Integrated Friends

เวิร์กกับเพื่อนยังไงให้เวิร์ก?​ Integrated Field สตูดิโอออกแบบอายุ 12 ปีโดยเพื่อน 12 คน

ปี 2011 กลุ่มเพื่อน 12 คนที่ประกอบไปด้วยสถาปนิก, อินทีเรียร์ดีไซเนอร์, ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบอุตสาหกรรม รวมตัวกันก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ IF : Integrated Field ขึ้นมาท่ามกลางเสียงฮือฮาเรื่องจำนวนคนและคำเตือนเรื่องการทำธุรกิจกับคนใกล้ตัว

ปี 2023 IF ขยายตัวจากสเกล 12 คน (รวมผู้ก่อตั้ง) เป็น 64 คน (รวมผู้ก่อตั้ง) โปรโมตพาร์ตเนอร์ธุรกิจเพิ่มอีก 1 คน และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายตั้งแต่ออกแบบบ้านส่วนบุคคลไปจนถึงออกแบบทั้งโครงการบ้าน, ออกแบบภายในและกราฟิกให้โรงเรียนอนุบาล Kensington​ Learning Space และโรงพยาบาลเด็กเอกชัย, ทำแบรนดิ้งให้ร้าน Shabu Lab ไปจนถึงออกแบบผังแม่บทของอุทยานชลประทานไทย

หากระยะทางพิสูจน์ม้า เวลาก็พิสูจน์ว่าการทำธุรกิจกับเพื่อนไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเสียเพื่อนหรือเสียธุรกิจเสมอไป

ในวันที่ IF เดินทางมาถึงขวบปีที่ 12 และมีพาร์ตเนอร์ 13 คน คอลัมน์ Business Partner จึงชวน กวง–วรวุฒิ เอื้ออารีมิตร, เฟย–ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ และ นิน–คณิน มัณฑนะชาติ ตัวแทนพาร์ตเนอร์มาแชร์วิธีทำธุรกิจกับเพื่อนให้เวิร์ก แบ่งปันวิธีสร้างระบบภายใน และให้คำแนะนำแก่คนที่กำลังอยากเปลี่ยนสถานะจากเพื่อนเป็นเพื่อนร่วมงาน

และแน่นอนว่าคำแนะนำของพวกเขาไม่ใช่คำว่า ‘อย่าทำ’ 

พวกคุณรู้จักกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ความสัมพันธ์ก่อนทำธุรกิจด้วยกันเป็นยังไง

กวง : แบ็กกราวนด์คือเรา 11 คนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันที่สถาปัตย์ จุฬาฯ เรียนมาด้วยกัน ทำงานกลุ่ม ทำกิจกรรม ประกวดแบบมาด้วยกัน ก็เลยมีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงวิชาการและไม่วิชาการ ส่วนผู้ก่อตั้งอีกคนเป็นเพื่อนจากลาดกระบังที่ส่งประกวดแบบด้วยกันตอนเรียน

หลังจากเรียนจบทุกคนก็แยกย้ายไปทำงานตามออฟฟิศต่างๆ จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นตอนปี 2009 ที่มีประกวดแบบรัฐสภา ประมาณปีครึ่งหลังจากเริ่มทำงานออฟฟิศ สมัยนั้นเราอยากประกวดแบบอยู่แล้วยิ่งอันนี้เป็นแบบที่จะได้สร้างจริงด้วยยิ่งอยากทำ เราเลยฟอร์มทีมกัน สมาชิกหลักๆ ก็อยู่ในทีม IF ตอนนี้นี่แหละ แล้วก็มีเพื่อนและพี่ที่ไม่ได้อยู่ใน IF อีก 3-4 คน

แล้วเราก็เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เป็นทีมที่เด็กที่สุดที่เข้ารอบ ทีมอื่นๆ มาจากบริษัทสเกลใหญ่เกือบทั้งหมดเราเลยค่อนข้างเซอร์ไพรส์แล้วมันก็จุดประกายว่าถึงเราจะยังเด็ก อายุน้อย ประสบการณ์น้อย แต่ถ้าเราทำงานหนักพอหรือว่าทำงานร่วมกันมันก็เกิดพลังบางอย่างได้นะ

เฟย : ตอนนั้นทุกคนยังทำงานประจำอยู่ หลังเลิกงานก็ใช้บ้านเพื่อนเป็นที่ทำงานด้วยกัน ทำถึงตี 2 ตี 3 ก็แยกย้ายกลับบ้านพักผ่อน ตื่นเช้ามาทำงาน วนอยู่อย่างนี้ประมาณเดือนสองเดือน งานนั้นน่าจะเป็นงานประกวดแบบที่ใช้คนเยอะที่สุดในหมู่เพื่อน มันเหมือนทำให้เราได้ทดลองวิธีทำงานร่วมกัน วิธีเบรนสตรอม ที่สำคัญคือได้เช็กว่าเราทำงานร่วมกันแล้วเราชอบงานของพวกเรานะ หลังจากประกวดออกแบบรัฐสภา 2 ปี IF ก็ก่อตั้งในปี 2011

จากงานประกวด จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้พวกคุณตัดสินใจก่อตั้งบริษัทร่วมกันถึง 12 คน

กวง : ถ้าไปถามผู้ก่อตั้งคนอื่นๆ เรื่องที่ได้อาจจะไม่ตรงกันนะ (หัวเราะ) ถ้าในความทรงจำของเราเรื่องราวจะเป็นประมาณนี้

