จงรักษาความดี ประดุจซีอิ๊วที่รักษาความเค็ม

หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยวของ ‘โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์’ จนลูกค้าต้องโทรมาย้ำว่า ‘อย่าเลิกทำนะ’

โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ (เคียมง่วนเชียง) เป็นผู้ผลิตซีอิ๊วดำหวานตรากุหลาบ ตรากระเช้า และซีอิ๊วดำเค็ม ตราตาแป๊ะ ตราดอกบ๊วย ตราบ้าน และตราแดง 

เป็นซีอิ๊วที่ยังใช้กระบวนการทำซีอิ๊วแบบโบราณ หมักในโอ่งดิน ต้มซีอิ๊วด้วยเตาฟืน ใช้แรงงานและความเชี่ยวชาญพิเศษของคนในทุกกระบวนการ 

สิ่งพิเศษที่ทำให้ซีอิ๊วของที่นี่แตกต่างคือ เชื้อราที่ใช้หมักซีอิ๊ว ซึ่งเหล่ากงผู้ก่อตั้งนำติดตัวมาจากเมืองเก๊กเอี๊ย เมืองที่ทำซีอิ๊วดำเค็มอร่อยที่สุดในเมืองจีน ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน และยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

เพื่อไปดูเชื้อราอายุร้อยปีให้เห็นกับตา เราขอให้ แน็ต–มาณิสสา​ โชติสกุล​รัตน์​ ทายาทรุ่นที่ 4 ของโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง พาเราไปพบกับ ตั่วแปะ​ไพฑูรย์​ โชติสกุลรัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้จะมาเล่าบรรยากาศการขายซีอิ๊ว วิธีการทำธุรกิจของคนจีนสมัยก่อน ไปจนถึงช่วงการพลิกฟื้นโรงงานซีอิ๊วดำ หลังการเข้ามาของซีอิ๊วขาวที่ทำให้เกือบทุกโรงงานในไทยต้องปิดตัวลง

จากนั้นเดินตามลุงชด​ พันธุ์กระวี มือวางอันดับหนึ่งด้านซีอิ๊ว พนักงานเก่าแก่ และกำลังสำคัญของโรงงาน ไปชิมซีอิ๊ว เอ้ย ดูกรรมวิธีที่ทำกันมาเป็น 100 ปี ผลิตด้วยวิธีธรรมชาติแบบมาก่อนกาล

และด้วยชื่อเสียงของซีอิ๊วดำทั้งหวานและเค็มจากโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ที่นิยมใช้มากในต่างจังหวัด เราคงไม่ต้องสงสัยในรสชาติและคุณภาพ

สิ่งที่เราสนใจคือ การปรับตัวให้อยู่รอดถึงร้อยปีของกิจการเก่าแก่อย่างโรงงานซีอิ๊ว

พวกเขาทำยังไง ขยายตลาดไปที่ไหน ดูแลลูกค้ายังไง ลูกค้าถึงโทรมาย้ำซ้ำๆ ว่า “อย่าเลิกทำนะ” ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญเปิดโอ่งหมักซีอิ๊ว แล้วย้อนกลับไปตั้งแต่ day 1 ของกิจการ

Part 1

ซีอิ๊วจากเมืองเก๊กเอี๊ย โรงเรียนจีน และโรงงานไม้ขีด

จุดเริ่มต้นจากครอบครัวจีนที่ทำซีอิ๊วมาตั้งแต่อยู่เมืองเก๊กเอี๊ย จังหวัดซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำซีอิ๊วที่สุดในเมืองจีน

วันหนึ่งครอบครัวก็ส่ง อั๊งเต็กชึง (เหล่ากง) หรือ เต็กชึง แซ่อั๊ง ลูกชายคนเล็ก เดินทางมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองไทย เริ่มจากสร้างโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง โรงงานเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

โดย ‘เคียม’ แปลว่า ถ่อมตัว ‘ง่วน’ แปลว่า ต้นกำเนิด และ ‘เชียง’ แปลว่า รุ่งเรือง

ระหว่างที่ดำเนินธุรกิจ เหล่ากงเต็กชึง ก็รับตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนที่ตลาดน้อยด้วย ทั้งยังทำร้านขนมปัง ทำโรงงานไม้ขีดไฟชื่อ ‘มิ่นแซ’ ที่เป็นโรงงานไม้ขีดไฟโรงงานต้นๆ ในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในยุคสมัยรัชกาลที่ 7

เหล่ากงเต็กชึง ตั้งใจทำงานส่งเงินกลับไปสร้างบ้านหลังใหญ่ที่เก๊กเอี๊ย มีเรื่องราวเล่าขานกันต่อๆ มาว่า ตอนที่บ้านเสร็จ บ้านสวยมากจนคนมามุงดูทั้งเมือง ภายนอกเป็นหินแกรนิต ข้างในตกแต่งอย่างหรูหรา ในช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นยึดบ้านไปเป็นฐานบัญชาการ ภายหลังญี่ปุ่นแพ้ไป มีทหารก๊กนิวตันมาอยู่ก่อนย้ายไปไต้หวัน ต่อมาเป็นที่อยู่ของทหารคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันกลายเป็นที่พักคนชรา

ต่อมา เหล่ากงเต็กชึงก็ตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด แล้วส่ง อั๊งจั๊กฮุ้ง (อากง) ผู้เป็นลูกชายไปรับช่วงต่อธุรกิจที่เมืองไทย

แถวยืน : โค้วเพ็กจึง (อาม่า) อั๊งจั๊กฮุ้ง (อากง) และอั๊งเต็กชึง (เหล่ากง) คนที่ 4, 5, 6 จากทางซ้าย (ตามลำดับ)

