2452
March 17, 2022

BTS PTD ON STAGE - SEOUL : LIVE VIEWING

เบื้องหลังการทำไลฟ์คอนเสิร์ต BTS ในโรงหนัง และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ของ SF

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาหากใครได้แวะเวียนไปแถวโรงภาพยนตร์ในเครือ SF ก็จะเห็นว่าในวันนั้นมีคนมายืนรอต่อคิวด้านหน้าเยอะกว่าวันทั่วไป ไม่ใช่เพื่อมาดูหนังที่กำลังเข้าฉาย แต่เพื่อมาดู BTS PTD ON STAGE – SEOUL: LIVE VIEWING คอนเสิร์ตของ BTS โดยเป็นการถ่ายทอดสดส่งสัญญาณต้นทางจากเกาหลีไปยังโรงหนังอีก 75 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เหล่า ‘Army’ แฟนคลับของ BTS ได้ดูไปพร้อมๆ กับที่โซล 

คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้น 3 วันคือ 10, 12, 13 มีนาคม แม้รอบวันที่ 10 และ 13 จะเปิดให้คนได้ดูไลฟ์คอนเสิร์ตจากที่บ้านได้ แต่สิ่งที่ทำให้วันที่ 12 ซึ่งเป็นรอบไลฟ์ ผ่านโรงหนังเกือบทุกโรงของ SF เต็มอย่างรวดเร็วบัตร sold out ภายในเวลาไม่กี่นาที ก็คือการที่เหล่า Army ได้นัดมารวมตัวกันกรี๊ดถือบงหรือแท่งไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของวงเข้าโรงหนัง ทำของที่มีหน้าตาศิลปินมาแลกเปลี่ยนกัน และได้ฟังเสียงคอนเสิร์ตแบบกระหึ่มรอบทิศทาง เป็นบรรยากาศที่หากใครเคยไปดูคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่สนามราชมังฯ หรืออิมแพ็คอารีน่าก็จะเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมวลความรู้สึกที่หาจากการดูไลฟ์คนเดียวที่บ้านไม่ได้ 

หลังคอนเสิร์ตจบลงคนที่ฟินไม่แพ้กับเหล่า Army เห็นทีจะเป็น SF เพราะสิ่งที่พวกเขาได้ตอบแทนจากการลงแรงและลงทุนเพิ่มเป็นหลักสิบล้านเพื่อทำให้โปรเจกต์นี้ออกมา Smooth Like Butter ไม่ได้มีแค่ค่าตั๋วเข้าชม แต่คือคำชื่นชมจากเหล่า Army ที่เดินทางมาดูไลฟ์คอนเสิร์ตในวันนั้น

พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ – Marketing Director ของ SF เล่าให้ฟังว่าอันที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ SF ได้ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ BTS มาฉาย และก็ไม่ใช่ครั้งแรกในการถ่ายทอดสัญญาณสดมายังจอในโรงหนัง แต่สิ่งที่ทำให้ครั้งนี้ต้องลงแรงและลงทุนเพิ่ม เพราะที่ผ่านมา SF ยังไม่เคยถ่ายทอดสดคอนเทนต์ระดับโลกไปยังโรงหนังหลายๆ สาขาที่อยู่ทั่วประเทศมากขนาดนี้มาก่อน และเป็นโปรเจกต์ที่มีความท้าทายถึงขนาดต้นสังกัดของ BTS เองยังประกาศเตือนไว้ว่าการไลฟ์ครั้งนี้มีความเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดจากสภาพดินฟ้าอากาศ จนอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างถ่ายทอดสดได้

เธอบอกว่ากว่างานนี้จะออกมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะด้วยระยะเวลาที่มีเพียงแค่เดือนกว่าๆ กับการเตรียมงานระดับ world condition ที่ทุกอย่างจะต้องเหมือนกันทั่วโลก ไม่ใช่ว่าอยากจะเปิดกี่โรงก็ทำได้ จึงต้องมีการเชตระบบใหม่ ต้องไปเรียนรู้ศัพท์เชิงเทคนิคยากๆ ที่ใช้ในการส่งสัญญาณมากมาย

จนเมื่อมาถึงไทยก็ต้องกระจายสัญญาณไปยังโรงหนังในอีกหลายสาขาทั่วประเทศ ซึ่งระหว่างทางการเดินทางของสัญญาณก็ล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะแม้คอนเสิร์ตจะจัดขึ้นที่โซล แต่สัญญาณจะถูกส่งไปยังลอนดอนเพื่อให้ลอนดอนนำสัญญาณไปกระจายต่อให้กับทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง  

