทุ่มเวลาให้การทำงานเป็นแนวทางสำคัญ แต่โรงงานรถยนต์ของฟอร์ดที่เปิดในปี 1922 โรงงานรถยนต์นี้มาพร้อมนวัตกรรมระบบการทำงาน 40 ชั่วโมงพร้อมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จึงนับเป็นโมเดลทดลองที่ล้ำสมัยมาก

แน่นอนว่ากระแสของนายจ้างคือช็อก หนังสือพิมพ์ก็บอกว่าโรงงานของฟอร์ดเหมาะมากกับคนที่อยากจะลดเวลาการทำงานลง ทำนองว่าจะขี้เกียจกัน แต่ฟอร์ดเองชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานในชั่วโมงที่น้อยลงกลับได้ผลงาน (productivity) เท่าเดิม

อันที่จริงฟอร์ดเองยังไม่เชิงว่ามีแนวคิดเรื่องสุขภาวะหรือสวัสดิภาพของคนทำงานเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ฟอร์ดคิดเป็นนวัตกรรมของชีวิตสมัยใหม่อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดแบบทุนนิยม คือฟอร์ดมองในฐานะผู้ผลิตว่า โลกการผลิตก็ต้องมีผู้ซื้อ การให้วันหยุดกับแรงงาน แรงงานก็จะไปใช้เวลาว่าง ไปพักผ่อน ต้องมีช่วงเวลาผ่อนคลายจากการทำงานเพื่อไปใช้เงิน โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ของเขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องไปในท้ายที่สุด ตรงนี้เองถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวันทำงานและวันหยุด ของวันหาเงินและวันใช้เงินที่กลายเป็นโลกสองใบ เป็นศาสนาใหม่ของชีวิตเราๆ ท่านๆ ที่หมุนเวียนของวันทั้งสองวนไป

อย่างไรก็ตาม โรงงานต่างๆ และกิจกรรมการทำงานในโลกสมัยใหม่รับเอาการทำงาน 5 วัน ส่วนเวลาทำงานก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป เช่นยุคหลังสงครามกลางเมือง มีแรงงานจากคนผิวดำเพิ่มขึ้น ก็เริ่มปรับให้ 8 ชั่วโมงเป็นมาตรฐาน หรือยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) รัฐก็ใช้นโยบายลดวันและเวลาทำงานลงเพื่อให้อัตราการว่างงานลดลง นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว การออกกฎหมายแรงงานเช่น Fair Labor Standards Act ในปี 1938 มีเนื้อหาแบนแรงงานเด็กรวมถึงเริ่มมีการวางกรอบการทำงานที่ 44 ชั่วโมง ถ้าเกินต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไปจนถึงการก่อตัวและการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน

เราทำงานมากไปไหม การทดลองของการทำงาน 4 วัน

ประเด็นเรื่องทำงาน 5 วันและวันหยุด จากจุดเริ่มในโรงงานของฟอร์ด ในตอนนั้นฟอร์ดทำให้เราเห็นว่าการลดเวลาทำงานลงอาจนำไปสู่ผลดีในมิติอื่นๆ อันที่จริงนักคิดในยุคนั้นมองเห็นว่าการทำงานคือการเป็นแรงงานในภาคการผลิตเป็นความจำเป็น การทำงานมากๆ เกิดจากเทคโนโลยีที่ยังไม่ดีพอ ในอนาคตถ้าวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ก็ควรเป็นอิสระจากการทำงาน ใช้เวลาไปกับการทำงานน้อยลง 

ในปี 1928 ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ John Maynard Keynes เขียนไว้ว่าความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมจะทำให้เราลดเวลาการทำงานเหลือเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ภายใน 100 ปี หรือในปี 1965 คณะกรรมาธิการวุฒิสภา (Senate Subcommittee) ทำนายว่าชาวอเมริกันจะทำงานลดลงเหลือเพียง 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตรงนี้เลยน่าคิดว่า แรงงานและการทำงานในยุคหนึ่งทำจากข้อจำกัด ในยุคปัจจุบันเราเองกลับรู้สึกกลับกันคือเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนเราว่างงาน การไม่มีงานทำฟังดูเป็นเรื่องน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์การทำงานจากร้อยชั่วโมงเมื่อร้อยปีก่อน

