เมื่อจุดอับและความกันดารเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ผมได้ยินคำว่า ‘กันดารคือสินทรัพย์’ เป็นครั้งแรกจากการเดินชมนิทรรศการชื่อนี้ของ TCDC เมื่อสิบกว่าปีก่อน 

ถ้าจำไม่ผิด นิทรรศการ กันดารคือสินทรัพย์ เป็นนิทรรศการแรกของ TCDC ในตอนเปิดตัวใหม่ๆ ตัวนิทรรศการนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของคนอีสานที่เกิดมาก็เจอแต่ความกันดาร เวลาคนพูดถึงอีสานแต่ไหนแต่ไรจะคิดถึงแต่ความแห้งแล้ง ถึงกับมีคำพูดว่า ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย แต่ความไม่มีเหล่านั้นทำให้คนอีสานต้องดิ้นรนและสามารถสร้างวัฒนธรรม ประเพณี และบุคลากรเก่งๆ มากมาย 

ผมเป็นคนโคราชโดยกำเนิดก็เลยตื่นเต้นมากกว่าปกติ นอกจากนั้นวิธีคิดของนิทรรศการนั้นก็ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ในช่วงที่ผมและทีมงานที่ดีแทคเอาตัวรอดมาได้จากสภาพแทบล้มละลาย 

พอเห็นคำคำนี้ที่สะดุดใจเป็นอย่างมากแล้วถึงเริ่มเข้าใจว่าเรารอดมาได้เพราะอะไร

ในช่วงที่ดีแทคตกต่ำถึงที่สุด งบการตลาดเหลือน้อยมากๆ เงินลงทุนในเครือข่ายก็แทบไม่มีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในตอนนั้นเราคิดว่ามันช่างเป็นความโชคร้ายในชีวิตเหลือเกินที่ต้องมารับผิดชอบงานที่แทบไม่มีงบไม่มีอาวุธอะไรให้ไปต่อสู้กับคู่แข่งเลย ในตอนนั้นเราใช้เวลาโทษฟ้าโทษดินอยู่ไม่นานเพราะเวลาในการพลิกฟื้นอะไรก็มีไม่มากนัก ก็ได้แต่ทำไปบ่นไป และด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มี ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรเหมือนกับคู่แข่งได้เพราะถ้าทำไปแต่เงินน้อยกว่าเขา เราก็จะได้แต่ของห่วยๆ จะใช้พรีเซนเตอร์ คู่แข่งก็จะได้คนที่ดังกว่าเพราะเงินมากกว่า เป็นต้น

ด้วยความที่ไม่มีทั้งเงินและเวลา ทำให้สถานการณ์บังคับให้เราต้องพยายามทำอะไรแตกต่างออกไปแบบสุดขั้ว เงินน้อยทำให้เราจ้างคนนอกไม่ค่อยได้ ก็บังคับให้เราต้องเดินไปหาลูกค้าเอง ต้องยอมเหนื่อยกว่าปกติ ตลาดหลักทำไปสู้คู่แข่งหลักไม่ได้ ก็ต้องหนีไปตลาดรองไกลๆ เงินในการให้ยี่ปั๊วในการกระจายสินค้าก็น้อยกว่า ทำให้เราก็ต้องเปลี่ยนลงไปหาร้านค้ารายย่อยที่ต้องใช้พลังใจพลังกายอย่างมาก 

งบการตลาดที่มีน้อยมากๆ ทำให้เราไม่สามารถจ้างใครแพงๆ หรือใช้เงินแบบไม่คิดได้  การใช้เงินแต่ละครั้งก็ต้องได้ผลมากที่สุด หรือต้องหาทางที่ไม่มีใครเคยทำแล้วลองเสี่ยงดูเพราะความจน ไอเดียที่ผมเคยเขียนถึงอย่างการทำหนังกลางแปลงราคาถูกแล้วเดินสายไปทั่วประเทศก็เกิดจากความไม่มีเลยต้องดิ้นรนหาทางใหม่ ลูกน้องผมในตอนนั้นเข้าใจถึงความกันดารเป็นอย่างดี มีอะไรก็พยายามหาทางที่สร้างสรรค์มากๆ เพื่อใช้เงินให้น้อยที่สุด

มีเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างแห่งกันดารคือสินทรัพย์ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง มีครั้งหนึ่งเราอยากมีโลโก้แฮปปี้บนแก้วพลาสติกที่ใช้อยู่ตามร้านค้า เทศกาลต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงการสร้างแบรนด์ พอคุยกับเอเจนซีเพื่อจ้างทำเขาก็คิดราคาแก้วละ 3 บาท ทำล้านแก้วก็ 3 ล้านไม่รวมค่ากระจายแก้วอีก ถ้าเรามีเงินก็คงจ่ายไปโดยไม่คิดอะไร ด้วยเพราะว่าเราไม่มีเงินแต่อยากได้แก้วกระจายทั่วประเทศแบบนี้มากๆ ลูกน้องผมก็ลองหาทางสารพัดวิธีจนไปเจออาเฮียโรงงานผลิตแก้วพลาสติกที่ยอมทำให้เพราะเฮียผลิตอยู่แล้วแถมกระจายให้อีกด้วย ในตอนนั้นไม่รู้ว่าเฮียหลงเสน่ห์ลูกน้องผมหรืออย่างไรเพราะเฮียคิดราคาค่าทำทั้งหมดแค่หลักไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้นเอง 

เน้นว่าถ้าเรามีตังค์ก็คงไม่คิดอะไร จ่ายค่าทำไป 3 ล้านบาทแล้ว แต่เพราะว่าเราไม่มี ไอเดียดีๆ ราคาประหยัดจึงเกิดขึ้นได้

เหตุการณ์แบบนี้มีอีกเยอะมาก ไอเดียของซิมใหม่ๆ บริการเสริมใหม่ๆ ก็มาจากการเดินด้วยความไม่มีตังค์ เดินออกไปหาไอเดีย พูดคุยกับลูกค้า แล้วเอามาคิดมาทำกัน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ของทีมพุ่งถึงขีดสุดและได้รับการยอมรับนับถือจากวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก พอผมเห็นคำว่ากันดารคือสินทรัพย์ถึงเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า ที่เราบ่นเราด่าความไม่มีนั้น ที่แท้มันคือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เกิดขึ้นกับผมและทีมงาน ความไม่มีทำให้เราต้องใช้ศักยภาพที่มีอย่างสุดกำลัง ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ลองอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ต้องหาทางทะลุกรอบเดิมๆ ที่คนมีสตางค์เคยกำหนดไว้ และทำให้นวัตกรรมทั้งหลายพรั่งพรูออกมา… เพราะความกันดารโดยแท้

เรื่องราวของกันดารคือสินทรัพย์นั้น ถ้าเราสังเกตให้ดี แอบแง้มเบื้องหลังของความสำเร็จในแต่ละเรื่องแต่ละคน จะมีความกันดารซ่อนอยู่หลายกรณี นักกีฬาที่ไปถึงระดับโลกส่วนใหญ่ก็มาจากฐานะที่ยากจน ที่ต้องปากกัดตีนถีบ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหยุดออกจากความแร้นแค้น ฝึกฝนหนักกว่าคนอื่นทั่วไป คนที่มีสตางค์เยอะๆ ชีวิตสบายเสียอีกที่กลับกลายเป็นคำสาปในเรื่องแรงบันดาลใจและความที่มีพร้อมในชีวิต ไอเดียต่างๆ ก็เช่นกัน ซึ่งไม่ต้องมองไปไกลเลย ในช่วงโควิดเวลาที่ขาดแคลน ไม่มี หรือเดือดร้อนเช่นนี้ เราจึงเห็นไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในช่วงนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด

เมื่อเริ่มด้วยนิทรรศการของอีสาน ผมก็อยากจะจบด้วยเรื่องกันดารคือสินทรัพย์เรื่องล่าสุดที่มาจากอีสาน 

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีภาพยนตร์ตระกูล ไทบ้าน เดอะซีรีส์ จากภาคอีสานออกมาทำเงินหลักร้อยล้านบาทอยู่หลายเรื่อง หนังไทยในประเทศไทยที่ทำกำไรได้ นอกจากค่าย GDH แล้ว ก็มีแต่ตระกูลไทบ้านเท่านั้นที่ทำได้ และเรื่องราวของ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ นั้นเป็นเรื่องราวคลาสสิกของความกันดารโดยแท้

เรื่องราวเกิดจากเด็กศรีสะเกษกลุ่มหนึ่งไม่มีตังค์แต่มีความฝันอยากทำหนังไทย ไปขอตังค์คุณโต้ง (สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ) ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่เคยสอนน้องๆ กลุ่มนี้ถ่ายรูป โต้งลงทุนให้ 2 ล้าน ในใจก็ไม่คิดว่าน้องๆ จะทำอะไรได้สำเร็จแต่เห็นใจในความพยายาม เงิน 2 ล้านเป็นเงินที่น้อยมากสำหรับการทำหนังและไม่น่าจะทำหนังไทยทั้งเรื่องได้ แต่ด้วยความอยากทำ น้องๆ ก็ทำจากความกันดารที่มี ฉากก็ถ่ายกันดิบๆ นางเอกก็ไม่มีงบแต่งหน้าต้องแต่งตามมีตามเกิด งบน้อยถึงขนาดนางเอกใส่ชุดนอนตัวเองเป็นเสื้อยืดกางเกงมวย ทุกอย่างเป็นงานต้นทุนต่ำมากๆ แต่ดูเรียล ดูจริง สำหรับคนดูมาก

ช่วงแรกฉายเฉพาะไม่กี่โรงที่อีสาน แต่พอคนได้ดูก็ชอบและบอกต่อกันอย่างรวดเร็วจนได้โรงฉายทั่วประเทศ ภาคแรกทำเงินเป็นร้อยล้าน ภาคต่อๆ มาก็เกินร้อยล้าน คนชอบในความดิบ ความสดใหม่ ความเรียลของงาน อะไรก็ดูจริง ดูเป็นธรรมชาติ ดูจริงใจ ถูกใจคนดูเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นหนังตระกูลไทบ้านที่ฮิตมาอย่างต่อเนื่อง ภาคล่าสุดก็ไปถึงขนาดคอลแล็บกับ BNK48 กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากความไม่มีและต่อยอดไปจนกลายเป็นจักรวาลไทบ้านจนถึงวันนี้

ซึ่งถ้าน้องๆ เขาได้เงินจาก ส.ส.โต้งไปเต็มที่ ก็คงทำหนังเหมือนคนอื่นเขา ความดิบ ไอเดียความคิดสร้างสรรค์อะไรในหนังก็คงไม่มี และก็คงไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก (พอหนังได้กำไร ส.ส.โต้งก็ยกให้น้องๆ ไปทั้งหมด โดยที่ตัวเองเก็บแค่ทุนคืน อันนี้ก็สมควรบันทึกไว้ในความใจกว้างของโต้ง) ก็ต้องขอบคุณความกันดารแทนน้องๆ ไว้ ณ ที่นี้

“The breakthrough innovations come when the tension is greatest and the resources are most limited. That’s when people are actually a lot more open to rethinking the fundamental way they do business.”

เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น ปรมาจารย์ด้านนวัตกรรมทางธุรกิจที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานเคยเขียนสรุปถึงเรื่องนี้ไว้ เป็นประโยคสรุปของการต่อต้านแรงโน้มถ่วงด้วยการพาตัวเองเข้าสู่จุดอับ ความกันดาร เมื่อนั้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจึงบังเกิด

เป็นความลับของฟ้าอีกข้อที่ผมเจอด้วยตัวเองอีกเช่นกัน

หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยวของ ‘โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์’ จนลูกค้าต้องโทรมาย้ำว่า ‘อย่าเลิกทำนะ’

โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ (เคียมง่วนเชียง) เป็นผู้ผลิตซีอิ๊วดำหวานตรากุหลาบ ตรากระเช้า และซีอิ๊วดำเค็ม ตราตาแป๊ะ ตราดอกบ๊วย ตราบ้าน และตราแดง 

เป็นซีอิ๊วที่ยังใช้กระบวนการทำซีอิ๊วแบบโบราณ หมักในโอ่งดิน ต้มซีอิ๊วด้วยเตาฟืน ใช้แรงงานและความเชี่ยวชาญพิเศษของคนในทุกกระบวนการ 

สิ่งพิเศษที่ทำให้ซีอิ๊วของที่นี่แตกต่างคือ เชื้อราที่ใช้หมักซีอิ๊ว ซึ่งเหล่ากงผู้ก่อตั้งนำติดตัวมาจากเมืองเก๊กเอี๊ย เมืองที่ทำซีอิ๊วดำเค็มอร่อยที่สุดในเมืองจีน ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน และยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

เพื่อไปดูเชื้อราอายุร้อยปีให้เห็นกับตา เราขอให้ แน็ต–มาณิสสา​ โชติสกุล​รัตน์​ ทายาทรุ่นที่ 4 ของโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง พาเราไปพบกับ ตั่วแปะ​ไพฑูรย์​ โชติสกุลรัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้จะมาเล่าบรรยากาศการขายซีอิ๊ว วิธีการทำธุรกิจของคนจีนสมัยก่อน ไปจนถึงช่วงการพลิกฟื้นโรงงานซีอิ๊วดำ หลังการเข้ามาของซีอิ๊วขาวที่ทำให้เกือบทุกโรงงานในไทยต้องปิดตัวลง

จากนั้นเดินตามลุงชด​ พันธุ์กระวี มือวางอันดับหนึ่งด้านซีอิ๊ว พนักงานเก่าแก่ และกำลังสำคัญของโรงงาน ไปชิมซีอิ๊ว เอ้ย ดูกรรมวิธีที่ทำกันมาเป็น 100 ปี ผลิตด้วยวิธีธรรมชาติแบบมาก่อนกาล

และด้วยชื่อเสียงของซีอิ๊วดำทั้งหวานและเค็มจากโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ที่นิยมใช้มากในต่างจังหวัด เราคงไม่ต้องสงสัยในรสชาติและคุณภาพ

สิ่งที่เราสนใจคือ การปรับตัวให้อยู่รอดถึงร้อยปีของกิจการเก่าแก่อย่างโรงงานซีอิ๊ว

พวกเขาทำยังไง ขยายตลาดไปที่ไหน ดูแลลูกค้ายังไง ลูกค้าถึงโทรมาย้ำซ้ำๆ ว่า “อย่าเลิกทำนะ” ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญเปิดโอ่งหมักซีอิ๊ว แล้วย้อนกลับไปตั้งแต่ day 1 ของกิจการ

Part 1

ซีอิ๊วจากเมืองเก๊กเอี๊ย โรงเรียนจีน และโรงงานไม้ขีด

จุดเริ่มต้นจากครอบครัวจีนที่ทำซีอิ๊วมาตั้งแต่อยู่เมืองเก๊กเอี๊ย จังหวัดซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำซีอิ๊วที่สุดในเมืองจีน

วันหนึ่งครอบครัวก็ส่ง อั๊งเต็กชึง (เหล่ากง) หรือ เต็กชึง แซ่อั๊ง ลูกชายคนเล็ก เดินทางมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองไทย เริ่มจากสร้างโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง โรงงานเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

โดย ‘เคียม’ แปลว่า ถ่อมตัว ‘ง่วน’ แปลว่า ต้นกำเนิด และ ‘เชียง’ แปลว่า รุ่งเรือง

ระหว่างที่ดำเนินธุรกิจ เหล่ากงเต็กชึง ก็รับตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนที่ตลาดน้อยด้วย ทั้งยังทำร้านขนมปัง ทำโรงงานไม้ขีดไฟชื่อ ‘มิ่นแซ’ ที่เป็นโรงงานไม้ขีดไฟโรงงานต้นๆ ในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในยุคสมัยรัชกาลที่ 7

เหล่ากงเต็กชึง ตั้งใจทำงานส่งเงินกลับไปสร้างบ้านหลังใหญ่ที่เก๊กเอี๊ย มีเรื่องราวเล่าขานกันต่อๆ มาว่า ตอนที่บ้านเสร็จ บ้านสวยมากจนคนมามุงดูทั้งเมือง ภายนอกเป็นหินแกรนิต ข้างในตกแต่งอย่างหรูหรา ในช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นยึดบ้านไปเป็นฐานบัญชาการ ภายหลังญี่ปุ่นแพ้ไป มีทหารก๊กนิวตันมาอยู่ก่อนย้ายไปไต้หวัน ต่อมาเป็นที่อยู่ของทหารคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันกลายเป็นที่พักคนชรา

ต่อมา เหล่ากงเต็กชึงก็ตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด แล้วส่ง อั๊งจั๊กฮุ้ง (อากง) ผู้เป็นลูกชายไปรับช่วงต่อธุรกิจที่เมืองไทย

แถวยืน : โค้วเพ็กจึง (อาม่า) อั๊งจั๊กฮุ้ง (อากง) และอั๊งเต็กชึง (เหล่ากง) คนที่ 4, 5, 6 จากทางซ้าย (ตามลำดับ)

Part 2

ของจีนประจำจังหวัด

โรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงในยุคของอากงจั๊กฮุ้งและอาม่าเพ็กจึง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น ผลิตซีอิ๊วดำเค็มในชื่อ ‘อั๊งเซี้ยงหมุย’ (‘อั๊ง’ มาจากแซ่ ‘เซี้ยง’ แปลว่าเชื่อ และ ‘หมุย’ แปลว่าสวย)

