เมื่อเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ เลิกเชิดชูการทำงานหนัก และหันมาใส่ใจชีวิตแง่มุมอื่นกำลังเป็นกระแส ธุรกิจและคนทำงานควรปรับตัวยังไง

คำว่า ‘Quiet Quitting’ กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่รู้สึกว่าวัฒนธรรมการทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป งานประจำควรทำให้จบๆ ในเวลางาน ไม่มีเอากลับมาทำต่อที่บ้าน ห้าโมงปิดคอมพ์ตอกบัตรกลับบ้าน ไม่ตอบไลน์หรือเมลนอกเวลางาน กลับมาใช้เวลากับตัวเอง เพื่อน ครอบครัว และคนที่รัก หางานอดิเรกที่ชื่นชอบทำดีกว่า

ฟังดูเป็นเทรนด์เพื่อปรับสมดุลในชีวิตที่ดี เหมือนการหา work-life balance ของตัวเองให้เจอ แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ ทุกอย่างก็มีข้อดีข้อเสีย การใช้ชีวิตแบบนี้ก็เช่นเดียวกัน

เทรนด์นี้ถูกทำให้เป็นกระแสเนื่องจากมีคนโพสต์วิดีโอบน TikTok เป็นจำนวนมาก มีคำอธิบายที่หลากหลายแตกต่างกันไป แม้ในชื่ออาจเห็นคำว่า ‘Quitting’ ที่แปลว่า ‘ลาออก’ แต่คำจำกัดความของ ‘Quiet Quitting’ นั้นไม่เกี่ยวกับการยื่นใบลาออกแต่อย่างใด แต่มันคือการ ‘หลบหลีก’ ออกมาแบบ ‘เงียบๆ’ จากวัฒนธรรมที่เชิดชูการทำงานหนัก ที่ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สุขภาพร่างกาย จิตใจ ความฝัน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ฯลฯ เพื่อทำงาน เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของ Quiet Quitting คือ ‘การทำงานตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบในเวลางาน ไม่มากไปกว่านั้น’

ซาเยด ข่าน (Zaid Khan) นักดนตรีและนักพัฒนาซอฟต์แวร์อายุ 24 ปี หนึ่งในผู้นำกระแสของ ‘Quiet Quitting’ บน TikTok ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเริ่มรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่งานเริ่มกินเวลาส่วนตัวของตัวเองมากเกินไป

“ผมตระหนักว่าไม่ว่าทำงานหนักมากขนาดไหน ผมก็ไม่มีทางได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ การทำงานหนักมากๆ ก็แค่ทำให้คุณมีตำแหน่งที่ดีขึ้นในองค์กรของอเมริกา และก็เหมือนอย่างที่เราส่วนใหญ่ได้เห็นกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่า สุขภาพร่างกายและจิตใจได้รับความสนใจน้อยกว่าการสร้างประสิทธิภาพการทำงานในโครงสร้างขององค์กรส่วนใหญ่”

ตามรายงานของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบอกว่าความเครียดและเบิร์นเอาต์ในพนักงานเหมือนอย่างที่ข่านกำลังประสบอยู่นั้นมีสถิติสูงที่สุดทุกอุตสาหกรรมในช่วงโควิด-19 จึงไม่น่าแปลกใจที่เทรนด์ของ ‘Quiet Quitting’ ไปโดนใจของคนวัยทำงานหลายๆ คนเพราะมันเป็นวิธีการ ‘ป้องกันตัวเอง’ ให้กลับมาดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองอีกครั้งหนึ่ง เป็นการหลบหนีออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำงานหนักจนไม่มีเวลาส่วนตัว เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวหายไป

นอกจากเรื่องของการปรับสมดุลให้กับชีวิตแล้ว หลายคนมองว่าเทรนด์นี้ช่วยสร้างกรอบที่ชัดเจนของชีวิต ให้ทำโปรเจกต์ส่วนตัวที่ต้องการได้ ยกตัวอย่าง แอนเทรลล์ ไวน์นิง (Antrell Vining) ผู้จัดการโปรเจกต์บริษัทเกี่ยวกับการเงินแห่งหนึ่ง บอกว่านอกจากงานประจำที่ทำแล้ว สิ่งที่เขาสนใจคือการสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวัยทำงานเจนฯ Z และมิลเลนเนียล มีคนติดตามบน TikTok ประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งเขาก็ได้รับเงินจากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานและเขียนเรซูเม่ด้วย สำหรับไวน์นิงแล้วการมีเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่างานประจำหยุดที่ตรงไหน ทำให้มีพลังงานเหลือไปทำสิ่งที่สนใจมากกว่า ไวน์นิงบอกว่า

