ยิ่งไม่มี ยิ่งสร้างสรรค์
เมื่อจุดอับและความกันดารเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
ผมได้ยินคำว่า ‘กันดารคือสินทรัพย์’ เป็นครั้งแรกจากการเดินชมนิทรรศการชื่อนี้ของ TCDC เมื่อสิบกว่าปีก่อน
ถ้าจำไม่ผิด นิทรรศการ กันดารคือสินทรัพย์ เป็นนิทรรศการแรกของ TCDC ในตอนเปิดตัวใหม่ๆ ตัวนิทรรศการนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของคนอีสานที่เกิดมาก็เจอแต่ความกันดาร เวลาคนพูดถึงอีสานแต่ไหนแต่ไรจะคิดถึงแต่ความแห้งแล้ง ถึงกับมีคำพูดว่า ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย แต่ความไม่มีเหล่านั้นทำให้คนอีสานต้องดิ้นรนและสามารถสร้างวัฒนธรรม ประเพณี และบุคลากรเก่งๆ มากมาย
ผมเป็นคนโคราชโดยกำเนิดก็เลยตื่นเต้นมากกว่าปกติ นอกจากนั้นวิธีคิดของนิทรรศการนั้นก็ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ในช่วงที่ผมและทีมงานที่ดีแทคเอาตัวรอดมาได้จากสภาพแทบล้มละลาย
พอเห็นคำคำนี้ที่สะดุดใจเป็นอย่างมากแล้วถึงเริ่มเข้าใจว่าเรารอดมาได้เพราะอะไร
ในช่วงที่ดีแทคตกต่ำถึงที่สุด งบการตลาดเหลือน้อยมากๆ เงินลงทุนในเครือข่ายก็แทบไม่มีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในตอนนั้นเราคิดว่ามันช่างเป็นความโชคร้ายในชีวิตเหลือเกินที่ต้องมารับผิดชอบงานที่แทบไม่มีงบไม่มีอาวุธอะไรให้ไปต่อสู้กับคู่แข่งเลย ในตอนนั้นเราใช้เวลาโทษฟ้าโทษดินอยู่ไม่นานเพราะเวลาในการพลิกฟื้นอะไรก็มีไม่มากนัก ก็ได้แต่ทำไปบ่นไป และด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มี ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรเหมือนกับคู่แข่งได้เพราะถ้าทำไปแต่เงินน้อยกว่าเขา เราก็จะได้แต่ของห่วยๆ จะใช้พรีเซนเตอร์ คู่แข่งก็จะได้คนที่ดังกว่าเพราะเงินมากกว่า เป็นต้น
ด้วยความที่ไม่มีทั้งเงินและเวลา ทำให้สถานการณ์บังคับให้เราต้องพยายามทำอะไรแตกต่างออกไปแบบสุดขั้ว เงินน้อยทำให้เราจ้างคนนอกไม่ค่อยได้ ก็บังคับให้เราต้องเดินไปหาลูกค้าเอง ต้องยอมเหนื่อยกว่าปกติ ตลาดหลักทำไปสู้คู่แข่งหลักไม่ได้ ก็ต้องหนีไปตลาดรองไกลๆ เงินในการให้ยี่ปั๊วในการกระจายสินค้าก็น้อยกว่า ทำให้เราก็ต้องเปลี่ยนลงไปหาร้านค้ารายย่อยที่ต้องใช้พลังใจพลังกายอย่างมาก
งบการตลาดที่มีน้อยมากๆ ทำให้เราไม่สามารถจ้างใครแพงๆ หรือใช้เงินแบบไม่คิดได้ การใช้เงินแต่ละครั้งก็ต้องได้ผลมากที่สุด หรือต้องหาทางที่ไม่มีใครเคยทำแล้วลองเสี่ยงดูเพราะความจน ไอเดียที่ผมเคยเขียนถึงอย่างการทำหนังกลางแปลงราคาถูกแล้วเดินสายไปทั่วประเทศก็เกิดจากความไม่มีเลยต้องดิ้นรนหาทางใหม่ ลูกน้องผมในตอนนั้นเข้าใจถึงความกันดารเป็นอย่างดี มีอะไรก็พยายามหาทางที่สร้างสรรค์มากๆ เพื่อใช้เงินให้น้อยที่สุด
มีเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างแห่งกันดารคือสินทรัพย์ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง มีครั้งหนึ่งเราอยากมีโลโก้แฮปปี้บนแก้วพลาสติกที่ใช้อยู่ตามร้านค้า เทศกาลต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงการสร้างแบรนด์ พอคุยกับเอเจนซีเพื่อจ้างทำเขาก็คิดราคาแก้วละ 3 บาท ทำล้านแก้วก็ 3 ล้านไม่รวมค่ากระจายแก้วอีก ถ้าเรามีเงินก็คงจ่ายไปโดยไม่คิดอะไร ด้วยเพราะว่าเราไม่มีเงินแต่อยากได้แก้วกระจายทั่วประเทศแบบนี้มากๆ ลูกน้องผมก็ลองหาทางสารพัดวิธีจนไปเจออาเฮียโรงงานผลิตแก้วพลาสติกที่ยอมทำให้เพราะเฮียผลิตอยู่แล้วแถมกระจายให้อีกด้วย ในตอนนั้นไม่รู้ว่าเฮียหลงเสน่ห์ลูกน้องผมหรืออย่างไรเพราะเฮียคิดราคาค่าทำทั้งหมดแค่หลักไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้นเอง
เน้นว่าถ้าเรามีตังค์ก็คงไม่คิดอะไร จ่ายค่าทำไป 3 ล้านบาทแล้ว แต่เพราะว่าเราไม่มี ไอเดียดีๆ ราคาประหยัดจึงเกิดขึ้นได้
เหตุการณ์แบบนี้มีอีกเยอะมาก ไอเดียของซิมใหม่ๆ บริการเสริมใหม่ๆ ก็มาจากการเดินด้วยความไม่มีตังค์ เดินออกไปหาไอเดีย พูดคุยกับลูกค้า แล้วเอามาคิดมาทำกัน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ของทีมพุ่งถึงขีดสุดและได้รับการยอมรับนับถือจากวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก พอผมเห็นคำว่ากันดารคือสินทรัพย์ถึงเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า ที่เราบ่นเราด่าความไม่มีนั้น ที่แท้มันคือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เกิดขึ้นกับผมและทีมงาน ความไม่มีทำให้เราต้องใช้ศักยภาพที่มีอย่างสุดกำลัง ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ลองอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ต้องหาทางทะลุกรอบเดิมๆ ที่คนมีสตางค์เคยกำหนดไว้ และทำให้นวัตกรรมทั้งหลายพรั่งพรูออกมา… เพราะความกันดารโดยแท้
เรื่องราวของกันดารคือสินทรัพย์นั้น ถ้าเราสังเกตให้ดี แอบแง้มเบื้องหลังของความสำเร็จในแต่ละเรื่องแต่ละคน จะมีความกันดารซ่อนอยู่หลายกรณี นักกีฬาที่ไปถึงระดับโลกส่วนใหญ่ก็มาจากฐานะที่ยากจน ที่ต้องปากกัดตีนถีบ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหยุดออกจากความแร้นแค้น ฝึกฝนหนักกว่าคนอื่นทั่วไป คนที่มีสตางค์เยอะๆ ชีวิตสบายเสียอีกที่กลับกลายเป็นคำสาปในเรื่องแรงบันดาลใจและความที่มีพร้อมในชีวิต ไอเดียต่างๆ ก็เช่นกัน ซึ่งไม่ต้องมองไปไกลเลย ในช่วงโควิดเวลาที่ขาดแคลน ไม่มี หรือเดือดร้อนเช่นนี้ เราจึงเห็นไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในช่วงนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด
…
เมื่อเริ่มด้วยนิทรรศการของอีสาน ผมก็อยากจะจบด้วยเรื่องกันดารคือสินทรัพย์เรื่องล่าสุดที่มาจากอีสาน