สมัยนั้นพอทำงานได้สัก 2 ปีคนมักจะเริ่มนึกถึง 2 อย่าง หนึ่ง เรียนต่อ สอง เปลี่ยนงาน จำได้ว่าวันนึงเรานั่งกินข้าวกันกับเพื่อนๆ ที่จะกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์กันนี่แหละแล้วเพื่อนคนนึงก็พูดขึ้นมาว่า เฮ่ย พวกมึงจะตั้งออฟฟิศไหม ถ้าไม่ตั้งกูว่าจะเปลี่ยนวิชาชีพแล้วนะ เพื่อนอีกคนก็บอกว่าถ้าไอ้นี่เลิกทำสถาปัตย์นี่น่าเสียดายมากเพราะมันเป็นคนเก่งมือดี เป็นท็อปรุ่น พวกเราก็เลย เออ ตั้งออฟฟิศกันเถอะ

เฟย : ขอเล่าอีกมุมนึง ช่วงที่เพิ่งเรียนจบเราจะนัดเจอกันทุกอาทิตย์ ไปกินข้าวหลังเลิกงาน ที่เห็นว่าเรามีผู้ก่อตั้ง 12 คน จริงๆ ตอนที่เริ่มคุยกันเรื่องบริษัทคนมันเยอะกว่า 12 คนมาก เป็นหลัก 20 คนเลย 

ทีนี้มีครั้งนึงเรานัดไปกินข้าวต้มกันแล้วก็เริ่มคุยจริงจังว่าเอายังไงดี ก็มีคนเริ่มตั้งวงอีเมลเอาไว้ส่งคุยกันเรื่องบริษัท ทั้งเรื่องปรัชญา เป้าหมายที่เราอยากทำร่วมกัน ค่อยๆ กรองจนเหลือเฉพาะคนที่อยากทำสิ่งนี้บนข้อตกลงที่มีร่วมกันจริงๆ

จากอีเมลที่ส่งหากัน เป้าหมายที่ผู้ก่อตั้งทุกคนเห็นร่วมกันคืออะไร

กวง : อย่างแรก ทุกคนรู้สึกว่าเราอยากเป็นบริษัทที่สร้างอิมแพกต์ให้เมือง ให้ประเทศ อยากให้สิ่งที่เราทำสร้างอิมแพกต์ในวงกว้างมากๆ ซึ่งคำว่ากว้างมากๆ อาจจะไม่ใช่งานใหญ่มากๆ แต่เป็นงานที่ส่งผลกระทบกับทั้งแนวคิด วิธีการใช้ชีวิตของคนในสังคมเมืองและประเทศได้

อีกเรื่อง เราชัดเจนว่าเราไม่อยากจะทำงานออกแบบสาขาเดียว เราไม่ได้มองว่าเราเป็นสถาปนิก แต่เราเป็น multidisciplinary studio เรื่องนี้ทุกคนเขียนมาแทบจะเหมือนกันหมด ไม่มีใครบอกเลยว่าอยากจะเป็นสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ พอมองย้อนกลับไปเหมือนว่าตอนนั้นพวกเรามีคำถามว่าเราจะนิยามอาชีพสถาปนิกยังไง ซึ่งเราเลือกที่จะนิยามให้มันต่างออกไป

นิยามคำว่าสถาปนิกตอนนั้นเป็นยังไง ทำไมถึงอยากทำให้ต่างออกไป

กวง : พวกเราชอบคุยกันว่างานสถาปัตยกรรมมันควรจะถูกผสมผสานกับศาสตร์อื่นเพราะมันเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตคน สังคมวิทยา มีแง่มุมของวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์มันอยู่ตรงจุดตัดของวิชาต่างๆ แต่ทำไมถึงไม่มีโปรเจกต์ที่ให้ทำร่วมกันระหว่างภาคบ้างทั้งที่พอเรียนจบมายังไงทุกคนก็ต้องทำงานร่วมกัน มันทำให้รู้สึกว่าถ้าจะเริ่มต้นออฟฟิศกันเราควรจะคิดถึงเรื่องนี้

ดังนั้นงานแรกๆ ที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรืองานเชิงพาณิชย์ก็จะเกิดจากการเบรนสตรอมกับทุกคน  แลนด์สเคปก็จะมาคอมเมนต์สถาปนิก บางโปรเจกต์ก็เริ่มจากการคิดอินทีเรียร์ บางโปรเจกต์เริ่มจากการคิดระบบวางเฟอร์นิเจอร์แล้วค่อยเอาเฟอร์นิเจอร์มาคลี่เป็นงานออกแบบในสเกลใหญ่มันเลยสนุก จุดเล็กๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นได้ จุดใหญ่ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นได้ แนวทางนี้เลยนำมาสู่ชื่อออฟฟิศ Integrated Field

เรารู้สึกว่าเราทำตัวเป็น integrator คือเป็นตัวเชื่อม สร้างสมดุลระหว่างสาขาวิชาต่างๆ แล้วทำให้เป็นตัวงานขึ้นมา ชื่อออฟฟิศก็เลยไม่ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเราเป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบภายใน หรือเป็นอะไร