จากการย้อนดูประวัติศาสตร์ อันที่จริงเวลาการทำงานค่อยๆ ถูกลดลง นักคิดมากมายต่างพูดถึงการเป็นอิสระจากการทำงาน การเปลี่ยนตัวเองจากเฟืองในโลกการผลิตสู่ความหมายของการมีชีวิตที่ไม่ใช่แค่การทำงานแล้วตายจากไป ในปี 1956 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) รองประธานาธิบดีในขณะนั้นให้คำมั่นกับอเมริกันชนว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกล และถ้าเราดูความเคลื่อนไหวในรอบสิบปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเกือบทุกที่ทั่วโลกได้ลงมือทดลองการทำงาน 4 วัน ลดการทำงานลงเหลือราว 32 ชั่วโมง รูปแบบการหยุดก็หยืดหยุ่นแล้วแต่ว่าจะหยุดวันศุกร์หรือวันพุธ ทว่าโดยรวมแล้วผลการทดสอบเป็นไปในเชิงบวก คนทำงานตึงเครียดน้อยลง ทำงานได้ผลดีขึ้น จัดสรรเวลาพักและทำงานได้ดีขึ้น

การทดลองทำงาน 4 วันค่อนข้างทำในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีการทดลองจากในระดับบริษัทและค่อยๆ มีกลุ่มทดลองที่ใหญ่ขึ้น จากกลุ่มทดลองในไอซ์แลนด์ในปี 2015 และปี 2019 ผลการทดลองได้ผลอย่างน่าประทับใจ กลุ่มตัวอย่างเครียดน้อยลง เบิร์นเอาต์น้อยลง กลุ่มทดลองของไอซ์แลนด์ถือเป็นการทดลองขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มตัวอย่างร่วมสูงถึง 2,500 ราย บางส่วนมีการต่อรองลดเวลาการทำงานอย่างถาวรในเวลาต่อมา นอกจากนี้ในปี 2019 ไมโครซอฟต์เจแปนทดลองให้พนักงานหยุดโดยได้รายได้ปกติในวันศุกร์ รวมถึงลดเวลาการประชุมเหลือครึ่งชั่วโมงและลดจำนวนผู้ร่วมประชุมลง ผลพลอยได้ที่น่าสนใจคือต้นทุนการดำเนินการลดลงคือค่าไฟฟ้าลดลง 23% แต่ยอดขายต่อหัวของพนักงานเพิ่มขึ้น 40%

แนวคิดการปรับเรื่องการทำงานกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อวิถีการทำงานของเราเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 ในปี 2022 สหราชอาณาจักร มีความตื่นตัวเรื่องการทำงานยุคใหม่และชีวิตที่ดีในช่วงโรคระบาด ที่สหราชอาณาจักรมีการรวมตัวกันของภาคเอกชนกว่า 60 บริษัทจากแทบทุกกลุ่มธุรกิจและทุกขนาดกิจการ จากร้านอาหารเล็กๆ ถึงบริษัทใหญ่ ในการทดสอบการทำงาน 4 วันซึ่งก็คือการลดเวลาการทำงานลงเหลือ 80% โดยได้ค่าจ้างเท่าเดิม การทดสอบนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีคนทำงานร่วมโครงการมากถึง 3,300 คน

ผลการทดสอบในระยะเวลา 6 เดือน ในมุมของลูกจ้างรายงานผลเป็นที่น่าพึงพอใจ นอนหลับ ความเครียด สุขภาพใจ และชีวิตส่วนตัวดีขึ้น ข้อที่น่าสนใจคือภาพรวมผลกำไรหรือผลประกอบการของบริษัทและห้างร้านไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังมีรายงานว่าในช่วงทดลองทำงานน้อยลงกลับมีผลประกอบการที่ดีขึ้นราว 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า รายงานตัวเลขการลาออกลดลง จากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมจนจบการทดสอบทั้งหมด 61 บริษัท มี 56 บริษัทจะดำเนินการให้การทำงาน 4 วันจากการทดสอบกลายเป็นนโยบายหลัก, 2 บริษัทเลือกจะยืดการทดลองออกไป มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ

สำหรับเราที่เกลียดวันจันทร์ รักวันศุกร์ ทำงาน เรียนหนังสือ 5 วัน หยุด 2 วันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก จินตนาการสู่โลกใหม่ที่ทำงานแค่ 4 วันก็อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ ที่อันที่จริงก็พอจะจินตนาการได้ไม่ยากนักและน่าจะดีกับชีวิต แน่นอนว่าอุดมคติใหม่เป็นเรื่องที่ต้องทดลอง การทำงาน 4 วันอาจจะไม่เหมาะกับบางกิจการ อาจกระทบกับบางพื้นที่การทำงานที่ทำงานหนัก ขาดแรงงาน 

แต่ถ้าเรามองวัฒนธรรมการทำงานไม่ว่าจะเป็น 6 วันโดยมีเงื่อนไขการทำงานจากความเชื่อทางศาสนา การค่อยๆ ได้หยุดเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นข้อบังคับจำนวนชั่วโมงทำงานเพื่อให้เราในฐานะแรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเงื่อนไขและคำมั่นที่มนุษย์เราเชื่อว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้เราเป็นอิสระมากขึ้น ทำงานน้อยลง การย้อนดูอดีตที่นับว่าไม่ยาวนานนักเมื่อเทียบกับอารยธรรมของเราคือราวร้อยปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนจากการทำงาน 5 วันให้สั้นลง การหาทางให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ก็อาจจะเป็นอนาคตใหม่ที่ไม่ไกลจากวันนี้นัก

