Skinlab สวรรค์ของคนรักสกินแคร์ทางเลือกที่ทำการตลาดอย่างจริงใจจนมียอดขายกว่า 200 ล้าน

ในบรรดาคนรักสกินแคร์และการบำรุงผิวเป็นชีวิตจิตใจ คงมีสักครั้งแหละที่คุณจะได้ยินชื่อ Skinlab ผ่านหู

นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2018 ร้านสีน้ำเงินขนาดกะทัดรัดของ Skinlab ก็น่าจะเข้าไปอยู่ในลิสต์ที่สาวกสกินแคร์ต้องไป เพราะว่ากันว่าที่นี่คือศูนย์รวม niche skincare หายากและหลากหลาย มีทั้งสกินแคร์สายออร์แกนิก, สกินแคร์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนไปสปาของ Susanne Kaufmann ไปจนถึงสกินแคร์ที่ผลิตโดยคุณหมออย่างแบรนด์ Zelens แถมยังมีสกินแคร์จากยุโรปและอเมริการวบรวมไว้มากที่สุดในไทยเลยทีเดียว

สิ่งสำคัญที่ทำให้เหล่าสกินแคร์เลิฟเวอร์ติดอกติดใจ คือมอตโต้สำคัญที่บอกว่า ‘อยากให้ลูกค้าทั้งผิวดีและรู้สึกดี’ เพราะฉะนั้น การวิเคราะห์ผิวและแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าอย่างจริงใจ ไม่เคลมแรงเกินไป เมื่อลูกค้านำไปใช้จนเห็นผลชัดเจนก็อดไม่ได้ที่จะบอกปากต่อปาก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การทำการตลาดแบบปากต่อปากแบบนี้ทำให้ Skinlab ทำยอดขายบนลาซาด้าได้อันดับหนึ่งในแคมเปญลาซาด้า 10 ปี ปิดยอดขายไปเกือบ 10 ล้านบาทไปหนึ่งวัน และเกือบ 200 ล้านบาทในปี 2021

Capital นัดพบกับ ณัฐพงศ์ นาคทอง ผู้ปลุกปั้นที่นี่มาตั้งแต่ Day 1 เพื่อหาคำตอบว่าในสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของคนรักการบำรุงผิว อะไรคือความคิดความเชื่อที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ความชอบในเรื่องสกินแคร์ของคุณเริ่มต้นมาจากไหน

เราอยู่กับแม่และยายที่ชอบใช้สกินแคร์ คุณยายกับคุณแม่ชอบอ่านนิตยสารความสวยความงามทั้งหัวนอกและในไทย พวก Elle, พลอยแกมเพชร, ดิฉัน เราก็หยิบมาอ่านเล่นๆ ตั้งแต่เด็ก ซึมซับเรื่องความสวยความงามนี้มาโดยไม่รู้ตัว พอเราเห็นแม่ทาครีมบำรุงผิว มันก็ทำให้เราอยากดูแลตัวเอง สนุกกับการศึกษาเรื่องนวัตกรรมสกินแคร์มาตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยม เรื่องสกินแคร์ก็กลายเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเราไปโดยปริยาย จนสุดท้ายก็กลายเป็นความชอบ

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งคือพอเราเริ่มโตขึ้นเราได้เดินทางบ่อย ด้วยความที่เรียนพีอาร์มา เราชอบเจอผู้คน สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ในระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวคือผู้หญิงหลายคนต่อให้เขาสวย หรือดูแลแล้ว เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาตลอดเวลา เขามองเห็นจุดด้อยในตัวเองทั้งที่เป็นจุดเล็กมากๆ เช่น ริ้วรอยหรือฝ้า เรารู้สึกว่าผู้หญิงทุกคนกังวลเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ 

ประกอบกับเราเดินทางบ่อยๆ แล้วได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เมืองไทยไม่มี เมื่อ 5 ปีก่อน คนไทยไม่รู้จักคำว่า niche skincare ด้วยซ้ำ คนไทยรู้จักแต่สกินแคร์ที่เป็นเคาน์เตอร์แบรนด์ จะซื้อสกินแคร์วันนี้ต้องเดินไปในแผนกเครื่องสำอาง​ หาแบรนด์ที่คนดังเท่านั้นที่ใช้ ถ้าคนดังไม่ใช้ฉันก็ไม่ซื้อ แต่เรารู้สึกว่าเมืองนอกเขาใช้สกินแคร์จากส่วนผสม ศึกษาว่าสกินแคร์ตัวนั้นช่วยเรื่องอะไร ถ้าตรงกับสิ่งที่เขามองหาเขาก็ใช้ เรารู้สึกว่านี่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนกำลังมองหาเลย ถ้าเขาได้สิ่งนี้ไปแก้ปัญหาเขาคงมีความสุข ทำให้เรารู้สึกว่าอยากนำสิ่งนี้มานำเสนอคนไทย

และมันทำให้เราได้ป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคตด้วย เราเริ่มทำธุรกิจนี้ตอนอายุ 32 ตอนนี้ 38 ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดกับผู้หญิงหลายคนเริ่มเกิดกับเราแล้ว (หัวเราะ)

สำหรับคุณ การดูแลผิวสำคัญกับชีวิตแค่ไหน

เราจะบอกตัวเองเสมอว่าความสวยมันคือความสุข เราตื่นมาทุกเช้า ส่องกระจก แล้วถ้าเห็นว่าเราผิวดี เราดูดี มันคือความสุขของเราแล้ว และวันไหนที่นอนไม่หลับ เราเครียด เราได้ซื้อมาสก์มากระปุกหนึ่งทาไว้ก่อนนอนเพื่อตื่นมาดูผลลัพธ์ แค่นี้มันก็เอนจอยแล้ว

เราว่าเรื่องผิวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บางคนเขาไม่ได้ผิวขาว แต่ผิวเขาดูใส สะอาด เกลี้ยงเกลา เราว่ามันทำให้คนคนนั้นดูมีเสน่ห์ ดูก็รู้ว่าเขาดูแลตัวเอง แล้วเราว่าการที่คนคนหนึ่งดูแลตัวเองมันจะส่งผลไปถึงสิ่งอื่นๆ ในชีวิตเขาได้นะ คิดดูสิว่าคนคนหนึ่งต้องตื่นมาล้างหน้า เช็ดโทนเนอร์ ทาเซรัม ถ้าเขาไม่มีวินัย เราว่าเขาทำได้ไม่นาน และการที่คนคนหนึ่งมีวินัย เราว่ามันบ่งบอกได้ถึงหลายอย่างในชีวิตของเขา อย่างน้อยก็บ่งบอกว่าเขาเป็นคนมีระเบียบ จัดการชีวิตตัวเองได้

การดูแลตัวเองเป็นแพสชั่นของเรา เราจึงอยากต่อยอดแพสชั่นนี้มาเป็นธุรกิจเพราะคิดว่าน่าจะเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข อีกอย่างคือคุณแม่กับคุณยายที่สอนให้เราดูแลตัวเอง ตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว ทุกครั้งที่ทำธุรกิจนี้เราก็คิดถึงท่าน เพราะนี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากท่าน

แล้วจุดไหนที่อยากเปิดแบรนด์ศูนย์รวมสกินแคร์ของตัวเอง

เวลาไปเมืองนอกเราจะเห็นร้านบูทีกขายสกินแคร์ที่ขนาดไม่ได้ใหญ่มาก แต่มีความใกล้ชิดระหว่างคนขายกับคนซื้อ ทุกครั้งที่เราเดินเข้าร้าน เราจะได้เจอแบรนด์ใหม่ๆ และอัพเดตเทรนด์สกินแคร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา 

โมเดลธุรกิจของ Skinlab  มันคือที่ที่คนมาแล้วรู้สึกว่าเราได้มาหาของดีๆ ให้ตัวเอง มันเป็นการช้อปปิ้งที่เป็นมากกว่าการมาซื้อของตามคนอื่น แต่คือการหาสกินแคร์ที่เหมาะกับผิว กับตัวเรา ทุกอย่างอยู่ในร้านเล็กๆ แต่แบรนด์มีความหลากหลาย และพนักงานก็สามารถผสมผสานแบรนด์นั้นกับแบรนด์นี้ให้เป็น routine ของคุณได้ ต่างจากการเข้าไปที่แผนกเครื่องสำอางที่ถ้าเดินเข้าร้านไหน เขาก็จะแนะนำให้ซื้อแค่แบรนด์ของเขาแบรนด์เดียว คงไม่แนะนำให้ซื้อแบรนด์อื่น 

คำว่า niche skincare คือแบรนด์ที่ใส่ใจรายละเอียดในรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ได้ทำทีละเป็นแสนเป็นล้านกระปุก ความเสถียรของส่วนผสมมันก็ดีกว่าอยู่แล้ว 

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่รู้จัก niche skincare มาก อะไรทำให้คุณมั่นใจว่ามันจะขายได้

ด้วยความที่เดินทางตลอดเวลา เราเห็นเทรนด์นี้มันมาในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป ซึ่งสโตร์ในทุกๆ ที่จะไม่ใช่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์มาจากเมืองนอก เขาจะมีสโตร์ของตัวเองในแต่ละประเทศ สร้างโดยเจ้าของก็จะเป็นคนที่รักสกินแคร์ ในเมืองไทยเรามองว่ามันยังไม่มีแบบนี้นะ และมันยังมีช่องว่างให้ Skinlab สามารถเข้ามาทำได้ เราเลยเปิด Skinlab ขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ตลาดของสกินแคร์ในไทยตอนนั้นเป็นยังไง

ตลาดสกินแคร์เป็นสิ่งที่โตและโตเรื่อยๆ ผู้หญิงหรือผู้ชายหรือใครก็ตาม อายุเท่าไหร่ ทุกคนต้องมีสกินแคร์ และทุกคนพร้อมซื้อตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยลดลง ถ้าดูจากเทรนด์ ตลาดสกินแคร์เป็นหนึ่งในตลาดที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะโตขึ้นและมีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าถามว่าอะไรทำให้อยู่รอดในตลาดนี้ได้ เราว่าถ้าคุณเป็นคนจริงใจ ของคุณดี คุณก็อยู่ได้ยาว แต่ถ้าคุณมาพร้อมกับความฉาบฉวย เคลมแรงแต่ใช้ไปแล้วไม่เห็นผล เราเชื่อว่าลูกค้าก็พร้อมจะไปเลือกสิ่งใหม่ๆ เพราะมันมีคนเข้ามาในตลาดอยู่ตลอดเวลา Skinlab จึงยึดเรื่องคุณภาพของสินค้าและความจริงใจเป็นสำคัญ

สิ่งนี้ยึดโยงไปถึงชื่อแบรนด์ Skinlab ด้วย เพราะเราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเราจริงใจกับการเลือกผลิตภัณฑ์ skin แปลว่าผิว lab คือสถานที่วิเคราะห์ เราไม่ได้เป็นแล็บจริงๆ แต่เราวิเคราะห์ ใส่ใจ กว่าจะเลือกครีมแต่ละตัวมาก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเราคือ พอเวลาคนคิดถึงเรื่องผิวพรรณ คนจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของผู้หญิง แต่เรารู้สึกว่าสกินแคร์มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของผู้หญิงเสมอไป เราเลยออกแบบร้านให้เป็นสีน้ำเงินเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันเข้าไปกับทุกคน เพราะสีน้ำเงินเป็นสีกลางๆ ที่ผู้หญิงมองว่าสวย ผู้ชายมองว่าเท่ Skinlab จึงมาพร้อมกับ brand identity ที่ใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก 

เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าหลักของ Skinlab คือทุกคนที่อยากดูแลผิว?

ใช่ ทุกคนเลย ใครก็ได้ที่คิดว่าวันนี้เขาอยากใส่ใจตัวเอง อยากดูแลผิว พวกเขาคือลูกค้าของเราหมดเลย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของเราเป็นคนที่เปิดกว้าง เหมือนเขาผ่านการลองใช้อะไรมาเยอะแล้วมันไม่ได้เห็นผลเหมือนที่เคลมไว้ เขาเลยเปิดใจให้เรา 

พอเปิดใจแล้วมันก็กลายเป็นความสนุก เพราะเรามั่นใจว่าสกินแคร์เรามีดีมากกว่าคำเคลม เราเลยไม่ทำการตลาดด้วยคำเคลมว่า โอ้โห ใช้แล้วจะขาวภายในเจ็ดวัน ใช้แล้วจะขาวเหมือนคุณโอมเจ้าของ แต่เราอยากให้คนมาศึกษาว่าสกินแคร์ตัวนี้มีส่วนผสมที่คู่แข่งแบรนด์อื่นๆ ไม่มี และเมื่อนำไปศึกษาต่อคุณอาจพบว่าคุณจะผิวขาวใสได้ด้วยส่วนผสม 1 2 3 4 ที่มีในสกินแคร์ตัวนี้ เราเน้นแบรนด์ที่มีผลวิจัยรองรับ แบรนด์คุณหมอ มีผลลัพธ์ที่สามารถอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล หรือถ้าจะเป็นแบรนด์ออร์แกนิกก็ต้องออร์แกนิกจ๋าๆ ไปเลย 

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของเราคือเครดิต ถ้าวันนี้เราหลอกลูกค้า หรือเราบอกว่ามันดีทั้งๆ ที่มันไม่ดี มันก็อาจจะส่งผลในระยะยาว ถ้าเรามานั่งเชียร์ของที่เราไม่ได้ใช้เองหรือของที่เราไม่ชอบ เราพูดไม่ได้หรอก 

จริงๆ ในแง่การลงทุน เราปั๊มแบรนด์ขายของนำเข้า กับการปั๊มแบรนด์ที่ตัวเองทำเอง เราทำแบรนด์ตัวเองเรารวยกว่าอยู่แล้ว แต่เราทำแล้วเรายังไม่ใช้เลยน่ะ เราจะขายได้ยังไง

แล้วเกณฑ์ในการคัดเลือกสินค้าเข้ามาขายใน Skinlab มีอะไรบ้าง

อันดับแรกขวดแพ็กเกจต้องดึงดูดสายตาเราก่อน เพราะบางทีของดีแต่แพ็กเกจไม่สวยเราก็ไม่อยากจับ พอแพ็กเกจดีแล้วเราก็ซื้อไปลองก่อน ลองปุ๊บเราชอบก็จะติดต่อไปว่าขอเป็นตัวแทนจำหน่าย

เกณฑ์คือถ้าเราเจออะไรดี เราก็อยากเอามาใช้ แต่ความท้าทายของมันคือบางทีเมืองนอกอากาศหนาว สิ่งที่เคยใช้ดีตอนอยู่เมืองนอก อาจจะใช้ได้ไม่ดีที่ไทยก็ได้ เราต้องศึกษาให้ดี เพราะเครื่องสำอางบางประเทศเขาอาจผลิตเพื่อคนในท้องที่โดยเฉพาะ บางแบรนด์ที่ niche มาก เขาไม่ได้ทำเนื้อสัมผัสที่เป็น universal ทำให้เนื้อครีมหนักมาก ทาแล้วไม่เข้าผิวคนไทยเลย แบรนด์นั้นก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา ซึ่งการจะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้มันก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เก็บสั่งสมมา

ในมุมมองของคุณ สกินแคร์แบบไหนที่จะขายคนไทยได้

เราว่าคนไทยหลายคนมีปัญหาเดียวกันคืออยากผิวขาวใส กระจ่างใส และทุกคนอยากได้สิ่งที่เห็นผลเร็ว เห็นผลไว คำว่าผลเร็ว ผลไว คือไม่ใช่วันสองวันแล้วจะเห็นเลย แต่เราเชื่อว่าเซนส์ความรู้สึกดีกับตัวเอง ทาไปแล้วผิวนุ่ม เนื้อดี ซึมไว กลิ่นไม่เหมือนน้ำหอมเกินไป แล้วเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ลูกค้ารู้สึกว่าผิวของเขา improve ขึ้น เราว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่ลูกค้าคนไทยต้องการ

ที่เรารู้ตรงนี้เพราะตอนทำ Skinlab ปีแรกๆ เราอยู่หน้าร้านตลอดเลย อยากเจอลูกค้า รู้ความต้องการของเขา อยากมาฟัง เพราะเราคิดว่าถ้าเราจะขายอะไรให้ใคร ถ้าเราไม่รู้จักลูกค้าเลย เราไม่มีทางขายของเขาได้หรอก แต่ถ้าเรารู้ความต้องการคน เราก็จะขายเขาได้ 

สินค้าทุกตัวของ Skinlab มีหัวใจหลักคือใช้แล้วเห็นผล ถ้าเขาเอาไปใช้แล้วเขาต้องรู้สึกว่าเราจริงใจที่เลือกสิ่งนี้ให้เขา อีกอย่างคือเราไม่เน้นขายเยอะในครั้งแรก เรามีการเทรนพนักงานให้วิเคราะห์ผิวลูกค้าได้ ไม่เน้นการขายอย่างเดียวแต่เน้นการแนะนำให้ตรงจุด เราเชื่อว่าถ้าของมันดี ลูกค้าซื้อไปหนึ่งขวดก่อน เขาจะกลับมาพร้อมกับออร์เดอร์อีกเยอะเลย แต่ถ้าเราเน้นขายวันนี้ให้ลูกค้าซื้อให้เยอะที่สุด เขาอาจจะหายจากเราไปและไม่กลับมาหาเราอีกเลย เพราะฉะนั้น เราจึงอยากให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสประสบการณ์เองมากกว่า