คุณมีการออกแบบระบบสำหรับการทำงานระหว่างผู้ก่อตั้งทั้ง 12 คนไหม

กวง : มีๆ ถ้าให้แบ่งเฟสของออฟฟิศจะแบ่งได้เป็น 3 เฟส

เฟสแรกคือช่วงแห่งความมั่วซั่วเพราะว่า 4 ปีแรกพาร์ตเนอร์ครึ่งหนึ่งของออฟฟิศยังสลับกันไปเรียนต่อต่างประเทศ ใช้วิธีประชุม Skype กัน คนที่อยู่ไทยก็ดูแลออฟฟิศไปในกำลังที่ทำได้ ตอนนั้นมีพนักงานแค่ 2-4 คนเอง แต่เมื่อไหร่ที่เอาจำนวนพาร์ตเนอร์ไปบวกบริษัทเราจะใหญ่ทันทีเลย (หัวเราะ) เราก็ลงไปทำงานเองไม่ได้เป็นผู้บริหารสั่งการอย่างเดียว

ช่วงแรกๆ ยังไม่มีการบริหารจัดการออฟฟิศที่ชัดเจน จะมีแค่คนนึงดูเรื่องบัญชี อีกคนทำงานเอกสารเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น สัญญา ใบเสนอราคา วางบิล ที่เหลือก็กระจัดกระจาย ไม่มีงานบริหารที่ชัดเจนแต่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการเบรนสตรอมโปรเจกต์เกือบทั้งหมด

เฟสที่ 2 เราเริ่มขยับขยาย จากออฟฟิศพาร์ตเนอร์ 10 คน พนักงาน 5 คน ก็มีพนักงานเยอะขึ้น พาร์ตเนอร์ที่เรียนอยู่ต่างประเทศก็เริ่มทยอยกลับมาจนครบทีมประมาณปี 2016 ตอนนั้นเราถึงมาตั้งทิศทางให้บริษัทกันอีกครั้ง พาร์ตเนอร์ไปมีตติ้ง เวิร์กช็อปที่ต่างจังหวัดกัน

ในกลุ่มพาร์ตเนอร์จะมีเพื่อนชื่อแฟม เป็นเพื่อนที่มีจุดเด่นเรื่องการสื่อสาร พรีเซนต์เก่ง ประสานงานเก่ง คนนี้แหละที่เป็น moderator ตอนส่งอีเมลคุยกันเรื่องตั้งออฟฟิศ พอไปเวิร์กช็อปแฟมก็เป็น moderator เหมือนเดิม สุดท้ายผลลัพธ์จากการเวิร์กช็อปคือการที่เราเลือกไดเรกชั่นบริษัทและเซตงานบริหารเพิ่มอีก 5 พาร์ต แยกออกเป็นฝ่าย HR, โอเปอเรชั่น, ไฟแนนซ์, มาร์เก็ตติ้ง และ R&D กระจายออกไปฝ่ายละ 2 คน

ในเมื่อไม่มีใครเคยทำงานบริหารกันมาก่อน คุณแบ่งหน้าที่กันยังไง

กวง : ในหมู่พวกเราไม่ได้มีคนที่จบสายธุรกิจมาก็จริง แต่ตอนเรียนปริญญาโทก็มีทั้งคนที่ไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมและคนที่ไปเรียน MBA พอกลับมาคุยกันเราก็จะเริ่มมีมายด์เซตว่าบริษัทมันต้องเป็นยังไง 

ตอนเริ่มแบ่งหน้าที่กันเราก็คิดก่อนว่าบริษัทต้องมีฝ่ายบริหารอะไรบ้าง ได้ออกมา 5 ฝ่าย เสร็จแล้วก็ให้พาร์ตเนอร์ทุกคนเขียนลักษณะเด่นของเพื่อนแต่ละคนลงโพสต์อิท เช่น คนนี้ตัดสินใจรวดเร็ว คนนี้มีความประนีประนอม ไม่ดุจนเกินไป แล้วก็เอาคุณสมบัติของแต่ละคนไปจับกับคุณสมบัติที่ฝ่ายต่างๆ ต้องมี

เฟย : สมมติจะเลือกคนมาเป็น HR เราอยากได้คนที่มีความสามารถในการรับฟัง เป็นที่ไว้วางใจของทุกคน เราก็พยายามจินตนาการว่าเวลาน้องมีปัญหาจะมาคุยกับใคร ​ซึ่งพอพวกเราเป็นเพื่อนกันปุ๊บเราก็จะรู้ว่าอ๋อ คนที่มีคุณสมบัตินี้น่าจะเป็นไอ้นี่กับไอ้นี่

กวง : เฟส 2 จบที่ธุรกิจก็ไปด้วยดี ดีกว่าเฟส 1 เยอะ เฟส 1 เหมือนเป็นการลองผิดลองถูกล้วนๆ กำไรไม่ได้เยอะแต่ก็ไม่ได้ขาดทุน โชคดีที่ออฟฟิศยังไม่เจ๊ง แต่พอเข้าเฟส 2 บริษัทเริ่มชัดเจนขึ้น ตัวเลขรายได้ก็ดูคงที่ขึ้นแล้วก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงเฟสที่ 3

ธุรกิจดูเข้าที่เข้าทางแล้ว คุณปรับปรุงอะไรในเฟสที่ 3 อีก

กวง : ก่อนเฟส 3 เราทุกคนจะทำงานสลับกันไปหมดเลย เรากระโดดไปอยู่ในโปรเจกต์นู้นโปรเจกต์นี้ด้วยวิธีคิดคือเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดูแล้วน่าจะ ‘เข้าทาง’ กับโปรเจกต์แต่ละอัน จากทั้งสาขาที่เรียนมาและลักษณะนิสัย ความชอบของแต่ละคน เวลาคุยกันเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าโปรเจกต์นี้ต้องเป็นคนนี้ แล้วเราก็พยายามจัดแจงเวลาให้เขาได้ทำ เวลาทำงานก็จะเลือกน้องในบริษัทมาสร้างทีมทำงานสลับกันไปมา ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือมันเป็นธรรมชาติมาก

