ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ยิ่งแตกต่าง

ความสดใหม่ แตกต่าง และสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมความไร้ประสบการณ์

ผมชอบดูหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก โดยเฉพาะค่าย Marvel

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มาร์เวลสตูดิโอทำเงินจากหนัง 22 เรื่องไปกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชนะภาพยนตร์จากค่าย DC คู่แข่งตลอดกาลแบบไม่เห็นฝุ่นมาโดยตลอด นับเป็นตัวเลขและความสำเร็จที่น่ามหัศจรรย์เอามากๆ

แต่ถ้าพอจำกันได้ ก่อนหน้าที่จะมี Iron Man นั้น ค่ายมาร์เวลตกเป็นรองค่ายดีซีแบบคนละชั้น ในขณะที่ DC มี Batman และ Superman ค่ายมาร์เวลที่ผมจำได้รางๆ มีแต่หนังซูเปอร์ฮีโร่ห่วยๆ อย่าง Daredevil ที่เล่นโดย เบน แอฟเฟลกต์ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วแม้แต่หนังสือการ์ตูนก่อนหน้าโลกของภาพยนตร์มาร์เวลก็ดูจะตกเป็นรองดีซีมาโดยตลอด

แล้วมาร์เวลพลิกเกมกลับมาจนกลายเป็นผู้ชนะตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้ยังไง ก็คงมีเหตุปัจจัยหลายอย่างของการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด เรื่องบทภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ข้อที่สำคัญที่สุดที่ Harvard Business Review (HBR) วิเคราะห์ไว้คือการ select for experienced inexperience

ในท่าปกติของการทำหนัง ผู้กำกับที่เก่งคือหัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จ และท่ามาตรฐานทั่วไปก็คือควรจ้างผู้กำกับที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วเพราะเห็นฝีมือกันชัดเจนและพอจะเดาความสำเร็จเรื่องต่อไปจากเรื่องก่อนได้ แต่ปัญหาของมาร์เวลในตอนนั้นที่เป็นมวยรองดีซีมากๆ ก็คือผู้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เก่งๆ นั้นอยู่ค่ายดีซีหมด จะหาก็คงหาได้แต่เกรดรองๆ ซึ่งก็คงสู้ไม่ได้ ท่าเดียวกันแต่ห่วยกว่า ทำไปก็มีแต่แพ้กับแพ้

มาร์เวลก็เลยเสี่ยงครั้งใหญ่ เบรกกฎมาตรฐานไปสุดขั้ว ก็คือไปจ้างผู้กำกับที่เก่งในด้านอื่นแต่ไม่เคยทำหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก่อน เป็นความเสี่ยงที่ไม่เคยมีใครทำหรือคิดในวงการเลย ในผู้กำกับ 15 คนที่มาร์เวลใช้งานช่วงหลังนั้นมีแค่คนเดียวที่พอมีประสบการณ์ทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่เหลือเป็นผู้กำกับที่เก่งด้านทำหนังรัก หนังเขย่าขวัญ หนังเชคสเปียร์ หรือหนังตลก และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำหนังอินดี้ทุนต่ำมาด้วยซ้ำ เป็นการแหวกและแหกกฎแบบสุดๆ

แต่ที่มาร์เวลได้ก็คือรสชาติที่แปลกใหม่ของหนังที่ไม่ซ้ำรอยดีซี ทำให้แต่ละเรื่องมีจุดเด่นต่างกันออกไปตามผู้กำกับ เช่น Thor มีกลิ่นของหนังเชคสเปียร์อยู่, Ant-Man ก็เป็นหนังจารกรรมปล้นธนาคาร, Captain America ก็เป็นหนังสายลับ, Guardians of the Galaxy ก็เป็นหนังโอเปร่า และที่สำคัญคือผู้กำกับเหล่านี้เคยทำหนังทุนต่ำมาแล้ว ดังนั้นยิ่งสามารถบริหารจัดการงบประมาณจำกัดได้ดีอีกด้วย

ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ก็คือ Iron Man ที่เป็นหนังบุกเบิกเรื่องแรกในวิธีคิดใหม่ มาร์เวลใช้จอน ฟาฟโร เป็นผู้กำกับซึ่งเคยกำกับหนังเล็กๆ แต่ประสบความสำเร็จอย่าง Elf และ Zathura ซึ่งมีพล็อตและบทที่คมคาย แต่ไม่เคยทำหนังอะไรที่ใช้งบจำนวนมาก มีสเปเชียลเอฟเฟกต์เยอะๆ มาก่อน ส่วนดารานำก็คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซึ่งตอนนั้นก็เพิ่งบำบัดการติดยาเสร็จแต่เป็นนักแสดงที่เก่ง พอมารวมๆ กันก็กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มีรสชาติแปลกและแตกต่างเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญที่ฮอลลีวูดถึงกับบอกว่ามันหมือนหนังนักศึกษาทำที่ใช้เงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมันดูเป็นหนังทดลองเอามากๆ