ดังนั้นก่อนจะประกาศออกไปว่า SF เปิดฉายคอนเสิร์ตของ BTS ในครั้งนี้ จึงต้องมีการทดสอบระบบก่อน 2-3 รอบ เพื่อดูว่ามีอะไรติดขัดตรงไหน ดูว่า worst case ที่จะเกิดได้นั้นมีอะไรบ้าง คิดถึงเผื่อไปถึงขนาดว่าถ้ารถชนเสาไฟฟ้าถ้ามีหนูกัดสายไฟจะต้องทำยังไง มีการทำวอร์รูมในวันที่ฉาย มีแผน A แผน B สำรองเอาไว้เผื่อในวันงานมีปัญหา 

จัดการเรื่องระบบเสร็จ ก็ต้องมาดูเรื่องมาร์เก็ตติ้งและการสื่อสารต่อ โดยประกาศทุกชิ้นของโปรเจกต์นี้ล้วนแต่ต้องผ่านสายตาของพิมสิริก่อนปล่อยออกไปทั้งสิ้น 

“ที่ต้องดูให้ละเอียดมากๆ เพราะนี่เป็นคอนเสิร์ต World Tour ครั้งแรกในรอบสองปีของ BTS ตั้งแต่มีโควิด ดังนั้นเหล่า Army เขาจะตั้งตารอกันมาก เราก็เลยต้องเตรียมพร้อมกันมากๆ เพราะหากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา เดี๋ยวดราม่าในทวิตเตอร์จะตามมาทันที เราทำอะไรแบบที่เล่นกับความรู้สึกคนไม่ได้

“แอบสารภาพว่ามีทำระบบคืนเงินเผื่อเอาไว้ด้วย จริงๆ ก็ไม่ได้อยากใช้หรอก แต่เราก็ต้องคิดเผื่อเอาไว้ให้มันครอบคลุมมากที่สุด”

นับว่านี่เป็นโปรเจกต์ที่มีการลงทุนเยอะพอๆ กับความเสี่ยง แต่พิมสิริก็บอกถึงเหตุผลที่ทำให้ SF ตัดสินใจทำงานนี้ขึ้นมาว่าอันที่จริงแล้ว live viewing เป็นสิ่งที่ SF ศึกษามาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่มีคอนเทนต์ไหนที่จะตอบโจทย์ได้เท่าที่ควร 

กระทั่งมีคอนเสิร์ตของ BTS ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่ลงตัวกับสิ่งที่ SF คิดไว้อยู่พอดิบพอดี จึงเป็นการเปิดตัวที่ทำให้ค่ายอื่นได้เห็นว่า SF นั้นสามารถที่จะทำ live viewing ฉายไปทั่วประเทศได้ และอาจนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมากมาย เพราะไม่ใช่แค่ BTS แต่ที่ผ่านมา SF เองก็เคยฉายสารคดีของวงดังๆ อย่าง BLACKPINK, BNK48 หรือ Monsta X มาแล้วเช่นกัน 

และหากว่ากันในเชิงธุรกิจเพลงแล้ว คอนเสิร์ตถือเป็นอีกหนึ่งขาสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับค่ายและศิลปิน แต่เมื่อโควิดยังทำให้มีข้อจำกัดในการจัดคอนเสิร์ตอยู่มากมาย การทำ live viewing ในโรงภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นคอนเสิร์ตได้มากที่สุด ก็อาจเป็นอีกทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงที่สนใจไม่น้อย 

นอกจาก live viewing อันที่จริงแล้วเราเห็นโปรเจกต์หลายๆ อย่างจาก SF มาโดยตลอด ทั้งป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่, ทำไดร์ฟอินซีนีม่าที่ให้คนได้นั่งดูหนังใหม่กันในรถ, เอาเตียงที่มีมูลค่าหลักแสนจากแบรนด์ Omazz มาให้คนได้นอนดูหนัง, เปิดให้เหมาโรงหนังในราคาเริ่มต้น 5,000 บาท, เปิดให้ดูซีรีส์ในโรงหนังที่แต่ละตอนจะมีนักแสดงในเรื่องมานั่งดูด้วย และอีกหลายต่อหลายโปรเจกต์ที่แม้จะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องตัวเลขไปเสียทั้งหมด แต่ก็นับเป็นการหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ไม่หยุดอยู่กับที่ และที่สำคัญก็คือทำให้ชื่อของ SF ยังอยู่ในการรับรู้ของผู้คน

เพราะในวันที่สตรีมมิงเข้ามา สิ่งที่ทำให้ธุรกิจโรงหนังยังอยู่ได้ก็คือ Cinematic Experience หรือการได้ดูหนังบนหน้าจอใหญ่ เสียงกระหึ่มรอบทิศทาง ตามองจอ มือซ้ายหยิบป๊อปคอร์น มือขวาจับมือคนข้างๆ

หรือถึงจะไม่มีมือใครให้จับ มันก็ยังเป็นประสบการณ์ที่การดูในจอทีวีที่บ้าน ยังไม่สามารถมาทดแทนความรู้สึกนี้ได้อยู่ดี

Tagged:

You Might Also Like