นิน : แต่ข้อเสียก็มี มันจะมีเหตุการณ์ที่บางคนต้องไปทำงานที่ไม่ถนัดแล้วออกมาแข็งมาก

เฟย : มันแข็งเพราะสล็อตเวลาคนนี้รับงานได้ คนอื่นไม่ว่างแล้ว มีแค่คนนี้ที่เป็นคนว่างทำ (หัวเราะ) 

กวง : มันเหมือนเราคิดง่ายๆ ว่าพาร์ตเนอร์คนนึงต้องรับผิดชอบงานได้กี่โปรเจกต์แล้วก็รับงานเข้ามา แต่เอาจริงๆ งานที่เข้ามามันอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนที่ว่างรับงานก็ได้ มันไม่เวิร์ก สุดท้ายคนอื่นก็ต้องมาช่วยอยู่ดี

นิน : การบริหารก็ยากมาก เช่น สำหรับ HR มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจน้องทุกคนในออฟฟิศ การที่เราจะสามารถเห็นทาเลนต์และซัพพอร์ตเขาให้เติบโตขึ้นได้มันต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งจะเกิดจากการทำงานร่วมกันแต่ว่าเราไม่ได้ทำงานคลุกคลีกับน้องๆ ทุกคน ดังนั้นมันก็จะเกิดกรณีที่ทำให้เราจัดการไม่ได้

กวง : ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มรู้สึกว่าพวกเรามีความเป็นผู้นำมากขึ้น แล้วก็เริ่มมองภาพบริษัทว่าเป็นการรวมตัวกันของสตูดิโอย่อยๆ ที่มีหน้าที่ชัดเจน ในเฟส 3 เราเลยปรับการทำงานเป็นรูปแบบสตูดิโอดู

สตูดิโอที่ 1 เป็นสตูดิโอที่ทำงาน public building งานอะไรที่เป็นสาธารณะเราทำหมดตั้งแต่สเกลผังแม่บท (masterplan) ไปจนถึงอาคารสาธารณะ สตูดิโอที่ 2 ทำงานด้าน residential หรือที่อยู่อาศัยตั้งแต่บ้านส่วนบุคคลจนถึงอสังหาริมทรัพย์ สตูดิโอที่ 3 ทำงานด้านอินทีเรียร์ ออกแบบตกแต่งภายใน และสตูดิโอที่ 4 ทำงานด้านกราฟิก

พาร์ตเนอร์แต่ละคนจะรับผิดชอบสตูดิโอของตัวเองแล้วก็ยังมีหน้าที่ด้านบริหารที่ได้รับไปในเฟส 2 อยู่นะ แต่ว่าคราวนี้มันจะเบาขึ้นเพราะว่างานในบางส่วนพาร์ตเนอร์ที่ดูแลสตูดิโอนั้นๆ ก็จะรับผิดชอบไปแล้ว สเตปนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก

นิน : พอเราแยกทำงานเป็นสตูดิโอ ลีดเดอร์ของแต่ละทีมก็สามารถสังเกตน้องในทีมของตัวเองได้อย่างทั่วถึง เราจะเห็นเลยว่าพอข้ามมาเป็นเฟส 3 ปุ๊บ เรื่องการจัดการคนว่าใครเหมาะกับการทำงานอะไร ใครควรได้รับการโปรโมต ใครควรจะได้รับการซัพพอร์ตด้านไหนมันดีขึ้นเยอะมาก 

หลายบริษัทเริ่มต้นจากผู้ก่อตั้งที่เชี่ยวชาญในด้านที่ต่างกัน พอถึงเวลาหนึ่งก็แยกไปเปิดบริษัทของตัวเองหรือทำงานร่วมกันในฐานะบริษัทในเครือ อะไรที่ทำให้ทุกคนยังอยู่ร่วมกันภายใต้ IF ไม่ออกไปตั้งบริษัทของตัวเอง

กวง : แรกสุดตอนตั้งบริษัทเราก็คิดเหมือนกันนะว่าต่างคนต่างแยกสตูดิโอไหมเพราะมันดูเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดแล้ว ไม่ทะเลาะกันด้วย แต่ที่เราไม่เลือกแยกสตูดิโอเพราะว่าถ้าเราทำอย่างนั้น วันหนึ่งปลายทางก็คือแยกออฟฟิศใช่ไหม แปลว่าต่างคนก็ต่างอยู่เดี่ยวๆ ได้ แล้วมันจะ integrate กันเหรอ สิ่งที่เราอยากจะทำงานข้ามสาขามันจะเป็นยังไง มันเลยเป็นเหตุผลที่ 6-7 ปีแรกเราไม่แยกสตูดิโอเลย

ด้วยนิสัยพวกเราจะมีความเป็น team player เล่นกีฬาก็เล่นกันเป็นทีม อย่างคณะสถาปัตย์เขาจะเล่นรักบี้กันใช่ไหม พวกเราก็เป็นทีมรักบี้ประจำรุ่นซึ่งเราก็เล่นรักบี้กันไม่ค่อยเก่งด้วย (หัวเราะ) มีคนเก่งไม่กี่คน ถ้าวัดสกิล head-to-head นี่แพ้คนอื่นแน่ แต่มีครั้งนึงเราได้แชมป์ เพราะว่าฝนตกหนักมาก ทีมที่เขาเล่นเก่งลื่นกระจาย (หัวเราะ)