ตั่วแปะไพฑูรย์​ โชติสกุลรัตน์ ลูกชายคนโต (ทายาทรุ่นที่ 3) เล่าบรรยากาศค้าขายสมัยนั้นให้ฟังว่า ที่โรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงไม่มีหล่งโจ้วหรือพนักงานเซลส์สักคน และนี่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจซีอิ๊วของครอบครัวอยู่ได้ถึงวันนี้

เหตุผลที่การทำธุรกิจซีอิ๊วในรุ่นที่ 2 ไม่พึ่งพาเซลล์ เพราะคนจีนสมัยก่อนจะทำการค้ากับคนจีนด้วยกัน ชอบพูดคุยติดต่อกับเจ้าของโรงงานโดยตรง ยี่ปั๊วหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่เคยเป็นลูกค้าโรงซีอิ๊วตั้งแต่ยุคนั้นก็จะยังเป็นลูกค้าถึงปัจจุบัน และก็ยังเป็นลูกค้าหลักของโรงซีอิ๊ว

“ยี่ปั๊วที่ยังค้าขายกันถึงทุกวันนี้ สมัยก่อนเคยมาซื้อซีอิ๊วมากสุด 40-50 ไหเลยนะ” ตั่วแปะไพฑูรย์เล่าบรรยากาศค้าขาย ที่บรรจุและขายซีอิ๊วในไหซึ่งนำเข้ามาจากเมืองจีนแทนการใช้ขวดแก้วหรือพลาสติกในปัจจุบัน

“สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก ถนนหนทางยังไม่มี เราใช้วิธีพายเรือไปส่งซีอิ๊ว” ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่าวิธีการส่งไหซีอิ๊วจากโรงงานที่ย่านเจริญนครไปแปดริ้ว ซึ่งจะมีเรือมารับซีอิ๊วไปกระจายต่อ 

ว่ากันว่า ซีอิ๊วเป็นของที่หากใช้แล้วได้รสชาติที่ถูกใจก็จะไม่เปลี่ยน ซีอิ๊วของที่นี่จึงสร้างชื่อและเป็นที่นิยมมากตามหัวเมืองต่างจังหวัด

“ลูกค้าหลักของเราส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารร้านดังประจำจังหวัด ซึ่งมาจากการที่เราเข้าไปทำการค้ากับเขาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว และเขาใช้มาหลายรุ่นเหมือนกัน จริงๆ ก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยน เราก็ยังขายเขาได้ต่อไปเรื่อยๆ แต่เราก็จะเข้าหากลุ่มอื่นยากเหมือนกัน เพราะกลุ่มอื่นก็จะติดรสที่เขาคุ้นเคยมากกว่า” แน็ตเล่า

Part 2.1

สงครามซีอิ๊วดำ-ขาว

กลับมาที่วิธีการขาย ที่ตั่วแปะไพฑูรย์บอกว่า การที่โรงซีอิ๊วไม่มีเซลส์สักคนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจซีอิ๊วของครอบครัวอยู่ได้ถึงวันนี้ เขาไม่ได้หมายความว่าการมีเซลส์มาช่วยทำการตลาดและขายสินค้านั้นดีหรือไม่ดี 

ในยุคหนึ่งที่เกือบทุกโรงงานซีอิ๊วนิยมใช้เซลส์ พอมีใครขายดีกว่า ก็จะมีอีกเจ้ามาโจมตี เห็นชัดเจนในยุคที่ซีอิ๊วขาวเข้ามาตีตลาดซีอิ๊วดำ ด้วยการโฆษณาว่าซีอิ๊วดำทำให้น้ำแกงมีสี ไม่น่ารับประทาน เพียงแค่นั้นก็ทำให้ยอดขายซีอิ๊วดำในหลายๆ ที่ลดลง จนต้องปิดโรงงานกันไปเยอะมาก 

แต่เพราะโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงไม่มีเซลส์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานขาย ทำให้โรงงานยังพออยู่ได้ และส่งผลให้ลูกค้าของโรงงานซีอิ๊วที่ปิดไปกลายมาเป็นลูกค้าของโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงแทน

จากที่เกือบเพลี่ยงพล้ำก็กลับกลายเป็นพลิกฟื้นโรงงานขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะไม่มีหล่งโจ้วแล้ว โรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงยังไม่เสียค่าฟืนที่ใช้ต้มซีอิ๊วด้วย เพราะลูกสาวคนโตของรุ่นที่ 2 แต่งงานออกไปทำธุรกิจโรงไม้คอยส่งไม้มาให้ใช้เป็นฟืนจนถึงปัจจุบัน

“ยุคนั้นโรงงานเรารุ่งเรืองที่สุด ทำซีอิ๊วทั้งวันทั้งคืนยังไม่พอขายเลย คิดดูสิเราขายดีจนมีคนปลอมเป็นยี่ห้อเรา” ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่า

“สมัยนี้ก็ยังเป็น เช่น มีซีอิ๊วที่ทำเลียนแบบซีอิ๊วดำเค็มตรากุหลาบทุกอย่าง ที่ไหนมีสินค้าเราก็จะมีสินค้าที่หน้าตาเหมือนเราเป๊ะ อาจจะเปลี่ยนแค่จากดอกกุหลาบเป็นดอกชบา ขายถูกกว่าเราครึ่งหนึ่ง” แน็ตเสริมว่า เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีใครมาตรวจสอบ มีแต่อาม่าเพ็กจึงเท่านั้นที่ทำหน้าที่ของหน่วยปราบปรามของปลอม 

“อาม่าจับได้ตอนส่งขวดไปแล้วรับกลับมาล้างทำความสะอาดขวด ก็เห็นว่าไม่ใช่ขวดเราหนิ อาม่าก็บุกไปโรงงานเลย” แน็ตเล่า

จากโรงซีอิ๊วที่เจริญนคร ต่อมามีการขยับขยายโรงงานย้ายไปต้มซีอิ๊วที่บางปูใน พ.ศ. 2507 แต่ยังคงส่งกลับมาบรรจุขวดที่หน้าร้านในย่านตลาดน้อย 

Part 2.2

กลยุทธ์แตกไลน์ ขายพรีเมียม

โรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ผลิตซีอิ๊วดำออกมาสู่ตลาดในหลากหลายชื่อและเครื่องหมายการค้า เพราะอาม่าเพ็กจึงอยากขายซีอิ๊วที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่ไม่อยากขึ้นราคาซีอิ๊วเดิม ก็เลยทำยี่ห้อใหม่ออกมา

เริ่มจากซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วย หรือดอกเก๊กฮวยเป็นซีอิ๊วดำเค็มที่เข้มข้นสุด ให้รสชาติออริจินอลดั้งเดิม มีกลุ่มลูกค้าเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว รูปแบบการขายซีอิ๊วเป็นแบบถัง 

ส่วนตราตาแป๊ะ ที่มีฉลากเป็นรูปเหล่ากงเต็กชึงผู้ก่อตั้งโรงงาน เป็นซีอิ๊วดำเค็มที่เข้มข้นรองลงมา รสชาติจะอ่อนกว่าตราดอกบ๊วยนิดนึง ทำให้ใช้งานได้หลากหลายกว่า มีลูกค้าเป็นกลุ่มร้านอาหารตามสั่ง 

ตราตาแป๊ะ ตราบ้าน และตราแดง เป็นซีอิ๊วดำเค็มตัวเดียวกัน ต่างกันที่แหล่งขาย ตราบ้านขายที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนตราแดงมีขายที่จังหวัดชัยนาท 

โดยเหตุผลที่ซีอิ๊วต่างพื้นที่ใช้ชื่อแบรนด์ต่างกัน เพราะตัวแทนหรือคนกลางอย่างยี่ปั๊วและซาปั๊วที่รับซีอิ๊วไปขายในสมัยก่อนอยากได้สินค้าสุดพิเศษไปขาย หรืออยากเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในพื้นที่นั้น โรงซีอิ๊วจึงจำเป็นต้องผลิตซีอิ๊วในชื่อแบรนด์ที่ต่างกัน

“จะเห็นว่าคนที่ติดแบรนด์แล้วเขาจะใช้แล้วไม่เปลี่ยน เราพยายามเอาตราตาแป๊ะไปแทรกตราแดง อยากจะควบรวมให้เหลือเพียงไม่กี่แบรนด์ เพราะการมีแบรนด์เยอะเกินไปทำให้ต้องทำฉลาก เกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็น เพราะจริงๆ ใช้น้อย แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องทำอยู่ เพราะลูกค้าเชื่อไปแล้วว่ามันคนละตัว ถึงแม้เราจะยืนยันแล้วว่าสูตรเดียวกัน” แน็ตเล่า

ส่วนซีอิ๊วดำหวาน คือซีอิ๊วที่เกิดจากการเอาซีอิ๊วดำเค็มที่เคี่ยวไปแล้ว 8 ชั่วโมง มาเคี่ยวต่อไปอีก 5 ชั่วโมง แล้วใส่กากน้ำตาลลงเพื่อไปทำคาราเมล แล้วผสมกับซีอิ๊วดำเค็มอีกทีหนึ่ง ซึ่งใช้งานต่างกัน ซีอิ๊วดำหวานจะใช้ทำอาหารได้เยอะกว่า เช่น ผัดซีอิ๊วหรืออะไรที่อยากได้สีดำนิดๆ ก็จะใส่ซีอิ๊วดำหวาน

ซีอิ๊วดำหวานมี 2 ยี่ห้อคือ ซีอิ๊วดำหวานตรากุหลาบ และตรากระเช้า ซึ่งเป็นซีอิ๊วดำหวานที่เข้มข้นน้อยลงมา และถ้าใครอยากลองซีอิ๊วตรากระเช้า จะต้องไปซื้อที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีที่เดียวเท่านั้น ซึ่งขายดีมาก

“ซีอิ๊วเราทำที่นี่ก็จริง แต่หม่าม้าเคยได้ซีอิ๊วเราเป็นของฝากจากสิงห์บุรีด้วยนะ หรืออย่างเพื่อนพี่สาวเราก็มาเล่าว่าแม่เขาไปเที่ยวต่างจังหวัดมา และซื้อซีอิ๊วบ้านเรากลับมาตุนที่บ้านหลายขวดเหมือนเป็นของดีประจำจังหวัด” แน็ตเล่าอย่างอารมณ์ดี

อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า การเปลี่ยนซีอิ๊วเป็นเรื่องใหญ่ของร้านอาหาร ลูกค้า (end user) ร้านอาหารจึงผูกพันกับซีอิ๊วจากโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงมายาวนาน แม้ซีอิ๊วที่นี่จะไม่ได้ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่อย่างน้อยก็มีลูกค้าที่โทรมาบอกเสมอว่า “อย่าเลิกทำซีอิ๊วนะ” เหล่านี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทายาทโรงซีอิ๊วพร้อมใจกันแตะมือ ส่งต่อ และสืบทอดกิจการ

Part 3

ซีอิ๊วโฮมเมดที่เชื่อในกรรมวิธีแบบดั้งเดิม

ก่อนจะไปสู่เรื่องราวของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในมือทายาทรุ่นที่ 4 แน็ตพาเราไปชมกระบวนการทำซีอิ๊วดำเค็มตามสูตรโบราณของที่นี่ ซึ่งมีความคราฟต์ ทำด้วยมือทุกกระบวนการจริงๆ 

ลุงชด​ พันธุ์กระวี ผู้เป็นเถ้าชิ่ว หรือคนที่ทำหน้าที่คนซีอิ๊วมาตั้งแต่รุ่นอาม่าเพ็กจึง ซึ่งทำงานมาตั้งแต่อายุ 25 ปัจจุบันอายุ 83 ปี เริ่มเล่ากระบวนทำซีอิ๊วแบบดั้งเดิมที่เรียนรู้และสืบทอดจากอาม่าดังนี้ 

Part 3.1

เพาะเชื้อ

ในขั้นตอนการเพาะเชื้อ เชื้อราที่ใช้มาจากเมืองเก๊กเอี๊ย ซึ่งครอบครัวส่งต่อการเพาะเชื้อชนิดนี้มานับร้อยปี เพื่อคงรสชาติดั้งเดิมไว้

หลังจากใช้เวลา 4 ชั่วโมงสำหรับนึ่งถั่วเหลือง พวกเขาจะนำถั่วไปผึ่งให้ความร้อนลดลง ก่อนใส่เชื้อราลงไป ซึ่งเชื้อรา Aspergillus Oryzae เป็นเชื้อราที่ดี ไม่ต่างจากการทำโยเกิร์ตหรือกิมจิ เมื่อผสมให้เข้ากันก็นำไปใส่กระด้ง เพาะเชื้อไว้ 7 วัน เชื้อราชนิดนี้ชอบความชื้นและเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มันจะเปลี่ยนหน้าถั่วกลายเป็นสีเขียว 

Part 3.2

หมัก

จากนั้นล้างถั่วแล้วนำไปใส่โอ่ง เติมน้ำ โรยเกลือ เป็นอันเสร็จ จากนั้นคอยคนโอ่งทุกเช้าและเย็น เพราะขั้นตอนการหมักซีอิ๊วดำจำเป็นต้องใช้อากาศเล็กน้อยให้เชื้อจุลินทรีย์ทำหน้าที่หมักซีอิ๊วได้อย่างสมบูรณ์ 

สิ่งที่เปลี่ยนไปในกระบวนการนี้เมื่อย้ายโรงงานซีอิ๊วจากเจริญนครมาที่บางปูคือ แสงแดด 

“แดดที่บางปูดีกว่าที่โรงงานเดิม ซึ่งซีอิ๊วต้องการแสงแดด” 

ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่าต่อว่า โรงงานซีอิ๊วที่ดีต้องมีลานกว้าง แดดแรง เพราะตอนหมักซีอิ๊วในยุคนั้นจำเป็นต้องเปิดโอ่งให้แดดส่อง เพื่อให้น้ำระเหย ซีอิ๊วก็จะเข้มข้นขึ้นในทุกวัน โดยไม่ลืมคนซีอิ๊วในโอ่งทั้งเช้าและเย็น เมื่อแสงแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ นั่นแปลว่ามันจะมีซีซั่นของการทำซีอิ๊วที่อร่อยมากและอร่อยน้อยลงมานิดนึง เช่น ในฤดูร้อน จำนวนวันที่ตากแดดก็จะน้อยกว่าฤดูฝน ที่เปิดโอ่งไม่ค่อยได้เพราะฝนตก ก็ต้องยืดวันและเวลาตากออกไป ขณะที่สมัยนี้ กระบวนการหมักจะไม่เปิดโอ่งเพราะสภาพแวดล้อม ทั้งป้องกันการปนเปื้อนจากอากาศและสัตว์รบกวน

Part 3.3

ต้ม

เมื่อกระบวนการหมักได้ที่ ก็เข้าสู่กระบวนการต้ม ซึ่งจนถึงวันนี้ที่นี่ยังใช้กระทะแบบเดิมและใช้ฟืนในการต้มซีอิ๊ว เพียงแต่ปรับให้สะอาดและได้มาตรฐานโรงงานมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น น้ำที่ใช้ผ่านการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

การต้มซีอิ๊ว 1 กระทะจะใช้น้ำซีอิ๊วหมักหลากหลายความเข้มข้น คือมีทั้งซีอิ๊วน้ำหนึ่ง น้ำสอง น้ำสาม ตามสัดส่วนซีอิ๊วหนึ่งยี่ห้อ ซึ่งน้ำหนึ่งคือน้ำลงโอ่งรอบแรก เมื่อหมักไว้ในจำนวนเดือนที่ต้องการเรียบร้อย เป็นน้ำซีอิ๊วที่ดีที่สุด

ยกตัวอย่าง ซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วยเป็นซีอิ๊วที่ดีสุดและเข้มข้นมาก สัดส่วนน้ำหนึ่งจะเยอะที่สุด หอมที่สุด

ส่วนที่สำคัญและยากที่สุดในการต้มคือการควบคุมไฟ ที่นี่ยังคงใช้เตาฟืนโบราณ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของคนทำหน้าที่ทั้งคุมไฟและเคี่ยวซีอิ๊ว เพราะไม่ใช่งานที่เปิดเครื่อง กดตั้งค่าอุณหภูมิ จับเวลา แล้วได้มาซึ่งซีอิ๊วหอมๆ แต่เป็นทักษะที่อาศัยการฝึกฝนจนรู้ว่าควรใช้เวลาเท่าไหร่หลังจุดฟืน ที่ความร้อนจะเพียงพอต่อการเดือดของซีอิ๊ว ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อจากกลิ่นและรสชาติ เพราะถ้าไฟแรงไปซีอิ๊วก็จะไม่หอม ต้องคอยใส่ฟืนลงไปเสมอๆ ที่สำคัญต้องคนกระทะตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นซีอิ๊วจะไหม้ติดกระทะ 

ซีอิ๊ว 1 กระทะใช้เวลาต้มเคี่ยวทั้งหมด 8 ชั่วโมง คนเสร็จลงไปเติมฟืน เติมฟืนเสร็จขึ้นมาคน ทำแบบนี้ตลอด 8 ชั่วโมง เมื่อต้มเสร็จก็เก็บพักซีอิ๊วให้ตกตะกอนอย่างน้อย 1 คืน จากนั้นกรองน้ำที่ได้เพื่อบรรจุขวดและติดฉลากเป็นอันเสร็จ

