The Go-Getter Guide to Perseverance & Never Giving Up

Cariber คอร์สเรียนออนไลน์กับรุ่นใหญ่ที่คิวเรตโดยคนรุ่นใหม่

ธุรกิจแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อาจไม่ใหม่นัก 

และคอนเซปต์เรื่องการเรียนรู้จากตัวจริงของแต่ละวงการก็อาจไม่ใหม่มาก

ทว่าการมาถึงของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์กับตัวจริงของแต่ละวงการอย่าง Cariber ก็สั่นสะเทือนแวดวง Ed Tech เมืองไทยมากพอให้เราหันมอง

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อชั้นของผู้สอนแต่ละคนที่ใช่ว่าจะหาโอกาสพบปะพูดคุยได้ง่ายๆ เป็นต้นว่า

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO แห่ง SEA ประเทศไทย (บริษัทแม่ของ Garena, Shopee, SeaMoney)

– สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ร่วมก่อตั้ง Phenomena และ Propaganda

– บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับพันล้านเจ้าของผลงานอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, พี่มาก..พระโขนง และร่างทรง

และเหตุผลอีกส่วนเป็นเพราะชื่อชั้นของสองผู้ก่อตั้งอย่าง พี–พีรเดช มุขยางกูร และ ฟิว–ณัฐพนธ์ เมธาภาคย์ ที่เป็นเหมือนด้านกลับของครูผู้สอนโดยสิ้นเชิง

คือพูดชื่อออกไปต้องมีงงว่าสองคนนี้คือใคร

แต่นี่แหละคือหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้สองบัณฑิตจากรั้ว BBA Thammasat ปลุกปั้น Cariber ขึ้นมาได้สำเร็จ

พวกเขาทำได้ยังไง บรรทัดต่อจากนี้มีคำตอบ

EP01 : จาก ‘Career Fact’ สู่ ‘Cariber’

ต้นทุนสำคัญของ Cariber คือ Career Fact

แรกเริ่มเดิมทีพีและฟิวลาออกจากงานประจำมาก่อตั้ง Career Fact สื่อออนไลน์ว่าด้วยเส้นทางสายอาชีพที่โดดเด่นด้วยวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายอาชีพ

“โดยส่วนตัวผมใช้ LinkedIn บ่อยกว่าเฟซบุ๊ก” พีเล่าที่มาที่ไปด้วยรอยยิ้ม “คือชอบเรื่องการงาน การหางาน การสมัครงาน ตอนระหว่างเรียนผมฝึกงาน 4 ที่ และก่อนหน้าที่จะมาทำ Career Fact ก็เคยทำ free career counseling service มาก่อน ช่วยรุ่นน้องปรับเรซูเม่ หาที่ฝึกงาน หางาน แบบไม่คิดตังค์”

ด้วยแพสชั่นอย่างที่ว่า ประจวบเหมาะกับช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีสื่อที่พูดเรื่องการงานอาชีพโดยเฉพาะ ร่วมด้วยฝีมือด้านการเขียนของฟิวผู้มีประสบการณ์เขียนหนังสือข้อสอบมาก่อน สองหนุ่มช่วยกันบิลด์ Career Fact จากยอดไลก์หลักพันสู่หลักแสนภายในเวลาเพียงปีเดียว 

หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของพวกเขาน่ะเหรอ? 

คือ LinkedIn

EP02 : ต่อจุดคอนเนกชั่น

อย่างที่พีบอกว่าเขาชอบใช้ LinkedIn มาก หนึ่งในวิธีการได้มาซึ่งซับเจกต์สำหรับสัมภาษณ์ลง Career Fact คือการทักไปหาทางกล่องข้อความของ LinkedIn 

ในบรรดาผู้คนจำนวนมากที่เขาทักไปมี ท็อป–จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub อยู่ด้วย 

ปรากฏว่าหลังได้ร่วมงานกัน ท็อปถูกชะตาพีและฟิวมาก จนเป็นสปอนเซอร์คนแรกของ Career Fact แถมยังชวนให้ทั้งคู่ไปใช้พื้นที่ออฟฟิศของเขาแบบฟรีๆ อีกต่างหาก