แต่หลักๆ ก็คือกีฬามันเป็นภาพเปรียบเทียบที่ดีเพราะพวกเรามีมายด์เซตว่าเราไม่ได้เก่งแบบซูเปอร์ฮีโร่แต่ถ้าเกิดเรามีสถานการณ์และทีมเวิร์กที่เหมาะสมเราก็ทำได้

เฟย : สไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น มีความเร่าร้อน (หัวเราะ)

กวง : ส่วนที่เราแยกสตูดิโอเหตุผลก็ไม่ใช่เพราะเราอยากยุ่งเกี่ยวกันน้อยลง แต่เรารู้สึกว่ามันจะพัฒนาความถนัดแต่ละด้านในทางลึกได้มากขึ้น ผลักดันงานให้ไปสุดได้มากขึ้น การที่เราทำอย่างนี้ได้จริงๆ ก็ต้องคิดว่า 6-7 ปีที่ผ่านมามันเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้เรารู้สึกไว้ใจ เชื่อใจและรู้ใจกัน ทุกวันนี้เวลาทำงานก็ยังมีการทำข้ามแพลตฟอร์มกันอยู่ มีงานสเกลใหญ่ที่หลายทีมต้องช่วยกันเยอะเหมือนกัน

ในเชิงธุรกิจ เราเคยตั้งคำถามอย่างนี้ว่าถ้าเราแต่ละคนเปิดออฟฟิศของตัวเองเราจะทำเงินได้สักเท่าไหร่ เช่น สมมติคนนึงบอกว่าทำได้ 5 ล้านสบายๆ อีกคนอาจจะบอกว่าทำได้ 2-3 ล้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่อทุกคนรวมตัวอยู่ในบริษัทเดียวกัน ตัวเลขที่บริษัททำได้มันจะมากกว่าที่แต่ละคนทำได้ด้วยตัวเองและทำให้เติบโตได้มากกว่าด้วย เราคิดว่ารวมกันอย่างนี้เวิร์กกับ business model ของเรามากกว่า

เฟย : ส่วนผมรู้สึกว่างานยังสนุกอยู่และถ้าทำคนเดียวคงไม่สนุกเท่านี้ ความสนุกมันผลักดันให้เราอยากทำงานไปเรื่อยๆ อีกอย่างคือเรื่องความรู้สึก ลองนึกภาพว่าตอนเช้าเข้ามาออฟฟิศแล้วมานั่งทำงานอยู่คนเดียวมันจะมีความรู้สึกว่าใช่หรือเปล่าวะ (กวง : มันคงจะเฉานะเอาจริงๆ) เออ หรือว่าเราอาจจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมนี้จนชินแล้ว มันลงตัวแล้ว บรรยากาศนี้มันดูใช่ ถ้าไม่นับเรื่องธุรกิจ ที่นี่ก็ยังเป็นที่ที่เราอยู่แล้วแฮปปี้ 

เรารู้สึกว่าหน้าที่ที่เราแบ่งกันอยู่ตอนนี้มันเมคเซนส์ เราคนเดียวคงไม่สามารถบริหารทุกด้านที่แต่ละคนช่วยกันบริหารอยู่ได้ ถ้าเราออกไปอยู่เอง รับผิดชอบทุกอย่างเองมันอาจจะไม่สมดุลเท่านี้ก็ได้

นิน : เคยมีคนถามเราว่าพอโตขึ้นแล้วช่วงนี้เป็นยังไง เจอเพื่อนบ่อยไหม (หัวเราะพร้อมกัน) เออ บางทีโดนถามแล้วเราก็จะงงๆ กูเจอเพื่อนทุกวันทำไมถึงถามแปลกๆ แต่พอโตขึ้นก็เข้าใจแล้ว คนอื่นเขาไม่ได้เจอเพื่อนทุกวัน

ความที่เป็นเพื่อนกันมาก่อนมีผลต่อการทำงานไหม 

กวง : ส่วนมากก็จะเป็นส่งผลในแง่ดีเพราะว่าพอเป็นเพื่อนกัน แล้วด้วยความโชคดีที่พวกเราพื้นฐานจิตใจก็เป็นคนดีประมาณนึง (หัวเราะ) มีศีลธรรมในจิตใจพอประมาณเราก็จะมีความไว้ใจกันว่ามึงไม่โกงเงินกูหรอก

คือพอเป็นเพื่อนกันก็จะมีความเชื่อใจ ไว้ใจ และเคารพกัน เช่น ตั้งแต่เรียนเรารู้สึกชอบมุมนี้ของเพื่อนคนนี้มากๆ ถ้าเป็นเรื่องนี้เขาโคตรน่านับถือเลย เวลาเป็นเพื่อนกันไม่มากก็น้อยมันจะเห็นแง่มุมนี้ของกันและกัน เป็นเรื่องดีในเวลาที่เราต้องคิดอะไรแทนใครเราก็จะกล้าคิดนิดนึง

นิน : โดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่มีกันหลายๆ คนแล้วร่วมกันตัดสินใจบางเรื่องมันทำให้เราไม่หลุดออกไปในทางที่แปลกๆ  ลองนึกภาพผู้นำเผด็จการที่พอคนหนึ่งคนที่เริ่มมีอำนาจทุกอย่างบางทีก็เริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอยเพราะไม่มีคนมาคอยดึง