ส่วนกากซีอิ๊ว ภายหลังแน็ตนำมาต่อยอดใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำไข่เค็มหมักซีอิ๊วซึ่งเป็นการเปิดตลาดซีอิ๊วไปสู่กลุ่มใหม่ๆ

Part 3.4

วิธีใช้ให้อร่อย

“น่าเสียดายที่คนสมัยนี้รู้จักและใช้ซีอิ๊วดำกันน้อย คือใช้ผัดกับข้าวหรือต้มพะโล้” ตั่วแป่ะเล่าด้วยความเสียดาย ก่อนจะทิ้งท้ายวิธีกินซีอิ๊วให้อร่อยแบบต้นตำรับ

“ถ้าเป็นสมัยก่อน คนนิยมใช้ซีอิ๊วเป็นน้ำจิ้ม เต้าหู้เหลืองหั่นเป็นแผ่น นำไปทอดแล้วราดซีอิ๊วหน่อยนะหอมฟุ้งเลย หรือสัปปะรดกับแตงโมสดๆ จิ้มซีอิ๊วอร่อยมาก” 

ฟังแล้วชักอยากลองจิ้มสัปปะรด

เกี่ยวกับการใช้งานแน็ตยอมรับว่าซีอิ๊วดำของที่นี่รสชาติเข้มมาก เพราะเหมาะจะใช้เป็น cooking sauce ไม่ได้มีไว้สำหรับจิ้มทาน หรือเป็นอย่างซีอิ๊วบางเจ้าที่ปรับแต่งรสให้เป็นซอสปรุงรสสำหรับเหยาะใส่อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว

“คนชอบรสชาติกลมกล่อม แต่เราก็มีทางเลือกของเรา อากงอาม่าเลือกที่จะทำและสืบทอดสูตร ที่จะไม่เติมอะไรลงไปในซีอิ๊วเลย หมักแล้วต้มเคี่ยวเลย ดังนั้นการปรับรสชาติจึงไม่ใช่แนวทางที่เราเลือก” แน็ตเล่าความตั้งใจ

Part 3.5

การกลับมาของซีอิ๊วขาวที่หายไป

แน็ตเล่าว่าในอดีต โรงซีอิ๊วสมัยอากงจั๊กฮุ้งเคยทำซีอิ๊วขาวขาย แต่อยู่ๆ ก็เลิกผลิตไป แน็ตจึงตั้งใจนำกลับมาอีกครั้ง โดยได้น้าแพร​ เบียดกระสินธิ์ มือวางอันดับหนึ่งด้านซีอิ๊วขาว มาร่วมทดลองทำซีอิ๊วขาวและเต้าเจี้ยวตามแบบฉบับโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ซึ่งกระบวนการเพาะเชื้อและหมักคล้ายกับการทำซีอิ๊วดำ ต่างแค่เพียงใส่แป้งสาลีและแป้งข้าวเจ้าในขั้นตอนเพาะเชื้อรา ก่อนจะทิ้งไว้อย่างนั้นห้ามคนโอ่งเป็นเวลา 1 ปี

สิ่งที่แตกต่างระหว่างซีอิ๊วดำและซีอิ๊วขาวคือ กลิ่น ในกระบวนการหมักซีอิ๊วดำเค็ม ถั่วในไหจะไม่ได้ให้กลิ่นหอม เท่ากับตอนที่ต้ม ต่างจากการทำซีอิ๊วขาว ที่จะหอมตั้งแต่ตอนหมักในไห ซึ่งเกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ ย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลให้ความหอมหวาน

ทั้งนี้ แน็ตตั้งใจจะสร้างแบรนด์ใหม่ ไม่เน้นตลาดพรีเมียมอย่างแบรนด์ซีอิ๊วดำที่ทำอยู่ เพราะขัดต่อความเชื่อเรื่องกรรมวิธีธรรมชาติ เนื่องจากซีอิ๊วขาวจำเป็นต้องใส่สารยืดอายุหรือวัตถุกันเสียเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน

Part 4

Soy Sauce Factory 

ไม่ต่างจากทายาทธุรกิจครอบครัวทุกคน แน็ตเติบโตในบ้านที่เป็นโรงงานซีอิ๊วย่านตลาดตลาดน้อย ที่เด็กทุกคนในบ้านคือแรงงาน มีหน้าที่ช่วยตอกจุกซีอิ๊ว

แน็ตเรียนจบด้านอุตสาหกรรมอาหาร จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถือว่าตรงสาย อย่างน้อยก็มีพื้นฐานเรื่องการทำระบบเกี่ยวกับโรงงานอาหาร แต่ไม่ได้ลงลึกเทคโนโลยีของการทำซีอิ๊ว ตอนแรกเธอตั้งใจไปทำงานในโรงซีอิ๊วใหญ่ๆ เพื่อหาประสบการณ์ แต่โรงซีอิ๊วเหล่านั้นอยากได้พนักงานผู้ชายมาคุมแรงงาน

แน็ตจึงเริ่มงานแรกของเธอในฝ่าย technicle sale ของบริษัทธุรกิจอาหารต่างประเทศบริษัทหนึ่ง ดูแลลูกค้ากลุ่มโรงงานอาหารทั้งหมด ซึ่งสินค้าที่บริษัทขายมีทั้งซอส ซอสผง มายองเนส ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานอาหาร เมื่องานเริ่มไปได้ดี แน็ตก็ตัดสินใจเรียนต่อด้านบริหาร เพื่อมารับช่วงต่อกิจการใน พ.ศ. 2555

“เราเป็นเพียงโรงซีอิ๊วเล็กๆ ซึ่งต้นทุนของโรงงานเล็กมันสูงมาก เทียบกับเพราะเจ้าใหญ่ที่ผลิตปริมาณมาก ทำต้นทุนได้ต่ำกว่า กำไรเยอะกว่า แต่เราขายตลาดเดียวกับยี่ห้อดังๆ โรงงานใหญ่ๆ การทำธุรกิจมันยากมากเลย แต่เวลาคุยกับลูกค้าเราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “อย่าปิดนะ” “ลื้ออย่าปิดนะ” “ทำต่อไป” ถ้าจะเหลือทางเลือกระหว่างเลิกทำแล้วปิดโรงงานกับทำต่อไป ซึ่งเราคิดว่าไม่เสียหายถ้าเราเลือกจะลองทำ” แน็ตเล่าสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจรับช่วงต่อ

Part 4.1

ใช้จุดแข็งของซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย

ก่อนจะไปถึงเรื่องสินค้าใหม่ เราสนใจการใช้จุดแข็งของซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย

เมื่อเราถามแน็ตว่า จากคนที่ทำงานโรงงานอาหารที่มีมาตรฐานสูง เมื่อต้องมาบริหารโรงงานซีอิ๊วที่มีกระบวนการทำแบบบ้านๆ ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เธอก็รีบตอบทันทีว่า

“เราทำโรงงานอาหารมาก่อน เป็นพนักงานขายที่ได้เข้าไปดูโรงงานอื่นๆ ซึ่งโรงงานเหล่านั้นได้มาตรฐาน ผลิตสินค้าส่งออกได้ ทุกคนมีเครื่องจักร มีองค์ความรู้จากญี่ปุ่น มีการพัฒนาไปไกลแล้ว แต่โรงงานเราแฮนด์เมด โฮมเมดกันสุดๆ สมัยก่อนเราก็เคยคิดว่าการพัฒนาคือต้องมีเครื่องจักรแบบโรงงานอื่น ซึ่งแน่นอนว่าต้องลงทุนสูงมาก แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะคงความเป็นโฮมเมดเอาไว้เพื่อคุณภาพที่ดีของอาหารที่เราผลิต แต่เราเลยพยายามปรับปรุงระบบให้มันดีขึ้นจนได้มาตรฐานสากลที่โรงงานใหญ่ๆใช้ และเมื่อเรามั่นใจว่าของเราดี เราก็จะมีความมั่นใจในการขายด้วย”

แม้จะเป็นธุรกิจที่อยู่มายาวนาน แต่ที่นี่ก็ยังเป็น SME ซึ่งช่วงแรกไม่ได้มีทุน แน็ตจึงไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการและสถาบันอาหาร 

“เขาจะมีทุนมาให้ เขาไม่ได้ให้เงินเรา แต่เราส่งอาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามา เป็นจุดเริ่มต้นของการให้คนอื่นมาดูโรงงาน ซึ่งในห้องเรียนเราเรียนเรื่องมาตรฐาน แต่เราก็ต้องปรับให้เขากับบริษัทเราหรือโรงงานเราเอง ช่วงแรกจึงเป็นเราที่ต้องเรียนรู้ให้มาก เรากินซีอิ๊วแต่แทบจะไม่เคยรู้เลยว่าซีอิ๊วแต่ละประเภทต่างกันยังไง”

“ซีอิ๊วมีหลายแบบ แบบที่ไม่หมักเลยแต่ใช้กรดเร่งปฏิกิริยามาย่อยถั่ว กับแบบที่ใช้จุลินทรีย์เพื่อให้เกิดกระบวนการธรรมชาติ มันก็จะใช้เวลา แต่เรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นโรงซีอิ๊วที่ทำเล็กๆ แบบเราก็ยังเป็นอาหารสุขภาพอยู่ ซึ่งเราเลือกที่จะไม่เติมวัตถุกันเสียเข้าไป เพื่อให้มันครบสมบูรณ์ ธรรมชาติจริงๆ เพราะเรากินเอง ไม่ได้อยากกินอะไรที่มีการแต่งเติม” 

ซึ่งสิ่งที่สร้างจุดเปลี่ยนหรือทำให้แน็ตเลือกวิธีใช้ซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย ก็คือ ‘ลูกค้า’

“ลูกค้ากลุ่มเดิมเป็นลูกค้าที่เน้นรสชาติ เพราะเขาใช้ของเรามานาน และติดรสชาตินี้ แต่อาจจะไม่ได้โฟกัสที่เรื่องกรรมวิธีการผลิต แต่พอเวลาเราไปออกบูธเอง เราเจอกลุ่มลูกค้า กลุ่มที่เลือกเปิดใจลองของใหม่ๆ แบบนี้ เขาก็สงสัยว่าเราเป็นโฮมเมดมั้ย หรือมาจากไหนล่ะ ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำตลาดซีอิ๊วในกรุงเทพเลย แม้เราจะผลิตที่นี่แต่แบรนด์ก็ไปติดตลาดที่ต่างจังหวัด ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีคำถามคล้ายๆ กันว่า ใส่วัตถุกันเสียหรือเปล่า ดีต่อสุขภาพยังไง ทำไมเขาถึงควรเปลี่ยนมาใช้ของเรา ซึ่งทั้งหมดที่เขาให้ความสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่เราเองก็ให้ความสำคัญมากๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะรักษาไว้ เพียงแต่ เราอาจจะใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพให้คงที่ เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมสารใดๆ”

“แน็ตคิดว่าเราเข้ามารับช่วงต่อถูกจังหวะ เพราะในสมัยปะป๊า เป็นช่วงที่โรงงานซีอิ๊วเร่งพัฒนาเพื่อแข่งขัน ทุ่มทุนเปลี่ยนสูตร จึงเป็นช่วงที่โรงงานใหญ่ๆ ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตซีอิ๊วเยอะ คนเริ่มรู้จักใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุสินค้า ขณะที่โรงซีอิ๊วของเรารักษาความเชื่อเรื่องกระบวนการธรรมชาติที่ไม่ใช่สารเคมี วัตถุกันเสีย และยึดมั่นในความเชื่อนี้ผ่านกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอดีกับที่มาเจอตลาดกลุ่มนี้พอดี” แน็ตเล่าจังหวะที่ใช่ในธุรกิจ

Part 4.2

ซีอิ๊วและไข่เค็ม

โจทย์ที่แน็ตได้รับจากพ่อ (ไพบูลย์​ โชติสกุลรัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3) ในวันที่เธอมารับช่วงต่อคือ เพิ่มยอดขายให้ได้ 2 เท่า

“ตอนแรกก็คิดว่าไม่ยากอะไร แค่ไปจ้างพนักงานขายมาช่วยให้มียอดขายเยอะๆ ก็น่าจะพอแล้ว แต่สิ่งที่เจอคือ พนักงานขายโกงเงินเราไป ลูกค้ายี่ปั๊วซาปั๊วสั่งของ จ่ายเงินและได้รับสินค้าครบถ้วนแล้ว แต่เงินที่จ่ายนั้นไม่ได้มาถึงเรา ทำให้เราคิดว่า การทำธุรกิจที่นำด้วยยอดขายคงไม่เหมาะกับเรา” อดีตนักเรียนวิทยาศาสตร์เล่าสิ่งที่เจอ

สิ่งที่แน็ตทำคือ กลับมาดูสินค้าของโรงงานว่ามีอะไรปรับปรุงหรือต่อยอดได้บ้าง

“ความยากของเราคือ เราขายซอสทำอาหาร ไม่ใช่ซอสจิ้ม หรืออะไรที่คนจะเข้าใจง่ายแค่ใส่ก็อร่อยแบบนั้น เราก็เลยนำเสนอสินค้าใหม่ ที่คนคุ้นเคย เข้าใจง่ายกว่า คือไข่เค็ม ซึ่งเมื่อคนได้ลองชิม คนกินก็จะตั้งคำถามว่าทำไมรสมันแปลกๆ นะ จากนั้นภาพก็ตัดเข้าสู่โฆษณา ‘นี่ไม่ใช่ไข่เค็มทั่วไป แต่เป็นไข่เค็มที่ทำจากซีอิ๊วดำเค็มของโรงงานอายุ 100 ปีที่ยังคงกรรมวิธีเคี่ยวด้วยมือบนเตาฟืนแบบโบราณ’ เราแค่อยากได้โอกาสในการเล่าเรื่อง เราอยากให้เขาถามไม่ว่าจะมาจากการได้ชิมหรือเห็นแพ็กเกจของเรา อย่างน้อยเราก็ได้เล่าว่าเราเป็นโรงซีอิ๊วเล็กๆ ที่ทำซีอิ๊วขายในต่างจังหวัดและยังคงใช้วิธีดั้งเดิม วัตถุดิบธรรมชาติ” แน็ตเล่ากลยุทธ์การขายซีอิ๊วสไตล์เด็กวิทยาศาสตร์ช่างสงสัย 

แน็ตใช้เวลา 2 ปีต่อยอดซีอิ๊ว ด้วยการทำแบรนด์ไข่เค็ม ที่เราชิมแล้วถูกใจเพราะเค็มน้อยแต่อร่อยนะ

Part 4.3

เปลี่ยนวิธีขายให้เข้ากับยุคสมัย

นอกจากพัฒนาคุณภาพสินค้า และต่อยอดสินค้า สิ่งที่แน็ตทำต่อมาคือ เปลี่ยนวิธีขายให้เข้ากับยุคสมัย

“เราไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเปลี่ยนบางอย่างแบบสิ้นเชิง สิ่งที่เปลี่ยนไปคือดีไซน์บนฉลาก จากเดิมที่เป็นภาษาจีน เราเพิ่มภาษาไทย และข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบที่สำคัญ และหมายเลขอนุญาตขายตามกฎหมาย” แน็ตเริ่มจากการสื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์ ก่อนจะเล่าประสบการณ์ซื้อโฆษณาซีอิ๊วในรายการวิทยุ

“โจทย์ของเรายังคงเป็น ทำยังไงให้ร้านอาหารใหม่ๆ เริ่มเห็นซีอิ๊วของเราแล้วอยากลองใช้ เพราะเรารู้สึกว่ากลุ่มนี้ใจกว้าง พร้อมทดลองและให้โอกาส ซึ่งเราเคยใช้วิธีซื้อโฆษณาในวิทยุตอน 6 โมงเช้า ช่อง 93.5 โดยคุณตู่ ผุสดี เสาวรัตน์ เป็นช่องที่เปิดเพลงฝรั่ง เขาก็จะพูดเกี่ยวกับซีอิ๊ว 5 นาที ซึ่งก็ได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ ตอนนั้นทำอยู่ 3 เดือน และช่วงเดียวกันนั้น เราก็ไปออกบูธเปิดตลาดเยอะขึ้น คนก็เข้ามาถามว่าใช่แบรนด์ซีอิ๊วที่ได้ยินในรายการวิทยุหรือเปล่า” แน็ตเล่าอย่างอารมณ์ดี

ความตั้งใจต่อมาคือ การพาซีอิ๊วเข้าร้านโมเดิร์นเทรดอย่าง วิลล่า ฟู้ดแลนด์ กรูเม่ เธออยากให้คนไปซื้อสินค้าของที่นั่น เพียงแต่ที่ผ่านมาแน๊ตไม่รู้วิธีจะบอกคนอย่างไรว่าสินค้าเธอมีขายที่ไหน

สิ่งที่ทำให้ไข่เค็มหมักซีอิ๊วติดตลาดในเวลารวดเร็วคือ ช่วงเวลาที่ถูกต้อง 

แน็ตรู้ว่าคนกำลังหาของขวัญปีใหม่ เธอตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนอยากซื้อไข่ไปเป็นของขวัญ ของที่ราคาไม่แพงแต่ดูสวยและดูดี 

ผลก็คือ ไข่เค็มขายดีมากทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดตัวแบรนด์ได้ไม่นาน

ประกอบกับช่วงเวลานั้นไปออกบูธที่ตลาดเสรี ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ใหญ่ 