Part 2

ของจีนประจำจังหวัด

โรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงในยุคของอากงจั๊กฮุ้งและอาม่าเพ็กจึง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น ผลิตซีอิ๊วดำเค็มในชื่อ ‘อั๊งเซี้ยงหมุย’ (‘อั๊ง’ มาจากแซ่ ‘เซี้ยง’ แปลว่าเชื่อ และ ‘หมุย’ แปลว่าสวย)

ตั่วแปะไพฑูรย์​ โชติสกุลรัตน์ ลูกชายคนโต (ทายาทรุ่นที่ 3) เล่าบรรยากาศค้าขายสมัยนั้นให้ฟังว่า ที่โรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงไม่มีหล่งโจ้วหรือพนักงานเซลส์สักคน และนี่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจซีอิ๊วของครอบครัวอยู่ได้ถึงวันนี้

เหตุผลที่การทำธุรกิจซีอิ๊วในรุ่นที่ 2 ไม่พึ่งพาเซลล์ เพราะคนจีนสมัยก่อนจะทำการค้ากับคนจีนด้วยกัน ชอบพูดคุยติดต่อกับเจ้าของโรงงานโดยตรง ยี่ปั๊วหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่เคยเป็นลูกค้าโรงซีอิ๊วตั้งแต่ยุคนั้นก็จะยังเป็นลูกค้าถึงปัจจุบัน และก็ยังเป็นลูกค้าหลักของโรงซีอิ๊ว

“ยี่ปั๊วที่ยังค้าขายกันถึงทุกวันนี้ สมัยก่อนเคยมาซื้อซีอิ๊วมากสุด 40-50 ไหเลยนะ” ตั่วแปะไพฑูรย์เล่าบรรยากาศค้าขาย ที่บรรจุและขายซีอิ๊วในไหซึ่งนำเข้ามาจากเมืองจีนแทนการใช้ขวดแก้วหรือพลาสติกในปัจจุบัน

“สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก ถนนหนทางยังไม่มี เราใช้วิธีพายเรือไปส่งซีอิ๊ว” ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่าวิธีการส่งไหซีอิ๊วจากโรงงานที่ย่านเจริญนครไปแปดริ้ว ซึ่งจะมีเรือมารับซีอิ๊วไปกระจายต่อ 

ว่ากันว่า ซีอิ๊วเป็นของที่หากใช้แล้วได้รสชาติที่ถูกใจก็จะไม่เปลี่ยน ซีอิ๊วของที่นี่จึงสร้างชื่อและเป็นที่นิยมมากตามหัวเมืองต่างจังหวัด

“ลูกค้าหลักของเราส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารร้านดังประจำจังหวัด ซึ่งมาจากการที่เราเข้าไปทำการค้ากับเขาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว และเขาใช้มาหลายรุ่นเหมือนกัน จริงๆ ก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยน เราก็ยังขายเขาได้ต่อไปเรื่อยๆ แต่เราก็จะเข้าหากลุ่มอื่นยากเหมือนกัน เพราะกลุ่มอื่นก็จะติดรสที่เขาคุ้นเคยมากกว่า” แน็ตเล่า

Part 2.1

สงครามซีอิ๊วดำ-ขาว

กลับมาที่วิธีการขาย ที่ตั่วแปะไพฑูรย์บอกว่า การที่โรงซีอิ๊วไม่มีเซลส์สักคนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจซีอิ๊วของครอบครัวอยู่ได้ถึงวันนี้ เขาไม่ได้หมายความว่าการมีเซลส์มาช่วยทำการตลาดและขายสินค้านั้นดีหรือไม่ดี 

ในยุคหนึ่งที่เกือบทุกโรงงานซีอิ๊วนิยมใช้เซลส์ พอมีใครขายดีกว่า ก็จะมีอีกเจ้ามาโจมตี เห็นชัดเจนในยุคที่ซีอิ๊วขาวเข้ามาตีตลาดซีอิ๊วดำ ด้วยการโฆษณาว่าซีอิ๊วดำทำให้น้ำแกงมีสี ไม่น่ารับประทาน เพียงแค่นั้นก็ทำให้ยอดขายซีอิ๊วดำในหลายๆ ที่ลดลง จนต้องปิดโรงงานกันไปเยอะมาก 

แต่เพราะโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงไม่มีเซลส์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานขาย ทำให้โรงงานยังพออยู่ได้ และส่งผลให้ลูกค้าของโรงงานซีอิ๊วที่ปิดไปกลายมาเป็นลูกค้าของโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงแทน

จากที่เกือบเพลี่ยงพล้ำก็กลับกลายเป็นพลิกฟื้นโรงงานขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะไม่มีหล่งโจ้วแล้ว โรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงยังไม่เสียค่าฟืนที่ใช้ต้มซีอิ๊วด้วย เพราะลูกสาวคนโตของรุ่นที่ 2 แต่งงานออกไปทำธุรกิจโรงไม้คอยส่งไม้มาให้ใช้เป็นฟืนจนถึงปัจจุบัน

“ยุคนั้นโรงงานเรารุ่งเรืองที่สุด ทำซีอิ๊วทั้งวันทั้งคืนยังไม่พอขายเลย คิดดูสิเราขายดีจนมีคนปลอมเป็นยี่ห้อเรา” ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่า

“สมัยนี้ก็ยังเป็น เช่น มีซีอิ๊วที่ทำเลียนแบบซีอิ๊วดำเค็มตรากุหลาบทุกอย่าง ที่ไหนมีสินค้าเราก็จะมีสินค้าที่หน้าตาเหมือนเราเป๊ะ อาจจะเปลี่ยนแค่จากดอกกุหลาบเป็นดอกชบา ขายถูกกว่าเราครึ่งหนึ่ง” แน็ตเสริมว่า เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีใครมาตรวจสอบ มีแต่อาม่าเพ็กจึงเท่านั้นที่ทำหน้าที่ของหน่วยปราบปรามของปลอม 