อ้างอิง

Ampverse บริษัทเกมที่อยากพาทีม Esports ไทยไปไกลระดับโลก

หากเอ่ยชื่อ แอมเวิร์ส (Ampverse) ขึ้นมา คนธรรมดาสามัญอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่สำหรับเกมเมอร์ทั้งหลายคงได้ยินชื่อนี้อยู่บ่อยๆ

แอมเวิร์สเป็นบริษัทที่ให้บริการธุรกิจด้านเกมมิ่ง และ Esports แบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะสนับสนุนเกมเมอร์และนักกีฬา Esports ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางแอมเวิร์สเพิ่งคว้า 3 รางวัลจากเวที Thailand Social AIS Gaming Awards ไปครอง

แม้จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่แท้จริงแล้วแอมเวิร์สก่อตั้งขึ้นโดยมี ยุ่น–สุรศักดิ์ วินิจ ตัวแทนจากประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Co-founder

ปัจจุบันยุ่นดำรงตำแหน่งเป็น Vice President of Talent ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และนักกีฬา Esports แนวหน้า ได้แก่ Bacon Time ทีมนักกีฬา Esports เกม Arena of Valor (Rov) สัญชาติไทยที่มีผลงานโดดเด่นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนมีผู้ติดตามหลายแสนคน, MiTH (Made in Thailand) ทีมนักกีฬา Esports ไทยที่ก่อตั้งมากว่า 10 ปี ลงแข่งในเกมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น PUBG หรือ Valorant, STBC ทีม Esports สัญชาติเวียดนาม, Minana ทีม Esports สัญชาติฟิลิปปินส์ และ 7SEA ทีม Esports สัญชาติอินเดีย 

คำว่าดูแลที่ว่า คือการเป็นตัวกลางให้เหล่านักกีฬาในการติดต่อกับแบรนด์ต่างๆ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในช่วงเวลาการแข่งขัน

ท่ามกลางการแข่งขันในโลกสุดยุ่งเหยิง ยุ่นบอกเราอย่างมั่นใจว่า ‘เกม’ คือหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองมากที่สุด มีบริษัทใหญ่ๆ มากมายทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มลงทุนกับเกมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  จนทำให้แอมเวิร์สเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ก่อนจะมาเริ่มทำแอมเวิร์ส คุณมีความสนใจเกี่ยวกับเกมมาก่อนหรือเปล่า

ผมเป็นคนชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันก็ยังเล่นอยู่ เมื่อคืนยังนอนตี 4 อยู่เลย (หัวเราะ)

ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ทำงานกับ Twitch.tv ในตำแหน่ง Country Manager ซึ่งจะดูแลในเรื่องการเซ็นสัญญาเข้าสังกัดของสตรีมเมอร์และ ต้องบอกว่าโมเดลธุรกิจของประเทศไทยแตกต่างจากที่อื่น จากเดิมที่ต่างประเทศเป็นการแบ่ง revenue sharing สตรีมเมอร์รับรายได้จากการโดเนต หรือ subscribe แบ่งรายได้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่ที่ไทยถ้าไม่มีเงินเดือนจะถือว่าไม่มั่นคง ดังนั้นสตรีมเมอร์ในสังกัดเราก็จะได้เงินเดือนขั้นต่ำกันทุกคน จ่ายให้ทุกเดือน ไม่รวมกับค่าโดเนตอื่นๆ

พอทำไปได้สักระยะ ผมเห็นการเติบโตของน้องๆ มีงานมีการที่มั่นคง ได้เซ็นสัญญาเป็นระยะ 5 ปี 10 ปี จนหลังๆ ไม่เหลือสิ่งที่ผมทำได้แล้ว เลยตัดสินใจลาออกจาก Twitch.tv แต่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าสตรีมเมอร์อยู่ หลายๆ คนก็ยังมาปรึกษาผมเรื่องสัญญา ผมเลยคิดขึ้นมาว่าถ้าเราต่อยอดจากคอนเนกชั่นที่มี เปิดเป็นบริษัทดูแลสตรีมเมอร์ เจรจาสัญญาหรือข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับน้องๆ รวมถึงเป็นตัวกลางรับงานผ่านสปอนเซอร์ ก็น่าจะดีนะ

เข้าใจว่าแอมเวิร์สเป็นสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์

จะว่าอย่างนั้นก็ใช่ เราเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ก่อน สาเหตุที่ทำแบบนั้นเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่ทั่วโลกยอมรับว่ามีเสถียรภาพ มีความมั่นคงในเรื่องของค่าเงินและธุรกิจ ผู้ลงทุนเห็นก็มั่นใจ จากนั้นก็มาจดทะเบียนในไทยเป็นบริษัทลูก แต่จริงๆ เบสการทำงานอยู่ในตลาดที่ไทยเป็นส่วนใหญ่