กวง : พูดง่ายๆ คือมันเหมือนเรามีสภาอยู่และเราคงไม่เห็นผิดพร้อมกัน 10 คน

นิน : จริงๆ การมีคนตัดสินใจเยอะมันก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ว่าเราก็เทคมันในแง่ที่เป็นข้อดีมากกว่า

ทะเลาะกันบ้างไหม

กวง : เมื่อก่อนจะมีประเด็นเรื่องความสวยเยอะ กูว่าสวยแล้ว มึงว่ายังไม่สวย โดยเฉพาะตอนที่เรายังไม่ได้แบ่งงานกันชัดเจน มันไม่ได้เป็นแนวทะเลาะกันแต่เป็นแนวพยายามดื้อที่จะบอกว่าอันนี้มันดียังไง เลือกอันนี้สิ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว พอเคารพกันมากขึ้นเราจะไม่ค่อยไปรื้อแบบคนอื่น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคอมเมนต์ มีสิทธิ์ที่จะให้ไอเดีย แต่สิทธิ์ในการตัดสินใจทิศทางของผลงานชิ้นนั้นดีไซน์ไดเรกเตอร์ของโปรเจกต์ต้องเป็นคนเลือก พอเคลียร์กันอย่างนี้มันก็จบ

แล้วงานเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือเปล่า

กวง : เปลี่ยน เปลี่ยนเยอะเลย เหมือนเมื่อก่อนเราก็จะรู้สึกว่าใครเก่งเรื่องไหนก็จะให้ทำเรื่องนั้นแต่ทุกคนก็เก่งขึ้น อัพสกิลระหว่างทางมาเยอะฉะนั้นพวกเราก็จะรู้สึกว่าแต่ละเรื่องปล่อยให้แต่ละคนทำไปได้เลย เห็นอีกทีตอนมึงส่งเมลไปแล้ว (หัวเราะ)

ยิ่งพอไว้ใจกันมากขึ้นเรื่องที่แค่ FYI ก็มีเยอะขึ้น แต่เรื่องไหนที่ เออ เดี๋ยวต้องคุยกันหน่อยก็นัดคุยกัน ข้อดีของการสนิทกันอย่างนี้คือคุยกันตอน 4-5 ทุ่มก็ได้ ยืดหยุ่นมาก คือเราอาจจะเคลื่อนตัวช้ากว่าการตัดสินใจคนเดียว แต่เราก็รู้ว่านั่นคือจุดอ่อนและเราก็พยายามอุดจุดอ่อนนั้นด้วยการพยายามทำให้การคิดแบบ 10 คนเร็วขึ้นให้ได้แทน

วิธีทำงานระหว่างพวกคุณถ่ายทอดสู่ทีมงานคนอื่นๆ ด้วยไหม

กวง : เรามีมายด์เซตว่าพวกเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบแต่ทุกคนเติมเต็มกันเอง เราจะไม่คาดหวังสิ่งที่พาร์ตเนอร์คนนี้ทำไม่ได้จากเขา มันไม่มีประโยชน์ แค่พยายามมองว่าเขาเก่งเรื่องอะไรจริงๆ แล้วทำให้ตรงนั้นมันเด่นขึ้นดีกว่า พอพวกเราเป็นแบบนี้เราก็พยายามสร้างทีมพนักงานให้เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เราไม่คาดหวังว่าคนนึงจะต้องทำได้เหมือนอีกคนนึงแต่ให้แต่ละคนเขามีจุดเด่นของเขาเอง

ชาเลนจ์หลักของเราตอนนี้คือเราพยายามให้พนักงานระดับซีเนียร์รับแนวคิดนี้ไปใช้ รับดีเอ็นเอตรงนี้จากพวกเรา ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการดึงคนขึ้นมาเป็น associate ให้เขาเริ่มลองตัดสินใจไดเรกชั่นของออฟฟิศ ไดเรกชั่นของสตูดิโอดู

อะไรทำให้เริ่มโปรโมตพนักงานขึ้นมาเป็นพาร์ตเนอร์

นิน : เราอยากจะพัฒนา career path ของคนในวงการนี้เพราะเด็กจบใหม่ไม่ค่อยอยากจะทำงานสถาปัตย์เท่าไหร่ เป็นมาตั้งแต่ตอนที่เราเรียนแล้ว มันมีภาพจำว่ามันเป็นอาชีพที่ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย ถ้าอยากจะเติบโตก็มีวิธีเดียวก็คือต้องไปตั้งออฟฟิศของตัวเองซึ่งเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำให้ความรู้สึกนี้มันหายไป

กวง : ตอนแรกสุดเราคิดกันเยอะมากเลยนะ เรามีพาร์ตเนอร์ตั้ง 12 คนแล้ว เรายังต้องการอีกเหรอวะ แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าจริงๆ พาร์ตเนอร์เยอะก็ไม่เป็นไร ก็ดึงขึ้นมา

นิน : เพราะจาก 12 เป็น 13 คนก็ไม่ต่างกัน (หัวเราะ)

กวง : โอเค การที่หุ้นเยอะขึ้นมันส่งผลต่อเรื่องการแบ่งผลกำไร เงินปันผลที่ต้องแชร์เท่าๆ กัน ดังนั้นสุดท้ายแล้วโกลคือเราทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันคือทำยังไงก็ได้ให้เค้กก้อนนี้มันใหญ่ขึ้นแล้วทุกคนก็ได้ส่วนแบ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งตอนนี้เราเชื่อว่าเราอยู่ในทิศทางนั้นอยู่นะ พาร์ตเนอร์แต่ละคนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

