422
May 25, 2023

ในวันที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีคงตัว LINE MAN Wongnai เร่งทุ่มงบพื้นที่ต่างจังหวัด 2 เท่า และรุกขยายธุรกิจ Non-Food และ Merchant Solutions หวังเป็น National Champion

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีที่หลายคนเคยมองภาพไม่ออก เติบโตแบบก้าวกระโดดจนมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นแบบไม่คาดคิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อผู้คนออกไปใช้ชีวิตตามปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีก็เริ่มคงตัว 

เครื่องยืนยันหนึ่งที่อาจบอกได้ว่าผู้เล่นหลายเจ้าไม่อาจไปต่อ และหลายเจ้าที่ยังอยู่ต่อก็ต้องหากลยุทธ์เพิ่มเติมคือผลการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่กล่าวว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลงราว 0.8-6.5% จากปีก่อน

ถึงอย่างนั้น LINE MAN Wongnai ผู้นำแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย กลับเผยว่าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีของ LINE MAN ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเมษายน 2566 มีมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) เติบโตขึ้น 33% หรือพูดง่ายๆ คือโตสวนตลาดนั่นเอง 

แต่ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลับไม่ได้มองว่า LINE MAN Wongnai จะหยุดอยู่แค่นั้น กลับยิ่งต้องหาแผนงานเพื่อความยั่งยืนและเติบโตของบริษัท ประเด็นแรก ในภาคของฟู้ดเดลิเวอรี LINE MAN Wongnai เตรียมอัดงบในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2 เท่า หลังพบว่าในปีที่ผ่านมา พื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนออร์เดอร์เติบโตถึง 17% และจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 10% 

ความน่าสนใจคือภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพราะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) โต 38% มีร้านอาหารกว่า 100,000 ร้านจาก 1 ล้านร้านทั่วประเทศ และในจำนวนไรเดอร์ในภาคใต้กว่า 14,000 คน ยังมีไรเดอร์ที่ทำรายได้สูงสุดต่อวันได้มากถึง 1,654 บาท 

ยอด ชินสุภัคกุล ยังอธิบายอีกว่าการเติบโตนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นจุดแข็งของ LINE MAN Wongnai ที่มีจำนวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มมากและหลากหลาย ทั้งยังมีส่วนส่งเสริมการขายอย่าง LINE MAN Wongnai Users’ Choice ที่ทำต่อเนื่องหลายปีจนมีฐานข้อมูลมากพอในการออกแบบแคมเปญให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น 

นอกจากนั้น ในบรรดา 14 จังหวัดของภาคใต้ ตรังยังเป็นจังหวัดต้นแบบของ LINE MAN Wongnai เพราะยอดออร์เดอร์เดลิเวอรีโตเพิ่มขึ้นถึง 64% มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 73% สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตน่าจะเป็นพื้นที่ที่โดดเด่นในเรื่อง ‘อาหาร’ เช่นจังหวัดตรังที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดยุทธจักรอาหาร และจะต้องเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐภาคเอกชนพร้อมขับเคลื่อนจังหวัดด้วยธุรกิจอาหารอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 2 ในภาคของธุรกิจเดลิเวอรีอื่นๆ LINE MAN Wongnai เร่งขยายธุรกิจ non-food ได้แก่ บริการส่งสินค้า เมสเซนเจอร์ และแท็กซี่ หลังปี 2565 ที่ผ่านมา LINE MAN MESSENGER มียอดการใช้งานรวมเติบโตขึ้น 2 เท่า LINE MAN MART มียอดออร์เดอร์เติบโต 1.6 เท่า และ LINE MAN TAXI มีการเติบโตถึง 2 เท่า 

ด้านธุรกิจ merchant solutions ยอด ชินสุภัคกุลยังเผยอีกว่า Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านเดลิเวอรีนั้นครองอันดับ 1 ในตลาด POS เพราะในบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 100,000 ร้าน มีผู้ใช้งาน Wongnai POS มากกว่า 50,000 ร้าน ทำให้บริษัทตั้งเป้าขยายสัดส่วนการใช้งาน POS ในร้านอาหารแบบ dine-in ทั่วประเทศ ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กลับมาทานอาหารนอกบ้านอีกครั้ง

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ทุกกลุ่มแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ LINE MAN Wongnai เป็นเจ้าตลาดคือการให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะไม่เพียงสร้างความประทับใจในการใช้งานให้ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการซ้ำ แต่ยังทำให้ระบบหลังบ้านมีการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงบริการ 

ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์สั่งอาหารเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคทุกคนติดอกติดใจ ฟีเจอร์เก็บโค้ดลดเพิ่มที่ไม่เพียงดึงดูดให้เข้ามากดสั่ง แต่ยังทำให้สามารถส่งโค้ดเฉพาะที่เหมาะกับผู้บริโภคคนนั้นๆ ได้ตรงจุดขึ้น ฟีเจอร์ใหม่ Pin For Me ให้ผู้รับปักหมุดได้เอง แก้ปัญหาส่งของแต่ปักหมุดผิดที่ และฟีเจอร์ LINE MAN Only รวบรวมร้านที่สั่งได้เฉพาะบน LINE MAN ช่วยให้ร้านอาหารบนระบบมีจำนวนมากพอที่จะดึงดูดลูกค้าให้ใช้เพียง LINE MAN Wongnai 

น่าสนใจว่ากระบวนการเหล่านี้จะทำให้ LINE MAN Wongnai เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น national champion ตามที่ยอด ชินสุภัคกุล ตั้งเป้าหมายไว้ได้มากแค่ไหน และนี่จะเป็นทางออกของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีหรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป

You Might Also Like