รู้จัก ‘Tinder Leave’ เมื่อความรักกลายเป็นสวัสดิการองค์กร เทรนด์ใหม่ที่น่าลองหรือแค่กระแส? 

สวัสดิการบริษัทแบบไหนที่คนรุ่นใหม่กำลังมองหา?

เวิร์กฟรอมโฮม, ประกันสุขภาพ, อาหารกลางวัน, สมาชิกฟิตเนสฟรี ลางานได้ไม่อั้น, ลาปวดประจำเดือน, ของขวัญวันเกิด, คอร์สเรียนพิเศษฟรีสำหรับพัฒนาตนเอง หรือเอาต์ติ้งต่างประเทศ? ทั้งหมดนี้ยังไม่น่าขิงเท่าพนักงานที่ได้ ‘ลางานไปหาคู่’ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่เริ่มมีการนำไปใช้จริงในองค์กรเพื่อให้พนักงานมี work love balance 

Future of Work: #ความรักและงานไปด้วยกันได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้นอกจากความเติบโตก้าวหน้าในองค์กร คนรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น องค์กรสมัยใหม่เริ่มมองว่าการสนับสนุนด้านความสัมพันธ์และความรักเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงาน (well-being) และช่วยให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานได้ องค์กรที่อยากริเริ่มสวัสดิการใหม่ๆ จึงนำนโยบายที่น่าสนใจอย่าง Tinder Leave หรือการลาออกเดตมาใช้ 

ลองไปดูตัวอย่างสวัสดิการลาออกเดตว่าทำไมการมีความรักของพนักงานถึงกลายเป็นสิ่งที่องค์กรรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญ 

It’s a Match! : #การจับมือของ Tinder x Gushcloud มอบสวัสดิการให้พนักงานตามหาคนที่ใช่ 

ไม่นานมานี้ Gushcloud International บริษัทด้านความบันเทิง อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลกได้มอบสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิกแอพฯ หาคู่เดต Tinder และสิทธิ Tinder Leave ลาหยุดไปออกเดตแบบรับค่าจ้างสำหรับพนักงาน Gushcloud ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

การเป็นพาร์ตเนอร์ระหว่าง Gushcloud และ Tinder ในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายนอกเหนือจากการทำงานและสนับสนุนให้พนักงานมีชีวิตทางสังคมที่ดี Gushcloud เป็นบริษัทที่มีอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัดกว่าหนึ่งหมื่นคนและเชื่อว่าการสนับสนุนให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์กับพนักงานมีความสัมพันธ์ส่วนตัวท่ีดีจะช่วยสนับสนุนให้พนักงานดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ในการทำงานได้อย่างเต็มที่

นโยบาย Tinder Leave ของ Gushcloud ในครั้งนี้เป็นข่าวไปทั่วโลกเพราะก่อนหน้านี้สวัสดิการออกเดตมักพบเห็นได้จากเฉพาะบริษัทแอพฯ หาคู่เท่านั้น บริษัทรายใหญ่เหล่านี้ต่างนิยมมอบ free supscription ในแอพฯ ให้พนักงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของธุรกิจที่อยากให้ความสำคัญกับการสร้างสายสัมพันธ์และเชื่อมโยงผู้คนให้รู้จักกัน

เหล่านี้คือตัวอย่างสวัสดิการด้านความรักความสัมพันธ์สุดปังของบริษัท dating app

เพราะการได้ออกเดตคือสิทธิพิเศษ

Match Group ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ในเครืออย่าง Tinder, Hinge, OkCupid ฯลฯ ได้มอบสิทธิ์ให้พนักงานไปออกเดตในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น พนักงาน Tinder สามารถใช้ Tinder Gold ได้ฟรี, พนักงานของ Hinge ได้โบนัสพิเศษ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับไปออกเดตซึ่งเป็นสวัสดิการที่เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อสนับสนุนให้พนักงานเข้าสังคมนอกออฟฟิศและกลายเป็นสวัสดิการที่ได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ 

เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ

ในฝั่ง Bumble แอพฯ เดตติ้งคู่แข่งของ Tinder ซึ่งให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกเดตก่อนก็มีสวัสดิการพิเศษที่ให้ พนักงานเข้าถึงแอพฯ Bumble Premium และ Badoo Premium แบบฟรีได้ตลอดระยะเวลาที่เป็นพนักงาน โดยพนักงานยังลาแบบรับเงินเดือนได้อีกหากกำลังมีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัว และยังมีสวัสดิการสนับสนุนไมล์สโตนสำคัญของครอบครัวไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ทั้งลาแบบรับเงินเดือนได้หากคู่ชีวิตกำลังเผชิญเรื่องเครียดหนักๆ และมีเงินสนับสนุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับครอบครัวที่วางแผนมีบุตรซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การฝากไข่จนถึงทำแท้ง

มากกว่าสวัสดิการคือวิสัยทัศน์และการใส่ใจพนักงานในทุกด้าน

หากเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทเหล่านี้จะเห็นว่าสวัสดิการออกเดตนั้นสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ของบริษัท เช่น Bumble ที่อยากให้ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ (create a world where all relationships are healthy and equitable) และ Hinge ที่มีความตั้งใจอยากช่วยให้ทุกคนได้เจอคนของตัวเอง (help more people find their person)  

หลายคนอาจคิดว่าการมีสวัสดิการออกเดตเหล่านี้เป็นเพราะบริษัทเหล่านี้เป็นธุรกิจ dating app ที่แค่มีบริการในแอพพลิเคชั่นอยู่แล้วเลยนำมาให้พนักงานใช้และอาจหลงลืมสวัสดิการด้านอื่น แต่ความจริงแล้วก่อนจะคำนึงถึงการออกเดต บริษัทระดับโลกเหล่านี้ได้มอบสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่คำนึงถึงพนักงานอย่างครบถ้วนแทบทุกมิติเช่นกัน 

เช่น Bumble ที่อนุญาตให้พนักงานลางานได้แบบไม่จำกัดวัน, มีวัน focus friday ที่ให้ทุกคนงดส่งอีเมลและแชตเพื่อให้พนักงานได้ดีทอกซ์และฝึกโฟกัสกับงาน, ได้รับสิทธิ์ premium news subscription จากสำนักข่าวระดับโลก และอีกมากมายไปจนถึงได้โบนัส 100 ดอลลาร์สหรัฐถ้าแสดงให้เห็นว่าเป็นพนักงานที่ปฏิบัติตาม mission, vision และคุณค่าองค์กรของบริษัทได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสวัสดิการออกเดตเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เมื่อคำนึงถึงความสุของค์รวมของพนักงาน

Swipe Right with The Right Company

สวัสดิการลาออกเดตยังเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีผลสำรวจที่แน่ชัดว่าการได้โอกาสออกตามหาคนที่ใช่ส่งผลให้พนักงานมีความสุขและมีศักยภาพมากขึ้นจริงไหม แต่ที่แน่ๆ บริษัทที่คำนึงถึงสวัสดิการที่ครอบคลุมในทุกด้านสามารถสร้างความพึงพอใจและความผูกพันของพนักงานต่อบริษัทได้มากขึ้น ผลสำรวจจากบริษัท Hinge ที่มีสวัสดิการทั้งเรื่องสุขภาพ ออกเดต สัตว์เลี้ยง อาหาร การพัฒนาตนเอง ฯลฯ พบว่า 93% ของพนักงานรู้สึกว่าบริษัทมีความใส่ใจอย่างแท้จริงและ 94% มีความภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่

การพบปะหรือออกเดตผ่านแอพพลิเคชั่นหาคู่เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความกดดันในสังคมยุคใหม่ที่มีโอกาสเจอคู่ยาก การสนับสนุนจากบริษัทจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าสังคมและเจอคนที่ใช่ในชีวิตจริงซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนปัจจัยในชีวิตของพนักงานรูปแบบหนึ่ง ต้องติดตามต่อไปว่าบริษัทรายต่อไปที่พาร์ตเนอร์กับ dating app เพื่อพนักงาน จะเป็นเจ้าไหน ซึ่งถ้าองค์กรยุคใหม่อยากให้พนักงาน swipe right กับบริษัท รู้สึกว่าบริษัทเป็นองค์กรที่ใช่ อาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องคำนึงถึงสวัสดิการพื้นฐานแบบองค์รวมมากขึ้นที่ครอบคลุมไปถึง work love balance ของพนักงาน 

อ้างอิง

‘เดอร์มาลิงค์’ บุกตลาดด้านความงาม ด้วย HUTOX inj. โบท็อกซ์แบรนด์ดังจากเกาหลี

หนึ่งในหัตถการที่ได้รับความนิยมที่สุด ด้วยราคาเข้าถึงได้และความเจ็บแบบมือใหม่หัดทำสวยรับได้ คือโบท็อกซ์ แต่ด้วยความเข้าถึงง่ายนี้เองจึงทำให้มีโบท็อกซ์เถื่อนจำนวนมากในท้องตลาด ก่อนลงมือทำหัตถกรรมใดๆ ชาวทำสวยจึงควรตรวจเช็กมาตรฐานแบรนด์โบท็อกซ์และคุณวุฒิของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ดี

เพื่อตอบกระแสการดูแลตัวเองของคนรุ่นใหม่ให้ครอบคลุม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท เดอร์มาลิงค์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายสินค้าเวชสำอาง และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงามจึงได้จัดแถลงข่าวการบุกตลาดด้านความงามด้วย HUTOX inj. โบท็อกซ์แบรนด์ดังจากเกาหลี

แบรนด์ที่ว่าคือ HUTOX inj. ภายใต้เครือ Huons Global กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเภสัชภัณฑ์ที่ก่อตั้งมานานกว่า 60 ปี และเจ้าโบท็อกซ์นี้ยังได้รับการเรียกขานว่า ‘โบส้ม’ ด้วยสีผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์​