“อาม่าจับได้ตอนส่งขวดไปแล้วรับกลับมาล้างทำความสะอาดขวด ก็เห็นว่าไม่ใช่ขวดเราหนิ อาม่าก็บุกไปโรงงานเลย” แน็ตเล่า

จากโรงซีอิ๊วที่เจริญนคร ต่อมามีการขยับขยายโรงงานย้ายไปต้มซีอิ๊วที่บางปูใน พ.ศ. 2507 แต่ยังคงส่งกลับมาบรรจุขวดที่หน้าร้านในย่านตลาดน้อย 

Part 2.2

กลยุทธ์แตกไลน์ ขายพรีเมียม

โรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ผลิตซีอิ๊วดำออกมาสู่ตลาดในหลากหลายชื่อและเครื่องหมายการค้า เพราะอาม่าเพ็กจึงอยากขายซีอิ๊วที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่ไม่อยากขึ้นราคาซีอิ๊วเดิม ก็เลยทำยี่ห้อใหม่ออกมา

เริ่มจากซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วย หรือดอกเก๊กฮวยเป็นซีอิ๊วดำเค็มที่เข้มข้นสุด ให้รสชาติออริจินอลดั้งเดิม มีกลุ่มลูกค้าเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว รูปแบบการขายซีอิ๊วเป็นแบบถัง 

ส่วนตราตาแป๊ะ ที่มีฉลากเป็นรูปเหล่ากงเต็กชึงผู้ก่อตั้งโรงงาน เป็นซีอิ๊วดำเค็มที่เข้มข้นรองลงมา รสชาติจะอ่อนกว่าตราดอกบ๊วยนิดนึง ทำให้ใช้งานได้หลากหลายกว่า มีลูกค้าเป็นกลุ่มร้านอาหารตามสั่ง 

ตราตาแป๊ะ ตราบ้าน และตราแดง เป็นซีอิ๊วดำเค็มตัวเดียวกัน ต่างกันที่แหล่งขาย ตราบ้านขายที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนตราแดงมีขายที่จังหวัดชัยนาท 

โดยเหตุผลที่ซีอิ๊วต่างพื้นที่ใช้ชื่อแบรนด์ต่างกัน เพราะตัวแทนหรือคนกลางอย่างยี่ปั๊วและซาปั๊วที่รับซีอิ๊วไปขายในสมัยก่อนอยากได้สินค้าสุดพิเศษไปขาย หรืออยากเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในพื้นที่นั้น โรงซีอิ๊วจึงจำเป็นต้องผลิตซีอิ๊วในชื่อแบรนด์ที่ต่างกัน

“จะเห็นว่าคนที่ติดแบรนด์แล้วเขาจะใช้แล้วไม่เปลี่ยน เราพยายามเอาตราตาแป๊ะไปแทรกตราแดง อยากจะควบรวมให้เหลือเพียงไม่กี่แบรนด์ เพราะการมีแบรนด์เยอะเกินไปทำให้ต้องทำฉลาก เกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็น เพราะจริงๆ ใช้น้อย แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องทำอยู่ เพราะลูกค้าเชื่อไปแล้วว่ามันคนละตัว ถึงแม้เราจะยืนยันแล้วว่าสูตรเดียวกัน” แน็ตเล่า

ส่วนซีอิ๊วดำหวาน คือซีอิ๊วที่เกิดจากการเอาซีอิ๊วดำเค็มที่เคี่ยวไปแล้ว 8 ชั่วโมง มาเคี่ยวต่อไปอีก 5 ชั่วโมง แล้วใส่กากน้ำตาลลงเพื่อไปทำคาราเมล แล้วผสมกับซีอิ๊วดำเค็มอีกทีหนึ่ง ซึ่งใช้งานต่างกัน ซีอิ๊วดำหวานจะใช้ทำอาหารได้เยอะกว่า เช่น ผัดซีอิ๊วหรืออะไรที่อยากได้สีดำนิดๆ ก็จะใส่ซีอิ๊วดำหวาน

ซีอิ๊วดำหวานมี 2 ยี่ห้อคือ ซีอิ๊วดำหวานตรากุหลาบ และตรากระเช้า ซึ่งเป็นซีอิ๊วดำหวานที่เข้มข้นน้อยลงมา และถ้าใครอยากลองซีอิ๊วตรากระเช้า จะต้องไปซื้อที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีที่เดียวเท่านั้น ซึ่งขายดีมาก

“ซีอิ๊วเราทำที่นี่ก็จริง แต่หม่าม้าเคยได้ซีอิ๊วเราเป็นของฝากจากสิงห์บุรีด้วยนะ หรืออย่างเพื่อนพี่สาวเราก็มาเล่าว่าแม่เขาไปเที่ยวต่างจังหวัดมา และซื้อซีอิ๊วบ้านเรากลับมาตุนที่บ้านหลายขวดเหมือนเป็นของดีประจำจังหวัด” แน็ตเล่าอย่างอารมณ์ดี

อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า การเปลี่ยนซีอิ๊วเป็นเรื่องใหญ่ของร้านอาหาร ลูกค้า (end user) ร้านอาหารจึงผูกพันกับซีอิ๊วจากโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียงมายาวนาน แม้ซีอิ๊วที่นี่จะไม่ได้ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่อย่างน้อยก็มีลูกค้าที่โทรมาบอกเสมอว่า “อย่าเลิกทำซีอิ๊วนะ” เหล่านี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทายาทโรงซีอิ๊วพร้อมใจกันแตะมือ ส่งต่อ และสืบทอดกิจการ

Part 3

ซีอิ๊วโฮมเมดที่เชื่อในกรรมวิธีแบบดั้งเดิม

ก่อนจะไปสู่เรื่องราวของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในมือทายาทรุ่นที่ 4 แน็ตพาเราไปชมกระบวนการทำซีอิ๊วดำเค็มตามสูตรโบราณของที่นี่ ซึ่งมีความคราฟต์ ทำด้วยมือทุกกระบวนการจริงๆ 