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีภาพยนตร์ตระกูล ไทบ้าน เดอะซีรีส์ จากภาคอีสานออกมาทำเงินหลักร้อยล้านบาทอยู่หลายเรื่อง หนังไทยในประเทศไทยที่ทำกำไรได้ นอกจากค่าย GDH แล้ว ก็มีแต่ตระกูลไทบ้านเท่านั้นที่ทำได้ และเรื่องราวของ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ นั้นเป็นเรื่องราวคลาสสิกของความกันดารโดยแท้
เรื่องราวเกิดจากเด็กศรีสะเกษกลุ่มหนึ่งไม่มีตังค์แต่มีความฝันอยากทำหนังไทย ไปขอตังค์คุณโต้ง (สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ) ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่เคยสอนน้องๆ กลุ่มนี้ถ่ายรูป โต้งลงทุนให้ 2 ล้าน ในใจก็ไม่คิดว่าน้องๆ จะทำอะไรได้สำเร็จแต่เห็นใจในความพยายาม เงิน 2 ล้านเป็นเงินที่น้อยมากสำหรับการทำหนังและไม่น่าจะทำหนังไทยทั้งเรื่องได้ แต่ด้วยความอยากทำ น้องๆ ก็ทำจากความกันดารที่มี ฉากก็ถ่ายกันดิบๆ นางเอกก็ไม่มีงบแต่งหน้าต้องแต่งตามมีตามเกิด งบน้อยถึงขนาดนางเอกใส่ชุดนอนตัวเองเป็นเสื้อยืดกางเกงมวย ทุกอย่างเป็นงานต้นทุนต่ำมากๆ แต่ดูเรียล ดูจริง สำหรับคนดูมาก
ช่วงแรกฉายเฉพาะไม่กี่โรงที่อีสาน แต่พอคนได้ดูก็ชอบและบอกต่อกันอย่างรวดเร็วจนได้โรงฉายทั่วประเทศ ภาคแรกทำเงินเป็นร้อยล้าน ภาคต่อๆ มาก็เกินร้อยล้าน คนชอบในความดิบ ความสดใหม่ ความเรียลของงาน อะไรก็ดูจริง ดูเป็นธรรมชาติ ดูจริงใจ ถูกใจคนดูเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นหนังตระกูลไทบ้านที่ฮิตมาอย่างต่อเนื่อง ภาคล่าสุดก็ไปถึงขนาดคอลแล็บกับ BNK48 กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากความไม่มีและต่อยอดไปจนกลายเป็นจักรวาลไทบ้านจนถึงวันนี้
ซึ่งถ้าน้องๆ เขาได้เงินจาก ส.ส.โต้งไปเต็มที่ ก็คงทำหนังเหมือนคนอื่นเขา ความดิบ ไอเดียความคิดสร้างสรรค์อะไรในหนังก็คงไม่มี และก็คงไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก (พอหนังได้กำไร ส.ส.โต้งก็ยกให้น้องๆ ไปทั้งหมด โดยที่ตัวเองเก็บแค่ทุนคืน อันนี้ก็สมควรบันทึกไว้ในความใจกว้างของโต้ง) ก็ต้องขอบคุณความกันดารแทนน้องๆ ไว้ ณ ที่นี้
“The breakthrough innovations come when the tension is greatest and the resources are most limited. That’s when people are actually a lot more open to rethinking the fundamental way they do business.”
เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น ปรมาจารย์ด้านนวัตกรรมทางธุรกิจที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานเคยเขียนสรุปถึงเรื่องนี้ไว้ เป็นประโยคสรุปของการต่อต้านแรงโน้มถ่วงด้วยการพาตัวเองเข้าสู่จุดอับ ความกันดาร เมื่อนั้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจึงบังเกิด
เป็นความลับของฟ้าอีกข้อที่ผมเจอด้วยตัวเองอีกเช่นกัน