“ผู้ใหญ่หลายท่านชิมแล้วชอบในความเค็มน้อย ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเรามาถูกทาง และกลุ่มที่เราอยากสื่อสารด้วยดูจะชอบทั้งรสชาติและแพกเกจจิ้ง” เมื่อสะสมความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่แน็ตจะพาไข่เค็มและซีอิ๊วของเธอไปเจอกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่ห้างใจกลางเมือง รวมถึงเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างน้ำพริกไข่เค็ม ที่ทั้งคลุกข้าว หรือทำเป็นเพสทาขนมปังก็ได้ ซึ่งโชคดีมากที่ลูกค้าชาวสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นชาติที่รักไข่เค็มสุดๆ จึงให้การตอบรับที่ดี

Part 4.4

ภารกิจรักษาโรงซีอิ๊ว

โดยสรุปแล้วทั้งหมดที่แน็ตทำก็เพื่อรักษาโรงซีอิ๊ว เพราะสิ่งที่แน็ตเป็นห่วงคือ ลูกค้ากับพนักงาน

“ซีอิ๊วไม่ใช่ของที่ขายแล้วลูกค้ามาแล้วก็ไปนะ แต่คือความผูกพันที่มีมานาน เราเรียกทุกคนเป็นอาโกว อาอี๊ โดยไม่ได้รู้สึกเขินว่าเขาไม่ใช่ญาติ หลายคนเป็นลูกค้าเรามาตั้งแต่สมัยอาม่าอากง ผ่านมาหลายช่วงเหมือนที่เราเองก็ผ่านมาหลายช่วง เราเลือกที่จะทำเล็กๆ แต่ให้มันยังอยู่ต่อไปได้ ด้วยการพัฒนาทั้งคุณภาพและดูแลบริการกลุ่มลูกค้าเก่าๆ”

เป็นเหตุผลให้ช่วงแรกของการรับช่วงต่อ แน็ตใช้วิธีโทรไปแนะนำตัวกับคู่ค้าว่าเป็นใคร และจะมารับช่วงต่อสิ่งนี้ ใช้เบอร์โทรศัพท์อะไร พร้อมถามชื่อของปลายสายกลับไปเพื่อไว้ติดต่อสื่อสาร

“หม่าม๊าของเรา จริงๆ เขามีธุรกิจของเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงงานซีอิ๊ว แต่เขาพาเราขับรถไปถึงชัยนาท แม้ไม่รู้เส้นทางก็พาไปตามความเคยชินว่าเจ้านี้น่าจะอยู่ตรงนี้เพราะอาม่าเคยพามา หรือเจ้านั้นอยู่ตรงไหน เพราะในการรับช่วงต่อ สิ่งที่ยากสำหรับเราคือ การทำการค้าที่ผ่านมา ลูกค้าบางคนของเรา เราไม่เคยเจอหน้าเลย เดี๋ยวนี้มีไลน์กันแล้ว ลูกค้าเห็นหน้าเรา เราเห็นหน้าลูกค้า คุยกันสนิทสนม และถ้าเรามีโอกาสเดินทางไปไหนก็จะไม่พลาดที่จะแวะไปสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า”

หลังจากพัฒนาคุณภาพ สร้างแบรนด์ซีอิ๊ว ต่อยอดสินค้าใหม่ จนเจอกลุ่มลูกค้าใหม่ เปิดตลาดเพื่อสุขภาพได้สำเร็จ ประสบการณ์ตลอด 10 ปีที่เข้ามารับช่วงต่อโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ทำให้แน็ตเห็นแนวโน้มหรือโอกาสใหม่ๆ อย่างไรบ้าง เราถาม

“เราจะยังคงอยู่ในตลาดเพื่อสุขภาพ อาจจะหาสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มคล้ายๆ กัน ซึ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิต แต่เป็นคนเลือกสรรเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ภายใต้ความเชื่อของเรา เพราะเราคิดว่าความต้องการของตลาดนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน และจะจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเทรนด์เรื่องสุขภาพ และเทรนด์แม่และเด็ก กลุ่มที่เลือกของที่ดีสำหรับลูก ซึ่งเราเป็นสินค้าที่ไม่ใช้สารเคมีในราคาที่จับต้องได้ พอแปะคำว่าเพื่อสุขภาพลงไปที่สินค้าอะไร มันมักจะเป็นของที่แพงเสมอ ซึ่งเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น เราทำซีอิ๊วอยู่ เราพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ก็คิดว่าคนอื่นๆ น่าจะทำได้เหมือนกัน เราไม่ได้อยากเป็นสินค้าที่พรีเมียมเรื่องราคา แต่อยากเป็นมาตรฐานที่ดีของการทำอาหารสุขภาพได้” แน็ตทิ้งท้าย

ดาบสองคมของ BNPL ธุรกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาในไทยมากขึ้น

เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป–หนึ่งในวงการที่เห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือ ‘การเงิน’ กับการมาของสิ่งที่เรียกว่า financial technology หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า FinTech

FinTech ได้เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ธนาคารต้องปรับตัวกันยกใหญ่ นอกจากคริปโตเคอร์เรนซีที่แทบจะไม่ต้องอธิบายแล้วว่ามันคืออะไร อีกหนึ่งเทรนด์ในโลกการเงินยุคใหม่ที่น่าสนใจและกำลังคืบคลานเข้ามาในไทยเรื่อยๆ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘BNPL’

ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวคือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเพื่อนของเรากำลังช้อปปิ้งอยู่ในร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ระดับพรีเมียมแห่งหนึ่ง พนักงานในร้านก็เดินเข้ามาพูดคุยต้อนรับ เป็นการพูดคุยที่ไม่ได้พูดถึงเครื่องสำอางคอลเลกชั่นใหม่หรือสีลิปสติกที่เข้ากับใบหน้า แต่เข้ามาแนะนำให้สมัครและชำระค่าสินค้าที่หน้าเคาน์เตอร์ผ่าน QR Code บน  ‘Atome’ แอพฯ สีเหลืองจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อที่จะได้รับโปรโมชั่น โค้ดส่วนลด และการผ่อนชำระรายเดือนแบบไร้ดอกเบี้ย

โดย Atome เป็นหนึ่งในแอพฯ ที่ให้บริการแบบ BNPL ที่ย่อมาจากคำว่า Buy Now, Pay Later แปลตรงตัวก็คือ ‘ซื้อก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง’ บางเจ้าก็ให้ผ่อนฟรี บางเจ้าก็คิดดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละราย

ขอบคุณภาพ : atometh.com

นอกจาก Atome แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ยังมีแอพฯ จากสิงคโปร์อีกรายที่ใช้ชื่อว่า ‘Pace’ มาบุกตลาดในไทยด้วยเช่นกัน โมเดลของ Pace นั้นแทบไม่ต่างจาก Atome คือเน้นผ่อนสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ซึ่งแบรนด์ที่มีอยู่ในระบบของ Pace ก็ล้วนแต่เป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็น Victoria’s Secret, Nike หรือ Bath & Body Works 

ส่วน Atome เองด้วยความที่ทำตลาดในไทยมาก่อนหน้า จึงมีแบรนด์ดังอยู่ในระบบมากกว่า ทั้ง Greyhound, Vickteerut, Charles & Keith, Freitag หรือแม้แต่แพลตฟอร์มจองที่พักอย่าง agoda ก็มีใน Atome ด้วยเช่นกัน 

ขอบคุณภาพ : pacenow.co

หรือที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีอย่าง Shopee ก็หันมาเล่นในเกม BNPL นี้ ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า SPay ที่จะอนุมัติสินเชื่อในเวลาอันสั้นเพื่อให้ลูกค้าได้นำเงินสินเชื่อนั้นมาช้อปปิ้งบน Shopee ต่อได้ ส่วน Grab เองแม้จะยังจำกัดบริการให้แค่คนขับในระบบเท่านั้นที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลังได้ แต่ก็นับว่า Grab ได้ก้าวขาเข้ามาสู่ BNPL แล้วเช่นกัน

ทั้งผู้เล่นรายใหญ่และผู้เล่นหน้าใหม่กำลังเล่นในเกมเดียวกันแบบนี้ นับเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองไม่น้อยว่า BNPL จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการเงินในบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด 

เพราะความน่าสนใจของ BNPL ไม่ได้มีแค่เวทมนตร์การตลาดที่ดึงดูดใจเหล่านักช้อปได้ของไปใช้ก่อนแล้วค่อยเอาเงินมาจ่ายเงินทีหลัง แต่ยังรวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่กว้างมากในไทย

ถามว่ากว้างขนาดไหนนะหรือ? 

คนไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน แต่มีจำนวนบัตรเครดิตในระบบอยู่ประมาณ 25 ล้านใบ ซึ่งอย่าลืมว่าแต่ละคนก็ไม่ได้ถือบัตรเครดิตเพียงแค่ใบเดียว นั่นหมายความว่ายังมีคนอีกจำนวนหลายสิบล้านที่ไม่มี ทีนี้ก็ลองคิดดูสิว่ามันเป็นโอกาสของธุรกิจ BNPL มากเพียงใดกับการ ‘เข้าไปถึง’ คนที่ ‘เข้าไม่ถึง’ นี้

จะว่าไปแล้วการซื้อก่อนแล้วจ่ายทีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในศตวรรษที่ 19 นั้นก็มีการจ่ายเงินที่ให้ผ่อนแบบทั้งรายสัปดาห์และรายเดือนแล้ว ตัวอย่างก็เช่นจักรเย็บผ้ายี่ห้อ Singer กับกลยุทธ์การขายที่เรียกว่า “dollar down, dollar a week.” แม้จักรของซิงเกอร์จะไม่ใช่ของที่ดีที่สุดหรือถูกที่สุดในเวลานั้น แต่ก็ขายดิบขายดีเพราะสามารถจูงใจผู้คนให้มาซื้อได้ด้วยการผ่อน

ขยายภาพของผลลัพธ์การจูงใจให้คนซื้อด้วยการผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คงต้องขอยกบางช่วงบางตอนของ Money, Explained : Credit Cards สารคดีที่สร้างสรรค์โดย Vox มาขยายความให้ฟัง ตัวสารคดีได้พูดถึงงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘ความเจ็บปวดเวลาจ่าย’ ได้อย่างน่าสนใจ ว่าการจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ นั้นมีความเจ็บปวดทางจิตวิทยาไม่เท่ากัน และมีการศึกษาหนึ่งที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวกันกับความเจ็บปวดและความกลัว มีแนวโน้มจะทำงานเวลาเห็นคนจ่ายด้วยเงินสด มากกว่าเวลาเห็นคนจ่ายด้วยบัตรเครดิต          

เมื่อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ก็ย่อมทำให้ร้านค้าขายของได้ดีขึ้นตามไปด้วย และผลตอบแทนจากความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อนั้นก็จะกลับมาในรูปแบบของค่าธรรมเนียมบัตรรายปี แต่นั่นก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่มากเท่าเมื่อเทียบค่าจ่ายเงินไม่ตรงเวลาของคนรูดบัตรที่เรียกว่าดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมร้านค้าเล็กๆ มักจะขอบวกเพิ่ม 3 เปอร์เซ็นต์จากยอดบิล นั่นก็เพื่อให้สามารถหักลบกลบกับจำนวนที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทบัตรเครดิตได้ 

ด้วยรูปแบบธุรกิจที่คล้ายกันแต่ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า แถมไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบัตรรายปี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่า BNPL นั้นจะเข้ามาดิสรัปต์บัตรเครดิต เพราะอย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าคนไม่มีบัตรเครดิตนั้นมีมากกว่าคนมีบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองกันต่อไปในอนาคตว่า BNPL จะเข้ามาทำให้โลกการเงินแบบเดิมสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนไปในทิศทางใด 

ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์กันอีกว่าภายในปี 2025 หรืออีกแค่ 3 ปีข้างหน้าการทำธุรกรรมผ่าน BNPL จะมีมูลค่าสูงถึง 680 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าการเติบโตของ BNPL จะทำให้ 3 ตัวอักษรหลังอย่าง N P และ L ที่ย่อมาจากคำว่า non-performing loan หรือหนี้เสีย–การที่คนเป็นหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของ BNPL ด้วยหรือไม่ 

และสำหรับในมุมผู้บริโภค ในวันที่การ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ เริ่มกลายเป็นเทรนด์สำคัญในวงการการเงินที่เขยิบเข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ 

การ ‘คิดก่อนจ่ายทีหลัง’ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

‘OFTR BAR’ ธุรกิจพรีเมียมบาร์ที่เป็นส่วนผสมของหนังบาส นัฐวุฒิ และรสนิยมของหว่อง การ์-ไว

ในชีวิตคนดูหนังทุกคน ต้องมีสักครั้งแหละที่อินกับหนังมากจนอยากเข้าไปอยู่ในหนัง

ลำพังแค่ดูและฟังจากหน้าจอมันพอซะที่ไหน อย่างเราเอง ตอนดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ชอบนึกฟุ้งฝันว่าถ้าได้นั่งรถไฟสายเวสต์ไฮแลนด์ระหว่างชมวิวข้างทางจะเป็นยังไง หรือตอนดู Lost in Translation ก็อยากพาตัวเองไปเจอบรรยากาศหนาวๆ เหงาๆ ที่โตเกียวบ้างจัง

หลายครั้งที่ดูหนังเรื่องไหนแล้วชอบ เราก็อยากพาตัวเองไปเจอประสบการณ์นั้น และอาจเป็นโชคดีของเราที่ One for the Road หนังโปรดเรื่องล่าสุดสานฝันเราให้เป็นจริง!

เรื่องมันเริ่มมาจาก บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ บินไปถ่าย One for the Road ที่บาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ก่อนจะบินกลับมาพักกองที่ไทยเพราะต้องรอฤดูกาลเปลี่ยนผ่านถึงจะบินกลับไปถ่ายใหม่อีกครั้ง แต่โควิดเจ้ากรรมดันระบาดไปทั่วโลกเสียก่อน บาสจึงต้องเช่าตึกแถวในกรุงเทพฯ และเซตบาร์เหมือนที่นิวยอร์กขึ้นใหม่ แต่พอคำนวณค่าโปรดักชั่นดู เจอตัวเลขที่พุ่งสูงจนน่าตกใจ บาสจึงรวบรวมความกล้า ต่อสายไปหา หว่อง การ์-ไว ผู้เป็นโปรดิวเซอร์และคนออกทุน พร้อมถามว่า “ยูสนใจจะเซตบาร์นี้ขึ้นมาจริงๆ เพื่อ make money กันไหม” โดยคาดหวังคำตอบแบบ 50-50 ปรากฏว่าหว่องตอบว่าได้

รู้ตัวอีกที บาร์ในนาม OFTR BAR (แน่นอนว่าย่อมาจาก One for the Road) ก็ตั้งตระหง่านในชั้นล่างสุดของตึก 4 ชั้นย่านสุขุมวิท 31 โดยมีชั้นบนเป็นคาเฟ่ ร้านขายโปสเตอร์ และออฟฟิศของบาสเอง

ความยิ่งใหญ่คือบาร์แห่งนี้นับเป็นบาร์แรกที่หว่อง การ์-ไว เป็นเจ้าของร่วม เสิร์ฟทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่ผสมผสานความคิดและรสนิยมของสองผู้กำกับไว้ด้วยกัน คอลัมน์ Entretainment คราวนี้จึงไม่พลาดที่จะนัดคุยกับบาสถึงเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสรรค์บาร์แห่งนี้

One for the Road full-on experience

สำหรับหลายคน การเปิดบาร์กับการทำหนังดูเป็นงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กับบาส–เขาบอกว่ามันเหมือนกัน

บาสได้เรียนรู้ความผิดพลาดจาก Countdown จนไม่นำมาใช้ใน ฉลาดเกมส์โกง และเก็บสกิลตอน ฉลาดเกมส์โกง มาใช้ใน One for the Road ยังไง OFTR BAR ก็เป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือบาร์ที่สองของเขาและผองเพื่อนผู้ร่วมลงขันหลังจากเปิด Mutual Bar ด้วยกันที่ซอยสุขุมวิท 24

อะไรเวิร์กและไม่เวิร์กที่นั่น เขาเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับที่นี่ บาสบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ OFTR BAR กับ Mutual Bar มีเหมือนกันแน่ๆ คือโจทย์ในการทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีที่สุด

“เราทำร้านเหมือนเราทำหนัง มันคือการสร้างโลกโลกหนึ่งขึ้นมา เป็นการดีไซน์ประสบการณ์ให้ผู้ชมและลูกค้า ถ้าเขามาใช้เวลากับเรา 2 ชั่วโมง เขาควรจะต้องรู้สึกแบบไหน

“ในฐานะที่เป็นพาร์ตเนอร์สายดูภาพรวมและดีไซน์ประสบการณ์ เราใส่ใจกับความรู้สึกของคนที่ร้านตั้งแต่เขาเปิดประตูเข้ามา เขารู้สึกยังไง ได้กลิ่นแบบไหน พอนั่งลงแล้วเบาะมันนิ่มตูดขนาดไหน อะไรพวกนี้ เราจะเรียนรู้และสอบถามสิ่งนี้จาก Mutual Bar แล้วนำมาปรับใช้กับ OFTR BAR ได้ระดับหนึ่ง แต่มันก็ต่างกันด้วยความแตกต่างของพื้นที่และคาแร็กเตอร์บางอย่างของร้าน”