“ทำไมเขาถึงช่วยคุณขนาดนี้” เราอดสงสัยไม่ได้ 

“เขาบอกว่าคล้ายๆ เห็นตัวเองในตอนที่เริ่มต้นอยู่ ตอนแรกเขาก็ไม่มีออฟฟิศเหมือนกัน” พีผู้เคยถามคำถามนี้กับท็อปมาแล้วทวนคำตอบของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ให้ฟัง 

(Fun Fact : พีและฟิวกดเปิดตัวเว็บไซต์ Cariber ที่ออฟฟิศของท็อปด้วยนะ)

ไม่ใช่แค่ท็อป แต่ซับเจกต์เกือบๆ 200 คนที่พวกเขาได้สัมภาษณ์ระหว่างการทำ Career Fact ต่างก็พร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการหน้าใหม่

 “จริงๆ แล้วการได้เจอพี่ๆ หรือคนที่ไปสัมภาษณ์ทุกคนเป็นต้นทุนที่ดีมากๆ หลายคนไม่ได้เป็นผู้สอน แต่แนะนำเราไปหาผู้สอน ช่วยคอนเนกต์ให้ ช่วยโปรโมตให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเราก็ซึ้งใจมากๆ ต้องยอมรับเลยว่าเราไม่ได้โตขึ้นมาคนเดียว แต่มีพี่ๆ เหล่านี้และ investor ช่วยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง” พีว่า

และเอาเข้าจริง Cariber ก็เกิดขึ้นจากคำแนะนำของซับเจกต์ที่พวกเขาไปสัมภาษณ์นี่แหละ

EP03 : เปลี่ยนเทรนด์เป็นธุรกิจ

หลังทำ Career Fact มาได้สักพัก พีและฟิวก็เริ่มมองหาโมเดลอื่นๆ ที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้อีก แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์

ระหว่างยังไม่ตัดสินใจ ทั้งคู่ทดไอเดียนี้ไว้ในใจก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปสัมภาษณ์ แอนท์–อัศวิน โรจน์เมธาทวี หนึ่งในผู้ก่อตั้งเทพบาร์ และ Head of Streaming แห่ง GMM Grammy ซึ่งทักพวกเขาว่า “ทำไมไม่ลองทำแบบ Masterclass ล่ะ”

เหมือนได้รับการยืนยันว่าไอเดียนี้เป็นไปได้ พวกเขาจึงเริ่มศึกษาโมเดลธุรกิจและตลาดของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อย่างจริงจัง 

ขอแวะเล่าตรงนี้สักนิดว่า เทรนด์หนึ่งที่พาเหล่าสตาร์ทอัพด้านการศึกษาพุ่งทะยานทั้งในไทยและต่างประเทศคือ Lifelong Learning ซึ่งมีคำนิยามแบบหลวมๆ ว่า การเรียนรู้นอกระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม โดยผู้เรียนเป็นคนเลือกเองว่าจะเรียนอะไร เพื่ออะไร และผู้เรียนในที่นี้อาจเป็นนักเรียนที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาแต่มองหาเนื้อหาที่การศึกษาในระบบให้ไม่ได้ เป็นเหล่าคนวัยทำงานที่อยากเสริมทักษะใหม่ๆ ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เป็นคนวัยเกษียณที่ยังอยากเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ว่าง่ายๆ คือผู้เรียนจะเป็นใครก็ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกค้าที่น่าเจาะมากๆ ก็คือเหล่าคนวัยทำงานนี่แหละ โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศ เพราะข้อมูลจาก Pew บอกว่า บริษัทต่างๆ เทรนพนักงานน้อยลงทุกที (แถมหัวข้อที่เทรนก็มักจะเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในที่ทำงาน มากกว่าจะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับทักษะของตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง) และมองหาพนักงานที่มีทักษะและความรู้พร้อมทำงานทันทีโดยไม่ต้องเทรนมากกว่า