เคยตัดสินใจผิดพลาดเรื่องการนำเข้าสินค้าบางตัวบ้างไหม ประสบการณ์นั้นสอนอะไรคุณ

จริงๆ ไม่เคยมีคิดผิด แต่อาจมีบางแบรนด์ที่เราเคยคิดว่ามันน่าจะมีกลุ่มลูกค้า เช่นแบรนด์ที่ออร์แกนิกมากๆ ซึ่งเขาขายได้แหละ แต่ยอดอาจจะไม่ได้วิ่งไวเท่าแบรนด์ที่มีผลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ หรือแบรนด์การแพทย์ ตลาดมันอาจจะยังไม่กว้างพอให้เราไปเจาะกลุ่มนั้น แต่เราก็ยังเลือกขายเขาต่อนะ

ทำไมถึงเลือกขายต่อทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำกำไรมาก

เพราะพอเรามาจับทาง niche skincare ความหลากหลายคือเรื่องสำคัญ ถ้าทุกคนเข้ามาหาเราแล้วเรามีของเหมือนที่อื่นมี เราว่าเขาก็ไปร้านไหนก็ได้ แต่ถ้าเรามีสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาหาจากที่อื่นไม่ได้ แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ได้ผลกำไรเยอะแต่มันทำให้เราเป็นที่ที่คนอยากหาของดีๆ ของหายาก เขาก็จะมาหาเรา 

พูดง่ายๆ คือเราอยากให้ Skinlab เป็นสวรรค์ของคนชอบสกินแคร์

ทราบมาว่า Skinlab คือศูนย์รวมที่มีแบรนด์ niche skincare ยุโรปและอเมริกาเยอะที่สุดในไทย คุณทำยังไงให้มาถึงจุดนี้ได้

เราต้องบาลานซ์คู่ค้าและลูกค้าให้เป็น ในมุมของลูกค้า เราบาลานซ์ได้อยู่แล้วเพราะเราต้องคิดหาวิธีให้เขาอยากมาซื้อของของเรา แต่ในมุมคู่ค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ที่เราถืออยู่ในมือมั่นใจว่าเมื่อเขาให้ของเรามาแล้ว เราต้องทำตลาดให้เขาได้ดี เหมือนเราไปขอลูกเขามาเลี้ยง ใครๆ ก็รักลูกตัวเอง ถ้าเอาลูกเขามาแล้วเราทิ้งขว้าง พ่อแม่คนไหนก็ไม่อยากฝากให้เรา 

เราทำ customer experience ให้ดีได้ เราก็ต้องทำ partnership experience ให้ดีด้วย เพราะเราคิดว่าเราไม่สามารถรวยหรือประสบความสำเร็จได้คนเดียว ถ้ามีลูกค้าอยากมาซื้อของกับเรามากมาย แต่กับคู่ค้าเราเขี้ยวกับเขา เราไม่สปอร์ต เราเห็นแก่ได้ เราว่าต่อให้เราขายของให้เขาดี วันหนึ่งคู่ค้าก็อยากไปขายให้ที่อื่น เราว่าการบาลานซ์จุดนี้สำคัญมากๆ

สโลแกนของ Skinlab ที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ คือ ‘ไม่ได้ทำให้ลูกค้าแค่ดูดี แต่ยังรู้สึกดีด้วย’ ประโยคนี้มีที่มาที่ไปยังไง

มันมาจากประโยคที่เราบอกตัวเองบ่อยๆ ว่าความสวยคือความสุข เพราะฉะนั้นพอมีร้านของตัวเอง ลูกค้ามาที่นี่ก็ไม่ใช่แค่สวย แต่คุณต้องรู้สึกดีด้วย

เราว่าความสวยเป็นสิ่งที่ปัจเจกมากๆ บางคนเขาไม่ได้เกิดมาสวยตามมาตรฐานของสังคม แต่เขาสามารถมีความสุข และส่งต่อความสุขไปให้ใครหลายๆ คน เราว่ายุคนี้มัน diversify (มีความหลากหลาย) หมดเลย ไม่มีความสวยแบบเดียวเท่านั้น ทุกๆ คนสามารถสวยได้ในแบบของตัวเอง และทุกคนสามารถมาที่ Skinlab ซื้อสกินแคร์กลับไปแล้วยูกลับไปเอนจอย มีความสุขกับตัวเอง การมาที่นี่คือการดูแลกันอย่างจริงใจ

เท่าที่ฟัง คุณพูดคำว่าจริงใจบ่อยมาก ความจริงใจสำคัญยังไงในการทำการตลาด

สำคัญนะ เพราะเราเคยเจอเหตุการณ์ overclaim มากับตัวเองเลยสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาผิว เก็บเงินค่าขนมแทบตายไปซื้อสกินแคร์ แต่มันไม่เห็นผลอย่างที่เขาเคลมไว้ สิ่งแรกที่คิดเลยคือจะไม่ซื้อยี่ห้อนั้นแล้ว มันไม่เห็นผล กลายเป็น bad experience กับแบรนด์นั้นไปเลย 

เราว่าการไม่เห็นผลมันเป็นข้อเสียของแบรนด์ การค้าขายอย่างจริงใจจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แล้ว ณ วันนี้โลกเปิดกว้างแล้ว สมัยก่อนลูกค้าหาข้อมูลไม่ได้เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ต เราจะพูดถึงส่วนผสมอะไรก็ได้ พูดไปเลย แต่ยุคนี้มันกูเกิลทั้งหมดได้ ยูพูดอย่างนี้เหรอ เมืองนอกบอกส่วนผสมนี้ไม่ดีนี่ หรือส่วนผสมนี่ไม่มีจริง ยกเมฆมานี่ เราว่าการค้าบนโลกตอนนี้ถ้าอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ ใครก็ทำร้ายเราไม่ได้

ในการทำการตลาด สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดคืออะไร

เราเน้นย้ำเรื่อง customer experience เราอยากให้ลูกค้าได้ลอง

จะเห็นได้ว่าพอเรามีโปรโมชั่นหรือแคมเปญอะไร เราจะเน้นการแถมของเยอะๆ เพราะเราเชื่อว่าการให้ลูกค้าได้ลอง เอาไปทดลองฟรีที่บ้านก่อน ของมันดี ถ้าคุณลองแล้วมันจึ้ง รู้สึกใช่ คุณก็จะกลับมาซื้อของเรา 

สำหรับเรา การเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ลองถือเป็นคีย์สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของแบรนด์ ข้อดีคือลูกค้าได้เห็นว่าเราจริงใจ เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ข้อเสียคืออาจจะมี call-to-action ช้ากว่าการที่เอาดารามาพูดที่เขาถูกกระตุ้นให้ซื้อเลย บางคนเขาชอบแต่อาจจะใช้เวลานานกว่าเขาจะมาห้างอีกครั้งเพื่อกลับมาซื้อ

ยังไงก็ตาม วันนี้การค้าขายมันโกออนไลน์มากขึ้น พอลองปุ๊บเห็นผลแล้วเขาก็สแกนคิวอาร์โค้ดซื้อต่อได้เลย journey ของการช้อปปิ้งมันจึงเปลี่ยนไป อย่างคู่ค้าหลักของเรา ลาซาด้าก็มีแคมเปญ try and buy ที่เราเข้าร่วมด้วย คือลูกค้าสามารถซื้อสกินแคร์หลอดจิ๋วไปลองได้ในราคาหลักร้อย และถ้าติดใจก็สามารถใช้เงินที่จ่ายไปมาเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อครั้งต่อไปได้อีก

สิ่งที่คุณจะไม่ทำเด็ดขาดในการทำการตลาดคืออะไร

การจ้างรีวิวแบบ overclaim 

เราเชื่อว่าถ้าเราจ้างรีวิวใครแล้วเขาไม่ได้ชอบ เขาแค่จะพูดว่ามันดีนะเพราะเราจ่ายเงินให้เขารีวิว แต่ถามว่าเขาชอบมันจริงไหม เขาอาจจะไม่ได้ชอบก็ได้ เราอยากให้รีวิวที่ออกมามันมาจากความชอบจริงๆ เพราะถ้าคุณชอบสินค้าจริงๆ คุณจะพูดอีกกี่สิบรอบ ร้อยรอบ คุณก็พูดได้

เราไม่ได้แอนตี้การถูกจ้างรีวิวนะ เพราะเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้สปอนเซอร์มันสำคัญ มันคือน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่ถ้าเขาไม่ได้ชอบโปรดักต์เราเลย เราก็ขอไม่สปอนเซอร์ให้ เพราะเราอยากเน้นการรีวิวที่มาจากผลการใช้งานจริงจากคนที่ชอบมากกว่า

เพราะจริงๆ แล้วทุกวันนี้ Skinlab โตมากับการบอกปากต่อปากของลูกค้านะ ไม่ได้โตมากับว่าคนดังใช้ แน่นอนมันอาจจะเวิร์กกับแบรนด์อื่นๆ แต่สำหรับเรา เราเชื่อใจเรื่องการรีวิวอย่างจริงใจมากกว่า

ตัวชี้วัดความสำเร็จที่คุณตั้งไว้ในใจคืออะไร

ณ ตอนนี้ ตัวชี้วัดส่วนตัวของเราคือ work-life balance ที่ดี เราไม่ได้มองตัวเลข ตัวเงินเป็นเรื่องหลัก เรามองว่าความสุขในชีวิตแต่ละวันเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากมีธุรกิจที่เรามีแพสชั่นกับมัน ทำแล้วมีความสุข และได้อยู่รอบข้างสิ่งสวยงาม ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้พนักงานของเรามีความสุข ให้พวกเขาได้เจริญก้าวหน้า

ในอนาคตเราอยากให้ Skinlab ขยายไปตามช่องทางอื่นๆ มีระบบ shopping experience ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากเงินแล้วเราก็ลงทุนกับระบบหลังบ้าน ลงทุนกับพนักงาน เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรามีคนเก่งอยู่ในมือ เราจะไปได้ไกล 

จนถึงวันที่ Skinlab ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 การมีอยู่ของแบรนด์นี้มีความหมายต่อตัวคุณยังไง

Skinlab เริ่มมาจากความรัก จากการเห็นแม่กับยายรักสวยรักงาม แล้วพอได้มาทำ Skinlab เราก็ทำกับคนรักที่คบมาสิบปีอีก แบรนด์นี้เหมือนสายใยของเรากับคนที่เรารัก ทั้งคนในครอบครัวและแฟน

นอกจากนี้สกินแคร์ก็เป็นสิ่งที่เรารักอีก รวมไปถึงพนักงานคนที่เริ่มทำงานกับเราตั้งแต่วันแรกๆ วันนี้ก็ยังอยู่ การมาทำงานทุกวันมันก็เหมือนได้รายล้อมไปด้วยสิ่งที่รักหมดเลย เต็มไปด้วยความรัก มันทำให้เราเจอแต่คนดีๆ เจอคู่ค้าดีๆ เราไม่เคยเจอใครไม่ดีในการทำธุรกิจนี้เลย 

เราเชื่อว่าถ้าเราคิดบวก เราก็จะเจอคนที่คิดบวกเข้ามาหาเรา มันเลยทำให้เรามีพลังทุกๆ วัน

________________________________________________________________________________

ใครสนใจลองสกินแคร์ของ Skinlab สามารถแวะเข้าไปที่ช็อปทั้ง 5 สาขา ได้แก่ EmQuartier, Central Embassy, Gaysorn Village, CentralWorld, Velaa at Sindhorn Village พบกับเครื่องสำอางหลากหลายแบรนด์จากทั่วโลก ทั้ง Susanne Kaufmann, Zelens, Cosmetics 27, Bella Aura, Argentum, Holifrog และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนใครเป็นสายช้อปออนไลน์ พบกับโปรโมชั่นของ Skinlab ได้ที่ลาซาด้า 9.9 วันที่ 9-11 กันยายน พร้อมจองเซต Pre-sale สุดพิเศษได้วันที่ 1-8 กันยายน 2565 เท่านั้น เตรียมช้อปได้ที่ลาซาด้า bit.ly/3duBHJV

‘Mirai Shokudo’ ร้านอาหารแห่งอนาคต ที่ให้คุณใช้เวลาแทนเงิน มีวันละเมนู และไม่โดดเดี่ยวเมื่อมาคนเดียว

เวลา = เงิน

ปี 2011 ภาพยนตร์ไซไฟแอ็กชั่นเรื่อง In time ที่นำแสดงโดยจัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) และอแมนดา ไซเฟรด (Amanda Seyfried) นำเสนอคอนเซปใหม่ของโลกในอนาคตที่ผู้คนหยุดเวลาความเสื่อมถอยของร่างกายไว้ที่ 25 ปี อธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็คือคุณจะมีรูปลักษณ์เสมือนหนุ่มสาวที่อายุ 25 ตลอดไปแม้ว่าคุณจะมีอายุมากเท่าไหร่ก็ตาม

แค่คอนเซปต์การหยุดความแก่เฒ่าของร่างกายที่คัดค้านความจริงของโลกก็ว่าแปลกตาแล้ว แต่อีกคอนเซปต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นแกนหลักของเรื่องคือ การใช้เวลาเป็นสิ่งแลกแปลี่ยนแทนสกุลเงิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีหลักการว่า ในโลกอนาคตสิ่งที่ล้ำค่าราวกับเงินตราคือ ‘เวลา’ เมื่อคุณอยากจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า อาหารใดๆ คุณจะใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สิ่งของชิ้นนั้นมา ประชาชนทุกคนไม่มีกระเป๋าสตางค์ แต่จะมี ‘เวลา’ ระบุอยู่บนข้อมือตนเอง ซึ่ง ‘เวลา’ นี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากเท่าไหร่ และในขณะเดียวกันมันเป็นเหมือนนาฬิกา คอยบอกคุณว่าคุณจะสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกกี่ปี 

ทุกครั้งที่คุณซื้อของ เวลาที่เหลืออยู่บนโลกของคุณจะลดลง และในขณะเดียวกันคุณสามารถเพิ่มเวลาบนข้อมือคุณได้ด้วย ‘การทำงาน’

เราอยากจะบอกกับคุณว่าคอนเซปต์การใช้ ‘เวลา’ แทนเงินตราในการจ่ายค่าอาหารไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ในหนัง แต่มันได้เกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้

ที่ประเทศญี่ปุ่น

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ที่นี่…ญี่ปุ่น

โคบายาชิ เซไก (Kobayashi Sekai) เจ้าของร้านอาหาร มิไร โชคุโด (Mirai Shokudo–แปลเป็นไทยว่า ร้านอาหารแห่งอนาคต) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานี Jimbocho ในกรุงโตเกียว เธอคิดคอนเซปต์ที่ใช้เวลาในการทำงานและค่าอาหารขึ้นมา โดยคุณสามารถทำงานเป็นเวลา 50 นาทีเพื่อแลกกับอาหาร 1 มื้อ (อาหารกลางวันแบบเซต ราคา 900 เยน)

งานที่คุณสามารถทำเพื่อแลกกับการได้กินอาหารฟรี 1 มื้อ มีตั้งแต่การเตรียมอาหาร การเก็บโต๊ะ ล้างจานรวมไปจนถึงการเก็บกวาดร้านเมื่อร้านปิด

แล้วไอเดียในการใช้เวลาทำงานแลกอาหารของเธอได้แต่ใดมา?

เดิมทีโคบายาชิเป็นวิศวกรทำงานอยู่ที่ IBM Japan และต่อมาย้ายไปทำงานที่ Cookpad (เว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารของญี่ปุ่น) โดยที่นี่ได้ให้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าแก่โคบายาชิในการเปิดร้านอาหาร เพราะที่ออฟฟิศของ Cookpad จะมีครัวกลางที่พนักงานสามารถทำอาหารและนั่งกินข้าวร่วมกันได้ โคบายาชิสังเกตเห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเธอชอบกินอาหารที่เธอทำ และภายในครัวของออฟฟิศมักจะมีเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อเธอทำอาหารและแบ่งปันให้แก่เพื่อนร่วมงาน 

จากเดิมที่ออฟฟิศเงียบๆ เหงาๆ ต่างคนต่างเอาข่าวมานั่งกิน กินเสร็จก็ลุกออกไป เมื่อโคบายาชิลุกขึ้นมาทำอาหารในปริมาณที่มากพอที่จะแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงานได้ และเพื่อนร่วมงานก็เอนจอยกับอาหารและบทสนทนาต่างๆ ก็ลื่นไหลไปกับบรรยากาศแห่งความสุขรอบโต๊ะอาหาร โคบายาชิจึงเห็นเป้าหมายอันแน่ชัดของตัวเองในวัย 30 กว่าๆ ว่า เธอจะเปิดร้านอาหารของตัวเอง

โคบายาชิตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกร แล้วไปตระเวนฝึกงานตามร้านอาหารเพื่อเปิดร้านอาหาร และในปี 2015 ร้านอาหาร มิไร โชคุโด จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ร้านอาหารที่ต้อนรับทุกคนเสมอ

การทำงานแลกข้าวของร้านอาหาร มิไร โชคุโด ก็ว่าเจ๋งแล้ว แต่อันที่จริงแล้วคอนเซปต์ที่ว่าให้ทำงานเป็นเวลา 50 นาทีแลกกับการกินอาหารได้ฟรี 1 มื้อ เธอคิดขึ้นมาเพื่อสนองต่อหลักการในการเปิดร้านอาหารของเธอ นั่นคือ เธอต้องการให้ร้านอาหาร มิไร โชคุโด เป็นร้านอาหารที่ต้อนรับทุกคน และเหมาะสมกับทุกคน

แต่ร้านอาหารจะเหมาะสมกับคุณและต้อนรับคุณได้อย่างไร ถ้าคุณไม่มีเงิน?