ย้อนกลับไปช่วงสมัยก่อตั้ง Mutual Bar บาสมีโจทย์ตั้งต้นคืออยากทำบาร์ค็อกเทลที่บรรยากาศดี รีแลกซ์ ให้ทุกคนเข้ามาสังสรรค์กันได้อย่างไม่เขิน ไม่เกร็งเหมือนตอนอยู่กับเพื่อนที่คุยกันถูกคอ ในขณะที่ OFTR BAR จะต่างออกไป ทั้งคาแร็กเตอร์ของร้านที่โตกว่า บวกกับการเป็นบาร์ที่ต่อยอดมาจากหนัง แถมได้ผู้กำกับคนสำคัญอย่างหว่อง การ์-ไว มาเป็นพาร์ตเนอร์อีกคน ทุกอย่างในร้านจึงเป็นส่วนผสมของแรงบันดาลใจจากหนังหว่องและ One for the Road อย่างละครึ่ง

“แต่สุดท้ายแล้วเรายังอยากคีพความรีแลกซ์อยู่นะ อาจจะไม่ได้เฮฮาปาร์ตี้เท่า Mutual Bar แต่เรายังอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมคุย รับฟัง และแชร์เรื่องราวกับลูกค้าทุกคน” 

Wong Kar-Wai’s easter eggs bar

แค่ได้ยินว่าบาร์แรกของหว่อง การ์-ไว มาเปิดที่ไทย คอหนังและคอดื่มร้อยทั้งร้อยก็น่าจะร้องว้าว แต่กับเจ้าของร่วมอย่างบาส เขายอมรับว่ามากกว่าความรู้สึกเท่คือความหนักใจ

“คำนี้มันกดดันมากเลยว่ะ สำหรับเรา ถ้าคนพูดว่าอยากไปนั่งบาร์เหงาๆ หว่องๆ ไป OFTR BAR กันไหม เราก็อยากให้เขารู้สึกว่าเออ นี่แหละ ที่นี่มันคือออฟฟิเชียลจริงๆ หว่อง การ์-ไว เป็นเจ้าของร่วมจริงๆ แล้วเราจะผสมความเป็นเราและความเป็นพี่เขา (หว่อง) ยังไงให้ได้ในระดับที่ไม่มีใครผิดหวัง”

บาสเล่าว่ากว่าจะมาเป็นร้าน OFTR BAR ในตอนนี้ มันผ่านการคิด แก้ไข ดัดแปลงการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้านอยู่หลายครั้ง ที่เซอร์ไพรส์กว่านั้นคือเขากับพาร์ตเนอร์ทำกันเองด้วย “จริงๆ ไม่ได้อะไรนะ อยากทำเพราะอยากประหยัดเงิน” ผู้กำกับหนุ่มหัวเราะ

สไตล์ของ OFTR BAR อ้างอิงมาจากบาร์โลคอลที่ขายเหล้าแรงๆ ในราคาถูก (dive bar) อย่างที่เราเห็นใน One for the Road ในขณะเดียวกัน การตกแต่งภายในก็ยกระดับให้บาร์ด้วยเรียกจิตวิญญาณของ ‘หนังหว่อง’ มาประทับในรายละเอียด ทั้งแสงไฟ เครื่องดื่ม และองค์ประกอบบางอย่างจากหนังในตำนานหลายเรื่องของเขา

first impression แรกเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณหน้าร้านที่มีป้ายไฟนีออนคำว่า ‘OFTR BEER COCKTAILS LIVE MUSIC’ สีเขียวแดงขนาดใหญ่แขวนอยู่ ซึ่งบาสดึงคาแร็กเตอร์มาจากป้ายนีออนที่เราเห็นได้ในท้องถนนที่ฮ่องกง ส่วนสีเขียวแดงก็เป็นโทนสีสำคัญในหนังของหว่อง การ์-ไว

เมื่อก้าวเข้ามาด้านใน OFTR BAR เต็มไปด้วย easter egg ในหนังให้แฟนๆ ได้สนุกสนานกับการสังเกต ไม่ว่าจะเป็นตู้ปลา เครื่องบิน หรือ ‘เสาแห่งกาลเวลา’ ที่ตั้งเด่นหราอยู่กลางร้าน

“ปกติแล้วจะเปิดบาร์ห้ามมีนาฬิกา เพราะเราไม่อยากให้ลูกค้าพะวงกับเวลาว่ากี่โมงแล้ว แต่พอบาร์นี้เป็นข้อยกเว้น เรารู้ว่าเวลาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในหนังของหว่อง เราก็เลยมีเสาหนึ่งต้นที่แม่งมีนาฬิกาแขวนอยู่ 6 เรือน ซึ่งนาฬิกากว่าครึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนาฬิกาที่ปรากฏอยู่ในหนังของเขา”

Ex’s Drinks and more

นอกจากสถานที่และบรรยากาศ OFTR BAR ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเครื่องดื่มไม่แพ้ที่ไหน งานนี้บาสได้หนึ่ง–รณภร คณิวิชาภรณ์ บาร์เทนเดอร์เจ้าของรางวัลแชมป์ประเทศไทยจากเวที World Class Thailand และชาช่า-สุวิญชา สิงห์สุวรรณ เจ้าของร้าน Rabbit Hole มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการคิดค้นสูตรของเครื่องดื่มแต่ละตัวตั้งแต่ตอนถ่ายทำ

อย่างที่หลายคนรู้ว่า OFTR BAR เสิร์ฟเครื่องดื่มที่ปรากฏใน One for the Road ซึ่งล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากแฟนเก่าของอู๊ด (ตัวละครของไอซ์ซึ ณัฐรัตน์) ไม่ว่าจะเป็น Alice’s Dance, Noona’s Tear, After The Rain หรือ New York Sour in the New York City ซึ่งล้วนมีรสชาติและหน้าตาคล้ายในหนัง

แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือบาร์ยังมีอีกหลายเมนูที่ไม่มีในหนัง แต่ครีเอตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสดุดีให้กับตัวละครหลักของ One for the Road “อย่าง Wrong Island Iced Tea เป็นเครื่องดื่มที่อินสไปร์มาจากตัวบอส (ตัวละครของต่อ ธนภพ) ซึ่งเราตีความว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เราก็ทวิสต์สูตรมาจาก Long Island Iced Tea ที่ปกติก็ถือว่าเป็นดริงก์ที่แรงอยู่แล้วเพราะใส่เหล้า 5 ตัว เรามีการเปลี่ยนตัวเหล้าในสูตรและเสิร์ฟมาในเชกเกอร์เพื่อแสดงความเป็นบาร์เทนเดอร์ของไอ้บอสเอง

“ส่วนของอู๊ด เราครีเอตเมนูที่เรียกว่า Basement Michelada จริงๆ Michelada เป็นสูตรของชาวเม็กซิกัน มันคือเมนูที่เอาเบียร์มาใส่กับซอสพริกทาบาสโก้อะไรอย่างนี้ เราก็ทวิสต์สูตรให้ใส่กับซอสพริกศรีราชา แล้วใส่พริกเกลือแทนเกลือ เพราะเราอยากใส่ความแซ่บแบบคนไทยในต่างแดนลงไป”

หรือถ้าใครคาดหวังจะมา ‘กระทำความหว่อง’ แบบเต็มสตรีมที่นี่ แก้วที่คุณห้ามพลาดเลยคือ WKW (เดาออกใช่ไหมว่าย่อมาจากอะไร) เมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Negroni เครื่องดื่มในใจของหว่อง การ์-ไว ไฮไลต์ของแก้วนี้คือการใช้เหล้าคัมพารีรากไม้สีแดงเป็นส่วนผสมหลัก แล้วใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปทำให้ความเป็นหว่องนั้นชัดเจนขึ้น

“ขออนุญาตไม่บอกว่ามีอะไรบ้าง อยากให้มาชิมกันเอง” บาสหัวเราะเชื้อเชิญ

Action and never cut

คงไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าชีวิตของบาสผูกโยงกับบาร์มานาน เขาตกหลุมรักประสบการณ์การไปบาร์ตั้งแต่ตอนที่ได้ไปใช้ชีวิตในนิวยอร์ก ได้เปิดบาร์ของตัวเองที่เมืองไทย ได้ทำหนังเกี่ยวกับชีวิตของคนในบาร์อย่าง One for the Road หรือแม้กระทั่งช่วงที่เขียนบทเรื่องนี้แล้วโดนหว่อง การ์-ไวโละไอเดียแรกทิ้ง เขาก็เข้าไปดื่มอยู่สามวันสามคืนจนปิ๊งไอเดียใหม่–ในบาร์

“พอได้ทำบาร์ที่ต่อยอดมาจากหนังแบบนี้ แล้วในทางกลับกัน การทำบาร์ส่งผลต่อการทำหนังของคุณบ้างไหม” เราอดสงสัยไม่ได้

“อาจจะไม่ส่งผล หรืออาจจะส่งผลตั้งนานแล้ว” บาสตอบตามตรง “ไม่ว่าจะตัวบาร์หรือเครื่องดื่ม สำหรับผมมันเทียบเท่ากับการทำหนัง มันคืออาร์ตไดเรกชั่น มันคือวิชวล มันคือกลิ่น มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้โลกใบนี้มันชัดเจนที่สุดในความทรงจำของคน ไม่ว่าจะหนังหรือบาร์มันใช้วิธีคิดเหมือนกัน

“สำหรับผม สิ่งที่ส่งผลจริงๆ คือเรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนมากกว่า ก่อนหน้านี้ผมว่าผมเป็นอินโทรเวิร์ตนะ หมายถึงเราไปทำงาน ก็พูดคุยได้ในที่ทำงาน พอกลับถึงบ้านก็อยู่กับแฟน หรือไปดูหนังคนเดียวอะไรแบบนี้ แต่การทำบาร์มันเริ่มจากการที่เราต้องเข้าไปทักทาย เซย์ไฮลูกค้าที่แวะมาหา เราก็รู้สึกว่ามันดีนะ การได้คอนเนกต์กับมนุษย์ด้วยกัน ได้แชร์ประสบการณ์ให้กันฟัง บางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่ามันช่วยแก้ปัญหาที่เรามี ณ โมเมนต์นั้นได้เหมือนกัน มันอาจทำให้เราคิดแก้ไขปัญหาได้ หรือมันอาจจะทำให้ปัญหานั้นดูเบาลงถ้าเทียบกับของคนอื่น”

สำหรับบาส OFTR BAR เปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ มันคือบาร์ที่ใส่แพสชั่น ความคิด ความเชื่อของคนทำลงไปมหาศาล นับตั้งแต่วันแรกที่เขาเซตขึ้นมาแล้วตัดสินใจโทรไปหาหว่อง การ์-ไว เพื่อเปิดเป็นบาร์จริงจัง

“OFTR BAR คือการทำหนังที่ไม่มีวันจบเลยจนกว่าร้านจะปิดตัวลง มันเหมือนผมไม่สามารถปล่อยมือจากหนังเรื่องนี้ได้เลย” บาสทิ้งท้าย


OFTR BAR

เวลาเปิด : 17:00-23:00 น. ทุกวัน จองที่นั่งก่อนได้ที่เพจของร้าน

ที่ตั้ง : 245/10 ซอยสุขุมวิท 31 (เดินจาก BTS อโศก หรือพร้อมพงษ์ ประมาณ 13 นาที)

ช่องทางติดต่อ : OFTR Bar Facebook

Cariber คอร์สเรียนออนไลน์กับรุ่นใหญ่ที่คิวเรตโดยคนรุ่นใหม่

ธุรกิจแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อาจไม่ใหม่นัก 

และคอนเซปต์เรื่องการเรียนรู้จากตัวจริงของแต่ละวงการก็อาจไม่ใหม่มาก

ทว่าการมาถึงของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์กับตัวจริงของแต่ละวงการอย่าง Cariber ก็สั่นสะเทือนแวดวง Ed Tech เมืองไทยมากพอให้เราหันมอง

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อชั้นของผู้สอนแต่ละคนที่ใช่ว่าจะหาโอกาสพบปะพูดคุยได้ง่ายๆ เป็นต้นว่า

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO แห่ง SEA ประเทศไทย (บริษัทแม่ของ Garena, Shopee, SeaMoney)

– สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ร่วมก่อตั้ง Phenomena และ Propaganda

– บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับพันล้านเจ้าของผลงานอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, พี่มาก..พระโขนง และร่างทรง

และเหตุผลอีกส่วนเป็นเพราะชื่อชั้นของสองผู้ก่อตั้งอย่าง พี–พีรเดช มุขยางกูร และ ฟิว–ณัฐพนธ์ เมธาภาคย์ ที่เป็นเหมือนด้านกลับของครูผู้สอนโดยสิ้นเชิง

คือพูดชื่อออกไปต้องมีงงว่าสองคนนี้คือใคร

แต่นี่แหละคือหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้สองบัณฑิตจากรั้ว BBA Thammasat ปลุกปั้น Cariber ขึ้นมาได้สำเร็จ

พวกเขาทำได้ยังไง บรรทัดต่อจากนี้มีคำตอบ

EP01 : จาก ‘Career Fact’ สู่ ‘Cariber’

ต้นทุนสำคัญของ Cariber คือ Career Fact

แรกเริ่มเดิมทีพีและฟิวลาออกจากงานประจำมาก่อตั้ง Career Fact สื่อออนไลน์ว่าด้วยเส้นทางสายอาชีพที่โดดเด่นด้วยวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายอาชีพ

“โดยส่วนตัวผมใช้ LinkedIn บ่อยกว่าเฟซบุ๊ก” พีเล่าที่มาที่ไปด้วยรอยยิ้ม “คือชอบเรื่องการงาน การหางาน การสมัครงาน ตอนระหว่างเรียนผมฝึกงาน 4 ที่ และก่อนหน้าที่จะมาทำ Career Fact ก็เคยทำ free career counseling service มาก่อน ช่วยรุ่นน้องปรับเรซูเม่ หาที่ฝึกงาน หางาน แบบไม่คิดตังค์”

ด้วยแพสชั่นอย่างที่ว่า ประจวบเหมาะกับช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีสื่อที่พูดเรื่องการงานอาชีพโดยเฉพาะ ร่วมด้วยฝีมือด้านการเขียนของฟิวผู้มีประสบการณ์เขียนหนังสือข้อสอบมาก่อน สองหนุ่มช่วยกันบิลด์ Career Fact จากยอดไลก์หลักพันสู่หลักแสนภายในเวลาเพียงปีเดียว 

หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของพวกเขาน่ะเหรอ? 

คือ LinkedIn

EP02 : ต่อจุดคอนเนกชั่น

อย่างที่พีบอกว่าเขาชอบใช้ LinkedIn มาก หนึ่งในวิธีการได้มาซึ่งซับเจกต์สำหรับสัมภาษณ์ลง Career Fact คือการทักไปหาทางกล่องข้อความของ LinkedIn 

ในบรรดาผู้คนจำนวนมากที่เขาทักไปมี ท็อป–จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub อยู่ด้วย 

ปรากฏว่าหลังได้ร่วมงานกัน ท็อปถูกชะตาพีและฟิวมาก จนเป็นสปอนเซอร์คนแรกของ Career Fact แถมยังชวนให้ทั้งคู่ไปใช้พื้นที่ออฟฟิศของเขาแบบฟรีๆ อีกต่างหาก

“ทำไมเขาถึงช่วยคุณขนาดนี้” เราอดสงสัยไม่ได้ 

“เขาบอกว่าคล้ายๆ เห็นตัวเองในตอนที่เริ่มต้นอยู่ ตอนแรกเขาก็ไม่มีออฟฟิศเหมือนกัน” พีผู้เคยถามคำถามนี้กับท็อปมาแล้วทวนคำตอบของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ให้ฟัง 

(Fun Fact : พีและฟิวกดเปิดตัวเว็บไซต์ Cariber ที่ออฟฟิศของท็อปด้วยนะ)

ไม่ใช่แค่ท็อป แต่ซับเจกต์เกือบๆ 200 คนที่พวกเขาได้สัมภาษณ์ระหว่างการทำ Career Fact ต่างก็พร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการหน้าใหม่

 “จริงๆ แล้วการได้เจอพี่ๆ หรือคนที่ไปสัมภาษณ์ทุกคนเป็นต้นทุนที่ดีมากๆ หลายคนไม่ได้เป็นผู้สอน แต่แนะนำเราไปหาผู้สอน ช่วยคอนเนกต์ให้ ช่วยโปรโมตให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเราก็ซึ้งใจมากๆ ต้องยอมรับเลยว่าเราไม่ได้โตขึ้นมาคนเดียว แต่มีพี่ๆ เหล่านี้และ investor ช่วยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง” พีว่า

และเอาเข้าจริง Cariber ก็เกิดขึ้นจากคำแนะนำของซับเจกต์ที่พวกเขาไปสัมภาษณ์นี่แหละ

EP03 : เปลี่ยนเทรนด์เป็นธุรกิจ

หลังทำ Career Fact มาได้สักพัก พีและฟิวก็เริ่มมองหาโมเดลอื่นๆ ที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้อีก แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์

ระหว่างยังไม่ตัดสินใจ ทั้งคู่ทดไอเดียนี้ไว้ในใจก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปสัมภาษณ์ แอนท์–อัศวิน โรจน์เมธาทวี หนึ่งในผู้ก่อตั้งเทพบาร์ และ Head of Streaming แห่ง GMM Grammy ซึ่งทักพวกเขาว่า “ทำไมไม่ลองทำแบบ Masterclass ล่ะ”

