ยิ่งไม่รู้ ยิ่งรู้

ความลับของฟ้าที่ ธนา เธียรอัจฉริยะ เรียนรู้จากความไม่รู้

ผมทำงานที่ SCB มาหลายปี ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษา กลายมาเป็น CMO และกลับมาเป็นที่ปรึกษาอีก ตั้งแต่ SCB ยังเป็นธนาคารจนถึงกลายเป็น SCB X ที่ดูจะเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะมาก

มีคนถามบ่อยครั้งว่า SCB เปลี่ยนแปลงอะไรเยอะแยะแบบนี้ transform องค์กรได้ขนาดนี้นั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คงมีเหตุปัจจัยอยู่หลายประการมากๆ แต่ผมนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ผมได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นพอดี

หลายๆ คนคงได้ยินชื่อเสียงของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย มานาน ดร.วิชิตเป็นนายธนาคารที่น่าจะเก่งและเฉียบแหลมที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย เป็นคนที่เฉียบขาด ดุ และมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมมาก

ดร.วิชิตเป็นผู้ที่นำพาธนาคารรอดจากวิกฤติปี 1997 ปรับการทำธุรกิจธนาคาร ดึงมืออาชีพที่เก่งๆ เข้ามาเสริมจนธนาคารไทยพาณิชย์เติบโตแข็งแรงเป็นอย่างมาก มีอะไรที่เกี่ยวกับการธนาคาร ผู้บริหารทุกคนก็จะไปเรียนปรึกษา ขอคำแนะนำและแนวทางอยู่ตลอด ดร.วิชิตเป็นผู้นำของไทยพาณิชย์มาอย่างยาวนาน ผมเองก็ได้มีโอกาสไปเรียนปรึกษาอยู่เป็นระยะในช่วงเริ่มๆ ทำงานที่ธนาคาร

เมื่อหกปีก่อน วงการธนาคารเริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กับการมาถึงของเทคโนโลยีและ fintech ธนาคารฯ ก็ริเริ่มจะตั้งกองทุนฟินเทคเป็นกองแรกของไทยและก็ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำได้ 

เพื่อที่จะเริ่มลงทุนและศึกษาว่าโลกใหม่ๆ นี้จะมีผลกระทบอะไรและจะเข้าไปมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง ผมก็ถูกมอบหมายให้ดูแลจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ทุกคนในตอนนั้นก็บอกว่าให้ไปปรึกษาดร.วิชิต ว่าจะต้องทำอะไร เดินแนวทางไหน เพราะดร.วิชิต รู้ทุกเรื่อง และจะมีคำตอบให้ทุกอย่าง จะได้ไม่เดินหลงทาง

ผมกับทีมก็เข้าไปเรียนปรึกษาเหมือนกับที่ทุกคนแนะนำ มีผู้บริหารไปด้วยหลายคน และพอเล่าไปสักพักก็จะขอแนวทางจาก ดร. วิชิตอย่างเคย แต่คำแนะนำของ ดร. ทำให้ทุกคนหน้าเหวอ เพราะ ดร. วิชิต นั่งนิ่งๆ ไปสักพักก่อนที่จะพูดว่า

“ผมไม่รู้ละ…”

ก่อนที่จะจบบทสนทนาว่า

“คุณไปลองทำแล้วมาเล่าให้ผมฟังนะว่าไปเจออะไรบ้าง”

ผมคิดว่าประโยคสั้นๆ ที่ ดร.วิชิตพูดในวันนั้นคือจุดสำคัญมากๆ จุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของ SCB ในเวลาต่อมาอย่างที่ทุกคนเห็นในวันนี้

เวลาใครถามว่าทำไม SCB ถึงเปลี่ยนได้เยอะขนาดนี้ ผมก็จะคิดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเสมอ

การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ โดยเฉพาะผู้นำองค์กรที่มีอำนาจมากๆ นั้น ทำให้องค์ความรู้ที่จะกระจุกตัวอยู่กับแค่การทำตามนายสั่ง กลายเป็นการแสวงหาไอเดียใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้กับทั้งองค์กร และทำให้ทุกฝ่ายกล้าที่จะเสนอความเห็น ไอเดียใหม่ๆ โดยไม่กลัวถูกตำหนิ   

แต่การที่ผู้บริหารระดับสูงจะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้นั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติมาก เพราะต้องเอาชนะอีโก้ตัวเองที่สามารถพูดอะไรก็ได้ ก่อนใครก็ได้ แล้วทุกคนต้องฟัง แล้วกลับมาอดทนฟัง เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่คุ้น  แต่ผลที่ได้ตามมาก็คือองค์ความรู้ใหม่ๆ ของทั้งตัวเองและองค์กร ซึ่งการฝืนกฎแห่งแรงโน้มถ่วงของผู้มีอำนาจนี้จะนำมาถึงการปลดล็อค super power 

อย่างที่คุณบุญคลี ปลั่งศิริ เคยตอบคำถามที่ถามว่า “ในยุคปัจจุบัน คุณสมบัติใดคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้บริหาร”

คุณบุญคลีตอบว่า ความสามารถในการเรียนรู้ หรือ ability to learn นั่นเอง

Writer

หลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้บริหารและนักการตลาดที่ฝากผลงานที่น่าสนใจในโลกธุรกิจไว้มากมาย ในอีกบทบาทเขายังเป็นคนช่างคิดช่างเขียน เจ้าของเพจ 'เขียนไว้ให้เธอ' ที่ตั้งใจบันทึกบทเรียนสำคัญให้ลูกสาวไว้อ่านตอนโต

You Might Also Like