Aww Some

คุยกับ Aww บริษัทรับสร้างสรรค์ virtual human เจ้าแรกในญี่ปุ่นที่ทำให้คนทั่วโลกร้อง awww

ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงเรื่องการสร้างสรรค์งานป๊อปๆ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันแข็งแรงอยู่แล้วทั้งการ์ตูน อนิเมะ เกมต่างๆ และยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แม้ฝั่งเพลงและละครจะพลาดท่าให้เกาหลีไปบ้าง แต่ฝั่งความบันเทิงสองถึงสามมิติก็ยังยืนหนึ่ง aww tokyo

ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว VTuber หรือ virtual YouTuber ยูทูบเบอร์ที่ใช้ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นแทนหน้าของตัวเองเริ่มป๊อปขึ้นมาจนมีจำนวนหลายพันคน แต่ที่มาแรงมากตอนนี้ต้องยกให้ virtual human มนุษย์เสมือนจริงจากบริษัท Aww ที่สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก

virtual human คือมนุษย์เสมือนจริงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนมากน้องๆ จะมีแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองและมีคาแร็กเตอร์เป็นเอกลักษณ์ต่างกันออกไปตามใจของผู้สรรค์สร้าง ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่ง VHuman ของที่นี่นั้นมีหลายคาแร็กเตอร์และก้าวไกลเกินกว่า VTuber ไปเยอะมาก น้องๆ เข้าไปแจมในหลายวงการและได้รับการยอมรับจากหลายแบรนด์ระดับโลก เช่น Disney, Nintendo, SK-II, IKEA, P&G, Porsche, Dior หรือแม้แต่ KFC ยิ่งวงการแฟชั่นยิ่งงานชุกมาก ทั้งงานแฟชั่นโชว์และนิตยสาร

VHuman ของ Aww มีที่มาที่ไปยังไง ทำไมถึงไปไกลได้ขนาดนี้และจะไปไหนต่อ Takayuki Moriya หนึ่งในผู้ก่อตั้งมีคำตอบ

image : instagram.com/imma.gram

Virtual to Reality

Aww ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019 เป็นบริษัท virtual human เจ้าแรกในญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าทำงานแทบจะครบวงจร ทั้งเป็นโมเดลลิ่งพาน้องๆ VHuman ในสังกัดไปทำงานต่างๆ และรับสร้างสรรค์ VHuman ให้กับลูกค้าโดยดูรวมไปถึง direction และ storytelling

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/plusticboy

Aww มีชื่อบริษัทมาจากภาษาอังกฤษ Aww ซึ่งเป็นเสียงร้องเมื่อเราได้ยินเรื่องน่าประทับใจ เพราะพวกเขาตั้งใจจะสร้างคอนเซปต์ใหม่หรือลูกเล่นใหม่ๆ ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสื่อสารเมสเซจที่ทำให้ผู้คนฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเห็นแล้วรู้สึก “อ่อวว์…”

“ส่วนหนึ่งที่เลือกคำนี้เพราะผมชอบปฏิสัมพันธ์ (interaction) ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต เลยอยากเลือกใช้คำที่คนใช้กันในอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงอยากให้คนเห็นคอนเทนต์ของเราแล้วรู้สึกแบบนั้น คือตกใจ เซอร์ไพรส์ อะไรแบบนี้” ทาคายูกิ CEO หนุ่มเริ่มเล่า 

ที่นี่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องงาน CG, AI, AR, VR ต่างๆ อยู่แล้ว พวกเขาทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและสีหน้าของมนุษย์มากว่าสิบปี เมื่อมีทั้งเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จึงนำไปสู่ผลงานที่แตกต่างจากในตลาดและได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว

aww tokyo
image : instagram.com/imma.gram

“ช่วงที่คนเริ่มเปลี่ยนจากการเสพสื่อแมสมาเป็นสื่อโซเชียล พวกผมกำลังอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ของญี่ปุ่นที่ไม่ใช่อนิเมะ สิ่งที่เราทำเลยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมพอดี 