เหมือนได้รับการยืนยันว่าไอเดียนี้เป็นไปได้ พวกเขาจึงเริ่มศึกษาโมเดลธุรกิจและตลาดของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อย่างจริงจัง 

ขอแวะเล่าตรงนี้สักนิดว่า เทรนด์หนึ่งที่พาเหล่าสตาร์ทอัพด้านการศึกษาพุ่งทะยานทั้งในไทยและต่างประเทศคือ Lifelong Learning ซึ่งมีคำนิยามแบบหลวมๆ ว่า การเรียนรู้นอกระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม โดยผู้เรียนเป็นคนเลือกเองว่าจะเรียนอะไร เพื่ออะไร และผู้เรียนในที่นี้อาจเป็นนักเรียนที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาแต่มองหาเนื้อหาที่การศึกษาในระบบให้ไม่ได้ เป็นเหล่าคนวัยทำงานที่อยากเสริมทักษะใหม่ๆ ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เป็นคนวัยเกษียณที่ยังอยากเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ว่าง่ายๆ คือผู้เรียนจะเป็นใครก็ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกค้าที่น่าเจาะมากๆ ก็คือเหล่าคนวัยทำงานนี่แหละ โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศ เพราะข้อมูลจาก Pew บอกว่า บริษัทต่างๆ เทรนพนักงานน้อยลงทุกที (แถมหัวข้อที่เทรนก็มักจะเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในที่ทำงาน มากกว่าจะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับทักษะของตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง) และมองหาพนักงานที่มีทักษะและความรู้พร้อมทำงานทันทีโดยไม่ต้องเทรนมากกว่า

กลับมาที่พีและฟิว ทั้งคู่ทำการบ้านอย่างหนักว่าในตลาดของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์นั้นมีผู้เล่นแบบไหนอยู่บ้างแล้ว ผู้เรียนต้องการอะไรจากการเรียนรู้ออนไลน์ และยังมีช่องว่างไหนบ้างที่พวกเขาสามารถใช้เป็นทางเข้าสู่ตลาดได้

คีย์เวิร์ดสำคัญที่พวกเขาตกตะกอนได้คือ ‘คุณภาพ’

EP04 : ขอแข่งในเกมนี้ด้วย ‘คุณภาพ’ 

Cariber เปิดตัวด้วย 3 คอร์สเรียน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์เจ้าอื่นๆ แถมออกจะสวนทางกับความเชื่อดั้งเดิมในการทำโมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิก (subscription) ที่ว่า จำนวนคอร์สเรียน (หรือซีรีส์ หรือบทความ) ยิ่งเยอะ ลูกค้าก็จะยิ่งรู้สึกว่าคุ้มค่า น่าสมัคร

พีและฟิวยอมรับว่าจำนวน 3 คอร์สเรียนเป็นความจำเป็นในการบริหารเรี่ยวแรง ทุนทรัพย์ และเวลาอันจำกัด แต่ที่มันจำกัด ก็เพราะพวกเขานำไปลงทุนให้กับ ‘คุณภาพ’ จนหมด

คนที่เคยเรียนกับ Cariber (หรือกระทั่งแค่เคยดูเทรลเลอร์ของคอร์สเรียนต่างๆ) น่าจะสังเกตเห็นได้ว่าคุณภาพของโปรดักชั่นของพวกเขานั้นไม่เป็นสองรองใคร ทั้งสถานที่ถ่ายทำ การจัดไฟ โมชั่นกราฟิก โน้ตประกอบการเรียน ฯลฯ 

อีกทั้งลำดับการเล่าเรื่องของแต่ละคอร์สเรียนก็ผ่านกระบวนการคิดอย่างละเอียด พวกเขาไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่หยิบยกมาใช้กับทุกคอร์ส แต่จะค่อยๆ เจียระไนเรื่องราวของผู้สอนแต่ละคนอย่างพิถีพิถัน แล้วถ่ายทอดออกมาให้กระชับและน่าติดตามที่สุด

แต่ความจริงแล้ว ‘คุณภาพ’ เหล่านี้มาทีหลัง เพราะ ‘คุณภาพ’ แรกที่พีและฟิวตั้งใจโฟกัสคือ ‘คุณภาพของผู้สอน’ ซึ่งพอได้ชื่อว่าเป็นตัวท็อปของแต่ละวงการ จึงไม่ได้ชวนมาร่วมงานกันได้ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความพยายามในการทาบทามในเลเวลที่ว่า ติดต่อไป 100 คนได้รับการตอบรับแค่ 3 คน 

“เฮ้ย เอาคนนี้มาสอนได้ไง เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกแบบนี้”​ พีอธิบาย

และนั่นเป็นคำถามเดียวกับที่เราสงสัยเป๊ะเลย

EP05 : ชนะใจผู้สอนด้วยความทุ่มเทและความถ่อมตัว

ไม่ว่าจะติดต่อผู้สอนด้วยการทักหาใน LinkedIn หรือด้วยการต่อจุดคอนเนกชั่นไปเรื่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสได้โทรคุยหรือนัดพบกับผู้สอน พีและฟิวจะทำการบ้านเกี่ยวกับพี่ๆ อย่างหนักเพื่อชนะใจเหล่ารุ่นใหญ่ให้ได้ตั้งแต่ครั้งแรก

“first meeting เป็นประชุมที่ชี้ขาดว่าเขาจะทำหรือไม่ทำ เป้าหมายหนึ่งของเราคือ เราต้องรู้จักเขาให้ดีกว่าที่เขารู้จักตัวเอง รู้จักชีวิตเขาครบจริงๆ แบบ เฮ้ย มันมีมุมนี้ด้วย” พีเล่า ก่อนฟิวซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในขั้นตอนนี้จะช่วยเสริมและยกตัวอย่าง

“ผมต้องพยายามถอด DNA ความเป็นเขา ดูว่าคนนี้เด่นตรงไหนจริงๆ อย่างของพี่ต้อง (กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร) เขาทำ 8 บรรทัดครึ่ง มาเยอะมากๆ 700-800 ตอน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราจะให้เขาสอนอะไร จุดเด่นของเขาใน 8 บรรทัดครึ่ง คือพนักงานประจำที่เติบโตในบริษัทใหญ่ที่มาเล่าเรื่องนวัตกรรม แต่นั่นเป็นเรื่องที่เขาพูดอยู่แล้ว เราก็ต้องสร้างจุดต่างให้ได้ 

“ตอนแรกผมยอมรับว่าคิดไม่ออกเลยไปส่องเฟซบุ๊กเขา เลยได้เห็นว่าเขาใช้ชีวิตเป็นแพตเทิร์นชัดเจน เลี้ยงลูก ออกกำลังกาย ทำงาน อัดพ็อดแคสต์ วนลูปไป มันทำให้ผมกลับมาคิดว่าเขาเป็นคนที่มีนิสัยที่ดีมากๆ เลยนะ เขาสามารถทำสิ่งนี้เป็นกิจวัตรได้ ถึงงานยุ่งขนาดนี้แต่ก็มีเวลาไปทำสิ่งอื่นมากมาย แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนังสือ Atomic Habits กำลังดัง ก็เลยเกิดเป็นคอร์ส The Secrets of Habit Transformation ที่สอนเรื่องการสร้างนิสัยขึ้นมา”

การทำการบ้านไปเช่นนี้ ไม่ว่าหัวข้อที่นำเสนอจะถูกใจผู้สอนหรือไม่ (ฟิวบอกว่าก็มีเหมือนกันที่ต้องกลับมาคิดใหม่ทั้งหมด) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉายชัดจนมัดใจผู้สอนได้คือความทุ่มเท “เราพยายามทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ พอคนตั้งใจทำ พี่ๆ เขาก็เห็นและสัมผัสได้ว่า เราไม่ได้เอาเวลาเขามาทำเล่นๆ นะ เราให้ใจ ให้ชีวิตจริงๆ กับสิ่งนี้ ผมว่าผู้ใหญ่เขาก็อยากช่วย” พีให้ความเห็น และเฉลยอีกเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้พวกเขาจีบเหล่าผู้สอนติดจนได้

“มันอาจฟังดูคลิเช่ แต่อีกต้นทุนสำคัญของเราคือความเป็นเด็กและความไม่รู้ สิ่งนี้ทำให้เราถ่อมตัว เป็นหนึ่งใน core value ของเราเลย”

EP06 : ประสบการณ์ที่สอนกันได้

“ใครว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้” คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ Cariber

คำถามนี้น่าสนใจ เพราะภายใต้ร่มของประสบการณ์คือการได้ฝึกฝนจนช่ำชองและการสั่งสมชั่วโมงบินด้วยตัวเอง

“ประสบการณ์ที่ว่าสอนกันได้เนี่ย พวกคุณมีวิธีสอนยังไง”​ เราหย่อนคำถามให้ทั้งคู่

“สิ่งที่เราพยายามทำคือการคิวเรตประสบการณ์ของผู้สอนให้คมที่สุด เข้าถึงง่ายที่สุด และเอาไปปรับใช้ได้ง่ายที่สุด”​ พีให้คำตอบ “จุดหนึ่งที่เราชัดเจนมาตั้งแต่ต้นคือ คอร์สที่ดีไม่จำเป็นต้องยาว บางคนอาจคิดว่าคอร์สยิ่งยาว ยิ่งคุ้ม แต่เราเชื่อต่างไป เราอยากทำคอร์สที่สั้นที่สุดให้ได้ครบที่สุด หลังบ้านเราตัดฟุตเทจออกเกือบครึ่งหนึ่งทุกตอน เพราะเราไม่มายด์ที่จะตัดออกให้เหลือเฉพาะของที่จำเป็น นี่เป็นจุดที่ทำให้เราแตกต่างจากที่อื่น” 

สัญชาตญาณของพีและฟิวนั้นสอดคล้องพอดิบพอดีกับอีกหนึ่งเทรนด์ย่อยในแวดวงการศึกษา นั่นคือ microlearning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้อันกระชับสั้น สามารถเรียนหัวข้อหนึ่งๆ จบได้ภายใน 15-20 นาที เหมาะเจาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน

แนวคิดนี้เวิร์กหรือไม่เวิร์ก เราขอให้ตัวเลขพูดแทน เพราะ ‘คอร์สที่สั้นที่สุดแต่ครบที่สุด’ ของ Cariber นั้นมีอัตราการเรียนจบอยู่ที่ 32-40% เทียบเท่ายักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Masterclass เชียวล่ะ!

EP07 : บทสรุปตลอดการเดินทาง (ที่ยังไม่สิ้นสุด)

ขณะนี้ Cariber เปิดตัวมาได้ราว 1 ปี มีคอร์สเรียนทั้งหมด 19 คอร์ส (และจะมีคอร์สใหม่เพิ่มในทุกๆ เดือน) เราเชื่อว่านี่ยังเป็นเพียง ‘ระหว่างทาง’ ไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ ของสตาร์ทอัพไฟแรงนี้

“เป้าหมายของเราคืออยากจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้” พีวาดฝันถึงปลายทางให้ฟัง

“ส่วนในเชิงธุรกิจเราอยากทำให้ Cariber ยั่งยืนและสเกลได้ อย่างหนึ่งคือเราอยากมีคอร์สมากกว่านี้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะคุณภาพดีขนาดไหน จำนวนก็ต้องมา ซึ่งข้อนี้อาจจะยากนิดนึง แต่เราก็กำลังพยายามสำรวจให้กว้างขึ้น ทั้งในแง่ทาร์เก็ตกรุ๊ปใหม่ โมเดลใหม่ ลองทำดู ถ้าไม่เวิร์กก็พับ เวิร์กก็ทำต่อ”

พูดคุยกันมาถึงจุดนี้ เราอดถามคำถามสุดคลิเช่กับสองคิวเรเตอร์ไม่ได้ว่า ถ้าประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพของพวกเขาถูกกลั่นกรองเป็นคอร์สเรียน คอร์สนี้จะชื่อว่าอะไร

“ของผมคงเป็นเรื่อง perseverance หรือความอึด”​ ฟิวตอบก่อน “ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็เรียนรู้ เป็นเรื่องปกติที่เราต้องฝ่าไปให้ได้ แน่นอนว่าปัญหามันยาก แต่เราจะต้องผ่านไปให้ได้”

“สำหรับผม never give up การไม่ยอมแพ้” พีเสริมในมุมของตัวเอง 

“เราไม่ได้มีประสบการณ์หรือเข้าใจ industry นี้มาก่อน แต่สิ่งที่เรามีคือเราทำทุกวัน มันมีวันที่ยาก วันที่ลำบาก แต่เราไม่อยากแพ้ เราอยากทำให้สุด ก็ทำทุกวัน ทำๆๆๆ ทำไปเรื่อยๆ 

“ทุกวันนี้หลายคนมองเข้ามาอาจรู้สึกว่าเราดูดีมาก แต่ความจริงเรายังห่างไกลความสำเร็จและยังมีปัญหาอีกเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องคน โปรดักต์ เงินทุน แต่ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันก็แค่ต้องทำ และมันไม่สวยหรูนะ เพราะจริงๆ ผมเครียดมาก นอนไม่หลับ เงินไม่เข้า มันยาก แต่ก็แค่ต้องทำ ทำแล้วต้องทำให้ได้” พีสรุป  

จากคำตอบเหล่านี้บวกกับความ ‘กัดไม่ปล่อย’ ในแววตาคนทั้งคู่ เราขอถือวิสาสะตั้งชื่อคอร์สเรียนที่สอนโดยพีและฟิวให้เลยก็แล้วกันว่า

The Go-Getter Guide to Perseverance & Never Giving Up 

และแน่นอน ตามธรรมเนียมของ Cariber เราขอจบด้วยประโยคนี้ 

หวังว่าเรื่องราวของพวกเขาจะทำให้คุณไปได้ไกลกว่า

ความสดใหม่ แตกต่าง และสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมความไร้ประสบการณ์

ผมชอบดูหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก โดยเฉพาะค่าย Marvel

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มาร์เวลสตูดิโอทำเงินจากหนัง 22 เรื่องไปกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชนะภาพยนตร์จากค่าย DC คู่แข่งตลอดกาลแบบไม่เห็นฝุ่นมาโดยตลอด นับเป็นตัวเลขและความสำเร็จที่น่ามหัศจรรย์เอามากๆ

แต่ถ้าพอจำกันได้ ก่อนหน้าที่จะมี Iron Man นั้น ค่ายมาร์เวลตกเป็นรองค่ายดีซีแบบคนละชั้น ในขณะที่ DC มี Batman และ Superman ค่ายมาร์เวลที่ผมจำได้รางๆ มีแต่หนังซูเปอร์ฮีโร่ห่วยๆ อย่าง Daredevil ที่เล่นโดย เบน แอฟเฟลกต์ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วแม้แต่หนังสือการ์ตูนก่อนหน้าโลกของภาพยนตร์มาร์เวลก็ดูจะตกเป็นรองดีซีมาโดยตลอด

แล้วมาร์เวลพลิกเกมกลับมาจนกลายเป็นผู้ชนะตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้ยังไง ก็คงมีเหตุปัจจัยหลายอย่างของการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด เรื่องบทภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ข้อที่สำคัญที่สุดที่ Harvard Business Review (HBR) วิเคราะห์ไว้คือการ select for experienced inexperience

ในท่าปกติของการทำหนัง ผู้กำกับที่เก่งคือหัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จ และท่ามาตรฐานทั่วไปก็คือควรจ้างผู้กำกับที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วเพราะเห็นฝีมือกันชัดเจนและพอจะเดาความสำเร็จเรื่องต่อไปจากเรื่องก่อนได้ แต่ปัญหาของมาร์เวลในตอนนั้นที่เป็นมวยรองดีซีมากๆ ก็คือผู้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เก่งๆ นั้นอยู่ค่ายดีซีหมด จะหาก็คงหาได้แต่เกรดรองๆ ซึ่งก็คงสู้ไม่ได้ ท่าเดียวกันแต่ห่วยกว่า ทำไปก็มีแต่แพ้กับแพ้

มาร์เวลก็เลยเสี่ยงครั้งใหญ่ เบรกกฎมาตรฐานไปสุดขั้ว ก็คือไปจ้างผู้กำกับที่เก่งในด้านอื่นแต่ไม่เคยทำหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก่อน เป็นความเสี่ยงที่ไม่เคยมีใครทำหรือคิดในวงการเลย ในผู้กำกับ 15 คนที่มาร์เวลใช้งานช่วงหลังนั้นมีแค่คนเดียวที่พอมีประสบการณ์ทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่เหลือเป็นผู้กำกับที่เก่งด้านทำหนังรัก หนังเขย่าขวัญ หนังเชคสเปียร์ หรือหนังตลก และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำหนังอินดี้ทุนต่ำมาด้วยซ้ำ เป็นการแหวกและแหกกฎแบบสุดๆ

แต่ที่มาร์เวลได้ก็คือรสชาติที่แปลกใหม่ของหนังที่ไม่ซ้ำรอยดีซี ทำให้แต่ละเรื่องมีจุดเด่นต่างกันออกไปตามผู้กำกับ เช่น Thor มีกลิ่นของหนังเชคสเปียร์อยู่, Ant-Man ก็เป็นหนังจารกรรมปล้นธนาคาร, Captain America ก็เป็นหนังสายลับ, Guardians of the Galaxy ก็เป็นหนังโอเปร่า และที่สำคัญคือผู้กำกับเหล่านี้เคยทำหนังทุนต่ำมาแล้ว ดังนั้นยิ่งสามารถบริหารจัดการงบประมาณจำกัดได้ดีอีกด้วย

ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ก็คือ Iron Man ที่เป็นหนังบุกเบิกเรื่องแรกในวิธีคิดใหม่ มาร์เวลใช้จอน ฟาฟโร เป็นผู้กำกับซึ่งเคยกำกับหนังเล็กๆ แต่ประสบความสำเร็จอย่าง Elf และ Zathura ซึ่งมีพล็อตและบทที่คมคาย แต่ไม่เคยทำหนังอะไรที่ใช้งบจำนวนมาก มีสเปเชียลเอฟเฟกต์เยอะๆ มาก่อน ส่วนดารานำก็คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซึ่งตอนนั้นก็เพิ่งบำบัดการติดยาเสร็จแต่เป็นนักแสดงที่เก่ง พอมารวมๆ กันก็กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มีรสชาติแปลกและแตกต่างเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญที่ฮอลลีวูดถึงกับบอกว่ามันหมือนหนังนักศึกษาทำที่ใช้เงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมันดูเป็นหนังทดลองเอามากๆ

Iron Man ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะแตกต่างจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพราะหนังก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ดูไปสักพักก็ไม่ค่อยมีเนื้อหาอะไรนอกจากสเปเชียลเอฟเฟกต์และฉากต่อสู้ แต่พอฟาฟโรกำกับเขาใช้ประสบการณ์จากการทำหนังอินดี้ ทำให้ Ironman มีความลึก มีคาแร็กเตอร์ มีบทพูดที่คมคาย ซึ่งทำให้หนังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ไปอย่างสิ้นเชิง

Guardians of the Galaxy ก็มีสูตรคล้ายกันที่เอาคนไม่มีประสบการณ์และมีความขัดแย้งแบบสุดขั้วกับหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบเดิมมายำรวมกัน เจมส์ กันน์ เป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญต้นทุนต่ำมาก่อน แล้วเอา คริส แพรตต์ ที่เป็นดาราตลกอ้วนๆ มาลดน้ำหนัก แล้วเจมส์ กันน์ ก็ใส่ความแปลกและแตกต่าง ตลก คมคาย เข้าไปจน Guardians of the Galaxy มีจุดเด่นและต่างจากหนังมาร์เวลเรื่องอื่นออกไปอีกขั้นหนึ่งด้วยซ้ำ

HBR วิเคราะห์ว่า วิธีการแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้นที่ลองหาความสดใหม่ แตกต่าง สร้างสรรค์ จากผู้ไม่มีประสบการณ์ตรงแต่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่นเพื่อได้มุมมองที่ต่างออกไป กองทุนหลายกองทุนจ้างนักหมากรุกระดับโลกเพื่อมาช่วยสังเกตแพตเทิร์นใหม่ๆ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกหลายแห่งก็เริ่มจ้างนักออกแบบเสื้อผ้า นักมานุษยวิทยาเพื่อมาช่วยเสริมมุมมองที่ไม่ใช่ตรรกะเหมือนที่ปรึกษาที่มีอยู่เต็มบริษัท คณะละครสัตว์ระดับโลกอย่าง Cirque du Soleil ก็จ้างนักกีฬาสกีโอลิมปิกระดับโลกมาช่วยคิด movement ใหม่ๆ ที่คนเดิมๆ เริ่มตันทางความคิด เป็นวิธีการที่ช่วยเปิดโลกให้คนที่ทำธุรกิจเดิมซ้ำซากจำเจและถูกบล็อกด้วยข้อจำกัดและมุมมองเดิมๆ ได้อย่างดี

การ์ตูน กัปตันซึบาสะ ที่เขียนโดยอาจารย์โยอิจิ ทากาฮาชิ เป็นการ์ตูนในดวงใจตลอดกาลของใครหลายคนโดยเฉพาะนักฟุตบอลระดับโลกที่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน กัปตันซึบาสะ ตั้งแต่เด็ก

กัปตันซึบาสะ เป็น 1 ใน 5 การ์ตูนกีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ความสนุกและเหนือจินตนาการ เรื่องราวที่ตื่นเต้น มุ่งมั่น ทำให้คนติดกันงอมแงม ภาพจำของเด็กๆ ทุกคนที่อ่านก็คือลูกไดรฟ์ชู้ตครึ่งสนาม ไทเกอร์ช็อตทะลุตาข่าย พี่น้องทาจิบาน่าที่กระโดดเตะลูกบอลพร้อมกัน การหยุดลูกบอลหมุนด้วยมือเดียวของโกล ทุกอย่างเป็นจินตนาการเหนือจริงมากๆ ที่คนที่ไม่เล่นบอลหรือไม่รู้กฎก็สนุกไปด้วยได้ อย่างที่เว็บไซต์ Main Stand (โดย มฤคย์ ตันนิยม) ได้เล่าไว้ว่า

“เหตุผลสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้มีท่าไม้ตายเกินมนุษย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงปัจจุบันราวกับเป็นจุดขายก็เป็นเพราะอาจารย์ทาคาฮาชิเล่นฟุตบอลไม่เป็น ทำให้เขาไม่รู้ว่าขีดจำกัดของกีฬาชนิดนี้อยู่ตรงไหน จึงสามารถสร้างสรรค์ท่าที่เกินจะจินตนาการออกมาได้เพียงนี้”

เอาแรงโน้มถ่วงเรื่องประสบการณ์ออก ที่ได้มาคือความเบาของความไม่รู้ที่จะทดลองวิธีใหม่ๆ อันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง

“In the beginner’s mind, there’re many possiblities, in the expert’s mind, there’re few”
– Shuryu Suzuki, Zen teacher

‘ลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อป’ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยกของอร่อยจากจีนมาไว้กลางเยาวราช

เรากำลังยืนอยู่หน้าร้านขนาดสองคูหา หากมองตรงเข้าไปแบบเราตอนนี้ ทางขวามือคือตู้แช่เย็น ตรงกลางเป็นทางเข้า ซ้ายมือคือกระจกใสที่มีสติกเกอร์ภาษาจีนแปะอยู่พร้อมสแตนดี้ชายหนุ่มสองคนที่กำลังส่งยิ้มมาให้ (อย่ามองตาได้ไหมถ้าเธอไม่แคร์) และด้านบนมีตัวอักษรไทย จีน อังกฤษ ซึ่งสามารถอ่านออกเสียงเป็นคำเดียวกันได้ว่า ‘ลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อป’

ให้ลองเดาก่อนว่าร้านดังกล่าวขายอะไร

ถูกต้อง! (ยังไม่ทันได้ตอบเลย…) ลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อปคือซูเปอร์มาร์เก็ตจีนใจกลางเยาวราชที่เพียงแค่ก้าวเข้าไปในร้านก็เหมือนได้ไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้แบบทิพย์ๆ

เมื่อเดินเข้ามาในร้านแล้วมองตรงเข้าไป ทางขวาสุดจะเป็นโซนเครื่องปรุงที่มีซีอิ๊วกว่าสิบแบบอยู่บนชั้น ยังไม่รวมพริกหมาล่า กระเทียม ผักดอง และอีกสารพัด ถัดมาทางซ้ายจะพบกับหม้อไฟกึ่งสำเร็จรูปสุดฮิต มีครบทั้งหมาล่าและข้าวผัด วางเรียงรายเรียกร้องให้เราพากลับบ้านไปลิ้มลองสักรส 

ต่อมาเป็นโซนของกินที่มีพื้นที่เยอะกว่าใคร ได้แก่เครื่องดื่มที่มีทั้งแบบกระป๋อง ขวด และกล่อง ตามมาด้วยบรรดาขนมแปลกตาที่บางยี่ห้อก็มีในไทย แต่ในร้านนี้จะเป็นรสชาติที่ไม่ซ้ำกับที่อื่น เช่น เลย์รสอะโวคาโด้ โอริโอ้รสพีช เพรทซ์รสเค้กสตรอว์เบอร์รี ฯลฯ

ส่วนด้านหลังจะเป็นเหล่าเกี๊ยว ลูกชิ้น และซาลาเปา ที่นั่งเครื่องจากแดนมังกรมานอนหนาวอยู่ในตู้แช่แข็ง

เดินวนจนครบทั้งร้านในที่สุดเคาน์เตอร์คิดเงินก็ว่างสักที เราจึงได้โอกาสชวน ตี๋–อนุชา รัตนวรรณชัย แคชเชียร์พ่วงตำแหน่งเจ้าของร้านลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อปมาพูดคุยกันถึงการทำร้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ความยาก-ง่ายของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต เทคนิคการขายมัดใจลูกค้า ไปจนถึงการป้ายยาว่าถ้าจะเดินออกจากร้านนี้ ต้องมี 5 สิ่งนี้ติดมือกลับไปด้วย!

ก่อนจะมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต

แม้จะเติบโตมาในครอบครัวคนจีน แบบที่รุ่นอากงอาม่าโล้สำเภามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่อนุชาบอกว่าตัวเขาไม่ได้มีเซนส์เรื่องการค้าขายแบบที่เรามักเข้าใจว่าคนจีนเก่งกาจในเรื่องนี้แต่อย่างใด 

แรกเริ่มเดิมทีอนุชาทำงานกับน้าในร้านขายเครื่องเหล็ก ถุงมือยาง จานชาม โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นการนำส่งให้ยี่ปั๊ว (ตัวแทนจำหน่าย) จนกระทั่งถึงปี 2017 เขาเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำ ขณะเดียวกันช่วงนั้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรืองสุดๆ ประกอบกับน้องชายของน้องเขยขายกระเพาะปลาอยู่ที่เยาวราชมานาน แล้วแถวนั้นมีห้องว่างอีกสองห้องพอดี อนุชาจึงได้ไอเดียเปิดร้านขายของฝากนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ยาสามัญประจำบ้าน ยาดมต่างๆ 

“ตอนนั้นก็ขายดีมาก เพราะเราเป็นร้านแรกในนี้เลย พอปีต่อมาเริ่มมีคนทำเยอะขึ้นก็ยังพออยู่ได้ ยังพอมีลูกค้า จนถึงช่วงตรุษจีนปี 2020 มีข่าวว่าโควิดเข้าไทยมาแล้ว เช้าวันต่อมาคือเงียบกริบเลย” 

6 เดือนคือระยะเวลาที่ประตูร้านของอนุชาไม่ได้เปิดขึ้นอีกเลย ช่วงแรกเป็นเพราะโดนสั่งปิด ส่วนช่วงหลังเป็นเพราะเปิดไปก็ขายไม่ได้

ท่ามกลางสินค้าที่กำลังทยอยหมดอายุ อนุชาเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้บางอย่าง เพราะขณะที่นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ คนจีนในไทยก็กลับประเทศไม่ได้เช่นกัน เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนจากร้านขายของฝากมาเป็นร้านขายสินค้านำเข้าจากจีนแทน โดยให้น้องชายของน้องเขยเป็นคนประสานงานกับทางจีนเรื่องการเลือกและส่งสินค้า

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ง่ายดายอย่างที่คิด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวจีนที่อาศัยในไทยนั้นมีจำนวนไม่มากพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ร้านอยู่ได้ ของที่สั่งมาจึงเสียหายเยอะเพราะเป็นของที่มีวันหมดอายุ

“ทั้งทิ้งทั้งแถม” อนุชาเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ตอนนั้น 

พอดีกับจังหวะที่ Netflix และช่อง 7 นำซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร เข้ามาฉายอีกรอบจนเกิดกระแสฮอตฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง กลุ่มแฟนคลับที่เดิมมีเยอะอยู่แล้วก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก อนุชามองเห็นโอกาสตรงนี้จึงเพิ่มไลน์สินค้าที่เซียวจ้านกับหวังอี้ป๋อ (2 นักแสดงนำจากซีรีส์) เป็นพรีเซนเตอร์เข้ามาในร้าน ทำให้บรรดาแฟนๆ แห่เข้ามาอุดหนุนจนทำให้ร้านพอพยุงตัวผ่านช่วงวิกฤตมาได้

หลังจากนั้นอนุชาก็พยายามาสรรหาของมาให้ตรงกับความลูกค้ากลุ่มอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้านชาวจีนและร้านอาหารจีนที่อยากได้เครื่องปรุงบางยี่ห้อที่ในไทยไม่มี กลุ่มนักศึกษาไทยที่เคยไปเรียนที่จีนแล้วคิดถึงรสชาติของขนมที่นั่น หรือกลุ่มแม่ค้าพรีออร์เดอร์ขนมจากจีนก็มาใช้บริการทางร้านอีกเช่นกัน

หัวใจในการทำร้าน

ท่ามกลางสินค้านับพันรายการในร้าน เราถามอนุชาว่าเขาเคยชิมไปเยอะแค่ไหน

“ก็ชิมไปเยอะ แต่เอาตรงๆ ของในร้านไม่ได้อร่อยทุกอย่าง (หัวเราะ) เวลาคนมาถามผมก็จะบอกว่าให้ซื้อไปลอง แต่ทุกอย่างที่ผมหามาคือรสชาติที่ในไทยไม่มี”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เมื่อเข้ามาในร้านลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อป แล้วเราจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับบรรดาสินค้าที่ตั้งเรียงกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แบรนด์ที่เราคุ้นเคยอย่างเช่นเลย์ พอได้เจอรสอะโวคาโด้ เห็ดทรัฟเฟิล หรือหมาล่า ก็อดใจไม่ไหวที่ต้องซื้อกลับบ้านไปลิ้มลอง

อนุชายังเสริมอีกว่าพวกวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงต่างๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักกาดดอง ฯลฯ ทางทีมที่อยู่จีนก็จะกระจายไปสรรหาตามเมืองต่างๆ เพราะของแต่ละเมืองก็จะรสชาติไม่เหมือนกัน และเพื่อไม่ให้ซ้ำกับสินค้าที่มีขายอยู่ในไทยด้วย

ด้วยความที่กระแสของกินมักจะถาโถมเป็นช่วงๆ อะไรดังคนก็แห่มาซื้อ พอหมดช่วงก็เงียบหายไป อนุชาจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการหมุนเวียนเปลี่ยนของในร้านไปเรื่อยๆ มาเดือนนี้เจอเลย์รสมะนาว แต่เดือนหน้าอาจจะไม่มีแล้ว 

“สมมติ 100 อย่างก็จะมีอยู่สัก 20 อย่างที่ยังขายอยู่ปกติ อีก 80 อย่างก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย”

นอกจากการขายหน้าร้านแล้ว การถ่ายรูปโปรโมตสินค้าลงเพจ ตอบคอมเมนต์ที่รีวิวในกูเกิล และคุยกับลูกค้าทางออนไลน์ อนุชาก็เป็นคนทำเองทั้งหมด

“ผมจะพยายามอยู่ร้านทุกวันเพราะการที่เราได้สื่อสารกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ พวกข้อความทางอินบอกซ์หรือในไลน์ผมก็จะเป็นคนเข้าไปตอบเกือบทุกอัน บางครั้งของหมดเราก็แจ้งเขาว่าหมดนะ แล้วพอของมาก็ทักไปบอกว่ามาแล้ว ผมว่ามันแสดงออกถึงความใส่ใจ

“ย้อนกลับไปช่วงเปิดร้านใหม่ๆ มีลูกค้าหลายคนซื้อของไปแล้วกลับมาโวยใหญ่ว่าเราขายของหมดอายุ ซึ่งถ้าเราร้อนกลับเขาก็จะยิ่งโมโหเลย เราเลยบอกให้เขาใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ อธิบายว่าสินค้าจากจีนจะต่างจากไทยตรงที่เขาไม่พิมพ์วันหมดอายุ ที่ติดอยู่บนฉลากคือวันผลิตนะ เขาก็เข้าใจ จากนั้นเราก็ใช้โอกาสนี้ปรับปรุงร้านด้วยการติดป้ายบอกให้ชัดเจน

“การที่เราเปิดร้านขายของ เรื่องมนุษยสัมพันธ์สำคัญมากเลย เพราะพลาดครั้งเดียว ต่อให้คุณจะเป็นแค่ร้านเดียวในนี้ เขาก็จะไม่กลับมาแล้ว”

เทคนิคมัดใจลูกค้า

คุยกันมาสักพักเราก็นึกขึ้นมาได้ว่าอีกจุดเด่นของร้านลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อปคือสองหนุ่มหน้ามนที่คอยส่งยิ้มให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมา เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าสแตนดี้ขนาดเท่าตัวจริงของเซียวจ้านและหวังอี้ป๋อนั้นมีที่มายังไง

อนุชาเล่าว่าหลังจากเปลี่ยนไปจับกลุ่มลูกค้าแฟนคลับ เขาก็สั่งซื้อของที่ทั้งคู่เป็นพรีเซนเตอร์มาค่อนข้างบ่อย ทำให้บางทีแบรนด์ก็ส่งสแตนดี้มาให้ตั้งโปรโมตบ้าง และบางส่วนเขาก็สั่งทำเอง ซึ่งขอบอกว่าที่เราเห็นกันอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของหลายเวอร์ชั่นที่ทางร้านมีและเก็บไว้ 