กลับมาที่พีและฟิว ทั้งคู่ทำการบ้านอย่างหนักว่าในตลาดของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์นั้นมีผู้เล่นแบบไหนอยู่บ้างแล้ว ผู้เรียนต้องการอะไรจากการเรียนรู้ออนไลน์ และยังมีช่องว่างไหนบ้างที่พวกเขาสามารถใช้เป็นทางเข้าสู่ตลาดได้

คีย์เวิร์ดสำคัญที่พวกเขาตกตะกอนได้คือ ‘คุณภาพ’

EP04 : ขอแข่งในเกมนี้ด้วย ‘คุณภาพ’ 

Cariber เปิดตัวด้วย 3 คอร์สเรียน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์เจ้าอื่นๆ แถมออกจะสวนทางกับความเชื่อดั้งเดิมในการทำโมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิก (subscription) ที่ว่า จำนวนคอร์สเรียน (หรือซีรีส์ หรือบทความ) ยิ่งเยอะ ลูกค้าก็จะยิ่งรู้สึกว่าคุ้มค่า น่าสมัคร

พีและฟิวยอมรับว่าจำนวน 3 คอร์สเรียนเป็นความจำเป็นในการบริหารเรี่ยวแรง ทุนทรัพย์ และเวลาอันจำกัด แต่ที่มันจำกัด ก็เพราะพวกเขานำไปลงทุนให้กับ ‘คุณภาพ’ จนหมด

คนที่เคยเรียนกับ Cariber (หรือกระทั่งแค่เคยดูเทรลเลอร์ของคอร์สเรียนต่างๆ) น่าจะสังเกตเห็นได้ว่าคุณภาพของโปรดักชั่นของพวกเขานั้นไม่เป็นสองรองใคร ทั้งสถานที่ถ่ายทำ การจัดไฟ โมชั่นกราฟิก โน้ตประกอบการเรียน ฯลฯ 

อีกทั้งลำดับการเล่าเรื่องของแต่ละคอร์สเรียนก็ผ่านกระบวนการคิดอย่างละเอียด พวกเขาไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่หยิบยกมาใช้กับทุกคอร์ส แต่จะค่อยๆ เจียระไนเรื่องราวของผู้สอนแต่ละคนอย่างพิถีพิถัน แล้วถ่ายทอดออกมาให้กระชับและน่าติดตามที่สุด

แต่ความจริงแล้ว ‘คุณภาพ’ เหล่านี้มาทีหลัง เพราะ ‘คุณภาพ’ แรกที่พีและฟิวตั้งใจโฟกัสคือ ‘คุณภาพของผู้สอน’ ซึ่งพอได้ชื่อว่าเป็นตัวท็อปของแต่ละวงการ จึงไม่ได้ชวนมาร่วมงานกันได้ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความพยายามในการทาบทามในเลเวลที่ว่า ติดต่อไป 100 คนได้รับการตอบรับแค่ 3 คน 

“เฮ้ย เอาคนนี้มาสอนได้ไง เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกแบบนี้”​ พีอธิบาย

และนั่นเป็นคำถามเดียวกับที่เราสงสัยเป๊ะเลย

EP05 : ชนะใจผู้สอนด้วยความทุ่มเทและความถ่อมตัว

ไม่ว่าจะติดต่อผู้สอนด้วยการทักหาใน LinkedIn หรือด้วยการต่อจุดคอนเนกชั่นไปเรื่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสได้โทรคุยหรือนัดพบกับผู้สอน พีและฟิวจะทำการบ้านเกี่ยวกับพี่ๆ อย่างหนักเพื่อชนะใจเหล่ารุ่นใหญ่ให้ได้ตั้งแต่ครั้งแรก

“first meeting เป็นประชุมที่ชี้ขาดว่าเขาจะทำหรือไม่ทำ เป้าหมายหนึ่งของเราคือ เราต้องรู้จักเขาให้ดีกว่าที่เขารู้จักตัวเอง รู้จักชีวิตเขาครบจริงๆ แบบ เฮ้ย มันมีมุมนี้ด้วย” พีเล่า ก่อนฟิวซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในขั้นตอนนี้จะช่วยเสริมและยกตัวอย่าง