ลุงชด​ พันธุ์กระวี ผู้เป็นเถ้าชิ่ว หรือคนที่ทำหน้าที่คนซีอิ๊วมาตั้งแต่รุ่นอาม่าเพ็กจึง ซึ่งทำงานมาตั้งแต่อายุ 25 ปัจจุบันอายุ 83 ปี เริ่มเล่ากระบวนทำซีอิ๊วแบบดั้งเดิมที่เรียนรู้และสืบทอดจากอาม่าดังนี้ 

Part 3.1

เพาะเชื้อ

ในขั้นตอนการเพาะเชื้อ เชื้อราที่ใช้มาจากเมืองเก๊กเอี๊ย ซึ่งครอบครัวส่งต่อการเพาะเชื้อชนิดนี้มานับร้อยปี เพื่อคงรสชาติดั้งเดิมไว้

หลังจากใช้เวลา 4 ชั่วโมงสำหรับนึ่งถั่วเหลือง พวกเขาจะนำถั่วไปผึ่งให้ความร้อนลดลง ก่อนใส่เชื้อราลงไป ซึ่งเชื้อรา Aspergillus Oryzae เป็นเชื้อราที่ดี ไม่ต่างจากการทำโยเกิร์ตหรือกิมจิ เมื่อผสมให้เข้ากันก็นำไปใส่กระด้ง เพาะเชื้อไว้ 7 วัน เชื้อราชนิดนี้ชอบความชื้นและเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มันจะเปลี่ยนหน้าถั่วกลายเป็นสีเขียว 

Part 3.2

หมัก

จากนั้นล้างถั่วแล้วนำไปใส่โอ่ง เติมน้ำ โรยเกลือ เป็นอันเสร็จ จากนั้นคอยคนโอ่งทุกเช้าและเย็น เพราะขั้นตอนการหมักซีอิ๊วดำจำเป็นต้องใช้อากาศเล็กน้อยให้เชื้อจุลินทรีย์ทำหน้าที่หมักซีอิ๊วได้อย่างสมบูรณ์ 

สิ่งที่เปลี่ยนไปในกระบวนการนี้เมื่อย้ายโรงงานซีอิ๊วจากเจริญนครมาที่บางปูคือ แสงแดด 

“แดดที่บางปูดีกว่าที่โรงงานเดิม ซึ่งซีอิ๊วต้องการแสงแดด” 

ตั่วแปะไพฑูรย์​เล่าต่อว่า โรงงานซีอิ๊วที่ดีต้องมีลานกว้าง แดดแรง เพราะตอนหมักซีอิ๊วในยุคนั้นจำเป็นต้องเปิดโอ่งให้แดดส่อง เพื่อให้น้ำระเหย ซีอิ๊วก็จะเข้มข้นขึ้นในทุกวัน โดยไม่ลืมคนซีอิ๊วในโอ่งทั้งเช้าและเย็น เมื่อแสงแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ นั่นแปลว่ามันจะมีซีซั่นของการทำซีอิ๊วที่อร่อยมากและอร่อยน้อยลงมานิดนึง เช่น ในฤดูร้อน จำนวนวันที่ตากแดดก็จะน้อยกว่าฤดูฝน ที่เปิดโอ่งไม่ค่อยได้เพราะฝนตก ก็ต้องยืดวันและเวลาตากออกไป ขณะที่สมัยนี้ กระบวนการหมักจะไม่เปิดโอ่งเพราะสภาพแวดล้อม ทั้งป้องกันการปนเปื้อนจากอากาศและสัตว์รบกวน

Part 3.3

ต้ม

เมื่อกระบวนการหมักได้ที่ ก็เข้าสู่กระบวนการต้ม ซึ่งจนถึงวันนี้ที่นี่ยังใช้กระทะแบบเดิมและใช้ฟืนในการต้มซีอิ๊ว เพียงแต่ปรับให้สะอาดและได้มาตรฐานโรงงานมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น น้ำที่ใช้ผ่านการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

การต้มซีอิ๊ว 1 กระทะจะใช้น้ำซีอิ๊วหมักหลากหลายความเข้มข้น คือมีทั้งซีอิ๊วน้ำหนึ่ง น้ำสอง น้ำสาม ตามสัดส่วนซีอิ๊วหนึ่งยี่ห้อ ซึ่งน้ำหนึ่งคือน้ำลงโอ่งรอบแรก เมื่อหมักไว้ในจำนวนเดือนที่ต้องการเรียบร้อย เป็นน้ำซีอิ๊วที่ดีที่สุด

ยกตัวอย่าง ซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วยเป็นซีอิ๊วที่ดีสุดและเข้มข้นมาก สัดส่วนน้ำหนึ่งจะเยอะที่สุด หอมที่สุด

ส่วนที่สำคัญและยากที่สุดในการต้มคือการควบคุมไฟ ที่นี่ยังคงใช้เตาฟืนโบราณ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของคนทำหน้าที่ทั้งคุมไฟและเคี่ยวซีอิ๊ว เพราะไม่ใช่งานที่เปิดเครื่อง กดตั้งค่าอุณหภูมิ จับเวลา แล้วได้มาซึ่งซีอิ๊วหอมๆ แต่เป็นทักษะที่อาศัยการฝึกฝนจนรู้ว่าควรใช้เวลาเท่าไหร่หลังจุดฟืน ที่ความร้อนจะเพียงพอต่อการเดือดของซีอิ๊ว ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อจากกลิ่นและรสชาติ เพราะถ้าไฟแรงไปซีอิ๊วก็จะไม่หอม ต้องคอยใส่ฟืนลงไปเสมอๆ ที่สำคัญต้องคนกระทะตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นซีอิ๊วจะไหม้ติดกระทะ 