“ยุคนี้ virtual มาแรง เราต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อแข่งขันในระดับโลก ซึ่งในญี่ปุ่นยังไม่ค่อยมี แต่พวกผมมีเทคโนโลยีและทักษะที่สามารถทำเรื่องพวกนี้ได้ จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากยึดติดว่าจุดแข็งของเราคือเทคโนโลยีมากนักเพราะมันเป็นสิ่งที่คนก็ทำกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมมองว่าเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นแบรนด์ที่สร้างมนุษย์หรือ virtual human ก็ต้องใช้ตรงนี้เป็นจุดขายสร้างมูลค่าให้มันมากขึ้น เราเลยจะก้าวสู่โลก NFT ด้วย”

สมเป็นแนวคิดของชายผู้เคยให้สัมภาษณ์ว่างานครีเอทีฟยังไงก็ต้องพึ่งพาสื่อ ไม่งั้นต่อให้สร้างคอนเทนต์น่าสนใจแค่ไหนก็ไม่มีคนรู้จัก ส่วนแก่นสำคัญที่เขาใส่ใจคืออะไรนั้น ซีอีโอหนุ่มตอบไว้เช่นนี้

“พวกผมเป็นครีเอเตอร์ ถึงแม้ตอนนี้โลกเราขับเคลื่อนด้วยตัวเลข เช่น KPI ใช้ตัวเลขวัดความสำเร็จ แต่สิ่งที่เราใส่ใจคืองานที่ทำขับเคลื่อนความรู้สึกของใครได้ไหม”

image : instagram.com/ria_ria_tokyo
image : instagram.com/ria_ria_tokyo

Virtual and Human

Aww มี Vhuman ในสังกัดหลากหลาย แต่ละคนก็มีคาแร็กเตอร์ ความถนัดแตกต่างกันไป เช่น Ella เป็น Vhuman ที่พัฒนาร่วมกับดิสนีย์ซึ่งดูมีความเป็นเจ้าหญิงน่าเอ็นดูตามแบรนด์อิมเมจ และ Plusticboy หนุ่มน้อยหน้ามนสุดเท่ไฮแฟชั่น แต่ดาวเด่นที่สร้างชื่อให้บริษัทคือ Imma สาวแซ่บผมสั้นสีชมพูสดใสกับลุคสุดคูล พี่สาวของ Plusticboy นั่นเอง

Imma ได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมากมายอย่าง SK-II, IKEA, Porsche ขึ้นปกนิตยสารอีกเป็นกอง ได้คอลแล็บกับ Kusama Yayoi Museum และร่วมงานกับต่างชาติมากมาย รวมไปถึงบริษัทสัญชาติไทยอย่าง True Corporation ในฐานะ brand ambassador ของ True 5G ด้วย ยังไม่พอ น้องยังติดโผ Forbes women of the year ปี 2020, เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน NEW VIEW AWARDS 2021 ของญี่ปุ่นและได้ปรากฏตัวในงานพิธีปิดของ Tokyo 2020 Paralympic Games อีกต่างหาก

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/imma.gram

“หลายแบรนด์อาจจะมองข้อดีของการคอลแล็บกับ Vhuman ในแง่ของความแปลกใหม่ แต่อีกหลายเจ้าก็เลือกเพราะชอบสตอรี่และการแสดงออกของ Vhuman คนนั้นจริงๆ ใช้เกณฑ์เดียวกันกับเวลาแคสต์ดาราเซเลบเลยครับ ซึ่งจุดนี้ผมมองว่า Vhuman ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เลย” ทาคายูกิเคยเล่าถึงข้อดีในการร่วมงานกับ Vhuman ไว้เช่นนั้น

ด้วยความเป็น Vhuman ที่สามารถก้าวข้ามขอบเขตที่มนุษย์ทำไม่ได้หลายอย่าง อีกทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้า ดราม่าต่างๆ แถมยังแปลกใหม่สร้างสีสันให้แบรนด์ แต่เห็นอายุน้อยร้อยงานแบบนี้ น้องๆ ก็ไม่ได้รับงานมั่วซั่ว แต่แอบเลือกงานละเอียดทีเดียว 

“มีงานด้านแฟชั่นติดต่อเข้ามาเยอะซึ่งเราก็ปฏิเสธไปเยอะเหมือนกันครับ ที่ผ่านมาการเสพสื่อแมสเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถทัชความรู้สึกคนดูได้ แต่ตอนนี้การเสพสื่อเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าไม่จำกัดงานที่รับหรือดูขอบเขตให้ดีมันอาจจะเป็นการโกหกได้ซึ่งพวกผมไม่อยากทำแบบนั้น เมสเซจที่เราอยากสื่อสารกับสิ่งที่ลูกค้าอยากสื่อสารควรไปในทางเดียวกัน ต่อให้ได้เงินเยอะแค่ไหน ถ้าแนวคิดไม่ตรงกันก็ไม่รับทำครับ”

นอกจากจะดูเนื้อหาและคุณภาพของงาน อีกสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างมากคือความรู้สึก 

“เราทรีต Vhuman เป็นเหมือนมนุษย์และมีความรักให้กับคาแร็กเตอร์ที่สร้างขึ้นมา ดูว่างานที่จะรับเป็นงานที่พวกเขาอยากจะทำจริงๆ ไหม มีหลายคาแร็กเตอร์ที่โดนใช้งานเหมือนเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกใช้เพื่ององค์กร มันน่าสงสารครับ ผมพยายามจะไม่ให้คาแร็กเตอร์หมดคุณค่าหลังทำงาน”

image : instagram.com/ria_ria_tokyo

Virtual Future

Aww ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องสร้างสรรค์ Vhuman ใหม่ๆ ออกมาทุกกี่เดือน แต่ก็ยังตั้งใจจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาวางแผนเอาไว้ อีกทั้งยังตั้งใจจะลุย NFT ให้มากขึ้นด้วยอย่างที่เคยเล่าไว้ตอนต้น

“ตอนนี้รายได้ของบริษัทมาจากการรับงานของ Vhuman และการพัฒนา Vhuman ให้ลูกค้าครับ เดี๋ยวจะลุยเรื่อง NFT มากขึ้น มีโปรเจกต์สนุกๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศด้วย งานแบบเดิมก็ยังรับแต่หลังจากนี้ NFT น่าจะเป็นหลัก

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/imma.gram

“ผมว่าญี่ปุ่นสร้าง IP (intellectual property หรือทรัพย์สินทางปัญญา ในที่นี้หมายถึงงานสร้างสรรค์อย่างการ์ตูน ป๊อปอาร์ต เกม อนิเมะ ฯลฯ) เก่งนะ โดยส่วนตัวผมมองว่า Vhuman มีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตในเชิงศาสนาความเชื่อ เช่น การนับถือภูตผี ความเชื่อว่ามีเทพ ชีวิต จิตวิญญาณในทุกสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ ผมว่าแนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการเกิดของอนิเมะ มังงะ คือเป็นภาพที่เขียนบนกระดาษแล้วมีชีวิตขึ้นมา ก็เหมือนความเชื่อในอดีตที่เชื่อว่ามีจิตวิญญานสถิตอยู่ Vhuman เองก็เช่นกัน 

“แต่ผมว่าญี่ปุ่นไม่เก่งเรื่องธุรกิจ NFT ตอนนี้มีคอนเทนต์ญี่ปุ่นเยอะ แต่ส่วนมากเป็นคนต่างชาติสื่อสารผ่านวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากกว่า โดยส่วนตัวผมมองว่าการแข่งขันของญี่ปุ่นจะเริ่มหลังจากนี้ อาจจะช้า แต่น่าจะมาแน่ครับ”

ศึก Vhuman ใน NFT เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย น้องๆ กระโจนออกมาจากโลกเสมือนสร้างสรรค์งานให้เราเสพในโลกจริงจนตื่นเต้น แล้วกำลังจะกลับเข้าไปฟาดฟันในพื้นที่ดิจิทัลอีกครั้ง อาจจะมีอะไรมาทำให้เราร้อง Aww อีกในไม่ช้า

ส่วนใครที่อยากจะสร้าง Vhuman กับเขาบ้าง ทาคายูกิทิ้งคำแนะนำสั้นๆ ไว้ให้ว่า 

“ไม่ควรตามกระแสหรือความต้องการของตลาด ทำตามที่ตัวเองอยากทำเต็มที่ไปเลยครับ ไม่งั้นคอนเทนต์จะไม่สนุก”

Writer

Tokyoite รักงานคราฟต์ ทั้งของแข็งและของเหลว

You Might Also Like