โคบายาชิ เริ่มคิดหาคำตอบจากคำถามนี้ เธอจึงเกิดไอเดียการทำร้านอาหารที่ต้อนรับคนทุกคนที่เดินเข้ามาในร้าน ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ตาม แต่คุณจะต้องอิ่มท้องออกจากร้านอาหารร้านนี้ที่เธอเป็นเจ้าของ

นี่จึงเป็นที่มาของการทำร้านอาหารให้คนสามารถทำงาน 50 นาทีเพื่อแลกกับมื้ออาหารได้

แต่ไม่ใช่ว่าใครจะวอกล์กอินเข้ามาทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ คุณจะต้องลงทะเบียนจองเวลาการทำงานผ่านเว็บไซต์ของทางร้านก่อนล่วงหน้า เพื่อการจัดการที่ดีและเป็นระบบระเบียบ ร้านมิไร โชคุโด เป็นร้านที่มีโคบายาชิเพียงคนเดียวที่เป็นทั้งเจ้าของร้านและเป็นลูกจ้างภายในร้าน ดังนั้นเธอจึงยินดีเป็นอย่างมากที่จะมีคนมาช่วยเหลืองานร้านอาหารของเธอเพื่อแลกกับการกินอาหารฟรีของที่ร้าน

ภาพที่เราจะได้เห็นกันเมื่อเดินเข้าไปในร้าน มิไร โชคุโด จึงเป็นโคบายาชิกำลังทำงานในร้านอาหารกับพนักงานมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่ร้านของเธอ บ้างก็เป็นนักเรียน บ้างเป็นคนวัยทำงาน หรือบางทีอาจเป็นนักท่องเที่ยวหน้าตาออกไปทางชาวคอร์เคเชียนไปเลย

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ไม่มีเวลาเหรอ…เราให้

บางคนที่ลงทะเบียนและมาทำงานเป็นเวลา 50 นาทีให้กับร้านก็มาทำเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานร้านอาหาร หรือเพื่อต้องการอยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อมื้ออาหารที่ดีให้กับคนอื่นๆ พวกเขาและเธอบางคนก็ไม่ได้ต้องการที่จะกินอาหารฟรีหลังจากที่ทำงานเสร็จแล้ว โคบายาชิจึงมีระบบการใช้คูปอง ‘เวลา’ เกิดขึ้น

ขอวกกลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง In Time อีกครั้ง จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่พระเอกของเรื่อง คือจัสติน ทิมเบอร์เลก ได้พบกับอภิมหาเศรษฐีทางด้านเวลาที่นำแสดงโดยแมตต์ โบมอร์ (Matt Bomer) โดยแมตผู้ร่ำรวยทางเวลาและมีเวลาเหลือเฟือพอที่จะอยู่ไปได้จนนิจนิรันดร์ ได้โอนถ่ายเวลาของเขาให้กับพระเอกของเรื่อง คือจัสตินนั่นเอง

เป็นอีกครั้งที่ร้านอาหาร มิไร โชคุโด ใช้คอนเซปต์เดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง In Time หากคุณมีเวลา ซึ่งถูกนับเป็นเงินตราอยู่มากจนเกินจำเป็น ที่ร้านแห่งนี้อนุญาตให้คุณสามารถส่งมันต่อให้กับคนอื่นที่ต้องการมันมากกว่าคุณได้

การส่งต่อเวลาที่ร้านอาหาร มิไร โชคุโด มิได้ให้คนเอาข้อมือมาเชื่อมต่อกันเพื่อถ่ายโอนเวลาดั่งในภาพยนตร์ แต่โคบายาชิจะให้คนที่ต้องการส่งต่อเวลานี้แก่ผู้อื่น เขียนวัน-เวลา ที่พวกเขาและเธอทำงานไว้ใส่ในกระดาษโพสต์อิทเล็กๆ พร้อมเขียนข้อความต่างๆ ที่พวกเขาและเธออยากจะเขียนติดไว้อยู่ที่กระดานแขวนหน้าร้าน

ดังนั้นคนที่เข้ามาที่ร้านแห่งนี้แต่ไม่มีเงินและไม่มีเวลา คุณก็ยังคงได้รับการโอบรับอย่างดีจากร้าน เพียงแค่คุณดึงกระดาษโพสต์อิทแล้วเดินเข้ามาในร้าน คุณก็จะได้รับอาหารฟรี 1 มื้อ

ตัวอย่างข้อความต่างๆ ที่ เขียนไว้ในกระดาษโพสต์อิทได้แก่ “กินให้อร่อยนะ” “มาเที่ยวไต้หวันบ้างนะ” ฉะนั้นนอกจากคนที่ดึงคูปองโพสต์อิทเหล่านี้ไปใช้จะได้อิ่มท้องแล้ว เมื่ออ่านข้อความต่างๆ บนกระดาษแผ่นเล็กๆ เหล่านี้ พวกเขาก็คงจะได้ความอิ่มอกอิ่มใจด้วยเช่นกัน

นอกจากการทำงานแลกมื้ออาหารจะเป็นคอนเซปต์หลักที่มีสื่อต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศพูดถึง เมื่อเอื้อนเอ่ยถึงร้าน มิไร โชคุโด อีกหนึ่งคอนเซปต์ของร้านอาหารแห่งอนาคตนี้ที่เข้มแข็งไม่แพ้กันคือการบริหารจัดการอาหาร

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

คำถามที่อยากให้มีคนมาช่วยคิดคำตอบ

“เที่ยงนี้กินอะไรดี” 

ประโยคคำถามโลกแตกที่วนเวียนเข้ามาในสมองทุกวัน และเราก็ต้องคิดหาคำตอบให้แก่คำถามนี้ทุกวัน โคบายาชิจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการเสิร์ฟเมนูอาหารภายในร้านวันละ 1 เมนู หมายความว่าคุณไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่า คุณอยากกินอะไร เพราะร้านนี้มีเพียงแค่ 1 เมนูในวันนี้ 

โคบายาชิเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ Kydonews ว่าส่วนใหญ่นักธุรกิจหรือพนักงานที่มีเวลาจำกัดในช่วงพักกลางวันต้องการกินอาหารที่อิ่มอร่อยและรวดเร็วที่สุด ดังนั้นหากเธอตัดตอนคำถามที่ว่า “เที่ยงนี้กินอะไรดี” ออกไปได้ เธอจะสามารถประหยัดเวลาให้กับลูกค้าได้

นอกจากประหยัดเวลาให้กับลูกค้าแล้ว การเสิร์ฟอาหารเพียงแค่วันละ 1 เมนูเป็นการประหยัดเวลาในการเตรียมอาหารให้แก่โคบายาชิอีกด้วย เมื่อมีลูกค้าเดินเข้าประตูร้านมา เธอก็สามารถเตรียมจัดอาหารใส่จานให้แก่ลูกค้าได้เลยในทันที (เพราะเธอรู้อยู่แล้วว่าลูกค้าจะต้องกินอะไร เนื่องจากมันมีอยู่แค่เมนูเดียวทั้งร้าน) ดังนั้นเมื่อลูกค้านั่งลงกับเก้าอี้เสร็จเรียบร้อย โคบายาชิก็แทบจะเสิร์ฟอาหารได้เลยในทันที

นอกจากการเสิร์ฟอาหารเพียงแค่เมนูเดียวของโคบายาชิจะทำให้เธอสามารถจัดการเวลาของลูกค้าแต่ละคนได้ดีแล้ว เธอยังสามารถบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบอาหารได้ดีอีกด้วย

หากคุณมีรายการอาหารในเมนูมากมายนับสิบนับร้อย นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเตรียมวัตถุดิบในการทำเมนูแต่ละเมนูให้พร้อมเพรียง ไหนจะบางเมนูที่ขายไม่ออก วัตถุดิบที่เตรียมไว้อาจจะเน่าเสียทิ้งอีก แต่ถ้าหากคุณมีเมนูอาหารเพียงแค่เมนูเดียว คุณก็เตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารเพียงแค่สำหรับอาหารเมนูเดียวเท่านั้น แบบนี้คุณก็จะสามารถบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบของคุณได้โดยแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้เสียเลย เพราะทุกอย่างที่เตรียมมาต้องใช้กับเมนูที่คุณเตรียมมาขายในวันนี้แน่นอน

แล้วการเสิร์ฟอาหารของโคบายาชิเพียงแค่วันละ 1 เมนูก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ลูกค้าเบื่อเมนูอาหารแล้วไม่กลับมากินข้าวที่ร้านอีก เพราะโคบายาชิจะเปลี่ยนเมนูในการเสิร์ฟไปเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วอีกสองเดือนเมนูเดิมที่เคยเสิร์ฟถึงจะกลับมาขายอีกครั้ง อีกทั้งโคบายาชิยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเสนอไอเดียในการทำเมนูอาหารของสัปดาห์ถัดไปอีกด้วย ว่าเธอควรจะทำอาหารอะไรขาย และนี่เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดที่ทำให้ลูกค้ากลับมากินข้าวที่ร้านของเธอ เพื่อกลับมาดูว่าโคบายาชิได้ทำเมนูที่พวกเขาเสนอไปหรือไม่ และทำออกมาแล้วหน้าตาและรสชาติเป็นยังไง

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

อาหารตามสั่ง ณ กรุงโตเกียว

สำหรับอาหารมื้อกลางวันที่ขายเป็นเซต อยู่ที่ราคาเซตละ 900 เยน แต่หากเป็นอาหารเย็นและคุณอยากจะให้โคบายาชิเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในวันนั้นมาทำอาหารเมนูอื่น (ที่ในวันนั้นในร้านไม่ได้เสิร์ฟ) คุณก็สามารถบอกโคบายาชิได้ โดยมื้อเย็นนี้คุณจ่ายเพิ่มอีก 400 เยน คุณก็จะได้อาหารตามสั่งตามเมนูที่คุณอยากจะกิน

โดยโคบายาชิจะเขียนวัตถุดิบไว้บนกระดานว่าวันนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง เช่น ไข่ ต้นหอม ปลา ที่เหลือก็สุดแต่ความคิดสร้างสรรค์หรือเงื่อนไขของคุณจะพาไป ลูกค้าบางคนอาจเกิดอาการไม่สบายตัว จึงอยากให้โคบายาชิต้มซุปร้อนๆให้กิน หรืออาจจะอยากให้โคบายาชิทำโอเด้งให้กินในวันที่อากาศหนาวๆ 

โคบายาชิเองเคยบอกเอาไว้ว่า โจทย์ที่เธอคิดว่าท้าทายที่สุดตั้งแต่เคยเปิดร้านมาคือ การที่มีลูกค้าเคยรีเควสต์ให้เธอทำบักกุดเต๋ให้กิน (แต่เธอไม่ได้บอกเอาไว้ว่าลูกค้าคนนั้นให้ฟีดแบ็กยังไงหลังจากได้ชิมบักกุดเต๋ฝีมือโคบายาชิแล้ว) แต่โดยภาพรวมลูกค้ามักจะเขียนถึงร้านของโคบายาชิว่า เป็นร้านอาหารที่มีรสชาตินุ่มนวลและอ่อนโยน และเป็นรสชาติที่สามารถกินได้ทุกวัน

ระบบอาหารตามสั่งแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างโคบายาชิกับลูกค้า แต่อันที่จริงการออกแบบโต๊ะที่นั่งของร้าน มิไร โชคุโด ของโคบายาชิได้สนับสนุนความคิดที่จะให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างลูกค้า-ลูกค้าอยู่แล้ว

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ร้านที่คุณจะไม่โดดเดี่ยวเมื่อต้องนั่งกินข้าวคนเดียว

โต๊ะที่นั่งภายในร้าน มิไร โชคุโด ถูกออกแบบให้เป็นโต๊ะรูปตัวยู หรือรูปเกือกม้า จำนวนเพียง 12 ที่นั่ง โดยทุกคนหันหน้าเข้าหากันและโคบายาชิยืนอยู่ตรงกลางตรงเคาน์เตอร์เพื่อคอยบริการลูกค้า ดีไซน์โต๊ะแบบนี้ทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นหน้ากันและกันได้ คนที่มากินข้าวคนเดียวก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องนั่งกินข้าวคนเดียว

โคบายาชิอาจนิยามความหมายของ คำว่า ‘ร้านอาหารแห่งอนาคต’ ไว้ว่าเป็นร้านอาหารที่ผู้คนจะไม่โดดเดี่ยว ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการต้อนรับและอิ่มท้องเป็นอย่างดีอย่างเท่าเทียมกันหากมาเยือนที่นี่ โคบายาชิเธอได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเส้นทางการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์และการทำธุรกิจสามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้ เพราะเธอสามารถบริหารจัดการร้านจนพอมีกำไรและอยู่รอดมาได้จนวันนี้

โคบายาชิออกแบบโลกอนาคตที่เธออยากอาศัยอยู่ในแบบของเธอแล้ว คุณอยากอยู่ในโลกอนาคตแบบไหนคุณเองก็สามารถออกแบบมันได้เช่นกัน

ที่มา

เปิดตัว ‘VOLT’ รถ EV ไซส์มินิจากจีนที่สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และตั้งเป้าหมาย 5,000 คันภายในปีหน้า

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มคึกคักมากขึ้น หลายแบรนด์โดยเฉพาะกับแบรนด์จากประเทศจีนต่างเร่งเครื่องเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น MG, GMW (เจ้าของ ORA Good Cat) หรือกับการมาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในจีนอย่าง BYD ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

หลังงานเปิดตัวของ BYD จบลง เพียงหนึ่งสัปดาห์ให้หลังก็มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอีกแบรนด์มาเปิดตัวในไทย โดยแบรนด์ดังกล่าวมีชื่อว่า VOLT ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไซส์มินิ กับราคาเริ่มต้นที่คันละ 325,000 บาท 

ก่อนเล่าให้ฟังว่า VOLT จะงัดกลยุทธ์อะไรมาสู้ศึกรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของ VOLT กันก่อนว่านี่คือแบรนด์ที่นำเข้ามาโดย ‘บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด’ ที่มี ‘พิทยา ธนาดำรงศักดิ์’ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ การเข้ามาในวงการรถยนต์ของพิทยาเริ่มจากที่ครอบครัวของเขาทำธุรกิจอะไหล่รถยนต์มาราว 40 ปี ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานจึงเห็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป และทำให้พิทยาตัดสินใจตั้ง ‘อีวี ไพรมัส’ ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งก่อนหน้า VOLT อีวี ไพรมัส ก็ได้มีการนำรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างแบรนด์ DFSK และ SERES เข้ามาจำหน่ายในไทยก่อนแล้ว

ภาพ : facebook.com/voltcityev

พิทยาบอกถึงเหตุผลในการเลือกแบรนด์ VOLT เข้ามาทำตลาดในไทยให้ฟังว่า จีนถือเป็นผู้นำเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันในจีนมีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ราว 3.3 ล้านคัน ซึ่งกว่า 9 แสนคันคือรถยนต์ไฟฟ้าประเภท A00 (อ่านว่าเอ-ศูนย์-ศูนย์) หรือที่คนเรียกกันว่า City EV มีลักษณะเฉพาะตัวคือความเล็กกะทัดรัด มีความยาวของรถไม่เกิน 4 เมตร ดังนั้นเมื่อ City EV กำลังได้รับความนิยมในจีน ก็เป็นไปได้ว่าจะได้รับความนิยมในไทยด้วยเช่นกัน

 อีกทั้งในปี 2012 ที่รัฐบาลไทยออกนโยบายรถยนต์คันแรก ในจำนวนรถยนต์ที่ขายได้กว่า 1.2 ล้านคันนั้น กว่า 7 แสนคันคือยอดที่มาจากรถยนต์ Ecocar สะท้อนให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบรถยนต์ไซส์เล็ก

อันที่จริงแล้วต้นฉบับของ VOLT นั้นคือแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘เว่ยเฉียวหู่’ ซึ่งแปลว่าเสือตัวน้อย แต่พิทยาก็บอกว่าหากนำชื่อเว่ยเฉียวหู่เข้ามาทำตลาดในไทยเลยนั้นก็อาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยมากเท่าไหร่ เลยมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น VOLT พร้อมดัดแปลงบางส่วนของรถยนต์เพื่อให้เข้ากับความชอบของคนไทยมากขึ้น