ซีอิ๊ว 1 กระทะใช้เวลาต้มเคี่ยวทั้งหมด 8 ชั่วโมง คนเสร็จลงไปเติมฟืน เติมฟืนเสร็จขึ้นมาคน ทำแบบนี้ตลอด 8 ชั่วโมง เมื่อต้มเสร็จก็เก็บพักซีอิ๊วให้ตกตะกอนอย่างน้อย 1 คืน จากนั้นกรองน้ำที่ได้เพื่อบรรจุขวดและติดฉลากเป็นอันเสร็จ

ส่วนกากซีอิ๊ว ภายหลังแน็ตนำมาต่อยอดใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำไข่เค็มหมักซีอิ๊วซึ่งเป็นการเปิดตลาดซีอิ๊วไปสู่กลุ่มใหม่ๆ

Part 3.4

วิธีใช้ให้อร่อย

“น่าเสียดายที่คนสมัยนี้รู้จักและใช้ซีอิ๊วดำกันน้อย คือใช้ผัดกับข้าวหรือต้มพะโล้” ตั่วแป่ะเล่าด้วยความเสียดาย ก่อนจะทิ้งท้ายวิธีกินซีอิ๊วให้อร่อยแบบต้นตำรับ

“ถ้าเป็นสมัยก่อน คนนิยมใช้ซีอิ๊วเป็นน้ำจิ้ม เต้าหู้เหลืองหั่นเป็นแผ่น นำไปทอดแล้วราดซีอิ๊วหน่อยนะหอมฟุ้งเลย หรือสัปปะรดกับแตงโมสดๆ จิ้มซีอิ๊วอร่อยมาก” 

ฟังแล้วชักอยากลองจิ้มสัปปะรด

เกี่ยวกับการใช้งานแน็ตยอมรับว่าซีอิ๊วดำของที่นี่รสชาติเข้มมาก เพราะเหมาะจะใช้เป็น cooking sauce ไม่ได้มีไว้สำหรับจิ้มทาน หรือเป็นอย่างซีอิ๊วบางเจ้าที่ปรับแต่งรสให้เป็นซอสปรุงรสสำหรับเหยาะใส่อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว

“คนชอบรสชาติกลมกล่อม แต่เราก็มีทางเลือกของเรา อากงอาม่าเลือกที่จะทำและสืบทอดสูตร ที่จะไม่เติมอะไรลงไปในซีอิ๊วเลย หมักแล้วต้มเคี่ยวเลย ดังนั้นการปรับรสชาติจึงไม่ใช่แนวทางที่เราเลือก” แน็ตเล่าความตั้งใจ

Part 3.5

การกลับมาของซีอิ๊วขาวที่หายไป

แน็ตเล่าว่าในอดีต โรงซีอิ๊วสมัยอากงจั๊กฮุ้งเคยทำซีอิ๊วขาวขาย แต่อยู่ๆ ก็เลิกผลิตไป แน็ตจึงตั้งใจนำกลับมาอีกครั้ง โดยได้น้าแพร​ เบียดกระสินธิ์ มือวางอันดับหนึ่งด้านซีอิ๊วขาว มาร่วมทดลองทำซีอิ๊วขาวและเต้าเจี้ยวตามแบบฉบับโรงซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ซึ่งกระบวนการเพาะเชื้อและหมักคล้ายกับการทำซีอิ๊วดำ ต่างแค่เพียงใส่แป้งสาลีและแป้งข้าวเจ้าในขั้นตอนเพาะเชื้อรา ก่อนจะทิ้งไว้อย่างนั้นห้ามคนโอ่งเป็นเวลา 1 ปี

สิ่งที่แตกต่างระหว่างซีอิ๊วดำและซีอิ๊วขาวคือ กลิ่น ในกระบวนการหมักซีอิ๊วดำเค็ม ถั่วในไหจะไม่ได้ให้กลิ่นหอม เท่ากับตอนที่ต้ม ต่างจากการทำซีอิ๊วขาว ที่จะหอมตั้งแต่ตอนหมักในไห ซึ่งเกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ ย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลให้ความหอมหวาน

ทั้งนี้ แน็ตตั้งใจจะสร้างแบรนด์ใหม่ ไม่เน้นตลาดพรีเมียมอย่างแบรนด์ซีอิ๊วดำที่ทำอยู่ เพราะขัดต่อความเชื่อเรื่องกรรมวิธีธรรมชาติ เนื่องจากซีอิ๊วขาวจำเป็นต้องใส่สารยืดอายุหรือวัตถุกันเสียเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน

Part 4

Soy Sauce Factory 

ไม่ต่างจากทายาทธุรกิจครอบครัวทุกคน แน็ตเติบโตในบ้านที่เป็นโรงงานซีอิ๊วย่านตลาดตลาดน้อย ที่เด็กทุกคนในบ้านคือแรงงาน มีหน้าที่ช่วยตอกจุกซีอิ๊ว

แน็ตเรียนจบด้านอุตสาหกรรมอาหาร จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถือว่าตรงสาย อย่างน้อยก็มีพื้นฐานเรื่องการทำระบบเกี่ยวกับโรงงานอาหาร แต่ไม่ได้ลงลึกเทคโนโลยีของการทำซีอิ๊ว ตอนแรกเธอตั้งใจไปทำงานในโรงซีอิ๊วใหญ่ๆ เพื่อหาประสบการณ์ แต่โรงซีอิ๊วเหล่านั้นอยากได้พนักงานผู้ชายมาคุมแรงงาน