จากที่ทำงานกับเพื่อนมานานกว่า 10 ปี คุณอยากแนะนำอะไรคนที่กำลังจะทำธุรกิจกับเพื่อน

กวง : เอาจริงก่อนจะเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อนก็ต้องเตรียมใจนะว่าอาจมีปัญหากัน ทางที่ดีที่สุดคือพยายามคิดไว้ว่าถ้ามีปัญหาก็อย่าให้ถึงขั้นต้องเลิกเป็นเพื่อนกันเลย มันไม่คุ้ม ถ้าเกิดคิดว่าทำไม่ได้ก็ไม่ควรทำธุรกิจกับเพื่อนคนนั้น ไม่มีประโยชน์เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งเสี่ยงกัน

อีกอย่างคือควรที่เทสต์เคมีก่อนว่าทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า แต่ก็อยากบอกว่าตอนแรกๆ พวกเราก็สงสัยในเคมีของตัวเองเหมือนกัน กูดูทำงานร่วมกับคนนี้ไม่ได้ แต่สุดท้ายถ้าเกิดเราใจกว้างพอถึงจุดนึงเราก็จะเรียนรู้ความแตกต่างหรือความไม่สมบูรณ์ได้เอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องชัดเจนเรื่องโกลด้านธุรกิจด้วย ทำงานด้วยกันแล้วธุรกิจต้องออกมาดีด้วย ถ้าทำธุรกิจด้วยกันแล้วธุรกิจไม่ดีก็อย่าทำดีกว่า ไปทำอย่างอื่นแล้วเป็นเพื่อนกันก็ได้

นิน : พูดง่ายๆ คือควรทำธุรกิจกับเพื่อนก็ต่อเมื่อมันเมคเซนส์ที่จะทำ ไม่ใช่ทำเพราะว่าเป็นเพื่อนกัน สนุกดีว่ะมาทำกันเถอะ อย่างนี้เละ

เฟย : ต้องคาดการณ์ว่า worst case ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเราคืออะไร รีเช็กกันดูว่าถ้าเกิดปัญหาแต่ละอย่างขึ้นเราจะตัดสินใจกันยังไง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างเรื่องเงิน เช่น ถ้าเกิดต้องแยกย้ายจากกันเราจะแบ่งเงินกันยังไง ถ้าเกิดมีคนถอนหุ้นไปจะจัดการยังไง ลองโยนเคสมาคุยกันเพื่อเช็กว่าแนวทางรับมือปัญหามันตรงกันไหม

กวง : แต่จริงๆ ก็ไม่ต้องกลัวนะ เรารู้สึกว่าคนก็กลัวเกินไปเหมือนกัน คิดว่าทำงานกับเพื่อนแล้วต้องทะเลาะกันแน่ มีแต่คนพูดถึงเรื่องหุ้นส่วนทะเลาะกันอะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยเมคเซนส์ถ้าจะปักใจเชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเพราะว่าบางทีคนที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันก็ทะเลาะกันใช่เปล่า หรือคนที่ไม่เป็นได้เพื่อนกันตั้งแต่แรกวันนึงก็เป็นเพื่อนกันอยู่ดีแล้วก็อาจจะมาทะเลาะกันทีหลัง อย่างนั้นแปลว่าเพราะเป็นเพื่อนกันก็เลยทะเลาะกันเหรอ แล้วคำว่าเพื่อนมันก็มีเพื่อนหลายแบบ เพื่อนที่ฟังกัน เพื่อนที่ต่างคนต่างแรง ดังนั้นเราคิดว่าก่อนทำงานด้วยกันแค่คิดว่าทำงานกับคนคนนี้จะดียังไง สบายใจจะทำงานกับเขาไหมก็พอ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าเขาเป็นเพื่อนก็ได้

นิน : มันไม่ใช่ประเด็นว่าเราเป็นเพื่อนกันหรือไม่ได้เป็นเพื่อนกันเลย ผมคิดว่าที่คนชอบถามว่าทะเลาะกันหรือเปล่าจริงๆ สิ่งที่เขาจะถามคือแบ่งเงินกันพอเหรอมากกว่า วิธีแก้ก็อย่างที่กวงบอกคือทำให้เค้ก ทำให้ส่วนแบ่งมันใหญ่ขึ้นแล้วก็แบ่งกันให้พอเท่านั้นเอง

พวกเราก็จะเจอคำถามเยอะว่า โห พาร์ตเนอร์เยอะขนาดนี้ตอนตั้งบริษัทใหม่ๆ ทำยังไง ทะเลาะกันไหม แต่เราทำงานกันมามันก็ไม่เห็นจะมีอะไรเลย มันก็ปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนั้น

กวง : จริงนะ โดนคำถามทุกครั้งบนเวทีว่าอยู่กันได้ยังไง 13 คน

นิน : ก็อยู่ธรรมดา (หัวเราะ)

กวง : ลองคิดว่าถ้าเกิดไปถามนักฟุตบอลว่าอยู่กันได้ยังไง 11 คนเขาคงบอกว่า อ้าว ก็มันต้องเล่นกัน 11 คน เราก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ถ้ามีปัญหาก็แก้กันไปก็แค่นั้นเอง