ภาพ : facebook.com/voltcityev

ในแง่ของการแข่งขัน VOLT ตั้งใจวางตัวเองให้เป็นแบรนด์ของคนที่อยากทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กมหาลัย first jobber และเป็นรถคันที่สองของคนที่มีรถยนต์ขับเป็นหลักอยู่แล้ว และเมื่อเป็นรถไซส์เล็กจึงทำให้ VOLT มีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในตลาด โดยรถยนต์ 3 ประตูสองที่นั่งราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3.25 แสนบาท รถยนต์แบบ 5 ประตู 4 ที่นั่ง มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3.85 แสนบาท 

ส่วนในแง่ของการจำหน่าย ณ ตอนนี้ VOLT มีดีลเลอร์อยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 32 ราย ซึ่งแต่ละรายล้วนแต่เป็นดีลเลอร์ที่มีประสบการณ์ในการขายรถที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี และได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของโชว์รูมและศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีอยู่เดิมให้เป็นพื้นที่สำหรับ VOLT เพื่อให้ลูกค้ามาซื้อและซ่อม VOLT ได้ในที่เดียวกัน 

นอกจากนี้แล้ว อีวี ไพรมัส ก็กำลังสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ที่ฉะเฉิงเทรา ด้วยงบลงทุนราว 400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายในไทยและอาเซียน ด้วยเป้าหมายการผลิตที่ 4,000 คันต่อปี ซึ่งการมีโรงงานประกอบนี้ก็ทำให้บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกับโครงการของรัฐที่กำลังมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการให้ส่วนลดตั้งแต่ 70,000-150,000 และ ลดภาษีรถยนต์จาก 8% เหลือ 2% โดยนอกจาก VOLT แล้วก็มี MG GMW และ Toyota ที่เข้าร่วมในโครงการนี้

ภาพ : facebook.com/voltcityev

ด้วยแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือหลากหลาย อีวี ไพรมัส จึงตั้งใจว่าในอนาคตจะทำ EV Marketplace ด้วยเช่นกัน คือเป็นแหล่งให้คนมาซื้อ-ขายรถยนต์ไฟฟ้ามือสองแบบออนไลน์ ซึ่งพิทยาก็บอกว่าการทำมาร์เก็ตเพลสนี้ยังเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทฯ สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นๆ เข้ามาขายเพิ่มได้อีกด้วย 

และจากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็ทำให้พิทยาตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 VOLT จะมียอดขายอยู่ที่ 5,000 คัน กับยอดขาย 2,000 ล้านบาท และความฝันที่อยากจะเป็นเบอร์หนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าในเซกเมนต์ City EV

สำหรับภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีได้ประเมินเอาไว้ว่าในปี 2565 ไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 6.36 หมื่นคัน เติบโตขึ้นมาจากปี 2564 ที่ 48% โดยการเติบโตนี้มาจาก 3 เหตุผลหลักๆ ด้วยกันคือ 1. มาตรการส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ 2. เมกะเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และ 3. ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่วิ่งในไทยนั้นเป็นแบรนด์จากประเทศจีน ดังนั้นในอนาคตเราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าชื่อแปลกๆ จากแดนมังกรกันอีกมากมาย 

ส่วน VOLT แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ City EV แบรนด์แรกที่เข้ามาบุกตลาดในไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่พิทยาบอกว่า “เร็วๆ นี้จะมีรถยนต์ไฟฟ้าในเซกเมนต์ City EV ของแบรนด์อื่นๆ เร่งเครื่องเข้ามาทำตลาดในไทยอีกแน่นอน”

ภาพ : facebook.com/voltcityev

คุยกับ แสนดี–แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ถึงชีวิตในช่วงรอยต่อ การศึกษา ประวัติศาสตร์ และบทบาทการเป็นลูก

ถ้าใครสักคนหยิบเอาคำว่า แสนดี มาใช้เพื่ออธิบายขยายความอะไรสักอย่าง คงหนีไม่พ้นที่เราจะจินตนาการถึงความดีงามและความยอดเยี่ยมของสิ่งของชิ้นนั้น หรือหากใครถูกพูดถึงว่า เป็นคนแสนดี เราคงอดคิดไม่ได้ว่าคนๆ นั้นคงจะถึงพร้อมด้วยความคิดและจิตใจจนน่ายกย่องชื่นชม

แต่ดูเหมือนกับว่าในช่วงนี้ บริบทของคำว่า ‘แสนดี’ ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง กลับถูกใช้เพื่อเรียกขานชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ที่เพิ่งเรียนจบสาขาประวัติศาสตร์มาหมาดๆ แถมเขายังมีฉายาติดตัวจากชาวเน็ตด้วยว่า เป็นลูกของชายของบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน

แสนดี–แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายเพียงคนเดียวของชัชชาติเกิดมาพร้อมกับการบกพร่องทางการได้ยินแต่กำเนิด เขาใช้ชีวิต 2-3 ขวบปีแรกที่ประเทศออสเตรเลียเพื่อเข้ารับการผ่าตัดรักษาใส่ประสาทหูเทียมและเรียนรู้ที่จะใช้ประสาทหูเทียมในการสื่อสารชีวิตประจำวันที่นั่น จนในที่สุดความมานะพยายามของคนในครอบครัวและของตัวแสนดีเองทำให้เขาสามารถสื่อสารได้เทียบเคียงกับคนปกติ 

ด้วยข้อจำกัดของประสาทหูเทียมทำให้แสนดีไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้เฉกเช่นเด็กไทยทั่วไป แสนดีจึงกลับมาที่ประเทศไทยและเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงไฮสคูล หลังจากนั้นก็ลัดฟ้าไปเรียนต่อเอกประวัติศาสตร์ที่ University of Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา 

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 แสนดีรับปริญญาจบการศึกษาโดยมีคุณพ่อที่เพิ่งได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แบบหมาดๆ เข้าร่วมยินดีกับความสำเร็จทางการศึกษาของลูกชายด้วย

ในวันนี้แสนดีกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว จากเด็กที่เกิดมากับภาวะการสูญเสียการได้ยินแต่กำเนิดกลายมาเป็นหนุ่มนักประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นอกจากเรื่องราวของชีวิตแสนดีที่น่าสนใจแล้ว มุมมองที่เขามีต่ออนาคต ประวัติศาสตร์ การศึกษา และครอบครัว ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

เท่าที่ติดตามจากโลกโซเชียลคุณดูสนิทสนมกับพ่อมาก อะไรทำให้คุณทั้งสองสนิทกันขนาดนั้น

ผมกับพ่อมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกันมากๆ อย่างพ่อผมตื่นตี 4 ผมก็ตื่นและออกไปวิ่งพร้อมกับพ่อในตอนเช้า บางวันตอนกลางวันผมไปกินมื้อกลางวันกับพ่อ คือเราเจอกันทุกวัน ตารางชีวิตเราคล้ายกันมาก

หลายคนรู้ว่าพ่อคุณตื่นเช้ามาก คุณตื่นพร้อมคุณพ่อเลยเหรอ

ผมตื่นก่อนอีกนะ ผมตื่นประมาณ ตี 3 ครึ่ง (ยิ้ม)

คุณชัชชาติเป็นคุณพ่อแบบไหน

เนื่องจากผมมีพ่อแค่คนเดียว ผมก็ต้องบอกว่าเขาเป็นพ่อที่ดีน่ะครับ (หัวเราะ) คือทั้งพ่อทั้งแม่ผมเป็นสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมแล้ว ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีเขาทั้งสองชีวิตผมจะเป็นยังไง

ปกติแล้ววัยรุ่นกับผู้ปกครองมักจะมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย คุณคิดว่าอะไรคือวิธีการลดช่องว่างนั้น

ผมคิดว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องพยายามเข้าใจในความแตกต่างที่อยู่ในตัวคนแต่ละคน พยายามเปิดใจ พยายามสื่อสารความคิดของตัวเองให้อีกฝ่ายเข้าใจ อันนี้ผมพูดถึงทั้งสองฝ่ายเลยนะ ทั้งฝ่ายผู้ใหญ่และฝ่ายเด็ก ต่างฝ่ายต้องต่างพยายามเข้าหากัน รับฟังกัน ผมคิดว่าหัวใจหลักคือความพยายามที่จะเข้าใจกันและกันครับ เหมือนผมกับพ่อของผม เราสนิทกันมากๆ อันที่จริงอาจจะมากกว่าที่ใครหลายคนคิดไว้ซะอีก ผมว่าเพราะเราพยายามเข้าใจกัน 

เพราะฉะนั้นความพยายามที่จะสื่อสารและเข้าใจกันสำคัญที่สุด อันนี้ผมไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ในประเทศไทยนะ ผมหมายความถึงทุกที่ทั่วโลกเลย เราต้องเปิดใจคุยกัน รับฟังกัน และต้องวิจารณ์กันได้อย่างสร้างสรรค์

นิยามคำว่าวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ให้ฟังหน่อยได้ไหม

มันคือการให้ความเห็นอย่างสุภาพ คุณให้ฟีดแบ็ก ให้ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อคนอื่นได้นะ แต่ต้องทำแบบละมุนละม่อมและต้องทำมันด้วยเจตนาที่จริงใจ ไม่ทำร้ายจิตใจใคร คือคุณต้องวิจารณ์เขาเพราะอยากเห็นเขาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้น

แล้วคุณเคยให้ฟีดแบ็กอะไรกับพ่อคุณบ้างไหม

ผมบอกพ่อให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สนุกกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ว่าเขาต้องตลกมีอารมณ์ขันตลอดเวลานะ คำว่าสนุกคือ เอ็นจอยกับสิ่งที่ทำ ถึงแม้บางอย่าง หรือบางงานอาจจะไม่ได้น่าเอ็นจอยนักก็ขอให้หามุมมองที่ทำแล้วสนุกไปกับมันให้ได้มากที่สุด

คุณรู้ไหมว่าคุณพ่อคุณมีฉายาว่าชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีจากชาวเน็ตในไทยนะ

รู้ครับ ที่ผมรู้เพราะผมติดตามชีวิตเส้นทางการทำงานของพ่อผมตลอด อย่างตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมตามอ่านนโยบาย ตามดูดีเบต ตามดูการตอบคำถามของพ่อตอนอยู่กับสื่อและตอนตอบคำถามประชาชน เวลาที่พ่อเขาโดนถามถึงข่าวหรือประเด็นต่างๆ พ่อตอบคำถามยังไง มีรีแอ็กชั่นยังไงบ้าง คือผมตามติดชีวิตทำงานของพ่อผมมากๆ เหมือนผมกำลังศึกษาตัวละครสักตัวในหนังยังไงอย่างนั้นเลย ไม่แน่นะ ในอนาคตผมอาจจะเป็นนักแสดงและได้รับบทเป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้ (หัวเราะ)

ในสายตาของคุณ โมเมนต์ไหนที่คุณคิดว่าเป็นโมเมนต์ที่พ่อของคุณแข็งแกร่งที่สุด

ผมคิดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2012-2013 นะ ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องปีเท่าไหร่ ตอนนั้นพ่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่และโครงการรถไฟของพ่อโดนศาลรัฐธรรมนูญปัดตก ผมว่าพ่อเขาดูผิดหวังมากนะในตอนนั้น เขาคงรู้สึกเหมือนกับว่าเขาล้มเหลว สำหรับบางคนอาจจะเฟลไปเลย แต่ผมเห็นพ่อก็พยายามเอาชนะความรู้สึกตรงนั้นและข้ามผ่านมันมาได้ ผมคิดว่านี่แหละคือโมเมนต์ที่พ่อของผมแข็งแกร่งที่สุด

คุณได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่อคุณบ้าง

(นิ่งคิด) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความยืดหยุ่น แล้วก็ความกล้าหาญครับ ไม่ได้แปลว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีแล้วจะต้องแข็งแกร่งเสมอนะ มันโอเคที่จะอ่อนแอบ้าง มันโอเคที่จะแสดงความอ่อนแอ มันโอเคที่จะผิดพลาดบ้าง

มันโอเคที่จะล้มบ้าง เพราะคุณเป็นมนุษย์

ถูกต้องเลยครับ 

แล้วคุณแม่คุณล่ะ คุณเรียนรู้อะไรจากคุณแม่คุณบ้าง

จริงๆ คุณแม่ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ผมเลยไม่ค่อยอยากพูดถึงท่าน แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมได้รับจากแม่ มันคือความอดทนและการตรงต่อเวลา ผมยึดหลักที่ว่ามาก่อนเวลา 2 นาทีดีกว่ามาสาย 1 นาทีนะ ถ้าผมนัดกับเพื่อน ผมนี่มาถึงก่อนคนแรกเลย ที่จริงแล้วผมมาก่อนเวลานัด 20 นาทีด้วยซ้ำ เอาให้ชัวร์เลยว่าผมไม่สายแน่นอน

นอกจากสองเรื่องนี้ผมคิดว่า สิ่งที่ผมเรียนรู้จากแม่คือความรักนะ ความรักเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งและทรงพลังมากที่สุดในโลกเลย นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากทั้งพ่อและแม่จากความรักที่ทั้งสองมีให้ผม โอเค ผมรู้ว่าฟังดูแล้วมันอาจเป็นคำทั่วๆ ไปนะ รักคือสิ่งทรงพลัง แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราไม่ควรประเมินพลังของความรักต่ำจนเกินไป

มีอะไรจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ไหม

ถ้าบอกพ่อก็…อย่าสร้างปัญหานะครับพ่อ (หัวเราะ) ถ้าบอกแม่ก็ ไม่ต้องกังวลเรื่องผมมากเกินไปหรอกครับ

เท่าที่ฟังท่าทางคุณแม่จะเป็นห่วงคุณมาก คุณแม่คุณยอมให้คุณทำอะไรที่ดูนอกกรอบบ้างไหม

จริงๆ แม่ผมค่อนข้างเปิดกว้างนะ โดยเฉพาะเวลาที่ผมอยากแสดงตัวตนของผมออกมา อย่างเช่นการย้อมสีผม ครั้งแรกที่ผมจะไปทำสีผม คุณแม่เป็นคนพาผมไปที่ร้านทำผมนะครับ ผมเปลี่ยนสีผมหลายครั้งมากจากครั้งแรกที่ผมย้อมสีผมเป็นสีฟ้า ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมผมถึงเลือกสีนั้น (ยิ้ม) จากนั้นก็ย้อมอีกเป็นสีเขียว จากนั้นก็สีบลอนด์ แอชบราวน์ บลอนด์ แล้วก็กลับมาย้อมเป็นสีน้ำตาลเข้ม คือผมเปลี่ยนสีผมบ่อยเหมือนกันจนตอนนี้ที่ผมกลับมาเป็นสีนี้ที่คุณเห็นนี่แหละ

สนุกกับแฟชั่นและการย้อมสีผมแบบนี้ คิดจะไปสักบ้างไหม

คิดครับ ผมบอกทุกคนยกเว้นแม่ผมว่าผมจะไปสัก เพราะฉะนั้นอย่าเอาบทสัมภาษณ์นี้ให้แม่ผมอ่านนะครับ (หัวเราะ) ผมล้อเล่นครับ ใช่ครับ ผมคิดเรื่องรอยสักอยู่ คือผมไม่ได้คิดจะเป็นคนที่นำเทรนด์หรือนำแฟชั่นอะไรหรอกครับ ผมแค่คิดว่ามันโอเคที่เราจะแสดงตัวตนออกมา ตัวตนข้างในเราเป็นแบบไหน เราก็แสดงมันออกมาเท่านั้นเอง

หลังเรียนจบ ชีวิตช่วงนี้ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมไม่เคยมีความสุขขนาดนี้มาก่อนเลย คือผมเพิ่งเรียนจบ ผมอายุ 22 ตอนนี้ผมไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลเลยในหัว โดยรวมคือแฮปปี้ครับ สนุกกับการใช้ชีวิตเลยในตอนนี้

เห็นว่าคุณเรียนจบมหาวิทยาลัย University of Washington ตอนนั้นทำไมเลือกเรียนที่นี่

จริงๆ ผมได้ตอบรับจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเลย ทั้ง University of Toronto, Penn State แล้วก็ University of Washington สำหรับผมนะ ผมคิดว่า University of Washington คือที่ที่เหมาะกับผมที่สุด ผมได้ลองไปดูแคมปัสของ University of Washington ในซีแอตเทิลช่วงวันหยุดสงกรานต์ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัย พอผมไปถึงซีแอตเทิล ผมหลงรักเมืองนี้เลย ผมรู้เลยว่าผมอยากจะใช้ชีวิตอีก 4 ปีที่นี่ อันที่จริงผมคิดเลยว่า ถ้าผมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่นี่จะเป็นที่ที่ผมอยากจะมาใช้ชีวิตอยู่ ผมคิดแบบนั้นเลย ผมรู้สึกว่าที่นี่จะเป็นบ้านหลังที่สองให้ผมได้