ในมุมมองของคุณ ตลาด Esports ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผมว่าธุรกิจนี้ใหญ่มากนะ มีกำไรเข้ามาในธุรกิจนี้ค่อนข้างเยอะ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 เรามีเกมเมอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ​ 400 ล้านคน ปีที่ผ่านมาสร้างรายได้ราว 48,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะโตได้ถึง 53,000 ล้านบาท

ในประเทศไทยเรามีเกมเมอร์ประมาณ 30 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ และผมคิดว่ามันยังมีโอกาสอีกมากที่เราจะไขว่คว้าได้ เพราะทุกวันนี้คนเราเข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้นมาก พูดตรงๆ ว่าโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้ 3,000-4,000 บาทก็เล่นเกมได้แล้ว ขณะเดียวกันเกมก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีให้มีสเปคต่ำลง โหลดง่าย ไม่กินพื้นที่เครื่อง เล่นแล้วไม่กระตุก ถือว่าเรื่องอุปกรณ์เป็นปัจจัยแรก

ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ต ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตของไทยดีเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเลยนะ ทำให้ทุกอย่างมันเร็วไปหมด เมื่อก่อนกว่าจะเล่นเกมได้ต้องรอโหลดเป็นวัน เดี๋ยวนี้ใช้เวลาไม่ถึงห้านาทีก็เสร็จเรียบร้อย

ด้วยการที่มีอุปกรณ์เล่นเกมในมือและมีอินเทอร์เน็ตที่ดี มันทำให้มีจำนวนเกมเมอร์เพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ช่วงที่ทุกคนต้องกักตัว ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ระวังตัวมากขึ้น มีความเครียดมากขึ้น เกมคือสิ่งบันเทิงอันดับต้นๆ ที่ทุกคนจะนึกถึงและเข้าถึงได้

ช่วงโควิด-19 อยู่บ้านบางคนก็ดูซีรีส์ แต่พอเป็นเกมมันได้สื่อสารกับคนอื่นด้วย คิดว่านี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกมเมอร์เพิ่มขึ้นหรือเปล่า

ใช่ครับ มันเหมือนเป็นคอมมิวนิตี้ เป็น social life แบบใหม่ สมมติว่าถ้าเราดูเน็ตฟลิกซ์ อย่างมากคือต้องดูจบแล้วค่อยมาคุยกัน แต่การเล่นเกมมันคือกิจกรรมที่ทำไปด้วยกันได้ 

ผมใช้คำว่าที่คนตื่นเต้นกับเมตาเวิร์สในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่เกมเมอร์ เพราะเมตาเวิร์สอยู่กับพวกผมมานานแล้ว ตั้งแต่เกมออนไลน์และมีอินเทอร์เน็ต แล้วคอมมิวนิตี้ในเกมค่อนข้างแข็งแกร่ง เราอาจจะไม่เคยเจอหน้ากัน แต่เราเล่นเกมในโลกเสมือนจริงด้วยกันทุกวัน ไปเดินเก็บเวล ล่าบอส ผ่านด่าน เคลียร์เควสต์ เป็นการใช้เวลากับเพื่อนเหมือนเวลาที่เราไปตีกอล์ฟหรือเตะบอล 

งานหลักๆ ของแอมเวิร์สมีอะไรบ้าง

เราเป็นธุรกิจด้านเกมมิ่ง, เอนเตอร์เทนเมนต์ แล้วก็ Esports สำหรับผมคิดว่าด้าน Esports เป็นขาสำคัญและเป็นเป้าหมายที่เราต้องทำให้สำเร็จ คือทำให้ทุกคนรู้ว่า Esports มันจับต้องได้ สร้างรายได้ได้ สร้างอาชีพได้ และเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบได้

เมื่อก่อนผมเคยเป็นนายกสมาคม Esports แห่งประเทศไทย แต่ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน เสียงของเราก็ดังไปไม่ถึง ไม่สามารถทำให้รัฐบาลยอมรับเราได้ เพราะฉะนั้นผมก็เลยต้องเฟดตัวออกมาก่อน จนถึงวันนี้ที่ Esport ได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬา มีการแข่งขันระดับซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ มีความภาคภูมิใจไม่ต่างจากกีฬาอื่นๆ เขาจะตามหานักกีฬาที่เก่งๆ เพื่อจะเป็นตัวแทนทีมชาติ เมื่อนั้นรัฐบาลต้องมาหาเรา นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสร้างทีม

อย่าง Bacon Time คือเด็ก 5 คนมารวมตัวกัน เป็นทีมที่ได้แชมป์ RoV ระดับประเทศเป็นทีมแรกๆ โด่งดังพอสมควร แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มธุรกิจยังไง จัดการไม่ได้ ผมเลยไปขอซื้อทั้งทีมมาอยู่ภายใต้สังกัดแอมเวิร์ส 

ผมบอกเขาว่ายูทำในสิ่งที่ยูถนัดพอ ยูอยากแข่งใช่ไหม งั้นโฟกัสแค่การแข่งแค่อย่างเดียว เรื่องเงินเดือน ติดต่อแบรนด์ ทำมาร์เก็ตติ้ง ดูแลเสื้อผ้าหน้าผม ทั้งหมดฝั่งผมจะจัดการให้เอง

อยากรู้ว่าการเป็นนักกีฬา Esports ในไทยมีความมั่นคงมากแค่ไหน และทางแอมเวิร์สมีส่วนช่วยในการส่งเสริมนักกีฬาอาชีพยังไงบ้าง

ด้วยความที่นักกีฬา Esports ส่วนใหญ่จะอายุประมาณ 17-20 ปี เวลาเซ็นสัญญาเราต้องให้ผู้ปกครองมาเซ็น เขาต้องรู้ทุกอย่างว่าลูกต้องทำอะไรบ้าง ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ซึ่งบอกตามตรงว่าค่าตอบแทนมันมหาศาล นักกีฬาบางคนได้เงินเดือนเป็นแสน และส่วนมากไม่มีใครต่ำกว่า 50,000 ไม่นับรวมรางวัลที่ได้จากการแข่ง 

สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักกีฬาคือการฝึกซ้อม ดังนั้นเราจะมีแคมป์นักกีฬาอย่างจริงจัง สร้างตารางการทำงานให้เขา มีแม่บ้านคอยดูแลเรื่องอาหารและทำความสะอาด มีผู้จัดการทีมคอยนัดซ้อมแข่งกับทีมอื่นๆ มีคนที่คอยดูแลวิเคราะห์ว่าในแต่ละเกมเล่นเป็นยังไง ต้องพัฒนาในส่วนไหน เกมนี้ใครผิดพลาด เราจะชนะฝ่ายตรงข้ามได้ยังไง มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ มีห้องออกกำลังกาย ไปจนถึงมีที่ปรึกษาทางจิตวิทยา 

เอาจริงๆ เป็นนักกีฬา Esports เครียดมากนะครับ เพราะว่าภายใน 1 นาทีในเกม คุณต้องกดไม่รู้กี่ร้อยครั้ง ตัดสินใจพลาดเพียงเสี้ยววินาทีอาจทำให้แพ้ได้เลย การมีที่ปรึกษาทางจิตวิทยาจะช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจให้พวกเขายังมีมายด์เซตที่ดีและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมทีม

นอกเหนือไปจากการแข่งขัน นักกีฬายังเป็นเสมือนคนดัง มีผู้ติดตาม มีแฟนคลับ ทางแอมเวิร์สสามารถต่อยอดกระแสจากความโด่งดังนี้ยังไงบ้าง

พูดตรงๆ ว่า ณ ปัจจุบันนี้การทำทีมมีโอกาสขาดทุนสูง เพราะเราต้องหารายได้มา cover ค่าใช้จ่ายที่เล่าไปเมื่อกี้ทั้งหมด ดังนั้นนอกจากเงินรางวัลจากการแข่งแล้ว การมีสปอนเซอร์และการสนับสนุนจากแฟนคลับเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก

สปอนเซอร์ก็มีมาทั้งรูปแบบที่เอาโลโก้ไปไว้บนเสื้อนักแข่ง ทานอาหารโชว์ตอนสตรีม เต้นใน TikTok พร้อมถือโปรดักต์ พาทัวร์บ้านในฝันของเกมเมอร์ หรือกระทั่งเวลาทีมเราชนะก็ไปฉลองที่ร้านอาหารของเขา เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข 

และอีกสิ่งที่ผมทำคือการสร้าง Esports Idol ขายความเป็นตัวเองของนักกีฬาแต่ละคน บางคนพูดน้อย บางคนพูดเยอะ บางคนกวนตีน บางคนซีเรียส เราดึงจุดเด่นของพวกเขาออกมา เสริมสร้างบุคลิกให้เขาดูดี ฝึกทักษะในการพูด ในการให้สัมภาษณ์ พอเราดันเขาขึ้นมา เขาก็จะมีคนติดตาม มีแม่ยกมากขึ้น มีคนซัพพอร์ต มันก็นำไปสู่การขายของที่ระลึก เคสมือถือ ป้ายคล้องคอ สติ๊กเกอร์ ผ้าเชียร์ เสื้อยืด

แอมเวิร์สมองว่าแบรนด์และธุรกิจจะชนะใจเจนฯ Z และเจนฯ Alpha ยังไงผ่านช่องทางเกม

เอาจริงๆ แฟนคลับของนักกีฬาก็เป็นเจนฯ Z และเจนฯ Alpha เป็นส่วนใหญ่ แล้วนักกีฬาของเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อะไรที่คนคนหนึ่งใช้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ น้ำดื่ม อาหาร รองเท้า แว่นกรองแสง มีดโกนหนวด โรลออน ทีมผมขายได้หมด แต่มีอันหนึ่งที่ยังไม่เข้าคือยาดม จนแฟนคลับเขาทำมาแจกกันเอง (หัวเราะ) เราจึงทำหน้าที่เป็นเสมือนสะพานในการเชื่อมแบรนด์ในภาคธุรกิจเข้ากับคนรุ่นใหม่ในโลกของเกม

แล้วถ้าวันหนึ่งน้องๆ นักกีฬาไม่อยากแข่งอีกแล้ว มี career path อื่นอีกไหม

จริงๆ ก็มีหลายเส้นทาง ถ้ารู้สึกอิ่มตัวกับการแข่งแล้ว ไม่อยากซีเรียสกับการแข่ง หรืออายุมากขึ้น การตอบสนองไม่ดีเหมือนเคย ร่างกายไม่โอเคเหมือนเก่า ก็สามารถผันตัวไปเป็นโค้ชได้ เอาประสบการณ์มาแนะนำน้องๆ ต่อ 

ถ้าไม่อยากอยู่ในแคมป์ ดังแล้ว มีผู้ติดตามเยอะ ก็สามารถโตไปเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของทีมได้ คอยออกกล้องแทนทีม ทำให้นักกีฬาของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

หรือถ้าอยากเข้าไปทำงานบริษัทเกมก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะพวกเขารู้จักเกมดี มีประสบการณ์ รู้ว่าจุดประสงค์ของเกมนี้คืออะไร อุตสาหกรรมเกมนั้นใหญ่มากกว่าที่หลายๆ คนคิดและบริษัทเกมก็มีงานต่างๆ รองรับมากมาย 

เกมมักถูกมองเป็นตัวร้าย บ่อนทำลายสมองเด็ก ทางแอมเวิร์สคิดเห็นกับประเด็นนี้และมีแนวทางรับมือกับแนวคิดนี้ยังไง

ช่วงที่ผมยังเป็นนายกสมาคม Esports ผมเคยไปดูการแข่งขัน Indoor Martial Art Games 2013 ซึ่งตอนนั้นบรรจุ Esports เข้าไปแล้ว มันกำลังปูทางเข้าสู่การแข่งขันซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์แน่ๆ ผมเลยไปวิ่งเต้นอยู่สักพัก แต่ประเทศไทยยังไม่สนใจ เหรียญจาก Indoor Martial Art Games ยังไม่อิมแพกต์มากพอที่จะทำให้รัฐบาลหันมามองได้ 

ผมบินไปประชุมอีกหลายครั้ง เจอนายกสมาคมจากหลายประเทศ เขาก็อยากช่วยเรานะ ถ้าเราจะทำให้มันเป็นที่ยอมรับได้ ในมุมมองของผมคือผู้ใหญ่ต้องยอมรับ ไม่งั้นเราเป็นจำเลยของสังคมตลอดเวลา จุดนั้นผมเลยถอยออกมา เพราะรู้สึกว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะเรียกหาเรา

จากนั้นผมก็ไปทำในส่วนของผม ปั้นอินฟลูเอนเซอร์ พัฒนาฝั่งสตรีมเมอร์ พานักกีฬาไปแข่งจนชนะมา พอถึงวันที่เขาหานักกีฬาไปแข่งในซีเกมส์เขาก็จะมาหาเราเอง 

ผมมองว่าสิ่งที่เราทำได้คือพิสูจน์ให้เขาดู ถ้าแม้แต่เราเองที่อยู่ในวงการนี้มา 20 ปีแล้วยังทำไม่สำเร็จ มันก็ไม่มีใครเชื่อหรอก เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เห็นว่าถ้าเด็กชอบทางนี้จริง ตั้งใจฝึกซ้อม โฟกัสกับมัน แล้วพวกเขาสามารถมีเงินเดือนมั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และมีอนาคตสดใสรออยู่ 

นอกจากการพยายามพิสูจน์ตัวเอง ความยากและท้าทายในการทำแอมเวิร์สมีอะไรอีกไหม

เกมเป็นเรื่องของเทรนดิ้งที่เราต้องตามให้ทัน การเป็นนักกีฬา Esports ไม่ใช่ว่าคุณจะแข่งเกมอะไรก็ได้ เพราะยิ่งเกมดัง ได้รับความนิยม ก็จะมีคนดูเยอะตามไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อรายได้จากสปอนเซอร์โฆษณาและลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน  