Iron Man ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะแตกต่างจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพราะหนังก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ดูไปสักพักก็ไม่ค่อยมีเนื้อหาอะไรนอกจากสเปเชียลเอฟเฟกต์และฉากต่อสู้ แต่พอฟาฟโรกำกับเขาใช้ประสบการณ์จากการทำหนังอินดี้ ทำให้ Ironman มีความลึก มีคาแร็กเตอร์ มีบทพูดที่คมคาย ซึ่งทำให้หนังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ไปอย่างสิ้นเชิง

Guardians of the Galaxy ก็มีสูตรคล้ายกันที่เอาคนไม่มีประสบการณ์และมีความขัดแย้งแบบสุดขั้วกับหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบเดิมมายำรวมกัน เจมส์ กันน์ เป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญต้นทุนต่ำมาก่อน แล้วเอา คริส แพรตต์ ที่เป็นดาราตลกอ้วนๆ มาลดน้ำหนัก แล้วเจมส์ กันน์ ก็ใส่ความแปลกและแตกต่าง ตลก คมคาย เข้าไปจน Guardians of the Galaxy มีจุดเด่นและต่างจากหนังมาร์เวลเรื่องอื่นออกไปอีกขั้นหนึ่งด้วยซ้ำ

HBR วิเคราะห์ว่า วิธีการแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้นที่ลองหาความสดใหม่ แตกต่าง สร้างสรรค์ จากผู้ไม่มีประสบการณ์ตรงแต่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่นเพื่อได้มุมมองที่ต่างออกไป กองทุนหลายกองทุนจ้างนักหมากรุกระดับโลกเพื่อมาช่วยสังเกตแพตเทิร์นใหม่ๆ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกหลายแห่งก็เริ่มจ้างนักออกแบบเสื้อผ้า นักมานุษยวิทยาเพื่อมาช่วยเสริมมุมมองที่ไม่ใช่ตรรกะเหมือนที่ปรึกษาที่มีอยู่เต็มบริษัท คณะละครสัตว์ระดับโลกอย่าง Cirque du Soleil ก็จ้างนักกีฬาสกีโอลิมปิกระดับโลกมาช่วยคิด movement ใหม่ๆ ที่คนเดิมๆ เริ่มตันทางความคิด เป็นวิธีการที่ช่วยเปิดโลกให้คนที่ทำธุรกิจเดิมซ้ำซากจำเจและถูกบล็อกด้วยข้อจำกัดและมุมมองเดิมๆ ได้อย่างดี

การ์ตูน กัปตันซึบาสะ ที่เขียนโดยอาจารย์โยอิจิ ทากาฮาชิ เป็นการ์ตูนในดวงใจตลอดกาลของใครหลายคนโดยเฉพาะนักฟุตบอลระดับโลกที่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน กัปตันซึบาสะ ตั้งแต่เด็ก

กัปตันซึบาสะ เป็น 1 ใน 5 การ์ตูนกีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ความสนุกและเหนือจินตนาการ เรื่องราวที่ตื่นเต้น มุ่งมั่น ทำให้คนติดกันงอมแงม ภาพจำของเด็กๆ ทุกคนที่อ่านก็คือลูกไดรฟ์ชู้ตครึ่งสนาม ไทเกอร์ช็อตทะลุตาข่าย พี่น้องทาจิบาน่าที่กระโดดเตะลูกบอลพร้อมกัน การหยุดลูกบอลหมุนด้วยมือเดียวของโกล ทุกอย่างเป็นจินตนาการเหนือจริงมากๆ ที่คนที่ไม่เล่นบอลหรือไม่รู้กฎก็สนุกไปด้วยได้ อย่างที่เว็บไซต์ Main Stand (โดย มฤคย์ ตันนิยม) ได้เล่าไว้ว่า

“เหตุผลสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้มีท่าไม้ตายเกินมนุษย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงปัจจุบันราวกับเป็นจุดขายก็เป็นเพราะอาจารย์ทาคาฮาชิเล่นฟุตบอลไม่เป็น ทำให้เขาไม่รู้ว่าขีดจำกัดของกีฬาชนิดนี้อยู่ตรงไหน จึงสามารถสร้างสรรค์ท่าที่เกินจะจินตนาการออกมาได้เพียงนี้”

เอาแรงโน้มถ่วงเรื่องประสบการณ์ออก ที่ได้มาคือความเบาของความไม่รู้ที่จะทดลองวิธีใหม่ๆ อันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง

“In the beginner’s mind, there’re many possiblities, in the expert’s mind, there’re few”
– Shuryu Suzuki, Zen teacher

Writer

หลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้บริหารและนักการตลาดที่ฝากผลงานที่น่าสนใจในโลกธุรกิจไว้มากมาย ในอีกบทบาทเขายังเป็นคนช่างคิดช่างเขียน เจ้าของเพจ 'เขียนไว้ให้เธอ' ที่ตั้งใจบันทึกบทเรียนสำคัญให้ลูกสาวไว้อ่านตอนโต

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like