ทำไมคุณถึงหลงรักซีแอตเทิล

ผมรู้สึกว่าซีแอตเทิลเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ผมอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ที่นั่นมันมีคนหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรมมากๆ มีไชน่าทาวน์ มีคนมาจากหลากหลายที่รวมกันอยู่ 

แล้วการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเป็นยังไงบ้าง

เท่าที่ผมเจอมาคือน้อยมากๆ เลยที่จะเรียกร้องให้ผู้เรียนมาท่องจำตามคำบอกในหนังสือ ส่วนใหญ่ระบบการเรียนการสอนที่นั่นมันมักจะมีอะไรมากระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้อยู่ตลอดนะผมว่า เช่น เราต้องประมวลผลเองจากอะไรสักอย่างที่เราไปอ่านหรือไปฟังมา เราต้องคิดแบบวิเคราะห์ เราต้องบาลานซ์ความคิดของเราให้มีเหตุมีผล การเรียนที่นั่นมันไม่ใช่การมาเคร่งอ่านหนังสือเป็นหลายๆ ชั่วโมง แต่หัวใจของการเรียนคือเขาเน้นให้เราสามารถเอาข้อมูลที่เราเรียนรู้มาประยุกต์ใช้

รู้มาว่าคุณเรียนจบเอกประวัติศาสตร์ ทำไมถึงเลือกเรียนเอกนี้

โอ้โห ถ้าจะให้เล่าว่าทำไมผมถึงรักประวัติศาสตร์มันจะยาวเลยนะ (หัวเราะ) 

คือผมคิดภาพตัวเองโดยไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ไม่ออกเลย อาจจะเพราะว่าตั้งแต่ตอนผมเป็นเด็ก ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมากๆ ถ้าคุณถามว่าตอนเด็กผมทำอะไรบ้าง ผมบอกเลยว่าสิ่งเดียวที่ผมจำได้คือ ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นี่แหละ นึกย้อนไปผมยังงงตัวเองอยู่เลยว่าอ่านเข้าไปได้ยังไงเยอะขนาดนั้น (ยิ้ม) จริงๆ ตอนผมจบเกรด 12 ทีแรกผมก็คิดจะเรียนด้านบริหารธุรกิจอยู่เหมือนกัน มันดูเป็นทางเลือกที่ฉลาดดีนะ น่าจะหางานได้ไม่ยากจากการเรียนเอกธุรกิจ คือช่วงที่ผมจบไฮสคูลมีแต่เพื่อนๆ เลือกเรียนด้าน STEM, วิศวะ, เศรษฐศาสตร์ แต่ผมมาคิดๆ ดูอีกที ประวัติศาสตร์นี่แหละเหมาะกับผมที่สุด และมันทำให้ผมโดดเด่นต่างจากคนอื่นอีกด้วย

ตอนผมเรียนจบเกรด 12 จาก NIST ผมคิดว่าผมเป็นคนเดียวในรุ่นเลยที่เลือกเรียนเอกประวัติศาสตร์นะ คือส่วนใหญ่เขาก็เลือกเรียนไปทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ อะไรก็ว่าไป แต่ผมนี่สิ เลือกเรียนเป็นนักประวัติศาสตร์เต็มตัวเลย

คนรอบตัวคิดยังไงกับการเลือกเรียนเอกประวัติศาสตร์

ก็มีเพื่อนแซวกันนิดหน่อยช่วงนั้น เช่น เรียนประวัติศาสตร์เหรอ เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร อย่าว่าแต่เพื่อนเลย พ่อแม่ผมยังแซวผมเลย ว่านี่เรียนจบแล้วจะไปทำอะไรต่อ เป็นอาจารย์เหรอ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเรียนจบประวัติศาสตร์ก็ต้องจบไปเป็นแต่ครูสอนประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ คุณสามารถจบไปแล้วเป็นอะไรก็ได้ การเรียนประวัติศาสตร์มันยูนีกด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว

ประวัติศาสตร์ไร้พรมแดน น่าพิศวง และน่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าคุณศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จริงๆ คุณจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของการมาจำวันที่ว่าวันไหน ปีไหนมีศึกสงครามเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ จริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น สาระสำคัญมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่มันสำคัญที่ว่าเรื่องราวต่างๆ ทำไมมันถึงถูกเขียนขึ้นมาแบบนั้น ทั้งเรื่องราวของสังคม เรื่องราวในอดีต ทุกอย่างมันหล่อหลอมให้เราเป็นเราในปัจจุบันนี้

ฟังดูเป็นการเรียนเอกสาขาที่ต้องคิดวิเคราะห์เยอะมาก

ใช่ ผมคิดว่าทักษะที่สำคัญมากๆ ของนักประวัติศาสตร์คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เป็นนะ คือเป้าคุณต้องชัดว่าคุณกำลังวิเคราะห์เรื่องอะไร คุณต้องเป็นคนเปิดใจ คุณต้องมองที่ข้อเท็จจริงแล้วประเมินดู ชั่งน้ำหนักของข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝั่ง ผมคิดว่าตัวประวัติศาสตร์มันทั้งซับซ้อน ทั้งท้าทายด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว  แต่สรุปคือเรามองประวัติศาสตร์เพื่อที่เราจะได้เข้าใจบริบทของปัจจุบัน

มีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนที่คุณชอบที่สุดไหม

เป็นคำถามที่ยากมาก เพราะคุณให้ผมเลือกเล่มที่ชอบที่สุดเล่มเดียว (ยิ้ม) คือมีหนังสือหลายๆ เล่มที่ผมชอบ อาจจะเพราะด้วยความที่เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผมเลยต้องอ่านหนังสือเยอะ มีหนังสือหลายๆ เล่มที่อยู่ในใจผม แต่ผมขอยังไม่เลือกนะ เพราะเลือกไม่ถูกเลยว่าจะยกเล่มไหนเป็นเล่มที่ชอบที่สุดดี

แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมขอตอบเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผมสนใจที่สุดก็แล้วกัน ผมชอบประวัติศาสตร์ยุคกลาง ช่วงพรีโมเดิร์น ที่ผมชอบเป็นพิเศษจะเป็นพวกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามและศาสนา พวกสงครามครูเสด สงครามระหว่างจักรวรรดิออตโตมันกับยุโรป

หลังคุณเรียนจบแล้วคุณมีแผนจะทำอะไรต่อบ้าง

ตอนนี้ผมเรียกตัวเองว่าเป็นนักจัดรายการพ็อดแคสต์แบบเต็มรูปแบบนะครับ อันที่จริงผมทำอยู่ 2 โปรเจกต์พร้อมๆ กันตอนนี้ คือจัดพ็อดแคสต์และเขียนนิยาย

รายการพ็อดแคสต์ของคุณเกี่ยวกับอะไร

รายการพ็อดแคสต์ที่ทำชื่อว่า กุลสตรี เพื่อนผมอีก 2 คนที่เป็นโฮสต์รายการนี้ด้วยกันตั้งชื่อนี้ขึ้นมา คอนเซปต์ของรายการคือ เราจะพูดถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือเราอยากหยิบเอาเรื่องที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องเจอในสังคมมาพูด ตั้งใจไว้ว่าจะทำสัก 10 ตอนต่อซีซั่น พวกเราก็คิดเอาไว้ว่าจะเชิญแขกรับเชิญมาในรายการครับ ในแต่ละตอน จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญถึงประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพจิต เพศสภาพ ความสัมพันธ์ อาหาร การเมือง ประมาณนี้

คุณสนใจอะไรในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงจนต้องทำรายการนี้

อันที่จริงมันเริ่มจากเพื่อนผม เขามาเล่าให้ผมฟังถึงคอนเซปต์พ็อดแคสต์นี้ ผมก็เลยเชียร์เขาว่า เอาเลยทำเลย แต่ไปๆ มาๆ เพื่อนก็ลากผมเข้าไปทำด้วยเฉยเลย ผมเลยเหมือนตกกระไดพลอยโจน สุดท้ายผมเลยบอกเพื่อนว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นเรามาทำโปรเจกต์นี้ด้วยกันแบบจริงจังกัน มันก็เริ่มจากตรงนั้นแหละครับ คือพวกเราตั้งใจจะทำพ็อดแคสต์ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง เพราะเราไม่อยากจะให้มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในสังคม เราอยากเอาประเด็นเรื่องที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องพบเจอมาเล่าให้สังคมฟัง

แล้วที่บอกว่าเขียนนิยาย อะไรทำให้คุณเริ่มเขียนนิยาย

ผมคิดว่ามันมาจากการที่ผมชอบเขียนนะครับ ผมชอบเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คือผมบกพร่องทางการได้ยินมาแต่กำเนิดผมเลยโตมากับประสาทหูเทียม ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าการเขียนเป็นทางเดียวที่ผมจะสามารถชดเชยการได้ยินที่เสียไปของผมได้ มันเลยเป็นแรงกระตุ้นให้ผมต้องเขียน เขียน เขียน เพราะผมอาจจะยังพูดสื่อสารไม่คล่อง ผมเลยต้องใช้การเขียนเป็นการสื่อสารแทน

นิยายที่คุณเขียนเกี่ยวกับอะไร

ผมจะสปอยล์แบบสั้นๆ ให้ฟังคือ นิยายที่ผมเขียนมันเป็นนิยายประวัติศาสตร์ที่อิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงยุคประมาณ 1920-1930 จนถึงปัจจุบัน อารมณ์เหมือนประวัติศาสตร์ครอบครัวแต่อิงกับช่วงเวลายุค 20s มาจนถึงปัจจุบัน

ตอนนี้ผมเขียนไปแล้ว 5 บท คือผมวางโครงไว้ว่าทั้งหมดจะมี 25 บท แต่อย่างว่า พอเราใช้เวลาอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ไม่แน่นะที่ผมวางไว้ว่า 25 บท มันอาจจะกลายเป็น 50 บทก็ได้ (หัวเราะ) คือยิ่งนานวันเข้า ไอเดียมันก็เปลี่ยน มีไอเดียอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะสักปลายๆ ปีหน้าก็น่าจะเสร็จ หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นนะ (ยิ้ม)

เท่ากับคุณใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเขียนนิยายเรื่องนี้

จริงๆ ผมเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ผมอายุ 12 แล้ว และผมพัฒนาไอเดียโครงเรื่องและรายละเอียดของมันเรื่อยๆ มาตลอด 10 ปีนี้ พอผมโตขึ้นมุมมองของผมก็โตตามไปด้วย ผมเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับการเขียนนิยายเรื่องนี้ตอนอายุ 12 พอตอนนี้ผมอายุ 22 มุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ มันก็เปลี่ยนไป มันพัฒนาในทางที่โตขึ้นเพราะผมเจอโลกที่กว้างขึ้น รับรู้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เยอะขึ้น สิ่งเหล่านี้มาเติมเต็มไอเดียและเป็นแรงผลักดันให้ผมเขียนเล่าเรื่องออกมา เหมือนตลอดสิบปีที่ผ่านมานี้มันเป็นเหมือนก้อนอิฐทีละก้อน ที่ผมคอยไปเก็บมาเป็นชิ้นส่วนในการประกอบให้มันเป็นปึกแผ่น เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจะเขียนนิยายเรื่องนี้

แล้วนอกจากนิยายผมชอบเขียนกลอนด้วยนะ ผมเขียนกลอนเยอะมากในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เช่น เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เรื่องโควิด เรื่องสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่ ผมเอามาเขียนเป็นกลอนหมด

เขียนกลอนไว้แล้วได้เอาออกมาเผยแพร่บ้างไหมเนี่ย

(รีบตอบทันที) ไม่ ไม่ ไม่เลยครับ ถ้าผมเผยแพร่ไปคุณคงเคยอ่านแล้วล่ะ และน่าจะเป็นเรื่องแรกที่คุณถามผมวันนี้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

นอกจากสองโปรเจกต์ที่ว่ามา คุณมีความฝันจะทำอะไรอีกไหม

ผมอยากทำอะไรก็ได้ที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาประเทศ นั่นคือความฝันของผมนะ ผมว่าตรงนี้ผมน่าจะได้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้ามาจากพ่อผม ตอนที่พ่อผมสมัครเรียนต่อที่ MIT ด้วยทุนคิง พ่อเขียนเรียงความว่าพ่ออยากช่วยพัฒนาประเทศ พ่ออยากจะเข้าเรียนที่ MIT เพราะเขาอยากเอาความรู้กลับมาช่วยเหลือและพัฒนาประเทศไทย ผมคิดว่าผมเลยได้แรงบันดาลใจตรงนี้มาจากพ่อ ผมอยากทำอะไรสักอย่างให้สังคมของเรา ให้ประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดพ็อดแคสต์ การเขียนนิยาย หรืออะไรก็ตามแต่ที่พอจะช่วยเหลือสังคมและประเทศไทยได้

ผมอยากจะทำมันครับ

CURAPROX แปรงสีฟันสีสันสนุกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ทุกคนอยากแปรงฟัน

หากเรานึกถึงจุดขายของแปรงสีฟันทั่วไปคงหนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ อย่าง ขนแปรงนุ่ม ประสิทธิภาพในการขจัดคราบ ช่วยให้ฟันขาวใส แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจหลักของ CURAPROX แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ตั้งใจออกแบบ ‘แปรงสีฟันที่ทำให้คนอยากแปรงฟัน’

“ดีเอ็นเอของเรามีอยู่ 3 อย่างคือ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และใช้งานง่าย” อรินทรา ทองฤดี Head of Consumer Business Unit แห่ง CURAPROX (Thailand) กล่าวถึงหัวใจของแบรนด์ที่สานต่อมาอย่างแข็งแรงตั้งแต่วันแรกจนขวบปีที่ 50 ซึ่งพวกเขาได้ขยับขยายธุรกิจไปแล้วกว่า 70 ประเทศ

curaprox

แต่ถ้าจะมีสิ่งไหนที่แข็งแกร่งไปกว่านั้นก็คงหนีไม่พ้นดีไซน์ของแปรงสีฟันรุ่น CS5460 ที่คงเดิมมาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และยังสามารถดึงดูดผู้ใช้หน้าใหม่ได้มากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี

อะไรคือความลับที่ซ่อนอยู่ในดีไซน์อันไร้เทียมทานของแปรงสีฟันอันไร้เทียมทานด้ามนี้ คอลัมน์ Product Champion อยากชวนไปสำรวจเบื้องหลังการออกแบบของ CURAPROX ที่หวังให้ทุกคนอยากเดินไปแปรงฟันด้วยความสมัครใจในทุกเช้าที่ตื่นและทุกคืนก่อนเข้านอน

curaprox
curaprox

ย้อนกลับไปในปี 1972 เมื่อประธานบริษัทอย่าง Ueli Breitschmid และพาร์ตเนอร์พบว่า นักเรียนทันตแพทย์ส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีความรู้ในทางตำราแค่ไหนแต่ก็ยังมีโรคในช่องปากอยู่ นั่นแปลว่ามันต้องมีปัจจัยในเชิงพฤติกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง อะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาลงมือปฏิบัติตามสิ่งที่ร่ำเรียนมาไม่ได้ พวกเขาจึงตั้งใจศึกษาและออกแบบแปรงสีฟันที่จะช่วยให้การแปรงฟันไม่เป็นภาระ แต่กลายเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างสบายใจ

และเมื่อได้ศึกษาลงลึกกับผู้บริโภคมากขึ้น พวกเขาพบว่าปัญหาในการแปรงฟันนั้นมาจากอินไซต์ 3 ข้อใหญ่ในการแปรงฟัน ได้แก่

curaprox

หนึ่ง–ไม่รู้ว่าต้องแปรงแรงแค่ไหน 

ในเมื่อเราไม่มีหน่วยวัดแรงในการแปรงฟัน แล้วแค่ไหนกันที่จะเพียงพอให้ฟันเราสะอาด ไม่ผุ แต่ก็ไม่มีปัญหาเลือดออกขณะแปรงฟัน

“หลายคนมีความเชื่อที่ว่าแปรงแรงแปลว่าสะอาด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคราบแบคทีเรียที่เป็นวัตถุประสงค์ของการแปรงฟันมันนิ่มมาก ให้นึกภาพว่ามันเหมือนกาว Post-it ที่เราแค่เอานิ้วไปสะกิดกระดาษก็หลุดแล้ว ดังนั้นไม่มีความจำเป็นเลยที่เราจะต้องแปรงให้มันแรงขนาดนั้น” อรินทรายกตัวอย่าง ในฐานะที่เธอเองก็เป็นคนหนึ่งซึ่งเคยมีประสบการณ์เลือดออกขณะแปรงฟันจนพานทำให้ไม่อยากแปรงไปเสียอย่างนั้น