Esports ไม่เหมือนกีฬาทั่วไป บางเกมมาเร็วไปเร็ว บางเกมเดือนเดียวตาย บางเกม 3 เดือนตาย เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกเกมที่มีไลฟ์ไทม์ยาว มีกติกาเท่าเทียม วัดกันฝีมือช็อตต่อช็อตโดยมีดวงเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ผมเลยมองว่าการทำ Esports ให้ประสบความสำเร็จต้องใช้ประสบการณ์และลองผิดลองถูกเยอะ

ขณะเดียวกันพอเกมที่มีคนสนใจเยอะ ก็จะต้องมีคู่แข่งเยอะเป็นธรรมดา การที่เราจะไปเข้าร่วมได้ จะต้องทำให้เขาเห็นว่าเรามีความสามารถมากพอ เพราะบางเกมต้องซื้อตั๋วเข้าไปแข่งในราคาหลักสิบล้านหรือยี่สิบล้าน พวกเกมใหญ่ๆ ที่มี revenue สูงๆ เขาก็จะเลือกพาร์ตเนอร์ที่จะไปกับเขาจนสุดทาง

ที่สำคัญคือการดูแลทีมงานหลังบ้านและนักกีฬาให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม มี growth mindset อยากจะเติบโตไปด้วยกัน เพราะชัยชนะทั้งหมดอยู่ในมือพวกเขา 

แอมเวิร์สมองอนาคตของวงการ Esports ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ยังไง และมีเป้าหมายที่อยากจะไปให้ถึงไหม

โดยปกติแล้วกีฬาทุกประเภทคนดูต้องไปที่สนามแข่ง แต่สำหรับ Esports สนามแข่งของเราคืออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนบนโลก แค่ใช้ปลายนิ้วคลิก คุณสามารถเข้าที่นั่งขอบสนามได้ทันที 

ผมมองว่าปัจจัยที่ทำให้ Esports เติบโตอย่างรวดเร็วคือเรื่องเวลาและเม็ดเงินที่ซ่อนอยู่อย่างมหาศาล ตอนนี้หลายๆ สโมสรเริ่มหันมาจับกีฬา Esports แล้ว อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, สโมสรฟุตบอลบาเลนเซีย (Valencia) ของสเปน หรือ PSG Esports (Paris Saint-Germain) ของฝรั่งเศสก็มาลงสนามแข่งเกม RoV ในไทยกันหมด ถือเป็นความท้าทายของแอมเวิร์สเหมือนกัน เพราะยิ่งมีบริษัทที่มีทุนเยอะเขาก็ยิ่งซัพพอร์ต หรืออัดฉีดให้นักกีฬาได้มาก สำหรับผมที่อยู่ในวงการมาก่อนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราเจ๋งพอจะยืนอยู่แนวหน้าได้

ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท ผมอยากเห็นแอมเวิร์สเป็นเหมือน City Group ที่มีสโมสรต่างๆ ภายใต้การดูแล แต่เราอยู่ในโลกของ Esports อยากให้แอมเวิร์สเป็นบริษัทแรกที่คนและแบรนด์ต่างๆ จะนึกถึงเมื่อพูดคำว่าเกม และ Esports อยากให้เราเป็นที่รู้จักในฐานะทีมที่ทำโปรดักชั่น Esports เก่ง มียอดเอนเกจเมนต์สูง และสามารถทำให้ทีม Esports ของประเทศอื่นๆ ประสบความสำเร็จได้เหมือนในไทย

ความยากของการทำ Esports โลคอลคือเราได้สปอนเซอร์เฉพาะในประเทศเรา ความฝันสูงสุดคือผมอยากจะยกระดับให้ทีมไปถึงระดับโลก ไปถึงจุดของฝั่งยุโรปหรืออเมริกา

จากการผูกขาดสู่ความหลากหลาย ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในขอบทางแห่งการเปลี่ยนแปลง

หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือความเคลื่อนไหวของ ‘ปิติ ภิรมย์ภักดี’ ทายาทเบียร์สิงห์ที่ออกมาสนับสนุน ‘สุราก้าวหน้า’ ซึ่งรู้กันว่า นี่เป็นข้อเสนอที่ต้องการทลายทุนผูกขาดและทำให้รายเล็กได้แจ้งเกิด

ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยถูกควบคุมอย่างเข้มงวด กฎระเบียบเหล่านี้สนับสนุนการเติบโตของการผูกขาดอำนาจโดยไม่ได้ตั้งใจขององค์กรขนาดใหญ่ที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่

สถานการณ์นี้ได้ขัดขวางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ผลิตเบียร์และโรงกลั่นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ต้องดิ้นรนเพื่อเจาะตลาดเนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบเหล่านี้