“ตอนตรุษจีนปี 2021 เราเอาสแตนดี้เข้ามาตั้ง แล้วก็คิดขึ้นมาว่าน่าจะเอาเรื่องด้ายแดงมาเล่น เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องพรของคนจีนพอดี เราไปซื้อริบบิ้นมาห้าม้วนเตรียมไว้ พอลูกค้าเห็นก็ชอบใจ มาผูกแขน ห้อยคอ ถ่ายรูปกันใหญ่ ตอนนั้นก็เป็นที่รู้จักจากตรงนี้เพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากสแตนดี้ที่ตั้งอยู่เป็นประจำ บางช่วงอนุชาก็ทำแคมเปญกระตุ้นยอดขายด้วยการสั่งทำโฟโต้การ์ดขนาดเท่านามบัตร หรือสแตนดี้จิ๋วๆ มาแจก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มแฟนคลับเป็นอย่างดี

เมื่อเราถามว่าการมีลูกค้ากลุ่มแฟนคลับจำนวนมากมาที่ร้านทำให้เขาขายของยากขึ้นหรือเปล่า อนุชารีบปฏิเสธทันที พร้อมยืนยันว่าทางร้านโอเคมากกับการเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้มาสนุกกัน

“ลูกค้าที่เป็นแฟนคลับน่ารักมาก พวกเขามาเจอกันที่ร้านแล้วเหมือนคนรู้จักกันเลย บางวันมีคนแต่งชุดคอสเพลย์เต็มยศมาถ่ายรูป บางวันเขาก็เอาน้องๆ (ตุ๊กตาตัวแทนนักแสดง) มาอวดกัน หรือบางทีมาฝากทางร้านแจกของก็มี เหมือนเรากลายเป็นศูนย์กลางให้พวกเขามาเจอกัน” อนุชาเล่ายิ้มๆ

ก้าวต่อไปของลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อป

สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นโอกาสเติบโต ซึ่งอนุชาถูกถามบ่อยและเขาก็ปฏิเสธบ่อยเช่นกันคือเรื่องแฟรนไชส์ เพราะเขามองว่าจุดขายของร้านลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อปคือการให้บริการที่เข้าถึงลูกค้าทุกคน หากมีการขยายกิจการออกไปแล้วร้านแฟรนไชส์อื่นๆ ทำได้ไม่เท่าร้านต้นฉบับ จะเกิดผลเสียตามมามากกว่า 

“ถ้าร้านหนึ่งเสียระบบ มันจะกระทบทั้งหมดเลย” อนุชาให้ความเห็นในฐานะผู้ประกอบการ

ด้วยประสบการณ์ของอดีตเจ้าของร้านขายของฝากนักท่องเที่ยวเจ้าแรกๆ อนุชามองว่าอีกไม่นานเทรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตจีนจะต้องมาแน่นอน และการเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รอบก่อน ทำให้ไม่สามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้นาน 

“ตอนนี้ต้องมองแค่ระดับสัปดาห์ หรือเดือนข้ามเดือน มองข้ามปีไม่ได้ ของมันเปลี่ยนแปลงตลอด สมมติมีโควิดระบาดอีก เกิดล็อกดาวน์ขึ้นมา ก็ต้องคิดและวางแผนทุกวันว่าจะทำยังไงให้ร้านไปต่อได้”

“แล้วตอนนี้มีแผนอะไรในหัวบ้างไหม” เราถามทิ้งท้ายก่อนจะจบบทสนทนา

“พอหมดตรุษจีนที่ร้านก็จะเงียบๆ แล้ว เลยคิดว่าจะทำยังไงกับสแตนดี้ของปีก่อน คงต้องหาผู้โชคดีมารับเขาไปอยู่บ้านด้วย (หัวเราะ)”


Add to cart

5 สิ่งที่ควรติดมือกลับไปด้วยเมื่อมาเยือนลิ้ม เฮียง ฮะ ช้อป

1. หม้อไฟ มีทั้งแบบเส้นกับข้าว ซึ่งในชุดก็จะให้เนื้อ ผัก ก้อนซุป ที่ทำความร้อน มาให้ครบ เรียกว่ามีน้ำเปล่าขวดเดียวก็อิ่มได้ อร่อยด้วย

2. เครื่องดื่มประเภทชา จะมีอยู่ 2 ตัวที่ฮอตๆ กลุ่มหนึ่งคือมีรสชาติ หวาน หอม อีกกลุ่มหนึ่งจะได้เป็นแบบ 0% ไม่มีน้ำตาล 

3. ก้อนหมาล่าชาบู ถ้าเป็นคอชาบูจะรู้ว่าเวลาไปกินที่ร้านจะค่อนข้างแพง พอมาซื้อก้อนซุปไปใส่ในหม้อ เติมเนื้อ เติมผัก ก็อร่อยได้เหมือนกินที่ร้านเลย

4. ขนม 10 บาทที่แปลกๆ แหวกแนว เช่น ล่าเถียว ขนมกินเล่นที่เวลานักศึกษาไทยไปเรียนจีนจะต้องรู้จัก เป็นแป้งที่เอาไปปรุงรสหมาล่า กินไปอ่านหนังสือไป เพลินมาก 

5. โยเกิร์ตกับนมเปรี้ยว พวกนี้จะเข้มข้นกว่าบ้านเรา แล้ววัตถุดิบที่จีนเยอะ อย่างพีชงี้ล้นตลาดเลย ตอนนี้ที่ร้านนำเข้ามาเป็นของที่เซียวจ้านกับหวังอี้ป๋อเป็นพรีเซนเตอร์

Passion Is Enough. Not True. และอีกหลายคำถามที่พบบ่อยก่อนเปิดร้านกาแฟ

EP.1 

Passion is not enough

เพียงเรามีความฝัน มีแพสชั่น ตามหาและลงมือทำมัน เราก็จะไปถึงจุดหมาย ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จก่อนวัย 30 หรือ ถ้าลองได้ทำสิ่งที่รักแล้วมันจะไม่เหมือนทำงาน

ในยุคหนึ่งเรามักจะได้ยินคำพูดหรือวลีประมาณนี้ เสมือนเข็มทิศของชีวิตวัยรุ่นไว้ตามหาฝัน ทำได้ก็ดูเท่ ทำไม่ได้ก็ดูเป็น loser ค้นหาตัวตนต่อไป

ร้านกาแฟ ถูกยกเป็นงานยอดนิยมในการแหกคอก โดดร่ม ลงเรือไล่ล่าความฝัน และทันทีที่เรามีความฝันในการมีร้านกาแฟ คำถามเเละข้อกังขารอบตัวมักถาโถมเข้ามาทั้งจากคนรอบข้าง และสภาพแวดล้อม ให้เราได้นั่งลงเเละคิดว่าความฝันของเราจะเกิดขึ้นได้จริงไหม

ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น ที่มีความฝันอยากทำกาแฟเป็นอาชีพ อยากมีโรงคั่วกาแฟที่ทำกาแฟดีๆ ให้คนรู้จักและได้ดื่ม มีฝันอยากลงแข่งขันเพื่อสักวันจะได้เป็นเเชมป์ไปแข่งขันระดับโลก เหมือนร้านที่เราเคยไปกินเวลาไปเที่ยว และที่สุดคือการมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการทำกาแฟหล่อเลี้ยงชีวิต แล้วเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วจากวันแรกที่หยิบอุปกรณ์มาชงกาแฟเล่นๆ ที่บ้านจนมาถึงวันนี้ ผ่านวันที่เราเจอคำถามเเละข้อกังขามากมายจากคนรอบข้าง ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ 

และนี่คือเรื่องราวที่ผมอยากเล่าให้ทุกๆ คนฟัง เรื่องราวบทหนึ่งในชีวิตของผมจากประสบการณ์ที่ได้ทำโรงคั่วกาแฟที่มีชื่อว่า ‘hands and heart’ (#พื้นที่โฆษณา)

ผมขอเริ่มจากคำถามที่พบบ่อยๆ ก่อนเปิดร้านกาแฟ ซึ่งท่าไม้ตายของคำถามเหล่านี้มีหลายท่า ถ้าพร้อมแล้ว เริ่ม!

Round 1 (3 2 1 go!)

ท่าที่ 1 

แพสชั่นพอมั้ย?

ในเมื่อเราจะลงมือทำอะไรบางอย่างตามแพสชั่นของเรา คำถามคือ เรารู้จักคำว่าแพสชั่นของเราในเเง่มุมไหน เรามีเป้าหมายในการทำร้านกาแฟของเราให้ไปอยู่ในจุดไหน เป็นโรงคั่วระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค หรือเป็นร้านกาแฟที่มีเมนูแฟนตาซีให้คนดื่มสนุกตลอดเวลา หรือเป็นร้านกาแฟที่สนับสนุนความเป็นโลคอลแล้วเอาจุดนั้นมาสร้างเเบรนด์ของตัวเองให้คนดื่มได้รู้สึกซาบซึ้ง อินตาม หรือเป็นร้านกาแฟที่เป็นจุดนัดพบของคนให้เข้ามาใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันกับเพื่อนๆ หรือคนรู้ใจ หรือนั่งทำงาน หรือเน้นเเข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นแชมป์ระดับประเทศ หรือจะเป็นร้านที่มุ่งมั่นทำกาแฟในแบบที่เราชอบดื่ม ผลักดันมันจนรสที่เราชอบเป็นรสที่คนอื่นชอบ 

เราอยากให้มันเป็นแบบไหน และแพสชั่นของเราจะขับเคลื่อนมันไปถึงจุดนั้นได้ยังไง 

มีคำสองคำในภาษาอังกฤษที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน มันคือคำว่า want กับ need 

แบบเเรกอาจจะเเค่อยากมีแต่ไม่มีก็ได้ แต่อย่างหลังคือทำยังไงก็ได้ให้ได้มา

ก่อนจะเริ่มทำร้านผมเคยถามตัวเองแบบนั้น ว่าเราอยากทำกาแฟจริงๆ ไหม ถ้าไม่ทำแล้วจะมีอะไรอย่างอื่นที่ให้เราทำได้อีกแล้วจะมีความสุขกับมัน คิดไปคิดมาอยู่ 2-3 เดือน จนได้คำตอบว่า “ต้องทำ ถ้าไม่ได้ลองทำคงเสียดายแย่” 

ผ่านมาถึงปัจจุบัน ประมาณ 6 ปีแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่าคิดไม่ผิดที่ลงมาวิ่งในสนามนี้ สนามที่ถ้าไม่ลองก็คงเสียดายแย่

แล้วความฝันของเราขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นแบบไหนกัน? เป็นแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สอง?

เพราะสุดท้ายแล้วการทำงานด้วยแพสชั่นอย่างเดียวมันไม่อาจพาเราไปถึงจุดหมายได้อย่างง่ายดาย คล้ายการตั้งเป้าให้ได้ PB (personal best) ในสนามมาราธอนแต่ขาดการฝึกซ้อม ไม่คำนวณปริมาณการกินเจล และไม่จิบน้ำตามระยะ

การทำร้านกาแฟก็เช่นกัน ไฟฝันและความบ้าบิ่นในช่วงเเรกจะพาเราออกเดินทางได้ เป็นร้านที่ instagramable ร้านยอดฮิต ร้านแนะนำ ร้านติดดาว ร้านเด็ดห้ามพลาด หรืออีกสารพัดร้านตามกระเเสของโซเชียลมีเดียให้ได้หลงระเริงไปได้ประมาณ 1 เดือน หรือ 3 เดือนเป็นอย่างมาก แต่มันไม่อาจพาเราไปถึงจุดหมายใดๆ ได้เลยถ้าเราไม่ได้คิดถึงองค์ประกอบอื่นๆ และสิ่งสิ่งนั้นคือเรื่องการจัดการและเงินทุน

ท่าที่ 2

ต้องมีเงินทุนเท่าไหร่?

การทำตามความฝัน โดยเฉพาะธุรกิจในฝัน สิ่งที่สำคัญคงเป็นเรื่องของเงินทุน 

ไม่มีเงินก็ไม่มีธุรกิจ 

ไม่มีธุรกิจก็ไม่มีความฝัน

ในท่าที่สองของคำถามมันจะมาในรูปแบบที่ว่า ลาออกจากงานอันน่าเบื่อมาเปิดร้านกาแฟเพื่อชีวิตที่ดีกว่าการทำงานประจำที่ทำอยู่ ชีวิตจะดีขึ้นจริงไหม เพราะการทำร้านกาแฟคือการทำงานประจำอีกรูปแบบหนึ่งที่ฉาบด้วยสีสันในชีวิตให้มากขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง และเราก็ยังเป็นมนุษย์ที่กินเงินเดือนของธุรกิจตัวเองอีกเหมือนเดิม 

การทำร้านกาแฟเลยไม่ได้เท่ากับหลุดพ้นจากชีวิตเดิม และไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่ของการทำงานที่รักแล้วเราจะรู้สึกไม่เหมือนทำงาน ไม่เหนื่อย เพลิดเพลินตลอดเวลา

งานก็คืองาน มีเหนื่อยและต้องการการพักผ่อน เช่นการไม่คิดถึงเรื่องกาแฟสักหนึ่งวัน หรือมากกว่านั้น

มาถึงตรงนี้ชีวิตเหมือนวนลูปเดิม ต่างกันแค่ได้มาเดินในเส้นทางที่เราได้เลือกเองด้วยเงินทุนของเราเอง

คำถามคือเรามีเงินจำนวนนั้นมากน้อยแค่ไหนในการเริ่มต้น และมีอิสระทางการเงินในชีวิตอยู่เท่าใดในการใช้ชีวิต 

cash flow ในธุรกิจของเรามีเหลือสำหรับระยะเวลาเท่าไหร่ 

และเช่นเดียวกันว่า ในชีวิตเรามี cash flow ให้อุ่นใจได้นานแค่ไหนกัน สำหรับการไล่ตามความฝันครั้งนี้

เงินส่วนใดเป็นเงินออม และเงินส่วนใดที่เราจะเอามาลงทุน เพราะการลงทุนครั้งนี้มีความเสี่ยง นึกภาพตามคงคล้ายเดินเข้าบ่อนรับพนันฟุตบอลถูกกฎหมายในอังกฤษ แล้วหยิบโพยกาทีมรักให้เป็นแชมป์พร้อมวางเงินเดิมพัน 

ต่างกันที่ ฤดูกาลนี้เราคือผู้เล่น และเป็นคนกุมชะตาพาทีมรักไปให้ถึงฝัน

ท่าที่ 3

เปิดร้าน งานสบายๆ ได้ใช้ชีวิตสงบ?

มีประโยคหรือวลีที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่าเปิดร้านกาแฟสบายๆ ชิลล์ๆ ได้มีชีวิตสโลว์ไลฟ์ ได้ไปมีความสุขแบบฮุกกะ ลากอม ลุกกะ เอนจอยเดอะโมเมนต์ ใช้ชีวิต live life with passion บลา บลา และอีกหลายๆ บลาไม่หมดสิ้น

แต่ในแง่หนึ่งแล้ว การเปิดร้านกาแฟคือการใช้เเรงงาน ลองนึกภาพการยืนเป็นเวลานานประมาณ 9 ชั่วโมง ไม่น้อยกว่านั้น และไม่ได้ยืนนิ่งๆ เพียงอย่างเดียว เพราะต้องทำอย่างอื่นไปด้วย โดยสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำเเล้วซ้ำเล่า ในทุกๆ วัน 

ในช่วงแรกของการทำร้าน ที่ร้านจะเน้นการทำกาแฟแบบ hand brew มีอุปกรณ์หลักท่ีเราใช้มันบ่อยๆ คือเครื่องบดมือยี่ห้อ Porlex บดทีละแก้วๆ แล้วจำนวนการบดในแต่ละวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ 

จากวันแรกจนถึงวันที่เราบดกันแทบไม่ทัน

นึกถึงอีกทีอาการเมื่อยแขนก็หวนกลับมาอีกครั้ง แม้ในตอนนั้นจะสนุกกับมันมากในฐานะคนทำ ผ่านมานานบางทีได้มีโอกาสคุยถามกับคนรอบข้างที่มีภาพจำของร้านคือการบดมือด้วยเจ้า Porlex นี้ ทุกคนต่างก็พูดในทำนองเดียวกันว่า 

“เมื่อยเเทน” และ “รอนานเหมือนกัน”

ในที่สุดแล้วเมื่อได้ผ่านช่วงเวลานั้นมา ความชิลล์มายาคติข้างต้นนั้นก็หายไป ทิ้งไว้เหลือเพียงความเมื่อยล้า

เพราะมันเป็นงานที่ใช้แรงกายมากพอสมควร ไม่เหมาะกับการเป็นงานชิลล์ๆ ในชีวิตอย่างที่เขาว่ากัน 

ความฝันอันยิ่งใหญ่มาพร้อมอาการปวดหลังล่าง (lower back) อันใหญ่ยิ่ง

การลองตอบคำถามต่างๆ ที่ว่ามาจากคนรอบข้างหรือจากตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจในฝัน คำถามไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุติความฝันของเรา ณ วินาทีนั้น 

กลับกันมันคือสิ่งที่ทำให้เราได้ทบทวนว่าเรามีอะไร และเราขาดอะไรในการเริ่มต้นทำธุรกิจในฝันให้เป็นจริง

ความฝันอาจจะถีบส่งให้เราได้ออกเดินทางตามหามัน แต่ใช่ว่าเราจะดับเครื่องชนไปกับมันได้ในทันที การลองทบทวนคำถามที่เหมือนจะเบรกความฝันเราไว้ มักเป็นหนทางให้เราได้เดินไปต่อ ให้แพสชั่นไม่เป็นเพียงเเค่ต้นทุนอันฉาบฉวย