“ผมต้องพยายามถอด DNA ความเป็นเขา ดูว่าคนนี้เด่นตรงไหนจริงๆ อย่างของพี่ต้อง (กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร) เขาทำ 8 บรรทัดครึ่ง มาเยอะมากๆ 700-800 ตอน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราจะให้เขาสอนอะไร จุดเด่นของเขาใน 8 บรรทัดครึ่ง คือพนักงานประจำที่เติบโตในบริษัทใหญ่ที่มาเล่าเรื่องนวัตกรรม แต่นั่นเป็นเรื่องที่เขาพูดอยู่แล้ว เราก็ต้องสร้างจุดต่างให้ได้ 

“ตอนแรกผมยอมรับว่าคิดไม่ออกเลยไปส่องเฟซบุ๊กเขา เลยได้เห็นว่าเขาใช้ชีวิตเป็นแพตเทิร์นชัดเจน เลี้ยงลูก ออกกำลังกาย ทำงาน อัดพ็อดแคสต์ วนลูปไป มันทำให้ผมกลับมาคิดว่าเขาเป็นคนที่มีนิสัยที่ดีมากๆ เลยนะ เขาสามารถทำสิ่งนี้เป็นกิจวัตรได้ ถึงงานยุ่งขนาดนี้แต่ก็มีเวลาไปทำสิ่งอื่นมากมาย แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนังสือ Atomic Habits กำลังดัง ก็เลยเกิดเป็นคอร์ส The Secrets of Habit Transformation ที่สอนเรื่องการสร้างนิสัยขึ้นมา”

การทำการบ้านไปเช่นนี้ ไม่ว่าหัวข้อที่นำเสนอจะถูกใจผู้สอนหรือไม่ (ฟิวบอกว่าก็มีเหมือนกันที่ต้องกลับมาคิดใหม่ทั้งหมด) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉายชัดจนมัดใจผู้สอนได้คือความทุ่มเท “เราพยายามทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ พอคนตั้งใจทำ พี่ๆ เขาก็เห็นและสัมผัสได้ว่า เราไม่ได้เอาเวลาเขามาทำเล่นๆ นะ เราให้ใจ ให้ชีวิตจริงๆ กับสิ่งนี้ ผมว่าผู้ใหญ่เขาก็อยากช่วย” พีให้ความเห็น และเฉลยอีกเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้พวกเขาจีบเหล่าผู้สอนติดจนได้

“มันอาจฟังดูคลิเช่ แต่อีกต้นทุนสำคัญของเราคือความเป็นเด็กและความไม่รู้ สิ่งนี้ทำให้เราถ่อมตัว เป็นหนึ่งใน core value ของเราเลย”

EP06 : ประสบการณ์ที่สอนกันได้

“ใครว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้” คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ Cariber

คำถามนี้น่าสนใจ เพราะภายใต้ร่มของประสบการณ์คือการได้ฝึกฝนจนช่ำชองและการสั่งสมชั่วโมงบินด้วยตัวเอง

“ประสบการณ์ที่ว่าสอนกันได้เนี่ย พวกคุณมีวิธีสอนยังไง”​ เราหย่อนคำถามให้ทั้งคู่

“สิ่งที่เราพยายามทำคือการคิวเรตประสบการณ์ของผู้สอนให้คมที่สุด เข้าถึงง่ายที่สุด และเอาไปปรับใช้ได้ง่ายที่สุด”​ พีให้คำตอบ “จุดหนึ่งที่เราชัดเจนมาตั้งแต่ต้นคือ คอร์สที่ดีไม่จำเป็นต้องยาว บางคนอาจคิดว่าคอร์สยิ่งยาว ยิ่งคุ้ม แต่เราเชื่อต่างไป เราอยากทำคอร์สที่สั้นที่สุดให้ได้ครบที่สุด หลังบ้านเราตัดฟุตเทจออกเกือบครึ่งหนึ่งทุกตอน เพราะเราไม่มายด์ที่จะตัดออกให้เหลือเฉพาะของที่จำเป็น นี่เป็นจุดที่ทำให้เราแตกต่างจากที่อื่น” 

สัญชาตญาณของพีและฟิวนั้นสอดคล้องพอดิบพอดีกับอีกหนึ่งเทรนด์ย่อยในแวดวงการศึกษา นั่นคือ microlearning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้อันกระชับสั้น สามารถเรียนหัวข้อหนึ่งๆ จบได้ภายใน 15-20 นาที เหมาะเจาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน

แนวคิดนี้เวิร์กหรือไม่เวิร์ก เราขอให้ตัวเลขพูดแทน เพราะ ‘คอร์สที่สั้นที่สุดแต่ครบที่สุด’ ของ Cariber นั้นมีอัตราการเรียนจบอยู่ที่ 32-40% เทียบเท่ายักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Masterclass เชียวล่ะ!