โซลูชั่นของพวกเขาคือการออกแบบขนแปรงปลายมนที่อ่อนนุ่มแบบสุดๆ และยังใช้เป็นตัววัดแรงได้ด้วย

curaprox

“จุดที่เป็น critical point ในการสัมผัสคือเหงือกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางมาก เราจึงต้องให้ความสำคัญกับขนแปรง ขนแปรงของเราเป็นวัสดุจดสิทธิบัตร แปลว่าจะไม่มียี่ห้ออื่นที่ทำเหมือนกันได้ ทั้งประสบการณ์ความนุ่มที่คุณได้ ความรู้สึกสะอาดที่หลายคนพูดถึง ที่สำคัญคือขนแปรงของเรายังมีหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าคุณแปรงแรงไปหรือเปล่า ถ้าใช้ไป 3-5 วันแล้วขนแปรงบานออกไม่เป็นทรง นั่นแปลว่าคุณแปรงแรงเกินไป ให้พยายามลดแรงลงอีก” เธอแนะนำ

สอง–ไม่รีบก็ขี้เกียจ (หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง)

แม้จะรู้ดีว่าการแปรงฟันอย่างมีประสิทธิภาพควรแปรงอย่างน้อย 2-3 นาทีขึ้นไป แต่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะแปรงฟันเสร็จด้วยความไวแสง

“ถ้าไม่รีบก็ขี้เกียจ มีแค่สองอย่างนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) ดังนั้น CURAPROX จึงตั้งคำถามว่า ทำยังไงให้การกวาดแปรงหนึ่งครั้งมันมีประสิทธิภาพสูงสุด คำตอบที่ได้คือการดีไซน์ขนแปรงแบบหน้าตัดตรง และเพิ่มจำนวนขนแปรงเข้าไปเพื่อไม่ให้แบคทีเรียสามารถหลุดรอดจากขนแปรงของเราได้ อย่างรุ่นมาตรฐาน CS5460 นี้ก็จะมีขนแปรงทั้งหมด 5,460 เส้น ถ้ามองด้านข้างแบบนี้จะสังเกตว่าเราไม่เห็นแสงลอดผ่านมาเลย เพราะขนแปรงแน่นมากจริงๆ

“ดังนั้นถ้าเราเปรียบเทียบกับการใช้แปรงแบบอื่นที่หน้าตัดอาจจะไม่ได้ตรง หรือมีจำนวนขนแปรงน้อยกว่า ก็ต้องบอกว่าแปรงของเราทำความสะอาดได้มากกว่าจริงๆ ในการกวาดแต่ละครั้ง” เธอสรุปถึงดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทั้งเพนพอยต์ของคนรีบและคนขี้เกียจได้ในเวลาเดียวกัน

curaprox

สาม–แปรงยังไงก็ยังมีคราบหินปูน

“ปกติแล้วคุณแปรงฟันตรงไหน” อรินทราตั้งคำถาม

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงมีคำตอบในใจคล้ายกันกับเราว่า “ก็แปรงบนฟัน”

“โดยทั่วไปคราบหินปูนมักจะเกิดบริเวณใกล้เหงือกใช่ไหม แต่คนเรามักจะแปรงฟันบนฟันซึ่งผิดวิธี จริงๆ แล้วมันต้องแปรงตรงขอบเหงือก และถ้าจะให้แนะนำอย่างเจาะจงที่สุดคือคุณควรวางบนขอบเหงือกให้แปรงทำมุม 45 องศา” อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงอึ้งกิมกี่ไม่ต่างกับเราที่กำลังนั่งฟัง

“คำถามคือ 45 องศาบนขอบเหงือกนี่มันอยู่ตรงไหนล่ะ คนส่วนใหญ่คงไม่เอาไม้โปรฯ มานั่งวัดองศาระหว่างแปรงฟันถูกไหม ดังนั้น CURAPROX จึงดีไซน์ด้ามจับมาให้เป็นแปดเหลี่ยม ทำมุมด้านละ 45 องศา เพื่อไกด์มุมในการแปรงฟันอย่างถูกต้องที่สุด” เธอสรุป

curaprox

อรินทราอธิบายต่อว่า แปรงสีฟันแปดเหลี่ยมด้ามนี้ถูกออกแบบมาให้จับเหมือนกับการจับปากกา ไม่ใช่เพราะว่าเราจะทำมุมได้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้เราไม่เผลอแปรงแรงจนเกินจำเป็นอีกด้วย

“การจับท่านี้จะช่วยลดแรงในการแปรงได้เพราะมันจับไม่ถนัด (หัวเราะ) แปรงแค่วนๆ เบาๆ เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้แปรงสีฟันคือขจัดคราบแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ เราแค่ต้องทำความสะอาดให้ถูกจุด แล้วเราก็จะไม่เป็นโรค” 

แปรงสีฟันที่มีชีวิต

นอกเหนือจากความโดดเด่นในแง่ฟังก์ชั่นทั้ง 3 ข้อที่ช่วยแก้พฤติกรรมผิดๆ ในการแปรงฟันแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ดึงดูดให้เราอยากหยิบแปรง CURAPROX ขึ้นมาใช้บ่อยๆ แถมยังช่วยตกลูกค้าใหม่เข้าสู่วงการได้ไม่น้อยก็คือสีสันอันโดดเด่น ซึ่งอรินทราเล่าว่า เฉดสีสุดเก๋นี้ไม่ได้เพิ่งจะมาทำในยุคหลัง แต่มันคืออีกหนึ่งความตั้งใจแรกเริ่มของแบรนด์

“คุณ Ueli Breitschmid ประธานบริษัทเขาเคยบอกว่า เขาต้องการสร้างโปรดักต์ที่มันมีชีวิต ซึ่งสิ่งที่เขานึกถึงคือเรื่องซินเดอเรลลา ที่เสกฟักทองให้เป็นรถ เสกหนูให้เป็นม้า เราจึงตั้งใจใส่สีสันสนุกๆ เข้าไปในแปรงสีฟันเพื่อให้มันมีชีวิต และเกิดเป็น bonding กับผู้ใช้งาน ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของแปรงด้ามนั้น และเกิดความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ไปด้วยในตัว”

เมื่อความผูกพันกับแบรนด์เริ่มก่อตัว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือหลายคนซื้อไปเปลี่ยนให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน มีการบอกต่อ แนะนำกันแบบปากต่อปาก หรือแม้กระทั่งซื้อไปให้เป็นของฝากติดไม้ติดมือ เหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดผู้ใช้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

“บอกตรงๆ ว่ามันไม่เคยมีแปรงสีฟันแบรนด์ไหนที่กลายมาเป็นของขวัญ แต่เพราะแฟนๆ CURAPROX ส่วนใหญ่ใช้แปรงสีฟันของเราอย่างต่อเนื่อง และเขารู้ว่าแปรงสีฟันด้ามนี้มันช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุจริงๆ โอเคสีมันน่ารัก ใช่ แต่ว่าสิ่งที่มันให้กับคนที่ได้ใช้งานมันอย่างถูกวิธี เชื่อได้เลยว่ามันมีค่ามากกว่าเงิน 205 บาทแน่นอน” อรินทราสรุป

แปรงเพื่อปกป้อง

“โรคในช่องปากมี 2 โรคใหญ่ๆ คือโรคเหงือกอักเสบกับโรคฟันผุ ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องมีหินปูนให้หมอขูดเลยถ้าเราแปรงฟันได้ดี” ในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับ CURAPROX มาหลายปี มีประสบการณ์เกี่ยวกับสุขอนามัยในช่องปากมาไม่น้อย อรินทราจึงกลายเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นใน ‘ทันตกรรมป้องกัน’ 

เพราะเป็นแบรนด์ที่เชื่อในการป้องกันมากกว่าที่จะซ่อมแซมเอาเมื่อสาย ถึงแม้ฮีโร่โปรดักต์ตลอดกาลอย่าง CS5460 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์เลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตในการปกป้องฟันซี่สำคัญให้ผู้คนทุกช่วงวัย ในทุกช่วงเวลา

และต่อไปนี้คือแปรงสีฟัน 5 รุ่นของ CURAPROX ที่บอกเราว่าพวกเขาไม่เคยหยุดพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อวิ่งตามนวัตกรรมด้านสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแปรงสำหรับเด็กเล็ก, เด็กโต, ผู้สูงวัย, คนจัดฟัน ฯลฯ ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า ‘BORN TO BONE’ 

1. แปรงสีฟันเด็กเล็ก ฟันน้ำนม

“เด็กฟันน้ำนมจำเป็นต้องใช้ขนแปรงที่เตี้ยและมีความแข็งนิดหนึ่ง เพราะว่าคราบแบคทีเรียบนฟันของเขาจะเหนียวกว่าของผู้ใหญ่ ส่วนด้ามแปรงของแปรงสีฟันนั้นจะถูกดีไซน์มาให้เป็นแบบกลม เพราะว่าเขากำลังอยู่ในวัยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่ององศาการวางแปรงหรอก เราแค่ต้องทำให้เขารู้ว่าจะต้องมีสิ่งนี้เข้าปากทุกวันเช้าเย็น เราเริ่มสอนกันตั้งแต่แบบนั้น”

2. แปรงสีฟันเด็กโต ฟันแท้

“สำหรับเด็กที่เริ่มมีฟันแท้ขึ้นแล้ว เราจะให้เขาเปลี่ยนมาเป็นอีกรุ่นหนึ่งซึ่งคล้ายกับว่าเป็น CS5460 ขนาดย่อส่วนลงมา เพื่อให้เหมาะกับขนาดและสภาพช่องปากของเด็กๆ รุ่น 6-7 ขวบ ด้ามแปรงของรุ่นนี้จะเริ่มเปลี่ยนเป็นแปดเหลี่ยมแล้ว เพื่อไกด์ให้เขารู้ว่าต้องแปรงตรงไหน วางอย่างไรถึงจะถูก พอเขาโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะใช้รุ่นฮีโร่โปรดักต์ของเราต่อ”

3. แปรงกระจุก แปรงสำหรับผู้มีปัญหาฟันเก

“เมื่อโตขึ้นสภาพฟันแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนฟันแท้ขึ้นแล้วเกซ้อนกันอยู่ แต่ยังไม่ได้จัดฟัน เราจึงออกแบบแปรงกระจุก หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘แปรงคนขยัน’ เพราะมีหัวแปรงขนาดเล็ก ใช้สำหรับแปรงทีละซี่ เก็บรายละเอียดในส่วนที่มีฟันซ้อนหรือฟันเกได้มากกว่าเมื่อเทียบกับแปรงส่วนใหญ่” 

4. แปรงสีฟันรุ่น Surgical Megasoft สำหรับผู้มีแผลในปาก

“ในขณะที่บางคนเจอคุดนอนมาเลย ก็ต้องไปผ่าออกทำให้มีแผลในปากต้องรักษา เราจึงออกแบบแปรงสีฟันรุ่น Surgical ซึ่งเราออกแบบมาเพื่อ special need ใครก็ตามที่มีแผลผ่าตัด หรือแม้กระทั่งได้รับการรักษาแบบฉายรังสีหรือคีโม เพราะเนื้อเยื่อในช่องปากเขาจะเซนซิทีฟมากกว่าปกติ อะไรไปสะกิดนิดเดียวก็เลือดออกแล้ว ดังนั้นขนแปรงรุ่นนี้เราจะไม่ได้ทำเป็นสีๆ แต่ถูกดีไซน์ให้เป็นขนแปรงสีขาว เพื่อเป็น indicator ให้ผู้ใช้งานสามารถสังเกตได้ง่ายหากมีเลือดออก เขาจะได้รีบไปหาคุณหมอหรือโทรปรึกษาได้

“อีกอย่างคือขนแปรงรุ่นนี้จะนุ่มกว่ารุ่นปกติเป็นสองเท่า เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงไปอีก เพื่อให้ความนุ่มมันมากกว่า Surgical เป็นแปรงเฉพาะกาล อายุการใช้งานแค่ 7 วัน พอแผลหายดีแล้วก็หยุดใช้ ดังนั้นขนแปรงมันอาจจะเสียรูปทรงได้เร็วมาก ส่วนด้ามแปรงก็เป็นด้ามกลมไม่ใช่แปดเหลี่ยม เพราะจุดประสงค์ของมันคือการทำความสะอาดบริเวณแผลอย่างนุ่มนวล ซึ่งแผลอาจจะอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ การเป็นด้ามกลมจึงช่วยให้ใช้งานได้ง่ายกว่า”

5. แปรงสีฟัน Ortho สำหรับคนจัดฟัน

“มันจะหน้าตาคล้ายกับเจ้า CS5460 เลย ยกเว้นแค่ขนแปรงแถวที่ 3 หรือตรงกลางจากทั้งหมด 5 แถวที่จะเตี้ยกว่าแถวอื่นๆ เพื่อที่จะวางบน brackets ได้พอดี โดยที่แถวข้างๆ ยังสามารถเข้าไปทำความสะอาดบริเวณเนื้อฟันโดยรอบแป้นเหล็กได้อีก คือมันดีไซน์มาเพื่อการณ์นั้น”

6. แปรงสีฟัน Velvet สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และผู้มีปัญหาเรื่องเหงือก

“แปรงรุ่น Velvet หรือ CS12460 จะมีหน้าตาเหมือนรุ่นฮีโร่โปรดักต์เลยแต่ว่าขนแปรงจะละเอียดกว่า ก็คือตามตัวเลขเลย มีทั้งหมด 12,460 เส้น โดยเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า เป็นการออกแบบมาเพื่อคนที่มีปัญหาเรื่องเหงือกโดยเฉพาะ เช่นคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาเจียนบ่อย มีกรดในช่องปาก เพิ่มอัตราการเกิดฟันผุ หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียด ทำให้ในช่องปากเขาจะเซนซิทีฟมากเป็นพิเศษ บางรายก็พาลจะไม่แปรงฟันด้วยซ้ำ ดังนั้นแปรงรุ่น Velvet มันจึงถูกออกแบบมาเพื่อการณ์นี้”

ยิ่งมีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ CURAPROX ก็ยิ่งต้องทุ่มเทให้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานแปรงสีฟันอย่างถูกวิธีมากขึ้นเท่านั้น ผ่านทั้งพนักงานขายใน specialty store ด้านผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก คลินิกทันตกรรมที่เป็นพาร์ตเนอร์ ตลอดจนการพาแบรนด์ออกไปเจอกับลูกค้าโดยตรงผ่านอีเวนต์ต่างๆ เช่นล่าสุดที่อรินทราพาทีมงานตระเวนไปคุยกับเด็กและผู้ปกครองตามสนามเด็กเล่นทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีแคมเปญยาสีฟันสำหรับเด็ก สินค้าใหม่ล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมา

“นั่นคือวิธีที่ CURAPROX เข้าไปหาผู้บริโภคจริงๆ เป้าหมายหลักของเราไม่ได้ไปเพื่อขายด้วยซ้ำ แต่เราไปเพื่อแนะนำว่าฟันซี่แรกของลูกสำคัญมากนะ เราพาผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้กับเขา นั่นคือคีย์หลักที่เราอยากจะทำ เพราะเป้าหมายของเรามันไม่ได้เป็นการทำยอดสูงๆ เราต้องการแค่กำไรให้เราพออยู่ได้ และการได้ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน นั่นแปลว่าเขาจะซื้อเราหรือไม่ก็ได้ แต่ขอให้เขามีองค์ความรู้ที่ถูกต้องก่อน เขาจะดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนมากกว่า” เธอสรุป

ชวน Onion มาเลือกหยิบ 9 สิ่งที่เป็นที่สุดมาใส่ตระกร้า

Onion

Onion add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

SEO Keyword

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

add to cart คือรายการที่ชวนผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ เลือกหยิบไอเทมที่เป็น ‘ที่สุด’ ของแบรนด์มาใส่ตระกร้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นแรกสุด ชิ้นขายดีที่สุด ชิ้นที่ภูมิใจที่สุด ชิ้นที่ราคาถูกและแพงสุดของแบรนด์ ไปจนถึงชิ้นที่ขายไม่ค่อยดีนะแต่ก็อยากป้ายยาสุดๆ

หากดูรายการนี้แล้วอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ เพิ่มสามารถฟังได้ในพ็อดแคสต์รายการ Day 1 ที่ ย้วย–นภษร ศรีวิลาส บรรณาธิการของ Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ไทยมาคุยกันถึงวิธีทำธุรกิจของพวกเขาอย่างลงลึกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำกิจการจนกระทั่งทุกวันนี้

ภาพถ่ายสิ่งลึกลับบนฟ้าใน Nope สู่ธุรกิจโรงแรม ร้านหนังสือ และแอพฯ ดักจับข่าวลือ UFO ที่ทำกำไรจริง

Jordan Peele เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่เราปวารณาตนว่าเขาทำอะไรออกมาก็จะตามดูทุกเรื่องไป หนัง 2 เรื่องของเขาก่อนหน้านี้อย่าง Get Out และ Us ก็ทำให้เราระทึกจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ เต็มไปด้วยฉากสยองที่น่ากลัวแบบเวียร์ดๆ และมีเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน นั่นทำให้ตอนที่เขาประกาศว่าจะทำ Nope หนังเรื่องที่ 3 ออกมา เราจึงตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ

ตอนเห็นโปสเตอร์แรกของ Nope เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกี่ยวกับอะไร มันเป็นรูปก้อนเมฆตอนกลางคืนที่ดูขรึมขลังไม่เบา ติดที่ก้อนเมฆก้อนนั้นมีธงหลากสี (?) ห้อยลงมา

มีอะไรแปลกๆ บนฟ้า คือความคิดแรกที่เรามีต่อ Nope

universal pictures

ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะ Nope คือหนังที่เกี่ยวกับ ‘อะไรแปลกๆ บนฟ้า’ หรือว่ากันตามตรงคือ UFO หนังเล่าเรื่องราวของ OJ (รับบทโดย Daniel Kaluuya) และ Emerald (รับบทโดย Keke Palmer) สองพี่น้องเจ้าของธุรกิจฟาร์มม้าในชนบทห่างไกลที่เทรนเหล่าอาชาเพื่อไปเป็น ‘ม้าหน้ากล้อง’ ในสื่อบันเทิงโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้พ่อของพวกเขาเคยเป็นเจ้าของฟาร์ม แต่ดันจากไปด้วยสาเหตุประหลาด เขาโดนเศษเหรียญที่อยู่ๆ ก็ตกลงมาจากฟ้าแทงจนเสียชีวิต

โอเจอยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เขาฝังใจกับปริศนาการตายของพ่อมาตลอด กระทั่งวันหนึ่งสองพี่น้องก็พบเจอกับเหตุการณ์ประหลาด อย่างไฟฟ้าในบ้านที่ติดๆ ดับๆ และม้าของพวกเขาก็หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อพยายามหาคำตอบ พวกเขาได้พบความจริงสุดช็อกว่ามันคือวัตถุประหลาดบนฟ้าที่ดูดกลืนสิ่งมีชีวิตขึ้นไปเป็นระยะ และซ่อนตัวอยู่กับเมฆก้อนหนึ่งในละแวกนั้นมานานนับปี

เพราะอยากแก้แค้นแทนพ่อ ประกอบกับอยากรวย อยากดัง สองพี่น้องจึงวางแผนล่อจานบินออกมาเพื่อจะบันทึกภาพมันไว้ โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำกำลังจะนำไปสู่เรื่องเลวร้ายและความเหวออีกนานัปการ

universal pictures

การหารายได้จากมนุษย์ต่างดาวไม่ใช่เรื่องใหม่ ยิ่งนอกโลกภาพยนตร์แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีการชะลอตัวแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจใดๆ ที่มีคำว่า UFO ไปเกี่ยวข้องจะบูมเอาๆ สวนกระแส ล่าสุดเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานลับเรื่องการศึกษา ‘ปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้’ ในช่วงปีก่อน ยืนยันว่าเรื่องจานบินปริศนาไม่ใช่แค่เรื่องไร้สาระหรือทฤษฎีสมคบคิด (แต่จะมาจากนอกโลกจริงไหมก็ต้องรอการพิสูจน์) ความไฮป์เรื่อง UFO ของชาวโลกก็กระเพื่อมเป็นวงกว้างอีกครั้ง และนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีของคนทำธุรกิจผู้คลั่งไคล้เรื่องนี้

ย้อนมามองในโลกนอกภาพยนตร์ มีธุรกิจมากมายสร้างจุดขายด้วยสินค้าและบริการเกี่ยวข้องกับ UFO ได้อย่างสร้างสรรค์ หนึ่งในนั้นคือ Atomic Inn โรงแรมธีมเอเลี่ยนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Area 51 ฐานทัพการบินลับที่คนทั่วโลกร่ำลือกันว่าเป็น ‘ที่ซ่อนมนุษย์ต่างดาว’ ทำให้มีหลายทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ UFO เริ่มต้นที่นี่ พอเป็นโรงแรมธีมมนุษย์ต่างดาว ทุกอย่างในโรงแรมก็สร้างขึ้นจากรากฐานนั้น ไล่ตั้งแต่สบู่ มาสก์หน้า ไปจนถึงโบผูกผมรูปเอเลี่ยน ซึ่งในช่วงโควิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวออกเดินทาง ลูกค้าส่วนมากก็เป็นเจ้าหน้าที่การบินที่ทำงานอยู่ในพื้นที่นั่นแหละ หรืออย่าง Hangar 209 ร้านของฝาก หนังสือ เสื้อผ้า และร้านกาแฟธีมเอเลี่ยนซึ่งตั้งอยู่ในเมืองรอสเวลล์ รัฐนิวเมกซิโก ซึ่งไม่ไกลจาก Area 51 และขึ้นชื่อเรื่องการปรากฏตัวของ UFO ไม่แพ้กัน ก็ได้รับผลกระทบทางบวกจากการรายงานลับ UFO ของสหรัฐฯ เพราะตั้งแต่ที่รัฐบาลเผยแพร่รายงานนี้ออกมา ลูกค้าหลายคนก็เดินเข้าร้านพร้อมคำถามเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวมากมาย ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในร้านกระเตื้องไปด้วย

hangar209
hangar209

หรือมองกลับมาที่ Nope หากจะมีธุรกิจใดที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่โอเจและเอมเมอรัลด์ทำ Enigma Labs อาจเป็นคำตอบ พวกเขาคือสตาร์ทอัพที่พยายามสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับ UFO บนอินเทอร์เน็ต รวบรวมข้อมูลว่าด้วยจานบินและมนุษย์ต่างดาวที่ผู้คนโพสต์ลงเน็ตมากเท่าที่จะมากได้ ที่สำคัญคือมีระบบคะแนนเพื่อประเมินว่าภาพและวิดีโอนั้นๆ เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องจกตา

“อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยเรื่องหลอกลวง และมันยากมากเลยที่จะหาข้อมูลดีๆ เจอ” Alex Smith ผู้ก่อตั้ง Enigma Labs ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Bloomberg ถึงที่มาที่ไปของสตาร์ทอัพดาวรุ่งซึ่งได้รับเงินทุนมหาศาลจากซิลิคอนวัลเวย์

หลังจากพัฒนาระบบจนสำเร็จ Enigma Labs จะปล่อยแอพพลิเคชั่นสู่สาธารณะ ให้เราสามารถกดดูจานบินได้ตามขนาด รูปร่าง และสถานที่ที่มันไปปรากฏได้แบบฟรีๆ ถามว่าแล้วแบบนี้พวกเขาจะหาเงินจากไหน คำตอบคือเซสชั่นถาม-ตอบข้อมูลเชิงลึกให้ผู้ใช้ รวมถึงการขายข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยไปศึกษาต่อนั่นเอง

Department of Defense

แต่ถ้าให้นึกถึงธุรกิจ UFO ที่ทั้งสนุกและยกระดับความเป็นอยู่ของเจ้าของธุรกิจ รวมถึงคนในเมืองได้อย่างสร้างสรรค์ เรานึกถึงร้านสบู่ 1846 House Soaps ที่ตั้งในไพน์บุช หมู่บ้านเล็กๆ ในนิวยอร์ก

แล้วร้านสบู่มันเกี่ยวอะไรกับเอเลี่ยน–คุณอาจสงสัย แต่เปล่าเลย สบู่ของร้านไม่ได้มีธีมเกี่ยวกับเอเลี่ยนด้วยซ้ำ แต่เหมือนกับ Atomic Inn และ Hangar 209 นั่นแหละ ไพน์บุช ที่ตั้งของร้านสบู่นี้เป็นแหล่งพบ UFO ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ช่วงปี 60s ถึงขนาดที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของ UFO ในฝั่งอีสต์โคสต์ของอเมริกา ซึ่งไม่ใช่แค่จานบิน UFO เท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีรายงานถึงแสงแฟลชบนฟ้า และการปรากฏตัวของ ‘มนุษย์จากนอกโลก’ เลยทีเดียว

ความสนุกสนานคือเมื่อโลกดำเนินมาสู่ช่วงเศรษฐกิจซบเซา Lynn Inglima เจ้าของร้านสบู่ 1846 House Soaps และชาวเมืองไพน์บุชจึงผุดไอเดียดึงแขกให้เข้ามาเที่ยวที่เมืองมากขึ้น และประกาศจัด Pine Bush UFO Festival and Parade เทศกาลและพาเหรดยูเอฟโอที่ชวนผู้คนมาแข่งตัวเป็นเอเลียนกัน

พวกเขายังส่งเสริมภาคธุรกิจชุมชนด้วยกิจกรรม Alien Hide and Seek ที่ชาวเมืองจะช่วยกันซ่อนเอเลี่ยนตัวเขียวชื่อ Alfie ไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของร้านรวงต่างๆ ในเมือง หากลูกค้าหาเจ้าอัลฟี่เจอก็จะรับตั๋วพิเศษ ถ้าสะสมตั๋วครบตามจำนวนที่เมืองกำหนดไว้ ลูกค้าสามารถเอามาแลกไอศครีมฟรีได้เลย ในงานยังมีโชว์ที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีเลกเชอร์จริงจังเกี่ยวกับ UFO สำหรับสายวิชาการ ซึ่งประสบความสำเร็จระดับที่ทำให้จำนวนร้านค้าในเมือง จากที่เคยนับได้หยิบมือพุ่งขึ้นไปถึง 50 ร้าน!

ไอเดียเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจบางอย่างก็เหมือน ‘อะไรแปลกๆ บนฟ้า’ นั่นแหละ ครั้งแรกที่ได้ยินมันอาจจะเป็นไอเดียที่พูดไปก็คงไม่มีใครเชื่อเลยว่ามีจริง (ในแง่ธุรกิจคือทำให้สำเร็จได้จริงๆ) การพิสูจน์มันอาจมีแค่หนทางเดียวเท่านั้น 

นั่นคือการทำให้คนอื่นเห็น

อ้างอิง

imdb.com

bbc.com

space.com

cnbc.com

timesnext.com

bloomberg.com

inc.com

bloomberg.com

‘Mirai Shokudo’ ร้านอาหารที่ใช้เวลาจ่ายค่าอาหารได้ และเสิร์ฟเพียงวันละหนึ่งเมนู

Mirai Shokudo

Mirai Shokudo Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว คือรายการธุรกิจอาหารโดย Capital และ Salmon Podcast ที่จะพาเข้าหลังร้านไปสำรวจแนวคิดทางการตลาดของจักรวาลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร แฟรนไชส์ ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ไล่ลามไปถึงเครื่องครัวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาหารทั้งสเกลเล็ก กลาง ใหญ่

รายการนี้ดำเนินรายการโดย เชอร์รี่ มณีเนตร วรชนะนันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย และหญิงสาวผู้หลงรักอาหาร ที่จะทำให้ผู้ฟังอร่อยที่ฟังแล้วท้องหิวแต่อิ่มไปกับเคล็ดและเคสการตลาด

Arkwright : ลูกจ้างคือผู้บริโภค

ทุกครั้งที่มีข่าวการเรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คนจำนวนไม่น้อย (รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่อาจยังตามงานวิจัยในวงการตัวเองไม่ทัน) ก็จะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงด้วยความเชื่อว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้นายจ้างย่ำแย่และดังนั้นเศรษฐกิจจะดำดิ่ง หลายคนเชื่อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรวมจะส่งผลเสียต่อกลุ่มแรงงานด้อยฝีมือ (ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายแบบนี้) และจะทำให้มีคนว่างงานมากขึ้น

ทำไมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึงจะเพิ่มอัตราการว่างงานได้ คนที่คิดแบบนี้โดยมากประยุกต์ใช้ ‘กฎอุปสงค์-อุปทาน’ กฎพื้นฐานในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่คนรู้จักมากเป็นอันดับต้นๆ กับตลาดแรงงาน กฎข้อนี้บอกว่า ถ้าหากราคาของอะไรก็ตามถีบตัวสูงขึ้น ในกรณีนี้คือ ‘ค่าจ้าง’ ความต้องการสิ่งนั้นๆ ก็จะลดลง ในกรณีนี้คือความต้องการแรงงาน ในขณะเดียวกันก็จะมีแรงงานอยากเข้ามาทำงานมากขึ้นเพราะถูกดึงดูดด้วยค่าแรงขั้นต่ำ สถานการณ์นี้ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น เพราะมีแรงงานที่หางานทำมากกว่านายจ้างที่อยากจ้าง

อย่างไรก็ตาม กฎอุปสงค์-อุปทานก็เป็นเพียง ‘ทฤษฎี’ ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับสินค้าทุกประเภท ทุกที่ ทุกเวลา สมมติฐานหลักของกฎอุปสงค์-อุปทานก็คือ ตลาดเป็นตลาดที่มี ‘การแข่งขันสมบูรณ์’ (perfectly competitive) ซึ่งถ้าพูดถึงตลาดแรงงานก็หมายความว่า ลูกจ้างและนายจ้างมีจำนวนมาก ลูกจ้างสามารถเปลี่ยนงานได้อย่างง่ายดาย ทว่าสมมติฐานนี้มักไม่ตรงกับโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งบริษัทนายจ้างไม่กี่แห่ง (จ้างลูกจ้างหลายหมื่นหรือแสนคน) มีอำนาจเหนือตลาด สามารถกดค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็นโดยที่ลูกจ้างก็ไร้อำนาจต่อรอง 

งานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาโลกแห่งความจริงพบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลตรงกันข้ามกับความเชื่อ “คนว่างงานจะมากขึ้น” ล่าสุดในปี 2021 ที่ผ่านมา รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ตกเป็นของนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ที่บุกเบิกเศรษฐศาสตร์เชิงประจักษ์ หนึ่งในนั้นคือ เดวิด คาร์ด นักเศรษฐศาสตร์แรงงานชาวแคนาดา ผู้โด่งดังจากงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่เขาทำร่วมกับ อลัน ครูเกอร์ ในปี 1993 ซึ่งพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง

งานวิจัยบุกเบิกของคาร์ดกับครูเกอร์มีผู้สานต่อมากมายจนถึงทุกวันนี้ งานหลายชิ้นยืนยันประโยชน์ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยกตัวอย่างเช่น งานทบทวนวรรณกรรมโดย Belman & Wolfson ในปี 2014 พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้ทั้งลูกจ้างที่เคยได้ค่าแรงต่ำกว่าขั้นต่ำ (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า bound workers) และลูกจ้างที่เคยได้ค่าจ้างสูงกว่าแต่ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ ได้รับค่าจ้างมากขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีลูกจ้างราว 5% เท่านั้นที่ได้ค่าจ้างไม่เกินค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่มีลูกจ้างมากถึง 25% ของกำลังแรงงานที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้

ทำไมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงส่งผลให้ลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วได้ค่าจ้างสูงขึ้นด้วย? คำตอบอยู่ในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ผลล้นเกิน’ (spillover effect) ซึ่งมีได้ทั้งผลบวกและผลลบ เมื่อนายจ้างเจอภาวะที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับตัวสูงขึ้น หลายบริษัทก็อาจเพิ่มความต้องการแรงงานมีฝีมือ (ในเมื่อค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ จ้างแรงงานมีฝีมือไปเลยดีกว่า) หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ ฝั่งผู้หางานเองพอเห็นค่าจ้างขั้นต่ำปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจเรียกค่าจ้างมากขึ้นเวลาไปสมัครงาน ส่งผลให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในระบอบเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น 

หลักฐานจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศพบหลักฐานคล้ายกับในประเทศร่ำรวย ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่าการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในบราซิลช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลง งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ‘ประสิทธิผล’ ของผลลัพธ์แง่บวกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นขึ้นอยู่กับว่า ประเทศต่างๆ สามารถ ‘บังคับใช้’ กฎค่าแรงขั้นต่ำได้มากเพียงใด ในประเทศที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบอย่างไทย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างได้เฉพาะในตลาดแรงงานในระบบเท่านั้น

ถ้าหากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ส่งผลให้การจ้างงานลดลง แถมยังช่วยเพิ่มค่าจ้างให้กับคนอีกจำนวนมากที่ได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วย เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะ ‘ลูกจ้าง’ ทุกคนล้วนเป็น ‘ผู้บริโภค’ ในระบบเศรษฐกิจด้วย 

พอผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นก็จะอยากใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะคึกคักกว่าเดิมเป็นเงาตามตัว

การสาธิต ‘ผลล้นเกิน’ จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจซับซ้อนเกินกว่าบอร์ดเกมจะทำได้ (แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน!) แต่โลกนี้มีบอร์ดเกมที่ช่วยให้เรามองเห็นหมวก ‘ลูกจ้าง’ และ ‘ผู้บริโภค’ ของเราๆ ท่านๆ อย่างแจ่มชัด เกมนั้นชื่อ Arkwright บอร์ดเกมเศรษฐศาสตร์ชั้นครูจาก สเตฟาน ริสต์เฮาส์ นักออกแบบชาวเยอรมัน

Arkwright ให้เราเล่นเป็นนักธุรกิจในศตวรรษที่ 18-19 แข่งกันทำกำไรจากการสร้างโรงงานผลิตสินค้า ซึ่งในเกมนี้มีตลาดสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ขนมปัง เสื้อผ้า ช้อนส้อม และตะเกียง ทุกคนเริ่มเกมด้วยการมีหุ้นเท่ากัน (ต้องขายหุ้นบางส่วนเพื่อหาทุนรอนตั้งต้น) และแน่นอนว่าระหว่างเกม เราจะอยากให้หุ้นของบริษัทที่เราถือมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งบริษัทจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องลงทุนผลิตและขายของให้ได้กำไรเยอะๆ

เกมนี้เล่น 5 ตาจบ แต่ละตาสะท้อนเวลา 1 ทศวรรษในโลกจริง ในแต่ละตาผู้เล่นจะทำแอ็กชั่นได้ 1 อย่าง จากนั้นโรงงาน 1 ชนิดตาม active cycle (วงจรเริ่มจาก ขนมปัง-เสื้อผ้า-ช้อนส้อม จบที่ ตะเกียง แบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งเกม) จะผลิตสินค้า ผู้เล่นทำอีก 1 แอ็กชั่น โรงงานชนิดต่อไปจะผลิต ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ แอ็กชั่นมีอาทิ จ้างคนงาน ซื้อเครื่องจักรมาทดแทนคนงาน เปิด ปรับปรุง หรือปิดโรงงาน เพิ่มคุณภาพโรงงาน เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ซื้อหรือขายหุ้น และทำสัญญาส่งออก

การทำแอ็กชั่นทุกอย่างในเกมนี้มีต้นทุน เพราะเราต้องจ่ายเงินในการทำตาม ‘ตารางบริหาร’ กลางวง (นัยว่าจ่ายเป็น ‘ค่าการบริหารจัดการ’) แถมยิ่งจ่ายเยอะยิ่งได้ทำแอ็กชั่นที่แรงขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องคิดเรื่อง ‘ความคุ้มค่า’ ทุกครั้งก่อนจ่ายเงินทำแอ็กชั่นอะไรก็ตาม

แน่นอน ต่อให้โรงงานเราผลิตสินค้าได้ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าขายไม่ออก ความต้องการสินค้าในเกมนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นเพียงหมวกอีกใบของลูกจ้างเท่านั้น ดังนั้นยิ่งโรงงานต่างๆ จ้างคนไปทำงานมากเท่าไหร่ ความต้องการสินค้าโดยรวมยิ่งเพิ่ม

ความสัมพันธ์ข้างต้นในเกมนี้แสดงโดยใช้กลไกที่เรียบง่ายมาก นั่นคือเวลาที่เราจ้างแรงงาน เราจะใช้วิธีหยิบโทเคนคนออกจากกระดานกลางมาวางในโรงงานของเรา โดยเลือกหยิบจากแถวคน 4 แถว ตามสินค้าแต่ละชนิดในเกม ความต้องการสินค้าแต่ละชนิดดูจากตัวเลขในช่องแรกที่ไม่มีคนยืน ยิ่งจ้างคนไปทำงานในโรงงานตัวเองมากเท่าไหร่ ตัวเลขความต้องการสินค้าชนิดนั้นๆ ของทั้งตลาดยิ่งสูงเป็นเงาตามตัว

นอกจากนี้ ยิ่งมีคนงานไปทำงานในโรงงานเยอะๆ เรายิ่งต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในโรงงานผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับกฎอุปสงค์-อุปทานที่ว่า อะไรก็ตามที่คนมีความต้องการมากขึ้น ราคาของของสิ่งนั้นย่อมปรับตัวสูงขึ้น (โรงงานที่ต้องการแรงงานมากขึ้นต้องยอมจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นเพื่อดึงดูดคนมาทำงาน)

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าโรงงานสินค้าของผู้เล่นทุกคนรอบวงผลิตสินค้ารวมกันมากกว่าความต้องการของตลาด คำตอบคือ บริษัทที่ผลิตสินค้า ‘น่าซื้อ’ (มี appeal สูง) จะได้ขายมากกว่าคนอื่น ความน่าซื้อของสินค้าคำนวณจากระดับ ‘คุณภาพ’ ของโรงงาน ลบด้วย ‘ราคา’ สินค้าที่ตั้ง ระดับคุณภาพของโรงงานเกิดจากผลรวมของ มูลค่าโรงงาน บวกกับโทเคนเพิ่มคุณภาพ บวกกับโทเคนช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า 

ตัวเลขความน่าซื้อใน Arkwright สำคัญมากเพราะกำหนด ‘จำนวนสินค้า’ สูงสุดที่เราขายได้ ถ้าสินค้าเรามีความน่าซื้อต่ำ เช่น มีคุณภาพดีแต่ราคาแพง หรือราคาถูกแต่คุณภาพก็ต่ำ เราก็จะขายได้น้อยกว่าคู่แข่งที่มีความน่าซื้อสูงกว่า ไม่ต่างจากในโลกจริง

ตลาดในประเทศต้องแข่งขันฟาดฟันกันแย่งขาย แต่ถ้าเรามีสัญญาส่งออกสินค้าชนิดนั้นๆ เราก็มีโอกาสขายได้เงินสดเป็นกอบเป็นกำ วิธีนี้ไม่ต้องแย่งกับคนอื่น แต่ก่อนที่จะส่งออกได้ เราต้องเลือกเรือที่ใหญ่พอส่งสินค้าตามจำนวนในสัญญา และเมื่อส่งออกแล้วมูลค่าหุ้นเราจะตกลง สะท้อนความเสี่ยงสูงมากของการขนส่งทางทะเลในสมัย 200 ปีที่แล้วที่ทำให้นักลงทุนกังวลใจ

Arkwright เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ขนาดหนักที่ใช้เวลามาราธอนเกือบ 4 ชั่วโมง แถมยังมีกลไกบังคับให้เราปรับปรุงโรงงานอยู่เสมอเพื่อไล่ตามเทคโนโลยีให้ทัน การตัดสินใจทุกอย่างในเกมนี้มีความหมาย เส้นทางสู่ความสำเร็จก็มีมากมายหลายเส้น เช่น เราอาจเลือกมีโรงงานไม่กี่โรง เน้นประสิทธิภาพสูงและผลิตแต่สินค้าคุณภาพสูงเพื่อทำกำไรมหาศาล หรือว่าเราอาจจะมีโรงงานหลายโรงและเน้นขายถูกแบบแมส หรืออาจเน้นการส่งออกเป็นหลักแล้วคอยช้อนซื้อหุ้นของตัวเองเมื่อราคาตก (จากการส่งออก) จากนั้นก็พยายามเพิ่มมูลค่าหุ้นในตาท้ายๆ

‘จังหวะ’ การทำแอ็กชั่นใน Arkwright สำคัญไม่แพ้เกมเศรษฐศาสตร์ชั้นเซียนเกมอื่น โดยเฉพาะในเมื่อการตัดสินใจแทบทุกอย่างของเราส่งผลต่อผู้เล่นคนอื่น บางทีเราอาจเล็งเห็นว่าคู่แข่งยังไม่ได้ลงทุนในเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน ใช้คนงานเป็นหลัก ถ้าเราจ้างคนงานมาหลายคนในนาทีสุดท้าย ค่าจ้างก็จะถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โรงงานคู่แข่งอาจประสบภาวะขาดทุนชนิดไม่ทันตั้งตัว!

การจำลองกฎอุปสงค์-อุปทานมาเป็นกลไกเกมเป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้ตลอดเวลาในเกมเศรษฐศาสตร์ แต่เกมที่สามารถฉายภาพอย่างชัดเจน เรียบง่ายทว่าลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ค่าจ้าง’ กับ ‘ความต้องการ’ สินค้าและบริการ หรือพูดอีกอย่างคือ ความสัมพันธ์ระหว่างหมวก ‘ลูกจ้าง’ กับหมวก ‘ผู้บริโภค’ ของพวกเราทุกคน – เกมแบบนี้ผู้เขียนเห็นว่ามีแต่ Arkwright เท่านั้นที่ทำได้ 

ทำได้ระหว่างสร้างประสบการณ์การเล่นเกมชนิดลืมไม่ลง ไม่ว่าระหว่างทางจะต้องคิดสะระตะ คิดแล้วคิดอีกจนหัวแตกแค่ไหนก็ตามที!

เมื่อเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ เลิกเชิดชูการทำงานหนัก และหันมาใส่ใจชีวิตแง่มุมอื่นกำลังเป็นกระแส ธุรกิจและคนทำงานควรปรับตัวยังไง

คำว่า ‘Quiet Quitting’ กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่รู้สึกว่าวัฒนธรรมการทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป งานประจำควรทำให้จบๆ ในเวลางาน ไม่มีเอากลับมาทำต่อที่บ้าน ห้าโมงปิดคอมพ์ตอกบัตรกลับบ้าน ไม่ตอบไลน์หรือเมลนอกเวลางาน กลับมาใช้เวลากับตัวเอง เพื่อน ครอบครัว และคนที่รัก หางานอดิเรกที่ชื่นชอบทำดีกว่า

ฟังดูเป็นเทรนด์เพื่อปรับสมดุลในชีวิตที่ดี เหมือนการหา work-life balance ของตัวเองให้เจอ แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ ทุกอย่างก็มีข้อดีข้อเสีย การใช้ชีวิตแบบนี้ก็เช่นเดียวกัน

เทรนด์นี้ถูกทำให้เป็นกระแสเนื่องจากมีคนโพสต์วิดีโอบน TikTok เป็นจำนวนมาก มีคำอธิบายที่หลากหลายแตกต่างกันไป แม้ในชื่ออาจเห็นคำว่า ‘Quitting’ ที่แปลว่า ‘ลาออก’ แต่คำจำกัดความของ ‘Quiet Quitting’ นั้นไม่เกี่ยวกับการยื่นใบลาออกแต่อย่างใด แต่มันคือการ ‘หลบหลีก’ ออกมาแบบ ‘เงียบๆ’ จากวัฒนธรรมที่เชิดชูการทำงานหนัก ที่ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สุขภาพร่างกาย จิตใจ ความฝัน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ฯลฯ เพื่อทำงาน เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของ Quiet Quitting คือ ‘การทำงานตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบในเวลางาน ไม่มากไปกว่านั้น’

ซาเยด ข่าน (Zaid Khan) นักดนตรีและนักพัฒนาซอฟต์แวร์อายุ 24 ปี หนึ่งในผู้นำกระแสของ ‘Quiet Quitting’ บน TikTok ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเริ่มรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่งานเริ่มกินเวลาส่วนตัวของตัวเองมากเกินไป

“ผมตระหนักว่าไม่ว่าทำงานหนักมากขนาดไหน ผมก็ไม่มีทางได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ การทำงานหนักมากๆ ก็แค่ทำให้คุณมีตำแหน่งที่ดีขึ้นในองค์กรของอเมริกา และก็เหมือนอย่างที่เราส่วนใหญ่ได้เห็นกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่า สุขภาพร่างกายและจิตใจได้รับความสนใจน้อยกว่าการสร้างประสิทธิภาพการทำงานในโครงสร้างขององค์กรส่วนใหญ่”

ตามรายงานของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบอกว่าความเครียดและเบิร์นเอาต์ในพนักงานเหมือนอย่างที่ข่านกำลังประสบอยู่นั้นมีสถิติสูงที่สุดทุกอุตสาหกรรมในช่วงโควิด-19 จึงไม่น่าแปลกใจที่เทรนด์ของ ‘Quiet Quitting’ ไปโดนใจของคนวัยทำงานหลายๆ คนเพราะมันเป็นวิธีการ ‘ป้องกันตัวเอง’ ให้กลับมาดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองอีกครั้งหนึ่ง เป็นการหลบหนีออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำงานหนักจนไม่มีเวลาส่วนตัว เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวหายไป

นอกจากเรื่องของการปรับสมดุลให้กับชีวิตแล้ว หลายคนมองว่าเทรนด์นี้ช่วยสร้างกรอบที่ชัดเจนของชีวิต ให้ทำโปรเจกต์ส่วนตัวที่ต้องการได้ ยกตัวอย่าง แอนเทรลล์ ไวน์นิง (Antrell Vining) ผู้จัดการโปรเจกต์บริษัทเกี่ยวกับการเงินแห่งหนึ่ง บอกว่านอกจากงานประจำที่ทำแล้ว สิ่งที่เขาสนใจคือการสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวัยทำงานเจนฯ Z และมิลเลนเนียล มีคนติดตามบน TikTok ประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งเขาก็ได้รับเงินจากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานและเขียนเรซูเม่ด้วย สำหรับไวน์นิงแล้วการมีเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่างานประจำหยุดที่ตรงไหน ทำให้มีพลังงานเหลือไปทำสิ่งที่สนใจมากกว่า ไวน์นิงบอกว่า

“ทุกวันนี้ทุกคนก็เป็นผู้ประกอบการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และเราก็รู้สึกว่าอยากใช้พลังงานที่เหลือในธุรกิจของตัวเองนอกเหนือจากการทำงาน 9 โมง – 5 โมง พอถึง 5 โมงปุ๊บผมก็หายใจลึกๆ แล้วก็ไปทำงานของตัวเอง ไปใช้เวลาอันมีค่ากับเพื่อนและครอบครัว ผมชอบที่จะสร้างคอนเทนต์เพื่อบอกทุกคนว่าควรทำแบบนี้เหมือนกัน”

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับกระแส ‘Quiet Quitting’ เพราะสถานการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป สำหรับหลายๆ คน การได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคง มีเงินเข้าทุกเดือน มีภาระความรับผิดชอบที่ต้องดูแล ประกันสุขภาพ ประกันสังคม หรือแม้แต่ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากงานประจำก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น การจะทำงาน ‘แค่ให้พอผ่าน’ นั้นดูเสี่ยงเกินไป ถ้าเกิดวันหนึ่งเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทเริ่มคัดคนออก เชื่อว่าคุณสมบัติหนึ่งที่ใช้คัดเลือกก็คงหนีไม่พ้นว่าคนๆ นั้นทำงานหนักหรือเปล่า พร้อมจะทุ่มเทให้กับบริษัทมากแค่ไหน ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับพนักงานที่เป็นคนกลุ่มน้อย ความเสี่ยงยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก ผลกระทบในระยะยาวต่ออาชีพการงานเป็นอีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้

อีกเหตุผลที่ทำให้ ‘Quiet Quitting’ กลายเป็นกระแสก็เพราะปัจจัยในช่วงเวลานี้ด้วย ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราการว่างงานต่ำลงเรื่อยๆ คนมีทางเลือกในการหางานค่อนข้างเยอะ มีการแข่งขันเพื่อแย่งพนักงานที่มีความสามารถในตลาดแรงงาน ถือว่าตอนนี้เป็นจังหวะที่พนักงานมีแต้มต่อในมือสูงกว่าแต่ก่อน

ถึงอย่างนั้นก็ตามสัญญาณในทางลบก็เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Netflix, Google, Apple, Facebook หรือ Microsoft ล้วนประกาศชะลอการจ้างงานและบางแห่งก็เริ่มปลดพนักงานในส่วนที่ไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับบริษัทอีกต่อไปทิ้ง

ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจเอง ‘Quiet Quitting’ ดูเหมือนเป็นการเรียกร้องให้องค์กรกลับมาใส่ใจเรื่องของสมดุลการทำงานให้มากขึ้น เชื่อว่าบริษัทยุคใหม่หลายแห่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้เพื่อจะดึงดูดกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงประสิทธิภาพการทำงานและการแข่งขันในตลาดของบริษัทด้วย ในมุมของธุรกิจ แน่นอนว่าชีวิตนอกเวลางานของพนักงานก็สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้แน่ใจด้วยว่าพนักงานทุ่มเททำงานให้บริษัท

เควิน โอเลียรี่ (Kevin O’Leary) นักธุรกิจชาวแคนาดา เป็นกรรมการและนักลงทุนจากรายการ ‘Shark Tank’ บอกกับเว็บไซต์ CNBC ว่า “Quiet Quitting เป็นไอเดียที่แย่มาก” โดยเขาอธิบายต่อว่า “เจ้าของธุรกิจให้คุณค่ากับพนักงานที่หิวกระหายและอยากทำงาน คนที่จะทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาให้กับบริษัท ให้กับทีม ให้หัวหน้า นั่นคือคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต […] ถ้าคุณปิดคอมพ์ตอน 5 โมงเป๊ะๆ คุณไม่ได้ทำงานกับผมแน่นอนและหวังว่าคุณจะได้ทำงานกับคู่แข่งของผมมากกว่า”

ในโลกที่พนักงานต้องการอิสระและมีสิทธิ์เรียกร้องในความต้องการของตัวเองมากขึ้น เวลาส่วนตัวหรือ work-life balance เป็นสิ่งจำเป็น เราทุกคนรู้ว่างานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต องค์กรต่างๆ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาด้วย และในขณะเดียวกัน พนักงานก็ต้องตระหนักเสมอว่าองค์กรเองก็ต้องอยู่รอดและเติบโต

อ้างอิง

– tiktok.com/@_thehrqueen/video/7132620613964811563

– http://bloomberg.com/…/what-is-quiet-quitting-is-it-a…

– tiktok.com/@managermethod/video/7132510148526034222

– apa.org/monitor/2022/01/special-burnout-stress

– http://bloomberg.com/…/this-is-the-booming-movement-to…

– http://cnbc.com/…/kevin-oleary-quiet-quitting-is-a…

– http://cnbc.com/…/quiet-quitting-why-kevin-oleary-says…