ข้อเสนอ ‘สุราก้าวหน้า’ ที่ถูกผลักดันโดยพรรคก้าวไกล มีเป้าหมายเพื่อท้าทายสถานะที่เป็นอยู่นี้โดยผ่อนปรนข้อจำกัดในการผลิตและการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป้าหมายสูงสุดคือการเปิดประตูให้กับผู้เล่นรายย่อย ซึ่งอาจนำไปสู่การผสมผสานแบรนด์ใหม่ รสชาติ และการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเรา

แต่ที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ลงมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ดับฝันความหวังของผู้ผลิตรายเล็ก

แม้รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมสุรา อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กรู้สึกว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เพียงพอ เพราะข้อกำหนดใหม่นี้ระบุว่า บริษัทต้องการเงินทุนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท และกำลังการผลิตอย่างน้อย 100,000 ลิตรต่อปี ซึ่งแน่นอนรายเล็กๆ ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน

วิชิต สายเกล้า ผู้ก่อตั้งบริษัทเบียร์ฝีมือท้องถิ่น ชิต บริวเวอรี่ ระบุว่า แม้การเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบเชิงบวกบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม

สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าประเทศไทยมีตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่มาก สาเหตุหลักมาจากชื่อเสียงของประเทศในฐานะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ข้อมูลจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเผยว่า ในปี 2563 เพียงปีเดียว มีการใช้จ่ายเงินไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 461,000 ล้านบาท

ลึกลงไป บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ และ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ครองตลาดเบียร์มากกว่า 92% ในทำนองเดียวกัน ไทยเบฟ ครองตำแหน่งที่โดดเด่นในตลาดสุรา

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงไม่ได้เห็นรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโดยตรงออกมาแสดงความคิดเห็นกับ ‘สุราก้าวหน้า’ ยกเว้น ปิติ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยระบุว่า เขาสนับสนุนความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมสุรามาโดยตลอด 

“มีผลกระทบแน่ แต่การค้าเสรีเรามีคู่แข่งมาตลอด ก็ต้องปรับแผนกันไปและบุญรอดก็มีธุรกิจอื่นๆ นอกจากเบียร์ด้ว” ปิติ กล่าวแสดงความคิดเห็นใน Facebook

ตีความจากคำพูดของปิติชี้ให้เห็นว่า บุญรอดฯ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทและทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น แต่พวกเขาเชื่อว่าการที่แบรนด์ต่างๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้นสามารถกระตุ้นยอดขายเบียร์โดยรวมได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขาเช่นกัน

สิ่งที่ต้องจับตาไม่ได้มาจากคู่แข่งรายเล็กเท่านั้น แต่ยังมาจากรายใหญ่ที่กำลังกระโดดลงมาแบ่งเค้กก้อนนี้ด้วยเช่นกัน 

ไม่ว่าจะเป็น ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ผู้ได้รับฉายาเจ้าพ่อคาราบาวแดง ได้ประกาศแผนลงทุน 4 พันล้านบาท พัฒนาโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงให้เป็นแบรนด์เบียร์บรรจุขวด ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เสถียร มั่นใจว่ารสชาติของแบรนด์จะ ดึงดูดใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาอยู่ที่การกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาที่ดีที่สุด

เสถียร มั่นใจในการเปิดตัวเบียร์ไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมตั้งเป้าขายหลายช่องทาง ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ เครือค้าปลีกของตัวเอง ‘ถูกดี ร้านมาตรฐาน’ ที่มีอยู่ประมาณ 5,000 แห่ง และมีแผ่นขยายไปถึง 20,000 แห่งในอนาคต

ผู้เล่นสำคัญอีกรายในสมการนี้คือ ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เสนอเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาโดยตรงอย่างไร แต่ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาคือการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเปิดตัว ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ เจาะตลาดเบียร์พรีเมียม รวมถึง ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ส่ง ‘ช้าง โคลด์ บรูว์’ บุกโชห่วย ทั้งในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด 

นอกจากนี้ไทยเบฟกำลังพิจารณานำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เลื่อนการตัดสินใจครั้งนี้มาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจากสภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย

กลับมาที่ ‘สุราก้าวหน้า’ แม้จะถูกตีตกจากสภา แต่ล่าสุดยกเลิกการผูกขาด และส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เป็น 1 ใน 23 ข้อที่ถูกลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล

สิ่งที่ต้องจับตาคือข้อเสนอนี้สร้างความรู้สึกที่หลากหลาย ผู้สนับสนุนกฎหมายกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประชาธิปไตยและให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น 

ในทางกลับกัน นักวิจารณ์โต้แย้งว่าการเพิ่มปริมาณแอลกอฮอล์อาจนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้นและสุขภาพของประชาชน ที่มาจากความเสี่ยงและโรงเบียร์ขนาดเล็กอาจขาดการควบคุมคุณภาพ

ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้าจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไป เพื่อหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการปกป้องผู้ผลิต ผู้บริโภค และทุกคนที่เกี่ยวข้องในตลาด

อ้างอิง: