ชีวิตแสนดี

คุยกับ แสนดี–แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ถึงชีวิตในช่วงรอยต่อ การศึกษา ประวัติศาสตร์ และบทบาทการเป็นลูก

ถ้าใครสักคนหยิบเอาคำว่า แสนดี มาใช้เพื่ออธิบายขยายความอะไรสักอย่าง คงหนีไม่พ้นที่เราจะจินตนาการถึงความดีงามและความยอดเยี่ยมของสิ่งของชิ้นนั้น หรือหากใครถูกพูดถึงว่า เป็นคนแสนดี เราคงอดคิดไม่ได้ว่าคนๆ นั้นคงจะถึงพร้อมด้วยความคิดและจิตใจจนน่ายกย่องชื่นชม

แต่ดูเหมือนกับว่าในช่วงนี้ บริบทของคำว่า ‘แสนดี’ ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง กลับถูกใช้เพื่อเรียกขานชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ที่เพิ่งเรียนจบสาขาประวัติศาสตร์มาหมาดๆ แถมเขายังมีฉายาติดตัวจากชาวเน็ตด้วยว่า เป็นลูกของชายของบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน

แสนดี–แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายเพียงคนเดียวของชัชชาติเกิดมาพร้อมกับการบกพร่องทางการได้ยินแต่กำเนิด เขาใช้ชีวิต 2-3 ขวบปีแรกที่ประเทศออสเตรเลียเพื่อเข้ารับการผ่าตัดรักษาใส่ประสาทหูเทียมและเรียนรู้ที่จะใช้ประสาทหูเทียมในการสื่อสารชีวิตประจำวันที่นั่น จนในที่สุดความมานะพยายามของคนในครอบครัวและของตัวแสนดีเองทำให้เขาสามารถสื่อสารได้เทียบเคียงกับคนปกติ 

ด้วยข้อจำกัดของประสาทหูเทียมทำให้แสนดีไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้เฉกเช่นเด็กไทยทั่วไป แสนดีจึงกลับมาที่ประเทศไทยและเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงไฮสคูล หลังจากนั้นก็ลัดฟ้าไปเรียนต่อเอกประวัติศาสตร์ที่ University of Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา 

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 แสนดีรับปริญญาจบการศึกษาโดยมีคุณพ่อที่เพิ่งได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แบบหมาดๆ เข้าร่วมยินดีกับความสำเร็จทางการศึกษาของลูกชายด้วย

ในวันนี้แสนดีกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว จากเด็กที่เกิดมากับภาวะการสูญเสียการได้ยินแต่กำเนิดกลายมาเป็นหนุ่มนักประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นอกจากเรื่องราวของชีวิตแสนดีที่น่าสนใจแล้ว มุมมองที่เขามีต่ออนาคต ประวัติศาสตร์ การศึกษา และครอบครัว ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

เท่าที่ติดตามจากโลกโซเชียลคุณดูสนิทสนมกับพ่อมาก อะไรทำให้คุณทั้งสองสนิทกันขนาดนั้น

ผมกับพ่อมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกันมากๆ อย่างพ่อผมตื่นตี 4 ผมก็ตื่นและออกไปวิ่งพร้อมกับพ่อในตอนเช้า บางวันตอนกลางวันผมไปกินมื้อกลางวันกับพ่อ คือเราเจอกันทุกวัน ตารางชีวิตเราคล้ายกันมาก

หลายคนรู้ว่าพ่อคุณตื่นเช้ามาก คุณตื่นพร้อมคุณพ่อเลยเหรอ

ผมตื่นก่อนอีกนะ ผมตื่นประมาณ ตี 3 ครึ่ง (ยิ้ม)

คุณชัชชาติเป็นคุณพ่อแบบไหน

เนื่องจากผมมีพ่อแค่คนเดียว ผมก็ต้องบอกว่าเขาเป็นพ่อที่ดีน่ะครับ (หัวเราะ) คือทั้งพ่อทั้งแม่ผมเป็นสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมแล้ว ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีเขาทั้งสองชีวิตผมจะเป็นยังไง

ปกติแล้ววัยรุ่นกับผู้ปกครองมักจะมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย คุณคิดว่าอะไรคือวิธีการลดช่องว่างนั้น

ผมคิดว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องพยายามเข้าใจในความแตกต่างที่อยู่ในตัวคนแต่ละคน พยายามเปิดใจ พยายามสื่อสารความคิดของตัวเองให้อีกฝ่ายเข้าใจ อันนี้ผมพูดถึงทั้งสองฝ่ายเลยนะ ทั้งฝ่ายผู้ใหญ่และฝ่ายเด็ก ต่างฝ่ายต้องต่างพยายามเข้าหากัน รับฟังกัน ผมคิดว่าหัวใจหลักคือความพยายามที่จะเข้าใจกันและกันครับ เหมือนผมกับพ่อของผม เราสนิทกันมากๆ อันที่จริงอาจจะมากกว่าที่ใครหลายคนคิดไว้ซะอีก ผมว่าเพราะเราพยายามเข้าใจกัน 

เพราะฉะนั้นความพยายามที่จะสื่อสารและเข้าใจกันสำคัญที่สุด อันนี้ผมไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ในประเทศไทยนะ ผมหมายความถึงทุกที่ทั่วโลกเลย เราต้องเปิดใจคุยกัน รับฟังกัน และต้องวิจารณ์กันได้อย่างสร้างสรรค์

นิยามคำว่าวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ให้ฟังหน่อยได้ไหม

มันคือการให้ความเห็นอย่างสุภาพ คุณให้ฟีดแบ็ก ให้ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อคนอื่นได้นะ แต่ต้องทำแบบละมุนละม่อมและต้องทำมันด้วยเจตนาที่จริงใจ ไม่ทำร้ายจิตใจใคร คือคุณต้องวิจารณ์เขาเพราะอยากเห็นเขาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้น

แล้วคุณเคยให้ฟีดแบ็กอะไรกับพ่อคุณบ้างไหม

ผมบอกพ่อให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สนุกกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ว่าเขาต้องตลกมีอารมณ์ขันตลอดเวลานะ คำว่าสนุกคือ เอ็นจอยกับสิ่งที่ทำ ถึงแม้บางอย่าง หรือบางงานอาจจะไม่ได้น่าเอ็นจอยนักก็ขอให้หามุมมองที่ทำแล้วสนุกไปกับมันให้ได้มากที่สุด

คุณรู้ไหมว่าคุณพ่อคุณมีฉายาว่าชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีจากชาวเน็ตในไทยนะ

รู้ครับ ที่ผมรู้เพราะผมติดตามชีวิตเส้นทางการทำงานของพ่อผมตลอด อย่างตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมตามอ่านนโยบาย ตามดูดีเบต ตามดูการตอบคำถามของพ่อตอนอยู่กับสื่อและตอนตอบคำถามประชาชน เวลาที่พ่อเขาโดนถามถึงข่าวหรือประเด็นต่างๆ พ่อตอบคำถามยังไง มีรีแอ็กชั่นยังไงบ้าง คือผมตามติดชีวิตทำงานของพ่อผมมากๆ เหมือนผมกำลังศึกษาตัวละครสักตัวในหนังยังไงอย่างนั้นเลย ไม่แน่นะ ในอนาคตผมอาจจะเป็นนักแสดงและได้รับบทเป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้ (หัวเราะ)

ในสายตาของคุณ โมเมนต์ไหนที่คุณคิดว่าเป็นโมเมนต์ที่พ่อของคุณแข็งแกร่งที่สุด

ผมคิดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2012-2013 นะ ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องปีเท่าไหร่ ตอนนั้นพ่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่และโครงการรถไฟของพ่อโดนศาลรัฐธรรมนูญปัดตก ผมว่าพ่อเขาดูผิดหวังมากนะในตอนนั้น เขาคงรู้สึกเหมือนกับว่าเขาล้มเหลว สำหรับบางคนอาจจะเฟลไปเลย แต่ผมเห็นพ่อก็พยายามเอาชนะความรู้สึกตรงนั้นและข้ามผ่านมันมาได้ ผมคิดว่านี่แหละคือโมเมนต์ที่พ่อของผมแข็งแกร่งที่สุด

คุณได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่อคุณบ้าง

(นิ่งคิด) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความยืดหยุ่น แล้วก็ความกล้าหาญครับ ไม่ได้แปลว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีแล้วจะต้องแข็งแกร่งเสมอนะ มันโอเคที่จะอ่อนแอบ้าง มันโอเคที่จะแสดงความอ่อนแอ มันโอเคที่จะผิดพลาดบ้าง

มันโอเคที่จะล้มบ้าง เพราะคุณเป็นมนุษย์

ถูกต้องเลยครับ 

แล้วคุณแม่คุณล่ะ คุณเรียนรู้อะไรจากคุณแม่คุณบ้าง

จริงๆ คุณแม่ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ผมเลยไม่ค่อยอยากพูดถึงท่าน แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมได้รับจากแม่ มันคือความอดทนและการตรงต่อเวลา ผมยึดหลักที่ว่ามาก่อนเวลา 2 นาทีดีกว่ามาสาย 1 นาทีนะ ถ้าผมนัดกับเพื่อน ผมนี่มาถึงก่อนคนแรกเลย ที่จริงแล้วผมมาก่อนเวลานัด 20 นาทีด้วยซ้ำ เอาให้ชัวร์เลยว่าผมไม่สายแน่นอน

นอกจากสองเรื่องนี้ผมคิดว่า สิ่งที่ผมเรียนรู้จากแม่คือความรักนะ ความรักเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งและทรงพลังมากที่สุดในโลกเลย นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากทั้งพ่อและแม่จากความรักที่ทั้งสองมีให้ผม โอเค ผมรู้ว่าฟังดูแล้วมันอาจเป็นคำทั่วๆ ไปนะ รักคือสิ่งทรงพลัง แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราไม่ควรประเมินพลังของความรักต่ำจนเกินไป

มีอะไรจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ไหม

ถ้าบอกพ่อก็…อย่าสร้างปัญหานะครับพ่อ (หัวเราะ) ถ้าบอกแม่ก็ ไม่ต้องกังวลเรื่องผมมากเกินไปหรอกครับ

เท่าที่ฟังท่าทางคุณแม่จะเป็นห่วงคุณมาก คุณแม่คุณยอมให้คุณทำอะไรที่ดูนอกกรอบบ้างไหม

จริงๆ แม่ผมค่อนข้างเปิดกว้างนะ โดยเฉพาะเวลาที่ผมอยากแสดงตัวตนของผมออกมา อย่างเช่นการย้อมสีผม ครั้งแรกที่ผมจะไปทำสีผม คุณแม่เป็นคนพาผมไปที่ร้านทำผมนะครับ ผมเปลี่ยนสีผมหลายครั้งมากจากครั้งแรกที่ผมย้อมสีผมเป็นสีฟ้า ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมผมถึงเลือกสีนั้น (ยิ้ม) จากนั้นก็ย้อมอีกเป็นสีเขียว จากนั้นก็สีบลอนด์ แอชบราวน์ บลอนด์ แล้วก็กลับมาย้อมเป็นสีน้ำตาลเข้ม คือผมเปลี่ยนสีผมบ่อยเหมือนกันจนตอนนี้ที่ผมกลับมาเป็นสีนี้ที่คุณเห็นนี่แหละ

สนุกกับแฟชั่นและการย้อมสีผมแบบนี้ คิดจะไปสักบ้างไหม

คิดครับ ผมบอกทุกคนยกเว้นแม่ผมว่าผมจะไปสัก เพราะฉะนั้นอย่าเอาบทสัมภาษณ์นี้ให้แม่ผมอ่านนะครับ (หัวเราะ) ผมล้อเล่นครับ ใช่ครับ ผมคิดเรื่องรอยสักอยู่ คือผมไม่ได้คิดจะเป็นคนที่นำเทรนด์หรือนำแฟชั่นอะไรหรอกครับ ผมแค่คิดว่ามันโอเคที่เราจะแสดงตัวตนออกมา ตัวตนข้างในเราเป็นแบบไหน เราก็แสดงมันออกมาเท่านั้นเอง

หลังเรียนจบ ชีวิตช่วงนี้ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ผมไม่เคยมีความสุขขนาดนี้มาก่อนเลย คือผมเพิ่งเรียนจบ ผมอายุ 22 ตอนนี้ผมไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลเลยในหัว โดยรวมคือแฮปปี้ครับ สนุกกับการใช้ชีวิตเลยในตอนนี้

เห็นว่าคุณเรียนจบมหาวิทยาลัย University of Washington ตอนนั้นทำไมเลือกเรียนที่นี่

จริงๆ ผมได้ตอบรับจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเลย ทั้ง University of Toronto, Penn State แล้วก็ University of Washington สำหรับผมนะ ผมคิดว่า University of Washington คือที่ที่เหมาะกับผมที่สุด ผมได้ลองไปดูแคมปัสของ University of Washington ในซีแอตเทิลช่วงวันหยุดสงกรานต์ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัย พอผมไปถึงซีแอตเทิล ผมหลงรักเมืองนี้เลย ผมรู้เลยว่าผมอยากจะใช้ชีวิตอีก 4 ปีที่นี่ อันที่จริงผมคิดเลยว่า ถ้าผมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่นี่จะเป็นที่ที่ผมอยากจะมาใช้ชีวิตอยู่ ผมคิดแบบนั้นเลย ผมรู้สึกว่าที่นี่จะเป็นบ้านหลังที่สองให้ผมได้