แน็ตจึงเริ่มงานแรกของเธอในฝ่าย technicle sale ของบริษัทธุรกิจอาหารต่างประเทศบริษัทหนึ่ง ดูแลลูกค้ากลุ่มโรงงานอาหารทั้งหมด ซึ่งสินค้าที่บริษัทขายมีทั้งซอส ซอสผง มายองเนส ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานอาหาร เมื่องานเริ่มไปได้ดี แน็ตก็ตัดสินใจเรียนต่อด้านบริหาร เพื่อมารับช่วงต่อกิจการใน พ.ศ. 2555

“เราเป็นเพียงโรงซีอิ๊วเล็กๆ ซึ่งต้นทุนของโรงงานเล็กมันสูงมาก เทียบกับเพราะเจ้าใหญ่ที่ผลิตปริมาณมาก ทำต้นทุนได้ต่ำกว่า กำไรเยอะกว่า แต่เราขายตลาดเดียวกับยี่ห้อดังๆ โรงงานใหญ่ๆ การทำธุรกิจมันยากมากเลย แต่เวลาคุยกับลูกค้าเราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “อย่าปิดนะ” “ลื้ออย่าปิดนะ” “ทำต่อไป” ถ้าจะเหลือทางเลือกระหว่างเลิกทำแล้วปิดโรงงานกับทำต่อไป ซึ่งเราคิดว่าไม่เสียหายถ้าเราเลือกจะลองทำ” แน็ตเล่าสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจรับช่วงต่อ

Part 4.1

ใช้จุดแข็งของซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย

ก่อนจะไปถึงเรื่องสินค้าใหม่ เราสนใจการใช้จุดแข็งของซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย

เมื่อเราถามแน็ตว่า จากคนที่ทำงานโรงงานอาหารที่มีมาตรฐานสูง เมื่อต้องมาบริหารโรงงานซีอิ๊วที่มีกระบวนการทำแบบบ้านๆ ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เธอก็รีบตอบทันทีว่า

“เราทำโรงงานอาหารมาก่อน เป็นพนักงานขายที่ได้เข้าไปดูโรงงานอื่นๆ ซึ่งโรงงานเหล่านั้นได้มาตรฐาน ผลิตสินค้าส่งออกได้ ทุกคนมีเครื่องจักร มีองค์ความรู้จากญี่ปุ่น มีการพัฒนาไปไกลแล้ว แต่โรงงานเราแฮนด์เมด โฮมเมดกันสุดๆ สมัยก่อนเราก็เคยคิดว่าการพัฒนาคือต้องมีเครื่องจักรแบบโรงงานอื่น ซึ่งแน่นอนว่าต้องลงทุนสูงมาก แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะคงความเป็นโฮมเมดเอาไว้เพื่อคุณภาพที่ดีของอาหารที่เราผลิต แต่เราเลยพยายามปรับปรุงระบบให้มันดีขึ้นจนได้มาตรฐานสากลที่โรงงานใหญ่ๆใช้ และเมื่อเรามั่นใจว่าของเราดี เราก็จะมีความมั่นใจในการขายด้วย”

แม้จะเป็นธุรกิจที่อยู่มายาวนาน แต่ที่นี่ก็ยังเป็น SME ซึ่งช่วงแรกไม่ได้มีทุน แน็ตจึงไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการและสถาบันอาหาร 

“เขาจะมีทุนมาให้ เขาไม่ได้ให้เงินเรา แต่เราส่งอาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามา เป็นจุดเริ่มต้นของการให้คนอื่นมาดูโรงงาน ซึ่งในห้องเรียนเราเรียนเรื่องมาตรฐาน แต่เราก็ต้องปรับให้เขากับบริษัทเราหรือโรงงานเราเอง ช่วงแรกจึงเป็นเราที่ต้องเรียนรู้ให้มาก เรากินซีอิ๊วแต่แทบจะไม่เคยรู้เลยว่าซีอิ๊วแต่ละประเภทต่างกันยังไง”

“ซีอิ๊วมีหลายแบบ แบบที่ไม่หมักเลยแต่ใช้กรดเร่งปฏิกิริยามาย่อยถั่ว กับแบบที่ใช้จุลินทรีย์เพื่อให้เกิดกระบวนการธรรมชาติ มันก็จะใช้เวลา แต่เรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นโรงซีอิ๊วที่ทำเล็กๆ แบบเราก็ยังเป็นอาหารสุขภาพอยู่ ซึ่งเราเลือกที่จะไม่เติมวัตถุกันเสียเข้าไป เพื่อให้มันครบสมบูรณ์ ธรรมชาติจริงๆ เพราะเรากินเอง ไม่ได้อยากกินอะไรที่มีการแต่งเติม” 

ซึ่งสิ่งที่สร้างจุดเปลี่ยนหรือทำให้แน็ตเลือกวิธีใช้ซีอิ๊วโฮมเมดมาสร้างจุดขาย ก็คือ ‘ลูกค้า’

“ลูกค้ากลุ่มเดิมเป็นลูกค้าที่เน้นรสชาติ เพราะเขาใช้ของเรามานาน และติดรสชาตินี้ แต่อาจจะไม่ได้โฟกัสที่เรื่องกรรมวิธีการผลิต แต่พอเวลาเราไปออกบูธเอง เราเจอกลุ่มลูกค้า กลุ่มที่เลือกเปิดใจลองของใหม่ๆ แบบนี้ เขาก็สงสัยว่าเราเป็นโฮมเมดมั้ย หรือมาจากไหนล่ะ ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำตลาดซีอิ๊วในกรุงเทพเลย แม้เราจะผลิตที่นี่แต่แบรนด์ก็ไปติดตลาดที่ต่างจังหวัด ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีคำถามคล้ายๆ กันว่า ใส่วัตถุกันเสียหรือเปล่า ดีต่อสุขภาพยังไง ทำไมเขาถึงควรเปลี่ยนมาใช้ของเรา ซึ่งทั้งหมดที่เขาให้ความสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่เราเองก็ให้ความสำคัญมากๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะรักษาไว้ เพียงแต่ เราอาจจะใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพให้คงที่ เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมสารใดๆ”