EP07 : บทสรุปตลอดการเดินทาง (ที่ยังไม่สิ้นสุด)

ขณะนี้ Cariber เปิดตัวมาได้ราว 1 ปี มีคอร์สเรียนทั้งหมด 19 คอร์ส (และจะมีคอร์สใหม่เพิ่มในทุกๆ เดือน) เราเชื่อว่านี่ยังเป็นเพียง ‘ระหว่างทาง’ ไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ ของสตาร์ทอัพไฟแรงนี้

“เป้าหมายของเราคืออยากจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้” พีวาดฝันถึงปลายทางให้ฟัง

“ส่วนในเชิงธุรกิจเราอยากทำให้ Cariber ยั่งยืนและสเกลได้ อย่างหนึ่งคือเราอยากมีคอร์สมากกว่านี้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะคุณภาพดีขนาดไหน จำนวนก็ต้องมา ซึ่งข้อนี้อาจจะยากนิดนึง แต่เราก็กำลังพยายามสำรวจให้กว้างขึ้น ทั้งในแง่ทาร์เก็ตกรุ๊ปใหม่ โมเดลใหม่ ลองทำดู ถ้าไม่เวิร์กก็พับ เวิร์กก็ทำต่อ”

พูดคุยกันมาถึงจุดนี้ เราอดถามคำถามสุดคลิเช่กับสองคิวเรเตอร์ไม่ได้ว่า ถ้าประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพของพวกเขาถูกกลั่นกรองเป็นคอร์สเรียน คอร์สนี้จะชื่อว่าอะไร

“ของผมคงเป็นเรื่อง perseverance หรือความอึด”​ ฟิวตอบก่อน “ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็เรียนรู้ เป็นเรื่องปกติที่เราต้องฝ่าไปให้ได้ แน่นอนว่าปัญหามันยาก แต่เราจะต้องผ่านไปให้ได้”

“สำหรับผม never give up การไม่ยอมแพ้” พีเสริมในมุมของตัวเอง 

“เราไม่ได้มีประสบการณ์หรือเข้าใจ industry นี้มาก่อน แต่สิ่งที่เรามีคือเราทำทุกวัน มันมีวันที่ยาก วันที่ลำบาก แต่เราไม่อยากแพ้ เราอยากทำให้สุด ก็ทำทุกวัน ทำๆๆๆ ทำไปเรื่อยๆ 

“ทุกวันนี้หลายคนมองเข้ามาอาจรู้สึกว่าเราดูดีมาก แต่ความจริงเรายังห่างไกลความสำเร็จและยังมีปัญหาอีกเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องคน โปรดักต์ เงินทุน แต่ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันก็แค่ต้องทำ และมันไม่สวยหรูนะ เพราะจริงๆ ผมเครียดมาก นอนไม่หลับ เงินไม่เข้า มันยาก แต่ก็แค่ต้องทำ ทำแล้วต้องทำให้ได้” พีสรุป  

จากคำตอบเหล่านี้บวกกับความ ‘กัดไม่ปล่อย’ ในแววตาคนทั้งคู่ เราขอถือวิสาสะตั้งชื่อคอร์สเรียนที่สอนโดยพีและฟิวให้เลยก็แล้วกันว่า

The Go-Getter Guide to Perseverance & Never Giving Up 

และแน่นอน ตามธรรมเนียมของ Cariber เราขอจบด้วยประโยคนี้ 

หวังว่าเรื่องราวของพวกเขาจะทำให้คุณไปได้ไกลกว่า

You Might Also Like