ทำไมคุณถึงหลงรักซีแอตเทิล

ผมรู้สึกว่าซีแอตเทิลเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ผมอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ที่นั่นมันมีคนหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรมมากๆ มีไชน่าทาวน์ มีคนมาจากหลากหลายที่รวมกันอยู่ 

แล้วการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเป็นยังไงบ้าง

เท่าที่ผมเจอมาคือน้อยมากๆ เลยที่จะเรียกร้องให้ผู้เรียนมาท่องจำตามคำบอกในหนังสือ ส่วนใหญ่ระบบการเรียนการสอนที่นั่นมันมักจะมีอะไรมากระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้อยู่ตลอดนะผมว่า เช่น เราต้องประมวลผลเองจากอะไรสักอย่างที่เราไปอ่านหรือไปฟังมา เราต้องคิดแบบวิเคราะห์ เราต้องบาลานซ์ความคิดของเราให้มีเหตุมีผล การเรียนที่นั่นมันไม่ใช่การมาเคร่งอ่านหนังสือเป็นหลายๆ ชั่วโมง แต่หัวใจของการเรียนคือเขาเน้นให้เราสามารถเอาข้อมูลที่เราเรียนรู้มาประยุกต์ใช้

รู้มาว่าคุณเรียนจบเอกประวัติศาสตร์ ทำไมถึงเลือกเรียนเอกนี้

โอ้โห ถ้าจะให้เล่าว่าทำไมผมถึงรักประวัติศาสตร์มันจะยาวเลยนะ (หัวเราะ) 

คือผมคิดภาพตัวเองโดยไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ไม่ออกเลย อาจจะเพราะว่าตั้งแต่ตอนผมเป็นเด็ก ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมากๆ ถ้าคุณถามว่าตอนเด็กผมทำอะไรบ้าง ผมบอกเลยว่าสิ่งเดียวที่ผมจำได้คือ ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นี่แหละ นึกย้อนไปผมยังงงตัวเองอยู่เลยว่าอ่านเข้าไปได้ยังไงเยอะขนาดนั้น (ยิ้ม) จริงๆ ตอนผมจบเกรด 12 ทีแรกผมก็คิดจะเรียนด้านบริหารธุรกิจอยู่เหมือนกัน มันดูเป็นทางเลือกที่ฉลาดดีนะ น่าจะหางานได้ไม่ยากจากการเรียนเอกธุรกิจ คือช่วงที่ผมจบไฮสคูลมีแต่เพื่อนๆ เลือกเรียนด้าน STEM, วิศวะ, เศรษฐศาสตร์ แต่ผมมาคิดๆ ดูอีกที ประวัติศาสตร์นี่แหละเหมาะกับผมที่สุด และมันทำให้ผมโดดเด่นต่างจากคนอื่นอีกด้วย

ตอนผมเรียนจบเกรด 12 จาก NIST ผมคิดว่าผมเป็นคนเดียวในรุ่นเลยที่เลือกเรียนเอกประวัติศาสตร์นะ คือส่วนใหญ่เขาก็เลือกเรียนไปทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ อะไรก็ว่าไป แต่ผมนี่สิ เลือกเรียนเป็นนักประวัติศาสตร์เต็มตัวเลย

คนรอบตัวคิดยังไงกับการเลือกเรียนเอกประวัติศาสตร์

ก็มีเพื่อนแซวกันนิดหน่อยช่วงนั้น เช่น เรียนประวัติศาสตร์เหรอ เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร อย่าว่าแต่เพื่อนเลย พ่อแม่ผมยังแซวผมเลย ว่านี่เรียนจบแล้วจะไปทำอะไรต่อ เป็นอาจารย์เหรอ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเรียนจบประวัติศาสตร์ก็ต้องจบไปเป็นแต่ครูสอนประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ คุณสามารถจบไปแล้วเป็นอะไรก็ได้ การเรียนประวัติศาสตร์มันยูนีกด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว

ประวัติศาสตร์ไร้พรมแดน น่าพิศวง และน่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าคุณศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จริงๆ คุณจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของการมาจำวันที่ว่าวันไหน ปีไหนมีศึกสงครามเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ จริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น สาระสำคัญมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่มันสำคัญที่ว่าเรื่องราวต่างๆ ทำไมมันถึงถูกเขียนขึ้นมาแบบนั้น ทั้งเรื่องราวของสังคม เรื่องราวในอดีต ทุกอย่างมันหล่อหลอมให้เราเป็นเราในปัจจุบันนี้

ฟังดูเป็นการเรียนเอกสาขาที่ต้องคิดวิเคราะห์เยอะมาก

ใช่ ผมคิดว่าทักษะที่สำคัญมากๆ ของนักประวัติศาสตร์คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เป็นนะ คือเป้าคุณต้องชัดว่าคุณกำลังวิเคราะห์เรื่องอะไร คุณต้องเป็นคนเปิดใจ คุณต้องมองที่ข้อเท็จจริงแล้วประเมินดู ชั่งน้ำหนักของข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝั่ง ผมคิดว่าตัวประวัติศาสตร์มันทั้งซับซ้อน ทั้งท้าทายด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว  แต่สรุปคือเรามองประวัติศาสตร์เพื่อที่เราจะได้เข้าใจบริบทของปัจจุบัน

มีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนที่คุณชอบที่สุดไหม

เป็นคำถามที่ยากมาก เพราะคุณให้ผมเลือกเล่มที่ชอบที่สุดเล่มเดียว (ยิ้ม) คือมีหนังสือหลายๆ เล่มที่ผมชอบ อาจจะเพราะด้วยความที่เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผมเลยต้องอ่านหนังสือเยอะ มีหนังสือหลายๆ เล่มที่อยู่ในใจผม แต่ผมขอยังไม่เลือกนะ เพราะเลือกไม่ถูกเลยว่าจะยกเล่มไหนเป็นเล่มที่ชอบที่สุดดี

แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมขอตอบเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผมสนใจที่สุดก็แล้วกัน ผมชอบประวัติศาสตร์ยุคกลาง ช่วงพรีโมเดิร์น ที่ผมชอบเป็นพิเศษจะเป็นพวกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามและศาสนา พวกสงครามครูเสด สงครามระหว่างจักรวรรดิออตโตมันกับยุโรป

หลังคุณเรียนจบแล้วคุณมีแผนจะทำอะไรต่อบ้าง

ตอนนี้ผมเรียกตัวเองว่าเป็นนักจัดรายการพ็อดแคสต์แบบเต็มรูปแบบนะครับ อันที่จริงผมทำอยู่ 2 โปรเจกต์พร้อมๆ กันตอนนี้ คือจัดพ็อดแคสต์และเขียนนิยาย

รายการพ็อดแคสต์ของคุณเกี่ยวกับอะไร

รายการพ็อดแคสต์ที่ทำชื่อว่า กุลสตรี เพื่อนผมอีก 2 คนที่เป็นโฮสต์รายการนี้ด้วยกันตั้งชื่อนี้ขึ้นมา คอนเซปต์ของรายการคือ เราจะพูดถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือเราอยากหยิบเอาเรื่องที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องเจอในสังคมมาพูด ตั้งใจไว้ว่าจะทำสัก 10 ตอนต่อซีซั่น พวกเราก็คิดเอาไว้ว่าจะเชิญแขกรับเชิญมาในรายการครับ ในแต่ละตอน จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญถึงประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพจิต เพศสภาพ ความสัมพันธ์ อาหาร การเมือง ประมาณนี้

คุณสนใจอะไรในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงจนต้องทำรายการนี้

อันที่จริงมันเริ่มจากเพื่อนผม เขามาเล่าให้ผมฟังถึงคอนเซปต์พ็อดแคสต์นี้ ผมก็เลยเชียร์เขาว่า เอาเลยทำเลย แต่ไปๆ มาๆ เพื่อนก็ลากผมเข้าไปทำด้วยเฉยเลย ผมเลยเหมือนตกกระไดพลอยโจน สุดท้ายผมเลยบอกเพื่อนว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นเรามาทำโปรเจกต์นี้ด้วยกันแบบจริงจังกัน มันก็เริ่มจากตรงนั้นแหละครับ คือพวกเราตั้งใจจะทำพ็อดแคสต์ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง เพราะเราไม่อยากจะให้มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในสังคม เราอยากเอาประเด็นเรื่องที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องพบเจอมาเล่าให้สังคมฟัง

แล้วที่บอกว่าเขียนนิยาย อะไรทำให้คุณเริ่มเขียนนิยาย

ผมคิดว่ามันมาจากการที่ผมชอบเขียนนะครับ ผมชอบเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คือผมบกพร่องทางการได้ยินมาแต่กำเนิดผมเลยโตมากับประสาทหูเทียม ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าการเขียนเป็นทางเดียวที่ผมจะสามารถชดเชยการได้ยินที่เสียไปของผมได้ มันเลยเป็นแรงกระตุ้นให้ผมต้องเขียน เขียน เขียน เพราะผมอาจจะยังพูดสื่อสารไม่คล่อง ผมเลยต้องใช้การเขียนเป็นการสื่อสารแทน

นิยายที่คุณเขียนเกี่ยวกับอะไร

ผมจะสปอยล์แบบสั้นๆ ให้ฟังคือ นิยายที่ผมเขียนมันเป็นนิยายประวัติศาสตร์ที่อิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงยุคประมาณ 1920-1930 จนถึงปัจจุบัน อารมณ์เหมือนประวัติศาสตร์ครอบครัวแต่อิงกับช่วงเวลายุค 20s มาจนถึงปัจจุบัน

ตอนนี้ผมเขียนไปแล้ว 5 บท คือผมวางโครงไว้ว่าทั้งหมดจะมี 25 บท แต่อย่างว่า พอเราใช้เวลาอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ไม่แน่นะที่ผมวางไว้ว่า 25 บท มันอาจจะกลายเป็น 50 บทก็ได้ (หัวเราะ) คือยิ่งนานวันเข้า ไอเดียมันก็เปลี่ยน มีไอเดียอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะสักปลายๆ ปีหน้าก็น่าจะเสร็จ หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นนะ (ยิ้ม)

เท่ากับคุณใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเขียนนิยายเรื่องนี้

จริงๆ ผมเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ผมอายุ 12 แล้ว และผมพัฒนาไอเดียโครงเรื่องและรายละเอียดของมันเรื่อยๆ มาตลอด 10 ปีนี้ พอผมโตขึ้นมุมมองของผมก็โตตามไปด้วย ผมเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับการเขียนนิยายเรื่องนี้ตอนอายุ 12 พอตอนนี้ผมอายุ 22 มุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ มันก็เปลี่ยนไป มันพัฒนาในทางที่โตขึ้นเพราะผมเจอโลกที่กว้างขึ้น รับรู้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เยอะขึ้น สิ่งเหล่านี้มาเติมเต็มไอเดียและเป็นแรงผลักดันให้ผมเขียนเล่าเรื่องออกมา เหมือนตลอดสิบปีที่ผ่านมานี้มันเป็นเหมือนก้อนอิฐทีละก้อน ที่ผมคอยไปเก็บมาเป็นชิ้นส่วนในการประกอบให้มันเป็นปึกแผ่น เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจะเขียนนิยายเรื่องนี้

แล้วนอกจากนิยายผมชอบเขียนกลอนด้วยนะ ผมเขียนกลอนเยอะมากในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เช่น เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เรื่องโควิด เรื่องสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่ ผมเอามาเขียนเป็นกลอนหมด

เขียนกลอนไว้แล้วได้เอาออกมาเผยแพร่บ้างไหมเนี่ย

(รีบตอบทันที) ไม่ ไม่ ไม่เลยครับ ถ้าผมเผยแพร่ไปคุณคงเคยอ่านแล้วล่ะ และน่าจะเป็นเรื่องแรกที่คุณถามผมวันนี้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

นอกจากสองโปรเจกต์ที่ว่ามา คุณมีความฝันจะทำอะไรอีกไหม

ผมอยากทำอะไรก็ได้ที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาประเทศ นั่นคือความฝันของผมนะ ผมว่าตรงนี้ผมน่าจะได้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้ามาจากพ่อผม ตอนที่พ่อผมสมัครเรียนต่อที่ MIT ด้วยทุนคิง พ่อเขียนเรียงความว่าพ่ออยากช่วยพัฒนาประเทศ พ่ออยากจะเข้าเรียนที่ MIT เพราะเขาอยากเอาความรู้กลับมาช่วยเหลือและพัฒนาประเทศไทย ผมคิดว่าผมเลยได้แรงบันดาลใจตรงนี้มาจากพ่อ ผมอยากทำอะไรสักอย่างให้สังคมของเรา ให้ประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดพ็อดแคสต์ การเขียนนิยาย หรืออะไรก็ตามแต่ที่พอจะช่วยเหลือสังคมและประเทศไทยได้

ผมอยากจะทำมันครับ

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like