“แน็ตคิดว่าเราเข้ามารับช่วงต่อถูกจังหวะ เพราะในสมัยปะป๊า เป็นช่วงที่โรงงานซีอิ๊วเร่งพัฒนาเพื่อแข่งขัน ทุ่มทุนเปลี่ยนสูตร จึงเป็นช่วงที่โรงงานใหญ่ๆ ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตซีอิ๊วเยอะ คนเริ่มรู้จักใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุสินค้า ขณะที่โรงซีอิ๊วของเรารักษาความเชื่อเรื่องกระบวนการธรรมชาติที่ไม่ใช่สารเคมี วัตถุกันเสีย และยึดมั่นในความเชื่อนี้ผ่านกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอดีกับที่มาเจอตลาดกลุ่มนี้พอดี” แน็ตเล่าจังหวะที่ใช่ในธุรกิจ

Part 4.2

ซีอิ๊วและไข่เค็ม

โจทย์ที่แน็ตได้รับจากพ่อ (ไพบูลย์​ โชติสกุลรัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3) ในวันที่เธอมารับช่วงต่อคือ เพิ่มยอดขายให้ได้ 2 เท่า

“ตอนแรกก็คิดว่าไม่ยากอะไร แค่ไปจ้างพนักงานขายมาช่วยให้มียอดขายเยอะๆ ก็น่าจะพอแล้ว แต่สิ่งที่เจอคือ พนักงานขายโกงเงินเราไป ลูกค้ายี่ปั๊วซาปั๊วสั่งของ จ่ายเงินและได้รับสินค้าครบถ้วนแล้ว แต่เงินที่จ่ายนั้นไม่ได้มาถึงเรา ทำให้เราคิดว่า การทำธุรกิจที่นำด้วยยอดขายคงไม่เหมาะกับเรา” อดีตนักเรียนวิทยาศาสตร์เล่าสิ่งที่เจอ

สิ่งที่แน็ตทำคือ กลับมาดูสินค้าของโรงงานว่ามีอะไรปรับปรุงหรือต่อยอดได้บ้าง

“ความยากของเราคือ เราขายซอสทำอาหาร ไม่ใช่ซอสจิ้ม หรืออะไรที่คนจะเข้าใจง่ายแค่ใส่ก็อร่อยแบบนั้น เราก็เลยนำเสนอสินค้าใหม่ ที่คนคุ้นเคย เข้าใจง่ายกว่า คือไข่เค็ม ซึ่งเมื่อคนได้ลองชิม คนกินก็จะตั้งคำถามว่าทำไมรสมันแปลกๆ นะ จากนั้นภาพก็ตัดเข้าสู่โฆษณา ‘นี่ไม่ใช่ไข่เค็มทั่วไป แต่เป็นไข่เค็มที่ทำจากซีอิ๊วดำเค็มของโรงงานอายุ 100 ปีที่ยังคงกรรมวิธีเคี่ยวด้วยมือบนเตาฟืนแบบโบราณ’ เราแค่อยากได้โอกาสในการเล่าเรื่อง เราอยากให้เขาถามไม่ว่าจะมาจากการได้ชิมหรือเห็นแพ็กเกจของเรา อย่างน้อยเราก็ได้เล่าว่าเราเป็นโรงซีอิ๊วเล็กๆ ที่ทำซีอิ๊วขายในต่างจังหวัดและยังคงใช้วิธีดั้งเดิม วัตถุดิบธรรมชาติ” แน็ตเล่ากลยุทธ์การขายซีอิ๊วสไตล์เด็กวิทยาศาสตร์ช่างสงสัย 

แน็ตใช้เวลา 2 ปีต่อยอดซีอิ๊ว ด้วยการทำแบรนด์ไข่เค็ม ที่เราชิมแล้วถูกใจเพราะเค็มน้อยแต่อร่อยนะ

Part 4.3

เปลี่ยนวิธีขายให้เข้ากับยุคสมัย

นอกจากพัฒนาคุณภาพสินค้า และต่อยอดสินค้า สิ่งที่แน็ตทำต่อมาคือ เปลี่ยนวิธีขายให้เข้ากับยุคสมัย

“เราไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเปลี่ยนบางอย่างแบบสิ้นเชิง สิ่งที่เปลี่ยนไปคือดีไซน์บนฉลาก จากเดิมที่เป็นภาษาจีน เราเพิ่มภาษาไทย และข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบที่สำคัญ และหมายเลขอนุญาตขายตามกฎหมาย” แน็ตเริ่มจากการสื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์ ก่อนจะเล่าประสบการณ์ซื้อโฆษณาซีอิ๊วในรายการวิทยุ

“โจทย์ของเรายังคงเป็น ทำยังไงให้ร้านอาหารใหม่ๆ เริ่มเห็นซีอิ๊วของเราแล้วอยากลองใช้ เพราะเรารู้สึกว่ากลุ่มนี้ใจกว้าง พร้อมทดลองและให้โอกาส ซึ่งเราเคยใช้วิธีซื้อโฆษณาในวิทยุตอน 6 โมงเช้า ช่อง 93.5 โดยคุณตู่ ผุสดี เสาวรัตน์ เป็นช่องที่เปิดเพลงฝรั่ง เขาก็จะพูดเกี่ยวกับซีอิ๊ว 5 นาที ซึ่งก็ได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ ตอนนั้นทำอยู่ 3 เดือน และช่วงเดียวกันนั้น เราก็ไปออกบูธเปิดตลาดเยอะขึ้น คนก็เข้ามาถามว่าใช่แบรนด์ซีอิ๊วที่ได้ยินในรายการวิทยุหรือเปล่า” แน็ตเล่าอย่างอารมณ์ดี

ความตั้งใจต่อมาคือ การพาซีอิ๊วเข้าร้านโมเดิร์นเทรดอย่าง วิลล่า ฟู้ดแลนด์ กรูเม่ เธออยากให้คนไปซื้อสินค้าของที่นั่น เพียงแต่ที่ผ่านมาแน๊ตไม่รู้วิธีจะบอกคนอย่างไรว่าสินค้าเธอมีขายที่ไหน

สิ่งที่ทำให้ไข่เค็มหมักซีอิ๊วติดตลาดในเวลารวดเร็วคือ ช่วงเวลาที่ถูกต้อง 

แน็ตรู้ว่าคนกำลังหาของขวัญปีใหม่ เธอตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนอยากซื้อไข่ไปเป็นของขวัญ ของที่ราคาไม่แพงแต่ดูสวยและดูดี 

ผลก็คือ ไข่เค็มขายดีมากทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดตัวแบรนด์ได้ไม่นาน

ประกอบกับช่วงเวลานั้นไปออกบูธที่ตลาดเสรี ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ใหญ่ 

“ผู้ใหญ่หลายท่านชิมแล้วชอบในความเค็มน้อย ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเรามาถูกทาง และกลุ่มที่เราอยากสื่อสารด้วยดูจะชอบทั้งรสชาติและแพกเกจจิ้ง” เมื่อสะสมความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่แน็ตจะพาไข่เค็มและซีอิ๊วของเธอไปเจอกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่ห้างใจกลางเมือง รวมถึงเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างน้ำพริกไข่เค็ม ที่ทั้งคลุกข้าว หรือทำเป็นเพสทาขนมปังก็ได้ ซึ่งโชคดีมากที่ลูกค้าชาวสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นชาติที่รักไข่เค็มสุดๆ จึงให้การตอบรับที่ดี

Part 4.4

ภารกิจรักษาโรงซีอิ๊ว

โดยสรุปแล้วทั้งหมดที่แน็ตทำก็เพื่อรักษาโรงซีอิ๊ว เพราะสิ่งที่แน็ตเป็นห่วงคือ ลูกค้ากับพนักงาน

“ซีอิ๊วไม่ใช่ของที่ขายแล้วลูกค้ามาแล้วก็ไปนะ แต่คือความผูกพันที่มีมานาน เราเรียกทุกคนเป็นอาโกว อาอี๊ โดยไม่ได้รู้สึกเขินว่าเขาไม่ใช่ญาติ หลายคนเป็นลูกค้าเรามาตั้งแต่สมัยอาม่าอากง ผ่านมาหลายช่วงเหมือนที่เราเองก็ผ่านมาหลายช่วง เราเลือกที่จะทำเล็กๆ แต่ให้มันยังอยู่ต่อไปได้ ด้วยการพัฒนาทั้งคุณภาพและดูแลบริการกลุ่มลูกค้าเก่าๆ”

เป็นเหตุผลให้ช่วงแรกของการรับช่วงต่อ แน็ตใช้วิธีโทรไปแนะนำตัวกับคู่ค้าว่าเป็นใคร และจะมารับช่วงต่อสิ่งนี้ ใช้เบอร์โทรศัพท์อะไร พร้อมถามชื่อของปลายสายกลับไปเพื่อไว้ติดต่อสื่อสาร

“หม่าม๊าของเรา จริงๆ เขามีธุรกิจของเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงงานซีอิ๊ว แต่เขาพาเราขับรถไปถึงชัยนาท แม้ไม่รู้เส้นทางก็พาไปตามความเคยชินว่าเจ้านี้น่าจะอยู่ตรงนี้เพราะอาม่าเคยพามา หรือเจ้านั้นอยู่ตรงไหน เพราะในการรับช่วงต่อ สิ่งที่ยากสำหรับเราคือ การทำการค้าที่ผ่านมา ลูกค้าบางคนของเรา เราไม่เคยเจอหน้าเลย เดี๋ยวนี้มีไลน์กันแล้ว ลูกค้าเห็นหน้าเรา เราเห็นหน้าลูกค้า คุยกันสนิทสนม และถ้าเรามีโอกาสเดินทางไปไหนก็จะไม่พลาดที่จะแวะไปสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า”

หลังจากพัฒนาคุณภาพ สร้างแบรนด์ซีอิ๊ว ต่อยอดสินค้าใหม่ จนเจอกลุ่มลูกค้าใหม่ เปิดตลาดเพื่อสุขภาพได้สำเร็จ ประสบการณ์ตลอด 10 ปีที่เข้ามารับช่วงต่อโรงงานซีอิ๊วเคียมง่วนเชียง ทำให้แน็ตเห็นแนวโน้มหรือโอกาสใหม่ๆ อย่างไรบ้าง เราถาม

“เราจะยังคงอยู่ในตลาดเพื่อสุขภาพ อาจจะหาสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มคล้ายๆ กัน ซึ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิต แต่เป็นคนเลือกสรรเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ภายใต้ความเชื่อของเรา เพราะเราคิดว่าความต้องการของตลาดนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน และจะจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเทรนด์เรื่องสุขภาพ และเทรนด์แม่และเด็ก กลุ่มที่เลือกของที่ดีสำหรับลูก ซึ่งเราเป็นสินค้าที่ไม่ใช้สารเคมีในราคาที่จับต้องได้ พอแปะคำว่าเพื่อสุขภาพลงไปที่สินค้าอะไร มันมักจะเป็นของที่แพงเสมอ ซึ่งเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น เราทำซีอิ๊วอยู่ เราพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ก็คิดว่าคนอื่นๆ น่าจะทำได้เหมือนกัน เราไม่ได้อยากเป็นสินค้าที่พรีเมียมเรื่องราคา แต่อยากเป็นมาตรฐานที่ดีของการทำอาหารสุขภาพได้” แน็ตทิ้งท้าย

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like