“ทุกวันนี้ทุกคนก็เป็นผู้ประกอบการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และเราก็รู้สึกว่าอยากใช้พลังงานที่เหลือในธุรกิจของตัวเองนอกเหนือจากการทำงาน 9 โมง – 5 โมง พอถึง 5 โมงปุ๊บผมก็หายใจลึกๆ แล้วก็ไปทำงานของตัวเอง ไปใช้เวลาอันมีค่ากับเพื่อนและครอบครัว ผมชอบที่จะสร้างคอนเทนต์เพื่อบอกทุกคนว่าควรทำแบบนี้เหมือนกัน”

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับกระแส ‘Quiet Quitting’ เพราะสถานการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป สำหรับหลายๆ คน การได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคง มีเงินเข้าทุกเดือน มีภาระความรับผิดชอบที่ต้องดูแล ประกันสุขภาพ ประกันสังคม หรือแม้แต่ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากงานประจำก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น การจะทำงาน ‘แค่ให้พอผ่าน’ นั้นดูเสี่ยงเกินไป ถ้าเกิดวันหนึ่งเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทเริ่มคัดคนออก เชื่อว่าคุณสมบัติหนึ่งที่ใช้คัดเลือกก็คงหนีไม่พ้นว่าคนๆ นั้นทำงานหนักหรือเปล่า พร้อมจะทุ่มเทให้กับบริษัทมากแค่ไหน ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับพนักงานที่เป็นคนกลุ่มน้อย ความเสี่ยงยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก ผลกระทบในระยะยาวต่ออาชีพการงานเป็นอีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้

อีกเหตุผลที่ทำให้ ‘Quiet Quitting’ กลายเป็นกระแสก็เพราะปัจจัยในช่วงเวลานี้ด้วย ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราการว่างงานต่ำลงเรื่อยๆ คนมีทางเลือกในการหางานค่อนข้างเยอะ มีการแข่งขันเพื่อแย่งพนักงานที่มีความสามารถในตลาดแรงงาน ถือว่าตอนนี้เป็นจังหวะที่พนักงานมีแต้มต่อในมือสูงกว่าแต่ก่อน

ถึงอย่างนั้นก็ตามสัญญาณในทางลบก็เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Netflix, Google, Apple, Facebook หรือ Microsoft ล้วนประกาศชะลอการจ้างงานและบางแห่งก็เริ่มปลดพนักงานในส่วนที่ไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับบริษัทอีกต่อไปทิ้ง

ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจเอง ‘Quiet Quitting’ ดูเหมือนเป็นการเรียกร้องให้องค์กรกลับมาใส่ใจเรื่องของสมดุลการทำงานให้มากขึ้น เชื่อว่าบริษัทยุคใหม่หลายแห่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้เพื่อจะดึงดูดกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงประสิทธิภาพการทำงานและการแข่งขันในตลาดของบริษัทด้วย ในมุมของธุรกิจ แน่นอนว่าชีวิตนอกเวลางานของพนักงานก็สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้แน่ใจด้วยว่าพนักงานทุ่มเททำงานให้บริษัท

เควิน โอเลียรี่ (Kevin O’Leary) นักธุรกิจชาวแคนาดา เป็นกรรมการและนักลงทุนจากรายการ ‘Shark Tank’ บอกกับเว็บไซต์ CNBC ว่า “Quiet Quitting เป็นไอเดียที่แย่มาก” โดยเขาอธิบายต่อว่า “เจ้าของธุรกิจให้คุณค่ากับพนักงานที่หิวกระหายและอยากทำงาน คนที่จะทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาให้กับบริษัท ให้กับทีม ให้หัวหน้า นั่นคือคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต […] ถ้าคุณปิดคอมพ์ตอน 5 โมงเป๊ะๆ คุณไม่ได้ทำงานกับผมแน่นอนและหวังว่าคุณจะได้ทำงานกับคู่แข่งของผมมากกว่า”

ในโลกที่พนักงานต้องการอิสระและมีสิทธิ์เรียกร้องในความต้องการของตัวเองมากขึ้น เวลาส่วนตัวหรือ work-life balance เป็นสิ่งจำเป็น เราทุกคนรู้ว่างานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต องค์กรต่างๆ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาด้วย และในขณะเดียวกัน พนักงานก็ต้องตระหนักเสมอว่าองค์กรเองก็ต้องอยู่รอดและเติบโต

อ้างอิง

– tiktok.com/@_thehrqueen/video/7132620613964811563

– http://bloomberg.com/…/what-is-quiet-quitting-is-it-a…

– tiktok.com/@managermethod/video/7132510148526034222

– apa.org/monitor/2022/01/special-burnout-stress

– http://bloomberg.com/…/this-is-the-booming-movement-to…

– http://cnbc.com/…/kevin-oleary-quiet-quitting-is-a…

– http://cnbc.com/…/quiet-quitting-why-kevin-oleary-says…

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like