You are my best part (ner)

จากบีถึงม่อน

ม่อน คือ ศูนย์หนึ่ง ตัวเลขเริ่มต้นของตัวเลขทั้งหมด ม่อนพร้อมเป็นผู้นำและที่ปรึกษาให้เราได้ตลอดเวลา ด้วยมุมมองและความคิดที่เด็ดขาด เฉียบคม และแม่นยำ ขอบคุณมากๆ

จากม่อนถึงกวง

กวง เป็นเหมือนกองหน้าของบริษัท เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์คอยมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างโอกาส การพัฒนาบริษัทอยู่ตลอดเวลา แล้วยังเป็นคนใจเย็น เป็นคนที่คอยทำให้เพื่อนๆ ในกลุ่มกลมเกลียวกันเป็นหนึ่งเดียว

จากกวงถึงทอพ

ทอพเป็นคนที่มีทั้ง vision, skill, และ sense ด้านการออกแบบดีมาก การใช้ชีวิตและการทำงานสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นคนที่ทุ่มเทและมีแพสชั่นกับงานและองค์กรมากๆ ส่งผลให้คนรอบข้างที่ร่วมงานได้รับแรงตรงนี้ไปด้วย

จากทอพถึงเฟย

เฟยเป็นคนประณีต นั่งทำอะไรเนี้ยบๆ ได้ทั้งวัน

เฟยไม่ได้เป็นกราฟิก แต่กราฟิกต่างหากที่เป็นเฟย

เฟยเป็นคนกินเก่ง กินอะไรไม่หมด เฟยก็ช่วยเราได้

เฟยเป็นคนชอบดื่ม ดื่มได้ทั้งหมด แต่ควรเริ่มด้วยเบียร์

เฟยเป็นคนสนุก ถ้าเจอเฟยสุด ก็ต้องจับไมค์ 

เฟยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ขึ้นต้นด้วยอะไรก็ได้ ถ้าจะให้ดีต้องจบด้วย ยี้ส์…….

เฟยเป็นคนรักเพื่อนมาก เลยกลายเป็นเรื่องยากที่เราจะขาดเฟย

จากเฟยถึงกัน

กันเป็นคนใจดีมีรถกระบะและสบายแฮ

ถ้านึกถึงกัน ก็ต้องนึกถึงความเต็มที่ ไปไหนไปกันในทุกๆ เรื่อง ใช้ใจแลกใจ เป็นคนตรงและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เวลาที่คุยกันกันก็มักจะมี unpopular opinion มาแชร์กันตรงๆ ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจของพวกเรากลมกล่อมมากขึ้นเสมอๆ

จากกันถึงนานา

ส่วนตัวแล้วผมหลงรักรอยยิ้มของนานามากตั้งเเต่วันแรกเจอและที่มากกว่านั้น นานาทั้งเก่ง ทั้งขยัน ทั้งนิ่ง ทั้งน่ารัก ทั้งมีเสน่ห์ เชี่ย! โคตรใช่กะ IF เลย

จากนานาถึงนิน

รอบรู้ ความรู้หลากหลาย เวลาเสนอไอเดียเลยแปลกใหม่ ดูภาพรวมสรุปใจความเก่ง คำสวย วาทศิลป์ดี พี่นินทำให้โฟลว์การทำงานและบรรยากาศในทีมดีมากเวลาทำงานร่วมกัน

จากนินถึงโอ

โอเป็นคนน่ารัก ใจดี มีความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเกิดปัญหาโอจะทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็กได้เสมอ

จากโอถึงวิน

วินเป็นผู้ชายที่ทำอะไรด้วยเหตุผลและตรรกะเสมอ สุดยอดมนุษย์ที่ไม่ใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้อง แบ่งแยกได้อย่างแน่วแน่ ที่สำคัญขยัน และความรับผิดชอบคือสุดยอดคุณสมบัติที่ไม่มีใครเปรียบเขาได้จริงๆ สุดยอดครับ

จากวินถึงเข่ง

เข่ง เป็นคนมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจนมาก ไม่ค่อยหวั่นไหวคล้อยตามคนอื่น กล้าตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำ เป็นคนหัวดี หัวไว พึ่งพาได้ ที่สำคัญสุดเลยคือเป็นเพื่อนที่พูดตรงและจริงใจมากๆ คนนึง

จากเข่งถึงแฟม

แฟมเป็นพาร์ตเนอร์ที่สวยที่สุดรองจากนานา

จากแฟมถึงบี

จุดเด่นของบีคือการเป็นคนที่มีทัศนคติที่เป็นบวก ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดบีก็จะสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาด้วยดีและเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องดีได้ด้วยทัศนคติตั้งต้นที่เป็นบวกและใจเย็นมาก บีเป็นคนที่เพื่อนในทีมเลือกให้เป็นผู้นำเสมอเพราะบีมี empathy สูงมาก และด้วยบุคลิกที่ค่อนข้าง humble, มีน้ำใจ จริงใจและตรงไปตรงมาของบี น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของบีที่ทุกคนยอมรับและอยากร่วมงานด้วย

จากทุกคนถึงจิน

จินเป็นคนที่สงบ สุขุม ละเอียดลออ พูดน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก เป็นคนเก่งทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ มีทั้งความรอบรู้และความสุนทรีย์ และที่สำคัญ “เป็นคนพิเศษที่ทำตัวธรรมดา”

คิดถึงเสมอนะจิน

ตัวอย่างผลงานของ IF

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like