ภายในงานยังได้จัดเสวนาเกี่ยวกับการดูแลผิวหน้าและใช้โบท็อกซ์โดยแพทย์ด้านผิวหนังและความงาม  ได้แก่ ศ. นพ.วาสนภ วชิรมน แพทย์เฉพาะทางผิวหนัง อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ.ทนงเกียรติ เทียนถาวร นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาตจวิทยา แผนกตจศัลยศาสตร์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.กรานต์ โสภณปฏิมา Medical Director of Face Gallery Clinic

ส่วนใครที่สนใจรายละเอียดของ HUTOX ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ hutox.co หรือที่เฟซบุ๊ก facebook.com/thehutalk 

‘Well โภชนา’ ชุดสินค้าของฝากกิมมิกเก๋ย่านทรงวาดจากคาเฟ่ F.V x สตูดิโอออกแบบ LUKYANG 

แค่เปิดประตูร้าน F.V ก็ได้กลิ่นหอมอบอวลของขนมไทยจากเคาน์เตอร์ครัวเล็กๆ ที่มีบรรยากาศชวนให้นึกถึงความอบอุ่นในครัวของคุณยาย บ่ายวันธรรมดาที่คาเฟ่ ณ ย่านทรงวาดแห่งนี้คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย แม้ทุกโต๊ะจะถูกจับจองไว้แล้วแต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะวันนี้เราตั้งใจแวะมาซื้อของที่ระลึกกลับไป 

กิ่ง–พัชรกันย์ โรจน์วัชราภิบาล หลงใหลในรสชาติของขนมไทยโบราณและทำให้ร้านเอฟวีเป็นที่รู้จักจากการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นเมนูร่วมสมัย นำเสนอบรรยากาศคาเฟ่สไตล์ไทยที่ทำให้สถาปัตยกรรมพื้นบ้านมีความเท่

ส่วน ลูกยาง–วีรพล วงศ์เทวัญ เป็นนักออกแบบและเจ้าของสตูดิโอ LUKYANG ที่มีแพสชั่นในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและหลงรักการออกแบบสินค้า eco-design ผลงานของลูกยางมีความสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดจากการนำวัสดุธรรมชาติและขยะมาเปลี่ยนเป็นของใช้ในบ้าน เครื่องเขียน และงานศิลปะ

ทั้งคู่ต่างเป็นนักออกแบบคอนเซปต์มือฉมัง ถนัดการถ่ายทอดสิ่งที่ดูเชย น่าเบื่อ จริงจังให้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจและโคจรมาพบกันด้วยไอเดียการออกแบบแบบบรรจุภัณฑ์ขนมไทยชื่อ ‘Well โภชนา’ ที่ตั้งใจให้เป็นชุดสินค้าของฝากอันน่าจดจำสำหรับผู้มาเยือนทรงวาด

Sweet Blessings

“ชื่อร้าน F.V ย่อมาจาก fruit and vegetable เราใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นของไทยในการทำโปรดักต์ของเรานำผักผลไม้มาทำเครื่องดื่มและแปรรูปเป็นขนม เช่น มะเขือเทศเชื่อม มะกรูดเชื่อม มะม่วงปรุงรส ตะลิงปลิงแช่อิ่ม ส้มฉุน”  

กิ่งเรียนทำขนมไทยสูตรโบราณจากอาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยและขนมไทยระดับปรมาจารย์ ด้วยความที่ไม่อยากให้รสชาติละมุนแบบดั้งเดิมหายไปจึงสานต่อสูตรดั้งเดิมของอาจารย์มาตลอด

แต่เดิมวัฒนธรรมการให้ขนมไทยมักนิยมให้เป็นของขวัญแก่กันเพื่อความเป็นสิริมงคล ขนมโบราณแต่ละชนิดจึงไม่ใช่แค่รูปงาม นามไพเราะ แต่ยังมีความหมายลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จาก ‘Well โภชนา’ ที่จัดขนมโบราณ 4 ประเภทมารวมกันเป็นเซตเดียวโดยตั้งใจอวยพรให้ผู้รับอยู่ดีมีสุขหรือ live well 

แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเอฟวีและไม่เคยรู้จักขนมไทยมาก่อนก็สามารถเข้าใจความหมายของขนมและส่วนผสมความประณีตได้แบบง่ายๆ ด้วยการอ่านคำอธิบายที่เล่าไว้หลังกล่อง 

สัมปันนี ร่ำรวยรัก (Sampannee is abundant love)

โสมนัส ร่ำรวยสุข (Somanas means happiness)

ดอกลำดวน อายุยืนยาว (Doklamduan represents longevity)

ขนมผิง รักอบอุ่น (Kanom Ping is Warm Love) 

sweet recipe ของภูมิปัญญาไทยจึงไม่ได้มีเคล็ดลับความอร่อยแค่จากส่วนผสมที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นแต่ยังมีเสน่ห์ปลายจวักที่มีแม่ครัวเป็นผู้ถ่ายทอดความละเมียดละไม

“สัมปันนีมีความหมายคือเป็นที่รัก ด้วยเนื้อขนมจะมีผิวสัมผัสที่เนียนละเอียดมาก เวลาทานจะละลายในปากช้าๆ สมัยก่อนนิยมให้คนรักพกไป เวลาทานก็จะนึกถึงความละมุนของคนที่ทำขนมให้ เป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในงานแต่งงาน” สูตรที่ทานในวันนี้เป็นสัมปันนีสีเขียวที่มีส่วนผสมจากน้ำใบเตย ทานแล้วไม่หวานจนเกินไป เหมาะจิบคู่กับชาหรือน้ำผลไม้เป็นที่สุด

“โสมนัสเป็นเมอแรงก์ในแบบขนมไทย ก็เลยมีการใส่มะพร้าวคั่วเพิ่มเข้าไปซึ่งช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัส กลิ่นหอม และรสชาติให้พิเศษขึ้นมา มีความหมายที่ดีคือเบิกบานใจ มีความสุข เวลาให้ผู้รับก็เหมือนเป็นการอวยพรให้เขามีความสุข” การใส่มะพร้าวที่คั่วสดใหม่ทุกวันทำให้เมอแรงก์ของไทยมีรสที่แตกต่างจากสูตรฝรั่งเศสสมกับชื่อว่า Thai Coconut Meringue

“ดอกลำดวนเป็นขนมที่หน้าตาเหมือนดอกไม้เลย หลายที่เรียกว่ากลีบลำดวนแต่คุณยายให้ทริคมาว่าจริงๆ เราต้องเรียกว่าดอกลำดวนนะเพราะหน้าตาเหมือนดอกลำดวนทั้งดอกเลย เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงวัย แทนการอวยพรให้อายุยืนยาว” นอกจากชื่อจะไม่เหมือนใครแล้ว ดอกลำดวนของที่นี่ยังมีกลิ่นหอมจากการอบควันเทียน มีรสกลมกล่อมในดอกเดียว 

“ขนมผิงเป็นขนมที่ทานแล้วละลายในปาก เป็นขนมอบที่ใส่ไข่เข้าไปด้วยและมีความกรอบ จะให้รสชาติคนละแบบกับสัมปันนี เป็นขนมที่แทนความอบอุ่น” หยิบทานแป๊บเดียวก็หมดโดยไม่รู้ตัว

ขนมไทย 4 ชนิดรวมเซตกันแทนคำอวยพรว่า ‘ร่ำรวยรัก ร่ำรวยสุข อายุยืนยาว รักอบอุ่น’

Food as a Medium

คอนเซปต์ชื่อ ‘Well โภชนา’ ไม่ได้สื่อสารถึงแค่การอวยพร ความจริงแล้วชื่อนี้เป็นไอเดียของลูกยาง ผู้เคยจัดนิทรรการชื่อ ‘Waste โภชนา’ มาก่อนและนึกสนุกอยากเล่นคำและต่อยอดไอเดียให้กลายเป็นสินค้า

ก่อนหน้านี้ความอร่อยของขนมและของว่างสูตรไทยโบราณชักพาให้ลูกยางมาเจอร้านเอฟวี “เรามาทานขนมที่นี่แล้วชอบ ขนมไทยของเอฟวีดูเท่นะแต่เป็นสูตรต้นตำรับเลยซึ่งผมคิดว่าหายากในกรุงเทพฯ ดอกลำดวนของที่นี่จะหวาน มัน เค็ม ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น แล้วพอได้คุยกับพี่กิ่งก็พบว่าเราอยู่วงการเดียวกัน”
วงการเดียวกันหมายถึงการเป็นนักออกแบบคอนเซปต์ที่สื่อสารเรื่องราวผ่านอาหารเหมือนกัน  

นอกจากสตูดิโอ LUKYANG จะรับออกแบบแบรนดิ้งและแพ็กเกจจากโจทย์ของผู้ประกอบการแล้ว ลูกยางยังสนุกกับการริเริ่มทำโปรเจกต์ของตัวเอง และนิทรรศการ ‘Waste โภชนา’ ที่จัดแสดงการทำศิลปะเลียนแบบอาหารจากวัสดุเหลือใช้ก็เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องมาแล้วถึงสี่ครั้งด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้สื่อสารถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม

“เราเอาวัสดุรีไซเคิลทั้งกระดาษจากดอกไม้และเปลือกผลไม้ ขยะเหลือใช้จากบรรจุภัณฑ์และธรรมชาติมาพับเลียนแบบอาหารโดยอ้างอิงจากเมนูจริงของร้านอาหารท้องถิ่น” และหนึ่งในเมนูต้นแบบที่เคยทำก็คือบัวลอยธัญพืชของร้านเอฟวีที่ลูกยางทำเลียนแบบด้วยกระดาษดอกเบญจมาศ ถุงพลาสติก และกระดาษนิตยสาร 

ถึงตรงนี้การได้เจอกันของกิ่งและลูกยางเกิดเป็นความสนุกที่ได้เสพผลงานของกันและกัน เพราะนอกจากทั้งคู่จะเป็นนักออกแบบที่ใช้อาหารเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเหมือนกันแล้ว ในฝั่งของเอฟวีเองก็มีการออกแบบของใช้ในร้านจากวัสดุเหลือใช้เช่นกัน เช่น ที่รองแก้วจากเศษสับปะรด และแก้วที่รียูสจากขวดแก้ว 2 ใบซึ่งผลิตพิเศษสำหรับใช้ที่ร้านเท่านั้น

เมื่อทั้งคู่คลิกกันแถมผู้ชมนิทรรศการ Waste โภชนายังให้ฟีดแบ็กว่าอยากเดินทางไปชิมเมนูจริงที่คาเฟ่ต้นแบบ ไปจนถึงอยากซื้อของที่ระลึกจากนิทรรศการ ไอเดียร่วมกันคอลแล็บเพื่อออกแบบของที่ระลึกสำหรับทั้งนิทรรศการและคาเฟ่เอฟวีจึงเกิดขึ้น

Package for Tourist 

นอกจากไอเดียของ Well โภชนาจะเป็นการเลือกขนมไทยโบราณความหมายมงคลมาจัดในเซตเดียวกันแล้ว โจทย์การออกแบบแพ็กเกจใหม่ในครั้งนี้ยังตั้งต้นจาก pain point จริงจากการขายขนมที่กิ่งเจอ  

“จากประสบการณ์ที่เราทำงานเปิดร้านมา 4-5 ปีพบว่ามีลูกค้าที่ชอบแพ็กเกจขนมไทยแบบกระปุกแก้วก็จริงแต่จะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและการแตกเสียหายเวลาลูกค้าถือไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่ลูกค้าที่มาเดินเล่นถนนทรงวาดก็ไม่อยากจะถือไปตลอดทาง”

จากอินไซต์นี้ ลูกยางจึงตั้งโจทย์การออกแบบที่มาจากพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าด้วยความเชื่อว่างานดีไซน์ที่ดีไม่ได้เริ่มจากความสวยงามหรือตอบสนองแพสชั่นส่วนตัวด้านการรักษ์โลกเท่านั้นแต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานจริงเป็นหลัก

“พอมานั่งวิเคราะห์กันมันก็กลายเป็นไอเดียที่ back to basic คือการออกแบบกล่องกระดาษ เพราะบางคนก็ไม่ได้อยากเก็บกระปุกขนมไว้ ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน เขาต้องการแค่กล่องกระดาษทั่วไป และพอทำรีเสิร์ช ลองเทสต์กับคนก็ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ทั้ง 100% เลย ไม่มีใครอยากกินขนมที่เป็นซองใหญ่ แค่อยากฉีกซองเล็ก กินครั้งเดียวให้หมดเลย เพราะมองว่ามันคือสแน็ก ไม่ได้กินเยอะ และขนมก็จะลดความอร่อยทุกครั้งที่เปิดด้วย”  

กล่องกระดาษเซตพิเศษนี้จึงเป็นตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมาให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้นอกจากแบบกระปุกแก้ว และเพื่อทำเป็นของที่ระลึกสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย ลูกยางจึงออกแบบให้เป็นกล่องขนมที่พาเที่ยวได้โดยระบุแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของถนนทรงวาดเอาไว้

“คนมาเที่ยวทรงวาดเพราะอยากมารู้ว่าที่ย่านนี้มีอะไร ผมก็เลยทำเป็นแผนที่ทรงวาดแล้วก็เล่าว่าที่นี่มีแลนด์มาร์กอะไรบ้าง” หากทานของว่างและแวะซื้อ Well โภชนาที่เอฟวีเสร็จแล้ว ก็สามารถเดินเล่นต่อได้ที่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ตึกแขก ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง โรงเรียนเผยอิง มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก วัดปทุมคงคา ตามที่แนะนำไว้บนกล่องได้เลย

กิมมิกสุดครีเอทีฟคือรอยปรุที่ฝากล่องสำหรับฉีกออกมาเป็นโปสต์การ์ดเพื่อเก็บเป็นที่ระลึกได้ “คุณทิ้งกล่องส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปได้แต่ยังสามารถเก็บส่วนหนึ่งของกล่องนี้เพื่อเป็นที่ระลึกได้ว่าที่นี่คือทรงวาดและนี่คือกิมมิกที่เราทำไว้”  

ด้วยความที่ลูกยางศึกษาเรื่องการจัดการขยะในโปรเจกต์ส่วนตัวมาก่อนทำให้ใส่ใจการให้คำแนะนำในการทิ้งกล่องเป็นพิเศษ ข้างกล่องจึงมีการระบุว่าสามารถส่งกล่องนี้ไปบริจาคทำเชื้อเพลิงได้ที่ไหนด้วย  

“เราอยากแนะนำการจัดการอย่างถูกต้องเพราะคนจะเข้าใจผิดกันเยอะ โรงงานรีไซเคิลขยะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งคือโรงงานระบบแมส กับสองคือโรงงานที่มีนวัตกรรมเฉพาะซึ่งสามารถรีไซเคิลในสิ่งที่โรงงานแมสทั่วไปทำไม่ได้ เช่น ถุงขนมฟอยล์ ถุงขนมวิบวับ เลยอยากแนะนำให้ส่งขยะไปจัดการในที่ที่ทำเชื้อเพลิงได้ดีกว่า”

Future Collaboration 

อนาคตอาจมีโอกาสได้เห็นเมนูใหม่หรือของที่ระลึกเซตใหม่จากเอฟวีอีกเรื่อยๆ ด้วยของว่างและขนมไทยของที่ร้านเป็นสูตรที่ทำตามผักผลไม้ในแต่ละฤดูกาลทำให้การแวะไปที่คาเฟ่ในแต่ละครั้งอาจได้เจอเมนูไม่เหมือนกัน ความสุขของกิ่งคือการได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นของอร่อย

“ความจริงเรายังใช้วัตถุดิบไทยไม่ถึงครึ่งเลย ทั้งสมุนไพรเอย ผลไม้ในแต่ละท้องถิ่นเอย ธัญพืชที่มีประโยชน์อย่างเม็ดบัว ลูกเดือย วัตถุดิบพวกนี้เราก็เคยเอามาทำเมนูไปแล้วบ้างแต่ไม่ได้มีขายทุกวันและยังมีวัตถุดิบให้เอามาใช้พัฒนาเป็นสินค้าอีกเยอะมาก” 

การออกแบบขนมไทยร่วมกับเอฟวีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Well โภชนาเท่านั้น เพราะตอนนี้ลูกยางกำลังเตรียมออกแบบแพ็กเกจใหม่ในซีรีส์นี้ให้แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ต่อไปโดยยึดคอนเซปต์หลักที่มีกิมมิกเดียวกันในการออกแบบทุกบรรจุภัณฑ์ คือการระบุวิธีทิ้งขยะเพื่อให้สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องหลังทานเสร็จ

การร่วมมือกันออกแบบ Well โภชนา ครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้ถึงสามอิ่ม

คาเฟ่เอฟวีอิ่มใจที่ได้นำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า  

ลูกค้าอิ่มเอมที่ได้ชุดสินค้าของฝากที่น่าทานและน่าจดจำกลับไป 

LUKYANG อิ่มอกอิ่มใจกับการออกแบบงานสร้างสรรค์ที่ได้สื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม

ออกมาเป็นคอนเซปต์ของ ‘ขนมไทยที่ระลึก’ ที่สื่อสารคำอวยพรมงคลความหมายอบอุ่นและอบอวลด้วยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้จริง


เบื้องหลังการ Design Well ในแบบของ ‘Well โภชนา’ ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยความเชี่ยวชาญด้านขนมไทยของเอฟวีและความรู้ด้านการออกแบบของ LUKYANG เท่านั้น ทั้งคู่นำไอเดียการออกแบบของที่ระลึกมาพัฒนาเป็นสินค้าจริงภายใต้โครงการ ‘CHANGEx2: Greater Together ผนึกกําลังสุดครีเอต อัปเกรดธุรกิจโลคัล’ ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการและครีเอเตอร์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกัน ทำให้ได้รับทักษะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในส่วนธุรกิจและการตลาด การทำการตลาดดิจิทัล การวางแผนทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย การทำพีอาร์ การคำนวณต้นทุน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำด้านข้อมูลที่ควรใส่ในบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงความรู้หากอยากขยายไปขายต่างประเทศในอนาคต การมีทักษะที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการการทำธุรกิจทำให้การคอลแล็บร่วมกันครั้งนี้เกิดเป็น ‘Well โภชนา’ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ 

F.V และ LUKYANG

F.V และ LUKYANG 

‘หิ่งห้อย’ มากกว่าบาดแผลสงคราม คือความรัก การเกิด-ดับ และการพัฒนาชนบทญี่ปุ่น 

ถ้าพูดชื่อสุสานหิ่งห้อย เราคงนึกถึงแอนิเมชั่นสำคัญที่พาคนทั้งโลกหลั่งน้ำตาด้วยเรื่องราวของสองพี่น้องที่ต้องเอาชีวิตรอดในโศกนาฏกรรมสงคราม 

นอกจากประเด็นบาดแผลสงครามแล้ว การอ้างอิงถึงหิ่งห้อยยังมีนัยพิเศษกับบริบทวัฒนธรรมญี่ปุ่น ด้วยหิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่คนญี่ปุ่นรัก มีประวัติศาสตร์ และมีความหมายกับวิถีชีวิตของผู้คนมาอย่างยาวนาน ทว่าในความรักของหิ่งห้อยที่มีตั้งแต่บรรพกาล ก็กลับพาให้น้องหิ่งห้อยไปสู่หายนะ 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือยุคสมัยแห่งความเจริญอย่างสมัยเมจิ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเกิดศูนย์กลางเมืองสำคัญ หิ่งห้อยที่เคยอยู่ตามธรรมชาติถูกกวาดเข้าสู่พื้นที่กิจการต่างๆ ของเมืองใหญ่ ด้วยหิ่งห้อยถือเป็นความมหัศจรรย์และภาพฝันอันสวยงาม ในยุคนั้นได้เกิดอุตสาหกรรมหิ่งห้อยขึ้น การขุดไถหิ่งห้อยจำนวนมากจากคลองอันอุดมสมบูรณ์นั้นมาพร้อมกับความเสื่อมโทรมที่รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติ 

พื้นที่สำคัญของเหล่าหิ่งห้อยจึงกลายเป็นสุสานหิ่งห้อยที่มีความหมายตรงตัวในที่สุด

จังหวะที่แอนิเมชั่นสุสานหิ่งห้อยกำลังจะเข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์ คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ขอพาทุกท่านไปชมแสงระยับยามค่ำคืนอันเป็นที่รักของชาวญี่ปุ่น จากตัวแทนของความรัก ปรัชญาแบบพุทธศาสนา เรื่องเล่าเรื่องความเพียร จนกลายเป็นการทำลายก่อนที่จะเกิดกระแสที่รัฐใช้การอนุรักษ์หิ่งห้อย ไปจนถึงใช้หิ่งห้อยเป็นหัวใจของการฟื้นฟูเมืองผ่านการสร้าง ‘หมู่บ้านหิ่งห้อย’ ในพื้นที่ชนบท

ตัวแทนของฤดูร้อน ปรัชญาลึกซึ้งของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักปรากฏตัวในช่วงฤดูร้อน กิจกรรมสำคัญของชาวญี่ปุ่นคือการชมหิ่งห้อย กระทั่งการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีชื่อเสียงด้านการชมหิ่งห้อยซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีน้ำ เช่น แม่น้ำหรือลำธารที่ใสสะอาด เมืองสำคัญเช่นเมืองโมริยามะ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ผู้คนจากเมืองใหญ่จะเดินทางมาเยือน มีกิจกรรมล่องเรือไปตามแม่น้ำเพื่อชมแสงวิบวับสีเขียวและเหลืองที่สงบงาม

ความพิเศษของหิ่งห้อยในวัฒนธรรมคือการเป็นตัวแทนของความกลมกลืนและความงามในธรรมชาติ หิ่งห้อยเป็นตัวเรื่องสำคัญที่ศิลปินจะนำมาใช้ในศิลปะภาพพิมพ์ไม้ที่เรียกว่า ukiyo-e มีความหมายว่าภาพของโลกที่ล่องลอยอยู่ (pictures of the floating world) 

ศิลปะภาพพิมพ์ไม้มักแสดงภาพชีวิตประจำวัน ความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจในช่วงศตวรรษที่ 17–ศตวรรษที่ 20 ความน่าสนใจของศิลปะภาพพิมพ์ไม้คือตัวมันเองก็เป็นกิจการอย่างหนึ่ง มีการพิมพ์ภาพจำหน่ายไปยังผู้ซื้อศิลปะโดยเฉพาะรอบๆ เมืองเอโดะอันเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น

ภาพหิ่งห้อยเป็นอีกภาพที่ค่อนข้างได้รับความนิยม ศิลปินใช้หิ่งห้อยเป็นส่วนประกอบหรือเป็นประเด็นหลักของงาน ตัวหิ่งห้อยมีความหมายลึกซึ้ง หลายครั้งเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ตัวมันเองก็มีความมหัศจรรย์ เป็นแสงที่ไม่รู้จบ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความคิดเรื่องความไม่จีรัง ความวูบไหวและไม่แน่นอน การเกิดและดับของสรรพชีวิต ทั้งการแสดงภาพหิ่งห้อยยังต้องใช้ทักษะทางศิลปะอย่างพิเศษในการให้ภาพของแสงในที่มืด 

การชมหิ่งห้อยถือเป็นกิจกรรมของผู้คน ตั้งแต่การเฝ้ามองไปจนถึงการจับหิ่งห้อยมาเลี้ยงดูเพื่อการชม ตัวหิ่งห้อยยังสัมพันธ์กับความรัก ตำนานเช่นในมหากาพย์เรื่องเกนจิมีตอนที่ว่าด้วยหิ่งห้อย ตัวละครเอกใช้วิธีปล่อยฝูงหิ่งห้อยเพื่อให้คู่รักของน้องชายมองเห็นกันและกันได้ หิ่งห้อยจึงมีนัยของความโรแมนติก 

ภาพพิมพ์ส่วนใหญ่มักให้ภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเกี้ยวพาราสี หรือเป็นส่วนหนึ่งของความงามของสตรี บางภาพของญี่ปุ่นรับอิทธิพลของจีนว่าด้วยความเพียรมา เป็นภาพของนักเรียนยากจนที่จับหิ่งห้อยใส่ไว้ในตะเกียงเพื่อใช้อ่านตำราในช่วงค่ำคืน บางเรื่องพูดถึงการเข้าสู่สนามรบที่แม่ทัพสังเกตพฤติกรรมของหิ่งห้อยบริเวณน้ำใกล้ๆ ว่าสะอาดหรือปลอดภัย มีการวางยาหรือสิ่งแปลกปลอมหรือไม่

ภาพของ Kiyochika

หายนะของหิ่งห้อย กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อันที่จริงความนิยมของหิ่งห้อยนำพาผู้คนไปสู่บ้านของพวกมัน อย่างน้อยที่สุดคือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 20 กระทั่งที่ญี่ปุ่นเริ่มขยายทางรถไฟ เมืองน้อยแบบโมริยามะเองก็มีรถไฟสายพิเศษที่วิ่งตรงจากเกียวโตและโอซาก้า พาคนเมืองไปเยี่ยมเยียนบ้านของเหล่าหิ่งห้อยได้

ทว่าความซวยของหิ่งห้อยเกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือในยุคเมจิ (1868-1912) ในช่วงนี้เกิดหายนะต่อหิ่งห้อยในหลายด้าน โดยเฉพาะการก่อตัวขึ้นของเมืองใหญ่เช่นเกียวโต โตเกียว และโอซาก้า ผู้คนที่ช่างคิดพบว่าทำไมเราไม่พาหิ่งห้อยเข้าไปในเมืองซะเลย ผลคือในยุคนั้นเกิดอุตสาหกรรมหิ่งห้อย ที่นักล่าและพ่อค้าจะจับหิ่งห้อยไปปล่อยขายในเมือง 

วิธีคิดแสนธรรมดาในยุคนั้นคือในเมื่อเรารักหิ่งห้อยมาก ในกิจการร้านค้าใหม่ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สวนส่วนตัว กระทั่งพระราชวังหลวงในกรุงเกียวโต ก็มีการจับและขนหิ่งห้อยนับล้านตัวไปยังบ้านใหม่ในเมือง

หายนะของหิ่งห้อย สัมพันธ์กับความเปราะบางและวงจรชีวิตของเจ้าหิ่งห้อยเอง วงจรชีวิตของหิ่งห้อยต้องอาศัยทั้งน้ำสะอาดของแม่น้ำและพื้นที่ริมน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยวงจรที่หิ่งห้อยตัวเมียจะต้องขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณริมแม่น้ำที่มักปกคลุมด้วยมอส ก่อนที่ตัวอ่อนจะลงไปเจริญเติบโตในแม่น้ำ 

จังหวะของการผสมพันธุ์และวางไข่นี้เองที่พ่อค้าหัวใสสามารถลงมือจับหิ่งห้อยได้เป็นจำนวนมาก รายงานระบุว่าในหนึ่งคืน นักจับหิ่งห้อยสามารถจับหิ่งห้อยได้ถึง 3,000 ตัว วิธีการจับคือการเอาคราดไม้ไผ่ลากและขุดพวกมันขึ้นมาจากดิน

แน่นอนว่าหิ่งห้อยที่เพิ่งวางไข่ โดยเฉพาะตัวเมียที่ขึ้นมาเพื่อวางไข่ เมื่อถูกจับไปปล่อยในพื้นที่กลางเมือง ชีวิตของพวกมันจะนำไปสู่ความตายอย่างแน่นอน สภาพแวดล้อมในเมือง ในสวนไม่เหมาะสมกับการวางไข่และการเจริญเติบโต ซ้ำร้าย แม่พันธุ์ของเหล่าหิ่งห้อยเองก็หายไปจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม

นอกจากการเติบโตขึ้นของเมืองที่ขุดพาพวกหิ่งห้อยไปสู่ความตาย พื้นที่อยู่อาศัยเดิมของหิ่งห้อยเองก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม แม่น้ำที่เคยสะอาดเริ่มปนเปื้อนทั้งจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง การสร้างพนังกั้นน้ำปูนและสารเคมีต่างๆ ทำให้บริเวณน้ำตื้นๆ ที่เคยปกคลุมด้วยมอสหรือพืชต่างๆ เริ่มกลายเป็นพื้นที่โล่งๆ 

ระบบนิเวศที่หายไปนี้ส่งผลโดยตรงทั้งน้ำสะอาดที่มีผลต่อตัวอ่อนหิ่งห้อย หญ้ามอสที่เคยเป็นที่กำบังและเป็นพื้นที่เติบโตของหอยทากน้ำจืด อาหารหลักของพวกมัน

หิ่งห้อยกับการพาความเจริญกลับบ้านเกิด

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์เคยพูดถึงกระแสการกลับไปพัฒนาชนบทยุคหลังสงครามโลก ปัญหาที่ชนบทญี่ปุ่นเริ่มว่างเปล่าลง ผู้คนซึ่งในที่นี้ดันพาเอาหิ่งห้อยไปตายที่เมืองด้วย 

ช่วงทศวรรษ 1960 นี้เองที่ทั้งพื้นที่สำคัญของหิ่งห้อย และพื้นท่ีบ้านเกิดเมืองนอนเริ่มประสบปัญหาถดถอยและเสื่อมโทรมลง จังหวะนี้เองที่พื้นที่ธรรมชาติเกิดกระแสการอนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยขึ้น พร้อมๆ กับความพยายามดึงผู้คนและความเจริญกลับไปสู่ชนบท

กระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเรียกว่า ‘หมู่บ้านหิ่งห้อย’ หรือ ‘firefly villages–hotaru no sato’ คำว่าหมู่บ้านหิ่งห้อยเป็นคำกว้างๆ คืออาจหมายถึงพื้นที่หมู่บ้านที่มีพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูหิ่งห้อยจริงๆ หรืออาจหมายถึงพื้นที่ตามธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์และมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ

งานศึกษาว่าด้วยหิ่งห้อยและการพัฒนาพื้นที่ชนบทมีความสัมพันธ์กัน การอนุรักษ์ทางธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูชนบทที่รกร้าง หิ่งห้อยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกลับไปพัฒนา เป็นหัวใจของการท่องเที่ยว 

Firefly Village

ในงานศึกษาชี้ให้เห็นการทำงานอย่างซับซ้อนของกลุ่มอนุรักษ์และการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและในการเสื่อมโทรมเชิงสังคมเช่นการไม่มีผู้อยู่อาศัย ทำให้เมืองหรือพื้นที่นั้นๆ กลับมามีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในงานวิจัยระบุว่าในปี 2016 มีพื้นที่ที่เรียกว่าหมู่บ้านหิ่งห้อยมากถึง 650 แห่ง ในการอนุรักษ์มีกระบวนการทำงานอย่างซับซ้อน บางแห่งมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ จุดร่วมของหมู่บ้านและการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยหิ่งห้อยมักสัมพันธ์กับการจัดพื้นที่ชมหิ่งห้อยสำหรับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว มีการจัดเทศกาลชมหิ่งห้อย มีกิจกรรมอื่นๆ เช่นการจัดการแสดง กิจกรรมเกี่ยวกับงานฝีมือของท้องถิ่น เทศกาลด้านอาหาร บางแห่งมีการใช้มาสคอตหิ่งห้อยน้อย Pikkari-chan จากเมืองทัตสึโนะ 

เมืองทัตสึโนะเป็นอีกเมืองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวจากหิ่งห้อย เก่าแก่ตั้งแต่สมัยเอโดะ และเมืองเองก็เกือบเสียหิ่งห้อยไปทั้งหมดในยุคเมจิ ด้วยการกลับมาของนักอนุรักษ์และความร่วมมือกับโรงเรียนและนักเรียนของเมืองทำให้การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและหิ่งห้อยกลับมา 

เมืองแห่งนี้มีจุดเด่นในการจัดเทศกาลหิ่งห้อยซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปี ด้วยบริบทความร่วมมือกับเด็กๆ หัวใจของงานและการอนุรักษ์หิ่งห้อยคือเจ้ามาสคอตน้อยที่ถือว่าเป็นที่รักของเด็กๆ ทั้งเด็กในเมืองและเด็กที่เดินทางมาเที่ยวในช่วงเทศกาล

ความน่าสนใจของทั้งความรักของหิ่งห้อยของคนญี่ปุ่น ความรักที่เกือบทำให้หิ่งห้อยสูญพันธุ์ คือการที่ญี่ปุ่นมองเห็นผลเชิงลบของยุคการพัฒนา ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ธรรมชาติ และการนำเอาความเสื่อมโทรมกลับมาเป็นกลยุทธ์เพื่อดึงทั้งผู้คนให้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน และดึงผู้คนโดยเฉพาะคนเมืองให้กลับไปท่องเที่ยวในชนบท 

ในความเข้าใจ การฟื้นฟูด้วยหิ่งห้อยไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่คือการฟื้นฟูอดีต ในกระบวนการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติมีความสลับซับซ้อนทั้งการดูแลเชิงระบบนิเวศต่อสรรพสัตว์ของระบบนิเวศนั้นๆ การนำเรื่องเล่าและความรักต่อธรรมชาติ กรณีนี้คือหิ่งห้อย ให้กลับมามีชีวิต จากการรักและทำให้พวกมันเป็นสินค้า ส่งไปขายในเมือง สู่การทำให้พวกมันกลับคืนสู่ธรรมชาติ และพาผู้คนกลับมาหาพวกมันอีกครั้ง

อ้างอิง

SME ไทยช่วงชิงประโยชน์จาก e-Commerce ยังไงได้บ้าง? คำตอบจาก Thailand e-Commerce Expo 2024

ณ เวลานี้ สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ได้หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่สลักสำคัญแทบไม่ต่างจากอวัยวะส่วนที่ 33 ของร่างกายมนุษย์   

แม้แต่ในแง่มุมการทำธุรกิจเอง โซเชียลฯ ก็มีอิทธิพล ถึงขั้นมีการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘e-Commerce’ หรือ ‘Electronic Commerce’ ซึ่งหมายถึงการขายสินค้าหรือบริการบนโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบค้าส่งและค้าปลีก โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านค้าเป็นของตนเอง

ฟังดูสะดวกและรวดเร็ว ทว่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซคือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งมีรูปแบบการนำเสนอไม่ตายตัว ใครที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจประเภทนี้ จึงจำเป็นต้องอัพเดตตัวเองและสังเกตรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ นั่นจึงเป็นจุดประสงค์ของการจัดงาน ‘Thailand e-Commerce Expo 2024’ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จับมือกับพันธมิตรด้านอีคอมเมิร์ซจำนวน 43 ราย เพื่อแบ่งปันเทคนิคการสร้างยอดขายและประสบการณ์การทำคอนเทนต์ สำหรับนำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจของธุรกิจตัวเอง 

Thailand e-Commerce Expo 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคมที่ผ่านมา มีไฮไลต์กิจกรรมน่าสนใจ อาทิ Guru Talk แชร์ประสบการณ์จากสปีกเกอร์ชื่อดังหลากหลายด้านที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ เช่น ยาดมหงส์ไทย

Business Consult เซสชั่นให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซแบบตัวต่อตัว เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด pain point และแชร์กลยุทธ์การขาย, DBD Pavilion พื้นที่จัดแสดงสินค้า และไลฟ์จำหน่ายสินค้าภายในงานโดยอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง ฯลฯ

นอกเหนือจากกิจกรรมที่กล่าวมา ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ถูกยกขึ้นมาในงาน นั่นคือ อีคอมเมิร์ซสำคัญยังไงต่อโลกธุรกิจยุคใหม่ แล้วเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมต่อเทรนด์อีคอมเมิร์ซมากน้อยแค่ไหน? ถึงขั้นต้องมีการจัดงานอีเวนต์ในลักษณะนี้ขึ้น

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความคิดเห็นต่อคำถามดังกล่าวไว้ในงาน Thailand e-Commerce Expo 2024 ว่า ธุรกิจประเภทอีคอมเมิร์ซกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันยังมีการแข่งขันเข้มข้น เพราะไม่ได้มีแค่การแข่งขันกันในประเทศ แต่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซตั้งแต่การปูพื้นฐานความเข้าใจ ไปจนถึงการสนับสนุนด้านช่องทางการเติบโต

“ในปี 2566 การค้าในระบบอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าเกือบ 6 ล้านล้านบาท และจะยิ่งเติบโตในอนาคต กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กระดับ SME ผู้ประกอบการชุมชน จะมีการเลือกชุมชนจาก 10 จังหวัด มาร่วมมือกับอาลีบาบาส่งออกสินค้าผ่านแพลตฟอร์มให้ชุมชนเข้มแข็ง และส่งเสริมสินค้าไทยผ่านแฟลตฟอร์มต่างชาติ 

“เช่น Tmall Amazon Rakuten เป็นต้น และวันที่ 25 กันยายน 2567 จะมีกิจกรรมให้อินฟลูเอนเซอร์จากต่างประเทศคัดเลือกสินค้าไทย นำไปจัดไลฟ์ขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประเทศจีน รวมไปถึงใช้ซีรีส์วายและซีรีส์ยูริ ส่งเสริมสินค้าไทย

“อย่างที่เห็นว่า มีแพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาซึ่งเราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนอุดหนุนได้เพราะราคาถูก จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว ทำสินค้าคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งออกไปตลาดต่างประเทศ รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านเงินทุนและกฎระเบียบ 

“คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานจัดการธุรกิจระหว่างประเทศและในประเทศผ่านแพลตฟอร์มดูแลให้เหมาะสมและสมดุล ปกป้องธุรกิจของชาวไทย จากนี้เราต้องไม่แข่งขันกันแต่ด้านราคา สินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าด้านอาหาร อุปโภคบริโภค และผลไม้ของเรามีหลายตัวแข่งขันได้ และเรายังมีศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมด้วย“ ภูมิธรรมกล่าว

น่าสนใจว่า ตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตไปถึงจุดไหน และจะมีกลยุทธ์น่าสนใจใดเกิดขึ้นมาอีกบ้าง เหมือนที่ครั้งหนึ่งอีคอมเมิร์ซได้ให้กำเนิดอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ขึ้นมา และถูกยอมรับว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจระดับ SME จากรัฐบาลที่ภูมิธรรมกล่าวมา ว่าจะสามารถทำได้จริงตามนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้จริง นี่จะเป็นโอกาสอันดีในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปอีกขั้น

ส่วนใครที่อยากชมบรรยากาศและเซสชั่นต่างๆ ตลอดทั้ง 2 วัน ในงาน Thailand e-Commerce Expo 2024 สามารถรับชมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Thailand e-Commerce Expo

Oasis Sea World จากโลมาติดอวนสู่โชว์โลมาไร้เสียงนกหวีด ที่ใช้ ‘หัวใจ‘ ฝ่าฟันทุกวิกฤต

นอกจากผลไม้ ทะเล หรือป่าเขาลำเนาไพร หากถามคนจันทบุรีกันเอง อีกสิ่งที่คนจันทบุรีอาจบอกได้ว่าภาคภูมิใจคือสถานที่ตรงหน้าเรา 

Oasis Sea World

พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีออกไปราว 30 นาที เป็นสถานที่ที่คนภายนอกอาจมองว่าคือสวนน้ำทั่วไปแต่หากถามผู้ก่อตั้งอย่าง วิชัย วัฒนพงศ์ และทายาทรุ่นปัจจุบันอย่าง วณิชชา วัฒนพงศ์ ทั้งสองจะตอบว่า Oasis Sea World คือบ้านของโลมาไทย

“มันเริ่มจากการที่คุณพ่อเห็นน้องโลมาติดอวนที่ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เขาจะถูกนำไปแล่เนื้อขายกิโลกรัมละแค่ไม่กี่สิบบาท ณ เวลานั้น คุณพ่อมีบ่อกุ้งอยู่ เลยช่วยชีวิตเขามา แต่เราจะรักษาบาดแผลเขาได้ไหม เขาจะทานอาหารหรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่อาจจะไม่ได้คิดในวินาทีนั้น แค่รู้สึกว่าทำยังไงก็ได้ให้เขารอดก่อน

“พอเราได้เขามาอยู่ในบ่อก็ค่อยๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระยะเวลาหนึ่งเขาก็เริ่มไว้ใจ โยนอาหารให้ก็เริ่มทาน จนวันนึง เขาไว้ใจพอจะเข้ามาทานอาหารกับมือได้ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักและความผูกพันที่เกิดขึ้น”

Oasis Sea World ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2533 วิชัยเริ่มต้นจากโลมาไทย 2 ตัว จนปัจจุบันมีโลมาทั้งหมด 7 ตัว 2 สายพันธุ์ คือโลมาปากขวดสีชมพู และโลมาหัวบาตรหรืออิรวดี ซึ่งกว่าจะดำเนินธุรกิจได้จนถึงทุกวันนี้ ทายาทรุ่นปัจจุบันเอ่ยว่าไม่ง่าย 

โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ทำให้รายรับเป็นศูนย์ รวมถึงประเด็นการใช้งานและเลี้ยงสัตว์คุ้มครอง ทั้งที่ Oasis Sea World เริ่มต้นดูแลโลมาก่อนกลายเป็นสัตว์คุ้มครอง และการแสดงโชว์โลมาโดยไม่ใช้เสียงนกหวีดเช่นที่อื่นๆ ได้นั้นก็ต้องอาศัยความเชื่อใจ ความผูกพันระหว่างครูฝึกและโลมาทุกตัว 

แต่ก็เพราะจุดเริ่มต้นอันแสนจริงใจอีกนั่นแหละ ที่มีคนพร้อมออกมาช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและบอกเล่าความตั้งใจอันแท้จริงของผู้ก่อตั้งเสมอ จนทำให้ชื่อของ Oasis Sea World ไม่เคยจางหายไปจากลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวที่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไทยอยากพาลูกๆ มาเช็กอิน

“สิ่งที่ทำให้เรารอดมาได้ทุกสถานการณ์ก็คือความจริงใจและความรักของทุกคน เราว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากความฉลาดหรือว่าความสามารถอื่นใดในเชิงการบริหารธุรกิจเลย” 

เสียงกล่าวต้อนรับของผู้นำโชว์กึกก้องกังวาน เป็นสัญญาณบอกให้ผู้คนพร้อมรับชมการแสดง 

ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจ แล้ว Oasis Sea World เกิดขึ้นได้ยังไง

หลายคนเคยดูหนังที่มีโลมา แล้วรู้สึกว่าโลมาเป็นสัตว์ที่น่ารัก พอเขาได้ยินว่าคุณพ่อช่วยเหลือและนำมาเลี้ยงไว้คนก็เริ่มขอเข้ามาดู จุดเริ่มต้นเป็นแบบนั้น โดยที่เราไม่ได้คิดว่าจะต้องทำเป็นธุรกิจหรือเปิดให้บริการอันใด  

วันที่มีการเก็บสถิติคือคนเข้ามาชมกว่า 20,000 คนภายในวันเดียว แล้วเป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนับจากวันที่ 1 มิถุนายน 2533 ที่เราเปิด สถานที่ ณ เวลานั้น คือดินแดงๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลย เรามีแค่บ่อโลมา และเพียงน้องโลมาว่ายขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำนิดนึง ผู้คนก็เฮกันทั้งขอบบ่อแล้ว 

จากนั้นเราเลยต้องทำที่จอดรถ ห้องน้ำ อาคาร เพื่อดูแลความสะดวกให้กับคนที่เดินทางมา ตอนนั้นถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำคนเข้ามาในจังหวัดจันทบุรีได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งเลย 

ธุรกิจประเภทนี้มีคู่แข่งเหมือนธุรกิจอื่นๆ บ้างไหม

จริงๆ ต้องบอกว่าโชคดีมากที่ในเมืองไทยมีผู้ที่เลี้ยงโลมาอยู่ไม่กี่ที่ แต่ธุรกิจใกล้เคียงอย่างสวนสัตว์ สวนสนุกนั้นมีอยู่เยอะมาก 

แต่เราก็มองว่าเรามีจุดขายที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างถ้าใน Sea World ทั่วไปก็จะเห็นว่าเขาใช้นกหวีดในการส่งสัญญาณ เพื่อบอกให้โลมาทำท่าต่างๆ แต่ที่นี่เทรนเนอร์ทุกคนรักโลมามากพอที่จะคุยกับโลมาได้ 

เราใช้ความรัก ความผูกพัน สัญญาณมือและภาษาไทยปกตินี่แหละสั่งให้กระโดดหรือให้เขาขึ้นมากินอาหาร

ยากไหม

เราจะคุยกับโลมาให้รู้เรื่องได้ยังไง จังหวะไหนที่เขาจะกระโดดแล้วจังหวะจะโคนมันจะไม่แม่นเป๊ะ 

บางวันเขาอาจจะอยากเล่นกันเองในน้ำมากกว่า ถ้าใช้สัญญาณนกหวีดมันก็สั่งทางไกลได้ แต่พี่เทรนเนอร์เราก็ต้องรู้จังหวะที่จะสื่อสารให้เขารู้ว่าเราแสดงให้คนดูอยู่นะ

เราถึงคิดเสมอว่าถ้านับมาตั้งแต่ต้น คนที่ต่อสู้เยอะที่สุดคือในสมัยของคุณพ่อ  

จากวันที่คนเข้ามากว่า 20,000 คน มีวันที่คนขาดหายไปบ้างหรือเปล่า

หลังจาก 20,000 คนวันนั้น เราก็เจอวิกฤตมาเรื่อยๆ นะ

วิกฤตแรกเลยที่เจอคือการทำถนนระหว่างจันทบุรีไปถึงแกลง สมัยก่อนการทำถนนจะไม่ได้แบ่งเลนให้คนเดินทาง แต่เป็นการรื้อถนนแล้วสร้างใหม่ นั่นแปลว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาจันทบุรีได้เลย เราก็ดำเนินธุรกิจแบบกระท่อนกระแท่นมาก 

พอถนนดีได้สักปีเศษๆ ก็เจอวิกฤตต้มยำกุ้งที่ต้องต่อสู้กันไป ต่อมาอีกไม่ถึง 10 ปีดี เราก็เจอพายุงวงช้างเข้าในพื้นที่ ภาพที่จำได้คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรามันหายวับไปกับตา โครงสร้างต่างๆ พังทลาย เราต้องเดินข้ามกองซากปรักหักพัง และต้นไม้ที่โค่นลงมานอนกับพื้น

วันนั้นโชคดีว่าพระยังคงอวยพรเราอยู่ ที่บ่อโชว์โลมาไม่ได้รับความเสียหายอะไร สิ่งแรกที่ทำคือเช็กว่าน้องโลมาปลอดภัยไหม ทุกตัวตื่นตกใจ แต่ว่าปลอดภัยก็ให้พี่เลี้ยงไปหาเขา ส่วนพวกเราที่อยู่ตรงนั้นก็ตกใจร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก

แต่อ้าว ด้านหน้าประตูจำหน่ายบัตรมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากเชียงใหม่ 1 รถบัสและนั่งรอที่จะเข้าชม แต่เขาไม่เห็นว่าด้านในเกิดอะไรขึ้น พ่อก็โทรมาบอกว่าทำยังไงก็ได้ เราต้องไม่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมารู้สึกผิดหวัง อย่างน้อยเขาต้องได้เห็นโลมา 

เราก็เคลียร์เศษซากทั้งหมดให้เปิดทำการแสดงได้ เพื่อนพี่น้องในจังหวัดจันทบุรีก็ระดมคนมาช่วยกัน ไม่ถึงเดือนเราสามารถเคลียร์ทุกอย่างให้กลับมาสู่สภาวะปกติ นั่นคือวิกฤตที่ทำให้เราช็อกที่สุดครั้งหนึ่ง 

แต่ก็ยังไม่มากเท่าวันที่เราเจอโควิด-19  

ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไง

มันก็เป็นอะไรที่ใจหาย หัวใจล่มสลาย 

เพราะเป็นวิกฤตเดียวที่เราต้องปิดประตูรั้วบ้านของ Oasis Sea World จากคำสั่งรัฐบาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการรวมตัวของผู้คน

แล้วการปิดประตูในวันนั้นมันเหมือนปิดลมหายใจ เพราะไม่เคยมีสักวันที่เราไม่มีรายได้เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว แปลว่าเราจะต้องใช้เงินเท่าที่เรามีในการประคับประคองพื้นที่ แต่สถานที่ของเรามันไม่ได้ปิดเหมือนปิดเครื่องเล่น

ที่นี่ต้องใช้ไฟฟ้ากรองน้ำทำออกซิเจนเพื่อลมหายใจของทุกชีวิตในน้ำ เรายังต้องให้อาหารพวกเขา ยังมีน้องกวางที่เราเลี้ยงอยู่ เราไม่สามารถให้พนักงานหยุดทั้งหมดได้ ณ เวลานั้นทุกคนจะต้องมาช่วยดูแลสิ่งที่มีชีวิตในบ้านหลังนี้ 

มันบีบหัวใจมาก แล้ววันที่มันรู้ว่าจะหายใจได้อีกแค่ไม่กี่วัน ครอบครัวเราก็เลยมาคุยกันว่าจะทำยังไงต่อ มันมี 2 ทางเลือก ทางเลือกแรกคือปิดที่นี่ถาวรไปเลย หรือทางเลือกที่สองคือขายที่ดินแปลงหนึ่งที่ครอบครัวตั้งใจเก็บไว้ในบั้นปลายชีวิต 

สุดท้าย เราตัดสินใจขายที่ แล้วเอาเงินทั้งหมดมาประคองให้รอดวิกฤตโควิด-19 มาได้  

อะไรทำให้ครอบครัวเลือกที่จะเก็บ Oasis ไว้ 

โลมา (ตอบทันที)

ถ้าเราไม่มีเงินไปจ่ายค่าไฟ เขาก็จะไม่มีออกซิเจนหายใจ ความรู้สึกมันเหมือนกับวันแรกที่เราเห็นเขาติดอวนมา แล้วเรารู้ว่าอีกไม่กี่นาทีเขาจะต้องตาย 

เขาคือสมาชิกในครอบครัวของเรา เราก็เลยเลือกเดินหน้าต่อ แต่มันจะไปต่อแบบไหน มันจะมืดมนหรือเปล่าก็เป็นเรื่องของอนาคต เพราะตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าโควิด-19 มันจะจบตอนไหน หรือเราจะรอดจริงๆ หรือเปล่า

วิกฤตที่หนักหนาขนาดนี้สอนอะไรคุณบ้าง

เรารู้เลยว่ามันไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

เราเลยหันกลับมามองว่าสิ่งที่เรามีพอจะสร้างประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าโลมามีคลื่นเสียงที่ทำให้มนุษย์ผ่อนคลาย ในเมืองไทยยังไม่มีงานวิจัยและเป็นสิ่งที่เราไม่กล้าทำมาโดยตลอด เพราะเรามองว่าเราไม่มีนักวิจัย 

แต่วันนี้ เราคิดว่าเราเริ่มเลยดีกว่า เราไม่มีนักวิจัยไม่เป็นไร แต่เราสามารถให้เทรนเนอร์ช่วยกันทำคลาสที่เปิดให้คนได้สัมผัสกับโลมา ได้ลองให้โลมาใช้คลื่นเสียง ได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับโลมาจริงๆ ที่ไม่ใช่ในหนังสือหรือคลิปวิดีโอ 

มันเป็นสิ่งที่เราคิดว่า Oasis Sea World น่าจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้และรู้จักโลมาจริงๆ 

หากตัดเรื่องความรัก แพสชั่น หรือความผูกพันที่มีให้กับโลมา คิดว่าอะไรทำให้ธุรกิจนี้อยู่มาจนถึงวันนี้ได้

คน 

คนที่จะรักโลมาเหมือนที่เรารัก 

เรามองว่าการบริหารทีมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่องเหมือนกัน เราต้องบอกว่าเราโชคดีมากๆ ที่ทีมงานของเราทุกคนรักโลมาและภูมิใจในความเป็น Oasis Sea World 

โดยเฉพาะอาจารย์ศักดิ์ชัย ที่เริ่มต้นมาพร้อมคุณพ่อ และพี่พิศมัย สัตวบาลที่ใส่ใจโลมาในทุกอณู หรือน้องๆ ที่อาจจะไม่ได้ดูแลสัตว์ก็สื่อสารความรักที่เรามีต่อโลมาให้กับนักท่องเที่ยวหรือคนที่มาเข้าใจได้

อีกสิ่งที่สำคัญคือหัวใจนะ พวกเรา Oasis Sea World เป็นบ้านที่มีความแข็งแกร่งแล้วก็มีหัวใจแห่งการต่อสู้ทรหด ทีมงานก็เดือดร้อนไม่ต่างจากเรา แต่ทุกคนพร้อมที่จะลำบากและเดินจับมือไปด้วยกันมาโดยตลอด เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเดินหน้าต่อได้ 

แล้วในความรักในบ้านเกิดอย่างจันทบุรีนี่แหละที่ก็ทำให้เรารอดมาได้อีกเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์โควิด-19 ตอบได้เลยว่าเราจะรอดมาไม่ได้เลย ถ้าพี่น้องคนจันท์และคนไทยไม่ยื่นมือเข้ามาช่วย หลายท่านป้อนอาหารน้องทางออนไลน์ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นตัวจริง ทุกคนช่วยซื้อของที่ระลึก ช่วยซื้อตุ๊กตาโลมาเท่าที่ทุกคนจะทำได้ ช่วยแชร์ความน่ารักของโลมาและความทรงจำ ณ วันที่เขาเคยมาตอนเด็ก 

 นี่แหละค่ะคือหัวใจของการทำสิ่งที่เราดำเนินอยู่ 

What I’ve Learned

“ในแต่ละวิกฤตนั้นสอนบทเรียนให้เราเสมอ เราต้องหาวิธีการต่อสู้กับความท้าทายไม่เหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาได้เพราะเรารู้ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกันมาบ้าง แล้วเราเดินหน้าต่อเพื่ออะไร”

เบื้องหลังความสนุกของ PANISA ของแต่งบ้านจากวัสดุของเล่นไม้ในโรงงานอายุ 35 ปีของพ่อแม่

‘สนุกดีจัง’ 

คือคำที่ผุดขึ้นในใจเราหลายครั้งตลอดการสัมภาษณ์คอลัมน์ 5P ตอนนี้

แน่นอนล่ะว่า ของเล่นไม้สีสันสดใสที่อยู่รอบตัวทำให้เด็กในตัวเราตื่นเต้นเป็นลิงโลด แต่อีกอย่างที่ทำให้เราในเวอร์ชั่นผู้ใหญ่ใจเต้นตึกตักไม่แพ้กัน คือการเห็นเชลฟ์สินค้าแฟชั่นและของแต่งบ้านที่ทำด้วยวัสดุ สีสัน และคุณภาพแบบเดียวกัน หากอยู่ในดีไซน์เก๋ไก๋ที่จะทำให้ไลฟ์สไตล์สนุกขึ้นอีกเป็นกอง

ไอเทมเหล่านี้มาอยู่ในห้องเดียวกันได้ยังไง เฉลยให้ว่า PANISA คือแบรนด์แฟชั่นและของตกแต่งบ้านที่ หวาน–ปาณิสา คุณประเสริฐ ทายาทรุ่นสองของ Blue Ribbons Toys ต่อยอดแบรนด์ของเล่นไม้เพื่อการเรียนรู้อายุกว่า 35 ปี ของพ่อแม่ออกมาเป็นแบรนด์สินค้าใหม่ โดยใช้วัสดุ ทีมงาน และมาตรฐานการผลิตในโรงงานเดียวกัน 

สินค้าของ PANISA ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าไม้ โคมไฟ เชิงเทียน หรือของแต่งบ้านอื่นๆ นั้นจึงได้จิตวิญญาณความซุกซนขี้เล่น และคุณภาพที่เนี้ยบ ใช้งานง่าย เป็นมิตรต่อผู้ใช้แบบ Blue Ribbon Toys ติดมา ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมล้นไปด้วยรสนิยมและความคิดสร้างสรรค์อันไร้กรอบของเธอ ทำให้แม้จะออกสินค้าปีละแค่หนึ่งครั้ง แต่งานของ PANISA นั้นมีแฟนคลับนักสะสมคอยติดตามเหนียวหนึบ แถมยังได้ไปออกงานแฟร์อันโด่งดังอย่าง Maison&Objet ที่ปารีสเป็นประจำ

ความ ‘สนุกดีจัง’ เบื้องหน้าของเรามีเบื้องหลังเป็นยังไง 5P ตอนนี้ขอชวนผู้ใหญ่หัวใจเด็กทุกคนล้อมวงมาใกล้ๆ แล้วให้ปาณิสาเล่าให้ฟัง

PRODUCT

เพราะเป็นลูกสาวของเจ้าของธุรกิจผลิตของเล่นไม้ส่งออก ปาณิสาเติบโตมาพร้อมกับโรงงานชื่อ Blue Ribbon Toys ของพ่อแม่ ซึ่งก่อตั้งในปี 2532 หนึ่งปีก่อนเธอจะเกิด

ของเล่นของ Blue Ribbon Toys เป็นของเล่นไม้เพื่อการเรียนรู้ (educational toy) และเด็กคนแรกที่จะได้เล่นและเรียนรู้กับต้นแบบของเล่นทุกชิ้นก็หนีไม่พ้นลูกสาวคนเก่ง ความคุ้นชินกับของเล่นไม้ทำให้ปาณิสาเลือกเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

“หวานไม่ได้อยากทำของเล่น แต่มีไอเดียว่าอยากทำแบรนด์ side project ของตัวเอง หวานชอบแฟชั่น ชอบของแต่งบ้าน เลยอยากทำแบรนด์ที่สามารถทดลองไปได้เรื่อยๆ”

ของกระจุกกระจิกอย่างกระเป๋าไม้ เครื่องประดับที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน คือตัวอย่างการทดลองนั้น 

“หวานลองทำในโรงงานของพ่อแม่ ซึ่งตอนแรกมองว่าเป็นข้อจำกัด เพราะหวานต้องทำอะไรบางอย่างที่ต่อยอดมาจากของเล่นไม้ แต่ตอนหลังก็มองมันเป็นความท้าทายให้เราคิดออกนอกกรอบ มันเป็นไม้ก็จริง แต่หวานต้องทำยังไงให้ไม่เป็นแค่ไม้ นั่นคือโจทย์หลักๆ ของ PANISA”

หลังเรียนจบ เธอช่วยพ่อแม่รันธุรกิจได้หนึ่งปี แล้วบินไปเรียนต่อภาควิชา Product of Design ที่อเมริกา ซึ่งสอนแนวคิดทางธุรกิจและการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกัน ที่นั่น ปาณิสายังได้ฝากขายสินค้าของเธอกับช็อปบูทีกหลายแห่ง ปรากฏว่าฟีดแบ็กดีกว่าที่คิด 

เมื่อกลับไทย เธอจึงตัดสินใจสวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งคือทายาทรุ่นสองผู้รับช่วงต่อ Blue Ribbon Toys หมวกอีกใบคือ เจ้าของและดีไซเนอร์ของ PANISA แบรนด์แฟชั่นและของแต่งบ้านที่ปลุกปั้นมากับมือ

Playful Objects คือคำนิยามของคอนเซปต์ที่ปาณิสาตั้งให้ PANISA เธออธิบายว่านอกจากความสนุกแล้ว ของใช้แต่ละอย่างต้องใช้งานได้จริง ที่สำคัญคือมีความสม่ำเสมอจากการผลิตแบบสเกลอุตสาหกรรม ทุกชิ้นต้องเป๊ะเท่ากันหมด

“ที่ต้อง playful เพราะเราเคยผลิตของเล่น แต่บางทีของเล่นมีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องความปลอดภัย ราคา และอื่นๆ ทำให้ผลิตเป็นของเล่นไม่ได้ หวานเลยใช้ไอเดียนั้นกับ PANISA”

จากจุดเริ่มต้น ไลน์สินค้าของ PANISA แตกออกเป็นสินค้ามากมาย โดยตั้งใจเข็นสินค้าออกมาขายปีละคอลเลกชั่น นอกจากกระเป๋าไม้ตัวขายดี เธอยังมีเชิงเทียน กล่องใส่เครื่องประดับ ไปจนถึงโคมไฟ 

“ปกติแบรนด์ของแต่งบ้านที่มีไลน์สินค้าประมาณนี้ เขาอาจจะคิดของออกมาตามประเภทสินค้าที่เขาอยากช่วยเติมเต็ม ดีไซน์ออกมาแล้วค่อยหาว่าขั้นตอนโปรดักชั่นจะเป็นยังไง แต่สำหรับหวาน หวานคิดกลับกัน (back and forth) เพราะเรารู้ว่าเราผลิตอะไรได้ มีเครื่องจักรแบบไหน  เช่น เครื่องจักรอันนี้เราไม่ค่อยได้ใช้ เราจะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพทั้งเรื่องการผลิต ราคา และหน้าตาที่แตกต่าง” 

วิธีการคิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้ปาณิสาสร้างสรรค์สินค้าที่ไร้กรอบ มีคุณภาพที่ควบคุมได้ และใช้งานได้จริงสมความตั้งใจ 

PRICE

ไอเทมแต่งบ้านเป็นสินค้าที่คนเล่นในตลาดมากมาย เรนจ์ราคาจึงกว้างเป็นพิเศษ 

PANISA เองก็เช่นกัน สินค้าราคาถูกที่สุดของเธอคือตลับใส่เครื่องประดับราคา 1,900 บาท ในขณะที่ราคาสูงสุดคือตัวต่อ (puzzle) สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นทั้งของเล่นและงานศิลปะ ราคา 15,000 บาท

หญิงสาวยอมรับตามตรงว่า ราคาของสินค้าของแบรนด์เธอนั้นสูงกว่าแบรนด์อื่นแน่ๆ  แต่สิ่งที่แลกกันคือมูลค่าทางความรู้สึกหรือ emotional value ที่ผูกติดอยู่กับสินค้าของเธอ

“โคมไฟ Portable Lamp ที่ตอนนี้กำลังฮิตตามร้านอาหาร ถ้าไปหาซื้ออันละร้อยก็มี แต่เราทำอันละ 4,900 เราพยายามกดราคาแล้วนะแต่ได้เท่านี้จริงๆ เพราะโคมไฟของเราไม่ได้อยู่ที่ฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างเดียว แต่มี emotional value ด้วยความที่เป็นโคมไฟที่ทำจากไม้ ยืดหยุ่นได้ ชาร์จแบตได้ และช่วยทำให้บรรยากาศการกินอาหารนั้นดีขึ้น หวานอยากเพิ่มคุณค่าของธรรมดาๆ ให้มีความหมายมากขึ้น”

ราคาที่สูงยังแลกมากับความเนี้ยบในการสร้างสรรค์สินค้า รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง เช่น เชิงเทียนที่ปกติใช้แล้วจะคว่ำง่าย เธอจึงใส่แม่เหล็กลงไปเพื่อให้เชิงเทียนตั้งได้อย่างสวยงาม

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เรามีการปรับราคาบ้างจากฟีดแบ็กของลูกค้า ซึ่งการปรับราคาของเราจะไม่ใช่ลดราคาเดิม แต่เป็นการทำอีกเวอร์ชั่นของสินค้านั้นขึ้นมาในราคาที่ย่อมเยาขึ้น เพราะเราเข้าใจว่าลูกค้ามีทั้งนักสะสมที่ซื้อของเล่นชิ้นละหมื่นไปเพราะเขารู้สึกคุ้มค่า และเข้าใจในมุมของลูกค้าที่มองว่าก้อนไม้ราคาเป็นหมื่นมันไม่คุ้มเลย เราเลยพัฒนาเป็นอีกเวอร์ชั่นที่เล็กลง” เธอยิ้ม 

PLACE & PROMOTION

เพราะกลุ่มลูกค้าของ PANISA นั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่โรงแรมที่ซื้อของไปแต่งห้อง นักท่องเที่ยวที่อยากซื้อของฝาก ไปจนถึงลูกค้าทั่วไปที่ชอบแต่งบ้าน จุดจำหน่ายสินค้าของเธอจึงมีสารพัดทั้งในและต่างประเทศ  ไม่ว่าจะร้านเสื้อผ้าแฟชั่น บูทีกช็อปในโรงแรม งานแฟร์จัดแสดงสินค้า  ช็อปของแบรนด์ในมัลติสโตร์ และแน่นอนว่ามีช่องทางออนไลน์

“เกณฑ์ในการเลือกร้านของเราคือ ถ้าเป็นห้างใหญ่ๆ ไปอยู่ในโซนแก็ดเจ็ตเลยเราอาจจะไม่เอาเพราะสินค้าของ PANISA มีราคาค่อนข้างสูง เราต้องการคนเล่าเรื่องราว ช่วยอธิบายสินค้า หรือเข้าไปอยู่ในบริบทของร้านที่สินค้าแต่ละอย่างส่งเสริมกัน เพราะเราคิดว่าของบางอย่าง บางทีถ้าไม่ใช่ดีไซเนอร์หรือมองผ่านๆ ไม่ได้รู้เรื่องราว บางคนอาจรู้สึกว่าทำไมมันต้องแพงขนาดนี้ และด้วยความที่เราสต็อกน้อยด้วย การจะไปวางสินค้าที่ไหนเราอาจต้องเลือกนิดนึง”

ส่วนต่างประเทศ PANISA เคยส่งให้ลูกค้าที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และอเมริกา ซึ่งเธอเผยว่ามีความท้าทายต่างกัน

“หวานจะกลัวเรื่องการส่งสินค้าที่ใช้ไฟฟ้าเข้าไป เพราะถ้าพังแล้วเราต้องส่งของชดเชยไปให้  เราเลยจะเน้นส่งสินค้าที่คงทนไปดีกว่า นอกจากนี้เราต้องระวังมากเรื่องการแพ็กของ เราต้องมั่นใจว่าส่งไปแล้วจะไม่แตก ไม่พัง และห่อด้วยกระดาษที่จะรักษาสีให้สดเหมือนเดิม เพราะบางทีส่งไปต่างประเทศที่อุณหภูมิต่างจากเราแล้วสีจะเปลี่ยน 

“จริงๆ นี่คือข้อดีของการทำของเล่นมาก่อน เพราะเราสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบไหนได้บ้างกับแบรนด์ของเรา”

ในส่วนของการตลาด ปาณิสาบอกว่าเธอค่อนข้าง ‘ชิลล์’ กับการโปรโมตทางออนไลน์ และไปเน้นหนักทางออฟไลน์มากกว่า

“แพลตฟอร์มเดียวที่เราจะโปรโมตคือไอจี เราจะทำสิ่งที่รู้สึกว่าสวยแล้วค่อยโพสต์ หรือบางทีก็โพสต์สิ่งที่อินและได้แรงบันดาลใจ แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นการตลาดจริงๆ หวานค่อนข้างชอบการไปออกแฟร์ เพราะหวานโตมาอยู่กับการที่พ่อแม่ไปแฟร์ตลอด ตัวหวานเองยังรู้สึกว่าการออกแฟร์สำคัญอยู่

“คนโบราณชอบบอกว่าต้องไปแฟร์ 3 ครั้งลูกค้าถึงจะเชื่อเราและสั่งของกับเรา หวานยังมีความเชื่อแบบนั้นอยู่ อยากไปบ่อยๆ ให้เขาเห็น ที่สำคัญคือหวานชอบเวลาได้คุยกับคน เห็นฟีดแบ็กของเขาว่าเขารู้สึกยังไงกับของของเรา มันมีประกายบางอย่างจากคนมาดูที่บอกเราว่าเรามาถูกทางแล้วหรือควรจะกลับไปคิดใหม่ดีกว่า”

PROTOTYPE

P ตัวสุดท้ายของ PANISA คือ prototype หรือต้นแบบ

“เป็นคำที่น่าเบื่อ แต่สำคัญ สำหรับเรา prototype มันมีประโยชน์ในหลายขั้นตอนมากเลย ตั้งแต่ต้นแบบแรกที่เราคุยกับทีมว่าจะเวิร์กไหม จะผลิตยังไง อีกขั้นตอนหนึ่งคือต้นแบบที่เหมือนของจริงแล้ว เราก็เอามันไปคุยกับลูกค้าเพื่อรู้ฟีดแบ็กของเขา เพื่อให้รู้ว่าเราจะขายมันได้ไหม

“ตอนสมัยเรียนเมืองนอก มีประโยคหนึ่งที่บอกว่า No Prototype, No Meeting ถ้าไม่มีต้นแบบก็คุยกันไม่ได้ เพราะมันจะไม่มีประโยชน์เลย เรานำประโยคนี้มาใช้จนถึงทุกวันนี้ ต้นแบบคือสิ่งสำคัญมากในขั้นตอนการออกแบบ ขั้นตอนการตลาด และทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ”